วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 10:36  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 เม.ย. 2010, 10:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว




imageGQI.jpg
imageGQI.jpg [ 119.85 KiB | เปิดดู 7994 ครั้ง ]
สารบัญ...
ระลึกชาติ.. เกิดสมัยพุทธกาล
สู้รบกับยักษ์... หวิดตาย
แสงธรรมสว่างไสว ทั่วโลกธาตุ
หลวงปู่มั่นได้พบกับครูบาศรีวิชัย
การปฏิบัติธรรมในขั้นสุดท้าย
ชาติกำเนิดและชีวิตปฐมวัย
สอนชาวเขาตามหา "พุทโธ"
เดินทางกลับอีสาน
รู้วาระจิต
กายทิพย์มาขอฟังธรรม
อานุภาพพระพุทธมนต์
กำลังใจ
ปัจฉิมสมัย



ตามประวัติได้เล่าว่า หลวงปู่มั่น ท่านได้เที่ยวปลีกวิเวกธุดงค์ไปป่าตามจังหวัดต่างๆ ผ่านอุบลราชธานี ดงพญาเย็น ภูเขาหลายลูก ในวันหนึ่งเกิดนิมิตถึง ถ้ำสิงห์โต หรือ ถ้ำไผ่ขวาง อยู่บนเขาพระงาม จ.ลพบุรี


ถ้ำไผ่ขวางอยู่ข้างน้ำตก มีลักษณะเป็นป่าทึบ อากาศเย็นสบาย อุดมสมบูรณ์ด้วยสัตว์ป่านานาชนิดอาทิ ช้าง เสือ งูเห่า สถานที่แทบจะไร้ผู้คนอาศัย ระหว่างทางเดินขึ้นเขา ชาวบ้านเห็นมีพระภิกษุต่างถิ่นรูปหนึ่งสะพายบาตรกลดกิริยามารยาทเคร่งครัดในพระธรรมวินัย จึงตรงเข้ามาสอบถามด้วยความเป็นห่วงว่า

“หลวงพ่อจะไปไหน”
หลวงปู่มั่นตอบว่า “จะไปบำเพ็ญสมณธรรมในเขาลูกนั้น”


ชาวบ้านฟังแล้วตกใจ รีบยกมือไหว้ท่านแล้วกราบนิมนต์ว่า “อย่าเข้าไปเลยหลวงพ่อ เพราะพระที่เข้าไปในถ้ำนี้ตายไปแล้ว 6 องค์ ขอให้อยู่กับพวกฉันที่บ้านไร่นี้เถิด อย่าเข้าไปเลย”


หลวงปู่มั่นรับความปรารถนาดีของชาวบ้านเอาไว้ในใจแล้วตอบว่า “เออ.. โยม ขอให้อาตมาเป็นองค์ที่ 7 ก็แล้วกัน”


จากคำพูดของชาวบ้าน ก็พอทำให้หลวงปู่มั่นเข้าใจสภาพของถ้ำบนภูเขาในป่าได้ดี จิตใจไม่มีหวาดกลัวกลับเต็มไปด้วยความเด็ดเดี่ยวยอมสละชีวิตเพื่อธรรมะ พอถึงถ้ำไผ่ขวางจัดแจงวางสัมภาระ เก็บปัดทำความสะอาดบริเวณที่พัก พอตกค่ำบำเพ็ญภาวนาตามวิสัย


รุ่งเช้าเดินลงเขาบิณฑบาตอย่างนี้ผ่านเดือนอ้าย เดือนยี่จนล่วงใกล้เข้าคืนเพ็ญเดือน 3 อันเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา ทำให้หลวงปู่มั่นระลึกถึงสมัยพุทธกาล ช่วงที่พระพุทธเจ้าบำเพ็ญภาวนาต่อสู้กับกิเลสมารจนบรรลุธรรม ท่านได้ปรารภว่า


“เราบำเพ็ญสมณธรรมมาถึงบัดนี้ก็เป็นเวลา 12 ปี ทุกอย่างพร้อมแล้ว ที่จะทำสุดแห่งทุกข์ในวัฏสงสารในคืนเพ็ญนี้” การตัดสินใจเช่นนี้แบบทิ้งทวนแลกชีวิตกับธรรมะ


ยามเช้า... เช่นเดียวกับทุกๆ วัน หลวงปู่มั่นหลังจากฉันเช้าเรียบร้อยเพียงพอแก่สังขารให้บำเพ็ญธรรมะได้ จากนั้นจึงบำเพ็ญสมาธิภาวนา พอนั่งได้ไม่นานเกิดไม่สบายกาย อาหารที่ฉันเข้าไปไม่ย่อย ทำให้อาหารเป็นพิษ ส่งผลให้ท้องร่วง อาเจียนอย่างหนัก ท่านจึงหวนนึกถึงคำพูดของชาวบ้าน พรางรำพึงกับตนเองว่า


“ตัวเราเองก็เห็นจะตายแน่เหมือนพระเหล่านั้น” แต่คำปรารภนี้ล้วนไม่ใช่วิสัยนักรบแห่งกองทัพธรรม หลวงปู่มั่นจึงออกเดินสำรวจมองหาสถานที่นั่งสมาธิ และแล้ว..


ที่หน้าผาเหวลึก.. มีก้อนหินใหญ่อยู่บนปากเหว พอให้คนไปนั่งได้ หลวงปู่มั่นไปขึ้นไปยืนบนก้อนหินใหญ่ แล้วหยิบก้อนหินอันเล็กๆ โยนลงไปในเหว ใช้เวลานานพอควรจึงจะได้ยินเสียงกระทบของก้อนหิน หลังจากดูทำเลเป็นที่เรียบร้อยหลวงปู่มั่นกล่าวปณิธานว่า


“เอาล่ะ.. ถ้าเราไม่รู้แจ้งเห็นจริง ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด ถ้าเราจะต้องตายขอให้ตายตรงนี้ ขอให้หล่นลงไปในเหวนี้ จะได้ไม่เป็นที่วุ่นวายแก่ใครๆ ซึ่งจะต้องกังวลทำศพให้เรา”


คืนนั้น ท่ามกลางขุนเขาแสงจันทร์กระจ่างเป็นสักขีพยานเฝ้าดูการบำเพ็ญภาวนาของหลวงปู่มั่น จิตของท่านสว่างไสวดุจกลางวัน เห็นกระจ่างชัดแม้เม็ดทรายเล็กๆ


จิตโอภาสประภัสสรเห็นชัดในนิมิตที่เข้ามา รวมถึงการพิจารณากายคตาตอลดจนธรรมะต่างๆ นาน 3 วัน 3 คืน โดยไม่ลงไปบิณฑบาต ไม่ฉันอาหาร เกิดนิมิตปรากฏเห็นบุตรสาวของโยมที่อุปัฎฐาก มายืนร้องเรียกความรักจากท่าน จิตของหลวงปู่มั่นไม่ได้หวั่นไหวไปตาม จิตไม่ได้ยินดียินร้ายกับสาวงามนั้น ท่านพิจารณาว่า


“อันเรื่องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เราก็พิจารณามาอย่างช่ำชองแล้ว จะมาหลงอีกหรือ”


ฉับพลันภาพหญิงสาวนั้นก็แก่เฒ่าและล้มตายลงเหลือแต่กองกระดูกหายไปในแผ่นดิน จิตจึงถอนออกมา

<<< กลับสู่สารบัญ


ระลึกชาติ.. เกิดสมัยพุทธกาล


ขณะนั้นจิตมีปีติซาบซ่านเข้าถึงเอกัคคตาญาณ กายเบาจิตใจมีความสงบระงับ จิตเดินเข้าสู่ปฐมฌาน ทุติยฌาน และจตุตถฌานโดยลำดับ พักอยู่ในจตุตถฌานนานพอควรแล้วถอยออกมาจนถึงปฐมฌานจึงหยุด ในลำดับนี้หลวงปู่มั่นท่านว่าเกิดปุพเพนิวาสานุสสติญาณ คือรู้อดีตชาติ เกิดนิมิตภาพลูกสุนัขกินนมแม่


หลวงปู่มั่นรู้ด้วยใจว่า ลูกสุนัขก็คือตัวท่านเองในอดีตชาติที่เกิดเป็นสุนัขนับชาติไม่ถ้วน สาเหตุมาจากลูกสุนัขมีความพอใจในอัตภาพของมัน จงส่งผลให้เกิดเป็นสุนัขจึงติดอยู่ในภพนี้หลายชาติ สร้างความสลดสังเวชให้กับท่านเป็นอย่างมาก จากนั้นหลวงปู่มั่นได้ค้นลงหาถึงต้นสายปลายเหตุพบว่า


“เราปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” จากนั้นภาพในอดีตชาติสมัยพุทธกาล หลวงปู่มั่นเกิดเป็นเสนาบดีได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้าศากยมุนีขณะที่พระพุทธเจ้าแสดงพระธรรมเทศนาถึงมหาสติปัฎฐานสูตร หลวงปู่มั่นได้ตั้งจิตอธิษฐานต่อหน้าเบื้องพระพักตร์ของพระพุทธเจ้าว่า


“ขอให้ข้าพเจ้าพึงได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์เถิด”


นับจากวาระจิตนั้น หลวงปู่มั่นดำรงอยู่โพธิสัตว์ธรรมบำเพ็ญพระโพธิญาณมาหลายร้อยชาติ เมื่อได้ปุพเพนิวาสานุสสติญาณทำให้หลวงปู่ระลึกถึงชาติภพต่างๆ มาพอสมควร เห็นความน่ากลัวของสังสารวัฏ และหากปรรถนาจะบรรลุพระนิพพานในชาตินี้ จะต้องละเสียจาก “พระโพธิญาณ”


ก่อนที่หลวงปู่มั่นจะตั้งจิตถอนจาก “โพธิญาณ” ท่านได้เดินสมาธิเฝ้าย้อนรำลึกในอดีตชาติว่า ท่านเพิ่งจะเริ่มตั้งจิตปรารถนาต่อพุทธภูมิต่อหน้าพระพักตร์พระพุทธเจ้าศากยโคดมเท่านั้น เส้นทางบำเพ็ญเพียรเพียงแค่กึ่งพุทธกาล อีกทั้งในอดีตชาติที่ผ่านมา ท่านระลึกได้ถึงความยากลำบากของการเวียนว่ายตายเกิดในสังสารวัฎ


ท่านสลดสังเวชแม้ท่านจะบำเพ็ญบารมีเพียงใดยังเคยเกิดเป็นหมาขี้เรื้อนถึง 500 ชาติ ทำให้หลวงปู่มั่นมองดูสรรพสัตว์ในสังสารวัฎที่ยังคงหลับไหล เขาเหล่านั้นยังไม่สามารถช่วยเหลือตนเองได้ ไม่รู้ว่าจะต้องเผชิญกับชะตากรรมเช่นไรเมื่อสิ้นชีวิตลงไป


ครั้นหลวงปู่มั่นจะละถอนจาก “โพธิญาณ” ก็ให้สงสารสัตว์เหล่านั้น แต่เมื่อมองดูท่ามกลางสรรพสัตว์ทั่วไตรภพ ยังมีขบวนพระมหาโพธิสัตว์มีจำนวนมากที่ได้พยากรณ์จากพระพุทธเจ้าว่าเป็น นิตยโพธิสัตว์ (พระโพธิสัตว์ที่จักได้รับการบรรลุธรรมเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต) และยังมีพระโพธิสัตว์อีกจำนวนมากที่ยังไม่ได้รับการพยากรณ์อยู่ในสังสารวัฎ เพื่อบำเพ็ญบารมีช่วยขนสรรพชีวิตให้พ้นทุกข์ เมื่อพิจารณาดังนี้หลวงปู่มั่นจึงอธิษฐานจิตละจากพระโพธิญาณ

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 เม.ย. 2010, 10:48 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 10 พ.ย. 2009, 10:41
โพสต์: 4463

อายุ: 0
ที่อยู่: วัฏสงสาร

 ข้อมูลส่วนตัว




lungpomut.jpg
lungpomut.jpg [ 47.05 KiB | เปิดดู 7990 ครั้ง ]
การปฏิบัติธรรมในขั้นสุดท้าย


หลวงปู่มั่นได้หาที่ที่น่าหวาดเสียวที่สุด เห็นว่าริมปากเหวเหมาะที่สุดที่จะนั่งบำเพ็ญเพียร ท่านตั้งใจแน่วแน่ว่า “หากจะตายขอตายตรงนี้ ขอให้ร่างกายหล่นลงไปในเหวนี้ จะได้ไม่ต้องเป็นที่วุ่นวายเดือดร้อนแก่ใครๆ ” ตั้งแต่บัดนั้น หลวงปู่มั่น ได้ตั้งปณิธานแน่วแน่ว่า “ถ้าไม่รู้แจ้งเห็นจริงในธรรม ก็จะไม่ลุกจากที่นั่งนี้เป็นอันขาด”


หลวงปู่ได้นั่งสมาธิอยู่ ณ จุดนั้นติดต่อกันเป็นเวลา ๓ วัน ๓ คืนโดยไม่ขยับเขยื้อนและไม่ลืมตาเลย หลวงปู่เริ่มกำหนดจิตต่อจากที่เคยดำเนินการครั้งหลังสุด ได้เกิดการสว่างไสวดุจกลางวัน
ความผ่องใสของจิตสามารถเห็นทุกสิ่งทุกอย่างตามต้องการ แม้จะกำหนดดูเม็ดทรายก็เห็นได้อย่างชัดเจนทุกเม็ด แม้จะพิจารณาดูทุกอย่างที่ผ่านมา ก็แจ้งประจักษ์ขึ้นในปัจจุบันหมด


ในขณะที่จิตของท่านดำเนินไปอย่างได้ผล
ก็ปรากฏเห็นเป็นลูกสุนัขกำลังกินนมแม่ ท่านพิจารณาใคร่ครวญดู ว่าทำไมจึงเกิดมีนิมิตมาปน ทั้งๆ ที่จิตของท่านเลยขั้นที่จะนิมิตแล้ว เมื่อกำหนดจิตพิจารณาก็เกิดญาณรู้ขึ้นว่า “ลูกสุนัขนั้นก็คือตัวเราเอง เราเคยเกิดเป็นสุนัขอยู่ตรงนี้มานับอัตภาพไม่ถ้วน เวียนเกิดเวียนตายเป็นสุนัขอยู่หลายชาติ ”


เมื่อพิจารณาโดยละเอียดได้ความว่า "ภพ" คือความยินดีในอัตภาพของตน สุนัขก็ยินดีในอัตภาพของมัน จึงต้องเวียนอยู่ในภพของมันตลอดไป เมื่อหลวงปู่มั่น ทราบความเป็นไปในอดีตชาติของท่านก็ได้ถึงความสลดจิตเป็นอย่างมาก


ความสว่างไสวในจิตของท่านยังคงเจิดจ้าอยู่ แต่ทำไมยังมีการห่วงหน้าพะวงหลังอยู่ ไม่สามารถพิจารณาธรรมให้ยิ่งขึ้นไปได้ เมื่อตรวจสอบดูก็พบความจริงที่ท่านไม่เคยทราบมาก่อน นั่นคือ “การปรารถนาพระสัมมาสัมโพธิญาณ” ของท่าน โอ ! แล้วจะต้องเวียนตายเวียนเกิดไปอีกกี่หมื่นกี่แสนชาติ จึงจะถึง คิว ได้เป็นพระพุทธเจ้าสมความปรารถนา


หลวงปู่มั่น ได้ย้อนพิจารณาถึงภพชาติในอดีตปรากฏว่า ท่านเคยมีตำแหน่งเป็นเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ (กรุงเดลฮี ในปัจจุบัน) พระพุทธเจ้าได้เสด็จไปแสดงธรรมโปรดชาวกุรุรัฐ พระองค์ทรงแสดงมหาสติปัฏฐานสูตร หลวงปู่ในชาตินั้นก็ได้เจริญสติปัฏฐาน แล้วยกจิตขึ้นอธิษฐานว่า “ขอให้ข้าพเจ้าได้เป็นพระพุทธเจ้าเช่นพระองค์เถิด”


ได้ความว่า หลวงปู่มั่นได้ปรารภโพธิญาณมาตั้งแต่บัดนั้น ซึ่งเป็นเหตุให้ท่านต้องชะงักในการพิจารณาอริยสัจเพื่อทำจิตให้หลุดพ้นได้ ต้องสร้างบารมีเป็นพระโพธิสัตว์ไปอีกชั่วกัปชั่วกัลป์ ถ้าไม่ปล่อยวางความปรารถนานั้น


หลวงปู่มั่น ยังเห็นต่อไปอีกว่า หลวงปู่เทสก์ เทสรังสี เคยเป็นหลานชายของท่านในชาติที่เป็นเสนาบดีเมืองกุรุรัฐ นั้น ภายหลังเมื่อหลวงปู่เทสก์ตามท่านไปอยู่ที่เชียงใหม่ หลวงปู่เคยบอกหลวงปู่เทสก์ว่า “เธอเคยเกิดเป็นหลานเราที่กรุงกุรุรัฐ ฉะนั้น เธอจึงดื้อดึงไม่ค่อยจะฟังเรา และสนิทสนมกับเรายิ่งกว่าใคร”


ต่อจากนั้น หลวงปู่มั่น ได้ระลึกถึง หลวงปู่ใหญ่เสาร์ พระอาจารย์ของท่าน ก็ปรากฏว่า หลวงปู่ใหญ่ก็ได้เคยปรารถนาเป็นพระปัจเจกโพธิญาณ (พระปัจเจกพุทธเจ้า) จึงไม่สามารถที่จะกระตือรือร้น ที่จะทำจิตให้ถึงที่วิมุตติได้


หลวงปู่มั่นตั้งใจไว้ว่าจะต้องหาโอกาสไปกราบอาราธนาให้หลวงปู่ใหญ่เสาร์ได้ละวางความปรารถนาเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้าในชาตินี้ให้ได้ นี่คือความกตัญญูส่วนหนึ่งของท่าน


หลังจากที่ได้ใคร่ครวญสิ่งต่างๆ แล้ว หลวงปู่มั่น รู้สึกสลดใจที่เคยเกิดเป็นสุนัขนับอัตภาพไม่ถ้วน และยังจะต้องเวียนวายตายเกิดเพื่อสร้างบารมีต่อไปอีกนานแสนนาน ท่านจึงได้อธิษฐานจิตหยุดการปรารถนาพระโพธิญาณ ตั้งใจแน่วแน่ที่จะขอบรรลุธรรมในชาติปัจจุบัน


ต่อจากนั้น หลวงปู่มั่น ได้พิจารณาธรรมที่พระพุทธองค์ทรงตรัสรู้ จึงระลึกได้ว่า ธัมมจักกัปปวัตนสูตร ที่ทรงแสดงในปฐมเทศนาเป็นทางบรรลุที่แท้จริง พระองค์ทรงแสดงจากความเป็นจริงที่พระองค์ได้ทรงรู้ แล้วนำออกแสดงโปรดพระปัญจวัคคีย์ ทรงแสดงถึง อริยสัจ๔ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค และทรงย้ำว่า


ปริเญยฺยนฺ เม ภิกฺขเว ทุกข์พึงกำหนดรู้ ปริญาตนฺ เม ภิกฺขเว เราได้กำหนดรู้แล้ว
ปหาตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว สมุทัยควรละ
ปหีนนฺติ เม ภิกฺขเว เราได้ละแล้ว สทฺฉกาตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว นิโรธควรทำให้แจ้ง เราทำให้แจ้งแล้ว
ภาเวตพฺพนฺติ เม ภิกฺขเว มรรคควรเจริญให้มาก
ภาวิตนฺติ เม ภิกฺขเว เราก็เจริญให้มากแล้ว


เมื่อได้ระลึกถึงธรรมะอันเป็นหัวใจของพระธัมมจักกัปปวัตนสูตรคือ อริยสัจ ๔ ได้แก่ ทุกข์ ควรกำหนดรู้ สมุทัย ควรละ นิโรธควรทำให้แจ้ง และ มรรค ควรเจริญให้มาก ดังนี้แล้ว หลวงปู่มั่นก็ได้พิจารณาอริยสัจไปตามลำดับ


หลวงปู่ได้พิจารณากายคตาสติ โดยยกเอาการระลึกชาติที่เกิดเป็นสุนัขมาเป็นตัวทุกข์ จนกระทั่งเกิดความแจ่มแจ้งขึ้นในจิต กลายเป็นญาณ คือ การหยั่งรู้ที่เกิดจากการดำเนินทางจิตจนพอเพียงแก่ความต้องการ (อิ่มตัว) ไม่ใช่เกิดจากการนึกเอาคิดเอา หรือน้อมเอาเพื่อให้เป็นไป แต่เกิดจากการพิจารณาโดยความเป็นจริงแห่งกำลังของจิตที่ได้รับการฝึกอบรมมาพอแล้ว


(ตัวอย่างเช่น ผลไม้ มันจะต้องพอแก่ความต้องการของมันจึงจะสุกได้ ไม่ใช่นึกเอาคิดเอา หรือ ข้าว จะสุกได้ก็ต้องได้รับความร้อนที่พอแก่ความต้องการของมัน)


ในการพิจารณากาย ที่เป็นตัวทุกข์ก็เช่นกัน กว่าจะกลับกลายเป็นญาณ ขึ้นมาได้ ก็ต้องอาศัยการพิจารณาทางจิต จนเพียงพอแก่ความต้องการ คือ อิ่มตัวในแต่ละครั้ง จะเกิดเป็นนิพพิทาญาณ คือความเบื่อหน่าย จะตั้งอยู่ในใจได้ ก็เมื่อการพิจารณากายได้เห็นชัดด้วยความสามารถแห่งพลังจิต...

“การพิจารณาทุกข์เป็นเหตุให้เกิด นิพพิทาญาณ ถ้าเกิดความเพียงพอแห่งกำลังเข้าเมื่อใด ญาณนั้นจึงจะเป็นกำลังตัดกิเลสได้”


โดยย่นย่อ หลวงปู่มั่นได้พิจารณาอริยสัจ ๔ จนเกิดญาณรู้แจ้งขึ้นในจิตโดยลำดับ ในวาระสุดท้าย หลวงปู่ได้กำหนดทบทวนกระแสจิตกลับมาหา ฐีติภูตํ คือ ที่ตั้งของจิต จนปรากฏตัว “ผู้รู้ - ผู้เห็น” และ “ผู้ไม่ตาย” ท่านพิจารณาทบทวนกลับไปกลับมา จนหมดความสงสัยทุกอย่างโดยสิ้นเชิง


ความจริงมีเรื่องราวการพิจารณาธรรมของหลวงปู่มั่นต่อไปอีกหลายอย่าง ครั้นจะนำเสนอในที่นี้ก็จะยาวและออกนอกเรื่องมากไป


(ท่านที่ต้องการทราบเพิ่มเติม โปรดอ่านได้ที่หนังสือ “หลวงปู่มั่นภูริทตโต : ประวัติ ข้อวัตรและปฏิปทา” โครงการหนังสือบูรพาจารย์เล่ม ๑” หรือถ้าต้องการอ่านรายละเอียดอย่างพิสดาร โปรดอ่านได้ที่หนังสือ ประวัติหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต เขียนโดย หลวงพ่อวิริยังค์ สิรินฺธโร วัดธรรมมงคล สุนมวิท ๑๐๑ พระโขนง กรุงเทพฯ)


เมื่อออกจากถ้ำไผ่ขวาง หลวงปู่มั่น ไปพักบำเพ็ญเพียรที่ถ้ำสิงโต เขาช่องลม หรือที่เรียกว่า เขาพระงาม จังหวัดลพบุรี ในปัจจุบันประมาณปี พ.ศ. ๒๔๕๖ พ ศ ๒๔๕๗ หลวงปู่มั่น ได้รับการขอร้องจาก ท่านเจ้าคุณพระอุบาลีคุณูปมาจารย์ ให้ลงมาจำพรรษาที่กรุงเทพฯ เพื่อโปรดพระเณรและประชาชนที่สนใจในธรรมปฏิบัติ ท่านพักจำพรรษาที่วัดปทุมวนาราม


พ.ศ. ๒๔๕๘ หลวงปู่มั่น อายุ ๔๗ ปี อายุพรรษา ๒๕ ได้เดินทางกลับอิสาน พักจำพรรษาที่ วัดบูรพาราม ในเมืองอุบลฯ มีช่วงหนึ่งขณะที่ท่านกำลังพิจารณาว่า “ใครหนอจะเป็นผู้ควรแก่การสั่งสอน” ก็พอดีกับหลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม เข้าไปกราบถวายตัวเป็นศิษย์


หลวงปู่มั่น ทักทายเป็นประโยคแรกว่า “เราได้รอเธอมานานแล้ว ที่อยากจะพบและต้องการชักชวนให้ปฏิบัติธรรมด้วยกัน”


หลวงปู่สิงห์ ขนฺตยาคโม (วัดป่าสาลวัน นครราชสีมา) องค์นี้จึงเป็นศิษย์รุ่นแรก ได้ติดตามปฏิบัติธรรมกับหลวงปู่มั่น ได้รับความไว้วางใจและมอบหมายให้เป็นผู้ปกครองดูแลพระภิกษุสามเณรสายกรรมฐานแทน เมื่อครั้งหลวงปู่มั่นท่านปลีกตัวไปอยู่ภาคเหนือนานถึง ๑๒ ปี และหลวงปู่สิงห์ ได้รับการยกย่องว่าเป็นแม่ทัพใหญ่แห่งกองทัพธรรม


ในปีเดียวกันนั้นหลวงปู่มั่น ได้ไปโปรดโยมมารดาจนเกิดศรัทธาแก่กล้า ลาลูกหลานออกบวชชีจนตลอดชีวิต ปี พ.ศ. ๒๔๕๙ หลังออกพรรษา หลวงปู่มั่น ได้ธุดงค์ไปหาหลวงปู่ใหญ่เสาร์ พระอาจารย์ของท่านซึ่งทราบว่าจำพรรษาอยู่ที่ถ้ำภูผากูด บ้านหนองสูง อำเภอคำชะอี จังหวัดนครพนม (ในขณะนั้น)

เพื่อหาโอกาสให้สติหลวงปู่ใหญ่ได้วางการปรารถนาพระปัจเจกโพธิ ทำให้หลวงปู่ใหญ่ได้ปฏิบัติก้าวหน้าต่อไป จนบรรลุ หมดความสงสัยในพระธรรม สำเร็จคุณธรรมสูงสุดในพระพุทธศาสนาดังใจปรารถนา
แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 21 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร