วันเวลาปัจจุบัน 17 เม.ย. 2024, 03:31  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


อ่านนิทาน จากบอร์ดเก่า
http://www.dhammajak.net/board/viewforum.php?f=5



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ส.ค. 2021, 10:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 24 พ.ค. 2011, 14:20
โพสต์: 8123


 ข้อมูลส่วนตัว


สามเณรสุขะ ผู้มากบารมี

สามเณรสุขะเป็นบุคคลในสมัยพุทธกาล เกิดในตระกูลคหบดี บิดาเป็นโยมอุปัฏฐากพระสารีบุตร เมื่อครั้งมารดาท่านตั้งครรภ์มีเรื่องเล่าว่านางมีอาการประหลาด อยากกินอาหารที่เหลือจากพระภิกษุ สามีจึงไปนิมนต์พระสารีบุตรพร้อมพระสงฆ์จำนวนหนึ่งมาฉันอาหารที่บ้าน แล้วจัดให้นางนั่งต่อจากพระรูปสุดท้าย คอยรับอาหารที่เหลือจากพระมารับประทาน

ในช่วงที่นางตั้งครรภ์คนในตระกูลคหบดีรวมถึงบ่าวไพร่ไม่เคยมีความทุกข์ใด ทุกคนต่างอยู่อย่างมีความสุข จะทำการสิ่งใดไม่ว่าจักเป็นเรื่องน้อยเรื่องใหญ่ ก็มีแต่ความสะดวกราบรื่น หาได้มีอุปสรรคขัดข้องแม้แต่น้อย ฉะนั้นพอบุตรในครรภ์คลอดมาจึงได้ชื่อว่า “ สุขะ ”

เด็กชายสุขะนั้นต่างจากเด็กทั่วไป พออายุเจ็ดขวบเขาก็มีความคิดอยากจะบวชเป็นพระ ดังนั้นผู้เป็นพ่อจึงไปนิมนต์พระสารีบุตรให้มาเป็นพระอุปัชฌาย์ แล้วก็ทำการเฉลิมฉลองกันอย่างใหญ่โตถึง ๗ วัน ๗ คืน หลังเสร็จพิธีเณรน้อยสุขะก็ได้ติดตามอาจารย์ออกบิณฑบาตเยี่ยงพุทธบุตรทั้งหลาย

เนื่องจากเกิดในตระกูลคหบดี ฉะนั้นตั้งแต่เกิดจนถึงบัดนี้เณรน้อยสุขะจึงยังไม่เคยออกไปจากคฤหาสน์ของบิดามาก่อน ครั้งนี้ถือเป็นคราวแรกที่ได้ออกมาเห็นสภาพชีวิตผู้คนรอบข้างที่ต้องประกอบสัมมาอาชีพแตกต่างกันไป ผู้ที่เป็นชาวนาก็กำลังทดน้ำเข้านา ผู้ที่เป็นช่างศรก็กำลังดัดแต่งลูกศร ส่วนใครที่เป็นช่างไม้ก็กำลังไสไม้เพื่อทำล้อเกวียน

พอท่านเห็นภาพต่างๆเหล่านี้ท่านก็พลันผุดความคิดขึ้นว่า “ โอ้หนอ ขนาดสิ่งไม่มีชีวิตแท้ๆ ยังสามารถดัดแต่งได้ แล้วไฉนคนเราที่มีชีวิตจิตใจจึงจักฝึกไม่ได้เล่า? ” พอคิดอย่างนั้นก็เกิดพลุ่งพล่านใจขึ้นมา อยากจักนั่งปฏิบัติธรรมเสียมันตรงนี้เลย ถ้าเป็นไปได้ เพื่อมิให้ความรู้สึกนี้สูญสลายไปท่านจึงกล่าวกับพระสารีบุตรว่า “ ข้าแต่อาจารย์ ขอท่านจงรับเอาบาตรแลจีวรของท่านคืนไปเถิด ” พระสารีบุตรพอฟังลูกศิษย์กล่าวดังนั้นก็ให้แปลกใจ จึงถามไปว่า “ อ้าว! ทำไมรึเณร? ” เณรน้อยเห็นอาจาย์สงสัยจึงตอบไปด้วยถ้อยคำที่สุภาพว่า “ หามิได้ขอรับ คือกระผมอยากจักกลับวัดไปปฏิบัติธรรมในเพลานี้เลย ขอรับ! ”

ผู้เป็นอาจารย์พอได้ยินก็ให้แสนดีใจ รีบรับบาตรแลจีวรของตนมาทันที พร้อมกันนั้นก็บอก เณรน้อยว่าไม่ต้องกังวลเรื่องอาหาร เดี๋ยวตัวท่านจะบิณฑบาตมาเผื่อให้ ( จริงๆแล้วอาหารที่พระสารีบุตรบิณฑบาตได้ในวันนั้น ทั้งหมดล้วนเกิดจากบุญเก่าของสามเณรเอง ดังนั้นแต่ละอย่างจึงมีรสชาติที่เลิศล้ำ ยากจักหาอาหารชนิดใดมาเทียบได้ )

ด้านสามเณรสุขขะพอกลับถึงวัดก็ไม่รอช้า รีบเข้าห้องปิดประตูนั่งกรรมฐานทันใด

กล่าวถึงท้าวอมรินทร์ผู้เป็นใหญ่เหนือเทพใดๆบนตาวติงสาภูมิ(สวรรค์ชั้นดาวดึงส์) วันนั้นมิทราบเป็นด้วยเหตุอันใด จู่ๆพระแท่นบัณฑุกัมพลศิลาอาสน์ของพระองค์ที่มีความอ่อนนุ่มประดุจหงอนของพญาราชหงส์ทอง ก็เกิดกระด้างขึ้นมาเสียยังงั้น ซึ่งถือเป็นเรื่องผิดปกติ ดังนั้นพระองค์จึงทรงกำหนดจิตดู

ทันใดก็ทราบบัดนี้สามเณรสุขขะผู้มากบารมี กำลังปฏิบัติธรรมขั้นอุกฤษฎ์อยู่ในพระวิหาร เพื่อป้องกันมิให้ท่านต้องถูกรบกวนจากเสียงรอบข้าง จอมเทพมเหสักข์จึงมีพระบัญชาให้ท้าวมหาราชทั้งสี่ พากันไปไล่ฝูงนกที่กำลังส่งเสียงเจี้ยวจ้าวอยู่รอบบริเวณนั้น ให้พากันไปหากินยังที่อื่นก่อน และทรงให้พวกเขาทำหน้าที่อารักขาวิหารแต่ละด้านเอาไว้ทั้งสี่ด้าน ส่วนตัวพระองค์เองทรงยืนเฝ้าอยู่ที่หน้ากุฏิ

เช้าวันนั้นขณะที่สมเด็จพระศาสดาทรงปฏิบัติพุทธกิจเหมือนเคย คือทรงเล็งพระญาณสอด ส่องดูว่าจักมีสัตว์ตนใดบ้างที่เข้าข่ายบรรลุธรรม ทันใดก็ทรงเห็นภาพสามเณรสุขะกำลังนั่งภาวนาอยู่ พอทรงเห็นดังนั้นก็ทรงคำนึงอยู่ในพระทัยว่า วันนี้หากพระองค์ไม่ทรงไปขัดขวางพระสารีบุตรไว้ก่อน เห็นทีสุขะสามเณรที่กำลังจักสำเร็จเป็นพระอรหันต์ คงจักพลาดโอกาสอันวิเศษนี้แน่ พอทรงมีพุทธดำริดังนี้องค์มหามุนีจึงไม่รอช้า เสด็จออกจากคันธกุฎีมายืนรออัครสาวกอยู่ที่ข้างซุ้มประตูทางเข้าพระวิหารโดยพลัน

ไม่นานก็เห็นพระสารีบุตรซึ่งกลับจากบิณฑบาต กำลังเดินมุ่งมาที่พระองค์ทรงยืนอยู่พอดี ในใจพระเถระนั้นกำลังคิดถึงเรื่องอาหารที่บิณฑบาตได้อยู่ ท่านยังแปลกใจไม่หายไฉนวันนี้ญาติโยมจึงนำอาหารที่ดีมีรสเลิศ หน้าตาน่าอร่อย มาใส่บาตรกันอย่างมากมายถึงปานฉะนี้? หากเณรน้อยเห็นเข้าคงจักต้องถูกใจเป็นแน่!

ขณะกำลังคิดอะไรเพลินๆก็เหลือบมาเห็นพระศาสดาทรงยืนรออยู่ข้างซุ้มประตู ดังนั้นองค์เถระจึงรีบวางบาตรลงพื้น พร้อมกันนั้นก็ก้มลงกราบแทบยังเบื้องพระยุคลบาท สมเด็จพระผู้มีพระภาคทรงรอจนพระอัครสาวกเงยหน้าขึ้นมาสบพระเนตร จึงทรงมีพระพุทธฎีกาตรัสถามปัญหาสี่ข้อกับท่านเพื่อจักเป็นการถ่วงเวลา บัดนั้นเองก็ได้เกิดปรากฎการณ์อันแสนอัศจรรย์ขึ้น

ระหว่างที่จอมมุนีทรงถามตอบปัญหากับพระสารีบุตรนั้น เงาของร่มไม้ตลอดจนมนุษย์แลสัตว์แทนที่จะโอนเอนไปตามการเคลื่อนตัวของพระอาทิตย์ ปรากฎว่ากลับตรึงนิ่งอยู่กับที่ กระทั่งสามเณรสุขะได้บรรลุอรหัตผล และได้ฉันภัตตาหารอันเนื่องมาจากสมเด็จพระศาสดาทรงอนุญาติให้พระสารีบุตรนำอาหารไปให้ลูกศิษย์ได้ จวบจนสามเณรล้างบาตรเสร็จ เมื่อนั้นแลเงาของต้นไม้แลสัตว์จึงพลันเลื่อนไหลไปตามการเคลื่อนตัวของพระอาทิตย์ แต่ทว่าเป็นไปอย่างรวดเร็วจนกลายไปเป็นเวลาบ่ายคล้อยแล้ว!

บรรดาภิกษุเมื่อเห็นปรากฎการณ์ประหลาดต่างก็พากันโจษจันกันเซ็งแซ่ บ้างก็ซักถามกันให้วุ่นว่าเมื่อครู่ยังสายอยู่แท้ๆ ไฉนพอสามเณรสุขะฉันเสร็จกลับกลายเป็นบ่ายไปเสียเล่า?

สมเด็จพระพุทธองค์เมื่อทรงเห็นเหล่าภิกษุต่างพากันสงสัยจึงทรงอธิบายว่า “ ดูก่อนภิกษุ ผู้สร้างกรรมดีไว้มาก เวลาที่บำเพ็ญธรรมมักจะเป็นเช่นนี้! ” แล้วจึงตรัสถึงบุพกรรมของสามเณรสุขะแก่เหล่าภิกษุว่า

ย้อนไปเมื่อครั้งอดีตชาติ ครานั้นยังมีบุตรเศรษฐีผู้หนึ่ง เขาได้รับมรดกจากบิดาเป็นทรัพย์จำนวนมหาศาล เนื่องจากได้ทรัพย์มาอย่างง่ายดายดังนั้นจึงใช้ทรัพย์ไปอย่างมือเติบ เขาอยากจะประกาศให้ผู้คนเห็นว่าตนนั้นร่ำรวยเพียงใด วันหนึ่งจึงให้บ่าวไปว่าช่างมาสร้างปะรำ ตกแต่งเสียจนโอ่อ่า เพื่อจักใช้สำหรับบริโภคอาหารให้ประชาชนดู

พอปะรำเสร็จก็ให้บ่าวไปติดต่อพ่อครัวเอกของเมืองให้จัดเตรียมข้าวเครื่องใช้สำหรับทำอาหารที่มีหน้าตาสวยงาม รสชาติล้ำเลิศ และมีราคาแพงกว่าอาหารใดๆไว้ให้พร้อม ในอีก ๗ วันข้างหน้าให้ไปทำอาหารที่บ้านเศรษฐี

หลังจากนั้นก็สั่งให้บ่าวไพร่ทั้งหมดออกไปป่าวประกาศให้คนทั่วเมืองรู้ว่า ตัวเขาจะนั่งบริโภคอาหารที่มีรสเลิศ และมีราคาแพงที่สุดบนปะรำนี้ในอีก๗ วันข้างหน้า ใครอยากจักเห็นอาหารที่เศรษฐีรับประทานนั้นมีหน้าตาเยี่ยงไร รสชาติอร่อยแค่ไหนหรือราคาแพงสักปานใด ก็ให้มาดูได้

ครั้นถึงวันงานเหล่าประชาชนต่างก็พากันมามุงดูกันจนเนืองแน่นล้นหลาม แต่ละคนต่างก็ไม่
เคยเห็นของกินจำนวนมากที่มีหน้าตาสวยงาม มีสีสันน่ากินอย่างนี้มาก่อน จึงพากันวิพากษ์ วิจารณ์กันไปต่างๆนานา

และก็ให้บังเอิญเสียนี่กระไร สายวันนั้นมีหนุ่มชนบทผู้หนึ่งเขาได้นำฟืนมาขายที่ยังเมืองหลวง พอขายเสร็จก็เลยถือโอกาสว่าจะไปเยี่ยมสหายเก่า แต่พอไปถึงบ้านสหายปรากฎคนที่บ้านบอกสหายผู้นี้ไม่อยู่ ออกไปดูเศรษฐีบริโภคอาหารอวดประชาชนที่ปะรำพิธี ดังนั้นหนุ่มชนบทจึงถามถึงเส้นทางที่จะไปยังปะรำพิธีกับเขา พอทราบก็รีบตามไปทันที

เมื่อไปถึงก็เห็นที่บนปะรำนั้นมีอาหารวางอยู่หลายหลากมากชนิด แต่ละชนิดหน้าตาล้วนน่ากิน เรียงอยู่ในถาดไม่รู้ว่ากี่ถาดต่อกี่ถาด ชายตัดฟืนพอเห็นเข้าก็ให้รู้สึกอยากกินอาหารเหล่านั้นขึ้นมาทันใด เกินที่จะห้ามใจได้ ดังนั้นจึงร้องออกไปว่า “ ข้าแต่ท่านเศรษฐี ขอท่านโปรดแบ่งอาหารดีๆเหล่านี้แก่ข้าพเจ้าสักหน่อยจักได้ไหม? ตั้งแต่เกิดมาข้าพเจ้ายังไม่เคยเห็นอาหารใดจักมีหน้าตาน่ากินอย่างนี้มาก่อน ข้าพเจ้าอยากจักลิ้มลองสักครั้ง ไม่ทราบท่านจักเมตตาได้หรือไม่? ”

ลูกเศรษฐีเมื่อเห็นท่าทีของชายบ้านนอกเขาก็รู้ว่าบุรุษผู้นี้ปรารถนาจักกินอาหารเหล่านี้จริงๆ ดังนั้นจึงแกล้งตั้งเงื่อนไขว่า

“ ดูก่อนบุรุษหนุ่ม จักกินนั้นไม่ยากดอก เพียงแต่ท่านต้องมาเป็นข้ารับใช้ข้าพเจ้า ๓ ปีก่อน หลังจากนั้นข้าพเจ้าถึงจักยอมให้ท่านได้กินอาหารเหล่านี้ถาดหนึ่ง ไม่ทราบท่านพอจักทำได้ไหมเล่า? ” บุตรเศรษฐีกล่าวไปอย่างนั้นเอง ในใจเขาไม่เชื่อว่าชายเบื้องหน้าจักกล้าตกปากรับคำ ปรากฎที่ไหนได้ หนุ่มบ้านนอกกลับตอบออกมาด้วยเสียงอันดังว่า “ สามปีจักเป็นไรเล่า ข้าพเจ้ายินดียอมเป็นข้ารับใช้ท่าน! ”

บรรดาประชาชนที่อยู่รอบๆเมื่อเห็นหนุ่มชนบทกล้ายอมรับเงื่อนไขอันโหดร้ายของลูกเศรษฐีเพียงเพื่อให้ได้กินอาหารแค่มื้อหนึ่ง ต่างก็ลงความเห็นว่าเขาช่างเป็นบุรุษที่โง่เขลานัก ดังนั้นจึงพากันตั้งชื่อให้เขาว่า “ ภัตตภติกะมานพ ” ซึ่งแปลว่า “ ชายรับจ้างทำงานเพื่ออาหาร ”

หลังจากที่เขายอมรับเงื่อนไข ภัตตภติกะหนุ่มก็เข้ามาเป็นข้ารับใช้ในบ้านของท่านเศรษฐี บรรดางานทั้งหลายไม่ว่าจักเป็นงานหนักงานเบาเมื่อเศรษฐีเรียกใช้ เขาจักรีบกระวีกระกวาดทำให้อย่างเต็มอกเต็มใจทุกครั้ง จนท่านเศรษฐีเกิดความนิยมรักใคร่และให้ความไว้เนื้อเชื่อใจ กระทั่งกาลเวลาได้ผ่านไปครบ ๓ ปี

เมื่อถึงกำหนดลูกเศรษฐีก็ได้ทำตามสัญญา จัดงานกินอวดให้กับเขาเหมือนดังที่ตนเคยทำเมื่อสามปีก่อน แต่ปรากฎงานครั้งนี้ประชาชนกลับให้ความสนใจมากกว่างานที่เขาเคยจัดเสียอีก บรรดาผู้คนจากตำบลต่างๆที่อยู่ใกล้เคียง พอรู้ข่าวการกินอวดของภัตตภติกะหนุ่มพวกเขาต่างก็พากันมาร่วมมุงดูกันจนเนืองแน่นล้นหลาม

กล่าวกันว่าค่าใช้จ่ายการจัดงานครั้งนี้ ลูกเศรษฐีได้จ่ายทรัพย์ให้พ่อครัวไปถึงสามพันกหาปณะ โดยสองพันแรกสำหรับอาหารมื้อเช้าและเย็นของเขา ส่วนอีกหนึ่งพันสำหรับอาหารของภัตตภติกะ

นอกจากจัดงานให้อย่างยิ่งใหญ่ยังไม่พอ ลูกเศรษฐียังให้นายภัตตภติกะอาบน้ำชำระร่างกายปะพรมเครื่องหอมของเขา นำผ้าสาฎกมาให้เขาใส่ อนุญาตให้เขานั่งบนบัลลังก์ที่ตนเคยนั่ง จัดบ่าวไพร่มาคอยปรนนิบัติรับใช้ นอกจากนั้นยังมอบทรัพย์ให้อีกก้อนใหญ่สำหรับเป็นทุนเมื่อเขาออกไปจากบ้านนี้

ในเช้าวันเดียวกันนั้น ณ เทือกเขาคันธมาทน์แห่งหิมวันตประเทศ มีพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปหนึ่งท่านเพิ่งจักออกจากนิโรธสมาบัติพอดี แหละท่านก็กำลังใคร่ครวญว่าอานิสงส์ครั้งใหญ่นี้ควรจักได้แก่ผู้ใด?

ทันใดภาพของภัตตภติกะหนุ่มก็ปรากฎขึ้นในมโนทวารของท่าน พอเห็นดังนั้นท่านก็ทราบว่าบุรุษผู้นี้เป็นผู้มีใจศรัทธา และอานิสงส์ที่เขาถวายทานท่านจักทำให้เขาได้มหาสมบัติครั้งใหญ่ ดังนั้นจึงหยิบจีวรขึ้นมาห่มพร้อมกับคว้าบาตรมาถือ จากนั้นก็เหาะขึ้นฟ้ามุ่งหน้ามายังชมพูทวีปโดยพลัน

เมื่อมาถึงท่านได้ไปปรากฎกายอยู่ติดกับปะรำ ใกล้กับบัลลังก์ที่ภัตตภติกะกำลังนั่งรอเตรียมตัวจะบริโภคอาหารพอดี ชายหนุ่มจู่ๆเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามาปรากฎข้างๆก็ให้รู้สึกประหลาดใจ พอเหลือบไปเห็นบาตรที่ท่านอุ้มอยู่เขาก็ผุดความคิดว่า

“ โอ้หนอ! การที่เรายอมเป็นข้ารับใช้ ๓ ปีก็เพื่อได้กินอาหารถาดเดียว สาเหตุเพราะกาลก่อนเราไม่เคยให้ทาน บัดนี้อาหารเบื้องหน้าหากเราบริโภคไป อย่างมากก็ทำให้เราอยู่ได้แค่เพียงวันหนึ่งกับคืนหนึ่ง แต่ถ้าเราถวายอาหารถาดนี้แด่พระคุณเจ้ารูปนี้ อาหารเหล่านี้เราอาจรักษาไว้ได้ถึงพันปีโกฏิปี! อย่ากระนั้นเลย จำเราจักยกอาหารทั้งหมดนี้ให้กับสมณเบื้องหน้าเสียเถิด จึงจักเป็นการดีที่สุด! ”

เมื่อคิดดังนั้นนายภัตตภติกะคนยากก็ยกเอาถาดอาหารทั้งหมดของตนถวายให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้าทันที พร้อมกันนั้นก็อธิษฐานในใจว่า “ ตราบใดที่ข้าพเจ้ายังเวียนว่ายตายเกิดอยู่ ขอความสุขจงมีแก่ข้าพเจ้าในทุกๆที่ที่ไปบังเกิดด้วยเถิด แลขอให้ธรรมใดที่พระคุณเจ้าเห็นแล้วจงบังเกิดแก่ข้าพเจ้าในธรรมนั้นด้วยเถิด! ”

ทานใดที่บุคคลถวายแล้วไม่เหลือไว้เพื่อตนแม้เพียงน้อย ทานนั้นย่อมมีผลมากที่สุด!

หลังจากที่พระปัจเจกพุทธเจ้ารับเอาอาหารของภัตตภติกะแล้วท่านได้ให้พรกับเขาว่า “ สิ่งใดที่ท่านปรารถนาขอจงสำเร็จเหมือนแก้วสารพัดนึก ความสุขทุกอย่างที่มีบนโลก ขอจงบริบูรณ์แด่ท่านเหมือนดั่งพระจันทร์วันเพ็ญปานฉะนั้น! ” พอให้พรเสร็จท่านก็อธิษฐานจิตให้มหาชนที่อยู่ ณ ที่นั้นเห็นภาพที่ท่านกำลังจะเดินทางกลับด้วยตาตนเอง จากนั้นท่านก็เหาะขึ้นฟ้ากลับยังเขาคันธมาทน์ ณ ป่าหิมพานต์

พอถึงเขาคันธมาทน์ท่านก็อธิษฐานจิตให้อาหารที่ภัตตภติกะถวายนั้น มีปริมาณมากพอจักแบ่งให้กับพระปัจเจกพุทธเจ้ารูปอื่นๆได้อีก ถึง ๕๐๐ รูป บรรดาประชาชนเมื่อเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้ามีมากมายถึงปานนั้น ต่างก็พากันเปล่งเสียงสาธุการกันพร้อมพรั่ง จนกระหึ่มไปทั่วอาณาบริเวณแทบนั้น

ฝ่ายลูกเศรษฐีซึ่งนั่งบริโภคอาหารอยู่ในคฤหาสน์อย่างมีความสุข จู่ๆยินเสียงกัมปนาทกึกก้อง ก็ถึงกับสะดุ้งตกใจ คิดว่าบรรดาผู้คนต่างพากันหัวเราะเยาะภัตตภติกะหนุ่ม จึงสั่งบ่าวไพร่ให้ไปดู

ครั้นพอบ่าวไพร่กลับมารายงานเรื่องราวให้ทราบเขาก็ถึงกับรำพึงขึ้นในใจ “ ช่างน่าอัศจรรย์นัก! นายภัตตภติกะผู้นี้สามารถทำสิ่งที่บุคคลทั่วไปยากจักกระทำได้ ตัวเราแม้มีสมบัติมากมายแต่ก็ยังมิอาจทำได้เหมือนเขา อย่ากระนั้นเลย เราจงขออนุญาตเขาให้เราได้มีส่วนในบุญด้วยเถิด ท่าจักดี! ” พอคิดดังนั้นลูกเศรษฐีก็สั่งให้บ่าวไปเชิญตัวภัตตภติกะมาพบ

พอนายภัตตภติกะมาถึงเขาได้ถามชายหนุ่มว่า “ ดูก่อนพ่อมหาจำเริญ ข้าพเจ้าทราบว่าท่านได้ถวายอาหารอันเลิศรสแด่พระปัจเจกพุทธเจ้าจนหมดสิ้น เรื่องนี้เป็นจริงหรือไม่? ” ภัตตภติกะมานพพอฟังจึงตอบไปว่า “ จริงขอรับ นายท่าน! ” ลูกเศรษฐีพอได้รับคำยืนยันก็ไม่รอช้า รีบถามเขาว่า

“ ดูก่อนพ่อผู้มีใจเมตตา หากข้าพเจ้าจักขอแบ่งบุญของพ่อครึ่งหนึ่ง พ่อจักยินดีหรือไม่? ”

ภัตตภติกะหนุ่มเมื่อฟังลูกเศรษฐีถามดังนั้นจึงตอบไปว่าตนยินดีเป็นอย่างยิ่ง คำตอบของเขาทำให้ลูกเศรษฐีถึงกับปลาบปลื้มจนยากจักกล่าว ดังนั้นเพื่อเป็นการทดแทนคุณเขาจึงยกสมบัติของตนอีกครึ่งหนึ่งให้กับภัตตภติกะมานพ

ต่อมาภายหลังเมื่อพระราชาได้ทรงทราบเรื่องการถวายทานของภัตตภติกะ แลเรื่องที่ลูกเศรษฐียกสมบัติครึ่งหนึ่งให้เขา พระองค์จึงทรงพระราชทานทรัพย์ส่วนพระองค์ให้กับเขาด้วยเช่นกัน นอกจากนั้นยังทรงพระราชทานตำแหน่งเศรษฐีให้ด้วย โดยตั้งเขาเป็น “ ภัตตภติกเศรษฐี ”

ภัตตภติกเศรษฐีได้ใช้ชีวิตอยู่บนโลกอย่างมีความสุขเรื่อยมาตราบจนหมดสิ้นอายุขัย แหละพอตายจากมนุษย์ด้วยอานิสงส์ที่ทำไว้ เขาก็ได้ไปบังเกิดยังเทวโลกเสวยสุขจากทิพสมบัติต่ออีกเป็นเวลาถึง ๑ พุทธันดร จนพุทธุปบาทกาลนี้แล จึงมาปฏิสนธิในตระกูลอุปัฏฐากพระสารีบุตรนามว่า “ สุขะ ” ซึ่งก็คือสุขสามเณรนั่นเอง.

( ที่มา : อรรถกถา ขุททกนิกาย )

https://84000.org/tipitaka/attha/attha. ... &i=20&p=11

.....................................................
พระธรรมคำสอน บัญญัติ ตรัส ไว้ดีแล้ว ไม่ต้องลด ไม่ต้องเพิ่ม ไม่ต้องแก้ไข ใดๆ ทั้งสิ้น


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร