วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 00:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ส.ค. 2020, 08:23 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
หนังสือ ประตูสู่มรรค ผล นิพพาน ๒
ท่านพระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต
หัวข้อ ร่องรอยคําสอนของพระพุทธองค์ หน้า ๖๓-๙๑


รูปภาพ

ร่องรอยคําสอนของพระพุทธองค์
พระธรรมเทศนาโดย...
ท่านพระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต
วัดบุญญาวาส ตําบลบ่อทอง อําเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี
เทศน์วันที่ ๒๒ มกราคม ๒๕๕๔
ณ พุทธสถานเขาดิน จังหวัดชัยนาท

*************

ในวันนี้ พระภิกษุ สามเณร ตลอดจนญาติโยมทั้งหลายก็ได้มาประชุมกันที่พุทธสถานเขาดินแห่งนี้ เนื่องจากว่าในวันพรุ่งนี้จะมีพิธีการวางศิลาฤกษ์การก่อสร้างพระเจดีย์ขึ้นบนสถานที่แห่งนี้ การสร้างพระเจดีย์นั้นก็สืบต่อกันมาตั้งแต่ครั้งที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าดับขันธปรินิพพาน อัฐิธาตุของพระพุทธองค์ก็กระจายไปตามเมืองแว่นแคว้นต่างๆ กษัตริย์ในสมัยก่อนนั้นก็ได้ทําเจดีย์ขึ้นเพื่อที่จะระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ศาสนาก็เจริญรุ่งเรืองสืบต่อกันมา ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชท่านก็ได้สร้างเจดีย์ในชมพูทวีปเป็นจํานวนมาก กระจายไปยังทิศต่างๆ เพื่อที่จะสืบพระบวรพระพุทธศาสนาทางด้านวัตถุ

ถ้าไม่มีพระเจดีย์สืบต่อกันมา บางแห่งบางประเทศซึ่งไม่มีร่องรอยประวัติศาสตร์ทางพุทธศาสนา คนก็ไม่รู้จักว่า คําสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นท่านสอนอะไร แต่เมื่อมีร่องรอยทางพุทธประวัติสืบต่อกันมาตั้งแต่สมัยครั้งพระพุทธกาล เราจะเห็นว่ามีการสร้างเจดีย์ตามประเทศซึ่งมีพระบวรพระพุทธศาสนา อย่างเช่น ในประเทศไทยเราก็มีสมัยสุโขทัย หรือสมัยอยุธยาก็ยังมีร่องรอยทางพุทธประวัติ ทางประวัติศาสตร์ที่ยังมีร่องรอยพระเจดีย์ในสถานที่ต่างๆ เมื่อเราได้เห็นสถานที่สําคัญทางพระพุทธศาสนาเราทั้งหลาย ก็ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าว่า พระพุทธองค์นั้นท่านทรงสอนอะไร คําสั่งสอนของท่านนั้น ท่านสอนอะไรแก่พุทธบริษัททั้งหลาย คําสั่งสอนของพระพุทธองค์จึงสืบต่อกันมาจนถึงทุกวันนี้

บางครั้งถาวรวัตถุในทางพระพุทธศาสนาก็มีความสําคัญ มีความจําเป็นเหมือนกันที่จะเป็นร่องรอยทางพุทธประวัติ หรือทางพระพุทธศาสนา บางประเทศที่เราได้เห็น หรือได้ยิน ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนาประดิษฐานอยู่ หรือไม่มีร่องรอยทางพระพุทธศาสนา คนทั้งหลายก็มัวหลงเพลิดเพลินแสวงหาความสุขทางโลก แสวงหาความสุขในด้านวัตถุกันโดยส่วนมาก เมื่อแสวงหาความสุขในรูปเสียงกลิ่นรสสัมผัส ในวัตถุธาตุทั้งหลาย เขาก็ไม่รู้จักว่า ทางที่จะดําเนินไปเพื่อความพ้นทุกข์ หรือเพื่อความสุขที่แท้จริงนั้นเป็นเช่นไร เพราะคนทั้งหลายคิดว่า ความสุขในโลกนี้ คือการแสวงหาความสุขในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส แสวงหาความสุขในลาภ ยศ สรรเสริญ แสวงหาความสุขทางด้านวัตถุธาตุทั้งหลาย ความจริงความสุขทั้งหลายเหล่านั้น เป็นเพียงความสุขเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น เป็นเพียงความสุขเพียงเพื่อบรรเทาความทุกข์ภายในจิตใจเพียงชั่วคราวเท่านั้น เมื่อคนทั้งหลายแสวงหาความสุขทางด้านวัตถุแต่เพียงอย่างเดียว ก็ไม่สามารถที่จะดับความโลภ ดับความโกรธ ดับความทุกข์ให้สิ้นไปจากจิตใจของแต่ละบุคคลได้ เพราะฉะนั้นร่องรอยทางพระพุทธศาสนาซึ่งสืบต่อกันมาตั้งแต่ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านปรินิพพาน ก็มีการสร้างพระเจดีย์ตามสถานที่ต่างๆ กระจายไปทั่ว สืบต่อกันมาจนถึงประเทศไทยนี่แหละ

ประเทศไทยก็เป็นประเทศซึ่งมีพระพุทธศาสนาสืบต่อกันมายาวนาน ตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงในปัจจุบันนี้ ก็เพราะว่ามีร่องรอยทางด้านวัตถุ อันเป็นส่วนหนึ่งที่ทําให้คนเราทั้งหลาย เมื่อมากราบสักการะพระเจดีย์ หรือพระบรมสารีริกธาตุ หรือพระอรหันตธาตุ ก็ได้ระลึกถึงองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ระลึกถึงพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ว่าพระพุทธองค์นั้นท่านทรงสั่งสอน หรือชี้ทางบอกทางแก่พุทธบริษัททั้งหลายเช่นไร

พระพุทธองค์ท่านวางหลักธรรมคําสั่งสอนให้พุทธบริษัททั้งหลาย ได้รู้จักหนทางแห่งการประพฤติปฏิบัติอันเป็นไป เพื่อความดับความทุกข์ หรือเพื่อทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน หนทางไม่ได้สลับซับซ้อน ไม่ได้มีมากหลาย หรือหลายสิ่งหลายอย่าง หนทาง มีหนทางที่เป็นทางสายกลางคือ มัชฌิมาปฏิปทา หนทางที่จะดําเนินไปเพื่อทําภพชาติให้สั้นเข้า หรือเพื่อทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

พระพุทธองค์ท่านได้ทรงสอนพุทธบริษัททั้งหลาย ให้บําเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลายให้ถึงพร้อมด้วยการสร้างบารมีทั้ง ๑๐ ประการ บําเพ็ญศีลบารมี สมาธิบารมี ปัญญาบารมี เพื่อที่จะให้มีสติปัญญา ความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้องเกิดขึ้นภายในจิตใจของแต่ละบุคคล เพราะฉะนั้นถ้าพวกเราทั้งหลายไม่บําเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการ ไม่บําเพ็ญคุณงามความดี ไม่รักษาศีล ไม่ทําสมาธิ เจริญภาวนาแล้ว เราทั้งหลายก็ไม่สามารถที่จะมีสติปัญญา ความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้องเกิดขึ้นมาได้

เมื่อเราไม่บําเพ็ญบารมี บําเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวง จิตใจของเรานั้นก็หลง มีความหลง มีความไม่รู้ครอบงําจิตใจของเราอยู่ จิตใจของสรรพสัตว์ทั้งหลาย เมื่อบังเกิดขึ้นมาก็หลงยึดมั่นถือมั่นในอัตภาพร่างกายนี้ว่าเป็นตัวตนของเรา หลงยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง ซึ่งเกิดขึ้นที่ใจของเรานั้นว่าเป็นใจของเรา สิ่งที่ใจของเรานั้นหลงยึดมั่นถือมั่นไม่มีทุกข์เป็นไม่มี เพราะเมื่อใจของเราหลงยึดมั่นถือมั่นว่าอัตภาพร่างกายนี้ว่าเป็นตัวตนของเรา เมื่อโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนจิตใจก็เป็นทุกข์ ความชราเบียดเบียนจิตใจก็เป็นทุกข์ เมื่อร่างกายนี้จะเสื่อม จะแตกสลายจิตใจก็เป็นทุกข์ เพราะความหลง เพราะความไม่รู้ที่จิตยึดมั่นถือมั่นในก้อนธาตุนี้ว่าเป็นตัวตน ว่าเป็นเรา ว่าเป็นเขา จึงก่อให้เกิดความทุกข์อยู่ร่ำไป

ความหลงภายในจิตใจของเราก็เช่นเดียวกัน เมื่อใจเราหลงยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความโลภว่าเป็นเรา จิตใจก็เป็นทุกข์ เมื่อใจเราหลงยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความโกรธ ความอาฆาตพยาบาท ความไม่พอใจว่าเป็นเรา จิตใจก็เป็นทุกข์ เมื่อใจเราหลงยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ความพอใจ ความไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสว่าเป็นเรา จิตใจก็เป็นทุกข์ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงเหล่านี้ก่อให้เกิดความทุกข์ภายในจิตใจของเรา เพราะใจเรามีความหลงครอบงําจิตใจของเรา มีความไม่รู้ครอบงําจิตใจของเรา

การที่จะทําจิตใจของเรานั้นให้มีความรู้เกิดขึ้น ให้มีสติปัญญาเกิดขึ้น เราก็ต้องบําเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงให้ถึงพร้อม เมื่อเราบําเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวง เราก็จะรู้จักว่าการกระทําคุณงามความดี การสร้างบารมีทั้ง ๑๐ ประการในแต่ละสิ่งแต่ละอย่างตามโอกาสตามเวลาที่สะดวกแก่เรา เมื่อเราทําคุณงามความดีลงไป ก็ก่อให้เกิดความสุขทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า เราก็จะมีความรู้ขึ้นมาว่า การทําคุณงามความดีนั้น ย่อมก่อให้เกิดความสุข เราก็จะขวนขวายกระทําในสิ่งนั้น ต่างจากการกระทําในสิ่งที่ผิดศีลธรรมหรือกระทําในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง เมื่อเรามีความหลงกระทําในสิ่งที่ผิดศีลธรรมหรือในสิ่งที่ไม่ถูกต้อง ก็ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า

เมื่อเรามีสติมีปัญญาที่จะแยกแยะรู้จักว่า ถ้าทําคุณงามความดีย่อมให้ผลคือความสุข ถ้าทําความชั่วย่อมให้ผลคือความทุกข์ เราก็จะมีสติ มีความฉลาดขึ้น มีปัญญาเกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย เราก็พยายามที่จะขวนขวายในการที่จะบําเพ็ญคุณงามความดี บําเพ็ญบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป

การที่จะมีสติมีปัญญาเกิดขึ้นนั้น เราก็ต้องรู้จักพิจารณาแยกแยะสิ่งที่ไม่ดีออกไปจากจิตใจของเรา เมื่อเรารู้ว่าใจเรายึดมั่นถือมั่นในอัตภาพร่างกายนี้จึงก่อให้เกิดความทุกข์ เราก็ต้องพยายามที่จะใช้สติปัญญาพิจารณาหาความจริง ว่าร่างกายของเรานี้เป็นเราจริงหรือไม่ เมื่อโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียนเราสามารถที่จะบอกให้หายป่วยได้ไหม เมื่อความชราเบียดเบียนเราบอกให้กลับมาเป็นเด็กอีกได้ไหม เมื่อร่างกายนี้แปรเปลี่ยนไป มีความเสื่อม มีความแตกสลายเป็นที่สุด เราจะบังคับบัญชาให้ร่างกายนี้ตั้งมั่นอยู่ได้ไหม

ถ้าเราไม่สามารถที่จะบังคับบัญชาให้ร่างกายนี้ตั้งมั่นอยู่ได้ ก็แสดงว่าร่างกายนี้ไม่ใช่จิตนี้ จิตนี้ไม่ใช่ร่างกายนี้ ทําความรู้ให้เกิดขึ้น ความหลงก็จะหายไปจากจิตใจของเรา แต่การที่จะมีสติมีปัญญารู้เท่าทันความจริงได้นั้น เราทั้งหลายต้องบําเพ็ญศีลบารมีให้เกิดขึ้นภายในจิตใจของเราให้เป็นพื้นฐานของจิต โดยเฉพาะพวกเราทั้งหลายซึ่งเป็นฆราวาสนั้น โดยปกติคนที่จะดีได้นั้นต้องมีศีล ๕ เป็นปกติ ถ้าภายในจิตใจของเรานั้นยังไม่มีศีล ยังกระทําในสิ่งที่ผิดศีลธรรมทั้งหลายทั้งปวง ก็ย่อมก่อให้เกิดความทุกข์ในจิตใจของเรา

คนทั้งหลายย่อมปรารถนาความสุขด้วยกันทั้งนั้น แต่ทําไมไม่ละเหตุที่จะก่อให้เกิดวามทุกข์ เมื่อเรากระทําเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์ เราก็ไม่สามารถที่จะพบกับความสุขได้ เพราะฉะนั้นเมื่อเราปรารถนาความสุขภายในจิตใจของเรา เราก็งดเว้นหรือละเว้นการกระทําสาเหตุที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ เมื่อเรามีสติมีปัญญาพิจารณาให้เห็นโทษของการกระทําผิดศีลธรรม เราก็จะมีสติมีปัญญาที่จะเห็นประโยชน์ของการรักษาศีล ศีลก็จะรักษากายของเราให้สงบ รักษาวาจาของเราให้สงบ เพราะว่าเราไม่เอากายไปเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ไม่เอากายไปลักทรัพย์ ไม่เอากายไปหลอกลวงข่มเหงจิตใจผู้อื่น ไม่เอากายไปดื่มยาเสพติดของมึนเมาทั้งหลายทั้งปวง กายก็สงบ ไม่เอาวาจาไปพูดในสิ่งที่โกหก หรือในสิ่งที่ก่อให้เกิดความเสียหาย

ถ้าเรามีสติมีปัญญาเห็นโทษเช่นนี้ เราก็รักษาศีลได้ ศีลก็รักษากายของเราให้สงบ รักษาวาจาของเราให้สงบ แต่เมื่อจิตใจเรานั้นยังไม่สงบ เพราะใจของเรานั้นยังมีความหลง ยังมีความไม่รู้ ฟุ้งซ่านไปในอดีตบ้าง ฟุ้งซ่านไปในอนาคตบ้าง ปรุงแต่งไปสารพัดเรื่องสารพัดอย่าง มีความคิดที่เป็นอกุศล มีความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้น เมื่อเรามีสติ มีความฉลาดขึ้นบ้าง เราจะเห็นว่าเราไม่ปรารถนาความทุกข์ ภายในจิตใจของเราปรารถนาความสุข แต่ทําไมภายในจิตใจของเรานั้นจึงมีความทุกข์ เมื่อเราเห็นความทุกข์ เราก็ควรที่จะหาทางที่จะดับความทุกข์ภายในจิตใจของเรา

เราทั้งหลายไม่จําเป็นที่จะต้องไปค้นคว้าหาทางให้ยากลําบากเลย เพราะองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือครูบาอาจารย์ทั้งหลายได้ชี้ทาง บอกทางแก่พุทธบริษัททั้งหลายให้บําเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงให้ถึงพร้อม ให้รักษาศีลเพื่อที่จะควบคุมกายวาจาให้สงบ ให้ทําสมาธิเพื่อที่จะควบคุมจิตใจของเรานั้นให้สงบ เมื่อเราต้องการที่จะมีสติที่จะควบคุมจิตใจของเราได้ ไม่ปล่อยจิตใจของเรานั้นไปกับอารมณ์ อันมีความโลภ ความโกรธ ความพอใจ ความไม่พอใจ เราทั้งหลายต้องบําเพ็ญสมาธิบารมี กําหนดสติอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนา และกําหนดสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือจะกําหนดสติบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ก็แล้วแต่ จะกําหนดกรรมฐานบทใดบทหนึ่งก็ได้ซึ่งถูกกับจริตของเรา เป็นการฝึกหัดทําสติให้ต่อเนื่อง

เมื่อเราทําสติให้ต่อเนื่องด้วยการกําหนดสมาธิ เมื่อมีโอกาสเวลาว่างจากกิจภาระต่างๆ ภายนอก เราก็สํารวมในอิริยาบถนั่งสมาธิ สํารวมในอิริยาบถเดินจงกรม เมื่อเราฝึกหัดอบรมจิตใจของเราด้วยการทําสติ ทําสมาธิภาวนาในเบื้องต้นนั้น ใจของเราอาจจะยังไม่สงบ เพราะว่าเราปล่อยจิตใจไปกับอารมณ์มานับภพนับชาติไม่ถ้วน แม้ในปัจจุบันชาติเราก็ยังหลงยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายอันเป็นอาการของจิตว่าเป็นใจของเรา

เมื่อใจของเรานั้นกับอารมณ์เป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน เราก็ไม่สามารถที่จะกําหนดรู้ให้เห็นความทุกข์ได้ ไม่สามารถที่จะมีสติมีปัญญารู้เท่าทันอารมณ์ได้ เพราะอารมณ์อันใดเราก็คิดว่าจิตเราก็อันนั้น ไม่สามารถที่จะแยกจิตออกจากอารมณ์ได้ แต่ถ้าเราฝึกหัดกําหนดสติอยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่ง ถึงแม้ว่าในเบื้องต้นจะยากลําบากก็ตาม ถ้าเรามีความอดทน มีความเพียรไม่ท้อถอย ฝึกหัดอบรมจิตใจของเราด้วยการทําสมาธิภาวนาอยู่เสมอ เมื่อใจของเรานั้นมีความสงบ มีปีติเกิดขึ้น มีความสุขเกิดขึ้น มีอุเบกขาของสมาธิเกิดขึ้น เมื่อจิตของเรานั้นสงบเป็นสมาธิ ก็จะก่อให้เกิดกําลังของสติหรือพลังของสติซึ่งตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน มีสติที่กําหนดดูจิต มีสติที่จะกําหนดเห็นอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นภายในจิตใจของเราได้ง่าย

เมื่อเรามีสติมีสมาธิตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ความรู้สึกจะเกิดขึ้นที่ใจของเรา คือความพอใจ ความไม่พอใจ หรือความเฉยๆ เราจะมีสติมีปัญญาเห็นอาการของจิตซึ่งเกิดขึ้นที่ใจ เมื่อเรามีสติมีปัญญาที่เห็นอาการของจิตที่เกิดขึ้นที่ใจ จิตของเราจะแยกจากอารมณ์โดยธรรมชาติ เมื่อจิตเรามีสมาธิเป็นพื้นฐาน จิตเราจะแยกจากอารมณ์ จะเห็นอาการของจิต เห็นอาการของอารมณ์ มีความเกิดขึ้นแล้วก็มีความดับไปเป็นธรรมดา

แต่ถ้าอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้น กระแสของจิตไหลไปกับกระแสของอารมณ์บางส่วน แต่เมื่อเรามีสติมีสมาธิบ้าง จิตเราก็จะแยกจากอารมณ์ เมื่อเห็นอาการของจิตอันมีความโลภ ความโกรธ ความพอใจ ความไม่พอใจทั้งหลาย สติปัญญาจะเข้าไปพิจารณา มีอุบายปัญญาเกิดขึ้นที่จะพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัส ไม่ว่าจะเกิดอารมณ์ความพอใจ ความไม่พอใจก็ตาม สติปัญญาจะเห็นความไม่เที่ยง แล้วก็ปล่อยวางอารมณ์นั้นออกไป เราก็จะมีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน จิตเราก็จะว่างจากอารมณ์

ถ้ากําลังของสมาธิไม่เพียงพอ ไม่เป็นบาทฐานแห่งสติปัญญาที่จะพิจารณาละอารมณ์ออกจากใจ เราทั้งหลายพึงกําหนดสติอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนา ไม่ต้องสนใจในอารมณ์อันนั้น เมื่อเรากําหนดสติอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนาสัก ๒-๓ นาที หรือ ๕ นาที อารมณ์นั้นก็จะดับลงไปโดยกําลังของสมาธิ

เมื่อจิตสงบแล้ว อารมณ์ซึ่งไม่มีเจ้าของอันเป็นอาการของจิตเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา จิตเราก็จะมีสติอยู่กับปัจจุบัน ถึงแม้ว่าอารมณ์นั้นถูกละออกไปเพียงชั่วคราวก็ตาม แต่เรามีสติ มีสมาธิที่ตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อมีอารมณ์เป็นความจําในเรื่องอดีตซึ่งปรุงแต่งขึ้นมาอีก เราก็สามารถที่จะกําหนดใช้สติปัญญาพิจารณาละอารมณ์ออกจากใจของเราได้ เพราะสติสมาธิมีกําลังมากขึ้น สติปัญญาก็มีกําลังที่จะพิจารณาละอารมณ์ออกไปจากจิตใจของเราได้

การควบคุมกิเลสนั้น เราควบคุมด้วยกําลังแห่งศีลในเบื้องต้นเป็นพื้นฐาน ถ้าคนทั้งหลายซึ่งใช้ชีวิตอยู่ในโลกนี้ ไม่มีศีลที่จะควบคุมกายวาจาให้สงบแล้ว ไม่ว่าจะมีความรู้ เรียนสูงมากเท่าไรก็ตาม ไม่ว่าจะมีตําแหน่งหน้าที่การงานสูงเท่าไรก็ตาม เมื่อไม่มีศีลควบคุม กิเลสคือความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้าครอบงําใจ บางครั้งมีช่องทาง สติความฉลาดก็ไปทุจริต เมื่อมีความโลภเกิดขึ้น เมื่อมีความโกรธ ความไม่พอใจเกิดขึ้น ถ้าเรามีอํานาจมาก เราก็ใช้ให้คนอื่นไปทําอันตรายร่างกายหรือชีวิตของบุคคลอื่นได้ เมื่อเราไม่มีศีลควบคุม แต่ถ้าเรามีศีลควบคุมกายให้สงบ ควบคุมวาจาของเราให้สงบ เมื่อมีความโลภเกิดขึ้น เราก็ไม่ไปเอาของบุคคลอื่น คุมไว้ด้วยศีล เมื่อมีความโกรธเกิดขึ้น เราก็ไม่ทําร้ายร่างกายของบุคคลอื่น ไม่ทําร้ายชีวิต บุคคลอื่นเพราะเรามีศีลเป็นปกติ

อํานาจของศีลนี้สามารถควบคุมกายของเราให้สงบ ควบคุมวาจาของเราให้สงบ ถึงแม้ว่าจิตใจของเรานั้นยังมีความฟุ้งซ่าน มีความวุ่นวายใจ เมื่อเราควบคุมอีกชั้นหนึ่งด้วยการบําเพ็ญสมาธิ แม้มีความโลภเกิดขึ้น เราก็มีความอดทนอดกลั้นต่อความอยากของกิเลสตัณหา ถ้าเราปรารถนาหาทรัพย์ภายนอก เราก็แสวงหาในทางที่ถูกต้องในขอบเขตของศีลธรรม มีความอดทน มีความซื่อสัตย์สุจริตในการแสวงหาทรัพย์ภายนอกด้วยความมีสติมีปัญญา พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ คุมไว้ด้วยศีล และด้วยสมาธิ และด้วยปัญญา ก็สามารถที่จะควบคุมจิตใจของเรานั้นให้มีความสงบเยือกเย็นได้ อารมณ์ความโกรธ ความไม่พอใจก็เช่นเดียวกัน เมื่อเราคุมไว้ด้วยศีลในเบื้องต้น แล้วก็คุมไว้ด้วยสมาธิอีก มีความอดทน มีความอดกลั้นต่ออารมณ์ทั้งหลาย เมื่อเราคุมไว้ด้วยศีลในเบื้องต้น คุมด้วยสมาธิในท่ามกลาง สติปัญญาก็เข้ามาช่วยที่จะพิจารณาเจริญเมตตา ให้อภัยซึ่งกันและกัน ละอารมณ์ความโกรธ ความไม่พอใจออกไปจากจิตใจของเราได้

ศีลและสมาธิและปัญญานี้เป็นกําลังอันใหญ่ที่จะขับไล่กิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงออกไปจากจิตใจของเราได้ ถ้าเราไม่มีกําลังแห่งศีล สมาธิ และปัญญา ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็ครอบงําจิตใจของเรา ให้ใจของเรานั้นตกเป็นทาสของกิเลส ตกเป็นทาสของอารมณ์ไม่มีที่สิ้นสุด ใจของเราก็ตกอยู่ภายใต้อํานาจของกิเลส เพราะฉะนั้นเราจะต้องสร้างสมอบรมกองทัพธรรม กองทัพแห่งศีล กองทัพแห่งสมาธิ กองทัพแห่งปัญญา เพื่อขับไล่กิเลสให้ออกไปจากจิตใจของเรา

การที่เราใช้ชีวิตอยู่ในเพศฆราวาสนั้น โดยปกตินั้นถ้าเราปรารถนาที่จะแสวงหาความสุขในชีวิตของเรา เราควรที่จะรักษาศีล ๕ ให้เป็นปกติ ถ้าเราปรารถนาที่จะชําระกิเลสให้บรรเทาเบาบางไปจากจิตใจของเรา เราก็บําเพ็ญสมาธิบารมีอันเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่จะก่อให้เกิดสติปัญญาในการที่จะพิจารณาละความโลภ ละความโกรธ ละความยินดีในกามทั้งหลายให้บรรเทาเบาบางไปจากจิตใจของเราทีละเล็กทีละน้อย ถ้าเราทําเช่นนี้ก็จะทําให้จิตใจของเรานั้นมีความสะอาด มีความบริสุทธิ์เกิดขึ้นทีละเล็กทีละน้อย

เมื่อใจเราเคยหลงยึดมั่นถือมั่นในอัตภาพร่างกายนี้ว่าเป็นตัวตนของเรา เราก็ใช้สติปัญญาพิจารณาหาความจริงว่าร่างกายของเรานี้เป็นร่างกายของเราจริงหรือไม่ เมื่อโรคภัยไข้เจ็บเกิดขึ้น เราบังคับบัญชาไม่ได้ ก็แสดงว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่จิตนี้ จิตนี้ไม่ใช่ร่างกายนี้ เมื่อร่างกายนี้แปรเปลี่ยนไปหรือแตกสลายไป ใจของเราก็บังคับบัญชาไม่ได้ เราก็ใช้สติปัญญาของเราพิจารณาโดยแยบคาย ว่าร่างกายของเรานี้ประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ประชุมกันขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น มีความเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความแปรเปลี่ยนไป และมีความแตกสลายเป็นที่สุด สิ่งที่เราคิดว่าเราตาย เป็นความหลงในจิตใจของเรา เป็นความไม่รู้ของจิตใจของเรา เพราะเมื่อใจของเรานั้นเกิดขึ้นมามีอัตภาพร่างกายนี้ ความรู้สึกภายในจิตใจของเราที่หลงยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ ว่าเป็นตัวตนของเรา ทําให้จิตใจของเรานั้นกลัวกับความตาย

ถ้าเราใช้สติปัญญาอย่างน้อยๆ ค่อยๆ พิจารณาดูว่าชีวิตของทุกคนในโลกนี้ซึ่งเกิดขึ้นมานั้น เมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว มีใครไม่ตายบ้าง จะเป็นพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก หรือครูบาอาจารย์ทั้งหลาย หรือกษัตริย์ หรือคนยากจนก็แล้วแต่ เมื่อมีความเกิดขึ้นมาแล้วย่อมมีความตาย หรือความแตกสลายลงไปเป็นที่สุด แล้วเราทั้งหลายทําไมจะต้องกลัวต่อความตายด้วย

ถ้าเราทั้งหลายกลัวความตายจริง เราไม่ต้องการพบความตาย เราก็ควรที่จะหาทางที่จะไม่เกิดอีก เพราะถ้าเรามีความเกิดอีก ไม่ว่าจะกี่ภพกี่ชาติก็ตาม เราก็ต้องพบกับความแก่ พบกับความเจ็บไข้ได้ป่วย และพบกับความตาย เมื่อเราไม่ปรารถนาที่จะพบกับความตาย เราก็หาทางที่จะไม่เกิดอีกสิ หาทางที่จะไม่เกิดอีกดังเช่นองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือดังเช่นพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เพราะฉะนั้นเราต้องทําความรู้ให้เกิดขึ้น เพื่อที่จะแก้ความหลง หรือความเห็นผิดภายในจิตใจของเรา

การบําเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาเพื่อก่อให้เกิดสติปัญญา ความเห็นชอบ ความเห็นที่ถูกต้องในการที่จะพิจารณาร่างกายของเรานี้ให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ร่างกายของคนเรา ไม่ว่าหญิงว่าชาย ประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ประชุมกันขึ้นมาเพียงชั่วคราวเท่านั้น มีความเกิดขึ้นมาแล้วก็มีความแปรเปลี่ยนไป และมีความเสื่อมสลายในที่สุด เรามีความรู้เช่นนี้อยู่ทุกคน แต่เรายังไม่มีความเห็นที่เกิดขึ้นภายในใจของเรา เพราะว่าเราทั้งหลายไม่มีศีล ๕ เป็นปกติ ไม่มีสมาธิเป็นท่ามกลาง สติปัญญาความเห็นชอบนี้ไม่เกิดขึ้น

เมื่อสติปัญญาความเห็นชอบไม่เกิดขึ้น เราก็ไม่รู้จักการพิจารณากายในกาย หรือพิจารณาร่างกายนี้ให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน เมื่อเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่จะพิจารณากาย ในกายให้ใจเราเห็นว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ใจเราก็ไม่ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตน เมื่อเราปรารถนาที่จะละความโลภ ละความโกรธ ละความยินดีในกามทั้งหลายให้บรรเทาเบาบางลงไป เราทั้งหลายต้องตั้งใจ มีความมุ่งหวังที่จะละความทุกข์ให้สิ้นไปจากจิตใจของเรา อย่าให้มีความทุกข์เกิดขึ้น

ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นจากความโลภ เราก็หาทางละออกไป ถ้าความทุกข์เกิดขึ้นจากความโกรธ จากความอาฆาตพยาบาท เราก็หาทางที่จะใช้สติปัญญาละออกไป ไม่ว่าความทุกข์อันใดก็แล้วแต่ ไม่ได้เกิดขึ้นที่ท้องฟ้า หรือแผ่นดิน ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงเกิดขึ้นที่ใจของเรา เมื่อความทุกข์เกิดขึ้นที่ใจของเรา พึงมีสติเฝ้าดูใจของเราให้ดี อย่าให้จิตใจของเรานั้นมีความทุกข์ใจ มีความไม่สบายใจ ถ้าใจของเรามีความทุกข์ใจ มีความไม่สบายใจ ก็แสดงว่าเป็นสิ่งที่ผิดปกติ เป็นสิ่งที่ใจเราหลงยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ว่าเป็นใจของเรา พึงมีสติมีปัญญาที่จะแยกจิตออกจากอารมณ์ ด้วยการบําเพ็ญศีลบารมี บําเพ็ญสมาธิบารมี เพื่อที่จะมีสติ มีปัญญาที่จะกําหนดให้รู้ถึงความทุกข์ กําหนดให้รู้ถึงสาเหตุที่ให้เกิดทุกข์ พึงกําหนดให้รู้ถึงความดับความทุกข์ พึงกําหนดให้รู้ถึงข้อประพฤติปฏิบัติอันเป็นไปเพื่อที่จะดับความทุกข์

พระพุทธองค์ท่านก็ทรงได้สอน ชี้ทางบอกทางแก่พุทธบริษัททั้งหลายแล้วว่า ให้เราทั้งหลายบําเพ็ญศีลบารมี สมาธิบารมี ปัญญาบารมี เพื่อที่จะละความโลภ ละความโกรธ ละความทุกข์ ให้สิ้นไปจากจิตใจของเรา เมื่อเรามีกําลังแห่งสติปัญญาที่เกิดขึ้นจากการบําเพ็ญศีลบารมี สมาธิบารมี เพียงแต่ว่าเราเอาสติมาดูอารมณ์ภายในใจของเรา เราก็จะเห็นอาการของจิต เห็นอาการของกิเลสซึ่งเกิดขึ้นที่ใจของเรา เมื่อมีอารมณ์ความโลภเกิดขึ้น เราก็มีสติมีปัญญาที่จะพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์ความโลภ หรือละความโลภออกไปจากจิตใจของเราได้ พอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ แสวงหาทรัพย์ภายนอกตามสติปัญญาความสามารถของเราซึ่งพึงจะแสวงหาได้ เมื่อมีความโกรธ ความไม่พอใจเกิดขึ้น เราก็มีสติมีปัญญาที่จะเจริญเมตตาให้อภัยซึ่งกันและกัน หาทางที่จะดับความโกรธ ความไม่พอใจให้สิ้นไปจากจิตใจของเรา ไม่ใช่ว่าเราจะเก็บจะกักขังอารมณ์ความโกรธ ความไม่พอใจไว้ในจิตใจของเรา

คนทั้งหลายโดยมากชอบไปเพ่งโทษในกิริยาของบุคคลอื่น คนนั้นก็ไม่ดี คนนี้ก็ไม่ดี เราชอบเห็นความไม่ดีของคนอื่น เราไม่ค่อยเห็นความไม่ดีภายในใจของเรา เพราะฉะนั้นพึงมีสติภายในใจของเรา ไม่ต้องสนใจในบุคคลอื่น คนอื่นเขาจะดีเขาก็ได้ดี เขาจะไม่ดีเขาก็ได้สิ่งที่ไม่ดี เป็นเรื่องของคนอื่น เรื่องของเรานั้นต้องทําจิตใจของเรานั้นให้ดี ความคิดในใจของเราที่คิดว่าคนอื่นไม่ดี อารมณ์แค่นั้นแหละคือความคิดที่ไม่ถูกต้อง เป็นอารมณ์ของกิเลส เป็นอาการของจิตซึ่งเกิดขึ้นที่ใจ ถ้าเรามีสติเฝ้าดูใจของเรา แม้ความคิดแค่เพียงน้อยนิดที่ว่าคนนั้นไม่ดี คนนี้ไม่ดี เราต้องละให้ได้ ตัดอารมณ์นั้นให้ได้ด้วยการมีสติมีปัญญาพิจารณาละอารมณ์นั้นออกจากใจของเรา ให้ใจเราว่างจากอารมณ์

ถ้าไม่มีสติปัญญาที่จะกําหนดพิจารณาละอารมณ์ออกจากใจของเรา ก็กําหนดสติอยู่กับลมหายใจเข้าออก หรือกําหนดสติบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ สัก ๒-๓ นาที หรือ ๕ นาที เดี๋ยวใจของเรานั้นก็สงบเย็น ทําสติ ทําสมาธิเช่นนี้อยู่เสมอ ไม่ใช่ว่าจะเก็บกักขังอารมณ์ความโกรธ ความไม่พอใจเอาไว้ บางคนเก็บกักขังอารมณ์ความโกรธเอาไว้ ไม่พอใจเป็นชั่วโมง เป็นหลายๆ ชั่วโมง เป็นวัน เป็นอาทิตย์ เป็นเดือน เก็บกักขังไว้เป็นปี แล้วก็มาเก็บมานึกมาคิด ก่อให้เกิดความทุกข์ ความเร่าร้อน เผารนภายในจิตใจของเรา ความโกรธ ความไม่พอใจคือความทุกข์ คือความเร่าร้อนที่เผารนภายในจิตใจของเราให้เศร้าหมอง

เราเห็นว่าความโกรธเป็นทุกข์ แล้วเราจะเก็บความโกรธไว้ภายในใจของเราไว้ทําไม พึงเจริญเมตตาให้อภัยซึ่งกันและกันอยู่เสมอๆ พยายามที่จะมีสติมีปัญญาพิจารณาละความโกรธออกไปจากจิตใจของเรา ทุกๆ ขณะจิตที่มีอารมณ์นี้เกิดขึ้น เป้าหมายของเราคือ ทําลายกิเลสไม่ให้กิเลสมีอํานาจครองใจของเรา ถ้าเรามีสติอยู่ในปัจจุบันเราจะเห็นอารมณ์ อารมณ์ความโกรธเกิดขึ้น เราใช้สติปัญญาละออกไป ไม่ว่าจะมีความพอใจ ความไม่พอใจ ในรูปเสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ก็ตาม สติปัญญาต้องพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์ทั้งหลาย มีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน มีสติเป็นกลาง เป็นอุเบกขา

เมื่อจิตว่างจากอารมณ์ ถ้าเราปรารถนาที่จะละกิเลสให้บรรเทาเบาบางลงไป การพิจารณาอารมณ์นั้นละออก ปล่อยวางออกเพียงชั่วคราวเท่านั้น แต่ต้นตอของกิเลสที่ก่อให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความยินดีในกามทั้งหลาย คือความหลงแห่งใจ ซึ่งหลงยึดมั่นถือมั่นในอัตภาพร่างกายนี้ว่าเป็นตัวตนของเรา เห็นร่างกายของเราว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม จึงเห็นร่างกายของคนอื่นว่าเป็นสิ่งที่สวยงาม จึงมีวัตถุสิ่งของเป็นของๆ ตน สิ่งต่างๆ เหล่านี้กลับกลายก่อให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา

ถ้าเราปรารถนาที่จะละกิเลสให้บรรเทาเบาบางไปจากจิตใจของเรา หรือทําให้สิ้นไปจากจิตใจของเรา เราต้องทวนกระแสของจิต ทวนกระแสของกิเลส เข้ามาค้นคว้าหาความจริง ว่าสิ่งที่เราหลงยึดมั่นถือมั่นในอัตภาพร่างกายนี้ว่าเป็นตัวตนของเรานั้น เป็นเราจริงหรือไม่ ใช้สติปัญญายกร่างกายขึ้นมาพิจารณา จะพิจารณา ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง หรืออาการ ๓๒ หรือพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งในเรื่องร่างกายนี้ก็ได้ หรือจะพิจารณาอสุภกรรมฐาน หรือจะพิจารณาธาตุกรรมฐาน พิจารณาให้อยู่ในเรื่องร่างกายของเรานี้แหละ พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของกายนี้

ถ้าสติปัญญายกร่างกายของเราขึ้นมาพิจารณาด้วยกําลังของสมาธิอันเป็นพื้นฐานของจิต มีกําลังของสมาธิส่งเสริม แฝงอยู่ในสติปัญญา เมื่อเรายกร่างกายนี้ขึ้นมาพิจารณา ก็จะเห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน เห็นความเป็นปฏิกูล เห็นความเสื่อม ความไม่เที่ยงของกายนี้ สติปัญญานั้นต้องพิจารณากายในกายนี้ ให้เห็นความไม่เที่ยงความไม่ใช่ตัวตน ในเบื้องต้นนั้นเมื่อเห็นครั้งแรกๆ อาจจะเกิดความสลดสังเวช เกิดปีติเกิดขึ้น และจิตวางการพิจารณาเข้าสู่ความสงบของจิต เรียกว่าสมาธิอบรมปัญญา และปัญญาก็อบรมสมาธิให้เกิดขึ้น เมื่อจิตออกจากกําลังของความสงบอยู่ในอิริยาบถทั่วไปก็ตาม เราจะมีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน จิตอาจจะเป็นหนึ่ง เป็นเอกัคตารมณ์ เป็นเอกัคตาจิต เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง เราจะรู้สึกว่าจิตของเรานั้นไม่กระเพื่อม หรือไม่หวั่นไหวด้วยอารมณ์ทั้งหลาย เพราะเรามีสติมีสมาธิเป็นหนึ่งจากการพิจารณากายในกายเข้าสู่ความสงบ เราก็จะรู้จักว่าทางดําเนินศีล สมาธิ ปัญญานี้ จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยเพื่อที่จะละกิเลสได้แน่นอน

มรรคปฏิปทาเริ่มดําเนินจากการบําเพ็ญศีลเป็นพื้นฐาน บําเพ็ญสมาธิเป็นท่ามกลาง สติปัญญาจึงจะเกิดขึ้น บุคคลใดถ้าทรงศีล ๕ ให้เป็นปกติ หรือศีล ๑๐ เป็นปกติ หรือศีล ๒๒๗ เป็นปกติ บําเพ็ญศีลเป็นพื้นฐาน บําเพ็ญสมาธิเป็นท่ามกลาง มีจิตเป็นหนึ่งเป็นเอกัคตารมณ์ เอกัคตาจิต ทรงจิตอยู่ในปัจจุบัน มีสติมีปัญญาที่จะเห็นจิตเห็นอารมณ์ซึ่งเกิดขึ้นที่ใจ ก็เชื่อได้ว่าอริยมรรคของโสดามรรคเริ่มดําเนิน เริ่มทํางาน เพราะศีลทรงตัว สมาธิทรงตัว สติปัญญาก็แคล่วคล่องชํานาญ ชํานาญในการที่จะมีสติรู้เท่าทันอารมณ์ มีปัญญาที่จะพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของอารมณ์

สติปัญญาซึ่งพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายได้ เมื่อจิตว่างจากอารมณ์ก็ยกร่างกายของเราขึ้นมาพิจารณา ไม่ใช่ว่าจะพิจารณาครั้งหนึ่งแล้วจะหยุดพิจารณา เมื่อมีกําลังของสมาธิเกื้อหนุนพอเป็นบาทฐานแห่งการพิจารณา ก็ใช้สติปัญญาพิจารณากายในกายนี้แหละ ในเบื้องต้นนั้นอาจจะพิจารณามรณานุสติกรรมฐาน ว่าร่างกายนี้ไม่ใช่จิตนี้ จิตนี้ไม่ใช่ร่างกายนี้ ร่างกายนี้มีความเกิดขึ้นแล้วย่อมมีความแตกสลายในที่สุด พิจารณาเพียงแค่นี้ก็สามารถที่จะทําให้จิตนั้นรู้ธรรมเห็นธรรมได้ ถ้าจิตยอมรับ ถ้าจิตเชื่อว่าร่างกายนี้ไม่ใช่จิตนี้ หรือพิจารณาอาการ ๓๒ ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง ให้มีสติมีปัญญายกร่างกายของเราขึ้นมาพิจารณา

ถ้าสติปัญญาซึ่งยกร่างกายของเราขึ้นมาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของกายนี้ ถ้าใจเราเห็นขึ้นที่ใจของเรา เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของกายนี้โดยชัดเจน ใจของเรานั้นก็สามารถที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนได้ เมื่อโรคภัยไข้เจ็บเบียดเบียน จิตใจก็ไม่หวั่นไหว เมื่อร่างกายแปรเปลี่ยนไป ร่างกายจะแตกสลาย จิตใจก็ไม่สะดุ้งกลัว เพราะใจนี้เห็นแตกก่อนแตก เห็นตายก่อนตาย ใจของเราจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนได้ส่วน ๑ จาก ๓ ส่วน กิเลสอย่างหยาบจะถูกชําระออกไป ใจของเรานั้นจะมีความเห็นชอบ มีความเห็นถูกตรงที่ถูกต้องเกิดขึ้นมา รู้จักว่าการพิจารณากายในกายนี้จะเป็นหนทางที่จะดําเนินจิตไปเพื่ออริยมรรค อริยผลในเบื้องต้น และเป็นเหตุที่จะดําเนินไปในมรรคซึ่งละเอียดขึ้นไป มีความเชื่อมั่นว่า การบําเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาเป็นเหตุเป็นปัจจัยเพื่อที่จะละกิเลสให้บรรเทาเบาบางลงไป หรือทําให้สิ้นไปจากจิตใจของเราได้

เมื่อเราเห็นว่าสติปัญญาซึ่งพิจารณากายในกายนี้ สามารถที่จะทําความโลภให้บรรเทาเบาบางลงไป สามารถที่จะละความอาฆาตพยาบาทให้หมดสิ้นไปจากใจของเรา ถึงแม้ว่าจะมีความโกรธ ความไม่พอใจบ้างก็ตาม แต่สติปัญญาเราจะเห็นว่าอารมณ์ต่างๆ เบาบางลงไป ไม่ว่าจะมีความพอใจ ความไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสต่างๆ ก็ตาม ใจของเรานั้นก็จะรู้จักว่าอารมณ์ทั้งหลายบรรเทาเบาบางไปจากจิตใจของเรา มีอารมณ์ความโกรธ ความไม่พอใจเกิดขึ้น สติปัญญาก็สามารถที่จะพิจารณาได้ง่าย ละอารมณ์ออกจากจิตใจได้ง่าย เมื่อจิตว่างจากอารมณ์ เราก็มาพิจารณากายในกายที่ละเอียดขึ้นไป จะพิจารณาอาการ ๓๒ หรือสติปัญญาซึ่งชํานาญในการพิจารณากายในกายแล้ว ก็อาจจะพิจารณาอสุภกรรมฐานก็ได้

บางคนทําสมาธิเมื่อจิตสงบไม่มีนิมิต บางคนทําสมาธิจิตสงบ มีนิมิตอสุภกรรมฐานเกิดขึ้น จะเป็นนิมิตอสุภภายนอกก็ตาม คือรูปภายนอก หรือเป็นนิมิตอสุภภายในก็ตาม คือนิมิตอสุภในกายตน เราก็สามารถที่จะยกนิมิตอันนั้นขึ้นมาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของสภาวะของอสุภกรรมฐานได้ สติปัญญาซึ่งพิจารณาโดยแยบคายอยู่เสมอ ก็จะค่อยๆ ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนออกไปทีละเล็กทีละน้อย การเจริญศีล สมาธิ ปัญญาก็ทรงตัว ศีลก็ทรงตัว สมาธิก็ทรงตัวละเอียดขึ้น สติปัญญาก็ละเอียดขึ้น

อารมณ์ของกิเลสเมื่อละเอียดขึ้นก็ตาม สติปัญญาก็จะเห็นอารมณ์ของกิเลสที่ละเอียดนั้น สามารถพิจารณาละความโลภ ละความโกรธให้บรรเทาเบาบางลงไปได้ ทําจิตให้ว่างจากอารมณ์ได้ แม้จะพิจารณากายในกายตน จะพิจารณาอสุภกรรมฐาน หรือพิจารณาส่วนใดส่วนหนึ่งของร่างกาย สติปัญญาก็จะพิจารณาเห็นได้ชัด สามารถที่จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนได้ แม้ในเบื้องต้นพิจารณาปล่อยวางเพียงชั่วคราวก็ตาม แต่เมื่อเราอยู่ในอิริยาบถทั่วไป ไม่ว่าตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกดมกลิ่น ลิ้นสัมผัสรส กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็ง ความรู้สึก ความพอใจ ความไม่พอใจ หรือความรู้สึกเฉยๆ ก็จะเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นไม่นานก็ดับไป สติปัญญาก็จะระงับอารมณ์ก็จะดับไปได้ง่าย

การพิจารณากายในกายตนนั้น ไม่ใช่พิจารณาไม่กี่ครั้งก็จะหยุด ไม่ใช่พิจารณา ๑๐๐ ครั้งหยุดหรือหลายร้อยครั้งหยุด พิจารณาจนจิตอิ่มจิตพอ พิจารณากายในกายนี้ ถ้าจิตเต็มรอบของการพิจารณากายในส่วนกายที่ละเอียดขึ้นมา ถ้าจิตเห็นชัดประจักษ์ขึ้นที่ใจ ก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนในส่วนที่ ๒ ความโลภก็บรรเทาเบาบางลงไป ความโกรธก็บรรเทาเบาบางลงไป ความหลงในกายตนก็บรรเทาเบาบางลงไป เมื่อเราเห็นเช่นนี้ว่า การบําเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา เป็นหนทางที่จะทําให้ละความโลภ ความโกรธ ความยินดีในกามทั้งหลายให้บรรเทาเบาบางลงไป เราก็มีความเชื่อมั่นหนักแน่นลงไปว่า ถ้าเราพิจารณากายในกายส่วนละเอียดไปแล้ว เราก็สามารถที่จะละความยินดีในกามทั้งหลายให้สิ้นไปจากจิตใจของเราได้เมื่อความเชื่อมั่นเช่นนี้อยู่ภายในใจของเรา เราก็จะมีความมั่นคงในศีลเป็นปกติ บําเพ็ญสมาธิให้ละเอียดขึ้น สมาธิก็จะละเอียดขึ้นไป สติปัญญาก็ละเอียดขึ้นไป ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียงกระทบอารมณ์ อารมณ์เกิดขึ้นมาไม่นาน สติปัญญาเห็นความเกิดดับของอารมณ์ หรืออารมณ์นั้นไม่ดับ สติปัญญาก็จะพิจารณาละออกไปได้โดยไม่ยาก เพราะสติปัญญามีความชํานาญในการพิจารณาอารมณ์ด้วยความแคล่วคล่อง ด้วยความชํานาญ เพราะสติสมาธิตั้งอยู่ในปัจจุบัน อารมณ์เกิดขึ้นก็ไม่สามารถที่จะหนีไปไหนได้ สติปัญญาก็จะพิจารณาทําลายหรือละอารมณ์ออกไปจากใจได้

เมื่อจิตว่างจากอารมณ์ ก็พิจารณากายในกายส่วนละเอียดจะพิจารณาอสุภกรรมฐานก็ตาม จะพิจารณาธาตุกรรมฐานก็ตาม สติปัญญาพิจารณาค้นคว้าละเอียดขึ้นไปจนจิตเข้าไปสู่ความว่าง พิจารณากายในกาย ยกอสุภกรรมฐานขึ้นมา จิตก็จะไหลไปสู่ธาตุกรรมฐาน เข้าไปสู่ความว่าง เข้าไปสู่ความว่างอยู่ซ้ำๆ ซากๆ จนสติปัญญาพิจารณาจนรอบรู้ในเรื่องของกายเมื่อใด ถ้าอินทรีย์บารมีเต็มรอบของการบําเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา การพิจารณากายในกายก็เต็มรอบ

สติปัญญาซึ่งยกกายในกายขึ้นมาพิจารณา จะพิจารณาอสุภกรรมฐานก็ตาม ธาตุกรรมฐานก็ตาม ให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน จิตนั้นจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตน เข้าไปสู่ความว่าง เมื่อปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตน เข้าไปสู่ความว่างอยู่บ่อยๆ จนสติปัญญารู้ทั่วถึงทั้งกายที่เป็นอดีต กายที่เป็นอนาคตจะแปรเปลี่ยนไป หรือกายในกายปัจจุบัน สติปัญญาก็จะเห็นว่า กายนี้ทั้งก้อนประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มีความเกิดขึ้นมาแล้ว ก็ย่อมมีความเสื่อม มีความแตกสลายเป็นที่สุด สติซึ่งเห็นกายในกาย ก็จะเห็นสักแต่ว่าเห็น

การพิจารณาที่เต็มรอบของการพิจารณากายในกาย เมื่อเห็นชัดประจักษ์ขึ้นที่ใจ ก็จะหยุดการพิจารณา หยุดการพิจารณาของกายในกายตัวเอง หยุดการพิจารณากายในกายของบุคคลอื่น วัตถุธาตุทั้งหลายยิ่งเป็นเรื่องเล็ก เพราะวัตถุธาตุทั้งหลายประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟที่ไม่มีวิญญาณครอง จิตนั้นก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตน ในกายของบุคคลอื่น ในวัตถุธาตุทั้งหลาย ความโลภก็ดับลงไป ความโกรธก็ดับลงไป ความยินดีในกามทั้งหลายก็ดับลงไป จิตก็ว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายทั้งปวง เห็นก็สักแต่ว่าเห็น ได้ยินก็สักแต่ว่าได้ยิน จิตนั้นไม่ติดอยู่ในลาภสักการะทั้งหลาย ไม่ติดอยู่ในลาภยศสรรเสริญ ไม่ติดอยู่ในวัตถุธาตุทั้งหลาย มองโลกให้เป็นของว่าง

โลกทั้งหลายทั้งปวงไม่ว่าแผ่นดินนี้จะเป็นทองคําทั้งหมด แผ่นดินนี้จะเป็นเพชรทั้งหมด ก็สักแต่ว่าก้อนกรวด ก้อนดิน ก้อนหินไปตามธรรมชาติ ไม่เป็นสิ่งมีค่าขึ้นในจิตใจของบุคคลนั้น แต่จิตนั้นก็ยังหลง ยังมีความหลงส่วนละเอียดซึ่งยึดมั่นถือมั่นในจิต ในปัจจุบันว่าเป็นตัวจิต ถึงแม้ว่าสติปัญญายังไม่แยบคายพอ ยังไม่ละเอียดพอ ก็ยังไม่เห็นกิเลสส่วนละเอียด ก็จะยึดทุกสิ่งทุกอย่างในปัจจุบันว่าเป็นตัวจิต

สติปัญญาถ้าไม่ละเอียดแล้วก็ไม่สามารถที่จะเห็นกิเลสส่วนละเอียดได้ เพราะมองไปไหนก็ว่างหมด จิตไม่ติดอยู่ในความโลภ ความโกรธ ความยินดีในกามทั้งหลาย จิตว่าง แต่จิตนั้นยังไม่ว่างจากการยึดมั่นถือมั่นในจิต ซึ่งเป็นกิเลสส่วนละเอียด เพราะจิตดวงนี้ยังมีความยึดมั่นถือมั่นในความจําได้หมายรู้ทั้งหลายว่า เป็นจิต มีความหลงยึดมั่นถือมั่นในเวทนาความสุข ความทุกข์ หรือความเฉยๆ โดยมากมักเป็นความสุข เป็นอารมณ์ซึ่งเป็นกุศลส่วนละเอียด หลงยึดมั่นถือมั่นในความคิดความปรุงแต่งทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นตัวจิต

การรับรู้ทั้งหลายทั้งปวงจิตดวงนี้ก็จะยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นตัวจิต ยึดในปัจจุบันธรรมนี่แหละเป็นตัวจิต ท่านผู้รู้จึงบอกว่าให้ละสิ่งที่เป็นอดีต ละสิ่งที่เป็นอนาคต แม้ปัจจุบันก็ต้องละ ให้จิตถอยออกมา ถอยออกมาหลังสิ่งที่คิดว่าเป็นผู้รู้ เพราะผู้รู้ตรงนี้เป็นผู้รู้ที่สะอาด แต่ยังไม่เป็นผู้รู้ที่บริสุทธิ์ ยังประกอบด้วยความหลงส่วนละเอียด เมื่อจิตใจไม่มีสติปัญญาแยบคาย ก็จะหลงยึดมั่นถือมั่นในปัจจุบันธรรมว่าเป็นตัวจิต ถ้าร่างกายแตกดับ ภพนรกก็ไม่มี เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานก็ไม่มี มนุษย์ไม่มีที่อยู่ เทวดาทุกชั้นไม่มีที่อยู่ พรหมเบื้องต้น เบื้องสูง เบื้องกลางไม่มีที่อยู่ เมื่อร่างกายแตกดับจิตประเภทนี้ต้องไปอยู่สุทธาวาสพรหม ซึ่งเป็นส่วนของจิตที่ละเอียดที่ไม่มีหลักของกายที่ต้องมาบังเกิด

เมื่อจิตถ้าร่างกายแตกดับก็ต้องไปอยู่ในสุทธาวาสพรหม แต่บางท่านบําเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาด้วยความอดทน ด้วยความเพียรไม่ท้อถอย ก็สามารถที่จะให้มีสติมีปัญญาเกิดขึ้น รู้เท่าทันกิเลสส่วนละเอียดได้ว่า แม้เวทนาความสุขส่วนละเอียดก็เป็นสักแต่ว่าเวทนา มีความเกิดขึ้นแล้วก็มีความดับไปเป็นธรรมดา ความจําได้หมายรู้ก็สักแต่ว่าเป็นอาการของจิต มีความเกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา การรับรู้ต่างๆ ก็สักแต่ว่าเป็นอาการของจิต เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปเป็นธรรมดา สติปัญญาที่ละเอียดก็จะเห็นแม้สังขารการปรุงแต่งของจิต ซึ่งจิตคิดว่าเป็นตัวจิตนั้นก็ไม่ใช่จิต สิ่งที่คิดว่าเป็นจิตนั้นก็ไม่ใช่จิต สิ่งที่ไม่คิดนั่นแหละจึงเป็นจิต เราทั้งหลายก็ไม่ทราบความจริงว่า ไอ้ความนึกคิดทุกสิ่งทุกอย่างซึ่งใจเราหลงคิดว่าเป็นใจของเรา ตัวนั้นแหละเป็นอวิชชาคือความหลง

ความหลงของจิตซึ่งไม่กล้าที่จะทําลาย ไม่กล้าที่จะพิจารณาทําลายสังขารของจิต สังขารความนึกคิดปรุงแต่งของจิตนั่นแหละเป็นอวิชชา ความหลง ความไม่รู้ส่วนละเอียด ซึ่งสติปัญญาถ้าไม่แยบคายก็ไม่สามารถที่จะเห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของสังขารอันเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดภพชาติ ที่ใดมีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ ที่นั่นคือภพคือชาติ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายท่านได้กล่าวไว้ ที่ไหนมีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ ที่นั่นแหละคือภพคือชาติ สิ่งที่เราคิดว่าเป็นผู้รู้ ก็เป็นผู้รู้ด้วยความหลงส่วนละเอียด สิ่งที่เราจะรู้จัก เราต้องถอยออกมาก้าวหนึ่ง ให้ดูว่าอะไรอยู่หลังผู้รู้ ผู้รู้ที่ยังมีกิเลส คือยังมีความยึดมั่นถือมั่นในเวทนาของจิต ในสัญญา ของจิต ในสังขารของจิต ในวิญญาณของจิต ผู้รู้ทั้งหลายเหล่านั้นคือภพ คือชาติ ยังมีภพมีชาติ มีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ เพราะฉะนั้นท่านจึงให้มีสติมีปัญญาที่ละเอียด โดยบําเพ็ญศีลสมาธิปัญญา สติปัญญาละเอียดเข้าไปก็พิจารณาทําลาย

ทําลายอะไร ทําลายใจเจ้าของ ไม่ได้ทําลายกิเลสที่ไหน เพราะใจเป็นกิเลสทั้งดวงก็ต้องทําลายใจเจ้าของให้เห็นความไม่เที่ยงความไม่ใช่ตัวตนของใจนี้ จิตจึงจะเป็นอิสระ จึงจะเข้าไปสู่ความว่างโดยสมบูรณ์ เป็นธรรมชาติของจิตที่ครูบาอาจารย์กล่าวไว้ว่า สภาวธรรมคือธรรมชาติของจิตซึ่งปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในรูป ในเวทนา ในสัญญา ในสังขาร ในวิญญาณ เห็นความไม่เที่ยงของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ เห็นความไม่ใช่ตัวตนของรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ ว่าสิ่งทั้งหลายทั้งปวงเป็นแต่เพียงสภาวธรรม มีความเกิดขึ้นและมีความดับไปเป็นธรรมดา

ถ้าผู้ใดบําเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา ก็สามารถที่จะดําเนินจิตไปเพื่อที่จะดับความโลภ ดับความโกรธ ดับความทุกข์ให้สิ้นไปจากจิตใจของบุคคลนั้นได้ พระพุทธองค์จึงทรงตรัสไว้ว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี คือใจดวงนี้ซึ่งสงบจากกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความทุกข์ทั้งหลายทั้งปวงซึ่งสิ้นไปจากดวงใจ จิตก็เป็นจิตที่บริสุทธิ์ขึ้นมา เป็นความรู้ที่บริสุทธิ์

เพราะฉะนั้นพวกเราทั้งหลายซึ่งมีศรัทธาในพระบวรพระพุทธศาสนา เมื่อได้ยินว่าจะมีข่าวการบุญการกุศลในที่ต่างๆ เราก็บําเพ็ญบารมี บําเพ็ญคุณงามความดีตามรอยขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สร้างบารมีทั้ง ๑๐ ประการ บําเพ็ญคุณงามความดี พระพุทธเจ้าทุกๆ พระองค์ พระอรหันตสาวกทุกๆ พระองค์ท่านต้องบําเพ็ญบารมีทั้ง ๑๐ ประการ บําเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญา จึงสามารถที่จะทําจิตให้บริสุทธิ์ได้

เราทั้งหลายเมื่อเราปรารถนาความสุขที่แท้จริง พึงละเว้นเหตุ การกระทําเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์ ให้มีสัจจะภายในใจของเรา ให้มีศีลบารมีภายในใจของเรา ให้บําเพ็ญแต่คุณงามความดีไปจนตลอดชีวิตของเรา อย่าไปกระทําในสิ่งที่ผิดศีลธรรม อย่าไปกระทําสาเหตุที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ เพราะการกระทําสิ่งที่ก่อให้เกิดความทุกข์ย่อมได้รับความทุกข์ทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายเมื่อเรามุ่งหวังความสุขที่แท้จริง พึงประพฤติปฏิบัติเจริญรอยตามคําสั่งสอนของพระพุทธองค์ ในการที่จะบําเพ็ญคุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงให้ถึงพร้อม บําเพ็ญศีล ๕ ให้เป็นปกติ มีกําลังใจที่เข้มแข็งก็รักษาศีล ๘

เมื่อมีโอกาส มีเวลาก็สํารวมอิริยาบถนั่งสมาธิ เดินจงกรม อยู่ในอิริยาบถโดยทั่วไป พึงมีสติตามรักษาจิตของตน มีสติกํากับจิตใจเราไปตลอดทุกๆ อิริยาบถ ไม่ว่ายืน เดิน นั่ง นอน หรือทํากิจการงานอะไรก็แล้วแต่ มีสติกํากับจิตใจเราไปตลอด มีสติมีปัญญาที่จะดูแลรักษาจิตใจของเรา กลั่นกรองสิ่งที่ไม่ดีออกจากจิตใจของเรา ถ้าเราทั้งหลายประพฤติปฏิบัติ พัฒนาจิตใจของเราไปเช่นนี้ ก็จะทําให้จิตใจของเรานั้นมีความสะอาดมีความบริสุทธิ์ยิ่งๆ ขึ้นไป

เพราะฉะนั้นในวันนี้พวกเราทั้งหลายก็ได้ร่วมกันมา ทั้งพระภิกษุ สามเณรมาจากทิศทั้ง ๔ มาร่วมกัน ณ พุทธสถานเขาดินแห่งนี้ ซึ่งท่านอาจารย์หมูก็ได้ดําริที่จะสร้างพระเจดีย์ขึ้นบนยอดเขาแห่งนี้ เพื่อที่จะพาญาติโยมทั้งหลายได้บําเพ็ญทานบารมี ได้บําเพ็ญบุญกุศลทั้งหลายทั้งปวง เป็นการสร้างบารมีแม้ภายนอกก็ตาม แต่ก็จะเป็นเหตุเป็นปัจจัยที่พวกเราทั้งหลายก็จะได้สร้างคุณงามความดี แล้วก็จะได้พัฒนาเพื่อที่จะได้รักษาศีล ทําสมาธิ เจริญภาวนาในกาลต่อไป เพราะนั้นการที่พวกเราทั้งหลายได้มีความมุ่งหวังในการทําความดี ก็จึงพยายามที่จะกระทําความดีให้เกิดขึ้นที่ใจของเรา

เราทั้งหลายซึ่งมาในทิศทั้ง ๔ ก็เช่นเดียวกัน อันนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะมีการสร้างพระเจดีย์ขึ้น ณ สถานที่แห่งนี้เพื่อที่จะกระจายพระบรมสารีริกธาตุไปยังส่วนต่างๆ ของโลกนี้ ก็ถึงแม้ว่าในเบื้องต้นนั้น เราก็ไม่ค่อยได้คิดถึงด้านวัตถุเท่าไร เพราะว่าอยากจะให้พระเณร ญาติโยมนั้นบําเพ็ญภาวนา เพราะว่าจิตใจเป็นสิ่งสําคัญ แต่เมื่อพระอาจารย์หมูปรารภที่จะกระทําขึ้นมา ก็ทําไปตามสบาย กําลังกาย กําลังใจ กําลังวัตถุธาตุทั้งหลายมาประกอบคุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวง เมื่อทําความดีแล้วก็ย่อมเป็นเหตุที่ก่อให้เกิดความสุขทั้งในปัจจุบันและภายภาคหน้า การสร้างคุณงามความดีก็เป็นบารมีอันหนึ่งที่จะสร้างกําลังใจของเรานั้นให้มีกําลังใจที่เด็ดเดี่ยว มีกําลังใจที่เข้มแข็ง ในการที่ละความโลภ ละความโกรธ ละความทุกข์ให้สิ้นไปจากจิตใจของเรา ในวันนี้ก็ให้ความคิดเห็นพอสมควรก็ขอยุติเพียงเท่านี้.


*************

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50225

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ส.ค. 2022, 13:35 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร