วันเวลาปัจจุบัน 11 ก.ย. 2024, 22:39  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 50 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 11:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


หมวดที่ ๘ - หลังพุทธปรินิพพาน

๏ พระพุทธเจ้าทรงปรินิพพาน

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพาน ณ ปัจฉิมยามแห่งราตรีวิสาขปรุณมี เพ็ญเดือน ๖ ขณะมีพระชนมายุ ๘๐ พรรษา กาลนั้นบรรดาพุทธบริษัททั้งหลายทั้งปวงที่ประชุมอยู่ในอุทยานสาลวันนั้น ต่างก็เศร้าโศกร้ำไรรำพันปริเทวนาการ คร่ำครวญถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นที่น่าสลดใจยิ่งนัก พระอานนท์มหาเถระเจ้าได้แสดงธรรมีกถาปลุกปลอบบรรเทาจิตพุทธบริษัทให้เสื่อมสร่างจากความเศร้าโศกตามควรแก่วิสัยและควรแก่เวลา

ครั้นสว่างแล้ว พระอนุรุทธะมหาเถระเจ้าก็มีเถระบัญชาให้พระอานนท์รีบเข้าไปในเมืองกุสินารา แจ้งข่าวการปรินิพพานของพระพุทธเจ้าแก่มัลลกษัตริย์ทั้งหลาย เมื่อมัลลกษัตริย์ได้สดับข่าวปรินิพพานกำสรดโศกด้วยอาลัยในพระบรมศาสดาเป็นกำลัง จึงดำรัสสั่งให้ประกาศข่าวปรินิพพานแก่ชาวเมืองให้ทั่วพระนครกุสินารา แล้วนำเครื่องสักการบูชานานาสุคนธชาติพร้อมด้วยผ้าขาว ๕๐๐ พับ เสด็จไปยังอุทยานสาลวันทำการสัการบูชาพระสรีระพระบรมศาสดาด้วยบุปผามาลัยสุคันธชาติเป็นอเนกประการ

มวลหมู่มหาชนเป็นอันมากแม้จะอยู่ในที่ไกล เมื่อได้ทราบข่าวการปรินิพพานของพระบรมศาสดา ต่างก็ถือนานาสุคนธชาติมาสักการบูชามากมายสุดจะคณา เวลาค่ำก็ตามชวาลาสว่างไสวทั่วทั้งสาลวัน ประชาชนต่างพากันมาไม่ขาดสายตลอดเวลา ๖ วันไม่มีหยุด พากันรีบรุดมาทำการสักการบูชาด้วยความเลื่อมใส ถวายความเคารพอันสูงในพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

ครั้นวันที่ ๗ ได้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพขึ้นประดิษฐานบนเตียงมาลาอาสน์ ซึ่งตกแต่งด้วยอาภรณ์อันวิจิตร แล้วเคลื่อนขบวนอัญเชิญไปโดยทางทิศอุดรเข้าไปภายในพระนครกุสินารา ประชาชนพากันสโมสรเข้าขบวนแห่ตามพระพุทธสรีระศพสุดประมาณ เสียงดุริยางค์ดนตรีแซ่ประสานกับเสียงมหาชนดังสนั่นลั่นโกลาหลเป็นอัศจรรย์ ทั้งดอกไม้ทิพย์มณฑารพ ดอกไม้อันเป็นของทิพย์ในสรวงสวรรค์ ตกโปรยปรายละลิ่วลงจากฟากฟ้า ดาดาษทั่วเมืองกุสินารา ร่วงหล่นลงมาสักการบูชาพระบรมศาสดา ขบวนมหาชนอัญเชิญพระพุทธสรีระศพได้ผ่านไปในวิถีทางท่ามกลางพระนครกุสินารา ประชาชนทุกถ้วนหน้าพากันสักการบูชาทั่วทุกสถาน ตลอดทางที่พระพุทธสรีระศพแห่ผ่านไปตามลำดับ

ครั้นเมื่อขบวนอัญเชิญผ่านมาถึงหน้าบ้านของนางมัลลิกา ผู้เป็นภรรยาของท่านพันธุละเสนาบดีซึ่งล่วงลับไปแล้ว นางมัลลิกาได้ขอร้องแสดงความประสงค์จะบูชาด้วยอาภรณ์มหาลดาปสาธน์อันสูงค่ามหาศาล มหาชนผู้อัญเชิญพระพุทธสรีระศพก็วางเตียงมาลาอาสน์ลง นางมัลลิกาถวายอภิวาทเชิญเครื่องมหาลดาปสาธน์มาสวมพระพุทธสรีระศพเป็นเครื่องบูชา ขณะนั้นพระพุทธสรีระศพก็งามโอภาสเป็นที่เจริญตาเจริญใจ แล้วมหาชนก็อัญเชิญพระพุทธสรีระศพเคลื่อนจากที่นั้นออกจากประตูเมืองทางทิศบูรพาไปสู่กุฎพันธเจดีย์

ครั้นถึงยังจิตกาธานอันสำเร็จด้วยไม้จันทน์หอมงามวิจิตร ก็จัดการห่อพระพุทธสรีระศพด้วยทุกุลพัสตร์ภูษา ๕๐๐ ชั้น แล้วก็อัญเชิญลงประดิษฐานในหีบทองบนพระจิตกาธาน ทำการสักการบูชาแล้วกษัตริย์มัลลราชทั้ง ๘ องค์ผู้เป็นประธานกษัตริย์ทั้งปวง ก็นำเอาเพลิงจุดเพื่อถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระศพพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่พระเพลิงก็ไม่ติดตามประสงค์ แม้จะพยายามจุดเท่าใดก็ไม่บรรลุผล มัลลกษัตริย์มีความสงสัยจึงได้เรียนถามพระอนุรุทธะมหาเถระเจ้าว่า "ข้าแต่ท่านพระอนุรุทธะ ด้วยเหตุใดเพลิงจึงไม่ติดโพลงขึ้น"

พระอนุรุทธะมหาเถระกล่าวตอบว่า

"เทวดาต้องการให้คอยท่านพระมหากัสสะเถระ หากยังมาไม่ถึงตราบใด ไฟจะไม่ติดตราบนั้น ขณะนี้พระมหากัสสะเถระกำลังเดินทางมาใกล้จะถึงอยู่แล้ว"

เวลานั้นพระมหากัสสปะเถระเจ้าพาภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ เดินทางจากเมืองปาวามายังเมืองกุสินารา ครั้นถึงยังพระจิตกาธานที่ประดิษฐานพระพุทธสรีระศพพระบรมศาสดาแล้ว ก็ทำจีวรเฉวียงบ่า ประคองอัญชลี กระทำประทักษิณเวียนพระจิตกาธานสามรอบแล้ว เข้าสู่ทิศเบื้องพระยุคคลบาท น้อมถวายอภิวาทและตั้งอธิฐานจิต

ครั้นพระมหากัสสปะเถระเจ้ากับพระสงฆ์บริวาร ๕๐๐ และมหาชนทั้งหลาย กราบนมัสการพระบรมยุคลบาทโดยควรแล้ว ขณะนั้นเสียงโศกาปริเทวนาการของมวลเทพยดาและมนุษย์ซึ่งได้หยุดสร่างสะอื้นแล้วแต่ต้นวัน ก็ได้พลันดังสนั่นขึ้นอีกเสมอด้วยวันเสด็จดับขันธปรินิพพาน

ขณะนั้น เตโชธาตุก็บันดาลติดพระจิตกาธานขึ้นเองด้วยอานุภาพเทพยดา เพลิงได้ลุกพวยพุ่งโชตนาเผาพระพุทธสรีระศพ พร้อมคู่ผ้า ๕๐๐ ชั้น และเครื่องอาภรณ์มหาลดาปสาธน์ กับหีบทองและพระจิตกาธานจนหมดสิ้น ยังมีสิ่งซึ่งเพลิงมิได้เผาให้ย่อยยับไปด้วยอานุภาพพุทธอธิฐาน ดังนี้ ผ้าห่อหุ้มพระสรีระชั้นใน ๑ ผืน ผ้าห่อหุ้มพระพุทธสรีระภายนอก ๑ ผืน ทั้งสองนี้แตกกระจัดกระจาย ส่วนพระเขี้ยวแก้วทั้ง ๔ พระรากขวัญ (ไหปลาร้า) ทั้ง ๒ และพระอุณหิสปัฎ (กระบังหน้า) ๑ พระบรมธาตุทั้ง ๗ นี้ยังปกติดีมิได้แตกกระจัดกระจาย



มีต่อ >>> ๏ พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 11:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ พระสถูปเจดีย์บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ

พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้าถูกตวงด้วยทะนานทอง ถวายแก่กษัตริย์ทั้ง ๘ พระนคร คือ

๑. พระเจ้าอชาตศัตตุราช ผู้ครองนครราชคฤห์ แคว้นมคธ
๒. พระเจ้าลิจฉวี ผู้ครองนครพระนครไพศาลี แคว้นวัชชี
๓. พระเจ้ามหานาม ผู้ครองนครกบิลพัสดุ์ แคว้นสักกะ
๔. พระเจ้าฐลิยราช ผู้ครองนครอัลลกัปปนคร
๕. พระเจ้าโกลิยราช ผู้ครองนครนครรามคาม แคว้นโกลิยะ
๖. พระเจ้ามัลลราช ผู้ครองเมืองปาวานคร แคว้นมัลละ
๗. มหาพราหมณ์ ผู้ครองเมืองเวฏฐทีปกนคร
๘. กษัตริย์มัลลราช ผู้ครองนครกุสินารา แคว้นมัลละ

พระบรมสารีริกธาตุซึ่งตวงด้วยทะนานทองทั้งหมด ๑๘ ทะนาทด้วยกัน โดยแบ่งให้กษัตริย์ทั้ง ๘ พระนคร ได้พระนครละ ๒ ทะนานเท่าๆ กัน บรรดากษัตริย์ทั้งหลายเมื่อได้รับส่วนแบ่งบรมสารีริกธาตุแล้ว ต่างองค์ต่างกันจัดขบวนอันมโหฬาร อัญเชิญพระบรมสารีริกธาตุไปยังพระนครของตนด้วยเกียรติยศอันสูง แล้วให้ก่อพระสถูปเจดีย์ขึ้นบรรจุพระบรมสารีริกธาตุไว้เป็นที่สักการบูชาของมหาชน จึงปรากฏว่ามีพระสถูปเจดีย์ที่บรรจุพระบรมสารีริกธาตุ ดังนี้

๑. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองราชคฤห์
๒. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองไพศาลี
๓. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองกบิลพัสดุ์
๔. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองอัลลกัปปนคร
๕. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองรามนคร
๖. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองเวฏฐาทีปนคร
๗. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองปาวานคร
๘. พระธาตุเจดีย์ ที่เมืองกุสินารานคร

นอกจากนั้น กษัตริย์แห่งเมืองโมรีนครซึ่งเดินทางมาถึงภายหลังได้ประชุมแบ่งปันพระสารีริรธาตุกันหมดสิ้นแล้ว ได้อัญเชิญพระอังคาร (ถ่านเถ้าที่ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ) ไปสักการบูชาที่พระสถูปเจดีย์ในพระนครของตน คือ

๙. พระอังคารเจดีย์ ที่เมืองโมรีนนคร

ส่วนทะนานทองที่ใช้ตวงพระบรมสารีริกธาตุซึ่งโทณพราหมณ์เป็นผู้สร้างนั้น ได้ถูกบรรจุไว้ในเมืองต่างๆ ดังนี้

๑. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนขวา กับ พระรากขวัญเบื้องขวา ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในพระจุฬามณีเจดีย์สถาน ณ ดาวดึงสเทวโลก

๒. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำขวา เดิมไปประดิษฐาน ณ เมืองกาลิงคราฐ แต่บัดนี้ไปสถิตอยู่ในลังกาทวีป

๓. พระเขี้ยวแก้วเบื้องบนซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ ณ เมืองคันธารราฐ

๔. พระเขี้ยวแก้วเบื้องต่ำซ้าย ไปประดิษฐานอยู่ในนาคพิภพ

๕. พระรากขวัญเบื้องซ้าย กับ พระอุณหิสปัฏ ขึ้นไปประดิษฐานอยู่ในทุสสเจดีย์ ณ พรหมโลก

ส่วน พระทนต์ (ฟัน) ทั้ง ๓๖ และพระเกศา (ผม) พระโลมา (ขน) กับพระนขา (เล็บ) ทั้ง ๒๐ นั้นเทพยดาอัญเชิญไปองค์ละองค์สู่จักรวาลต่างๆ

ส่วนพระบริขารพุทธบริโภคทั้งหลายนั้นได้กล่าวถึงไปแล้วในหัวข้อ

"เจดีย์และสถูปสำคัญเกี่ยวกับพระพุทธเจ้า"



มีต่อ >>> ๏ สังคายนา ๕ ครั้ง

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 16:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ สังคายนา ๕ ครั้ง

การสังคายนา หมายถึง การประชุมตรวจชำระสอบทานและจัดหมวดหมู่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า วางลงเป็นแบบแผนอันหนึ่งอันเดียวกัน การสังคายนาพระพุทธศาสนา ครั้งที่ ๑ ถึง ครั้งที่ ๕ มีความเป็นมาดังนี้

สถานการณ์พระพุทธศาสนาบางอย่าง มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ก่อนพุทธปรินิพพาน ซึ่งตอนปลายพุทธสมัยมีเหตุการณ์ที่น่าสนใจหลายประการ เช่น

พระมหาเถระผู้ใหญ่อย่าง พระสารีบุตรเถระ พระโมคคัลลานะเถระ เป็นต้น ได้นิพพานไปก่อนการปรินิพพานของพระพุทธเจ้า ทำให้โฉมหน้าพระพุทธศาสนาเปลี่ยนแปลงไป เพราะตามหลักฐานในจาตุมสูตร พระพุทธเจ้าทรงยกย่องพระอัครสาวกทั้งสองว่า อยู่ในฐานะที่จะบริหารคณะสงฆ์เสมอด้วยพระองค์ หากพระอัครสาวกทั้งสองไม่นิพพานไปก่อน ระบบการปกครองอาจจะเป็นแบบของศาสนาคริสต์ก็ได้

เมื่อพระอัครสาวกทั้งสองนิพพานไปแล้ว พระมหาเถระรูปอื่นไม่ได้รับยกย่องในฐานะดังกล่าว รูปแบบการปกครองพระพุทธศาสนาจึงต้องให้พระสงฆ์ยึดถือพระธรรมวินัยที่พระองค์ทรงบัญญัติแสดงแล้ว เป็นศาสดาแทนพระองค์อย่างที่เป็นอยู่

ฝ่ายคฤหัสถ์ที่มีบทบาทสำคัญในการอุปถัมภ์บำรุงพระพุทธศาสนา เช่น พระเจ้าพิมพิสาร พระเจ้าปเสนทิโกศล พระเจ้าสุทโธทนะได้สวรรคตและนิพพานไปก่อนไม่นานนัก ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี นางอุตราอุบาสิกา เป็นต้น ก็ได้สิ้นชีวิตไปก่อนพระพุทธเจ้า ทำให้ผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาขาดไปหลายท่าน

พระพุทธศาสนาได้เผยแผ่ออกไปไกลมาก ทำให้การติดต่อสอบถามความรู้ความเข้าใจในพระธรรมวินัยไม่สะดวกเท่าที่ควร ทั้งคนที่เข้ามาบวชก็มีเจตนาแตกต่างกัน ทำให้เรื่องเสื่อมเสียบางอย่างเกิดขึ้น และมีคนบางพวกที่ต้องการเป็นพระ แต่ไม่ยินดีที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัย คนเหลานั้นได้แสดงความคิดเห็นของตนออกมาในโอกาสต่างๆ แต่ความแตกแยกอย่างรุนแรงคงไม่เกิดขึ้นหรือถึงแม้จะเกิดขึ้นก็สามารถระงับลงไปได้ ทั้งนี้มิได้หมายความว่า คนพวกนี้จะหมดไปก็หาไม่ เป็นเพียงสงบอยู่ชั่วคราวเท่านั้นเอง

พระเถระทั้งหลายในสมัยพุทธกาลและหลังพุทธกาล มีความรับผิดชอบต่อพระพุทธศาสนาสูง ได้พยายามรักษาป้องกันพระธรรมวินัยไว้ด้วยวิธีการต่างๆ เช่น พระจุนทเถระ ปรารภการนิรวาณของท่านมหาวีระจนสาวกแตกแยกกันเป็นสองฝ่าย ได้เสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยจนพระสารีบุตรเถระได้รับพุทธานุมัติให้จัดทำ แต่ทำไม่สำเร็จเพราะท่านนิพพานเสียก่อน

หลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพพานเพียง ๗ วัน คนที่ต้องการเป็นพระในพระพุทธศาสนา แต่ไม่ยินดีที่จะปฏิบัติตามพระธรรมวินัยก็แสดงตัวออกมา จนเป็นเหตุนำไปสู่สังคายนาครั้งที่ ๑



การสังคายยานาครั้งที่ ๑
หลังพุทธปรินิพาน ๓ เดือน
ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต
เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ


การสังคายนาครั้งที่ ๑ ปรารภเรื่องสุภัททะภิกษุ ผู้บวชเมื่อแก่ ได้กล่าวจ้วงจาบพระธรรมวินัย และปรารถที่จะทำให้พระธรรมรุ่งเรืองอยู่สืบไป พระอรหันต์ ๕๐๐ รูป มีพระมหากัสสปะเป็นประธานและเป็นผู้ถาม พระอุบาลีเป็นผู้วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์เป็นผู้วิสัชนาพระธรรม ประชุมสังคายนาที่ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ เมื่อหลังพุทธปรินิพพาน ๓ เดือน โดยพระเจ้าอชาตศัตรูเป็นศาสนูปถัมภก์ สิ้นเวลา ๗ เดือนจึงเสร็จ

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธปรินิพพานผ่านไปได้ ๗ วัน พระมหากัสสปะเถระพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ ๕๐๐ รูป ได้ทราบจากปริพาชกท่านหนึ่งว่า พระพุทธเจ้าเสด็จปรินิพพานได้ ๗ วันแล้ว ขณะที่ท่านและภิกษุสงฆ์ทั้งหลายเดินทางจากเมืองปาวาใกล้มาถึงนครกุสินารา ภิกษุทั้งหลายเมื่อได้ทราบข่าวต่างก็แสดงตัวออกมาแตกต่างกันคือ

ท่านที่เป็นพระอริยบุคคล มีสติอดกลั้นด้วยคิดว่า สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง คนจะได้สิ่งที่เที่ยงจากสังขารทั้งหลายไม่มี ฝ่ายท่านที่ยังมีราคะ โทสะ โมหะ อยู่ได้แสดงความเศร้าโศกเพราะปิยวิปโยคอย่างหนักว่า "พระผู้มีพระภาคเจ้าปรินิพพานเร็วนัก พระสุคตเสด็จปรินิพพานเร็วนัก จักษุแห่งโลกหายไปจากโลกเร็วนัก"

ในขณะที่พระอริยบุคคลทั้งหลายได้แสดงความจริงแห่งสังขาร เพื่อให้ภิกษุเหล่านั้นยอมรับตามพระพุทธดำรัสความว่า "ท่านทั้งหลายอย่าเศร้าโศกร่ำไรไปเลย พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสไว้ก่อนแล้วมิใช่หรือว่า ความเป็นต่างๆ ความเว้น ความเป็นอย่างอื่นจากสัตว์และสังขารที่รักที่ชอบใจทั้งปวง ย่อมไม่อาจจะหาสิ่งที่เที่ยงจากสังขารทั่งหลาย สิ่งใดเกิดมาแล้วมีแล้ว อันปัจจัยปรุงแต่งแล้ว ต้องมีความแตกสลายไปเป็นธรรมดา การที่เราจะปรารถนาว่า ขอสิ่งนั้นอย่าสลายเลย ไม่เป็นฐานะที่จะมีได้"

เวลานั้นมีภิกษุรูปหนึ่งบวชเมื่อแก่ชื่อ สุภัททะ มีจิตดื้อด้านด้วยสันดานพาลชน เป็นอลัชชีมืดมนย่อหย่อนในพระธรรมวินัย กลับกล่าวขึ้นว่า "พวกเราพ้นจากมหาสมณะนั้นด้วยดีแล้ว เพราะเมื่อก่อนท่านได้เบียดเบียนเรา ด้วยการตักเตือนว่า นี่ควร นี่ไม่ควร สำหรับพวกเธอทั้งหลาย บัดนี้พวกเราสบายแล้ว พวกเราต้องการทำสิ่งใดก็ทำสิ่งนั้น ไม่ต้องการทำสิ่งใดก็ไม่ทำสิ่งนั้น"

คำพูดของสุภัททะภิกษุถือว่าเป็นการกล่าวจ้วงจาบขาดความเคารพต่อพระธรรมวินัย ทั้งๆ ที่ตนเองเป็นพุทธสาวก เสมือนผู้แสดงตนเป็นขบถต่อพระพุทธศาสนา แต่เนื่องจากเป็นเวลาที่ใกล้ถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระ พระมหากัสสปะจึงไม่ได้กล่าวอะไรในขณะนั้น

หลังจากถวายพระเพลิงพระพุทธสรีระแล้ว พระมหากัสสปะเถระจึงนำเรื่องนี้เข้าที่ประชุมสงฆ์ พร้อมกับเสนอให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัย โดยให้เหตุผลว่าถ้าปล่อยนานไป "สิ่งที่ไม่ใช่ธรรมไม่ใช่วินัยจักเจริญ สิ่งที่เป็นธรรมเป็นวินัยจะเสื่อมถอย พวกอธรรมวาที อวินัยวาทีจักเจริญ ฝ่ายธรรมวาทีวินัยวาทีจะเสื่อมถอย"

นอกจากนี้พระมหากัสสปะเถระยังมีเหตุผลส่วนตัวท่าน ที่จะต้องพิทักษ์ศาสนธรรมอันเป็นตัวแทนของพระศาสดาไว้ คือ ท่านได้รับยกย่องจากพระพุทธเจ้าว่า มีธรรมเครื่องอยู่เสมอด้วยพระองค์ และทรงเปลี่ยนผ้าสังฆาฏิของพระองค์กับท่าน อันเปรียบเหมือนพระเจ้าจักพรรดิทรงเปลื้องเกราะมอบให้แก่เชฏฐโอรส เพื่อเป็นเครื่องหมายว่าพระราชโอรสจะเป็นผู้รับผิดชอบราชการแผ่นดินต่อไป หลังจากพระองค์สวรรคตไปแล้ว ฐานะที่ทรงยกย่องพระมหากัสสปะเถระทั้ง ๒ นี้ไม่เคยยกย่องพระสาวกรูปอื่นเลย

ในที่สุดมติที่ประชุมของเถระทั้งหลายในคราวนั้น กำหนดให้มีการสังคายนาพระธรรมวินัยโดยใช้การสงฆ์ (สงฆ์ผู้กระทำ) ๕๐๐ รูปเป็นพระอรหันต์ล้วนๆ เพื่อประกอบกันเป็นพระสังคีติกาจารย์ และกำหนดให้ทำสังคายนาที่สัตตบรรณคูหา ข้างเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ เมื่อพระมหากัสสปะเถระเลือกพระอรหันต์ทั้งหลายอยู่นั้น เลือกไปได้ครบ ๔๙๙ รูป ก็เกิดปัญหาคือสังคายนาครั้งนี้จะขาดพระอานนท์เถระไม่ได้ เพราะท่านทรงจะพระธรรมวินัยได้ทั้งหมด แต่ถ้าจะเลือกท่านเข้าร่วมด้วยผิดมติที่ประชุมเพราะท่านยังเป็นพระโสดาบันอยู่ ในที่สุดประชุมจึงเสนอให้พระมหากัสสปะเถระเลือกพระอานนท์เถระเข้าไปด้วยโดยให้เหตุผลว่า

แม้พระอานนท์เถระจะเป็นพระเสขบุคคล (พระอริยบุคคลที่ยังไม่บรรลุอรหัตตผล เป็นผู้ยังต้องศึกษา) แต่ท่านไม่ลำเอียงด้วยอคติ ๔ ประการ พระอานนท์เถระเป็นเหมือนคลังพระสัทธรรม (ธรรมที่ดี ธรรมที่แท้) เพราะได้สดับจากพระพุทธเจ้ามากกว่าพระเถระทั้งหลายเป็นอันมาก

พระมหากัสปะเถระจึงเลือกพระอานนท์เถระเข้าร่วมในการสังคายนา และประกาศด้วยญัตติทุติยกรรมวาจาให้พระสงฆ์ทั้งปวงยอมรับมติ ๓ ประการ คือ

๑. ยอมรับให้พระเถระจำนวน ๕๐๐ รูป ที่คัดเลือกตามมติสงฆ์เป็นพระสังคีติกาจารย์ มีหน้าที่ในการสังคายนาพระธรรมวินัย ภูเขาเวภารบรรพต

๒. ใช้ถ้ำสัตตบรรณคูหา ภูเขาเวภารบรรพต กรุงราชคฤห์ เป็นที่ทำสังคายนา

๓. ห้ามพระอื่นนอกจากพระสังคีติกาจารย์เข้าจำพรรษาในกรุงราชคฤห์ เพื่อสะดวกแก่การบิณฑบาต และป้องกันผู้ไม่หวังดีทำอันตรายต่อการสังคายนา

เมื่อพระสงฆ์ทั้งปวงลงมติยอมรับเป็นเอกฉันท์แล้ว พระสังคีติกาจารย์ทั้งหลายก็เดินทางเข้ากรุงราชคฤห์ ขอพระบรมราชูปถัมภ์จากพระเจ้าอชาตศัตรู เรื่องการซ่อมวิหาร ๑๘ ตำบล สร้างสถานที่ทำสังคายนา ซึ่งพระเจ้าอชาตศัตรูทรงรับภาระเกี่ยวกับด้านราชอาณาจักรทุกประการ พระอานนท์เถระได้บำเพ็ญเพียรจนบรรลุอรหัตก่อนการทำสังคายนา จึงเป็นอันว่าการทำสังคายนาในคราวนั้นทำโดยพระอรหันต์ล้วนทั้ง ๕๐๐ องค์ โดยเริ่มลงมือทำหลังจากพระพุทธเจ้าปรินิพานแล้วได้ ๓ เดือน พระมหากัสสปะทำหน้าที่ปุจฉาพระวินัยและพระธรรม พระอุบาลีเถระกับพระอานนท์เถระทำหน้าที่วิสัชชนาพระวินัยและพระธรรมตามลำดับ โดยที่ประชุมกำหนดให้สังคายนาพระวินัยก่อน เพราะถือว่าพระวินัยเป็นรากแก้วของพระพุทธศาสนา เมื่อพระวินัยยังดำรงอยู่ พระพุทธศาสนาย่อมชื่อว่าดำรงอยู่

ในชั้นแรก พระมหากัสสปะเถระ พระอุบาลีเถระ พระอานนท์เถระ ได้ประกาศสวดสมมติตน เพื่อทำหน้าที่ปุจฉาและวิสัชชานาพระวินัยและพระธรรม ตามหน้าที่ซึ่งได้รับมอบหมายจากสงฆ์ ต่อแต่นั้นพระมหากัสสปะเถระจะสอบถามพระวินัยแต่ละข้อในส่วนที่เกี่ยวกับสัตถุนิทาน บุคคล บัญญัติ อนุบัญญัติ อาบัติ อนาบัติ เป็นต้น แห่งสิกขาบทแต่ละสิกขาบท เมื่อพระอุบาลีตอบไปตามลำดับแล้ว พระสงฆ์ที่ประชุมกันจะสวดพระวินัยข้อนั้นๆ พร้อมกัน เมื่อตรงกันไม่ผิดพลาดแล้วสงฆ์รับว่าถูกต้อง จึงถามข้ออื่นต่อไป ทำกันโดยนัยนี้จนจบ พระวินัยปิฎกแบ่งเป็นหมวดใหญ่ได้ ๕ หมวด คือ ทิกกรรม ปาจิตตีย์ มหาวรรคจุลวรรค และบริวาร (ปัจจุบันพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือขนาดใหญ่ถึง ๘ เล่ม เรียกว่า เป็นหัวใจพระวินัยว่า อา.ปา.ม.จุ.ป.)

ในด้านพระสูตรนั้นท่านเริ่มสังคายนาจากพระสูตรขนาดยาวก่อน คือ พรหมชาลสูตร สามัญญผลสูตร เป็นต้น สิ่งที่พระมหากัสสปะเถระถาม คือ นิทาน บุคคล เนื้อหาแห่งพระสูตรนั้น เมื่อพระอานนท์เถระตอบแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็สาธยายพระสูตรนั้นๆ พร้อมกันจนจบพระสูตรทั้งหมด โดยแบ่งออกเป็น ๕ นิกาย การสังคายนาครั้งนี้ใช้เวลาถึง ๗ เดือนจึงสำเร็จ หลังจากเสร็จการสังคายนาแล้วพระอานนท์เถระได้แจ้งให้สงฆ์ทราบว่า ก่อนจะปรินิพาพานพระพุทธเจ้ารับสั่งไว้ว่า "เมื่อเราล่วงไป สงฆ์ยังอยู่ จะพึงถอนสิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ เสียบ้างก็ได้"

แต่พระอานนท์เถระไม่ได้กราบทูลว่า สิกขาบทเล็กๆ น้อยๆ นั้นคือสิกขาบทอะไรบ้าง กับสงฆ์ไม่อาจหาข้อยุติได้ว่า สิกขาบทเช่นไรชื่อว่าเล็กน้อย พระมหากัสสปะเถระจึงเสนอเป็นญัตติในที่ประชุมว่าด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ความว่า

- สิกขาบททั้งหลายบางอย่างก็เกี่ยวกับชาวบ้าน ชาวบ้านย่อมทราบว่า อะไรควรหรือไม่ควรสำหรับสมณศากยบุตรทั้งหลาย

- หากจะถอนสิกขาบทบางข้อ ชาวบ้านจะตำหนิว่าพวกเราศึกษาและปฏิบัติตามสิกขาบททั้งหลาย ในขณะที่พระศาสดายังดำรงพระชนม์อยู่เท่านั้น พอพระศาสนานิพพานก็ไม่ใส่ใจที่จะปฏิบัติ

- ขอให้สงฆ์ทั้งปวงอย่าเพิกถอนสิกขาบทที่ทรงบัญญัติไว้ และอย่าได้บัญญัติสิ่งที่พระพุทธเจ้ามิได้ทรงบัญญัติไว้ สมาทานศึกษาตามสิกขาที่ทรงบัญญัติไว้เท่านั้น



มีต่อ >>> การสังคายนา ครั้งที่ ๒

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 พ.ค. 2010, 16:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


การสังคายนาครั้งที่ ๒
เมื่อพุทธศักราช ๑๐๐
ณ วาลิการาม เมืองเวสาลี แคว้นวัชชี


การสังคายนาครั้งที่ ๒ ปรารถพวกภิกษุวัชชีบุตรแสดงวัตถุ ๑๐ ประการนอกธรรมนอกวินัย พระยศกากัณฑกบุตรเป็นผู้ชักชวน ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้วิสัชนา ได้พระอรหันต์ ๗๐๐ รูป พระเรวตะเป็นผู้ถาม พระสัพพกามีเป็นผู้สิสัชนาประชุมทำที่วาลิการามหรือวาลุการาม เมืองเวสาลี เมื่อุทธศักราช ๑๐๐ โดยพระกาลาโศกราชเป็นศาสนูปภัมภก์ สิ้นเวลา ๘ เดือนจึงเสร็จ

หลังจากพระพุทธเจ้าได้เสด็จดับขันธปรินิพพานผ่านไปได้ ๑๐๐ ปี พระภิกษุที่จำพรรษาในเมืองเวสาลี ได้ประพฤติผิดวินัย ๑๐ ประการ เรียกว่าวัตถุ ๑๐ ประการคือ

๑. ภิกษุจะเก็บเกลือไว้ในเขนง (ภาชนะที่ทำด้วยเขาสัตว์) แล้วนำไปฉันปนกับอาหารได้

๒. ภิกษุจะฉันอาหารหลังจากตะวันบ่ายผ่านไปเพียง ๒ องคุลี

๓. ภิกษุฉันภัตตาหารในวัดเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้วเข้าไปสู่บ้านจะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนและไม่ได้ทำวันัยกรรมตามพระวินัยได้

๔. ในอาวาสเดียวมีสีมาใหญ่ ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถได้

๕. ในเวลาทำอุโบสถ แม้ว่าพระจะเข้าประชุมยังไม่พร้อมกันจะทำอุโบสถไปก่อนได้ โดยให้ผู้มาทีหลังขออนุมัติเอาเองได้

๖. การประพฤติปฏิบัติตามพระอุปัชฌายะอาจารย์ ไม่ว่าจะผิดหรือถูกพระวินัยก็ตาม ย่อมเป็นการกระทำที่สมควรเสมอ

๗. นมส้มที่แปรมาจากนมสดแต่ยังไม่กลายเป็นทธิ (นมเปรี้ยว) ภิกษุฉันภัตตาหารเสร็จแล้ว ห้ามภัตแล้ว จะฉันนมนั้นทั้งที่ยังไม่ได้ทำวินัยกรรม หรือทำให้เดนตามพระวินัยก็ได้

๘. สุราที่ทำใหม่ๆ ยังมีสีแดง เหมือนสีเท้านกพิราบ ยังไม่เป็นสุราเต็มที่ ภิกษุจะฉันก็ได้

๙. ผ้าปูนั่งคือนิสีทนะอันไม่มีชาย ภิกษุจะบริโภค ใช้สอยก็ได้

๑๐. ภิกษุรับและยินดีในทองเงินที่เขาถวายหาเป็นอาบัติไม่

ต่อมาพระเถระอรหันต์ รูปหนึ่งชื่อพระยสกากัณฑกบุตร จากเมืองโกสัมพีได้ไปที่เมืองเวสาลี ได้พบเห็นพระภิกษุวัชชีบุตรชาวเมืองเวสาลี นำถาดทองสำริดเต็มด้วยน้ำ นำมาวางไว้ที่โรงอุโบสถ แล้วประกาศเชิญชวนให้ชาวบ้านบริจาคเงินใส่ลงในถาดนั้น โดยบอกว่าพระมีความต้องการด้วยเงินทอง แม้พระยสเถระจะห้ามปรามไม่ให้มีการถวายเงินทองในทำนองนั้น พระภิกษุวัชชีบุตรก็ไม่เชื่อฟังชาวบ้านเองก็คงถวายตามที่เคยปฏิบัติมา พระเถระจึงตำหนิทั้งพระวัชชีบุตรและชาวบ้าน ที่ถวายเงินทองและรับเงินทองในลักษณะนั้นเมื่อพระภิกษุวัชชีบุตรได้รับเงินแล้ว นำมาแจกกันตามลำดับพรรษานำส่วนของพระยสการัณฑบุตรมาถวายท่าน พระเถระไม่ยอมรับและตำหนิอีก

ภิกษุวัชชีบุตรไม่พอในที่พระเถระไม่ยอมรับตำหนิ จึงประชุมกันฉวยโอกาสลงปฏสาราณียกรรม คือการลงโทษให้ไปขอขมาคฤหัสถ์โดยกล่าวว่าพระเถระรุกรานชาวบ้าน ซึ่งพระเถระก็ยิยยอมไปขอขมาโดยนำภิกษุอนุฑูตไปเป็นพยานด้วย เมื่อไปถึงสำนักของอุบาสก พระเถระได้ชี้แจงพระวินัยให้ฟัง และบอกให้ชาวบ้านเหล่านั้นทราบว่า การกระทำของพระภิกษุวัชชีบุตรเป็นความผิด โดยยกเอาพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าทรงไว้ความว่า

"พระจันทร์และพระอาทิตย์ไม่ได้ร้อนแรงและรุ่งเรืองด้วยรัศมีเพราะโทษมลทิน ๔ ประการ คือ หมอก ควัน ธุลี และอสุรินทราหู กำบังฉันใด ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ จะไม่มีตบะรุ่งเรืองด้วยศีล เพราะโทษมลทิน ๔ ประการปิดบังไว้ คือ ดื่มสุราเมรัย เสพเมถุนธรรม ยินดีรับเงินและทองอันเป็นเหมือนภิกษุนั้นยินดีบริโภคซึ่งกามคุณ และภิกษุเลี้ยงชีพในทางมิชอบด้วย เวชชกรรม กุลทูสกะ (ประจบเอาใจคฤหัสถ์ด้วยอาการอันผิดวินัย) อเนสนา (การหาลี้ยงชีพในทางที่ไม่สมควรภิกษุ) และวิญญัติ (ขอสิ่งของต่อคฤหัสถ์ผู้ที่ไม่ญาติ ผู้ไม่ใช่คนปวารณา) พร้อมด้วยกล่าวอวดอตตริมนุษย์ธรรม อันไม่มีจริง"

เมื่อพระยสกากัณฑกบุตรชี้แจง ให้อุบาสกอุบาสิกาเข้าใจแล้ว คนเหล่านั้นเกิดความเลื่อมใสพระเถระ อาราธนาให้ท่านอยู่จำพรรษา ณ วาลการาม โดยพวกเขาจะอุปฐากบำรุงและได้อาศัยท่านบำเพ็ญกุศลต่อไป ฝ่ายภิกษุที่เป็นอนุฑูตไปกับพระเถระ ได้กลับมาแจ้งเรื่องทั้งปวงให้ภิกษุวัชชีบุตรทราบ ภิกษุวัชชีบุตรจะใช้พวกมากบีบบังคับพระเถระด้วยการลงอุปเขปนียกรรม (ตัดสิทธิแห่งภิกษุชั่วคราว) แก่ท่านได้พากันยกพวกไปล้อมกุฏิของพระเถระ แต่พระเถระทราบล่วงหน้าเสียก่อนจึงได้หลบออกไปจากที่นั้น

พระยาสกากัณฑกบุตรพิจารณาเห็นว่า เรื่องนี้หากปล่อยไว้เนิ่นนานไป พระธรรมวินัยจะเสื่อมถอยลง พวกอธรรมวาทีอวินัยวาทีได้พวกแล้วจักเจริญขึ้น จึงได้ไปเมองปาฐา เมืองอวันตี และทักขิณาบถแจ้งให้พระที่อยู่ในเมืองนั้นๆ ทราบ เพื่อจะได้ร่วมกันแก้ไข และได้ไปเรียนให้พระสาณสัมภูตวาสี ซึ่งพำนักอยู่ ณ อโหคังคบบรรพตทราบและขอการวินิจฉัยจากพระเถระ พระสาณสัมภูตวาสีมีความเห็นเช่นเดียวกับพระยาสกากัณฑกบุตรทุกประการ

ในที่สุดพระเถระอรหันต์จากเมืองปาฐา ๖๐ รูป จากแคว้นอวัตีและทักขิณาบถ ๘๐ รูป ได้ประชุมร่วมกับพระสาณสัมภูตวาสีและพระยสกากัณฑกบุตร ณ อโหคังคบพรรพต มติของที่ประชุมเห็นร่วมกันว่าเรื่องนี้จะต้องมีการชำระกันให้เรียบร้อย โดยตกลงให้ไปอาราธนาพระเรวตเถระ ซึ่งเป้นพระอรหันต์ที่เป็นพหูสูตร ชำนาญในพระวินัยทรงธรรมวินัยมาติกาฉลาดเฉียบแหลม มีความละอายบาปรังเกียจบาปใคร่ต่อสิขาและเป็นนักปราชญ์ ให้เป็นประธานในการวินิจฉัยตัดสินเรื่องวัตถุ ทั้ง ๑๐ ประการนี้

พระสาณสัมภูตวาสีได้นำเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ เรียนถวายให้พระเรวตเถระทราบ และขอให้ท่านวินิจฉันทีละข้อ ปรากฏว่าทุกข้อที่ภิกษุวัชชีบุตรกระทำนั้น เป็นความผิดทางวินัยทั้งหมด จึงตกลงร่วมกันที่จะชำระเรื่องนี้ และจัดการสังคายนาพระธรรมวินัยทั้งหมด จึงตกลงร่วมกันที่จะชำระเรื่องนี้ และจัดการสังคายนาพระธรรมวินัยตามที่พระสังคีติกาจารย์ได้กระทำมาแล้วในคราวสังคายนา

ในที่สุดที่ประชุมของพระอรหันต์ทั้งหลายได้ตกลงกันว่า อธิกรณ์ (เรื่องที่สงฆ์ต้องดำเนินการ) เกิดขึ้นในที่ใด ควรไปจัดการระงับในที่นั้นโดยพระเรวตเถระได้ประกาศให้สงฆ์ทราบด้วยญัตติทุติยกรรมวาจา ขอให้สงฆ์ระงับอธิกรณ์ด้วยอพุพาหิกา คือ การยกอธิกรณ์ไปชำระในที่เกิดอธิกรณ์ สงฆได้คัดเลือกพระเถระ ๘ รูปคือ

- พระสัพพากามีเถระ พระสาฬหเถระ พระขุชชโสภิตเถระ พระวาสภคามีเถระ ทำหน้าที่แทนฝ่ายปราจีนคือพวกวัชชีบุตร ทำหน้าที่ในการวินิจฉัยอธิกรณ์

- พระเรวตเถระ พระสาณสัมภูตวาสี พระยสกากัณฑกบุตรเถระ พระสุมนเถระ เป็นตัวแทนฝ่ายเมืองปาฐา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายเมืองปาฐา ทำหน้าที่เป็นตัวแทนฝ่ายสงฆ์ธรรมวาที มีหน้าที่ในการเสนออธิกรณ์ต่อสงฆ์

สงฆ์ได้มอบหมายการสวดปาติโมกข์ การจัดแจงเสนาเสนะให้เป็นหน้าที่ของพระอชิตะ ซึ่งพรรษาได้ ๑๐ พรรษา และตกลงเลือกเอาวาลิการามหรือวาลุการาม เมืองเวสาลี อันเป้นที่เกิดเรื่องวัตถุ ๑๐ ประการ เป็นศิษย์ของพระอนุรุทธเถระ อีก ๖ รูป เป้นศิษย์ของพระอานนท์เถระซึ่งเป็นสังคีติกาจารย์สำคัญในราวปฐมสังคายนา

เมื่อพระเจ้ากาลาโศกราชรับสั่งให้พระสงฆ์ทัเง ๒ ฝ่ายประชุมร่วมกัน และขอให้แต่ละฝ่ายแถลงเหตุผลให้ทราบ ทรงโปรดในเหตุผลของฝ่ายพระอรหันต์ทั้งหลาย จึงปวารณาพระองค์ที่จะให้การอุปถัมภ์ฝ่ายอาณาจักรทุกประการ และโปรดให้ชำระมลทินพระศาสนา พร้อมด้วยการทำทุติยสังคายนา (การร้อยกรองพระธรรมวินัยครั้งที่ ๒) ที่วาลุการาม เมืองเวสาลี พระอรหันต์เข้าร่วม ๗๐๐ รูปโดยมีการทำตามลำดับดังนี้

๑. พระเถระที่ได้กำหนดหน้าที่กันฝ่ายละ ๔ รูปนั้น พระเรวตเถระเอาวัตถุ ๑๐ ประการขึ้นมาถามทีละข้อ พระสัพพากามีเถระได้ตอบไปตามลำดับว่า

๑.๑ การเก็บเกลือไว้ในแขนง โดยตั้งใจว่าจะใส่ลงในอาหารที่จืดฉันเป้นอาบัติปาจิตตีย์ (จัดไว้ในจำพวกอาบัติเบา พ้นได้ด้วยการแสดง) เพราะการสะสมอาหารตามโภชนสิกขาบท

๑.๒ การฉันโภชนะในเวลาวิกาลเมื่อตะวันบ่ายคล้อยไปแล้ว ถึง ๒ องคุลี ผิดต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันโภชนะในยามวิกาล

๑.๓ ภิกษุฉันอาหารเสร็จแล้วคิดว่าจักฉันอาหารเข้าไปในบ้านแล้วฉันโภชนะที่เป็นอนติริตตะ (อาหารซึ่งไม่เป็นเดน ที่ว่าเป็นเดนมี ๒ คือ เป็นเดนภิกษุไข้ ๑ เป็นของที่ภิกษุทำให้เป็นเดน ๑) ผิดเป็นอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารที่ไม่เป็นเดนภิกษุไข้ และไม่ได้ทำวินัยกรรมก่อน

๑.๔ สงฆ์ทำสังฆกรรมด้วยคิดว่าให้พวกมาทีหลังอนุมัติทั่งที่ยังประชุมไม่พร้อมหน้ากัน ผิดหลักที่ทรงบัญญัติไว้ในจัมเปยขันธกะ ใครขืนทำต้องอาบัติทุกกฎ

๑.๕ อาวาสแห่งเดียวมีสีมาเดียวเท่านั้น ภิกษุจะแยกกันทำอุโบสถสังฆกรรมไม่ได้ ผิดหลักที่สรงบัญญัติไว้ในอุปโบสถขันธกะ ใครขืนทำต้องอาบัติทุกกฎ

๑.๖ การประพฤติปฏิบัติด้วยความเข้าใจว่าอุปัชฌาย์อาจจารย์ของเราเคยประพฤติมาอย่างนี้ ไม่ถูกต้องนัก เพราะท่านเหล่านั้นอาจจะประพฤติผิดหรือถูก ก็ได้ ต้องยึดหลักพระวินัยจึงจะสมควร

๑.๗ นมส้มที่ละความเป็นนมสดไปแล้ว แต่ยังไม่กลายเป็นทธิภิกษุฉันภัตตาหารส้มห้ามภัตรแล้ว จะดื่มนมนั้นอันไม่เป็นเดนภิกษุไข้หรือยังไม่ทำวินัยกรรมไม่ควรต้องอาบัติปาจิตตีย์ เพราะฉันอาหารที่เป็นอนติริตตะ

๑.๘ การดื่มสุราอย่างอ่อนที่มีสีเหมือนเท้านกพิราบ ซึ่งยังไม่ถึงความเป็นน้ำเมาไม่ควร เป็นปาจิตตีย์ เพราะดื่มสุราและเมรัย

๑.๙ ผ้านิสีทนะที่ไม่มีชายภิกษุจะใช้ไม่ควร ต้องอาบัติปาจิตตีย์ ซึ่งต้องตัดเสียจึงแสดงอาบัติตก

๑.๑๐ การรับเงินทองหรือยินดีทองเงินที่เขาเก็ไว้เพื่อตนไม่ควรต้องอาบัตินิสสัคคียะ ปาจิตติยะ เพราะรับทองและเงินซึ่งจะต้องสละจึงแสดงอาบัติตก

ทุกข้อที่พระสัพพกามีวิสัชชนา ฝ่ายพระเรวตเถระได้เสนอให้สงฆ์ทราบทุกข้อและขอมติจากสงฆ์เพื่อให้ยอมรับว่า

"วัตถุเหล่านี้ผิดธรรม ผิดวินัย เป็นการหลีกเลี่ยงต่อคำสอนของพระพุทธเจ้า" และได้ขอให้สงฆ์ลงมติทุกครั้นที่พระสัพพากมีเถระตอบ มติของสงฆ์จึงเห็นว่าวัตถุ ๑๐ ประการนี้ ผิดธรรม ผิดวินัย โดยเสียงเอกฉันท์

๒. จากนั้นพระเถระทั้งหลายจึงเริ่มสังคายนาพระธรรมวินัยตามแบบที่พระมหากัสสปเถระ เป็นต้น ได้กระทำในคราวปฐมสังคายนา กระทำสังคายนาคราวนี้ใช้เวลา ๘ เดือนจึงสำเร็จ



มีต่อ >>> การสังคายนา ครั้งที่ ๓

:b46: การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652



:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...
หนังสือความรู้เกี่ยวกับพระพุทธเจ้า โดย ภัทรวรรณ วันทนชัยสุข

http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=8978

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แก้ไขล่าสุดโดย สาวิกาน้อย เมื่อ 12 พ.ค. 2010, 16:57, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ส.ค. 2011, 07:22 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 ต.ค. 2010, 09:11
โพสต์: 597


 ข้อมูลส่วนตัว


อนุโมทนาสาธุๆค่ะ ขอบพระคุณท่านสาวิกาน้อย :b8: :b8: :b8:
รออ่านอยู่ค่ะ :b53: :b53: :b53:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 50 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร