วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:32  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 48 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 11 มิ.ย. 2019, 19:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


24. ผู้ละเมิดตติยาปาราชิกคนแรก
[ภิกษุฉัพพัคคีย์ กลุ่มหกคน] - การฆ่ามนุษย์

คราวนี้ละมิดปาราชิกข้อที่ 3 กันเป็นคณะเลยทีเดียว ไม่ใช่คนเดียวดังกรณีอื่น มีเรื่องเล่าว่า เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ ป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี พระองค์ทรงแสดงอสุภกรรมฐาน (ว่าด้วยความไม่สวยงามแห่งร่างกาย) ให้พระภิกษุสงฆ์ฟัง

แสดงจบพระองค์ก็ตรัสว่า พระองค์จะหลีกเร้นอยู่กึ่งเดือน ห้ามใครรบกวน ยกเว้นพระภิกษุที่นำบิณฑบาตไปถวาย ภิกษุสงฆ์ที่ได้ฟังพระธรรมเทศนาเรื่องความไม่งามของร่างกาย อาจจะ “อิน” มากไปหน่อยหรืออย่างไรไม่ทราบ ต่างก็เบื่อหน่าย ระอา สะอิดสะเอียนในความสกปรกเน่าเหม็นแห่งสรีระร่างกายของตนจนไม่อยากจะมีชีวิตอยู่ บ้างก็ฆ่าตัวตาย บ้างก็ไหว้วานให้คนอื่นช่วยปลงชีวิตตน

ในวัดนั้นก็มี “สมณกุตตกะ” คนหนึ่งอาศัยอยู่ด้วย เป็นชายแก่ อาศัยข้าวก้นบาตรพระยังชีพ รับใช้พระในเรื่องเล็กๆ น้อยๆ นุ่งห่มด้วยผ้ากาสาวพัสตร์เช่นเดียวกับพระสงฆ์ (คือเอาผ้าสบงจีวรพระมานุ่งห่ม แต่มิใช่พระสงฆ์) โบราณาจารย์แปลว่า “ตาเถน”

ภิกษุหลายรูปก็วานให้ “ตาเถน” คนนี้ช่วยปลงชีวิตให้ แรกๆ แกก็ตะขิดตะขวงใจ ที่ทำให้พระถึงแก่มรณภาพ แต่เมื่อพระสงฆ์ท่านบอกว่า เป็นการช่วยให้พวกท่านพ้นจากความทุกข์ ก็เลยเบาใจ ทำได้ครั้งหนึ่งแล้วก็ทำต่อๆ ไปโดยไม่รู้สึกผิดอะไร ตกลง “ตาเถน” คนนี้ปลงชีวิตพระไปหลายรูป จนพระอารามที่มีพระหนาแน่น เบาบางลงถนัด

พระพุทธองค์เสด็จออกจากที่หลีกเร้น ทอดพระเนตรเห็นพระบางตา ตรัสถามพระอานนท์ ได้ทราบว่าพระสงฆ์สาวกของพระองค์เบื่อหน่ายในชีวิตพาปลงชีวิตตัวเองบ้าง วานให้คนอื่นปลงชีวิตบ้าง จึงตรัสตำหนิว่าเป็นเรื่องไม่สมควรที่สมณศากยบุตรจะพึงทำเช่นนั้น จึงทรงบัญญัติสิกขาบทว่า

“อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราจะปลงชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น ภิกษุนี้เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

“หาสังวาสมิได้” ก็คืออยู่ร่วมกับหมู่คณะไม่ได้ ต้องสละเพศหรือสึกไป


ต่อมาไม่นานก็มีภิกษุกลุ่มหนึ่ง เรียกว่า “ฉัพพัคคีย์” (กลุ่มหกคน) จะเรียกว่า “แก๊งหกคน” ก็คงไม่ผิด เพราะท่านเหล่านี้มีพฤติกรรมแผลงๆ เลี่ยงอาบัติหรือ “เลี่ยงบาลี” ออกบ่อย จนเป็นที่ระอาของพระภิกษุสงฆ์ผู้ทรงศีลทั้งหลาย แก๊งหกคนนี้ไปเห็นสตรีสาวสวยนางหนึ่ง ก็เกิด “ปิ๊ง” เข้า อยากได้มาบำรุงบำเรอ (จะขั้นไหน ตำราไม่บอก) แต่ติดขัดที่นางมีสามีแล้ว จึงออกเล่ห์เพทุบายเข้าไปหาสามีของนาง กล่าวพรรณนาคุณความตายให้อุบาสกสามีของนางจนเคลิบเคลิ้ม แสดงว่าแก๊งหกคนนี้มีวาทศิลป์พูดชักจูงใจคนไม่บันเบาทีเดียว

“อุบาสก เท่าที่ผ่านมาท่านก็ทำแต่กรรมดี มิได้ทำกรรมชั่วอะไรให้เป็นเหตุร้อนใจเลย ทำไมต้องมาทนอยู่ในโลกมนุษย์แสนสกปรกนี้ ควรรีบตายเพื่อไปเอาทิพยสมบัติบนสรวงสวรรค์ดีกว่า นะอุบาสกนะ” อะไรประมาณนั้น

อุบาสกที่แสนดี แต่ค่อนข้างซื่อบื้อ ไม่รู้เล่ห์เลี่ยมของเจ้ากูกะล่อน ก็เชื่อสนิทใจ “จึงรับประทานโภชนะอันแสลง เคี้ยวของเคี้ยวที่แสลง ดื่มน้ำที่แสลง” แล้วไม่นานก็ล้มป่วยลงและถึงแก่กรรมในที่สุด

ภรรยาของมหาเฮง เอ๊ยอุบาสกผู้แสนซื่อ รู้ว่าสามีของตนตายเพราะอุบายสกปรกของเจ้ากูทั้งหก ก็ด่าว่าอย่างรุนแรง “ท่านทั้งหก อ้างว่าเป็นสมณศากยบุตร แต่มีพฤติกรรมไม่สมควรแก่สมณะ เป็นคนทุศีล ไร้ยางอาย พูดเท็จ ท่านหมดความเป็นสมณะแล้ว เพราะเป็นต้นเหตุให้สามีของฉันตาย”

ความทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์จึงตรัสเรียกประชุมสงฆ์ ให้ตามเจ้ากูทั้งหกเข้าเฝ้า ทรงซักไซ้ไล่เลียง จนสารภาพเป็นสัตย์ จึงตรัสตำหนิต่างๆ นานา แล้วทรงบัญญัติเพิ่มเติมว่า

“อนึ่ง ภิกษุใดจงใจพรากกายมนุษย์จากชีวิต หรือแสวงหาศัสตราอันจะปลิดชีวิตให้แก่มนุษย์นั้น หรือพรรณนาคุณแห่งความตาย หรือชักชวนเพื่อให้ตาย ด้วยคำพูดว่า ท่านผู้เจริญ จะประโยชน์อะไรแก่ท่าน ด้วยชีวิตอันลำบากยากแค้นนี้ ท่านตายเสียดีกว่าอยู่

เธอมีจิตอย่างนี้ มีใจอย่างนี้ มีความมุ่งหมายอย่างนี้ พรรณนาคุณความตายก็ดี ชักชวนเพื่อให้ตายก็ดี โดยนัยต่างๆ ภิกษุนี้เป็นปาราซิก หาสังวาสมิได้”


เรียกว่าบัญญัติรัดกุมจนดิ้นไม่หลุด ฆ่าเองก็ผิด ชักชวนให้ผู้อื่นฆ่าให้ก็ผิด พรรณนาคุณความตายจนเขาเชื่อตามแล้วฆ่าตัวตายก็ผิด รัดกุมขนาด แม่นกา

พระบาลีให้คำจำกัดความไว้เสร็จ เช่น ชักชวนอย่างไร พรรณนาคุณความตายอย่างไร โดยวิธีไหนบ้างจึงจะเข้าข่ายปาราชิก หรือไม่เข้าข่าย ทั้งนี้เพื่อปิดช่องโหว่ ไม่ให้พวก “ตราช้างเรียกพี่” เถียงข้างๆ คูๆ

เล่นกับพวกชอบเลี่ยงบาลีก็ต้องรัดกุมอย่างนี้แหละครับ


:b49: :b50: :b49:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2019, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


25. ผู้ละเมิดจตุตถปาราชิกคนแรก
[ภิกษุชาวริมฝั่งน้ำวัดคุมุทา] - การอวดอุตริมนุสสธรรม

ที่ถูกควรเรียกว่า ‘กลุ่มแรก’ เพราะพระคุณเจ้าที่ละเมิดปาราชิกข้อที่ 4 ทำกันเป็นหมู่คณะ เรื่องของเรื่องมีดังนี้ครับ

เมื่อพระพุทธเจ้าประทับอยู่ที่กูฏาคาร ในป่ามหาวัน นอกเมืองไพศาลี แคว้นวัชชี เป็นระยะเวลาออกพรรษาใหม่ๆ พระสงฆ์ที่แยกย้ายกันไปจำพรรษายังเมืองต่างๆ ก็ทยอยมาเฝ้าพระพุทธเจ้า แต่ละรูปหน้าอิดโรยซูบซีดยังกับเพิ่งรอดชีวิตมาจากคลื่นยักษ์สึนามิพัดกระหน่ำก็มิปาน เพราะเกิดทุพภิกขภัยไปทั่ว พระสงฆ์องค์เจ้าอดอาหารกันเป็นแถว แต่มีภิกษุกลุ่มหนึ่งซึ่งเดินทางมาจากริมฝั่งน้ำวัดคุมุทา รูปร่างอ้วนท้วน มีน้ำมีนวล อินทรีย์ผ่องใส ผิวพรรณผุดผ่อง

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “พวกเธออยู่จำพรรษายังต่างเมือง ยังพอยังอัตภาพให้เป็นไปอยู่ดอกหรือ”

ภิกษุกลุ่มนี้กราบทูลว่า “อยู่ดีสบาย พระเจ้าข้า”

พระพุทธองค์ตรัสถามว่า “ภิกษุอื่นๆ ประสบความลำบากด้วยอาหารบิณฑบาต จนผ่ายผอม แต่พวกเธอบอกว่าอยู่ดีสบาย เป็นไปได้อย่างไร”

ภิกษุกลุ่มนี้กราบทูลว่า “พวกข้าพระพุทธเจ้ายกย่องกันเองให้โยมฟังว่า ท่านรูปนั้นบรรลุมรรคผลนิพพานขั้นนั้นๆ ญาติโยมเลยเลื่อมใส นำอาหารบิณฑบาตมาถวาย จึงมีอาหารขบฉันไม่อัตคัดขัดสนแต่ประการใด พระพุทธเจ้าข้า”

ได้ฟังดังนั้น พระพุทธองค์จึงตรัสตำหนิด้วยวาทะแรงๆ ว่า “โมฆบุรุษ” ตรัสว่า การกระทำเช่นนี้เป็นลักษณะอาการของ “มหาโจร” แล้วตรัสถึงมหาโจร 5 ประเภท คือ

1. มหาโจรประเภทที่ 1 คือ ภิกษุเลวทรามหลอกชาวบ้านให้เขาเคารพนับถือ ร่ำรวยลาภสักการะ ไม่ต่างกับมหาโจรทางโลกที่รวบรวมสมัครพรรคพวกเที่ยวปล้นฆ่าประชาชน

2. มหาโจรประเภทที่ 2 คือ ภิกษุเลวทรามเล่าเรียนพุทธวจนะจากตถาคตแล้ว อวดอ้างว่าไม่ได้เรียนมาจากใคร

3. มหาโจรประเภทที่ 3 คือ ภิกษุเลวทรามที่ใส่ความภิกษุผู้ทรงศีลด้วยข้อกล่าวหาผิดวินัยที่ไม่มีมูล

4. มหาโจรประเภทที่ 4 คือ ภิกษุเลวทรามที่เอาของสงฆ์ไปให้คฤหัสถ์ เพื่อประจบประแจงเขา

5. มหาโจรประเภทที่ 5 คือ ภิกษุเลวทรามที่อวด “อุตริมนุสสธรรม” (อวดคุณวิเศษ เช่น มรรคผลนิพพาน) ที่ไม่มีในตน

ในจำนวนมหาโจรทั้ง 5 ประเภทนี้ พระพุทธองค์ตรัสว่า ประเภทที่ 5 เป็น “ยอดมหาโจร” เพราะหลอกลวงชาวบ้าน ปล้นศรัทธาประชาชนอย่างร้ายกาจ (โดยที่ผู้ถูกปล้นไม่รู้ตัว)

พระพุทธองค์จึงทรงบัญญัติสิกขาบทห้ามภิกษุอวดอุตริมนุสธรรมอีกต่อไป ความว่า “อนึ่งภิกษุใดไม่รู้ กล่าวอวดอุตริมนุสสธรรม อันเป็นความรู้ความเห็นอันประเสริฐ ว่าข้าพเจ้ารู้อย่างนี้ เห็นอย่างนี้ เป็นปาราชิก ครั้นต่อมาเมื่อมีผู้ซักถามหรือไม่ก็ตาม ต้องการความบริสุทธิ์ดุจเดิม จึงสารภาพว่าข้าพเจ้าไม่รู้ได้กล่าวว่ารู้ ไม่เห็นได้กล่าวว่าเห็น ได้พูดพล่อยๆ เป็นเท็จ แม้อย่างนี้ก็เป็นปาราชิก หาสังวาสมิได้”

ความในข้อนี้ก็คือ ภิกษุใดไม่ได้รู้ได้เห็นด้วยญาณใดๆ กล่าวอวดอ้างว่าตนได้รู้ได้เห็น เป็นปาราชิก ถึงแม้ภายหลังจะสำนึกผิดว่าตนได้อวดอ้าง มาสารภาพก็ตามที ต้องอาบัติปาราชิก ขาดจากความเป็นภิกษุทันที

พระพุทธองค์ตรัสว่า การหลอกกินอาหารจากชาวบ้าน ด้วยอ้างว่าตนได้บรรลุมรรคผลขั้นใดๆ ก็ตาม ไม่สมควรทำอย่างยิ่ง ให้เธอกลืนก้อนเหล็กแดงที่ลุกโชนยังดีเสียกว่าหลอกกินข้าวชาวบ้าน เพราะกลืนเหล็กแดง อย่างมากก็ตาย แต่กลืนข้าวที่ได้มาจากการหลอกลวงชาวบ้าน ตกนรกหมกไหม้อีกต่างหากด้วย

เจ็บแสบดีนะครับ

ถ้าถามว่า แค่ไหนจึงจะเรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรม หรืออวดคุณวิเศษที่ไม่มีในตน

พระวินัยปิฎกพูดไว้ชัดว่า อุตฺตริมนุสฺสธมฺโม นาม ฌานํ วิโมกฺโข สมาธิ สมาปตฺติ ญาณทสฺสนํ มคฺคภาวนา ผลสจฺฉิกิริยา กเลสปหานํ วินีวรณตา จิตฺตสฺส สุญฺญาคาเร อภิรติ

ต้องแปลครับจึงจะรู้เรื่อง อุตริมนุสสธรรม (คุณวิเศษที่ยิ่งยวด) ได้แก่ ฌาน วิโมกข์ (การหลุดพ้น) สมาธิ สมาบัติ (การเข้าฌาน) การรู้การเห็น การเจริญมรรค การทำผลให้แจ้ง การละกิเลสได้ การเปิดจิตจากกิเลส ความยินดีในเรือนว่าง

แปลแล้วยังไม่กระจ่าง ก็ต้องขยายอีกดังนี้ครับ

ใครอวดว่า ตนได้ฌานที่ 1-2-3-4 ทั้งที่ไม่ได้สักแอะนี้เรียกว่าอวดแล้วครับ

ใครที่บอกว่า ตนหลุดพ้นแล้วเพราะสู้รบกับกิเลสมานาน จนกระทั่งบัดนี้เอาชนะมันได้แล้ว ตนได้ “เตะปลายคาง” กิเลสมันตายแหงแก๋แล้ว อ้ายนี่ก็อวดแล้วครับ

ใครที่บอกว่า ตนได้เข้าสมาธิจิตแน่วแน่ เห็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ชัดแจ๋วแหวว เข้าฌานสมาบัติได้สบาย อยู่ถึง 6-7 วันจึงออกจากสมาบัติ สบายจัง อ้ายนี้ก็อวดเช่นกัน

ใครที่พูดว่า ตนได้วิชชา 3 แล้วคือรู้ชาติหนหลัง รู้กำเนิดจุติของสัตว์ทั้งหลายตามกรรมของแต่ละคนที่ทำมา (จนนั่งหลับตาบรรยายผ่านสื่อต่างๆ เป็นฉากๆ) รู้จนทำกิเลสให้หมดไป อ้ายนี่ อีนี่ก็อวดแล้วครับ

ใครที่พูดว่า ตนได้เจริญสติปัฏฐาน 4 สัมมัปปธาน 4 อิทธิบาท 4 อินทรีย์ 5 พละ 5 โพชฌงค์ 7 อริยมรรคมีองค์ 8 จนสมบูรณ์ที่สุดเหนือใครๆ แล้ว อ้ายนี่ก็อวด

ใครที่พูดว่า ตนได้ทำให้แจ้งคือได้บรรลุโสดาปัตติผล สกทาคามิผล อนาคามิผล อรหัตผล เป็นพระอรหันต์เตะปลายคางคนได้แล้ว อ้ายนี่ก็อวด

ใครที่พูดว่า ตนได้เปิดจิตจากกิเลสคือจิตของตนปราศจากราคะ โทสะ โมหะ โดยสิ้นเชิงแล้ว

สรุปแล้ว ใครที่ไม่ได้มีคุณสมบัติดังกล่าว หรือไม่ได้บรรลุคุณวิเศษดังกล่าว แล้วกล่าวอวดว่าตนมี ตนได้ ทำให้คนอื่นหลงเชื่อ ไม่ว่าจะพูดโดยตรงหรือโดยอ้อมก็ตาม เรียกว่าอวดอุตริมนุสสธรรมทั้งนั้น

“ใคร” ที่ว่านี้หมายถึง พระภิกษุ ครับ (ฆราวาสอวด ไม่ต้องปาราชิก แต่จะถูกตราหน้าว่าไอ้คนขี้โม้) พระภิกษุรูปใดอวดคุณวิเศษที่ตนเองไม่มี เช่น อวดว่าตนได้บรรลุมรรคผลนิพพาน เป็นอริยะ อรหันต์ ต้องปาราชิกขาดจากความเป็นพระทันทีที่อวด ไม่จำเป็นต้องมีคนโจทก์ฟ้องร้องถึงสามศาลอย่างกรณีของชาวบ้าน

มีข้อน่าคิดอย่างหนึ่ง คนที่อวดว่าบรรลุนั่นบรรลุนี่ มักจะไม่บรรลุจริง ส่วนท่านที่บรรลุจริงกลับไม่พูด และที่ประหลาดก็คือชาวบ้านปุถุชนคนมีกิเลส มักจะไปตั้ง “อรหันต์” กันง่ายๆ ดังมักพูดว่า พระอรหันต์แห่งอีสานบ้าง อรหันต์กลางกรุงบ้าง ตนเองก็กิเลสเต็มพุงแล้วรู้ได้อย่างไรว่าใครเป็นอรหันต์หรือไม่เป็น

ที่ไม่รู้ก็อยากรู้ว่าท่านเป็นอรหันต์หรือไม่ ดังเขาเล่าว่าหม่อมคนดังคนหนึ่งไปเรียนถามท่านเจ้าคุณนรฯ ว่า ท่านเป็นอรหันต์หรือเปล่า ท่านเจ้าคุณนรฯ ดึงหูคนถามมาใกล้ๆ แล้ว พูดเสียงดังฟังชัดว่า “ไอ้บ้า” ฮิฮิ


:b49: :b50: :b49:

๏ วินัยสงฆ์-อาบัติ-ปาราชิก-สังฆาทิเสส
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=22785

๏ ผู้ละเมิด “ปาราชิก” คนแรก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=30&t=57871

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2019, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
จิตรกรรมฝาผนังที่วัดพระเชตวัน (วัดเชตวันมหาวิหาร) เมืองสาวัตถี ประเทศอินเดีย
ภาพการทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หรือปฐมสังคายนา ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา
ข้างเขาเวภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย
โดยมีพระมหากัสสปเถระเป็นประธานสงฆ์ และพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์


26. สังคายนาครั้งแรก

สังคายนา คือ การรวบรวมหลักคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นหมวดหมู่ ก่อนหน้าสังคายนาเกิดขึ้นจริงๆ พระสารีบุตร อัครสาวกเบื้องขวา ได้รวบรวมหมวดหมู่แห่งธรมมะตั้งแต่หมวดหนึ่งถึงหมวดสิบ และเกินสิบไว้ก่อนแล้ว ชื่อว่า สังคีติสูตร และทสุตตรสูตร

ที่ไม่นับเป็นสังคายนาก็เพราะยังไม่สมบูรณ์

สังคายนาครั้งแรกที่สมบูรณ์เกิดขึ้นหลังจากพุทธปรินิพพานได้ ๓ เดือน โดยพระอรหันต์สาวก ๕๐๐ รูป อันมีพระมหากัสสปะเป็นประธาน ณ เมืองราชคฤห์ แคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูทรงเป็นองค์อุปถัมภ์

รายละเอียดดังต่อไปนี้

เมื่อพระพุทธเจ้าเสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน ณ สาลวโนทยานของเหล่ามัลลกษัตริย์ แห่งเมืองกุสินารานั้น พระมหากัสสปะอยู่ต่างเมืองทราบข่าวพระประชวรของพระพุทธองค์ จึงเดินทางพร้อมภิกษุบริวารประมาณ ๕๐๐ รูปเพื่อเฝ้าพระพุทธองค์ก่อนเข้าไปยังเมืองกุสินารา ได้พักเหนื่อยอยู่ใต้ร่มไม้แห่งหนึ่ง

ขณะนั้นอาชีวกนักบวชนอกพุทธศาสนาคนหนึ่ง ถือดอกมณฑารพเดินออกนอกเมืองมา พระมหากัสสปะจึงเอ่ยถามถึงพระพุทธเจ้า อาชีวกคนนั้นกล่าวว่า ศาสดาของพวกท่านปรินิพพานได้ตั้ง ๗ วันแล้ว พวกท่านยังไม่ทราบอีกหรือ


ได้ยินดังนั้น ภิกษุที่เป็นพระอรหันต์ขีณาสพก็นั่งนิ่งปลงธรรมสังเวช พิจารณาความไม่เที่ยงแท้ของสังขาร

ฝ่ายภิกษุที่ยังเป็นเสขบุคคลและปุถุชนอยู่จำนวนมากก็พากันร่ำไห้อาลัยอาวรณ์ในพระพุทธองค์

มีขรัวตารูปหนึ่งนาม สุภัททะ ได้เห็นภิกษุทั้งหลายร่ำไห้อยู่ จึงปลอบโยนว่านิ่งเสียเถอะ อย่าร้องไห้เลย พระศาสดาปรินิพพานไปก็ดีแล้ว สมัยยังทรงพระชนม์อยู่ทรงจู้จี้สารพัด ห้ามโน่นห้ามนี่ จะทำอะไรก็ดูผิดไปหมด ไม่มีอิสระเสรีภาพเลย บัดนี้เราเป็นอิสระแล้ว ปรารถนาจะทำหรือไม่ทำอะไรก็ได้

พระมหากัสสปะได้ยินดังนั้นก็สลดใจ “โอหนอพระบรมศาสดาสิ้นไปยังไม่ข้าม ๗ วันเลย สาวกของพระองค์พูดได้ถึงขนาดนี้ ต่อไปนานเข้าจะขนาดไหน”

ท่านรำพึงว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าขณะทรงพระชนม์อยู่ทรงมีพระมหากรุณาแก่ท่านเป็นกรณีพิเศษ ได้ประทานบาตรและจีวรแก่ท่าน และทรงรับเอาบาตรจีวรของท่านไปทรงใช้เอง นับว่าทรงไว้วางพระทัยต่อท่านเป็นอย่างยิ่ง

เมื่อพระธรรมวินัยของพระพุทธองค์ถูกดูหมิ่นจ้วงจาบเช่นนี้จะนิ่งดูดายหาควรไม่

ท่านจึงตัดสินใจทำสังคายนาโดยคัดเลือกพระอรหันต์สาวกผู้ทรงอภิญญาได้จำนวน ๔๙๙ รูป เว้นไว้ ๑ รูป เพื่อพระอานนท์

ขณะนั้นพระอานนท์ยังไม่บรรลุพระอรหัตผล จะเลือกท่านด้วยก็ไม่ได้ เพราะคุณสมบัติยังไม่ครบ ครั้นจะไม่เลือกก็ไม่ได้ เพราะการทำสังคายนาครั้งนี้ขาดพระอานนท์ไม่ได้ เนื่องจากพระอานนท์เป็นผู้ใกล้ชิดพระพุทธองค์มากที่สุด ได้ทรงจำพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์มากกว่าใคร

พระมหากัสสปะจึงให้โอกาสพระอานนท์เพื่อเร่งทำความเพียร เพื่อทำที่สุดทุกข์ให้ได้ทันกำหนดสังคายนา อันจะมีขึ้นใน ๓ เดือนข้างหน้า

พระอานนท์จึงเร่งบำเพ็ญเพียรทางจิตอย่างหนัก แต่ยิ่งเพียรมากเท่าไร ก็ดูเสมือนว่าจุดหมายปลายทางห่างไกลออกไปทุกที

จึงรำพึงว่าพระพุทธองค์ทรงพยากรณ์ไว้ก่อนเสด็จดับขันธปรินิพพานว่า เราจะทำที่สุดทุกข์ได้ไม่นานหลังจากที่พระองค์เสด็จดับขันธ์ปรินิพพาน คำพยากรณ์ของพระพุทธองค์คงไม่มีทางเป็นอื่นแน่ อย่ากระนั้นเลย เราจะต้องเพียรให้มากขึ้นกว่าเดิม

วันหนึ่งหลังจากเพียรภาวนาอย่างหนักรู้สึกเหนื่อยจึงกำหนดว่าจะพักผ่อนสักครู่แล้วจะเริ่มใหม่ จึงนั่งลงเอนกายนอนพัก เท้าไม่ทันพ้นพื้น ศีรษะไม่ทันถึงหมอน ท่านก็ “สว่างโพลงภายใน” บรรลุพระอรหัตผลเป็นพระอรหันต์ขีณาสพทรงอภิญญาในบัดดล

ขณะนั้นพระสงฆ์ ๔๙๙ รูป กำลังนั่งประชุมกันตามลำดับพรรษา เว้นอาสนะว่างไว้หนึ่งที่สำหรับพระอานนท์ พระอานนท์ต้องประกาศว่าท่านได้บรรลุพระอรหัตแล้ว จึงเข้าฌานบันดาลฤทธิ์ดำดินไปโผล่ขึ้นนั่งบนอาสนะ ท่ามกลางสังฆสันนิบาตทันเวลาพอดี


เมื่อพระสงฆ์ประชุมพร้อมกันแล้ว พระมหากัสสปะประมุขสงฆ์ได้ประกาศให้พระอุบาลีผู้เชี่ยวชาญพระวินัยทำหน้าที่วิสัชนาพระวินัย พระอานนท์ผู้เป็นพหูสูตทำหน้าที่วิสัชนาพระธรรม โดยตัวท่านเองทำหน้าที่เป็นผู้ซักถามประเด็นต่างๆ มีพระสงฆ์ทั้งปวงช่วยกันสอบทาน

ลักษณะของการสังคายนาคงเป็นทำนองนี้คือ

๑. พระสงฆ์ทั้ง ๕๐๐ รูป คงต่างก็เสนอพระธรรมเทศนาที่ตนได้ยินมาจากพระพุทธเจ้า มากบ้างน้อยบ้าง ข้อมูลส่วนใหญ่ก็ได้มาจากพระอุบาลีและพระอานนท์

๒. พระธรรมเทศนานั้นๆ พระพุทธองค์คงทรงแสดงโดย “ภาษา” ถิ่นต่างๆ พระสงฆ์ในที่ประชุมคงตกลงกันว่าจะต้องใช้ภาษาใดภาษาหนึ่ง “ร้อยกรอง” เป็นภาษา “มาคธี” (หรือภาษามคธ) เมื่อซักถามและตอบให้อรรถาธิบายจนเป็นที่ตกลงกันแล้ว ก็ “ร้อยกรอง” เป็นภาษามาคธี

๓. เมื่อร้อยกรองเป็นที่เรียบร้อยแล้ว พระสงฆ์ทั้งปวงก็ “สวดสังวัธยายร่วมกัน” คือท่องพร้อมๆ กันเพื่อให้จำได้คล่องปาก เพราะฉะนั้นจึงเรียกกิจกรรมครั้งนี้ว่า “สังคายนา” (แปลว่าสวดร่วมกัน, สวดพร้อมกัน) ด้วยประการนี้

สังคายนาครั้งนี้กระทำ ณ ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต นอกเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ มีพระเจ้าอชาตศัตรูผู้ครองนครขณะนั้นทรงเป็นองค์อุปถัมภ์ กระทำกันอยู่เป็นเวลา ๗ เดือนจึงสำเร็จ

การทำสังคายนาครั้งแรกนี้เรียกว่า “สังคายนาพระธรรมวินัย” เนื่องจากยังไม่มีพระไตรปิฎก และได้ถ่ายทอดสืบต่อกันมาโดยระบบ “มุขปาฐะ” (คือการท่องจำ)


รูปภาพ

รูปภาพ
ถ้ำสัตตบรรณคูหา ข้างเขาเวภารบรรพต
นอกเมืองราชคฤห์ เมืองหลวงแห่งแคว้นมคธ ประเทศอินเดีย
สถานที่ทำสังคายนาพระธรรมวินัยครั้งแรก หรือปฐมสังคายนา
(ปัจจุบันเพดานถ้ำถล่มลงมาปิดปากถ้ำหมดแล้ว)


:b8: :b8: :b8:

๏ การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652

๏ พระมหาจุนทเถระ ผู้มีส่วนริเริ่มการสังคายนา
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=62069

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2019, 18:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


27. พระธรรมทูตชุดแรก

พระธรรมทูตชุดแรก ที่พระพุทธเจ้าทรงส่งไปประกาศพระพุทธศาสนา มีจำนวน 60 รูป เหตุการณ์เกิดขึ้นไม่ช้าไม่นานหลังจากตรัสรู้ รายละเอียดมีดังนี้

เมื่อตรัสรู้แล้ว พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดปัญจวัคคีย์ ผู้ปรนนิบัติพระองค์ตอนบำเพ็ญทุกรกิริยา พอพระองค์ทรงเลิกพระกระยาหาร ก็ผิดหวังพากันหลีกไปอยู่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ดังที่ผู้เรียนพุทธประวัติทราบกันโดยทั่วไป

พระองค์ทรงแสดง “ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร” อันมีเนื้อหาว่าด้วยทางที่บรรพชิตไม่ควรดำเนิน 2 ทาง คือ การทรมานตนให้ลำบาก และการหมกมุ่นในกามารมณ์ เพราะมิใช่ทางนำไปสู่การพ้นทุกข์ ทรงแสดงอริยมรรคมีองค์แปด หรือ “มัชฌิมาปฏิปทา” (ทางสายกลาง) อันนำไปสู่การพ้นทุกข์ แล้วทรงบรรยายอริยสัจ 4 คือ ทุกข์ เหตุเกิดเหตุ ภาวะพ้นทุกข์ และแนวทางปฏิบัตเพื่อพ้นทุกข์ โดยพิสดาร

จบพระธรรมเทศนา โกณฑัญญะ หัวหน้าปัญจวัคคีย์ เกิด “ดวงตาเห็นธรรม” คือเข้าใจว่าสิ่งใดก็ตามที่มีการเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นย่อมมีการดับเป็นธรรมดา

พระพุทธองค์ทรงเปล่งพระอุทานว่า “โกณฑัญญะรู้แล้วหนอๆ” คำว่า “รู้แล้วหนอ” บาลีว่า อญฺญาสิ เมื่อโกณฑัญญะขอบวชเป็นภิกษุรูปแรกที่ประทานให้โดยวิธี “เอหิภิกขุอุปสัมปทา” คำว่า อัญญา ในคำวา “อญฺญาสิ” ได้กลายมาเป็นคำต้นชื่อของท่านโกณฑัญญะ ท่านโกณฑัญญะจึงมีชื่อว่า อัญญาโกณฑัญญะ แต่บัดนั้นมา

พระพุทธองค์ประทับจำพรรษาแรกที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน ในระหว่างนั้น ยสกุลบุตร บุตรชายเศรษฐีเมืองพาราณสี ที่ได้รับการปรนเปรอด้วยความสนุกสบายสารพัดอย่าง เกิดความเบื่อหน่ายในเพศฆราวาส จึงหนีออกจากบ้านกลางดึก เดินมุ่งหน้าไปยังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พลางอุทานด้วยความสลดใจว่า “ที่นี่วุ่นวายหนอ ที่นี่ขัดข้องหนอ”

พระพุทธเจ้าเสด็จจงกรมอยู่ ตอนจวนใกล้รุ่ง ทรงสดับเสียงของยสกุลบุตร จึงตรัสตอบว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวาย ที่นี่ไม่ขัดข้อง มานี่สิ เราตถาคตจะแสดงธรรมให้ฟัง”

ยสะเข้าไปเฝ้าพระพุทธองค์ สดับพระธรรมเทศนา จบพระธรรมเทศนาได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วทูลขอบวช

ฝ่ายบิดามารดายสกุลบุตร เมื่อบุตรหายไปก็สั่งให้ตามหา ผู้เป็นบิดามายังป่าอิสิปตนมฤคทายวัน พบพระพุทธเจ้า พระองค์ทรงใช้อิทธิฤทธิ์มิให้พ่อลูกพบกัน ทรงแสดงธรรมแก่เศรษฐีบิดายสกุลบุตร จบพระธรรมเทศนาเศรษฐีได้ดวงตาเห็นธรรม แล้วปฏิญาณตนเป็นอุบาสกผู้ถึงพระรัตนตรัยตลอดชีวิต

พระยสะนั่งฟังธรรมอยู่เบื้องพระปฤษฎางค์ ได้บรรลุพระอรหัต เมื่อพระพุทธองค์ทรงคลายฤทธิ์แล้วพ่อลูกได้มองเห็นกัน บิดาพระยสะขอให้บุตรชายกลับไปครองเรือนตามเดิม กล่าวว่า “ตั้งแต่เจ้าหายไป แม่เจ้าร้องไห้คร่ำครวญเป็นทุกข์มาก เจ้าจงให้ชีวิตแก่แม่เจ้าเถิด”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “บัดนี้ยสะไม่สมควรอยู่ครองฆราวาสต่อไปแล้ว” ซึ่งเศรษฐีก็เข้าใจ จึงอาราธนาพระพุทธองค์ไปเสวยภัตตาหาร ณ คฤหาสน์ของตน เมื่อบิดากลับไปแล้ว ยสกุลบุตรจึงทูลขอบวช พระพุทธองค์จึงได้ประทานเอหิภิกขุอุปสัมปทาให้เป็นภิกษุโดยสมบูรณ์

รุ่งเช้ามา พระพุทธองค์เสด็จไปเสวยพระกระยาหาร ที่คฤหาสน์เศรษฐี มีพระยสะโดยเสด็จ มารดาและอดีตภรรยาของพระยสะได้สดับพระธรรมเทศนา ก็ได้ดวงตาเห็นธรรม ปฏิญาณตนนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

เมื่อยสกุลบุตรออกบวช สหายสนิท 4 คน คือ วิมละ สุพาหุ ปุณณชิ และควัมปติ ตามมาบวชด้วย ไม่นานสหายของยสกุลบุตรที่อยู่ตามชนบทต่างๆ อีกจำนวน 50 ก็มาบวชด้วยเช่นกัน รวมทั้งหมด 54 คน เมื่อบวชแล้วก็ได้บรรลุพระอรหัตโดยทั่วกัน เป็นอันว่าชั่วระยะเวลาไม่นาน มีพระอรหันตสาวกจำนวน 60 รูป

60 รูปมาจากไหน ปัญจวัคคีย์ 5 + พระยสะและสหายพระยสะ 55 = 60 พอดิบพอดี

เมื่อทรงเห็นว่ามีจำนวนพระอรหันตสาวกมากพอสมควรแล้ว พระพุทธองค์จึงตรัสเรียกประชุม ประทานพุทธโอวาท ใจความว่า (ตรงนี้ขอยกบาลีมาให้อ่านเต็มๆ หน่อยครับ)

“มุตฺตาหํ ภิกฺขเว สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา ตุมฺเหปิ ภิกฺขเว มุตฺตา สพฺพปาเสหิ เย ทิพฺพา เย จ มานุสา จรถ ภิกฺขเว จาริกํ พหุชนหิตาย พหุชนสุขาย โลกานุกมฺปาย อตฺถาย หิตาย สุขาย เทวมนุสฺสานํ มา เอเกน เทฺว อคมิตฺถ เทเสถ ภิกฺขเว ธมฺมํ อาทิกลฺยาณํ มชฺเฌกลฺยาณํ ปริโยสานกลฺยาณํ สตฺถํ สพฺยญฺชนํ เกวลปริปุณฺณํ ปริสุทฺธํ ปริสุทฺธํ พฺรหฺมจริยํ ปกาเสถ

ภิกษุทั้งหลาย เราพ้นแล้วจากบ่วงทั้งของทิพย์และของมนุษย์ พวกเธอก็พ้นแล้วเช่นกัน ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอจงจาริกไปเพื่อประโยชน์แก่คนจำนวนมาก เพื่อความสุขแก่คนจำนวนมาก เพื่ออนุเคราะห์โลก เพื่อประโยชน์ เพื่อเกื้อกูล เพื่อความสุข แก่เทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย พวกเธออย่าไปทางเดียวกันสองคน จงแสดงธรรม งามในเบื้องต้น ท่ามกลาง และที่สุด จงประกาศพรหมจรรย์ (การดำเนินชีวิตประเสริฐ) ให้บริสุทธิ์บริบูรณ์สิ้นเชิง ทั้งอรรถะ (ความ) และพยัญชนะ (คำ)”


เสร็จแล้วก็ทรงส่งให้แยกย้ายกันไปเผยแผ่แนวทางดำเนินชีวิตอันประเสริฐแก่ชาวโลก นับว่าเป็นคณะธรรมทูตชุดแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา ด้วยประการฉะนี้แล


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2019, 18:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


28. พระไตรปิฎกเกิดขึ้นครั้งแรก

ตั้งหัวเรื่องอย่างนี้ คล้ายจะบอกว่า พระไตรปิฎกเกิดขึ้นหลายครั้ง มีครั้งแรกครั้งที่สองด้วยอะไรประมาณนั้น ความจริงก็เกิดครั้งแรกครั้งเดียวเท่านั้น

เดิมทีเดียวพระไตรปิฎก ปรากฏอยู่ในรูปเป็น “พระธรรมวินัย” (ธมฺมวินย) หรือ “พรหมจรรย์” (พฺรหฺมจริย) สองคำนี้ใช้เรียกสิ่งเดียวกัน คือพระพุทธศาสนาทั้งหมด

พระพุทธเจ้าหลังตรัสรู้แล้ว ก็เสด็จไปประกาศเผยแผ่ให้ประชาชนได้รับทราบ สำนวนภาษาบาลีจึงกล่าวว่า “ทรงประกาศพระธรรมวินัย” บ้าง “ทรงประกาศพรหมจรรย์” บ้าง “ทรงประกาศพระพุทธศาสนา” บ้าง

(ทานโทษเพื่อให้ชัด เดี๋ยวท่านผู้รู้จะทักท้วง ท่านใช้ “ศาสนา” เฉยๆ ต่อมาได้เติมคำว่า “พุทธ” นำหน้าเพื่อให้ชัดเจนว่า ศาสนาในที่นี้คือพระพุทธศาสนา)

ธรรมวินัย อันเป็นหลักคำสอนของพระพุทธเจ้านั้น ในชั้นต้นๆ ก็มิได้รวบรวมเป็นหมวดเป็นหมู่แน่นอน จะมีบ้างที่ถูกเอ่ยถึงบ่อยๆ ก็คือแบ่งเป็น 9 หมวด เรียก “นวังคสัตุสาสน์” คือ

(1) คำสอนประเภทร้อยแก้วล้วน
(2) ประเภทร้อยกรองล้วน
(3) ประเภทร้อยแก้วผสมร้อยกรอง
(4) ประเภทอรรถาธิบาย
(5) ประเภทคำอุทาน
(6) ประเภทคำอ้างอิง
(7) ประเภทเรื่องคุณวิเศษเฉพาะตนของพระพุทธเจ้าและพระสาวก
(8) ประเภทนิทานชาดก เล่าถึงอดีตชาติของพระพุทธเจ้าขณะบำเพ็ญบารมีต่างๆ
(9) ประเภทคำสนทนาถาม-ตอบเพื่อความรู้ยิ่งๆ ขึ้น

มีบ้างที่เอ่ยถึงการแบ่งเป็น “วรรค” เช่น ตอนเล่าเรื่องพระโสณกุฏิกัณณะ สวดธรรมที่อยู่ใน “อัฏฐกวรรค” และ “ปรายนวรรค” ให้พระพุทธเจ้าทรงสดับ

มีบ้างที่เล่าถึงพระสารีบุตรอัครมหาสาวก ได้รจนาพุทธวจนะเป็นหมวดหมู่เรียกว่า “สังคีติสูตร” และ “ทสุตตรสูตร” และเล่าไปถึงว่าเมื่อท่านพระสารีบุตรรจนาเสร็จแล้ว มีโอกาส present ให้ที่ประชุมสงฆ์ฟัง โดยพระพุทธานุญาต ณ สัณฐาคาร (รัฐสภา) ที่สร้างขึ้นใหม่ ของเหล่ามัลลกษัตริย์

ทั้งหมดนี้ยังไม่พบการเรียกคำสอนของพระพุทธเจ้าว่า “พระไตรปิฎก” ในสมัยพุทธกาลแม้หลังพุทธปรินิพพานได้ 3 เดือน เมื่อพระมหากัสสปะเรียกประชุมพระสงฆ์ 500 รูปร้อยกรอง (สังคายนา) พระพุทธวจนะเป็นหมวดเป็นหมู่ ก็ไม่เอยคำว่า “พระไตรปิฎก”

ยังคงใช้คำว่า “สังคายนาพระธรรมวินัย” อยู่

แม้พระพุทธศาสนาล่วงเลยมา 100 ปี หลังพุทธปรินิพพาน มีการสังคายนาครั้งที่สอง เพื่อวินิจฉัย “วัตถุ 10 ประการ” ที่กลุ่มภิกษุวัชชีบุตรนำเสนอ ก็ยังเรียกว่า “ธมฺมวินย วิสชฺชนา” (การวิสัชนาพระธรรมวินัย)

พระธรรมวินัยได้กลายมาเป็นพระไตรปิฎกเมื่อใด ไม่มีหลักฐานที่ไหนชัดแจ๋วแหววพอที่จะชี้ลงไปได้แน่นอน คงต้องสันนิษฐานเอาตามหลักฐานเท่าที่มีนำมาปะติดปะต่อกัน

เข้าใจกันว่า ในช่วงพุทธศตวรรษที่ 2-3 คือหลังสังคายนาครั้งที่ 2 ถึงสังคายนาครั้งที่ 3 สมัยพระเจ้าอโศกมหาราชนั้นเอง ได้เกิดคำว่า “ปิฎก” ขึ้นสำหรับเรียกพระธรรมวินัย โดย “ธรรม” ได้แตกออกเป็น พระสุตตันตปิฎก และพระอภิธรรมปิฎก ส่วน “วินัย” เป็น พระวินัยปิฎก

หลักฐานที่สนับสนุนข้อสันนิษฐานนี้ก็คือ ใน “จารึกสาญจีสถูป” มีกล่าวถึงพระเถระพระเถรี ว่ามีความเชี่ยวชาญปิฎกต่างๆ หรือบางส่วนของปิฎก เช่น

เปฏกินฺ = พระเถระผู้ทรงจำปิฎกทั้งหลาย

สุตฺนฺตินี = พระเถรีผู้ทรงจำพระสูตร

ทีฆภาณิกา = พระเถระ/พระเถรีผู้สวดทีฆนิกาย

ปญฺจเนกายิกา = พระเถระ/พระเถรีผู้ทรงจำนิกายทั้ง 5


นอกจากนี้ เล่าถึงพระเจ้าอโศกมหาราชทรงแนะให้พระสงฆ์ศึกษาเนื้อหาของพระไตรปิฎกให้เข้าใจแจ่มแจ้ง เพื่อนำไปสอนประชาชน มีระบุถึง อริยวสานิ (ตรวจสอบแล้ว ปรากฏอยู่ใน ทีฆนิกาย สังคีติสูตร) อนาคตภยานิ (ปรากฏอยู่ใน อังคุตตรนิกาย ปัญจกนิบาต) มุนิคาถา (ปรากฏอยู่ใน ขุททกนิกาย สุตตนิบาต) โมเนยฺยสุตฺต (ปรากฏอยู่ใน อังคุตตรนิกาย และขุททกนิกาย อิติวุตตกะ) เป็นต้น

มีหลักฐานชิ้นหนึ่งว่า คัมภีร์กถาวัตถุ ได้แต่งขึ้นในสมัยสังคายนาครั้งที่ 3 โดยพระโมคคัลลีบุตรติสสเถระ และคัมภีร์นี้ได้ถูกผนวกเข้าเป็น 1 ในพระอภิธรรม 7 คัมภีร์ ทำให้เนื้อหาพระอภิธรรมปิฎกสมบูรณ์

จากหลักฐานเหล่านี้ ชี้ว่าพระธรรมวินัยได้แตกออกเป็น “พระไตรปิฎก” แล้วในช่วงนี้ จึงพอจะกล่าวได้อย่างกว้างๆ ว่า “พระไตรปิฎก” เกิดขึ้นครั้งแรกหลังพุทธปรินิพพาน ระหว่างพุทธศตวรรษที่ 2 ถึงที่ 3 และไม่หลังสมัยพระเจ้าอโศกมหาราชแน่นอน


:b8:

๏ สาญจี พระสถูปที่บรรจุพระธาตุแห่งพระอัครสาวก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=48450

:b50: :b49: ๏ การสังคายนาพระไตรปิฎกฝ่ายเถรวาท
ซึ่งการสังคายนาครั้งที่ ๓ พ.ศ.๒๓๕ ณ วัดอโศการาม
พระเจ้าอโศกมหาราช ทรงเป็นองค์อุปถัมภ์

http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=47652

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.ค. 2019, 19:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

29. พระสงฆ์ทะเลาะกันครั้งยิ่งใหญ่ที่สุดครั้งแรก
[การทะเลาะของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี]

พระสงฆ์สาวกของพระพุทธเจ้าทะเลาะวิวาทกัน ก็คงมีบ่อยๆ เพราะความคิดเห็นไม่ตรงกัน แต่ครั้งที่ยิ่งใหญ่ที่สุด จนเกิดความแตกแยกเป็นครั้งแรก และเกิดขึ้นในครั้งสมัยพุทธกาลด้วย ที่บันทึกไว้ในพระไตรปิฎก ก็คือ การทะเลาะของภิกษุชาวเมืองโกสัมพี

ในอรรถกถาธรรมบท (ธัมมปทัฏฐกถา) ได้นำมาเล่าต่อ พร้อม “ใส่ไข่” (ผมอยากจะเรียกอย่างนั้น) ทำให้เราอ่านไปมีความมันในอารมณ์ไปด้วย ขอนำมาถ่ายทอดในวันเลือกตั้ง ที่อารมณ์ของคนในสังคมไทยแตกต่างกัน เพราะสนับสนุนนักการเมืองต่างพรรค (มันเกี่ยวกันไหมเนี่ย)

เรื่องมีอยู่ว่า ในวัดแห่งหนึ่ง เมืองโกสัมพี มีพระภิกษุอยู่ร่วมกันจำนวนมาก มีพระเถระสองรูปเป็นที่เคารพของพระภิกษุทั้งหลาย รูปหนึ่งเป็นผู้เคร่งครัดในพระวินัย มีความเชี่ยวชาญในการอธิบายพระวินัย เรียกตามศัพท์ของพระอรรถกถาจารย์ว่า “พระวินัยธร” อีกรูปหนึ่งมีความสามารถในการถ่ายทอดพระธรรม เรียกว่า “พระธรรมกถึก”

ทั้งสองรูปมีลูกศิษย์ลูกหาจำนวนมากทัดเทียมกัน ถึงในเนื้อหาจะไม่มีการแบ่งพรรคแบ่งพวกชัดเจน แต่โดยพฤตินัยก็พอมองเห็นเป็นรูปธรรม รวมไปถึงญาติโยมด้วย พวกที่ชอบพระนักเทศน์ก็ไปหาพระนักเทศน์ พวกที่ชอบพระผู้เชี่ยวชาญพระวินัยก็ไปหาพระวินัยธรบ่อยๆ สมัยนี้เรียกว่า “ขึ้น” ทั้งสองรูป มีญาติโยมขึ้นพอๆ กัน

ท่านเหล่านี้ก็อยู่ด้วยกันมาด้วยดี ไม่มีอะไร อยู่มาวันหนึ่ง พระวินัยธรเข้าห้องน้ำ (สมัยโน้นวัจกุฎีก็คงเป็นส้วมหลุม มากกว่าห้องน้ำในปัจจุบัน) ออกมาเจอพระธรรมกถึก จึงถามว่า “ท่านใช่ไหมที่เข้าห้องน้ำก่อนผม”

พระธรรมกถึกรับว่า “ใช่ มีอะไรหรือ”

“ท่านเหลือน้ำชำระไว้ครึ่งขัน ท่านทำผิดพระวินัย ต้องอาบัติทุกกฎแล้ว รู้หรือเปล่า” พระวินัยธรกล่าว

“โอ ผมไม่รู้ ถ้าอย่างนั้นผมขอปลงอาบัติ” พระธรรมกถึก ยอมรับและยินดี “ปลงอาบัติ” หรือแสดงอาบัติอันเป็นวิธีออกจากอาบัติตามพระวินัย

พระวินัยธรกล่าวว่า ถ้าท่านไม่มีเจตนาก็ไม่เป็นไร ไม่ต้องอาบัติดอก แล้วก็เดินจากไป เรื่องก็น่าจะแล้วกันไป แต่ไม่แล้วสิครับ พระวินัยธรไปเล่าให้ลูกศิษย์ฟังว่า พระธรรมกถึก ดีแต่เทศน์สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้เลย ลูกศิษย์พระวินัยธรก็ไปบอกลูกศิษย์พระธรรมกถึก ทำนองบลั๊ฟกันกลายๆ ว่า พรรคท่านฟ้องแก้เกี้ยว เอ๊ย อาจารย์ของพวกท่านดีแต่สอนคนอื่น ตัวเองต้องอาบัติแล้วยังไม่รู้

เรื่องรู้ถึงหูพระธรรมกถึก ก็หูแดงสิครับ ใครมันจะยอมให้กล่าวหาว่าพิมพ์สติ๊กเกอร์ เอ๊ยจงใจละเมิดพระวินัย จึงศอกกลับพระวินัยธรว่า สับปลับ ทีแรกว่าไม่เป็นไร แต่คราวนี้ว่าต้องอาบัติ พระวินัยธร ก็ต้องอาบัติข้อพูดเท็จเหมือนกัน เอาละสิครับ เมื่ออาจารย์ทะเลาะกัน พวกลูกศิษย์ก็ทะเลาะกันด้วย ขยายวงกว้างออกไปจนถึงญาติโยมผู้ถือหางทั้งสองฝ่ายด้วย เรื่องลุกลามไปใหญ่โต ทราบถึงพระพุทธองค์ พระองค์เสด็จมาห้ามปราบ แต่ทั้งสองฝ่ายต่างก็เลือดเข้าตาแล้ว ไม่ยอมเชื่อฟัง

พระพุทธองค์ทรงระอาพระทัย จึงเสด็จหลีกไปประทับอยู่ ณ ป่าปาลิเลยยกะ (หรือปาลิไลยกะ) ตามลำพัง มีช้างนามเดียวกับป่านี้เฝ้าปรนนิบัติ ทรงจำพรรษาที่นั่น ในคัมภีร์พระไตรปิฎกพูดถึงช้างตัวเดียว ไม่พูดถึงลิง แต่ในอรรถกถาบอกว่ามีลิงด้วยตัวหนึ่ง

หมายเหตุไว้ตรงนี้ ศาสตราจารย์ (พิเศษ) จำนงค์ ทองประเสริฐ ราชบัณฑิต ผู้เป็นนักปราชญ์ท่านบอกว่า ช้างนั้น ถ้าเป็นช้างป่าลักษณนามต้องเรียกว่า “ตัว” แต่ถ้าช้างที่ขึ้นระวางแล้วเรียกว่า “เชือก” ว่าอย่างนั้น ผมเป็นแค่ “นักปาด” ก็ต้องเชื่อท่าน

ว่ากันว่าช้างคอยต้มน้ำให้พระพุทธองค์ทรงสรง ทำอย่างไรหรือครับ แกกลิ้งก้อนหินที่ตากแดดทั้งวันยังอมความร้อนอยู่ ลงในแอ่งน้ำเล็กๆ น้ำนั้นก็อุ่นขึ้นมา แล้วก็ไปหมอบแทบพระบาททำนองอาราธนาให้สรงสนาน พระพุทธองค์เสด็จไปสรงน้ำนั้น อย่างนี้ทุกวัน

เจ้าจ๋อเห็นช้างทำอย่างนั้น ก็อยากทำอะไรแด่พระพุทธองค์บ้าง มองไปมองมาเห็นผึ้งรวงใหญ่ ก็ไปเอามาถวาย พระพุทธองค์ทรงรับแล้วก็วางไว้ ไม่เสวย เจ้าจ๋อสงสัยว่าทำไมพระองค์ไม่เสวย ก็ไปหยิบรวงผึ้งมาพินิจพิเคราะห์ดู เห็นตัวอ่อนเยอะแยะเลย จึงหยิบออกจนหมดแล้วถวายใหม่ คราวนี้พระองค์เสวย ก็เลยกระโดดโลดเต้นด้วยความดีใจ ที่อีกฝ่ายจะถูก กกต. แบนเรื่องปริญญาปลอม เอ๊ยที่พระพุทธองค์เสวยผึ้งที่ตนถวาย ปล่อยกิ่งนี้จับกิ่งนั้นเพลิน บังเอิญไปจับกิ่งไม้แห้งเข้า กิ่งไม้หักร่วงลงมา ถูกตอไม้ทิ่มตูดตาย คัมภีร์เล่าต่อว่า ลิงตัวนั้นตายไปเกิดเป็นเทพบุตรนามว่า มักกฎเทพบุตร (แปลว่าเทพบุตรจ๋อ) ปานนั้นเชียว

เมื่อพระพุทธองค์เสด็จหลีกไปตามลำพัง พวกอุบาสกอุบาสิกาที่ทรงธรรม ไม่เข้าข้างฝ่ายไหนทั้งนั้น ก็พากันแอนตี้พระภิกษุเหล่านั้น ไม่ถวายอาหารบิณฑบาต กล่าวโทษว่าเป็นสาเหตุให้พระพุทธองค์เสด็จหนีไป พวกตนมิได้เฝ้าพระพุทธองค์ พระภิกษุเหล่านั้นรู้สำนึก จึงขอขมา แต่อุบาสกอุบาสิกาทั้งหลายบอกให้ไปกราบขอขมาพระพุทธองค์ ครั้นออกพรรษาแล้ว พระภิกษุเหล่านั้นก็พากันไปเฝ้าพระพุทธองค์เพื่อขอขมา โดยมีพระอานนท์เป็นผู้ประสานงาน (แหม ใช้ภาษาทันสมัยจังเนาะ) พระพุทธองค์ทรงแสดงโทษของการทะเลาะวิวาท และอานิสงส์ (ผลดี) ของความสามัคคี แก่พระสงฆ์สาวกเหล่านั้น ท่านเหล่านั้นก็กลับมาสมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม

ชาวพุทธได้สร้างพระพุทธรูปขึ้นปางหนึ่ง เป็นอนุสรณ์เหตุการณ์ครั้งนี้คือ ปางปาลิไลยกะ (ป่าเลไลยก์) พระพุทธองค์ประทับห้อยพระบาท มีลิงถือรวงผึ้ง และช้างหมอบแทนพระยุคลบาท อย่าถามว่าสร้างสมัยไหน ผมไม่ทราบ เพราะเกิดไม่ทัน

นี้เป็นการทะเลาะกันของพระสงฆ์ครั้งยิ่งใหญ่ครั้งแรกในประวัติพระพุทธศาสนา แต่การทะเลาะกันเพราะความคิดเห็นต่างกัน ก็ไม่ถึงกับแตกนิกายดังในสมัยหลัง เพราะอย่างไรก็มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นจุดศูนย์กลายคอยชี้แจงไกล่เกลี่ยให้กลับคืนดีกัน สมัครสมานสามัคคีกันเหมือนเดิม

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2019, 19:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
สุทัตตะ หรือ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าเป็นครั้งแรกที่ป่าสีตวัน
ซึ่งเป็นป่าช้าขนาดใหญ่ มีความวังเวง น่ากลัว เป็นที่เผาศพของชาวเมืองราชคฤห์
ขณะนั้นพระพุทธองค์ทรงกำลังเสด็จเดินจงกรมในเวลาจวนสว่าง
เมื่อทอดพระเนตรเห็นสุทัตตะ ทรงเสด็จลงจากที่จงกรม
แล้วตรัสเรียกว่า “สุทัตตะ มานี่สิ” ครั้นแล้วทรงแสดงอนุปุพพิกถา
ทำให้สุทัตตะได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ)
เข้าถึงพระสัทธรรมบรรลุเป็นพระโสดาบัน แล้วถวายตนเป็นอุบาสก


รูปภาพ
สุทัตตะ หรือ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” มหาอุบาสกผู้เลิศในทางถวายทาน
ได้ถวายที่ดินและอาคารเสนาสนะต่อคณะสงฆ์
โดยมีพระพุทธเจ้าพระบรมศาสดาทรงรับถวาย
สุทัตตะได้หลั่งน้ำจากน้ำเต้าทองลงบนฝ่าพระหัตถ์ของพระพุทธเจ้า
แสดงการอุทิศถวายมหาสังฆาราม วัดเชตวันมหาวิหาร แล้วต่อคณะสงฆ์
พระพุทธองค์ได้ทรงประทับ ณ วัดเชตวันมหาวิหารแห่งนี้ในพรรษาแรก
และเป็นวัดที่ทรงประทับจำพรรษานานที่สุดถึง ๑๙ พรรษา

:b47: :b45: :b47:

30. วัดแห่งแรกในเมืองสาวัตถี
[วัดพระเชตวัน]

สมัยพุทธกาล การสร้างวัดมิได้สร้างง่ายๆ และสร้างบ่อยเหมือนในยุคหลัง วัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา คือ “วัดพระเวฬุวัน” พระเจ้าพิมพิสารสร้างถวาย เมื่อครั้งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดพระเจ้าพิมพิสารและชาวเมืองราชคฤห์ “วัด” ในความหมายนี้ก็คือ สวนไผ่ หรือป่าไผ่ เพราะฉะนั้นจึงเรียกว่า เวฬุวัน (ป่าไผ่) เวฬุวนาราม (สวนป่าไผ่) คงยังไม่มีสิ่งปลูกสร้างอะไร

แต่เมื่อสร้างวัดที่เมืองสาวัตถีนั้นแหละ เข้าใจว่าคงมีสิ่งปลูกสร้าง มีอาคาร ปราสาท (แปลว่า เรือนชั้นหรือตึก) ด้วย คนสร้างเป็นเศรษฐี ชื่อเดิมว่า “สุทัตตะ” เศรษฐีที่ทำมาค้าขายโดยสุจริต ไม่ใช่เศรษฐีค้าขายผูกขาดปั่นหุ้น ท่านผู้นี้ก่อนจะรู้จักพระพุทธเจ้า ก็เดินทางไปค้าขายยังเมืองต่างๆ ตามประสาพ่อค้า คราวหนึ่งเดินทางไปเมืองราชคฤห์ พักอยู่ที่คฤหาสน์ของน้องเขย เห็นคนในบ้านตระเตรียมสถานที่อย่างขะมักเขม้น ยังกับจะมีงานเลี้ยงมโหฬาร จึงซักถามได้ความว่า มิได้เตรียมสถานที่เพื่อจัดปาร์ตี้อะไร หากแต่เตรียมเพื่อทำบุญถวายภัตตาหารแด่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์สาวก

สุทัตตะได้ยินดังนั้นก็ขนลุกด้วยความปลาบปลื้มดีใจ จึงถามว่า พระสัมมาสัมพุทธเจ้าอยู่ที่ไหน ตนอยากไปพบ น้องเขยบอกว่า พรุ่งนี้ก็จะได้พบอยู่แล้ว

คืนนั้นสุทัตตะนอนไม่ค่อยหลับ กระสับกระส่าย เพราะอยากพบพระพุทธเจ้าเป็นกำลัง ทนรอจนถึงรุ่งเช้าไม่ไหว จึงตัดสินใจออกจากคฤหาสน์ไปยังสถานที่พระพุทธองค์ประทับก่อนรุ่งแจ้ง

ขณะเขาเดินเข้าไปใกล้ ก็ได้ยินพระพุทธดำรัสตรัสว่า “สุทัตตะ มานี่สิ” เขาขนลุกเป็นครั้งที่สอง ประหลาดใจที่พระพุทธองค์ทรงทราบว่าเขากำลังมาเฝ้า และทรงรออยู่ จึงเข้าไปกราบแทบพระยุคลบาท พระพุทธองค์ทรงแสดง “อนุปุพพิกถา” (เทศนาอันว่าด้วย ทาน ศีล โทษแห่งกาม อานิสงส์แห่งสวรรค์ และการปลีกออกจากกามารมณ์) เป็นการปูพื้นฐานจิตใจแก่เขา เขาได้สดับพระธรรมเทศนาแล้วได้บรรลุโสดาปัตติผล ยกระดับจากความเป็นปุถุชนขึ้นเป็นพระอริยบุคคลระดับต้น เรียกว่าได้ “เข้าสู่กระแสพระนิพพาน”

“สุทัตตะ” ได้ประกาศตนเป็นอุบาสก ถึงไตรสรณคมน์ตลอดชีวิต โดยเสด็จพระพุทธองค์ไปยังคฤหาสน์ของน้องเขย เขาได้ขออนุญาตน้องเขยเป็นเจ้าภาพถวายภัตตาหารแด่พระภิกษุสงฆ์ อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประธาน ณ คฤหาสน์เศรษฐีผู้เป็นน้องเขย ตลอด ๗ วัน แล้วทูลอาราธนาพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดประชาชนชาวเมืองสาวัตถีบ้าง

พระพุทธองค์ตรัสว่า “คหบดี สมณะทั้งหลายย่อมยินดีในสถานที่อันสงัด” เพียงแค่นี้เศรษฐีระดับดอกเตอร์ก็รู้แล้วว่า พระพุทธองค์ทรงรับอาราธนา และตรัสให้หาที่อันเหมาะสมให้พระพุทธองค์ประทับ แล้วสุทัตตะก็ได้ทูลลากลับเมืองสาวัตถีด้วยจิตใจอันเปี่ยมด้วยความสุขหาใดปาน


กลับถึงบ้านก็เที่ยวสำรวจสถานที่ที่เหมาะจะสร้างวัดถวายพระพุทธองค์ ไปชอบใจสวนของเจ้านายในราชวงศ์พระองค์หนึ่งพระนามว่า เจ้าชายเชต จึงไปเจรจาขอซื้อ เจ้าเชตไม่อยากขายจึงโก่งราคาแพงลิบลิ่ว แพงขนาดไหนหรือครับ เจ้าเชตบอกว่าให้เอาเหรียญกระษาปณ์มาปูพื้นที่จนเต็มนั้นแหละคือราคาสวน

โอโฮ สวนตั้งหลายเอเคอร์จะใช้เหรียญสักกี่คันรถจึงจะเต็ม ไม่รู้ล่ะ เศรษฐีคิด เท่าไรก็สู้ อะไรประมาณนั้น จึงสั่งให้ขนกระษาปณ์จากคลังมาปูพื้นที่สวน ปูไปได้หมดเงิน ๑๘ โกฏิ (มากแค่ไหนผู้รู้คำนวณเอาก็แล้วกัน)


เจ้าเชตเห็นเศรษฐีเอาจริงเอาจังขนาดนั้น จึงถามว่า ทำไมจึงใจถึงปานนี้ จะซื้อสวนนี้ไปทำอะไรหรือ เศรษฐีบอกว่าจะสร้างวัดถวายพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทันทีที่ได้ยินคำว่าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า เจ้าเชตก็เกิดศรัทธาขึ้นมาทันที บอกเศรษฐีว่า เอาเท่าที่ปูไปแล้วนี้แหละ ที่เหลือขอให้เขาได้มีส่วนในการสร้างวัดบ้าง แล้วก็บริจาคเพิ่มอีก ๑๘ โกฏิ ช่วยกันสร้างวัดจนสำเร็จ ใช้เวลาสร้างนานเท่าไรตำรามิได้บอกไว้ สร้างเสร็จได้ขนานนามว่า “วัดพระเชตวัน” เพื่อเป็นเกียรติแก่เจ้าเชต ถวายให้เป็นวัดที่ประทับของพระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์

สุทัตตะที่ว่านี้มิใช่ใครที่ไหน เป็นคนเดียวกับ “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” ที่รู้จักกันดีในหมู่ชาวพุทธนั้นเอง นามเดิมท่าน สุทัตตะ ครับ เพราะความที่ท่านเป็นคนใจบุญสุนทาน อุปถัมภ์พระพุทธศาสนาอย่างแข็งแรง สร้างโรงทานให้ทานแก่ยาจกและวณิพก ณ สี่มุมเมือง จึงได้รับขนานนามว่า “อนาถบิณฑิกเศรษฐี” อ่านออกเสียงว่า “อะนาถะบินดิกะเสดถี” นะครับ อย่าออกเสียงว่า “อะหนาด...” เป็นอันขาด แปลว่า ผู้มีก้อนข้าวเพื่อคนอนาถาเสมอ ฝรั่งแปลเอาความว่า “เศรษฐีใจบุญ” (benefactor, benevolent)

ใครที่ไปมนัสการสังเวชนียสถาน ๔ ตำบล ที่ประเทศอินเดีย และเนปาล (ลุมพินี สถานที่ประสูติพระพุทธเจ้า อยู่ที่ประเทศเนปาลครับ) ก็จะต้องไปเที่ยวชมและนมัสการพระเชตวัน จะเห็นว่าเป็นบริเวณกว้างขวางมาก มีซากปรักหักพัง มีฐานของตึก และกุฏิของพระภิกษุสงฆ์สาวกต่างๆ ก่อด้วยอิฐอย่างแข็งแรง เข้าใจว่าตึกรามอะไรต่างๆ คงมีมาตั้งแต่แรกสร้างส่วนหนึ่ง สร้างเพิ่มเติมอีกส่วนหนึ่ง


นอกจากนั้นก็มีต้นโพธิ์ใหญ่อยู่ต้นหนึ่ง ว่ากันว่าเป็นต้นโพธิ์ที่พระเจ้าแผ่นดินและอนาถบิณฑิกเศรษฐีปลูกไว้ โดยการอำนวยการของพระอานนท์พุทธอนุชา เพื่อเป็น “เจดีย์” กราบไหว้แทนพระพุทธองค์ ยามเมื่อพระพุทธองค์มิได้ประทับอยู่ ณ พระเชตวัน ต้นโพธิ์ต้นนี้เรียกว่า “อานันทโพธิ์” (ต้นโพธิ์พระอานนท์)

“วัดพระเชตวัน” เป็นวัดที่พระพุทธเจ้าประทับนานที่สุด นานกว่าสถานที่อื่น นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็ได้สร้างวัดไว้ด้านทิศตะวันออกของเมือง ชื่อ “วัดบุพพาราม” ด้วยการบริจาคทรัพย์จำนวนมากเช่นกัน แต่ก็มิปรากฏว่าพระพุทธองค์ประทับที่วัดนี้นานและบ่อยเท่าพระเชตวัน

คัมภีร์พระไตรปิฎกบันทึกไว้ว่า มีพระสูตรมากมายที่พระพุทธเจ้าตรัสเทศนาขณะประทับอยู่ ณ วัดพระเชตวัน นี้ เพราะฉะนั้น “วัดพระเชตวัน” จึงมิเพียงเป็นวัดแห่งแรกที่สร้างขึ้น ณ เมืองสาวัตถี หากเป็นสถานที่พระพุทธองค์ประทับยาวนาน และทรงแสดงพระธรรมเทศนามากที่สุดด้วย จึงนับเป็นสถานสำคัญทางประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนาอย่างยิ่ง


:b8:

๏ สุทัตตะ อนาถบิณฑิกเศรษฐี
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50333

๏ อานันทโพธิ์ ต้นโพธิ์ที่มีอายุยืนที่สุดในโลก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=39333

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2019, 19:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


31. มหาโจรชื่อดังคนแรกที่บรรลุพระอรหัต
[ท่านองคุลิมาล]

ถ้าบอกว่าคนที่ว่านี้คือมหาโจรองคุลิมาล หลายคนคงถามว่า ก่อนหน้านี้มีคนอื่นบ้างไหม

ขอเรียนว่าอาจจะมี แต่หลักฐานมิได้บอกชัดแจ้งเหมือนมหาโจรองคุลิมาล

เข้าใจว่ามหาโจรที่ดังมากยุคนั้นก็คือท่านผู้นี้แหละและดังมาจนถึงปัจจุบัน

องคุลิมาลเป็นบุตรของปุโรหิตนามว่าคัดดะ แห่งราชสำนักพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี มารดานามว่ามันตานี

ขณะเกิดนั้นอาวุธในคลังแสงลุกติโชติช่วงน่าประหลาดมาก

ปุโรหิตผู้บิดาขณะนั้นอยู่ในพระราชสำนัก กำลังเฝ้าพระเจ้าแผ่นดินอยู่ กราบทูลพระราชาว่า เด็กที่เกิดในฤกษ์นี้จะเป็นโจรที่มีชื่อเสียงเป็นที่หวาดกลัวของประชาชน

พระราชาตรัสถามว่า โจรธรรมดาหรือว่าโจรแย่งราชสมบัติ เมื่อทรงทราบว่าเป็นโจรธรรมดาก็ไม่สนพระทัย

ปุโรหิตกลับมาถึงบ้านถึงได้รู้ว่าเด็กน้อยที่ว่านี้คือบุตรชายของตัวเอง กลับไปกราบทูลพระเจ้าแผ่นดินขอกำจัดทิ้งเสียเพื่อมิให้เป็นเสี้ยนหนาม ถูกพระราชาทรงทัดทานไว้

จึงตั้งชื่อ “แก้เคล็ด” ว่า อหิงสกะ (แปลว่าผู้ไม่เบียดเบียน)

อหิงสกะก็เป็นผู้ไม่เบียดเบียนใครจริงๆ มีนิสัยใจคอสุภาพอ่อนโยน มีเมตตา กรุณา มีมนุษยสัมพันธ์ดี เคารพนับถือผู้ใหญ่ ไม่มีทีท่าว่าจะเป็นโจรตามคำทำนายของบิดา

บิดาส่งไปเรียนศิลปวิทยาในสำนักของอาจารย์ทิศาปาโมกข์ เมืองตักสิลา ก็ขยันศึกษา เคารพนับถืออาจารย์ แม้กระทั่งภริยาของอาจารย์อย่างดี เป็นที่โปรดปรานของอาจารย์อย่างยิ่ง

แถมยังมีสมองเป็นเลิศ เรียนเก่งล้ำหน้าเพื่อนร่วมรุ่นทั้งหลาย จนเพื่อนๆ อิจฉาริษยา

อาจารย์เองเวลาจะดุด่าศิษย์อื่นๆ ที่ไม่ใส่ใจในการศึกษา ก็จะยกอหิงสกะเป็นตัวอย่าง และให้เอาอย่างอหิงสกะ ยิ่งทำให้พวกเขาเกลียดอหิงสกะยิ่งขึ้น จึงหาทางกำจัด โดยแบ่งเป็นกลุ่มๆ เข้าไปพูดจาให้ร้ายป้ายสีอหิงสกะ

แรกๆ อาจารย์ก็ไม่สนใจ แต่พอบ่อยเข้า หลายคนเข้า ก็ชักจะเชื่อว่าคงเป็นไปได้ เพราะถ้าไม่มีมูลเลยพวกศิษย์อื่นๆ คงไม่พูดเป็นเสียงเดียวกัน

ในที่สุดก็ปักใจแน่วแน่ว่า อหิงสกะเป็นศิษย์ทรยศคิดล้างครู

(ในคัมภีร์พูดเป็นนัยๆ ว่า ถูกหาว่ามีอะไรกับภริยาของอาจารย์ด้วย “ถูกกล่าวหา” ก็รู้อยู่แล้ว จริงก็ได้ ไม่จริงก็ได้)

อาจารย์เรียกลูกศิษย์รักผู้จะจบการศึกษามาพูดทำนองขอ “ค่าบูชาครู” (ครุปจาร หรือครุทักษิณา) ด้วยให้ไปเอานิ้วคนมาพันนิ้ว (ผู้แต่งประวัติพระองคุลิมาล บางท่านว่าอาจารย์จะถ่ายทอด “วิษณุมนตร์” ให้ จึงให้ไปฆ่าคนเอานิ้วมาพันนิ้ว)

ค่าที่เป็นคนเชื่อฟังอาจารย์อยู่แล้วและอยากกลับบ้านเกิดเมืองนอน อหิงสกะจึงตกลงไปฆ่าคนเอานิ้วมือ ฆ่าแล้วก็ตัดเอานิ้วมาร้อยเป็นพวกแขวนคอ กว่าจะได้เป็นร้อยๆ ก็ต้องเสียเวลานานพอสมควร และนิ้วที่ร้อยแขวนคอไว้บางนิ้วก็เน่าหลุดไปต้องหามาเพิ่มใหม่อยู่อย่างนี้ไม่ครบพันสักที

มาถึงช่วงนี้เสียงลือเสียงเล่าก็กระฉ่อนไปทั่วว่ามีมหาโจรดุร้ายไล่ฆ่าคนตัดเอานิ้วมาทำพวงมาลัย น่าสยดสยองเหลือเกิน จนผู้คนไม่กล้าเดินทางไปไหน

บิดาของอหิงสกะทราบว่ามหาโจรนี้คือบุตรชายของตนจึงกราบทูลให้พระราชาไปกำจัดเสียเพื่อความผาสุกของชาวเมือง

ผู้เป็นแม่ได้ทราบข่าวก็เป็นห่วงว่าบุตรของตนจะมีภัยถึงชีวิต ถึงแม้ลูกจะเป็นโจรก็เป็นลูกนาง นี่แหละครับความรักของแม่ที่มีต่อลูกมันยิ่งใหญ่มหาศาลเพียงใด

นางแอบหนีออกจากเมืองมุ่งหน้าไปยังทิศทางที่คิดว่าบุตรชายตนเองอยู่เพื่อบอกให้ลูกรู้ตัวแล้วจะได้หลบหนีไปเสีย

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกเพื่อไปโปรดในปัจจูสมัย (จวนสว่าง) องคุลิมาลปรากฏในข่ายคือพระญาณ

ทรงทราบด้วยญาณว่าองคุลิมาลมีอุปนิสัยจะได้บรรลุ เพื่อมิให้เธอถลำลึกลงไปในห้วงแห่งอกุศลกรรมมากกว่านี้ อันจะตัดทางแห่งมรรคผลนิพพานเสีย จึงเสด็จไปดักหน้า

องคุลิมาลเห็นพระพุทธเจ้า คิดว่าสมณะก็สมณะเถอะวะ ข้าจะฆ่าเอานิ้วมาให้ได้ ขาดนิ้วเดียวจะครบพันอยู่แล้ว

ว่าแล้วก็ชูดาบวิ่งเข้าใส่ ปากก็พร่ำว่า “หยุด สมณะ หยุด”

พระพุทธองค์ตรัสว่า “เราตถาคตหยุดแล้ว เธอสิยังไม่หยุด”

มหาโจรแย้งว่า ท่านยังเดินไปอยู่ ทำไมพูดว่าหยุดแล้ว สมณโกหกด้วยหรือ พระองค์ตรัสว่า “เราหยุดทำบาปแล้ว เธอยังไม่หยุด” เท่านั้นแหละ มหาโจรองคุลิมาลก็ทิ้งดาบ เข้าไปกราบพระยุคลบาท ฟังธรรม

พระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมให้ฟัง จบพระธรรมเทศนา เขาได้ทูลขอบวช พระพุทธองค์ประทานอุปสมบทให้แล้วทรงนำกลับไปยังพระเชตวัน

วันนั้นพระเจ้าปเสนทิโกศลทรงนำกองทัพย่อยๆ จะไปปราบองคุลิมาล ก่อนไปได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าทำนองเอาฤกษ์เอาชัย

พระพุทธองค์ตรัสถามว่าจะยกทัพไปไหน

พระเจ้าปเสนทิโกศลกราบทูลว่าจะไปปราบโจรองคุลิมาล

พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า ถ้าโจรองคุลิมาลละการทำบาปมาบวชเป็นศิษย์ตถาคตแล้วพระองค์ยังจะไปปราบอยู่ไหม

พระเจ้าแผ่นดินตรัสว่าถ้าอย่างนั้นก็ได้รับอภัยโทษ แทนที่จะปราบ พระองค์กลับต้องนมัสการถวายความอุปถัมภ์ด้วยปัจจัยสี่ พระพุทธองค์ทรงชี้พระดรรชนีไปยังภิกษุหนุ่มตรัสว่านั่นคืออดีตโจรองคุลิมาล

แม้ทรงรู้ว่าบัดนี้พระภิกษุหนุ่มไม่เบียดเบียนใครอีกแล้ว พระราชายังอดสะดุ้งพระทัยไม่ได้ ทรงข่มความกลัวเข้าไปนมัสการภิกษุหนุ่ม ทรงปวารณาถวายจตุปัจจัย

แรกๆ พระองคุลิมาลบิณฑบาต นอกจากไม่ได้ข้าวแล้ว ยังได้ “เลือด” กลับวัดอีกด้วย เพราะผู้คนที่จำท่านได้ ก็เอาก้อนอิฐ ก้อนดิน ขว้างปา จนศีรษะแตกได้รับทุกขเวทนา คัมภีร์พระไตรปิฎกเล่าว่า ท่านถูกทำร้ายจนบาตรแตก จีวรฉีกขาดกะรุ่งกะริ่ง พระพุทธองค์ตรัสให้ท่านอดทนเพราะนั่นคือเศษกรรมของท่าน วันหนึ่งท่านพบหญิงมีครรภ์แก่เดินเหินลำบาก จึงมากราบทูลพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ตรัสบอกให้ท่านแผ่เมตตาจิตให้นาง รุ่งขึ้นท่านไปบิณฑบาตพบสตรีคนแก่เดิม ท่านยืนสงบใกล้ๆ เธอ เปล่งวาจาตั้งสัตยาธิษฐานว่า

ยะโตหัง ภะคะนิ อะริยายะ ชาติยา ชาโต นาภิชานา มิ สัญจิจจะ ปาณัง ชีวิตา โวโรเปตา เตนะ สัจเจนะ โสตถิ เต โหตุ โสตถิ คัพภัสสะ

ดูก่อนน้องหญิง ตั้งแต่เราเกิดมาโดยชาติเป็นอริยะ (ตั้งแต่บวช) เราไม่เคยคิดทำลายชีวิตสัตว์เลย ด้วยสัจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่ท่านและบุตรในครรภ์ของท่าน

สิ้นคำสัตยาธิษฐาน สตรีคนนั้นก็คลอดลูกอย่างง่ายดาย คนจึงลือกันว่าท่านองคุลิมาลมี “มนต์” ทำให้คนคลอดลูกง่าย เพราะฉะนั้น “อังคุลิมาลปริตร” (สั้นๆ ข้างต้นนั้น) อาจารย์ยุคหลังได้รวบรวมไว้ในบทสวดเจ็ดตำนานเพื่อสวดเป็นสวัสดีมงคล หรือไม่ก็แยกสวดเฉพาะบททำน้ำมนต์ให้สตรีตั้งครรภ์ดื่มให้คลอดบุตรง่าย ท่านพระองคุลิมาลเมื่อบรรลุพระอรหันต์แล้ว ได้รับยกย่องจากพระบรมศาสดาว่าเป็นสาวกประเภทต้นคดปลายตรง ทำผิดในกาลก่อน ภายหลังกลับเนื้อกลับตัวได้เลิกละโดยสิ้นเชิง ดังพุทธวจนะตรัสสรรเสริญว่า “ผู้ใดทำบาปในกาลก่อน ภายหลังละได้ด้วยการทำกุศล ผู้นั้นย่อมยังโลกนี้ให้สว่างดุจพระจันทร์พ้นจากเมฆหมอกฉะนั้น”

ท่านองคุลิมาลนับเป็นมหาโจรชื่อดังคนแรกที่ได้บรรลุพระอรหัตด้วยประการฉะนี้

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2019, 19:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


32. รอยพระพุทธบาทรอยแรก

ว่ากันว่ารอยพระพุทธบาทมีอยู่ 5 แห่งเท่านั้น ที่พระพุทธเจ้าทรงประทับไว้ เพื่อให้ชาวโลกได้นมัสการ คือ (1) ที่สุวรรณมาลิก (2) ที่สุวรรณบรรพต (3) ที่สุมนกูฏ (4) ที่โยนกประกาศ และ (5) ริมฝั่งน้ำนัมมทา

5 แห่งที่ว่านี้จะเป็นพระพุทธบาท original หรือไม่ ไม่ยืนยัน สงสัยจะเป็นพระพุทธบาทจำลองเสียมากกว่า เพราะไม่ปรากฏในพระคัมภีร์ยุคต้นๆ

ถ้าถามว่า รอยพระพุทธบาทรอยแรก หรือรอยต้นๆ อยู่ที่ไหน

ถ้าศึกษาพุทธประวัติจะพบเหตุการณ์ครั้งหนึ่งที่พระพุทธเจ้าทรงตั้งพระทัยประทับรอยพระบาทไว้โดยเฉพาะ เข้าใจว่าจากนั้นมาเลยมีการจำลองพระพุทธบาทไว้สำหรับสักการะ

เหตุการณ์เกิดขึ้นประมาณกลางพุทธกาล พระพุทธเจ้าเสด็จไปโปรดชาวกุรุรัฐ ณ ชนบทแห่งหนึ่ง มีสองสามีภรรยาและลูกสาวสวยคนหนึ่งนามว่า มาคันทิยา ผู้เป็นพ่อไม่ยอมให้แต่งงานกับชายใด

อ้างว่าไม่มีใครเหมาะสมกับลูกสาวของตน

วันหนึ่งพราหมณ์บิดาของสาวงามคนที่ว่านี้พบพระพุทธเจ้าเข้าก็เกิดติดอกติดใจในบุคลิกภาพอันสง่าของพระพุทธองค์ จึงเข้าไปหาแล้วกล่าวว่า “สมณะ ข้าฯ มีลูกสาวอยู่คนหนึ่ง เหมาะกับท่านมาก ข้าฯ ยินดียกให้เป็นภริยาของท่าน โปรดรออยู่ตรงนี้นะ ข้าฯ จะไปพาลูกสาวมาให้”

พระพุทธเจ้ามิได้ประทับ ณ จุดที่พราหมณ์บอก เสด็จไปประทับใต้ต้นไม้ต้นหนึ่ง ไม่ไกลจากที่นั้นนัก พราหมณ์รีบไปบอกภริยาให้แต่งตัวให้ลูกสาว บอกว่าได้พบบุรุษผู้เหมาะสมกับลูกสาวแล้ว จะรีบพาไปหา

ชาวเมืองได้ทราบข่าวก็พากันตามไป เพราะเท่าที่แล้วๆ มาพราหมณ์ไม่ยินดียกลูกสาวให้ชายหนุ่มคนใด อ้างว่ายังไม่เหมาะสมกับลูกสาวของตน บัดนี้แกบอกว่าพบชายหนุ่มที่เหมาะสมแล้ว จึงอยากจะไปดูว่าจะหล่อเหลาปานใด

ไปถึงจุดนัดหมาย พราหมณ์ไม่พบพระพุทธองค์ จึงสอดส่ายตาไปมา พบรอยพระพุทธบาทที่พระองค์ประทับไว้ จึงร้องบอกภริยาว่า “นี่คือรอยเท้าของเขา เขาต้องอยู่แถวๆ นี้แน่” ว่ากันว่า นางพราหมณีภริยาของพราหมณ์มีความเชี่ยวชาญใน “ปาทศาสตร์” (ศาสตร์ว่าด้วยการดูลายเท้า) พินิจพิจารณารอยพระพุทธบาทแล้ว จึงร้องบอกสามีว่า “เจ้าของรอยเท้านี้ไม่สนใจไยดีกามคุณแล้ว ตาเฒ่าเอ๋ย ป่วยการตามหาเขา”

พราหมณ์ดุภริยาว่า “เก็บตำราของแกไว้เถอะ อย่าทำตนเป็นจระเข้ในตุ่มเลย (คล้ายกับสำนวนไทยว่า “จระเข้ขวางคลอง” กระมัง) เจ้าหนุ่มหน้ามนคนนั้นรับปากฉันแล้ว” (ตอนแกบอกพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ประทับดุษณีภาพ พราหมณ์เลยเข้าใจว่า นิ่งคือการยอมรับ)

นางพราหมณีจึงร่ายโศลก ว่าด้วยการทายลักษณะรอยเท้าให้สามีและประชาชนที่รายล้อมอยู่ ณ บริเวณนั้นฟังดังนี้

รตฺตสฺส หิ อุกฺกฏิกํ ปทํ ภเว
ทุฏฺฐสฺส โหติ สหาสนุปีฬิตํ
มูฬฺหสฺส โหติ อวกฑฺฒิตํ ปทํ
วิวฏฉทสฺส อยมีทิสํ ปทํ

คนราคจริต รอยเท้าจะเว้าตรงกลาง
คนโทสจริต รอยเท้าจะจิกปลาย
ส่วนรอยเท้านี้ (ราบเสมอกัน) เป็นของคนหมดกิเลสแล้ว

คำพยากรณ์ไม่สบอารมณ์พราหมณ์มาก บอกให้ภริยาเงียบเสียง ตนเองก็สอดส่ายตามองไปมองมาพบพระพุทธเจ้าประทับอยู่ใต้ต้นไม้ จึงจูงลูกสาวเข้าไปหา ละล่ำละลักว่า

“สมณะ ข้าฯ นำลูกสาวมาให้ท่านแล้ว”

พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นว่าสองสามีภริยามีอุปนิสัยจะได้บรรลุธรรม จึงตรัสว่า

“พราหมณ์ สมัยเราเป็นเจ้าชายแห่งเมืองกบิลพัสดุ์ แคว้นศากยนั้น ได้รับการปรนเปรอด้วยโลกียสุขนานาประการ มีนางสนมกำนัลสวยงาม คอยปรนนิบัติมากมาย ล้วนแต่รูปร่างสะคราญตาดุจนางอัปสรสวรรค์ก็มิปาน เรายังไม่ไยดี สละทิ้งมาหมด ออกบวชมาเป็นสมณะ แสวงหาทางหลุดพ้น จนได้ตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ ไฉนเราจักยินดีในร่างกายของบุตรสาวท่าน อันเต็มไปด้วยของปฏิกูล อย่าว่าแต่ยินดีเลย แม้เท้าเรายังไม่อยากให้แตะเลย”

พระพุทธดำรัสนี้กระตุ้นให้สองสามีภรรยาเข้าใจความจริงของสังขารร่างกาย เมื่อตั้งใจฟังพระธรรมเทศนาจบลงก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล แต่ทำให้มาคันทิยา ลูกสาวคนสวย ผูกใจเจ็บ หาว่าสมณะ (พระพุทธเจ้า) ดูถูกตน

เมื่อนางได้เป็นพระมเหสีของพระเจ้าอุเทน แห่งกรุงโกสัมพีในภายหลัง ได้พยายามแก้แค้นพระพุทธองค์ต่างๆ นานา

เมื่อเล่นงานพระพุทธองค์โดยตรงไม่ได้ ก็ไปลงที่สาวิกาของพระพุทธองค์ นามว่า สามาวดี ซึ่งเป็นมเหสีอีกพระองค์หนึ่ง จนพระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็น ด้วยแรงอาฆาตริษยา

ในที่สุดกรรมก็สนองกรรม นางมาคันทิยาก็ถูกประหารชีวิต ด้วยการเผาทั้งเป็นเช่นเดียวกัน

รอยพระพุทธบาทรอยนี้ นับเป็นรอยแรก หรือรอยแรกที่ทรงประทับไว้ ด้วยความมุ่งหมายเฉพาะ (คือเป็น “สื่อ” สอนธรรม) ขอสรุปเช่นนี้ไปก่อนจนกว่าจะมีหลักฐานและเหตุผลที่ดีกว่า

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2019, 19:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


33. ผู้กล่าวพุทธคุณ 100 บทคนแรก
[อุบาลีคหบดี]

เราเคยได้ยินพระพุทธคุณ 9 บท หรือ นวารหคุณ หรือ นวารหาทิคุณ ขึ้นต้นด้วย อิติปิโส ภควา อรหัง สัมมาสัมพุทโธ ดังที่เราสวดกันอยู่ทุกวัน หรือสรุปลงในพระพุทธคุณทั้ง 3 ประการ ได้แก่ พระปัญญาคุณ พระวิสุทธิคุณ และพระมหากรุณาคุณ แต่น้อยคนจะได้ยินพระพุทธคุณ 100 บท

ผู้กล่าวพระคุณ 100 บทคือ อุบาลีคหบดี อดีตสาวกของนิครนถ์นาถบุตร หรือศาสดามหาวีระแห่งศาสนาเชน เมื่อแรกท่านผู้นี้หมายมั่นปั้นมือว่าจะมาโต้วาทะแข่งกับพระพุทธเจ้า อาจารย์ของตนคือมหาวีระก็อนุญาต แต่ศิษย์รุ่นพี่คนหนึ่งชื่อทีฆปัสสีไม่เห็นด้วย

แกห้ามอุบาลีว่า อย่าเลย สมณโคดม เขามี “มนต์กลับใจ” ใครได้พูดกับเขา มักจะถูกเขาใช้มนต์กลับใจหันไปเลื่อมใสแทบทุกคน ทางที่ดีอย่าไปสู้กับเขาดีกว่า

อุบาลีถือว่าตนเป็นพหูสูต ไม่มีทางที่จะยอมง่ายๆ จึงไม่ยอมเลิกรา วันเวลาแห่งการโต้วาทะก็ใกล้เข้ามา

ผู้คนต่างก็รอเวลาเพื่อจะดูว่าใครเก่งกว่าใคร ตามประสาแขกมุง (ซึ่งคงไม่ต่างกับไทยมุงสักเท่าไหร่)

วันนั้นอุบาลีหมายมั่นปั้นมือว่าตนเองชนะแน่นอน เรื่องที่นำมาโตแย้งคือเรื่องกรรมซึ่งทางฝ่ายนิครนถ์เรียกตามศัพท์ของเขาว่า “ทัณฑ์” โดยเขาเห็นว่า กายกรรม (กายทัณฑ์) นั้นมีโทษมากกว่าวจีกรรม และมโนกรรม พระพุทธองค์ทรงโต้ว่า มโนกรรมนั้นสำคัญกว่า

ในที่สุดอุบาลียอมแพ้ด้วยเหตุผล จึงประกาศยอมแพ้ และยอมรับเอาพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต

พระพุทธเจ้าทรงตรัสห้ามปรามตั้งสามครั้งว่า “อุบาลี คนมีชื่อเสียงอย่างท่านจะทำอะไรขอให้คิดให้ดีก่อน”

อุบาลี ก็ยืนยันว่า คิดดีแล้ว ขอยืนยันนับถือพระรัตนตรัยเป็นสรณะตลอดชีวิต มิไยพระพุทธองค์จะทรงห้ามปรามอย่างไรก็ไม่ฟัง

เมื่อเห็นว่าเขาไม่ฟัง พระพุทธองค์ก็ตรัสกับเขาว่า ตัวท่านเป็นอู่ข้าวอู้น้ำของพวกนิครนถ์มาก่อน เมื่อหันมานับถือพระพุทธศาสนาอย่างนี้ย่อมกระทบกระเทือนต่อพวกนิครนถ์มาก

ในระยะเริ่มต้นนี้ขอให้สำคัญข้าวและน้ำที่เคยให้แก่พวกนิครนถ์เหมือนเดิมเถิด

น่าสังเกตนะครับ พระองค์แทนที่จะเป็น “ศาสดากระหายสาวก” คือรีบๆ รับ แต่พระองค์กลับทรงแผ่พระมหากรุณาแก่พวกเขาเสียอีก น้ำใจอย่างนี้ยากจะหาได้ และดูเหมือนมันจะเด่นมากในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา

เมื่ออุบาลีประกาศตนเป็นสาวกของพระพุทธเจ้าแล้ว ทีฆปัสสีทราบข่าว ก็ไปต่อว่า ศาสดามหาวีระ เห็นหรือยัง ข้าอุตส่าห์ห้ามแล้วก็ไม่เชื่อ เดี๋ยวนี้เป็นยังไง อุบาลีคนเก่งของพวกเรา ถูกพระสมณโคดม “ดูด” ไปเสียแล้ว

มหาวีระ ไม่เชื่อว่าเป็นจริง จึงเดินทางไปพิสูจน์ความจริงที่บ้านลูกศิษย์ ไปถึงเขาไม่ยอมให้เข้าบ้าน จนต้องขอร้องอ้อนวอนอย่างน่าสงสาร เข้าไปแล้วเขาก็เชิญให้ไปนั่งที่ศาลาหน้าบ้านรออยู่พักใหญ่

อุบาลีออกมาก็นั่งอาสนะสูงกว่า ถูกอดีตศาสดาต่อว่าต่อขานว่าอุบาลี เจ้าจะบ้าไปแล้วหรือ นี่ศาสดาของเจ้านะ

อุบาลียืนยันว่า ข้าพเจ้ามีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นเป็นศาสดา หามีใครอื่นใดไม่

มหาวีระกล่าวว่า อุบาลี พระสมณะโคดมมีดีอะไรนักหนา เจ้าจึงเห็นดีเห็นงามไปกับเขา

อุบาลีกล่าวว่า ถ้าท่านอยากฟังนะ ข้าพเจ้าจะสรรเสริญพระพุทธคุณของพระองค์ให้ท่านฟัง

ว่าแล้วก็กล่าวพระพุทธคุณทั้ง 100 บทไปตามลำดับ นัยว่าอุบาลีกล่าวได้ไม่ถึงครึ่งหนึ่งมหาวีระทนฟังไม่ไหว ยกไม้ยกมือร้องห้ามว่า พอแล้วๆ แล้วเลือดอุ่นๆ ก็พุ่งออกจากปาก

พวกลูกศิษย์ทั้งหลายต้องหามแกออกจากคฤหาสน์อุบาลี อดีตสาวกของแก ก่อนหน้านี้ก็สัจจกนิครนถ์ทีหนึ่งแล้ว มาคราวนี้ก็อุบาลีอีก ทั้งสองคนเป็นคนดังของพวกนิครนถ์

โดยเฉพาะคนหลังนี้ มิเพียงเป็นพหูสูตเท่านั้น ฐานะความเป็นอยู่ในระดับมหาเศรษฐีคนหนึ่ง นับเป็นเรี่ยวเป็นแรงของพวกนิครนถ์เป็นอย่างดีอีกด้วย เมื่อเขาหันไปนับถือศาสนาอื่นเสียแล้ว ย่อมกระทบกระเทือนไม่น้อย พระพุทธเจ้าจึงทรงให้เขาถวายความอุปถัมภ์แก่ลัทธิดั้งเดิมของตนไปสักระยะหนึ่งก่อน

แต่เชื่อเถอะครับ ร้อยทั้งร้อยไม่มีใครเชื่อดอก เมื่อออกมาแล้วย่อมจะพยายามหนีไปให้ไกลที่สุดเป็นธรรมชาติ บางคนนับถือพุทธอยู่ดีๆ แสนจะขี้เกียจ พอเข้ารีตนับถือศาสนาอื่นกลับขยันขันแข็ง อ้างว่าเพราะเขานับถือศาสนาอื่น จึงทำให้ชีวิตดีขึ้น อย่างนี้ก็มี

มหาวีระ ตั้งแต่ออกจากบ้านอุบาลีวันนั้น ป่วยกระเสาะกระแสะ สามวันดีสี่วันไข้ ไม่ช้าไม่นานก็นิพพาน เข้าใจว่าคงเสียใจมาก แบบจิวยี่ในเรื่องสามก๊กก็ไม่ปาน

อุบาลีนับเป็นคนแรกที่กล่าวพุทธคุณ 100 บท มีบันทึกไว้ในอุปาลิวาทสูตร มัชฌิมนิกาย ด้วยประการนี้

:b8:

๏ อุบาลีคหบดี อดีตมือขวาของพระมหาวีระ
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=50313

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2019, 19:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


34. สาวใช้คนแรกผู้เป็นอาจารย์พระราชินี
เพราะปัญญาเลิศ

[นางขุชชุตตรา]

พระพุทธศาสนานั้นมีข้อเด่นอยู่อย่างหนึ่งในหลายร้อยหลายพันอย่าง คือให้โอกาสแก่มนุษย์ว่ามีศักยภาพที่จะพัฒนาตนเองได้ ถือว่ามนุษย์ทุกคนมีความเป็น “คน” ทัดเทียมกัน แล้วก็ให้กำลังใจให้พยายามพัฒนาตนไปสู่เป้าหมายสูงสุด ด้วยวิริยะ อุตสาหะ และให้ความทัดเทียมกันระหว่างบุรุษและสตรี บุรุษบรรลุมรรคผลได้ สตรีก็บรรลุได้ บุรุษมีโอกาสได้บวชเรียน สตรีก็มีโอกาสนั้นเหมือนกัน

นอกจากนี้ พระพุทธศาสนาชี้คุณค่าของคนที่รู้จักใช้ปัญญาในการดำเนินชีวิต ใครมีปัญญา ไม่ว่าจะเป็นคนเกิดในวรรณะไหนก็ได้รับการยอมรับ

ที่พูดมาหลายบรรทัดนี้ก็เพื่อเข้าหาเรื่องของสาวใช้คนหนึ่ง แถมยังพิการคือ ร่างค่อมด้วย ได้รับการยกย่องว่าเป็นผู้คงแก่เรียน

สาวใช้พิการคนนี้คือ นางขุชชุตตรา ครับ

นางเป็นคนใช้ของนางสามาวดี มเหสีของพระเจ้าอุเทน กษัตริย์ผู้ครองเมืองโกสัมพี นางสามาวดีเป็นสาวิกาของพระพุทธเจ้า ทุกวันมอบเงินให้นางขุชชุตตราไปซื้อดอกไม้มาจากนายมาลากร 8 กหาปณะเพื่อบูชาพระพุทธเจ้า (เรื่องราวของนางสามาวดี จะนำมาเล่าภายหลัง)

ขุชชุตตรา ขยักไว้ 4 กหาปณะเพื่อตัวเอง เรียกง่ายๆ ว่า “ยักยอก” เจ้านายนั่นแหละ อีก 4 กหาปณะก็ซื้อดอกไม้ไปให้นายหญิง

วันหนึ่งนายมาลาการนิมนต์พระพุทธเจ้าและพระภิกษุสงฆ์ไปเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน พูดกับนางขุชชุตตราผู้มาซื้อดอกไม้ว่า

“หนู วันนี้ฉันอาราธนาพระพุทธเจ้ามาเสวยภัตตาหารที่บ้าน หนูช่วยเลี้ยงพระก่อนแล้วค่อยเอาดอกไม้ไปให้นายหญิงของหนูได้ไหม”

“ได้จ้ะ” ขุชชุตตราตอบ แล้วก็อยู่ช่วยงานจนแล้วเสร็จ เมื่อพระพุทธองค์เสวยเสร็จแล้ว ก็ทรงอนุโมทนา ทรงแสดงธรรมแก่นายมาลาการและครอบครัว นางขุชชุตตราทีแรกจะรีบกลับ แต่ใจหนึ่งคิดว่าไหนๆ ก็รอมาแล้ว ลองฟังธรรมก่อนค่อยกลับดีกว่า จึงตั้งใจฟังธรรมจนจบ พอจบพระธรรมเทศนา นางก็ได้บรรลุโสดาปัตติผล

นางขุชชุตตราซื้อดอกไม้ 8 กหาปณะ ได้ดอกไม้กำใหญ่กว่าทุกวัน ไปให้นายหญิงนางสามาวดี
นายหญิงของขุชชุตตราเห็นดอกไม้มากกว่าทุกวันจึงถามว่า

“วันนี้พระเจ้าอยู่หัวพระราชทานเงินค่าดอกไม้แก่ฉันเพิ่มขึ้นหรือ”

“หามิได้ พระแม่เจ้า” นางตอบ

“เพราะเหตุใดดอกไม้จึงมากกว่าทุกวันเล่า”

นางขุชชุตตรา ก็เปิดเผยความจริงว่า “วันก่อนๆ นางยักยอกเอาไว้ใช้ส่วนตัว 4 กหาปณะ ซื้อดอกไม้เพียง 4 กหาปณะเท่านั้น”

“แล้ววันนี้ทำไมเธอไม่เอาไว้เพื่อตัวเอง 4 กหาปณะเล่า” นายหญิงถาม

“เพราะหม่อมฉันฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้าแล้วได้บรรลุธรรม”

นางสามาวดีไม่โกรธสาวใช้เลย ที่ยักยอกเอาเงินค่าซื้อดอกไม้ กลับกล่าวด้วยความยินดีว่า

“โอ ดีจังเลย เจ้าช่วยแสดงธรรมที่เธอได้ฟังมาจากพระพุทธเจ้าให้เราฟังได้ไหม” เมื่อขุชชุตตรารับปาก นางสามาวดีจึงให้นางอาบน้ำชำระกายให้สะอาดพรมด้วยน้ำหอม ให้นางนุ่งผ้าสาฎกใหม่เอี่ยมเนื้อดีผืนหนึ่ง ห่มผืนหนึ่ง ปูลาดอาสนะและวางพัดอันวิจิตรไว้ข้างอาสนะ เชิญนางขุชชุตตราขึ้นนั่งบนอาสนะ

นางขุชชุตตราได้แสดงธรรมตามที่ได้ยิน ได้ฟังมาจากพระโอษฐ์ของพระพุทธเจ้า แก่สตรีจำนวน 500 คน มีนางสามาวดีเป็นประธาน นางเป็นคนมีความจำแม่น และมีความสามารถในการใช้คำสละสลวยธรรมเทศนาของนางเป็นที่จับจิตจับใจคนฟังมาก

ว่ากันว่าได้บรรลุธรรมไปตามๆ กัน


นางสามาวดีบอกว่า ต่อแต่นี้ไป เธอไม่ต้องทำงานเป็นคนใช้ ขอให้เธอดำรงอยู่ในฐานะมารดาและอาจารย์ในทางธรรมของพวกเรา ทุกวันขอให้เธอฟังธรรมจากพระสัมมาสัมพุทธเจ้า แล้วกลับมาแสดงให้พวกเราฟัง

นางขุชชุตตราจึงได้ “เลื่อนขั้น” ขึ้นมาเป็นอาจารย์แสดงธรรมแก่นายหญิง ตั้งแต่วันนั้นมาท่านอาจารย์ขุชชุตตราก็ทำหน้าที่ของตนไม่ขาดตกบกพร่อง นับว่าได้ทำประโยชน์ทั้งแก่ตนเอง และบรรดาสตรีในวังด้วย

ในทางส่วนตัวก็คือ นางได้ฟังหลากเรื่องหลายปริยาย ทำให้มีความรู้ความเข้าใจในธรรมกว้างขวางพิสดารขึ้น ชนิดที่ไม่สามารถหาเอาจากที่ไหน

ในไม่ช้าไม่นานนางก็กลายเป็น “พหูสูต” (ผู้คงแก่เรียน) เมื่อมีความรู้แตกฉาน นางก็มีลีลาในการแสดงธรรมได้อย่างวิจิตรพิสดารและจับจิตใจยิ่งขึ้น

ความทราบถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระองค์ตรัสยกย่องนางใน “เอตทัคคะ” (ความเป็นเลิศกว่าผู้อื่น) ในทางสดับตรับฟังมาก คือเก่งกว่าคนอื่นในทางเป็นพหูสูตรหรือผู้คงแก่เรียน

การที่หญิงค่อมขี้ริ้วจนๆ คนหนึ่งได้รับเกียรติเห็นปานนี้ ก็เพราะพระพุทธศาสนาเปิดทางให้ พระพุทธศาสนามิได้มองแค่เปลือกนอกของคน หากมองที่ศักยภาพภายในมากกว่า พระพุทธเจ้าตรัสว่าในหมู่มนุษย์ไม่ว่ายากดีมีจน คนมีปัญญาเป็นผู้ประเสริฐสุด

พระสงฆ์ทั้งหลายกราบทูลถามพระพุทธเจ้าในวันหนึ่งว่า เพราะเหตุใดนางขุชชุตตรา จึงมีร่างกายค่อม และเพราะเหตุใดจึงเป็นสาวใช้ของคนอื่น

พระพุทธเจ้าตรัสบุพกรรมของนางให้ภิกษุสงฆ์ฟัง (น่าสนใจมากครับ) ดังนี้

1. ชาติก่อนนางเคยเป็นอุปัฏฐายิกาของพระปัจเจกพุทธ พระปัจเจกพุทธรูปนั้นร่างค่อม นางนึกสนุกทำร่างค่อมเลียนแบบพระปัจเจกพุทธเจ้า เพราะกรรมนั้นนางจึงมีร่างค่อมในปัจจุบันนี้

2. ชาติก่อนนางถวายข้าวปายาสร้อน ในบาตรพระปัจเจกพุทธ พระปัจเจกพุทธอุ้มบาตรร้อนจึงเปลี่ยนมืออยู่เรื่อย นางจึงถวายวลัยงา 8 อัน (เรียกอันหรือเปล่าไม่รู้สิครับ) เพื่อให้ท่านรองบาตร ผลแห่งการถวายวลัยงารองบาตรนั้น มาชาตินี้นางจึงเป็นพหูสูต

3. และเพราะการอุปัฏฐากดูแลพระปัจเจกพุทธ นางจึงบรรลุโสดาปัตติผล

4. ในชาติก่อนอีกชาตินึง นางเกิดเป็นธิดาเศรษฐี วันหนึ่งขณะนางแต่งตัวอยู่ พระเถรีอรหันต์รูปหนึ่งมาเยี่ยมนางที่บ้าน เวลานั้นนางมองหาคนใช้ไม่พบ จึงกล่าวกับพระเถรีอรหันต์ว่า พระแม่เจ้า ดิฉันไหว้ละ ช่วยหยิบกระเช้าเครื่องประดับให้ดิฉันหน่อย พระเถรีอรหันต์คิดว่า ถ้าไม่หยิบให้ นางจักทำความอาฆาตในเราตายแล้วจักไปเกิดในนรก แต่ว่าถ้าเราหยิบให้ นางจักเกิดเป็นสาวใช้ของคนอื่น แต่การเป็นคนใช้เขายังดีกว่า ว่าแล้วพระเถรีอรหันต์จึงหยิบกระเช้าให้นาง มาชาตินี้นางจึงเป็นคนใช้เขา


การทำบาป โดยเฉพาะต่อบุคคลผู้บริสุทธิ์ แม้เพียงเล็กน้อยก็บันดาลผลหนัก ดังเรื่องของนางขุชชุตตราในชาติก่อน เพราะฉะนั้นเราพึงระวังมิให้เผลอทำในสิ่งที่ไม่เหมาะไม่ควร นี่คือข้อสรุปที่ได้ยินจากเรื่องนี้ขอรับ

:b8:

๏ นางขุชชุตตรา เอตทัคคะในทางผู้เป็นพหูสูต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=26647

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2019, 19:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


35. คาถา “บังสุกุลเป็น” ครั้งแรก

ผู้บวชเป็นพระภิกษุ โดยหลักการต้องละทุกสิ่งทุกอย่างที่เคยมีในเพศผู้ครองเรือน อย่าว่าแต่ทรัพย์สมบัติเลย แม้ชื่อเสียงเรียงนามก็ละหมด ไปใช้ชื่อใหม่อันเรียกในภาษาพระว่า “ฉายา”

เช่นสมมุติชื่อเดิม “ขรรค์ชัย บุนปาน” ก็ต้องทิ้งไป เพราะนาม ขรรค์ชัย บุนปาน มันใหญ่ไป มีอิทธิพลทำให้คนเกรงกลัว ข้าราชการผู้ใหญ่รับตำแหน่งใหม่มาเยี่ยมยังบอกว่า มารับนโยบายใหญ่เกินไปจะทำให้เกิดทิฐิมานะ บวชแล้วต้องเปลี่ยนเป็น “ปุญฺญปาโน” (ผู้ดื่มบุญ) อะไรทำนองนี้

สมัยพุทธกาล เมื่อครั้งเจ้าชายศากยวงศ์และโกลิยวงศ์ 6 พระองค์ออกบวช มี นายภูษามาลา หรือ “บาร์เบอร์” คนหนึ่งชื่ออุบาลีบวชด้วย เจ้าชายทั้งหลายอนุญาตให้นายภูษามาลาบวชก่อน ทั้งนี้เพื่อจะ “ถอนทิฐิมานะ” ให้ลูกน้องบวชก่อนอายุพรรษามากกว่า พวกตนจะได้กราบไหว้

ยิ่งไปกว่านี้ บวชแล้วถือว่าตัดขาดจากตระกูลวงศ์ เป็นคนของพระศาสนา ไม่ต้องมาเกี่ยวข้องกันอีกต่อไป มีสกุลวงศ์ใหม่คือ “ศากยปุตติยวงศ์” วงศ์แห่งพระสมณะศากยบุตร มีพระบรมศาสดาเป็นพ่อ มีเพื่อนพระภิกษุด้วยกันเป็นพี่น้อง คอยช่วยเหลือดูแลกัน’

นี้ว่าโดยหลักการ แต่โดยการปฏิบัติก็อาจย่อหย่อนไปบ้าง ดังเกิดกรณีพระปูติคัตตะขึ้น นามเดิมท่าน ติสสะ ต่อมาได้สมญานามว่า ปูติคัตติ (แปลว่า ผู้มีกายเน่าเหม็น) สาเหตุที่ท่านได้นามอันไม่พึงปรารถนาเช่นนี้ เนื่องมาจากท่านป่วยเป็นโรคผิวหนัง

แรกๆ ก็ไม่เป็นอะไรมาก แต่เนื่องจากไม่ได้รับการเยียวยาอย่างถูกต้อง ร่างกายก็เกิดตุ่มขึ้นเต็มตัว คันยุบยิบ ยิ่งเกาก็ยิ่งแสบยิ่งคัน หนักเข้าก็เป็นหนองแตกไหลเยิ้มไปทั่วร่าง ส่งกลิ่นไม่พึงปรารถนา เพื่อนสหธรรมิกด้วยกันต่างก็รังเกียจเดียดฉันท์ ปล่อยให้เธอดูแลตัวเองตามบุญตามกรรม

ท้ายสุด เธอถูกเพื่อนพระด้วยกันทอดทิ้งนอนอยู่บนแคร่ รอความตายอย่างน่าสงสาร

พระพุทธเจ้าทรงทราบด้วยพระญาณ จึงทรงชักชวนพระอานนท์เสด็จไปยังสถานที่อยู่ของท่านติสสะ ไปถึงก็รับสั่งให้พระอานนท์ก่อไฟตั้งน้ำ น้ำเดือดแล้วทรงผสมน้ำอุ่นด้วยพระองค์เอง ทรงยกถังน้ำอุ่นไปเช็ดตัวให้ท่านติสสะ

โดยมิได้ทรงรังเกียจในกลิ่นเหม็นเน่าแต่ประการใด

ภิกษุทั้งหลายเห็นพระพุทธเจ้าทรง “ลงมือทำ” ด้วยพระองค์เอง ดังนั้น ก็รู้สึกสำนึกผิดกัน มารับอาสาทำเอง พระองค์ตรัสว่า “ไม่ต้อง ตถาคตทำเอง”

หลังจากพระพุทธองค์ทรงเช็ดร่างกายให้สักพัก ภิกษุหนุ่มก็มีร่างกายเบา เธอรู้สึกปลื้มปีติเป็นล้นพ้นที่พระพุทธองค์ทรงมีพระมหากรุณาต่อตน ทั้งๆ ที่เพื่อนพระภิกษุด้วยกันไม่เหลียวแลแล้ว เมื่อร่างกายเบา จิตใจก็สงบรำงับขึ้น พระพุทธองค์ตรัสพระคาถาเตือนสติสั้นๆ ว่า

ไม่นานหนอ ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ นอนทับแผ่นดิน

ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ในป่า หาประโยชน์อะไรมิได้ฉะนั้น

เธอพิจารณาไปตามกระแสพระพุทธดำรัส ได้บรรลุพระอรหัตพร้อมกับสิ้นชีวิต เป็นพระอรหัตที่ตำราเรียกว่า “สมสีสี” (อ่าน “สะ-มะ-สี-สี” แปลว่า ผู้ดับกิเลสและดับชีวิตพร้อมกัน)

เป็นอันว่าเธอได้พ้นทุกข์แล้ว เป็นการพ้นทุกข์จากสังขารวัฏจักรอย่างถาวร ก็ยังเหลือแต่ภิกษุทั้งหลายซึ่งเป็นเพื่อนสหธรรมิกของติสสะนั้นแหละจะต้องเวียนว่ายต่อไป

พระผู้มีพระภาคทรงหันมายังภิกษุทั้งหลายที่ยืนอยู่ข้างๆ ตรัสสอนว่า

“ภิกษุทั้งหลาย พวกเธอละบ้านเรือนมา ไม่มีพ่อ ไม่มีแม่ ไม่มีญาติพี่น้อง พวกเธอพึงดูแลกันและกัน ถ้าพวกเธอไม่ดูแลกันเอง แล้วใครเล่าจะมาดูแล”

แล้วตรัสต่อไปว่า “ภิกษุทั้งหลาย ถ้าใครพึงหวังจะอุปัฏฐากตถาคตก็พึงอุปัฏฐากดูแลภิกษุไข้เถิด” ความหมายของพระองค์ก็คือ อย่ามัวเอาใจพระพุทธเจ้าเลย จงไปดูแลภิกษุไข้เถิด การดูแลภิกษุไข้ มีอานิสงส์เท่ากับดูแลพระพุทธทีเดียว

พุทธภาษิตที่ตรัสสอนพระภิกษุหนุ่ม “ปูติคัตตะ” ว่า

อจิรํ วตยํ กาโย ปฐวี อธิเสสฺสติ

ฉุฑฺโฑ อเปตวิญญาโณ นิรตฺถํว กลิงฺครํ

ไม่นานหนอ ร่างกายนี้ จักปราศจากวิญญาณ นอนทับถมแผ่นดิน

ดุจท่อนไม้ที่เขาทิ้งไว้ หาประโยชน์มิได้ฉะนั้น

ว่ากันว่า เป็นที่มาของคาถา “บังสุกุลเป็น” มาจนปัจจุบันนี้ (เดี๋ยวนี้ ประเพณีจะดูหายไปเกือบหมดสิ้น)

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2019, 19:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


36. คาถาบังสุกุลครั้งแรก

คราวที่แล้วพูดถึงคาถาบังสุกุลเป็น ที่ (เชื่อว่า) เป็นต้นเหตุประเพณีสวดบังสุกุลแก่คนป่วยหนัก คราวนี้ก็ต้องพูดถึงบังสุกุลคนตาย เพื่อให้ครบเซ็ต

นอกเรื่องนิดหน่อย สมัยเขาสร้างทางรถไฟผ่านดงพญาเย็น (สมัย ร.5) มีคนตายจำนวนมาก เพราะถูกผีหลอกเป็นไข้หัวโกร๋น นายคนหนึ่งขณะนอนอยู่ ผีมาหลอกหลอน ค่าที่บวชมานาน ก็สวดคาถาต่างๆ มากมาย ผีไม่กลัว ไม่หนี แกนึกขึ้นมาได้ว่าสมัยบวชเคยสวดบังสุกุลบ่อยจึงสวดคาถาบังสุกุล “อนิจจา วะตะ สังขารา…” เท่านั้นแหละครับ ผีเปิดแน่บเลย

เพราะฉะนั้น ใครที่ถูกผีอำ หรือหลอกหลอน ไม่ต้องกลัว สวด “อนิจจา วะตะ สังขารา…” เข้าไว้ ไม่เชื่ออย่าหลบหลู่

สมัยพุทธกาล (อรรถกถาธรรมบทเล่าไว้ ฉากเรื่องนี้เกิดขึ้นสมัยพุทธกาล) พี่ชายน้องชายสองคน เลื่อมใสในพระพุทธศาสนาออกบวชพร้อมกัน

พี่ชายชื่อ พระมหากาล บวชแล้วก็เรียนกรรมฐาน เข้าป่าบำเพ็ญสมณธรรม ไม่นานก็บรรลุพระอรหัต

ส่วนน้องชายชื่อ พระจุลกาล บวชมาแล้วก็ปฏิบัติไม่เป็นมรรคเป็นผลอะไร วันๆ ครุ่นคิดแต่เรื่องโลกๆ ทั้งๆ ที่บวชมาแล้ว

ดีว่าเป็นสมัยก่อน ถ้าเป็นสมัยนี้คงมีเครื่องเล่นมากกว่าสมัยพุทธกาลมากมาย เช่น เกม อุปกรณ์มือถือต่างๆ ที่เอาไว้เล่นโซเชียลมีเดีย ดูคลิปวาบหวิวต่างๆ นานา

หลวงพี่เพ่งยังไงก็คงไม่เห็นอนิจจัง

วันหนึ่งหลวงพี่จุลกาล ไปบิณฑบาตในเมือง อดีต “เดอะเมีย” ของพระจุลกาลทั้ง 2 คนมาพบเข้า ก็มาซุบซิบกัน รู้กันสองต่อสอง แล้วก็ส่งเด็กไปนิมนต์หลวงพี่มาบ้านบอกว่าจะถวายภัตตาหาร พอหลวงพี่มาถึงบ้าน เดอะเมียทั้งสองก็ล็อกห้อง

ต่อไปนี้คือคำสนทนาระหว่างทั้งสาม (ผู้มีเทปอัดเทปมาให้)

“หลวงพี่หนีเราไปบวช ใครอนุญาตมิทราบ”

“ก็ขออนุญาตไม่ทัน เพราะพี่ชายชวนกะทันหัน ก็เลยตามไป” หลวงพี่แก้ตัว

“ถ้าเช่นนั้น หลวงพี่ก็ไม่เต็มใจบวชสิ” ทั้งสองซัก

“ก็ประมาณนั้นแหละ” หลวงพี่กล่าว นึกว่าเธอทั้งสองจะเห็นใจ

“ดีแล้ว ไม่อยากบวชแล้วบวชทำไม สึกเดี๋ยวนี้” ว่าแล้ว เดอะเมียทั้งสองก็ช่วยกันจับถอดจีวรออกเอากางเกงให้นุ่ง พี่ทิดแกก็คงอยากสึกอยู่แล้วด้วย จึงกระทำสำเร็จได้โดยง่าย เมื่อสึกอดีตสามีสำเร็จ ก็ส่งไปนิมนต์พระพุทธองค์เสด็จมาเสวยภัตตาหารที่บ้านของตน

ภิกษุทั้งหลายทราบสาเหตุ ก็พากันซุบซิบ พระพุทธองค์ทรงทราบความคิดของพระสงฆ์ ก็ตรัสคาถาเทศน์สอนว่า “จุลกาล เธอนั่งคิดนอนคิดแต่เรื่องสวยๆ งามๆ ในที่สุดก็ถูกมารผจญ เพราะใจไม่แข็งพอ ดุจต้นไม้อ่อน ถูกลมพัดได้ง่าย”

ทำนองจะตรัสบอกว่า อย่าเอาอย่างจุลกาล

ฝ่ายเมียของพระมหากาล ทราบข่าวว่าอดีตภรรยาพระน้องชายสามีได้พากันจับสามีสึก ก็อยากเอาตามอย่างบ้าง จึงให้คนไปนิมนต์พระมหากาลมารับบิณฑบาตที่บ้านตน พระสงฆ์ทราบข่าวก็เป็นห่วง กลัวประวัติศาสตร์จะซ้ำรอย

แต่ดูเหมือนว่าพระพุทธองค์ก็ทรงรู้แต่ก็ไม่เห็นทรงห้ามปรามอะไร พระทั้งหลายจึงไม่กล้าทัดทานอะไร

เมื่อไปถึงบ้าน เดอะเมียของพระมหากาล ทานโทษ ดูเหมือนจะสี่คนด้วยซ้ำก็ดาหน้าเข้ามา จะล็อกคอหลวงพี่เหมือนกับที่ภรรยาจุลกาลทำกับสามี

แต่ขออภัย หลวงพี่มหากาลท่านเป็นพระอรหันต์ทรงอภิญญา รู้อะไรเป็นอะไร ก็นั่งสมาธิเหาะหนีไปได้อย่างปลอดภัย

พระพุทธองค์ทรงสอนภิกษุทั้งหลายภายหลังว่า “มหากาลนั้น ไม่ได้มองสรรพสิ่งว่าน่ารักน่าใคร่ จึงมิได้ไยดีในกามคุณ คนเช่นนี้มารย่อมทำลายไม่ได้ ดุจต้นไม้ใหญ่ ลมจะแรงขนาดไหนก็ไม่สามารถโค่นได้”

มีข้อมูลเกี่ยวกับการบรรลุพระอรหัตผลของพระมหากาลน่าสนใจ ท่านเรียนกรรมฐานจากพระพุทธองค์แล้ว ได้เข้าไปอยู่ที่ป่าช้า มีนางสัปเหร่อชื่อกาลีคอยดูแลป่าช้าอยู่ นางจะทำหน้าที่เผาศพ ท่านขอกับนางว่า ก่อนเผาศพ ขอให้ท่านไปพิจารณาศพก่อน

วันหนึ่งท่านเห็นศพคนตายอายุยังน้อยเป็นสาววัยรุ่นอยู่ ก็พิจารณาไป ปลงธรรมสังเวชไปด้วย ว่ากันว่าความตายนี้ไม่ยกเว้นใครเลยนะ เด็กก็ตาย หนุ่มสาวก็ตาย แก่ก็ตาย โง่ก็ตาย ฉลาดก็ตาย ที่แก่แล้วตายก็ช่างเถิด เราเองก็คงจะตายในไม่ช้า จึงไม่ควรประมาทในสมณธรรม

แล้วท่านก็เจริญอสุภกรรมฐาน โดยกล่าวคาถาว่า

อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน

อุปชฺชิตฺวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสมโม สุโข

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีการเกิดและเสื่อมเป็นธรรมดา

เกิดขึ้นมาแล้วก็ดับไป การระงับสังขารได้เป็นสุข

พิจารณาด้วยคาถานี้แหละ ทำให้ท่านได้เข้าถึงไตรลักษณ์ แล้วก็เจริญตามทางแห่งวิปัสสนาจนถึงที่สุด

คาถานี้ ชาวพุทธได้นำมาเป็นคาถาบังสุกุลมาจนบัดนี้

ข้อมูลอีกแห่งหนึ่ง

สมัยพระพุทธองค์เสด็จดับขันธปรินิพพาน

มีบุคคลสำคัญได้กล่าวคาถาแสดงธรรมสังเวชหลายท่าน

เช่น พระอานนท์ พระอนุรุทธะ

ท้าวสักกะเทวราชก็ได้มากล่าวด้วยเช่นกัน

ว่ากันว่าท้าวเธอได้ยกเอาคาถา “อนิจจา…” นำมาแสดงด้วย

:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2019, 19:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


37. ภิกษุณีรูปแรกที่มีลูก
[ภิกษุณีนิรนาม มารดา “พระกุมารกัสสปะ”]

เรื่องนี้คงอื้อฉาวมากสมัยพุทธกาล แต่บังเอิญภิกษุณีเธอไม่ผิด คือมิได้ผิดศีล จึงไม่มีผลในแง่ลบ

เรื่องมีอยู่ว่า มีสตรีนางหนึ่งอยากบวชแต่ก็ไม่ได้บวช เพราะพ่อแม่ไม่ต้องการให้บวช จึงต้องแต่งงานอยู่กินกับสามี คอยปรนนิบัติสามีอย่างดี จนสามีพอใจ เมื่อได้โอกาสก็บอกกับสามีว่า ตนอยากบวช ขออนุญาตบวชได้ไหม สามีเห็นภรรยามีจิตใจหนักแน่น จึงอนุญาตให้ภรรยาบวช นางจึงไปบวชที่สำนักนางภิกษุณี

นางไม่รู้ดอกว่า ก่อนหน้านั้นเล็กน้อยนางได้ตั้งครรภ์ เมื่อมาบวชแล้วครรภ์ก็โตขึ้นโตขึ้น จนปรากฏต่อสายตาผู้คนทั้งหลาย พระเทวทัต ผู้ดูแลนาง เห็นเช่นนั้น ก็มิได้สอบสวนอะไร สั่งให้นางสึกทันที เพราะกลัวเป็นความเสื่อมเสีย

นางยืนยันกับพระเทวทัตว่า นางมิได้ล่วงละเมิดสิกขาบทอะไร นางบริสุทธิ์ จะไม่ยอมสึกตามคำสั่งของพระเทวทัตเป็นอันขาด

พระเถระก็ชักไม่พอใจ ก็หลักฐานเห็นโทนโท่อย่างนี้ ถึงจะบอกว่าตนบริสุทธิ์ก็ฟังไม่ขึ้น พูดง่ายๆ ว่า “อมพระมาทั้งโบสถ์ก็ไม่เชื่อ” ประมาณนั้น

เมื่อพระผู้ดูแลไม่ยอมฟังเหตุผล ไม่ยอมสอบสวนหาสาเหตุ จะให้สึกท่าเดียว นางก็ต้องยื่นฎีกาถึงพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระพุทธองค์ทรงทราบสาเหตุอยู่ก่อนแล้ว แต่เพื่อให้เรื่องมันชัดในสายตาผู้คนทั้งหลาย จึงทรงมีพุทธบัญชาให้พระอุบาลีเถระ ผู้เชี่ยวชาญในพระวินัยเป็นผู้พิจารณาอธิกรณ์

เนื่องจากเป็นเรื่องของผู้หญิง บุรุษก็ไม่ถนัดเป็นธรรมดา พระเถระจึงขอแรงงานนางวิสาขาให้ช่วย นางวิสาขาจึงนิมนต์ภิกษุณีมาสอบถามสองต่อสอง คงมีการตรวจอาการด้วยละครับ ตรวจดูการเปลี่ยนแปลงของกายภาพ สอบถามวันมีเพศสัมพันธ์ครั้งสุดท้าย สอบถามวันหมดประจำเดือนอะไรประมาณนั้น อย่างละเอียด ทำรายงานส่งพระอุบาลีเถระ

นางสรุปว่า พระเถรีตั้งครรภ์ก่อนออกบวช

พระอนุรุทธะก็ถือเอาข้อมูลนั้นแหละ มาประมวลกับหลักฐานอย่างอื่น แล้วสรุปว่านางบริสุทธิ์ นำเสนอพระพุทธองค์ พระพุทธองค์ก็ทรงประกาศว่า นางภิกษุณีไม่มีความผิด นางก็เลยไม่ได้ลาสิกขา พระเทวทัตก็หน้าแตกหมอไม่รับเย็บไปตามระเบียบ

เมื่อครบกำหนดแล้ว ทารกน้อยก็คลอดออกมา ภิกษุณีก็ต้องเลี้ยงลูกเองสิครับ คงทุลักทุเลน่าดูแหละ บังเอิญ พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จไปเฝ้าพระพุทธองค์ เสร็จจากเฝ้าพระพุทธองค์ ก็ทรงตรวจดูที่อยู่ของพระสงฆ์และพระภิกษุณีสงฆ์

ทรงสดับเสียงเด็กร้องจึงเสด็จดำเนินเข้าไป เห็นภิกษุณีกำลังเลี้ยงทารกอยู่ ทรงถามไถ่ได้ความ จึงทรงออกพระโอษฐ์ขอเด็กไปเลี้ยง

นางภิกษุณีผู้เป็นแม่ก็จำใจให้ เพราะตนเองก็ไม่สะดวกในการเลี้ยงดู อีกอย่างลูกชายก็ไปอยู่ในรั้วในวังคงไม่ลำบาก

แต่หลังจากลูกจากไป นางก็มิเป็นอันปฏิบัติธรรม คิดถึงแต่ลูก จนไม่ได้บรรลุมรรคผลอะไรเลย ลูกชายของนาง ภายหลังออกมาบวชเป็นสามเณร ตั้งใจปฏิบัติธรรมจนเป็นพระอรหันต์ตั้งแต่อายุยังน้อย

นางรู้ข่าวว่าลูกชายบวช ก็ตามหา จนวันหนึ่งพบเข้า จึงวิ่งเข้าหาร้องว่า “ลูกๆ” ด้วยความคิดถึงสุดประมาณ สามเณรรู้ว่าถ้าพูดดีกับแม่ แม่ก็จะไม่บรรลุธรรมอะไร จึงทำเป็นเสียงเคร่งขรึม พูดว่า “อะไรกัน บวชมาตั้งนาน แค่ความรักแม่รักลูกยังตัดไม่ขาด” ว่าแล้วก็เดินหนีไป

ว่ากันว่าหัวใจผู้เป็นแม่แทบแหลกสลาย สลบฟื้นขึ้นมาแล้ว ทิฐิมานะก็เข้ามาแทรกแทนที่ “เสียแรงเราคิดถึงตั้งหลายปี ไม่เป็นอันกินอันนอน ลูกเราเห็นหน้าเรากลับพูดแบบไม่มีเยื่อใย ไม่รักก็ไม่รัก (วะ)” แล้วก็ตัดใจตั้งหน้าตั้งตาปฏิบัติธรรม ในที่สุดก็ได้บรรลุธรรม

เรื่องของนางภิกษุณีมีลูกก็จบลงด้วยประการฉะนี้

ลูกชายของนางภายหลังบวชพระแล้ว เป็นนักเทศน์มีชื่อเสียงนามว่า “กุมารกัสสปะ” ครับ

:b8:

๏ สามเณรกุมารกัสสปะ อรหันต์น้อยชีวิตพิสดาร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=71&t=57860

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ก.ค. 2019, 19:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
ผู้จัดการ
ผู้จัดการ
ลงทะเบียนเมื่อ: 27 มี.ค. 2006, 17:34
โพสต์: 7781

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ
ในภาพ...“พระเจ้าพิมพิสาร” ทรงถือสุวรรณภิงคาร (น้ำเต้าทอง)
หลั่งน้ำอุททิโสทกลงบนพระหัตถ์พระพุทธเจ้า
ถวายที่ดินคือสวนหลวงเวฬุวันให้เป็นสังฆาราม ที่ตั้งเสนาสนะ
หรือวัดแห่งแรกในประวัติศาสตร์พระพุทธศาสนา
แด่คณะสงฆ์ ชื่อว่า “วัดพระเวฬุวัน”
และได้มีการถวายตัวเป็นผู้อุปถัมภ์พระพุทธศาสนา

:b47: :b45: :b47:

38. การเกิดขึ้นแห่งประเพณีกรวดน้ำครั้งแรก
[มีขึ้นเพราะพระเจ้าพิมพิสารเป็นสาเหตุ]

บอกไว้ก่อนว่า เป็นข้อมูลภายหลัง จะได้ไม่เถียงกัน ว่ากันว่าตอนแรกๆ ก็ไม่มีธรรมเนียมกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ตาย หรือบรรพบุรุษของผู้กระทำกุศล มามีขึ้นเพราะพระเจ้าพิมพิสารเป็นสาเหตุ

ว่ากันว่าเมื่อครั้งพระเจ้าพิมพิสารถวายพระเวฬุวันให้เป็นวิหารที่ประทับของพระพุทธเจ้า อันนับว่าเป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนานั้น พระองค์มิได้ทรงอุทิศกุศลให้ผู้ตาย เพราะไม่ทรงทราบธรรมเนียม

ตกดึกคืนนั้นพระสุบินนิมิตเห็นพวกเปรตมากหน้าหลายตามาปรากฏตนขอส่วนบุญ

พระเจ้าพิมพิสารจึงนำความไปกราบทูลพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระองค์ตรัสให้พระเจ้าพิมพิสารทรงถวายทานแก่พระสงฆ์ใหม่

พร้อมกับให้ตั้งจิตอุทิศส่วนบุญแก่ญาติผู้ล่วงลับไปแล้ว

พระเจ้าพิมพิสารทรงกระทำตามที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำ

คืนนั้นพวกเปรตทั้งหลายมาปรากฏตัวอีกครั้งหนึ่ง นุ่งห่มผ้าเรียบร้อย หน้าตายิ้มแย้มแจ่มใส ขออนุโมทนาในส่วนบุญที่พระองค์ทรงอุทิศไปให้

เมื่อทรงกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ พระองค์ตรัสว่าพวกเปรตนั้นในอดีตชาติอันยาวไกลโพ้น เคยเป็นพระญาติของพระองค์ ครั้งนั้นพระองค์พร้อมทั้งหมู่ญาติได้ตระเตรียมถวายทานแก่พระภิกษุสงฆ์ อันมีพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเป็นประมุข ต่างก็ตระเตรียมการเป็นใหญ่มีของเคี้ยวของฉันอันประณีตเตรียมไว้พร้อมมูล

เมื่อภิกษุสงฆ์ยังมิทันได้ฉันภัตตาหารนั้น พวกญาติบางพวกเกิดหิวขึ้นมา จึงหยิบเอาอาหารขึ้นมารับประทานก่อนภิกษุสงฆ์ ด้วยผลกรรมนั้นพวกเขาจึงเกิดเป็นเปรตเรียกว่า “ปรทัตตูชีวิต” (เปรตผู้อาศัยส่วนบุญที่คนเขาอุทิศให้ยังชีพ) เมื่อไม่มีญาติพี่น้องอุทิศส่วนบุญไปให้จึงผอมโซไปตลอดกาล ดังกรณีญาติของพระเจ้าพิมพิสารนี้

แต่เมื่อพระองค์ทรงอุทิศส่วนบุญไปให้ พวกเขาก็ได้รับดังกล่าวแล้ว

ว่ากันว่านี่คือที่มาแห่งธรรมเนียมการทำบุญกรวดน้ำอุทิศส่วนกุศลแก่ผู้ล่วงลับ ที่ถือปฏิบัติมาจนทุกวันนี้

คุณค่าทางจริยธรรมที่ได้จากธรรมเนียมนี้ก็คือ เป็นการสร้างสำนึกแห่งความละอายชั่วกลัวบาปได้อย่างดี

ของที่เขาตั้งใจอุทิศถวายพระนั้นถือว่าเป็น “ของสงฆ์” ปู่ย่าตาทวดจะสอนลูกหลานมิให้แตะต้องเพราะจะเป็นบาป ตายไปจะไปเกิดเป็นเปรต ใครจะหาว่าเอาเปรตมาขู่ก็ตามเถอะ

มองอีกมุมหนึ่งเป็นนี้คือวิธีควบคุมจริยธรรมของคนให้มีหิริโอตตัปปะ รู้จักอายชั่วกลัวบาปได้อย่างดี ผิดกับคนสมัยนี้

เดิมทีคงเพียงตั้งใจอุทิศส่วนบุญเท่านั้นเอง ส่วนการจะเอาน้ำมารินอันเรียกว่ากรวดน้ำนั้น คงเพิ่มมาภายหลัง เพื่อให้เป็น “สัญลักษณ์” ตามธรรมเนียมของคนสมัยโน้น

อาจารย์บางท่านกล่าวว่า สมัยก่อนโน้น เขาใช้น้ำรินลงที่มือคนรับ ดังกรณีพระเวสสันดรตอนพระราชทานสองกุมารแก่พราหมณ์ชูชก ทรงยกคนโทน้ำรินน้ำลงที่มือของพราหมณ์ เป็นสัญลักษณ์ว่าให้เป็นการเด็ดขาด

แต่ปัจจุบันนี้ใช้น้ำริน อันเรียกตามภาษา (ว่ากันว่าเขมร) “กรวด” จึงเรียกธรรมเนียมนี้ว่า “กรวดน้ำ”

แล้วก็มีระเบียบปฏิบัติว่า ให้รินน้ำตอนที่พระรูปแรกสวด “ยถา วาริวาหา...” เมื่อพระสงฆ์รับพร้อมกัน ก็ให้รินน้ำที่ยังเหลือให้หมด แล้วประนมมือรับพรจากพระสงฆ์ โดยไม่ต้องเอานิ้วจับชายเสื้อของคนรินน้ำ

แบบนี้ก็เห็นจะมีเฉพาะวงการพุทธไทย อย่างที่ประเทศศรีลังกา พระท่านว่าอนุโมทนาพร้อมกัน ขณะรินน้ำ ก็เพียงตั้งจิตอุทิศกุศลเท่านั้นไม่ต้องสวดอะไรให้รุงรัง

ถ้าจะกรวดน้ำโดยไม่มีพิธีการทำบุญอย่างอื่น เช่นใส่บาตรแล้ว อุทิศส่วนบุญแล้ว ยังไม่สบายใจ คล้ายๆ จะขาดอะไรไปสักอย่างจะกรวดน้ำแถมท้าย โดยนำพุทธวจนะสั้นๆ มาสวดว่า “อิทํ โน ญาตินัง โหตุ สุขิตา โหนฺตุ ญาตโย” ก็ได้


:b8:

.....................................................
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นกฎตายตัว


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 48 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร