วันเวลาปัจจุบัน 19 มี.ค. 2024, 18:21  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

หลวงปู่กับเกจิอาจารย์

เมื่อประมาณ พ.ศ. ๒๕๒๐ หลวงปู่รับนิมนต์ไปร่วมพิธีกรรมที่วัดธรรมมงคล สุขุมวิท ในงานนี้ท่านรับนิมนต์เข้าไปนั่งปรกในพิธีพุทธาภิเษกวัตถุด้วย เมื่อเสร็จพิธีแล้วออกมานั่งพักที่กุฏิเล็กๆ แห่งหนึ่งสนทนากับเหล่าศิษยานุศิษย์ที่ศึกษาเล่าเรียนอยู่ในกรุงเทพฯ เป็นจำนวนหลายรูป และคงจะมีรูปใดรูปหนึ่ง เมื่อก่อนไม่เคยเห็นหลวงปู่เข้าพิธีพุทธาภิเษก เพิ่งเห็นครั้งนี้เอง เช่นนี้กระมัง

หลวงปู่จึงว่า

“อาจารย์องค์อื่นๆ เขานั่งปรกนั่งพุทธาภิเษกอย่างไรเราไม่รู้ ส่วนตัวเรานั่งสมาธิอย่างเดียว ตามแบบฉบับของเรา”


.............................................................................................

อยากเรียนเก่ง

หนูได้ฟังคุณตาสรศักดิ์ กองสุข แนะนำว่า ถ้าใครต้องการเรียนเก่งและฉลาด ต้องหัดนั่งภาวนา ทำสมาธิให้ใจสงบเสียก่อน หนูอยากจะเรียนเก่งเรียนฉลาดอย่างเขา จึงพยายามนั่งภาวนาทำให้ใจสงบ แต่ใจมันก็ไม่ยอมสงบสักที บางทีก็ยิ่งทวีความฟุ้งซ่านมากขึ้นก็มี เมื่อใจไม่สงบเช่นนี้ทำอย่างไรจึงจะเรียนเก่งเจ้าคะ

หลวงปู่ว่า

“เรียนอะไรก็ให้มันรู้อันนั้น เดี๋ยวก็เก่งเองแหละ ที่ใจไม่สงบ ก็ให้รู้ว่ามันไม่สงบ เพราะอยากสงบมันจึงไม่สงบ ขอให้พยายามภาวนาเรื่อยๆ ไปเถอะ สักวันหนึ่งจะได้สงบตามต้องการ”


.............................................................................................

ไปธุดงค์เพื่ออะไร

พระเณรบางกลุ่มหลังจากออกพรรษาแล้ว นิยมพากันออกเที่ยวธุดงค์ไปในที่ต่างๆ มีการตระเตรียมบริขารหรือชุดธุดงค์กันอย่างครบเครื่อง แต่ในการไปนั้นมีอยู่หลายรูปที่ไปแบบผิดเป้าหมาย เช่น ทรงเครื่องกัมมัฏฐานไปรถทัวร์ รถไฟบ้าง เที่ยวไปเยี่ยมเพื่อนฝูงตามสำนักต่างๆ บ้าง

หลวงปู่จึงกล่าวท่ามกลางคณะกัมมัฏฐานว่า

“การกระทำตนเป็นพระธุดงค์รูปงามนั้นย่อมไม่ควร ผิดวัตถุประสงค์ของการเดินธุดงค์ ทุกองค์พึงสำเหนียกให้มากว่า การประพฤติธุดงค์กัมมัฏฐานนั้น มุ่งการฝึกฝนขัดเกลาจิตใจให้ปราศจากกิเลสประการเดียวเท่านั้น การไปธุดงค์กัมมัฏฐานแต่ตัว ส่วนใจไม่ไปนั้น ไม่เป็นการประเสริฐเลย”


.............................................................................................

หยุดต้องหยุดให้เป็น

นักปฏิบัติกราบเรียนหลวงปู่ว่า กระผมพยายามหยุดคิด หยุดนึกให้ได้ตามที่หลวงปู่เคยสอน แต่ไม่เป็นผลสำเร็จสักที ซ้ำยังเกิดความอึดอัดแน่นใจ สมองมึนงง แต่กระผมก็ยังศรัทธาว่าที่หลวงปู่สอนไว้ย่อมไม่ผิดพลาดแน่ ขอทราบอุบายวิธีต่อไปด้วย

หลวงปู่บอกว่า

“ก็แสดงถึงความผิดพลาดอยู่แล้ว เพราะบอกให้หยุดคิดหยุดนึก ก็กลับไปคิดที่จะหยุดคิดเสียอีกเล่า แล้วอาการหยุดจะอุบัติขึ้นได้อย่างไร จงกำจัดอวิชชาแห่งการหยุดคิด หยุดนึกเสียให้สิ้น เลิกล้มความคิดที่จะหยุดคิดเสียก็สิ้นเรื่อง”


.............................................................................................

ผลคล้ายกันแต่ไม่เหมือนกัน

แรม ๒ ค่ำ เดือน ๑๑ เป็นวันคล้ายวันเกิดของหลวงปู่ ซึ่งพอดีกับวันออกพรรษาแล้วได้ ๒ วันของทุกปี สานุศิษย์ทั้งฝ่ายปริยัติ และฝ่ายปฏิบัติก็นิยมเดินทางไปกราบนมัสการหลวงปู่ เพื่อศึกษาและไต่ถามข้อวัตรปฏิบัติ หรือรายงานผลของการปฏิบัติมาตลอดพรรษา ซึ่งเป็นกิจที่ศิษย์ของหลวงปู่กระทำอยู่เช่นนี้ตลอดมา

หลังจากฟังหลวงปู่แนะนำข้อวัตรปฏิบัติอย่างพิสดารแล้ว หลวงปู่จบลงด้วยคำว่า

“การศึกษาธรรม ด้วยการอ่านการฟัง สิ่งที่ได้ก็คือสัญญา (ความจำได้) การศึกษาธรรมด้วยการลงมือปฏิบัติ สิ่งที่เป็นผลของการปฏิบัติคือภูมิธรรม”


มีต่อ >>>>>

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


มีอยู่จุดเดียว

ในนามสัทธิวิหาริกของหลวงปู่ มีพระมหาทวีสุข สอบเปรียญ ๙ ประโยคได้เป็นองค์แรก ทางวัดบูรพารามจึงจัดฉลองพัดประโยค ๙ ถวาย หลังจากพระมหาทวีสุขถวายสักการะแก่หลวงปู่แล้ว ท่านได้ให้โอวาทแบบปรารภธรรมว่า

“ผู้ที่สามารถสอบเปรียญ ๙ ประโยคได้นั้น ต้องมีความเพียรอย่างมาก และมีความฉลาดเพียงพอ เพราะถือว่าเป็นการจบหลักสูตรฝ่ายปริยัติ และต้องแตกฉานในพระไตรปิฎก การสนใจทางปริยัติเพียงอย่างเดียวพ้นทุกข์ไม่ได้ ต้องสนใจปฏิบัติทางจิตต่อไปอีกด้วย”

หลวงปู่กล่าวว่า

“พระธรรมทั้ง ๘๔,๐๐๐ พระธรรมขันธ์นั้น ออกไปจากจิตของพระพุทธเจ้าทั้งหมด ทุกสิ่งทุกอย่างออกจากจิต อยากรู้อะไรค้นได้ที่จิต”


.............................................................................................

โลกกับธรรม

วันที่ ๑๒ มีนาคม ๒๕๒๒ หลวงปู่ไปพักผ่อนวิเวกอยู่ที่วัดถ้ำศรีแก้ว ภูพาน สกลนคร เป็นเวลา ๑๐ กว่าวัน ค่ำวันสุดท้ายที่หลวงปู่จะเดินทางกลับ ท่านอาจารย์สุวัจน์ พร้อมพระเณรในวัดเข้าไปกราบหลวงปู่เพื่อการอำลาให้หลวงปู่

ท่านกล่าวว่า พักผ่อนอยู่ที่นี่สบายดี อากาศก็ดี ภาวนาก็สบาย นึกถึงบรรยากาศเก่าๆ เมื่อสมัยเที่ยวธุดงค์ แล้วหลวงปู่ก็กล่าวธรรโมวาทมีความตอนหนึ่งว่า

“สิ่งใดซึ่งสามารถรู้ได้ สิ่งนั้นเป็นของโลก สิ่งใดไม่มีอะไรจะรู้ได้ สิ่งนั้นคือธรรม โลกมีของคู่อยู่เป็นนิจ แต่ธรรมเป็นของสิ่งเดียวรวด”


.............................................................................................

ควรถามหรือไม่

ผู้สนใจในทางปฏิบัติหลายท่าน ไม่ว่าบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ บางท่านนอกจากจะตั้งใจปฏิบัติเอาเองแล้ว ยังชอบเที่ยวแสวงหาครูบาอาจารย์ที่มีความชำนาญในการแนะนำสั่งสอน ฟังธรรมจากท่าน เป็นต้น

มีพระนักปฏิบัติคณะหนึ่งจากภาคกลาง ไปพักอยู่หลายวัน เพื่อฟังธรรมและเรียนถามกัมมัฏฐานกับหลวงปู่องค์หนึ่ง พรรณนาความรู้สึกของตนว่า กระผมเข้าหาครูบาอาจารย์มาก็หลายองค์แล้ว ท่านก็สอนดีอยู่หรอก แต่ส่วนมากมักสอนแต่เรื่องระเบียบวินัย หรือวิธีธุดงคกัมมัฏฐาน และความสุขความสงบอันเกิดจากสมาธิเท่านั้น ส่วนหลวงปู่นั้นสอนทางลัด ถึงสิ่งสุดยอดอนัตตา สุญญตา ถึงนิพพาน กระผมขออภัยที่บังอาจถามหลวงปู่ตรงๆ ว่า การที่หลวงปู่สอนเรื่องนิพพานนั้น เดี๋ยวนี้หลวงปู่ถึงนิพพานแล้วหรือยัง

หลวงปู่ปรารภว่า

“ไม่มีอะไรจะถึง และไม่มีอะไรจะไม่ถึง”


.............................................................................................

การปฏิบัติธรรมนั้นเพื่ออะไร

หลวงพ่อเบธ ซึ่งเป็นญาติอย่างใกล้ชิดของหลวงปู่ อยู่ที่วัดโคกหม่อน แม้ท่านจะบวชเมื่อวัยชรา แต่ก็เคร่งครัดต่อการปฏิบัติธุดงค์กัมมัฏฐานอย่างยิ่ง หลวงปู่เคยยกย่องว่าปฏิบัติได้ผลดี

วันหนึ่งท่านอาพาธหนักใกล้จะมรณภาพแล้ว ท่านปรารภว่าอยากเห็นหลวงปู่เป็นครั้งสุดท้ายเพื่อลาตาย อาตมาเรียนหลวงปู่ให้ทราบ เมื่อหลวงปู่ไปถึงแล้ว หลวงพ่อเบธลุกกราบ แล้วล้มตัวนอนตามเดิมโดยไม่ได้พูดอะไร แต่มีอาการยิ้ม และสดชื่นเห็นได้ชัด

ขณะนั้น สุรเสียงอันชัดเจนและนุ่มนวลของหลวงปู่ก็มีออกมาว่า

“การปฏิบัติทั้งหลายที่เราพยายามปฏิบัติมา ก็เพื่อจะใช้ในเวลานี้เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่จะตาย ให้ทำจิตให้เป็นหนึ่ง แล้วหยุดเพ่งปล่อยวางทั้งหมด” (หมายถึงออกจากฌานและดับพร้อม)


.............................................................................................

หวังผลไกล

เมื่อมีแขกหรืออุบาสกอุบาสิกาไปกราบนมัสการหลวงปู่ แต่หลวงปู่มีปกติไม่เคยถามถึงเรื่องอื่นไกล มักถามว่าญาติโยมเคยภาวนาไหม ? บางคนตอบว่าเคย บางคนตอบว่าไม่เคย ในจำนวนนั้นมีคนหนึ่งฉะฉานกว่าใคร เขากล่าวว่า

ดิฉันเห็นว่าพวกเราไม่จำเป็นต้องมาวิปัสสนาอะไรให้มันลำบากลำบนนัก เพราะปีหนึ่งๆ ดิฉันก็ฟังเทศน์มหาชาติจบทั้ง ๑๓ กัณฑ์ตั้งหลายวัด ท่านว่าอานิสงส์การฟังเทศน์มหาชาตินี้จะได้ถึงศาสนาพระศรีอาริย์ จะได้พบแต่ความสุขความสบายอยู่แล้ว ต้องมาทรมานให้ลำบากทำไม

หลวงปู่ว่า

“สิ่งอันประเสริฐที่มีอยู่เฉพาะหน้าแล้วไม่สนใจ กลับไปหวังไกลถึงสิ่งที่เป็นแต่เพียงการกล่าวถึง เป็นลักษณะของคนไม่เอาไหนเลย ก็ในเมื่อมรรคผลนิพพานในศาสนาสมณโคดมในปัจจุบันนี้ยังมีอยู่อย่างสมบูรณ์ กลับเหลวไหลไม่สนใจ เมื่อถึงศาสนาพระศรีอาริย์ ก็ยิ่งเหลวไหลมากกว่านี้อีก”


มีต่อ >>>>>

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


โลกนี้มันก็มีเท่าที่เราเคยรู้มาแล้วนั้นเอง

บางครั้งที่หลวงปู่สังเกตเห็นว่า ผู้มาปฏิบัติยังลังเลใจเสียดายในความสนุกเพลิดเพลินแบบโลกล้วน จนไม่อยากละมาปฏิบัติธรรม

ท่านแนะนำชวนคิดให้เห็นชัดว่า

“ขอให้ท่านทั้งหลายจงสำรวจดูความสุขว่าตรงไหนที่ตนเห็นว่ามันสุขที่สุดในชีวิต ครั้นสำรวจดูแล้วมันก็แค่นั้นแหละ แค่ที่เราเคยรู้เคยพบมาแล้วนั่นเอง ทำไมจึงไม่มากกว่านั้น มากกว่านั้นไม่มี โลกนี้มีอยู่แค่นั้นเอง แล้วก็ซ้ำๆ ซากๆ อยู่แค่นั้น เกิด แก่ เจ็บ ตาย อยู่ร่ำไป มันจึงน่าจะมีความสุขชนิดพิเศษกว่า ประเสริฐกว่านั้น ปลอดภัยกว่านั้น พระอริยเจ้าทั้งหลาย ท่านจึงสละสุขส่วนน้อยนั้นเสีย เพื่อแสวงหาสุขอันเกิดจากความสงบกาย สงบจิต สงบกิเลส เป็นความสุขที่ปลอดภัยหาสิ่งใดเปรียบมิได้เลย”


.............................................................................................

ไม่ยากสำหรับผู้ไม่ติดอารมณ์

วัดบูรพารามที่หลวงปู่ประจำอยู่ตลอดห้าสิบปี ไม่มีได้ไปจำพรรษาที่ไหนเลย เป็นวัดที่ตั้งอยู่ในใจกลางเมืองหน้าศาลากลาง ติดกับศาลจังหวัดสุรินทร์ ด้วยเหตุนี้จึงมีเสียงรบกวนความสงบอยู่ตลอดเวลา โดยเฉพาะเมื่อถึงฤดูงานช้างแฟร์ หรือฤดูเทศกาลแต่ละอย่าง แสงเสียงอึกทึกครึกครื้นตลอดเจ็ดวันบ้าง สิบห้าวันบ้าง ภิกษุสามเณรผู้มีจิตใจยังอ่อนไหวอยู่ ย่อมได้รับความกระทบกระเทือนเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อนำเรื่องนี้กราบเรียนหลวงปู่ทีไร ก็ได้คำตอบทำนองเดียวกันทุกครั้งว่า

“มัวสนใจอะไรกับสิ่งเหล่านั้น ธรรมดาแสงย่อมสว่าง ธรรมดาเสียงย่อมดัง หน้าที่ของมันเป็นเช่นนั้นเอง เราไม่ใส่ใจฟังเสียอย่างก็หมดเรื่อง จงทำตัวเราไม่ให้เป็นปฏิปักษ์กับสิ่งแวดล้อม เพราะมันมีอยู่อย่างนี้ เป็นอยู่อย่างนี้ เพียงแต่ทำความเข้าใจกับมันให้ถ่องแท้ด้วยปัญญาอันลึกซึ้งเท่านั้นเอง”


.............................................................................................

บางทีฟังแล้วก็งงและทึ่ง

อาตมามีส่วนเสียอยู่อย่างหนึ่งคือ ชอบถามหรือพูดกับหลวงปู่แบบทีเล่นทีจริงอยู่เรื่อย ทั้งนี้ก็เพราะหลวงปู่ไม่เคยถือ ท่านเป็นกันเองกับพระเณรผู้ใกล้ชิดอย่างสม่ำเสมอ เช่น ถามท่านว่าในตำรากล่าวว่า มีเทวดามาชุมนุมฟังเทศน์หรือมาเฝ้าพระพุทธเจ้าหลายสิบโกฏินั้น จะมีสถานที่บรรจุพอหรือ เสียงดังทั่วถึงกันหรือ

เมื่อได้ฟังหลวงปู่ตอบแล้วก็งวยงงและอัศจรรย์ใจอย่างยิ่ง เพราะไม่เคยพบในตำราและไม่เคยได้ยินมาก่อน และยิ่งกว่านั้นเพิ่งจะได้ฟังท่านพูดเมื่ออาพาธหนักแล้วใกล้จะมรณภาพด้วย

หลวงปู่ตอบว่า

“เทวดาจะมาชุมนุมกันจำนวนกี่ล้านโกฏิก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะในเนื้อที่หนึ่งปรมาณู เทวดาอยู่ได้ถึงแปดองค์”


.............................................................................................

แบบมโนสาเร่ก็เคยตอบ

ปัญหาโลกแตก ที่ทั้งเด็กและผู้ใหญ่ ทั้งคนมีปัญญาดีและปัญญาอ่อน นำมาถกเถียงกันอย่างไม่เกิดประโยชน์และตกลงกันไม่ได้สักทีว่า ไก่กับไข่อย่างไหนเกิดก่อน ซึ่งส่วนมากเป็นการถามตอบเพื่อเถียงกันเล่นแล้วจบลงไม่ได้ ก็ยังมีผู้นำไปถามโดยคิดว่าหลวงปู่คงไม่ตอบปัญหาแบบนี้ ในที่สุดก็ได้ฟังคำตอบของหลวงปู่อย่างไม่เหมือนใครเลยคือ

วันหนึ่งพระเบิ้มเข้าไปปฏิบัตินวดเท้าถวายท่าน แล้วถามว่า หลวงปู่ ไก่กับไข่อะไรเกิดก่อน

หลวงปู่บอกว่า

“เกิดพร้อมกันนั่นแหละ”


.............................................................................................

กล่าวเตือน

บางครั้งหลวงปู่แทบจะรำคาญกับพวกที่ปฏิบัติเพียงไม่กี่มากน้อย ก็มาถามแบบเร่งผลให้ทันตาเห็น

ท่านกล่าวเตือนว่า

“การปฏิบัติ ให้มุ่งปฏิบัติเพื่อสำรวม เพื่อความละ เพื่อคลายความกำหนัดยินดี เพื่อความดับทุกข์ ไม่ใช่เพื่อเห็นสวรรค์วิมาน หรือแม้พระนิพพานก็ไม่ต้องตั้งเป้าหมายเพื่อจะเห็นทั้งนั้น ให้ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ไม่ต้องอยากเห็นอะไร เพราะนิพพานมันเป็นของว่าง ไม่มีตัวมีตน หาที่ตั้งไม่มี หาที่เปรียบเทียบไม่ได้ ปฏิบัติไปจึงจะรู้เอง”


มีต่อ >>>>>

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


ละอย่างหนึ่งติดอีกอย่างหนึ่ง

ลูกศิษย์ฝ่ายคฤหัสถ์ผู้ปฏิบัติธรรมคนหนึ่ง เข้านมัสการหลวงปู่ รายงานผลการปฏิบัติให้หลวงปู่ฟังด้วยความภาคภูมิใจว่า ปลื้มใจอย่างยิ่งที่ได้พบหลวงปู่วันนี้

ด้วยกระผมปฏิบัติตามที่หลวงปู่แนะนำก็ได้ผลไปตามลำดับคือ เมื่อลงมือนั่งภาวนาก็เริ่มละสัญญาอารมณ์ภายนอกหมด จิตก็หมดความวุ่น จิตรวม จิตสงบ จิตดิ่งสู่สมาธิ หมดอารมณ์อื่น เหลือแต่ความสุข สุขอย่างยิ่ง เย็นสบาย แม้จะให้อยู่ตรงนี้นานเท่าไรก็ได้

หลวงปู่ยิ้มแล้วพูด

“เออ ก็ดีแล้วที่ได้ผล พูดถึงความสุขในสมาธิมันก็สุขจริงๆ จะเอาอะไรมาเปรียบไม่ได้ แต่ถ้าติดอยู่แค่นั้น มันก็ได้แค่นั้นแหละ ยังไม่เกิดปัญญาอริยมรรคที่จะตัด ภพ ชาติ ตัณหา อุปาทานได้ ให้ละสุขนั้นเสียก่อน แล้วพิจารณาขันธ์ห้าให้แจ่มแจ้งต่อไป”


.............................................................................................

ปรารภธรรมเปรียบเทียบ

จิตของพระอริยเจ้าชั้นโลกุตตระนั้น แม้จะยังอยู่ในโลก คลุกคลีกับสิ่งแวดล้อมโดยสถานใด ก็ไม่อาจจูงจิตของท่านให้ไขว้เขวเจือปนกับสิ่งเหล่านั้นได้คือ โลกธรรมไม่อาจครอบงำจิตได้เลยคือ จิตไม่กลับกลายไปเป็นจิตปุถุชนได้อีก ไม่อาจกลับไปอยู่ใต้อำนาจของกิเลสตัณหาได้อีก

“เปรียบเหมือนกะทิมะพร้าวที่คั้นออกมาแล้ว เอาไปสำรอก หรือเคี่ยวด้วยความร้อนจนเป็นน้ำมันออกมาได้แล้ว ย่อมไม่กลับกลายไปเป็นกะทิเหมือนเดิมอีก แม้จะเอาไปปะปนระคนกับกะทิอย่างไร ก็ไม่อาจทำให้น้ำมันนั้นกลายเป็นกะทิเหมือนเดิมได้”


.............................................................................................

ตัวอย่างเปรียบเทียบ

มรรคผลนิพพาน เป็นสิ่งปัจจัตตัง คือ รู้เห็นได้จำเพาะตนโดยแท้ ผู้ใดปฏิบัติเข้าถึง ผู้นั้นเห็นเอง แจ่มแจ้งเอง หมดสงสัยในพระศาสนาได้โดยสิ้นเชิง มิฉะนั้นแล้วจะต้องเดาเอาอยู่ร่ำไป แม้จะมีผู้สามารถอธิบายให้ลึกซึ้งอย่างไร ก็รู้ได้แบบเดา สิ่งใดยังเดาอยู่ สิ่งนั้นก็ยังไม่แน่นอน

ยกตัวอย่างเช่น เต่ากับปลา เต่าอยู่ได้สองโลกคือ โลกบนบกกับโลกในน้ำ ส่วนปลาอยู่ได้โลกเดียวคือ ในน้ำ ขืนมาบนบกก็ตายหมด

วันหนึ่ง เต่าลงไปในน้ำแล้ว ก็พรรณนาความสุขสบายบนบกให้ปลาฟัง ว่ามันมีแต่ความสุขสบาย แสงสีสวยงาม ไม่ต้องลำบากเหมือนอยู่ในน้ำ

ปลาพากันฟังด้วยความสนใจ และอยากเห็นบก จึงถามเต่าว่า บนบกนั้นลึกมากไหม เต่า มันจะลึกอะไร ก็มันบก

เอ บนบกนั้นมีคลื่นมากไหม มันจะคลื่นอะไร ก็มันบก

เอ บนบกนั้นมีเปือกตมมากไหม มันจะมีอะไร ก็มันบก

ให้สังเกตดูคำที่ปลาถาม เอาแต่ความรู้ที่มีอยู่ในน้ำมาถามเต่า เต่าก็ได้แต่ปฏิเสธ

“จิตปุถุชนที่เดามรรคผลนิพพาน ก็ไม่ต่างอะไรกับปลา”


.............................................................................................

ภายนอกกับภายใน

เมื่อเย็นวันที่ ๒ เมษายน ๒๕๒๔ หลังจากหลวงปู่กลับจากราชพิธีในพระราชวัง กำลังพักผ่อนอยู่ที่พระตำหนักทรงพรต วัดบวรนิเวศฯ

มีท่านเจ้าคุณซึ่งเป็นนักปฏิบัติภาวนาองค์หนึ่งเข้าไปเยี่ยมสนทนาธรรมกับหลวงปู่ ขึ้นต้นด้วยคำถามว่า เขาว่าคนที่เป็นยักษ์ในชาติปางก่อน กลับมาเป็นมนุษย์ในชาตินี้นั้น เรียนคาถาอาคมอะไรก็ศักดิ์สิทธิ์ไปทุกอย่าง เป็นความจริงแค่ไหนครับผม

หลวงปู่ลุกขึ้นนั่งฉับไว แล้วตอบว่า

“ผมไม่เคยได้สนใจเรื่องอย่างนี้เลย ท่านเจ้าคุณเคยภาวนาถึงตรงนี้ไหม หสิตุปบาทคือกิริยาที่จิตยิ้มเอง โดยปราศจากเจตนาที่จะยิ้ม เกิดในจิตของเหล่าพระอริยเจ้าเท่านั้นไม่มีในสามัญชน เพราะพ้นเหตุปัจจัยแห่งการปรุงแต่งแล้ว เป็นอิสระด้วยตัวมันเอง”


.............................................................................................

แค่ศีลห้าก็ไม่มี

พระมหาเถระผู้ใหญ่แต่ละรูปนั้น ย่อมจะมีลูกศิษย์เป็นจำนวนมาก ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต บรรดาศิษย์เหล่านั้นจึงมีทั้งดีและเลว โดยเฉพาะศิษย์ฝ่ายพระ องค์ที่ดีก็ดีถมเถไป องค์ที่เลวก็พอมีปะปนอยู่บ้าง เช่น มีพระผู้ใกล้ชิดองค์หนึ่ง ชอบถือวิสาสะจนเกินควรคือ ชอบหยิบเอาข้าวของบางอย่างที่ยังไม่ได้รับอนุญาต มีผู้บอกหลวงปู่ให้ทราบ แต่หลวงปู่ก็ชอบวางเฉยอยู่แล้ว

ครั้งหนึ่ง ท่านต้องการใช้ของอันนั้น จึงใช้ให้พระองค์หนึ่งไปถามหา แต่ถูกปฏิเสธว่าเขาไม่ได้เอาไป พระองค์นั้นจึงกลับมาบอกหลวงปู่ว่าเขาปฏิเสธไม่ได้เอา หลวงปู่ก็ไม่ได้ว่าอะไร เพียงแต่พูดออกมานิดหนึ่งว่า

“พระบางองค์ มัวแต่ตั้งใจรักษาศีล ๒๒๗ จนลืมรักษาศีล ๕”


มีต่อ >>>>>

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:32 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


ไม่เคยเห็นหวั่นไหวในเหตุการณ์อะไร

เวลา ๔ ทุ่มผ่านไปแล้ว เห็นหลวงปู่ยังนั่งพักผ่อนอยู่ตามสบาย จึงเข้าไปกราบเรียนว่า หลวงปู่ครับ หลวงปู่ขาวมรณภาพเสียแล้ว หลวงปูก็แทนที่จะถามว่า ด้วยเหตุใด เมื่อไร ก็ไม่ถาม กลับพูดต่อไปเลยว่า

“เออ ท่านอาจารย์ขาว ก็หมดภาระการแบกหามสังขารเสียที พบกันเมื่อ ๔ ปีที่ผ่านมาเห็นลำบากสังขารต้องให้คนอื่นช่วยเหลืออยู่เสมอ เราไม่มีวิบากของสังขาร เรื่องวิบากของสังขารนี้แม้จะเป็นพระอริยเจ้าชั้นไหนก็ต้องต่อสู้จนกว่าจะขาดจากกันได้ ไม่เกี่ยวข้องกันอีก แต่ตามปกติสภาวะของจิตนั้น มันก็ยังอยู่กับสิ่งเหล่านี้เอง เพียงแต่จิตที่ฝึกดีแล้วเมื่อสิ่งเหล่านี้เกิดขึ้น ย่อมละและระงับได้เร็ว ไม่กังวล ไม่ยึดถือ หมดภาระเกี่ยวข้องกับสิ่งเหล่านั้น มันก็แค่นั้นเอง”


.............................................................................................

ผู้ที่เข้าใจธรรมะได้ถูกต้องหายาก

เมื่อไฟไหม้จังหวัดสุรินทร์ครั้งใหญ่ได้ผ่านไปแล้ว ผลคือความทุกข์ยาก สูญเสียสิ้นเนื้อประดาตัว และเสียใจอาลัยอาวรณ์ในทรัพย์สิน ถึงขั้นเสียสติไปก็หลายราย วนเวียนมาลำเลิกให้หลวงปู่ฟังว่า อุตส่าห์ทำบุญเข้าวัด ปฏิบัติธรรมมาตั้งแต่ปู่ย่าตายาย ทำไมบุญกุศลจึงไม่ช่วย ทำไมธรรมะจึงไม่ช่วยคุ้มครอง ไฟไหม้บ้านวอดวายหมด แล้วเขาเหล่านั้นเลิกเข้าวัดทำบุญไปหลายรายเพราะธรรมะไม่ช่วยเขาให้พ้นจากไฟไหม้บ้าน

หลวงปู่ว่า

“ไฟมันทำตามหน้าที่ของมัน ธรรมะไม่ได้ช่วยใครในลักษณะนั้น หมายความว่าความอันตรธาน ความวิบัติ ความเสื่อมสลาย ความพลัดพรากจากกัน สิ่งเหล่านี้มันมีประจำโลกอยู่แล้ว ทีนี้ผู้มีธรรมะ ผู้ปฏิบัติธรรมะ เมื่อประสบกับภาวะเช่นนั้นแล้ว จะวางใจอย่างไรจึงไม่เป็นทุกข์ อย่างนี้ต่างหาก ไม่ใช่ธรรมะช่วยไม่ให้แก่ ไม่ให้ตาย ไม่ให้หิว ไม่ให้ไฟไหม้ ไม่ใช่อย่างนั้น”


.............................................................................................

ต้องปฏิบัติจึงหมดความสงสัย

เมื่อมีผู้ถามถึง การตาย การเกิดใหม่ หรือถามถึงชาติหน้า ชาติหลัง หลวงปู่ไม่เคยสนใจที่จะตอบ หรือมีผู้กล่าวค้านว่า เชื่อหรือไม่เชื่อ นรกสวรรค์มีจริงหรือไม่จริงประการใด หลวงปู่ไม่เคยค้นคว้าหาเหตุผลเพื่อจะเอาค้านใคร หรือไม่เคยหาหลักฐานเพื่อยืนยัน เพื่อให้ใครยอมจำนนแต่ประการใด ท่านกลับแนะนำว่า

“ผู้ปฏิบัติที่แท้จริงนั้น ไม่จำเป็นต้องคำนึงถึงชาติหน้า ชาติหลัง หรือนรกสวรรค์อะไรก็ได้ ให้ตั้งใจปฏิบัติให้ตรง ศีล สมาธิ ปัญญา อย่างแน่วแน่ก็พอ ถ้าสวรรค์มีจริงถึง ๑๖ ชั้นตามตำรา ผู้ปฏิบัติดีแล้วก็ย่อมได้เลื่อนฐานะของตนเองโดยลำดับ หรือถ้าสวรรค์นิพพานไม่มีเลย ผู้ปฏิบัติดีแล้วในขณะนี้ก็ย่อมไม่ไร้ประโยชน์ ย่อมอยู่เป็นสุขเป็นมนุษย์ชั้นเลิศ การฟังจากคนอื่น การค้นคว้าจากตำรานั้น ไม่อาจแก้ข้อสงสัยได้ ต้องเพียรปฏิบัติ ทำวิปัสสนาญาณให้แจ้ง ความสงสัยก็หมดไปเองโดยสิ้นเชิง”


.............................................................................................

เขาต้องการอย่างนั้นเอง

แม้จะมีคนเป็นกลุ่ม อยากฟังความคิดเห็นของหลวงปู่เรื่องเวียนว่ายตายเกิด ยกบุคคลมาอ้างว่า ท่านผู้นั้นผู้นี้สามารถระลึกชาติย้อนหลังได้หลายชาติว่า ตนเคยเกิดเป็นอะไรบ้าง และใครเคยเป็นแม่เป็นญาติกันบ้าง

หลวงปู่ว่า

“เราไม่เคยสนใจเรื่องอย่างนี้ แค่อุปจารสมาธิก็เป็นได้แล้ว ทุกอย่างมันออกไปจากจิตทั้งหมด อยากรู้อยากเห็นอะไร จิตมันบันดาลให้รู้ให้เห็นได้ทั้งนั้น และรู้ได้เร็วเสียด้วย หากพอใจเพียงแค่นี้ ผลดีที่ได้ก็คือ ทำให้กลัวการเวียนว่ายตายเกิดในภพที่ตกต่ำ แล้วก็ตั้งใจทำดี บริจาคทาน รักษาศีล แล้วก็ไม่เบียดเบียนกัน พากันกระหยิ่มยิ้มย่องในผลบุญของตน ส่วนการที่จะขจัดกิเลสเพื่อทำลายอวิชชา ตัณหา อุปาทาน เข้าถึงความพ้นทุกข์อย่างสิ้นเชิงนั้น อีกอย่างหนึ่งต่างหาก”


.............................................................................................

แปลกดี

หลังจากงานเปิดพิพิธภัณฑ์ท่านอาจารย์มั่นแล้ว หลวงปู่เดินทางต่อไปเพื่อเยี่ยมท่านอาจารย์ฝั้น ที่ถ้ำขาม

สมัยนั้นรถใหญ่ไปได้แค่เชิงเขา หลวงปู่ต้องปีนเขาจากที่ไกลด้วยความเหนื่อยยากอย่างยิ่ง ท่านต้องหยุดพักเหนื่อยหอบเป็นระยะหลายครั้ง อาตมาทุกข์ใจมากที่มีส่วนทำให้หลวงปู่ต้องทรมานสังขารถึงปานนั้น ในที่สุดเมื่อไปถึงศาลาใหญ่บนยอดถ้ำขามแล้ว ท่านอาจารย์ฝั้นกราบหลวงปู่เสร็จ ท่านอาจารย์เทสก์ก็ขึ้นไปถึงพอดี

เมื่อเห็นพระเถระสำคัญทั้งสามรูปไปได้พบกันโดยบังเอิญเช่นนี้ และท่านสนทนาวิสาสะกันด้วยบรรยากาศที่สงบเยือกเย็น ยิ้มแย้มแจ่มใสเช่นนั้น ความทุกข์หายไปหมด ความปลื้มปีติก็เข้ามาแทนที่

ท่านอาจารย์ฝั้นกล่าวแสดงความยินดีกับหลวงปู่ว่า ท่านอาจารย์สุขภาพแข็งแรงดีแท้ อายุปูนนี้แล้วยังสามารถขึ้นถ้ำขามได้

หลวงปู่กล่าวว่า

“ก็ไม่ค่อยแข็งแรงเท่าไรหรอก ผมตริตรองดูแล้ว เห็นว่าไม่มีวิบากของสังขาร เมื่ออาศัยไม่ได้ ปล่อยทิ้งไปเลยเท่านั้นแหละ”


มีต่อ >>>>>

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ยิ่งแปลกอีก

ไม่ต้องสงสัยว่าญาติโยมที่นั่งห้อมล้อมจำนวนมากนั้นจะตื่นเต้นดีใจขนาดไหน ที่เห็นพระเถระสำคัญนั่งอยู่ด้วยกันโดยบังเอิญ คือ หลวงปู่ดูลย์ หลวงปู่ฝั้น หลวงปู่เทสก์ โอกาสเช่นนี้หาได้ง่ายที่ไหน ตากล้องจากสุรินทร์สองคนตั้งหน้าถ่ายรูปเอาอย่างเต็มที่

ขากลับบนรถบัสใหญ่นั่นเอง ช่างถ่ายรูปเห็นว่าทุกคนกระหายที่จะได้รูป เขาจึงพูดว่า จะขยาย ๑๒ นิ้ว จำหน่ายเอาเงินบำรุงวัดป่าจอมพระ อาตมาคิดแต่ในใจว่า การเอารูปครูบาอาจารย์ไปตีราคาจำหน่ายเช่านี้ดูไม่ค่อยงามเท่าไรนัก แต่เขาก็สั่งจองกันเกือบทุกคน

เมื่อช่างเอาฟิล์มไปล้างแล้ว ปรากฏว่าฟิล์มที่อุตส่าห์ถ่ายไม่ต่ำกว่า ๒๐ ครั้งนั้น มีลักษณะใสสะอาดเหมือนหนึ่งท้องฟ้าที่ปราศจากหมอกเมฆ ฉะนั้น ความหวังที่จะได้รูปก็สิ้นสุดลงโดยสิ้นเชิง ยิ่งกว่านั้น การพบกันของพระเถระสำคัญทั้งสามท่านนั้น เป็นการพบกันครั้งสุดท้ายแล้ว


.............................................................................................

ไม่มีนิทานสาธก

อยู่ใกล้ชิดหลวงปู่ตลอดระยะเวลายาวนาน คำสอนของท่านไม่เคยมีนิทานสาธก หรือนิทานสนุกอะไรที่หลวงปู่ยกมาบรรยายให้ฟังสนุกๆ เลย ไม่ว่าชาดกหรือเรื่องประกอบในปัจจุบัน

คำสอนของท่านล้วนแต่เป็นสัจธรรมชั้นปรมัตถ์ หรือไม่ก็เป็นคำจำกัดความอย่างกะทัดรัด ชนิดระมัดระวังหรือคล้ายประหยัดคำพูดอย่างยิ่ง แม้แต่การสอนพิธีกรรมหรือศาสนพิธีและการทำบุญบริจาคทานอะไร ในระดับศีลธรรม หลวงปู่ทำแบบปล่อยวางหมด

ส่วนมากหลวงปู่กล่าวว่า

“เรื่องพิธีกรรม หรือบุญกิริยาวัตถุต่างๆ ทั้งหลาย ก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ยังให้เกิดกุศลได้อยู่ หากแต่ว่าสำหรับนักปฏิบัติแล้ว อาจถือได้ว่าเป็นไปเพื่อกุศลเพียงนิดหน่อยเท่านั้นเอง”


.............................................................................................

ว่าไปตามความเป็นจริงอย่างไร

เมื่อมีผู้ถามว่าหลวงปู่เคยอ่านประวัติท่านอาจารย์มั่นที่มีหลายท่านเขียนไว้อย่างมากมายไหม หลวงปู่ก็ตอบว่าเคยอ่านเหมือนกัน ที่เขาเขียนถึงอภินิหารของท่านต่างๆ นานานั้น หลวงปู่เข้าใจว่าอย่างไร หลวงปู่ว่า เมื่อสมัยเราเคยอยู่กับท่าน ก็ไม่เห็นท่านเล่าบอกว่าอย่างไร

ตามปกติของหลวงปู่ เมื่อท่านเล่าถึงท่านอาจารย์ ท่านจะพูดถึงเฉพาะกิจธุดงค์ของท่านอาจารย์มั่นเท่านั้น ว่าผู้ที่ถือธุดงค์ในรุ่นต่อมา ยังไม่เห็นมีใครถือได้เคร่งครัดเท่าท่านเลยแม้แต่คนเดียว นุ่งห่มเฉพาะผ้าบังสุกุลที่ตัดเย็บย้อมเอง ไม่ใช้ผ้าสำเร็จรูปจากคนอื่น อยู่เสนาสนะป่าตลอดชีวิต ฉันแต่อาหารที่บิณฑบาตได้ในบาตร แม้อาพาธหนัก ยังอุตส่าห์นั่งอุ้มบาตรให้เขาใส่ ไม่ถืออานิสงส์พรรษา ไม่รับกฐิน ตลอดถึงไม่ก่อสร้างหรือชวนทำการก่อสร้าง


.............................................................................................

ปฏิปุจฉา

ด้วยความคุ้นเคยและอยู่ใกล้ชิดหลวงปู่มาเป็นเวลานาน เมื่ออาตมาถามปัญหาอะไรท่าน หลวงปู่ท่านมักจะตอบด้วยการย้อนถามกลับคืน ทำนองให้คิดหาคำตอบเอาเอง

เช่น ถามว่า พระอรหันต์ท่านมีใจสะอาด สว่างแล้ว ท่านอาจรู้เลขหวยได้อย่างแม่นยำหรือครับ

ท่านตอบว่า “พระอรหันต์ท่านใส่ใจเพื่อจะรู้สิ่งเหล่านั้นเองหรือ”

ถามว่า พระอรหันต์ท่านเคยนอนหลับฝันเหมือนคนธรรมดาด้วยหรือเปล่าครับ

ท่านตอบว่า “การหลับแล้วเกิดฝัน เป็นเรื่องของสังขารขันธ์มิใช่หรือ”

ถามว่า พระปุถุชนธรรมดายังหนาด้วยกิเลส แต่มีความสามารถสอนคนอื่นให้เขาบรรลุถึงพระอรหันต์ เคยมีบ้างไหมครับหลวงปู่

ท่านตอบว่า “หมอบางคน ทั้งที่ตนเองยังมีโรคอยู่ แต่ก็เคยรักษาคนอื่นให้หายจากโรคได้ มีอยู่ทั่วไปมิใช่หรือ”


.............................................................................................

ปกตินิสัยประจำตัวของหลวงปู่

ทางกาย มีร่างกายแข็งแรง กระฉับกระเฉงว่องไว สมสัดส่วน สะอาด ปราศจากกลิ่นตัว มีอาพาธน้อย ท่านจะสรงน้ำอุ่นเพียงวันละครั้งเท่านั้น

ทางวาจา เสียงใหญ่ แต่พูดเบา พูดน้อย พูดสั้น พูดจริง พูดตรง ปราศจากมารยาทางคำพูดคือ ไม่พูดเลียบเคียง ไม่พูดโอ๋ ไม่พูดปลอบโยน ไม่พูดประชด ไม่พูดนินทา ไม่พูดขอร้อง ขออภัย ไม่พูดขอโทษ ไม่พูดถึงความฝัน ไม่พูดเล่านิทานชาดกหรือนิทานปรัมปรา เป็นต้น

ทางใจ มีสัจจะ ตั้งใจทำสิ่งใดแล้วทำจนสำเร็จ มีเมตตากรุณาเป็นประจำ สงบเสงี่ยมเยือกเย็น อดทน ไม่เคยมีอาการกระวนกระวายวู่วาม ไม่แสดงอาการอึดอัดหงุดหงิดหรือรำคาญ ไม่แสวงหาของหรือสั่งสมหรืออาลัยอาวรณ์กับของที่สูญหาย ไม่ประมาท รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะ และเบิกบานอยู่เสมอ เป็นอยู่โดยปราศจากทุกข์ ไม่หวั่นไหวไปตามเหตุการณ์ ไม่ถูกภาวะอื่นครอบงำ

ท่านสอนอยู่เสมอว่า

“ให้ทำความเข้าใจกับสภาวธรรมอย่างชัดแจ้งว่า เกิดขึ้น เปลี่ยนแปลงสลายไป อย่าทุกข์โศกเพราะสภาวะนั้นเป็นเหตุ”


มีต่อ >>>>>

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


มีเวทนาหนัก แต่ไม่หนักด้วยเวทนา

หลวงปู่อาพาธหนักอยู่ที่โรงพยาบาลจุฬาฯ เป็นวันที่ ๑๗ ของการอยู่โรงพยาบาล คืนนั้น หลวงปู่มีอาการอ่อนเพลียอย่างมาก ถึงต้องใช้ออกซิเจนช่วยหายใจโดยตลอด เวลาดึกมากแล้ว คือหกทุ่มกว่า ท่านอาจารย์ยันตระ พร้อมด้วยบริวารหลายท่านเข้าไปขอกราบเยี่ยมหลวงปู่ เห็นเป็นกรณีพิเศษจึงให้ท่านเข้าไปกราบเยี่ยมได้ หลวงปู่นอนตะแคงขวา หลับตาตลอด เมื่อคณะของท่านอาจารย์ยันตระกราบมนัสการแล้ว ท่านอาจารย์ยันตระขยับก้มไปชิดหูหลวงปู่ แล้วถามว่า “หลวงปู่ยังมีเวทนาอยู่หรือ”

หลวงปู่ตอบว่า

“เวทนากับร่างกายนั้นมีอยู่ตามธรรมชาติของมัน แต่ไม่ได้เสวยเวทนานั้นเลย”


.............................................................................................

เดินทางลัดที่ปลอดภัย

เมื่อวันที่ ๒๐ มีนาคม ๒๕๒๖ ก่อนที่หลวงปู่จะกลับจากโรงพยาบาลจุฬาฯ ได้ชักชวนกันทำบุญถวายสังฆทาน เพื่ออุทิศส่วนกุศลแด่บรรพชนที่สร้างโรงพยาบาล ที่ล่วงลับไปแล้ว

เมื่อพิธีถวายสังฆทานผ่านไปแล้ว มีนายแพทย์และนางพยาบาลจำนวนหนึ่งเข้าไปกราบนมัสการหลวงปู่ แสดงความดีใจที่หลวงปู่หายจากอาพาธครั้งนี้ พร้อมทั้งกล่าวปิยวาจาว่า หลวงปู่มีสุขภาพอนามัยแข็งแรงดี หน้าตาสดใสเหมือนกับไม่ได้ผ่านการอาพาธมา คงจะเป็นผลจากที่หลวงปู่มีภาวนาสมาธิจิตดี พวกกระผมมีเวลาน้อย หาโอกาสเพียรภาวนาสมาธิได้ยาก มีวิธีใดบ้างที่จะปฏิบัติได้ง่ายๆ หรือโดยย่อที่สุด

หลวงปู่ตอบว่า

“มีเวลาเมื่อไร ให้ปฏิบัติเมื่อนั้น การฝึกจิต การพิจารณาจิตเป็นวิธีลัดที่สุด”


.............................................................................................

ทั้งหมดอยู่ที่ความประพฤติ

ตลอดชีวิตของหลวงปู่ ท่านไม่เคยยอมรับกับการถือฤกษ์งามยามดีอะไรเลย แม้จะถูกถามหรือถูกขอให้บอกเพียงว่า จะบวชวันไหน จะสึกวันไหน หรือวันเดือนปีไหนดีเสียอย่างไร หลวงปู่ก็ไม่เคยเผลอเอออวยด้วย มักจะพูดว่า วันไหนเดือนไหนก็ดีทั้งนั้นแหละ คือถ้ามีผู้ขอเช่นนั้น ท่านมักให้เขาหาเอาเอง หรือมักบอกว่า วันไหนก็ได้ ถ้าสะดวกดีแล้วเป็นฤกษ์ดีทั้งหมด

หลวงปู่สรุปลงว่า

“ทุกอย่างรวมอยู่ที่ความประพฤติ คือ ฤกษ์ดี ฤกษ์ร้าย โชคดี โชคร้าย เรื่องเคราะห์กรรม บาป บุญ อะไรทั้งหมดนี้ ล้วนออกไปจากความประพฤติของมนุษย์ทั้งนั้น”


.............................................................................................

เปรียบเทียบให้ฟัง

ความอยากรู้อยากเห็น เพื่อบรรเทาความสงสัยของตนให้ได้นั้น ย่อมมีอยู่สำหรับชนผู้เจริญโดยทั่วไป วิชาแต่ละศาสตร์แต่ละสาขา ตั้งไว้เพื่อให้มนุษย์เกิดสงสัยอยากรู้ แล้วเพียรพยายามศึกษาปฏิบัติเพื่อรู้ถึงจุดหมายปลายทางของแต่ละศาสตร์นั้น

แต่พุทธศาสตร์ต้องศึกษาและปฏิบัติอย่างสมดุล และความเพียรขั้นอุกฤษฏ์ เพื่อเข้าถึงสิ่งสูงสุดของพุทธธรรมด้วยตนเองหมดข้อสงสัยได้เองโดยสิ้นเชิง

เปรียบเหมือนคนบ้านนอกที่ไม่เคยเห็นกรุงเทพฯ มีคนอธิบายให้ฟังว่า ที่กรุงเทพฯ นั้น นอกจากมีความเจริญอย่างอื่นแล้วยังมีกำแพงแก้วและภูเขาทองทั้งลูกอันมหึมาอีกด้วย เขาจึงตั้งใจไปกรุงเทพฯ ให้ได้ โดยคิดว่าจะไปเอาแก้วที่กำแพงและไปเอาทองที่ภูเขา ครั้นเพียรพยายามไปจนถึงแล้ว ผู้รู้ก็ชี้บอกว่า นี่คือกำแพงแก้ว นี่คือภูเขาทอง เพียงแค่นี้ความตั้งใจและความสงสัยของเขาก็สิ้นสุดลงทันที

“มรรคผลนิพพานก็เช่นนั้นเหมือนกัน”


.............................................................................................

ไม่เคยกระทำแบบแสดง

หลวงปู่ไม่มีมายาในทางอยากโชว์เพื่อให้เด่น ให้สง่าแก่ตนเอง เช่น การถ่ายรูปของท่าน ถ้าใครอยากจะถ่ายรูปท่าน ก็ต้องหาจังหวะให้ดีระหว่างที่ท่านห่มผ้าใส่สังฆาฏิเรียบร้อยเพื่อลงปาฏิโมกข์ หรือบวชนาคหรือเข้าพิธีกรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง แล้วขอถ่ายรูปท่านในจังหวะนี้ย่อมได้ง่าย เมื่อท่านอยู่ตามธรรมดา แล้วขอร้องให้ท่านลุกไปห่มผ้ามาตั้งท่าให้ถ่าย แบบนี้หวังได้ยากอย่างยิ่ง เช่น มีสุภาพสตรีท่านหนึ่งจากกรุงเทพฯ นำผ้าห่มชั้นดีไปถวายหลวงปู่เมื่อหน้าหนาว พอถึงเดือนห้าหน้าร้อน เผอิญเขาได้ไปกราบหลวงปู่อีก จึงขอให้ท่านเอาผ้ามาห่มให้เขาถ่ายรูปด้วย เพราะตอนถวายไม่ได้ถ่ายไว้

หลวงปู่ปฏิเสธว่า ไม่ต้องหรอก แม้เขาจะขอเป็นครั้งที่สองที่สาม ท่านก็ว่าไม่ต้องไม่จำเป็นอยู่นั่นเอง

เมื่อสุภาพสตรีนั้นลากลับไปแล้ว อาตมาไม่ค่อยสบายใจ ก็ถามท่านว่า โยมเขาไม่พอใจหลวงปู่ทราบไหม

หลวงปู่ยิ้มแล้วตอบว่า

“รู้อยู่ ที่เขามีความไม่พอใจ ก็เพราะใจเขามีความไม่พอ”


มีต่อ >>>>>

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:35 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


สิ้นชาติขาดภพ

พระมหาเถระผู้ใหญ่ฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐาน สนทนาธรรมะขั้นปรมัตถ์กับหลวงปู่หลายข้อ แล้วลงท้ายด้วยคำถามว่า พระเถระนักปฏิบัติบางท่าน มีปฏิปทาดี น่าเชื่อถือ แม้พระด้วยกันก็ยอมรับว่าท่านเป็นผู้มั่นคงในพระศาสนาแต่ในที่สุดก็ไปไม่รอด ถึงขั้นต้องสึกหาลาเพศไปก็มี หรือไม่ก็ทำไขว้เขว ประพฤติตัวมัวหมองอยู่ในพระธรรมวินัยก็มี จึงไม่ทราบว่าจะปฏิบัติถึงขั้นไหนอีก จึงจะตัดวัฏสงสารให้สิ้นภพสิ้นชาติได้

หลวงปู่กล่าวว่า

“การสำรวจสำเหนียกในพระวินัยอย่างเคร่งครัดและสมาทานถือธุดงค์นั้น เป็นปฏิปทาที่ดีงามอย่างยิ่งน่าเลื่อมใส แต่ถ้าเจริญจิตไม่ถึงอธิจิต อธิปัญญาแล้ว ย่อมเสื่อมลงได้เสมอ เพราะยังไม่ถึงโลกุตตรภูมิ ที่จริงพระอรหันต์ทั้งหลายท่านไม่ได้รู้อะไรมากมายเลย เพียงแต่เจริญจิตให้รู้แจ้งในขันธ์ห้า แทงตลอดในปฏิจจสมุปบาท หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาจิต มันก็จบแค่นี้ เหลือแต่บริสุทธิ์ สะอาด สว่าง ว่าง มหาสุญญตา ว่างมหาศาล”


.............................................................................................

อยู่อย่างไรปลอดภัยที่สุด

จำได้ว่าเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๑๙ มีพระเถระ ๒ รูป เป็นพระฝ่ายวิปัสสนากัมมัฏฐานจากทางอีสานเหนือ แวะไปกราบนมัสการหลวงปู่ แล้วสนทนาธรรมเรื่องการปฏิบัติ เป็นที่เกิดศรัทธาปสาทะและดื่มด่ำในรสพระธรรมอย่างยิ่ง

ท่านเหล่านั้นกล่าวย้อนถึงคุณงามความดี ตลอดจนถึงภูมิธรรมของครูบาอาจารย์ที่ตนเคยไปพำนักศึกษาปฏิบัติมาด้วยเป็นเวลานานว่า หลวงปู่องค์โน้นมีวิหารธรรมคืออยู่กับสมาธิตลอดเวลา อาจารย์องค์นี้อยู่กับพรหมวิหารเป็นปกติ คนจึงนับถือท่านมาก หลวงปู่องค์นั้นอยู่กับอัปปมัญญาพรหมวิหาร ลูกศิษย์ของท่านจึงมากมายทั่วสารทิศไม่มีประมาณ ดังนี้เป็นต้น ท่านจึงมีแต่ความปลอดภัยจากอันตรายตลอดมา

หลวงปู่กล่าวว่า

“เออ ท่านองค์ไหนมีภูมิธรรมแค่ไหน ก็อยู่กับภูมิธรรมนั้นเถอะ เราอยู่กับ ‘รู้’ ”


.............................................................................................

สนทนาต่อมา

ครั้นเมื่อพระเถระทั้งสองรูป ได้ฟังคำพูดของหลวงปู่ว่า หลวงปู่ท่านอยู่กับ “รู้” ต่างองค์ก็นิ่งสงบชั่วระยะหนึ่ง แล้วก็เรียนถามหลวงปู่ต่อไปว่า อาการที่ว่าอยู่กับรู้ มีลักษณะเป็นอย่างไร

หลวงปู่ตอบอธิบายว่า

‘รู้’ (อัญญา) เป็นปกติจิตที่ “ว่าง สว่าง บริสุทธิ์ หยุดการปรุงแต่ง หยุดการแสวงหา หยุดกิริยาของจิต ไม่มีอะไรเลย ไม่ยึดถืออะไรสักอย่าง”


.............................................................................................

ถึงที่สุดแห่งทุกข์

หลวงปู่เป็นผู้มีวาจาบริสุทธิ์ เพราะท่านชอบกล่าวแต่สิ่งที่เป็นสัจธรรมแท้ กล่าวแต่จุดมุ่งหมายอันสูงสุดของพระพุทธศาสนา กล่าวแต่พระกระแสธรรมที่เป็นไปเพื่อความพ้นทุกข์โดยส่วนเดียว สังเกตจากพุทธดำรัสที่หลวงปู่ชอบหยิบยกมาพูดให้ฟังบ่อยที่สุด คือหลวงปู่ว่า

พระพุทธเจ้าตรัสเตือนว่า

“ภิกษุทั้งหลาย อายตนะนั้นมีอยู่ ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ อากิญจัญญายตนะ เนวสัญญานาสัญญายตนะ โลกนี้ โลกหน้า ดวงอาทิตย์ ดวงจันทร์ เหล่านี้ย่อมไม่มีในอายตนะนั้น

ดูกร ภิกษุทั้งหลาย เราไม่ได้กล่าวถึงอายตนะนั้นว่าเป็นการมา เป็นการไป เป็นการตั้งอยู่ เป็นการจุติ เป็นการอุบัติ อายตนะนั้นหาที่ตั้งอาศัยไม่ได้ ไม่ได้เป็นไป หาอารมณ์ไม่ได้ นั่นแลเป็นที่สุดแห่งทุกข์”


.............................................................................................

อาพาธครั้งสุดท้าย

หลวงปู่กลับจากรักษาพยาบาลที่โรงพยาบาลในครั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่าท่านหายจากโรคอย่างเด็ดขาดแต่ประการใด หากแต่ว่าท่านอาศัยความอดทนอย่างยิ่ง และดำรงอยู่ต่อมาได้เพียงแปดเดือนเท่านั้น

ในโอกาสที่เป็นวันคล้ายวันเกิดของท่านคือครบรอบ ๙๖ ปี ได้จัดงานทำบุญฉลองเป็นกรณีพิเศษ หลวงปู่เริ่มมีอาการผิดปกติคือ อ่อนเพลียอย่างมาก กระสับกระส่ายและจับไข้เป็นครั้งคราว

อาตมากราบเรียนท่านว่า ขอนำท่านไปโรงพยาบาลจุฬาฯ อีกครั้ง ท่านบอกว่าไม่ต้องไป และพูดสำทับว่าห้ามเอาท่านไป เพราะถึงไปก็ไม่หาย เรียนท่านว่าเมื่อก่อนหลวงปู่เป็นหนักกว่านี้ยังหาย ครั้งนี้หลวงปู่เป็นไม่มากต้องหายแน่ ท่านว่า

“นั่นมันคราวก่อน นี่มันไม่ใช่คราวก่อน”


มีต่อ >>>>>

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


ลักษณาการเข้าสู่มรณภาพ

วันที่ ๒๙ ตุลาคม ๒๕๒๖ ตั้งแต่เวลาบ่ายโมงผ่านไปแล้ว อาการป่วยก็ทรงๆ อยู่ แต่สีผิวพรรณวรรณะสดใสเปล่งปลั่งอย่างผิดปกติ ทั้งพระและคฤหัสถ์ก็มาร่วมงานจำนวนมาก ทั้งพระบ้านและพระป่า

เวลา ๑๕.๐๐ น. พระเถระฝ่ายป่าได้เข้าไปถวายสักการะที่กุฏิหลวงปู่จำนวนมาก ท่านลุกขึ้นสนทนาธรรมะและแนะแนวข้อปฏิบัติธรรมให้ท่านสานุศิษย์เหล่านั้นฟังด้วยถ้อยคำที่ชัดเจน และลำดับกระแสธรรมข้อปฏิบัติไปตลอดสาย เหมือนหนึ่งแก้ข้อข้องใจให้ท่านเหล่านั้นฟัง เป็นการทบทวนข้อปฏิบัติที่ท่านเคยสอนมา

เวลาดึกใกล้สี่ทุ่มเข้าไปแล้ว หลวงปู่จึงให้พาท่านออกมาข้างนอกกุฏิ แล้วใช้สายตามองไปรอบๆ บริเวณวัดอย่างละเอียดอ่อน ซึ่งหามีใครทราบไม่ว่า นั่นเป็นการมองดูอะไรๆ ครั้งสุดท้ายแล้ว


.............................................................................................

ทบทวนธรรมานุสติครั้งสุดท้าย

เวลาสี่ทุ่มผ่านไป หลวงปู่ให้พาท่านเข้าห้องนอนเหมือนเดิม ท่านอยู่ในอิริยาบถนอนหงาย หนุนหมอนสูง ให้พระที่อยู่ในห้องแปดเก้ารูปสวดมนต์เจ็ดตำนานย่อให้ฟัง จบแล้วสั่งให้สวดสติสัมโพชฌงค์ ๓ จบ แล้วให้สวดปฏิจจสมุปบาทอีก ๓ รอบ

หลังจากนั้นหลวงปู่ให้สวดมหาสติปัฏฐานสูตรให้ฟัง พระในที่นั้นไม่มีองค์ไหนสวดได้สักองค์ ท่านบอกให้เปิดหนังสือสวด เผอิญหนังสือก็ไม่มีอีก เดชะบุญที่ท่านอาจารย์พูนศักดิ์ซึ่งอยู่เฝ้ารักษาพยาบาลหลวงปู่ตลอดมา มีหนังสือสวดมนต์ฉบับหลวงติดมาด้วย จึงหยิบมาเปิดหาพระสูตรนั้น

มัวพลิกหาอยู่เป็นเวลานาน หลวงปู่สั่งว่า เอามานี่ ท่านหยิบเอามาเปิดเองโดยไม่ต้องดู แล้วบอกว่าสวดตรงนี้ ทำให้พระทุกองค์แปลกใจมาก เพราะตรงกับมหาสติปัฏฐานสูตรพอดี คือหน้า ๑๗๒ พระสูตรนี้ยาวมาก ใช้เวลาสวดให้หลวงปู่ฟังถึง ๒ ชั่วโมงกว่าจึงจบ ท่านฟังโดยอาการอันสงบ


.............................................................................................

ปัจฉิมพจน์ของหลวงปู่

เมื่อหลวงปู่ฟังพระสวดมหาสติปัฏฐานจบลงแล้ว สักครู่หนึ่งต่อมา ท่านกล่าวปรารภถึงลักษณาการที่พระพุทธเจ้าเข้าสู่ปรินิพพานตั้งแต่เริ่มต้นมาจนตลอด ซึ่งจะขอจับเอาใจความตอนท้ายไว้ในที่นี้ว่า

“พระพุทธเจ้า พระองค์ไม่ได้เข้าสู่นิพพานในฌานสมาบัติอะไรที่ไหนหรอก เมื่อพระองค์ออกจากจตุตถฌานแล้ว จิตขันธ์ หรือนามขันธ์ ก็ดับพร้อม ไม่มีอะไรเหลือ นั่นคือพระองค์ดับเวทนาขันธ์ในภาวะจิตตื่น หรือวิถีจิตอันปกติของมนุษย์ ครบพร้อมทั้งสติและสัมปชัญญะ ไม่ถูกภาวะอื่นใดมาครอบงำอำพรางให้หลงใหลใดๆ ทั้งสิ้น เป็นภาวะแห่งตนเองอย่างบริบูรณ์ ภาวะอันนั้นจะเรียกว่า มหาสุญญตา หรือจักวาฬเดิม หรือเรียกว่าพระนิพพานอย่างใดอย่างหนึ่งก็ได้ เราปฏิบัติมาก็เพื่อเข้าถึงภาวะอันนั้นเอง”

วจีสังขารคือ วาจาของหลวงปู่ก็สิ้นสุดลงเพียงแค่นี้


.............................................................................................

ป่าดงเกิดขึ้นในเมือง

โปรดย้อนหลังไปดูเหตุการณ์เมื่อสมัยใกล้ร้อยปีที่ผ่านมา

สมัยนั้นแล คณะธุดงค์ของหลวงปู่ได้แยกทางจากคณะท่านพระอาจารย์มั่น รวมสี่รูปด้วยกัน ออกไปทางอำเภอท่าคันโท กาฬสินธุ์ พากันธุดงค์ไปอยู่ ณ ป่าทึบแห่งหนึ่ง คณะของหลวงปู่ได้รับความยากลำบากอย่างยิ่ง ต้องต่อสู้กับป่าดงพงไพร สิงสาราสัตว์ทุกชนิด ตลอดถึงต่อสู้กับไข้ป่าอย่างร้ายแรง ในที่สุดพระเพื่อนธุดงค์รูปหนึ่งทนต่อไข้ป่าไม่ไหว ได้ถึงแก่มรณภาพไปต่อหน้าหมู่คณะอย่างน่าเวทนา ยิ่งกว่านั้น เมื่อหลวงปู่แยกจากคณะพาเณรน้อยธุดงค์ไปอยู่ด้วยกันเพียงสองรูปที่ป่าอีกแห่งหนึ่งใกล้บ้านกุดก้อม ไข้ป่ายังตามไปรังควาญชีวิตของเณรน้อยจนถึงแก่ความตายไปต่อหน้าหลวงปู่ อย่างน่าสงสารสลดใจยิ่งนัก สาเหตุก็เพราะขาดหยูกยาที่จะรักษาพยาบาลนั่นเอง

แล้วก็โปรดย้อนกลับมาดูเหตุการณ์เมื่อเวลาตี ๔ ของวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ สภาพป่าในสมัยนั้นได้ย้อนมาเกิดขึ้นอีกครั้งหนึ่ง ณ ห้องนอนของหลวงปู่ เพราะขณะที่หลวงปู่กำลังอาพาธหนักอยู่นั้น พยาบาลสักคนหนึ่งก็ไม่มี น้ำเกลือสักหยดหนึ่งก็ไม่มี จะมีก็แต่ศิษย์ฝ่ายสงฆ์นั่งห้อมล้อมอยู่อย่างสงบ เหมือนหนึ่งพร้อมใจกันถวายเสรีภาพ ให้หลวงปู่มีอิสระอย่างเต็มที่ในการปล่อยวางสังขารขันธ์ โดยการมรณภาพที่ไม่ปรากฏร่องรอยและบริสุทธิ์สงบเยือกเย็นอย่างสิ้นเชิง


.............................................................................................

แม้กาลเวลาก็เหมาะสม

พระพุทธองค์ท่านทรงบำเพ็ญเพียรค้นคว้าสัจธรรมตลอดเวลาถึง ๖ ปี ครั้นได้ตรัสรู้ ก็ตรัสรู้เมื่อเวลาใกล้รุ่ง คือ ตี ๔ ล่วงไปแล้ว ครั้นตรัสรู้แล้ว ทรงบำเพ็ญพุทธกิจตลอด ๔๕ ปี ก็ใช้เวลาตี ๔ กว่านี้ แผ่พระญาณสอดส่องดูหมู่สัตว์ผู้ควรได้รับการเสด็จไปโปรด ถึงคราวพระองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน ก็เป็นเวลาเดียวกันนั้นอีก

อันสังขารธรรมหนึ่ง ซึ่งอุบัติขึ้นเมื่อวันที่ ๔ ตุลาคม ๒๔๓๑ ณ บ้านปราสาท อำเภอเมือง สุรินทร์ ได้เจริญเติบโตและรุ่งเรืองมาโดยลำดับกาล ดำเนินชีวิตของตนอย่างถูกต้องงดงาม อยู่ภายใต้ผ้ากาสาวพัสตร์จนตลอดอายุขัย ประพฤติปฏิบัติตนเป็นแบบอย่างที่ดีงาม สมเป็นเนื้อนาบุญอันเอกของโลก ได้บำเพ็ญประโยชน์ตนและประโยชน์ผู้อื่นอย่างสมบูรณ์ตลอดมา ตราบเท่าถึงวันที่ ๓๐ ตุลาคม ๒๕๒๖ หลวงปู่ก็ปล่อยวางสังขารขันธ์ให้ดับลงแล้ว เมื่อเวลา ๐๔.๑๓ น. เหมือนอย่างนั้นนั่นเอง

สิ่งที่น่าอัศจรรย์ก็คือ วันนั้นเป็นวันที่คณะศิษย์ทั้งหลาย ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์ ทั้งฝ่ายคามวาสีและอรัญวาสี มาประชุมพร้อมเพรียงกันทำบุญฉลองอายุครบรอบ ๙๖ ปี คือ ๘ รอบถวายท่านเป็นกรณีพิเศษ ซึ่งเท่ากับเตรียมพร้อมอยู่แล้ว


.............................................................................................

ผู้ไม่มีวิบากของสังขาร

เพิ่งจะเข้าใจได้ตอนนี้เองที่หลวงปู่เคยพูดว่า ท่านไม่มีวิบากของสังขาร

เพราะแม้ท่านมีอายุผ่าน ๙๖ ปีล่วงแล้วก็จริง แต่ร่างกายท่านแข็งแรง ว่องไว สะอาด สงบ เยือกเย็น รุ่งเรืองด้วยสติสัมปชัญญะอย่างสมบูรณ์ ไม่หลงลืม เผอเรอใดๆ ทั้งสิ้น

เมื่อถึงคราวดับสังขาร ก็ดับลงอย่างสงบ ไม่มีร่องรอยในการลำบากขันธ์ ทรมานตน ไม่ให้ผู้อยู่ใกล้ชิดต้องลำบากกายใจในการรักษาพยาบาล ไม่เปลืองหมอ ไม่เปลืองยา ไม่เปลืองเวลาของท่านผู้ใด

ท่ามกลางความสงบเงียบของเวลาตี ๔ กว่า ปราศจากผู้คนและยวดยานพาหนะทุกชนิด แม้ต้นไม้ใบหญ้าก็สงบเงียบ อากาศเย็นยะเยียบพร้อมกับมีละอองฝน ลงมาโปรยปรายคล้ายหิมะลง หลวงปู่ผู้วิสุทธิสงฆ์ก็ปลงเสียแล้วซึ่งสังขารธรรม คงทิ้งไว้แต่โดยพระคุณทั้งหลายให้รำลึกและอาลัยอาวรณ์อย่างมิรู้แล้ว


มีต่อ >>>>>

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

หลักธรรมของหลวงปู่ดูลย์ อตุโล

จิตคิด จิตเกิด จิตไม่คิด จิตไม่เกิด
จิตคิด จิตถูกทำลาย จิตไม่คิด จิตไม่ถูกทำลาย
จิตปรุงแต่ง จิตถูกทำลาย จิตไม่ปรุงแต่ง จิตไม่ถูกทำลาย
จิตแสวงหา จิตถูกทำลาย จิตไม่แสวงหา จิตไม่ถูกทำลาย
จิตปรารถนา จิตถูกทำลาย จิตไม่มีความกำหนัด จิตไม่ถูกทำลาย
ทิ้งหมด รู้หมด ทิ้งหมด ได้หมด
ไม่ทิ้งเลย ไม่รู้เลย ไม่ทิ้งเลย ไม่ได้เลย
ทรงจิตเข้ามรรคจิต แล้วจิตพิจารณาจิต
รู้ธรรมในจิต แล้วถนอมมรรคจิต จงทำให้ชำนิชำนาญ

จิตอบรมจิต รู้ธรรมภายในจิต แล้วอบรมธรรมในธรรมภายในจิต
ผู้รู้ไม่คิด ผู้คิดยังไม่รู้ รู้แล้วไม่ต้องคิดก็เกิดปัญญา
เอาธรรมมาอบรมธรรม รู้ธรรมในธรรม
เอาธรรมชาติมาปฏิบัติธรรมชาติ ให้รู้ธรรมชาติในธรรมชาติ
เอาธาตุมาปฏิบัติธาตุ ให้รู้ธาตุในธาตุ
เอาธรรมอบรมในธรรม เอาจิตอบรมในจิต ให้รู้ธรรมภายในจิต
รู้แล้วละวาง ปล่อยทิ้ง และไม่อาลัย และไม่ยึดมั่นธรรมต่างๆ
ธรรมที่เกิดขึ้นภายในจิต ทั้งฝ่ายดีและฝ่ายชั่ว
บาปบุญเปรียบเหมือนมารยา เกิดขึ้นแล้วดับ ปล่อยทิ้งทั้งสอง
มีแต่ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน
สิ้นแห่งความรู้ หุบปากเงียบ อิ่มในธรรม
ธรรมเติมธรรม ไม่มีธรรม นั่นคือธรรม

อย่าปล่อยให้จิตปรุงแต่งมากนัก
ข้อสำคัญ ให้รู้จัก.....จิต.....ของเราเท่านั้นเอง
เพราะว่าจิตคือ “ตัวหลักธรรม”
นอกจากจิตแล้ว ไม่มีหลักธรรมใดๆ เลย
ภาวนามากๆ แล้วจะรู้ถึงความเป็นจริง
เท่านั้นเอง.....ไม่มีอะไรมากมาย.....มีเท่านั้น


เปล่า.....เปล่า.....บริสุทธิ์



>>>>> จบ >>>>>

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2009, 19:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 04 มิ.ย. 2004, 01:20
โพสต์: 1785


 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

ขอขอบพระคุณ... คุณนิด ธนัญญา ล่ามกิจจา
nid_a61@hotmail.com
สมาชิกลำดับที่ : 89 เป็นพิเศษ

สำหรับการเป็นผู้พิมพ์เนื้อหาทั้งหมดของหนังสือ “หลวงปู่ฝากไว้”
ของ พระราชวุฒาจารย์ (หลวงปู่ดูลย์ อตุโล) ลงในเว็บธรรมจักร นะค่ะ

ขอให้การเสียสละตนเองเพื่อส่วนรวมและพระพุทธศาสนา นำมาซึ่งความ
เจริญรุ่งเรืองร่มเย็นในพระธรรมของพระพุทธองค์นะค่ะ คุณนิด ธนัญญา

.....................................................
ผู้ใดประพฤติธรรม ผู้นั้นชื่อว่าบูชาตถาคตอย่างยิ่ง


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2012, 07:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ส.ค. 2018, 06:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-2
Moderators-2
ลงทะเบียนเมื่อ: 05 มิ.ย. 2009, 10:51
โพสต์: 2758


 ข้อมูลส่วนตัว


:b8: :b8: :b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 28 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 3 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร