วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 03:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


- สถานที่ปฏิบัติธรรม
แนะนำรายชื่อสถานที่ปฏิบัติธรรมกรรมฐานทั่วประเทศ
http://www.dhammajak.net/forums/viewforum.php?f=9

- รวมกระทู้จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=30



กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2020, 15:07 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2863


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
คัดมาจาก :
หนังสือ ประตูสู่มรรค ผล นิพพาน ๒
ท่านพระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต
หัวข้อ กําลังแห่งศีล สมาธิ ปัญญา หน้า ๙๓-๑๐๙


รูปภาพ

กําลังแห่งศีล สมาธิ ปัญญา
พระธรรมเทศนาโดย...
ท่านพระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต
วัดบุญญาวาส ตําบลบ่อทอง อําเภอบ่อทอง จังหวัดชลบุรี
เทศน์วันที่ ๒๙ พฤษภาคม ๒๕๕๔
ณ เมืองกัวลาลัมเปอร์ ประเทศมาเลเซีย

*************

ภายในจิตวิญญาณของคนเราซึ่งเกิดขึ้นมานั้น มีความหลง มีความไม่รู้ ครอบงําจิตใจของเรามานับภพนับชาติไม่ถ้วน ถ้าไม่มีองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นมาแล้ว เราทั้งหลายก็จะไม่รู้จักหนทางแห่งการดําเนินไปเพื่อความสุขที่แท้จริงหรือ เพื่อความพ้นทุกข์ พระพุทธองค์ท่านได้ทรงมีเมตตาต่อสรรพสัตว์ทั้งหลาย ได้ชี้ทางบอกทางให้พวกเราทั้งหลายได้รู้จักหนทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ อันเป็นไปเพื่อความสุขที่แท้จริง บรรดาพระพุทธเจ้าที่ล่วงไปแล้วก็ดี ที่ยังไม่มาถึงก็ดี ทุกๆ พระองค์นั้นต้องมาตรัสรู้ในภพภูมิของมนุษย์ ไม่มีพระพุทธเจ้าพระองค์ใดที่จะตรัสรู้ในภพภูมิของนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน เทวดาหรือพรหม เพราะฉะนั้นจึงถือได้ว่า ภพภูมิของมนุษย์นี้เป็นภพภูมิที่เลิศที่ประเสริฐที่สุด เราทั้งหลายเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว เราสามารถที่จะพัฒนาจิตใจของเรานั้นให้มีความบริสุทธิ์ดั่งเช่นองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระอรหันตสาวกทั้งหลายได้

จิตวิญญาณของเราซึ่งมีความหลง ความไม่รู้ ครอบงําจิตใจของเรามานับภพนับชาติไม่ถ้วน ทําให้จิตใจของเรานั้นตกเป็นทาสของกิเลส ตกเป็นทาสของความโลภ ความโกรธ ความหลงครอบงําจิตใจของเรา เราจะทําอย่างไรจึงจะทําให้จิตใจของเรานั้นไม่ตก เป็นทาสของกิเลส ไม่ตกเป็นทาสของอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวง เมื่อกิเลสคือความโลภครอบงําใจของเรา เมื่อกิเลสคือความโกรธ ความไม่พอใจครอบงําจิตใจของเรา หรือความยินดีในกามทั้งหลายครอบงําจิตใจของเรา เราก็คิด พูด หรือกระทําอะไรตามอํานาจของกิเลส เพราะขาดสติปัญญาที่จะมาดูแลรักษาจิตใจของเรา จิตของเราไม่มีสติ ไม่มีปัญญาที่จะต่อสู้กับกิเลสภายในใจของเรา ภายใต้จิตใจดวงเดียวนี้แหละเปลี่ยนไปได้สารพัดอย่าง

ถ้าเรามีความหลง ทําร้ายพระพุทธเจ้า ทําร้ายพระอรหันต์ ทําร้ายบิดา มารดา จิตดวงนี้แหละก็ไปสู่ภพภูมิของนรก แม้ในปัจจุบันก็มีความทุกข์ ความเร่าร้อนภายในใจ มีความโลภ มีความโกรธ ทําร้ายร่างกายกัน ทําลายชีวิตกัน จิตเราก็เปลี่ยนเป็นเปรต เป็นอสุรกาย เป็นสัตว์เดรัจฉานได้ ในจิตของเรานี่แหละ ถ้ามีความหลงครอบงำ เราถึงได้กระทําในสิ่งที่ผิดศีลธรรม ก็สามารถทําให้จิตใจของเรานั้นตกไปสู่อบายภูมิหรือไปสู่ภพภูมิที่ต่ำได้ ถ้าเรามีความเห็นว่า การกระทําในสิ่งที่ผิดศีลธรรมทั้งหลายทั้งปวงเป็นสาเหตุที่จะก่อให้เกิดความทุกข์ต่อตัวเรา ต่อครอบครัวของเรา ต่อสังคมของเรา เราก็ต้องมีความอดทน มีความอดกลั้น ไม่กระทําเหตุที่ก่อให้เกิดความทุกข์

เมื่อเรามีสติ มีปัญญาเกิดขึ้นมาบ้าง ถ้าเรามีความศรัทธาเชื่อว่า องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้ตรัสรู้ด้วยพระองค์เองจริง คําสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นไปเพื่อความสิ้นทุกข์จริง พระอรหันต์สาวกทั้งหลายผู้ซึ่งประพฤติปฏิบัติตามพระธรรมวินัย ก็สามารถทําจิตให้บริสุทธิ์ได้จริง เมื่อเรามีความเชื่อเช่นนั้น มีพระพุทธเจ้าอยู่ในใจของเรา มีพระธรรมคําสั่งสอนของพระพุทธองค์อยู่ภายในจิตใจของเรา มีพระอรหันต์สาวกทั้งหลายอยู่ภายในจิตใจของเรา แล้วเรามีความเชื่อว่า ถ้าเราทําความดีก็ให้ผลที่ดี ทําสิ่งที่ไม่ดีในสิ่งที่ผิดศีลธรรม ก็ให้ผลคือความทุกข์ ถ้าเรามีความสํานึกภายในจิตใจของเราว่า เราปรารถนาความดี หรือปรารถนาความสุข เราก็เลือกละเว้นการกระทําบาปทั้งหลายทั้งปวง กระทําแต่คุณงามความดีทั้งหลายทั้งปวงให้ถึงพร้อม คนจะดีได้ก็ต้องรักษาศีลห้าให้เป็นปกติ รู้จักการกระทําคุณงามความดี รู้จักรักษาศีล แล้วก็เปลี่ยนจิตให้ได้มนุษย์สมบัติ

การได้มนุษย์สมบัติ ปกติแล้วโดยทั่วไปเราเกิดขึ้นมาเรียกว่า “คน” บางทีถ้าจิตใจของเรานั้นยังไม่มีศีลเป็นปกติ ก็ยังไม่ได้มนุษย์สมบัติ เมื่อเราปรารถนาที่จะเปลี่ยนจิตของเรานั้นให้เป็นคนดี เราก็รักษาศีล ๕ ให้เป็นปกติ ถ้าปรารถนาที่จะเปลี่ยนจิตเป็นเทวดา เราก็มีความเกรงกลัวละอายต่อบาป กระทําคุณงามความดี รักษาศีล ถ้าปรารถนาที่จะเปลี่ยนจิตให้เป็นพรหมเราก็ทําความดี รักษาศีล เจริญพรหมวิหาร ๔ มีจิตใจมีเมตตาต่อเพื่อนมนุษย์และสรรพสัตว์ทั้งหลายเป็นปกติ มีความกรุณาช่วยเหลือซึ่งกันและกัน มีมุทิตาจิต พลอยยินดีไปกับความสุขความเจริญ ของบุคคลอื่น ไม่อิจฉาพยาบาท มีอุเบกขาเกิดขึ้นในจิต เห็นคนมีความทุกข์ยากลําบาก เราไม่สามารถที่จะช่วยเหลืออะไรได้ ก็วางจิตให้เป็นอุเบกขา จิตใจเรามีความทุกข์ มีความฟุ้งซ่านภายในจิตใจของเรา เราก็พยายามวางจิตให้เป็นอุเบกขา ให้เป็นกลาง บุคคลใดเจริญเมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เรียกว่าพรหมวิหาร ๔ นี้อยู่ภายในจิตใจ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงจิตใจของเรานั้นให้มีความสงบเยือกเย็น ถ้าเราปรารถนาที่จะเปลี่ยนจิตให้เป็นพระอริยบุคคล ตั้งแต่พระโสดาบันผล พระสกิทาคามีผล พระอนาคามีผล หรือพระอรหัตผลก็ตาม เป็นสิ่งซึ่งไม่ยากลําบากเลยที่เราสามารถที่จะพัฒนาจิตใจของเราได้

สําหรับฆราวาสนั้น คุณธรรมเบื้องต้นพระโสดาบันผล และพระสกิทาคามีผลนั้นเพียงทรงศีล ๕ ให้เป็นปกติ มีจิตใจไม่ลังเลสงสัยในพระพุทธองค์ว่าตรัสรู้ได้จริง ไม่ลังเลสงสัยว่าคําสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้นเป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์หรือเปล่า ไม่ลังเลสงสัยในพระอรหันต์สาวกทั้งหลายผู้ซึ่งประพฤติปฏิบัติ ตามพระธรรมวินัยนั้น สามารถที่จะทําจิตให้บริสุทธิ์ได้จริง คือมีศรัทธาเชื่อมั่นในพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์อยู่ภายในจิตใจเป็นปกติอยู่เสมอ มีความเชื่อในกรรมว่า ถ้าทําความดีก็ให้ผลที่ดี ถ้าทําความชั่วก็ให้ผลคือความทุกข์ มีสัจจบารมี มีศีลบารมี คือ มีศีล ๕ เป็นปกติ ไม่มีเจตนาที่จะล่วงละเมิดศีล เมื่อมีสติมีปัญญาพิจารณาเห็นโทษของการกระทําผิดทางกาย คือ ไม่เอากายไปเบียดเบียนชีวิตผู้อื่น ไม่เอากายไปลักทรัพย์ ไม่เอากายไปหลอกลวงข่มเหงจิตใจผู้อื่น ไม่เอากายไปดื่มของมึนเมายาเสพติดทั้งหลายทั้งปวง อันนี้กายก็สงบ ไม่เอาวาจาไปพูดโกหก ก่อให้เกิดความเสียหาย วาจาก็สงบ คือว่าอยู่ในขอบเขตของศีล ๕

สําหรับสามเณรซึ่งประพฤติพรหมจรรย์นั้น ก็มีกําลังศีลบารมีเข้มแข็งขึ้น ก็รักษาศีล ๑๐ สําหรับพระผู้ประพฤติพรหมจรรย์ ก็มีศีลบารมีเข้มแข็งขึ้น ก็รักษาศีล ๒๒๗ ให้เป็นปกติ เป็นพื้นฐานของจิตที่ใช้ศีลคุมกาย วาจาให้สงบ

เมื่อเราปรารถนาที่จะเปลี่ยนจิตเป็นพระอริยบุคคล เราต้องเจริญมรรค คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นทางดําเนินไปเพื่อที่จะละความโลภ ความโกรธ ความทุกข์ให้บรรเทาเบาบางลงไปจากจิตใจของเรา กําลังแห่งศีลไม่สามารถที่จะทําลายกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงภายในจิตใจของเราได้ เพียงแต่ระงับยับยั้งให้อยู่ในขอบเขตของศีลธรรมเท่านั้น เราต้องยกกองทัพธรรม คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เข้าขับไล่กองทัพกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงของจิตใจของเรา กําลังแห่งศีลไม่เพียงพอ ศีลรักษากายของเราให้สงบ รักษาวาจาของเราให้สงบ แต่จิตใจของเรานั้นยังไม่สงบ เมื่อเรายกกองทัพของศีลเข้าไปสู่เมืองใจแล้ว ก็ต้องยกกองทัพของสมาธิเข้าไปครองใจของเราด้วยการทําสมาธิภาวนา ทําสติกําหนดอยู่กับกรรมฐานบทใดบทหนึ่งให้จิตของเราสงบเป็นสมาธิ เมื่อกําลังของสมาธิเกิดขึ้นจึงจะก่อให้เกิดกําลังกองทัพแห่งสติปัญญา เมื่อคนทั้งหลายถูกกองทัพกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงเข้าครอบงําใจ เราก็ต้องยกกองทัพของศีล กองทัพของสมาธิ กองทัพแห่งปัญญาเข้าไปขับไล่กิเลสให้ออกจากจิตใจของเรา

เมื่อเราบําเพ็ญสมาธิภาวนาอยู่เสมอๆ ในอิริยาบถนั่งสมาธิก็ตาม หรือในอิริยาบถเดินจงกรมก็ตาม เราพยายามที่จะฝึกหัดให้มีความชํานาญในการทําจิตให้สงบ เมื่อจิตของผู้ใดสงบแล้วเมื่อออกจากอิริยาบถนั่งสมาธิ เดินจงกรม สามารถที่จะมีสติตามรักษาจิตของตนในทุกๆ อิริยาบถไม่ว่ายืน เดิน นั่ง หรือนอนก็ตาม ก็มีสติกํากับจิตใจไปตลอดให้ต่อเนื่อง เมื่อเราพยายามที่จะทําสติ ทําสมาธิให้ต่อเนื่อง พลังของสติปัญญาจะเกิดขึ้น เมื่อเรามีกําลังของสติ เพียงแต่ว่าเราเอาสติมาดูจิต ก็จะเห็นอารมณ์ความรู้สึก ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นที่ใจของเรา ในเบื้องต้นนั้นกิเลสอย่างหยาบจะเห็นได้ง่ายที่สุด คือความโลภ ความโกรธ ความพอใจ ความไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ถ้าเรามีสติจดจ้องดูสิ่งที่เราเคยคิดว่าเป็นจิต คือมีสติจดจ้องดูสิ่งที่เราคิดว่าเป็นจิต เรากําหนดดู เราจะเห็นอารมณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง คือ ความโลภ ความโกรธ เกิดขึ้นภายในจิตของเรา ถ้าเราเจริญมรรค ยกกําลังแห่งศีล สมาธิ ปัญญาเข้าไปครองใจของเรา เข้าไปอยู่ภายในจิตใจของเราแล้ว เข้าไปต่อสู้กับกิเลสซึ่งมีอยู่ภายในใจของเรา อํานาจของกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลงก็จะน้อยลงไป

ศีลเหมือนเสบียง สมาธิเหมือนกําลัง สติปัญญาคืออาวุธ แม้มีความโลภเกิดขึ้น เมื่อเราควบคุมไว้ด้วยศีล เราก็ไม่ล่วงละเมิดศีล ควบคุมไว้ด้วยสมาธิ คือกําลังจิตซึ่งมีความอดทน อดกลั้นต่ออารมณ์ แล้วใช้สติปัญญาพิจารณาละความโลภออกไปจากใจของเรา ถ้าคนทั้งหลายไม่มีศีลเป็นปกติ เมื่อมีความโลภเกิดขึ้นก็แก่งแย่งชิงดีกัน ทําร้ายร่างกายกัน ทําลายชีวิตกัน เพื่อต้องการวัตถุสิ่งของภายนอก เช่นเดียวกันเมื่อมีอารมณ์ความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทเกิดขึ้น ก็ทะเลาะกัน ทําร้ายร่างกายกัน ทําลายชีวิตกัน เมื่อมีศีลควบคุม โลภอย่างไรฉันก็ไม่เอาของผู้อื่น มีสมาธิควบคุมใจ มีความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ มีสติมีปัญญาที่จะพิจารณาพอใจในสิ่งที่ตัวเองมีอยู่ ถ้ามีสติมีปัญญาแสวงหาทรัพย์ภายนอก ก็มีความอดทน มีความซื่อสัตย์สุจริตในการแสวงหาทรัพย์ภายนอก

ด้วยกําลังแห่งศีล สมาธิ และปัญญา สามารถที่จะพิจารณาละความโลภให้บรรเทาเบาบางไปจากจิตใจของเราได้ แม้อารมณ์ความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทจะเรืองอํานาจครองใจเรามานับภพนับชาติไม่ถ้วนก็ตาม แต่เมื่อเรายกกองกําลังแห่งศีลเข้าไปอยู่ในใจของเรา โกรธอย่างไร เราก็ไม่ทําร้ายร่างกาย ไม่ทําลายชีวิตของบุคคลอื่น มีความโกรธ มีความไม่พอใจอย่างไร ก็มีความอดทนด้วยกําลังของสมาธิ มีความอดทนอดกลั้นต่ออารมณ์ความโกรธ ความไม่พอใจ ใช้สติปัญญาเป็นอาวุธเข้าไปโจมตี คือ พิจารณาละความโกรธออกไปจากจิตใจของเราด้วยการเจริญเมตตา ให้อภัยซึ่งกันและกัน โดยหาอุบายอันแยบคายในการที่จะพิจารณาทําลายอารมณ์ความโกรธให้บรรเทาเบาบางไปจากจิตใจของเรา

ด้วยกําลังแห่งศีลเป็นพื้นฐาน กําลังแห่งสมาธิเป็นท่ามกลาง เมื่อสติปัญญาเกิดขึ้นเราเอาสติมาดูจิต ก็จะเห็นอารมณ์ทุกสิ่งทุกอย่าง กิเลสอย่างหยาบ คือ ความพอใจ ความไม่พอใจในรูป เสียงกลิ่น รส สัมผัส เมื่อสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง อารมณ์เกิดความพอใจ เกิดความไม่พอใจขึ้น สติปัญญาจะเข้าไปพิจารณาเห็นความไม่เที่ยงของความพอใจ และความไม่พอใจ จิตของเรานั้นก็จะปล่อยวางอารมณ์ออกไปได้ มีสติตั้งมั่นอยู่ในปัจจุบัน เราก็สามารถที่จะทําให้จิตว่างจากอารมณ์ได้ ทําจิตให้เป็นอุเบกขา ทําจิตให้เป็นกลางได้อยู่เสมอ ไม่ว่าอารมณ์หรืออาการของจิตจะเกิดขึ้นมาขนาดไหนก็ตาม สติปัญญาก็จะเห็น จะพิจารณาละอารมณ์ออกจากใจได้

เมื่อเรามีสมาธิเป็นพื้นฐานของจิต มีสติที่ต่อเนื่อง เรามีปัญญาที่จะพิจารณาอารมณ์ในทุกๆ อารมณ์ หรือทุกๆ ขณะจิตก็ตาม แต่เราก็ไม่สามารถที่จะละอารมณ์ให้สิ้นไปจากใจของเราได้ เพราะวันนี้เราละอารมณ์ความโลภออกไป วันนี้ละอารมณ์ความโกรธออกไป พรุ่งนี้ตาเห็นรูปใหม่ เสียงใหม่ กลิ่นใหม่ รสใหม่ สัมผัสใหม่ กายสัมผัสเย็นร้อนอ่อนแข็งใหม่ ก็จะเกิดความรู้สึกความพอใจ ความไม่พอใจขึ้นมาอีก สติปัญญาเราก็ต้องพิจารณาอย่างนี้อยู่ทุกๆ วัน

กําลังของกิเลสซึ่งจิตใจของเรานั้นมีความหลงยึดมั่นถือมั่นในอัตภาพร่างกายว่าเป็นตัวตนของเรา จึงเห็นร่างกายบุคคลอื่นเป็นสิ่งที่สวยงาม จึงมีวัตถุสิ่งของเป็นของๆ ตน จึงก่อให้เกิดความโลภ ความโกรธ ความหลงเกิดขึ้น เมื่อเราจะทวนกระแสแห่งจิต ทวนกระแสของกิเลส ต้องย้อนกลับมาพิจารณาร่างกายของเรา หรือพิจารณากายในกายตนให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของกายนี้ สติปัญญาซึ่งทรงตัวอยู่ในปัจจุบันด้วยกําลังแห่งศีลและสมาธิ เมื่อมีอารมณ์เกิดขึ้น สติปัญญาก็จะพิจารณาเห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงอยู่เป็นประจําโดยสม่ำเสมอ ไม่ว่าจะมีอารมณ์ความโลภ ความโกรธ ความพอใจ ความไม่พอใจ จะกี่อารมณ์ก็แล้วแต่ ซึ่งเกิดขึ้นที่ใจ สติ สมาธิ ปัญญาจะเข้าไปพิจารณาปล่อยวางความยึดมั่น ถือมั่นในอารมณ์ทั้งหลายทั้งปวงออกไปจากจิตใจของเราทีละเล็กทีละน้อย

เมื่อจิตเราว่างจากอารมณ์ มีสติ มีสมาธิตั้งอยู่ในปัจจุบัน เราก็ยกร่างกายของเรานี้ขึ้นมาพิจารณาค้นคว้าหาความจริงว่า ร่างกายนี้กับจิตวิญญาณนี้เป็นอันหนึ่งอันเดียวกันหรือเปล่า ทางดําเนินแห่งศีล สมาธิ ปัญญารวมตัวอยู่ที่ใจของเรา สติปัญญาพิจารณากายในกายนี้ให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน ด้วยการพิจารณาอาการ ๓๒ ก็ดี อสุภกรรมฐานก็ดี หรือพิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี ใช้สติปัญญาพิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของกายนี้ จิตก็จะค่อยๆ ปล่อยวางความยึดมั่น ถือมั่นในกายตนไปทีละเล็กทีละน้อย

ด้วยกําลังแห่งอริยมรรค คือ โสดามรรค คือกําลังศีล สมาธิ ปัญญานี้ ซึ่งถ้าเราได้พิจารณาร่างกายนี้ให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนสักครั้งหนึ่ง จิตจะเกิดความสลดสังเวช เกิดปีติ และเกิดการปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนชั่วคราว เราจะไม่ลังเลสงสัยในการประพฤติปฏิบัติ เราจะรู้จักว่าถ้าเราบําเพ็ญศีล ๕ เป็นปกติ สามเณรก็ศีล ๑๐ พระศีล ๒๒๗ เป็นปกติ บําเพ็ญสมาธิเป็นท่ามกลาง สติปัญญาซึ่งพิจารณาละวางอารมณ์ความโลภ ความโกรธ ความพอใจ ความไม่พอใจออกไป สติปัญญาซึ่งเข้ามาพิจารณากายในกายนี้ให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน จิตจะไม่ลังเลสงสัยในหนทางในการดําเนินทางจิต เมื่อศีล ๕ ทรงตัว สติสมาธิทรงตัว สติปัญญาก็จะค่อยๆ พิจารณากายในกายนี้ ให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน พิจารณาซ้ำๆ ซากๆ นั่นแหละ จนจิตเห็นชัดประจักษ์ใจขึ้นเมื่อไรว่า ร่างกายนี้ไม่ใช่จิตนี้ จิตนี้ไม่ใช่ร่างกายนี้ จิตจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนได้ส่วนหนึ่งในเบื้องต้นจาก ๓ ส่วน

เมื่อจิตเห็นด้วยปัญญาว่าร่างกายนี้ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน จิตปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนอย่างหยาบไปได้แล้ว ความโลภก็จะบรรเทาเบาบางลงไป ความอาฆาตพยาบาทก็หมดสิ้นไปจากจิตใจ ความหลงซึ่งเคยยึดมั่นถือมั่นในอัตภาพร่างกายนี้ว่าเป็นตัวตนของเรานั้น ก็จะหมดสิ้นไปจากใจ จิตประเภทนี้จะ ไม่สะดุ้งกลัวต่อโรคภัยไข้เจ็บ จะไม่หวั่นไหวต่อมรณภัยทั้งหลาย เพราะจิตรู้เท่าทันตามความจริง เห็นแตกก่อนแตก เห็นตายก่อนตาย ตามสมมุติทางโลกเรียกว่า จิตของบุคคลนั้นคือพระโสดาบันผล

ถ้าไม่พอใจในสภาพจิตซึ่งเป็นอยู่ในปัจจุบัน ถ้าเราปรารถนาที่จะเปลี่ยนจิตให้ดียิ่งๆ ขึ้นไป เราก็บําเพ็ญศีล สมาธิ ปัญญาต่อไปนี่แหละ ปรารถนาที่จะละกิเลสให้บรรเทาเบาบางลงไปอีก กองทัพศีล สมาธิ ปัญญาซึ่งเข้าไปอยู่ภายในใจซึ่งต่อสู้กับกองทัพกิเลส คือ ความโลภ ความโกรธ ความหลง ก็จะต่อสู้ในสนามของใจ อริยมรรคของสกิทาคามีมรรคนี้จะพิจารณาอะไร ก็พิจารณาที่จิตนี้ ที่ยังมีกิเลสที่ละเอียดขึ้นไป คืออารมณ์ความโลภก็ยังมีอยู่ แต่มีความพอใจในสิ่งที่เรามีอยู่ อารมณ์ความโลภนั้น ก็น้อยลงไป อารมณ์ความอาฆาตพยาบาทหมดสิ้นไปแล้ว มีความไม่พอใจก็ตาม แต่สติปัญญาก็สามารถจะพิจารณาละได้ง่าย อารมณ์ความพอใจ ความไม่พอใจในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็มีน้อยลง สติปัญญาก็จะเห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของอารมณ์ได้ง่าย มีความเกิดขึ้นแล้ว ก็มีความดับไปเป็นธรรมดา การพิจารณาร่างกายก็จะละเอียดขึ้น คือ จะพิจารณาร่างกายเป็นอสุภกรรมฐานก็ดี พิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี กําลังแห่งศีล สมาธิ ปัญญานั้นก็จะเข้าไปพิจารณากายในกายให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตน

พระโสดาบันละความยึดมั่นถือมั่นในกายตนได้ส่วน ๑ จาก ๓ ส่วน เมื่อพระสกิทาคามีมรรคเจริญการพิจารณากายในกาย จะพิจารณาให้เห็นเป็นอสุภกรรมฐานหรือธาตุกรรมฐานก็ตาม พิจารณาให้เห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนอยู่เสมอ เมื่อพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ จนจิตเห็นชัดประจักษ์ขึ้นที่ใจเมื่อไร จิตจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนในส่วนที่ ๒ อย่างกลางได้ เมื่อจิตปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนในส่วนที่ ๒ จาก ๓ ส่วนนั้น ความโลภก็จะบรรเทาเบาบางลงไปอีก ความไม่พอใจก็น้อยลงไปอีก ความหลงในกายตนก็น้อยลงไปอีก จิตก็จะเปลี่ยนเป็นพระสกิทาคามีผลปรากฏขึ้นในใจตามสมมุติ

ถ้าเราปรารถนาที่จะละกิเลสที่ยังมีอยู่ภายในจิตใจของเราให้น้อยลงไปอีก เราจะทําอย่างไร คนทั้งหลายเวลาทํานา เขาก็หว่านกล้าข้าว ดํานา ปลูกข้าวในนานั้น เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยวข้าวไปแล้ว ปีต่อไปก็หว่านกล้าข้าว ไถนา ไถดิน หว่านกล้าข้าว ดํานา ปลูกข้าว แล้วก็เก็บเกี่ยวในแผ่นดินที่เดิมนั่นแหละ เพราะฉะนั้นอริยมรรคของพระอนาคามีมรรคนี้ ก็พิจารณากายในกายอยู่อย่างเดิมนี้แหละ ซึ่งเป็นการพิจารณากายในกายส่วนละเอียดที่ยังเหลืออยู่ในส่วนที่ ๓ แต่บุคคลซึ่งจะเปลี่ยนจิตให้เป็นอริยมรรคของพระอนาคามีมรรคนั้น ต้องเปลี่ยนจากศีล ๕ เป็นกําลังแห่งศีล ๘ สามเณรก็ทรงศีล ๑๐ พระก็ทรงศีล ๒๒๗ เป็นปกติ ศีลทรงตัว เป็นปกติ สมาธิก็ละเอียดขึ้น สติปัญญาก็คมขึ้น อารมณ์กระเพื่อมขึ้นที่จิต บางทีสติปัญญาจดจ่อเห็นอาการของจิตเกิดขึ้นก็ดับไปเป็นธรรมดา อารมณ์ความโลภก็น้อยลงไป ความไม่พอใจก็น้อยลงไป ความพอใจ ความไม่พอใจซึ่งเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัสก็น้อยลงไป สติปัญญาจะเห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของอารมณ์อยู่เสมอ จิตจะเป็นกลาง เป็นอุเบกขาอยู่เสมอ

เมื่อจิตว่างจากอารมณ์ กําลังแห่งศีล สมาธิ ปัญญาซึ่งมาพิจารณากายในกายนี้ จะพิจารณาอสุภกรรมฐานก็ดี พิจารณาธาตุกรรมฐานก็ดี จิตจะทะลุเข้าสู่ความว่าง บางทีเอาสติมากําหนดดูกาย พิจารณาอสุภกรรมฐานก็ทะลุเข้าสู่ความว่าง บางทีเอาสติมากําหนดดูกาย พิจารณาธาตุกรรมฐาน จิตก็พิจารณาปล่อยวางเข้าไปสู่ความว่าง ถ้าตราบใดจิตยังไม่ปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนส่วนละเอียด จิตก็จะใช้สติปัญญาพิจารณากายในกายนี้ซ้ำๆ ซากๆ สติปัญญาซึ่งเข้าพิจารณากายในกายนี้ เห็นความไม่เที่ยงของกายที่เป็นอดีต เห็นความไม่เที่ยงของกายที่เป็นปัจจุบันที่จะแปรเปลี่ยนไปในอนาคต เห็นความไม่เที่ยงของกายในกายในปัจจุบันว่าไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ในที่สุดแล้วเมื่อจิตเห็นชัดว่าร่างกายนี้ที่เป็นอดีตไม่เที่ยง ร่างกายที่จะแปรเปลี่ยนไปในอนาคตก็ไม่เที่ยง กายในกายในปัจจุบันก็ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน เมื่อจิตเห็นชัดประจักษ์ขึ้นที่ใจได้เมื่อไร จิตจะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในกายตนในส่วนละเอียดในส่วนที่ ๓ นี้ได้โดยสิ้นเชิง ผลที่จิตจะได้รับที่บังเกิดขึ้นคือ ความโลภดับลงไป ความโกรธดับลงไป ความยินดีในกามทั้งหลายดับสนิท

เมื่อจิตละความยึดมั่นถือมั่นในตัวตนได้แล้ว จิตก็จะไม่สะดุ้งกลัวต่อโรคภัยไข้เจ็บ ไม่หวั่นไหวต่อมรณภัยทั้งหลาย เมื่อนั้นจิตจะว่างจากความยึดมั่นถือมั่นในกายตน ในกายบุคคลอื่น ในวัตถุธาตุทั้งหลายในโลกนี้ จิตจะเดินไปในท่ามกลางแห่งความสงบ เยือกเย็น จิตไม่ติดอยู่ในวัตถุธาตุทั้งหลายในโลกนี้ มองโลกทั้งหลายเป็นของว่าง แม้แผ่นดินในโลกนี้จะเปลี่ยนเป็นทองคําทั้งหมด หรือเปลี่ยนเป็นเพชรทั้งหมดก็ตาม จิตจะเห็นไม่แตกต่างจากก้อนหินก้อนทราย จิตจะเห็นว่าเป็นสักแต่ว่าธาตุตามธรรมชาติเท่านั้น สรรพสิ่งทั้งหลายในโลกนี้ ไม่ว่าจะเป็นชีวิตของมนุษย์ และสรรพสัตว์ทั้งหลายหรือวัตถุธาตุทั้งหลาย ก็ประกอบไปด้วยธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุลม ธาตุไฟ เหมือนกันหมด จิตจะเข้าถึงสภาวะของธรรมชาติของจิตอันเป็นธาตุตามธรรมชาติ เมื่อละความโลภ ความโกรธ ความหลง บรรเทาเบาบางลงไปมากเท่าไร ความสุขที่แท้จริงก็จะปรากฏขึ้นภายในจิตใจของบุคคลนั้น

แต่จิตของพระอริยบุคคลเบื้องสูงคือพระอนาคามีผลนั้น ก็ยังติดอยู่ในปัจจุบันว่าเป็นตัวจิต จิตนั้นแม้จะละความยึดมั่นถือมั่นในรูปกายได้ก็ตาม แต่ยังยึดมั่นถือมั่นในปัจจุบันว่าเป็นตัวจิต ละสิ่งที่เป็นอดีต ละสิ่งที่เป็นอนาคต แต่จิตยังติดอยู่ในปัจจุบัน ด้วยกําลังแห่งศีล สมาธิ ปัญญาได้ขับไล่กองทัพของกิเลส คือความโลภ ความโกรธ ความยินดีในกามทั้งหลายออกไปจากจิตใจก็ตาม กษัตริย์วัฏจักรของกิเลสคือ ความหลงอย่างละเอียดนั้นก็ยังหลบซ่อนอยู่ภายในใจ ถ้าไม่มีสติปัญญาที่ละเอียดพอ ก็ไม่สามารถที่จะทําลายความหลงส่วนละเอียดได้ ก็ต้องเจริญศีล สมาธิ ปัญญาให้มั่นคง คือเจริญอริยมรรค คืออรหัตมรรคให้ละเอียดขึ้นไป มีศีลเป็นปกติ มีสมาธิละเอียดขึ้น สติปัญญาก็ละเอียดตามไปด้วย ในระดับนี้ถ้าเกิดบําเพ็ญภาวนายังไม่ถึงที่สุด ร่างกายแตกดับไปแล้ว ภพภูมิของจิตในระดับนี้จะไม่มีภพภูมิของนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน มนุษย์ เทวดา พรหมเบื้องต่ำ ถ้าร่างกายแตกสลายไปในช่วงนั้น จะไปเกิดในพรหมเบื้องสูง คือ ชั้นสุทธาวาสพรหม และจะไปบรรลุอรหัตผลบนชั้นของพรหม

บุคคลใดถ้าปรารถนาที่จะทําให้กิเลสสิ้นไปจากจิตใจของเรา เพื่อที่จะดับอวิชชาคือความหลงนั้น ต้องมีสติปัญญาที่ละเอียด ที่จะพิจารณาเห็นเวทนา คือ ความสุขของจิตส่วนละเอียดนั้นว่าเป็นอาการของจิต มีความเกิดขึ้น มีความดับไปเป็นธรรมดา ความหลงของจิตซึ่งหลงยึดมั่นถือมั่นในความจําได้หมายรู้ว่าเป็นตัวจิต ความหลงของจิตซึ่งหลงยึดมั่นถือมั่นในความนึกคิดปรุงแต่งทุกสิ่งทุกอย่างว่าเป็นจิต ความหลงของจิตซึ่งหลงยึดมั่นถือมั่นในการรับรู้ หรือที่เรียกว่าผู้รู้ทั้งหลายว่าเป็นตัวจิต อันนั้นไม่ใช่จิต

พระอนาคามีผลยึดว่าเวทนาเป็นจิต สัญญาความจําได้หมายรู้เป็นจิต ยึดว่าสังขารความนึกคิดปรุงแต่งว่าเป็นจิต ยึดว่าผู้รู้ การรับรู้ต่างๆ ว่าเป็นตัวจิต เมื่อยึดถืออาการของจิตว่าเป็นตัวจิต จึงไม่สามารถที่จะมีสติปัญญาที่จะเห็นกิเลสซึ่งอยู่ที่ใจได้ เมื่อสติปัญญาละเอียดขึ้น กายในกายนี้หมดหน้าที่แห่งการพิจารณาตั้งแต่เบื้องต้นแล้ว ก็เหลือแต่เรื่องของจิต สติปัญญาต้องพิจารณาแยกเวทนา คือความสุขส่วนละเอียดนั้นว่าเป็นเพียงอาการของจิต มีความเกิดขึ้นก็มีความดับไปเป็นธรรมดา แม้ความจําได้หมายรู้ซึ่งจิตหลงคิดว่าเป็นตัวจิตนั้น เมื่อสติปัญญาละเอียดก็จะเห็นว่า ความจําได้หมายรู้นั้นเป็นเพียงอาการของจิต มีความเกิดขึ้นมาแล้วดับไปเป็นธรรมดา สังขารความนึกคิดปรุงแต่ง โดยมากความปรุงแต่งในเรื่องไม่ดี ในเรื่องบาปอกุศลไม่มีอยู่แล้ว แต่ปรุงแต่งในเรื่องที่เป็นกุศล สติปัญญาซึ่งละเอียดก็จะเห็นว่า ความนึกคิดปรุงแต่งทั้งหลายทั้งปวงมีความเกิดขึ้น ก็มีความดับไปเป็นธรรมดา วิญญาณการรับรู้ว่าเป็นผู้รู้นี้ก็เป็นเพียงอาการของจิต มีความเกิดขึ้น สติปัญญาที่ละเอียดก็จะเห็นความไม่เที่ยง ความไม่ใช่ตัวตนของวิญญาณหรือผู้รู้

จิตที่พิจารณาเวทนาของจิต สัญญาของจิต สังขารของจิต วิญญาณของจิตว่าเป็นเพียงอาการของจิต มีความเกิดขึ้นและมีความดับไปเป็นธรรมดา สติปัญญาจะพิจารณาซ้ำๆ ซากๆ เมื่อสติปัญญาหายสงสัยในขันธ์ทั้ง ๔ อันเป็นอาการของจิต สติปัญญาที่ละเอียดนั้นก็จะมาเห็นใจตัวเองนั่นแหละเป็นอวิชชา

ใจตัวเองนั่นแหละคือความหลง คือที่อยู่แห่งกษัตริย์วัฏจักร ใจซึ่งหลงยึดว่าตรงนี้เป็นผู้รู้ ครูบาอาจารย์จึงกล่าวไว้ว่า ที่ใดมีจุดมีต่อมแห่งผู้รู้ ที่นั่นคือภพคือชาติ ครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่า ให้ดูว่าอะไรอยู่หลังผู้รู้ ครูบาอาจารย์บางท่านบอกว่า สิ่งที่คิดไม่ใช่จิต แต่สิ่งที่ไม่คิดนั่นแหละจิต ครูบาอาจารย์บางท่านกล่าวไว้ว่า ของจริงนิ่งเป็นใบ้ ของพูดได้นั้นไม่จริง ครูบาอาจารย์บางท่านกล่าวไว้ว่า ไม่ให้ติดสิ่งที่เป็นอดีต ไม่ให้ติดสิ่งที่เป็นอนาคต ให้ปล่อยวางอดีต ปล่อยวางอนาคต ปล่อยวางแม้กระทั่งปัจจุบัน คือ สติปัญญาที่ละเอียดนี้จะเข้าทําลายจิตที่เป็นกิเลสอวิชชาความหลง ซึ่งเป็นเพียงอาการของจิต แยกจิตให้เป็นอิสระจากขันธ์ทั้ง ๕ สติปัญญาซึ่งเห็นความไม่เที่ยงของสังขารก็จะปล่อยวางสรรพสิ่งทั้งหลายทั้งปวงออกไปจากใจโดยธรรมชาติ ครูบาอาจารย์ทั้งหลายจึงกล่าวว่า เป็นธรรมธาตุหรือเป็นความรู้ที่บริสุทธิ์ คือ การดับความโลภ ดับความโกรธ ดับความหลงให้สิ้นไปจากจิตใจของแต่ละบุคคล พระพุทธองค์จึงตรัสไว้ว่า สุขอื่นยิ่งกว่าความสงบไม่มี จุดมุ่งหมายสูงสุดของคําสั่งสอนของพระพุทธองค์นั้น คือ การทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน

วันนี้ได้กล่าวธรรมะตั้งแต่เบื้องต้นจนถึงเบื้องปลาย ที่โยมทั้งหลายอาจจะไม่ค่อยเข้าใจ หรือฟังไม่รู้เรื่องก็ตาม แต่พูดพอเป็นแนวทางแห่งการประพฤติปฏิบัติ ให้พอได้รู้จักหนทางแห่งการดําเนินไปเพื่อทําให้แจ้งซึ่งพระนิพพานเท่านั้นแหละ เพราะฉะนั้นให้โยมทั้งหลายนําไปพิจารณา และน้อมนําไปประพฤติปฏิบัติ ตามกําลังสติปัญญาความสามารถของเรา ก็ขอยุติแต่เพียงเท่านี้.

สาธุ สาธุ สาธุ.

*************

:b44: รวมคำสอน “พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=50225

:b44: ประวัติและปฏิปทา “พระอาจารย์อัครเดช (ตั๋น) ถิรจิตฺโต”


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ส.ค. 2020, 12:15 
 
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 ก.ย. 2013, 07:16
โพสต์: 2374

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: :b44: ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ
:b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2020, 08:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2020, 23:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1012


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ม.ค. 2021, 09:07 
 
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 9
สมาชิก ระดับ 9
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 เม.ย. 2015, 09:43
โพสต์: 702

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุนะครับ
:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 5 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron