วันเวลาปัจจุบัน 28 เม.ย. 2024, 16:51  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 24 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2010, 00:02 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


โทษของมานะ (2)

เมื่อพันธุลพร้อมด้วยบุตร 32 คนตายแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบความจริงภายหลัง ทรงโทมนัสมาก ไม่สบายพระทัย ไม่มีความสุขในราชสมบัติ ทรงประทานตำแหน่งเสนาบดีให้กับฑีฆการยนะ ผู้เป็นหลานของพันธุลเสนาบดี เพื่อจะเป็นการทดแทนความผิดที่พระองค์ทรงกระทำไป

ฑีฆการยนะ ยังผูกใจเจ็บในพระราชา ว่าเป็นผู้ฆ่าลุงของตน คอยหาโอกาสแก้แค้นอยู่เสมอ

วันหนึ่ง พระเจ้าปเสนทิโกศลเสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้าที่นิคมเมทลุปะ ของพวกศากยะนั่นเอง ทรงให้พักไพร่พลไว้ใกล้พระอารามและเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาแต่พระองค์เดียว

ฑีฆการยนะได้โอกาส จึงมอบเครื่องราชกกุธภัณฑ์ คือเครื่องสำหรับกษัตริย์ 5 อย่าง ให้วิฑูฑภะ และนำไพร่พลกลับนครสาวัตถี มอบราชสมบัติให้วิฑูฑภะครอง

กล่าวอย่างสั้นๆว่า วิฑูฑภะกับฑีฆการยนะร่วมกันแย่งราชสมบัติ ฝ่ายวิฑูฑภะก็พอพระทัย เพราะต้องการมีอำนาจสมบูรณ์อยู่แล้ว เพื่อจะล้างแค้นพวกศากยะได้เร็ว

แต่ปีนั้นก็เป็นปีที่พระเจ้าปเสนทิโกศล มีพระชนมายุถึง 80 แล้ว นับว่าอยู่ในวัยที่ชรามาก เรารู้ได้จากพระสูตรบางสูตรที่พระพุทธเจ้าตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศลว่ามีพระชนมายุเสมอกัน คือ 80 เช่น ธรรมเจติยสูตร ก็ตอนนี้แหละที่มีการแย่งสมบัติกันขึ้น ซึ่งเจติยสูตรเล่าเอาไว้

พระเจ้าปเสนทิโกศล เสด็จกลับจากการเฝ้าพระศาสดาทรงเห็นไพร่พล มีเพียงม้าตัวหนึ่งกับหญิงรับใช้คนหนึ่งอยู่ที่นั่น ทรงทราบความแล้ว เสด็จไปยังเมืองราชคฤห์ เพื่อขอกำลังจากพระเจ้าอชาตศัตรู มาปราบวิฑูฑภะและมหาอำมาตย์ แต่เสด็จไปถึงหน้าเมืองราชคฤห์ในค่ำวันหนึ่ง ประตูเมืองปิดเสียแล้ว ไม่สามารถจะเสด็จเข้าเมืองได้ จึงทรงพักที่ศาลาหน้าเมือง และสิ้นพระชนม์ในคืนนั้นเอง เพราะความหนาว และทรงเหน็ดเหนื่อย ในการเดินทางและทรงพระชรามากแล้ว

ตอนเช้า เมื่อประตูเปิดแล้ว ประชาชนชาวราชคฤห์ได้เห็นพระศพ และฟังเสียงหญิงรับใช้คร่ำครวญว่า ราชาผู้เป็นจอมชนแห่งชาวโกศล จึงนำความนั้นกราบทูลพระเจ้าอชาตศัตรู

พระเจ้าอชาตศัตรูผู้เป็นหลานก็ได้รับพระศพเข้าไปถวายพระเพลิงอย่างสมพระเกียรติยศ

มีต่อ.... :b54:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2010, 00:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ฝ่ายพระเจ้าวิฑูฑภะได้ราชสมบัติเป็นกษัตริย์แล้ว ความแค้นกระตุ้นเตือนอยู่ตลอดเวลา มิอาจจะทรงยับยั้งได้ จึงกรีฑาทัพเตรียมไปย่ำยีพวกศากยะ

พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูสัตว์โลกเวลาใกล้รุ่ง ทรงเห็นความพินาศจะมาถึงหมู่พระญาติ มีพระพุทธประสงค์จะบำเพ็ญญาตัตถจริยา คือการบำเพ็ญประโยชน์เพื่อพระญาติ จึงได้เสด็จไปประทับ ณ พรมแดนระหว่างโกศลกับศักกะ ประทับใต้ต้นไม้ที่มีใบน้อยต้นหนึ่งทางแดนศากยะ ถัดมาอีกเล็กน้อยเป็นแดนของแคว้นโกศล มีต้นไทรใหญ่ใบหนาร่มครึ้มขึ้นอยู่

พระเจ้าวิฑูฑภะยกกองทัพผ่านมาทางนั้น ทอดพระเนตรเห็นพระศาสดาจึงเสด็จเข้าไปเฝ้าถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า เพราะเหตุไรจึงประทับใต้ต้นไม้ที่มีใบน้อย ในเวลาร้อนถึงปานนี้ ขอพระองค์ได้โปรดประทับ ณ โคนต้นไทรที่มีใบร่มครึ้ม มีเงาเย็นสนิททางแดนโกศลเถิด

พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ถวายพระพรมหาบพิตร ร่มเงาของพระญาติเย็นดี

พระเจ้าวิฑูฑภะทรงทราบทันทีว่า พระบรมศาสดาเสด็จมาป้องกันพระญาติ พระเจ้าวิฑูฑภะเองก็ทรงระลึกได้อยู่ว่า การได้รับตำแหน่งมเหสีของพระมารดา และการได้รับตำแหน่งราชโอรสของพระองค์เอง ที่ได้รับคืนมานั้น ก็เพราะว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ช่วยเหลือ พระคุณนั้นยังฝังอยู่ในพระทัยคนที่มีความพยาบาทมาก มักจะมีความกตัญญูด้วยเหมือนกัน คือจำได้ทั้งความร้ายและความดีที่ผู้อื่นกระทำแก่ตัว พระเจ้าวิฑูฑภะจึงยกทัพกลับเมืองสาวัตถี

แต่ความแค้นในพระทัยยังคุกรุ่นอยู่ พระองค์จึงทรงกรีฑาทัพไปอีก 2 ครั้ง ได้พบพระศาสดาในที่เดียวกันและเสด็จกลับเหมือนครั้งก่อน แต่พอถึงครั้งที่ 4 พระพุทธเจ้าทรงพิจารณาเห็นบุพกรรมของพวกศากยะที่เคยเอายาพิษโรยลงไปในแม่น้ำ ทำให้สัตว์ตายอยู่เป็นอันมาก กรรมนั้นกำลังจะมาให้ผล พระองค์ไม่สามารถจะทรงต้านทานขัดขวางได้ จึงมิได้เสด็จไปในครั้งที่ 4

พระเจ้าวิฑูฑภะเสด็จมาถึงพรมแดนนั้น ไม่ทอดพระเนตรเห็นพระศาสดา จึงเสด็จเข้ากรุงกบิลพัสดุ์ จับพวกศากยะฆ่าเสียมากมาย ไม่เว้นแม้แต่เด็กที่กำลังดื่มนม ทำให้ธารโลหิตหลั่งไหลไป สั่งให้เอาโลหิตในลำคอของศากยะล้างแผ่นกระดานที่เคยประทับนั้น แล้วเสด็จกลับสาวัตถี

เสด็จมาถึงฝั่งแม่น้ำอจิรวดีเวลาค่ำ จึงให้ตั้งค่ายพักที่นั่น ไพร่พลของพระองค์ก็เลือกนอนได้ตามใจชอบ บางพวกนอนที่หาดทรายในแม่น้ำ ถ้าน้ำลงหาดทรายในแม่น้ำนอนได้สบาย บางพวกก็นอนบนบก

พอตกดึก น้ำจะท่วมหลาก พวกที่นอนบนบกแต่ได้ทำกรรมไว้ร่วมกันมา ก็ถูกมดแดงกัดลงไปนอนที่ชายหาด ส่วนพวกที่นอนที่ชายหาด ก็ถูกมดแดงกัดขึ้นไปนอนข้างบนที่น้ำจะท่วมไม่ถึง

มหาเมฆตั้งเค้าที่เหนือน้ำ ฝนตกใหญ่ น้ำหลากอย่างรวดเร็ว พัดพาเอาพระเจ้าวิฑูฑภะ และบริวารบางพวกลงสู่มหาสมุทร ตายกันหมด

มีต่อ... :b54:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2010, 00:11 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ในวันรุ่งขึ้น ภิกษุทั้งหลายคุยกันในธรรมสภาถึงเรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะว่า เมื่อความปรารถนาของพระองค์ยังไม่ถึงที่สุด พอสิ้นพระชนม์พร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก คือสิ้นพระชนม์ในขณะที่ยังมีความปรารถนาอื่นๆอยู่อีกมาก

ไม่เพียงแต่พระเจ้าวิฑูฑภะ มนุษย์อื่นๆ โดยทั่วไปก็ตายในขณะที่ยังมีมโนรสไม่สมบูรณ์ คือยังปรารถนาจะทำอะไรๆอีกตั้งหลายอย่าง ยังไม่ได้ทำ ความตายก็มาถึงเสียก่อน มนุษย์ส่วนใหญ่ต้องตายในขณะที่ยังไม่พร้อมจะตาย

พระพุทธเจ้าเสด็จมาสู่ธรรมสภา ทรงทราบเรื่องที่ภิกษุทั้งหลายสนทนากันแล้ว ตรัสว่า ภิกษุทั้งหลาย เมื่อมโนรสของสัตว์ทั้งหลายยังไม่ถึงที่สุด มัจจุราชคือความตายก็เข้ามาตัดชีวิตอินทรีย์ ชีวิตและอินทรีย์ อินทรีย์คือชีวิต เข้ามาตัดอินทรีย์คือชีวิตของสัตว์ทั้งหลายแล้วให้จมลงสมุทร คืออบาย 4 ดุจห้วงน้ำใหญ่หลากเข้ามาท่วมชาวบ้านผู้หลับอยู่ฉะนั้น

พระพุทธเจ้าตรัสดังนี้แล้ว จึงตรัสพระพุทธภาษิตว่า ปุปฺผานิเหว ปจินนฺตํ พยาสตฺตมนสํ นรํ สุตฺตํ คามํ มโหโฆ ว มจฺจุ อาหาย คจฺฉติ ซึ่งแปลความว่ามัจจุคือความตาย ย่อมพัดพาเอาบุคคลผู้มีใจข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ผู้เลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณ 5 เหมือนห้วงน้ำใหญ่ ไหลหลากพัดพาเอาชาวบ้านผู้หลับอยู่ฉะนั้น

ขออธิบายเพิ่มเติมนะครับว่า ดอกไม้ในพระพุทธพจน์ที่ตรัสถึงนี้ หมายถึงกามคุณ 5 มีรูปเป็นต้น ยั่วยวนให้พวกภมร กล่าวคือมนุษย์ทั้งหลายหลงใหลใฝ่ฝันวนเวียนอยู่ คนที่รู้โทษของกามคุณแล้วอยากจะออก แต่มีเครื่องจองจำบางอย่างเช่นบุตร เป็นต้น คอยมัดมือมัดเท้ามิให้ออกไปได้

ส่วนคนใหม่ที่ยังไม่รู้รสก็ถูกแรงกระตุ้น ภายในและภายนอก คอยกระตุ้นเร่งเร้าให้อยากเข้าไป ในที่สุดก็ตกอยู่ในภาวะอย่างเดียวกันคือถูกจองจำ มีความเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้าเป็นอันมาก คนในอยากออกคนนอกอยากเข้า ที่เรียกว่าเลือกเก็บดอกไม้ คือกามคุณอยู่นั้น หมายความว่าเมื่อได้กามคุณมีรูปเป็นต้นแล้ว ก็หาได้พอใจในรูปนั้นไปนานเท่าไหร่ไม่ ใจก็ซัดส่ายไปในรูปในเสียงใหม่ต่อไปอีก เห็นรูปนั้นเสียงนั้นกลิ่นนั้นไม่น่าได้ อันนี้น่าได้น่าเป็น อันนี้น่าเป็นของเรา เหมือนคนเข้าสวนดอกไม้ เห็นดอกไม้สะพรั่ง ดอกนั้นก็น่าเก็บ ดอกนี้ก็น่าเก็บ น่าชมเชยไปเสียหมด เรียกว่าเป็นผู้หลงใหลอยู่ในสวนดอกไม้

นอกจากนี้ใจยังข้องในอารมณ์ต่างๆอีก เช่น ความติดข้องในสมบัติต่างๆ มีช้าง ม้า วัว ควาย นา สวน บ้านเรือน เป็นต้น บรรพชิตก็ยังมีบริขาร มีบาตรและจีวร หรือเสนาสนะที่สวยงามเป็นต้น รวมทั้งติดข้องในอาวาสและความเป็นใหญ่ ชื่อเสียงลาภสักการะและบริวาร อย่างนี้ก็เรียกว่าเป็นผู้มีใจข้องในอารมณ์ต่างๆ มัจจุคือความตายย่อมจะพัดพาบุคคลผู้นี้ไปยังห้วงน้ำลึก คืออบาย 4 เหมือนห้วงน้ำธรรมดาพัดพาชาวบ้านผู้หลับอยู่ ไม่รู้สึกตัว ให้จมลงไปในแม่น้ำ พัดพาออกสู่ทะเลลึก ต้องเป็นเหยื่อของสัตว์น้ำ มีปลาร้าย เป็นต้น

นี่คือขยายความพระพุทธภาษิตที่พระพุทธเจ้าตรัสว่า มัจจุคือความตายย่อมจะพัดพาเอาบุคคลผู้ข้องอยู่ในอารมณ์ต่างๆ ผู้เลือกเก็บดอกไม้คือกามคุณ 5 อยู่ เหมือนห้วงน้ำใหญ่พัดพาเอาชาวบ้านผู้หลับอยู่ฉะนั้น

เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรประมาทว่าชีวิตยังอยู่ เรายังสามารถมีชีวิตอยู่ได้นาน ควรจะรีบขวนขวายทำสิ่งที่ควรทำ เว้นสิ่งที่ควรเว้น วันเวลายังมีอยู่สำหรับคนอื่นก็จริง แต่สำหรับตัวเราเอง จะมีเวลาสักเท่าไหร่ พรุ่งนี้จะมีหรือไม่สำหรับเรา ชั่วโมงหน้าจะมีหรือไม่สำหรับเรา วันหน้าจะมีหรือไม่ เราตั้งคำถามให้กับตัวเองอยู่เสมอ ถ้าอย่างนี้เราก็จะไม่ประมาท ไม่มัวเมา ไม่มีความทะนงตน เป็นอุบายอย่างหนึ่งที่จะลดอัสมิมานะลงมาได้

เมื่อปลงอัสมิมานะลงมาได้แล้ว ไม่ดูถูกผู้อื่น ไม่ดูถูกตัวเอง ไม่ต้องผูกไม่ต้องแก้ อตฺตํ นิรตฺตํ น หิ ตสฺส อตฺถิ ความยึดถือและความปล่อยวาง ไม่มีแก่ท่าน เพราะเหตุที่ว่า เมื่อไม่มีการยึดถือ ก็ไม่มีการปล่อยวาง ไม่ต้องแบกก็ไม่ต้องปลง การแบกและการปลงภาระไม่มีแก่ท่าน ใครก็ตามที่ต้องปลงภาระ ก็เพราะต้องแบกเอาไว้ ถ้าสิ่งใดที่เราไม่แบกก็ไม่ต้องปลง อย่างนี้ก็สบาย ไม่มีอัสมิมานะ


มีเทวตาภาษิตอยู่บทหนึ่ง จากสังยุตนิกาย สคาถวรรค พระไตรปิฎกเล่ม 15 ข้อ 19 เป็นเทวตาภาษิต ซึ่งพระพุทธเจ้าทรงรับรอง เพราะว่าท่านไปกล่าวต่อพระพักตร์ของพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

ในโลกนี้ คนชอบถือตัว ย่อมไม่มีการฝึกตน ถือตัวก็คือ มานะ ความทะนงตน คนมีใจไม่มั่นคง ย่อมไม่มีความรู้ ผู้ประมาทแม้อยู่ในป่าคนเดียว ก็ข้ามพ้นมฤตยูไม่ได้ คือต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่นั่นแหละ นี่เป็นเทวตาภาษิต ในสังยุตนิกาย

ผมขออธิบายเพิ่มเติม คนอ่อนน้อมถ่อมตัว ย่อมจะฝึกตนได้ง่าย เพราะเขาพร้อมที่จะดูดซับสิ่งที่ดีเข้าหาตัวอยู่เสมอ ส่วนคนถือตัวมีมานะจัด กระด้าง มองไม่เห็นใครดีกว่าตน หรือเสมอตน อันนี้ก็เห็นไปเองไม่ใช่เป็นความจริง คือเห็นวิปริตไป ไม่ใช่ตามความเป็นจริง

คนที่มีมานะจัด กระด้าง มองไม่เห็นใครดีกว่าตนหรือเสมอตน ย่อมจะมีความประพฤติที่ตรงกันข้ามกับคนอ่อนน้อมถ่อมตน จึงไม่มีการฝึกตน

การฝึกตนนั้นเป็นสิ่งที่ดี พระพุทธองค์ทรงรับรองไว้ว่า ในหมู่มนุษย์ ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว ประเสริฐที่สุด พระพุทธภาษิตที่ผมพูดบ่อยๆว่า ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน ผู้ที่ฝึกตนดีแล้ว ประเสริฐที่สุด แต่น้อยคนนักที่จะฝึกตนได้ คนส่วนมากไม่ได้ฝึกตน ในสังคมมนุษย์จึงเกลื่อนกล่นไปด้วยคนไม่มีคุณภาพ


มีต่อ... :b54:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2010, 00:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


โทษของมานะ (3)

ในการฝึกนั้น เราจะต้องฝึกตัวเอง คนอื่นทำให้หรือทำได้ก็แต่เพียงบอกทางฝึกให้เท่านั้น

พระพุทธเจ้าตรัสสอนไว้ว่า ความเพียรสำหรับเผาบาป ท่านทั้งหลายต้องทำเอง ตถาคต (พระพุทธเจ้า) เป็นผู้บอกทางให้เท่านั้น ตุมฺเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ อกฺขาตาโร ตถาคตา อันนี้เราได้ยินบ่อย มีพระพุทธภาษิตเต็มๆ อยู่ในขุททกนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม 25 ก็น่าสนใจ อยู่ในมรรควรรค ผมจะอ่านที่แปลเป็นภาษาไทย ดังนี้

บรรดาทางทั้งหลาย มรรคมีองค์ 8 เป็นทางที่ประเสริฐที่สุด บรรดาสัจจะทั้งหลาย อริยสัจ 4 เป็นสิ่งที่ประเสริฐที่สุด บท 4 ก็หมายถึงอริยสัจ 4 สจฺจานํ จตุโร ปทา บรรดาธรรมทั้งหลาย วิราคะ คือความปราศจากราคะ ทั้งในกามราคะ รูปราคะ อรูปราคะ ประเสริฐที่สุด บรรดาสัตว์สองเท้าทั้งหลาย พระพุทธเจ้าผู้มีจักษุประเสริฐที่สุด ทางนี้ (หมายถึงมรรคมีองค์ 8) เป็นทางที่เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งทรรศนะคือความรู้ความเห็น ไม่ใช่ทางอื่น ท่านทั้งหลายจงปฏิบัติไปตามทางนี้เถิด จะทำให้มารหลง คือมารหาไม่เจอ ท่านทั้งหลายปฏิบัติไปตามนี้แล้วจะทำที่สุดแห่งทุกข์ได้ ทางที่เป็นไปเพื่อความรู้ เพื่อสลัดลูกศรคือความโศกนี้ เราได้บอกไว้แล้ว

หลังจากนั้นก็จะมาถึง พระพุทธภาษิตตอนนี้ ตุมเหหิ กิจฺจํ อาตปฺปํ ความเพียรท่านต้องทำเอง อกฺขาตาโร ตถาคตา ตถาคตทั้งหลายเป็นเพียงผู้บอกทางเท่านั้น

ท่านทั้งหลายมีความเพ่งพินิจให้ดีแล้วก็ปฏิบัติไปตามทางนี้ ก็จะพ้นจากการผูกพันหรือบ่วงของมารได้ นี่คือพระพุทธภาษิตเต็มๆ ในมรรควรรค ธรรมบท แต่เรามักจะยกมาเฉพาะตอนท้ายนิดหน่อยที่ว่า ทางความเพียรท่านต้องทำเอง พระตถาคตเป็นแต่เพียงผู้บอก นี่ผมก็เอามาฝากให้เต็มเลยนะครับ

นี่คือเรื่องการฝึกตน เราจะต้องมีการฝึกตน เป็นการท้าทายการฝึกตัวเป็นเรื่องสนุกและท้าทายสำหรับตัวเราเอง น้อยคนที่จะระลึกถึงเรื่องนี้ น้อมจิตไปอย่างนี้ คือน้อมจิตไปเพื่อการฝึกตัว เป็นที่น่าเสียดาย เพราะว่ามันเสียโอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ และได้พบสิ่งดีงามคือพุทธศาสนา ซึ่งต้องการให้เราฝึกตน แต่ก็ไม่ได้ฝึกตน

แต่คนส่วนมากก็มักจะทะนงตัวว่าตัวดีเสียแล้ว คนอื่นต่างหากที่ไม่ดี จึงมุ่งไปฝึกที่ผู้อื่น แก้ที่ผู้อื่น ไม่ได้ฝึกตน ไม่ได้มองตน ไม่ได้แก้ไขข้อบกพร่องที่ตน ซึ่งความจริงแล้วการแก้ที่ตนนี่แก้ได้ง่าย ง่ายกว่าแก้ที่คนอื่น เมื่อต่างคนต่างมุ่งแก้ที่ผู้อื่นแล้วก็ยังแก้ไม่ได้ ไม่ได้แก้ที่ตัว ตนของแต่ละคนก็ยังบกพร่องอยู่ ความบกพร่องจึงแผ่ไพศาลออกไปเกลื่อนกล่นไปหมด คือมีแต่ความบกพร่อง ไม่มีความบริบูรณ์

ที่จริงความบกพร่องอยู่ที่ไหน ก็ต้องแก้ที่นั่น ไม่ใช่มัวแต่โทษตนอยู่ฝ่ายเดียว บางคนโทษแต่ตัวเอง ดูว่าความบกพร่องอยู่ที่ไหนต้องแก้ที่นั่น ถ้าความบกพร่องอยู่ที่ตัว ต้องแก้ที่ตัว ถ้าความบกพร่องอยู่ที่คนอื่น ต้องแก้ที่คนอื่น เพราะว่าถ้าเกิดมีปัญหาบกพร่องขึ้น เราคิดแต่จะแก้ที่ตัว บางทีทำถูกอยู่แล้วแต่มาแก้ที่ตัวเราเพื่อให้เข้ากับคนอื่นที่ผิด เราก็แก้ที่ถูกให้ผิด แต่ว่าคนส่วนมากโดยทั่วไป ก็มักมองแต่โทษของคนอื่นแม้เพียงเล็กน้อย ไม่เห็นโทษของตัวแม้มาก

ที่พูดนี้ไม่ได้มีจุดประสงค์อย่างอื่น แต่ต้องการให้แก้ข้อบกพร่องของตนก่อน ถ้าช่วยแก้ข้อบกพร่องของผู้อื่นได้บ้าง ก็ขอให้แก้ แต่ว่าอย่าไปวุ่นวายกับเขามากเกินไปนักเลย ให้เกียรติเขาบ้างตามสมควร วางอุเบกขาเสียบ้าง มีเมตตาก็แล้ว กรุณาก็แล้ว มุทิตาก็แล้ว ก็วางอุเบกขาเสียบ้าง

มีต่อ.... :b38:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2010, 00:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


พระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ตนเป็นที่พึ่งของตน คนอื่นใครจักเป็นที่พึ่งได้ ผู้ที่มีตนฝึกดีแล้ว ย่อมจะได้ที่พึ่งซึ่งได้โดยยาก

พระพุทธภาษิตนี้ควรใส่ใจ และถือเป็นอุดมคติทีเดียว คนที่จะเป็นที่พึ่งได้ ก็เพราะว่าตนของตนที่จะเป็นที่พึ่งได้ ก็เฉพาะตนที่ฝึกแล้ว ที่ยังไม่ได้ฝึกหรือว่าฝึกไม่ได้ ก็เป็นที่พึ่งไม่ได้ มีแต่จะทำให้คับแค้นรำคาญทั้งแก่ตัวเอง ทั้งแก่คนอื่น เหมือนร่างกายที่มีโรครบกวน ก็มีไว้เพื่อจะรำคาญ ไม่ใช่เพื่อความสุขสำราญ ท่านลองคิดดู โรคเกิดในกาย ไม่มีประโยชน์แก่ร่างกาย มีแต่ทำลาย แต่สมุนไพรเกิดในป่า มีประโยชน์แก่ร่างกาย คนใกล้ชิดที่ไม่เข้าใจ เบียดเบียนทั้งกายและจิต จะมีประโยชน์อะไร


กลไกที่เข้าใจให้ความสุขความชื่นบานทั้งกายและจิตเมื่อเข้าใกล้ มีประโยชน์มากกว่า แม้นานๆครั้งก็ยังดี เหมือนสระน้ำที่ใสสะอาดเย็นสนิท อาบดื่มสบายแม้อยู่ไกลสักหน่อย ก็เดินไปหาได้ แต่บ่อในบ้าน อาบก็คัน กินก็ไม่ได้ ท้องอืดท้องเสีย จะมีประโยชน์อะไร แต่ว่าถ้าเผื่อบ่อในบ้าน เป็นบ่อที่มีน้ำใสสะอาด เย็นสนิทดื่มสบาย มันก็จะดีขึ้น อยู่ใกล้ด้วยให้คุณมากด้วย มันไม่ต้องเดินไกล ไม่ต้องเสียเวลา

แต่มันเป็นอาภัพของสังคมหรือของโลก ความอาภัพของครอบครัว คนที่อยู่ใกล้ มักไม่ค่อยเห็นคุณค่าของคนที่มีคุณค่า คนที่อยู่ไกลกลับเห็นคุณค่า

บางทีเจ้านายมีลูกน้องดีๆ ก็ไม่เห็นคุณค่า คนอื่นก็กลับเห็นคุณค่าเอาไปใช้ได้ มันน่าเสียดายเท่าไหร่ ก็ต้องมีปัญญาดู

ร่างกายจะอยู่ใกล้กันหรืออยู่ไกลกัน ไม่สำคัญหรอกครับ ความระลึกถึงกันด้วยความสนิทใจ ไม่เบื่อหน่ายต่างหากที่ให้ความชื่นใจอยู่เสมอ

ผู้ที่หวังความก้าวหน้าในการงาน การศึกษา และการปฏิบัติธรรม จึงจำเป็นต้องลดมานะลงทีละน้อยๆ แล้วก็ฝึกตนให้เป็นคนไม่มีมานะ มีมนุษยสัมพันธ์ดี คนที่มีมนุษยสัมพันธ์ดี คือคนที่ให้เกียรติคนอื่น เข้ากับคนในสังคมได้ ไม่กล้าทำความชั่ว เพราะเห็นว่าเรายังไม่ดีพอ ฝึกตนให้เป็นคนมีนิสัยดีงาม น่าคบหาสมาคม ใครเข้าใกล้แล้วไม่คัน ไม่ร้อน

นิสัยที่ดีงาม จะหนุนให้เป็นผู้มีบุญวาสนาต่อไป คือจะได้ประสบความสำเร็จตามที่ตนต้องการ คำว่ามีบุญวาสนานี้ก็คือได้ประสบความสำเร็จตามที่ตนต้องการ แต่ก็น่าจะเพียงพอแล้วสำหรับมนุษย์เรา

นอกจากนี้เราควรจะฝึกตนให้เป็นคนหมั่นสั่งสมความดีเสมอ เมื่อความดีเต็มเปี่ยมแล้ว ต้องการชะตาชีวิตอย่างไร ก็ย่อมจะได้อย่างนั้น จึงไม่ควรท้อถอยในการหมั่นฝึกตนให้สั่งสมความดี

เมื่อวานนี้ก็ได้คุยกับผู้หนึ่งซึ่งมาหา เขาก็ท้ออยู่ในการทำความดี มีปัญหามากมายที่ทำให้ท้อ บางคนจนถึงจะเลิกทำ ผมบอกว่าอย่าทำอย่างนั้น ขณะที่เราทำความดี ยังได้เพียงแค่นี้ ถ้าเราเลิกทำความดีแล้ว มันจะเป็นอย่างไร

เขาถามว่าเรื่องต่างๆที่ทำให้ท้อนี่มันเกิดขึ้นกับผมบ้างหรือไม่ ผมบอกว่าก็เกิดบ้างเหมือนกัน ผมเป็นคนธรรมดา แต่ว่าถ้ามันเกิดท้อขึ้นเมื่อไหร่ ผมตั้งใจว่าจะทำความดีถวายพระพุทธเจ้า คือไม่นึกถึงใคร นึกถึงใครที่เขาจะให้ความเป็นธรรมแก่เราหรือไม่ ให้ความเป็นธรรมแก่เรา เขามองเห็นเราหรือไม่มองเห็นเรา ก็ตั้งใจขอทำความดีถวายพระพุทธเจ้า เพราะว่าได้ประโยชน์จากคำสอนของพระองค์อย่างเหลือล้น ไม่มีอะไรที่จะพรรณนาได้ ขอทำความดีถวายพระพุทธเจ้า แค่นี้ก็พอแล้ว นอกจากนั้น ก็ให้แก่ประชาชนที่เขาช่วยเหลือเราอยู่ โดยที่รู้ตัวบ้างไม่รู้ตัวบ้าง เห็นตัวบ้างไม่เห็นตัวบ้าง ทำนองนี้ เพียงคิดเท่านี้ กำลังใจก็กลับมามหาศาลแล้ว ไม่รู้จักหมด ถ้าเผื่อเรารู้จักคิด

เพราะว่าความดีมันเริ่มที่ใจก่อน เราจึงต้องทำใจให้เป็นบุญเป็นกุศลอยู่เสมอ กายวาจาก็จะได้เป็นกุศล ความสุขความสำเร็จก็จะตามมา เหมือนเงาตามตัว อย่ารีบร้อนนัก ค่อยทำค่อยไป ทำด้วยใจสงบใจเย็น เหมือนต้นไม้ เราเห็นต้นไม้อยู่เสมอแต่เราไม่ค่อยเอาตัวอย่างต้นไม้



มีต่อ... :b38:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2010, 00:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ต้นไม้มันทำหน้าที่ ทำการงานด้วยใจเย็นใจสงบ เราเข้าใกล้ต้นไม้มันถึงเย็นเป็นสุข นั่งใต้ร่มไม้สบาย ความดีมันมีอานุภาพประหลาด ก็พยายามทดสอบ พยายามดู คือใช้ชีวิตไปทดสอบความดีต่างๆ ความดีมีอานุภาพประหลาดจริงๆ ขอให้ทำดีด้วยความตั้งใจบริสุทธิ์ใจ อย่าได้มีสิ่งใดแอบแฝง แล้วท่านจะได้เห็นอานุภาพประหลาดของความดี มันน่าชื่นใจจริงๆ ท่านต้องทำด้วยความฉลาด อย่าทำด้วยความโง่ ถ้าทำด้วยความโง่ ผลมันจะตีกลับออกมาอีกแบบหนึ่ง ท่านต้องมีปัญญาก่อน แล้วก็ค่อยทำค่อยไป ทำด้วยใจสงบ ด้วยเหตุผล รู้เท่าทันเหตุการณ์ อะไรควรรุกก็รุก อะไรควรถอยก็ถอย

ถ้าเราทำด้วยใจสงบ สิ่งที่ทำ คำที่พูด จะสงบและจะได้มีคุณภาพ ไม่เพ้อเจ้อไม่หละหลวม เป็นเข็มทิศชี้ทางแก่ตัวเอง และแก่ผู้อื่นที่ได้พบเห็น ได้คบหาสมาคม

มีสุภาษิตในทางพุทธศาสนาอยู่บทหนึ่งที่ชอบมาก อปิ อตรญานานํ ผลาสา ว สมิชฺฌติ ความหวังผลย่อมจะสำเร็จแก่ผู้ที่รู้จักรอคอย ไม่ใจร้อน คือเรามีโครงการข้ามชาติ หมายความว่าเรามีโครงการอะไรแล้ว เราไม่คิดระยะสั้น เราคิดระยะยาว ไม่สำเร็จในวันนี้ สำเร็จในวันหน้า ไม่สำเร็จในเดือนนี้ สำเร็จในเดือนหน้า ไม่สำเร็จปีนี้ สำเร็จปีหน้า หรือปีต่อๆไป ไม่สำเร็จชาตินี้ สำเร็จชาติหน้า คือว่าเอาเป็นชาติๆกันไปเลย สักกี่ชาติๆก็ตั้งใจมั่นคงว่าจะทำอย่างนี้แหละ ทำต่อไป แล้วสิ่งที่เป็นอุปสรรคที่มาขัดขวาง มันจะถอยตัวไปเอง มันจะแหวกออกไปเอง

คนมีความตั้งใจมั่น ความเพียรมั่นคง มีความบากบั่นมั่นคง ที่เรียกว่า อนิกฺขิตฺตธุโร กุสเลสุ ธมฺเมสุ ไม่ทอดธุระในกุศลธรรม มีจิตใจมั่นคง

มาถึงตอนที่ 2 เชื่อมกันพอดีว่า คนใจไม่มั่นคงย่อมไม่มีความรู้ เพราะว่าความรู้นั้นจะมีแก่ผู้ใด ผู้นั้นต้องหมั่นเก็บหมั่นสะสมความรู้ เก็บเล็กผสมน้อย ว่างไม่ได้ ว่างเขาต้องเก็บความรู้ นั่งดูโทรทัศน์นี่ เวลาโฆษณาเป็นเวลาที่เขาหาความรู้ได้ และแม้ข้อความในโทรทัศน์หรือวิทยุนั้นเอง ก็มีข้อความที่เราจดได้ เราก็จดวันที่ เดือน พ.ศ. เอาไว้ จดจากรายการอะไร จดเอาไว้ แล้วเวลาจำเป็นต้องใช้ ท่านเอาไปใช้ได้เลย

อันนี้เป็นข้อมูลต่างๆ หาความรู้อยู่เสมอ ก็จะได้ความรู้วันละเล็กวันละน้อย บ่อยเข้าก็จะเพิ่มพูนมากขึ้นๆ เหมือนเชือกที่ขวั้นกันเป็นเกลียว วันละเกลียว ร้อยวันร้อยเกลียว ท่านลองคิดดู น้ำหยดลงทีละหยด 1 ปีผ่านไปเป็นอย่างไร 2 ปีเป็นอย่างไร ไม่ใช่ว่า 1 ปีก็เท่าเดิม 2 ปีก็เท่านั้น อย่างนี้ความรู้ไม่เพิ่ม ถึงจะตายพรุ่งนี้ วันนั้นเราต้องแสวงหาความรู้

ผมเคยคุยกับพระ ผมบอกว่า ในฐานะที่เป็นอาจารย์สอนที่มหาวิทยาลัยสงฆ์ ผมบอกว่า แม้ท่านจะสึกพรุ่งนี้ อันนี้ท่านจะต้องทำหน้าที่ของพระ เพราะว่าเรายังต้องกินต้องใช้ ต้องฉันต้องใช้เสนาสนะ ที่ชาวบ้านถวายตลอดเวลาที่ยังเป็นพระอยู่ ต้องขออภัยด้วยที่นำมาเล่า ที่จริงรายละเอียดมีมากกว่านี้

เพราะฉะนั้น เราจะต้องสะสมความรู้ ทางใดที่จะเกิดความรู้ ต้องหมั่นสะสมความรู้ไปในทางนั้น บากบั่นไปในทางของตน ด้วยจิตใจที่มั่นคงไม่เป็นคนจับจดโลเล การสะสมความรู้ต้องใช้เวลานาน 20-30-50 ปี แล้วแต่อายุมันจะยืนไปถึงไหน แม้พรุ่งนี้เราต้องตาย เราจะต้องแสวงหาความรู้ จะต้องทำกันไปตลอดชีวิตเลยทีเดียว ก็ยังไม่ถึงที่สุดของความรู้ในทางของตน เพราะยังไม่รู้อีกมากมาย

เพราะฉะนั้น คนที่โลเลเหลาะแหละ จิตใจไม่มั่นคงจับจดจึงไม่มีความรู้จริง คนที่รู้จริง ต้องเป็นคนจิตใจมั่นคง

มีต่อ...... :b38:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2010, 00:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b53: วิธีละมานะ :b53:

คําว่ามานะในตำราพระไตรปิฎกท่านจะใช้คำว่า อหังการบ้าง มมังการบ้าง มานานุสัยบ้าง อนุสัยคือมานะ อหังการคือความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นเรา ความทะนงตัว มมังการก็คือเป็นของเรา มันจะอยู่ในตัณหาคาหะ มมังการคือตัณหาคาระ ยึดอยู่ด้วยอำนาจของตัณหา

ในพระไตรปิฎกเล่ม 14 มัชฌิมนิกาย อุปริปัณณาสก์ ชวิโสธนสูตร ได้กล่าวถึงปฏิปทาสำหรับที่จะละอหังการ มมังการ และมานานุสัยเอาไว้เป็นลำดับดังนี้

1. มีศรัทธาในพระศาสดา ศรัทธานี่ที่กล่าวในพระบาลีคือในชั้นพระไตรปิฎกก็จะพูดถึงศรัทธาในตถาคตโพธิญาณ คือปัญญา ศรัทธาเชื่อในพระปัญญา ตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า สำหรับ กัมมสัทธา วิปากสัทธา กัมมัสกตาสัทธา 3 อย่างนั้น ไม่มีปรากฏในชั้นพระบาลี แต่เราได้ทำเอาเงาๆ หรือข้อความที่คล้ายๆทำนองนั้นมาร้อยเข้า พ่วงเข้ามากับตถาคตโพธิสรัทธา เช่น กัมมสัทธา เชื่อในพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้านั้นท่านเป็น กัมมวาที เราก็สอนให้มีกัมมสัทธา คือเชื่อกรรม ตามมากับ ตถาคตโพธิสัทธา

เพราะฉะนั้น เบื้องแรกก็คือต้องศรัทธาในพระศาสดา หรือในพระปัญญาตรัสรู้ของพระพุทธเจ้า ถ้ามองในแง่ปฏิบัติก็คือ เชื่อว่ามนุษย์ฝึกฝนได้ เพราะพระพุทธเจ้าเป็นผู้ฝึกตนเอง เอาชนะตนเอง บำเพ็ญเพียรด้วยตนเอง และเอาชนะความทุกข์ได้ เอาชนะกิเลสได้ มนุสฺสภูตํ สมฺพุทฺธํ อตฺตทนตํ สมาหิตํ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าเป็นมนุษย์ แต่ทรงฝึกพระองค์แล้ว มีพระทัยมั่นคง เทวาปิ นํ นมสฺสนฺติ แม้เทวดาทั้งหลายก็นมัสการนอบน้อมพระองค์

เมื่อมีศรัทธาในสิ่งที่ถูกต้อง ดำรงอยู่ในศรัทธาเช่นนี้แล้ว ต่อไปก็บำเพ็ญศรี เข้าใกล้สัตบุรุษ บำเพ็ญศีล เช่น ศีลกรรมบถ ศีลระดับต่างๆ จุลศีล มัชฌิมศีล มหาศีล ขอให้ท่านไปดูรายละเอียดในชวิโสธนสูตร

แต่ศีลกรรมบถนี่ท่านถือว่าเป็นธรรมสำหรับขัดเกลาในสันเลขสูตร มัชฌิมนิกาย พระองค์ทรงแสดงกุศลกรรมบถ 10 ในฐานะเป็นธรรมเครื่องขัดเกลา

สำหรับฌาน 4 เบื้องต้น นั่นเป็น ทิฏฐธรรมสุขวิหาร แปลว่าเป็นธรรมสำหรับให้อยู่สุขสบายในปัจจุบัน ไม่ใช่ธรรมเครื่องขัดเกลา

ฌาน 4 เบื้องปลาย ตั้งแต่ อากาสาณันจายตนะ เป็นต้นไป นั่นก็เป็น สันตวิหาร เป็นธรรมสำหรับอยู่สงบ ไม่ใช่ธรรมเครื่องขัดเกลา

เพราะฉะนั้น ท่านที่ไปเล่นทางสมาธิ ก็ขอให้คำนึงถึงเรื่องนี้ด้วย ไม่ใช่ทำสมาธิได้ แล้วจะเป็นธรรม เป็นเครื่องขัดเกลา


.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2010, 00:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b51: ธรรมเครื่องขัดเกลา :b51:

ธรรมเครื่องขัดเกลานั้น ท่านมุ่งถึงกุศลกรรมบถ ละนิวรณ์ 5 ทำนองนี้ไปจนถึงการละกิเลสต่างๆ เช่น อุปกิเลส 16 ได้ นี่เป็นธรรมเครื่องขัดเกลา วิธีที่จะให้ถึงธรรมเครื่องขัดเกลา มีสันโดษ อยู่อย่างสันโดษ มักน้อย พอใจเท่าที่จำเป็น ไม่เป็นคนมักมาก อยู่เท่าที่จำเป็นต้องอยู่

ทางโลกนี่ไม่ค่อยได้สอนให้เราดับความต้องการ มีแต่จะยั่วยุให้เราต้องการมากขึ้นๆ ศิลปะการโฆษณาต่างๆ ก็ยั่วยุให้คนต้องการ ให้บริโภคมากขึ้นๆ จนเราอยู่ในสังคมบริโภคนิยมโดยไม่รู้ตัว มันก็ขัดกับหลักธรรมเป็นเครื่องขัดเกลา ยิ่งมีมากก็ยิ่งอยากมากเหมือนไฟได้เชื้อ ก็สอนศิลปะในการแสวงหา จะแสวงหาอย่างไรจึงจะได้มากกว่าคนอื่น สามารถที่จะเอาเปรียบคนอื่นได้ ไม่สอนศิลปะในการลดความต้องการ เพื่อที่จะได้ไม่ต้องวิ่งตามความอยาก เพื่อจะได้พ้นจากบ่วงของความทะยานอยาก นี่ก็เป็นเรื่องทางโลกที่เป็นอย่างนั้น ถ้าเป็นทางธรรม มันก็ต้องพยายามที่จะลดความอยากความต้องการ มีความสันโดษ กินอยู่เท่าที่จำเป็น

ในตะวันตกก็มี เฮนรี่ ทาโร นักคิดชาวอเมริกัน อยู่ที่ สวีเดน เป็นคนที่มักน้อยที่สุด อยู่ง่ายๆที่สุด ตั้งแต่อายุยังน้อย 27-28 ก็ละทิ้งจากความฟุ่มเฟือยทั้งหลาย ไปสงบอยู่ในกระท่อม ปลูกถั่วกิน มีของน้อยที่สุด ใช้ชีวิตอย่างน้อยที่สุด มีเก้าอี้รับแขก 2 ตัว เป็นกระท่อมน้อยๆ มีสุภาพสตรีที่หวังดี เอาพรมเช็ดเท้าไปให้ ไม่รับ บอกไม่ต้องหรอก ใช้ก้อนหินก็เช็ดได้ อยู่อย่างง่ายที่สุด จำเป็นที่สุด ก็จะพบว่ามันไม่มีอะไรที่ต้องการมาก เมื่อเราตั้งใจที่จะใช้ชีวิตอย่างนั้น

มีชีวิตอยู่ที่ไหนก็ไม่สำคัญ สำคัญที่ว่ามีชีวิตอยู่อย่างไร ความสำคัญมันอยู่ที่ว่าอยู่อย่างไร ไม่ใช่อยู่ที่ไหน หรือว่าเป็นอะไรไม่สำคัญ สำคัญว่าเราทำอะไร ถ้าเป็นนั่นเป็นนี่เป็นโน่น เป็นอะไรต่างๆมากมายที่เขาให้เป็น แต่ว่าไม่ได้ทำอะไรเป็นชิ้นเป็นอัน มันสำคัญเท่ากับคนที่ว่าไม่ได้เป็นอะไร แต่ว่าได้ทำอะไรให้เป็นประโยชน์แก่คนในสังคม ความเป็นไม่สำคัญเท่ากับการกระทำ

สันโดษ คุณธรรมเครื่องขัดเกลา สำหรับละอหังการ มมังการ นามานุสัย ความสันโดษและสำรวมอินทรีย์ คือระวังอายตนะ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสเรียกว่ามหาสมุทร เพราะมันลึก

ผมยังปรารภกับบางคนว่า ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ นี่มันเป็นธรรมชาติที่มหัศจรรย์ โลกทั้งโลกมันอยู่ที่อันนี้ โลกทั้งโลกมันย่อลงเหลือแค่อายตนะ 6 นี่เอง ถ้าไม่มีสิ่งนี้ก็เหมือนโลกทั้งโลกมันจะดับไปเลย มันจะไม่มี แต่ถ้าไม่สำรวมไม่ระวัง มันก็ดึงไปในทางเสื่อมเสีย ดึงไปในทางไม่ดี เหมือนในคัมภีร์บาลี ท่านเปรียบว่า เหมือนเอาสัตว์ 6 ชนิดมาผูกติดไว้กับตัว เช่น นกมันก็จะบินไปในอากาศ หนูก็จะวิ่งเข้ารูในที่รก จระเข้ก็จะดึงเราไปลงน้ำ สุนัขจิ้งจอกก็จะดึงเราไปที่ป่าช้า สุนัขบ้านก็จะดึงเราไปในใต้ถุนหรือหลังบ้าน เราเอาเชือกผูกสัตว์ 6 อย่างนี้ไว้กับตัว มันก็จะดึงเราไป

ถ้าเราตัดเชือกเสีย มันก็ไปตามปรารถนาของมัน แปลว่าเราไม่ต้องถูกดึง เป็นอิสระอยู่ได้ด้วยตัวเอง นี่คือการสำรวมอินทรีย์

เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่าอินทรีย์ของมนุษย์ในโลกนี้ทั้งมีประโยชน์และไม่มีประโยชน์ ที่ฝึกดีแล้วมีประโยชน์ ที่ยังไม่ฝึกไม่มีประโยชน์ อินทรีย์ในที่นี้คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ

บางคนบอกว่า มีตาแล้วไปดูสิ่งที่ไม่ควรดู บางคนบอกว่าถ้าตาบอดเสีย กำไรตรงที่ว่าไม่ต้องระวังตาในการที่จะทำความชั่วเพราะตา ถ้าหูหนวกก็ดีไปอย่าง เพราะไม่ต้องไปทำความชั่วเพราะหู ผมก็บอกว่า ดีเหมือนกัน แต่ดีครึ่งเดียว ตาดีก็ได้ดูสิ่งที่ควรดู ถ้าบอดเสียก็ไม่ได้ดูสิ่งที่ควรดู เช่นดูหนังสือ ถ้าตาบอดก็อ่านหนังสือไม่ได้ ถ้าหูหนวกเราจะใช้ประโยชน์จากหูก็ใช้ไม่ได้ จะฟังธรรมทางวิทยุ ฟังใครพูดอะไรก็ไม่ได้ยิน ก็เสียประโยชน์ไป

เพราะฉะนั้น มันมีดีๆ อยู่นี่แหละ ดีกว่า เราก็สำรวมเอา ระวังเอา ฝึกฝนเอา ให้มันดูสิ่งที่ควรดู ให้มันฟังสิ่งที่ควรฟัง อย่างนั้นไม่ดีกว่าหรือ ฝึกอินทรีย์ให้ใช้ประโยชน์ได้ ไม่ปล่อยให้มันพยศหรือเป็นโทษ

คล้ายเรามีมีดอยู่ ทำใจเราให้ดี มีดมันก็จะเป็นประโยชน์ตลอดเวลาไม่ไปประทุษร้ายใคร เพราะว่ามันจะใช้ประทุษร้าย ก็เมื่อใจคิดประทุษร้าย

ต่อไปก็คือมีสติสัมปชัญญะ สัมปชัญญะคือความรู้ตัวปัญญานั่นเอง บางคนมีปัญญามาก สติตามไม่ทัน มันเลยกลายเป็นคนล้น บางคนมีสติมากปัญญาน้อย ก็เลยกลายเป็นคนทำอะไรไม่ได้ มันต้องช่วยกันทั้งสติสัมปชัญญะ คือตัวปัญญา เวลาไปทำสมาธิ ที่จริงคืออบรมสติ พอมีสติดีแล้ว จิตมันก็เป็นสมาธิ แต่เรียกว่าไปทำสมาธิ เอาเถอะก็เข้าใจกันก็ใช้ได้ เป็นแต่เพียงสื่อความหมายเท่านั้น ก็มีสติสัมปชัญญะ

ประการต่อมา ละนิวรณ์ 5 ได้ก็ได้ฌาน 4 นี่ว่าตามลำดับของพระบาลี ชวิโสธนสูตร

ประการสุดท้าย คือเห็นอริยสัจ 4 ตามความเป็นจริง การเห็นอริยสัจก็เป็นยอดของการปฏิบัติ แต่ไม่ใช่เห็นง่าย จำง่าย ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค แต่ในภาคปฏิบัติ ปฏิบัติยาก แม้แต่เพียงเรื่องทุกข์ ก็ปฏิบัติไม่ได้ เพราะเห็นสิ่งที่เป็นสุข ที่พระอริยะเห็นว่าเป็นสุข คนเห็นว่าเป็นทุกข์ ที่พระอริยะเห็นว่าเป็นทุกข์ คนทั้งหลายเห็นว่าเป็นสุข แม้แต่จะเห็นให้ตรงในเรื่องทุกข์ มันก็ไม่ได้อยู่แล้ว ไม่ต้องกล่าวคืบไปถึงตัณหาสมุทัยเหตุให้เกิดทุกข์ ที่จะต้องไปละมัน ตัณหาซึ่งเป็นข้อหนึ่งในปปัญจธรรม ที่จะต้องไปละมันให้ได้ มันเป็นสิ่งที่ยากในการปฏิบัติ ง่ายในการที่จะจำ เข้าใจก็ค่อนข้างยากสำหรับคนที่มีพื้นฐานน้อยไม่ได้เรียนมาโดยลำดับ สำหรับการปฏิบัตินั้น ต้องยอมรับว่ายาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งปฏิปทาสำหรับการปฏิบัติ คือมรรคมีองค์ 8 ก็ยิ่งยากขึ้นไปอีกที่จะปฏิบัติให้สมบูรณ์ ให้เป็นมรรคสมังคี จนสามารถที่จะเป็นสัมมาญาณ เป็นอริยมรรคญาณ ตัดกิเลสได้เป็นเรื่องๆไป ยิ่งยากขึ้น เพราะว่าคนส่วนมากก็ไม่ค่อยจะมีกำลังใจที่จะทำสิ่งนี้

เดินทางสายนี้ มันเป็นทางสายเปลี่ยว เป็น Alonley road ไม่เป็น Cloudy road ไม่เป็นทางสายที่ยัดเยียด ซึ่งคน เป็นอันมากเดินกันเข้าไปในทางสายนั้น แต่ว่าทางนี้มันเป็นทางสายเปลี่ยว เดินสบาย ร่มรื่น เหมือนเดินอยู่คนเดียว บนถนนที่มีต้นไม้ร่มครึ้มไปตลอดทาง เดินสบาย ไม่ต้องแย่งกันหายใจ ลองเดินดูก็ได้ จะพบว่ามันเดินสบาย สวนทางกับทางที่เขาเดินกันเราก็ค่อยสบาย ท่านลองทำงานดูก็ได้ สวนทางกับที่คนทั้งหลายเขาทำอยู่ คือเวลาเขาไปเราก็ไม่ไป เวลาเขากลับเราก็ยังไม่กลับ เรากลับเวลาที่คนอื่นเขากลับหมดแล้ว มันก็สบาย ถนนมันว่าง

หรือปลาที่มันอยู่ในอ่างที่มีน้ำเยอะมีปลาน้อย มันก็ว่ายสบาย อยู่ในอ่างที่เล็กๆแต่มีปลาเยอะ มันก็ยัดเยียดกันกระทบกระทั่งกัน

นี่คือธรรมสำหรับละมานะ อหังการ มมังการ มานานุสัย ตามนัยของชวิโสธนสูตร



.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ม.ค. 2010, 00:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


:b39: ความถ่อมตน :b39:

วิธีละมานะ มีอีกวิธีหนึ่งที่จะละมานะได้ดีก็คือความถ่อมตน นี่เป็นหลักทั่วไป ทำให้เราละอหังการ มมังการ มานานุสัย ความทะนงตน เพราะว่าความถ่อมตนเป็นสิ่งที่ตรงกันข้ามกับการมีมานะว่าเก่งกว่าเขา ดีกว่าเขา ยกตัวให้เลิศลอยกว่าผู้อื่น ผู้ใดก็ตามถ้าเผื่อยกตนข่มผู้อื่น และอวดว่าวิเศษกว่าผู้อื่น ก็จะประสบความเสียหาย พ่ายแพ้

ผู้ใดอ่อนน้อมถ่อมตน ก็จะประสบความสุขความเจริญ สังเกตดูที่ใบหน้าก็ได้ ใบหน้าเขาจะทอประกายแสงของความถ่อมตน น้ำเสียงก็บอกถึงความอ่อนน้อมถ่อมตน บางทีการเขียนหนังสือถึงผู้อื่น เช่น เราเขียนหนังสือถึงใครสักคนหนึ่ง ทำนองว่าเขียนถึงประวัติของบุคคลผู้นั้นๆ แต่ว่าถ้าไม่ระวังคนก็จะยกตัวติดเข้าไปด้วย ไม่ถ่อมตน ยกย่องผู้อื่นนั่นแหละ แต่ก็เป็นการยกย่องตัวเองไปด้วย ประกายแสงของสิ่งนั้นมันจะออกมา ทำให้คนอ่านเขาจับได้ ว่าที่แท้ก็ต้องการจะยกย่องตัวเอง ไม่ใช่การไปยกย่องผู้อื่น หรือมีการยกย่องผู้อื่นบ้าง แต่จุดประสงค์หลัก ก็คือยกย่องตัวเอง อย่างนี้ก็มี

ความอ่อนน้อมถ่อมตน เป็นสิ่งที่ต้องอาศัยสติปัญญา ควบคุมให้ผู้นั้นอ่อนน้อมถ่อมตัวได้ และจะทำให้เป็นคนมีความดี มีบุญวาสนาขึ้นมา จากการที่มีความอ่อนน้อมถ่อมตัว โดยมีสติปัญญาควบคุม

นี่เป็นสิ่งที่ต้องมองเห็นประโยชน์ ถ้าเรามองไม่เห็นประโยชน์ แล้วก็ทนไปเป็นวัวเป็นควาย อย่างนั้นมันก็ใช้ไม่ได้

ทำให้ทำสิ่งที่ทำได้ยาก ทำให้สละสิ่งที่สละได้ยาก สิ่งที่จะตามมาก็คือจะได้สิ่งที่ได้โดยยาก ก็คือได้คุณธรรม ได้ความดี ความถ่อมตนเป็นรากแก้วอย่างหนึ่งของมนุษย์ ทำให้มนุษย์เป็นคนเจริญรุ่งเรืองขึ้นได้ โดยที่ไม่มีใครขัดขวาง ไม่มีอุปสรรค ไม่มีปัญหา หรือมีปัญหาน้อยที่สุด เพราะความอ่อนน้อมถ่อมตน

นอกจากนี้ ความอ่อนน้อมถ่อมตนก็ทำให้ได้พร 4 ประการ ตามที่พระท่านให้พร ที่จริงแล้วก็ต้องปฏิบัติ อภิวาทนสีลิสฺส นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน จตฺตาโร ธมฺมา วฑฺฒนฺติ อายุ วณฺโณ สุขํ พลํ ธรรม 4 ประการ คือ อายุ วรรณะ สุข กำลัง วรรณะคือผิวพรรณหรืออาโรคิยะก็ได้ ความไม่มีโรค วรรณะจะหมายถึงคำสรรเสริญก็ได้

ธรรม 4 ประการคืออายุ วรรณะ สุข พละ ย่อมจะเจริญแก่บุคคลผู้มีปกติอ่อนน้อมถ่อมตน อภิวาทนสีลิสฺส มีปกติอภิวาไหว้คนที่ควรไหว้ นิจฺจํ วุฑฺฒาปจายิโน อ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่ คือรู้จักว่าใครเป็นเด็กใครเป็นผู้ใหญ่ ไม่มีปลาสะ ไม่ตีเสมอ ไม่ยกตนเทียมท่าน ไม่ตีเสมอท่าน รู้จักวางตัว อ่อนน้อมถ่อมตน นี่ก็เป็นมงคล เอามงคลเข้าตัว แล้วก็ได้อานิสงส์คือ อายุ วรรณะ สุขะ พละ


ในที่บางแห่ง เช่น ในวัตตบท 7 กล่าวถึงว่าเทวดาชั้นดาวดึงส์ย่อมจะมีคุณธรรมเหล่านี้ มีข้อหนึ่ง มาตา เปติภรํ ชนฺตํ เลี้ยงมารดาบิดา กุเลเชษฐาปจายินํ เป็นคนอ่อนน้อมถ่อมตน ต่อผู้ใหญ่ในตระกูล คนที่จะมีความอ่อนน้อมถ่อมตนได้ก็จะต้องเป็นคนที่ฝึกตน ปราบตัวเองได้ แต่ส่วนมากทำไม่ได้ เพราะตัวมานะความทะนงตนจะคอยออกมาแสดงบทบาทของมัน ถ้าจะอ่อนน้อมถ่อมตน จะรู้สึกด้อย ความรู้สึกอันนี้ทำให้อ่อนน้อมถ่อมตนกับใครไม่เป็น ชอบอวดวิเศษ มานะว่าสูงกว่าเขา มานะว่าเสมอเขา มานะว่าต่ำกว่าเขา อย่างที่เคยพูดมาหลายครั้งแล้ว ว่าไม่ได้ตระหนักถึงความเป็นจริงว่าคนทุกคนก็เป็นได้อย่างที่ตัวเป็น ทำได้อย่างที่ตัวทำ ไม่มีใครที่จะเสมอกัน หรือต่ำกว่าหรือสูงกว่า โดยประการทั้งปวง

ถ้าคิดอย่างนี้ไม่เป็น มันก็อ่อนน้อมถ่อมตัวไม่เป็น ก็ได้แต่ยกตนข่มผู้อื่น หรือมิฉะนั้นก็ยอมไปเลย คุกเข่าไปเลย หมายความว่าดูหมิ่นตัวเองไปเลย ซึ่งไม่ควรจะเป็นอย่างนั้น มองตนและผู้อื่นตามความเป็นจริง แต่ในการปฏิบัติต่อผู้อื่นก็มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดี ให้เกียรติแก่คนทุกคนที่มาเกี่ยวข้อง มีความตระหนักรู้ว่าคนที่อยู่ต่อหน้าเราเป็นคนสำคัญที่สุดสำหรับเรา เราก็ให้เกียรติเขาได้ แต่ว่าคนแบบนี้ต้องยอมเหนื่อยหน่อย จะต้องปฏิบัติธรรมหมายความว่า ไม่เพียงแต่พูด อาจจะพูดให้ฟัง ทำให้ดู เป็นอยู่ให้เห็น

เด็กบางคนจะไม่ค่อยรู้ประสีประสา ก็ยกตนข่มผู้อื่น เช่นคนงาน เด็กบางคนไม่ประสีประสาก็พูดจาดูหมิ่นเขา แต่ถ้าผู้ใหญ่สอนเป็นตักเตือนเป็น ก็ว่าเราทำอย่างเขาได้ไหม ไปดูถูกเขานี่ เราทำสิ่งที่เขาทำได้ไหม เด็กได้สติ ทำอย่างเขาไม่ได้ การอ่อนน้อมถ่อมตนก็เกิดขึ้นในจิตใจของเด็ก และติดไปจนเขาเป็นวัยรุ่น เป็นผู้ใหญ่ เขาก็มีท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตน แม้แต่คนในบ้าน นั่นคือลักษณะที่เขาไปสะดุด ไปได้ในสิ่งที่เขานึกไม่ถึง ก็ดีที่ผู้ใหญ่สอนเป็น

เพราะฉะนั้น การอ่อนน้อมถ่อมตน จึงเป็นหลักสำคัญของชีวิตนำมาใช้เพื่อการลดมานะ ลดความทะนงตน มันเป็นสิ่งที่ตรงกันข้าม :b39:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 24 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 30 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร