วันเวลาปัจจุบัน 04 ต.ค. 2024, 10:19  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ผู้ละเมิด “ปาราชิก” คนแรก
ศ.(พิเศษ) เสฐียรพงษ์ วรรณปก


อาบัติปาราชิก (อาบัติขั้นอุกฤษฏ์) มี 4 ประเภท
ได้แก่ การเสพเมถุน การลักทรัพย์ การฆ่ามนุษย์
และการอวดอุตริมนุสสธรรม (การอวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน)


รูปภาพ

พระสุทิน กลันทบุตร
ผู้ละเมิดปฐมปาราชิกคนแรก (การเสพเมถุน)

ผู้ละเมิดพระวินัยขั้นอุกฤษฏ์ชนิดที่ขาดจากความเป็นพระเลยเรียกว่า “ปาราชิก” มีอยู่ 4 ประเภทคือ เสพเมถุน, ลักทรัพย์, ฆ่ามนุษย์ และอวดอุตริมนุสสธรรม (อวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน) เป็นเรื่องน่าสนใจสำหรับผู้เริ่มศึกษาพระพุทธศาสนา

จึงขอนำมาเล่าให้ฟังตามลำดับ


ท่านผู้ละเมิดปฐมปาราชิกมีนามว่า พระสุทิน กลันทบุตร ท่านเป็นบุตรเศรษฐีเมืองราชคฤห์ วันหนึ่งไปฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าพร้อมสหาย มีความเลื่อมใสใคร่อยากบวช จึงทูลขอบวช

เข้าไปขออนุญาตบิดามารดา แต่ไม่ได้รับอนุญาต จึงอดข้าวประท้วง ไม่กินข้าวกินปลาหลายวัน บิดามารดาของสุทินกลัวว่าลูกจะอดข้าวตาย จึงขอร้องให้เพื่อนๆ ของสุทินช่วยเกลี้ยกล่อมใหม่ให้เลิกคิดบวชเสีย


เพื่อนๆ ต่างก็พยายามเกลี้ยกล่อมให้เลิกคิดบวชก็ไม่สำเร็จ จึงบอกบิดามารดาของสุทินว่า “คุณพ่อคุณแม่ไม่ต้องวิตกดอก สุทินเธอเป็นคนสุขุมาลชาติ เมื่อบวชเข้าจริงคงทนความลำบากไม่ไหว ไม่นานก็คงกลับมาเองแหละ”

บิดามารดาจึงอนุญาตให้บุตรชายบวช คิดว่าไม่นานเธอก็คงสึกมาตามที่เพื่อนๆ คาด

แต่ผิดคาดครับ พระสุทินหลังจากบวชแล้วไม่นาน ก็ทูลขอกรรมฐานจากพระพุทธเจ้าแล้วเข้าป่าหาความสงบวิเวกตามลำพัง หายจ้อยไปแล้ว ไม่กลับเข้าเมือง

และไม่มายังบ้านโยมบิดามารดาเลย

กาลล่วงเลยไปหลายปี วันหนึ่งพระภิกษุหนุ่มกลับเข้ามาในเมืองกำลังเที่ยวภิกขาจารยอยู่ เห็นสาวใช้บ้านของตนเองกำลังจะเอาขนมที่เริ่มบูดมาทิ้ง จึงกล่าวว่า “น้องหญิง ถ้าเจ้าจะทิ้ง เอามาใส่บาตรอาตมาเถอะ”

นางจะเอาขนมใส่บาตร พอแหงนหน้าขึ้นมาเท่านั้น ก็จำได้รีบวิ่งไปบอกนายว่า “นายขา คุณผู้ชายกลับมาแล้ว กำลังเดินขอทานอยู่”

บิดามารดาของพระหนุ่มได้ยินดังนั้น ก็ดีใจที่ลูกกลับมา แต่เสียใจที่ลูกชายเที่ยว “ขอทาน” ทำไมหนอลูกเราจึงทำขายหน้าวงศ์ตระกูลปานฉะนี้ จึงให้คนไปนิมนต์มาคฤหาสน์ ต่อว่าต่อขานพักใหญ่ หาว่าทรัพย์สินเงินทองก็มีมากมาย ทำไมลูกถึงได้เดินขอทานตามถนน ทำให้พ่อแม่ขายหน้า

ภิกษุหนุ่มกล่าวว่า “นี้เป็นการบิณฑบาตตามวัตรจริยาของสมณศากยบุตร มิใช่เป็นการขอทาน หากแต่เป็นการโปรดสัตว์”

“เอาเถอะๆ แล้วไป ว่าแต่ว่าลูกลาสิกขามาดูแลทรัพย์สมบัติของเราเถิด พ่อแม่ไม่มีใครสืบสกุลแล้ว”

“อาตมายังยินดีในการประพฤติพรหมจรรย์อยู่ ไม่อยากลาสิกขา” พระหนุ่มยืนยัน บิดามารดาอ้อนวอนอย่างไร เธอก็ยืนกรานว่าไม่ลาสิกขาเป็นอันขาด

บิดาจึงสั่งให้คนขนกหาปณะจากคลังมากองจนท่วมศีรษะแล้วกล่าวว่า “ลูกดูสิ ทรัพย์มากมายเหล่านี้ใครจะดูแล เมื่อไม่มีพ่อและแม่แล้ว”

พระลูกชายกล่าวว่า “ถ้ายุ่งยาก หาคนดูแลไม่ได้ โยมพ่อและโยมแม่ขนไปทิ้งทะเลเสียเถอะ”

คำพูดช่างเชือดเฉือนใจเสียนี่กระไร มารดาได้ร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร

พระหนุ่มคงยังนั่งสงบตามลักษณะของสมณะแท้จริง

ทันใดนั้นโยมมารดานึกอะไรขึ้นมาได้ จึงกล่าวกับพระลูกชายว่า “ถ้าลูกไม่สึกก็ไม่เป็นไร พ่อแม่ขอ “หน่อ” ไว้สักหน่อจะได้ไหม”

“ได้ เจริญพร” พระหนุ่มคิดว่าคงไม่ผิดอะไร ดีเสียอีกเมื่อพ่อแม่มี “หน่อ” ไว้สืบสกุลแล้วจะได้ไม่มารบเร้าให้ตนสละเพศบรรพชิตอีก จึงหันไปกล่าวกับอดีตภรรยาว่า “น้องหญิงพร้อมเมื่อไหร่บอกอาตมาด้วย” (เป็นที่รู้กันว่า “พร้อม” ในที่นี้คืออะไร)


ต่อมาเมื่อนาง “พร้อมแล้ว” จึงแจ้งแก่พระหนุ่มอดีตสามี พระหนุ่มก็จูงมืออดีตภรรยาเข้าละเมาะ พระคัมภีร์ว่า “ได้จัดการ” เพื่อให้อดีตภรรยาได้หน่อ (ทำอย่างไร ก็รู้กันดีอยู่แล้วมิใช่เรอะ) ผู้รวบรวมพระคัมภีร์ท่านมีอารมณ์ขัน ท่านกล่าวว่า “พระสุทินกระทำซ้ำถึงสามครั้งเพื่อให้แน่ใจว่าติดแน่” (ว่าอย่างนั้น)

และก็ติดจริงๆ หลังจากนั้นนางก็ตั้งครรภ์คลอดลูกออกมาเป็นชาย ปู่ย่าจึงขนานนามว่า “เด็กชายพีชกะ (พืช หรือหน่อ) ประชาชนรู้เรื่องก็พากันโพนทนากันให้แซ่ดว่า พระสมณศากยบุตร ไหนว่าบวชประพฤติพรหมจรรย์ ยังมาเสพเมถุนจนมีลูกมีเต้าน่าอับอายขายหน้าแท้”

เรื่องรู้ถึงพระพุทธองค์ พระองค์ทรงเรียกพระสุทินมาสอบสวนท่ามกลางสงฆ์ เธอรับเป็นสัตย์จริง จึงทรงตำหนิว่า ทำการไม่เหมาะสมไม่ก่อให้เกิดความเลื่อมใสแก่ผู้ที่ยังไม่เลื่อมใส และบั่นทอนความเลื่อมใสของผู้ที่เลื่อมใสอยู่แล้ว

จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า “ต่อแต่นี้ไปห้ามภิกษุเสพเมถุน ภิกษุใดเสพเมถุน ภิกษุนั้นขาดจากความเป็นภิกษุ ถูกขับออกจากหมู่ทันที”

พระสุทินจึงนับเป็นภิกษุรูปแรกที่ทำผิดขั้นอุกฤษฏ์ถึงขั้นมีเพศสัมพันธ์กับสตรี ทำให้ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันที

แต่เนื่องจากเธอเป็นผู้กระทำผิดคนแรก พระพุทธองค์จึงไม่ให้สึก ให้เธอเป็น “อาทิกัมมิกะ” (ต้นบัญญัติ) คล้ายกับว่าให้เป็นที่อ้างอิงในทางชั่ว สำหรับยกมาเตือนพระภิกษุอื่นๆ ในภายหลังว่าให้ตั้งใจประพฤติพรหมจรรย์อย่างเคร่งครัดนะ อย่าทำผิดถึงขั้นเสพเมถุนเหมือนพระสุทินอะไรประมาณนั้น

ความเป็นจริงให้เธอสึกหาลาเพศไปรักษาศีลบำเพ็ญทานในเพศฆราวาสเสียจะดีกว่า เมื่อเธอมิได้สึก เธอก็มีแต่ความเศร้าหมองจิตไปจนสิ้นชีวิต ไม่มีโอกาสงอกงามในคุณธรรมอีกเลย เพราะเธอได้ “ขุดรากถอนโคนตนเองเสียแล้ว”


:b49: :b50: :b49:

๏ เรื่องพระสุทิน ?
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=30120

๏ ภิกษุเสพเมถุน ต้องปาราชิก (หลวงปู่จันทา ถาวโร)
หนังสือ พระวินัย ๒๒๗ เทศน์ภาคปฏิบัติ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=55925

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระธนิยะ ชาวเมืองราชคฤห์
ผู้ละเมิดทุติยปาราชิกคนแรก (การลักทรัพย์)

พระภิกษุรูปแรกที่ลักของชาวบ้านจนเป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงบัญญัติปาราชิกข้อที่ ๒ (ห้ามลักทรัพย์) คือ “พระธนิยะ” ชาวเมืองราชคฤห์

ก่อนหน้านี้อาจมีพระภิกษุลักทรัพย์หรือถือเอาของที่เจ้าของเขาไม่ให้ แต่ไม่ใช่เรื่องใหญ่โตเท่ากับท่านธนิยะ ใหญ่ขนาดไหน ก็ขนาดลักไม้จากโรงไม้หลวงเลยทีเดียว

เรื่องราวมีมาดังนี้ ขอรับ ท่านธนิยะนี้เป็นช่างก่อสร้างมาก่อน บวชเข้ามาแล้วก็สร้างกุฏิทำด้วยดินเผาตกแต่งภายนอกภายในสวยงามตามประสาช่าง พระสงฆ์องค์เจ้าเดินผ่านไปมาก็เข้ามาชม ต่างก็สรรเสริญในความเก่งของท่านธนิยะ แต่พระคุณเจ้าที่ท่านมีศีลาจารวัตรเคร่งครัด พากันตำหนิท่านธนิยะว่า ไม่ควรสร้างกุฏิสวยงามอย่างนี้


ความทราบถึงพระกรรณของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์เสด็จมาทอดพระเนตรกุฏิอื้อฉาวนี้ด้วยพระองค์เอง แล้วตรัสเรียกพระธนิยะมาตำหนิโดยประการต่างๆ ทรงสั่งให้ทุบทำลายกุฏิดินของพระธนิยะเสีย

เมื่อกุฏิสวยงามที่สร้างมากับมือถูกพระพุทธองค์รับสั่งให้ทำลาย พระธนิยะคิดจะสร้างกุฏิไม้แทน จึงไปยังโรงไม้หลวง บอกคนเฝ้าโรงไม้หลวงว่า จะมาขนไม้ไปสร้างกุฏิ

“ไม้นี้เป็นของหลวงนะ ขอรับ” คนเฝ้าโรงไม้ทักท้วง

“อาตมาทราบแล้ว” พระหนุ่มตอบอย่างสงบ

“ไม้หลวงเป็นสมบัติของพระราชานะขอรับ พระองค์ทรงพระราชทานหรือยัง”

“พระราชทานเรียบร้อยแล้ว โยม”

เมื่อพระภิกษุหนุ่มยืนยันว่าไม้นี้ได้รับพระราชทานจากในหลวงแล้ว คนเฝ้าก็มอบให้ภิกษุหนุ่มขนไป

วันหนึ่งวัสสการพราหมณ์ ปุโรหิตแห่งพระราชสำนักเมืองราชคฤห์ เดินทางมาตรวจโรงไม้ เห็นไม้หายไปจำนวนมาก จึงซักถามคนเฝ้า คนเฝ้าบอกว่าพระสมณศากยบุตรรูปหนึ่งเอาไป บอกว่าได้รับพระราชทานแล้วด้วย

วัสสการพราหมณ์จึงไปกราบทูลถามพระเจ้าพิมพิสารถึงเรื่องนี้ พระเจ้าพิมพิสารรับสั่งให้นิมนต์พระธนิยะเข้าไปพระราชวัง ตรัสกับภิกษุหนุ่มว่า

“นัยว่าพระคุณเจ้าเอาไม้หลวงไปจำนวนหนึ่ง เป็นความจริงหรือไม่”

“เป็นความจริง มหาบพิตร” ภิกษุหนุ่มตอบ

“ไม้เหล่านั้นเป็นของหลวง คนที่ได้รับอนุญาตจากโยมเท่านั้น จึงจะเอาไปได้ โยมมีภารกิจมากมายจำไม่ได้ว่าเคยออกปากถวายไม้แก่พระคุณเจ้าเมื่อใด ขอได้เตือนความจำโยมด้วยเถิด”

“ขอถวายพระพร เมื่อพระองค์ทรงประกอบพระราชพิธีราชาภิเษกนั้น พระองค์ตรัสว่า ต้นไม้และลำธารทั้งหลาย ข้าพเจ้ามอบให้แก่สมณชีพราหมณ์ผู้ทรงศีล ขอจงใช้สอยตามอัธยาศัยเถิด นี้แสดงว่าพระองค์ได้พระราชทานไม้นี้ให้แก่อาตมาแต่บัดนั้นแล้ว” พระหนุ่มอธิบาย

ถ้าเป็นผู้มีอำนาจสมัยนี้ คงฉุนขาด ถึงขั้นสบถว่าคนอย่างนี้ไม่เอามาทำพ่อแน่นอน แต่บังเอิญคู่กรณีของพระภิกษุในเรื่องนี้เป็นพระอริยบุคคลระดับโสดาบัน ถึงกิเลสยังไม่หมดสิ้นจากจิตสันดาน ก็เบาบางลงมากแล้ว พระองค์ตรัสด้วยพระสุรเสียงเข้มว่า

“คำกล่าวนั้นกล่าวตามโบราณราชประเพณี ในเวลาประกอบพระราชพิธี หมายถึงว่า สมณชีพราหมณ์จะใช้สอยน้ำลำธาร หรือต้นไม้ใบหญ้าในป่า ที่ไม่มีเจ้าของนั้นสมควรอยู่ แต่ไม้ในโรงไม้หลวงนี้มีเจ้าของ หาควรที่สมณะจะเอาไปโดยพลการไม่ ถ้าเป็นคฤหัสถ์ทำอย่างนี้คงถูกลงอาญาแล้ว แต่เผอิญว่าพระคุณเจ้าเป็นสมถะ จึงไม่เอาโทษ แต่ต่อไปอย่าทำอย่างนี้อีก นับว่าโชคดีนะที่พระคุณเจ้า ‘พ้นเพราะขน’

ตรัสเสร็จ ก็นิมนต์พระภิกษุหนุ่มรีบออกจากพระราชวังไป พูดแบบหนังกำลังภายในก็ว่า “โน่นประตู ไสหัวไป” อะไรทำนองนั้น

คำว่า “พ้นเพราะขน” เป็นสำนวนเปรียบเทียบ สัตว์ที่มีขนคือแพะ กับสัตว์ไม่มีขน มีชะตากรรมแตกต่างกัน เมื่อเขาจะหาสัตว์ไปฆ่าบูชายัญ เขาจะเอาเฉพาะแพะ ไม่เอาแกะ เพราะแกะมีขนที่เอามาใช้เป็นเครื่องนุ่งห่มได้ แกะจึงพ้นจาการถูกฆ่าเพราะขนของมัน

ฉันใดก็ฉันนั้น พระภิกษุหนุ่มลักไม้หลวง แต่พระราชาไม่เอาโทษ ปล่อยไป เพราะทรงเห็นแก่ผ้าเหลือง ด้วยเหตุนี้พระราชาจึงตรัสว่า พระหนุ่มรอดพ้นจากอาญา “เพราะขน”

เหตุเกิดครั้งนี้ คงเป็นเรื่องอื้อฉาวพอสมควร ผู้คนคงบอกต่อๆ กันไป ผู้ที่จ้องจับผิดอยู่แล้วก็พากันกระพือข่าวในทางเสียหาย เช่น ไหนพระสมณศากยบุตร คุยนักคุยหนาว่าสละทุกสิ่งทุกอย่างมาบวชประพฤติพรหมจรรย์ ทำไมยังลักทรัพย์ของคนอื่น ดังเช่นโจรกระจอกภาคใต้ เอ๊ย ทั่วไป

พระพุทธองค์ทรงทราบเรื่อง จึงรับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ตรัสเรียกพระธนิยะผู้เป็นต้นเหตุมาสอบสวน ได้อย่างนี้ ไม่เหมาะที่พระสมณศากยบุตรจะพึงกระทำ เพราะไม่เป็นที่เลื่อมใสของคนที่ยังไม่เลื่อมใส และทำให้คนที่เลื่อมใสอยู่แล้ว เสื่อมศรัทธา จึงทรงบัญญัติทุติยปาราชิกว่า “ภิกษุใดถือเอาของที่เขาไม่ให้ราคาตั้งแต่ห้ามาสกขึ้นไป มีโทษหนักเรียกว่าปาราชิก ขาดจากความเป็นพระทันทีที่การกระทำเสร็จสิ้นลง”

เนื่องจากพระธนิยะเป็นคนทำผิดคนแรก พระพุทธองค์ไม่เอาผิด หากให้เธออยู่ในฐานะเป็น “อาทิกัมมิกะ” (ต้นบัญญัติ) ความหมายก็คือ เอาไว้ให้อ้างอิงในทางชั่วว่า อย่าทำไม่ดีเหมือนพระธนิยะนะ อะไรประมาณนั้น


:b49: :b50: :b49:

๏ การบัญญัติสิกขาบทของพระพุทธเจ้า
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=33958

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ภิกษุฉัพพัคคีย์ - กลุ่มหกคน
ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก (การฆ่ามนุษย์)

คราวนี้ละมิดปาราชิกข้อที่ ๓ กันเป็นคณะเลยทีเดียว ไม่ใช่คนเดียวดังกรณีอื่น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระองค์ทรงแสดงอสุภกรรมฐาน (ว่าด้วยความไม่สวยงามแห่งร่างกาย) ให้พระภิกษุสงฆ์ฟัง

แสดงจบพระองค์ก็ตรัสว่า พระองค์จะหลีกเร้นอยู่กึ่งเดือน ห้ามใครรบกวน ยกเว้นพระภิกษุที่นำบิณฑบาตไปถวาย ภิกษุสงฆ์ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องความไม่งามของร่างกาย อาจจะ “อิน” มากไปหน่อยหรืออย่างไรไม่ทราบ ต่างก็เบื่อหน่าย ระอา สะอิดสะเอียนในความสกปรกเน่าเหม็นแห่งสรีระร่างกายของตนจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ บ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็ไหว้วานให้คนอื่นช่วยปลงชีวิตตน

ในวัดนั้นก็มี “สมณกุตตกะ” คนหนึ่งอาศัยอยู่ด้วย เป็นชายแก่ อาศัยข้าวก้นบาตรพระยังชีพ รับใช้พระในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นุ่งห่มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เช่นเดียวกับพระสงฆ์ (คือเอาผ้าสบงจีวรพระมานุ่งห่ม แต่มิใช่พระสงฆ์) โบราณาจารย์แปลว่า “ตาเถน”

ภิกษุหลายรูปก็วานให้ “ตาเถน” คนนี้ช่วยปลงชีวิตให้ แรกๆ แกก็ตะขิดตะขวงใจ ที่ทำให้พระถึงแก่มรณภาพ แต่เมื่อพระสงฆ์ท่านบอกว่า เป็นการช่วยให้พวกท่านพ้นจากความทุกข์ ก็เลยเบาใจ ทำได้ครั้งหนึ่งแล้วก็ทำต่อๆ ไปโดยไม่รู้สึกผิดอะไร ตกลง “ตาเถน” คนนี้ปลงชีวิตพระไปหลายรูป จนพระอารามที่มีพระหนาแน่น เบาบางลงถนัด

พระพุทธองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทอดพระเนตรเห็นพระบางตา ตรัสถามพระอานนท์ ได้ทราบว่าพระสงฆ์สาวกของพระองค์เบื่อหน่ายในชีวิตพาปลงชีวิตตัวเองบ้าง วานให้คนอื่นปลงชีวิตบ้าง จึงตรัสตำหนิว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่สมณศากยบุตรจะพึงทำเช่นนั้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

“อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราจะปลงชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

“หาสังวาสมิได้” ก็คืออยู่ร่วมกับหมู่คณะไม่ได้ ต้องสละเพศหรือสึกไป


ต่อมาไม่นานก็มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “ฉัพพัคคีย์” (กลุ่มหกคน) จะเรียกว่า “แก๊งหกคน” ก็คงไม่ผิด เพราะท่านเหล่านี้มีพฤติกรรมแผลงๆ เลี่ยงอาบัติหรือ “เลี่ยงบาลี” ออกบ่อย จนเป็นที่ระอาของพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลทั้งหลาย แก๊งหกคนนี้ไปเห็นสตรีสาวสวยนางหนึ่ง ก็เกิด “ปิ๊ง” เข้า อยากได้มาบำรุงบำเรอ (จะขั้นไหน ตำราไม่บอก) แต่ติดขัดที่นางมีสามีแล้ว จึงออกเล่ห์เพทุบายเข้าไปหาสามีของนาง กล่าวพรรณนาคุณความตายให้อุบาสกสามีของนางจนเคลิบเคลิ้ม แสดงว่าแก๊งหกคนนี้มีวาทศิลป์พูดชักจูงใจคนไม่บันเบาทีเดียว

“อุบาสก เท่าที่ผ่านมาท่านก็ทำแต่กรรมดี มิได้ทำกรรมชั่วอะไรให้เป็นเหตุร้อนใจเลย ทำไมต้องมาทนอยู่ในโลกมนุษย์แสนสกปรกนี้ ควรรีบตายเพื่อไปเอาทิพยสมบัติบนสรวงสวรรค์ดีกว่า นะอุบาสกนะ” อะไรประมาณนั้น

อุบาสกที่แสนดี แต่ค่อนข้างซื่อบื้อ ไม่รู้เล่ห์เลี่ยมของเจ้ากูกะล่อน ก็เชื่อสนิทใจ “จึงรับประทานโภชนะอันแสลง เคี้ยวของเคี้ยวที่แสลง ดื่มน้ำที่แสลง” แล้วไม่นานก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมในที่สุด

ภรรยาของมหาเฮง เอ๊ยอุบาสกผู้แสนซื่อ รู้ว่าสามีของตนตายเพราะอุบายสกปรกของเจ้ากูทั้งหก ก็ด่าว่าอย่างรุนแรง “ท่านทั้งหก อ้างว่าเป็นสมณศากยบุตร แต่มีพฤติกรรมไม่สมควรแก่สมณะ เป็นคนทุศีล ไร้ยางอาย พูดเท็จ ท่านหมดความเป็นสมณะแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุให้สามีของฉันตาย”

ความทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ ให้ตามเจ้ากูทั้งหกเข้าเฝ้า ทรงซักไซ้ไล่เลียง จนสารภาพเป็นสัตย์ จึงตรัสตำหนิต่างๆ นานา แล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า

“อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตาย ด้วยคำพูดว่า ท่านผู้เจริญ จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าอยู่

เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ พรรณนาคุณความตายก็ดี ชักชวนเพื่อให้ตายก็ดี โดยนัยต่างๆ ภิกษุนี้เป็นปาราซิก หาสังวาสมิได้”


เรียกว่าบัญญัติรัดกุมจนดิ้นไม่หลุด ฆ่าเองก็ผิด ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าให้ก็ผิด พรรณนาคุณความตายจนเขาเชื่อตามแล้วฆ่าตัวตายก็ผิด รัดกุมขนาด แม่นกา

พระบาลีให้คำจำกัดความไว้เสร็จ เช่น ชักชวนอย่างไร พรรณนาคุณความตายอย่างไร โดยวิธีไหนบ้างจึงจะเข้าข่ายปาราชิก หรือไม่เข้าข่าย ทั้งนี้เพื่อปิดช่องโหว่ ไม่ให้พวก “ตราช้างเรียกพี่” เถียงข้างๆ คูๆ

เล่นกับพวกชอบเลี่ยงบาลีก็ต้องรัดกุมอย่างนี้แหละครับ


:b49: :b50: :b49:

๏ วินัยสงฆ์-อาบัติ-ปาราชิก-สังฆาทิเสส
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=22785

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ก.พ. 2009, 08:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ภิกษุชาวริมฝั่งน้ำวัดคุมุทา
ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก (การอวดอุตริมนุสสธรรม)

ที่ถูกควรเรียกว่า ‘กลุ่มแรก’ เพราะพระคุณเจ้าที่ละเมิดปาราชิกข้อที่ ๔ ทำกันเป็นหมู่คณะ เรื่องของเรื่องมีดังนี้ครับ

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคาร ในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี เป็นระยะเวลาออกพรรษาใหม่ๆ พระสงฆ์ที่แยกย้ายกันไปจำพรรษายังเมืองต่างๆ ก็ทยอยมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ละรูปหน้าอิดโรยซูบซีดยังกับเพิ่งรอดชีวิตมาจากคลื่นยักษ์สึนามิพัดกระหน่ำก็มิปาน เพราะเกิดทุพภิกขภัยไปทั่ว พระสงฆ์องค์เจ้าอดอาหารกันเป็นแถว แต่มีภิกษุกลุ่มหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากริมฝั่งน้ำวัดคุมุทา รูปร่างอ้วนท้วน มีน้ำมีนวล อินทรีย์ผ่องใส ผิวพรรณผุดผ่อง

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “พวกเธออยู่จำพรรษายังต่างเมือง ยังพอยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ดอกหรือ”

ภิกษุกลุ่มนี้กราบทูลว่า “อยู่ดีสบาย พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุอื่นๆ ประสบความลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต จนผ่ายผอม แต่พวกเธอบอกว่าอยู่ดีสบาย เป็นไปได้อย่างไร”

ภิกษุกลุ่มนี้กราบทูลว่า “พวกข้าพระพุทธเจ้ายกย่องกันเองให้โยมฟังว่า ท่านรูปนั้นบรรลุมรรคผลนิพพานขั้นนั้นๆ ญาติโยมเลยเลื่อมใส นำอาหารบิณฑบาตมาถวาย จึงมีอาหารขบฉันไม่อัตคัดขัดสนแต่ประการใด พระพุทธเจ้าข้า”

ได้ฟังดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสตำหนิด้วยวาทะแรงๆ ว่า “โมฆบุรุษ” ตรัสว่า การกระทำเช่นนี้เป็นลักษณะอาการของ “มหาโจร” แล้วตรัสถึงมหาโจร ๕ ประเภท คือ

(๑) มหาโจรประเภทที่ ๑ คือ ภิกษุเลวทรามหลอกชาวบ้านให้เขาเคารพนับถือ ร่ำรวยลาภสักการะ ไม่ต่างกับมหาโจรทางโลกที่รวบรวมสมัครพรรคพวกเที่ยวปล้นฆ่าประชาชน

(๒) มหาโจรประเภทที่ ๒ คือ ภิกษุเลวทรามเล่าเรียนพุทธวจนะจากตถาคตแล้ว อวดอ้างว่าไม่ได้เรียนมาจากใคร

(๓) มหาโจรประเภทที่ ๓ คือ ภิกษุเลวทรามที่ใส่ความภิกษุผู้ทรงศีลด้วยข้อกล่าวหาผิดวินัยที่ไม่มีมูล

(๔) มหาโจรประเภทที่ ๔ คือ ภิกษุเลวทรามที่เอาของสงฆ์ไปให้คฤหัสถ์ เพื่อประจบประแจงเขา

(๕) มหาโจรประเภทที่ ๕ คือ ภิกษุเลวทรามที่อวด “อุตริมนุสสธรรม” (อวดคุณวิเศษ เช่น มรรคผลนิพพาน) ที่ไม่มีในตน

ในจำนวนมหาโจรทั้ง ๕ ประเภทนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ประเภทที่ ๕ เป็น “ยอดมหาโจร” เพราะหลอกลวงชาวบ้าน ปล้นศรัทธาประชาชนอย่างร้ายกาจ (โดยที่ผู้ถูกปล้นไม่รู้ตัว)

พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมอีกต่อไป ความว่า “อนึ่งภิกษุใดไม่รู้ กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอันประเสริฐ ว่าข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นปาราชิก ครั้นต่อมาเมื่อมีผู้ซักถามหรือไม่ก็ตาม ต้องการความบริสุทธิ์ดุจเดิม จึงสารภาพว่าข้าพเจ้าไม่รู้ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ แม้อย่างนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”


ความในข้อนี้ก็คือ ภิกษุใดไม่ได้รู้ได้เห็นด้วยญาณใดๆ กล่าวอวดอ้างว่าตนได้รู้ได้เห็น เป็นปาราชิก ถึงแม้ภายหลังจะสำนึกผิดว่าตนได้อวดอ้าง มาสารภาพก็ตามที ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

พระพุทธองค์ตรัสว่า การหลอกกินอาหารจากชาวบ้าน ด้วยอ้างว่าตนได้บรรลุมรรคผลขั้นใดๆ ก็ตาม ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง ให้เธอกลืนก้อนเหล็กแดงที่ลุกโชนยังดีเสียกว่าหลอกกินข้าวชาวบ้าน เพราะกลืนเหล็กแดง อย่างมากก็ตาย แต่กลืนข้าวที่ได้มาจากการหลอกลวงชาวบ้าน ตกนรกหมกไหม้อีกต่างหากด้วย


เจ็บแสบดีนะครับ

ถ้าถามว่า แค่ไหนจึงจะเรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรม หรืออวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

พระวินัยปิฎกพูดไว้ชัดว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺโม นาม ฌานํ วิโมกฺโข สมาธิ สมาปตฺติ ญาณทสฺสนํ มคฺคภาวนา ผลสจฺฉิกิริยา กเลสปหานํ วินีวรณตา จิตฺตสฺส สุญฺญาคาเร อภิรติ

ต้องแปลครับจึงจะรู้เรื่อง อุตริมนุสสธรรม (คุณวิเศษที่ยิ่งยวด) ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ (การหลุดพ้น) สมาธิ สมาบัติ (การเข้าฌาน) การรู้การเห็น การเจริญมรรค การทำผลให้แจ้ง การละกิเลสได้ การเปิดจิตจากกิเลส ความยินดีในเรือนว่าง

แปลแล้วยังไม่กระจ่าง ก็ต้องขยายอีกดังนี้ครับ

ใครอวดว่า ตนได้ฌานที่ ๑-๒-๓-๔ ทั้งที่ไม่ได้สักแอะนี้เรียกว่าอวดแล้วครับ

ใครที่บอกว่า ตนหลุดพ้นแล้วเพราะสู้รบกับกิเลสมานาน จนกระทั่งบัดนี้เอาชนะมันได้แล้ว ตนได้ “เตะปลายคาง” กิเลสมันตายแหงแก๋แล้ว อ้ายนี่ก็อวดแล้วครับ

ใครที่บอกว่า ตนได้เข้าสมาธิจิตแน่วแน่ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดแจ๋วแหวว เข้าฌานสมาบัติได้สบาย อยู่ถึง ๖-๗ วันจึงออกจากสมาบัติ สบายจัง อ้ายนี้ก็อวดเช่นกัน

ใครที่พูดว่า ตนได้วิชชา ๓ แล้วคือรู้ชาติหนหลัง รู้กำเนิดจุติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรมของแต่ละคนที่ทำมา (จนนั่งหลับตาบรรยายผ่านสื่อต่างๆ เป็นฉากๆ) รู้จนทำกิเลสให้หมดไป อ้ายนี่ อีนี่ก็อวดแล้วครับ

ใครที่พูดว่า ตนได้เจริญสติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ อริยมรรคมีองค์ ๘ จนสมบูรณ์ที่สุดเหนือใครๆ แล้ว อ้ายนี่ก็อวด

ใครที่พูดว่า ตนได้ทำให้แจ้งคือได้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล เป็นพระอรหันต์เตะปลายคางคนได้แล้ว อ้ายนี่ก็อวด

ใครที่พูดว่า ตนได้เปิดจิตจากกิเลสคือจิตของตนปราศจากราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิงแล้ว

สรุปแล้ว ใครที่ไม่ได้มีคุณสมบัติดังกล่าว หรือไม่ได้บรรลุคุณวิเศษดังกล่าว แล้วกล่าวอวดว่าตนมี ตนได้ ทำให้คนอื่นหลงเชื่อ ไม่ว่าจะพูดโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม เรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรมทั้งนั้น


“ใคร” ที่ว่านี้หมายถึง พระภิกษุ ครับ (ฆราวาสอวด ไม่ต้องปาราชิก แต่จะถูกตราหน้าว่าไอ้คนขี้โม้) พระภิกษุรูปใดอวดคุณวิเศษที่ตนเองไม่มี เช่น อวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นอริยะ อรหันต์ ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นพระทันทีที่อวด ไม่จำเป็นต้องมีคนโจทก์ฟ้องร้องถึงสามศาลอย่างกรณีของชาวบ้าน

มีข้อน่าคิดอย่างหนึ่ง คนที่อวดว่าบรรลุนั่นบรรลุนี่ มักจะไม่บรรลุจริง ส่วนท่านที่บรรลุจริงกลับไม่พูด และที่ประหลาดก็คือชาวบ้านปุถุชนคนมีกิเลส มักจะไปตั้ง “อรหันต์” กันง่ายๆ ดังมักพูดว่า พระอรหันต์แห่งอีสานบ้าง อรหันต์กลางกรุงบ้าง ตนเองก็กิเลสเต็มพุงแล้วรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่เป็น

ที่ไม่รู้ก็อยากรู้ว่าท่านเป็นอรหันต์หรือไม่ ดังเขาเล่าว่าหม่อมคนดังคนหนึ่งไปเรียนถามท่านเจ้าคุณนรฯ ว่า ท่านเป็นอรหันต์หรือเปล่า ท่านเจ้าคุณนรฯ ดึงหูคนถามมาใกล้ๆ แล้ว พูดเสียงดังฟังชัดว่า “ไอ้บ้า” ฮิฮิ



:b8: ที่มา : สิ่งแรกในพระพุทธศาสนา (เสฐียรพงษ์ วรรณปก)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47962

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.พ. 2018, 20:01 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 718

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 มิ.ย. 2020, 13:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2023, 13:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1013


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 7 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร