วันเวลาปัจจุบัน 11 ก.ย. 2024, 14:05  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านนิทาน จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=5



กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2009, 20:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
“ยักษ์วัดโพธิ์” ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข)


ตำนาน “ยักษ์วัดแจ้ง-ยักษ์วัดโพธิ์”
และตำนานกำเนิดท่าเตียน :b45:

“ยักษ์” เป็นอมนุษย์ชนิดหนึ่ง มีกล่าวถึงทั้งในทางศาสนาและวรรณคดี
เป็นความเชื่อของไทยที่ได้รับอิทธิพลจากศาสนาพราหมณ์และศาสนาพุทธ
โดยเชื่อว่ายักษ์มีหลายระดับขึ้นอยู่กับบุญบารมี ยักษ์ชั้นสูงจะมีวิมานเป็นทอง
มีรูปร่างสวยงาม ปกติไม่เห็นเขี้ยว เวลาโกรธจึงจะมีเขี้ยวงอกออกมา
ยักษ์ชั้นกลางส่วนใหญ่จะเป็นบริวารของยักษ์ชั้นสูง
ส่วนยักษ์ชั้นต่ำที่บุญน้อยก็จะมีรูปร่างน่ากลัว ผมหยิกตัวดำผิวหยาบ นิสัยดุร้าย

จะเห็นได้ว่าในวัดวาอารามต่างๆ มักจะมียักษ์มาประกอบเป็นส่วนหนึ่งของวัด
หรือโบราณสถาน ไม่ว่าจะเป็นรูปปั้นยักษ์แบกพระเจดีย์ในวัดพระแก้ว
รูปปั้นยักษ์แบกองค์พระปรางค์ในวัดแจ้ง หรือยักษ์วัดโพธิ์ เป็นต้น
ซึ่งตามตำนานเล่าว่า พระพุทธเจ้าได้เทศน์สั่งสอนยักษ์ให้ลดทิฐิมานะ
ยักษ์ที่ได้ฟังและเข้าใจในพระธรรม จึงได้กลายมาเป็นผู้อุปถัมภ์ค้ำชูพระพุทธศาสนา
หรืออีกนัยหนึ่งก็หมายถึง ผู้แบกสรวงสวรรค์ และทำหน้าที่เป็นผู้ปกป้องคุ้มครองสถูปสถาน
และอาคารศักดิ์สิทธิ์ เพื่อเป็นการค้ำชูพระพุทธศาสนาให้มั่งคงและเจริญรุ่งเรืองสืบต่อมา


ตำนานเรื่องเล่า หลายคนคงเคยได้ยินตำนานกำเนิดท่าเตียน
ที่เล่าปากต่อปากกันมาว่า บริเวณท่าเตียนอันเป็นพื้นที่โล่งเตียนนั้น
เป็นผลจากการต่อสู้ของ “ยักษ์วัดแจ้ง” กับ “ยักษ์วัดโพธิ์”
โดยมี “ยักษ์วัดพระแก้ว” เป็นผู้ห้ามทัพ


ตำนานกำเนิดท่าเตียน มีว่า ยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดโพธิ์
และยักษ์วัดแจ้งซึ่งทำหน้าที่ดูแลวัดแจ้งหรือวัดอรุณฯ ฝั่งตรงข้ามนั้น
ทั้ง ๒ ตนเป็นเพื่อนรักกัน วันหนึ่งทางฝ่ายยักษ์วัดโพธิ์ไม่มีเงิน
จึงข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาไปขอยืมเงินจากยักษ์วัดแจ้ง
พร้อมทั้งนัดวันที่จะนำเงินไปส่งคืน
เมื่อถึงกำหนดส่งเงินคืน ยักษ์วัดโพธิ์กลับไม่ยอมจ่ายหนี้ เบี้ยวเอาเสียดื้อๆ
ยักษ์วัดแจ้งเมื่อรอแล้วรอเล่าจนทนไม่ไหว
จึงตัดสินใจข้ามแม่น้ำเจ้าพระยามาทวงเงินคืน แต่ยักษ์วัดโพธิ์ไม่ยอมให้

ดังนั้น ในที่สุดยักษ์ทั้ง ๒ ตนจึงเกิดการทะเลาะถึงขั้นต่อสู้กัน
แต่เพราะรูปร่างที่ใหญ่โตมหึมาและมีกำลังมหาศาลของยักษ์ทั้ง ๒ ตน
เมื่อต่อสู้กันจึงทำให้ต้นไม้ในบริเวณนั้นถูกยักษ์ทั้งสองเหยียบย่ำจนล้มตายลงหมด
หลังจากที่เลิกต่อสู้กันแล้วบริเวณที่ยักษ์ทั้งสองประลองกำลังกันนั้น
จึงราบเรียบเป็นหน้ากลองกลายเป็นสถานที่ที่โล่งเตียนไปหมด ไม่มีอะไรเหลือเลย
ซึ่งตามตำนานเรื่องเล่าดังกล่าวยังสรุปไม่ได้ว่า ยักษ์วัดไหนเป็นฝ่ายชนะ

ครั้นเมื่อพระอิศวร (พระศิวะ) ได้ทราบเรื่องราวการต่อสู้กัน
ทำให้บรรดามนุษย์และสัตว์ทั้งหลายในบริเวณนั้นเดือดร้อน
จึงได้ลงโทษโดยการสาปให้ยักษ์ทั้ง ๒ กลายเป็นหิน
แล้วให้ยักษ์วัดโพธิ์ ทำหน้าที่ยืนเฝ้าหน้าพระอุโบสถ วัดโพธิ์
และให้ยักษ์วัดแจ้ง ทำหน้าที่ยืนเฝ้าพระวิหาร วัดแจ้ง เรื่อยมา

ส่วนฤทธิ์จากการสู้รบของยักษ์ทั้งคู่ที่ทำชุมชนละแวกนี้ราบเรียบเป็นหน้ากลอง
ทำให้ชาวบ้านพากันเรียกว่า “ท่าเตียน” เรื่อยมาจนถึงทุกวันนี้


:b44:

เมื่อคาดคะเนจากตำนานการต่อสู้ ยักษ์ทั้งสามน่าจะมีขนาดใกล้เคียงกัน
หลายคนเลยเข้าใจผิดคิดว่า
“ลั่นถัน นายทวารบาล”
หรือตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่ที่ยืนถือศาสตราวุธ
เฝ้าซุ้มประตูเข้า-ออกในเขตพุทธาวาสของวัดพระเชตุพนฯ (วัดโพธิ์)
ซึ่งมีอยู่ทั้งหมดรวม ๓๒ ตัวนั้น
คือ ยักษ์วัดโพธิ์
แต่โดยแท้จริงแล้ว “ยักษ์วัดโพธิ์” มีเพียง ๒ คู่ ๔ ตนเท่านั้น คือ
ยักษ์กายสีแดง, ยักษ์กายสีเขียว, ยักษ์กายสีเทา และ ยักษ์กายสีเนื้อ
ประติมากรรมรูปร่างเป็นยักษ์ไทย เขี้ยวแหลมโง้ง มือทั้งสองกุมไม้กระบองเป็นอาวุธ
ซึ่งทั้งหมดมีลักษณะคล้ายกับยักษ์ในวรรณคดีสำคัญเรื่องรามเกียรติ์
เช่นเดียวกับ “ยักษ์วัดพระแก้ว” หากแต่มีขนาดเล็กกว่ามาก
เล็กจนสามารถตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) ได้


ส่วนประวัติการสร้างเกิดขึ้นในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ได้มีการโปรดเกล้าฯ ให้รื้ออสูรที่ยืนเฝ้าประจำประตูทั้ง ๔ ประตูของวัดออกไป
แล้วนำ “ลั่นถัน นายทวารบาล” หรือรูปตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่มาตั้งแทน
กาลนี้ได้โปรดเกล้าฯ ให้หล่อรูปยักษ์ปูนปั้นขนาดเล็ก สูงประมาณ ๑๗๕ เซนติเมตร
จำนวน ๘ ตน ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข)
ทั้ง ๔ ด้าน ด้านละ ๑ คู่ เพื่อให้ทำหน้าที่พิทักษ์รักษาหอพระไตรปิฎก
(พระมณฑปหรือหอไตรจตุรมุข ใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎก เรียกว่าหอพระไตรปิฎกก็ได้)

เมื่อครั้งทำระเบียงพระมหาเจดีย์ในสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๔
ได้โปรดเกล้าฯ ให้รื้อซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป (หอไตรจตุรมุข) ออกไป ๒ ซุ้ม
ปัจจุบันจึงปรากฏรูปยักษ์วัดโพธิ์เหลืออยู่เพียง ๒ คู่ ๔ ตนเท่านั้น คือ

ยักษ์กายสีแดง มีชื่อว่า “พญาแสงอาทิตย์” กับ ยักษ์กายสีเขียว มีชื่อว่า “พญามัยราพณ์”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้

ยักษ์กายสีเทา มีชื่อว่า “พญาขร” กับ ยักษ์กายสีเนื้อ มีชื่อว่า “พญาสัทธาสูร”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ


ส่วนซุ้มประตูทางเข้าฯ ด้านที่รื้อออกไป ๒ ซุ้มนั้น
แต่เดิมเป็นยักษ์มีชื่อว่า “สหัสเดชะ” กับ “ทศกัณฐ์”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือ
และยักษ์มีชื่อว่า “อินทรชิต” กับ “สุริยาภพ”
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าฯ ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้
ปัจจุบันถูกนำไปเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ พระนคร


คนโบราณเชื่อว่ายักษ์ที่ยืนเฝ้าซุ้มประตูมีอิทธิฤทธิ์ในการขับไล่ภูตผีปีศาจทั้งหลาย
จึงมีหน้าที่ปกปักรักษาสิ่งศักดิ์สิทธิ์อันมีค่าที่อยู่ด้านใน

กลอนตำนานท่าเตียน

ยักษ์วัดโพธิ์อวดโตยืนจังก้า ทำยักท่านักเลงให้เกรงขาม
ขู่ตะคอกบอกว่าอย่าลวนราม ใครยุ่มย่ามเป็นไม่ไว้ชีวา

ข้านั้นหรือคือมือเก่าเฝ้าวัดนี้ มาหลายปีดีดักนานนักหนา
อันทรัพย์สินไม่เคยหายในเวลา พระท่านมาอยู่ด้วยช่วยระวัง

เป็นเรื่องจริงใช้คุยคุ้ยเอาเรื่อง เคยขุ่นเคืองมาก่อนกลับย้อนหลัง
ยักษ์วัดแจ้งคอยระแวงแกล้งชิงชัง เหาะข้ามฝั่งมาราวีถึงที่เรา

เราก็ชายชาติยักษ์รักถิ่นฐาน ใครรุกรานต้องขย้ำซ้ำให้เน่า
สงครามขั้นพันตูดูไม่เบา พองต่อพองจ้องเข้าประหัตถ์กัน

สู้กันได้หลายตั้งยังไม่แพ้ บ้านเรือนแพริ่มฝั่งพังสะบั้น
กระแสชลวนแหวกกระแทกกัน ดังสะนั่นลั่นรัวทั่วพารา

แสนสงสารชาวท่าหน้าตลาด ต้องอนาถอกหักเพราะยักษา
บ้างบนบานศาลกล่าวเจ้าโลกา เชิญท่านมาอยู่ด้วยช่วยกันภัย

ครั้นเมื่อยักษ์เลิกรบสงบศึก ใจระทึกหม่นหมองนั่งร้องไห้
จะยลหน้าไปมองแห่งหนใด ดูไม่ได้มีแต่เหี้ยนเตียนราบลง

ตั้งแต่นั้นจึงพากันขนาน นามเรียกขานกันใหม่ไม่ใหลหลง
ว่า “ท่าเตียน” เปลี่ยนให้ด้วยใจจง ชื่อยังคงมีอยู่มิรู้ลืม


:b44:

สำหรับ “ยักษ์วัดแจ้ง” นั้น ก็ถือว่าเป็นยักษ์ชื่อดัง
ที่ทุกคนรู้จักกันดีจากวรรณคดีสำคัญเรื่องรามเกียรติ์ นั่นก็คือยักษ์ทศกัณฐ์


ด้านหน้า “ประตูซุ้มยอดมงกุฎ” ก่อนเข้าสู่พระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม (วัดแจ้ง)
มีพญายักษ์หรือที่เรียกกันติดปากว่า “ยักษ์วัดแจ้ง” ยืนเฝ้าอยู่ ๒ ตน
รูปร่างเป็นยักษ์ไทยตัวใหญ่ เขี้ยวแหลมโง้ง ตัวมีขนาดใหญ่กว่ายักษ์วัดโพธิ์
มือทั้งสองกุมไม้กระบองสีขาวเป็นอาวุธ ยืนอยู่บนแท่น มีความสูงประมาณ ๓ วา

โดยยักษ์ด้านเหนือกายสีขาว มีชื่อว่า “สหัสเดชะ” ยักษ์ด้านใต้กายสีเขียว มีชื่อว่า “ทศกัณฐ์”
ยักษ์ทั้งสองตนเป็นยักษ์ปูนปั้นประดับกระเบื้องเคลือบสีเป็นลวดลายและเครื่องแต่งตัว
ของเดิมสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ ๓
ทำหน้าที่เป็น “นายทวารบาล” ตามคติความเชื่อเทพผู้พิทักษ์รักษาประตู
เพื่อให้เทพได้ปกปักรักษาสถานที่สำคัญทางศาสนา

ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดการปั้นรูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) ในเวลาต่อมา


:b44:

ในส่วนของ “ยักษ์วัดพระแก้ว” นั้น มีทั้งหมดรวม ๑๒ ตน
เนื่องจากประตูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) มี ๗ ประตู
โดย ๖ ประตูมีรูปยักษ์ยืนปูนปั้นกายสูงใหญ่ถึง ๖ เมตร
ประดับเคลือบสีประณีตงดงาม เป็น “นายทวารบาล” ยืนเฝ้าอยู่ประตูละ ๒ ตน
ยักษ์มีชื่อเรียกต่างกันไป ซึ่งแม้จะคุ้นตาแต่ก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักว่าเป็นยักษ์อะไร

ยักษ์ทั้ง ๖ คู่ เหล่านี้ต่างก็มีที่มาจากวรรณคดีสำคัญเรื่องรามเกียรติ์ทั้งสิ้น
เริ่มตั้งแต่คู่แรกที่ยืนเฝ้าประตูพระฤๅษี มีชื่อว่า จักรวรรดิ และอัศกรรณมารา
คู่ที่ยืนเฝ้าประตูเกยเสด็จ (หน้า) มีชื่อว่า สุริยาภพ และอินทรชิต
คู่ที่ยืนเฝ้าประตูหน้าวัว มีชื่อว่า มังกรกัณฐ์ และวิรุฬหก
คู่ที่ยืนเฝ้าประตูวัดพระแก้ว มีชื่อว่า ทศคีรีธร และทศคีรีวัน
คู่ที่ยืนเฝ้าประตูเกยเสด็จ (หลัง) มีชื่อว่า ทศกัณฐ์ และสหัสเดชะ
และคู่สุดท้ายที่ยืนเฝ้าประตูสนามไชย มีชื่อว่า มัยราพณ์ และวิรุฬจำบัง

ประตูที่ ๗ ประตูสุดท้าย คือประตูวิหารยอด อยู่ตรงข้ามกับวิหารยอด
เป็นประตูเดียวที่ไม่มีรูปยักษ์ทวารบาล มีแต่ภาพยักษ์และภาพวานรเขียนไว้เท่านั้น


รูปภาพ

“ลั่นถัน นายทวารบาล”
หรือตุ๊กตาสลักหินรูปทหารนักรบจีนขนาดใหญ่
ที่ยืนถือศาสตราวุธเฝ้าซุ้มประตูเข้า-ออกในเขตพุทธาวาส
ของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
หลายคนเข้าใจผิดคิดว่าเป็น “ยักษ์วัดโพธิ์”


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ

“ยักษ์วัดโพธิ์” มีเพียง ๒ คู่ ๔ ตนเท่านั้น คือ
ยักษ์กายสีแดง, ยักษ์กายสีเขียว, ยักษ์กายสีเทา และยักษ์กายสีเนื้อ
ตั้งเก็บไว้ในตู้กระจกหน้าซุ้มประตูทางเข้าพระมณฑป หรือหอไตรจตุรมุข
ซึ่งใช้เป็นที่เก็บรักษาพระไตรปิฎกของวัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม (วัดโพธิ์)
“ยักษ์วัดโพธิ์” ตัวจริงมีลักษณะเช่นเดียวกับยักษ์ในเรื่องรามเกียรติ์


รูปภาพ

“ยักษ์วัดแจ้ง” มี ๒ ตนคือ ยักษ์ด้านเหนือกายสีขาว มีชื่อว่า “สหัสเดชะ”
ส่วนยักษ์ด้านใต้กายสีเขียว มีชื่อว่า “ทศกัณฐ์”
ยืนเฝ้าที่ประตูซุ้มยอดมงกุฎทางเข้าพระอุโบสถ วัดอรุณราชวราราม


รูปภาพ

ยักษ์วิรุฬหก กับ ยักษ์มังกรกัณฐ์
“ยักษ์วัดพระแก้ว” นายทวารบาลเฝ้าประตูหน้าวัว ๒ ตน
รูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)


--------------------------------

:b44: คัดลอกบางตอนมาจาก...๙ สิ่งมหัศจรรย์วัดโพธิ์
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=23364

:b47: วัดประจำรัชกาลที่ ๑ : วัดพระเชตุพนวิมลมังคลาราม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19426

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2009, 20:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 06 ก.พ. 2009, 20:49
โพสต์: 3979

แนวปฏิบัติ: พอง-ยุบ
งานอดิเรก: อ่านหนังสือ
ชื่อเล่น: นนท์
อายุ: 42
ที่อยู่: นครสวรรค์

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:

อนุโมทนาสาธุด้วยครับ

ผมเคยไปกราบพระนอนองค์ใหญ่ที่วัดโพธิ์มาแล้วครับ


:b8: :b8: :b8:

.....................................................
แม้มิได้เป็นสุระแสงอันแรงกล้า ส่องนภาให้สกาวพราวสดใส
ขอเป็นเพียงแสงแห่งดวงไฟ ส่องทางให้มวลชนบนแผ่นดิน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ต.ค. 2009, 21:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 6
สมาชิก ระดับ 6
ลงทะเบียนเมื่อ: 03 เม.ย. 2009, 15:36
โพสต์: 435

ที่อยู่: malaysia

 ข้อมูลส่วนตัว


ขออนุโมทนาสาธุค่ะ คุณ สาวิกาน้อย :b8: :b8: :b8:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2019, 08:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
ยักษ์วิรุฬหก กับ ยักษ์มังกรกัณฐ์
“ยักษ์วัดพระแก้ว” นายทวารบาลเฝ้าประตูหน้าวัว ๒ ตน
รูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)


ยักษ์วัดพระแก้ว

ยักษ์วัดแจ้ง กับ ยักษ์วัดโพธิ์ มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาก
จากตำนานเล่าขานเรื่องที่ยกพวกมาตีกัน
จนป่าชายแม่น้ำโล่งราบเลี่ยนเตียน เป็นที่มาของชื่อท่าเตียน

แต่ยักษ์วัดพระแก้ว หรือวัดพระศรีรัตนศาสดาราม
(The Temple of the Emerald Buddha) ก็มีทั้งหมดรวม
๑๒ ตน
แม้จะคุ้นตาแต่ก็ไม่ค่อยมีใครรู้จักว่าเป็นยักษ์อะไร

หนังสือพระอารามหลวง ในกรุงเทพมหานคร เล่ม ๑
(วิทยาลัยศาสนศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล)
อธิบายไว้ว่า

ประตูวัดพระแก้ว มี ๗ ประตู โดย ๖ ประตูมียักษ์ปูนปั้นกายสูงใหญ่ถึง ๖ เมตร
ประดับเคลือบสีประณีตงดงาม เป็นทวารบาลยืนเฝ้าอยู่ประตูละ
๒ ตน


:b47: :b50: ประตูเกยเสด็จ (หน้า) ด้านซ้าย มียักษ์ชื่อ สุริยาภพ
โอรสของสหายทศกัณฐ์ มีสีกายสีแดงฉานดังแสงอาทิตย์

สุริยาภพ มีหอกเมฆพัท เป็นหอกวิเศษ พระอิศวร (พระศิวะ) ประทานให้
เคยใช้หอกที่ปลุกเสกไม่ครบพันคาบ พุ่งถูกพระทรวงพระสัตรุดสลบคาที่
พระพรตเชษฐาของพระสัตรุดจึงแผลงศรพรหมาสตร์สังหารสุริยาภพได้
ถ้าสุริยาภพปลุกเสกหอกเมฆพัทได้ครบพันคาบ จะไม่มีผู้ใดต้านทานได้


ประตูเกยเสด็จ (หน้า) ด้านขวา มียักษ์อินทรชิตเฝ้า
อินทรชิต มีสีกายสีเขียว เป็นเจ้าฟ้าเอกเพราะเป็นบุตรทศกัณฐ์กับนางมณโฑ
เดิมชื่อ รณภักตร์กุมาร มีฤทธิ์มากรบชนะพระอินทร์
จึงเปลี่ยนชื่อเป็นอินทรชิต ซึ่งแปลว่าผู้ชนะพระอินทร์

รูปยักษ์อินทรชิตที่ทำไว้นี้งดงามสง่าอย่างยิ่งสมกับผู้มีฤทธิ์
มีอาวุธศักดิ์สิทธิ์ที่ได้จากเทพเจ้าทั้ง ๓
คือ พระอิศวร (พระศิวะ) พระนารายณ์ และพระพรหม
อินทรชิตตายด้วย “ศรพรหมาสตร์” (เป็นศรที่พระพรหมสร้างขึ้น
เป็นศัตราวุธที่มีอานุภาพทำลายล้างสูง ไม่มีสิ่งใดต้านทานได้)
ของพระราม


:b47: :b50: ประตูหน้าวัว (เป็นประตูอยู่ด้านทิศตะวันออก ด้านหน้าพระอุโบสถ)
มียักษ์มังกรกัณฐ์ เป็นยักษ์กายสีเขียว
กับ ยักษ์วิรุฬหก ยักษ์กายสีขาบหรือสีน้ำเงินแก่


:b47: :b50: ประตูวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)
มียักษ์ฝาแฝดเป็นทวารบาล ด้านซ้ายชื่อ ทศคีรีธร มีสีกายสีน้ำตาล
ด้านขวาชื่อ ทศคีรีวัน มีสีกายสีเขียวแก่ ทั้ง ๒ เป็นลูกทศกัณฐ์กับนางช้าง
ยักษ์ ๒ ตนนี้จึงมีปลายจมูกเป็นงวงช้างเล็กๆ พอเป็นเครื่องหมาย


ประตูพระฤาษี (เป็นประตูแรกของด้านทิศตะวันตก
และเป็นประตูทางเข้าของนักท่องเที่ยว)


:b47: :b50: ประตูพระฤาษี ด้านซ้าย มียักษ์จักรวรรดิ
มีสีกายสีขาวบริสุทธิ์ มีฤทธิ์มาก จักรวรรดิเป็นสหายทศกัณฐ์ ครองกรุงมลิวัน
ภายหลังเมื่อสิ้นทศกัณฐ์ ได้รบชนะพิเภก พระรามแต่งตั้งให้ครองกรุงลงกา


ประตูพระฤาษี ด้านขวา มียักษ์อัศกรรณมารา เป็นพญายักษ์สหายทศกัณฐ์
มีสีกายสีม่วงแก่ มีฤทธิ์มาก ผู้ใดรบก็ไม่ชนะ ต้องให้องค์อวตารของพระนารายณ์
คือพระราม แผลงศรพรหมาสตร์จึงเอาชนะได้


:b47: :b50: ประตูเกยเสด็จ (หลัง) ด้านซ้าย มีพญายักษ์ ๒ ตน
ที่มีความสำคัญที่สุดเป็นทวารบาล

ด้านซ้ายคือ ทศกัณฐ์ ปรปักษ์ตัวเอกของพระราม

ทศกัณฐ์มี ๑๐ เศียร ๒๐ กร มีสีกายสีเขียว เป็นเจ้าผู้ครองกรุงลงกา
ทำสงครามกับพระรามหลายยกหลายตอน มาตายเอาตอนท้ายเรื่องรามเกียรติ์


ประตูเกยเสด็จ (หลัง) ด้านขวา คือ พญายักษ์สีกายสีขาว
เจ้าเมืองปางตาล มีนามว่า สหัสเดชะ
พญายักษ์ตนนี้มี ๑,๐๐๐ เศียร ๒,๐๐๐ กร มีอาวุธวิเศษคือกระบองตาล


:b47: :b50: ประตูสนามไชย มีพญายักษ์มัยราพณ์ และ วิรุฬจำบัง เป็นทวารบาล
มัยราพณ์ ครองเมืองบาดาล มีสีกายสีม่วงอ่อน เป็นสหายทศกัณฐ์
เคยเข้าสกัดทัพและลักพาพระรามไปขังในเมืองบาดาล
หนุมานตามลงไปฆ่ามัยราพณ์ตาย แล้วช่วยพระรามขึ้นมาได้
วิรุฬจำบัง มีสีกายสีเขียวเจือดำ เป็นโอรสของพญาทูษณ์ ผู้ครองเมืองจารึก
และเป็นหลานของทศกัณฐ์ มีความสามารถด้านแปลงกาย
เคยแปลงกายเป็นไรน้ำไปซ่อนอยู่ในฟองอากาศในน้ำ แต่หนุมานก็ตามไปทันและฆ่าเสีย


:b47: :b50: ประตูที่ ๗ ประตูสุดท้าย คือ ประตูวิหารยอด อยู่ตรงข้ามกับวิหารยอด
เป็นประตูเดียวที่ไม่มีรูปยักษ์ทวารบาล มีแต่ภาพยักษ์และภาพวานรเขียนไว้


รู้จักกันทุกยักษ์แล้วจึงได้ความจริงว่า ยักษ์สังกัดวัดพระแก้วเป็นยักษ์ระดับพญา
หรือยักษ์เจ้า
ไม่เคยทำเรื่องเกเรเหลวไหลยกพวกตีกันให้หนวกหูผู้คน
หากจะทะเลาะกันก็ยกทัพมาทำสงครามชิงบ้านชิงเมืองกันเลย


รูปภาพ

รูปภาพ

รูปภาพ
ยักษ์สุริยาภพ กับ ยักษ์อินทรชิต
“ยักษ์วัดพระแก้ว” นายทวารบาลเฝ้าประตูเกยเสด็จ (หน้า) ๒ ตน
รูปยักษ์ยืนในวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว)


----------------------------------

:b44: พระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากร (พระแก้วมรกต)
พระประธานในพระอุโบสถ วัดพระศรีรัตนศาสดาราม

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=19306

:b44: ตำนาน “ยักษ์วัดแจ้ง-ยักษ์วัดโพธิ์”
และตำนานกำเนิดท่าเตียน

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=26201

:b50: :b49: :b50:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2019, 08:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ตราสัญลักษณ์จังหวัดอุดรธานี

ท้าวเวสสุวรรณ

นอกจากนั้น ยักษ์ยังปรากฏในตราสัญลักษณ์ประจำจังหวัดอุดรธานี
โดยเป็นรูปของท้าวเวสสุวรรณหรือท้าวกุเวร ผู้เป็นใหญ่ในหมู่ยักษ์
ซึ่งมีความหมายเป็นนัยยะว่าเป็นเทพยดาผู้คุ้มครองรักษา
ยืนถือกระบองเฝ้ารักษาเมืองประจำทิศอุดรหรือทิศเหนือ

“ท่านท้าวเวสสุวรรณ” องค์นี้ มีเรื่องเล่าและตำนานเล่าว่า
ท่านได้มาเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
และได้ถวายสัตย์ที่จะดูแลพระพุทธเจ้าและเหล่าพระสาวก
ไม่ให้ยักษ์หรือบริวารอื่นๆ ของท้าวจตุโลกบาลไปรังควาน
และได้ถวาย “อาฏานาฏิยปริตร” เพื่อเป็นคาถาปกป้อง
สำหรับพระที่ธุดงค์ออกป่า ไว้กันเหล่าภูติผี ปีศาจ
นอกจากนั้น คนไทยโบราณจะนำผ้ายันต์รูปยักษ์
มาผูกไว้ที่หัวเตียงเด็ก หรือนำมาบูชาไว้ที่ประตูบ้าน
เพื่อป้องกันวิญญาณชั่วร้ายไม่ให้มารังควาญ



:b8: :b8: :b8: เรียบเรียงข้อมูลจาก...
(๑) พจนานุกรม ฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. ๒๕๕๔
เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว
เนื่องในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา
๗ รอบ ๕ ธันวาคม ๒๕๕๔
(๒) หนังสือประวัติมหาดไทยส่วนภูมิภาค จังหวัดอุดรธานี พ.ศ. ๒๕๒๖


:b44: :b50: :b44:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 ก.ย. 2021, 10:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 02 มิ.ย. 2007, 13:49
โพสต์: 1013


 ข้อมูลส่วนตัว


Kiss

.....................................................
ทำความดีทุกๆ วัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 พ.ค. 2022, 08:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2775


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:
Kiss


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2022, 13:39 
 
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 ก.ย. 2012, 15:32
โพสต์: 2884


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 8 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

่กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 1 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร