วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 21:04  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ก่อนอ่านกระทู้นี้ ควรทำความเข้าใจนิยาม ๕ อย่างลิงค์นี้ก่อน

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=4&t=19058

จึงจะอ่านหัวข้อนี้พอเข้าใจ เพราะตัดตอนมาจากหัวข้อใหญ่นั้น

(นำมาให้ดูตรงนี้พอได้ใจความ ดังนี้)

กฎธรรมชาติ หรือ นิยามนั้น แม้จะมีลักษณะทั่วไปอย่างเดียวกันทั้งหมด คือ ความเป็นไปตามธรรมดาแห่งเหตุปัจจัย แต่ก็อาจแยกประเภทออกไปได้ตามลักษณะอาการจำเพาะที่เป็นแนวทาง หรือ เป็นแบบหนึ่งๆ ของความสัมพันธ์ อันจะช่วยให้กำหนดศึกษาได้ง่ายขึ้น เมื่อว่าตามสายความคิดของพระพุทธศาสนา
พระอรรถกถาจารย์แสดงกฎธรรมชาติ หรือ นิยาม ไว้ 5 อย่าง คือ

1. อุตุนิยาม กฎธรรมชาติ เกี่ยวกับปรากฏการณ์ฝ่ายวัตถุ โดยเฉพาะความเป็นไปของธรรมชาติแวดล้อมและความเปลี่ยนแปลงทางวัตถุ เช่น เรื่องลมฟ้าอากาศ ฤดูกาล ฝนตก ฟ้าร้อง การที่ดอกบัวบานกลางวัน หุบกลางคืน การที่ดินน้ำปุ๋ยช่วยให้ต้นไม้งาม การที่คนไอหรือจาม การที่สิ่งทั้งหลายผุพังเน่าเปื่อยเป็นต้น แนวความคิดของท่านมุ่งเอาความผันแปรที่เนื่องด้วยความร้อน หรือ อุณหภูมิ

2.พืชนิยาม กฎธรรมชาติ เกี่ยวกับสืบพันธ์ หรือที่เรียกกันว่า พันธุกรรม เช่น หลักความจริงที่ว่าพืชเช่นใดก็ให้ผลเช่นนั้น พืชมะม่วง ก็ออกผลเป็นมะม่วง เป็นต้น

3. จิตตนิยาม กฎธรรมชาติ เกี่ยวกับการทำงานของจิต เช่น เมื่ออารมณ์ (สิ่งเร้า) กระทบประสาท จะมีการรับรู้เกิดขึ้น จิตจะทำงานอย่างไร คือ มีการไหวแห่งภวังคจิต ภวังคจิตขาดตอน แล้วมีอาวัชชะนะแล้วมีการเห็น การได้ยิน ฯลฯ มีสัมปฏิจฉนะ สันตีรณะ ฯลฯ หรือเมื่อจิตที่มีคุณสมบัติอย่างนี้เกิดขึ้น จะมีเจตสิกอะไรบ้างประกอบได้ หรือประกอบไม่ได้ เป็นต้น

4. กรรมนิยาม กฎธรรมชาติ เกี่ยวกับพฤติกรรมของมนุษย์ คือ กระบวนการก่อการกระทำ และการให้ผลของการกระทำ หรือ พูดให้จำเพาะลงไป อีกว่า กระบวนการแห่งเจตน์จำนง หรือความคิดปรุงแต่งสร้างสรรค์ต่างๆ พร้อมทั้งผลที่สืบเนื่องออกไปอันสอดคล้องสมกัน เช่น ทำกรรมดีมีผลดี ทำกรรมชั่วมีผลชั่ว เป็นต้น

5. ธรรมนิยาม กฎธรรมชาติ เกี่ยวกับความสัมพันธ์และอาการที่เป็นเหตุเป็นผลแก่กันของสิ่งทั้งหลาย โดยเฉพาะอย่างที่เรียกกันว่า ความเป็นไปตามธรรมดา เช่นว่า สิ่งทั้งหลายมีความเกิดขึ้น ตั้งอยู่และดับไปเป็นธรรมดา คนย่อมมีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดา ธรรมของคนยุคนี้มีอายุขัยประมาณร้อยปี ไม่ว่า พระพุทธเจ้าจะอุบัติหรือไม่ก็ตาม ย่อมเป็นธรรมดาของสิ่งทั้งหลาย ที่เป็นสภาพไม่เที่ยง ถูกปัจจัยบีบคั้น และไม่เป็นอัตตา ดังนี้ เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 19:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(นำพุทธศาสนสุภาษิตนั้นให้ดูก่อน)

ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการให้ผลของกรรม ที่ชาวไทยนิยมพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น
มาจาก พุทธศาสนสุภาษิตว่า ดังนี้

ยาทิสํ วปเต พีชํ ... ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ... ปาปการี จ ปาปกํ.
แปลว่า หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น (ผู้) ทำดีได้ดี (ผู้) ทำชั่ว ได้ชั่ว
(สํ.ส. 5/903/333 ฯลฯ)

(เมื่อเข้าใจผลกรรมผิดพลาด อาจท้อใจเมื่อตนทำดีแล้ว ไม่เห็นได้ดีเช่นว่านั้น (คือไม่ได้สิ่งนั้นสิ่งนี้ตามต้องการ) ทีคนนั้นทำชั่ว ทำไม่ดี แต่ทำไมได้ดี (คือได้นั่นได้นี่) ตามหลักกรรมท่านว่าอย่างไร ลองอ่านทำความเข้าใจกันดู
เน้นจุดสนใจให้หน่อยว่า เกิดจากการตีความคำว่า “ได้ดี ได้ชั่ว” ตามความเข้าใจของตน ยังไม่ใช่ตามกรรมนิยาม)

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 19:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


(จากพุทธธรรมหน้า 187)

ปัญหาเกี่ยวกับการให้ผลของกรรมดีและกรรมชั่ว


ปัญหาที่ถกเถียงกันมากที่สุดเกี่ยวกับเรื่องกรรม ก็คือ การให้ผลของกรรม โดยสงสัยเกี่ยวกับหลัก
“ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ว่าเป็นจริงอย่างนั้นหรือไม่

บางคนพยายามนำหลักฐานมาแสดงให้เห็นว่า ในโลกแห่งความเป็นจริง คนที่ทำชั่วได้ดีและคนที่ทำดีได้ชั่ว มีมากมาย
ความจริงปัญหาเช่นนี้ เกิดจากความเข้าใจสับสนระหว่างกรรมนิยามกับสังคมน์นิยม
โดยนำเอาความเป็นไปในนิยามและนิยมน์ทั้งสองนี้มาปนเปกัน ไม่รู้จักแยกขอบเขต
และขั้นตอนให้ถูกต้อง
ดังจะเห็นว่า แม้แต่ความหมายของถ้อยคำในหลัก “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” นั้นเอง
คนก็เริ่มต้นเข้าใจสับสน แทนที่จะเข้าใจความหมายของทำดีได้ดี ว่าเท่ากับทำความดี
ได้ความดี หรือทำความดี ก็มีความดี หรือทำความดี ก็เป็นเหตุให้ความดี
เกิดมีขึ้น หรือทำความดี ผลดีตามกรรมนิยามก็เกิดขึ้น
กลับเข้าใจเป็นว่า ทำความดี ได้ของดี หรือทำดีแล้ว ได้ผลประโยชน์หรือได้อามิส
ที่ตนชอบใจ เมื่อปัญหามีอยู่เช่นนี้ จึงควรมีการศึกษากันให้ชัดเจน
จุดสำคัญที่ก่อให้เกิดปัญหา คือ ความสับสนเกี่ยวกับขอบเขตที่แยกต่างหากจากกัน และที่
สัมพันธ์กันระหว่างกรรมนิยามกับสังคมนิยมน์ เพื่อความแจ่มแจ้งในเรื่องนี้
เบื้องแรกขอให้พิจารณาการให้ผลของกรรม โดยแบ่งเป็น 4 ระดับ คือ

1. ระดับภายในจิตใจ ว่ากรรมทำให้เกิดผลภายในจิตใจ มีการสั่งสมคุณสมบัติ
คือ กุศลธรรมและอกุศลธรรม คุณภาพและสมรรถภาพของจิต มีอิทธิพลปรุงแต่งความรู้สึก นึกคิด ความโน้มเอียง ความนิยมชมชอบ และความสุขความทุกข์ เป็นต้น อย่างไรบ้าง

2. ระดับบุคลิกภาพ ว่ากรรมให้ผลในด้านการสร้างเสริมนิสัย ปรุงแต่งลักษณะความประพฤติการแสดงออก ท่าทีการวางตนปรับตัว อาการตอบสนอง ความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับคนอื่นๆ และต่อสถานการณ์ หรือสภาพแวดล้อมทั่วๆไปอย่างไรบ้าง
การให้ผลระดับนี้ ต่อเนื่องออกมาจากระดับที่ 1 นั่นเอง และมีขอบเขตคาบเกี่ยวกัน
แต่แยกพิจารณาเพื่อให้มองเห็นแง่มุมของการให้ผลชัดเจนยิ่งขึ้น

3. ระดับวิถีชีวิตของบุคคล ว่ากรรมชักนำความเป็นไปในชีวิตของบุคคล ทำให้เขาได้
รับประสบการณ์ ที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา ประสบผลตอบสนองจากภายนอก
พบความเสื่อมความเจริญ ความล้มเหลว ความสำเร็จ ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ และความ
สูญเสียต่างๆที่ตรงข้าม ซึ่งรวมเรียกว่า โลกธรรมทั้งหลาย อย่างไรบ้าง
ผลระดับนี้อาจแยกมองได้สองด้าน คือ
-ผลสนองจากปัจจัยด้านอื่นๆ ของสภาพแวดล้อมที่นอกจากคน
-ผลสนองจากปัจจัยด้านบุคคลอื่นและสังคม

4. ระดับสังคม ว่ากรรมที่บุคคลและคนทั้งหลายกระทำ มีผลต่อความเป็นไป
ของสังคมอย่างไรบ้าง เช่น ทำให้เกิดความเสื่อมความเจริญ ความร่มเย็นเป็นสุข
ความทุกข์ยากเดือดร้อนร่วมกันของมนุษย์ทั้งหลาย รวมทั้งผลจากการที่มนุษย์กระทำ
ต่อสภาพแวดล้อมอื่นๆ แล้วย้อนกลับมาหาตัวมนุษย์เอง


จะเห็นได้ชัดว่า ผลในระดับที่ 1 และที่ 2 คือ ผลภายในจิตใจและบุคลิกภาพ เป็นขอบเขต
ที่กรรมนิยามเป็นใหญ่

ระดับที่ 3 เป็นขอบเขตที่กรรมนิยาม กับ สังคมนิยมน์เข้ามาสัมพันธ์กัน และเป็นจุด
ที่มักเกิดความสับสน ก่อให้เกิดปัญหาซึ่งควรพิจารณาในที่นี้
ส่วนระดับที่ 4 แม้จะเป็นเรื่องสำคัญ แต่ก็อยู่นอกขอบเขตของการพิจารณาในหัวข้อนี้

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แก้ไขล่าสุดโดย กรัชกาย เมื่อ 20 ม.ค. 2009, 08:31, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 19:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คนทั่วไป เมื่อมองดูผลของกรรมที่เกิดแก่ตน หรือ เพ่งจ้องติดตามดูผู้อื่นว่าใครทำดีได้ดี
ทำชั่วได้ชั่ว จริงหรือไม่อย่างไร มักมองดูแต่ผลในระดับที่ 3 คือ ความเป็นไปในชีวิต
ส่วนที่ได้รับผลตอบสนองจากภายนอกเท่านั้น ทำให้มองข้ามผลในระดับที่ 1 และ 2
ไปเสีย ทั้งที่ผลสองระดับต้นนั้นแหละ มีความสำคัญอย่างยิ่ง
สำคัญทั้งในแง่เฉพาะของมันเอง เช่น สุขทุกข์ในใจ ความเข้มแข็งอ่อนแอภายใน
ความพร้อมความแก่หรืออ่อนแห่งอินทรีย์ เป็นต้น และ สำคัญทั้งในแง่เป็นที่มาแหล่งใหญ่
ของผลในระดับที่ 3 ด้วย กล่าวคือ ผลในระดับที่สามนั้น ส่วนที่เป็นขอบเขตของ
กรรมนิยามก็ต่อเนื่องมาจากผลในระดับ ที่ 1 และ 2 นั่นเอง เช่น ด้วยผลในระดับที่ 1 จิตใจ
ของบุคคลผู้นั้นเอง คือ ความสนใจ ความนิยมชมชอบ ความโน้มเอียง การแสวงสุขหรือระบายทุกข์ภายในของบุคคลนั้นเอง ชักนำให้เขามองสิ่งนั้น เรื่องนั้นในแง่นั้นๆ นำเขาเข้าไปหาสถานการณ์นั้นๆ
ทำการตอบสนองอย่างนั้นๆ จะทำหรือไม่ทำสิ่งนั้นๆ ทำให้เขาดำเนินตามวิถีชีวิตอย่างนั้นๆ
ให้ได้พบประสบการณ์ หรือประสบผลอย่างนั้นๆ และให้มีความรู้สึกหรือท่าทีต่อสิ่งที่ประสบอย่างนั้นๆ
เป็นต้น
เฉพาะอย่างยิ่งทำให้เกิดผลในระดับที่ 2 ซึ่งก็ช่วยเสริมผลในระดับที่ 1 ในการก่อผลระดับ ที่ 3 อย่างที่กล่าวมาแล้วนั่นเอง รวมทั้งการที่ว่า เมื่อเขาจะทำการใดๆ เขาจะทำสิ่งนั้นๆ ตามแนวไหน
ลักษณะใด ด้วยอาการใด จะทำไปตลอดไหม พบข้อขัดข้องอย่างไหนจะยอม อย่างไหนจะย่ำต่อไป จะทำสำเร็จหรือไม่ จะหยาบประณีตยิ่งหรือหย่อนอย่างไรตลอดถึงว่า ตัวเขาจะปรากฏเป็นภาพในความรู้สึกนึกคิดของผู้อื่นอย่างไร อันจะเป็นผลย้อนกลับมาหาตัวเขาเองอีก ในรูปของความช่วยเหลือ ร่วมมือ
หรือขัดแย้งปฏิเสธ เป็นต้น
อันเป็นส่วนหนึ่ง ที่บุคลิกภาพของเขาชักนำคนอื่นให้ช่วยพาตัวเขาไปสู่ผลสนองที่น่าพอใจ หรือ ไม่น่าพอใจ
ทั้งนี้ มิได้ปฏิเสธองค์ประกอบด้านอื่นๆ โดยเฉพาะปัจจัยแวดล้อมทางสังคม ที่จะมามีปฏิกิริยาตอบโต้กันและมีอิทธิพลต่อเขาโดยอาศัยกรรมนิยามนี้ เพียงแต่ว่าในที่นี้มุ่งเน้นการมองกรรมนิยามจากด้านภายในออกมาอย่างเดียวก่อน

ส่วนการมองจากด้านนอกเข้าไป จะเห็นได้ในหลักปรโตโฆสะ และ กัลยาณมิตร
ความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับกรรมนิยามตามที่กล่าวมานี้ มิใช่มีประโยชน์เฉพาะในด้านการแก้ไขปรับปรุงตน
ในการประกอบกรรมของบุคคลเองเท่านั้น แต่มีประโยชน์ในการที่คนอื่นหรือสังคมจะช่วยเหลือบุคคลให้โน้มน้อมไปในทางแห่งกุศลกรรม ด้วยการจัดสรรอำนวยสภาพแวดล้อมและเครื่องชักจูงที่ดีงามตามหลัก
ปฏิรูปเทสวาส และกัลยาณมิตตตา หรือ สัปปุริสูปัสสยะ อีกด้วย

ผลกรรมในระดับที่ 3 คือ ความเป็นไปแห่งวิถีชีวิตพร้อมด้วยผลตอบสนองต่างๆ นั้น ว่าที่จริงก็เป็นเรื่องของกรรมนิยามนั่นแหละ และส่วนมากก็สืบเนื่องมาจากผลในระดับที่ 1 และที่ 2 เช่น
ถ้าคนผู้หนึ่งมีใจรักงาน ทำงานสุจริตด้วยความขยันหมั่นเพียร จัดการงานได้ดี เขาก็น่าจะได้รับผลงานและผลตอบแทนดี อย่างน้อยดีกว่าคนที่เกียจคร้านหรือทำงานไม่สุจริต ข้าราชการที่ซื่อสัตย์สุจริตมีความสามารถ ตั้งใจปฏิบัติหน้าที่ราชการบังเกิดผลดี ก็น่าจะเจริญก้าวหน้าในราชการ อย่างน้อยดีกว่าราชการ
ที่ไม่สามารถและไม่เข้มแข็งในหน้าที่

แต่บางทีผลหาเกิดเช่นนั้นไม่ ทั้งนี้เพราะผลในระดับที่ 3 มิใช่เกิดจากกรรมนิยามอย่างเดียวล้วน หากแต่มีปัจจัยด้านนิยามและนิยมอื่นๆ เฉพาะอย่างยิ่งสังคมนิยมน์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วยเมื่อมองดูแต่กรรมนิยามอย่างเดียว ไม่มองปัจจัยด้านอื่นให้ครบถ้วน และไม่รู้จักแยกขอบเขตความสัมพันธ์ระหว่างนิยาม-
นิยมน์ต่างๆ ก็จะเกิดความสับสน แล้วคำกล่าวที่ว่า ทำดีได้ชั่ว ทำชั่วได้ดี ก็ติดตามมา


ถ้ากรรมนิยามทำงานลำพังอย่างเดียวก็ย่อมไม่มีปัญหา ผลก็เกิดตรงตามกรรมนั้น ตัวอย่าง เช่น
ขยันอ่านหนังสือเรียน หยิบหนังสือเล่มหนึ่งขึ้นมาตั้งใจอ่าน ก็อ่านจบ ได้ความรู้ แต่บางคราวร่างกาย
อ่อนเพลียเกินไป หรือปวดศีรษะหรืออากาศร้อนเกินไป ก็อาจอ่านไม่จบหรืออ่านไม่รู้เรื่อง หรือเกิดอุบัติเหตุอะไรขึ้นในระหว่างการอ่านก็ต้องหยุดชะงักลง ดังนี้ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี พึงตระหนักแน่ใจได้ว่า ถึงอย่างไรก็ตามสำหรับมนุษย์ กรรมนิยามก็ยังคงเป็นแกนกลางชี้นำวิถีชีวิตเป็นปัจจัยตัวเอกที่กำหนดการได้รับผลสนองดีร้ายต่างๆ ในชีวิตอยู่อย่างแน่นอน

สำหรับผู้ที่รู้สึกผิดหวังในตนเอง หรือ มองเห็นใครอื่นก็ตามว่าทำดีแล้วไมได้ดีนั้น แม้ยังไม่ได้ ตรวจสอบเหตุปัจจัยในด้านต่างๆ ให้ชัดเจนเลย ก็อาจลองมองดูอย่างง่ายๆก่อนว่า นี่ถ้าเราไม่ได้ทำกรรมดีนั้นไว้ คงจะแย่ยิ่งกว่านี้ นั่นถ้าเขาไม่ได้ทำดีไว้บ้าง เขาคงตกหนักยิ่งกว่านั้นอีก
ถ้ามองอย่างนี้ บางทีจะเริ่มเกิดความเข้าใจ มองเห็นอะไรๆ ค่อยๆ ชัดมากขึ้น และตระหนักว่า ถึงอย่างไร กรรมที่ทำไว้ก็ไม่ไรผลเสียเลย และอาจสืบลงไปจนถึงผลภายในจิตใจและผลต่อบุคลิกภาพด้วย

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 19:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ความเข้าใจสับสนเกี่ยวกับการให้ผลของกรรม ขอให้มาดูและแก้ไขกันตั้งแต่ต้นแต่ข้อความ
แสดงหลักทีเดียว คำกล่าวที่ชาวไทยนิยมพูดว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่วนั้น มาจากพุทธศาสนสุภาษิตว่า ดังนี้

ยาทิสํ วปเต พีชํ ... ตาทิสํ ลภเต ผลํ
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ... ปาปการี จ ปาปกํ
แปลว่า หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น (ผู้) ทำดี ได้ดี (ผู้) ทำชั่ว ได้ชั่ว
(สํ.ส. 5/903/333 ฯลฯ)

คาถานี้เป็นพุทธพจน์ในรูปของอิสิภาษิต (คำกล่าวของฤๅษี) และโพธิสัตว์ภาษิต ซึ่งพระพุทธเจ้านำมาตรัสเล่า ท่านรวบรวมไว้ในพระไตรปิฎก นับว่าเป็นข้อความที่แสดงหลักกรรมของพระพุทธศาสนาได้
อย่างกะทัดรัดชัดเจน

พึงสังเกตว่า ความท่อนแรก (ของคาถา ) ที่เป็นอุปมานั้น ท่านนำเอาพืชนิยามมาเป็นเครื่อง
เปรียบเทียบ เพียงแต่พิจารณาข้ออุปมานี้ให้ดี ก็จะแยกความสับสนระหว่างกรรมนิยามกับ สังคมนิยมน์ ได้ทันที กล่าวคือ ข้อความว่า หว่านพืชเช่นใด ได้ผลเช่นนั้น แสดงกฎธรรมชาติฝ่ายพืชพันธุ์ ว่าปลูกมะขาม ได้มะขาม ปลูกองุ่น ได้องุ่น ปลูกผักกาด ได้ผักกาด เป็นต้น
ไม่ได้แสดงผลในทางสังคมนิยมน์แต่ประการใด ว่าปลูกมะขามแล้วจะได้เงิน หรือปลูกผัก แล้วจะรวย
เป็นต้น ซึ่งเป็นคนละขั้นตอนกัน พืชนิยามกับสังคมนิยมน์จะมาสัมพันธ์กัน ก็ในตอนที่ว่า ปลูกองุ่น
ได้องุ่นแล้ว พอดีถึงคราวที่ตลาดต้องการองุ่นมาก จึงขายได้ราคาดี และ ปีนั้นจึงรวย แต่อีกคราวปลูกแตงโม
ได้แตงโม และงอกงามได้ผลมากด้วย แต่ปีนั้น คนปลูกกันมาก ผลดกทั่วไปจนมีเกินความต้องการ
ของตลาด ทำให้ราคาตก ปีนั้นขายขาดทุน ต้องทิ้งเปล่าเสียมากมาย

นอกจากปัจจัยด้านความต้องการของตลาดแล้ว อาจมีปัจจัยอื่นๆ เข้ามาเกี่ยวข้องอีก เช่นเรื่องคนกลาง
การกดราคา เป็นต้น แต่สาระสำคัญก็ คือ จะเห็นความแน่นอนของพืชนิยามคงตัว และเห็นขอบเขต
ของพืชนิยามกับสังคมนิยมน์ทั้งที่แยกต่างหากจากกัน และ สัมพันธ์กันได้อย่างชัดเจน อุปมานี้ ฉันใด
อุปไมย ก็ฉันนั้น

คนมักมองกรรมนิยามกับสังคมนิยมน์สับสนกัน โดยพูดว่า ทำดีได้ดี ในความหมายว่าทำดีแล้วรวย ทำความดีแล้วได้เลื่อนตำแหน่ง เป็นต้น ซึ่งก็น่าจะเป็นเช่นนั้น แต่บางทีก็ไม่เป็น เหมือนกับพูดว่า ปลูกมะม่วง
ได้เงินดี ปลูกมะพร้าวทำให้รวย เขาปลูกน้อยหน่าจึงยากจน ซึ่งอาจจะจริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้
แต่ความจริงก็คือ เป็นการพูดข้ามขั้นตอนไม่แสดงความจริงตลอดสาย อาจใช้ได้สำหรับภาษาพูดพอรู้
กัน แต่ถ้าจะเอาความจริงแท้ ต้องแสดงเหตุปัจจัยซอยออกไปโดยว่ากันให้ละเอียด

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 20:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


การที่กรรมนิยามจะแสดงผลออกมาในระดับของวิถีชีวิต ทำให้มีความเป็นไปต่างๆ ประสบผล ตอบสนอง
จากภายนอก อันน่าพอใจบ้าง ไม่น่าพอใจบ้างนั้น
ในบาลีท่านแสดงหลักไว้ว่า ต้องขึ้นต่อองค์ประกอบต่างๆ 4 คู่ คือ สมบัติ 4 และวิบัติ 4
(อภิ.วิ.35/840/458-9)


สมบัติ แปลง่ายๆว่า ข้อดี หมายถึงความเพียบพร้อมสมบูรณ์แห่งองค์ประกอบต่างๆ
ซึ่งช่วยเสริมส่งอำนวยโอกาสให้กรรมดีปรากฏผล และไม่เปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล
พูดสั้นๆว่า ส่วนประกอบอำนวยช่วยเสริมกรรมดี


สมบัติมี 4 อย่าง คือ

1. คติสมบัติ -สมบัติแห่งคติ ถึงพร้อมด้วยคติ หรือ คติให้ คือ เกิดอยู่ในภพ ภูมิ
ประเทศที่เจริญเหมาะ หรือเกื้อกูล ตลอดจนในระยะสั้น คือ ดำเนินชีวิตหรือไปในถิ่น
ที่อำนวย

2. อุปธิสมบัติ-สมบัติแห่งร่างกาย ถึงพร้อมด้วยร่างกาย หรือ รูปร่างให้ เช่น มีรูปร่าง
สวย ร่างกายสง่างาม หน้าตาท่าทางดี น่ารัก น่านิยมเลื่อมใส สุขภาพดีแข็งแรง

3. กาลสมบัติ-สมบัติแห่งกาล ถึงพร้อมด้วยกาล หรือกาลให้ คือ เกิดอยู่ในสมัยที่
บ้านเมืองมีความสงบสุข ผู้ปกครองดี ผู้คนมีศีลธรรม ยกย่องคนดี ไม่ส่งเสริมคนชั่ว
ตลอดจนในระยะสั้น คือทำอะไรถูกกาลเวลา ถูกจังหวะ

4. ปโยคสมบัติ-สมบัติแห่งประกอบ ถึงพร้อมด้วยการประกอบกิจ หรือกิจการให้
เช่น ทำเรื่องตรงกับที่เขาต้องการ ทำกิจตรงกับความถนัดความสามารถของตน
ทำการถึงขนาดถูกหลักครบถ้วนตามเกณฑ์หรือเต็มอัตรา ไม่ใช่ทำครึ่งๆกลางๆ
หรือเหยาะแหยะ หรือ ไม่ถูกเรื่องกัน รู้จักจัดทำ รู้จักดำเนินการ


วิบัติ แปลง่ายๆว่า ข้อเสีย หรือจุดอ่อน หมายถึงความบกพร่องแห่งองค์ประกอบต่างๆ ซึ่งไม่อำนวย
แก่การที่กรรมดีจะปรากฏผล แต่กลับเปิดช่องให้กรรมชั่วแสดงผล พูดสั้นๆว่า ส่วนประกอบบกพร่อง
เปิดช่องให้กรรมชั่ว



วิบัติมี 4 อย่าง คือ


1.คติวิบัติ-วิบัติแห่งคติ หรือคติเสีย คือเกิดอยู่ในภพ ภูมิ ถิ่น ประเทศ สภาพแวด ล้อมที่ไม่เจริญ ไม่เหมาะ
ไม่เกื้อกูล ทางดำเนินชีวิต ถิ่นที่ไม่อำนวย

2. อุปธิวิบัติ-วิบัติแห่งร่างกาย หรือรูปกายเสีย เช่น ร่างกายพิกลพิการ อ่อนแอ ไม่สวยงาม กิริยาท่าทาง
น่าเกลียด ไม่ชวนชม ตลอดจนสุขภาพไม่ดี เจ็บป่วย มีโรคมาก

3. กาลวิบัติ-วิบัติแห่งกาล หรือกาลเสีย คือ เกิดอยู่ในยุคสมัยที่บ้านเมืองมีภัยพิบัติ ไม่สงบเรียบร้อย
ผู้ปกครองไม่ดี สังคมเสื่อมจากศีลธรรม มากด้วยการเบียดเบียน ยกย่องคนชั่ว บีบคั้นคนดี ตลอดจนทำอะไร
ไม่ถูกกาลเวลา ไม่ถูกจังหวะ

4. ปโยควิบัติ-วิบัติแห่งการประกอบ หรือกิจการเสีย เช่น ฝักใฝ่ในกิจการหรือเรื่องราว ที่ผิด ทำการไม่ตรงความถนัด ความสามารถ ใช้ความเพียรในเรื่องไม่ถูกต้อง ทำการครึ่งๆ กลางๆ เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ม.ค. 2009, 21:04 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


คู่ที่ 1
คติสมบัติ เช่น เกิดอยู่ในถิ่นเจริญ มีบริหารการศึกษาดี ทั้งที่สติปัญญาและความขยันไม่เท่าไร แต่ก็ยังได้ศึกษามากกว่า เข้าถึงสถานะทางสังคมสูงกว่าอีกคนหนึ่งซึ่งมีสติปัญญาและความขยันหมั่นเพียรดีกว่า แต่ไปเกิดอยู่ในถิ่นป่าดง หรือ เช่น ไปเกิดเป็นเทวดา ถึงจะแย่อย่างไรก็ยังสุขสบาย ไม่เดือดร้อน ไม่อดอยาก

คติวิบัติ เช่น มีพระพุทธเจ้าอุบัติตรัสสอนธรรม แต่ตัวไปเกิดอยู่ เสียในป่าดงหรือในนรก ก็หมดโอกาสได้ฟังธรรม หรือ มีสติปัญญาดี แต่ไปเกิดเป็นคนป่าอยู่ในกาฬทวีป ก็ไม่มีโอกาสได้เป็นนักปราชญ์ในวงการศิลป์และศาสตร์ทั้งหลาย มีความรู้ความสามารถดี แต่ไปอยู่ในถิ่น หรือ ในชุมชนที่เขาไม่เห็นคุณค่าของความรู้ความสามารถนั้น เข้ากับเขาไม่ได้ ถูกเหยียดหยามบีบคั้น อยู่อย่างเดือดร้อน เป็นต้น

คู่ที่ 2
อุปธิสมบัติ เช่น รูปร่างสวยงาม น่าชื่นชม แม้ไปเกิด ในตระกูลยากไร้ หรือถิ่นห่างไกล รูปกายช่วยให้ขึ้นมาสู่ฐานะและถิ่นที่มีเกียรติยศ และความสุข

อุปธิวิบัติ เช่น เกิดอยู่ในถิ่นหรือในตระกูลมั่งคั่งสมบูรณ์ แต่พิกลพิการง่อยใบ้ ไม่อาจได้รับเกียรติยศและความสุขความรื่นรมย์ที่พึงได้ คนสองคน มีคุณสมบัติอย่างอื่นเสมอเหมือนกัน
คนหนึ่งรูปร่างสง่าหรือสวยงาม อีกคนหนึ่งขี้ริ้วขี้เหร่ หรือ ขี้โรค
ในกรณีที่ถือร่างกายเป็นส่วนประกอบด้วย คนมีกายดีก็ได้รับผลไป
แม้ในกรณีที่ไม่ถือกายเป็นคุณสมบัติ ก็เป็นธรรมดาของคนทั่วไปที่จะเอนเอียงเข้าหาคน
ที่มีรูปสมบัติ
คนที่มีรูปวิบัติ จะต้องยอมรับความจริงที่เป็นธรรมดาของชาวโลกข้อนี้ และตระหนักว่า ผู้ที่จะมีจิตเที่ยงตรงไม่เอนเอียง เพราะเหตุแห่งรูปสมบัติ รูปวิบัตินี้ ก็มีแต่คนที่ประกอบด้วยคุณธรรมพิเศษยิ่งกว่าคนทั่วไป
รู้เช่นนี้แล้วไม่พึงเสียใจ จากนั้นจะได้เร่งขวนขวายสร้างเสริมคุณสมบัติส่วนอื่นๆ ให้มีพิเศษ
ยิ่งกว่าปกติ
ถ้าคนรูปกายดีใช้ความพยายามหนึ่งส่วน คนที่อุปธิวิบัติอาจต้องพยายามสองหรือสามส่วน
เป็นต้น
ข้อสำคัญ อย่าท้อแท้ ปัจจัยที่หย่อนก็รู้ ที่เสริมได้ก็เร่งทำ ความรู้กรรมจึงจะเกิด
ประโยชน์

คู่ที่ 3
กาลสมบัติ เช่น เป็นคนซื่อสัตย์สุจริต ทำสิ่งที่ดีงาม มาเกิดอยู่ในยุคที่ผู้ปกครองดี สังคมดี ยกย่องเชิดชูคนดี คนผู้นั้นก็มีเกียรติมีความเจริญ หรือบ้านเมืองสงบสุข ผู้มีสติปัญญา
เป็นนักปราชญ์ก็มีโอกาสแสดงความรู้ความสามารถให้ปรากฏและให้เป็นประโยชน์ หรือในยุคสมัยหนึ่ง คนนิยมกาพย์กลอนกันมาก คนเก่งกาพย์กลอนก็รุ่งเรืองเฟื่องฟู

ส่วน กาลวิบัติ ก็ตรงข้าม เช่น ในยามสังคมเสื่อมจากศีลธรรม ผู้ปกครองไม่ประกอบด้วยธรรม คนทำดีไม่ได้รับยกย่อง หรืออาจถูกเบียดเบียนกดขี่ ประสบความเดือดร้อน หรือยามบ้านเมืองปั่นป่วนวุ่นวาย มีศึกสงคราม ไม่มีใครสนใจ คนทำความดีทางสันติ แม้มีสติปัญญาความสามารถก็ไม่มีโอกาสสร้างสรรค์งานที่เป็นประโยชน์ หรือ ในยุคที่สังคมนิยมดนตรีหยาบร้อน ตนแม้เชี่ยวชาญในดนตรี ที่สงบเยือกเย็น แต่ไม่ได้รับความสนใจยกย่อง เป็นต้น

คู่ที่ 4
ปโยคสมบัติ เช่น ตนไม่ใช่คนดีมีความสามารถจริง แต่รู้จักเข้า หาคนควรเข้าหา รู้จักหลบเลี่ยงเรื่องควรหลบเลี่ยง อะไรควรเสียยอมเสีย ทำให้ตนเจริญก้าว หน้าไปได้ และความเสียหายบกพร่องของตนไม่ปรากฏ หรือมีความสามารถในการปลอม แปลงเอกสาร เอาความสามารถนั้นมาใช้ทางดี เช่นในงานพิสูจน์หลักฐาน

ทางด้าน ปโยควิบัติ เช่น มีความรู้ความสามารถและคุณสมบัติอื่น ดีหมด แต่ติดการพนัน
จึงไม่ได้รับการคัดเลือกไปทำงาน หรือมีฝีเท้ารวดเร็วมาก พอจะเป็นนักกรีฑาชั้นเลิศ
แต่เอาความสามารถนั้นไปใช้ในการวิ่งฉกชิงทรัพย์เขา หรือ ตนมีฝีมือดีในทางช่าง แต่ไปนั่งทำงานเสมียนที่ไม่ถนัด เป็นต้น

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ม.ค. 2009, 08:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 ต.ค. 2006, 12:36
โพสต์: 33766

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


ผลในระดับที่สามนี้ ส่วนมากเป็นเรื่องของโลกธรรม ซึ่งมีความผันผวน ปรวนแปรไม่แน่นอน แต่ก็เป็นเรื่องชั้นเปลือกนอกผิวภายนอก มิใช่แกนในของชีวิต จะกระทบกระทั่งหนักเบา ก็อยู่ที่ว่าจะมีความยึดติดถือมั่นมากน้อยเพียงใด
ถ้าไม่ยึดติด สามารถวางใจก็มีความสุขได้เสมอ หรือ อย่างน้อยก็ทุกข์ไม่มาก และผ่านเหตุการณ์ไปได้ด้วยดี
ด้วยเหตุนี้
ท่านจึงสอนให้มีปัญญารู้เท่าทันธรรมดา ประกอบด้วยสติ มิให้หลงใหลประมาทมัวเมา คราวสุขคราวได้ ก็ไม่เหลิงลำพองเคลิ้มไป คราวทุกข์คราวเสีย ก็ไม่ขุ่นมัวคลุ้มคลั่งปล่อยตัวถลำลงในทางชั่วทางเสีย ค่อยผ่อนผันแก้ไขเหตุการณ์ด้วยสติปัญญา

เมื่อยังต้องการโลกธรรมฝ่ายดี คือ ที่ชื่นชอบเป็นอิฏฐารมณ์ ก็กำหนดสมบัติวิบัติที่เป็นกำลังหรือ จุดอ่อนของตนและจัดสรรเลือกองค์ประกอบฝ่ายสมบัติที่จัดเลือกได้
หลีกเว้นวิบัติเสีย แล้วพยายามเข้าถึงผลดีที่มุ่งหมายด้วยกรรมที่เป็นกุศล ซึ่งมีผลมั่นคงและลึกซึ้งถึงชีวิต ทุกระดับของตน ไม่สร้างผลด้วยอกุศลกรรม และไม่ถือโอกาสยามสมบัติอำนวยประกอบการอกุศล เพราะสมบัติและวิบัติ 4 ประการนั้น เป็นของไม่แน่นอน เมื่อกาลโอกาสที่เอื้ออำนวยผ่านไป กรรมร้ายก็จะแสดงผล พึงถือโอกาสยามสมบัติช่วย เร่งประกอบกุศลกรรมเท่านั้น คือ ถือเอาส่วนที่ดีงามไร้โทษ
ของหลักการที่กล่าวมานี้

โดยนัยนี้ ก็สรุปได้ว่า ถ้าจะทำการใด ในเมื่อมีองค์ประกอบของนิยามหลายฝ่ายเข้ามาเกี่ยวข้อง
อย่างน้อยก็พึงทำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยามให้ดี เป็นส่วนที่ยึดเอาไว้ได้อย่างแน่นอนมั่นใจแล้วอย่างหนึ่งก่อน
ส่วนองค์ประกอบฝ่ายนิยามอย่างอื่น ก็พึงใช้ปัญญาศึกษาพิจารณาเอามาใช้เสริมเท่าที่ไม่เป็นโทษในแง่
ของกรรมนิยามต่อไป
หากปฏิบัติได้เช่นนี้ ก็เรียกว่า เป็นผู้รู้จักถือเอาประโยชน์จากกุศลกรรมและสมบัติวิบัติทั้ง 4 หรือ รู้จักใช้ทั้งกรรมนิยามและสังคมน์นิยมในทางที่เป็นคุณ

สำหรับบางคน อาจต้องเตือนว่า อย่ามัวคิดวุ่นวายอยู่เลยว่า ทำไมคนนั้นไม่ทำดี แต่กลับได้ดี ทำไมคนนี้ทำไม่ดี แต่ไม่เห็นเป็นอะไร ทำไมเราทำอย่างนี้ ไม่เห็นได้อะไร ดังนี้เป็นต้น
ปัจจัยหรือองค์ประกอบของนิยามทั้งหลาย เราอาจยังตรวจดูรู้ไม่ทั่วถึง และพึงคิดว่า ตัวเรานี้ ปัญญาที่จะรู้จักเลือกถือเอาประโยชน์จากนิยามอื่นๆ ก็ไม่มี หนำซ้ำองค์ประกอบฝ่ายกรรมนิยาม ที่เป็นฐานยืนพื้นแน่นอนอยู่นี้ ก็ยังไม่ใส่ใจที่จะทำให้ดีเสียอีก ถ้าขืนเป็นอย่างนี้ ก็คงมีแต่จะต้องทรุดหนักลงไปอีกทุกที

อย่างไรก็ตาม เมื่อมองให้เข้าถึงคำสอนของพระพุทธเจ้าอย่างแท้จริง ผู้ประกอบกรรมดี ย่อมไม่ติดอยู่เพียงขั้นที่ยังมุ่งหวังผลอันเป็นโลกธรรม (ลาภ ยศ สุข สรรเสริญ) ตอบสนองแก่ตน เพราะกุศลธรรมที่แท้จริง เกิดจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ เขาจึงทำกรรมด้วยจาคะ สละอกุศลในใจและเผื่อแผ่เกื้อกูลแก่ผู้อื่น ทำกรรมด้วยเมตตากรุณา ช่วยคนอื่นให้พ้นทุกข์และสนับสนุนความอยู่ร่วมกันโดยสุขสงบ
มีไมตรี ทำกรรมด้วยปัญญาเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง เพื่อโพธิ เพื่อให้ธรรมแพร่หลาย ครองใจคนและครองสังคม ซึ่งจัดเข้าได้ว่า เป็นกรรมขั้นสูงสุด คือ กรรมที่เป็นไปเพื่อความสิ้นกรรม

.....................................................
https://dhammachati.blogspot.com/


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 8 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร