วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 07:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=28



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ก.พ. 2013, 09:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

พระธรรมโอวาท
ของ
พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิเถร ป.ธ.๙)
อดีตอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนาธุระ วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษดิ์

------------

ความมุ่งหมายของการฟังธรรม

ความมุ่งหมายของการฟังธรรมนั้น มีอยู่ ๕ ประการ คือ

ฟังธรรมเอาบุญ
ฟังธรรมเอาความรู้
ฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย
ฟังธรรมเพื่อปฏิบัติ
ฟังธรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญ


๑. ฟังธรรมเอาบุญ หมายความว่า ฟังธรรมแล้วได้บุญ บุญแปลว่า ชำระ คือ ชำระกายวาจาใจให้สะอาด เพราะกายวาจาใจของคนเราเปื้อนบาป จึงจำเป็นต้องชำระด้วยน้ำ คือ บุญ ดุจชำระเสื้อผ้าที่สกปรกด้วยผงซักฟอกฉะนั้น บาปนั้นมีอยู่ ๓ ขั้น คือ บาปอย่างหยาบ ๑ บาปอย่างกลาง ๑ บาปอย่างละเอียด ๑

บาปอย่างหยาบ คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ล่วงออกมาทางกาย เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดประเวณี และล่วงออกมาทางวาจา เช่น พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ เป็นต้น ต้องชำระด้วยบุญขั้นต้นคือ ศีล

บาปอย่างกลาง คือ นิวรณ์ทั้ง ๕ ได้แก่ กามฉันทะ พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ ๑ พยาบาท ใจโกรธ ใจขุ่น ๑ ถีนมิทธะ ง่วงเหงาหาวนอน ๑ อุทธัจจะกุกกุจจะ ฟุ้งซ่านรำคาญ ๑ วิจิกิจฉา สงสัยลังเลใจ ๑ บาปทั้ง ๕ นี้ ต้องชำระด้วยบุญอย่างกลาง คือ สมาธิ

บาปอย่างละเอียด คือ อนุสัย ได้แก่กิเลสที่นอนดองอยู่ในใจ ดุจขี้ตะกอนอยู่ก้นตุ่มฉะนั้น มีอยู่ ๑๒ ตัว คือโลภะ ๘ โทสะ ๒ โมหะ ๒ อันเป็นส่วนละเอียดติดมาแต่ภพก่อนชาติก่อน ต้องชำระด้วยบุญขั้นละเอียด คือ วิปัสสนาปัญญา

ในขณะที่ท่านทั้งหลายกำลังฟังธรรมอยู่ในขณะนี้ กายกรรม ๓ วจีกรรม ๔ ของแต่ละท่านก็บริสุทธิ์เพราะอำนาจแห่งศีล ศีลแปลว่ารักษากายวาจาให้เรียบร้อย ศีลนี่แหละเป็นบุญขั้นต้น เป็นที่พึ่งเบื้องต้น เป็นแม่ของคุณงามความดีทั้งหลาย และเป็นประมุขของกุศลธรรมทั้งปวง จะฟังรู้เรื่องหรือไม่รู้เรื่องก็ตาม ถ้าตั้งใจฟังแล้วได้บุญทั้งนั้น เพราะจิตดวงนี้เป็นมหากุศล ถ้าตายลงในขณะนี้ก็มีผลให้ไปมนุษย์ก็ได้ ไปเกิดสวรรค์ก็ได้ เช่น แม่ไก่ฟังธรรมถูกฆ่าตาย ได้ไปเกิดเป็นพระราชธิดา กบฟังธรรมถูกฆ่าตายได้ไปเกิดเป็นเทพบุตรชื่อว่า มัณฑูกเทพบุตร ค้างคาว ๕๐๐ ตัว ฟังพระอภิธรรม ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ ผลสุดท้ายได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ ได้ออกบวชเป็นพระ ได้ฟังพระอภิธรรม ก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ทั้งหมด อย่างนี้เรียกว่า ฟังเอาบุญ


๒. ฟังธรรมเอาความรู้ หมายความว่า ฟังแล้วต้องจำได้ ใครจำได้มากเท่าไร ก็เป็นความรู้ของคนนั้น ถ้าจำไม่ได้ต้องจดไว้ บันทึกไว้ หรืออัดใส่เทปไว้ เปิดฟังบ่อยๆ ฟังจนจำได้ สมดังคำโบราณท่านสอนลูกหลานไว้ว่า “เห็นแล้วจดไว้ ทำให้แม่นยำ เหมือนทราบแล้วจำ ไว้ได้ทั้งมวล เมื่อหลงลืมไป จักได้สอบสวน คงไม่แปรปรวน จากที่จดลง”

๓. ฟังธรรมเพื่อเป็นอุปนิสัย หมายความว่า ในขณะที่ฟังอยู่นั้น ได้ยินบ้างไม่ได้ยินบ้าง มีเสียงอื่นรบกวน ทำให้หนวกหูบ้าง ง่วงนอนบ้าง กำลังทำกิจอย่างอื่น เช่น ล้างถ้วยล้างชามบ้าง โขลกหมากบ้าง ถึงอย่างนั้นก็ยังเป็นบุญอยู่ ตัวอย่าง ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่า กัสสปะ งูเหลือมตัวหนึ่งได้ยินเสียงพระนักอภิธรรมกำลังท่องอายตนะกถาอยู่ ถือเอานิมิตในเสียงนั้น ตายแล้วได้ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เมื่อพระพุทธเจ้าของเราปรินิพพานแล้ว ได้มาบังเกิดในตระกูลพราหมณ์ ออกบวชเป็นอาชีวกชื่อว่า ชนะโสณะ ได้ฟังธรรมย่อๆในหัวข้อว่า "อายตนะ" จากพระอุปคุตตเถระ ก็เกิดความเลื่อมใสอย่างแก่กล้า ขอบวชเป็นพระในพระพุทธศาสนา เรียนพระกรรมฐาน เจริญวิปัสสนา จนได้บรรลุมรรคผลนิพพานเป็นพระอรหันต์

๔. ฟังธรรมเพื่อปฏิบัติ หมายความได้ ๒ อย่าง คือ ฟังแล้วจำไว้ มีโอกาสเมื่อใดก็นำไปปฏิบัติได้เมื่อนั้น นี้อย่างหนึ่ง ถ้าเป็นนักปฏิบัติวิปัสสนา สามารถฟังไปปฏิบัติไปพร้อมกันได้เลย เพราะในขณะที่ได้ยินเสียงพระแสดงธรรมอยู่นั้น ขันธ์ ๕ เกิดแล้ว อารมณ์ของวิปัสสนาเกิดแล้ว คือเสียงกับหูเป็นรูปขันธ์ ได้ยินเสียงธรรมะแล้วสบายใจ เป็นเวทนาขันธ์ จำได้เป็นสัญญาขันธ์ แต่งให้เห็นว่าดีหรือไม่ดีเป็นสังขารขันธ์ ได้ยินเป็นวิญญาณขันธ์ ย่อให้สั้นๆก็ได้แก่รูปกับนาม รูปนามนี้แหละเป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ดังนั้น นักปฏิบัติวิปัสสนาจึงลงมือปฏิบัติได้ทันที โดยตั้งสติไว้ที่หู ตัวอย่าง พาหิยะทารุจีริยะ ได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าที่ตรัสว่า “ได้ยินก็สักว่าแค่ได้ยิน” ไม่ช้าท่านก็ได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์

๕. ฟังธรรมเพื่ออุทิศส่วนบุญ หมายความว่า เราตั้งใจฟังธรรมได้บุญแล้ว ก็อุทิศส่วนบุญนั้นให้แก่ บิดามารดา ครู อาจารย์ ท่านผู้มีบุญคุณ ท่านผู้มีพระคุณ.


พระธรรมเทศนาอริยธนกถา โดย พระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ) วัดมหาธาตุยุวราชรังสฤษฏิ์ กรุงเทพมหานคร ๒๕๒๔, อนุสรณ์ คุณหญิงเจือ นครราชเสนี

-------------


ประวัติและปฏิปทาพระธรรมธีรราชมหามุนี (โชดก ญาณสิทธิ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=19975

.....................................................
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ส.ค. 2013, 12:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ประโยชน์ของการฟังธรรม

ธรรมบรรยายโดย
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)


การฟังธรรมเปรียบเสมือนการสร้างถ้ำให้แก่จิตใจ แต่บางท่านไม่สนใจฟังธรรม ถ้าท่านสร้างถ้ำไว้ในจิตใจอยู่ด้วยความสงบ ฟังไปก็เกิดความรู้ ความดี มีพลังและปัญญา แต่บางคนก็ไม่อยากฟัง มันใกล้ชิดกันเกินไป เหมือนสัปเหร่ออยู่ใกล้ผี ชีอยู่ใกล้พระ ใกล้เกลือกินด่าง

การฟังธรรมนั้นก็ยากเพราะในทุกวันนี้ไม่ค่อยสนใจฟังธรรมชักเท่าไร วันพระเราควรควรจะมาพบพระสักวันหนึ่งเพราะจิตใจท่านจะประเสริฐในการพบพระ ในการปฏิบัติหน้าที่ของท่าน โดยเฉพาะในกรอบของสติสัมปชัญญะ ธรรมะที่พระพุทธเจ้าสอนคือสติสัมปชัญญะ บางคนขาดสติมากต้องมาเข้าวัดฟังธรรมเสียบ้าง

อานิสงส์หรือผลดีอันเกิดจากการฟังนั้น มีประโยชน์มากมายหลายสถาน เช่น
1. ทำให้ได้ฟังเรื่องใหม่ ฟังเรื่องที่ไม่เคยได้ยินไม่เคยได้ฟังมาก่อน
2. ได้ใส่ใจในเรื่องเก่า ทบทวนหวนคิดถึงอดีตชีวิตที่ผ่านมา ศรัทธาฟังสนใจฟัง ทบทวน จดหัวข้อ ปฏิบัติทันทีอย่ารอรีแต่ประการใด
3. บรรเทาความกังขา ปิดประตูความกังวล สงสัยเสียได้
4. เป็นสัมมาทิฐิ ไม่เข้าใจสิ่งใดในทางที่ผิด
5. มีสติมั่นคง มีสติดี จริตไม่แปรปรวนทวนกระแส

สิ่งสำคัญที่สุด การฟังต้องมีหลัก 3 ประการ คือ 1. ตั้งใจฟัง 2. ตั้งใจทำ 3. นำไปปฏิบัติ ท่านจะได้ประโยชน์โสตถิผลของท่านโดยเฉพาะ แต่บางคนก็ไม่ตั้งใจฟัง ไม่ตั้งใจปฏิบัติ จำได้บ้างไม่ได้บ้างก็ทิ้งไป ถ้าฟังได้ประโยชน์โทษไม่มี ฟังดีย่อมเกิดปัญญา บางคนฟังได้ บางคนก็ฟังเสียเอาดีไม่ได้ แล้วแต่ทัศนคติในการฟังว่าจะเป็นไปในทางใด เช่น

1. ฟังเล่น บางเรื่องไม่จริงจัง สักแต่ว่าฟัง หรือฟังแบบเสียไม่ได้ ก็ฟังส่งเดชไปอย่างนี้ ไม่ได้เรื่องได้ราว
2. ฟังลอง เป็นการฟังเพื่อเปรียบเทียบลองดู ลองความรู้ ลองพื้นความรู้และลองภูมิว่าผู้นี้จะสู้ผู้นั้นได้หรือไม่ หรือใครจะเก่งกว่ากัน
3. ฟังเอาเรื่อง พระสงฆ์จะได้สาระ หรืออรรถรสแห่งธรรมและข้อปฏิบัตินั้น
4. ฟังหาเรื่อง เป็นการฟังเพื่อจับผิด ฟังด้วยจิตเป็นอกุศล ไม่ได้สนใจในการฟังแต่ประการใด จิตเป็นอกุศลกรรม คนนั้นจะดีไม่ได้แน่นอน
5. ฟังไม่รู้เรื่อง ฟังไปหลับไป หรือคุยกัน ผลสุดท้ายไม่รู้เรื่อง จำไม่ได้ และไม่รู้จะเอาอะไรเป็นข้อปฏิบัติ

ผู้ที่ฟังธรรมผลได้จะไม่เท่ากัน บางคนตั้งแต่ต้นกำหนดจดจำนำไปปฏิบัติแน่นอน บางคนก็สับสนชนปลายไม่เข้าใจในการฟัง นี่แหละท่านใช่ว่าจะเข้าใจกันทุกคน ไม่ใช่รู้ทุกคน ต้องหมั่นฟัง หมั่นจำ หมั่นจดหมั่นจำ สิ่งใดงามอย่าได้งด หมั่นจดหมั่นจำเป็นตำรา เอาตาชั่งขึ้นมาดู เอาตราชูขึ้นมาชั่ง ไม่ใช่ฟังแล้วทิ้งไปเลยไม่ได้เรื่อง


จากหนังสือเรื่องพุทโธโลยี ธรรมบรรยายโดย พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชสุทธิญาณมงคล

.....................................................
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ส.ค. 2013, 12:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 มิ.ย. 2011, 10:18
โพสต์: 590

โฮมเพจ: www.bhuddhakhun.blogspot.com
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการ
โดย อาจารย์สนั่น กรรณวัฒน์


ปญฺจิเม ภิกฺขเว อานิสํสา ธมฺมสฺสวเน

กตเม ปญฺจ อสฺสุตํ สุณาติ สุตํ ปริโยทเปติ

กงฺจํ วิหนติ ทิฏฺฐึ อุชุ กโรติ จิตมฺส ปสึทติ

อิเม โข ภิกฺเว ปญฺจ อานิสํสา ธมฺมสฺสวเนติ


ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการเป็นไฉน?

คือ ผู้ฟังย่อมได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟัง ๑

ย่อมเข้าใจชัดสิ่งที่ได้ฟังแล้ว ๑

ย่อมบรรเทาความสงสัยเสียได้ ๑

ย่อมทำความเห็นให้ตรง ๑

จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส ๑

ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานิสงส์ในการฟังธรรม ๕ ประการนี้แล

การฟังธรรม นี้ดี มีอานิสงส์

ให้เห็นตรง เห็นชัด ตัดสงสัย

จึงควรที่ จะได้ฟัง อย่างตั้งใจ

ก็จะได้ ความดี มีแก่ตน

สิ่งใด ไม่เคยฟัง จะได้ฟัง

ขอให้นั่ง ตั้งใจรับ อย่าสับสน

จิตผ่องใส ได้ปัญญา มิมืดมน

ทำให้พ้น จากความทุกข์ ถึงสุขเอย

คำว่า "ธรรม" ในที่นี้ คือ คำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ท่านแสดงอานิสงส์ คือผลดีของการฟังธรรมไว้ ๕ ประการ คือ

๑. ได้ฟังสิ่งที่ไม่เคยฟัง เมื่อเราได้เกิดมาแล้ว ย่อมได้ฟังเรื่องราวต่างๆมามากมาย แต่เรื่องเหล่านั้นมิใช่คำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า ฉะนั้น เมื่อได้โอกาสฟังธรรมที่มีบุคคลนำคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้ามาแสดง จึงนับว่าได้ฟังสิ่งที่ยังไม่เคยฟังพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้านั้นที่มิได้มีอยู่เป็นประจำ จะมีโอกาสบางครั้งเท่านั้น พระพุทธเจ้า และพระธรรม เป็นของหาได้ยากในโลก ดังธรรมภาษิตว่า "กิจฺโฉ พุทฺธธานมุปฺปาโท การเกิดขึ้นของพระพุทธเจ้าเป็นการยาก กิจฺฉํ สทฺธมฺมสฺสวนํ การฟังธรรมเป็นการหาได้ยาก"

ก็กาลเวลาที่ยาวนานที่เรียกว่า "มหากัป" นั้น มหากัปส่วนมากจะว่างจากพระพุทธเจ้า เมื่อไม่มีพระพุทธเจ้าแล้ว พระธรรมอันเป็นคำสั่งสอนของพระองค์ก็จะไม่มี และพระอริยสงส์ที่รู้ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าก็จะไม่มีด้วย ท่านกล่าวว่า เวลา ๔ อสงไขย ๑ แสนมหากัปที่ผ่านมา มีพระพุทธเจ้าเพียง ๒๕ พระองค์เท่านั้น

๒. ย่อมเข้าใจชัดในสิ่งที่ฟังแล้ว หมายความว่าการฟังธรรมนั้น หากฟังครั้งแรกยังไม่เข้าใจ หรือเข้าใจยังไม่ชัดเจน เมื่อได้ฟังซ้ำอีก ก็จะทำให้เกิดความเข้าใจ และเข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้น และเพื่อมิให้ลืมเลือนไป เพราะพระธรรมคำสอนของพระพุทธองค์นั้นมีมาก พระองค์แสดงธรรมอยู่ถึง ๔๕ พรรษา มีพระธรรมขันธ์ถึง ๘๔,๐๐๐ ทุกวันนี้ได้บันทึกไว้ในหนังสือเป็นภาษาบาลี ๔๕ เล่ม สำหรับฉบับที่แปลเป็นภาษาไทย รวมถึงอรรถกถาด้วยจะมีถึง ๙๑ เล่ม ฉะนั้น ฉะนั้น เมื่อต้องการจะรู้ธรรมให้มากที่เรียกว่าพหูสูตรนั้น ก็จะต้องอาศัยการฟังให้มากเป็นสำคัญ

๓. บรรเทาความสงสัย ความสงสัยเมื่อเกิดขึ้นแล้ว ทำให้ไม่แน่ใจว่า สิ่งนี้เป๋นความดีหรือชั่ว ควรทำหรือไม่ควรทำ เป็นต้น ความสงสัยเป็นความไม่ดีอย่างหนึ่ง สมควรที่จะต้องทำให้หมดไป จะหมดไปก็ด้วยการฟังธรรมนี้เอง

๔. ทำให้มีความเห็นตรง เห็นตรงคือตรงกับความจริง เพราะธรรมของพระพุทธเจ้านั้นเป็นความจริง ที่เรียกว่า "สัจจะและอัตถะ" มีประโยชน์ อานิสงส์ข้อนี้ คือทำให้มีปัญญารู้ในเรื่องกรรม เรียกว่ากัมมัสสกตาปัญญา รู้นามรูป เรียกว่าวิปัสสนาปัญญา เป็นต้น

แต่ความรู้หรือปัญญามีหลายระดับ ระดับต้นเรียกว่าความรู้ในขั้น "ปริยัติ" การศึกษาเล่าเรียนในขั้นที่สูงขึ้นไป คือรู้ในการ "ปฏิบัติ" และที่สูงสุดเป็นความรู้ที่เป็นผลของการปฏิบัติ คือ "ปฏิเวธ" ได้แก่ การบรรลุมรรค ผล นิพพาน

แต่ถ้ารู้แล้วไม่ปฏิบัติ ธรรมก็จะไม่รักษาผู้นั้น เพราะธรรมจะรักษาแต่ผู้ที่ปฏิบัติเท่านั้น ดังธรรมภาษิตว่า "ธมฺโม หเวรกฺขติ ธมฺมจาริ ธรรมย่อมรักษาผู้ปฏิบัติธรรม"

๕. จิตของผู้ฟังย่อมผ่องใส ความผ่องใสของจิตนี้ มีความสำคัญอย่างยิ่ง จิตผ่องใสปราศจากกิเลสหรืออกุศล อกุศลมูล ๓ คือโลภะ โมหะ โทสะ เมื่อกิเลสเหล่านี้เกิดขึ้นแล้วก็จะเป็นเหตุให้ทำความชั่วทางกาย วาจา เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ เป็นต้น และจะส่งผลให้ไปเกิดในอบายภูมิ ๔ มีนรก สัตว์เดรัจฉาน เป็นต้น และจะได้รับผลเป็นความทุกข์ต่างๆอีกมากมาย

สำหรับจิตที่ผ่องใสมีลักษณะตรงข้ามกับจิตที่เศร้าหมองคือมี อโลภะ อโทสะ อโมหะ เป็นมูล เมื่อจิตมีความผ่องใส การกระทำทางกาย วาจาก็จะดี ไม่ฆ่าสัตว์ ไม่ลักทรัพย์ เป็นต้น มีการทำบุญให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา และจะส่งผลให้ได้รับความสุขในชาตินี้และชาติหน้า และแม้ว่าตนยังไม่หมดกิเลส ก็จะเป็นเหตุให้ไปเกิดในสุคติภูมิ เกิดเป็นมนุษย์และเทวดา

ฉะนั้น เมื่อพุทธบริษัททั้งหลาย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ได้ฟังธรรมและปฏิธรรมแล้ว ก็จะได้รับอานิสงส์ ๕ ประการ ตามที่พระพุทธองค์ได้ทรงแสดงมาแล้วอย่างแน่แท้


จากหนังสือปัญญาสาร โดยอาจารย์สนั่น กรรณวัฒน์

.....................................................
รูปภาพ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ส.ค. 2013, 14:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอขอบคุณและขออนุโมทนาค่ะท่าน พุทธคุณ
ติดตามผลงานมาตลอด :b8: บทความทั้งสามทรงคุณค่ามากคะ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร