วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 22:34  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 พ.ย. 2008, 08:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 ก.ย. 2005, 15:24
โพสต์: 179


 ข้อมูลส่วนตัว


๔. เรื่องความเกิดขึ้นของนางกาลียักษิณี ฯ (๔)

(ข้อความเบื้องต้น)

1. พระศาสดา เมื่อประทับอยู่ในพระเชตวัน ทรงปรารภหญิงหมันคนใดคนหนึ่ง ตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “น หิ เวเรน เวรานิ” เป็นต้น ฯ
(มารดาหาภรรยาให้บุตร)
2. ดังได้สดับมา บุตรกุฏุมพีคนหนึ่ง เมื่อบิดามารดาทำกาลแล้ว ทำการงานทั้งปวง ทั้งที่นา ทั้งที่บ้าน ด้วยตนเอง ปฏิบัติมาดาอยู่ ฯ
3. ต่อมา มารดาได้บอกแก่เขาว่า “พ่อ แม่จักนำนางกุมาริกามาให้เจ้า” ฯ
4. บุ. แม่ อย่าพูดอย่างนี้เลย ฉันจักปฏิบัติแม่ไปจนตลอดชีวิต ฯ
5. ม. พ่อ เจ้าคนเดียวทำการงานอยู่ ทั้งที่นาและที่บ้าน เพราะเหตุนั้น แม่จึงไม่มีความสบายใจเลย แม่จักนำนางกุมาริกามาให้เจ้า ฯ
6. เขาแม้ห้าม (มารดา) หลายครั้งแล้วได้นิ่งเสีย ฯ
7. มารดานั้นออกจากเรือน เพื่อจะไปสู่ตระกูลแห่งหนึ่ง ฯ
8. ลำดับนั้น บุตรถามมารดาว่า “แม่จะไปตระกูลไหน ?” เมื่อมารดาบอกว่า “จะไปตระกูลชื่อโน้น” ดังนี้แล้ว ห้ามการที่จะไปกระกูลนั้นเสียแล้ว บอกตระกูลที่ตนชอบใจให้ ฯ
9. มารดาได้ไปตระกูลนั้น หมั้นนางกุมาริกาแล้ว กำหนดวัน (แต่งงาน) นำนางกุมาริกาคนนั้นมา ได้ทำไว้ในเรือนของบุตร ฯ
10. นางกุมาริกานั้น ได้เป็นหญิงหมัน ฯ
11. ทีนั้น มารดาจึงพูดกะบุตรว่า “พ่อ เจ้าให้แม่นำนางกุมาริกามาตามชอบใจของเจ้าแล้ว บัดนี้ นางกุมาริกานั้นเป็นหมัน ก็ธรรมดาตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมฉิบหาย ประเพณีย่อมไม่สืบเนื่องไป เพราะฉะนั้น แม่จักนำนางกุมาริกาคนอื่นมา (ให้เจ้า) แม้บุตรนั้นกล่าวห้ามอยู่ว่า “อย่าเลย แม่” ดังนี้ ก็ยังได้กล่าว (อย่างนั้น) บ่อย ๆ ฯ
12. หญิงหมันได้ยินคำนั้น จึงคิดว่า “ธรรมดาบุตร ย่อมไม่อาจฝืนคำมารดาบิดาไปได้ บัดนี้ แม่ผัวคิดจะนำหญิงอื่น ผู้ไม่เป็นหมันมาแล้ว ก็จักใช้เราอย่างนางทาสี ถ้าอย่างไรเราพึงนางกุมาริกาคนหนึ่งมาเสียเอง” ดังนี้แล้ว จึงไปยังตระกูลแห่งหนึ่ง ขอนางกุมาริกา เพื่อประโยชน์แก่สามี ถูกพวกชนในตระกูลนั้นห้ามว่า “หล่อนพูดอะไรเช่นนั้น” ดังนี้แล้ว จึงอ้อนวอนว่า “ฉันเป็นหมัน ตระกูลที่ไม่มีบุตร ย่อมฉิบหาย บุตรีของท่านได้บุตรแล้ว จักได้เป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติ ขอท่านโปรดยกบุตรีนั้นให้แก่สามีของฉันเถิด” ดังนี้แล้ว ยังตระกูลนั้นให้ยอมรับแล้ว จึงนำมาไว้ในเรือนของสามี ฯ
13. ต่อมา หญิงแม้นั้น ได้มีความปริวิตกว่า “ถ้านางนี้จักได้บุตรหรือบุตรีไซร้ จักเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติแต่ผู้เดียว ควรเราจะทำนางอย่าให้ได้ทากเลย” ฯ
(เมียหลวงปรุงยาทำลายครรภ์เมียน้อย)
14. ลำดับนั้น หญิงหมันจึงพูดกะนางนั้นว่า “ครรภ์ตั้งขึ้นในท้องหล่อนเมื่อใด ขอให้หล่อนบอกแก่ฉันเมื่อนั้น ฯ
15. นางนั้นรับว่า “จ้ะ” เมื่อครรภ์ตั้งแล้ว ได้บอกแก่หญิงหมันนั้น ฯ
16. ส่วนหญิงหมันนั้นแลให้ข้าวต้มและข้าวสวยแก่นางนั้นเป็นนิตย์ ฯ
17. ภายหลัง นางได้ให้ยาสำหรับทำครรภ์ให้ตก ปนกับอาหารแก่นางนั้น ครรภ์ก็ตก (แท้ง) ฯ
18. เมื่อครรภ์ตั้งแล้วเป็นครั้งที่ ๒ นางก็ได้บอกแก่หญิงหมันนั้น ฯ
19. แม้หญิงหมันก็ได้ทำครรภ์ให้ตก ด้วยอุบายอย่างนั้นนั่นแล เป็นครั้งที่ ๒ ฯ
20. ลำดับนั้น พวกหญิงที่คุ้นเคยกัน ได้ถามนางนั้นว่า “หญิงร่วมสามีทำอันตรายหล่อนบ้างหรือไม่ ?” ฯ
21. นางแจ้งความนั้นแล้ว ถูกหญิงเหล่านั้นกล่าวว่า “หญิงอันธพาล เหตุไร หล่อนจึงได้ทำอย่างนั้นเล่า ? หญิงหมันนี้ ได้ประกอบยาสำหรับทำครรภ์ให้ตกให้แก่หล่อน เพราะกลัวหล่อนจะเป็นใหญ่ เพราะฉะนั้น ครรภ์ของหล่อนจึงตก หล่อนอย่าได้ทำอย่างนี้อีก” ในครั้งที่ ๓ นางจึงมิได้บอก ฯ
22. ต่อมา (ฝ่าย) หญิงหมันเห็นท้องของนางนั้นแล้วจึงกล่าวว่า “เหตุไร ? หล่อนจึงไม่บอกความที่ครรภ์ตั้งแก่ฉัน” เมื่อนางนั้นกล่าวว่า “หล่อนนำฉันมาแล้ว ทำครรภ์ให้ตกไปเสียถึง ๒ ครั้งแล้ว ฉันจะบอกแก่หล่อนทำไม ?” จึงคิดว่า “บัดนี้ เราฉิบหายแล้ว” คอยดูแลความประมาทของนางกุมาริกานั้นอยู่ เมื่อครรภ์แก่เต็มที่แล้ว จึงได้ช่อง ได้ประกอบยาให้แล้ว ฯ
23. ครรภ์ไม่อาจตก เพราะครรภ์แก่ จึงนอนขวาง (ทวาร) เวทนากล้าแข็งได้เกิดขึ้น ฯ
24. นางถึงความสงสัยในชีวิต ฯ
25. นางตั้งความปรารถนาว่า “เราถูกมันให้ฉิบหายแล้ว มันเองนำเรามา ทำทารกให้ฉิบหายถึง ๓ คนแล้ว บัดนี้ เราเองก็จะฉิบหาย บัดนี้ เราจุติจากอัตภาพนี้ พึงเกิดเป็นนางยักษิณี อาจเคี้ยวกินทารกของมันเถิด” ดังนี้แล้ว ตายไปเกิดเป็นแม่แมวในเรือนนั้นเอง ฯ
26. ฝ่ายสามี จับหญิงหมันแล้ว กล่าวว่า “เจ้าได้ทำการตัดตระกูลของเราให้ขาดสูญ” ดังนี้แล้ว ทุบด้วยอวัยวะทั้งหลายมีศอกและเข่าเป็นต้น ให้บอบช้ำแล้ว ฯ
27. หญิงหมันนั้นตายเพราะความเจ็บนั้นแล แล้วได้เกิดเป็นแม่ไก่ในเรือนนั้นเหมือนกัน ฯ
(ผลัดกันสังหารคนละชาติด้วยอำนาจผูกเวร)
28. จำเนียรกาลไม่นาน แม่ไก่ได้ตกฟองหลายฟอง ฯ
29. แม่แมวมากินฟองไก่เหล่านั้นเสีย ฯ
30. ถึงครั้งที่ ๒ ครั้งที่ ๓ มันก็มากินเสียเหมือนกัน ฯ
31. แม่ไก่ทำความปรารถนาว่า “มันมากินฟองของเราถึง ๓ ครั้งแล้ว เดี๋ยวนี้มันก็อยากกินตัวเราด้วย เดี๋ยวนี้ เราจุติจากอัตภาพนี้แล้ว พึงได้กินมันกับลูกของมัน” ดังนี้แล้ว จุติจากอัตภาพนั้น ได้เกิดเป็นแม่เสือเหลือง ฯ
32. ฝ่ายแม่แมว ได้เกิดเป็นแม่เนื้อ ฯ
33. ในเวลาแม่เนื้อนั้นคลอดลูกแล้ว ๆ แม่เสือเหลือง ก็ได้มากินลูกทั้งหลายเสียถึง ๓ ครั้ง ฯ
34. เมื่อเวลาจะตาย แม่เนื้อทำความปรารภนาว่า “พวกลูกของเรา แม่เสือเหลืองตัวนี้กินเสียถึง ๓ ครั้งแล้ว เดี๋ยวนี้มันจักกินตัวเราด้วย เดี๋ยวนี้เราจุติจากอัตภาพนี้แล้ว พึงได้กินมันกับลูกของมันเถิด” ดังนี้แล้ว ได้ตายไปเกิดเป็นนางยักษิณี ฯ
35. ฝ่ายแม่เสือเหลือง จุติจากอัตภาพนั้นแล้ว ได้เกิดเป็นกุลธิดาในเมืองสาวัตถี ฯ
36. นางถึงความเจริญแล้ว ได้ไปสู่ตระกูลสามีในบ้านริมประตู (เมือง) ฯ
37. ในกาลต่อมา นางได้คลอดบุตรคนหนึ่ง ฯ
38. นางยักษิณี จำแลงตัวเป็นหญิงสหายที่รักของเขามาแล้ว ถามว่า “หญิงสหายของฉันอยู่ที่ไหน ?” พวกชาวบ้านได้บอกว่า “เขาคลอดบุตรอยู่ในห้อง” ฯ
39. นางยักษิณีฟังคำนั้น แสร้งพูดว่า “หญิงสหายของฉันคลอดลูกเป็นชายหรือหญิงหนอ ฉันจักดูเด็กนั้น” ดังนี้แล้ว เข้าไปทำเป็นแลดูอยู่ จับทารกกินแล้วก็ไป ฯ
40. ถึงในหนที่ ๒ ก็ได้กินเสียเหมือนกัน ฯ
41. ในหนที่ ๓ นางกุลธิดามีครรภ์แก่เรียกสามีมาแล้ว บอกว่า “นาย นางยักษิณีตนหนึ่งกินบุตรของฉันเสียในที่นี้ ๒ คนแล้ว ไปเดี๋ยวนี้ ฉันจักไปสู่เรือนแห่งตระกูลของฉันคลอดบุตร” ดังนี้แล้ว ไปสู่เรือนแห่งตระกูล (บุตรที่นั่น) ฯ
42. ในกาลนั้น นางยักษิณีนั้นถึงคราวส่งน้ำ ฯ
43. ด้วยว่า นางยักษิณีทั้งหลายต้องตักน้ำ จากสระอโนดาตทูนบนศรีษะมา เพื่อท้าวเวสสวรรณ ตามวาระ ต่อล่วง ๔ เดือนบ้าง ๕ เดือนบ้างจึงพ้น (จากวาร) ได้ ฯ
44. นางยักษิณีเหล่าอื่นมีกายบอบช้ำ ถึงความสิ้นชีวิตบ้างก็มี ฯ
45. ส่วนนางยักษิณีนั้น พอพ้นจากเวรส่งน้ำแล้วเท่านั้น ก็รีบไปสู่เรือนนั้น ถามว่า “หญิงสหายของฉันอยู่ที่ไหน ?” ฯ
46. พวกชาวบ้านบอกว่า “ท่านจักพบเขาที่ไหน ? นางยักษิณีตนหนึ่งกินทารกของเขาที่คลอดในที่นี้ เพราะฉะนั้น เขาจึงไปสู่เรือนแห่งตระกูล” ฯ
47. นางยักษิณีนั้นคิดว่า “เขาไปในที่ไหน ๆ ก็ตามเถิดจักไม่พ้นเราได้ ดังนี้แล้ว อันกำลังเวรให้อุตสาหะแล้ว วิ่งบ่ายหน้าไปสู่เมือง ฯ
48. ฝ่ายนางกุลธิดา ในวันเป็นที่รับชื่อ ให้ทารกนั้นอาบน้ำตั้งชื่อแล้ว กล่าวกะสามีว่า “นาย เดี๋ยวนี้ เราพากันไปสู่เรือนของเราเถิด” อุ้มบุตรไปกับสามี ตามทางอันตัดไปในท่ามกลางวิหาร มอบบุตรให้สามีแล้ว ลงอาบน้ำในสระโบกขรณีข้างวิหารแล้ว ขึ้นมารับเอาบุตร เมื่อสามีกำลังอาบน้ำอยู่ ยืนให้บุตรดื่มนม แลเห็นนางยักษิณีมาอยู่จำได้แล้ว ร้องด้วยเสียงอันดังว่า “นาย มาเร็ว ๆ เถิด นี้นางยักษิณีตนนั้น” ดังนี้แล้ว ไม่อาจยืนรออยู่จนสามีนั้นมาได้ กลับบ่ายหน้าไปสู่ภายในวิหารแล้ว ฯ
(เวรไม่ระงับด้วยเวร แต่ระงับได้ด้วยไม่ผูกเวร)
49. ในสมัยนั้น พระศาสดา ทรงแสดงธรรมอยู่ในท่ามกลางบริษัท ฯ
50. นางกุลธิดานั้น ให้บุตรนอนลงเคยงหลังพระบาทแห่งพระตถาคตเจ้าแล้ว กราบทูลว่า “บุตรนี้
ข้าพองค์ถวายแด่พระองค์แล้ว ขอพระองค์ประทานชีวิตแก่บุตรข้าพองค์เถิด” ฯ
51. สุมนเทพ ผู้สิงห์อยู่ที่ซุ้มประตู ไม่ยอมให้นางยักษิณีเข้าไปข้างใน ฯ
52. พระศาสดารับสั่งเรียกพระอานนทเถระมาแล้ว ตรัสว่า “อานนท์ เธอจงไปเรียกนางยักษิณีนั้นมา” ฯ
53. พระเถระเรียกนางยักษิณีมาแล้ว ฯ
54. นางกุลธิดา กราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ นางยักษิณีนี้มา” ฯ
55. พระศาสดา ตรัสว่า “นางยักษิณีจงมาเถิด เจ้าอย่าได้ร้องไปเลย” ดังนี้แล้ว ได้ตรัสกะนางยักษิณีผู้มายืนอยู่แล้วว่า “เหตุไร ? เจ้าจึงทำอย่างนั้น ก็ถ้าพวกเจ้าไม่มาสู่เฉพาะหน้าพระพุทธจ้า ผู้เช่นเราแล้ว เวรของพวกเจ้า จักได้เป็นกรรมตั้งอยู่ชั่วกัลป์ เหมือนเวรของงูกับพังพอน ของหมีกับไม้สะคร้อ และของกากับนกเค้า เหตุไฉน พวกเจ้าจึงทำเวรและเวรตอบแก่กัน ? เพราะเวรย่อมระงับได้ด้วยความไม่มีเวร หาระงับได้ด้วยเวรไม่” ดังนี้แล้ว ได้ตรัสพระคาถานี้ว่า
“ในกาลไหน ๆ เวรทั้งหลายในโลกนี้ ย่อม
ไม่ระงับด้วยเวรเลย ก็แต่ย่อมระงับได้ด้วยความ
ไม่มีเวร ธรรมนี้เป็นของเก่า” ฯ
56. บรรดาบทเหล่านั้น บทว่า น หิ เวเรน เป็นต้น ความว่า เหมือนอย่างว่า บุคคล แม้เมื่อล้างที่ซึ่งเปื้อนแล้วด้วยของไม่สะอาดมีน้ำลายและน้ำมูกเป็นต้น ด้วยของไม่สะอาดเหล่านั้นแล ย่อมไม่อาจทำให้เป็นที่หมดจด หายกลิ่นเหม็นได้ โดยที่แท้ ที่นั้นกลับเป็นที่ไม่หมดจดและมีกลิ่นเหม็นยิ่งกว่าเก่าอีก ฉันใด บุคคลเมื่อด่าตอบชนผู้ด่าอยู่ประหารตอบชนผู้ประหารอยู่ ย่อมไม่อาจยังเวรให้ระงับด้วยเวรได้ โดยที่แท้ เขาชื่อว่าทำเวรนั้นเองให้ยิ่งขึ้น ฉันนั้นนั่นเทียว ฯ
57. แม้ในกาลไหน ๆ ขึ้นชื่อว่าเวรทั้งหลาย ย่อมไม่ระงับได้ด้วยเวร โดยที่แท้ ชื่อว่าย่อมเจริญอย่างเดียว ด้วยประการฉะนี้ ฯ
58. สองบทว่า อเวเรน จ สมฺมนฺติ ความว่า เหมือนอย่างว่า ของไม่สะอาด มีน้ำลายเป็นต้นเหล่านั้น อันบุคคลล้างด้วยน้ำที่ใสย่อมหายหมดได้ ที่นั้นย่อมเป็นที่หมดจด ไม่มีกลิ่นเหม็น ฉันใด เวรทั้งหลาย ย่อมระงับ คือย่อมสงบ ได้แก่ ย่อมถึงความไม่มีได้ด้วยความไม่มีเวร คือด้วยน้ำคือขันติและเมตตา ด้วยการทำไว้ในใจโดยแยบคาย (และ) ด้วยการพิจารณา ฉันนั้นนั่นเทียว ฯ
59. บาทพระคาถาว่า เอส ธมฺโม สนนฺตโน ความว่า ธรรมนี้ คือที่นับว่า ความสงบเวร ด้วยความไม่มีเวร เป็นของเก่า คือเป็นมรรคาแห่งพระพุทธเจ้า พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพทั้งหลายทุก ๆ พระองค์ ดำเนินไปแล้ว ฯ
60. ในกาลจบพระคาถา นางยักษิณีนั้น ตั้งอยู่ในพระโสดาปัตติผลแล้ว ฯ
61. เทศนาได้เป็นกถามีประโยชน์ แม้แก่บริษัทผู้ประชุมกันแล้ว ฯ
(นางยักษิณีรู้ฝนมากฝนน้อย)
62. พระศาสดา ได้ตรัสกะหญิงนั้นว่า “เจ้าจงให้บุตรของเจ้าแก่นางยักษิณีนี้เถิด” ฯ
63. ญ. ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์กลัว ฯ
64. ศ. เจ้าอย่ากลัวเลย อันตรายย่อมไม่มีแก่เจ้า เพราะอาศัยนางยักษิณีนี้ ฯ
65. นางได้ให้บุตรแก่นางยักษิณีนั้นแล้ว ฯ
66. นางยักษิณีนั้นอุ้มทารกนั้นจูบกอดแล้ว คืนให้แก่มารดาอีก ก็เริ่มร้องไห้ ฯ
67. ลำดับนั้น พระศาสดา ตรัสถามนางยักษิณีนั้นว่า “อะไรนั่น ?” ฯ
68.
นางยักษิณีนั้นกราบทูลว่า “ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ เมื่อก่อนข้าพระองค์ แม้สำเร็จการเลี้ยงชีพด้วยไม่เลือกทาง ยังไม่ได้อาหารพอเต็มท้อง บัดนี้ ข้าพระองค์จะเลี้ยงชีพได้อย่างไร” ฯ

ลำดับนั้นพระศาสดา ตรัสปลอบนางยักษิณีนั้นว่า “เจ้าอย่าวิตกเลย” ดังนี้แล้ว ตรัสกะหญิงนั้นว่า “เจ้าจงนำนางยักษิณีไปให้อยู่ในเรือนของตนแล้ว จงปฏิบัติด้วยข้าวต้มและข้าวสวยอย่างดี” ฯ หญิงนั้นนำนางยักษิณีไปแล้ว ให้พักอยู่ในโรงกระเดื่อง ได้ปฏิบัติด้วยข้าต้มและข้าวสวยอย่างดีแล้ว ฯ ในเวลาซ้อมข้าวเปลือก สากปรากฏแก่นางยักษิณีนั้นดุจต่อยศรีษะ ฯ เขาจึงเรียกนางกุลธิดาผู้สหายมาแล้ว พูดว่า “ฉันจักไม่อาจอยู่ในที่นี้ได้ ขอท่านจงให้ฉันพักอยู่ในที่อื่นเถิด” แม้อันหญิงสหายนั้นให้พักอยู่ในที่เหล่านี้ คือในโรงสาก ข้างตุ่มน้ำ ริมเตาไฟ ริมชายคา ริมกองหยากเยื่อ ริมประตูบ้าน (นาง) ก็กล่าวว่า “ในโรงสากนี้ สากย่อมปรากฏดุจต่อยศรีษะฉันอยู่ ที่ข้างตุ่มน้ำนี้ พวกเด็กย่อมราดน้ำเป็นเดนลงไป ที่ริมเตาไฟนี้ ฝูงสุนัขย่อมมานอน ที่ริมชายคานี้ พวกเด็กย่อมทำสกปรก ที่ริมกองหยากเยื่อนี้ ชนทั้งหลายย่อมเทหยากเยื่อ ที่ริมประตูบ้านนี้ พวกเด็กชาวบ้าน ย่อมเล่นการพนันกันด้วยคะแนน” ดังนี้แล้ว ได้ห้ามที่ทั้งปวงนั้นเสีย ฯ

ครั้งนั้น หญิงสหาย จึงให้นางยักษิณีนั้นพักอยู่ในที่อันสงัดภายนอกบ้านแล้ว นำโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นอย่างดีไปเพื่อนางยักษิณีนั้น แล้วปฏิบัติในที่นั้น ฯ นางยักษิณีนั้น คิดอย่างนี้ว่า “เดี๋ยวนี้ หญิงสหายของเรานี้ มีอุปการะแก่เรามาก เอาเถอะเราจักทำความแทนคุณสักอย่างหนึ่ง” ดังนี้แล้ว ได้บอกแก่หญิงสหายว่า “ในปีนี้จักมีฝนดี ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ดอนเถิด ในปีนี้ฝนจักแล้ง ท่านจงทำข้าวกล้าในที่ลุ่มเถิด” ฯ ข้าวกล้าอันพวกชนที่เหลือทำแล้ว ย่อมเสียหาย ด้วยน้ำมากเกินไปบ้าง ด้วยน้ำน้อยบ้าง ฯ ส่วนข้าวกล้าของนางกุลธิดานั้น ย่อมสมบูรณ์เหลือเกิน ฯ

(นางยักษิณีเริ่มตั้งสลากภัตร)

ครั้งนั้น พวกชนที่เหลือเหล่านั้น พากันถามนางว่า “แม่ ข้าวกล้าที่หล่อนทำแล้ว ย่อมไม่เสียด้วน้ำมากเกินไป ย่อมไม่เสียหายด้วยน้ำน้อย หล่อนรู้ความที่ฝนดีและฝนแล้งแล้วจึงทำการงานหรือ ? ข้อนี้เป็นอย่างไรหนอแล ?” ฯ นางบอกว่า “นางยักษิณี ผู้เป็นหญิงสหายของฉัน บอกความที่ฝนดีและฝนแล้งแก่ฉัน ฉันทำข้าวกล้าทั้งหลายในที่ดอนและที่ลุ่ม ตามคำของนางยักษิณีนั้น เหตุนั้น ข้าวกล้าของฉันจึงสมบูรณ์ดี พวกท่านไม่เห็นโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นที่ฉันนำไปจากเรือนเนืองนิตย์หรือ ? สิ่งของเหล่านั้น ฉันนำไปให้นางยักษิณีนั้น แม้พวกท่านก็จงนำโภชนะมีข้าวต้มและข้าวสวยเป็นต้นอย่างดี ไปให้นางยักษิณีบ้างซิ นางยักษิณีก็จักแลดูการงานของพวกท่านบ้าง” ฯ

ครั้งนั้น พวกชนชาวเมืองทั้งสิ้น พากันทำสักการะแก่นางยักษิณีนั้นแล้ว ฯ จำเดิมแต่นั้นมา นางยักษิณีแม้นั้น แลดูการงานทั้งหลายของชนทั้งปวงอยู่ ได้เป็นผู้ถึงลาภอันเลิศ (และ) มีบริวารมากแล้ว ฯ

ในกาลต่อมา นางยักษิณีนั้นเริ่มตั้งสลากภัต ๘ ที่แล้ว ฯ สลากภัตนั้น ชนทั้งหลายยังถวายอยู่จนกาลทุกวันนี้แล ฯ

.....................................................
คำพูดเพียงน้อยนิดอาจเปลี่ยนชีวิตของคนได้


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 28 พ.ย. 2008, 23:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 5
สมาชิก ระดับ 5
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.ย. 2008, 11:39
โพสต์: 316

ที่อยู่: กรุงเทพฯ

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8: :b8:

.....................................................
คิดดี พูดดี ทำดี มองเเต่ดีเถิด...


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 01 ธ.ค. 2008, 00:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ค. 2006, 20:52
โพสต์: 1210

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ขอบคุณค่ะ ที่นำมาลง
อ่านแล้วขอตั้งจิต ขออโหสิกรรม แด่ท่านทั้งหลายที่ข้าพเจ้าระลึกได้ก็ดี ระลึกไม่ได้ก็ดี ที่ข้าพเจ้าได้ล่วงเกินท่านด้วยกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ขอท่านทั้งหลายโปรดอโหสิกรรมแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด
แม้กรรมที่ท่านทั้งหลายเคยล่วงเกินแก่ข้าพจ้าทั้งตั้งใจก็ดี มิได้ตั้งใจก็ดี แม้กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ข้าพเจ้าขออโหสิกรรมให้แก่ท่านทั้งหลาย ขอท่านทั้งหลายจงมีความสุข ความเจริญไปเบื้องหน้าเถิด
สาธุ
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
สัพเพ สังขารา อนิจจา
สัพเพ ธรรมา อนัตตา...


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร