วันเวลาปัจจุบัน 15 ก.ย. 2024, 18:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 42 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2018, 09:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระพุทธองค์ทรงโปรดให้บวช
พระนันทราชอนุชาและพระโอรสราหุล

:b47: :b45: :b47:

15. สามเณรรูปแรก
[ราหุล]

เป็นที่รู้กันว่า สามเณรรูปแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาคือ ราหุล พระราชโอรสเจ้าชายสิทธัตถะหรือพระสัมมาสัมพุทธเจ้าในเวลาต่อมา

เรื่องราวของสามเณรราหุล มีบางอย่างที่น่าสังเกต บางอย่างอะไรบ้าง ขอพูดไว้ตอนท้าย

ตอนนี้ขอเล่าความเป็นมาก่อน

ว่ากันว่า เจ้าชายสิทธัตถะเสด็จออกผนวชหลังจากราหุลกุมารประสูติใหม่ๆ พระองค์ทรงบำเพ็ญเพียรรวมทั้งทรงทำทุกรกิริยา เป็นเวลา 6 ปี จึงได้ตรัสรู้ เมื่อทรงประกาศพระพุทธศาสนาวางรากฐานพระพุทธศาสนาที่เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธแล้ว ไม่นานก็เสด็จนิวัติพระนครกบิลพัสดุ์เพื่อโปรดพระยุรญาติในการเสด็จครั้งนี้แล้ว ราหุลกุมารถูกพระมารดาสั่งให้ไปทูลขอ “ทายัชชะ” กับพระพุทธเจ้า ขณะเสด็จออก “โปรดสัตว์” ในเมืองกบิลพัสดุ์ (นี้เป็นภาษาพระ หมายถึงออกบิณฑบาต) ราหุลน้อยในเรื่องนี้ ไม่ค่อยประสีประสานัก ได้ร้องขอว่า “สมณะ ขอทายัชชะ สมณะ ขอทายัชชะ”

โดยตามเสด็จพระพุทธองค์ต้อยๆ ออกจากเมืองไปจนถึงป่าไทร (นิโครธาราม) นอกเมืองอันเป็นสถานที่ประทับชั่วคราว

คะเนว่าราหุลน้อยอายุไม่เกิน 7-8 ขวบ แล้ว “ทายัชชะ” ที่ว่านี้ครูบาอาจารย์สอนว่าหมายถึง “ขุมทรัพย์” เพราะขุมทรัพย์เกิดมาเพื่อผู้มีบุญญาธิการนั้น ถ้าเจ้าของไม่อยู่แล้ว ก็จะจมลงดิน ไม่มีใครสามารถเอาไปใช้ได้

ว่าอย่างนั้นสำนวนหนึ่ง

อีกสำนวนหนึ่งว่า “ทายัชชะ” แปลว่าความเป็นทายาท ราหุลน้อยขอความเป็นทายาทหมายความว่า เจ้าชายสิทธัตถะนั้นทรงเป็นรัชทายาทที่จะสืบราชสมบัติแทนพระเจ้าสุทโธทนะอยู่แล้ว

เมื่อพระองค์เสด็จออกผนวช แม้ว่าจะแสดงให้โลกรู้ว่าทรงละโลกียวิสัยแล้ว แต่ก็ยังไม่ถือว่าสละเด็ดขาด อย่างน้อยพระเจ้าสุทโธทนะแหละที่ไม่อยากให้พระราชโอรสของพระองค์ทิ้งราชบัลลังก์ ดังจะเห็นว่าไม่ทรงตั้งใครเป็นรัชทายาทสืบแทน และ (จากข้อความแวดล้อมในคัมภีร์เถรวาท และข้อมูลจากฝ่ายมหายาน) มีความพยายามให้คนไปทูลเชิญเสด็จกลับพระนครหลายครั้ง

ขณะทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ พระนางยโสธราพิมพาก็อยากให้ทุกอย่าง “ชัดเจน” จึงทรงส่งพระโอรสตามไปขอให้พระพุทธองค์ “ทรงมอบความเป็นทายาท” ให้แก่พระโอรสของพระองค์ อะไรประมาณนั้น

พระพุทธองค์ทรงดำริว่า ทรัพย์ภายนอกไม่ปลอดภัย อาจพิบัติฉับหายไปเพราะโจรภัย อัคคีภัย ราชภัย เป็นต้น แต่ทรัพย์ภายในอันเป็นทรัพย์ประเสริฐ ไม่มีทางสูญหายไป จึงรับสั่งให้พระสารีบุตร อัครสาวกบวชให้ราหุลกุมาร

พระสารีบุตรทูลถามว่า จะให้บวชแบบไหน

พระพุทธองค์ตรัสว่าให้รับไตรสรณคมน์ก็พอ

ตรงนี้หมายถึง การกล่าววาจาถึงพระรัตนตรัยตามครั้งว่า พุทธัง สรณัง คัจฉามิ ธัมมัง สรณัง คัจฉามิ สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ทุติยัมปิ พุทธัง…ธัมมัง…สังฆัง สรณัง คัจฉามิ ตติยัมปิ พุทธัง…ธัมมัง…สังฆัง สรณัง คัจฉามิ

เปล่งวาจาถึงไตรสรณคมน์แล้ว กล่าวสมาทานศีล 10 ก็เป็นสามเณรโดยสมบูรณ์

พระสารีบุตรจึงบวชให้ราหุลกุมารตามพุทธบัญชา ราหุลกุมาร จึงเป็นสามเณรรูปแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

ว่ากันว่า พระเจ้าสุทโธทนะทรงเสียพระทัยมากที่พระพุทธองค์ทรงบวชให้ราหุลกุมาร เพราะหลังจากพระราชโอรสเสด็จออกผนวชแล้วก็ทรงหวังไว้ว่าพระราชนัดดานี้แลจะได้สืบราชสมบัติแทน เมื่อบวชเสียแล้วก็ไม่มีผู้สืบราชบัลลังก์ จึงเสด็จไปขอพรว่า ต่อไปภายหน้าใครจะบวชขอให้เขาผู้นั้นได้รับอนุญาตจากบิดามารดาก่อน

พระพุทธองค์ก็ประทานอนุญาตตามนั้น

ข้อที่น่าสังเกต (พร้อมด้วยเครื่องหมายคำถาม) ก็คือ การบวชราหุลกุมาร คงเป็นระยะต้นๆ แห่งการประกาศพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ยังคงประทานอุปสมบทด้วยวิธี “เอหิภิกขุ” ด้วยพระองค์เองอยู่ แต่การซักถามว่าผู้บวชได้รับอนุญาตจากบิดามารดาหรือยัง เป็นตอนที่ทรงมอบภาระการบวชให้อยู่ในความรับผิดชอบของพระสงฆ์แล้ว ซึ่งน่าจะเป็นช่วงเวลาหลังจากนั้นพอสมควร

ในพิธีอุปสมบทต่อมา จึงมีการซักถามจากพระคู่สวดว่า อนุญญาโตสิ มาตาปิตูหิ = เธอได้รับอนุญาตจากบิดามารดาแล้วหรือ นาคหรือผู้จะบวชจะต้องตอบว่า อามะ ภันเต = อนุญาตแล้วขอรับ

ปัจจุบันนี้ เพิ่มภรรยาด้วย ภรรยาต้องอนุญาตด้วย หาไม่เดี๋ยวโบสถ์อาจพังเอาง่ายๆ


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2018, 09:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
พระแม่น้า “พระนางมหาปชาบดีโคตมี”
นำเหล่าสากิยานี (สตรีบริวาร) ไปทูลขออุปสมบทเป็นภิกษุณี

:b47: :b45: :b47:

16. ภิกษุณีรูปแรก
[พระนางมหาปชาบดีโคตมี]

เมื่อเจ้าชายสิทธัตถะทรงตรัสรู้เป็นสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และทรงออกเทศนาพระธรรมคำสั่งสอนของพระองค์ เหล่าเจ้าชายในศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ เช่น เจ้าชายอานนท์ เจ้าชายมหานาม และเจ้าชายเทวทัต ซึ่งเป็นพระญาติก็ได้ออกบวชเป็นสาวกของพระพุทธองค์หลายรูป

“พระนางมหาปชาบดีโคตมี” ก็อยากบวชเหมือนกับเจ้าชายทั้งหลายบ้าง จึงทูลขอพระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ทรงปฏิเสธ ครั้นเมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จพร้อมกับเหล่าภิกษุสงฆ์ไปประทับอยู่ที่ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระนางมหาปชาบดีโคตมีพร้อมเหล่าสากิยานี (สตรีบริวาร) จำนวนมากได้ปลงผมและนุ่งห่มผ้ากาสาวพัสตร์ พากันเดินเท้าเปล่าไปยังป่ามหาวัน เพื่อทูลขออุปสมบท

เมื่อถึงป่ามหาวัน พระนางมหาปชาบดีโคตมีได้แจ้งความประสงค์ให้พระอานนท์ทราบ พระอานนท์จึงนำความกราบทูลแก่พระพุทธเจ้า แต่พระพุทธองค์ก็ทรงปฏิเสธและตรัสกับพระอานนท์ว่า “อย่าเลยอานนท์ การบวชสตรีอย่าเป็นที่ชอบใจของเธอเลย”

พระอานนท์จึงกราบทูลถามว่า “บุรุษกับสตรีมีความสามารถไม่ทัดเทียมกันใช่หรือไม่ สตรีไม่สามารถบรรลุธรรมขั้นสูงเฉกเช่นบุรุษใช่หรือไม่”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ในเรื่องนี้ ไม่มีความแตกต่างกันแต่อย่างใด สตรีก็มีศักยภาพที่จะบรรลุที่สิ้นสุดทุกข์เช่นเดียวกับบุรุษ”

พระอานนท์จึงกราบทูลถามต่อไปว่า “ถ้าเช่นนั้น เพราะเหตุใดพระพุทธองค์จึงไม่ทรงอนุญาตให้พระนางมหาปชาบดีโคตมีบวช ในเมื่อสตรีก็มีความสามารถที่จะบรรลุธรรมขั้นสูงได้”

ในที่สุดพระพุทธองค์จึงทรงยินยอมตามที่พระอานนท์กราบทูลขอ แต่ก็ทรงมีข้อแม้ว่า พระนางมหาปชาบดีโคตมีต้องสามารถปฏิบัติครุธรรม 8 ประการได้ พระองค์จึงทรงยินดีประทานอุปสมบทให้

โดย ครุธรรม 8 ประการนั้น ประกอบด้วย

1. ภิกษุณีแม้จะมีพรรษา 100 ก็ต้องกราบไหว้ภิกษุแม้บวชในวันนั้น
2. ภิกษุณีจะอยู่ในวัดที่ไม่มีภิกษุไม่ได้
3. ภิกษุณีจงถามวันอุโบสถและฟังโอวาทจากภิกษุ
4. ภิกษุณีอยู่จำพรรษาแล้ว ต้องปวารณาในสงฆ์สองฝ่าย
5. ภิกษุณีที่ต้องอาบัติหนัก ต้องประพฤติมานัตในสงฆ์สองฝ่าย
(คือลงโทษกักบริเวณตัวเองตามกรรมวิธีของสงฆ์)
6. ภิกษุณีจะต้องได้รับอุปสมบทจากสงฆ์สองฝ่าย
7. ภิกษุณีไม่พึงด่าไม่พึงบริภาษภิกษุไม่ว่ากรณีใดๆ
8. ภิกษุณีไม่พึงตักเตือนภิกษุ แต่ภิกษุตักเตือนภิกษุณีได้


เมื่อพระอานนท์นำความแจ้งแก่พระนางมหาปชาบดีโคตมีแล้ว พระนางก็ยินดีที่จะปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้พระนางบวช โดยการบวชของพระนางถือว่าสำเร็จได้ด้วยการยอมรับครุธรรม 8 ประการ (ครุธัมมปฏิคคหณอุปสัมปทา) ส่วนเหล่าสากิยานี (สตรีบริวาร) ของพระนางก็ให้ภิกษุสงฆ์บวชให้ การบวชเหล่าสากิยานี (สตรีบริวาร) ของพระนางมหาปชาบดีโคตมี จึงกระทำขึ้นโดยภิกษุสงฆ์ฝ่ายเดียว เนื่องจากขณะนั้นยังไม่มีภิกษุณีสงฆ์

หลังจากอุปสมบทแล้ว “พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี” รับเอากรรมฐานจากพระพุทธองค์ไปปฏิบัติ ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรีทรงเคารพนับถือพระพุทธองค์มาก ถึงกับทรงกล่าวว่า “รูปกายของพระพุทธองค์ พระนางเป็นผู้เลี้ยงให้เจริญเติบโต นับเป็นมารดาของพระพุทธองค์ทางร่างกาย แต่ธรรมกายของพระนาง พระพุทธองค์ทรงเลี้ยงให้เจริญ นับเป็นบิดาของพระนาง”

“พระนางมหาปชาบดีโคตมีเถรี” ได้รับยกย่องไว้ในตำแหน่ง “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทาง “รัตตัญญู” แปลว่า “ผู้รู้ราตรีนาน” ซึ่งหมายความว่า “ผู้มีประสบการณ์มาก” นั่นเอง


:b8:

๏ พระปชาบดีโคตมีเถรี เอตทัคคะในทางผู้รู้ราตรีนาน
http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=6731

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2019, 13:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


17. ภิกษุที่อุปสมบทด้วยพระสงฆ์รูปแรก
[พระราธะ]

ที่จริงต้องพูดว่า ภิกษุสงฆ์อุปสมบทให้ด้วย “ญัตติจตุตถกรรมวาจา” เป็นรูปแรก จึงจะถูก เพราะการบวชโดยพระสงฆ์เป็นผู้กระทำให้ ก่อนหน้านั้นมีมาแล้ว แต่เป็นการบวชโดยวิธีอื่น

สมัยต้นๆ พระพุทธเจ้าทรงทำหน้าที่รับผู้เข้ามาบวชด้วยพระองค์เอง การรับเข้าไม่มีพิธีรีตองอะไร เพียงตรัสสั้นๆ (ถ้ายังไม่บรรลุพระอรหัต) ว่า “จงมาเป็นภิกษุ เพื่อทำที่สิ้นสุดทุกข์เถิด” (เอหิ ภิกฺขุ ทุกฺขสฺส อนฺตกิริยาย) และ (ถ้าเป็นพระอรหันต์ หลังฟังธรรมจบ) ว่า “จงมาเป็นภิกษุเถิด” (เอหิ ภิกฺขุ) วิธีบวชแบบนี้เรียกว่า “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” (การอุปสมบทด้วยตรัสว่าเอหิภิกขุ)

ต่อมามีกรณีเจ้าชายราหุลอายุประมาณ 7-8 ขวบ มาขอ “ทายัชชะ” (แปลกันว่าขุมทรัพย์) พระพุทธองค์มีพุทธประสงค์จะประทานอริยทรัพย์ให้ จึงมีพุทธบัญชาให้พระสารีบุตรทำการบวชแก่เจ้าชายราหุล วิธีบวชแบบนี้เรียกว่า “ติสรณคมนูปสัมปทา” (การอุปสมบทด้วยการรับไตรสรณคมน์)

การบวชแบบนี้ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์นำไปบวชให้แก่กุลบุตรผู้มาขอบวชด้วย ต่อมาการบวชแบบนี้นำมาใช้สำหรับการบวชสามเณรเท่านั้น

ต่อมามีพราหมณ์สูงวัยคนหนึ่งมาขออาศัยพระอยู่ เกิดอยากบวชขึ้นมา พระพุทธเจ้าจึงทรงรับสั่งให้พระสงฆ์จัดการบวชให้

พราหมณ์คนนี้ชื่อ ราธะ ตะแกมิใช่คนสิ้นไร้ไม้ตอก หากเป็นคหบดีชาวเมืองราชคฤห์ มีความเป็นอยู่อย่างสุขสบาย แกมีบุตรหลายคน เมื่อบุตรเจริญเติบโตก็จัดการให้มีเหย้ามีเรือนกันหมดทุกคน แรกๆ บุตรภรรยาก็ดูแลดี ต่อมา พวกเขาไม่สนใจไยดีเท่าที่ควร จึงน้อยใจตามประสาคนแก่ จึงไปขออยู่ที่วัด อาศัยข้าวก้นบาตรจากพระยังชีพ แกก็ช่วยปัดกวาดบริเวณวัด ตั้งน้ำฉันน้ำใช้ ปรนนิบัติพระตามกำลังสามารถ

พราหมณ์อาวุโส (ผมพยายามเลี่ยงคำว่า แก่ เพราะคนวัยผู้เขียนคอลัมน์นี้ไม่ค่อยชอบฟัง) อยากบวชขอบวช พระท่านไม่ยอมบวชให้หาว่าแก่ไป (เอาเข้าจนได้ ฮิฮิ) จะบำเพ็ญสมณกิจไม่ไหว จึงเฉยเสีย พราหมณ์ก็ไม่ท้อถอย ตั้งใจปรนนิบัติพระสงฆ์อย่างดี เผื่อท่านจะเห็นใจอนุญาตให้บวชบ้าง

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกที่จะไปโปรดด้วยพระญาณ ในค่อนรุ่งวันหนึ่ง พราหมณ์ปรากฏในข่ายคือพระญาณ พระองค์ทรงทราบว่าพราหมณ์คนนี้มีอุปนิสัยสมควรที่จะโปรดให้บรรลุธรรมได้ จึงเสด็จไปยังสถานที่แกอยู่ ตรัสถามว่า ราธะ เธอมาทำอะไรอยู่ที่นี่

“มารับใช้พระสงฆ์ พระพุทธเจ้าข้า”

“เธอต้องการอะไร จึงมารับใช้พระสงฆ์”

“ต้องการอุปสมบท พระพุทธเจ้าข้า แต่พระสงฆ์ไม่บวชให้”

พระพุทธเจ้า จึงทรงเรียกประชุมสงฆ์ในวันหนึ่ง ตรัสถามว่า มีใครรู้จักราธพราหมณ์คนนี้บ้างไหม

พระสารีบุตรกราบทูลว่า ท่านรู้จัก ราธพราหมณ์คนนี้เคยใส่บาตรท่านทัพพีหนึ่ง

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สารีบุตรเธอรู้อุปการคุณที่คนอื่นกระทำ เธอนั้นแหละจงจัดการให้ราธพราหมณ์อุปสมบท เท่ากับทรงให้พระสารีบุตรรับรองให้พราหมณ์บวช ด้วยญัตติจตุตถกรรมวาจา

เมื่อมีผู้รับรอง การอุปสมบทของราธพราหมณ์ก็เป็นไปโดยง่าย พระสารีบุตรรับหน้าที่เป็นอุปัชฌาย์บวชให้ด้วย “ญัตติจตุตถกรรม”

การบวชแบบนี้ ต้องมีอุปัชฌาย์ มีกรรมวาจาจารย์ (พระคู่สวด) มีอนุสาวนาจารย์ (ผู้ให้อนุศาสน์หรือสั่งสอน) มีพระสงฆ์ทำหน้าที่เป็นคณะปูรกะ (พระสงฆ์ร่วมทำพิธี ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “พระอันดับ”)

ในการบวชนี้ จะต้องมีการซักถามว่ามีคุณสมบัติครบบวชไหม แล้วท่านจะเสนอประชุมสงฆ์ (ข้อเสนอว่า ท่านผู้นี้อยากบวช ได้ซักถามแล้ว มีคุณสมบัติครบถ้วน พระสงฆ์เห็นอย่างไร จะให้บวชไหม) ข้อเสนอนี้เรียกว่า “ญัตติ”

เมื่อพระสงฆ์ไม่มีใครคัดค้าน พระคู่สวดก็จะสวดกรรมวาจา (สวดทำพิธีกรรม) 3 ครั้ง เป็นอันว่าเสร็จพิธีการบวชโดยพระสงฆ์

สวดกรรมวาจา 3 ครั้ง กับ ญัตติ 1 ครั้ง รวมเป็น 4 ครั้งพอดี จึงเรียกการบวชแบบนี้ว่า ญัตติจตุตถกัมมอุปสัมปทา แปลตามตัวอักษรว่า “การอุปสมบทด้วยกรรมวาจาอันมีญัตติเป็นที่สี่” หมายความว่า สวดทำพิธีสามครั้ง รวมกับข้อเสนอ (ญัตติ) ครั้งหนึ่ง เป็นสี่

การบวชด้วยวิธีนี้ พระสงฆ์กระทำแก่พระราธะเป็นรูปแรก ด้วยประการฉะนี้แล หลังจากมีพิธีบวชแบบนี้เกิดขึ้น การบวชแบบให้รับไตรสรณคมน์ที่ทรงอนุญาตให้พระสงฆ์กระทำมาก่อนหน้านี้ได้ยกเลิก ให้เอามาใช้สำหรับการบวชสามเณรเท่านั้น ในเวลาต่อมา

ต่ออีกนิด พระหลวงตารูปนี้ เป็นคนว่านอนสอนง่ายมาก จนได้รับยกย่องใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางเป็นผู้ว่าง่าย ไม่ถือตัวว่าเป็นผู้อาวุโส มีประสบการณ์ มีความรู้มาก

พูดสั้นๆ ว่า ไม่ใช่คนประเภทตวาดคนอื่นแว้ดๆ ว่า “รู้น้อย อย่าพูดมาก” ว่าอย่างนั้นเถอะ


:b8:

๏ พระราธเถระ เอตทัคคะในทางผู้มีปฏิภาณแจ่มแจ้ง
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=70&t=57955

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2019, 13:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


18. แพทย์ประจำพระพุทธองค์คนแรก (และคนเดียว)
[หมอชีวกโกมารภัจจ์]

ท่านผู้นี้คือ หมอชีวกโกมารภัจจ์ (ชาวบ้านทั่วไปอ่าน ชีวะกะ ไม่รู้ “กะ” ได้ยังไง เพราะไม่ประวิสรรชนีย์ !) ท่านเป็นบุตรนางนครโสเภณี นามสาลวดี ตำแหน่ง “นครโสเภณี” (ตามศัพท์แปลว่าผู้หญิงยังเมืองให้งดงาม) เป็นตำแหน่งพระราชาทรงแต่งตั้ง โดยคัดเลือกสตรีผู้เลอโฉม มีความรู้ความสามารถในการให้ความบันเทิงเริงรมย์แก่แขกเมืองผู้มีเกียรติเพื่อเป้าหมายคือ “ดึงดูดเงินตรา” เข้าประเทศ ต่อมาภายหลังเท่านั้นอาชีพนี้ได้ลดคุณค่าลง

นางสาลวดี มีบุตรขึ้นมาด้วยความเผลอไผลไม่ตั้งใจ ถ้าเป็นบุตรสาวก็อาจเลี้ยงไว้เพื่อสืบทอดตำแหน่งในวันหน้า แต่บังเอิญเป็นบุตรชาย นางจึงให้นำไปทิ้งไว้หน้าประตูวัง

แสดงว่าไม่ต้องการทิ้งจริงๆ คะเนว่าเวลาเช้าเจ้าชายอภัย พระราชโอรสพระเจ้าพิมพิสารมักเสด็จจากวังไป “จ๊อกกิ้ง” ทางประตูนั้น จึงให้สาวใช้เอาเด็กใส่กระด้งไปวางไว้ใกล้ประตูวัง โดยสาวใช้ยืนดูอยู่ห่างๆ

ทุกอย่างเป็นไปตามคาด เจ้าชายอภัยเสด็จออกมา ได้เห็นหมู่นกการ้องเซ็งแซ่อยู่ใกล้ๆ จึงรับสั่งให้มหาดเล็กไปดูว่า นกกามันร้องทำไม มหาดเล็กกลับมากราบทูลว่า นกกามันเฝ้าเด็กคนหนึ่งมีคนทิ้งเอาไว้

ตรัสถามว่า “ยังมีชีวิตอยู่หรือไม่” เมื่อได้รับรายงานว่า มีชีวิตอยู่ (ชีวโกติ) จึงเสด็จไปดูและนำไปเลี้ยงเป็นโอรสบุญธรรม ได้ขนานนามเด็กน้อยว่า “ชีวก” (แปลว่า มีชีวิตอยู่ หรือแปลแบบไทยๆ ว่า “บุญยัง”)

เพราะทรงเลี้ยงเหมือนลูกที่เกิดในวังจึงมีสร้อยนามว่า “โกมารภัจจ์”

ชีวกโกมารภัจจ์ หนีพระบิดาบุญธรรมไปเรียนศิลปวิทยาที่ตักสิลา 7 ปี วิชาที่เรียนคือแพทย์แผนโบราณ อยู่รับใช้อาจารย์ไปด้วย เรียนด้วย จนเมื่อยามอยากกลับบ้านนั้นแหละ ได้ถามอาจารย์ว่า ตนเรียนจบหรือยัง อาจารย์ทดสอบด้วยการให้ออกจากสำนักไปหาตัวอย่างใบไม้ เปลือกไม้ รากไม้ ที่ใช้ทำยาไม่ได้มา

ชีวกไปทั้งวันก็ไม่ได้มาสักอย่าง เพราะรู้ว่าต้นไม้ทุกต้น สมุนไพรทุกชนิด ใช้ทำยาได้หมด อาจารย์จึงกล่าวว่า “ถ้าเช่นนั้นเธอจบแล้ว”

ลาอาจารย์กลับบ้านไปหาพระบิดาบุญธรรม บังเอิญช่วงนั้นพระเจ้าพิมพิสาร เสด็จปู่ทรงประชวรด้วยโรค “ภคันทลา” (ริดสีดวงทวาร) ได้ถวายการรักษาจนหาย ได้รับบำเหน็จความดีความชอบมากมาย

พร้อมได้รับแต่งตั้งให้เป็นแพทย์หลวงประจำราชสำนักเมืองราชคฤห์

ในช่วงเวลาดังกล่าว พระเทวทัต ผู้ถูกลาภสักการะครอบงำอยากใหญ่ คิดปฏิวัติพระพุทธเจ้าว่าอย่างนั้นเถอะ ได้แรงอุปถัมภ์จากเจ้าชายอชาตศัตรู ผู้หลงผิดเพราะถูก “ล้างสมอง” วางแผนกำจัดพระพุทธเจ้าต่างๆ นานา แต่ละแผนล้มเหลวโดยสิ้นเชิง ด้วยพุทธานุภาพแต่ก็ทำความลำบากให้พระพุทธองค์พอสมควร

ครั้งหนึ่งเทวทัตขึ้นบนเขาคิชฌกูฏ กลิ้งก้อนหินลงมาหมายให้ทับพระพุทธองค์ แต่ก้อนหินกลิ้งไปปะทะชะง่อนผา กระเด็นไปอีกทางหนึ่ง ถึงกระนั้นเศษหินได้กระเด็นไปต้องพระบาทจนห้อพระโลหิตทรงได้รับทุกขเวทนา

พระสงฆ์จึงนำพระพุทธองค์ไปยังสวนมะม่วงของหมอชีวก ซึ่งอยู่เชิงเขาคิชฌกูฏ แล้วไปตามหมอชีวกมาถวายการรักษา

สวนมะม่วงนี้ หมอชีวกได้รับพระราชทานจากพระเจ้าพิมพิสาร ได้ถวายให้เป็นวัดสำหรับประทับของพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ มีนามว่า “ชีวกัมพวัน” (ปัจจุบันซากปรักหักพังปรากฏอยู่)

หมอชีวกได้ใส่ยาสมานแผล แล้วเอาผ้าพันไว้ กราบทูลว่า ตอนเย็นจะกลับมาเอาผ้าออก เขาได้เข้าไปดูคนไข้ในเมือง วุ่นวายอยู่กับคนไข้จนถึงค่ำ นึกขึ้นได้ว่าเวลาแก้ผ้าพันแผลจากพระบาทพระพุทธเจ้า จึงรีบจะออกนอกเมือง

แต่ประตูเมืองปิดเสียก่อน ออกมาชีวกัมพวันไม่ได้

เช้าขึ้นมาก็รีบเฝ้า กราบทูลถามว่า เมื่อคืนพระองค์ทรงมีพระอาการร้อนหรือไม่ (เพราะถ้าไม่แก้ผ้าพันแผลออก คนไข้จะมีอาการร้อนทั่วกาย)

พระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนท์แก้ออกตามเวลากำหนดแล้ว จึงมิได้มีพระอาการดังกล่าว

ทรงทราบว่าหมอชีวกหมายถึงร้อนแบบไหน แต่ทรงต้องการตรัสเทศนาหมอชีวก จึงตรัสว่า “ตถาคตดับความร้อนทุกชนิดได้แล้ว ตั้งแต่วันตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ณ โคนต้นโพธิ์” แล้วได้ตรัสพระคาถาว่า

คตทฺธิโน วิโสกสฺส วิปฺปมุตฺตสฺส สพฺพธิ
สพฺพคนนฺถปฺหีนสฺส ปริฬาโห น วิชฺชติ

“ผู้เดินทางมาจนสุดทางแห่งสารวัฏ หมดความโศก หลุดพ้น ไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ แล้ว ไม่มีความเร่าร้อน ไม่ว่าร้อนภายนอก (กาย) หรือร้อนภายใน (ใจ)”

หมอชีวกโกมารภัจจ์ ได้เป็นนายแพทย์ประจำพระพุทธองค์คนแรกและคนเดียว ในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

เขาได้ฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธองค์ได้บรรลุโสดาปัตติผล ได้รับยกย่องจากพระพุทธองค์ใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นผู้เลิศกว่าผู้อื่น) ในทางเป็นที่รักของปวงชน


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2019, 13:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ในภาพ...นางวิสาขามหาอุบาสิกา พร้อมหมู่เพื่อนหญิงบริวาร
ได้ขอสมาทานถวาย “ผ้าอาบน้ำฝน” ที่เรียกสั้นๆ ว่า ผ้าอาบ
หรือ “ผ้าวัสสิกสาฎก” (อ่านว่า วัด-สิ-กะ-สา-ดก)
แด่พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์จนตลอดชีวิต
ซึ่งสมัยนั้นยังมิได้มีพุทธบัญญัติการถือครองผ้าเกิน 3 ผืน

:b47: :b45: :b47:

19. ผู้ถวายผ้าอาบน้ำฝนคนแรก
[นางวิสาขามหาอุบาสิกา]

ตอบไว้ก่อนว่าคือ นางวิสาขามหาอุบาสิกา ประวัตินางวิสาขาได้เล่าไว้ในตอนว่าด้วย “อุบาสกอุบาสิกาคู่ขวัญคู่แรก” และในที่อื่นมาหลายครั้งแล้ว ขออนุญาตฉายซ้ำ ณ ที่นี้อีกอย่าหาว่าซ้ำซากเลย เพราะถึงแม้จะใช้ข้อมูลเดิม วิธีนำเสนอก็ไม่เหมือนเดิมดอกครับ หรือว่าไง?

นางวิสาขาเป็นธิดาธนัญชัยเศรษฐี เมืองแคว้นภัคคะ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจนบรรลุเป็นพระโสดาบันตั้งแต่ยังเด็ก ได้แต่งงานกับบุตรเศรษฐีผู้ไม่นับถือพระพุทธศาสนา แห่งเมืองสาวัตถี ย้ายมาอยู่ตระกูลสามี นางก็ยังทำบุญในพระพุทธศาสนาเหมือนเดิม เพราะพระอริยบุคคลระดับนี้ ย่อมมีศรัทธามั่นคงในพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง

วันหนึ่งเกิดเรื่องทะเลาะกับบิดาสามีถึงขั้นฟ้องขับไล่นางออกจากตระกูลสามี เมื่อพระภิกษุรูปหนึ่งมายืนอุ้มบาตรอยู่หน้าบ้าน ขณะเศรษฐีบิดาสามีรับประทานอาหารอยู่ นางกระซิบกับภิกษุรูปนั้นให้ไปโปรดข้างหน้า เพราะคุณพ่อนาง (บิดาสามี) กำลัง “กินของเก่า” อยู่

คณะผู้พิจารณาความตัดสินว่านางไม่มีความผิด เพราะตามคำอธิบายของนาง “กินของเก่า” หมายถึง กินบุญเก่า มิใช่คำหยาบหรือด่าว่าเสียดสีแต่ประการใด บิดาสามีก็ยอมไม่เอาเรื่องต่อไป

การณ์กลับเป็นว่า หลังจากนั้นไม่นาน บิดาสามีกลับมีความเลื่อมใสในตัวลูกสะใภ้มากขึ้น จนถึงกับหันมานับถือพระพุทธศาสนาตามลูกสะใภ้

ตั้งแต่นั้นมานางวิสาขาได้สมญานามคล้ายๆ สร้อยนามเพิ่มขึ้นว่า วิสาขามิคารมาตา (นางวิสาขาผู้เป็นบิดาแห่งมิคารเศรษฐี) ลูกสะใภ้ได้กลายเป็น “แม่” ของพ่อสามี มิใช่ธรรมดานะครับ

ในระหว่างนั้นพระสงฆ์ได้รับอนุญาตให้มีผ้าเพียง 3 ผืน เรียก ไตรจีวร คือผ้านุ่ง เรียกอันตรวาสก หรือผ้าสบง ผ้าห่มคลุมเรียก อุตตราสงค์ หรือผ้าจีวร ผ้าห่มซ้อนเรียกว่า สังฆาฏิ 3 ผืนแค่นั้นจริงๆ ผ้าอาบน้ำหรือผ้าขาวม้า (ผ้าขะม้า) ไม่มี เพิ่งจะมีในเวลาต่อมา ก็ต้องยกเครดิตให้นางวิสาขามหาอุบาสิกา คนนี้แหละครับ

วันหนึ่งนางตระเตรียมภัตตาหารไว้รอถวายพระสงฆ์ ซึ่งเป็นกิจวัตรที่ทำอยู่ประจำ เตรียมทุกอย่างเรียบร้อยแล้ว พระคุณเจ้าก็ไม่มาสักที จึงบอกสาวใช้ให้ไปดูซิว่า ทำไมพระคุณเจ้ายังไม่มา

บังเอิญตอนนั้นฝนตก พระคุณเจ้าทั้งหลายก็พากันอาบน้ำฝนกัน ก่อนจะเข้าบ้านเพื่อฉันภัตตาหารตามที่นิมนต์ สาวใช้เห็นเข้าก็ตกใจวิ่งหน้าตื่นไปรายงานนายหญิงว่า “ที่วัดไม่มีภิกษุเลยเจ้าค่ะ”

“ไม่มีได้อย่างไร ก็ฉันนิมนต์ท่านไว้แล้ว ท่านก็รับปากแล้ว ไม่มีสักรูปเลยหรือ” นางวิสาขาถามย้ำ

“มีค่ะ แต่ไม่ใช่พระภิกษุ” สาวใช้ตอบ

“เป็นใคร”

“ชีเปลือยเจ้าค่ะ ชีเปลือยเต็มวัดเลย”

นางวิสาขาตกใจ นึกว่าวัดพระเชตวันถูกพวกนิครนถ์ยึดไปซะแล้ว ไม่น่าเป็นไปได้ จึงตรงดิ่งไปยังวัดพระเชตวันด้วยความร้อนใจ ไปเห็นพระคุณเจ้าบางรูปกำลังอาบน้ำในชุดวันเกิดอยู่ บางรูปก็อาบน้ำเสร็จแล้ว นุ่งห่มผ้าเรียบร้อยแล้ว จนถึง “บางอ้อ” ที่สาวใช้ว่าในวัดมีแต่พวกชีเปลือยก็คืออย่างนี้นี่เอง (ก็เปลือยจริงๆ นี่คะ)

เมื่อพระท่านมีผ้าเพียงสามผืนเท่านั้น เวลาอาบน้ำก็ต้องเปลือยกายอาบเป็นธรรมดา นางวิสาขาเห็นว่า พระสมณศากยบุตรควรจะ “เรียบร้อย” กว่านี้ หาไม่ก็ไม่ต่างอะไรกับพวกนิครนถ์ จึงนำความคิดเรื่องผ้าอาบน้ำฝนไปกราบทูลพระพุทธองค์ และขอพรให้ทรงอนุญาตให้นางได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์

พระพุทธเจ้าทรงเห็นดีด้วยกับข้อเสนอของนางวิสาขา จึงตรัสอนุญาตให้ชาวบ้านถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่ภิกษุได้ตั้งแต่บัดนั้นมา นางวิสาขาจึงเป็นคนแรกที่ได้ถวายผ้าอาบน้ำฝนแก่พระสงฆ์

ตั้งแต่วันนั้นมา ไม่มีใครเห็น “ชีเปลือย” ในวัดพระเชตวันอีกเลย

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2019, 13:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


20. คนแรกที่เป็นต้นเหตุให้พระรับคหบดีจีวร
[หมอชีวกโกมารภัจจ์]

“คหบดีจีวร” คือผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านเขาถวาย คนแรกที่เป็นต้นเหตุให้มีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับได้คือหมอชีวกโกมารภัจจ์

เมื่อก่อนนั้น พระสงฆ์ท่านใช้ผ้าบังสุกุลจีวรคือแสวงหาเศษผ้าบ้าง ผ้าห่อศพบ้าง มาตัดเย็บเป็นจีวร ต้องลำบากด้วยการแสวงหาผ้า ชาวบ้านอยากจะถวายผ้าสำเร็จรูปแก่พระภิกษุก็ไม่กล้า เพราะไม่มีพุทธานุญาตไว้ จึงใช้วิธีเลี่ยงๆ

เลี่ยงอย่างไร คือ เมื่อเห็นพระภิกษุเดินมา ก็เอาผ้าสำเร็จรูป ไปพาดไว้ที่กิ่งไม้บ้าง บนพุ่มไม้บ้าง แล้วก็หนีไปเสีย พระท่านเดินมาเห็นเข้าก็จะถามดังๆ ว่า “ผ้านี้มีเจ้าของหรือเปล่า” 3 ครั้ง

เมื่อไม่มีเสียงตอบ ท่านก็จะกระทำ “ปังสุกูลสัญญา” (ความสำคัญว่าเป็นผ้าบังสุกุล) แล้วก็ชักหรือดึงเอาผ้านั้นไปตัดเย็บทำจีวร

ด้วยเหตุนี้จึงเรียกกิริยาอาการถือผ้านี้ว่า “ชักบังสุกุล” มาจนบัดนี้

แม้ตอนหลัง เมื่อพระได้รับอนุญาตให้รับจีวรสำเร็จรูปได้แล้ว ก็ยังมีพิธีถวายผ้าบังสุกุล และมีการชักผ้าบังสุกุลอยู่ ดังจะเห็นทายกทายิกาเอาพุ่มไม้มาตั้งแล้วเอาจีวรพาดตามกิ่งไม้ ให้เห็นเป็นสัญลักษณ์อยู่

ต้นเหตุให้มีการอนุญาตให้พระรับจีวรสำเร็จรูป มาจากหมอชีวกโกมารภัจจ์ พระเจ้าจัณฑปัชโชต แห่งเมืองอุชเชนี หรืออุชย์นี แคว้นอวันตีซึ่งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของชมพูทวีป ทรงพระประชวรด้วยโรคร้ายชนิดหนึ่งรักษาอย่างไรก็ไม่หาย

ทรงทราบว่า ที่ราชสำนักเมืองราชคฤห์มี “หมอเทวดา” คนหนึ่ง เชี่ยวชาญในการรักษาโรคต่างๆ จึงทรงมีพระราชสาส์นไปขอหมอเทวดาคนนั้นจากพระเจ้าพิมพิสาร

พระเจ้าพิมพิสารส่งหมอชีวกไปตามคำขอ แต่ตรัสเตือนหมอชีวกว่า ได้ทราบว่าพระราชาองค์นี้ทรงมีพระอารมณ์ร้าย ให้หมอรักษาตัวให้ดี อย่าทำอะไรให้เป็นที่ขัดเคืองพระราชหฤทัย จนอาจก่อภัยแก่ตัวได้

หมอชีวกไปยังพระราชสำนักเมืองอุชเชนีตรวจพระอาการของพระเจ้าจัณฑปัชโชตอย่างถี่ถ้วน เตรียมปรุงโอสถถวายการรักษา พระเจ้าจัณฑปัชโชตตรัสว่า ยาอะไรข้าก็กินได้ ขออย่างเดียวอย่าใส่เนยใสเพราะข้าเกลียดเนยใส

หมอถึงกับตกใจ เพราะยาที่ว่านี้จะต้องมีเนยใสประกอบด้วย จึงหาอุบายประกอบยาตามตำรับจนได้

เขากราบทูลขอพระบรมราชานุญาตพระราชทานของ 3 ชนิด คือ (1) ให้จัดห้องปรุงยาอย่างมิดชิดมิให้กลิ่นออกมา (2) ให้เปิดประตูเมืองไว้ตลอดเวลา (3) ขอพาหนะฝีเท้าเร็วที่สุดชนิดหนึ่ง

พระราชาตรัสว่า ข้อ 1 น่ะมีเหตุผล แต่ข้อ 2 กับข้อ 3 จะเอาไปทำไม ไม่เห็นเกี่ยวกับการรักษาโรคอะไร

หมอชีวกกราบทูลว่า ที่ให้เปิดประตูเมืองไว้ตลอดเวลา ก็เผื่อว่า เวลาปรุงยาอะไร นึกถึงสมุนไพรอะไรจะได้ออกไปหามาทันที ไม่ต้องเสียเวลาขออนุญาตให้เปิดประตูเมือง

ที่ขอพาหนะฝีเท้าเร็ว ก็เพื่อรีบไปเอาตัวยาให้ทันเวลา

เมื่อได้รับพระบรมราชาอนุญาตแล้ว เขาก็เข้าห้องปรุงยา เอาเนยใสผสม เคี่ยวจนได้ที่ประมาณหนึ่งจอก ก็มอบให้มหาดเล็กสั่งว่า ให้ตนออกจากเมืองไปได้สักพักหนึ่งค่อยให้ในหลวงเสวยพระโอสถ ว่าแล้วก็ไสช้างพังฝีเท้าเร็วออกจากเมืองไป

เมื่อพระเจ้าจัณฑปัชโชตเสวยพระโอสถได้สักพัก ก็ทรงเรอ (ราชาศัพท์ว่าอย่างไร จนด้วยเกล้าฯ ผู้รู้ช่วยบอกด้วย) ออกมา กลิ่นเนยใสก็โชยออกมา เท่านั้นแหละ พระเจ้าจัณฑปัชโชตก็ทรงพิโรธ ที่ถูกหมอชีวกหลอกให้เสวยสิ่งที่ทรงเกลียดที่สุด รับสั่งด้วยพระสุรเสียงดังว่า

“ไปตามกากะมาเดี๋ยวนี้ ไอ้หมอเจ้าเล่ห์ มันเอาเนยใสให้ข้ากินนี่หว่า ไปตามมันมาให้ได้ ข้าจะตัดคอมันให้หายแค้น”

กากะ คือทาสฝีเท้าเร็วที่สุดพอๆ กับ ยูเซน โบลต์ แชมป์นักวิ่งโอลิมปิก ประมาณนั้น รีบวิ่งตื๋อออกไปโดยพระราชาตรัสไล่หลังว่า “เอ็งอย่ากินอะไรที่หมอเจ้าเล่ห์ให้เป็นอันขาด เดี๋ยวเสียรู้มัน”

กากะวิ่งไปทันหมอชีวกที่ชายแดนจะข้ามเมืองอุชเชนีพอดี จึงจับแขนลากถูลู่ถูกังจะพากลับไปเฝ้าในหลวงให้จนได้ แต่หมอชีกออกอุบายให้กินมะขามป้อมแก้กระหาย กากะเห็นมะขามป้อมเพิ่งหล่นจากต้น คงไม่มีอะไร จึงกินเข้าไป หารู้ไม่ว่าหมอชีวกเอายาถ่ายอย่างแรงใส่เล็บแล้วหยิกผิวมะขามป้อมแล้วยื่นให้กิน

สักพักเดียว ทาสกากะก็มีอาการท้องปั่นป่วน วิ่งเข้าหลังพุ่มไม้ขี้พุ่งยังกับท่อประปาแตก หมอชีวกหัวร่อก้ากๆ พร้อมกล่าวว่า “ไม่เป็นไรเพื่อน ขี้ออกหมดแล้วก็หาย ฝากนำช้างไปคืนพระเจ้าอยู่หัวด้วย ฮ่าฮ่า”

ทาสกากะเดินโซเซกลับไปเฝ้าพระเจ้าอยู่หัว ด้วยอาการตัวสั่นงันงก พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงมีพระอารมณ์ดี ทรงพระสรวลก้ากๆ

“เอ็งคงเสียรู้ไอ้หมอเจ้าเล่ห์แล้วสิท่า ไม่เป็นไรข้าหายดีแล้ว”

เมื่อหายพระประชวร พระเจ้าจัณฑปัชโชตทรงลำลึกถึงคุณูปการของหมอชีวก จึงทรงส่งผ้ากัมพลสีทองเนื้อละเอียดอย่างดี อันเรียกว่าผ้า “สีเวยยกะ” (ผ้าที่ทอที่เมืองสีพี) สองผืนไปพระราชทานแก่หมอชีวกเป็นบำเหน็จรางวัล

หมอชีวกได้ผ้าสีทองแล้วนึกถึงองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จึงนำไปถวาย แต่พระพุทธองค์ไม่ทรงรับ เพราะยังไม่มีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านถวาย

หมอชีวกจึงกราบทูลขอพรพระพุทธเจ้าให้ทรงรับผ้าเนื้อสีทองที่เขาถวาย และทรงอนุญาตให้พระสงฆ์สาวกรับผ้าสำเร็จรูปที่ชาวบ้านเขาถวายด้วย พระพุทธองค์จึงทรงรับผ้านั้น แล้วมีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับคหบดีจีวรแต่บัดนี้มา

เมื่อทราบว่ามีพุทธานุญาตให้ชาวบ้านถวายผ้าแล้ว ชาวบ้านต่างก็นำผ้าเนื้อหยาบบ้าง เนื้อละเอียดบ้าง ทอด้วยวัสดุต่างๆ กันมาถวาย จนพระสงฆ์เกิดความไม่แน่ใจว่าผ้าชนิดไหนควรรับ ไม่ควรรับ จึงนำความเข้าทูลถามพระพุทธองค์

พระพุทธองค์ตรัสว่า “ภิกษุทั้งหลาย เราอนุญาตจีวร 6 ชนิด คือ จีวรทอด้วยเปลือกไม้ 1 ทอด้วยฝ้าย 1 ทอด้วยไหม 1 ทอด้วยขนสัตว์ 1 ทอด้วยของห้าอย่างข้างต้นผสมกัน 1”

หมอชีวกคือต้นเหตุให้มีพุทธานุญาตให้พระสงฆ์รับจีวรสำเร็จรูปจากชาวบ้าน ดังเรื่องราวที่เล่ามาข้างต้นนั้นแล

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 19:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

21. โสเภณีที่ถวายสวนสร้างวัดคนแรก
[นางอัมพปาลี]

โสเภณี มีคำเต็มว่า “นครโสเภณี” แปลว่าหญิงผู้ยังพระนครให้งาม แปลเป็นไทยแท้ๆ ว่า “หญิงงามเมือง”

สมัยก่อนโน้น โสเภณีเป็นตำแหน่งที่มีเกียรติระดับที่เป็นหน้าเป็นตาของบ้านเมือง พระราชามหากษัตริย์ทรงแต่งตั้ง โดยคัดเลือกเอาสตรีเลอโฉมที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการเอ็นเตอร์เทนเมนต์อย่างดี ว่าอย่างนั้นเถอะ

สวยอย่างเดียวไม่มีกึ๋น ไม่มีสิทธิ์ได้รับเลือกเป็นโสเภณี

ต่อมาในยุคหลังๆ นี้เท่านั้น ที่โสเภณีตกต่ำลง ถึงขั้นเป็นที่ดูหมิ่นดูแคลนของคนทั่วไป

นางโสเภณีดังๆ มีส่วนเกี่ยวข้องกับพระพุทธศานาหลายคน

คนหนึ่งชื่อ
อัมพปาลี อยู่ที่เมืองไพศาลี แคว้นวัชชี ของเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี นางได้พบพระพุทธเจ้า ได้ฟังธรรม มีความเลื่อมใสในพระพุทธศาสนาและได้ถวายสวนมะม่วงของเธอให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระสงฆ์

การถวายสวนมะม่วงนี้ หลักฐานบางแห่งก็ว่าเพิ่งมาถวายในช่วงท้ายพุทธกาลก่อนพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพานไม่นาน บางแห่งพูดทำนองว่าถวายไว้นานแล้ว ก็ว่ากันไป เราเกิดไม่ทันก็ฟังๆ ไว้แล้วกัน

นางอัมพปาลี นับเป็นโสเภณีคนแรกที่สร้างวัดถวายไว้ในพระพุทธศาสนา

นางเป็นคนมั่นคงในพระรัตนตรัย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จมุ่งหน้าไปยังเมืองกุสินาราเพื่อปรินิพพาน เสด็จถึงโกฏิคามใกล้เมืองไพศาลี นางได้เข้าเฝ้า กราบทูลอาราธนาพระพุทธองค์พร้อมภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา

ขณะนั่งรถกลับ ก็สวนทางกับเหล่ากษัตริย์ลิจฉวี บรรดาชายหนุ่มเจ้าสำราญ เห็นนางผู้ซึ่งคุ้นเคยกันเพราะเป็น “แขก” คนสำคัญของเธอทั้งนั้น เรียกให้ทันสมัยก็คือ “ขาประจำ” จึงแกล้งขับรถเข้าไปกระแทกกับรถนางเป็นที่สนุกสนาน

“นางผู้เลอโฉม ไปไหนมา”

“เพิ่งกลับจากเฝ้าพระพุทธองค์มา แล้วพวกท่านจะไปไหน” นางถาม

“พวกเราก็จะไปเฝ้าพระพุทธองค์เช่นกัน”

“ไปด้วยวัตถุประสงค์ใด”

“ไปทูลอาราธนาเสด็จไปเสวยภัตตาหารที่วังของพวกเรา”

นางจึงบอกว่า ถ้าไปด้วยเหตุนั้น ก็จงกลับเถอะเพราะพระพุทธองค์ทรงรับคำอาราธนาของนางแล้ว

พวกกษัตริย์ลิจฉวี จึงอ้อนวอนนางขอแลกกับรถม้าและเครื่องประดับล้ำค่าทั้งหมด นางก็ปฏิเสธ

แม้เสนอจะให้ทรัพย์สินเงินทองมากมายเพียงใดนางก็ยืนกรานปฏิเสธ


นางบอกว่าที่มีโอกาสถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้านั้นมีค่ามากกว่าสิ่งใด

ในที่สุดพวกกษัตริย์ลิจฉวีก็ต้องยอมแพ้

นางอัมพปาลี มีบุตรชายชื่อ
วิมลโกณฑัญญะ ซึ่งต่อมาได้มาบวชเป็นสาวกของพระพุทธเจ้า พระวิมลได้แสดงธรรมให้แก่โยมมารดาฟัง นางรู้สึกซาบซึ้งในรสพระธรรม ตัดสินใจออกบวชเป็นภิกษุณี ขณะบำเพ็ญเพียรอยู่ ก็มองเห็นความเป็นอนิจจังของสังขารร่างกายของตนยกขึ้นสู่วิปัสสนา ในไม่ช้าไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตผล

หลังจากบรรลุธรรม พระเถรีได้กล่าว “คาถา” (โศลก - อ่านว่า สะ-โหฺลก) อันแสดงถึงสัจจะแห่งชีวิต เป็นคติสอนใจสตรี (บุรุษด้วยแหละ) ทั้งหลายได้อย่างดีทีเดียว จึงขออนุญาตคัดข้อความบางตอนมาลงไว้ดังนี้

“เมื่อก่อนผมของเรามีสีดำ” คล้ายปีกแมลงภู่ มีปลายงอน เดี๋ยวนี้กลายเป็นเช่นปอ เพราะชรา

เมื่อก่อนมวยผมของเรามีกลิ่นหอม ดุจอบด้วยมะลิ เดี๋ยวนี้มีกลิ่นเหมือนขนกระต่าย เพราะชรา

เมื่อก่อนคิ้วของเรางดงามคล้ายรอยเขียนอันช่างเขียนดีแล้ว เดี๋ยวนี้เหมือนเถาวัลย์ เพราะชรา

เมื่อก่อนนัยน์ตาของเราดำขลับเหมือนนิลมณีรุ่งเรืองงาม เดี๋ยวนี้ถูกชราขจัดแล้ว ไม่งามเลย

เมื่อก่อนจมูกของเรางดงาม เหมือนเกลียวหรดาล เดี๋ยวนี้กลับห่อเหี่ยวเหมือนจมหายเข้าไปในกะโหลกศีรษะ เพราะชรา

เมื่อก่อนฟันของเราขาวงดงามเหมือนดอกมะลิตูม เดี๋ยวนี้หัก มีสีเหลืองปนแดง เพราะชรา

เมื่อก่อนเสียงของเราไพเราะเหมือนเสียงนกร้องอยู่ในไพรสณฑ์ เดี๋ยวนี้เราพูดอะไรก็ไม่ชัด เพราะชรา


สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสว่า “สรรพสิ่งเป็นอนิจจัง ช่างเป็นจริงทุกประการ”

นางได้พรรณนาความงดงามของสรรพางค์กายตั้งแต่ศีรษะจรดปลายเท้าว่า ล้วนแต่งดงามเป็นที่ปรารถนาของชายทั่วไป แต่ถึงตอนนี้ (เมื่อยามชรา) อวัยวะที่ว่างดงามนั้น ทรุดโทรมเพราะชราไม่น่าดู ไม่น่าชมเลย เป็นเครื่องแสดงถึงความอนิจจัง

ยืนยันพระพุทธดำรัสของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่ตรัสสอนถึงความไม่เที่ยงแท้ “ไม่คงที่ ไม่คงตัว และไม่เป็นตัว”

ฝากไว้ให้ช่วยพิจารณา เผื่อจะมีใครบรรลุธรรมเหมือนนางอัมพปาลีบ้าง


:b8:

๏ พระอัมพปาลีเถรี อดีตนางคณิกา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50276

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 19:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


22. ผู้ละเมิดปฐมปาราชิกคนแรก
[พระสุทิน กลันทบุตร] - การเสพเมถุน

ผู้ละเมิดพระวินัยขั้นอุกฤษฏ์ชนิดที่ขาดจากความเป็นพระเลยเรียกว่า “ปาราชิก” มีอยู่ 4 ประเภทคือ เสพเมถุน, ลักทรัพย์, ฆ่ามนุษย์ และอวดอุตริมนุสสธรรม (อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน) เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา

จึงขอนำมาเล่าให้ฟังตามลำดับ

ท่านผู้ละเมิดปฐมปาราชิกมีนามว่า พระสุทิน กลันทบุตร ท่านเป็นบุตรเศรษฐีเมืองราชคฤห์ วันหนึ่งไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมสหาย มีความเลื่อมใสใคร่อยากบวช จึงทูลขอบวช

เข้าไปขออนุญาตบิดามารดา แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงอดข้าวประท้วง ไม่กินข้าวกินปลาหลายวัน บิดามารดาของสุทินกลัวว่าลูกจะอดข้าวตาย จึงขอร้องให้เพื่อนๆ ของสุทินช่วยเกลี้ยกล่อมใหม่ให้เลิกคิดบวชเสีย

เพื่อนๆ ต่างก็พยายามเกลี้ยกล่อมให้เลิกคิดบวชก็ไม่สำเร็จ จึงบอกบิดามารดาของสุทินว่า “คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องวิตกดอก สุทินเธอเป็นคนสุขุมาลชาติ เมื่อบวชเข้าจริงคงทนความลำบากไม่ไหว ไม่นานก็คงกลับมาเองแหละ”

บิดามารดาจึงอนุญาตให้บุตรชายบวช คิดว่าไม่นานเธอก็คงสึกมาตามที่เพื่อนๆ คาด

แต่ผิดคาดครับ พระสุทินหลังจากบวชแล้วไม่นาน ก็ทูลขอกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าแล้วเข้าป่าหาความสงบวิเวกตามลำพัง หายจ้อยไปแล้ว ไม่กลับเข้าเมือง

และไม่มายังบ้านโยมบิดามารดาเลย

กาลล่วงเลยไปหลายปี วันหนึ่งพระภิกษุหนุ่มกลับเข้ามาในเมืองกำลังเที่ยวภิกขาจารยอยู่ เห็นสาวใช้บ้านของตนเองกำลังจะเอาขนมที่เริ่มบูดมาทิ้ง จึงกล่าวว่า “น้องหญิง ถ้าเจ้าจะทิ้ง เอามาใส่บาตรอาตมาเถอะ”

นางจะเอาขนมใส่บาตร พอแหงนหน้าขึ้นมาเท่านั้น ก็จำได้รีบวิ่งไปบอกนายว่า “นายขา คุณผู้ชายกลับมาแล้ว กำลังเดินขอทานอยู่”

บิดามารดาของพระหนุ่มได้ยินดังนั้น ก็ดีใจที่ลูกกลับมา แต่เสียใจที่ลูกชายเที่ยว “ขอทาน” ทำไมหนอลูกเราจึงทำขายหน้าวงศ์ตระกูลปานฉะนี้ จึงให้คนไปนิมนต์มาคฤหาสน์ ต่อว่าต่อขานพักใหญ่ หาว่าทรัพย์สินเงินทองก็มีมากมาย ทำไมลูกถึงได้เดินขอทานตามถนน ทำให้พ่อแม่ขายหน้า

ภิกษุหนุ่มกล่าวว่า “นี้เป็นการบิณฑบาตตามวัตรจริยาของสมณศากยบุตร มิใช่เป็นการขอทาน หากแต่เป็นการโปรดสัตว์”

“เอาเถอะๆ แล้วไป ว่าแต่ว่าลูกลาสิกขามาดูแลทรัพย์สมบัติของเราเถิด พ่อแม่ไม่มีใครสืบสกุลแล้ว”

“อาตมายังยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ไม่อยากลาสิกขา” พระหนุ่มยืนยัน บิดามารดาอ้อนวอนอย่างไร เธอก็ยืนกรานว่าไม่ลาสิกขาเป็นอันขาด

บิดาจึงสั่งให้คนขนกหาปณะจากคลังมากองจนท่วมศีรษะแล้วกล่าวว่า “ลูกดูสิ ทรัพย์มากมายเหล่านี้ใครจะดูแล เมื่อไม่มีพ่อและแม่แล้ว”

พระลูกชายกล่าวว่า “ถ้ายุ่งยาก หาคนดูแลไม่ได้ โยมพ่อและโยมแม่ขนไปทิ้งทะเลเสียเถอะ”

คำพูดช่างเชือดเฉือนใจเสียนี่กระไร มารดาได้ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร

พระหนุ่มคงยังนั่งสงบตามลักษณะของสมณะแท้จริง

ทันใดนั้นโยมมารดานึกอะไรขึ้นมาได้ จึงกล่าวกับพระลูกชายว่า “ถ้าลูกไม่สึกก็ไม่เป็นไร พ่อแม่ขอ “หน่อ” ไว้สักหน่อจะได้ไหม”

“ได้ เจริญพร” พระหนุ่มคิดว่าคงไม่ผิดอะไร ดีเสียอีกเมื่อพ่อแม่มี “หน่อ” ไว้สืบสกุลแล้วจะได้ไม่มารบเร้าให้ตนสละเพศบรรพชิตอีก จึงหันไปกล่าวกับอดีตภรรยาว่า “น้องหญิงพร้อมเมื่อไหร่บอกอาตมาด้วย” (เป็นที่รู้กันว่า “พร้อม” ในที่นี้คืออะไร)

ต่อมาเมื่อนาง “พร้อมแล้ว” จึงแจ้งแก่พระหนุ่มอดีตสามี พระหนุ่มก็จูงมืออดีตภรรยาเข้าละเมาะ พระคัมภีร์ว่า “ได้จัดการ” เพื่อให้อดีตภรรยาได้หน่อ (ทำอย่างไร ก็รู้กันดีอยู่แล้วมิใช่เรอะ) ผู้รวบรวมพระคัมภีร์ท่านมีอารมณ์ขัน ท่านกล่าวว่า “พระสุทินกระทำซ้ำถึงสามครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าติดแน่” (ว่าอย่างนั้น)

และก็ติดจริงๆ หลังจากนั้นนางก็ตั้งครรภ์คลอดลูกออกมาเป็นชาย ปู่ย่าจึงขนานนามว่า “เด็กชายพีชกะ (พืช หรือหน่อ) ประชาชนรู้เรื่องก็พากันโพนทนากันให้แซ่ดว่า พระสมณศากยบุตร ไหนว่าบวชประพฤติพรหมจรรย์ ยังมาเสพเมถุนจนมีลูกมีเต้าน่าอับอายขายหน้าแท้”

เรื่องรู้ถึงพระพุทธองค์ พระองค์ทรงเรียกพระสุทินมาสอบสวนท่ามกลางสงฆ์ เธอรับเป็นสัตย์จริง จึงทรงตำหนิว่า ทำการไม่เหมาะสมไม่ก่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส และบั่นทอนความเลื่อมใสของผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว

จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ต่อแต่นี้ไปห้ามภิกษุเสพเมถุน ภิกษุใดเสพเมถุน ภิกษุนั้นขาดจากความเป็นภิกษุ ถูกขับออกจากหมู่ทันที”

พระสุทินจึงนับเป็นภิกษุรูปแรกที่ทำผิดขั้นอุกฤษฏ์ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กับสตรี ทำให้ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันที

แต่เนื่องจากเธอเป็นผู้กระทำผิดคนแรก พระพุทธองค์จึงไม่ให้สึก ให้เธอเป็น “อาทิกัมมิกะ” (ต้นบัญญัติ) คล้ายกับว่าให้เป็นที่อ้างอิงในทางชั่ว สำหรับยกมาเตือนพระภิกษุอื่นๆ ในภายหลังว่าให้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัดนะ อย่าทำผิดถึงขั้นเสพเมถุนเหมือนพระสุทินอะไรประมาณนั้น

ความเป็นจริงให้เธอสึกหาลาเพศไปรักษาศีลบำเพ็ญทานในเพศฆราวาสเสียจะดีกว่า เมื่อเธอมิได้สึก เธอก็มีแต่ความเศร้าหมองจิตไปจนสิ้นชีวิต ไม่มีโอกาสงอกงามในคุณธรรมอีกเลย เพราะเธอได้ “ขุดรากถอนโคนตนเองเสียแล้ว”


:b49: :b50: :b49:

๏ เรื่องพระสุทิน ?
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=30120

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 19:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


23. ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก
[พระธนิยะ ชาวเมืองราชคฤห์] - การลักทรัพย์

พระภิกษุรูปแรกที่ลักของชาวบ้านจนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่ 2 (ห้ามลักทรัพย์) คือ “พระธนิยะ” ชาวเมืองราชคฤห์

ก่อนหน้านี้อาจมีพระภิกษุลักทรัพย์หรือถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเท่ากับท่านธนิยะ ใหญ่ขนาดไหน ก็ขนาดลักไม้จากโรงไม้หลวงเลยทีเดียว

เรื่องราวมีมาดังนี้ ขอรับ ท่านธนิยะนี้เป็นช่างก่อสร้างมาก่อน บวชเข้ามาแล้วก็สร้างกุฏิทำด้วยดินเผาตกแต่งภายนอกภายในสวยงามตามประสาช่าง พระสงฆ์องค์เจ้าเดินผ่านไปมาก็เข้ามาชม ต่างก็สรรเสริญในความเก่งของท่านธนิยะ แต่พระคุณเจ้าที่ท่านมีศีลาจารวัตรเคร่งครัด พากันตำหนิท่านธนิยะว่า ไม่ควรสร้างกุฏิสวยงามอย่างนี้

ความทราบถึงพระกรรณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสด็จมาทอดพระเนตรกุฏิอื้อฉาวนี้ด้วยพระองค์เอง แล้วตรัสเรียกพระธนิยะมาตำหนิโดยประการต่างๆ ทรงสั่งให้ทุบทำลายกุฏิดินของพระธนิยะเสีย

เมื่อกุฏิสวยงามที่สร้างมากับมือถูกพระพุทธองค์รับสั่งให้ทำลาย พระธนิยะคิดจะสร้างกุฏิไม้แทน จึงไปยังโรงไม้หลวง บอกคนเฝ้าโรงไม้หลวงว่า จะมาขนไม้ไปสร้างกุฏิ

“ไม้นี้เป็นของหลวงนะ ขอรับ” คนเฝ้าโรงไม้ทักท้วง

“อาตมาทราบแล้ว” พระหนุ่มตอบอย่างสงบ

“ไม้หลวงเป็นสมบัติของพระราชานะขอรับ พระองค์ทรงพระราชทานหรือยัง”

“พระราชทานเรียบร้อยแล้ว โยม”

เมื่อพระภิกษุหนุ่มยืนยันว่าไม้นี้ได้รับพระราชทานจากในหลวงแล้ว คนเฝ้าก็มอบให้ภิกษุหนุ่มขนไป

วันหนึ่งวัสสการพราหมณ์ ปุโรหิตแห่งพระราชสำนักเมืองราชคฤห์ เดินทางมาตรวจโรงไม้ เห็นไม้หายไปจำนวนมาก จึงซักถามคนเฝ้า คนเฝ้าบอกว่าพระสมณศากยบุตรรูปหนึ่งเอาไป บอกว่าได้รับพระราชทานแล้วด้วย

วัสสการพราหมณ์จึงไปกราบทูลถามพระเจ้าพิมพิสารถึงเรื่องนี้ พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้นิมนต์พระธนิยะเข้าไปพระราชวัง ตรัสกับภิกษุหนุ่มว่า

“นัยว่าพระคุณเจ้าเอาไม้หลวงไปจำนวนหนึ่ง เป็นความจริงหรือไม่”

“เป็นความจริง มหาบพิตร” ภิกษุหนุ่มตอบ

“ไม้เหล่านั้นเป็นของหลวง คนที่ได้รับอนุญาตจากโยมเท่านั้น จึงจะเอาไปได้ โยมมีภารกิจมากมายจำไม่ได้ว่าเคยออกปากถวายไม้แก่พระคุณเจ้าเมื่อใด ขอได้เตือนความจำโยมด้วยเถิด”

“ขอถวายพระพร เมื่อพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกนั้น พระองค์ตรัสว่า ต้นไม้และลำธารทั้งหลาย ข้าพเจ้ามอบให้แก่สมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล ขอจงใช้สอยตามอัธยาศัยเถิด นี้แสดงว่าพระองค์ได้พระราชทานไม้นี้ให้แก่อาตมาแต่บัดนั้นแล้ว” พระหนุ่มอธิบาย

ถ้าเป็นผู้มีอำนาจสมัยนี้ คงฉุนขาด ถึงขั้นสบถว่าคนอย่างนี้ไม่เอามาทำพ่อแน่นอน แต่บังเอิญคู่กรณีของพระภิกษุในเรื่องนี้เป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ถึงกิเลสยังไม่หมดสิ้นจากจิตสันดาน ก็เบาบางลงมากแล้ว พระองค์ตรัสด้วยพระสุรเสียงเข้มว่า

“คำกล่าวนั้นกล่าวตามโบราณราชประเพณี ในเวลาประกอบพระราชพิธี หมายถึงว่า สมณชีพราหมณ์จะใช้สอยน้ำลำธาร หรือต้นไม้ใบหญ้าในป่า ที่ไม่มีเจ้าของนั้นสมควรอยู่ แต่ไม้ในโรงไม้หลวงนี้มีเจ้าของ หาควรที่สมณะจะเอาไปโดยพลการไม่ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ทำอย่างนี้คงถูกลงอาญาแล้ว แต่เผอิญว่าพระคุณเจ้าเป็นสมถะ จึงไม่เอาโทษ แต่ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก นับว่าโชคดีนะที่พระคุณเจ้า ‘พ้นเพราะขน’

ตรัสเสร็จ ก็นิมนต์พระภิกษุหนุ่มรีบออกจากพระราชวังไป พูดแบบหนังกำลังภายในก็ว่า “โน่นประตู ไสหัวไป” อะไรทำนองนั้น

คำว่า “พ้นเพราะขน” เป็นสำนวนเปรียบเทียบ สัตว์ที่มีขนคือแพะ กับสัตว์ไม่มีขน มีชะตากรรมแตกต่างกัน เมื่อเขาจะหาสัตว์ไปฆ่าบูชายัญ เขาจะเอาเฉพาะแพะ ไม่เอาแกะ เพราะแกะมีขนที่เอามาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มได้ แกะจึงพ้นจาการถูกฆ่าเพราะขนของมัน

ฉันใดก็ฉันนั้น พระภิกษุหนุ่มลักไม้หลวง แต่พระราชาไม่เอาโทษ ปล่อยไป เพราะทรงเห็นแก่ผ้าเหลือง ด้วยเหตุนี้พระราชาจึงตรัสว่า พระหนุ่มรอดพ้นจากอาญา “เพราะขน”

เหตุเกิดครั้งนี้ คงเป็นเรื่องอื้อฉาวพอสมควร ผู้คนคงบอกต่อๆ กันไป ผู้ที่จ้องจับผิดอยู่แล้วก็พากันกระพือข่าวในทางเสียหาย เช่น ไหนพระสมณศากยบุตร คุยนักคุยหนาว่าสละทุกสิ่งทุกอย่างมาบวชประพฤติพรหมจรรย์ ทำไมยังลักทรัพย์ของคนอื่น ดังเช่นโจรกระจอกภาคใต้ เอ๊ย ทั่วไป

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสเรียกพระธนิยะผู้เป็นต้นเหตุมาสอบสวน ได้อย่างนี้ ไม่เหมาะที่พระสมณศากยบุตรจะพึงกระทำ เพราะไม่เป็นที่เลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส และทำให้คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว เสื่อมศรัทธา จึงทรงบัญญัติทุติยปาราชิกว่า “ภิกษุใดถือเอาของที่เขาไม่ให้ราคาตั้งแต่ห้ามาสกขึ้นไป มีโทษหนักเรียกว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันทีที่การกระทำเสร็จสิ้นลง”

เนื่องจากพระธนิยะเป็นคนทำผิดคนแรก พระพุทธองค์ไม่เอาผิด หากให้เธออยู่ในฐานะเป็น “อาทิกัมมิกะ” (ต้นบัญญัติ) ความหมายก็คือ เอาไว้ให้อ้างอิงในทางชั่วว่า อย่าทำไม่ดีเหมือนพระธนิยะนะ อะไรประมาณนั้น


:b49: :b50: :b49:

๏ การบัญญัติสิกขาบทของพระพุทธเจ้า
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=33958

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 19:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


24. ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก
[ภิกษุฉัพพัคคีย์ กลุ่มหกคน] - การฆ่ามนุษย์

คราวนี้ละมิดปาราชิกข้อที่ 3 กันเป็นคณะเลยทีเดียว ไม่ใช่คนเดียวดังกรณีอื่น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระองค์ทรงแสดงอสุภกรรมฐาน (ว่าด้วยความไม่สวยงามแห่งร่างกาย) ให้พระภิกษุสงฆ์ฟัง

แสดงจบพระองค์ก็ตรัสว่า พระองค์จะหลีกเร้นอยู่กึ่งเดือน ห้ามใครรบกวน ยกเว้นพระภิกษุที่นำบิณฑบาตไปถวาย ภิกษุสงฆ์ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องความไม่งามของร่างกาย อาจจะ “อิน” มากไปหน่อยหรืออย่างไรไม่ทราบ ต่างก็เบื่อหน่าย ระอา สะอิดสะเอียนในความสกปรกเน่าเหม็นแห่งสรีระร่างกายของตนจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ บ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็ไหว้วานให้คนอื่นช่วยปลงชีวิตตน

ในวัดนั้นก็มี “สมณกุตตกะ” คนหนึ่งอาศัยอยู่ด้วย เป็นชายแก่ อาศัยข้าวก้นบาตรพระยังชีพ รับใช้พระในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นุ่งห่มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เช่นเดียวกับพระสงฆ์ (คือเอาผ้าสบงจีวรพระมานุ่งห่ม แต่มิใช่พระสงฆ์) โบราณาจารย์แปลว่า “ตาเถน”

ภิกษุหลายรูปก็วานให้ “ตาเถน” คนนี้ช่วยปลงชีวิตให้ แรกๆ แกก็ตะขิดตะขวงใจ ที่ทำให้พระถึงแก่มรณภาพ แต่เมื่อพระสงฆ์ท่านบอกว่า เป็นการช่วยให้พวกท่านพ้นจากความทุกข์ ก็เลยเบาใจ ทำได้ครั้งหนึ่งแล้วก็ทำต่อๆ ไปโดยไม่รู้สึกผิดอะไร ตกลง “ตาเถน” คนนี้ปลงชีวิตพระไปหลายรูป จนพระอารามที่มีพระหนาแน่น เบาบางลงถนัด

พระพุทธองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทอดพระเนตรเห็นพระบางตา ตรัสถามพระอานนท์ ได้ทราบว่าพระสงฆ์สาวกของพระองค์เบื่อหน่ายในชีวิตพาปลงชีวิตตัวเองบ้าง วานให้คนอื่นปลงชีวิตบ้าง จึงตรัสตำหนิว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่สมณศากยบุตรจะพึงทำเช่นนั้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

“อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราจะปลงชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

“หาสังวาสมิได้” ก็คืออยู่ร่วมกับหมู่คณะไม่ได้ ต้องสละเพศหรือสึกไป


ต่อมาไม่นานก็มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “ฉัพพัคคีย์” (กลุ่มหกคน) จะเรียกว่า “แก๊งหกคน” ก็คงไม่ผิด เพราะท่านเหล่านี้มีพฤติกรรมแผลงๆ เลี่ยงอาบัติหรือ “เลี่ยงบาลี” ออกบ่อย จนเป็นที่ระอาของพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลทั้งหลาย แก๊งหกคนนี้ไปเห็นสตรีสาวสวยนางหนึ่ง ก็เกิด “ปิ๊ง” เข้า อยากได้มาบำรุงบำเรอ (จะขั้นไหน ตำราไม่บอก) แต่ติดขัดที่นางมีสามีแล้ว จึงออกเล่ห์เพทุบายเข้าไปหาสามีของนาง กล่าวพรรณนาคุณความตายให้อุบาสกสามีของนางจนเคลิบเคลิ้ม แสดงว่าแก๊งหกคนนี้มีวาทศิลป์พูดชักจูงใจคนไม่บันเบาทีเดียว

“อุบาสก เท่าที่ผ่านมาท่านก็ทำแต่กรรมดี มิได้ทำกรรมชั่วอะไรให้เป็นเหตุร้อนใจเลย ทำไมต้องมาทนอยู่ในโลกมนุษย์แสนสกปรกนี้ ควรรีบตายเพื่อไปเอาทิพยสมบัติบนสรวงสวรรค์ดีกว่า นะอุบาสกนะ” อะไรประมาณนั้น

อุบาสกที่แสนดี แต่ค่อนข้างซื่อบื้อ ไม่รู้เล่ห์เลี่ยมของเจ้ากูกะล่อน ก็เชื่อสนิทใจ “จึงรับประทานโภชนะอันแสลง เคี้ยวของเคี้ยวที่แสลง ดื่มน้ำที่แสลง” แล้วไม่นานก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมในที่สุด

ภรรยาของมหาเฮง เอ๊ยอุบาสกผู้แสนซื่อ รู้ว่าสามีของตนตายเพราะอุบายสกปรกของเจ้ากูทั้งหก ก็ด่าว่าอย่างรุนแรง “ท่านทั้งหก อ้างว่าเป็นสมณศากยบุตร แต่มีพฤติกรรมไม่สมควรแก่สมณะ เป็นคนทุศีล ไร้ยางอาย พูดเท็จ ท่านหมดความเป็นสมณะแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุให้สามีของฉันตาย”

ความทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ ให้ตามเจ้ากูทั้งหกเข้าเฝ้า ทรงซักไซ้ไล่เลียง จนสารภาพเป็นสัตย์ จึงตรัสตำหนิต่างๆ นานา แล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า

“อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตาย ด้วยคำพูดว่า ท่านผู้เจริญ จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าอยู่

เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ พรรณนาคุณความตายก็ดี ชักชวนเพื่อให้ตายก็ดี โดยนัยต่างๆ ภิกษุนี้เป็นปาราซิก หาสังวาสมิได้”


เรียกว่าบัญญัติรัดกุมจนดิ้นไม่หลุด ฆ่าเองก็ผิด ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าให้ก็ผิด พรรณนาคุณความตายจนเขาเชื่อตามแล้วฆ่าตัวตายก็ผิด รัดกุมขนาด แม่นกา

พระบาลีให้คำจำกัดความไว้เสร็จ เช่น ชักชวนอย่างไร พรรณนาคุณความตายอย่างไร โดยวิธีไหนบ้างจึงจะเข้าข่ายปาราชิก หรือไม่เข้าข่าย ทั้งนี้เพื่อปิดช่องโหว่ ไม่ให้พวก “ตราช้างเรียกพี่” เถียงข้างๆ คูๆ

เล่นกับพวกชอบเลี่ยงบาลีก็ต้องรัดกุมอย่างนี้แหละครับ


:b49: :b50: :b49:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2019, 18:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


25. ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก
[ภิกษุชาวริมฝั่งน้ำวัดคุมุทา] - การอวดอุตริมนุสสธรรม

ที่ถูกควรเรียกว่า ‘กลุ่มแรก’ เพราะพระคุณเจ้าที่ละเมิดปาราชิกข้อที่ 4 ทำกันเป็นหมู่คณะ เรื่องของเรื่องมีดังนี้ครับ

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคาร ในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี เป็นระยะเวลาออกพรรษาใหม่ๆ พระสงฆ์ที่แยกย้ายกันไปจำพรรษายังเมืองต่างๆ ก็ทยอยมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ละรูปหน้าอิดโรยซูบซีดยังกับเพิ่งรอดชีวิตมาจากคลื่นยักษ์สึนามิพัดกระหน่ำก็มิปาน เพราะเกิดทุพภิกขภัยไปทั่ว พระสงฆ์องค์เจ้าอดอาหารกันเป็นแถว แต่มีภิกษุกลุ่มหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากริมฝั่งน้ำวัดคุมุทา รูปร่างอ้วนท้วน มีน้ำมีนวล อินทรีย์ผ่องใส ผิวพรรณผุดผ่อง

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “พวกเธออยู่จำพรรษายังต่างเมือง ยังพอยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ดอกหรือ”

ภิกษุกลุ่มนี้กราบทูลว่า “อยู่ดีสบาย พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุอื่นๆ ประสบความลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต จนผ่ายผอม แต่พวกเธอบอกว่าอยู่ดีสบาย เป็นไปได้อย่างไร”

ภิกษุกลุ่มนี้กราบทูลว่า “พวกข้าพระพุทธเจ้ายกย่องกันเองให้โยมฟังว่า ท่านรูปนั้นบรรลุมรรคผลนิพพานขั้นนั้นๆ ญาติโยมเลยเลื่อมใส นำอาหารบิณฑบาตมาถวาย จึงมีอาหารขบฉันไม่อัตคัดขัดสนแต่ประการใด พระพุทธเจ้าข้า”

ได้ฟังดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสตำหนิด้วยวาทะแรงๆ ว่า “โมฆบุรุษ” ตรัสว่า การกระทำเช่นนี้เป็นลักษณะอาการของ “มหาโจร” แล้วตรัสถึงมหาโจร 5 ประเภท คือ

1. มหาโจรประเภทที่ 1 คือ ภิกษุเลวทรามหลอกชาวบ้านให้เขาเคารพนับถือ ร่ำรวยลาภสักการะ ไม่ต่างกับมหาโจรทางโลกที่รวบรวมสมัครพรรคพวกเที่ยวปล้นฆ่าประชาชน

2. มหาโจรประเภทที่ 2 คือ ภิกษุเลวทรามเล่าเรียนพุทธวจนะจากตถาคตแล้ว อวดอ้างว่าไม่ได้เรียนมาจากใคร

3. มหาโจรประเภทที่ 3 คือ ภิกษุเลวทรามที่ใส่ความภิกษุผู้ทรงศีลด้วยข้อกล่าวหาผิดวินัยที่ไม่มีมูล

4. มหาโจรประเภทที่ 4 คือ ภิกษุเลวทรามที่เอาของสงฆ์ไปให้คฤหัสถ์ เพื่อประจบประแจงเขา

5. มหาโจรประเภทที่ 5 คือ ภิกษุเลวทรามที่อวด “อุตริมนุสสธรรม” (อวดคุณวิเศษ เช่น มรรคผลนิพพาน) ที่ไม่มีในตน

ในจำนวนมหาโจรทั้ง 5 ประเภทนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ประเภทที่ 5 เป็น “ยอดมหาโจร” เพราะหลอกลวงชาวบ้าน ปล้นศรัทธาประชาชนอย่างร้ายกาจ (โดยที่ผู้ถูกปล้นไม่รู้ตัว)

พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมอีกต่อไป ความว่า “อนึ่งภิกษุใดไม่รู้ กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอันประเสริฐ ว่าข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นปาราชิก ครั้นต่อมาเมื่อมีผู้ซักถามหรือไม่ก็ตาม ต้องการความบริสุทธิ์ดุจเดิม จึงสารภาพว่าข้าพเจ้าไม่รู้ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ แม้อย่างนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

ความในข้อนี้ก็คือ ภิกษุใดไม่ได้รู้ได้เห็นด้วยญาณใดๆ กล่าวอวดอ้างว่าตนได้รู้ได้เห็น เป็นปาราชิก ถึงแม้ภายหลังจะสำนึกผิดว่าตนได้อวดอ้าง มาสารภาพก็ตามที ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

พระพุทธองค์ตรัสว่า การหลอกกินอาหารจากชาวบ้าน ด้วยอ้างว่าตนได้บรรลุมรรคผลขั้นใดๆ ก็ตาม ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง ให้เธอกลืนก้อนเหล็กแดงที่ลุกโชนยังดีเสียกว่าหลอกกินข้าวชาวบ้าน เพราะกลืนเหล็กแดง อย่างมากก็ตาย แต่กลืนข้าวที่ได้มาจากการหลอกลวงชาวบ้าน ตกนรกหมกไหม้อีกต่างหากด้วย

เจ็บแสบดีนะครับ

ถ้าถามว่า แค่ไหนจึงจะเรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรม หรืออวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

พระวินัยปิฎกพูดไว้ชัดว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺโม นาม ฌานํ วิโมกฺโข สมาธิ สมาปตฺติ ญาณทสฺสนํ มคฺคภาวนา ผลสจฺฉิกิริยา กเลสปหานํ วินีวรณตา จิตฺตสฺส สุญฺญาคาเร อภิรติ

ต้องแปลครับจึงจะรู้เรื่อง อุตริมนุสสธรรม (คุณวิเศษที่ยิ่งยวด) ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ (การหลุดพ้น) สมาธิ สมาบัติ (การเข้าฌาน) การรู้การเห็น การเจริญมรรค การทำผลให้แจ้ง การละกิเลสได้ การเปิดจิตจากกิเลส ความยินดีในเรือนว่าง

แปลแล้วยังไม่กระจ่าง ก็ต้องขยายอีกดังนี้ครับ

ใครอวดว่า ตนได้ฌานที่ 1-2-3-4 ทั้งที่ไม่ได้สักแอะนี้เรียกว่าอวดแล้วครับ

ใครที่บอกว่า ตนหลุดพ้นแล้วเพราะสู้รบกับกิเลสมานาน จนกระทั่งบัดนี้เอาชนะมันได้แล้ว ตนได้ “เตะปลายคาง” กิเลสมันตายแหงแก๋แล้ว อ้ายนี่ก็อวดแล้วครับ

ใครที่บอกว่า ตนได้เข้าสมาธิจิตแน่วแน่ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดแจ๋วแหวว เข้าฌานสมาบัติได้สบาย อยู่ถึง 6-7 วันจึงออกจากสมาบัติ สบายจัง อ้ายนี้ก็อวดเช่นกัน

ใครที่พูดว่า ตนได้วิชชา 3 แล้วคือรู้ชาติหนหลัง รู้กำเนิดจุติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรมของแต่ละคนที่ทำมา (จนนั่งหลับตาบรรยายผ่านสื่อต่างๆ เป็นฉากๆ) รู้จนทำกิเลสให้หมดไป อ้ายนี่ อีนี่ก็อวดแล้วครับ

ใครที่พูดว่า ตนได้เจริญสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 จนสมบูรณ์ที่สุดเหนือใครๆ แล้ว อ้ายนี่ก็อวด

ใครที่พูดว่า ตนได้ทำให้แจ้งคือได้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล เป็นพระอรหันต์เตะปลายคางคนได้แล้ว อ้ายนี่ก็อวด

ใครที่พูดว่า ตนได้เปิดจิตจากกิเลสคือจิตของตนปราศจากราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิงแล้ว

สรุปแล้ว ใครที่ไม่ได้มีคุณสมบัติดังกล่าว หรือไม่ได้บรรลุคุณวิเศษดังกล่าว แล้วกล่าวอวดว่าตนมี ตนได้ ทำให้คนอื่นหลงเชื่อ ไม่ว่าจะพูดโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม เรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรมทั้งนั้น

“ใคร” ที่ว่านี้หมายถึง พระภิกษุ ครับ (ฆราวาสอวด ไม่ต้องปาราชิก แต่จะถูกตราหน้าว่าไอ้คนขี้โม้) พระภิกษุรูปใดอวดคุณวิเศษที่ตนเองไม่มี เช่น อวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นอริยะ อรหันต์ ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นพระทันทีที่อวด ไม่จำเป็นต้องมีคนโจทก์ฟ้องร้องถึงสามศาลอย่างกรณีของชาวบ้าน

มีข้อน่าคิดอย่างหนึ่ง คนที่อวดว่าบรรลุนั่นบรรลุนี่ มักจะไม่บรรลุจริง ส่วนท่านที่บรรลุจริงกลับไม่พูด และที่ประหลาดก็คือชาวบ้านปุถุชนคนมีกิเลส มักจะไปตั้ง “อรหันต์” กันง่ายๆ ดังมักพูดว่า พระอรหันต์แห่งอีสานบ้าง อรหันต์กลางกรุงบ้าง ตนเองก็กิเลสเต็มพุงแล้วรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่เป็น

ที่ไม่รู้ก็อยากรู้ว่าท่านเป็นอรหันต์หรือไม่ ดังเขาเล่าว่าหม่อมคนดังคนหนึ่งไปเรียนถามท่านเจ้าคุณนรฯ ว่า ท่านเป็นอรหันต์หรือเปล่า ท่านเจ้าคุณนรฯ ดึงหูคนถามมาใกล้ๆ แล้ว พูดเสียงดังฟังชัดว่า “ไอ้บ้า” ฮิฮิ


:b49: :b50: :b49:

๏ วินัยสงฆ์-อาบัติ-ปาราชิก-สังฆาทิเสส
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=22785

๏ ผู้ละเมิด “ปาราชิก” คนแรก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=57871

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2019, 18:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระเชตวัน (วัดเชตวันมหาวิหาร) เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย
ภาพการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หรือปฐมสังคายนา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา
ข้างเขาเวภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย
โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานสงฆ์ และพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์


26. สังคายนาครั้งแรก

สังคายนา คือ การรวบรวมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดหมู่ ก่อนหน้าสังคายนาเกิดขึ้นจริงๆ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ได้รวบรวมหมวดหมู่แห่งธรมมะตั้งแต่หมวดหนึ่งถึงหมวดสิบ และเกินสิบไว้ก่อนแล้ว ชื่อว่า สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร

ที่ไม่นับเป็นสังคายนาก็เพราะยังไม่สมบูรณ์

สังคายนาครั้งแรกที่สมบูรณ์เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน โดยพระอรหันต์สาวก ๕๐๐ รูป อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์

รายละเอียดดังต่อไปนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานของเหล่ามัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารานั้น พระมหากัสสปะอยู่ต่างเมืองทราบข่าวพระประชวรของพระพุทธองค์ จึงเดินทางพร้อมภิกษุบริวารประมาณ ๕๐๐ รูปเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ก่อนเข้าไปยังเมืองกุสินารา ได้พักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง

ขณะนั้นอาชีวกนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพเดินออกนอกเมืองมา พระมหากัสสปะจึงเอ่ยถามถึงพระพุทธเจ้า อาชีวกคนนั้นกล่าวว่า ศาสดาของพวกท่านปรินิพพานได้ตั้ง ๗ วันแล้ว พวกท่านยังไม่ทราบอีกหรือ


ได้ยินดังนั้น ภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพก็นั่งนิ่งปลงธรรมสังเวช พิจารณาความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร

ฝ่ายภิกษุที่ยังเป็นเสขบุคคลและปุถุชนอยู่จำนวนมากก็พากันร่ำไห้อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์

มีขรัวตารูปหนึ่งนาม สุภัททะ ได้เห็นภิกษุทั้งหลายร่ำไห้อยู่ จึงปลอบโยนว่านิ่งเสียเถอะ อย่าร้องไห้เลย พระศาสดาปรินิพพานไปก็ดีแล้ว สมัยยังทรงพระชนม์อยู่ทรงจู้จี้สารพัด ห้ามโน่นห้ามนี่ จะทำอะไรก็ดูผิดไปหมด ไม่มีอิสระเสรีภาพเลย บัดนี้เราเป็นอิสระแล้ว ปรารถนาจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้

พระมหากัสสปะได้ยินดังนั้นก็สลดใจ “โอหนอพระบรมศาสดาสิ้นไปยังไม่ข้าม ๗ วันเลย สาวกของพระองค์พูดได้ถึงขนาดนี้ ต่อไปนานเข้าจะขนาดไหน”

ท่านรำพึงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะทรงพระชนม์อยู่ทรงมีพระมหากรุณาแก่ท่านเป็นกรณีพิเศษ ได้ประทานบาตรและจีวรแก่ท่าน และทรงรับเอาบาตรจีวรของท่านไปทรงใช้เอง นับว่าทรงไว้วางพระทัยต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ถูกดูหมิ่นจ้วงจาบเช่นนี้จะนิ่งดูดายหาควรไม่

ท่านจึงตัดสินใจทำสังคายนาโดยคัดเลือกพระอรหันต์สาวกผู้ทรงอภิญญาได้จำนวน ๔๙๙ รูป เว้นไว้ ๑ รูป เพื่อพระอานนท์

ขณะนั้นพระอานนท์ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล จะเลือกท่านด้วยก็ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติยังไม่ครบ ครั้นจะไม่เลือกก็ไม่ได้ เพราะการทำสังคายนาครั้งนี้ขาดพระอานนท์ไม่ได้ เนื่องจากพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุด ได้ทรงจำพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์มากกว่าใคร

พระมหากัสสปะจึงให้โอกาสพระอานนท์เพื่อเร่งทำความเพียร เพื่อทำที่สุดทุกข์ให้ได้ทันกำหนดสังคายนา อันจะมีขึ้นใน ๓ เดือนข้างหน้า

พระอานนท์จึงเร่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างหนัก แต่ยิ่งเพียรมากเท่าไร ก็ดูเสมือนว่าจุดหมายปลายทางห่างไกลออกไปทุกที

จึงรำพึงว่าพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า เราจะทำที่สุดทุกข์ได้ไม่นานหลังจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน คำพยากรณ์ของพระพุทธองค์คงไม่มีทางเป็นอื่นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องเพียรให้มากขึ้นกว่าเดิม

วันหนึ่งหลังจากเพียรภาวนาอย่างหนักรู้สึกเหนื่อยจึงกำหนดว่าจะพักผ่อนสักครู่แล้วจะเริ่มใหม่ จึงนั่งลงเอนกายนอนพัก เท้าไม่ทันพ้นพื้น ศีรษะไม่ทันถึงหมอน ท่านก็ “สว่างโพลงภายใน” บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ขีณาสพทรงอภิญญาในบัดดล

ขณะนั้นพระสงฆ์ ๔๙๙ รูป กำลังนั่งประชุมกันตามลำดับพรรษา เว้นอาสนะว่างไว้หนึ่งที่สำหรับพระอานนท์ พระอานนท์ต้องประกาศว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว จึงเข้าฌานบันดาลฤทธิ์ดำดินไปโผล่ขึ้นนั่งบนอาสนะ ท่ามกลางสังฆสันนิบาตทันเวลาพอดี


เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว พระมหากัสสปะประมุขสงฆ์ได้ประกาศให้พระอุบาลีผู้เชี่ยวชาญพระวินัยทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ผู้เป็นพหูสูตทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม โดยตัวท่านเองทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามประเด็นต่างๆ มีพระสงฆ์ทั้งปวงช่วยกันสอบทาน

ลักษณะของการสังคายนาคงเป็นทำนองนี้คือ

๑. พระสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ รูป คงต่างก็เสนอพระธรรมเทศนาที่ตนได้ยินมาจากพระพุทธเจ้า มากบ้างน้อยบ้าง ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ได้มาจากพระอุบาลีและพระอานนท์

๒. พระธรรมเทศนานั้นๆ พระพุทธองค์คงทรงแสดงโดย “ภาษา” ถิ่นต่างๆ พระสงฆ์ในที่ประชุมคงตกลงกันว่าจะต้องใช้ภาษาใดภาษาหนึ่ง “ร้อยกรอง” เป็นภาษา “มาคธี” (หรือภาษามคธ) เมื่อซักถามและตอบให้อรรถาธิบายจนเป็นที่ตกลงกันแล้ว ก็ “ร้อยกรอง” เป็นภาษามาคธี

๓. เมื่อร้อยกรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็ “สวดสังวัธยายร่วมกัน” คือท่องพร้อมๆ กันเพื่อให้จำได้คล่องปาก เพราะฉะนั้นจึงเรียกกิจกรรมครั้งนี้ว่า “สังคายนา” (แปลว่าสวดร่วมกัน, สวดพร้อมกัน) ด้วยประการนี้

สังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ครองนครขณะนั้นทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ กระทำกันอยู่เป็นเวลา ๗ เดือนจึงสำเร็จ

การทำสังคายนาครั้งแรกนี้เรียกว่า “สังคายนาพระธรรมวินัย” เนื่องจากยังไม่มีพระไตรปิฎก และได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบ “มุขปาฐะ” (คือการท่องจำ)


รูปภาพ

รูปภาพ
ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต
นอกเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย
สถานที่ทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หรือปฐมสังคายนา
(ปัจจุบันเพดานถ้ำถล่มลงมาปิดปากถ้ำหมดแล้ว)


:b8: :b8: :b8:

๏ การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652

๏ พระมหาจุนทเถระ ผู้มีส่วนริเริ่มการสังคายนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=62069

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2019, 18:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


27. พระธรรมทูตชุดแรก

พระธรรมทูตชุดแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา มีจำนวน 60 รูป เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่ช้าไม่นานหลังจากตรัสรู้ รายละเอียดมีดังนี้

เมื่อตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ผู้ปรนนิบัติพระองค์ตอนบำเพ็ญทุกรกิริยา พอพระองค์ทรงเลิกพระกระยาหาร ก็ผิดหวังพากันหลีกไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ดังที่ผู้เรียนพุทธประวัติทราบกันโดยทั่วไป

พระองค์ทรงแสดง ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร อันมีเนื้อหาว่าด้วยทางที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน 2 ทาง คือ การทรมานตนให้ลำบาก และการหมกมุ่นในกามารมณ์ เพราะมิใช่ทางนำไปสู่การพ้นทุกข์ ทรงแสดงอริยมรรคมีองค์แปด หรือ “มัชฌิมาปฏิปทา” (ทางสายกลาง) อันนำไปสู่การพ้นทุกข์ แล้วทรงบรรยายอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ เหตุเกิดเหตุ ภาวะพ้นทุกข์ และแนวทางปฏิบัตเพื่อพ้นทุกข์ โดยพิสดาร

จบพระธรรมเทศนา โกณฑัญญะ หัวหน้าปัญจวัคคีย์ เกิด “ดวงตาเห็นธรรม” คือเข้าใจว่าสิ่งใดก็ตามที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีการดับเป็นธรรมดา

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ” คำว่า “รู้แล้วหนอ” บาลีว่า อญฺญาสิ เมื่อโกณฑัญญะขอบวชเป็นภิกษุรูปแรกที่ประทานให้โดยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คำว่า อัญญา ในคำวา “อญฺญาสิ” ได้กลายมาเป็นคำต้นชื่อของท่านโกณฑัญญะ ท่านโกณฑัญญะจึงมีชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ แต่บัดนั้นมา

พระพุทธองค์ประทับจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในระหว่างนั้น ยสกุลบุตร บุตรชายเศรษฐีเมืองพาราณสี ที่ได้รับการปรนเปรอด้วยความสนุกสบายสารพัดอย่าง เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงหนีออกจากบ้านกลางดึก เดินมุ่งหน้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พลางอุทานด้วยความสลดใจว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”

พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ ตอนจวนใกล้รุ่ง ทรงสดับเสียงของยสกุลบุตร จึงตรัสตอบว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง”

ยสะเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ สดับพระธรรมเทศนา จบพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขอบวช

ฝ่ายบิดามารดายสกุลบุตร เมื่อบุตรหายไปก็สั่งให้ตามหา ผู้เป็นบิดามายังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์มิให้พ่อลูกพบกัน ทรงแสดงธรรมแก่เศรษฐีบิดายสกุลบุตร จบพระธรรมเทศนาเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วปฏิญาณตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

พระยสะนั่งฟังธรรมอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ ได้บรรลุพระอรหัต เมื่อพระพุทธองค์ทรงคลายฤทธิ์แล้วพ่อลูกได้มองเห็นกัน บิดาพระยสะขอให้บุตรชายกลับไปครองเรือนตามเดิม กล่าวว่า “ตั้งแต่เจ้าหายไป แม่เจ้าร้องไห้คร่ำครวญเป็นทุกข์มาก เจ้าจงให้ชีวิตแก่แม่เจ้าเถิด”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “บัดนี้ยสะไม่สมควรอยู่ครองฆราวาสต่อไปแล้ว” ซึ่งเศรษฐีก็เข้าใจ จึงอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหาร ณ คฤหาสน์ของตน เมื่อบิดากลับไปแล้ว ยสกุลบุตรจึงทูลขอบวช พระพุทธองค์จึงได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้เป็นภิกษุโดยสมบูรณ์

รุ่งเช้ามา พระพุทธองค์เสด็จไปเสวยพระกระยาหาร ที่คฤหาสน์เศรษฐี มีพระยสะโดยเสด็จ มารดาและอดีตภรรยาของพระยสะได้สดับพระธรรมเทศนา ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ปฏิญาณตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

เมื่อยสกุลบุตรออกบวช สหายสนิท 4 คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ ตามมาบวชด้วย ไม่นานสหายของยสกุลบุตรที่อยู่ตามชนบทต่างๆ อีกจำนวน 50 ก็มาบวชด้วยเช่นกัน รวมทั้งหมด 54 คน เมื่อบวชแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตโดยทั่วกัน เป็นอันว่าชั่วระยะเวลาไม่นาน มีพระอรหันตสาวกจำนวน 60 รูป

60 รูปมาจากไหน ปัญจวัคคีย์ 5 + พระยสะและสหายพระยสะ 55 = 60 พอดิบพอดี

เมื่อทรงเห็นว่ามีจำนวนพระอรหันตสาวกมากพอสมควรแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกประชุม ประทานพุทธโอวาท ใจความว่า (ตรงนี้ขอยกบาลีมาให้อ่านเต็มๆ หน่อยครับ)

“มุตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ มา เอเกน เทฺว อคมิตฺถ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ

ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งของทิพย์และของมนุษย์ พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นกัน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พวกเธออย่าไปทางเดียวกันสองคน จงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ (การดำเนินชีวิตประเสริฐ) ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งอรรถะ (ความ) และพยัญชนะ (คำ)”


เสร็จแล้วก็ทรงส่งให้แยกย้ายกันไปเผยแผ่แนวทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐแก่ชาวโลก นับว่าเป็นคณะธรรมทูตชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้แล


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2019, 18:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


28. พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก

ตั้งหัวเรื่องอย่างนี้ คล้ายจะบอกว่า พระไตรปิฎกเกิดขึ้นหลายครั้ง มีครั้งแรกครั้งที่สองด้วยอะไรประมาณนั้น ความจริงก็เกิดครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น

เดิมทีเดียวพระไตรปิฎก ปรากฏอยู่ในรูปเป็น “พระธรรมวินัย” (ธมฺมวินย) หรือ “พรหมจรรย์” (พฺรหฺมจริย) สองคำนี้ใช้เรียกสิ่งเดียวกัน คือพระพุทธศาสนาทั้งหมด

พระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้แล้ว ก็เสด็จไปประกาศเผยแผ่ให้ประชาชนได้รับทราบ สำนวนภาษาบาลีจึงกล่าวว่า “ทรงประกาศพระธรรมวินัย” บ้าง “ทรงประกาศพรหมจรรย์” บ้าง “ทรงประกาศพระพุทธศาสนา” บ้าง

(ทานโทษเพื่อให้ชัด เดี๋ยวท่านผู้รู้จะทักท้วง ท่านใช้ “ศาสนา” เฉยๆ ต่อมาได้เติมคำว่า “พุทธ” นำหน้าเพื่อให้ชัดเจนว่า ศาสนาในที่นี้คือพระพุทธศาสนา)

ธรรมวินัย อันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ในชั้นต้นๆ ก็มิได้รวบรวมเป็นหมวดเป็นหมู่แน่นอน จะมีบ้างที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยๆ ก็คือแบ่งเป็น 9 หมวด เรียก “นวังคสัตุสาสน์” คือ

(1) คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน
(2) ประเภทร้อยกรองล้วน
(3) ประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรอง
(4) ประเภทอรรถาธิบาย
(5) ประเภทคำอุทาน
(6) ประเภทคำอ้างอิง
(7) ประเภทเรื่องคุณวิเศษเฉพาะตนของพระพุทธเจ้าและพระสาวก
(8) ประเภทนิทานชาดก เล่าถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญบารมีต่างๆ
(9) ประเภทคำสนทนาถาม-ตอบเพื่อความรู้ยิ่งๆ ขึ้น

มีบ้างที่เอ่ยถึงการแบ่งเป็น “วรรค” เช่น ตอนเล่าเรื่องพระโสณกุฏิกัณณะ สวดธรรมที่อยู่ใน “อัฏฐกวรรค” และ “ปรายนวรรค” ให้พระพุทธเจ้าทรงสดับ

มีบ้างที่เล่าถึงพระสารีบุตรอัครมหาสาวก ได้รจนาพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่เรียกว่า “สังคีติสูตร” และ “ทสุตตรสูตร” และเล่าไปถึงว่าเมื่อท่านพระสารีบุตรรจนาเสร็จแล้ว มีโอกาส present ให้ที่ประชุมสงฆ์ฟัง โดยพระพุทธานุญาต ณ สัณฐาคาร (รัฐสภา) ที่สร้างขึ้นใหม่ ของเหล่ามัลลกษัตริย์

ทั้งหมดนี้ยังไม่พบการเรียกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พระไตรปิฎก” ในสมัยพุทธกาลแม้หลังพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน เมื่อพระมหากัสสปะเรียกประชุมพระสงฆ์ 500 รูปร้อยกรอง (สังคายนา) พระพุทธวจนะเป็นหมวดเป็นหมู่ ก็ไม่เอยคำว่า “พระไตรปิฎก”

ยังคงใช้คำว่า “สังคายนาพระธรรมวินัย” อยู่

แม้พระพุทธศาสนาล่วงเลยมา 100 ปี หลังพุทธปรินิพพาน มีการสังคายนาครั้งที่สอง เพื่อวินิจฉัย “วัตถุ 10 ประการ” ที่กลุ่มภิกษุวัชชีบุตรนำเสนอ ก็ยังเรียกว่า “ธมฺมวินย วิสชฺชนา” (การวิสัชนาพระธรรมวินัย)

พระธรรมวินัยได้กลายมาเป็นพระไตรปิฎกเมื่อใด ไม่มีหลักฐานที่ไหนชัดแจ๋วแหววพอที่จะชี้ลงไปได้แน่นอน คงต้องสันนิษฐานเอาตามหลักฐานเท่าที่มีนำมาปะติดปะต่อกัน

เข้าใจกันว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 2-3 คือหลังสังคายนาครั้งที่ 2 ถึงสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นเอง ได้เกิดคำว่า “ปิฎก” ขึ้นสำหรับเรียกพระธรรมวินัย โดย “ธรรม” ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ส่วน “วินัย” เป็น พระวินัยปิฎก

หลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ก็คือ ใน “จารึกสาญจีสถูป” มีกล่าวถึงพระเถระพระเถรี ว่ามีความเชี่ยวชาญปิฎกต่างๆ หรือบางส่วนของปิฎก เช่น

เปฏกินฺ = พระเถระผู้ทรงจำปิฎกทั้งหลาย

สุตฺนฺตินี = พระเถรีผู้ทรงจำพระสูตร

ทีฆภาณิกา = พระเถระ/พระเถรีผู้สวดทีฆนิกาย

ปญฺจเนกายิกา = พระเถระ/พระเถรีผู้ทรงจำนิกายทั้ง 5


นอกจากนี้ เล่าถึงพระเจ้าอโศกมหาราชทรงแนะให้พระสงฆ์ศึกษาเนื้อหาของพระไตรปิฎกให้เข้าใจแจ่มแจ้ง เพื่อนำไปสอนประชาชน มีระบุถึง อริยวสานิ (ตรวจสอบแล้ว ปรากฏอยู่ใน ทีฆนิกาย สังคีติสูตร) อนาคตภยานิ (ปรากฏอยู่ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต) มุนิคาถา (ปรากฏอยู่ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต) โมเนยฺยสุตฺต (ปรากฏอยู่ใน อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ) เป็นต้น

มีหลักฐานชิ้นหนึ่งว่า คัมภีร์กถาวัตถุ ได้แต่งขึ้นในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ และคัมภีร์นี้ได้ถูกผนวกเข้าเป็น 1 ในพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ทำให้เนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกสมบูรณ์

จากหลักฐานเหล่านี้ ชี้ว่าพระธรรมวินัยได้แตกออกเป็น “พระไตรปิฎก” แล้วในช่วงนี้ จึงพอจะกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่า “พระไตรปิฎก” เกิดขึ้นครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 2 ถึงที่ 3 และไม่หลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแน่นอน


:b8:

๏ สาญจี พระสถูปที่บรรจุพระธาตุแห่งพระอัครสาวก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48450

:b50: :b49: ๏ การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
ซึ่งการสังคายนาครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๓๕ ณ วัดอโศการาม
พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2019, 18:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

29. พระสงฆ์ทะเลาะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรก
[การทะเลาะของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี]

พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าทะเลาะวิวาทกัน ก็คงมีบ่อยๆ เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จนเกิดความแตกแยกเป็นครั้งแรก และเกิดขึ้นในครั้งสมัยพุทธกาลด้วย ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ก็คือ การทะเลาะของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี

ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ได้นำมาเล่าต่อ พร้อม “ใส่ไข่” (ผมอยากจะเรียกอย่างนั้น) ทำให้เราอ่านไปมีความมันในอารมณ์ไปด้วย ขอนำมาถ่ายทอดในวันเลือกตั้ง ที่อารมณ์ของคนในสังคมไทยแตกต่างกัน เพราะสนับสนุนนักการเมืองต่างพรรค (มันเกี่ยวกันไหมเนี่ย)

เรื่องมีอยู่ว่า ในวัดแห่งหนึ่ง เมืองโกสัมพี มีพระภิกษุอยู่ร่วมกันจำนวนมาก มีพระเถระสองรูปเป็นที่เคารพของพระภิกษุทั้งหลาย รูปหนึ่งเป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัย มีความเชี่ยวชาญในการอธิบายพระวินัย เรียกตามศัพท์ของพระอรรถกถาจารย์ว่า “พระวินัยธร” อีกรูปหนึ่งมีความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรม เรียกว่า “พระธรรมกถึก”

ทั้งสองรูปมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากทัดเทียมกัน ถึงในเนื้อหาจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกชัดเจน แต่โดยพฤตินัยก็พอมองเห็นเป็นรูปธรรม รวมไปถึงญาติโยมด้วย พวกที่ชอบพระนักเทศน์ก็ไปหาพระนักเทศน์ พวกที่ชอบพระผู้เชี่ยวชาญพระวินัยก็ไปหาพระวินัยธรบ่อยๆ สมัยนี้เรียกว่า “ขึ้น” ทั้งสองรูป มีญาติโยมขึ้นพอๆ กัน

ท่านเหล่านี้ก็อยู่ด้วยกันมาด้วยดี ไม่มีอะไร อยู่มาวันหนึ่ง พระวินัยธรเข้าห้องน้ำ (สมัยโน้นวัจกุฎีก็คงเป็นส้วมหลุม มากกว่าห้องน้ำในปัจจุบัน) ออกมาเจอพระธรรมกถึก จึงถามว่า “ท่านใช่ไหมที่เข้าห้องน้ำก่อนผม”

พระธรรมกถึกรับว่า “ใช่ มีอะไรหรือ”

“ท่านเหลือน้ำชำระไว้ครึ่งขัน ท่านทำผิดพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฎแล้ว รู้หรือเปล่า” พระวินัยธรกล่าว

“โอ ผมไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นผมขอปลงอาบัติ” พระธรรมกถึก ยอมรับและยินดี “ปลงอาบัติ” หรือแสดงอาบัติอันเป็นวิธีออกจากอาบัติตามพระวินัย

พระวินัยธรกล่าวว่า ถ้าท่านไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องอาบัติดอก แล้วก็เดินจากไป เรื่องก็น่าจะแล้วกันไป แต่ไม่แล้วสิครับ พระวินัยธรไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า พระธรรมกถึก ดีแต่เทศน์สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้เลย ลูกศิษย์พระวินัยธรก็ไปบอกลูกศิษย์พระธรรมกถึก ทำนองบลั๊ฟกันกลายๆ ว่า พรรคท่านฟ้องแก้เกี้ยว เอ๊ย อาจารย์ของพวกท่านดีแต่สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้

เรื่องรู้ถึงหูพระธรรมกถึก ก็หูแดงสิครับ ใครมันจะยอมให้กล่าวหาว่าพิมพ์สติ๊กเกอร์ เอ๊ยจงใจละเมิดพระวินัย จึงศอกกลับพระวินัยธรว่า สับปลับ ทีแรกว่าไม่เป็นไร แต่คราวนี้ว่าต้องอาบัติ พระวินัยธร ก็ต้องอาบัติข้อพูดเท็จเหมือนกัน เอาละสิครับ เมื่ออาจารย์ทะเลาะกัน พวกลูกศิษย์ก็ทะเลาะกันด้วย ขยายวงกว้างออกไปจนถึงญาติโยมผู้ถือหางทั้งสองฝ่ายด้วย เรื่องลุกลามไปใหญ่โต ทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์เสด็จมาห้ามปราบ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เลือดเข้าตาแล้ว ไม่ยอมเชื่อฟัง

พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ ณ ป่าปาลิเลยยกะ (หรือปาลิไลยกะ) ตามลำพัง มีช้างนามเดียวกับป่านี้เฝ้าปรนนิบัติ ทรงจำพรรษาที่นั่น ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดถึงช้างตัวเดียว ไม่พูดถึงลิง แต่ในอรรถกถาบอกว่ามีลิงด้วยตัวหนึ่ง

หมายเหตุไว้ตรงนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ผู้เป็นนักปราชญ์ท่านบอกว่า ช้างนั้น ถ้าเป็นช้างป่าลักษณนามต้องเรียกว่า “ตัว” แต่ถ้าช้างที่ขึ้นระวางแล้วเรียกว่า “เชือก” ว่าอย่างนั้น ผมเป็นแค่ “นักปาด” ก็ต้องเชื่อท่าน

ว่ากันว่าช้างคอยต้มน้ำให้พระพุทธองค์ทรงสรง ทำอย่างไรหรือครับ แกกลิ้งก้อนหินที่ตากแดดทั้งวันยังอมความร้อนอยู่ ลงในแอ่งน้ำเล็กๆ น้ำนั้นก็อุ่นขึ้นมา แล้วก็ไปหมอบแทบพระบาททำนองอาราธนาให้สรงสนาน พระพุทธองค์เสด็จไปสรงน้ำนั้น อย่างนี้ทุกวัน

เจ้าจ๋อเห็นช้างทำอย่างนั้น ก็อยากทำอะไรแด่พระพุทธองค์บ้าง มองไปมองมาเห็นผึ้งรวงใหญ่ ก็ไปเอามาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับแล้วก็วางไว้ ไม่เสวย เจ้าจ๋อสงสัยว่าทำไมพระองค์ไม่เสวย ก็ไปหยิบรวงผึ้งมาพินิจพิเคราะห์ดู เห็นตัวอ่อนเยอะแยะเลย จึงหยิบออกจนหมดแล้วถวายใหม่ คราวนี้พระองค์เสวย ก็เลยกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ ที่อีกฝ่ายจะถูก กกต. แบนเรื่องปริญญาปลอม เอ๊ยที่พระพุทธองค์เสวยผึ้งที่ตนถวาย ปล่อยกิ่งนี้จับกิ่งนั้นเพลิน บังเอิญไปจับกิ่งไม้แห้งเข้า กิ่งไม้หักร่วงลงมา ถูกตอไม้ทิ่มตูดตาย คัมภีร์เล่าต่อว่า ลิงตัวนั้นตายไปเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า มักกฎเทพบุตร (แปลว่าเทพบุตรจ๋อ) ปานนั้นเชียว

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จหลีกไปตามลำพัง พวกอุบาสกอุบาสิกาที่ทรงธรรม ไม่เข้าข้างฝ่ายไหนทั้งนั้น ก็พากันแอนตี้พระภิกษุเหล่านั้น ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์เสด็จหนีไป พวกตนมิได้เฝ้าพระพุทธองค์ พระภิกษุเหล่านั้นรู้สำนึก จึงขอขมา แต่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายบอกให้ไปกราบขอขมาพระพุทธองค์ ครั้นออกพรรษาแล้ว พระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอขมา โดยมีพระอานนท์เป็นผู้ประสานงาน (แหม ใช้ภาษาทันสมัยจังเนาะ) พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของการทะเลาะวิวาท และอานิสงส์ (ผลดี) ของความสามัคคี แก่พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม

ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่ง เป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้คือ ปางปาลิไลยกะ (ป่าเลไลยก์) พระพุทธองค์ประทับห้อยพระบาท มีลิงถือรวงผึ้ง และช้างหมอบแทนพระยุคลบาท อย่าถามว่าสร้างสมัยไหน ผมไม่ทราบ เพราะเกิดไม่ทัน

นี้เป็นการทะเลาะกันของพระสงฆ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประวัติพระพุทธศาสนา แต่การทะเลาะกันเพราะความคิดเห็นต่างกัน ก็ไม่ถึงกับแตกนิกายดังในสมัยหลัง เพราะอย่างไรก็มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นจุดศูนย์กลายคอยชี้แจงไกล่เกลี่ยให้กลับคืนดีกัน สมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 42 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร