ลานธรรมจักร http://dhammajak.net/forums/ |
|
การแย่งพญาหงส์ เจ้าชายสิทธัตถะ-เจ้าชายเทวทัต http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=5&t=57206 |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 |
เจ้าของ: | สาวิกาน้อย [ 15 ต.ค. 2011, 11:59 ] |
หัวข้อกระทู้: | การแย่งพญาหงส์ เจ้าชายสิทธัตถะ-เจ้าชายเทวทัต |
การวินิจฉัยข้อพิพาทเรื่องพญาหงส์ ระหว่าง “เจ้าชายสิทธัตถะ” ที่ประทับอยู่บนพระราชอาสน์ ทรงสวมภูษิตอาภรณ์สีน้ำเงินในพระอาการที่สงบสำรวม มีพญาหงส์ซึ่งได้รับบาดเจ็บวางตรงเฉพาะพระพักตร์ และ “เจ้าชายเทวทัต” ที่ทรงถือศรเป็นอาวุธประหารสัตว์นั้น ส่วนพราหมณ์ปุโรหิตนั่งอาสนะพิพากษาตัดสินว่า พญาหงส์เป็นสิทธิของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ให้ชีวิตรอด เจ้าชายเทวทัตเสด็จมาพบพญาหงส์อยู่กับเจ้าชายสิทธัตถะ ก็ได้ขอทวงคืน ทรงพยายามจะแย่งพญาหงส์นั้นไปเสียให้ได้ โดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของเพราะเป็นผู้ยิงมันตกลงมาได้ เรื่องการแย่งพญาหงส์ ระหว่างเจ้าชายสิทธัตถะกับเจ้าชายเทวทัต มีเรื่องราวดังต่อไปนี้ วันหนึ่งในฤดูร้อน พญาหงส์สีขาวสะอาดตัวหนึ่ง บินนำฝูงผ่านพระอุทยานของพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ บ่ายหน้าไปทางทิศเหนือสู่ถิ่นพำนัก ณ ยอดเขาหิมาลัยโพ้น ความขาวของฝูงหงส์ ซึ่งทาบอยู่บนท้องฟ้าสีครามดูประหนึ่งทางช้างเผือก ยังความนิยมยินดีให้แก่ผู้ที่ได้พบเห็นยิ่งนัก แต่สำหรับพระเทวทัตกุมาร มิได้เป็นเช่นนั้น น้ำพระทัยของเจ้าชายองค์น้อยนี้ เป็นพาลเหี้ยมโหดมุ่งแต่จะทำลายเป็นที่ตั้ง พอทอดพระเนตรเห็นฝูงหงส์ เธอก็ทรงยกลูกศรขึ้นพาดสาย น้าวคันธนูจนเต็มแรงยิงออกไปทันที ลูกศรนั้นวิ่งขึ้นไปถูกพญาหงส์สีขาว ซึ่งกำลังบินร่อนร่าเริงใจอยู่บนอากาศ ถลาตกลงสู่เบื้องล่างทันที ขณะนั้น พระสิทธัตถกุมาร พระโอรสแห่งพระเจ้ากรุงกบิลพัสดุ์ กำลังทรงสำราญอยู่ในพระอุทยานนั้นด้วย ทรงทอดพระเนตรเห็นพญาหงส์ร่วงตกลงมาในเขตพระอุทยาน พระองค์จึงละเสียจากการเล่นโดยสิ้นเชิง แล้วรีบเสด็จออกไปค้นหา ในที่สุดก็พบนกที่น่าสงสารนั้นกำลังดิ้นรนกระเสือกกระสน ด้วยความเจ็บปวดอยู่บนพื้น โดยที่ปีกข้างหนึ่งของมันมีลูกศรเสียบทะลุคาอยู่ เจ้าชายองค์น้อยบังเกิดความเวทนายิ่งนัก ทรงอุ้มหงส์นั้นขึ้นจากพื้น ประคองกอดแต่เบาๆ มิให้วิหคเคราะห์ร้ายตื่นตกใจ ทรงชักลูกศรที่เสียบอยู่บนปีกนั้นออกเสีย แล้วทรงนำใบไม้ที่มีรสเย็นมาปิดบาดแผลเพื่อให้โลหิตหยุดไหล เจ้าชายน้อยทรงรำพึงถึงความทุกข์ของพญาหงส์ อันมีกายปรากฏเป็นบาดแผลใหญ่แล้ว ก็ทรงทอดถอนพระหฤทัย พระกุมารนั้นแม้จะมีพระชนมายุเพียง ๑๒ พระชันษา ยังทรงพระเยาว์นัก ชอบที่จะแสวงสุขอย่างเด็กอื่นๆ แต่พระองค์กลับคิดใคร่ครวญถึงความเจ็บปวดของพญาหงส์ อันความทุกข์สำแดงอยู่ในเวลานั้น จึงทรงปลอบนกด้วยพระวาจาอ่อนหวาน และอุ้มกอดมันไว้กับทรวงอกให้อบอุ่น ทั้งลูบขนปลอบโยนให้คลายความหวาดกลัว เมื่อพระเทวทัตกุมาร ผู้เป็นพระญาติเรียงพี่เรียงน้องของพระสิทธัตถกุมาร เสด็จมาพบเข้าก็ทวงคืน ทรงพยายามจะแย่งนกนั้นไปเสียให้ได้ โดยอ้างว่าตนเป็นเจ้าของนกตัวนั้นเพราะเป็นผู้ยิงมันตกลงมาได้ พระสิทธัตถกุมารทรงปฏิเสธที่จะมอบนกให้โดยตรัสว่า “ถ้านกตายมันจึงจะเป็นของผู้ยิง แต่เมื่อมันยังมีชีวิตอยู่ ควรจะเป็นของผู้ที่ให้ความช่วยเหลือมัน เรามิเคยมีใจที่จะมอบนกตัวนี้ให้กับใครทั้งสิ้น ตราบใดที่มันยังคงบาดเจ็บอยู่” ต่างฝ่ายก็ไม่ยินยอมต่อกัน ในที่สุดเจ้าชายสิทธัตถะจึงเสนอขึ้นว่า “ข้อพิพาทนี้ควรจักต้องนำไปให้บรรดานักปราชญ์ของแผ่นดิน พิพากษาตัดสินชี้ขาดในที่ประชุม” เจ้าชายเทวทัตก็เห็นด้วย ณ ที่ประชุมนักปราชญ์แห่งนครกบิลพัสดุ์ ในวันนั้นได้ยกกรณีพิพาทเรื่องหงส์ตัวนี้ขึ้นมาพิจารณา มีการถกเถียงกันเป็นอย่างมาก ฝ่ายหนึ่งเห็นว่า...เจ้าชายเทวทัตควรเป็นเจ้าของนก เพราะเป็นผู้ยิงมันตกลงมาได้ อีกฝ่ายหนึ่ง มีความเห็นว่า...นกควรเป็นของเจ้าชายสิทธัตถะ เพราะเป็นผู้พบมันก่อนและได้ช่วยชีวิตมันเอาไว้ เมื่อมีผู้แสดงความคิดเห็นแตกแยกขัดแย้งกันดังนี้ การประชุมก็ไม่เป็นที่ยุติลงได้ จนในที่สุดมีพราหมณ์ปุโรหิตนักปราชญ์ท่านหนึ่ง ซึ่งไม่เคยมีใครรู้จักพบเห็นมาก่อน ได้ก้าวออกมาและพูดขึ้นด้วยน้ำเสียงอันดังท่ามกลางที่ประชุมนั้นว่า “ในโลกนี้ชีวิตเป็นของล้ำค่ายิ่ง ไม่ว่าใครก็ต่างรักและหวงแหนชีวิตตน ผู้ที่ช่วยเหลือสัตว์ได้ชื่อว่า เป็นผู้ให้ชีวิต แต่ผู้ที่ทำลายชีวิตสัตว์ให้ดับล่วงไปได้ชื่อว่า เป็นผู้เข่นฆ่า ผู้ใดกรุณาต่อสัตว์ เป็นผู้ช่วยเหลือสัตว์ บุคคลนั้นจึงสมควรเป็นเจ้าของ ดังนั้น ขอให้นกตัวนี้จงเป็นของเจ้าชายสิทธัตถะ ผู้ที่ช่วยชีวิตมันไว้เถิด” ทุกคนในที่ประชุมต่างเห็นด้วยกับ ถ้อยคำอันมีเหตุผลเที่ยงธรรมของพราหมณ์ปุโรหิตนักปราชญ์ผู้นั้น จึงตัดสินให้เจ้าชายสิทธัตถะเป็นผู้รับเอาหงส์ ซึ่งพระองค์ได้ทรงพยายามช่วยชีวิตนั้นไป หลังจากนั้นพระกุมารน้อยทรงเอาพระทัยใส่ดูแลนกนั้นอย่างเอื้ออารีที่สุด จนกระทั่งบาดแผลของมันหายสนิท มีกำลังวังชาฟื้นคืนดีแล้ว พระองค์ก็ทรงปล่อยมันให้บินกลับไปอยู่รวมฝูงกับพวกพ้องของมัน ในสระกลางป่าลึกด้วยความผาสุกสืบไป พระสิทธัตถกุมารองค์น้อยนี้แหละ ในกาลต่อมาคือ พระบรมศาสดา ผู้ประกาศพุทธศาสนาด้วยหลักธรรมแห่งเมตตา ให้บรรดาเวไนยสัตว์ทั้งหลาย ทั้งมนุษย์ เทพยดา และยักษ์มารอสูร ได้ประจักษ์แจ้งในสัทธรรมอันสูงสุด พระปรีชาญาณและดวงหทัยอันเปี่ยมไปด้วยพระมหาเมตตาคุณ ได้ฉายแสงปรากฏให้ชนทั้งหลายได้ชื่นชมตั้งแต่ครั้งกระนั้นเป็นต้นมา • “สิทธัตถะ” พระกุมาร…. สราญสวน แวดล้อมถ้วน ล้วนประยุร-….วงศา “เทวทัต” นัดไว้…. ร่วมไคลคลา เสวนา พาเพลิน…. จำเริญใจ • หงส์ตัวหนึ่ง ซึ่งตก…. อกปักษร พระทินกร ช้อนอุ้ม…. คุมแก้ไข “เทวทัต” สลัดศร…. วิ่งย้อนไป ร่ำร้องให้ ใช้หงส์…. พระองค์คืน • กุมารา หาส่ง…. อันหงส์ไม่ “เทวทัต” ขัดใจ…. ร่ำไห้ฝืน เรื่องร้อนส่ง องค์ประชุม…. กลุ่มยั่งยืน ต้องรื้อฟื้น ไต่สวน…. ทบทวนกัน • ต่างชี้ชัด มัดแน่น…. แก่นกฎหมาย ชีวีให้ ได้เกิด…. เปิดสุขสันต์ “สิทธัตถะ” ผู้ให้…. ได้ชีวัน เจ้าหงส์นั้น มั่นคง…. องค์กุมาร • “เทวทัต” ขัดจิต…. คิดแก้แค้น ในอกแน่น แก่นโกรธ…. โทษหักหาร ต่อนี้ไป เราท่าน…. ผ่านเนิ่นนาน ต้องเผาผลาญ รานกัน…. จนวันตาย • องค์กุมาร คร้านโกรธ…. โทษวงศา เวทนา พาหงส์…. ดำรงหมาย ครั้นหงส์ดี มีแรง…. แข่งพระพาย จึงปล่อยให้ ไปบิน…. ถิ่นเสรี ร้อยกรอง “ภาพพุทธประวัติ” โดย นก พลัดถิ่น *************************************** “ภาพพุทธประวัติ” พร้อมคำร้อยกรอง-คำบรรยายโดยสังเขป http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=38&t=39613 เพื่อนๆ มีความเห็นในกรณีพิพาทนี้อย่างไรกันบ้างค่ะ
เห็นด้วยหรือเห็นแย้งค่ะ !!! |
เจ้าของ: | daoduan [ 19 ส.ค. 2015, 00:29 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เจ้าชายสิทธัตถะ-เจ้าชายเทวทัต และพญาหงส์ |
สมเหตุสมผลดีแล้วค่ะ |
เจ้าของ: | น้องพลอย [ 15 มี.ค. 2016, 12:02 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เจ้าชายสิทธัตถะ-เจ้าชายเทวทัต และพญาหงส์ |
ขออนุโมทนาสาธุค่ะ ช่างดีแท้ |
เจ้าของ: | Duangtip [ 25 ก.พ. 2019, 11:16 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: เจ้าชายสิทธัตถะ-เจ้าชายเทวทัต และพญาหงส์ |
ขออนุโมทนา สาธุๆๆ ค่ะ |
เจ้าของ: | อุบาสกน้อย [ 17 พ.ย. 2020, 20:52 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: การแย่งพญาหงส์ เจ้าชายสิทธัตถะ-เจ้าชายเทวทัต |
ขออนุโมทนาสาธุนะครับ |
เจ้าของ: | sirinpho [ 26 ก.ย. 2022, 13:37 ] |
หัวข้อกระทู้: | Re: การแย่งพญาหงส์ เจ้าชายสิทธัตถะ-เจ้าชายเทวทัต |
หน้า 1 จากทั้งหมด 1 | เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง |
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group http://www.phpbb.com/ |