วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 01:11  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


- สถานที่ปฏิบัติธรรม
แนะนำรายชื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั่วประเทศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=9

- รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=30



กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 พ.ย. 2019, 11:27 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ก.ค. 2017, 11:14
โพสต์: 55

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ศีล
พระธรรมเทศนา
ของ
พระครูสีลขันธ์สังวร
(พระอาจารย์อ่อนสี สุเมโธ)

:b44: :b44:

ต่อไปนี้เป็นเนื้อความในธรรมมัตถาธิบาย ขยายความว่า ศีล ตามคัมภีร์ต่างๆ กล่าวคือ ในคัมภีร์มงคลทีปนีว่า จตุตถปาริสุทธิศีลนั้น ได้แก่ ศีลอันบริสุทธิ์ ๔ ประการของภิกษุ คือ ปาฏิโมกขสังวรศีล อันได้แก่ การสำรวมดีในสิกขาบทที่มีมาในพระปาฏิโมกข์ ๑ อินทรียสังวรศีล ได้แก่ การสำรวมอินทรีย์ ๖ คือ หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ ไม่ให้ยินดียินร้ายในเวลาได้เห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส ถูกต้องโผฏฐัพพะ รู้ธรรมารมณ์ด้วยใจ ๑ อาชีวปาริสุทธิศีล ได้แก่หาเลี้ยงชีพโดยชอบธรรม งดเว้นจากเวชกรรมที่ต้องห้าม และอเนสกรรม การแสวงหาที่ไม่ควรเป็นต้น ๑ ปัจจัยสันนิสิตศีล ได้แก่การบริโภคปัจจัย ๔ ที่บริสุทธิ์ ด้วยการพิจารณาทั้งในเวลารับ เวลาบริโภคแล้ว เป็นนิจไป ๑ รวมเป็นจตุตถปาริสุทธิศีล ๔ ประการด้วยกันดังนี้

ส่วนในคัมภีร์สุทธิมรรคนั้น ได้กล่าวถึงเรื่องศีลและสมาธิปัญญาไว้โดยพิสดาร แต่จักยกมาแสดงเพียงศีลเท่านั้น กล่าวคือศีลนั้น ในคัมภีร์วิสุทธิมรรคได้ตั้งคำถามไว้ ๗ ข้อว่า กี สีลํ คำว่า ศีลได้แก่สิ่งอันใด ? ข้อ ๒ ว่า เกนตเถน สีลํ ที่เรียกว่า ศีลหมายความว่าอย่างไร ? ที่ ๓ ว่า กานสฺส ลกฺขณาทีนิ ศีลมีลักษณะอย่างไร ? มีรสอย่างไร ? มีเครื่องปรากฏอย่างไร ? มีที่รองอย่างไร ? ข้อที่ ๔ ว่า กิมนิสํสํ สีลํ ศีลมีอานิสงส์อย่างไร ? คือศีลดีอย่างไร ? ข้อที่ ๕ ว่า กติวิธญเจตํ สีลํ ศีลมีกี่ชนิด ? ข้อที่ ๖ ว่า โกจสฺส สงฺกิเลโส สิ่งใดทำให้ศีลเศร้าหมอง ? ข้อที่ ๗ ว่า กึ โวทานํ สิ่งใดทำให้ศีลผ่องแผ้ว ? ดังนี้

เมื่อท่านตั้งเป็นคำถามในเรื่องศีลไว้ ๗ ข้ออย่างนี้แล้ว จึงมีคำแก้ต่อไปตามลำดับข้อ คือ คำถามข้อที่ ๑ ว่า ศีลได้แก่สิ่งไรนั้น มีคำแก้ว่า ได้แก่เจตนาที่ดี ๑ ได้แก่เจตสิกที่ดี ๑ ได้แก่การระวังดี ๑ ได้แก่การไม่ละเมิดข้อห้าม ๑ ดังนี้ คำว่า เจตนาที่ดีนั้น หมายถึงเจตนาที่งดเว้นจากความชั่ว ทำแต่ความดี อีกอย่างหนึ่งหมายเจตนาที่ให้ละอกุศลกรรมบถ ๗ ข้อข้างต้น คือนับแต่ข้อที่ ๑ ไปถึงข้อที่ ๗

คำว่า เจตสิกที่ดี นั้น หมายตัวการงดเว้นจากอกุศลกรรมบถทั้ง ๗ ข้อข้างต้นนั้น อีกอย่างหนึ่งหมายความว่า ไม่เพ่งอยากได้ของผู้อื่นมาเป็นของตัว และการไม่คิดปองร้ายผู้อื่น การเห็นชอบเห็นถูกตามเหตุผล คำว่า การระวังที่ดี นั้น หมายการระวัง ๕ อย่างคือ การระวังในปาฏิโมกข์ อันเป็นบทบัญญัติสำหรับภิกษุ ๑ หมายการระวังด้วยสติ ๑ หมายการระวังด้วยปัญญา ๑ หมายการระวังด้วยขันติ ๑ หมายการระวังด้วยวิริยะ ๑ คำว่า การไม่ละเมิดข้อห้ามนั้น หมายการไม่ล่วงศีลด้วยกายและวาจา คือไม่ทำความชั่วด้วยกาย อันได้แก่การไม่ขโมยใคร ไม่ผิดลูกเมียใคร และไม่พูดชั่วด้วยวาจา คือ ไม่พูดคำเท็จ คำส่อเสียด คำหยาบคาย คำเหลวไหล ไม่มีประโยชน์ สิ้นคำแก้ไขสำหรับข้อที่ ๑ เพียงเท่านี้

คำถามข้อที่ ๒ ว่า ที่เรียกว่าศีลเพราะหมายความว่าอย่างไรนั้น มีคำ สีละ สีระ สีตละฯ แปลว่า ปกติ อธิบายว่า การกระทำความดีหรือความชั่วหรือกลางๆ เป็นปกติอยู่เสมอ ก็เรียกว่าศีล ตามที่พระสารีบุตรเจ้า แสดงไว้ในปฏิสัมภิทามรรค คำว่า สีระ แปลว่า เศียร แปลง ร เป็น ล จึงเป็นศีล ขยายศัพท์เป็น สีละ แปลว่า ศีรษะ อธิบายว่า ธรรมดาคนและสัตว์ทั้งสิ้น เมื่อตัดเศียรหรือศีรษะแล้วต้องตายฉันใด เมื่อศีลขาดแล้วด้วยความดีอื่น มีสมาธิและปัญญาเป็นต้นก็ต้องตายหมด คือเสียไปหมดฉันนั้น เช่นผู้ทำความดีไว้มาก ถ้าทำความชั่วลงไปในเวลาใด ความดีทั้งหมดที่ทำไว้ ก็พลอยเสียไปตามๆ กัน ซึ่งเรียกว่าเสียชื่อ

คำว่า สีตละ แปลว่า เย็น ลบ ตะ เสียจึงเป็น สีละ อธิบายว่าเป็นเครื่องดับความร้อน อันเกิดจากความประพฤติของตัว คือ คนเราไม่ว่าใคร ถ้าไม่ทำชั่ว พูดชั่ว คิดชั่ว ก็จะเย็น แต่ความร้อนใจอาจมีในทางอื่นได้ เช่นร้อนใจด้วยความประพฤติของคนอื่น หรือร้อนใจด้วยการหาเลี้ยงชีพ เป็นต้น

คำถามข้อที่ ๓ ว่า ศีลมีลักษณะอย่างไร มีรสอย่างไร มีเครื่องปรากฏอย่างไร มีที่รองอย่างไรนั้น อธิบายว่า ลักษณะนั้น แปลว่าเครื่องกำหนดให้รู้ว่าสิ่งใดเป็นอะไร เพราะฉะนั้น คำว่า ลักษณะของศีล ก็ได้แก่เครื่องกำหนดไว้ให้รู้ว่าอะไรเป็นศีล เครื่องกำหนดให้รู้จักศีลนั้น ได้แก่ ปกติ คำว่า ปกติ ได้แก่คำว่า เสมอหรือเป็นนิจ อธิบายว่าการทำและการพูด ความดีความชั่วและกลางๆ เป็นปกติ คือเสมอหรือเป็นนิจ เรียกว่าลักษณะของศีล การทำดีพูดดีเป็นปกติเสมอเนืองนิจ เป็นลักษณะของศีลดี การทำชั่วพูดชั่วเป็นปกติเสมอเนืองนิจ เป็นลักษณะของศีลชั่ว การทำสิ่งที่เป็นกลางๆ พูดสิ่งที่เป็นกลางๆ เป็นปกติเสมอเนืองนิจ เป็นลักษณะของศีลกลางๆ ถ้าทำและพูดสิ่งใดยังไม่เป็นปกติไม่เสมอไม่เป็นนิจ ยังไม่จัดเป็นศีล เช่น ที่เราเรียกว่าคนนั้นคนนี้มีศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นต้น ถ้าคนนั้นยังรักษาข้อห้าม ๕ ข้อนั้นหรือ ๘ ข้อนั้น ไม่ได้เป็นปกติเสมอเป็นนิจ ยังไม่จัดว่ามีศีล ๕ หรือศีล ๘ เป็นแต่เรียกว่า ผู้นั้นพยายามจะทำตามบัญญัติให้เป็นศีลเท่านั้น โดยเหตุนี้ ข้อบัญญัติเหล่านั้นท่านจึงไม่เรียกว่าศีล อย่างที่พวกเราเรียกกัน ท่านเรียกว่า สิกขาบท แปลว่า แบบฝึกหัด ต่างหาก เช่น ในศีล ๕ ต้องมีคำ สิกขาปทํ สมาทิยามิ แปลว่า ข้าพเจ้ารับแบบฝึกหัด ดังนี้ทุกข้อไป อธิบายว่า ข้อห้ามเหล่านั้นเป็นแบบฝึกหัดให้ทำความดีเท่านั้น คือข้อว่าด้วยปาณาติบาต อทินนาทาน กาเมสุมิฉาจาร มุสาวาท สุราเมรัย ตามหลักเดิมท่านเรียกว่า สิกขาบท ๕ คือเป็นแบบฝึกหัด ไม่ให้ฆ่ากัน ลักขโมยกัน แย่งชิงความรักกัน พูดเท็จต่อกัน ดื่มของมึนเมา ถ้าหากงดเว้นหรือทำตามแบบฝึกหัดทั้ง ๕ นี้ได้เป็นปกติสม่ำเสมอเนืองนิจเมื่อใด เมื่อนั้นจึงเรียกว่าเป็นศีล ๕ ได้ ส่วนความชั่วหรือกลางๆ ก็มีอธิบายโดยนัยนี้ ขอจงจำไว้โดยย่อว่า ลักษณะของศีลได้แก่ ปกติ ความปกตินี่เองเป็นตัวศีล ไม่ใช่อื่นไกล

รสของศีล นั้น มีคำอธิบาย คำว่ารส คำนี้ไม่ได้หมายความว่า รสเปรี้ยว หวาน มัน เค็ม เหมือนที่เราเรียกว่า รสตามธรรมดาหรือตามสามัญโวหาร เป็นรสวิสามัญ หรือหมายถึงหน้าที่ของศีล เพื่อให้รู้ว่าศีลมีหน้าที่อย่างไร ท่านว่าไว้ในฎีกาวิสุทธิมรรคว่า ศีลมีหน้าที่กำจัด อธิบายตามนัยของท่านว่า กำจัดสิ่งที่ตรงกันข้าม คือศีลดีก็กำจัดศีลชั่ว ศีลชั่วก็กำจัดศีลดี ศีลกลางๆ ก็กำจัดศีลที่ไม่เป็นกลางๆ หมายความว่า ทำสิ่งใดเป็นศีล คือเป็นปกติได้แล้ว ก็เป็นอันหักล้างสิ่งที่ตรงกันข้าม เช่น หัดพูดจริงจนเป็นปกติได้แล้ว ก็เป็นอันกำจัดพูดเท็จได้ หัดทำสิ่งที่เป็นกลางๆ จนเป็นปกติได้ ก็กำจัดสิ่งที่ไม่เป็นกลางๆ เช่นการมีสามีภรรยา ท่านจัดเป็นกลางๆ เป็นปกติของโลก เรียกว่า เป็นอัพยากตศีลของโลก เพราะไม่เป็นบาปเป็นบุญอะไร ปกติของโลกนี้กำจัดความผิดปกติของโลก คือความไม่มีสามีภรรยา ความไม่มีสามีภรรยาเล่าก็กำจัดความมีสามีภรรยา คำว่า กำจัด คือทำไม่ให้มีขึ้น หรือไม่ให้เกิดขึ้น เช่น เมื่อมีศีลดี ศีลชั่วก็ไม่เกิด หรือมีศีลชั่ว ศีลดีก็ไม่มี เป็นต้น โดยเหตุนี้ให้จำไว้โดยย่อว่า รสของศีล ได้แก่หน้าที่ของศีล ดังที่ได้อธิบายมาแล้วนี้

เครื่องปรากฏของศีล นั้น มีอธิบายว่า คำว่าเครื่องปรากฏ ได้แก่ สิ่งที่บอกให้รู้ว่า ศีลชนิดดีหรือชั่วหรือกลางๆ ความสะอาดกายและวาจา คือการทำดี การพูดดี เป็นเครื่องบอกให้รู้ว่าเป็นศีลดี ความไม่สะอาดกายและวาจา คือการทำชั่ว พูดชั่ว เป็นเครื่องบอกให้รู้ว่าเป็นศีลชั่ว ความเป็นกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว เป็นเครื่องบอกให้รู้ว่าเป็นศีลกลางๆ พูดโดยย่อว่า อาการทำและพูดนั่นเอง เป็นเครื่องปรากฏของศีล คือเป็นเครื่องประกาศให้รู้ว่าเป็นศีลชนิดใด หรือจะพูดอีกอย่างหนึ่งว่า อาการทำและพูดเป็นยี่ห้อของศีลก็ได้ แต่ศีลอยู่โดยลำพังไม่ได้ ต้องอยู่กับคนหรือผู้ที่มีชีวิต เพราะฉะนั้นอาการทำและพูดซึ่งกล่าวว่าเป็นยี่ห้อของศีลนั้น คือเป็นยี่ห้อของคนและผู้มีชีวิตนั่นเอง เมื่อต้องการทราบว่าตัวเราหรือผู้อื่น ใครมีศีลชนิดใด ให้สังเกตการทำการพูดก็รู้ได้ แต่ถ้าสังเกตผู้อื่นรู้ยาก ต้องอาศัยการคบหากันนาน ไม่เหมือนสังเกตตัวของเราเอง

ที่รองของศีล นั้น มีอธิบายว่า คำว่า ที่รอง หมายถึง สิ่งที่รองอยู่ข้างล่างของอีกสิ่งหนึ่ง เพราะฉะนั้น คำว่าที่รองศีล ก็หมายถึงสิ่งที่รองข้างล่างของศีล หิริ การละอายความชั่ว และ โอตตัปปะ การกลัวความชั่ว ๒ อย่างนี้เป็นที่รองของศีลดี คือถ้า ๒ อย่างไม่มี หิริโอตตัปปะ ศีลก็อยู่ไม่ได้ นี่เรียกว่าที่รองศีล อีก ๒ อย่างซึ่งจะกล่าวต่อไปก็นัยนี้ การไม่ละอายความชั่วและการไม่กลัวความชั่ว ๒ อย่างนี้ เป็นที่รองของศีลชั่ว อาการกลางๆ เป็นที่รองของศีลกลางๆ เช่น การรู้สึกในการแต่งงานเป็นตัวอย่าง คือในการแต่งงานนั้น ถึงมีความละอายหรือกลัวก็ตาม แต่ไม่ละอายความชั่วความดี หรือกลัวความชั่วความดีอะไร เป็นแต่ละอายกลัวไปตามธรรมดาของโลกเท่านั้น อีกอย่างหนึ่ง คำว่าที่รองของศีล ในฎีกากล่าวว่า ได้แก่เหตุของศีล คือเหตุที่จะให้ศีลเกิดขึ้น ที่เกิดขึ้นแล้วให้คงอยู่ และคำว่าเหตุของศีลนั้นก็ได้แก่สิ่งที่รองศีล ๒ อย่าง

คำถามข้อที่ ๔ ว่า ศีลดีอย่างไรนั้น มีคำแก้ว่า ศีลดีอย่างนี้คือ นัยที่ ๑ ว่า โภคสมฺปทา ศีลเป็นเหตุให้เกิดโภคทรัพย์ ๑ กลฺยาณกิตฺตึ ศีลเป็นเหตุให้มีชื่อเสียงดี ๑ สมุหวิสารหํ ศีลเป็นเหตุให้แกล้วกล้าในที่ประชุม ๑ อสมฺมุฬฺหํ ศีลเป็นเหตุไม่ให้หลงใหลในเวลาใกล้ตาย ๑ สุคติปรายนํ ศีลเป็นเหตุให้เกิดในสุคติ ๑

นัยที่ ๒ ว่า มลวิโสธนํ ศีลเป็นเครื่องชำระมลทิน ๑ ปริฬาหูปสมํ ศีลเป็นเครื่องระงับความร้อน ๑ สุจิคนฺธายนํ ศีลเป็นเครื่องทำให้กลิ่นหอมฟุ้งไป ๑ สคฺคนิพฺพานาธิคมฺ ปุปายํ ศีลเป็นอุบายให้ได้สวรรค์และนิพพาน ๑ โสภลยฺการปสาธนํ ศีลเป็นเครื่องประดับอันงดงาม ๑ ภยวิธมนํ ศีลเป็นเครื่องกำจัดภัย ๑ กิตฺติชนนํ ศีลเป็นสิ่งที่ทำให้มีชื่อเสียง ๑ ปาโมชชํ ศีลเป็นสิ่งที่ทำให้รื่นเริง ๑ ดังนี้เป็นต้น

นัยที่ ๑ ซึ่งว่าถึงความดี ๕ อย่างของศีลตามหัวข้อย่อๆ นั้น อาจมีผู้ไม่เข้าใจดี โดยเหตุนี้ ขออธิบายไว้โดยพิสดารดังต่อไปนี้ คือ

ข้อที่ (๑) ว่าเป็นเหตุให้ได้โภคทรัพย์นั้น คือ ผู้มีศีลบริบูรณ์ดีแล้ว และมีความไม่ประมาทในการหาทรัพย์อีก ย่อมหาทรัพย์ได้ตามสมควรแก่กาลเทศะ ตามกำลังความสามารถของตน

ข้อที่ (๒) ที่ว่าเป็นเหตุให้มีชื่อเสียงดีนั้น คือผู้มีศีลย่อมมีผู้สรรเสริญในที่ต่างๆ ตามสมควรแก่ศีลของตน เช่น คนมีศีล ๕ ก็มีผู้สรรเสริญในเรื่องศีล ๕ เป็นตัวอย่าง ดังที่เราได้ยินคนพูดกันอยู่เสมอๆ ว่า คนนั้นเป็นคนพูดจริง เป็นคนซื่อตรง ไม่เป็นนักเลงเกกมะเหรก เป็นต้น

ข้อ (๓) ที่ว่าเป็นเหตุให้แกล้วกล้าในที่ประชุมนั้น คือไม่ว่าเข้าไปในที่ประชุมใดๆ จะเป็นที่ประชุมสมณพราหมณ์ กษัตริย์ หรือคฤหบดีก็ตาม ก็ไม่รู้สึกกลัว ว่าจะมีผู้ติหรือดูถูกในตัวเรื่องศีล หรือในเรื่องความประพฤติของตัว

ข้อที่ (๔) ว่าไม่หลงใหลในเวลาใกล้ตายนั้น คือผู้มีความประพฤติดี ย่อมไม่กลัวต่ออบายภูมิ ว่าตายแล้วจะต้องไปทนทุกข์อยู่ในอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น เมื่อไม่กลัวอย่างนี้ ใจก็สบาย ไม่ทุรนทุราย มีสติใจคอมั่นคง ไม่ละเมอเพ้อคลั่ง ในอภิธรรมท่านกล่าวว่า เวลาคนใกล้ตาย ย่อมปรากฏเห็นของสามอย่าง อย่างใดอย่างหนึ่ง นึกเห็นการกระทำความดีหรือความชั่วของตัวเองหนึ่ง นึกถึงเครื่องมือสำหรับทำความดีความชั่ว เช่น นึกเห็นทัพพีสำหรับตักข้าวใส่บาตร หรือเครื่องฆ่าสัตว์เป็นต้น ของตัวหนึ่ง ปรากฏเห็นที่จะต้องไปเกิดฝ่ายดีหรือฝ่ายชั่ว เช่นปรากฏเห็นทิพย์วิมานหรือเปลวเพลิงในนรกหนึ่ง สามอย่างนี้เห็นในเวลาหูตาผิดปกติของคนดี คือ ตามัวหูตึงในเวลาใกล้ตาย ถ้าปรากฏเห็นฝ่ายดีก็สบายไป ไม่ทุรนทุราย ไม่เสียสติ ถ้าเห็นฝ่ายชั่ว ใจก็ไม่สบาย สติก็เสียไป

ข้อที่ (๕) ว่าเป็นเหตุให้เกิดในสุคตินั้น พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า ครั้นตายแล้วย่อมเกิดในสุคติโลกสวรรค์ หมายความว่า ต้องเกิดเป็นมนุษย์ในมนุษยโลกนี้ หรือต้องเกิดเป็นเทพยดาในโลกสวรรค์อย่างใดหนึ่ง

ในพุทธภาษิตข้อนี้แสดงอำนาจของศีล หรือถ้าไม่มีบาปกรรมอย่างอื่นแทรกในวันนั้น ศีลต้องนำไปเกิดในสุคติแน่ โดยเหตุนี้ท่านจึงสอนให้นึกถึงศีลที่ตนรักษาในเวลานั้น อย่านึกถึงความชั่วความเสียหายอย่างอื่นเพื่อให้ใจดี ให้ใจมันอยู่ในศีล ถ้ามันอยู่ในศีล ว่าเราได้รักษาศีลข้อนั้นๆ ดีแล้ว ศีลต้องนำไปสู่สุคติแน่นอน ส่วนความดีอื่นๆก็เหมือนกันกับข้อนี้ แต่ตามธรรมดาคนเราเวลาเจ็บไข้ มักนึกแต่อยากให้หายหรือนึกเป็นห่วงผู้อื่นหรือสิ่งอื่น มักไม่นึกถึงความดีที่ตนทำไว้ เช่นคนมีศีลอยู่ทั้ง ๕ ข้อ หรือเพียงข้อใดข้อหนึ่งก็มักไม่นึกถึง จัดเป็นความผิดอย่างร้ายแรง เพราะที่ถูกควรจะนึกถึงแต่ความดีที่ตนทำไว้ เช่น นึกถึงศีลของตนในข้อที่ตนรักษาได้ดีเพราะจะทำให้ดีใจเพิ่มขึ้น ไม่เสียทีที่เราเกิดมาเป็นมนุษย์พบพระพุทธศาสนา คือพบคำสอนที่ดีของพระพุทธเจ้า เรายังได้ทำความดีไว้บ้างตามกำลังของเรา โดยเหตุนี้ขอเตือนท่านผู้ได้สดับฟังไว้ว่า จงหัดนึกถึงความดีที่ทำไว้เสมอ ถ้านึกไว้ได้เสมอก็ควรหัดนึกในสองเวลา คือ เวลานอน เวลาเจ็บไข้ไม่สบาย ให้ใจชินไว้คุ้นเคยไว้เพื่อเป็นประโยชน์แก่ท่านทั้งหลาย คือ จะนอนหลับสบายไม่กลุ้มใจ จะรู้สึกภูมิใจในเวลาไม่สบาย ถ้าจะหัดนึกในเวลานอน ควรนึกภายหลังอย่างอื่น คือต้องนึกถึงเรื่องต่างๆ ที่เกี่ยวแก่ตัวท่านเสร็จแล้ว จึงนึกถึงความดีอย่างใดอย่างหนึ่งซึ่งทำไว้ในวันนั้น หรือในวันก่อนๆ หรือที่จะทำต่อไป ส่วนในวันเจ็บไข้ไม่สบายก็เหมือนกัน คือให้นึกดูอาการของโรค ว่าทรุดลงหรือทรงอยู่หรือกำเริบขึ้น เสร็จจึงนึกถึงความดีอย่างใดอย่างหนึ่ง มีศีลข้อที่ท่านรักษาเป็นต้น จะทำให้คลายความทุกข์เรื่องเจ็บไข้ขึ้น จะทำให้มีกำลังใจต่อสู้กับโรค ช่วยยาให้หายเร็วขึ้น ที่หายด้วยอำนาจยา หากไม่หายท่านก็เกิดในที่ดีมีความสุขต่อไปโดยแน่นอน

นัยที่ ๒ สำหรับข้อที่ (๑) ว่าเป็นเครื่องชำระมลทินนั้น คือชำระเครื่องเศร้าหมองทางกายวาจา ไม่เกี่ยวถึงทางใจด้วย อันได้แก่ชำระล้างซักฟอกความชั่วที่ทำไว้พูดไว้คิดไว้ให้เป็นให้หมดไป พูดอีกอย่างหนึ่ง ว่าเป็นเครื่องล้างบาปของตัวให้ออกจากกายวาจาและใจ ให้กายวาจาใจสะอาดขึ้น เสมือนกับล้างของที่แปดเปื้อนให้หมดไป ให้หายไปด้วยน้ำฉะนั้น ในข้อนี้ท่านหมายความว่า เครื่องชำระที่เรียกว่าน้ำมีสองอย่าง คือน้ำในอย่างหนึ่ง น้ำนอกอย่างหนึ่ง ศีลเป็นน้ำใน คู่ปรับกับเครื่องสกปรกใน อุทกเป็นน้ำนอก คู่ปรับกับเครื่องสกปรกนอก

ข้อที่ (๒) ที่ว่าเป็นเครื่องระงับความร้อนนั้น ได้แก่ความร้อนใน คือ ศีลเป็นเครื่องดับความร้อนในใจ อุทกเป็นเครื่องดับความร้อนนอกใจ อันได้แก่ความร้อนด้วยแดดด้วยไฟ เป็นต้น

ข้อที่ (๓) ที่ว่าเป็นเครื่องทำให้มีกลิ่นหอมฟุ้งไปนั้น ขอแสดงถึงกลิ่นภายในคู่กับกลิ่นภายนอก กลิ่นภายนอกมีกฤษณากลัมพัก และจันทน์แดง น้ำหอมเป็นต้น ย่อมหอมแต่ภายนอก คือ หอมเพียงแต่จมูกเท่านั้น ไม่หอมถึงใจ และหอมไปได้แต่ตามลมเท่านั้น ไม่หอมทวนลม ส่วนกลิ่นภายในคือ กลิ่นศีล ย่อมตรงกันข้าม คือ หอมถึงใจและหอมทวนลมตามลม ได้แก่ทำให้ชื่อหอม คือ ให้มีชื่อดี เป็นที่พึงใจของคนดีทั้งหลาย

ข้อ (๔) ที่ว่าเป็นอุบายได้สวรรค์และนิพพานนั้น คือเป็นสิ่งที่ทำให้ได้ไปสวรรค์และนิพพานนั้น เรียกว่าเป็นบันไดสวรรค์นิพพาน

ข้อ (๕) ที่ว่าเป็นเครื่องประดับอันงดงามนั้น คือ ท่านจัดศีลเป็นเครื่องประดับภายใน อันได้แก่ประดับกาย วาจาตลอดถึงน้ำใจ ให้มีความประพฤติเรียบร้อยดีงาม

ข้อ (๖) ที่ว่าเป็นเครื่องกำจัดภัยนั้น คือ กำจัดภัยอบายภูมิ มีนรกเป็นต้น ไม่ให้ผู้มีศีลไปต้องภัยได้ในอบายภูมิ และกำจัดภัยในโลกนี้ด้วย คือเมื่ออยู่ในโลกนี้ ก็ป้องกันผู้มีศีลมิให้ต้องภัยต่างๆ ได้

ข้อ (๗) ที่ว่าเป็นเครื่องให้มีชื่อเสียงนั้น ได้แก่ทำให้มีผู้สรรเสริญ ว่าเป็นคนดี เป็นคนมีศีลมีธรรมประจำใจ

ข้อ (๘) ว่าเป็นเครื่องทำให้รื่นเริงนั้น เมื่อผู้มีศีลคำนึงถึงศีลของตนแล้ว ก็ย่อมรู้สึกปลื้มใจ คล้ายกับผู้เห็นทรัพย์ของตนไม่มีอันตราย ฉะนั้นสิ้นคำแก้ไขคำถาม ในข้อ ๔ เพียงเท่านั้น

คำถามข้อที่ ๕ ว่า ศีลมีกี่ชนิดนั้น มีคำแก้ไขว่า ศีลมีหลายชนิด ท่านจัดไว้เป็นหมวดได้ ๕ หมวดคือ หมวด ๑-๕ เมื่อว่าโดยหัวข้อก็มีมากมายหลายประการ แต่ย่อลงไปก็มี ๒ คือ โลกียะศีล และโลกุตตระศีล ถ้าจักแก้ไขในข้อนี้ให้สิ้นเชิง เวลาก็ไม่เพียงพอ จึงขอข้ามไปแก้ไขข้อต่อไปข้างหน้า คือ คำถามข้อที่ ๖ ว่า สิ่งใดทำให้ศีลเศร้าหมอง คำแก้ไขว่า อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์และเมถุนสังโยค เป็นของที่ทำให้ศีลเศร้าหมอง อิฏฐารมณ์นั้นอธิบายว่า ได้แก่สิ่งที่ชอบใจ มีลาภยศสุขสรรเสริญเป็นต้น อนิฏฐารมณ์ ได้แก่สิ่งที่ไม่ชอบใจ มีความเสื่อมลาภเป็นต้น เมถุนสังโยคนั้น ได้แก่การเกี่ยวข้องกับมาตุคาม สำหรับบรรพชิตทั้งหลาย

คำถามข้อที่ ๗ ว่า สิ่งใดที่ทำให้ศีลผ่องแผ้วนั้น มีคำแก้ไขว่า ความไม่ลุอำนาจแก่อิฏฐารมณ์และอนิฏฐารมณ์ ความไม่ยินดีในเมถุนสังโยค ความไม่เกิดขึ้นแห่งบาปทั้งหลาย มีความโกรธเป็นต้น

สิ้นข้อว่าด้วยศีลเพียงนี้ เอวํ ก็มีด้วยประการฉะนี้

:b47: :b49: :b47:

:b8: :b8: :b8: ที่มา : หนังสือ...“อาจาริยธัมโมทยาน”
กลุ่มสวนปรัชญาและพุทธธรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=89&t=54301

• รวมคำสอน “หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=58379

• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่อ่อนสี สุเมโธ”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มี.ค. 2020, 19:06 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2020, 08:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 ม.ค. 2021, 13:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มี.ค. 2021, 04:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 08 ธ.ค. 2008, 09:34
โพสต์: 1322


 ข้อมูลส่วนตัว


4Aขออนุโมทนาสาธุการค่ะ :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2022, 11:08 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 6 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร