วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 03:55  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ต.ค. 2008, 07:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 07 ก.ย. 2005, 15:24
โพสต์: 179


 ข้อมูลส่วนตัว


กรรมลิขิต
รวบรวมเรียบเรียงโดย
ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ


น.ธ.เอก, วศ.บ. (จุฬาฯ), M.S. (Computer)
วัดโสมนัสวิหาร กรุงเทพมหานคร

ISBN: 974-87126-7-2

พิมพ์ครั้งที่ ๑ พฤศจิกายน ๒๕๓๕ พิมพ์ครั้งที่ ๘ พฤษภาคม ๒๕๔๐
พิมพ์ครั้งที่ ๒ เมษายน ๒๕๓๖ พิมพ์ครั้งที่ ๙ พฤษภาคม ๒๕๔๐
พิมพ์ครั้งที่ ๓ พฤษภาคม ๒๕๓๖ พิมพ์ครั้งที่ ๑๐ กันยายน ๒๕๔๐ (แก้ไข)
พิมพ์ครั้งที่ ๔ พฤศจิกายน ๒๕๓๖ พิมพ์ครั้งที่ ๑๑ มกราคม ๒๕๔๑
พิมพ์ครั้งที่ ๕ ธันวาคม ๒๕๓๘ (แก้ไขเพิ่มเติม) พิมพ์ครั้งที่ ๑๒ ตุลาคม ๒๕๔๑
พิมพ์ครั้งที่ ๖ กุมภาพันธ์ ๒๕๓๙ พิมพ์ครั้งที่ ๑๓ กันยายน ๒๕๔๒ (แก้ไข, เพิ่ม-ลด)
พิมพ์ครั้งที่ ๗ สิงหาคม ๒๕๓๙

สารบัญ
* กรรมลิขิต * ผู้เห็นผิด * มนุษย์เปรต * คบคนชั่วปราชัย
* นิยาม ๕ * ที่ลับไม่มีในโลก * ห่วงหนี้ * อานิสงส์เมตตา
* กรรมชั่วและกรรมดี * หนีไม่พ้น * ตาต่อตา * พ้นเพราะบุญ
* ผลของกรรม * หลาวนั้นคืนสนอง * คดไม่คุ้ม * มาร้ายไปดี
* วิบัติและสมบัติ * กรรมที่ตามราวีท่านนายพล * ร้อนไม่จริง * ผู้โชคดี
* กรรม ๑๒ * นกก็มีหัวใจ * สายเกินไป * อานิสงส์ศีล
* มรณสมัย * คู่เวร * ดวงจะช่วยอะไรได้ * ทรชนคนบาป
* นรกสวรรค์ ๓ ประเภท * ธุลีทวนลม * พลั้งปากเสียเงิน * ปลาเป็นเหตุ
* ภูมิ ๓๑ * เสียสัตย์เสียชีพ * บุญมาวาสนาช่วย
* หลักฐานเรื่องนรกสวรรค์จากพระไตรปิฎก * ปากมีสี * เข็ดจริงๆ
* เหตุการณ์ปัจจุบันที่พิสูจน์ว่าตายแล้วเกิด * บทเรียนจากชีวิตเพื่อน * บั้นปลายของวายร้าย
คำนำ

เป็นที่รู้กันดีว่า ในปัจจุบัน ผู้คนจำนวนมากไม่เชื่อเรื่องบุญบาป มีความเห็นผิดเพี้ยนไปว่า การทำความดีหรือความชั่ว จะมีผลก็ต่อเมื่อมีผู้รู้เห็นเท่านั้น ถ้าทำชั่วแล้วปกปิดไม่ให้ผู้อื่นรู้ ก็เชื่อว่าอาจได้ดี อย่างน้อยก็ไม่เป็นผลร้าย ตรงกันข้าม ถึงจะทำดีสักปานใด ถ้าเจ้านายไม่ชอบ (หน้า) หรือไม่รู้ไม่เห็น ก็อาจไร้รางวัลหรือผลตอบแทน เป็นเหตุให้ศีลธรรมของประชาชนเสื่อมลง จึงมีการลักฉ้อปล้นฆ่าข่มขืนกันทุกวัน และที่เป็นปัญหาระดับชาติคือ การคอร์รัปชั่น ที่เป็นเช่นนี้เพราะมีตัวอย่างว่า เมื่อฉ้อราษฎร์บังหลวง (อย่างเงียบเชียบไม่มีใครรู้หรือกินกันเป็นทีมอย่างแนบเนียน จนจับไม่ได้ไล่ไม่ทันเพราะขาดใบเสร็จ) จนร่ำรวยแล้ว แทนที่จะรังเกียจ กลับมีคนยกย่องนับถือคบหาสมาคมด้วย ทำให้คนที่ไม่เคยคอร์รัปชั่นอยากทำตาม การคอร์รัปชั่นจึงระบาดไปทั่ว ผู้มีอำนาจทั้งภาครัฐและภาคเอกชนช่วยกันทุจริตจนเศรษฐกิจพินาศ ประเทศชาติแทบล่มสลาย เกิดปัญหาขึ้นมากมาย
วิธีแก้ปัญหาด้วยการออกกฎหมายก็ดี การอัดฉีดเม็ดเงินก็ดี เป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ จึงไม่ได้ผลเท่าที่ควร จะต้องอัดฉีดธรรมะเพื่อแก้ไขที่ใจอันเป็นต้นเหตุด้วย กล่าวคือ เมื่อประชาชนส่วนใหญ่ได้รับการศึกษาจนมีความเห็นที่ถูกต้อง มีความเชื่อมั่นว่า บุญบาปนรกสวรรค์มีจริง ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ก็จะเกรงกลัวบาปกรรม ไม่กล้าทำชั่ว ปัญหาต่างๆ ก็จะค่อยๆ คลี่คลายไปเอง
เนื้อหาของหนังสือ กรรมลิขิต ประกอบด้วย ผลงานค้นคว้าทางวิชาการที่บ่งชี้ว่าตายแล้วเกิด หลักฐานเรื่องนรกสวรรค์จากพระไตรปิฎก ดี-ชั่ว ถูก-ผิด ควร-ไม่ควร จะตัดสินอย่างไร ทำไมจึงเข้าใจผิดว่า ทำดีไม่ได้ดี ทำชั่วได้ดี ปรากฏการณ์ทางจิตของผู้ใกล้ตาย ทำไมบางคนเกิดมารวย บางคนเกิดมาจน (อายุยืน-อายุสั้น โรคน้อย-โรคมาก รูปสวย-ขี้เหร่) และตัวอย่างจากประสบการณ์ของบุคคลรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ซึ่งแสดงให้เห็นว่าบุญบาปมีจริง
เรื่องที่นำมาเสนอจะกล่าวถึงบุคคล สถานที่ และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้น จึงสนุกสนาน อ่านเพลิน ในขณะเดียวกัน ก็เป็นอุทาหรณ์เตือนใจให้ผู้อ่านเชื่อมั่นในผลแห่งบุญและบาป เมื่อเกิดศรัทธาแล้ว ก็จะเริ่มละบาปบำเพ็ญบุญให้ยิ่งๆ ขึ้นไป เป็นคนดีไม่มีพิษมีภัยแก่สังคม
บ้านเมืองนี้ไม่ได้ขาดแคลนพระพุทธรูปมหึมา หรือมหาเจดีย์ แต่ขาดแคลนคนดีมีคุณธรรมเป็นอย่างมาก หากหนังสือนี้จะช่วยสะกิดใจผู้มีอำนาจวาสนาที่หลงผิดให้สำนึกบาปบุญคุณโทษ กลับตัวเป็นคนดีได้ แม้เพียงคนเดียว ก็น่าพอใจแล้ว และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า หนังสือนี้จะมีส่วนช่วยปลูกฝังเยาวชนของชาติให้เติบใหญ่ เป็นคนรุ่นใหม่ที่มีวิสัยทัศน์ โปร่งใส และไม่คอร์รัปชั่น
ขออนุโมทนาแด่ท่านผู้บริจาคทรัพย์ ท่านเจ้าของผลงานทุกรูปแบบที่ปรากฏในหนังสือนี้ รวมทั้งท่านที่ให้ความช่วยเหลือและคำแนะนำต่างๆ ทำให้การพิมพ์หนังสือนี้สำเร็จด้วยดี ท่านเหล่านี้ย่อมมีส่วนเป็นเจ้าของธรรมวิทยาทานนี้ด้วย หากมีความผิดพลาดใดๆ ในหนังสือนี้ ขอท่านผู้รู้กรุณาช่วยแนะนำ แก้ไข หรือท้วงติงด้วย

ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ
๑ กันยายน ๒๕๔๒
วัดโสมนัสวิหาร คณะ ๖
ป้อมปราบฯ กทม. ๑๐๑๐๐
โทร. ๖๒๙–๙๖๓๔
กรรมลิขิต
กรรมหมายถึงการกระทำที่ประกอบด้วยเจตนา เมื่อจงใจแล้วก็ย่อมทำกรรมทางกาย ทางวาจา หรือทางใจ เรียกว่า กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ตามลำดับ กรรมจึงเป็นคำกลางๆ ไม่ดีไม่ชั่ว แต่คนทั่วไปมักเข้าใจว่า กรรมหมายถึงบาปหรือเคราะห์ เป็นการเข้าใจไปในทางร้ายแต่อย่างเดียว เช่น คนที่เกิดมาจนหรือพิการ ก็พูดว่าคนมีกรรม
พุทธศาสนาสอนว่า ความเป็นอยู่หรือชะตาชีวิตของคนเรานั้น ไม่ขึ้นกับเวลาตกฟาก ไม่ขึ้นกับอำนาจดวงดาว ไม่ขึ้นกับอำนาจพรหมลิขิต แต่ขึ้นอยู่กับกรรม กรรมต่างหากเป็นผู้ลิขิตชะตาชีวิตหรืออนาคตของคนเรา ทุกคนต่างลิขิตโชคดีโชคร้าย ลิขิตความเจริญความเสื่อมให้แก่ชีวิตด้วยกรรมของตนเอง กล่าวคือ ถ้าอยากได้ดีมีความสุขความเจริญ ก็ต้องทำแต่กรรมดี ในทางตรงกันข้าม ถ้าทำกรรมชั่ว ชีวิตก็จะมีแต่ความทุกข์ความเดือดร้อน เป็นไปตามพระบาลี (เล่ม ๑๕ ข้อ ๓๓๓ ย่อว่า ๑๕/๓๓๓) ที่ว่า
กลฺยาณการี กลฺยาณํ ทำดีได้ดี
ปาปการี จ ปาปกํ ทำชั่วได้ชั่ว
คนที่เชื่อมั่นในหลัก “กรรมลิขิต” ว่า “ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว” ย่อมทำแต่ความดีหลีกหนีความชั่ว รู้จักพึ่งตนเอง ขยันทำกิจการไม่เกียจคร้าน ไม่ผัดวันประกันพรุ่ง ไม่สร้างวิมานในอากาศ ประสงค์สิ่งใดก็ลงมือทำ เพื่อให้เป็นจริงตามปรารถนา เมื่อมีอุปสรรคเกิดขึ้นก็ไม่ย่อท้อ พยายามหาทางแก้ไขและต่อสู้จนประสบความสำเร็จ คนประเภทนี้แม้จะเกิดมายากจนเพราะอำนาจของกรรมชั่วที่ทำไว้ในอดีต ก็มักจะก่อร่างสร้างตัวจนฐานะความเป็นอยู่ดีขึ้น ด้วยอำนาจกรรมดีที่ทำในปัจจุบัน ไม่มัวแต่เพ้อฝันอยากได้ดีลอยๆ โดยไม่ลงมือทำ ถ้าความอยากได้ดีลอยๆ โดยไม่ต้องทำอะไร จะเป็นเหตุให้สำเร็จความปรารถนาแล้ว ใครเล่าในโลกนี้จะยากจน หรือพลาดจากสิ่งที่หวัง

นิยาม ๕
ตามหลักของพุทธศาสนา นิยามหรือกฎธรรมชาติมี ๕ อย่าง คือ
๑. พีชนิยาม กฎแห่งพืช ธรรมดาของพืช เช่น ปลูกถั่วได้ถั่ว (ไม่ใช่งา) อ้อยมีรสหวาน ดอกทานตะวันหันหน้าไปทางดวงอาทิตย์
๒. อุตุนิยาม กฎแห่งฤดู ธรรมดาของฤดู เช่น ฝนตก แดดออก ลมพัด ลมไม่พัด น้ำขึ้น น้ำลง ดอกบัวกลางวันแย้มกลางคืนหุบ ดอกแก้วต่างต้นบานพร้อมกัน
๓. กรรมนิยาม กฎแห่งกรรม ว่าด้วยการกระทำของมนุษย์ คือ ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว
๔. จิตนิยาม กฎแห่งจิต ธรรมชาติของจิต เช่น เกิดดับตลอดเวลา รับอารมณ์ทีละอย่าง
๕. ธรรมนิยาม กฎแห่งธรรมะ คือ สังขารทั้งปวงไม่เที่ยง สังขารทั้งปวงเป็นทุกข์ ธรรมทั้งปวงเป็นอนัตตา การที่สิ่งมีชีวิตต้องวนเวียนเกิดแก่เจ็บตาย ยากจะหลุดพ้นได้ ก็เป็นไปตามธรรมนิยามนี้เอง
เนื่องจากนิยามมี ๕ (แต่นิยามอื่นล้วนสรุปลงในธรรมนิยาม) ปรากฏการณ์ต่างๆ จึงเกิดจากกฎธรรมชาติหลายอย่างรวมกัน ดังนั้น ความเข้าใจที่ว่า ทุกสิ่งในโลกล้วนขึ้นกับกรรมนิยาม จึงเป็นความเข้าใจที่ผิด อย่างไรก็ตาม กรรมนิยามเป็นนิยามที่สำคัญมากสำหรับมนุษย์ เพราะเกี่ยวข้องกับมนุษย์โดยตรง มนุษย์มีสิทธิที่จะเลือกทำกรรมตามความพอใจ แล้วกรรมนั้นจะเป็นผู้ลิขิตโชคชะตาหรืออนาคตของมนุษย์ ส่วนนิยามอื่นๆ เป็นเรื่องของธรรมชาติ เช่น กลางวัน กลางคืน ฤดูหนาว ฤดูร้อน เกิดจากการที่โลกหมุนรอบตัวเองและรอบดวงอาทิตย์ มนุษย์จะห้ามปรามหรือเปลี่ยนแปลงไม่ได้ มนุษย์จึงต้องปรับตัวให้เข้ากับธรรมชาติ เช่น ประดิษฐ์หลอดไฟเพื่อให้แสงสว่างในเวลากลางคืน ประดิษฐ์เครื่องปรับอากาศเพื่อผ่อนคลายความหนาวร้อน สุขทุกข์ของมนุษย์จึงขึ้นอยู่กับกรรมนิยามเป็นสำคัญ

กรรมชั่วและกรรมดี
การวินิจฉัยว่า สิ่งใดเป็นกรรมดี สิ่งใดเป็นกรรมชั่ว สิ่งใดถูก สิ่งใดผิด สิ่งใดควรทำ สิ่งใดไม่ควรทำ มีหลักเกณฑ์ดังนี้คือ
๑. การกระทำที่มีเหตุมาจากกุศลมูล คือ อโลภะ อโทสะ อโมหะ การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ ถ้ามีเหตุมาจากอกุศลมูล คือ โลภะ โทสะ โมหะ การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ
๒. การกระทำที่ไม่เป็นไปเพื่อเบียดเบียนใครๆ มีสุขเป็นผล ไม่ทำให้ร้อนใจภายหลัง การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ ถ้าเป็นไปเพื่อเบียดเบียนตนหรือผู้อื่น มีทุกข์เป็นผล หรือทำให้ร้อนใจภายหลัง การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ
๓. การกระทำที่ทำให้กุศลธรรมเจริญขึ้น อกุศลธรรมเสื่อมไป การกระทำนั้นเป็นกรรมดี ถูก เป็นบุญ ควรทำ ถ้าทำให้กุศลธรรมเสื่อมไป อกุศลธรรมเจริญขึ้น การกระทำนั้นเป็นกรรมชั่ว ผิด เป็นบาป ไม่ควรทำ
การกระทำความดีที่สมบูรณ์แบบนั้น ต้องทำให้ครบวงจร คือ ดีทั้งเหตุ ดีทั้งผล และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องต่างได้รับผลดี เช่น ในการปล่อยสัตว์ ผู้ปล่อยก็ได้บุญ คือ รู้สึกดีใจชื่นใจที่ตนได้ทำความดี สัตว์ที่ถูกปล่อยก็ดีใจที่มีชีวิตรอดพ้นจากความตาย หรือพ้นจากการจองจำ
การกระทำบางอย่าง เช่น หลับในเวลาเรียน แม้จะไม่ใช่กรรมชั่ว แต่ก็เป็นสิ่งที่ไม่สมควร ดังนั้นนอกจากพิจารณาเหตุและผลดังกล่าวแล้ว ก่อนจะทำอะไรลงไป ควรพิจารณาถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
๑. กฎหมาย การทำผิดกฎหมายย่อมไม่สมควร เช่น การ จอดรถในที่ห้ามจอด
๒. ศีล การกระทำบางอย่าง เช่น การฆ่าสัตว์โดยมีอาชญาบัตรถูกต้อง แม้จะไม่ผิดกฎหมาย แต่ผิดศีล จึงไม่ควรทำ สำหรับคฤหัสถ์ควรรักษาศีลห้าเป็นอย่างน้อย
๓. ฐานะ การกระทำใด ถ้าไม่เหมาะกับเพศ วัย ความรู้ กำลัง ยศ ตระกูล หรือ ฐานะในสังคมของตน การกระทำนั้นไม่สมควร เช่น เป็นชายแต่แต่งกายเหมือนหญิง มีรายได้น้อยแต่ชอบใช้ของแพงๆ
๔. คำตำหนิ พระพุทธเจ้าตรัสว่า ติตนเองด้วยสิ่งใด ไม่ควรทำสิ่งนั้น ดังนั้น การกระทำใด ถ้าตนเองตำหนิ หรือ ผู้รู้ (จักผิดชอบชั่วดี) ตำหนิ การกระทำนั้นไม่สมควร คำตำหนิของผู้รู้เปรียบเหมือนลายแทงขุมทรัพย์ ผู้นำมาพิจารณาโดยแยบคายจะได้รับประโยชน์ คือ รู้ข้อบกพร่องในตัว แล้วแก้ไขเสีย
๕. กาลเวลา การกระทำที่ไม่เหมาะสมกับกาลเวลาแบ่งได้ ๔ ลักษณะ คือ
๕.๑ ควรจะรีบแต่กลับเฉื่อยชา เช่น การปฐมพยาบาลผู้ประสบอุบัติเหตุหรือป่วยหนัก ต้องทำอย่างรีบด่วน ถ้าช้าอาจเกิดอันตรายถึงชีวิตได้
๕.๒ ควรจะช้าแต่กลับเร็ว เช่น การรีบกลืนอาหารโดยไม่เคี้ยวให้ละเอียดทำให้อาหารย่อยยาก
๕.๓ ผิดเวลา ถ้าพูดไม่ถูกกาลเวลา เช่น การพูดกับคนที่กำลังโกรธมักจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี การทำผิดเวลา เช่น ซื้อควายหน้านา ซื้อผ้าหน้าหนาว ย่อมได้ของแพง เพราะไม่วางแผนไว้ล่วงหน้า
๕.๔ ผิดลำดับ คือ ควรทำก่อนกลับทำทีหลัง ควรทำทีหลังกลับทำก่อน
อรรถกถาอาวาริยชาดกกล่าวถึงคนแจวเรือจ้างข้ามฟาก เขาส่งผู้โดยสารข้ามแม่น้ำคงคาก่อนแล้วค่อยทวงค่าจ้างภายหลัง การทำผิดลำดับทำให้เขาต้องทะเลาะกับผู้โดยสารที่ไม่ยอมจ่ายค่าจ้าง เขาต้องใช้วิธีด่าและทุบตีผู้โดยสาร จึงจะได้ค่าจ้าง ถ้าเขาใช้นโยบาย จ่ายก่อน จรทีหลัง ซึ่งเป็นวิธีที่ถูกต้อง เขาจะเรียกร้องค่าจ้างได้มากตามต้องการ เพราะผู้โดยสารที่อยากจะข้ามฟาก แม้เกินราคาค่าจ้างก็ให้ได้
๖. สถานที่ การกระทำที่ไม่เหมาะกับสถานที่มี ๒ ลักษณะ คือ
๖.๑ ขัดกับประเพณีอันดีงาม เช่น การแต่งกายด้วยสีฉูดฉาดไปในงานศพ คนไทยเราไม่นิยมทำกัน ท่านจึงสอนว่า เข้าเมือง ตาหลิ่วต้องหลิ่วตาตาม
๖.๒ ขัดกับสภาพแวดล้อม เช่น การสวมเสื้อผ้าสีดำหรือสีที่มืดทึบในขณะที่อากาศร้อนเป็นสิ่งที่ไม่เหมาะสม เพราะสีดำจะดูดความร้อนได้ดีทำให้ร่างกายร้อนมาก เมื่อกลางปี ๒๕๓๘ ในสหรัฐอเมริกา อากาศร้อนจัดมาก มีผู้เสียชีวิตเกือบพันคนเพราะปรับตัวให้เข้ากับอากาศที่ร้อนจัดไม่ได้
อนึ่ง การอยู่ในถิ่นที่มีมลพิษมาก ห่างไกลจากที่ทำงาน ไกลจากวัด มีแหล่งอบายมุขมาก เป็นสิ่งที่ไม่ควร เพราะเป็นอันตรายแก่สุขภาพและไม่สะดวกในการประกอบอาชีพและการปฏิบัติธรรม
๗. ความพอดี การกระทำที่ไม่พอดี คือ ทำยังไม่ถึงดีหรือทำเลยดี ทำให้ผลที่ออกมาไม่ดี เช่น การหุง ข้าวนานจนเลยความพอดี ย่อมได้ข้าวไหม้ ถ้าหุงยังไม่ถึงจุดที่พอดี ก็เลิกหุงเสียก่อน ข้าวก็สุกๆ ดิบๆ
กรรมชั่วมีมาก ในที่นี้จะกล่าวถึงทุจริต ๓ ชนิด รวม ๑๐ อย่าง คือ
๑. กายทุจริต ได้แก่ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม
๒. วจีทุจริต ได้แก่ พูดเท็จ พูดคำหยาบ พูดส่อเสียด พูดเพ้อเจ้อ
๓. มโนทุจริต ได้แก่ อยากได้ของเขาในทางไม่ชอบ ปองร้ายเขา มีความเห็นผิด (เช่น ทานไม่มีผล กรรม ดีกรรมชั่วไม่มีผล นรกสวรรค์ไม่มี พ่อแม่ไม่มีบุญคุณ)
เมื่อแบ่งย่อยออกไปอีก คือ ฆ่าสัตว์ด้วยตนเอง ชักชวนผู้อื่นในการฆ่าสัตว์ พอใจในการฆ่าสัตว์ กล่าวสรรเสริญการฆ่าสัตว์ ..... กล่าวสรรเสริญความเห็นผิด รวม ๔๐ เรียกว่า อกุศลกรรมบถ ๔๐
กรรมชั่วย่อมนำไปสู่คุกตะรางหรือนรก ควรเว้นเสีย และควรเว้นอบายมุขซึ่งเป็นเหตุให้ฉิบหาย เช่น น้ำเมา การพนัน คนชั่ว ความเกียจคร้าน เป็นต้น
กรรมดีมีมาก เช่น กุศลกรรมบถ ๔๐ (การละเว้นอกุศลกรรมบถ ๔๐)
บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ คือ กรรมดีหรือบุญที่เกิดจากการให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา การอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ การขวนขวายในกิจที่ชอบ การให้ส่วนบุญ การอนุโมทนาส่วนบุญ การฟังธรรม การแสดงธรรม การทำความเห็นให้ตรง
มงคล ๓๘ คือเหตุแห่งความเจริญ เช่น ไม่คบคนพาล คบบัณฑิต ไม่ประมาท สันโดษ อดทน เป็นต้น
กรรมดีเป็นสิ่งที่ควรกระทำเพราะนำความสุขมาให้ทั้งในชาตินี้ และชาติหน้า

ผลของกรรม
จูฬกัมมวิภังคสูตร (๑๔/๕๗๙) พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลของกรรมดีกรรมชั่ว ๗ คู่ ดังนี้
๑. ผลการฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงอบาย หากไม่เข้าถึงอบายถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุสั้น ผลการไม่ฆ่าสัตว์ ตายไปจะเข้าถึงสุคติ โลกสวรรค์ หากไม่เข้าถึงสุคติโลกสวรรค์ ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีอายุยืน
๒. ผลการเบียดเบียนสัตว์ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคมาก ผลการไม่เบียดเบียนสัตว์ ... ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็มีโรคน้อย
๓. ผลการเป็นคนมักโกรธ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณทราม ผลการเป็นคนไม่มักโกรธ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีผิวพรรณงาม
๔. ผลการริษยาในลาภสักการะของคนอื่น ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์ต่ำ ผลการไม่ริษยาในลาภสักการะของคนอื่น ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีศักดิ์สูง
๕. ผลการไม่ให้ทาน ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็ยากจน ผลการให้ทาน ... ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ก็ร่ำรวย
๖. ผลของความกระด้างเย่อหยิ่ง ไม่ไหว้คนที่ควรไหว้ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลต่ำ ผลของความไม่กระด้างเย่อหยิ่ง ไหว้คนที่ควรไหว้ ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็เกิดในตระกูลสูง
๗. ผลการไม่เข้าไปหาผู้รู้ ไม่สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็โง่เขลา ผลการเข้าไปหาผู้รู้ สนใจถามเรื่องบาป บุญ ดี ชั่ว ... ถ้าเกิดเป็นมนุษย์ก็มีปัญญาดี
ทักขิณาวิภังคสูตร (๑๔/๗๑๑) พระพุทธเจ้าตรัสถึงผลการให้ทานว่า
๑. ให้ทานในสัตว์เดรัจฉานได้ผลร้อยเท่า
๒. ให้ทานในปุถุชนผู้ทุศีลได้ผลพันเท่า
๓. ให้ทานในปุถุชนผู้มีศีลได้ผลแสนเท่า
๔. ให้ทานในบุคคลภายนอกผู้ปราศจากความกำหนัดในกามได้ผลแสนโกฏิเท่า
๕. ให้ทานในท่านผู้ปฏิบัติเพื่อทำโสดาปัตติผลให้แจ้งได้ผล นับประมาณไม่ได้
๖. ถ้าให้ทานในพระโสดาบัน พระสกทาคามี พระอนาคามี พระอรหันต์ พระปัจเจกพุทธะ และพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผลยิ่งไม่อาจนับประมาณได้เลย
สัปปุริสทานสูตร (๒๒/๑๔๘) พระพุทธเจ้าตรัสถึงทาน ๕ ประการ
๑. ทานที่ให้ด้วยศรัทธา ทำให้ร่ำรวยและมีรูปงาม
๒. ทานที่ให้โดยเคารพ ทำให้ร่ำรวยและมีบุตร ภรรยา บริวาร ที่เชื่อฟัง
๓. ทานที่ให้โดยกาลอันควร ทำให้ร่ำรวยตั้งแต่ปฐมวัย
๔. ทานที่ให้ด้วยจิตอนุเคราะห์ ทำให้ร่ำรวยและพอใจใช้ของดีๆ
๕. ทานที่ให้โดยไม่กระทบตนและผู้อื่น ทำให้ร่ำรวยและทรัพย์นั้นปลอดภัยจากไฟ น้ำ หรือการแย่งชิงของผู้อื่น
ทานสูตร (๒๓/๔๙) พระพุทธเจ้าตรัสถึงการให้ทาน ๗ อย่าง
๑. การให้ทานด้วยคิดว่า ตายไปจักได้เสวยผลทานนี้ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นจาตุมหาราชิกา
๒. การให้ทานด้วยคิดว่า ทานเป็นการดี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
๓. การให้ทานด้วยคิดว่า บิดามารดาปู่ย่าตายายเคยให้ เราไม่ควรทำให้เสียประเพณี เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นยามา
๔. การให้ทานด้วยคิดว่า เราหุงหากินได้จะไม่ให้ทานแก่สมณะผู้ไม่หุงหา ไม่สมควร เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นดุสิต
๕. การให้ทานด้วยคิดว่า เราจักเป็นผู้จำแนกแจกทานเหมือนฤษีครั้งก่อน เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นนิมมานรดี
๖. การให้ทานด้วยคิดว่า เมื่อเราให้ทานอย่างนี้ จิตจะเลื่อมใส เกิดความปลื้มใจสุขใจ เมื่อตายแล้วย่อมเกิดในสวรรค์ชั้นปรนิมมิตวสวัตดี
๗. การให้ทานเพื่อเป็นเครื่องปรุงแต่งจิต เมื่อตายแล้วย่อมเกิด ในพรหมโลก (ชั้นสุทธาวาส) ภายหลังย่อมปรินิพพานในภพนั้นเอง (อรรถกถาอธิบายว่า เขาไม่อาจไปเกิดในพรหมโลกด้วยทาน แต่ด้วยจิตอันประดับด้วยทานนั้น เขาทำฌานและอริยมรรคให้บังเกิด ย่อมเกิดในพรหมโลกด้วยฌาน)
อรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ กล่าวถึงทาน ๔ ประการ คือ
๑. ให้ทานด้วยตน ไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๒. ชักชวนผู้อื่น ไม่ให้ด้วยตน ย่อมได้บริวารสมบัติ ไม่ได้โภคสมบัติ
๓. ไม่ให้ด้วยตน ทั้งไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้โภคสมบัติ ไม่ได้บริวารสมบัติ
๔. ให้ด้วยตน ทั้งชักชวนผู้อื่น ย่อมได้ทั้งโภคสมบัติ และบริวารสมบัติ
อรรถกถากล่าวว่า ทานที่มีผลมากประกอบด้วยองค์ ๓ คือ
๑. ผู้รับมีศีลมีคุณธรรม
๒. ของที่ให้ได้มาอย่างสุจริต มีประโยชน์และสมควรแก่ผู้รับ
๓. มีเจตนาบริสุทธิ์ มีจิตใจที่ยินดี แจ่มใส เบิกบาน ทั้งก่อนให้ ขณะให้ และเมื่อให้แล้ว
อรรถกถากล่าวว่า ผลแห่งบาปจะมากหรือน้อยขึ้นกับองค์ ๓ คือ
๑. ถ้าคน สัตว์ หรือสิ่งของที่ล่วงละเมิด มีความดี ประโยชน์ หรือมูลค่ามาก บาปก็มาก ถ้าความดี ประโยชน์หรือมูลค่าน้อย บาปก็น้อย
๒. ถ้าความพยายามมากก็บาปมาก ถ้าความพยายามน้อยก็บาปน้อย
๓. ถ้าเหตุจูงใจคือราคะโทสะโมหะมากก็บาปมาก ถ้าราคะโทสะโมหะน้อยก็บาปน้อย

วิบัติและสมบัติ

ผลดีย่อมเกิดจากกรรมดี กรรมดีจะไม่ให้ผลชั่ว แต่ให้ผลดีเมื่อมีโอกาส ถ้าทำดีแล้วยังไม่ได้ดี แสดงว่ามีข้อเสียหรือวิบัติขัดขวาง วิบัติมี ๔ คือ
๑. คติวิบัติ กำเนิดชั่ว ในอบายภูมิ ในตระกูลต่ำ ยากจน ถิ่นกันดาร
๒. อุปธิวิบัติ รูปชั่ว พิการ อ่อนแอ ปัญญาอ่อน
๓. กาลวิบัติ กลียุค ภัยพิบัติมาก คนชั่วมีอำนาจ ผู้คนไร้ศีลธรรม
๔. ปโยควิบัติ ความเพียรเลว ย่อหย่อน ทำผิดวิธี
วิบัติย่อมสนับสนุนกรรมชั่วบางอย่าง เช่น ผู้ที่เกิดมาจนย่อมลำบากอยู่แล้ว ถ้าเกียจคร้านย่อมลำบากเป็นทวีคูณ
วิบัติอาจขัดขวางกรรมดีบางอย่างในบางโอกาส แต่ขัดขวางความดีบางอย่างไม่ได้ เช่น ในถิ่นกันดาร คนขยันอาจเป็นอยู่อย่างฝืดเคือง ในการสมัครงาน คนขี้เหร่ แม้มีคุณสมบัติครบ ก็มักจะไม่ได้งาน รูปร่างอาจเป็นอุปสรรคในการทำงาน แต่ศาลจะไม่ตัดสินผู้บริสุทธิ์ให้เป็นผู้ผิดโดยใช้รูปร่างเป็นเกณฑ์
วิบัติ ๔ นี้เองเป็นสาเหตุของความเห็นผิดที่ว่า ทำดีได้ดีมีที่ไหน
ตรงกันข้าม ถ้าทำชั่วแล้วยังไม่ได้ชั่ว แสดงว่ามีข้อดีหรือสมบัติคุ้มครอง สมบัติมี ๔ คือ
๑. คติสมบัติ กำเนิดดี เป็นเทวดา มนุษย์ สูงศักดิ์ ร่ำรวย ถิ่นที่เจริญ
๒. อุปธิสมบัติ รูปดี แข็งแรง ฉลาด
๓. กาลสมบัติ ยุคเจริญ โลกอุดมสมบูรณ์ คนดีมีอำนาจ ผู้คนมีศีลธรรม
๔. ปโยคสมบัติ ความเพียรชอบ แข็งขัน ทำถูกวิธี
สมบัติย่อมสนับสนุนกรรมดีบางอย่าง เช่น คนที่ร่ำรวยอยู่แล้ว ถ้าฉลาดและขยันก็จะเจริญรุ่งเรืองยิ่งขึ้น
สมบัติอาจขัดขวางกรรมชั่วบางอย่างในบางโอกาส แต่ขัดขวางกรรมชั่วบางอย่างไม่ได้ เช่น ในประเทศที่ร่ำรวย คนเกียจคร้านก็ยังสุขสบายด้วยสวัสดิการจากรัฐบาล ในที่ลับตาหรือเวลาที่ปลอดคน โจรกรรมมักจะสำเร็จ แต่เมื่อทำบ่อย ๆ ย่อมถูกจับได้
สมบัติ ๔ นี้เองทำให้บางคนเข้าใจผิดว่า ทำชั่วได้ดีมีถมไป

กรรม ๑๒
คัมภีร์อรรถกถาได้จำแนกกรรมเป็น ๓ หมวดๆ ละ ๔ รวมเป็น กรรม ๑๒ คือ
หมวดที่ ๑ กรรมจำแนกตามกาลที่ให้ผลมี ๔ คือ
๑. ทิฏฐธรรมเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาตินี้
๒. อุปปัชชเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติหน้า
๓. อปราปริยเวทนียกรรม กรรมให้ผลในชาติต่อๆ ไป
๔. อโหสิกรรม กรรมเลิกให้ผล
หมวดที่ ๒ กรรมจำแนกตามหน้าที่มี ๔ คือ
๕. ชนกกรรม กรรมแต่งให้เกิด (เป็นมนุษย์ เปรต ฯลฯ)
๖. อุปัตถัมภกกรรม กรรมที่สนับสนุนชนกกรรม ถ้าเกิดดี ก็ส่งให้ดียิ่งขึ้น ถ้าเกิดชั่ว ก็ส่งให้ชั่วยิ่งขึ้น
๗. อุปปีฬกกรรม กรรมบีบคั้นชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมให้เบาบางลง อุปปีฬกกรรมเป็นกรรมตรงข้ามกับกรรมเดิม
๘. อุปฆาตกกรรม กรรมตัดรอนชนกกรรมและอุปัตถัมภกกรรมให้ตกไป แล้วให้ผลตรงกันข้าม จากดีเป็นชั่ว จากชั่วเป็นดี
หมวดที่ ๓ กรรมจำแนกตามความหนักเบามี ๔ คือ
๙. ครุกกรรม กรรมหนัก ได้แก่ อนันตริยกรรม ๕ สมาบัติ ๘
๑๐. พหุลกรรม กรรมที่มีกำลัง แต่ไม่เท่าครุกกรรม หรือกรรม ที่ทำบ่อยจนชิน ให้ผลรองจากครุกกรรม
๑๑. อาสันนกรรม กรรมที่ทำเมื่อจวนจะตาย ถ้าไม่มี ๒ ข้อก่อน ก็จะให้ผลก่อน แต่อาจารย์บางท่านกล่าวว่า อาสันนกรรมให้ผลก่อนพหุลกรรม อุปมาเหมือนโคที่ไม่มีกำลัง แต่ยืนอยู่ใกล้ประตูคอก เมื่อประตูเปิด ก็ออกไปได้ก่อนโคที่มีกำลัง แต่ยืนอยู่ไกลจากประตู
๑๒. กตัตตากรรม กรรมที่ทำด้วยเจตนาอ่อน คือ ประมาท รู้เท่าไม่ถึงการณ์ หรือไม่ได้ตั้งใจไว้ ต่อเมื่อไม่มีกรรมอื่นให้ผล กรรมนี้จึงให้ผล
มรณสมัย
ตะเกียงน้ำมันที่ลุกโพลงต้องดับลงเพราะเหตุ ๔ อย่าง คือ ไส้หมด น้ำมันหมด ทั้งไส้ทั้งน้ำมันหมด ไส้และน้ำมันยังมีแต่ถูกลมพัดดับ ฉันใด ชีวิตก็ดับลงด้วย มรณะ ๔ ฉันนั้น
พระพุทธเจ้าทรงแสดง มรณะ ๔ อย่าง ได้แก่
๑. อายุกขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุ คือสิ้นอายุขัย อายุขัยของ มนุษย์ไม่แน่นอน สมัยใดทำดีมาก ทำชั่วน้อย อายุขัยก็ยืน สมัยใดทำชั่วมาก ทำดีน้อย อายุขัยก็สั้น สมัยพุทธกาลอายุขัยประมาณ ๑๐๐ ปี ปัจจุบันประมาณ ๗๕ ปี คนที่ตายเมื่ออายุ ๗๕ ปี (ขาดหรือเกินเล็กน้อย) หรืออยู่ถึง ๑๐๐ ปี หรือมากกว่าแต่จะไม่เกิน ๑๕๐ ปี (สองเท่าของอายุขัย) เพราะอำนาจบุญที่งดเว้นการฆ่าสัตว์ ก็ชื่อว่าตายเพราะสิ้นอายุ (ไส้หมด)
๒. กัมมักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นกรรม ชนกกรรมนำให้เกิดเป็นมนุษย์ และอุปัตถัมภกกรรมอุดหนุนให้มีชีวิตอยู่ต่อไปได้เพียง ๕ ๑๐ ๒๐ หรือ ๕๐ ปี แล้วก็ตายโดยไม่ถึงอายุขัยคือ ๗๕ ปี (น้ำมันหมด)
๓. อุภยักขยมรณะ ตายเพราะสิ้นอายุและกรรม ชนกกรรมนำเกิดเป็นมนุษย์ และอุปัตถัมภกกรรมอุดหนุนจนมีชีวิตอยู่ถึงอายุขัย แล้วก็ตาย (ทั้งไส้ทั้งน้ำมันหมด)
๔. อุปัจเฉทกมรณะ ตายเพราะถูกกรรมเข้ามาตัดรอนกรรมในที่นี้หมายถึงอุปัจเฉทกกรรม เช่น ถูกรถชนตาย ตกน้ำตาย (ลมพัดดับ)
(กรรม โดย คณะสหายธรรม)
เมื่อเกิดมาแล้ว ทุกชีวิตก็แก่พอที่จะตายได้ บางคนตายอย่างกระทันหันทั้งที่กำลังหลับสนิท แม้ไม่รู้ล่วงหน้า แต่ก่อนที่จะตาย นิมิต ย่อมปรากฏขึ้นเพื่อให้จิตยึดเป็นอารมณ์ของปฏิสนธิ นิมิตมี ๓ แต่จะปรากฏแก่จิตของผู้ใกล้ตายเพียงอย่างใดอย่างหนึ่ง นิมิต ๓ ได้แก่
๑. กรรม หมายถึง จิตยึดเอากรรมอย่างหนึ่งที่เคยทำไว้เป็นอารมณ์ อารมณ์นี้เป็นอารมณ์ทางใจเท่านั้น กล่าวคือจิตคิดถึงบุญหรือบาปที่เคยทำไว้ ถ้าคิดถึงบุญ สีหน้ามักจะเบิกบานแจ่มใสบอกลางแห่งสุคติ ถ้าคิดถึงบาป มักจะมีท่าทีกระสับกระส่ายบอกลางแห่งทุคติ นิมิตนี้มักเกิดกับบุคคลที่คิดอยู่เป็นนาน ก่อนจะทำบุญหรือบาป
๒. กรรมนิมิต หมายถึง จิตยึดเอาวัตถุที่เกี่ยวข้องกับกรรมในอดีตเป็นอารมณ์ อารมณ์นี้ได้แก่อารมณ์ ๖ คือ รูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส เรื่องที่รู้ทางใจ ซึ่งเกี่ยวข้องกับบุญหรือบาปที่เคยทำไว้ โดยมีภาพวัด พระพุทธรูป ไทยธรรม เสียงสวดมนต์ กลิ่นดอกไม้บูชาพระ ฯลฯ เป็นนิมิตของสุคติ ภาพอุปกรณ์ที่ใช้ทำบาป ภาพหรือเสียงสาปแช่งของ ศัตรู ฯลฯ เป็นนิมิตแห่งทุคติ นิมิตนี้มักเกิดกับบุคคลที่ทำบุญหรือบาปโดยไม่ได้คิดล่วงหน้า
๓. คตินิมิต หมายถึง จิตยึดเอาอารมณ์ ๖ ที่จะได้พบเห็นหรือเสวยในภพหน้าเป็นอารมณ์ โดยมีวิมาน ฯลฯ เป็นนิมิตแห่งเทวโลก ครรภ์มารดา ฯลฯ เป็นนิมิตแห่งโลกมนุษย์ เปลวไฟ ถ้ำ ฯลฯ เป็นนิมิตแห่งอบายภูมิ นิมิตนี้มักเกิดกับบุคคลผู้ใฝ่ฝันถึงผลของบุญและบาปที่จะเกิดขึ้น

นรกสวรรค์ ๓ ประเภท
พุทธศาสนาสอนว่า นรกสวรรค์นั้นมีอยู่จริง และได้แบ่งแยกนรกสวรรค์ไว้เป็น ๓ ประเภทคือ
๑. สวรรค์ในอกนรกในใจ ได้แก่อารมณ์ทางทวารทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ถ้าได้เสพอารมณ์ที่เป็นที่ตั้งแห่งความสุข เป็นที่พออกพอใจแล้วก็เรียกว่าสวรรค์ ตรงกันข้าม ถ้าอารมณ์ที่เสพไม่เป็นที่พอใจ ก็ถือว่าเป็น นรก เป็นนรกสวรรค์ที่เห็นกันได้ในปัจจุบันนี้ ชาตินี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า
๒. นรกสวรรค์ในโลกนี้ที่มองเห็นได้ด้วยตาเนื้อ ได้แก่ความเป็นอยู่ภายนอกของมนุษย์ในโลกนี้ ที่มีความมั่งมีศรีสุข มีความเป็นอยู่อุดมสมบูรณ์ มีเครื่องใช้สอยประณีตเหนือมนุษย์สามัญ มีความเป็นอยู่สะดวกสบายราวกับอยู่ในสวรรค์ ตรงกันข้าม ถ้าเกิดมายากจน ขาดแคลนเสื้อผ้าอาหาร บ้านก็ไม่มีต้องเที่ยวเร่ร่อนไป มีชีวิตอยู่อย่างลำบากยากแค้น หรือมีโรคเรื้อรังรักษาไม่หาย เป็นคนพิการ ตาบอด หูหนวก บ้าใบ้ ง่อยเปลี้ยเสียขา อยู่อย่างทรมานไปวันๆ อย่างนี้ก็เรียกว่านรก
นายแพทย์ไมคลอส นีซลิ เป็นเชลยชาวยิวซึ่งโชคดีมีชีวิตรอดจากค่ายกักกันของพวกนาซี เขาได้บรรยายถึงค่ายกักกันเชลย ซึ่งมีสภาพอันทารุณโหดร้ายราวกับนรกบนดิน ความบางตอนว่า
พวกเยอรมันบังคับให้พวกเชลยขึ้นรถไฟหลายขบวน แต่ละขบวนมีตู้รถประมาณ ๔๐-๕๐ ตู้ และแต่ละตู้ต้องเบียดเสียดกันแน่นประมาณ ๘๐-๙๐ คน แทบไม่มีที่นอนหรือเหยียดแขนขา ซ้ำร้ายภายในตู้ ก็มืดทึบและอากาศก็อุดอู้ แถมไม่มีส้วมให้ใช้ คิดดูเอาเถอะว่านี่มันนรกหรืออะไรกันแน่ พวกเชลยต้องทรมานอยู่ในตู้รถไฟ ซึ่งมีคนป่วยและคนตายนอนกองทับกันรอบตัวถึงห้าวันกว่าจะเดินทางมาถึงค่ายกักกัน
ภายในค่ายหลายแห่ง ในแต่ละวันจะมีนักโทษประมาณ ๘๐๐-๑,๐๐๐ คน ถูกอัดเพิ่มเข้าไปในกรงขังจนแทบไม่มีที่อาศัยหลับนอน บางแห่งนักโทษยัดทะนานจนไม่สามารถเหยียดแขนขาออกไปรอบข้างได้สะดวก ในเวลากลางคืน พวกเขาจะพากันนอนหลับทั้งนอนตามยาวหรือไขว้กันโดยเอาหัวหนุนเท้า คอ หน้าอก สลับกันไป
พวกนักโทษไม่มีเวลานอนหลับสบายโดยตลอด เวลาตี ๓ มีสัญญาณแตรปลุกให้ตื่น ใครนอนขี้เซาหรือกำลังสะลึมสะลือจะถูกปลุกด้วยกระบอง หรือทั้งเตะทั้งถีบ บางครั้งถูกราดด้วยน้ำทั้งถังจน เปียกโชก ทุกคนต้องรีบวิ่งออกไปเข้าแถวนอกคุกเพื่อขานชื่อ กว่าจะเสร็จก็เวลา ๗.๐๐ น. ในขณะขานชื่อ หากแถวใดไม่ตรง นักโทษในแถวนั้นต้องเพิ่มเวลายืนนานกว่าแถวอื่นอีกหนึ่งชั่วโมง พร้อมกับชูมือเหนือศีรษะตลอดเวลา ทำให้ขาสั่นด้วยความเมื่อยล้าและหนาวเหน็บ ในกรณีที่มีคนตายในคุก ซึ่งมีวันละ ๕-๖ คนเป็นประจำ บางวันมีคนตายถึง ๑๐ คน ศพคนตายทั้งหมดจะต้องนำมาเข้าแถวขานชื่อด้วย โดยให้นักโทษสองคนช่วยพยุงศพคนตายหนึ่งศพยืนเข้าแถว ทั้งๆ ที่บางศพดูน่าเกลียดน่ากลัวหรือน่าสมเพชมากทีเดียว สภาพของศพอยู่ในลักษณะเปลือยกาย แข็งทื่อ คอพับ ส่งกลิ่นเน่าเหม็น ศพจะถูกพยุงยืนอยู่ในแถวจนกว่าการขานชื่อนักโทษทั้งหมดจะเสร็จสิ้น ในกรณีที่เจ้าหน้าที่ยังไม่ลำเลียงศพไปยังเตาเผา โดยปล่อยทิ้งไว้ในคุกเป็นเวลานานหลายวัน ศพที่ปล่อยทิ้งไว้จะถูกนำมาเข้าแถวขานชื่อทุกครั้งจนกว่าเจ้าหน้าที่จะมาขนศพไปเผา
พวกนักโทษหญิงส่วนใหญ่คิดจะหนีให้พ้นจากความทุกข์ทรมาน แต่กลัวถูกตามล่าจึงจำต้องทนอาศัยอยู่ในคุกต่อไป พวกเธอต้องแต่งกายด้วยเสื้อผ้าเก่า เน่าเหม็นยิ่งกว่าผ้าขี้ริ้ว ต้องทนสู้กับความหนาวเหน็บ และความหิวกระหายที่เกาะกุมจิตใจอยู่ตลอดเวลา ในวันฝนตก หลังคาคุกรั่ว น้ำฝนไหลลงมา ทำให้นักโทษเปียกปอนไปตามๆ กัน และต้องทนใส่ชุดเปียกชื้นไปตลอดวันตลอดคืน อาหารที่ได้รับแจกสกปรกพอๆ กับน้ำล้างจาน รสชาติเฝื่อน มีกลิ่นเน่าเหม็น แต่ทุกคนต้องกล้ำกลืนเพื่อความอยู่รอด เนื่องจากอาหารไม่มีคุณภาพ สารไข่ขาวที่มีอยู่ในร่างกายขาดแคลน เป็นเหตุให้ขาของพวกเธอหนักขึ้นๆ การขาดแคลนไขมันทำให้ร่างกายบวมฉุ ระดูที่เคยมีก็ขาดหายไป ทำให้มีอารมณ์หงุดหงิด อาการโรคจิตโรคประสาทเกิดขึ้น และมีอาการปวดหัวข้างเดียว มีเลือดไหลออกทางจมูก ผลจากการขาด ไวตามินบีทำให้เซื่องซึม ขี้หลงขี้ลืม ไม่สามารถจดจำอะไรได้ง่าย พวกเธอลืมแม้กระทั่งเลขบ้านที่เคยอาศัย เหลือเพียงดวงตาเท่านั้นที่บอกให้รู้ว่ายังมีชีวิตอยู่
ชีวิตมนุษย์คือความพยายามต่อสู้กับสิ่งที่เรียกว่า สัญชาตญาณแห่งความตาย เพราะความจริงมีอยู่ว่า คนเรากลัวตาย แต่สำหรับเชลยในค่ายกักกันแห่งนี้ นักโทษส่วนใหญ่พอใจกับการที่จะถูกประหารชีวิต นี่คือเรื่องแปลกประหลาดอย่างยิ่ง ทำไม ? เพราะเหตุใด ?
มีอยู่หลายครั้งที่ทำให้ชาวยิวหลายหมื่นคน ต้องนั่งรอคอยเพชฌฆาตประหารชีวิตตนเป็นเวลาหลายวัน เนื่องจากคิวเรียงแถวเดินเข้าไปยังโรงงานฆ่ามนุษย์ไม่ว่าง ทั้งๆ ที่เปลวไฟและควันกลิ่นไหม้ผมและเศษเนื้อมนุษย์พวยพุ่งออกจากปล่องของเตาเผาทั้งวันทั้งคืน
ริชาร์ด ชีเวอร์ แห่งนครนิวยอร์ก กล่าวไว้ว่า
สภาพความโหดร้ายและน่าสะพรึงกลัวในค่ายกักกันเชลยของเยอรมัน ทำให้นักโทษส่วนใหญ่ที่รอดชีวิตไปได้ต้องเสียสุขภาพจิตอย่างหนัก บางคนพยายามสร้างชีวิตใหม่หลังจากได้รับอิสรภาพแล้วหลายปี แต่ก็ไม่อาจลืมเหตุการณ์อันเลวร้ายในค่ายกักกันเชลยได้ มันบั่นทอนสุขภาพทางจิตและทางกาย จนทำให้พวกเขาต้องประสบกับโรคภัยไข้เจ็บ นับตั้งแต่โรคประสาท โรคจิต และโรคร้ายต่างๆ ถึงกับเสียชีวิตไปในที่สุดหลายรายด้วยกัน
หญิงสาวคนหนึ่งได้รับอิสรภาพเมื่อเธอมีอายุ ๑๖ ปีพอดี แต่นับว่าน่าเศร้ามาก ในที่สุดเธอฆ่าตัวตายที่กรุง ปารีส เมื่อปี ค.ศ. ๑๙๕๔ นับเป็นเวลาเกือบสิบปีหลังจากเธอได้รับอิสรภาพรอดพ้นจากค่ายนรก เธอกลับไปสู่อ้อมอกแห่งวัฒนธรรมอันดีงาม ได้แต่งงานกับชายหนุ่มที่เธอรัก ฐานะการเงินของครอบครัวเธอดีมาก เธอให้กำเนิดบุตรชายคนหนึ่ง ก่อนที่เธอจะพบจุดจบของชีวิต นับเป็นเวลานานถึงหกเดือนที่เธอต้องต่อสู้กับภัยที่เกิดจากจิตใต้สำนึก ซึ่งบันทึกเอาภาพอันเลวร้าย ที่เกิดจากความทรงจำในอดีตในค่ายกักกันเชลยของเยอรมัน
(ยมทูตแห่งค่ายนรกนาซี บรรยง บุญฤทธิ์ แปล-เรียบเรียง)
วันที่ ๖ ส.ค. ๒๔๘๘ เวลา ๘.๑๕ น. เครื่องบิน B-29 ได้บรรทุกลูกระเบิดปรมาณูมาทิ้งที่เมืองฮิโรชิมา (เกิดระเบิดในท้องฟ้าที่ระดับความสูง ๕๘๐ เมตร) ผลปรากฏว่า
ผู้คนที่อยู่ในบริเวณใจกลางระเบิดนั้นตายในทันที ตัวดำเป็นผงถ่านไปหมดเพราะความร้อนบริเวณใจกลางระเบิดสูงถึงสิบล้านดีกรี (คงเป็นอุณหภูมิที่จุดศูนย์กลางซึ่งร้อนที่สุด อุณหภูมิที่พื้นดินราวสามถึงสี่พันดีกรี) คิดดูว่ามันร้อนสักเพียงไหน (น้ำเดือดที่ร้อยดีกรีเท่านั้น) บ้านเมืองราบเตียนเป็นเศษอิฐไปทั้งเมือง ผู้ที่ไม่ตายทันที เสื้อผ้าที่ห่อหุ้มร่างกายอยู่จะลุกเป็นไฟในพริบตา แขน ขา และใบหน้าก็ลุกไหม้ไปหมด ต่างพากันวิ่งไปตามถนนราวกับหุ่นที่ไร้วิญญาณ โดยไม่รู้ว่าจะวิ่งไปไหน ทุกสิ่งทุกอย่างที่อยู่รอบตัวอยู่ในสภาพลุกโพลงโชติช่วงด้วยแสงไฟ
ครั้นแล้ว ใครคนหนึ่งตะโกนขึ้นเหมือนกับคนบ้าว่า ไปลงแม่น้ำกันเถิด ทุกคนเห็นดีด้วย ปรากฏว่าในวันโลกาวินาศนั้น มีคนตัวแดงๆ เพราะไฟลวกลงไปแช่ในแม่น้ำสลอนไปหมดเหมือนฝูงสัตว์ แล้วก็ค่อยๆ ตายกันไปทีละ ๑๐-๒๐ คน เพราะทนพิษความร้อนไม่ไหว จนพวกที่ยังไม่ตายรู้สึกว่าตัวมาลอยคออยู่ท่ามกลางซากศพแท้ๆ
เมื่อแช่ไปได้สัก ๕-๖ ชั่วโมง น้ำเกิดแห้ง เลยต้องแช่จมอยู่ในโคลน เนื่องจากน้ำที่แช่เป็นน้ำเค็ม เมื่อมาถูกแผลไฟลวกเข้า ก็รู้สึกปวดแสบเหมือนเอามีดมาแทง แต่ก็เป็นมีดที่อบอุ่น ทุกคนยินดีให้มันแทง เพราะอย่างน้อยก็ดีกว่าไปยืนตัวแดง ๆ ด้วยแผลไฟลวกอยู่กลางถนน
ไม่เพียงแต่ร่างกายมนุษย์ที่ลุกแดงช่วงโชติเหมือนถ่านในเตาไฟ แม้กระทั่งเมืองทั้งเมืองก็แดงโร่ไปหมด ท้องฟ้าก็แดงเสียจนมองแทบไม่เห็นท้องฟ้า เลยไม่รู้กันว่าจวนสว่างแล้ว พอรุ่งเช้าทุกคนก็วิ่งฝ่ากลุ่ม ควันดำๆ ที่ฟุ้งตลบอยู่เพื่อไปโรงพยาบาล แต่ทางที่จะไปนั้นระเกะระกะไปด้วยเศษเหล็กและซากบ้านเรือนที่พังทลาย มีเสียงคนนอนร้องครวญครางไปตลอดทุกระยะน่าสยดสยอง นั่นไม่ใช่เปรตหรืออสุรกายที่ไหน คนเหมือนกัน
ผู้คนที่เสียชีวิตอย่างน้อยมีสามแสนคน ที่เหลือก็พิการ นอนเจ็บอยู่ที่โรงพยาบาลหรือตามบ้านโดยไม่มีใครเหลียวแล ผู้รอดชีวิตโดยบาดเจ็บเล็กน้อยมีไม่มาก นายคิกกาวาเป็นหนึ่งในบุคคลที่รอดชีวิตและต้องทนอยู่อย่างทรมาน เขาเล่าถึงความหลังว่า
ขณะที่กำลังจะผลักประตูเข้าบ้าน ทันทีที่รู้สึกว่ามีแสงประหลาด เขาก็ยกมือขึ้นปิดศีรษะ มือและหลังจึงโดนแสงนั้นเต็มที่ ต่อจากนั้นก็ไม่รู้สึกตัว มารู้สึกตัวอีกครั้ง ก็พบว่ากำลังนอนอยู่ในบ้านซึ่งเต็มไปด้วยเศษไม้ชิ้นเล็กชิ้นน้อย
เมื่อออกมานอกบ้านก็เห็นเพื่อนบ้านคนอื่นๆ วิ่งออกจากบ้าน ทุกคนเหลือแต่ร่างเปลือยและตกใจเหมือนจะเป็นบ้า ตอนนั้นเขาไม่รู้สึกเจ็บ ต่อมาอีก ๒ วันจึงเจ็บมาก เป็นไข้สูง ๔๐ กว่าองศา กินอะไรไม่ได้เลยอยู่ ๑ เดือน ผมร่วงหมด เลือดออกจากจมูกและปากเสมอ เป็นเลือดดำ ไม่ใช่เลือดแดงอย่างที่เห็นกัน และมีหนอนตัวเล็กๆ ออกมา จากผิวหนัง เขานอนเจ็บอยู่ในบ้านเล็กๆ ที่ต่างจังหวัด ๖ เดือน ตลอดเวลานั้นกินได้แต่น้ำอย่างเดียว
พ่อแม่ของเขาตายหลังจากถูกระเบิด ๒ วัน เพราะทนพิษบาดแผลไม่ได้ คนที่เจ็บเพราะระเบิดปรมาณูโดยมากตายหมด เหลือไม่ตายราวสี่พันคน พวกที่ตายถือว่าโชคดี คนโชคร้ายเท่านั้นที่รอดเหลือมา เพราะต้องผจญกับความทรมานอีกมากมาย ไม่มีบ้านอยู่ ไม่มีใครอุปการะ ตายเสียก็ไม่ตาย อยู่ไปก็มืดมนไร้อนาคต
เวลานี้ (๕ ปีหลังจากถูกระเบิด) ตัวนายคิกกาวามีแผลเป็นเต็มหลัง หมอได้พยายามลอกเอาหนังที่เสียออก ๑๖ ครั้ง แต่ไม่สำเร็จ ลอกแล้วมันขึ้นมาใหม่ไม่เป็นหนังธรรมดาเลย แต่เป็นหนังเสียทุกครั้งไป นอกจากนี้นิ้วมือเขาก็หงิกงอน่าทุเรศ
(โฉมหน้าอันแท้จริงของญี่ปุ่น โดย วิลาศ มณีวัต)
๓. นรกสวรรค์ที่เป็นปรโลก (โลกอื่น) มองไม่เห็นด้วยตา ได้แก่สวรรค์ที่เป็นโลกจริงๆ มีเทวดาอยู่เป็นตัวเป็นตน เสวยสุขอยู่จริงๆ และนรกที่เป็นโลกจริงๆ มีสัตว์นรกที่กำลังเสวยทุกข์อยู่จริงๆ นรกสวรรค์ประเภทนี้ สอดคล้องกับวิทยาศาสตร์ในปัจจุบันที่รับรองว่า โลกเรานี้เป็นสะเก็ดที่แตกออกมาจากดาวดวงมหึมา นอกจากโลกเราแล้ว ยังมีดาวดวงอื่นๆ อีก ที่คล้ายคลึงกับโลกเรา ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง จำนวนมากมายนับไม่ถ้วน
เชื่อกันว่า ดาวที่ปรากฏอยู่บนท้องฟ้ามีประมาณ ๑,๐๐๐ ล้านดวง แต่ที่มองเห็นด้วยตาเปล่ามีไม่เกิน ๖,๐๐๐ ดวง การนับดาวนับจากภาพที่ถ่ายโดยกล้องโทรทรรศน์ แล้วใช้เครื่องนับที่ทำงานด้วยแสงเลเซอร์และเครื่องคอมพิวเตอร์ ดวงดาวจำนวนมากมายเหล่านั้น อาจจะมีสิ่งมีชีวิตที่เป็นอยู่ด้วยความประณีตสุขุม ดีกว่าโลกของเราทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นอาหาร อุณหภูมิ หรือดินฟ้าอากาศ นี้แหละเรียกว่าโลกสวรรค์ ในทางตรงกันข้าม ก็อาจมีดาวบางดวงซึ่งมีสิ่งมีชีวิต ที่เป็นอยู่ด้วยความลำบากยากแค้น ยิ่งกว่าคนลำบากที่สุดในโลกของเรา อาหารก็ไม่ดี อุณหภูมิก็ไม่ดี ดินฟ้าอากาศก็ไม่ดี นี้แหละนรกที่เป็นโลกอื่น

ภูมิ ๓๑
พระไตรปิฎกซึ่งเป็นคัมภีร์สำคัญที่สุดของพุทธศาสนากล่าวถึง นรกสวรรค์ที่เป็นปรโลกไว้หลายแห่ง เช่น ๒๕/๒๗๓ (เล่ม ๒๕ ข้อ ๒๗๓) กล่าวถึงอบายภูมิ ๔ ๑๙/๑๖๘๑ กล่าวถึงสวรรค์ ๖ ๑๑/๒๓๕ กล่าวถึง อรูป (อรูปพรหม) ๔ เป็นต้น
ในคัมภีร์อรรถกถากล่าวว่า ภพหรือภูมิที่สรรพสัตว์ท่องเที่ยวเวียนว่ายตายเกิดมีทั้งหมด ๓๑ ภูมิ คือ
อบายภูมิ ๔ (นิรยภูมิ ติรัจฉานภูมิ ปิตติวิสยภูมิ อสุรกายภูมิ)
มนุษย์ ๑
สวรรค์ ๖ (จาตุมหาราชิกาภูมิ - ปรนิมมิตวสวัตตีภูมิ)
รูปพรหม ๑๖ (ปาริสัชชาภูมิ - อกนิฏฐสุทธาวาสภูมิ)
อรูปพรหม ๔ (อากาสานัญจายตนภูมิ - เนวสัญญานาสัญญายตนภูมิ)
ใน ๓๑ ภูมินี้ อบายภูมิ ๔ จัดเป็นทุคติ ที่เหลือคือ มนุษย์ เทวโลกและพรหมโลกจัดเป็นสุคติ

หลักฐานเรื่องนรกสวรรค์จากพระไตรปิฎก

เรื่องนรกสวรรค์ บางคนก็เชื่อ บางคนก็ไม่เชื่อ ส่วนใหญ่ของคนที่ไม่เชื่อมักจะอ้างว่า ถ้ามีจริงต้องมองเห็น เมื่อมองไม่เห็นก็แสดงว่าไม่มี คนที่รู้จักคิดย่อมไม่ด่วนตัดสินใจอย่างนั้น ในโลกนี้มีสิ่งต่างๆ มากมายที่เราไม่รู้ไม่เห็น เพราะการรับรู้ของประสาทสัมผัสของคนเรามีจำกัด เรามองไม่เห็นเชื้อไวรัส แต่จะอ้างว่าไม่มีไม่ได้ เพราะนักวิทยาศาสตร์พิสูจน์ได้ว่าเชื้อไวรัสมีจริง ในทำนองเดียวกัน เราผู้เป็นปุถุชนไม่มีฤทธิ์อำนาจ เมื่อมองไม่เห็นรูปกายที่ละเอียดของเทวดาหรือผี จะอ้างว่าเทวดาหรือผีไม่มีไม่ได้ เพราะนักวิทยาศาสตร์ชั้นยอดของโลกคือพระพุทธเจ้าทรงรู้เห็นและตรัสรับรอง มีบันทึกอยู่ในพระไตรปิฎกมากมาย ถ้าใช้คอมพิวเตอร์ค้นพระไตรปิฎกฉบับบาลีสยามรัฐ จะพบศัพท์ สคฺคํ (สวรรค์) ๔๐๕ ครั้ง และจะพบศัพท์ นิรยํ (นรก) ๔๘๕ ครั้ง แสดงว่าในพระไตรปิฎกมีการกล่าวถึงนรกสวรรค์อยู่เสมอ ดังตัวอย่างต่อไปนี้
พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลถามพระพุทธเจ้าว่า
ป. ก็เทวดามีจริงหรือ
พ. เพราะเหตุไรมหาบพิตร (รู้ว่าเทวดามีจริงแล้ว) จึงตรัสถามอย่างนี้
ป. ถ้าเทวดามีจริง เทวดาเหล่านั้นมาสู่โลกนี้หรือไม่มาสู่โลกนี้
พ. เทวดาเหล่าใดมีทุกข์ เทวดาเหล่านั้นมาสู่โลกนี้ เทวดาเหล่าใดไม่มีทุกข์ เทวดาเหล่านั้นไม่มาสู่โลกนี้
(กัณณกัตถลสูตร ๑๓/๕๘๐)
พระเจ้าอังคติราชผู้เห็นผิดว่า ปรโลก (เช่น สวรรค์) ไม่มี บุญบาปไม่มีผล ทูลถามนารทฤษี (ชาติในอดีตของพระพุทธเจ้า) ว่า
อ. ดูก่อนท่านนารท ที่เขาพูดกันว่า เทวดามี ปรโลกมีนั้นเป็นความจริงหรือ
น. ที่เขาพูดกันว่า เทวดามี ปรโลกมีนั้น เป็นความจริงทั้งนั้น แต่ผู้หลงงมงายในกามไม่รู้ปรโลก
อ. ถ้าท่านเชื่อว่าปรโลกมีจริง ท่านจงให้ทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะแก่ข้าพเจ้าในโลกนี้ ข้าพเจ้าจะใช้ให้ท่านพันหนึ่งในปรโลก
น. ถ้ามหาบพิตรทรงมีศีล อาตมภาพก็จะให้ยืมสัก ๕๐๐ แต่มหาบพิตรหยาบช้า ทรงจุติ (ตาย) จากโลกนี้แล้วจะต้องไปอยู่ในนรก ใครจะไปทวงทรัพย์พันหนึ่งในปรโลกเล่า ผู้ใดไม่มีศีลธรรม ประพฤติชั่ว บัณฑิตทั้งหลายย่อมไม่ให้หนี้ในผู้นั้น
(มหานารทกัสสปชาดก ๒๘/๘๗๓)
พระพุทธเจ้าตรัสกับชาวบ้านศาลา โกศลชนบท ความว่า
ผู้ที่เห็นว่า ทานไม่มีผล ผลแห่งกรรมที่สัตว์ทำดีทำชั่วไม่มี โลกหน้าไม่มี อุปปาติกสัตว์ (สัตว์ที่เกิดมาโตเต็มที่ทันที เช่น เทวดา) ไม่มี ... เป็นอันหวังได้ว่า จะไม่ประพฤติกุศลธรรม จะประพฤติอกุศลธรรมเพราะเขาไม่เห็นโทษ ความต่ำทราม ความเศร้าหมองแห่งอกุศลธรรม ไม่เห็นอานิสงส์แห่งกุศลธรรม
ก็โลกหน้ามีอยู่จริง ความเห็นของเขาว่า โลกหน้าไม่มีความเห็นของเขานั้นเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขาดำริว่า โลกหน้าไม่มี ความดำริของเขานั้นเป็นมิจฉาสังกัปปะ
ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขากล่าววาจาว่า โลกหน้าไม่มี วาจาของเขานั้นเป็นมิจฉาวาจา
ก็โลกหน้ามีอยู่จริง แต่เขากล่าววาจาว่า โลกหน้าไม่มี ผู้นี้ย่อมทำตนเป็นข้าศึกต่อพระอรหันต์ ผู้รู้แจ้งโลกหน้า
ก็โลกหน้ามีอยู่จริง เขายังผู้อื่นให้เข้าใจว่า โลกหน้าไม่มี การทำให้ผู้อื่นเข้าใจผิดของเขานั้นเป็นการกระทำที่ไม่ชอบธรรม
(อปัณณกสูตร ๑๓/๑๐๖)
พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า ในโลกอันกว้างใหญ่นี้ สมณพราหมณ์หรือเทวดาผู้มีฤทธิ์ มีทิพยจักษุรู้จิตคนอื่นได้ เห็นไปได้ไกลด้วย เข้าใกล้ก็ไม่รู้ตัว มีอยู่ ถ้าภิกษุคิดในทางอกุศล สมณพราหมณ์หรือเทวดาทั้งหลายย่อมทราบความคิดนั้น
(อธิปไตยสูตร ๒๐/๔๗๙)
พระพุทธเจ้าตรัสเล่าเรื่องคนทำบาปสิ้นชีพก็ไปเสวยทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่ในนรก ในตอนท้ายพระองค์ทรงยืนยันว่า
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย เราจะได้ฟังเรื่องเหล่านี้มาจากสมณะหรือพราหมณ์อื่น แล้วจึงมากล่าวอย่างนี้ก็หามิได้ แท้ที่จริงเรากล่าวเรื่องที่เราได้รู้เอง ได้เห็นเอง แจ่มแจ้งเองทีเดียว
(ทูตสูตร ๒๐/๔๗๕)
พระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า เมื่อใดเทวดาจะต้องจุติเพราะสิ้นอายุ เทวดาทั้งหลายย่อมอวยพรว่า ท่านจากเทวโลกนี้ไปแล้ว จงถึงสุคติคือเกิดเป็นมนุษย์ มีศรัทธาในพระสัทธรรม เป็นศรัทธาที่ตั้งมั่น อันใคร ๆ ในโลกทำให้คลอนแคลนไม่ได้
(จวมานสูตร ๒๕/๒๖๑)
พระพุทธเจ้าทรงยืนยันว่าพระองค์ทรงมีญาณทัสสนะอันประเสริฐ ๘ ประการ คือ จำโอภาส (แสงสว่าง) เทวดาได้ เห็นรูปเทวดา สนทนากับเทวดาได้ รู้ว่าเทวดามาจากเทพนิกายชั้นไหน รู้ว่าเทวดาเคลื่อนจากชั้นนี้แล้วไปเกิดชั้นไหน รู้ว่าเทวดามีอาหารและมีสุขทุกข์อย่างไร รู้ว่าเทวดามีอายุยืนยาวแค่ไหน รู้ว่าพระองค์เคยอยู่ร่วมกับเทวดาเหล่าใดบ้างหรือไม่
(คยาสูตร ๒๓/๑๖๑)
พกพรหมมีอายุยืนยาวมากจนเกิดมีความเห็นผิดว่า ฐานะแห่งพรหมเที่ยง ไม่เกิด ไม่แก่ ไม่ตาย พระพุทธเจ้าจึงเสด็จไปพรหมโลกโปรดพกพรหมให้ละมิจฉาทิฏฐินั้นเสีย
(พกสูตร ๑๕/๕๖๖)
นันทมารดาอุบาสิกาลุกขึ้นในเวลาใกล้รุ่ง สวดปารายนสูตร ทำนองสรภัญญะ ท้าวเวสสวัณมหาราช (ซึ่งเป็นเทวดาในชั้นจาตุมหาราชิกา) เสด็จผ่านไปด้วยกรณียกิจบางอย่าง ได้ทรงสดับเสียงสวดทำนองสรภัญญะของ นันทมารดาอุบาสิกา จึงประทับรอฟังจนจบ
(มาตาสูตร ๒๓/๕๐)
เมื่อมีอันตราย ๑๐ อย่าง เช่น ผีเข้าภิกษุ (อมนุสสันตราย) เป็นต้น พระพุทธเจ้าทรงอนุญาตให้สวดปาติโมกข์ย่อได้
(อุโบสถขันธกะ ๔/๑๖๓)
ประมวลเรื่อง เทวดา เทพบุตร และท้าวสักกะจอมเทพชั้นดาวดึงส์ ที่ไปทูลถามปัญหาต่อพระพุทธเจ้า มีสูตรทั้งหมด ๘๑ ๓๐ และ ๒๕ สูตร ตามลำดับ เป็นเรื่องเกี่ยวกับเทวดาล้วนๆ
(เทวตาสังยุตต์ เทวปุตตสังยุตต์ สักกสังยุตต์ เล่ม ๑๕)
พระลักขณะเดินทางไปกับพระโมคคัลลานะผู้เห็นเปรตที่มีลักษณะแปลกๆ แต่พระลักขณะไม่เห็น พระโมคคัลลานะจึงชวนท่านไปเฝ้าพระพุทธเจ้าๆ ทรงเล่าความเป็นมาของเปรตนั้นๆ ให้ทราบ มีทั้งหมด ๒๑ สูตร เป็นเรื่องเกี่ยวกับเปรตล้วนๆ
(ลักขณสังยุตต์ เล่ม ๑๖)
กล่าวถึงเทพบุตรและเทพธิดาเล่ากรรมดีในอดีตที่ทำให้ตนได้เกิดในวิมาน มีทั้งหมด ๘๕ เรื่อง เป็นเรื่องเกี่ยวกับสวรรค์ล้วนๆ
(วิมานวัตถุ เล่ม ๒๖)
กล่าวถึงกรรมชั่วที่ส่งผลให้ผู้ทำไปเกิดเป็นเปรต ได้รับความทุกข์ทรมานในลักษณะต่าง ๆ กัน มี ทั้งหมด ๕๑ เรื่อง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเปรต
(เปตวัตถุ เล่ม ๒๖)
เหตุการณ์ปัจจุบันที่พิสูจน์ว่าตายแล้วเกิด
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๐๘ มีข่าวในหนังสือพิมพ์รายวันหลายฉบับว่า ด.ช.บงกช พรหมศิลป อายุ ๓ ขวบ ระลึกชาติได้ เด็กคนนี้อยู่ที่ ต.ดอนคา อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ บิดาชื่อ นายอมร พรหมศิลป อายุ ๔๖ ปี เป็นครูใหญ่โรงเรียนวัดแรง ต.ดอนคา อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ มารดาชื่อนางไสว พรหมศิลป นางไสวเล่าว่า เมื่อด.ช.บงกช เริ่มจะพูดได้ ก็พูดบ่นและร้องไห้เสมอว่าจะไปหาพ่อแม่ เมื่อนางบอกว่าพ่อแม่ก็อยู่ที่นี่ เด็กปฏิเสธว่าไม่ใช่ เลยเกิดโทสะถึงกับตีด้วยไม้ก็มี
หลายเดือนต่อมา เด็กไปบอกคนข้างบ้านว่า เขาไม่ใช่ลูกของนางไสว เขาคือนายจำรัส ลูกชายของนายม่านและนางศรีนวล พุภูเขียว บ้านอยู่ ต.หัวถนน อ.ท่าตะโก จ.นครสวรรค์ ตายเพราะถูกแทง เขาอยากไปหาพ่อแม่ (เก่า) ขอให้พาไปด้วย เมื่อนางไสวกับสามีทราบข่าวจากชาวบ้านจึงสอบถามด.ช.บงกช เด็กบอกว่าเขาชื่อจำรัส ไม่ใช่ชื่อบงกช เขาถูกแทงตายที่ข้างศาลเจ้า ต.หัวถนน นายแบนและนายมาซึ่งเขารู้จักดี ช่วยกันแทงจนเขาตาย แล้วเอาสร้อยคอทองคำหนัก ๓ บาท แหวนทองคำ ๒ วง และนาฬิกาข้อมือของเขาไปด้วย
ตั้งแต่เกิดมา ด.ช.บงกชชอบกินปลาร้า ผิดจากพ่อแม่และพี่น้องอื่นๆ (มี ๑๐ คน แต่ตายไป ๒ คน) ซึ่งไม่กินปลาร้า โดยด.ช.บงกชไปกินกับคนข้างบ้าน และยิ่งกว่านั้นยังพูดภาษาอีสานได้ดีอีกด้วย ทั้งๆ ที่ในหมู่บ้านนั้นไม่มี ชาวอีสานเลย และบางครั้ง ด.ช.บงกชยังขอร้องมารดาให้บวชให้ ซึ่งเป็นเรื่องแปลกมาก เพราะเด็กอายุแค่ ๓ ขวบเท่านั้น
นางไสวเล่าว่า ครั้งหนึ่งเมื่อไปตลาด ด.ช.บงกชเห็นผลฝรั่งก็อยากกิน จึงบอกนางไสวว่าอยากกินหมากสีดา นางไสวไม่เข้าใจ เด็กจึงชี้ให้ดูผลฝรั่ง นางไสวจึงได้รู้ว่า ชาวอีสานเรียกฝรั่งว่าหมากสีดา
เรื่องการตายของนายจำรัส ผู้สื่อข่าวได้ตรวจสอบหลักฐานจากทะเบียนคดีอาญาของอำเภอท่าตะโก ก็พบว่ามีจริง นายจำรัสอายุ ๑๘ ปี บุตรนายม่าน พุภูเขียว และนางศรีนวล ถูกแทงตายเมื่อเดือนกุมภาพันธ์ ๒๔๙๖ เหตุเกิด ที่บริเวณงานวัดหัวถนน ต.หัวถนน อ.ท่าตะโก
นายม่านซึ่งเป็นบิดาของนายจำรัส ได้เล่าถึงการตายของลูกชายว่า วันนั้นมีงานที่วัดหัวถนน มัน (จำรัส) บอกผมว่าจะไปเที่ยว ตอนไปมันใส่ทองหนัก ๓ บาท นาฬิกา ๑ เรือน แหวนทองนาค ๒ วง พอ ๒ ยามเศษ ตำรวจก็มาบอกว่าลูกชายถูกคนร้ายแทงตายและชิงทรัพย์ไปหมด ผมจำได้ว่ามันสวมเสื้อขาวแขนสั้น นุ่งกางเกงสีกากี ขาสั้น นอนตายอยู่โคนต้นตะโก ข้างศาลเจ้า
บ่ายวันรุ่งขึ้น เมื่อชันสูตรศพแล้ว ผมก็เอาไปวัดเผาเลย พอเขาตายได้ ๓ เดือนผมก็เอาจักรยานของเขาไปขายให้ทิดมี พอตกกลางคืน ลูกชายคนเล็กของผมก็ร้องไห้จนไม่ต้องหลับนอนกัน ผมเลยไปจุดธูปบอกจำรัสเรื่องรถจักรยาน เจ้าลูกคนเล็กก็หยุดร้อง ผมเลยไปซื้อรถจักรยานมาเก็บไว้จนถึงทุกวันนี้ แต่เสื้อผ้าของเขาผมให้ทานไปหมด เก็บไว้แต่มีดพกและกางเกงขายาวดำอีกตัวหนึ่งเพราะไม่มีคนใส่
นายม่านเล่าเรื่องเกี่ยวกับด.ช.บงกชว่า ผมรู้เรื่องเมื่อต้นปีนี้เอง มีคนลือกันว่าลูกผมไปเกิดที่ ต.ดอนคา ผมก็ไปกับเมียผม พอไปถึงบ้านนางไสว ด.ช.บงกชก็วิ่งมาหา ดูหมาให้ผมแล้วพูดภาษาอีสานกับผม ผมนึกเอะใจก็ลองถามเขาเรื่องสีของรถจักรยานและมีดพก เขาก็บอกว่าช่วยเก็บไว้ให้เขาด้วย เขาเอามีดพกเสียบไว้ข้างฝา ผมก็งงเป็นไก่ตาแตก ยิ่งคุยถามไปเด็กก็ตอบได้ถูกต้อง เขาต่อว่าผมไม่ไปหาเขาเลย เขาคิดถึงผมตลอดเวลา เด็กตัวเล็กๆ พูดจาเหลือเชื่อ เมื่อผมถามว่าเวลาตายใส่เสื้ออะไร เขาตอบว่าใส่เสื้อขาวแขนสั้น นุ่งกางเกงขาสั้นสีกากี ก็พ่อเป็นคนให้ใส่จำไม่ได้หรือ ผมถึงกับน้ำตาไหล แม่ของเขาก็ร้องโฮ แล้วเขาถามถึงเกวียนที่ผมเคยซื้อ ผมบอกว่าขายไปแล้ว เขาก็ไม่ว่าอะไร และยังพูดถึงน้องๆ ของเขาอย่างถูกต้อง มันเคยตีน้องมันยังเล่าถูก ผมร้องไห้เพราะเชื่อแน่ว่าเป็นลูกผม กลับถึงบ้านผมปรึกษากับเมียว่า จะขายนาสัก ๓๐ ไร่ เอาเงินไปซื้อตัวลูกคืนมา แต่ทางฝ่ายครูอมรและนางไสวไม่ยอม ส่วนเรื่องมือมีดนั้น ตำรวจจับนายมาได้ ส่วนนายแบนหนีไป ยังจับไม่ได้ เมื่อฟ้องศาลแล้ว ศาลตัดสินให้ปล่อยตัวเพราะหลักฐานอ่อน
นายม่านเล่าถึงนิสัยใจคอของนายจำรัสว่า เมื่อ ๒ ปีก่อนจะตาย นายจำรัสเคยปรารภว่าอยากจะบวชเณร แต่นายม่านนางศรีนวลทัดทานไว้เพราะเกรงว่าไม่มีคนช่วยทำนา เป็นที่น่าสังเกตว่า แม้ด.ช.บงกชในขณะนี้ ก็บ่นกับนายอมรและนางไสวเสมอว่าอยากบวช บางคราวด.ช.บงกชเอาผ้าคลุมหัวแล้วทำท่าเป็นพระ บางคราวก็บอกนางไสวว่า เมื่อโตเป็นผู้ใหญ่แล้วก็จะบวช ทั้งชาติก่อนและชาตินี้ นายจำรัสหรือด.ช.บงกชมีจิตเป็นกุศล ใคร่จะบวชในพระศาสนาอยู่เสมอ
(๒๓ ผู้กลับมาเกิดใหม่ โดย เต็ม สุวิกรม M.A.)
เมื่อเดือนมีนาคม พ.ศ. ๒๕๔๐ ดร.เจอร์เกน ไคล์ (นักจิตวิทยาชาวเยอรมัน เคยเป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยในออสเตรเลีย) ได้เดินทางมาศึกษาค้นคว้าเรื่องเด็กที่จำอดีตชาติได้ในประเทศไทยแทน ศ.น.พ.เอียน สตีเวนสัน (จิตแพทย์ชาวแคนาดา) ซึ่งชรามากแล้ว โดยมีนายสุตทยา วัชราภัย เป็นผู้ร่วมศึกษาค้นคว้า บุคคลทั้งสองได้เดินทางไปยังภาคอีสานตอนบน เพื่อหาข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่จำอดีตชาติได้ โดยสืบถามข้อมูลจากญาติพี่น้อง พยานที่รู้เห็น หรือตัวเด็กที่จำอดีตชาติได้ (บางคนโตเป็นผู้ใหญ่แล้ว) ข้อมูลที่ค้นคว้ามาได้มีมาก (ปี ๒๕๓๕-๒๕๔๑ ค้นคว้ามาได้รวม ๕๐ ราย เฉพาะปี ๒๕๔๐ มี ๘ ราย มีอีก ๗๐-๘๐ รายที่ยังไม่ได้ไปสัมภาษณ์) ผู้ที่สนใจเชิญสอบถามรายละเอียดได้จากนายสุตทยา วัชราภัย โทร.๒๕๒-๘๓๓๙ (ยินดีรับเชิญไปบรรยายเป็นการกุศล) ในที่นี้จะนำมาเสนอเพียงบางส่วนโดยย่อ ดังนี้
กรณีด.ญ. กุ๊ก กุ๊กเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๓๒ ปัจจุบัน (๒๕๔๒) อายุ ๑๐ ปี (ญาติๆ เชื่อมั่นว่า) ชาติก่อนกุ๊กเป็น ด.ญ.เขม พ่อแม่ของเขมมีฐานะดี เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๕๒๓ เขมอายุ ๗ ปี เรียนอยู่ชั้นป.๒ เขมป่วยหนักเพราะไวรัสลงตับ ขณะนั้นใกล้ถึงวันเกิดของเขม พ่อแม่ถามว่าวันเกิดอยากได้อะไร เขมบอกว่าอยากได้รถโตโยต้าโคโรน่าสีเขียว (เขมชอบสีเขียวมาก เวลาเลือกซื้อของใช้ส่วนตัวจะเลือกแต่ของสีเขียว) พ่อแม่ถามว่าอยากได้ไปทำไม เขมบอกว่าจะได้พาพ่อแม่ไปเที่ยว พ่อแม่จึงสั่งจองรถ เขมนอนป่วยอยู่ใน รพ.ศรีนครินทร์ (ขอนแก่น) ๑ เดือนก็ถึงแก่กรรม รถที่ จองไว้ก็ยกเลิกไป เรื่องที่เขมอยากได้รถเก๋งสีเขียว พ่อแม่ของกุ๊กไม่ทราบเลย
กุ๊กไม่เคยพูดว่าตนเป็นเขม แต่จากนิสัยใจคอและพฤติกรรมที่แสดงออกทำให้พ่อแม่ (และญาติ) ของกุ๊กและเขมซึ่งเป็นญาติห่างๆ กัน แน่ใจว่าเขมมาเกิดใหม่เป็นกุ๊ก พฤติกรรมที่กุ๊กแสดงออกมีดังนี้
๑. ขณะอยู่อนุบาล (๓-๔ ขวบ) ป้าพากุ๊กไปกรุงเทพฯ เมื่อพบโผ่ (ยาย) ของเขมเป็นครั้งแรก กุ๊กทำท่าสนิทสนม เข้าไปนวดโผ่ แล้วพูดว่า ขอเงินได้มั้ยล่ะ ทั้งที่กุ๊กไม่เคยขอเงินคนแปลกหน้ามาก่อนเลย เมื่อโผ่ควักเงินให้ ๑๐๐ บาท ป้าก็พูดว่า ไปขอเงินโผ่ทำไม โผ่แก่แล้ว กุ๊กยิ้มเฉยไม่ตอบ แต่โผ่พูดว่า ก็หลานของเขา (เขม) ขอเขาทุกวัน (เขม นวดให้โผ่เป็นประจำ นวดแล้วก็ขอเงิน) เมื่อกลับมาบ้านที่อีสาน ป้าก็เล่าเรื่องให้แม่ของกุ๊กฟัง แม่ถามว่า ไปขอเงินโผ่ทำไม ไม่รู้จักกัน กุ๊กตอบว่า รู้จักสิ รู้จักตั้งแต่อยู่ ป.๒ (ขณะนั้นกุ๊กอยู่แค่อนุบาล)
๒. เมื่ออยู่ ป.๑ (๖ ขวบ) เช้าวันหนึ่ง กุ๊กนั่งอยู่ที่ระเบียงโรงเรียน มีป้าและแม่ของกุ๊กนั่งอยู่ด้วย (ป้าเป็น ครูสอนภาษาไทย แม่เป็นครูสอนภาษาอังกฤษอยู่ที่โรงเรียนนั้น) กุ๊กเปิดสมุดการบ้านที่ทำเสร็จแล้ว แล้วพูดบ่นว่า เวรกรรมแท้ๆ เคยเรียน ป.๒ แล้วต้องมาเรียน ป.๑
๓. เมื่ออายุ ๖ ขวบเศษ บ่ายวันหนึ่ง แม่ของเขมมารับกุ๊กไปซื้อของ และไปค้างคืนที่บ้านของเขม ขณะที่กำลังนั่งรถเที่ยวเล่น กุ๊กพูดว่า ขอให้มาม้าอายุยืนนานๆ (เขมเรียกแม่ว่ามาม้า) แม่ของเขมถามว่า กุ๊กจะทำไมหรือ กุ๊กตอบว่า กุ๊กจะซื้อรถพามาม้าเที่ยว แม่ของเขมถามว่า อยากได้รถสีอะไร กุ๊กตอบว่า คันยาวสีเขียว แม่ของเขมถามว่า ทำไมต้องซื้อคันยาว กุ๊กตอบว่า ก็มีพี่น้องเยอะจะได้พากันไปหมด (เขมมีพี่น้องมากกว่า กุ๊กมีพี่น้องน้อยกว่า)
เมื่อลงจากรถเพื่อเดินดูของตามแผงลอยซึ่งอยู่เรียงกันเป็นแถว มีข้าวของวางไว้เป็นกองๆ แม่ของเขมเดินนำหน้ากุ๊ก ห่างพอสมควร เมื่อเห็นของสีเขียวในกองไหนก็จะหยิบซ่อนไว้ใต้กองจนหมด เมื่อกุ๊กเดินมาถึง แม่ของเขมก็ถามว่า ชอบอะไรบ้าง แล้วหยิบของเช่น กิ๊บติดผม กำไล ให้ดู แล้วพูดคะยั้นคะยอว่า ชอบไหม มาม้าจะซื้อให้ กุ๊กไม่ชอบอะไรเลย เมื่อเดินดูจนสุดทางก็ไม่ได้ของสักอย่าง ขากลับแม่ของเขมเดินนำหน้าและแอบหยิบของสีเขียวขึ้นมาไว้ข้างบนโดยที่กุ๊กไม่เห็น คราวนี้เมื่อถามกุ๊กว่า ไม่ชอบอะไรสักอย่างหรือ กุ๊กเลือกหยิบกิ๊บสีเขียว กำไลสีเขียว แม่ของเขมก็ซื้อให้
เสร็จจากซื้อของก็มาที่บ้านเขม เมื่อกุ๊กเข้าบ้านเขมเป็นครั้งแรก ก็วิ่งเข้าวิ่งออก ขึ้นชั้นบนลงชั้นล่าง ทำราวกับเป็นเจ้าของบ้าน เที่ยวดูทุกห้องจนทั่วบ้าน เวลากินข้าวเย็น ก็แสดงอาการเหมือนว่าเคยอยู่ในบ้านมานาน เช่น พูดคุยกับปาป๊าของเขมราวกับว่าเคยคุยกันทุกวัน ทั้งที่ก่อนหน้านี้ กุ๊กไม่ค่อยมีโอกาสพบกับปาป๊าของเขม จะพบกันบ้างก็ในงาน ซึ่งผู้ใหญ่จะทำเป็นไม่สนใจกุ๊ก
กรณีน.ส.อ้อม อ้อมเกิดเมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๑ ที่จังหวัดในภาคอีสานตอนบน อ้อมจำได้ว่าชาติก่อนเป็นชาย มีชื่อเล่นว่าเรด อยู่จังหวัดเดียวกัน แต่คนละอำเภอ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๑๙ ขณะที่อายุ ๑๔ ปี วันหนึ่งเรดขี่จักรยานยนต์ไป ซื้อเมล็ดผักมาปลูกในแปลงผักที่เตรียมไว้ ปรากฏว่าเมล็ดผักไม่พอ เมื่อขี่จักรยานยนต์ไปชื้อเมล็ดผักอีกครั้งก็เกิด อุบัติเหตุชนกับรถสองแถว เรดบาดเจ็บสาหัสและเสียชีวิตที่โรงพยาบาลประจำจังหวัดระหว่างการผ่าตัดสมอง
แม่ของอ้อมและแม่ของเรดเป็นญาติห่างๆ กัน แม่ของอ้อมมีศักดิ์เป็นป้าของเรด เรดเรียกแม่ของอ้อมว่าป้าอั๋น ก่อนที่อ้อมจะเกิด แม่ของอ้อมเคยฝันว่าเรดจะมาขออาศัยอยู่ด้วยถึง ๒ ครั้ง ด้วยเหตุนั้นญาติๆ จึงคอยเฝ้าดูพฤติกรรมของอ้อม เมื่ออ้อมอายุ ๒ ขวบ แม่ของเรดกับเพื่อนคนหนึ่งได้มาหาอ้อมเป็นครั้งแรก ขณะนั้น อ้อมอยู่กับยาย แม่ของเรดถามอ้อมว่า แม่ไปไหน อ้อมตอบว่า ป้าอั๋นไม่อยู่ ป้าอั๋นไปทำนา (อ้อมเรียกแม่ของตนเองว่า ป้าอั๋น อย่างที่เรดเคยเรียก) แม่ของเรดถามว่า ทำไมถึงเรียกแม่ (ของตน) ว่าป้าอั๋น อ้อมตอบว่า เขาเป็นเรดมาเกิด แม่ของเรดแย้งว่า ไม่ใช่หรอก ถ้าเป็นเรด ทำไมเป็นผู้หญิง อ้อมก็ตอบตามประสาเด็กว่า เป็นเพราะอัณฑะและอวัยวะเพศถูกไฟไหม้ไปหมดแล้วตอนที่เผาศพเรด แม่ของเรดฟังแล้วน้ำตาไหล ขณะนั้นยายถามว่า สองคนที่มานี้ จำได้ไหมว่าใคร อ้อมตอบว่า มาม้าคนนี้ พร้อมกับยกมือชี้มาที่แม่ของเรด
หลังจากนั้น แม่ของเรดก็ขออนุญาตนำเด็กไปที่บ้านเพื่อทดสอบ เมื่อไปถึงบ้านของเรดซึ่งเป็นโรงงาน มีจักรยานของคนงานจอดอยู่นอกโรงงาน ๒๐ กว่าคัน แม่ของเรดก็ให้อ้อมหาว่าจักรยานของเรดคันไหน อ้อมเข้าไปดูทีละคัน และบอกว่าไม่ใช่สักคัน แล้วเดินเข้าไปหาในโรงงานจนเจอจักรยานของเรด
เมื่อออกจากโรงงานก็เดินไปที่บ้าน ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นสำนักงานหลังจากเรดตายแล้ว อ้อมทำท่าเหลียวซ้ายแลขวา และถามว่า นี่บ้านเราหรือเปล่า ไม่เหมือนเดิมเลย
นอกจากนี้อ้อมยังรู้ที่เก็บสมุดออมสินกับนาฬิกาของเรด รู้ว่าเรดนอนที่ไหน จำรูปถ่ายกับเสื้อผ้าของเรดได้ พฤติกรรมเหล่านี้ทำให้แม่ของเรดแน่ใจว่าเรดมาเกิดเป็นอ้อม
เมื่ออ้อมอายุประมาณ ๓ ขวบ วันหนึ่ง อ้อมกับแม่ และแม่ของเรดเอาข้าวไปสีที่โรงสี อ้อมเหลือบไปเห็นผู้ชายคนหนึ่งชื่อ เชษฐ์ ยืนอยู่ที่นอกโรงสี อ้อมไม่เคยพบนายเชษฐ์มาก่อนเลย แต่กลับร้องบอกแม่ (ด้วยสำเนียงอีสาน) ว่า แม่ บักเซด แม่ของอ้อมพูดว่า ไปเรียกเขาว่าบักเซดทำไม เขาโตแล้ว (บักเป็นคำอีสานที่ใช้เรียกชายรุ่นเดียวกัน) อ้อมพูดว่า ทำไมเรียกไม่ได้ เพราะเป็นเพื่อนกัน ไม่เชื่อลองถามดูสิ เขายังเป็นหนี้เรดอยู่ ๙ บาท ที่เล่นโยนหลุมกัน พูดจบ อ้อมก็วิ่งไปหานายเชษฐ์ๆ อุ้มหนูอ้อมขึ้นมาโดยที่ไม่รู้จัก อ้อมบอกทันทีว่า ฉันคือเรด และถามนายเชษฐ์ว่า จำได้ไหม เป็นหนี้ที่เล่นโยนหลุมอยู่ ๙ บาท นายเชษฐ์บอกว่า จำได้ แล้วหยิบเงินให้เด็ก ๑๐ บาท
เมื่อรอจนสีข้าวเสร็จแล้วต่างก็พากันกลับบ้าน (จากคำบอกเล่าของสุตทยา วัชราภัย น.บ., M.P.A.)

ชื่อจริงและที่อยู่ของกุ๊กกับอ้อม (รวมทั้งเขมกับเรด) ยังเปิดเผยในขณะนี้ไม่ได้ ศ.น.พ.เอียน สตีเวนสัน ให้ เหตุผลว่า การเปิดเผยชื่อและที่อยู่จะเป็นผลเสียอย่างมากแก่การค้นคว้าในภายหน้า
การที่เด็กเหล่านี้จำอดีตชาติได้ สาเหตุสำคัญเข้าใจว่าเนื่องมาจากตายแล้วไม่นาน (ส่วนมาก ๑-๒ ปี อย่างมากไม่เกิน ๑๐ ปี) ก็ได้เกิดเป็นมนุษย์อีก คนส่วนมากจำอดีตชาติไม่ได้เพราะเวลาผ่านไปนานกว่าจะได้เกิดใหม่เป็นมนุษย์ จึงลืมเรื่องในชาติก่อน อย่างไรก็ตาม การที่คนส่วนมากจำอดีตชาติไม่ได้มิได้หมายความว่า ชาติก่อนไม่มี หรือตายแล้วสูญ เพราะถ้าตายแล้วสูญ ผู้ที่จำอดีตชาติได้ก็จะไม่มีเลย แต่ความจริงมีอยู่ว่า ผู้ที่จำอดีตชาติได้มีอยู่ทั่วโลก ทุกศาสนา ทุกเผ่าพันธุ์
ศ.น.พ.เอียน สตีเวนสัน ใช้เวลา ๓๘ ปี (พ.ศ. ๒๕๐๔-๒๕๔๑) รวบรวมข้อมูลจากผู้ที่จำอดีตชาติได้ทั่วโลกประมาณ ๒,๖๐๐ ราย ข้อมูลแต่ละรายมีความน่าเชื่อถือมากน้อยต่างกัน แต่มีหลายรายที่หลักฐานแน่นแฟ้นน่าเชื่อถือมาก ซึ่งศ.น.พ.เอียน สตีเวนสัน ได้นำมาเขียนเป็นหนังสือชื่อ ๒๐ กรณีศึกษาที่บ่งชี้ว่าตายแล้วเกิด (Twenty Cases Suggestive of Reincarnation) จะเห็นได้ว่ายิ่งวิทยาศาสตร์เจริญขึ้นก็ยิ่งสนับสนุนคำสอนในพระพุทธศาสนา เพราะพุทธธรรมเป็นความจริงที่พิสูจน์ได้เสมอ
หลักฐานอีกอย่างหนึ่งที่บ่งว่าตายแล้วเกิดคือเรื่องเด็กอัจฉริยะ
สำนักงานใหญ่ เกรท เวิลด์ กินเนส แห่งนครเซี่ยงไฮ้ สาธารณรัฐประชาชนจีน แถลงว่าได้พบเด็กอัจฉริยะคู่หนึ่ง เป็นฝาแฝด คนพี่เป็นหญิงชื่อ จ้วง เซฟาง คนน้องเป็นชายชื่อ จ้วง เซเจ็ง อายุเพียง ๓ ขวบ แต่สามารถอ่านอักษรภาษาจีนได้ถึง ๒,๔๐๐ ตัวและอ่านภาษาอังกฤษได้ ๑,๐๐๐ คำ อักษรภาษาจีนนั้น ตัวหนึ่งคือคำหนึ่ง เพราะเขาเขียนแบบผสมอักษรสำเร็จรูป
บิดาของเด็กเล่าว่า เด็กอัจฉริยะคู่นี้อ่านหนังสือพิมพ์ได้ตั้งแต่อายุแค่ ๑ ขวบ โดยไม่ได้เรียนหนังสือเลย นับเป็นบุคคลที่อ่านหนังสือออกผู้มีอายุน้อยที่สุดในประเทศจีน ซึ่งมีมาตรฐานว่า ใครสามารถอ่านตั้งแต่ ๑,๐๐๐ คำขึ้นไป เป็นผู้อ่านหนังสือได้ (น.ส.พ.ไทยรัฐ ๑๙ ม.ค. ๒๕๓๙)
มิเชล โดโช อายุ ๒ ขวบ เด็กหญิงชาวบราซิล อยู่ในเมืองอูนาโปลิส สามารถเล่นเปียโนได้ดีอย่างน่ามหัศจรรย์ โดยไม่เคยหัดเรียนเลย โน้ตเพลงก็อ่านไม่ออก เพลงที่แกเล่นเป็นเพลงคลาสสิคของไชคอฟสกี้ หรือเพลงคลาสสิคอื่นๆ เพลงสากลหรือเพลงพื้นเมืองสำหรับเด็กๆ เพียงแต่มิเชลได้ยินคนเล่นให้ฟังสักครั้ง หรือสองครั้งเท่านั้น ก็เล่นได้
ศาสตราจารย์ของวิทยาลัยดนตรีซึ่งขึ้นกับมหาวิทยาลัยแห่งชาติของบราซิล ได้กล่าวถึงหนูน้อยมิเชลว่า ความสามารถในการเล่นเปียโนของแกยอดเยี่ยมมาก แกรับความรู้ทางดนตรีได้รวดเร็วเพียงแต่ได้ยินเท่านั้น นับเป็นปรากฏการณ์ที่เหนือธรรมชาติ แกอายุเพียง ๒ ขวบเท่านั้น ผมเชื่อว่าแกมีพรสวรรค์ที่พระผู้เป็นเจ้าประทาน หนูมิเชลมีชื่อเสียงโด่งดังทั่วประเทศในฐานะนักเปียโนอัจฉริยะ และเป็นนักเปียโนอายุน้อยที่สุดในโลกยุคปัจจุบัน
(น.ส.พ.ไทยรัฐ ๒๒ มิ.ย. ๒๕๒๔)
เด็กชายทอมตาบอด (Tom the Blind) แห่งสหรัฐอเมริกา เล่นเปียโนได้อย่างน่าอัศจรรย์ตั้งแต่เป็นเด็ก โดยไม่ได้เรียนรู้จากใครมาก่อน ทอมเป็นลูกทาสที่มาจากป่าลึกแห่งอาฟริกา ยิ่งสืบสายบรรพบุรุษไกลออกไป ก็ยิ่งห่างเปียโนออกไปทุกที (แสดงว่าความสามารถทางดนตรีไม่ได้สืบทอดมาทางสายเลือด)
(ตายแล้วเกิด โดย ศ.แสง จันทร์งาม)
อัจฉริยภาพไม่ใช่สิ่งที่เกิดขึ้นเอง หรือเป็นพรที่ได้รับประทานจากสวรรค์ แต่เป็นความรู้ความสามารถที่เคยฝึกฝนอบรมในอดีตชาติจนชำนาญ และอาจสืบทอดมาจนถึงชาติปัจจุบัน ดังนั้น การที่เด็กๆ เหล่านี้อ่านหนังสือหรือ เล่นดนตรีได้ โดยไม่เคยเรียนหนังสือหรือเล่นดนตรีมาก่อน จึงไม่ใช่เรื่องมหัศจรรย์ที่ผิดวิสัยมนุษย์ ถ้าตั้งใจจริงและ ได้รับการฝึกฝนอบรมอย่างเพียงพอ ทุกคนก็เป็นอัจฉริยะได้ ความรู้ความสามารถที่สั่งสมไว้ในชาตินี้จะกลายเป็น อัจฉริยภาพในชาติต่อๆ ไป
หลักฐานจากพระไตรปิฎกและหลักฐานที่เป็นเหตุการณ์ปัจจุบันดังกล่าวมานี้ ย่อมเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า นรกสวรรค์มีจริง การเวียนว่ายตายเกิดมีจริง แต่ถ้าใครไม่เชื่อ ก็ไม่แปลกอะไร เพราะในเรื่องเดียวกัน คนเราอาจมีความเห็นต่างกันได้ อย่างไรก็ตาม สิ่งใดที่เป็นจริงแล้ว แม้คนทั้งโลกจะไม่เชื่อก็ไม่สามารถทำให้สิ่งนั้นกลายเป็นเท็จไปได้ ในสมัยก่อน แม้คนส่วนใหญ่เชื่อว่าโลกแบน ก็ไม่สามารถทำให้โลกแบนได้เลย ความจริงย่อมเป็นความจริงและทนทานต่อการพิสูจน์เสมอ ปรโลก เช่น นรก สวรรค์ ก็มีอยู่จริงในอดีต ปัจจุบันก็ยังมีอยู่ ถึงในอนาคตก็จะยังมีอยู่ และจะไม่กลับกลายเป็นอื่นไป เพราะความเชื่อหรือไม่เชื่อของบุคคลใดๆ เลย
ต่อไปจะนำเรื่องต่างๆ จากพระสูตรและอรรถกถา รวมทั้งเรื่องที่เกิดขึ้นในยุคปัจจุบัน มาเสนอท่านผู้อ่าน เพื่อนำไปพิจารณาดูว่า เข้ากันได้เพียงไรกับกฎเกณฑ์ที่ว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

ผู้เห็นผิด
ในอดีตกาล พระเจ้าอังคติราชเสวยราชสมบัติในกรุงมิถิลา คืนหนึ่ง พระองค์พร้อมด้วยข้าราชบริพาร ได้เสด็จไปหาคุณาชีวกคุณาชีวกได้แสดงลัทธิของตนว่า บุญไม่มี ทานเป็นของไม่มีผล ทานคนโง่บัญญัติไว้ คนโง่ที่สำคัญตัวว่าฉลาดให้ทาน ส่วนคนฉลาดคอยรับทาน แล้วพรรณนาถึงบาปที่ไม่มีผลว่า
รูปกายเป็นที่รวมของดิน น้ำ ลม ไฟ สุข ทุกข์และชีวิต รวม ๗ ประการ เป็นของเที่ยง ไม่ขาดสูญ การตัดศีรษะผู้อื่นด้วยดาบอันคม คมดาบย่อมผ่านเข้าไปในระหว่างรูปกายทั้ง ๗ ประการ จึงไม่ใช่การตัดร่างกายคนอื่น และไม่ เป็นบาป สัตว์ท่องเที่ยวไปในสังสารวัฏ ๘๔ มหากัปย่อมบริสุทธิ์ได้เอง เมื่อยังไม่ถึงเวลา แม้จะกระทำความดีมากมายก็บริสุทธิ์ไม่ได้
อลาตเสนาบดีชอบใจคำพูดของคุณาชีวก จึงกล่าวว่า ข้าพเจ้าระลึกชาติได้หนึ่งชาติ คือในชาติก่อน ข้าพเจ้าเกิดในเมืองพาราณสี เป็นนายพรานฆ่าโค ได้ฆ่าสัตว์เป็นอันมาก ตายจากชาตินั้นแล้วมาเกิดในตระกูลเสนาบดีนี้ บาปไม่มีผลแน่ ข้าพเจ้าจึงไม่ต้องไปนรก
ได้ยินว่า ในกาลแห่งพระทศพลทรงพระนามว่ากัสสปะ อลาตเสนาบดีบูชาพระเจดีย์ด้วยพวงดอกอังกาบ เมื่อเขาตาย ผลแห่งบาปกรรมอย่างหนึ่งส่งให้ไปเกิดในตระกูลฆ่าโค ได้กระทำบาปกรรมเป็นอันมาก ครั้นในเวลาที่เขาจะตาย บุญกรรมที่บูชาพระเจดีย์ได้โอกาส เขาจึงบังเกิดในตระกูลเสนาบดีได้รับสมบัติเช่นนี้ เมื่อระลึกชาติได้เพียงชาติเดียว ไม่อาจระลึกถึงกรรมอื่นในอดีต จึงสนับสนุนวาทะของคุณาชีวก ด้วยสำคัญผิดว่า เราได้กระทำกรรมคือการฆ่าโคจึงบังเกิดในที่นี้
ขณะนั้น คนเข็ญใจผู้หนึ่งชื่อวีชกะได้เข้าไปยังสำนักของคุณาชีวก ได้ฟังคำของคุณาชีวกและอลาตเสนาบดี ก็ร้องไห้น้ำตาไหล
พระเจ้าอังคติราชจึงตรัสถามเหตุที่ร้องไห้
นายวีชกะกราบทูลว่า ในชาติก่อน ข้าพระพุทธเจ้าเกิดเป็นเศรษฐีในเมืองสาเกต เป็นผู้มีคุณธรรม ยินดีในการบริจาคทาน มีการงานอันสะอาด ข้าพระพุทธเจ้าระลึกถึงบาปกรรมที่ตนทำไม่ได้เลย ตายจากชาตินั้นมาเกิดในครรภ์ของนางทาสีในมิถิลานครนี้ แม้จะยากจนก็ตั้งมั่นอยู่ในความประพฤติชอบ ได้ให้ทาน รักษาศีล ไม่ได้เบียดเบียนสัตว์และไม่ได้ลักทรัพย์เลย กรรมดีที่ประพฤติคงไร้ผล ศีลนี้เห็นจะไร้ประโยชน์ ข้าพระพุทธเจ้ากำแต่ความปราชัยไว้ เหมือนนักเลงผู้ไม่ได้ฝึกหัด ส่วนอลาตเสนาบดีย่อมกำแต่ชัยชนะไว้ ดังนักเลงผู้ชำนาญการพนัน ข้าพระพุทธเจ้าไม่เห็นโอกาสแห่งสุคติเลย เพราะเหตุนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้ฟังคำของคุณาชีวกแล้วจึงร้องไห้
ดังได้สดับมา ในกาลแห่งพระพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ นายวีชกะเกิดเป็นนายโคบาลแสวงหาโคที่หายไปในป่า ถูกภิกษุรูปหนึ่งผู้หลงทางถามถึงหนทาง ได้นิ่งเสีย ถูกท่านถามอีก ก็โกรธ จึงด่าภิกษุรูปนั้น บาปกรรมไม่ได้ให้ผลในชาตินั้น เมื่อเวลาตาย เพราะผลแห่งกุศลกรรมอย่างหนึ่ง เขาจึงเกิดเป็นเศรษฐีในเมืองสาเกต ได้ทำบุญ มีทาน เป็นต้น เมื่อเขาตายจากอัตภาพนั้น กรรมที่เขาด่าภิกษุผู้หลงทางได้โอกาสส่งผลให้เขาไปเกิดในท้องนางทาสี เขาไม่รู้สาเหตุที่แท้จริง จึงกล่าวด้วยสำคัญผิดว่า เพราะบุญที่ทำไว้เมื่อครั้งเป็นเศรษฐีเราจึงเกิดในท้องของนางทาสี
(อรรถกถาพรหมนารทชาดก มหานิบาต)
ในมหากัมมวิภังคสูตร (๑๔/๖๑๒) พระพุทธเจ้าทรงจำแนกการให้ผลของกรรม แบ่งเป็น ๔ ประเภท คือ
๑. บางคนทำชั่ว ตายแล้วไปอบายก็มี เพราะกรรมชั่วที่ทำไว้ในชาตินี้ให้ผล ทั้งต้องรับผลในชาติหน้าและชาติต่อๆ ไปด้วย
๒. บางคนทำชั่ว ตายแล้วไปสุคติก็มี เพราะกรรมดีที่เคยทำไว้ก่อนๆ ให้ผลส่วนกรรมชั่วในปัจจุบันยังไม่ให้ผล หรือเวลาใกล้ตาย มีความเห็นชอบ จึงไปเกิดในสุคติโลกสวรรค์
๓. บางคนทำดี ตายแล้วไปสวรรค์ก็มี เพราะกรรมดีที่ทำไว้ในชาตินี้ให้ผล ทั้งจะให้ผลในชาติหน้าและชาติต่อๆ ไปด้วย
๔. บางคนทำดี ตายแล้วไปอบายก็มี เพราะกรรมชั่วที่เคยทำไว้ก่อนๆ ให้ผล ส่วนกรรมดีในปัจจุบันยังไม่ให้ผล หรือเวลาใกล้ตาย มีความเห็นผิด จึงไปเกิดในอบาย
ผู้ที่ระลึกชาติได้หรือมีญาณอันจำกัด เมื่อไม่ได้ศึกษามหากัมมวิภังคสูตรนี้ จึงมีความเห็นผิดว่าทำชั่วได้ดี ทำดีได้ชั่ว เช่น อลาตเสนาบดีระลึกชาติได้เพียงชาติเดียว มีข้อมูลไม่พอ จึงประเมินผลผิด หรือจับคู่ เหตุ-ผล ผิดฝาผิดตัว เข้าใจผิดว่า ฆ่าโคเป็นเหตุ ตำแหน่งเสนาบดีเป็นผล (ทำชั่วได้ดี) ถ้าอลาตเสนาบดีระลึกชาติได้หลายชาติ ก็จะมีข้อมูลมากพอที่จะสรุปหรือจับคู่ เหตุ-ผล ได้ถูกต้องว่า บูชาพระเจดีย์เป็นเหตุ ตำแหน่งเสนาบดีเป็นผล (ทำดีได้ดี)
นอกจากตัวอย่างที่กล่าวมาแล้ว ขอยกตัวอย่างอื่นที่อาจทำให้เข้าใจผิดได้ เช่น เมื่อกลางดึกของวันที่ ๒๒ มิถุนายน ๒๕๔๒ บนถนนเพชรเกษม อ.ชะอำ นักแสดงชื่อดังได้หยุดรถเพื่อช่วยเหลือผู้ประสบอุบัติเหตุจักรยานยนต์ล้มคว่ำ ขณะที่กำลังนั่งดูแลคนเจ็บอยู่ที่ไหล่ทาง ดาราคนดังก็ถูกรถจักรยานยนต์อีกคันหนึ่งชนจนได้รับบาดเจ็บสาหัส
(น.ส.พ.ไทยรัฐ ๒๕ มิ.ย. ๒๕๔๒)
จากข้อมูลเท่านี้ อาจมีผู้สรุปว่า “เพราะช่วยเหลือคนเจ็บจึงเคราะห์ร้าย ถ้าไม่ช่วยคงไม่เจ็บตัว” (ทำดีได้ชั่ว) การสรุปเช่นนี้ย่อมผิดพลาดและไม่สร้างสรรค์ ทำให้คนดีเสียกำลังใจ ที่ถูกต้องควรแยกแยะว่า เพราะเคยทำให้คนอื่นบาดเจ็บ วันนี้จึงได้รับบาดเจ็บ (ทำชั่วได้ชั่ว) ถ้าไม่ได้หยุดช่วยคน อาจไปประสบอุบัติเหตุข้างหน้าจนเสียชีวิตก็ได้ และการช่วยคนเจ็บในครั้งนี้ จะให้ผลดีในโอกาสต่อไป (ทำดีได้ดี) ต่อมามีข่าวว่า นักแสดงผู้นี้พ้นขีดอันตราย ทั้งยังได้รับการยกย่องและความช่วยเหลืออย่างมากมาย
นอกจากการโยง เหตุ-ผล ผิดคู่ เพราะรู้ไม่จริงหรือขาดข้อมูล ความเห็นผิดอาจมีสาเหตุมาจาก
๑. เป็นพวกค้ากำไรเกินควร ทำดีนิดเดียวแต่หวังได้ดีมากๆ เมื่อไม่สมหวัง ก็บ่นว่า ทำดีไม่ได้ดี
๒. ทำยังไม่ถึงดี ก็เลิกเสียก่อน ถ้าหุงข้าว ก็คงได้ข้าวสุกๆ ดิบๆ
๓. ทำเลยความพอดี ถ้าหุงข้าว ก็คงได้ข้าวไหม้
๔. ทำไม่ถูกดี ไม่สร้างเหตุที่ตรงกับผลที่ต้องการ เช่น อยากรวยด้วยการซื้อหวยเลยจนตลอดชาติ
๕. ไม่เห็นเมื่อคนอื่นทำดี เห็นแต่เวลาเขาได้ดี ก็เลยบ่นว่า(เขา) ไม่ทำแต่ได้ดี
๖. เข้าใจว่าดีคือรวยเพียงอย่างเดียว เมื่อทำดีแล้วไม่รวย ได้ดีอย่างอื่นแล้วแต่ไม่รู้ จึงบ่นว่า ทำดีไม่ได้ดี
๗. ใจร้อนเกินไป เพิ่งหุงข้าวไม่ถึง ๕ นาที ก็หวังให้ข้าวสุกเมื่อไม่ได้ดังใจ ก็บ่น

ที่ลับไม่มีในโลก

ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี พระโพธิสัตว์ (ผู้ที่จะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้า) บังเกิดในตระกูลพราหมณ์ เจริญวัยแล้วได้เป็นหัวหน้ามาณพ ๕๐๐ คน เล่าเรียนศิลปะในสำนักอาจารย์ทิศาปาโมกข์ในนครนั้น
ท่านอาจารย์มีธิดาที่กำลังเจริญวัย คิดจะทดลองศีลของมาณพเหล่านั้น แล้วจักให้ธิดาแก่มาณพผู้สมบูรณ์ด้วยศีลเท่านั้น คิดแล้วก็เรียกมาณพทั้งหลายมาแล้วกล่าวว่า ธิดาของเราเจริญวัยแล้ว เราจะทำการวิวาหมงคลแก่เธอ ควรจะได้ผ้าและเครื่องประดับ เมื่อพวกญาติไม่เห็น พวกเธอจงลักเอาผ้าและเครื่องประดับมา ผ้าและเครื่องประดับที่ใครๆ ไม่เห็นเท่านั้น เราจึงรับเอา ผ้าและเครื่องประดับที่ใครๆ เห็นแล้วเอามา เราจะไม่รับ พวกมาณพก็รับคำ เมื่อพวกญาติไม่ทันเห็น ก็นำเอาผ้าและเครื่องประดับทั้งหลายมา อาจารย์ก็วางสิ่งของที่พวกมาณพนำมาไว้เป็นพวกๆ พระโพธิสัตว์ไม่นำอะไรมาเลย อาจารย์จึงถามถึงสาเหตุ พระโพธิสัตว์ตอบว่า
ชื่อว่าที่ลับ ย่อมไม่มีแก่ผู้กระทำบาปกรรม ต้นไม้ที่เกิดในป่าก็ยังมีคนเห็น คนพาลย่อมสำคัญบาปกรรมนั้นว่าเป็นความลับ
ข้าพเจ้าย่อมไม่เห็นที่ลับ หรือแม้ที่ว่างเปล่าก็ไม่มี ในที่ใดว่างเปล่า ที่นั้นก็ย่อมไม่ว่างเปล่าจากตัวข้าพเจ้า
อาจารย์เลื่อมใสพระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า ในเรือนของเราไม่มีทรัพย์สินอะไร แต่เรามีความประสงค์จะให้ธิดาของเราแก่ผู้ที่สมบูรณ์ด้วยศีล เมื่อจะทดลองมาณพเหล่านี้ จึงได้ทำอย่างนี้ ธิดาของเราเหมาะสมกับท่านเท่านั้น แล้วประดับตกแต่งธิดา มอบให้แก่พระโพธิสัตว์ แล้วบอกพวกมาณพให้นำสิ่งของที่นำมาแล้วกลับคืนไป
(อรรถกถาสีลวีมังสชาดก จตุกกนิบาต)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. ไม่มีที่ลับสำหรับการทำบาป แม้คนอื่นไม่เห็นแต่ผู้ทำย่อมรู้เห็น และกรรมชั่วนั้นจะถูกบันทึกไว้ในจิตใต้สำนึกของตน ไม่มีวันลบเลือนหายไป จนกว่าบาปกรรมนั้นจะให้ผลหรือกลายเป็นอโหสิกรรม
๒. คนตระหนี่ย่อมหวงแหนทรัพย์ พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ที่สุดมักไม่ยอมใช้ทรัพย์ของตน ฉันใด ผู้มีปัญญาย่อมประหยัดบาป พิจารณาแล้วพิจารณาอีก ที่สุดมักไม่ยอมทำบาป ฉันนั้น
๓. คนที่มีศีลใครๆ ก็อยากคบหาด้วย เช่น พ่อแม่ก็อยากให้ลูกได้คู่ครองเป็นคนดีมีศีลธรรม นายจ้างก็อยากได้ลูกจ้างที่มีศีลธรรม
๔. ศีลไม่ใช่ใบปริญญา ไม่ใช่สิ่งที่สามารถรู้เห็นได้ด้วยการใช้ตาดูหูฟังอย่างผิวเผิน การที่จะดูว่าผู้ใดมีศีลหรือไม่ ต้องใช้ปัญญาและใช้เวลานาน ในเรื่องนี้อาจารย์จึงต้องใช้อุบายเพื่อตรวจสอบศีลของลูกศิษย์

หนีไม่พ้น
ครั้งหนึ่ง ภิกษุหลายรูปเดินทางมาเฝ้าพระพุทธเจ้าซึ่งประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ระหว่างทาง ณ ตำบลหนึ่ง ชาวบ้านนิมนต์ให้นั่งฉันภัตตาหารในโรงฉัน ขณะนั้น หญิงคนหนึ่งกำลังปรุงอาหาร เปลวไฟจากเตาได้ลุกไปติดชายคา เสวียน (ของเป็นวงกลมสำหรับรองก้นหม้อ) หญ้าอันหนึ่งอยู่ที่ชายคาก็ลุกไหม้ ปลิวไปในอากาศสวมคอของกาตัวหนึ่ง ซึ่งบินมาถึงพอดี กาถูกไฟไหม้ตกลงมาตาย
เมื่อถึงพระเชตวัน ภิกษุพวกนั้นก็ไปทูลถามพระพุทธเจ้าถึงบาปกรรมของกานั้น พระองค์ทรงเล่าว่า
ในอดีต ชาวนาผู้หนึ่งฝึกโคของตนไม่ได้ดังใจ โคเดินไปหน่อยหนึ่งก็นอนเสีย แม้เขาตีให้ลุกก็เดินไปหน่อยแล้วนอนเสียเหมือนเดิม ชาวนาโกรธมาก เอาฟ่อนฟางพันคอโค แล้วจุดไฟ โคถูกไฟคลอกตาย ด้วยอำนาจบาปกรรมนั้น เขาหมกไหม้ในนรกอยู่นาน และด้วยเศษบาปที่เหลือ เขาเกิดเป็นกาถูกไหม้ในอากาศมาถึง ๗ ครั้งแล้ว
(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๕ เรื่องตโยชน)
นาง พ. อายุ ๒๔ ปี บ้านอยู่ อ. เมือง จ.สมุทรสาคร เมื่อเช้าตรู่วันที่ ๔ ตุลาคม ๒๕๔๑ นาง พ. ทะเลาะกับสามี จึงขี่รถจักรยานยนต์ออกจากบ้านไปตามถนนพระราม ๒ ในระหว่างทาง นาย อ. อายุ ๓๑ ปี อาชีพขับรถตุ๊กตุ๊กรับจ้าง ได้ขับรถเข้ามาประกบและชวนพูดคุย เมื่อทั้งสองขับรถพูดคุยกันมาจนถึงตึกร้างแห่งหนึ่ง นาย อ. ได้ขับรถตุ๊กตุ๊กเบียดบังคับให้เลี้ยวรถเข้าซอยหน้าตึก จากนั้นนาย อ. ลงจากรถ ฉุดนาง พ. เข้าข้างทาง ฉีกเสื้อผ้านาง พ. เพื่อข่มขืน นาง พ. สู้แรงนาย อ. ไม่ได้ จึงแสร้งยินยอมและทำท่าว่ามีอารมณ์เพศ
เมื่อนาย อ. เผลอตัวเอาลิ้นดุนเข้าไปในปากนาง พ. จึงถูกนาง พ. กัดจนลิ้นขาด ความเจ็บปวดทำให้นาย อ. โกรธจัด ชก ต่อย เตะ และตีนาง พ. ด้วยไม้จนบาดเจ็บสาหัส จากนั้นก็มัดนาง พ. ด้วยเชือกและแขวนไว้กับกำแพงตึก แล้วขับรถตุ๊กตุ๊กหนีไป
ต่อมาตำรวจได้รับแจ้งเหตุจากพลเมืองดี จึงนำนาง พ. ส่ง รพ. สมุทรสาคร แพทย์ต้องรีบนำเข้าห้องไอซียู ในขณะที่ตำรวจกำลังสอบปากคำนาง พ. ในห้องไอซียู นาย อ. ซึ่งถูกกัดลิ้นขาดเลือดไหลไม่หยุดก็ถูกนำตัวมารักษาในห้องไอซียูเดียวกัน จึงหนีไม่พ้น ถูกนาง พ. แจ้งให้ตำรวจจับทันที
นาย อ. ถูกกัดลิ้นขาดไปเกือบสองนิ้ว ลิ้นที่ขาดหาพบเมื่อตอนสาย เซลล์ตายหมดแล้วจึงต่อไม่ได้ ดังนั้น เมื่อแผลหายแล้ว นาย อ. ไม่แน่ว่าจะพูดได้หรือไม่
(น.ส.พ. ไทยรัฐ ๕ ต.ค. ๒๕๔๑)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. แม้บุคคลจะทำบาปไว้ในที่ลับ หรือทำอย่างแนบเนียนจนไม่มีใครรู้เห็นเลย ก็ไม่อาจพ้นกรรมได้ เพราะการให้ผลของกรรม (ดีและชั่ว) เป็นไปโดยอัตโนมัติ จึงเที่ยงตรงแน่นอน ไม่มีผิดพลาด ดังนั้นจึงไม่ควรทำบาปด้วยคิดว่า โอกาสกำลังดี ไม่มีใครเห็น
๒. เมื่อกรรมชั่วจะให้ผล แม้รู้ตัวก็หนีไม่พ้น เพราะไม่เคยมีใครสามารถหนีพ้นกรรมชั่วของตนได้เลย บุคคลอาจซ่อนตัวในที่ลับ จนสามารถหลบหนีกฎหมายบ้านเมืองได้ แต่ไม่อาจพ้นกรรมชั่วได้ ดังพุทธพจน์ในธรรมบท (๒๕/๑๙) ว่า
บุคคลที่ทำกรรมชั่วไว้ หนีไปในอากาศ ก็ไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีไปในท่ามกลางมหาสมุทร ก็ไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วได้ หนีเข้าไปสู่ซอกแห่งภูเขา ก็ไม่อาจพ้นจากกรรมชั่วได้ เขาอยู่แล้ว ณ ที่ใด พึงพ้นจากกรรมชั่วได้ ที่นั้นหามีอยู่ไม่

หลาวนั้นคืนสนอง
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ ชายคนหนึ่งชื่อดำ เป็นชาวนาเกลือ แขวงบางละมุง จังหวัดชลบุรี คราวหนึ่งได้รับจ้างเฝ้าไข่จะละเม็ดที่เกาะคราม มีจีนผู้ร้ายมาขโมยไข่เนืองๆ นายดำโกรธมาก พยายามคอยจับอยู่เสมอ คืนหนึ่งนายดำจับจีนผู้ร้ายที่มาลักไข่ได้พร้อมทั้งของกลาง จึงเอาเชือกมัดขโมยไว้ เอาไม้ตีบ้าง เอามีดฟันบ้าง แต่ขโมยก็ยังไม่เป็นอันตรายสมใจ จึงไปหาหลาวมาสวนทวารหนักจนจีนนั้นขาดใจตาย แล้วนำศพไปฝังไว้อย่างมิดชิด
ภายหลังนายดำได้บวชเป็นภิกษุอยู่ที่วัดหนองเกตใหญ่หลายพรรษา และได้เป็นสมภารวัดนั้น เมื่อจวนมรณภาพ อาพาธเป็นโรคบิด ยังมีกำลังพอเดินไหว ได้ไปถ่ายอุจจาระที่ถาน (ส้วม) ถานนั้นอยู่ในหมู่ต้นกล้วย ซึ่งมีหน่อมากมาย พยายามถ่ายเท่าไรก็ถ่ายไม่ออก จึงลุกขึ้นยืนหมายจะกลับกุฏิ เวลานั้นท่านรู้สึกว่า มีอะไรเป็นก้อนดำมืดเคลื่อนเข้ามาตรงหน้าท่าน ท่านก็ซวนล้มลงนั่งทับหน่อกล้วยเต็มแรง หน่อกล้วยสวนเข้าไปในทวารพอดี เมื่อกลับมากุฏิก็ให้เด็กไปตัดหน่อกล้วยนั้นมาไว้ชี้ให้ผู้มาเยี่ยมดู แล้วเล่าเรื่องที่ท่านเคยใช้หลาวสวนทวารจีนขโมยให้ฟังว่าผลกรรมมาถึงแล้ว ท่านได้รับความทุกข์ทรมานแสนสาหัสอยู่หลายวัน ก่อนถึงมรณภาพ
(หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด โดย วศิน อินทสระ)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. ทำไว้อย่างไรย่อมได้อย่างนั้น ผู้เบียดเบียนย่อมได้รับการเบียดเบียนตอบ ผู้ฆ่าย่อมได้รับการฆ่าตอบ
๒. ความทุกข์ที่สมภารดำได้รับเพราะถูกหน่อกล้วยแทงเปรียบ เหมือนตกนรกในโลกนี้ ส่วนชาติหน้า ถ้ากรรมดีที่บวชพระให้ผล ก็จะไปเกิดในที่ดี ถ้ากรรมชั่วที่ใช้หลาวสวนทวารจีนให้ผล ก็จะไปเกิดในที่ชั่ว

กรรมที่ตามราวีท่านนายพล
เรื่องราวต่อไปนี้เป็นประสบการณ์จริงของ พล.อ.ท. บุญทรง สุภานันท์ ซึ่งเดิมเป็นลูกชาวนายากจน แต่ด้วยปัญญาและความเพียร จึงเรียนจบปริญญาโทถึงสองสาขาจากมหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ และมียศศักดิ์เป็นถึงพลอากาศโท ผ่านการศึกษา อบรม ดูงาน สัมมนา ประชุม ในต่างประเทศ (เช่น สหรัฐฯ เยอรมัน ฝรั่งเศส ญี่ปุ่น) มาแล้วหลายสิบครั้ง พล.อ.ท. บุญทรง สุภานันท์ เล่าถึงความเจ็บป่วยครั้งสำคัญในชีวิตซึ่งเป็นเหตุให้ตัดสินใจบวชเอาเมื่อแก่ชรา ความว่า
ดูเอาเถอะ ทำไมถึงต้องมีเวรกรรมตามราวีเอาตอนแก่ ต้องเจ็บป่วยตรงอวัยวะที่สำคัญที่สุดคือ หัวใจ กล่าวคือ เมื่อวันที่ ๑๗ สิงหาคม ๒๕๔๑ (อายุ ๗๑ ปี) ผมต้องเข้ารับการผ่าตัดหัวใจที่โรงพยาบาลภูมิพล การผ่าตัดกินเวลา ๗ ชั่วโมงครึ่ง ผมถูกแหวะหน้าอกเพื่อควักเอาหัวใจออกมา แล้วถูกผ่าที่หัวใจเพื่อตัดเนื้องอก ๔ ชิ้นในห้องซ้ายบนออก ในเนื้อที่แคบๆ เช่นนั้น เหตุไฉนจึงมีเนื้องอกเบียดเสียดแออัดอยู่ถึง ๔ ชิ้น โอกาสที่จะมีเนื้องอกเช่นนี้ ในล้านคนจะมีเพียง ๒ คนเท่านั้น
หลังการผ่าตัด ขณะนอนอยู่บนเตียงคนไข้ ภาพในอดีตสมัยที่ผมอายุ ๑๓-๑๔ ปี ได้ปรากฏขึ้น นกปรอดตัวงามมีลูกกระสุนฝังอยู่ในหน้าอก ผมผ่าอกนกเอาลูกกระสุนออกมาอวดเพื่อนด้วยความคึกคะนอง แถมยังย่างนก แบ่งชิ้นส่วนที่กรอบอร่อยให้เพื่อนลองลิ้ม ภูมิอกภูมิใจในฝีมืออันแม่นยำของตน หารู้ไม่ว่ากรรมที่ทำกับนกมันจะติดจรวดตามทันได้ในชาตินี้ จึงถูกแหกอกและควักหัวใจออกมาตัดเนื้อส่วนเกินออกไป
ก่อนหน้านี้ คือเมื่อวันที่ ๒๔ เมษายน ๒๕๔๑ ที่โรงพยาบาลเดียวกันนี้ ผมก็ถูกผ่าเอาลำไส้ออกไปครึ่งหนึ่ง รวมทั้งเนื้อร้ายในช่องท้องออกไปเกือบ ๑ กก. เป็นการผ่าตัดใหญ่ กินเวลา ๘ ชั่วโมงครึ่ง เมื่อถูกผ่าเอาเนื้อร้ายออกนั้น ผมยังไม่เฉลียวใจ แต่ในการผ่าตัดครั้งหลังนี้ ผมแน่ใจแล้วว่าเป็นเรื่องของเวรกรรมที่ตามมาสนอง เพราะภาพนกปรอดตัวนั้นปรากฏขึ้นชัดเจนมาก นี้แหละหนา ผลแห่งกรรมที่ทำไว้เอง ไม่ต้องไปโทษผู้อื่นเลย
เพียงแค่ ๔ เดือน ถูกผ่าตัดใหญ่ถึง ๒ ครั้ง เห็นทีผมจะต้องบวชเพื่อชดใช้เวรกรรมสักพักหนึ่งดีกว่า เพราะถ้าถูกผ่าตัดอีกครั้งผมคงไม่ไหวแน่
ขณะที่อยู่ในสมณเพศ (๑-๑๗ เม.ย. ๒๕๔๒ ณ วัดโสมนัสวิหาร) ที่ขมับซ้ายของศีรษะอันโล้นเลี่ยนของพระพล.อ.ท.บุญทรงมีรอยแผลผ่าตัดขนาดใหญ่ลักษณะคล้ายตัว “ก” เห็นได้ชัด เมื่อเพื่อนพระภิกษุถามถึงรอยแผลนั้น พระพล.อ.ท. บุญทรงก็เล่าว่า
สมัยที่ผมเป็นนาวาอากาศเอก (ประมาณ พ.ศ. ๒๕๑๘-๑๙) บ่ายวันหนึ่ง จำได้ว่าเป็นวันศุกร์ ขณะที่กำลังเล่นกอล์ฟอยู่ที่สนามกอล์ฟของกองทัพอากาศ อยู่ๆ ผมก็ต้องล้มลงทั้งยืน เพราะถูกลูกกอล์ฟที่เหาะมาอย่างรวดเร็ว (ด้วยแรงคน ส่วนทิศทางคงจะถูกควบคุมด้วยแรงกรรม) กระแทกเข้าที่เหนือขมับซ้ายอย่างจังจนศีรษะและเส้นเลือดในสมองแตก เลือดไหลออกมาราวกับท่อน้ำประปาแตก ผมถูกนำตัวส่ง รพ. ภูมิพลอย่างรีบด่วน และได้รับการผ่าตัดสมองทันที เริ่มตั้งแต่ ๕ โมงเย็นจนถึง ๕ ทุ่ม ๖ ชั่วโมงเต็มที่น.พ.คำพร ชาญวิเศษ (พ.ศ. ๒๕๔๒ เป็นนาวาอากาศเอกพิเศษ) ทุ่มเทอย่างสุดความสามารถจึงยืิ้อยุดชีวิตผมจากพญามัจจุราชได้ นับเป็นเคราะห์ดีในเคราะห์ร้าย เพราะถ้าไปถึงโรงพยาบาลช้าอีกเพียงชั่วโมงเดียว หรือผู้เชี่ยวชาญด้านสมองอย่างน.พ. คำพรไม่ได้อยู่ที่โรงพยาบาล ผมคงตายแน่
ผมเชื่อมั่นว่า เคราะห์ร้ายครั้งนี้ไม่ใช่อุบัติเหตุ แต่เป็นผลของบาปกรรมที่ผมทำไว้ กล่าวคือ ในวัยเดียวกับที่ผมยิงเจ้านกปรอดตัวนั้น วันหนึ่ง ไก่ตัวหนึ่งที่ผมเลี้ยงไว้ในบ้าน กำลังเดินอยู่ดีๆ ก็ถูกผมตีที่หัวด้วยตะลุมพุกจนตายคาที่ เพราะผมเกิดหมั่นไส้มันขึ้นมาอย่างฉับพลันโดยไร้สาเหตุ ไก่ตายไปโดยไม่ทันรู้ตัว (และลงหม้อแกงไป) ส่วนผมก็ถูก น็อกโดยไม่ทันรู้ตัว แต่ยังโชคดีที่ไม่ต้องลงโลง
บัดนี้ผมได้บวชเรียน รู้จักบาปบุญคุณโทษ และรู้สึกเข็ดหลาบแล้ว เพราะถูกผ่าตัดจนแทบจะทั่วทั้งตัว ต่อไปผมจะไม่ขอทำบาปอีก ที่เล่ามานี้ก็เพื่อเป็นเครื่องเตือนใจว่า บาปกรรมนั้นมีจริง
(จากคำบอกเล่าของพล.อ.ท. บุญทรง สุภานันท์ โทร.๕๑๓-๑๐๗๑)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. การที่ท่านนายพลถูกผ่าตัดใหญ่ถึง ๓ ครั้ง น่าจะเป็นผลจากการรังแกสัตว์ในวัยเด็ก ถ้าไม่ใช่ก็เป็นผลแห่งบาปกรรมทำนองนี้ในชาติก่อนๆ
๒. ในวัยเด็ก ผู้เรียบเรียงเองก็เคยรังแกหรือฆ่าสัตว์เล็กไว้มาก เช่น กระทืบหรือจุดไฟเผามด ยิงจิ้งจกด้วยหนังยาง (ที่ใช้รัดของ) จนตายหรือพิการ จับจิ้งหรีดมาขังแล้วบังคับให้กัดกัน ตัวไหนแพ้ก็จับปั่นจนมึนแล้วให้กัดกันอีก จนถูก (โยม) แม่ดุว่า “บ้าจิ้งหรีด” ส่วนการยิงนกตกปลามีน้อย
บัดนี้บาปกรรมที่รังแกสัตว์ (ในชาตินี้หรือชาติก่อนๆ) คงตามทัน ผู้เรียบเรียงจึงป่วยตั้งแต่ปลายปี ๒๕๓๒ ด้วยโรคประหลาด มีอาการอักเสบตามข้อ เส้นเอ็น และเนื้อเยื่อตามตัวเป็นประจำ มากบ้าง น้อยบ้าง วันนี้เดินได้เป็นปกติ พรุ่งนี้อาจปวดขาจนเดินแทบไม่ไหว โรคนี้ (A.S.) หมอยังไม่ทราบสาเหตุ จึงรักษาไม่หาย แต่ไม่ถึงตาย แค่ทำให้ทรมาน ผู้เรียบเรียงจึงเชื่อว่า นี้คือโรคเวรโรคกรรมที่ตามมาราวี
๓. เมื่อทำบาปแล้ว ไม่ว่าเด็กหรือผู้ใหญ่ เชื่อในบุญบาปหรือไม่เชื่อ ย่อมได้รับผลของบาปเสมอกันหมด ไม่มีการลดหย่อนให้เหมือนทางโลก ซึ่งศาลอาจลดโทษให้แก่จำเลยที่เป็นเด็กหรือเยาวชน เรื่องดังกล่าวจึงเป็นบทเรียนอย่างดีแก่เด็ก (หรือผู้ใหญ่) ที่ซุกซนและใจร้าย

นกก็มีหัวใจ
ครั้งนั้นเป็นฤดูแล้ง ผม (ไม่ใช่ ท. เลียงพิบูลย์) ได้ถือปืนออกจากบ้านไปเที่ยวหานกในสวน ได้พบนกเขาคู่หนึ่ง เกาะอยู่ที่ยอดก้านหมาก กำลังจับคู่เพลิดเพลินอยู่ เมื่อนกเห็นผมถือปืนในมือ สัญชาตญาณทำให้ทั้งสองรีบบินหนี ไป ผมยกปืนขึ้นเล็งแล้วปล่อยกระสุนออกไป ตัวหนึ่งถูกกระสุนหล่นลงมาตาย อีกตัวหนึ่งยังบินวนเวียนอยู่ใกล้ๆ ไม่ยอมทิ้งคู่ ท่าทางคงจะเสียใจมากที่คู่ของมันตาย หากเป็นคนก็คงร้องไห้ฟูมฟายน้ำตา ผมใช้สายตาคอยจ้องดูความเคลื่อนไหวอยู่ตลอดเวลา นึกในใจว่า ทำไมมันจึงไม่หนีไปไกลๆ หรือจะยอมให้ผมยิงมันอีกตัว กำลังนึกว่าควรสงเคราะห์ให้มันตายไปตามกัน ยังไม่ทันจะยกปืนขึ้น ทันใดนั้น มันเหินขึ้นสู่ท้องฟ้าสูง แล้วห่อตัวหุบปีกพุ่งตัวเอาหัวดิ่งลงสู่พื้นดินตรงหน้าผมถึงแก่ความตายทันที
เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้ผมสะดุ้งงงงันลืมตัว ทำอะไรไม่ถูกคิดอะไรไม่ออก เพราะไม่นึกว่าความรักของนกทั้งสองจะรุนแรงถึงกับยอมสละชีวิตตายร่วมกัน พอได้สติก็รู้สึกเศร้าเข้าไปถึงหัวใจ เมื่อเห็นภาพนกทั้งสองนอนตายอยู่แทบเท้าผม
ผมก้มลงไปหยิบนกตัวแรกขึ้นมาดู เป็นนกตัวเมีย ถูกลูกปืนที่หน้าอก ส่วนนกตัวหลังที่บินขึ้นสูงแล้วพุ่งหัวดิ่งลงมาตายนั้นเป็นตัวผู้ ก้านคอหัก มีเลือดไหลออกทางปาก ผมนั่งลงเอามือทั้งสองกุมขมับ น้ำตาไหลพรากเพราะคิดถึงชีวิตรักของนกคู่นี้ ผมได้สร้างบาปกรรม ทำให้นกเขาคู่นี้ต้องตายลงต่อหน้าต่อตา
ผมนั่งร้องไห้น้ำตาไหลอาบแก้มอยู่นานกว่าจะได้สติคิดว่า ถึงเราจะเสียใจร้องไห้จนน้ำตาเป็นสายเลือดก็ไม่อาจทำให้นกทั้งสองฟื้นคืนชีวิตขึ้นมาได้ มีแต่ทำให้จิตเศร้าหมอง ควรคิดหาทางสร้างบุญดีกว่า ต่อไปนี้เราจะไม่ทำบาป จะเลิกกีฬาฆ่าสัตว์ตัดชีวิตอย่างเด็ดขาด
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๖)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. บางคนเรียกการกระทำอย่างนี้ว่า “กีฬา” และภูมิใจว่าตนเป็น “นักกีฬา” ทำให้ดูโก้เก๋ทันสมัย แต่ที่จริงเป็นการข่มเหงรังแกฝ่ายที่อ่อนแอกว่าและไม่มีทางสู้ เป็นความด้อยพัฒนาและความไร้น้ำใจนักกีฬา หากนักกีฬาล่า (ฆ่า) สัตว์ เป็นฝ่ายถูกล่าโดยไม่มีทางสู้บ้างจะรู้สึกอย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงมีพุทธภาษิต (๒๕/๒๐) ว่า
สัตว์ทั้งหมด ย่อมหวาดหวั่นต่ออาชญา ย่อมกลัวต่อความตาย บุคคลทำตนให้เป็นอุปมาแล้ว ไม่ควรฆ่าเอง ไม่ควรใช้ให้ผู้อื่นฆ่า
๒. ผู้ที่หวังความสุข แต่กลับทำบาปด้วยการเบียดเบียนผู้อื่น ย่อมไม่ได้ความสุข แต่จะได้ผลเป็นความทุกข์ ตนเองก็ทุกข์ ผู้อื่นก็ทุกข์ ดังเช่นชายผู้นี้ต้องหลั่งน้ำตาเพราะเศร้าใจและสำนึกผิดในบาปของตน การหาความสุขจากความเจ็บปวดและชีวิตเลือดเนื้อของผู้อื่นจะเป็นไปได้อย่างไร ด้วยเหตุนี้จึงมีพุทธภาษิต (๒๕/๒๐) ว่า
ผู้ใคร่สุข แสวงหาสุขเพื่อตน แต่เบียดเบียนสัตว์อื่น ผู้นั้นละ (ตาย) ไปแล้ว ย่อมไม่ได้สุข ผู้ใคร่สุข แสวงหาสุขเพื่อตน ไม่เบียดเบียนสัตว์อื่น ผู้นั้นละไปแล้ว ย่อมได้สุข
๓. ชายผู้นี้ต้องโศกเศร้าเพราะได้ทำบาป จัดเป็นนรกในใจ เป็นผลของบาปกรรมที่เห็นได้ในชาตินี้และจะไม่หมดสิ้นเพียงแค่นี้ คงต้องรับผลของบาปกรรมนี้อีกในชาติต่อๆ ไป

คู่เวร
พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน สมัยนั้นมีพราหมณ์คนหนึ่งในหมู่บ้านคยา ได้ให้ธิดาแก่บุตรพราหมณ์คนหนึ่งในหมู่บ้านนั้น ธิดาพราหมณ์เป็นลูกสะใภ้แล้วได้ตั้งตัวเป็นใหญ่ในบ้าน นางเห็นลูกสาวของทาสีในบ้านนั้นแล้วไม่ชอบหน้า นับแต่เห็นมา นางก็แสดงอาการฮึดฮัดด่าว่าด้วยความโกรธ และชูกำปั้นแก่ลูกสาวทาสีนั้น เมื่อลูกสาวทาสีโตพอจะทำการงานได้ นางก็ใช้เข่า ศอก และกำปั้นทุบตีเหมือนผูกอาฆาตกันมาในชาติก่อนๆ หลายชาติทีเดียว
เล่ากันมาว่า ในครั้งพระทศพลพระนามว่ากัสสปะ ทาสีนั้นได้เป็นนายและได้ทุบตีลูกสะใภ้ด้วยก้อนดินและชูกำปั้นให้เสมอๆ ลูกสะใภ้เหนื่อยหน่ายเพราะการกระทำนั้น ได้ทำบุญให้ทานตั้งความปรารถนาขอให้ได้เป็นนายบ้าง ในชาติปัจจุบันคนทั้งสองจึงมีสถานะกลับกัน
วันหนึ่งโดยไม่มีเหตุสมควรเลย ลูกสะใภ้ได้จิกผมใช้ทั้งมือทั้งเท้าตบตีอย่างเต็มที่ ทาสีนั้นไปศาลาอาบน้ำ โกนผมเสียเกลี้ยง ลูกสะใภ้จึงกล่าวว่า อีทาสีชั่ว เพียงโกนผมเกลี้ยงก็จะพ้นหรือ แล้วเอาเชือกพันศีรษะ จับนางให้ก้มลงแล้วเฆี่ยน และไม่ให้นางเอาเชือกออก แต่นั้นมานางทาสีจึงได้ชื่อว่า รัชชุมาลา (รัชชุ = เชือก มาลา = หมวก)
วันหนึ่งเวลาใกล้รุ่ง พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตวโลก นางรัชชุมาลาได้ปรากฏในข่ายพระญาณ จึงเสด็จเข้าไปป่า ประทับนั่งที่โคนไม้แห่งหนึ่ง ฝ่ายนางรัชชุมาลาถูกรังแกทุกวัน จึงเบื่อหน่ายต่อชีวิต ประสงค์จะฆ่าตัวตาย ถือหม้อน้ำออกจากเรือนทำทีว่าไปตักน้ำ แล้ววางหม้อน้ำไว้ข้างทาง เข้าไปยังป่าชัฏ ผูกเชือกที่กิ่งของต้นไม้ซึ่งอยู่ใกล้ที่ ประทับ เพื่อทำเป็นบ่วงผูกคอตาย มองไปรอบทิศเห็นพระพุทธเจ้าประทับนั่งอยู่ ดูน่าพอใจและน่าเลื่อมใส เกิดความคิดว่า ทำไฉนพระพุทธเจ้าจะทรงแสดงธรรมโปรดคนเช่นเราให้พ้นความลำเค็ญ
เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสเรียก นางรัชชุมาลาก็เข้าไปเฝ้า ถวายบังคมแล้วฟังธรรมได้บรรลุโสดาบัน จากนั้นนางก็นำหม้อไปตักน้ำแล้วกลับเรือน คนในเรือนรู้เรื่องนางรัชชุมาลา จึงนิมนต์พระพุทธเจ้ามาฉันที่เรือน เมื่อฟังธรรมแล้วก็ดำรงอยู่ในสรณะและศีล การจองเวรของสองนางก็สิ้นสุดลง เมื่อนางรัชชุมาลาตายก็ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
(อรรถกถารัชชุมาลาวิมาน)
ต่อไปเป็นประสบการณ์ของจ่าสิบตรีหญิงชวนชื่น อุณหนันทน์ ที่ถูกวิญญาณพยาบาทเข้าสิง เจ้าตัวได้ให้สัมภาษณ์เรื่องนี้เมื่อวันพุธที่ ๑๓ สิงหาคม ๒๕๑๘ ที่วชิรพยาบาล ความว่า
เหตุการณ์นี้เกิดขึ้นเมื่อยี่สิบกว่าปีมาแล้ว ขณะนั้นดิฉันอายุ ๑๕-๑๖ ปี ได้ไปร่วมงานทอดกฐินพระราชทาน ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการนำไปทอดที่วัดป่าเลไลยก์ จ.สุพรรณบุรี คืนนั้นมีการแสดงลิเกและเล่นละครเพื่อฉลององค์กฐิน ตอนเช้ามีการทำบุญเลี้ยงพระ ตอนสายก็มีการแห่รอบโบสถ์ ดิฉันอุ้มไตรกฐินเดินรอบโบสถ์ ยังไม่ทันถึง ๒ รอบ ก็รู้สึกอ่อนเพลียเวียนศีรษะ จึงให้เพื่อนช่วยอุ้มไตรแทน
ขณะนั้นใกล้เพลแล้ว ดิฉันตั้งใจจะเดินไปพักผ่อนบนรถที่จอดอยู่ไม่ไกลนัก แต่แล้วก็หน้ามืดหมดความรู้สึก มารู้ตัวลืมตาขึ้นก็เห็นตัวมานอนอยู่บนศาลาวัด เป็นเวลาบ่ายมากแล้ว รู้สึกงงไปหมด เพื่อน ๆ และครูที่นั่งล้อมรอบต่างมีสีหน้าเศร้า ดิฉันสงสัยจึงร้องถามว่า นี่ดิฉันเป็นอะไรไป ทำไมจึงมานอนอยู่บนศาลานี้ เพื่อนเล่าให้ฟังว่า
เมื่อดิฉันหมดสติไป มีวิญญาณผีผู้ชายมาเข้าสิง แสดงกิริยาท่าทางโกรธมาก พูดเสียงห้าวๆ ว่า มาคอยกินเลือดอยู่ที่ใต้ต้นพิกุลนี้หลายสิบปีแล้ว ดิฉันตกใจถามว่า ทำไมต้องมาเจาะจงคอยเอาเลือดดิฉัน เพื่อนๆ ก็เล่าว่า วิญญาณชายนี้บอกว่า เมื่อชาติก่อนดิฉันเกิดเป็นลูกเศรษฐี มีอารมณ์ฉุนเฉียว เอาแต่ใจตัวเอง บ่าวไพร่ในบ้านได้รับความเดือดร้อนจากดิฉันเสมอ เพราะดิฉันถือว่าพ่อรักมากและตามใจทุกอย่างเนื่องจากเป็นลูกคนเดียว
ครั้งหนึ่งบ่าวผู้ชายคนนี้ ได้แอบมองดูเห็นปานขาวใต้ร่มผ้าเมื่อดิฉันนุ่งโจงกระเบน แล้วเที่ยวพูดไปทั่ว ดิฉันโกรธมากไปฟ้องพ่อขอให้ลงโทษบ่าวคนนี้ พ่อจึงสั่งให้จับตัวไปตีตรวนแล้วเฆี่ยน ชายผู้นี้ถูกเฆี่ยนจนบอบช้ำมาก ข้าวปลากินไม่ลง ก่อนตายได้กล่าวอาฆาตว่า จะขอจองเวรกินเลือดดิฉันให้ได้ เมื่อตายแล้วศพของเขาถูกฝังอยู่ข้างกำแพงโบสถ์ใต้ต้นพิกุล เพื่อนเล่าว่าวิญญาณชายนี้ยังได้ชี้ให้ดูที่ฝังศพของเขา และบอกว่าในชาตินี้ดิฉันก็ยังมีปานขาวใต้ร่มผ้า
ท่านผู้ไปในงานส่วนใหญ่ไม่เชื่อเรื่องนี้ หมอที่อยู่ในที่นั้นก็หาว่าดิฉันเพ้อเพราะพิษไข้ แต่มีผู้ใหญ่บางท่านขอร้องให้ทางวัดช่วยหาเครื่องมือและคนมาขุดตรงที่วิญญาณชี้ เพื่อพิสูจน์ความจริง เมื่อขุดลงไปลึกไม่มาก ก็เห็นโครงกระดูกศพแต่ไม่มีหัว กระดูกท่อนขายังมีโซ่ตรวนสวมอยู่ แต่เหล็กถูกสนิมกินจนผุกร่อนแทบจะขาดจากกันแล้ว จริงตามที่วิญญาณบอก นับเป็นเรื่องแปลก เพราะแม้แต่เจ้าอาวาสและพระที่อยู่มานาน ก็ไม่รู้ว่ามีศพฝังอยู่ตรงนั้น และเมื่อเพื่อนหญิงถลกผ้าดูในขณะที่ดิฉันยังไม่รู้สึกตัว ก็มีปานขาวจริงอย่างที่วิญญาณบอก
วิญญาณนั้นยังบอกว่าถ้าไม่เอาเลือดไปรดที่กระดูกของเขา ดิฉันจะไม่ได้กลับกรุงเทพ ท่านเจ้าอาวาสจึงบอกให้เอาเลือดทาใบไม้แล้วไปแตะที่กระดูกที่ขุดขึ้นมา ให้โครงกระดูกดูดเลือดจากใบไม้ โดยให้หมอเจาะเลือดที่แขนพับ เมื่อจัดการเรียบร้อยแล้ว ก่อนวิญญาณจะออกจากร่างยังสั่งว่า ทุกวันขึ้น ๑๕ ค่ำให้ดิฉันใส่บาตรพระ ๙ องค์ แล้วอุทิศส่วนบุญไปให้จนกว่าเขาจะพอใจจึงจะเลิกจองเวร
เมื่อกลับถึงกรุงเทพฯ ดิฉันใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลไปให้วิญญาณนั้นทุกวันเพื่อใช้หนี้กรรมให้เสร็จสิ้นไปโดยเร็ว หลังจากกลับมาได้ ประมาณ ๒ เดือน เวลาประมาณ ๕-๖ โมงเย็น ดิฉันนั่งอยู่ในบ้าน ได้ยินเสียงหมาหอนก็กลัว และรู้สึกหนังตาหนักจะหลับ พอเคลิ้มๆ ไป ดิฉันก็เห็นร่างชายคนหนึ่ง เข้าใจว่าเป็นวิญญาณนั้นมาแสดงตัวให้เห็น เขาทำหน้าดุๆ ยิ้มแสยะอย่างเย้ยๆ แต่ก็ไม่แสดงท่าว่าจะทำร้ายดิฉัน ดิฉันกลัวมากนึกถึงเวรกรรมที่ทำไว้กับเขา จึงคิดว่า ต้องอดทนทำดีต่อไปจนกว่าเขาจะให้อโหสิกรรม หลังจากนั้นเขาก็มาเดือนละ ๑-๒ ครั้ง ส่วนมากมักมาเวลา ๕-๖ โมงเย็น ทำให้ดิฉันไม่กล้าอยู่คนเดียว
หลังจากที่ดิฉันต้องอยู่อย่างหวาดหวั่นเป็นเวลาประมาณ ๑๑ เดือน เย็นวันหนึ่ง วิญญาณก็มาปรากฏตัวให้เห็นเป็นครั้งสุดท้ายและชัดเจนกว่าทุกครั้ง วิญญาณได้พูดขอบใจที่ได้ทำตามทุกอย่าง ขอให้อโหสิกรรมและจะไม่มาให้เห็นอีก
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๖)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. การที่เจ้านายเกลียดนางรัชชุมาลาทันทีที่เห็นหน้าครั้งแรก เนื่องจากเคยโกรธแค้นกันมาแต่ชาติก่อน นี้คือเหตุผลว่า ทำไมเราจึงไม่ชอบหน้าบางคนเพียงแรกเห็น
๒. นางรัชชุมาลาเคยเบียดเบียนทุบตีคนอื่นมาในชาติก่อน ชาตินี้จึงได้รับผลของบาปกรรมที่ตนทำไว้ ถูกเขารังแกจนทนไม่ไหว กลุ้มใจมากถึงกับคิดฆ่าตัวตาย จัดเป็นนรกในใจ การที่จ่าฯชวนชื่นต้องอยู่อย่างหวาดกลัว ก็จัดเป็นนรกในใจเช่นกัน
๓. เจ้ากรรมนายเวรมีอยู่จริง คงเป็นพวกเปรตหรืออสุรกายที่ผูกพยาบาท เพราะเราเคยสร้างกรรมเวรไว้กับเขา ดังนั้นเจ้ากรรมนายเวรที่แท้จริงก็คือตัวเราเอง ถึงแม้เจ้ากรรมนายเวรจะมีจริง แต่ก็ไม่อาจแก้แค้นได้ตามอำเภอใจ รู้จากการที่วิญญาณอาฆาตต้องรอนานหลายสิบปี จึงได้โอกาสเข้าสิง ถ้าจะถามว่ารออะไร คำตอบน่าจะเป็น รอกรรมเปิดโอกาสให้ หมายความว่า ตราบใดที่กรรมยังไม่ให้ผล วิญญาณก็ไม่มีโอกาสเข้าสิง
๔. การเข้าสิงในกรณีนี้น่าจะจริง เพราะมีหลักฐานยืนยันคือ โครงกระดูกที่ขุดพบและเรื่องปานขาวในร่มผ้า ผู้เรียบเรียงเองก็เคยเห็นเรื่องทำนองนี้ที่วัดญาณสังวราราม เมื่อเดือนธันวาคม พ.ศ. ๒๕๒๙ ขณะกำลังทำวัตรค่ำ ผู้เรียบเรียงเห็นพระภิกษุองค์หนึ่งซึ่งนั่งอยู่ใกล้ๆ (ถูกเข้าสิง) นั่งเท้าแขน ทำท่าเหมือนเล่นลิเกเป็นตัวเจ้า ไม่ได้พูดอะไร ทีแรกผู้เรียบเรียงรู้สึกตกใจกลัวถูกลูกหลง แต่พระอื่นไม่สนใจ (คงเห็นจนชิน) เลยทำเฉยเสีย ประมาณ ๒-๓ นาที (ก็ออก) ร่างนั้นก็ล้มหงายหลังลง
๕. เป็นการถูกต้องแล้วที่พยายามเอาชนะความชั่วด้วยความดี หมั่นใส่บาตรอุทิศส่วนกุศลไปให้จนวิญญาณนั้นยอมให้อโหสิ ทำให้การจองเวรระงับลง แต่การจองกรรมยังไม่แน่ หมายความว่าบาปกรรมที่ทำไว้อาจยังให้ผลต่อไปอีก ไม่กลายเป็นอโหสิกรรมไปด้วย สุดแล้วแต่ว่าบาปกรรมนั้นหนักเบาแค่ไหน

ธุลีทวนลม
ในสมัยพุทธกาล เช้าวันหนึ่ง นายพรานโกกะถือธนูพาสุนัขไปป่า พบภิกษุรูปหนึ่งกำลังเที่ยวบิณฑบาต ก็โกรธเพราะถือว่าเป็นคนกาลกิณี วันนี้คงไม่ได้อะไร แล้วก็เที่ยวไปในป่า ไม่ได้อะไรเลย กลับจากป่าก็พบพระเถระอีก คิดว่า วันนี้พบคนกาลกิณี ไปป่าจึงไม่ได้อะไรเลย บัดนี้ยังมาเผชิญหน้ากันอีก ต้องให้พวกสุนัขกัดพระรูปนี้เสีย แล้วให้สัญญาณปล่อยสุนัข พระเถระอ้อนวอนว่าอย่าทำอย่างนั้น นายพรานไม่ฟัง สั่งให้สุนัขกัด พระเถระรีบหนีขึ้นต้นไม้ พวกสุนัขก็ล้อมต้นไม้ไว้ นายโกกะจึงแทงพื้นเท้าพระเถระด้วยปลายศร พระเถระอ้อนวอนว่าอย่าทำ เขาก็ไม่ฟังกลับแทงกระหน่ำใหญ่ พระเถระยกเท้าหนีเป็นพัลวัน จีวรที่ห่มจึงหลุดลงมาคลุมนายโกกะ
พวกสุนัขเข้าใจว่าพระเถระตกลงมา จึงกรูกันเข้าไปที่จีวร กัดเจ้าของของตนจนตาย แล้วถอยออกมา พระเถระจึงหักกิ่งไม้แห้งขว้างสุนัขเหล่านั้น พวกสุนัขไม่เห็นเจ้าของเลยหนีเข้าป่าไป
(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๕ เรื่องนายพรานโกกะ)
หลวงตาองค์หนึ่งปลูกต้นไม้และผักต่างๆ ไว้มากที่บริเวณกุฏิของท่าน ชาวบ้านคนไหนขอท่านก็ให้โดยดี คนไหนขโมยท่านก็บ่นด่าว่า
ชายชาวบ้านผู้เป็นพาลคนหนึ่ง คงมาลักผักหรือผลไม้ของท่าน เมื่อถูกท่านบ่นก็โกรธแค้น คิดจะฆ่าท่านเสีย จึงให้ภรรยาทำขนมเจือด้วยยาพิษแล้วให้คนนำไปถวาย บังเอิญนำไปเมื่อพ้นเพล ท่านฉันเพลเสียแล้ว จึงเก็บขนมไว้เพื่อให้เด็กที่ชอบมาเล่นในวัดบริเวณกุฏิท่านเสมอๆ
เย็นวันนั้น เด็กคนหนึ่งมาเล่นที่บริเวณกุฏิของท่าน ท่านจึงเรียกมาและให้ขนมกิน ไม่ช้ายาพิษได้ซ่านไปในกายของเด็ก พระก็ไม่ทราบจะช่วยอย่างไร จึงเรียกพ่อแม่เด็กมารับตัวไปรักษา เด็กคนนั้นเป็นลูกของชายผู้ให้คนนำขนมเจือยาพิษมาถวายพระ เด็กถึงแก่ความตายในวันนั้น
(หลักกรรมและการเวียนว่ายตายเกิด โดย วศิน อินทสระ)
กำนันบรรจง ศิริธร ซึ่งเป็นกำนันของตำบลแห่งหนึ่งในจ.ชลบุรี เล่าถึงประสบการณ์ในชีวิต ความว่า
เมื่อยี่สิบกว่าปีก่อน ผมสมัครเป็นพลทหารเรืออยู่ที่กรมสรรพาวุธทหารเรือ และรู้จักพลทหารเรือคนหนึ่ง สมัยนั้น รถไฟจากหัวลำโพงไปปากน้ำได้ถูกยกเลิก ใช้รถ (ยนต์) รางแทน ข้างทางรถรางก่อนที่จะถึงกรมสรรพาวุธเป็นป่ารก มีต้นไม้ขึ้นเต็ม เจ้าเพื่อนผมเป็นคนพาลเกเร ชอบเล่นวิตถาร คือไปดักอยู่ในป่าข้างทางก่อนที่รถรางจะมาถึงบางนา แอบซ่อนไม่ให้ใครเห็น เมื่อรถรางวิ่งผ่านก็ใช้ก้อนอิฐก้อนหินปาเข้าไปในช่องหน้าต่าง บางครั้งก็ถูกกระจกหน้าต่าง บางครั้งก็ถูกผู้โดยสาร เขาทำเรื่องเลวทรามเช่นนี้หลายครั้งแล้ว การอยู่ร่วมกันอย่างสนิทสนมทำให้ผมทราบเรื่อง จึงห้ามไม่ให้เล่นพิเรนอย่างนี้อีก
เจ้าเพื่อนผมคงจะเป็นโรคจิต มันจึงไม่สนใจคำห้ามปรามของผม
ผมจึงยื่นคำขาดว่า หากลื้อไม่เชื่อ อั๊วจะไปแจ้งเจ้าหน้าที่บ้านเมืองเพราะทางการกำลังสืบสวนหาตัวคนร้ายขว้างปารถราง เพื่อเอาตัวไปลงโทษ อั๊วจะทำทุกอย่างเพื่อป้องกันไม่ให้ลื้อทำชั่วมากกว่านี้ และเพื่อให้ลื้อกลับตัวเป็นคนดี เพื่อนเห็นผมเอาจริงเลยสัญญาว่าจะหยุดเล่น
ต่อมา ผมได้ลาราชการไปเยี่ยมบ้านที่เมืองชล เมื่อครบกำหนดก็กลับมายังกรมสรรพาวุธ เพื่อนก็มาสารภาพว่า ระหว่างที่ผมไม่อยู่ วันหนึ่งก็แอบเอาก้อนหินขนาดเหมาะมือไปซุ่มอยู่ข้างทาง เมื่อขบวนรถจะผ่านเขาก็ขว้างก้อนหินเข้าไปในช่องหน้าต่างได้พอดี เสียงผู้โดยสารร้องเอะอะโวยวาย ทำให้เขาพออกพอใจมาก
เจ้าเพื่อนผมกลับมาถึงที่พัก นั่งรำลึกถึงความสนุกสนานจากเกมกีฬาที่พิสดารอยู่ได้ไม่นาน ทหารก็มาบอกว่า มีญาติมาเยี่ยม เมื่อเขาออกมาพบก็เห็นผู้หญิงสูงอายุ มีผ้าแถบปิดหน้าไว้ครึ่ง เพราะที่โหนกแก้มขวามีแผลสดๆ เลือดยังไหลจนตาบวมหรี่แทบจะลืมตาไม่ขึ้น
เมื่อเห็นทีแรก เจ้าเพื่อนผมไม่รู้ว่าเป็นใคร แต่พอเพ่งดูหน้าก็จำได้ จึงร้องออกมาด้วยความตกใจว่า แม่ จากนั้นก็ถามเสียงสั่นว่า แม่เป็นอะไร ใครทำกับแม่อย่างนี้ ลูกจะขยี้มันด้วยมือของลูกเอง
ผู้เป็นแม่ตอบว่า แม่คิดถึงก็ตั้งใจมาเยี่ยมลูก แต่พอรถจวนจะถึงบางนา ไม่รู้ว่าอ้ายมือบอนคนไหนขว้างก้อนหินเข้ามาทางหน้าต่างรถตรงที่แม่นั่ง ถูกโหนกแก้มขวาเลือดไหลและบวมขึ้นมาทันที แต่เคราะห์ยังดี หากมันขว้างสูงขึ้นอีกนิด ตาแม่คงบอดแน่ หลายคนบอกแม่ให้ไปแจ้งความเพื่อจับอ้ายคนมือซนมาลงโทษ แต่แม่อยากพบลูก จึงไม่ไปแจ้งความให้เสียเวลา เมื่อมาคอยลูก มีทหารมาแนะนำให้แม่ไปทำแผลที่ห้องพยาบาลเสียก่อน แต่แม่บอกว่าคอยพบลูกเสียก่อน จึงนั่งรอจนกว่าจะพบลูก
เพื่อนผมได้ยินเช่นนั้นก็รู้สึกเสียใจและสงสารแม่จนน้ำตาไหล รีบพาแม่ไปทำแผลใส่ยาที่ห้องพยาบาล เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นทำให้เจ้าเพื่อนผมหูตาสว่างและเข็ดจนตาย เพราะเจอกรรมสนองกรรมด้วยตนเอง
(สวัสดีปีใหม่ ๒๕๒๐ โดย ท. เลียงพิบูลย์)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. การพยายามทำร้ายพระภิกษุผู้มีศีลเป็นบาปหนัก ในที่นี้ได้ให้ผลทันทีเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ทำให้ตัวนายพรานกับลูกของชายที่วางยาพิษต้องตายเสียเอง เปรียบเสมือนการโปรยธุลีทวนลม ธุลีย่อมย้อนกลับไปหาผู้โปรยเอง ถึงชายผู้วางยาพิษจะไม่ตาย แต่ก็ไม่พ้นจากบาปกรรมเพราะต้องโศกเศร้าถึงลูกที่ตาย (จัดเป็นนรกในใจ) และคงต้องรับผลของบาปกรรมนั้นในชาติต่อๆ ไปอีก ส่วนพลทหารเรือก็ต้องหลั่งน้ำตาด้วยความเสียใจเพราะทำให้แม่บังเกิดเกล้าต้องหลั่งเลือด ได้รับผลแห่งบาปทันตาเช่นกัน และผลกรรมคงไม่สิ้นสุดเพียงแค่นี้เป็นแน่
๒. เหตุที่เด็กต้องมาตายเพราะบาปกรรมที่พ่อของตนเป็นผู้ก่อ และแม่ต้องมารับบาปกรรมแทนลูกชายนั้น เพราะคนทั้งสองเคยทำบาปกรรมไว้ในอดีต จึงต้องมารับผลของบาปกรรมนั้นในชาตินี้ คนหนึ่งทำบาปแล้วให้คนอื่นรับผลบาปแทนย่อมเป็นไปไม่ได้ เพราะค้านกับพุทธภาษิตในธรรมบท (๒๕/๒๒) ที่ว่า
ผู้ใดทำบาป ผู้นั้นย่อมเศร้าหมอง ผู้ใดไม่ได้ทำบาป ผู้นั้นย่อมบริสุทธิ์ ความบริสุทธิ์ไม่บริสุทธิ์เป็นของเฉพาะตน คนอื่นทำคนอื่นให้บริสุทธิ์ไม่ได้

มนุษย์เปรต
ในสมัยพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงพระนามว่ากัสสปะ ภิกษุรูปหนึ่งอาศัยเศรษฐีผู้หนึ่งอยู่ในวัดประจำหมู่บ้าน เป็นผู้เรียบร้อย มีศีล หมั่นบำเพ็ญวิปัสสนา ครั้งนั้นพระอรหันต์องค์หนึ่งได้มาถึงบ้านของเศรษฐี เศรษฐีเลื่อมใสในอิริยาบถของพระเถระจึงรับบาตรนิมนต์เข้าสู่เรือนให้ฉันภัตตาหาร ฟังธรรมแล้วนิมนต์ให้อยู่ในวัด พระเถระจึงไปที่วัด นมัสการพระเจ้าอาวาส ท่านเจ้าอาวาสถามว่า ได้ภัตหรือยัง ตอบว่าได้แล้วที่เรือนของเศรษฐีใกล้วัด แล้วถามถึงที่พักของตน จัดแจงปัดกวาดและเก็บบาตรจีวร
พอตกเย็นเศรษฐีก็มาหา ฟังธรรมถึงค่ำ ก่อนกลับได้นิมนต์ภิกษุทั้งสองให้รับบาตรในวันรุ่งขึ้น ฝ่ายพระเจ้าอาวาสคิดว่า ถ้าพระเถระนี้ยังอยู่ ที่ไหนเศรษฐีจะนับถือเรา เกิดความไม่พอใจในพระเถระ
พระเถระทราบความคิดของพระเจ้าอาวาส จึงคิดว่า พระเถระนี้ไม่ทราบว่าเราไม่มีความห่วงใยในตระกูล ในลาภ แล้วกลับที่อยู่ของตน
รุ่งขึ้น ท่านเจ้าอาวาสก็ตีระฆังด้วยหลังเล็บ เคาะประตูด้วยเล็บ แล้วไปสู่เรือนของเศรษฐี เศรษฐีรับบาตร นิมนต์ให้นั่งบนอาสนะ แล้วถามถึงพระอาคันตุกะ
ท่านเจ้าอาวาสตอบว่า ฉันไม่ทราบความประพฤติของพระผู้ใกล้ชิดสนิทสนมของคุณ ฉันตีระฆัง เคาะประตู ก็ไม่อาจปลุกให้ตื่นได้ เมื่อวานฉันโภชนะอันประณีตในเรือนของคุณแล้วคงอิ่มอยู่จนวันนี้ บัดนี้ก็ยังนอนหลับอยู่ เมื่อคุณจะเลื่อมใสก็เลื่อมใสในภิกษุเช่นนี้เอง
ฝ่ายพระเถระผู้เป็นอรหันต์ กำหนดเวลาบิณฑบาต ชำระสรีระตน แล้วทรงบาตรจีวร เหาะไปเสียทางอื่น
เศรษฐีนิมนต์พระเจ้าอาวาสฉันข้าวปายาส แล้วรมบาตรด้วยของหอม ใส่ข้าวปายาสจนเต็มแล้วกล่าวว่า พระเถระนั้นเห็นจะเหนื่อยจากการเดินทาง พระคุณเจ้าโปรดนำข้าวปายาสนี้ไปให้ท่านเถิด
พระเจ้าอาวาสรับบาตรมา เดินไปคิดไป ถ้าภิกษุนั้นได้ข้าวปายาสนี้ไซร้ ถึงเราจะจับคอฉุดให้ไป ก็จักไม่ไป ถ้าเราให้ข้าวปายาสนี้แก่มนุษย์หรือเทลงน้ำ คนอื่นก็จะรู้ พอดีเห็นนากำลังไหม้อยู่ จึงคุ้ยถ่านขึ้น เทข้าวปายาสลงไป กลบด้วยถ่าน แล้วกลับวัด ไม่เห็นภิกษุรูปนั้น จึงคิดได้ว่าภิกษุนั้นคงจะเป็นพระอรหันต์ รู้อัธยาศัยของเราจึงไปที่อื่นเสีย โอเพราะท้องเป็นเหตุ เราทำกรรมไม่สมควรเลย ทันใดนั้นความเสียใจอย่างใหญ่หลวงก็เกิดขึ้นแก่ภิกษุนั้น
ตั้งแต่วันนั้น ท่านก็กลายเป็นมนุษย์เปรต (มนุษย์ผู้หิวกระหายมากไปด้วยทุกข์ เพราะบาปกรรมที่ตนทำไว้) อยู่มาไม่นานก็ตายไปเกิดในนรก หมกไหม้อยู่หลายแสนปี หลังจากนั้น ผลของเศษกรรมทำให้มีชีวิตอยู่อย่างอดอยากทุกภพทุกชาติ
ชาติสุดท้ายเกิด ณ หมู่บ้านชาวประมงในแคว้นโกศล ในวันที่ท่านเกิด ชาวประมงทั้งพันครอบครัวนั้นหาปลาไม่ได้เลยสักตัว นับแต่วันนั้น พวกชาวประมงก็พากันเสื่อมโทรมมาก บ้านของพวกเขาถูกไฟไหม้ ๗ ครั้ง ถูกพระราชาปรับสินไหม ๗ ครั้ง พวกชาวประมงพากันลำบาก คิดว่า เมื่อก่อนไม่เคยเป็นเช่นนี้เลย ในหมู่คงมีตัวกาลกิณี จึงแบ่งเป็นสองกลุ่มๆ ที่บิดามารดาเขาอยู่ก็แย่ กลุ่มอื่นเจริญ โดยการแยกกลุ่มเป็นสองเรื่อยไป ที่สุดก็เหลือเพียงตระกูลเดียว คนทั้งหลายก็รู้ว่าครอบครัวนี้เป็นกาลกิณี พากันรุมตีให้หนีไป บิดามารดาของเขามีชีวิตอยู่อย่างแร้นแค้น เมื่อเลี้ยงดูจนเขาพอจะเดินได้ ก็ทิ้งเขาไว้ตามลำพัง เขามีชีวิตอย่างเดียวดายค่ำไหนนอนนั่น ไม่ได้อาบน้ำ สกปรกเหมือนปีศาจคลุกฝุ่น เลือกเม็ดข้าวกินทีละเม็ดเหมือนอย่างกาในที่สำหรับเทน้ำล้างหม้อ
วันหนึ่ง พระสารีบุตรเที่ยวบิณฑบาตในเมืองสาวัตถี เห็นเขาก็สงสาร เรียกมาแล้วถามว่าเป็นชาวบ้านไหน พ่อแม่อยู่ที่ไหน เขาตอบว่า กระผมทำให้พ่อแม่ลำบาก จึงถูกทิ้งให้อยู่คนเดียว พระเถระถามว่า เจ้าจะบวชไหม เขาตอบว่า อยากบวช
พระเถระจึงพาไปวัด อาบน้ำให้ แล้วให้บวชเณร พออายุครบก็บวชพระ ได้ชื่อว่า “โลสกติสสเถระ” เป็นพระไม่มีบุญ ใครใส่บาตร เพียงข้าวต้มกระบวยเดียว ก็ปรากฏเหมือนบาตรเต็ม คนจึงถวายองค์อื่น ต่อมาท่านก็เจริญวิปัสสนาบรรลุอรหัต ถึงกระนั้นก็ยังคงมีลาภน้อย
ในวันที่พระโลสกะจะปรินิพพาน พระสารีบุตรคิดว่า ในวันนี้เราควรให้อาหารแก่เธอจนพอ จึงพาท่านไปบิณฑบาตในเมืองสาวัตถีด้วย ทำให้พระสารีบุตรไม่ได้แม้เพียงการยกมือไหว้ จึงบอกให้กลับไปคอยที่โรงฉัน เมื่อส่งพระโลสกะกลับแล้ว พระสารีบุตรก็ได้อาหาร จึงฝากคนเอาไปให้พระโลสกะ คนรับอาหารไปแล้วก็ลืม กินเสียเองจนหมด
เมื่อพระสารีบุตรกลับวัด ทราบว่าพระโลสกะยังไม่ได้อาหารก็สลดใจ จึงให้พระโลสกะรอในโรงฉัน แล้วไปบิณฑบาตในวังของพระเจ้าโกศล พระราชาจึงสั่งให้ถวายของหวานสี่อย่างจนเต็มบาตร พระสารีบุตรกลับไปถึง ถือบาตรยืนอยู่แล้วเรียกให้พระโลสกะฉัน พระโลสกะยำเกรงพระสารีบุตรจะไม่ฉัน
พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า “มาเถิดน่า คุณจงนั่งฉัน ผมจะถือบาตรไว้ ถ้าผมปล่อยมือ บาตรต้องไม่มีอะไร”
ในวันนั้นพระโลสกะได้ฉันเต็มความต้องการแล้วก็ปรินิพพาน
(อรรถกถาโลสกชาดก เอกนิบาต)
เรื่องนี้เป็นเรื่องของหญิงผู้หนึ่ง ต้องชดใช้หนี้กรรมนอนทนทุกข์ทรมาน ล้มหมอนนอนเสื่อด้วยโรคประหลาด อยากกินอะไร อยากกินใจแทบจะขาด แต่ก็กินไม่ได้ ของดีๆ ก็กลืนไม่ลง คอมันตีบ น้ำก็หยอดไม่ลง เมื่อเริ่มป่วย ญาติก็หาหมอที่มีชื่อมารักษา แต่หมอก็ไม่รู้ว่าเป็นโรคอะไร เพราะตรวจร่างกายทุกส่วนอย่างละเอียดก็ปกติ ผิดที่อยากกินอาหารแต่กินไม่ได้ แม้หมอจะพยายามรักษาก็ช่วยอะไรไม่ได้ ร่างกายที่เคยอ้วนใหญ่ก็ค่อยๆ ผอมลงเพราะอาหารไม่ตกถึงท้อง ๖ เดือน จนเหลือแต่หนังหุ้มกระดูก เป็นความทรมานอย่างแสนสาหัส (หมอคงให้น้ำเกลือและสารอาหารทางเส้นเลือดจึงมีชีวิตอยู่ได้ แต่จะอ่อนแอลงเรื่อยๆ และตายด้วยโรคแทรกในที่สุด)
คุณหญิงระเบียบ สุนทรลิขิต ผู้รู้เรื่องนี้ดีได้เล่าว่า หญิงนี้สมัยก่อนยากจน เป็นแม่ครัวอยู่กับหญิงสูงอายุ มั่งคั่งและสูงศักดิ์ท่านหนึ่งเป็นคนใจบุญมีศรัทธา ใส่บาตรพระสงฆ์ทุกเช้า ๑๐๐ รูป ได้มอบเงินให้แม่ครัวทำอาหารชั้นดี มาใส่บาตร แพงเท่าไรไม่ว่า ขอให้พระได้ฉันอาหารดีๆ ทุกวัน คอยเปลี่ยนอย่าให้ซ้ำ แม่ครัวก็จัดการอย่างเรียบร้อย จนนายจ้างไว้ใจ จะเบิกค่าอาหารใส่บาตรวันละเท่าไรก็ได้
ต่อมาแม่ครัวก็เริ่มยักยอกเบียดบังบ้าง แต่ไม่มาก นานเข้าก็เห็นว่าที่ยักยอกไว้น้อยไป คิดว่า ของอยู่ในห่อไม่มีใครรู้ เราจะทำอะไรก็ได้ จึงเริ่มทำอาหารถูกๆ แต่เบิกเงินราวกับทำอาหารดีราคาแพงๆ มาใส่บาตร เวลาผ่านไปเป็นปีๆ หญิงนี้ยักยอกจนร่ำรวย มีที่ดินปลูกบ้าน ลูกหลานมีเพชรมีทองใส่
สิ่งที่ห่อเรียบร้อยสำหรับใส่บาตรทุกเช้าคือ ถั่วงอกผัดน้ำมันราคาถูกๆ จะมีที่ดีๆ ๓-๔ ห่อไว้แก้หน้าเมื่อนายจ้างสงสัย ทำให้เหลือไว้ให้นายจ้างได้เห็นว่าอาหารชั้นดีราคาแพงเพื่อให้ถูกใจ นี้คือวิธีการที่ทำให้หญิงแม่ครัวร่ำรวยขึ้น แต่บัดนี้กำลังได้รับทุกข์ทรมาน ไม่รู้เมื่อใดจะสิ้นสุดลงในโลกมนุษย์ และทั้งต้องไปใช้หนี้กรรมความโลภในอีกภพหนึ่ง จนกว่าจะสิ้นกรรม
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๕)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. อรรถกถาปฐมปีฐวิมานอธิบายว่า มนุษย์เปรตหมายถึงมนุษย์ที่ขาดแคลนอาหารและเครื่องนุ่งห่ม เพราะบาปกรรมที่ตนทำไว้ ต้องหิวกระหาย มากไปด้วยทุกข์ บุคคลทั้งสองกระทำบาปคล้ายกันคือทำอันตรายลาภของผู้อื่น และได้รับผลตอบแทนคล้ายกัน คือกลายเป็นมนุษย์เปรต ทั้งที่ยังมีชีวิตอยู่
๒. พระโลสกะทำบาปอย่างเดียว แต่เป็นบาปหนักเพราะทำอันตรายลาภของพระอรหันต์ จึงได้รับผลของบาปกลายเป็นมนุษย์เปรตทันตาเห็นจัดเป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม เมื่อตายไปเกิดในนรกจัดเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม ในชาติต่อๆ มาก็อดอยากทุกชาติจัดเป็นอปราปริยเวทนียกรรม แต่แม่ครัวดูเหมือนจะบาปหนักกว่า เพราะได้ทำอันตรายลาภของพระสงฆ์จำนวนมากอยู่นานหลายปี
๓. บางคนเข้าใจว่าได้ดีคือรวย เมื่อทำดีแล้วไม่รวยจึงบ่นว่าทำดีไม่ได้ดี พระโลสกะทำดีคือเจริญวิปัสสนา ได้ดีคือบรรลุอรหัต ถึงกระนั้นก็ยังยากจนมีลาภน้อย ดังนั้น ผลของการทำดีจึงไม่ใช่ความร่ำรวยเสมอไป

ห่วงหนี้
ในกรุงสาวัตถี มีพ่อบ้านคนหนึ่งเสื่อมจากโภคสมบัติ ภริยาของเขาก็ตาย เขาให้ธิดาไปอยู่เรือนมิตรของตน ยืมเงิน ๑๐๐ กหาปณะ ลงทุนซื้อของบรรทุกเกวียนไปขาย ไม่นานก็ได้เงิน ๕๐๐ กหาปณะ อันเป็นกำไรพร้อมทั้งต้นทุนแล้วกลับมาพร้อมด้วยเกวียน ในระหว่างทางถูกโจรปล้น หมู่พ่อค้าเกวียนแตกกระจายหนีไป ฝ่ายพ่อบ้านนั้นซ่อนกหาปณะไว้ที่กอไม้แห่งหนึ่ง แล้วอยู่ในที่ไม่ไกล ถูกโจรจับฆ่าทิ้งเสีย ด้วยความโลภในทรัพย์เขาจึงบังเกิดเป็นเปรตในที่นั้นเอง
พวกพ่อค้าไปยังกรุงสาวัตถี เล่าเรื่องนั้นให้ธิดาของเขาทราบ นางเสียใจมาก ร้องไห้อย่างหนัก เพราะความตายของบิดาและคิดถึงความลำบากแห่งการเลี้ยงชีพ เศรษฐีสหายของบิดาจึงปลอบโยนนางว่า ภาชนะดินย่อมมีความแตกเป็นธรรมดา ชีวิตคนเราก็ย่อมต้องแตกดับเช่นกัน ดังนั้นเจ้าอย่าได้เศร้าโศกถึงบิดาให้มากนัก แล้วรับนางเป็นธิดาบุญธรรม นางจึงคลายเศร้าและเกิดความเคารพนับถือในเศรษฐีเหมือนเป็นบิดาจริง
วันหนึ่ง นางปรารถนาจะทำบุญอุทิศให้บิดา จึงไปที่วิหาร (วัด) ถวายข้าวยาคู น้ำ และมะม่วงสุก พระพุทธเจ้าทรงรับ แล้วแบ่งถวายภิกษุทั้งหลายอุทิศสงฆ์ เมื่อพระพุทธเจ้าเสวยเสร็จและประทานพรแล้ว นางก็อุทิศส่วนบุญให้บิดา เมื่อเปรตนั้นอนุโมทนาแล้ว (พลอยยินดีที่ลูกสาวทำบุญ) ก็ได้สวนมะม่วง วิมาน และทิพยสมบัติอื่น
ต่อมา พ่อค้าเหล่านั้นได้ไปค้าขาย เดินทางไปตามทางและพักแรมในที่เดิม เปรตนั้นจึงแสดงตนพร้อมทั้งสวนและวิมาน พวกพ่อค้าถามว่า ได้มาอย่างไร เปรตตอบว่า ธิดาของเราได้ถวายภัตตาหารแด่พระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์ แล้วอุทิศให้ข้าพเจ้า จากนั้นเปรตก็แสดงทรัพย์ ๕๐๐ กหาปณะนั้น แบ่งให้พวกพ่อค้ากึ่งหนึ่ง ที่เหลือให้ลูกสาวนำไปใช้หนี้
พวกพ่อค้ากลับมาถึงเมืองสาวัตถีแล้ว ได้บอกแก่ธิดาของเปรต แล้วให้ทรัพย์ส่วนที่พวกตนได้จากเปรตนั้นแก่นางด้วย นางได้นำ ๑๐๐ กหาปณะไปใช้เจ้าหนี้ แล้วให้ทรัพย์ที่เหลือแก่สหายบิดา เศรษฐีคืนทรัพย์นั้นให้นาง แล้วยกนางให้เป็นภรรยาของบุตรชายคนหัวปี มีบุตรด้วยกันคนหนึ่ง ต่อมานางได้ฟังธรรมและบรรลุโสดาบัน
(อรรถกถาอัมพวนเปตวัตถุ)
เมื่อคราวน้ำท่วมใหญ่ปลายปีพ.ศ. ๒๔๘๕ ส.ต.ต.ปิ่น ละออพันธุ์ ได้สมรสกับน.ส.ประภา ขณะนั้นประจำการอยู่ที่สถานีตำรวจอำเภอวารินทร์ชำราบ จ.อุบลราชธานี เมื่ออยู่กันมา ๙ ปี ก็มีบุตรหญิงชายด้วยกัน ๓ คน
ต่อมา ปีพ.ศ. ๒๔๙๔ ประจำการอยู่ที่เขื่อนมโนรมย์ จ.ชัยนาท วันหนึ่งกลางปีนั้น ได้เข้าไปปฏิบัติราชการในตัวจังหวัด ขากลับรถประจำทางที่ส.ต.ต.ปิ่นโดยสารมาได้เกิดอุบัติเหตุ ถูกรถกรมชลประทานชนอย่างแรง เป็นเหตุให้รถโดยสารประจำทางพลิกคว่ำ คันเกียร์รถโดยสารเสียบปักที่อกด้านซ้ายของส.ต.ต.ปิ่น แล้วร่างยังกระเด็นออกไปนอกรถ จากนั้นกระสอบข้าวสารที่บรรทุกอยู่บนหลังคารถโดยสารก็ได้ตกลงมาทับตัว ส.ต.ต.ปิ่นได้ถึงแก่ความตายทันที
หลังจากนั้น ๕ วัน ตอนกลางคืน นางประภาผู้เป็นภรรยาได้ฝันเห็นส.ต.ต.ปิ่นแต่งเครื่องแบบแต่ไม่มีบาดแผลอย่างใด มายืนร้องเรียกอยู่ที่หัวบันไดบ้านว่า ภา ภา ให้เอาเงินไปใช้เจ๊กหูตูบค่ากาแฟ ๗๓ บาท มีเศษสตางค์ด้วย (ผู้เล่าลืมเศษสตางค์) ในฝันนางได้เรียกให้ ส.ต.ต.ปิ่นขึ้นบ้าน แต่ส.ต.ต.ปิ่นไม่ยอมขึ้น อ้างว่าจะไปราชการ
นางประภาไม่เคยรู้เรื่องหนี้สินมาก่อน และไม่เคยรู้จักเจ๊กหูตูบ จึงไปถามตำรวจที่เคยเป็นลูกน้องของส.ต.ต.ปิ่น เขาก็พานางประภาไปที่ร้านเจ๊กหูตูบ ซึ่งตั้งอยู่ที่ท่าน้ำมโนรมย์
เมื่อพบเจ๊กหูตูบ นางประภาก็ถามว่า ส.ต.ต.ปิ่นเป็นหนี้อยู่ ๗๓ บาท กับมีเศษสตางค์ใช่ไหม
เจ๊กหูตูบตรวจดูบัญชีแล้วตกใจร้องว่า เอทำไมตรงกันล่ะ
นางประภาจึงบอกว่า เมื่อคืนก่อนนี้ ส.ต.ต.ปิ่นมาเข้าฝันให้เอาเงินมาใช้หนี้ แล้วนางประภาก็นำเงินออกมาชำระหนี้ เจ๊กหูตูบร้องไห้โฮ และบอกไม่ยอมรับเงิน ขอให้นางประภาเอาเงินไปร่วมทำบุญด้วย
เรื่องนี้มีพยานหลักฐานคือนางประภาและบุตรชายหญิงของ ส.ต.ต.ปิ่น อีก ๓ คน เป็นเรื่องที่แปลกมหัศจรรย์
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๖)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. ทั้งสองเป็นบุคคลที่น่าสรรเสริญมาก เพราะมีความรับผิดชอบสูง ตายแล้วยังสั่งคนให้นำเงินไปใช้หนี้ ผิดกับบางคนทวงแล้วทวงเล่าก็ไม่ยอมใช้หนี้ ในศาลจึงเต็มไปด้วยคดีที่เกี่ยวกับหนี้สิน
๒. หนี้ที่นางประภาทราบจากความฝันตรงกับในบัญชี แสดงว่าส.ต.ต.ปิ่นคงจะมาเข้าฝันนางประภาจริง
๓. ชาณุสโสณิสูตร (๒๔/๑๖๖) ระบุว่า เปรตเท่านั้นที่อยู่ในฐานะที่สามารถรับส่วนบุญที่ญาติอุทิศให้ สัตว์นรก อสุรกาย สัตว์ดิรัจฉาน ไม่อาจรับส่วนบุญที่ญาติอุทิศให้
๔. อรรถกถากล่าวว่า การอุทิศส่วนบุญจะสำเร็จได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ๓ คือ ผู้ให้ทานตั้งใจอุทิศให้ เปรตอนุโมทนา (พลอยยินดี) ผู้รับทานมีศีลมีคุณธรรม ไม่เป็นผู้ทุศีล
๕. ผู้เรียบเรียงเคยได้ยินพระอาจารย์ท่านหนึ่งเล่าว่า ญาติผู้หนึ่งของท่านตายแล้วไปเกิดเป็นเปรต พ่อบ้านในเรื่องนี้ก็เกิดเป็นเปรตเพราะความโลภในทรัพย์
๖. อรรถกถาธรรมบทกล่าวว่า ผู้ที่สิ้นชีพขณะกำลังโกรธจะไปเกิดในนรก

ตาต่อตา

พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน สมัยนั้นมีเศรษฐีสองพี่น้อง คนพี่ชื่อมหาปาละ คนน้องชื่อ จุลปาละ วันหนึ่งมหาปาละ นั่งฟังธรรมจากพระพุทธเจ้า แล้วคิดว่า บุตรธิดาหรือโภคทรัพย์ติดตามผู้ไปสู่ปรโลกไม่ได้ แม้สรีระก็ไปกับตัวไม่ได้ ประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน พอเทศนาจบ ก็เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลขอบวช พระองค์ตรัสให้ไปลาญาติพี่น้องก่อน
เขากลับไปเรือนมอบทรัพย์ของตระกูลให้น้องชายดูแล แล้วบอกน้องชายว่าจะบวช น้องบอกให้รอบวชเมื่อแก่ เขาตอบว่า มือเท้าคนแก่ไม่มีแรง ไม่อยู่ในอำนาจ จะประพฤติธรรมได้อย่างไร แล้วก็ไปบวช
เมื่อมีพรรษาครบห้าก็ไปทูลขอพระกรรมฐานจากพระพุทธเจ้า แล้วถวายบังคมลาพร้อมด้วยภิกษุอีก ๖๐ รูป เดินทางไปถึงตำบลแห่งหนึ่ง เข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน พวกชาวบ้านเลื่อมใสจึงนิมนต์ให้อยู่จำพรรษาในวัด หมอคนหนึ่งได้ปวารณาว่า ถ้าเจ็บป่วยให้บอก จะทำยาถวาย
ในวันเข้าพรรษา พระมหาปาละคิดว่า ผู้ที่เรียนกรรมฐานจากสำนักของพระพุทธเจ้าไม่ควรประมาท จึงอธิษฐานไม่นอนตลอดพรรษา เมื่อเวลาผ่านไปหนึ่งเดือน เกิดโรคตามีน้ำตาไหล พวกภิกษุเห็นเข้าจึงบอกหมอ หมอได้ทำยาหยอดถวาย พระเถระก็นั่งหยอดยา เมื่อไปบิณฑบาตในบ้าน หมอถามอาการ ก็ตอบว่า ยังไม่หาย หมอคิดว่า โรคควรหายด้วยการหยอดยาเพียงครั้งเดียว เกิดสงสัย จึงถามว่า ท่านนั่งหยอดหรือนอนหยอด พระเถระก็นิ่งเฉย หมอจึงไปตรวจดูที่วัด เห็นแต่ที่จงกรมและที่นั่ง จึงมาเรียนถามอีก พระเถระก็นิ่งเสีย หมออ้อนวอนว่า ท่านโปรดอย่าทำอย่างนั้น เมื่อร่างกายดีอยู่ก็อาจทำสมณธรรมได้ ขอท่านนอนหยอดเถิด พระเถระตอบว่า ขอปรึกษาดูก่อน
ในที่นั้นไม่มีญาติอยู่เลย พระเถระจึงปรึกษากับตัวเองว่า ท่านจะเห็นแก่จักษุหรือเห็นแก่พระพุทธศาสนา ท่านได้ผูกใจว่า จะไม่นอนตลอด ๓ เดือนนี้ ดังนั้นแม้จักษุของท่านฉิบหายหรือแตกเสียก็ตาม ท่านจงทรงพระพุทธศาสนาไว้ อย่าเห็นแก่จักษุเลย จักษุที่ท่านถือว่าของตัวจงแตกไปเถิด หูก็แตกไปเถิด แม้ร่างกายนี้ก็แตกไปเสียเถิด ปาลิตะ เหตุไฉน ท่านจึงประมาทอยู่
เมื่อพระเถระสอนตัวเองแล้ว ก็นั่งหยอดยาตามเดิม เมื่อไปบิณฑบาต หมอถามว่านั่งหรือนอนหยอด ท่านก็นิ่งเหมือนเดิม หมอกลัวเสียชื่อจึงบอกเลิกรักษา พระเถระถูกหมอบอกเลิก ก็กลับไปวัด เตือนตนไม่ให้ประมาท แล้วบำเพ็ญสมณธรรมต่อไป คืนนั้นเอง ทั้งดวงตาทั้งกิเลสของท่านแตกพร้อมกัน ท่านเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก (ไม่มีฤทธิ์)
พระศาสดาตรัสเล่าบุพกรรมของพระเถระนี้ว่า
ในอดีต ณ กรุงพาราณสี หมอผู้หนึ่งเที่ยวรักษาผู้คน เห็นหญิงมีตาผิดปกติ ถามว่าเป็นอะไร หญิงนั้นตอบว่า ตามองไม่เห็น หมอก็ถามถึงค่ารักษา หญิงนั้นว่า ถ้ารักษาหายนางและบุตรธิดาจะยอมเป็นทาส หมอจึงทำยาให้ ดวงตากลับเป็นปกติด้วยยาขนานเดียว หญิงนั้นแกล้งทำเป็นยังไม่หายซ้ำยังปวดมากขึ้น หมอไม่พอใจแกล้งทำยาให้อีกขนาน เมื่อหยอดแล้วหญิงนั้นก็ตาบอดทั้งสองข้าง หมอนั้นได้มาเกิดเป็นพระมหาปาละ
(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๑ เรื่องจักขุปาลเถระ)

ต่อไปเป็นประสบการณ์ของพระมหากิมหลี อิสฺสรญาโณ ชาวอยุธยา เคยจำพรรษาที่วัดโสมนัส ภายหลังย้ายไปจำพรรษาอยู่วัดอื่น ท่านต้องรับผลของบาปกรรมที่ทำไว้เมื่อครั้งเป็นวัยรุ่น เรื่องมีอยู่ว่า
สมัยที่ท่านยังไม่บวช และอยู่ในวัยรุ่น บ้านของท่านอยู่ติดกับคลอง มีกระไดท่าน้ำ วันหนึ่งท่านกลับจากเที่ยวก็ไปล้างเท้าที่ท่าน้ำ เป็นเวลาที่มีปลาแขยงชุกชุม เมื่อมีคนลงมาล้างเท้าพวกปลาก็พากันมาตอด ท่านโกรธมากตามประสาคนหนุ่มเลือดร้อน คิดจะแก้เผ็ดที่เจ้าพวกปลาแขยงมาตอดเท้า จึงรีบขึ้นเรือนคว้าได้สวิงก็รีบลงไปตีนท่ากระทุ่มน้ำ ทำเป็นล้างเท้า ฝูงปลาแขยงก็ว่ายเข้ามาตอดเท้า ท่านก็เอาสวิงช้อนปลาขึ้นมาได้ ๖-๗ ตัว คิดว่าจะทุบตีให้มันตายก็ง่ายเกินไป ไม่สมแค้น จึงรีบวิ่งขึ้นเรือนหาได้เข็มรีบจัดแจงลงมาที่ท่าน้ำ เอาเข็มแทงลูกนัยน์ตาทั้งสองข้างทุกตัว แล้วปล่อยลงน้ำไป
ต่อมา ได้อุปสมบทเป็นพระภิกษุในพระพุทธศาสนา ศึกษาเล่าเรียนจนได้เป็นมหาเปรียญ ๓ ประโยค ท่านก็เริ่มเจ็บตาข้างหนึ่ง แม้จะรักษาอย่างไรก็ไม่หาย เจ็บปวดแสนสาหัสแทบจะทนไม่ไหว เมื่อให้แพทย์แผนปัจจุบันตรวจ ก็บอกว่าต้องผ่าจึงจะมีโอกาสหาย เมื่อผ่าแล้วก็ไม่หาย ตาจึงบอดลง ท่านนึกรู้ได้ทันทีว่า บาปกรรมที่ทำกับปลาแขยงในสมัยวัยรุ่นนั้น บัดนี้ได้ติดตามมาทันแล้ว ต่อมาไม่นานตาอีกข้างหนึ่งก็เกิดปวดขึ้นมาอย่างมาก เมื่อท่านไปหาแพทย์ๆ ก็บอกว่าต้องผ่าอีก ท่านก็ยอมเสี่ยง ในที่สุดตาของท่านก็บอดสนิททั้งสองข้าง ท่านจึงนึกว่า โรคกรรมเวรนี้ หมอเก่งเพียงไรก็รักษาไม่หาย
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๔)

ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. บุคคลทั้งสองได้ทำบาปกรรมไว้คล้ายกันคือเบียดเบียนคนอื่นสัตว์อื่น และได้รับผลคล้ายกันคืออาพาธจนตาบอดทั้งสองข้าง ต้องดำรงชีวิตอยู่ด้วยความลำบาก
๒. พระมหากิมหลีอาจจะตาบอดเพราะแทงตาปลาแขยง หรือเพราะเคยทำให้คนอื่นตาบอดในชาติก่อนๆ ถ้าท่านตาบอดเพราะกรรมเก่าตามมาให้ผล กรรมที่แทงตาปลาแขยงก็จะรอให้ผลในชาติต่อๆ ไป
๓. บางคนอาจคิดว่า พระมหาปาละตาบอดเพราะไม่นอนและไม่หยอดยา พระมหาปาละถือธุดงค์ว่าด้วยการนั่งเป็นวัตร งดอิริยาบถนอน (นั่งหลับได้) ถ้าการถือธุดงค์ทำให้เจ็บป่วย พระพุทธเจ้าคงไม่ทรงอนุญาตแน่ ในพระไตรปิฎก (๑๔/๓๘๕) กล่าวว่า ตลอด ๘๐ พรรษา พระพักกุละถือการนั่งเป็นวัตรอย่างอุกฤษฏ์ ท่านมีอายุยืนมาก ไม่เคยเจ็บป่วย ไม่เคยฉันยา ท่านมหากิมหลีไม่ได้ถือธุดงค์ แต่ตาก็เจ็บได้ แม้ทำตามคำสั่งหมอทุกอย่างก็ช่วยอะไรไม่ได้ สรุปว่าท่านทั้งสองตาบอดเพราะบาปกรรมที่ทำไว้

คดไม่คุ้ม
เมื่อครั้งพุทธกาล ณ หมู่บ้านไม่ไกลจากกรุงสาวัตถี มีพ่อค้าโกงคนหนึ่ง เขาหาเลี้ยงชีพในทางมิชอบด้วยการโกงด้วยตาชั่ง วิธีการคือเอาข้าวเปลือกปนแกลบและเอาฟ่อนข้าวสาลีเคล้าด้วยดินแดงทำให้หนักกว่าเดิม ปนกับข้าวสาลีแดงแล้วขาย
เมื่อพ่อค้าโกงผู้นี้ตายแล้วก็ไปเกิดเป็นเปรตในดงไฟไหม้ เขาใช้มือทั้งสองกอบเอาแกลบแห่งข้าวสาลีที่ลุกโพลงด้วยผลกรรม แล้วเกลี่ยลงบนศีรษะของตนเองเสวยทุกข์เป็นอันมาก.
(อรรถกถาภุสเปตวัตถุ)
เมื่อครั้งพุทธกาล หญิง ๔ คน ในกรุงราชคฤห์ ทำการค้าขายเนยใส น้ำผึ้ง น้ำมัน และข้าวเปลือก เป็นต้น ด้วยเครื่องนับโกง รวบรวมโภคทรัพย์สำหรับเลี้ยงชีพในทางมิชอบ
เมื่อหญิงเหล่านั้นตายแล้ว ก็ไปเกิดเป็นนางเปรต อยู่ที่หลังคูนอกเมือง ในเวลากลางคืน นางเปรตเหล่านั้นถูกความทุกข์ครอบงำแล้ว ร้องบ่นเพ้อด้วยเสียงอันน่าสะพรึงกลัวว่า
พวกเรารวบรวมโภคทรัพย์ไว้ โดยชอบธรรมบ้าง ไม่ชอบธรรมบ้าง คนอื่นพากันใช้สอยโภคทรัพย์เหล่านั้น แต่พวกเรากลับมีส่วนแห่งทุกข์ใหญ่ อันเนื่องมาจากกำเนิดเปรต เพราะพวกเราไม่ได้ทำสุจริตอะไรๆ ไว้ ทำแต่ทุจริต (อรรถกถาโภคสังหรณเปติวัตถุ)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. พ่อค้าชายหญิงเหล่านี้คงถือคติว่า “ไม่โกงไม่รวย” จึงหาเลี้ยงชีพในทางมิชอบด้วยการคดโกง เมื่อตายแล้ว บาปกรรมที่ทำได้ส่งไปบังเกิดเป็นเปรต จัดเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม
๒. ในโลกแห่งเปรตมีแต่ความหิวกระหาย มีแต่ความทุกข์ทรมาน ทรัพย์สินที่ได้จากการทุจริตช่วยอะไรไม่ได้เลย จะนำติดตัวมาก็ไม่ได้ ต้องทิ้งไว้ให้คนอื่นบริโภคใช้สอย
๓. ถ้าพวกเขารู้ว่าจะต้องทนทุกข์ที่เผ็ดร้อนถึงปานนี้ คงไม่กล้าโกงเป็นแน่ เพราะไม่คุ้มเลย
๔. ท่านผู้รู้กล่าวว่า ทุกคนต้องตายในเวลาไม่นาน คนไม่ได้อายุยืนเพราะทรัพย์ จะทำทุกวิถีทางที่ชั่วช้าน่ารังเกียจหรือทารุณโหดร้าย เพียงเพื่อให้ได้มาซึ่งทรัพย์ทำไมเล่า

ร้อนไม่จริง
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เกิดไฟไหม้ที่สำเพ็ง เจ้าของบ้านพากันตกใจ รีบขนของหนีไฟ พวกเจ้าของบ้านแห่งหนึ่งขนของมาลงเรือลำหนึ่ง ซึ่งจอดเทียบอยู่ท่าวัดสำเพ็ง เมื่อมีของในเรือมากพอและได้โอกาสอันดีชายเจ้าของเรือก็รีบแจวหนีไปอย่างซึ่งหน้า เมื่อกลับถึงบ้านซึ่งอยู่ที่ตำบลหนองไม้แดง จังหวัดชลบุรี ก็กลายเป็นคนร่ำรวยคนหนึ่งในตำบล
ภายหลังคนโกงนั้นเจ็บหนัก ต้องการดื่มน้ำที่ร้อนจัดๆ จึงมักบ่น ว่าน้ำที่รินให้ร้อนไม่พอ ในที่สุดต้องเอาเตาไปต้มน้ำใกล้ๆ ที่นอน เมื่อน้ำเดือดจัดก็ตักมาหยอดใส่ปากทันที เขาดื่มได้ราวกับดื่มน้ำเย็นธรรมดา เมื่อดื่มได้พอสมควรก็ขาดใจตาย นางฉุยคนบ้านเดียวกันผู้เห็นเหตุการณ์อันน่าสลดสังเวชนี้เชื่อว่า เป็นผลกรรมที่ผู้ตายทำไว้เมื่อครั้งไฟไหม้สำเพ็ง
เรื่องนี้สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ วัดเทพศิรินทราวาส ซึ่งเป็นชาวชลบุรี ได้สั่งให้บันทึกไว้เป็นหลักฐาน
(ประมวญมติเรื่องกรรม โดย พระมหาจอม ภทฺทสาโร ศ.บ.
วัดกันมาตุยาราม)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. แทนที่จะช่วยเหลือผู้ที่กำลังเดือดร้อนถูกไฟไหม้ เจ้าของเรือกลับโกงเขาซึ่งหน้า ได้ของไปมากจนมีฐานะร่ำรวย บาปจึงหนัก และให้ผลในชาตินี้เป็นทิฏฐธรรมเวทนียกรรม ถ้าของที่โกงมูลค่าน้อย บาปก็น้อยลง
๒. สภาพที่คนโกงผู้นี้ต้องทนทุกข์ทรมานก่อนตาย เปรียบเหมือนตกนรกทั้งเป็น เมื่อชาติปัจจุบันเป็นเช่นนี้ ตายแล้วสุคติเป็นอันไม่ต้องหวัง
๓. ประเด็นที่ว่า น้ำเดือดจัดดื่มได้อย่างไรนั้น เข้าใจว่าเป็นเพราะ
๓.๑ ภายในกายของเขาคงจะหนาวเย็นเป็นอย่างมาก คนป่วยจึงอยากดื่มแต่น้ำร้อนๆ เพื่อคลายความหนาวเหน็บในกาย
๓.๒ อำนาจบาปกรรมบันดาลให้คนป่วยดื่มน้ำร้อนๆ เพื่อทำร้ายตนเอง เหมือนคนเมายาบ้ารู้สึกสะใจที่ได้ทำร้ายตนเองหรือคนอื่น
๓.๓ ความป่วยไข้ทำให้ความรู้สึกร้อนหนาววิปริต คนป่วยโรคไข้จับสั่นรู้สึกหนาวเหน็บ ทั้งที่อากาศไม่หนาว โดยนัยนี้ คนโกงนั้นจึงไม่รู้สึกร้อน ทั้งที่น่าจะร้อน แม้คนปกติ เมื่อเอามือซ้ายแช่ในอ่างน้ำร้อน (พอทนได้) มือขวาแช่ในอ่างน้ำเย็น แล้วเอามือทั้งสองแช่ในอ่างน้ำอุ่น มือซ้ายจะรู้สึกเย็น มือขวาจะรู้สึกร้อน ทั้งที่อยู่ในอ่างใบเดียวกัน ความรู้สึกหนาวร้อนของคนเราจึงไม่แน่นอน

สายเกินไป
เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ในกรุงสาวัตถี พระเจ้าโกศลมีพระโอรส ๒ พระองค์ กำลังมัวเมาในยศศักดิ์และความเป็นหนุ่ม ได้กระทำบาปกรรมคือคบหากับภรรยาของคนอื่น ทำกาละ (ตาย) แล้วบังเกิดเป็นเปรตที่หลังคู ในเวลากลางคืน เปรตทั้งสองนั้นพากันรำพันด้วยเสียงอันน่าสะพรึงกลัว ชาวบ้านได้ฟังเสียงนั้นพากันสะดุ้งกลัว คิดว่าการถวายมหาทานจะทำให้อวมงคลสงบ จึงนิมนต์สงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประธาน แล้วกราบทูลเรื่องนั้น
พระพุทธเจ้าตรัสว่า เพราะได้ยินเสียงนั้น อันตรายอะไรๆ ย่อมไม่มีแก่พวกท่าน นั้นเป็นเสียงที่เปรตราชกุมารทั้งสองร้องประกาศกรรมชั่วที่กระทำไว้ในกาลก่อน ข้อความนั้นมีว่า
เมื่อบุคคลผู้สมควรรับของทำบุญมีอยู่เป็นอันมาก และไทยธรรมอันเขาจัดเตรียมไว้ให้ก็มีอยู่ในที่ใกล้ พวกเราไม่อาจทำบุญอันนำมาซึ่งความสุขต่อไป แม้เพียงเล็กน้อย แล้วทำตนให้ปลอดภัยได้ อะไรจะพึงลามกกว่ากามอันเป็นเหตุให้พวกเราทำบาปกรรม เมื่อจุติ (ตาย) จากราชสกุลจึงไปบังเกิดในเปตวิสัย พรั่งพร้อมไปด้วยความหิวและความกระหาย เมื่อก่อนเคยเป็นเจ้าของในที่ใด บัดนี้ย่อมไม่ได้เป็นเจ้าของในที่นั้นอีก มนุษย์ทั้งหลายเจริญขึ้นแล้วกลับเสื่อมลง ย่อมตายเพราะความหิวและความกระหาย บุคคลรู้โทษอันเกิดจากความถือตัว (ว่าเป็นใหญ่) อย่างนี้แล้ว ละความมัวเมาในความเป็นใหญ่ได้แล้ว พึงไปสู่สวรรค์
(อรรถกถากุมารเปตวัตถุ)
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ในพระเชตวัน พระเจ้าปเสนทิโกศลเกิดพอพระทัยในภรรยาของบุรุษผู้หนึ่ง ทรงวางอุบายหมายจะฆ่าบุรุษนั้น โดยรับสั่งให้ไปเอาดินสีอรุณมาก่อนเวลาเย็น ถ้าไม่ทันจะลงอาญา บุรุษนั้นนำดินสีอรุณกลับมาทัน แต่เข้าเมืองไม่ได้เพราะพระราชารับสั่งให้ปิดประตูเมืองแต่วัน จึงหนีราชภัยไปนอนที่วิหาร
คืนนั้นพระราชาไม่หลับตลอดคืน ทรงเร่าร้อนในกามเพราะหญิงนั้นเป็นเหตุ ทรงดำริว่า พรุ่งนี้เราจักให้ฆ่าบุรุษนั้นเสีย แล้วนำหญิงนั้นมา ตอนกลางดึกทรงได้ยินเสียงดังน่ากลัวว่า “ทุ สะ นะ โส”
รุ่งเช้าทรงเล่าให้ปุโรหิตฟัง ทั้งที่ไม่รู้ปุโรหิตทูลว่า ภัยจักมีแก่พระองค์ แล้วแนะนำให้พระราชาบูชายัญด้วย ช้าง ม้า และมนุษย์ พระนางมัลลิการู้ข่าวจึงทูลทัดทานว่า การได้ชีวิตตนเพราะการตายของคนอื่น พระองค์เคยเห็น ณ ที่ไหน จากนั้นชวนพระราชาไปพระเชตวัน แล้วทูลถามพระพุทธเจ้าเรื่องเสียงที่ได้ยิน
พระพุทธเจ้าตรัสว่า อันตรายไม่มีแก่พระองค์ เสียงนั้นเป็นเสียงสัตว์นรก ๔ ตน อดีตเป็นเศรษฐีบุตรมีทรัพย์มาก ต้องทุกข์ทรมานหมกไหม้ในอเวจีนรก ตลอดหนึ่งพุทธันดร ขณะนี้บังเกิดในโลหกุมภีนรก ด้วยผลกรรมที่ประพฤติผิดในทางกามกับลูกเมียคนอื่น พวกเขาต้องการกล่าว (ตนละคาถา) ว่า
เมื่อโภคะทั้งหลายมีอยู่ พวกเราไม่ได้ถวายทาน ไม่ได้ทำที่พึ่งแก่ตน จัดว่ามีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้า
เมื่อพวกเราพากันหมกไหม้ในนรก หกหมื่นปีเต็มบริบูรณ์ โดยประการทั้งปวง เมื่อไรที่สุดจักมี
ที่สุดไม่มี ที่สุดจักมีแต่ที่ไหน ที่สุดย่อมไม่ปรากฏ เพราะเรากับท่านได้กระทำบาปกรรมไว้มาก
เราพ้นไปจากที่นี่แล้ว ได้กำเนิดเป็นมนุษย์ จักเป็นผู้รู้ความประสงค์ของผู้ขอสมบูรณ์ด้วยศีล จักทำกุศลให้มาก
พระราชาฟังแล้วสลดพระทัย ทรงดำริว่า การละเมิดภริยาผู้อื่นเป็นกรรมหนัก เพียงแค่คิดยังไม่อาจหลับตลอดคืนยันรุ่ง ชนทั้งสี่ต้องทุกข์ทรมานนานปานนี้ยังไม่พ้นบาปกรรม นับแต่นี้ไปเราจะไม่ผูกความพอใจในภริยาชายอื่น
(อรรถกถาธรรมบท ภาค ๓ เรื่องบุรุษคนใดคนหนึ่ง)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. อำนาจยศศักดิ์และทรัพย์เปรียบเหมือนดาบสองคมให้ทั้งคุณและโทษ ราชกุมารทั้งสองมัวเมาในยศศักดิ์ถือตัวว่าเป็นใหญ่ ใช้อำนาจแสวงหากามสุขในทางผิดศีลธรรม โดยไม่คำนึงถึงความเดือดร้อนของผู้อื่น เมื่อถึงชีพิตักษัยก็บังเกิดเป็นเปรต เสวยผลแห่งบาปกรรมที่ทำไว้ เศรษฐีบุตรทั้งสี่ก็ใช้อำนาจทรัพย์เป็นเครื่องมือทำบาปกรรม ตายไปเกิดในนรกจัดเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม ส่วนพระราชาทรงโชคดีที่มีพระอัครมเหสีเป็นกัลยาณมิตรคอยตักเตือน ประกอบกับได้ฟังธรรมจากพระพุทธเจ้าจึงทรงสำนึกผิดกลับตัวทัน
๒. สิ่งที่ราชกุมารทั้งสองและเศรษฐีบุตรทั้งสี่เสียดายหรือเสียใจมากที่สุดคือ การที่ไม่ได้ทำบุญเลย ทั้งที่ของทำบุญและบุคคลที่ควรแก่ของทำบุญก็มีอยู่พร้อม มาสำนึกได้ก็สายเกินไปแล้ว แต่ก็เป็นนิมิตที่ดีแห่งภพชาติต่อไป
๓. การมีชีวิตอยู่โดยไม่ได้ทำความดีเลย จัดเป็นการมีชีวิตอยู่อย่างชั่วช้า ดังนั้นเมื่อมีโอกาสทำความดีก็อย่าได้ละเลย จะได้ไม่ต้องมาเสียใจภายหลัง

ดวงจะช่วยอะไรได้
ในอดีตกาล ณ กรุงพาราณสี ชาวพระนครได้ไปขอธิดาของชาวชนบท กำหนดวันแล้ว เมื่อถึงวันนัด ถามอาชีวก (นักบวชชีเปลือย) ผู้คุ้นเคยกันว่า วันนี้พวกผมจักทำการมงคลอย่างหนึ่ง ฤกษ์ดีไหมครับ อาชีวกนั้นโกรธอยู่แล้วว่า คนพวกนี้กำหนดวันเอาตามพอใจตน บัดนี้กลับถามเรา ต้องสั่งสอนเขาเสียบ้าง จึงพูดว่า วันนี้ฤกษ์ไม่ดี พวกท่านอย่ากระทำการมงคลเลย ถ้าขืนทำจักพินาศใหญ่ พวกเขาหลงเชื่อ จึงไม่ไปรับเจ้าสาวในวันนั้น
ฝ่ายชาวชนบทจัดการมงคลไว้พร้อมแล้ว ไม่เห็นชาวพระนครมา ก็กล่าวว่า พวกนั้นกำหนดไว้วันนี้ แล้วก็ไม่มา ธุระอะไรจะต้องไปคอยคนเหล่านั้น (ให้โง่) แล้วก็ยกธิดาของตนให้ตระกูลอื่นไป รุ่งขึ้น ชาวเมืองพากันมารับเจ้าสาว ชาวชนบทก็พากันกล่าวว่า พวกท่านขึ้นชื่อว่าเป็นชาวเมืองแต่ขาดความเป็นผู้ดี กำหนดวันไว้แล้วแต่ไม่มาตามกำหนด พวกเราจึงยกเจ้าสาวให้คนอื่นไปแล้ว พวกชาวเมืองกล่าวว่า เพราะฤกษ์ไม่ดี จึงไม่มา จงให้เจ้าสาวแก่พวกเราเถิด ชาวชนบทแย้งว่า เจ้าสาวยกให้คนอื่นไปแล้ว จะนำตัวคืนมาได้อย่างไร
ขณะนั้นบัณฑิตชาวเมืองผู้หนึ่งผ่านมาได้ยินพวกชาวเมืองกล่าวว่าไม่มาเพราะฤกษ์ไม่ดี ก็พูดว่า ฤกษ์จะมีประโยชน์อะไร เพราะการได้เจ้าสาวก็เป็นฤกษ์อยู่แล้วไม่ใช่หรือ แล้วกล่าวว่า
คนโง่มัวถือฤกษ์ยามอยู่ ประโยชน์ย่อมล่วงเลยเขาไปเสีย ประโยชน์ก็คือตัวฤกษ์ ดวงดาวทั้งหลายจักทำอะไรได้
(อรรถกถานักขัตตชาดก เอกนิบาต)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. เพราะชาวพระนครเสียสัตย์ จึงได้รับผลทันตาเห็นคือไม่ได้เจ้าสาวตามที่ต้องการ
๒. การเสียสัตย์โดยอ้างฤกษ์ยาม เป็นเหตุผลที่ใช้ไม่ได้ คนอื่นฟังแล้วแทนที่จะเห็นใจ กลับจะตำหนิว่างมงาย
๓. เกี่ยวกับฤกษ์พุทธศาสนาสอนว่า ทำดีเวลาใด เวลานั้นฤกษ์ดี ทำชั่วเวลาใด เวลานั้นฤกษ์ไม่ดี

พลั้งปากเสียเงิน
เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่สองสงบลงใหม่ๆ วันหนึ่ง ผม (ไม่ใช่ ท. เลียงพิบูลย์) จำได้ว่าเข้าหุ้นซื้อสลากกินแบ่งของรัฐบาลกับเพื่อนและบังเอิญถูก ได้รับส่วนแบ่งประมาณ ๒๐๐ บาท ตอนเที่ยงผมก็เดินไปสำเพ็งเลือกซื้อผ้าห่มขนสัตว์แท้ได้หนึ่งผืน ผมถามเถ้าแก่ว่า ไม่แพงกว่าราคาขายในท้องตลาดแน่นะ เถ้าแก่ก็รับรอง
เมื่อกลับถึงบ้านก็ยื่นห่อผ้าให้เป็นของขวัญแม่บ้าน เมื่อเธอหยิบไปแก้ห่อดู พอเห็นเป็นผ้าห่มขนสัตว์สีขี้ม้าก็ดีใจถามว่า คุณซื้อมาเท่าไหร่ ผมเตรียมคำตอบไว้แล้วจึงรีบบอกว่า ๗๕ บาทจ๊ะ เธอพอใจมากพูดว่า ผ้าห่มสีนี้ฉันอยากได้มานานแล้ว ถูกใจฉันแท้ๆ ราคาก็ไม่แพง ฉันขอชมว่าคุณซื้อได้ถูกมาก ผมภูมิใจที่แม่บ้านชมว่าซื้อของถูก แต่แล้วเธอก็พูดว่า วันนี้เป็นวันอะไร คุณจึงให้ของขวัญฉันแล้วทำไมจึงซื้อได้ถูก ผมตอบว่า เห็นจะเป็นวันซื้อของได้ถูกกระมัง ที่ซื้อได้ถูกเพราะฉันรู้จักชอบพอกับเถ้าแก่ร้านนี้มาก เขาคงลดหรือขายให้ในราคาทุน หรือเขาซื้อมาต้นทุนถูกก็ขายถูกให้ ยังมีอีกมาก ต้องการเท่าไหร่ก็ซื้อได้ ผมโม้ต่อ
วันนั้นผมสบายใจ เพราะเป็นครั้งแรกที่แม่บ้านชมว่า ผมซื้อของได้ถูกใจ เป็นประโยชน์มากและทั้งราคาถูก แต่ความดีใจของผมอยู่ได้ไม่นาน เพราะรุ่งขึ้นตอนเย็น แม่บ้านก็ยื่นซองมาให้แล้วพูดว่า ฉันเล่าให้คุณแจ่มศรีข้างบ้านฟัง แกชอบใจอยากได้บ้าง จึงขอให้คุณช่วยซื้อให้สักสี่ผืน เงินอยู่ในซอง ๓๐๐ บาท คุณช่วยซื้อหน่อยนะคะ แกเป็นเพื่อนบ้านที่ดีของเรา ฉันรับปากก็เพราะคุณบอกว่าจะซื้ออีกเท่าไหร่ก็ได้
พอผมได้ยินเท่านั้นลมแทบจับ ความจริงผ้าห่มผืนนั้นผมซื้อมา ๑๐๐ บาท มาโกหกแม่บ้านว่าซื้อได้ ๗๕ บาท เพื่อให้ชมว่าผมซื้อของได้ถูก ไม่นึกว่าแม่บ้านจะเอาไปคุยอวดจนมีคนฝากซื้อ ถ้าปฏิเสธก็จะเสียหายทั้งแม่บ้านและผม เห็นจะต้องตกกระไดพลอยโจน ยอมเสียเงินซื้อผ้าเอาหน้ารอด แทนคำโบราณว่า ขายผ้าเอาหน้ารอด ผ้าสี่ผืนต้องเพิ่มเงินอีก ๑๐๐ บาทแก้ปากไม่ดี เงินส่วนแบ่งจากถูกสลากก็หมดไป แม่บ้านกล่าวต่อว่า เพื่อนคุณแจ่มศรีอีกสองคนก็อยากได้อีกคนละสองผืน แต่ต้องรอเงินเดือนออกก่อนจึงจะนำเงินมาฝากซื้อ พอผมได้ยินก็ทำท่าจะเป็นลม เพราะเหตุการณ์ชักจะบานปลาย ต่อไปคงมีคุณนายอะไรต่ออะไรรุมเอาเงินมาฝากซื้อไม่รู้สิ้นสุด ผมจะทำอย่างไรดี
หลังจากผมเสียเงิน ๑๐๐ บาท เพื่อซื้อผ้าห่มมาฝากเพื่อนบ้านในราคาผืนละ ๗๕ บาทแล้ว ก็ไม่มีใครมาฝากอีก แต่หลังจากวันเงินเดือนออกคงมีแน่ ผมต้องรีบแก้ไขเสียก่อน ผมชังตัวเองว่าพูดทำไมให้เสียเงิน พูดไม่ดีมันก็เกิดโทษแก่ตัว ผมเข็ดแล้ว ผมจะไม่ยอมกล่าวมุสาอีกเป็นอันขาด ถ้าจะกล่าวมุสาพอเอาตัวรอดก็ได้ แต่ผมไม่ยอม ทำอีกเพราะมันเป็นนิสัยติดต่อไม่สิ้นสุด จะบอกความจริงกับแม่บ้าน ผมก็ทำไม่ได้ กลางคืนกังวลจนนอนไม่หลับ ผมลุกขึ้นมาไหว้พระสวดมนต์ สารภาพผิดว่า ต่อไปนี้ผมจะไม่มุสาอีก ผมเข็ดแล้ว ขอให้พระดลใจให้ผมคิดหาทางออกได้อย่างราบรื่น จิตใจก็สบายจนนอนหลับถึงเช้า
ตอนเที่ยงผมออกจากที่ทำงานเดินเตร่ไปหาอาหารกิน แล้วก็แวะไปดูร้านขายผ้าที่ผมเคยซื้อเมื่อวันก่อน เห็นมีคนมุงอยู่เต็มหน้าร้าน ผมเตร่เข้าไปดูก็เห็นเจ้าของร้านกำลังถูกตำรวจคุมตัวและมีการค้นหาสิ่งของในร้าน ผมจึงเดินเลี่ยงมาถามคนข้างร้านได้ความว่าแกถูกข้อหารับซื้อของโจร ตอนแรกผมตกใจ แต่แล้วก็คิดได้ว่า คราวนี้ผมหมดภาระแล้ว เมื่อกลับถึงบ้านตอนเย็น ผมก็เล่าเรื่องให้แม่บ้านฟัง แล้วกำชับว่าอย่าไปรับปากเขาซื้อผ้าห่มอีก
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๓)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. ผู้ที่หวังเอาหน้าโดยการโกหก แทนที่จะได้หน้ากลับมีแต่จะเสียหน้า ในกรณีนี้ยังต้องเสียเงินอีก ๑๐๐ บาท ซึ่งมีค่าไม่น้อยในสมัยนั้น นี้คือโทษของการโกหกที่ได้รับอย่างทันตาเห็น
๒. การปั้นน้ำเป็นตัว (น้ำแข็ง) ทำได้ยาก ไม่คงทนเพราะฝืนธรรมชาติ ที่สุดก็ต้องละลายเป็นน้ำเหมือนเดิม ฉันใด การโกหกก็ทำได้ยาก โกหกแล้วก็ต้องหาทางปิดบังไม่ให้เขารู้ความจริง แต่จะปิดบังไว้ได้ไม่นาน ที่สุด ความจริงก็เปิดเผยออกมาจนได้ ฉันนั้น (ตามเรื่องดูเหมือนว่าแม่บ้านยังไม่รู้ความจริง แต่นานไปภายหลังก็คงทราบ)
๓. เมื่อเทียบความดีใจและภูมิใจเพียงชั่วครู่ เพราะแม่บ้านชมเชย กับความร้อนใจชนิดนอนแทบไม่หลับ เพราะการโกหก เพียงเท่านี้ก็เห็นชัดว่าไม่คุ้มเลย ถ้าคิดรวมถึงเงินที่เสียไปด้วยก็ยิ่งไม่คุ้ม ดังนั้นท่านจึงกล่าวว่า ทำบาปแลกบุญขาดทุนร่ำไป
๔. คนอื่นโกหกหลอกลวงได้เงินได้ทอง แต่พ่อบ้านผู้นี้กลับเสียเงินเพราะโกหก
๕. บางคนชอบพูดมุสาเพื่อให้หัวเราะกันเล่นสนุกๆ ด้วยเห็นว่าเป็นเรื่องเล็กน้อยไม่สำคัญ ที่จริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ขึ้นชื่อว่ามุสาวาท จัดเป็นความชั่ว สามารถนำผู้ประพฤติไปอบายได้ สิ่งใดก็ตามถ้าเป็นความชั่ว เกี่ยวเนื่องกับความชั่ว สิ่งนั้นแม้จะคิดก็ไม่ควร จึงไม่ต้องกล่าวถึงการกระทำเลย

เสียสัตย์เสียชีพ
วันนั้นเผอิญผม (ไม่ใช่ ท. เลียงพิบูลย์) อยู่ในเหตุการณ์จึงรู้เรื่องราวได้ตลอด คือมีควาญช้างคนหนึ่งรับเหมาขนไม้ซุงซึ่งกองไว้ใกล้ๆ โรงเลื่อย ขนลงไปไว้ที่ท่าน้ำ เพื่อรอเวลาน้ำมากจะได้ผูกแพล่องไป แกใช้ช้างลากจูงไม้ซุงกองนั้นตั้งแต่เช้าจนเที่ยง เหลืออีก ๒ ต้นก็จะหมดกอง เมื่อสัญญาณพักเที่ยงของโรงเลื่อยดังขึ้น ควาญผู้นั้นไสช้างขึ้นจากท่าน้ำพอดี แล้วไสช้างให้เข้าไปที่กองซุง แต่ช้างนั้นชะงักอยู่ไม่ยอมเดินเข้าไป เพราะถูกฝึกจนรู้จักเวลาพักเที่ยง ช้างอื่นๆ พากันหยุดพัก ควาญได้นำไปใต้ร่มไม้ใหญ่ให้หญ้าให้น้ำตามที่เคยปฏิบัติกันมา
ควาญช้างผู้ขยันเห็นช้างชะงักจึงพูดว่า อ้ายเพื่อนยาก ลากลงไปตีนท่าอีกสักต้นเถิด แล้วค่อยพักผ่อนกินหญ้ากินน้ำ คงไม่เสียเวลามากนัก
ช้างก็ยอมตรงเข้าฉุดลากซุงลงไปท่าน้ำต่อไป เมื่อช้างขนซุงลงไปท่าเสร็จเรียบร้อยแล้วควาญก็ไสช้างขึ้นทางเก่า เพื่อจะนำช้างไปพักใต้ร่มไม้ ครั้นผ่านกองซุงยังเหลืออีก ๑ ต้น ก็ไสช้างตรงเข้าไปแล้วพูดว่า มันเหลืออยู่ต้นเดียวเท่านั้นทิ้งไว้ทำไม ทำเสียให้มันเสร็จเรียบร้อย บ่ายจะได้ทำงานอื่นต่อ แต่คราวนี้ช้างไม่ยอม ดื้อนิ่งยืนเฉยหูกางอยู่
ควาญเห็นเช่นนั้นก็โกรธ ร้องด่าด้วยคำหยาบ แถมยังว่า อ้ายมึงนี่มันสันดานขี้เกียจและจองหอง ซุงต้นเดียวแค่นี้มึงจะทำให้เสร็จก็ไม่ยอมทำ กูจะให้มึงอดหญ้าอดน้ำ มึงจะลองดีกับกูก็ให้รู้ไป ว่าแล้วก็เอาขอสับ เอาซ่นเท้ากระทุ้งหูสองข้างเพื่อเอาชนะช้างให้ได้
ช้างเห็นควาญโกรธก็ยอมเข้าไปลากซุงต้นสุดท้ายลงไปท่าน้ำแต่โดยดี แต่ครวญยังไม่พอใจ แกบ่นด่าไปตลอดทาง
ครั้นถึงท่าริมน้ำ ช้างก็วางซุงลงเรียบร้อย แล้วใช้งวงตวัดขึ้นบนหลังรัดตัวควาญ ซึ่งไม่ทันรู้ตัวและกำลังบ่นอย่างคนปากอยู่ไม่สุข แล้วจับฟาดกับพื้นริมตลิ่งท่าน้ำขาดใจตายทันที
ช้างนั้นเมื่อจับควาญฟาดจนถึงแก่ความตายแล้ว เหมือนจะรู้สำนึกตัวได้ จึงตรงเข้าไปยืนเอาขาทั้งสี่คร่อมศพไว้ น้ำตาไหลพรากพลางส่ายหัวไปมา คร่ำครวญอาลัยควาญซึ่งเป็นคู่ทุกข์คู่ยาก ต้องมาดับชีพเพราะอารมณ์โกรธของตนเพียงวูบเดียว
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๑)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. อรรถกถาหริตจชาดกกล่าวว่า ความสัตย์เป็นคุณธรรมที่สำคัญมากอย่างหนึ่ง พระโพธิสัตว์อาจล่วงศีลข้ออื่นคือ ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ประพฤติผิดในกาม และดื่มสุราบ้าง แต่จะไม่กล่าวมุสาวาทด้วยเห็นแก่ประโยชน์เลย เพราะผู้ที่ทิ้งความสัตย์เสียแล้ว ย่อมไม่สามารถบรรลุโพธิญาณได้
๒. ควาญช้างได้กระทำบาปกรรมคือเสียสัตย์ที่ให้ไว้กับช้าง นี้เป็นข้อแรก เมื่อช้างยืนนิ่งก็ด่าด้วยคำหยาบ นี้เป็นข้อสอง จากนั้นก็ทำร้ายด้วยการเอาขอสับและเอาซ่นเท้ากระทุ้งหู นี้เป็นข้อที่สาม การกระทำเหล่านี้ทำให้ช้างโกรธ (คงจะโมโหหิวด้วย) จึงจับควาญฟาดกับพื้นจนตาย บาปกรรมที่ทำกับช้างจึงให้ผลทันตาเห็น
๓. ช้างนี้ก็บาปหนักเพราะฆ่าควาญผู้มีคุณแก่ตน เมื่อฆ่าแล้วก็สำนึกได้ร้องไห้น้ำตาไหล จัดเป็นนรกในใจ แสดงว่าช้างก็ได้รับผลบาปกรรมทันตาเห็นเช่นกัน และคงต้องรับผลในชาติต่อๆ ไปด้วย
๔. ช้างฆ่าควาญเพราะความโกรธ ดังนั้นขึ้นชื่อว่าความโกรธ ไม่เคยให้คุณ มีแต่ให้โทษล้วนๆ

ปากมีสี
บ่ายวันหนึ่ง ข้าพเจ้านั่งรถตระเวนหาบ้านท่านผู้หนึ่ง ทางถนนพิชัยและถนนพิษณุโลก กำลังชะลอรถ ใช้สายตาจ้องมองดูเลขบ้านที่กำลังผ่านอยู่ข้างถนน
ทันใดนั้น รถยนต์สองคันวิ่งแซงกันมาหยุดไม่ห่างรถข้าพเจ้าเท่าใดนัก ชายคนขับรถทั้งสองต่างรีบเร่งเปิดประตูออกมา ทั้งที่รถยังจอดไม่สู้จะเรียบร้อยนัก คันหนึ่งเป็นรถส่วนตัว อีกคันหนึ่งเป็นรถรับจ้าง ทั้งสองเดินตั้งท่าเข้าหากัน ใช้กำปั้นตะบันหน้ากันด้วยกำลังโทสะ
ชายผู้ขับรถส่วนตัวท่าทางแข็งแรงและว่องไว ได้เปรียบคนขับรถแท็กซี่มาก แม้คนขับรถแท็กซี่พยายามใช้กำลังก็ไม่สามารถถูกต้องตัวคนขับรถส่วนตัว ๆ คอยป้องปิดได้ว่องไวมิได้ต่อยตอบ แต่พอได้โอกาสก็เหวี่ยงหมัดเข้าที่ปากคนขับรถรับจ้างระหว่างครึ่งปากครึ่งจมูก ทำให้คนขับรถแท็กซี่ล้มลงก้นกระแทกพื้นถนนอย่างไม่เป็นท่า ปากถูกหมัดบ้วนออกมาเป็นเลือดเห็นแล้วน่าสงสาร
เมื่อสอนมวยให้แล้ว คนขับรถส่วนตัวพูดว่า ขณะที่ผมขับรถมาช้าๆ เพื่อฟังเสียงเครื่องยนต์ว่ามีอะไรผิดปกติ เจ้าแท็กซี่มันขับรถผ่านมา หัวเสียอะไรก็ไม่รู้ยื่นหน้าออกมาร้องว่า ขับรถเก่งจริงโว้ย ขับเก่งกว่าหมา ผมโกรธมากจึงขับรถเร่งแซงมาแล้วถามว่า แกว่าใคร เขาแสดงท่าทางนักเลงและตอบอย่างยโสว่า ใครก็ได้ ผมทนไม่ไหว จึงบอกให้มันหยุดรถลง แล้วชกปากมันเป็นการสั่งสอน มันจะได้ไม่กำแหงอีก
คนขับแท็กซี่พูดว่า จะเอาเรื่อง ขอให้คนที่มุงดูช่วยเป็นพยาน
ผู้หญิงที่โดยสารมาในรถแท็กซี่รู้เรื่องดี เกิดเหลืออดจึงพูดว่า คนขับแท็กซี่ไปหาเรื่องเขาก่อน สมควรแล้วที่ถูกเขาสั่งสอน
คนขับแท็กซี่เห็นท่าไม่ดีเลยรีบขึ้นรถขับไปทันที
(กฎแห่งกรรม ของ ท.เลียงพิบูลย์ เล่ม ๓)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. ในอภัยราชกุมารสูตร (๑๓/๙๑) พระพุทธเจ้าตรัสว่า เรื่องที่ควรพูดต้องมีองค์ประกอบสำคัญ ๓ ประการคือ จริง มีประโยชน์ และถูกกาลเทศะ
๒. คนขับแท็กซี่ปากพล่อยด่าว่าคนอื่นอย่างหยาบคาย เป็นคำไม่จริง ไม่มีประโยชน์ จึงถูกชกสั่งสอนจนปากแตก ได้รับผลจากวจีทุจริตของตนทันที
๓. ความประพฤติของคนขับแท็กซี่นี้ ตรงกับพุทธภาษิตในโกกาลิกสูตร (๒๕/๓๘๗) ว่า คนเกิดมาชื่อว่ามีขวานติดปากมาด้วย สำหรับให้คนพาลใช้ฟันตัวเอง ในเวลาพูดคำชั่ว

บทเรียนจากชีวิตเพื่อน
ชายผู้หนึ่งเล่าประสบการณ์อันน่าสลดใจของตนว่า
ผมมาคิดดูว่า เราก็อายุมากแล้ว ร่างกายทรุดโทรมลงไปทุกวัน แทนที่จะอยู่บ้านกับลูกเมียกลับเมาอยู่นอกบ้านเป็นประจำ เราเอาเวลาที่มีค่ามาใช้โดยไม่มีประโยชน์กลับมีแต่โทษ เสียทั้งสุขภาพทั้งทรัพย์ เคยคิดจะหยุดในวันพระก็เป็นวันที่ไม่แน่นอน หมุนเวียนไปเรื่อย ผมเห็นเพื่อนๆ ใส่บาตรตรงกับวันเกิดของเขาทุกๆ ๗ วัน นับเป็นตัวอย่าง ที่ดี เพราะวันพระมีคนใส่บาตรมากจนพระขนไม่ไหว วันธรรมดาได้ข้าวน้อย บางทีไม่พอฉัน ผมควรเอาอย่าง รู้สึกชั่วที่ผิดศีลข้อ ๕ มานานแล้ว
ตั้งแต่นั้นมา ทุกๆ วันเกิดผมจะงดดื่มเหล้า หากตรงกับวันหยุดผมจะอยู่บ้านอ่านหนังสือ ไม่ไปไหน ถ้าตรงกับวันงานก็ไปทำงาน เย็นกลับบ้านตรงเวลา ครั้งแรกทำท่าจะไปไม่รอด พอถึงเวลาเย็นอยากดื่มใจจะขาด ต้องทำใจแข็ง ไม่ยอมทำตามความรู้สึก พอเลิกงานก็กลับบ้านทันทีไม่ไถลไปที่อื่น
ผมคิดต่อไปว่า ในวันเกิดเมื่อไม่ดื่มเหล้าและทำบุญใส่บาตรแล้ว ควรอธิษฐานขอรับศีลห้าต่อหน้าพระพุทธรูป ตลอดวันหนึ่งคืนหนึ่งด้วย ผมรู้สึกว่าจิตใจดีขึ้นและภูมิใจว่าได้เริ่มทำความดีให้แก่ตัวเอง
ต่อมาวันหนึ่งเป็นวันหยุดและตรงกับวันเกิดของผมใน ๗ วัน ผมใส่บาตรเสร็จแล้วก็มารับศีลจากพระพุทธรูป เพื่อนก็ขับรถมาชวนไปเที่ยว และดื่มเหล้าที่ชายทะเล ผมขอตัวและขอโทษเพื่อนๆ โดยบอกว่า วันนี้ผมถือศีล ๕ งดดื่มของมึนเมา เพื่อนๆ บอกว่า ถึงไม่ดื่มก็ต้องไปเป็นเพื่อน ผมปฏิเสธว่าอย่าเอาผมไปเกะกะรถเลย แต่เพื่อนๆ ไม่ยอม ทำท่าจะฉุดผมขึ้นรถให้ได้ ภรรยาผมต้องช่วยพูดขอตัวแทน เพื่อนๆ จึงยอมขึ้นรถขับออกไปด้วยความไม่ค่อยพอใจ
คืนนั้นสองทุ่มเศษ ผมกำลังนอนอ่านหนังสือในห้องรู้สึกเคลิ้มๆ ก็เห็นเพื่อนที่มาชวนไปเที่ยวเมื่อเช้านี้คนหนึ่ง เดินเข้าประตูมา ท่าทางเมามาก เสื้อผ้ายับยู่ยี่เต็มไปด้วยฝุ่นละออง ก้มหน้าคอตกเดินโซเซมานั่งตรงหน้าเก้าอี้ยาวที่ผมนอนอยู่ ผมลุกขึ้นนั่ง ตกตะลึงคิดว่า เมาขนาดไม่มองทางแล้วมาได้อย่างไร จึงชวนให้ค้างที่บ้านและถามว่าจะดื่มชาร้อนๆ ไหม
เสียงเพื่อนตอบอย่างลำบากและก้มหน้าคอตกอยู่อย่างเดิมว่า
ไม่ต้อง-อั๊วอยู่ไม่ได้-อั๊วต้องไป-อั๊วมาบอก-ว่า-เมื่อ-เช้า-นี้-ลื้อ-คิดถูก-แล้ว-ทำถูกแล้ว-อั๊วมา-ขอโทษ-ลื้อ-อั๊ว-ผิด-ความ-สนุก-คือทุกข์-ขออโหสิ-ให้อั๊ว-ด้วย !
ผมไม่สนใจคิดว่าแกพูดตามประสาคนเมา จึงเดินไปที่ประตูห้อง ร้องเรียกภรรยาให้หาน้ำชาร้อนและผ้าขนหนูชุบน้ำร้อน จากนั้นก็ให้คนจัดที่นอนให้แก พอสั่งเสร็จก็หันหน้าเข้าไปในห้องแต่ก็มองไม่เห็นแกเสียแล้ว ผมตกตะลึงขนลุกไปหมดทั้งตัว เพราะห้องผมก็ไม่ใหญ่โต โปร่ง ไม่มีที่ซ่อน ประตูเข้าออกก็มีประตูเดียวที่ผมยืนอยู่
พอดีภรรยาเดินเข้ามาผมก็รีบเล่าเรื่องให้ฟัง ภรรยาฟังแล้วตื่นเต้นจนถาดใส่น้ำชาเกือบตกจากมือ พูดเสียงสั่นว่า อิฉันสงสัยอยู่แล้ว อิฉันนั่งอยู่ไม่เห็นใครเดินผ่านเข้ามาในห้องคุณเลย ทำไมถึงมีเสียงคุยกันในห้อง นี่คงมีเหตุร้ายเกิดกับเพื่อนคุณ
รุ่งเช้าก็ได้ข่าวว่า เพื่อนคนที่มาหาเมื่อคืนประสบอุบัติเหตุขณะขับรถกลับกรุงเทพ เขาเสียชีวิตทันทีเพราะคอหัก ส่วนคนอื่นในรถบาดเจ็บสาหัสตามๆ กัน
นับแต่วันนั้น ภรรยาขอร้องให้ผมเลิกดื่มเหล้าตลอดไป แทนที่จะหยุดดื่มเฉพาะวันเกิด ซึ่งตรงกับที่ผมคิด ความตายของเพื่อนทำให้เห็นโทษของเหล้าชัดเจนยิ่งขึ้น
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๑)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. เพื่อนมาสำนึกเสียใจเอาเมื่อสายไปเสียแล้วสำหรับชาตินี้ แต่ยังไม่สายสำหรับชาติต่อๆ ไป และการที่เพื่อนมาปรากฏตัวให้เห็นเป็นข้อพิสูจน์ว่า ผี (เปรตหรืออสุรกาย) มีจริง ชาติหน้ามีจริง
๒. แม้ในสหรัฐอเมริกาก็มีเรื่องวิญญาณปรากฏตัวมากมาย มีตัวอย่างรายหนึ่งซึ่งสมาคมค้นคว้าทางจิตแห่งอเมริกา (American Society for Psychical Research) สนใจมาก จึงสืบสวนอย่างละเอียดและบันทึกไว้ มีความโดยย่อว่า
นายเฮย์เวิร์ธ เป็นอาจารย์สอนวิชาดาราศาสตร์อยู่ที่สมาคม วายเอ็มซีเอ ในเมืองดัลลัส มลรัฐเท็กซัส วันที่ ๒๐ เมษายน พ.ศ. ๒๔๗๗ เวลากลางคืน เมื่อเลิกสอน เขาก็กลับบ้านเปลี่ยนเสื้อผ้าแล้วเข้านอน ขณะนั้นภรรยาของเขาหลับแล้ว ไม่กี่นาทีต่อมา เขาได้ยินเสียงคนบิดลูกบิดประตูจึงลุกขึ้นนั่ง แสงจากโคมที่ถนนซึ่งส่องเข้ามาทางหน้าต่าง ทำให้เขาเห็นพ่อของเขาเอง ยืนอยู่ตรงธรณีประตู สีหน้าดูเคร่งขรึม เขาคิดว่าพ่อมาจากแคลิฟอร์เนียเพื่อเยี่ยมเขา พ่อเดินจากประตูมาที่เตียงของเขา ยื่นมือขวาให้ เขาเอื้อมมือไปจับ รู้สึกได้ว่ามือของพ่อกำมือเขาไว้แน่น พ่อไม่ได้พูดทักทาย เพียงแต่ส่ายหน้าช้าๆ แล้วหายวับไปกับตา ปล่อยให้เขายื่นมือค้างอยู่กลางอากาศ
เสียงกริ่งที่ประตูทำให้เขาหายตกตะลึง เมื่อไปเปิดประตูก็ได้รับโทรเลขด่วนจากแคลิฟอร์เนีย น้องชายแจ้งข่าวว่า พ่อเพิ่งสิ้นใจเมื่อหัวค่ำนี้เอง เขาส่งโทรเลขให้ภรรยาซึ่งตื่นขึ้นเพราะเสียงกริ่ง และเล่าเรื่องการปรากฏตัวของพ่อ เขาจำได้ว่า พ่อสวมเสื้อผ้าชุดทำงาน ในกระเป๋าเสื้อมีปากกาหมึกซึมเหน็บอยู่ และมีดินสอกับวงเวียนด้วย การที่มีวงเวียนนั้นออกจะแปลกอยู่สักหน่อย
รุ่งเช้า เขาเดินทางไปแคลิฟอร์เนียเพื่อเยี่ยมแม่และน้อง น้องชายเล่าถึงการตายของพ่อให้ฟัง และให้เขาดูชุดที่พ่อสวมอยู่ในขณะถึงแก่กรรม ซึ่งตรงกับที่เขาเห็นทุกอย่าง รวมทั้งวงเวียนที่น่าสงสัยอันนั้นด้วย
เหตุที่สมาคมฯ ให้ความสนใจกับเรื่องนี้เพราะ
๒.๑. มีพยานหลักฐานแน่นแฟ้น ทั้งญาติพี่น้อง และเอกสารคือโทรเลขฉบับนั้น
๒.๒. วิญญาณน่าจะมาปรากฏตัวจริง เพราะรูปร่างที่มาปรากฏแก่ลูกชายตรงกับลักษณะในวาระสุดท้ายของผู้ตาย เรื่องเช่นนี้ลูกชายไม่มีทางทราบได้เลย และเสื้อผ้าที่ผู้ตายสวมอยู่ก็ไม่ใช่ชุดที่สวมอยู่บ่อยๆ จนคุ้นตา ลูกชายเองก็ไม่เคยเห็นพ่อสวมมาก่อนเลย จะนึกเดาเอาว่าพ่อสวมเสื้อผ้าอะไรก็เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะวงเวียนที่ติดกระเป๋านั้น ไม่มีทางเดาเอาได้เลย
๒.๓. ร่างที่ปรากฏ ชัดเจน ไม่เลือนรางหรือโปร่งใส ทั้งยัง “สัมผัส” ได้ด้วย นักค้นคว้าทางจิตเรียกผีที่มาปรากฏให้เห็นและสัมผัสได้เช่นนี้ว่า Fully Externalized กรณีเช่นนี้มีน้อยมาก
๒.๔. นายเฮย์เวิร์ธและพ่อแม่พี่น้อง เป็นคนมีใจมั่นคง ไม่อ่อนไหว หรือตื่นเต้นง่าย
๒.๕. ผู้ตายเป็นคนที่ไม่เชื่อเรื่องวิญญาณ หาว่าไร้สาระ ใครสนใจก็เสียเวลาเปล่า ส่วนนายเฮย์เวิร์ธ ก็ไม่เคยเห็นผีมาก่อนเลย และเวลาที่เห็นนั้น เขาเพิ่งจะเอนตัวลงนอน ยังไม่หลับ ยังรู้สึกตัวดีอยู่ จึงไม่ได้ฝันไป
๒.๖. การสอบถามทำอย่างละเอียดถามซ้ำแล้วซ้ำอีกจนแน่ใจว่า ทุกคนให้การโดยสุจริตและเป็นจริง ตระกูลเฮย์เวิรธ์ก็มีชื่อเสียงเป็นรู้จักกันดี จึงไม่ใช่เรื่องที่สร้างขึ้นมาเพื่อหาผลประโยชน์ หรือหลอกให้คนตื่นเต้น
(คนตาทิพย์ แปลและเรียบเรียงโดย น.พ.สิริ พัฒนกำจร M.D.)
๓. บางคนหลงคิดว่า “เขากินเหล้า” ที่จริง “เหล้ากินเขา” ต่างหาก ทุกวันนี้มีคนจำนวนมากถูกเหล้ากิน “เงินทอง สุขภาพ สมบัติผู้ดี สติปัญญา ฯลฯ” ไปจนแทบไม่เหลือ บางครั้ง เช่นในกรณีนี้ แม้แต่ชีวิตก็พลอยถูกกินไปด้วย
๔. ตราบใดที่ยังไม่เลิกดื่มสุรา ตราบนั้นก็จะยังมีเรื่องที่ต้องเศร้าโศกเสียใจอยู่ร่ำไป

คบคนชั่วปราชัย
เมื่อสงครามโลกครั้งที่ ๒ สงบลงใหม่ๆ มีเด็กหนุ่มคนหนึ่งเป็นเด็กดี ความประพฤติเรียบร้อย กำลังเรียนอยู่ในมหาวิทยาลัย วันหนึ่งอยู่บ้านกำลังนั่งท่องหนังสือสอบ เพื่อน ๓-๔ คนมาชวนไปนั่งรถเที่ยว แม้จะปฏิเสธแต่ทนเพื่อนขอร้องอ้อนวอนไม่ได้ จึงเอาหนังสือติดมือไปด้วย
เมื่อเพื่อนขับรถไปจอดในที่แห่งหนึ่ง ก็บอกให้เฝ้ารถไว้ จะไปทำธุระเดี๋ยวจะกลับมา เพื่อนก็ลงจากรถไปหมด เหลือเด็กหนุ่มนั่งเฝ้ารถอยู่คนเดียว จึงหยิบหนังสือมานั่งท่อง ไม่สนใจว่าเพื่อนจะไปทำอะไรที่ไหน
ต่อมาก็ได้ยินเสียงปืนต่อสู้กัน เห็นเพื่อน ๓-๔ คนวิ่งหนีมาอย่างหัวซุกหัวซุน ต่างมีปืนในมือ มีตำรวจและพลเรือนติดตามมา ๔-๕ คน เพื่อนใช้รถเป็นที่กำบังยิงต่อสู้กับผู้ติดตาม
เด็กหนุ่มตกตะลึงไม่ทันคิดหลบ หรือวิ่งลงจากรถหนีให้พ้นระยะกระสุนปืน พอดีถูกกระสุนของฝ่ายตรงข้าม ฟุบจมกองเลือดอยู่ในรถ มือยังถือหนังสืออยู่ ก่อนสิ้นใจเล่าว่า ไม่รู้เรื่องการปล้นเลย พวกเพื่อนวางแผนปล้นไว้ก่อนแล้วหลอกใช้ให้เฝ้ารถ
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๖)
ว. กับ ป. เป็นเด็กชายวัย ๑๔ ปี เป็นนักเรียนโรงเรียนเทศบาล ๓ วัดชัยมงคล จ.อ่างทอง และเป็นเพื่อนรักกัน ว. อาศัยอยู่กับนางเสวียน ผู้เป็นน้า เพราะพ่อแม่แยกทางกัน ป.หนีออกจากบ้านมาอาศัยอยู่กับ ว. เด็กทั้งสองร่วมกันขโมยเงิน ๑,๐๐๐ บาทของนางเสวียน ไปเล่นเกมกดและใช้จ่ายจนเหลือแค่ ๑๐๐ บาท เมื่อกลับบ้านเย็นวันที่ ๑๓ มิ.ย. ๒๕๓๗ ก็ถูกนางเสวียนเรียกตัวมาสั่งสอนอบรม พร้อมทั้งคาดโทษไว้
หลังถูกด่าว่าสั่งสอน เด็กทั้งสองพากันขึ้นเรือนหายเงียบไป นางเสวียนซึ่งอยู่ชั้นล่างได้ยินเสียงคนล้มบนพื้นชั้นบน จึงรีบวิ่งขึ้นไปดู พบเด็กทั้งสองนอนดิ้นทุรนทุรายน้ำลายฟูมปาก ข้างๆ ตัวพบยาฆ่าแมลงตรากะโหลกไขว้วางอยู่ จึงรีบเรียกญาติๆ มาหามส่งโรงพยาบาล แพทย์ช่วยล้างท้อง แต่ ว. สิ้นใจตาย รุ่งขึ้น ป. ก็สิ้นใจตายตาม
ญาติของ ว. เล่าว่า ตามปกติ ว. เป็นเด็กดี ขยันเรียนและขยันช่วยงานบ้าน แต่เกิดไปคบกับ ป.ซึ่งไม่ชอบอยู่บ้าน ชอบเที่ยวและเล่นเกมกด จนถูกพ่อของตนเฆี่ยนตีอย่างทารุณ และคาดโทษว่า ถ้าทำผิดอีกจะถูกเฆี่ยนตีและนำส่งตำรวจ เมื่อทั้งคู่ร่วมกันขโมยเงินไปเล่นเกมกดและถูกจับได้ จึงเกิดความกลัวพากันกินยาพิษตายอนาถ
(น.ส.พ.ไทยรัฐ ๑๖ มิ.ย. ๒๕๓๗)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. คนชั่วคือคนที่ทำผิดศีลธรรม ผิดกฎหมายบ้านเมือง และชักชวนคนอื่นให้ทำผิดด้วย
๒. ในมงคลสูตร (๒๕/๕) พระพุทธเจ้าตรัสถึงมงคล (เหตุแห่งความเจริญ) ๓๘ เริ่มจากการไม่คบคนชั่ว ซึ่งสำคัญมากจึงตรัสก่อนมงคลอื่น เพราะเมื่อเริ่มต้นถูก โอกาสที่จะเจริญก้าวหน้าก็มีมาก แม้ภาษิตตะวันตกก็รับรองว่า Well begun is half done. เริ่มต้นดีคือเสร็จแล้วครึ่งหนึ่ง
๓. เมื่อการไม่คบคนชั่วเป็นมงคล การคบคนชั่วจึงเป็นเสนียดจัญไร เป็นเหตุให้เสื่อม เด็กหนุ่มในเรื่องแม้เป็นคนดี แต่ไปคบเพื่อนชั่วเลยเคราะห์ร้ายถึงเสียชีวิต (น่าจะเป็นกรรมชั่วเก่าของเขาให้ผล) ถ้าไม่คบคนชั่วก็คงไม่เคราะห์ร้าย (กรรมเก่ายังไม่มีโอกาสให้ผล)

อานิสงส์เมตตา
พระภิกษุรูปหนึ่งจำพรรษาอยู่ที่วัดดุสิตาราม บางยี่ขัน ธนบุรี บ่ายวันหนึ่ง ขณะที่ท่านนั่งรถแท็กซี่ไปสถานีขนส่งสายเหนือเพื่อโดยสารรถไปจังหวัดนครราชสีมา ท่านเห็นปูนาตัวใหญ่ยืนชูก้ามอยู่กลางถนน ท่านกลัวมันจะถูกรถทับตาย จึงให้คนขับหยุดรถข้างถนน แล้วท่านก็ลงไปต้อนปูตัวนั้น เสียเวลาอยู่นานกว่าจะต้อนมันลงคูน้ำข้างทางได้
เมื่อถึงสถานีขนส่งสายเหนือ รถเที่ยวสุดท้ายที่จะไปนครราชสีมาเพิ่งออกไป ท่านจึงต้องไปรถสายอุดร-หนองคาย เพื่อลงที่ปากทางเข้าเมืองนครราชสีมา แล้วต่อรถอีกทอดหนึ่ง เมื่อรถที่ท่านโดยสารวิ่งมาไม่นาน ก็เห็นรถโดยสารคันหนึ่งคว่ำอยู่ข้างทาง มีทั้งคนที่บาดเจ็บและเสียชีวิต รถคันที่เกิดอุบัติเหตุคือคันที่ท่านมาไม่ทัน อานิสงส์ของเมตตาช่วยให้ท่านรอดพ้นจากอันตราย
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๔)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. การช่วยชีวิตสัตว์ตัวเล็กๆ อย่างปู ดูไม่น่าจะเป็นความดีมากมายอะไร แต่การที่ต้องเสียเวลาต้อนอยู่นานจนเหนื่อยจึงสำเร็จ แสดงให้เห็นเจตนาดีอันแรงกล้า เมื่อเจตนามีกำลังแรงกล้า จึงเป็นกรรมดีที่มีผลมากและให้ผลทันตาเห็น
๒. กรรมดีต่างหากเป็นของดีที่ช่วยคุ้มกันภัยได้ เครื่องรางของขลังเป็นแค่วัตถุมงคลเท่านั้น ไม่ใช่ของดีที่ช่วยคุ้มกันภัย บางครั้งวัตถุมงคลเองนั่นแหละ ที่นำ (โจร) ภัยมาสู่เจ้าของ ผู้ร้ายหลายรายถูกยิงตายทั้งที่มีของขลังเต็มตัว
พ้นเพราะบุญ
ทมิฬชื่อทีฆชยันตะเอาผ้าแดงบูชาอากาสเจดีย์ซึ่งสูงระฟ้า ที่สุมนคิริมหาวิหาร ต่อมาตายไปบังเกิดในที่ใกล้อุสสุทนรก ได้ฟังเสียงเปลวไฟ ก็หวนระลึกได้ถึงผ้าแดงที่ตนนำไปบูชาอากาสเจดีย์ เขาจึงจุติ ไปบังเกิดในสวรรค์
มีอีกคนหนึ่ง ถวายผ้าสาฎกเนื้อเกลี้ยงแก่ภิกษุหนุ่มผู้เป็นบุตร เวลาที่ทอดผ้าไว้แทบเท้าของภิกษุผู้เป็นบุตร ก็ถือเอานิมิตในเสียงนั้นว่า แผ่นผ้า ๆ ได้ ต่อมาบุรุษนั้นก็ตายไปบังเกิดในที่ใกล้อุสสุทนรก หวนระลึกถึงผ้าสาฎกนั้นได้ เพราะได้ยินเสียงเปลวไฟ จึงจุติไปบังเกิดในสวรรค์
(อรรถกถาทูตสูตร มโนรถปูรณี ภาค ๓)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. บุคคลทั้งสองพ้นจากนรก ด้วยอำนาจของบุญที่ทำในชาติก่อน จัดเป็นอุปปัชชเวทนียกรรม
๒. แม้จะมียศตำแหน่งสูง มีอำนาจวาสนา มีบริวาร มีทรัพย์สมบัติมากมาย ก็ไม่สามารถนำติดตัวไป ปรโลกได้ เมื่อตายแล้วต้องละทิ้งสิ่งเหล่านี้ไว้ในโลก บุญที่ทำไว้เองเท่านั้นที่จะนำติดตัวไปปรโลกได้ บุญเท่านั้นที่เป็น ที่ซ่อนเร้น เป็นที่พำนัก เป็นที่พึ่งอาศัยของผู้ที่จะไปสู่ปรโลก

มาร้ายไปดี
ในสมัยรัชกาลที่ ๕ เย็นวันหนึ่ง คนเดินทางหมู่หนึ่งมาหยุดพักแถวเขตหน้าบ้านของครอบครัวมีอันจะกินครอบครัวหนึ่ง หัวหน้าครอบครัวมีจิตใจโอบอ้อมอารี เห็นคนหมู่นั้นจะพักแรมในที่แจ้งเช่นนั้นกลัวว่าจะไม่ปลอดภัย เพราะสมัยนั้นมีสัตว์ร้ายชุกชุม จึงเรียกให้เข้ามาพักบนบ้านและสั่งคนในบ้านจัดอาหารมาเลี้ยงดูให้อิ่มหนำสำราญ แล้วพูดสนทนาแสดงถึงไมตรีจิตอันดีของเจ้าบ้าน ซ้ำยังเชิญให้รับประทานอาหารเช้าก่อนออกเดินทางด้วย
พอรุ่งเช้า หมู่แขกก็ออกเดินทางไปแต่เช้าตรู่ยังไม่ทันสว่างดี พ่อบ้านสงสัยจึงไปดูในห้องที่ชายหมู่นั้นพัก เห็นตัวหนังสือเขียนด้วยดินสอพองที่ข้างฝาว่า
ข้าขอลาท่านผู้ใจดีไปก่อน ข้าจะขอจดจำความดีของท่านตลอดไป
เจ้าของบ้านเห็นแล้วงง จึงซักถามคนในบ้าน ชายในบ้านคนหนึ่งนอนติดกับห้องของแขกแปลกหน้า เล่าให้ฟังว่า ตอนดึกนอนไม่หลับได้ยินเสียงข้างห้องเขาปรึกษากันถนัด
เสียงลูกน้องถามว่า เมื่อไหร่จะปล้น
ลูกพี่ตอบว่า เปลี่ยนใจแล้ว ทำไม่ลงเพราะเจ้าของบ้านต้อนรับเลี้ยงดูอย่างดี แม้จะเคยปล้นมามาก ก็ล้วนแต่ปล้นคนชั่ว ถึงบาปก็ไม่หนักหนา ถ้าปล้นคนดีบาปหนัก แถมยังถูกชาวบ้านสาปแช่งให้ฉิบหายตายโหง ต่อไปจะเลือกปล้นแต่คนที่ชั่วช้า จากนั้นลูกพี่ก็เขียนหนังสือลาไว้ที่ข้างฝา แล้วพาพวกไปแต่เช้า
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๓)

ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. เหตุการณ์ที่เกิดขึ้นเป็นข้อพิสูจน์ความจริงของพุทธภาษิตที่ว่า ผู้ให้ย่อมผูกไมตรีไว้ได้
๒. การให้อาหารและที่พักแก่บุคคลที่หิวโหยและเหน็ดเหนื่อย เป็นทานที่มีอานิสงส์มาก เพียงได้เห็นบุคคลนั้นกำลังกินอาหารที่ให้อย่างเอร็ดอร่อย ผู้ให้ก็ปลื้มใจ (เป็นสวรรค์ในอก) จัดเป็นบุญที่ให้ผลทันตาเห็นในชาตินี้ เดี๋ยวนี้ ไม่ต้องรอชาติหน้า
๓. แม้ไม่ได้ปล้น แต่พวกนั้นก็ได้ทำบาปแล้ว เพราะการคิดปล้นเป็นบาป จัดเป็นมโนทุจริตคือโลภอยากได้ของคนอื่นในทางมิชอบ

ผู้โชคดี

ครั้งพุทธกาล มีพระภิกษุหนุ่มรูปหนึ่งชื่อ พระติสสะ เป็นผู้ประพฤติดี มีศีลธรรม มีเมตตา และเป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ชอบแบ่งปันข้าวของที่มีให้แก่ผู้อื่นเป็นประจำ ความดีที่ท่านได้สั่งสมมาช้านานทำให้ ท่านเป็นผู้โชคดีอย่างประหลาด ในที่ซึ่งพระภิกษุจำนวนมากบิณฑบาตไม่ได้อะไรเลย พอท่านไปก็ได้อาหารเต็มบาตรอย่างรวดเร็ว
คราวหนึ่ง พระราชาถวายมหาทาน เพื่อบูชาเจติยบรรพต ท่านก็ไปที่นั้น เมื่อท่านรู้ว่าของดีที่สุดในทานนี้คือผ้าเนื้อละเอียดสองผืน ท่านก็กล่าวว่า ผ้าคู่นั้นจักถึงแก่เรา อำมาตย์ได้ยินจึงไปทูลพระราชา เมื่อพระราชาถวายผ้าแด่พระภิกษุตามลำดับ ผ้าคู่นั้นก็ถึงแก่พระติสสะ พระราชาทรงมองหน้าอำมาตย์ แล้วตรัสถามพระติสสะว่าบรรลุธรรมเมื่อไร พระติสสะปฏิเสธ พระราชาตรัสถามว่า เหตุไรจึงทราบล่วงหน้า พระติสสะถวายพระพรว่า นับแต่อาตมภาพบำเพ็ญสาราณียธรรมบริบูรณ์แล้ว ในที่ที่เขาแจกของ ของที่มีค่ามากจะตกแก่อาตมภาพ พระราชาจึงตรัสว่า ผ้าคู่นี้สมควรแก่พระคุณเจ้า แล้วเสด็จหลีกไป
(อรรถกถาปฐมสาราณียสูตร มโนรถปูรณี ภาค ๓)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. พระติสสะบำเพ็ญความดีมีทานและศีล เป็นต้น เมื่อสั่งสมนานเข้าก็กลายเป็นบารมี ส่งผลให้ท่านเป็นผู้มีโชคดี สมบูรณ์ด้วยลาภ ไปที่ไหนก็ได้แต่ของดีๆ นี่คือผลของความดีที่ท่านบำเพ็ญในชาตินี้จัดเป็นทิฏฐธรรม เวทนียกรรม
๒. ถ้าถามว่า คนอื่นที่ให้ทานและรักษาศีล มีอยู่มากมาย ทำไมจึงไม่มีโชคเหมือนพระติสสะ คำตอบคือ กว่าจะสั่งสมความดีได้อย่างนี้ ไม่ใช่ทำได้ง่าย อรรถกถากล่าวว่า ต้องบำเพ็ญให้ครบถ้วนไม่ขาดเลยตลอด ๑๒ ปี ถ้าบกพร่องต้องเริ่มนับใหม่ ดังนั้นอาจกล่าวได้ว่าต้องบำเพ็ญจนชินติดเป็นนิสัย

อานิสงส์ศีล
พระศาสดาประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อำมาตย์ของพระเจ้าโกศลคนหนึ่ง มีอุปการะเป็นอันมากแก่พระราชา เป็นผู้จัดกิจทั้งปวงให้สำเร็จ พระราชาทรงดำริว่า อำมาตย์นี้มีอุปการะแก่เรามาก จึงประทานยศใหญ่โตแก่อำมาตย์นั้น อำมาตย์พวกอื่นทนไม่ได้ ก็ยุยงพระราชาให้ทำลายอำมาตย์นั้น พระราชาทรงเชื่อคำยุยง มิได้ทรงพิจารณาให้รอบคอบ รับสั่งให้จองจำอำมาตย์ผู้มีศีลผู้หาโทษมิได้ ด้วยโซ่ตรวน แล้วนำไปขังไว้ในเรือนจำ อำมาตย์นั้นตัวคนเดียวอยู่ในเรือนจำ อาศัยศีลสมบัติทำจิตให้แน่วแน่ในอารมณ์เดียว พิจารณาสังขารทั้งหลายได้บรรลุโสดาบัน
ในกาลต่อมา พระราชาทรงทราบว่า อำมาตย์นั้นไม่มีโทษ จึงรับสั่งให้พ้นจากจองจำ แล้วได้พระราชทานยศอันยิ่งใหญ่กว่าครั้งแรก
(อรรถกถาเสยยชาดก ติกนิบาต)
ชนจำนวนมากได้ไปค้าขายทางทะเล ในวันที่เจ็ดเรือถูกคลื่นใหญ่ซัด จึงเต็มไปด้วยน้ำ เมื่อเรือกำลังจะจมลง มหาชนตกใจกลัวพากันคร่ำครวญถึงเทวดาที่ตนนับถือ อ้อนวอนขอให้มาช่วย
บุรุษผู้หนึ่งไม่ร้องไห้คร่ำครวญเมื่อประสบภัยร้ายแรงเช่นนี้ เพราะระลึกถึงสรณะและศีลอันบริสุทธิ์ของตน จึงนั่งขัดสมาธิดุจพระโยคี คนทั้งหลายถามว่า ทำไมไม่กลัว บุรุษผู้เป็นบัณฑิตนั้นตอบว่า เราได้ถวายทานแก่หมู่ภิกษุในวันที่ขึ้นเรือ ได้รับสรณะ (ยึดถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่ง) และศีล ด้วยเหตุนี้เราจึงไม่กลัว ชนเหล่านั้น จึงกล่าวว่า ก็สรณะและศีลสมควรแก่คนอื่นบ้างหรือไม่ บัณฑิตนั้นตอบว่า ย่อมสมควรแม้แก่พวกท่าน ชนเหล่านั้นจึงกล่าวว่า ขอท่านจงให้แก่เราบ้าง บัณฑิตนั้นจึงให้คนเหล่านั้นรับศีลห้า แล้วประกาศด้วยเสียงกึกก้องว่า ที่พึ่งอื่นของพวกท่านไม่มี พวกท่านจงรักษาศีลให้ดี
บุคคลทั้งหมดจมน้ำตายในทะเล ไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เพราะอาศัยศีลที่ตนรับในเวลาใกล้ตาย วิมานของเทวดาเหล่านั้นจึงเกิดเป็นหมู่เดียวกัน วิมานทองของอาจารย์เกิดในท่ามกลางและใหญ่กว่าวิมานทั้งหมด
(อรรถกถาสัพภิสูตร สารัตถปกาสินี ภาค ๑)
ชายไทยสูงอายุมาซื้อเครื่องถวายพระที่เขาจัดไว้เป็นถาดแล้ว ได้เกิดโต้เถียงกับจีนเจ้าของร้านซึ่งสูงอายุพอๆ กัน ทั้งสองถกเถียงกันอย่างหน้าดำหน้าแดง ด้วยเรื่องที่ออกจะแปลกผิดจากที่คนทั่วไปถกเถียงกัน
เถ้าแก่ : อาพี่ชาย ลื้อคิดดูดี ๆ นา ลื้อซื้อของ ๘ บาท เอาแบงก์ใบละ ๒๐ มาให้อั๊ว อั๊วก็ทอนให้ลื้อ
๑๒ บาทไม่ถูกหรือ อั๊วไม่ต้องการเงินลื้อเกินหรอกน่า
ชายไทย : อั๊วให้ลื้อใบละ ๑๐ บาทไม่ใช่ ๒๐ ทอนให้อั๊วเพียง ๒ บาทเท่านั้น ลื้อทอนให้อั๊วมากไป
อั๊วไม่อยากได้ของใคร เงินที่ลื้อทอนเกินเอาคืนไป อั๊วถือศีล ๕ เงินจะมาทำลายศีล ๕ ให้
อั๊วเกิดความโลภไม่ได้ (สมัยนั้นค่าเงินสูง ค่าครองชีพต่ำ มีสิบสตางค์ไปโรงเรียนก็เหลือ)
เถ้าแก่ : พี่ชาย อั๊วว่าเอาอย่างนี้ก็แล้วกัน อั๊วขอมอบเงิน ๑๐ บาทนี้ ซึ่งไม่รู้ว่าเป็นของใครให้ลื้อ
ช่วยเอาไปถวายพระที่พี่ชายเอาของไปถวายด้วย คิดว่าเป็นเงินของเราทั้งสองทำบุญ
ร่วมกันก็แล้วกัน
ชายไทย : เถ้าแก่ ลื้อพูดอย่างนี้น่าฟังมาก อั๊วไม่นึกว่าจะมาพบคนดีๆ อย่างลื้อ ทำให้อั๊วดีใจมาก
พระที่อั๊วจะเอาของไปถวายองค์นี้ ท่านเคยเป็นอุปัชฌาย์บวชให้อั๊วมาก่อน อั๊วเคารพ
ท่านมาก ก่อนเข้าพรรษาอั๊วก็นำของไปถวายท่านทุกปี แต่ท่านอายุมากแล้วไม่ยอมรับ
เงิน ฉะนั้นอั๊วก็รับไปถวายท่านไม่ได้ พระองค์อื่นก็ไม่รู้จักดีเท่าท่าน
เถ้าแก่ : ไม่เป็นไร อั๊วจะจัดการให้ลื้อนำของไปถวายท่านอีกให้ครบ ๑๐ บาท คิดว่าเราทำบุญ
ร่วมกัน พี่ชาย อั๊วขอให้ลื้อเข้ามานั่งกินน้ำชาคุยกันก่อน ลื้อเป็นคนดีมาก อั๊วนับถือ
ร้านนั้นเถ้าแก่ชื่อ “เอ็ง” เถ้าแก่ผู้นี้ ต่อมามีชื่อเสียงว่าเป็นคนดี มีสัตย์ เป็นที่น่าไว้วางใจ ทั้งพระทั้งชาวบ้านต่างก็แนะนำกันให้ไปติดต่อหาซื้อของที่ร้าน จนเถ้าแก่เอ็งร่ำรวย เห็นจะเป็นเพราะความดีของเถ้าแก่เอ็ง ทำให้ชายไทยสูงอายุนั้น ไปเที่ยวบอกเล่าให้พระและชาวบ้านทั่วไปรู้
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๔)
คืนหนึ่ง บ้านหลังหนึ่งถูกขโมยของไปหลายสิ่ง มีสิ่งหนึ่งที่เจ้าของบ้านรักและเสียดายมาก เพราะเป็นของเก่าตกทอดมาหลายชั่วคน แม้จะมีราคาน้อยกว่าสิ่งอื่นที่หายพร้อมกัน แต่เจ้าของไม่สนใจสิ่งอื่น อยากได้คืนสิ่งเดียวเท่านั้น เพื่อนบ้านแนะนำให้ไปหาเจ้าถิ่น เมื่อไปถึงเจ้าถิ่นก็ออกมาต้อนรับอย่างดี กิริยาสุภาพ พูดจาไพเราะ เจ้าถิ่นบอกว่ารู้จักเจ้าของบ้านดี เพราะเป็นคนน่านับถือคนหนึ่งในตำบล ถ้ามีอะไรรับใช้ได้ขอให้บอก เจ้าของบ้านจึงเล่าเรื่องให้ฟัง ขอให้เจ้าถิ่นช่วยจัดการด้วย
เมื่อทราบเรื่องเจ้าถิ่นก็แสดงความเสียใจว่า เคยสั่งพวกเด็กอย่าไปรบกวนคนดีมีศีลธรรมอย่างเจ้าของบ้านผู้นี้ ถ้าเป็นคนไม่ดีก็ไม่ห้าม ตัวเขาเองก็ไม่ใช่คนชั่ว รับเป็นหัวหน้าเพื่อหาทางชักจูงให้เด็กเป็นคนดีเลิกประพฤติชั่ว นอกจากที่ชั่วโดยสันดานก็ปล่อยตามเรื่อง แต่อย่าไปรบกวนคนดี ถ้าเป็นเด็กของเขาก็จะจัดการให้เรียบร้อย
หลังจากนั้นไม่กี่ชั่วโมง ก็ได้ของคืนครบถ้วน และเจ้าถิ่นไม่ยอมรับสิ่งตอบแทนเลย นี่เป็นเรื่องนานหลายสิบปีแล้ว สมัยที่มีโปลิศเป็นคนผิวขาว มีพลโปลิศเป็นแขกส่วนมาก
(กฎแห่งกรรม ของ ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๑)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. แม้อำมาตย์ถูกใส่ความจนต้องติดคุก ก็ไม่เดือดร้อนใจ เพราะไม่ได้ทำความผิด จึงไม่กลัวว่าจะถูกพระราชาสอบสวน ไม่กลัวว่าคนอื่นจะขุดคุ้ยเบื้องหลังการกระทำของตนไปเปิดเผย เมื่อไม่กลัวจิตใจ ก็สงบสุข เป็นการเข้าถึงสุคติในชาติปัจจุบัน (เป็นสวรรค์ในอก) ส่วนพวกที่รับศีลแล้วจมน้ำตายไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ซึ่งเป็นสวรรค์ที่เป็นปรโลก เป็นการเข้าถึงสุคติในชาติหน้า ตรงกับอานิสงส์ของศีลที่ว่า “ศีลย่อมยังบุคคลให้ถึงสุคติ”
๒. การที่อำมาตย์ได้รับพระราชทานยศสูงขึ้นกว่าเดิม การที่เถ้าแก่เอ็งค้าขายจนร่ำรวย และการที่เจ้าของบ้านผู้มีศีลได้รับของที่ถูกขโมยคืน ตรงกับอานิสงส์ของศีลที่ว่า “ศีลทำให้ถึงพร้อมด้วยโภคะ”
๓. โภคสัมปทา คือ การถึงพร้อมด้วยโภคะ หมายถึง มีของกินของใช้และได้กินได้ใช้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องรับผลของบาปกรรมในอนาคตด้วย เพราะได้มาโดยสุจริต ถ้ามีรถยนต์ แต่ขโมยเขามา ย่อมไม่กล้าใช้ ทั้งยังต้องรับผลของบาปกรรมในชาตินี้หรือชาติหน้า จึงไม่เป็นโภคสัมปทา
๔. การที่อำมาตย์อาศัยศีลสมบัติ ทำจิตให้แน่วแน่ในอารมณ์เดียว แล้วพิจารณาสังขารทั้งหลายจนบรรลุโสดาบัน ตรงกับอานิสงส์ของศีลที่ว่า “ศีลย่อมยังบุคคลให้ถึงพระนิพพาน”
๕. พระโสดาบัน หมายถึง ผู้แรกถึงกระแสพระนิพพาน คัมภีร์อังคุตตรนิกาย (๒๐/๕๒๗) กล่าวว่า พระโสดาบันมี ๓ จำพวก คือ เอกพีชี โกลังโกละ สัตตักขัตตุปรมะ พระโสดาบันเกิดอีก ๗ ชาติเป็นอย่างมาก ก็จักบรรลุอรหัต นี้เป็นหลักฐานที่พิสูจน์ว่า ชาติหน้ามีจริง
๖. เจ้าถิ่นให้ความเคารพนับถือเจ้าของบ้าน ไม่ใช่เพราะเห็นว่าร่ำรวย แต่เพราะเห็นว่ามีศีล
๗. อำมาตย์นี้เป็นผู้มีปัญญา รู้จักทำประโยชน์ (บรรลุโสดาบัน) จากสิ่งที่หาประโยชน์มิได้ (ราชทัณฑ์)

ทรชนคนบาป
ในสมัยพุทธศตวรรษที่ ๑๑ พระเจ้าศศางกะ กษัตริย์อินเดียผู้เป็นมิจฉาทิฏฐิ เกิดริษยาความเจริญของพระพุทธศาสนา จึงคิดจะทำลายล้าง โดยจัดการกับวิหารมหาโพธิ์ สถานที่ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าก่อน ในวิหารนั้นมีพระพุทธรูปอันงดงาม พระเจ้าศศางกะสั่งให้แม่ทัพจัดการทำลายพระพุทธรูปทันที แล้วเสด็จออกไปตัดต้นมหาโพธิ์ ส่วนภายในวิหารปล่อยให้แม่ทัพจัดการ
ฝ่ายแม่ทัพเป็นผู้รัูจักผิดชอบชั่วดี ไม่กล้าทำตามคำสั่งนาย ได้ดำริว่า ถ้าทำลายพระพุทธรูปตามโองการของพระราชา เราก็ต้องตกนรก ถ้าไม่ทำตามโองการ ศีรษะก็จะไม่อยู่กับบ่า ในที่สุดคิดอุบายร่วมกับคนสนิท ก่อกำแพงบังพระพุทธรูปนั้นให้มิด แล้วทูลพระราชาว่าทำลายเสร็จสิ้นแล้ว
พระเจ้าศศางกะชอบพระทัย พอล่วงไป ๗ วัน ก็บังเกิดโรคพุพองเปื่อยเน่าไปทั่วสรีระ กษัตริย์ใจบาปนี้ได้เสวยทุกขเวทนาอย่างสาหัสจนสิ้นพระชนม์ ฝ่ายแม่ทัพก็รีบมารื้อกำแพงออกทันที
เหตุการณ์นี้เป็นเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในประวัติศาสตร์ แม้พระพุทธรูปยังไม่ได้ถูกทำลาย แต่เป็นผลอันเกิดจากการทำอันตรายต้นพระศรีมหาโพธิ์ ซึ่งพระพุทธองค์อาศัยร่มเงาในคืนตรัสรู้
อ.เสถียร โพธินันทะ ได้ยินผู้ใหญ่ท่านหนึ่งเล่าว่า ท่านได้เห็นชายชราเป็นโรคผิวหนังพุพองเปื่อยเน่าทั้งตัว ทั้งยังเป็นอัมพาตเดินไม่ได้ ต้องเที่ยวถัดไปตามถนนขอทานเขากิน ชายชราผู้นี้เล่าชีวประวัติให้ผู้ใหญ่ท่านนั้นฟังว่า เมื่อหนุ่มหากินทางขโมยลอกทองพระพุทธรูปบ้าง เที่ยวขุดทรัพย์ในองค์พระปฏิมาตามวัดร้างโบราณ ทำให้องค์พระเสียหายขาดอวัยวะไป บัดนี้กรรมตามทันมาสนองให้ต้องทรมานอย่างนี้หลายปีแล้ว และรู้ตัวว่าหากตายไปคงตกนรกแน่นอน
ผู้ใหญ่ท่านนั้นเล่าว่า ได้เห็นสภาพของชายชราแล้ว ใจของท่านสลดสังเวชมาก เพราะมีสภาพเกือบไม่เป็นมนุษย์ ตามตัวเน่าไปหมดส่งกลิ่นเหม็นคลุ้งทีเดียว เป็นการตกนรกทันตาเห็นอยู่แล้ว
(ตอบปัญหาร้อยแปด โดย เสถียร โพธินันทะ)
บนกุฏิของท่านเจ้าคุณเจ้าอาวาสวัดโพธิ์นิมิตร ฝั่งธนบุรี มีพระพุทธรูปยืนสององค์ ยืนเด่นในหมู่พระพุทธรูปเป็นจำนวนมาก ท่านเจ้าคุณได้เล่าประวัติของพระพุทธรูปยืนสององค์ ความว่า
ในจังหวัดพระนคร มีบุคคลผู้หนึ่งนำพระพุทธรูปยืนมาเลื่อยเป็นสองท่อน ท่อนบนขายให้ฝรั่งคนหนึ่งซึ่งเข้ามาทำงานในเมืองไทย เพื่อนำออกนอกประเทศได้สะดวก ส่วนท่อนล่างก็ไม่สนใจทิ้งไว้ข้างบ้าน คนข้างบ้านเห็นแล้วก็สังเวชใจยิ่งนัก จึงนำมาถวายท่านเจ้าคุณซึ่งท่านผู้นี้เคารพ ท่านเจ้าคุณได้จัดการบูรณะให้สมบูรณ์เป็นองค์พระ แล้วตั้งไว้เคารพบูชาบนกุฏิท่าน
ต่อมาวันหนึ่ง ผู้ที่เลื่อยพระพุทธรูปนั่งรถไปธุระที่ซอยแห่งหนึ่งในเขตพระนคร เมื่อรถที่นั่งออกจากซอยก็ชนกับรถอีกคันหนึ่งอย่างแรง รถพังยับเยิน ผู้ฆาตกรรมพระพุทธรูปได้รับบาดเจ็บสาหัส หนังหัวถลกมาข้างหน้า เจ็บปวดจนร้องครวญครางอย่างน่าเวทนา ตำรวจนำผู้บาดเจ็บสาหัสส่งโรงพยาบาลโดยด่วน คนป่วยบิดตัวหน้าเบี้ยวบูดด้วยความเจ็บปวด พิษบาดแผลทำให้เพ้อคลั่งออกมาว่า ผมเจ็บปวดจนทนไม่ไหวแล้ว กรุณาเอาเลื่อยมาเลื่อยหน้าอกที คนป่วยร้องย้ำว่า ผมทนไม่ไหวแล้ว เลื่อยหน้าอกทีๆๆ
บุคคลผู้นี้ต้องทนทุกข์ทรมานอย่างแสนสาหัส เจ็บปวดจนน้ำตาไหลอาบหน้า ทั้งกิริยาท่าทางและการดิ้นรนตลอดจนหน้าตาบิดเบี้ยว ตอนแรกก็ร้องแผ่วเบา แล้วค่อยดังขึ้นจนที่สุดก็ตะโกนออกมา ผู้ที่เห็นเหตุการณ์ไม่มีใครรู้ว่า คำพูดที่ตะโกนออกมานั้นหมายความว่าอะไร บางคนเข้าใจว่าเป็นเพราะความเจ็บปวด จึงอยากให้เลื่อยกายออกเป็นสองท่อน เพื่อให้ตายและพ้นความทุกข์ทรมาน บางคนคิดว่าพิษบาดแผลทำให้เพ้อพูดออกมาโดยไม่รู้ตัว คำที่พูดออกมาจึงไม่มีความหมาย แต่ผู้ที่รู้เบื้องหลังของคนป่วยคงจะตื่นเต้น ทุกคำพูดเขย่าขวัญและเสียดแทงเข้าไปในความรู้สึก เพราะบุคคลผู้สร้างบาปกรรมนี้ ที่สุดก็หนีบาปกรรมของตนไม่พ้น
ฝ่ายฝรั่งคนนั้น ตั้งแต่ได้นำพระพุทธรูปท่อนบนมาไว้ในบ้าน ครอบครัวที่เคยสงบสุข ก็เปลี่ยนเป็นตรงกันข้าม ประเดี๋ยวคนนั้นป่วย คนนี้ป่วย จิตใจมีแต่ความเคร่งเครียด มองดูอะไรก็ไม่ถูกใจ เรื่องที่ไม่น่าจะมีก็มี ยิ่งมารู้ข่าวคนที่เลื่อยพระพุทธรูปก่อนตายร้องตะโกนให้เลื่อยหน้าอก ก็ยิ่งหวาดหวั่น หน้าที่การงานก็ได้รับคำตำหนิว่าบกพร่อง ทางต่างประเทศก็มีคำสั่งเรียกตัวกลับไป แกเชื่อมั่นว่าทุกอย่างที่เกิดขึ้นเป็นอภินิหารของพระพุทธรูปที่ซื้อมาแน่ จึงไม่ยอมนำพระพุทธรูปนี้กลับไปด้วย รีบไปพบผู้ที่นำพระพุทธรูปท่อนล่างไปถวายท่านเจ้าคุณ เพื่อให้ช่วยนำพระพุทธรูปท่อนบนไปถวายท่านเจ้าคุณ แม้จะทราบว่าท่อนล่างได้รับการบูรณะแล้ว ก็อยากจะให้นำท่อนบนไปให้พ้นบ้านเพราะความกลัว และบอกว่าเข็ดแล้ว จะไม่ขอแตะต้องพระพุทธรูปศักดิ์สิทธิ์อีกต่อไป
เมื่อได้พระพุทธรูปท่อนบนมาอีก ท่านเจ้าคุณก็บูรณะให้เป็นองค์พระที่สมบูรณ์ จึงเกิดเป็นพระพุทธรูปสององค์ยืนเด่นบนกุฏิท่าน
(กฎแห่งกรรม โดย ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๓)
เมื่อคืนวันที่ ๑๓ มิ.ย. ๒๕๓๖ ชายสองคนขี่รถจักรยานยนต์ไปที่วัดซุ้มกอ อ.เมือง จ.กำแพงเพชร (ชาวบ้านเรียกกรุทุ่งเศรษฐี) ทั้งสองนำรถไปซุ่มจอดอยู่ใต้ต้นมะม่วงซึ่งห่างจากเจดีย์ซุ้มกอประมาณ ๒๐ เมตร แล้วเดินมาขุดที่บริเวณฐานของเจดีย์ซุ้มกอ เพื่อหาพระซุ้มกอที่ยังมีหลงเหลือ ด้านบนของฐานเจดีย์ที่ทั้งสองลักลอบขุด มีจอมปลวกขนาดใหญ่ก่อตัวอยู่ทั้งสองขุดชอนลึกลงไปจนท่วมหัว สันนิษฐานว่าขุดกันมาหลายวันแล้ว โดยใช้ต้นหญ้าปิดปากหลุมไว้ ขณะที่กำลังใช้ชะแลงขุดลึกลงไปเรื่อยๆ นั้น ดินจอมปลวกและฐานเจดีย์ได้ถล่มพังทับร่างของทั้งสองชนิดตายทั้งเป็น
รุ่งขึ้นเจ้าหน้าที่ตำรวจและชาวบ้านได้ช่วยกันขุดดินออก พบร่างชายสองคน คือ นาย ก. อายุ ๒๑ ปี อีกศพเป็นชายอายุประมาณ๒๐ ปี ชื่อนาย น. พร้อมชะแลงเหล็ก ๑ อัน
ขณะที่กำลังขุดเอาศพออกมา หลายคนเห็นฝูงปลวกจำนวนนับล้านตัว บางตัวมีขนาดเกือบเท่านิ้วก้อยเกาะติดศพขึ้นมา ต่างตกตะลึงไปตาม ๆ กัน และบอกว่าฟ้าดินและเจ้าที่เจ้าทางลงโทษทันตาเห็น
สำหรับกรุทุ่งเศรษฐีนั้น บรรดาเซียนพระใน จ.กำแพงเพชร ได้เล่าว่า เคยมีผู้ไปลักลอบขุดพระ ขณะที่ขุดลึกลงไปนั้น ได้เห็นว่ามีน้ำไหลทะลักออกมามากมาย ผู้ที่ลักลอบขุดต้องว่ายน้ำหนีจนหมดแรง กระทั่งรุ่งเช้ามีคนมาพบว่านอนเกลือกกลิ้งอยู่ใกล้หลุมดินนั้นเอง โดยบริเวณดังกล่าวไม่มีน้ำเลย ลักษณะที่เรียกว่าว่ายบกนี้ ทำให้เข็ดไปตามๆ กัน (น.ส.พ.เดลินิวส์ ๑๕ มิ.ย. ๒๕๓๖)
พระพุทธรูปเป็นสัญลักษณ์แห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า จัดเป็นปูชนียวัตถุสูงสุด ผู้สร้างพระพุทธรูปจะได้ประโยชน์ดังนี้
๑. ได้บุญตั้งแต่วินาทีแรกที่คิดสร้าง เพราะเป็นความคิดอันประกอบด้วยศรัทธาในพระพุทธองค์ จัดเป็นตถาคตโพธิสัทธา
๒. เมื่อบริจาคทรัพย์ในการสร้างจัดเป็นทานบารมี
๓. เมื่อขวนขวายติดตามตลอดงานจัดสร้างพระปฏิมาจัดเป็นกุศลส่วนเวยยาวัจจมัย (บุญเกิดจากการขวนขวายในกิจที่ชอบ)
๔. เมื่อองค์พระปฏิมาสำเร็จบริบูรณ์ ได้เป็นที่ตั้งแห่งความระลึกถึงพระพุทธคุณ ทั้งตนเองด้วย ทั้งผู้อื่นด้วย กุศลจะเกิดเพิ่มขึ้นทุกครั้งที่ได้อาศัยพระปฏิมาเป็นสื่อน้อมนำให้ระลึกถึงพระคุณของพระพุทธเจ้าเป็นบ่อเกิดแห่งกุศลจริยาอื่นๆ อีกเป็นอันมาก
๕. อำนาจแห่งกุศลที่สร้างพระปฏิมาส่งผลให้เกิดเป็นคนรูปงาม มีบุคลิกสง่า เป็นที่เคารพรักใคร่ของประชุมชน มีอิสริยยศ บริวาร ทรัพย์สมบัติ ตลอดจนความสุขสถาพร ไม่เป็นโรควิกลจริต
๖. ในสมัยมรณกาล หากมีอารมณ์ในกุศลกิจนั้นมาปรากฏให้จิตยึดก่อนจะจุติ ย่อมปิดอบายภูมิและส่งให้ปฏิสนธิในสุคติภูมิทันที
ส่วนการทำลายพระปฏิมานั้น ในคัมภีร์ชั้นฎีกา ท่านแสดงไว้ว่า มีบาปเท่ากับทำลายต่อองค์พระบรมศาสดาเหมือนกัน ถึงห้ามสวรรค์ ห้ามนิพพาน เที่ยงต่อการตกนรกหมกไหม้ แม้ในกฎหมายโบราณ ท่านก็ตราเป็นพระราชกำหนดว่า ผู้ใดทำอันตรายต่อพระพุทธรูป มีตัดแขนพระเป็นต้น ก็ให้จับมันมาลงโทษด้วยการตัดแขนบ้าง ที่ต้องกำหนดโทษรุนแรงทั้งฝ่ายโลกฝ่ายธรรมอย่างนั้น ก็เพราะการทำลายพระพุทธรูปด้วยบาป เจตนาเท่ากับเป็นการทำลายจิตใจของชาวพุทธทั่วไป การทำอันตรายต่อปูชนียวัตถุอันเป็นมิ่งขวัญสูงสุดทางใจของคนจำนวนมากอย่างนั้น ก็ต้องมีผลตอบรุนแรงมากตามธรรมดา
การที่ท่านว่าห้ามสวรรค์ห้ามนิพพาน ก็เพราะคนที่มีใจบาป กล้าทำอันตรายพระปฏิมาได้ คนนั้นไหนเลยจะมีแก่ใจปฏิบัติธรรม เมื่อไม่ได้ปฏิบัติธรรมแล้วที่ไหนจะได้สวรรค์นิพพานเล่า เมื่อห้ามสวรรค์นิพพานแล้ว คติที่ผู้นั้นจักไปก็มีแต่อบายภูมิ ๔ เท่านั้น
(ตอบปัญหาร้อยแปด โดย เสถียร โพธินันทะ)

ปลาเป็นเหตุ
สมัยหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน ใกล้นครสาวัตถี เช้าวันหนึ่งพระองค์เสด็จไปบิณฑบาตยังนครสาวัตถี พระองค์ทอดพระเนตรเห็นพวกเด็กหนุ่มกำลังจับปลาในสระแห่งหนึ่งซึ่งอยู่ข้างทาง เพื่อจะนำมาปิ้งกิน พระองค์เสด็จไปหาพวกเด็กหนุ่ม แล้วตรัสถามว่า พวกเธอกลัวความทุกข์ ความทุกข์ไม่เป็นที่รักของพวกเธอไม่ใช่หรือ
เด็กเหล่านั้นกราบทูลว่า อย่างนั้นพระเจ้าข้า
พระพุทธเจ้าตรัสว่า ถ้าพวกเธอเกลียดกลัวความทุกข์ ก็อย่าได้ทำบาปทั้งในที่ลับหรือที่แจ้งเลย ถ้าพวกเธอทำบาปแล้ว แม้จะเหาะหนีไป ก็ไม่อาจพ้นจากความทุกข์ได้เลย
(กุมารกสูตร ๒๕/๑๑๕)
เหตุใดพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้เป็นสัพพัญญูรู้แจ้งทุกสิ่ง จึงทรงเตือนเด็กพวกนั้น เรื่องต่อไปนี้จะเป็นอุทาหรณ์ที่ดี
แพทย์หญิงชาวไต้หวันชื่อกวั๋วฮุ่ยเจิน เป็นแพทย์ทางด้านโรคมะเร็ง ได้เล่าถึงประสบการณ์ที่ตนได้พบเห็น ความว่า
ชายคนหนึ่งมีนิสัยชอบเคี้ยวหมาก สูบบุหรี่ และดื่มสุรา ต่อมาได้ป่วยเป็นมะเร็งในโพรงปาก ได้มารับการรักษาในโรงพยาบาล อาการป่วยอยู่ในขั้นโคม่า ภายในโพรงปากถูกฝีหนองของมะเร็งกัดกินจนทะลุเป็นรูออกทางแก้มหน้า น้ำหนองไหลออกมาตลอดเวลา แม้อาหารที่กินเข้าไปก็มักไหลออกมาทางรูทะลุด้วย แม้สุราที่เคยชอบหนักหนา หากดื่มเข้าไปก็เปรียบเหมือนเอาน้ำทองแดงกรอกปากก็ไม่ปาน แม้หมากที่เคยเคี้ยวเป็นประจำด้วยความชื่นชอบ ก็กลับกลายเป็นเหมือนกลืนกินลูกเหล็กกลมที่ร้อนแดง เนื่องจากดื่มกินไม่ได้ ประกอบกับจิตใจที่สับสนเศร้าหมอง ร่างกายที่เคยแข็งแรงสมบูรณ์มาก่อนก็ผอมโซลงอย่างรวดเร็ว ในสภาพที่เจ็บปวดอย่างแสนสาหัสนี้ แพทย์ยังได้ต่อท่ออาหารจากจมูกตรงไปยังกระเพาะอาหารอีกด้วย
ภรรยาของผู้ป่วยก็อยู่ในสภาพที่เจ็บปวดที่สุด เพราะต้องคอยหมั่นดูแล ทำความสะอาดน้ำเลือดน้ำหนองที่ไหลออกมาอย่างไม่มีวันหมด ทั้งยังต้องเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้เพื่อหาแพทย์มารักษา และที่สำคัญคือต้องใช้จ่ายเงินทองมากมาย
ผู้ป่วยได้เล่าให้พ.ญ.กวั๋วฮุ่ยเจินฟังว่า ปกติตัวเขาชอบไปตกปลา เคี้ยวหมาก ดื่มสุรา ขณะที่ตกปลามีความรู้สึกที่แสนจะสุขสมอารมณ์หมาย แต่ในขณะที่โรคมะเร็งได้กำเริบจนใบหน้าต้องทะลุเป็นรูโบ๋ เขามีความรู้สึกสะเทือนใจยิ่งนัก บัดนี้จึงได้เรียนรู้ว่า ขณะที่เงี่ยงเบ็ดแทงแก้มของปลาจนทะลุ ภายในจิตใจของปลา ความรู้สึกกลัวและความเจ็บปวดเป็นอย่างไร
เสียงกระซิบอันแผ่วเบาที่ผู้ป่วยพยายามเปล่งออกมาอย่างลำบากยากเย็นนี้ แสดงถึงความสำนึกในบาปกรรมของตน เขาได้รู้สึกว่า ช่วงเวลาที่มีความสุขนั้นมันช่างน้อยนิด บาปกรรมที่ทำให้พวกปลาต้องตกใจกลัว และทนทุกข์ทรมาน บัดนี้ได้สะท้อนกลับมายังตน ร่างกายต้องเจ็บปวดถูกแทงทะลุที่กระพุ้งแก้ม ขณะที่ตัวเองกลืนน้ำลาย ก็เปรียบเสมือนถูกไฟเผาหรือถูกมีดกรีดร่างก็ไม่ปาน สภาพที่เจ็บจนทนไม่ไหวนี้ เทียบกับขณะที่ปลาถูกเบ็ดตกขึ้นมาแล้วดิ้นรนเพื่อหาทางรอด ก็ไม่ต่างกันเท่าไรนัก
ชีวิตของผู้ป่วยรายนี้เป็นบทเรียนที่ลึกซึ้งและเป็นอุทาหรณ์ว่า กฎแห่งกรรมไม่เข้าใครออกใคร กรรมใดใครก่อ กรรมนั้นตามสนอง แน่นอนที่สุด
(เสียงเพลงจากแม่น้ำนิรันดร์ แปลโดย ว่าที่ร.ต.ทรงศักดิ์ อัมพรวิวัฒน์)
เมื่อวันที่ ๘ พ.ย. ๒๕๓๕ นายสมนึก อายุ ๔๔ ปี กับนาย น. อายุ ๓๐ ปี อยู่บ้านหนองตะเคียน ได้ไปทอดแหหาปลาที่คลองชลประทาน บ้านดงพิกุล นาย น. จับปลาหมอได้ตัวหนึ่ง แต่ไม่รู้ว่าจะเก็บปลาไว้ที่ไหน เพราะไม่มีภาชนะใส่ จึงใช้ปากคาบปลาไว้แล้วลงมือหาปลาต่อ และเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดได้เกิดขึ้น ขณะที่นาย น. คาบปลาอยู่นั้นปลาเกิดดิ้นจนหลุดเข้าไปในลำคอ เป็นเหตุให้นาย น.ล้มทั้งยืน นายสมนึกไม่สามารถช่วยดึงปลาออกมาได้ จึงรีบนำตัวส่ง รพ.ทัพทัน
หลังจากนั้น นาย น. มีอาการไม่รู้สึกตัว แพทย์ได้ช่วยกันใช้คีมดึงปลาออกมาจนสำเร็จ ทำให้นาย น. ซึ่งตอนแรกเข้าใจว่าเสียชีวิตแล้ว กลับฟื้นคืนสติอีกครั้ง แต่หลังจากนั้นเกิดมีอาการชักกระตุกอีก จึงถูกส่งตัวไป รพ.อุทัยธานี แต่อาการยังไม่ดีขึ้น แพทย์ผู้รักษากล่าวว่า ถึงแม้นาย น. จะรอดชีวิต ก็จะมีอาการแบบเจ้าชายนิทรา ทางญาติก็บอกว่าทำใจไว้แล้ว
ภายหลังทางญาติได้นำตัวผู้ป่วยกลับบ้านโดยอ้างว่าไม่มีเงินรักษา นายน.ได้เสียชีวิตลงในระหว่างทาง สร้างความเสียใจให้แก่ญาติพี่น้องเป็นอย่างมาก
(น.ส.พ.เดลินิวส์ ๙ พ.ย. ๒๕๓๕)
นาง อ. อายุ ๓๐ ปี เล่าว่า เมื่อต้นเดือนมิ.ย.นี้ นาย ป. อายุ ๓๐ ปี สามีซึ่งเป็นนักการสถานที่ราชการแห่งหนึ่งใน จ.อำนาจเจริญ ได้ออกไปเก็บตาข่ายที่ดักปลาไว้ เกิดลื่นล้มไถลก้นกระแทกกับตอไม้ไผ่ ทำให้ไม้ไผ่เสียบเข้าไปในรูทวารหนักและหักติดอยู่ในช่องท้อง จึงนำตัวส่ง รพ.จ.อำนาจเจริญ แพทย์ทำแผลและให้ยาแก้ปวดรับประทาน แล้วให้กลับบ้านได้ โดยไม่ฟังเสียงขอร้องจากผู้ป่วยที่ขอให้หมอช่วยเอกซเรย์ เพราะสงสัยว่าจะมีไม้หักติดอยู่
หลังจากที่นาย ป. กลับมารักษาตัวที่บ้านอาการเริ่มทรุดหนักลง มีอาการป่วยแทรกซ้อนและมีกลิ่นเหม็น จึงได้เข้ารักษาที่รพ.อำเภอกุดข้าวปุ้น เป็นแห่งที่ ๒ เมื่อวันที่ ๑๒ มิ.ย.นี้ หมอก็ได้รักษาเพียงให้กินยาแก้อักเสบและทำแผล โดยไม่มีการเอกซเรย์ตามคำขอร้องของผู้ป่วยและญาติ นาย ป. นอนรักษาตัวอยู่นานกว่า ๑ สัปดาห์ อาการกลับทรุดหนัก ญาติขอนำตัวไปรักษาที่อื่น แต่หมอไม่อนุญาต ในที่สุดนาง อ. กับญาติ ๆ ได้ตัดสินใจอุ้มนาย ป. ออกจาก รพ.แห่งนี้ นำส่งรพ.สรรพสิทธิประสงค์ จ.อุบลราชธานี เมื่อไปถึงแพทย์ได้นำนาย ป. เข้าห้องเอกซเรย์เป็นการด่วน พบว่าท่อนไม้ฝังติดอยู่ในช่องท้อง จึงได้ผ่าตัดนำเอาไม้ไผ่ที่หักติดอยู่ออกมาโตขนาด ๑ นิ้ว ยาว ๓ นิ้ว และพบว่าลำไส้ของนาย ป. ติดเชื้อและเน่าบางส่วน แพทย์ต้องควักลำไส้ออกมากองรักษาข้างนอก อาการของนาย ป. ยังน่าเป็นห่วง
(น.ส.พ.เดลินิวส์ ๒๘ มิ.ย. ๒๕๓๗)
ข้าราชการเก่าผู้หนึ่งเล่าประสบการณ์ของตน ความว่า
สมัยเมื่อรับราชการที่จังหวัดทางชายแดน วันหนึ่งผมได้ขับรถออกไปนอกเมือง เห็นชาวบ้านกำลังจับปลาในคูข้างถนน หลายคนวิ่งไล่ตะครุบปลาช่อนตัวใหญ่ซึ่งโดดหนีไปมาอย่างว่องไว ผมจึงหยุดรถข้างถนนออกมายืนดู ทันใดนั้นปลาช่อนก็กระโดดขึ้นมาบนถนน กระเสือกกระสนมาหยุดอยู่แทบเท้าผม คล้ายกับขอร้องให้ช่วยชีวิตมันไว้ พวกชาวบ้านก็ตะครุบตัวไว้ได้โดยง่าย
ผมเกิดความสงสาร จึงขอซื้อปลาช่อนเพื่อปล่อยเอาบุญ ขณะนั้นมีรถขนาดเดียวกับผมแล่นผ่านไปข้างหน้าจนลับสายตาไป
ผมนำปลาช่อนที่ซื้อไปไว้ในรถ ขับรถไปช้าๆ ตามองหาที่ปล่อยปลา พอดีเห็นบึงใหญ่ห่างข้างทางประมาณ ๑๐๐ เมตร ก็หยุดรถข้างถนน เอาผ้าขาวม้าที่อยู่หลังรถห่อปลา แล้วออกจากรถ เดินตามคันนาไปจนถึงบึง หาที่น้ำลึก แก้ห่อผ้าขาวม้า แล้วปล่อยปลาลงน้ำ
เจ้าปลาคงดีใจมาก มันผุดขึ้นแล้วดำลงหลายหน เหมือนจะแสดงความขอบใจที่ช่วยชีวิตมันไว้ จากนั้นก็ดำหายลงไปในก้นบึง
ผมยืนมองดูอยู่ ในใจเกิดปีติที่ได้ช่วยชีวิตปลาช่อนตัวนี้ไว้ เมื่อไม่เห็นมันโผล่ขึ้นมาอีก ผมก็เดินกลับมาที่รถ ขับต่อไปบนเส้นทางเดิม
เมื่อขับไปได้พักหนึ่ง เห็นคนมุงดูกลุ่มหนึ่งแต่ไกล เมื่อรถผมเข้าไปใกล้ ก็มองเห็นสะพานไม้ข้ามคลองกว้างพอสมควร ผมจึงจอดรถข้างทางแล้วเดินมองดูและชะโงกดูข้างล่าง เห็นรถยนต์คันหนึ่งตกลงไปอยู่ข้างล่างในห้วย ตอนท้ายยับยู่ยี่ ผมตกใจมากเพราะจำได้ว่ารถคันนี้วิ่งออกหน้าตอนที่ผมกำลังซื้อปลาช่อนจากชาวบ้าน
ชาวบ้านที่เห็นเหตุการณ์เล่าให้ผมฟังว่า สะพานนี้ รถโดยสารเขาเคยวิ่งกัน น้ำหนักมากกว่ายังไม่หัก จำเพาะมาหักเอารถคันนี้ พอสะพานหัก รถคันนี้ก็ตกลงไป ในรถมี ๓ คน ทุกคนบาดเจ็บสาหัส และถูกนำตัวไปส่งอนามัยอำเภอซึ่งอยู่ไม่ไกล พวกนี้เที่ยวมายิงนกเสมอ รถที่ตกยังมีนกเขาถูกยิงอยู่เป็นพวง และมีปืนแฝดอยู่ในรถ
ผมขับรถกลับจังหวัดด้วยจิตใจที่หดหู่ หากผมไม่ขอซื้อปลาช่อนจากชาวบ้าน เคราะห์กรรมอันนี้คงเกิดขึ้นกับผมแน่
(กฎแห่งกรรม โดย ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๕)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. ทุกชีวิตต่างก็มีความทุกข์ประจำอยู่แล้ว ลำพังแต่ความร้อน หนาว หิว กระหาย แก่ เจ็บ ตาย เพียงแค่นี้ก็ทุกข์จนสุดจะทนแล้ว เหตุไฉนจึงเบียดเบียนกัน เข่นฆ่ากัน เพิ่มทุกข์ให้แก่กันอีกเล่า
๒. คนที่รักษาสุขภาพเป็นอย่างดีมักจะไม่เจ็บไข้ แต่ก็ไม่เสมอไป เพราะตามหลักพุทธศาสนา บางครั้งคนเราก็เจ็บป่วยเพราะผลของกรรมเก่า ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสเล่าบุพกรรมของพระองค์ว่า
ในกาลก่อน เราเป็นเด็กลูกของชาวประมง อยู่ในบ้านเกวัฏฏคาม เห็นพวกชาวประมงฆ่าปลาแล้ว (แทนที่จะสงสารกลับ) เกิดความชื่นชม ด้วยผลแห่งกรรมนั้น เราจึงปวดศีรษะ เมื่อครั้งที่วิฏฏุภะฆ่าพวกศากยะ
(พุทธาปทาน ๓๒/๓๙๒)
โรคมะเร็งในปากอาจเป็นผลของบาปกรรมจากการตกปลาก็ได้ ดังนั้นผู้ที่ชอบหาความสุขบนความทุกข์ของผู้อื่น พึงสังวรให้มากไว้ สภาพความเจ็บปวดของผู้ป่วยน่าสยดสยองมาก บทเรียนบางอย่างนั้น คนฉลาดอาจเรียนรู้ได้โดยไม่ต้องใช้น้ำตาหรือชีวิตเลือดเนื้อของตนเองไปแลก
๓. คนเราเลือกเกิดไม่ได้ แต่สามารถเลือกทำดีหรือทำชั่วก็ได้ เรื่องที่นำมาเสนอนี้ย่อมเป็นอุทาหรณ์ว่า ควรจะใช้ชีวิตนี้ไปในทางใด

บุญมาวาสนาช่วย
วันหนึ่งในสมัยสงครามเอเชียบูรพา วันนั้นดูเหมือนเป็นวันวิสาขบูชา และเป็นวันแรกที่เครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตรโจมตีพระนครในเวลากลางวัน ข้าพเจ้า (ท. เลียงพิบูลย์) ได้มาแถวถนนพาหุรัด เสียงสัญญาณภัยทางอากาศได้ดังขึ้น ขณะนั้นภาพยนต์รอบเช้าเลิกพอดี ผู้คนต่างวิ่งหนีกันชุลมุน เสียงร้องไห้ระเบ็งเซ็งแซ่ ในเมื่อระเบิดตกลงใกล้ๆ
ข้าพเจ้าได้เร่งฝีเท้าเดินผ่านโรงภาพยนต์ ตั้งใจว่าจะเข้าไปหลบภัยในวัดแห่งหนึ่ง บังเอิญข้างหน้ามีเด็กหญิงเล็กๆ อายุประมาณ ๓ ขวบเดินหลงทางร้องไห้อยู่คนเดียวไม่มีใครเอาใจใส่ ข้าพเจ้ารู้สึกสงสาร แม้ตัวเองจะกลัวเพียงไร ก็ไม่สามารถจะปล่อยให้เด็กตกอยู่ในอันตรายได้ เมื่อคิดว่าจะต้องช่วย ข้าพเจ้ารีบวิ่งไปหาเพื่อจะได้อุ้มหลบไปทางอื่น รู้สึกว่าเสียงระเบิดเป็นระยะๆ ได้ใกล้เข้ามาทุกที พอข้าพเจ้าจวนจะถึงเด็กก็พอดีเด็กล้มคว่ำ
ข้าพเจ้าย่อตัวก้มลงไปอุ้ม เสียงระเบิดและสะเก็ดตกลงใกล้ตัวทำให้หมวกกะโล่ที่สวมอยู่บนศีรษะถูกปาดยอดไปเหมือนถูกคมมีดโกน ลมปะทะวาบเย็นศีรษะ ข้าพเจ้าเกือบคะมำล้มทับเด็กลงไป มันเป็นนาทีแห่งชีวิตของการอยู่กับตาย ถ้าไม่ก้มลงอุ้มเด็กน้อยที่ล้มลง ข้าพเจ้าคงกลายเป็นผีไม่มีญาติ เพราะบางคนถูกระเบิดแล้วเสื้อผ้าหายไปหมด เนื้อตัวแหลกเหลวจนจำไม่ได้ จิตใจที่เป็นกุศลได้ช่วยให้ข้าพเจ้ารอดตาย
ข้าพเจ้าอุ้มเด็ก กำลังข้ามถนน เห็นมีคนถูกสะเก็ดระเบิดนอนคอพับเลือดไหลโซมกาย เศษอิฐ เศษปูน เศษไม้เกลื่อนถนน และมีศพคนตายหลายศพอยู่ในที่ต่างๆ กัน ข้าพเจ้ากับเด็กน้อยโชคดีมาก
เสียงระเบิดค่อย ๆ ห่างหายไป ข้าพเจ้าอุ้มเด็กวิ่งข้ามถนน เข้าประตูวัดสุทัศน์ เห็นในวัดมีคนมาหลบภัยมาก ทั้งชายหญิง เด็กผู้ใหญ่ มองเห็นหญิงผู้หนึ่งอายุประมาณ ๓๐ ปี กำลังเดินร้องไห้ มีหญิง ๓-๔ คนและเด็กเดินตามออกมา กำลังเถียงกันเรื่องเด็กหาย
หญิงนั้นเห็นข้าพเจ้าอุ้มเด็ก ก็รีบวิ่งมารับเด็ก เด็กก็โผเข้าหา ร้องเรียก แม่ หญิงนั้นรับเด็กจากมือข้าพเจ้าไปกอดรัดเหมือนกับว่าจะไม่ยอมให้จากไปอีก พวกที่ตามมาก็พากันห้อมล้อมดีอกดีใจ
ข้าพเจ้าถือโอกาสที่พวกญาติของเด็กกำลังตื่นเต้นดีอกดีใจ รีบเดินผ่านฝูงชนเข้าไปบริเวณโบสถ์ แล้วเดินออกอีกประตูหนึ่งเพื่อหาทางกลับ ข้าพเจ้าเป็นสุขใจ สิ่งที่ข้าพเจ้าทำไปนั้นได้เห็นผลทันตา ข้าพเจ้าช่วยเด็กน้อยคนเดียว ทำให้อีกหลายคนมีความสุข
(กฎแห่งกรรม โดย ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๑)
ท. เลียงพิบูลย์ ได้เล่าถึงประสบการณ์ของเพื่อนซึ่งเป็นนายอำเภอ ความว่า
ครั้งหนึ่ง นายอำเภอได้ไปราชการที่ตัวจังหวัดปราจีนบุรี เมื่อเสร็จงานแล้วก็เวลาจวนเที่ยง ตั้งใจจะรีบกลับ พอดีเพื่อนสนิท ๓ คนเชิญให้ไปรับประทานอาหารที่ร้านแห่งหนึ่ง สั่งอาหารแล้วทั้งสี่ก็นั่งสนทนากัน เมื่ออาหารเสร็จก็ตักข้าวใส่จานเตรียมรับประทาน
ขณะนั้นเสียงหวูดจากเรือเมล์ก็ดังขึ้นเป็นระยะๆ เป็นสัญญาณว่าเรือกำลังจะออก นายอำเภอรีบลุกขึ้นจากโต๊ะและออกปากลา พวกเพื่อนก็บอกว่าจะให้เด็กไปบอกนายท้ายเรือให้รอนายอำเภอกินข้าวก่อน แต่นายอำเภอปฏิเสธ เพราะไม่ต้องการให้คนจำนวนมากรอตนคนเดียว
แม้เพื่อนจะขอให้รับประทานเพียงสองสามคำ นายอำเภอก็ไม่ยินยอม รีบเรียกเรือจ้างให้ไปส่งที่เรือเมล์ เมื่อไปถึงไม่นานเรือก็ออกตรงเวลา นายอำเภอก็กลับถึงที่อยู่โดยเรียบร้อย
รุ่งขึ้น นายอำเภอก็ได้รับข่าวว่า หลังจากที่ตนจากมาแล้ว เพื่อนทั้งสามก็รับประทานอาหารที่จัดไว้ เมื่อถึงบ้านก็ปวดท้องและท้องเดินอย่างรุนแรงทั้งสามคน หมอตรวจพบว่าเป็นอหิวาตกโรคอย่างแรง หมอได้พยายามช่วยอย่างสุดความสามารถ แต่พอกลางดึกคืนนั้น ทั้งสามคนก็หมดลมในระยะเวลาใกล้ๆ กัน
(กฎแห่งกรรม โดย ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๑)
เมื่อกลางปี พ.ศ. ๒๔๖๔ เรือเดินสมุทรชื่อ เรือผ่านสมุทร ซึ่งมีขนาด ๓,๐๐๐ ตัน บรรทุกสินค้าและผู้โดยสารชาวจีนประมาณ ๓๐๐ คน ออกเดินทางจากอ่าวไทยไปฮ่องกง เรือลำนี้มีมิสเตอร์แม็คลีน ชาวอังกฤษเป็นกัปตัน มิสเตอร์เฮ็นนี่เป็นต้นกล ต้นเรือเป็นทหารเรือไทยชื่อเรือโทประยูร
เมื่อเรือผ่านสมุทรย่างเข้าเขตทะเลจีน ก็เริ่มมืดมนไปทุกทิศทุกทาง กัปตันต้นกลและต้นเรือได้ประชุมกันเพื่อหาทางรับมือกับสถานการณ์อันร้ายแรง ในขณะที่คลื่นลมในทะเลเริ่มแรงขึ้นเป็นลำดับ เรือผ่านสมุทรโยนตัวโต้คลื่นไม่ไหวแล้ว ต้องใช้วิธีมุดคลื่นที่มีขนาดเท่าภูเขาเลากา อากาศมืดลงเป็นลำดับจนเกือบจะเป็นกลางคืน
เสียงอื้ออึงของพายุหมุนและคลื่นที่สาดซัดเข้ามาท่วมลำเรือ ทำให้ผู้โดยสารชาวจีนเริ่มหลั่งไหลออกมาที่กราบเรือเพราะเกรงเรือจะจม เรือโทประยูรกลัวพวกจีนที่เกะกะอยู่ตามกราบเรือจะถูกคลื่นซัดหรือพายุพัดตกทะเล จึงออกคำสั่งให้ทุกคนเข้าไปอยู่ในระวางท้องเรือ และให้กลาสีเอากุญแจใส่ไว้อย่างแข็งแรง พวกจีนเข้าใจว่า เรือไทยลำนี้จะขังพวกตนทั้งหมดให้จมน้ำตาย ต่างพากันตบประตูและร้องตะโกนเสียงดังลั่น เด็กเล็กก็ร้องไห้กันกระจองอแง แต่เรือโทประยูรสั่งเด็ดขาดไม่ให้ไขกุญแจปล่อยตัวออกมา เมื่อกัปตันและต้นกลถามถึงเหตุผล เขาก็ตอบว่า ถ้าเรืออับปางลง ทุกคนก็ต้องฝังร่างกลางทะเลจีนนี้แน่นอน ถึงจะปล่อยจีนพวกนี้ออกมา ก็ไม่มีหวังรอดชีวิตสักคน ถ้าโชคดีเรือรอดพ้นจากการอับปาง คนทั้งลำรวมทั้งพวกจีนที่ถูกขังก็จะรอดชีวิตทั้งหมดไม่มีตกหล่น
ทันใดนั้น คลื่นขนาดใหญ่กว่าภูเขาก็สาดซัดเข้ามาดังสนั่นหวั่นไหว กัปตันและต้นกลถูกซัดกระเด็นไปฟุบอยู่หัวเรือ โชคดีเหนี่ยวประตูเคบินแห่งหนึ่งไว้ได้ ส่วนเรือโทประยูรกระเด็นออกไปนอกทะเลลึกหายวับไปกับตา
เมื่อคลื่นยักษ์ผ่านไปแล้ว กัปตันพยายามมองฝ่าไปในทะเลที่กำลังเป็นบ้า เมื่อไม่เห็นแม้แต่เงาของต้นเรือ เขาก็น้ำตาคลอ กระทำพิธีส่งวิญญาณทั้งที่ตัวเองเปียกโชกไปหมดด้วยน้ำทะเล พลางพึมพำว่า ต้นเรือได้ปฏิบัติหน้าที่คุ้มครองผู้โดยสารถูกต้องแล้ว แต่ตัวเองกลับต้องเสียชีวิตลง เขาร้องออกมาเป็นคำสุดท้ายว่า มายก็อด! พระเจ้าไม่ช่วยชีวิตต้นเรือของข้าพเจ้าเสียเลย
พอขาดคำ คลื่นมหึมาอีกลูกหนึ่งก็ซัดตึงเข้ามาจนกัปตันกระเด็นไปทางหนึ่ง เมื่อลุกขึ้นมาได้ กัปตันขยี้ตาโดยไม่เชื่อสายตาของเขาเอง ร่างที่คลื่นซัดเข้ามานั้น เป็นร่างของมนุษย์ที่ยังเป็นๆ แต่เสื้อผ้าขาดกะรุ่งกะริ่ง หน้าตาเกือบไม่ใช่คน ปากซีด ตัวสั่น นอนคว่ำหน้าอยู่ที่ปลายเท้าของเขา ร่างนั้นคือเรือโทประยูร ต้นเรือที่เขาทำพิธีส่งวิญญาณ ไปเมื่อครู่นี้เอง
เมื่อกัปตันเข้าไปพลิกตัว ต้นเรือก็ลืมตาขึ้นพลางถามว่า กัปตันและต้นกลปลอดภัยหรือ ? กัปตันกอดเขา และตอบด้วยเสียงกระเส่าว่า พระเจ้าส่งท่านกลับคืนมาเป็นต้นเรืออีกแล้วละ
หลังจากตกอยู่ในศูนย์กลางของไต้ฝุ่นถึง ๒๐ กว่าชั่วโมง ฟ้าก็สว่าง แดดส่องจ้า เรือผ่านสมุทรก็รอดพ้นอันตรายมาได้ในสภาพที่เอียงกระเท่เร่ เสากระโดงหักสะบั้น เรือโบตทุกลำแตกละเอียดหมด ประตูหน้าต่างเคบินหักวินาศ
เมื่อพยายามถูลู่ถูกังไปจนถึงฮ่องกง แทนที่จะสาปแช่งต้นเรือ พวกผู้โดยสารชาวจีนกลับพากันกราบไหว้อยู่แทบเท้าของต้นเรือในฐานะที่เอาพวกเขาไปขังไว้จนรอดตายกันถ้วนหน้าและเรี่ยไรเงินจ้างคณะงิ้วชื่อดังของฮ่องกงมาแสดงที่ปากเรือ ๓ วัน เพื่อแก้บน
ต้นเรือผู้นั้นคือ จอมพลเรือหลวงยุทธศาสตร์โกศล อดีตผู้บัญชาการทหารเรือนั่นเอง
(๕๐ บุคคลสำคัญ โดย ไทยน้อย)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. คำว่า บุญ แปลว่า สะอาด ผุดผ่อง เมื่อกล่าวตามหลักพระพุทธศาสนาอาจแบ่งความหมายได้เป็น ๓ ประการคือ
๑.๑ เมื่อกล่าวโดยสภาพของจิต ได้แก่ ความบริสุทธิ์สะอาดผ่องใสแห่งจิต
๑.๒ เมื่อกล่าวโดยเหตุ ได้แก่ การทำคุณงามความดีทุกอย่าง
๑.๓ เมื่อกล่าวโดยผล ได้แก่ ความสุขความเจริญ
๒. ทุกชีวิตต่างตกอยู่ใต้อิทธิพลของธรรมชาติ ต่างเป็นเพื่อนร่วมชะตากรรมเดียวกัน มีทุกข์ร่วมกัน คือ ต้องแก่ เจ็บ ตาย กันถ้วนหน้า ดังนั้น ท่านจึงกล่าวว่า นอกจากการช่วยเหลือและแบ่งปันซึ่งกันและกันแล้ว สัตว์ทั้งปวงหามีที่พึ่งอื่นไม่
๓. ผู้ที่มีใจสูงย่อมช่วยเหลือผู้อื่นโดยไม่หวังแม้เพียงคำขอบใจ หวังเพียงให้ผู้ที่มีทุกข์ได้พ้นทุกข์เท่านั้น อย่างไรก็ตาม เมื่อทำเหตุแล้ว แม้จะไม่หวังผล ผลที่สมควรแก่เหตุที่ทำย่อมเกิดเอง เรื่องที่นำมาเสนอนี้ย่อมเป็นอุทาหรณ์ว่า การช่วยเหลือผู้อื่นเท่ากับช่วยเหลือตนเอง

เข็ดจริงๆ
นายแว่นตาโตชอบดื่มสุรา เวลารับศีลจากพระจึงรับแค่ศีล ๔ ภายหลังได้กลับใจมารับศีล ๕ นายแว่นตาโตเล่าสาเหตุให้เพื่อนฟังว่า
เมื่อหลายปีมาแล้ว ผมได้ไปงานขึ้นบ้านใหม่ของเพื่อน ในงานมีเหล้าเลี้ยงอย่างไม่จำกัด เย็นวันนั้นหลังจากดื่มเข้าไปพอตึงๆ หน้า ผมเดินไปหลังบ้านเพื่อหาที่ปัสสาวะ เหลือบไปดูที่รั้วสังกะสี เห็นมะม่วงของข้างบ้านเป็นพวง ๕-๖ ผล โตกำลังทำน้ำปลาหวาน ผมเห็นแล้วน้ำลายไหลอยากเก็บไปแกล้มเหล้า ความเมาทำให้ผมลืมตัว จึงหากิ่งไม้แห้งๆ มาเขี่ยผลมะม่วงให้โน้มลงมาแล้วคว้าไว้สองผล กิ่งมะม่วงก็หลุดมือ ผลมะม่วงจึงดีดออกไปกระทบรั้วสังกะสีดังปังๆ ผมสะดุ้งตกใจเพราะการถือสิทธิ์เก็บมะม่วงของข้างบ้านเป็นเรื่องไม่งามแน่
ทันใดก็มีเสียงเด็กร้องว่า แม่จ๋า มีคนมาขโมยมะม่วงข้างรั้วจ้ะ ดูซิแม่ เขาเด็ดไปสองลูกแล้ว เสียงหญิงผู้เป็นแม่ร้องบอกว่า อย่าไปว่าเขาอย่างนั้น เขาไม่ได้ขโมย แบ่งให้เขาไปกินบ้างเถิดลูก
เสียงของผู้เป็นแม่ทำให้ผมเกิดความรู้สึกผิดชอบ นึกละอายใจขึ้นมาแวบหนึ่ง แต่แล้วความเมาก็ทำให้ความรู้สึกผิดชอบหมดไป
คืนนั้นตอนดึกผมกลับถึงบ้าน ทางบ้านเข้านอนหมดแล้ว แต่ผมไม่ทุกข์ร้อนเพราะมีกุญแจสำรอง เมื่อไขประตูนอกแล้วก็เข้าไปถึงตัวบ้าน ผมหยิบกุญแจพยายามไขเข้าไปในห้องอย่างแผ่วเบาเพราะไม่อยากให้ใครตื่น แต่ไขอย่างไรก็ไม่ออก ทำให้จิตใจขุ่นมัวขึ้นมา
ทันใดนั้น แมวสามสีตัวโปรดของลูกสาวผมก็วิ่งมาเคล้าเคลียแข้งขา ร้องเมี้ยว-เมี้ยว เบียดขากางเกงถูไปถูมาอย่างประจบประแจง แต่ความเมาและความไม่อยากให้คนในบ้านตื่นทำให้ผมเกิดอารมณ์เสีย เลยไล่เบี้ยเอากับแมวตัวนั้นทันที ผมยกเท้าขึ้นเตะแมวตัวเล็กกระเด็นไปตกข้างบันไดล่าง ผมตกตะลึงว่า ทำไมเราถึงใจร้ายอย่างนี้ก็ไม่รู้ และนึกตำหนิตัวเองที่ดื่มมากเกินไป
เมื่อลองเปลี่ยนกุญแจ ผมก็ไขเข้าไปได้ ทำให้รู้ว่าหลงเอากุญแจผิดไปไขจึงไขไม่ออก ผมถอดรองเท้าและเสื้อนอกแล้วรีบเข้ามุ้ง แต่แล้วผมก็ต้องตกใจจนสะดุ้ง เพราะคนที่อยู่ในมุ้งตกใจกลัว รีบตะลีตะลานเปิดมุ้งออกมาร้องโวยวายให้คนช่วย และตะโกนว่า ขโมย ขโมย ช่วยด้วย ผมตกใจจนหายเมา นึกในใจว่า เดี๋ยวชาวบ้านคงแห่กันมา เราจะทำอย่างไรดี
ขณะนั้น ภรรยาผมก็วิ่งออกมาถามเสียงสั่นว่า ไหน ขโมยอยู่ไหน
เสียงน้องภรรยาตอบด้วยความตกใจกลัวว่า อยู่ในมุ้งของหนู ผมกำลังจะคลานออกจากมุ้งเพื่ออธิบาย แต่มุ้งก็ยุบลงมาคลุมตัวเสียก่อน ผมดิ้นขลุกขลักเหมือนปลาติดแห และตัวสั่นด้วยความกลัวเพราะรู้นิสัยภรรยาผมดี แกเป็นคนดุและเอาจริง ทั้งเป็นคนแข็งแรง
ทันใดนั้นก็รู้สึกว่ามีไม้ตะพดประเคนลงบนหัวผมสองทีซ้อน ผมทนไม่ไหวร้องออกมาเหมือนเสียงวัว แล้วก็ดิ้นไปดิ้นมาก็พอดีหัวโผล่ออกมานอกมุ้ง จึงรีบตะโกนว่า หยุดก่อน แม่ทูนหัว พี่เองไม่ใช่ขโมย
เมื่อได้ยินเสียงผมร้อง ภรรยาผมก็ทิ้งตะพดลง นั่งหอบเพราะความเหนื่อย แล้วพูดว่า เกือบไปแล้ว ตั้งใจจะตีให้สลบคาไม้ทีเดียว
เมื่อเหตุการณ์สงบลง ผมก็รู้ตัวว่าแว่นตาหาย ถ้าไม่มีแว่นตาผมก็มองอะไรไม่เห็น ผมจึงรีบคลำหาแว่นตา ภรรยาผมเห็นก่อน ก็เก็บไปไว้ไม่ยอมให้ผมแล้วก็บอกว่า ไม่ต้องหา แว่นตาอยู่ที่ฉันแล้ว ฉันถามอะไรคุณขอให้ตอบตรงๆ อย่าโกหกเป็นอันขาด
ผมบอกว่า จะถามอะไรก็ถาม ฉันจะตอบตามความจริงทุกอย่าง แต่ขอแว่นตาฉันคืนก่อน
ภรรยาผมตวาดด้วยความโกรธว่า ไม่ได้ ถ้าคุณตอบไม่เป็นที่พอใจฉัน แว่นตาอันนี้แตกละเอียดแน่
ผมตอบด้วยความตกใจว่า เธออย่าทำอะไรแว่นตาฉันเลย ขอทีเถิด
เสียงเธอตอบว่า เอาละ คุณฟังให้ดี แล้วตอบให้ดีนะ ทำไมคุณถึงเข้าไปในมุ้งน้องสาวฉัน ถ้าตอบไม่ตรงคำถามเกิดเรื่องแน่
ผมชักไม่พอใจจึงบอกว่า เธอถามเองตอบเองก็แล้วกัน ฉันกลัวว่าเมื่อตอบไม่ถูกใจเธอก็ต้องมีเรื่อง
เธอพูดเสียงอ่อนลงบ้างว่า คุณตอบตามความจริงก็แล้วกัน จะเชื่อหรือไม่เป็นเรื่องที่ฉันจะพิจารณาเอง
ผมจึงบอกว่า เมื่อคืนฉันเมามากจึงเข้ามุ้งผิด ฉันจึงอยากขอโทษน้องสาวเธอด้วย แต่ไม่ทันจะขอโทษ น้องสาวเธอก็วิ่งแหกปากร้องออกมา เธอจะเชื่อหรือไม่เป็นเรื่องของเธอ
เธอคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วพูดว่า เรื่องนี้ขืนพูดไปมีแต่จะขายหน้า จะจริงเท็จอย่างไร ฉันคิดว่าจะไม่สนใจแล้ว แต่ฉันจะขออะไรอย่างหนึ่ง คุณจะต้องปฏิบัติตาม จะได้หรือไม่ได้ เมื่อเราผิดแล้วก็ต้องรับผิด
ผมคิดว่าเธอคงใจดีจะยกน้องสาวให้ผม เพราะผมทำให้หล่อนเสียชื่อจึงพูดว่า ฉันทำไม่ได้หรอก เพราะมีเธออยู่ทั้งคนแล้ว
เธอเสียงแข็งขึ้นมาว่า เพื่อไถ่โทษที่เข้ามุ้งผิด คุณจะปฏิเสธไม่ได้ ตกลงไหม
ผมทำเป็นขัดไม่ได้บอกเธอว่า ถ้าเธอบังคับฉันก็ต้องยอมทำตาม เพื่อไถ่โทษที่ทำให้น้องสาวเธอเสียหาย
เธอพูดว่า ดีแล้วคอยฟังนะ ฉันขอให้คุณเลิกดื่มเหล้า นับตั้งแต่วันนี้ไป จะอ้างเหตุผลใดๆ จะเป็นสังคมหรืออะไรไม่ได้ทั้งนั้น จำไว้นะ
ผมสะดุ้งเพราะผิดหวังจึงพูดเสียงค่อยๆ ว่า ตกลงจ้ะ
แต่นั้นมาผมก็เลิกดื่มเด็ดขาด
เมื่อเล่าจบ พวกเพื่อนๆ ก็พากันหัวเราะ แล้วเพื่อนคนหนึ่งก็ถามนายแว่นตาโตว่า คุณว่าศีลขาดหมดไม่มีเหลือ แต่ก็ยังไม่แจ่มแจ้ง เพราะคุณยังไม่ได้ฆ่าสัตว์ ผิดเพียงไปลักมะม่วงเขา
นายแว่นตาโตหัวเราะจนตาหยี แล้วพูดว่า ผมลืมเล่าต่อว่า เมื่อตกลงกันได้แล้ว กว่าจะหลับก็เกือบสว่าง เช้าวันนั้นผมจึงตื่นสายหัว ระบมด้วยฤทธิ์ไม้ตะพด เมื่อผมลืมตาตื่นขึ้น ก็ได้ยินเสียงลูกสาวคนเล็กร้องไห้สะอึกสะอื้น และแช่งด่าคนที่ทำให้แมวที่น่ารักของแกตาย เสียงแกทำให้ผมสะดุ้งเพราะนางสามสีมันตายเพราะเท้าผมแท้ๆ ส่วน ศีลข้ออื่นคุณคิดดูก็แล้วกัน อย่าให้ผมพูดเลย
(กฎแห่งกรรม โดย ท. เลียงพิบูลย์ เล่ม ๒)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. เชื้อไวรัสเอดส์ทำลายภูมิคุ้มกันทางร่างกาย ฉันใด สุรา (รวมทั้งสิ่งมอมเมาอื่น ๆ) ก็ทำลายสติสัมปชัญญะซึ่งเป็นภูมิคุ้มกันทางจิตใจ ฉันนั้น คนเมาย่อมทำบาปกรรมหรือแสดงกิริยาที่เลวทรามต่ำช้าต่าง ๆ โดยไม่ละอาย และไม่คำนึงถึงผลเสียใด ๆ ที่จะติดตามมา ชีวิตและทรัพย์สินที่สูญเสียไปเพราะสุราเป็นเหตุ มีมากมายนับไม่ถ้วน ดังนั้น ศีลข้อ ๕ จึงสำคัญมาก หากรักษาไม่ได้แล้ว ศีลข้ออื่นก็พลอยพินาศไปด้วย ดังที่นายแว่นตาโตได้ประสบมาด้วยตนเอง
๒. คนเราจะไม่ทำบาปเพราะเหตุ ๒ ประการคือ
๒.๑ หิริ หมายถึง ละอายบาป เห็นว่าการทำบาปเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจ (ขณะที่กำลังลักมะม่วง เสียงของแม่และเด็กทำให้นายแว่นตาโตรู้สึกละอาย ความละอายนี้คือหิรินั่นเอง แต่แล้วก็หมดไปเพราะความเมา)
๒.๒ โอตตัปปะ หมายถึง กลัวบาป คือ กลัวว่าทำบาปแล้วจะถูกติเตียน ถูกลงโทษ หรือตกไปในอบายภูมิ
ท่านเปรียบเทียบหิริกับโอตตัปปะว่า เปรียบเหมือนเหล็ก ๒ ก้อน ก้อนหนึ่งเย็นแต่เปื้อนอุจจาระ ก้อนหนึ่งร้อนไฟลุกโชน คนฉลาดไม่จับเหล็กที่เย็นเพราะรังเกียจว่าเปื้อนอุจจาระ ไม่จับเหล็กอีกก้อนเพราะกลัวความร้อน คนที่มีหิริโอตตัปปะจะไม่ก่อกรรมทำชั่วให้เป็นที่เดือดร้อนแก่สังคม ความเมาทำให้หิริโอตตัปปะหมดไป ดังนั้น สุราจึงเป็นตัวบ่อนทำลายความสงบสุขของสังคม
๓. ในสัพพลหุสสูตร (๒๓/๑๓๐) พระพุทธเจ้าตรัสถึงโทษของสุราว่า ผู้ที่เสพสุราเป็นอาจิณ เมื่อตายแล้วย่อมไปสู่นรก กำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน ปิตติวิสัย (เปรต) ส่วนโทษอย่างเบาที่สุดของการดื่มสุรา คือ ถ้ามาเกิดเป็นมนุษย์ ก็จะเป็นคนบ้า

บั้นปลายของวายร้าย
นายดันแคน เจวอนส์ หนุ่มใหญ่วัย ๔๙ ปี เป็นนักขโมยหนังสือตัวยงแห่งเมืองผู้ดีอังกฤษ มีประกาศนียบัตรรับประกันฝีมือด้วยจำนวนหนังสือ ๔๐,๐๐๐ เล่ม ที่หมั่นเพียรขโมยมาในช่วงระยะเวลา ๓๐ ปี โดย ไม่เคยถูกจับได้เลย แต่แล้วผลกรรมก็ตามสนอง เมื่อขโมยฝีมือฉกาจพลาดท่าถูกจับได้เมื่อเร็วๆ นี้ ขณะพยายามขายหนังสือที่ “จิ๊ก” ชาวบ้านมาให้รถขายหนังสือเลหลัง
เจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งตามไปตรวจค้นบ้านของนายเจวอนส์ ซึ่งเป็นบ้านไร่ในเมืองซัฟฟอล์ก ทางตะวันออกของอังกฤษเล่าว่า พบหนังสือมากมายกองสูงเป็นภูเขาลูกย่อมอยู่ในบ้าน หนังสือส่วนมากเป็นหนังสือเกี่ยวกับศาสนาและปรัชญา ซึ่งเขาขโมยมาจากห้องสมุดต่างๆ โบสถ์ และวิทยาลัยหลายแห่ง ด้วยเหตุผลที่ศาลได้รับการบอกเล่าจากผู้ใกล้ชิดจำเลยว่า เป็นเพราะนายเจวอนส์ต้องการสร้างความประทับใจแก่ผู้คนด้วยความเป็นคนมีความรู้มาก และเพราะความรู้มากไม่ยอมควักเงินซื้อหนังสืออ่าน นายเจวอนส์เลยถูกตัดสินจำคุก ๑๕ เดือนไปแล้ว เมื่อเร็วๆ นี้
ที่เมืองบีโล โฮริซอนเต้ ในประเทศบราซิล ขโมยคนหนึ่งแอบดอดเข้าไปในร้านขายของแห่งหนึ่งได้เรียบร้อยแล้ว ขณะที่เดินใจเย็นอยู่ในร้าน ชั่งใจว่าจะขโมยอะไรดี ก็บังเอิญเหลือบไปเห็นถังใส่กาวใบหนึ่ง ด้วยความอยากรู้อยากเห็น เขาจึงลองดมดู กลิ่นของกาวน้ำทำให้ขโมยดวงจู๋เป็นลมหมดสติอยู่ตรงนั้น
พอตอนเช้าเจ้าของร้านก็ลงมาพบแขกผู้ไม่ประสงค์ดีนอนสลบไร้สติกองอยู่กับพื้น เลยแจ้งตำรวจมาจับไปเข้าซังเตได้โดยละม่อม
(มติชนสุดสัปดาห์ ๑๗ มิ.ย. ๒๕๓๗)
เซ็นต์หลุยส์, สหรัฐ มือชักดาบถูกดาบที่ชัก ซัดเอาจนชักและเสียชีวิต นักดาบมือนี้คือ นายโรเบิร์ต ปูเอลโล ได้คว้าฮ็อทด็อคชิ้นเบ้อเริ่ม แล้วเดินลอยหน้าลอยตาออกจากร้านค้าโดยไม่จ่ายเงิน เมื่อพนักงานโทรเรียกตำรวจ เขาก็รีบยัดฮ็อทด็อคทั้งดุ้นเข้าคอไปอย่างรวดเร็ว แต่พอเดินพ้นร้านค้าไป เขาก็ล้มลงชักกระตุก หมดสติ ในที่สุดก็เสียชีวิต โดยมีฮ็อทด็อคชิ้นโปรดยาว ๖ นิ้ว ติดอยู่ในลำคอ
(น.ส.พ.สยามรัฐ ๑๔ ต.ค. ๒๕๓๗)
ขณะที่นายโตชิโร วาตานาเบ้ อายุ ๔๔ ปี พนักงานธนาคารแห่งหนึ่ง พร้อมเพื่อนพนักงานธนาคารอีก ๒ ราย กำลังขนเงินจำนวน ๑.๒ ล้านดอลลาร์ จากสำนักงานสถานีรถไฟในเมืองโอซาก้า เพื่อนำกลับไปยังธนาคารสาขาที่เขาทำงานอยู่ โดยใช้บันไดซึ่งทางสถานีอนุญาตให้ใช้เฉพาะพนักงานรถไฟ เป็นเส้นทางลำเลียงเงิน ก็มีกระทาชายนายชูจิ โอตากะ อายุ ๓๒ ปี เกิดอาการสติเฟื่องอยากเป็นพระเอก เรื่องโรบินฮู้ด ใช้ธนูเป็นอาวุธปล้นเงินที่พนักงานกำลังขนอยู่
ผลการปล้นตามสไตล์ย้อนยุคครั้งนี้ ปรากฏว่า นายวาตานาเบ้ได้รับบาดเจ็บที่อกเพียงเล็กน้อย เพราะพิษธนูยาว ๔๐ เซนติเมตร ซึ่งยิงมาจากระยะห่าง ๕ เมตร ส่วนนายโอตากะ โรบินฮู้ดผู้ตกงาน หลังจากยิงนายวาตานาเบ้แล้ว ก็ฉกกระเป๋าซึ่งมีเงินอยู่ภายในประมาณ ๓๖๐,๐๐๐ ดอลลาร์ วิ่งออกไปโดยเร็ว แต่เมื่อวิ่งออกไปได้เพียง ๑๐๐ เมตร ก็ล้มกลิ้งอย่างไม่เป็นท่า เพราะดันเซ่อซ่าวิ่งตกบันไดเสียเอง จึงถูกพนักงานสถานีรถไฟช่วยกันจับตัวไว้ได้
(น.ส.พ.สยามรัฐ ๒๖ ต.ค. ๒๕๓๗)
เมื่อวันที่ ๒๘ ก.ย. ๒๕๓๖ เวลา ๕.๒๐ น. ตำรวจกองปราบพบศพนายหวง เหวยจี้ อายุ ๒๔ ปี ใช้เสื้อวอร์มผ้าร่มสีขาว ผูกคอขึงกับซี่ลูกกรงห้องขัง จึงรายงานให้ผู้บังคับบัญชาทราบ
ผู้ตายและเพื่อนคือนายลี อาเพ้ง และนายซือ จังแพ อายุ ๓๗ ปี หลบหนีคดีคอร์รัปชั่นเงินของรัฐบาลจีนจำนวน ๑๐ ล้านหยวน (ประมาณ ๔๐ ล้านบาท) มากบดานอยู่ที่ห้อง ๙๑๓ ไฮคลาสแมนชั่น ซอยอาลาดิน เขตจตุจักร และถูกตำรวจกองปราบจับกุมเมื่อวันที่ ๒๐ ก.ย. ๒๕๓๖ ในข้อหาหลบหนีเข้าเมือง ผู้ตายเกรงว่าจะถูกประหารชีวิตหากถูกส่งตัวไปดำเนินคดีที่ประเทศจีน เพราะที่มณฑลไหหนาน มีการประหารชีวิตนักโทษคดีฉ้อโกงเงินรัฐบาลไปแล้ว เมื่อเพื่อนหลับสนิทจึงฉวยโอกาสผูกคอตาย
ต่อมาเวลา ๙.๓๐ น. นายลี อาเพ้ง เกิดอาการคลุ้มคลั่ง พยายามใช้ลวดแขวนเสื้อรัดกับลูกกรงเพื่อผูกคอตายหนีคดี ส่วนนายซือ จังแพ ใช้ศีรษะโขกกับพื้นห้องควบคุม เจ้าหน้าที่ต้องเข้าไประงับเหตุ
(น.ส.พ.ไทยรัฐ ๒๙ ก.ย. ๒๕๓๖)
เนื่องจากมีการชิงทรัพย์และปล้นทรัพย์บนรถเมล์เกิดขึ้นบ่อยครั้งในเขต บก.น.เหนือ ผบช.น. จึงสั่งให้ตำรวจออกสืบตามโรงรับจำนำต่างๆ ซึ่งเป็นแหล่งที่คาดว่าคนร้ายจะนำทรัพย์สินไปจำนำ พบว่ามีผู้ต้องสงสัยรายหนึ่ง คือ นาย ฮ. อายุ ๓๓ ปี บ้านอยู่ที่หมู่บ้านทรัพย์เจริญ นำทรัพย์สินจำนวนมากมาจำนำบ่อยครั้งโดยไม่มีการไถ่ถอน
จากการสืบสวนทราบว่า นาย ฮ. ซึ่งติดการพนัน มักจะมาเล่นการพนันที่สนามมวยราชดำเนินเป็นประจำ ตำรวจจึงนำกำลังไปเฝ้าสังเกต จนกระทั่งค่ำวันที่ ๒๘ มิ.ย. ๒๕๓๗ ก็พบนาย ฮ. มาเล่นการพนันที่สนามมวย โดยทำตัวเหมือนเซียนพนันรายใหญ่ ทั้งที่ไม่มีงานทำเป็นหลักแหล่ง ตำรวจจึงเชิญตัวมาสอบสวนที่โรงพัก
ผลการตรวจลายนิ้วมือนาย ฮ. พบว่า ตรงกับรอยนิ้วมือของคนร้ายที่เคยก่อคดีลักทรัพย์ในท้องที่สน.พญาไทหลายครั้ง เมื่อถูกสอบสวน นาย ฮ. ให้การรับสารภาพว่า ตนเป็นคนร้ายที่เคยก่อคดีลักทรัพย์ทั่วกรุงเทพฯ โดยจะลักทรัพย์เฉพาะตามตึกแถวที่มีประตูเหล็กยืด ด้วยการใช้กุญแจผีเปิดประตูเข้าไปในบ้าน แล้วลักเฉพาะเครื่องเพชร ทองคำและเงินสดเท่านั้น ทรัพย์สินที่ได้มาจะนำไปเล่นการพนันจนหมด รวมทรัพย์ที่โจรกรรมมาตั้งแต่ พ.ศ. ๒๕๓๕ จำนวน ๗๔ ครั้ง คิดเป็นเงินประมาณ ๒๐ กว่าล้านบาท
(น.ส.พ.ไทยรัฐ ๓๐ มิ.ย. ๒๕๓๗)
ประเด็นที่ควรกล่าวถึงมีดังนี้
๑. การทำทุจริตเป็นสิ่งที่น่าละอาย เป็นการลดค่าตัวเอง จากคนดีมาเป็นคนชั่ว ทำให้จิตใจต่ำทรามลงทันที ทำให้จิตใจไม่เป็นสุขเพราะวิตกกังวลว่าความลับจะรั่วไหล ทรัพย์ที่ได้มาโดยทุจริตก็ต้องซุกซ่อนไว้ เมื่อจะใช้จ่ายก็กลัวคนรู้เห็นหรือสงสัย มีทรัพย์ก็เหมือนไม่มี ชีวิตที่อยู่ในสภาวะเช่นนี้จะมีความสุขได้อย่างไร
๒. บ้านเรือนที่สร้างไว้ไม่ดี ย่อมไม่ทนทาน พังทลายได้ง่าย ฉันใด ทรัพย์สินที่ได้มาโดยทุจริตก็ไม่ยั่งยืน มักมีเหตุให้ฉิบหายได้ง่าย ฉันนั้น นาย ฮ.ลักทรัพย์มาได้ถึง ๒๐ กว่าล้านบาท แต่ในที่สุดก็ไม่มีเหลือเลย ทั้งยังต้องถูกลงโทษตามกฎหมาย
๓. ถ้าการหาเลี้ยงชีพด้วยการปล้น ขโมย ยักยอก หลอกลวง จะทำให้มีความเป็นอยู่สุขสบายไม่ลำบาก พระพุทธเจ้าจะทรงสอนให้หาเลี้ยงชีพโดยชอบให้เหนื่อยยากลำบากทำไม
๔. บั้นปลายที่วายร้ายกลัวที่สุดคือถูกประหารชีวิต การประหารชีวิตนักโทษมีขั้นตอนโดยย่อดังนี้
๔.๑ เบิกตัวนักโทษมาพิมพ์ลายนิ้วมือ เทียบกับตอนที่ถูกจับใหม่ๆ เพื่อไม่ให้ผิดตัว
๔.๒ อ่านคำสั่งประหารชีวิตแล้วให้นักโทษเซ็นรับทราบคำสั่ง
๔.๓ เขียนจดหมายลาตายถึงญาติและทำพินัยกรรม
๔.๔ ฟังพระเทศน์
๔.๕ กินอาหารมื้อสุดท้าย ซึ่งเรือนจำพยายามจัดอาหารที่ชอบมาให้ แต่นักโทษมักจะกินไม่ลง
๔.๖ ทำพิธีขอขมาและขออโหสิกรรมแก่เจ้าหน้าที่และพัศดี
๔.๗ นำนักโทษเข้าหลักประหาร เอาผ้าปิดตา มัดตัวกับหลักด้วยด้ายดิบในลักษณะพนมมือกำดอกไม้ธูปเทียน
๔.๘ กั้นด้วยฉากสีดำที่ติดเป้าสำหรับยิงไว้ตรงกลาง
๔.๙ แพทย์เข้าไปตรวจที่ตั้งของหัวใจเพื่อกำหนดจุดยิงให้ชัดเจน
๔.๑๐ เพชฌฆาตเข้าประจำแท่นยิงที่ติดตั้งด้วยปืนกล ขนาดกระสุน ๙ มม. ชุดละ ๑๐ นัด เตรียมไว้ ๒ ชุด
เมื่อทุกอย่างพร้อม ธงแดงจะถูกยกขึ้น เพชฌฆาตลั่นไกปืนปล่อยกระสุนชุดแรก ทะลุกลางเป้าของฉาก ไม่มีกำหนดว่ากี่นัด กำหนดเพียงว่า จนตาย เมื่อคณะกรรมการประหารพิสูจน์ว่านักโทษตายจริงก็จะลงชื่อในบันทึก และพิมพ์ลายนิ้วมือศพไว้เป็นหลักฐาน
(น.ส.พ.ไทยรัฐ ๘ พ.ค. ๒๕๔๒)

เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๔๒ ที่เรือนจำกลางบางขวาง มีการประหารชีวิตนักโทษถึง ๒ ราย เมื่อวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๒ มีการประหารชีวิตนักโทษ ๑ ราย นับเป็นรายที่ ๘ ของปี
๕. บุคคลเหล่านี้ล้วนประสบกับบั้นปลายอันเลวร้ายในชาตินี้ ส่วนชาติหน้าก็มีหวังไปอบายภูมิ ดังนั้น ขึ้นชื่อว่าความชั่วแล้ว ไม่ทำเสียเลยดีกว่า หากคนเหล่านี้รู้ว่าจะได้รับผลตอบแทนทันตาเห็น เป็นความทุกข์ยากลำบากแสนสาหัสถึงเพียงนี้ คงไม่กล้าทำบาปเป็นแน่

* * * * * *

คติธรรมคำกลอน

จะซ่อนกาย ภายในถ้ำ หรือดำดิน จะบินหนี ไปกลางสมุทร หรือสุดหล้า
จะใช้ฤทธิ์ ใช้เสน่ห์ เล่ห์นานา ท่านกล่าวว่า ไม่อาจพ้น ผลของกรรม

เร่งละชั่ว ทำตัวดี เถิดพี่น้อง เรื่องหมองเศร้า เราเคยผิด คิดแก้ไข
กาลเวลา หาได้ง้อ รอผู้ใด ก่อนสิ้นใจ จึงนึกได้ นั้นสายเกิน

มียศศักดิ์ อัครฐาน ปานบดินทร์ มีที่ดิน แลสินทรัพย์ นับไม่ไหว
มีอำนาจ วาสนา ยิ่งกว่าใคร รวยแค่ไหน ใหญ่เหลือล้น ไม่พ้นตาย

บุญบาป นรกสวรรค์ นั้นมีจริง หาใช่สิ่ง ลวงหลง อย่าสงสัย
ความเห็นชอบ ระบอบนี้ มีที่ใด ที่นั้นไซร้ สุขสันต์ สวรรค์บนดิน

(ธมฺมวฑฺโฒ ภิกฺขุ)




นานาทัศนะจากผู้อ่าน

“อ่าน (“กรรมลิขิต”) แล้วทำให้ไม่กล้าทำบาป”
ความรู้สึกที่เกิดขึ้นกับผู้พิมพ์ต้นฉบับ “กรรมลิขิต”
ซึ่งจัดพิมพ์เป็นอนุสรณ์ในงานพระราชทานเพลิงศพ
ร้อยตรี ปณิธาน เลิศฤทธิ์ อดีตเลขาธิการรัฐสภา

“สามเณรอ่านเอกสาร (เรื่องย่อของ “กรรมลิขิต”) ที่แนบมาในหนังสือธรรมจักษุ เกิดชอบ อยากอ่านเล่มจริง จึงเขียน จ.ม. มาขอ (ลงท้ายด้วยชื่อและอายุ)”
ลิขิตที่ชื่อๆ แต่ฉายแววแห่งปัญญา
ของสามเณรบ้านนอก อายุ ๑๓ ปี

“นิสิตอ่านแล้วสนุก ได้รับความเพลิดเพลินและความรู้ในหลักธรรมมากขึ้น ที่สำคัญคือ ทำให้นิสิตจำนวนมากตระหนักในบาปบุญคุณโทษ มีกำลังใจในการทำดี และมีนิสิตหลายคนกล่าวว่า ต่อไปจะไม่ทำบาป นิสิตรุ่นต่อไปหรือนิสิตนักศึกษาในสถาบันต่างๆ ควรได้อ่านหนังสือนี้ด้วย”
ผศ. วารินทร์ มาศกุล คณะครุศาสตร์ จุฬาฯ
สรุปจากรายงานของนิสิตที่อ่าน “กรรมลิขิต”
ประมาณ ๕๐๐ คน ใน ๔ ภาคการศึกษา

“สนุก อ่านจบในวันเดียว เพลินจนวางแทบไม่ลง อ่านแล้วประทับใจในมาก อยากให้คนอื่นได้อ่านบ้าง”
สมนึก อัศวินอุฬารกุล

* * * * * * *

ท่านที่ประสงค์จะร่วมบริจาคเพื่อนำหนังสือนี้ไปแจกเป็นธรรมบรรณาการในโอกาสต่าง ๆ เช่น ปีใหม่ งานศพ วันเกิด ขึ้นบ้านใหม่ แต่งงาน ถวายวัด ใส่บาตรถวายพระภิกษุสามเณร มอบให้โรงเรียนหรือห้องสมุดต่าง ๆ ฯลฯ
เชิญติดต่อที่ สำนักแม่ชีวัดโสมนัสวิหาร
53 ซอยโสมนัส 2 ถ.กรุงเกษม
กทม. 10100 (ป.ณ.หลานหลวง)
โทร.281-3024

.....................................................
คำพูดเพียงน้อยนิดอาจเปลี่ยนชีวิตของคนได้


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร