วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 17:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2009, 11:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: เดือนที่ ๔: ฐานที่มั่นของอุปาทาน

แม้ว่าครึ่งหลังของเดือนที่ ๓ ฉันจะออกอาการเดินกะโผลกกะเผลกบนเส้นทางสู่มรรคผลหน่อย แต่อย่างน้อยการปลีกวิเวกบำเพ็ญเพียรในช่วงต้นเดือน ก็ทำให้เห็นซึ้งลงไปถึงระดับสภาวธรรมเกิดดับชัดเจน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายรูปธรรมหรือนามธรรม เมื่อเห็นความเกิดดับของกาย เวทนา และสภาวจิตแจ่มชัดแล้ว พอมาศึกษาหรืออ่านพระสูตรเกี่ยวกับเรื่องของ ‘ขันธ์ ๕’ จะรู้สึกว่าเข้าอกเข้าใจดียิ่ง

ที่ผ่านมาฉันฝึกมาตามลำดับสติปัฏฐาน ๔ ยังไม่ได้ออกนอกขอบเขตของกายใจนี้เลย และเช่นกัน ขันธ์ ๕ ก็คือกายใจนี้แหละ ฝึกมาหลายเดือนจนรู้ชัดว่าสติปัฏฐาน ๔ ไม่มีเรื่องนอกตัว แต่อาจมีการมองต่างมุมเพื่อให้เข้าถึงสภาพแท้จริงของกายใจตามลำดับที่เหมาะสมกับคุณภาพสติ

ยอมรับอย่างหนึ่งคือคำว่า ‘ขันธ์ ๕‘ ผ่านตาฉันอยู่เป็นปีกว่าจะเข้าใจในภาคทฤษฎีอย่างลึกซึ้ง ต้องฟังหลายคนอธิบาย ต้องอ่านทั้งความรู้ชั้นเก่าและชั้นใหม่จากหลายแหล่ง กว่าจะปรับความเห็นได้ถูกตรง ทั้งนี้เนื่องจากเรื่องของขันธ์ ๕ โดยตัวเองมีความพิสดาร พูดให้ง่ายก็ง่าย พูดให้ยากก็ยาก พูดให้ลุ่มลึกที่สุดก็ลุ่มลึกที่สุดในบรรดาทฤษฎีธรรมะทั้งหลาย และในทางปฏิบัตินั้น หากขาดคุณภาพสติที่ดีพอ จะไม่มีวันเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ เกิดดับได้เลย ถึงแม้มีความเข้าใจภาคทฤษฎีเลอเลิศเพียงใดก็ตาม

แต่ก็มีเครื่องล่อใจอย่างหนึ่ง คือหากเข้าใจขันธ์ ๕ ได้แตก และสามารถเห็นกายใจโดยความเป็นขันธ์ ๕ ได้เมื่อไหร่ เมื่อนั้นก็เฉียดฉิวเหลือเกินต่อการบรรลุธรรมขั้นต้น เพราะฉะนั้นฉันจึงไม่คิดว่าเป็นเรื่องน่าหันหลังหนีหรือมองว่าเหลือบ่ากว่าแรงแต่อย่างใด ในเมื่อพระนามหนึ่งแห่งองค์ศาสดาคือเป็น ‘ผู้ทำของยากให้เป็นของง่าย’ หรือ ‘ผู้เปิดของคว่ำให้หงายขึ้น’ บัดนี้ฉันประจักษ์แล้วว่าพระองค์ท่านเป็นเช่นนั้นจริงๆ คือปฏิบัติได้ผลมาตามลำดับแล้วไม่เห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นเรื่องยากต่อการทำความเข้าใจอีกต่อไป ทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ

ย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้น สิ่งที่ทำให้ฉันสับสนในเบื้องต้นก็ได้แก่ศัพท์คือ ‘ขันธ์’ นั่นเอง ทีแรกฉันนึกว่าขันธ์คือ ‘อะไรอย่างหนึ่ง’ แต่ความจริงขันธ์แปลว่า ‘กอง’ อาจง่ายขึ้นถ้าคิดถึงคำว่า ‘กองทัพ’ ซึ่งมีทั้งกองทัพบก กองทัพอากาศ และกองทัพเรือ ถ้าสมมุติให้กองทัพหนึ่งเท่ากับหนึ่งขันธ์ ก็ต้องเรียกเหล่าทัพทหารทั้งหมดว่า ‘ขันธ์ ๓’

เบื้องต้นของการฝึกสติปัฏฐาน ๔ นั้น สติยังอ่อนก็ควรเข้าไปดูอะไรหยาบๆเช่นลมหายใจและอิริยาบถ ดูเพื่อให้เห็นความเกิดดับอย่างง่ายๆก่อน เช่นเข้าแล้วต้องออก เดินแล้วต้องนั่ง สติเห็นเกิดดับแบบคร่าวๆก็ปล่อยวางแบบคร่าวๆ คราวนี้เมื่อสติแข็งแรงขึ้น ก็ถึงเหมาะที่จะนำมาดูอะไรละเอียดๆเช่นขันธ์ ๕ เพื่อให้เห็นความเกิดดับในระดับที่เหมาะสมกับสติ

หากเบือนหน้าหนี ไม่พยายามทำความเข้าใจตั้งแต่เห็นคำว่า ‘ขันธ์ ๕’ ก็แปลว่าเราไม่มีฐานสติไว้เป็นที่ตั้งสติระดับสูง เพราะฉะนั้นฉันจึงไม่หลีกเลี่ยงกับการเข้าไปทำความเข้าใจทฤษฎีอย่างดีอีกครั้ง คราวนี้ไม่ใช่เพียงไว้สำหรับใส่บ่าแบกหามเล่น แต่รู้เพื่อนำมาเป็นเครื่องกำหนดสติเอามรรคเอาผลกันจริงจังต่อไป

ขันธ์แยกเป็น ๕ กอง ได้แก่

๑) กองรูป ได้แก่เหล่ารูปธรรมทั้งหลายอันเป็นส่วนของกาย นับแต่ผม ขน เล็บ ฟัน หนังที่เห็นได้ส่วนผิว ตลอดไปจนกระทั่งส่วนที่ถูกปกปิดห่อหุ้มไว้ด้วยหนังทั้งหมดเช่นกระดูก เส้นเอ็น ตับ ไต ไส้ พุง โดยย่นย่อคือธาตุดิน ธาตุน้ำ ธาตุไฟ และธาตุลม หากสติมีคุณภาพพอจะรู้กายโดยความเป็นกองทัพรูป ก็จะประจักษ์แจ้งว่าที่ประชุมกันหลอกตาให้หลงนึกว่าเป็นร่างมนุษย์ แท้ที่จริงหาได้มีความเป็นรูปมนุษย์ก้อนเดียวอันเดียวแต่อย่างใด การที่ฉันฝึกสติจนเห็นลมหายใจชัดก็คือเห็นภาวะพัดไหวของธาตุลม หรือเมื่อฝึกสติเห็นความร้อนขณะเป็นไข้ก็คือเห็นภาวะระอุของธาตุไฟ เมื่อเห็นธาตุลมและธาตุไฟโดยความเป็นของแปรปรวนได้ เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ก็จัดเป็นการเห็นสองหน่วยของกองทัพรูปแล้ว และเมื่อฉันศึกษาภาคทฤษฎีละเอียดขึ้น ก็เห็นว่าแม้แต่การรู้อิริยาบถก็จัดเป็นการเห็นรูปเช่นกัน แต่เป็น ‘รูปชั่วคราว’ ที่ก่อขึ้นจากธาตุอื่นๆ อันนี้เป็นเรื่องลึกซึ้งที่ต้องดูกันต่อไปว่าถ้าสามารถเห็นธาตุต่างๆละเอียดขึ้นจะมีผลอย่างไร

๒) กองเวทนา ได้แก่ความรู้สึกสุข ทุกข์ เฉย อย่างเช่นความสุขสดชื่นเมื่อหายใจเข้า ความผ่อนคลายสบายอกเมื่อหายใจออก หรืออย่างเช่นเมื่อเริ่มเป็นสุขกับอิริยาบถนั่งนิ่งๆ เหล่านี้เป็นสุขเวทนาที่ปรากฏแจ่มชัดและต่อเนื่อง เมื่อมีความแปรปรวนย่อมเห็นง่าย เช่นถ้าเปลี่ยนเป็นทุกขเวทนาทางกายเพราะป่วยไข้ หรือแปรเป็นทุกขเวทนาทางใจเพราะคิดมาก หากได้ภาวะต่างอย่างชัดเจนไว้เปรียบเทียบก็จะตระหนักว่าคนทั่วไปนั้น แท้จริงแล้วทุกข์โน่นทุกข์นี่อยู่ตลอดเวลา เพียงแต่มองไม่เห็นว่ากำลังเป็นทุกข์เท่านั้น

๓) กองสัญญา คือความจำได้ รวมทั้งอาการที่สำคัญมั่นหมายว่าอะไรเป็นอะไร สำหรับตัวอย่างความจำก็เช่นที่เราจำเสียงใครต่อใครได้เมื่อยินเสียงทางโทรศัพท์ ส่วนตัวอย่างของอาการสำคัญมั่นหมายไปต่างๆก็เช่นกายเป็นของสะอาดน่าชื่นชม ต้องฝึกมองกันใหม่ตามวิธีที่พระพุทธเจ้าประทานไว้จึงค่อยเห็นตามจริงว่ากายเป็นของสกปรกน่ารังเกียจ

๔) กองสังขาร คือสภาพที่ปรุงแต่งใจให้ดีหรือชั่ว ถ้าสืบหาว่าอะไรเป็นต้นเหตุสำคัญที่ทำให้คนเราคิด พูด ทำ ทั้งดีงามและชั่วร้าย ก็ขอให้ทราบว่าเป็นสังขารนี้แหละ ถ้ามองกันตื้นๆในทางปฏิบัติสังขารขันธ์อาจเป็นสิ่งที่ปรากฏให้รู้ง่ายก็ได้ แต่ถ้าศึกษาอย่างละเอียดจะพบว่าสังขารขันธ์คือธรรมชาติที่รู้ให้ทั่วถึงยาก และหากเล่นกันทางทฤษฎีก็อาจบัญญัติศัพท์ไพเราะขึ้นมาได้มากมายไม่มีที่สิ้นสุด หลงติดอยู่ในป่ารกแห่งศัพท์แสงกันทั้งชาติได้เลยทีเดียว

๕) กองวิญญาณ คือลักษณะที่จิตรู้แจ้งในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง ขอให้เข้าใจว่าในที่นี้หมายเอาความรู้ชัดอย่างใดอย่างหนึ่งระหว่างอายตนะทั้ง ๖ เช่นถ้าเกิดวิญญาณทางตาขึ้น ก็หมายถึงมีการเห็นรูปร่างสีสันอะไรอย่างหนึ่งแจ่มชัด ไม่ใช่เพียงเห็นแบบมลังเมลืองทางหางตาโดยไม่ตระหนักว่าเห็นอะไรกันแน่ หมายความว่าถ้าใครมีประสาทบกพร่อง ก็จะทำให้ขาดหรือด้อยความรู้แจ้งในทางนั้นๆด้วย ตรงนี้จะทำให้เข้าใจว่าไม่ใช่มีวิญญาณประเภทหนึ่งๆลอยอยู่ด้วยตัวเอง กับทั้งคงทำให้เข้าใจอย่างดีว่าวิญญาณขันธ์ไม่ใช่ความรู้แจ้งเห็นจริงอันเกิดจากปัญญาทางโลกหรือทางธรรมแต่ประการใด เป็นเพียงธรรมชาติชนิดหนึ่งที่มีอยู่แล้วในสัตว์ทั้งหลายเท่านั้นเอง

แต่ละกองขันธ์นั้น หากเรามีสติเห็นพวกมันตามที่เป็นอยู่จริงก็จะไม่เกิดอะไรขึ้น หนึ่งขันธ์ปรากฏตามเหตุปัจจัยแล้วก็ดับลง ไม่มีใครทุกข์ ไม่มีใครเดือดร้อน ไม่มีใครแฝงอยู่ตรงไหนของขันธ์ เช่นเมื่อเกิดความเจ็บใจ ก็เห็นแต่เวทนา สัญญา สังขารมันเจ็บใจ พอเวทนา สัญญา สังขารดับไปตามธรรมชาติก็เป็นอันจบ ไม่มีสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขา ใครไหนเป็นผู้เจ็บใจต่อ

ธรรมดามีแค่ขันธ์ ๕ อันไร้แก่นสารปรากฏเกิดขึ้นแล้วดับลงอยู่เท่านี้ แต่เพราะไม่เฝ้ามองกายใจให้เห็นเป็นขันธ์ ๕ คือไม่เจริญสติปัฏฐานอยู่ด้วยความเห็นที่ถูกต้อง ก็เกิดอุปาทานขึ้นมาว่ารูปขันธ์เป็นเรา เวทนาขันธ์เป็นเรา สัญญาขันธ์เป็นเรา สังขารขันธ์เป็นเรา วิญญาณขันธ์เป็นเรา สรุปแล้วพระพุทธองค์จึงทรงชี้ว่า ‘ที่ตั้ง’ ของอุปาทานก็คือขันธ์ทั้งหลายนี่เอง ขันธ์ใดประกอบด้วยอุปาทาน ขันธ์นั้นคือ ‘อุปาทานขันธ์’

อย่างเช่นขณะนี้ ไม่ว่าต้องอาศัยสิ่งใดในการลงมือเขียน ไม่ว่าต้องอาศัยสิ่งใดในการเพ่งอ่าน ไม่ว่าต้องอาศัยสิ่งใดเพื่อให้เกิดอาการขมวดคิ้ว ไม่ว่าต้องอาศัยสิ่งใดเพื่อให้เกิดอาการคลายสีหน้า ทั้งหมดเหล่านั้นไม่ว่าเป็นส่วนของกายหรือส่วนของใจ ล้วนแล้วแต่เป็นที่ตั้งของอุปาทาน ความเป็นปัจจุบันทั้งหมดของกายใจนั่นแหละ ที่ตั้งของอุปาทาน แม้แต่อดีตและอนาคตของกายใจทั้งหมดก็เป็นที่ตั้งของอุปาทานได้เช่นกัน ขอเพียงคำนึงนึกถึงแล้วเข้าไปยึดมั่นถือมั่นเท่านั้น

คำว่า ‘อุปาทาน’ หมายถึงอาการที่เรานึกเอาเอง หรือทึกทักเอาว่าจะต้องเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ทั้งที่จริงไม่ใช่ ตัวอย่างอันดีคือความฝัน เมื่อเราฝันว่าเป็นอะไรอย่างหนึ่ง จิตก็หลงยึดไปว่าเป็นอย่างนั้นจริงๆ ต่อเมื่อสำนึกคิดอ่านปกติกลับมา ลืมตาตื่นขึ้น จึงค่อยตระหนักว่าเรื่องราวในฝันนั้นเหลวไหล เราไม่ได้เป็นอะไรอย่างนั้น อะไรอย่างนั้นไม่ได้เป็นเรา แม้ฝันว่าเป็นเรา เมื่อลืมตาตื่นก็ต้องตระหนักว่าเราไม่ได้ทำอย่างนั้น เราไม่ได้ไปในที่นั้น เราไม่ได้เจอใครคนนั้น ฯลฯ ฝันเป็นเพียงภาวะปรุงแต่งอันแสนพิสดารของจิต จบฝันเมื่อไหร่ อาการทึกทักเหลวไหลทั้งปวงก็จบตาม



หลักการเจริญสติรู้ขันธ์ ๕

หลักการพิจารณาขันธ์มีง่ายๆ คือเห็นว่า อย่างนี้ขันธ์เกิดขึ้น อย่างนี้ขันธ์ดับไป เมื่อดูเรื่อยๆไม่หยุดหย่อน ในที่สุดก็ปลุกให้เกิดอาการ ‘ตื่นจากฝัน’ ได้

ทราบหลักการแล้ว คราวนี้ถึงคำถามสำคัญคือ

๑) พร้อมจะดูหรือยัง?

๒) ควรจะดูขันธ์ไหนก่อน?

หากตีโจทย์สองข้อแรกนี้แตก ฉันก็เชื่อว่าจะดำเนินสะดวก เพราะฉะนั้นต่อไปนี้สิ่งที่ฉันจะทำไว้ในใจคือดูความพร้อม กับดูขันธ์ที่เหมาะ



:b38: / วันที่ ๑-๓: สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ก.ย. 2009, 19:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 2
สมาชิก ระดับ 2
ลงทะเบียนเมื่อ: 18 มิ.ย. 2009, 15:39
โพสต์: 90


 ข้อมูลส่วนตัว


๐๐๐ขอบคุณ๐๐๐
s001
สำหรับหนังสือดีๆ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2009, 19:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๑-๓: สมาธิเพื่อสติสัมปชัญญะ

แม้ระยะนี้สมาธิเสื่อมลง ฉันยังไม่ตัดสินว่าตัวเองแพ้ เพราะถึงแม้จิตจะหม่นลง ไม่ผ่องใส ไม่สงบนิ่ง ไม่รู้ความเกิดดับ แต่อย่างน้อยฉันก็ยังมีความพยายามจะรู้ลมหายใจเข้าออกและอิริยาบถต่างๆเท่าที่กำลังสติอำนวย ได้บ้างไม่ได้บ้างก็ยังชื่อว่าพยายาม

ฉันยังวกวนครุ่นคิดถึงคนรัก ใจไม่เป็นสุขเลย นึกถึงทีไรเหมือนสัมผัสอยู่ตลอดเวลาว่าเธอกำลังร้องไห้ด้วยความน้อยใจ บ่อยครั้งที่คิดจะโทร.หา แต่ก็เหมือนมีตัวห้ามจากภายในมายับยั้งไว้ทุกหน คือคิดซ้อนขึ้นมาว่าอุตส่าห์ตัดได้แล้ว จะใจอ่อนอีกหรือ? จะเปิดประตูบาปให้เธออีกหรือ? จะเอาเครื่องขวางการภาวนากลับมาอีกหรือ?

วันนี้บังเกิดความเห็นชัดว่าการภาวนาให้ตลอดรอดถึงฝั่งมรรคผลนั้น ต้องอาศัยกำลังใจ ต้องอาศัยความเด็ดเดี่ยวอย่างมากทีเดียว การภาวนาเพื่อมรรคเพื่อผลอย่างแท้จริงไม่ได้เริ่มต้นด้วยการตั้งสติรู้กายใจโดยความเป็นของเกิดดับ แต่ต้องเริ่มต้นด้วยเจตนาละเว้นสิ่งที่ควรละเว้นให้ได้เสียก่อน ถ้าแค่ตัดของนอกกายยังตัดไม่ขาด แล้วจะเอาพลกำลังที่ไหนมาตัดอุปาทานภายในได้ไหว?

เมื่อตกลงปลงใจแน่วแน่ว่าจะไม่ติดต่อกับเธออีก การออกเดินทางใหม่ก็เริ่มต้นขึ้น ฉันวางแผนอย่างเป็นขั้นเป็นตอนว่าจะทำอย่างไรเพื่อฟื้นสติกลับมาให้เร็วที่สุด ก็ได้ข้อสรุปกับตนเองคือก่อนอื่นต้องเอาราวเกาะของสติกลับคืนมาให้ได้เป็นอันดับแรก ถ้า ‘หลุดมือ’ จากราวไปก็ต้องรู้ตัวและเพียรพยายามกลับมาเกาะใหม่ ไม่ต่างกับเมื่อเริ่มต้นนับหนึ่งในเดือนแรก

ฉันรู้ตัวว่าถ้าพยายามนั่งหลับตาทำสมาธิหรือเดินจงกรมจะไม่สำเร็จ เพราะเหมือนมีเวลาว่างคิดถึงคนรักมากขึ้นจนใจยิ่งขมวดแน่น จึงเบนเข็มมารู้ลมหายใจเข้าออกให้ได้ขณะลืมตาในชีวิตประจำวันแทน แค่หมั่นถามตัวเองเสมอๆ ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า นึกได้แต่ละทีก็ตั้งต้นด้วยการถอนใจที เพื่อให้เกิดลมออกชัดเจนก่อนลมเข้า เมื่อลมออกมีความยาวและความแรงใกล้เคียงกับลมเข้า สติก็จะหยัดตั้งได้เร็วขึ้น

ฉันเห็นความต่างระหว่างนับหนึ่งแบบมือใหม่จริงๆ กับนับหนึ่งใหม่แบบคนมีประสบการณ์แล้ว แม้ว่าคุณภาพจิตจะแย่พอกัน สติไม่ค่อยอยู่กับเนื้อกับตัว ฟุ้งซ่านเป็นปกติ แต่คนมีประสบการณ์ที่นับหนึ่งใหม่จะไม่ต้องเสียเวลาลองผิดลองถูก สิ่งที่เคยผิดมาแล้วก็ไม่ทำซ้ำ สิ่งที่เคยถูกมาแล้วก็ยิ่งทำให้มากขึ้น เหมือนคนเคยเดินผ่านเส้นทางสู่จุดหมายเดิม ถึงแม้กะปลกกะเปลี้ยเพียงใดก็ต้องจำหลุมบ่อ จำขวากหนาม ตลอดจนทางลัดได้อยู่ ย่อมไปถึงจุดหมายเร็วขึ้นเป็นธรรมดา

ฉันเริ่มแม่นมากขึ้นว่าก้าวที่หนึ่งนั้นเน้นที่ ‘รู้ว่าหายใจออกหรือหายใจเข้า’ จะไม่ไปหลงงมอยู่กับการคำนึงว่าต้องรู้รายละเอียดหรือคำกำกับเพิ่มเติม อาการไหนที่บอกว่ากำลังหายใจออกหรือเข้า ก็รู้อาการนั้น ไม่พยายามทำอะไรมากขึ้นหรือน้อยลงไปกว่าการรู้เท่าที่สามารถรู้ได้

:b38: / ประสบการณ์

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2009, 19:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ประสบการณ์สอนให้ฉันสังเกตจุดพิเศษจุดหนึ่งด้วย นั่นคือจังหวะที่ลมสั้นสติจะแผ่วอ่อนหรือหายวับไป ฉันก็ตั้งความสังเกตสังกาว่าเมื่อใดที่ลมเริ่มอ่อน เพียรสังเกตจนกระทั่งเท่าทันทั้งลมสั้นลมยาวด้วยคุณภาพสติใกล้เคียงกัน ตรงนั้นจึงบอกตัวเองว่าจิตเริ่มมีสภาพ ‘ผู้รู้กองลมทั้งปวง’ คือหายใจออกก็รู้ หายใจเข้าก็รู้ หายใจยาวก็รู้ชัดว่าหายใจยาว หายใจสั้นก็รู้ชัดว่าหายใจสั้น ไม่ใช่เอาแต่รู้ลมหายใจเข้า ไม่ใช่เอาแต่รู้ลมหายใจยาว ซึ่งเป็นธรรมดาตามถนัดของคนทั่วไป

แต่มโนภาพของคนรักฉันก็แวบผ่านมาเสมอ ไม่ว่าขณะทำงานหรือขณะมีสติรู้ลมหายใจ เพิ่งเห็นชัดว่าคนรักเป็นสิ่งตรึงใจแน่นหนาขนาดนี้ เห็นกระบวนการทำงานของจิต ที่ย้อนคิด ย้อนห่วง ย้อนสงสารเธอขึ้นมา ยกตัวอย่างเช่นพอคิดถึงมากๆแล้วดึงสติกลับมาตั้งที่ฐานคือลมหายใจ บรรเทาความคิดถึงลงได้หน่อยหนึ่ง ก็คิดซ้อนขึ้นมาอีกว่านี่ขนาดฉันมีเครื่องอยู่ของสติยังผ่านเวลาแต่ละชั่วโมงไปด้วยความยากลำบาก แล้วเธอที่เป็นคนธรรมดา มีสติไว้คิดเรื่องงานอย่างเดียว ไม่เคยฝึกรู้กายใจโดยความเป็นของเกิดดับอย่างฉันเล่า จะลำบากกว่ากันขนาดไหน?

วันแรกผ่านไปแบบครึ่งๆ รู้ลมหายใจก็รู้ แต่ก็วนเวียนกังวล เรียกว่าสติแบบฝืนๆ ไม่เป็นธรรมชาติสบายเหมือนช่วงกำลังรุ่งๆ ฉันให้กำลังใจตัวเองโดยคิดเสียว่าเราก็แน่เหมือนกันนะ เดือนแรกไม่มีเรื่องรบกวนจิตใจยังใช้เวลา ๗ วันกว่าจะรู้ลมหายใจเข้าออกได้เป็นปกติ แต่เดือนนี้มีเรื่องคนรักคอยรบกวนตลอดเวลา ยังกลับมารู้ลมหายใจได้ในวันเดียว ตกกลางคืนสังเกตตัวเองอีกครั้ง พบว่าเริ่มเท่าทันลมเข้าออกเป็นปกติ ไม่หายใจด้วยอาการรีบร้อน ไม่หายใจด้วยความกระวนกระวาย และไม่หายใจด้วยความเพ่งเครียด แต่หายใจด้วยความใจเย็น หายใจด้วยความสงบ และหายใจด้วยความสบาย

วันต่อมาฉันตื่นนอนแล้วคิดถึงคนรักเป็นอันดับแรก แล้วก็ระลึกถึงลมหายใจได้เป็นอันดับต่อมา รู้สึกถึงความว่างวาย ไม่มีอะไรในใจ ไม่มีใครอื่นอยู่ในห้อง เริ่มเห็นอะไรอย่างหนึ่งที่ไม่เคยเห็นมาก่อน เป็นการเห็นด้วยความประจักษ์ลึกซึ้งอย่างแท้จริง นั่นคือสิ่งที่รบกวนจิตใจฉันอยู่เกือบตลอดเวลาไม่ใช่คนรักของฉัน แต่เป็นจิตที่ดิ้นรนของฉันเอง ไม่มีเธออยู่ที่นี่ ไม่มีหน้าเธอเข้าตา ไม่มีเสียงเธอกรอกหู มีแต่กลไกการทำงานของจิตฉันเท่านั้น ถ้ามีเธออยู่ในหัวแล้วใจทะยานไปยึดมั่นถือมั่น นั่นก็คือการยึดคลื่นความคิดของตัวเองอย่างไร้แก่นสารแท้ๆ

ความจริงน่าจะเป็นมุมมองที่เหมือนใครๆก็รู้กันอยู่แล้ว พูดกันทั่วๆไปอยู่แล้ว เช่นเราทำตัวเอง คิดมากไปเอง แต่สำรวจดีๆเถอะ ปกติเวลาเราฟุ้งซ่านถึงใคร เราจะรู้สึกว่าเขามารบกวนเรา เราจะมีปฏิกิริยาทางใจกับเขาเป็นชอบ เป็นชังยิ่งๆขึ้นทุกครั้งที่เขามาอยู่ในหัวของเรา ทั้งที่ตัวจริงของเขาไม่ได้มาอยู่ตรงนั้นเลย

ประสบการณ์นี้มีอิทธิพลใหญ่หลวงกับการภาวนาของฉัน เพราะฉันเริ่มเห็นขึ้นมารางๆว่าโลกทั้งโลกมีความหมายกับเราเพียงใด ขึ้นอยู่กับกลไกการทำงานในจิตเท่านั้น บุคคลภายนอกที่เข้ามากระทบเราเพียงแต่ทิ้งร่องรอยหรือสัญญาณบางอย่างไว้ เมื่อสัญญาณดังกล่าว ‘ดัง’ ขึ้นรบกวนจิต ก็จะเกิดความจดจำได้ และทำให้มีอาการคำนึงนึกถึงบุคคลภายนอกขึ้นมาเป็นชอบหรือเป็นชังทันที หากเป็นชอบก็จะมีสุขเวทนาทางใจ หากเป็นชังก็จะมีทุกขเวทนาทางใจ

คล้ายกับ ‘โลกแห่งความจริง’ ที่กำลังปรากฏอยู่เดี๋ยวนี้โคลงเคลงไป ใกล้ๆจะพลิกคว่ำคะมำหงาย หรือมีสภาพ ‘พื้นซึ่งอาศัยยืนอยู่หายไป’ หากไม่มีใครอยู่ตรงหน้าเราสักคน เราก็เป็นแค่สภาวะทางธรรมชาติ คือเป็นโครงกระดูกฉาบเนื้อที่เคลื่อนไหวได้ เป็นจิตที่อาจเสวยสุขทุกข์จากกระทบนอกใน เป็นจิตที่อาจทรงจำหลายสิ่งที่ผ่านมาแล้ว เป็นจิตที่อาจตรึกนึกและเจตนาดีร้าย เป็นจิตที่รับรู้โลกภายนอกผ่านเครื่องต่อคือตา หู จมูก ลิ้น และกาย

:b38: / ในภาวะโดดเดี่ยว

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2009, 19:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ในภาวะโดดเดี่ยวที่ไม่มีใครอยู่ด้วย ตัวฉันที่แท้ไม่มีชื่อ ไม่มีสภาพความเป็นบุคคล สิ่งที่เปิดเผยตามจริงแก่จิตคือส่วนของรูปธรรมที่เคลื่อนไหวได้ กับส่วนของนามธรรมที่แปรปรวนได้ ที่ตื่นขึ้นมาทุกเช้าแล้วเข้าใจว่า ‘นี่คือฉัน’ ล้วนเป็นเพียงอุปาทานไปเองทั้งนั้น ช่างเป็นการเห็น ‘ความจริง’ ที่แปลกประหลาดดีแท้ สภาวะเหล่านั้นเป็นอย่างที่พวกมันเป็นอยู่มาช้านานอย่างเปิดเผย แต่กลับปรากฏเป็นของปิดบังมิดเม้นไปได้อย่างเหลือเชื่อ

ภาวะที่จิตว่างๆจากความรู้สึกในตัวตนนั้นดำรงอยู่ไม่นานนัก เมื่ออาบน้ำแปรงฟันและขับรถไปทำงาน ทุกอย่างก็กลับคืนสู่สภาพปกติ มีความรู้สึกเป็นฉันผู้ครอบครองกาย ครอบครองรถยนต์ ครอบครองชื่อเสียงเรียงนามตามเดิม ฉันพยายามเจาะผ่านม่านอุปาทานเข้าไปให้เกิดความเห็นแบบตอนตื่นอีก ลองแม้แต่นึกถึงภาวะความรู้สึกแบบนั้น แต่ก็ไม่สำเร็จ ราวกับเมื่อเช้ามืดโดนวางยาบางประเภทให้เห็นโลกผิดเพี้ยนไป ขณะนี้กลับสู่ภาวะปกติแล้ว

ฉันหัวเราะอยู่กับตัวเองคนเดียวในรถ ความจริงคือภาวะนี้ต่างหากที่กำลังเห็นโลกผิดเพี้ยนจากความเป็นจริง น่าตระหนกนักที่ม่านอุปาทานหนาหนักเสียจนทุกอย่างดูเป็นจริงเป็นจัง นี่กายฉัน นี่รถฉัน นี่ความรู้สึกนึกคิดของฉัน หาพิรุธไม่ได้เลย ไม่น่าสงสัยเลย และโดยเฉพาะอย่างยิ่งไม่ต้องเพียรพยายามนึกให้มีฉัน มันก็มีอยู่ในใจตลอดเวลา แตกต่างจากการเห็นให้ได้ตามจริงว่านี่ไม่ใช่ฉัน นี่ไม่ใช่รถฉัน นี่ไม่ใช่ความรู้สึกนึกคิดของฉัน กว่าจะเห็นว่าทุกสิ่งไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน ก็ต้องตั้งสติกันนาน ฝึกอบรมจิตกันพักหนึ่ง

ฉันยังเป็นปุถุชนคนธรรมดา เพราะฉะนั้นจึงง่ายที่จะคิดแบบปุถุชนคิด และพบว่าเมื่ออาศัยความนึกคิดแบบปุถุชน ย่อมพาไปสู่ความสงสัยว่าอย่างนี้เราคืออะไรกัน?

ประสบการณ์ครั้งแรกๆที่คาบเกี่ยวกันอยู่ระหว่างความคิดเชื่อว่ามีตัวตน กับความประจักษ์ชัดว่าตัวตนไม่มีนั้น เป็นอะไรที่น่าตระหนกยิ่ง หากมีพื้นฐานจิตใจพร้อมคิดสละออก คือทานบารมีดีพอ ประกอบกับมีใจสะอาด คือศีลบารมีดีพอ รวมทั้งมีดวงจิตมั่นคงไม่หวั่นไหวง่าย คือสมาธิบารมีดีพอ ก็จะกลับวางเฉยเสียได้ในเวลาอันรวดเร็ว ตรงข้ามกับผู้ไม่เคยคิดสละออก มีใจสกปรกคิดคด รวมทั้งฟุ้งซ่านเห็นอะไรๆบิดเบี้ยวจากความเป็นจริง ก็จะว้าวุ่นจนกลายเป็นบ้าเอา พระพุทธเจ้าให้ทำจิตผ่องใสเป็นสมาธิ ให้รักษาศีลสะอาดบริสุทธิ์ก่อนเจริญสติปัฏฐาน ให้หมั่นทำทานคิดสละออก ล้วนแล้วแต่มีความหมาย มีความเป็นพื้นฐานเพื่อรอรับยอดได้อย่างเหมาะสม ท่านไม่เคยแนะนำขาดตกบกพร่องอันจะเป็นเหตุให้สาวกต้องลำบากภายหลัง

เกิดธรรมปีติสะเทือนแรงจนน้ำตาเอ่อคลอ เป็นจังหวะรถติดไฟแดงพอดี ฉันซาบซึ้งในพระมหากรุณาแห่งองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจนต้องยกมือไหว้ท่วมศีรษะในบัดนั้น

ช่วงเช้าทำงานด้วยจิตใสใจเบา รู้สึกชืดชากับโลกภายนอก แต่ชื่นชมกับโลกภายใน เข้าอกเข้าใจเป็นอย่างยิ่งว่าทำงานตามหน้าที่เป็นอย่างไร แต่พอทานข้าวเที่ยง เริ่มหนักท้องเข้าหน่อยพายุความฟุ้งก็เริ่มก่อตัว กลายเป็นคนธรรมดาเดินดิน สิ้นท่ากับเรื่องแฟนอีกรอบ จิตใจหนักอึ้ง อยากโทร.หาเธอจนทรมานในอกปวดแสบปวดร้อนไปหมด เห็นภาวะปุถุชนชัดแล้วอนาถใจ เต็มไปด้วยความกลับกลอกหาอะไรคงที่ไม่ได้ เช้าเป็นอย่างหนึ่ง บ่ายเป็นอีกอย่างหนึ่ง แม้แต่ความคิดตัวเองยังไม่อาจบังคับให้เป็นอย่างใจ แล้วจะหวังให้ความคิดใครเป็นอย่างเราต้องการ

มายอมกัดลิ้นฝืนใจไม่โทร.หาเธอก็ด้วยตระหนักความจริงข้อนั้น ฉันควบคุมให้ความคิดเธอเป็นไปตามที่ฉันหรือแม้แต่เธอเองต้องการไม่ได้ จิตเธอยังไม่มีความเลื่อมใสพระรัตนตรัย ขณะที่ฉันยอมแม้กระทั่งอุทิศชีวิตได้ แค่ศรัทธาก็ไม่เสมอกันอย่างนี้ คบไปจะเดือดเนื้อร้อนใจเธอเปล่าๆ เป็นเหตุให้เกิดบาปเกิดกรรมที่ไม่อาจมีใครพยากรณ์ หากฉันรักเธอ ปรารถนาดีกับเธอ ก็ต้องตัดไฟเสียแต่ต้นลม คิดว่าการโทร.หาเธอเปรียบเหมือนยื่นยาพิษให้เธอดีๆนี่เอง

รู้สึกว่าตัวเองเข้มแข็งที่สุดในชีวิตเมื่อตัดใจได้อีกครั้ง ยกจิตเข้าสู่ภาวะสู้เต็มพิกัด เมื่อความคิดเป็นเหตุเป็นผลทำงานแล้ว คราวนี้สติสัมปชัญญะก็รับช่วงทำงานต่อบ้าง ฉันเอาสิ่งที่รบกวนจิตใจอยู่ตลอดเวลานั่นเองเป็นเครื่องมือภาวนา สิ่งไหนเกิดบ่อย สิ่งนั้นเป็นโอกาสเจริญสติได้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากน่ายึดมั่นถือมั่นมาก หากเจริญสติปัฏฐานจนเห็นความไม่เที่ยงของสิ่งนั้นแล้ว ก็อาจกลายเป็นตัวส่งให้เกิดพัฒนาการชนิดก้าวกระโดดได้

:b38: / อย่างที่ฉัน

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2009, 20:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


อย่างที่ฉันเกิดประสบการณ์ประจักษ์ไปเมื่อเช้า ว่าแท้จริงคนรักของฉันไม่ได้รบกวนจิตใจฉันเลย แต่ความทุกข์ ความจำ และความตรึกนึกของฉันเองต่างหาก ที่วนเวียนย่ำยีจิตใจไม่เลิกราเสียที ฉันจึงนึกถึงสมาธิซึ่งพระพุทธเจ้านิยามว่าเป็นประเภทก่อให้เกิดสติสัมปชัญญะ นั่นคือ

๑) รู้แจ้งเป็นขณะๆว่าเวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

๒) รู้แจ้งเป็นขณะๆว่าสัญญาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

๓) รู้แจ้งเป็นขณะๆว่าความตรึกนึกเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

ตามการจำแนกของพระพุทธองค์ การทำสมาธิประเภทนี้ต่างจากสมาธิเพื่อเสพสุข (ฌาน) ต่างจากสมาธิเพื่อญาณทัศนะ (อธิษฐานกลางคืนเป็นกลางวัน) และการทำสมาธิประเภทนี้ก็ไม่จำเป็นต้องหลับตา ไม่จำเป็นต้องอยู่ในขณะแห่งการเดินจงกรม แต่กำหนดสติเข้าไปตรงๆว่าเวทนาขณะนี้เป็นทุกข์หรือสุข สัญญาขณะนี้คือความจำเกี่ยวกับใคร และขณะนี้เรากำลังอยู่ในภาวะตรึกนึกหรือไม่

ขณะที่เริ่มตัดสินใจจะทำสมาธิเพื่อให้เกิดสติสัมปชัญญะนั้นเอง สิ่งที่ยอมรับเป็นประการแรกคือความชัดเด่นของทุกขเวทนาเกี่ยวกับคนรัก ฉันไม่ลุกไปไหน ยังนั่งปักหลักละเลียดน้ำเปล่าในแก้วอยู่ที่โต๊ะอาหาร สายตาทอดออกไปนอกหน้าต่าง แต่สติก็ทำงาน คือเห็นช่วงอกแปลบเสียว บางครั้งก็ขมวดแน่นเป็นก้อนอย่างที่เขาเรียกกันว่า ‘จุกอก’ บางครั้งก็คลายอาการเสียด แต่เหมือนยังมีอะไรเสียบคาอยู่

ฉันตั้งสติกำหนดตามดูแล้วเห็นแต่ความแปรปรวนของทุกขเวทนา เดี๋ยวแรงเดี๋ยวเบา ไม่เห็นอาการดับเสียที จนต้องขมวดคิ้วคิดว่าเปลี่ยนวิธีดูจะดีหรือไม่

ขณะนั้นเอง สติส่วนหนึ่งก็บอกว่าขณะนี้กำลังตรึกนึก เห็นอาการตรึกนึกตั้งอยู่ อาการตรึกนึกทำให้มีแรงเค้นขึ้นหน่อยๆในหัว คล้ายกล้ามเนื้อบางส่วนถูกบีบให้แน่นขึ้นเล็กน้อย พอฉันรู้ลักษณะบีบนั้นเข้า ก็เกิดอาการคลายลง ตรงที่คลายลงนั่นเองคือการเห็นอาการตรึกนึกดับไป

เมื่อเห็นความตรึกนึกดับไปนั้น สิ่งที่ติดตามมาคือความเบาโล่งหัวอก สติบอกทันทีว่าขณะนี้กำลังเป็นสุข เห็นสุขเวทนาเกิดขึ้น แต่ความเบาโล่งหัวอกนั้นตั้งอยู่ไม่นานก็เลือนไป สติเสียศูนย์เพราะคลื่นความฟุ้งซ่านเข้าแทรกแซง กลายเป็นความเหม่อไป พอรู้ตัวว่าเหม่อก็อึดอัด เพราะไม่รู้จะเรียกสติกลับมาดูอะไรตรงไหนดี ก็นึกถึงราวเกาะ ถามตัวเองว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า เห็นว่ากำลังหายใจอ่อนก็รู้ว่าหายใจอ่อน

ฉันรู้สึกสับสนนิดหนึ่ง นั่งเอามือเท้าคาง คิดอีกว่าขณะนี้กำลังสติอ่อนอยู่ การนำมารู้สิ่งที่เกิดขึ้นในใจตรงๆจะเหมาะแน่หรือไม่ แต่พอคิดอยู่อึดใจหนึ่งสติก็บอกว่านี่กำลังอยู่ในอาการตรึกนึกอีกแล้ว ด้วยสติธรรมดาปานกลาง อาการตรึกนึกถูกรู้ได้ก็เมื่อกำลังตั้งอยู่แล้วเสมอ จนแล้วจนรอดก็ยังตามไม่ทันขณะแห่งความเกิดขึ้น

อันเนื่องจากเคยผ่านประสบการณ์มีจิตสงบนิ่งเป็นสมาธิดีๆมาก่อน ฉันจึงพยักหน้าว่า การจะเพียรเพื่อมีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันความเกิดขึ้นของอาการตรึกนึกกันจริงๆนั้น ต้องมีดวงจิตที่สงบพอควรเสียก่อน เพื่อให้เกิดความแตกต่างชัดเจนขณะความคิดตรึกนึกก่อตัวขึ้นจากสภาพสงบราบคาบ

แต่อย่างน้อยฉันก็เห็นความแตกต่างชัดเจนระหว่างความฟุ้งซ่านกับอาการตรึกนึก ถ้าฟุ้งซ่านจิตจะกระโดดไปเรื่องโน้นเรื่องนี้สะเปะสะปะ แต่ถ้าเป็นตรึกนึกจิตจะจดจ่อกับเรื่องเดียว แล้วยังแยกออกไปได้อีก คือจดจ่อแบบแช่อย่างไร้จุดหมายไปเรื่อยๆโดยปราศจากที่สิ้นสุดชัดเจน กับจดจ่อแบบคิดรอบด้านเป็นขั้นเป็นตอนเพื่อเอาคำตอบสุดท้ายแล้วหยุดตรึกนึก

ด้วยความสังเกตความแตกต่างระหว่างตรึกนึกแบบแช่กับตรึกนึกอย่างเป็นระเบียบ ทำให้ฉันเกิดความรู้ขึ้นมาอีกอย่างหนึ่ง คือการตรึกนึกอย่างเป็นระเบียบ ไม่ว่าเรื่องทางโลกหรือทางธรรม จะก่อให้เกิดความสงบขึ้นมาระดับหนึ่ง เมื่อสงบลงบ้าง พอตรึกนึกอะไรใหม่ก็จะเริ่มเห็นวินาทีของการเริ่มตรึกนึกใหม่นั้น ซึ่งนั่นก็คือการเห็นความเกิดขึ้นของอาการตรึกนึก

และเพราะเข้าใจความต่างระหว่างอาการตรึกนึกกับความฟุ้งซ่าน ฉันก็สังเกตเข้าไปเห็นช่องทางเอาประโยชน์จากความฟุ้งซ่านขึ้นมาได้ คือแทนที่จะพยายามห้ามไม่ให้ฟุ้งซ่านหรือหาอะไรมาเบียดเบียนความฟุ้งซ่าน ฉันก็กำหนดเข้าไปตรงๆว่าขณะนั้นกำลังฟุ้งซ่านเกี่ยวกับอะไร เพื่อดูความปรากฏของสัญญา

อย่างตอนนี้ถ้าปล่อยจิตให้ฟุ้งตามสบาย เรื่องที่วกวนก็ไม่พ้นคนรักนั่นเอง ลักษณะฟุ้งของคนเรามีสองแบบหลักๆ คือฟุ้งแบบแช่กับฟุ้งแบบเครียด สำหรับฉันขณะนี้เป็นฟุ้งแบบแช่ๆเฉื่อยเนือย พอรู้ตัวว่าฟุ้งปุ๊บ แทนที่จะปล่อยลอยตามเคย ก็ดูอาการ ‘จิตจำคนรักได้’ เมื่อเห็นอาการที่จิตจำคนรักได้ ความจำนั้นก็ดับลงทันที กลายเป็นอาการกำหนดสติค้างๆคาๆปราศจากเป้าหมาย ฉันก็เอาสติกลับไปรู้ลมหายใจต่อว่ากำลังออกหรือเข้า

พอรู้ลมหายใจสบายๆพักหนึ่ง เมื่อลมหายใจเริ่มอ่อน กลายเป็นหายใจสั้นเข้า อาการฟุ้งซ่านก็กลับมาอีก ความจำเกี่ยวกับคนรักก็กลับมาอีก และคราวนี้ได้เห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมาก่อน นั่นคือ ก่อนเกิดความจำได้หมายรู้เกี่ยวกับคนรัก มีคลื่นอะไรอย่างหนึ่งผุดขึ้นในจิต คล้ายอยู่ๆก็มีการก่อตัวของฟองอากาศในขวดที่บรรจุน้ำเต็ม สำคัญคือถ้าไม่มีความตรึกนึกมารับช่วงต่อ ระลอกความจำนั้นจะหายไปเฉยๆเหมือนคลื่นกระทบฝั่ง

สิ่งที่จะทำให้คลื่นความจำหายไปโดยไม่มีความตรึกนึกมารับช่วงต่อก็คือสติ สติที่รู้ขณะแห่งความเกิด ขึ้นอยู่ ดับไปของสัญญานั่นเองกระทำจิตให้อยู่ในสภาวะรู้ ไม่ใช่สภาวะคิด รู้สัญญาหนึ่งดับก็กลับคืนสู่ความสงบ และมีสัญญาระลอกใหม่มาปรากฏให้เห็นอีก

ปกติจิตของคนธรรมดาทั่วไปนั้น เปรียบเหมือนผืนทะเลใหญ่ ที่มีระลอกคลื่นทยอยตัวกระทบฝั่งไม่หยุดยั้ง คลื่นที่กระทบจิตทำให้เกิดสัญญา คือจำได้หมายรู้ว่าคลื่นนั้นเกี่ยวกับเรื่องอะไร หากอยู่ในภาวะฟุ้งซ่านไร้สติ คนธรรมดาจะรับเอาสัญญานั้นมาปรุงแต่งต่อ ลักษณะตรึกนึกเกี่ยวกับเรื่องนั้นๆจะรักษาความรู้สึกจำได้เอาไว้ ส่วนที่ว่าสัญญาจะแจ่มชัดหรือมลังเมลืองครึ่งๆกลางๆ ก็ขึ้นอยู่กับคุณภาพของจิต คุณภาพของอาการตรึกนึกว่าดีเพียงใด

ในคนธรรมดา สัญญายิ่งชัด ความรู้สึกเกี่ยวกับอัตตาตัวตนก็จะพลอยชัดตามไปด้วย แต่ถ้าพลิกกันด้วยสติของผู้เจริญภาวนา สัญญายิ่งปรากฏชัดเท่าไหร่ ความดับไปของสัญญาก็ยิ่งปรากฏชัดเท่านั้นตามไปด้วย และเมื่อมีความเพียรเห็นความดับของสัญญาชัดเจนหลายครั้งเข้า สติที่รู้เห็นนามธรรมก็จะยิ่งเข้มข้นขึ้นทุกที

ตรงที่เกิดความเห็นชัดว่าเมื่อใดสัญญาเกิด เมื่อใดสัญญาตั้งอยู่ และเมื่อใดสัญญาดับ ฉันเกิดความสนุกขึ้นมา เหมือนคนกำลังเล่นกีฬามือขึ้น ที่สายตาและประสาทสัมผัสว่องไว จับรู้เท่าทันวัตถุในเกมกีฬาได้โดยไม่ต้องตั้งใจมาก กับทั้งนึกถึงสูตรอุปมาขันธ์ ๕ ของพระพุทธองค์ ในส่วนที่เกี่ยวกับสัญญาคือ

เมื่อเดือนสุดท้ายแห่งฤดูร้อนยังอยู่ พยับแดดย่อมเต้นระยิบระยับในเวลาเที่ยง ผู้มีดวงตาทั้งหลายพึงเห็น เพ่ง พิจารณาพยับแดดนั้นโดยแยบคาย เมื่อเห็น เพ่ง พิจารณาอยู่โดยแยบคาย พยับแดดนั้น พึงปรากฏเป็นของว่างเปล่า สาระในพยับแดดมีอยู่เพียงใด สัญญาอย่างใดอย่างหนึ่งก็มีสาระอยู่เพียงนั้น

สัญญาเหมือนพยับแดดจริงๆ เมื่อสติมีกำลังมากขึ้น ก็ยิ่งปรากฏชัด แล้วหายไปชัดๆ สัญญาจะต่างกับพยับแดดตรงไหน ถ้าหากแค่เหมือนมี แต่แท้จริงไม่ได้มี

และตรงความรู้เห็นเกิดดับโดยไม่ต้องฝืนบังคับตั้งใจนั่นเอง ความหนาแน่นของอาการตรึกนึกก็ลดลง ฉันลองปล่อยให้ใจตรึกนึกถึงเรื่องราวต่างๆตามสบาย ปรากฏว่าพอสติเท่าทันว่าอาการตรึกนึกเกิดขึ้น อาการตรึกนึกก็ลดน้ำหนักฮวบฮาบลงทันที

อย่างนี้เองพระพุทธเจ้าจึงบัญญัติว่าอาการที่กำหนดเวทนา สัญญา และความตรึกนึกโดยความเป็นของเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป จัดเป็นสมาธิประเภทหนึ่ง เพราะจะเห็นสภาพหยาบๆในเบื้องแรก แล้วค่อยๆเห็นประณีตขึ้น กระทั่งจิตสงบลงเป็นสมาธิได้ ที่จุดของความสงบนั้น อาการตรึกนึกที่สมน้ำสมเนื้อพอดีระดับกับสมาธิจิต ก็คือความตรึกนึกถึงลมหายใจเข้าออก

นี่คือการค้นพบของฉัน เราเริ่มเจริญสติจากสภาวะอันเป็นนามธรรมก่อนก็ได้ เพราะเมื่อเกิดสติสัมปชัญญะดีแล้ว ตัวสติเองจะเข้ารู้ทุกอย่างที่กำลังปรากฏเด่น ไม่ว่าจะเป็นรูปหรือนาม ทุกอย่างที่เข้ามากระทบจิตจะปรากฏชัดเป็นขณะๆไปหมด เบื้องแรกจะเป็นความรู้สึกสนุกและติดใจมากที่สามารถรู้เห็นไปทุกอย่างโดยไม่จำเป็นต้องปิดตานั่งสมาธิหรือเดินจงกรม

ในการนั่งสมาธิครั้งต่อๆมา หากฉันมีความเครียดหรือคลื่นพายุฟุ้งยุ่ง ฉันจะไม่ใช้อุบายอื่นใด นอกจากปล่อยให้ระลอกหนักเบาของความเครียดและคลื่นความคิดฟุ้งปรากฏตัวตามสบาย ฉันมีหน้าที่เพียงนั่งเฝ้ามองทุกๆอาการ ทั้งที่หนักมากและหนักน้อยผ่านมาแล้วผ่านไป แค่แน่ใจว่าเห็นสภาพหนักแปรเป็นเบา เบาแปรเป็นหนัก เกิดขึ้นแล้วดับลง หากไม่เข้าไปก้าวก่าย ไม่รู้สึกเดือดเนื้อร้อนใจได้พักหนึ่ง จิตก็จะทรงสติว่องไว มีความเห็นแจ่มชัด และสงบตัวลงเองตามธรรมชาติ สามารถนำมาทำสมาธิมาตรฐานเช่นอานาปานสติต่อได้อย่างดี

วันที่ ๓ ของเดือน ฉันก็กลับมาเป็นคนมีสติคมชัดเหมือนเดิม ด้วยความพากเพียรไม่ลดละ มีกำลังใจอย่างเอกอุขึ้นอีกครั้ง เมื่อตระหนักว่าเป็นลูกศิษย์พระพุทธเจ้า ทำตามพระพุทธเจ้าสอนแล้วไม่เคยพลาดจากผลดีสักที ได้ผลมาตามลำดับอย่างนี้จะไม่ให้เชื่ออย่างไรว่าเส้นทางนี้นำไปสู่มรรคผลจริงๆ!



:b38: / วันที่ ๔: ไม่ใช่ตัวตนก็ทำตามอำเภอใจได้แล้ว

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2009, 20:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๔: ไม่ใช่ตัวตนก็ทำตามอำเภอใจได้แล้ว

เมื่อคืนเอางานมาทำต่อจนเพลียจัด แม้ว่าได้นั่งสมาธิฟื้นกำลังไปบ้างแล้วหลังทำงานเสร็จ แต่ตื่นขึ้นมาเช้านี้ก็ยังสะลึมสะลืออยู่ดี

ฉันพยายามนั่งสมาธิและเดินจงกรมทั้งครึ่งตื่นครึ่งงัวเงีย ในความงัวเงียอันหนาแน่นด้วยโมหะนั้น คำถามและความลังเลสงสัยย่อมเกิดขึ้นได้ทั้งสิ้น

ขณะเดินจงกรมรู้เท้ากระทบอยู่ช่วงหนึ่ง ฉันเกิดความคิดขึ้นมาว่าที่กำลังรู้กระทบๆๆอยู่นี่สักแต่เป็นความกระทบของรูป สักแต่เป็นผัสสะปรุงแต่งใจ เป็นเพียงขันธ์ ๕ ไม่ใช่ตัวเรา ในเมื่อนี่ไม่ใช่เรา แล้วจะภาวนาเอาดี เอามรรคผลไปเพื่ออะไร? สู้กลับไปหาแฟน ช่วยกันสร้างบ้านสร้างเรือนกับเธอไม่ดีกว่าหรือ?

วูบต่อมาก็เกิดคำถามที่หนักกว่านั้น นั่นคือ ถ้านี่ไม่ใช่ตัวตน เป็นแค่ขันธ์ ๕ จะต้องกลัวบาปกลัวกรรมไปทำไม ทำแล้วก็สักแต่ว่าเป็นกรรมของขันธ์ ๕ อันว่างสูญ เกิดแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา ไม่ใช่กรรมของฉัน ต่อให้มีวิบากรออยู่จริงในภพหน้า นั่นก็ไม่ใช่ตัวฉันแล้ว ทำไมฉันจะต้องไปแคร์ตัวตนอื่นที่ไม่ใช่ตัวตนนี้?

หลังจากเลิกเดินจงกรม ฉันเกิดความรู้สึกคุ้นๆขึ้นมาว่าเคยเจอพระสูตรที่มีภิกษุสงสัยทำนองเดียวกันนี้ เลยเปิดคอมพิวเตอร์ค้นหาด้วยคำสำคัญเช่น ‘กรรม’ และ ‘ขันธ์ ๕’ เมื่อได้รายชื่อพระสูตรที่เกี่ยวข้องก็นั่งกวาดสายตาไล่หาทีละสูตรกระทั่งพบปุณณมสูตรสมใจ

สูตรนี้พระพุทธองค์ตรัสตอบไขข้อข้องใจของภิกษุผู้สงสัยในแง่มุมต่างๆเกี่ยวกับขันธ์ ๕ ในตอนท้ายมีภิกษุรูปหนึ่งฟังแล้วคิดสงสัยเหมือนกับฉันเปี๊ยบ เนื้อความคือ…

ถึงเวลานั้น มีภิกษุรูปหนึ่งเกิดความปริวิตกขึ้นมาในใจว่า “จำเริญละ เท่าที่ฟังพระผู้มีพระภาคตรัสมานี้ เป็นอันว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้วจะมาโดนตัวเราได้อย่างไร”

ทันทีนั้นเอง พระพุทธเจ้าทรงทราบวาระจิตของภิกษุรูปนั้นด้วยพระหฤทัย จึงรับสั่งกะภิกษุทั้งหลายกว้างๆโดยไม่จำเพาะเจาะจงว่า…

ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่โมฆบุรุษบางคนในธรรมวินัยนี้ มีความไม่รู้ ตกอยู่ในอวิชชา ใจมีความทะยานอยากเป็นหลัก เขาสำคัญคำสั่งสอนของเราด้วยความสะเพร่า แล้วคิดว่าจำเริญละ เท่าที่เราว่ามานี้ เป็นอันว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเป็นอนัตตา กรรมที่อนัตตาทำแล้วจะมาโดนตัวเราได้อย่างไร

เราจะขอสอบถาม ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราได้แนะนำพวกเธอในธรรมเกี่ยวกับขันธ์ ๕ แล้ว…


แล้วพระพุทธองค์ก็เริ่มตรัสถามธรรมะอันสำคัญที่ชวนให้ตรึกตามลำดับและเห็นตามจริงจนภิกษุในครั้งพุทธกาลบรรลุมรรคผลกันมานักต่อนัก

:b42: พระศาสดา – พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน รูปเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

:b51: เหล่าภิกษุ - “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”

:b42: พระศาสดา - ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า?

:b51: เหล่าภิกษุ – “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”

:b42: พระศาสดา - ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา?

:b51: เหล่าภิกษุ – “ไม่ควรเลยพระเจ้าข้า”

:b42: พระศาสดา – พวกเธอจะสำคัญความข้อนั้นเป็นไฉน เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณเที่ยงหรือไม่เที่ยง?

:b51: เหล่าภิกษุ - “ไม่เที่ยงพระเจ้าข้า”

:b42: พระศาสดา - ก็สิ่งใดไม่เที่ยง สิ่งนั้นเป็นทุกข์หรือสุขเล่า?

:b51: เหล่าภิกษุ – “เป็นทุกข์พระเจ้าข้า”

:b42: พระศาสดา - ก็สิ่งใดไม่เที่ยง เป็นทุกข์ มีความแปรปรวนไปเป็นธรรมดา ควรหรือที่จะเล็งเห็นสิ่งนั้นว่านั่นของเรา นั่นเรา นั่นอัตตาของเรา?

:b51: เหล่าภิกษุ – “ไม่ควรเลยพระเจ้าข้า”

ดูกรภิกษุทั้งหลาย เพราะเหตุนั้นแหละ พวกเธอพึงเห็นด้วยปัญญาอันชอบตามความเป็นจริงดังนี้ว่า รูปอย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต ทั้งที่เป็นอนาคต ทั้งที่เป็นปัจจุบัน เป็นไปในภายใน หรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม ทั้งหมดนั้นไม่ใช่ของเรา ไม่ใช่เรา ไม่ใช่อัตตาของเรา (สำหรับเวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณ ก็ตรัสโดยเนื้อความเดียวกันนี้)

ดูกรภิกษุทั้งหลาย อริยสาวกผู้สดับแล้วเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมเบื่อหน่ายแม้ในรูป แม้ในเวทนา แม้ในสัญญา แม้ในสังขาร แม้ในวิญญาณ เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้น เมื่อจิตหลุดพ้นแล้ว ย่อมมีญาณรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็นอย่างนี้มิได้มีอีก


พระผู้มีพระภาคได้ตรัสภาษิตนี้แล้ว ภิกษุเหล่านั้นต่างชื่นชมยินดี และขณะพระผู้มีพระภาคกำลังตรัสไวยากรณ์ภาษิตนี้อยู่ ภิกษุประมาณ ๖๐ รูปได้มีจิตหลุดพ้นจากกิเลสเครื่องหมักดองในขันธสันดานเพราะหมดความยึดมั่นถือมั่น

อ่านแต่ละคำ แต่ละประโยคแล้วใจตั้งมั่นเป็นสมาธิ เกิดปีติเบิกบานด้วยความเชื่อมั่นว่าได้ฟังคำตอบจากพระพุทธเจ้าจริงๆ แม้พระองค์จะไม่ตอบคำถามเป็นเชิงตรง แต่จิตที่น้อมรับธรรมอันแจ่มแจ้งก็รู้ชัดว่าอะไรเป็นอะไร หากเข้าใจจริงๆแล้วว่าไม่มีอะไรเป็นตัวตนแม้แต่อย่างเดียว ก็จะ ‘ไม่มีผู้คิด’ ว่ากรรมทำแล้วย่อมไม่มาโดนตัวเรา มีแต่จิตที่เป็นอิสระจากอุปาทานเบิกบานอยู่ เปิดเผยอยู่เหมือนแสงอาทิตย์ที่ส่องสว่างโดยปราศจากความสำคัญมั่นหมายว่าความร้อนเป็นกรรมของเรา ความเคลื่อนที่ไปให้ความสว่างแก่โลกคือกรรมของเรา แต่ถ้าเกิดอุปาทานขึ้นมาเสียแล้วว่ากายใจนี้เป็นเรา ก็ย่อมสงสัยไปเรื่อย ว่ากรรมทำแล้วมีผลหรือไม่มีผลกับ ‘ตัวเรา’

แท้จริงการเว้นจากบาปอกุศลนั้นก็เพื่อไม่ให้เกิดผลเป็นสภาวะทุกข์ เพราะยิ่งทุกข์ก็ต้องยิ่งมีแรงอุปาทานในทางลบเพิ่มขึ้น บดบังสัจจะความจริงยิ่งๆขึ้น และการบรรลุธรรมก็ไม่ใช่เพื่อตัวตนของใคร แต่เพื่อหยุดวงจรทุกข์ไปอีกหนึ่งหน่วยเท่านั้น ขอให้เข้าใจแจ่มแจ้งตั้งแต่ในระดับการรับฟังและคิดตามจริงๆเถอะ ว่ารูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ หรือโดยย่นย่อคือกายใจนี้ มีความไม่เที่ยง เป็นทุกข์คือต้องแปรปรวนไปเป็นธรรมดา จึงไม่ควรสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเป็นตน การเฝ้าตามเห็นเป็นขณะๆย่อมไม่ทำให้เกิดข้อสงสัยเกี่ยวกับความมีหรือไม่มีตัวตนอีกเลย

ฉันได้คำตอบที่ทำให้เกิดความอิ่มเอมเปรมใจ หายสงสัย สมกับที่ตั้งใจไว้แต่แรกว่าจะยกพระพุทธองค์เป็นครู จะฟังท่านเป็นหลัก การได้คำตอบที่คาใจในหลายต่อหลายครั้งคือความคืบหน้ายิ่งขึ้นเรื่อยๆ ฉันว่าเผลอๆคนยุคเราจะได้เปรียบคนสมัยพุทธกาล อยากรู้อะไรก็เปิดคอมพิวเตอร์คีย์หาคำที่ต้องการเอา คนยุคพุทธกาลเสียอีก บางทีอยู่ต่างบ้านต่างเมืองกับพระพุทธองค์ บางทีอยู่ในป่าไม่มีโอกาสเจอภิกษุในพุทธศาสนา หรือบางทีพบเพียงพระภิกษุสาวก หรืออุบาสกอุบาสิกาที่ไม่รู้รอบตอบได้ทั่วถึงในพุทธพจน์ทั้งปวง และหากมีโอกาสฟังพุทธพจน์น้อย ไหนเลยจะแก้ข้อสงสัยได้หมดสิ้น

วันนี้ทำงานค่อนข้างหนัก และยังไม่มีความคืบหน้าทางการภาวนามากนัก แค่หายสงสัยเรื่องขันธ์เท่านั้น ตั้งใจว่าพรุ่งนี้วันเสาร์ ช่วงครึ่งวันหลังจะขับรถออกต่างจังหวัดไปหาวัดสงบๆเพื่อนั่งสมาธิอีก มีพิเศษกว่าเคยคือตั้งใจว่าคราวนี้จะไปค้างคืนแล้วกลับกรุงเทพฯในเย็นวันอาทิตย์ แทนที่จะไปนั่งเดี๋ยวเดียวแล้วกลับเลยอย่างที่ผ่านๆมา



:b38: / วันที่ ๕: ปฏิบัติแบบไหนในเวลาใดจึงเรียกว่ารู้อุปาทานขันธ์เกิดดับ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2009, 20:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b43: วันที่ ๕: ปฏิบัติแบบไหนในเวลาใดจึงเรียกว่ารู้อุปาทานขันธ์เกิดดับ

ออกจากที่ทำงานใกล้เที่ยง ฉันรู้สึกโปร่งเบาเหมือนออกปลีกวิเวกเมื่อเดือนก่อนอีกครั้ง แม้จะเป็นเวลาสั้นกว่ากันมาก แต่ก็เป็นความรู้สึกว่างจากภาระ ว่างจากความผูกพันกับใครๆ พรักพร้อมจะภาวนาเต็มที่เหมือนๆกัน

ระหว่างขับรถฉันครุ่นคิดเกี่ยวกับสมาธิ ๔ ประเภทไปด้วย ประเภทแรกเพื่อเสพสุขในฌาน ประเภทที่สองเพื่อญาณทัศนะโดยอธิษฐานกลางคืนเสมอกลางวัน ประเภทที่สามเพื่อสติสัมปชัญญะโดยรู้ความเกิดดับของเวทนา สัญญา และความตรึกนึก ประเภทที่สี่เพื่อล้างกิเลสโดยเฉพาะโดยรู้ความเกิดดับของอุปาทานขันธ์ ๕ ซึ่งสำหรับประเภทสุดท้ายนี้ แน่นอนว่าก่อนจะทำจนเกิดสมาธิได้นั้น ต้องมีความเห็นเกี่ยวกับอุปาทานขันธ์ ๕ ที่ถูกต้องชัดเจนเป็นหัวขบวนนำเสียก่อน

ฉันผ่านประสบการณ์สมาธิ ๓ ประเภทแรกมาด้วยความมั่นใจว่าใช่ ส่วนสมาธิประเภทที่ ๔ เวลานี้ยังไม่แน่ใจนักว่าในทางปฏิบัติเข้าใจหรือเข้าถึงลึกซึ้งเพียงใด หากดูเผินๆแล้ว สมาธิประเภทที่ ๓ นั้นใกล้เคียงกับสมาธิประเภทที่ ๔ มาก ต่างกันอย่างสำคัญคือในสมาธิประเภทที่ ๓ นั้น มีการดูความตรึกนึกอยู่ด้วย

ความจริงอาการตรึกนึกก็เป็นส่วนหนึ่งในสังขารขันธ์นั่นแหละ แต่น่าสังเกตว่าพระพุทธเจ้าท่านยกมาเป็นหนึ่งในสิ่งที่ควรรู้โดยความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ และดับไป นั่นย่อมส่องว่าสมาธิแบบที่ ๓ ยังอาจมีความคิดธรรมดาๆแบบเป็นตัวเป็นตนได้อยู่ ซึ่งฉันประจักษ์แล้วว่าถ้าสังเกตเท่าทันทั้งความเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปของอาการตรึกนึกเรื่อยๆ ในที่สุดอาการตรึกนึกเรื่องข้างนอกจะค่อยๆสงบลงเหลือแต่เพียงตรึกนึกถึงลมหายใจเท่านั้น

ความต่างอย่างสำคัญระหว่างการประกอบสมาธิเพื่อมีสติกับการประกอบสมาธิเพื่อล้างกิเลส จึงน่าจะอยู่ตรงองค์ประกอบในการเข้าสู่สมาธิ สำหรับสมาธิเพื่อมีสติสัมปชัญญะ อาจจะยังมีความตรึกนึกได้อยู่ แต่เมื่อกล่าวถึงสมาธิเพื่อล้างกิเลสแล้ว จิตควรอยู่ในลักษณะที่เป็นสติตั้งมั่น สามารถรู้ความเกิดดับได้โดยไม่ต้องตรึกนึกหรือตั้งใจว่าเราจะเห็นสิ่งนี้เกิด เราจะเห็นสิ่งนี้ดับ

จากประสบการณ์ที่เคยมีสมาธิสงบนิ่งในแบบอิ่มสติ รู้เห็นลมหายใจและอิริยาบถเองโดยไม่ต้องบังคับฝืนหรือกำหนดเพ่ง ฉันก็พอเข้าใจแง่มุมนี้ได้ แต่หากไม่เคยผ่านประสบการณ์ ไม่เคยมีสภาวจิตที่เป็นสมาธิมาก่อน ก็คงยากจะเข้าถึง

สรุปรวบยอดคือ จิตที่จะรู้ขันธ์ ควรมีความสงัดจากกาม ไม่มีความฟุ้งซ่าน และเมื่อรู้ขันธ์ก็ไม่ควรมีลักษณะตรึกนึกเป็นตัวนำ

:b38: / ฉันมาถึงวัดแห่งหนึ่ง

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2009, 20:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


.
ฉันมาถึงวัดแห่งหนึ่งในจังหวัดชลบุรี ไม่เคยได้ยินชื่อเสียงจากไหน ขับดุ่ยๆเข้ามาอย่างนั้นเอง เห็นว่าสงบเป็นสัปปายะ แวดล้อมด้วยขุนเขาและความร่มครึ้มของพฤกษ์พันธุ์ กะจะขออาศัยความสงบของสถานที่นั่งสมาธิสักสองสามชั่วโมง แล้วก็จะลาไปเช่าโรงแรมในตัวเมืองชลบุรีเพื่อค้างคืน จากนั้นรุ่งเช้าค่อยคิดต่อว่าจะเอาอย่างไร

เลือกศาลาว่างหลังเล็กที่เห็นทัศนียภาพกว้างไกลจากมุมสูง มองแล้วจิตเปิดกว้างสบาย ชมวิวห้านาทีก็ปิดตาลง กำหนดสติรู้ว่าลมกำลังออกหรือเข้า นับได้สิบลมก็เลิกนับ เหลือแต่สติกำหนดอยู่ เห็นลมหายใจแสดงอนิจจังอย่างชัดเจน เข้ามาแล้วสุดลมก็ต้องออกไปเป็นธรรมดา คืนกลับไปรวมกับอากาศธาตุภายนอกร่าง เพียรประคองความรู้อยู่เช่นนั้นกระทั่งความคิดนึกสงบตัวลง มีปีติ มีความสงบกายสงบใจ และตั้งมั่นเป็นสมาธิอย่างอ่อนๆ เมื่อวูบวาบไปคิดฟุ้งเรื่องนอกลมหายใจก็ดึงกลับมาใหม่จนกลายสภาพเป็นเหมือนหินใหญ่ที่วางทับแผ่นดินนิ่งมั่นคง ที่ตรงนั้นเมื่อจิตจะเริ่มเคลื่อนก็เท่าทัน และเห็นเปรียบเทียบภาวะต่างระหว่างตั้งมั่นเป็นสมาธิกับจิตสามัญที่ไหวๆได้ เห็นว่าสมาธิจิตก็ต้องเสื่อมลงเป็นธรรมดา แล้วเกิดความวางเฉยในจิตที่ตั้งมั่นรู้ลมหายใจเข้าออกยาวสั้นอยู่นั้น

พอเห็นชัดว่าสติมั่นคง ปักหลักรู้แบบที่พระพุทธเจ้าให้รู้ในอานาปานสติ คือมีความรู้ทั่วถึงว่าเรากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้า กำลังหายใจยาวหรือหายใจสั้น ฉันก็พิจารณาว่าขณะแห่งการหลับตาทำสมาธินี้ จะสามารถพิจารณาอุปาทานขันธ์ได้อย่างไร คำตอบก็ผุดขึ้นทันที ว่าตั้งแต่ทำสติรู้ลมหายใจอย่างเดียวนั้น พระพุทธเจ้าก็ทรงสอนให้รู้รูปขันธ์แล้ว เพราะลมหายใจก็คือธาตุลม ธาตุลมก็คือรูปขันธ์นั่นเอง

นอกจากนี้ยังประจักษ์แจ้งอีกว่าขณะมีเพียงสติรู้ว่ากำลังหายใจออกหรือหายใจเข้าอยู่นั้น ยังเป็นช่วงที่มีอุปาทานอยู่ว่านี่ลมหายใจของเรา ถ้ารู้ชัดเป็นหนึ่งเดียวกับลมหายใจ ก็ยิ่งรู้สึกทีเดียวว่าเราคือลมหายใจ ลมหายใจคือเรา เช่นนี้ย่อมได้ชื่อว่าเล็งอยู่ว่าลมหายใจเป็นอัตตา ต่อเมื่อกำหนดรู้ว่าลมหายใจเข้าแล้วต้องออกเป็นธรรมดา เมื่อนั้นอุปาทานจึงหายไป เหลือแต่จิตที่เป็นอิสระจากอุปาทานตั้งมั่นอยู่

เมื่อความเบิกบานทวีตัวขึ้นตามความนิ่งประณีตของจิต ลมหายใจก็เหมือนลดความสำคัญลง มีแต่ภาวะสุขโดดเด่นอยู่ ฉันก็พิจารณาสุขเวทนานั้น เพิ่งเห็นชัดเดี๋ยวนี้เองว่าเมื่อสติเข้าไปรู้เวทนาในวาระแรก จะเกิดความรู้สึกว่าสุขนั้นเป็นของเราทันที ยิ่งแนบเข้ารู้ชัดเท่าไหร่ ก็ยิ่งกลายเป็นความรู้สึกว่าเราคือสุข สุขคือเรามากขึ้นเรื่อยๆ

ฉันได้คำตอบกับตนเองอย่างแจ่มชัดทันทีว่าจะพิจารณาขันธ์อย่างไร ขันธ์ไหนกำลังปรากฏเด่นก่อนก็ให้ดูขันธ์นั้นก่อน ขันธ์ไหนกำลังทำให้รู้สึกว่าเป็นเราก็ให้ตามรู้ขันธ์นั้นไปเรื่อยจนกว่าจะเห็นความแปรปรวนของมันเอง เมื่อเห็นความแปรปรวนแล้วก็พิจารณาตามจริงว่าสิ่งนี้เกิดแล้วย่อมถึงวาระดับลงเป็นธรรมดา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา

การพิจารณาขันธ์ต้องทำไปเรื่อยๆ ไม่ใช่เห็นขันธ์เกิดดับครั้งสองครั้งแล้วจะบรรลุมรรคผล แต่ต้องเห็นซ้ำไปซ้ำมา และแม้ขันธ์ที่ละเอียดประณีต เห็นยาก รู้ความเกิดดับยาก ก็ต้องรู้ให้ครอบคลุม เพราะขันธ์ใดไม่ถูกรู้ ขันธ์นั้นย่อมเป็นที่แอบแฝงเร้นซ่อน เป็นฐานที่มั่นของอุปาทานอยู่

นั่งสมาธิรอบนี้ฉันกำหนดดูเพียงรูปขันธ์และเวทนาขันธ์ ซึ่งจะว่าไปก็เป็นของเคยๆอยู่แล้วตั้งแต่สองเดือนแรก ฉันนั่งดูด้วยความเพลิดเพลินกระทั่งเห็นว่าชักเกิดความยินดีในสุขอันเกิดจากการนิ่ง ก็ลุกขึ้นเดินจงกรม กำหนดทางเดินเป็นเส้นตรงบนพื้นดินบริเวณนั้นเอง

เมื่อรู้เท้ากระทบแปะๆๆไปเรื่อยกระทั่งจิตตั้งมั่น ไม่วอกแวกไปทางอื่น ฉันก็พิจารณาว่าอย่างนี้จะรู้ขันธ์ได้อย่างไร ก็ได้คำตอบจากความรู้เดิมคืออิริยาบถเดินทั้งหมดนั่นแหละคือรูปขันธ์ เพราะอิริยาบถเป็นรูปชั่วคราวที่เกิดจากการรวมตัวของธาตุดิน น้ำ ไฟ ลม หากเห็นอิริยาบถชัดโดยไม่มีความรู้สึกในตัวตน นั่นก็ได้ชื่อว่าเห็นรูปขันธ์แล้วนั่นเอง

รูปขันธ์ที่อยู่ในอิริยาบถเดินมีความไม่เที่ยง พอถึงสุดทางก็ปรากฏลักษณะเป็นรูปขันธ์ที่อยู่ในอิริยาบถยืน เดินไปเดินกลับอยู่ร่วมชั่วโมงก็เกิดสติอย่างใหญ่ เห็นอาการไหวยกขึ้นเหยียบลง เห็นอาการกลอกตาวอกแวกเพราะมีสัตว์มาล่อความสนใจ เห็นอาการกระเพื่อมขึ้นลงของเนื้อช่วงอกลงไปถึงท้องตามลมหายใจเข้าออก ทุกท่วงที ทุกขยับ ทุกกระดิก ปรากฏเป็นของเกิดแล้วต้องดับชัดในสติอย่างใหญ่นั้น เช่นเดียวกับที่อบรมไว้แล้ว ฝึกซักซ้อมไว้แล้วตั้งแต่ครั้งรู้ลมหายใจ

ได้ความรู้อีกประการหนึ่ง คือการเห็นขันธ์นั้นมีทั้งหยาบและละเอียด แปรไปตามคุณภาพของสติ

เป็นการเดินจงกรมที่ยาวนานมาก ยิ่งเดินร่างกายยิ่งเหมือนอ่อนหยุ่น คล้ายเป็นเครื่องผลิตความสุข จะก้าวเดินหรือย่างเหยียบ ล้วนเข้าที่เข้าทางพอดีเป็นสุขชัดไปหมด ไม่เกร็ง ไม่เมื่อย ไม่ล้าเลยแม้แต่นิดเดียว ที่ตรงนั้นฉันก็ดูสุขเวทนาอันเกิดจากอิริยาบถเดิน ดูอยู่เกือบครึ่งชั่วโมงกระทั่งเห็นความไม่เที่ยง คือเมื่อเหยียบ เมื่อย่างแล้วเกิดความติดขัด กายเริ่มอุทธรณ์ขอพักเปลี่ยนอิริยาบถเสียบ้าง ฉันก็กำหนดรู้ว่านั่นคือทุกขเวทนาอันเนื่องด้วยกาย ทุกขเวทนานั่นเองคืออนิจจังของสุขเวทนา

ขณะกำลังเดินเพลินๆ ฉันก็ผุดความคิด เหมือนนึกถึงอะไรอยู่อย่างหนึ่ง แต่ก็สะดุดหยุดลงกะทันหันเพราะได้ยินเสียงเรียก “โยม” พอหันไปทางต้นเสียงก็พบว่าเป็นพระภิกษุรูปหนึ่งในวัด อายุอานามน่าจะอยู่ในช่วงวัยขึ้นด้วยเลข ๒ แต่ก็ดูสงบสำรวมสมกับเป็นพระดี บางทีเราเห็นใครปราดเดียวก็รู้สึกว่าเขาเหมาะหรือไม่เหมาะกับยูนิฟอร์ม อย่างเช่นตำรวจจะเหมาะกับเครื่องแบบผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ถ้าดูเคร่งครัดเอาจริงเอาจัง แพทย์จะเหมาะกับเสื้อกาวน์ถ้าดูอารีมีเมตตาและปัญญามาก แต่สำหรับพระจะเหมาะกับจีวรถ้าสงบสำรวมแบบไม่ได้แกล้ง

ขณะแห่งจิตที่กำหนดอยู่กับอิริยาบถอย่างต่อเนื่อง เมื่อถูกเรียกให้หันเช่นนี้ สติก็ทำงานอัตโนมัติ เห็นว่าการ ‘หันไปด้วยอัตตา’ เป็นอย่างไร สติที่หลุดจากอิริยาบถแวบหนึ่งทำให้ย้อนกลับมาเห็นว่าธรรมดาคนเราจะรู้สึกถึงอิริยาบถยืนโดยความเป็นที่ตั้งของอัตตา สำคัญว่าเราถูกเรียก ไม่ใช่อิริยาบถยืนถูกเรียก แต่หากมีอิริยาบถเป็นฐานสติอยู่ ก็จะเกิดการปรุงแต่งไปอีกอย่าง คือกายนี้เป็นเป้าหมายให้ ‘คนอื่น’ เรียก โดยไม่มีความสำคัญมั่นหมายว่ากายนี้ใหญ่กว่าหรือเล็กกว่าเขา ใจจะไม่มีอาการจ๋อยหรือคับพองด้วยการเปรียบเทียบฐานะ

หากเราหันมองใครด้วยอัตตา ความรู้สึกในอิริยาบถจะแปรไปต่างๆ ถ้าอัตตาเราใหญ่กว่าเขา อวัยวะน้อยใหญ่ในกายเราเหมือนปรากฏชัดหลายส่วน แต่หากอัตตาเราเล็กกว่าเขา อวัยวะทั้งหลายก็หายหนไปไหนไม่ทราบ แต่หากไม่มีอัตตาเปรียบเทียบเราเขา มีเพียงสติรู้อิริยาบถยืนตามจริง ทั้งเราทั้งเขาก็แค่รูปขันธ์ มีสัดส่วนสูงใหญ่กว่ากันเท่าที่ปรากฏตามจริง ไม่ใหญ่ไม่เล็กไปกว่านั้น มีความเป็นรูปขันธ์ที่ต้องเปลี่ยนอิริยาบถไปเรื่อยๆเสมอกันอย่างนั้น

ฉันยกมือพนมไหว้ท่านด้วยความอ่อนน้อม และเป็นฝ่ายเดินเข้าไปหา แต่จิตลอบคิดหน่อยๆว่าฉันอายุมากกว่า แล้วความเจริญก้าวหน้าในสติปัฏฐานก็อาจมากกว่าพระเสียอีก ทำไมต้องเป็นฝ่ายไหว้ด้วย นั่นเป็นความคิดเล็กคิดน้อยที่แม้แต่ฉันเองก็แทบไม่รู้สึกตัว

แล้วก็ต้องแปลกใจอย่างยิ่งเมื่อทราบว่าท่านสมภารผู้ปกครองวัดต้องการพบฉัน แต่ฉันก็ไม่อิดเอื้อนเมื่อหลวงพี่ถามว่าจะไปพบท่านสมภารไหม ฉันตอบรับว่าไป และเดินตามท่านทันที อะไรบางอย่างทำให้ไม่กล้าถามว่าท่านสมภารจะพบฉันด้วยเหตุธุระอันใด

ระหว่างเดินตามหลังพระ ฉันนึกถึงความคิดสุดท้ายที่ติดค้างอยู่ในหัวก่อนหันมาเพราะพระเรียก อยากคิดต่อให้จบๆ แต่นึกเท่าไหร่ก็นึกไม่ออก ฉับพลันสติก็วาบขึ้นรู้ นี่ไงอนิจจังของสัญญา เมื่อครู่สัญญายังเป็นตัวเป็นตน เป็นคลื่นอ่อนๆที่ปรากฏในจิตระลอกหนึ่ง ตอนนี้จับต้องไม่ได้เสียแล้ว ในลักษณะที่เขาเรียก ‘คว้าน้ำเหลว’ พอเห็นเช่นนั้นก็เบิกบาน และหยุดพยายามนึกถึงเรื่องที่ลืมในทันที เพราะเกิดประสบการณ์น่าพอใจกว่าการ ‘นึกออก’ เสียอีก

ขณะนั้นเป็นเวลาใกล้พลบ หลวงพี่นำฉันมาถึงกุฏิครึ่งไม้ครึ่งปูนหลังหนึ่ง เมื่อเข้าไปก็พบภิกษุวัยใกล้ชรานั่งยิ้มเด่นเป็นประธาน ขนาบข้างอยู่ด้วยพระหนุ่มและเณรน้อยที่คอยปรนนิบัติรับใช้ ฉันเยือกเย็นไปถึงจิตในทันทีที่สบสายตากับท่าน รู้สึกว่าบรรยากาศรอบด้านร่มรื่นราวกับมาถึงสวนสวรรค์

หลังจากพนมมือกราบเบญจางคประดิษฐ์ ท่านก็ถามไถ่ว่าชื่อเสียงเรียงนามใด มาจากไหน เป็นการปฏิสันถาร ฉันตอบท่านด้วยความนอบน้อมครบทุกข้อ แต่ขณะเดียวกันก็ยิ่งงงงันขึ้นทุกที ไม่แน่ใจว่าหลวงพี่ไปตามตัวผิดคนหรือเปล่า หรือว่านี่อาจเป็นธรรมเนียม แขกไปใครมาควรเข้ามากราบนมัสการเจ้าอาวาส แต่ฉันก็ไม่กล้าถาม เพียงแต่เป็นฝ่ายตอบเมื่อท่านประสงค์จะทราบอะไร

เมื่อท่านถามว่านี่จะย่ำค่ำแล้ว ตั้งใจกลับกรุงเทพฯหรือพักแถวนี้ ฉันตอบว่าตั้งใจจะพักที่นี่และกลับกรุงเทพฯในเย็นวันพรุ่ง ท่านก็ชักชวนว่าหากไม่รังเกียจว่านี่เป็นวัดเล็ก ก็ขอให้พักได้ มีห้องว่างสำหรับฆราวาสอยู่

ฉันตอบตกลงและกราบขอบพระคุณท่านในความกรุณา แล้วในที่สุดก็ตัดสินใจกราบถามว่าเมื่อครู่ท่านเห็นฉันเดินจงกรมอยู่หรือ จึงให้พระไปตามฉันมา ท่านตอบว่าท่านก็นั่งอยู่ในห้องนี้กับพระเณรนี่แหละ แต่รู้สึกว่าจุดที่ฉันเดินจงกรมอยู่มีปัญญาสว่างไสวเกิดขึ้น ก็เกิดความสนใจ และใช้ให้พระลูกศิษย์ไปตามเพราะอยากเห็นหน้า

สีหน้าฉันยังเป็นปกติ แต่ลอบกลืนน้ำลายอึกหนึ่ง วันนี้มาเจอของจริงเข้าแล้ว ฉันเคยพบพระผู้มีญาณมาบ้าง และตัวเองก็พอมีแสงเท่าหิ่งห้อยกับเขานิดหน่อย จึงไม่ประหลาดใจเรื่องความหยั่งรู้กว้างขวางชนิดนี้

ท่านสมภารชมฉันอีกว่าท่าทางขยันเอาจริงเอาจังดี เวลานั่งสมาธิเดินจงกรมดูนิ่งราวกับพระที่ได้รับการอบรมมาอย่างดี แถมแสงปัญญาฉายสว่างอย่างหาได้ยาก ฉันก็เกิดความกระหยิ่มขึ้นมาทันที ว่านี่ฝึกมาเองโดยไม่มีครูบาอาจารย์กำกับนะ แถมยังทะลึ่งคิดเลยเถิดต่อไปอีกว่าอย่างท่านสมภารนี้แม้มีญาณรู้เห็นกว้างขวาง ก็คงต้องมีครูซึ่งเป็นบุคคลร่วมสมัยมาก่อน ส่วนฉันนั้นเป็นอีกระดับหนึ่ง คือมีครูเป็นพระพุทธเจ้าเลยทีเดียว

พอคิดเพียงเท่านั้น ท่านสมภารก็ยิ้มละไมแล้วทักสั้นๆด้วยน้ำเสียงที่สงบ อ่อนโยน มีเมตตาแท้จริงว่า

“ถ้าอยู่คนเดียว บางทีก็ไม่มีเครื่องชี้ว่าเรามีมานะมากน้อยแค่ไหน และเมื่อไหร่เกิดมานะ มานะก็จะเบียดสติให้ตกหายไปด้วยความใหญ่โตของมัน”

ฉันสะอึกอึ้ง ใจสะดุ้งไหวอยู่ข้างใน นึกละอายจนทำหน้าแทบไม่ถูก ฉันยอบหลังลงหมอบกราบศิโรราบ จิตใจเบาโล่งอย่างประหลาด จุดอับอันเป็นอีกฐานที่มั่นหนึ่งของกิเลสถูกเปิดเผย ไส้ที่อุดท่อปัญญาให้ตันอีกจุดหนึ่งถูกกระทุ้งให้เด้งพรวดออกมา รู้แล้วว่าทำไมพระเณรวัดนี้ถึงเรียบร้อยและสงบสำรวมกันนัก

มานะนั้นอย่างไรก็เป็นมานะ แม้แต่ความคิดว่าเราเป็นลูกศิษย์แต่พระพุทธเจ้าเท่านั้น ไม่ต้องฟังใครอื่น หากเก็บความคิดไว้กับตัว ในที่สุดก็ขยายขึ้นเป็น ‘ไม่มีใครดีเสมอเรา’ ไปโดยปริยาย

คำพูดแค่คำเดียวจากใครบางคนที่เป็นผู้รู้จริง ผู้ผ่านร้อนผ่านหนาวมามากกว่า อาจทำให้สิ่งที่เรากำลังติดถูกแทงทะลุทะลวง พัฒนาจิตแบบก้าวกระโดดไปได้ง่ายๆ และโดยมากปัญหาของนักภาวนาฝีมือดีก็มักจะหนีไม่พ้นเรื่องของอัตตามานะของผู้มี ‘ฝีมือดี’ นั่นเอง นักภาวนาจำนวนมากเลยได้เป็นคนเก่ง คนเด่น คนเชี่ยวชาญสติปัฏฐาน ๔ อยู่หลายปี หรือบางคนเคราะห์ร้ายหน่อยก็หลายชาติ กว่าจะมีใครมาตบหลังหนักๆให้พ่นสิ่งที่อมไว้แก้มตุ่ยหลุดออกมาได้

ฉันกราบขอให้ท่านเป็นครูบาอาจารย์ ไม่เคยนึกเคารพรักใครลึกซึ้งเท่าท่านมาก่อน ฉันขออนุญาตมาปฏิบัติภาวนาและขอรับคำแนะนำเพิ่มเติมจากท่านทุกอาทิตย์ ท่านตอบว่าจะมาพักปฏิบัติที่นี่เมื่อใดก็ได้ แต่เดือนหน้าตัวท่านเองกำลังจะไปอยู่ที่เชียงรายระยะหนึ่ง เพราะมีสาขาของครูบาอาจารย์ของท่านซึ่งกำลังอาพาธฝากให้ดูแล นับว่าน่าเสียดายยิ่ง ฉันถึงขนาดตั้งใจจะลงทุนซื้อตั๋วเครื่องบินเพื่อกราบท่านที่เชียงรายโดยเฉพาะทีเดียว

ท่านบอกเพียงว่าฉันมาถูกทางแล้ว ไม่ต้องพึ่งพาครูบาอาจารย์มากก็ได้ เพียรสำรวจและประเมินตนเองตามแนวที่กำลังปฏิบัติอยู่นั่นแหละ มีพระพุทธเจ้าเป็นครูใช่ไหมล่ะ นั่นแหละไม่มีครูที่ไหนอื่นยิ่งใหญ่กว่า และสอนได้ครบ สอนได้เร็วเท่าอีกแล้ว

นอกจากนั้นท่านยังเมตตาบอกให้ทราบว่ามรรคผลในปัจจุบันยังไม่ล้าสมัย มีพระและฆราวาสทำได้กันอยู่มาก เพียงแต่มรรคผลเป็นธรรมชาติลี้ลับ ไม่ปรากฏแสดงด้วยนิมิตหมายที่ชัดเจน พูดง่ายๆว่าธรรมชาติไม่แปะป้ายบอกไว้ว่านายคนนั้น นางคนนี้ได้มรรคผลถึงชั้นไหน และธรรมดาผู้ได้มรรคผลก็มักขวนขวายน้อย ปกปิดตนเอง เพราะไม่อยากหาเรื่องเดือดร้อนใส่ตัว ไม่มีใครอยากยืดอกเป็นพยานให้พระพุทธเจ้า ส่วนพวกที่หลงสำคัญผิดว่าตัวเองเป็นนั้นจะเสียงดัง ชอบป่าวประกาศ แล้วในที่สุดก็เกิดเรื่องงามหน้า ทำให้ชาวประชาเสื่อมศรัทธา พอมีกรณีอื้อฉาวบ่อยเข้าก็กลายเป็นไม่เชื่อลงไปถึงแก่นพุทธศาสนาไปเลย คือหมดศรัทธาแล้วว่ามรรคผลมีจริง หรือยังมีใครทำได้จริง เมื่อเกิดเสียงลือกันหนาหูว่ามรรคผลเป็นของล้าสมัย รากของพระศาสนาก็จะค่อยๆถูกถอน วันหนึ่งลำต้นทั้งหมดก็ไม่อาจยืนอยู่ได้

ท่านบอกว่าฉันเป็นคนรุ่นใหม่ มีความรู้ความเข้าใจแก่นสารของศาสนาก็ดีแล้ว คนของศาสนาอื่นเขาไม่ฝากแก่นไว้ในมือนักบวชพวกเดียว แต่ฝากไว้กับชาวบ้านธรรมดาด้วย ศาสนาถึงไม่ถูกทำลายง่าย สาระสำคัญสูงสุดในศาสนาก็ไม่ถูกลืมเร็ว ถ้าชักชวนฆราวาสด้วยกันมาเข้าใจได้อย่างนี้มากๆก็จะดี



:b38: / วันที่ ๖-๑๖: ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2009, 10:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๖-๑๖: ความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัด

สังขารขันธ์เป็นขันธ์ที่มีความพิสดารยิ่ง มีการแปรขบวนเป็นต่างๆได้หลากหลาย แม้แต่ ‘กรรม’ ก็เป็นส่วนหนึ่งของสังขารขันธ์ ดังนั้นสังขารขันธ์คือสิ่งที่ทำให้เราๆท่านๆทั้งหลายมีความแบ่งแยกแตกต่าง

หากเปิดคัมภีร์ดูจะพบว่าสังขารขันธ์จำแนกออกได้มากร่วมครึ่งร้อย โดยหลักจะแบ่งตามภาวะที่เป็นกุศลหรืออกุศล เพราะฉะนั้นในทางปฏิบัติเบื้องต้นจึงไม่นิยมท่องให้ครบแล้วสังเกตให้ทั่ว เว้นแต่จะมีสติเข้มแข็งถึงขีดหนึ่งแล้ว เมื่อกลับไปเปิดคัมภีร์และสังเกตตาม รวมทั้งเห็นกลไกอันชัดเจนตามหลักอภิธรรม เช่นนั้นจึงจะเกิดผลประโยชน์ได้ในแง่ความเห็นอนัตตาแจ่มแจ้ง

สังขารขันธ์ที่ครูบาอาจารย์พระป่ามักแนะนำให้ดูคือ ‘ความชอบ’ และ ‘ความชัง’ ความชอบกับชังนั้นดูง่ายและมีให้ดูทุกวัน เพราะมันเป็นปฏิกิริยาทางจิตที่มีต่อสิ่งกระทบรอบข้าง ซึ่งต้องมาโดนเราตลอด ต่อให้หลีกเร้นหายหน้าเข้าป่าหรือดำน้ำลึกเพียงใด อย่างไรก็ต้องเจอวันยังค่ำ

และความชอบกับความชังนั้น ดูดีๆ ดูบ่อยๆแล้วก็จะสาวเข้าไปถึงอาการ ‘ทะยานอยาก’ ของจิตได้ง่าย ความทะยานอยากหรือ ‘ตัณหา’ นี่เองที่พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นต้นตอแห่งทุกข์ หากเห็นชอบกับชังบ่อยจนกระทั่งรู้วาระเกิด รู้วาระดับของมันเท่าทันแจ่มแจ้ง ในที่สุดความชอบชังก็จะถูกปัดไปรวมกับ ‘สิ่งที่เกิดขึ้นแล้วต้องดับลงเป็นธรรมดา’ อย่างหนึ่งในใจเรา

ช่วงนี้เมื่ออยู่ในระหว่างวันธรรมดา หรือแม้แต่นั่งสมาธิ เดินจงกรมในช่วงพิเศษของวัน ฉันจะสังเกตกายและเวทนาน้อยลง แล้วหันมาเพิ่มความสนใจสัญญาและสังขารมากขึ้น ส่วนวิญญาณขันธ์ยังไม่ได้ดูถนัดนัก

เหตุที่มาให้ความสนใจสัญญาเพราะเห็นสัญญาดับไปแต่ละครั้งแล้วว่างโล่งอย่างบอกไม่ถูก ปล่อยวางอะไรๆลงจนเบาหวิวกว่าที่ผ่านมาทั้งหมด และที่สนใจสังขารก็เพราะเมื่อเห็นปฏิกิริยาทางใจเป็นชอบเป็นชังบ่อยเข้า ก็เริ่มรู้สึกถึงความนิ่งรู้อีกแบบหนึ่งที่เป็นกลาง มีความเงียบกริบเหมือนอากาศว่างกำลังเฝ้าติดตามดูระลอกฝุ่นทราย ซัดมาแล้วซัดไป

แรกๆที่สังเกตเห็นปฏิกิริยาทางใจเป็นชอบชังดับไป จิตจะย้อนกลับไปหาฐานสติคือลมหายใจหรืออิริยาบถตามความเคยชิน อย่างเช่นเมื่อมีความกระทบกระทั่งในที่ทำงาน โดนว่าว่างานของฉันผิดพลาดหรือใช้ไม่ได้ ใจฉันจะ ‘ชัง’ เสียงตินั้นทันที รู้สึกได้ถึงแรงทะยานแล่นออกไปปะทะเป้าหมายแห่งความชังวูบวาบ แต่พอเกิดสติรู้ว่านี่แค่ปฏิกิริยาทางลบของใจ เป็นสังขารขันธ์อย่างหนึ่ง สติก็กลับเข้าฐานที่มั่น คือจะลากลมหายใจเข้า แล้วระบายลมหายใจออกยาวเป็นพิเศษ

เมื่อมี ‘โอกาสทอง’ เกิดปฏิกิริยาทางใจเป็นชังขึ้นอีก ตั้งสติรู้ความชังได้อีก อาการวูบแรงๆก็ลดกำลังลงมาก และเห็นขณะแห่งการแผ่วหายชัดเจนขึ้น ไม่ต้องลากลมหายใจยาวเป็นพิเศษ และสิ่งที่สังเกตได้คือเมื่อเห็นอนิจจังของความชังชัดขึ้น พอย้อนกลับมารู้ลมหายใจ ลมหายใจก็ปรากฏโดยความเป็นอนิจจังทันทีเช่นกัน ไม่ต้องกำหนดพิจารณาว่าเข้ามาแล้วต้องออกไปแต่อย่างใด

ฉันถนัดกำหนดความชังมากกว่าความชอบ เพราะเดิมเป็นคนเจ้าโทสะ เวลาชังน้ำหน้าใครหรือไม่พอใจสถานการณ์ไหนก็จะโกรธวูบวาบรุนแรงห้ามใจยาก ถึงวันนี้ก็ยังมีอาการหงุดหงิดบ่อย และความหงุดหงิดนั้นก็คือลักษณะของความชัง ความไม่ชอบใจนั่นเอง ก็นับเป็นโอกาสดี ยิ่งมีอะไรให้ดูบ่อย ก็ยิ่งชำนาญดูมากขึ้นเท่านั้น แค่เชื่อตัวเองว่าจะหมั่นดูทุกครั้งที่ความชังเกิด ก็อุ่นใจแล้วว่าจะมีความก้าวหน้าพัฒนาขึ้น

และพัฒนาการที่ว่าก็คือความเป็นกลางของจิต เวลามีเครื่องกระทบอันใด จิตจะมีปฏิกิริยานิดเดียว แล้วเข้าสู่ภาวะรู้เป็นกลางทันที ความเป็นกลางนั้นหาได้เกิดจากความจงใจวางเฉย แต่เป็นกลางเองตามธรรมชาติ เหมือนโลกทั้งโลกมีความหมายน้อยลง ใจที่เงียบกริบเฝ้ารู้เฝ้าดูความเคลื่อนไหวดีร้ายของสรรพสิ่งต่างหาก ที่เพิ่มความหมายมากขึ้นทุกที

สรุปความเปลี่ยนแปลงที่เห็นได้ชัดในช่วงนี้คือมีอาการตรึกนึกน้อยลงมาก เปลี่ยนเป็นรู้ตื่นเงียบกริบแทน รู้แค่ไหนพอแค่นั้น ไม่ปรุงแต่งต่อ ไม่ลังเลสงสัย ไม่คาดหวังอะไรๆเลย พอใจแต่ความเห็นเกิดดับในปัจจุบันท่าเดียว



:b38: /...วันที่ ๑๗: ขันธ์อื่นมีอีกไหม?

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2009, 10:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๑๗: ขันธ์อื่นมีอีกไหม?

ว่างๆขึ้นมา เมื่อสติไม่ตั้งรู้อยู่ในขอบเขตกายใจ ความเป็นนักศึกษาและคนช่างคิดก็ทำให้ฉันเกิดคำถามได้สารพัน เช่นอยู่ๆก็คิดขึ้นมาว่าธรรมชาติอื่นที่ทำให้หลงยึดมั่นถือมั่น เป็นที่ตั้งของอุปาทาน ซ่อนแฝงอยู่ในภพอื่น ไม่เป็นที่รู้จักเหมือนขันธ์ ๕ ยังมีอยู่ไหม? นี่ค่อนข้างจะออกไปทางแนวจินตนาการลี้ลับจำพวกนิยายวิทยาศาสตร์หน่อย แต่ฉันก็นึกอยากรู้ และคำตอบของผู้ที่หยั่งรู้ทั่วจักรวาลที่เชื่อได้ก็มีอยู่คนเดียวคือพระพุทธเจ้า

อันเนื่องจากเพิ่งอ่านปุณณมสูตรมาได้ไม่กี่วัน ฉันจึงคุ้นตาและกลับไปเปิดอ่านใหม่อีกครั้ง ก็ได้คำตอบที่ตรงกับความสงสัยจริงๆ นั่นคือภิกษุทูลถามพระพุทธเจ้าว่าอุปาทานขันธ์นั้นมีเพียง ๕ คือรูปอันเป็นที่ตั้งอุปาทาน เวทนาอันเป็นที่ตั้งอุปาทาน สัญญาอันเป็นที่ตั้งอุปาทาน สังขารอันเป็นที่ตั้งอุปาทาน วิญญาณอันเป็นที่ตั้งอุปาทานเท่านี้หรือ? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ใช่แล้ว อุปาทาน

ขันธ์มีเพียง ๕ ประการเท่านี้


ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าที่จะให้เรียกว่า ‘ขันธ์’ ได้นั้น มีข้อจำกัดอย่างใดอย่างหนึ่งหรือไม่? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ อย่างใดอย่างหนึ่ง ทั้งที่เป็นอดีต อนาคต และปัจจุบัน เป็นไปในภายในหรือมีในภายนอกก็ตาม หยาบหรือละเอียดก็ตาม เลวหรือประณีตก็ตาม อยู่ในที่ไกลหรือในที่ใกล้ก็ตาม เหล่านี้ย่อมมีชื่อเรียกว่าขันธ์ได้ทั้งสิ้น

ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ มีความต่างกันอยู่หรือไม่? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า มี! คือบางคนอยากมีรูปอย่างนี้ เวทนาอย่างนี้ สัญญาอย่างนี้ สังขารอย่างนี้ วิญญาณอย่างนี้ในอนาคตเบื้องหน้า ด้วยความอยากมีอยากเป็นอย่างใดอย่างหนึ่งนี่เอง คือความต่างแห่งความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ทั้ง ๕

ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าอะไรเป็นเหตุปัจจัยให้บอกได้ว่าอย่างไหนคือรูป อย่างไหนคือเวทนา อย่างไหนคือสัญญา อย่างไหนคือสังขาร อย่างไหนคือวิญญาณ? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ธาตุ ๔ (ดิน น้ำ ไฟ ลม) เป็นเหตุปัจจัยแห่งการบอกว่าอย่างนี้คือรูปขันธ์ ผัสสะเป็นเหตุปัจจัยแห่งการบอกว่าอย่างนี้คือเวทนาขันธ์ ผัสสะเป็นเหตุปัจจัยแห่งการบอกว่าอย่างนี้คือสัญญาขันธ์ ผัสสะเป็นเหตุปัจจัยแห่งการบอกว่าอย่างนี้คือสังขารขันธ์ นามรูปเป็นเหตุปัจจัยแห่งการบอกว่าอย่างนี้คือวิญญาณขันธ์

ฉันอ่านจบก็เกิดความยินดีในคำตอบ นี่แปลว่าถ้าดูขันธ์ ๕ ในโลกนี้จบ ทำลายอุปาทานเสียได้แล้ว ก็เป็นอันว่าไม่ต้องตามไปทำลายกันที่ภพอื่นภูมิอื่นอีก เป็นอรหันต์แล้วเหมือนตาลยอดด้วนก็เพราะเหตุนี้ คือจบที่ขันธ์ ๕ ปัจจุบันนี้แล้วไม่มีการต่อขันธ์ที่อื่นอีก

อันนี้ถือเป็นประสบการณ์อย่างหนึ่ง บางสูตรนั้นเราอ่านเฉพาะจุดที่สนใจ แต่ที่เหลืออาจข้ามๆไปก่อน แล้วมาพบในภายหลังว่ามีคำตอบที่ทำให้ข้อสงสัยเพิ่มเติมหายไปด้วย



:b38: /...วันที่ ๑๘-๒๕: ทำไมถึงยังติดข้องในขันธ์?

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2009, 10:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๑๘-๒๕: ทำไมถึงยังติดข้องในขันธ์?

ช่วงนี้ปฏิบัติก้าวหน้าขึ้นไปเรื่อยๆ จิตเงียบนิ่งตื่นรู้เห็นความเกิดดับทั้งหยาบและละเอียด มีบางช่วงงานเยอะมาก ต้องครุ่นคิดหนักหน่วงและใช้เวลายืดยาว แต่พอเสร็จงานแล้วกำหนดอาการตรึกนึก เห็นความตรึกนึกเกิดดับสองสามรอบก็เบาลง กลับมามีความสุขแบบพักอยู่กับลมหายใจและอิริยาบถได้อย่างสบาย

แต่พอท้ายๆของช่วงนี้ เมื่อใกล้วันสิ้นเดือนเข้ามา ฉันก็เกิดความสงสัยขึ้นมาอีกว่าเอ๊! เห็นขันธ์เกิดดับก็แล้ว มานะก็น้อยลงแล้ว ทำไมตัดอุปาทานในขันธ์ไม่สำเร็จเสียทีหนอ?

เลยได้ย้อนกลับไปอ่านปุณณมสูตรอีกรอบ เพราะคุ้นว่ามีคำถามและคำตอบชนิดนี้อยู่ ซึ่งฉันก็ได้คำตอบชนิด ‘เปิดโลก’ จากพระพุทธเจ้าดังคาด คือเมื่อภิกษุทูลถามว่าอุปาทานขันธ์ ๕ เหล่านี้มีอะไรเป็นมูล? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า มียินดีเต็มใจเป็นมูล

ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าอุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ เป็นอย่างเดียวกันหรือไม่ หรือว่าอุปาทานนั้นเป็นอื่นจากอุปาทานขันธ์ ๕ กันแน่? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า อุปาทานกับอุปาทานขันธ์ ๕ จะอย่างเดียวกันก็มิใช่ จะเป็นอื่นจากกันก็ไม่เชิง ความกำหนัดพอใจในอุปาทานขันธ์ ๕ นั่นแหละเป็นตัวอุปาทานในอุปาทานขันธ์ ๕ นั้น

ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าความเห็นว่าขันธ์เป็นตัวของตนมีขึ้นได้อย่างไร? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า ปุถุชนผู้ไม่ได้สดับสัทธรรม เป็นผู้ไม่ได้เห็นพระอริยะ ไม่ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้ฝึกตนในธรรมของพระอริยะ ไม่ได้เห็นสัตบุรุษ ไม่ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ไม่ได้ฝึกในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมเล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในอัตตาบ้าง เล็งเห็นอัตตาในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง ด้วยการเล็งเห็นอย่างนี้แหละความเห็นว่าขันธ์เป็นตัวของตนจึงมีได้

ภิกษุรูปเดิมทูลถามต่อว่าความเห็นว่าขันธ์เป็นตัวของตนจะหายไปได้อย่างไร? พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า อริยสาวกผู้ได้สดับแล้วในธรรมวินัยนี้ เป็นผู้ได้เห็นพระอริยะ ฉลาดในธรรมของพระอริยะ ฝึกดีแล้วในธรรมของพระอริยะ ได้เห็นสัตบุรุษ ฉลาดในธรรมของสัตบุรุษ ฝึกดีแล้วในธรรมของสัตบุรุษ ย่อมไม่เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณโดยความเป็นอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาว่ามีรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง ไม่เล็งเห็นรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณในอัตตาบ้าง ไม่เล็งเห็นอัตตาในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณบ้าง อย่างนี้แหละ ความเห็นว่าขันธ์เป็นตัวของตนจะหายไปได้

ฉันอ่านแล้วก็ได้ข้อสรุปคือ ถ้าเล็งเห็นความเกิดดับในขันธ์ ๕ ไม่ใช่อัตตา ไม่น่ายึดมั่นถือมั่นอยู่อย่างนี้ ในที่สุดความเห็นว่าขันธ์ ๕ เป็นตัวเป็นตนก็จะหายไปเอง แต่ไม่ใช่ทวงถามว่าเมื่อไหร่ เพราะการทวงถามนั้นเองจะย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของอุปาทาน คือจะ ‘ยินดีเอามรรคผลให้ตัวฉัน’ ขณะที่เราเต็มใจให้ความคิดเกิดขึ้น ขณะนั้นก็มีอาหารเลี้ยงอุปาทานอีกมื้อหนึ่งแล้ว

คราวต่อไปเมื่อมีเอ๊ะขึ้นมานิดเดียว สงสัยว่าทำไมไม่ได้มรรคผลเสียที ฉันก็ดูเข้าไปในขณะจิตนั้นทีเดียวว่าความยินดีเต็มใจที่จะมีสังขารขันธ์นั้นๆบังเกิดขึ้นแล้ว เมื่อเห็นละเอียดว่าเป็นแรงทะยานบางๆที่มีใยแน่นเหนียว จิตก็ละวางเสียได้ตามธรรมชาติ และเห็นมันดับไปไม่ต่างกับลมแล้งอย่างหนึ่งเท่านั้น



:b38: /....วันที่ ๒๖-๓๐: มุมมองใหม่เกี่ยวกับสมาธิและอุเบกขา

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2009, 10:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๒๖-๓๐: มุมมองใหม่เกี่ยวกับสมาธิและอุเบกขา

แต่เดิมฉันตั้งแง่ว่าถ้าจิตยังไหวๆ ไม่ถือว่าเป็นสมาธิอันเป็นองค์ที่ ๖ ของโพชฌงค์ แต่มาบัดนี้ หลังจากปฏิบัติรู้ขันธ์โดยความเป็นภาวะเกิดดับได้หนึ่งเดือนเต็ม ความเชื่อเดิมก็เปลี่ยนไปเล็กน้อย คือเห็นว่าสมาธิในโพชฌงค์นั้น เอาแค่ตั้งมั่นชั่วคราวพอเห็นขันธ์เกิดดับแบบเงียบกริบได้ก็พอ ไม่ต้องถึงขนาดตั้งมั่นจนไม่ไหวติงเลยแบบฌาน การรู้เกิดดับโดยไม่มีปรุงแต่งหลังรู้นั่นเอง จิตจะมาตั้งมั่นรู้อยู่กับจิตเอง ทิ้งฐานสติหยาบๆเช่นลมหายใจและอิริยาบถชั่วคราวจนกว่าจิตจะหยาบลง อันนั้นก็ต้องหันกลับไปเกาะราวใหม่เป็นธรรมดา

เมื่อจิตตั้งมั่นอยู่กับสภาพรู้ของตัวเอง ไม่เพ่งจุดใดจุดหนึ่ง ไวต่อการทราบชัดว่าขันธ์หนึ่งเกิดขึ้น ขันธ์นั้นดับลง ในที่สุดแม้แต่ความตั้งมั่นรู้ก็กลายเป็นแค่สภาพหนึ่ง ไม่น่ายินดี ไม่น่าเสียใจ ความวางเฉยในจิตก็ปรากฏเอง

พอสักแต่ปฏิบัติเพื่อรู้เห็นเกิดดับ จิตไม่มีความจงใจ ก็เผอิญได้อ่านสูตรอันมีค่าอีกสูตรหนึ่งคือเจตนาสูตร ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสฝากไว้แก่ผู้อยู่ในระหว่างทางแห่งความเพียรเพื่อมรรคผล สรุปโดยรวมคือไม่ต้องอยาก ไม่ต้องตั้งเจตนา แต่ถ้าทำเหตุถูก ผลที่ถูกย่อมปรากฏตามมาเอง ซึ่งมองย้อนเส้นทางของตัวเองแล้วก็เห็นชัดว่ากำลังอยู่ที่ตรงไหน

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีล ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอความไม่เดือดร้อนจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความไม่เดือดร้อนเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีศีล สมบูรณ์ด้วยศีลนี้ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อน ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอความปราโมทย์จงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ความปราโมทย์เกิดขึ้นแก่บุคคลผู้ไม่มีความเดือดร้อนนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีความปราโมทย์ ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอปีติจงเกิดขึ้นแก่เราเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่ปีติเกิดขึ้นแก่บุคคลผู้มีความปราโมทย์นี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติ ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอกายของเราจงสงบเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่กายของบุคคลผู้มีใจประกอบด้วยปีติสงบนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีกายสงบแล้ว ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอเราจงเสวยสุขเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีกายสงบแล้วเสวยสุขนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีสุข ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอจิตของเราจงตั้งมั่นเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่จิตของบุคคลผู้มีสุขตั้งมั่นนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่น ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอเราจงรู้จงเห็นตามเป็นจริงเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้มีจิตตั้งมั่นแล้วรู้เห็นตามเป็นจริงนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริง ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่า ขอเราจงเบื่อหน่ายเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้รู้เห็นตามเป็นจริงเบื่อหน่ายนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้เบื่อหน่าย ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอเราจงคลายกำหนัดเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลผู้เบื่อหน่ายคลายกำหนัดนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

ดูกรภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้มีจิตคลายกำหนัดแล้ว ไม่ต้องทำด้วยเจตนาว่าขอเราจงทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสนะเถิด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ข้อที่บุคคลคลายกำหนัดแล้วทำให้แจ้งซึ่งวิมุตติญาณทัสนะนี้ ย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

ธรรมทั้งหลายย่อมหลั่งไหลไปสู่ธรรมทั้งหลาย ธรรมทั้งหลายย่อมยังธรรมทั้งหลายให้บริบูรณ์

เพื่อการถึงฝั่งคือนิพพาน จากสถานอันมิใช่ฝั่งคือสังสารวัฏ ด้วยประการฉะนี้แล



:b42: สรุปสิ่งที่ได้จากเดือนที่ ๔ :b42:

๑) เห็นขันธ์เกิดดับทั้งหยาบและละเอียด อย่างหยาบคือต้องตั้งใจกำหนด และผลอาจเป็นความปรุงแต่งตามหลังความรู้เกิดดับ อย่างละเอียดคือไม่มีความตั้งใจกำหนด (เพราะจิตตื่นรู้อยู่เอง) และผลจะเป็นความเงียบนิ่งตื่นรู้แบบไม่ต้องมีฐานที่ตั้งหยาบๆ

๒) ฉันรู้สึกว่ามาเกินครึ่งทางมรรคผล เบาหัวอก โลกปรากฏเป็นความโล่งว่าง ถึงยังไม่บรรลุธรรมก็พอใจในสภาพที่ตัวเองเข้าถึงมากพออยู่แล้ว


:b38: /... เดือนที่ ๕: มุงหลังคากันฝนรั่วรด

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2009, 10:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: เดือนที่ ๕: มุงหลังคากันฝนรั่วรด

เผลอแผล็บเดียวขึ้นเดือนใหม่อีกแล้ว เวลาผ่านไปเร็วเหมือนติดปีก แต่ ๔ เดือนที่ผ่านมาไม่สูญเปล่า ทั้งชีวิตของฉันเกิดมาก็คุ้มแล้วกับการมี ๔ เดือนก่อนนี้ ถึงวันนี้ฉันเริ่มเข้าใจหลายสิ่งมากขึ้น อย่างน้อยที่สุดก็เล็งเห็นว่าแม้จะแสนดีเพียงใด ปราดเปรื่องอัจฉริยะปานไหน หรือกระทั่งมีความเข้าใจเรื่องอนิจจัง แจ่มแจ้งเรื่องอนัตตาเพียงใด ก็ไม่อาจมีใจหลุดพ้นไปได้เลย ตราบใดที่สติยังไม่ทำงาน ยังไม่ส่องรู้ดูเห็นกายใจเกิดดับเป็นขณะๆเพื่อถอนอุปาทานทั้งปวง

ในอดีตฉันเคยนึกๆเหมือนกันว่าแต่ละคนเหมือนมีเส้นทางที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทุกเหตุการณ์ ทุกบุคคลที่ผ่านเข้ามาในชีวิตเราคล้ายถูกกำหนดไว้แบบ หนึ่ง สอง สาม ตามลำดับ เรามีหน้าที่เพียงตัดสินใจโต้ตอบกับเรื่องราวในแต่ละวัน

แต่ชีวิตฉันใน ๔ เดือนที่ผ่านมาคือการพลิกเปลี่ยนครั้งมโหฬาร ไม่มีใครมาชักนำหรือหนุนหลัง ฉันเองเป็นคนทำให้มันต่างไป ฉันไม่ได้อยู่บนเส้นทางใหม่ด้วยความบังเอิญ ทุกอย่างเกิดขึ้นด้วยการเลือกและลงมือทำ

วันข้างหน้าจะเป็นอย่างไรก็ไม่รู้ มีคิวของกรรมดำรอเล่นงานอยู่หรือเปล่าก็ไม่ทราบ ทราบแต่ว่าเวลานี้ถึงตายดับไปก็ไม่เสียดายชีวิตแล้ว เพราะได้ชื่อว่าเป็นผู้พบพุทธศาสนาอย่างแท้จริง และมั่นใจว่าจะมีความเป็นพุทธติดจิตติดวิญญาณไปทุกภพทุกชาติ ถึงแม้ชาตินี้จะพลาดมรรคผลไป เพราะเจริญสติปัฏฐานจนกระทั่งเห็นกายใจไม่เที่ยงแล้ว มุ่งหมายความหลุดพ้นจากอุปาทานอย่างถูกทางแล้ว หรือหากวันหนึ่งจะอยู่ในสภาพช่วยตัวเองไม่ได้ ก็ถือว่าฉันใช้เวลาในช่วงที่สามารถช่วยตัวเองได้ไปอย่างคุ้มค่าที่สุดแล้ว สรุปคือชาตินี้ไม่มีขาดทุน ไม่มีการย้อนกลับมาเสียดายว่าสายเกินไป

และที่ปฏิบัติผ่านมาทุกเดือนก็ไม่ใช่ได้หน้าแล้วลืมหลัง ทุกวันนี้ก็ยังใช้ลมหายใจและอิริยาบถเป็นราวเกาะ เมื่อสติตั้งหลักได้ก็ดูเวทนา ดูสภาวจิต เปรียบเทียบภาวะต่อภาวะไปเรื่อย เมื่อจิตสงบละเอียดลงตามธรรมชาติก็ดูขันธ์ ๕ ด้วยความนิ่งรู้เงียบกริบไป กระทั่งครึ่งหนึ่งข้างในฉันกลายเป็นอีกคนหนึ่งที่พอใจใช้เวลาในชีวิตไปกับการเห็นกายใจเกิดดับ แม้อีกครึ่งหนึ่งข้างนอกยังเป็นคนเดิมที่มีปฏิสัมพันธ์กับชาวโลกเช่นเคยๆมาก็ตาม

และเพราะยังมีอีกครึ่งหนึ่งเป็นคนเดิม ฉันก็ตระหนักด้วยความประหลาดใจเหลือแสน ว่าที่ผ่านมาเหตุใดจึงเป็นอย่างที่เคยเป็น เวลาตามองอะไรหรือหูได้ยินอะไร ก็หลงยึดมั่นมาตลอดว่าสิ่งนั้นกระทบ ‘ตัวเรา’ สิ่งนั้นมีความเกี่ยวเนื่องด้วยเรา ต่อเมื่อกะเทาะเอาความยึดมั่นหยาบๆออกไปทีละชั้น นับแต่ผิวนอกสุดเช่นลมหายใจ อิริยาบถ เวทนา สภาวจิต ลงลึกไล่เรื่อยมาจนกระทั่งถึงความละเอียดระดับขันธ์ ๕ คราวนี้ค่อยแจ่มแจ้งว่าหากเราเห็นอะไรหรือได้ยินอะไรด้วยสติรู้ชัดตามจริง โลกจะปรากฏชัดตามจริงว่าเมื่อเกิดผัสสะกระทบใด ใจจะมีปฏิกิริยาเป็นชอบชังเสมอๆ และความชอบชังอย่างขาดสตินั่นเองทำให้เกิดความยึดมั่นถือมั่นผิดๆขึ้น นึกว่าใจของเราเป็นผู้มีปฏิกิริยา นึกว่าปฏิกิริยาทางใจเป็นของเรา

นี่เป็นการเห็นตามลำดับคุณภาพสติอย่างแท้จริง และเมื่อฉันทบทวนว่าตนเองกำลังอยู่ ณ จุดใดของสติปัฏฐาน ๔ ก็พบว่าควรแก่การฝึกรู้อายตนะ ๖ โดยความเป็นอนัตตาได้

อายตนะแปลว่าที่ต่อ เครื่องติดต่อ แดนต่อความรู้ นอกจากนั้นคำว่าอายตนะโดยตัวเองยังอาจหมายถึงสถานีรับหรือสถานีส่งผัสสะก็ได้ เช่นประสาทตาเป็นสถานีรับ ส่วนรูปทรงสีสันทั้งหลายในโลกเป็นสถานีส่ง ตรงนี้ทำให้มีทั้งอายตนะภายในและอายตนะภายนอกเป็น ๖ คู่

อายตนะภายในได้แก่ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ โดยทั่วไปเมื่อคนรุ่นใหม่อย่างพวกเราเรียนวิทยาศาสตร์ ก็จะเห็นกล่าวเน้นกันเพียงอายตนะหยาบคือ ตา หู จมูก ลิ้น และกาย แต่ในทางพุทธ โดยเฉพาะในแง่มุมของการปฏิบัติธรรมภาวนา เราจะพูดถึงอายตนะคือใจด้วย

อายตนะภายนอกได้แก่ รูป เสียง กลิ่น รส สิ่งสัมผัสกาย และอารมณ์ที่เกิดกับใจ สำหรับอายตนะภายนอกข้อสุดท้ายนั้นมีใจเท่านั้นที่รู้ได้ ยกตัวอย่างเช่นความคิด ภาพในความฝัน นิมิตสมาธิ หรือกระทั่งนิพพาน พูดให้ง่ายโดยย่นย่อคือนามธรรมที่จับต้องไม่ได้ทั้งปวง ถูกรู้ได้ผ่านอายตนะคือใจอย่างเดียว นี่คือเหตุผลว่าทางการปฏิบัติแล้ว เราจะถือว่าใจเป็นอายตนะที่ใหญ่ ละเว้นไม่พูดถึงไม่ได้



หลักการเจริญสติรู้อายตนะ ๖

๑) รู้นัยน์ตา รู้รูปที่เห็น รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยตาประจวบรูป

๒) รู้หู รู้เสียงที่ได้ยิน รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยหูประจวบเสียง

๓) รู้จมูก รู้กลิ่น รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยจมูกประจวบกลิ่น

๔) รู้ลิ้น รู้รส รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยลิ้นประจวบรส

๕) รู้กาย รู้สิ่งถูกต้อง รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยกายประจวบสิ่งถูกต้อง

๖) รู้ใจ รู้ความนึกคิด รู้กิเลสเครื่องผูกใจที่อาศัยใจประจวบความนึกคิด

นอกจากรู้กิเลสเครื่องผูกใจในขณะแห่งการประจวบกันระหว่างอายตนะภายในกับอายตนะภายนอกแล้ว กิเลสที่ยังไม่เกิดจะเกิดด้วยเหตุใดก็รู้ (และสำรวมระวัง) กิเลสที่เกิดแล้วจะละได้อย่างไรก็รู้ กิเลสที่ละได้แล้วจะไม่เกิดอีกได้อย่างไรก็รู้

ทีแรกเมื่อศึกษาผิวๆ ฉันก็นึกว่าหลักการกำหนดสติรู้คู่อายตนะเป็นเรื่องเล็กๆง่ายๆ เหมือนการสำรวมระวังให้หูตาอยู่ในระเบียบวินัย ไม่เอาไปส่องสิ่งที่ไม่ควรส่อง แต่เมื่อผ่านการเจริญสติปัฏฐานมาถึงเดี๋ยวนี้ มุมมองก็เปลี่ยนไปอย่างสิ้นเชิง เห็นว่า ณ จุดนี้คือการเตรียมโค่นคู่ต่อสู้คือกิเลสลงไปทีละด่านเลยทีเดียว

อย่างเช่นที่ฉันบันทึกไว้ในเดือนก่อนว่าเมื่อกิเลสห่อหุ้มจิตหนาเตอะเริ่มเบาบางลง ก็จะเริ่มเห็นอะไรที่ไม่เคยเห็นมากขึ้น เช่นแม้กระทั่งความยินดีเต็มใจให้สังขารขันธ์เกิด

แต่ละครั้งที่รู้ว่าอายตนะภายในภายนอกคู่ใดประจวบกันแล้วเกิดกิเลสเครื่องผูกใจนั้น มีความสำคัญมาก เพราะจะทำให้เราประจักษ์และตระหนักอย่างแท้จริงว่ากิเลสยังมีด้วยการร่วมมือกันระหว่างคู่อายตนะนั้นๆ หากรู้ชัดและค่อยๆลิดรอนใยอันแน่นเหนียวลงได้ ก็จะเป็นการเขยิบเข้าใกล้ประตูชัยคือมรรคผลยิ่งขึ้นเรื่อยๆ เพราะคำว่า ‘กิเลสเครื่องผูกใจ’ นั้นเปรียบเสมือนโซ่หรือเครื่องพันธนาการที่ยึดจิตเราไว้ไม่ให้เป็นอิสระ เมื่อเรากระทำต่อเครื่องผูกใจเสมือนเอาเลื่อยไปเลื่อยโซ่ทีละน้อย และไม่เปิดโอกาสให้โซ่ใหม่เข้ามาผูกเพิ่ม ก็แปลว่ามีสิทธิ์นับวันถอยหลังสู่อิสรภาพได้



:b38: /...วันที่ ๑: วันแห่งการเปลี่ยนแปลง

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.ย. 2009, 10:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ


:b43: วันที่ ๑: วันแห่งการเปลี่ยนแปลง

เริ่มวันที่คู่แข่งของฉันได้เป็นหัวหน้าแผนกเต็มตัว เขาเปลี่ยนชีวิตใหม่ของเขา ฉันก็เปลี่ยนชีวิตใหม่ของฉัน เราทักทายกันตามปกติ เขาไม่วางฟอร์ม คุยกับฉันในฐานะที่ปรึกษาตามสัญญา อย่างน้อยก็ในวันแรกที่นั่งแป้นหัวหน้าแผนกคนใหม่

ถึงเดี๋ยวนี้ฉันไม่รู้สึกรู้สาอะไรกับตำแหน่งและความก้าวหน้าทางโลกสักเท่าไหร่แล้ว เห็นคู่แข่งก้าวหน้าในหน้าที่การงาน เป็นใหญ่เป็นโตเกินฉัน เป็นหัวหน้าฉัน เป็นผู้มีสิทธิ์ให้คุณให้โทษกับฉัน ก็ไม่เดือดร้อนอยากดิ้นเร่าเป็นเด็กถูกแย่งของเล่น นี่คือการแสดงฤทธิ์ของพระธรรม เมื่อใครทำใจให้เสมอธรรมแล้ว ย่อมประสบกับความเยือกเย็นจากภายใน แม้โลกภายนอกจะขึ้นลงเพียงใดก็ตาม กล่าวได้ว่าพระธรรมให้ฉันยิ่งกว่าความก้าวหน้าในการงาน เพราะแม้แต่การต้องย่ำอยู่กับที่แล้วเห็นคู่แข่งแซงหน้าก็ไม่ทำให้เป็นทุกข์ได้เลย ยังหน้าชื่นรื่นใจอยู่เหมือนเดิม ขอแค่ทำงานมีเงินพอดำรงอัตภาพเพื่อปฏิบัติธรรมต่อได้ ฉันก็พึงใจพอแล้ว ความพอนั่นแหละที่พุทธศาสนาให้กับฉัน ความพอนั่นแหละไม่อาจขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ใดในสากลโลกบันดาลได้

หลังจากได้รับการสั่งสอนจากพระอาจารย์ที่วัดในชลบุรี ฉันเกิดความตระหนักขึ้นมาอย่างหนึ่งคือเราจะรู้ว่ากิเลสมากขึ้นหรือน้อยลงนั้น บางครั้งต้องอาศัยเครื่องกระทบจากภายนอกมาช่วยพิสูจน์ เหมือนใครสักคนรู้สึกว่ามีความรู้มาก หากปราศจากข้อสอบหรือคนถามปากเปล่า ก็ไม่ทราบจะเอาอะไรไปวัดว่ารู้มากหรือรู้น้อยเพียงใด หากเราหลีกเลี่ยงหรือไม่เผชิญหน้ากับเครื่องทดสอบกิเลส ก็เท่ากับเปิดโอกาสให้หลงติดอยู่กับความสงบทางใจปลอมๆ ความสงบอันเกิดจากการหลีกเลี่ยงสิ่งเร้าจะเป็นประโยชน์อันใดต่อผู้หวังหลุดพ้นอย่างแท้จริงเล่า? โลกเขาส่งอาหารมาป้อนให้ปัญญาเติบโต ถ้ามัวแต่กลัวขม กลัวขื่น แล้วเมื่อไหร่จะแข็งแรงพอไปวัดดวงกับกิเลสได้?

มุมมองของฉันเปลี่ยนไปแล้ว คนธรรมดาน่าอิจฉาตรงไหน? พวกเขาเต็มไปด้วยความไร้สติ ติดวนอยู่กับทุกข์ทางใจสารพัด เหมือนอดอยากปากแห้งไม่มีข้าวน้ำไว้ดื่มกิน การเลื่อนตำแหน่งในสายตาภายนอกคือเป็นใหญ่เป็นโตมากขึ้น เงินเดือนสูงขึ้น มีโอกาสได้หน้าบ่อยขึ้น แต่ถ้ามองในมุมของสุขทุกข์ภายใน ฉันเห็นว่าเขามีภาระมากขึ้น เพิ่มเวลาทำงานมากขึ้น และเจอแรงกดดันจากความคาดหวังของผู้ใหญ่หนักขึ้น แน่นอนว่าคนในโลกเห็นเป็นข้อแลกเปลี่ยนที่คุ้มค่า แต่สำหรับใจที่เริ่มโบยบินกลับคืนสู่ธรรมชาติของฉัน กลับเห็นชัดยิ่งกว่าชัดว่าตำแหน่งและยศศักดิ์ทางโลกนั้น ยิ่งสูงขึ้นเท่าไหร่ก็ยิ่งเหมือนเพิ่มจำนวนโซ่ตรวนมากขึ้นเท่านั้น

คำว่า ‘ความก้าวหน้า’ มีหลายแบบ ผู้ที่หวังความก้าวหน้าทางจิตวิญญาณมักมีมุมมองที่พลิกกลับเป็นคนละด้านกับผู้ที่หวังความก้าวหน้าทางโลก ว่ากันไม่ได้ ขึ้นอยู่กับใครจะมองเห็นแง่ไหนมุมใดของชีวิต ความจริงถ้าทำงานพอกินพอเก็บ ก็ควรแก่การพึงใจไม่น่าเดือดร้อนอะไรแล้ว แต่ธรรมชาติของมนุษย์จะแสวงหาสิ่งที่ตัวเองยังไม่มีไปเรื่อยๆ เรียกว่าถ้าให้โลกทั้งใบ ก็จะเอาดวงจันทร์ ดาวอังคาร เรื่อยไปจนกว่าจะลืมตาตื่นขึ้นมางงงันว่านี่เราจะเป็นลาวิ่งตามเหยื่อที่เขาแขวนไว้บนไม้ล่อตาทำไม? คนส่วนใหญ่ตายก่อนจะมีโอกาสลืมตาตื่นขึ้น คนอีกส่วนหนึ่งมีโอกาสลืมตาตื่นขึ้นแต่ก็หลับลงไปใหม่ คนส่วนน้อยเท่านั้นมีโอกาสลืมตาตื่นขึ้นด้วย และรู้วิธีที่จะไม่กลับหลับใหลลงอีก

การมองคนที่ทำงานของฉันก็เปลี่ยนไป เหมือนเห็นตัวเองในอดีตผ่านใครต่อใครรอบๆ มนุษย์เป็นสัตว์ครึ่งโง่ครึ่งฉลาด แล้วก็แสนดื้อกับการยอมรับความจริง พวกเขาจะเอาภาคฉลาดมาปฏิเสธหรือแก้ตัวให้กับภาคโง่ของตัวเองบ่อยๆ เพียงถ้าพวกเขาจะยอมรับทั้งด้านดีและด้านเสียในตัวเองตามจริง ก็จะพากันฉลาดและมีช่องทางพัฒนาชีวิตให้สูงส่งยิ่งขึ้นอีกมาก

ฉันรับรู้อาการทางจิตของผู้คนด้วยความสลดสังเวช มองจากมิติของจิตอันเป็นปัจจุบัน ฉันเห็นผู้คนในโลกมีภาวะของจิตอยู่ไม่กี่แบบ ถ้าไม่เหม่อลอยก็ฟุ้งซ่าน ถ้าไม่ฟุ้งซ่านก็เคร่งเครียด ถ้าไม่เคร่งเครียดก็ซึมเศร้า วนไปวนมาอยู่แถวๆนี้ ที่จะเจอคนมีสติรู้อะไรที่กำลังปรากฏเฉพาะหน้านั้นแสนยาก ต่อให้เป็นระดับบริหารก็เถอะ พวกผู้บริหารมักจมอยู่ในอาการตรึกนึกกันเป็นส่วนใหญ่ นี่ถ้าเพียงเขาฝึกสมาธิเพื่อก่อสติสัมปชัญญะเป็น เฝ้าสังเกตเวทนา สัญญา และความตรึกนึกว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไปเมื่อใด ก็คงไม่ต้องแอบหาหมอขอยาแก้เครียดกันเกือบครึ่งเมืองเหมือนทุกวันนี้

คนเคยเสพสุขอิ่มหนำจากสมาธิอันหวานชื่น พอเจอคนจิตแห้งเหี่ยวทั้งหลายแล้วความรู้สึกเหมือนเดินผ่ากลางเข้าไปในทะเลทรายแล้งน้ำ พวกเขาไม่เคยรู้จักแหล่งน้ำที่แท้จริงแล้วต้องกวดไล่พยับแดดไร้ตัวตนไปเรื่อย เมื่อเริ่มจับจิตคนอื่นได้เป็นขณะๆโดยไม่ตั้งใจ ฉันก็พบความจริงประการหนึ่งคือเวลาคนเราเหม่อไร้สติ ปล่อยใจฟุ้งซ่านไปเรื่อย จิตจะลอยเคว้งเหมือนลูกโป่งที่ปลิวไปเรื่อยตามทางลม ฉันว่าคนคิดศัพท์เช่น ‘เหม่อลอย’ คงต้องมีความสามารถจับกระแสจิตคนอื่นได้ชัดราวกับตาเห็นรูปเป็นแน่ เพราะมันดูลอยไปลอยมาเหมือนลูกโป่งถูกพัดมาพัดไปจริงๆ

ขณะที่จิตขาดสติ ไม่ยกอารมณ์ใดเข้าสู่การรับรู้ผ่านประสาทสัมผัสใดๆ ถึงแม้อายุ ๕ ขวบหรือมากขึ้นกว่านั้นกี่ปี ความรู้สึกก็คงเป็นอันเดียวกันนั่นเอง อาจจะภาวะพร่าเลือนไม่รู้เรื่องรู้ราวนี่เองที่ทำให้มนุษย์รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนเดิมไปตลอดชีวิต แม้โครงสร้างความนึกคิดและสติปัญญาจะพัฒนาต่างไปเป็นคนอื่นมากมายหลายหลากเพียงใด



:b38: /...วันที่ ๒: ได้เห็นสมใจ

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กระทู้นี้ถูกล็อก คุณไม่สามารถแก้ไขข้อความ หรือ ตอบกลับในกระทู้นี้  [ 109 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4, 5, 6, 7, 8  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 10 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร