วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 07:27  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 43 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


10

ถาม : มีวิธีการนั่งสมาธิอย่างไรที่จะไม่ทุกข์ ไม่ทรมานสังขาร

ตอบ :
: สำหรับผู้ปฏิบัติใหม่ให้เปลี่ยนอิริยาบถใหม่ตามสภาพ ยืน เดิน นั่ง แต่พยายามมีสติ ระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ให้ติดต่อกันสม่ำเสมอ พยายามให้มีสติ สัมปชัญญะในการเปลี่ยนอิริยาบถ เป็นการเจริญสติที่กาย และพยายามไม่ให้เกิดเสียง จาการขยับตัว ยกมือ ยกเท้า การหายใจ การไอ โดยเฉพาะเมื่อมาปฏิบัติธรรมร่วมกันเป็นกลุ่ม ต้องรักษาความเงียบให้มากที่สุด เพื่อไม่รบกวนเพื่อนๆ ที่นั่งสมาธิอยู่ด้วยกัน


(มีต่อ 29)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


11

ถาม : ขณะที่นั่งสมาธิและเดินจงกรม ถ้าเราคิดทบทวนข้อธรรมะที่ได้รับฟังมาจะผิดไหมคือเราไม่ได้ตั้งสติอยู่ที่ลมหายใจเข้า-ออก หรือว่าเราทำผิดเวลา

ตอบ :
ไม่ใช่ผิดเสมอไป ถ้าพิจารณาด้วยสติ อยู่ในอาการสงบ เป็นสมาธิ เพื่อให้เกิดปัญญา รู้ตามความเป็นจริงแล้ว ทำให้เกิดประโยชน์ ก็ไม่ผิด ดีมากๆ ด้วย แต่เราต้องเข้าใจว่า เมื่อไร อย่างไร จึงจะเกิดผลดี เช่น กรณีที่เราติดอารมณ์ อาจจะเป็น นิวรณ์ 5 ข้อใดข้อหนึ่ง ก็ให้ยกธรรมะในนิวรณ์ 5 ข้อนั้นมาเป็นอารมณ์กรรมฐาน ให้พิจารณาโดยใช้หลัก อสุภะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา จนใจยอมรับที่จะปล่อยวาง แล้วจึงกลับมาที่ลมหายใจ เจริญสติ จนเมื่อเกิดสติ สัมปชัญญะ เป็นสมถกรรมฐานแล้ว บางครั้งอาจรักษาความสงบให้ต่อเนื่องนานๆ เป็นการฝึกสติ สัมปชัญญะให้มั่นคง หรือบางครั้ง อาจฝึกวิปัสสนากรรมฐานโดยพิจารณาธรรม อาการ 32 ธาตุ 4 ดิน น้า ลม ไฟ พิจารณาอริยสัจ 4 ไตรลักษณ์ แล้วก็กลับไปสมถกรรมฐานอีก เพื่อให้สงบยิ่งๆ ขึ้น การเจริญสติโดยระลึกรู้ลมหายใจ และพิจารณาธรรมสลับกันไปมานี้ เปรียบเหมือนให้ร่างกายได้ทำงาน สลับกับพักผ่อน อย่างไรก็ตาม ต้องคอยสังเกตและระวังไม่ให้พิจารณามากเกินไป จนเกิดฟุ้งซ่าน

การฝึกปฏิบัติทั้งสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน มีหลักสำคัญ คือ ต้องเป็นไปเพื่อความสงบ ปล่อยวาง ลดละกิเลส จึงจะปฏิบัติถูก


(มีต่อ 30)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


12

ถาม : เมื่อเกิดความคิดฟุ้งซ่าน ขณะเดินจงกรมจะมีวิธีแก้อย่างไร

ตอบ :
การเดินจงกรมที่ถูกต้องที่สุด คล้ายๆ กับเด็ก 1 ขวบ เริ่มหัดเดิน เขาจะเอาใจใส่ในการเดิน จิตใจจดจ่อ ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างที่จะเดินไปแต่ละก้าวๆ เขาจะเอาใจใส่ในการเดิน จิตใจจดจ่อ ทุ่มเททุกสิ่งทุกอย่างที่จะเดินไปแต่ละก้าวๆ เรียกว่ากายเดิน จิตใจก็เอาใจใส่ในการเดิน กายกับใจเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน การเดินก็เดินตามธรรมชาติ แต่ให้มีสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อม รู้สึกชัดเจนในการเดิน จิตใจสงบจากความคิดปรุงแต่ง ฟุ้งซ่าน เพียงเท่านี้ก็คือการเดินจงกรมที่ถูกต้อง

อย่างไรก็ตาม ปกติจิตใจของเราไม่สงบอยู่แล้ว เดินจงกรมเป็นการเจริญสติ เพื่อให้เกิดสมาธิในการเดิน แต่เมื่อจิตไม่สงบ ก็อาจใช้อุบายต่างๆ ช่วยก็ได้ อุบายหนึ่งได้แก่ การนับก้าวเดิน ซึ่งจะเหมาะกับการเดินในทางเดินจงกรมยาวๆ มีวิธีการดังนี้

ก่อนจะเดินจงกรมให้ยืนตั้งสติก่อน โดยหายใจเข้าลึกๆ ให้เต็มปอด แล้วค่อยๆปล่อยลมหายใจออกยาวๆ พร้อมกับออกเดินโดยให้ใช้วิธีนับก้าว เพื่อเป็นอุบายที่จะช่วยไม่ให้จิตคิดฟุ้งซ่าน เช่นเมื่อเริ่มต้นออกเดิน เท้าขวาก้าวนับ 1 ซ้ายก้าวนับ 2 ขวาก้าวนับ 3 ซ้ายก้าวนับ 4 ขวาก้าวนับ 5 ซ้ายก้าวนับ 6 ไปเรื่อยๆ จนสุดลมหายใจออก สมมติว่าสุดลมหายใจออก เมื่อเท้าซ้ายก้าวนับ 6 เมื่อสูดลมหายใจเข้าก็นับต่อที่ขวาก้าวนับ 7 ซ้ายก้าวนับ 8 ขวาก้าวนับ 9 ซ้ายก้าวนับ 10 สมมติว่าสุดลมหายใจเข้าที่จังหวะซ้ายก้าวนับ 10 แล้วก็เริ่มต้นผ่อนลมหายใจออก โดยเริ่มนับ 1 รอบใหม่ ทำเช่นนี้ไปเรื่อยๆ ให้ทำตามความรู้สึกพอดีๆ ของจังหวะหายใจที่เมื่อทำแล้วรู้สึกสบายๆ ไม่อึดอัด แม้จำนวนก้าวในแต่ละรอบ จะไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร รอบหายใจเข้า-ออก บางทีเท่ากับ 10 ก้าว บางทีเป็น 12 ก้าว 13 ก้าว หรือจะเป็นเท่าไหร่ก็แล้วแต่ ไม่ต้องกังวล ที่สำคัญ คือ ให้รู้สึกว่าการกำหนดลมหายใจเข้า-ออก ที่ทำไปพร้อมๆ กับการนับก้าวของการเดินไปอย่างสบายๆ ตามธรรมชาติมากที่สุด และเมื่อจิตใจเริ่มสงบจากความคิดฟุ้งซ่านแล้ว ก็จะหยุดนับไปเองตามธรรมชาติ ปล่อยเดินไปตามธรรมดา เดินจงกรมตามปกติ คือมีสติสัมปชัญญะในการเดิน ให้กายกับใจเดินไปด้วยกัน มีความรู้สึกตัวทั่วพร้อมในการเดินนั่นแหละ

นอกจากนี้อีกวิธีหนึ่งที่มักจะสอนกัน ก็คือการบริกรรมพุทโธ คือเมื่อเท้าขวาก้าวบริกรรมในใจว่า พุท เท้าซ้ายก้าวบริกรรมในใจว่า โธ สลับกันไปมา หรือจะใช้วิธีกำกับในใจว่า ขวาก้าว ซ้ายก้าว ขวาก้าว ซ้ายก้าว แทนคำบริกรรมพุทโธก็ได้ เดินไปเรื่อยๆ เมื่อจิตใจสงบแล้ว จิตจะทิ้งคำบริกรรมไปเอง คือไม่จำเป็นต้องกำหนดคำบริกรรมอีก หรือบางสำนักก็สอนให้เดินจงกรโดยบริกรรม ยกหนอ ย่างหนอ เหยียบหนอ ไปพร้อมๆ กับอิริยาบถย่างเหยียบที่ค่อยๆ ทำอย่างช้าๆ ก็ได้ที่สำคัญคือให้มีความรู้สึกตัวชัดเจนในการเดิน ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เป็นวิธีการกำหนดให้มีสติที่กายโดยตรง เมื่อมีสติสัมปชัญญะอยู่ที่กายก็ใช้ได้ การปฏิบัติไม่ว่าจะวิธีไหน ใช้คำบริกรรมอะไร จุดหมายปลายทางก็เพื่อให้มีสติสัมปชัญญะรู้เท่าทันอารมณ์ จิตปล่อยวางเป็นอิสระ ปลอดโปร่ง ใจสงบ เบา สบาย นั่นแหละปฏิบัติถูกต้อง


(มีต่อ 31)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


13

ถาม : หายใจยาวลึกประมาณ 3 นาที เมื่อเริ่มต้น รู้สึกเหนื่อยมาก ควรทำอย่างไร

ตอบ :
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ปกติใช้ 3-4 ครั้งก็พอ ทุกครั้งที่ต้องการเปลี่ยนแปลงทางกายก็ดี ทางใจก็ดี เปลี่ยนความรู้สึกนึกคิดก็ดี เพื่อตั้งต้นใหม่ โดยเรียกสติสัมปชัญญะกลับมา เป็นการตั้งหลักที่ถูกต้อง การหายใจยาวๆ มีประโยชน์ในการรักษาสุขภาพกาย สุขภาพใจ เป็นการตั้งสติและรักษาสติสัมปชัญญะ ความรู้สึกตัว เพราะฉะนั้น เมื่อหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ 3-4 ครั้ง จนเกิดสติสัมปชัญญะ จิตสงบแล้ว จึงค่อยๆ ปล่อยลมหายใจสบายๆ ตามธรรมชาติ แต่เริ่มต้นให้รักษาความยาวในการหายใจไว้ก่อน หาจุดพอดี สบายๆ ถ้าจิตสงบ สบายก็เป็นการปฏิบัติได้ถูกต้อง


(มีต่อ 32)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


14

ถาม : การจับลมหายใจ เข้า-ออก ควรดูตามธรรมชาติ หรือเป็นการบังคับลมหายใจ

ตอบ :
เริ่มต้นเป็นการบังคับลมหายใจ เพื่อตั้งสติ ลมหายใจเป็นสะพานเชื่อมอยู่ระหว่างกายกับใจ เพราะลมหายใจนี้ได้รับอิทธิพลจากสิ่งแวดล้อมทางกายและทางใจ มีอิทธิพลต่อกายและใจ

หายใจสั้น
เมื่อกายร้อน กระสับกระส่าย ไม่สงบ
เมื่อเจ็บไข้ ป่วย เป็นโรค
เมื่อเหนื่อย
เมื่ออารมณ์หงุดหงิด โกรธ
เมื่อใจร้อน ตื่นเต้น เพราะกลัว ดีใจ เสียใจ

หายใจยาว
เมื่อกายได้พักผ่อน
เมื่อกายสงบ เย็น เป็นปกติสุขภาพแข็งแรง
เมื่ออารมณ์ดี
เมื่อใจดี ใจสบาย

การบังคับหรือปรับเปลี่ยนลมหายใจ ด้วยการหายใจยาวๆ สบายๆ เป็นการแก้อาการต่างๆ ที่มีอยู่เมื่อหายใจสั้น เมื่อกายสงบสุขภาพกาย สุขภาพใจดีขึ้น จึงหายใจตามธรรมชาติสบายๆ รักษาสติสัมปชัญญะ เตรียมพร้อมที่จะเจริญสมถกรรมฐาน และวิปัสสนากรรมฐานต่อไป


(มีต่อ 33)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


15

ถาม : อยากทราบว่า นักปฏิบัติธรรมจะเจริญได้อย่างไรในยุคโลกาภิวัฒน์ ในเมื่อนักปฏิบัติรู้จักพอ ไม่ทะเยอทะยาน ไม่มักใหญ่ใฝ่สูง

ตอบ :
พอใจในที่นี้ หมายถึง ยินดีในสิ่งที่ได้และพอใจในสิ่งที่มีอยู่ ไม่คิดเพ่งเล็งอยากได้ของเกินเหตุ เกินฐานะของตน

ไม่ใช่วันนี้มีเท่าไร ก็ไม่หาเพิ่ม พระพุทธเจ้าสมัยเป็นพระโพธิสัตว์ ท่านทรงทุ่มเททุกอย่างแม้แต่ชีวิตเพื่อเพิ่มบารมี แต่ไม่ใช่กิเลส ความโลภ สำหรบฆราวาสต้องหาเลี้ยงชีพ สร้างฐานะให้ดีขึ้น เป็นเรื่องธรรมดา แต่ต้องใช้ความรู้ความสามารถ รู้ฐานะตนเอง และต้องอยู่ในขอบเขตของศีล ระมัดระวังอารมณ์ ความโลภและกิเลสอย่างอื่น ทำให้ใจสงบ ไม่ฟุ้งซ่าน มีสุขภาพใจดี

ในการทำงาน ก็ทำหน้าที่ของตนให้สมบูรณ์ ตั้งใจทำดีที่สุด โดยใช้หลักอิทธิบาท 4 คือ

ฉันทะ มีความพอใจในงานที่ทำ
วิริยะ มีความพากเพียร
จิตตะ ทำด้วยความเอาใจใส่
วิมังสา หมั่นไตร่ตรองอยู่เสมอ

ในการตั้งเป้าหมาย เราต้องรู้จักตนเองด้วยสติปัญญาให้พอเหมาะ พอดี อยู่ในขอบเขตที่เป็นไปได้ เช่น

คนที่มี 1 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 2
คนที่มี 10 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 20
คนที่มี 100 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 200
คนที่มี 1000 ตั้งเป้าหมายเพิ่มเป็น 2000 เป็นต้น

แต่คนที่มี 1 คิดจะเอา 200 หรือ 2000 อาจจะเกินไป เป็นความโลภเกินตัว หรืออาจถึงขั้นอยากได้ของเขา คิดโกง คิดขโมย ถ้าทำด้วยความทะเยอทะยาน หรือความมักใหญ่ใฝ่สูง จะเป็นลักษณะของกิเลส ไม่มีเหตุผล และมักเบียดเบียนตน เบียดเบียนผู้อื่น สิ่งเหล่านี้ พระพุทธเจ้าทรงสอนให้ระวัง ให้ละ

ในทางธรรม ก็เช่นกัน เราต้องรู้จักตัวเอง และตั้งเป้าหมายที่จะพัฒนาคนให้ถูกต้องเหมาะสม เช่น คนที่มีนิสัยโกรธง่าย เริ่มต้นฝึกปฏิบัติธรรมแล้ว จะให้ไม่มีโกรธอีกต่อไป ย่อมเป็นไปไม่ได้ แต่ถ้าตั้งใจว่าจะลดความโกรธให้น้อยลงจากเดิมครึ่งหนึ่ง ก็น่าจะเป็นไปได้ คนที่ขี้ฟุ้งซ่าน อยากนั่งสมาธิเพื่อทำใจให้สงบ ก็เป็นไปได้ แต่จะให้ดวงตาเห็นธรรม บรรลุอรหัตตผลเลย ก็จะเป็นการตั้งเป้าหมายเกินตัว เป็นต้น

เมื่อตั้งเป้าหมายถูกต้องแล้ว ก็ตั้งใจทำต่อไป โดยมีอิทธิบาท 4 ครบสมบูรณ์ ก็จะประสบความสำเร็จได้ทั้งในทางโลก และทางธรรม หรือไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ก็ยอมรับตามความเป็นจริง ทำใจได้ และมีความสุขได้ในทุกสถานการณ์

บางคนเป็นผู้มีคุณธรรม ซื่อสัตย์ สุจริต มีความรู้ความสามารถในการทำงาน ตนองไม่ได้ต้องการรับตำแหน่งสูงๆ แต่เหตุปัจจัยภายนอก ทำให้ก้าวหน้าทางโลกก็มีมาก

เมื่อเราปฏิบัติถูกต้องได้สร้างเหตุให้ดีที่สุดแล้ว เราจะพอใจในหน้าที่ในปัจจุบัน ไม่หวั่นไหวในโลกธรรม 8 คือ ได้ลาภ เสื่อมลาภ ได้ยศ เสื่อมยศ สรรเสริญ นินทา สุข ทุกข์ เราจะเป็นผู้ที่พอใจในตนเอง และมีความสุขใจในทุกสถานการณ์


(มีต่อ 34)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:14 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ การฝึกจิตคล้ายกับการฝึกสัตว์ป่า

ปกติการมาวัดปฏิบัติธรรม ก็เพื่อความสงบ หลายๆ คน ต้องลางานมาเพื่อปฏิบัติอย่างเอาจริงเอาจัง 5-7 วัน แต่สำหรับบางคน ปฏิบัติแล้วไม่สงบก็มี เกิดปวดเมื่อย หงุดหงิด ฟุ้งซ่าน ตรงกันข้ามกับที่เราคาดหวังไว้ จิตก็ดิ้นรน ซึ่งหากว่าเราไม่เข้าใจแล้ว ก็จะคิดท้อใจ สับสนว่าตนเองมาวัดเพื่ออะไรกันแน่

การฝึกจิตคล้ายกับการฝึกสัตว์ป่า เช่น จับลิงป่ามาฝึก ตอนแรกต้องจับมาขังไว้ในกรงเหล็กเล็กๆ ลิงป่านี้ก็จะดิ้นรน อาละวาด เราต้องทำใจแข็ง ต้องปล่อย ไม่ให้น้ำ ไม่ให้อาหารถึงเวลาหนึ่งเมื่อเขาหมดแรง เราจึงค่อยๆ ป้อนน้า ป้อนกล้วยได้ ถึงจะวิ่งบ้าง ก็วิ่งธรรมดาๆ ไม่อาละวาดเหมือนแต่ก่อน สักพักหนึ่งเราจะสามารถผูกเชือกพาออกมาข้างนอกได้ ฝึกให้นั่ง ให้ยืน หากเขาเชื่อฟัง ทำดี เราก็ให้กล้วยเป็นรางวัล จนในที่สุด เมื่อเขาเชื่อง ทำตามที่เราสั่ง เราก็ปล่อยออกนอกกรงให้เป็นอิสระได้

การฝึกจิตของเราก็เหมือนกัน เมื่อลิงอยู่ในป่าก็สบายๆ โดดเล่นตามกิ่งไม้ตามประสาสัตว์ป่า สำหรับพวกเราทั่วไป หากไม่ได้มาวัด อยู่บ้านพักผ่อนก็สบายๆ กิน นอน ดูทีวี วีดีโอ อ่านหนังสือ หรืออยากทำอะไรก็ทำได้ตามใจชอบ เหมือนลิงที่อยู่ในป่า แต่เมื่อเราตั้งใจจะฝึกจิตของเราแล้ว จึงมาวัด รักษาศีล ฟังเทศน์ ทำตามระเบียบของวัด ตื่นเช้า สวดมนต์ ทำวัตร นอนอไม่สบาย ต้องนั่งสมาธิ เดินจงกรม การรักษาศีลและทำตามระเบียบวินัยนี้ เปรียบเหมือนกรงเหล็กเล็กๆ สำหรับจิตใจของเรา แต่ให้เข้าใจว่า ที่เรากำลังทุกข์กาย ทุกข์ใจอยู่นี้ ก็เพราะปฏิบัติถูกต้อง เป็นประสบการณ์ที่ผู้เริ่มต้นปฏิบัติในระยะแรกจะต้องมีเป็นธรรมดา ไม่มากก็น้อย แต่ถ้าเราปฏิบัติไปเรื่อยๆ ต่อไป จะปรับตัวได้ จิตใจจะไม่ยินดียินร้าย เริ่มใจสงบ เป็นศีล เกิดสมาธิ ปัญญา จนใจสามารถออกจากทุกข์เดือดร้อนได้

หากว่าเราไม่เข้าใจ ไม่มีปัญญาแล้ว ก็จะใช้ความรู้สึกเข้ามาตัดสินใจว่า ที่เราประสบความทุกข์ ความเดือดร้อน ฟุ้งซ่านอยู่นี้ เป็นสิ่งไม่ดี ไม่มีประโยชน์ แต่ถ้าเราสามารถผ่านจุดนี้ไปได้ มองเห็นด้วยปัญญาแล้ว ก็จะเข้าใจ เกิดความศรัทธาและพอใจในการปฏิบัติ

เราต้องอาศัย ขันติ ความอดทน ทำให้เกิดความพอใจ ที่เราปฏิบัติถูกต้อง และเกิดความเข้าใจว่า ทุกข์ที่เราประสบนี้ จุดมุ่งหมาย ก็คือ เพื่อพ้นจากทุกข์ในที่สุด

เด็กน้อยเฝ้าศาลา

ในสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ทรงอนุญาตให้มีการบวชสามเณรได้
เกณฑ์ที่ใช้พิจารณา คือ ถ้าเด็กมีสติปัญญาสามารถเฝ้าศาลา
ไม่ให้ไก่ขึ้นศาลาได้ พระพุทธเจ้าก็ทรงยินยอมให้เด็กนั้นบวชสามเณร
ซึ่งปกติอายุประมาณ 7 ขวบ เด็กน้อยมีสติปัญญาเพียงเท่านี้
ก็สามารถปฏิบัติภาวนาได้ และหลายองค์ก็บรรลุเป็นพระอรหันต์
เพราะการปฏิบัติก็ไม่มีอะไรมาก เพียงแต่รู้ว่าอะไรผิดอะไรถูก รู้ว่าเป็น
ความคิดไม่ดี เป็นมิจฉาสังกัปปะ อันได้แก่คิดในทางกาม คิดเบียดเบียน
คิดมุ่งร้าย ก็ไล่ออกไปเสีย เหมือนสามเณรน้อยไล่ไก่ไม่ให้ขึ้นศาลา

ศาลา คือ จิต
ไก่ คือ ความคิดผิด
เด็กน้อย คือ สติปัญญา


การปฏิบัติของเราก็เช่นกัน
เมื่อรู้ว่าอะไรผิดอะไรถูกแล้ว
รู้จักปรับปรุงพัฒนาตนเอง
พยายามขับไล่ความคิดที่ไม่ดีออกจากใจ
เมื่อความคิดเกิดขึ้น ให้มีสติรู้เท่าทัน
ที่จะจัดการกับความคิดไม่ดีให้ดับไป
ไม่ให้เกิดปัญหา อุปาทาน
ทำได้เท่านี้ ก็เป็นการลดละกิเลส
ความโลภ ความโกรธ ความหลง
เป็นการชำระจิตใจให้บริสุทธิ์
ปฏิบัติเพียงเท่านี้ ก็เป็นหนทางแห่งมรรคผลนิพพานได้


(มีต่อ 35)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ นิวรณ์ 5 : คบคนพาล พาลพาใจไม่สงบ

ตลอดเวลาที่เราฝึกอานาปานสติ ให้พยายามตั้งสติ โอปนยิโก น้อมเข้ามาสู่ตัว เพื่อให้สติอยู่กับกาย อยู่กับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

เราพยายามสร้างความพอใจที่จะอยู่กับกาย อยู่กับลมหายใจนี้ พยายามสำรวมอินทรีย์ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ และพยายามไม่ให้จิตนี้คิดออกไปภายนอก คือ ไม่ให้จิตส่งออกนอก

เมื่อใดก็ตามที่เราเกิดความรู้สึกไม่สงบ แสดงว่ามีเพื่อนเก่าแวะมาเยี่ยมเราแล้ว เพื่อนกลุ่มนี้ มีชื่อว่า นิวรณ์ 5 ซึ่งก็คือ “ความไม่สงบ” คำเดียวนี่แหละ

นิวรณ์ 5 มีอะไรบ้าง

กามฉันทะ ความคิดชอบใจ พอใจ รักใคร่ ในรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส

พยาบาท ความคิดที่จะทะเลาะกัน ความขัดเคืองแค้นใจ ไม่ชอบสิ่งนั้น ไม่ชอบคนนี้ ไม่ชอบคนนั้น ความคิดปองร้ายอาฆาตพยาบาท

ถีนะมิทธิ ความหดหู่ เซื่องซึม ง่วงเหงา หาวนอน ความขี้เกียจ

อุทธัจจกุกกุจจะ ความคิดฟุ้งซ่าน ความรำคาญใจ คิดไปสารพัดอย่าง

วิจิกิจฉา ความลังเลสงสัย จะทำอะไรก็ทำไม่ได้ เพราะทำไปได้นิดหน่อย ก็เกิดความสงสัยขึ้นมา


(มีต่อ 36)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ เจริญอานาปานสติ :
การเลือกคบกัลยาณมิตร ทำให้ไม่ติดอารมณ์


โดยปกติ จิตของเรามักจะอยู่กับเรื่องภายนอก ทั้งอดีต อนาคต สิ่งนี้ดี สิ่งนั้นไม่ดี คนนั้นดี คนนี้ไม่ดี และเรามักจะปล่อยให้จิตของเราคิดไปเรื่อยๆ ไม่หยุดหย่อน

ถ้าเราประสบกับความรู้สึกที่ไม่ดี ไม่ชอบ เพราะเราได้เห็นหรือได้ยินสิ่งที่ไม่ถูกใจ เรามักจะเก็บความรู้สึกอันนั้นไว้นานๆ เป็นชั่วโมง เป็นวัน เป็นเดือน หรือเป็นปีๆ เราจึงไม่ค่อยมีความสุขมากนักในชีวิตประจำวัน

หากเราประสบกับสิ่งที่รักที่พอใจ เรามักจะเก็บความรู้สึก และความจำนั้นไว้นานเป็นปีเช่นกัน แต่เมื่อต้องพบว่าสิ่งเหล่านั้นไม่เที่ยง เราจะต้องประสบกับความพลัดพราก การเสียของรัก เราก็เป็นทุกข์อีก

ถ้าเราสามารถมีสติระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออกในแต่ละขณะ
หมายความว่า เราสามารถอยู่กับปัจจุบันในแต่ละขณะได้


เราจะไม่ยึดติดอารมณ์ ไม่เก็บความรู้สึกเก่าๆ ที่เคยสร้างความขุ่นเคือง เศร้าหมองแก่จิตเอาไว้ รวมทั้งไม่เก็บความจำที่เคยทำให้เรามีความสุข จนเราไม่อยากพลัดพรากจากความสุขนั้น เราจะสามารถตัดทิ้งและปล่อยความรู้สึกเหล่านั้นให้ผ่านไปได้ และในที่สุดเราก็จะสุขภาพใจดีและมีความสุขได้แน่นอน

ลมหายใจเปรียบได้กับอาหาร มีทั้งปริมาณและคุณภาพ

การเจริญอานาปานสติ เปรียบได้กับอาหารที่เราบริโภคอยู่ทุกวัน มีทั้งปริมาณและคุณภาพ ถ้าใครมีฐานะยากจนจริงๆ จะแสวงหาอาหารในด้านปริมาณเป็นหลักก่อน ขอให้มีข้าวกินกันทุกวัน เพื่อให้อิ่มท้อง ถ้าหิวจริงๆ ข้าวกับเกลือหรือน้ำปลา ไข่ทอด หรือปลาเค็มก็อร่อยได้เหมือนกัน แต่เมื่อมองดูในระยะยาว อาจจะก่อให้เกิดปัญหาต่อร่างกายเพราะอาหารไม่สมบูรณ์ ไม่มีคุณภาพ ขาดสารอาหาร ทำให้การเจริญเติบโตของร่างกายไม่สมบูรณ์ เจ็บไข้ได้ป่วยง่าย เกิดโรคต่างๆ นานา สติปัญญาไม่ดี และอายุจะสั้น ไม่อาจสำเร็จประโยชน์ในชีวิตได้ ทำให้เกิดความทุกข์กาย ทุกข์ใจ

ดังนั้น นอกจากปริมาณแล้ว การบริโภคอาหารจึงต้องคำนึงถึงคุณภาพด้วย

ปริมาณในอานาปานสติ หมายถึง การมีสติเพียงพอที่จะรักษาใจให้เป็นปกติ โดยอาศัยการกำหนดรู้ ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ตลอดกาล ตลอดเวลา ทุกอิริยบถ ยืน เดิน นั่ง นอน

หรือเราเอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร เมื่อเกิดอารมณ์ไม่ดี ก็นึกถึงลมหายใจ เพื่อระงับอารมณ์ที่ไม่ดีนั้น สามารถทำใจสงบให้ตลอด ไม่ติดอารมณ์พอใจและไม่พอใจ มีใจสงบเป็นปกติ สุขภาพใจดี เรียกว่าใจเป็นศีล

คุณภาพในอานาปานสติ เมื่อได้สติในปริมณที่เพียงพอ ศีลสมบูรณ์แล้ว ต่อไปก็พัฒนาคุณภาพให้ดียิ่งๆขึ้นไป ตามหลักอานาปานสติ 16 ขั้น อานาปานสติ 16 ขั้นนั้นเมื่อทำให้มาก เจริญให้มาก ย่อมมีผลให้สมถะและวิปัสสนาสมบูรณ์ ทำให้สติปัฏฐาน 4 สมบูรณ์ ทำให้โพชฌค์ 7 สมบูรณ์ จนกระทั่งถึง วิมุตติ คือ พระนิพพานในที่สุด


(มีต่อ 37)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


๏ ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ

ตราบใดที่ยังมีลมหายอยู่ จงอยู่ด้วยอานานปานสติ
ยืน เดิน นั่ง นอน ดื่ม กิน ขับถ่าย ทำครัว ทำความสะอาดบ้าน
นั่งอยู่ในรถ ทำงานทุกชนิด เดินเล่น พักผ่อน
พยายามให้มีสติ ระลึกรู้ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เบาๆ สบายๆ
ติดต่อกัน ต่อเนื่องกันอย่างสม่ำเสมอ ไม่ลืม ไม่เผลอ
แม้แต่ขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น ได้รู้รส ได้สัมผัส
ไม่ให้ส่งจิตคิดออกไปตามความรู้สึกยินดียินร้าย
ระลึกรู้ ลมหายใจออก เบาๆ สบายๆ
เป็นการรักษาใจสงบ รักษาสุขภาพใจดีของเรา
พูดได้ว่า ชีวิตทั้งหมดนี้ให้อยู่ด้วย อานาปานสติ


ในอิริยบถบางอย่างไม่สะดวกที่จะกำหนดรู้ลมหายใจ
เช่น ขณะที่กำลังขับรถบนถนน บนทางด่วน เราไม่ต้องกังวล
คือ ไม่ต้องระลึกถึงลมหายใจ แต่ให้อยู่ในหลักอานาปานสติให้ครบถ้วน
คือ เอาใจใส่ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด

ปัจจุบัน เป็นสำคัญ
เรื่องอดีต ไม่สำคัญ ไม่ต้องคิดถึง
เรื่องอนาคต ไม่สำคัญ ไม่ต้องคิดถึง

เรื่องของคนอื่นไม่สำคัญเท่าไร โดยเฉพาะความชั่วของคนอื่นอย่าแบก
ตัวเองทำดีที่สุด อย่าให้เกิดอุบัติเหตุก็ใช้ได้
ใครจะขับรถไม่ดี ไม่รักษากฎจราจร แซงตัดหน้าเรา
เกือบชน เกือบมีอุบัติเหตุก็ตาม น่าโมโหอยู่
แต่ช่างมัน เรื่องความชั่วของเขา
อย่าให้เกิดโมโห อย่าให้เสียใจ อย่าให้เกิดอุบัติเหตุ
รักษาใจเป็นปกติ แล้วทำหน้าที่ให้ดีที่สุด
เมื่อเราเจริญอานาปานสติเป็นประจำ เราจะมีสติตลอดเวลา
สามารถจัดการกับงานหลายอย่าง ที่เร่งรัดเข้ามาในเวลาเดียวกันได้
เพราะเมื่อรู้สึกวุ่นวายสติก็จะกำกับให้กลับมาที่ลมหายใจทันทีโดยอัตโนมัติ
จิตจะเริ่มสงบและรับรู้สิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง
ทำให้เกิดปัญญาที่จะแก้ไขหรือจัดการกับงานเหล่านั้นให้สำเร็จทีละอย่าง
และเมื่องานแล้วเสร็จ สติจะกำกับให้กลับมาที่ลมหายใจทันทีที่ว่างจากงาน
เป็นการพักผ่อนด้วยอานาปานสติ

ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ
คือ ทำหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุด ด้วยใจดี สุขใจ



(มีต่อ 38)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 29 ก.ย. 2009, 19:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


บทสรุป
ข้อปฏิบัติ 7 ประการเพื่อสุขภาพใจดี


1. ลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร

สะดวกเมื่อไร กำหนดลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เมื่อนั้น มีความรู้สึกตัวในเบื้องต้น ท่ามกลาง และสุดท้ายของการหายใจเข้า หายใจออก โดยเจริญสติสัมปชัญญะในการรักษาจิตใจให้สงบ เป็นสุขภาพใจดีไว้ตลอด

2. ลมหายใจยาวๆ เป็นปฐมพยาบาลทางจิตใจ

เมื่อทุกข์ไม่สบายใจเกิดขึ้น เราควรมีความเห็นถูกต้องว่า ความไม่สบายใจ ทุกข์ใจนี้ไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา เมื่อทุกข์ไม่สบายใจ ก็ให้รักษาด้วยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ มีสติสัมปชัญญะ ไม่คิดไปตามอารมณ์ไม่สบายใจ ก็ให้รักษาด้วยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ มีสติสัมปชัญญะ ไม่คิดไปตามอารมณ์ไม่พอใจ ยินร้าย

3. เจริญอานาปานสติอย่างน้อยวันละ 20 นาที เป็นการภาวนา

ตั้งใจกำหนดอานาปานสติ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ให้มีสติและสัมปชัญญะกับลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ติดต่อกันอย่างน้อยวันละ 20 นาที เป็นกิจวัตรประจำวัน เป็นการชำระจิตใจ เพื่อเข้าถึงความสงบใจ สบายใจ สุขภาพใจดี

4. มีสัมมาวาจา

สำรวมระวังในคำพูดของตนเอง พยายามพูดไม่ให้เกิดโทษ ไม่เบียดเบียนตนเองและผู้อื่น มีสัมมาวาจา คือเว้นจากการพูดไม่จริง เว้นจากการพูดส่อเสียด เว้นจากการพูดคำหยาบ และเว้นจากการพูดเพ้อเจ้อ

5. พยายามแก้ไขตนเอง

สนใจเอาใจใส่ดูตนเองเพิ่มขึ้น จนดูตนเอง 90% ดูคนอื่น 10% เมื่อสำรวจตัวเองแล้วพบว่ามีข้อบกพร่องที่ควรแก้ไข ให้ตั้งใจทุกวันในการพยายามแก้ไขปรับปรุงตัวเอง

6. ทำความดีเพิ่มอย่างน้อยวันละ 1 อย่าง

คอยคิดดูอยู่เสมอว่า เราทำความดีอะไรไว้บ้าง เพื่อเป็นการช่วยเหลือผู้อื่น ให้มีความตั้งใจที่จะกระทำความดี สร้างนิสัยที่จะพัฒนาและสร้างสรรค์สังคมให้น่าอยู่

7. กำหนดชั่วโมงแห่งความคิดดี

ในแต่ละวัน กำหนดเวลาสักชั่วหนึ่ง พักอิริยาบถสบายๆ คอยติดตามความรู้สึกนึกคิดของตัวเอง พยายามรักษาไว้ซึ่งความคิดดี คิดถูก ไม่ให้มีคำว่าทุกข์ไม่สบายใจ ไม่คิดเบียดเบียนตนเองและผู้อื่น



------ จบบริบูรณ์ -------

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ก.ย. 2009, 14:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 22 ก.ย. 2009, 15:37
โพสต์: 112

ชื่อเล่น: ดอกพุทธ
อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


กำลังพยายามที่จะนั่งสมาธิให้ได้ อารมณ์แปรปวนทุกที ดูสูตรของพระอาจาร์ยแล้วมั่นใจขึ้นเยอะค่ะ
ต้องทำต่อไปให้ได้ ขออนุโมทนาด้วยนะคะ

.....................................................
หลอมจิตบรรจง สู่แสงแห่งธรรม


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 เม.ย. 2010, 10:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20086

รวมคำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=38514

วัดป่าสุนันทวนาราม-มูลนิธิมายา โคตมี และแผนที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=20076

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 43 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 24 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร