วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:56  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านกรรมแห่งกรรมจากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=4



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 เม.ย. 2022, 13:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


ท่านสอนคนกลัวผีให้ภาวนาจนจิตมีอภิญญา

หนังสือ ประวัติท่านพระอาจารย์ฝั้น อาจาโร
มูลนิธิพระสงบ มนสฺสนฺโต
ต.หนองกวาง อ.โพธาราม จ.ราชบุรี
หน้า ๕๔-๕๗


รูปภาพ

หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ บันทึกไว้ดังนี้

“สมัยก่อนท่านไปพักภาวนาจำพรรษาอยู่ที่ใด ท่านให้ทำที่พักอาศัยชั่วคราว ไม่สร้างตั้งเป็นวัดเป็นวาอยู่ประจำเหมือนอย่างพระทุกวันนี้ ท่านมิอยู่ติดถิ่นติดฐาน อยากได้เป็นสมภารแย่งวัดแย่งวากัน ท่านทำตัวเหมือนนกที่มีแต่ปีก บินไปจับที่ใดไม่มีรอยเท้า ฉันนั้น

เท่าที่สังเกต พระอาจารย์ฝั้นท่านไปพักอยู่ที่ไหน เมื่อมีคนไปกราบนมัสการ หรือทำบุญให้ทานอย่างไรก็ตาม ปกติท่านต้องเทศน์อบรมสั่งสอนทั้งเด็กเล็ก หนุ่มสาว ปานกลาง คนใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ ท่านสอนทุกรายไปไม่เลือก ให้รู้จักคุณพระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ คุณมารดาบิดา ครูอาจารย์ ให้หมั่นกราบไหว้พระ ภาวนาระลึกเอาคุณพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ มาเป็นที่พึ่งทางใจของเรา ท่านอธิบายให้ผู้ฟังสำรวมจิตตภาวนา ทำสมาธิไปด้วย จากนั้นท่านก็ให้นึกบริกรรมคำภาวนาว่า พุทโธๆๆๆๆ คำเดียว ทำจิตให้สงบเบาสบาย หายทุกข์ หายยากลำบาก รำคาญไม่ฟุ้งซ่านวุ่นวาย เย็นสบายใจในอกในใจ ทุกคนติดอกติดใจ เกิดมีความเลื่อมใสในองค์ท่าน เคารพฝังแน่นอยู่ในใจจนตลอดชีวิต...

มีตอนหนึ่ง ท่านอาจารย์ฝั้นได้เล่าให้ผู้เขียน (หลวงปู่สุวัจน์) ฟังว่า ท่านได้ออกธุดงค์ไปทางอําเภอบ้านผือ จังหวัดอุดรธานี ได้ไปพักบําเพ็ญภาวนาอยู่ที่ป่าระหว่างบ้านแห่งหนึ่ง เป็นบ้านหนองกอง หรืออะไรนี้แหละ ถ้าผู้เขียนจําไม่ผิด

บริเวณป่าที่พระธุดงค์มาพักภาวนา เดิมเป็นเสนาสนะป่าบ้านหนองกอง ในกาลต่อมาได้สร้างเป็นวัดถาวรในพระพุทธศาสนา คือ วัดป่าบ้านหนองกอง ความสําคัญของวัดแห่งนี้เคยเป็นวัดที่ท่านพระอาจารย์มั่นธุดงค์มาปฏิบัติธรรม เมื่อท่านพระอาจารย์มั่นธุดงค์จากไปที่อื่น ภายหลังมีพระศิษย์ขององค์ท่านได้จาริกมาพักเพื่อบําเพ็ญภาวนา ณ เสนาสนะป่าแห่งนี้เป็นประจํามิได้ขาด ดังเช่น หลวงปู่หล้า ขนฺติโก (วัดป่าบ้านนาเก็น อ.นํ้าโสม จ.อุดรธานี) หลวงปู่ฝั้น อาจาโร เป็นต้น จึงนับเป็นสถานที่มงคลแห่งหนึ่ง ชาวบ้านหนองกองจึงได้พร้อมใจกันพัฒนาให้กลายเป็นวัดขึ้นมา แต่ก็ไม่มีพระอยู่เป็นประจํา จึงได้มาขอพระจากหลวงปู่ขาว อนาลโย ซึ่งท่านได้มอบให้หลวงปู่เพียร วิริโย มาเป็นเจ้าอาวาส

ในบ้านนั้นมีผู้หญิงวัยกลางคนคนหนึ่งชื่อ นางคำภู เธอมีความเลื่อมใสในพระอาจารย์ฝั้น ได้ออกไปทําบุญและฟังธรรมท่านพรํ่าสอนทุกวัน เธอมีนิสัยเป็นคนกลัวผีหลอกมาก เวลาคํ่าคืนถ้าได้ยินเสียงอะไรผิดแปลก ก็เกิดสะดุ้งหวาดกลัวว่า ผีหลอก พระอาจารย์ท่านพยายามสอนให้เธอนั่งภาวนา เธอไม่กล้านั่งภาวนา โดยคิดว่า “ถ้าเรานั่งแล้วเกิดเห็นผีปรากฏขึ้นมา เดี๋ยวเป็นบ้า เพราะรักษาจิตไม่อยู่” ท่านสอนเท่าไรก็ไม่อยากจะทํา ท่านอาจารย์ก็พยายามสอนทุกวัน อยู่มาวันหนึ่งเธอตัดสินใจนั่งภาวนาทดลองดู

“พระอาจารย์ท่านมีความเมตตา ได้มาอยู่สั่งสอนอนุเคราะห์เรา ท่านสอนชวนให้เราไหว้พระแล้ว นั่งภาวนาทุกวันๆๆ เป็นอะไรก็ให้มันรู้ไป คืนนี้แหละ เราต้องนั่งภาวนาให้ได้” คํ่าคืนนั้นเธอเข้าห้องสวดมนต์ไหว้พระ สวดมนต์แผ่เมตตาตน เมตตาสัตว์ แล้วเริ่มอธิษฐานจิตคิดบริกรรมทําภาวนา ระลึก พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ, พุทโธ ธัมโม สังโฆ ๓ จบ แล้วให้ระลึกถึง พุทโธๆๆๆ คําเดียว เธอมีความเพียรอดทนนั่งได้นานพอสมควร เวลาออกจากสมาธิแล้ว เธอรู้สึกมีความสบาย เบากายเบาใจ ตั้งแต่วันนั้นมาเธอก็นั่งภาวนาต่อๆ มาทุกวัน


วันหนึ่งเธอนั่งภาวนาไปสักพักหนึ่ง จิตก็เริ่มสงบรวมลงไปสักหน่อย ก็เกิดนิมิตเห็นคนตายนอนอยู่ตรงหน้า นึกกลัว พอเตรียมตัวจะลุกขึ้น ผีก็เลื่อนมานอนทับขาอยู่บนตักไว้ ลุกขึ้นไม่ได้จนใจจะหาวิธีคิดแก้ไขได้ ในทันทีทันใดนั้นเอง ผีก็กลับกลายหายเข้าไปในร่างตัวของเธอเอง เกิดมีความสว่างไสว มองเห็นหัวใจของเธอเองสว่างไสวใสสะอาด เธอสามารถเห็นจิตใครๆ เป็นอย่างไร เธอรู้หมด รู้ถึงใจของสัตว์เดรัจฉาน ตลอดถึงวิญญาณของสัตว์ในกามภูมิ จิตที่เคยมีความกลัวกลับหาย กลายมาเป็นจิตกล้า หาผีตัวไหนที่จะก่อกวนหลอกให้หลงกลัวไม่มีอีกแล้ว เธอมีความสงบสุขสบาย เอิบอิ่มอยู่ด้วยความปีติตลอดคืน

พอรุ่งเช้าวันใหม่ เวลาตอนบ่าย เธอออกไปฟังเทศน์ของพระอาจารย์เช่นเคย ท่านพระอาจารย์ได้สังเกตอากัปกิริยาตั้งแต่เห็นเธอเดินเข้ามา มีหน้าตาเบิกบานเปล่งปลั่ง มีสติสํารวมนิ่มนวลนอบน้อม ตาแหลมคม จิตเที่ยงตรงองอาจ กิริยาท่าทางผิดเปลี่ยนไปจากแต่ก่อนมาก เวลานั้นท่านอาจารย์เป็นไข้ มีอาการไม่สบายมาก แต่ท่านพยายามทําใจให้เข้มแข็ง แสดงเหมือนกับท่านไม่ได้เป็นอะไร ออกมานั่งพูดจาปราศรัย แล้วแสดงธรรมปฏิสันถารเหมือนปกติ พอท่านหยุดแสดงธรรม นางคําภูผู้รู้จิตใจของผู้อื่นก็พูดขึ้นว่า “แหม ! ดอกบัวของครูบาอาจารย์วันนี้ คือเหี่ยวหลายแท้” (ดอกบัว หมายถึง หัวใจ)

“เป็นความจริงหรือ โยมรู้จักจิตใจอาตมาได้อย่างไร ?” ท่านอาจารย์รีบถามเพราะแปลกใจ

“จริงค่ะ ท่านอาจารย์เป็นอย่างนั้นจริงๆ ดิฉันรู้ได้และเห็นได้ด้วยใจของดิฉันเอง ถึงใครไม่บอกก็รู้ได้” แม่คําภูตอบ

“จิตใจมันเป็นอย่างไร ก่อนที่จะได้เกิดความรู้ ความเห็นแจ้งจริงประจักษ์ขึ้นมาได้อย่างนี้ ไหนลองเล่าให้อาตมาฟังซิ”


นางคําภูจึงได้เล่าเรื่องที่เธอภาวนาปรากฏเป็นนิมิต เห็นผีนอนตายอยู่ตรงหน้าดังกล่าวมาแล้วข้างต้นจนตลอด ให้ท่านอาจารย์ทราบแล้ว ท่านพระอาจารย์ฝั้นก็ได้เทศน์อธิบายต่อเติมส่งเสริมให้มีกําลังใจ ให้มีสติ รักษาจิตใจตั้งมั่นอยู่ในสมาธิอย่างมั่นคง อย่าให้หลงไปตามอารมณ์สัญญาวิปลาส เคลื่อนคลาดจากสมาธิ สติ ปัญญา ให้น้อมจิตเข้ารู้ตัวอยู่เสมอ ท่านอาจารย์แสดงธรรมจบแล้ว โยมคําภูจึงได้กราบลากลับบ้าน

ท่านพระอาจารย์ฝั้นคิดอยากจะลองจิตโยมคําภูดูอีกครั้ง จึงได้เร่งประกอบความเพียรภาวนา ตั้งสติรักษาจิตให้สงบ พอจิตรวมสงบระงับดับทุกข์จากการเป็นไข้ได้แล้ว จิตมีความสว่างไสว ปลอดโปร่ง เบาเนื้อเบาตัว สบายเป็นปกติแล้ว พอรุ่งขึ้นวันใหม่ เวลาบ่ายนางคําภูก็ออกมาฟังเทศน์ของพระอาจารย์อีก วันนี้ท่านพระอาจารย์นอนคลุมผ้า ทําท่าไม่อยากจะลุกมาต้อนรับ นางคําภูมาถึงแล้วกราบและนั่งอยู่สักครู่หนึ่ง ชําเลืองตามองส่องไปยังท่านพระอาจารย์ อย่างแสดงให้เห็นว่า มีความเคารพและเลื่อมใสอย่างสุดอกสุดใจ แล้วกล่าวคําอุทานพูดขึ้นมาว่า

“ดอกบัวของท่านอาจารย์วันนี้ คือมาบานดีหลายแท้น้อ”

ท่านพระอาจารย์ฝั้นนึกชมอยู่ในใจว่า โยมคําภูนี้ภาวนาเก่งจริง ทําความเพียรภาวนาได้ดี จนจิตมีอภิญญาแตกฉาน สามารถฉลาดรอบรู้จิตใจของผู้อื่นและสัตว์อื่นได้อย่างถูกต้องตามความเป็นจริง น้อยนักน้อยหนาคนที่จะปฏิบัติภาวนาได้อย่างนี้ หาได้โดยไม่ง่ายนักเลย”


รูปภาพ
ท่านพระอาจารย์มั่น ภูริทตฺโต

รูปภาพ
พระโพธิธรรมาจารย์เถร (หลวงปู่สุวัจน์ สุวโจ)

รูปภาพ
หลวงปู่หล้า ขนฺติโก

รูปภาพ
หลวงปู่ขาว อนาลโย

รูปภาพ
หลวงปู่เพียร วิริโย

:b8: :b8: :b8:

:b50: ประวัติและปฏิปทา “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=58068

:b50: รวมคำสอน “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=44391

:b50: ประมวลภาพ “หลวงปู่ฝั้น อาจาโร” วัดป่าอุดมสมพร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=42819


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร