วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:00  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=28



กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2008, 20:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

การทำวัตร-สวดมนต์
เทศนาธรรมโดย...พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ
ประธานสงฆ์แห่งวัดไตรสิกขาทลามลตาราม
ตำบลบ้านแพด อำเภอคำตากล้า จังหวัดสกลนคร


พิธีกรรมอันหนึ่งที่พวกเราเหล่าพุทธบริษัททำกันมามิได้ขาดตั้งแต่โบราณกาล ก็คือ การทำวัตร-สวดมนต์ หรือเราเรียกสั้นๆ ว่า ไหว้พระ ทำวัตร โดยเฉพาะอย่างยิ่ง พระภิกษุสามเณรด้วยแล้วจะขาดเสียมิได้เลย นอกจากพระภิกษุสามเณรผู้นั้นจะป่วยไข้ หรือผู้รักษาพยาบาลพระภิกษุสามเณรที่เป็นไข้ และผู้ที่อยู่ป่า (อยู่คนเดียวทำคนเดียว) และผู้ที่กำลังเดินทาง

การทำวัตรสวดมนต์นั้น ถ้าทำให้ถูกต้องประกอบไปด้วยสติปัญญา เข้าใจเหตุผลในข้อความที่คิด ในกิจที่ทำ ในถ้อยคำที่กล่าวอยู่นั้น จักมีคุณานิสงส์มากมายเหลือคณานับ ถึงขนาดเป็นหนทางหนึ่งแห่งการหลุดพ้น ดังที่พระพุทธเจ้าของเราได้ตรัสไว้ใน วิมุตติสูตร ปัณณาสก์ที่ ๑ แห่งปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย พระไตรปิฎก เล่มที่ ๒๒ ข้อ ๒๖ หน้า ๒๓ ว่าด้วย เหตุแห่งวิมุตติ ๕ ประการ ในจำนวน ๕ ประการนั้น มีการฟัง, การเทศน์, การสวดมนต์สาธยาย, การคิดอย่างละเอียด ประการสุดท้ายไม่มีทางเลือกต้องทำสมาธิให้จิตตั้งมั่น แล้วเพ่งลงไปที่ลักษณะอาการของกาย เวทนา จิต ทั้งสามอย่างนี้เรียกว่า “ธรรม”

เมื่อเห็นธรรมชัดเจนในจิตใจจนไม่สามารถจะยึดมั่นเอาอะไรมาเป็นตัวเราของเราได้ จิตก็ปล่อยวาง ของหนัก คือความทุกข์ทั้งปวงที่แบกไว้ในใจ เห็นความเป็นจริงว่ามันอย่างนั้นเอง จิตก็หลุดพ้น ตามกำลังสติปัญญา จะมากน้อยสั้นยาว ก็แล้วแต่สติปัญญาที่ปล่อยวางได้ เหตุแห่งการหลุดพ้นปล่อยวางนี้มี ๕ ประการให้เราเลือก ดังกล่าวมาแล้ว

การทำวัตรสวดมนต์ ที่แปลเป็นภาษาของแต่ละคน เพื่อให้ตนเองเข้าใจความหมายและพินิจพิจารณาตามอย่างใจจดใจจ่อ จะก่อให้เกิดทั้งสมาธิและสติปัญญาขึ้นอย่างลึกซึ้ง หากเป็นผู้มีพุทธจริตและปัญญินทรีย์ (ปัญญาเป็นใหญ่) ก็สามารถทำลายความยึดมั่นถือมั่น อันเป็นที่มาแห่งความทุกข์ทั้งปวงลงได้ ไม่มากก็น้อย

พระศาสดาทรงตรัสไว้ว่า ปุน จปรํ ภิกฺขเว ภิกฺขุโน น เหว โข สตฺถา ธมฺมํ เทเสติ อญฺญตธโร วา ครุฏฺฐานิโย สพฺรหฺมจารีนปิ ยถาสุตํ ยถาปริยตฺตํ ธมฺมํ วิตฺถาเรน ปเรสํ เทเสติ อปิจ โข ยถาสุตํ ยถาปริยตฺตํ ธมฺมํ วิตฺถาเรน สชฺฌายํ กโรติ ยถา ยถาภิกฺขเว ภิกฺขุ ยถาสุตํ ยถาปริยตฺตํ ธมฺมํ วิตฺถาเรน สชฺฌายํ กโรติ ตถา ตถา โส ตสฺมึ ธมฺเม อตฺถปฏิสํเวที จ โหติ ธมฺมปฏิสํเวที จ ตสฺส อตฺถปฏิสํเวทิโน ปมุชฺชํ ชายติ ปมุทิตสฺส ปิติ ชายติ ปิติมนสฺส กาโย ปสฺสมฺภติ ปสฺสทฺธกาโย สุขํ เวเทติ สุขิโน จิตฺตํ สมาธิยติ อิทํ ภิกฺขเว ตติยํ วิมุตฺตายตนํ

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อีกประการหนึ่ง (ใน ๕ ประการ) พระศาสดาก็ไม่ได้แสดงธรรมแก่ภิกษุ แม้ภิกษุก็ไม่ได้แสดงธรรมเท่าที่ได้สดับ ได้ศึกษาเล่าเรียนมาแก่ชนเหล่าอื่นโดยพิสดาร (ไม่ได้ฟังเทศน์ และไม่ได้เทศน์ให้ใครฟังในขณะนั้น) ก็แต่ว่าภิกษุ ย่อมทำการสาธยายธรรมที่ได้สดับมา ได้ศึกษาเล่าเรียนมาโดยพิสดาร เมื่อเธอเข้าใจอรรถเข้าใจธรรม ย่อมเกิดปราโมทย์ เมื่อเกิดปราโมทย์แล้ว ย่อมเกิดปีติ เมื่อใจเกิดปีติแล้ว กายย่อมสงบ ผู้มีกายสงบแล้ว ย่อมได้เสวยสุข เมื่อมีสุข จิตย่อมตั้งมั่น ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย นี้เป็นเหตุแห่งวิมุตติข้อที่ ๓

ยตฺถ ภิกฺขุโน อปฺปมตฺตสฺส อาตาปิโน ปหิตตสฺส วิหรโต อวิมุตฺตํ วา จิตฺตํ วิมุจฺจติ อปริกฺขีณา วา อาสวา ปริกฺขยํ คจฺฉนฺติ อนนุปฺปตฺตํ วา อนุตฺตรํ โยคกฺเขมํ อนุปาปุณาติ

ซึ่งเป็นเหตุให้จิตของภิกษุ ผู้ไม่ประมาท มีความเพียร มีความเด็ดเดี่ยวที่ยังไม่หลุดพ้น ย่อมหลุดพ้น อาสวะที่ยังไม่สิ้นไป ย่อมถึงซึ่งความสิ้นไป หรือเธอย่อมบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะชั้นเยี่ยมที่เธอยังไม่บรรลุ นี้คือผลแห่งการทำวัตรสวดมนต์อย่างรู้จักความหมาย ในการสวดนั้นๆ ย่อมส่งผลได้ไกลถึงขนาดความหลุดพ้น อันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพุทธศาสนา ท่านผู้รู้ทั้งหลายในสมัยโบราณจึงมีพิธีทำวัตรสวดมนต์มามิได้ขาด อย่างชนิดที่เรียกว่า ทำเป็นประจำเช้า-เย็น จนกลายมาเป็นความเคยชิน เลยเรียกการกระทำนี้ว่า การทำวัตร

ถ้าจะถามว่า วัตรคืออะไร ? ทำไมจึงต้องทำวัตร ? ทำวัตรนี้เพื่ออะไร ? และทำวัตรโดยวิธีใด ?... อะไร... ทำไม... เพื่ออะไร... และโดยวิธีใด ?

คำถาม ๔ ข้อนี้ คือคำถามที่ชาวพุทธจะต้องถามและจะต้องรู้คำตอบไปในตัวทุกเรื่องที่มาเกี่ยวข้อง มิฉะนั้น มันจะหนีไม่พ้นความงมงาย ไม่รู้จัก “สิ่งที่ตนคิด กิจที่ตนทำ และคำที่ตนกล่าว” แม้สิ่งที่ตนทำอยู่เป็นประจำก็ยังไม่รู้ว่า คืออะไร ทำไปทำไม ทำเพื่ออะไร และจะทำให้ถูกต้องโดยวิธีใด ไม่สามารถรู้ได้

การทำวัตรคืออะไร ? วตฺตํ แปลว่า หน้าที่ประจำ เป็นภาษาบาลี มีความเป็นมาจากการเข้าเฝ้าเข้าพบพระพุทธเจ้า เช้า-เย็น เมื่อเข้าเฝ้าต้องกราบต้องไหว้และคอยฟังคำสาธุการ พร่ำพรรณนาถึงพระพุทธคุณมหาศาล ตลอดทั้งพระธรรมคุณ พระสังฆคุณ ด้วยใจเคารพ เตือนสติสะกิดใจ ค่ำ-เช้า เร้าใจให้เกิดศรัทธปราโมทย์ ตลอดทั้งตอกย้ำซ้ำเตือนถึงคำสั่งสอนที่เป็น พหุลานุสาสนี คือคำสั่งสอนที่พระองค์ทรงพร่ำสอนมาก คือเรื่องขันธ์ทั้ง ๕ จำแนกแยกแยะออกมาให้เห็นว่า ขันธ์ ๕ ทำให้เราเป็นทุกข์ เพราะหลงยึดมั่นในขันธ์ทั้ง ๕ นี้

สรุปแล้ว การทำวัตรสวดมนต์ ก็คือการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกาย คือการกราบไหว้ เข้าเฝ้าด้วยวาจา คือการสวดมนต์สาธยายสรรเสริญพระพุทธคุณ และใคร่ครวญพระธรรมคำสั่งสอนในบทสวดนั้น จนทำให้เกิดปัญญารู้แจ้ง เข้าใจตามเนื้อหาสาระในการสวด จิตใจในขณะนั้นจะมีทั้งสติ สมาธิ ปัญญา เป็นจิตชนิดเดียวกับจิตพระพุทธเจ้า จึงเป็นการเข้าเฝ้าด้วยใจ

การเข้าเฝ้าทั้งทางกาย วาจา ใจ เมื่อทำบ่อยๆ ก็กลายเป็นนิสัยทำเป็นประจำ จึงมีคำว่า “ทำวัตร” หรือ “ทำกิจวัตร” กิจที่ทำประจำนั่นเอง ฝนตกลงทุกๆ ปี ชาวนาก็ตกกล้า ไถหว่านปักดำตามปรกติ นั่นแหละคือชาวนาทำวัตร หรือวัตรของชาวนา แม่ค้าหาบขนมออกไปขายทุกๆ วัน นั่นแหละคือแม่ค้าทำวัตร หรือวัตรของแม่ค้า ตอนเช้าพระต้องออกบิณฑบาตทุกวัน นั่นแหละคือวัตรของพระ

ทำไมจึงต้องทำวัตร ? เมื่อเรามีพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ เป็นที่พึ่งแล้วอย่างนี้ เราก็ต้องเข้าใจพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างถูกต้องว่าจะเป็นที่พึ่งของเราได้อย่างไร การทำวัตรนั้นนอกจากจะเป็นการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทางกาย วาจา ใจแล้ว ก็ยังเป็นการทบทวนบทพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ให้เข้าใจมากขึ้นแล้วๆ เล่าๆ ซ้ำแล้วซ้ำอีก พูดไปสวดไป ใคร่ครวญไป พิจารณาในใจก็จะค่อยๆ เข้าใจขึ้น เช่นตัวอย่างในบท ธัมมาภิคีติง ตอนหนึ่งว่า

ธมฺโม กุโลกปตนา ตทธาริธารี
แปลว่า เป็นธรรมทรงไว้ซึ่งผู้ทรงธรรม จากการตกไปสู่โลกที่ชั่ว

ถ้าเราสวดแต่เพียงภาษาบาลี เราก็ไม่รู้ความหมาย เพียงแต่เกิดศรัทธา แต่ยังไม่ได้เกิดปัญญาความเข้าใจ แต่พอเราแปลเราก็รู้ความหมาย การรู้ความหมายก็ยังไม่เกิดความเข้าใจ เราจะเข้าใจก็ต่อเมื่อขณะที่เราสวดทุกครั้งไป คิดไปใคร่ครวญไปบ่อยๆ เข้า วันหนึ่งเราจะเกิดความรู้สึกสะดุดความคิดตัวเองขึ้นมาว่า เอ! คำว่า เป็นธรรมทรงไว้ซึ่งผู้ทรงธรรม จากการตกไปสู่โลกที่ชั่ว มันมีความหมายซ้อนกันอยู่ในตัว

นั่นคือ มี ๒ “ธรรม” และ ๒ “ทรง” ก่อนที่ธรรมนั้นจะทรงไว้ซึ่งบุคคลนั้นไม่ให้ไปสู่โลกที่ชั่ว บุคคลนั้นต้องเป็นผู้ทรงธรรมไว้ในใจเขาก่อนอย่างเพียงพอ โอ! มันเป็นอย่างนี้ ยิ่งคิดดูสภาพหยาบๆ ทั่วๆ ไป ก็เห็นได้อย่างชัดเจน

ตัวอย่างเช่น คนหัดสูบบุหรี่ คนหัดเคี้ยวหมาก ดื่มเหล้า เหล่านี้ ก่อนที่จะติดมัน ตกเป็นทาสของมันจนออกไม่ได้โงหัวไม่ขึ้นนั้น บุคคลนั้นต้องหัดสูบบุหรี่จนปวดหัว จนสำลักควันทั้งไอทั้งจาม หัดเคี้ยวหมากจนปากเปื่อยลิ้นเป็นแผล เพราะถูกปูนกัดจนกินข้าวลำบาก หัดกินเหล้าจนหน้าบิดหน้าเบี้ยว จนรากจนอาเจียนคลื่นเหียนเวียนเกล้า หัดไปหัดมาเลยติดมัน ไม่ลืมสูบ ไม่ลืมเคี้ยว ไม่ว่ากลางวันกลางคืน

โอ! นี้คือสภาพที่ “ทรง” กันไว้ เป็นหมากที่ทรงไว้ซึ่งผู้ทรงหมาก (ผู้เคี้ยวหมาก) จากการตกไปสู่การลืมเคี้ยวหมาก เป็นบุหรี่ที่ทรงไว้ซึ่งผู้ทรงบุหรี่ จากการตกไปสู่การลืมสูบบุหรี่ ลักษณะอาการเช่นนี้แหละหนอ คือความหมายของคำว่า “ธมฺโม กุโลกปตนา ตทธาริธารี เป็นธรรมทรงไว้ซึ่งผู้ทรงธรรม จากการตกไปสู่โลกที่ชั่ว” ก็เป็นเช่นนี้ นอกจากนี้แล้ว การทำวัตรสวดมนต์ยังทำให้เราดำรงไว้ซึ่งหลัก “คารวตา” อันเป็นเหตุให้ศาสนาตั้งมั่นยืนนานสืบต่อไป

การกราบไหว้ทุกเช้าทุกเย็นต่อพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์นั้น เป็นการแสดงออกถึงความเคารพต่อพระรัตนตรัยอย่างต่อเนื่องไม่ขาดสาย การสาธยายพร่ำพรรณนาถึงพระคุณและอานุภาพอันยิ่งยอดของพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ อย่างเข้าใจความหมายแล้ว ยิ่งเพิ่มพูนศรัทธาปสาทะ ความเชื่อ ความเลื่อมใส อันเป็นตัวกำลังให้ประกอบคุณงามความดี และคุณค่าของสิ่งทั้งหลาย

ถ้าเราไม่เคารพ ไม่ศรัทธาในสิ่งใด สิ่งนั้นก็จะหมดคุณค่าสำหรับเรา แม้สิ่งนั้นจะดีงามแค่ไหนก็ตาม เช่น พ่อแม่ พ่อแม่ก็หมดความหมายไร้คุณค่าสำหรับลูกคนนั้น ครูบาอาจารย์ผู้มีคุณต่อศิษย์แต่ศิษย์ขาดความเคารพและศรัทธาครูบาอาจารย์นั้นก็หมดความหมายไร้ค่าสิ้นประโยชน์

เช่น พระเทวทัตบวชอยู่กับพระพุทธเจ้า แต่ไม่ได้ประโยชน์อะไรเลย เพราะหมดศรัทธาต่อพระพุทธเจ้า อีกคนคือ สุนักขัตตะลิจฉวีบุตร บวชอยู่กับพระพุทธเจ้า เดินตามหลังพระพุทธเจ้าไป แต่ใจกลับหมดศรัทธา หมดความเคารพต่อพระพุทธเจ้า เมื่อเหลือบไปมองเห็นพวกนักบวชเปลือยคลานด้วยเข่า เอามือกอบกินอาหารเข้า ก็เกิดศรัทธานักบวชนอกศาสนาเหล่านั้น ทั้งๆ ที่ตนเองบวชเป็นภิกษุในพุทธศาสนา เดินตามหลังพระพุทธเจ้าอยู่แท้ๆ ต้องลาสิกขากับพระพุทธเจ้าแล้วไปบวชกับนักบวชนอกศาสนา เขาเลยไม่ได้ประโยชน์อะไรจากพระพุทธเจ้า ดูเอาเถิดท่านทั้งหลาย นั้นคือ ความไม่มีศรัทธา ไม่มีความเคารพก็หมดคุณค่า ไม่เห็นคุณค่า ไม่เห็นคุณ

หนุ่มชาวบ้านนอกคนหนึ่ง เคยทำไร่ทำนามาแต่อ้อนแต่ออก อยู่กับทุ่งนาป่าเขามาตลอด แต่พอวันหนึ่งเขาได้ไปในเมือง ไปพบกับแสงสีเสียง เครื่องยั่วย้อมมอมเมาจิตใจให้ใหลหลง เขาได้ดูหนังเรื่องหนึ่ง มันเป็นเรื่องราวเกี่ยวกับเด็กบ้านนอก หนีออกจากบ้านไปเผชิญโชคชะตาในเมืองหลวง จนได้รู้จักมักคุ้นกับคนในสังคมเมืองอย่างกว้างขวาง จนวันหนึ่งเขาได้ออกเดินทางไปทำงานต่างประเทศ ได้เงินเดือนเป็นหมื่นสองหมื่น ชีวิตผิดกันไกลลิบลับกับตอนที่อยู่บ้านนอกทำไร่ทำนา เขากลับบ้านพร้อมด้วยเงินก้อนโต ใช้จ่ายอย่างสะดวกสบาย

หลังจากนั้น เด็กหนุ่มชาวนาก็กลับมาบ้าน จิตใจเขาห่อเหี่ยวแห้งแล้ง คิดถึงสภาพสังคมเมือง คิดเห็นเรื่องราวในหนัง อยากจะเป็นเหมือนเด็กบ้านนอกคนนั้น คนที่ไปทำงานเมืองนอกนั้น ฝันใฝ่ละห้อยหาอนาคตอันสดใส ท่ามกลางความมืดมนในทุ่งกว้าง เขาหมดศรัทธาในการทำนา เขาอยากไปทำงานเมืองนอก เมื่อศรัทธาหมดมันก็หมดการกระทำ


(มีต่อ)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ต.ค. 2008, 20:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระเณรหมดศรัทธาในธรรมวินัยก็ลาสิกขา ข้าราชการหมดศรัทธาในตำแหน่งหน้าที่ก็ไม่เอาใจใส่ ทำไปวันๆ รอคอยให้หมดเวลา ไม่รับผิดชอบ หรือไม่ก็ลาออกเลย เมื่อหมดศรัทธาแล้วก็หมดความเคารพ เมื่อหมดความเคารพ ก็ไม่ต้องทำตาม เมื่อไม่ทำตามแล้ว ก็เหินห่างร้างราหรือเหยียบย่ำทำลายไปเลย

เช่น บางคนบวชเป็นมหา เล่าเรียนมาจากวัดจนได้เป็นเจ้าเป็นนาย แต่ไม่มีศรัทธา สึกออกมาแล้วไม่เข้าวัดเข้าวา เป็นหัวหน้าในการเหินห่างศาสนา คำว่าวัด คำว่าศาสนา ไม่มีในสำนึกของเขาเลย บางคนซ้ำร้ายไปกว่านั้นยอมขายตัวให้ศาสนาอื่น

นี้คือ วิกฤตการณ์ ที่เกิดจากความไม่มีศรัทธา ความไม่เคารพ ความสำคัญของศรัทธานี้มีมาก พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่า

สทฺธา พนฺธติ ปาเถยฺยํ ศรัทธารวบรวมไว้ซึ่งเสบียงหรืออาหารแห่งการกระทำทั้งปวง ถ้าหมดเสบียงแล้ว มันก็ไม่มีแรงทำอะไรเลย หมดแรง

สทฺธา สาธุ ปติฏฺฐิตา ศรัทธามีอยู่อย่างมั่นคงแล้ว ทำอะไรก็ให้สำเร็จ

จะปฏิบัติธรรมก็ต้องอาศัยศรัทธาเป็นกำลังเบื้องต้น ไม่หมดศรัทธา ก็ไม่หมดความเพียร เมื่อมีความเพียรอยู่ตลอด มันก็มีสติ เมื่อมีสติปรากฏ สมาธิก็ตั้งมั่น เมื่อสมาธิตั้งมั่น ก็เกิดปัญญา มันจะวิ่งตามกันมาเป็นพรวนเลย เป็นขบวนรถไฟ เมื่อหมดศรัทธามันก็หมดความเพียร มันก็ประมาทขาดสติ หมดสมาธิ ขาดปัญญา ศรัทธาจึงชื่อว่าเสบียงหรือกำลัง ความเสื่อมของศาสนาเริ่มต้นที่เสื่อมศรัทธา

พี่น้องชาวอิสลามมีความมั่นคงมากในศาสนา ศรัทธาต่อพระอัลเลาะห์ วันหนึ่งๆ ต้องไหว้ ต้องสลาห์วันละ ๕ ครั้ง ความร่ำรวยวัตถุอย่างมหาศาลในยุคเทคโนโลยี ถึงขนาดในประเทศซาอุดิอาระเบียกลางทะเลทรายอันอ้างว้าง ในท่ามกลางเปลวแดดอันแผดเผา บนดินขาดหญ้า... บนฟ้าขาดฝน แต่กลายเป็นชุมชนทุกชาติในค่ายเสรีกลายเป็นนครแห่งการแสวงหาด้วยอำนาจเงินตราเสน่ห์อัสสาทะวัตถุนิยม

ความเจริญด้วยโภคทรัพย์ถึงขนาดสายการบินในประเทศ เหมือนรถสองแถวบนเส้นทาง รพช. บ้านเรา ความเจริญอย่างรวดเร็วชนิดก้าวลงจากหลังอูฐกลางทะเลทราย โดดขึ้นนั่งจัมโบ้เจทติดแอร์เหินฟ้า เหมือนหลุดออกจากนรกแล้วขึ้นสวรรค์ แต่ถึงขนาดนั้นศรัทธาในพระอัลเลาะห์เจ้าก็ไม่ได้เสื่อมคลาย วิถีชีวิตของพี่น้องชาวมุสลิมทางด้านจิตใจยังมิได้เปลี่ยนแปลง ยังคงกราบไหว้วันละ ๕ ครั้งอยู่เป็นประจำ ไม่ว่าจะอยู่ในห้องแอร์ท่ามกลางมักตัป (สำนักงาน) หรือในรถเก๋งติดแอร์ ในแคมป์เลี้ยงอูฐ เลี้ยงแพะ ในร้านค้าซุปเปอร์มาเก็ต เขาจะหยุดทุกอย่างไว้ก่อนชั่วขณะ ยกเวลานั้นเพื่อพระผู้เป็นเจ้า

สถานีโทรทัศน์ วิทยุ ทุกแห่งทุกช่อง ต้องแพร่ภาพ ขยายเสียง ถ่ายทอดการไหว้ การสลาห์เหมือนกันหมด บริษัทใหญ่ๆ น้อยๆ ต้องมีสถานที่ละหมาด มัสยิดชั่วคราว (วัดชั่วคราว) ทุกแห่ง ตั้งแต่ผู้จัดการถึงกรรมกร ผู้นับถือศาสนาอิสลามต้องละหมาดสลาห์พร้อมกัน ทุกๆ ชีวิตเสมือนเครือญาติอันเดียวกัน ท่ามกลางอ้อมกอดแห่ง “อิสลามมิกธรรม” น่าสรรเสริญศรัทธายิ่ง เพราะเหตุนั้นแหละ ศาสนาอิสลามจึงมั่นคง เพราะเหตุแห่งศรัทธา ท่านทั้งหลายอย่าได้ไปหัวเราะเยาะหรือล้อเล่น

พระพุทธเจ้าท่านถือว่าสำคัญมาก ถึงขนาดว่า สทฺธา พนฺธติ ปาเถยฺยํ... ศรัทธารวบรวมไว้ซึ่งเสบียง คนโบราณปลูกฝังศรัทธาได้อย่างมั่นคง จนถึงขนาดว่า ฟังเทศน์พระเวสสันดรให้ครบคาถาพันในวันเดียว จึงจะได้เกิดทันพระศรีอาริย์ เก็บดอกบัวบูชาพระรัตนตรัยให้ได้ ๘๔,๐๐๐ ดอก จะเกิดทันพระศรีอริยะเมตตรัย

คิดดูเถิด... มันจะต้องใช้ศรัทธาสักขนาดไหน มันไม่ใช่เรื่องเล่นๆ ดอกบัว ๘๔,๐๐๐ ดอก จะต้องลุยตมลุยโคลนไปเก็บมาบูชา อาตมาว่าไม่ต้อง ๘๔,๐๐๐ ดอก สัก ๘,๐๐๐ ดอกนี้ก็ถึงโลกพระศรีอาริย์แน่

การฟังคาถาพันในพระเวสสันดรนั้นก็ต้องใช้ศรัทธาชนิดที่เรียกว่า มุทุปสันนา จิตใจอ่อนน้อมนิ่มนวล พร้อมที่จะทำดีได้ทุกประการนี้ มันทำชั่วไม่ได้หรอก ถ้าเปรียบเหมือนทองคำก็เป็นทองคำบริสุทธิ์ ต้มละลายแล้ว พร้อมจะหล่อหลอมเป็นอะไรก็ได้

ศรัทธาชนิดนี้แหละที่พ่อแม่ของเราได้มีมา ได้รับศาสนามาถึงเรา แต่พวกเราจะรักษาต่อไปได้ไหม ถ้าขาดศรัทธาแล้วมันรักษาไว้ไม่ได้หรอก มันหมดเสบียง พระพุทธเจ้าของเราท่านได้ตรัสไว้กับพระมหากัสสปะที่เชตวัน นครสาวัตถี มีข้อความตอนหนึ่งว่า ดูก่อน กัสสปะ ธาตุดินยังพระสัทธรรมให้เลือนหายไปไม่ได้ ธาตุน้ำ ธาตุไฟ ธาตุลม ก็ยังพระสัทธรรมนี้ให้เลือนหายไปไม่ได้ ที่แท้ โมฆบุรุษ ในโลกนี้ต่างหาก เกิดขึ้นมาก็ทำให้พระสัทธรรมนี้เลือนหายไป เปรียบเหมือนเรือจะล่มก็เพราะต้นหน นายท้าย คนแจวเรือ คนท้าย นั้นแหละทำให้ล่ม

ดูก่อน กัสสปะ เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการนี้ ย่อมเป็นเหตุให้พระสัทธรรมฟั่นเฟือนเลือนลางจางหายเสื่อมไป

เหตุฝ่ายต่ำ ๕ ประการอย่างไร คือ ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกา ในศาสนานี้ (ในธรรมวินัยนี้) ไม่เคารพยำเกรงในพระศาสดา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ เหตุ ๕ ประการนี้แหละ จะทำให้พระสัทธรรม ให้พระศาสนาฟั่นเฟือนเลือนลางจางหายไปในที่สุด

ตรงกันข้าม ถ้าหากพวกเราทั้งหลายยังเคารพยำเกรงต่อพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ ต่อสิกขาการปฏิบัติ ต่อสมาธิการฝึกจิตให้ยิ่งอยู่ พระศาสนาก็ยังตั้งมั่น ไม่ฟั่นเฟือนเลือนลางจางหายเสื่อมไป มั่นคงตลอดไป (แปลตามสบายจากสัทธัมมปฏิรูปกสูตร สํ. นิ. ๑๖/๕๓๓-๕๓๔-๕๓๕/๒๖๔ พระไตรปิฎก บาลีสยามรัฐ)

คิดดูเถิด บุคคลผู้ที่ยังเคารพพระศาสดา พระธรรม พระสงฆ์ การศึกษา การฝึกฝนจิตในสมาธินั้น คือคนที่มีศรัทธา ถ้าขาดศรัทธาแล้วความเคารพจะมีมาจากไหน จะมีได้อย่างไร

เดี๋ยวนี้พวกเราบางคน แม้จะบวชอยู่ในวัดก็ไม่มีศรัทธาในพระศาสนา ในพระธรรม ในพระสงฆ์ ในสิกขา ในสมาธิ ก็มี ถึงขนาดแสดงออกมาทางวาจาว่า หมดสมัยแห่งมรรคผลนิพพาน หนักๆ เข้าประมาทว่า ไม่ศรัทธาในกัมมัฏฐาน ในสมาธิ

คนชนิดนี้แหละที่พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่า “โมฆบุรุษ” คนว่างจากแก่นสาร พวกเรากำลังเป็นอย่างนี้กันมากขึ้น เพราะขาดศรัทธา เพราะเหตุนั้นคำถามที่ว่า ทำไมจึงต้องทำวัตรเช้า-เย็น ? ก็เพราะเหตุดังกล่าวมาแล้วในเบื้องต้นนั้นเอง

ทำวัตรเพื่ออะไร ?

๑. เพื่อปลูกฝังศรัทธาทุกเมื่อ ที่กราบลงต่อหน้าพระพุทธรูปนั้น ทำความรู้สึกเสมือนหนึ่งว่าเรานั่งอยู่ต่อหน้าพระพุทธเจ้า กำลังเข้าเฝ้าทางกาย เปล่งวาจาสรรเสริญพระพุทธคุณ เหมือนเข้าเฝ้าด้วยวาจา ในขณะเดียวกันความคิดวิตกไปทางชั่วต่อเบื้องหน้าพระพักตร์ของพระองค์ มันเป็นความสกปรก ความปรารถนาอันลามกเช่นนั้นไม่สมควรอย่างยิ่ง

เราจึงต้องตั้งใจกราบไหว้เปล่งวาจาออกมา พร้อมศรัทธาปสาทะ สติสัมปชัญญะ สมาธิ ปัญญามีพร้อม ถ้าขาดสมาธิมันก็หลงๆ ลืมๆ ตั้งนะโม ๒ หนบ้าง ๔ หนบ้างก็มี พูดผิดๆ ถูกๆ เลอะเทอะเปรอะเปื้อนไปหมด กราบ ๒ หน ๓ หน ๔ หนก็มี จิตใจในขณะไหว้พระทำวัตรนั้น จะต้องสะอาดด้วยศีล สงบระงับด้วยสมาธิ สว่างไสวด้วยสติปัญญา ศีล สมาธิ ปัญญา มีพร้อมในขณะนั้น เป็นอันว่าเพื่อการเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าด้วยกาย วาจา ใจ ทุกเมื่อ ปลูกฝังศรัทธาเคารพพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ สิกขา (การปฏิบัติ) และสมาธิ ทุกเมื่อ

๒. ทำวัตรเพื่อบริหารสมอง กำหนดจดจำ ท่องบ่น สาธยายบทพระธรรมให้คล่องปากเจนใจ อันจะนำไปสู่ปัญญาหลังจากใคร่ครวญอย่างละเอียดถี่ถ้วนในใจทุกขณะ อันเป็นเหตุแห่งการหลุดพ้นประการหนึ่งในจำนวน ๕ ประการ

๓. เพื่อเป็นการเข้าโรงเรียน เรียนภาษาบาลีแปลไปในตัว เป็นการเจริญปัญญาบารมีไปในตัว

๔. เพื่อเป็นการฝึกสมาธิหมู่ เช้า-เย็น เจริญพุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ อบรมจิตใจให้มีสมาธิอยู่เสมอ เวลาได้สติสัมปชัญญะ สมาธิมีพร้อมกันทั้งหมู่คณะ การสวดพร้อมเพรียงกันกังวานนิ่มนวล ชวนให้เกิดศรัทธาปสาทะยิ่งนัก

๕. เพื่อเป็นการสอบทานตัวเอง ทบทวนตักเตือนตนเองอยู่ตลอดไปว่า เราเป็นพระสงฆ์ที่ปฏิบัติดี สุปฏิปนฺโน ปฏิบัติตรง อุชุปฏิปนฺโน ปฏิบัติสมควรแก่การกราบไหว้แล้วหรือยัง ? สมควรแก่การจะพ้นจากทุกข์หรือยัง ? สมควรรับของบูชาหรือยัง ? สมควรรับของชาวบ้านหรือไม่ ? สอบถามตัวเองบ่อยๆ อย่างนี้

ทำโดยวิธีใดไม่น่าจะเป็นปัญหา เมื่อพูดมาถึงขั้นตอนนี้แล้ว แต่ก็ควรทำความเข้าใจให้ยิ่งขึ้นว่าจะทำโดยวิธีใด

ตามปรกติตั้งแต่โบราณกาลมาเราเคย ทำวัตร กันแต่ภาษาบาลี สวดกันไปโดยไม่รู้ความหมาย แต่ถึงขนาดนั้นก็ยังช่วยให้เกิดศรัทธา รักษาศาสนาให้ตกมาถึงเราจนบัดนี้ ถ้าเราทำวัตรกันโดยแปลเป็นภาษาไทยไปพร้อมกับภาษาบาลี ก็ยิ่งจะทำให้เกิดศรัทธาและปัญญาไปพร้อมกัน อันจะก่อให้เกิดความเข้าอกเข้าใจเป็นสัมมาทิฏฐิ อันจะนำไปสู่มรรค ผล นิพพาน ในที่สุด เพราะฉะนั้น การทำวัตรสวดมนต์จึงมีอานิสงส์มากมายมหาศาล

ถ้าหากจะให้มีประโยชน์ยิ่งขึ้น ถ้าอยู่กันเป็นหมู่คณะมากๆ เมื่อสัญญานระฆังดังขึ้นก็รีบมารวมกันด้วยอาการสงบ ใครมาถึงก่อนก็นั่งสมาธิคอยก่อน ใครมาทีหลังก็ค่อยเถิบเลี่ยงเข้ามานั่งประจำที่ด้วยความเคารพ โดยไม่ทำให้เกิดเสียงที่จะเกิดอาการรบกวนเพื่อนฝูง พร้อมกันนั่งสมาธิก่อนอย่างน้อย ๑ ชั่วโมง หรือ ๒ ชั่วโมง หลังจากนั้นจึงสวดมนต์ทำวัตร ขณะที่จิตสงบอยู่เช่นนั้น ถ้อยคำที่เปล่งออกมาด้วยจิตที่สงบระงับ จะไพเราะซาบซึ้งในความหมายด้วยปีติปราโมทย์ จนขนลุกน้ำตาไหลซึมด้วยความปราโมทย์ อิ่มเอิบซาบซ่านด้วยปีติ

ถ้าทำได้อย่างนี้นับวันแต่จะเจริญในธรรมวินัย ในศาสนา เป็นบุญวาสนาของผู้ได้เข้าใกล้ได้พบเห็นอีกด้วย เพราะเหตุนั้นแหละการทำวัตรจึงจำเป็นต้องทำกันอย่างต่อเนื่อง ไม่ควรทำเล่นๆ ควรทำด้วยความเคารพทุกเช้า-ค่ำ ไม่ใช่ทำแต่ในพรรษาเท่านั้น จะต้องทำตลอด เพราะนั้นคือกิจวัตรที่ทำประจำทั้งในพรรษาและนอกพรรษา

หากบุญกุศลอันใดอันจะพึงเกิดขึ้นจากการเทศนาธรรมในครั้งนี้ ขอให้บุญกุศลส่วนนี้แผ่ไพศาลไปสู่เทพเจ้าเหล่ามนุษย์และปวงสรรพสัตว์ เพื่อนร่วมทุกข์ เกิด แก่ เจ็บ ตาย ทั้งหลายทุกถ้วนหน้า ขอพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าจงสถิตสถาพรจีรังยั่งยืนอยู่ในโลกนี้ชั่วกาลนานเทอญ.


:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...
หนังสือสวดมนต์-ไหว้พระ-สาธยายธรรม (แปล)
ธรรมานุสรณ์แด่พระอาจารย์สุโข กตปุญโญ

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=28&t=20792

:b44: รวมกระทู้เกี่ยวกับ “การสวดมนต์”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=1&t=44099

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19971

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=59736

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ต.ค. 2008, 20:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19971

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=59736

:b44: ศึกษาบทบาทและผลงานในการเผยแผ่พระพุทธศาสนา
ของพระอาจารย์สมภพ โชติปญฺโญ

A STUDY OF THE ROLE AND WORKS OF VEN. PHRASOMPOB
JOTIPÃÑNO IN PROPAGATION OF BUDDHISM.

http://education.mcu.ac.th/userfiles/fi ... 254913.pdf

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ก.ค. 2009, 00:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.ค. 2009, 21:32
โพสต์: 82

ที่อยู่: นครศรีธรรมราช

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b8: อยากให้ญาติธรรมทุกท่านร่วมกันสวดมนต์กันให้มากๆค่ะ :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ก.ค. 2011, 04:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 29 ธ.ค. 2010, 08:25
โพสต์: 326


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b40: :b40: :b40: สวดทุกวันค่ะ ทำวัตรเช้า ทำวัตรเย็น มองเห็นแสงแห่งธรรม :b44: :b44: :b44: :b42: :b42: :b42:

.....................................................
สุดปลายฟ้า... เชื่อมั่นและสัทธาในพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์ ผู้รู้แจ้ง เห็นจริง ยึดถือพระองค์เป็นสรณะ อย่างไม่มีสิ่งใดเหนือกว่า


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ก.พ. 2013, 18:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 ม.ค. 2010, 13:41
โพสต์: 57

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: สุภาษิตชี้ทางแห่งความสุข
สมณะเหล่าใดเป็นผู้กล่าวธรรมอันวิจิตร เป็นพหูสูต มีปกติอยู่ใน
เมืองปาฏลีบุตร ท่านขุชชโสภิตะซึ่งยืนอยู่ที่ประตูถ้ำนี้ เป็นสมณะผู้หนึ่ง
ในจำนวนสมณะเหล่านั้น สมณะเหล่าใดเป็นผู้กล่าวธรรมวิจิตร เป็น
พหูสูต มีปกติอยู่ในเมืองปาฏลีบุตร ท่านผู้มาด้วยกำลังฤทธิ์ดังลมพัด
ยืนอยู่ที่ประตูถ้ำนี้ ก็เป็นสมณะผู้หนึ่งในจำนวนสมณะเหล่านั้น ขุชช-
โสภิตภิกษุนี้ ได้รับความสุขด้วยการประกอบดี การบูชาดี การชนะ
สงคราม และการประพฤติพรหมจรรย์เนืองๆ.
:b8: :b8: :b8: สุภาษิตสรรเสริญรสพระธรรม
เราพึงธรรมมีรสอันประเสริฐ ของพระผู้มีพระภาคผู้เป็นพระมหาสมณะ
ได้ดำเนินไปสู่ทางอันพระพุทธเจ้าผู้มีญาณอันประเสริฐ กล่าว คือ ความ
เป็นผู้รู้ธรรมทั้งปวง ทรงแสดงไว้แล้ว เพื่อบรรลุอมตธรรม พระผู้มี
พระภาคพระองค์นั้น ทรงเป็นผู้ฉลาดในทางอันเกษมจากโยคะ.
:b8: :b8: :b8: สุภาษิตเกี่ยวกับการพบเห็นคนดี
การเห็นสัตบุรุษทั้งหลายผู้เพรียบพร้อมด้วยศีลาทิคุณ ย่อมยังประโยชน์
ให้สำเร็จ เป็นเหตุตัดความสงสัยเสียได้ ทำความรู้ให้เจริญงอกงาม
สัตบุรุษทั้งหลาย ย่อมกระทำพาลชนให้เป็นบัณฑิตได้ เพราะฉะนั้น
การสมาคมกับสัตบุรุษ จึงยังประโยชน์ให้สำเร็จได้.
เทศนาของท่านพระอาจารย์สมภพนั้นไพเราะ เสนาะมาก โดยช่วงแรกๆนั้นผมได้ดาวน์โหลดเทศนาmp.3 มาฟัง หากท่านใดยังไม่เคยปฏิบัติ ผมขอแนะนำให้ไปหาเทศนาเรื่อง สติปัฏฐาน ๔ของท่านมาฟังนะครับ ฟังอย่าฟังเปล่า อย่าฟังทิ้งฟังขว้างนะครับ ฟังแล้วให้ใช้จิตใจน้อมเข้าไปด้วย ในเทศนาของท่านนั้น เราจะพบปฏิปทา ที่เหล่าอริยสาวกทั้งปวงได้เดินผ่าน ท่านคือพระอาจารย์ทางจิตของผมด้วยครับ และประพฤติปฏิบัติไปด้วยเกล้ากระผมไม่เคยพบเจอท่านมาก่อนเลย ได้สดับแต่เสียงเทศน์ของท่าน จนกระทั่งเกิดศรัทธาอันหยั่งลึก จนไม่ง่อนแง่นคลอนแคลนในพระรัตนไตร
:b8: :b8: :b8: สุภาษิตเกี่ยวกับความดี
การฟัง เป็นความดี ความประพฤติมักน้อย เป็นความดี การอยู่โดย
ไม่มีห่วงใยเป็นความดีทุกเมื่อ การถามสิ่งที่เป็นประโยชน์เป็นความดี
การทำตามโอวาทโดยเคารพ เป็นความดี กิจมีการฟังเป็นต้นนี้
เป็นเครื่องสงบของผู้ไม่มีกังวล. :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2018, 15:46 
 
ออฟไลน์
สมาชิกใหม่
สมาชิกใหม่
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มิ.ย. 2018, 15:59
โพสต์: 2

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หลายคนถือเอาบทสวด การทำวัตร-สวดมนต์ ของพระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ มาสวดทุกวันเช้าเย็น ซึ่งฉันอีกคนที่เอาบทสวด พระอาจารย์สมภพ โชติปัญโญ มาสวด


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ม.ค. 2019, 08:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร