วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มิ.ย. 2015, 13:30 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
สุทัตตะหรืออนาถบิณฑิกเศรษฐี มหาอุบาสกผู้เลิศในทางถวายทาน
ได้ถวายที่ดินและอาคารเสนาสนะต่อคณะสงฆ์
โดยมีพระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาทรงรับถวาย
สุทัตตะได้หลั่งน้ำจากน้ำเต้าทองลงบนฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า
แสดงการอุทิศถวายมหาสังฆาราม วัดเชตวันมหาวิหาร แล้วต่อคณะสงฆ์
พระพุทธองค์ได้ทรงประทับ ณ วัดเชตวันมหาวิหารแห่งนี้ในพรรษาแรก
และเป็นวัดที่ทรงประทับจำพรรษานานที่สุดถึง ๑๙ พรรษา

:b50: :b49: :b50:

ธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงสอน
“อนาถบิณฑิกเศรษฐี”
ศาสตราจารย์พิเศษ เสฐียรพงษ์ วรรณปก
====================

ที่เคยบอกว่า ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐี มักไม่ทูลถามข้อธรรมปฏิบัติจากพระพุทธเจ้า เพราะท่านเกรงว่าจะเป็นการรบกวนเบื้องยุคลบาท เมื่อไม่ต้องการให้พระพุทธองค์ทรงเหน็ดเหนื่อย จึงไม่ทูลถามปัญหาใดๆ นั้น มิได้หมายความว่าท่านเศรษฐีเป็นคนไม่ใฝ่ใจศึกษาปฏิบัติธรรม หามิได้

ที่จริงแล้วท่านเป็นผู้มี “ธัมมกามตา” (ความใฝ่ธรรม, ความใฝ่รู้) เป็นอย่างยิ่ง

ท่านมีพระเถระที่สนิทคุ้นเคยสองรูปคือ พระสารีบุตรและพระอานนท์ มีปัญหาข้องใจอะไร พระเถระทั้งสองจะเป็นผู้อนุเคราห์แสดงธรรมให้ท่านฟัง ดังปรากฏในพระสูตรหลายแห่ง


เข้าใจว่า เมื่อได้รับคำเตือนจากพระพุทธองค์แล้ว ท่านอนาถบิณฑิกเศรษฐีคงกล้ากราบทูลถามธรรมะมากขึ้น

ดังปรากฏว่ามีหลายสูตรบันทึกธรรมะที่พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ท่านฟัง

น่าสนใจว่า ธรรมะที่ทรงแสดงแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีเป็นธรรมพื้นๆ ธรรมะสำหรับชาวบ้านพึงปฏิบัติ ผมขอยกตัวอย่างมาลงไว้ ณ ที่นี้ เพื่อประโยชน์แก่ผู้ใฝ่ใจศึกษา


:b39: ๑. “จิตที่คุ้มครองดีแล้ว ปลอดภัยเหมือนเรือนที่มุงบังดีแล้ว ฝนไม่รั่วรดฉะนั้น”

พุทธภาษิตบทนี้ทรงสอนคนอื่นในที่อื่นด้วย ความหมายทรงเน้นไปที่ “ราคะ” (ความกำหนัดในกาม) มันเหมือนฝนที่รั่วรดบ้านที่หลังคามุงไม่ดี บ้านหลังคามุงไม่ดี บ้านหลังคารั่วเดือดร้อนอย่างไร เวลาฝนตกเป็นที่รู้กันดี ทรงเปรียบเหมือนจิตใจที่ถูกราคะความกำหนัดครอบงำ ย่อมจะทำความเดือดร้อนกระวนกระวายให้ผู้นั้นอย่างยิ่ง

:b39: ๒. “การให้อาหารเป็นทาน ย่อมได้รับผลบุญ คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ”

ข้อนี้อธิบายด้วยเหตุผลธรรมก็ได้ คนที่ให้ข้าวน้ำแก่คนอื่น คนที่รับ หรือคนที่กินข้าวน้ำนั้นย่อมจะมีอายุยืนยาวไปอีก มีผิวพรรณเปล่งปลั่ง มีความสุข ไม่ต้องหิวโหย ทนทุกข์ทรมาน และมีพละกำลังเพิ่มขึ้น นี้พูดถึงอานิสงส์ที่ผู้รับได้ ส่วนผู้ให้ก็ย่อมจะได้รับอานิสงส์เช่นนั้นเหมือนกัน เห็นคนอื่นเขาได้กินข้าวปลาอาหารที่ตนให้แล้ว ก็มีปิติสุข จิตใจผ่องใสเบิกบานว่าตนได้สงเคราะห์เพื่อนมนุษย์


คนที่มีความสุขใจ ผิวพรรณก็ย่อมจะผุดผ่อง ไม่เศร้าหมอง ยืดอายุไปได้อีก มีกำลังใจและความเข้มแข็งขึ้น

มองสั้นเพียงแค่นี้ก็เห็นว่า การให้ข้าวน้ำเป็นทาน มีอานิสงส์มากมาย ยิ่งมองให้ลึกและมองให้ยาวไกล ยิ่งจะเห็นมากขึ้น

แปลกนะครับ คนที่ใจกว้าง ใจบุญ ใจกุศล ยิ่งให้มากๆ โดยมิได้คิดถึงผลตอบแทน ผลที่ตอบแทนกลับมีมากโดยไม่รู้ตัว ตรงกันข้าม ใครที่งก เห็นแก่ได้ ไม่รู้จักสละอะไรให้ใครๆ เลย มีแต่ความเห็นแก่ตัว มักไม่ค่อยได้อะไร

เอริก ฟรอมม์ นักจิตวิทยามีชื่อ กล่าวไว้ในตอนหนึ่งว่า “ความรักคือการให้ ยิ่งคุณให้มากเท่าไหร่ คุณก็ยิ่งได้มากเท่านั้น” ท่านผู้นี้พูดอย่างกับเปิดพระไตรปิฎกอ่านแน่ะครับ เพราะข้อเขียนของท่าน สอดคล้องกับหลักธรรมทางพระพุทธศาสนาพอดิบพอดี

:b39: ๓. “หน้าที่ ๔ อย่างที่คฤหัสถ์ผู้มีจิตศรัทธาจะพึงปฏิบัติคือ บำรุงพระสงฆ์ด้วยปัจจัยสี่” (จีวร บิณฑบาต เสนาสนะ คิลานเภสัช ที่บางท่านคิดเป็นคำง่ายๆ ว่า “ข้าว ผ้า ยา บ้าน”)

ธรรมะข้อนี้เท่ากับบอกหน้าที่ที่คฤหัสถ์พึงทำ และบอกด้วยว่า คฤหัสถ์เท่านั้นที่จะต้องทำหน้าที่นี้ บรรพชิตหรือพระมีหน้าที่อื่นที่ต้องทำ โดยสรุปคือ สั่งสอนประชาชนผู้ที่บำรุงเลี้ยงท่านด้วยปัจจัยสี่ เป็นการตอบแทน

พูดให้ชัดก็คือ การจัดหาอาหารบิณฑบาต การจัดสร้างสถานที่พำนักอาศัย การจัดหาจีวร เครื่องนุ่งห่ม ตลอดจนการถวายการรักษาพยาบาล เป็นหน้าที่ของคฤหัสถ์โดยตรง คฤหัสถ์ต้องดูแลความเป็นอยู่ของพระสงฆ์ให้ท่านสะดวกสบายทางด้านวัตถุ พระสงฆ์ท่านจะได้ไม่ต้องมากังวลในเรื่องเหล่านี้ จะได้อุทิศเวลาศึกษาปฏิบัติธรรม และสั่งสอนประชาชนได้เต็มที่

เมื่อใดพระสงฆ์ท่านมาเริ่มทำสิ่งเหล่านี้เสียเอง คือก่อสร้างโบสถ์ วิหาร เสนาสนะอื่นๆ กันเอง แสวงหาเงินทองมาเป็นทุนในการสร้างและปฏิสังขรณ์เสนาสนะที่ชำรุดทรุดโทรมกันเอง ก็แสดงว่าชาวบ้านบกพร่องในหน้าที่ เพราะชาวบ้านไม่ได้ดูแลท่าน ท่านจึงต้องขวนขวายทำกันเอง เมื่อท่านมาทำเรื่องเหล่านี้ ท่านก็ “เขว” ออกจากทางเดินของท่าน เรียกว่า “ออกนอกทาง” ว่าอย่างนั้นเถอะ

ชาวบ้านเห็นพระท่านเขวออกนอกทาง “เพราะความบกพร่องในหน้าที่ของตน” แทนที่จะละอายใจ แต่เพื่อกลบเกลื่อนความบกพร่องของตน ก็ยุพระส่งเลยว่า ท่านทำดีแล้ว ท่านเก่ง ท่านมีบารมีมาก หาเงินทองได้มาก ก็เลยเฮโลสนับสนุนเป็นการใหญ่ ทั้งทางตรงและทางอ้อม

พระภิกษุบางรูปมีความสามารถในการระดมทุน ก็สนุกสนาน ขวนขวายหาเงินเป็นการใหญ่ ท่ามกลางความชื่นชมของพุทธศาสนิกชน (ผู้บกพร่องในหน้าที่ของตนเอง)

เมื่อมีหนึ่งรูป ก็มีรูปที่สอง ที่สาม ที่สี่ ตามมา ตกลงสังคมพุทธจึงเต็มไปด้วยพุทธบริษัทผู้ไขว้เขวในหน้าที่อันแท้จริงของตน หรือพูดให้ชัดก็คือ พากันเดินหลงทางไปกันหมด

แล้วอย่างนี้ เมื่อไรจะถึงเป้าหมายเล่าครับ มัวแต่เข้ารกเข้าพงกันไปหมดอย่างนี้


:b39: ๔. ความปรารถนาสมหวังได้ยาก ๔ ประการ คือ

๑. ขอให้สมบัติจงเกิดมีแก่เราโดยทางที่ชอบ
๒. ขอยศจงมีแก่เรากับญาติพี่น้อง
๓. ขอให้เรามีอายุยืนนาน
๔. เมื่อสิ้นชีวิต ขอให้เราจงไปเกิดในสวรรค์


ธรรมะหลักนี้ ตรัสสอนแก่อนาถบิณฑิกเศรษฐีในอังคุตตรนิกาย จตุกกนิบาต

ตรัสถึงสิ่งที่ปรารถนาแล้วสมใจยาก ๔ ประการ สิ่งเหล่านี้มิใช่ว่าจะเกิดขึ้นได้ด้วยเหตุเพียงปรารถนาอ้อนวอนเอา ต้องลงมือทำเหตุที่จะบันดาลผลเช่นนั้น และการสร้างการทำเอาก็มิใช่ว่าทำเล็กๆ น้อยๆ แล้วจะได้ผลดังกล่าว ต้องสร้างต้องสมอย่างจริงจัง และใช้เวลานานพอสมควร


ในมหาชนกชาดก มีสุภาษิตบทหนึ่งว่า “น หิ จินฺตามยา โภคา คือ โภคทรัพย์ทั้งหลายจะสำเร็จด้วยการคิดเอาหาได้ไม่” หมายความว่า ถ้าอยากได้อะไรก็ต้องทำเอา อยากได้โภคทรัพย์ก็ต้องพยายามทำเหตุที่จะได้โภคทรัพย์ เช่น ตรัส “หัวใจเศรษฐี” ไว้ ๔ ประการ ใครอยากรวยให้ปฏิบัติดังนี้ คือ

๑. ขยันหาทรัพย์ในทางซื่อสัตย์สุจริต
๒. หามาได้แล้วรู้จักใช้จ่าย รู้จักเก็บออม
๓. คบเพื่อนที่เกื้อกูลแก่อาชีพ (เช่น คนทำมาหากิน อย่าริคบนักเลงพนัน)
๔. ใช้จ่ายให้พอเหมาะพอสมแก่อัตภาพความเป็นอยู่ (เห็นเศรษฐีเขากินอาหารมื้อละหมื่น ตัวมีรายได้เดือนละแค่ไม่กี่พัน อย่าริทำตาม)

ถ้าสร้างเหตุที่เหมาะสม ก็จะได้ผลสมควรพอแก่เหตุ ไม่มีดอกครับที่จะลอยมาเฉยๆ

คนที่พากเพียรกระทำการต่างๆ ย่อมสามารถชนะอุปสรรค ได้รับผลน่าพึงพอใจในที่สุด ได้แล้วก็หายเหนื่อย ว่ากันว่า พลังแห่งความเพียรนี้ แม้เทวดาก็กีดกันไม่ได้

ขอเล่านิทานประกอบ (เพราะ “เข้าทาง” พอดี)


ในอดีตกาล พระราชาสองเมืองรบกันมาราธอนมาก ไม่มีใครแพ้ชนะ รบไปๆ ถึงหน้าฝนก็พักรบ หมดหน้าฝนก็มารบกันใหม่

ว่ากันว่า ฤๅษีตนหนึ่งเล่าเรื่องนี้ให้ท้าวสักกเทวราช (พระอินทร์) ฟัง แล้วถามพระอินทร์ว่า พระราชาองค์ไหนจะชนะ ฤๅษีก็เลยมาบอกให้ลูกศิษย์ฟัง ลูกศิษย์ก็ไปบอกใครต่อใครว่า อาจารย์เราทายว่า พระราชา ก. จะชนะ

เรื่องล่วงรู้ไปถึงพระราชาทั้งสองพระองค์ องค์ที่ได้รับคำทำนายว่าจะชนะก็ดีใจ ไม่สนใจฝึกซ้อมวิทยายุทธ์ ว่าอย่างนั้นเถอะ ไม่ฝึกปรือทหารหาญ มัวประมาท เพราะคิดว่าตนจะชนะแหงๆ อยู่แล้ว

ข้างฝ่ายพระราชาที่ได้รับคำทำนายว่าจะแพ้ ทีแรกก็เสียใจ แต่หักห้ามใจได้ คิดว่าถ้าฟ้าดินจะให้แพ้ก็ยอมรับลิขิตฟ้าดิน แต่ไหนๆ ก็ได้ลงสนามรบแล้ว เราจะพยายามทำให้ดีที่สุด ว่าแล้วก็ระดมฝึกปรือทหารหาญเป็นการใหญ่ ไม่ประมาท เตรียมพร้อมร้อยเปอร์เซ็นต์

เมื่อถึงวันรบกัน ปรากฏว่า ข้างฝ่ายพระราชา ก. แพ้ยับเยิน พระราชา ข. กำชัยชนะไว้ได้

ต่อมาพระราชา ก. ก็ฝากต่อว่ามายังฤๅษีว่า ทำนายชุ่ยๆ โกหกทั้งเพ ว่าเราจะชนะ ท้ายที่สุดก็แพ้เขาหมดท่า “หมอดูเฮงซวย เชื่อไม่ได้” อะไรทำนองนั้น ฤๅษีก็ว่ามิใช่ตนเป็นคนทำนาย ตนฟังมาจากคนอื่น ว่าแล้วก็ถือไม้เท้ายักแย่ยักยันไปหาพระอินทร์ (ความจริงแกคงเข้าฌานหายตัวไปหาพระอินทร์มากกว่า) ต่อว่าพระอินทร์ที่ทำให้ขายหน้า และถูกด่าอีกต่างหาก

พระอินทร์กล่าวว่า ที่ทายนั้นไม่ผิดดอก ถ้าปล่อยให้ทุกอย่างดำเนินไปตามทางของมัน ท้ายที่สุด พระราชา ก. จะต้องชนะอย่างแน่นอน แต่นี้เพราะพระราชา ก. ประมาท พระราชา ข. ไม่ประมาท พากเพียรพยายามจนถึงที่สุด จึงกลับตาลปัตรอย่างนี้ แล้วพระอินทร์ก็กล่าวสุภาษิตซึ่งคมมากว่า

“คนที่พากเพียรพยายามอย่างแท้จริง แม้เทวดาก็กีดกันมิได้”

:b39: ๕. สิ่งที่น่าปรารถนาจะสำเร็จได้ยาก ๔ ประการ คือ

๑. ขอให้มีอายุยืนนาน
๒. ขอให้มีรูปงาม
๓. ขอให้มีความสุข
๔. ขอให้มีเกียรติยศชื่อเสียง


ถ้าคนเราปรารถนาด้วย ทำด้วย ในเรื่องทั้ง ๔ ประการนี้ ถึงจะสำเร็จ ก็ใช่ว่าจะสำเร็จโดยง่าย อายุคนเรานั้นจะยืนนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับกรรมเก่า และขึ้นอยู่กับกรรมใหม่

กรรมเก่านั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า ถ้าคนมักฆ่าสัตว์ตัดชีวิตในปางก่อน เกิดมาชาตินี้จะมีอายุนั้น คำว่า “จะ” นั้น มิใช่ว่า “ต้อง” ขึ้นอยู่กับกรรมใหม่ เราทำมากพอหรือไม่ ถ้าแนวโน้ม (ตามกรรมเก่า) ว่าจะอายุสั้นแต่พยายามทำเหตุที่จะให้ยืดอายุ อายุนั้นก็อาจไม่สั้นก็ได้

นี้แหละเรียกว่า กรรมใหม่

มีเรื่องเล่าทำนองนิทานเล่าขานกันเล่นๆ แต่สาระน่าสนใจ คือ สามเณรน้อยได้รับคำพยากรณ์ว่า จะตายภายในเจ็ดวัน สามเณรน้อยเสียใจมาก เดินออกจากวัดไป หวังไปตายดาบหน้า ระหว่างทางไปพบปลาดิ้นอยู่ในแอ่งน้ำในนาซึ่งกำลังแห้งขอด เกิดความสงสารจึงจับปลานั้นไปปล่อยในน้ำ ช่วยชีวิตปลาไว้ได้

เลยเวลาเจ็ดวันแล้วสามเณรยังไม่ตาย จึงกลับวัดเดิม อาจารย์เห็นสามเณรไม่ตาย ก็สงสัยว่า ตาม “ดวง” ว่าจะเสียชีวิต แต่ทำไมยังรอดอยู่ได้ ว่ากันว่าสามเณรได้ “สร้างเงื่อนไขใหม่” คือ ทำบุญกุศลช่วยชีวิตปลา ชีวิตที่มีแนวโน้มว่าจะสิ้นสุด ก็ยังไม่สิ้นสุด มีอายุยืนยาวออกไปอีก ว่าอย่างนั้น


มีนักวิชาการบอกว่า ถ้าอยากมีอายุยืน ให้ปฏิบัติตามหลัก ๕ อ. คือ อ.ออกกำลังกาย อ.อากาศ อ.อาหาร อ.อารมณ์ อ.อุจจาระ ว่าทำตามนี้เป็นกิจวัตร อายุจะยืน ว่าอย่างนั้นก็มิใช่ว่าจะเป็นสูตรตายตัว เพราะคนที่ระมัดระวังอย่างดี ทำตามนั้นทุกอย่าง ก็ตายไม่ทันแก่ก็มี สาเหตุใหญ่และสาเหตุที่แท้จริงอยู่ที่กรรมเก่าทำมาอย่างไร และอยู่ที่กรรมใหม่ (การทำความดีใหม่ๆ) มากน้อยเพียงใดมากกว่า

เพราะเหตุนี้พระพุทธองค์จึงตรัสว่า สิ่งที่น่าปรารถนาประการแรกคือขอให้อายุยืน ถึงจะสำเร็จ ก็สำเร็จได้ยาก

สิ่งที่น่าปรารถนาประการที่สอง ขอให้รูปงาม สำเร็จได้ยาก ข้อนี้อธิบายง่าย เอาแค่เกิดมารูปไม่หล่อ ไม่สวย อยากจะมีรูปหล่อ รูปสวย ก็สามารถทำได้สำเร็จ แต่ก็สำเร็จได้ยาก เพราะจะต้องเสียเงินทองแพงๆ บางคนหน้าหัก จมูกบี้ อยากสวยเหมือนคนอื่นเขา ก็ทำได้ด้วยการไปให้ศัลยแพทย์ตัดนั่น เฉือนนี่ เติมโน่น ออกมาดูดีได้ แต่กว่าจะสำเร็จ ก็หมดเงินไปหลายพัน หลายแสน สำเร็จได้โดยยากครับ

ยิ่งคนที่ไม่เคยทำบุญกุศลชนิดที่จะเป็นสาเหตุให้รูปงามด้วยแล้ว ยังไงๆ ก็เกิดมาในชาตินี้ด้วยรูปร่างหน้าตาที่สวยสดงดงามไม่ได้ เพราะเหตุนี้ การขอให้เกิดมารูปงามนั้น มิใช่สำเร็จได้โดยง่ายๆ ต้องทำบุญทำกุศลไว้มากพอสมควร

การขอให้มีความสุข ไม่มีทุกข์เลย หรือมีทุกข์น้อย ยิ่งเป็นไปได้ยาก คนจะมีความสุข ก็ต้องสร้างเหตุแห่งความสุข จึงจะมีสุข เช่น ไม่เบียดเบียน ไม่เอารัดเอาเปรียบคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ทำตนให้อยู่ในกรอบเบญจศีลเบญจธรรมอย่างเคร่งครัด จะเป็นเครื่องรับประกันว่า จะมีความสุขในชีวิตอย่างแน่นอน รวมทั้งชื่อเสียงที่ดีงามด้วย ดังในมหาปรินิพพานสูตร พระพุทธองค์ตรัสอานิสงส์ของการมีศีลบริสุทธิ์ว่า ผู้มีศีลบริสุทธิ์ จะได้รับผลดี ๕ ประการ ๒ ใน ๕ ประการนั้นคือมีเกียรติยศชื่อเสียง มนุษย์ก็รัก เทพก็ชม พรหมก็สรรเสริญ มีความสุข ไม่มีเวรมีภัย แม้จะตายก็ยังตายอย่างสงบ

จะมีสุขปานนั้นหรือมีเกียรติยศปานนั้น ก็ต้องรักษาศีล (อย่างน้อย ศีล ๕) ได้อย่างครบถ้วน และการรักษาศีลให้บริสุทธิ์บริบูรณ์นั้นมิใช่ของง่าย ยากยิ่งกว่ากลิ้งครกขึ้นเขาเสียอีก เพราะฉะนั้น จะเห็นว่า การขอให้มีเกียรติยศชื่อเสียง ขอให้มีความสุขมากกว่าความทุกข์ สำเร็จได้ไม่ง่ายนัก

แต่ถึงจะตรัสว่าสำเร็จยาก ก็บอกนัยแง่บวกไว้อยู่ว่า “สำเร็จได้” แต่สำเร็จยากเท่านั้นเอง

ถ้าเข้าใจว่า ไม่มีอะไรที่ได้มาง่ายๆ ก็จะไม่หมดกำลังใจ อยากได้ผลอย่างไร ก็จะสร้างเหตุให้เกิดผลอย่างนั้น ด้วยความอุตสาหะพยายามต่อไป

:b39: ๖. กรรมกิเลส ๕ ประการ

ธรรมะพื้นฐาน แต่จำเป็นมากสำหรับคฤหัสถ์ทุกคน (บรรพชิตด้วย) คือการละเว้นจากกรรมกิเลส ๕ ประการดังจะกล่าวข้างท้ายนี้ ก่อนอื่นขอแปลศัพท์ กรรมกิเลสก่อน

กรรมกิเลส แปลว่า ความมัวหมองแห่งกรรม (การกระทำ) แปลไทยเป็นไทยอีกทีก็คือ การกระทำที่ทำให้เสื่อมเสีย มีอยู่ ๕ ประการ ซึ่งก็คือการละเมิดศีล ๕ ข้อนั่นเอง มีดังนี้

๑. การฆ่าสัตว์
๒. การลักทรัพย์
๓. การผิดในกาม
๔. การพูดเท็จ
๕. การดื่มสุราเมรัยอันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท


โดยตัวอักษร ถ้าเราไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ ไม่ผิดลูกเมียเขา ไม่พูดเท็จ ไม่ดื่มสุราเมรัย ก็น่าจะเป็นคนดีมีศีลแล้ว นั่นนับว่าถูกในระดับหนึ่งเท่านั้น

แต่ถ้าจะว่าโดยความจริงแล้ว เวลาพระพุทธองค์ตรัสถึงศีล ท่านมักจะตรัสในแง่ลบและแง่บวกรวมกันไป

ทำให้เห็นว่า การงดเว้นจากการกระทำที่ไม่เหมาะสมนั้นๆ เป็นศีลในแง่ลบ ส่วนการบำเพ็ญหรือพัฒนาคุณธรรมเสริมเป็นศีลในแง่บวก


เช่น ตรัสว่า “ละขาดจากปาณาติบาต เว้นการตัดรอนชีวิต วางท่อนไม้ วางศัสตรา มีความละอายใจ กอปรด้วยเมตตา ใฝ่ใจช่วยเหลือเกื้อกูลแก่สัตว์ทั้งปวง”

พูดอีกนัยหนึ่งว่า ศีลที่สมบูรณ์ในความหมายของศัพท์ คือ


๑. การละเว้นจากการฆ่าสัตว์ (รวมถึงการเบียดเบียนต่างๆ ในรูปแบบต่างๆ) และความเมตตากรุณา

๒. การละเว้นจากการลักทรัพย์ (รวมถึงการละเมิดสิทธิของผู้อื่นทางด้านทรัพย์สินและกรรมสิทธิ์) และการประกอบสัมมาอาชีพที่ช่วยให้ชีวิตมั่นคง อันจะไม่เป็นเหตุให้ลักทรัพย์ (คนเราถ้ามีอาชีพมั่นคง ก็จะไม่จำเป็นต้องลักขโมยคนอื่นกิน นอกเสียจากจะเป็น “สันดาน”)

๓. การละเว้นจากการผิดในกาม (รวมถึงไม่ผิดต่อบุคคลที่ผู้อื่นหวงแหน ไม่ผิดประเวณีทางเพศ ไม่นอกใจคู่ครองของตน) และการสำรวมในกาม หรือความพอใจในคู่ครองของตนเท่านั้น

๔. การละเว้นจากการพูดเท็จ (รวมถึงพูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ หรือการเบียดเบียนผู้อื่นทางวาจาในรูปแบบอื่น) และความซื่อสัตย์

๕. การละเว้นจากการดื่มสุราเมรัย อันเป็นที่ตั้งแห่งความประมาท (รวมถึงเครื่องมึนเมา เครื่องเสพติดทุกชนิด เช่น ยาบ้า ยาไอซ์ บุหรี่ กัญชา เฮโรอีน ฯลฯ) และความไม่ประมาท หรือมีสติสัมปชัญญะ


นักปราชญ์ไทยบัญญัติศีลกับธรรมเป็นคนละอย่าง คือเอา “ศีลในแง่ลบ” เป็นศีล เอา “ศีลในแง่บวก” เป็นธรรม เรียกว่า “เบญจศีล” กับ “เบญจธรรม” โดยจับคู่กันดังนี้


เวลาที่สอนก็จะเน้นว่า อย่างนี้คือศีล อย่างนี้คือธรรม แล้วอ้างอรรถกถาที่ท่านวางเกณฑ์ตัดสินว่า แค่ไหนเพียงไหนถือว่า “ศีลขาด” แค่ไหนไม่ขาด เรียกว่า “องค์ประกอบ” ของศีลแต่ละข้อ คือ

๑. ศีลข้อ ๑ ปาณาติบาต มีองค์ ๕ คือ
- สัตว์มีชีวิต
- รู้ว่าสัตว์มีชีวิต
- จิตคิดจะฆ่า
- ลงมือฆ่า
- สัตว์ตายด้วยความพยายามนั้น


๒. ศีลข้อ ๒ อทินนาทาน มีองค์ ๕ คือ
- ของนั้นเขาหวงแหน
- รู้อยู่ว่าเขาหวงแหน
- จิตคิดจะลัก
- ลงมือลัก
-ลักมาได้สำเร็จ


๓. ศีลข้อ ๓ กาเมสุมิจฉาจารา มีองค์ ๔ คือ
- สตรีหรือบุรุษที่ไม่ควรละเมิด
- จิตคิดเสพ
- พยายามเสพ
- เสพสำเร็จ


๔. ศีลข้อ ๔ มุสาวาท มีองค์ ๔ คือ
- เรื่องไม่จริง
- คิดจะกล่าวให้คลาดเคลื่อน
- พยายามกล่าวออกไป
- ผู้ฟังเข้าใจตามนั้น


๕. ศีลข้อ ๕ สุราเมรยมัชชปมาทัฏฐาน มีองค์ ๔ คือ
- สิ่งนั้นเป็นของเมา
- จิตคิดที่จะดื่ม
- พยายามที่จะดื่ม
- น้ำเมานั้นร่วงลงสู่ลำคอไป


ถ้าถือองค์ประกอบเป็นหลักสำคัญ ก็กลายเป็นการศึกษาศีล แต่ในแง่ลบ การกระทำนั้นแม้จะเป็นการเบียดเบียนคนอื่นให้ลำบากในรูปแบบต่างๆ แต่บังเอิญว่าไม่ครบองค์ประกอบของศีลแต่ละข้อ ก็ถือว่าไม่ผิดศีล ผู้ถือศีลในแง่ลบอย่างเดียว บางครั้งจึงเป็นคนโหดร้าย เห็นแก่ตัว เอารัดเอาเปรียบคนอื่นอย่างน่าเกลียด

เพราะถืออย่างนี้เอง บางครั้งเราจึงได้เห็นภาพ (สมมตินะครับ) สามเณรน้อยไล่เตะหมา หมาร้องเอ๋งๆ ด้วยความเจ็บปวด ครั้นญาติโยมถามว่า เณร ทำไมเตะหมา เณรน้อยตอบด้วยความรอบรู้ว่า “ไม่เป็นไรดอกโยม ไม่ผิดศีล


การถือศีลเพียงในแง่นี้ ไม่มีทางที่จิตจะละเอียด ประณีต คนมีศีลในแง่ลบ ยิ่งมากเท่าไร กลับจะเป็นพิษเป็นภัยแก่สังคมมากขึ้นเท่านั้น เพราะแต่ละคนจะหาทางเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ด้วยกันอย่างหน้าตาเฉย แถมยังภูมิใจด้วยว่า การกระทำนั้นไม่ผิดศีล เพราะไม่ครบองค์ประกอบ

เจ้าของโรงงานที่ใช้แรงงานจนเด็กพิการ ที่เขาเรียกว่าโรงงานนรก เศรษฐีนีเงินกู้ที่คิดดอกเบี้ยแพงหูดับตับไหม้ กระทั่งโรงงานผลิตสินค้าที่ทำลายสภาพแวดล้อม เป็นเหตุให้สุขภาพของประชาชนเสื่อมโทรม และผลิตสินค้าต้นทุนถูกแต่ขายแพง ฯลฯ ต่างก็นั่งภูมิใจว่าตนไม่เห็นผิดตรงไหนเลย เพราะไม่ครบองค์ประกอบ


เพราะฉะนั้น เมื่อจะรักษาศีลให้อำนวยประโยชน์ จึงต้องคำนึงถึง “ศีลในแง่บวก” (ที่ปราชญ์ไทยโบราณเรียกว่า “ธรรม”) ควบคู่ไปด้วย พูดให้ชัดว่าต้องรักษาทั้งศีลและธรรม

อันที่จริงเมื่อพระพุทธองค์ตรัสสอนศีล พระองค์ทรงหมายรวมความหมายในแง่บวกด้วย ไม่เคยแยกว่า นี่ศีล นี่ธรรม เพราะศีลก็คือธรรม ธรรมก็คือศีล อ้าว ไม่เชื่อหรือ


ธรรมะที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงทั้งหมดสรุปรวมลงในอริยมรรคมีองค์แปด และอริยมรรคมีองค์แปดสรุปได้อีกขั้นหนึ่งเป็นไตรสิกขา (สิกขา ๓) คือศีล สมาธิ ปัญญา ศีลก็คือธรรม (ธรรมขั้นศีล) สมาธิก็คือธรรม (ธรรมขั้นสมาธิ) และปัญญาก็คือธรรม (ธรรมขั้นปัญญา) เห็นไหมครับ ทีนี้เชื่อหรือยังล่ะ

ทั้งๆ ที่พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงศีลทั้งในแง่ลบและแง่บวก คนส่วนมากมักจะพูดถึงศีลในแง่ลบ ให้ศีล รับศีล รักษาศีล เฉพาะในแง่ลบ พฤติกรรมของคนที่คิดว่าตนมีศีลจึงไม่ดีขึ้น เพราะขาดคุณสมบัติด้านบวกของศีล ปราชญ์ไทยโบราณจึงหาวิธีสอนศาสนาใหม่โดยแบ่งว่า นี่คือศีล และนี่คือธรรม แล้วก็บอกต่อไปว่า รักษาศีลอย่างเดียวไม่พอ ต้องรักษาธรรมหรือพัฒนาธรรมด้วย จึงจะนับว่าเป็นคนดี ก็โอเคครับ การบัญญัติใหม่อย่างนี้เป็นไปด้วยกุศลจิต ด้วยความปรารถนาดีอยากจะให้คนมีศีลทั้งในแง่ลบและแง่บวก ถือว่าไม่ขัดแย้งกับหลักการใหญ่ของพระพุทธศาสนา

ศีล ๕ (ทั้งในแง่ลบและแง่บวก) นี้เป็นเครื่องประกันความบริสุทธิ์สะอาด ใครสามารถรักษาได้ครบถ้วน จะปราศจากความมัวหมองและปราศจากเวรภัย อย่าคิดว่าศีลในแง่ลบอย่างเดียวแล้วจะประกันความประพฤติได้

เพราะเหตุนี้ พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า การละเว้นจากปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิจฉาจาร มุสาวาท และสุราเมารัย เป็นเครื่องทำให้ไม่มีความเสื่อมเสียทางความประพฤติ และไม่ก่อเวรภัยแก่ตนและสังคมด้วยประการฉะนี้แล เอวัง
:b16:

ที่มา >>> :b44: สุทัตตะ อนาถบิณฑิกเศรษฐี
อุบาสกผู้มีอุปการคุณต่อพระศาสนา

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50333


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ก.ค. 2015, 12:18 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:
:b8:
:b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 เม.ย. 2016, 18:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 8
สมาชิก ระดับ 8
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 05:25
โพสต์: 621


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 มิ.ย. 2020, 13:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ส.ค. 2020, 08:13 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2023, 13:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร