วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 19:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2018, 06:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




20181220_061234.jpg
20181220_061234.jpg [ 90.17 KiB | เปิดดู 2996 ครั้ง ]
ในสมัยหนึ่ง มีพระมหาเถระชื่อ พระมหาสิวะ เป็นพระที่มีชื่อเสียงทางด้านปริยัติธรรมมาก ท่านมีปัญญาแตกฉานในพระไตรปิฎก จนได้รับการแต่งตั้งให้เป็นพระอาจารย์ใหญ่ สั่งสอน ธรรมะให้กับพระภิกษุสามเณร เป็นจำนวนถึง ๓๐,๐๐๐รูปด้วยกัน เมื่อพระภิกษุสามเณรศึกษาปริยัติธรรมจากท่านแล้ว ก็กราบลาไปปฏิบัติกัมมัฏฐาน ทำสมถวิปัสสนา จนได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์กันมากมาย

มีศิษย์ของท่านองค์หนึ่ง เมื่อได้บรรลุอรหัตผลแล้ว ก็ระลึกถึงคุณของพระอาจารย์ จึงตรวจดูว่าอาจารย์ได้บรรลุธรรมขั้นไหนแล้ว ก็ทราบว่าท่านยังเป็นปุถุชนอยู่ จะหาคุณวิเศษสักอย่างหนึ่งก็ไม่มี เพราะมัวแต่สอนปริยัติธรรม แต่ไม่ยอมลงมือปฏิบัติ แม้จะมีความรู้มากมายก่ายกอง เชี่ยวชาญในพระไตรปิฎก แต่ยังไม่ได้รับรสแห่งพระธรรมที่แท้จริงว่าเป็นอย่างไร พระอรหันต์ผู้เป็นศิษย์ จึงคิดจะช่วยสงเคราะห์พระอาจารย์

เย็นวันหนึ่ง ท่านได้เหาะไปยังกุฏิของพระมหาเถระ ทำเป็นว่าจะไปขอเรียนอนุโมทนาคาถา พระมหาเถระจำศิษย์ไม่ได้เนื่องจากท่านมีลูกศิษย์มาก จึงปฏิเสธว่าตนไม่มีเวลาว่าง เพราะต้องไปสอนพระไตรปิฎกทุกวัน พระอรหันต์จึงเตือนสติพระอาจารย์ว่า...

"ท่านอาจารย์ผู้ว่างเปล่า อย่าทำตนเป็นผู้ไม่ว่างอยู่เลย ท่านไม่รู้ตัวหรือว่าขณะนี้ท่านเป็นผู้ที่ประมาทแล้ว ตัวของท่านเป็นเสมือนแผ่นกระดานสำหรับให้คนทั้งหลายเดินข้ามไป ท่านเป็นที่พึ่งให้แก่คนอื่นก็จริงอยู่ แต่ท่านไม่สามารถเป็นที่พึ่งให้กับตนเองได้ แล้วจะมีประโยชน์อะไร ท่านได้แต่สอนคนอื่น ไม่ได้สอนตนเองเลย แม้ท่านจะแตกฉานในพระไตรปิฎก แต่ถ้าไม่นำความรู้ที่ศึกษามาปฏิบัติแล้ว ท่านก็จะไม่พ้นจากอบายภูมิแน่นอน"

เมื่อพระอรหันต์เตือนสติให้อาจารย์ได้สำนึกแล้ว ก็เหาะขึ้นสู่อากาศ ต่อหน้าพระอาจารย์ พระมหาเถระคิดว่าตนเองเป็นผู้ทรงพระไตรปิฎก สอนให้ผู้อื่นได้บรรลุธรรมมากมาย ถ้าตั้งใจลงมือปฏิบัติคงไม่เกิน ๓วันก็จะได้บรรลุเป็นพระอรหันต์อย่างง่ายดาย

ก่อนเข้าพรรษา ๓วัน ท่านได้เดินทางเข้าไปในป่าใหญ่ เพื่อแสวงหาสถานที่ที่เหมาะสมแก่การปฏิบัติธรรม ได้ปัดกวาดสถานที่ให้น่าอยู่ แล้วเริ่มบำเพ็ญภาวนาตามหลักปริยัติที่เคยศึกษามา หนึ่งวันผ่านไป ใจก็ยังไม่รวม สองวันผ่านไปก็แล้ว สามวันล่วงเลยไปอย่างรวดเร็ว แม้จะใช้ความเพียรอย่างยิ่งยวด แต่ก็ไม่สามารถทำจิตให้หยุดนิ่งได้

ท่านเกิดมานะขึ้นในใจว่า "ลูกศิษย์ของเราต่างบรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์กันมากมาย ตัวเราเป็นถึงพระอาจารย์ใหญ่ ทำไมจะทำไม่ได้" จึงอธิษฐานพรรษาอยู่ในป่าแต่ผู้เดียว ทำสมาธิ(Meditation) เจริญภาวนา ตลอดทั้งวันทั้งคืน แม้เวลาจะผ่านไป ๑เดือน ๒เดือน จนครบไตรมาส ออกพรรษาแล้ว ก็ยังไม่บรรลุ ท่านจึงเพิ่มความวิริยะ อุตสาหะ ด้วยการบำเพ็ญตบะอย่างแรงกล้า อธิษฐานจิตไม่นอนจนกว่าจะเป็นพระอรหันต์

กาลเวลาได้ผ่านไป จาก ๓เดือนเป็น ๓ปี จนกระทั่งล่วงเลยมาถึง ๓๐ปี นักบวชวัยชราผู้ปรารภความเพียรอย่างอุกฤษฏ์ ก็ยังไม่ได้บรรลุธรรมอะไรเลย ในคืนหนึ่ง ท่านได้รำพึงรำพันน้อยใจในโชคชะตาของตนเอง รู้สึกเสียใจจนมิอาจจะกลั้นน้ำตาไว้ได้ จึงร้องไห้คร่ำครวญอย่างน่าสงสาร และในที่ใกล้นั้นได้มีหญิงสาวคนหนึ่งมายืนร้องไห้อยู่ ท่านจึงเข้าไปถามด้วยความห่วงใย

หญิงสาวได้บอกกับพระมหาเถระว่า ตนเป็นเทพธิดาอาศัยอยู่ในป่าแห่งนี้มานาน ได้เห็นพระมหาเถระปรารภความเพียร จึงเกิดความเลื่อมใส ปรารถนาจะบรรลุคุณวิเศษบ้าง เห็นท่านร้องไห้จึงร้องไห้ตาม เผื่อว่าจะได้บรรลุธรรมตามท่านไปด้วย

พระมหาเถระเป็นผู้มีปัญญา ทราบว่าเทพธิดามาเตือนสติ ท่านจึงกลับมาพิจารณาตนเอง ทบทวนวิธีการปฏิบัติที่ถูกต้องอีกครั้งหนึ่ง และในคืนนั้น ท่านได้นั่งทำภาวนาด้วยใจที่สงบเยือกเย็น จิตใจผ่องแผ้ว อารมณ์ดี อารมณ์สบายกว่าทุกๆวัน ในที่สุดได้บรรลุธรรมเป็นพระอรหันต์ หลุดพ้นจากกิเลสอาสวะทั้งปวง

เราจะเห็นว่า การจะหลุดพ้นจากกิเลสอาสวะนั้น จะต้องลงมือปฏิบัติอย่างเดียวเท่านั้น จะมัวร้องไห้ หรืออ้อนวอนอย่างไร ก็ไม่สามารถบรรลุธรรมได้ หรือแม้จะมีความรู้ในทางทฤษฎี หรือปริยัติธรรมมากมายเพียงใด แต่ก็ไม่ได้เป็นเครื่องยืนยันว่าจะช่วยให้เราพ้นทุกข์ได้ ดังนั้น การปฏิบัติธรรมให้ถูกต้องตามพุทธวิธี จึงเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้เราได้บรรลุมรรคผลนิพพาน

ดังนั้น การศึกษาทั้งทางด้านปริยัติและปฏิบัติ จึงเป็นสิ่งที่จะต้องศึกษาควบคู่กันไป เพื่อให้เกิดความเข้าใจแจ่มแจ้งในพระธรรมคำสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เพราะการศึกษาและการถ่ายทอดความรู้อย่างถูกต้องสมบูรณ์ เป็นการรักษาพระพุทธศาสนาให้คงอยู่ต่อไปได้ยาวนาน

พระภิกษุสามเณรทั่วประเทศ มีความตั้งใจที่จะศึกษาพระธรรมวินัย ให้ถึงพร้อมทั้ง ๓ ป. คือ ปริยัติ ปฏิบัติและปฏิเวธ รวมทั้งศึกษาวิชาทางโลกเพิ่มเติมด้วย ที่เรียกว่า ปริยัติสามัญ เพื่อให้มีความรู้แตกฉานทั้งทางโลกและทางธรรม เนื่องจากท่านขัดสนด้านทุนทรัพย์ แต่เปี่ยมด้วยอริยทรัพย์ภายใน พรั่งพร้อมด้วยบุญบารมี เราจึงน่าจะให้การสนับสนุน เพราะท่านเป็นกำลังสำคัญของพระพุทธศาสนา เป็นทั้งอายุพระศาสนาและเป็นเนื้อนาบุญของโลก

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ธ.ค. 2018, 06:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


เล่ากันว่า พระเถระสอนหมู่ใหญ่ ๑๘ หมู่ พวกภิกษุสามหมื่นรูปตั้งอยู่ในโอวาทของท่านบรรลุอรหัตแล้ว. ต่อมา มีภิกษุรูปหนึ่งมารำพึงว่า ภายในตัวเราก่อน มีคุณประมาณไม่ได้ คุณของอาจารย์เราเป็นอย่างไรหนอแล กำลังรำพึงอยู่ก็เห็นความเป็นปุถุชน จึงคิดว่า อาจารย์พวกเราเป็นที่พึ่งของคนเหล่าอื่น (แต่) ไม่สามารถเพื่อจะเป็นที่พึ่งของตนได้ เราจะให้โอวาทแก่ท่าน แล้วก็เหาะมาลงใกล้วัด เข้าไปหาอาจารย์ผู้นั่งในที่พักกลางวัน แสดงวัตรแล้ว ก็นั่งในที่ควรส่วนหนึ่ง.
พระเถระกล่าวว่า ดูก่อนผู้ถือการบิณฑบาตเป็นวัตร คุณมาเพราะเหตุไร.
ภิกษุ. ข้าแต่ท่านผู้เจริญ กระผมเป็นผู้มาแล้ว ด้วยคิดว่า จักเอาอนุโมทนาสักบทหนึ่ง.
เถระ. คงจะไม่มีโอกาสหรอกคุณ
ภิกษุ. ท่านขอรับ กระผมจะเรียนถามในเวลายืนที่โรงตรึก
เถระ. ในที่นั้น พวกคนอื่นก็จะถาม.
ภิกษุ. ในทางเที่ยวบิณฑบาตล่ะ ขอรับ.
เถระ. แม้ในทางนั้น พวกคนอื่นก็จะถาม.
ภิกษุ. ในที่นุ่งผ้าสองชั้น ในที่ห่มสังฆาฏิ ในที่นำเอาบาตรออกในเวลาเที่ยวไปในหมู่บ้าน แล้วดื่มข้าวต้มในโรงฉันล่ะขอรับ.
เถระ. ในที่นั้นๆ ก็จะมีพวกเถระทางอรรถกถาบรรเทาความสงสัยของตน.
ภิกษุ. กระผมจะเรียนถามในเวลาออกจากภายในหมู่บ้าน ขอรับ.
เถระ. แม้ในที่นั้น ก็จะมีคนพวกอื่นถาม คุณ.
ภิกษุ. ท่านขอรับ ในระหว่างทาง ท่านขอรับ ในเวลาเสร็จการฉันในโรงอาหาร ท่านขอรับ ในเวลาล้างเท้า ในเวลาล้างหน้า ในที่พักกลางวัน.
เถระ. ตั้งแต่นั้นไปจนถึงสว่าง ก็จะมีพวกอื่นอีกถาม คุณ.
ภิกษุ. ในเวลาเอาไม้สีฟันแล้วไปสู่ที่ล้างหน้า ขอรับ.
เถระ. ตอนนั้น พวกอื่นก็จะถาม.
ภิกษุ. ในเวลาล้างหน้าแล้วมาล่ะ ขอรับ.
เถระ. แม้ในตอนนั้น พวกอื่นก็จะถาม.
ภิกษุ. ในเวลาเข้าเสนาสนะแล้วนั่งล่ะ ขอรับ.
เถระ. แม้ในตอนนั้น พวกอื่นก็จะถาม.
ภิกษุ. ท่านขอรับ มันน่าจะเป็นโอกาสและเวลาของพวกผู้ที่ล้างหน้า เสร็จแล้วเข้าสู่เสนาสนะ ให้สามสี่บัลลังก์ได้รับความอบอุ่นแล้ว ทำงานด้วยความเอาใจใส่อย่างมีเหตุผลมิใช่หรือ ท่านขอรับ ท่านจะไม่ได้แม้แต่ขณะแห่งความตาย ท่านจงเป็นเหมือนแผ่นกระดานเถิด ขอรับ ท่านจงเป็นที่พึ่งของคนอื่นเถิด ขอรับ ท่านไม่อาจเพื่อจะเป็นที่พึ่งของตน กระผมไม่มีความต้องการ ด้วยการอนุโมทนาของท่าน ว่าแล้วก็ได้เหาะไปในอากาศ.
พระเถระทราบว่า งานเกี่ยวกับการศึกษาเล่าเรียนของภิกษุรูปนี้ไม่มี แต่เธอมาด้วยคิดว่า จะเป็นผู้สั่งสอนเรา แล้วคิดว่า บัดนี้จะไม่มีโอกาส เวลาใกล้รุ่งเราจะไป แล้วก็เก็บบาตรจีวรไว้ใกล้ๆ สอนธรรมตลอดยามต้น และยามกลางคืนยังรุ่ง ขณะที่พระเถระรูปหนึ่งเรียนอุทเทศแล้วจะออกไปในยามสุดท้าย ก็ถือบาตรจีวรออกไปด้วยกันกับพระเถระนั้นนั่นเอง พวกศิษย์ (อันเตวาสิก) ที่นั่งเข้าใจว่า อาจารย์ออกไปด้วยธุระบางอย่างนานแล้ว. พระเถระที่ออกไปก็ทำความเข้าใจว่า เป็นภิกษุที่ร่วมอาจารย์กันบางรูปนั่นเอง.
ได้ยินว่า พระเถระคิดว่า ชื่อว่าความเป็นพระอรหันต์สำหรับคนชั้นเรา จะอะไรหนักหนาเล่า แค่สองสามวันเท่านั้นแหละ ก็จะสำเร็จแล้วจึงจะกลับมา ดังนี้ จึงไม่บอกพวกลูกศิษย์เลย ในวันขึ้นสิบสามค่ำเดือนแปดไปสู่เงื้อมเขาท้ายหมู่บ้าน เมื่อขึ้นสู่ที่จงกรมแล้ว เอาใจใส่กัมมัฏฐาน ในวันนั้นยังถือเอาพระอรหัตตผลไม่ได้.
เมื่อถึงวันอุโบสถ ก็คิดว่า เรามาแล้วด้วยคิดว่า โดยสองสามวัน เราจะเอาพระอรหัตตผลให้ได้ ก็ยังเอาไม่ได้ สามเดือนก็เหมือนสามวันนั่นแหละ คอยถึงวันมหาปวารณาก่อนจะรู้ ถึงเข้าพรรษาแล้วก็ยังเอาไม่ได้.
ในวันปวารณา ท่านคิดว่า เรามาแล้วด้วยคิดว่า โดยสองสามวัน เราจะเอาพระอรหัตตผลให้ได้ นี่ก็ตั้งสามแล้ว ก็ยังไม่สามารถจะเอาได้ ส่วนพวกเพื่อนพรหมจรรย์จะปวารณาชนิดวิสุทธิปวารณากัน เมื่อท่านคิดอย่างนั้น สายน้ำตาก็หลั่งไหล. จากนั้น ท่านคิดว่า มรรคผลจะไม่เกิดขึ้นเพราะอิริยาบถ ๔ ของเราบนเตียง ถ้าเดี๋ยวนี้ยังไม่บรรลุพระอรหัตตผล เราจะไม่ยอมเหยียดหลังบนเตียงอย่างเด็ดขาด จะไม่ยอมล้างเท้า แล้วก็ให้ยกเอาเตียงไปเก็บไว้ภายใน พรรษาก็ถึงอีก. ท่านก็ยังเอาพระอรหัตตผลไม่ได้ตามเคย สายน้ำตาก็หลั่งไหล ในวันปวารณายี่สิบเก้าครั้ง.
พวกเด็กในหมู่บ้านพากันเอาหนามมากลัดที่ที่แตกในเท้าทั้งสองข้างของพระเถระ.
แม้เมื่อจะพากันเล่น ก็เล่นเอาว่า ขอให้เท้าทั้งสองข้างจงเป็นเหมือนเท้าของพระคุณเจ้ามหาสิวเถระเถิด.
ในวันมหาปวารณาปี (ที่) สามสิบ พระเถระยืนยึดแผ่นกระดานสำหรับพิง คิดว่า เมื่อเราทำสมณธรรมมาตั้งสามสิบปีเข้านี้แล้ว เราก็ไม่สามารถสำเร็จพระอรหัตตผลได้ ในอัตภาพของเรานี้ มรรคหรือผลย่อมไม่มีเป็นแน่ เราไม่ได้ปวารณาชนิดวิสุทธิปวารณากับเพื่อนพรหมจรรย์แล้ว. และก็เมื่อท่านคิดอยู่อย่างนั้น ก็เกิดโทมนัสขึ้นมา สายน้ำตาก็หลั่งไหล.
ขณะนั้น ในที่ใกล้ๆ มีเทพธิดาองค์หนึ่ง กำลังยืนร้องไห้อยู่.
เถระ. ใครร้องไห้ที่นี้.
เทพธิดา. ดิฉัน นางเทพธิดา เจ้าค่ะ.
เถระ. ร้องไห้ทำไม.
เทพธิดา. เมื่อมรรคผลกำลังเกิด เพราะการร้องไห้ ดิฉันคิดว่า แม้เราก็จะให้เกิดมรรคผลหนึ่ง (หรือ) สอง จึงร้องไห้เจ้าค่ะ.
จากนั้น พระเถระก็คิดว่า นี่แน่ะ มหาสิวะ แม้แต่เทพธิดาก็ยังมาเยาะเย้ยเธอได้ นี่มันควรแก่เธอหรือหนอ แล้วก็เจริญวิปัสสนา ได้ถือเอาความเป็นพระอรหันต์พร้อมกับปฏิสัมภิทาทั้งหลายแล้ว.
ท่านคิดว่า บัดนี้ เราจะนอน แล้วก็จัดแจงเสนาสนะ ปูลาดเตียง ตั้งน้ำในที่น้ำ คิดว่า เราจะล้างเท้าทั้งสองข้าง แล้วก็นั่งลงที่ขั้นบันได.
แม้พวกศิษย์ของท่าน ก็พากันคิดอยู่ว่า เมื่ออาจารย์ของเราไปทำสมณธรรมตั้งสามสิบปี ท่านอาจทำคุณวิเศษให้เกิดได้หรือไม่อาจ เห็นว่าท่านสำเร็จพระอรหัตแล้ว นั่งลงเพื่อล้างเท้า จึงต่างก็คิดว่า อาจารย์พวกเรา เมื่อพวกศิษย์เช่นพวกเรายังอยู่ คิดว่า จะล้างเท้าด้วยตนเองนี้ไม่ใช่ฐานะ เราจะล้าง เราจะล้าง แล้วทั้ง ๓๐,๐๐๐ รูปต่างก็เหาะมาไหว้ แล้วกราบเรียนว่า กระผมจะล้างเท้าถวาย ขอรับ.
ท่านห้ามว่า คุณ ฉันไม่ได้ล้างเท้ามาตั้งสามสิบปีเข้านี่แล้ว พวกคุณไม่ต้องฉันจะล้างเอง.
แม้ท้าวสักกะก็ทรงพิจารณาว่า พระคุณเจ้ามหาสิวะเถระของเรา สำเร็จพระอรหัตแล้ว เมื่อพวกศิษย์สามหมื่นรูปมาแล้วด้วยคิดว่า พวกเราจะล้างเท้าทั้งหลายถวาย ก็ไม่ให้ล้างเท้าให้ ก็เมื่ออุปัฏฐากเช่นเรายังมีอยู่ พระคุณเจ้าคิดว่าจะล้างเท้าเองนี่เป็นไปไม่ได้ แล้วทรงตัดสินพระทัยว่า เราจะล้างถวายจึงพร้อมด้วยสุชาดาเทวีได้ทรงปรากฏในสำนักของหมู่ภิกษุ.
ท้าวเธอทรงส่งนางสุชาดาผู้เป็นอสุรกัญญาล่วงหน้าไปก่อน ให้เปิดโอกาสว่า ท่านเจ้าขา พวกท่านจงหลีกไป โปรดให้โอกาสผู้หญิง แล้วทรงเข้าไปหาพระเถระ ไหว้แล้วนั่งกระหย่งต่อหน้าตรัสว่า ท่านขอรับ กระผมจะล้างเท้าถวาย.
พระเถระตอบว่า โกสีย์ อาตมภาพไม่เคยล้างเท้ามาตั้งสามสิบปีเข้านี่แล้ว และแม้โดยปกติชื่อว่ากลิ่นตัวคนเป็นของน่าเกลียดสำหรับพวกเทพ แม้อยู่ไกลตั้งร้อยโยชน์ เหมือนเอาซากศพมาแขวนคอ อาตมภาพจะล้างเอง.
ตรัสตอบว่า ท่านขอรับ ชื่อว่ากลิ่นอย่างนี้ไม่ปรากฏ เพราะว่ากลิ่นศีลของท่านเลยเทวโลกหกชั้นไปตั้งอยู่สูงถึงชั้นภวัคคพรหมในเบื้องบน ไม่มีกลิ่นอื่นที่ยิ่งไปกว่ากลิ่นศีล ท่านขอรับ กระผมมาเพราะกลิ่นศีลของท่าน แล้วก็ทรงเอาพระหัตถ์ซ้ายจับข้อต่อตาตุ่ม แล้วเอาพระหัตถ์ขวาลูบฝ่าเท้า. เท้าของท่านก็เป็นเหมือนกับเท้าของเด็กหนุ่มขึ้นมาทันที. ครั้นท้าวสักกะทรงล้างเท้าถวายเสร็จแล้วก็ทรงไหว้ แล้วเสด็จไปสู่เทวโลกตามเดิม.
พึงทราบว่า ท่านเรียกอารมณ์ของวิปัสสนาก็ดี วิปัสสนาก็ดี มรรคก็ดี ผลก็ดี ว่า โทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรอง และว่าโทมนัสที่ไม่มีความตรึก และไม่มีความตรอง ด้วยอำนาจความเข้าใจของภิกษุผู้อาศัยโทมนัสที่เกิดขึ้นแล้วพิจารณาอยู่ว่า เราไม่ได้ปวารณาชนิดวิสุทธิปวารณาด้วยกันกับพวกเพื่อนพรหมจรรย์ ดังที่ว่ามานี้.
ในเรื่องของโทมนัสนั้น มีภิกษุรูปหนึ่งเริ่มตั้งวิปัสสนาในโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองมาใคร่ครวญว่า โทมนัสนี้อาศัยอะไร ก็รู้ชัดว่าอาศัยวัตถุ จึงตั้งอยู่ในพระอรหัตตผลโดยลำดับ โดยนัยที่กล่าวแล้วในหมวดธรรมที่มีผัสสะเป็นที่ห้านั่นแหละ. รูปหนึ่งเริ่มตั้งวิปัสสนาในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ก็ตั้งอยู่ในพระอรหัตตผล ตามนัยที่กล่าวมาแล้วเหมือนกัน.
แม้ในโทมนัสที่ตั้งมั่นแล้วเหล่านั้น โทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ประณีตกว่าที่มีความตรึกและความตรอง วิปัสสนาในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรอง ก็ประณีตกว่าวิปัสสนาในโทมนัสที่มีความตรึกและมีความตรองด้วย ผลสมาบัติในโทมนัสที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองก็ประณีตกว่า แม้ผลสมาบัติในโทมนัสที่ยังมีความตรึกและยังมีความตรองนั่นเทียว. เพราะเหตุนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสว่า เหล่าใดที่ไม่มีความตรึกและไม่มีความตรองประณีตกว่า ดังนี้.
คำว่า ไม่พึงเสพอุเบกขาเห็นปานนั้น ความว่า ไม่พึงเสพอุเบกขาที่อาศัยเรือนเห็นปานนั้น. ที่ชื่อว่าอุเบกขาที่อาศัยเรือน ได้แก่อุเบกขาที่อาศัยกามคุณ ซึ่งติดข้อง เกิดขึ้นในกามคุณนั้นเอง เป็นไปล่วงรูปเป็นต้นไม่ได้ เหมือนแมลงวันตอมงบน้ำอ้อย ในอารมณ์ที่น่ารักที่มาสู่คลองในทวารทั้ง ๖ อย่างนี้ คือ ในเวทนาเหล่านั้น อุเบกขาที่อาศัยเรือน ๖ อย่างเป็นไฉน เพราะเห็นรูปด้วยตา อุเบกขาย่อมเกิดขึ้นแก่คนโง่ คนหลง คนมีกิเลสหนา คนเอาแต่ชนะไม่มีขอบเขตไป เอาแต่ชนะไม่เป็นผล มีปกติไม่เห็นโทษ ไม่ได้รับการศึกษา คือเป็นปุถุชน อุเบกขาเห็นปานนี้ใด อุเบกขานั้นก้าวล่วงรูปไปไม่ได้ เพราะฉะนั้น จึงเรียกอุเบกขานั้นว่าอาศัยเรือน๕- ดังนี้เป็นต้น.
____________________________

http://www.84000.org/tipitaka/attha/att ... &i=247&p=2

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ก.ค. 2021, 12:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สรุปสาระสำคัญจากเรื่องพระมหาศิวะ
การที่พระเถระใช้เวลานานถึง ๓๐ ปี ก็เพราะว่าท่านได้ทำการ
เจริญพิสดารตามสุตะ กล่าวคือ ความรู้ปริยัติที่ตนได้ศึกษามา
เหมือนพระสารีบุตรใช้เวลาปฏิบัตินานกว่าพระโมคคัลลานะ ความจริง
ผู้ทรงพระไตรปิฎกนับว่าผู้มีปัญญาบารมีเต็มเปี่ยมในการบรรลุมรรคผล
ด้วยการเจริญวิปัสสนาโดยย่ออยู่แล้ว เหมือนพระโพธิสัตว์ผู้เสวยพระชาติ
เป็นพระสุเมธดาบสก็มี สาวกบารมีเต็มเปี่ยมแล้ว แต่ที่ใช้เวลานานกว่าบุคคลอื่น
เนื่องจากพระเถระเจริญวิปัสสนาโดยพิสดารดังมีคำอธิบายในคัมภีร์ฎีกาว่า

โค้ด:
เอตฺตกํ กาลํ วิปสฺสนาย สุจิณฺณภาวโต ญาณสฺส ปริปากํ คตฺตา.


พระเถระเนื่องด้วยอบรมวิปัสสนาเป็นอย่างดีตลอด ๓๐ ปี จนกระทั่งญาณแก่กล้า
พระเถระจึงได้บรรลุอรหันตผลในที่สุด

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2021, 12:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว




Sky-Transparent-Images.png
Sky-Transparent-Images.png [ 636.67 KiB | เปิดดู 953 ครั้ง ]
:b8: :b8: :b8:

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร