วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 00:15  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 58 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ธ.ค. 2008, 08:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๓. การคิดอยู่ในปัจจุบันเป็นธรรม

ปรกติคนเรานั้นมีการเดินทางไปที่นั่นที่นี่ นานวันบ้างเร็ววันบ้าง บางทีก็แยกย้ายครอบครัวจากกันไปอยู่คนละที่ละทาง ใกล้บ้างไกลบ้าง ทำให้ผู้ที่เคยอยู่ร่วมกันอย่างใกล้ชิดต้องห่างกันไป ต้องนึกถึงกัน ต้องเป็นห่วงกัน ซึ่งบางทีก็ทำให้ถึงต้องเป็นทุกข์ถึงกัน แต่อย่างไรก็ตามความทุกข์ที่เกิดเพราะการพลัดพรากจากไกลเช่นนี้ก็ไม่เสมอความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากตาย

ดังนั้นจึงน่าจะทำความทุกข์เพราะความพลัดพรากจากตายให้กลายเป็นความทุกข์เพราะการพลัดพรากจากไกล เพราะจะทำให้ทุกข์หนักกลายเป็นทุกข์น้อย ซึ่งเป็นจุดปรารถนาของผู้มีความทุกข์ทุกคน และเป็นจุดมุ่งหมายของการบริหารทางจิต

วิธีทำที่จะให้เกิดผลสำเร็จก็ขึ้นอยู่กับความคิดอีกเช่นกัน เพราะดังเคยกล่าวแล้ว ความคิดเป็นเหตุแห่งความทุกข์และความสุขของคนทั้งหลาย ความทุกข์และความสุขมิได้เกิดจากเหตุอื่น คิดให้เป็นอย่างไรก็จะเป็นอย่างนั้น คิดให้เป็นทุกข์ก็จะเป็นทุกข์ คิดให้เป็นสุขก็จะเป็นสุข

การจะทำให้ความทุกข์เพราะการพลัดพรากจากตายกลายเป็นความทุกข์เพราะการพลัดพรากจากไกลก็อยู่ที่ความคิดเช่นกัน นั่นก็คือเมื่อมีการพลัดพรากจากตายก็ให้คิดเสียว่าเป็นการพลัดพรากจากไกล ซึ่งต้องเกิดขึ้นอยู่เสมอเป็นธรรมดา

ความจริงก็เป็นเช่นนั้น การตายคือการเปลี่ยนที่อยู่ของผู้ตายตามความจำเป็นตามวาระเช่นเดียวกับคนทั้งหลาย เช่นเมื่อจำเป็นหรือถึงวาระที่จะต้องจากบ้านเรือน จากมารบิดาญาติสนิทมิตรสหายไปศึกษาในต่างประเทศ ก็ต้องไป มารดาบิดาและญาติสนิทมิตรสหายก็ต้องพบกับความพลัดพรากจากไกลนั้นตามความจำเป็นและตามวาระการเคยพบเห็นกันก็ต้องขาดระยะไป

ผู้มาบริหารจิตปรารถนาจะทำจิตให้พ้นจากความทุกข์ร้อนเศร้าหมองต้องถือเอาประโยชน์จากความจริงนี้ให้ได้จึงจะสมควร คือต้องถือเอาว่าผู้ตายคือผู้เปลี่ยนที่อยู่ คือผู้มีธุรกิจจำเป็นต้องย้ายนิวาสถานไปอยู่ที่อื่น ต้องพยายามตั้งสติคิดเช่นนี้ให้ได้

คือให้ได้ผลจริงจังแก่จิตใจ ความรู้สึกที่ว่ามีผู้ตายจากจะต้องเป็นเพียงความรู้สึกว่ามีผู้ย้ายที่จากไปตามความจำเป็นเท่านั้น เมื่อคิดเช่นนี้จะต้องมีสติไม่คิดให้เลยไปถึงอนาคต เช่นต้องไม่คิดว่าผู้ย้ายจากไปแล้วก็ยังจะได้กลับมาพบเห็นอยู่ร่วมกันต่อไป แต่ผู้ตายจากจะไม่มีโอกาสได้กลับมาพบเห็นกันอีกเลย ต้องมีสติควบคุมความคิดให้อยู่แต่กับปัจจุบันเท่านั้น

ที่จริง การไม่คิดคาดไปถึงอนาคตเป็นการถูกต้อง เป็นการคิดอย่างเป็นธัมมะที่แท้จริง การคิดถึงอดีตก็ตามอนาคตก็ตามมิใช่เป็นการคิดที่เป็นธัมมะ การคิดในปัจจุบันเท่านั้นที่เป็นธัมมะ อันความคิดถึงอดีตไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นแล้ว แก้ไขไม่ได้แล้ว

หากจะคิดถึงอดีต ต้องคิดเพียงเพื่อให้เป็นครู สำหรับปิดกั้นการทำในปัจจุบัน มิให้พลั้งพลาดผิดไปเช่นในอดีต หรือเพื่อให้เป็นครูสำหรับแนะนำให้ทำการในปัจจุบันอย่างถูกต้องงดงามเช่นที่เคยทำมาแล้วในอดีตเท่านั้น คิดถึงอดีตเพื่อเศร้าโศกเพื่อฟุ้งซ่านแล้วผิดธัมมะ มิใช่เป็นธัมมะ อันการคิดถึงอนาคตก็เช่นกันไม่ก่อให้เกิดประโยชน์อันใด เป็นการคิดอย่างเลื่อนลอย ฟุ้ง และอาจไม่เกิดขึ้นเป็นจริงเป็นจังได้เลย

ผู้ที่พลัดพรากจากไกลในปัจจุบันกับผู้จากตาย ก็น่าจะมีอนาคตเช่นเดียวกันได้ คืออาจจะไม่มีโอกาสกลับมาพบปะกันอีกเลยก็ได้ ไม่มีอะไรเที่ยง เมื่อไม่มีอะไรเที่ยง เช่นนี้ผู้พลัดพรากจากไกลกับผู้พลัดพรากจากตายจึงไม่น่าจะต่างกันเลย ไม่น่าจะทำให้เกิดความทุกข์โศกต่างกันเลย

ข้อสำคัญควบคุมความคิดให้ดี ทำให้คิดให้ได้ว่าผู้จากตายคือผู้จากไกลไปมีนิวาสถานใหม่ตามความจำเป็นเท่านั้น แล้วจะสามารถมีความสบายใจได้พอสมควร แม้จะต้องประสบกับความพลัดพรากจากตายแม้ของผู้เป็นที่รักเพียงใด

ควรถามตนเองว่า พอใจจะเป็นทุกข์เพราะความเศร้าโศกเสียใจในการพลัดพรากจากตายของผู้เป็นที่รักหรือ ถ้าพอใจจะช่วยตนเองให้คลายทุกข์ก็น่าจะปฎิบัติตามที่เสนอแนะเกี่ยวกับการใช้ความคิดดังกล่าวมาเป็นลำดับแล้ว

๑๓ มกราคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ธ.ค. 2008, 08:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๔. ควบคุมความคิดได้จะเป็นสุขได้

คนบางคนมีชีวิตอยู่อย่างลำบาก เมื่อถึงเวลาต้องจากโลกนี้ไป ผู้อยู่หลังก็เศร้าโศกสงสาร คิดรำพันไปว่าเขาเป็นผู้ที่น่าสงสารมาก เพราะมีชีวิตอยู่ลำบากแล้วยังมาตาย อะไรทำนองนี้ นับว่าเป็นการใช้ความคิดผิดอย่างยิ่ง ให้โทษแก่จิตใจผู้คิดอย่างยิ่ง

ที่จริงเมื่อผู้มีชีวิตทุกข์ยากต้องมาเสียชีวิตไปควรที่ผู้อยู่หลัง จะมีสติคิดให้ถูกให้ชอบให้ไม่เป็นทุกข์เป็นโทษแก่จิตใจตนเอง คือควรจะคิดว่าเขาผู้นั้นมีชีวิตอยู่อย่างลำบากเพราะอำนาจแห่งกรรมของเขาเองที่ต้องเป็นกรรมไม่ดีแน่ เพราะกรรมไม่ดีเท่านั้นที่จะให้ผลไม่ดี กรรมดีจะให้ผลไม่ดีไม่มีเลย เมื่อเขามาละโลกนี้ไป เขาอาจะไปเสวยผลของกรรมดี คือไปมีความสุขกว่าอยู่ในโลกนี้ ควรที่ผู้อยู่หลังจะยินดี เบาใจ ไม่ควรจะเศร้าเสียใจซึ่งเท่ากับยินดีจะเห็นเขามีความทุกข์ต่อไปในโลกนี้

อันความคิดนั้นแม้สามารถควบคุมไว้ได้ ให้เป็นเหตุแห่งความสุข ไม่ให้เป็นเหตุแห่งความทุกข์ จึงจะเป็นการถูกต้อง คิดอย่างไรก็ตาม ให้จิตใจพ้นจากความทุกข์นับว่าถูกต้อง ในทางตรงกันข้าม คิดอย่างไรก็ตาม ที่ทำให้จิตใจเป็นทุกข์ นับว่าไม่ถูกต้องเลย ไม่ควรปล่อยให้ความคิดเช่นนั้นดำรงอยู่ได้เลย ต้องกำจัดเสียให้ได้โดยเร็วที่สุด

อย่างไรก็ตามจำเป็นต้องกล่าวว่า แม้ต้องประสบกับ การพลัดพรากจากเป็น ไม่ใช่จากตาย ก็อย่าคิดว่า พลัดพรากจากตาย เสียดีกว่า ให้ทุกข์น้อยกว่า แล้วก็พยายามทำการพลัดพรากจากเป็นให้กลายเป็นการพลัดพรากจากตายไปเสีย ดังที่มีปรากฏเป็นข่าวอยู่เสมอ การทำเช่นนั้นผิด ต้องไม่คิดทำเป็นอันขาด เมื่อต้องประสบการพลัดพรากจากตาย มีวิธีคิดเพื่อช่วยจิตใจให้คลายทุกข์ดังกล่าวแล้ว เมื่อต้องประสบการพลัดพรากจากเป็น ก็มีวิธีคิดเหมือนกัน แต่ต้องไม่ใช่คิดให้กลายเป็นการพลัดพรากจากตายไปเสียเป็นอันขาด

การพลัดพรากจากเป็น กล่าวอีกอย่างหนึ่งก็คือการต้องสูญเสียผู้เป็นที่รักที่ชอบใจไปทั้ง ๆ ที่มิได้ล้มหายตายจาก เป็นการต้องจากไปทั้งยังมีชีวิตอยู่ทุกฝ่าย เช่นเกิดจากการเปลี่ยนใจในเรื่องความรักชอบของฝ่ายหนึ่ง ในกรณีนี้มักก่อให้เกิดความ ทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจหรือความแค้นเคืองให้แก่อีกฝ่ายหนึ่งได้เป็นอันมาก

สำหรับผู้ไม่เห็นประโยชน์ของการบริหารจิตก็ย่อมยินดีปล่อยใจให้ตกอยู่ใต้อารมณ์แห่งความทุกข์ความเศร้าโศกหรือความโกรธแค้นดังกล่าว ทั้งยังใช้ความคิดไปในทางที่จะเพิ่มความรู้สึกหรืออารมณ์เหล่านั้นให้รุนแรงยิ่งขึ้น โดยรู้สึกว่าเป็นสิ่งสมควร ที่จริงน่าจะเป็นที่รู้สึกกันดีว่า ความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจและความโกรธแค้นนั้นไม่ให้ส่วนที่ดีอย่างใดแก่จิตใจเลย ไม่เป็นสิ่งอันพึงปรารถนาเลย ไม่น่าจะสงวนรักษาหรือเพิ่มพูนความรู้สึกเช่นนั้นให้ยิ่งขึ้นเลย น่าแต่จะควรหาทางทำให้ลดน้อยจนถึงหมดสิ้นไปเท่านั้นและการจะทำให้สำเร็จผลดังกล่าวได้ก็มิใช่ว่าจะขึ้นอยู่กับผู้อื่น แต่ต้องขึ้นอยู่กับเจ้าตัวเองเป็นสำคัญ

ถ้าเจ้าตัวใช้สติพิจารณาให้เห็นว่าตนไม่ปรารถนาจะทนทุกข์ทรมาน เพราะความรู้สึกดังกล่าว ปรารถนาจะพ้นจากความรู้สึกนั้นจริงๆ ก็ย่อมจะสามารถช่วยตนเองได้ ใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน ทุกสิ่งสำเร็จด้วยใจ ความจริงคือสัจธรรมมีอยู่เช่นนี้ ฉะนั้นจงพิจารณาให้เห็นความจริงประการแรกว่า เรานี้ต้องการจะเป็นสุขหรือเป็นทุกข์ ถ้าต้องการเป็นทุกข์ก็ปล่อยใจให้อยู่ใต้อำนาจของความคิดที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์เถิด แต่ถ้าต้องการเป็นสุขก็ให้ระงับความคิดทั้งหลายอันเป็นเหตุแห่งความทุกข์เสีย ความทุกข์มิได้เกิดจากการต้องพลัดพรากจากกัน

ทั้งด้วยความเป็นหรือความตาย แต่ ความทุกข์เกิดจากความคิด เกิดจากใจ มีสติควบคุมความคิดให้ได้ อย่าให้ฟุ้งไป อย่าให้ติดอยู่ในเรื่องที่เป็นทุกข์ แล้วก็จะเป็นสุขได้ด้วยกันทุกคน

๒๐ มกราคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ธ.ค. 2008, 14:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๕. การเพิ่มพูนปัญญาคือการลดความทุกข์

ความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากตายนั้นแม้จะมากเพียงใด แต่เมื่อเปรียบกับความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากเป็นแล้ว บางทีความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากตายก็เหมือนเล็กน้อยนัก ความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากเป็นนั้นเมื่อถึงขีดสุดก็มักจะก่อให้เกิดความเศร้าสะเทือนใจอย่างยิ่งอยู่เนืองๆ

ดังที่ปรากฏเป็นข่าวมิได้ว่างเว้นตลอดมา การกระทำอัตวินิบาตกรรมก็ตาม การฆาตกรรมก็ตามเกิดขึ้นเพราะความทุกข์ที่เกิดจากการพลัดพรากจากเป็นอยู่เป็นอันมาก โทษของการปล่อยใจให้อยู่ใต้อำนาจความทุกข์นี้จึงมหันต์นัก น่าจะได้พากันระมัดระวังอย่างยิ่ง

การพลัดพรากจากเป็นที่เป็นเหตุแห่งความทุกข์หนักนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า คือ การพลัดพรากที่เกิดจากการเปลี่ยนใจในเรื่องรักชอบของฝ่ายหนึ่ง ในขณะที่อีกฝ่ายหนึ่งไม่ปรารถนาให้เป็นเช่นนั้น อัตวินิบาตกรรมและฆาตกรรมเกิดขึ้นนักต่อนักเพราะเหตุนี้

ในขณะเดียวกันผู้เสียสติเพราะเหตุนี้ก็มีเป็นจำนวนมาก จึงเห็นได้ชัดว่าอิทธิพลของความทุกข์ในเรื่องนี้รุนแรงนัก ควรที่ทุกคนผู้ยังเป็นปุถุชนคนสามัญจะพยายามยับยั้งอิทธิพลร้ายนี้ อย่างน้อยก็มิให้มีเหนือจิตใจตนเองอย่างรุนแรง และการจะทำได้สำเร็จพอสมควรก็จำเป็นต้องค่อยทำค่อยไป

คือแม้จะยังไม่ทันต้องประสบความพลัดพรากดังกล่าว ก็ให้ไม่ประมาท ให้มีสติระลึกถึงความจริง ๓ อย่าง ที่มีอยู่เป็นธรรมประจำโลก คือ อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และอนัตตา ความไม่ใช่ตัวตนของเรา คือไม่อยู่ใต้อำนาจความปรารถนาต้องการของเรา

ลักษณะสามนี้ ไม่มียกเว้นแก่ผู้ใดหรือสิ่งใด ทุกคน ทุกสิ่งต้องมี มิได้เป็นความผิดความไม่ดีของผู้ใด แต่เป็นเรื่องธรรมดาโลก อนิจจังความไม่เที่ยงมีอยู่ทุกเวลา ทุกขัง ความเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไปก็มีอยู่ทุกเวลา อนัตตา ความไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ใต้อำนาจความปรารถนาต้องการใดๆ ก็มีอยู่ทุกเวลา

นำลักษณะทั้งสามหรือไตรลักษณ์นี้มาเทียบเข้ากับทุกคนทุกสิ่งไว้ให้เสมอเพราะดังกล่าวแล้ว

ลักษณะทั้งสามมีอยู่ในทุกคนทุกสิ่งไม่มียกเว้น ถ้าพยายามทำสติระลึกถึงความจริงอันเป็นสัจธรรมยิ่งใหญ่นี้ไว้เสมอๆ เมื่อประสบความพลัดพรากจากตายหรือจากเป็นก็ตามใจ ก็จะมีปัญญา คือ ความรู้ทันความจริงว่า เป็นธรรมดาของโลกไม่ใช่ความผิดความร้ายของใคร ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ใดจะบังคับให้เป็นไปตามความปรารถนาต้องการได้

ความรักก็ตาม ความชังก็ตาม ความไม่รักไม่ชังก็ตาม ล้วนเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ใครฝืนไม่ได้ ใครบังคับไม่ได้ คนอื่นก็ฝืนไม่ได้บังคับไม่ได้ เจ้าตัวก็ฝืนไม่ได้บังคับไม่ได้

ดังนั้นจะไปโกรธแค้นอาฆาตใครก็ไม่ถูก จะเศร้าโศกเสียใจให้นักหนาก็ผิด ก็ไม่ฉลาด เมื่อรู้ว่าความจริงแท้มีอยู่อย่างหนึ่งจะไปหวังให้เป็นไปในทางตรงกันข้าม จะเรียกว่าฉลาดก็ไม่ได้ จึงต้องเรียกว่า ไม่ฉลาด ไม่มีปัญญา ไม่มีวิชชา คือ ความรู้ถูกตามเป็นจริง แต่มีอวิชชาความรู้ไม่ถูกครอบงำอยู่ ความทุกข์ความเดือดร้อนทั้งหลายเกิดขึ้นก็เพราะอวิชชานี้แหละ

ดังนั้นจะไปโทษใครอื่นว่าเป็นเหตุให้เกิดความทุกข์ความเดือดร้อนก็ผิดอีก ยิ่งจะไปแก้แค้นคนอื่นในฐานะเป็นเหตุก็จะยิ่งผิดหนักขึ้นไปอีก อวิชชาความรู้ไม่ถูกตามความจริง มีอยู่ในใจที่เป็นทุกข์ ที่เดือดร้อน แก้ที่ใจอันเป็นทุกข์เดือดร้อน ด้วยความเศร้าโศกเสียใจหรือโกรธแค้น อาฆาต พยาบาท

นี้แหละ แก้ด้วยการเพิ่มพูนปัญญาให้รู้ให้เห็นทุกสิ่งถูกต้องตามความจริงนั่นแหละ จะสามารถทำความทุกข์ให้ลดน้อยลงได้มากแม้ต้องประสบความพลัดพรากจากตายหรือจากเป็นก็ตามของผู้เป็นที่รักที่ชอบใจแม้มากเพียงไรก็ตาม

๒๗ มกราคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ธ.ค. 2008, 08:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๖. ในตนเองที่ต้องพิจารณา

ความรักความชอบใจนั้นก็มีความหมายแสดงชัดเจนอยู่ในตัวเองแล้วว่า เป็นเรื่องของใจโดยแท้ จึงให้ดูเข้ามาในใจตนเอง เกี่ยวกับความรู้สึกรักชอบในใจตนเองนี้แหละ ทุกคนหรือส่วนมากน่าจะมีความรู้สึกรักชอบในคนนั้นสิ่งนั้นอยู่มากมายหลายคนหลายอย่างด้วยกัน

ทั้งในปัจจุบันและทั้งในอดีต ให้เลือกจับขึ้นมาพิจารณาเพียงหนึ่ง คือให้เลือกพิจารณาดูความรักชอบของตนเอง ในคนใดคนหนึ่งหรือในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง เพียงคนเดียวหรือสิ่งเดียวเท่านั้น

นึกย้อนไปดูจิตใจของตนเองในอดีต เริ่มแต่มีความรักชอบเกิดขึ้น พยายามทบทวนความจำให้ชัดเจนที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ จะนึกได้ว่าความรักเมื่อแรกเกิดจริงๆ กับความรักในระยะเวลาต่อมา หาได้เหมือนกันไม่ มีเปลี่ยนแปลงไปเป็นลำดับ เวลาหนึ่งอาจจะมากขึ้น เวลาต่อมาอาจจะลดน้อยลง ต่อมาอีกอาจจะกลับมากขึ้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะมากอยู่ในระดับเดียวกับที่เคยมากมาแล้ว

สังเกตดูจริงๆ จะต้องเห็นความเปลี่ยนแปลงอย่างแน่นอน เปลี่ยนเป็นมากหรือน้อยก็ตามก็เป็นการเปลี่ยนแปลงอยู่เสมอจริงๆ จะฝืนใจตนเองอย่างไรที่จะไม่ให้ความรู้สึกในใจเปลี่ยนแปลงไป ให้อยู่ในสภาพเดียวกันตลอดเวลา นั้นเป็นไปไม่ได้ นี้คือความไม่เที่ยง นี้คือความเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป นี้คือ อนัตตา ไม่ใช่ตัวตนไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการ

ที่ว่าไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการนี้ ก็เป็นความจริงที่แม้พิจารณาให้ดีก็ย่อมประจักษ์ชัด บางทีรู้สึกว่าคนนั้นไม่ควร พยายามจะไม่รัก พยายามฝืนใจตนเองที่ตัวรู้สึกว่ามีความรักในคนผู้ไม่ควรรักเสียแล้ว ก็หาอาจทำให้เป็นไปตามความปรารถนาต้องการได้ไม่ บางทีรู้สึกว่าตนเป็นทุกข์เพราะความรัก รู้สึกว่าไม่รักจะไม่ทุกข์ พยายามจะไม่รักก็ใช่ว่าจะเป็นไปตามความปรารถนาต้องการของเราไม่ ย่อมเป็นไปเองตามที่เป็นอนัตตาคือไม่ใช่ตัวตน ไม่อยู่ในอำนาจความปรารถนาต้องการใดๆ ทั้งสิ้นนี้คืออนัตตา

ทั้งอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในเรื่องความรักชอบของทุกคนก็เหมือนกันทั้งนั้น ไม่มียกเว้นในปุถุชนคนใด จึงเมื่ออนิจจัง ทุกขัง อนัตตา นี้ปรากฏเด่นชัดให้เห็นเมื่อใดกล่าวอีกอย่างก็คือเมื่อต้องประสบความพลัดพรากจากเป็นเมื่อใด ก็ให้ยอมรับว่ามันเป็นเรื่องของไตรลักษณ์ที่ต้องมีเป็นธรรมดา ตัวเราเองยังเป็นได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในใจเราก็เห็นอยู่ เราก็ห้ามไม่ได้ฝืนไม่ได้ แล้วเราจะไปโทษคนอื่นเมื่อคนอื่นเป็นเช่นนั้นก็ไม่ถูก

คิดเช่นนี้ให้เห็นจริง แล้วความโกรธแค้นหรือความน้อยใจเสียใจจะไม่เกิด ความทุกข์จะเบาบางลง โทษที่จะเกิดตามมาดังได้กล่าวแล้วว่า เป็นการแก้แค้นเขาบ้าง เป็นการทำลายตัวเองบ้าง หรือเป็นการเสียสติเลยบ้าง ก็จะไม่มี จะมีก็อาจจะเป็นเพียงความเสียใจเพียงพอประมาณ ตามวิสัยของปุถุชนที่ยังไม่อาจตัดขาดจากความทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิง

วันที่ ๗ กุมภาพันธ์ ที่กำลังจะมาถึงในอีกไม่กี่วันข้างหน้านี้ เป็นวันบูชาสำคัญวันหนึ่งในพระพุทธศาสนา คือวันมาฆบูชา พระจันทร์เสวยมาฆฤกษ์ในวันนั้น เป็นวันที่พระอรหันต์ ๑,๒๕๐ รูป ล้วนเป็นเอหิภิกขุ ได้ไปประชุมกันเฝ้าพระพุทธเจ้าโดยมิได้มีการนัดหมาย และเป็นวันที่พระพุทธองค์ทรงแสดงพระโอวาทปาฏิโมกข์ในที่ประชุมพระอริยสงฆ์นั้นเป็นการทรงกำหนดหลักหัวใจพระพุทธศาสนาไว้ ๓ ประการคือ

๑. การไม่ทำบาปทั้งปวง
๒. การทำกุศลให้ถึงพร้อม
๓. การชำระจิตให้ผ่องใส


เพื่อบูชาพระพุทธองค์ในวันนั้น ควรที่พุทธศาสนิกชนทั้งหลายจะได้พร้อมเพรียงกันบริหารจิตตามหลักหัวใจของพระพุทธศาสนาดังกล่าวมา เรียกว่าเป็นการถวายปฏิบัติบูชา นอกเหนือจากการถวายดอกไม้ธูปเทียนอันเป็นอามิสบูชา

๓ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗

(มีต่อ)

ส่งท้ายปีเก่านี้ ขออวยพรให้ทุกท่านประสพแต่ความสุข ความเจริญในหน้าที่การงานถ้วนหน้ากันเทอญ

:b8: :b12:

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ม.ค. 2009, 09:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๗. ไตรลักษณ์ ลักษณะสามที่มีคุณ

สำหรับผู้หมั่นพิจารณาลักษณะสาม อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา อยู่เสมอ การพลัดพรากจากตายหรือจากเป็นย่อมจะไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ความเศร้าโศกเสียใจหรือความอาฆาตพยาบาทรุนแรง เพราะการพิจารณาดังกล่าวเป็นการทำให้เกิดปัญญาและปัญญานั่นเองที่จะพาให้พ้นทุกข์ ตั้งแต่ทุกข์เล็กทุกข์น้อยจนถึงทุกข์หนัก ตั้งแต่พ้นได้เพียงชั่วครั้งชั่วคราวจนถึงพ้นอย่างสิ้นเชิง

อันที่จริง การพิจารณาลักษณะสามดังกล่าวมา ไม่เพียงแต่จะแก้ทุกข์เพราะการพลัดพรากเท่านั้น แต่สามารถแก้ทุกข์ทั้งหลายได้สิ้น การพิจารณาไตรลักษณ์นี้ จึงเป็นสิ่งที่บรรดาผู้มาบริหารจิตควรปฏิบัติเป็นอย่างยิ่ง พิจารณามากเพียงใดก็จะสามารถช่วยใจตัวเองให้ห่างไกลจากความทุกข์ทั้งหลายได้มากเพียงนั้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับผู้ประสบความพลัดพรากอยู่แล้ว ความทุกข์เพราะความพลัดพรากเกิดขึ้นแล้ว สติเป็นสิ่งจำเป็นขณะนั้น ก่อนอื่นต้องมีสติ คือต้องพยายามนึกให้ได้ถึงไตรลักษณ์ว่าเป็นสิ่งมีอยู่จริง ไม่มีผู้ใดสิ่งใดพ้นไปได้ ความไม่เที่ยงความเป็นทุกข์ทนอยู่ไม่ได้ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลงไป และความไม่เป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการของผู้ใดทั้งสิ้น

ทั้งสามประการนี้มีอยู่จริง ไม่มีผู้ใดหนีพ้นได้จริง แม้พยายามนึกอยู่เพียงเท่านี้ในขณะที่กำลังเป็นทุกข์ ไม่ต้องนึกอะไรให้มากกว่านี้ ความทุกข์ก็จะคลายได้ สำคัญดังกล่าวแล้วต้องมีสติ ต้องนึกให้ได้ถ้านึกได้เท่านั้น ก็ได้ผลพอสมควรแล้ว แต่ผลกับเหตุนั้นเป็นสิ่งเนื่องกันอยู่เสมอ

ผลกับเหตุจะไม่เกี่ยวเนื่องกันไม่มีเลย ทำเหตุเช่นใดจะได้ผลเช่นนั้น ทำเหตุน้อยผลก็ได้น้อย ทำเหตุมากจึงจะได้มาก ทำเหตุดีผลจึงจะดี ทำเหตุแห่งความสุขจึงจะได้รับผลเป็นความสุข การพิจารณาไตรลักษณ์เป็นเหตุแห่งความสุข แต่พิจารณาน้อยก็เป็นความสุขน้อย

ต้องพิจารณาให้มาก พิจารณาให้เสมอจึงจะเป็นสุขมาก เป็นสุขเสมอ ไม่ว่าจะประสบกับความพลัดพรากจากเป็นหรือจากตาย ของผู้เป็นที่รักที่ชอบใจเพียงใดก็ตาม เมื่อไรก็ตาม

ขอแนะนำผู้บริหารจิตทั้งหลายว่า อย่างน้อยก็ควรรู้จัก ควรจำไว้ว่าลักษณะสามหรือไตรลักษณ์มีอะไรบ้าง มีความหมายที่ถูกต้องอย่างไร จำไว้ให้ขึ้นใจให้รู้จักให้ดี เพียงเท่านี้ก็เป็นประโยชน์บ้างเล็กน้อยแล้ว ดีกว่าไม่รู้จักเสียเลย ต่อจากนั้นถ้าจะให้เป็นประโยชน์ให้ยิ่งขึ้นก็ต้องนึกทบทวนสักวันละเล็กละน้อย ไม่ใช่นึกอย่างที่กล่าวกันว่าแบบนกแก้วนกขุนทอง ต้องนึกอย่างเข้าใจความหมายด้วยจึงจะใช้ได้ จึงจะมีประโยชน์

ได้แนะนำมาแล้วให้นึกถึงความรักชอบในใจตนเองว่าเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาอย่างไร มีหรือไม่ที่ทนทานอยู่อย่างไม่เปลี่ยนแปลงเลย พิจารณาแล้วจะเห็นด้วยตนเองว่าไม่มีเลยที่จะไม่เปลี่ยนแปลง ไม่มีเลยที่จะเป็นไปตามอำนาจความปรารถนาต้องการ ทั้งของตนหรือของผู้ใดก็ตามและได้แนะนำให้หยิบขึ้นพิจารณาเพียงหนึ่ง

จะเป็นคนหนึ่งหรือสิ่งหนึ่งก็ได้ที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นที่รักชอบอย่างยิ่ง ดูความเปลี่ยนแปลงของจิตใจตนเองเกี่ยวกับความรักชอบนั้น ก็จะได้เห็นชัดเจนเป็นลำดับมา ว่าได้เปลี่ยนแปลงมาเป็นลำดับจริงๆ

ทีนี้ขอแนะนำให้พิจารณาไปให้กว้างขวางที่สุด นึกถึงทุกคนทุกสิ่งที่เคยเป็นที่รักที่ชอบใจ มีหรือไม่ที่ผู้นั้นหรือสิ่งนั้น สักคนเดียวหรือสิ่งเดียวก็ยังดี ที่ยังคงเป็นที่รักที่ชอบใจอยู่เหมือนเดิม ลองพิจารณาไปเรื่อยๆ ดูหรือว่าจะมีแอบแฝงอยู่บ้างหรือไม่

ที่พระพุทธองค์ทรงสอนว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตานั้น มียกเว้นหรือ พิจารณาที่เกี่ยวกับตนเองนี้แหละ จนกว่าจะได้คำตอบที่ตนเองจะปฏิเสธหรือรับรองคำของพระพุทธองค์นี่แหละเป็นการบริหารจิตที่ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์พึงทำ ทั่วกัน

๑๐ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗


(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 ม.ค. 2009, 09:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๘. ผู้ขาดสติย่อมทำลายตัวเอง

ทุกคนต้องประสบความพลัดพรากจากเป็นและจากตายเป็นธรรมดา จึงควรพิจารณาไตรลักษณ์กันไว้เสมอ ให้เป็นพื้นของจิตใจ เป็นพื้นฐานสำคัญของวิธีแก้ทุกข์ทั้งปวง แล้วจะใช้วิธีคิดอื่นๆ อีกมาประกอบเพื่อช่วยคลายทุกข์เป็นบางกรณีก็ได้ แล้วแต่ว่าคิดเช่นใดได้ผลแก่กรณีใด ช่วยให้คลายทุกข์ได้ในกรณีใด

เป็นต้นว่าในกรณีที่ผู้พลัดพรากจากเป็น เป็นผู้ขาดเมตตาต่อเรา ไม่เห็นใจไม่ปราณีสงสาร แม้ว่าเราจะต้องเป็นทุกข์เพราะเขาเพียงใด เช่นนี้ นอกจากจะพิจารณาไตรลักษณ์ให้เป็นพื้นของใจแล้ว ก็อาจคิดประกอบไปด้วยได้ว่า เมื่อเขาเป็นเหตุให้เราเป็นทุกข์ ต้องพลัดพรากจากกันไปเสียความทุกข์ของเราก็จะสิ้นสุด

แม้ใหม่ๆ จะต้องเป็นทุกข์อยู่แต่นานไปก็จะคลายทุกข์และจะหายทุกข์เกี่ยวกับเขาในที่สุด เมื่อเป็นทุกข์ทุกคนก็คิดว่ามีกรรม เมื่อเหตุแห่งทุกข์พ้นไปก็ควรคิดว่าหมดกรรมแล้ว จะได้เป็นสุขสบายใจแล้ว เวลาประสบกับการพลัดพรากจากผู้เป็นเหตุให้เราเป็นทุกข์ ก็ควรคิดเช่นนั้น คิดว่าเราหมดกรรมที่ให้เป็นทุกข์เช่นนั้นแล้ว จึงต้องพลัดพรากจากไป อย่าคิดว่าการพลัดพรากจะทำให้เป็นทุกข์อยู่ยั่งยืนจนทนไม่ได้

แต่ต้องมีสติคิดให้ถูกตามสัจธรรม ทุกสิ่งไม่เที่ยง ความสุขและความทุกข์ก็เช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นความสุขความทุกข์ที่เกิดจากเหตุใดก็ตาม ก็ไม่เที่ยง ก็ทนอยู่ไม่ได้ ต้องแปรปรวนเปลี่ยนแปลง และต้องสิ้นสุดลง ตรงตามสัจธรรมที่ว่าทุกสิ่งมีเกิดต้องมีดับ มีสุขได้ก็ต้องหมดสุข มีทุกข์ได้ก็ต้องมีหมดทุกข์ได้ ทุกข์อันเกิดจากการพลัดพรากก็เช่นเดียวกัน เมื่อเกิดแล้วก็ต้องดับ

ฉะนั้นเมื่อความทุกข์เกิดขึ้น แทนที่จะปล่อยใจให้หมกมุ่นอยู่ในความทุกข์ ต้องทำสติให้ได้ บังคับใจให้คิดว่า แล้วก็จะดับ แล้วก็จะหายทุกข์ แล้วก็จะลืมเหตุแห่งความทุกข์ แล้วก็จะกลับสบาย อย่าขาดสติแล้วปล่อยใจให้เป็นทุกข์ จนตกอยู่ใต้อิทธิพลของความทุกข์ ยอมให้ความทุกข์พาไปก่อกรรมทำเข็ญ ไม่ว่าจะแก่ตัวเองหรือว่าผู้อื่น

ขาดสติถึงเช่นนั้นเมื่อใด เรียกว่าทำลายตัวเอง ไม่ใช่ถูกใครทำลาย เราทำลายตัวเราเองจริงๆ จะโทษใครไม่ได้ ต้องโทษตัวเองเท่านั้น ฉะนั้นจึงควรมีสติไว้เสมอ ให้พอสามารถช่วยตนเองให้พ้นจากอิทธิพลของความทุกข์ อันเกิดจากการพลัดพรากให้ได้

อีกวิธีหนึ่งที่จะช่วยให้คลายทุกข์ได้อย่างดี เมื่อต้องประสบกับการพลัดพรากจากความเป็นของผู้เป็นที่รักที่ชอบใจ ก็คือพยายามไม่ไปคิดถึงความรู้สึกหรือจิตใจของคนอื่น ให้ดูใจตัวเอง ดูความรู้สึกของตนเองเท่านั้น

มีอธิบายเกี่ยวกับที่กล่าวว่าอย่าไปคิดถึงความรู้สึกหรือจิตใจคนอื่น ให้ดูความรู้สึกของตนเองเท่านั้น ดังนี้

อย่าไปคิดว่าเขามีจิตใจที่เปลี่ยนแปลงไปแล้ว
เขารู้สึกเช่นนั้นต่อเราแล้ว
เขารู้สึกเช่นนั้นต่อคนนั้นต่อคนนี้แล้ว
เขาไม่เหมือนเดิมแล้ว เช่นนี้เป็นต้น


การคิดเช่นนั้นจะเป็นการเพิ่มทุกข์แก่จิตใจโดยถ่ายเดียว เป็นโทษโดยถ่ายเดียว ไม่เป็นคุณอย่างใด ไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้น ไม่ทำให้เหตุการณ์ดีขึ้น ไม่ทำให้จิตใจสบายขึ้น ดังนั้นจึงไม่ควรคิดเช่นนั้นอย่างเด็ดขาด คือไม่ควรไปดูความคิดหรือไปดูจิตใจของคนอื่นอย่างเด็ดขาด ให้ดูความคิดหรือจิตใจของตัวเองเท่านั้น

คิดอย่างไรรู้สึกอย่างไรก็ให้ติดตามดูของตัวเองไป ระวังอย่าให้ไปเกี่ยวกับคนอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งคืออย่าไปเกี่ยวกับจิตใจหรือความรู้สึกนึกคิดของผู้พลัดพรากไปทั้งเป็นผู้นั้นเป็นอันขาด

แล้วจะได้รู้สึกด้วยตัวเองว่าความทุกข์แม้หนักเพียงใดอันเกิดจากการพลัดพรากจากเป็น จะกลายเป็นความเบาสบายขึ้นในช่วงระยะที่สามารถรักษาสติ ไม่ปล่อยความคิดให้ไปเกี่ยวกับจิตของผู้อื่นดังกล่าวนั้น

นี้เป็นการบริหารจิตโดยตรงที่จะช่วยให้เกิดผลทันทีที่ปฏิบัติ และจะเกิดยั่งยืนตลอดไปได้ แม้ปฏิบัติสม่ำเสมอ ไม่ไปดูใจคนอื่น ดูแต่ใจตนเอง ไม่ไปดูความคิดคนอื่น ดูแต่ความคิดของตนเอง ดังกล่าวแล้ว

๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ม.ค. 2009, 08:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๑๙. ทางพ้นทุกข์

ธรรมที่พระพุทธเจ้าทรงตรัสรู้ อันเป็นเหตุให้ทรงพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงคือ อริยสัจจ์ ความจริงแท้อันยังบุคคลให้เป็นอริยะ ๔ ประการ มีทุกข์ สมุทัย เหตุเกิดทุกข์ นิโรธ ความดับทุกข์ มรรค ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์

การตรัสรู้ คือรู้แจ้งในทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ เป็นเหตุให้พระพุทธองค์ทรงพ้นทุกข์ได้อย่างสิ้นเชิงอย่างไร ผู้รู้แจ้งในทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ ทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ ก็ย่อมจะพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงได้อย่างนั้นเหมือนกัน

ดังพระอรหันตสาวกทั้งหลายท่านได้รับผลเป็นความสิ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงแล้วด้วยการตรัสรู้ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค ตามพระพุทธองค์ อันอริยสัจจ์ ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค นี้ แม้ปฏิบัติศึกษาให้รู้ให้เข้าใจย่อมจะได้รับผลเป็นความคลายทุกข์สิ้นทุกข์อย่างแน่นอนแก่ทุกคนผู้ปฏิบัติ

ปฏิบัติให้รู้ให้เข้าใจมากเพียงใดทุกข์ก็จะน้อยลงเพียงนั้น ไม่จำเป็นถึงต้องรู้แจ้งเช่นพระพุทธองค์หรือพระอรหันตสาวกทั้งหลายจึงจะเห็นผล เพียงรู้บ้างก็จะได้เห็นบ้างแล้ว แต่หมายถึงว่าต้องเป็นความรู้จริง มิใช่เป็นเพียงการรู้แบบจำตามที่ศึกษาหรือได้ยินได้ฟังมาเท่านั้น

“การรู้จริง” กับการ “จำได้หมายรู้” นั้น มิใช่เป็นอย่างเดียวกัน ผลจึงไม่เหมือนกัน รู้จริงผลจึงจะจริง รู้แบบจำได้ผลก็ย่อมเป็นผลแบบที่จำมาได้เท่านั้น ความรู้ให้จริงจึงสำคัญมากสำหรับผู้ปรารถนาผลจริงและความรู้จริงในอริยสัจจ์จะเกิดได้ ก็ต้องอาศัยความจำได้เป็นเพียงพื้นฐาน แล้วปฏิบัติให้เกิดความรู้จริงขึ้นมาด้วยตนเอง

คำว่าปฏิบัติในที่นี้ หมายถึง “การพิจารณาเหตุผลทบทวน ไม่ว่างเว้นจนได้ความรู้จริงประจักษ์ใจ” ได้ความรู้จริงในอริยสัจจ์ประจักษ์ใจขั้นไหนก็วางทุกข์ได้ขั้นนั้น มากน้อยตามขั้นของความรู้จริงนั้นไม่ว่าจะเป็นทุกข์ในเรื่องใดก็ตาม ความรู้จริงในอริยสัจจ์ย่อมแก้ได้ทั้งสิ้น

ดังนั้นความรู้จริงในอริยสัจจ์จึงเป็นยอดของความรู้ที่ผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์ ตั้งแต่น้อยที่สุดจนถึงมากที่สุดจะพึงปฏิบัติอบรมให้เกิดขึ้น

คนบางคนมีความทะเยอทะยานอยากมีชื่อเสียงว่าเป็นคนใหญ่โตเป็นคนสำคัญ อยากให้ใครๆ เห็นว่าตนสำคัญ ด้วยความทะเยอทะยานนี้ทำให้คิดไปพูดไปทำไปอย่างวุ่นวายในสิ่งที่เชื่อว่าจะทำให้มีผู้เห็นความสำคัญของตนและถ้าบังเอิญจะมีใครสักคนเห็นความสำคัญของเขาขึ้นมา ก็ใช่ว่าเขาจะพอใจเพียงเท่านั้น

ความทะเยอทะยานย่อมจะทำให้เขาดิ้นรนคิดพูดทำอย่างวุ่นวายต่อไปเพื่อให้ใครอีกหลายๆ คนเห็นความสำคัญของเขาเพิ่มขึ้นอีก เขากำลังเป็นทุกข์ แต่เขาก็ไม่รู้ว่าเขาเป็นทุกข์ เมื่อเขาไม่รู้ว่าเขากำลังเป็นทุกข์ เขาก็จะไม่หาทางแก้ทุกข์ ตรงกันข้าม เขาจะยิ่งเพิ่มทุกข์ของเขาให้หนักขึ้นด้วยความไม่รู้จักหน้าตาของทุกข์

ตรงนี้แหละที่จะอาจจับขึ้นพิจารณาให้เห็นได้ว่าการรู้ อริยสัจจ์ คือทุกข์ เหตุเกิดทุกข์ ความดับทุกข์ และทางปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ มีความจำเป็นอย่างไรสำหรับผู้ปรารถนาความพ้นทุกข์

ในกรณีดังกล่าว คือที่มีความทะเยอทะยานเร่าร้อนอยู่ในใจ ให้ดูให้รู้ว่าตนกำลังเป็นทุกข์หรือเป็นสุข เมื่อดูจริงๆ พอสมควร ก็จะต้องรู้ว่าตนไม่ได้กำลังเป็นสุขแต่กำลังเป็นทุกข์ อันความสุขกับความทุกข์นั้นเป็นสิ่งที่แตกต่างกันอย่างเห็นได้ไม่ยาก จะไม่เห็นก็ต่อเมื่อไม่ได้ดูเสียเลย

ความสุขนั้นเมื่อมีอยู่ก็ย่อมทำให้ใจสงบเย็น ไม่ดิ้นรนด้วยความเร่าร้อน ดิ้นรน ผู้มีความทะเยอทะยานอยากเป็นคนสำคัญเป็นต้นดังกล่าว เมื่อดูใจตนเอง ก็จะรู้จักทุกข์ของตนเอง และแม้มีปัญญาพอสมควร คือพอจะยอมรับกับตนเองว่ากำลังเป็นทุกข์เพราะความทะเยอทะยาน ก็อาจจะพิจารณาให้ลึกเข้าไปอีกได้ว่าทุกข์ของตนนั้นเกิดจากอะไรกันแน่

ถ้าปัญญาน้อยก็อาจจะโทษว่าทุกข์ของตนนั้นเกิดจากผู้อื่นที่ไม่ยอมรับว่าตนสำคัญ แต่ถ้ามีปัญญาจริงก็จะเห็นว่าทุกข์ของตนนั้น เกิดจากความทะเยอทะยานของตนเองแท้ๆ พิสูจน์ได้ด้วยการพยายามไม่อยากมีความสำคัญเสียสักชั่วระยะเวลาหนึ่ง แล้วดูใจของตนว่าเหมือนกับเมื่อกำลังอยากมีความสำคัญหรือไม่ ก็จะเห็นว่าไม่เหมือนกันแน่นอน

ด้วยการพิสูจน์เช่นนี้จะสามารถเห็นได้ชัดว่าความทุกข์นั้นเกิดจากอะไร มีอะไรเป็นสมุทัยคือเป็นเหตุกันแน่ เมื่อรู้เหตุแน่แล้ว เป็นเหตุที่ถูกต้องจริงแล้ว ก็ต้องทำลายเหตุนั้นเสีย จึงจะสามารถทำลายทุกข์อันเป็นผลของเหตุนั้นได้ด้วย

ดังในกรณีที่ความทุกข์เกิดจากความทะเยอทะยาน ก็ต้องมีสติบังคับใจตนเอง อย่าให้ตกอยู่ใต้อำนาจของความทะเยอทะยาน พยายามลดความทะเยอทะยานให้น้อยลงจนถึงหมดสิ้นด้วยการให้เหตุผลแก่ตนเองจนแจ่มแจ้งเป็นปัญญาความรู้จริงว่า ความทะเยอทะยานไม่ได้ให้ผลดี ไม่ได้ให้ความสุข ตรงกันข้ามให้ผลร้าย ให้ความทุกข์

เมื่อเกิดปัญญาเป็นความรู้จริงเช่นนี้แล้ว จะไม่มีใครเลยที่จะสร้างเหตุแห่งความทุกข์ให้เห็นแก่ตัวเพราะใครเล่าที่อยากเป็นทุกข์ไม่มีใครที่อยากเป็นทุกข์มีแต่ผู้ที่อยากเป็นสุขด้วยกันทั้งนั้น เพียงความรู้จริงเกิดขึ้นว่าอะไรคือทุกข์ อะไรคือเหตุแห่งทุกข์ เท่านั้นก็จะพากันก้าวไปสู่ทางแห่งความสุขความพ้นทุกข์ตามๆ กัน

ดังนั้นความสำคัญที่สุดจึงอยู่ที่ว่า ทุกคนควรมีเวลาดูทุกข์ในใจตนให้แลเห็นไว้เสมอ ดูทุกข์ให้เห็นว่าเป็นทุกข์ อย่าหลงดูทุกข์ให้เห็นว่าเป็นสุขเช่นที่ทำกันอยู่ทุกวันนี้ แล้วจะพ้นทุกข์นั้นได้ด้วยกันทุกคน

๓ มีนาคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ม.ค. 2009, 09:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๐. ใจที่ไม่ขาดแคลน

ที่กล่าวถึงทุกข์ติดต่อกันมานี้ ก็มิใช่เพื่อเป็นการเพิ่มทุกข์ซึ่งมิใช่เป็นการบริหารจิต การบริหารจิตนั้นเพื่อทำลายทุกข์ ผู้บริหารจิตถูกทางจะได้รับผลที่เห็นชัด เป็นความคลายทุกข์จนถึงสิ้นทุกข์

ดังนั้นแม้ปรารถนาความมีทุกข์น้อยจนถึงความไม่มีทุกข์อย่างสิ้นเชิงจึงต้องบริหารจิต หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า อบรมจิตให้มีปัญญา สามารถเห็นหน้าตาของทุกข์โดยความเป็นทุกข์ ปรกติปุถุชนหรือสามัญชนมักจะเห็นทุกข์โดยความไม่เป็นทุกข์ คือมักจะเห็นทุกข์เป็นสุขไปเสีย

เมื่อเป็นเช่นนี้จิตก็ผูกพันอยู่กับทุกข์ไม่สลัดละวางทุกข์ จึงเป็นทุกข์อยู่ไม่สร่างซา ผู้ใดเห็นทุกข์โดยความเป็นทุกข์ ผู้นั้นจึงจะมีจิตไม่ผูกพันอยู่กับทุกข์ จึงจะสลัดละวางทุกข์ได้ มากน้อยโดยความแก่เหตุ

จะกล่าวให้ถูกจริงๆ แล้วต้องกล่าวว่าทุกสิ่งเป็นทุกข์ ที่ถูกจริงๆ นั้นไม่มีสิ่งใดเป็นสุข แต่เมื่ออยากเกินไปสำหรับปุถุชนทั้งหลายที่จะเชื่อว่าไม่มีสิ่งที่เป็นสุขเลย มีแต่ที่เป็นทุกข์ทั้งหมด จะเพียงแต่ยอมรับสิ่งที่เห็นชัดว่าเป็นทุกข์ แล้วแก้ไขเสียให้สิ้นไปก็ยังดี ดีกว่าที่จะไม่มีเวลาตั้งสติกำหนดดูให้เห็นหน้าตาของความทุกข์เสียเลย ทั้งๆ ที่กำลังต้องเป็นทุกข์อยู่หนักหนา

กล่าวคือเมื่อเป็นทุกข์ก็ไม่มีสติเลย ปล่อยใจให้ตกอยู่ใต้ความกดดันของทุกข์ สุดแต่ความทุกข์จะบังคับให้เป็นไปอย่างไร ก็ปล่อยใจตามไปอย่างขาดสติยับยั้งแก้ไข ผลก็จะเป็นความชอกช้ำแสนสาหัสแก่จิตใจในเบื้องต้น จนถึงปรากฏออกมาทางกายเป็นการแสดงออกต่างๆ กันในขั้นต่อมา

เช่นการเจ็บป่วยตั้งแต่เล็กน้อยถึงมาก ถึงตายก็มีปรากฏอยู่เสมอ นี้เป็นผลของการไม่มีปัญญาดูให้เห็นหน้าตาของทุกข์เพื่อแก้ไขเสียให้ทันเวลา ปล่อยความทุกข์ให้กำเริบรุนแรง ถึงก่อโทษภัยได้ดังกล่าว

ความทุกข์อย่างหนึ่งที่ต้องประสบกันอยู่เป็นธรรมดา คือความทุกข์ที่เกิดจากการเสื่อมลาภ ความเสื่อมลาภคือความไม่ได้ลาภ คือไม่ได้เงินทองข้าวของสิ่งพึงใจทั้งหลาย หรือต้องสูญเสียเงินทองข้าวของสิ่งพึงใจที่มีอยู่แล้ว อันความเสื่อมลาภเป็นหนึ่งในโลกธรรมแปด

ดังนั้นจึงเป็นสิ่งที่หนีไม่พ้นด้วยกันทั้งนั้น เมื่อเกิดมาในโลกก็ต้องพบโลกธรรม ในที่นี้จะกล่าวถึงแต่เพียงว่า เมื่อเกิดขึ้นมาในโลก ก็ต้องพบกับความเสื่อมลาภ ซึ่งเป็นสิ่งที่คู่กับความได้ลาภ เมื่อมีลาภได้ก็ต้องเสื่อมลาภได้ เพราะทั้งคู่นี้เป็นโลกธรรมด้วยกัน จะเลือกปรารถนาต้องการแต่เพียงอย่างเดียวหาได้ไม่

สำหรับผู้ยังไม่พบกับความเสื่อมลาภ ยังประสบโลกธรรมฝ่ายดีคู่นี้อยู่ คือยังมีลาภ ยังไม่เสื่อมลาภ ควรจะป้องกันความทุกข์ อันเกิดจากความเสื่อมลาภมิให้เข้าถึงจิตใจด้วยการคิดไว้เสมอๆ ว่า เมื่อมีลาภได้ก็ต้องมีเสื่อมลาภได้แน่นอน เพราะสองสิ่งนี้เป็นคู่กันอยู่ในโลก เป็นคู่กันอยู่ประจำโลก

ไม่ใช่ว่าความเสื่อมลาภจะมีแต่กับคนนั้นคนนี้ จะไม่มีกับคนนั้นคนนี้ ซึ่งอาจจะพอหวังได้ว่า เราเองรวมอยู่ด้วยในพวกหลัง ความยกเว้นเช่นนี้ไม่มีเลย ไม่ว่ากับผู้ใดทั้งสิ้น ขณะนี้ความเสื่อมลาภยังไม่เกิด แต่ความเสื่อมลาภก็จะต้องเกิดขึ้นแน่ เมื่อใดมากน้อยเพียงไหนนั้นไม่สำคัญ ความสำคัญอยู่ที่ว่าต้องมีสติปัญญารับรู้ความจริงนี้ไว้เสมอ รู้ไว้ก่อนที่เวลาแห่งความเสื่อมลาภจะมาถึง

เมื่อเวลานั้นมาถึงก็จะไม่กระทบกระเทือนทางจิตใจจนเกินไป แม้ว่าอาจจะต้องกระทบกระเทือนทางภายนอกอันเป็นเรื่องของวัตถุ ซึ่งช่วยไม่ได้ ความขาดแคลนเพราะต้องสูญเสียวัตถุคือลาภดังกล่าวนั้นอาจหลีกเลี่ยงไม่ได้

อาจต้องดิ้นรนแก้ไขผ่อนปรน ซึ่งอาจได้รับผลสำเร็จหรือไม่สำเร็จอย่างใดก็ได้ แต่ทุกสิ่งมีใจเป็นใหญ่ ใจเป็นประธาน สำเร็จด้วยใจ ถ้าความทุกข์เพราะความเสื่อมลาภเข้าไปถึงใจแล้ว ความขาดแคลนถึงแม้มีก็เหมือนไม่มี เรียกว่าสำเร็จด้วยใจ คือ ความขาดแคลนหมดสิ้นไป ด้วยใจที่ไม่มีความขาดแคลน

๒๔ มีนาคม ๒๕๑๗


(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.พ. 2009, 08:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๑. ทุกข์เป็นสิ่งวางได้

ที่จริงต้องมีคนเป็นจำนวนไม่น้อยในขณะนี้ที่กำลังได้รับทุกข์อยู่เพราะความเสื่อมลาภ เพียงแต่จะเป็นความทุกข์หนักหรือทุกข์น้อยแตกต่างกันเท่านั้น และประมาณของความทุกข์จะแตกต่างกันก็เพราะเหตุสำคัญสองประการ

ประการหนึ่งคือ ความเสื่อมลาภนั้นมากน้อยต่างกัน
ประการหนึ่งคือ ความมีปัญญารู้เท่าทันความจริงไม่เสมอกัน


อย่างไรก็ตาม แม้ความทุกข์จากความเสื่อมลาภจะเกิดขึ้นแล้วก็ตาม มากหรือน้อยก็ตาม วิธีบรรเทาทุกข์หรือทำทุกข์ให้สิ้นไป ที่จะใช้ได้ผลแน่นอนวิธีหนึ่งก็คือ วิธีคิดถึงความจริงว่า ความเสื่อมลาภเป็นธรรมประจำโลก เราอยู่ในโลกก็ต้องพบ อยากพบหรือไม่อยากพบก็ต้องพบ

การประสบโลกธรรมนั้นเป็นเรื่องธรรมดา หลีกเลี่ยงไม่ได้ แต่การปล่อยใจให้เป็นทุกข์ต่างหากเป็นของไม่สมควร เป็นสิ่งหลีกเลี่ยงได้ และเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงอย่างยิ่งด้วยกันทุกคน ไม่ควรมีใครสักคนเดียวที่ยอมปล่อยใจให้เป็นทุกข์ ควรแก้ไขผ่อนหนักให้เป็นเบา ทำน้อยให้หมดสิ้น ให้สำเร็จโดยเร็วที่สุด

การแก้ไขนี้ก็มิใช่ว่าจะแก้ไขให้ความเสื่อมลาภกลับกลายเป็นความได้ลาภขึ้นมาให้ได้โดยเร็ว ความทุกข์จะได้สิ้นสุดไปพร้อมกับความได้ลาภมาถึง การแก้ทุกข์มิใช่อยู่ที่วิธีนี้เป็นสำคัญ การพยายามทำมาหากินเพื่อให้กลับเกิดมีทรัพย์สินเงินทองขึ้นมาโดยชอบธรรมนั้นเป็นการดี สมควรกระทำด้วยกันทุกคน

ในขณะที่ยังอยู่ในเพศของผู้ครองเรือน มิใช่อยู่ในเพศของนักบวชหรือสมณะ และการกลับถึงความได้ลาภพ้นจากความเสื่อมลาภ แม้จะเป็นเหตุให้สิ้นทุกข์ใจ อันเนื่องจากความเสื่อมลาภก็จริง แต่การแก้ด้วยวิธีนี้ไม่ใช่วิธีที่อาจเรียกได้ว่าเป็นการบริหารจิต เป็นการแก้ที่จะไม่ให้ผลเป็นความสิ้นทุกข์ใจยั่งยืนเพราะจะไม่มีปัญญาเห็นจริงเป็นพื้นฐานของจิตใจ

การแก้ที่เป็นการบริหารจิต ต้องเป็นการแก้ที่ประกอบด้วยเหตุผล พิจารณาหาเหตุผลจนใจยอมรับ ยอมวางทุกข์ จึงจะได้รับผลยั่งยืน แม้จะต้องประสบความเสื่อมลาภอีกต่อไป สักกี่ครั้งกี่หน ก็จะมีเหตุผลมาบรรเทาหรือดับความทุกข์เสียได้โดยควร เมื่อประสบความเสื่อมลาภจนเกิดทุกข์ ต้องเป็นทุกข์อยู่ คิดเสียให้กลับกันกับที่เคยคิดไว้ล่วงหน้าว่า มีลาภก็ต้องมีเสื่อมลาภคู่กันเป็นธรรมดา

คิดเสียกลับกันก็คิดว่า มีเสื่อมลาภแล้วก็ต้องมีลาภคู่กันเป็นธรรมดา ความเสื่อมลาภก็เป็นสิ่งไม่เที่ยง เช่นเดียวกับความได้ลาภ ย่อมแปรปรวนเปลี่ยนแปลง ไม่อาจทนอยู่เช่นเดิมได้ตลอดกาล ทั้งยังไม่เป็นไปตามความปรารถนาต้องการ ไม่ว่าใครจะปรารถนาให้ความเสื่อมลาภหมดสิ้นไปรวดเร็วเพียงไหน ก็ไม่มีที่จะเป็นไปตามความปรารถนาต้องการ ความได้ลาภอาจจะเกิดขึ้นได้ก่อนความปรารถนาต้องการก็ได้ เป็นสิ่งที่ไม่มีผู้ใดอาจกำหนดให้แน่นอนถูกต้องได้

เพราะฉะนั้นความเศร้าเสียดายทุกข์ร้อนก็ไม่อาจทำให้อะไรเป็นไปตามความปรารถนาได้ ตรงกันข้ามอาจเป็นเหตุให้ความมีลาภมาถึงช้ากว่าควรได้ เพราะเมื่อใจเป็นทุกข์กาลเวลาก็เหมือนเนิ่นช้ากว่าธรรมดา ความมีลาภหรือความสิ้นสุดความเสื่อมลาภ จึงต้องพลอยเนิ่นช้าตามกาลเวลาไปด้วย ทำใจให้สบาย อย่าทุกข์ร้อน แล้วเวลาจะเหมือนอย่างที่กล่าวกันว่าติดปีก คือเวลาจะล่วงไปอย่างรวดเร็ว

สิ่งที่เราปรารถนาต้องการก็มาถึงเร็ว ผู้ที่ต้องการความสุขความอุดมสมบูรณ์ทั้งทางกายและทางใจ จึงจำเป็นต้องมีสติอยู่เสมอ เชื่อให้มั่นว่าการไม่คิดให้เป็นทุกข์จะทำให้เหตุแห่งทุกข์ทั้งหลาย ทั้งที่เกี่ยวกับทางกายและทั้งที่เกี่ยวกับทางใจ ผ่านพ้นไปโดยเร็ว และจะทำให้เหตุแห่งความสุขทั้งหลาย ทั้งที่เกี่ยวกับทางกายและทั้งที่เกี่ยวกับทางใจ ผ่านมาถึงเร็วเข้าอย่างแน่นอน

๓๑ มีนาคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 ก.พ. 2009, 08:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๒. การใช้หนี้กรรม

ความคิดเป็นสิ่งสำคัญที่สุดที่จะทำให้เป็นทุกข์หรือทำให้หมดทุกข์ และสติตั้งมั่นประกอบด้วยปัญญารู้ตามเป็นจริงเท่านั้นที่จะควบคุมความคิดให้ดำเนินไปในทางที่จะทำให้สิ้นทุกข์ได้ ต้องไม่ขาดสติแม้เมื่อกำลังเผชิญกับเหตุแห่งความทุกข์ สำหรับในขณะนี้กำลังพูดถึงความเสื่อมลาภ ซึ่งเป็นเหตุให้เกิดทุกข์แก่ผู้ประสบ ถ้ามีสติพอสมควรการประสบเข้ากับความเสื่อมลาภก็จะไม่ก่อให้เกิดความทุกข์ใจจนเกินไป

สติ ดังที่กล่าวมาแล้วหลายครั้งข้างต้นคือสติระลึกรู้ว่าการเสื่อมลาภเป็นโลกธรรมฝ่ายไม่ดี คู่กับการได้ลาภอันเป็นโลกธรรมฝ่ายดี เกิดมาในโลกก็ต้องพบโลกธรรม และจะพบทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว พบดีแล้วก็พบชั่วได้ พบชั่วแล้วก็พบดีได้ ผลัดเปลี่ยนกันไปเช่นนี้เป็นธรรมดา สติอีกอย่างหนึ่งก็คือสติระลึกรู้ว่า ถ้าทำใจให้สบายแล้วเวลาจะผ่านไปเร็วความทุกข์จะหมดไปเร็ว ความสุขจะมาถึงเร็ว ตรงกันข้ามกับเมื่อปล่อยใจเป็นทุกข์แล้วเวลาจะผ่านไปช้า สิ่งที่ปรารถนาให้พ้นก็จะพ้นช้า สิ่งที่ปรารถนาให้ถึงก็จะถึงช้า

สติอีกอย่างหนึ่งที่ยังไม่ได้กล่าวถึง คือสติระลึกรู้ทันความจริงว่า กรรมมีจริงผลของกรรมมีจริง และผลของกรรมนั้นสลับซับซ้อนเป็นอันมาก จนไม่อาจเข้าใจให้ชัดเจนได้ว่าผลที่ได้รับกันอยู่ในปัจจุบันนั้นเกิดแต่กรรมเหตุที่ทำไว้เมื่อใด เป็นกรรมใดรู้ได้แน่นอนเพียงว่า ผลดีที่ได้รับกันอยู่ในปัจจุบันเป็นผลของกรรมดีที่ได้ทำไว้แล้วและผลไม่ดีที่ได้รับกันอยู่ในปัจจุบันเป็นผลของกรรมไม่ดีที่ทำไว้แล้วแน่นอน

ความเสื่อมลาภที่ได้รับกันอยู่ในปัจจุบันเป็นผลไม่ดีจึงต้องเป็นเพราะเราต้องทำกรรมไม่ดีไว้แน่นอน อาจจะเป็นทำไว้ในอดีตที่ใกล้มาก หรืออาจจะเป็นอดีตที่นานไกลยิ่งนักก็ได้ มีสติระลึกรู้ในความจริงนี้พร้อมกับมีปัญญาเชื่อความตรัสรู้ของพระพุทธเจ้าที่ทรงกล่าวรับรองเรื่องกรรมไว้ดังกล่าว เมื่อทำกรรมเช่นใดไว้ก็ต้องได้รับผลเช่นนั้น หนีไม่ได้ หนีไม่พ้น ผู้ที่กลัวผลของกรรมมีวิธีเดียวที่ควรปฏิบัติ คือไม่ทำกรรมไม่ดีใดๆ ทั้งสิ้นในปัจจุบันตลอดถึงอนาคต แต่ทำกรรมดีทุกอย่างเต็มความสามารถ

ความเสื่อมลาภเป็นผลของกรรมไม่ดีแน่นอน ผู้ใดประสบความเสื่อมลาภทำกรรมไม่ดีนั้นไว้ด้วยตนเองแน่นอน มีสติมีปัญญาระลึกถึงความจริงนี้ แล้วระลึกถึงความจริงอีกประการหนึ่งติดต่อกันไป คือระลึกว่า เมื่อเราเป็นลูกหนี้เขาอยู่ จะตั้งแต่เมื่อไรก็ตาม ได้มีโอกาสใช้หนี้นั้นเสียบ้าง ก็หาควรเศร้าเสียใจทุกข์ร้อนไม่ ควรยินดีเพราะหนี้ได้ลดลงเราจะได้มีโอกาสทำมาหากินเป็นเจ้าของทรัพย์สมบัติอย่างผู้เป็นไทแก่ตนไม่ใช่ลูกหนี้ต่อไปอีก

อันบรรดาผู้ที่เกิดมาในโลกนี้ ไม่มีผู้ใดเลยที่มิได้เป็นลูกหนี้ของกรรม ทุกคนต้องเป็นลูกหนี้ของกรรมด้วยกันทั้งนั้น ต่างกันเพียงความหนักเบามากน้อย เมื่อเป็นลูกหนี้ก็ต้องใช้หนี้ มีโอกาสที่เจ้าหน้าที่จะทวงหนี้เมื่อไร เขาก็จะทวง จะบังคับรับคืนบรรดาลูกหนี้ทั้งหลายก็จะต้องใช้ ใช้มากใช้น้อยในครั้งหนึ่งคราวหนึ่งแล้วแต่จะต้องเป็นไปจะต้องใช้อย่างไรก็แตกต่างกันไปเป็นบุคคล เป็นครั้งคราว

ดังที่ปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดมา มิได้ว่างเว้น เป็นการใช้หนี้ด้วยทรัพย์สินเงินทองบ้าง ด้วยคนรักของรักบ้างด้วยเลือดเนื้ออวัยวะบ้าง ฯลฯ ก่อให้เกิดความทุกข์ร้อนทั่วไปเป็นประจำ แต่ถ้ามีสติมีปัญญาระลึกรู้ความจริง ปลงใจเสียให้ได้ว่าเรากำลังใช้หนี้ให้แก่เจ้าหนี้ผู้ยิ่งใหญ่ที่สุด ภาระของเราเบาลงแล้วตามจำนวนหนี้ที่เราได้ใช้ไป

เราจะมีเวลาเป็นไท ไม่เป็นทาสของเจ้าหนี้อันความมีหนี้นั้นแม้เราปรารถนาเราก็ควรจะทุกข์โศกเสียใจเมื่อต้องใช้หนี้ แต่ถ้าเราปรารถนาความไม่มีหนี้นั้นแม้เราปรารถนาเราก็ควรจะทุกข์โศกเสียใจเมื่อต้องใช้หนี้ แต่ถ้าเราปรารถนาความไม่มีหนี้เราก็ควรยินดีที่ได้ใช้หนี้ ไม่ว่าจะได้ใช้ทีละมากหรือน้อยเพียงใดก็ตาม ขึ้นชื่อว่าเป็นการได้ใช้หนี้แล้วก็ควรยินดีทั้งนั้น

ความเสื่อมลาภเป็นการใช้หนี้กรรมประการหนึ่งแน่นอน เมื่อต้องประสบเข้าแล้วความยินดีเท่านั้นเป็นเครื่องแสดงให้เห็นว่ามีปัญญารู้ทันความจริงที่จะนำไปสู่ความพ้นทุกข์ได้

๗ เมษายน ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 ก.พ. 2009, 12:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๓. จะไม่เดือดร้อนได้แม้มีผู้นินทาว่าร้าย

โลกธรรม ๘ ประการ คือ ลาภ ความเสื่อมลาภ ยศ ความเสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ สุข ทุกข์ เป็นธรรมที่ไม่อาจมีผู้ปฏิเสธได้ว่าไม่เคยเกิดกับตนเอง หรือไม่เคยเกิดกับผู้หนึ่งผู้ใดเลย ธรรมทั้ง ๘ ประการนี้ ต้องเกิดกับทุกคนที่เกิดมาในโลก ไม่มียกเว้น

การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่ได้นำความจริงนี้มากล่าวหลายครั้งหลายหนแล้ว ด้วยปรารถนาว่าจะมีผู้ที่รับฟังแล้ว สะดุดใจ สะดุดปัญญา เกิดผลเป็นการคลายความยึดมั่นถือมั่นเมื่อต้องประสบโลกธรรมดังกล่าว

เมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายดีคือ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ก็ไม่ยินดีพอใจจนเกิดความหลง ลืมนึกถึงความจริงว่า เมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายดีได้ ก็จักประสบโลกธรรมฝ่ายไม่ดีได้เช่นกัน ไม่ปล่อยใจให้ฟูขึ้น ซึ่งจะฟุบแฟบเมื่อประสบโลกธรรมฝ่ายไม่ดีคือความเสื่อมลาภ ความเสื่อมยศ นินทา ทุกข์

หากรักษาใจไว้ไม่ให้ฟูขึ้นก็จะสามารถรักษาใจไว้ไม่ให้ฟุบแฟบลงได้ ความหวั่นไหวก็จะไม่เกิดแก่จิตใจ ความสงบราบเรียบก็จะปรากฏอยู่อันความสงบราบเรียบในจิตใจนั้นเป็นสิ่งมีค่า ควรเป็นที่ปรารถนาควรแสวงหาด้วยการปฏิบัติเพื่อให้เกิดมีขึ้นแก่ตน

จะพูดถึงโลกธรรมฝ่ายไม่ดีอีกประการหนึ่ง คือ นินทา ซึ่งทุกคนน่าจะเคยได้ประสบมาแล้วด้วยกันทั้งนั้น อย่าว่าแต่ผู้มีอายุเป็นผู้ใหญ่แล้วหรือผู้รู้เดียงสาแล้วจะถูกนินทาเลย เด็กที่ยังไร้เดียงสาก็ยังมีที่ถูกนินทา ดังคงจะเคยได้ยินได้ฟังกันอยู่บ้างแล้ว เช่นเด็กคนนั้นเป็นอย่างนั้น เด็กคนนี้เป็นอย่างนี้ แต่เด็กที่ไร้เดียงสาไม่รับรู้ ไม่รู้เรื่อง จึงไม่เป็นทุกข์ด้วยความโกรธหรือความน้อยใจเสียใจ

ผู้ใหญ่รู้เรื่อง และรับรู้ ทั้งยังรับไปปรุงคิดให้เป็นความโกรธหรือความน้อยใจเสียใจ ผู้ใหญ่ที่ถูกนินทาจึงมักเป็นทุกข์เป็นส่วนมาก ความทุกข์ของผู้ถูกนินทาทั้งหลายจึงเกิดจากความรู้เรื่อง ความรับรู้ และความปรุงคิด

ซึ่งมีความปรุงคิดเป็นสำคัญที่สุด ถ้ารู้เรื่องรับรู้คำนินทาทั้งหลายแล้วไม่ปรุงคิดให้เกิดเป็นความโกรธหรือความเสียใจน้อยใจขึ้น ก็จะไม่มีความทุกข์ ความปรุงคิดจึงสำคัญที่สุดสำหรับทุกคนเมื่อได้รับรู้ว่า นินทา

การบริหารทางจิตสำหรับผู้ใหญ่จะกล่าวถึงวิธีปรุงความคิดเมื่อถูกนินทา เพื่อมิให้เป็นเหตุก่อทุกข์ด้วยความโกรธหรือความน้อยใจเสียใจ

คำพังเพยที่ว่า “นินทากาแลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน” นั้นถ้าจะนำมาคิดให้ดีเมื่อต้องถูกนินทาก็จะช่วยให้ไม่เป็นทุกข์ได้ คิดได้ง่ายที่สุดก็คิดว่าผู้กำลังนินทาเรานั้นกำลังเทน้ำทิ้ง ไม่เห็นมันจะเกี่ยวกับเราที่ไหน ออกจากปากแล้วหมดไปเหมือนเทน้ำแล้วน้ำก็ออกจากภาชนะไป

ผู้ที่อยากนินทาได้นินทาเสียแล้วความอยากก็หมดไป ก็เท่านั้นเอง หยุดความคิดไว้เพียงง่ายๆ เท่านี้ได้ก็จะไม่เป็นทุกโกรธแค้นหรือน้อยใจเสียใจเพราะถูกนินทา หรือจะคิดว่ารับฟังคำนินทาเหมือนดูคนเอามีดกรีดหินก็ไม่เห็นจะเป็นอะไร อยากนินทาได้ก็นินทาไป เขาเอามีดกรีดหินไม่เห็นจะทำให้เราสึกหรอแหว่งเว้าหรือชอกช้ำได้เลย

คิดเช่นนี้ ให้ความคิดหยุดอยู่เพียงเท่านี้ อย่าให้ปรุงวุ่นวายกว้างขวางออกไป แล้วก็จะไม่เดือดร้อนเวลาถูกนินทาท่อง “นินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน” ไว้ให้เหมือนท่องคาถาเลยก็ยังได้ จะเกิดผลเป็นความไม่หวั่นไหว ไม่ทุกข์เพราะหวั่นไหวด้วยความโกรธหรือน้อยใจเสียใจ

วิธีหลังนี้เรียกว่าเป็นวิธีทำใจให้สงบแบบเดียวกับทำสมาธิ ให้ใจรวมอยู่กับคำบริกรรมคำใดคำหนึ่ง หรือบทใดบทหนึ่ง แม้ไม่ต้องยกเหตุผลขึ้นมาปลอบใจเลย ใจก็จะสงบอยู่ได้และจะสงบอยู่ได้อย่างน้อยก็ชั่วเวลาที่รวมใจบริกรรมอยู่

นอกจากนั้นเมื่อรักษาสติไว้ได้ให้รวมอยู่ได้แน่วแน่กับบทบริกรรมก็ยังอาจทำให้เกิดปัญญา คือเกิดความเข้าใจในความหมายที่ว่า “นินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน” เหมือนอย่างที่กล่าวแล้วข้างต้น เมื่อความเข้าใจเกิดขึ้นในขณะบริกรรมด้วยแล้ว ใจก็จะสงบอยู่ได้นานต่อไปแม้เมื่อไม่ได้บริกรรมแล้ว เรียกว่านอกจากจะสงบเพราะบริกรรมแล้วยังมีปัญญามาช่วยประคับประคองความสงบให้ดำรงอยู่สืบไป นานเท่าที่ปัญญาจะลึกซึ้งเพียงไหน

๑๔ เมษายน ๒๕๑๗


(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ก.พ. 2009, 08:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๔. ผู้ไม่ถูกนินทาไม่มีในโลก

คำพังเพย “นินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน” นี้มักจะมีบุคคลสองฝ่ายนำไปใช้ ฝ่ายหนึ่งนำไปใช้ถูก คือใช้ช่วยใจตนเองไม่ให้เดือดร้อนเมื่อถูกนินทาเพราะตนมิได้เป็นไปจริงคำนินทานั้น

อีกฝ่ายหนึ่งนำไปใช้ผิด คือใช้ช่วยใจตนเองให้ไม่แยแสเสียงนินทา โดยที่ตนเป็นไปจริงตามคำนินทานั้น และไม่แก้ไขตนเองให้ผิดไปจากคำนินทา เช่นนี้นับว่าเป็นการนำคำพังเพย “นินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน” ไปใช้ผิดอย่างยิ่ง นอกจากจะไม่เป็นการช่วยใจตนเองให้ดีขึ้นแล้วยังเป็นการซ้ำให้ไม่ดีหนักขึ้นอีกด้วย ผู้จะนำคำพังเพยดังกล่าวไปใช้จึงควรพิจารณาให้ดี อย่าให้เป็นการก่อโทษแก่ตนเองแต่จงให้เป็นการให้คุณเท่านั้น

วิธีพิจารณาก่อนจะนำคำพังเพยดังกล่าวไปใช้มีอยู่ว่า เมื่อถูกนินทาอย่างใด ให้คิดดูว่าเราเป็นจริงตามที่เขานินทาหรือไม่ ให้ยอมรับกับตนเองตามความเป็นจริง อย่าหลอกตัวเอง ถ้าเราเป็นจริงตามที่เขานินทาก็อย่านำคำพังเพยดังกล่าวมาช่วยใจตนเองเป็นอันขาด แต่ควรจะคิดว่าเขาพูดความจริง ไม่ควรจะโกรธเขา แต่ควรจะทำให้เขาเลิกพูดเช่นนั้นเกี่ยวกับเราเสีย ด้วยการปฏิบัติเสียใหม่ไม่ให้เป็นไปตามที่เขานินทา

ยอมรับคำนินทามาเป็นคำเตือนให้พ้นจากการปฏิบัติไม่เหมาะไม่ควร แต่ถ้าเมื่อถูกนินทาแล้วพิจารณาการปฏิบัติของตนเองแล้วเห็นว่ามิได้เป็นจริงตามคำนินทา ก็สามารถจะช่วยใจตนเองให้พ้นจากความเดือดร้อนด้วยอารมณ์โกรธหรือเสียใจน้อยใจได้ด้วยการยกคำพังเพยดังกล่าวมาบริกรรมจนใจสงบ หรือจนเกิดปัญญาลึกซึ้งยิ่งขึ้น

คำพังเพยนั้นยังมีต่อไปอีก ซึ่งจะขอนำมากล่าวไว้ให้ติดต่อกันไปเสียก่อนจะกล่าวถึงวิธีคิดอย่างอื่นต่อไป บทต่อคำพังเพยข้างต้นคือ “อันองค์พระปฏิมายังราคิน เราเดินดินหรือจะพ้นคนนินทา”

คำพังเพยนี้ สำหรับพุทธศาสนิกชนผู้ซาบซึ้งในพระคุณของพระพุทธองค์แม้เพียงพอสมควรย่อมจะคลายความรู้สึกกระทบกระเทือนใจได้ไม่มากก็น้อยในทันทีเมื่อถูกนินทา และเมื่อนึกได้ถึงคำพังเพยนี้ พระพุทธองค์ทรงเป็นผู้เลิศแล้วเพียงไหน พระคุณบริสุทธิ์บริบูรณ์เพียงใด แต่แม้กระนั้นก็ยังหาได้ทรงพ้นจากคนนินทาไม่

สมัยพุทธกาลก็ทรงได้พบ สมัยนี้ก็ยังมีอยู่ เป็นเรื่องของโลกธรรมที่ไม่มีผู้ใดจะหลีกพ้นได้ แม้พระพุทธองค์ก็ยังไม่พ้น แล้วเราคนธรรมดาที่หาได้มีคุณบริสุทธิ์บริบูรณ์เช่นพระพุทธองค์ไม่จะให้พ้นคนนินทาเสียเลยจะเป็นไปได้อย่างไร ที่จริงคำพังเพยทั้งหมดดังยกมากล่าวคือ “นินทากาเลเหมือนเทน้ำ ไม่ชอกช้ำเหมือนเอามีดมากรีดหิน อันองค์พระปฏิมายังราคิน เราเดินดินหรือจะพ้นคนนินทา” นั้น มีผู้พูดกันอยู่จะติดปากอยู่เสมอ แต่ถ้าไม่คิดให้ถึงใจก็จะเป็นประโยชน์น้อย หรือไม่เป็นประโยชน์เลย

ดังนั้นที่ถูกจึงควรคิดให้ถึงใจ คือให้เข้าใจอย่างซาบซึ้งพอสมควรว่า คำนินทาทั้งหลายนั้นไม่อาจทำผู้ที่มิได้มีการประพฤติปฏิบัติเหมือนคำนินทาให้ชอกช้ำได้เหมือนเอามีดไปกรีดหิน ก็มีดนั่นแหละที่จะบิ่นกร่อนไม่ใช่หินที่จะชอกช้ำ ใครอยากนินทาก็ให้เขานินทาไป เขานินทาเราก็เหมือนเทน้ำออกจากภาชนะ ขณะหนึ่งก็ต้องหมดภาชนะ เช่นเดียวกับการนินทาก็ต้องมีเวลาจบสิ้น

โดยที่เราไม่ได้เป็นไปตามคำนินทาแล้วเราก็จะไม่ชอกช้ำเลย ผู้นินทาเท่านั้นเมื่อยปากเปล่า เสียความคิดที่สรรหาคำมานินทาเปล่า ทั้งยังจะทำให้ผู้รู้ความจริงเห็นผู้นินทาเป็นคนเสียไปอีกด้วย ในขณะที่จะต้องเห็นผู้ถูกนินทาเป็นผู้ที่ควรได้รับความเห็นใจ ถ้ายังไม่หายเดือดร้อนใจก็ให้คิดต่อไปว่า พระพุทธเจ้าเมื่อดำรงพระชนมายุอยู่ก็ทรงถูกนินทา เมื่อเสด็จดับขันธ์ปรินิพพานแล้วก็ยังทรงถูกนินทา

แม้แต่พระพุทธปฏิมาก็ยังถูกคนนั้นติคนนี้ติแล้วเราเป็นใครเลิศล้ำเสมอพระพุทธองค์หรือก็เปล่า แล้วเราจะไม่ให้ถูกติถูกนินทาได้อย่างไร ถ้าคิดว่าเราไม่ควรจะถูกนินทาเพราะเราดีเหลือเกินแล้ว ก็เป็นการคิดที่ไม่ถูกต้องอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นคนดีเพียงไหนคิดเช่นนี้ก็ไม่ถูกต้อง และถ้าเกิดทุกข์ร้อนขึ้นมาเพราะถูกนินทาก็เป็นเพราะเราเองทำตัวเราเองให้เป็นทุกข์ ด้วยการคิดไม่ถูกวิธี จะไปโทษคนอื่นไม่ได้

๒๑ เมษายน ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ก.พ. 2009, 12:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๕. พึงทำเสียงสรรเสริญให้ดังกว่าเสียงนินทา

มีคนเป็นจำนวนมากที่ถือคำนินทาเป็นสำคัญ จนกระทั่งถือว่าคำนินทาอาจทำให้ถึงเสียผู้เสียคนได้ และกระทั่งถึงกับกล่าวว่า คนนั้นคนนี้เสียผู้เสียคนไปแล้วเพราะคำนินทาก็มีอยู่มิใช่น้อย

คิดอย่างผิวเผิน มิได้พิจารณาให้ลึกซึ่งพอสมควร ก็เหมือนจะเป็นเช่นนั้นจริง เพราะคำนินทาที่เริ่มขึ้นแล้ว มักจะมีผู้สนใจนำไปพูดต่อๆ กันไปยืดยาวขึ้นทุกที รุนแรงขึ้นทุกที ตามแบบที่มีคำกล่าวว่า “ปากคนยาวกว่าปากกา”

แต่คำนินทาก็ต้องไม่สำคัญเหนือกว่าความจริง ถ้าคำนินทาเริ่มแต่มีความจริงเป็นมูล การเสียผู้เสียคนของผู้ถูกนินทาก็หาได้เกิดจากคำนินทาไม่ หากแต่เกิดจากความจริงนั่นเอง พูดอีกอย่างก็คือเกิดจากการกระทำหรือกรรมของตนเองนั่นแหล่ะ ทำกรรมไม่ดีอันเป็นเหตุให้ถูกนินทาก็ต้องได้รับผลเสียอันเกิดจากกรรมไม่ดีนั้น มากน้อยหนักเบาเพียงเท่าความมากน้อยหนักเบาของกรรมไม่ดีเท่านั้น

ที่กล่าวกันว่าทำไม่ดีนิดเดียว ลือกันหรือนินทากันเสียเกินเหตุจนทำให้เสียหายเกินเหตุนั้น ก็เช่นที่กล่าวแล้ว แม้ไม่คิดให้ลึกก็เหมือนเป็นเช่นนั้นจริง แต่ความจริงหาเป็นเช่นนั้นไม่ ความเสียหายอันเป็นผล จะไม่มากน้อยหรือหนักเบาเกินกว่ามูลความจริง อันเป็นเหตุไปได้เลยเป็นอันขาด

จะเล่าลือกันไปอย่างไร ความจริงมีอยู่อย่างไร ก็ต้องมีอยู่อย่างนั้นเท่านั้น เหมือนคนขโมยเงินเขาไปสองร้อยบาท ผู้ถูกขโมยเที่ยวเล่าไปว่าถูกเขาขโมยเงินไปสองพันบาท คนอื่นๆ อีกก็เล่าตามเจ้าของหรือขยายให้ยิ่งไปกว่า ความจริงก็หาอาจเปลี่ยนไปได้ไม่ เงินที่ถูกขโมยคงต้องมีจำนวนสองร้อย ผู้ขโมยคงขโมยเพียงสองร้อย และหากถูกจับได้ ความจริงปรากฏ ผู้ขโมยก็จะต้องได้รับโทษสมควรกับจำนวนเงินที่เขาขโมยเท่านั้น ไม่มากไปกว่านั้น

ส่วนที่ผู้ใดจะเชื่อกันอย่างใดเป็นเรื่องที่มิใช้ความจริง ไม่อาจทำให้ผู้ขโมยเงินจำนวนสองร้อยต้องกลายเป็นผู้ขโมยเงินสองพันไปได้เลย ผู้ถูกนินทาที่มิได้เป็นจริงดังคำนินทาก็จะกลายเป็นผู้ไม่ดีไปตามคำนินทาหาได้ไม่ แม้จะมีผู้เชื่อว่าไม่ดีสักกี่ร้อยกี่พันคน ก็จะเป็นเพียงเรื่องของความเชื่อของคนเหล่านั้นเท่านั้น หาใช่เป็นเรื่องไม่ดีของผู้ถูกนินทาไม่ สำหรับผู้มิได้ทำเรื่องไม่ดีให้ควรถูกนินทาแต่ก็ยังถูกนินทานั้นมีอยู่มากมายเป็นธรรมดา เพราะนินทาเป็นเรื่องของโลกธรรม

ดังได้กล่าวมาแล้วในตอนต้น ความสำคัญอยู่ที่ว่าความจริงต้องเป็นความจริงเสมอ เราไม่ได้ทำไม่ดี คำนินทาใดๆ มากมายหนักหนาเพียงไหนก็จะไม่อาจทำให้เราไม่ดีไปได้เลย เมื่อถูกนินทาทั้งๆ ที่มิได้ทำอะไรควรให้ถูกนินทา ก็จงมั่นใจในตนเองให้เต็มที่ อย่าหวั่นไหวในคำนินทา อย่าคิดว่าจะเสียหายเพราะเสียงนินทา

เมื่อฝ่ายหนึ่งนินทาเราได้ ฝ่ายที่จะสรรเสริญเราก็มีได้ และถ้าเราเป็นผู้กระทำกรรมควรแก่การสรรเสริญก็เป็นอันเชื่อแน่ได้ว่าจะต้องมีผู้สรรเสริญพร้อมๆ กันไปกับที่มีผู้นินทานั่นเอง

ฉะนั้น เมื่อรู้ว่าถูกนินทาแล้วเมื่อใดก็ควรจะยิ่งทำสิ่งอันควรสรรเสริญให้มากเท่าที่จะสามารถทำได้ให้มากกว่าเดิม เช่นนี้จึงจะควร จึงจะเป็นการแก้ที่ถูกต้อง และแทนที่จะคิดให้เดือดร้อนให้เป็นความโกรธ ความน้อยใจเสียใจ ก็ควรจะคิดกลับกันเสีย คือคิดว่าทำให้ได้มีโอกาสเร่งทำความดีอย่างเต็มที่ เพื่อว่าเสียงสรรเสริญจะได้ดังกว่าเสียงนินทา จนสามารถทำให้เสียงนินทาพ่ายแพ้ไป

ผู้มีโอกาสทำความดีนั้นไม่ว่าโอกาสจะเกิดขึ้นจากเหตุใดก็ตาม จากผู้ใดก็ตาม ควรถือว่าเหตุนั้นผู้นั้นช่วยเสริมสร้างคุณงามความดีหรือบารมี ไม่ควรคิดผิดวิธีจนทำให้กลายเป็นความเศร้าหมองของจิตใจซึ่งมิใช่เป็นการทำความดีอย่างใด ตรงกันข้ามกลับเป็นการทำไม่ดีให้โทษอย่างแท้จริงแก่เจ้าตัวเอง ยิ่งกว่าโทษที่จะเกิดจากคำนินทาใดๆ ทั้งนั้น

๒๘ เมษายน ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มี.ค. 2009, 14:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๖. ผู้ถูกนินทาพึงมีเหตุผล

คำนินทาใดๆ ไม่อาจทำคนดีให้เป็นคนไม่ดีไปได้ คนจะดีก็เพราะกรรม คนจะเลวก็เพราะกรรม หาใช่จะดีเพราะสรรเสริญ หรือจะเลวเพราะนินทาก็หาไม่ ควรถือความจริงนี้เป็นสำคัญ และอย่าทำหรือไม่ทำอะไรเพราะกลัวนินทาหรือเพราะปรารถนาสรรเสริญ อย่าทำอะไรก็ตามทุกอย่างที่แม้เพียงสงสัยว่าเป็นกรรมไม่ดี แต่จงทำอะไรก็ตามทุกอย่างที่พิจารณาแล้วตระหนักแน่ชัดว่าเป็นกรรมดีเท่ากัน

แม้ว่าการทำกรรมดีจะมีผู้นินทาเพราะไปขัดความพอใจของเขาเข้าก็ไม่ใช่สิ่งที่ผู้ทำควรหวั่นไหว ส่วนเสียงสรรเสริญนั้นแม้ไม่มี ผู้ทำกรรมดีก็ไม่ควรท้อแท้ถ้าจะมีก็ให้ถือเพียงเสมือนเป็นผลพลอยได้จากการทำกรรมดีเท่านั้น ผลที่แท้จริงจากการทำกรรมดีอยู่ที่ได้ทำกรรมดีนั่นแหละเป็นสำคัญ การได้ทำกรรมดีก็เท่ากับได้รับผลดีนั่นเอง เพราะกรรมดีจักให้ผลดีแน่นอน ไม่เป็นอื่น

คนทำดีถูกนินทาน่าจะทำใจรับได้ดีกว่าคนทำไม่ดีที่ถูกนินทา แต่เท่าที่ปรากฏดูเหมือนจะไม่เป็นเช่นนั้น คนทำดีถูกนินทามักจะหวั่นไหวท้อแท้ถึงกับบางทีไม่อยากจะทำดีต่อไป ซึ่งไม่ถูก ส่วนคนทำไม่ดีถูกนินทามักจะไม่รู้ไม่ชี้เสียแล้วก็ยังคงทำเหมือนเดิมต่อไป ซึ่งก็ไม่ถูกอย่างยิ่ง นินทาที่คนทำดีได้รับควรจะเป็นเครื่องเสริมส่งให้ทำดียิ่งขึ้น เพราะเมื่อเชื่อในกรรมก็ต้องเชื่อว่านินทาที่ได้รับทั้งที่กำลังทำกรรมดีอยู่ในปัจจุบัน

นินทานั้นก็ต้องเป็นผลของกรรมไม่ดีที่ต้องได้ทำไว้ในอดีตแน่นอน อันกรรมที่ทำไว้นั้นไม่ว่าจะในอดีตนานไกลเพียงไหน ก็จะต้องให้ผลไม่วันใดก็วันหนึ่ง อาจจะช้าอาจจะเร็วแล้วแต่กรรมใดแรงกว่าก็จะให้ผลก่อน ที่ให้เร่งทำความดีให้ยิ่งขึ้นเมื่อถูกนินทา ก็เพื่อให้กรรมไม่ดีที่ทำไว้ในอดีตอ่อนแรงกว่ากรรมดีที่ทำอยู่ในปัจจุบัน ให้เป็นการเพิ่มพูนกรรมดีที่ทำไว้แล้วในอดีต ขอเน้นว่าคนใดที่ทำความดีแล้วถูกนินทา จงอย่าปล่อยใจให้เป็นทาสของความเศร้าหมองจนเกิดโกรธเคืองพยาบาทหรือน้อยใจเสียใจ แต่จงเร่งทำความดีให้ยิ่งขึ้นต่อไปเท่านั้น

ส่วนผู้ทำกรรมไม่ดีที่ถูกนินทานั้น การไม่แยแสเสียงนินทานั้นไม่ถูกอย่างยิ่งต้องแยแสต้องให้ความสนใจ ต้องพยายามยอมรับว่า คำนินทาเป็นคำชี้โทษของเราว่ามีอยู่อย่างไร ถ้าไม่แก้ไขโทษนั้นก็จะไม่มีวันหมดสิ้นไป มีแต่จะพอกพูนยิ่งขึ้น เป็นโทษที่หนักขึ้น ซึ่งนับวันก็จะมีเสียงนินทามากขึ้น และเสียงนินทานี้เป็นเพียงผลไม่ดีที่เล็กน้อยเหลือเกินของกรรมไม่ดี ผลไม่ดีของกรรมไม่ดียังมีที่หนักกว่านั้นมาก ผู้นับถือพระพุทธศาสนาควรจะเชื่อเรื่องกรรมและผลของกรรม คือเชื่อว่ากรรมมีผลจริงกรรมดีให้ผลดีจริง กรรมชั่วให้ผลชั่วจริง ผู้ใดทำกรรมใดไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น

อย่างไรก็ตาม ทั้งผู้ทำดีที่ถูกนินทา และผู้ทำไม่ดีที่ถูกนินทา ควรจะรับอย่างมีเหตุผล คืออย่างมีปัญญา ไม่ควรจะรับอย่างขาดเหตุผล คืออย่างขาดปัญญา เหตุผลที่สำคัญที่สุดคือต้องรับรู้การนินทาอย่างรู้ตัวว่าจะไม่นำคำนินทานั้นๆ มาเป็นโทษแก่จิตใจตน จะนำมาแต่เป็นคุณเท่านั้น ถึงเราจะไม่ดีจริงอย่างถูกนินทา เราก็จะไม่นำคำนินทามาซ้ำเติมให้จิตใจเราเศร้าหมองด้วยความสำนึกผิด

แต่เราจะรู้ผิดอย่างผู้มีปัญญา คือรู้ผิดเพื่อแก้ไขความผิดที่ทำแล้ว และเพื่อป้องกันมิให้ทำความผิดเช่นนั้นอีก ถ้าเราดี เราไม่เป็นเช่นถูกนินทา เราก็จะไม่นำคำนินทามาซ้ำเติมให้จิตใจเศร้าหมองด้วยความโกรธแค้นขุ่นเคืองหรือน้อยใจเสียใจ เราจะรับรู้ว่าเป็นเรื่องของผลกรรมที่เราต้องได้เคยทำไว้ในอดีตแน่นอน แล้วก็รีบเร่งทำกรรมดีเพื่อให้ผลดีส่ง จนผลของกรรมไม่ดีต้องถอยห่างไป เช่นนี้จึงจะควร

๕ พฤษภาคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 มี.ค. 2009, 14:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 25 ต.ค. 2006, 14:49
โพสต์: 1341


 ข้อมูลส่วนตัว www


๒๗. ผู้นินทาคือผู้ทำกรรมไม่ดี

จะขอนำพระสูตรมาเล่าประกอบเพื่อให้ทราบว่าพระพุทธองค์ทรงแสดงวิธีปฏิบัติเกี่ยวกับจิตใจเมื่อถูกนินทาหรือด่าว่าอย่างไร

สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในพระเวฬุวัน ใกล้กรุงราชคฤห์ พราหมณ์ชื่อ ภารทวาชะ ได้ยินว่าพราหมณ์สกุลเดียวกันบวชในสำนักพระองค์ มีความโกรธ ขัดใจ จึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคด่าว่าพระองค์ด้วยวาจาหยาบต่างๆ พระผู้มีพระภาคตรัสถามว่ามีแขกที่เป็นมิตรอมาตย์ญาติสาโลหิตมาหาท่านบ้างหรือไม่ พราหมณ์กราบทูลว่าบางคราวก็มีแขกมาหา

ตรัสถามว่าท่านจัดของควรเคี้ยว ของควรบริโภคหรือว่าน้ำดื่ม ให้แก่แขกเหล่านั้นบ้างหรือไม่ พราหมณ์กราบทูลตอบว่า บางคราวก็จัดให้ ตรัสถามว่า ถ้าแขกเหล่านั้นไม่รับ สิ่งเหล่านั้นจะตกเป็นของใคร พราหมณ์กราบทูลตอบว่า ถ้าเขาไม่รับก็ตกเป็นของเราทั้งหลาย

ตรัสว่า ก็อย่างเดียวกันนั่นแหละพราหมณ์ ท่านด่า เราผู้ไม่ด่า ขู่เราผู้ไม่ขู่ ชวนวิวาทเราผู้ไม่วิวาท เราไม่รับคำด่า คำขู่ คำชวนวิวาทของท่าน คำนั้นจึงตกแก่ท่านนั่นแหละ ผู้ใดด่าตอบผู้ด่า ขู่ตอบผู้ขู่ วิวาทตอบผู้ชวนวิวาท ผู้นั้นเรียกว่าร่วมบริโภคด้วยกัน ตอบแทนกัน ส่วนเราไม่ร่วมบริโภค ไม่ตอบแทนกับท่าน คำด่านั้นของท่านจึงตกเป็นของท่านนั่นแหละ

เมื่อพระผู้มีพระภาคตรัสดังนี้ พราหมณ์กราบทูลว่า บริษัทมีพระราชาเป็นประธาน พากันรู้จักพระองค์ว่าระสมณโคดมเป็นพระอรหันต์ แต่ว่าไฉนพระองค์จึงยังทรงโกรธอยู่เล่า พระองค์ตรัสว่า ผู้ที่ฝึกแล้วมีความเป็นอยู่สมควร หลุดพ้นแล้วเพราะรู้โดยชอบเป็นผู้หมดโกรธ สงบระงับคงที่แล้ว จะมีความโกรธมาจากไหน ผู้ใดโกรธตอบผู้โกรธนั้นพลอยทรามไปเพราะความโกรธนั้น ผู้ที่ไม่โกรธตอบผู้โกรธชื่อว่าชนะสงครามที่ชนะได้ด้วยยาก ผู้ซึ่งรู้ว่าผู้อื่นโกรธแล้ว มีสติสงบระงับได้ ชื่อว่าย่อมประพฤติประโยชน์แก่ตนเองด้วย แก่ผู้อื่นด้วยทั้งสองฝ่าย พวกคนที่ไม่ฉลาดในธรรมย่อมเข้าใจผู้ที่รักษาประโยชน์ตนและผู้อื่นทั้งสองฝ่ายว่าเป็นคนโง่

สดับพระพุทธดำรัสในพระสูตรดังยกมากล่าวข้างต้นนี้แล้ว ย่อมปรากฏชัดว่า นินทานั้นจะไม่มีโทษแก่ผู้ถูกนินทาเลย ถ้าผู้ถูกนินทาไม่รับ คือไม่ตอบ เช่นเดียวกับผู้ถูกด่าไม่ด่าตอบ ผู้ถูกขู่ไม่ขู่ตอบ ผู้ถูกชวนวิวาทไม่วิวาทตอบ แต่คำนินทาว่าร้ายทั้งจะตกเป็นของผู้นินทาทั้งหมด ผู้นินทาคือผู้ทำกรรม ซึ่งเป็นกรรมไม่ดี ไม่ว่าผู้ถูกนินทาจะรับหรือไม่รับก็ตาม ผู้นินทาย่อมต้องได้รับผลไม่ดีแห่งกรรมไม่ดีของเขาอย่างแน่นอน

ดังนั้น แม้เมื่อถูกนินทาแล้ว ก็ให้คิดว่าผู้นินทาเรานั้นได้รับการตอบแทนแล้ว คือได้รับผลของกรรมไม่ดี ซึ่งจะส่งผลให้ปรากฏช้าหรือเร็วเท่านั้น ผลของกรรมไม่ดีนั่นแหละได้ตอบแทนเขาผู้นินทาแล้ว เราไม่มีความจำเป็นต้องตอบแทนแต่อย่างใด

ความเชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรมมีคุณอย่างที่สุด ผู้ใดทำกรรมใดไว้จักได้รับผลของกรรมนั้น ความเชื่อเช่นนี้จักทำให้ไม่คิดร้ายตอบผู้คิดร้าย เป็นการระงับเวรภัยไม่ให้เกิดแก่ตน เป็นการปกป้องตนมิให้ทำกรรมไม่ดีทั้งกายวาจาและใจโดยมุ่งให้เป็นการแก้แค้นตอบแทน ผลจักเป็นความสงบสุขแก่ตนและแก่ผู้อื่นด้วย.

๑๒ พฤษภาคม ๒๕๑๗

(มีต่อ)

.....................................................
.. ทุกข์ใดดับได้ด้วยปัญญา ทุกข์นั้นจะไม่เกิดอีก ..


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 58 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 7 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร