วันเวลาปัจจุบัน 23 เม.ย. 2024, 17:23  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 45 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 11:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 14

“พึงละเว้นจากกาม” หมายถึง ละเว้นจากทุกสิ่งทุกอย่างที่ทำให้จิตไม่สงบใช่ไหมครับ เช่น การดูหนังฟังเพลง การเล่นกีฬา การสังสรรค์เฮฮาในหมู่เพื่อนฝูง ขอคำแนะนำในการดำเนินชีวิตที่ไม่ขัดแย้งกับสังคม แบะสามารถละเว้นจากกามหรือความไม่สงบได้ครับ


ตอบ

การดำเนินชีวิตตามปกติธรรมดาของชาวพุทธที่สมบูรณ์ คือ รักษาศีล 5 อย่างมั่นคง แสวงหาความสุขทางกามคุณในขอบเขตศีล 5 ดังนั้น การดูหนัง ฟังเพลง เล่นกีฬา จึงเป็นสิ่งที่ที่ทำได้ ศีล 5 เป็นศีลของโสดาบัน ในสมัยพุทธกาลก็มีตัวอย่างเช่น นางวิสาขาบรรลุเป็นโสดาบันตั้งแต่อายุ 7 ขวบ พอโตเป็นสาวก็แต่งงานมีครอบครัว มีบุตรธิดา ถึง 24 คน เป็นต้น

สำหรับฆราวาสผู้มีศรัทธาในพระพุทธศาสนามากๆ ก็ให้สมาทานศีล 8 ซึ่งเป็นศีลพรหมจรรย์ ตามกาลเวลา เช่น ถึงวันพระ 8 ค่ำ 14-15 ค่ำ วันเสาร์-อาทิตย์ หรือบางช่วง 3-4 วัน 10 วัน รักษาศีล 8 กินง่าย นอนง่าย อยู่ง่าย รักสงบ พอใจในสันโดษ พอใจในการเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เช่น พิจารณาความเกิด แก่ เจ็บ ตาย พิจารณาอาการ 32 เจริญเมตตาภาวนา เป็นต้น เมื่อปฏิบัติธรรม รักษาใจสงบ มีสติสำรวมทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อินทรียสังวร) หมายถึงไม่ให้เกิดยินดียินร้าย ไม่ให้คิดไปตามกามตัณหา (กามวิตก) ก็เรียกว่าละเว้นจากกาม

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 11:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 15

มนุษย์เกิดมาเพื่ออะไร


ตอบ

คำถามนี้เป็นปัญหาโลกแตก สำหรับเจ้าชายสิทธัตถะหลังจากบำเพ็ญทุกรกิริยา 6 ปี นับถึงวันเพ็ญ 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ ก่อนพุทธศักราช 45 ปี พระองค์ทรงตั้งจิตอธิษฐานว่า แม้เลือดเนื้อจะเหือดแห้งไป เหลือแต่หนังหุ้มกระดูกก็ตาม สิ่งใดที่สำเร็จได้ด้วยความเพียร ความบากบั่นของตนแล้ว ถ้าเราไม่ถึงจุดนั้น จะไม่ลุกขึ้นจากที่นั่งเป็นอันขาด แล้วพระองค์ก็ได้บำเพ็ญเพียรเจริญสมถกรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เกิดวิปัสสนาญาณได้เห็นถึงการเวียนว่ายตายเกิดของพระองค์เองในอดีตชาติ รู้ว่าวัฏฏสงสารมีจริง กฎแห่งกรรมีจริง และได้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ประการ คือ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค พระพุทธเจ้าจึงเข้าใจว่า พระองค์เกิดมาเพื่ออะไร

สำหรับพวกเราสาธุชน พระพุทธเจ้าได้ให้อุบายในการพิจารณาชีวิต โดยให้เราพิจารณากฎแห่งกรรม เรามีกรรมเป็นของของตน เรามีกรรมเป็นผู้ให้ผล เรามีกรรมเป็นแดนเกิด เรามีกรรมเป็นผู้ติดตาม เรามีกรรมเป็นที่พึ่งอาศัย กรรมอันใดที่ทำไว้ ความดีก็ดี ความชั่วก็ดี เราเป็นผู้รับผลของกรรมนั้นๆ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาชอบอย่างรอบคอบลึกซึ้งแล้ว คำตอบจะเกิดขึ้นภายในใจของเราว่า เราเกิดมาเพื่อละความชั่ว ทำความดี ชำระจิตของตนให้ขาวบริสุทธิ์

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 15:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 16

ตามที่ท่านอาจารย์เล่าให้ฟังว่ามีบุคคลจำนวนมากฟังพระพุทธเจ้าเทศน์เพียงครั้งเดียวก็สามารถสำเร็จเป็นโสดาบัน หรืออริยบุคคลระดับต่างๆ อยากทราบว่าเขาเหล่านั้นจะต้องผ่านการนั่งภาวนาอย่างที่เราทำอยู่หรือเปล่าคะ


ตอบ

การบรรลุโสดาบัน หรือดวงตาเห็นธรรมนั้น เมื่อศีล สมาธิ ปัญญา เกิดพร้อมกันในขณะจิต จิตจะเปลี่ยนจากปุถุชนเป็นอริยะได้ เช่น นางวิสาขาเมื่ออายุ 7 ขวบ พร้อมทั้งบริวาร 500 คน ฟังเทศน์พระพุทธเจ้า จิตเกิดสมาธิโดยธรรมชาติเป็นเอง และเกิดปัญญา จิตเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงหรือจิตสัมผัสกับพระนิพพาน ชั่วขณะก็สำเร็จเป็นโสดาบัน (นางวิสาขาหรือหลายคนไม่เคยนั่งสมาธิมาก่อน เมื่อฟังเทศน์ จิตจะว่างจากนิวรณ์ 5 เกิดปัญญา เห็นไตรลักษณ์ จิตว่างจากอารมณ์ สัมผัสกับนิพพาน) แต่โดยส่วนใหญ่แล้ว ในชาติก่อนๆ ก็สร้างบารมีมาก่อน เช่น นักบวชในลัทธิต่างๆ ได้บำเพ็ญศีล ฝึกสมาธิ ปฏิบัติหนักๆ มาก่อน เมื่อฟังเทศน์แล้วเกิดปัญญา เกิดมรรคสมังคี คือ ศีล สมาธิ ปัญญา เกิดขึ้นพร้อมกัน เข้าถึงอริยมรรค อริยผล ที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี้ ถึงแม้ว่าจะยังไม่บรรลุแต่ก็ยังเป็นการสร้างนิสัย สร้างบารมี ในช่วงนี้การปฏิบัติของเรานั้น พยายามให้มีสติสัมปชัญญะ ให้จิตตั้งมั่นกับลมหายใจออกเที่ยวหนึ่ง ลมหายใจเข้าเที่ยวหนึ่ง เพียงเท่านี้ต่อๆ กันไปก็พอ

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 15:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 17

สำหรับผู้ทำงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์มากๆ จนบางครั้งเป็นฟุ้งซ่านไป งานประเภทนี้จะทำให้เกิดอารมณ์ทำให้จิตไม่สงบ สมควรที่มุ่งเน้นงานประเภทนี้ต่อไปหรือไม่


ตอบ

เราต้องพัฒนาเป็นสุขภาพใจที่ดีก่อน เมื่อเราทำอาชีพมาทางด้านนี้ ก็เพราะเหตุปัจจัยที่จะมาทางนี้ เรื่องจิตใจที่ไม่สงบมันอยู่ที่ตัวจิต อย่าคิดว่าอาชีพอื่นจะสงบสบาย ชาวนา คนขับรถก็ฟุ้งซ่านได้ในทุกระดับ ถึงแม้ พระ เณร อุบาสก อุบาสิกา คนที่กินดีอยู่ดี ฐานะดี ทุกอย่างสมบูรณ์ แต่พูดถึงจิตใจแล้วก็ยังฟุ้งซ่านเป็นส่วนใหญ่ ยังน้อยใจ เสียใจ ขี้โกรธ ขี้กลัว เพราะฉะนั้น จึงต้องแก้ปัญหาโดยการทำสุขภาพใจให้ดีก่อน

เมื่อคิดก็คิดให้เต็มที่ เมื่อหยุดคิดก็หยุดคิดให้ได้ ฝึกจิตอยู่อย่างนั้น ปล่อยวาง ไม่ต้องคิดถึงอดีตที่ผ่านไปแล้ว ไม่ต้องคิดถึงอนาคตที่ยังมาไม่ถึง อยู่กับปัจจุบัน เมื่อมีเหตุที่จะต้องคิด ไม่ว่าคิดถึงอดีต หรืออนาคต ให้คิดด้วยสติปัญญา ในอาการสงบ เรียกว่ามีสติอยู่ในปัจจุบันเหมือนกัน

ฝึกจิต ฝึกนิสัย ให้เป็นคนเอาใจใส่ปฏิบัติหน้าที่ในปัจจุบันให้ดีที่สุดอยู่เสมอ ด้วยใจดี ใจเมตตา ใจกล้าหาญ และอดทน

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 15:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 18

พระอรหันต์กบพระโพธิสัตว์ต่างกันอย่างไร และทำไมไม่เรียกพระพุทธเจ้าว่าเป็นพระสงฆ์องค์แรก ในเมื่อพระพุทธเจ้าผนวชก่อนองค์อื่นๆ


ตอบ

พระโพธิสัตว์นั้นตั้งปณิธานไว้ว่า จะเป็นพระพุทธเจ้าในอนาคต จึงบำเพ็ญบารมี 10 ได้แก่ ทานบารมี ศีลบารมี เนกขัมมบารมี ปัญญาบารมี วิริยบารมี ขันติบารมี สัจจบารมี อธิษฐานบารมี เมตตาบารมี และอุเบกขาบารมี ในหลายภพหลายชาติ เกิดในฐานะต่างๆ เป็นสัตว์เดรัจฉานบ้าง เป็นมนุษย์บ้าง ปรารถนาพุทธภูมิ เมื่อบำเพ็ญบารมีจนเต็มเปี่ยม จึงตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ พระพุทธเจ้าทั้งหลายทรงตั้งปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้านับชาติได้ 20 อสงไขย [1] กับอีกแสนกัป [2]

พระโพธิสัตว์มีขณะจิตที่ตั้งความปรารถนาเป็นพระพุทธเจ้าครั้งแรกในพระพุทธเจ้าองค์ก่อนๆ นับชาติไม่ถ้วน ด้วยจิตที่คิดว่า

เราตรัสรู้แล้ว จะให้ผู้อื่นตรัสรู้ด้วย
เราพ้นแล้ว จะให้ผู้อื่นพ้นด้วย
เราข้ามได้แล้ว จะให้ผู้อื่นข้ามได้ด้วย

พระพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้อริยสัจ 4 ด้วยพระองค์เอง แบ่งเป็น
พระสัมมาสัมพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้เองและสอนให้ผู้อื่นให้รู้ตาม
พระปัจเจกพุทธเจ้า คือ ผู้ตรัสรู้เองจำเพาะผู้เดียว มิได้สั่งสอนผู้อื่น

ก่อนจะตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าได้ พระองค์ต้องบำเพ็ญบารมี 10 อย่าง หลายภพ หลายชาติ หลายกัป ยาวนาน กว่าจะมีบารมีครบสมบูรณ์ ในยุคหนึ่งๆ มีเพียงองค์เดียว คัมภีร์แต่ละคัมภีร์ก็นับจำนวนพระพุทธเจ้าต่างกัน เช่น 5 องค์ 7 องค์ 25 องค์ [3]

5 องค์ อดีต 3 องค์ ปัจจุบัน 1 องค์ อนาคต 1 องค์
7 องค์ อดีต 6 องค์ ปัจจุบัน 1 องค์
25 องค์ อดีต 24 องค์ ปัจจุบัน 1 องค์

พระพุทธเจ้าในอนาคตองค์ต่อไป คือ พระศรีอาริย์ หรือ พระศรีอริยเมตไตรย

พระสงฆ์ คือ หมู่ชนที่รู้ตามคำสั่งสอนของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า

พระสงฆ์ มี 2 ประเภท
1. สมมุติสงฆ์ หมายถึง ท่านที่เป็นนักบวช แต่ยังเป็นปุถุชน
2. อริยสงฆ์ หมายถึง ท่านที่เป็นพระสงฆ์เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 เป็นอริยบุคคล 4 คู่ 8 จำพวก ได้แก่

คู่ที่ 1 (1) ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติมรรค
(2) ท่านผู้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
คู่ที่ 2 (1) ท่านผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิมรรค
(2) ท่านผู้ตั้งอยู่ในสกทาคามิผล
คู่ที่ 3 (1) ท่านผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิมรรค
(2) ท่านผู้ตั้งอยู่ในอนาคามิผล
คู่ที่ 4 (1) ท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตมรรค
(2) ท่านผู้ตั้งอยู่ในอรหัตตผล

คำว่า “มรรค” และ “ผล” นั้น อธิบายให้เข้าใจชัดเจนยิ่งขึ้นได้
จากตัวอย่าง ดังนี้ เมื่อเราเดินทางจากกาญจนบุรีกลับบ้านที่กรุงเทพ
ขณะที่กำลังเดินทาง ผ่านราชบุรี นครปฐม เรียกว่า “มรรค”
เมื่อถึงกรุงเทพแล้วแต่ยังไม่ถึงบ้าน ก็ยังอยู่ในมรรค
คือ กำลังเดินทางกลับบ้านอยู่ในความรู้สึกของเรา กลับถึงบ้านแน่นอน
พอเข้าบ้านแล้ว ปิดประตูเป็นการถึงบ้านจริงๆ จึงเรียกว่า “ผล”

พระอรหันต์ คือผู้เจริญอริยมรรคมีองค์ 8 อย่างสมบูรณ์ ละสังโยชน์ 10 ประการ
ละกิเลสจนบรรลุอรหัตตผลได้ในชาตินี้ เดี๋ยวนี้


--------------------

[1] อสงไขย หมายถึง เลข1 แล้วมีเลข 0 ตาม 140 ศูนย์ หรือเท่ากับ 1 โกฏิ ยกกำลัง 20
เท่ากับ 10,000,000,000 ยกกำลัง 20 ปี

[2] กัป หมายถึง ระยะเวลาอันยาวนานมาก อุปมาว่า มีภูเจาศิลาล้วน กว้าง ยาว สูง
ด้านละ 1 โยชน์ ทุกร้อยปี มีคนนำผ้าเนื้อละเอียดอย่างดีมาลูบครั้งหนึ่ง
จนกว่าภูเขานี้จะสึกหรอสิ้นไป กัปหนึ่งยังยาวนานกว่า

[3] - มีพระพุทธเจ้า 5 พระองค์ในภัทรกัปนี้ - พุทธปกิรณภัณฑ์ พุทธวงศ์ขุททกนิกาย
พระไตรปิฎก เล่ม 33

- มีพระพุทธเจ้า 7 พระองค์ นับย้อนไป 7 กัป - มหาปทานสูตร ทีฆนิกายมหาวัคค์
พระไตรปิฏกเล่ม 10

- มีพระพุทธเจ้า 25 พระองค์ นับย้อนกัปไปอันประมาณมิได้ - พุทธวงศ์ขุททกนิกายอปทาน
พระไตรปิฎกเล่ม 33

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 15:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 19

ต้องปฏิบัติตัวอย่างไรจึงจะเป็นที่รักของผู้อื่น


ตอบ

พระพุทธเจ้าทรงสอนไว้ ดังนี้

1. มีใจโอบอ้อมอารี แบ่งปันสิ่งของๆ ตน รู้จักการให้ทาน เอื้อเฟื้อ

2. มีปิยะวาจา พูดจาไพเราะ น่าฟัง ใครฟังแล้วก็สบายใจ มีความสุข เกิดประโยชน์ งดเว้นการพูด 4 อย่างคือ ไม่พูดโกหก ไม่พูดส่อเสียด ไม่พูดเพ้อเจ้อ ไม่พูดหยาบคาย

3. ช่วยเหลือผู้อื่น ช่วยสังคม ไม่ขี้เกียจ เอาใจใส่ในการงาน ทำหน้าที่ของตนเองให้ดีที่สุด

4. วางตนเหมาะสม ไม่มีต่อหน้าลับหลัง อยู่กับหมู่คณะก็ทำความรู้สึกเหมือนกับอยู่คนเดียว คือ ไม่ยินดียินร้าย รักษาความเป็นปกติ ไม่ตื่นเต้นดีใจเสียใจจนเกินไป อยู่คนเดียวก็ทำตัวเรียบร้อยเหมือนกับอยู่กับหมู่คณะ ไม่นินทา ไม่ตำหนิติเตียนผู้อื่น

หากสามารถปฏิบัติได้ตามนี้ อานิสงส์ที่ได้รับในชาติปัจจุบัน คือ จะเป็นที่รักของผู้อื่น อานิสงส์ในชาติหน้า เกิดมาจะมีครอบครัวที่อบอุ่น มีบริวารที่ซื่อสัตย์ มีเจ้านาย ลูกน้อง และเพื่อนที่ดี

อย่างไรก็ตาม หากในปัจจุบันนี้ เรามีปัญหาขัดแย้งกับใคร ก็ให้แก้ปัญหาโดยการอโหสิกรรม และปฏิบัติด้วยตามหลัก 4 ข้อข้างต้นนี้ เป็นการเพิ่มความดีของเราให้งอกงามยิ่งๆ ขึ้น

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 15:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 20

การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจและแพทย์ จะสามารถนำหลักธรรมพรหมวิหาร 4 ไปประยุกต์ใช้ได้อย่างไร


ตอบ

ให้เราพยายามทำใจ ฝึกตนเป็นผู้ไม่เห็นแก่ตัว มีคุณธรรม ไม่ให้อคติ 4 ครอบงำ

ฉันทาคติ ลำเอียงเพราะรักชอบ
โทสาคติ ลำเอียงเพราะชัง
โมหาคติ ลำเอียงเพราะหลง ไม่รู้
ภยาคติ ลำเอียงเพราะกลัว

เมื่อเราสามารถระงับไม่ให้เกิดอคติได้
ทำให้สุขภาพจิตใจดี ใจยุติธรรม คือ เมตตา กรุณาเป็นคุณธรรมของผู้นำ ในอาชีพตำรวจ แพทย์ และทุกอาชีพได้ ให้มีจิตใจ อุดมคติ ของตัวเอง ทำงานเพื่องาน ให้มีความพอใจในการทำงาน ทำดีที่สุด อย่าเห็นแก่ลาภ ยศ สรรเสริญ เพื่อนจะได้ดีกว่าเราก็ให้มีมุทิตาธรรม พลอยยินดีกับเขา อย่าเห็นแก่ตัว เห็นแก่ได้ เข้าไปคิดยุ่งใจ เอามุทิตาธรรมมาป้องกันใจเราเอง

ชีวิตของเรา การทำงานของเรา ผิดพลาดก็มี หรือคนอื่นไม่ถูกใจเรา ไม่พอใจเราก็มีเป็นธรรมดา ทำดีขนาดไหนก็ตาม เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เกิดขึ้นได้เป็นธรรมดา ตั้งสติ ตั้งใจให้ดี เอาอุเบกขาธรรมมาป้องกันใจเรา อดทน อดกลั้น ปล่อยวาง วางเฉยไว้ก่อน ทุกสิ่งทุกอย่างไม่แน่ สิ่งเหล่านี้ก็จะผ่านพ้นไป ไม่นานหรอก ทำดีที่สุด และทำหน้าที่ในวันนี้ให้ดี คนที่ได้รับความสุขจากเราก็มีมากมาย ทำดีได้ดีแน่นอน ทำดีไปเรื่อยๆ ไม่นานนักจะเปิดฟ้า เห็นแสงอาทิตย์ ลมเย็นสบายได้แน่นอน

เมื่อเจออุปสรรคหนักๆ แต่ถ้าเราทำใจอดทน ใช้ความอดทนได้ก็จะเป็นบารมี ถึงแม้ว่าทุกข์ ก็ให้รู้ว่าเป็นการสร้างบารมี อย่าลืมอิ่มน้อยๆ ในใจเรา ให้ผ่านอุปสรรค์ได้ก็เป็นบารมีของเรา

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 16:01 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 21

อยากทราบว่านิพพานใช้กับผู้ที่มีชีวิตอยู่ (จิตหมดกิเลส) ได้หรือไม่


ตอบ

พระนิพพาน หมายถึง ดับความร้อน ไฟโลภะ โทสะ โมหะ ดับได้เมื่อไรเรียกว่านิพพาน

นิพพานมี 2 อย่าง
1. สอุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ยังมีผลเบญจขันธ์เหลือ
2. อนุปาทิเสสนิพพาน นิพพานที่ไม่มีเบญจขันธ์เหลือ

สำหรับพระพุทธเจ้าการตรัสรู้เป็นอนุตตรสัมมาสัมพุทธเจ้า ได้เป็น สอุปาทิเสสนิพพาน หลังจากนั้นประกาศพุทธธรรม 45 พรรษา แสดงธรรม 84,000 ธรรมขันธ์ แล้วเสด็จมหาปรินิพพาน เป็น อนุปาทิเสสนิพพาน พระอรหันต์ก็เช่นเดียวกัน

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 16:05 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 22

ถ้าความรักคือการให้ แล้วทำไมพระพุทธเจ้าจึงห้ามพระภิกษุแต่งงาน เมื่อความรักทำให้โลกนี้มีความสุข


ตอบ

พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า “ที่ใดมีความรักที่นั่นมีโศก ที่ใดมีความรักที่นั่นมีภัย เมื่อไม่มีความรักเสียแล้ว โศก ภัย ย่อมไม่มี” ความรัก ความชัง เป็นของคู่กัน สังเกตดูก็ได้ เมื่อเกิดความรักกับใครคนหนึ่ง เกิดทุกข์ทันทีว่า กลัวเขาไม่รักเรา ถึงแม้ว่าเขารักเราอยู่ แต่กลัวเปลี่ยนใจไปรักคนอื่น ก็เกิดวิตกกังวล กลัวคนรักจะได้รับอันตราย ก็วิตกกังวล

มีใครแย่งของรักเราไป ก็คับแค้นใจ มีใครสักคนทำให้คนรักของเราทุกข์กาย ทุกข์ใจ เราก็อาจจะเกิดอาฆาตพยาบาท ญาติพี่น้องของเรา ของเขา ไม่สนับสนุนความรักของเรา เราก็เป็นทุกข์ การกระทำของคนรักที่ไม่ถูกใจ ไม่ทันใจ เข้าใจผิดกัน ก็เป็นทุกข์ ความแก่ เจ็บ ตาย ของคนรักและญาติพี่น้องของเขา ก็เป็นความเศร้าหมอง ความไม่สบายใจ กลุ้มใจ เครียดของคนรัก คือ ทุกข์ของเรา กลัวในการบำรุง และอำนวยความสะดวกด้วยทรัพย์ กลัวทำให้เขาพอใจไม่ได้ ก็เป็นทุกข์ ฯลฯ

ความรักจึงเปรียบเหมือนกำลังจับหางงูเห่า ไม่นานงูเห่าก็จะกัดเรา เป็นทุกข์ หมายถึงวิตกกังวล คับแค้นใจ โกรธ อิจฉาริษยา อาฆาต พยาบาท

ความรักที่เห็นแก่ตัว ทำให้การแต่งงานในทุกวันนี้ไม่ค่อยยั่งยืน เพราะสามีภรรยาต่างคนต่างต้องการความสุขจากอีกฝ่ายหนึ่ง เส้นทางของความรักเกิดจากกามารมณ์ กามตัณหา ต่างคนต่างมีความพอใจ เนื้อหนังมังสา (รูป) และทรัพย์สินต่างๆ อันเป็นปัจจัยทางโลก ต่างคนต่างมีความหวังว่าจะได้ความสุขจากเขา แต่เมื่ออยู่ด้วยกันแล้ว ไม่มีความสุขอย่างที่คาดหวังไว้ และต่างคนต่างเห็นความเป็นจริงของความเป็นคน เห็นปฏิกูลทั้งกายและจิตใจก็มีมาก เมื่อต่างคนต่างเรียกร้องความสุขจากอีกฝ่ายหนึ่ง แต่ได้รับความสุขไม่เพียงพอกับความต้องการ บางทีก็ไม่มีความสุขเลย มีแต่ทุกข์ ในที่สุดความรักแตกร้าว ความรักกลายเป็นเรื่องอดีตไป

ความรักแท้ก็มีอยู่ ถูกคอถูกใจ ถูกชะตา รักด้วยความจริงใจ ต่างคนต่างเข้าใจกัน เป็นรักของความสุข คือ ความสุขในการให้ความสุข เข้าใจจุดนี้แล้ว ความรักมันอัตโนมัติ สิ่งใดไม่ถูกใจ ก็ให้อภัยซึ่งกันและกัน ต่างคนต่างคอยคิดแต่จะให้ ไม่เรียกร้องความสุขจากเขา จึงไม่ผิหวัง มีแต่จะให้ ให้ และให้....

ความจริงของชีวิต ยากที่จะได้คู่ชีวิตที่เข้าใจกัน ฝ่ายหนึ่งดี แต่ฝ่ายหนึ่งไม่เอาไหน การเกิดของสัตว์ หรือมนุษย์ เกิดจากอวิชชา และกิเลส ความโลภ ความโกรธ ความหลง เป็นรากเหล้าของจิตใจแล้ว กระทับกันเป็นเรื่องธรรมดา

แต่งงาน คือ เข้าใจผิดว่าสวยงาม คนที่จะแต่งงานก็ดี ไม่มีโอกาสแต่งงานก็ดี ทุกคนจะฝันหวานสวยงามในชีวิตแต่งงาน ชีวิตจริง เป็นของขม เปรี้ยว เผ็ดร้อน บางคนก็จืด เน่าเหม็นก็มี พระพุทธองค์ทรงตรวจดูชีวิตของมนุษย์แล้ว สรุปว่าไม่มีภรรยา ไม่มีสามี เป็นลาภอันประเสริฐ ทุกข์ของการเป็นโสดก็เป็นทุกข์น้อยกว่าชีวิตคู่ที่ค่อนข้างจะดี หากต้องการความสุขที่แท้จริง ถ้าผู้ชายบวชเป็นพระภิกษุ เป็นทางเลือกหนึ่ง ความรักที่แท้ก็ไม่เอา เอาแต่ความรักที่บริสุทธิ์ การบวชเป็นพระภิกษุในพุทธศาสนานั้น เป้าหมายอยู่ที่ออกจากวัฎฎสงสาร พัฒนาจิตใจอยู่เหนือความเป็นสัตว์ ความเป็นผู้หญิง ผู้ชาย คู่ผัวตัวเมียที่ผูกมัดจิตใจอยู่ในวัฏฏสงสาร เป็นความรักที่แคบ ความรักที่จำกัด เป็นเฉพาะตัวต่อตัว ต่างคนต่างมีความยึดมั่นถือมั่นว่าเป็นคู่ของเรา ยังหนีไม่พ้นจากคำว่าความรักอยู่ที่ไหน ความเศร้าโศกอยู่ที่นั่น พระพุทธเจ้าจึงห้ามพระภิกษุมีภรรยา

การให้ของการบวช คือ การสละ สมบัติ ภรรยา ลูก ชีวิตของนักบวชก็เพื่อเมตตากรุณาต่อสรรพสัตว์ ความรักที่บริสุทธิ์ ไม่มีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น เรียกว่าเมตตากรุณา

ถ้าเป็นผู้หญิงอายุราวแม่ ก็ให้มีความรู้สึกว่าเป็นเหมือนแม่
ถ้าเป็นผู้หญิงอายุราวพี่สาว ก็ให้มีความรู้สึกว่าเป็นเหมือนพี่สาว
ถ้าเป็นผู้หญิงอายุราวน้อง ก็ให้มีความรู้สึกว่าเป็นเหมือนน้อง
ชีวิตภิกษุต้องระงับกามราคะ จึงจะเกิดความรักที่บริสุทธิ์เหมือนกับแม่ พี่ น้อง
เป็นความรักที่มีต่อสรรพสัตว์ ไม่มีประมาณ

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 16:08 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 23

กราบเรียนท่านอาจารย์ว่า การเป็นฆราวาส ทำงานมีเงินเดือน มีโอกาสทำบุญ บริจาค ยามว่างไปเป็นอาจารย์สอนเด็ก (ไม่รับผลตอบแทน) ไปเยี่ยมเด็กกำพร้าเปรียบเทียบกับพระไม่มีโอกาสทำบุญแบบนี้ อย่างนี้ เป็นฆราวาสไม่ดีกว่าหรือครับ


ตอบ

การให้ทานมี วัตถุทาน และธรรมทาน อานิสงส์ของธรรมทาน มีมากกว่าวัตถุทานหลายเท่า การบวชพระเป็นมหาทาน เพราะได้สละทรัพย์สมบัติ สละลูกเมีย ซึ่งถ้าไม่บวชก็ควรได้ นอกจากนี้การบวชเป็นพระยังได้แสดงธรรมเป็นธรรมทาน ซึ่งถือว่าชนะการให้ทั้งปวง การให้ทานของฆราวาสจึงไม่อาจเทียบเท่าได้

ในแง่ของศีล พระถือศีล 227 ข้อ ฆราวาสถือศีล 5 ข้อ หรืออาจะไม่ครบด้วยซ้ำไป ดังนั้น การทำบุญของนักบวชมีมากจนเปรียบเทียบกับฆราวาสไม่ได้ แต่ต้องเป็นพระที่ดี รักษาศีลของพระภิกษุ

ตามหลักพุทธศาสนา บุญสำเร็จได้ด้วยทาน ศีล ภาวนา โดยถือว่าการปฏิบัติภาวนา สมถวิปัสสนากรรมฐาน ตามหลักสติปัฏฐาน 4 คือ บุญอันสูงสุด ดังที่พระพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า

รักษาศีลหนึ่ง มีอานิสงส์มากกว่าให้ทานเป็นพันเท่า
ภาวนาหนึ่ง มีอานิสงส์มากกว่ารักษาศีลเป็นพันเท่า

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 16:10 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 24

ขอความกรุณาช่วยอธิบายถึง คู่สามีภรรยาที่ขัดแย้งกัน มีปากเสียงกันเกือบทุกวัน ทั้งๆ ที่ต่างฝ่ายก็เป็นคนดี มีการทำบุญ ทำทาน สวดมนต์ นั่งสมาธิ แก้ไขได้อย่างไร


ตอบ

อาจารย์อบรมข้าราชการตำรวจ ปลัดอำเภอ นายอำเภอมาแล้ว 3,000-4,000 นาย (นับถึงปี 2543) มีเวลาอบรมในวัด 3 วันบ้าง 4 วันบ้าง 5 วันบ้าง แล้วก็มีหนึ่งในจำนวนนี้กลับมาที่วัดแล้วบอกอาจารย์ว่า การปฏิบัติที่นี่ เข้าใจว่า ตำรวจคนนั้นจับหลักที่อาจารย์สอนว่า

เมื่อเกิดความรู้สึกไม่ดี ให้หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด
หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ ทุกครั้งที่ใจไม่ดี ให้ทำอยู่อย่างนั้น


เข้าใจว่าตำรวจคนนั้นปฏิบัติจริงตามที่อาจารย์สอน ภรรยาพูดอะไร ทำอะไร หยุดพูด หยุดคิด ยิ้มน้อยๆ ในใจ หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สบายๆ จนเคยชิน ภรรยาดีใจว่าสามีของตนดีเป็นคนละคนแล้ว

เรื่องสามีภรรยา ถึงแม้ว่ารักกัน ยิ่งรักกันมากยิ่งมีอุปาทานยึดมั่นถือมั่น ก็จะเกิดอารมณ์หงุดหงิด ไม่พอใจ หึงหวง สารพัดอย่าง สิ่งเหล่านี้เกิดจากอุปาทานยึดมั่นถือมั่น และต่างคนต่างรู้สึกว่า อีกคนควรจะแก้ไขก่อน จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ เราไม่กล้าที่จะแก้ไขตัวเองก่อน การใช้ชีวิตคู่ ถ้าเราต้องการความสุขจริงๆ แล้ว บางครั้ง ต้องยอมทำเป็นโง่ ที่สำคัญ คือ ต้องทำจิตใจตัวเองให้ดีก่อน เอาความดีมาสู้ เอาชนะใจตัวเอง ไม่ต้องคิดที่จะเอาชนะเขา พุทธศาสนาสอนให้ละความชั่วของตัวเอง ทำความดีด้วยตัวเอง ทำใจของตัวเองให้บริสุทธิ์ ถ้าเรากล้าที่จะแก้ไขตัวเองก่อน ปฏิบัติก่อน ถ้าทำได้จริง เราก็จะดีเป็นคนละคน และเขาก็จะดีตามไปด้วย ไม่ต้องกลัวว่าอีกฝ่ายหนึ่งจะได้ใจ เลยต้องพยายามเอาชนะเขา เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไรไม่ถูกใจ หยุดทำ หยุดพูด หยุดคิด หายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สบายๆ

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 18:22 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 25

กระผมเป็นตำรวจและเป็นพนักงานสอบสวนต้องพบกับประชาชน ซึ่งมีความเดือดร้อนมาบางกรณีทั้งที่เป็นเรื่องเล็กน้อยก็ไม่ยอมกัน จะเอาชนะกันให้ได้ ผมจะอธิบายหรือไกล่เกลี่ย อย่างไรเขาจึงจะพอใจและมีความรู้สึกว่ามาพบตำรวจแล้วความทุกข์ความเดือดร้อนหายไปครับ ?


ตอบ

เราต้องอดทน มีใจเมตตากรุณา เพราะคู่กรณีมีความขัดแย้งมา เนื่องจากอุปกิเลสในการเอาชนะผู้อื่น ซึ่งเป็นสิ่งที่มีอยู่กันทุกคน โดยเฉพาะผู้มาแจ้งความนั้นยิ่งมีมากกว่าเป็นธรรมดา

ปกติพูดคุยกัน อธิบายตามเหตุผลต่างๆ แล้วค่อยปล่อยวางอุปาทานไว้เป็นส่วนใหญ่ แต่บางคนช่วยอะไรไม่ได้ก็มี ดื้อจริงๆ ต้องทำใจให้ปล่อยวางเป็นอุเบกขา

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 18:24 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 26

จะมีวิธีแก้อย่างไรที่เพื่อนของเราชอบชวนไปเที่ยวกลางคืน ถ้าไม่ไป เขาก็จะโกรธเรา


ตอบ

เราต้องตั้งอยู่ในศีล การเที่ยวกลางคืนเป็นอบายมุข เป็นทางฉิบหาย เราต้องเห็นโทษในอบายมุขนั้น พระพุทธเจ้าตรัสไว้มีใจความว่า “เมื่อเราหาเพื่อนดีไม่ได้ ก็ให้เดินคนเดียวดีกว่า เหมือนนอแรด”

จุดอ่อนของเรา ขี้เกรงใจเกินเหตุ ไม่กล้าปฏิเสธ ในสิ่งที่ควรปฏิเสธ เราต้องหัดกล้าปฏิเสธบ้าง Say No ! คือ เสียความรู้สึกนิดเดียวดีกว่าฉิบหายทุกข์ตลอดชีวิต ให้นึกถึงจิตใจของคนที่รักและหวังดีต่อเรา เช่น พ่อ แม่ สามี ภรรยา เราต้องไม่ทำให้เขาเสียใจ ผิดหวังในตัวเรา

มีข่าวอยู่เรื่อยๆ ว่านักเรียนอาชีวะยกพวกตีกัน ถึงขั้นฆ่ากัน หัวเรี่ยวหัวแรงที่ชอบตีกัน ทะเลาะกันจริงๆ มีไม่กี่คน ส่วนใหญ่เป็นคนธรรมดา ไม่ชอบทะเลาะกับใคร แต่ห้ามตัวเอง ปฏิเสธไม่ไปกับเขาไม่ได้ กลัวไม่มีเพื่อน กลัวเพื่อนจะรังเกียจ ถ้าออกจากกลุ่มได้ ก็จะเป็นคนดี ถ้าบวชเป็นพระ ก็จะเป็นพระดีได้เลย ไม่คบเพื่อนที่ไม่ดี คบแต่เพื่อนดี เป็นมงคลตลอดชีวิต

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 18:26 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 27

ที่พระอาจารย์สอนว่า คิดว่าเราดีกว่าเขา เราเสมอเขา เราเลวกว่าเขานั้น เป็นการคิดผิด แล้วคิดถูกเป็นอย่างไร


ตอบ

อันนี้เป็นการคิดด้วยอุปาทาน ยึดมั่น ถือมั่น จะเกิดมานะ ถ้าคิดถูกนั้น ต้องรักษาสุขภาพใจดี จิตใจสะอาด แจ่มใส ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดีที่สุด ทำไปเรื่อยๆ อย่าให้ติดความคิดจับผิดผู้อื่น จะทำให้เกิดความไม่สบายใจ

เมื่อเราเป็นผู้นำ มีหน้าที่ดูแลหมู่คณะ ต้องมีจิตใจดี มีเมตตากรุณา ปราศจากอคติ ไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวบุคคลใดบุคคลหนึ่ง ให้ร่วมกันพิจารณาแก้ปัญหา ให้พิจารณาปัญหาทุกอย่างโดยไม่มองเป็นบุคคล ให้มองเป็นธรรม สิ่งไม่ดีก็ให้ร่วมกันแก้ไข สิ่งดีก็ช่วยกันสนับสนุน ไม่ให้เกิดมานะ แบ่งพวก แต่ให้เกิดความสามัคคี ไม่ถือตัวถือตน เช่น เมื่อเราเห็นใครทำไม่ดีไม่งาม เสียหายต่อส่วนรวม รักษาใจตนให้สงบ ใจดี มีเมตตา ยกขึ้นมาพูดในที่ประชุมว่า มีใครทำอย่างนี้ ควรแก้ไข ไม่ควรทำอีกนะ แต่ตามธรรมชาติของจิตใจของเรา ก็จะถามหากันว่า ใคร..ใคร..ใครทำ

ใครทำผิด ไม่สำคัญ เราทุกคนต่างระมัดระวัง ไม่ทำสิ่งที่ไม่ดีต่อไป เพื่อความสงบสุขของหมู่คณะเราเป็นสำคัญ เรื่องไม่ดี ต่างคนต่างช่วยกันแก้ไข เรื่องดี สนับสนุน ตัวบุคคลไม่สำคัญ สำคัญที่การกระทำ ทุกสิ่งทุกอย่างมองเป็นธรรม หมายถึง เมื่อเราประสบอารมณ์พอใจ ไม่พอใจ เพราะบุคคลต่างๆ ทำให้เสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ หรือตรงข้ามกันก็ดี (คือมีลาภ ยศ สรรเสริญ สุข)

เราจะไม่ยึดมั่นถือมั่นในตัวบุคคลนั้นๆ มองเห็นอารมณ์เป็นอารมณ์ พิจารณาตามหลักกฎแห่งกรรม อริยสัจ 4 หาทางพ้นทุกข์อยู่เรื่อยๆ พูดง่ายๆ ก็คือ ไม่ยินดี ยินร้าย ต่อเหตุการณ์ต่างๆ เป็นโอปนยิโก น้อมมาหาตน ไม่ให้คิดฟุ้งออกไป ปะทะ ต่อสู้เขาด้วยความรักความชัง

ครอบครัวที่เข้าใจกัน สามัคคีกัน รักกัน สมมุติมีลูก 10 คน บางคนอาจจะพิการ บางคนเรียนหนังสือไม่เก่ง มีความสามารถต่างกันไป สิ่งเหล่านี้ไม่สำคัญ ไม่สำคัญว่าตัวว่าเก่ง ไม่ดูหมิ่นคนพิการว่าไม่เก่ง ต้องช่วยกัน ให้กำลังใจกัน แบ่งปันกัน มีชีวิตอยู่อย่างไม่มีทิฎฐิมานะ

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 พ.ค. 2010, 18:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ถาม 28

ตามที่พระอาจารย์สอนว่าเมื่อรู้อะไรมาให้เชื่อ 50% ไม่เชื่อ 50% นั้น ถ้าเป็นสิ่งที่ครูบาอาจารย์สอนก็ควรเชื่อ 50% หรือเปล่าคะ แล้วเมื่อไรควรเชื่อ 100% คะ


ตอบ

ที่พระอาจารย์สอนว่ารู้อะไรมาก็ตามให้เชื่อ 50 หมายความว่า ไม่ยึดมั่นถือมั่นในคำพูด ฟังแล้วต้องพิจารณาด้วยปัญญาของตน เป็นโยนิโสมนสิการ

ในสมัยพุทธกาล...
พระสารีบุตรเป็นสาวกผู้เป็นเลิศด้านปัญญา เมื่อฟังเทศน์พระพุทธเจ้าแล้ว
พระพุทธเจ้าทรงถามว่า “ท่านเชื่อไหม ?”
พระสารีบุตรตอบว่า “ยังไม่เชื่อ”
คณะสงฆ์จึงเกิดความไม่พอใจ เพราะคิดว่าเป็นการแสดงความไม่เคารพต่อศาสดา
จึงคิดตำหนีติเตียนท่าน พระพุทธเจ้าทรงตรัสว่า “ถูกแล้ว พระสารีบุตรเป็นผู้มีปัญญา
ใครพูดอย่างไรก็ไม่เชื่อง่าย ท่านต้องพิจารณาด้วยตนเองจึงจะเชื่อ
นี้เป็นปฏิปทาของพระสารีบุตร”

กาลามสูตรกังขานิยฐาน 10 ได้แก่

1. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการฟังตามกันมา
2. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการถือสืบๆ กันมา
3. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการเล่าลือ
4. อย่าปลงใจเชื่อ ด้วยการอ้างตำราหรือคัมภีร์ไว้
5. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะตรรกะ
6. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการอนุมาน
7. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะการคิดตรงตามแนวเหตุผล
8. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะเข้ากับทฤษฎีที่พินิจไว้แล้ว
9. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะมองรูปลักษณ์น่าจะเป็นไปได้
10. อย่าปลงใจเชื่อ เพราะนับถือว่าท่านนี้เป็นครูของเรา

ต่อเมื่อใด รู้เข้าใจด้วยตนเองว่า ธรรมเหล่านั้นเป็นกุศล อกุศล มีโทษ ไม่มีโทษแล้ว จึงควรละหรือถือปฏิบัติตามนั้น

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 45 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร