วันเวลาปัจจุบัน 19 เม.ย. 2024, 17:46  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2010, 17:16 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ


เมื่อสร้างความคุ้นเคยกับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมแล้ว
ให้ลองพิจารณาใคร่ครวญให้รอบคอบต่อปัญหาที่ปรากฏ
ทำอยู่เช่นนี้บ่อยๆ จะลุถึงปัญญาแท้เอง


ปุจฉา
เปลี่ยนดวง

หนูขอกราบนมัสการหลวงปู่ช่วยชี้ความกระจ่างว่า
ดวงเกิดของคนมีอิทธิพลกำหนดชีวิตจริงหรือไม่ และมากน้อยแค่ไหน
หากเป็นปุถุชนคนธรรมดา จะสามารถเปลี่ยนแปลงโชคชะตาได้หรือไม่ อย่างไรคะ

วิสัชนา

กัมมุนา วัตตตี โลโก สัตวโลก เป็นไปตามกรรม
กรรมย่อม จำแนกสัตว์ให้ดี ชั่ว เลว หยาบ
บุคคลทำกรรมเช่นไร ย่อมได้รับผลเช่นนั้น
ทุกอย่างที่เกิดขึ้นแก่เรา เป็นผลมาจากการกระทำ พูด คิด ที่เรียกว่ากรรม
ซึ่งก็มีทั้งอดีตกรรม ปัจจุบันกรรม อนาคตกรรม

สรุปทั้งหมดเกิดจากตัวคุณ มิใช่ใครดลบันดาล
โชคชะตาและดวงเกิด ก็มาจากผลของกรรมตนแต่อดีตและปัจจุบัน

ถ้าคิดจะเปลี่ยนแปลง ก็ต้องเปลี่ยนตัวเอง ปลี่ยนความคิด
ลักษณะนิสัย ให้เป็นไปทางมีคุณมีสาระ แค่นี้ก็เป็นสุขแล้ว


ปุจฉา
แบ่งส่วนบุญให้ผู้มีชีวิต

หลวงปู่ครับ กุศลผลบุญที่ลูกได้กระทำในครั้งหนึ่งๆ
สามารถแบ่งให้ผู้ยังมีชีวิตอยู่ได้ไหม และต้องทำอย่างไร

วิสัชนา

ได้ซิ เพราะบุญทำสำเร็จได้ ด้วยการอนุโมทนา แสดงความยินดี
หากบอกเขาว่าไปทำบุญมา แล้วเอาบุญมาฝาก
เมื่อเขาแสดง ความยินดีจากใจจริง ก็ถือว่าเขา ได้บุญจากคุณแล้วล่ะ


ปุจฉา
บุญที่ทำให้มัวเมา

จะแยกแยะได้อย่างไรว่า บุญที่ทำนั้น มีผลให้มัวเมา
หรือเป็นบุญที่ส่งเสริมเราเจ้าคะ

วิสัชนา

บุญที่ทำให้มัวเมา คือบุญที่ทำโดยขาดปัญญาใคร่ครวญพิจารณา
ในการกระทำบุญนั้น ทำด้วยความหลง ทำด้วยความไม่รู้จริง

บุญที่เกิดจากการกระทำพร้อมด้วยปัญญาใคร่ครวญหาเหตุผล
ประโยชน์ มิใช่ประโยชน์ ใช้ปัญญาใคร่ครวญคิดก่อน แล้ววิเคราะห์
พร้อมทำด้วยความตั้งใจ ขณะทำเต็มใจ ทำแล้วสบายใจ ทำบุญแบบนี้
ถือได้ว่าเป็นบุญที่สร้างความมีน้ำใจให้เกิดแก่คน รอบข้าง


ปุจฉา
หลักคิดให้เกิดปัญญา

หลวงปู่ครับ

1. การที่เราจะมีสติควบคุมอารมณ์ ความคิด
และการกระทำ ต้องทำอย่างไรครับ

2. การควบคุมอิริยาบถต่างๆ ไม่ว่า เดิน นั่ง กิน และอื่นๆ
เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ประหยัดพลังงานที่สุด
เและเกิดความสมดุล ต้องทำอย่างไรครับ

3. ในการคิดเพื่อก่อให้เกิดปัญญาแก้ไขปัญหาต่างๆ
มีหลักในการพิจารณาอย่างไรครับ

วิสัชนา

1. อันดับแรก ต้องพยายามสร้าง ความรู้เนื้อรู้ตัวให้เกิดขึ้นทุกขณะก่อน
จะได้นำไปควบคุมพฤติกรรมความคิด ตัวอย่างการสร้างความรู้เนื้อรู้ตัว
ก็คือ พยายามรู้ถึงลมหายใจว่า เวลานี้กำลังหายใจเข้าหรือหายใจ ออก
แล้วทั้งเข้าและออกนาทีละกี่ครั้ง ระลึกรู้เช่นนี้เมื่อมีโอกาส

2. ทำตามข้อแรกให้ได้ แล้วจะได้สิ่งที่ขอมา

3. เมื่อสามารถสร้าง ความคุ้นเคย กับความรู้สึกตัวทั่วพร้อมแล้ว
ลองนำความรู้เนื้อรู้ตัวพร้อมนั้น มาพิจารณาต่อปัญหาที่ปรากฏ
ด้วยการพิเคราะห์ใคร่ครวญให้ละเอียดรอบคอบ
เริ่มตั้งแต่ปัญหาง่ายๆ ขยับเข้าไปสู่ปัญหายากๆ
ทำอยู่เช่นนี้บ่อยๆ แล้วคุณก็จะลุถึงปัญญาแท้ของคุณเอง


ที่มา... ASTV ผู้จัดการออนไลน์

:b48: :b8: :b48:


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2010, 17:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ปุจฉา
ไม่อยากฆ่าสัตว์
แต่อยากให้บ้านสะอาด


อยากทราบว่าถ้าเราทำ ความสะอาดบ้าน
แต่ได้ฆ่าสัตว์เล็กๆ ที่เกิดจากสิ่งสกปรกถือว่า เป็นบาปหรือ ไม่
แต่ถ้าไม่ทำบ้าน ก็ไม่สะอาด ควรจะทำอย่างไรดี ใจหนึ่งก็ไม่อยากฆ่าสัตว์
ใจหนึ่งก็อยากให้บ้านสะอาดเรียบร้อย

วิสัชนา

เรื่องทำความสะอาด เป็นเรื่องที่จำเป็นต้องทำ แต่การกระทำนั้น อาจไปรบกวน
ทำร้าย ทำอันตรายต่อชีวิตสัตว์เล็กๆ บ้าง คุณก็ต้องพยายามระมัดระวัง
หลีกเลี่ยงให้ได้มากที่สุดเท่าที่คุณจักทำได้ แม้หากเลี่ยงไม่ได้
จำเป็นต้องไปกระทบ ก็ให้นึกอยู่ในใจว่าขอสัตว์ทั้งปวงจงเป็นสุข
ขอสัตว์ทั้งปวงจงพ้นทุกข์ ขอจงอย่ามีเวรแก่กันและกันเลย
ขอจงอโหสิกรรมให้แก่กันและกันด้วยเถิด
กรรมอันใดที่กระทำโดยไม่เจตนา จักเป็นอโหสิกรรมได้ในที่สุด


ปุจฉา
เทวทัตอยู่ไหน?

นมัสการหลวงปู่ ลูกเคยฟังหลวงปู่เล่าเกี่ยวกับมูลเหตุที่ทำให้พระเทวทัต
ผูกเวรกับพระพุทธเจ้า ต่อมาลูกไปอ่านมหานิบาตชาดก 10
ชาติสุดท้าย ของพระพุทธเจ้า ลูกสังเกตพบ ว่าบางชาติไม่มีพระเทวทัตเข้ามาเกี่ยวข้องเลย...
ลูกจึงสงสัยว่าในเมื่อเทวทัตเป็นคู่จองเวรของพระพุทธเจ้า
แต่ทำไมจึงไม่มีเทวทัตทุกภพทุกชาติ ยิ่งเป็น 10 ชาติที่บำเพ็ญทศบารมีแล้ว
เทวทัตน่าจะตามจองเวร ถ่วงบุญพระพุทธเจ้า แต่กลับไม่มี...
ลูกจึงใคร่ขอคำวิสัชนาจากหลวงปู่เพื่อไขข้อข้องใจค่ะ
กราบนมัสการขอบคุณค่ะ...สุพรรณา

วิสัชนา

ใครบอกคุณว่าพระเทวทัต มิได้มาตามจองล้างจองเวร ต่อพระมหาโพธิสัตว์เจ้า
พระเทวทัต นั้นตามจองล้างจองผลาญพระพุทธเจ้ามาทุกภพทุกชาติแหละคุณ
เช่น ตามไปเกิดเป็นชูชก เป็นต้น


ปุจฉา
ตักบาตรใส่น้ำบาปมั้ย

กราบนมัสการหลวงปู่ช่วยให้ความกระจ่างกับลูกศิษย์ใหม่ด้วยค่ะ
คืออยากทราบถึงการใส่บาตร (ข้าวกับข้าวขนม) แล้วใส่น้ำเปล่า 1 ขวด
เป็นบาปโดยไม่ได้ตั้งใจหรือเปล่าคะ เพราะเนื่องจากพระท่านต้องแบกน้ำกลับวัด
ซึ่งที่จริงแล้วที่วัดก็มีน้ำฉันอยู่แล้ว

วิสัชนา


ไม่เห็นบาปอะไร แม้หากคุณไม่ใส่น้ำให้ท่าน
ท่านก็ต้องไปหาน้ำดื่มจากที่อื่นเหมือนกัน


ปุจฉา
ทำบุญนานๆ ครั้ง

เรียนถามหลวงปู่ค่ะ หนูเป็นคนที่ไม่พร้อม คือเป็นคนที่หาใส่ปากท้องไปวันๆ
ทำบุญนานๆ ครั้งจะได้บุญหรือเปล่า เพราะบางครั้งก็หาไม่ได้ จะถือว่าขี้เหนียวหรือเปล่าคะ

วิสัชนา

ถ้าทำด้วยหัวใจ ก่อนทำ ตั้งใจ ขณะที่ทำเต็มใจ
ทำแล้วสบายใจ ทำแค่ไหนก็ได้บุญ


ปุจฉา
ทำบุญ 100 วันนับยังไง

ขอรบกวนวิธีการนับการทำบุญ 100 วัน สำหรับงานศพ และขอเอกสารอ้างอิงค่ะ
เพื่อใช้สำหรับงานของญาติค่ะ

วิสัชนา

การทำบุญให้แก่คนตาย ครบ 3 วัน 7 วัน 50 วัน 100 วัน โบราณเขาเชื่อว่า
ในวันและเวลาดังกล่าว ผู้ที่ตายไปแล้วจะกลับมาเยี่ยมบ้าน เยี่ยมญาติที่ยังมีชีวิตอยู่
คนเป็น จึงนิยมทำบุญอุทิศให้แก่ผู้ตาย ส่วนวิธีนับเอาวันที่ตายเป็น 1
นับไปจนครบ 3 วัน 7 วัน 50 วัน 100 วัน ส่วนเอกสารอ้างอิง ฉันไม่มีหรอกจ้ะ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2010, 17:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ปุจฉา
จะปฏิบัติธรรม เจริญกรรมฐาน พิจารณามรณสติ ได้อย่างไร

วิสัชนา
บุคคลผู้ปรารถนาจะเจริญ มรณสติสพึงพิจารณาด้วยอาการ 8 อย่าง ดังนี้


01. สัตว์ทุกชนิด เมื่อมีชีวิตต้องรับทัณฑกรรม คือความ ตายในที่สุด

พิจารณาให้รู้ชัดลงไปว่า สรรพชีวิตทุกชนิดเมื่อเกิดมาแล้ว
ย่อมพาเอาความเสื่อม เก่าแก่ และตายมาด้วยอย่างหลีกเลี่ยงมิได้
ประดุจดังชีวิตที่เกิดอยู่ในแดนประหาร มีเพชฌฆาตถือมีดและปืนจ่อรออยู่
เมื่อถึงเวลาก็ลงมือประหารชีวิตนั้นโดยมิรีรอ
ชีวิตเมื่อเกิดขึ้นแล้ว เหมือนดั่งพระอาทิตย์ที่ขึ้นทางทิศตะวันออก
แล้วกำลังเดินทางไปสู่ทิศตะวันตกในที่สุด แสงนั้นก็ลับหายไปจากขอบฟ้า
ไม่มีใ่ครสามารถเรียกให้พระอาทิตย์นั้นเดินทางย้อนกลับมาได้
มีแต่ว่าต้องรอให้ถึงวันใหม่ (นั่นคือการเกิดของอีกชีวิตหนึ่ง)
ชีวิตนี้เหมือนดังก้อนหินใหญ่ตั้งอยู่บนยอดเขา แล้วกลิ้งลงมาสู่ตีนเขาเบื้องล่าง
ไม่สามารถจะหยุดยั้งให้หยุดระหว่างกลางเขาได้
จนท้ายก็ต้องตกลงมากระทบพื้นเบื้องล่างแตกกระจาย
น้ำค้างบนยอดหญ้า เมื่อกระทบ กับลมและแดด ย่อมเหือดแห้งไปฉันใด
ชีวิตของสรรพสัตว์ เมื่ออุบัติขึ้นมาแล้ว ย่อมต้องตายไปฉันนั้น
ชีวิตนี้เป็นของไม่เที่ยง สิ่งที่เที่ยงในชีวิตคือความตาย



02. พิจารณาถึงความวิบัติแห่งสมบัติทั้งปวง
อันมีทรัพย์สินเงินทอง ลาภสักการะเกียรติยศ ศักดิ์ศรีชื่อเสียงอำนาจวาสนา
เรือกสวนไร่นา ข้าทาสบริวารหญิงชายทั้งหลายเหล่านี้
มีอันต้องวิบัติแตกสลายมลายสูญสิ้นไปในที่สุด
แม้แต่องค์อินทร์ ยังเสื่อมจากทิพยสมบัติที่มีเมื่อถึงกาลที่ต้องวิบัติ
สำหาอะไรกับเราท่านทั้งหลายจะรอดพ้นจากวิบัติได้กระนั้นหรือ

สมบัติทั้งหลายจักวิบัติได้ด้วยลักษณะ ดังนี้
วิบัติโดยความหมดไปสิ้นไปวิบัติโดยเวรภัยต่างๆ
วิบัติโดยความเสื่อมเก่า คร่ำคร่า วิบัติโดยความแตกร้าว บุบสลาย
ทำลายพินาศไป วิบัติโดยความสูญหาย วิบัติโดยหมดวาสนาบารมี



03. ระลึกถึงความตายของผู้อื่นแล้วน้อมเข้ามาเปรียบเทียบกับตน
เช่น เวลาไปงานศพในที่ต่างๆ หรือฟังข่าวสารการมรณะของคนและสัตว์
ก็ให้น้อมมาระลึก ว่า โอ้หนอ... แม้แต่ท่านผู้มียศใหญ่ วาสนาดี มีบุญมาก
ซ้ำยังประกอบไปด้วยความแข็งแรง มีกำลังวังชาประดุจดังพญาช้างสาร
มีปัญญารอบรู้ เฉลียวฉลาด มีฤทธิ์ อำนาจมากมาย ยังต้องตาย
สำหาอะไรกับเรา เป็นผู้ด้อยกว่าเขาด้วยประการทั้งปวง
จะล่วงพ้นความตายไปได้กระนั้นหรือ

พิจารณาย้อนไปถึงอดีต แม้แต่พระอรหันต์ผู้เลิศฤทธิ์
พระปัจเจกพุทธเจ้าผู้เลิศญาณ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าผู้เลิศ ปัญญา
ยังมิอาจพ้นจากความตายได้
ความตายนี้ช่างเป็นสาธารณะแก่คนและสัตว์ทั้งหลายเสียจริงๆ



04. พิจารณาถึงกายนี้ ว่าเป็น รังของโรค
เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตเล็กๆ ที่มองไม่เห็นด้วยตาเปล่า
สิ่งมีชีวิตขนาดเล็กๆ ที่เกาะกลุ่มกันจนกลายเป็นแผ่นหนังห่อหุ้มกายนี้
เมื่อเซลล์ผิวหนังเหล่านี้ตาย ก็จักบังเกิดเซลล์ตัวใหม่ขึ้นมาทำหน้าที่แทน
เซลล์เหล่านี้เกิด และมี ชีวิตอยู่ได้ด้วยน้ำเลือดที่ประกอบด้วยสารอาหาร
ที่กายนี้ดื่มกินเข้าไป แล้วยังต้องอาศัยอากาศที่หมุนวนอยู่รอบๆ กาย
น้ำที่ซึมซาบอยู่ในกายเป็นเครื่องอยู่ กายนี้นอกจากประกอบด้วย เซลล์ผิวหนัง
เซลล์เนื้อ เซลล์ไขมัน เซลล์กระดูก เซลล์เยื่อกระดูก เซลล์ไขกระดูก
แล้วยังมีเซลล์เนื้อเยื่อต่างๆ อันเป็นองค์ประกอบของอวัยวะทั้งหลายภายในกายนี้

สิ่งมีชีวิตที่เป็นเซลล์เล็กๆ เหล่านี้ ต่างพากันเกิดขึ้น ตั้งอยู่ แล้วตายไป
สับเปลี่ยนหมุนเวียนกันอยู่เช่นนี้ จนกว่าเหตุปัจจัยของการเกิดแห่งเซลล์ชีวิตเหล่านี้
จักหมดสิ้นอายุ และขาดตอนลง นอกจากกายนี้ประกอบด้วยสิ่งมีชีวิตเล็กๆ
ที่เป็นเซลล์ของร่างกายแล้ว กายนี้ก็ยังมีสิ่งมีชีวิตเล็กๆ อื่นอีกหลาย ชนิด
ที่อิงอาศัยเกาะกินส่วนต่างๆ ของกายนี้ เช่น ถ้าสิ่งมีชีวิตเล็กๆ นั้น
อาศัยอยู่ที่ผิวหนังก็จักเกาะกินเซลล์ ผิวหนัง อาศัยอยู่ที่เนื้อก็เกาะกินเซลล์เนื้อ
อาศัยอยู่ที่พังผืดและเอ็นก็เกาะกินพังผืดและเอ็น อาศัยที่กระดูกก็เกาะกินกระดูก
อาศัยอยู่ที่เยื่อกระดูก ก็เจาะกินเยื่อในกระดูกนั้น นอกจากจะเกาะกินเซลล์ต่างๆ
ภายในกายนี้แล้ว มันยังขับถ่ายผสมพันธุ์ เกิด ตาย อยู่ในที่ที่มันอาศัยอยู่นั้นอีกด้วย

กายนี้จึงได้ชื่อว่า เป็นที่อาศัยสาธารณะของสิ่งมีชีวิต หรือเชื้อโรคเล็กๆ
ทั้งหลายเป็นจำนวนมาก กายนี้เป็นที่ผสมพันธุ์ เป็นที่เกิดเป็นที่ถ่ายของเสีย
เป็นที่หมักหมมของโสโครก เป็นป่าช้า เป็นรังของโรคร้ายต่างๆ

นอกจากกายนี้เป็นป่าช้า คือ เป็นที่ตายของสิ่งมีชีวิตน้อยใหญ่ทั้งหลายแล้ว
เป็นเหตุให้เกิดโรคร้ายแก่กาย นี้แล้ว กายนี้ยังมีเหตุให้ถึงแก่ความตายอย่างง่ายดาย
จากภายนอกอีกนานัปการ เช่น โดนสัตว์มีพิษน้อยใหญ่ขบกัดตาย โดนอาวุธซัดตาย
หกล้มตาย ตกจากที่สูงตาย ได้รับอุบัติภัยต่างๆ แล้วตาย เกิดลมกำเริบ ภายในแล้วตาย
หิวตาย กระหายตาย อิ่มตาย ฯลฯ


พิจารณาให้เห็นว่า เหตุของ ความตายแห่งกายนี้มีมากมาย ง่ายดายเหลือเกิน
ตายได้โดยมิเลือกเวลา นาที วันเดือนปี และสถานที่
พิจารณาให้เห็นว่ากายนี้มีความตายเป็นสาธารณะ



05. พิจารณาให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ชีวิตนี้เป็นภาระยิ่งนัก เป็นความรุงรัง
ที่ต้องคอยบริหาร
ชีวิตนี้เมื่ออุบัติขึ้นมาแล้ว ไม่มีคุณสมบัติที่จักดำรงอยู่ได้ด้วยตนเอง
กายนี้จำต้องพึ่งพิงอิงอาศัยสรรพชีวิต สรรพสิ่งต่างๆ มากมาย
เช่นเมื่อเกิดขึ้นมาแล้ว ยังต้องอาศัยบิดา มารดาหรือผู้ปกครอง อุปการะเลี้ยงดู
ต้องอาศัยอากาศ หายใจ กายนี้ต้องอิงอาศัยดินน้ำลมไฟ อาหาร ที่อยู่อาศัย
เครื่องนุ่งห่ม ยารักษาโรค และปัจจัยต่างๆ อีกมากมาย

ชีวิตและกายนี้ต้องอาศัยความพยายามที่จักมีการบริหารให้อยู่ในอิริยาบถ 4
อย่างสม่ำเสมอ ได้แก่ ยืนเดินนั่งนอน จักขาดอิริยาบถใดอิริยาบถหนึ่งมิได้
และจักมีอิริยาบถใดมากเกินไปก็เจ็บปวดเป็นทุกข์ทรมาน
จนบางครั้งบางท่านถึงขนาดล้มป่วย และตายลงในที่สุด

กาย นี้ นอกจากจะไม่มีเอกภาพในความดำรงอยู่ด้วยตัวเองแล้ว
กายนี้ยังประกอบไปด้วยธาตุทั้ง 4 คือ ดินน้ำลมไฟ
ที่ต้องอิงอาศัยการบริหารจัดการดูแลรักษาให้ธาตุทั้ง 4 ภายในภายนี้
ดำรงสมดุลต่อกันและกัน มิเช่นนั้นก็จะกลายเป็นสิ่งที่ทุพพลภาพ พร่องอยู่ตลอดเวลา
เราทั้งหลายจึงต้องมีงานอันหนัก ตั้งแต่เกิดจนตาย



06. ชีวิตของสรรพสัตว์ทั้งหลายไม่มีเครื่องหมายว่าจักตายในขณะใด
บางพวกอาจตายเสียก่อนตั้งแต่ยังเป็นดวงจิตวิญญาณที่ล่องลอยไปตามอำนาจกรรมก็มี
บางพวกอาจจักตายในขณะที่เป็นเปรตเสียก็มี บางพวกก็ตายในขณะที่เป็นก้อนเนื้อ
อยู่ในครรภ์มารดาก็มี บางพวกก็ตายหลังจากออกมาจากครรภ์มารดาแล้วก็มี

ชีวิตและกายนี้ไม่แน่ว่าจักตายในขณะใด เวลาไหน ด้วยโรคอะไร
ด้วยอาการเช่นไร ณ สถานที่ไหน ความตายเป็นของไม่แน่
แต่ที่แน่ๆ ทุกคนต้องตาย เมื่อตายแล้วก็ไม่แน่ว่า
จักไปเกิดในที่ใด แล้วแต่บุญทำกรรมส่ง



07. มองให้เห็นตามเป็นจริงว่า เวลาแห่งชีวิตนี้น้อยนัก
อายุขัยของชีวิตนี้เปรียบดังฟองน้ำที่ปรากฏบนผิวน้ำ สะบัดเดี๋ยวก็แตกกระจาย
ชีวิตและร่างกายนี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้วต่างมีเวลาและวาสนาในการดำรงชีวิตอยู่ไม่เท่ากัน
เหมือนดังฟองน้ำบนผิวน้ำที่ใหญ่บ้าง เล็กบ้าง และในที่สุดก็จักต้องแตกดับลงอย่างรวดเร็ว
อายุขัย ของชีวิตนี้เปรียบเหมือนรอยไม้ ที่ขีดลงบนพื้น ผิวน้ำปรากฏ
ประเดี๋ยวเดียว ก็หายไป ดูว่าชีวิตช่างไม่มีอะไรเที่ยงแท้ เสียจริงๆ
แม้แต่สรรพสิ่งที่เกี่ยวข้องกับชีวิต เมื่อปรากฏ ขึ้นแล้ว ก็มิได้มีอะไรคงทนถาวร
ตลอดกาลตลอดสมัยเหมือนน้ำตกที่ไหลจากที่สูง
มีแต่จักไหลลงไปสู่เบื้องล่างแต่ถ่ายเดียว
ชีวิตไม่ว่าจักเริ่มต้นจากสูงต่ำปานกลาง ยาวสั้นเล็กใหญ่ประการใด
สุดท้ายก็ต้องตกลงไปสู่ความตายในที่สุด ไม่มีผู้ใดจะปฏิเสธได้
เหมือนดังน้ำที่ไหล ลงสู่ที่ต่ำเสมอมิมีใครห้ามได้

ความเป็นไปของชีวิตนี้ ไม่ว่าจักมั่งมีมากมายหรือจนยากลำบากทั้งหลาย
เลวดี หรือมีสุขทุกข์อย่างไร ถ้าชีวิตตั้งอยู่บนความประมาทขาดปัญญา
ที่สุดตน ก็ต้องรับโทษทุกข์ภัย ทรมานกายใจ ทั้งโลกนี้และโลกหน้า
เหมือนกับโคที่เขาเลี้ยงเอาไว้เพื่อฆ่า นับวันก็ยิ่งใกล้วันโดนฆ่าเข้าไปทุกที
ความประมาท มัวเมาในกามคุณทั้งหลาย โดยไม่คำนึงถึงความตาย
คงไม่ต่างอะไรกับโคที่เห็นหญ้า อ่อนแล้วตรงรี่เข้าไปหาเพื่อแทะเล็ม
เคี้ยวกินให้อิ่มและอ้วนพี โดยมิได้สำนึกเลยว่าความอยากตะกรุมตะกรามตะกละของตน
ที่พยายามกินให้อ้วนนั้น คือ การเร่งให้คนฆ่า โคนำตนไปฆ่าให้เร็วขึ้น
มีคำกล่าวว่า อายุขัยของ มนุษย์ทั้งหลาย นั้นน้อยนัก
คนมีปัญญาอย่าพึงดูหมิ่นพึงประพฤติดังคนที่มีไฟไหม้อยู่บนศีรษะเถิด
อย่าคิดว่าความตายจะยังไม่มาถึงเรา



08. จงพิจารณาถึงมรณสติว่า มีอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ
จิตดวงหนึ่งเมื่อเกิดชื่อว่าชีวิตหนึี่งก็เกิดตาม จิตดวงนั้นดับ ชื่อว่าชีวิตนั้นดับตาม

แต่เพราะกายนี้ประกอบด้วยจิตที่เกิดดับจนหาประมาณมิได้
บวกกับความเร็วของที่จิตที่เกิดดับ และความสืบเนื่องกันอย่างถี่ยิบ
สัตว์ทั้งหลายจึงมองไม่เห็นชีวิตที่เกิดตายอยู่ทุกขณะจิตที่เกิดดับ

จิตที่ดับไปแล้วเรียกว่า อดีตจิต จิตและชีวิตสัตว์นั้นจึงไม่ชื่อว่าดำรงอยู่
ไม่ชื่อว่ากำลังดำรงอยู่ ไม่ชื่อว่าจักดำรงต่อไป ส่วนจิตที่ยังมิได้เกิดเรียกว่า อนาคตจิต
ชีวิตและจิตของสัตว์นั้นก็ไม่มีชีวิต ไม่ชื่อว่ามีจิต ไม่ชื่อว่าสัตว์
ไม่ชื่อว่าเป็นจิตและสัตว์แล้ว แต่ได้ชื่อว่ากำลังจะเป็นจิตและสัตว์ต่อไป

ชีวิต อัตภาพ สุขทุกข์ ทั้งมวลของสัตว์นี้ เป็นไปเพียงแค่ชั่วขณะ จิตเดียว
แต่ที่เห็นว่ายืนยาวเพราะสันตติ ระบบความสืบต่อ
ความปรุงแต่งและยึดถือจึงทำให้สัตว์นั้น มองเห็นชีวิต อัตภาพสุขทุกข์ที่มีอยู่ยืนยาว
ชีวิตนี้เมื่อขาดความปรุงแต่ง ความสืบต่อ ชีวิตนี้จึงดูสั้นนัก

ท่านผู้เจริญทั้งหลายเมื่อจักเจริญมรณสติอาจเจริญพิจารณาข้อใดข้อหนึ่งใน 8 ข้อ
หรือเจริญทุกข้อก็ได้ แต่ขอให้หมั่นเจริญ พิจารณาอยู่ทุกขณะของลมหายใจ
จนจิตสลดปลดจากกามคุณเครื่องร้อยรัดทั้งหลาย
สติก็จะมั่นอยู่ในการพิจารณาความตายเป็นอารมณ์จิตก็จักปลอดจากนิวรณ์เครื่อง
ครอบจิต องค์คุณแห่งอุปจารฌานก็จักบังเกิดขึ้น

สัตว์ทั้งหลายที่มิได้เจริญมรณสติ ย่อมมีชีวิตอยู่อย่างประมาทมัวเมา เมาในภพ
เมาในชาติ เมาในวัย เมาในชีวิตความเป็นอยู่ เมาในรูป รส กลิ่น เสียง เมาในสัมผัส
เมาในอำนาจวาสนา เมาในทรัพย์สมบัติ เรือกสวนไร่นา เมาในราคะ โทสะ โมหะ

เมื่อเป็นผู้เมาก็คือขาดสติ เมื่อ ขาดสติก็เป็นเหตุให้ทำกรรมชั่ว
คิดชั่ว พูดชั่ว หรือทำผิด พูดผิด คิดผิด เมื่อชีวิตมีแต่เรื่องผิดและชั่ว
ก็เป็นเหตุให้เศร้าหมอง ทั้งหลับและตื่น กลางวันและกลางคืน ก็เป็นเหตุ ให้หวาดกลัว
กลัวไปต่างๆ นานา แล้วแต่จิตจะพาไปด้วยอำนาจของความเศร้าหมอง
พาให้วิตก กังวล ฟุ้งซ่านด้วยใจเศร้าหมอง วิตกหวาดกลัว

ครั้นเมื่อถึงเวลาตาย ย่อมหวาดผวาไม่กล้าที่จะเผชิญกับความจริง
แสดงกิริยาอาการกระวนกระวายเป็นทุกข์เดือดร้อน เศร้าโศก ร่ำไรรำพัน
พอตายเข้าจริงๆ จิตนี้ก็ไปบังเกิดในภพภูมิ ที่ไม่น่าปรารถนา ต้องได้รับทุกข์ยาก
เดือดร้อนสุดจะพรรณนา

สำหรับท่านผู้เจริญมรณสติภาวนา ย่อมไม่ประมาทมัวเมา ในภพชาติ
และลาภสักการะทั้งหลาย มีชีวิตอยู่เพื่อจะสร้างสรรสาระให้โตอย่างรู้ตัว เจียมตัว
และกล้าพร้อมที่จะเผชิญกับความตายอย่าง มีสติ ไม่หวั่นหวาด ไม่ขลาดกลัว
เหตุเพราะได้เห็นความเป็นจริงของจิต ชีวิต โลก ว่าเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป เป็นธรรมดา
มิมีใครจะพ้นจากกติกา นี้ไปได้ จิตก็จะสงบสงัดจากเครื่องเศร้าหมองทั้งปวง
พอตาย ภพ ชาติ ที่ตนปรารถนา ก็จักบังเกิดขึ้นแก่ตน

เรียกว่า ผู้เจริญมรณสติภาวนา จักสามารถเลือกภพชาติ
ของตนที่จักไปเกิดได้ดังใจปรารถนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 26 มี.ค. 2010, 18:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 01 ส.ค. 2005, 10:46
โพสต์: 12074

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ปุจฉา
อยากรู้เรื่องเอตทัคคะ

พระที่ได้เอตทัคคะจากพระพุทธเจ้าจำเป็นต้องสำเร็จอรหันต์หรือไม่

วิสัชนา

เอตทัคคะ เป็นดังความช่ำชอง เชี่ยวชาญ ชำนาญใน เรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ถือได้ว่าเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะบุคคลไม่มีอยู่ทั่วไปในผู้อื่น
อีกทั้งยังโดดเด่นกว่าคุณสมบัติทั้งปวงที่มีอยู่ในตน
สำหรับมนุษย์เราจะเป็นคุณสมบัติอะไรที่ยิ่งใหญ่กว่าอรหันต์เป็นไม่มี
แต่ถ้าอรหันต์นั้นๆ มีความสามารถพิเศษกว่า เลิศกว่า
ท่านก็เรียกความสามารถนั้นว่าเป็นผู้เลิศ เป็นเอตทัคคะ


ปุจฉา
ปฏิคาหกคืออะไร
และมีความสำคัญอย่างไร


วิสัชนา

ปฏิคาหก แปลว่า ผู้รับ ซึ่งคู่ กับทายก แปลว่า ผู้ให้
คุณสมบัติของปฏิคาหก ต้องมีศีลเป็นสำคัญ
เป็นผู้ช่วยให้ทานนั้นๆ สำเร็จประโยชน์แก่ผู้ให้
และหมู่ญาติของผู้ให้ ทั้งผู้ที่ยังมีชีวิตและ ล่วงลับไปแล้ว


ปุจฉา
ผิดโดยไม่ตั้งใจ

ขอกราบนมัสการเรียนถาม หลวงปู่ว่า หากรู้ตัวว่า
เคยทำความผิดที่ไม่ใช่ขั้นรุนแรงนัก เช่น ไปขอความช่วยเหลือแก่ ผู้อื่นบ่อยๆ
ตอนหลังมารู้ได้ว่าเป็นการทำความชั่ว นั่นคือเป็นการทำให้ผู้อื่นได้รับความเดือดร้อน
จะแก้ไขโดยกล่าวคำขอโทษแก่เขา แล้วพยายามพึ่งตนเองให้ได้
ไม่ทราบว่าจะเป็น วิธีการที่ถูกต้องหรือไม่เจ้าคะ
หากยังไม่ถูกต้องขอความกรุณาให้หลวงปู่ช่วยบอกด้วยเจ้าค่ะ

วิสัชนา

นับเป็นวิธีที่ดีที่สุด เท่าที่คุณทำได้


ปุจฉา
แนวคิดถูกหรือผิด

หลวงปู่ครับ ผมมีคำถามดังนี้ครับ

1. สำหรับคนไม่คิดในสิ่งที่ทำให้ตัวเป็นทุกข์ มองโลกในแง่บวก
เปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส มองเห็นค่าของน้ำที่ยังเหลืออยู่ในขวด
มากกว่าจะมองว่ามันเหือดแห้งไปเท่าไร
มีชีวิตอยู่ด้วยแนวความคิดที่ดี เป็นบวก สร้างสรรค์
บุคคลเช่นนี้ถือว่าพ้นทุกข์แล้วหรือยังครับ

2. เพราะเหตุใดจะพ้นทุกข์ตามที่พระพุทธศาสนาบอกไว้ได้
ต้องกำจัดกิเลสให้สิ้นก่อนด้วยครับ

3. เคยมีคนบอกว่า การพ้นทุกข์ การนิพพานทางพระพุทธศาสนา นั้น
จะไร้ทั้งทุกข์และสุข คือไม่มี อารมณ์ทั้งความสุข ความทุกข์เลย เป็นความจริงไหมครับ

วิสัชนา

1. ยัง

2. ดับกิเลสและกองทุกข์ได้ทั้งหมดจึงจะได้ชื่อว่า ผู้พ้นแล้ว

3. เมื่อไม่มีการเกิด ไม่มีตัวตน ไม่มีจิตที่จะให้เกิด แล้วความทุกข์จะเกิดจากที่ไหน


ปุจฉา
ตายแล้วไปไหน

กราบนมัสการหลวงปู่พุทธะอิสระ

1. คนเราตายแล้วไปไหน

2. กายของมนุษย์มีโอกาสถูกครอบงำโดยจิตวิญญาณดวงอื่นหรือไม่
และถ้าหากมี เราจะแก้ไขปัญหานี้ได้อย่างไร

วิสัชนา

1. ไปตามกรรม ทำกรรมดี ก็ไปสู่ สุคติภพ คือ เทวดา พรหม มนุษย์

ทำกรรมไม่ดี ก็ไปสู่ทุคติภพ คือสัตว์เดรัจฉาน เปรต อสุรกาย และสัตว์นรก

2. เป็นไปได้ยาก ถ้ากายนั้นยังมีวิญญาณครองอยู่


ปุจฉา
การถวายข้าวพระพุทธ

อยากจะเรียนถามหลวงปู่เกี่ยวกับการถวายข้าวพระพุทธ
เพราะได้ฟังจากรายการโทรทัศน์ว่า เป็นการแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้า
ขอให้หลวงปู่อธิบายด้วยค่ะ และการถวายควรจะถวายปริมาณแค่ไหน

วิสัชนา

ทำก็ได้ ไม่ทำก็ได้ การแสดงความเคารพต่อพระพุทธเจ้าสูงสุด
คือการปฏิบัติธรรม รักษาศีล เจริญภาวนา


ปุจฉา
เรื่องภิกษุณี

กราบนมัสการรบกวนถามคำถามหลวงปู่ดังนี้ค่ะ
หลวงปู่มีแนวความคิดเกี่ยวกับภิกษุณีอย่างไร และเป็นไปได้ไหม
ถ้าจะเปิดโอกาสให้สตรีไทยได้มีโอกาสบวชเป็นภิกษุณีเพื่อได้ปฏิบัติธรรมได้เต็มที่
โดยมีพระนิพพานเป็นที่ตั้งสุดท้ายของชีวิต ขอรบกวนถามเพียงเท่านี้

วิสัชนา

ไม่ต้องเป็นภิกษุณี ก็นิพพานได้ ขอเพียง 'พยายามละชั่ว ทำดี ทำจิตนี้ให้ผ่องใส'


ปุจฉา
ทำบุญกับพระจริงพระปลอม

การทำบุญกับพระที่ปฏิบัติจริงๆ กับพระปลอม (คนห่มผ้าเหลือง)
แต่ความตั้งใจในการทำบุญเท่ากัน อย่างใดจึงจะได้บุญมากกว่ากัน
เพราะบางคนเขาต้องไปทำบุญกับพระที่ปฏิบัติในป่า
แต่ไม่กล้าใส่บาตรให้พระที่อยู่ในกรุงเทพฯ อย่างนี้ถือว่าเป็นการเลือกทำบุญหรือไม่
เพราะเคยได้ยินว่า พระพุทธเจ้าให้เลือกทำบุญ
เปรียบเหมือนกับการทำนา คือ การที่เราหว่านนาในที่ลุ่มกับที่ดอนได้บุญต่างกัน
เปรียบได้ว่าทำบุญกับพระปฏิบัติหรือทำบุญกับพระที่ศีลขาดได้เหมือนกัน ใช่ไหม

วิสัชนา

คุณปลูกผลไม้ในดินดีพร้อมกันกับปลูกในดินไม่ดี แม้จักดูแลรักษาเท่ากัน
ผลก็ย่อมออกมาแตกต่างกันอยู่ดี ทั้งที่ผลไม้ ที่ปลูกก็พันธุ์เดียวกัน คนปลูกคนเดียวกัน
ดูแลรักษาเท่ากัน ผลที่ได้รับย่อมต่างกัน พืชที่ปลูกในดินดีย่อมให้ผลดีกว่า
ฉันใดก็ ฉันนั้น คนคนเดียวกัน มีศรัทธาเหมือนกัน ถวายอาหารชนิดเดียวกัน
แต่ผู้รับต่างกัน ผลที่ได้ย่อมไม่เหมือนกัน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 4 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร