วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 04:01  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2009, 10:57 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๒: ได้เห็นสมใจ

ใครจะว่าฝันมีความหมายหรือไม่มีความหมายต่อการปฏิบัติธรรมก็ตาม สำหรับฉันบอกได้เลยว่ามีส่วนเกื้อกูลให้การปฏิบัติก้าวหน้าขึ้นอีกระดับหนึ่ง และทำให้สังเกตสังการายละเอียดในชีวิตมากขึ้น คืออ่านออกแล้วว่าทุกวินาทีในชีวิตกำลังแสดงสภาวธรรมตามจริงให้เราเห็นโต้งๆ สติของเราจะหยิบฉวยหรือไม่เท่านั้น

อาจมีความเชื่อมโยงสัมพันธ์กันอยู่กับความทะยานอยากขณะตื่น คือเมื่อปีก่อน ช่วงแรกๆที่ศรัทธาพุทธศาสนาล้นอกล้นใจ ฉันปรารถนาจะเห็นพระพุทธเจ้าสักครั้ง แบบที่ผู้คนสมัยพุทธกาลมีวาสนาได้เห็นด้วยตาเนื้อ เป็นความปรารถนาอันแรงกล้าที่อธิบายให้เข้าใจได้ยาก คือคิดทีไรเหมือนใจจะขาดเมื่อตระหนักว่าชาตินี้สายเกินไป ไม่มีทางพบพระองค์สมความปรารถนาได้เลย เพราะท่านดับขันธปรินิพพานไปนานหลายพันปีแล้ว

คืนหนึ่ง อยู่ๆฉันก็ฝันว่าพระพุทธเจ้ามาเทศน์โปรดที่วัดใหญ่แห่งหนึ่งของไทย ฉันดีใจจนไม่เป็นอันทำอะไร รู้ข่าวก็รีบรุดไปทันที ความรู้สึกเหมือนไม่สนใจชีวิต ไม่สนใจอะไรอื่นอีกแล้ว ขอให้ได้ใช้ตาเนื้อนี้ทอดทัศนาพระพุทธเจ้าพระองค์จริงเพียงครั้งเดียว แล้วจะตายก็ให้ตายไป ไม่เสียดายเลย

ฉันเห็นผู้คนมากมายนั่งอยู่เต็มพื้นที่ลานวัดอันกว้างใหญ่ไพศาล ใจเกิดปีติ รำพึงอยู่ว่าสัตว์โลกเหล่านี้ช่างมีวาสนาจริงหนอ ฉันค่อยๆเคลื่อนตัวเข้าสู่บริเวณอันเป็นมหามงคลภูมินั้น ชะเง้อชะแง้สอดตาผ่านแมกไม้และช่องหินเหลี่ยมบังต่างๆเพื่อเห็นให้ได้ว่าพระพุทธองค์ทรงประทับอยู่ตรงไหน ความรู้สึกขณะนั้นบอกตัวเองว่าองค์พุทธะช่างเป็นบุคคลที่หายากเสียนี่กระไร

แต่เดินมาเรื่อยๆผ่านช่องผ่านแนวพุทธศาสนิกชนที่นั่งเรียงรายอย่างสงบ มาถึงจุดหนึ่งที่พ้นเหลี่ยมบังของโพธิ์ใหญ่ต้นหนึ่ง เบื้องหน้าไกลออกไปในระยะ ๑๐ เมตรก็เห็นพระมหาบุรุษในจีวรสีกรัก ประทับนั่งด้วยลีลาของผู้เสวยวิมุตติสุขเป็นนิรันดร์ พระสรีรกายล่ำพีดุจท่อนหน้าแห่งพญาราชสีห์ พระฉวีขาวละเอียดคล้ายแหล่งกำเนิดแสงที่ส่องสว่างเป็นวงกว้าง เรืองรองจับตาอย่างประหลาด ดวงพักตร์เอิบอิ่ม พระหนุโค้งเหมือนวงพระจันทร์ พระเศียรปราศจากเกศา พระเนตรดำสนิทแจ่มใส พระนาสิกโด่งมีปลายงุ้มเล็กน้อย พระโอษฐ์แย้มเยี่ยงผู้ชนะกิเลสยิ้มสงบดุจเดียวกับที่เห็นในพระปฏิมาอันงดงามละไมตา

ฉันเพ่งจ้องพระโฉมแห่งองค์ศาสดาด้วยอาการเบิกตาโตตะลึงเป็นครู่ ก่อนความรู้สึกภายในจะบอกตัวเองว่า ‘นี่คือการเห็น’

พอเสียงแห่งสติผุดขึ้นเช่นนั้น ฉันก็รู้สึกตัวว่าสมควรทรุดตัวลงนั่งพับเพียบพนมมือ ซึ่งก็พอดีจังหวะกับที่องค์ตถาคตเจ้าทรงแลมาทางฉันแล้วตรัสด้วยพระสุรเสียงอันมีกังวานนุ่มลึกสะกดใจให้สงบลึกซึ้งว่า ดูกรเธอผู้มีศรัทธาในสติปัฏฐาน ๔ อันเรากล่าวไว้บริบูรณ์แล้ว การแลเห็นร่างกายอันเปื่อยเน่านี้จะมีประโยชน์อะไร ผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าเห็นเรา ผู้ใดเห็นเรา ผู้นั้นย่อมได้ชื่อว่าเห็นธรรม

แล้วสมเด็จพระจอมไตรก็เบือนพระพักตร์ไปตรัสถามอุบาสกอุบาสิกาในลานกว้างว่า พวกเธอสำคัญว่าอย่างไร รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง? เหล่าอุบาสกอุบาสิกานับพันรวมทั้งฉันประสานเสียงทูลตอบพระพุทธองค์เป็นอันหนึ่งอันเดียวว่า “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”

เมื่อทรงยินคำตอบอันตรงตามจริงจากเหล่าสาวกผู้เห็นชอบทั้งหลายแล้ว ก็ตรัสถามอีกว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า? พวกฉันทั้งชายหญิงทูลตอบด้วยน้ำจิตสงบว่างเป็นเสียงเดียวกันว่า “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”

พระศาสดาตรัสถามนำปัญญาเยี่ยงมหาบุรุษผู้มาเปิดโลกว่า ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา? พวกฉันทูลตอบด้วยความเข้าใจแจ่มแจ้งว่า “ไม่ควรเลยพระเจ้าข้า”

ภาพและเสียงทั้งหลายสลายไปตามครรลองอนิจจัง ฉันอยากมีเครื่องบันทึกฝันไว้เก็บฝันที่ดีที่สุดในชีวิตนั้นไว้ เมื่อตื่นขึ้นมายังน้ำตาซึม ลุกขึ้นนั่งนิ่งอยู่นาน ตระหนักว่านั่นเป็นการปรุงแต่งเชื่อมโยงอันแสนมหัศจรรย์ของจิต จิตของฉันผนวกเอามหาบุรุษลักษณะที่รับรู้จากพระคัมภีร์ มารวมเข้ากับเนื้อหาในวักกลิสูตร ซึ่งพระพุทธองค์เสด็จไปโปรดภิกษุอาพาธชื่อวักกลิ โดยมีเนื้อหาที่สำคัญคือผู้ใดเห็นธรรม ผู้นั้นย่อมชื่อว่าเห็นเรา ฯ รวมทั้งตรัสถามนำปัญญาด้วยว่ารูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง ฯ

ฉันย้อนพิจารณาขณะแห่งจิตในฝันอันชัดเจน ที่มีสติบอกขึ้นมาว่า ‘นี่คือการเห็น’ ฉันจำได้ถนัดถึงความตั้งใจเล็งแลพระผู้มีพระภาคเจ้า เห็นภาพปรากฏแห่งมหาบุรุษลักษณะ มีปีติอันเกิดจากความสมใจยิ่งใหญ่ แต่ท้ายที่สุดสติก็บอกตัวเองว่านั่นแหละ แค่นั้นแหละ ที่เรียกว่าการเห็น แถมพระพุทธนิมิตยังเทศน์โปรดตามข้อความที่ฉันเคยผ่านตามาก่อนในวักกลิสูตร ตอกย้ำให้ซาบซึ้งแจ่มแจ้งยิ่งๆขึ้นว่าต่อให้เห็นพระกรัชกายแห่งองค์ท่านจริงๆ ที่สุดแล้วก็แค่การเห็นอันอาศัยตาเนื้อและรูปหยาบ ไม่สู้เห็นธรรมะอันเป็นองค์จริงอันเที่ยงแท้แต่อย่างใดเลย เมื่อเข้าใจกระจ่างว่ารูปไม่เที่ยง ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น นั่นก็เป็นส่วนหนึ่งของการเห็นธรรมะแล้ว

การได้เห็นสมใจก็ดี การได้เห็นโดยไม่คาดฝันก็ดี การได้เห็นสิ่งที่ชินชาไม่ก่อให้เกิดความรู้สึกรู้สาใดๆก็ดี โดยเนื้อหาที่แท้จริงก็คือการเห็นเหมือนๆกัน สิ่งที่ผิดแผกแตกต่างก็แค่ใจอันสำคัญมั่นหมายไว้เป็นต่างๆ ให้ค่าความหมายเป็นต่างๆเท่านั้น

กล่าวได้ว่าวันนี้น่าบันทึกไว้ในฐานที่เริ่มเกิดความรู้สึกเกี่ยวกับอายตนะทางตา เห็นอะไรก็แค่นั้น หากใจไม่เข้าไปร่วมยินดียินร้ายด้วยอย่างเดียว ทั้งหมดที่เกิดขึ้นก็ ‘แค่อีกการเห็นครั้งหนึ่ง’ เท่านั้น



:b38: /...วันที่ ๓-๙: เข้าใจหลักรู้สภาวธรรม

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2009, 11:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๓-๙: เข้าใจหลักรู้สภาวธรรม

หลังจากฝันว่าได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าแล้ว ฉันก็รู้สึกว่าเข้าใจหลักการ ‘เห็นให้เป็นธรรมะ’ มากขึ้น จากเดิมที่เคยพยายามจ้องแบบตั้งใจให้มีอาการ ‘เห็นสักแต่ว่าเห็น’ หรือ ‘เห็นเฉพาะเส้นและสีตัดกัน’ ก็เปลี่ยนมาทำตามหลักที่พระพุทธเจ้าประทานไว้ในมหาสติปัฏฐานสูตร คือเห็นด้วยสติรู้ว่าเรากำลังใช้สายตามองอะไร ต่างจากมองธรรมดาตรงที่จะสังเกตปฏิกิริยาทางใจ ดูว่าเกิดอะไรขึ้นกับใจ เมื่อสังเกตจนรู้ชัดในปฏิกิริยาทางใจ กระทั่งสามารถเห็นโดยปราศจากปฏิกิริยาเป็นบวกหรือเป็นลบ เมื่อนั้นอาการเห็นสักแต่ว่าเห็นก็เกิดขึ้นเอง

แต่การเห็นและการได้ยินตามปกติจะไม่ค่อยทำให้เกิดราคะหรือโทสะอันเป็นกิเลสที่ปรากฏตัวชัด เพราะฉะนั้นระหว่างวันธรรมดาควรอยู่กับราวเกาะของสติคือลมหายใจกับอิริยาบถ หรือพิจารณากายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ เกิดดับ ต่อเมื่อตาหรือหูประจวบกับสิ่งเร้าที่ก่อให้เกิดกิเลสผูกใจ จึงค่อยมองโดยความเป็นอายตนะ

ฉันเริ่มรู้สึกถึงความ ‘อยากเห็น’ ชัดเจนในเช้าวันหนึ่งขณะจอดรถที่สี่แยกไฟแดง ขณะนั้นสติของฉันอยู่กับลมหายใจตามปกติ เป็นระดับการรู้ธรรมดาๆว่าแต่ละขณะกำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า

เผอิญรถของฉันจอดอยู่ด้านหลังเยื้องขวารถสปอร์ตจากแดนอาทิตย์อุทัยคันหนึ่ง ทั้งรูปทรงและสีสันโฉบเฉี่ยวสะดุดตา ยิ่งกว่านั้นคนขับยังเป็นผู้หญิง ซึ่งในมุมมองทะแยงซ้ายขึ้นไปจากด้านหลังเช่นนั้น ฉันเห็นไม่ถนัดว่าหน้าตาเป็นอย่างไร แต่เห็นเค้าโครงแล้ว ‘อาจจะสวย’

ขณะแห่งความไม่เผลอส่งออกนอกเต็มที่ ด้วยสติเกาะอยู่กับฐานคือลมหายใจค่อนข้างดี ฉันจึงเห็นสังขารขันธ์คือ ‘อาจจะสวย’ และ ‘อยากเห็นข้างหน้าจัง’ ที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว ณ เวลานั้นคือการประชุมเกิดขึ้นพร้อมกันระหว่างการเห็น ราคะ และความอยากเห็นให้มากยิ่งขึ้น แม้วัตถุก้อนเดียวกันก็มีหลายเหลี่ยมหลายมุม มุมหนึ่งเห็นแล้วพอ แต่อีกมุมเห็นแล้วอยากเห็นอีก เหมือนยังไม่ใช่การเห็นที่จบ ทั้งที่จริงเกิดการเห็นในเหลี่ยมมุมนั้นๆอย่างสมบูรณ์แบบแล้ว แต่ใจที่ไม่พอนั่นเองทำให้การเห็นยังไม่จบ

เห็นความตั้งใจอยากให้ไฟเขียวเร็วๆจะได้เร่งเครื่องแซงขึ้นไปดูหน้า ไม่เคยเห็นความทะยานอยากเด่นชัดได้ขนาดนั้นมาก่อน ทั้งที่เป็นความอยากแบบอ่อนๆแท้ๆ นี่คงเป็นอานิสงส์ที่เจริญสติไว้ก่อนเกิดราคะ เมื่อราคะเกิดจึงเท่าทันและไม่หลงตามเต็มตัว

เห็นชัดกระทั่งว่าเมื่ออยากแล้วไม่สมอยาก ไม่สามารถเห็นทันใจ ก็เกิดความมืดคลุ้มคล้ายควันจากไฟเผาหญ้า ในอกมีความแน่นทึบ ถ้าราคะอ่อนก็ทึบน้อย ถ้าราคะแก่ก็ทึบมาก แต่ถ้ามีสติรู้ตั้งแต่ต้นว่าเกิดราคะ เกิดความทะยานอยาก ทั้งราคะและความทะยานอยากจะค่อยๆโรยตัวสงบลงโดยไม่ฝืนเพ่งบังคับ

ฉันพิจารณาว่าในสถานการณ์เช่นนี้ ทำอย่างไรจะไม่ให้ราคะกำเริบขึ้นอีก ก็เห็นคำตอบชัดว่าอย่าไปตามใจกิเลส มันสั่งให้เร่งเครื่องแซงไปดูก็อย่าเร่ง มันสั่งให้จดจ่อรอเขาหันมาก็อย่าไปจดจ่อ เมื่อไม่เห็นอย่างใจก็เป็นโอกาสให้ดูทุกขเวทนาอันเกิดจากการไม่ได้เห็นสมหวัง ฉันดูสิ่งตกค้างสุดท้ายของราคะคือความทุกข์ทางใจ เมื่อเห็นทุกข์ทางใจเหือดหายไปก็กลับมาดูลมหายใจต่อ

เอ้อ! ก็โล่งอกดี ไม่เห็นมีความเก็บกดจุกอกอะไรเลย แค่เห็นให้เป็นก็ไม่ถูกรูปภายนอกครอบงำใจได้ง่ายๆ แล้วก็ไม่มีความเก็บกดตกค้างอีกด้วย อย่างนี้แหละคือความสมบูรณ์แบบของการรู้อายตนะ

เรื่องจะไม่ให้เห็นภาพยั่วตายั่วใจอีกคงยาก ฉันไม่ได้อยู่ป่าแบบพระธุดงค์ ได้แต่ทำไว้ในใจว่าจะไม่เห็นแค่รูปภายนอก แต่เห็นปฏิกิริยาทางใจภายในไปด้วย

ที่สี่แยกไฟแดงเช้านั้นให้ความก้าวหน้ากับฉันอีกระดับหนึ่ง แต่ฉันก็ตระหนักว่าความก้าวหน้าระดับนี้เสื่อมถอยได้ เพียงแค่พริบตาเดียวที่เผลอปล่อยให้ปฏิกิริยาชอบชังเกิดขึ้นโดยไม่รู้ ฉันได้แต่เฝ้าบอกตัวเองว่าถ้าอยากได้มรรคผลก็อย่าเผลอ ขอเพียงไม่เผลอ จะอยู่ป่าหรืออยู่เมืองก็น่าจะพอมีสิทธิ์ลุ้นเหมือนๆกัน

บ่ายวันทำงานวันหนึ่ง อดีตคู่แข่งผู้ถูกยกระดับให้กลายมาเป็นหัวหน้าของฉันเดินเข้ามาหา และสั่งให้ฟังสองสามเพลงซึ่งคัดไว้เป็นเพลงประกอบโฆษณาสินค้า เขาบอกให้เลือกไว้เพลงหนึ่ง อีกเดี๋ยวจะมาเอาคำตอบ

ฉันนั่งฟังทุกเพลงตามคำสั่ง ใจก็หาแง่มุมต่างๆเพื่อชั่งน้ำหนัก ทั้งความไพเราะถูกใจตัวเอง ทั้งความเหมาะเจาะกับชิ้นงาน รวมทั้งแรงปะทะที่คาดว่าจะมีต่อกลุ่มเป้าหมาย

ขณะยังไม่ตัดสินใจ หัวหน้าก็เดินเข้ามาทวงคำตอบ ฉันถอดหูฟังออกแล้วพูดตามความรู้สึกว่าโดยส่วนตัวยังไม่ถูกใจเพลงไหนเลย หัวหน้าฉันโวยทันทีว่าจะบ้าเหรอ คนอื่นเขาฟังแล้วเพราะกันทั้งนั้น มาหาว่าห่วยได้ไง แล้วหัวหน้าก็บรรยายเหมือนเล็กเชอร์ให้ฟังว่าเพลงไหนมีองค์ประกอบอย่างไรถึงฟังเพราะ พูดถึงอารมณ์ที่จะสื่อ พูดถึงภาพลักษณ์ที่จะปรากฏทางโทรทัศน์ ราวกับฉันเป็นเด็กนักเรียนที่ไม่รู้เรื่องรู้ราวอะไร

ฉันฟังเสร็จก็ยกมือเกาหัวแล้วเอนหลังพิงพนักเงียบๆ ไม่โต้ตอบอะไรสักคำ คนในโลกฟังเสียงแล้วจะตัดสินว่าเพราะหรือไม่เพราะ เสนาะหรือไม่เสนาะ ฟังแล้ว ‘ก่อจินตนาการ’ ไปในทิศทางใด ฟังแล้ว ‘อยาก’ เสพอารมณ์ชนิดใดที่รับกัน ฟังแล้ว ‘เข้ากันได้’ กับอัธยาศัยของตนหรือไม่ หากใครเข้าใจเรื่อง ‘ความชอบฟัง’ ของกลุ่มเป้าหมายลูกค้าถูกต้องก็มีส่วนทำให้ขายของได้เร็วขึ้น

การมีความรู้มากทางศาสตร์และศิลป์เกี่ยวกับจิตวิทยาทางดนตรีอาจส่งเสริมให้ไอเดียทำโฆษณาบรรเจิดกว้างไกล แต่ก็ไม่ใช่หลักประกันว่าจะทะลวงถึงใจผู้รับได้แน่นอนร้อยเปอร์เซนต์ จินตนาการของมวลชนเป็นเรื่องลึกลับซับซ้อน ทำไมยุคหนึ่งชอบ อีกยุคกลับไม่ชอบ

ฉันฟังหัวหน้าบรรยายไปด้วย ดูใจตัวเองไปด้วย ก็เกิดความรู้แจ้งขึ้นประการหนึ่ง ธรรมชาติไม่อนุญาตให้เพลงๆหนึ่งมีความเพราะหรือไม่เพราะประกบติดอยู่กับเสียงอย่างตายตัว ความเพราะหรือไม่เพราะมีใจเป็นองค์ประกอบสำคัญเหนือสิ่งอื่นใดทั้งหมด นี่เป็นโอกาสที่ ‘กรรม’ จะแสดงตัวได้ตามจังหวะเหมาะสม และนี่คือเหตุผลว่าเหตุใดเพลงเพราะๆบางเพลงถึงไม่ดังระดับโลก ขณะที่เพลงธรรมดาๆบางเพลงกลับติดหูข้ามทศวรรษ เมื่อนักดนตรีได้รับกระแสช่วยหนุนจากแรงกรรมให้ดังระดับโลก ใจคนฟังจะเปิดรับด้วยความตื่นเต้น รู้สึกสดใหม่น่าซื้อหามาฟัง ใครไม่ฟังถือว่าล้าหลัง ไม่ร่วมสมัย แต่เมื่อกรรมหมดแรงส่ง ฟังแล้วบางทีจะงงว่าครั้งหนึ่งเคยฮิตติดตลาดตูมตามเข้าไปได้อย่างไร เงี่ยหูตั้งใจเท่าไหร่ก็ไม่คึกคักเหมือนเก่าอีกแล้ว

ฉันยิ้มออกมานิดหนึ่ง ใครว่าคนปฏิบัติธรรมจะก้าวหน้าทางโลกไม่ได้ ฉันตรวจย้อนไปในขณะจิตที่ฟังเพลงเมื่อครู่ พบว่าฉันฟังด้วยใจของกลุ่มเป้าหมาย ฉันสามารถสัมผัสกระแสร่วมสมัย ในขณะที่หัวหน้าวิเคราะห์อะไรตามความคิดและใจของเขาเอง เอาตัวเองเป็นมาตรวัดไปเรื่อย เช่นนี้งานของเขาจะต้องออกมาล้มเหลว เมื่อล้มเหลวครั้งหนึ่งยังขาดความเชื่อมั่นไม่มาก แต่หลายครั้งเข้าก็กลายเป็นฝังตัวเองอยู่กับแนวทางหรือกระแสความนิยมผิดๆ และในที่สุดความน่าเชื่อถือก็จะลดลง ไม่เป็นที่ถูกใจของนายใหญ่ ไม่เป็นฮีโร่ของลูกน้อง

อนาคตงอกเงยขึ้นมาจากปัจจุบันและอดีต ฉันเห็นอนาคตด้วยวิธีการทำงานโดยเอาใจตัวเองเป็นใหญ่ของหัวหน้าวันนี้ เขาจะถูกบีบให้เปลี่ยนไปทำอย่างอื่นในที่สุด

ด้วยความเคยชินกับการเห็นจิตตนเอง ฉันสะดุ้งนิดๆกับการเกิดขึ้นของภาวะที่หยาบและมืดมนลง ฉันกำลังสะใจ ขาดความเมตตา เมื่อเห็นลักษณะอันเป็นอกุศลชัดโดยไม่พยายามทำอะไร สภาพจิตก็ถูกสติแทรกแทน กลายเป็นความผ่องใสสว่างว่างขึ้นมาในความรู้สึก

วันนั้นฉันลองหันกลับมาฟังเพลงโปรด หลังจากที่เลิกๆหรือห่างๆไปเสียนาน เพลงส่วนใหญ่ก่อจินตนาการขึ้นในใจฉันไม่ได้ ทำให้เคลิ้มไม่ได้ แต่ยังทำให้เกิดความชอบหรือความชังได้ ฉันฟังด้วย ‘ใจที่เป็นธรรม’ คือฟังแล้วปฏิกิริยาจะเกิดเป็นลบหรือเป็นบวกก็ช่าง เพียงแต่รับรู้ตามจริงเท่านั้นพอ ถึงจุดของความรับรู้ตามจริงจนเห็นว่าความชอบความชังเกิดแล้วก็ดับไปกับเพลง จิตก็เริ่มรู้สึกว่าเสียงเป็นอนัตตา ใจก็เป็นอนัตตา ความชอบความชังก็เป็นอนัตตา เพราะไปบังคับให้เพลงจงบรรเลงตลอดไปไม่ได้ บังคับใจตัวเองให้ชอบหรือชังไปชั่วฟ้าดินสลายก็ไม่ได้

เมื่อสังเกตภาวะกระทบระหว่างอายตนะมากขึ้นเรื่อยๆ ฉันก็เริ่มเห็นแยกเป็นชั้นๆ ว่าฝั่งนี้คือตาเหลือบไปเล็งมอง ฝั่งโน้นคือรูปวัตถุหรือบุคคลที่ถูกจับจ้อง ฝั่งนี้คือหูเงี่ยสดับด้วยความตั้งใจ ฝั่งโน้นคือเสียงที่พุ่งมากระทบ รวมทั้งเห็นปฏิกิริยาทางใจที่ปรากฏคล้าย ‘เปลวไฟ’ อันเกิดจากการสีกันระหว่างไม้สองข้าง

เมื่อสติทำงานเต็มกำลังจนแก่รอบเข้า สติรู้ลมหายใจหรืออิริยาบถชัดอยู่จากภายใน รู้ว่าศีรษะตั้งหรือเอียง รู้ว่านัยน์ตาแลหรือกลอก ก็เห็นเป็นขณะๆ ว่าอย่างนี้อายตนะประจวบกัน อย่างนี้กิเลสเกิดขึ้น อย่างนี้อายตนะแยกจากกัน อย่างนี้กิเลสดับตาม แต่ถ้าหากมีใจครุ่นคิดถึงผัสสะที่ล่วงไปแล้ว กิเลสนั้นก็จะไม่หายไปไหน ยังคงคาใจอยู่นั่นเอง ขึ้นอยู่กับระดับแรงเบาของอาการตรึกนึกถึงผัสสะนั้นๆ

ยิ่งการเห็นแยกเป็นชั้นๆแจ่มชัดเท่าไหร่ ก็ยิ่ง ‘รู้สึก’ ว่าปรากฏการณ์ทางอายตนะเป็นเพียงอนัตตามากขึ้นเท่านั้น เหลือแต่สติบริสุทธิ์ปราศจากความเห็นอายตนะภายในภายนอกเป็นตัวเป็นตน

ค่ำคืนวันหนึ่งก่อนนั่งสมาธิ ฉันเปิดๆอ่านพระสูตรเกี่ยวกับการปฏิบัติทางอายตนะ ก็พบพุทธพจน์สำคัญในอาพาธสูตรที่ทำให้ยิ่งมั่นใจว่าตนเองปฏิบัติมาถูกทาง และใกล้ความจริงเข้าไปทุกที ใจความโดยสรุปคือ…

เมื่อพิจารณาเห็นรูปไม่เที่ยง เวทนาไม่เที่ยง สัญญาไม่เที่ยง สังขารทั้งหลายไม่เที่ยง วิญญาณไม่เที่ยง การพิจารณาเห็นโดยความเป็นของไม่เที่ยงแห่งอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้เรียกว่า ‘อนิจจสัญญา’ (ความหมายรู้โดยสำคัญว่ากายใจไม่เที่ยง)

เมื่อพิจารณาเห็นจักษุเป็นอนัตตา รูปเป็นอนัตตา หูเป็นอนัตตา เสียงเป็นอนัตตา จมูกเป็นอนัตตา กลิ่นเป็นอนัตตา ลิ้นเป็นอนัตตา รสเป็นอนัตตา กายเป็นอนัตตา สิ่งต้องกายเป็นอนัตตา ใจเป็นอนัตตา สิ่งกระทบใจเป็นอนัตตา การพิจารณาเห็นโดยความเป็นอนัตตาในอายตนะทั้งหลาย ทั้งภายในและภายนอก ๖ ประการเหล่านี้เรียกว่า ‘อนัตตสัญญา’ (ความหมายรู้โดยสำคัญว่ากายใจไม่ใช่ตัวตน)


สรุปคือขณะสติยังไม่ถูกยกขึ้นตั้งก็ต้องอาศัยราวเกาะของสติเช่นลมหายใจและอิริยาบถไปก่อน ถ้าสติดีแล้วแต่ไม่มีเหตุการณ์กระทบเป็นพิเศษก็ดูกายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ เกิดดับ แต่ถ้ามีเครื่องกระทบให้เกิดปฏิกิริยาทางใจเด่นชัดก็ดูโดยความเป็นอายตนะ ๖ ไป

เมื่อสังเกตอายตนะ ๖ มากเข้าถึงจุดของความชำนาญหนึ่ง ก็เกิดประสบการณ์ทางจิตอีกชนิดที่ไม่เคยเกิดมาก่อน คือครั้งหนึ่งเมื่อหลับตานั่งสมาธิได้ถึงความว่างนิ่ง บังเกิดความสว่างขึ้นเกือบเต็มรอบ แล้วมีคนในบ้านมาเคาะประตูเรียก ฉันเห็นอาการนิ่งรู้อยู่กับภาวะของจิตเองไหวกระเพื่อมขึ้นแปรเป็น ‘สภาพรู้เสียง’ คือมีแต่เสียงกระทบประสาทหู มีแต่สภาพรู้เสียง แต่ไม่มีตัวผู้เป็นเจ้าของเสียง ไม่มีตัวผู้เป็นเจ้าของสภาพรู้เสียง

ภาวะนั้นทำให้ฉันรู้จัก ‘วิญญาณขันธ์’ อันหมายถึงการรู้ชัดแจ่มแจ้งอย่างใดอย่างหนึ่งทางอายตนะทั้ง ๖ เมื่อเดือนก่อนฉันฝึกรู้ขันธ์ก็มีเพียงขันธ์สุดท้ายคือวิญญาณนี่แหละที่ยังไม่ได้ดู มาเดือนนี้จึงเห็นว่า เมื่อทราบกระทบผ่านอายตนะใดๆด้วยสภาพรู้ชัดแจ้งหนึ่งเดียว ปราศจากอุปาทานในตัวตนเคลือบคลุม ภาวะนั้นเองคือการแสดงตัวของวิญญาณขันธ์ พูดง่ายๆว่าวิญญาณขันธ์เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลา แต่ถูกรู้ไม่ได้ ถูกเห็นว่าเกิดดับไม่ได้ ทั้งนี้ก็เพราะมีความรู้สึกในตัวตนบังอยู่ หากเหลือแต่ตาเห็นรูป ไม่มีตัวเราเห็นรูป หากเหลือแต่หูได้ยินเสียง ไม่มีตัวเราได้ยินเสียง เมื่อนั้นธรรมชาติอันพ้นภาวะบุคคลจึงปรากฏให้รู้ และเมื่อนั้นจิตย่อมเป็นไทจากอุปาทานได้ชั่วขณะ



:b38: /...วันที่ ๑๐: เปลี่ยนศาสนา

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2009, 11:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๑๐: เปลี่ยนศาสนา

เสาร์นี้คนในบ้านฉันวานให้ทำธุระบางอย่าง ฉันจึงไม่ได้ออกต่างจังหวัดดังเคย แต่กลับถึงบ้านก็เข้าห้องปิดประตู นั่งสมาธิเดินจงกรมอยู่คนเดียวอย่างมีความสุข

ทานข้าวเย็นกับสมาชิกครอบครัวราวทุ่มเศษ คุยเฮฮากับพวกเขาเป็นปกติพักใหญ่ ก่อนที่ต่างคนต่างแยกย้ายไปทำกิจของตน ฉันเข้าห้องด้วยความตั้งใจจะกลับมาทำสมาธิต่อ แต่ก็พอดีกับเสียงโทรศัพท์ที่ดังขึ้น ฉันแปลกใจเล็กน้อย เธอนั่นเอง… คนที่เคยอยู่ในฐานะแฟน แล้วเปลี่ยนไปอยู่ในฐานะคนห่าง แล้วกลับมาเป็นแฟนอีก และน่าจะกลายเป็นคนห่างไปอีกแล้ว ราวกับลมหายใจที่เข้ามาแล้วออกไป แล้วก็กลับเข้ามาอีกแล้วๆเล่าๆ ต่างจากลมหายใจก็ตรงที่ฉันกำหนดสติรู้ด้วยใจที่เป็นกลางยาก

หญิงที่ฉันเคยรักทักทายด้วยน้ำเสียงเรียบเนือยเกือบๆปกติ แต่คงเห็นฉันพูดตอบกระอักกระอ่วนนิดๆ เลยถามตามตรงว่ายินดีคุยด้วยหรือเปล่า ฉันยังไยดีพอจะกลัวเธอเสียน้ำใจ จึงฝืนพูดให้แจ่มใสขึ้น ทั้งที่เริ่มเกร็งเพราะความหวาดหวั่นว่าเดี๋ยวจะต้องเจอบทสนทนาน่าลำบากใจ

และแล้วก็ได้เจอจริงๆดังคาด เธอบอกว่าเธอกำลังเศร้าและเป็นทุกข์อย่างไม่เคยเป็นมาก่อน พอดีมีเพื่อนชวนไปเข้าโบสถ์ของศาสนาหนึ่งที่โด่งดังขึ้นชื่อในด้านดึงคนมาศรัทธา เธอก็ตามเขาไป และรู้สึกว่าอาจเป็นแสงสว่างที่สาดลงมานำทางพอดีจังหวะจริงๆ เธอพบความสุขความอบอุ่นใจกับครอบครัวที่แท้จริงแล้ว และขอบคุณที่ฉันมีส่วนช่วยส่งเธอไป

ฟังทีแรกฉันตกตะลึงใจหายวูบ แต่พอตั้งสติได้ในวินาทีต่อมาก็สัมผัสได้ถึงความเศร้าสร้อยอาลัย จิตใจที่ยังคงหมกจม กับเจตนาพูดให้ฉันรู้สึกผิดและหันกลับไปประคับประคองเธอดังเดิม จึงตั้งหลักครู่หนึ่ง เรียบเรียงคำพูดได้ก็บอกว่าทุกศาสนาเป็นที่พึ่งทางใจกับผู้มีอัธยาศัยต้องกับศรัทธาแบบนั้นๆ ฉันจะยินดีด้วยหากเธอพบทางเลือกแน่แล้ว แต่ก็อยากให้เธอพิจารณาดีๆในระยะยาวด้วย เพราะบางแห่งหากินกับศรัทธาของศาสนิกชน แรกเริ่มเข้าไปทุกอย่างฟรีหมด ให้เปล่าตลอด แต่พอเริ่มเป็นคนในชนิดถอนตัวยาก ก็จะเริ่มขอแหลก และมีอุบายในการตื๊อสารพัดวิธีเกินกว่าจะปฏิเสธ กับทั้งสอนแปลกๆ ประเภทอย่าไปกตัญญูพ่อแม่ พ่อแม่มีเราเอาสนุกเท่านั้น ถ้าเป็นพวกนี้ก็ต้องถอยแต่เนิ่นๆก่อนจะสาย

เธอบอกว่าตอนนี้เธอไม่มีกะจิตกะใจวิเคราะห์อะไรดีอะไรเลว เหมือนคนกำลังจะจมน้ำรอมร่อ เมื่อขอนไม้ลอยมาก็ต้องคว้าไว้ก่อน ในขอนไม้จะมีหมามุ่ยหรืองูพิษอยู่หรือเปล่าก็ช่างเถอะ ฉันฟังแล้วเครียดเกินกว่าจะตั้งสติทัน เพราะน้ำเสียงเธอเจือแววเศร้าน่าสงสาร ได้แต่ด่าตัวเองว่าไม่ควรเลย หากคืนที่เธอโทร.มาชวนทานข้าว ฉันเพียงปฏิเสธอย่างนิ่มนวลด้วยเหตุผลดีๆ ก็คงไม่มีเรื่องน่าอึดอัดกัน แต่ใครจะไปรู้ล่ะว่าต้องลงเอยท่านี้ ฉันพยายามเตือนสติตัวเอง ให้ทำในสิ่งที่ควรทำ พูดในสิ่งที่ควรพูด เพราะมิฉะนั้นแล้วอาจต้องเจอเหตุการณ์กลืนไม่เข้าคายไม่ออกยิ่งกว่าที่เป็นอยู่หลายร้อยเท่า

และเพราะกลัวพูดผิดๆตอนกำลังคิดอะไรไม่ออก ฉันจึงเงียบนาน และจากกระแสใจในความเงียบระหว่างกันนั้น ฉันก็รู้ว่าเธอไม่ยอมวางสายแน่จนกว่าฉันจะแสดงความรู้สึกผิดออกไปชัดๆ ซึ่งสติในบัดนั้นบอกตัวเองว่าการพยายามอ้อนวอนหรือแสดงความห่วงออกนอกหน้าเรื่องการเปลี่ยนศาสนา จะยิ่งทำให้เธอคิดในทางอกุศลหนักกว่าเดิม ฉันจึงมาแนวใหม่ พยายามชวนเธอคุยเรื่องอื่นที่ห่างตัว ห่างจากเรื่องศาสนา

ตอนแรกเธอก็ยอมคุยถึงดินฟ้าอากาศ การงาน การเมืองกับฉันอย่างฉลาดพอจะไม่ทำตัวน่ารำคาญ แต่ถึงจุดหนึ่งเธอก็วกกลับมาพูดถึงบรรยากาศในโบสถ์ เปรยว่าดีนะกับบรรยากาศเป็นมิตร ความเป็นครอบครัวที่ยั่งยืนไม่ทิ้งกัน มีใครต่อใครเข้ามาทักทายทำความรู้จักกับเธอเยอะแยะไปหมด นอกเหนือจากธรรมเนียมการต้อนรับสมาชิกใหม่แล้ว เธอว่ามีหนุ่มๆหลายคนเสนอตัวเป็นพี่เลี้ยงให้เธอด้วย แต่ละคนมีอาชีพการงานดี จบโทจบดอกเตอร์กันทั้งนั้น ขนาดฉลาดกว่าเธอยังหันมาเชื่อ ก็แสดงว่าไม่ใช่ศาสนาของคนโง่อย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่สอนให้ทอดทิ้งกัน ไม่สอนให้เอาตัวรอดเพียงลำพัง และไม่สอนให้เห็นลูกเป็นห่วงขวางความสุขเสียด้วย

ฉันเริ่มหงุดหงิดขึ้นมาอย่างยากจะห้าม เพราะรู้ว่าเจตนาของเธอคือว่ากระทบไปถึงพระพุทธเจ้า เกือบจะขอเลิกสายเดี๋ยวนั้น แต่ก็ฉุกคิดขึ้นมาว่าการวางสายนั้นง่ายมาก แต่การวางความยึดมั่นถือมั่นนั้นยากแม้จะหยุดคุยกับเธอแล้วก็ตาม สู้แก้ปมที่ขอดยุ่งให้คลายออกเดี๋ยวนี้ดีกว่า อีกอย่างหากคุยเสียให้จบเพื่อความลงเอยที่ดีต่อเธอได้ก็น่าทำ เพราะปฏิเสธไม่ได้ว่าฉันมีเอี่ยวในการทำให้เธอคิดอกุศลถึงขนาดนี้

ก่อนอื่นฉันทำความสบายใจให้ตัวเองด้วยการนึกถึงที่พระพุทธองค์ตรัส คือถ้าใครมาว่าพระองค์ จะรุนแรงขนาดไหนก็ตาม ก่อนอื่นอย่าโกรธ แต่ให้ดูว่าเขาพูดถูกหรือเปล่า ถ้าพูดถูกก็ยอมรับว่าพูดถูก ถ้าเข้าใจผิดก็แก้ความเข้าใจกันด้วยเมตตาเป็นที่ตั้ง

ทำกรรมโดยไม่รู้ว่าเป็นบาปนั้น ท่านเปรียบเหมือนคนคว้าถ่านร้อนมากำเพราะไม่รู้ว่ามันร้อน จึงไม่มีจิตคิดระวังแม้แต่น้อย ถ่านร้อนนั้นย่อมทำให้เกิดบาดแผลปวดแสบปวดร้อนเต็มไม้เต็มมือ อย่างไรก็ตาม ธรรมชาติการให้ผลของกรรมไม่เป็นไปในทันทีเหมือนการให้ความร้อนของถ่าน ต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง หรือรอเงื่อนของเหตุการณ์ที่เหมาะสม กว่าที่เงากรรมจะตามไปเล่นงาน ซึ่งเมื่อถึงเวลานั้นผู้เคยทำบาปย่อมลืมแล้ว หรือไม่รู้แล้วว่าเคยทำเหตุไว้ตั้งแต่วัน เดือน ปี หรือกระทั่งชาติภพใด

คิดแล้วฉันก็สงบเยือกเย็นลงอย่างรวดเร็ว ประโยชน์อะไรฉันต้องโกรธผู้หญิงคนหนึ่งที่พูดได้ทุกอย่างเพียงเพื่อเอาชนะ ฉันควรเห็นตามจริงว่าเธอกำลังทำความเดือดร้อนให้ตัวเองต่างหาก

ฉันถามเธอว่าติดใจเรื่องพุทธศาสนาสอนให้คนเห็นแก่ตัวมากใช่ไหม? พอเห็นเธอนิ่งเงียบ ฉันก็ค่อยๆชี้ให้เห็นตามจริง ว่าแก่นของพุทธศาสนาคือความหลุดพ้นทางใจชนิดไม่กลับกำเริบเป็นทุกข์ได้อีก แก่นของพุทธไม่ใช่การปลีกตัวไปเสวยสุขแบบคนรักสบาย ตรงข้าม พระในอุดมคติจะยังติดต่อกับชาวบ้านด้วยภาระใหญ่ คือเป็นที่พึ่งทางใจ และตามวินัยพระก็ยังสามารถเลี้ยงพ่อแม่ไม่ให้อดตายได้ด้วย นี่เป็นสิ่งแรกที่ต้องทำความเข้าใจให้ชัดเจน

คราวนี้มองย้อนกลับมาทางการอยู่ร่วมกันในโลก ตามสามัญสำนึกคนจะคิดหรือมองว่าการไม่เห็นแก่ตัวคืออยู่ร่วมทุกข์ร่วมสุขด้วยกัน ไม่ทอดทิ้งกัน ไม่ทำร้ายกัน แต่ขอให้มองโลกด้วยตาเปล่า คนเราเต็มไปด้วยช่องว่างที่ไม่มีวันถมได้เต็ม ยิ่งใกล้ชิดกันมากและเนิ่นนานเท่าไหร่ ก็ยิ่งเห็นช่องว่างนั้นชัดขึ้นเท่านั้น คนเราจะมีแก่ใจพยายามประคับประคองหอบหิ้วกันบุกน้ำลุยไฟเพียงช่วงเวลาที่ยังรู้สึกรักรู้สึกหลง แต่เมื่อใดเบื่อหน่ายช่องว่าง หรือเบื่อรสชาติเนื้อหนังของกันและกัน ก็ทิ้งขว้างได้อย่างไม่มีเยื่อใย หรือยิ่งกว่านั้นตามข่าวที่ปรากฏก็คือเบื่อคู่ของตนจุกอก อยากไปมีใหม่บ้าง แต่อีกฝ่ายไม่ยอมหย่าให้ ก็ถึงกับแอบฆ่าแกงกัน

ฉันบอกผู้หญิงที่ฉันรักว่าเราสองคนเหมือนอยู่บนต้นทางการผจญภัยในที่แห่งหนึ่ง ซึ่งต่างฝ่ายต่างก็ไม่รู้ว่ามีอะไรรออยู่บ้าง แต่ที่ฉันเห็นคือความขัดแย้ง ไม่อาจลงตัวแม้แค่ความพอใจในการใช้ชีวิต แล้วเราจะคาดหวังให้เส้นทางผจญภัยร่วมกันนี้มีแต่ความตื่นเต้นเร้าใจ ได้หัวเราะเหมือนเที่ยวสวนสนุกคงไม่ใช่แน่ๆ

ฉันบอกเธอด้วยใจจริงว่าฉันรักเธอ แต่ไม่ใช่ในแบบที่เอาอารมณ์พิศวาสอยากครอบครองมาเป็นที่ตั้ง ขอให้เธอลองคิดดูว่าเมื่อเธอบอกเลิกฉันนั้น ถึงแม้เศร้าโศกเพียงใดก็ยังบอกเธอได้เต็มปากว่าฉันเข้าใจว่าความเหงาเป็นอย่างไร โดยเฉพาะสำหรับผู้หญิงตัวคนเดียวในต่างแดน และฉันจะเป็นเพื่อนที่ดีกับเธอตลอดไปถึงแม้ว่าไม่มีอนาคตร่วมกันอีกแล้ว หากฉันเอาแต่บ้ารักไร้เหตุผล ไม่เอาใจเธอมาใส่ใจฉัน ฉันจะพูดอย่างนั้นได้ไหม? แล้วลองมาเปรียบเทียบกับเธอในบัดนี้ ที่มีแต่ถ้อยคำประชด อยากทิ่มแทงให้ฉันเกิดความเจ็บใจ เอาของสูงที่ฉันเคารพมาปรามาสโดยไม่เคยศึกษาอะไรจริงจัง อย่างนี้น้ำหนักความเห็นแก่ตัวของใครมากกว่ากัน และระหว่างเราสองคน ใครเข้าใจความรักความปรารถนาดีที่แท้จริงยิ่งกว่ากัน?

ผู้หญิงที่ฉันรักค่อยๆร้องไห้สะอึกสะอื้นยืดยาว ก่อนจะบอกทั้งยังเสียงเครือว่าเธอไม่เคยหยุดรู้สึกผิดแม้แต่วันเดียว และก็ได้ขอโทษฉันแล้ว ฉันให้อภัยแล้ว และทำให้เธอมีความหวังแล้ว แต่เพียงแค่เธอพูดผิดหูฉันหน่อยเดียวถึงกับสลัดเธอทิ้ง ไม่โทร.หาอีกเลย อย่างนี้หมายความว่าอย่างไร น้ำใจของฉันหายไปไหน ทำไมถึงไม่เป็นคนเดิมที่หนักแน่นได้กับทุกเรื่อง?

ฉันรู้สึกแย่ลง ใจที่เลิกเอาแต่ได้มาพักหนึ่งทำให้รู้สึกสังเวชในความเห็นแก่ตัวของมนุษย์ คนเราพูดเอาประโยชน์เข้าตัวเองได้อย่างเหลือเชื่อ และที่ขำไม่ออกคือเขาเชื่อจริงๆว่านั่นคือความยุติธรรม การที่คนอื่นไม่ตามใจ หรือเป็นไม่ได้อย่างใจ ถือว่าเป็นความเลวร้าย ถือเป็นความผิดที่สมควรพิจารณาปรับปรุงเสียใหม่

ฉันถอนใจยาวให้เธอได้ยิน บอกเธอว่าถึงวันนี้ฉันเห็นสิ่งที่ไม่เคยเห็นอย่างหนึ่ง คือธรรมชาติจะบังคับให้เราทิ้งทุกคนไปอยู่ดี เราเต็มใจหรือไม่เต็มใจก็ตาม เรารักและหวังหอบหิ้วใครไปด้วยก็ตาม พวกเราต่างก็เป็นนักเดินทางผู้โดดเดี่ยว มาสวมหัวโขนเป็นพ่อ แม่ พี่ น้อง คนรัก เพื่อน ศัตรู หรืออะไรอื่นเดี๋ยวเดียว แล้วก็ต้องตายจากไปเป็นอื่น แม้ในชาติเดียวกันก็อาจเป็นอะไรหลายๆฐานะ บางคนเดินชนไหล่หรือเหยียบเท้าใครอีกคนบนถนน ทะเลาะกันเลือดขึ้นหน้าเป็นพัก กว่าจะจำได้ว่าเคยเป็นเพื่อนรักสุดรักสมัยประถมมัธยมที่เคยอยากไปไหนๆด้วยกันตลอดชีวิต แต่พอห่างกันมากๆเจออีกทีอาจกลายเป็นศัตรูก็ได้ เราต่างถูกหลอกว่ามีคนรักและเครือข่ายญาติมิตร ทั้งที่จริงทุกคนไม่มีแม้แต่เงาติดตามตัวเองไปได้ตลอด

ฉันพูดอย่างจะทิ้งท้ายว่าเธอจะหมดศรัทธาในฉันก็ได้ หมดศรัทธาในพุทธศาสนาก็ได้ แต่อย่าหมดศรัทธากับการหาสิ่งดีที่สุดให้ตัวเอง ถ้าการเปลี่ยนศาสนาคือความสุขอย่างแท้จริง ไม่ใช่การหลอกตัวเอง ไม่ใช่แค่การทำเพื่อประชดใคร ก็ขอให้เปลี่ยนไปเถิด แต่จงท่องไว้ว่าไม่มีใครทำให้เธอพ้นสภาพนักเดินทางผู้โดดเดี่ยว เมื่อเลือกทางไหนก็ต้องเดินอยู่บนทางนั้น พบปะผู้คนและสิ่งแวดล้อมบนเส้นทางแบบนั้น

เธอเริ่มหยุดร้องไห้ และนิ่งแบบคิดลึกจริงจังเป็นครั้งแรก ในที่สุดก็ถามฉันเสียงอ่อยว่าจะรู้ได้อย่างไรว่าศาสนาไหนสอนผิดหรือสอนถูก? ฉันตอบทันทีอย่างเตรียมไว้แล้วว่าถ้าเธออยากไปเที่ยวทะเล แล้วมีใครคนหนึ่งแนะให้ขึ้นรถโดยสารไปจังหวัดหนองคาย กับใครอีกคนหนึ่งแนะให้ขึ้นรถโดยสารไปจังหวัดกระบี่ ถ้าเธอไม่รู้จักภูมิประเทศของไทย ไม่รู้จักทั้งสองจังหวัดมาก่อน ไม่รู้กระทั่งทิศไหนเป็นเหนือใต้ออกตก เธอคงต้องไปให้ถึงจังหวัดอันเป็นปลายทางเสียก่อน จึงรู้ว่าใครบอกผิดหรือถูก

แต่ความจริงคือเธอรู้จักภูมิประเทศของไทย ว่าถ้าไปทางเหนือจะไม่เจอทะเล แต่ไปทางใต้หรือตะวันออกจะเจอ เพราะฉะนั้นเธอสามารถถามเลียบเคียงได้ว่าหนองคายอยู่ภาคไหน แล้วกระบี่อยู่ตอนใดของประเทศ อย่างนี้เธอก็พอจะรู้ว่าใครบอกทิศทางที่เธอประสงค์อย่างถูกต้องกันแน่

ศาสดาบอกเป้าหมายปลายทางแห่งศาสนาของพวกท่านเสมอ ถ้าเธอฟังเป้าหมายของพวกท่านแล้วศรัทธา คือถูกกับนิสัยและความรู้สึกนึกคิดของเธอ ก็ลองเลือกที่จะศึกษา ลองเลือกที่จะเอาตัวเข้าทดลอง เพื่อให้เห็นจริงว่าศาสดาท่านรักษาสัญญาไว้หรือไม่ คือทำตามกติกาของท่านแล้วบรรลุถึงเป้าหมายปลายทางได้ไหม ต้องตายเสียก่อนจึงสามารถพิสูจน์หรือระหว่างมีชีวิตก็อาจรู้แจ้งประจักษ์จริง เราอยู่ในประเทศที่เลือกได้ทุกศาสนาอย่างเป็นอิสระ

ผู้หญิงที่ฉันรักสงสัยว่าทำไมต้องเลือก แค่ใช้ชีวิตให้เหมือนคนอื่นไม่ได้หรือ? โลกทุกวันนี้ไม่ได้มีแต่ภูเขากับแม่น้ำเหมือนหลายพันปีก่อน คนยุคเรามีอะไรต้องทำ มีอะไรต้องคิดมากมาย ไม่ใช่มีเวลาว่างเหลือเฟือพอสำหรับนั่งวิตกเกี่ยวกับสัจจธรรมหรือการหวังคอยความสุขในอุดมคติ

ฉันตอบว่าขึ้นอยู่กับความรู้สึกเกี่ยวกับชีวิตของแต่ละคน ถ้าวันหนึ่งเธอถามหาสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตออกมาจากหัวใจ วันนั้นเธอจะรู้ว่ากี่พันปีผ่านไป สัจจะก็ยังรออยู่ที่เดิม ถ้าเธอพบ หัวใจเธอก็อิ่มเต็ม แต่ถ้าเธอพลาด ชีวิตนี้ก็จะเป็นแค่อีกห่วงโซ่ของความไม่รู้ ไม่ค้นพบ และไม่หลุดพ้นจากกรงขัง เธอไม่มีความเรียกร้องคำตอบสูงสุด แต่ฉันมี และนั่นก็ทำให้เรามองต่างกัน เห็นต่างกัน และยอมเสียเวลาในชีวิตใช้ไปในทางที่ต่างกัน เธอไม่ผิด ฉันไม่ผิด มีแต่ความต่างกันเท่านั้น

:b38: /....เธอเงียบอยู่นาน

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2009, 11:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b38: เธอเงียบอยู่นาน ก่อนถามว่าอะไรทำให้ฉันแน่ใจว่าพระพุทธเจ้าพูดถูก ฉันเชื่อคนที่ไม่เคยเห็นหน้าได้อย่างไร โดยเฉพาะบุคคลแห่งการสาบสูญนับพันปี คัมภีร์บางศาสนาบอกว่าโลกแบน บอกว่าโลกเป็นศูนย์กลางจักรวาล นั่นน่าจะทำให้ฉันเฉลียวคิดบ้างว่าคนโบราณเป็นแต่คิด ไม่มีเครื่องมือพิสูจน์ความจริงได้เหมือนยุคเรา ถ้าฉันอยากรู้ความจริง ทำไมไม่ศึกษาและติดตามความคืบหน้าทางเทคโนโลยีให้มากๆ

ฉันตอบเธอว่าเผอิญพุทธเรามีหลักฐานชัดว่าพระศาสดาตรัสเกี่ยวกับจักรวาลไว้ถูกต้อง ทั้งเรื่องโลกกลม เรื่องการเป็นบริวารของดาวฤกษ์ แต่นั่นก็ไม่ใช่แก่นสาร ไม่ใช่สัจจะที่พระองค์ต้องการให้เรารู้ รู้แล้วไม่ทำให้ใจหลุดพ้น ขอเพียงพระศาสดาพูดถูกเกี่ยวกับการดำเนินจิตเพื่อความหลุดพ้นเรื่องเดียว ต่อให้พระองค์ท่านพูดผิดว่าโลกแบนก็ไม่เสียข้อตกลงเดิมอันเป็นเป้าหมายสูงสุดของพระศาสนาอยู่ดี

เธอฟังแล้วรุกอีกด้วยหางเสียงสะบัด คือได้ยินจากศาสนาอื่นว่าพุทธเราสอนผิด แท้จริงแล้วทำให้พลาดจากมงคลสูงสุด ขอให้ดูตัวอย่างความเสื่อมทรามทางศีลธรรมในไทยทุกวันนี้ หากสอนกันถูกทาง จะมีเรื่องอัปมงคลเกิดขึ้นทั้งภาคนักบวชและภาคชาวบ้านทั่วทุกหัวระแหงขนาดนี้ทีเดียวหรือ? ไหนจะพระฆ่าพระ พระข่มขืนเด็ก พระมหาเกย์ถูกฆ่า พระชื่อดังกลายเป็นพระชื่อดับมาไม่รู้เท่าไหร่ต่อเท่าไหร่ จะให้ทำใจเชื่ออย่างไรว่าหลักการในพุทธศาสนาถูกต้อง ในเมื่อทำคนให้เป็นคนดีไม่ได้

ฉันตอบเธอว่าพวกนั้นไม่ใช่พระตั้งแต่กระทำผิดเช่นฆ่ามนุษย์หรือมีเพศสัมพันธ์แล้ว แต่บ้านเมืองเรามีสื่อที่ไม่เข้าใจ ไปเรียกคนเหล่านั้นว่าพระ ก็เลยเสื่อมเสียถึงศาสนาโดยรวม เหมือนปลาเน่าสองสามตัวทำให้ตัวอื่นอีกหลายร้อยพลอยเหม็นตาม และถ้าว่ากันถึงการพูดหมิ่น พูดกด ทำให้พุทธศาสนามัวหมองไม่น่าเชื่อถือนั้น มีมาตั้งแต่ครั้งพุทธกาล เช่นในคราวที่พระพุทธเจ้าเสด็จเยือนนิคมเกสปุตตะของชาวกาลามะ ก็มีบางกลุ่มแสดงความเลื่อมใส บางกลุ่มก็แสดงอาการเฉยเมย เพราะได้ยินมาไม่เหมือนกัน บางพวกก็ว่าพระพุทธเจ้าประเสริฐ บางพวกก็ว่าพระพุทธเจ้า ทำให้เกิดความสับสนขึ้นในหมู่ชาวกาลามะ

พระพุทธองค์เห็นเช่นนั้นก็ตรัสว่า ก็ควรแล้วที่ท่านทั้งหลายจะเคลือบแคลงสงสัย และท่านทั้งหลายเกิดความเคลือบแคลงสงสัยในฐานะที่ควรแล้ว มาเถิดท่านทั้งหลายท่านทั้งหลายอย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำที่ได้ยินได้ฟังมา อย่าได้ยึดถือตามถ้อยคำสืบๆกันมา อย่าได้ยึดถือโดยตื่นข่าวว่าได้ยินอย่างนี้ อย่าได้ยึดถือโดยอ้างตำรา อย่าได้ยึดถือโดยเดาเอาเอง อย่าได้ยึดถือโดยคาดคะเน อย่าได้เชื่อถือโดยความตรึกตามอาการ อย่าได้ยึดถือโดยชอบใจว่าต้องกันกับทิฐิของตัว อย่าได้ยึดถือโดยเชื่อว่าผู้พูดสมควรจะเชื่อได้ อย่าได้ยึดถือโดยความนับถือว่าสมณะนี้เป็นครูของเรา

ผู้หญิงที่ฉันรักได้ที บอกว่าอ้าว! นั่นไง! แม้แต่พระพุทธองค์ยังไม่ให้เชื่ออะไรง่ายๆ จะเป็นตำรา การเชื่อสืบๆกันมา หรืออาจจะกระทั่งตัวท่านเอง แล้วฉันเชื่อเข้าไปได้อย่างไร ในเมื่อทุกวันนี้ไม่มีพระพุทธองค์แล้ว เหลือแต่ตำรากับความเชื่อสืบๆกันว่านิพพานมี อริยบุคคลมี

ฉันตอบว่าคนไทยฟังครึ่งเดียวแล้วสรุปแบบเธอกันเยอะมาก ความจริงพระพุทธองค์ตรัสยังไม่จบ ท่านตรัสต่อว่าอย่าเชื่อเพียงเพราะเหตุผลสิบประการข้างต้น ต่อเมื่อเรารู้ด้วยปัญญาของตนเองว่าธรรมเหล่านี้เป็นอกุศล ธรรมเหล่านี้มีโทษ ธรรมเหล่านี้ผู้รู้ติเตียน ธรรมเหล่านี้ใครรับปฏิบัติแล้วเป็นไปเพื่อความทุกข์ เพื่อความเปล่าประโยชน์ เมื่อนั้นก็ควรละเสีย

นับแต่เจริญสติปัฏฐานตามที่พระพุทธเจ้าสอนมา ฉันคิดเรื่องอกุศลน้อยลง ไม่เห็นโทษทั้งทางร่างกายและจิตใจ ไม่มีใครติเตียนฉันได้ด้วยข้อหาใดๆ และยิ่งวันที่การปฏิบัติเข้มข้นขึ้น ความทุกข์ก็ยิ่งน้อยลงทุกที ประโยชน์ทวีขึ้นอย่างไม่เคยมีมาก่อน เช่นนี้แล้วฉันสมควรเชื่อว่าพระพุทธเจ้าดีจริง สอนถูกต้องตามเป้าหมายที่ท่านวางไว้หรือไม่?

เธอเสียงอ่อนลง นิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งก่อนเอ่ยว่าทุกศาสนาอาจมีเป้าหมายเดียวกัน พูดถึงภาวะสูงสุดแบบเดียวกัน ฉันศึกษาศาสนาอื่นลึกซึ้งพอจะตัดสินแล้วหรือยัง มีคนบอกเธอว่านิพพานกับพระเจ้าในศาสนาอื่นๆก็ภาวะเดียวกันนั่นเอง และหากจุดหมายปลายทางเป็นสิ่งเดียวกัน ทำไมจะต้องใช้ชีวิตให้ผิดแปลกจากชาวโลก ในเมื่อมีทางเลือกอื่นที่ง่ายกว่ากัน เป็นไปได้จริง และไม่ต้องทอดทิ้งคนอื่นเหมือนอย่างนี้

ฉันตอบเธอว่านิพพานเป็นเรื่องลึกซึ้ง พูดกันเล่นๆไม่ได้ เพราะฉะนั้นจะขอยกไว้ก่อน แต่มาพูดถึงความหลุดพ้นทางใจ อันนี้พอคุยกันด้วยภาษาปกติ คือถ้าเราถอนอุปาทานออกได้หมด ก็เป็นอันว่าเกิดความหลุดพ้นทางใจ และระหว่างทางดำเนินเพื่อถอดถอนอุปาทาน การกระทำใดๆในอันที่จะเพิ่มอุปาทานเข้ามาอีกนั้นไม่ควรเลย อีกอย่างหนึ่ง ถ้ามองในมุมของเธอก็เหมือนฉันกำลังทอดทิ้ง ไม่สงสาร ไม่เห็นใจเธอเลย แต่ในมุมมองของฉัน ฉันกำลังตัดทางเดือดร้อนของเธอเอง ไม่อยากให้เธอเข้าใจพระพุทธเจ้าผิดๆ ไม่อยากให้เธอต้องทำบาปทางความคิดและคำพูดโดยไม่รู้ตัวไปเรื่อยๆ

เธอร้องห่มร้องไห้อีกยกใหญ่ ยอมพูดอย่างสิ้นอาย ไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีอีกต่อไป ถามว่าถ้าเธอจะเปลี่ยนแปลงตัวเอง ไม่เรียกร้องอะไรจากฉันอีก ฉันจะยอมรับเธอ กลับมาคบกันเหมือนเดิมได้ไหม? การฟังคนที่เรารักร้องไห้หนักๆทำให้ใจคอไม่ค่อยดีนัก ฉันบอกว่าไม่เข้าใจเลย อะไรทำให้เธอกลับมาปักใจกับฉันแน่นเหนียวถึงขนาดนี้ ทั้งที่เลิกรากัน ห่างเหินกันไปตั้งนานแล้ว

เธอตอบว่าไม่รู้ รู้แต่ไม่เคยลืมฉันได้ ยิ่งกลับมาพบกันยิ่งมั่นใจว่าฉันควรจะเป็นคนที่เธอเลือก ฉันฟังแล้วสลดใจขึ้นมาวูบหนึ่ง มนุษย์ติดข้องอยู่ เต็มใจยินดีและยอมถูกกักขังไว้ในโลกแห่งอุปาทานไปเรื่อย ฉันถามเธอว่าเห็นพิษของความไม่รู้หรือยัง? เธอไม่รู้ด้วยซ้ำว่าทำไมถึงเลือกฉัน ตัดฉันไม่ขาด ขนาดมองว่าฉันเห็นแก่ตัว วันหนึ่งอาจทอดทิ้งเธอก็ตาม นี่ไม่แปลว่าเธอเลือกจะอยู่ใต้อาณัติของความไม่รู้ต่อไปอย่างนั้นหรือ? ต้องรอให้ทุกข์กว่านี้ร้อยเท่าพันทวีถึงอยากถอนตัวหรืออย่างไร?

เธอถามว่าแล้วทำไมถึงให้โอกาสเธอกลับมาติดพัน ทำให้เธอเผลอมีความหวังตั้งสองสามอาทิตย์ ก่อนสลัดกันแบบไม่มีเยื่อใยอย่างนี้ ฉันตอบว่าเป็นเพราะความไม่รู้ของฉันเหมือนกัน ถ้ารู้ล่วงหน้าว่ากลับมาคบแล้วต้องเป็นทุกข์ทั้งเธอและฉัน ฉันก็คงตัดไฟเสียแต่ต้นลมแล้ว แต่นี่ก็ยังไม่สาย ในเมื่อ ‘รู้’ เสียก่อนจะแต่งงาน ตระหนักเสียแต่ความสัมพันธ์ยังบอบบางเพียงสองอาทิตย์แห่งการจับมือถือแขน ยังไม่ทำให้ใครเจ็บปวดเกินทน

เธอถามฉันว่ารู้ได้ยังไงว่าไม่เกินจะทน? ตอนนี้เจอใครมีแต่คนทักว่าผ่ายผอม หน้าตาหมองคล้ำจนเพื่อนรู้ว่าทุกข์หนักและชวนไปเข้าโบสถ์ได้นี่ยังไม่หนักพออย่างนั้นหรือ?

ฉันเม้มปากขมวดคิ้ว ชักทุกข์หนักตามเธอขึ้นมา หยั่งรู้ด้วยจิตว่าเธอทุกข์จริง แต่ไม่เข้าใจว่าทำไมมนุษย์ถึงอมทุกข์ไว้ หวงทุกข์ไว้ กอดทุกข์ไว้แน่นหนาไม่ยอมปล่อย ทั้งที่ชัดยิ่งกว่าชัดว่าทรมานทรกรรมเปล่าอย่างไร้สาระแก่นสาร

เมื่อเห็นความเขลาของจิตมนุษย์ที่ยินยอมยึดทุกข์ไว้ไม่ปล่อย ฉันก็ยิ่งอยากหันหลังวิ่งหนีมหันตภัยแห่งความไม่รู้มากขึ้นอีก ฉันบอกเธอตามจริง ยอมรับว่าเป็นห่วงเธอมาตลอด แต่ถ้าแสดงความห่วงใยด้วยการเอาตัวเองเข้าไปช่วยแบกขึ้นหลังแบบเตี้ยอุ้มค่อม ก็กลัวว่านอกจากไม่ช่วยให้อะไรดีขึ้นแล้วพานจะทำให้เธอยิ่งจมทะเลทุกข์ลึกกว่าเดิม

ฉันบอกเธออีก ว่านี่คือตัวอย่างหนึ่งของสติและปัญญาแบบพุทธ เมื่อขาดสติ คนเรารับใช้ความไม่รู้

ตัดสินใจและปฏิบัติตนไปด้วยความไม่รู้ จะมีกระบวนการอันให้ผลสุดท้ายเป็นทุกข์ทางใจเสมอ คนเรานึกว่าไม่รู้คือไม่ผิด แต่แท้จริงแล้วเพราะไม่รู้นั่นแหละถึงทำผิดกันอย่างใหญ่หลวง และติดวนในที่คุมขังต่อไปเรื่อยๆไร้กำหนดเป็นอิสระ แต่เมื่อรู้แล้ว แม้จะรู้นิดรู้หน่อยว่าต้นเหตุความทุกข์กำลังมาเคาะประตูเรียก แค่เราไม่เปิดประตูต้อนรับมัน ยอมฝืนความรู้สึกเสียหน่อย ทุกข์ก็เข้ามาทำอะไรเราไม่ได้แล้ว

ฉันชี้ด้วยความอดทน ว่าขณะนี้ความพิศวาสกลบเกลื่อนสิ่งที่จะเกิดขึ้นในวันหน้าเสียหมด เหมือนยอมได้ทุกอย่างไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ในวันนี้เธออาจบอกว่าไม่แคร์ถ้าฉันจะนั่งสมาธิเดินจงกรม แต่เมื่อไหร่ความพิศวาสเหือดหาย เหลือแต่ความจริงคือทุกข์ล้วนๆ เธอก็จะรู้สึกบาดเจ็บ เสียเวลาเปล่า และพานเกลียดขี้หน้าฉันไปจนชั่วชีวิต เธอต้องการอย่างนั้นหรือ?

เธอตอบเรียบๆแต่หนักแน่นว่าต้องการ!

ฉันอึ้งสนิทแบบคนหมดคำพูด ความรักความหลงทำให้เธอเปลี่ยนแปลงไปได้จากหน้ามือเป็นหลังมือขนาดนี้ทีเดียว? ปกติเธอไม่ง้อใคร ห่วงศักดิ์ศรี รักหน้ารักตายิ่งกว่าอะไรหมด แต่นี่กลับเป็นตรงข้ามสิ้น ฉันจึงงงเคว้งและคิดอะไรไม่ออกไปชั่วขณะ

ตระหนักว่าอุปสรรคใหญ่เกิดขึ้นแล้วบนเส้นทางการภาวนา แม้แต่เรื่องเหลือเชื่อที่ไม่น่าเกิดก็เกิดขึ้นได้ นึกถึงพุทธพจน์ที่ว่าฆราวาสเป็นทางแคบ เป็นที่มาแห่งฝุ่นละออง ฉันรู้สึกอย่างนั้นจริงๆ คนกำลังภาวนาดีวันดีคืนมักมีเหตุมาดึงแขนดึงขาให้ช้าเสมอ นี่อาจเป็นเงื่อนไขของธรรมชาติ คือถ้าคิดเหยียบเรือสองแคม ยังไม่ยอมสละโลกแต่อยากถึงนิพพาน ก็ต้องงัดข้อด้วยการใช้กำลังเป็นสองเท่า ไม่มีภาวะสังฆคุณช่วยแบ่งเบากระแสรบกวนอย่างนี้เอง

ชีวิตฆราวาสจะให้ดูขันธ์อย่างเดียวไมได้ ต้องแก้เงื่อนแก้ปมปัญหาและอุปสรรคให้ออกด้วย มิฉะนั้นจะเกิดการปรุงแต่งจิตให้หยาบจนเกินกว่าสติสามารถหยัดยืนอยู่ไหว ฉันขบริมฝีปากคิดอยู่นาน ไม่อยากทำร้ายจิตใจเธอเลย แต่ขณะเดียวกันก็ไม่อยากมีเครื่องถ่วง ฉันยังรักเธอ แต่ก็รักเส้นทางที่กำลังดำเนินเกินกว่าจะให้เธอมาดึงออกนอกวิถี หลายปัญหาในโลกคาราคาซังอยู่ได้ก็เพราะความใจอ่อน ไม่เข้มแข็งเด็ดขาดนี่เอง

ฉันค่อยๆพูดช้าๆ ว่าการที่เคยถูกเธอทิ้งยังทำให้เข็ดไม่หาย ตอนนี้เหมือนฉันทิ้งที่เกาะหนึ่งมาหาอีกที่เกาะหนึ่งซึ่งมั่นคงกว่ากัน อย่าเพิ่งคาดคั้นให้ฉันตอบตกลงอะไรในคืนนี้เลย ความรู้สึกคงประมาณทิ้งเรือกลับไปเกาะขอนไม้กลางทะเล ไว้ฉันแข็งแรงจนแน่ใจว่าช่วยฉุดเธอขึ้นเรือมาด้วยกันได้แล้วค่อยว่ากันอีกทีดีกว่า ขอเวลาอีกสักพักแล้วจะติดต่อเธอไปเอง

เธอฟังคำพูดผัดผ่อนของฉันด้วยความรวดร้าวทรมาน ฉันสัมผัสได้และร่ำๆจะใจอ่อน ได้แต่บอกตัวเองว่าให้เธอทุกข์หนักเดี๋ยวนี้แล้วดีขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว ดีกว่าปล่อยยืดเยื้อคาราคาซังจนถึงขั้นเจ็บแล้วฟื้นยาก

เราต่างคนต่างเงียบกันเกือบห้านาที ก่อนที่เธอจะเอ่ยว่าเกิดมาไม่เคยรู้สึกไร้ยางอายขนาดนี้มาก่อนเลย หน้าด้านหน้าทนงอนง้อขอความรักจากผู้ชายตั้งนาน เขาไม่เอาก็ยังตื๊ออยู่ได้ ฉันฟังแล้วเหมือนมีอะไรมาจุกคอหอย ขอร้องเธอว่าอย่าคิดอย่างนั้น วันหนึ่งฉันอาจทำให้เธอเข้าใจได้ว่านี่ไม่ใช่เรื่องของความใจไม้ไส้ระกำ ตรงข้าม เป็นความปรารถนาดีและแสดงออกซึ่งความรักบริสุทธิ์มากกว่าครั้งไหนๆทั้งหมดด้วยซ้ำ

รอบนี้เธอไม่วางสายไปเฉยๆเหมือนคราวก่อน อย่างน้อยก็มีใจคอหนักแน่นขึ้น และกล่าวอำลาด้วยน้ำเสียงเยี่ยงผู้ใหญ่ที่มีเหตุผลคนหนึ่ง เธอบอกว่าฟังฉันมาทั้งหมดแล้วพอจะเห็นว่าฉันต้องการอะไรอย่างแท้จริง รวมทั้งรู้ซึ้งว่าเรื่องศาสนาสำคัญกับฉันขนาดไหน ขอโทษสำหรับคำพูดทิ่มตำให้เจ็บใจที่ผ่านมา เธอจะไม่ติดต่อมาอีก และขอให้มิตรภาพระหว่างเรายั่งยืนตราบนานเท่านาน

ฉันขบฟันแน่น เมื่อเธอลิดหนามแหลมจนเหลือแต่กลีบกุหลาบหอม ฉันก็อาลัยอาวรณ์ขึ้นมาอีก ประสาปุถุชนที่ยังหลงรักหลงใคร่ผู้หญิงดีๆได้ แต่ไม่ทราบความเข้มแข็งจากไหนเกิดขึ้นมากพอจะกล่าวลาตอบ ขอบคุณที่เข้าใจ และขอให้ความเจ็บระหว่างเราเป็นอโหสิจนหมดสิ้น

เราสองคนวางโทรศัพท์พร้อมกัน ฉันรู้สึกเหนื่อยอ่อนที่สุดนับแต่ฝึกเจริญสติเป็นต้นมา เกือบเกิดคำถามว่าทิ้งเธอลงคอได้อย่างไร เมื่อไหร่มรรคผลนิพพานจะมาถึงก็ไม่รู้ ทำไมถึงไม่คว้าเธอไว้ แล้วตะล่อมให้เพียรภาวนาไปด้วยกัน แต่แวบเดียวก็เกิดสติรู้ว่านั่นคือสังขารขันธ์ฝ่ายสนับสนุนกิเลส หาใช่สิ่งที่ฉันควรเชื่อ เพราะเชื่อแล้วย่อมมีแต่ถอยกับถอยเท่านั้น ผู้หญิงเป็นอายตนะภายนอกร้อนๆครบหกในคนเดียว การอยู่ใกล้ก็คือการมีเครื่องเผาใจให้ทุรนทุรายไปในวังวนราคะ โทสะ โมหะไม่รู้จบ การอยู่ไกลก็คือความสบายเนื้อสบายตัว ปลอดโปร่งเย็นใจพร้อมให้ภาวนาเต็มที่ หากแยกแยะได้อย่างนี้ก็ไม่เป็นอันต้องลังเล หากจะปรารถนาจุดหมายปลายทางโดยสวัสดิภาพ

คืนนี้ฉันได้อะไรมากกว่าที่คิด อย่างน้อยขณะเขียนบันทึกประจำวัน ฉันก็เห็นว่าความเข้มแข็งไม่ยอมอ่อนข้อให้กับกิเลสนั้น เป็นฝักฝ่ายเดียวกันกับสติ จิตฉันไม่มืดอย่างที่ควรเป็นในขณะอ่อนเปลี้ยเพลียแรง และแม้นั่งสมาธิไม่ไหว ฉันก็ยังนอนดูลมหายใจไปจนหลับโดยจิตไม่กระสับกระส่ายดังคาด ฉันรู้สึกถึงความมั่นคงบางอย่างที่ต่างจากความตั้งมั่นของสมาธิจิต เป็นความมั่นคงทางวิญญาณ เป็นความมุ่งมั่นบนเส้นทางสู่ความหลุดพ้นจากอุปาทาน ฉันเคยรู้สึกถึงมัน แต่ไม่เคยชัดเท่านี้เลย

:b38: /...วันที่ ๑๑-๓๑: อินทรียสังวร

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2009, 12:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 เม.ย. 2009, 19:55
โพสต์: 548

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


หายเงียบไป สบายดีรึเปล่าครับ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ก.ย. 2009, 14:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 7
สมาชิก ระดับ 7
ลงทะเบียนเมื่อ: 12 เม.ย. 2009, 19:55
โพสต์: 548

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


มีลูกไม้นะ นิกกี๊ นะ :b12:
จะชวนผมเล่นซ่อนหาก็บอก :b12:
ผมถามคำถามไปแล้วหน่ะ ตอบด้วย :b4:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 11:09 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๑๑-๓๑: อินทรียสังวร

ความเข้มแข็งทางใจที่เกิดขึ้นหลังจากคุยกับคนรักจน ‘รู้เรื่อง’ ทำให้ฉันเริ่มครุ่นคิดเกี่ยวกับวิธีพัฒนาจิตให้ก้าวหน้ายิ่งๆขึ้น เพื่อความเป็นผู้ภาวนาที่มุ่งมรรคมุ่งผลอย่างแท้จริง

สมาธิฉันทำได้ค่อนข้างอยู่ตัว เดินจงกรมก็เริ่มนานขึ้นเป็นสองชั่วโมงไม่เหนื่อย ยิ่งเดินยิ่งตัวเบา จิตเบา และเห็นความเป็นขันธ์ ๕ อายตนะ ๖ ชัดเจนแจ่มแจ้งไปหมด เช่นนี้เหลืออะไรอีกบ้างที่ยังไม่ได้ทำ?

วันหนึ่งขณะนั่งทานข้าวกลางวันกับลูกค้า ฉันเคี้ยวของอร่อยแล้วเห็นจิตตัวเองมืดมนจากความมัวเมาในรส สติก็เริ่มเกิด และก่อนจะตักคำต่อไปก็เห็นความทะยานอยากแล่นไปข้างหน้าราวกับร่างแหกว้างใหญ่พุ่งออกไปครอบจานกับข้าว

ฉันสะดุดชะงักนิดหนึ่ง สติที่อบรมจนแข็งแรงแล้วนั้น ถึงหลับไหลลุ่มหลงไปด้วยความมัวเมารส แต่เมื่อกลับมาทำงานอีกครั้ง เพียงวินาทีเดียวก็ไขจิตให้สว่างขึ้นแบบฉับพลันทันใด รสอร่อยยังคาลิ้น ภาพอาหารที่เข้าตาก็สวยน่ากินอย่าบอกใคร แต่จิตที่มีกำลังสติเหนือกว่าสุขเวทนาทางตาและทางลิ้นนั้น ทำให้เห็นภาพสวยและรสอร่อยเป็นของเล็ก กับเปรียบเทียบถูกว่าสุขเวทนาทางใจสิใหญ่กว่า น่าปรารถนากว่ากัน แน่นอนว่าหากไม่ปฏิบัติมาจนเห็นค่าของจิตอยู่เหนือสิ่งอื่นใด ความคิดเปรียบเทียบเช่นนี้ย่อมไม่เกิดขึ้น

ฉันกระแอมนิดหนึ่ง ไม่อยากทำท่าทำทางให้ลูกค้าผิดสังเกต จึงเอื้อมมือไปตักกับข้าวตามปกติ คนอื่นย่อมเห็นแต่ลักษณะภายนอกที่ดูธรรมดา แต่ฉันรู้อยู่ข้างในคนเดียวว่าสติกำลังทำงาน สิ่งที่ปรากฏต่อสติคือใจที่ทำความสำคัญในภาพอาหาร ทำความสำคัญในรสชาติอย่างรู้ล่วงหน้าว่าเดี๋ยวจะเข้าไปคลุกลิ้นแล้วบังเกิดความเอร็ดอร่อยปานใด

ฉันรู้เฉยๆโดยไม่ทำอะไรกับความอยากลิ้มนั้น เมื่อเอาช้อนส่งข้าวและกับเข้าปากก็ปล่อยให้เกิดอาการมัวเมาอย่างเคย เพื่อทำความรู้จักกับกิเลสเครื่องผูกใจให้ชัดเจน ฉันเพิ่งสังเกตว่าแม้แต่จะยกแก้วน้ำขึ้นดื่ม ยังมีความอยากลิ้มรสอันจืดสนิทที่ถือว่า ‘อร่อย’ สำหรับความเป็นน้ำดื่มบริสุทธิ์ โอ้โห! แทบเรียกว่าเกิดมาไม่เคยเห็น ‘เครื่องผูกใจทางปาก’ ชัดๆอย่างนี้เลย

ฉันไม่ฝืน ไม่พยายามเกร็งกับการลิ้มรส แต่สำหรับคำต่อไป อาหารจานเดียวกันนั่นเอง ฉันไม่เคี้ยวเอารส แต่เคี้ยวเอาสติรู้ว่ากำลังเคี้ยว ฉันไม่กลืนเอาความอิ่ม แต่กลืนเอาสัมปชัญญะ นี่คือหลักเกณฑ์ที่พระพุทธเจ้าให้ไว้ตั้งแต่ในหมวดกาย แต่ฉันไม่เคยให้ความสำคัญอย่างแท้จริงเลย การมีสติสัมปชัญญะในกายดีแล้วนั่นเอง คือความคุ้มครองอายตนะไปในตัว ถ้าหากอบรมดีแล้ว ก็ไม่จำเป็นต้องกินอาหารรสแย่ๆด้วยเจตนาหักดิบกับกิเลสอันเกิดแต่รสล่อลิ้นก็ได้

นับแต่มื้อกลางวันนั้นเป็นต้นมา ฉันก็เริ่มสังเกตอาการทะยานของจิตถี่ถ้วนขึ้น ได้เห็นปฏิกิริยาทางจิตที่ไม่เคยเห็นมาก่อนมากขึ้นทุกที ฉันพบว่าบางครั้งเราปล่อยให้ใจทะยานไปยึดตามสบาย เห็นด้วยสติแล้วดับเองโดยไม่ต้องทำอะไร แต่บางครั้งถ้าปล่อยให้ทะยานไปแล้วจะหยุดไม่อยู่ สติไม่มีกำลังพอจะเห็นโดยความเป็นภาวะเกิดแล้วต้องดับ เพราะฉะนั้นถ้าเป็นไปได้ก็ตัดไฟแต่ต้นลมจะดีกว่าปล่อยให้ไหม้แล้วค่อยหาทางดับ

ในเรื่องกลิ่น ที่ผ่านมาฉันยังพึงใจกับเครื่องหอมที่พรมครอบตั้งแต่ศีรษะถึงกลางตัว ชอบใจว่าเนื้อหอมกว่าครึ่งค่อนวัน ไปไหนก็พาความหอมติดตัวไปด้วย พอลองเลิกใช้ก็พบว่าที่ผ่านมาจิตหลงอุปาทานว่าตัวเองหอมเสียตั้งนาน กลิ่นเนื้อมนุษย์แท้ๆที่ปราศจากการทำความสะอาดด้วยน้ำและสบู่นั้นเหม็นยิ่งกว่าอะไรดี แต่ก็หมั่นประพรมเครื่องหอมหลอกจมูก ทำให้เกิดความหลงอุปาทานไปว่าทั้งร่างหอมฉุยผิดแผกแตกต่างจากสัตว์โลกชนิดอื่น

การไม่มีกลิ่นหอมอบอวลหลอกจมูกทำให้ความตรึกนึกเกี่ยวกับกามลดลงนิดหน่อย แต่ก็สังเกตด้วยว่าเราไม่ใส่ คนอื่นก็ใส่อยู่ดี โดยเฉพาะตอนสาวๆเดินโฉบไปโฉบมาแล้วได้กลิ่นชนิดเตะจมูกสุดเดชก็ยากจะกำหนดสติให้ทัน กลิ่นกายเป็นสิ่งยั่วให้ติดหลงได้ไม่แพ้รูปกับเสียง และกลิ่นก็เป็นอีกอายตนะภายนอกหนึ่งที่เราปิดป้องไม่ได้ หากไม่ให้ความสำคัญไว้กับการรู้ลมหายใจอย่างสม่ำเสมอ ไม่คำนึงเฉพาะการหายใจให้ต่อเนื่อง ไปให้ความสำคัญกับกลิ่นเด่นกระทบจมูกก็เสร็จ

ฉันมาพลิกดูเกี่ยวกับเรื่องการป้องกันไม่ให้กิเลสรั่วรดจิตผ่านอายตนะ ซึ่งพระพุทธองค์ทรงตรัสไว้หลายแห่งในข้อที่ว่าด้วยอินทรียสังวร ใจความสำคัญโดยสรุปคือ

ด้วยอาการอย่างไรจึงชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย? อาการนั้นคือเห็นรูปด้วยตา ฟังเสียงด้วยหู ดมกลิ่นด้วยจมูก ลิ้มรสด้วยลิ้น ถูกต้องสิ่งกระทบด้วยกาย รู้แจ้งความคิดนึกด้วยใจ โดยไม่ให้ความสำคัญกับลักษณะโดยรวม ไม่ให้ความสำคัญกับลักษณะปลีกย่อย เมื่อให้ความสำคัญโดยไม่สำรวมก็จะเป็นเหตุให้ถูกครอบงำด้วยอกุศลธรรมเช่นความเล็งอยากได้และโทมนัส แต่หากปฏิบัติเพื่อสำรวมตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ ก็ชื่อว่าเป็นผู้คุ้มครองทวารในอินทรีย์ทั้งหลาย

สรุปคือสตินั่นเองเปรียบประดุจหลังคา ทำหน้าที่ป้องกันกิเลสอันเปรียบเหมือนสายฝนพร้อมจะหลั่งรดจิตอันเปรียบเหมือนผู้อาศัยในบ้าน เพียงไม่ทำความสำคัญกับรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส และความคิดนึกทางกาม แต่มีสติอยู่กับฐานที่มั่นอันไม่เป็นโทษ ก็ได้ชื่อว่าเป็นผู้สำรวมในอินทรีย์ หรือที่เรียกว่าเป็นผู้มีอินทรียสังวร

ชีวิตฆราวาสซับซ้อนเกินกว่าจะมีอินทรียสังวรได้สบายๆ แค่อ่านข่าวธรรมดาๆเกี่ยวกับการข่มขืนที่นักข่าวเขียนบรรยายเสียเหมือนหนังสือปกขาว หรือดูโฆษณาทางโทรทัศน์ที่เกณฑ์สาวๆมานุ่งน้อยห่มน้อย สติก็พร้อมจะเตลิดกระเจิงไปไหนต่อไหนไกลแล้ว ฉันเริ่มครุ่นคิดขึ้นมาอีกว่าถ้าเป็นพระก็ดีน่ะซี ถ้าตั้งใจจริงก็ถือว่าเป็นโอกาสอันงามแก่การเจริญอินทรียสังวรอย่างหาที่เปรียบมิได้ เนื่องจากหน้าที่หลักของพระคือทำมรรคผลนิพพานให้แจ้งเท่านั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ใจภารกิจอื่น หลีกเลี่ยงการเข้าหมู่เข้าสังคมเพื่อทำกิจกรรมส่งเสริมกิเลสได้หมด

สำหรับพระควรมีอินทรียสังวรตั้งแต่เริ่มถือบวช แต่สำหรับฆราวาสจะมีอินทรียสังวรกันหลังจากภาวนาได้ผลระดับหนึ่งแล้ว เกือบทั้งเดือนนี้ฉันเน้นสำรวมระวังอายตนะต่างๆจนเริ่มเห็นค่า เพราะจิตที่ตั้งมั่นยิ่งตั้งมั่นบริบูรณ์แม้ขณะอยู่ในชีวิตประจำวัน แล้วก็มีกำลังใจว่าเดือนหน้าจะทำอะไรให้เกิดความก้าวไกลไปมากกว่านี้อีก



:b42: สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๕ :b42:

๑) ความรู้จักกายใจโดยความเป็นอนัตตาผ่านสติรู้อายตนะ

๒) ความสำรวมระวังไม่ให้กิเลสรั่วรดจิต มีใจเข้มแข็งเด็ดขาดยิ่งๆขึ้น ไม่หลงเอาของร้อนมาเป็นสมบัติด้วยความนึกเข้าใจว่าเป็นของเย็น


:b38: /... เดือนที่ ๖: สำรวจความพร้อม

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 11:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: เดือนที่ ๖: สำรวจความพร้อม
อย่างที่เห็นกันว่าทุกต้นเดือนฉันจะสำรวจความก้าวหน้าของตัวเองอย่างสม่ำเสมอ แต่สำหรับต้นเดือนนี้เหมือนฉันอยากขอบคุณตัวเองเมื่อ ๕ เดือนก่อนมากกว่าอย่างอื่น การตัดสินใจเริ่มเอาจริงเอาจังกับการเจริญสติปัฏฐานเมื่อเกือบครึ่งปีที่แล้ว คือการตัดสินใจที่ดีที่สุดในชีวิต และช่วงเวลาระหว่างนี้ก็เป็นการดำเนินชีวิตที่คุ้มที่สุดในชาติปัจจุบัน หรืออาจจะเป็นช่วงที่ทำให้ปัจจุบันเป็นชาติอันประเสริฐสุดเหนือทุกชาติทุกภพที่ผ่านมาชั่วอนันตกาลของฉัน

ตามแนวทางสติปัฏฐาน ๔ นั้น ยิ่งทำมากยิ่งก้าวหน้า ยิ่งเป็นสุข ยิ่งพบความว่างมากขึ้นทุกที ฉันจึงมีกำลังใจไถ่ถามตัวเองแล้วๆเล่าๆว่าสิ่งใดยังขาด สิ่งใดยังไม่ได้ทำ สิ่งใดยังถูกมองข้ามไป ฉันคนหนึ่งล่ะที่เห็นว่าพระพุทธเจ้าตรัสแสดงธรรมปฏิบัติไว้พอดี ไม่มากเกินไป ไม่น้อยเกินไป หากศึกษาแบบท่องจำรวดเดียวอาจเห็นว่าข้อธรรมเยอะแยะอย่างนี้ใครจะไปทำไหว แต่ถ้าจำไว้พอรู้เป็นแนวแล้วค่อยๆเขยิบเลื่อนขึ้นมาตามลำดับขั้น ก็จะพบว่า สติปัฏฐาน ๔ นั้นง่ายสำหรับผู้มีความเพียรสม่ำเสมอเพียงใด

และเมื่อปฏิบัติมาถึงจุดนี้ ฉันยิ่งเห็นพระปัญญาอันเกินสามัญมนุษย์ของพระพุทธเจ้าชัดเจนขึ้น พระองค์ท่านหยั่งรู้ว่าจะทำให้นักภาวนามือใหม่ที่เพิ่งตั้งไข่ก้าวออกจากจุดเริ่มต้นได้อย่างไร กับทั้งทราบว่าจะทำให้นักภาวนาที่ก้าวหน้าในแต่ละระดับพัฒนายิ่งๆขึ้นอีกได้อย่างไร นอกจากนั้นยังมีข้อธรรมตีกรอบไว้รัดกุมเป็นอย่างดีเพื่อไม่ให้ผู้ศึกษาหลงทางไปไหน

แต่ก่อนฉันมีความสงสัยอยู่อย่างหนึ่ง คือพระศาสดาท่านตรัสว่าสติปัฏฐาน ๔ เป็นทางเดียวที่จะทำให้บรรลุมรรคผลอย่างถูกต้อง แล้วไฉนจึงมีข้อธรรมชื่อต่างกันอื่นๆเหมือน ‘ซ้ำรอย’ สติปัฏฐาน ๔ ได้ ยกตัวอย่างเช่นท่านตรัสไว้ในมหาปรินิพพานสูตรว่าธรรมวินัยอันมีมรรคมีองค์ ๘ นี้ หากภิกษุประพฤติโดยชอบแล้ว โลกย่อมไม่ว่างจากพระอรหันต์ อย่างนี้มิแปลว่ามรรคมีองค์ ๘ ก็เป็น ‘อีกทางเลือกหนึ่ง’ สำหรับการยกระดับพวกเราจากความเป็นปุถุชนก้าวล่วงขึ้นสู่ความเป็นอริยชนหรืออย่างไร?

มาถึงปัจจุบัน เมื่อฉันได้รับความรู้ทางภาคทฤษฎีเพียงพอ บวกกับความประจักษ์สภาวะแห่งจิตตนเอง ฉันก็ทราบชัดว่า มรรคมีองค์ ๘ ก็คือสติปัฏฐาน ๔ และสติปัฏฐาน ๔ ก็คือมรรคมีองค์ ๘ นั่นเอง ขึ้นอยู่กับว่าเรากำลังพูดเน้นที่การทำความเข้าใจก่อน หรือว่าเน้นที่วิธีลงมือปฏิบัติก่อน ถ้าเน้นความเข้าใจก่อนก็เรียกมรรคมีองค์ ๘ ถ้าเน้นวิธีลงมือปฏิบัติก่อนก็เรียกสติปัฏฐาน ๔

ถึงจุดหนึ่งเราอาจสำรวจว่าจิตเรามีองค์ทั้ง ๘ ของมรรคครบหรือยัง ถ้าหากว่าครบหรือเฉียดครบ ก็แปลว่าจิตมีคุณสมบัติพร้อมพอจะบรรลุธรรม คือเราไม่มองเฉพาะการเจริญสติตรงทางมรรคผลด้วยเกณฑ์เช่นโพชฌงค์ ๗ แต่จะมองครอบคลุมแบบเบ็ดเสร็จเหมารวมไปทั่วว่ามี ‘ช่องโหว่’ ใดยังไม่อุด ช่องโหว่เหล่านี้อาจเกิดขึ้นเพราะการคิด การพูด การกระทำการต่างๆในชีวิตประจำวัน นี่คือสิ่งที่นักภาวนามักคาดไม่ถึง นึกว่าถ้าทำสมาธิและเจริญสติก้าวหน้าแล้วก็ไม่ต้องคำนึงถึงเรื่องอื่น นับถอยหลังเข้าสู่วินาทีจุดชนวนมรรคผลได้เลย

เมื่อมองว่าองค์ทั้ง ๘ ของมรรคก็คือส่วนประกอบที่ช่วยกันร่วมมือสร้าง ‘สภาวจิตพร้อมบรรลุธรรม’ เราก็อาจมองว่าถ้าจิตใคร ‘พร้อมประพฤติเป็นอัตโนมัติ’ ตามแบบฉบับมรรคมีองค์ ๘ ทั้งในแง่ของมุมมองตนเองและโลก ทั้งในแง่ของปฏิกิริยาโต้ตอบกับโลกผ่านการพูดจาและลงมือลงไม้ รวมทั้งในแง่ของคุณภาพจิตและวิธีกำหนดสติ ก็อาจเปรียบจิตของบุคคลผู้นั้นเหมือนลูกศรที่แล่นจากแล่งอย่างถูกทิศแล้ว แหวกอากาศโดยปราศจากเครื่องขวางแล้ว มีกำลังเพียงพอจะพุ่งไปปะทะเป้าหมายแล้ว เป้าหมายในที่นี้ก็คือกิเลสเครื่องผูกใจซึ่งเราต้องการตัดให้ขาดนั่นเอง

ฉันจำไว้ง่ายๆว่าจิตที่มีความ ‘พร้อมประพฤติเป็นอัตโนมัติ’ ๘ ประการนั่นเองคือภาวะทางธรรมชาติอันเหมาะสมที่จะเกิดปรากฏการณ์บรรลุธรรม ไม่มีใครอวยพร ไม่มีใครทำนายทายทัก และไม่มีใครมอบอภิสิทธิ์พิเศษให้ผู้ใดประสพความสำเร็จ ถึงมรรคถึงผลได้โดยปราศจากเหตุอันเหมาะสมดังกล่าว



องค์ประกอบทั้ง ๘ ของมรรค

คำว่า ‘มรรค’ แปลว่าหนทาง ในความหมายนี้คือแนวดำเนินจิตประการต่างๆเพื่อมุ่งสู่ความหลุดพ้น ประกอบด้วย

๑) สัมมาทิฏฐิ คือความเห็นชอบ ตามนิยามดั้งเดิมที่แท้จริงของพระพุทธองค์มุ่งหมายถึงความรู้ในสัจจะที่อริยเจ้าให้ความสนใจสูงสุด ๔ ประการ ได้แก่ความรู้จักทุกข์ ความรู้จักต้นเหตุของทุกข์ ความรู้จักลักษณะที่ดับไปแห่งทุกข์ และความรู้จักวิธีดับทุกข์ โดยย่นย่อคือเข้าใจทั่วถึงในเรื่อง ‘ทุกข์และการดับทุกข์’ เป็นอย่างดีนั่นเอง

๒) สัมมาสังกัปปะ คือการดำริชอบ มุ่งหมายเอาความดำริในการออกจากกาม ความดำริในการไม่พยาบาท และความดำริในการไม่เบียดเบียนผู้อื่น

๓) สัมมาวาจา คือการเจรจาชอบ หมายถึงการงดเว้นจากการพูดเท็จ การงดเว้นจากการพูดส่อเสียด การงดเว้นจากการพูดคำหยาบ และการงดเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

๔) สัมมากัมมันตะ คือการกระทำชอบ หมายถึงการงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ การงดเว้นจากการถือเอาสิ่งของที่เขามิได้ให้ และการงดเว้นจากการประพฤติผิดในกาม

๕) สัมมาอาชีวะ คือการเลี้ยงชีพชอบ ละเว้นการเลี้ยงชีพที่ผิด

๖) สัมมาวายามะ คือความเพียรชอบ หมายถึงการทำให้เกิดความยินดีเต็มใจประกอบความเพียร มีอาการประคองจิตไว้ ตั้งจิตไว้ เพื่อมิให้อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดได้บังเกิดขึ้น เพื่อละอกุศลธรรมที่บังเกิดขึ้นแล้ว เพื่อสร้างกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดให้บังเกิดขึ้น และเพื่อรักษากุศลธรรมนั้นไว้ให้ตั้งอยู่ไม่เลือนหายจนยิ่งเจริญงอกงามไพบูลย์ขึ้นเต็มเปี่ยม

๗) สัมมาสติ คือการระลึกชอบ หมายถึงอาการที่จิตระลึกและพิจารณากายใจด้วยหลักที่ปรากฏแสดงในมหาสติปัฏฐานสูตร

๘) สัมมาสมาธิ คือความมีจิตตั้งมั่นชอบ หมายถึงลักษณะจิตที่เป็นผลมาจากการเจริญสติอย่างต่อเนื่อง จนกระทั่งมีความเป็นหนึ่งอยู่โดยธรรมชาติ สงัดจากกาม สงัดจากความฟุ้ง รวมทั้งอกุศลธรรมทั้งหลายทั้งปวง

การทำความรู้จักกับมรรคมีองค์ ๘ ครั้งนี้ของฉัน ไม่ใช่เพื่อไว้ประดับความจำหรือเตรียมทำข้อสอบวิชาพุทธศาสนาเหมือนในอดีต แต่เป็นไปเพื่อสำรวจตัวเองว่ายังขาดองค์มรรคข้อใด สมควรเสริมความสมบูรณ์ขององค์มรรคข้อใด เพื่อความพร้อม เพื่อการเตรียมตัวที่ไม่ขาดตกบกพร่อง



:b38: /....วันที่ ๑: ความจริงที่อริยเจ้าสนใจ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 11:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๑: ความจริงที่อริยเจ้าสนใจ

เช้านี้ฉันเดินผ่านหน้าห้องพระ ใจหนึ่งคิดเดินไปเฉยๆอย่างเคย แต่อีกใจอยากพนมมือไหว้ สำรวจจิตตัวเองก็พบว่ายิ่งได้ดีจากพระพุทธเจ้าเพียงใด ใจก็ยิ่งเคารพพระองค์ท่านเหนือเศียรเกล้าสูงส่งขึ้นเพียงนั้น แม้ผ่านหน้าห้องพระซึ่งรู้สึกว่ามีรูปแทนพระองค์ประดิษฐานอยู่ ก็ชักไม่อยากก้าวฉับๆดังเคย จิตที่อ่อนน้อมต่อพระองค์ท่านปรุงกายให้ค้อมหลังลงต่ำที่สุดเท่าที่อิริยาบถเดินจะเอื้อให้ค้อมได้

ด้วยปัญญารู้ ‘ความจริง’ อันเป็นปัจจุบัน ฉันตระหนักว่าตนเองไม่ได้แสดงอาการเคารพนบนอบพระอิฐพระปูนหรือองค์ปฏิมาทองเหลืองไร้ชีวิตอย่างงมงาย แต่ไหว้เพราะสัญลักษณ์แทนพระพุทธเจ้าสะกิดเตือนจิตฉันให้ประหวัดระลึกถึงพระมหากรุณาคุณแห่งองค์ศาสดา มหาบุรุษผู้ทำให้ฉันมีวันนี้ วันที่ตาเริ่มสว่างจากสภาพบอดสนิทมาชั่วกัปชั่วกัลป์

และสติตามแนวที่พระพุทธองค์ประทานไว้ ก็ทำให้ฉันเห็นการปรุงแต่งจิต เห็นมโนกรรมของตัวเองเป็นขณะๆชัดเจนไปหมด เห็นถนัดว่าจิตเป็นผู้ปรุงอาการทางกาย และในอีกทางหนึ่งกายก็หวนมาเป็นผู้ปรุงแต่งให้จิตเป็นไปต่างๆ แม้แต่การยกมือขึ้นพนมมือไหว้ใครก็จัดเป็นกรรม มีความหลากหลาย ก่อร่างสร้างนิสัยอย่างหนึ่งๆได้ด้วยการประพฤติปฏิบัติซ้ำๆจนเกิดความเคยชิน

รากของการไหว้มาจากความปรารถนาที่จะแสดงความเคารพบุคคลอันควรเคารพ แต่ไม่ทุกคนที่ปรารถนาจะไหว้ และความเคารพก็มีระดับเป็นต่างๆ บางคนเคารพน้อยเพราะไม่มีสายใยผูกพัน หรือเพราะใจคอกระด้างเย่อหยิ่งจองหอง บางคนเคารพมากเพราะรู้สึกในบุญคุณอันลึกซึ้งหรือเพราะจิตใจโน้มน้อมลงจนเป็นสภาพอ่อนโยนนิ่มนวลเป็นธรรมชาติแล้ว

สำหรับฉันในวันนี้ ไม่ว่าจะไหว้ใคร หากมีอาการพนมมือค้อมกายแล้วยังรู้สึกถึงความแข็งของมานะภายในจิต ฉันจะโน้มศีรษะลงต่ำเข้าไปอีก จนกว่าจะรู้สึกถึงจิตที่ยินดีในอาการน้อมเต็มใจแล้ว มีความสัมผัสจริงๆแล้วว่า ‘ได้ไหว้’ แล้ว

เมื่อจิตปรุงกาย กายปรุงจิตจนเกิดสภาพอ่อนน้อมยิ่ง สว่างไสวน่าอุ่นใจในตัวเองยิ่ง ฉันก็หยั่งรู้ว่าสภาพจิตอันปรุงขึ้นด้วยกรรมดีชนิดนี้จะเป็นเหตุ เป็นปัจจัยให้เกิดผลดีในอนาคต เหตุดีย่อมได้ผลดีเป็นธรรมดา โดยเฉพาะเมื่อดีเต็มดวงหนักแน่นจนถึงระดับอุ่นใจได้เช่นนี้ ผลข้างหน้าย่อมเที่ยงและมั่นคงตาม ผลคืออะไร? ผลคือถ้าพลาดจากมรรคผลในชาตินี้ อย่างไรฉันก็ต้องได้พบพุทธศาสนาอีก และไม่มีความกระด้างกระเดื่องต่อพระพุทธเจ้าหรือพระอริยสาวก โอกาสที่จะมีเหตุปัจจัยให้ปรามาสพวกท่านเป็นบาปเป็นกรรมใหญ่หลวงย่อมยาก

นอกจากนี้ จิตอันอ่อนน้อมด้วยอาการไหว้สิ่งศักดิ์สิทธิ์สูงสุด ย่อมให้ผลเป็นความสว่างเรืองรอง มีความสุขความเจริญ ทั้งในรูปของกำเนิดแห่งสุขุมาลชาติ เช่นมีผิวกายดี ไม่พลัดตกต่ำน่าดูถูก ช่วงต่างๆของชีวิตมักถูกโอบอุ้มด้วยเหตุแวดล้อมอันน่าอุ่นใจ กรรมที่ทำเป็นประจำเช่นการไหว้บุคคลอันควรเคารพนี้ประการเดียว จะเป็นที่มาของสิ่งดีๆมากมายหลายประการ

นี่คือ ‘ความจริงเกี่ยวกับกรรม’ ซึ่งฉันไม่ได้ถามใคร แต่รู้ด้วยลักษณะประจักษ์จากภายใน ชนิดที่ถ้าถูกคนศาสนาอื่นขู่เอาว่าไหว้รูปเคารพจะเป็นเหตุให้ตกนรก ฉันก็คงได้แต่ยิ้มมุมปาก หรือไม่ก็มองเขาด้วยความเวทนา การพยายามขู่ให้กลัวด้วยถ้อยคำอันสมมุติขึ้นเอง จินตนาการขึ้นเอง ปั้นน้ำเป็นตัวขึ้นเองของพวกเขาย่อมก่อความเดือดร้อนให้ตนเองสาหัส เมื่อเหตุชั่วร้ายย่อมให้ผลชั่วร้าย นึกว่ากุเรื่องหลอกคนเขลาแล้วจะได้รางวัลเป็นยศศักดิ์พิเศษในสวรรค์แบบของศาสนาตน ที่แท้ต้องทรมานอยู่ในอัตภาพอันชวนสยองเกินกว่าจะถ่ายทอดกันด้วยภาษามนุษย์

มองแบบเปรียบเทียบระหว่างเผ่าพันธุ์ นับว่าชาวตะวันออกโชคดีกว่าชาวตะวันตกที่มีการไหว้เป็นธรรมเนียมประจำ เพราะหมายความว่ามีโอกาสทำกรรมอันเป็นทางแห่งความเจริญได้บ่อยกว่าชาวตะวันตกที่เอะอะก็จับมือท่าเดียว มีแต่กิริยาอันมาจากความรู้สึกปรารถนากระชับมิตรแน่นแฟ้น มีความเป็นอันหนึ่งอันเดียว ชวนให้เห็นเป็นระดับเดียวกันไปหมด ใจเลยถูกปรุงให้เป็นอย่างสำนวนที่ว่า ‘ก้มหัวให้ใครไม่เป็น’ กันเสียมาก

การเจริญสติปัฏฐานทำให้ฉันเห็นจิต เห็นกรรมตัวเองชัดไปหมด กรรมคือเจตนาจากจิต เป็นอาการที่ปรุงแต่งจิตให้มีลักษณะเด่นไปต่างๆ และ ตัวการเจริญสติปัฏฐานเองแม้จะเป็นกรรมไม่ดำไม่ขาว ทว่าก็เกื้อกูลให้เกิดความโน้มน้อมไปในความมักน้อยทางกาม ไม่หนักแน่นพอจะเบียดเบียนหรือจองเวรใคร เพราะฉะนั้นที่จะก่อกรรมทำบาปละเมิดศีล ๕ เช่นฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์ ผิดประเวณี โกหก และเสพสุรายาเมา ก็เป็นเรื่องยาก หรือเป็นไปไม่ได้เลย ซึ่งนั่นก็แปลว่าโอกาสจะเดือดเนื้อร้อนใจเพราะผลกรรมชั่วย่อมลดน้อยถอยลงทุกที ใช้กรรมเก่าหมดเมื่อไหร่ก็เริ่มสบายเมื่อนั้น

สติปัฏฐาน ๔ ทำให้ฉันเห็น ‘ความจริง’ ต่างๆในโลกมากขึ้นเรื่อยๆ เหมือนถอดแว่นสีต่างๆออกแล้วมองโลกด้วยตาเปล่า จิตที่เปิดเผยไร้ฝ้ามัว มีความเป็นกลางไม่เอียงไปทางชอบหรือชัง หรือถ้ายังชอบยังชังก็ไม่ถึงกับถูกครอบงำให้เกิดอคติ ย่อมรู้จักบุคคล และยอมรับเหตุการณ์ที่เกิดได้ตามจริงยิ่งกว่าปุถุชนทั่วไปที่ถูกครอบงำด้วยอคตินานัปการ


:b38: /...สิ่งหนึ่งที่ฉันเห็นชัด

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 11:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


....สิ่งหนึ่งที่ฉันเห็นชัดคือคนเราตั้งต้นชีวิตขึ้นมาด้วยความไม่รู้เหมือนๆกัน มีสัญชาตญาณเอาประโยชน์เข้าตัวเหมือนๆกัน มีกิเลสคือราคะ โทสะ โมหะเหมือนๆกัน จึงมีโอกาสทำทั้งดีและเลวคละกันตามสถานการณ์บังคับ ไม่ควรมีใครได้ชื่อว่าประเสริฐเพราะวงศ์ตระกูลดี ไม่ควรมีใครได้ชื่อว่าน่ายกย่องเพราะหลักฐานแวดล้อมชี้ชัดว่าอดีตชาติบำเพ็ญบุญไว้มาก ทุกคนมีโอกาสพลาดไปสั่งสมนิสัยเลวร้ายได้เท่าๆกัน ขณะเริ่มสั่งสมความเลวร้ายก็แทบไม่มีเค้าเงาหรือนิมิตหมายใดๆบอกเลยว่ารากเหง้าแห่งความเดือดร้อนเริ่มต้นขึ้นแล้วนะ จิตวิญญาณทุกดวงถูกห่อหุ้มไว้ด้วยความไม่รู้ ไม่อาจหยั่งไปถึงอนาคต ไม่อาจเชื่อมโยงถูกว่าเหตุแห่งกรรมอย่างนี้จะทำให้ต้องไปเสวยวิบากกรรมอย่างนั้น ทุกคนถูกกักขังไว้กับแรงกระตุ้นกิเลสเฉพาะหน้าในวินาทีนี้ อยากคิดอะไรก็คิด อยากพูดอะไรก็พูด อยากทำอะไรก็ทำ นับเป็นเรื่องน่าสลดสังเวชเหลือเกิน

นิยามของ ‘ความจริง’ สำหรับคนธรรมดาคือ ‘สิ่งที่เห็น สิ่งที่ได้ยิน’ หรือบางคนใช้ชีวิตผ่านประสบการณ์มาถึงจุดหนึ่งจนพบว่าความจริงคือ ‘สิ่งที่เราเชื่อว่าเป็นอย่างนั้น’ และธรรมชาติก็เหมือนจัดสรรรูปธรรมนามธรรมไว้รองรับทุกความเชื่อได้อย่างน่าอัศจรรย์ แม้กระทั่งความเชื่อที่ต่างกันเป็นตรงข้ามก็ดูเหมือนธรรมชาติช่วยรับรองว่าเป็นจริงให้ทั้งคู่! ยกตัวอย่างเช่นหากใครสังเกตว่าแสงน่าจะเป็นคลื่นเหมือนระลอกคลื่นในทะเล ธรรมชาติก็ช่วยยืนยันว่าแสงเป็นลูกคลื่นจริงภายใต้การทดลองแบบหนึ่ง แต่ถ้าใครนึกสนุกจินตนาการว่าแสงอาจเป็นอนุภาคเหมือนเม็ดทรายบนพื้น ธรรมชาติก็อุตส่าห์ช่วยสงเคราะห์ว่าแสงเป็นอนุภาคจริงๆภายใต้การทดลองอีกแบบ!

ยุคที่มนุษย์รู้สึกว่าฉลาดขึ้นด้วยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอันก้าวไกลนี้ แท้จริงแล้วถ้าถามบรรดาหัวกะทิของโลกที่ทำงานในห้องวิจัยค้นคว้าหาความจริงอย่างลึกซึ้ง พวกเขาจะบอกว่ายิ่งได้คำตอบให้กับคำถามเก่าๆมากขึ้นเพียงใด ก็ยิ่งเจอคำถามใหม่ๆอันน่าพิศวงไร้ที่สิ้นสุด หนึ่งคำตอบอาจเป็นที่มาของอีกร้อยคำถาม

ฉันเคยคิดเล่นๆว่าหากเอาความรู้ในวันนี้ของนักวิทยาศาสตร์ทุกสาขามารวมกัน เราอาจได้ภาพความจริงที่ชัดเจนออกมาภาพหนึ่ง คือเราไม่รู้อะไรเลย ลองถามง่ายๆแค่คำเดียว ทำไมเราต้องเกิดมา? ถ้าเอาความรู้ทางชีววิทยา เคมี ฟิสิกส์ รวมทั้งจิตศาสตร์มาประสานกัน เราจะไม่ได้คำตอบอะไรมากไปกว่า ขีดจำกัดและความไม่แน่นอนของวิธีพิสูจน์ นักวิทยาศาสตร์ได้แต่สร้างทฤษฎีเพื่ออธิบายว่าจักรวาลเกิดขึ้นจากปรากฏการณ์บิ๊กแบงก์ อธิบายได้เป็นคุ้งเป็นแควว่าเสี้ยววินาทีที่เท่านั้นเท่านี้ จักรวาลมีขนาดเท่าใด อยู่ในสภาพพิลึกพิลั่นเหนือจินตนาการปานใด แต่ยังไม่มีใครอธิบายได้ว่ามีเหตุผลอะไรที่จักรวาลต้องเกิด

อย่างไรก็ตาม ความจริงที่พิสูจน์ไม่ได้ชัดๆเหล่านั้นแหละเป็นที่สนใจของนักวิทยาศาสตร์ระดับหัวกะทิของโลกทั้งหลายมานาน ถึงพิสูจน์ไม่ได้ชัดก็พยายามพิสูจน์กันต่อจากรุ่นหนึ่งถึงอีกรุ่นหนึ่งอยู่นั่นเอง เพียงเพื่อปลอบกันระหว่างมนุษย์ว่า ‘เรามีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับความจริงเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ’

ยากนักหนาที่มนุษย์จะหวนกลับเข้ามาสนใจเกี่ยวกับความจริงในตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งตั้งโจทย์ได้ถูกต้องตรงประเด็นที่เป็นคุณค่าสูงสุด นั่นคือทำอย่างไรจะพ้นทุกข์ได้เด็ดขาดแบบไม่กลับกำเริบขึ้นอีก

ความจริงโจทย์นี้ไม่ใช่โจทย์ใหม่เสียทีเดียว มีชนกลุ่มน้อยที่ดำรงชีวิตแบบนักปราชญ์หรือฤาษีชีไพรตามป่าลึกได้เคยตั้งโจทย์ทำนองนี้กันไว้แล้ว และมีคำตอบที่เข้าเป้าเสียด้วย นั่นคือ แค่ปล่อยวางทุกสิ่งให้ได้เท่านั้น แต่คำถามที่ตามคำตอบนั้นมาคือ ทำอย่างไรจึงจะปล่อยวางได้จริง แม้กระทั่งความรู้สึกในตัวตน ตรงนี้มีการคิดค้นวิธีขึ้นสารพัด บ้างก็ใช้เหตุผลว่าในเมื่อติดกามสุขคือทางไปสู่ความยึดมั่นถือมั่น ดังนั้นถ้าทรมานตัวเองให้เผ็ดร้อนสุดขีดก็น่าจะปล่อยวางเสียได้กระมัง ไม่คิดเปล่ายังทดลองให้เห็นจริงตามความเชื่อนั้นจนตายดับกันไปมากต่อมาก พกพาเอาข้อสันนิษฐานเดิมไปพิสูจน์กันต่อในปรภพ

พระพุทธเจ้าได้ชื่อว่ารู้จักความสุขอันน่าปรารถนาสูงสุดมาทุกรูปแบบแล้ว ทั้งที่กลั้วอยู่ด้วยกามคุณ ๕ ทั้งที่สะอาดผ่องใสอยู่ด้วยฌานสมาบัติ ๘ อีกทั้งยังได้ชื่อว่ารู้จักทุกข์เพราะการทรมานตนเองอย่างอุกฤษฏ์ชนิดไม่มีใครในโลกเทียมเทียบ กระทั่งท่าน หยุดมองความจริงผ่านความเชื่อ แล้วเปลี่ยนมาเป็น เห็นความจริงในปัจจุบันผ่านสติอย่างใหญ่ เห็นเหตุปัจจัยของสิ่งต่างๆตามที่เป็นอยู่อย่างนั้นๆด้วยพระปัญญาอันลึกซึ้งเกินสามัญมนุษย์ กระทั่งพบเค้าเงื่อนของทุกข์ ต้นตอของภพชาติคือ ‘ตัณหา’ ซึ่งหมายเอาทั้งความทะยานอยากในกาม ความทะยานอยากได้อยากดีอยากมีอยากเป็น รวมทั้งความทะยานอยากพ้นจากสภาพอันไม่น่าชอบใจทั้งหลาย

:b38: /....เมื่อฉันเห็นอาการที่จิต

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 11:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


..... เมื่อฉันเห็นอาการที่จิตทะยานอยากชัดๆในเดือนที่ ๕ ฉันจึงกลับมาทำความเข้าใจกับ ‘ต้นตอทุกข์’ ได้อย่างชัดเจนลึกซึ้งยิ่งขึ้นกว่าเมื่อครั้งเพิ่งเริ่มศึกษาศาสนาที่ยังคิดๆเอาเฉยๆ หาใช่เรื่องง่ายที่เราจะระงับจิตไม่ให้ทะยานไปยึดอายตนะภายนอกที่ปรากฏยั่วราคะโทสะ ต้องอาศัยความเข้าใจ อาศัยความคิดสละ และอาศัยความเพียรกำหนดสติเข้ามาในกายใจอย่างต่อเนื่องนานพอ

แน่นอนถ้าไม่มีผู้นำ ไม่มีผู้ยืนยัน ไม่มีผู้ทำให้คนหมู่มากเลื่อมใส ก็คงไม่มีใครเชื่อว่ามนุษย์หน้าไหนจะสามารถทำลายความทะยานอยากให้พินาศไป กับทั้งไม่มีใครเดาถูกว่าทำลายความทะยานอยากแล้วจะได้เสวยรสอันเหนือรสประการใด น่าสงสัยว่าแลกกันคุ้มแน่หรือกับที่ต้องสูญเสียกามอันน่าพิศวงหลงใหลในโลกไปหมด

พระพุทธเจ้าเป็นอริยเจ้าระดับอรหันต์องค์แรกของโลก หมายความว่าท่านทำเรื่องเหลือเชื่อได้สำเร็จจิตของพระองค์ไม่อาจเกิดอาการทะยานอยากได้อีก และพระองค์ก็มีสุรเสียงที่ดังพอจะประกาศก้องไปได้ตลอดโลก กับทั้งกังวานนานมาได้จนถึงบัดนี้ สรุปคือนอกจากจะแก่กล้าพอจะประหัตประหารกิเลสด้วยตนเองแล้ว องค์ท่านยังมีพระกำลังพอจะตั้งศาสนาชี้นำผู้มีปัญญาให้ฆ่ากิเลสตามได้ด้วย

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทุกพระองค์สำเร็จอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณได้เพราะพวกท่านสนพระทัยในสัจจะความจริงเกี่ยวกับเรื่อง ‘ทุกข์และการดับทุกข์’ อย่างยิ่งยวด พระสาวกที่เจริญรอยตามบาทพระศาสดาได้ก็เพราะสนใจสัจจะเดียวกันนั้นด้วย จึงกล่าวได้ว่าสัจจะความจริงที่เหล่าอริยเจ้าให้ความสนใจก็คือเรื่องของทุกข์และการดับทุกข์นั่นเอง เพราะเมื่อสนใจแล้ว ลงมือกระทำการเพื่อความเข้าถึงแล้ว ย่อมเป็นผู้ละทุกข์เสียได้

อริยสัจจ์มี ๔ ข้อ ได้แก่

๑) ทุกข์ คืออุปาทานขันธ์ ๕ หรือกายใจอันเป็นที่ตั้งของอุปาทานนี้เอง เมื่อถึงคราวแก่เจ็บก็ทำให้เราต้องทนทรมานปวดเมื่อย เมื่อแตกตายเป็นเหตุให้พรากจากบุคคลอันเป็นที่รักก็ทำให้เราต้องร้องไห้คร่ำครวญทุกข์โทมนัส สรุปคือกายใจนี้เป็นทุกข์ด้วยสภาพบีบคั้นในตัวเอง แถมยังเป็นภาชนะรองรับทุกขเวทนาทั้งปวงที่เกิดขึ้นระหว่างมีชีวิตด้วย

๒) สมุทัย คือความทะยานอยาก หรือเรียกสั้นๆว่า ตัณหา ก็ได้ ตัณหาแบบอยากเอามาเป็นของตัวก็เป็นแบบหนึ่ง กระทำจิตให้มีสภาพดูดเข้ามา ตัณหาแบบอยากไล่ให้พ้นตัวก็เป็นแบบหนึ่ง กระทำจิตให้มีสภาพผลักออกไป ล้วนแล้วแต่ต้องออกแรงทั้งสิ้น กระทำจิตให้ไม่สงบสบาย และยังก่อความยึดติดในอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นเหตุให้เกิดความสืบทอดอุปาทานขันธ์ ๕ ไม่จบไม่สิ้น

๓) นิโรธ คือความดับทุกข์ โดยความหมายสูงสุดคือดับทุกข์อย่างสนิท ไม่กลับกำเริบฟื้นคืนได้อีก เป็นรสอันเหนือรสที่รู้ได้ตั้งแต่ยังครองอัตภาพมีชีวิตเป็นมนุษย์ เป็นรสที่พระพุทธองค์ตรัสว่ายอดเยี่ยมไม่มีรสใดเกิน และก็ได้มีบุคคลช่วยเป็นพยานยืนยันตามพระองค์มากมาย เป็นหลักฐานว่าพระองค์ท่านไม่ได้คิดไปคนเดียว

๔) มรรค คือวิธีเข้าถึงความดับทุกข์ จะเรียกว่ามรรคมีองค์ ๘ ก็ได้ หรือจะเรียกว่าสติปัฏฐาน ๔ ก็ได้

สรุปคือความจริงต่างๆทั้ง ๔ ข้อนี้มีอยู่แน่ๆ แต่คำถามคือเราเห็นความจริงกันแค่ไหน? เอาแค่ความจริงข้อแรกนั้น ถ้าพูดกันขึ้นมา ถ้าเงี่ยหูฟังกันสักหน่อย ก็คล้ายจะ ‘เข้าใจ’ และอือออตามกันไม่ยาก แต่เอาเข้าจริงมีใครบ้างไม่หวังเสวยสุขด้วยกายใจนี้ ความหวังเสวยสุขเวทนาอันเนื่องด้วยกาย ความหวังเสวยสุขเวทนาอันเนื่องด้วยใจนั่นแหละ คือตัวฟ้องว่าเราไม่ได้เห็นซึ้งเรื่องอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์จริงๆ

เท่าที่เจริญสติปัฏฐานมาเกือบครึ่งปี ฉันเห็น ‘ความจริงข้อแรก’ บ้างวูบๆวาบๆ บางครั้งขณะที่จิตเห็นกายคืนลมหายใจให้กับอากาศว่างภายนอกแล้วมีความเรียกร้องจะเอาลมอีก ฉันเห็นความทุกข์ของกายในรูปความทนไม่ได้ ความเป็นของแตกดับง่ายถ้าไร้เครื่องช่วยประทังชีพ หรือเมื่อเวลาป่วยไข้แล้วกายพยศแบบชัดๆ อันนั้นก็เห็นสภาวะทุกข์ของอุปาทานขันธ์ ๕ ได้ถนัดใจดีเหมือนกัน

แต่นอกเหนือจากนั้นเล่า? มีหลักฐานใดบ้างไหมที่ฉันยังสรรเสริญการมีอยู่ของอุปาทานขันธ์ ๕? เมื่อสำรวจจริงๆจังๆ ฉันพบว่าขณะที่สติหายไปนอกขอบเขตกายใจ จิตยังมีความอาลัยอาวรณ์ กลัวความไม่มีตัวตน กลัวไม่ได้ช่วยเหลือครอบครัวและบุคคลอันเป็นที่รัก กลัวไม่ได้รู้ไม่ได้เห็นอะไรเหมือนอย่างนี้อีก แค่นี้ก็ชี้ชัดแล้วว่าฉันเห็นอริยสัจจ์ข้อแรกด้วยความคิด แต่อริยสัจจ์ข้อแรกยังไม่ปรากฏต่อจิตอย่างแจ่มชัดสักเท่าใดเลย

ทว่าการสำรวจลงไปถึงระดับจิตนั้นเอง ก็ทำให้ฉันเห็น ‘เครื่องผูก’ ให้ติดใจอุปาทานขันธ์ ๕ ชัดเจนขึ้น ความอาลัยอาวรณ์กายใจนี้เอง คือภวตัณหา หรือความอยากมีอยากเป็น ตราบใดที่ภวตัณหายังมี ตราบนั้นย่อมเกิดกระบวนการสืบต่อของการมีการเป็นเรื่อยไป เอาภาพใหญ่ที่สุด เมื่อถึงเวลากายนี้แตกดับ จิตที่ยังมีเชื้อกิเลสย่อมปฏิสนธิในภพใหม่ที่สอดคล้องกับวิธีคิด วิธีพูด และวิธีทำจนเป็นนิสัยหลักก่อนตาย หรือดูเป็นภาพเล็กที่สุด เมื่อยังมี ‘ตัวกู’ อยู่ในความรู้สึก ก็ย่อมเกิดแรงขับดันให้กระทำการเพื่อตัวกูเป็นขณะๆ ไม่ว่าจะต้องทำด้วยอาการหน้าสว่างหรือหน้ามืดก็ตาม อย่างเช่นเห็นรถโผล่หัวออกมาจากปากซอยแล้วยัง ‘ลืมให้ทาน’ บ่อยๆ ยังรีบเร่งเครื่องไปกันเขาไว้เพื่อตัวเองจะได้ไม่ต้องเสียเวลาชะลอ

เมื่อยังมีการกระทำเพื่อตัวกู ฉันก็ตระหนักถึงความไม่ปลอดภัย ความเป็นไปได้ที่จะต้องท่องไกลไปในสังสารวัฏ ฉันเคยประจักษ์ใจมาแล้วในช่วงชีวิตที่ผ่านมาก่อนหน้าเจริญสติปัฏฐานเต็มกำลัง กิเลสย่อมไม่กลัวบาป ไม่เห็นบาปเป็นโทษภัย ทำอะไรเพื่อตัวกูได้เป็นทำทั้งนั้น

สำหรับฉันในห้วงเวลานี้ ตัณหานั้นจะดูง่ายในกรณีที่มาในรูปของแรงดันหรือแรงขับหนักๆหยาบๆให้จิตทะยานออกไปยึดวัตถุหรือบุคคลอันเป็นของภายนอก เพราะจิตที่เจริญสติปัฏฐานมาดีย่อมเบาเป็นปกติ เมื่อบังเกิดความอยากหนักๆต้องรู้สึกแตกต่างผิดปกติเป็นธรรมดา

แต่เมื่อตัณหามาในรูปของความอ้อยอิ่ง แช่จมอยู่ในหนองน้ำแห่งความอาลัยอาวรณ์ อย่างนั้นจะเห็นยาก เพราะไม่ค่อยเต็มใจจะเห็น จิตต้องมีราวเกาะอย่างลมหายใจหรืออิริยาบถที่คงเส้นคงวามากๆ เห็นสุขเวทนาและทุกขเวทนามาหลายร้อยหลายพันรูปแบบจนชินชา นั่นแหละจึงค่อยเห็นอาการอ้อยอิ่งอาลัยอาวรณ์ชัดขึ้น

ปีที่แล้วฉันยังเป็นนักสะสมตัวยง ฉันชอบหนังสือและซีดีเพลง การสะสมสิ่งเหล่านี้ทำให้รู้จักจำแนกสมบัติเป็นหมวดหมู่ ฉันเป็นสุขที่ได้รู้สึกว่า ‘มี’ และเคยเห็นด้วยเป็นอย่างยิ่งกับเกอเธ่ นักเขียนนามอุโฆษที่ว่า ‘นักสะสมเป็นพวกที่มีความสุข’ แต่บัดนี้มุมมองของฉันเปลี่ยนไป นักสะสมเป็นพวกที่ไม่อาจมีความสุขจากการปล่อยวางเลย

ปีนี้ วันนี้ ฉันจะรบกับความอ้อยอิ่งอาลัยด้วยทานอย่างใหญ่ ฉันเลือกหนังสือที่วางบนหิ้งเฉยๆเป็นแรมปีออกมานับร้อยเล่ม ขนใส่ท้ายรถไปบริจาคให้กับห้องสมุดประชาชนและแหล่งรับอื่นๆที่เขาจะนำไปจ่ายแจกให้ผู้ด้อยโอกาสทั้งหลาย นอกจากนั้นยังมาเมียงมองซีดีเพลงอิมพอร์ตกองภูเขาที่เคยรักเป็นนักหนา แต่ปัจจุบันมีอารมณ์แบบสามวันฟังหนึ่งเพลง ต้องใช้เวลาเกินปีกว่าจะฟังครบแล้ววนกลับมาฟังซ้ำ เลยตัดสินใจเอาไปขายตามย่านชุมนุมนักฟังในราคาถูกลง ๓-๔ เท่าตัวด้วย

ฉันเห็นความเสียดายปรากฏตัวขึ้นกลางจิตอย่างเด่นชัด มันทำให้ซึมเศร้าเล็กๆ ทอดตาเหม่อหน่อยๆ แต่ก็หายขาดเป็นปลิดทิ้งเมื่อฉันนำเงินทั้งหมดไปซื้อสังฆทานถวายพระ ๙ รูปที่วัดแห่งหนึ่งแถบชานเมือง ความอ้อยอิ่งแปรเป็นความว่างโล่งเบิกบาน ฉันอธิษฐานขอให้บุญและความสุขอย่างใหญ่นี้ จงเกื้อหนุนให้จิตปล่อยวางอุปาทานความยึดมั่นในขันธ์ ๕ ได้ง่ายยิ่งๆขึ้น

ความดับของอาการทุรนอยากและอ้อยอิ่งอาวรณ์เป็นเช่นนี้เอง แม้ยังไม่ถึงนิพพาน ก็พออนุมานได้จากจิตที่สดใส สว่างโพลนเต็มดวงราวกับเข้าสมาธิชั้นดี ฉันยิ้มอย่างคนที่รู้จักอิสรภาพ เชื่อว่าคนไม่รู้จักอิสรภาพทางใจไม่มีสิทธิ์ยิ้มได้อย่างนี้ เป็นยิ้มที่ไม่แลกอะไรนอกจากใจอันปลอดโปร่งจากความอ้อยอิ่งอาวรณ์

อะไรอีกที่ยังเสียดายและอาลัยรักเป็นนักหนา ฉันคิดขณะเดินตามทางอันขนาบด้วยแนวไม้ใหญ่ครึ้ม ฉันยังใช้ชีวิตฆราวาสตามปกติ ยังไม่คิดบวชอะไร แม้สนใจพุทธเชิงปฏิบัติมานาน นี่เรียกว่าความหวงได้หรือเปล่า?

ฉันหยุดยืนมองกุฏิพระ แหงนมองใบไม้เขียวต้องลมกรูเกรียว จิตใจเยือกเย็นไม่คิดเอาอะไร โลกนี้มีที่เดียวไม่น่าอยู่คือ ‘ใจอันเป็นที่ตั้งของทุกข์’ นอกนั้นจะระเหเร่ร่อนไปไหนๆก็ตาม ทุกแห่งคือสถานที่อันน่ารื่นรมย์ได้ทั้งหมด เข้าใจอารมณ์ของผู้แสวงหาความหลุดพ้น ที่ทิ้งได้หมดทุกอย่าง เหลือแต่ตัวเปล่าๆกับผ้าห่อพันร่างกันอุจาดเพียงผืนเดียว…

สมองของฉันเริ่มคิดอะไรเป็นรูปเป็นร่างมากขึ้น การปลงผมขอบวชนั้นง่าย แต่การ ‘มีใจ’ ถือบวชนี่สิยาก ฉันจะลองสำรวจตัวเองว่าใจเป็นพระแน่หรือยัง เมื่อแน่ใจว่าใช่พระแล้วก็น่าบวชเพื่อรบกับกิเลสเต็มอัตราศึกเสียที จะชั่วคราวหรือชั่วชีวิตก็สุดแท้แต่วาสนาแล้วกัน


:b38: /....วันที่ ๒-๕: สัมมาทิฏฐิ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 ก.ย. 2009, 14:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 17 พ.ค. 2009, 09:34
โพสต์: 1478

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b12: :b12: :b12: :b12:

เหนื่อยมั๊ยคะ ที่เอาเรื่องราวมาลงเช่นนี้ :b1:
ส่งใจให้เป็นกำลังใจ...ขอให้เสร็จสมบูรณ์สมดังที่ตั้งใจไว้นะคะ แต่อย่าเร่งให้เสร็จเร็วเกินไปนะคะ

มิตรภาพที่เกิดจากใจที่รู้สึกดีต่อกันอย่างแท้จริง
มันมีแต่ความเข้าใจค่ะ และมันมีแต่ความพยายามทำความเข้าใจซึ่งกันและกัน เห็นอกเห็นใจกันนะคะ

:b27:

พอดีมาประจบแม่มดค่ะ กะว่าจะขอยืมไม้เท้ากายสิทธิ์ไปแทงกบ :b32:

:b50: :b50: :b50: :b50: :b50:


แก้ไขล่าสุดโดย เอรากอน เมื่อ 26 ก.ย. 2009, 14:09, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 19:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ขอบคุณและยินดีค่ะคุณเอรากอน
ดิฉันอ่านและฟังไปพร้อมๆ กับทะยอยโพสต์เพื่อเป็นธรรมทาน
การทำความเข้าใจธรรมะในคราวเดียวนั้นค่อนข้างยากค่ะ
วิปัสสนาจารย์บางท่านก็แนะนำให้ลงมือปฏิบัติเลย
(ได้ผลตามวาสนาของผู้ปฏิบัติค่ะ)
.....................
ถามว่า เหนื่อยมั้ย
ตอบว่า ไม่เหนื่อยหรอกค่ะ
ขอบคุณอีกครั้ง สำหรับมิตรภาพค่ะ
:b54: :b47: :b54: :b47: :b54: :b47: :b54:
tongue

อ้างคำพูด:
ธรรมที่เป็นเหตุให้ประสบความสำเร็จ หรือ แปลง่ายๆว่า ทางแห่งความสำเร็จ มี ๔ อย่าง คือ

-ฉันทะ ความพอใจ

-วิริยะ ความเพียร

-จิตตะ ความคิดจดจ่อ

-วิมังสา ความสอบสวนไตร่ตรอง

แปลให้จำง่ายตามลำดับว่า

-มีใจรัก

- พากเพียรทำ

- เอาจิตฝักใฝ่

-ใช้ปัญญาสอบสวน


อิทธิบาทนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสพัวพันไว้กับเรื่องสมาธิ เพราะอิทธิบาทเป็นข้อปฏิบัติที่ทำให้เกิดสมาธิ

และนำไปสู่ผลสำเร็จที่เป็นจุดหมายของสมาธิ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 19:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๒-๕: สัมมาทิฏฐิ

จากประสบการณ์ในวันแรกของเดือน ทำให้ฉันหมั่นสำรวจตนเองบ่อยขึ้น ว่ามีสัมมาทิฏฐิหรือความเห็นชอบเห็นตรงอยู่ในระดับใด ในระดับความคิดนั้นฉันให้คะแนนตัวเองเต็มร้อย ไม่มีความลังเลสงสัยใดๆอีก ฉันเห็นการเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นทุกข์ อุปาทานขันธ์ ๕ เป็นทุกข์ และถ้าให้ท่องอริยสัจจ์ ๔ ปากเปล่าก็ทำได้สบายมาก ผู้ใด ‘รู้จัก’ อริยสัจจ์ ๔ ด้วยการพิจารณาเห็นตามจริงผ่านอาการคิดและอาการจดจำกระทั่งเกิดศรัทธาในอริยสัจจ์ ๔ เต็มที่ ผู้นั้นจัดเป็นสัมมาทิฏฐิแล้วตามนิยามของพระพุทธองค์

แต่ในระดับของจิตที่ ‘เห็น’ อริยสัจจ์ ๔ นั้นเป็นเรื่องยากกว่ากัน ทันทีที่หน้ามืดตามัวยินยอมให้เกิดความทะยานอยากได้อยากมี ทันทีนั้นแสดงถึงความไม่รู้จักทุกข์แล้ว ได้ชื่อว่าก่อเหตุแห่งทุกข์ขึ้นแล้ว

ช่วงนี้ฉันจึงตามดูความอยากอย่างเดียว ไม่ใช่พยายามระงับความอยาก ไม่ใช่ภาวนาว่าขอความอยากจงอย่าเกิด แต่เห็นตามจริงว่าเกิดความอยากขึ้นเมื่อเกิดผัสสะทางคู่อายตนะใด แล้วดูว่าความอยากนั้นๆขับดันให้ฉันกระทำการอะไรได้บ้าง รวมทั้งก่อทุกข์ก่อความอึดอัดกระสับกระส่ายให้กายใจของฉันได้มากน้อยเพียงใด

ฉันดูๆๆจนกระทั่งมั่นใจว่าเห็นความจริงประการหนึ่ง นั่นคือเมื่อสติมีกำลังเท่าทันความอยาก ความอยากจะปรากฏเป็นเพียงสิ่งถูกรู้ และทำอะไรกับจิตใจฉันไม่ได้ ความอยากนั้นเหมือนไฟ เมื่อปล่อยให้ลุกโพลงไปโดยไม่เติมฟืนให้กับมัน เดี๋ยวมันก็มอดไปเอง

และแม้จะยังระงับอาการทะยานอยากไม่ได้อย่างสิ้นเชิงเหมือนพระอรหันต์ แต่ฉันก็ประจักษ์แล้วว่าใจที่ไม่แล่นไปตามความอยากเป็นสุขยิ่ง

หนทางดำเนินเพื่อความดับทุกข์คือการเอาสติเข้ามาตั้งรู้ ตั้งดูอยู่ในขอบเขตกายใจนี้เอง สติปัฏฐาน ๔ หรือการตั้งสติไว้ที่ฐานอย่างถูกต้องจึงเป็นทางดำเนินอันไม่ล้าสมัย จะผ่านมากี่พันปี หรือจะผ่านไปอีกกี่พันปี ขอเพียงเป็นมนุษย์ พบพุทธศาสนา ศรัทธาสติปัฏฐาน ๔ และมีใจอุทิศตัว ย่อมไม่สายสำหรับการถางทางสู่ความหลุดพ้น

ฉันตระหนักแล้วว่าการเป็นสัมมาทิฏฐิอย่างแท้จริงต้องเป็นกันที่ระดับของจิต เห็นให้ได้เป็นขณะๆเท่านั้นว่าดำเนินจิตอย่างไรจึงเป็นทุกข์ ดำเนินจิตอย่างไรจึงพ้นทุกข์

แรกเริ่มเดิมทีเมื่อศึกษาพุทธศาสนา ทุกคนคงรู้สึกตรงกัน คือดูแล้วเหมือนมีอะไรต้องเรียนรู้ ต้องจดจำกันไม่หวาดไม่ไหว แต่ขอแค่ทำความเข้าใจ และลงมือเริ่มเดินก้าวแรกเพียงแค่รู้ว่าหายใจออกหรือหายใจเข้าเท่านั้นแหละ ก้าวต่อๆไปจะตามมาเอง เราจะรู้ว่ากิจที่ต้องทำเพื่อความพ้นทุกข์นั้นไม่ยากนัก แต่ก็ไม่ใช่ทำอะไรง่ายๆอย่างเดียวแล้วได้กัน เหมือนการร่ำเรียนทางโลก ใครจะเป็นดอกเตอร์ทางคณิตศาสตร์ได้จากการท่องสูตรคูณโดยไม่ต้องศึกษาและลงมือวิเคราะห์วิจัยอะไรต่อให้สูงยิ่งๆขึ้นได้เล่า?

แต่ละวันมีอะไรเกิดขึ้นกับเรามากมาย ทั้งเรื่องภายในและภายนอกไม่หยุดหย่อน เราจะทำอะไรอย่างเดียวเช่นแค่สักแต่กำหนดสติรู้ไปเรื่อยๆไม่ได้ เพราะกิเลสเรียงคิวรอกระหน่ำซ้ำทีเผลออยู่ไม่ขาดเช่นกัน และนั่นเป็นส่วนหนึ่งที่เร่งให้ฉันสำรวจตนเองต่อไปว่ายังขาดองค์มรรคข้อใด หรือองค์มรรคข้อใดมีแล้วแต่ยังไม่บริบูรณ์



:b38: /...วันที่ ๖-๑๐: สัมมาสังกัปปะ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ก.ย. 2009, 19:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๖-๑๐: สัมมาสังกัปปะ

ฉันเคยได้ยินว่าผู้ชายจะคิดอยากมีเพศสัมพันธ์ไปทั้งชีวิต โลกเราเคยมีข่าวฮือฮาที่ชายชราอายุร่วมร้อยปีมีเมียสาวกันมาแล้ว ไม่นับผู้เฒ่าจำนวนมากที่ตายคาอกเพราะใช้ไวอากร้ากันพร่ำเพรื่อ และเฉพาะหน้าหนึ่งหนังสือพิมพ์ในประเทศไทยสรุปได้ว่าผู้ชายไว้ใจไม่ได้สักวัยตั้งแต่ ๑๒ ถึง ๗๐!

แรกๆฉันนึกว่าพอหมดวัยหนุ่มแล้วจะเลิกคิดเรื่องกามกันตามความฝ่อทางกาย เหมือนถึงจุดหนึ่งธรรมชาติจะตะโกนใส่เราดังๆว่าพอได้แล้ว เข้าวัดได้แล้ว เตรียมเสบียงไว้เดินทางต่อได้แล้ว แต่ความจริงมิใช่เช่นนั้น ตราบใดยังตรึกนึกทางกาม ตราบนั้นคนเราจะอยากเสพกามไปจนตาย ไม่ว่าร่างกายจะพร้อมหรือไม่พร้อม

เรื่องนี้ทำให้ฉันรู้สึกอเนจอนาถใจ ยิ่งสังเกตเข้ามาในตัวเอง ไม่มัวแต่อนาถเรื่องคนอื่นข้างนอก ก็พบว่าแม้ปฏิบัติธรรมจนเห็นความไม่เที่ยงของกายใจมาหลายเดือน พอเจอผู้หญิงสวยๆหุ่นดีๆที่มีให้เห็นโฉบฉายกันทั่วบ้านทั่วเมือง ใจก็ยังหวั่นไหวได้อยู่ ถ้าช่วงเช้าจิตกำลังผ่องๆก็กำหนดเห็นความทะยานอยากอันเกิดจากตาประจวบรูป ทำให้สติกลับมาตั้งฐานได้ทันก่อนที่ราคะรั่วรดถึงจิตแล้วไปก่อปฏิกิริยาทางกาย แต่ช่วงเย็นบางทีเหนื่อยๆจากงานแล้วไม่ค่อยมีแก่ใจกำหนดสติ พอเห็นอะไรงามๆแล้วยังเกิดอาการจ้องตาค้างได้อยู่เหมือนผู้ชายธรรมดาคนหนึ่ง

สรุปคือการอยู่ในเมืองทำให้คนเราวนเวียนตรึกนึกไปทางกามตลอดเวลา บางช่วงฉันฝึกอินทรียสังวร มองเห็นอะไรด้วยความสำรวมได้บ้าง แต่ก็จะมีช่วงที่หลุด ยอมตามกิเลสไปหลายหนเพราะบอกตัวเองว่าไม่ใช่พระ จะให้เป็นพระอิฐพระปูนกลางเมืองนั้นคงยาก

ถ้าพูดว่ากามเป็นต้นเหตุอุปาทานมือวางอันดับหนึ่ง ทำให้ยึดว่ากายใจนี้ของเรา ทำให้เห็นไปว่ากายใจนี้ดี ทำให้อยากขอความเป็นหนุ่มสาวชั่วนิรันดร์เพื่อเสพกาม ก็คงไม่ใช่การกล่าวเกินจริง หากไม่มีใจคิดปลีกวิเวก ไม่มีช่วงของจิตที่สงัดจากกามเอาเลย จะหวังหลุดพ้นอย่างไรไหว

ฉันเคยอ่านข่าวหนึ่ง ที่มีคนแก่อายุเกินร้อยเผยเคล็ดลับว่าอยู่ยงคงกระพันมาได้ป่านนั้นเพราะไม่เสพกามเลยตั้งแต่หนุ่มๆ คนไปสัมภาษณ์ถึงกับพึมพำว่าถ้าอย่างนั้นจะอายุยืนไปทำบ้าอะไร? นี่คือความจริง ส่วนหนึ่งที่มนุษย์ทั้งหลายอยากอยู่ดูโลกนานๆ ไม่อยากให้มัจจุราชมาคร่าชีวิตไปเสียก่อนก็เพื่อจะได้ประกอบกามกิจอันน่าติดใจนั่นเอง ยังเคยมีหนังมีละครเยอะแยะให้ตัวแสดงพูดว่าฉันยังไม่อยากตาย ฉันยังไม่มีเมียเลย ถ้ามุขตลกร้ายทำนองนี้ทำให้คนดูไม่รู้สึกขัดแย้ง พลอยมีอารมณ์ร่วมว่าเสียดายที่ยังไม่มีเมียต้องด่วนตายซะก่อนก็แปลว่า มนุษย์จำนวนมากอยู่หรือตายด้วยใจบูชากามเป็นสรณะ

พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในอังคุตตรนิกาย เอก-ทุก-ติกนิบาตว่าที่เราติดใจตรึกนึกถึงกาม ก็ด้วยอาการใส่ใจมองกายโดยความเป็นของสวยของงาม ถ้าหากเรามองเสียตามจริงว่ากายเป็นของสกปรก ใส่ใจโดยแยบคายว่าตั้งแต่ศีรษะจรดเท้าไม่มีส่วนใดสะอาดเลย อย่างนี้ก็จะเป็นการแก้ลำกลกามเสียได้

ฉันลองทำตามที่ยุคปัจจุบันทำกัน คือหาภาพศพน่าสะอิดสะเอียนมาดู เผอิญฉันเป็นคนไม่มีจินตนาการแรง เห็นตับไตไส้พุงแดงเถือกแล้วไม่ค่อยกลัว ไม่ค่อยมีอารมณ์ร่วม เห็นตามจริงว่านั่นภาพเลือด ภาพเนื้อเละเทะของคนอื่น เป็นความสกปรกของคนอื่น ไม่เกี่ยวกับฉันที่ยังเนื้อตัวสะอาดสะอ้าน นั่งดูรูปศพอยู่ด้วยความเฉยเมย

หรือจะเป็นเพราะแค่รูปภาพนั้นต่างจากศพจริง ภาพไม่มีกลิ่น ไม่มีหน่อเหม็นแนวเหม็น เพียงภาพสยดสยองจะไม่ติดตาติดใจคนที่ขาดอารมณ์ร่วม และบางคนแม้มีภาพสยองติดจิตไปขยายผลต่อเป็นมโนภาพน่าขนหัวลุก ก็ทำให้เกิดความหวาดผวาเหมือนเห็นผีมากกว่าจะทำให้เกิดความแหนงหน่ายคลายความกำหนัดอย่างแท้จริง

แล้วก็ย้อนกลับไประลึกถึงมหาสติปัฏฐานสูตร พระพุทธเจ้าสอนให้ดูกายตนเองโดยความเป็นปฏิกูลก่อน จากนั้นจึงค่อยขยับจิตไปพินิจดูของคนอื่น อีกประการหนึ่ง พระองค์ท่านให้พิจารณาจากผิวนอกของกายอันได้แก่ ผม ขน เล็บ ฟัน หนังก่อน ไม่ใช่ให้กระโดดไปชำแหละก้อนเลือดก้อนเนื้อข้างในออกมายลแต่แรก

ทบทวนว่ามีพระสูตรใดที่พระพุทธเจ้าตรัสสอนวิธีดูกายเป็นอสุภะไว้เป็นขั้นๆหรือไม่ แต่นึกไปนึกมาพอทวนลำดับมหาสติปัฏฐานสูตรก็ร้องอ๋อกับตนเอง ถ้าตั้งสติรู้ลมจนเป็นสมาธิ เมื่อเป็นสมาธิให้สติเกาะอยู่กับอิริยาบถปัจจุบันในขณะนั้นๆ ก็จะเป็นฐานให้เห็น ผม ขน เล็บ ฟัน หนังตามตำแหน่งที่ปรากฏอยู่จริงอย่างไม่ยากลำบากนัก

แนวคิดนี้สามารถยืนยันได้จากตติยปาราชิกสิกขาบท เกี่ยวกับภิกษุหลายรูปที่วานกันฆ่า เรื่องมีอยู่ว่าพระผู้มีพระภาคประทับอยู่ในป่ามหาวัน ครั้งหนึ่งพระองค์แสดงเทศนาธรรม สรรเสริญอสุภกรรมฐาน คือข้อปฏิบัติดูกายโดยความเป็นปฏิกูล ตลอดจนพรรณนาคุณของฌานสมาบัติอันมีอสุภะเป็นตัวตั้ง จากนั้นพระองค์ท่านก็หลีกเร้นอยู่เพียงลำพังประมาณสองอาทิตย์โดยไม่ทรงอนุญาตให้ผู้ใดรบกวน เว้นแต่ภิกษุผู้นำบิณฑบาตไปถวายเพียงรูปเดียว

เหล่าภิกษุฟังพระองค์สรรเสริญอสุภกรรมฐานทิ้งท้ายไว้แล้วก็เลยประกอบความเพียรกันอย่างยิ่งยวด กระทั่งเกิดความอึดอัดระอา และเกลียดชังร่างกายของตนราวกับผู้หญิงเนื้อตัวสะอาดโดนแกล้งเอาซากศพงูหรือซากศพสุนัขมาคล้องอยู่ที่คอ

ด้วยความรังเกียจถึงขีดสุด บรรดาภิกษุก็คิดสั้น ปลงชีพตนเองบ้าง วานกันปลงชีพให้บ้างเป็นจำนวนมาก พอพระพุทธเจ้าเสด็จออกจากที่เร้น ทอดพระเนตรเห็นภิกษุบางตาลง ก็ตรัสถามความจากภิกษุผู้ปกติมีหน้าที่ปรนนิบัติรับใช้ถึงเหตุที่ภิกษุน้อยลง ก็ได้รับคำตอบว่าเป็นเพราะภิกษุจำนวนหนึ่งเจริญอสุภกรรมฐานแล้วรังเกียจกายตนเองจนทนไม่ไหว จึงสังหารตนเองด้วยความสมัครใจ

พระพุทธองค์ทราบความตามนั้นจึงเรียกประชุมสงฆ์แล้วตรัสว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย สมาธิในอานาปานสตินี้ถ้าพวกเธอทำให้มากแล้ว ย่อมเป็นคุณสงบ ประณีต เยือกเย็น อยู่เป็นสุข และยังบาปอกุศลธรรมที่เกิดขึ้นให้อันตรธานสงบไปโดยฉับพลัน ดุจละอองและฝุ่นที่ฟุ้งขึ้นในช่วงท้ายฤดูร้อนถูกฝนใหญ่กำจัดชะล้างให้อันตรธานหายไปได้อย่างฉับพลัน แน่นอนว่าอกุศลธรรมในที่นี้คือความคิดอยากตัดช่องน้อยแต่พอตัว ลาโลกไปเพียงเพราะตระหนกว่าร่างกายนี้ที่แท้น่าสะอิดสะเอียนยิ่งกว่าซากหมาเน่า

สมนัยกับที่พระพุทธองค์ทรงวางแนวปฏิบัติไว้ตามลำดับในหมวดกาย คือให้เจริญอานาปานสติและอาศัยอิริยาบถเป็นเครื่องรู้ให้ดีเสียก่อน เห็นลมหายใจและอิริยาบถโดยความเป็นของเกิดดับ ไม่ใช่ตัวตนแล้ว จึงค่อยเขยิบขึ้นมาพิจารณากายโดยความเป็นของโสโครก ฉันจึงรู้สึกว่าเห็นแนวทางแล้วว่าจะเริ่มเจริญอสุภกรรมฐานอย่างไร

:b38: /...ฉันลงทุนเล็กน้อย

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร


cron