วันเวลาปัจจุบัน 26 เม.ย. 2024, 16:12  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 25 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ม.ค. 2010, 23:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ถาม

ประกอบอย่างไร?

• ตอบ

เช่นกามฉันทนิวรณ์ก็เกิดในจิต ที่เป็นพวกโลภะมูล พยาบาทกุกกุจจนิวรณ์
ก็เกิดในจิตที่เป็นโทสะมูล ถีนะมิทธอุทธัจจะ วิจิกิจฉา
ก็เกิดในจิตที่เป็นโมหะมูล

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบนิวรณ์ทั้ง ๕ มาใน
สามัญญผลสูตร ฑีฆนิกายสีลักขันธวรรค หน้า ๙๓ ว่า

กามฉันทนิวรณ์ เหมือนคนเป็นหนี้,
พยาบาทนิวรณ์ เหมือนคนไข้หนัก,
ถีนมิทธนิวรณ์ เหมือนคนติดในเรือนจำ,
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ เหมือนคนเป็นทาส,
วิจิกิจฉานิวรณ์ เหมือนคนเดินทางกันดารมีภัยน่าหวาดเสียว


เพราะฉะนั้นคนที่เข้าพ้นหนี้ หรือหายเจ็บหนักหรือออกจากเรือนจำ
หรือพ้นจากทาสหรือได้เดินทางถึงที่ประสงค์พ้นภัยเกษมสำราญ
เขาย่อมถึงความยินดีฉันใด

ผู้ที่พ้นนิวรณ์ทั้ง ๕ ก็ย่อมถึงความยินดีฉันนั้น

แลใน สังคารวสูตรในปัจจกนิบาตอังคุตตรนิกาย หน้า ๒๕๗

พระพุทธเจ้าทรงเปรียบนิวรณ์ด้วยน้ำ ๕ อย่าง
บุคคลจะส่องดูเงาหน้าก็ไม่เห็นฉันใด
นิวรณ์ทั้ง ๕ เมื่อเกิดขึ้นก็ไม่เห็นธรรมความดีความชอบฉันนั้น

กามฉันทนิวรณ์ เหมือนน้ำที่ระคนด้วยสีต่างๆ เช่น สีครั่ง สีชมพู เป็นต้น
พยาบาทนิวรณ์ เหมือนน้ำร้อนที่เดือดพล่าน
ถีนะมิทธนิวรณ์ เหมือนน้ำที่มีจอกแหนปิดเสียหมด
อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ เหมือนน้ำที่คลื่นเป็นระลอก
วิจิกิจฉานิวรณ์ เหมือนน้ำที่ขุ่นข้นเป็นโคลนตม


เพราะฉะนั้นน้ำ ๕ อย่างนี้
บุคคลไม่อาจส่องดูเงาหน้าของบุคคล
ไม่ให้เห็นธรรมความดีความชอบได้ก็ฉันนั้น.


• ถาม

ทำไมคนเราเวลาไข้หนักใกล้จะตาย
ก็ทำบาปกรรมความชั่วอะไรไม่ได้แล้วจะกล่าววจีทุจริต
ปากก็พูดไม่ได้ จะล่วงทำกายทุจริต
มือแลเท้าก็ไหวไม่ได้แล้ว ยังเหลือแต่ความคิด
นึกทางใจนิดเดียวเท่านั้น
ทำไมใจประกอบด้วยนิวรณ์ จึงไปทุคติได้
ไม่น่าจะเป็นบาปกรรมโตใหญ่อะไรเลย
ข้อนี้น่าอัศจรรย์นักขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ?

• ตอบ

กิเลสเป็นเหตุให้ก่อกรรมๆ เป็นเหตุให้ก่อวิบาก
ที่เรียกว่าไตรวัฏนั้น เช่น อนุสัย หรือสังโยชน์
ที่เกิดขึ้นในเวลานั้นชื่อว่า กิเลสวัฏ
ผู้ที่ไม่เคยประพฤติปฏิบัติก็ทำในใจไม่แยบคาย
ที่เรียกว่า อโยนิโส คิดต่อออกไป
เป็นนิวรณ์ ๕ หรืออุปกิเลส ๑๖
จึงเป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป ถ้าดับจิตไปในสมัยนั้น
จึงได้วิบากวัฏที่เป็นส่วนทุคติ


เพราะกรรมวัฏฝ่ายบาปส่งให้อุปมาเหมือนคนปลูกต้นไม้
ไปนำพืชพนธุ์ของไม้ที่เบื่อเมามาปลูกไว้ต้นแลใบที่เกิดขึ้นนั้น
ก็เป็นของเบื่อเมา แม้ผลแลดอกที่ออกมา
ก็เป็นของเบื่อเมาตามพืชพันธุ์เดิมซึ่งนำมาปลูกไว้นิดเดียว
แต่ก็กลายเป็นต้นโตใหญ่ไปได้เหมือนกัน

ข้อนี้ฉันใด จิตที่เศร้าหมองเวลาตาย ก็ไปทุคติได้ฉันนั้น
แลเหมือนพืชพันธุ์แห่งผลไม้ที่ดี มีกลิ่นหอมมีรสหวาน
บุคคลไปนำพืชพันธุ์มานิดเดียว
ปลูกไว้แม้ต้นแลใบก็เป็นไม้ที่ดีทั้งผลแลดอกที่ออกมา
ก็ใช้แลรับประทานได้ตามความประสงค์
เพราะอาศัยพืชที่ดีซึ่งนำมานิดเดียวปลูกไว้ข้อนี้ฉันใด

จิตที่เป็นกุศลผ่องใสแล้วตายในเวลานั้น
จึงไปสู่สุคติได้สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ว่า


จิตฺเต สงฺกิลิฏเฐทุคฺคติ ปาฏิกงฺขา
เวลาตายจิตเศร้าหมองแล้วทุคติเป็นหวังได้
จิตฺเต อสงฺกิลิฏเฐ สุคติปาฏิกงฺขา

จิตผ่องใสไม่เศร้าหมองเวลาตายสุคติเป็นหวังได้.


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ม.ค. 2010, 23:03 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ถาม

อโยนิโสมนสิกาโร ความทำในใจไม่แยบคาย
โยนิโสมนสิกาโร ความทำในใจแยบคาย ๒ อย่างนั้น
คือ ทำอย่างไรจึงชื่อว่าไม่แยบคาย ทำอย่างไรจึงชื่อว่าแยบคาย?

• ตอบ

ความทำ สุภนิมิต ไว้ในใจ
กามฉันทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น ที่เกิดแล้วก็งอกงาม

ความทำ ปฏิฆะนิมิต ไว้ในใจ
พยาบาทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้นที่เกิดขึ้นแล้วก็งอกงามอย่างนี้
ชื่อว่าทำในใจไม่แยบคาย

การทำ อสุภสัญญา ไว้ในใจ กามฉันทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วเสื่อมหายไป

การทำ เมตตา ไว้ในใจ พยาบาทนิวรณ์ที่ยังไม่เกิดก็ไม่เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมหายไป


เช่นนี้เป็นตัวอย่างหรือความทำในใจอย่างไรก็ตาม

อกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วงอกงาม ก็ชื่อว่าทำในใจแยบคาย
หรือจะคิดนึกอย่างไรก็ตามกุศลที่ยังไม่เกิดก็เกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วก็บริบูรณ์ อย่างนี้ชื่อว่าทำในใจแยบคาย


สมด้วยสาวกภาษิตที่พระสารีบุตรแสดงไว้ใน พระทสุตตรสูตรหมวด ๒ ว่า

โย จ เหตุ โย จ ปจฺจโย สตฺตานํ สงฺกิเลสสาย
ความไม่ทำในใจโดยอุบายอันแยบคาย
เป็นเหตุด้วยเป็นปัจจัยด้วย
เพื่อความเศร้าหมองแห่งสัตว์ทั้งหลาย ๑

โย จ เหตุ โย จ ปจฺจโย สตฺตานํ วิสุทฺธิยา
ความทำในใจ โดยอุบายแยบคาย

เป็นเหตุด้วยเป็นปัจจัยด้วยเพื่อจะได้บริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย.


• ถาม

ที่ว่า อนุสัยกับสังโยชน์ เป็น กิเลสวัฏ
ส่วน นิวรณ์หรืออุปกิเลส ๑๖ ว่าเป็น กรรมวัฏ


เวลาที่เกิดขึ้นนั้น มีอาการต่างกันอย่างไร
จึงจะทราบได้ว่า ประเภทนี้เป็นนิวรณ์ หรือ อุปกิเลส ๑๖?

• ตอบ

เช่น เวลาตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้ดมกลิ่น
ลิ้นได้ลิ้มรส กายถูกต้องโผฏฐัพพะ
รู้ธัมมารมณ์ด้วยใจ ๖ อย่างนี้ แบ่งเป็น ๒ ส่วน

ส่วนที่ดีนั้นเป็นอิฏฐารมณ์ เป็นที่ตั้งแห่งความกำหนัด
ยินดีส่วนอารมณ์ ๖ ที่ไม่ดีเป็นอนิฏฐารมณ์
ป็นที่ตั้งแห่งความยินร้าย, ไม่ชอบ, โกรธเคือง
ผู้ที่ยังไม่รู้ความจริงหรือไม่มีสติเวลาที่ตาเห็นรูปที่ดี
ยังไม่ทันคิดว่ากระไรก็เกิดความยินดีกำหนัดพอใจขึ้น แค่นี้เป็นสังโยชน์

ถ้าคิดต่อมากออกไปก็เป็นกามฉันทนิวรณ์
หรือเรียกว่า กามวิตกก็ได้ หรือเกิดความโลภอยากได้ที่ผิดธรรม
ก็เป็นอภิชฺฌาวิสมโลโภที่อยู่ในอุปกิเลส ๑๖
หรือในมโนกรรม อกุศลกรรมบถ ๑๐ ชนิดนี้
ประกอบด้วยเจตนา เป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป

เวลาตาเห็นรูปที่ไม่ดีไม่ทันคิดว่ากระไร
เกิดความไม่ชอบหรือเป็นโทมนัส
ปฏิฆะขึ้นไม่ประกอบด้วยเจตนาแค่นี้เป็นปฏิฆะสังโยชน์ คือ กิเลสวัฏ

ถ้าคิดต่อออกไปถึงโกรธเคืองประทุษร้ายก็เป็นพยาบาทนิวรณ์
หรืออุปกิเลสหรืออกุศลกรรมบถ ๑๐ ชนิดนี้
ก็เป็นกรรมวัฏฝ่ายบาปเพราะประกอบด้วยเจตนา นี่ชี้ให้ฟังเป็นตัวอย่าง

แม้กิเลสอื่นๆ ก็พึงตัดสินใจอย่างนี้ว่า

กิเลสที่ไม่ตั้งใจให้เกิดก็เกิดขึ้นได้เองเป็นพวกอนุสัยหรือสังโยชน์ เป็น กิเลสวัฏ
ถ้าประกอบด้วยเจตนา คือ ยืดยาวออกไปก็เป็น กรรมวัฏ.


• ถาม

ถ้าเช่นนั้นเราจะตัดกิเลสวัฏ จะตัดอย่างไร?

• ตอบ

ต้องตัดได้ด้วยอริยมรรค
เพราะสังโยชน์ก็ไม่มีเจตนา
อริยมรรคก็ไม่มีเจตนาเหมือนกัน
จึงเป็นคู่ปรับสำหรับละกัน.


• ถาม

ถ้าการปฏิบัติของผู้ดำเนินยังอ่อนอยู่
ไม่สามารถจะตัดได้ สังโยชน์ก็ยังเกิดอยู่
แล้วก็เลยเป็นกรรมวัฏฝ่ายบาปต่อออกไป
มิต้องได้วิบากวัฏที่เป็นส่วนทุคติเสียหรือ?


• ตอบ

เพราะอย่างนั้นน่ะซิ ผู้ที่ยังไม่ถึงโสดาบันจึงปิดอบายไม่ได้.

• ถาม

ถ้าเช่นนั้นใครจะไปสวรรค์ได้บ้างเล่า ในชั้นผู้ปฏิบัติที่ยังไม่ถึงโสดาบัน?

• ตอบ

ไปได้เพราะอาศัยเปลี่ยนกรรม สังโยชน์ยังอยู่ก็จริง
ถ้าประพฤติทุจริตกาย วาจา ใจ เวลาตายในเศร้าหมองก็ต้องไปทุคติ
ถ้ามาตั้งใจเว้นทุจริต อยู่ในสุจริตทางกาย วาจา ใจ
แลเวลาตายก็ไม่เศร้าหมองก็มีสติสัมปชัญญะก็ไปสุคติได้
เพราะเจตนาเป็นตัวกรรม

กรรมมี ๒ อย่าง กณฺหํ เป็นกรรมดำ คือ ทุจริตกาย วาจา ใจ
สุกฺกํ เป็นกรรมขาว คือ สุจริต กาย วาจา ใจ ย่อมให้ผลต่างกัน.


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ม.ค. 2010, 23:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ถาม

ผู้ที่ยังมีชีวิตอยู่ได้ประพฤติสุจริต กาย วาจา ใจ
เวลาตายใจเศร้าหมอง มิต้องไปทุคติเสียหรือ
หรือผู้ประพฤติสุจริต กาย วาจา ใจ
แต่เวลาตายใจเป็นกุศล มิไปสุคติได้หรือ?

• ตอบ

ก็ไปได้นะซี

ได้เคยฟังหนังสือของ สมเด็จพระวันรัต (ทับ) วัดเคโสมนัส บ้างหรือเปล่า

เวลาลงโบสถ์ท่านเคยแสดงให้พระเณรฟัง
ภายหลังได้มาจัดพิมพ์กันขึ้น รวมกับข้ออื่นๆ
ท่านเคยแสดงว่าภิกษุรักษาศีลบริสุทธิ์

เวลาตายห่วงในจีวร ตายไปเกิดเป็นเล็น

แลภิกษุอีกองค์หนึ่งเวลาใกล้จะตายนึกขึ้นได้ว่าทำใบตะไคร้น้ำขาด
มองหาเพื่อนภิกษุที่จะแสดงอาบัติก็ไม่มีใคร
ใจก็กังวลอยู่อย่างนั้นแหละ

ครั้นตายไปเกิดเป็นพญานาค

แลอุบาสกอีกคนหนึ่ง
เจริญกายคตาสติมาถึง ๓๐ ปี ก็ไม่ได้บรรลุคุณวิเศษอย่างใด
เกิดความสงสัยในพระธรรม

ตายไปเกิดเป็นจระเข้ ด้วยโทษวิจิกิจฉานิวรณ์

ส่วนโตเทยยะพราหมณ์นั้นไม่ใช่ผู้ปฎิบัติ ห่วงทรัพย์ที่ฝังไว้

ตายไปเกิดเป็นลูกสุนัขอยู่ในบ้านของตนเอง
ด้วยโทษกมาฉันทนิวรณ์เหมือนกัน


แลนายพรานผู้หนึ่งเคยฆ่าสัตว์มากเวลาใกล้ตาย
พระสารีบุตรไปสอนให้รับไตรสมณคมน์

จิตก็ตั้งอยู่ในกุศลยังไม่ทันจะให้ศีลนายพรานก็ตายไปสู่สุคติ
ด้วยจิตที่เป็นกุศล ตั้งอยู่ในไตรสมณคมน์


นี่ก็เป็นตัวอย่างของผู้ที่ตายใจเศร้าหมองหรือบริสุทธิ์
กรรมของผู้ที่กระทำในเมื่อเวลาใกล้ตายนั้น
ชื่อว่า อาสันนกรรม ต้องให้ผลก่อนกรรมอื่นๆ


ท่านเปรียบว่า เหมือนโคอยู่ใกล้ประตูคอก
แม้จะแก่กำลังน้อย ก็ต้องออกได้ก่อน
ส่วนโคอื่นถึงจะมีกำลัง ที่อยู่ข้างใน ก็ต้องออกทีหลัง
ข้อนี้ฉันใด กรรมที่บุคคลทำเมื่อใกล้ตายจึงต้องให้ผลก่อนฉันนั้น
.


• ถาม

ส่วนอนุสัยแลสังโยชน์เป็นกิเลสวัฏนิวรณ์หรืออุปกิเลส ๑๖
หรืออกุศลกรรมบถ ๑๐ ว่าเป็นกรรมวัฏฝ่ายบาป
ส่วนกรรมวัฏฝ่ายบุญจะได้แก่อะไร?


• ตอบ

กามาวจรกุศล รูปาวจรกุศล อรูปาวจรกุศล เหล่านี้
เป็นกรรมวัฏฝ่ายบุญส่งให้ วิบากวัฏ
คือ มนุษยสมบัติบ้าง สวรรคสมบัติบ้าง พรหมโลก บ้าง
พอเหมาะแก่กุศลกรรมที่ทำไว้.

• ถาม

ถ้าเช่นนั้นกรรมทั้งหลาย ที่สัตว์ทำเป็นบุญก็ตาม เป็นบาปก็ตาม
ย่อมให้ผลเหมือนเงาที่ไม่พรากไปจากตนฉะนั้นหรือ?

• ตอบ

ถูกแล้ว สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ใน อภิณหปัจจเวกขณ์ ว่า

กมฺมสฺสโกมฺหิ เราเป็นผู้มีกรรมเป็นของๆตน
กมฺมทายาโท เป็นผู้รับผลของกรรม
กมฺมโยนิ เป็นผู้มีกรรมเป็นกำหนด
กมฺมปฏิสรโณ เป็นผู้มีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย

ยํ กมมํ กริสฺสามิ เราจักทำกรรมอันใด
กลฺยาณํ วา ปาปก่ วา ดีหรือชั่ว
สตํสา ทายาโท ภวิสฺสามิ เราจักเป็นผู้รับผลกรรมนั้น.


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 ม.ค. 2010, 23:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ถาม

อนุสัยกับสังโยชน์ ใครจะละเอียดกว่ากัน?

• ตอบ

อนุสัยละเอียดกว่าสังโยชน์

เพราะ สังโยชน์ นั้น เวลาที่จะเกิดขึ้น
อาศัยอายตนะภายในภายนอกกระทบกันเข้าแล้วเกิดวิญญาณ ๖ ชื่อว่าสัมผัสสะ

เมื่อผู้ที่ไม่มีสติ หรือไม่รู้ความจริง
เช่น หูกับเสียงกระทบกันเข้า เกิดความรู้ขึ้น เสียงที่ดีก็ชอบ
เกิดความยินดีพอใจ เสียงที่ไม่ดี ก็ไม่ชอบ ไม่ถูกใจ ที่โลกเรียกกันว่าพื้นเสีย

เช่นนี้แหละชื่อว่า สังโยชน์ จึงหยาบกว่า อนุสัย
เพรา อนุสัย นั้นย่อมตามนอนในเวทนาทั้ง ๓
เช่นสุขเวทนาเกิดขึ้น

ผู้ที่ไม่เคยรู้ความจริง หรือไม่มีสติราคานุสัยจึงตามนอน
ทุกขเวทนาเกิดขึ้น ปฏิฆานุสัยย่อมตามนอน
อทุกขมสุขเวทนาเกิดขึ้น อวิชชานุสัยย่อมตามนอน

เพราะฉะนั้นจึงละเอียดกว่าสังโยชน์

แลมีพระพุทธภาษิตตรัสไว้ใน มาลุงโกฺยวาทสูตร ว่า

เด็กอ่อนที่นอนหงายอยู่ในผ้าอ้อม
เพียงจะรู้จักว่านี่ตานี่รูปก็ไม่มีในเด็กนั้น
เพราะฉะนั้น สังโยชน์จึงไม่มีในเด็กที่นอนอยู่ในผ้าอ้อม
แต่ว่าอนุสัยย่อมตามนอนในเด็กนั้นได้.


• ถาม

อนุสัยนั้นมีประจำอยู่เสมอหรือ หรือมีมาเป็นครั้งคราว?

• ตอบ

มีมาเป็นครั้งคราว ถ้ามีประจำอยู่เสมอแล้วก็คงจะละไม่ได้
เช่นราคานุสัยก็เพิ่งมาตามนอนในสุขเวทนา
หรือปฏิฆานุสัยก็เพิ่งมาตามนอนในทุกขเวทนา
หรืออวิชชานุสัยก็เพิ่งมาตามนอนในอทุกขมสุขเวทนา
ตามนอนได้แต่ผู้ที่ไม่รู้ความจริงหรือไม่มีสติ

ถ้าเป็นผู้ที่รู้ความจริง หรือมีสติก็ไม่ตามนอนได้

เรื่องนี้ได้อธิบายไว้ในเวทนาขันธ์แล้ว.

• ถาม

แต่เดิมข้าพเจ้าเข้าใจว่า อนุสัย ตามนอนอยู่ในสันดานเสมอทุกเมื่อไป
เหมือนอย่างขี้ตะกอนที่นอนอยู่ก้นโองน้ำ

ถ้ายังไม่มีใครมาคน ก็ยังไม่ขุ่นขึ้น ถ้ามีใครมาคนก็ขุ่นขึ้นได้
เวลาที่ได้รับอารมณ์ที่ดี เกิดความกำหนัดยินดีพอใจขึ้น
หรือได้รับอารมณ์ที่ไม่ดีก็เกิดปฏิฆะหรือความโกรธขึ้น เข้าใจนี่แหละขุ่นขึ้นมา

ความเข้าใจเก่าของข้าพเจ้าไม่ได้ผิดไปหรือ?

• ตอบ

ก็ผิดนะซี

เพราะเอานามไปเปรียบกับรูปคือโอ่งก็เป็นรูปที่ไม่มีวิญญาณ
น้ำก็เป็นรูปที่ไม่มีวิญญาณแลขี้ตะกอนก้นโอ่งก็เป็นรูป
ไม่มีวิญญาณเหมือนกัน จึงขังกันอยู่ได้
ส่วนจิตเจตสิกของเรา เกิดขึ้นแล้วก็ดับไปจะขังเอาอะไรไว้ได้


เพราะกิเลส เช่น อนุสัย หรือสังโยชน์
ก็อาศัยจิตเจตสิกเกิดขึ้นช่วงครั้งคราวนั้นดับไปแล้ว
อนุสัยหรือสังโยชน์จะตกค้างอยู่กับใคร


ลองนึกดูเมื่อเรายังไม่เกิดความรัก
ความรักนั้นอยู่ที่ไหน ก็มีขึ้นเมื่อเกิดความรักไม่ใช่หรือ
หรือเมื่อความรักนั้นดับไปแล้ว ก็ไม่มีความรักไม่ใช่หรือ

และเมื่อความโกรธเมื่อยังไม่เกิดขึ้นก็
ไม่มีเหมือนกันมีขึ้นเมื่อเวลาที่โกรธ

เมื่อความโกรธดับไปแล้ว ก็ไม่มีเหมือนกัน

เรี่องนี้เป็นเรื่องที่ละเอียดเพราะไปติดสัญญาที่จำได้นานแล้วว่า
อนุสัยนอนอยู่เหมือนขี้ตะกอนที่นอนอยู่ก้นโอ่ง.


• ถาม

ก็ อนุสัย กับ สังโยชน์ ไม่มีแล้ว
บางคราวทำไมจึงมีขึ้นได้อีกเล่า ข้าพเจ้าฉงนนัก


แล้วยัง อาสวะ อีกอย่างหนึ่งที่ว่าดองสันดานนั้น เป็นอย่างไร?

• ตอบ

ถ้าพูดถึงอนุสัยหรืออาสวะแล้ว

เราควรเอาความว่า ความเคยตัวเคยใจ
ที่เรียกว่ากิเลสกับวาสนาที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้าละได้ทั้ง ๒ อย่าง
ที่พระอรหันตสาวกละได้แต่กิเลสอย่างเดียววาสนาละไม่ได้

เราควรจะอาความว่าอาสวะหรืออนุสัยกิเลสเหล่านี้เป็นความเคยใจ

เช่นได้รับอารมณ์ที่ดี เคยเกิดความกำหนัดพอใจได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี
เคยไม่ชอบไม่ถูกใจเช่นนี้เป็นต้น
เหล่านี้ควรรู้สึกว่าเป็นเหล่าอนุสัยหรืออาสวะเพราะความคุ้นเคยของใจ

ส่วน วาสนา นั้น คือ ความคุ้นเคยของกาย วาจา
ที่ติดต่อมาจากความเคยแห่ง อนุสัย


เช่น คนเราคะจริตมีมารยาทเรียบร้อย
หรือเป็นคนโทสะจริตมีมารยาทไม่เรียบร้อย

ส่วนราคะแลโทสะนั้นเป็นลักษณะของกิเลส
กิริยามรรยาทที่เรียบร้อยแลไม่เรียบร้อย
นั้นเป็นลักษณะของวาสนานี่ก็ควรจะรู้ไว้.

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2010, 23:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


• ถาม

ถ้าเช่นนั้นเราจะละความคุ้นเคยของใจ
ในเวลาที่ได้รับอารมณ์ที่ดีหรือไม่ดีจะควรประพฤติปฏิบัติอย่างไรดี?

• ตอบ

วิธีปฏิบัติที่จะละความคุ้นเคยแบบเก่า คือ อนุสัย แล สังโยชน์
ก็ต้องมาฝึกหัดให้คุ้ยเคยในศีลแลสมถวิปัสสนาขึ้นใหม่
จะได้ถ่ายถอนความคุ้นเคยเก่า
เช่นเหล่าอนุสัยหรืออนุโยชน์ให้หมดไปจากสันดาน.


• ถาม

ส่วน อนุสัย กับ
สังโยชน์ ข้าพเจ้าเข้าใจดีแล้ว

แต่ส่วนอาสวะนั้น คือ กามสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ๓ อย่างนั้น
เป็นเครื่องดองสันดาน ถ้าฟังดูตามชื่อ ก็ไม่น่าจะมีเวลาว่าง
ดูเหมือนดองอยู่กับจิตเสมอไปหรือไม่ได้ดองอยู่เสมอ


แต่ส่วนตัวข้าพเจ้าเข้าใจไว้แต่เดิมสำคัญว่าดองอยู่เสมอข้อนี้เป็นอย่างไร

ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าเข้าใจ?

• ตอบ

ไม่รู้ว่าเอาอะไรมาซอกแซกถาม ได้ตอบไว้พร้อมกับ อนุสัย แล สังโยชน์ แล้ว
จะให้ตอบอีกก็ต้องอธิบายกันใหญ่

คำที่ว่า อาสวะ เป็นเครื่องดองนั้น ก็ต้องหมายความถึงรูปอีกนั่นแหละ

เช่นกับเขาดองผักก็ต้องมีภาชนะ
เช่น ผักอย่างหนึ่งหรือชามอย่างหนึ่งแลน้ำอย่างหนึ่ง
รวมกัน ๓ อย่าง สำหรับเช่นกัน

หรือของที่เขาทำเป็นแช่อิ่มก็ต้องมีขวดโหลหรือน้ำเชื่อมสำหรับแช่ของ
เพราะสิ่งนั้นเป็นรูปจึงแช่แลดองกันอยู่ได้

ส่วนอวัยวะนั้นอาศัยนามธรรมเกิดขึ้นนามธรรมก็เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวตน

อาสวะก็เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวจะแช่แลดองกันอยู่ได้

ส่วนอาสวะนั้นอาศัยนามธรรมเกิดขึ้นนามธรรมก็เป็นสิ่งที่ไม่มีตัว
อาสวะก็เป็นสิ่งที่ไม่มีตัวจะแช่แลดองกันอยู่อย่างไรได้


นั่นเป็นพระอุปมาของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงบัญญัติขึ้นไว้ว่า

อาสวะ เครื่องดองสันดาน คือ กิเลสมีประเภท อย่าง

เราก็เลยเข้าใจผิดถือมั่นเป็นอภินิเวส
เห็นเป็นแช่แลดองเป็นของจริงๆ จังๆ ไปได้

ความจริงก็ไม่มีอะไรนามและรูปเกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
อะไรจะมาแช่แลดองกันอยู่ได้


เพราะฉะนั้นขอให้เปลี่ยนความเห็นเสียใหม่ที่ว่าเป็นนั่นเป็นนี่
เป็นจริงเป็นจังเสียให้ได้ ให้หมดทุกสิ่งที่ได้เข้าใจไว้แต่เก่าๆ แล้ว
ก็ตั้งใจศึกษาเสียใหม่ให้ตรงกับความจริง ซึ่งเป็นสัมมาปฏิบัติ.


(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 ม.ค. 2010, 23:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


จะทำความเห็นอย่างไรจึงจะตรงกับความจริง?

ทำความเห็นว่าไม่มีอะไร มีแต่สมมติแลบัญญัติ ถ้าถอนสมมติแลบัญญัติออกเสียแล้วก็ไม่มีอะไร หาคำพูดไม่ได้ เพราะฉะนั้นพระพุทธเจ้าทรงบัญญัติ ขันธ์ 5 อายตนะ 6 ธาตุ 6 นามรูป เหล่านี้ก็เพื่อจะให้รู้เรื่องกันเท่านั้น ส่วนขันธ์แลอายตนะ ธาตุ นามรูป ผู้ปฏิบัติควรกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ส่วนอนุสัยหรือสังโยชน์ อาสวะ โยคะ โอฆะ นิวรณ์ อุปกิเลสเป็นสมุทัย อาศัยขันธ์หรืออายตนะหรือนามรูปเกิดขึ้นนั้นเป็นสมุทัยเป็นส่วนหนึ่งที่ควรละ มรรคมีองค์ 8 ย่นเข้าคือ ศีล สมาธิ ปัญญา เป็นส่วนที่ควรเจริญ ความสิ้นไปแห่งกิเลส คือ อนุสัยหรือสังโยชน์ ชื่อว่านิโรธ เป็นส่วนควรทำให้แจ้งเหล่านี้แหละเป็นความจริง ความรู้ความเห็นใน 4 อริยสัจนี้แหละเป็นความจริง ความรู้ความเห็นใน 4 อริยสัจนี้แหละคือเห็นความจริงละ

สาธุ ข้าพเจ้าเข้าใจแจ่มแจ้งทีเดียว แต่เมื่ออาสวะไม่ได้ดองอยู่เสมอ แล้วทำไมท่านจึงกล่าวว่า เวลาที่พระอรหันต์สำเร็จขึ้นใหม่ๆ โดยมากแล้วที่ได้ฟังมาในแบบท่านรู้ว่าจิตของท่านพ้นแล้วจากกามาสวะ ภวาสวะ อวิชชาสวะ ข้าพเจ้าจึงเข้าใจว่าผู้ที่ยังไม่พ้นก็ต้องมีอาสวะประจำอยู่กับจิตเป็นนิตย์ไป ไม่มีเวลาว่าง กว่าจะพ้นได้ก็ต้องเป็นพระอรหันต์?

ถ้าขืนทำความเห็นอยู่อย่างนี้ ก็ไม่มีเวลาพ้นจริงด้วย เมื่ออาสวะอยู่ประจำเป็นพื้นเพของจิตแล้วก็ใครจะละได้เล่า พระอรหันต์ก็คงไม่มีในโลกได้เหมือนกัน นี่ความจริงไม่ใช่เช่นนี้ จิตนั้นส่วนหนึ่งเป็นประเภททุกขสัจ อาสวะส่วนหนึ่งเป็นประเภทสมุทัย อาศัยจิตเกิดขึ้นชั่วคราว เมื่อจิตคราวนั้นดับไปแล้ว อาสวะประกอบกับจิตในคราวนั้นก็ดับไปด้วย ส่วนอาสวะที่เกิดขึ้นได้บ่อยๆนั้น เพราะอาศัยการเพ่งโทษ ถ้าเราจักตั้งใจเพ่งโทษใครๆ อาสวะก็จะเกิดได้ด้วยยากเหมือนกัน สมด้วยพระพุทธภาษิตที่ตรัสไว้ว่า ปรวชฺชานุปสฺสํสฺส เมื่อบุคคลตามมองดู ซึ่งโทษของผู้อื่น นิจฺจํ อชฺฌาน สญฺญิโน เป็นบุคคลมีความหมายจะยกโทษเป็นนิตย์ อาสวา ตสฺส วฑฺฒนฺติ อาสวะทั้งหลายย่อมเจริญขึ้นแก่บุคคลนั้น อารา โส อาสวกฺขยา บุคคลนั้นเป็นผู้ห่างไกลจากธรรมที่สิ้นอาสวะ ถ้าฟังตามคาถาพระพุทธภาษิตนี้ก็จะทำให้เราเห็นชัดได้ว่าอาสวะนั้นมีมาในเวลาที่เพ่งโทษ เรายังไม่เพ่งโทษอาสวะก็ยังไม่มีมาหรือเมื่อจิตที่ประกอบด้วยอาสวะคราวนั้นดับไปแล้วอาสวะก็ดับไปด้วย ก็เป็นอันไม่เหมือนกัน การที่เห็นว่าอาสวะมีอยู่เสมอจึงเป็นความเห็นผิด

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2010, 17:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


อาสวะ 3 นั้น กามาสวะเป็นกิเลสประเภทรัก อวิชชาสวะเป็นกิเลสประเภทไม่รู้ แต่ภวาสวะนั้นไม่ได้ความว่าเป็นกิเลสประเภทไหน เคยได้ฟังตามแบบท่านว่าเป็นภพๆอย่างไรข้าพเจ้าไม่เข้าใจ?

ความไม่รู้ความจริงเป็นอวิชชาสวะ จึงได้เข้าไปชอบไว้ในอารมณ์ที่ดีมีกามเป็นต้นเป็นกามสวะ เมื่อไม่ชอบไว้ในที่ใด ก็เข้าไปยึดถือตั้งอยู่ในที่นั้น จึงเป็นภวาสวะนี่แหละ เข้าใจว่าเป็นภวาสวะ

ภวะท่านหมายว่าภพ คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพไม่ใช่หรือ ทำไมภพถึงจะมาอยู่ในใจของเราได้เล่า?

ภพที่ในใจนี่ละซีสำคัญนัก จึงได้ต่อให้ไปเกิดในภพข้างนอก ก็ลองสังเกตดู ตามแบบที่เราได้เคยฟังมาว่า พระอรหันต์ทั้งหลายไม่มีกิเลสประเภทรัก และไม่มีอวิชชาภวะตัณหาเข้าไปเป็นอยู่ในที่ใด แลไม่มีอุปาทานความชอบความยินดียึดถือในสิ่งทั้งปวง ภพข้างนอก คือ กามภพ รูปภพ อรูปภพ ตลอดจนกระทั่งภพ คือ สุทธาวาสของท่านนั้นจึงไม่มี


อาสวะ 3 ไม่เห้นมีกิเลสประเภทโกรธ แต่ทำไมการเพ่งโทษนั้นเป็นกิเลสเกลียดชังขาดเมตตา กรุณา เพราะอะไรจึงได้มาทำให้อาสวะเกิดขึ้น?


เพราะความเข้าไปชอบไปเป็นอยู่ในสิ่งใดที่ถูกใจของตน ครั้นเขามาทำที่ไม่ชอบไม่ถูกใจจึงได้เข้าไปเพ่งโทษ เพราะสาเหตุที่เข้าไปชอบไปถูกใจเป็นอยู่ในสิ่งใดไว้ซึ่งเป็นสายชนวนเดียวกัน อาสวะทั้งหลายจึงได้เจริญแก่บุคคลนั้น


ความรู้นั้นมีหลายอย่าง เช่นกับวิญญาณ 6 คือ ความรู้ทาง หู ตา จมูก ลิ้น กาย ใจ หรือ ความรู้ในเรื่อง โลภ โกรธ หลง ริษยา พยาบาท หรือรู้ไปในเรื่องความอยากความต้องการ หรือคนที่หยิบเล็กหยิบน้อยนิดหน่อยก็โกรธ เขาก็ว่าเขารู้ทั้งนั้น ส่วนความรู้ในรูปฌาณหรืออรูปฌาณ ก็เป็นความรู้ชนิดหนึ่ง ส่วนปัญญาที่รู้เห็นไตรลักษณ์แลอริยสัจก็เป็นความรู้เหมือนกัน ส่วนวิชชา 3 หรือวิชชา 8 ก็เป็นความรู้พิเศษอย่างยิ่ง เมื่อเป็นเช่นนี้ ควรจะแบ่งความรู้เหล่านี้เป็นประเภทไหนบ้าง ขอท่านจงอธิบายให้ข้าพเจ้าจะได้ไม่ปนกัน?


ควรแบ่งความรู้ทาง ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ว่าเป็นประเภททุกขสัจ เป็นส่วนที่ควรกำหนดรู้ว่าเป็นทุกข์ ส่วนความโลภ ความโกรธ ความหลง ริษยา พยาบาท ความอยากความต้องการเป็นสมุทัย เป็นส่วนควรละ ความรู้ในรูปฌาณแลอรูปฌาณ แลความรู้ในไตรลักษณ์ หรืออริยสัจเป็นมรรค เป็นส่วนที่ควรเจริญ วิชชา 3 หรือ วิชชา 8 นั้นเป็นนิโรธ เป็นส่วนที่ควรทำให้แจ้ง


อะไรๆ ก็เอาเป็นอริยสัจ ๔ เกือบจะไม่มีเรื่องอื่นพูดกัน?


เพราะไม่รู้อริยสัจทั้ง ๔ แลไม่ทำหน้าที่กำหนดทุกข์ ละสมุทัยแลทำนิโรธให้แจ้งแลเจริญมรรค จึงได้ร้อนใจกันไปทั่วโลก ท่านผู้ทำกิจถูกตามหน้าที่ของอริยสัจ ๔ ท่านจึงไม่มีความร้อนใจ ที่พวกเราต้องกราบไหว้ทุกวัน ข้าพเจ้าจึงชอบพูดถึงอริยสัจ

(มีต่อ)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ม.ค. 2010, 17:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


ตามที่ข้าพเจ้าได้ฟังมาว่า สอุปาทิเสสนิพพานนั้น ได้แก่พระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ อนุปาทิเสสนิพพานนั้นได้แก่พระอรหันต์ที่นิพพานแล้ว ถ้าเช่นนั้นท่านคงหมายความถึงเศษนามรูป เนื้อแลกระดูกที่เหลืออยู่นี่เอง?


ไม่ใช่ ถ้าเศษเนื้อเศษกระดูกที่หมดแล้วว่าเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน เช่นนั้นใครๆตายก็คงเป็นอนุปาทิเสสนิพพานได้เหมือนกัน เพราะเนื้อแลกระดูกชีวิตจิตใจก็ต้องหมดไปเหมือนกัน


ถ้าเช่นนั้นนิพพานทั้ง 2 อย่างนี้จะเอาอย่างไหนเล่า?


เรื่องนี้มีพระพุทธภาษิตตรัส สอุปาทิเสสสูตรแก่พระสารีบุตร ในอังคุตตรนิกาย นวกนิบาตหน้า 31 ความสังเขปว่า วันหนึ่งเป็นเวลาเช้าพระสารีบุตรไปเที่ยวบิณฑบาตร มีพวกปริพพาชกพูดกันว่า ผู้ที่ได้บรรลุสอุปาทิเสส ตายแล้วไม่พ้นนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบายทุคติวินิบาต ครั้นพระสารีบุตรกลับจากบิณฑบาตรแล้วจึงไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคกราบทูลตามเนื้อความที่พวกปริพาชกเขาพูดกันอย่างนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสว่า สอุปาทิเสสบุคคล 9 จำพวกคือ พระอนาคามี 5 จำพวก พระสกิทาคามี จำพวกหนึ่ง พระโสดาบัน 3 จำพวก ตายแล้วพ้นจากนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบายทุคติวินิบาต ธรรมปริยายนี้ยังไม่แจ่มแจ้ง แก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเลย เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้แล้วจะประมาท แลธรรมปริยายนี้เราแสดงด้วยความประสงค์จะตอบปัญหาที่ถามในสอุปาทิเสสสูตรนี้ ไม่ได้ตรัสถึงอนุปาทิเสส แต่ก็พอสันนิษฐานได้ว่า อนุปาทิเสสคงเป็นส่วนของพระอรหันต์


ถ้าเช่นนั้นท่านก็หมายความถึงสังโยชน์ คือกิเลสที่ยังมีเศษเหลืออยู่ว่า เป็นสอุปาทิเสนิพพาน ส่วนสังโยชน์ที่หมดแล้วไม่มีส่วนเหลืออยู่ คือพระอรหัตผล ว่าเป็นอนุปาทิเสสนิพพาน?


ถูกแล้ว.


ถ้าเราพูดอย่างนี้ คงไม่มีใครเห็นด้วย คงว่าเราเข้าใจผิดไม่ตรงกับเขา เพราะเป็นแบบสั่งสอนกันอยู่โดยมากว่า สอุปาทิเสสนิพพานของพระอรหันต์ที่ยังมีชีวิตอยู่ อนุปาทิเสสนิพพานของพระอรหันต์ที่นิพพานแล้ว?


ข้าพเจ้าเห็นว่า จะเป็นอรรถกาที่ขบ พระพุทธภาษิตไม่แตกแล้ว ก็เลยถือตามกันมา จึงมีทางคัดค้านได้ไม่คมคายชัดเจน เหมือนที่ทรงแสดงแก่พระสารีบุตร ซึ่งจะไม่มีทางคัดค้านได้ หมายกิเลส นิพพานโดยตรง


สอุปาทิเสสสูตรนี้ ทำไมจึงได้ตรัสหลายอย่างนัก มีทั้งนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบายทุคติวินิบาต ส่วนในพระสูตรอื่นๆ ถ้าตรัสถึงอบายก็ไม่ต้องกล่าวถึงนรก กำเนิดดิรัจฉาน เปรตวิสัย อบายทุคติวินิบาต?


เห็นจะเป็นด้วยพระสารีบุตรมากราบทูลถามหลายอย่าง ตามถ้อยคำของพวกปริพพาชกที่ได้ยินมา จึงตรัสตอบไปหลายอย่าง เพื่อให้ตรงกับคำถาม


ข้างท้ายพระสูตรนี้ ทำไมจึงมีพุทธภาษิตตรัสว่า ธรรมปริยายนี้ ยังไม่แจ่มแจ้งแก่ภิกษุ ภิกษุณี อุบาสก อุบาสิกาเลย เพราะได้ฟังธรรมปริยายนี้แล้วจะประมาท แลธรรมปริยายนี้เราแสดงด้วยความประสงค์จะตอบปัญหาที่ถาม?


ตามความเข้าใจของข้าพเจ้า เห็นจะเป็นด้วยพระพุทธประสงค์ คงมุ่งถึงพระเสขบุคคล ถ้าได้ฟังธรรมปริยายนี้แล้วจะได้ความอบอุ่นใจ ที่ไม่ต้องไปทุคติแลความเพียรเพื่อพระอรหันต์จะหย่อนไป ท่านจึงได้ตรัสอย่างนี้


เห็นจะเป็นเช่นนี้เอง ท่านจึงตรัสว่าถ้าได้ฟังธรรมปริยายนี้แล้วจะประมาท?


ตามแบบที่ได้ฟังมาโดยมาก พระพุทธประสงค์ ทรงเร่งพระสาวก ผู้ยังไม่พ้นอาสวะ ให้รีบทำความเพียรให้ถึงที่สุด คือพระอรหันต์


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2010, 14:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


onion


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 มี.ค. 2010, 14:25 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 30 เม.ย. 2007, 17:21
โพสต์: 4148

อายุ: 0
ที่อยู่: กทม.

 ข้อมูลส่วนตัว www


cool


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 25 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 33 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร