วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 21:44  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


- สถานที่ปฏิบัติธรรม
แนะนำรายชื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั่วประเทศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=9

- รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=30



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 พ.ค. 2015, 23:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


ศีลบารมี
พระธรรมเทศนาโดย...หลวงปู่ฝั้น อาจาโร
วัดป่าอุดมสมพร อำเภอพรรณานิคม จังหวัดสกลนคร
แสดงธรรมเมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๑๔


รูปภาพ

สังขารของเรามันล่วงไปทุกวันทุกเวลาทุกนาที เราจะเอาอันใดเป็นสรณะที่พึ่งได้ ให้พิจารณาให้มันรู้มันเห็น ที่พึ่งของตน ที่เราทั้งหลายมาอย่างนี้ก็เพราะต้องการแสวงหาที่พึ่งของตนอันแท้จริง เราจะเอาอะไรเป็นสรณะที่พึ่งของเรา ในสามโลกนี้ไม่มีสิ่งอื่นนอกจากพุทโธ ธัมโม สังโฆ เท่านี้หละเป็นที่พึ่งของเรา พุทโธนี้คุณของพระพุทธเจ้า ชื่อของพระพุทธเจ้า ธัมโมนี้ชื่อของพระธรรม สังโฆชื่อของพระอริยสงฆ์ เราต้องให้รู้จัก สรณะที่พึ่งของเรามีเท่านี้ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์นี้อยู่ที่ไหนล่ะ รีบพากันเล็งดูให้มันรู้จัก อยู่ที่โน่น อยู่ที่นี่ ก็จะเอาตรงไหนเล่าให้แน่นอน

พระพุทธศาสนาสอนให้พ้นจากทุกข์ ท่านสอนให้ละความชั่ว ทำความดี เรามาอย่างนี้ก็เรียกว่ามาทำความดี ให้รู้จักไว้ ดีและชั่วมันไม่ได้อยู่ที่ไหนอื่น สุขก็ดีทุกข์ก็ดีมันไม่ได้อยู่แห่งอื่น มันอยู่กับตัวของเรา นั่งอยู่นี่แหละ ไม่น้อยไม่ใหญ่ เท่าตัวเรานี้หละ กว้างศอก ยาววา หนาคืบ มีเท่านี้หละปริมณฑลของพระศาสนา ที่พึ่งของเราก็มีเท่านี้ ที่อยู่อาศัยของเราก็มีเท่านี้ จะเอาอันนั้นมาเป็นที่พึ่ง เอาอันนี้มาเป็นที่พึ่งนั้นใช้ไม่ได้ พึ่งไม่ได้ ถ้าเราไม่มีพระพุทธ ไม่มีพระธรรม ไม่มีพระสงฆ์แล้ว พึ่งอะไรไม่ได้ทั้งนั้น ทำไมจึงเป็นยังงั้น ท่านให้น้อมเข้ามาในธรรมคุณ ท่านบอกว่าเอหิปัสสิโก จงร้องเรียกสัตว์ทั้งหลายมาดูธรรม ท่านให้มาดูธรรม คือดูรูปธรรมนามธรรมของเรานี้หละ รูปธรรม คืออัตภาพร่างกายของเรา นามธรรม คือดวงใจ ผู้นักผู้คิดผู้ปรุงผู้แต่ง คือเวทนา สังขาร วิญญาณ รูปธรรม ได้แก่ธาตุสี่ คือดิน น้ำ ลม ไฟ มาประชุมกันเข้า ถือว่าเป็นตัวเป็นตน เวทนาก็เกิดจากรูปนามนี้หละ ไม่ได้เกิดจากอื่น เวทนา สังขาร วิญญาณ ก็อย่างนี้หละ

เช่นนี้เราจึงต้องยึดเอาคุณของพระพุทธเจ้าเป็นที่พึ่ง พุทธะคือผู้รู้ เราต้องยึดเอาความรู้ไว้ ความรู้นี้อยู่ตรงไหน เราต้องเพ่งเล็งดู มันไม่ได้อยู่ที่อื่น โอปนะยิโก น้อมเข้ามา ปัจจัตตัง รู้เฉพาะตนเท่านั้น เราก็เพ่งดูและยึดความรู้อันนั้น เมื่อเราไม่มีความรู้แล้วพึ่งอะไรไม่ได้ซักอย่างในโลกนี้ สังขารร่างกายเราก็พึ่งไม่ได้ ทรัพย์สมบัติวัตถุทั้งหลายเราก็พึ่งไม่ได้ ตึกร้านอาคารเราก็พึ่งไม่ได้ ชาวบ้านร้านตลาด ประเทศชาติก็พึ่งไม่ได้ ทรัพย์สมบัติวัตถุทั้งหลายก็พึ่งไม่ได้ ประเทศชาติก็พึ่งไม่ได้ ถ้าเราไม่มีพุทธะ คือความรู้แล้วก็อย่างนี้หละ แต่เรามีความรู้แล้วก็พึ่งได้หมด สังขารร่างกายก็พึ่งได้ ตึกร้านอาคารก็พึ่งได้ ชาวบ้านร้านตลาด ประเทศชาติก็พึ่งได้

เหตุนั้นจึงให้พากันโอปนะยิโก คือให้น้อมเข้ามาดู ถ้าไม่มีพุทธะคือความรู้แล้ว พึ่งไม่ได้ซักอย่าง อุปมาเหมือนกับคนตาย เห็นไหมล่ะ คนตายไม่มีความรู้ จิตวิญญาณมันไม่มีแล้ว เหลือแต่ธาตุ มันก็เลยพึ่งไม่ได้ จึงว่าเรามาอาศัยธาตุทั้งสี่ ดินน้ำลมไฟ มาประชุมกันเข้า แล้วก็มายึดถืออันนี้เป็นที่พึ่งที่อาศัยของเรา เรื่องมันเป็นอย่างนั้น ที่จะอยู่ได้อย่างนี้ก็อาศัยบุญวาสนาบารมีของเราที่ได้สร้างมาหลายภพหลายชาติ บุญกุศลนั้นก็ไม่ใช่อื่นไกล ก็ได้แก่ทานบารมี ศีลบารมี ภาวนาบารมีนี้หละ

ทานก็รู้อยู่แล้ว คือการสละหรือการละการวาง ผู้ใดละมากวางได้มากก็เป็นผลานิสงส์มาก ผู้ใดวางได้น้อยละได้น้อยก็มีผลานิสงส์น้อย มัจฉริยะความตระหนี่เหนียวแน่นนี้หละคือความโลภ ต้องสละเสีย ให้เป็นผู้บริจาค ก็บริจาคทรัพย์สมบัติวัตถุทั้งหลายเหล่านั้นหละ ไม่ใช่อื่นไกล แปลว่าทะนุบำรุงตน เหมือนพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ที่ท่านจะสำเร็จมรรคผลท่านก็ได้สร้างบารมีมา คือทานบารมีอันนี้ นี่ให้เข้าใจไว้ ทานเป็นเครื่องเสบียงของเรา เมื่อเราได้ทำไว้พอแล้ว เราจะเดินทางไกล เราก็ไม่ต้องกลัว อุปมาเหมือนกับเดินทางมาวัดนี้หละ ถ้าเราไม่ได้เตรียมอะไรมา มันก็ไม่มี ถ้าเตรียมมาแล้วเราก็ไม่ต้องกลัวอดกลัวยาก กลัวทุกข์กลัวยาก ของเก่าของเราได้ทำมาไว้ ถ้าอะไรเราไม่ได้ทำมาแล้วเราก็ไม่ได้ อยากได้สิ่งโน้น อยากได้สิ่งนี้ อยากเป็นโน้น อยากเป็นนี้ เราไม่ได้ทำไว้ ไม่ได้สร้างไว้ อยากได้มันก็ไม่ได้ ถ้าได้ทำไว้แล้ว สร้างไว้แล้ว ไม่อยากได้มันก็ได้ นี่หละทานบารมี เหตุนี้ให้พากันเข้าใจ

ศีลบารมีล่ะ คนเราเพียงแต่รับศีล ไม่ได้รักษาศีล เข้าใจว่าศีลนั่นเป็นของพระ ถ้าพระไม่ให้แล้วเราก็ว่าเราไม่ได้ศีล อย่างนี้เป็นสีลัพพตปรามาส เพียงแต่ลูบคลำศีล แท้ที่จริงนั้นศีลของเราเกิดมาพร้อมกับเรา ศีลห้าบริบูรณ์ตั้งแต่เกิดมา ขาสอง แขนสอง ศีรษะหนึ่ง อันนี้คือตัวศีลห้า เราได้จากมารดาของเรา เกิดมาก็มีพร้อมแล้ว เมื่อเรามีศีลห้าบริสุทธิ์อย่างนี้ ก็ให้เรารักษาอันนี้หละ รักษากายของเรา รักษาวาจา รักษาใจให้เรียบร้อย อย่าไปกระทำโทษน้อยใหญ่ทางกาย ทางวาจา ทางใจของเรา โทษห้าคืออะไร คือปาณาติปาตา ท่านให้งดเว้น อย่าไปทำ นั่นเป็นโทษ ไม่ใช่ศีล อทินนาทานา นั่นก็เป็นโทษ ไม่ใช่ศีล กาเมสุมิจฉาจารา นั่นก็ใช่ศีลเป็นแต่โทษ มุสาวาทาท่านให้งดเว้น มันเป็นโทษ ไม่ใช่ศีล สุราเมระยะมัชชะ อันนี้ก็เป็นแต่โทษ ถ้าเราไม่ได้ทำความผิดห้าอย่างนี้ อยู่ที่ไหนเราก็มีศีล อยู่ในบ้านในช่องก็มีศีล อยู่ในป่าในดงก็มีศีล อยู่ในรถในราเราก็มีศีล ให้เข้าใจศีลตามนี้ ที่คอยจะรับจากพระนั้นไม่ใช่ ท่านก็บอกว่าอย่าไปทำห้าอย่างนั้น ให้ละเว้น เมื่อเราละเว้นแล้ว อยู่ที่ไหนก็มีศีล เราก็เป็นคนบริสุทธิ์บริบูรณ์ ศีลห้าอย่างนั้นเราไม่อยากได้ไม่ปรารถนา เหตุฉันใดจึงว่าไม่อยากได้ พิจารณาดูซี่ สมมุติว่ามีคนมาฆ่าเราหรือมาฆ่าพี่ฆ่าน้องญาติพงศ์ของเรา เราดีใจไหมล่ะ เราไปฆ่าเขาล่ะ เขาดีใจไหม พิจารณาดูซี่ เราไม่ต้องการอย่างนั้นไม่ใช่เหรอ ถ้าเราไม่ทำอย่างนั้นแล้ว โทษของเราก็ไม่มี เกิดมาอายุก็ยืนยาว ไม่ตายแต่น้อยแต่หนุ่ม ก็เพราะไม่ได้ทำปาณาติบาตไว้ในหลายภพหลายชาติ แม้ในชาตินี้ก็เหมือนกัน เราฟังธรรมก็ฟังในชาตินี้ แล้วก็ปฏิบัติในชาตินี้ในปัจจุบันนี้ เราไม่ต้องคำนึงถึงอดีตอนาคต เรากำหนดให้รู้เดี๋ยวนี้ เรานั่งอยู่นี่ก็เป็นศีลอยู่ นี่ข้อสำคัญ

เหตุนั้นพระพุทธเจ้าท่านจึงสอนไว้ให้ละเว้นโทษที่เราไม่พึงปรารถนา เช่น อทินนาทานการขโมยอย่างนี้หละ เขามาขโมยข้าวขโมยของขโมยเล็กขโมยน้อยของเรา เราก็ไม่อยากได้ หรือโจรปล้นสะดมอย่างนี้เราก็ไม่อยากได้ ท่านจึงให้ละ ถ้าเราไม่ได้ขโมยของใครไม่ว่าในภพใดภพหนึ่ง เราก็ไม่ถูกโจรไม่ถูกขโมย ไม่มีร้ายไม่มีภัยอะไรซักอย่าง เราละเว้นแล้ว โจรทั้งหลายก็ไม่มี โจรน้ำก็ไม่มี โจรไฟก็ไม่มี โจรลมพายุพัดก็ไม่มี นี่เป็นยังงั้น กาเมก็เช่นเดียวกัน เกิดมามีสามีภรรยามีบุตรปรองดองกัน อันเดียวกัน เกิดคนมาละเมิด อย่างนี้เราก็ไม่อยากได้ ว่ายากสอนยากหรือทะเลาะเบาะแว้งกันเราก็ไม่อยากได้ ถ้าเราละเว้นโทษกาเมนี้แล้ว มันก็ไม่มีโทษหละ มุสาวาทาก็พึงละเว้น มีคนมาฉ้อโกงหลอกลวงเรา เราก็ไม่อยากได้ คิดดูซี เราไปหลอกลวงฉ้อโกงเขา เขาก็ไม่อยากได้เช่นเดียวกัน นี่หละ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ละเว้น มันเห็นโทษ คนไม่ปรารถนา ถ้าเรารักษาศีลนี้แล้ว เราก็สบาย ไปไหนก็สบายซี่ ไม่มีโทษเหล่านี้แล้ว สุรา การมึนการเมาเราละกันแล้ว เราก็ไม่อยากได้ ภรรยาขี้เมา สามีขี้เมา ลูกขี้เมา พ่อแม่พี่น้องขี้เมา เราก็ไม่อยากได้ เมื่อไม่มีเมาแล้วจะทะเลาะเบาะแว้งกันที่ไหนเล่า เกิดมากรรมให้โทษ เช่น คนเป็นใบ้บ้าเสียจริตผิดมนุษย์ เป็นลมบ้าหมู เราก็ไม่อยากได้ หูหนวกตาบอดเป็นใบ้อย่างนี้ เราก็ไม่อยากได้ ขี้ทูดกุดถังกระจอกงอกง่อย เป็นคนไม่มีสติปัญญา เราก็ไม่อยากได้ พระพุทธเจ้าท่านจึงให้ละเว้นโทษเหล่านี้ เมื่อเราทั้งหลายละเว้นแล้ว เราไปไหนก็อยู่เย็นเป็นสุขสนุกสบาย


ฉะนี้เมื่อเราสมาทานศีล พระท่านจึงบอกว่า สีเลนะ สุคติง ยันติ ผู้ละเว้นแล้วมีความสุข คือละเว้นโทษเหล่านี้แล้วมีความสุข เพราะไม่มีโทษแล้ว เดี๋ยวนี้คนยากเพราะเหตุใด มันไม่ยากเพราะอื่นหรอก ยากเพราะขี้ขโมยยังงี้ ยากเพราะกลัวคนมาฆ่าฟันรันแทงยังงี้หละ มีบุตรภรรยาก็กลัวนอกใจกัน หรือกลัวคนมาฉ้อโกงหลอกลวง หรือคนขี้เมา เรากลัวยากเหล่านี้หละ ทำบ้านทำช่องปิดกุญแจเพราะเหตุใด เพราะขี้ขโมย ถ้าไม่มีขี้ขโมยแล้วสะบ๊ายสบาย เราไปไหนๆ ของเราทิ้งไว้ตรงไหนก็ไม่มีโจร ไม่มีขโมย ไม่มีอะไรๆ แล้วเราก็สบาย เรื่องเป็นยังงั้น พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ สิ่งที่คนไม่ต้องการ เมื่อละแล้วเราก็มีความสุข เพราะเราไม่มีบาปไม่มีกรรมห้าอย่างนั้น ไม่มีโทษเหล่านี้แหละ มันก็มีความสุข ไปไหนก็มีความสุขทำอะไรก็มีความสุข สีเลนะ โภคสัมปทา เราก็มีโภคสมบัติ ไปในภพไหนก็ดี ในปัจจุบันก็ดี เป็นคนไม่ทุกข์เป็นคนไม่จน ด้วยอำนาจของศีลนี้ เพราะเราไม่ทำชั่วแล้ว เราทำอันใดมันก็สะดวกไม่ขัดไม่ข้อง มันก็มีโภคสมบัติ ศีลนำโภคสมบัติมาให้เรา สีเลนะ นิพพุติงยันติ จะไปพระนิพพานก็อาศัยศีลนี้เป็นต้น เหตุนั้นให้พากันเข้าใจ นี่เป็นข้อปฏิบัติ ที่พากันมานี้ก็ต้องการความสุข ต้องการความเจริญ ต้องการคุณงามความดี ไม่ใช่อื่นไกล เราทำอะไรก็ต้องการความสุข ความสบาย ความพ้นทุกข์เท่านั้น

ต่อไปนี้ให้ทำบุญโดยเข้าที่สมาธิภาวนา นั่งดูบุญดูกุศลของเรา จิตใจมันเป็นยังไงดูให้มันรู้มันเห็นซี่ อย่าสักแต่ว่าสักแต่ทำ เอาให้มันเห็นจริงแจ้งประจักษ์ซี่ เราต้องการความสุขความสบาย แล้วมันได้ตามต้องการไหม เราก็มาฟังดูว่าความสุขความสบายมันอยู่ตรงไหน เราก็นั่งให้สบาย วางกายของเราให้สบาย วางท่าวางทางให้สง่าผ่าเผย ยิ้มแย้มแจ่มใส เมื่อกายเราสบายแล้ว เราก็วางใจให้สบาย รวมตาเข้าไปหาดวงใจ หูก็รวมเข้าไป เมื่อใจสบายแล้ว นึกถึงคุณพระพุทธเจ้า เชื่อมั่นว่าพระพุทธเจ้าอยู่ในใจ พระธรรมอยู่ในใจ พระอริยสงฆ์อยู่ในใจ เราก็ต้องระลึกดูว่าอยู่ในใจจริงไหม เราต้องนึกว่า “พุทโธ” รู้ที่ไหนเล่า รู้ในใจของเรา นึก “ธัมโม” อยู่ที่ไหนเล่า อยู่ในใจของเรา นึก “สังโฆ” อยู่ที่ไหนเล่า มันก็นึกในใจของเรา โอ พระพุทธพระธรรมพระสงฆ์อยู่ตรงนี้ ในใจของเรา ไม่ใช่ที่อื่น เราเชื่อมั่นอย่างนั้นแล้ว จึงให้นึกคำบริกรรมภาวนาว่า พุทโธ ธัมโม สังโฆ สามหนแล้ว รวมเอาคำเดียว ให้นึกว่า “พุทโธ พุทโธ” หลับตา งับปากเสีย ตาเราก็เพ่งเล็งดูตำแหน่งที่ระลึกพุทโธนั่น มันระลึกตรงไหน หูเราก็ไปฟังที่ระลึกพุทโธนั่น สติเราก็จ้องดูที่ระลึก พุทโธ พุทโธ จะดูทำไมเล่า ดูเพื่อรู้ว่าตัวของเรานี่เป็นสุขหรือเป็นทุกข์ มันดีหรือมันชั่ว คือที่ได้อธิบายมาแล้ว เราเข้าวัด วัดดูว่าสุขกับทุกข์อันใดมากกว่ากัน ดีกับชั่วอันไหนมากกว่ากัน เราเข้าวัดฟังธรรม เราฟังดูซิ เวลานี้จิตใจของเรามันอยู่ธรรมใดภูมิใดภพใด ให้รู้จัก จิตของเราอยู่ในกุศลหรืออกุศลก็ให้รู้จัก ให้เรานึกบริกรรม พุทโธพุทโธ เพ่งเล็งดูจิตใจของเรา ถ้าจิตของเราเป็นกุศลมันเป็นยังไง คือจิตมีความสงบ มันไม่ส่งหน้าส่งหลัง ส่งซ้ายส่งขวา เบื้องบนเบื้องล่าง ตั้งอยู่จำเพาะท่ามกลางผู้รู้พุทโธ๊พุทโธ มันมีใจเยือกใจเย็นใจสุขใจสบาย กายะลหุตา จิตตะลหุตา จิตเบากายมันก็เบา ไม่หนักไม่หน่วงไม่ง่วงไม่เหงา หายทุกข์หายยาก หายความลำบากรำคาญ สบายอกสบายใจ นั่นแหละตัวบุญตัวกุศลแท้ ไม่ใช่อื่นเป็นบุญ ตัวสุขตัวสบายแท้ นี้จะได้เป็นบุญเป็นวาสนาเป็นบารมีของเรา เป็นนิสัยของเรา ติดตนนำตัวไปทุกภพทุกชาติ นี่แหละให้เข้าใจไว้ จิตของเราสงบเป็นสมาธิคือกุศล อกุศลเป็นยังไง คือจิตเราไม่ดี จิตทะเยอทะยาน จิตดิ้นรนภวังค์พะวง จิตทุกข์จิตยาก จิตไม่มีความสงบ มันเลยเป็นทุกข์ เรียกว่าอกุศล ความทุกข์ทั้งหลายไม่ได้อยู่ที่อื่น เราต้องฟังดูที่นี่หละ ถ้าจิตของเราวุ่นวายเดือดร้อน ก็ทำให้ตกทุกข์ได้ยาก ให้พากันรู้พากันเข้าใจ ไม่ใช่มาจากอื่น มาจากจิต

ธรรมทั้งหลาย กุศลธรรม อกุศลธรรม อันนี้ว่าเป็นกรรม ในศาสนาท่านว่ากรรมทั้งหลายไม่ได้อยู่ในที่อื่น กัมมัสสโกมหิ กรรมนั้นเป็นของของตน กัลยาณัง วา ปาปกัง วา ตัสสะทายาทาภวิสสันติ เราทำกรรมอันใดไว้ เป็นบุญหรือเป็นบาป เราจะได้รับผลของกรรมนั้นสืบไป เราจะรู้ได้ยังไงกุศลกรรม พิจารณาดูซี่ กรรมทั้งหลายมันไม่ได้อยู่อื่น มันไม่ได้อยู่ในป่าในดงต้นไม้ภูเขาเลากา ไม่ได้อยู่ในบ้านในเมือง ไม่ได้อยู่ในฟ้าอากาศ กรรม กายกรรม แน่ะ มันอยู่ในกายของเรานี้ มันเกิดจากกายของเรานี้ วจีกรรม มันเกิดจากวาจาของเรานี้ ไม่ได้เกิดจากอื่นไกล มโนกรรม มันเกิดจากดวงใจของเรานี้หละ ให้รู้จักไว้ แต่เวลานี้กายกรรมของเราไม่มีแล้ว วจีกรรมไม่มีแล้ว ยังเหลืออยู่แต่มโนกรรม เราจะรู้ได้ยังไง กรรมดีกรรมชั่ว กัลยาณังวา คือกรรมอันดี ได้แก่จิตของเราสงบ เป็นสมาธิ จิตตั้งอยู่ภายใน มันว่างโม๊ด เย็นอกเย็นใจ หายทุกข์หายยาก หายลำบากหายรำคาญ สะบ๊ายสบาย เบาตนเบาตัว กายะละหุตา จิตตะละหุตา เบา มีกายะมุทุตา จิตตะมุทุตา ความอ่อนนิ่มนุ่มนวล ไม่ใช่อ่อนแอ นี่แหละจิตสงบเป็นสมาธิ เรียกว่ากรรมอันดี ให้รู้จักไว้ เราไม่ต้องห่วงอดีต อนาคตเราจะเป็นยังไงต่อไป เรานั่งดูเดี๋ยวนี้หละ จิตของเรามีความสุขความสบ๊าย ก็นั่นหละ เราก็จะได้รับความสบาย จะไปชาติไหนภพไหนก็เห็นอยู่เดี๋ยวนี้หละ ปาปะกัง คือกรรมอันชั่ว คือจิตของเราไม่ดี จิตทุกข์จิตยาก จิตวุ่นจิตวาย จิตไม่สงบ จิตไม่เป็นสมาธิ มันทะเยอทะยานอยู่ ทำให้ทุกข์ให้ยาก ให้หนักให้หน่วง ให้ง่วงให้เหงา ให้มืดให้มัว ให้วุ่นให้วาย จิตอย่างนี้แหละนำสัตว์ทั้งหลายให้ตกทุกข์ได้ยาก พึงทราบเสียแต่เดี๋ยวนี้ ต่อไปเราไม่ต้องสงสัยว่ากรรมมันมาจากไหน ใครเป็นผู้ทำล่ะ เดี๋ยวนี้เรารู้ เราเป็นผู้ทำเอาเอง ไม่ใช่เทวบุตรเทวดาทำให้ พระอินทร์พระพรหมทำให้ พ่อแม่พี่น้องทำให้ ชาวบ้านร้านตลาดทำให้

เราทำเอาเอง ที่นั่งอยู่เดี๋ยวนี้หละเราทำบุญ บุญอันนี้เป็นอย่างเลิศอย่างประเสริฐแท้ คือเราให้ทานร้อยหนพันหนก็ตาม อานิสงส์ไม่เท่า เรานั่งสมาธินี้มีผลานิสงส์เหมือนทำบุญอย่างที่สุดแล้ว ปฏิบัติบูชา บูชาอย่างเลิศอย่างประเสริฐแท้ เราเห็นตัวบุญคือกุศลตัวสุข เห็นตัวบาปคือตัวทุกข์จริงๆ ไม่ได้ว่าเล่นนะ พระพุทธเจ้าไม่ได้โกหกผู้ใด ไม่ได้หลอกลวงผู้ใด ใครเป็นสุขล่ะเดี๋ยวนี้ ใครดีใครไม่ดีก็ดูซิ ไม่ใช่ข้าวของเงินทองดี ไม่ใช่ข้าวของเงินทองสุข ไม่ใช่ข้าวของเงินทองทุกข์ เราก็ดูซิ ตึกร้านอาคารมันสุขมันทุกข์เรอะ มันก็ไม่ใช่ ใจนั่นแหละมันทุกข์ ใจนั่นหละมันสุข สุขเพราะเหตุใด สุขเพราะใจสงบ ทุกข์เพราะเหตุใด ทุกข์เพราะใจไม่สงบ มันไปก่อกรรมก่อเวรไม่หมดซักที กรรมเก่าก็ไม่หมด กรรมใหม่ก็เติมเรื่อยเข้าไป มันจะหมดได้เรอะ หยุดเสียทีซี่ กรรมน่ะ อย่าไปยึดเอากรรมซี่ ยึดเอาอันใดมันก็เป็นกรรมอันนั้น วางให้หมด ปล่อยให้หมด ละให้หมด ให้เหลือแต่พุทโธ ผู้รู้อันเดียวเท่านี้

เอ้าต่อไปจะไม่อธิบายละ ต่างคนต่างฟังใจของตัว ให้มันแน่นอนลงไป เชื่อมั่นลงไป ให้มันได้หลักได้ฐานของตน



:b8: :b8: :b8: คัดมาจาก...หนังสือ “อาจาโรวาท”
พระอาจารย์ฝั้น อาจาโร ฉบับพิมพ์ปี พ.ศ.๒๕๕๐


• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58068

• รวมคำสอน “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44391

• ประมวลภาพ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42819

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ธ.ค. 2015, 06:29 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 มิ.ย. 2011, 14:07
โพสต์: 278


 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุค่ะ
Kiss :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ม.ค. 2019, 09:15 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ย. 2019, 12:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


onion

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2020, 09:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ธ.ค. 2021, 19:54 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 4 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร