ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

นางสามาวดี
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=5&t=54440
หน้า 1 จากทั้งหมด 2

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 29 ส.ค. 2017, 21:00 ]
หัวข้อกระทู้:  นางสามาวดี

http://www.84000.org/tipitaka/attha/att ... 5&i=12&p=1

๑. เรื่องพระนางสามาวดี [๑๕]
ข้อความเบื้องต้น
พระศาสดา เมื่ออาศัยกรุงโกสัมพี ประทับอยู่ที่โฆสิตาราม ทรงปรารภความวอดวายคือมรณะ ของหญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีเป็นประธาน และของญาติ ๕๐๐ ของพระนางมาคันทิยานั้น ซึ่งมีนางมาคันทิยาเป็นประธาน
จึงตรัสพระธรรมเทศนานี้ว่า “ อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ” เป็นต้น
ในเรื่องนั้น มีอนุปุพพีกถา ดังต่อไปนี้ :-

กษัตริย์ ๒ สหาย
ในกาลล่วงมาแล้ว พระราชา ๒ องค์ เหล่านี้ คือในแคว้นอัลลกัปปะ พระราชาทรงพระนามว่าอัลลกัปปะ, ในแคว้นเวฏฐทีปกะ พระราชาทรงพระนามว่าเวฏฐทีปกะ เป็นพระสหายกัน ตั้งแต่เวลายังทรงพระเยาว์ ทรงศึกษาศิลปะในสำนักอาจารย์เดียวกัน โดยล่วงไปแห่งพระราชบิดาของตนๆ ได้ให้ยกเศวตฉัตรขึ้นแล้ว ทรงเป็นพระราชาในแคว้น มีประมาณแคว้นละ ๑๐ โยชน์. พระราชา ๒ พระองค์นั้น เสด็จมาประชุมกันตลอดกาลตามกาล (ตามกาลอันสมควร) ทรงยืน, นั่ง, บรรทมร่วมกัน ทอดพระเนตรเห็นมหาชนผู้เกิดอยู่และตายอยู่ จึงทรงปรึกษากันว่า “ชื่อว่า ผู้ตามคนผู้ไปสู่ปรโลก ไม่มี, โดยที่สุดถึงสรีระของตน ก็ตามไปไม่ได้; ต้องละสิ่งทั้งปวงไป, ประโยชน์อะไรด้วยการอยู่ครองเรือนของเรา, เราจักบวช” ดังนี้แล้ว ทรงมอบรัชสมบัติให้แก่พระโอรสและพระมเหสี ออกผนวชเป็นพระฤษี อยู่ในหิมวันตประเทศ ได้ทรงปรึกษากันว่า “พวกเราไม่อาจเพื่อเป็นอยู่ จึงละราชสมบัติออกบวชก็หาไม่, เราเหล่านั้น เมื่ออยู่ในที่แห่งเดียวกัน ก็จักเหมือนกับผู้ไม่บวชนั้นเอง, เพราะฉะนั้น เราจักแยกกันอยู่: ท่านจงอยู่ที่ภูเขาลูกนั้น, เราจักอยู่ที่ภูเขาลูกนี้; แต่จักรวมกัน ในวันอุโบสถทุกกึ่งเดือน.”
ครั้งนั้น พระดาบสทั้งสองนั้นเกิดมีความดำริขึ้นอย่างนี้ว่า “แม้เมื่อเป็นเช่นนี้ ความคลุกคลีด้วยคณะเทียว จักมีแก่เราทั้งหลาย, ท่านพึงจุดไฟให้โพลงขึ้นที่ภูเขาของท่าน, เราก็จักจุดไฟให้โพลงขึ้นที่ภูเขาของเรา; ด้วยเครื่องสัญญานั้น เราทั้งหลายก็จักรู้ความที่เรายังมีชีวิตอยู่.” พระดาบสทั้งสองนั้นกระทำอย่างนั้นแล้ว.

ไฟล์แนป:
20170829_205642.jpg
20170829_205642.jpg [ 131.16 KiB | เปิดดู 5587 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 30 ส.ค. 2017, 06:02 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

เรียนมนต์และพิณ
ต่อมาในกาลอื่น เวฏฐทีปกดาบส ทำกาละ บังเกิดเป็นเทพเจ้าผู้มีศักดิ์ใหญ่. แต่นั้น ครั้นถึงกึ่งเดือน อัลลกัปปดาบส พอแลไม่เห็นไฟ ก็ทราบได้ว่า “สหายของเรา ทำกาละเสียแล้ว” แม้เวฏฐทีปกดาบสตรวจดูทิพพสิริของตนในขณะที่เกิด ใคร่ครวญถึงกรรม เห็นกิริยาที่ตนกระทำ จำเดิมแต่ออกบวชแล้ว คิดว่า “บัดนี้ เราจักไปเยี่ยมสหายของเรา” ในขณะนั้น จึงละอัตภาพนั้นเสีย เป็นเหมือนคนหลงทาง ไปยังสำนักของอัลลกัปปดาบสนั้น ไหว้แล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่สมควรแห่งหนึ่ง.
ลำดับนั้น อัลลกัปปดาบสนั้นจึงกล่าวถามบุรุษนั้นว่า “ท่านมาจากไหน?”
บุรุษ. ท่านผู้เจริญ ผมเป็นคนหลงทาง เดินมาจากที่ไกลเหลือเกิน, ก็พระผู้เป็นเจ้าอยู่รูปเดียวเท่านั้น ในที่นี้ หรือ? มีใครอื่นบ้างไหม?
อัลละ. มีสหายของเราอยู่ผู้หนึ่ง.
บุรุษ. ผู้นั้น ไปอยู่ที่ไหนหรือ?
อัลละ. เขาอยู่ที่ภูเขาลูกนั้น. แต่วันอุโบสถ เขาไม่จุดไฟให้โพลง, เขาจักตายเสียแล้วเป็นแน่.
บุรุษ. เป็นอย่างนั้นหรือ ขอรับ?
อัลละ. ผู้มีอายุ เป็นอย่างนั้น.
บุรุษ. กระผมคือผู้นั้น ขอรับ.
อัลละ. ท่านเกิดที่ไหน?
บุรุษ. กระผมเกิดเป็นเทพเจ้า ผู้มีศักดิ์ใหญ่ ในเทวโลกขอรับ, มาอีก ก็ด้วยประสงค์ว่า ‘จักเยี่ยมพระผู้เป็นเจ้า’ เมื่อพระผู้เป็นเจ้าอยู่ในที่นี้ อุปัทวะอะไรมีบ้างหรือ?
อัลละ. เออ อาวุโส, เราลำบาก เพราะอาศัยช้าง.
บุรุษ. ท่านผู้เจริญ ก็ช้างทำอะไรให้ท่านเล่า?
อัลละ. มันถ่ายคูถลงในที่กวาด, เอาเท้าประหารคุ้ยฝุ่นขึ้น; ข้าพเจ้านั้นคอยขนคูถช้างทิ้ง คอยเกลี่ยฝุ่นให้เสมอ ก็ย่อมลำบาก.
บุรุษ. พระผู้เป็นเจ้าปรารถนาจะไม่ให้ช้างเหล่านั้นมาไหมเล่า?
อัลละ. เออ อาวุโส.
บุรุษ. ถ้ากระนั้น กระผมจักทำไม่ให้ช้างเหล่านั้นมา ได้ถวายพิณสำหรับให้ช้างใคร่ และสอนมนต์สำหรับให้ช้างใคร่ แก่พระดาบสแล้ว: ก็เมื่อจะให้ ได้ชี้แจงสายพิณ ๓ สาย ให้เรียนมนต์ ๓ บท แล้วบอกว่า “เมื่อดีดสายพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้แล้ว, ช้างไม่อาจแม้เพื่อจะหันกลับแลดู ย่อมหนีไป; เมื่อดีดสายพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้แล้ว ช้างจะกลับเหลียวดูเบื้องหลังพลางหนีไป: เมื่อดีดสายพิณสายนี้ ร่ายมนต์บทนี้แล้ว ช้างนายฝูงย่อมน้อมหลังเข้ามาหา”, แล้วกล่าวว่า “สิ่งใด อันท่านชอบใจ, ท่านพึงทำสิ่งนั้นเถิด”. ไหว้พระดาบสแล้ว ก็หลีกไป.
พระดาบสร่ายมนต์บทสำหรับไล่ช้าง ดีดสายพิณสำหรับไล่ช้าง ยังช้างให้หนีไปอยู่แล้ว.

ไฟล์แนป:
unnamed (84).png
unnamed (84).png [ 22.51 KiB | เปิดดู 5544 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 30 ส.ค. 2017, 07:37 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

พระเจ้าอุเทนกับหัสดีลิงค์
ในสมัยนั้น ในกรุงโกสัมพี ได้มีพระราชาทรงพระนามว่าพระเจ้าปรันตปะ วันหนึ่ง พระเจ้าปรันตปะทรงนั่งผิงแดดอ่อนอยู่ที่กลางแจ้ง๑- กับพระราชเทวี ผู้ทรงครรภ์. พระราชเทวีทรงห่มผ้ากัมพลแดงอันมีราคาแสนหนึ่ง ซึ่งเป็นพระภูษาทรงของพระราชา ทรงนั่งปราศรัยกับพระราชา ถอดพระธำมรงค์อันมีราคาแสนหนึ่งจากพระองคุลีของพระราชา มาสวมใส่ที่นิ้วของพระองค์.

ไฟล์แนป:
20170830_073622.png
20170830_073622.png [ 271.91 KiB | เปิดดู 5576 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 30 ส.ค. 2017, 08:23 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

ในสมัยนั้น นกหัสดีลิงค์บินมาโดยอากาศ เห็นพระราชเทวี จึงชะลอปีกบินโผลง โดยหมายว่า “ชิ้นเนื้อ.” พระราชาทรงตกพระทัยด้วยเสียงโผลงของนกนั้น จึงเสด็จลุกเข้าภายในพระราชนิเวศน์. พระราชเทวีไม่อาจไปโดยเร็วได้ เพราะทรงครรภ์แก่ และเพราะเป็นผู้มีชาติแห่งคนขลาด. ครั้งนั้น นกนั้นจึงโผลง ยังพระนางนั้นให้นั่งอยู่ที่กรงเล็บ บินไปสู่อากาศแล้ว. ขาว่า พวกนกเหล่านั้นทรงกำลังเท่าช้าง ๕ เชือก เพราะฉะนั้น จึงนำเหยื่อไปทางอากาศ จับ ณ ที่อันพอใจแล้ว ย่อมเคี้ยวมังสะกิน.
แม้พระนางนั้น อันนกนั้นนำไปอยู่ ทรงหวาดต่อมรณภัย จึงทรงดำริว่า “ถ้าว่าเราจักร้อง, ธรรมดาเสียงคน เป็นที่หวาดเสียวของสัตว์จำพวกดิรัจฉาน มันฟังเสียงนั้นแล้ว ก็จักทิ้งเราเสีย, เมื่อเป็นเช่นนั้น เราจักถึงความสิ้นชีพ พร้อมกับเด็กในครรภ์; แต่มันจับในที่ใดแล้วเริ่มจะกินเรา, ในที่นั้น เราจักร้องขึ้น แล้วไล่ให้มันหนีไป. พระนางยับยั้งไว้ได้ ก็เพราะความที่พระองค์เป็นบัณฑิต.
ก็ในกาลนั้น ที่หิมวันตประเทศ มีต้นไทรใหญ่ต้นหนึ่งเจริญขึ้นเล็กน้อยแล้ว ก็ตั้งอยู่โดยอาการดังมณฑป. นกนั้นนำเหยื่อมีเนื้อเป็นต้นไปแล้ว ย่อมเคี้ยวกินที่ต้นไทรนั้น; เพราะฉะนั้น นกหัสดีลิงค์ตัวนั้นนำพระราชเทวีแม้นั้น ไปที่ต้นไทรนั้นแล วางไว้ในระหว่างค่าคบไม้ แลดูทางอันตนบินมาแล้ว. นัยว่า การแลดูทางบินมาแล้วเป็นธรรมดาของนกเหล่านั้น. ในขณะนั้น พระราชเทวีทรงดำริว่า “บัดนี้ ควรไล่นกนี้ให้หนีไป” จึงทรงยกพระหัตถ์ทั้ง ๒ ขึ้น ทั้งปรบมือ ทั้งร้อง ให้นกนั้นหนีไปแล้ว.
ครั้งนั้น ในเวลาพระอาทิตย์อัสดงคต ลมกัมมัชวาตปั่นป่วนแล้ว ในพระครรภ์ของพระราชเทวีนั้น. มหาเมฆคำรามร้อง ตั้งขึ้นในทุกทิศ ชื่อว่าความหลับ มิได้มีแล้วตลอดคืนยังรุ่ง แก่พระราชเทวีผู้ดำรงอยู่ในความสุข ไม่ได้แม้สักคำพูดว่า “อย่ากลัวเลย พระแม่เจ้า” อันความทุกข์ครอบงำแล้ว แต่เมื่อราตรีสว่าง ความปลอดโปร่งจากวลาหกก็ดี, ความขึ้นแห่งอรุณก็ดี, ความคลอดแห่งสัตว์ผู้อยู่ในครรภ์ของพระนางก็ดี ได้มีแล้ว ในขณะเดียวกันนั้นแล. พระนางได้ตั้งชื่อพระโอรสว่า “อุเทน” เพราะถือเอาฤดูเมฆและฤดูอรุณขึ้นประสูติแล้ว.

ไฟล์แนป:
20170830_081935.jpg
20170830_081935.jpg [ 105.71 KiB | เปิดดู 5573 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 30 ส.ค. 2017, 17:48 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

อัลลกัปปดาบสเสียพิธี
ที่อยู่แม้ของอัลลกัปปดาบส ก็อยู่ในที่ไม่ไกลจากที่นั้น. โดยปกติในวันมีฝน พระดาบสนั้นย่อมไม่ไปสู่ป่า เพื่อประโยชน์แก่ผลาผล เพราะกลัวหนาว, ไปยังโคนไม้นั้น เก็บกระดูกเนื้อที่นกกินแล้ว ทุบต้มให้มีรสแล้ว ก็ดื่มกิน; เพราะฉะนั้น แม้ในวันนั้น พระดาบสก็คิดว่า “จักเก็บกระดูก” จึงไปที่ต้นไม้นั้น แสวงหากระดูกที่โคนไม้อยู่ ได้ยินเสียงเด็กข้างบน จึงแลดู เห็นพระราชเทวี จึงถามว่า “ท่านเป็นใคร?”
พระราชเทวี. ข้าพเจ้าเป็นหญิงมนุษย์.
ดาบส. ท่านมาได้อย่างไร? เมื่อพระนางกล่าวว่า ‘นกหัสดีลิงค์นำข้าพเจ้ามา’ จึงกล่าวว่า ‘ท่านจงลงมา.’
พระเทวี. ข้าพเจ้ากลัวแต่ความเจือด้วยชาติ พระผู้เป็นเจ้า.
ดาบส. ท่านเป็นใคร?
พระราชเทวี. ข้าพเจ้าเป็นกษัตริย์.
ดาบส. แม้ข้าพเจ้าก็เป็นกษัตริย์เหมือนกัน.
พระราชเทวี. ถ้ากระนั้น ท่านจงแถลงมายากษัตริย์.
พระดาบสนั้น แถลงแล้ว.
พระราชเทวี. ถ้ากระนั้น ท่านจงขึ้นมา พาบุตรน้อยของข้าพเจ้าลง.
พระดาบสนั้นทำทางขึ้นโดยข้างหนึ่ง ขึ้นไปแล้ว รับเด็ก, เมื่อพระราชเทวีกล่าวห้ามว่า “อย่าเอามือถูกต้องข้าพเจ้า”, ก็ไม่ถูกพระนางเลย อุ้มเด็กลงมา. แม้พระราชเทวีก็ลงแล้ว. ครั้งนั้น พระดาบสนำนางไปสู่อาศรมบท ไม่กระทำศีลเภทเลย บำรุงแล้ว ด้วยความอนุเคราะห์, นำน้ำผึ้งที่ไม่มีตัวมา นำข้าวสาลีอันเกิดเองมา ได้ต้มเป็นยาคูให้แล้ว. เมื่อพระดาบสนั้น กำลังบำรุงอย่างนั้น,
ในกาลอื่น พระนางจึงคิดว่า “เราไม่รู้จักทางมาทางไปเลย, แม้เหตุสักว่าความคุ้นเคยของเรากับพระดาบสแม้นี้ ก็ไม่มี; ก็ถ้าว่าพระดาบสนี้จักทอดทิ้งเราไปไหนเสีย, เราแม้ทั้งสองคน ก็จักถึงความตายในที่นี้นั่นเอง, ควรเราทำอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำลายศีลของพระดาบสรูปนี้เสีย ทำโดยอาการที่ดาบสรูปนี้จะไม่ปล่อยปละเราไปได้.
ทีนั้น พระราชเทวีจึงประเล้าประโลมพระดาบสด้วยการแสดงผ้านุ่งผ้าห่มหลุดลุ่ย ให้ถึงความพินาศแห่งศีลแล้ว. ตั้งแต่วันนั้นชนทั้งสองก็อยู่สมัครสังวาสกันแล้ว.

ไฟล์แนป:
20170830_174421.jpg
20170830_174421.jpg [ 150.32 KiB | เปิดดู 5559 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 30 ส.ค. 2017, 20:03 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

กุมารอุเทนยกทัพช้าง
ต่อมาในกาลวันหนึ่ง พระดาบสตรวจดูความประกอบแห่งดาวนักษัตร เห็นความหม่นหมองแห่งดาวนักษัตร๑- ของพระเจ้าปรันตปะ จึงตรัสว่า “นางผู้เจริญ พระเจ้าปรันตปะในกรุงโกสัมพีสวรรคตแล้ว.”

พระราชเทวี. เหตุไร พระผู้เป็นเจ้า จึงตรัสอย่างนี้? ท่านมีความอาฆาตกับพระเจ้าปรันตปะนั้นหรือ?
ดาบส. ไม่มี นางผู้เจริญ เราเห็นความเศร้าหมองของดาวนักษัตรของพระเจ้าปรันตปะ จึงพูดอย่างนี้.
พระราชเทวีทรงกันแสงแล้ว.
ครั้งนั้น พระดาบสจึงตรัสถามพระราชเทวีนั่นว่า “เพราะเหตุไร หล่อนจึงร้องไห้?” เมื่อพระราชเทวีตรัสบอกความที่พระเจ้าปรันตปะนั้น เป็นพระสวามีของพระองค์แล้ว, จึงตรัสว่า อย่าร้องไห้ไป นางผู้เจริญ ธรรมดาสัตว์ผู้เกิดแล้ว ย่อมตายแน่แท้.”
พระราชเทวี. หม่อมฉันทราบ พระผู้เป็นเจ้า.
ดาบส. เมื่อฉะนี้ ไฉน หล่อนจึงร้องไห้?
พระราชเทวี. บุตรของหม่อมฉัน เป็นผู้ควรแก่ราชสมบัติอันเป็นของตระกูล, ถ้าว่า เขาอยู่ที่เมืองนั้น เขาจักให้ยกเศวตฉัตรขึ้น, บัดนี้ เขาเกิดเป็นผู้เสื่อมใหญ่เสียแล้ว ด้วยความโศกถึงอย่างนี้ หม่อมฉันจึงร้องไห้ พระผู้เป็นเจ้า.
ดาบส. ช่างเถอะ นางผู้เจริญอย่าคิดไปเลย ถ้าว่า หล่อนปรารถนาราชสมบัติให้บุตร, ฉันจักทำอาการให้เขาได้ราชสมบัติ (สมดังความปรารถนา).
ครั้งนั้น พระดาบสได้ให้พิณและมนต์อันยังช้างให้ใคร่ แก่บุตรของพระนางแล้ว. ในกาลนั้น ช้างหลายแสนมาพักอยู่ที่โคนต้นไทรย้อย. ลำดับนั้น พระดาบสจึงตรัสกะกุมารนั้นว่า “เมื่อช้างทั้งหลาย ยังไม่มาถึงนั่นแล, เจ้าจงขึ้นต้นไม้, เมื่อช้างทั้งหลายมาถึงแล้ว, จงร่ายมนต์บทนี้ ดีดสายพิณสายนี้; ช้างทั้งหมดไม่อาจแม้จะหันกลับแลดู จักหนีไป, ทีนั้น เจ้าพึงลงมา”, กุมารนั้นทรงทำตามนั้นแล้ว กลับมาทูลบอกความเป็นไปแล้ว.

ไฟล์แนป:
20170830_194123.jpg
20170830_194123.jpg [ 134.71 KiB | เปิดดู 5554 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 30 ส.ค. 2017, 20:05 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

ครั้นถึงวันที่ ๒ พระดาบสจึงตรัสกับกุมารนั้นว่า “ในวันนี้ เจ้าจงร่ายมนต์บทนี้ ดีดสายพิณสายนี้; ช้างกลับเหลียวดูเบื้องหลังพลางหนีไป แม้ในกาลนั้น พระกุมารก็ทรงทำตามนั้นแล้ว กลับมาทูลบอกความเป็นไปนั้น.
ครั้งนั้น พระดาบสตรัสเรียกพระมารดาของกุมารนั้นมาแล้ว ตรัสว่า “นางผู้เจริญ หล่อนจงให้ข่าวสาสน์แก่บุตรของหล่อน, เขาไปจากที่นี่เทียว จักเป็นพระเจ้าแผ่นดิน.” พระราชเทวีตรัสเรียกพระโอรสมาแล้ว ตรัสว่า “เจ้าเป็นลูกของพระเจ้าปรันตปะในกรุงโกสัมพี, นกหัสดีลิงค์นำเรามาทั้งที่มีครรภ์ ” ดังนี้แล้ว ตรัสบอกชื่อของเสนาบดีเป็นต้น แล้วตรัสว่า “เมื่อเขาพากันไม่เชื่อ เจ้าพึงเอาผ้ากัมพลอันเป็นพระภูษาห่ม และพระธำมรงค์อันเป็นเครื่องประดับของพระบิดานี้ แสดง” ดังนี้ จึงส่งไปแล้ว.
พระกุมารจึงทูลถามพระดาบสว่า “บัดนี้ หม่อมฉันจะทำอย่างไร?”
ดาบสกล่าวว่า “เจ้าจงนั่งกิ่งข้างล่างแห่งต้นไม้ ร่ายมนต์บทนี้ ดีดสายพิณสายนี้ ช้างนายฝูงน้อมหลังเข้ามาหาเจ้า เจ้านั่งบนหลังของมันเทียว จงไปยึดเอาราชสมบัติ”
พระกุมารนั้นถวายบังคมพระราชบิดาพระราชมารดาแล้ว ทรงทำตามนั้นแล้ว นั่งบนหลังของช้างตัวที่มาแล้ว กระซิบบอกช้างว่า “ข้าพเจ้าเป็นบุตรของพระเจ้าปรันตปะในกรุงโกสัมพี ขอท่านจงยึดเอาราชสมบัติอันเป็นของบิดาให้แก่ข้าพเจ้าเถิด นาย”
ช้างนายฝูงฟังคำนั้นแล้ว จึงร้องเป็นเสียงช้างว่า “ช้างจงมาประชุมกันหลายๆ พัน.” ช้างหลายพันมาประชุมกันแล้ว. ร้องอีกว่า “ช้างแก่ๆ จงถอยไป.” ช้างแก่พากันถอยไปแล้ว. ร้องอีกว่า “ช้างตัวเล็กๆ จงกลับไป.” แม้ช้างเหล่านั้นก็พากันกลับแล้ว.
พระกุมารนั้น อันช้างนักรบตั้งหลายพันพากันแวดล้อมแล้ว ถึงบ้านปลายแดนแล้วประกาศว่า “เราเป็นลูกพระเจ้าแผ่นดิน, ผู้ที่ปรารถนาสมบัติ จงมากับเรา.” ตั้งแต่นั้นไป ก็ทรงทำการรวบรวมผู้คน ไปล้อมพระนครไว้แล้ว ส่งคำขาด (สาสน์) ไปว่า “จะให้เรารบหรือจะให้ราชสมบัติ?”
ชาวเมืองทั้งหลายกล่าวว่า “เราจักไม่ให้ทั้งสองอย่าง, แท้จริง พระราชเทวีของพวกเรามีพระครรภ์แก่ ถูกนกหัสดีลิงค์พาไปแล้ว, เราทั้งหลายไม่ทราบว่า พระนางยังมีพระชนม์อยู่ หรือว่าหาพระชนม์ไม่แล้ว ตลอดกาลที่เราไม่ทราบเรื่องราวของพระนาง เราจักไม่ให้ทั้งการรบและราชสมบัติ.” ได้ยินว่า ความเป็นพระเจ้าแผ่นดินโดยสืบเชื้อสาย ได้มีแล้วในกาลนั้น.
ลำดับนั้น พระกุมารจึงตรัสว่า “ฉันเป็นบุตรของพระนาง” แล้วอ้างชื่อเสนาบดีเป็นต้น เมื่อพวกเหล่านั้นไม่เชื่อถือแม้อย่างนั้น จึงแสดงผ้ากัมพลแดงและพระธำมรงค์. พวกชาวเมืองจำผ้ากัมพลแดงและพระธำมรงค์นั้นได้ หมดความกินแหนงใจ จึงเปิดประตู อภิเษกกุมารนั้นไว้ในราชสมบัติแล้ว.
นี้เป็นเรื่องเกิดแห่งพระเจ้าอุเทนก่อน.

ไฟล์แนป:
20170830_195622.jpg
20170830_195622.jpg [ 157.19 KiB | เปิดดู 5554 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 31 ส.ค. 2017, 06:04 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

สองผัวเมียเดินทางไปหาอาชีพ
ก็เมื่อทุพภิกขภัยเกิดแล้วในแคว้นอัลลกัปปะ ชายผู้หนึ่งชื่อว่าโกตุหลิก ไม่อาจจะเป็นอยู่ได้ จึงพาภรรยาผู้มีบุตรอ่อนนามว่ากาลี จัดแจงเสบียงออกไปแล้ว ด้วยมุ่งหมายว่า “จะไปหากินที่เมืองโกสัมพี.” อาจารย์บางท่านกล่าวว่า “เขาออกไปแล้ว ในเมื่อมหาชนกำลังตายกันด้วยโรคอหิวาต์” บ้าง. สองสามีภรรยานั้นเดินไปอยู่ เมื่อเสบียงทางหมดสิ้นแล้ว ถูกความหิวครอบงำแล้ว ไม่สามารถจะนำเด็กไปได้. ครั้งนั้น สามีจึงกล่าวกะภรรยาว่า “หล่อนเรามีชีวิตอยู่ ก็จักได้ลูกอีก, ทิ้งเขาเสียแล้วไปเถิด.” ธรรมดาว่า ดวงใจของมารดาอ่อนโยน เพราะฉะนั้น นางจึงพูดว่า “ดิฉันไม่อาจทิ้งลูกที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ดอก.”
สามี. เมื่อเป็นเช่นนี้ เราจะทำอย่างไรกัน?
ภรรยา. เราเปลี่ยนกันนำเขาไป.
มารดายกลูกขึ้นประหนึ่งพวงดอกไม้ ในวาระของตน กกไว้ที่อก อุ้มไปแล้ว ก็เอาให้แก่บิดา. เวทนามีกำลังแม้กว่าความหิว บังเกิดแก่ชายผู้เป็นสามีนั้น ในที่ซึ่งเขารับเด็กผู้เป็นลูกนั้นแล้ววางลง เขาก็พูดกะภรรยานั้นแล้วๆ เล่าๆ ว่า “หล่อน เรามีชีวิตอยู่ จักได้ลูก (อีก) ทิ้งมันเสียเถิด.” แม้ภรรยาก็ห้ามเขาไว้ตั้งหลายครั้ง แล้วก็เฉยเสีย. เด็กถูกเปลี่ยนกันตามวาระ เหนื่อยอ่อนเลยนอนหลับอยู่ในมือของบิดา. ชายผู้เป็นสามี รู้ว่าลูกชายนั้นหลับ จึงปล่อยให้มารดาเดินไปข้างหน้าก่อน แล้วเอาเด็กนอนไว้บนใบไม้ลาด ใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่งแล้วก็เดิน (ตามไป), มารดาเหลียวกลับแลดู ไม่เห็นลูก จึงถามว่า “นาย ลูกของเราไปไหน?”
สามี. ฉันให้เขานอนอยู่ภายใต้พุ่มไม้แห่งหนึ่ง.
ภรรยา. นาย อย่ายังฉันให้ฉิบหายเลย, ฉันเว้นลูกเสียแล้ว ไม่อาจเป็นอยู่ได้, นายนำลูกฉันมาเถิด ประหารอกคร่ำครวญแล้ว. ครั้งนั้น ชายผู้สามีจึงกลับไปเอาเด็กนั้นมาแล้ว. แม้ลูกก็ตายเสียแล้วในระหว่างทาง.
นายโกตุหลิกทิ้งบุตรในฐานะมีประมาณเท่านี้ จึงถูกเขาทอดทิ้ง ๗ วาระในระหว่างภพ ด้วยผลแห่งกรรมนั้นด้วยประการฉะนี้. ชื่อว่าบาปกรรมนี้ อันบุคคลไม่ควรดูหมิ่นว่า “น้อย”, สองสามีภรรยานั้นเดินทางไปถึงตระกูลของคนเลี้ยงโคแห่งหนึ่งแล้ว.

ไฟล์แนป:
50.gif
50.gif [ 228.06 KiB | เปิดดู 5545 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 31 ส.ค. 2017, 11:20 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

นายโกตุหลิกตายไปเกิดเป็นสุนัข

ก็ในวันนั้น มีการทำขวัญแม่โคนมของนายโคบาล. ในเรือนของนายโคบาล พระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งฉันเป็นนิตย์. นายโคบาลนั้นนิมนต์พระปัจเจกพุทธเจ้าฉันเสร็จแล้ว จึงได้ทำการมงคล. ข้าวปายาสเขาจัดแจงไว้เป็นอันมาก. นายโคบาลเห็นสองสามีภรรยานั้นมา จึงถามว่า “ท่านมาจากไหน?” ทราบเรื่องนั้นแล้ว เป็นกุลบุตรมีใจอ่อนโยน จึงกระทำความสงเคราะห์ในสองสามีภรรยานั้น ให้ๆ ข้าวปายาสกับเนยใสเป็นอันมาก.
ภรรยาจึงกล่าวกะสามีว่า “นาย เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ ฉันก็ชื่อว่ามีชีวิตอยู่, ท่านท้องพร่องมานาน, จงบริโภคตามความต้องการ” ดังนี้แล้ว จึงวางข้าวปายาสไว้เบื้องหน้าเขาพร้อมกับสัปปิ ตนเองบริโภคสัปปิเหลวแต่น้อยหนึ่งเท่านั้น. ส่วนนายโกตุหลิกบริโภคมากไป ไม่อาจตัดความอยากในอาหารได้ เพราะตัวหิวมาตั้ง ๗-๘ วัน.
นายโคบาล ครั้นให้ๆ ข้าวปายาสแก่ ๒ ผัวเมียแล้ว ตนเองจึงเริ่มจะบริโภค. นายโกตุหลิกนั่งแลดูเขาแล้ว เห็นก้อนข้าวปายาสที่นายโคบาลปั้นให้แก่นางสุนัข ซึ่งนอนอยู่แล้วใต้ตั่ง จึงคิดว่า “นายสุนัขตัวนี้มีบุญ จึงได้โภชนะเห็นปานนี้เนืองนิตย์.” ตกกลางคืน นายโกตุหลิกนั้นไม่สามารถจะยังข้าวปายาสนั้นให้ย่อยได้ จึงทำกาละ ไปเกิดในท้องแห่งนางสุนัขนั้น.
ครั้งนั้น ภรรยาของเขาทำสรีรกิจ (เผา) แล้ว ก็ทำการรับจ้างอยู่ในเรือนนั่นเอง ได้ข้าวสารทะนานหนึ่ง หุงแล้วเอาใส่บาตรพระปัจเจกพุทธเจ้าแล้ว กล่าวว่า “ท่านเจ้าข้า ขอกุศลนี้จงถึงแก่ทาสของท่านเถิด” ดังนี้แล้ว จึงคิดว่า “ควรเราจะอยู่ในที่นี้แล, พระผู้เป็นเจ้าย่อมมาในที่นี้เนืองนิตย์, ไทยธรรมจักมีหรือไม่ก็ช่างเถิด, เราไหว้อยู่ ทำความขวนขวายอยู่ ยังใจให้เลื่อมใสอยู่ทุกวัน จักประสพบุญมาก” (คิดดังนี้แล้ว) นางจึงทำการรับจ้างอยู่ในบ้านนั้นนั่นเอง.

ไฟล์แนป:
20170831_111210.png
20170831_111210.png [ 356.59 KiB | เปิดดู 5541 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 01 ก.ย. 2017, 14:09 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

สุนัขตายเพราะอาลัยในพระปัจเจกพุทธเจ้า
ในเดือนที่ ๖ หรือที่ ๗ นางสุนัขแม้นั้นแล ก็คลอดลูกออกมาตัวหนึ่ง. นายโคบาลจึงให้ๆ น้ำนมของแม่โคนมตัวหนึ่งแก่ลูกสุนัขนั้น. ไม่นานเท่าไรนัก ลูกสุนัขนั้นก็เติบใหญ่. ครั้งนั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า เมื่อฉัน ย่อมให้ก้อนข้าวแก่ลูกสุนัขนั้นก้อนหนึ่งเป็นนิตย์. เพราะอาศัยก้อนข้าว สุนัขนั้นจึงได้มีความรักใคร่ในพระปัจเจกพุทธเจ้า. นายโคบาลย่อมไปสู่ที่บำรุงของพระปัจเจกพุทธเจ้า (วันหนึ่ง) ๒ ครั้งเนืองนิตย์. นายโคบาลนั้นแม้เดินไป ก็เอาไม้ตีที่พุ่มไม้และพื้นที่ดินในที่ซึ่งมีเนื้อร้าย ระหว่างทาง ส่งเสียงว่า “สุ สุ” ๓ ครั้ง ยังเนื้อร้ายให้หนีไปแล้ว. แม้สุนัขก็ไปด้วยกับนายโคบาลนั้น.
ในวันหนึ่ง นายโคบาลนั้นกล่าวกะพระปัจเจกพุทธเจ้า “ท่านผู้เจริญ กาลใด ผมไม่มีโอกาสว่าง กาลนั้น ผมจักส่งสุนัขตัวนี้มา: ขอพระผู้เป็นเจ้าพึงมาด้วยเครื่องหมายแห่งสุนัขนี้ที่กระผมส่งมาแล้ว.” ตั้งแต่นั้นมา ในวันที่ไม่มีโอกาส นายโคบาลนั้นก็ส่งสุนัขไปว่า “พ่อ จงไป จงนำพระผู้เป็นเจ้ามา” ด้วยคำเดียวเท่านั้น สุนัขนั้นก็วิ่งไป ถึงที่ซึ่งนายตีพุ่มไม้และพื้นดินก็เห่าขึ้น ๓ ครั้ง รู้ว่าเนื้อร้ายหนีไปแล้วด้วยเสียงนั้น ไปถึงที่อยู่ของพระปัจเจกพุทธเจ้า ผู้กระทำสรีปฏิบัติแต่เช้าตรู่ เข้าไปยังบรรณศาลา นั่งอยู่แล้ว ถึงประตูบรรณศาลา จึงเห่าขึ้น ๓ ครั้ง ให้ท่านรู้ว่าตนมาแล้ว ก็นอนหมอบอยู่ที่ส่วนข้างหนึ่ง.
เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้ากำหนดเวลาออกไปแล้ว สุนัขนั้นก็เดินเห่าไปข้างหน้าๆ เทียว พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะทดลองสุนัข จึง (ทำเป็น) เดินไปทางอื่นในระหว่างๆ ทีนั้น สุนัขจึงไปยืนเห่าขวางหน้าของพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นไว้ แล้วนำท่านลงทางนอกนี้. ต่อมาในกาลวันหนึ่ง พระปัจเจกพุทธเจ้าเมื่อจะทดลองสุนัขนั้น จึงเดินไปสู่ทางอื่นแล้ว แม้สุนัขนั้นจะยืนขวางห้ามอยู่ข้างหน้าก็ไม่กลับ เอาเท้ากระตุ้นสุนัขแล้วเดินไป: สุนัขรู้ว่า พระปัจเจกพุทธเจ้าไม่กลับ จึงกลับไปคาบชายผ้านุ่งฉุดมา นำท่านลงสู่ทางนอกนี้. สุนัขนั้นได้ยังความรักอันมีกำลัง ให้เกิดขึ้นแล้วในพระปัจเจกพุทธเจ้านั้น ด้วยประการอย่างนี้.
ต่อมาในกาลอื่น จีวรของพระปัจเจกพุทธเจ้าเก่าแล้ว. ครั้งนั้น นายโคบาลจึงได้ถวายผ้าสำหรับทำจีวรแก่ท่าน. พระปัจเจกพุทธเจ้าจึงกล่าวกับนายโคบาลนั้นว่า “ผู้มีอายุ ชื่อว่าการทำจีวร อันบุคคลผู้เดียวทำได้ยาก, อาตมาไปสู่สถานที่สบายแล้วจักกระทำ.”
นายโคบาล. ท่านผู้เจริญ นิมนต์ทำที่นี่เถิด.
พระปัจเจกพุทธเจ้า. ผู้มีอายุ อาตมาไม่อาจ.
นายโคบาล. ท่านผู้เจริญ ถ้ากระนั้น ท่านอย่าไปอยู่ภายนอกให้นานนัก.
สุนัขได้ยืนฟังคำของคนทั้งสองนั้นอยู่เหมือนกัน.
พระปัจเจกพุทธเจ้ากล่าวกะนายโคบาลนั้นว่า “จงหยุดเถิด อุบาสก” ให้นายโคบาลกลับแล้ว เหาะขึ้นสู่เวหาส บ่ายหน้าต่อเขาคันธมาทน์ หลีกไปแล้ว. สุนัขแลดูพระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เหาะไปทางอากาศ ยืนเห่าอยู่แล้ว เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้านั้นลับคลองจักษุไป หทัยก็แตกทำลายลง.

ไฟล์แนป:
20170901_140321.png
20170901_140321.png [ 416.71 KiB | เปิดดู 5515 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 02 ก.ย. 2017, 06:32 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

สุนัขไปเกิดเป็นโฆสกเทพบุตร
ชื่อว่า สัตว์ดิรัจฉานทั้งหลายนั้น เป็นสัตว์มีชาติซื่อตรง ไม่คดโกง; ส่วนมนุษย์ใจคิดไปอย่าง ปากพูดไปอย่าง (ไม่ตรงกัน)
เพราะเหตุนั้นแล นายเปสสะผู้เป็นบุตรของนายควาญช้าง จึงกล่าวว่า๑-
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แท้จริง ขันธบัญจกคือมนุษย์นี้รกชัฏ
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ แท้จริง ขันธบัญจกคือสัตว์ของเลี้ยงนี้ตื้น.
สุนัขนั้นทำกาละแล้ว ไปเกิดในดาวดึงสภพ มีนางอัปสร ๑ พันแวดล้อม ได้เสวยสมบัติใหญ่ ก็เพราะเป็นสัตว์มีความเห็นอันตรง (และ) ไม่คดโกงนั้น ด้วยประการฉะนี้.

เมื่อเทพบุตรนั้นกระซิบที่ใกล้หูของใครๆ เสียงย่อมดังไปไกลได้ ๑๖ โยชน์ ส่วนเสียงพูดโดยปกติ ย่อมกลบเทพนครทั้งสิ้น ซึ่งมีประมาณหมื่นโยชน์. เพราะเหตุนั้นแล เทพบุตรนั้นจึงได้มีนามว่า “โฆสกเทพบุตร” ก็นี้เป็นผลของอะไร ? เป็นผลของการเห่าด้วยความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้า.
โฆสกเทพบุตรนั้นดำรงอยู่ในเทพนครนั้นไม่นานก็เคลื่อนแล้ว.

เหตุทำให้เทพบุตรเคลื่อน ๔ อย่าง
จริงอยู่ เทพบุตรทั้งหลายย่อมเคลื่อนจากเทวโลก ด้วยเหตุ ๔ อย่าง คือ :-
๑. ด้วยความสิ้นอายุ
๒. ด้วยความสิ้นบุญ
๓. ด้วยความสิ้นอาหาร
๔. ด้วยความโกรธ
ในเหตุ ๔ อย่างเหล่านั้น เทพบุตรองค์ใดทำบุญกรรมไว้มาก เทพบุตรองค์นั้นเกิดในเทวโลก ดำรงอยู่ตราบเท่าอายุแล้ว ก็เกิดในเทวโลกชั้นสูงๆ ขึ้นไป, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยความสิ้นอายุ.
เทพบุตรองค์ใดทำบุญไว้น้อย บุญนั้นของเทพบุตรนั้นย่อมสิ้นไปเสียในระหว่างเทียว เหมือนธัญชาติที่บุคคลใส่ไว้ในฉางหลวงเพียง ๔-๕ ทะนานฉะนั้น, เทพบุตรนั้นย่อมทำกาละเสียในระหว่างเทียว, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยความสิ้นบุญ.
เทพบุตรบางองค์มักบริโภคกามคุณ ไม่บริโภคอาหาร เพราะการหลงลืมสติ มีกายอันเหนื่อยอ่อน ทำกาละ, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยการสิ้นอาหาร.
เทพบุตรบางองค์ไม่อดทนสมบัติของผู้อื่น โกรธเคืองแล้วจึงทำกาละ, อย่างนี้ ชื่อว่าย่อมเคลื่อนด้วยความโกรธ.

ไฟล์แนป:
20170902_062912.jpg
20170902_062912.jpg [ 172.44 KiB | เปิดดู 5507 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 02 ก.ย. 2017, 13:57 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

โฆสกเทพบุตรไปเกิดในกรุงโกสัมพี
ก็โฆสกเทพบุตรนี้ มัวบริโภคกามคุณอยู่ หลงลืมสติ จึงเคลื่อนด้วยความสิ้นอาหาร. ก็แลเคลื่อนเสร็จแล้ว ไปถือปฏิสนธิในท้องแห่งหญิงงามเมืองในกรุงโกสัมพี. ในวันคลอด นางถามทาสีว่า “นี่อะไร?” เมื่อนางทาสีตอบว่า “ลูกชาย เจ้าค่ะ” จึงบอกให้นางทาสีเอาไปทิ้งด้วยคำว่า “เจ้าจงเอาทารกนี้ใส่กระด้งแล้วเอาไปทิ้งที่กองหยากเยื่อ”
แท้จริง หญิงงามเมืองทั้งหลาย ย่อมเลี้ยงลูกหญิง ไม่เลี้ยงลูกชาย เพราะเชื้อสายของพวกหล่อนจะสืบไปได้ ก็ด้วยลูกหญิง.
กาบ้าง สุนัขบ้าง ต่างพากันจับกลุ่มแวดล้อมเด็กไว้. ด้วยผลแห่งการเห่า อันเกิดแต่ความรักในพระปัจเจกพุทธเจ้า สัตว์ตัวหนึ่งก็ไม่อาจเข้าใกล้ได้. ในขณะนั้น คนผู้หนึ่งออกไปนอกบ้านเห็นการจับกลุ่มของกาและสุนัขนั้น คิดว่า “นี่มันเหตุ อะไรกันหนอ?” จึงเดินไปที่นั้น เห็นทารก หวนได้ความรักเหมือนดังลูก จึงนำไปสู่เรือนด้วยดีใจว่า “เราได้ลูกชายแล้ว.”

ไฟล์แนป:
20170902_134927.png
20170902_134927.png [ 360.96 KiB | เปิดดู 5481 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 02 ก.ย. 2017, 15:11 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

นางกาลีนำโฆสกทารกไปให้โคเหยียบ
ในกาลครั้งนั้น เศรษฐีชาวเมืองโกสัมพีไปสู่ราชตระกูล พบปุโรหิตเดินมาแต่พระราชวัง จึงถามว่า “ท่านอาจารย์ วันที่ท่านได้ตรวจตราดูความประกอบของดาวนักษัตร๑- อันเป็นเหตุเคราะห์ดีเคราะห์ร้ายแล้วหรือ?”
____________________________
๑- ติถิกรณนกฺขตฺตโยโค ความประกอบแห่งนักษัตรอันเป็นเครื่องกระทำซึ่งดิถี.

ปุโรหิต. จ้ะ ท่านมหาเศรษฐี, กิจอะไรอื่นของพวกเราไม่มี,
เศรษฐี. อะไรจะมีแก่ชนบทหรือ? ท่านอาจารย์ .
ปุโรหิต. อย่างอื่นไม่มี, แต่เด็กที่เกิดในวันนี้ จักได้เป็นเศรษฐี ผู้ประเสริฐในเมืองนี้.
ครั้งนั้น ภรรยาของเศรษฐีมีครรภ์แก่, เพราะฉะนั้น เศรษฐีนั้นจึงส่งคนใช้ไปสู่เรือนโดยเร็วด้วยคำว่า “จงไป จงทราบภรรยาของเรานั้นว่า คลอดแล้วหรือยังไม่คลอด” พอทราบว่า “ยังไม่คลอด”, เฝ้าพระราชาเสร็จแล้ว รีบกลับบ้าน เรียกหญิงคนใช้ชื่อกาลีมาแล้ว ให้ทรัพย์ ๑ พัน กล่าวว่า “เจ้าจงไป จงตรวจดูในเมืองนี้ ให้ทรัพย์ ๑ พันพาเอาเด็กที่เกิดในวันนี้มา” นางกาลีนั้นตรวจตราดูไปถึงเรือนนั้น เห็นเด็กแล้ว จึงถามหญิงแม่บ้านว่า “เด็กนี้ เกิดเมื่อไร” เมื่อหญิงนั้นตอบว่า “เกิดวันนี้.” จึงพูดว่า “ จงให้เด็กนี้แก่ฉัน จึงประมูลราคาตั้งแต่ ๑ กหาปณะเป็นต้น จนถึงให้ทรัพย์ ๑ พันแล้ว นำเด็กนั้นไปแสดงแก่เศรษฐี.
เศรษฐีคิดว่า “ถ้าว่าลูกของเรา จักเกิดเป็นลูกหญิง, เราจักให้มันอยู่ร่วมกับลูกสาวของเรานั้น แล้วทำให้มันเป็นเจ้าของตำแหน่งเศรษฐี, ถ้าว่าลูกของเราจักเกิดเป็นลูกชาย เราก็จักฆ่ามันเสีย” ดังนี้แล้ว จึงให้รับเด็กนั้นไว้ในเรือน.
ต่อมา ภรรยาของเศรษฐีนั้นคลอดบุตรเป็นชาย โดยล่วงไป ๒-๓ วัน. เศรษฐีจึงคิดว่า “เมื่อไม่มีเจ้าเด็กนี้ ลูกชายของเราก็จักได้ตำแหน่งเศรษฐี, บัดนี้ควรที่เราจักฆ่ามันเสียเถิด” ดังนี้แล้ว จึงเรียกนางกาลีมาแล้ว กล่าวว่า “แม่จงไป ในเวลาที่พวกโคออกจากคอก เจ้าจงเอาเด็กนี้ให้นอนขวางไว้ที่กลางประตูคอก แม่โคทั้งหลายจักเหยียบมันให้ตาย, แต่ต้องรู้ว่า โคเหยียบมันหรือไม่เหยียบแล้วจึงมา”
นางกาลีนั้นไปแล้ว พอนายโคบาลเปิดประตูคอกเท่านั้น ก็เอาเด็กนั้นให้นอนไว้ตามนั้น (เหมือนที่เศรษฐีสั่ง). โคอุสภะซึ่งเป็นนายฝูง แม้ออกภายหลังโคทั้งปวงในเวลาอื่น (แต่) ในวันนั้น ออกไปก่อนกว่าโคอื่นทั้งหมด ได้ยืนคร่อมทารกไว้ในระหว่างเท้าทั้งสี่. แม่โคตั้งหลายร้อยต่างก็พากันเบียดเสียดข้างทั้งสองของโคอุสภะออกไป. ถึงนายโคบาลก็คิดว่า “เจ้าโคอุสภะตัวนี้ เมื่อก่อนออกทีหลังโคทุกตัว, แต่วันนี้ออกไปก่อนโคทั้งหมด แล้วยืนนิ่งอยู่ที่ประตูคอกเทียว, นั่นจะมีเหตุอันใดหนอ?” จึงเดินไปแลเห็นเด็กนอนอยู่ภายใต้ท้องโคนั้น หวนกลับได้ความรักเสมือนบุตร จึงนำไปสู่เรือนด้วยคิดว่า “เราได้ลูกชายแล้ว”
นางกาลีไปแล้ว ถูกเศรษฐีถาม จึงเล่าเรื่องนั้น อันเศรษฐีกล่าวว่า “เจ้าจงไป จงให้ทรัพย์เขา ๑ พันแล้ว นำมันกลับมาอีก” ดังนี้แล้ว ให้ทรัพย์ ๑ พันแล้ว ได้นำกลับมาให้อีก.

ไฟล์แนป:
20170902_150830.png
20170902_150830.png [ 414.11 KiB | เปิดดู 5481 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 02 ก.ย. 2017, 15:46 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

นางกาลีนำโฆสกะไปให้เกวียนทับ
ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกับนางกาลีว่า “แม่กาลี ในเมืองนี้มีพวกเกวียน ๕๐๐ เล่ม ลุกขึ้นแต่เช้ามืด ย่อมไปค้าขาย, เจ้าจงเอาเด็กนี้ไปให้นอนไว้ที่ทางเกวียน (ทางล้อ) พวกโคจักเหยียบมัน หรือล้อเกวียนจักตัด (ตัวมัน) พอรู้เรื่องของมันแล้ว จึงกลับมา”
นางกาลีนั้นนำเด็กนั้นไปแล้ว ให้นอนอยู่ที่ทางเกวียน. ในกาลนั้น หัวหน้าเกวียนได้ไปข้างหน้า. ครั้งนั้น พวกโคของเขาถึงที่นั้นแล้ว ต่างพากันสลัดแอกเสีย. แม้จะถูกหัวหน้ายกขึ้นแล้วขับไปตั้งหลายครั้ง ก็ไม่เดินไปข้างหน้า. เมื่อหัวหน้านั้นพยายามอยู่กับโคทั้งสองนั้นอย่างนี้เทียว อรุณขึ้นแล้ว (ก็พอสว่าง). เขาจึงคิดว่า “โคทั้งสองพากันทำเหตุนี้ เพราะอะไร?” จึงตรวจตราดูทาง เห็นทารกแล้วก็คิดว่า “กรรมของเราหนักหนอ” มีความยินดีว่า “เราได้ลูกชายแล้ว” จึงนำเด็กนั้นไปสู่เรือน.
นางกาลีไปแล้ว อันเศรษฐีถาม จึงบอกความเป็นไปนั้น อันเศรษฐีบอกว่า “เจ้าจงไปให้ทรัพย์ (เขา) ๑ พันแล้ว จงนำเด็กนั้นกลับมาอีก” ดังนี้แล้ว ได้กระทำตามนั้นแล้ว.

ไฟล์แนป:
20170902_154342.jpg
20170902_154342.jpg [ 61.86 KiB | เปิดดู 5493 ครั้ง ]

เจ้าของ:  ลุงหมาน [ 02 ก.ย. 2017, 17:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: นางสามาวดี

นางกาลีนำโฆสกะไปทิ้งที่ป่าช้าผีดิบ
ครั้งนั้น เศรษฐีกล่าวกะนางกาลีนั้นว่า “บัดนี้ เจ้าจงนำมันไปยังป่าช้าผีดิบ แล้วเอานอนไว้ในระหว่างพุ่มไม้, มันจักถูกสัตว์มีสุนัขป่าเป็นต้นกัด หรือถูกอมนุษย์ประหารตายในที่นั้น, เจ้ารู้ว่ามันตายแล้ว หรือไม่ตายเทียว จึงกลับมา”
นางกาลีนั้นนำเด็กนั้นไป ให้นอนอยู่ที่ป่าช้าผีดิบแล้ว ได้ยืนอยู่ ณ ที่แห่งหนึ่ง. สุนัขบ้าง กาบ้าง อมนุษย์บ้าง ไม่อาจเข้าใกล้เด็กนั้นได้.
มีคำถามสอดเข้ามาว่า “ก็มารดาบิดาและบรรดาพี่น้องเป็นต้น ใครๆ ชื่อว่าผู้รักษาของเด็กนั้น ไม่มีมิใช่หรือ? ใครรักษาตัวเด็กนั้นไว้?”
แก้ว่า “กรรมสักว่าความเห่าเท่านั้น ซึ่งเด็กให้เป็นไปแล้ว ด้วยความรักใคร่ในพระปัจเจกพุทธเจ้า ในเวลาเป็นสุนัข รักษาเด็กไว้.”
ครั้งนั้น นายอชบาลผู้หนึ่งต้อนแม่แพะตั้งหลายแสนตัวไปหากิน เดินไปข้างป่าช้า. แม่แพะตัวหนึ่งเคี้ยวกินใบไม้เป็นต้น เข้าไปสู่พุ่มไม้เห็นทารกแล้ว จึงคุกเข่าให้นมแก่ทารก. แม้นายอชบาลจะทำเสียงว่า “เห, เห” ก็หาออกไปไม่. เขาคิดว่า “จักเอาไม้ตีมันไล่ออก” จึงเข้าไปสู่พุ่มไม้ เห็นแม่แพะคุกเข่าให้ทารกน้อยกินนมอยู่ จึงหวนกลับได้รับความรักในทารกเสมือนบุตร จึงพาเอาทารกนั้นไปด้วยคิดว่า “เราได้ลูกชายแล้ว”
นางกาลีเห็นเหตุนั้นแล้ว จึงไป ถูกเศรษฐีถามแล้ว จึงบอกความเป็นไปอันนั้น อันเศรษฐีกล่าวว่า “เจ้าจงไป ให้ทรัพย์ (เขา) ๑ พันแล้ว นำมันกลับมาอีก” ได้กระทำตามนั้นแล้ว.

ไฟล์แนป:
20170902_171702.jpg
20170902_171702.jpg [ 260.1 KiB | เปิดดู 5490 ครั้ง ]

หน้า 1 จากทั้งหมด 2 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/