ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ระเบียบความงามในพระพุทธประติมา (ท่านเขมานันทะ)
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=25066
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 20 ส.ค. 2009, 22:18 ]
หัวข้อกระทู้:  ระเบียบความงามในพระพุทธประติมา (ท่านเขมานันทะ)

รูปภาพ
[พระพุทธรูปจำลองที่มีพุทธศิลป์แบบสมัยคุปตะของอินเดีย]


ระเบียบความงามในพระพุทธประติมา *
ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)


หินสลักพุทธประวัติช่วง ๓๐๐-๖๐๐ ปี
หลังพุทธปรินิพพานซึ่งใช้สัญลักษณ์อันหนึ่งอันใด
แทนทั้งองค์เจ้าชายสิทธัตถะและพระพุทธเจ้านั้น
นับว่าเป็นงานศิลปะริเริ่มสร้างสรรค์ที่สำคัญยิ่ง

เพราะเป็นทั้งจุดเริ่มต้นของพัฒนาการทางสุนทรีย์ตามแนวทางใหม่
ในท่ามกลางกระแสวัฒนธรรมโบราณของอินเดีย
ที่สืบทอดต่อกันมานานนับเป็นพันๆปี

ทั้งเป็นหลักฐานทางประวัติศาสตร์ถึงประวัติ
ของบุคคลจริงกับประวัติพัฒนาการของการใช้สัญลักษณ์
แทนสภาวธรรมคลุกเคล้าผสมผสานกันไปอย่างน่าสนใจยิ่ง

หินสลักทั้งสามสมัย
สาญจี ภาระหุต และอมราวดี นั้น
บอกเรื่องราวลำดับของเจ้าชายสิทธัตถะ
ผู้สละราชสมบัติออกผนวช
เป็นผู้เร่รอนพเนจรเสาะแสวงหาความจริงของชีวิต
จนหลุดพ้นจากสังสารวัฏ
บรรลุถึงคุณอันยิ่งใหญ่จนกลับกลายเป็นศาสดาผู้เลิศสุด


รูปภาพ
[ภาพหินสลักประติมากรรมนูนต่ำแบบภารหุต]


หินสลักทั้งสามสมัยนี้
มิได้ใช้รูปทรวดทรงรูปร่างของมนุษย์
แต่กลับใช้สัญลักษณ์ต่างๆ แทนตลอด
ตั้งแต่ทรงเป็นเจ้าชายจนเป็นพระพุทธเจ้าและเสด็จเข้าพระนิพพาน

ในบรรดาสัญลักษณ์เหล่านั้น มีอยู่สัญลักษณ์หนึ่ง
ซึ่งเป็นทั้งจุดเริ่มแรกสุด (ราชวงศ์สุงคะ ๑๘๗-๑๔ B.C)
ตราบจนมีพระพุทธรูปอย่างทุกวันนี้นั้น
เป็นสัญลักษณ์ของสุญญตา
โดยทิ้งเนื้อที่ว่างไว้พอให้เข้าใจได้


กล่าวได้ว่าเป็นสัญลักษณ์ปราศจากเครื่องหมายใดใด
ตลอดช่วง ๓๐๐-๖๐๐ ปี หลังพุทธปรินิพพาน


รูปภาพ
[ภาพหินสลักประติมากรรมนูนต่ำแบบอมราวดี
ตอนเจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกมหาอภิเนษกรมณ์]


(มีต่อ)

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 20 ส.ค. 2009, 22:32 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ระเบียบความงามในพระพุทธประติมา : ท่านเขมานันทะ

รูปภาพ
[ภาพแกะสลักประติมากรรมนูนต่ำชาดกและหม้อปูรณฆฏะ]


นายช่างและผู้รู้ครั้งนั้น
ไม่ได้ใช้ทรวดทรงมนุษย์องค์พระศาสดาเลย
นอกจากสัญลักษณ์ เช่น

ดอกบัวบาน ปูรณฆฏ สวัสดิกะ ตรีรัตนะ
ฝ่าพระบาท เสาไฟ ช้าง พระสถูป ฯลฯ


อีกทั้งสลักอักขรพราหมี ภาษาปรากฤต
ไว้ที่บางส่วนของประติมากรรมนูนต่ำ

ซึ่งพอจะเห็นเค้าได้ว่า
เจตนารมย์ของการสร้างสรรค์งานในทั้ง ๓ สมัยนั้น

ต้องการที่จะเล่าเหตุการณ์เรื่องราว
ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้าตั้งแต่ต้นจนจบ
เพื่อให้การศึกษาต่ออนุชนรุ่นถัดๆมา
ทั้งในส่วนประวัติบุคคลจริงทางประวัติศาสตร์
และสภาวธรรมที่เป็นโลกุตระเหนือโลก
อันยากที่จะแสดงออกด้วยสื่อใดใดได้


รูปภาพ
[ภาพแกะสลักประติมากรรมนูนต่ำรอยพระบาท
ที่สะท้อนความเชื่อเรื่องมหาปุริสสลักษณะ]



นับว่ากลุ่มผู้ริเริ่มได้กรุยทางพัฒนาการด้านสุนทรีย์เยี่ยงพุทธศิลป์ไว้
ในเชิงสัญลักษณ์ที่ปฏิเสธลักษณะมนุษย์ (ซึ่งถือว่าเป็นส่วนเปลือกนอก)
จนบรรลุถึงสุนทรียภาพชั้นเยี่ยมยอดในพระพุทธประติมารุ่นหลังๆ
(โดยเฉพาะในสมัยคุปตะ)
อันถือเอาทรวดทรงมนุษย์เป็นปทัฏฐาน

หากแต่กระทำให้บรรลุถึงมโนคติอันสมบูรณ์
จนถือว่าเป็นสัญลักษณ์ของพระตถาคต
เป็นทั้งมนุษย์ที่สมบูรณ์ที่สุด
(ตามการมองแห่งแนวทางประวัติศาสตร์)
และเป็นทั้งสภาวธรรมเหนือมนุษย์ (ตามแนวทางโลกุตระ)


พัฒนาการทางด้านรูปแบบ
และสุนทรียภาพจากสัญลักษณ์ล้วนๆ
ไปสู่ทรวดทรงของมนุษย์นั้น
เป็นการเดินทางอันยาวนานของพระพุทธประติมา
และยังคงรักษาความบริสุทธิ์จากต้นธารความคิดแรกไว้ได้

รูปภาพ
[พระพุทธรูปศิลาสมัยคุปตะ]

(มีต่อ)

เจ้าของ:  กุหลาบสีชา [ 20 ส.ค. 2009, 22:42 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ระเบียบความงามในพระพุทธประติมา : ท่านเขมานันทะ

รูปภาพ

สุนทรียภาพของชาวพุทธอันแสดงออกในพระพุทธปฏิมา
ไม่เพียงเป็นความอิ่มเอิบใจ
และมิ่งขวัญเมืองของชุมชุนชาวพุทธเท่านั้น

หากสิ่งที่ล้ำเลิศนี้ได้บรรลุถึง
ความเป็นยอดหิมาลัยของวัฒนธรรมอินเดีย
และบางทีถ้าเราไม่ลังเลที่จะศึกษาให้ถึงแก่น
สิ่งนี้อาจจะเป็นสภาพสมบูรณ์
ที่ความจริงความดีและความงาม
ได้เป็น ๓ หน้าตัดของเพชรเม็ดเดียวอันเจียระไนแล้วของมวลมนุษย์


ความงามในทรวดทรงมนุษย์อันสมบูรณ์ (มหาปุริสสลักษณะ) นั้น
ได้เจียระไนตัวเองโดยน้ำมือและน้ำใจ
ของพุทธมามะกะสืบๆมาในทุกๆประเทศ
ที่คำสอนของพระพุทธเจ้าได้ปลุกให้ประชาชนได้ตื่นขึ้น


และผลสำเร็จก็สะท้อนออกมาที่พระพุทธประติมา
อันงามล้ำเลิศเป็นมิ่งมงคลเมืองของ
ธิเบต ลังกา พม่า ไทย ลาว เขมร ญี่ปุ่น เกาหลี มองโกเลีย และจีน
รวมทั้งอาณาจักรของชุมชนชาวพุทธที่ไม่ได้ระบุชื่อทั้หมด

พระพุทธรูปคือข่าวสารอันประเสริฐ

เป็นสิ่งสุดรักสุดบูชา
เป็นรูปลักษณะอันวิเศษขององค์ตถาคต
เป็นมณฑลธรรม
เป็นรหัสสัญลักษณ์ช่วงขณะแห่งการตรัสรู้
เป็นความงามอันเปี่ยมด้วยระเบียบวินัยแห่งศิลปะ
เป็นสื่อบ่งบอกถึงอารมณ์กรรมฐาน
เป็นสื่อถึงสภาวะวิมุตติหลุดพ้นจากสังสารวัฎ
เป็นข่าวสารของความกลมกลืนและกรุณา


โลกอันยุ่งเหยิงสลับซับซ้อนเบียดเบียน ทารุณโหดร้าย
และเต็มไปด้วยบรรยากาศของความหวาดกลัว
จำต้องเพ่งมองพระพุทธประติมา
และเรียนรู้สิ่งที่ตรงข้ามอันเป็นยอดปรารถนาของมนุษย์แห่งโลกนั้น
หรือโลกอื่นด้วยกันทุกรูปทุกนาม

หมายเหตุ : บทความเรื่องนี้ ใช้อักขรวิธีตามต้นฉบับ

(มีต่อ : ฐานะและบทบาทของพระประติมา)

เจ้าของ:  saovapa [ 24 ก.ย. 2011, 16:00 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ระเบียบความงามในพระพุทธประติมา : ท่านเขมานันทะ

:b8: :b8: :b8:

เจ้าของ:  petermac [ 06 ม.ค. 2012, 20:48 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ระเบียบความงามในพระพุทธประติมา : ท่านเขมานันทะ

ขอบคุณครับ :b8:

เจ้าของ:  ฟ้าใสใส [ 24 ก.ย. 2012, 23:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ระเบียบความงามในพระพุทธประติมา : ท่านเขมานันทะ

:b41: ღ˚ •。* ♥♥ ˚ ˚ กราบอนุโมทนาบุญกับท่านผู้เจริญในธรรมและกัลยาณมิตรทุกท่านนะเจ้าค่ะ ธรรมรักษา เทวดาคุ้มครองนะเจ้าค่ะ ขอให้ท่านเจริญในธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไปนะเจ้าค่ะ ˚. ★ *˛ ✿◕‿◕✿•°°✿◕‿◕.ღ ˛˚ ♥♥ 。✰˚* ˚ :b8: :b8: :b8: :b20: :b19:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/