วันเวลาปัจจุบัน 28 เม.ย. 2024, 02:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 24 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:17 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


มานะ

มานะ แปลว่า ความทะนงตน เป็นสิ่งสำคัญอย่างหนึ่งในหมู่มนุษย์เราที่ทำให้มีปัญหาต่างๆ มากขึ้นในสังคมมนุษย์ พระพุทธเจ้าท่านตรัสสอน พระนางโรหินีไว้ตอนหนึ่งว่า

โกธํ ชเห วิปฺปชเหยฺย มานํ แปลว่า บุคคลควรละความโกรธ ควรสละความถือตัว ก้าวล่วงสังโยชน์ทั้งปวงเสีย ทุกข์ทั้งหลายก็จะไม่ตกถึงบุคคลเช่นนั้น คือบุคคลที่ไม่ข้องในนามรูป และไม่มีกิเลสเครื่องกังวล พึงละความโกรธ พึงละมานะเสีย

เรื่องมานะ ก็คือความถือตัว ความทะนงตน ส่วนมานะที่คนทั่วไปใช้ เช่น จะมานะพยายาม ไม่ใช่มานะที่กำลังพูดถึงในที่นี้ เพราะว่าเป็นคำที่มีความหมายเพี้ยนไปแล้ว คนไทยเข้าใจความหมายไปอีกทางหนึ่ง หมายถึงจะมานะพยายาม แต่ความหมายในภาษาธรรมะ มานะ คือความทะนงตน ความถือตัว

ท่านสอนว่า ไม่ให้มีมานะว่าสูงกว่าเขา เสมอเขา หรือต่ำกว่าเขา เพราะเมื่อถือตัวว่าสูงกว่าเขาทำให้ดูหมิ่นผู้อื่น เมื่อถือตัวว่าต่ำกว่าเขา ก็อาจริษยาเขา แสดงอาการน้อยเนื้อต่ำใจ เมื่อถือตัวว่าเสมอเขาก็อาจเป็นเหตุให้แข่งดีกัน ชิงกันเป็นใหญ่ หรือยกตนให้เด่น

ธรรมดามีอยู่ว่า ไม่มีใครที่สูงกว่าใคร ไม่มีใครมีความรู้ความสามารถสูงกว่าผู้อื่นโดยประการทั้งปวง อาจจะสูงกว่าหรือมีความรู้มากกว่าในด้านใดด้านหนึ่ง คือเป็นบางเรื่องเท่านั้น

เช่น ก. มีความสามารถกว่า ข. ในเรื่องดนตรี แต่ ข. ก็มีความสามารถมากกว่า ก. ในด้านการเกษตร เป็นต้น แม้คนที่ทำงานอยู่ด้วยกัน เป็นลูกน้องของกันและกัน ก็ไม่ได้หมายความว่านายจะมีความสามารถมากกว่าลูกน้องไปทุกด้าน นายอาจมีความสามารถในด้านบริหาร แต่เมื่อต้องพิมพ์หนังสือราชการ นายอาจจะสู้เสมียนพิมพ์ไม่ได้ หรือเมื่อต้องกวาดสำนักงานล้างส้วม ตัดหญ้าที่สนาม นายอาจทำได้ดีเท่าภารโรงไม่ได้ ดังนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น คนเรามีความรู้ ความสามารถกันไปคนละอย่าง เมื่อรวมกันเข้าจึงจะสามารถนำภาระของสังคมไปได้ เปรียบเหมือนว่าอวัยวะน้อยใหญ่ในตัวคนทำให้คนเป็นคนอยู่ได้ คือว่ามันทำหน้าที่คนละอย่าง ฉะนั้นจึงไม่ควรดูหมิ่นเหยียดหยามกัน ควรเห็นว่าทุกคนทำหน้าที่ของตัวเพื่อจรรโลงสังคมให้อยู่เย็นเป็นสุขต่อไป

โดยปกติสัตว์โลกจะมีอัสมิมานะ หรือมานะด้วยกันทุกคน ถ้าพูดโดยปริยายเบื้องสูง ก็หมายถึงว่าความสำคัญมั่นหมายว่าเป็นตัวเรา เป็นของเรา อย่างที่เรียกกันตามสำนวนจิตวิทยาว่าปมเขื่อง หรือ Superior Complex หรือพูดอย่างท่านบัทเลอร์ ก็ว่ามีความรู้สึกที่จะทำตัวให้เด่น ท่านบัทเลอร์เป็นนักจิตวิทยา ศิษย์ของซิกมันด์ ฟรอยด์ เป็นชาวเวียนนา ประเทศออสเตรีย ความจริงก็เยอรมนีนั่นแหละ ท่านบัทเลอร์มีความเห็นว่า “มีความรู้สึกที่จะทำตัวให้เด่น เมื่อใดการทำตนให้เด่นนั้นถูกขัดขวางไม่ให้ดำเนินไป เมื่อนั้นปมด้อยก็เกิดขึ้น”

อันที่จริงปมด้อยก็ไม่ใช่อะไรอื่น มันก็คือปมเขื่องที่ลดลงนั่นเอง คล้ายว่า ความเย็นก็คือความร้อนที่ลดลง คนมีปมด้อยในเรื่องใด ไม่ได้หมายความว่า ปมเขื่องในเรื่องนั้นของเขาไม่มี แต่ก็มีอยู่น้อย จะเห็นว่าเมื่อไปเจอคนที่มีปมด้อยในเรื่องนั้นกว่าเขากลับแสดงปมเขื่องได้ทันที

ตัวอย่างเช่น นักเรียนภาษาอังกฤษ เมื่ออยู่ต่อหน้าครูสอนภาษาอังกฤษ เขาก็จะรู้สึกด้อย เพราะว่าความรู้ในภาษาอังกฤษของเขาสู้ครูไม่ได้ แต่พอลับหลังครูอยู่ในหมู่นักเรียนด้วยกัน ในชั้นเดียวกัน หรือในชั้นที่ต่ำกว่า เขากลับแสดงปมเขื่องในเรื่องภาษาอังกฤษ เพราะว่าสามารถทำตนให้เด่นได้ อธิบายให้นักเรียนในชั้นที่ต่ำกว่า ฟังได้อย่างภาคภูมิ

นี่แสดงว่าปมด้อยก็คือ ปมเขื่องที่ลดลงนั่นเอง

กล่าวถึงมิตรสหายที่อยู่ด้วยกันได้นาน ต่างก็ถูกอกถูกใจกันเหลือเกิน ก็เพราะว่าต่างฝ่ายต่างก็หล่อเลี้ยงอัสมิมานะหรือปมเขื่องของกันและกันไว้ได้ ถ้าฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งลดตัวลงให้อีโก้ของอีกฝ่ายหนึ่งเด่นขึ้นมามากเท่าใดก็จะยิ่งเป็นที่รักที่ปรานีของฝ่ายนั้นมากขึ้นเท่านั้น

แต่ถ้าใครไปข่มอัสมิมานะหรือปมเขื่องของเขาเข้า โดยที่เขาไม่ได้ยินยอมเอง เขาก็จะต้องเจ็บใจ เห็นเป็นว่าดูถูกกันแล้วก็ต้องเลิกคบกัน

ท่านจะเห็นว่ามานะ มีความหมายในชีวิตมนุษย์และสัตว์โลกเพียงใด

ท่านพุทธทาสภิกขุ หรือท่านพระธรรมโกษาจารย์ ได้กล่าวไว้ในหนังสือเรื่องปมเขื่องส่วนที่เกี่ยวกับการประกอบกรรมชั่วตอนหนึ่งว่า

“อัสมิมานะหรือความรู้สึกที่เป็นตัว ปมเขื่องนี่เองเป็นมูลเหตุสำคัญชั้นรวบยอดของการทำความชั่วและการทำความดี หรือการทำบุญและทำบาป แต่มันเป็นความตรงกันข้ามกับการเข้าถึงพุทธธรรมหรือนิพพานโดยตรง”

ด้วยเหตุนี้เอง พระพุทธเจ้าจึงทรงสอนให้สละมันเสีย เพราะว่ามันเป็นกิเลสอย่างหนึ่ง สละเสียได้แล้วก็จะมีความสุข อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงเปล่งอุทานเมื่อตรัสรู้ใหม่ๆว่า อสฺสมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ สละอัสมิมานะคือความทะนงตนเสียได้ นั่นแหละเป็นบรมสุข

คนที่ต้องทะเลาะวิวาทกัน รบราฆ่าฟันกันก็เพราะกิเลสตัวนี้แหละ ถ้าละมันได้อย่างที่พระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลายละได้ ก็จะมีความสุขอย่างยิ่ง คือไม่ต้องเดือดร้อนด้วยเรื่องของโลก หรือเรื่องอย่างโลกๆที่เป็นกันอยู่

นี่เรื่องของมานะ ซึ่งเป็นเรื่องที่เป็นปมเขื่องหรือปมด้อย ทางพุทธศานาไม่ให้เราไปคิดว่า ด้อยกว่าเขา เสมอเขา หรือสูงกว่าเขา แต่ให้เป็นอย่างที่เราเป็น วิธีละคือ ไม่ต้องไปเทียบกับใคร ไม่ต้องเอาตนไปเทียบกับใคร ไม่ต้องเอาใครมาเทียบกับตน แล้วก็อยู่อย่างที่เราอยู่ เป็นอย่างที่เราเป็น พยายามด้วยธรรมฉันทะ ให้ธรรมฉันทะเป็นตัวกระตุ้นเร้าให้เราก้าวหน้าพยายามไปโดยไม่ต้องให้ตนไปเทียบกับใคร ไม่ต้องนำใครมาเทียบกับตัว เป็นคนไม่มีปม




มีต่อ... :b46:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อผมได้รับเชิญให้โอวาทนักเรียน นักศึกษาในมหาวิทยาลัย เวลาปิดภาคเรียน มีครูบาอาจารย์เข้ามาอยู่กันแล้วขอให้ช่วยให้โอวาทนักศึกษานิดหน่อย ผมก็มักจะพูดเรื่องนี้ ให้ทำตัวให้เป็นคนไม่มีปม ออกไปอยู่ข้างนอก ไปทำงานทำการกับคนข้างนอกมีปัญหามาก มีการเปรียบเทียบมาก มีเรื่องยุ่งเหยิง มีการทะเลาะวิวาท ขอให้ทำตัวเป็นคนไม่มีปม คืออย่านำตัวไปเทียบกับใคร อย่านำใครมาเทียบกับตัว ให้ทำอย่างที่เราทำ ให้เป็นอย่างที่เราเป็น แต่ถ้าจะเทียบก็ให้เทียบกับตัวเองว่าเราเมื่อเดือนที่แล้วกับเราเดือนนี้ เราอันไหนดีกว่า เราเมื่อปีที่แล้วกับเราปีนี้ ไหนดีกว่า อย่างนี้เป็นต้น

ปมคือ ความคิดชนิดหนึ่ง ซึ่งฝังอยู่ในจิตใต้สำนึกที่ภาษาทางจิตวิทยา เรียกว่า Unconscious mind จิตใต้สำนึก เมื่อปมได้ฝังอยู่แม้จะตั้งอยู่ในจิตก็ดี แต่ว่าพฤติกรรมหรือกิริยาอาการ มันจะแพร่กระจายออกมาทางกาย ทางวาจา ทางพฤติกรรม คล้ายๆกับของเหม็น เช่น ซากสุนัข มันตั้งอยู่ที่เดียวก็จริง แต่ว่ากลิ่นเหม็นของมันก็จะแผ่กระจายออกมารอบๆบริเวณที่ซากสุนัขตั้งอยู่

เพราะฉะนั้น ปมหรือมานะ อยู่ในจิตของคนก็จริง แต่ว่ามันจะแผ่กระจายออกมาทางกายทางวาจาให้เราพอดูได้ ถ้าเป็นนักวิเคราะห์จิต ก็จะมองเห็นว่า พฤติกรรมอย่างนี้ออกมาจากจิตอย่างไร

เพราะฉะนั้น ปมคือ ความคิดชนิดหนึ่ง ซึ่งฝังอยู่ในจิตใต้สำนึก จิตใต้สำนึกก็มาจากจิตสำนึก แต่ว่ามันจะลงไปฝังอยู่ในส่วนลึกของจิต ที่ภาษาศาสนาเราเรียกว่าภวังคจิต หรือภวังควิญญาณ เป็นเหตุให้เกิดอารมณ์ต่างๆขึ้นในจิตมากมาย มีแพร่ออกมายังจิตสำนึกหลายประการ เดี๋ยวผมจะโยงลงไปถึงธรรมะส่วนลึกๆหน่อยก็ได้

เพราะฉะนั้น ทางจิตวิทยา จึงถือว่าปมเป็นเหตุนำมาซึ่งความยุ่งยากแก่ชีวิต และเป็นสิ่งที่แก้ได้ยากด้วย เกิดเป็นปมคล้ายๆ ด้ายที่ขอดกันเป็นปมแน่น เป็นสิ่งที่แก้ได้ยาก บางคนมีกำลังใจเข้มแข็งก็ตัดมันเลย ไม่ต้องแก้อะไรมาก แต่เนื่องจากว่ามันเป็นสิ่งที่คนรู้สึกหวงแหน ด้วยอำนาจของมานะคือ กิเลส จะตัดก็ไม่กล้าตัด จะเอาไว้ก็ไม่กล้าคาย เกิดประดักประเดิดขึ้นมา คล้ายๆกับว่าของร้อน แต่ว่ารู้สึกพอใจอร่อย ทีนี้มันร้อน จะคายรู้สึกเสียดาย จะอมไว้ก็ร้อน จะทำอย่างไรดี จึงเป็นเรื่องที่สร้างปมขึ้นในจิตใจ สร้างปัญหาขึ้นในชีวิต อยู่ในลักษณะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก

อีกอย่างหนึ่งคือคนที่น่ากลัว คนที่มีความรู้จริงก็ไม่น่ากลัว เพราะว่าเขารู้จริง และรู้แจ้ง เข้าใจสิ่งต่างๆตามที่เป็นจริง คนที่ไม่รู้อะไรเสียเลย ก็ไม่น่ากลัว เพราะว่าเขาไม่รู้อะไร และไม่ค่อยกล้าทำอะไรที่เป็นการเสี่ยง ก็ไม่น่ากลัว ที่น่ากลัวจริงๆ คือคนที่รู้ครึ่งๆกลางๆ เรียกว่าฉลาดแกมโง่ คล้ายๆกับว่าสว่างเสียทีเดียว ผีก็ไม่หลอก มืดเสียทีเดียวผีก็ไม่หลอก แต่ว่าโพล้เพล้ ครึ่งมืดครึ่งสว่างผีมันจะหลอก หมายความว่าคนที่รู้สึกว่าถูกผีหลอก มันจะรู้สึกในบรรยากาศที่ครึ่งๆกลางๆ ระหว่างความสว่างกับความมืดโพล้เพล้

เพราะฉะนั้น คนที่รู้อะไรก็ให้รู้จริงเสีย ก็ไม่น่ากลัว เพราะเขาสามารถวินิจฉัยตามความเป็นจริงได้ แต่ครึ่งๆกลางๆ ฉลาดแกมโง่ จะไม่ทำอะไรเสียเลย ก็กลัวเขาว่าโง่ จะทำไปก็ทำไม่ได้อย่างที่คนฉลาดทำ ก็น่ากลัว หรือคนโง่หวังดี เขาหวังดี แต่ทำด้วยความโง่ มันก็ทำให้คนที่เขาหวังดีด้วย เสียหายมากมาย ผู้หลักผู้ใหญ่ที่มีผู้น้อยแวดล้อมอยู่ ผู้น้อยก็หวังดี แต่ว่าผู้น้อยนั้นโง่ ก็ทำอะไรไปตามความโง่ของตัว ทำให้ผู้ใหญ่เสียหาย ไม่รู้สึกตัว ไม่มีสัมปชัญญะ คือไม่รู้ว่าตัวได้ทำความเสียหายให้แก่ผู้ใหญ่ที่ตัวรักเคารพนับถือ

ผู้ใหญ่ถ้าไม่ตั้งอยู่ในธรรม บางทีก็จะชอบคนโง่ที่ ประจบประแจง คนโง่ที่เข้าใกล้ผู้ใหญ่ก็ประจบประแจง ผู้ใหญ่ก็โปรด ผู้ใหญ่ก็ชอบก็รัก บางคนไม่ประจบอย่างเดียว สอพลอด้วย ประจบอย่างเดียวนั้นเอาดีใส่ตัว เสนอหน้าเพื่อเอาดีใส่ตัว ถ้าสอพลอก็คือเอาชั่วใส่คนอื่นด้วย

ผู้ใหญ่ถ้าต้องการให้เป็นผู้ใหญ่อยู่ ให้เป็นที่เคารพนับถือก็ต้องระวังคนโง่หวังดี ต้องพยายามทำให้เขาฉลาดขึ้น

มีนิทานฝรั่งที่เขาเล่านิทานว่าพระราชาแก้ผ้าไปทั้งบ้านทั้งเมือง ก็ไม่รู้ ถูกพ่อค้าหลอกกันทั้งบ้านทั้งเมือง ถูกพ่อค้าหลอกว่า คนที่ฉลาดจะต้องเห็นว่าเป็นการนุ่งผ้า พระราชาก็ถูกคนสอพลอ บริวารแวดล้อมช่วยกันยกยอปอปั้นว่า ผ้านั้นสวยมาก เพราะถ้าบอกว่าไม่เห็นผ้า เห็นพระราชาแก้ผ้า กลัวว่าตนจะกลายเป็นคนโง่ ก็ว่าผ้าผืนนี้สวยมาก ทั้งที่เห็นว่าพระราชาแก้ผ้า ก็ยังว่าสวยเหลือเกิน ดีเหลือเกิน ก็ไปทั้งบ้านทั้งเมือง โชว์ผ้า ก็ไปเจอเด็กซื่อเข้า เด็กแกเห็นอย่างไรแกก็ว่าอย่างนั้น ก็พูดออกมาดังๆว่า พระราชาไม่นุ่งผ้า แม่ก็ต้องรีบปิดปากเด็กแล้วเอาออกไปเสีย

คนทั้งหลายได้สติขึ้นมาได้สัมปชัญญะขึ้นมา รู้ตัวอ้อ จริงๆแล้วเขาก็เห็นอย่างที่เด็กเห็น แต่ไม่กล้าพูดว่าพระราชาไม่นุ่งผ้า เพราะกลัวว่าจะเป็นคนโง่ ก็เลยโง่กันไปหมดทั้งเมืองเลย

นี่ก็ปมเหมือนกัน ต้องการจะรักษาปมเขื่องเอาไว้ กลัวเขาจะว่าโง่ เป็นนิทานคติที่ดี เป็นนิทานสอนเด็ก แต่ความจริงเด็กก็คิดอะไรไม่ได้มากเท่าผู้ใหญ่หรอก พูดจากใจที่มีความซื่อตรง ก็พูดตามที่เห็น นิทานอย่างนี้ ถ้าเผื่อผู้ใหญ่เอามาคิดก็คิดได้แตกออกไปมากกว่าเด็ก เพราะมีประสบการณ์ในชีวิตมาก ทำให้รู้อะไรได้ละเอียดออกไป

คนเราถ้ามีความสมบูรณ์ในตน ปัญหาเรื่องปมเด่นหรือปมด้อยก็จะไม่เกิดขึ้น ที่มีปมเขื่องบ้าง ปมด้อยบ้างก็เพราะว่าไม่มีความสมบูรณ์ในตน คือยังบกพร่องอยู่ ถ้าเมื่อใดบรรลุถึงความสมบูรณ์ในตนแล้ว ความกระตือรือร้นเพื่อจะแสดงตนให้เด่น หรือมีความรู้สึกว่าด้อย ก็จะดับลงไปทันที

ตัวอย่างในทางศาสนาของเราก็คือ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าของเรา และพระอรหันต์ทั้งหลาย ท่านมีความสมบูรณ์ในตน คนที่เดินตามรอยพระอริยะ แม้จะยังไม่มีความสมบูรณ์ในตนเหมือนอย่างท่าน เพราะว่ากำลังปฏิบัติอยู่ กำลังเดินตามทางนั้นอยู่ แต่ปมด้อยหรือปมเขื่องจะค่อยๆลดลงทีละน้อยๆ ตามที่ปฏิบัติได้

เพราะฉะนั้น ผู้ที่มุ่งจะละมานะ ก็ต้องพยายามเดินตามรอยพระอริยะ ไม่วิตกกังวลถึงเรื่องที่ไม่จำเป็นหรือเรื่องเล็กๆน้อยๆ ก็ปล่อยมันไปตามกาลเวลา เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป

มีต่อ..... :b46:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ความทุกข์บางอย่างมันคล้ายๆหัวสิว อย่าไปเล่นกับมัน ปล่อยมันไป อย่างที่ท่านอาจารย์หลวงพ่อนรรัตน์ ราชมานิต บอกว่า Let it go ปล่อยมันไป และ Get it out เขี่ยมันออกไป สปริงมันออกไปไม่ต้องเก็บมาเป็นอารมณ์

ความวิตกกังวลนี่ มันเกิดขึ้นเพราะว่าข่มอารมณ์ด้อยเอาไว้ ท่านเรียกในทางจิตวิเคราะห์ว่า Auxiety neurosis พจนานุกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ แปลว่า โรคประสาทที่เกี่ยวกับความผิดปกติทางอารมณ์ เนื่องจากความขัดแย้งทางใจที่แก้ไม่ตก มีความกังวลเป็นลักษณะเฉพาะ นานเข้ามันก็จะเป็น Neuroticism แปลว่าภาวะที่เป็นโรคประสาท

ความกังวลนี่ ถ้าเราไม่ฆ่ามัน มันจะฆ่าเราอย่างแน่นอน เพราะฉะนั้น ถ้ามันเกิดขึ้นกับผู้ใด ผู้นั้นจะต้องรีบฆ่ามันเสีย

ความทะนงตนหรือมานะ มองในแง่ของพุทธศาสนา จะเป็นอนุสัยตัวหนึ่ง เรียกว่า มานานุสัย เป็นอนุสัยคือมานะ

อนุสัยคือกิเลสที่แฝงอยู่ลึกๆ เป็น Latent passion กิเลสที่แฝงอยู่ในจิต ถ้าเกี่ยวกับมานะก็เป็น Egoistic tendency เป็นความโน้มเอียงในทางที่ทะนงตน หรือความถือตัว


ทางพุทธศาสนาได้ให้กลุ่มของกิเลสเอาไว้ 3 ระดับคือ

1. ระดับที่ทำให้แสดงตัวออกมาภายนอก เรียกว่าวีติกกมะ ออกมาเป็นการฆ่าประหัตประหาร เป็นการล่วงละเมิดสิทธิ์ต่างๆ ของผู้อื่นออกมาทางกาย ทางวาจา

2. ปริยุฏฐานะ กลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ เป็นพวกนิวรณ์ 5 มันไม่ออกมาข้างนอก แต่กลุ้มรุมอยู่ในจิตใจ มีพฤติกรรมพอให้เห็นได้

3. อนุสัย มานะเป็นอนุสัยชนิดหนึ่ง อยู่ลึกมีรากลึก


สืบเนื่องมาจากการสะสมของเราเอง อารมณ์ที่สะสมขึ้นในจิต สิ่งที่มากระทบจิต จะเป็นรูปเสียงกลิ่นรส โผฏฐัพพะหรืออะไรก็ตาม ที่มันเกิดขึ้นจากจิตแล้ว สักประเดี๋ยวหนึ่งเราคิดว่ามันดับไป มันหายไป แต่มันไม่ได้หายไปเลย มันจะลงไปสะสมกันอยู่ในส่วนลึกของจิต คล้ายๆเราเห็นน้ำแข็งลอยอยู่ในน้ำ ส่วนที่โผล่ออกมาก็ส่วนเดียว เป็นส่วนเล็กน้อย แต่ที่มันอยู่ใต้น้ำมากมายตั้ง 7-8 เท่า พฤติกรรมของคน ซึ่งถูกบงการโดยส่วนลึกของจิตที่เรียกว่า อนุสัยมีมาก ก็สืบเนื่องมาจากการสะสมของเรานั่นเอง

ทรรศนะทางตะวันตก เห็นว่าความหยิ่งหรือความทะนงตนหรือมานะเกิดเพราะมีปมด้อย ก็คือความประสงค์ที่จะแสดงตนให้เด่นแล้วมาถูกขัดขวางในหมู่หนึ่ง แล้วก็มาแสดงความหยิ่งในคนอีกหมู่หนึ่ง เราก็เห็นกันอยู่ทั่วไป

เด็กที่ถูกเลี้ยงอย่างกดขี่ในครอบครัว ก็จะไปแสดงออกในทางก้าวร้าวกับบรรดาเพื่อนฝูงที่โรงเรียน มิฉะนั้นก็หงอไปเลย คือกลัวใครต่อใครไปหมด เป็นต้น


มีต่อ.... :b46:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:28 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ปมด้อย ปมเขื่อง (1)

ปมด้อย ปมเขื่อง เป็นเรื่องของคนธรรมดาสามัญ โดยทั่วไป ไม่ใช่เรื่องของท่านผู้ที่ฝึกจิตดีแล้ว ซึ่งเอาชนะได้ทั้งสองปม ปมก็ไม่สามารถจะครอบงำจิตของท่านได้ เพราะว่าท่านพิจารณาโลกตามแง่ของความเป็นจริง หรือตามธรรมและเป็นธรรมาธิปไตย ไม่ใช่ตามแง่ของโลกนิยม คือว่าไม่ไปตามกระแสโลก แต่ถือธรรมเป็นหลักชีวิตอยู่ ไม่ตกอยู่ภายใต้ค่านิยมของโลก

เมื่อคนที่ตกอยู่ภายใต้ค่านิยมของโลก จึงรู้สึกด้อยและรู้สึกเขื่องไปตามกระแสของโลก มีเรื่องเล่าในทางจิตวิทยาพูดถึงเรื่องนักประพันธ์ชาวอังกฤษ ชื่อ โกลด์สมิธ ท่านเป็นคนเขียนหนังสือดีมาก มีคนพูดกันว่า โกลด์สมิธ เขียนหนังสือเหมือนเทพธิดา แต่พูดเหมือนคนปัญญาอ่อน ทั้งนี้เพราะท่านมีปมด้อยทางรูปร่างลักษณะ คือเป็นฝีดาษ หน้าปรุไปหมด ท่านคิดว่าหน้าตาของท่านน่ารังเกียจ

เพราะฉะนั้น เวลาท่านพูดกับใครก็พูดด้วยความรู้สึกกังวล มีปมด้อย เวลาท่านอยู่คนเดียว ท่านเขียนหนังสือได้สวยงามมากอย่างเทพธิดา

สำหรับท่านโสเครตีส นักปรัชญาผู้ยิ่งใหญ่ หรือปรมาจารย์ทางปรัชญาของกรีก รูปร่างลักษณะของท่านไม่น่าดู พูดกันโดยทั่วไปว่า ท่านเป็นคนขี้เหร่ แต่ท่านโสเครตีสไม่มีปมด้อย ท่านแสดงสติปัญญาได้อย่างเต็มที่ และผลงานของท่านก็เป็นที่กล่าวถึงกัน เอามาเล่าเรียนกันจนถึงบัดนี้ ท่านชอบไปสนทนากับใครต่อใครในเอเธนส์ เป็นที่ห้อมล้อมของคนทั้งหลาย ท่านไม่มีปมด้อยทั้งๆที่ลักษณะของท่านน่าจะมีปมด้อย ที่ท่านไม่มีเพราะท่านเป็นนักปรัชญา ก็จะมองโลกตามความเป็นจริงหรือตามธรรม พิจารณาโลกตามแง่ของความเป็นจริง และเห็นว่าในที่สุด ความดีหรือคุณธรรมหรือปัญญาจะต้องชนะรูปร่างลักษณะที่ปรากฏภายนอก

แต่ท่านโกลด์สมิธ ซึ่งเป็นนักประพันธ์มองโลกตามแง่ของกระแสโลกตามโลกนิยม และตกอยู่ภายใต้ค่านิยมของโลก

การมองโลกของคนเราจึงขึ้นอยู่กับคุณภาพของจิตว่าเขามีคุณภาพของจิตอย่างไร ยิ่งเขามีคุณภาพจิตสูงขึ้นมากเท่าไหร่ ละเอียดอ่อนมากเท่าไหร่ เขาก็จะยิ่งมองโลกตามความเป็นจริงได้เท่านั้น แล้วเขาก็ไม่ตกอยู่ภายใต้ค่านิยมของกระแสของโลก

ท่านเหล่านี้เป็นผู้เดินทวนกระแสของโลก เพราะเป็นคนที่โลกต้องบูชา คนที่โลกบูชาเป็นคนที่มีจิตใจเข้มแข็ง เดินทวนกระแสของโลกได้ ไม่ใช่ไปตามโลก คนที่เดินตามโลกในที่สุดชีวิตก็จมไปในโลกเท่านั้นเอง คนที่จะช่วยโลกก็คือคนที่เดินทวนกระแสโลก ไม่ใช่เดินตามโลก แล้วก็ดึงบุคคลในโลกขึ้นไป ไม่ใช่ทำตัวให้กลมกลืนเข้าไปกับกระแสโลก ซึ่งเป็นการเอาตัวรอดเพียงครั้งคราว ในที่สุดก็ถูกกลืนหายเข้าไปในโลก

เหมือนในสระหนึ่ง มีดอกบัวขาวเต็มไปหมด ก็เหมือนๆกันหมด ถ้ามีดอกบัวแดงสักดอกหนึ่ง ก็เด่นมาก เป็นที่เพ่งดูของคนทั้งหลาย

คนที่จะเป็นผู้นำโลก ไม่ใช่เป็นคนที่เดินตามโลก เป็นคนที่ทวนกระแสโลก และนำโลกไป ท่านดูตัวอย่างประวัติของศาสดาทั้งหลาย ประวัติของคนสำคัญทั้งหลาย ไม่ใช่เป็นคนที่ตกอยู่ภายใต้ค่านิยมของกระแสโลก ซึ่งเป็นเหตุให้มีปมด้อย ปมเขื่อง แต่ว่าเป็นคนที่เดินทวนกระแสโลก เหมือนปลาเป็นที่ว่ายทวนกระแสน้ำ พระธรรมของพระพุทธเจ้าก็เป็นอย่างนั้น มีพระพุทธพจน์อยู่ตอนหนึ่งว่า ปฏิโส ตคามิ มีลักษณะทวนกระแสโลก และนำโลกไปในทางที่ถูกที่ควรที่ชอบ

มีต่อ..... :b45:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


โลกตามปกติมันห่อหุ้มอยู่ด้วยความหลง มหาโมหตโมนทฺเร ถ้าเผื่อไปตามโลกมันก็หลงไปตามโลก ก็ต้องดึงโลกขึ้นไป ท่านจึงได้ว่าโลกุตตระ แปลว่าข้ามขึ้นจากโลก ไม่จมอยู่ในโลก

ภิกษุรูปหนึ่งชาววัชชี รู้สึกตัวเป็นคนด้อย เพราะความรู้สึกหวั่นไหวต่อกระแสโลก เพราะฉะนั้น สรุปลงตรงที่ว่า อย่าหวั่นไหวต่อกระแสโลกให้มากนัก พยายามต้านทานกระแสโลก หมายความว่าอย่าหมุนไปตามโลก เพราะว่าโลกมีปกติหมุนไปสู่ความยุ่งเหยิง มันเป็นสังวัฏฏะ คือม้วนตัวไปสู่ความเสื่อม

เทียบคำว่าสังวัฏฏกัปป์ แปลว่า กัปป์เสื่อม วิวัฏฏกัปป์ แปลว่ากัปป์เจริญ โดยปกติโลกก็หมุนตัวไปสู่ความยุ่งเหยิงเป็นสังวัฏฏะคือ ม้วนตัวเข้าไปหาความเสื่อม

แต่ว่าทางธรรมหรือธรรม มีปกติคลี่คลายตัวออกและ เป็นวิวัฏฏะ คลี่คลายตัวออกก็คือ ออกจากความยุ่งเหยิงไม่ว่าจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย ถ้าเผื่อว่ามุ่งเข้าสู่ธรรม ก็จะคลี่คลายออกจากความยุ่งเหยิงแม้จะอยู่ในโลก แต่ก็เป็นคนที่อยู่เหนือโลกได้ เป็นโลกุตตรชนได้

อย่างเป็นฆราวาส พระพุทธเจ้าตรัสว่าเป็นได้ถึงอนาคามีในเพศฆราวาส ไม่ว่าจะเป็นหญิงหรือชาย เพศหญิงหรือชาย เพศคฤหัสถ์หรือบรรพชิต ก็เป็นเพียงรูปแบบภายนอก ไม่สำคัญเท่ากับแบบความเป็นอยู่แห่งชีวิตที่เป็นเนื้อในจริงๆที่เรียกว่า Inner life คือชีวิตภายใน ซึ่งตรงข้ามกับ Bodily life ชีวิตภายนอก คือร่างกาย เราหรือเขาจะแต่งกายอย่างไร ไม่สำคัญเท่ากับว่าเราปรารถนาอะไร เขาปรารถนาอะไร อยู่ในใจ

ถ้าเขาปรารถนาความพ้นทุกข์อยู่เสมอแล้ว ก็เรียกได้ว่าเขาเป็นอนาคาริกมุนี แปลว่ามุนีที่ไม่ครองเรือน หรืออย่างน้อยที่สุดก็เป็นอาคาริกมุนี คือ มุนีผู้ครองเรือน

ลองเทียบดูกับผู้ที่ครองเพศเป็นบรรพชิตหรือสมณะในรูปแบบภายนอก แต่ภายในเต็มไปด้วยอิจฉาและโลภะ อิจฉาแปลว่า ความต้องการ อิสสาแปลว่าความริษยา พระพุทธเจ้าตรัสถามว่า เขาเป็นสมณะได้อย่างไร ตามพระบาลีพุทธภาษิตที่ว่า อิจฺฉาโลภสมาปนฺโน ผู้ที่พรั่งพร้อมไปด้วยอิจฉา คือความต้องการและโลภะแล้ว สมโณ กึ ภวิสฺสติ เขาจะเป็นสมณะได้อย่างไร

นี่คือ พูดปรารภถึงเรื่องโลก ว่ามันหมุนไปสู่ความยุ่งเหยิง เพราะฉะนั้น ในบางแห่งพระพุทธเจ้าจึงตรัสว่า น สิยา โลกวฑฺฒโน ไม่ควรเจริญในโลก บางทีก็ถอดความหมายออกมาว่า ไม่ควรเป็นคนรกโลก อย่างนั้นก็ได้ ถ้าแปลตามตัวก็ว่าไม่ควรเป็นคนเจริญในโลก หรือว่าไม่ควรจะทำโลกให้รก

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าสอนไม่ให้ถือชาติถือตระกูล ซึ่งเป็นต้นเหตุให้เป็นมานะ หรือเป็นตัวมานะเสียเอง ชาติถทฺโธ กระด้างขึ้นเพราะชาติตระกูล ธนถทฺโธ กระด้างขึ้นเพราะมีทรัพย์ โคตฺตถทฺโธ กระด้างขึ้นเพราะโคตร แต่พระพุทธเจ้าท่านไม่ให้ถือตระกูล ไม่ให้ถือยศศักดิ์ มาเป็นมานะ อันเป็นเหตุให้ยกตนข่มผู้อื่น แต่ว่าทรงสอนให้ถือธรรมเป็นหลัก ถือเอาความประพฤติเป็นหลัก ให้ถือเอาคุณงามความดีเป็นหลัก เป็นสิ่งสำคัญอย่างที่ตรัสไว้ ซึ่งปรากฏในสุนทริกสูตร พระไตรปิฎกเล่ม 25 หน้า 414 ข้อ 359 ว่า

มา ชาติ ปจฺฉ จรณญฺจ ปุจฺฉ ท่านอย่าถามถึงชาติตระกูลเลย จงถามถึงความประพฤติดีกว่า

กฏฺฐา หเว ชายติ ชาตเวโท ไฟเกิดจากไม้ก็ตาม หรือเกิดจากอะไรก็ตาม มันเป็นไฟแล้วก็ให้สำเร็จประโยชน์ได้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น นีจากุลีโนปิ มุนิ ธิติมา คนที่เป็นมุนีมีปัญญา มีความเพียร แม้จะเกิดในตระกูลต่ำ อาชานีโย โหติ หิรินิเสโธ แต่เป็นคนกีดกันบาปได้ด้วยหิริ ก็เป็นอาชาไนยได้ คือเป็นคนที่ฝึกแล้ว อาชานีโยคนที่ฝึกแล้ว สัตว์ที่เป็นอาชาไนยก็คือสัตว์ที่ฝึกแล้ว ทนฺโต เสฏฺโฐ มนุสฺเสสุ ในหมู่มนุษย์ด้วยกัน มนุษย์ที่ฝึกแล้วนั่นแหละเป็นมนุษย์ที่ประเสริฐที่สุด ไม่ใช่สักแต่ว่าเกิดมาเป็นมนุษย์ เกิดมาเป็นมนุษย์แล้วว่าเป็นสัตว์ประเสริฐไม่ใช่ ต้องได้รับการฝึกแล้วด้วยธรรมเป็นเครื่องฝึก

พระพุทธเจ้าท่านเป็น อนุตฺตโร ปุริสทมฺมสารถิ เป็นสารถีผู้ที่ฝึกคนที่สมควรฝึกได้อย่างยอดเยี่ยมไม่มีใครเสมอเหมือน คนฝึกช้างฝึกม้า เขาฝึกเพื่อประโยชน์ของเขาเอง เพื่อเขาจะได้ใช้งาน แต่พระพุทธเจ้าฝึกคนเพื่อประโยชน์ของคนที่ได้รับการฝึก ไม่ใช่เพื่อประโยชน์ของพระองค์เอง ประโยชน์ของพระองค์เองนั้นถึงที่สุดแล้ว ไม่มีอะไรที่เป็นประโยชน์ของพระองค์เอง ต่อไปก็มีชีวิตอยู่เพื่อประโยชน์ของผู้อื่น ท่านเป็นผู้ที่น่าบูชาแค่ไหน น่าเคารพน่าบูชาแค่ไหนอย่างไร

มีต่อ.... :b45:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


แต่ศาสนาจะเจริญก็เพราะการปฏิบัติไม่ใช่การบูชา อย่าลืม เดี๋ยวก็ชวนกันบูชากันมากมาย ดอกไม้หมดไปไม่รู้เท่าไหร่ ธูปเทียนหมดไปไม่รู้เท่าไหร่ แต่ละวันแต่ละเดือนแต่ละปีไม่รู้เท่าไหร่ เอาแต่กราบๆไหว้ๆเอาแต่บูชา แต่ว่าปฏิบัติไม่เอา อะไรที่ท่านสอนไว้ให้ทำอย่างนั้นให้เว้นอย่างนี้ไม่เอา ชอบทำแต่เรื่องกราบๆไหว้ๆบูชา แล้วก็ไม่ปฏิบัติ โปรดอย่าลืมว่าศาสนาจะเจริญได้ก็เพราะการปฏิบัติตามหลักของศาสนา ไม่ใช่เพราะการบูชา เราชวนกันบูชาๆพอกลับมาบ้านแล้วก็เหมือนเดิม ยังแย่เหมือนเดิม ยังปฏิบัติสิ่งที่ไม่ดีอยู่เหมือนเดิม ก็ไม่มีประโยชน์อะไร

ผู้ที่ไม่อยู่ในธรรม ไม่สนใจในธรรม ไม่ปฏิบัติตามธรรม ก็เหมือนกับคนตาบอด แม้จะเหยียบลงไปบนไฟที่ส่องทางก็ไม่เห็น อนฺโธ ยถา โชติมธิฏฺฐเหยฺย เหมือนคนที่อยู่กับธรรมแต่ไม่เห็นธรรม ถ้าคนตาบอดแล้ว ไฟส่องทางก็เหยียบได้ ทั้งลงไปแล้วก็เหยียบไฟที่ส่องทางนั้นเอง ตาในบอดแล้วก็เหยียบย่ำธรรม ดูหมิ่นธรรม ดูถูกธรรม ละเมิดต่อกฎแห่งธรรม แล้วธรรมนั่นแหละจะลงโทษเอา

อัสมิมานะ หรือมานะความทะนงตน ทำให้เกิดการแข่งขันเอาชนะกันในทุกรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการทำงาน การศึกษาเล่าเรียน มีการแข่งขันเอาชนะกัน และจะทำให้เครียด เสียสุขภาพจิต

คนที่ไม่มีการแข่งขัน มีจิตเข้มแข็งกว่าคนที่คิดจะแข่งขัน มนุษย์เรายังทะเลาะชิงดีชิงเด่นกันอยู่ มีสารัมภะ การแข่งขันชิงดีชิงเด่นทะเลาะกัน พระพุทธเจ้าท่านเรียกว่าสารัมภะ คือการแข่งดี ไม่ใช่แข่งกันดี แต่แข่งดีว่าใครจะดีกว่ากัน ใครจะเลวกว่ากัน เอาชนะกัน ใครจะเด่นกว่ากัน แล้วก็เครียดแล้วก็โกรธกัน

สังคมก็ยั่วยุให้มีการแข่งขันด้วย เพราะเอาวิถีแห่งโลกซึ่งเต็มไปด้วยความยุ่งเหยิงนั้นแหละเข้ามา ให้เชื้อแก่ไฟ ให้คนพัฒนาไปด้วยการเอาตัณหามาเร่ง ไม่ใช่เอาธรรมะฉันทะมาเร่ง คนก็เพิ่มพูนไปด้วยตัณหา อยากดี อยากเด่น อยากดัง อยากมีชื่อเสียง อยากชนะคนอื่น มันก็พัฒนาไปไม่ถึงไหนก็วนเวียนอยู่แค่นี้เอง

สังคมก็ยั่วยุไปในทางนั้น แล้วเกิดอะไรขึ้นกับสังคม ลองนึกดู

ที่ดีกว่า ที่เหนือกว่า ก็คือไม่มีการแข่งขัน แต่ว่าช่วยเหลือกันให้ประสบความสุข ความสำเร็จ ให้ก้าวหน้าไปได้ด้วยการช่วยเหลือกัน แต่ไม่มีการแข่งขัน

จะมีคำถามว่า คนเยอะแยะไปหมดเลย ต้องการสิ่งนั้น เช่น ต้องสอบแข่งขันเข้าเรียน สอบแข่งขันเข้ารับราชการ มันเป็นระบบที่จำเป็นต้องทำก็เอาเถอะ เพราะว่าคนเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถจะรับเอาไว้ทั้งหมดได้ ก็ให้เขาลองทำดู

มีต่อ... :b45:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ปมด้อย ปมเขื่อง (2)

แต่ในใจผู้ที่เข้าสอบแข่งขัน ต้องทำใจให้ได้ ไปตั้งแต่ต้นและอนุโมทนาต่อผู้อื่น ใครที่ได้ก็ดีเราก็อนุโมทนา เราไม่ได้เพราะความสามารถเราไม่ถึง ต้องทำใจให้อยู่กับธรรมตั้งแต่ต้น ไม่ต้องการ ได้ก็ดี ไม่ได้ก็เป็นกุศล
เราสอนคนให้เขามีธรรมไปตั้งแต่เด็ก ก็จะได้มีที่พึ่งไปตั้งแต่เด็ก ไม่ใช่สอนให้เขาอยู่กับอธรรมไปตั้งแต่เด็ก พอแก่แล้วถึงจะมาสอนให้เขาอยู่กับธรรม เขาอยู่ไม่ได้ ยางเหนียวมันติดมาตั้งแต่เด็กจนติดกันเป็นปึกไปหมดแล้ว เหมือนยางมะตอย แล้วจะมาดึงมันยากเหลือเกิน นอกจากว่าคนที่มีวิธีฝึกอย่างยอดเยี่ยมและตัวของบุคคลผู้นั้นเอง ก็ฝึกตนอย่างยอดเยี่ยม

ตามหลักของพระพุทธเจ้าท่านตรัสว่า ผู้ชนะย่อมจะประสบเวรหรือก่อเวร ผู้แพ้ก็นอนเป็นทุกข์ เมื่อละความชนะและความแพ้ได้แล้วก็อยู่เป็นสุข ที่จะละความชนะความแพ้ได้ก็ เพราะว่าไม่แข่งขันกับใคร ไม่มีการแข่งขัน มีแต่ความเพียรพยายามไปตามความเหมาะสม ไปตามฐานะของตน ไม่แข่งกับใคร

การลดอัสมิมานะเป็นสิ่งที่ทำได้ แต่คนส่วนมากยึดมั่นอยู่ว่าทำไม่ได้ คือรู้สึกว่า เป็นเรื่องที่สูงเกินไป หรือเป็นเรื่องที่ไม่ใช่เรื่องของชาวบ้านหรือของคนธรรมดา แต่ความจริงสิ่งที่มันจะหมดไป หายไปจากใจของเขานั้น ต้องค่อยๆลด การปฏิบัติการกระทำอะไรต่างๆในทางศาสนานี้ เป้าหมายที่สำคัญประการหนึ่งก็คือ ลดอัสมิมานะ ลดความมีตัวตน ที่เรียกว่าลดอัตตา

แต่คนส่วนมากก็ยึดมั่นอยู่ว่าทำไม่ได้

ความรู้สึกที่ยึดมั่นอยู่ว่าทำไม่ได้นี้แหละ เป็นสิ่งที่กีดขวางความเจริญในวิถีทางของชีวิตอย่างร้ายแรง ทุกๆอย่างไม่ใช่เรื่องการลดอัสมิมานะหรืออัตตา ถ้าเกิดความรู้สึกว่าเราทำไม่ได้ สิ่งนั้นก็จะเข้ามากีดขวางทันที ต่อความเจริญในวิถีทางแห่งชีวิต คือถูกปิดกั้นด้วยความรู้สึกที่ว่าเราทำไม่ได้

ถ้าคิดตรงกันข้ามว่าเราทำได้ แต่เราต้องรู้จักคิดว่า เราทำได้เท่าที่เราทำได้ คืออย่าไปคิดแข่งขันกับใคร คนนั้นเขาทำได้เท่านั้น เราต้องทำได้ คนนั้นเขาเก่งอย่างนั้น เราต้องเก่งเท่าเขา อย่าไปคิดอย่างนั้น เราทำได้เท่าที่เราทำได้ และเราบินได้เท่าที่เราบินได้ เราพูดได้เท่าที่เราพูดได้ เราเป็นอย่างไร ให้เรารู้จักตนอัตตัญญุตา รู้จักตนว่าเราเป็นอย่างไร พื้นฐานเราเป็นอย่างไร เราก็จะทำได้เท่าที่เราทำได้ อย่างที่เราทำได้ อย่าไปคิดเทียบกับผู้อื่น ความสามารถสูงสุดของเรามีเพียงเท่านี้แหละ เรายกน้ำหนักได้เท่านี้

มีต่อ.... :b48:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


รถบรรทุกที่ขนาดมันผิดกันมันบรรทุกของได้ไม่เหมือนกัน ถ้าเผื่อเอารถบรรทุกของขนาดเล็กไปบรรทุกของขนาดใหญ่ มันก็พังหมด เราค่อยๆขนค่อยๆบรรทุกไปตามประสาของรถคันเล็ก ดีกว่าที่จะบรรทุกลงไปเท่ากับรถบรรทุกใหญ่

คนที่รถบรรทุกใหญ่ บางทีก็เกินไป เพราะความอยากความปรารถนาความโลภ ทำให้บรรทุกเกินต่อไปอีก ของมันก็เรี่ยราดอยู่ตามถนนบ้าง ถนนพังบ้าง ถนนมันแพงจะตายไป สร้างด้วยเงินที่แพงมาก รถบรรทุกเกินก็เพราะความอยากความต้องการเกินขอบเขต เป็นกันอยู่เสมอ ก็ไม่ได้นึก นึกแต่เพียงความสำเร็จของตัวเอง นึกแต่เพียงว่า เราบรรทุกได้สำเร็จไปเท่านั้น จะได้ไม่ต้องเสียเที่ยว แต่เสียถนนนั้นไม่ได้นึก เสียถนนก็คือเสียภาษีอากรของตัวนั่นแหละ คนอื่นที่เขาไม่ได้ทำให้ถนนพังเขาก็เสียด้วย ไม่ได้คิดถึงคนอื่น คิดถึงแต่ตัว ความต้องการของตัว ก็อัตตานั่นแหละ อัสมิมานะนั่นแหละ ไม่มีอนัตตาเสียบ้าง ก็เลยทำร้ายสังคมโดยไม่รู้สึกตัวว่าทำร้าย

ถ้าทำร้ายสังคมโดยไม่รู้สึกตัวว่าทำร้าย มันก็ทำร้ายไปเรื่อยๆ จนสังคมพังยับเยินกันไปหมด

คนเราก็ทำนองเดียวกัน คือทำได้เท่าที่เราทำได้ เราทำได้แค่นี้ แต่อย่าลืม อย่าขี้เกียจ ไม่ใช่เอาแต่ขี้เกียจแล้วก็ว่าเราทำได้แค่นี้ ต้องขยันหมั่นเพียร ใช้เวลาเป็นประโยชน์ที่สุด ให้สุดความสามารถ ถ้าเป็นรถบรรทุก ก็บรรทุกเท่าที่สามารถจะเป็นไปได้ ไม่น้อยเกินไปจนเสียเที่ยว ไม่มากเกินไปจนทำให้ถนนพัง แล้วตัวเองนั่นแหละก็จะพังด้วย

มานะเกิดขึ้นเพราะการเปรียบเทียบ ถ้าไม่เปรียบเทียบมานะมันก็ไม่เกิด เปรียบเทียบเรากับเขา เอามาตรฐานอะไรมาเปรียบเทียบ หรือถ้าจะเอามาตรฐานของเรา เขาก็ด้อยเราก็เด่น ถ้าเอามาตรฐานของเขา เขาก็เด่น เราก็ด้อย ผมเคยยกตัวอย่างบ่อยๆว่า คนตัดหญ้ากับอธิบดี มาเปรียบเทียบกันอย่างไร ถ้าเอามาตรฐานของการตัดหญ้าว่าใครตัดได้เก่งกว่า อธิบดีสู้คนตัดหญ้าไม่ได้ แต่ถ้าเอามาตรฐานของอธิบดี คือการบริหารงาน คนตัดหญ้าก็สู้ไม่ได้

พอเราเลิกเปรียบเทียบ มานะก็หมดไป ไม่สูงกว่าใคร ไม่ด้อยกว่าใคร ไม่มีใครสูงกว่าใคร ไม่มีใครด้อยกว่าใคร ไม่เสมอใคร มันไม่มีเสมอกัน มันต้องมีบางอย่างที่ดีกว่า และบางอย่างที่แย่กว่า


ความเจริญไม่ได้หมายความว่า เอาสิ่งหนึ่งให้เป็นอีกสิ่งหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ตัวของมันเอง เราอยากเห็นสิ่งนั้นๆเจริญขึ้นตามวิถีของมันเองเหมือนเราปลูกมะม่วงเอาไว้ เราก็อยากให้มันเจริญขึ้นมาเป็นมะม่วง ไม่ใช่ให้มันเจริญเติบโตขึ้นมาเป็นทุเรียน ให้มันพัฒนาเป็นมะม่วงที่ดีที่สุด ไม่ใช่เราปลูกมะม่วงแล้วให้มันเป็นทุเรียนที่ดีที่สุด เป็นไปไม่ได้

ในป่า มันเป็นป่าอยู่ได้ ก็เพราะมีพันธุ์ไม้หลายหลาก ถ้ามันพัฒนาตัวมันให้ดีที่สุดตามพันธุ์ของมัน มันก็เป็นป่าที่ดีที่สุด ที่สมบูรณ์ที่สุด มีไม้หลายหลากให้เราชม มีลูกหลายหลากให้เรากิน

ในชุมชนก็เหมือนกัน ใครเขาไปทางไหน เก่งทางไหนก็พัฒนาตนไปในทางนั้น ไม่ใช่ให้พัฒนาไปเป็นอีกอย่างหนึ่ง ท่านเป็นพระก็ต้องดีอย่างพระ ท่านจะเป็นฆราวาสที่ดีได้อย่างไร ชาวบ้านต้องการเห็นพระดีอย่างพระ จะไปดีอย่างชาวบ้านก็ไม่ถูกต้อง พัฒนาผิดแนวทาง

มีต่อ....... :b48:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ถ้าเป็นชาวบ้านก็ต้องดีอย่างชาวบ้าน ถ้าจะดีอย่างพระก็ไม่ใช่ทำตัวอย่างพระ มันอยู่ไม่ได้คือว่าผิดปกติไป ก็ต้องเป็นฆราวาสที่ดี ลักษณะของฆราวาสที่ดีเป็นอย่างไร ก็ทำไปอย่างนั้น เป็นผู้หญิงที่ดี เป็นผู้ชายที่ดี เป็นอย่างไรก็เป็นไปอย่างนั้น ไม่ใช่ผู้ชายเขาต้องดีอย่างนั้นๆ เราก็ดีอย่างผู้ชายด้วยก็ไม่ได้ ก็ต้องดีอย่างผู้หญิงนั่นแหละ แต่ก็ให้ดีที่สุดอย่างผู้หญิง สังคมเราก็อยู่ได้อย่างนี้ เด็กดีอย่างเด็กแค่นี้ก็พอแล้วสำหรับเด็ก ก็ดีไป อย่างดี ผู้ใหญ่ก็ดีอย่างผู้ใหญ่ จะให้เด็กดีอย่างผู้ใหญ่ ผู้ใหญ่ดีอย่างเด็ก มันทำไม่ได้ และก็ไม่สมควรที่จะทำ

ถ้าเราจะมีการเปรียบเทียบอะไร เราก็เปรียบเทียบกับอุดมคติของเรา เราไม่เปรียบเทียบกับคนอื่น เปรียบเทียบอุดมคติของเราว่า เวลานี้เราใกล้กับอุดมคติหรือว่า เรายังห่างอุดมคติ ถ้าเรารู้สึกว่าเรายังห่างอุดมคติ เรารู้สึกด้อย แต่ถ้าเราใกล้กับอุดมคติของเราเข้าไป เราก็จะรู้สึกพอใจ

ถ้าเรารู้สึกว่าเรายังห่างไกลอุดมคติเราก็จะได้เร่งพัฒนาไปสู่อุดมคติมากขึ้น ผมจะยกตัวอย่างเรื่องพระพุทธเจ้ากับปัญจวัคคีย์ให้ฟัง

พระพุทธเจ้าทรงเลิกทุกรกิริยาด้วยความคำนึงถึงอุดมคติของพระองค์มุ่งสู่อุดมคติ พระพุทธเจ้าเสด็จออกทรงผนวชมีอุดมคติว่าเพื่อไปให้ถึงพระสัมมาสัมโพธิญาณ ต้องตรัสรู้ ต้องรู้สัจธรรมให้ได้แล้วก็จะนำมาช่วยเหลือมนุษย์ นั่นคืออุดมคติของพระองค์

เมื่อทำทุกรกิริยาเป็นอันมากแล้ว อย่างหนักแล้ว อย่างที่เคยตรัสเอาไว้ในภายหลังกับพระสารีบุตรว่า ไม่มีสมณพราหมณ์ผู้ใดจะทำทุกรกิริยาได้ยิ่งยวดกว่านี้อีกแล้ว อย่างมากที่สุดก็แค่ที่พระองค์ทรงทำนี้แหละ แต่แล้วก็ไม่ได้บรรลุอะไร

พระพุทธเจ้ายังมีเป้าหมายเดิม คือจะต้องบรรลุ จะต้องแสวงหาสัจธรรม อุดมคติของพระองค์อยู่ตรงนั้น การเปลี่ยนเลิกทุกรกิริยามาบำเพ็ญเพียรทางจิต เป็นการเปลี่ยนวิธีการ เห็นว่าวิธีการเดิมไม่ได้ผลแล้ว ก็เปลี่ยนมาใช้วิธีการใหม่ คือการบำเพ็ญเพียรทางจิต และก็ได้สำเร็จ

พระองค์มุ่งสู่อุดมคติ แต่ปัญจวัคคีย์คิดไปอีกอย่างหนึ่ง

ปัญจวัคคีย์นั้นถือตามแบบเดิมว่า สังคมสมัยนั้นเขาถือกันว่า นักบวชนักพรตฤาษีมุนีทั้งหลายประสบความสำเร็จได้ก็ด้วยการทำทุกรกิริยา คือทำตัวให้ลำบากด้วยวิธีการต่างๆ เพราะฉะนั้น เมื่อพระพุทธเจ้าเลิกทุกรกิริยา ปัญจวัคคีย์ก็คิดว่า พระสมณโคดมไม่เอาไหน เลิกบำเพ็ญความเพียรเสียแล้ว


มีต่อ...... :b48:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ปมด้อย ปมเขื่อง (3)

แต่ที่จริงพระพุทธเจ้าท่านเปลี่ยนวิธีการ แต่จุดมุ่งหมายอุดมคติยังเหมือนเดิม

ความคิดที่ต่างกัน พระพุทธเจ้าไม่ทรงรู้สึกว่าด้อยในการที่ทรงเลิกทุกรกิริยา เพราะพระองค์ไม่เทียบพระองค์กับใคร และไม่เทียบใครกับพระองค์ แต่ว่ามุ่งสู่อุดมคติ และเทียบกับอุดมคติว่าเวลานี้ พระองค์ยังห่างจากอุดมคติอยู่มาก แต่ปัญจวัคคีย์นั้นเทียบกับฤาษีมุนีทั้งหลายว่า เขาเป็นอยู่โดยบำเพ็ญทุกรกิริยา ประชาชนจึงเลื่อมใส

มองดูให้ดีก็จะพบว่า การกระทำอย่างพระพุทธเจ้านี้เป็นความกล้าหาญอย่างยิ่ง ที่ทรงตัดสินพระทัยเลิกทุกรกิริยา ที่เป็นที่นิยมกันอยู่ในสมัยนั้นว่าเป็นทางของวิมุตติ คือความหลุดพ้น มีนักบวชน้อยนักที่จะกล้าเลิกสิ่งที่เคยทำกันมา ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กเรื่องน้อยหรือเป็นเรื่องใหญ่

เมื่อก่อนนี้การสอบบาลี ซึ่งเป็นทางการของพระสงฆ์ เขาเรียกว่า “สอบปาก” ทำในโบสถ์พระแก้ว กรรมการจะนั่งฟัง ผู้สอบก็ไปแปลให้กรรมการฟัง จับสลากได้ประโยคใดก็แปลประโยคนั้น

ต่อมาสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ซึ่งเป็นนักปราชญ์ใหญ่ของวงการศาสนาของไทย ท่านเป็นน้องชายของรัชกาลที่ 5 ท่านเปลี่ยนจากวิธีแปลปากมาสอบโดยการเขียน คือสอบพร้อมๆกันทุกรูป โดยการแจกข้อสอบให้ แล้วก็เขียนแปล

ใหม่ๆก็มีคนเขาตำหนิเหมือนกันว่าไม่สมควร คนที่หัวโบราณหน่อย แต่ต่อมาก็เห็นผลดี ก็ใช้กันมาอยู่จนบัดนี้ ท่านกล้าที่จะเปลี่ยนแปลง

คนที่จะเป็นหัวหน้าคนต้องมีท่าที่เป็น Existancialist คือเป็นคนที่หัวก้าวหน้า คิดอะไรไปไกล ไม่ได้คิดอยู่เพียงว่าเคยทำกันมา แล้วก็ทำกันต่อไป แต่ก็ต้องคิดว่า ทำอย่างไรมันถึงจะดีกว่าที่เคยทำกันมา

คนที่มีลักษณะเป็นศาสดาทั้งหลาย เราศึกษาประวัติของท่านดู ท่านจะมีท่าทีเป็น Existancialist ทั้งนั้น ท่านจะไม่พอใจกับสิ่งที่ทำกันอยู่ ทำกันแล้วทำกันอีก แต่ว่ามองไม่เห็นความก้าวหน้า หรือมองเห็นผลเสียกันอยู่ชัดๆ แต่ว่าไม่มีใครกล้าเปลี่ยนแปลง เพราะหวั่นเกรงต่อคำติเตียนของคนทั้งหลาย ไม่กล้าพอที่จะเสี่ยง ทั้งๆที่รู้ว่าเปลี่ยนอาจจะดี แต่ว่าไม่กล้า เพราะเกรงคำตำหนิครหา หรือยึดอยู่กับรูปแบบที่เป็นอยู่

ผมลองตั้งปัญหาขึ้นสักข้อหนึ่งนะครับ ถ้าเผื่อว่าท่านผู้ใหญ่ในวงการศาสนา ได้ฟังแล้วหรือทราบแล้วลองคิดดูว่า (อันนี้เป็นแต่เพียงข้อเสนอ ไม่ได้คิดอะไรมากนัก) ว่าเวลานี้ในสังคมไทยของเรา มีวันพระอยู่ 2 วัน คือวันพระมหานิกาย กับวันพระธรรมยุต วันพระมหานิกายก็จะตรงกับปฏิทินที่แพร่หลายอยู่โดยทั่วไป 8 ค่ำ 15 ค่ำ 8 ค่ำ 15 ค่ำ แต่วันพระธรรมยุตนี่จะหลังวันพระมหานิกายไป 1 วัน ท่านคิดตามปักขคณนา คือคำนวณดวงดาวตามวิชาดาราศาสตร์ ก็จะคลาดเคลื่อนกันไปบ้าง บางทีแม้แต่วันมาฆะ วันวิสาขะในบางปี ก็เคยมีที่ไม่ตรงกัน

มีต่อ..... :b43:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ในสังคมพุทธ ชาวบ้านก็รู้สึกว่า ทำไมวันพระของศาสนาพุทธจึงไม่ตรงกัน วันพระของทางมหานิกายวันหนึ่ง วันพระของธรรมยุตวันหนึ่ง ยิ่งปีใหม่นี่ยิ่งจะไม่ตรงกันเป็นส่วนมาก ถ้าเผื่อว่าจะรวมให้เป็นวันเดียวกัน จะเอาแบบธรรมยุต หรือแบบมหานิกาย อย่างใดอย่างหนึ่งล้มเลิกอย่างหนึ่งเสียเอาอย่างหนึ่งไว้ ล้มเลิกแบบมหานิกาย เอาแบบธรรมยุต หรือธรรมยุตเลิกแบบธรรมยุต มาเอาแบบของมหานิกาย ให้เป็นวันพระวันเดียวกัน จะได้หรือไม่ ควรจะทำหรือไม่ ถ้าทำแล้วจะมีผลเสียอะไร และผลดีนั้นมีอะไร ก็น่าจะลองปรึกษากันดู

เพราะว่าสิ่งเหล่านี้ ผมคิดว่าเป็นสมมุติสัจจะ คือเป็นสิ่งสมมุติกันขึ้น อย่างวันพระของบางศาสนาก็เป็นวันพฤหัสก็ได้ วันอาทิตย์ก็ได้ เอาวันใดวันหนึ่ง อันนี้คือเรื่องของศาสดา ความยึดถือก็เป็นเรื่องยากที่จะล้มเลิก

ถ้าผู้ใดที่จะแก้ไขได้ต้องกล้าหาญมาก ที่จะเสี่ยงต่ออะไรๆ แต่ถ้ามีผลดีแล้วก็กล้าทำก็ดี อันนี้เพียงแต่ยกมาปรารภขึ้นให้เป็นตัวอย่าง ว่าพระพุทธเจ้าท่านทำมาอย่างไร ท่านกล้าหาญเพียงไร ที่จะกล้าเสี่ยงกล้าเลิก ด้วยเรื่องวรรณะนั้นเขาถือกันเหลือเกิน แต่พระพุทธเจ้ายกเลิกระบบอันนั้น แล้วก็ปกครองสงฆ์ให้เป็นตัวอย่างว่าไม่มีวรรณะ ว่าท่านจะมาจากวรรณะไหนก็ตาม ฉันจะตั้งสังคมใหม่ ท่านจะเป็นกษัตริย์มา เป็นพราหมณ์มา ถ้ามาบวชทีหลังจัณฑาลก็ต้องไหว้จัณฑาล

เห็นไหมครับ ยากมากเลย ที่พระพุทธเจ้าทรงทำสำเร็จและยั่งยืนมาจนถึงทุกวันนี้ พระก็ยังถืออันนี้กันอยู่ว่า ใครจะมาจากไหนก็ตามใจ คุณจะเป็นอะไรมาก่อนก็ตามใจ ถ้ามาบวชทีหลัง ต้องเคารพกราบไหว้พระที่บวชก่อนตามลำดับพรรษา ก็ยั่งยืนมาจนบัดนี้ก็ดี ใครๆก็เห็นว่าดี ถูกต้องยอมรับ รับได้

เช่น เป็นรัฐมนตรีมาบวช อีกคนเป็นสามล้อมาบวช สามล้อบวชมาแล้ว 20 ปี ต้องมากราบรัฐมนตรีซึ่งบวชในพรรษานั้น ท่านจะคิดอย่างไร แต่ถ้าถือระบบวรรณะแบบก่อนพระพุทธเจ้าทรงเลิกเรื่องนี้ ก็ต้องนับถือคนที่วรรณะสูง ต้องเคารพกราบไหว้คนที่วรรณะสูง

การที่จะเป็นผู้นำสังคม จะต้องมีลักษณะอย่างใด จะต้องเป็นคนที่เหมือนใบไม้ร่วง หรือจะเป็นเหมือนดวงดาว ก็ขอให้ลองคิดดูว่าถ้าเหมือนใบไม้ร่วง ก็แล้วแต่ลมจะพัดไป ลมพัดไปทางไหนก็ไปทางนั้น แล้วแต่กระแสโลกหรือกระแสของคนส่วนมาก ไปทางไหนก็ไปทางนั้น คือว่าไม่ได้ถือธรรมาธิปไตย แต่ถือเสียงส่วนมาก หรือกระแสสังคมไปทางไหนก็ไปทางนั้น

แต่คนที่เป็นดวงดาว จะโคจรไปตามวิถีของตนตลอดเวลา เที่ยงตรง ยั่งยืนตลอดเวลา คนประเภทนี้ที่เป็นที่บูชาของโลก

ตัวอย่างที่เรามองเห็นเยอะแยะไปหมดเลย ในประวัติศาสตร์ก็ดี ในสังคมทางศาสนาก็ดี คนที่จะเป็นที่เคารพบูชาแห่งโลก เป็นคนที่เป็นเสมือนดวงดาว ไม่ใช่เป็นเหมือนใบไม้ร่วง

มีต่อ.... :b43:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


ในอินเดียนั้น รองจากพระพุทธเจ้าลงมา ก็คือท่านมหาตมะ คานธี ท่านก็เดินไปสู่อุดมคติตลอดเวลา คือไม่คำนึงถึงกระแสของโลก หรือกระแสของสังคม แต่จะทวนกระแสถ้าสิ่งนั้นเป็นสิ่งที่ถูกต้อง มุ่งสู่ธรรมาธิปไตย คนส่วนมากถ้าเผื่อโง่ก็ผิดได้ เสียงคนส่วนมากไม่ใช่ว่าจะเป็นเสียงสวรรค์ ถ้าโง่มันก็ทำความเสียหายได้มา

อย่างที่ในคัมภีร์ของเราก็พูดถึง ตอนที่พระพุทธเจ้ายกย่องพระสารีบุตรว่าเป็นผู้เลิศทางปัญญา แล้วก็เล่าให้ฟังว่าในสมัยก่อนโน้น พระสารีบุตรก็เคยเป็นหัวหน้าลูกศิษย์ ได้เคยแก้ปัญหาต่างๆได้แล้ว ลูกศิษย์ของอาจารย์ท่านนั้นก็ร้องไห้คร่ำครวญกันอยู่เป็นนานปีว่าอาจารย์ตายไป ลูกศิษย์ก็คิดว่าอาจารย์ไม่ได้อะไร ก็เลยไม่ได้ทำสักการบูชา หัวหน้าลูกศิษย์คือพระสารีบุตรกลับมา ก็มาถามว่าอาจารย์พูดอะไรบ้าง ก็บอกว่า อาจารย์บอกว่า นัตถิ กิญจิ ไม่มีอะไร พระสารีบุตรคนเดียวที่รู้ความหมายที่อาจารย์พูด รู้ว่าอาจารย์ได้อากิญจัญญายตนะณาน เพราะบริกรรมว่า นัตถิ กิญจิ

นี่เป็นตัวอย่าง คนเป็นพันคนร้องไห้คร่ำครวญอยู่ แต่คนเพียงคนเดียวรู้ความหมายแห่งคำพูดแล้ว ก็ประเสริฐกว่า ใจความว่าอย่างนั้น เพราะฉะนั้น ขอให้มุ่งเอาความถูกต้องหรือธรรมาธิปไตย

ท่านมหาตมะคานธี ท่านก็มุ่งอุดมคติเพื่อประชาชน จนถึงกับปฏิญาณว่าชาวอินเดียทั้งหมด ยังไม่มีเสื้อสูท ท่านก็ยังไม่สวมเสื้อ แล้วก็นุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียว และห่มผ้าผืนหนึ่ง แม้ไปเฝ้าพระเจ้ายอร์ชที่ 5 ที่อังกฤษ ไปประชุมโต๊ะกลมที่อังกฤษ ถึงเวลาต้องเข้าพระราชวังบักกิ้งแฮม ไปเฝ้าพระเจ้ายอร์ชที่ 5 คานธี ใส่รองเท้าหนีบแบบพระ นุ่งผ้าเตี่ยวผืนเดียว มีผ้าห่มผืนเดียว เข้าไปเฝ้าได้

โดยปกติถ้าเป็นคนอื่น ถือว่าแต่งตัวไม่เรียบร้อย เขาไม่ให้เข้าเฝ้า และไม่กล้าทำอย่างนั้น เพราะว่ามองดูกระแสของโลก โลกเขาไม่นิยม ทำอย่างนั้นไม่ได้ ไม่กล้าที่จะทำ แต่ท่านมหาตมะ คานธี ไม่ได้มองดูกระแสของโลก แต่ท่านมองดูอุดมคติว่า ท่านมีอุดมคติเช่นนี้ ท่านรักษาอุดมคติของท่านไว้ แล้วท่านก็ทำได้

พระเจ้าแผ่นดินอังกฤษในเวลานั้นก็ไม่ได้ว่าอะไร ใครต่อใครก็ไม่ได้ว่าอะไร เข้าเฝ้าได้ คานธีคนเดียวที่ทำอย่างนี้ได้ นี่คือลักษณะของมหาบุรุษแท้เลยทีเดียว ท่านมหาตมะ คานธี จึงได้รับยกย่องจากคนอินเดียเป็นอันมาก

ถ้าถือตามคำนักปราชญ์ก็ถือว่าท่านเป็นที่ 2 รองจากพระพุทธเจ้า ท่านมหาตมะ คานธี เป็นที่ยอมรับของโลกทั้งโลกเลยทีเดียว ว่าเป็นมหาบุรุษของโลกที่หาได้ยาก จนท่านอัลเบิร์ต ไอสไตน์ กล่าวว่า อีกสัก 100-200 ปีข้างหน้า หลังจากที่ท่านมหาตมะ คานธี สิ้นไปแล้ว คนจะเชื่อหรือไม่ว่าบุคคลเช่นท่านมหาตมะ คานธี นี่ได้เคยเกิดขึ้นมาในโลกนี้จริง และก็เดินเหินอยู่ในโลกนี้จริงๆ โทษของมานะ

มีต่อ... :b43:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


โทษของมานะ (1)

ก่อนที่จะพูดถึงรายละเอียดของโทษของมานะ ผมขอเล่าเรื่องๆหนึ่ง คือเรื่องของวิฑูฑภะกับวงศ์ศากยะ

พระเจ้าวิฑูฑภะ นี่เป็นราชโอรสในพระเจ้าปเสนทิโกศลกับพระนางวาสภขัตติยา ราชธิดาของท้าวมหานาม วงศ์ศากยะ แต่พระนางประสูติจากพระมารดาซึ่งเป็นนางทาสี รวมความว่าเป็นลูกของหญิงทาส แต่มีพ่อเป็นเจ้าในศากยวงศ์

เรื่องพระเจ้าวิฑูฑภะ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการล้างแค้น ที่ศากยวงศ์ทำแก่พระองค์

เรื่องที่พระเจ้าปเสนทิโกศล ได้พระนางวาสภขัตติยามาเป็นมเหสีก็น่ารู้ทีเดียว ขอนำมาเล่าไว้แต่โดยย่อ

วันหนึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศล เมืองสาวัตถี ประทับอยู่ประสาทชั้นบน ทอดพระเนตรไปที่ถนน เห็นภิกษุหลายพันรูป (นี่ตามนัยอรรถกถา) กำลังเดินไปเพื่อฉันอาหารที่บ้านของอนาถบิณฑิกเศรษฐีบ้าง ของจุลอนาถบิณฑิกเศรษฐีบ้าง บ้านของนางวิสาขาและสุปปวาสาบ้าง

เมื่อพระราชาทรงทราบก็มีพระประสงค์จะเลี้ยงพระบ้าง จึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ทูลนิมนต์พระพุทธองค์พร้อมด้วยภิกษุสงฆ์ให้ไปเสวยพระกระยาหารที่พระราชนิเวศน์ 7 วัน

พอถึงวันที่ 7 ก็ได้กราบทูลพระพุทธเจ้าว่า ขอให้พระองค์และสาวกของพระองค์ ได้รับอาหารในวังเป็นประจำ พระพุทธเจ้าตรัสตอบว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไม่รับอาหารประจำในที่แห่งเดียว เพราะว่าประชาชนเป็นอันมาก หวังการมาของพระพุทธเจ้า คือต้องการให้พระพุทธเจ้าไปเสวยอาหารที่บ้านของเขาบ้าง พระราชาก็ขอให้ส่งภิกษุรูปหนึ่งมาแทนพระองค์

พระพุทธเจ้าทรงมอบหมายหน้าที่นี้ ให้เป็นของพระอานนท์ พระราชาทรงเลี้ยงดูพระสงฆ์ด้วยพระองค์เอง มิได้ทรงมอบหมายให้ใครเป็นเจ้าหน้าที่แทนพระองค์ ทรงกระทำติดต่อกันมาอีก 7 วัน

พอวันที่ 8 ก็ทรงลืม เนื่องจากว่ามิได้ทรงมอบหมายให้เจ้าหน้าที่ไว้ จึงไม่มีใครกล้าทำอะไร กว่าพระองค์จะทรงระลึกได้ก็เป็นเวลานาน พระภิกษุกลับไปเสียหลายรูป

ในวันต่อมาก็ทรงลืมอีก ภิกษุส่วนมากคอยไม่ไหวจึงได้กลับไปเสีย เหลืออยู่จำนวนน้อย

ต่อมาอีกวันหนึ่ง ก็ทรงลืมอีก ภิกษุกลับไปหมด เหลือแต่พระอานนท์รูปเดียว เมื่อพระราชาทรงระลึกได้ ก็เสด็จมา ทอดพระเนตรเห็นแต่พระอานนท์เท่านั้น ที่อยู่เพื่อรักษาความเลื่อมใสของตระกูล ทรงเห็นอาหารวางเรียงรายอยู่มากมาย แต่ไม่มีพระอยู่ฉัน วันนั้นได้ทรงอังคาสคือเลี้ยงพระอานนท์เพียงรูปเดียว ทรงน้อยพระทัยว่าภิกษุสงฆ์ของพระพุทธเจ้ามิได้เอื้อเฟื้อ มิได้รักษาพระราชศรัทธาของพระองค์เลย

มีต่อ.... :b41:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่ออังคาสพระอานนท์เสร็จเรียบร้อยแล้ว ก็เสด็จไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลให้ทรงทราบถึงเรื่องนี้ ว่าได้จัดแจงอาหารไว้สำหรับภิกษุถึง 500 รูป แต่มีพระอานนท์เพียงรูปเดียวเท่านั้นอยู่ฉัน นอกจากนั้นไม่อยู่ ทำให้ของเหลือมากมาย ภิกษุสงฆ์มิได้เอื้อเฟื้อ มิได้รักษาพระราชศรัทธาของพระองค์เลย

พระพุทธเจ้ามิได้ตรัสโทษภิกษุสงฆ์แต่ประการใดเลย เพราะทรงเข้าพระทัยทุกสิ่งทุกอย่าง ตรัสกับพระเจ้าปเสนทิโกศล ว่า พระสงฆ์คงจะมิได้คุ้นเคยกับราชตระกูล จึงได้กระทำดังนั้น

พระราชามีพระประสงค์จะให้ภิกษุสงฆ์ คุ้นเคยในราชตระกูล ทรงหาอุบายว่าควรทำอย่างไร ทรงดำริว่า หากพระองค์เป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า ภิกษุคงจะคุ้นเคย ก็ควรจะขอเจ้าหญิงแห่งศากยวงศ์มาเป็นพระมเหสีสักองค์หนึ่ง จึงได้ทรงแต่งทูตถือพระราชสาส์นไปยังกรุงกบิลพัสดุ์ ขอเจ้าหญิงองค์ใดองค์หนึ่งมาเป็นพระมเหสี

ฝ่ายศากยวงศ์ถือตนว่า สกุลสูงกว่าพระเจ้าปเสนทิโกศล แต่เวลานั้น แคว้นโกศลเป็นรัฐมหาอำนาจอยู่ ดูเหมือนว่าแคว้นสักกะของศากยวงศ์ จะขึ้นกับแคว้นโกศลด้วยซ้ำไป เมื่อเป็นอย่างนี้ พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลขอเจ้าหญิง จึงทำความลำบากพระทัยให้แก่พวกศากยะไม่น้อย ครั้นจะไม่ถวายก็เกรงพระราชอำนาจของพระเจ้าปเสนทิโกศล ครั้นจะถวายก็เกรงสกุลของพวกตนจะปะปนกับเลือดแห่งสกุลอื่น ซึ่งต่ำกว่าของพระองค์ มีอัสมิมานะ มานะความทะนงตน

เมื่อประชุมปรึกษาเรื่องนี้กันนานพอสมควรแล้ว ท้าวมหานามจึงเสนอที่ประชุมว่า มีธิดาอยู่คนหนึ่งชื่อว่า วาสภขัตติยา เป็นลูกของทาสี เธอมีความงามเป็นเลิศ พวกเราสมควรให้นางแก่พระเจ้าปเสนทิโกศล

ที่ประชุมเห็นชอบ จึงส่งนางวาสภขัตติยาไปถวาย พระเจ้า ปเสนทิโกศลไม่ทรงทราบ จึงโปรดปรานเป็นอันมาก พระราชทาน สตรี 500 ให้เป็นบริวาร ต่อมาพระนางประสูติพระโอรสพระนาม ว่า วิฑูฑภะ

ความจริงก่อนจะให้ทูตรับพระนางมา พระเจ้าปเสนทิโกศล ก็ทรงป้องกันการถูกหลอกเหมือนกัน แต่ไม่วายถูกหลอก คือทรงกำชับราชทูตไปว่า จะต้องเป็นพระราชธิดา ที่เสวยร่วมกับกษัตริย์ เช่นท้าวมหานาม ท้าวมหานามไม่ขัดข้อง ทรงทำทีเป็นเสวยร่วมกับพระนางวาสภขัตติยา ให้ราชทูตดู แต่มิได้เสวยจริงๆ คงจะมีแผนให้เกิดเหตุอย่างใดอย่างหนึ่ง จนเสวยไม่ได้ ต้องเลิกในทันทีทันใด เช่นมีแผนให้มหาดเล็กวิ่งกระหืดกระหอบเข้ามาทูลว่า ไฟไหม้พระราชวัง ซึ่งจะต้องเลิกเสวยในทันที เพื่อไปดูแลการดับไฟ

แม้พระนามวิฑูฑภะก็ได้มา โดยฟังมาผิด คือเมื่อพระกุมารประสูติแล้ว พระเจ้าปเสนทิโกศลส่งราชทูตไปทูลขอพระนามพระกุมารใหม่จากพระอัยยิกา พระเจ้ายายพระราชทานว่า วัลภา แปลว่าเป็นที่โปรดปราน แต่ราชทูตหูตึง ฟังว่า วิฑูฑภะ พระเจ้าปเสนทิโกศลก็ทรงพอพระทัยต่อพระนามนั้น

ต่อมาเมื่อพระชนมายุได้ 16 วิฑูฑภะเสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ ความจริงพระมารดาพยายามทาบทามหลายครั้ง เพราะทรงเกรงพระราชโอรสจะไปทรงทราบความจริงเข้า แต่พระราชกุมารทรงยืนยันว่าจะเฝ้าพระอัยยิกาให้ได้ พระนางจึงรีบส่งสาส์นไปล่วงหน้าก่อน เพื่อให้พระญาติปฏิบัติต่อวิฑูฑภะอย่างเหมาะสม

แต่พระนางก็ผิดหวัง พระทิฏฐิมานะของพวกศากยะมากเกินไป เป็นเหตุให้เกิดเรื่องใหญ่ฆ่าฟันกันล้มตายในภายหลัง

เมื่อทราบข่าวว่า วิฑูฑภะกุมาร จะเสด็จเยี่ยมกรุงกบิลพัสดุ์ ทางศากยวงศ์ก็ประชุมกันว่าจะทำอย่างไร พวกเขาไม่ลืมว่าพระมารดาของวิฑูฑภะนั้นเป็นธิดาของนางทาสี ตัววิฑูฑภะเอง แม้จะเป็นพระราชโอรสของพระเจ้าปเสนทิโกศลก็จริง แต่ฝ่าย มารดาวรรณะต่ำ วิฑูฑภะจึงมิได้เป็นอุภโตสุชาติ คือเกิดดีทั้งสองฝ่าย พวกเขาไม่สามารถให้เกียรติอย่างลูกกษัตริย์ได้ จึงจัดแจงส่งพระราชกุมารที่พระชนมายุน้อยกว่าวิฑูฑภะออกไปชนบทหมดเป็นการชั่วคราว ทั้งนี้เพื่อมิให้ต้องทำความเคารพบุตรของทาสี

มีต่อ..... :b41:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ม.ค. 2010, 23:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


เมื่อวิฑูฑภะเสด็จถึง ทางกบิลพัสดุ์ก็ต้อนรับพอสมควร พระราชกุมารเที่ยวไปไหว้คนนั้นคนนี้ ซึ่งได้รับการแนะนำว่าเป็น ตาเป็นยาย เป็นลุง ป้า น้า อา พี่ เป็นต้น แต่ไม่มีใครสักคนเดียว ที่ไหว้พระราชกุมารก่อน

เมื่อวิฑูฑภะถาม ผู้ใหญ่ก็บอกว่ารุ่นน้องๆ ได้ไปตากอากาศในชนบทกันหมด ไม่มีใครอยู่เลย

วิฑูฑภะก็เก็บเอาความสงสัยไว้ในใจ พระองค์ประทับอยู่เพียง 2-3 วันก็เสด็จกลับ พกเอาความสงสัยติดพระทัยไปด้วยว่า เหตุไฉนพระองค์จึงได้รับการต้อนรับอย่างชาเย็นถึงขนาดนั้น

ขณะที่เสด็จออกจากวังแล้วนั้น บังเอิญนายทหารคนหนึ่งลืมอาวุธไว้ จึงรีบกลับไปเอา และเห็นหญิงคนใช้คนหนึ่งกำลังเอาน้ำเจือด้วยน้ำนมล้างแผ่นกระดานที่วิฑูฑภะประทับ ปากก็พร่ำด่าว่านี่คือแผ่นกระดานที่วิฑูฑภะ บุตรของนางทาสีนั่ง การเอาน้ำเจือด้วยน้ำนมล้างนั้น ถือว่าเป็นการล้างเสนียดจัญไรให้ออกไป นายทหารคนนั้นก็สอบถาม นางทาสีคนนั้นก็เล่าให้ฟัง

นายทหารทราบเรื่องโดยตลอด กลับมาถึงกองทัพก็กระซิบกระซาบบอกเพื่อนๆ เสียงกระซิบนี่มันเป็นเสียงดัง อะไรที่อยากให้คนเขาเผยแผ่ไปเรื่อยๆ เราก็กระซิบเสียหน่อย แล้วก็แถมว่า “อย่าบอกใครนะ” อย่างนี้มันไปเร็วจนรู้กันไปทั้งกองทัพ

พระราชกุมารทรงทราบด้วย เป็นครั้งแรกที่ทรงทราบกำเนิดอันแท้จริงของพระองค์ ว่าสืบสายมาอย่างไร ทรงพิโรธมาก อาฆาตพวกศากยะไว้ว่า เวลานี้ขอให้พวกศากยะล้างแผ่นกระดานที่เรานั่งด้วยน้ำที่เจือด้วยนม ถ้าเมื่อใดเราเสวยราชสมบัติในแคว้นโกศล เราจะกลับไปล้างแค้น โดยเอาเลือดในลำคอกษัตริย์ศากยะล้างแผ่นกระดานนั้น

เมื่อกลับไปถึงเมืองสาวัตถี พวกอำมาตย์ได้กราบทูลเรื่องทั้งปวงให้พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงทราบ ทรงพิโรธมาก รับสั่งให้ถอดพระนางวาสภขัตติยา และวิฑูฑภะออกจากตำแหน่งพระมเหสีและพระราชกุมาร ทรงให้ริบเครื่องบริหาร และเครื่องเกียรติยศทั้งปวง พระราชทานให้เพียงสิ่งของที่ทาสและทาสีควรจะใช้เท่านั้น

ต่อมาอีก 2-3 วัน พระพุทธเจ้าเสด็จมายังราชนิเวศน์ พระเจ้าปเสนทิโกศลทูลเรื่องให้ทรงทราบ พระพุทธเจ้าตรัสปลอบพระทัยว่า พวกศากยะทำเกินไปจริงๆ เมื่อจะถวายก็ควรจะถวายพระธิดาที่มีพระชาติเสมอกันจึงจะสมควร

ครู่หนึ่งผ่านไป พระพุทธเจ้าก็ตรัสต่อไปว่า แต่ว่าอาตมาภาพขอถวายพระพรว่า พระนางวาสภขัตติยานั้นเป็นธิดาของขัตติยราช ได้รับอภิเษกในราชมณเฑียรของท้าวขัตติยราช ฝ่าย วิฑูฑภะกุมารก็ได้อาศัยขัตติยราชประสูติ

มหาบพิตร ตระกูลฝ่ายมารดาไม่สู้จะสำคัญนัก สำคัญที่ฝ่ายบิดา แม้บัณฑิตในโบราณกาลก็เคยพระราชทานตำแหน่งอัครมเหสีแก่หญิงยากจนหาบฟืนขาย และพระราชกุมารที่ประสูติจากพระครรภ์ของสตรีนั้น ก็ได้เป็นพระราชาผู้ยิ่งใหญ่ในนครพาราณสี พระนามว่า กัฏฐวาหนะราช และทรงเล่าเรื่องกัฏฐวาหริยชาดก แก่พระเจ้าปเสนทิโกศล แต่ผมจะไม่เล่าตรงนี้ ใครต้องการทราบก็ให้ไปหาในพระไตรปิฎกเล่ม 27 หน้า 3 และอรรถกถาชาดกเล่ม 1 หน้า 204

พระราชาทรงสดับกถาของพระศาสดาแล้วก็ทรงเชื่อ จึงรับสั่งให้พระราชทานเครื่องบริหาร เครื่องเกียรติยศแก่พระนาง วาสภขัตติยา และวิฑูฑภะกุมารอย่างเดิม

ต่อมาวิฑูฑภะพระกุมาร ได้ราชสมบัติโดยการช่วยเหลือของทีฆการยะ เสนาบดี นี่ก็เป็นเรื่องน่าสนใจ จะเล่าเสริมเข้ามาเพื่อเชื่อมกันสนิท และทราบที่ไปที่มาได้ดี

ฑีฆการยนะ นี้เป็นหลานของ พันธุลมหาเสนาบดี ซึ่งพระเจ้าปเสนทิโกศลวางอุบายให้คนของพระองค์ฆ่าเสีย โดยที่พันธุลมหาเสนาบดีมิได้มีความผิด แต่เป็นเพราะคนบางพวกยุยงว่าพันธุลต้องการแย่งราชสมบัติในกรุงสาวัตถี พระเจ้าปเสนทิโกศลทรงเชื่อ มีเรื่องราวละเอียดน่าสนใจ

มีต่อ... :b41:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 24 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 28 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร