ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ความรักที่ไม่เป็นทุกข์
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=27&t=33906
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  บัวลอยไข่หวาน [ 17 ส.ค. 2010, 21:21 ]
หัวข้อกระทู้:  ความรักที่ไม่เป็นทุกข์

ผู้คนทั้งหลายเกือบจะทั้งหมดในโลกนี้ ล้วนอยากมีหรือแสวงหาความรักด้วยกันทั้งนั้น เพราะเขาเหล่านั้นคิดว่าความรักจะนำมาซึ่งความสุข แต่จะมีสักกี่คนที่มีความสุขจากความรักได้อย่างแท้จริง โดยไม่มีความทุกข์มาเจือปนด้วยเลย ทั้งในขณะเริ่มต้น ท่ามกลาง และที่สุด (ซึ่งจะต้องเกิดขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่ว่าจะเป็นการจากเป็นคือทั้งสองฝ่ายล้วนยังมีชีวิตอยู่ หรือจากตายคือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งหรือทั้งสองฝ่ายต้องตายจากกันไป)

ความรักนั้นมีหลายรูปแบบ ซึ่งแต่ละรูปแบบก็ทำให้มีความสุข ความทุกข์ที่แตกต่างกันออกไป ความรักที่ทำให้เป็นทุกข์คือความรักที่ประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น ยึดมั่นว่าเป็นของๆ เรา เป็นคนรักของเรา เขาจะต้องมีเราคนเดียวตลอดไป อย่าได้ไปชายตามองคนอื่นเลย เขาจะต้องรักเราและอยู่กับเราตลอดไป จะต้องเป็นไปตามที่ใจเราปรารถนา ฯลฯ

ถ้าไม่อยากเป็นทุกข์ก็ต้องรักโดยไม่มีความยึดมั่นถือมั่น มีแต่ความเมตตา ปรารถนาดีต่อเขาด้วยใจจริง แต่ไม่ยึดมั่นว่าเขาจะต้องเป็นอย่างที่เราปรารถนา หรือคาดหวังจะให้เป็น ต้องรักในส่วนที่ดีของเขา ขณะเดียวกันก็ต้องยอมรับหรือทำใจในส่วนที่ไม่ดีของเขาด้วย อย่าคาดหวังว่าจะได้พบกับคนที่สมบูรณ์ เพียบพร้อมไปทุกกระเบียดนิ้ว

และต้องยอมรับความจริงว่าสิ่งต่างๆ ล้วนเปลี่ยนแปลงไปตามเหตุปัจจัย แม้ร่างกายและจิตใจของเราเองยังเอาแน่อะไรไม่ได้เลย แล้วจะไปหวังอะไรกับคนอื่นเล่า วันนี้ ตอนนี้ดี ใครจะรับรองได้ว่าอีก 1 นาทีข้างหน้าจะยังดีอยู่เหมือนเดิม การไปยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่ไม่อยู่ในอำนาจ มีความแปรปรวนเป็นธรรมดา ก็มีแต่ทุกข์เท่านั้นที่หวังได้

ถ้ายอมรับความจริงเหล่านี้ และทำใจได้อย่างแท้จริง สามารถรักได้โดยปราศจากความยึดมั่นถือมั่น มีจิตที่เต็มเปี่ยมไปด้วยความเมตตาที่บริสุทธิ์ รักเพื่อจะให้โดยไม่หวังอะไรตอบแทน ไม่ใช่รักเพื่อจะรับ รักเพื่อจะให้คนที่เรารักมีความสุข ก็จะไม่ต้องเป็นทุกข์ใจเพราะความรักนั้น (ความรู้สึกเช่นนี้มักจะไม่เรียกกันว่าความรัก แต่จะเรียกว่าความเมตตา เพราะโดยทั่วไปแล้วความรักมักจะประกอบไปด้วยความยึดมั่นถือมั่น พระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า "โสกะ ปริเทวะ ทุกข์ โทมนัสและอุปายาส* ย่อมเกิดแต่ของที่รัก เป็นมาแต่ของที่รัก") แต่ถ้าทำใจเช่นนั้นไม่ได้ การอยู่คนเดียวก็น่าจะมีความสุขมากกว่า ดังคำที่ว่า:

[๒๙๖] ..... ความเยื่อใยย่อมมีแก่บุคคลผู้เกี่ยวข้องกัน
ทุกข์นี้ย่อมเกิดขึ้นตามความเยื่อใย
บุคคลเล็งเห็นโทษอันเกิดแต่ความเยื่อใย
พึงเที่ยวไปผู้เดียว เหมือนนอแรด ฉะนั้น .....

(ขัคควิสาณสูตรที่ ๓ พระไตรปิฎก พระสุตตันตปิฎก เล่ม ๑๗
ขุททกนิกาย ขุททกปาฐ - ธรรมบท - อุทาน)



โสกะ - ความโศก
ปริเทวะ - ความร่ำไรรำพัน, ความคร่ำครวญ, ความรำพันด้วยเสียใจ, ความบ่นเพ้อ
โทมนัส - ความเสียใจ, ความเป็นทุกข์ใจ
อุปายาส - ความคับแค้นใจ, ความสิ้นหวัง

เจ้าของ:  วิสุทธิปาละ [ 17 ส.ค. 2010, 22:40 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความรักที่ไม่เป็นทุกข์

ขออนุญาตใช้ post เดิมที่ post ในกระทู้
21317.ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์ .. เพราะเหตุใด?
มา reuse นะครับ (เพื่อเป็นการอนุรักษ์พลังงานในการพิมพ์) :b12:

ขอลองอธิบายเพื่อประโยชน์ในการปฏิบัตินะครับ ผิดถูกอย่างไร น้อมรับคำแนะนำที่มีพื้นฐานบนความกรุณาครับ :b8:

โดยขอจำกัดวงแค่ความรักระหว่างชีวิตกับชีวิต (สังขารมีใจครอง) ที่มีความผูกพันกัน เช่น หนุ่มสาวที่เป็นแฟนกัน, สามีภรรยา, พ่อแม่กับลูก, เพื่อนกับเพื่อน, ญาติกับญาติ, คนกับสัตว์เลี้ยง ฯลฯ

ที่ใดมีรัก ที่นั่นมีทุกข์
ต้องมีเหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) นะครับ ที่นั่นถึงมีทุกข์
แล้วทำไมความรักถึงเป็นเหตุแห่งทุกข์ ?

เหตุแห่งทุกข์ (สมุทัย) ได้แก่ ตัณหาทั้ง ๓
๑) กามตัณหา ความทะยานอยากในกาม อยากได้อารมณ์อันน่ารักใคร่
๒) ภวตัณหา ความทะยากอยากในภพ อยากเป็นนั่นเป็นนี่ หรืออยากเกิดอยากมีอยู่คงอยู่ตลอดไป, ความทะยานอยากที่ประกอบด้วยภวทิฏฐิหรือสัสสตทิฏฐิ
๓) วิภวตัณหา ความอยากในวิภพ คือความทะยานอยากในความไม่มีไม่เป็น อยากไม่เป็นนั่นไม่เป็นนี่ อยากตายเสีย อยากขาดสูญ อยากพรากพ้นไปจากภาวะที่ตนเกลียดชังไม่ปรารถนา, ความทะยานที่ประกอบด้วยวิภวทิฏฐิ หรืออุจเฉททิฏฐิ

ข้อแรก ถ้าความรักมีแรงขับดันมาจากความอยากในกาม ความอยากได้อารมณ์อันน่าใคร่ เช่น หนุ่มรักสาว สาวรักหนุ่ม เพราะสามารถให้อารมณ์อันน่าใคร่ทางตา-หู-จมูก-กายได้, เจ้าของรักแมวหมาเพราะขี้เล่นประจบเอาใจ (อารมณ์อันน่าใคร่) ฯลฯ ถ้าตราบใดยังสนองอารมณ์อันน่าใคร่ได้ ก็แล้วไป (แต่จะทำให้ติดใจและทะยานอยากเสพมากขึ้น (อุปปาทาน))

แต่ความเป็นจริงแล้วไม่เคยมีกามอันใดที่ยั่งยืนถาวร(นิจจัง) จึงต้องมีอีกด้านคือ การไม่ตอบสนองอารมณ์อันน่าใคร่ ซ้ำยังยัดเยียดอารมณ์อันไม่น่าใคร่ให้ เช่น เป็นแฟนกันอยู่ดีๆ มีงอนใส่ พฤติกรรมเปลี่ยนไปให้น่าสงสัย หรือแม้กระทั่งหมาแมวไม่มาคลอเคลียแถมยังข่วนเราอีก ฯลฯ ซึ่งความผิดไปจากที่หวังในอารมณ์อันน่ารักใคร่นั้นคือเหตุแห่งทุกข์ ที่ทำให้เกิดความทุกข์คือความผิดหวัง กังวล เสียใจ (โทสะ)

ส่วนความรักที่มีแรงขับดันมาจากภวะและวิภวตัณหา ดูเหมือนจะเป็นความรักที่ดี เช่น แม่รักลูก แต่จริงๆแล้วก็ยังคงเป็นรักที่มาจากตัณหาอย่างละเอียด ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์ได้พอๆกันกับความรักที่มาจากกามครับ
(ภว+วิภวตัณหาที่อยู่เบื้องหลังความรักของแม่ต่อลูก หรือของลูกต่อบุพการี ฯลฯ เป็นตัณหาอย่างละเอียด เห็นได้ยาก และดูผู้ดีนะครับ เหมือนเช่นภวตัณหาของพระอนาคามี ได้แก่ ความพอใจติดใคร่ในรูปฌาน และอรูปฌาน ซึ่งดูเหมือนจะดี แต่ก็ยังเป็นตัณหาละเอียดที่ผลักดันให้เกิดภพ ไม่หลุดไปจากภพได้ ในระดับชั้นของพระอนาคามี)

ถ้าความรักมีแรงขับดันมาจากความอยากให้ไม่มีไม่เป็น เช่น อยากให้ลูกไม่ลำบาก หรือมีแรงขับดันมาจากความอยากเป็นนั่นเป็นนี่ หรืออยากเกิดอยากมีอยู่คงอยู่ตลอดไป เช่น อยากให้ลูกเป็นคนดี อยากให้ลูกอยู่กับเราตลอดไป หรืออยากให้พ่อแม่ ปู่ย่า ตายาย หรือคู่ชีวิตของเรา อยู่กับเราตลอดไป ซึ่งเป็นความอยากที่ไปฝืนขวางกระแสของธรรมชาติ นั่นก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดทุกข์จากความรักได้อย่างสาหัส เวลาที่มันไม่เป็นไปอย่างที่เราต้องการนะครับ เช่น คนที่เรารักเราผูกพันลำบากเป็นทุกข์ ลูกสอบตก พ่อแม่ป่วยไข้ หรือพลัดพรากจากเราไป เป็นต้นครับ (มีต่อ)

เจ้าของ:  วิสุทธิปาละ [ 17 ส.ค. 2010, 22:41 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ความรักที่ไม่เป็นทุกข์

มาต่อกันครับ :b1:

สรุปแล้ว ถ้าเป็นความรักที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของความอยาก ความคาดหวัง คือตัณหา ไม่ว่าจะอยากในอารมณ์อันน่าใคร่ หรืออยากในการไม่ให้มี หรืออยากให้มีอยู่ตลอดไป ก็เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ทั้งนั้นครับ เพราะความอยาก ความคาดหวังทั้งหมดนั้นมันฝืนขวางกระแสของธรรม ซึ่งเป็นลักษณะสามัญอันได้แก่ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา

และเพราะความอยากเหล่านั้นเป็นปัจจัย จึงทำให้เกิดความยึดทะยานอยากเพิ่มขึ้นเมื่อได้เสพแล้ว (อุปปาทาน) ส่งผลให้เกิดภพ เกิดชาติ เกิดชรามรณะอันเป็นลักษณะสามัญ จนกระทั่งเกิด “ความโศก ความคร่ำครวญ ทุกข์ โทมนัส และความคับแค้นใจ ก็มีพร้อม ความเกิดขึ้นแห่งกองทุกข์ทั้งปวงนี้ จึงมี” ตามที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ ทุกประการ :b8:

ลองสังเกตดูจากของจริงลงในปัจจุบันนะครับ ว่าเห็นสภาวะตามนี้หรือไม่ :b10: (ภาวนามยปัญญา)

ดังนั้น ในภาคปัญญาที่เกิดจากความคิด (จินตามยปัญญา) แล้ว ถ้าเราแปรความรักที่มีบนพื้นฐานของความอยากหรือไม่อยาก เป็นความรักที่อยู่บนพื้นฐานของเหตุผล (คือเหนือความอยากไม่อยากขึ้นไปอีกขั้น) ก็จะเป็นความรักที่ไม่ก่อให้เกิดทุกข์ได้ครับ :b4:

แล้วรักอย่างไร ? :b10:

ธรรมะของพระพุทธเจ้า คล้องจองไร้ช่องโหว่นะครับ :b8: ตรงนี้ พรหมวิหาร ๔ เข้ามาต่อจิกซอว์ได้อย่างสนิททีเดียว นั่นคือ ความรักที่อยู่บนพื้นฐานของ เมตตา กรุณา มุทิตา และอุเบกขา รักแบบไม่อยากไม่หวัง รักแบบมีเหตุมีผล ได้หรือไม่ได้ก็รู้ว่ามาจากเหตุและปัจจัยโดยไม่คาดหวัง หรืออยากไว้ล่วงหน้า

ขยายความด้วยตัวอย่างเช่น

๑) เดิม แม่รักลูก อยากให้ลูกเรียนเก่ง จึงเคี่ยวเข็ญสั่งสอนลูกด้วยความอยาก เมื่ออธิบาย ๑๐ เที่ยวแล้วลูกก็ยังไม่เข้าใจ ก็หงุดหงิดปี๊ดขึ้นสมอง คุมสติไม่อยู่ฟาดลูกไป ๑ ที :b34:

พัฒนาเป็น

แม่รักลูก ด้วยเหตุและผลที่เห็นว่า ลูกเรียนเก่งจะมีผลดีกว่าเรียนไม่เก่ง จึงสร้างเหตุและปัจจัยคือหมั่นสั่งสอนลูกด้วยความเมตตา ทำให้เต็มที่โดยไม่อยากและหวังในผลที่จะได้ไว้ล่วงหน้า แต่เมื่ออธิบาย ๑๐ เที่ยวแล้วลูกก็ยังไม่เข้าใจ ก็วางอุเบกขา (ทำใจได้เพราะไม่หวังตั้งแต่แรก) และ (ด้วยความรักความกรุณาที่มีอยู่ในใจ) ใช้ความคิดหาเหตุผลและวิธีการต่อไปเพื่อให้ลูกเข้าใจ :b8:

๒) เดิม ลูกรักแม่ที่กำลังป่วยหนักอยู่ห้องไอซียู ไม่อยากให้แม่พลัดพรากจากไป เลยทำทุกวิถีทางที่จะยื้อชีวิตของแม่ไว้ แต่สุดท้ายต้องประสบกับการสูญเสียพัดพราก ทำใจไม่ได้จึงเสียใจเป็นทุกข์ ร้องไห้คร่ำครวญ :b2:

พัฒนาเป็น

ลูกรักแม่ที่กำลังป่วยหนักอยู่ห้องไอซียู ด้วยเหตุและผลที่เห็นว่า การรักษาแม่จะทำให้แม่ทรมานน้อยลง ถ้าหายได้จะยิ่งดี จึงทำทุกวิถีทางตามเหตุและปัจจัยบนพื้นฐานของความกรุณาที่จะรักษาชีวิตแม่ไว้ แต่สุดท้ายต้องประสบกับการสูญเสียพัดพราก จึงวางอุเบกขา (ทำใจ) เสียได้เพราะเข้าใจในเหตุและผลของธรรมชาติ ถึงจะทุกข์ก็ทุกข์ไม่มากถึงกับคร่ำครวญผิดหวัง ตีอกชกหัว (เพราะไม่ได้หวังว่าแม่จะไม่พัดพรากจากกันไปวันใดก็วันหนึ่ง) :b8:

๓) เดิม ภรรยารักสามี อยากให้มีความสุขจึงเข้าครัวปรุงอาหารอย่างสุดฝีมือ แต่พ่อเจ้าประคุณไม่ชมซักคำ ภรรยาเลยงอนตุบป่องๆ :b33: :b26:

พัฒนาเป็น

ภรรยารักสามี ด้วยเหตุและผลที่เห็นว่า คุณสามีได้ทานอาหารอร่อยจากฝีมือเราจะดีกว่ากินกับข้าวถุงน่าเบื่อ จึงทำเหตุปัจจัยให้เหมาะสมคือเข้าครัวปรุงอาหารอย่างสุดฝีมือด้วยความเมตตา แต่พ่อเจ้าประคุณไม่ชมซักคำ แต่ภรรยาวางอุเบกขา (ทำใจ) เสียได้เพราะไม่ได้หวังหรืออยากตั้งแต่แรก เข้าใจในธรรมว่า เหตุและปัจจัยอาจจะยังไม่เอื้ออำนวยอย่างเหมาะสม พ่อเจ้าประคุณอาจจะคิดถึงแต่เรื่องสุดสัปดาห์นี้ไปตีกอล์ฟที่ไหนดี จึงไม่ทุกข์และเพียรต่อไปเมื่อมีโอกาสด้วยความเมตตา :b8:

เขียนได้ แต่ดูเหมือนจะทำใจตามได้ยากนะครับ :b5:
คงเพราะจิตเป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้กระมังครับ :b13:

ผิดถูกอย่างไร น้อมรับคำแนะนำที่มีพื้นฐานบนความกรุณาครับ :b16:

เจริญในธรรมครับ :b8:

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/