ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ศีล (หลวงปู่ขาว อนาลโย)
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=62121
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  sirinpho [ 31 พ.ค. 2022, 10:45 ]
หัวข้อกระทู้:  ศีล (หลวงปู่ขาว อนาลโย)

รูปภาพ

ศีล
หลวงปู่ขาว อนาลโย

(เทศน์โปรด น.พ.อวย เกตุสิงห์ และคณะ พ.ศ. ๒๕๐๙)

เรื่องจิตนี่ พวกฝรั่งเขาทำกันจริงๆ จัง เขาสนใจอยู่ปานนั้น มันจึงเป็นเรื่องใหญ่ มาเอาทางภาวนายากจริง พวกนี้เขาทำกันหลายคน สนใจแท้ๆ เรื่องทำบุญ รักษาศีล ให้ทาน ก็เข้าใจหมดแล้ว เรื่องภาวนามันสำคัญ อบรมบ่มอินทรีย์ อบรมกายนี่แหละ อบรมใจของตนนี่แหละ มันยากอยู่ ครั้นอบรมได้แล้ว ไม่มีความเดือดร้อย ใจเยือกเย็น ใจสบาย ไม่มีความหวั่นไหว อวิชชาคือใจ ใจดวงเดียวนั่นเรียกว่าอวิชชา คือมันไม่รู้ต่อสิ่งทั้งปวง ไม่รู้ในกองสังขาร แล้วหลงยึด ชอบเข้าก็หลงยึด ไม่ชอบก็ยึดเข้ามาเผาตน มันไม่รู้มันจึงหวั่นไหว

พวกเราพากันฝึกหัดใจของตนให้ดี พระพุทธเจ้าว่าธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า มีใจถึงพร้อม มีใจเป็นใหญ่ มีใจประเสริฐสุด ครั้นทรมานใจดีแล้ว ฝึกฝนดีแล้ว อบรมดีแล้ว มีใจประเสริฐสุด ถ้าไม่ทรมาน ไม่ฝึกฝนอบรม อันนี้มันก็ทำพิษเผาอยู่ทั้งกลางวันกลางคืน มันเป็นเพราะใจนี่แหละ

ใจไม่ดี ใจไม่รู้เท่า ใจโง่ มนสาเจ ปทุฏฺเฐน ใจอันมีโทษประทุษร้ายมันอยู่แล้ว เพราะราคะ โทสะ โมหะ ประทุษร้ายอยู่ ไปอยู่ที่ไหนก็ไม่มีความสุขสบาย มีแต่ความเดือดร้อนเผาผลาญ ท่านเปรียบไว้เหมือนโคที่เข็นภาระอันหนักไปอยู่ ใจไม่ดีแล้ว ผู้ไม่ฝึกฝนอบรมใจของตนแล้ว ทำไปตามความพอใจ ความชอบใจ ใจเศร้าหมองไม่มีความสุข ยืน เดิน นั่ง นอน ก็ไม่มีความสุข


ใจที่อบรมดีแล้ว ฝึกฝนทรมานดีแล้ว ไปอยู่ที่ไหนก็มีความสุข พูดอยู่ก็เป็นสุข ยืน เดิน นั่ง นอน ทำอะไรอยู่ก็เป็นสุข ไม่มีความเดือดร้อน มนสา เจ ปสนฺเนน บุคคลผู้ฝึกฝนอบรมจิตใจของตนให้ดีแล้ว จิตผ่องใสแล้ว แม้จะพูดอยู่ก็ตาม ทำอยู่ก็ตาม ไปที่ไหนก็ตาม ความสุขย่อมติดตามไปอยู่ทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน

พวกเราทำความฝึกฝนจิตใจของตน ให้เอาสติประจำใจ จะพูดก็ให้มีสติ จะทำก็ให้มีสติ จะคิดก็ให้มีสติควบคุมใจของตน อย่าไปปล่อยสติ ครั้นไม่ปล่อยสติแล้ว นั่นแหละได้ชื่อว่าเป็นผู้นั่งอยู่ใกล้ความสุข ใกล้ทางที่สุด ทางที่เราจะเดินไปหน้าล่ะ ใกล้เข้าๆ พวกเราเหมือนกันกับเดินทางไกล ไม่รู้ว่าจะเดินมาจากไหน นับวัน นับคืน นับปี นับเดือนไม่ถ้วน การเดินทางเพื่อจะไปสู่จุดหมายปลายทางคือที่สุด เหมือนว่าเราจะไปกรุงเทพฯ นั่นแหละ เป็นที่สนุกสุขสบาย เข้าใจว่ากรุงเทพฯ เป็นเมืองพระนคร เป็นเมืองสวรรค์ อยากไป พวกเราอยากไปสู่จุดหมายปลายทางคือพระนิพพานนั่นแหละ ว่าเป็นจุดอันเลิศ ว่าเป็นที่สิ้นสุดแห่งทุกข์ มีแต่ความสุขที่พระพุทธเจ้าและสาวกทั้งหลายท่านไปแล้ว จุดอันนั้นแหละ

เราเกิดมานี่ เทียวไปเทียวมาอยู่นี่น่ะ ไม่ต้องการอะไรทั้งหมดทั้งนั้นแหละ ไม่ต้องการความทุกข์ ไม่ต้องการความตาย ต้องการหาความสุข แต่หาไม่พบเพราะศรัทธาของเราไม่เพียงพอ เชื่อไปตามกามกิเลส ประพฤติไปทางอื่น ไปทางโลกเสีย ทางธรรมของพระพุทธเจ้าไม่เอาใจใส่ ไม่มีความสนใจ ไม่พอใจ ที่จริงถึงเราไม่อยากไปก็ตาม พระนิพพานน่ะ แต่ก็ควรปฏิบัติไว้ ควรอบรมจิตใจของตนให้มันเป็นอุปนิสัยเป็นปัจจัยต่อพระนิพพาน อบรมไว้ บางทีไปชาติหน้าชาติใหม่ เราเกิดความเบื่อหน่ายอย่างใดอย่างหนึ่ง เราจะกลับมาปฏิบัติมันจะได้บรรลุคุณวิเศษโดยเร็ว ไม่เฉื่อยช้าไป

พวกเราได้คบหากับนักปราชญ์อาจารย์บ่อยๆ สนใจบ่อยๆ ทำไปๆ ก็จะเป็นไปวันหนึ่งนั่นแหละ จะได้รับผลอยู่นั่นแหละ ทำแล้วจะเปล่าประโยชน์ ไม่เปล่าดอก ทุกสิ่งทุกอย่าง เหมือนพวกคุณหมอทั้งหลายได้ศึกษาวิชาศิลปศาสตร์มาแล้ว ก็ได้มาแล้ว รู้อย่างนั้นอย่างนี้ ทำอย่างนั้นอย่างนี้ แล้วก็ได้ผล เมื่อทำลงก็ได้รับผล มีผลตอบแทนอยู่อย่างนั้นแหละ ผลคือลาภยศ เพราะเรามีวิชาศิลปศาสตร์ เพราะเราทำคุณความดี ทางที่ไปสู่ความสงบสุขนี่ พระพุทธเจ้าประกาศไว้แล้ว ถ้าเรามีความสนใจ พอใจ ตั้งใจทำ ก็คงได้รับผลตอบแทนเหมือนกัน ไม่ตอบแทนกันไม่มีดอก ทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ ความดีก็ดี ความชั่วก็ดี ตอบแทนเหมือนกัน ถ้าทำชั่วลงไปแล้วก็ได้รับความเดือดร้อนขึ้นกับตัว กับบ่อนนั่นแหละ

คนทั้งหลายเขาสงสัยว่า บาปไม่มี บุญไม่มี มันไม่พิจารณาให้เห็นว่า ทำแล้วก็ได้รับเหมือนกันในเรื่องนั้นๆ แหละ พอทำเข้าแล้วก็เดือดร้อนหละ วิ่งเข้าป่าเข้าดง ไปอยู่ตามถ้ำตามเหว ไม่มีที่ไหนมันจะพ้นดอกความชั่วนี่ พวกเราเป็นผู้ทำความดีความชอบ อาชีพของเราเป็นไปเพื่อเป็นศีลเป็นธรรม ไม่เบียดเบียนใคร แล้วเราก็ได้รับความพอใจ ความชอบใจ ดีใจ เห็นกันอยู่อย่างนั้น แล้วที่จะว่าไม่เป็นบุญเป็นบาปยังไง มันเป็นอยู่อย่างนั้นนี่ เป็นกับที่นั้นแหละ ผู้ให้ทานก็ได้รับความดีใจกันที่นั่นแหละ ผู้มีศีลก็ได้ความดีใจ ศีลห้า ศีลแปด ศีลสิบ ศีลพระปาฏิโมกข์ของพวกพระ ฆราวาส ศีลห้า ศีลแปด เราก็ศึกษาให้มันดี ศึกษาให้เข้าใจ เมื่อเข้าใจแล้วก็ไม่ยาก เรื่องงดเว้นทุกสิ่งทุกอย่างน่ะ พวกเราก็รู้แล้ว เรื่องจะไม่ต้องสมาทานเอากับพระภิกษุสามเณรก็ตาม รู้แล้ว เจตนางดเว้นเอา เรียกว่า วิรัติ เจตนา งดเว้นเอา เข้าใจแล้ว ไม่ต้องสมาทานก็ได้ เอาเจตนานี่แหละ เราจะไม่ทำ สมมติว่า ศีลห้า บาปห้าอย่าง กรรมห้าอย่างนี้ เราจะไม่ทำต่อไปเด็ดขาด นี่ก็เป็นอุปนิสัยปัจจัยอยู่

พวกเราสมบูรณ์บริบูรณ์แล้ว ควรรักษามันให้ดี เรื่องกรรมห้าอย่างนั้นแหละ ครั้นเว้นวิรัติให้มันขาดลงไปแล้ว ได้ชื่อว่าเป็นผู้หมดกรรมหมดเวรหมดภัย ให้มันขาดห้า อย่างเบื้องต้นนี่แหละ พระพุทธเจ้าว่ามันไม่ใช่ศีลนะ บาปนะ เวรนะ ครั้นเว้นห้าอย่างนี้ เป็นสุจริตธรรม ผู้หญิงผู้ชายก็ตาม ผู้น้อยผู้หนุ่มก็ตาม ผู้แก่ผู้เฒ่าก็ตาม เป็นสมบัติของมนุษย์ ปาณาติปาตา ปฏิวิรโต โหติ ให้มีเจตนางดเว้น อทินนาทานา ปฏิวิรโต โหติ เจตนาวิรัติงดเว้น มีสติประจำใจ กาเมสุมิจฉาจารา ปฏิวิรโต โหติ ให้เจตนางดเว้น มุสาวาทา ปฏิวิรโต โหติ ความไม่จริงจะไม่พูด พูดมีสัจมีศีล คำที่ไม่จริงจะไม่พูดต่อไป มีจึงพูด ไม่มีไม่พูด สุราเมรย มชฺฌปมาทฏฺฐานา ปฏิวิรโต โหติ นี่แหละห้าอย่างนี่แหละ งดเว้นห้าอย่างนี่ ได้ชื่อว่าเป็นผู้หมดกรรมหมดเวร นี่เป็นเค้าเป็นมูลของศีลทั้งหลาย มันจะตั้งอยู่ได้

ศีลแปดนั้น ครั้นเรารักษาไม่ได้ ก็ไม่เป็นโทษเป็นภัยอะไรดอก เป็นแต่เศร้าหมอง สามข้อเบื้องปลายนั่นแหละเป็นศีลสูงขึ้นไป รักษาไม่ได้มันก็พาเศร้าหมองเท่านั้น ศีลห้าข้อเบื้องต้นนั่นแหละสำคัญ เว้นให้มันเด็ดขาดเรื่อยไป ท่านจึงเปรียบไว้เหมือนต้นไม้ ครั้นไปตัดกิ่งก้านสาขาออกแล้วไม่ตาย มันต้องเป็นขึ้นอีก แตกกิ่งก้านสาขาขึ้นอีก แต่ถ้าตัดรากแก้วมันหมดแล้ว มันตาย ไม่มีอะไรจะงอกขึ้นอีกต่อไป เค้ามูลมันคือศีลห้า

อาตมาจะพูดให้ฟัง พูดซื่อๆ นี่แหละ ศีลนี่มีตัวเดียวเท่านั้น มีใจดวงเดียวเท่านั้น ไม่มีอื่นอีก หมู่นั้นมันเป็นอาการมัน ถ้าเราไม่ฆ่า ไม่ลัก ไม่มารยาสาไถยกับใคร นอกจากเมียของตนซึ่งอยู่ในปกครองของตน พูดแต่ความจริง ไม่ดื่มสุรายาเมา นี่แหละ ๕ อย่างนี่มีแต่บาปทั้งนั้น


พระพุทธเจ้าจึงว่า เรากล่าวว่าเจตนาเป็นตัวกรรม เจตนาเป็นตัวศีล เจตนาก็ใจเท่านั้นแหละ เจตนางดเว้น ใจมีอันเดียวเท่านั้นแหละ และให้มีสติควบคุม ระวังจิตมันคิดจะทำอะไรก็ดี จะพูดอะไรไม่เป็นศีลเป็นธรรม ก็มีสติยับยั้ง รู้สึกตน สติคือความระลึก สัมปชัญญะ ความระลึกว่าผิดหรือถูก มันต้องตัดสิน สัมปชัญญะเป็นผู้ตัดสิน พวกเราให้หัดทำสติให้แม่นยำ ให้สำเหนียกแล้ว จะทำอะไรก็ถูกต้อง พูดถูกต้อง คิดถูกต้อง มันก็เป็นศีลแล้ว เพียงศีลห้ามันก็ดีอยู่ ศีลแปดเป็นบางครั้งเป็นคราวก็ได้อยู่ ครั้นรักษาให้ดี เป็นบริสุทธิ์แล้ว ได้อยู่ ราชาก็ได้อยู่ จักรพรรดิ์ก็ได้อยู่ มหาเศรษฐีก็ได้อยู่ ไม่ต้องสงสัย พระพุทธเจ้าพูดความจริง ผู้มีศีลย่อมเป็นผู้องอาจกล้าหาญต่อหน้าประชุมชน ผู้มีศีลย่อมมีความสุข ท่านบอกไว้นะ

เมื่อรับศีลด้วยปากแล้ว ท่านว่า สีเลน สุคตึ ยนฺติ กุลบุตรผู้รักษาศีล ถึงพร้อมด้วยศีลบริบูรณ์แล้ว ย่อมมีความสุข แม้จะเข้าไปคบหาสมาคมกับบริษัทใดๆ ก็ตาม บริษัทกษัตริย์ก็ตาม บริษัทคหบดีก็ตาม บริษัทสมณพราหมณ์ก็ตาม เป็นผู้องอาจกล้าหาญ ไม่มีความครั่นคร้ามต่อผู้คน เพราะคิดว่าเราบริสุทธิ์ดีแล้ว ถึงไม่มีความรู้ก็ตาม ไม่คิดกลัวว่าคนอื่นเขาจะมาโทษเราว่าเป็นผู้ไม่บริสุทธิยังงั้นยังงี้ ไม่คิดอย่างนั้น ไม่กลัว แล้วก็เป็นที่รักของเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน เป็นที่รักแก่สัตว์ทั้งหลายด้วยกัน คนผู้มีศีลแล้วย่อมใจเย็น จิตมันหยั่งเข้าไปถึงกัน สัตว์เดรัจฉานก็ตาม สัตว์ใดๆ ก็ตาม ได้เห็นแล้ว มันหยั่งเข้าไปถึงกันเหมือนกันยังกับไฟฟ้า ไปถึงจิตถึงใจกันแล้ว แล้วจิตของเรามันเย็นแล้ว มันก็ไม่กลัว ถ้ามันเห็นพวกคฤหัสถ์พวกที่เขาจะฆ่ามันแล้ว มันไม่รอ มันวิ่งเข้าป่าเข้าดงไปเลย นี่แหละไปอยู่ที่ไหนก็มีความสุข ศีลนำความสุขมาให้ตราบเท่าชรา ศีลนำความสุขมาให้ตลอดชีวิต ศีลนำความสุขไปให้ตลอดและมีสุคติเป็นที่ไป

สีเลน โภคสมฺปทา ผู้จักมั่งคั่งบริบูรณ์สมบูรณ์ ไม่อด ไม่อยาก ไม่ยากไม่จน ก็เพราะเป็นผู้รักษาศีลให้สมบูรณ์บริบูรณ์นี้แล เป็นแท้ เป็นกรรมดีแท้ เป็นกรรมร้ายแท้ ให้คิดดู ถ้าบุญไม่มีแล้ว บาปไม่มีแล้ว มันเป็นเพราะกรรมดีกรรมชั่ว พระพุทธเจ้าว่าคนเกิดมา สัตว์เกิดมาในโลกนี้คงเพียงกัน ไม่มีสูงมีต่ำ มีดำ มีขาว ถ้าขาวก็ขาวอย่างเดียวกัน จะมั่งคั่ง ก็มั่งคั่งอย่างเดียวกัน จะจนก็จนอย่างเดียวกัน โง่ก็โง่อย่างเดียวกัน แต่ความจริงนี้ มันมีสูงมีต่ำกว่ากัน มีต่ำลง มีสูงที่สุด เห็นเป็นพยานอยู่นี่แล้ว จะโง่ ผู้โง่ก็โง่ลืมตาย ผู้ฉลาดเหมือนพวกคุณหมอนี่ก็ฉลาด จนก็จนลืมตาย ทำไมเกิดมาเป็นมนุษย์เหมือนกัน แต่ทำไมไม่เหมือนกันล่ะ ไม่เหมือนกันเพราะความประพฤตินั่นหรอก ถ้าประพฤติดี มีการรักษาศีลให้ทาน มีการสดับรับฟังธรรม เขาจะมีปัญญาก็ดี เขาเป็นผู้เล่าเรียน เพราะเหตุนี้แหละ เป็นเพราะกรรม กรรมเป็นผู้จำแนกแจกสัตว์ให้ดีให้ชั่วต่างกํน มันเป็นเพราะกรรม พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ดอกว่า ตายแล้วสูญ หรือตายแล้วเกิดอีก อย่างนี้พระพุทธเจ้าไม่พยากรณ์ ไม่ว่า เราไม่พยากรณ์สัตว์นี้มันจะเกิดอีกหรือไม่เกิด ถ้ามันยังทำกรรมอยู่ มันต้องได้รับผลของกรรม ทำกรรมดี ทำกรรมชั่ว มันต้องได้รับผลตอบแทนอยู่ ทำแล้วจะไม่ได้รับผลตอบแทนนั้นไม่มี คิดดู เหมือนเขายืมปัจจัยของเราไป เราก็ให้ เขาจะต้องตอบแทนใช้ให้เรา ครั้นไม่ใช้ให้ ก็ต้องเป็นถ้อยเป็นความกันละ ได้รับความเดือดร้อน เขาก็ต้องตอบแทน คิดดู เหมือนพวกเราเห็นกัน ถามกัน ตอบแทนกัน ทำดีก็ตอบแทนกันอยู่อย่างนั้น ผลร้ายก็ตอบแทนกันให้ได้รับความลำบากอยู่อย่างนั้น

ถ้ารักษาศีลดีแล้ว เมื่ออบรมสมาธิเข้า มันจะมีความสงบ มันลงเร็ว ถ้ามันขัดข้อง ก็หมายว่าศีลของเราข้อใดข้อหนึ่งผิดพลาดไป มันจึงขัดข้อง ไม่ลง ถ้าศีลบริสุทธิ์บริบูรณ์ดีแล้ว เหมือนกับเขาจะปลูกบ้านปลูกช่อง เขาจะปราบพื้นที่เสียก่อน ฉันใดก็ดี ศีล พวกเรารักษาดีแล้ว ก็เหมือนปราบพื้นที่จนไม่มีหลักมีตออะไรแล้ว ปลูกบ้านมันก็ได้ดี ไม่มีความเดือดร้อน จิตมันก็ไม่มีความเดือดร้อน มันก็สงบอยู่ จะลงอยู่ เพราะมันเย็น มันราบรื่น ไม่มีสิ่งลุ่มดอน

พากันทำไป อุตส่าห์ทำไป อิริยาบถทั้งสี่ ยืน เดิน นั่ง นอน พระพุทธเจ้าไม่ห้าม แล้วก็ไม่ใช่เป็นของหนักของลำบาก นึกเอาแต่ในใจ จะเอาอะไรก็ตาม แล้วแต่ความถนัด แล้วแต่จริตของเรา มันถูกอันใด สะดวกใจ สบายใจ หายใจดี ไม่ขัดข้อง ไม่ฝืดเคือง อันนั้นควรเอามาเป็นอารมณ์ของเรา เอา พุทโธๆ หมายว่าให้ใจหยุด เอาพุทโธเป็นอารมณ์นั่นแหละ ต้องการไม่ให้จิตมันออกไปสู่อารมณ์ภายนอก อารมณ์ภายนอกมันก็ไปจดจ่ออยู่กับ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส ความถูกต้องทุกสิ่งทุกอย่าง มันไปจดจ่ออยู่ที่นั่น จิตมันจึงไม่ลง พวกนี้เรียกว่า นิวรณ์ เรียกว่าเป็นมาร จึงว่าให้มีสติ อย่าให้มันไป กุมไว้ให้มันอยู่กับที่นี้ ให้เอาพระพุทธเจ้าเป็นอารมณ์ พระธรรมเป็นอารมณ์ พระสงฆ์เป็นอารมณ์ พุทโธ ธัมโม สังโฆ ก็ตาม หรือจะเอาอัฐิๆ กระดูกๆ ก็ตาม ให้นึกอยู่อย่างนั้น ยืนอยู่ก็ตาม เดินอยู่ก็ตาม นั่งอยู่ก็ตาม นอนอยู่ก็ตาม เอามันอยู่อย่างนั้นแหละ หลับไปแล้วก็แล้วไป อุตส่าห์ มันก็เป็นของไม่เหน็ดไม่เหนื่อย

พระพุทธเจ้าก็ว่าไว้อยู่ ผู้ที่ภาวนาจิตสงบลงแม้ชั่วเวลาช้างพับหู งูแลบลิ้น อานิสงส์ก็อักโขอักขัง ทำไป มันมีสามสมาธิ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ อัปปนาสมาธิ ขณิกสมาธินี่เราบริกรรมไป บริกรรมไป ว่าพุทโธก็ตาม อะไรก็ตาม รู้สึกว่าสบายๆ เข้าไปสักหน่อย จิตสงบเข้าไปสักหน่อย ถอนขึ้นมา ก็กลับเป็นอารมณ์ของเก่ามัน นี่ ขณิกสมาธิ อุปจารสมาธิ ลงไปนานๆ สักหน่อย ถอนขึ้นมาอีก ไปสู่อารมณ์อีก ภาวนาไปๆ มาๆ อย่าหยุดอย่าหย่อน แล้วมันจะค่อยเป็นไปเอง ทำไปๆ จะให้มันเสียผล มันไม่เสีย ต้องทำไป เป็นก็ไม่ว่า ไม่เป็นก็ไม่ว่า แล้วแต่ อย่าไปนึกว่าเมื่อไรมันถึงจะลงจิตนี่ อย่าไปนึกทุกสิ่งทุกอย่างที่เราทำความเพียร เราทำเพื่อจะเอาเนื้อและเลือด ชีวิตจิตใจถวายบูชาพระพุทธเจ้า ถวายบูชาพระธรรม บูชาพระสงฆ์ต่างหาก

ความอยากนี่ให้เข้าใจว่า นั่นแหละคือหน้าตาของตัณหา อยากให้มันเป็น อยากให้มันลงเร็วๆ อันนั้นมันตัวร้ายละ หน้าดำละ ความอยากของมันมืดละ ให้ตั้งใจไว้ เจตนาไว้ว่า เป็นก็ไม่ว่า ไม่เป็นก็ไม่ว่า จะเอาเลือดเนื้อชีวิตจิตใจถวายบูชาพระพุทธเจ้า พระธรรมเจ้า พระสงฆเจ้า ตลอดวันตาย อย่างนี้ได้ชื่อว่า มัชฌิมา ปฏิปทา อยากมันเป็นตัณหาเสีย ยืนขวางหน้าเสีย ยิ่งไม่ลงละ

เอาละ ให้พากันทำไป


หนังสือ อนาลโยวาท หลวงปู่ขาว อนาลโย
ประวัติ ปฏิปทา และคำเทศนา หลวงปู่ขาว อนาลโย
วัดถ้ำกลองเพล จังหวัดหนองบัวลำภู
กัณฑ์ที่ ๓ ศีล :b8: :b8: :b8:

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=49961

• ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ขาว อนาลโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=22390

• รวมคำสอน “หลวงปู่ขาว อนาลโย”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=43187

• ประมวลภาพ “หลวงปู่ขาว อนาลโย” วัดถ้ำกลองเพล
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=21449

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/