วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 16:12  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 20 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2010, 14:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


8. เมตตาภาวนา

อานิสงส์ของการเจริญเมตตาภาวนา

1. หลับเป็นสุข
2. ตื่นเป็นสุข
3. ไม่ฝันร้าย
4. อมนุษย์รักใคร่
5. มนุษย์ทั้งหลายรักใคร่
6. เทวดาทั้งหลายย่อมคุ้มครอง
7. ไฟ ศาสตราวุธ ยาพิษ ไม่อาจกล้ำกลาย
8. ผิวหน้าย่อมผ่องใส
9. จิตย่อมตั้งมั่นเป็นสมาธิเร็ว
10. เมื่อตายเป็นผู้ไม่หลง
11. เมื่อจากโลกนี้ไป ก็ไปบังเกิดในพรหมโลก

เมื่อเจริญเมตตาภาวนาบ่อยๆ จะมีอานิสงส์ช่วงระงับความโกรธได้
ให้เจริญเมตตาให้กับตัวเองก่อนโดยอาศัยสติ สมาธิ และปัญญา
ให้พยายามรักษาใจให้สงบนิ่ง กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า สักพักหนึ่ง

การแผ่เมตตาให้กับตัวเอง

อะหังสุขิโตโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงสุข
ยกขึ้นมาพิจารณาทุกครั้งที่รู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

ความสุขอยู่ที่ไหน ความสุขไม่ใช่อยู่ที่อารมณ์โกรธ หรือเมื่อเราได้
โกรธคนอื่น เราโกรธเขา เขาก็เป็นทุกข์เหมือนเรา หรือทุกข์มาก
กว่าเรานั่นแหละ เขาก็กำลังแก่ กำลังเจ็บไข้ ป่วย กำลังจะตาย
เหมือนเรานั่นแหละ

เขาก็กำลังประสบกับความเสื่อมลาภ เสื่อมยศ นินทา ทุกข์ เหมือน
กับเรา เพราะ ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ล้วนแต่เกิดขึ้นแล้วดับไป
ในที่สุด ไม่แน่นอน ไม่คงอยู่ได้

ความสุขอยู่ที่การปล่อยวางสิ่งภายนอก และสัญญาอารมณ์ต่างๆ
ระลึกรู้ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ถอนจิต ถอนใจอุปาทาน
จากอารมณ์โกรธ น้อมเข้ามาๆ ให้จิตพักอาศัยอยู่ที่ลมหายใจ

เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตร
หายใจเข้ายาวๆ สบายๆ หายใจออกช้าๆ ลึกๆ หน่อย
หายใจเข้ายาวๆ สบายๆ หายใจออก สบายๆ ภาวนาว่า
ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ถึงสุข หายใจเข้า
หายใจออก สบายๆ แล้วพิจารณาต่อว่า

นิททุกโข โหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไร้ทุกข์
ความชั่วร้ายของเขา เป็นของเขา ไม่ใช่ของเรา เราไม่ต้องไปคิด
ไปเกาะติดยึดมั่นถือมั่น แบกเอาไว้
ความชั่วของใครก็เป็นของร้อนเป็นทุกข์ทั้งนั้น เราไปยึดติดเมื่อไร
ก็เดือดร้อน เป็นทุกข์เมื่อนั้น
ถึงแม้ว่า เขาผิดจริงก็ตาม ผู้มีปัญญา ผู้หวังความสุข ไม่เอามาคิด
เป็นอารมณ์ ให้ระวังๆ แล้วพิจารณาต่อว่า

อะเวโรโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่มีเวร
ตรวจตราดูความรู้สึกภายในใจตัวเอง หรือสังเกตดูความนึกคิด
ของเรา ว่ามีเวรหรือไม่
จองเวรเขา ก็เหมือนจองเวรตัวเอง ทำให้จิตเศร้าหมอง

“เวรไม่ระงับด้วยการจองเวร เวรระงับด้วยการไม่จองเวร”
ถ้าเราต้องการความสุข เราต้องเป็นผู้ไม่มีเวร ให้ระงับความรู้สึก
นึกคิดจองเวรใครๆ ออกไปจากภายใจใจของเรา
ให้อภัย อโหสิกรรมแก่ทุกคน ทุกครั้งที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
ชำระความรู้สึก ความนึกคิดจองเวรให้หมดไปๆ เอาลมหายใจเป็น
กัลยาณมิตร หายใจเข้า หายใจออก สบายๆ แล้วพิจารณาต่อ

อัพยาปัชโฌโหมิ ขอให้ข้าพเจ้าจงเป็นผู้ไม่เบียดเบียนซึ่งกันและกัน
ตรวจตราภายในใจดูว่า มีความรู้สึกนึกคิดเบียดเบียนใครหรือไม่
ถ้าเขาคิดอย่างนี้กับเราพูดอย่างนี้กับเรา ทำอย่างนี้กับเรา เราจะ
รู้สึกอย่างไร ถ้าเราไม่สบายใจ เราก็ไม่น่าคิดกับเขาอย่างนั้น
รักษาใจ ไม่ให้หวั่นไหวต่ออารมณ์พอใจ และไม่พอใจที่มากระทบ

จงสร้างเกาะไว้เป็นที่พึ่งด้วย สติ สัมปชัญญะ ปัญญา สมาธิ
หิริโอตตัปปะ และขันติ คือความอดทน รวมกันไว้ที่ลมหายใจเข้า
ลมหายใจออก ไม่ให้เกิดทุกข์ ไม่ให้มีทุกข์ ไม่ให้เบียดเบียนใคร
ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

สุขีอัตตานัง ปะริหะรามิ จงรักษาตนอยู่เป็นสุขเถิด
ให้ระลึกถึงปีติสุขทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก เรื่อยๆๆๆ
รู้เฉพาะปีติสุข หายใจเข้า รู้เฉพาะปีติสุข หายใจออก
ให้หัวใจของเรานี้เต็มไปด้วยปีติสุข แล้วแผ่ความสุขออกไปๆๆๆ

การแผ่เมตตานี้ ต้องแผ่เมตตาให้แก่ตัวเองก่อน จนให้เกิดความสุขใจ
การจะให้เกิดความสุขใจนั้นต้องอาศัย สมาธิ และ ปัญญาสนับสนุนกัน
ด้วยอำนาจสมาธิ จิตสามารถยังปีติสุขให้เกิดได้ และต้องใช้ปัญญา
เห็นโทษของการคิดผิด คิดเบียดเบียน ฯลฯ ให้ระงับความคิด
เหล่านั้นด้วยสติปัญญาจึงจะเกิดเมตตาได้

การแผ่เมตตาให้สรรพสัตว์

สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ
ขอให้สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงเป็นผู้ถึงความสุข

เมื่อใจเรามีความสุข มีเมตตา มีความรู้สึกรักใคร่ ปรารถนาดี
มีความรักที่บริสุทธิ์ ให้แผ่ความรัก ความเมตตาที่บริสุทธิ์กระจาย
ออกไปจากหัวใจของเราไปยังสรรพสัตว์

วิธีแผ่เมตตา มี 2 วิธี คือ

วิธีที่ 1. อาศัยนิมิต วิธีที่ 2. ไม่มีนิมิต


อาศัยนิมิต เมื่อใจเราเต็มไปด้วยความสุขแล้ว ขณะที่ลมหายใจออก
ลมหายใจเข้า ให้นึกมโนภาพถึงคนที่เราตั้งใจจะแผ่เมตตาไปให้ไว้เฉพาะ
หน้าหรือไว้ที่หัวใจ นึกมโนภาพ ใบหน้ายิ้มแย้มแจ่มใส กำลังมีความสุข
ของเขาและส่งกระแสเมตตาจิตไป ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
เริ่มต้นจากคนใกล้ชิดตัวเราที่รักกันอยู่ก่อน เช่น พ่อ แม่ ลูก ภรรยา
เพื่อนรัก เพื่อนร่วมงาน เป็นต้น ต่อไปก็คนที่เป็นกลางๆ ไม่รัก ไม่ชัง
ค่อยๆ แผ่ไปๆ ทีละคน ทีละกลุ่ม

ต่อไปก็ถึงคนที่เรากำลังมีปัญหาอยู่กับเขา ตั้งใจ หวังดีต่อเขา
ปรารถนาดีต่อเขา ขอให้เขาจงมีความสุขเถิด ขอให้ไม่มีเวรซึ่งกัน
และกันเถิด ขอให้เราอย่าเบียดเบียนซึ่งกันและกันเลย

ไม่มีนิมิต เมื่อเราพร้อมแล้ว เรามีปีติและสุข ทุกลมหายใจออก
ลมหายใจเข้าแล้ว สัพเพสัตตา สุขิตาโหนตุ ขอสัตว์ทั้งหลายทั้งปวง
จงเป็นผู้ถึงความสุข พยายามทำความรู้สึกที่ดี
ความปรารถนาดี ความรักที่บริสุทธิ์ แผ่ออกไปรอบๆ ตัวเรา
ทุกลมหายใจเข้า ลมหายใจออก

พยายามนึกไปกว้างๆ ไกลๆ คลุมไปทั่วโลก ทั่วจักรวาล มีแต่ความสุข
ทุกลมหายใจออก - เข้า สัพเพ สัตตา สุขิตา โหนตุ
หายใจออกเต็มไปด้วยความสุข หายใจเข้าเต็มไปด้วยความสุข

กามวิตก พยาบาทวิตก หิงสาวิตก เป็นศัตรูต่อการเกิดเมตตาจิต
เมื่อใจเรามีเมตตา จิตใจก็จะสงบ มีความสุข ไม่ต้องคิดเรียกร้อง
ความเห็นอกเห็นใจ ความเข้าใจ ความรัก จากใครอีกต่อไป
พ่อแม่ไม่รักเรา ลูกหลานไม่รักเรา สามีภรรยาไม่รักเรา ปัญหาเหล่านี้ก็หมดไป
เพราะหัวใจของเราเต็มไปด้วยความสุขและความรัก เรามีแต่ให้ๆๆๆๆ

พรหมวิหาร 4

คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา เป็นธรรมประจำใจของผู้ใหญ่
เมตตา
คือ ความรักใคร่ ปรารถนาดีต่อผู้อื่นและตัวเอง
ใครที่อดอยากทุกข์ยากลำบาก ด้อยกว่าเรา เราอยากให้เขามีความสุข
ด้วยการให้ทาน ช่วยเหลือสงเคราะห์เขา เมื่อเขามีความสุขเราก็มี
ความสุขด้วย แม้แต่สัตว์เดรัจฉาน เช่น หมา แมว กำลังอดๆ
หิวข้าวอยู่ เราก็ให้อาหาร เขาก็มีความสุขในการกิน
เราก็มีความสุข แต่ก็ต้องระวังเหมือนกัน ถ้าเราตามใจลูกหลาน
เขาอาจพอใจ แต่เสียนิสัยก็เป็นได้ ต้องระวัง

พรหมวิหาร มี 4 ข้อ แต่ต้องเจริญเมตตาก่อน ไม่มีเมตตา กรุณามีไม่ได้
ไม่มีกรุณา มุทิตา อุเบกขาก็มีไม่ได้ การเจริญเมตตาง่ายกว่าข้ออื่นทุกข้อ

กรุณา คือ มีจิตใจสงสาร อยากให้เขาพ้นทุกข์ เป็นจิตที่สูงกว่า
และยากกว่าเมตตา เป็นความปรารถนาให้เขาพ้นทุกข์ รู้จักผิดถูก
เมื่อเขาทำผิดต้องชี้แจง แนะนำ สั่งสอน เพื่อให้เขาละความชั่ว
ความผิด แก้ไขตัวเอง อันนี้เราต้องมีจิตใจกล้าหาญ ถ้าใจดีแต่ใจ
อ่อนก็ทำไม่ได้ เพราะเราเจตนาดีแต่เขาอาจจะไม่พอใจ อาจจะ
กระทบกระเทือนใจเขา เขาอาจจะโกรธเรา
พ่อแม่ที่เมตตารักลูกก็มีแยะ แต่คนที่มีกรุณาก็น้อย เพราะต้องดุ
ต้องว่า ต้องสอน บางทีก็ต้องลงโทษด้วย นี่เป็นกรุณา

มุทิตา คือ พลอยยินดีเมื่อเขาได้ดีมีความสุข ทำจิตยากกว่า
กรุณาอีก เขาได้ดีกว่าเรา เราไม่อิจฉา ยินดีมีความสุขกับเขาด้วย
เช่น เพื่อนรุ่นเดียวกับเราเรียนเก่งกว่าเรา หล่อกว่าเรา รวยกว่าเรา
ตำแหน่งก็ได้สูงกว่าเรา ภรรยาของเขาสวยกว่าภรรยาเรา
เรารู้สึกว่าเขาดีกว่าเรา มีความสุขกว่าเรา อะไรๆ ก็ดีกว่าเราทุกอย่าง
(จริงๆ แล้วไม่แน่) แต่เรายินดีกับเขาด้วย อันนี้เป็นมุทิตาจิต

มุทิตาจิตนี้ละเอียด ทำยาก ขนาด พระ ครูบาอาจารย์ ที่มีเมตตา กรุณามาก
แต่มุทิตาจิตนี้ก็มียาก มุทิตาจิต เป็นจิตที่ไม่อิจฉา สูงกว่ากรุณา และทำยากกว่า

อุเบกขา วางเฉยนี้ยิ่งยากกว่ามุทิตาจิตอีก อะไรจะเกิด
ใครจะนินทาก็ไม่ให้หวั่นไหว รักษาใจเป็นกลาง เฉยๆ ต้องเข้าใจกฎแห่งกรรม
ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว ทุกสิ่งทุกอย่างเป็นไปตามกรรม ต้องเข้าใจเรื่อง
เหตุผลและเหตุปัจจัย ต้องมีปัญญา จึงจะเกิดอุเบกขาได้ เช่น
ลูกติดยาเสพติด พ่อแม่ก็ต้องทำใจอุเบกขา เพราะเราได้ทำดีที่สุดแล้ว

อุเบกขา ต้องประกอบด้วย เมตตา กรุณา มุทิตา
จึงจะเป็นอุเบกขาจริงๆ



(มีต่อ 14)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2010, 14:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


9. อสุภกรรมฐาน

คือ การพิจารณาร่างกาย ให้เห็นตามความเป็นจริงว่า ไม่สวย ไม่งาม

อสุภะ
แปลว่า ไม่สวย ไม่งาม
ท่านให้พิจารณาร่างกายของตัวเองว่าไม่สวยไม่งาม เป็นปฏิกูล
เป็นของน่าเกลียด เพื่อคลายกำหนัด เป็นวิราคะ และถอนอุปาทาน
ความยึดมั่นถือมั่นในร่างกาย ว่าเป็นเรา เป็นของเรา ออกเสียได้

สาธยาย

ถ้าใจยังไม่สงบเท่าที่ควร ให้สาธยายชื่อของอวัยวะต่างๆ ก่อน เช่น
สาธยายอาการ 32 ตามบทสวดมนต์ ทำวัตรเช้า เย็น สวดในใจ
ตามนั้น ซ้ำแล้วซ้ำอีก หลายๆ ครั้ง จนกว่าใจจะสงบลง หรือ

สาธยายกรรมฐาน 5 ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง
ถ้าชอบภาษาบาลีก็เป็น เกสา โลมา นขา ทันตา ตโจ
สาธยายกลับไปกลับมา อนุโลมปฏิโลม

เมื่อใจค่อยๆ สงบลง จิตใจต้องสงบพอสมควร
จึงเริ่มต้น กำหนดพิจารณา อวัยวะทีละส่วนๆ ต่อไป
แล้วแต่ชอบ ชื่ออวัยวะใดที่ทำให้เกิดความรู้สึกปฏิกูล ทำให้ใจ
สงบได้ ช่วยให้ได้สติ มีความพอใจ ก็เอาอย่างนั้น จะเอาอวัยวะ
หนึ่งเดียว หรือมากกว่านั้น สุดแล้วแต่ความพอใจของแต่ละบุคคล

วิธีกำหนดพิจารณาอสุภะ

อะยัง โข เมกาโย กายของเรานี้แล ภายในร่างกายของเรานี้
ประกอบด้วย อวัยวะต่างๆ เหมือนแกงเผ็ด ที่มีเนื้อไก่ กระดูกไก่
มันฝรั่ง ฯลฯ มีถุงพลาสติกห่อหุ้มไว้ บางครั้งเราก็พิจารณารวมๆ
ให้เกิดความรู้สึกว่าเป็นอสุภะ ไม่ต้องตั้งใจเจาะจงกำหนดลงไปที่
อวัยวะแต่ละส่วน ดึงจิตเข้าไปอยู่ในร่างกาย รักษาจิตสงบ ให้มีความ
รู้สึกว่าเป็นอสุภะ เกิดความสลดสังเวชในร่างกายของตนเอง

พิจารณาทีละอย่าง พิจารณาทีละอวัยวะ ส่วนว่าจะพิจารณา
นานเท่าไหร่นั้น ก็สุดแล้วแต่ความเหมาะสม ความพอใจของแต่ละคน
เริ่มต้นปฏิบัติใหม่ๆ มักจะเปลี่ยนอวัยวะเร็วหน่อย และ
การพิจารณานั้น จะพิจารณาตามลำดับหรือพิจารณาตามใจชอบก็ได้

เวลาพิจารณาอวัยวะส่วนใดก็พยายามตั้งจิตตั้งสติ กำหนดลงไปที่นั่น
โดยนึกในมโนภาพว่า อวัยวะนี้ตั้งอยู่ที่ไหน มีลักษณะอย่างไร
สีอะไร ขนาดเท่าไร พยายามเห็นในใจ เหมือนเห็นด้วยตา
แล้วผูกจิตเอาไว้ที่นั่นด้วย สติ สัมปชัญญะ ไม่ให้คิดออกไปข้างนอก

ใช้คำบริกรรม ควบคู่ไปด้วย เช่น เกสา เกสา เกสา ไม่ให้เร็วเกินไปหรือ
ช้าเกินไป ให้พอดีๆ ถ้าสงบพอแล้ว ก็ยกเลิกการใช้คำบริกรรม ก็ได้

พิจารณาตามลำดับ ที่ว่าตามลำดับ คือ พิจารณาอาการ 32
ตามลำดับที่เราสวดมนต์ ส่วนไหนไม่ชัดนึกไม่ออกว่าสีอะไร ลักษณะ
อย่างไรก็ให้ผ่านไป ที่พอจะนึกออก กำหนดได้ก็กำหนดไป
ในที่สุดเหลือไว้แต่ที่กำหนดได้ชัดจริงๆ

อารมณ์กรรมฐานที่ใช้พิจารณา มี
อสุภะ : ความไม่สวย - ไม่งาม
อนิจจัง : ความไม่เที่ยง
ทุกขัง : ความทนได้ยาก
อนัตตา : ไม่ใช่ตัวตน


จะพิจารณาอย่างใดอย่างหนึ่ง สองอย่าง หรือ ทั้งหมดก็ได้
สุดแล้วแต่ใจจะรู้สึก เช่น กำหนดพิจารณาเกสา เกสา เกสาๆๆๆ

อสุภะ :
กำหนดพิจารณา เกสา เป็น อสุภะ
พยายามเห็นความไม่สวยไม่งาม สกปรก เป็นปฏิกูลของผม
ถ้าพิจารณาแล้ว รู้สึกเฉยๆ ไม่เกิดอารมณ์อสุภะ ก็ให้ผ่านไป

อนิจจัง :
กำหนดพิจารณา ความไม่เที่ยงของ เกสา
ให้เห็นว่าผมนี้ก็เปลี่ยนแปลงไปเรื่อยๆ
ถ้าพิจารณาแล้วรู้สึกเฉยๆ ไม่เห็นอนิจจัง ก็ให้ผ่านไป

ทุกขัง :
กำหนดพิจารณา เกสา เป็น ทุกขัง
ทนได้ยาก ไม่คงทน เป็นทุกข์เพราะผมไม่สวย
เป็นทุกข์เพราะผมร่วง เป็นทุกข์เพราะผมมีโรค
ถ้าพิจารณาแล้ว ไม่รู้สึกเป็นทุกขัง ก็ให้ผ่านไป

อนัตตา :
กำหนดพิจารณา เกสา เป็น อนัตตา
มองเห็นชัดๆ ว่า เกสา คือ วัตถุชิ้นหนึ่ง
ไม่มีเกสา เราก็ไม่หายไปไหน ไม่มีก็ไม่เป็นไร
เอาเกสาปลอมที่ผลิตจากโรงงานมาเปลี่ยนก็ได้
มันไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเรา สักแต่ว่าธาตุดิน
พิจารณาจนได้ความรู้สึกว่าเป็นอนัตตา ซึ่งเป็นวิปัสสนาอารมณ์
เมื่อวิปัสสนาอารมณ์เกิดขึ้นในข้อไหนก็ให้พิจารณาข้อนั้นมากๆ

การพิจารณากาย

เมื่อสมาธิหนักแน่น จะเกิดการ “เห็นกาย”
“เห็นกาย”
นี้ เห็นได้ 2 แบบ คือ เห็นด้วยนิมิต และเห็นด้วยปัญญา

เห็นด้วยนิมิต เมื่อพิจารณาไปเรื่อยๆๆๆ จนใจนิ่งสงบ
ภาพอวัยวะจะปรากฏขึ้นมาเอง หรือ อาจจะเกิดนิมิตในช่วงที่ไม่ได้
พิจารณา ขณะที่กำลังเอนกายพักผ่อนบ้าง บางครั้งเป็นภาพนิ่ง
บางครั้งเป็นภาพต่อทีละภาพ คล้ายดูหนัง นั่งดูไปเรื่อยๆ ไม่ต้อง
คิดอะไร เมื่อออกจากสมาธิแล้ว ก็คิดว่าโอ้ อันนั้นชื่อว่าอะไร คิดขึ้นมา
บางครั้งเกิดความรู้สึกสนุก แปลกดี บางครั้งเกิดสลดสังเวชใจ
แล้วแต่เหตุปัจจัย ไม่เหมือนกัน

หลวงพ่อพระอาจารย์มั่นท่านสอนไว้ว่า นิมิตที่เห็นครั้งแรกนั่นแหละ
ถูกจริต ให้พิจารณาส่วนนั้นๆ เป็นหลัก แล้วพิจารณาอวัยวะ
ส่วนเดียว เช่น ถ้าเห็นกระดูก ก็พิจารณากระดูกๆๆ ยืน เดิน นั่ง นอน
ก็พิจารณาอยู่อย่างนั้น นี่เป็นวิธีหนึ่ง

เห็นด้วยปัญญา บางคนจิตสงบ แต่ไม่มีภาพนิมิตปรากฏให้เห็น
แต่จิตเป็นสมาธิดี สามารถเข้าใจด้วยปัญญาเห็นชอบว่า ร่างกาย
ของเราเป็นอสุภะ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตาจริงๆ รู้ด้วยปัญญา
ไม่ใช่รู้ด้วยสัญญา เริ่มต้นก็เอาสัญญามากำหนด บัดนี้เปลี่ยนเป็น
ปัญญา เกิดสลด สังเวช เห็นกายของใครก็ไม่หลง สามารถขจัด
กามราคะได้ดีขึ้น เช่นนี้เรียกว่า เห็นด้วยปัญญา

การพิจารณาสองระดับ

การใช้ความคิดพินิจพิเคราะห์ตามเหตุผลเป็นลักษณะ โยนิโสมนสิการ
เป็นการพิจารณาระดับธรรมดา
เมื่อจิตสงบจนจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว สังเกตดูสิ่งที่พิจารณาอยู่
เป็นการพิจารณาในสมาธิ
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ แล้วเห็นสิ่งนั้นๆ จริงๆ ให้ตั้งใจสังเกตดู
เข้าไปดูชัดๆ รอบๆ จนรู้แจ้ง เป็นความรู้แจ้งที่เกิดจากการเห็นจริง
เป็นการเห็นจริงที่เกิดขึ้นจากการเข้าไปดูจนถึงที่ เข้าไปดูด้วยจิตที่เป็นสมาธิ

เมื่อมีสมาธิแล้ว จะกำหนดพิจารณากายง่ายขึ้นหรือไม่ ?
ไม่ง่ายเสมอไป แล้วแต่จริต ต้องฝึกจนชิน จนติดเป็นนิสัย
เป็นโอปนยิโก พอกำหนดจิตปุ๊ป ก็สามารถน้อมเข้ามาหาตัวเองได้

ธรรมชาติของจิตชอบออกไปข้างนอกไกลๆ ถึงแม้ว่าจิตสงบเป็น
สมาธิแล้ว ถ้าไม่กำหนดพิจารณาร่างกายของตัวเอง จิตก็จะออกไป
ข้างนอกทันที ต้องฝึกให้กลับมากำหนดพิจารณาร่างกายของตนเอง
อันนี้เป็นงานชิ้นหนึ่งที่ต้องฝึก ต้องหัด ต้องภาวนา กระทำอยู่เสมอๆ

บางกรณี บางคน บางจริต ชอบใช้ความคิดพิจารณา ก็ยกเอาผม
มาพิจารณา ตั้งจิตตั้งสติที่ผม เดินกลับไปกลับมา ภาวนาว่า
ผม ผม ผม พิจารณา อสุภะ ความไม่สวย ไม่งาม
ถ้าพิจารณาอย่างไรๆ ก็ไม่เป็นอสุภะ ถ้าเช่นนั้นก็เปลี่ยน
ยกความเป็น อนิจจัง ไม่เที่ยง มาพิจารณาดู
ถ้าไม่รู้สึกว่าเป็นอนิจจัง ก็ให้ผ่านไป
แล้วเปลี่ยนไปพิจารณาให้เห็นว่าเป็นทุกข์ ทนยาก คือ ทุกขัง
ถ้าไม่รู้สึกอีกก็ให้ผ่านไป เปลี่ยนพิจารณา อนัตตา ไม่ใช่ตัว
ไม่ใช่ตน ถอนผมทิ้ง ทิ้งลงไปบนดินแล้วเหยียบไปเหยียบมา
เหมือนเหยียบดิน พิจารณาให้เห็นว่าเป็นธาตุดิน
อาศัยมโนภาพนึกว่าไม่มีผมก็ไม่เป็นไร ถอนทิ้งๆ ลงไปบนทางเดิน
เหยียบไปเหยียบมา ให้เกิดความรู้สึกว่าไม่ใช่เรา ไม่ใช่ของเราจริงๆ เป็นอนัตตา

โลมา คือ ขน ก็ถอนทิ้งลงไปบนทางเดิน แล้วเหยียบไปเหยียบมา
เหมือนเหยียบดิน พิจารณาเป็นธาตุดิน เล็บ ฟัน หนัง ก็ทำ
เหมือนกัน ผ่านไปแล้ว 5 อย่าง อาการ 32 ลบ 5 เหลือ 27

32 - 5 = 27 เมื่อไม่มี หนัง ฟัน เล็บ ขน ผม แล้ว ลองคิดดูว่า
ร่างกายของเราจะมีลักษณะเป็นอย่างไร ก็นึกเอา..... เริ่มจะเป็น
ผีแล้ว ถ้าใครเห็นขณะนี้ ก็วิ่งหนีกันทั้งนั้น ถึงแม้ว่าคนที่รักเรา
มากที่สุด ก็คงจะวิ่งหนีด้วย แล้วตะโกนว่า ผีๆๆๆ

ภาวนาต่อไปพิจารณาทีละอย่างๆ ให้หลุดออกจากร่างกายของเรา
น้ำดี น้ำเสลด น้ำเหลือง น้ำเลือด เมื่อธาตุน้ำตกลงบนทางเดินแล้ว
ทางเดินจะเปลี่ยนเป็นแฉะๆ หน่อยๆ ธาตุดิน ธาตุน้ำ
ให้หลุดออกจากร่างกาย ให้เหลือโครงกระดูกอย่างเดียว ให้
เหลืออาการเดียว คือ อัฐิ กระดูก กายคือกระดูก กระดูกคือกาย
โครงกระดูกเดิน โครงกระดูกนั่ง โครงกระดูกยืน โครงกระดูกนอน
โครงกระดูกพูด โครงกระดูกเคี้ยวอาหาร

ลมพัดไปพัดมา คือ ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก
มีความรู้สึก มีความคิด คือ ธาตุรู้
พิจารณาเห็นว่า เป็นอสุภะ สักแต่ว่า ธาตุ สักแต่ว่าธาตุดิน
สักแต่ว่าธาตุลม สักแต่ว่ารู้สึก สักแต่ว่าคิด และสักแต่ว่ารู้
เดินไปเดินมา พิจารณาอยู่อย่างนั้น
ดำรงสติให้มั่นอยู่ระหว่างจิตกับกาย หาความเป็น
ตัวตน สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ได้ เป็นอนัตตา


ลำดับการกำหนดพิจารณากาย

ขั้นสติ - ศีล :
เอาสัญญามาฝึกสติ โดยการนึกมโนภาพ เช่น
นึกถึง “กระดูกนิ้วมือ” แล้วผูกจิตไว้ที่นั่น
เป็นการฝึกจิตโดยอาศัยอดีตสัญญา

ขั้นสมาธิ :
เมื่อจิตเริ่มสงบ ความคิดต่างๆ ไม่มี จิตตั้งมั่นที่กระดูก
นิ้วมือ สติหนักแน่นติดต่อกัน ก็กลายเป็นสมาธิ

ขั้นปัญญา :
เมื่อจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิแล้ว ให้พิจารณากระดูกนิ้วมือ
นั้นต่อไป จนเห็นด้วยปัญญาว่าเป็น อนิจจัง ทุกขัง
อนัตตาจริงๆ จนปล่อยวางได้
เมื่อพิจารณากระดูกนิ้วมือ คือกายแล้ว ก็ให้พิจารณาจิต
ต่อไปจนเห็นว่า จิตก็สักแต่ว่าจิต กายก็สักแต่ว่ากาย

แล้วให้ดำรงสติไว้ระหว่างกายกับจิต


(มีต่อ 15)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2010, 14:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


10. มรณัสสติ

ท่านให้เจริญมรณัสสติ เพื่อความไม่ประมาท เป็นการเร่งเร้า
ให้ทำความดี ให้มีความขยันหมั่นเพียร ละความชั่ว เร่งทำความดี

เราต้องเตือนสติไว้ว่า
การพิจารณาความตาย ถ้าปราศจากปัญญาอาจจะเกิดโทษ
ทำให้กลัวตายมากขึ้น หรืออาจเกิดวิภวตัณหาในชีวิตปัจจุบัน
เกิดความเกียจคร้านในชีวิต ไม่มีจิตใจที่จะต่อสู้กับปัญหาชีวิต

การพิจารณาความตายจนเกิดความสลดสังเวช อยากพ้นทุกข์
แล้วพิจารณาอริยสัจ 4 และเจริญอานาปานสติต่อไป เช่นนี้เป็นการ
พิจารณามรณัสสติที่ถูกต้อง ถึงแม้จะเกิดปัญหาหนักๆ ในชีวิต
ก็สามารถตั้งมั่นอยู่ในความดีความถูกต้องได้

ความตาย คือการพลัดพรากจากกัน เป็นความเสื่อมไป
การแตกสลายไปแห่งสังขาร การพิจารณาความตาย ก็เพื่อให้เรา
ปล่อยวางทุกสิ่งทุกอย่าง กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าๆๆ
ปล่อยวางอดีตอนาคต ปล่อยวางสิ่งอื่นคนอื่น
ปล่อยวางความรู้สึกนึกคิด ความจำต่างๆ ทุกอย่าง
รวมทั้งร่างกาย และจิตใจของตัวเองด้วย


สิ่งใดที่ปรากฏอยู่ อย่ายึด ปล่อยไป
ทำความรู้สึกน้อมเข้ามาๆ ทุกครั้งที่ลมหายใจออก น้อมเข้ามา
ลมหายใจเข้า น้อมเข้ามาๆๆ

วิธีกำหนดความตาย
พยายามกำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า สงบๆ ก่อน
ยกคาถาขึ้นในใจ และกำหนดพิจารณาในเนื้อความตามบทสวดมนต์
ด้วยใจสงบ พร้อมๆ กับหายใจออก หายใจเข้าอยู่อย่างนั้น

มะระณะปะริโยสานัง เม ชีวิตัง
ชีวิตของเรามีความตายเป็นที่สุดรอบ

ไม่ต้องรีบให้คำตอบ ไม่ต้องให้เหตุผล
เพียงแต่กำหนดรู้แล้วหายใจออก หายใจเข้า
รักษาใจสงบนิ่ง ให้เกิดความสลดสังเวช จนเป็นสมาธิ
เมื่อเกิดสมาธิแล้ว คำตอบก็จะเกิดขึ้นเอง

เพื่อเข้าใจความตาย เราต้องเข้าใจว่า ชีวิตคืออะไร
เพื่อเข้าใจว่าชีวิตคืออะไร เราต้องเข้าใจตามความเป็นจริงว่า
เราคืออะไร โดยการศึกษาและปฏิบัติตามหลักสติปัฏฐาน 4
ในอานาปานสติ ตามที่เรากำลังปฏิบัติอยู่นี่แหละ

มรณัสสติภาวนา เป็นการเจริญสมถกรรมฐานและ
วิปัสสนากรรมฐาน
ทั้งเบื้องต้น ท่ามกลาง และเบื้องปลาย

เริ่มตั้งแต่
ใจเป็นศีล ใจสงบ ไม่ยินดี ยินร้าย
ใจเป็นสมาธิ สงบโดยธรรมชาติ เข้าสู่สมาธิ จิตมั่นคง

จนกระทั่งสามารถมองเห็นสภาวธรรมตามความเป็นจริงว่า
สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น สิ่งนั้นย่อมดับไปเป็นธรรมดา
เห็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ในสังขาร
เข้าสู่ วิสังขาร ในที่สุด



(มีต่อ 16)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 03 ส.ค. 2010, 15:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อมทุกข์ - อมสุข

ปกติคนเรานี้อมทุกข์ได้เก่งมากจริงๆ แต่อมสุขไม่เป็นเลย
ความสุข ความพอใจ ที่เกิดขึ้นนี้ เราต้องฝึกที่จะรักษาเอาไว้
ปกติแล้วเรามักจะชำนาญในการเก็บความทุกข์มากกว่าความสุข
เรียกว่าเก่งโดยไม่ต้องปฏิบัติ
อะไรที่ไม่ถูกใจ อะไรที่เป็นทุกข์
ก็มักจะเก็บไว้ รักษาไว้ เป็นวัน เป็นเดือน เป็นปี เป็นชาติ
บางครั้งก็ผูกอาฆาต พยาบาทได้นานๆ หลายภพหลายชาติ
อย่างนี้เรียกว่า เป็นคนเก่งในการอมทุกข์

แต่ตรงกันข้าม เราไม่เก่งในการอมสุข อมทุกข์เก่ง แต่อมสุข
ไม่เก่ง ไม่สมดุล
ถ้าเปรียบเป็นขาก็เหมือนคนมีความยาวของขา
ไม่เท่ากัน เป็นคนพิการ ถ้าเราเก่งในการอมทุกข์ได้ถึงขนาดนี้
เราก็ต้องฝึกให้เก่งในการอมสุขด้วย คอยตามสังเกตดูก็ได้ มีใครสัก
คนหนึ่งยกย่อง สรรเสริญเราแค่คำเดียว เรารู้สึกมีความสุขมาก
แต่ความสุขนี้ไม่นานก็หายไปเหมือนน้ำแข็งก้อนเล็กๆ ในฤดูร้อน
ไม่นานก็ละลายหมดไป

ตรงกันข้ามถ้ามีใครนินทาเราสักคำเดียว เราก็รู้สึกทุกข์
เจ็บใจตลอดไป หลายสิบปีอาจจะไม่ลืมเลยก็ได้
เหมือนก้อนหินใหญ่ๆ ก้อนหนึ่งอยู่ในหัวใจตลอดไป
ความสุขเดี๋ยวเดียวก็หายไป แต่ความทุกข์ตกค้าง
อยู่ในใจเรานานแสนนาน

ความจริงสิ่งที่ทำให้เรามีความสุขก็มีมาก
เห็นรูปสวย ได้ยินเสียงไพเราะ ได้ดมกลิ่นหอม ได้ลิ้มรสอร่อย
ได้สัมผัสที่ดี ใจคิดถึงเรื่องดีๆ ก็ได้รับความสุขมากมายตลอดเวลา
แต่ความรู้สึกสุขก็อยู่ไม่นาน ผ่านไปๆ หมด
เรื่องที่ทำให้เรามีความสุข มีมากกว่าเรื่องทุกข์หลายร้อยเท่า
แต่เรามีความรู้สึกว่าเรามีความทุกข์มาก
เราสะสมทุกข์ไว้เต็มอกเต็มหัวใจของเรา
เราจึงเครียดเป็นทุกข์มาก สังคมจึงมีคนเครียดมากขึ้นๆ

เป้าหมายของการปฏิบัติก็คือ พยายามทำความทุกข์ที่เหมือน
ก้อนหินใหญ่ๆ ที่อยู่ในหัวใจของเรา ให้เป็นน้ำแข็งก้อนเล็ก
ในฤดูร้อน ไม่นานก็หายไป

ฝึกอมสุข

อานาปานสติขั้นที่ 5 - 6 - 7 เรายกเอาปีติและสุขมาเป็นบทศึกษา

เราทำใจของเราให้มีปีติและสุข ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ทำใจของเราให้เต็มไปด้วยปีติและสุข
เหมือนกับอาบปีติและสุขทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
คือฝึกอมสุขนั่นเอง เมื่อเราอมปีติ - สุขได้มากขึ้นเท่าไร
อมทุกข์ก็จะค่อยๆ จางไป ใจเราก็จะเข้าสู่สมดุลที่ดี

เมื่อใจเราเข้าสู่สมดุลที่ดีแล้ว เราก็ไม่ยึดมั่นถือมั่นในเวทนา
ความสุขเกิดขึ้นก็ให้ดับไป ความทุกข์เกิดขึ้นก็ให้ดับไป
เห็นธรรมชาติของเวทนา

เห็นว่าทั้งสุขและทุกข์ เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป
เห็นความสลายไป คือ ความดับๆๆๆ ของเวทนา
เมื่อเราทำได้อย่างนี้ เราก็ไม่อมทุกข์ ไม่ทุกข์ ไม่เครียด
ไม่เหนื่อย มีแต่เบาสบาย มีแต่สันติสุข

ยึดความสุขเหมือนไส้เดือนกลัวดินหมด

ทีนี้พอเรามีความสุข เราก็ยึดความสุขอีก กลัวความสุขจะหมดไป
เหมือนไส้เดือนกลัวดินจะหมด
ไส้เดือนก็กินดินเป็นอาหารทุกวัน เขาก็กลัวดินหมด
ใจของเราก็เป็นอย่างนั้น พอจะมีความสุขบ้าง ก็ยึดเอาความสุขนั้น
กลัวว่าความสุขนั้นจะหมดไปแล้วจะไม่มีอีกในอนาคต

พอยึดก็เป็นทุกข์ ความสุขก็เลยกลายเป็นความทุกข์ทันที
เช่น บุรุษคนหนึ่งเห็นหญิงสาวสวยมากคนหนึ่งในที่ทำงานเดียวกัน
ก็มีความสุขมาก เหมือนคนที่เห็นดอกไม้สวย เห็นธรรมชาติที่สวย
ก็มีความสุข ถ้าเราไม่ยึด ก็จะเป็นความสุขชั่วขณะ เป็นปกติ
ต่อจากนั้นก็เห็นรูปสวยๆ ต่อๆ ไป หลายสิ่งหลายอย่างก็ผ่าน
สายตาของเราไปเรื่อยๆ เราก็สบายตา สบายใจ
เราอาจจะมีความสุขมากๆ ในชีวิตก็ได้

แต่ถ้าเรายึดในความสุข เกิดยินดี เกิดตัณหาอยากได้
เป็นของเรา บุรุษคนนั้นก็ดิ้นรนหาทางทำความรู้จักกับหญิงสาวคนนั้น
หาโทรศัพท์ หาที่อยู่ อยากจะสัมผัส อยากได้เป็นภรรยาของตน
เขาอาจจะมีสามีแล้ว ตัวเองก็มีภรรยาแล้ว ทุกข์ก็เกิดขึ้นทันที

ทันทีที่ยึด ความสุขก็กลายเป็นความทุกข์ทันที
ทีนี้สมมุติว่าเขาเป็นโสด เราก็เป็นโสด แต่เขาไม่สนใจเรา ก็เป็น
ทุกข์อีก หรือต่างคนต่างเป็นโสด ได้แต่งงานกัน ก็มีความสุข แต่ไม่ช้า
ก็เกิดความหวงหึง กลัวเขาจะไปมีแฟนใหม่ เกิดความทุกข์อีก
ความสุขก็กลายเป็นทุกข์ได้อย่างนี้

หลวงพ่อชาก็เปรียบเทียบว่า การยึดในความสุขก็เหมือน
คนจับงูเห่า เมื่อเราจับหางงูเห่า เราก็มีความรู้สึกที่ดี
แต่ไม่นานก็ถูกงูเห่ากัดแน่นอน
ท่านจึงสอนว่า ความสุขก็อย่ายึด ความทุกข์ก็อย่ายึด
ชอบไม่ชอบอย่ายึดมั่นถือมั่น อย่ายินดี อย่ายินร้าย

อานาปานสติขั้นที่ 5 - 6 - 7 คือการศึกษาเวทนา

โดยยกเอาปีติสุขมาเป็นบทศึกษา
ถ้าเราศึกษาและฝึกจนชำนาญแล้ว
เราก็จะเข้าใจเวทนาทุกอย่างตามความเป็นจริง
และสามารถเอาชนะเวทนาทุกชนิดทั้งหลายทั้งปวง


อ้างอิง

1. หัวข้อธรรมะในหนังสือชุดอานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑, ๒, ๓ ส่วนมากมาจากหนังสือพจนานุกรมพุทธศาสตร์ ฉบับประมวลธรรมของพระเทพเวที (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ปัจจุบันคือ ท่านเจ้าคุณพระพรหมคุณาภรณ์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต)

2. เรื่องราวประกอบหลายเรื่องได้มาจากหนังสือชุด พระธัมมปทัฏฐกถาแปล ของมหามกุฎราชวิทยาลัย


>>>>> จบ >>>>>

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:50 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

ประวัติและปฏิปทาพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=20086

รวมคำสอนพระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=7&t=38514

วัดป่าสุนันทวนาราม-มูลนิธิมายา โคตมี และแผนที่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=24&t=20076

* * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * * *

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 20 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 9 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร