ลานธรรมจักร http://dhammajak.net/forums/ |
|
สาญจี พระสถูปที่บรรจุพระธาตุแห่งพระอัครสาวก http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48450 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | สาวิกาน้อย [ 13 ต.ค. 2014, 14:56 ] |
หัวข้อกระทู้: | สาญจี พระสถูปที่บรรจุพระธาตุแห่งพระอัครสาวก |
สาญจี พระสถูปที่บรรจุพระธาตุแห่งพระอัครสาวก พระสถูปสาญจี หรือมหาสถูปสาญจี (The Great Stupa of Sanchi) เมืองโภปาล (Bhopal) สถูปเจดีย์ที่เก่าแก่ที่สุดในโลก มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า กลุ่มพุทธสถานแห่งสาญจี (Buddhist Monuments at Sanchi) เปิดทำการให้สาธารณชนเข้าชมได้ในเวลา ๐๘.๐๐-๑๗.๐๐ น. ปัจจุบันตั้งอยู่บนยอดเขา (สูงประมาณ ๙๑ เมตร) ในเขตหมู่บ้านสาญจี (Sanchi) อำเภอไรเซ่น (Raisen) รัฐมัธยมประเทศ (Madhya Pradesh) ประเทศอินเดีย โดยตั้งอยู่ทิศตะวันตกเฉียงใต้ของเมืองเวทิสา (Vidisha) ประมาณ ๙ กิโลเมตร และห่างจากเมืองโภปาล (Bhopal) เมืองหลวงของรัฐมัธยมประเทศ ทางทิศตะวันตะวันออกเฉียงเหนือประมาณ ๔๖ กิโลเมตร ตั้งอยู่ในเขตการเดินรถไฟเขตภาคกลาง ณ ที่นี่เป็นดินแดนแห่งสถูป (เจดีย์) วัด วิหาร และเสาศิลาจารึก สันนิษฐานว่า สถูปแห่งนี้ได้เริ่มสร้างขึ้นตั้งแต่เมื่อประมาณปี พ.ศ. ๒๕๐ ในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช แต่เดิมสร้างด้วยดิน และได้มีการบูรณะเพิ่มเติมในสมัยราชวงศ์ศุงคะหรือประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓-๔ ถูกค้นพบโดย “นายพลเทย์เลอร์ (Gen.Taylor)” นักโบราณคดีชาวอังกฤษ ในปี พ.ศ. ๒๓๖๑ (ค.ศ. ๑๘๑๘) ซึ่งได้ค้นพบสถูปองค์ที่ ๑, ๒, ๓ พร้อมวิหาร และกุฏิที่พักสงฆ์ในบริเวณรอบๆ เป็นจำนวนมาก แต่ทุกอย่างอยู่ในสภาพชำรุดทรุดโทรมเพราะถูกปล่อยทิ้งไว้เป็นระยะเวลานาน อีกทั้งยังถูกทำลายเป็นส่วนมากโดยพวกชาวบ้านนักล่าสมบัติ ถึงแม้ว่าจะเป็นที่ทราบกันดีว่า พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างพระสถูปสาญจี แต่องค์สถูปมีการซ่อมแซมหลายครั้งทำให้ไม่ทราบว่า สถูปองค์เดิมมีขนาดเท่าใด แต่หลักฐานชิ้นสำคัญที่สร้างในสมัยของพระองค์ยังคงเหลืออยู่คือ ซุ้มประตูทั้ง ๔ ทิศ และเสาศิลาจารึกอโศก ตั้งอยู่ข้างซุ้มประตูด้านทิศใต้ เมื่อนายพลโทเซอร์ อเล็กซานเดอร์ คันนิ่งแฮม (Sir Alexander Cunningham) ผู้เชี่ยวชาญด้านโบราณคดีชาวอังกฤษ มาสำรวจที่สาญจี พบว่าเสาศิลาจารึกอโศกมีสภาพสมบูรณ์ บนยอดเสามีสิงโต ๔ ตัว หลังจากนั้นไม่นาน พวกคนเก็บภาษีที่ดินในท้องถิ่นได้มาทุบ เอาไปทำเป็นแท่นบดอ้อย (เอาไปทำเป็นเครื่องหีบอ้อย) นายพลโทคันนิ่งแฮมจึงไปนำเอามาไว้ที่เดิม แต่เนื่องจากเสียหายมากไม่สามารถจะต่อได้ จึงวางไว้ใกล้ๆ กัน เสาศิลาจารึกนี้ได้มีพระบรมราชโองการของพระเจ้าอโศกมหาราช ถูกจารึกขึ้นเป็นภาษาสันสกฤตด้วยตัวอักษรพราหมี (อ่านว่า พราม-มี) มีเนื้อความดังต่อไปนี้ “สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวปริยทรรศี ผู้เป็นที่รักแห่งทวยเทพ ได้มีพระบรมราชโองการให้ประกาศแก่มหาอำมาตย์ทั้งหลาย ณ พระนครปาฏลีบุตร และ ณ นครอื่นๆ ว่า ข้าฯ ได้กระทำให้สงฆ์มีความสามัคคีเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันแล้ว บุคคลใดๆ จะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม ก็ไม่สามารถทำลายสงฆ์ได้ ก็แลหากบุคคลผู้ใดจะเป็นภิกษุหรือภิกษุณีก็ตาม จักทำสงฆ์ให้แตกกัน บุคคลนั้นจักต้องถูกบังคับให้นุ่งขาวห่มขาว และไปอาศัยอยู่ ณ สถานที่อื่น (นอกวัด) พึงแจ้งสาส์นพระบรมราชโองการนี้ให้ทราบทั่วกัน ทั้งในภิกษุสงฆ์และในภิกษุณีสงฆ์ด้วยประการฉะนี้” ที่มาของชื่อ คำว่า “สาญจี” เป็นชื่อของหมู่บ้านที่องค์สถูปตั้งอยู่ รวมทั้งเป็นชื่อของสถานีรถไฟขนาดเล็กๆ แห่งหนึ่ง (รถไฟขบวนยาวไม่จอดสถานีนี้ ยกเว้นเป็นสายสั้น และรถขนาดเล็กวิ่งระหว่างเมืองต่อเมือง) เมื่อมีการค้นพบองค์สถูปและโบราณสถานต่างๆ มากมายบนยอดเขา จึงเรียกชื่อองค์สถูปตามหมู่บ้านนั้นว่า “สาญจี” แต่ถ้าพูดถึงคำว่า “สาญจี” แล้ว คนอินเดียทั่วไป จะหมายถึง องค์สถูป มากกว่าหมู่บ้าน และสถานีรถไฟ ในคัมภีร์ปฐมสมันตปาสาทิกา ภาคที่ ๑ เรียกยอดเขาที่พระสถูปตั้งอยู่ว่า เจติยคีรี พระเจ้าอโศกมหาราชทรงสร้างพระสถูปสาญจีแห่งนี้ขึ้น ในสมัยที่เป็นอุปราชปกครองกรุงอุชเชนี (ปัจจุบันคือเมืองอุชเชน - Ujjain รัฐมัธยมประเทศ) ด้วยพระประสงค์สำคัญ ๔ อย่างคือ ๑. เพื่อเป็นที่ประดิษฐานพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ๒. เพื่อบรรจุพระธาตุของพระอัครสาวกเบื้องขวา-ซ้าย พระสารีบุตร ผู้เลิศด้วยปัญญา และพระมหาโมคคัลลานะ ผู้เลิศด้วยฤทธิ์ รวมทั้ง พระธาตุของพระสมณทูตอีก ๑๐ รูปที่ทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ภายหลังการทำสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท ครั้งที่ ๓ ที่วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ชมพูทวีป ๓. เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระราชโอรส “พระมหินทเถระ” และพระราชธิดา “พระสังฆมิตตาเถรี” ที่ทรงส่งไปประกาศพระศาสนา ณ ลังกาทวีป (ปัจจุบันคือ ประเทศศรีลังกา) ๔. เพื่อเป็นอนุสรณ์แก่พระมเหสี พระนามว่า พระนางเวทิสา ผู้มีถิ่นกำเนิดที่สาญจีแห่งนี้ และเป็นพระราชมารดา ของพระมหินทเถระ และพระสังฆมิตตาเถรี ปัจจุบันพระสถูปสาญจีอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ มั่นคงถาวร เป็นโครงสร้างหินเก่าแก่ที่สุดในอินเดีย มีลักษณะเป็นรูปกลม “ทรงโอคว่ำ” ถือเป็นรูปแบบที่เก่าแก่ที่สุด มีความสูง ๑๖ เมตร กว้าง ๓๗ เมตร มีซุ้มประตูทางเข้าทั้ง ๔ ทิศ มียอดฉัตร ๓ ชั้น พร้อมกำแพงหินแกะสลักภาพพระพุทธเจ้าในอดีต รวมถึงภาพพระพุทธประวัติที่งดงามยิ่งนัก ตลอดจนภาพสัตว์ต่างๆ ที่สื่อความสำคัญทางพระพุทธศาสนา พระสถูปสาญจีมีซุ้มประตูอยู่โดยรอบ เรียกว่า โตรณะ ลวดลายของซุ้มประตูเหล่านี้นำเสนอแนวคิด เรื่องความรัก สันติ ความจริง ความกล้า ซุ้มประตูและระเบียงรอบองค์สถูปสร้างขึ้นโดยราชวงศ์สาตวาหนะ ซึ่งมีศิลาจารึกปรากฏอยู่ตรงขอบบนสุดของประตูโตรณะทางด้านทิศใต้ โดยช่างฝีมือของกษัตริย์ Satakarni กษัตริย์องค์ที่ ๓ แห่งราชวงศ์สาตวาหนะ เริ่มต้นจากซุ้มประตูด้านทิศใต้ แสดงเกี่ยวกับการประสูติและทศชาติชาดก ทิศตะวันออก แสดงตั้งแต่เป็นเจ้าชายจนถึงแสวงหาการตรัสรู้ ทิศตะวันตก แสดงพระปฐมเทศนา ทิศเหนือ แสดงเกี่ยวกับพระธรรมจักร พระสถูปสาญจีที่มีชื่อเสียงมากที่สุดคือหมายเลข ๑ ซึ่งเชื่อว่าบรรจุพระบรมสารีริกธาตุของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า โดยมีฉัตรวลี (ร่ม ๓ ชั้นที่ปักอยู่บนยอดสถูป) อยู่บนองค์สถูป อันเป็นสัญลักษณ์ที่บ่งบอกความสำคัญขององค์สถูปนี้ และจากการสำรวจขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. ๒๓๙๔ ได้พบผอบบรรจุพระธาตุอยู่ในพระสถูปสาญจีหมายเลข ๓ ซึ่งเชื่อว่าเป็นพระธาตุของพระอัครสาวกเบื้องขวา-ซ้าย คือพระสารีบุตร และพระมหาโมคคัลลานะ บริเวณกลุ่มพุทธสถานแห่งสาญจี นอกจากจะมีสถูปองค์ใหญ่แล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างอีกมากมาย เช่น วิหาร กุฏิ ศาลาการเปรียญ และเจดีย์ ที่แสดงถึงความเจริญรุ่งเรืองแต่อดีตกาลเมื่อ ๒,๐๐๐ กว่าปีที่ผ่านมา นอกจากนี้แล้วในสมัยพระเจ้าอโศกมหาราช ภายหลังการเดินทางไปเผยแผ่พระพุทธศาสนา ของพระเถระยังดินแดนสุวรรณภูมิ ส่งผลให้สถูปเจดีย์จากอินเดีย มีอิทธิพลต่อการสร้างสถูปเจดีย์ในประเทศไทยในกาลต่อมาอีกหลายแห่ง อาทิ พระปฐมเจดีย์ วัดพระปฐมเจดีย์ ราชวรมหาวิหาร, พระประโทณเจดีย์ วัดพระประโทณเจดีย์ วรวิหาร, เนินวัดพระงาม วัดพระงาม (วัดโสดาพุทธาราม) จ.นครปฐม เป็นต้น การบูชาสถูปเจดีย์มีอานิสงส์สูงสุด ดังข้อความในคัมภีร์ถูปวงศ์ตอนหนึ่งว่า “เป็นอันว่าพระเจ้าอโศกธรรมราชา ได้โปรดให้สร้างพระเจดีย์ขึ้น ๘ หมื่น ๔ พันในพื้นที่ชมพูทวีปด้วยอาการอย่างนี้ พระสถูปทั้งปวงนั้นเป็นประดุจดวงประทีปดวงเดียวของชาวโลก เป็นปูชนียสถานที่จะนำสรรพสัตว์ไปสู่สวรรค์นิพพาน ควรที่สาธุชนจะละการงานอื่นๆ มากราบไหว้บูชาทุกเมื่อไป” ปัจจุบันนี้ พระสถูปสาญจี และกลุ่มพุทธสถานใกล้เคียง ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็น “มรดกโลก” ทางวัฒนธรรมแล้ว เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๓๒ (ค.ศ. ๑๙๘๙) ผู้แสวงบุญผู้ศรัทธาทั้งหลายสามารถเดินทางไปสักการะได้ โดยรถไฟจากมหานครนิวเดลีไป ๑๒ ชั่วโมง ก็ถึงสถานีรถไฟสาญจี โตรณะ หรือซุ้มประตูเข้าองค์สถูปสาญจี ขอขอบพระคุณที่มาของข้อมูลและรูปภาพ :: (๑) เล่าเรื่อง “สถูปเจดีย์” ที่อินเดีย โดย กานต์ จอมอินตา ผู้อำนวยการโครงการธรรมาภิวัตน์ สถานีโทรทัศน์ ASTV จาก นิตยสารธรรมลีลา ฉบับที่ ๑๖๖ ตุลาคม ๒๕๕๗ (๒) บทความ มหาสถูปสาญจี โดย พระมหาสุวิทย์ ธมฺมสิริ (๓) http://www.oknation.net/blog/print.php?id=324896 พุทธสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล : สถานที่อันเป็นที่ระลึกถึงพระพุทธเจ้า http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39377 พุทธเจดีย์ เจดีย์ที่เกี่ยวข้องกับพระพุทธเจ้า ๔ ประเภท http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=43001 การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท ครั้งที่ ๓ ที่วัดอโศการาม เมืองปาฏลีบุตร ชมพูทวีป http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652 พระสังฆมิตตาเถรี (พระราชธิดาพระเจ้าอโศกมหาราช) ภิกษุณีรูปสุดท้ายในประวัติศาสตร์เถรวาท http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57241 |
เจ้าของ: | น้องพลอย [ 22 มี.ค. 2019, 20:43 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สาญจี พระสถูปที่บรรจุพระธาตุแห่งพระอัครสาวก |
เจ้าของ: | Duangtip [ 02 มิ.ย. 2020, 13:36 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สาญจี พระสถูปที่บรรจุพระธาตุแห่งพระอัครสาวก |
อัศจรรย์แห่งธรรมดีแท้ ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ |
เจ้าของ: | อุบาสกน้อย [ 11 ส.ค. 2020, 08:12 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สาญจี พระสถูปที่บรรจุพระธาตุแห่งพระอัครสาวก |
ขออนุโมทนาสาธุนะครับ |
เจ้าของ: | ดาราวรรณ [ 28 มี.ค. 2023, 13:00 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สาญจี พระสถูปที่บรรจุพระธาตุแห่งพระอัครสาวก |
เจ้าของ: | sirinpho [ 08 ก.พ. 2024, 20:45 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: สาญจี พระสถูปที่บรรจุพระธาตุแห่งพระอัครสาวก |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |