วันเวลาปัจจุบัน 16 ก.ย. 2024, 19:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง




กลับไปยังกระทู้  [ 54 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2020, 08:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปัญญาบดี เข้าถวายสักการะ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติพระชันษา ๘๖ ปี
เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒
ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)


:b44: พระคุณเจ้าองค์ที่นั่งข้างขวาของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
คือ สมเด็จพระมหาธีราจารย์ (นิยม ฐานิสฺสโร)
วัดชนะสงคราม ราชวรมหาวิหาร


:b44: พระคุณเจ้าองค์ที่นั่งข้างหลังของสมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์
คือ สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (พุฒ สุวฑฺฒโน)
วัดสุวรรณาราม ราชวรวิหาร


รูปภาพ

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปัญญาบดี เข้าถวายสักการะ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติพระชันษา ๗๗ ปี
เมื่อวันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓
ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)


รูปภาพ

สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมปัญญาบดี ร่วมเฝ้ารับเสด็จ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ในคราวเสด็จไปประทานสัญญาบัตร พัดยศ และผ้าไตร
ในเขตปกครองคณะสงฆ์หนเหนือ ประจำปีพุทธศักราช ๒๕๓๒
ณ วัดพระธาตุหริภุญชัย ต.ในเมือง อ.เมือง จ.ลำพูน


:b39:

:b49: :b49: สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=26854

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 มี.ค. 2020, 18:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงรับการถวายสักการะจากพระเถรานุเถระ
แห่งวัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
ภายหลังพระราชพิธีสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
วันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒


รูปภาพ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงเข้ากราบสักการะรูปหล่อเหมือน “พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ)”
ในการบำเพ็ญกุศลอุทิศถวายฯ ณ ตึกสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๓๗

พระพรหมมุนี (ผิน สุวโจ) อดีตเจ้าอาวาสวัดบวรนิเวศวิหาร รูปที่ ๕
เป็นบุคคลสำคัญในการจัดตั้งสภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย
มหาวิทยาลัยสงฆ์แห่งประเทศไทย
ท่านจึงได้ดำรงตำแหน่งประธานกรรมการ
“สภาการศึกษามหามกุฏราชวิทยาลัย” เป็นองค์แรก


รูปภาพ

“กรรมการมหาเถรสมาคม” เข้าเฝ้าถวายสักการะ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ที่เข้าประทับรักษาพระอาการประชวร
ณ ห้องที่ประทับ ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร
ชั้น ๖ (ชั้นพระมหากรุณาธิคุณ)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๕
ในครั้งนั้นแม้มีพระอาการประชวรแต่ยังทรงพระวิริยอุตสาหะ
ทรงงานอย่างต่อเนื่อง แม้ในระยะเวลาประทับรักษาพระองค์
ดังเห็นได้จากเอกสารจำนวนมากที่อยู่บนโต๊ะทรงงาน


:b39:

:b49: :b49: พระรูป “กรรมการมหาเถรสมาคม” ในสมัยรัชกาลที่ ๗
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=50206

รูปภาพ

พระมหารัชมงคลดิลก (บุญเรือน ปุณฺณโก ป.ธ.๕)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระธรรมสิริสารเวที

สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรหฺมคุตฺโต ป.ธ.๙)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพกวี

พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ ป.ธ.๖)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชธรรมนิเทศ และ

พระธรรมมงคลวุฒาจารย์ (บุญยนต์ ปุญฺญาคโม น.ธ.โท)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระมงคลรัตนมุนี เป็นต้น

นำเหล่าสัทธิวิหาริกและอันเตวาสิกเข้ากราบถวายสักการะ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ภายหลังสดับพระปาติโมกข์ ณ พระอุโบสถ
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
เมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติพระชันษา ๘๑ ปี
วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗


:b39:

:b49: :b49: สัทธิวิหาริก (อุปัชฌาย์)-อันเตวาสิก (อาจารย์)
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=40263

รูปภาพ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์

พระธรรมเมธาภรณ์ (ระแบบ ฐิตญาโณ ป.ธ.๖)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระเทพดิลก

พระธรรมมงคลวุฒาจารย์ (บุญยนต์ ปุญฺญาคโม น.ธ.โท)
เมื่อครั้งดำรงสมณศักดิ์ที่ พระราชรัตนมงคล และ

พระเถรานุเถระแห่งวัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
ประกอบพิธีเข้าพรรษา ณ พระอุโบสถ
วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)
เมื่อปีพุทธศักราช ๒๕๔๓

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 31 มี.ค. 2020, 18:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงเข้ากราบนมัสการ “สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม)”
ณ วัดโสมนัส ราชวรวิหาร (วัดโสมนัสวิหาร)


:b47: :b44: :b47:

สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม) อดีตเจ้าอาวาสวัดโสมนัสวิหาร
ท่านเป็นพระมหาเถระที่มีความสามารถและทรงเกียรติคุณมากรูปหนึ่ง
ของวัดโสมนัสวิหาร และในคณะสงฆ์ไทย
ท่านเป็น “สมเด็จพระวันรัต” รูปที่ ๒ แห่งคณะสงฆ์ธรรมยุต
และเป็น “สมเด็จพระวันรัต” รูปที่ ๒๒ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


รูปภาพ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ทรงเข้ากราบนมัสการ “สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม)”
ณ วัดโสมนัส ราชวรวิหาร (วัดโสมนัสวิหาร)
ภายหลังพระราชพิธีสถาปนาขึ้นเป็นสมเด็จพระสังฆราช
วันที่ ๒๑ เมษายน พุทธศักราช ๒๕๓๒


รูปภาพ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติพระชันษา ๗๗ ปี
วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๓๓
ณ วัดบวรนิเวศวิหาร (วัดบวรนิเวศ ราชวรวิหาร)


:b50: ในภาพ : พระคุณเจ้าที่นั่งถัดจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ
คือ สมเด็จพระวันรัต (จับ ฐิตธมฺโม) วัดโสมนัส ราชวรวิหาร

:b50: :b50: : แถวที่ ๒ จากขวามือ (พระคุณเจ้า ๓ รูป)...
สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) วัดสัมพันธวงศาราม วรวิหาร

หลวงปู่หลวง กตปุญฺโญ (พระครูการุณยธรรมนิวาส)
วัดสามัคคีบุญญาราม (วัดคีรีสุบรรพต) อ.เมือง จ.ลำปาง

สมเด็จพระญาณวโรดม (ประยูร สนฺตงฺกุโร)
วัดเทพศิรินทราวาส ราชวรวิหาร


⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

oo พระนิพนธ์ “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (เจริญ สุวฑฺฒโน)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=43452

oo พระรูป “สมเด็จพระสังฆราชเจ้า (เจริญ สุวฑฺฒโน)”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=29577

oo พระอริยจริยาวัตร “สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ” หาชมได้ยากมาก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=51025

oo Post Card สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เจริญพระชันษา ๙๙ ปี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=22&t=43451

⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱⊰⊱

:b8: :b8: :b8: คำบรรยาย-คำอธิบายประกอบรูปภาพ ::
รวบรวมและเรียบเรียงมาจากหนังสือประวัติ ปฏิปทา คำสอน
ของพระบูรพาจารย์ พ่อแม่ครูบาอาจารย์รูปต่างๆ ทั่วเมืองไทย
รวมทั้ง สมเด็จพระสังฆราช สมเด็จพระราชาคณะ ฯลฯ
ตลอดจนเกิดจากการค้นคว้าข้อมูลของ
อาจารย์ณรงค์ชัย โตประเสริฐ, อาจารย์ภากร เก่งพล
และทีมงานเว็บธรรมจักร dhammajak.net

:b8: :b8: :b8: ขอกราบขอบพระคุณ...ที่มาของรูปภาพ ::
พระอาจารย์ศรัณย์ ปญฺญาพโล ที่พักสงฆ์อาพาธ อ.ปากช่อง
อาจารย์ณรงค์ชัย โตประเสริฐ, อาจารย์ภากร เก่งพล
ศิษยานุศิษย์ของคุณแม่จันดี โลหิตดี แห่งวัดป่าบ้านตาด
และเว็บไซต์ watbowon.com, watpa.com

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 เม.ย. 2020, 08:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
วัดอัมพวัน ต.บ้านแป้ง อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี เข้าเฝ้าถวายสักการะ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
เมื่อวันที่ ๑๔ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖
เนื่องในโอกาสวันคล้ายวันประสูติพระชันษา ๙๐ ปี
วันที่ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๖
ณ ตึกวชิรญาณ-สามัคคีพยาบาร ชั้น ๖ (ชั้นพระมหากรุณาธิคุณ)
โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย


:b42: ------------------------------ :b42:

หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม ได้เคยกล่าวชื่นชมและยกย่อง
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
(สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก) ไว้ว่า
“ภูมิจิตภูมิธรรมของสมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราชฯ นั้น
ไม่เป็นสองรองใครในสยามประเทศนี้ !!”

:b44: :b49: :b44:

ถวายพระพรสมเด็จพระสังฆราช
โดย หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม
๒๔ กันยายน ๒๕๓๗

ขอประทานกราบทูลฝ่าบาทโปรดทราบ

เกล้ากระหม่อมพระราชสุทธิญาณมงคล*
พร้อมด้วยญาติโยม คณะศิษย์ และทายกทายิกา
ผู้ศรัทธาของวัดอัมพวัน อำเภอพรหมบุรี จังหวัดสิงห์บุรี

ในวโรกาสอันเป็นมหามงคลสมัยของชีวิต ๓ ตุลาคม ๒๕๓๗
วันคล้ายวันประสูติของสมเด็จพระสังฆบิดรแห่งคณะสงฆ์ไทย
และสังฆบิดรแห่งพุทธศาสนิกชนทั้งในประเทศและนอกประเทศ
เกล้ากระหม่อมพร้อมด้วยคณะศิษย์พร้อมใจกันถวายพระพร


อีกประการหนึ่งในวันคล้ายวันประสูตินี้
เกล้ากระหม่อมพร้อมด้วยบรรดาญาติโยมคณะศิษย์
มีจิตศรัทธาน้อมถวายกัปปิยภัณฑ์
จำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
เพื่อทรงเป็นองค์อุปถัมภ์สร้างวัดที่สหรัฐอเมริกา

เกล้ากระหม่อมพร้อมด้วยคณะศิษย์และญาติโยมทั้งหลาย
ขอน้อมนึกระลึกถึงพระกรุณาที่สมเด็จพระสังฆบิดรได้ประทานโอวาททุกครั้ง
ได้น้อมนำไปปฏิบัติได้ผลอย่างสมมาดปรารถนา

เกล้ากระหม่อมพร้อมด้วยญาติโยมได้สร้างกุศลมาตลอดตามลำดับ
ตั้งใจปฏิบัติตามพระกรุณาที่ได้ประทานโอวาททุกครั้ง
ในด้านบำเพ็ญทาน ศีล และภาวนา
และปฏิบัติในด้านสติปัฏฐาน ๔ ได้ผลอย่างสมมาดปรารถนา
เป็นกิจกรรมของคณะสงฆ์ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนสืบมาจนบัดนี้

เกล้ากระหม่อมขอปฏิญาณ และตั้งกัลยาณจิตในวันนี้
เพื่อถวายพระพรต่อสมเด็จพระสังฆบิดร
ขอให้พระองค์ทรงมีพระชนมายุยั่งยืน
พลานามัยสมบูรณ์พูนสุข ปราศจากโรคาพาธและเจริญด้วยธรรม

อนึ่ง ขอให้พระองค์สังฆบิดรจงเป็นดุจร่มโพธิ์ร่มไทร
ของพี่น้องชาวไทยทั้งในและนอกประเทศ
ตลอดกระทั่งเป็นร่มโพธิ์ร่มไทรของคณะสงฆ์ไทย
ทรงมีพระชนม์ยืนยาวนานสืบไปชั่วกาลนานเทอญ


:b8: :b8: :b8: จาก...หนังสือ กฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่มที่ ๙
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)


:b44: หมายเหตุ โดยสาวิกาน้อย :
* พระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
ท่านมีสมณศักดิ์ชั้นสุดท้ายเป็นที่ พระธรรมสิงหบุราจารย์

---------------------------------------------------

พระโอวาท
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก*
ประทานแก่พระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)**

ขออนุโมทนาสาธุการ ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล
พร้อมทั้งท่านศรัทธาสาธุชน ศิษยานุศิษย์วัดอัมพวันทั้งหลาย

ในโอกาสที่ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล
พร้อมทั้งคณะศิษย์วัดอัมพวันได้รวบรวมบริจาคกัปปิยภัณฑ์
จำนวน ๒๕๐,๐๐๐ บาท (สองแสนห้าหมื่นบาทถ้วน)
เพื่อสร้างวัดในสหรัฐอเมริกา ปรารภวันที่ ๓ ตุลาคม ๒๕๓๗

ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคลได้มีเกียรติคุณเกียรติศักดิ์ขจรเฟื่องฟุ้งว่า
ท่านเป็นองค์ที่ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ และได้อบรมสาธุชน พุทธบริษัททั้งหลาย
ทั้งฝ่ายบรรพชิตทั้งฝ่ายคฤหัสถ์ให้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ
ตามหลักปฏิบัติวิปัสสนาธุระ สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน
หรือกล่าวรวมว่าปฏิบัติตามหลักไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา
เพื่อวิมุตติคือหลุดพ้นตามพระพุทธโอวาทมาเป็นเวลาช้านาน

ทั้งยังได้ชักนำให้ปฏิบัติในการบุญการกุศลและบริจาคทั้งหลาย
เช่นที่ชักนำให้มีการบริจาคอันสำเร็จด้วยทาน
อันเป็นทานมัย บุญกิริยาในครั้งนี้ตามที่กล่าวแล้ว

เพราะฉะนั้นท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล
จึงเป็นผู้ที่ได้ชื่อว่าได้บำเพ็ญประโยชน์อย่างยิ่ง
ทั้งที่เป็นอัตตัตถะประโยชน์ ประโยชน์ส่วนตน
ทั้งที่เป็นปรัตถะประโยชน์ ประโยชน์ส่วนผู้อื่น ได้อย่างดี มาตลอดเวลาช้านาน

อันบุญกิริยาวัตถุในพระพุทธศาสนานั้น
เมื่อกล่าวโดยย่อก็ดังที่เราทั้งหลายได้ทราบอยู่แล้ว
เป็นการกระทำบุญอันสำเร็จด้วยทานบ้าง อันสำเร็จด้วยศีลบ้าง
อันสำเร็จด้วยภาวนา คือสมถภาวนา และวิปัสสนาภาวนาบ้าง
เพื่อพ้นคือวิมุตติ ความหลุดพ้น ตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

เพราะฉะนั้นท่านผู้ปฏิบัติประกอบบุญกิริยา
ตามพระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนไว้นี้ และชักนำให้ผู้อื่นปฏิบัติ
ชื่อว่าได้กระทำบุญอันเป็นชื่อของความสุข ดังที่พระพุทธเจ้าได้ตรัสสอนเอาไว้

“ภิกษุทั้งหลาย เธอทั้งหลายอย่าได้กลัวต่อบุญเลย บุญเป็นชื่อของความสุข”

จึงตรัสสอนให้ศึกษา คือเรียนให้รู้แล้วปฏิบัติทำบุญอันเป็นเหตุให้เกิดความสุขนี้
ด้วยวิธีต่างๆ เป็นอันมาก ดังที่เราทั้งหลายได้ปฏิบัติกันอยู่
ด้วยการที่บริจาคทานบ้าง สมาทานรักษาศีลบ้าง
บำเพ็ญภาวนา สมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐานบ้าง
เพื่อผลคือวิมุตติ ความหลุดพ้น ดังที่กล่าวมาแล้ว จึงขออนุโมทนาสาธุการ

โดยปริยายคือทางอันหนึ่ง พระพุทธเจ้าเองได้ตรัสสอนให้ปฏิบัติในอานาปานสติ
คือสติกำหนด ลมหายใจเข้าออกของตน ตลอดทั้งของผู้อื่น
และโดยเฉพาะของตนเพราะว่าลมหายใจเข้าออกนั้นทุกคนมีอยู่แล้วในตนเอง

การกำหนดลมหายใจเข้าออกของตน จึงเป็นของกระทำได้ไม่ยาก
เป็นของกระทำได้ง่าย แม้ใน พระสูตรใหญ่คือมหาสติปัฏฐานสูตร
ก็ตรัสยกอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ทรงแสดงสอนไว้เป็นข้อแรก

และยังได้ตรัสไว้ในที่อื่นถึงอานาปานสติโดยวิธีปฏิบัติอันเป็นไปได้
ทั้งส่วนที่เป็นกายานุปัสสนา สติพิจารณากาย เวทนานุปัสสนา
กำหนดพิจารณาเวทนา จิตตานุปัสสนา กำหนดพิจารณาจิต
และธรรมานุปัสสนา กำหนดพิจารณาธรรม
ซึ่งเราทั้งหลายคงจะได้ศึกษาและปฏิบัติกันมาบ้างตามสมควรแล้ว

การปฏิบัติสติปัฏฐานนี้ย่อมมีผลานิสงส์ ดังที่ตรัสสอนเอาไว้เป็นอันมาก
ก็เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ทั้งหลาย เป็นไปเพื่อก้าวล่วงโสกะ
ปริเทวะทั้งหลาย เป็นไปเพื่อดับทุกข์โทมนัส
เป็นไปเพื่อทำให้แจ้งญายธรรม คือธรรมะที่พึงบรรลุโดยลำดับเพื่อนิพพาน

เพราะฉะนั้นอานาปานสติ จึงเป็นหมวดธรรม
ที่ตรัสสอนไว้เป็นบทแรกในพระสูตรใหญ่ดังกล่าว
เพราะทุกคนสามารถปฏิบัติได้โดยไม่ยาก
เพียงแต่ตั้งสติกำหนดลมหายใจของตนเองเท่านั้นและปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน
ก็จะปฏิบัติไปได้ทั้งในส่วนสติปัฏฐานทั้ง ๔ เนื่องไปถึงโพชฌงค์ ๗ เป็นต้นได้โดยตลอด

เพราะฉะนั้นลมหายใจเข้าออก จึงเป็นพาหะหรือพาหนะเครื่องนำอันสำคัญ
อันจะนำไปสู่ความสิ้นทุกข์ได้ ตามที่ทรงสั่งสอนไว้โดยแท้จริง

แม้ตามพระพุทธประวัติก็แสดงว่าพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จออกทรงผนวช
แสวงหาโมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องหลุดพ้นนั้น
ได้ทรงขวนขวายปฏิบัติไปตามวิธีที่ฤษี โยคีทั้งหลายปฏิบัติกันอยู่ในครั้งนั้นเป็นอันมาก

ตลอดจนถึงทรงบำเพ็ญทุกรกิริยา
ทรมานกายให้ลำบากอันเป็นที่นิยมอย่างยิ่งในครั้งนั้น
ได้ทรงกระทำเป็นอย่างยิ่งแล้ว
ก็ไม่ได้รับความตรัสรู้เป็นโมกขธรรมอย่างที่ทรงปรารถนา

จึงได้ทรงเลิก และทรงระลึกถึงสมาธิที่ทรงได้
เมื่อเป็นพระราชกุมารเล็กๆ เสด็จตามพระราชบิดาไปในพิธีแรกนาขวัญ

ขณะที่พระราชบิดาทรงประกอบพิธีแรกนาขวัญนั้น
พระองค์ทรงกำหนดลมหายใจเข้าออกของพระองค์เอง
ทรงได้สมาธิในครั้งนั้น ที่ท่านแสดงว่าถึงปฐมฌาน แต่แล้วสมาธินั้นก็เสื่อมไป

ทรงระลึกได้ถึงสมาธิจิตที่ทรงได้ครั้งเป็นพระราชกุมารนั้น
โดยอาศัยลมหายใจเข้าออก ซึ่งทรงเห็นว่ากำหนดลมหายใจเข้าออกนั้น
จะเป็นทางนำไปสู่โมกขธรรม ธรรมที่เป็นเครื่องหลุดพ้นทุกข์ได้ตามที่ทรงปรารถนา

จึงได้จัดแสดงอบรมในอานาปานสติ
ก็ทรงบรรลุผลของธรรมปฏิบัติที่ยิ่งๆ ขึ้นไปโดยลำดับ จนถึงทรงได้สมาธิอย่างสูง
และทรงได้พระญาณไปโดยลำดับจนถึงอาสวักขยญาณ ญาณที่เป็นเหตุสิ้นอาสวะ

เพราะฉะนั้นจึงเท่ากับว่า เมื่อทรงแสวงหาพระอาจารย์ภายนอก
หรือวิธีปฏิบัติภายนอกที่อาจารย์ต่างๆ สอนไว้มาปฏิบัติหลายอย่างหลายประการ
ทุกอย่างทุกประการแล้ว ก็ไม่ทำให้ทรงบรรลุโมกขธรรม

จึงทรงใช้วิธีที่พระองค์ทรงพบ ทรงได้เป็นการอาศัยพระองค์เอง
เป็นพระอาจารย์ของพระองค์เองนั่นเอง
และทรงนำเอาอานาปานสตินี้มาทรงปฏิบัติ ก็ทรงได้สมาธิอย่างสูง

และทรงน้อมจิตสมาธินี้ไปเพื่อปัญญา เพื่อความตรัสรู้จึงทรงได้พระญาณปัญญา
ตรัสรู้ไปโดยลำดับดังกล่าว จนถึงได้อาสวักขยญาณ
ญาณเพื่อสิ้นอาสวะกิเลสทั้งสิ้นดับไป ชาติสิ้นแล้ว ภพใหม่ไม่มีแล้ว
จึงทรงพอพระทัยว่า ตรัสรู้พระอนุตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว
เป็นพุทโธ หรืออภิสัมพุทโธ หรือสัมมาสัมพุทโธ ผู้ตรัสรู้เองโดยชอบแล้ว ดังนี้

จึงได้ทรงแสดงพระธรรมคำสั่งสอน ทรงบัญญัติ ทรงแสดงพระวินัย
พระองค์ทรงแสดงพระธรรม ทรงบัญญัติพระวินัย
ตั้งพระพุทธศาสนาคือพระธรรมวินัยขึ้นในโลก ซึ่งยังสถิตอยู่จนถึง ณ บัดนี้

พร้อมทั้งพุทธบริษัทที่ปรากฏ ณ บัดนี้
คือ ภิกษุ สามเณร อุบาสก อุบาสิกา ทั้งหลาย
รวมเป็นพุทธศาสนิกชนทั้งหลายนั่นเอง

เพราะฉะนั้นเราทั้งหลายจึงชื่อว่าเป็นผู้ที่มีลาภ เกิดมาพบพระพุทธศาสนา
แม้จะไม่ทันสมัย พระพุทธกาลเมื่อพบพระพุทธศาสนาแล้ว
ก็สามารถปฏิบัติให้เห็นองค์พระพุทธเจ้าได้ โดยที่ปฏิบัติให้เป็น ผู้ที่เห็นธรรมนั่นเอง

ดังที่ตรัสไว้ว่า

ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นเห็นเรา
ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นเห็นธรรม


ในการเห็นธรรมนั้น เริ่มด้วยธรรมจักษุ คือ ดวงตาเห็นธรรม
ดังที่พระโกณฑัญญะได้ฟังปฐมเทศนาจบลงแล้วก็ได้ดวงตาเห็นธรรม อันเรียกว่าธรรมจักษุ

และดวงตาเห็นธรรมที่พระโกณฑัญญะได้เห็นนั้น ท่านแสดงไว้ในท้ายพระสูตรนั้นว่า

ยังกิญจิ สมุทยธัมมัง สิ่งใดสิ่งหนึ่งมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา

สัพพันตัง นิโรธธัมมัง สิ่งนั้นทั้งหมดมีความดับไปเป็นธรรมดา

คือเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นทั้งปวงอันเรียกว่า สังขาร คือส่วนประสมปรุงแต่ง
ทั้งที่เป็นอุปาทินนกสังขาร สังขารที่มีใจครอง
ทั้งที่เป็นอนุปาทินนกสังขาร สังขารที่ไม่มีใจครอง
ต้องมีความเกิดดับเป็นธรรมดา ทั้งหมดเกิดขึ้นแล้วต้องดับไป ดังนี้

เป็นธรรมจักขุ ดวงตาเห็นธรรมที่พระโกณฑัญญะท่านได้ในเมื่อฟังปฐมเทศนาจบ
พระพุทธเจ้าจึงได้ตรัสเปล่งพระพุทธอุทานขึ้นว่า

อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ โกณฑัญญะได้เห็นแล้วหนอ

อัญญาสิ วะตะ โภ โกณฑัญโญ โกณฑัญญะได้เห็นแล้วหนอ

เพราะฉะนั้นชื่อพระโกณฑัญญะจึงได้เติมเข้าว่า “อัญญาโกณฑัญญะ”
ก็เรียกท่านว่า ท่านพระอัญญาโกณฑัญญะ ต่อมาตลอดจนบัดนี้

เพราะฉะนั้นธรรมจักขุ ดวงตาเห็นธรรมนี้จึงเป็นผลของการที่ได้ตั้งใจฟังธรรม
ตั้งใจปฏิบัติธรรม เริ่มมาเป็นเบื้องต้นโดยลำดับ อันจะได้ผลจนได้ธรรมจักขุ
คือดวงตาเห็นธรรม เห็นได้โดยลำดับ ตั้งแต่ขั้นสามัญจนถึงขั้นสูง
ตามที่ปรากฏในพุทธประวัติ ดังที่เล่ามานี้ เป็นต้น

เราทั้งหลายจึงเป็นผู้ที่มีลาภด้วยกัน ที่เกิดมาทันได้พบพระพุทธศาสนา
เท่ากับได้พบพระพุทธเจ้า เพราะได้มีโอกาสพบพระพุทธศาสนา
ได้ฟังคำสั่งสอนของพระองค์ ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระองค์
อันเป็นเหตุให้บังเกิดความสุข เราทั้งหลายจึงพากันได้ความสุข ๔ ประการ
ดังที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงไว้ว่า

๑. สุโข พุทฺธานมุปฺปาโท ความเกิดขึ้นของพระพุทธะทั้งหลายให้เกิดสุข

๒. สุขา สทฺธมฺมเทสนา การแสดงพระสัทธรรมให้เกิดสุข

๓. สุขา สงฺฆสฺส สามคฺคี ความสามัคคีพร้อมเพรียงกันของสงฆ์
คือหมู่ของผู้ปฏิบัติดี ปฏิบัติชอบ ผู้ปฏิบัติตามพระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าให้เกิดสุข

๔. สมคฺคานํ ตโป สุโข
ความเพียรเผากิเลสของผู้ที่พร้อมเพรียงกันทั้งหลาย ให้เกิดความสุข ดังนี้

ตามข้อ ๔ นี้ แสดงความสำคัญว่า การปฏิบัติพระพุทธศาสนาด้วยวิริยะ
คือความพากเพียรพยายามของทุกๆ คน เรียกว่า อาตาโป
แปลว่าความเพียรเผากิเลส เพราะการปฏิบัติตามพระพุทธศาสนา
คำสอนของพระพุทธเจ้าทุกข้อทั้งหมด
ทั้งที่เป็นส่วนศีลก็ดี ส่วนสมาธิก็ดี ส่วนปัญญาก็ดี ล้วนเป็นเครื่องเผากิเลสทั้งนั้น

ศีลนั้นเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างหยาบ อันบังเกิดในทุจริตทางกาย ทางวาจา ทางใจ

สมาธินั้นเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างกลาง ที่บังเกิดขึ้นร่วมกับจิตใจ

ปัญญานั้นเป็นเครื่องเผากิเลสอย่างละเอียด
ตลอดถึงขั้นอาสวะอนุสัย กิเลสที่นอนจมหมักหมมอยู่ในจิตสันดาน

เพราะฉะนั้น ศีล สมาธิ ปัญญา ล้วนเป็นข้อปฏิบัติเผากิเลส
ให้บังเกิดวิมุตติ คือความหลุดพ้นทั้งนั้น

อันกิเลสนั้นคือโลภ โกรธ หลง ที่เรียกกันทั่วๆ ไป
หรือเรียกอย่างอื่นอันเป็นขั้นละเอียด อันเรียกว่า อาสวะอนุสัย ก็ดี

อย่างกลางในจิตใจ ที่เรียกว่า ปริยุฏฐานกิเลส ก็ดี
หรืออย่างหยาบอันเรียกว่า วิติกกมกิเลส
กิเลสที่ล่วงละเมิดออกไปถึงทางกาย ทางวาจา ก็ดี
ล้วนแล้วเผาจิตใจเผาบุคคลทั้งนั้น

ถ้าคนไม่ปฏิบัติเผากิเลส กิเลสก็จะเผาจิตใจ เผาตัวบุคคลเอง
เพราะฉะนั้นทุกคนย่อมพิจารณาเห็นได้ว่า
การปฏิบัติเผากิเลสตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าแล้วดีกว่า

เพราะไม่เช่นนั้น ถ้าไม่มีพระพุทธศาสนา พระพุทธเจ้าไม่ทรงบังเกิดขึ้นในโลก
ไม่ทรงแสดงคำสั่งสอน ไม่มีพระสงฆ์ ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติตามอยู่
และไม่มีการปฏิบัติธรรมของแต่ละบุคคล กิเลสก็จะเผาโลก
คือหมู่สัตว์บุคคลทั้งหลายในโลก ทั้งที่เป็นส่วนรวม
ทั้งที่เป็นส่วนแต่ละบุคคลนี้ มากมายยิ่งกว่านี้เป็นอันมาก

แต่เพราะมีพระพุทธเจ้าบังเกิดขึ้นในโลก ทรงแสดงพระธรรมคำสั่งสอน
และมีผู้ปฏิบัติตามเป็นสงฆ์คือเป็นหมู่และเป็นแต่ละบุคคล
เพราะฉะนั้นจึงมีผู้ปฏิบัติเผากิเลส และทำให้กิเลสนั้นลดอำนาจลงไป
จนถึงเมื่อเผาได้ กิเลสก็สิ้นอำนาจ เมื่อเป็นดังนี้ จึงทำให้เกิดความสุขอันแท้จริง

เพราะฉะนั้นก็ขอให้เราทั้งหลาย ได้น้อมนึกระลึกถึง
พระพุทธคุณ พระธรรมคุณ พระสังฆคุณ เป็นอารมณ์อยู่เป็นอาจิณว่า
ความที่เราทั้งหลายได้รับความสุขกันทุกวันนี้ ทั้งที่เป็นส่วนบุคคล
ทั้งที่เป็นส่วนรวม ส่วนน้อย ส่วนใหญ่ ตลอดจนทั้งโลก
มีความสุขอยู่ได้เพราะทรงแสดงคำสั่งสอนมีพระสงฆ์
ผู้ที่ปฏิบัติตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้าต่อมา
และในทุกๆ คนที่ได้ปฏิบัติตามคำสั่งสอนพากันเผากิเลสอยู่
จึงทำให้กิเลสนี้ไม่มีฤทธิ์เดชมากนัก
จึงได้พากันมีความสุขมากบ้างน้อยบ้าง ตามที่ได้เผากิเลสได้

ในสมัยใดกิเลสกำเริบขึ้น ในสมัยนั้นเกิดความเดือดร้อน
เช่นเกิดเบียดเบียนประทุษร้ายซึ่งกันและกัน เบียดเบียนตนเอง
เบียดเบียนผู้อื่นให้เดือดร้อน ตั้งแต่ส่วนน้อยจนถึงส่วนใหญ่

ดังที่เป็นสงคราม อาจเป็นสงครามโลก กี่ครั้งๆ ที่แล้วมาเหล่านี้
ล้วนเป็นความระเบิดของตัวกิเลสก่อน เมื่อตัวกิเลสระเบิดขึ้นแล้ว
อาวุธต่างๆ ก็พากันระเบิดตาม มีการยิงกัน แทงกัน ฟันกัน
เบียดเบียนซึ่งกันและกัน ล้มตายกันมากมายแต่ละคราว
แต่จะไม่เป็นสงครามโลก เป็นสงครามเฉพาะท้องถิ่น

แม้ว่าจะเป็นสงครามเฉพาะท้องถิ่น
ก็เป็นการที่ทำลายล้างซึ่งกันและกันเป็นส่วนตัว
ถ้าหากกิเลสกำเริบขึ้นในแต่ละบุคคล

เมื่อกิเลสสงบลงด้วยอำนาจของการปฏิบัติตาม
พระธรรมคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า
เป็นส่วนศีล เป็นส่วนสมาธิ เป็นส่วนปัญญา อยู่แล้ว
ก็ทำให้กิเลสสงบลง น้อยบ้าง มากบ้าง
ทำให้การเบียดเบียนซึ่งกันและกันน้อยลง มากบ้าง น้อยบ้าง

เพราะฉะนั้นพระพุทธศาสนานี้จึงเป็นประโยชน์มาก
พระพุทธเจ้าทรงเป็นผู้มีพระคุณแก่โลกเป็นอันมาก
ก็ขอให้เราทั้งหลายทุกๆ คน น้อมระลึกถึงพระพุทธคุณ ซึ่งรวมเข้าก็เป็นอาทิว่า

พุทโธ สุสุทโธ กรุณามะหัณณะโว พระพุทธเจ้าเป็นพระพุทโธ
คือเป็นผู้ตรัสรู้แล้ว แสดงถึงพระปัญญาคุณ สุสุทโธ ผู้ที่บริสุทธิ์แล้ว
แสดงถึงพระบริสุทธิคุณ กรุณามะหัณณะโว
มีพระกรุณาดังห้วงทะเลหลวงแล้ว นี่แสดงถึงพระกรุณาคุณ

เพราะฉะนั้น พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ
พระกรุณาคุณนี้จึงเป็นพระคุณสรุปของพระพุทธเจ้า
ซึ่งเป็นพระคุณที่ไม่มีประมาณ ดังที่มีบทสวดว่า

อัปปมาโณ พุทโธ พระพุทธเจ้าไม่มีประมาณ
อัปปมาโณ ธัมโม พระธรรมไม่มีประมาณ
อัปปมาโณ สังโฆ พระสงฆ์ไม่มีประมาณ

คือมีพระคุณไม่มีประมาณนั่นเอง
ฉะนั้นเราทั้งหลายจึงได้พากันอยู่ด้วยความสงบสุข
จึงขอให้เราทั้งหลายได้พากันปฏิบัติตามที่ทรงสั่งสอน

และโดยปริยาย คือทางอันหนึ่ง ธรรมที่พระองค์ทรงสั่งสอนนั้น
มีลักษณะดังที่เราทั้งหลายได้ทราบกันอยู่แล้วโดยทั่วไปว่า
ทรงสั่งสอนเพื่อให้รู้ธรรมที่ควรรู้ ควรเห็น
ทรงสั่งสอนมีเหตุผล อันผู้ฟังอาจตรองตามเห็นจริงได้

ทรงสั่งสอนมีปาฏิหาริย์ คือผลของผู้ปฏิบัติ
ก็ย่อมได้รับผลตามสมควรแก่การปฏิบัติ

ข้อที่ว่า ทรงสั่งสอนเพื่อให้ผู้ฟังรู้แจ้ง
เห็นจริงในธรรมที่ควรรู้เห็นนั้น ธรรมที่ควรรู้เห็นที่ทรงสั่งสอนก็คือ
ทรงแสดงธรรม ที่กาย อันยาววาหนาคืบ มีสัญญา มีใจ ของทุกๆ คนนี้เอง

ดังที่ได้ตรัสไว้แก่โรหิตัสสะเทพบุตรว่า

พระองค์ทรงบัญญัติโลก

ทรงบัญญัติโลกสมุทัย เหตุเกิดโลก

ทรงบัญญัติโลกนิโรธ ความดับโลก

ทรงบัญญัติโลกนิโรธคามินีปฏิปทา
ข้อปฏิบัติให้ถึงความดับโลก ที่กายอันยาววาหนาคืบของทุกๆ คนนี้เอง

เพราะฉะนั้นธรรมจึงเป็นธรรมที่เราสวดสรรเสริญพระธรรมคุณกันอยู่ว่า
สันทิฏฐิโก เป็นธรรมที่ทุกคนเห็นได้เอง
อะกาลิโก ไม่ประกอบด้วยกาลเวลา ดังนี้เป็นต้น

ก็เพราะทรงแสดงที่กายอันยาววาหนาคืบของทุกๆ คนนี้
เพื่อทุกๆ คนฟังคำสั่งสอนของพระพุทธองค์
เมื่อน้อมใจเข้ามาพิจารณาดูธรรมที่กายของตัวนี้เอง
คือที่กายใจ หรือที่นามรูป หรือที่ขันธ์ ๕ หรือที่กายใจของตัวนี้
ก็จะเข้าใจธรรมะที่พระองค์ทรงสั่งสอนได้

แต่ถ้าทรงแสดงธรรมะในภายนอก ทุกคนก็ไม่สามารถจะตามรู้ตามเห็นได้
เพราะเป็นภายนอก แต่ว่าทรงแสดงธรรมะที่เป็นภายใน ทุกคนจึงตามรู้ตามเห็นได้

เพราะทุกๆ อย่างที่เป็นมูลฐานของธรรมะที่ทรงแสดงนั้น
อยู่ในกายของทุกๆ คนนี้แล้ว คือที่กายใจของทุกๆ คนนี้ ไม่ได้อยู่ที่อื่น
จึงสามารถรู้ตามได้ เห็นได้ ปฏิบัติได้เช่นเดียวกับตำราแพทย์

ตำราแพทย์ทั้งเล็กทั้งใหญ่ทุกอย่างนั้น
ย่อมมีมูลฐานอยู่ที่ร่างกายของมนุษย์นี้เท่านั้น ไม่ได้อยู่ที่อื่น
เพราะว่าแพทย์นั้นรักษาโรคที่ร่างกายของมนุษย์
โรคก็เกิดที่ร่างกายของมนุษย์ เพราะฉะนั้นตำราแพทย์จึงอยู่ที่ร่างกายของมนุษย์

แต่ว่าพระพุทธศาสนานั้นโดยตรงอยู่ที่จิตใจของมนุษย์
เพราะว่าธรรมะที่ทรงสั่งสอนทั้งสิ้น

ทั้งที่เป็นปริญญาตัพพธรรม ธรรมที่พึงกำหนดรู้

ที่เป็นปหาตัพพธรรม ธรรมที่พึงละ

ที่เป็นสัจฉิกาตัพพธรรม ธรรมที่พึงกระทำให้แจ้ง

และที่เป็นภาเวตัพพธรรม ธรรมที่พึงอบรมให้เกิดมีขึ้นอยู่ที่จิตใจ
พร้อมทั้งกาย วาจา ของทุกๆ คนนี้แหละ แต่ใจเป็นมูลฐานอันสำคัญ

เพราะฉะนั้นจึงได้ตรัสไว้ว่า ธรรมทั้งหลายมีใจเป็นหัวหน้า
มีใจเป็นใหญ่ สำเร็จที่ใจ จิตใจนี้จึงเป็นสิ่งสำคัญ

พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนให้ปฏิบัติศีล ตั้งต้นด้วยศีลทางกาย ทางวาจา
และก็ออกจากใจ ให้ทำสมาธิที่ใจ ให้ทำปัญญาก็ที่ใจ
พร้อมทั้งกายวาจา จึงอยู่ที่กายใจของทุกๆ คนนี้เอง

การปฏิบัติก็ปฏิบัติกายใจนี้ ให้เป็นศีล ให้เป็นสมาธิ ให้เป็นปัญญานี้เอง

ดังอานาปานสติ สติกำหนดลมหายใจเข้าออก ทรงแสดงไว้ในสติปัฏฐานทั้ง ๔ คือ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณากาย

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาเวทนา

จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาจิต

ธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน ตั้งสติพิจารณาธรรม

และตลอดจนถึงหมวดธรรมอื่น มีโพชฌงค์ เป็นต้น

สำหรับในหมวดอานาปานสตินี้ เป็นหมวดนำที่กล่าวมาแล้ว
เราทั้งหลายจึงสามารถปฏิบัติได้ ดังที่สั่งสอนเอาไว้

ตั้งต้นแต่ให้ไปสู่ป่า สู่โคนไม้ สู่เรือนว่าง อันหมายความว่า
อยู่ที่อันสงบสงัด ตามแต่จะพึงหาได้ เพื่อให้เป็น กายวิเวก สงัดกาย

เมื่อเป็นกายวิเวกสงัดกายแล้ว จึงสามารถจะปฏิบัติ จิตวิเวก
ปฏิบัติให้สงบจิต อุปธิวิเวก สงบกิเลสได้ไปตามลำดับ

เพราะฉะนั้นเมื่อได้ที่สงบสงัด ดังเช่นในบัดนี้ก็ที่นี่
ก็ถือว่าสงบสงัดได้ ก็น้อมจิตเข้ามากำหนดดู ลมหายใจเข้าออกของตนเอง
ที่หายใจเข้ารู้ หายใจออกรู้ หายใจเข้าก็ให้รู้ หายใจออกก็ให้รู้

และก็มาถึง

๑. หายใจเข้ายาวก็รู้หายใจเข้ายาว หายใจออกยาวก็รู้หายใจออกยาว

๒. หายใจเข้าสั้นก็รู้หายใจเข้าสั้น หายใจออกสั้นก็รู้หายใจออกสั้น

๓. รู้ที่กายทั้งหมดที่ลมหายใจดังกล่าว หายใจเข้า หายใจออก

๔. ระงับกายสังขาร เครื่องปรุงกาย หายใจเข้า หายใจออก อันหมายความว่า
กำหนดอยู่ที่ลมหายใจเข้าออก แต่ว่าทำลมหายใจเข้าออกให้สงบ

อันที่จริงนั้น เมื่อกำหนดลมหายใจเข้าออก จิตก็จะเป็นสมาธิขึ้น
ใจก็จะสงบ เมื่อใจสงบกายก็จะสงบ เมื่อกายสงบ
ลมหายใจเข้าออกก็สงบไปเอง โดยเราไม่ต้องไปคิดทำให้สงบ หรือตั้งใจทำให้สงบ

แต่เมื่อทำสมาธิแล้วใจสงบกายก็สงบ
ลมหายใจเข้าออกซึ่งเป็นกายอย่างหนึ่งก็สงบตาม
สมาธิละเอียดเข้าลมหายใจก็ละเอียดเข้า จนถึงรู้สึกเหมือนไม่หายใจ
แต่ความจริงนั้นยังหายใจ เป็นแต่เพียงว่า
เมื่อกายสงบที่สุดลมหายใจก็สงบที่สุด เหมือนไม่หายใจเท่านั้น
เพราะฉะนั้นไม่ต้องตกใจ กำหนดดังนี้เรียกว่าเป็นการทำอานาปานสติ
ในหมวดที่เรียกว่า กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ต่อจากนั้นก็ให้กำหนดเวทนาที่บังเกิดขึ้นในขณะที่ปฏิบัตินั้น

๑. มีปีติก็ให้รู้
๒. มีสุขก็ให้รู้
๓. ให้รู้ว่าปีติสุขนี้เป็นจิตสังขาร เครื่องปรุงจิต
๔. ให้ตั้งใจสงบจิตสังขาร ที่ลมหายใจเข้า หายใจออก
ดังนี้ก็เป็นการปฏิบัติในเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

และต่อจากนั้นก็ให้กำหนดจิต

๑. กำหนดตัวจิต
๒. กำหนดตัวปราโมทย์บันเทิงของจิต
๓. กำหนดจิตที่ตั้งมั่น
๔. คอยเปลื้องจิต เมื่อจิตเกิดราคะ โทสะ โมหะ
เมื่อจิตฟุ้งซ่านออกไปก็ให้ระงับเอาไว้ นำจิตเข้ามาให้สงบอยู่
ปลดเปลื้องจิตอยู่เสมอไม่ให้จิตฟุ้งซ่าน เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

ต่อจากนั้นก็กำหนดอนิจจัง คือไม่เที่ยง อันเป็นตัวปัญญา
กำหนดขันธ์ ๕ นามรูปไม่เที่ยง ก็กำหนดลมหายใจเข้าออกนั่นแหละว่าไม่เที่ยง
ตัวลมหายใจเข้าออกเป็นรูป รู้ลมหายใจเข้าออกเป็นนาม รู้นามรูปที่ว่าไม่เที่ยง

๑. รู้นามรูปว่าไม่เที่ยง
๒. จิตไม่ติดในกายใจ เป็นวิราคะ
๓. เกิดนิโรธ คือความดับ ดับความติด ความยินดี
ดับความรัก ความชัง ความโกรธ ความหลง
๔. สงบสงัดจากกิเลส จิตจะเปลื้องออกจากความยินดียินร้ายทั้งปวง

นี้เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

การปฏิบัติดังนี้เมื่อรวมแล้วก็เรียกว่าเป็นสติปัฏฐาน ๔ ชั้น
ชั้นละ ๔ ข้อ ชั้นกายก็ ๔ ข้อ ชั้นเวทนาก็ ๔ ข้อ ชั้นจิตก็ ๔ ข้อ
ชั้นธรรมก็ ๔ ข้อ เป็นอานาปานสติกำหนด ๑๖ ชั้น
นี้กล่าวโดยย่อตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงสั่งสอนเอาไว้

เพราะฉะนั้นหลักอันนี้จึงเป็นหลักที่สาธุชนผู้ปฏิบัติทั้งหลาย
ควรถือปฏิบัติได้ ตามที่พระพุทธเจ้าทรงสั่งสอนไว้เป็นประโยชน์
เป็นไปด้วยความดับกิเลสในกองทุกข์ ตามคำสั่งสอนของพระพุทธเจ้า

ในที่สุดนี้จึงขออนุโมทนาสาธุการ ขออำนาจบุญกุศลทั้งหลาย
ที่ท่านได้ปฏิบัติกันมา ทั้งในด้านทาน ด้านศีล ด้านภาวนา
จงอภิบาลรักษาทุกๆ ท่าน ให้เจริญอายุ วรรณะ สุขะ พละ
ให้พ้นทุกข์โศกโรคภัยอันตราย ให้ถึงความสุขความเจริญในธรรมยิ่งๆ ขึ้นไป

ระตะนัตตะยานุภาเวนะ ระตะนัตตะยะเตชะสา

อิจฉิตัง ปัตถิตัง ตุมหัง ขิปปะเมวะ สะมิชฌะตุ

สัพเพ ปูเรนตุ สังกัปปา จันโท ปัณณะระโส ยะถา

มะณิ โชติระโส ยะถาฯ

สัพพีติโย วิวัชชันตุ สัพพะโรโค วินัสสะตุ

มา เต ภะวัตวันตะราโย สุขี ทีฆายุโก ภะวะ

อะภิวาทะนะสีลิสสะ นิจจัง วุฑฒาปะจายิโน

จัตตาโร ธัมมา วัฑฒันติ อายุ วัณโณ สุขัง พะลัง

โส สา เต อัตถะลัทธา สุขิตา วิรุฬหา พุทธะสาสะเน

อะโรคา สุขิตา โหถะ สะหะ สัพเพหิ ญาติภิฯ

ภะวะตุ สัพพะมังคะลัง รักขันตุ สัพพะเทวะตา

สัพพะพุทธา ธัมมา สังฆานุภาเวนะ สะทาโสตถี ภะวันตุ เตฯ


:b8: :b8: :b8: จาก...หนังสือ กฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่มที่ ๙
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)


:b44: หมายเหตุ โดยสาวิกาน้อย :
* สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ทรงมีพระสมณศักดิ์ชั้นสุดท้ายเป็นที่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร


** พระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
ท่านมีสมณศักดิ์ชั้นสุดท้ายเป็นที่ พระธรรมสิงหบุราจารย์

---------------------------------------------------

พระวรธรรมคติ
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก*
ประทานแก่พระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)**
เจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี และคณะวัดอัมพวัน
ในโอกาสเข้าเฝ้า ณ สว.ธรรมนิเวศ วันที่ ๒๒ กันยายน พ.ศ. ๒๕๔๒


เป็นพระคุณอย่างยิ่ง ที่วันนี้ท่านเจ้าคณะจังหวัดสิงห์บุรี
ท่านเจ้าคุณพระราชสุทธิญาณมงคล หลวงพ่อจรัญแห่งวัดอัมพวัน
ได้กรุณานำคณะศิษยานุศิษย์มาถึงวัดบวรนิเวศวิหาร
เพื่อนำพุทธศาสนิกผู้เป็นศิษยานุศิษย์ให้มาร่วมแสดงกัลยาณจิตพร้อมกับท่าน
ต่ออาตมาภาพผู้เป็นเพื่อนสหธรรมมิก อันการได้มีโอกาสใกล้ชิด
ติดตามครูบาอาจารย์ผู้งดงามด้วยศีลด้วยธรรมด้วยวินัยนั้น
นับว่าเป็นบุญอย่างยิ่ง จะไม่ถูกนำไปผิดทาง
ผู้มีปัญญาจะไม่แนะนำทางที่ไม่ควรแนะนำ
ตรงกันข้ามกับผู้มีปัญญาทรามที่ย่อมแนะนำทางที่ไม่ควรแนะนำ
ผู้เดินตามคำแนะนำนั้น ชื่อว่าเป็นผู้ประมาท
เป็นผู้กำลังเดินไปตามทางแห่งความตาย พระพุทธภาษิตบทหนึ่งมีความว่า
“ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำความประทุษร้าย”
นั่นก็คือ ผู้มีปัญญาทรามย่อมทำร้ายใครทั้งนั้นได้ ทั้งโดยรู้ตัว หรือไม่รู้ตัวก็ตาม
ทุกคนจึงไม่ควรละเลยพระปัจฉิมโอวาท
คือคำสั่งสุดท้ายก่อนจะเสด็จปรินิพพานของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ที่ให้เราทั้งหลายพึงยังความไม่ประมาทให้ถึงพร้อม

ไทยมีคำพังเพยว่า “ระยะทางพิสูจน์ม้า กาลเวลาพิสูจน์คน”
คือม้าดีมีกำลังจริงย่อมมีฝีเท้าวิ่งได้ดีในระยะทางไกล
คนดีย่อมดีทุกเวลา ไม่ว่าต่อหน้าคนหรือลับหลังคน คนดีย่อมเป็นคนดี
คนดีไม่ใช่จะดีแต่ต่อหน้าคน ลับหลังคนแล้วไม่ดี
คนที่ทำดีแต่เมื่อมีคนเห็น คนไม่เห็นทำชั่วทำไม่ดี นอกจากจะไม่ใช่คนดีแล้ว
ยังถือว่าเป็นคนไม่ดีก็ไม่ผิดเป็นคนหลอกลวงให้เกิดความหลงผิด
และการทำให้หลงผิดนั้น เป็นธรรมดาจะให้หลงทำความชั่วความไม่ดี
และความชั่วนั้น สมเด็จพระบรมครูของพวกเราทรงชี้ให้เห็นว่า
“ความชั่วย่อมเผาผลาญในภายหลัง” แน่นอน

กาลเวลาได้พิสูจน์หลวงพ่อจรัญของพวกท่านแล้ว
จงภูมิใจในความมีบุญของพวกท่าน ทั้งที่ได้มาพบพระพุทธศาสนา
และได้มาพบครูอาจารย์ที่มีปัญญา จึงเห็นค่าสูงสุดของพระพุทธศาสนา
อัญเชิญมาสอนสั่งท่านทั้งหลาย ให้ได้รับความปกปักพิทักษ์รักษา ไม่ให้ไปนรก
ทั้งเมื่อละโลกนี้ไปแล้ว และทั้งจักไม่พบนรกในโลกนี้ด้วย
นรกเป็นที่ของอสัตบุรุษคือคนไม่ดี ที่ของสัตบุรุษคือคนดีคือสวรรค์
นรกเป็นที่ให้ความทุกข์ทรมาน ส่วนสวรรค์เป็นที่ให้ความรื่นเริงบันเทิงใจ
น่าเสียดายที่ไม่ค่อยจะเชื่อกันเช่นนี้
ถ้าเชื่อเสียบ้างก็จะไม่มีผู้ทำบาปทำชั่วมากมายนักเช่นทุกวันนี้
ที่น่ากลัวมาก ว่าสวรรค์จะว่าง นรกจะแน่น ความชั่วจะเผาผลาญ
เมื่อถึงเวลานั้น ใครก็ช่วยไม่ได้ ผลของกรรมยิ่งใหญ่เหนืออำนาจทั้งปวง
เมื่อกรรมส่งผลแล้วไม่มีอำนาจใดจะทัดทานได้ จงกลัวกรรมเถิด
อย่ากลัวจะยากจนเลย ความกลัวจะทำให้โลภ
และความโลภจะทำให้ฆ่าได้ ทั้งฆ่าตัวเองและฆ่าผู้อื่น
มีพระพุทธภาษิตบทหนึ่ง ซึ่งขอฝากไว้คือ
“ผู้มีปัญญาทรามย่อมฆ่าตนเอง เหมือนฆ่าผู้อื่น เพราะอยากได้โภคทรัพย์”
ข้อสำคัญ “ชีวิตนี้น้อยนัก” และเมื่อชีวิตนี้สิ้นไปแล้ว
ละโลกนี้ไปแล้ว ทรัพย์สักนิดก็จะติดตัวไปไม่ได้
บาปและบุญเท่านั้นจะตามไปให้เกิดชั่วหรือเกิดดี ให้ลงนรกหรือขึ้นสวรรค์

อัญเชิญพระธรรม คำทรงสอนของสมเด็จพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้ามากล่าวในวันนี้
เพื่อสนองน้ำใจศิษยานุศิษย์ของหลวงพ่อจรัญท่าน ขอจงรับไว้ด้วยดี
เพื่อให้ชีวิตสวัสดีตลอดไป ไม่เสียชื่อที่มีครูอาจารย์เช่นหลวงพ่อจรัญท่าน ขออำนวยพร.


:b8: :b8: :b8: จาก...หนังสือ กฎแห่งกรรม-ธรรมปฏิบัติ เล่มที่ ๑๔
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)


:b44: หมายเหตุ โดยสาวิกาน้อย :
* สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก (เจริญ สุวฑฺฒโน)
พระองค์ทรงมีพระสมณศักดิ์ชั้นสุดท้ายเป็นที่ สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร


** พระราชสุทธิญาณมงคล (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)
ท่านมีสมณศักดิ์ชั้นสุดท้ายเป็นที่ พระธรรมสิงหบุราจารย์


รูปภาพ
สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์


รูปภาพ
พระธรรมสิงหบุราจารย์ (หลวงพ่อจรัญ ฐิตธมฺโม)

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 เม.ย. 2020, 08:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

หลวงปู่บุญมี โชติปาโล
ทำพิธีต่อพระชนมายุถวายแด่สมเด็จพระสังฆราช
เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๖

:b44: :b47: :b44:

มีเหตุการณ์ปาฏิหาริย์อีกเรื่องหนึ่งที่โจษขานกันไปทั่ว กล่าวคือ เมื่อครั้งที่มีงานมหาพิธีพุทธาภิเษกพระกริ่งคชวัตร และพระรูปเหมือนสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน) สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ เนื่องในวโรกาสทรงเจริญพระชนมายุครบ ๙๐ พรรษา (ภายหลังจากที่ทรงหายจากอาการพระประชวรหนักจนจวนเจียนจะสิ้นพระชนม์ แต่ทรงเจริญอิทธิบาท ๔ จนสามารถเจริญพระชนมายุต่อมาได้โดยสวัสดิภาพอย่างน่าอัศจรรย์ไม่นาน) ณ พระอุโบสถ วัดบวรนิเวศวิหาร กรุงเทพมหานคร เมื่อวันที่ ๒๖ กันยายน พุทธศักราช ๒๕๔๖ โดยครั้งนั้น “พระภาวนาวิศาลเถร (หลวงปู่บุญมี โชติปาโล)” พระอริยเจ้าผู้มีพลังจิตเข้มขลังยิ่งแห่งวัดสระประสานสุข จังหวัดอุบลราชธานี ได้รับอาราธนามานั่งปรกอธิษฐานจิตในพิธีพุทธาภิเษกด้วย

เมื่อพิธีพุทธาภิเษกเสร็จสิ้น หลวงปู่บุญมีได้ลุกจากอาสนะสงฆ์ที่นั่งอยู่ แล้วเดินตรงเข้ามาหา ยืนต่อเบื้องพระพักตร์สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ โดยมิได้ทรุดกายลงกราบ พร้อมกับเอาผ้าขนหนูผืนน้อยที่ไว้สำหรับเช็ดหน้าเช็ดปากลูบไล้เช็ดตามพระวรกาย ตั้งแต่พระเศียร (หัว) พระพักตร์ (หน้า) วนไปวนมาอยู่หลายรอบ เสร็จแล้วลงมาที่พระพาหา (ไหล่) พระกร (แขน) และพระอุระ (หน้าอก) อย่างที่ไม่มีใครนึกฝันหรือคาดคิดมาก่อน สร้างความตกตะลึงพรึงเพริดให้บังเกิดขึ้นแก่ศิษย์อุปัฏฐากของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ และทุกๆ คนที่ไม่ทราบความนัยเป็นอย่างยิ่ง และเมื่อเห็นทุกๆ คน (ยกเว้นแต่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ) บังเกิดความสงสัยแปลกใจอย่างเต็มที่ ศิษย์ติดตามของหลวงปู่บุญมีจึงกราบทูลชี้แจงในอริยาการดังนั้นมาทีเดียวว่า “หลวงปู่กำลังทำพิธีต่อพระชนมายุถวายแด่ฝ่าพระบาทอยู่ ขอรับกระหม่อม”

เมื่อถึงที่สุดแห่งการพิธี หลวงปู่บุญมีได้ก้มลงกราบที่พระอุระ (หน้าอก) โดยมิได้พูดอะไรออกมาแม้แต่คำเดียว ขณะที่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ เองก็มิได้ออกพระวาจา หรือแสดงอาการหลบเลี่ยงอย่างไม่สบพระทัยแต่อย่างใดทั้งสิ้น จากนั้นหลวงปู่บุญมีก็ได้กุมพระหัตถ์ (มือ) ทั้งสองของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ขึ้นอธิษฐานเหมือนหนึ่งจะถวายพระพรให้ทรงพระเจริญด้วยพระชนมายุยิ่งยืนนานกว่า ๑๐๐ พระวัสสา ค้ำชูบูชาคุณบวรพระพุทธศาสนาให้สถาพรสืบต่อไปตราบชั่วจิรกาลเป็นปัจฉิมวาระ

แม้จะมีพรรษายุกาลมากกว่า แต่หลวงปู่บุญมีก็ก้มลงกราบแทบองค์ของสมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ อย่างนอบน้อมในพระคุณธรรมอันประเสริฐสุด เป็นที่ประทับตาประทับใจแก่พุทธศาสนิกชนทุกผู้ทุกนามที่มีบุญได้อยู่ร่วมในเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นเป็นอย่างยิ่ง

โดยเหตุการณ์ดังกล่าวที่เกิดขึ้น ศิษย์ติดตามของหลวงปู่บุญมีระบุว่า เป็นการทำพิธีต่อพระชนมายุถวายแด่สมเด็จพระสังฆราชเจ้าฯ ก่อนที่หลวงปู่บุญมีจะละสังขารด้วยอาการอันสงบ เมื่อวันศุกร์ที่ ๔ มิถุนายน พุทธศักราช ๒๕๔๗ หลังจากเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ครั้งนั้นเพียง ๘ เดือนเท่านั้น

:b47: หมายเหตุ : เรื่องการทำพิธีต่อพระชนมายุฯ นี้ได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสืออิทธิฤทธิ์

:b8: :b8: :b8: คัดลอกเนื้อหามาจาก...
ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่บุญมี โชติปาโล” วัดสระประสานสุข

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44953

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2023, 11:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b27:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2023, 11:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b1:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2023, 11:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ขณะทรงเจริญสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
ทรงกราบ “สมเด็จพระพุทธปาพจนบดี (ทองเจือ จินฺตากโร)”
ในการบำเพ็ญพระกุศลวันประสูติ ๓ ตุลาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 มิ.ย. 2023, 11:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

สมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณสังวร (เจริญ สุวฑฺฒโน)
สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ที่ ๑๙ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
ขณะทรงเจริญสมณศักดิ์ที่
สมเด็จพระญาณสังวร สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก
เสด็จไปในการบำเพ็ญกุศลวันคล้ายวันเกิดครบ ๗ รอบ ๘๔ ปี
พระพุทธิวงศมุนี (บุญมา ทีปธมฺโม)
เจ้าอาวาสวัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม)
ณ พระอุโบสถ วัดจักรวรรดิราชาวาส วรมหาวิหาร (วัดสามปลื้ม)
เมื่อวันพุธที่ ๙ มีนาคม พุทธศักราช ๒๕๓๗


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 54 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 2 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร