วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2020, 10:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


ความรักและความชัง
พระธรรมเทศนาโดย...หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร

แสดงธรรม ณ วัดเขาบันไดอิฐ จังหวัดเพชรบุรี
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๐๘


รูปภาพ

เมื่อภาวนาได้ที่จนจิตสงบนิ่งแล้วย่อมมีความอ่อนละมุนละไมยิ่งในใจ มีความเย็นอกเย็นใจ เบายิ่งกว่าสำลี ใจเราเหมือนกับลมหายใจนี่แหละ สบายหายหมดความเจ็บความปวด นั่งกระดานเหมือนกับไม่ได้นั่ง มันนิ่งหมด มันเพ่งดูอยู่ มันไม่เอาอื่นหรอกเพราะเห็นแล้วสมุฏฐาน เหมือนหมอพอเห็นสมุฏฐานแล้วก็วางยาถูก ตอนนี้มันเห็นสมุฏฐานว่าเพราะอย่างนั้นๆ พาให้เป็นบาปเป็นกรรม คือดวงจิตที่ไม่หยุดไม่อยู่ ดวงจิตที่ทะเยอทะยาน ดวงจิตที่วิ่งวุ่นอยู่ เที่ยวทำบาป เที่ยวทำกรรม เที่ยวก่อภพก่อชาติ ภเวภวา สัมภวันติ ภพน้อยๆ ภพใหญ่ๆ มันเที่ยวก่ออยู่ นั่งเดี๋ยวมันก็ยังก่ออยู่

เห็นไหมล่ะ มันต้องเห็นซิ ให้หยุดมันไม่หยุด มันบอกไม่นอนสอนไม่ได้ มันเป็นอย่างนี้แหละ อุปมาเหมือนลูกเต้าที่บอกไม่ได้ มันก็พึ่งไม่ได้ซี่ นี่ใจของเราก็คือกันแหละ เมื่อเราบอกไม่ได้จะพึ่งอะไรได้ บอกไม่ให้ไปตกนรก มันก็ไปตกนรก จะว่าอย่างไรล่ะ ถ้ามันบอกนอนสอนได้ มันก็สอนจิตของเราได้ มันเห็นอยู่แล้ว มันไม่หลง มันไม่หลงมันก็สอนได้ซี่ บอกนอนสอนได้ เมื่อสอนได้เราก็ได้ที่พึ่งของเราละ ได้พระพุทธ ได้พระธรรม ได้พระสงฆ์ รวมอยู่ในจิตของเรา ประชุมรวมกันหมด จิตของเราก็เบิกบาน เราก็เห็นธรรม เราก็เป็นผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบละ เมื่อปฏิบัติดีปฏิบัติชอบแล้ว จิตก็สงบลง อ่อนหมดแล้ว นี่คือกายปัสสัทธิ จิตตปัสสัทธิ ความสงบระงับทั่วหมด กิเลสจัญไรทั้งหลายไม่มี เพราะจิตไม่มีกิเลส จะเอาอะไรมาเป็นกิเลสเล่า จิตไม่มีภัย จะเอาอะไรมาเป็นภัย จิตไม่มีบาปมีกรรม จะเอาอะไรมาเป็นบาปเป็นกรรม

นี่ก็ต้องเพ่งดูน้อมดูอยู่เสมอ โอปนะยิกะธรรม น้อมเพ่งอยู่อย่างนั้น พอมันเคลื่อนจากที่ ทีนี้ละมันพาให้ก่อภพก่อชาติ มันพาให้ก่อกรรมก่อเวร หากว่าเราไม่อยากเป็นกรรมไม่อยากเป็นเวร เราก็ต้องตัด ตัดอารมณ์นั่นแหละ ให้อยู่ในที่รู้ ให้กำหนดว่าความรู้อยู่ตรงไหนแล้ว เราก็เพ่งอยู่ตรงนั้น อย่าให้มันเคลื่อนออกจากนั้น ให้มันตั้งอยู่นั่น ให้รู้อยู่นั่น ไม่มีอะไรก็ให้รู้อยู่อันเดียวเท่านั้นแหละ มันไม่มีตัวไม่มีตนอะไรหรอก มันเป็นแต่รู้อยู่อย่างนั้น สิ่งใดเกิดขึ้นก็ให้รู้ พุทธะคือผู้รู้ จิตมันไม่อยู่ ก็ให้รู้ สิ่งใดเกิดขึ้นให้รู้ให้หมด เพราะเราต้องการความรู้ เราอยากรู้ เราไม่ไปยึดเอาสิ่งเหล่านั้น มันก็ไม่มายึดเอาเรา เรื่องมันเป็นอย่างนั้น เรามันคอยเข้าไปยึดเสียหมด เมื่อเรารู้แล้ว เราก็ไม่ยึดสิ่งเหล่านั้น ความชั่วทั้งหลายทุกข์ทั้งหลายเราก็ไม่ยึด มันก็วางหมด ว่างหมด ใจเรามันก็ปล่อย มันก็ละหมดซี เรียกว่าปล่อยว่าง มันเห็นแล้วก็ปล่อยเอง มันเห็นแล้วก็วางเอง

เพราะฉะนั้นท่านจึงเทศนาให้ปล่อยให้วางหมด ปล่อยได้ยังไง มันเห็นทุกข์แล้วมันก็วางเอง ถ้ามันไม่เห็นมันก็ไม่วาง ถ้ามันเห็นแล้วมันก็วาง ปล่อยวางเอง ละเอง ถอนเอง จิตมันก็นิ่งอยู่ได้ มันก็มีแต่ความเบาความสบาย ความสว่างไสว มีแต่ความผ่องใส ความเยือกความเย็นเท่านั้น ข้อสำคัญคือมันก็สุขสบาย อันใดจะเสมอได้ นัตถิ สันติ ปะรัง สุขัง สุขอันใดเสมอใจสงบไม่มี มันก็ได้รับความสุขความสบาย สมความมุ่งมาดปรารถนาของเรา

นี่เราเห็นแล้วก็พ้นทุกข์ จิตเราไม่ทุกข์แล้วจะเอาอะไรมาทุกข์ มันก็พ้นในตรงนั้นหละ จิตดวงนั้นพ้นทุกข์ มันจะหาทุกข์ที่ไหนมี ได้พุทโธแล้ว ได้ธัมโมแล้ว ได้สังโฆแล้ว มีแก้วสามประการมาประดับไว้แล้ว เราก็รู้แจ้งเห็นจริง ไม่เชื่อใครทั้งหมดละทีนี้ เห็นแท้แน่นอน สันทิฐิโก เราผู้ปฏิบัติรู้เองเห็นเอง จะไม่เห็นยังไงเล่า สบายก็จะไม่เห็นยังไงเล่า ไม่สบายก็จะไม่เห็นยังไงเล่า มันเห็นนี่ ก็เชื่อมันอยู่อย่างนั้น ของมีจริงๆ ไม่ใช่ว่าไม่มี ของมันเป็นอยู่จริงๆ ไม่ใช่ว่าไม่เป็น มันเป็นอยู่ในจิตของเรา มันนิ่งมันก็เห็น มันไม่นิ่งมันก็เห็น มันอยู่อย่างไรมันก็เห็น มันเบามันก็เห็น มันหนักมันก็เห็น มันมืดมันก็รู้อยู่ยังงั้น มันสว่างมันก็รู้อยู่อย่างนั้นแหละ อย่าไปเอาสิ่งใดๆ มันมืดก็อย่าไปจับเอามืด เอาแต่ความรู้อยู่ เอาผู้รู้ รู้ว่ามืด มันเฉยๆ ก็ดูเฉยๆ ผู้รู้ว่าเฉยมันมีอยู่ เมื่อมันหมด ผู้รู้ว่าหมดก็มีอยู่ ผู้รู้มันมีอยู่ยังงั้น มันหมดไม่เป็น ดับไม่เป็น สูญไม่เป็น จึงเรียกว่าผู้รู้ พุทธะคือผู้รู้ มันมีอยู่ยังงั้น มันดับไม่เป็น สูญไม่เป็น มีอยู่ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ปุพเพ เต ธัมมา ธรรมทั้งหลายมีอยู่ยังงั้น แต่ไม่มีบุคคลผู้ใดมารู้ได้ เราต้องรู้ด้วยตนเองซิ ธรรมะทั้งหลายมีอยู่ยังงั้น พระพุทธเจ้ายังไม่ตรัสรู้ก็มีอยู่ยังงั้น ตรัสรู้แล้วก็มีอยู่ยังงั้น แต่เราไม่ได้พบ ค้นยังไม่ทันพบ เรื่องมันเป็นยังงั้น

เพราะฉะนั้นทำให้พบเสียที นั่งสมาธิ น้อมเข้าไป เพ่งดูตัวรู้นั่น ความรู้มันไม่มีตัวไม่มีตน เป็นแต่รู้อยู่นั่น เป็นแต่รู้อยู่อันเดียวเท่านั้น ผู้รู้เป็นของไม่ตายและเป็นของไม่แตกไม่ทำลาย เป็นของไม่อดไม่จน เป็นของไม่ทุกข์ไม่ยาก เป็นของไม่ลำบากไม่รำคาญ เดี๋ยวนี้เรายังไม่รู้ สิ่งใดเกิดขึ้นเราก็ยึดเอาอันนั้นมาเป็นตน มันก็เลยได้ทุกข์ได้ยาก ทีนี้สิ่งใดเกิดขึ้นมาเราก็ไม่ไปยึด ไม่ไปปรุง ไม่ไปแต่ง เรายังเป็นอวิชชาอยู่ เมื่อมีอวิชชาความหลง มันก็ไปปรุงไปแต่ง ไปยึดเอาสิ่งอื่นมา เมื่อเราเป็นวิชชาแล้วเราก็มีความรู้แจ้งเห็นจริง โลกะวิทู ความรู้แจ้งโลก เรารู้อยู่แล้วจะมาหลอกเราได้ยังไง เรารู้อยู่แล้ว เห็นอยู่แล้ว มันก็หลอกเราไม่ได้ เราต้องไม่ให้เคลื่อนไปจากที่ตั้งไว้ คือที่รู้

สมาธิคือจิตตั้งมั่น ไม่หวั่นไหวง่อนแง่นคลอนแคลนในสิ่งทั้งหลายทั้งหมด ตั้งมั่นเปรียบเหมือนกับกุฏิที่ตั้งมั่นอยู่นี่ ใครมาก็พึ่งพาอาศัยได้ ถึงลมมาแดดฝนมาก็พึ่งพาอาศัยได้ สรณะที่พึ่งคือต้องพึ่งได้ จิตของเราก็เช่นเดียวกัน ที่ว่าพึ่งไม่ได้ก็คือว่าเราจะอยู่นี่แต่มันไปอยู่อีกแห่งหนึ่ง เราจะเอาแห่งหนึ่งมันไปเอาอีกแห่งหนึ่ง นั้นพึ่งไม่ได้ ถ้าให้นิ่งแล้วมันก็นิ่งอยู่ได้ มันก็พึ่งได้อาศัยได้ นี่แหละเราจะตัดบาปตัดกรรมตัดเวร ตัดภัยอกุศลทั้งหลายให้ระงับดับได้ นี่แหละผู้ถึงในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์แล้ว โอสะถัง อุตตะมัง วะรัง หิตัง เทวะมนุสสานัง สัพเพ ทุกขา สัพเพ ภยา สัพเพ โรคา ภวันตุ เต วินัสสันตุ ทุกข์ภัยโรคทั้งหลายทั้งหมดก็พินาศฉิบหาย ก็เพราะอาศัยจิตสงบน่ะแหละ จิตสงบระงับดับหมดซึ่งกิเลสจัญไรทั้งหลายเหล่านี้


ให้ภาวนาพุทโธ พุทโธใจเบิกบาน พุทโธผู้รู้ ให้รู้มันให้หมด อย่าให้ปกปิดไว้ ทุกข์เกิดขึ้นก็ให้รู้ สุขเกิดขึ้นก็ให้รู้ ดีเกิดขึ้นก็ให้รู้ พุทโธ พุทโธ มันเป็นยังไงก็ให้รู้ให้หมด มันข้องตรงไหนก็ให้รู้ มันไม่ข้องก็ให้รู้ ทำความรู้อยู่อย่างนั้นเรียกว่าพุทโธ เห็นความรู้นั้นอยู่ มีอยู่ มันเฉยๆ ก็ให้รู้อยู่ ให้น้อมเข้ามา มันมืดก็ให้รู้ มันสว่างก็ให้รู้ ผู้รู้พุทโธนั้นก็รู้อยู่ยังงั้น มันสว่างก็รู้ว่าสว่าง อย่าไปเอาความสว่างมาเป็นตน เราคือผู้รู้ เราก็เพ่งเล็งความรู้อันนั้นอยู่ เห็นผู้รู้นั้นอยู่ ให้รู้ว่าผู้รู้มีอยู่ มันพ้นทุกข์หรือมันยังติดอยู่ตรงไหน สาวหาเหตุผล หาเบื้องต้นเบื้องปลาย เราก็เพ่งเล็งดู มันติดรูปหรือติดเสียงติดกลิ่น ติดรส ติดสัมผัส ติดอารมณ์ทั้งหลาย

เมื่อติดรูปก็ยกรูปขึ้นมาวินิจฉัย รูปนี้ทำไมมันจึงติด ว่าเป็นตัวเป็นตน เป็นสัตว์ เป็นบุคคล เป็นเรา เป็นเขา ท่านสอนว่าจะไปติดทำไม ให้เห็นว่าสังขารทั้งหลายไม่เที่ยง เห็นสังขารทั้งหลายเป็นทุกข์ เห็นสังขารว่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน มันก็เลิกมันก็ละในสังขารทั้งหลาย ให้เพ่งดูในเรื่องสังขารทั้งหมด ความปรุงความแต่ง พิจารณาสังขาร ปัญญาคือความรอบรู้ในกองสังขาร จึงเรียกว่าปัญญา สิ่งใดเกิดขึ้นให้รู้มัน นั่งสมาธิเพ่งดู พอมันเคลื่อนจากที่หรือมันไหวปรุงขึ้นมา เราต้องบอกเลย นั่นคือตัวสังขาร บางทีนั่งไปมันปวดแข้งปวดขา นี่ตัวสังขารทั้งหมด สังขารา อนิจจา สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง โลกนี้เป็นสังขารทั้งหมด สังขารความปรุงความแต่ง แต่งปรุงขึ้นแล้วก็ดับไป สังขารเมื่อเปรียบก็เหมือนกับระลอกน้ำ คือมีตนมีตัว เมื่อระลอกน้ำหมดลมพัดแล้วก็หายไป หายไปที่ไหน มันก็ไปในน้ำนั่นเอง ร่างกายนี้ก็ปรุงขึ้นเป็นรูปเป็นนาม ถึงเวลาก็ดับลงไป ลงไปไหน ดินก็เป็นดิน น้ำก็เป็นน้ำ ลมก็เป็นลม ไฟก็เป็นไฟ อากาศธาตุก็เป็นอากาศ ก็ลงไปหมด นี่มันเป็นยังงั้น

เหตุนั้นท่านจึงให้รู้เท่าในกองสังขาร นี่แหละผู้มีปัญญาย่อมรอบรู้ในกองสังขาร สิ่งใดเกิดขึ้นให้รู้มันหมด ให้รู้เท่าในสังขาร ให้รู้เท่าวิญญาณ เป็นผู้ปฏิสนธิ เป็นผู้ประกอบ เป็นผู้สัญญา สัญญา สังขาร วิญญาณ เหล่านี้แหละรู้มันให้หมด ให้เห็นว่าไม่เที่ยงทั้งหมด สิ่งใดไม่เที่ยงสิ่งนั้นเป็นทุกข์ สิ่งใดเป็นทุกข์สิ่งนั้นไม่ใช่ตนไม่ใช่ตัว เราก็เพ่งให้มันรู้อยู่ยังงั้น อย่าให้มันเกิดได้ หากเกิดขึ้นมาก็ให้รู้เท่าทัน จึงเรียกว่าวิปัสสนาญาณ คือความรู้ วิปัสสนาเพื่อรู้อันใดเล่า ก็รู้ที่เกิดที่ดับของสังขาร รู้ทุกข์รู้โทษในสังขาร รู้ภัยในสังขาร นี่แหละเกิดวิปัสสนาญาณ คือความรู้ที่เกิดดับในสังขาร เกิดตรงไหนเราก็ดับตรงนั้น เกิดปั๊บดับพร้อม ทีนี้เราเห็นทุกข์เห็นโทษในสังขาร ทุกข์โทษในสังขารคือความเกิดแก่เจ็บตาย เราเห็นโทษเห็นภัยในวัฏสงสารนี้แล้ว มันก็ดับสังขารนั่นซี

เมื่อสังขารไม่มีแล้ว ความเกิด ความแก่ ความเจ็บ ความตาย มันก็ไม่มี ความทุกข์ทั้งหลายมันก็ไม่มี มันจะเอาอะไรมาทุกข์ มันไม่ได้ปรุงได้แต่งนี่ มันก็สุข จิตของเราก็สงบนิ่งอยู่ภายใน มันไม่ได้ก่อภพก่อชาติ ภเว ภวา สัมภวันติ ภพน้อยๆ ใหญ่ๆ มันไม่ได้ไป มันก็นิ่งอยู่อย่างเดียว เห็นความบริสุทธิ์อยู่อย่างเดียว มันไม่ได้ส่งข้างหน้าข้างหลัง ข้างซ้ายข้างขวา อดีตอนาคต มันกำหนดอยู่แห่งเดียวเท่านั้นแหละ ความรู้มันไม่ใช่เป็นของแตกของทำลายของสูญของหาย มันก็รู้อยู่ยังงั้น เป็นอมะตัง เป็นของไม่ตาย เป็นของไม่ทำลาย ยั่งยืนถาวรอยู่ยังงั้น พ้นทุกข์ก็พ้นตรงนั้นแหละ ไม่ได้พ้นที่อื่น พ้นที่รู้อยู่นั่นแหละ

เพราะเหตุไฉนจึงพ้นทุกข์ จิตมันไม่ทุกข์ ก็ไม่มีอะไรจะทุกข์ มันนิ่ง มันไม่สำคัญมั่นหมาย ดีมันก็ไม่ได้ว่า ชั่วมันก็ไม่ได้ว่า ทุกข์มันก็ไม่ได้ว่า สุขมันก็ไม่ได้ว่า ถูกมันก็ไม่ได้ว่า ผิดมันก็ไม่ได้ว่า มันไม่ได้ว่าอะไรทั้งหมด เป็นสมุทเฉทปหานนี่ เป็นสมุจเฉทวิรัติซี่ ปฏิเสธหมด ไม่รับรองรับรู้เจ้าทั้งนั้น เวลานี้มันรับรองหมดนี่ ทุกข์เกิดขึ้นมันก็รับรองว่าตัวทุกข์ ยากเกิดขึ้นมันก็รับรองว่าตัวยาก ดีเกิดขึ้นก็ว่าตนดี ชั่วเกิดขึ้นก็ว่าตนชั่ว ความรักเกิดขึ้นก็ว่าตนรัก ความชังเกิดขึ้นก็ว่าตนชัง มันไปรับรองอยู่ยังงั้นนี่ มันก็เป็นทุกข์น่ะซี่ เราปล่อยวางซี่ เราเพ่งดูอยู่ภายในอย่างเดียว เราไม่รับรอง ของมันก็ไม่เข้ามาหาเรา เราไม่มีเครื่องรับก็ไม่มีอะไรเข้า เปรียบเหมือนกับส่งวิทยุมาสักเท่าไหร่ ถ้าเราไม่มีเครื่องรับมันก็เงียบ ไม่เข้ามาถึงเราสักอย่าง ถ้ามีเครื่องรับรองแล้วมันก็เข้ามาถึงที่ เราดับเครื่องซี อย่าไปรับซี มันก็เข้าไม่ได้ ในไม่ออกนอกไม่รับแล้ว มันก็อยู่เป็นเอกเทศอยู่ซี่ อยู่ใครอยู่มันซี่ เอโกธัมโมซี่ เอกัง จิตตัง มีจิตเป็นเอกซี่ เอโก ธัมโม เป็นธรรมอันเอก เป็นเอกก็เป็นใหญ่ซี่ เอโก อิตถิโย ผู้หญิงก็เป็นใหญ่ เอโก ปุริสโส ผู้ชายก็เป็นใหญ่ล่ะ มันไม่หวั่นไหวอะไรทั้งหมด เป็นใหญ่ได้แล้ว นั่นแหละมันใหญ่ตรงนั้นซี่ มันได้ตรงนั้นซี่ จะไปหาที่ไหนล่ะ นี่แหละธรรมเป็นเอกราชแล้ว ธรรมราชาก็เป็นใหญ่แล้ว


ผู้ปฏิบัติธรรมย่อมเห็นในตนของตน สันทิฐิโก เป็นอย่างไรล่ะ นี่เราไปคอยจะรับเอา เห็นเขาว่าดีก็ดีตามเขา ชั่วขึ้นมาก็ว่าชั่วตามเขา เขาไม่ได้ว่าเขาดีเขาชั่ว ทะเลนี้เขาก็ไม่ได้ว่าเขาเป็นน้ำทะเล ถามเขาว่าเจ้าเป็นทะเลไหม เงียบ เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไรสักอย่าง เราไปว่าเอาเองน่ะซี ถามเขาว่าเจ้าเป็นภูเขาไหม เงียบ เขาไม่ได้ว่าอะไร เจ้าเป็นดินไหม เงียบ เขาไม่ได้ว่าอะไร เขาเฉยหมด เราเป็นผู้สมมติเอาเอง

นี่แหละสัตว์ทั้งหลายตกอยู่ในมหาสมุทร คือตกอยู่ในความสมมตินิยม เขาว่าดีก็จะดีกับเขา เขาว่าชั่วก็จะชั่วกับเขา เขาว่าทุกข์ก็ทุกข์กับเขาล่ะ เราไม่ต้องหลงซี่ ให้รู้เท่าในสังขาร เขาว่าดี เราไม่ดีก็จะว่ายังไงล่ะ เขาว่าชั่ว เราไม่ชั่วก็จะว่ายังไง เขาว่าสุข เราไม่สุขจะว่ายังไงล่ะ เขาว่าทุกข์ เราไม่ทุกข์จะว่ายังไงล่ะ นั่นคือเป็นเอกราชา เป็นใหญ่ ไม่หวั่นไหวอย่างนี้น่ะซี นี่คือรู้เท่ากองสังขาร

เมื่อจิตรู้เท่าในกองสังขารแล้ว มันก็ตัด จิตไม่เป็นสังขารแล้ว มันก็เป็นวิสังขาร ถึงธรรมอันวิเศษ วิสังขารคือไม่มีสังขาร ก็ไม่ปรุงไม่แต่งซี่ ก็หมดซี่ มันอยู่ที่ใจอันเดียวเท่านั้นล่ะ จะไปหาที่ไหนล่ะ ถ้าเราภาวนาลูบๆ คลำๆ โน่นนี่ๆ ก็ใช้ไม่ได้ซี่ อยู่ที่ใจอันเดียวเท่านั้น นิ่งอยู่อันเดียวเท่านั้น มาแก้มันอยู่ซี่ นั่งแก้ เดินแก้ นอนแก้ ยืนแก้ แก้อยู่อย่างเดียวเท่านั้นล่ะ มันมีของอันเดียวเท่านั้นล่ะ อย่าไปมัวหาตนของตนอยู่ ถ้าทำไปมันก็เห็นละ นั่งอยู่สักหน่อยมันก็เห็น ธรรมทั้งหลายมันหากแสดงขึ้นอันหนึ่งอันใดปรากฏขึ้นมาในตัวของเรา ทางใดก็แล้วแต่ มันย่อมแสดงขึ้นทางตา หรือทางหู ทางจมูก ทางลิ้น ทางกาย ทางใจ บางทีมันแสดงสุขให้เห็น บางทีมันแสดงทุกข์ให้เห็น ผู้ปฏิบัติย่อมรู้เอง จึงเชื่อแน่ ไม่สงสัย

มันแสดงสุขมันก็รับความสุขความสบาย เบาร่างเบากาย หายเหน็ดหายเหนื่อย หายเมื่อยหายหิว หายทุกข์หายยาก หายลำบากรำคาญ มันไม่มีทุกข์ มีแต่ความเบิกบานในจิตในใจ นี่สุขมันก็เห็น หากแสดงทุกข์ขึ้นมา ทุกข์ตรงโน้นทุกข์ตรงนี้ตามอวัยวะร่างกายของเรา นี่มันก็ทุกข์ มันก็เห็น ทุกข์เหล่านี้จะเป็นเหตุให้เราได้ทำความเพียร ให้เรานั่งสมาธิภาวนาเพื่อแก้สิ่งเหล่านี้ ไม่ได้แก้สิ่งอื่น แก้สิ่งที่ปรากฏในตัวของเราที่รู้อยู่เดี๋ยวนี้ล่ะ รู้สึกเป็นทุกข์ด้วยความเย็นและร้อนก็ตาม ความทุกข์ปรากฏอยู่ที่อารมณ์หรือสัญญาก็ตาม สิ่งที่เป็นทุกข์จะน่ารักหรือน่าชังก็ตาม เมื่อเกิดขึ้นมันเป็นทุกข์ เมื่อความรักเกิด มันก็เป็นทุกข์ เมื่อความชังเกิด มันก็เป็นทุกข์

ทุกข์เหล่านี้แหละพระพุทธเจ้าท่านสอนไว้ให้พากันพิจารณา ในคำสอน เทวเม ภิกขะเว อันตา ปัพพะชิเตนะ นะ เสวิตัพพา ดูกรท่านทั้งหลาย อย่าพึงเสพสองฝั่ง ฝั่งอะไรล่ะ ก็คือความรักความชังนี่ล่ะ เมื่อความรักเกิดขึ้น ให้รู้เท่ามัน อย่าไปยึดไว้ อย่าไปถือมัน หากถือแล้วมันจะเป็นทุกข์ เมื่อไม่ได้ตามความประสงค์ ทีนี้เมื่อความชังเกิดขึ้น ความเกลียดเกิดขึ้น มันก็เป็นทุกข์ ทั้งสองเรื่องนี้ท่านไม่ให้ไปยึด มัชฌิมาปฏิปทา ให้อยู่กลาง ให้รู้เท่าไว้ อย่าไปยึดความรัก อย่าไปยึดความชังไว้ นึกภาวนา พุทโธ พุทโธ เพ่งเล็งดูดวงใจของเรา ให้รู้เท่าเหล่านี้ รักเราก็ไปว่าเอาเอง เราเป็นผู้ว่า ว่ารัก เขาไม่ได้ว่า ดีเขาไม่ได้ว่า ชั่วเขาไม่ได้ว่า เราเป็นผู้ไปว่า

เพราะฉะนั้นเมื่อเราไม่ว่าแล้ว ใครจะรักล่ะ มันก็ไม่มีอะไรรัก เพราะเราไม่ได้ไปยึดความรัก ทีนี้ความชัง เราก็ไปว่าเอา ว่าไม่ดีอย่างนั้นอย่างนี้ สิ่งเหล่านั้นเขาไม่ได้ว่าอะไร เช่นต้นไม้ภูเขาเลากายังงี้ ฟ้าอากาศยังงี้ เขาไม่ได้ว่าเขาเย็น เขาไม่ได้ว่าเขาร้อน เขาไม่ได้ว่าเขาทุกข์เขายาก เราเป็นผู้ไปว่าเอา เมื่อทั้งสองเรื่องนี้เราไม่ว่าเสียแล้ว เรามีอุเบกขาคือความวางอารมณ์ของเราอยู่ เราก็นิ่ง นึกน้อมเข้ามาภายใน หากจิตเราสงบนิ่งอยู่ภายในแล้ว มันก็ไม่เข้าไปยึดความรัก ไม่เข้าไปยึดความชัง แล้วมันก็ไม่มีทุกข์

เพราะฉะนั้นจึงให้รู้เท่าสองเรื่องนี้ล่ะ ดีเราก็เป็นผู้ว่า ถ้าเราไม่ว่าล่ะ มันก็หมด ชั่วก็เราเป็นผู้ว่า ถ้าเราไม่ว่าล่ะ มันก็ไม่มี ดีไม่มี ชั่วก็ไม่มี ที่มีก็เพราะเราไปสมมุติเอา เรามาเพ่งดูดวงใจของเรา เราฟังตรงนี้ เราสนทนาตรงนี้ ให้เห็นให้รู้ธรรมะตรงนี้ เหตุนี้ล่ะพระพุทธเจ้าจึงได้ทรงห้ามไว้ ภิกษุทั้งหลาย อย่าพึงเสพสองฝั่ง คือความรักและความชัง นี่แหละ มันเป็นทุกข์

เมื่อบุคคลห้ามทั้งสองฝั่งแล้ว มันก็เดินมัชฌิมาคือท่ามกลาง เหมือนเราเดินไปกลางทาง ไม่แวะเข้าข้างนั้น ไม่แวะเข้าข้างนี้ หากแวะเข้าข้างนั้นก็เป็นทุกข์ แวะเข้าข้างนี้ก็เป็นทุกข์ เหมือนกับมีทางไปท่ามกลาง สองข้างเป็นป่า เหมือนกับเรานั่งรถไปตามถนน ทั้งสองข้างมองข้างไหนก็ตกตายทั้งนั้น ข้างซ้ายตกถนนก็ตาย ข้างขวาตกถนนก็ตาย อุปมายังงั้น นี่ก็เหมือนกัน ใจของเราแวะออกไปข้างรักมันก็เป็นทุกข์ แวะออกไปข้างชังมันก็เป็นทุกข์ เพราะฉะนั้นเราไม่ต้องแวะออกไปไหน ก็ต้องนิ่งอยู่แห่งเดียวภายใน ทำดวงใจให้รู้ไว้ ให้รู้เท่าสังขารไว้ ให้รู้เท่าวิญญาณไว้ ให้รู้เท่าสมมติของเราไว้ เราไปนึกระลึกเอา ถ้าเราไม่ไปนึกระลึกเอาแล้วมันก็ไม่มี

เรื่องมันเป็นอย่างนี้ ให้ใช้โอปนยิกธรรม น้อมเข้าไป อย่าให้มันออกไป อย่าให้มันส่งไปข้างซ้ายข้างขวา ข้างหน้าข้างหลัง ข้างบนข้างล่าง ตั้งอยู่แห่งเดียว ดูอยู่แห่งเดียว เราจะดูอันใดก็ดูอยู่แห่งเดียว ของอันเดียว สรุปลงแล้วมีของอันเดียว มันเกิดขึ้นจากแห่งเดียว ไม่ได้เกิดจากหลายแห่ง เดี๋ยวนี้เราเข้าใจว่ามันมาก คือธรรมทั้งหลายถึงแปดหมื่นสี่พันพระธรรมขันธ์ มันมาก แม้เมื่อสังเขปนัยเข้าแล้วก็เหลือของอันเดียว ธรรมก็ธรรมดวงเดียว จิตก็จิตดวงเดียว เพราะเราพูดไปมาก พรรณนาไปมากก็เลยมากไป สรุปแล้วของอันเดียวเท่านั้น ท่านจึงว่า เอกัง จิตตัง จิตดวงเดียวเท่านั้น เอกัง ธัมมัง ธรรมดวงเดียวเท่านั้น ฟังดูถี จิตถ้าไม่คิดแล้วมันก็ไม่มีอะไร มีแต่รู้อยู่เท่านั้น มันก็สงบได้ มันก็นิ่งได้

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าจึงทรงว่าไว้ ในสัจจธรรมเรื่องอริยสัจจ์ทั้งหลาย ว่าทุกข์ควรกำหนด กำหนดอย่างไร กำหนดเพื่ออะไร กำหนดเพื่อให้มันรู้จักทุกข์ เมื่อรู้จักทุกข์แล้วท่านไม่ให้ละจากทุกข์ ท่านให้ละสมุทัย เพราะว่าทุกข์นั้นเป็นเรื่องสมมติ เราสมมติเอาว่าเป็นทุกข์ ถ้าเราไม่ว่าแล้วเขาก็ไม่ว่าอะไร แข้งขา มือตีน หู ตา จมูก ลิ้น กาย เหล่านั้นเขาไม่ได้ว่าเป็นสุข เขาไม่ได้ว่าเป็นทุกข์ เขาไม่ได้ว่าเขาเหนื่อย เขาหิว เขาเจ็บเขาปวดอะไร เขาอยู่ธรรมดาหมด เราสมมติเองว่าแข้งว่าขา ว่าตัวว่าตน ว่าสุขว่าทุกข์ ว่าดีว่าชั่ว เป็นเรื่องสมมติทั้งหมด ธรรมชาติแล้วเขาไม่ได้ว่าอะไร ท่านจึงให้รู้เท่าสมุทัย เมื่อเราไม่ว่าแล้ว เขาก็ไม่ว่าอะไร ขาเขาก็ไม่ได้ว่าเขาเป็นขา แข้งเขาก็ไม่ได้ว่าเขาเป็นแข้ง แขนเขาก็ไม่ได้ว่าเขาเป็นแขน ตัวเรานี้เขาก็ไม่ได้ว่าเขาเป็นอะไร เนื้อหนังมังสังเขาก็ไม่ได้ว่าอะไร เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นเนื้อ เขาไม่ได้ว่าเขาเป็นหนัง เขาอยู่เฉยๆ หมด ถามดูซี่ เขารับรองไหม เปล่าทั้งนั้นแหละ เขาไม่รับรองอะไรซักอย่าง


นี่แหละผู้ปฏิบัติจะออกจากทุกข์ได้ก็เพราะมาเห็นสมมตินี่แหละ ทุกข์เพราะสมมติ สมมุติว่าเป็นโน่นเป็นนี่ เราไม่สมมติ หยุดสมมติล่ะ มันก็เป็นวิมุตติ หลุดพ้นหมดสิ่งสารพัดทั้งหลาย หลุดพ้นเพราะเหตุใด หลุดพ้นเพราะเราไม่สมมติ มันเป็นวิมุตติ วิมุตติญาณทัสสนะ เราได้เห็นแล้วก็พ้นจากสมมติ นี่แหละท่านจึงได้เทศนาไว้ สมุทเฉทปหานะ ผู้ละได้แล้ว สมุจเฉทวิมุตติ หลุดพ้นหมดสมมติทั้งหลาย ผู้ปฏิบัติจึงพ้นทุกข์

ต่อไปให้เพ่งดูจิตของเรานี่ล่ะ มันเป็นยังไงอยู่ อย่าไปดูแห่งอื่นๆ มันเฉยๆ ก็ดูมันเฉยๆ มันว่างก็รู้ว่ามันว่างนะ มันคิดโน่นมันคิดนี่ มันไปโน่นไปนี่ ก็ให้รู้เท่าสมมติว่ามันไป เมื่อรู้เท่าทุกอย่างแล้ว สมมติทั้งหลายไม่มี ก็เป็นวิมุตติหลุดพ้นจากทุกข์ ให้พากันนั่งพิจารณาต่อไป


ถอดความจากแถบบันทึกเสียง ที่ท่านแสดงธรรมไว้เมื่อปี พ.ศ.๒๕๐๘
ม.ร.ว.ส่งศรี เกตุสิงห์ ผู้ถอดความ, นพ.อวย เกตุสิงห์ ผู้เรียบเรียง
:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...หนังสือ “อาจาโรวาท”
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ฉบับพิมพ์ปี พ.ศ.๒๕๕๐


• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58068

• รวมคำสอน “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44391

• ประมวลภาพ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42819


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ค. 2021, 08:58 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 20 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร