วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 02:29  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ส.ค. 2020, 10:43 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
หนังสือ ประตูสู่มรรค ผล นิพพาน ๒
ท่านพระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต
หัวข้อ สิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก หน้า ๓๕-๖๑


รูปภาพ

สิ่งที่เกิดขึ้นได้ยาก
พระธรรมเทศนาโดย...
ท่านพระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต
วัดบุญญาวาส ตําบลบ่อทอง อําเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี
เทศน์วันที่ ๒๙ มกราคม ๒๕๔๙ ณ วัดบุญญาวาส

*************

ในแผ่นดิน ในโลกนี้นั้น เขาสมมติก้อนหินแต่ละชนิดให้เป็นสิ่งที่มีคุณค่า จะเป็นแร่ทองก็ดี ทองคําก็ดี ซึ่งเป็นสิ่งสมมติว่ามีค่า ก็ยังหาได้ในแผ่นดินนี้ หาได้ไม่ยากลําบากเท่าไร จะเป็นพลอย เพชร นิล จินดาก็ตามที่มีอยู่ในแผ่นดินนี้ ก็ยังหาได้ไม่ยาก ก้อนหินทั้งหลายเหล่านี้ เขาสมมติให้เป็นสิ่งมีค่ามาก ที่มนุษย์เราสมมติขึ้นมา จะเป็นทองคําก็ดี จะเป็นเพชรพลอยต่างๆ ก็ดี ที่ว่าหายากนั้นก็ไม่ยากเท่าไร ไม่เหลือวิสัยแก่การค้นคว้าเสาะแสวงหาของมนุษย์ ซึ่งมีความต้องการในรูปวัตถุ

แต่ในแผ่นดินนี้ พระพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นแต่ละพระองค์นั้นหาได้ยากที่สุด เราทุกคนความจริงโชคดีที่ได้เกิดขึ้นมาในยุคซึ่งมีพระพุทธศาสนา มีคําสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประดิษฐานอยู่ เป็นสิ่งซึ่งยากลําบากเหลือเกิน ที่สัตว์ทั้งหลายจะเกิดขึ้นมาในภพภูมิของมนุษย์ ที่จะมาพบพระพุทธศาสนา เพราะในภพภูมิต่างๆ นั้น มีมากมายเหลือเกิน ภพที่หยาบตั้งแต่ภพที่ต่ํา คือ นรก ก็มีหลายภพหลายภูมิ เปรตก็มีหลายภพหลายภูมิ อสูรกาย สัตว์เดรัจฉาน เทวดาหรือพรหม และภพภูมิของมนุษย์ บุคคลซึ่งเกิดขึ้นมาในโลกนี้ซึ่งได้มาพบพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งซึ่งหาได้ยากยิ่งกว่าทองคําและเพชรพลอยทั้งหลาย ซึ่งคนทั้งหลายหลงว่า เป็นสิ่งซึ่งมีคุณค่ามาก

ทรัพย์สมบัติหมดทั้งโลกนี้หรือสามแดนโลกธาตุก็ตาม ตามสมมติทั้งหลาย ก็ไม่เท่ากับกําเนิดขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแต่ละพระองค์อันมีคุณค่ามาก พระพุทธองค์นั้นเกิดขึ้นมาแล้ว ทําดวงใจให้บริสุทธิ์ คําสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นคําสั่งสอนซึ่งสอนให้พุทธบริษัททั้งหลายประพฤติปฏิบัติตามเพื่อความพ้นทุกข์ หรือเพื่อความสิ้นทุกข์ ทําจิตใจให้บริสุทธิ์ได้ พระอรหันตสาวกทั้งหลายผู้ซึ่งปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ข้อวัตรปฏิบัติ ธุดงควัตรต่างๆ ก็เป็นไปเพื่อขูดเกลาจิตใจให้บริสุทธิ์ขึ้นมา และพวกเราพระภิกษุสามเณร หรืออุบาสก อุบาสิกา ซึ่งได้เกิดขึ้นมาพบคําสั่งสอนของพระพุทธองค์ อันเป็นสิ่งซึ่งเราไม่ต้องค้นคว้าแสวงหาอันใดเลย เพียงแต่ว่าประพฤติปฏิบัติตามคําสั่งสอนที่ท่านชี้ทาง บอกทาง แนะนํา เท่านั้น ไม่ต้องคิดให้ยากลําบากอะไรเลยในเรื่องการประพฤติปฏิบัติภาวนา

ความนึกคิดปรุงแต่งในจิตใจของเรานั้น เป็นสิ่งซึ่งพาให้จิตใจของเรา หลงไปกับอารมณ์ทั้งหลายอันไม่รู้จักจบสิ้น คําสั่งสอนที่เป็นหนึ่งไม่มีสองที่ท่านทรงสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายให้ห่างการทําบาปทั้งหลายทั้งปวง ควรทําแต่ความดี เริ่มตั้งแต่การทําบุญ รักษาศีล ทําสมาธิ เจริญภาวนา หรือสร้างบารมีทั้ง ๑๐ ประการ เพื่อพัฒนาจิตใจของแต่ละคนให้มีความสะอาด ให้มีความบริสุทธิ์เกิดขึ้น

แต่ละจิตวิญญาณที่จะมาเกิดในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา ก็เป็นสิ่งซึ่งยาก ดูประชาชนเฉพาะภพภูมิของมนุษย์บนโลกนี้กี่พันล้านคน และประเทศที่มีพระพุทธศาสนานั้นมีมากหรือเปล่า แม้อยู่ในประเทศที่มีพระพุทธศาสนาคนที่รักษาศีล ๕ จะมีสักกี่คน คนที่จะทําสมาธิภาวนาจะมีสักกี่คน คนที่จะเจริญการพิจารณาเพื่อจะละกิเลสออกจากใจของแต่ละบุคคลนั้นจะมีสักกี่คน และพวกเราจะนิ่งนอนใจทําไม เมื่อเกิดขึ้นมาแล้วพบคําสั่งสอนอันเลิศอันประเสริฐที่สุดในสามแดนโลกธาตุหรือในจักรวาลทั้งหลาย ไม่มีสิ่งใดที่จะนําจิตของสัตว์ทั้งหลายให้พ้นไปจากวัฏสงสารได้ นอกจากคําสั่งสอนของพระพุทธองค์ แล้วเราจะปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ทําไม

ความหลงเป็นเหตุเป็นปัจจัยให้จิตใจเรานั้น หลงเวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสารไม่มีอันจบสิ้น อวิชชาคือความหลง หรือความไม่รู้ทั่ว ไม่รู้ทั่วไปในความโลภ ในความโกรธ ในความหลง ซึ่งมีอยู่ในดวงใจของเรา เมื่อเราได้มีโอกาสเข้ามาบวชในเพศผ้ากาสาวพัสตร์ ซึ่งอาศัยมูลของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายสืบต่อกันมาจนทุกวันนี้ พระภิกษุสามเณรอาศัยมูลของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อาศัยปัจจัยสี่จากญาติโยมหรือชาวบ้าน แล้วเราจะนิ่งนอนใจทําไม เราอยู่ในสมรภูมิที่เหมาะสมในการที่จะต่อสู้กับข้าศึก คือกิเลสในดวงใจของเรา ปัจจัยสี่ก็อาศัยจากญาติโยมทั้งหลายซึ่งเป็นกองหนุนให้เราเข้าต่อสู้ โจมตี ทําลายข้าศึกคือความโลภ ความโกรธ ความหลง ภายในใจเราไม่ใช่หรือ ความศรัทธาของญาติโยมที่มีต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ ได้ถวายปัจจัยทั้งสี่ก็ด้วยอาศัยศรัทธา

เพราะฉะนั้นพระสงฆ์ในพระพุทธศาสนา พระพุทธองค์ซึ่งตรัสไว้ว่า เป็นผู้ที่จะทรงไว้ซึ่งพระพุทธศาสนา หรือจะเป็นผู้ซึ่งทําลายพระพุทธศาสนา ก็ขึ้นอยู่กับพระสงฆ์ที่เข้ามาบวชตามสมมติ เราจะเป็นฝ่ายที่ทําลายพระพุทธศาสนา หรือจะเป็นฝ่ายซึ่งส่งเสริมพระพุทธศาสนาให้มีความเจริญรุ่งเรืองสืบต่อไปตลอดกาล เมื่อเราเข้ามาบวช เราก็ต้องเป็นผู้ที่ตั้งใจประพฤติปฏิบัติตามธรรมวินัย ตามข้อวัตรปฏิบัติ ปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์วางไว้ หรือธุดงควัตรอันเป็นเครื่องขูดเกลากิเลสภายในจิตใจของเรา ไม่ใช่ว่าเราเข้ามาบวช มาฝึกหัดอบรมจิตใจของเรา แล้วเราก็ไม่มีความอดทน ทําอะไรตามกิเลส ทําอะไรตามใจ

ถ้าเราทําอะไรตามกิเลส ตามความคิดของเรา ถ้าพ้นทุกข์ก็คงพ้นทุกข์ไปนานแล้ว แต่ความจริงการทําอะไรตามความรู้สึกนึกคิดของเราส่วนมาก ๙๐% เป็นความเห็นผิด เป็นความเห็นไม่ถูกต้อง เราจะหลงเวียนตายเวียนเกิดในวัฏสงสารไม่มีที่สิ้นสุด เพราะฉะนั้นการมาฝึกหัดอบรมจิตใจของเรา ในการเข้ามาบวช เข้ามาประพฤติปฏิบัติ ต้องอดทนต่อทุกสิ่งทุกอย่าง อดทนต่อความหนาว ความร้อน หรือการนอนการจําวัดก็ต้องฝืนนอนแต่พอดี การขบฉันก็ต้องฉันพอดี ซึ่งจํากัดเพียงมื้อเดียวหนเดียว อาสนะเดียว ภาชนะเดียว ต้องมีความพอใจในการที่จะฝึกหัดขูดเกลาจิตใจของเรา ไม่ตามความรู้สึกกิเลสภายในจิตใจของเรา

การเดินจงกรม นั่งสมาธิ การฝึกหัดจิตใจของเราในการบําเพ็ญเพียรภาวนา ก็ต้องบําเพ็ญเพียรทุกวัน หลักของครูบาอาจารย์ ขี้เกียจก็ต้องฝืนประพฤติปฏิบัติ เพราะถ้ากิเลสนั้นคือเกิดขี้เกียจขึ้นมาเราก็อยากนอนพักผ่อน ไม่อยากจะทําอะไร แต่นักปฏิบัติผู้ซึ่งจะต่อสู้ที่จะละกิเลสออกจากจิตใจเรานั้น ต้องรู้จักฝืน มีความอดทน ทวนกระแสของกิเลส การตามใจกิเลสนั้นก็ไม่สามารถที่จะพ้นความทุกข์ไปได้ เพราะฉะนั้นต้องมีความอดทน มีสติ มีปัญญา รู้จักสอดส่องดูจิตใจของเรา ว่าจิตใจของเรานั้นมีกิเลสในเรื่องอะไร มีความทุกข์เกิดขึ้นมาจากสาเหตุอันใด นักปฏิบัติผู้เป็นสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า หรือเป็นศิษย์ขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า อย่างน้อยที่สุดต้องทรงธรรมวินัยเป็นพื้นฐานของจิต

ถ้าบวชมาแล้วไม่รักษาศีล ก็อย่าบวช ถ้ารักษาศีลให้ทรงตัวแล้ว มีความยินดีในการรักษาศีล ก็สามารถจะอยู่ได้ ถ้าต้องการที่จะพัฒนาจิตใจเรานั้นให้ดียิ่งขึ้นไปก็บําเพ็ญสมาธิธรรม ทําสมาธิภาวนาให้เกิดความสงบ ความเยือกเย็นในจิตใจของเราให้เป็นเครื่องอยู่ภายในจิตใจของเราอีกระดับหนึ่ง แต่ส่วนมากก็คิดว่าการทําความสงบนั้น รู้สึกว่ายากลําบาก จิตใจไม่ค่อยสงบ ทุกคนอยากได้ความสงบ อยากให้ความสงบเกิดขึ้นภายในจิตใจ อยากมีสติตั้งมั่น แต่เราทุกคนได้ทําความเพียรให้เพียงพอหรือยัง หรือบวชมามัวแต่เผยแพร่ หรือมัวแต่ทําหน้าที่การงานต่างๆ ภายนอก ให้หน้าที่การงานต่างๆ ภายนอกมากกว่าการกระทําความเพียร หรือไปกิจธุระต่างๆ ภายนอก มากกว่าการทําความเพียร

การปฏิบัติภาวนานั้น การทําความเพียรอย่างน้อยที่สุด น้อยที่สุดเลยต้องถึง ๗๐% อีก ๓๐% นั้นเป็นเวลาทํากิจภายนอก เวลาส่วนใหญ่นั้นเป็น ๗๐% ต้องเป็นเวลาประพฤติปฏิบัติ ไม่ใช่ว่า ๗๐% เป็นเวลาเกี่ยวข้องธุรกิจภายนอก หรือเกี่ยวข้องกับการทําการงานตลอด อันนั้นเป็นสิ่งที่เป็นอุปสรรคต่อการทําสมาธิ เจริญภาวนา เพราะการกระทําความเพียรนั้นต้องมีสติกําหนดอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนาให้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ เหลือจากเวลานั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็มีสติตามรักษาจิตของตนไปตลอดทุกๆ อิริยาบถ ไม่ว่าจะยืน เดิน นั่ง หรือทําอะไรก็แล้วแต่

การตั้งสตินั้น ตั้งสติตั้งแต่รู้สึกตัวลืมตาขึ้นมาเลย ตื่นนอนขึ้นมา ตื่นจากจําวัด มีสติกํากับไปทุกๆ ขณะจิต ถ้าเผลอก็ช่าง เราก็ตั้งขึ้นมาใหม่ สติคือความระลึกได้ที่จะเฝ้าดูจิต เฝ้าดูอารมณ์ในใจของเรา ทํากิจวัตรประจําวันก็มีสติ ทําหน้าที่การงานนั้นๆ ในส่วนรวมให้สําเร็จลุล่วงไป สํารวมจิตใจเราอยู่เสมอทุกๆ อิริยาบถไม่ให้เกิดความยินดี ยินร้าย ในรูป รส กลิ่น เสียง สัมผัส ให้จิตเราเป็นกลางอยู่เสมอ มีสติสํารวมจิตใจเราเช่นนี้ไปตลอด

เมื่อเรามีสติเฝ้าดูใจของเราไปทุกๆ อิริยาบถ เมื่ออารมณ์เกิดขึ้นก็มีอุบายปัญญาที่จะพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่ใช่ตัวตนของอารมณ์อันนั้น เมื่อมีเวลาว่างเราก็สํารวมในอิริยาบถนั่งสมาธิ ทําสติ ทําสมาธิให้ต่อเนื่อง ให้เกิดความสงบ ในใจของเรา ให้เกิดกําลังใจซึ่งตั้งมั่น กําลังสติที่เข็มแข็งเกิดขึ้นให้จิตเป็นหนึ่ง ในอิริยาบถเดินจงกรมก็เหมือนกัน มีสติกําหนดอยู่กับกรรมฐานที่เราภาวนา เมื่อออกจากอิริยาบถนั่งสมาธิ เดินจงกรม ก็มีสติเฝ้าดูจิตของเราต่อไป ทําเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ให้ต่อเนื่องทุกๆ วัน

ความคิดของกิเลสอย่าไปเสียดาย อย่าไปเสียดายกิเลสที่เกิดขึ้นภายในจิตใจของเรา ในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง เป็นอาการของจิต อาการของกิเลส ถ้าเราไม่ฝืน ไม่ทวนกระแสของกิเลส แล้วเราจะบวชทําไม เราทําตามใจของตัวเอง แล้วเมื่อไรจะชนะกิเลส ไม่อดทน ไม่กล้าเสียสละ พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวก ทั้งหลายท่านเสียสละทรัพย์สมบัติภายนอกออกไป ท่านเสียสละอวัยวะต่างๆ หรือแม้ชีวิตเพื่อรู้ธรรม เห็นธรรม การประพฤติปฏิบัติของท่านนั้นเอาชีวิตเป็นเดิมพัน ตั้งแต่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าลงมาถึงพระอรหันต์สาวกทั้งหลาย ปฏิบัติด้วยความเด็ดเดี่ยว เอาชีวิตเป็นเดิมพัน หมายถึงแลกตายกัน ไม่ดีก็ให้ตาย ไม่ตายก็ให้ดี กิเลสจะอยู่ภายในจิตใจไม่ได้

การต่อสู้นั้นต้องต่อสู้กับจิตใจเรา ต่อสู้กับกิเลสภายในดวงใจของเรา ไม่ใช่ว่าต่อสู้กับเพื่อนสหธรรมมิก หรือญาติโยมทั้งหลาย ต้นเหตุของกิเลสไม่ได้อยู่ที่สหธรรมมิก ญาติโยม หรือวัตถุธาตุทั้งหลาย เกิดขึ้นที่ดวงใจของเราอันมีความหลง มีความเห็นผิด เพราะฉะนั้นเมื่อเราเข้ามาประพฤติปฏิบัติ ไม่ต้องไปค้นคว้าหาหนทาง ไม่ต้องไปคิดให้วุ่นวาย ธรรมวินัยที่พระพุทธเจ้าได้บัญญัติไว้ ได้ตรัสไว้ดีแล้ว เป็นไปเพื่อขูดเกลากิเลสภายในใจของเรา ศีลของพระเราก็คือ ธรรมวินัย หรือศีล ๒๒๗ รวมย่อลงมาก็อยู่ที่ดวงใจดวงเดียว มีสติวินัย กิเลสอยู่ที่ใจ ดูที่ใจของเรา ความโลภ ความโกรธ กามราคะทั้งหลายก็อยู่ที่จิตของเรา มาดูจิตใจของเรา

ข้อวัตรปฏิบัติต่างๆ จะเป็นธุดงควัตรต่างๆ ก็ตาม ก็เป็นเครื่องขูดเกลากิเลสภายในใจของเรา ทําไมเราจะผ่อนข้อวัตรปฏิบัติที่ครูบาอาจารย์วางไว้ พระพุทธเจ้าทรงชี้แนะว่า ธรรมวินัย ธุดงควัตรนี้เป็นเครื่องขูดเกลากิเลส เป็นไปเพื่อพระนิพพาน เมื่อเรามาประพฤติปฏิบัติ มาศึกษาขอนิสัยจากครูบาอาจารย์ เมื่อออกไปแล้ว เราก็ไม่ทําตาม ไม่ประพฤติปฏิบัติตาม เราไปทําในสิ่งที่จะทําให้จิตใจเสื่อมถอย สมาธิไม่เกิดขึ้น ปัญญาไม่เจริญขึ้น ก็อยู่ไม่ได้ในเพศสมณะ อยู่ไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง มีเป็นจํานวนมากที่เข้ามาศึกษากับครูบาอาจารย์ต่างๆ นับถือเป็นครูบาอาจารย์ แต่ไม่ประพฤติปฏิบัติตามข้อวัตรปฏิบัติที่ท่านวางไว้ อันเป็นไป เพื่อชําระกิเลส ในเมื่อจิตของเรายังไม่บริสุทธิ์ ความเห็นของเรายังไม่ถูกต้อง ธรรมทั้งหลายเรายังไม่รู้ทั่วถึง แต่เราทําตามความคิดของเรา ความคิดของเรามันเป็นกิเลส ทําอะไรตามสบายใจ มันก็เป็นกิเลส ผ่อนในข้อวัตรต่างๆ มันก็เป็นกิเลส แล้วเราจะบรรลุธรรม เห็นธรรมได้อย่างไร

มัชฌิมาปฏิปทา ความจริงนั้นอาจจะแตกต่างจากคนทั้งหลายในโลกนี้ คือ การประพฤติปฏิบัติของพระสงฆ์เราฝ่ายปฏิบัติ ที่ฉันหนเดียว ภาชนะเดียว อาสนะเดียว บิณฑบาตเป็นวัตร หรือการนอนน้อย ฉันน้อย ทําความเพียรมาก อาจจะแตกต่างจากคนทั้งหลาย แต่หนทางนี้เป็นหนทางมัชฌิมาปฏิปทา คือหนทางที่เป็นกลาง ที่จะนําจิตของเรานั้น ชําระจิตใจให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ได้เมื่อเราทําอะไรตามกิเลส กิเลสก็ครอบงําจิตใจเรา ไม่ประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ไม่เอาธุดงควัตรเป็นเครื่องขูดเกลากิเลส ละเลยจนไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นประโยชน์

เมื่อผู้ใดไม่ประพฤติปฏิบัติธรรม ผู้นั้นก็ไม่สามารถที่จะรู้ธรรมเห็นธรรมได้ พระพุทธศาสนามีไว้หรือดํารงไว้ แต่ถ้าไม่มีผู้ประพฤติปฏิบัติตามในศีล สมาธิ ปัญญา ก็ไม่สามารถมีผู้ที่จะบรรลุมรรคผลนิพพานได้ แต่ในเมื่อเราทุกคนเกิดขึ้นมาในช่วงมีพระพุทธศาสนา แล้วเราทําไมไม่รีบเร่งขวนขวายในการบําเพ็ญภาวนา ให้ยิ่งๆ ขึ้นไป ศีลให้งามเป็นเบื้องต้น อย่างน้อยเป็นเกราะคุ้มกันภัยพวกเรา เพราะโทษของการทุศีลมันอันตรายมาก เพราะศรัทธาของญาติโยมทั้งหลายมีมาก จึงอันตรายมาก มีมากด้วยความบริสุทธิ์ เขาหามาด้วยความยากลําบาก ในปัจจัยสี่ทั้งหลาย ก็มาทํานุบํารุงพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ เพราะฉะนั้นเราต้องทรงธรรมวินัย อย่างน้อยเป็นเกราะคุ้มกันภัยของเรา

การทําสมาธิภาวนา ๑. อันดับแรกเพื่อตัวเราเอง ๒. เพื่อใช้หนี้คนอื่น ให้เป็นอานิสงค์ผลบุญกลับไป เดินจงกรม นั่งสมาธิให้ได้ จึงบอกว่าเขาทํางานวันละ ๗-๘ ชั่วโมง บางคนทํางานตลอด ๗, ๘ วัน ๖, ๗ วัน ไม่หยุดตลอดทั้งอาทิตย์ บางคนทํางาน ๖ วัน หยุดวันเดียว ได้ปัจจัยสี่มาก็แบ่งมาถวายทําบุญในพระพุทธศาสนา แต่เราจะมาจําวัดแล้วฉัน แล้วก็พักผ่อนมันก็ไม่ถูกต้อง เขามาส่งให้เราเหมือนส่งให้ศึกษาเล่าเรียน เมื่อเรามุ่งทางนี้แล้วจะประพฤติปฏิบัติธรรมก็เอาให้จริง เขาส่งเสบียงกําลังสนับสนุนเพื่อต่อสู้กับข้าศึก ต่อสู้กับกิเลส เราก็ต้องทําให้มากกว่าเขา วันหนึ่งเขาทํางาน ๗-๘ ชั่วโมง เราก็ต้องทําความเพียรมากกว่านั้น ไม่ใช่ว่าทําแค่ครึ่งชั่วโมง ชั่วโมงก็พอแล้ว ไม่ถูกต้อง ทําความเพียรต้องทําให้ยิ่งกว่าโยมเขา ๗-๘ ชั่วโมง บางคนครูบาอาจารย์ทํา ๘-๑๐ ชั่วโมง หรือมากกว่านั้น เมื่อเราทําความเพียรไม่หยุด สมาธิทําไมจะไม่เกิดขึ้น

บางคนปรารถนาความสงบ แต่ไม่ทําเหตุในการที่จะทําความเพียรเพื่อแผดเผากิเลสภายในดวงใจของเรา ปรารถนาความสงบ แต่ปล่อยจิตปล่อยใจไปกับอารมณ์ทั้งหลาย บางเรื่องก็ไม่รู้จักฝืนอดทนภายในจิตใจของแต่ละคน อยากจะใช้สอยอะไร ก็ใช้สอยไปตามกิเลส ไม่รู้จักพิจารณาก่อนใช้ อยากจะฉันภัตตาหารอะไรก็ฉัน ฉันไปตามความอยาก ไปตามกิเลส

สมัยครูบาอาจารย์ที่ท่านมุ่งประพฤติปฏิบัติอยู่ในป่าในเขานั้น บางที่มีเพียงข้าวกับเกลือ แล้วก็พริก หรือบางวันไม่มีกับ มีแต่ข้าวหรือผักต้ม หรืออะไรก็แล้วแต่ น้ำพริกเล็กๆ น้อยๆ เท่านั้น นั่นแหละคืออาหารเพียงเล็กน้อยแต่พอดี ท่านไม่กังวลเรื่องอาหาร มีเพียงเพื่อจะฉันเพื่อบําเพ็ญภาวนาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้น ไม่ได้ห่วงสรีระร่างกายอะไร แต่เราบางครั้งอาหารจากญาติโยมมาก แต่เราก็ไม่รู้จักหักห้ามจิตใจของเรา ไม่รู้จักสํารวมพิจารณาอาหารแต่พอดี เมื่ออาหารมากก็ทับถมกิเลสในจิตใจของเรา ทําให้เกิดนิวรณ์ ความง่วง ความเพียรก็น้อยลงไป อยากจะนอน อยากจะพักผ่อนมาก อย่าไปเสียดายในการขบฉัน ฉันแต่พอดี พิจารณาอาหาร พอที่จะฉันเพื่อทํานุบํารุงร่างกาย พอที่จะบําเพ็ญเพียรภาวนาวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง พิจารณาแต่เพียงว่า ฉันภัตตาหารให้เพียงพอกับการบําเพ็ญเพียรภาวนาวันหนึ่งกับคืนหนึ่งก็พอแล้ว แล้วก็ทําความเพียรให้เต็มที่

จิตที่ไม่สงบที่เกิดขึ้นจากความนึกคิดต่างๆ ภาพในจิตใจของเราที่เผาลนจิตใจของเรานั้นให้คิดแต่เรื่องอดีตหรือเรื่องอนาคตปรุงแต่งไปให้เกิดแต่เรื่องกิเลสทั้งหลาย ทําไมไม่มีสติที่จะยับยั้ง ไม่ให้คิดไปในเรื่องของกิเลส มีสติ มีความอดทน อดกลั้นต่ออารมณ์หน่อย สํารวมจิตใจของเรา บางคนเห็นไหม ปล่อยใจคิดอะไรก็ทําตามความคิด ทําตามความคิดจนก่อให้เกิดความเสียหายก็ได้ แต่เมื่อคิดในสิ่งที่ไม่ดี ต้องรู้ ต้องอดทน ต้องหาทางละออกไป ไม่เก็บ ไม่กักขังไว้ หาอุบายที่จะละอารมณ์ที่ไม่ดีออกไปทุกๆ ขณะ พูดอยู่เสมอว่า ความคิดอันใดเป็นสิ่งที่ไม่ดี ให้มีสติ มีความอดทน แล้วหาอุบายปัญญาละออกไป จะเป็นอารมณ์ความโลภก็ดี ความโกรธ ความอาฆาต ความยินดีในกามทั้งหลายก็ดี สติปัญญาต้องพิจารณาแก้ไขในขณะจิตนั้น ไม่เก็บไม่กักขังไว้

การที่จะมีสติที่ตั้งมั่นก็ต้องทําสมาธิภาวนา เพื่อที่จะมีสติตั้งมั่น มีปัญญาที่จะละกิเลสออกไปจากใจของเราในปัจจุบันนั้น แต่ถ้ากําลังสติปัญญาไม่เพียงพอ ก็ชี้ทางบอกทางอยู่เสมอว่า ให้กําหนดสติ ทําสมาธิภาวนา ตัดอารมณ์นั้นออกไปก่อน ทําเช่นนี้สลับกันไป เมื่อมีเวลาว่างก็เดินจงกรมให้มาก นั่งสมาธิให้มาก ในวันหนึ่งกับคืนหนึ่งมีหน้าที่อย่างเดียวทําอย่างไรจึงทําจิตให้มันสงบ ทําอย่างไรจึงจะไม่ให้ความฟุ้งซ่านเกิดขึ้นในใจของเรา มีหน้าที่ค้นคว้าหาทางที่จะทําให้จิตใจของเราสงบเท่านั้น กรรมฐานก็มีบอกไว้หลายๆ วิธี อานาปานสติกรรมฐาน พุทธานุสสติกรรมฐานกรรมฐานอันใดถูกกับจริตของเราก็นํามาใช้ กําหนดจดจ่ออยู่ตรงนั้น เอาให้อยู่ เอาให้จิตนิ่ง มีความสงบนิ่งเกิดขึ้นที่ใจ ให้จิตรวมเป็นหนึ่ง ความสงบเยือกเย็นใจก็เกิดขึ้น ปีติจากความสงบเยือกเย็นใจก็เกิดขึ้น หรืออุเบกขาธรรมก็เกิดขึ้นจากการทําความเพียรไม่หยุด สมาธิที่ไม่เคยเกิดขึ้นก็เจริญงอกงาม มีความสงบเยือกเย็นใจ ตั้งแต่นั่งสมาธิจิตก็สงบ เดินจงกรมจิตก็เริ่มสงบขึ้น

ถ้าทําความเพียรมากๆ นั่งสมาธิก็สงบ เดินจงกรมก็สงบ ต่อไปยืนก็สงบ ทํากิจวัตรประจําวันก็สงบ ความสงบนั้นก็จะต่อเนื่องเหมือนหยดน้ำทีละหยด หยดเป็นสายเหมือนครูบาอาจารย์ว่า ก็เป็นสายน้ำต่อเนื่องกัน สติก็จะต่อเนื่องตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเวลาจําวัด สติปัญญาก็จะต่อเนื่องในการชําระกิเลสออกไปจากจิตใจทุกๆ ขณะจิต เมื่อมีความคิดที่ไม่ดีเกิดขึ้นปัญญาก็จะเข้าพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง เห็นความไม่ใช่ตัวตนของอารมณ์อันนั้นก็ละออกไป เคยพูดอยู่เสมอว่า พระเราสละหน้าที่การงานต่างๆ ออกมาแล้ว ความโลภจะมีมาแต่ไหน ชี้บอกอยู่เสมอว่ามีเพียงปัจจัยสี่เท่านั้น ที่จะเป็นต้นเหตุแห่งความอยาก แห่งความโลภในจีวร บิณฑบาต เสนาสนะ ยารักษาโรค บอกอยู่เสมอว่าพิจารณาให้เห็นเป็นแต่เพียงธาตุตามธรรมชาติ เป็นเครื่องแก้กิเลส จะเป็นจีวร เครื่องนุ่งห่มอาศัย ก็สักแต่ว่าธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ

คนผู้อาศัยก็เป็นเช่นเดียวกัน อาศัยซึ่งกันและกันอยู่เพียงชั่วคราวเท่านั้น จะเป็นอาหารบิณฑบาต ก็ประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ คนผู้ฉันก็ประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มีสภาวะเสมอเหมือนกัน สมมติขึ้นมาเพียงเท่านั้น อาศัยซึ่งกันและกันเพียงชั่วคราว เสนาสนะ กุฏิ ศาลา ก็ประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ มีความไม่เที่ยง มีความแตกสลายลงไป เราก็ประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อาศัยซึ่งกันและกันเพียงชั่วคราว ไม่นานก็พัง ไม่เกิน ๑๐๐ ปีก็พัง

เภสัชรักษาโรคก็เหมือนกัน แต่ก่อนมีอะไร ครูบาอาจารย์มีแต่สมุนไพร รากไม้ บางทีก็ไม่มียาติดตัว ไปอยู่ในป่า บนเขา ในถ้ำ ไม่ห่วงอะไรทั้งนั้น บําเพ็ญภาวนา มีก็ฉัน ไม่มีก็ไม่ฉัน พิจารณาธรรมโอสถ พิจารณากายในกาย พิจารณาเวทนาในเวทนา มีเวทนาเกิดขึ้นก็พิจารณา สละทุกสิ่งทุกอย่าง แม้ครูบาอาจารย์แต่ละท่าน เราคงเคยได้ยินได้ศึกษา อย่างเช่น หลวงพ่อชาเราไปอยู่ในป่าที่ไม่ค่อยมีผู้คน เงียบสงัด อาพาธ คิดว่าจะเผาใบสุทธิ เผื่อใครมาเจอจะได้ไม่รู้ว่าเป็นใคร ไม่ต้องส่งไป ละลายไปเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ อาพาธอย่างหนัก มีสติก็จะเผาใบสุทธิ ไม่ให้ใครรู้ นี่ล่ะจิตใจของผู้ปฏิบัติ มีความเด็ดเดี่ยวทั้งนั้น เราก็อย่าห่วงสุขภาพมากมายนัก ดูแลไปตามหน้าที่ ทั้งยาก็ประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เราผู้ปฏิบัติก็ประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ จะโลภอะไร จะมีอะไรต้องการ มีสติคุมใจ สละแล้วก็ให้สละจริงๆ บวชมาเพื่อแสวงหาลาภยศ สรรเสริญรึเปล่า บวชมาเพื่อเป็นเจ้าลัทธิรึ ! เมื่อเราไม่ปรารถนาต่อสิ่งนั้นแล้ว ให้มุ่งตรงต่อพระนิพพานคือความพ้นทุกข์ในดวงใจของเรา

เพราะฉะนั้นความโลภนี้ ไม่ควรให้เกิดขึ้น หยาบที่สุด ความโลภ ความพอใจในวัตถุธาตุทั้งหลาย สําหรับพระเรานะ ถือว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยมาก อย่าให้เกิดขึ้น ปัจจัยสี่พิจารณา ใช้สอยปัจจัยสี่หรือบริขารแปดเพียงเพื่อบําเพ็ญสมณธรรม ในวันหนึ่งกับคืนหนึ่งเท่านั้นแหละ ความโกรธ ความอาฆาตพยาบาท ก็เหมือนกัน อย่าให้เกิดมีขึ้นในหมู่คณะเรา มีขึ้นก็ตาม ก็ต้องละออกไปในขณะนั้น ไม่เก็บไม่กักขังไว้ตามธรรมชาติของกิเลส ตามธรรมชาติของอารมณ์ มีได้แต่อดทนไม่พูด ไม่กระทําตาม อดทนข่มไว้ และหาอุบายปัญญา เจริญเมตตาอภัยซึ่งกันและกัน ฝึกหัดให้จิตใจเรานั้น ใช้อารมณ์เป็นเครื่องหัดใจ ให้สติเป็นยาเป็นเครื่องชําระอารมณ์ออกไปจากจิตใจของเรา

การกระทํา กระทั่งอารมณ์ ตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง เกิดความพอใจ ความไม่พอใจเกิดขึ้นก็ตาม มีสติมีปัญญาที่จะพิจารณาอยู่ทุกๆ ขณะ จะเก็บจะกักขังให้ข้ามคืนข้ามวันทําไม หาทางปล่อยวางให้เร็วที่สุด ไม่เก็บกักขังอารมณ์ที่ไม่ดีไว้ ความยินดีในกามทั้งหลาย ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ก็พิจารณาให้จิตเป็นกลางอยู่เสมอ ให้เห็นความไม่เที่ยงของรูปนั้น ให้เห็นความไม่เที่ยงของเสียง กลิ่น รส สัมผัส เหมือนกัน ทั้งความพอใจ ความไม่พอใจในอารมณ์ทั้งหลาย มีสติ มีปัญญา พิจารณาทุกๆ ขณะจิต หรือมีสติตั้งมั่น อาจเห็นอาการของอารมณ์ของกิเลส เกิดขึ้นและดับไปก็ได้ ถ้าไม่เป็นปัญหากับจิตใจก็ไม่ต้องพิจารณา ถ้าเป็นปัญหา เป็นความทุกข์ เป็นกิเลสเกิดขึ้นเราก็พิจารณา บางครั้งเห็นอารมณ์เกิดขึ้น แล้วก็ดับไปเราก็ไม่ต้องพิจารณา แต่อารมณ์เกิดขึ้น ไม่ดับ เราก็พิจารณา เมื่อพิจารณาอารมณ์ไม่ออกจากใจ เราก็กําหนดทําสมาธิภาวนา รู้จักซ่องสุมกําลังซะก่อนที่จะต่อสู้กับกิเลสต่อไป

เพราะฉะนั้นการทําความเพียรต้องฝืน ฝืนทุกอย่างพระเรา เป็นการงาน เป็นหน้าที่ของพวกเรา คือการเดินจงกรม นั่งสมาธิ ถ้าสมาธิยังไม่เกิดขึ้น ทําให้มาก เจริญให้มาก ทําขนาดนี้สมาธิยังไม่เกิดขึ้น ทํามากกว่านั้นอีก เวลาทั้งหมดวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง ให้หมดไปกับการเดินจงกรม นั่งสมาธิ เวลาพักผ่อนก็พอสมควร เวลาฉันภัตตาหารก็พอสมควร กิจต่างๆ ภายในวัด ผม (พระอาจารย์ตั๋น) ก็พยายามให้มีน้อย ไม่ให้ยุ่งกับธุระต่างๆ ภายนอกมากมายนัก ธุรกิจต่างๆ ภายนอกก็ไม่มี ตัดปัญหาต่างๆออกไปพอประมาณ การเกี่ยวข้องกับคนภายนอกก็น้อยแล้ว เพื่อสงวนไว้ให้พวกท่านบําเพ็ญภาวนา เพราะฉะนั้นเมื่อเข้ามาอยู่แล้ว ก็ให้ประพฤติปฏิบัติกันจริงๆ จังๆ ไม่ให้ทําเล่นๆ อาศัยปัจจัยสี่จากญาติโยมด้วยความบริสุทธิ์แล้ว เราต้องทําให้คุ้ม อย่าให้ขาดทุน นั่งสมาธิ เดินจงกรม ทําให้มาก เจริญให้มาก ทําจนจิตเป็นหนึ่ง มีความสงบเกิดขึ้น สามารถที่จะพิจารณาอารมณ์ ความโลภ ความพอใจ ความไม่พอใจ ความยินดีในกามทั้งหลาย พิจารณาละวางออกไป

เมื่อจิตว่างจากอารมณ์ ก็ยกร่างกายขึ้นมาพิจารณา พิจารณากายในกาย ให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของร่างกายนี้ ความแก่ติดตามมา โรคภัยไข้เจ็บติดตามมาตลอด ความตายติดตามมาเหมือนเงาติดตามตัวเราไป ตามกระชั้นชิดมาตลอด ทั้งความเจ็บไข้ได้ป่วย วันนี้ไม่เจ็บไข้ได้ป่วย ไม่วันใดวันหนึ่งความเจ็บไข้ได้ป่วยจะเกิดขึ้น วันนี้ยังไม่แก่ ยังไม่ชรา ไม่วันใดวันหนึ่งความชราจะติดตามมา วันนี้ยังไม่ตาย ยังไม่แตกสลายในร่างกายนี้ ไม่วันใดวันหนึ่งร่างกายนี้ต้องแตกสลาย พิจารณาเห็นแตกก่อนแตก พิจารณาให้เห็นตายก่อนตาย จิตจะได้สบาย ไม่ต้องกังวล ไม่ต้องห่วง ไม่ต้องกลัว ไม่ต้องกังวลในก้อนธาตุอันนี้

ก้อนธาตุเกิดขึ้นมาประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ถึงกาล ถึงเวลา ไม่เกิน ๑๐๐ ปีก็ต้องแตกไปเป็นธรรมดา นี่คือความจริงของธรรมชาติ แต่ความหลงภายในจิตใจของเรานั้น เกิดขึ้นมาแล้วไม่อยากตาย ความเห็นผิด ความเห็นไม่ถูกต้อง ต้องทําใจไม่ให้ห่วง ไม่ให้กังวล แต่อาศัยร่างกายนี้บําเพ็ญบารมี สร้างคุณงามความดีตามรอยองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าหรือพระอรหันตสาวกทั้งหลาย เพราะฉะนั้นพิจารณาด้วยสติ ด้วยสมาธิ ด้วยปัญญา พิจารณาให้เห็นกายในกายนี้ ให้เห็นเป็นปฏิกูล ความไม่สวย ไม่งาม ให้เห็นเป็นอสุภกรรมฐาน ให้เห็นเป็นธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของก้อนธาตุอันนี้อยู่เสมอ

เมื่อพิจารณาแล้วก็พักจิตในความสงบ เมื่อออกจากความสงบแล้วก็ให้มีสติตามรักษาจิตของตนไปทุกๆ อิริยาบถ ในวันต่อไปก็ทําสมาธิ ทําให้มีความสงบเกิดขึ้น เหมือนลับมีดไว้ให้คม เมื่อตั้งใจจะพิจารณาร่างกาย ก็ยกร่างกายขึ้นมาพิจารณา เหมือนเอามีดตัด มีดเฉือนเถาวัลย์หรือกิเลส เอาสติปัญญาพิจารณาคลี่คลายให้เห็นความจริงว่า ร่างกายนี้กับจิตใจเราเป็น อันหนึ่งอันเดียวกันหรือเปล่า แยกออกให้เห็นว่าร่างกายนี้ประกอบด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ ไม่ใช่ใจนี้ แต่มาอาศัยซึ่งกันและกัน เพราะมีกรรมเป็นของของตน จึงมีกิเลสอยู่ ก็ต้องเกิดในอัตภาพ ในแต่ละภพแต่ละชาติ รู้จักพิจารณาแยกแยะ พิจารณาพักจิตใจในความสงบ

เมื่อจิตมีกําลังก็พิจารณากาย แต่การพิจารณาที่บอกว่าพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ไม่ใช่ว่าจะทําในคราวเดียว เมื่อจิตสงบแล้วก็พิจารณาร่างกายไป เมื่อพิจารณาร่างกายเห็นชัด จิตก็เข้าสู่ความสงบ พักจิตในความสงบนั่นแหละ เมื่อออกจากความสงบแล้วก็มีสติตามรักษาจิตของตนไป หรืออยากจะพิจารณาร่างกายอีก ยังไม่อยากออกจากความสงบ ก็ยกร่างกายขึ้นมาพิจารณาอีกก็ได้ พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ ไม่ใช่พิจารณาในวันหนึ่ง พิจารณา ๕ ครั้ง ๑๐ ครั้ง ไม่ใช่หมายความว่าอย่างนั้น หมายถึงว่าพิจารณาวันนี้แล้ว วันพรุ่งนี้หรือมะรืนนี้ก็พิจารณาอีก ถ้ากิเลสยังไม่ออกจากใจ ความยินดีในกามทั้งหลายยังไม่ออกจากใจ ความยึดมั่นถือมั่นใน ตัวตนยังไม่ออกจากใจ ยังมีความโลภ ความโกรธอยู่ เราก็พิจารณาวันต่อไปบ่อยๆ พิจารณาวันนี้แล้ว วันต่อๆ ไปก็พิจารณาอีก อีก ๒-๓ วันก็พิจารณาอีก หรืออาจจะเว้นไปอาทิตย์หนึ่งพิจารณาอีก เรียกว่าพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ จนหมดสงสัยนั่นแหละจึงจะหยุด จึงจะหมดหน้าที่แห่งการพิจารณากาย ถ้าไม่หมดความสงสัย ยังมีความหลงยึดมั่นถือมั่นในร่างกายนี้ ก็ต้องพิจารณาต่อไป พิจารณาให้สม่ำเสมอ

เมื่อสติปัญญายกร่างกายขึ้นมาพิจารณา ถ้าไม่เห็น ใจเราไม่เห็น ไม่มีความเชื่อว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ก็ให้หยุดพิจารณา หยุดพิจารณามาทําความสงบ เพราะกําลังของสติปัญญาไม่เพียงพอ กําลังของสมาธิไม่เพียงพอที่จะก่อให้เกิดสติปัญญา พิจารณาให้จิตเห็น เพราะฉะนั้นให้กําหนดทําสมาธิภาวนาเพื่อ ให้เป็นพื้นฐานของจิต ให้จิตมีกําลังที่จะพิจารณาร่างกายต่อไป เมื่อจิตเห็นชัดจึงจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายได้ ความโลภ ความโกรธ ความหลงในกายตนก็บรรเทาเบาบางไปเรื่อยจนกระทั่งพิจารณาจนเห็นชัดจริงๆ จึงจะปล่อยวางได้ วางความ ยึดมั่นถือมั่นในกายตน วางความยึดมั่นถือมั่นในบุคคลอื่น วางความยึดมั่นถือมั่นในวัตถุธาตุทั้งหลาย เห็นสักแต่ว่าเป็นก้อนดิน ก้อนหิน ก้อนธาตุตามธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นทองคํา เพชร พลอย อะไรต่างๆ ก็เห็นแต่สักว่าธาตุตามธรรมชาติ ไม่ทําให้จิตใจหลง หรือมีความยินดีไปในธาตุทั้งหลาย เพราะจิตว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในร่างกายตน ในวัตถุธาตุทั้งหลาย ก็เพียงก้อนหิน ก้อนกรวด จิตก็สงบเยือกเย็น สงบจากความโลภ สงบจากความยินดีในกามทั้งหลาย ความสงบความเยือกเย็นใจก็เกิดขึ้น

ถึงแม้ว่าจิตยังมีความหลงในปัจจุบันธรรม หลงความยึดมั่นถือมั่นในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของจิต สติ ปัญญาก็จะพิจารณาต่อไปให้เห็นอนิจจัง อนัตตา ความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ภายในจิตของเรา ซึ่งเป็นเวทนาของจิต ความสุข ความทุกข์ ความเฉยๆ ส่วนมากเป็นความสุข เพราะจิตมีความสงบเยือกเย็น ความจําได้หมายรู้ สติปัญญาก็จะเข้าพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ความนึกคิดปรุงแต่ง ดี ไม่ดี ส่วนมากก็ปรุงแต่งในเรื่องที่ดี ความยึดมั่นถือมั่นว่า เราดีกว่าเขา เราเลวกว่าเขา เราเสมอเขา ก็เป็นเพียงอาการของจิต เป็นสภาวะแห่งความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน

การรับรู้ทั้งหลาย ตัววิญญาณความรับรู้ทั้งหลายก็เป็นเพียงสภาวะอันหนึ่ง ที่เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป มีสติ มีปัญญาพิจารณาละความยึดมั่นถือมั่นในเวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณของจิต พิจารณาจนให้จิตบริสุทธิ์ขึ้นมา ปล่อยความยึดมั่นถือมั่นในสิ่งทั้งหลายออกไปจากจิตใจของเรา จึงจะเป็นดวงใจที่บริสุทธิ์ หรือธรรมธาตุที่ครูบาอาจารย์ท่านได้กล่าวไว้ หรือพระนิพพาน สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี พระพุทธองค์หมายถึงพระนิพพาน คือ ความสงบจากกิเลส จากความโลภ ความโกรธ ความหลงในดวงใจ อันเป็นสิ่งซึ่งประมาณค่ามิได้ จึงบอกว่า เมื่อเราทุกคนเกิดขึ้นมา ได้มีโอกาสมาบวช มาประพฤติปฏิบัติซึ่งเป็นที่หาได้ยาก เป็นโอกาสที่ดีที่เราจะต่อสู้กับกิเลสภายในดวงใจของเรา เราจะนิ่งนอนใจทําไม

ในโลกนี้มีน้อยประเทศจะมีพระพุทธศาสนา และมีน้อยคนที่จะประพฤติปฏิบัติธรรม เมื่อเราเข้ามาสู่หนทางมรรคที่จะดําเนินไปเพื่อพระนิพพานแล้ว ทําไมเราไม่รีบก้าวเดินให้ถึงจุดหมายปลายทาง เหนื่อยเราก็พัก เมื่อมีกําลัง หน้าที่ของเราก็คือต่อสู้กับกิเลสภายในดวงใจของเรา ถ้ากิเลสไม่หมดสิ้นไปจากดวงใจของเรา เราจะไม่เลิกกระทําความเพียร พระพุทธเจ้าหรือพระอรหันต์ท่านจึงยอมสละแม้ชีวิต ไม่ใช่ว่าชาติเดียว ไม่รู้ว่ากี่ชาติ เพื่อต้องการที่จะทําดวงใจให้บริสุทธิ์ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าลําบากมากกว่าพวกเรา พระอรหันตสาวกทั้งหลายก็ลําบากมาก่อน เราจะทําจิตของเรานั้นให้บริสุทธิ์ เราก็ต้องยอมเสียสละ ต้องอดทนลําบากเท่าไรก็ตาม เราก็จะไม่คลายความเพียร ไม่คลายในการที่จะสร้างบารมี สร้างคุณงามความดี ศีลบารมี สมาธิบารมี ปัญญาบารมีให้ยิ่งๆ ขึ้นไป สํารวมจิตใจของเรา

กิเลสไม่ได้อยู่ที่กุฏิ ไม่ได้อยู่ที่ต้นไม้ ไม่ได้อยู่ที่ศาลา อยู่ภายในใจของเรา จงทําความเห็นชอบให้เกิดขึ้น ให้มั่นคงในปฏิปทาที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ชี้ทาง ได้บอกทางไว้ มั่นคงในปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์พาดําเนินมา ถ้าเราผ่อนก็ออกนอกทาง ถ้าเราเคร่งเกินไปก็ออกนอกทาง ธรรมวินัยท่านตรัสไว้ดีแล้ว ท่านบัญญัติไว้ดีแล้ว ธุดงค์วัตร ข้อวัตรต่างๆ ซึ่งเป็นเครื่องขูดเกลากิเลส เมื่อเราละเลย แล้วอะไรจะขูดเกลาจิตใจของเรา เราจะเอาความยินดีในลาภ ยศ สรรเสริญ เป็นเครื่องขูดเกลาจิตใจเราหรือ เราจะเอาการคลุกคลีกันเป็นเครื่องขูดเกลาจิตใจของเราหรือ เราจะเอาการข้องเกี่ยวกับคนทั้งหลายเป็น เครื่องขูดเกลาจิตใจของเราหรือ

พระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลายท่านหลีกเร้นบําเพ็ญเพียรภาวนาอยู่บนเขา ในที่สงบสงัดปราศจากผู้คน อยู่ในถ้ำที่มีภยันตราย หรืออยู่ในป่าที่สงบสงัด อาศัยที่สงบสงัดเพื่อกายวิเวก เพื่อทําจิตให้สงบ เพื่อทําจิตให้วิเวก เพื่อที่จะทําให้มีสติปัญญาละกิเลสภายในดวงใจ เมื่อท่านทําจิตให้สงบแล้ว ท่านก็บําเพ็ญภาวนา ไม่ได้อยู่กับฝูงชน อยู่เพียงลําพังพระองค์เดียว อย่างเช่นพระพุทธเจ้าของเราเห็นไหม อยู่ใต้โคนต้นโพธิ์บําเพ็ญอยู่เพียงลําพังรูปเดียว แล้วเรายังจะกล่าวว่า การคลุกคลีก่อให้เกิดปัญญา อยู่กับสังคมจะก่อให้เกิดปัญญา ส่วนมากกิเลสจะเก่งเกินพระพุทธเจ้า เก่งเกินพระอรหันต์ ไม่ใช่เป็นความบริสุทธิ์ คนทั้งหลายจึงไม่สามารถที่จะพบกับความพ้นทุกข์ได้

พระอรหันต์ครูบาอาจารย์ของเรา ตั้งแต่พระอรหันตสาวกขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้า สืบต่อมาจนถึงหลวงปู่เสาร์ หลวงปู่มั่น หลวงพ่อชา ท่านอยู่ในสังคมคลุกคลีหรือเปล่า หรือท่านอยู่ในสถานที่สงบสงัด ท่านไม่ชิงสุกก่อนห่าม ท่านปล่อยให้จิตใจบําเพ็ญภาวนาตลอด เห็นไหม แม้แต่ปฏิปทาองค์หลวงปู่มั่นในบั้นปลายอายุ ๖๐-๗๐ ท่านยังบําเพ็ญเพียรภาวนาอยู่ตามป่า ตามเขา อยู่ทางเชียงใหม่ พวกชาวเขาอยู่บิณฑบาต ๓-๔ บ้าน สี่ห้าบ้าน ไม่สนใจในเรื่องอาหารการขบฉันมากมายนัก เพียงเพื่อหลีกเร้นภาวนา ทําไมเราไม่ดูปฏิปทาพระพุทธเจ้า พระอรหันตสาวกทั้งหลาย ทําไมเราไปดูปฏิปทาของกิเลสที่มีอยู่ภายในจิตใจของเจ้าลัทธิต่างๆ เราบวชมาไม่ใช่เพื่อเป็นเจ้าลัทธิมิใช่หรือ หรือต้องการเป็นเจ้าลัทธิ ?

เพราะฉะนั้นให้รู้จักสํารวมจิตใจของเรา ครูบาอาจารย์ทั้งหลายเห็นไหม ท่านประพฤติปฏิบัติอยู่แต่เพียงลําพัง โดยส่วนมากทุกวันนี้ถ้าเป็นเรื่องที่กิจการงานต่างๆ กลายเป็นที่เชิดชูหรือกลายเป็นสิ่งที่ดี เป็นเรื่องที่คิดกันว่าเป็นเรื่องที่ดี โดยส่วนมากละเลยการแสวงหาความสงบ การแสวงหาทางพ้นทุกข์ ข้องเกี่ยวแต่เรื่องกิจที่ไม่สมควร ที่จะเป็นเหตุให้ไม่เกิดสมาธิ ไม่เกิดปัญญา เพราะฉะนั้นไม่ว่าเราจะอยู่ที่ไหน บําเพ็ญเพียรอยู่ที่ไหนก็ตาม ให้ดูว่าสมาธิเกิดขึ้นหรือเปล่า หรือปัญญาเจริญขึ้นไหม ถ้าไม่เจริญก็ให้หลีกเร้น ให้แสวงหาสถานที่ที่จะก่อให้เกิดสมาธิ ก่อให้เกิดสติปัญญาขึ้น อย่าปล่อยวันเวลาให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์

วันหนึ่งกับคืนหนึ่งชีวิตมีเพียงเท่านั้น จะทําอะไรก็ทําให้ ถึงพร้อมไว้ ให้มันมีหลักของใจ ให้มีที่พึ่งด้วยศีล สมาธิ ปัญญา มีเครื่องอยู่ ให้ตัดความกังวลเรื่องทั้งหลายยออกไป เรื่องอดีตที่ผ่านมาแล้วไม่เกิดประโยชน์ ไม่ต้องระลึกถึงอนาคตมากมายนัก คิดได้วางแผนได้แล้ววางไว้ ทําเหตุในปัจจุบันให้ดีที่สุด การประพฤติปฏิบัตินั้นต้องมีความอดทน ฝืนจิตใจ ไม่ทําอะไรตามอํานาจของกิเลส จิตของเรานั้น ถ้าไม่มีสมาธิ ก็จะหลงไปตามกิเลส คิดเสียดายทุกสิ่งทุกอย่าง เสียดายแต่อารมณ์ ซึ่งเป็นความรู้สึกนึกคิดแค่นั้นแหละ เราต้องสร้างบารมี ค่อยๆ สร้าง และเร่งสร้างด้วย

พระเรามีโอกาสอันดีที่ได้มาบวชในเพศผ้ากาสาวพัสตร์ อันเป็นธงชัยของพระอรหันต์ อย่าทําเล่นๆ ให้ทําจริงๆ อย่างน้อยศีล ธรรมวินัยให้ทรงตัว สมาธิทําให้เกิดให้มีขึ้นภายในดวงใจของเรา ธรรมที่เราไม่รู้ยังมีอีกมาก ความบริสุทธิ์ที่เรายังไม่ถึงก็ยังมีอยู่ พึงพยายามทําจิตใจของเรานั้นให้สะอาด ให้บริสุทธิ์ ตามคําสั่งสอนขององค์สมเด็จสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระอรหันตสาวกทั้งหลาย ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้....

พระเราใครมีปัญหาเรื่องการภาวนาบ้าง....

....ตื่นตอนเช้าดีเป็นเวลาสงัด ผู้คนเขานอนอยู่แต่เราต้องเอาเวลาให้เป็นประโยชน์ ตื่นตี ๒ ตี ๓ ทําความเพียรสงบสงัด มันเงียบสงบ พักพอสมควร ก็เอาเวลาตอนช่วงเช้าที่เคยนอนอยู่มาทําความเพียร

สมัยก่อนที่เคยอยู่หนองป่าพงหรือสาขา ก็ตีระฆังตี ๓ ให้พระลุกมาทํากิจวัตร ทําวัตร สวดมนต์ เราก็ยังคิดเอากําไรเขาชั่วโมงนึง ตื่นตี ๒ โดยส่วนมากคิดว่า จะทําเกินหมู่พวกสักชั่วโมงหนึ่ง ตื่นตี ๒ เดินจงกรม เมื่อไปถึงนั่งสมาธิก็สงบ เพราะเราทําจิตให้ตื่นแล้ว นั่งสมาธิก็มีความสงบเยือกเย็น และตอนเช้ามันสงัด ยิ่งบางพรรษาไปอยู่น้อยๆ รูป ก็ยังไม่ต้องรวมตอนเช้า นั่งสมาธิ เดินจงกรมได้สะดวกตลอด ทําความเพียรได้ต่อเนื่อง ทุกวันนี้เราสะดวกปัจจัยสี่มากกว่าครูบาอาจารย์สมัยก่อน เพราะฉะนั้นต้องทําให้มากกว่าครูบาอาจารย์สมัยก่อน

ครูบาอาจารย์สมัยก่อนมีปัจจัยสี่ จีวรก็ใช้ผ้าบังสุกุลเพราะผ้าหายาก ต้องเก็บผ้าบังสุกุลตามป่าช้า หาเศษผ้าต่างๆ มาปะ มาชุน มาซักทําความสะอาด ใช้ผ้าปะๆ มีความยินดีเพื่อปกปิดร่างกายเท่านั้นแหละ การขบฉันก็ไม่ได้มีมากเหมือนทุกวันนี้ ฉันเพื่อบรรเทาทุกขเวทนา เพื่อปฏิบัติ เสนาสนะก็เป็นกระต๊อบบ้าง กระท่อมบ้าง หญ้าคาบ้าง ใบไม้ปกปิดบ้าง เงื้อมถ้ำก็มียาสมุนไพรแค่นั้น ไม่ได้ห่วงอะไรมาก ท่านยังทําความเพียรขนาดนั้น เด็ดเดี่ยว เวลาทั้งหลายเป็นเวลาทําความเพียร ไม่คลุกคลีด้วยหมู่คณะ ไม่มีกิจการอะไรมาก เพราะฉะนั้นเรามีปัจจัยสี่มากกว่าท่าน ต้องทําความเพียรมากกว่าท่าน ปัจจัยสี่เยอะกว่าต้องทําความเพียรให้มากกว่า ให้สนใจการภาวนา หัดทําสมาธิภาวนาให้มันเคยชิน ให้ทําให้ชํานาญให้มันคล่องเคยชิน มีนิวรณ์ มีความง่วงก็ต้องต่อสู้ อดทน

บางทีเราเคยชินกับการทําการงานกันมาก บางแห่งบางสํานักมีการงานก็เคยชินกับการทํางาน แทนที่จะเคยชินกับการทําสมาธิภาวนา บางแห่งเคยชินกับกิจธุระต่างๆ ภายนอก มีกิจนิมนต์ มีกิจธุระมาก จิตก็ไม่ค่อยสงบ ไม่ค่อยได้ภาวนา ไม่ค่อยได้ทําจิตให้สงบ อาศัยเครื่องอยู่โดยการไปกิจนิมนต์ โดยการไปธุระบ้าง นี่หรือ ! ผู้ดํารงพระศาสนาสมณะโคดมบรมครูสมัยปัจจุบัน เพราะฉะนั้นเอาให้ดี ใครไม่ทํา ไม่รักษาศีล ไม่ทําสมาธิภาวนา ก็ช่างเขา เราทําตัวเราให้ดี ตนเป็นที่พึ่งของตน ต่อสู้กับกิเลสภายในใจของเรา ไม่ต้องต่อสู้กับใคร เอาให้ชนะด้วย แพ้สักกี่ครั้งก็ตามต้องลุกขึ้นมาต่อสู้ให้ชนะ วันนี้แพ้ พรุ่งนี้ต้องชนะ พรุ่งนี้แพ้ มะรืนนี้ต้องชนะ มะรืนแพ้ วันต่อๆ ไปต้องเอาชนะให้ได้

แต่กิเลสนี่แหลมคมจริงๆ อย่างครูบาอาจารย์ว่า แบบพระพุทธเจ้าท่านว่า ถ้าเป็นตัวเป็นตน กิเลสกับจิตของเราเป็นตัวเป็นตน เราอายสู้กิเลสไม่ได้เสียส่วนมาก แต่โชคดีกิเลสเป็นเพียงสภาวธรรม เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป ความหลงที่ครอบงําจิตใจ ถ้าเป็นตัวเป็นตน ตายไม่รู้เท่าไรแล้ว แพ้กิเลสเสียส่วนมาก นี่ยังมีโอกาสแก้ตัว แพ้ก็ตั้งใจขึ้นมาใหม่ แต่อย่าให้แพ้บ่อย ผิดแล้วต้องจํา พลาดแล้วต้องจําให้เป็นประสบการณ์ ให้เป็นบทเรียน ต้องหาทางน็อคกิเลสให้ได้ อยู่สวนป่าฯ เป็นอย่างไรบ้างสองรูป อยู่ภาวนาเป็นอย่างไร เงียบดีไหม

....ก็ต้องหาเหตุหาผลว่า ทําอย่างไรการภาวนาจึงเจริญก้าวหน้า อยู่สององค์แค่นั้นเอง กิจวัตรประจําวันก็น้อย เราก็พยายามมีสติ สํารวมใจ และภาวนาให้มาก ปัญหามันมีขึ้น ก็ต้องมีคําตอบในใจของเรานั่นแหละ ถ้าเราทําความเพียร เดี๋ยวคําตอบมันก็ออกมาเอง อุปสรรคที่มีในใจหรือปัญหาต่างๆ ถ้าเราเจริญสติ สมาธิ ปัญญามันเกิดขึ้น ผมเคยภาวนามีปัญหา บางทีไม่มีโอกาสถามครูบาอาจารย์ แต่ทําความเพียรไม่หยุด เดี๋ยวมันก็มีคําตอบ มาแก้เอง มันก็หมดความสงสัยไปได้ ดังนั้นจึงบอกว่าที่ผ่านมา จะถามครูบาอาจารย์น้อยที่สุด น้อยที่สุดนับครั้งได้ จนนับครั้งได้ ถามครูบาอาจารย์โดยเฉพาะอยู่กับองค์หลวงพ่อชานี่ คิดจะถามครั้งหนึ่งแต่ไม่มีโอกาสได้ถาม แล้วก็แก้ปัญหาได้ ครั้งเดียวเองอยู่กับหลวงพ่อชา ที่คิดจะถามแล้วก็ไม่ได้มีโอกาสถามท่านโดยตรง แล้วปัญหาถูกแก้ไปได้

อย่างไปพบครูบาอาจารย์ที่อยากจะปรารภธรรม กับครูบาอาจารย์ก็เพียรถามอยู่ ถามเป็นการสนทนาธรรมแค่ ๒-๓ รูปแค่นั้น รูปหนึ่งก็เคยถามหลวงปู่เทสก์ก่อน รูปที่สองก็หลวงตามหาบัวอย่างละครั้งนะ รูปที่สามก็หลวงปู่หล้า แค่นั้นเอง ถามปัญหาซึ่งเราก็พอรู้จักหนทางดําเนิน แต่ถามหลวงปู่เทสก์ตอนนั้นไม่รู้จักว่าหนทางข้างหน้าจะดําเนินอย่างไร นี่ถามน้อยที่สุด ซึ่งบางสํานักต้องสอบถามอารมณ์กันทุกวัน เราก็ไม่ค่อยเห็นด้วย แบบหลวงพ่อชาท่านว่า จิตตัวเองทําไมไม่รู้ คิดดีไม่ดีทําไมไม่รู้ ทําไมต้องสอบกันทุกวัน ทําไมต้องถามทุกวัน ถามไป-มาก็เสียหาย ทั้งอาจารย์และลูกศิษย์ เพราะฉะนั้นจึงว่าทําความเพียรให้มากเดี๋ยวก็มีคําตอบเอง

อุบลเป็นอย่างไรบ้าง สุขภาพเป็นอย่างไร ดีขึ้นบ้างไหม....ทําความเพียรมากไหมล่ะ อยู่นั่นน่ะ....ไม่มาก รู้ว่าไม่มาก ต้องทําให้มาก อยู่น้อยรูป ๒ รูปเอง กิจการงานก็ไม่มี เอาอะไรมาก รู้ว่าน้อยต้องทําให้มาก ให้มากขึ้นเรื่อยๆ จนจิตเป็นหนึ่ง แล้วจะเกิดความสงบเยือกเย็นใจ ไม่กังวลในโลกนี้ แค่สมาธิธรรมเท่านั้นเกิดขึ้นในใจ ก็มีความร่าเริงในการประพฤติปฏิบัติ ยิ่งสติปัญญาเกิดขึ้นก็ยิ่งสนุกในการฆ่ากิเลส เพราะถูกกิเลสกดทับมามากแล้ว ถูกกิเลสควบคุมมามากแล้ว เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นจะสนุกกับการละวางกิเลสออกจากใจ ใครมีอะไรอีกไหม....

*************

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50225

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ส.ค. 2020, 08:14 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 มี.ค. 2023, 12:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร