วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:59  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 01:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[ภาพจิตรกรรม “กามนิต-วาสิฏฐี ภาคสวรรค์”
: สร้างสรรค์โดย อ.จักรพันธ์ โปษยกฤต]



อั น เ นื่ อ ง ใ น วั น แ ห่ ง ค ว า ม รั ก :
“ที่ใดมีรัก....ที่นั่นมีทุกข์” ?!?!

ท่านเขมานันทะ (อาจารย์โกวิท เอนกชัย)

• ถาม :

เพราะเหตุใดจึงว่า ปรัชญาที่อยู่ในเรื่อง กามนิต-วาสิฏฐี
ที่กล่าวว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ เป็นความเท็จ
ทั้งที่ข้อความบทนี้เป็นความจริง
และเป็นวรรณกรรมอิงพุทธศาสนา
ที่ถูกต้องตามสัจจธรรมมากที่สุดในวรรณคดีไทย

• ตอบ :

ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์ พระพุทธองค์ไม่ได้ตรัสไว้เช่นนี้

แต่ท่านตรัสว่า

เปมโต ชายเต โสกโก เปมโต ชายเต ภยํ
ความรักทำให้เกิดความโศก และความรักทำให้เกิดความกลัว


เปม ในที่นี้ หมายถึง รักด้วยราคะ มิใช่รักชนิดที่เป็นเมตตาบริสุทธิ์

เมื่อรักด้วยอำนาจของราคะ ก็เข้าไปจับจองว่า ของเขา ของเรา
พร้อมกันนั้นมันก็กลัวจะสูญเสียอยู่ในตัวมันเสร็จเบ็ดเสร็จ
ในขณะที่กำลังเสวยความรัก
กำลังสะสมการหวาดกลัวต่อการสูญเสีย


ที่นี้ในสำนวนนั้น ที่ว่านั้น จะต้องไปถามท่านผู้แต่ง
ที่ทำไมเอาคำนี้มาใช้
คำ ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์
และดูเหมือนจะเพิ่งว่ากันในสำนวนไทยที่ว่านี้เอง

แต่ถ้าดูอีกแง่หนึ่งเราอาจพบว่า
ที่ใดมีความทุกข์ที่นั่นจะมีความเมตตาที่แท้จริง


คือคนจะรักกันได้ต่อเมื่อเกิดเห็นใจกัน
ความรักที่เกิดบนท่ามกลางกองเงินกองทอง
มันอาจจะเป็นความรักที่ค่อนข้างเหลวไหลก็ได้
ถ้าผู้นั้นปราศจากคุณธรรมหรือปัญญา

มันรักกันได้เพราะว่าต่างคนต่างช่วยกัน
เสริมตัวตนของกันและกัน
และพร้อมกันนั้น พร้อมที่จะเปลี่ยน

ด้วยเหตุนั้น ความรักแท้จึงหายากในหมู่คนที่ร่ำรวย
แต่ปราศจากคุณธรรมและปัญญา
ที่ว่าหนังสือนี้อิงพุทธศาสนานั้นก็ถูกต้องแล้ว

รูปภาพ
[Karl Adolph Gjellerup ชาวเดนมาร์ก
: ผู้ประพันธ์เรื่อง “กามนิต-วาสิฏฐี”]



ผู้ประพันธ์ชาวเดนมาร์กที่ชื่อ คาร์ล เยเลลูฟ
ซึ่งประพันธ์เป็นภาษาเยอรมันนั้น เขาอ่านพระไตรปิฎก
เขาหยิบเอาเรื่องของท่าน พระปุกกุสาติ และ พระพาหิยะ
แล้วเอามาดัดแปลงเป็นเรื่องกามนิต ซึ่งมีใจความย่อว่า

ท่านพระปุกกุสาติ เป็นปริพาชก
เดินทางจะไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอบวชเป็นพระสาวก
เพราะข่าวว่าพระพุทธองค์สอนไม่เหมือนใครเลยในชมพูทวีปสมัยนั้น
คืนหนึ่งไปพบกันที่บ้านช่างหม้อ
ท่านพระปุกกุสาติไม่รู้จักว่าเป็นพระพุทธองค์นั่งประทับอยู่

เมื่อพระพุทธองค์ท่านสังเกตเห็นว่า
เด็กหนุ่มคนนี้ท่าทางเอาจริง
จึงถามว่าออกบวชอุทิศใคร

ท่านก็ตอบว่าออกบวชอุทิศพระผู้มีพระภาคศากยมุนี

เมื่อเป็นเช่นนั้น พระพุทธเจ้าจึงทรงแสดงธรรมโปรด
โดยไม่ได้บอกว่า พระองค์ท่านเป็นพระศากยมุนี


แต่ในเรื่องพระสูตรนั้นมีว่า เมื่อพระปุกกุสาติฟังธรรมจบ
ท่านลุกเอาผ้าเฉวียงบ่า กราบแทบพระบาทเปล่งอุทานว่า

พระองค์คือพระศากยุมนีโดยแน่แท้
ท่านรู้จักพระพุทธเจ้าโดยพระธรรม และขอบวช
พระองค์จึงให้ไปหาจีวรและบาตรมา

เมื่อออกไปแม่วัวบ้าก็ขวิดตาย
แต่ท่านพระปุกกุสาติบรรลุธรรม


(มีต่อ)


แก้ไขล่าสุดโดย กุหลาบสีชา เมื่อ 13 ก.พ. 2010, 01:32, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 01:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ท่าน คาร์ล เยเลลูฟ เอาเหตุการณ์นี้มาดัดแปลงประสม
กับเรื่องราวพระพาหิยะเรือแตก เหลือแต่ตัว ขึ้นฝั่งไม่มีเสื้อผ้า
จึงเอาใบไม้มากลัดๆ แล้วนุ่ง
ชาวบ้านเห็นก็เข้าใจว่าเป็นพระอรหันต์
เพราะดูเคร่งครัดหรือแปลกๆ ดี

พระพาหิยะ เลยสวมรอยเป็นพระอรหันต์
ทำท่าเป็นพระอรหันต์อยู่หลายปี ทั้งๆ ที่รู้ตัวว่าไม่ใช่
แต่ว่ามันเป็นทางได้มาซึ่งอาหารและลาภสักการะ

เมื่อได้ยินข่าวว่าพระพุทธเจ้าอุบัติขึ้นในโลกแล้ว
โดยการรู้สึกนึกขึ้นมาว่าเลิกต้มประชาชนเสียที
ไปเอาเรื่องจริงกันนี้

ท่านจึงออกเดินคนเดียวไม่หยุดด้วยความร้อนใจ
จนถึงที่อารามที่พระพุทธองค์ทรงประทับอยู่
เมื่อถึงอารามแล้วถามถึงพระพุทธองค์
พระในอารามบอกว่าพระพุทธองค์เสด็จออกไปบิณฑบาตร

พระพาหิยะท่านทนรอไม่ไหว
ตามไปจนพบกันกลางทางก็ทรุดกายลง
จับพระบาทของพระพุทธองค์ แล้วขอให้ทรงตรัสสั้น ๆ ที่สุดว่า

ประพฤติธรรมทำอย่างไร

พระพุทธองค์ตรัสว่ายังไม่ใช่เวลา ยังไม่ใช่เวลา
ทรงตรัสห้ามถึง ๓ ครั้ง พระพาหิยะก็ไม่ฟัง
ขอฟังเพียงคำเดียวเท่านั้น พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“ดูก่อนพระพาหิยะ ถ้าเช่นนั้น เธอจงทำใจให้ดี
เราจะกล่าวสั้นๆ
เมื่อใดที่เธอเห็นรูป ก็สักว่าเห็น

ซึ่งภาษิตนี้เราได้ยินได้ฟังกันบ่อยที่สุด

เมื่อใดที่หูได้ยินเสียง ก็สักว่าได้ยิน
จมูกได้กลิ่น สักว่าได้กลิ่น ลิ้นลิ้มรส สักว่าลิ้มรส
ผิวหนังสัมผัส สักว่าสัมผัส อย่าให้เกิดยินดียินร้ายขึ้นมา
เมื่อเป็นเช่นนี้ เธอจะไม่มี"


รูปภาพ

ดูเหมือนเราได้เคยพูดกันในหัวข้อธรรมบรรยายอื่นๆ แล้วว่า

เมื่อไปกำหนดอะไรเข้าไปเกินความเป็นจริง
ตามที่มันเป็นอยู่เอง มันจะย้อนมากำหนดผู้กำหนดเข้า


ที่นี้ เมื่อ สักว่า มันเกิดว่างลง ว่างจากตน ผู้กำหนดจึงไม่มี
และทรงตรัสกับ พระพาหิยะ ต่อไปว่า

เมื่อเป็นเช่นนั้น เธอจะไม่ปรากฏในที่นี้ ไม่ปรากฏในโลกหน้า
ไม่ปรากฏในอดีต ในอนาคต
นั้นคือที่สุดแห่งทุกข์


พระพาหิยะได้ตรัสรู้ฉับพลัน
ขณะที่กำลังหมอบอยู่แทบพระบาท
แล้วออกไปหาจีวรมาเพื่อบวช และถุกแม่วัวบ้าขวิดตาย

ท่านคาร์ล เยเลลูฟ เอา ๒ เรื่อง นี้รวมกัน
แล้วแต่งเป็น กามนิต-วาสิฏฐี
เรียกว่าอิงพระพุทธศาสนาที่จริงนั้นไม่ถูก
ควรเรียกกว่า อิงพระไตรปิฎก


ส่วนหลักธรรมนั้น เยเรลูฟพยายามที่จะสอดใส่เข้าไป
ซึ่งเราต้องยอมรับว่าแต่งได้วิเศษมาก
เช่นเรื่อง อริยสัจสี่ เขียนขึ้นอย่างง่ายๆ ชนิดที่น่าสรรเสริญ
แต่ข้อนี้เราก็ไม่ควรลืมท่านผู้แปลที่แปลได้ถึงขนาดและน่าสรรเสริญยิ่ง

รูปภาพ
[กามนิต-วาสิฏฐี ฉบับภาษาไทย
: แปลโดย ท่านเสฐียรโกเศศและนาคะประทีป]


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 01:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[คู่แท้ กามนิต-วาสิฏฐี : สร้างสรรค์โดย อาจารย์ช่วง มูลพินิจ]

• ถาม :

เรื่อง กามนิต ดิฉันคิดว่าที่กล่าวว่า ที่ใดมีรักที่นั่นมีทุกข์
เพราะไปคำนึงถึงความพลัดพรากจากของที่รักมากกว่า
หากไม่มีการจากก็ไม่มีความทุกข์

• ตอบ :

เรื่องนี้ไม่ว่าจากหรือว่ายังอยู่ด้วยกัน
มันขึ้นอยู่กับความยึดมั่นถือมั่น

ความทุกข์เกิดจากความยึดมั่นถือมั่น
ที่บอกว่าความทุกข์นั้นเกิดจากการพลัดพรากจากของรัก
ต่างว่าของรักมีอยู่ ทุกข์ยังไม่แสดงบทเสียเมื่อไหร่

ถ้าคนนั้นยึดถือด้วยอุปาทานแล้ว
จะต้องเป็นทุกข์ด้วยอาการยึดมั่นถือมั่นนั้นนั่นเอง
ก็คือความเหน็ดเหนื่อยที่จะต้องรัก


และบางคนชอบให้คนอื่น รักตัวทุกลมหายใจเข้าออก
นี้เป็นเรื่องเคลิบเคลิ้มการพะนอตน
ไม่มีมนุษย์คนไหนทำได้

เว้นไว้แต่พระธรรมเท่านั้น ที่อาจอยู่ทุกลมหายใจเข้าออก

รูปภาพ
[วาสิฏฐี ภาคสวรรค์]


คำว่ารักทุกลมหายใจเข้าออกเป็นเพียงโวหารพะนอรักกันเท่านั้น
พูดพอให้ผู้ฟังเคลิบเคลิ้มเท่านั้น

ที่จริงคู่รักน่าจะบอกกล่าวกันว่า
ลืมฉันให้เร็วที่สุด ให้มากที่สุด
แล้วไปอยู่ การภาวนา การเจริญสติ สมาธิ
แล้วเราจะได้อยู่ด้วยกันอย่างสันติ


คำพูดชนิดนี้ชวนฉงน แต่อย่าคิดว่าเป็นถ้อยคำตลก

ท่านทั้งหลายพบด้วยตัวเองมิใช่หรือว่า
อยู่กันนานๆ รักกันมากๆ ก็เบื่อเร็ว
รักกันมากเข้า เดี๋ยวทะเลาะกันแล้ว

แม้พี่กับน้องพอจากกันนานๆ ก็ชักคิดถึงกันและกัน
ครั้นเมื่อเข้าใกล้ กระทบกระทั่งกัน ก็เกลียดหน้ากัน
พอจากกันก็คิดถึงกันอีก

เพราะต่างไม่รู้ว่า

ความรักชนิดนั้นไม่ว่าอยู่หรือพลัดพราก
มันเป็นความผูกพันเป็นอุปาทาน
สูญเสียอิสรภาพของกันและกัน


เพราะฉะนั้นหันหน้าเข้าหากัน
ในลักษณะเมตตาการุณย์ซึ่งกันและกันทั้งต่อหน้าและลับหลัง
นั่นอาจจะพบกับความรักที่แท้จริงได้


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 01:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
[ภาพปกหนังสือ “ชีวิตกับความรัก” โดย ท่านเขมานันทะ]


• หมายเหตุ : คำปรารถบางตอนใน “ชีวิตกับความรัก”

“ชีวิตกับความรัก” เป็นปาฐกถาธรรม
ที่ ท่านอาจารย์โกวิท เขมานันทะ
แสดงไว้เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๘
และเป็นส่วนหนึ่งในปาฐกาถาอันต่อเนื่องกัน
ที่จัดพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือ ๖ เล่ม ในชุด “พระธรรมกับชีวิต”

ปาฐกาถาคราวนั้น ท่านแสดงไว้แต่ครั้งยังครองเพศบรรพชิต
ต่อนักศึกษาวัยหนุ่มสาวของมหาวิทยาลัยศรีนครินทราวิโรฒ บางเขน
ขณะที่สภาวการณ์บ้านเมืองในช่วงเหตุการณ์
๑๔ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๖ - ๖ ตุลาคม พ.ศ. ๒๕๑๙
เต็มไปด้วยความรุนแรงและการฆ่าฟัน

ประเด็นเกี่ยวกับ “ความรัก”
จึงเป็นเนื้อหาที่ท่านเขมานันทะกล่าวถึงอยู่เสมอ
เพื่อให้ทุกฝ่ายในบ้านเมืองตระหนักถึงคุณค่าของชีวิตมนุษย์รอบตัว

ที่ต่างมีชีวิต มี สุข ทุกข์ เจ็บปวด ขมขื่น กับชีวิตเหมือนๆ กัน
ทั้งต่างก็เคยมีบรรพชนที่ได้สร้างสรรค์วัฒนธรรม
และวิถีสงบงามในอดีตร่วมกันมา
อันเป็นสิ่งที่คนหนุ่มสาวพึงสืบสานเพื่ออนุชนรุ่นหลัง


รูปภาพ
[ท่านเขมานันทะ]


มิใช่บ่มเพาะความเกลียดชังและความรุนแรง
ให้เป็นทางออกเดียวของสังคมไทยในขณะนั้น
จนรู้สึกเพียงว่า คนพวกเดียวฝ่ายเดียวกับพวกตนเท่านั้น ที่เป็นมนุษย์
แต่อีกฝ่ายหนึ่งอีกพวกคืออีกตัวแทนหนึ่ง
ของลัทธิความเชื่อที่จะห้ำหั่นฆ่าฟันกันลงไปจงได้...

ด้วยเงื่อนไขทางสังคมของยุคสมัยเมื่อยี่สิบกว่าปีก่อนนั้นเอง
ประเด็นของปัญหาเกี่ยวกับความรัก
จึงเป็นสิ่งที่ท่านเขมานันทะหยิบยกขึ้นมากล่าวอยู่บ่อยครั้ง
รวมทั้งการพยายามตรวจสอบ ไขความวรรณกรรมพื้นบ้าน
ชาดกและวรรณคดีโบราณของไทย


หลายต่อหลายครั้งที่ถูกฝ่ายก้าวหน้าในขณะนั้น
โจมตีวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง
โดยเฉพาะเนื้อหาเกี่ยวกับ “ความรัก” ในวรรณคดีเหล่านั้น
ท่านเขมานันทะได้นำเสนอทัศนะอันลุ่มลึก
เกี่ยวกับ “ความรัก” ของมนุษย์ในมิติต่างๆ

รูปภาพ
[ภาพจากวรรณคดีเรื่อง “กากี”]

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 01:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

แต่การที่ท่านยังอยุ่ในเพศบรรชิต (ขณะนั้น)
ก็ทำให้เกิดข้อจำกัดหลายประการ

แต่ถึงกระนั้นงานปาฐกถาธรรม “ชีวิตกับความรัก”
ก็ยังเป็นที่สนใจของคนหนุ่มสาว และได้รับการตีพิมพ์นับเป็นสิบครั้ง
ทั้งยังได้รับการกล่าวขานสืบเนื่องติดต่อกันมาโดยตลอดว่า
เนื้อหาของ “ชีวิตกับความรัก” นี้
มีความลึกซึ้งอย่างที่สุดในทางโลกย์และทางธรรม
สามารถประสานขั้วต่างระหว่างความรัก กามารมณ์ และที่สุดแห่งทุกข์
ให้เป็นปัจจัยหนุนเอื้อต่อการขัดเกลาพัฒนาชีวิตด้านใน

ทั้งเป็นมิติทรรศน์ที่ร่วมสมัย
และยังประโยชน์ต่อความเข้าใจชีวิตแก่คนหนุ่มสาวอย่างยาวนาน


แต่ถึงกระนั้น เมื่อกาลเวลาล่วงเลยไปมาแล้วมากกว่า ๒๐ ปีในปัจจุบัน
ท่านเขมานันทะก็ได้กล่าวว่า
ทัศนะหลายอย่างของท่านก็ได้เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เงื่อนไขทางสังคมก็เปลี่ยนแปลงไปมาก

และท่านก็มีความคิดเห็นว่า
ความรักที่ท่านเคยอรรถาธิบายไว้ใน “ชีวิตกับความรัก” นั้น
มีลักษณะเป็นทฤษฎี
เป็นมโนคติเกี่ยวกับความรักมากกว่าความเป็นจริง

หากสิ่งที่ปรากฏจริงอยู่ก็คือ
ได้มีผู้สนใจถามหาหนังสือ “ชีวิตกับความรัก” อยู่เสมอ

“ความรัก” ยังเป็นประเด็นแหลมคม
สำหรับคนทุกวัยอยู่เสมอ


รูปภาพ

แม้ปัญหาขั้วต่างทางลัทธิการเมือง
และการแก้ปัญหาด้วยการฆ่าฟันระหว่างคนต่างอุดมการณ์จะยุติลง

แต่คนหนุ่มสาวรุ่นใหม่ก็ยังคงต้องเผชิญกับปัญหาชีวิต
ปัญหาสังคมอันรุนแรงในรูปแบบใหม่
เป็นความรุนแรงของสังคมบริโภคนิยมที่กัดลึกถึงจิตวิญญาณ
และดูดกลืนกัดทุกอย่าง
ให้กลายเป็นสินค้าที่ซื้อขายกันได้ไม่ต่างจากผักปลาริมถนน


ขณะที่วิถีวัฒนธรรมของบรรพชน
ก็ได้ถูกทำลายมาแล้วอย่างรุนแรงต่อเนื่อง
เกิดการแย่งชิงทรัพยากรระหว่างคนเมืองกับคนชนบท
เกิดปัญหาวิกฤตเศรษฐกิจ ผุ้คนไร้สุข แปลกแยก
มุ่งแสวงหาแต่ความสำเร็จ

ขณะที่ไร้รัก และยังโหยหาความรักมากเช่นเดิมหรือยิ่งกว่า

เพราะนอกจาก “รักแท้” หรือ “รักให้เป็น”
ระหว่างคนหนุ่มสาวจะหาได้ยากยิ่งแล้ว
ชุมชนที่เคยอบอุ่น รากเหง้าที่เคยมอบความรัก
เคยรองรับความมั่นคงทางใจ
ก็ถูก กระชากถอนจนผู้คนในสังคม
ได้กลายเป็นคนไร้รากไร้รักไปทั่วถึงกันแล้ว....”


รูปภาพ

:b8: :b8: :b8:

(เรียบเรียงและคัดลอกบางตอนมาจาก “ชีวิตกับความรัก” โดย เขมานันทะ,
พิมพ์ครั้งที่ ๖, จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์ สุขภาพใจ, พ.ศ.๒๕๔๔)

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=27&t=20512

:b44: รวมคำสอน “ท่านเขมานันทะ (อ.โกวิท เอนกชัย)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44291

:b44: ประวัติและผลงาน “ท่านเขมานันทะ (อ.โกวิท เอนกชัย)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=24878


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2010, 08:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 31 พ.ค. 2009, 02:41
โพสต์: 5636

แนวปฏิบัติ: พอง ยุบ
ชื่อเล่น: เจ
อายุ: 0
ที่อยู่: USA

 ข้อมูลส่วนตัว www


เป็นของขวัญวันแห่งความรักที่มีสาระมากค่ะคุณโรส :b45:


อนุโมทนา สาธุค่ะ :b8:

.....................................................
"มิควรหวังร่มเงาจากก้อนเมฆ"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 พ.ย. 2014, 12:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2021, 09:30 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 14 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron