วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:58  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2010, 06:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๒
อานาปานสติ ขั้นที่ ๑-๘
โดย พระอาจารย์มิตซูโอะ คเวสโก


วัดป่าสุนันทวนาราม
บ้านท่าเตียน ต.ไทรโยค อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี



คำนำ

อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข เล่มที่ 1, 2 และ 3

การจัดทำหนังสืออานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข เต็มชุดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่าย นอกจากจะเป็นหัวข้อใหญ่และละเอียดอ่อนแล้ว ยังมีเรื่องรูปเล่ม รูปแบบ การแบ่งเล่ม จะเอาเฉพาะเรื่องการปฏิบัติ 16 ขั้นล้วนๆ หรือจะเอาธรรมะและเรื่องราวส่วนประกอบอื่นๆ รวมไว้ด้วย ทำอย่างไรจึงจะไม่ยาวเกินไป ที่สำคัญที่สุดคือต้องเป็นสำนวนและลีลาการสอนของท่านพระอาจารย์ล้วนๆ ทั้งหมด ในที่สุดได้ตัดสินใจว่าจะแบ่งเป็น 3 เล่ม ดังนี้

เล่มที่ 1 อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๑ ชีวิตทั้งหมดให้อยู่ด้วยอานาปานสติ

เล่มที่ 2 อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๒ ว่าด้วยอานาปานสติขั้นที่ 1-8 คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน โดยมีเรื่องราวประกอบตามสมควร

เล่มที่ 3 อานาปานสติ : วิถีแห่งความสุข ๓ ว่าด้วยอานาปานสติขั้นที่ 9-16 คือ จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน พร้อมธรรมะและเรื่องราวประกอบ

หวังว่าหนังสือชุดนี้ จะเป็นคู่มือสำหรับผู้ปฏิบัติได้ดีพอสมควร ขออนุโมทนากับทุกๆ ท่านที่มีส่วนช่วย รวมทั้งผู้ที่ช่วยอนุเคราะห์การจัดพิมพ์ด้วย

ขอกราบขอบพระคุณท่านพระอาจารย์ที่อนุญาตให้จัดทำ ได้ช่วยตรวจแก้และแนะนำในเรื่องต่างๆ และเหนือสิ่งอื่นใด คือกราบขอบพระคุณสำหรับธรรมะที่ท่านพระอาจารย์ได้เมตตามอบให้พวกเรา เพื่อเป็นแนวทางดำเนินชีวิตชอบต่อไป


มูลนิธิมายา โคตมี
กรกฎาคม 2547

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2010, 06:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สารบัญ

อานาปานสติสูตร
โพชฌงค์ 7 วิชชา 8 วิมุตติ 5
สติปัฏฐาน 4 ในอานาปานสติ
อานาปานสติ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อานาปานสติ ขั้นที่ 1 กำหนดรู้ลมหายใจยาว

ลมหายใจเริ่มต้นที่ไหน สุดลมที่ไหน
เอาสติผูกจิตไว้กับลมหายใจ
อานาปานสติ ขั้นที่ 2 กำหนดรู้ลมหายใจสั้น
อานาปานสติ ขั้นที่ 3 รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง

ฟุ้งซ่าน สติ
จิตควรแก่การงาน
อานาปานสติ ขั้นที่ 4 ระงับกายสังขาร
นิมิต สมาธิ
ฌาน

เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
อานาปานสติ ขั้นที่ 5 รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ

ปีติ 5
วิธีกำหนดปีติ - อาบปีติ
อานาปานสติ ขั้นที่ 6 รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข
อานาปานสติ ขั้นที่ 7 รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร

จิตตสังขาร
อานาปานสติ ขั้นที่ 8 ทำจิตตสังขารให้สงบระงับ

ภาคผนวก

ธรรมะเปรียบเทียบและปกิณณกะ

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2010, 06:47 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติสูตร

อานาปานะสะติ ภิกขะเว ภาวิตา พะหุลีกะตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

อานาปานะสะติ ภิกขะเว ภาวิตา พะหุลีกะตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
จัตตาโร สะติปัฏฐาเน ปะริปูเรนติ
ย่อมทำให้สติปัฏฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์

จัตตาโร สะติปัฏฐานา ภาวิตา พะหุลีกะตา
สติปัฏฐานทั้งสี่อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
โพชฌังเค ปะริปูเรนติ
ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์

สัตตะ โพชฌังคา ภาวิตา พะหุลีกะตา
โพชฌงค์ทั้งเจ็ดอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
วิชชา วิมุตติง ปะริปูเรนติ
ย่อมทำวิชชาและวิมุติให้บริบูรณ์

กะถัง ภาวิตา จะ ภิกขะเว อานาปานสะติ, กะถัง พะหุลีกะตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ก็อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้วอย่างไรเล่า
มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา
จึงมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่

อิธะ ภิกขะเว ภิกขุ
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้
อะรัญญะคะโต วา
ไปแล้วสู่ป่าก็ตาม
รุกขะมูละคะโต วา
ไปแล้วสู่โคนไม้ก็ตาม
สุญญาคาระคะโต วา
ไปแล้วสู่เรือนว่างก็ตาม
นิสีทะติ ปัลลังกัง อาภุชิตวา
นั่งคู้ขาเข้ามาโดยรอบแล้ว
อุชุง กายัง ปะณิธายะ, ปะริมุขัง สะติง อุปัฏฐะเปตวา
ตั้งกายตรง ดำรงสติมั่น
โส สะโต วะ อัสสะสะติ, สะโต ปัสสะสะติ
ภิกษุนั้น เป็นผู้มีสติอยู่นั้นเทียว หายใจออก มีสติอยู่หายใจเข้า

(1) ทีฆัง วา อัสสะสันโต, ทีฆัง อัสสะสามีติ ปะชานาติ
ภิกษุนั้น เมื่อหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจออกยาว ดังนี้
ทีฆัง วา ปัสสะสันโต, ทีฆัง ปัสสะสามีติ ปะชานาติ
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจเข้ายาว ดังนี้

(2) รัสสัง วา อัสสะสันโต, รัสสัง อัสสะสามีติ ปะชานาติ
ภิกษุนั้น เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจออกสั้น ดังนี้
รัสสัง วา ปัสสะสันโต, รัสสัง ปัสสะสามีติ ปะชานาติ
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจเข้าสั้น ดังนี้

(3) สัพพะกายะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง
จักหายใจออก ดังนี้
สัพพะกายะปฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง
จักหายใจเข้า ดังนี้

(4) ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่
จักหายใจออก ดังนี้
ปัสสัมภะยัง กายะสังขารัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่
จักหายใจเข้า ดังนี้

(จบหมวดกาย)

(5) ปีติปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ
จักหายใจออก ดังนี้
ปีติปะฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จักหายใจเข้า ดังนี้

(6) สุขะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข
จักหายใจออก ดังนี้
สุขะปะฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจเข้า ดังนี้

(7) จิตตะสังขาระปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร
จักหายใจออก ดังนี้
จิตตะสังขาระปะฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร
จักหายใจเข้า ดังนี้

(8) ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่
จักหายใจออก ดังนี้
ปัสสัมภะยัง จิตตะสังขารัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้

(จบหมวดเวทนา)

(9) จิตตะปะฏิสังเวที อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต
จักหายใจออก ดังนี้
จิตตะปะฏิสังเวที ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิต จักหายใจเข้า ดังนี้

(10) อะภิปปะโมทะยัง จิตตัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่
จักหายใจออก ดังนี้
อะภิปปะโมทะยัง จิตตัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปราโมทย์ยิ่งอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้

(11) สะมาทะหัง จิตตัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่
จักหายใจออก ดังนี้
สะมาทะหัง จิตตัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ตั้งมั่นอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้

(12) วิโมจะยัง จิตตัง อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่
จักหายใจออก ดังนี้
วิโมจะยัง จิตตัง ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ทำจิตให้ปล่อยอยู่ จักหายใจเข้า ดังนี้

(จบหมวดจิต)

(13) อะนิจจานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น
ซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้
อะนิจจานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น
ซึ่งความไม่เที่ยงอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้

(14) วิราคานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น
ซึ่งความจางคลายอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้
วิราคานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่งความจางคลาย
อยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้

(15) นิโรธานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น
ซึ่งความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้
นิโรธานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็นซึ่ง
ความดับไม่เหลืออยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้

(16) ปะฏินิสสัคคานุปัสสี อัสสะสิสสามีติ สิกขะติ
ภิกษุนั้น ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น
ซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจออก ดังนี้
ปะฏินิสสัคคานุปัสสี ปัสสะสิสสามีติ สิกขะติฯ
ย่อมทำในบทศึกษาว่า เราเป็นผู้ตามเห็น
ซึ่งความสลัดคืนอยู่เป็นประจำ จักหายใจเข้า ดังนี้

(จบหมวดธรรม)

เอวัง ภาวิตา โข ภิกขะเว อานาปานสติ, เอวัง พะหุลีกะตา
ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย อานาปานสติอันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว อย่างนี้แล
มะหัปผะลา โหติ มะหานิสังสา
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
อิติฯ
ด้วยประการฉะนี้แล


(มีต่อ 1)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2010, 06:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ อันบุคคลเจริญทำให้มากแล้วฯ
ย่อมทำสติปัฏฐาน 4 ให้บริบูรณ์
ย่อมทำโพชฌงค์ทั้งเจ็ดให้บริบูรณ์ฯ
ย่อมทำวิชชา และวิมุตติให้บริบูรณ์


โพชฌงค์ 7

โพชฌงค์ 7 คือ ธรรมะที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ประกอบด้วย
1. สติสัมโพชฌงค์ คือ ความระลึกได้
2. ธัมมวิจยะสัมโพชฌงค์ คือ การพิจารณาธรรม
3. วิริยะสัมโพชฌงค์ คือ ความเพียร
4. ปีติสัมโพชฌงค์ คือ ความอิ่มเอิบใจ
5. ปัสสัทธิสัมโพชฌงค์ คือ ความสงบกายสงบใจ
6. สมาธิสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจตั้งมั่น
7. อุเบกขาสัมโพชฌงค์ คือ ความมีใจเป็นกลาง เพราะเห็นตามความเป็นจริง

วิชชา 8

วิชชา 8 คือ ความรู้แจ้ง ความรู้วิเศษ ได้แก่
1. วิปัสสนาญาณ คือ ญาณในวิปัสสนา
2. มโนมยิทธิ คือ ฤทธิ์ทางใจ
3. อิทธิวิชา คือ แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
4. ทิพยโสต คือ หูทิพย์
5. เจโตปริยญาณ คือ กำหนดรู้ใจผู้อื่น
6. ปุพเพนิวาสานุสติญาณ คือ ระลึกชาติได้
7. ทิพยจักขุญาณ คือ ตาทิพย์
8. อาสวักขยญาณ คือ ความรู้ที่ทำให้สิ้นอาสวะ

วิมุตติ 5

วิมุตติ 5 คือ ความหลุดพ้นจากกิเลส หรือความดับกิเลส คือ
นิโรธ 5 หรือวิราคะ 5 ได้แก่
1. วิกขัมภนนิโรธ ดับกิเลสด้วยการข่มไว้ด้วยอำนาจสมาธิและฌาน
2. ตทังคนิโรธ ดับกิเลสชั่วคราวด้วยธรรมที่เป็นคู่ปรับ เช่น
เจริญเมตตาเพื่อระงับความโกรธ อารมณ์อสุภะระงับราคะ
3. สมุจเฉทนิโรธ ดับกิเลสโดยเด็ดขาด คือ โลกุตตรมรรค
4. ปฏิปัสสัทธินิโรธ ดับอย่างสงบระงับเพราะกิเลสหมดสิ้นแล้ว คือ โลกุตตรผล
5. นิสสรณนิโรธ ดับเพราะสลัดกิเลสออกได้อย่างเด็ดขาดแล้ว คือ
อมตธาตุ (คือ นิพพาน) จึงดำรงอยู่ในภาวะนั้นตลอดไป


(มีต่อ 2)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2010, 06:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


สติปัฏฐาน 4 ในอานาปานสติ *
เพื่อศึกษากายกับใจของตัวเอง


พระพุทธเจ้าตรัสไว้ในพระสูตรว่า
อานาปานสติอันบุคคลเจริญทำให้มากแล้ว
ย่อมมีผลใหญ่ มีอานิสงส์ใหญ่
ย่อมทำสติปัฏฐานทั้งสี่ให้บริบูรณ์

สติปัฏฐาน 4
คือ การตั้งสติพิจารณาสิ่งทั้งหลาย มี กาย เวทนา
จิตและธรรม ซึ่งก็คือ ตัวเราเองนี่แหละ ที่เรามาศึกษาปฏิบัติธรรม
ทั้งหมดนี้ ก็เพื่อศึกษากายกับใจของตัวเราเอง เพื่อที่จะเข้าใจ
กายกับใจตามความเป็นจริง

กาย เป็นวัตถุที่มีน้ำหนัก มีปริมาตร เป็นตัวเราที่เดินไปเดินมา
ประกอบไปด้วยอาการ 32 ที่เป็นอวัยวะต่างๆ รวมกันอยู่
ในร่างกายที่กว้างศอก ยาววา หนาคืบนี้

วัตถุที่เป็นของแข็ง เช่น ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เนื้อ กระดูก
เรียกว่า ธาตุดิน
สิ่งที่เป็นน้ำเหลวๆ เช่น เลือด ปัสสาวะ น้ำเหลือง น้ำหนอง
เรียกว่า ธาตุน้ำ
ลมหายใจ ที่หล่อเลี้ยงร่างกายและลมที่พัดไปพัดมาในกายเรา
เรียกว่า ธาตุลม
อุณหภูมิร้อน เย็น หรือพลังงานในร่างกาย เรียกว่า ธาตุไฟ

สรุปแล้วตัวเรานี้ก็มี กายคือ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
แล้วก็มีความรู้สึกนึกคิดต่างๆ ที่เรียกว่า ใจ
พูดง่ายๆ ว่า ตัวเราก็มี กาย กับ ใจ
หรือ ถ้าพูดตามหลักสติปัฏฐาน 4 ก็คือ กาย เวทนา จิต ธรรม

ถ้าเราเข้าใจความจริงว่า กายนี้ประกอบด้วย ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ
ไม่ใช่สัตว์ บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา
เป็นเพียงวัตถุก้อนหนึ่งเท่านั้น ความทุกข์ของเรา ก็จะค่อยๆ ดับไป
กิเลสของเราก็จะค่อยๆ หมดไป

การพิจารณากายในอานาปานสตินั้น เราเอาธาตุลมมาพิจารณาเป็น
กาย คือ เอาลมหายใจออก ลมหายใจเข้า มาเป็นหัวข้อในการพิจารณา
เมื่อเราเข้าใจลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ตามความเป็นจริงแล้ว
เราก็เข้าใจ ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ที่ประกอบเป็นกายนี้ทั้งหมดด้วย

หลวงพ่อชา
ให้อุบายเปรียบเทียบว่า
ถ้าเอาน้ำร้อนใส่แก้วทิ้งไว้ ไม่นานมันก็เย็น ก็เลยมีคนคิดทำกระติก
น้ำร้อนขึ้นมา เก็บน้ำร้อนไว้ได้นานๆ น้ำไม่เย็น สำหรับคนที่ไม่เคย
เห็นก็คงจะเป็นสิ่งที่แปลก แต่ถ้าเราเข้าใจกระติกน้ำร้อนใบเดียว
เราก็เข้าใจกระติกน้ำร้อนทั้งหมด ไม่ว่ากี่ร้อยใบก็ไม่แปลกอะไร

กายของเรานี้ก็เหมือนกัน เมื่อพูดถึงอาการ 32 เราไม่ต้องพิจารณา
ทั้งหมดก็ได้ เอา เส้นผมเส้นเดียว มากำหนดพิจารณาให้เห็นชัด
ว่า นี่ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่บุคคล ไม่ใช่เรา ไม่ใช่เขา
ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา
ถ้าเราเข้าใจความจริงของเส้นผมเส้นเดียว
เราก็เข้าใจร่างกายทั้งหมด


ดังนั้น เมื่อเราพูดถึงการเจริญสติปัฏฐาน 4 ด้วยอานาปานสติแล้ว
ย่อมหมายความว่า เราศึกษากายลม
เพื่อที่จะรู้จักและเข้าใจกายทั้งปวงนั่นเอง

กายกับใจ เปรียบเทียบเหมือนรถกับคนขับรถ
รถ ประกอบด้วยธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ เหมือนกัน

ส่วนประกอบของรถมีทั้งส่วนที่มีลักษณะเป็นของแข็ง คือ ธาตุดิน
ลักษณะที่เป็นของเหลว คือ ธาตุน้ำ ลักษณะเคลื่อนไปเคลื่อนมา
คือธาตุลม และลักษณะให้อุณหภูมิร้อนเย็น คือ ธาตุไฟ

เมื่อธาตุทั้งหมดนี้รวมกันเข้าสมมุติเป็นรถ
เป็นเครื่องยนต์ เมื่อมีคนเข้าไปนั่งขับ
รถก็วิ่งไปมาบนถนน เหมือนสัตว์ ที่วิ่งไปวิ่งมา

และเมื่อมีการพัฒนาให้มีปีกก็บินได้
เหมือนนก เรียกว่า เครื่องบิน
ลงน้ำได้ เหมือนเป็ด เรียกว่าเรือ
และถ้าลงไปอยู่ใต้น้ำ เหมือนปลา ก็เรียกว่า เรือดำน้ำ

โดยธรรมชาติแล้ว รถทั้งหลาย ก็เป็นเพียงวัตถุก้อนหนึ่ง
แต่เมื่อมีคนขับ ก็เคลื่อนที่ไปมาได้ ทำให้เหมือนมีชีวิต
รถที่ปราศจากคนขับ หรือรถที่จอดเสียอยู่ ก็ไม่ต่างจาก
คนที่ปราศจากวิญญาณ คือคนตาย

ร่างกายเรานี้ก็ไม่ต่างกัน
กายเปรียบเหมือนกับรถ
ส่วนใจเปรียบเหมือนกับคนขับ

เมื่อมีใจครอบงำกายอยู่ ก็เรียกว่า มนุษย์
กายที่ไม่มีใจ ใจออกจากร่างกายไปแล้ว เรียกว่า
คนตายหรือศพ ซึ่งเหมือนกับรถที่ไม่มีคนขับ
หรือแม้แต่จะยังมีชีวิตอยู่ ถ้าใจเข้าสู่สมาธิหรือนอนหลับสนิท
ร่างกายของเราก็เหมือนรถที่จอดอยู่ ไม่มีคนขับ

ฉะนั้นจะเห็นว่า ความจริงแล้ว ร่างกายเราก็เหมือนรถคัน
หนึ่งหรือเป็นเพียงวัตถุก้อนหนึ่งที่แยกต่างหากจากจิต

รถไม่ใช่เรา เราไม่ใช่รถ
รถไม่ใช่อยู่ในเรา เราไม่ใช่อยู่ในรถ
รถไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา
ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา

การพิจารณากาย
ว่าเป็น ธาตุดินก็ดี น้ำก็ดี พิจารณาธาตุลมก็ดี
จนรู้เห็นตามความเป็นจริงว่า กาย สักแต่ว่ากาย ไม่ใช่สัตว์
บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา
คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือการศึกษา “กาย”

การพิจารณา เวทนา จิต ธรรม คือการศึกษา “ใจ” ก็เช่นเดียวกัน

พิจารณาตามความเป็นจริงแล้วก็เห็นว่า ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
ว่างจากความเป็นสัตว์ บุคคล ตัว ตน เรา เขา เป็นอนัตตา

.......................................................................

* สติปัฏฐาน 4 ในมหาสติปัฏฐานสูตร


(มีต่อ 3)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 ส.ค. 2010, 06:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ

อานาปานสติขั้นที่ 1 และ 2 เป็นการเจริญสติระดับศีล เป็น ศีลสิกขา
ขั้นที่ 3 และ 4 เป็นการเจริญสติในระดับสมาธิ เป็น สมาธิสิกขา

ตั้งแต่ขั้นที่ 1 ถึงขั้นที่ 4 เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ถือว่าเป็น
สมถกรรมฐาน และเมื่อขั้นที่ 4 สมบูรณ์แล้ว ถือว่า สมถกรรมฐานสมบูรณ์

ขั้นที่ 5-8 เป็น เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ขั้นที่ 9-12 เป็น จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ขั้นที่ 5-8 และขั้นที่ 9-12 เป็น สมถะและวิปัสสนากรรมฐาน เจือปนกันอยู่
ขั้นที่ 13-16 เป็น ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นวิปัสสนากรรมฐานล้วนๆ

ใน อานาปานสติสูตร “อานาปานสติ” เป็นตัวหลักในการเจริญสติ
ในสติปัฏฐานทั้ง 4 ซึ่งพระพุทธเจ้าตรัสว่า
อานาปานสติ อันบุคคลเจริญทำให้มาก ย่อมยังสติปัฏฐานทั้ง 4 ให้บริบูรณ์
ในพระสูตรนี้ใช้อานาปานสติ เป็นหลักในการเจริญสติ เพื่อให้สติปัฏฐานทั้ง 4 บริบูรณ์
คือ กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน และธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

คำว่า “กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน” ใน อานาปานสติสูตร
หมายเอาลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเท่านั้น เป็นตัวหลักในการ
กำหนดพิจารณา ซึ่งเมื่อดำเนินไปตามอานาปานสติ 16 ขั้น ก็
สามารถทำโพชฌงค์ 7 วิชชา และ วิมุตติ ให้สมบูรณ์ ถึงนิโรธ
คือพระนิพพานได้เหมือนกัน


(มีต่อ 4)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 1-4
กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน


กำหนดรู้ลมหายใจยาว - สั้น จนรอบรู้ลมหายใจ
เมื่อรอบรู้ลมหายใจแล้ว ลมหายใจย่อมสงบระงับ
เมื่อลมหายใจสงบระงับ ก็คือการสงบระงับของกายสังขาร
คือการเข้าฌาน กายไม่ปรากฏ มีแต่นามกาย
ทุกข์กายก็ไม่มี ทุกข์ใจ ก็ไม่มี
รู้ตามความเป็นจริงว่า กายสักแต่ว่ากาย

นี่คือกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

อานาปานสติ ขั้นที่ 1
กำหนดรู้ลมหายใจยาว

เมื่อลมหายใจออกยาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจออกยาว
เมื่อหายใจเข้ายาว ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจเข้ายาว

อานาปานสติ ขั้นที่ 1
เราฝึกกำหนดรู้ลมหายใจยาว
การฝึกอานาปานสติขั้นที่ 1 นี้ ต้องมีการบังคับลมหายใจ
ต้องฝึกหัดและศึกษาลมหายใจ เพื่อเข้าใจลมหายใจให้ดีขึ้น

การเจริญอานาปานสติ เปรียบเทียบกับการขับรถ

คนขับรถเป็น
ต้องรู้จักระบบต่างๆ ในเครื่องยนต์ และดูแล
รถ ซ่อมรถเป็น บางคนหัดขับรถ พอขับได้ก็ขับรถไปโรงเรียน
หรือที่ทำงาน แต่ไม่สนใจและไม่รู้เรื่องระบบต่างๆ ในรถ การดูแลรถ
การทำความสะอาดรถ ทุกอย่างอาศัยคนอื่นหมด ตัวเองมีหน้าที่ขับ
อย่างเดียว พอขับไปข้างหน้าได้ แต่อาจจะไม่ถนัดในการถอยหลัง
เพื่อจอดรถ เมื่อเครื่องยนต์ขัดข้องนิดหน่อย ต้องเรียกคนอื่นมา
ซ่อมให้ ไม่กล้าขับรถไปทางไกล จิตใจก็วิตกกังวล กลัวๆ อยู่ตลอด
อย่างนี้เรียกว่า ขับรถเป็นไม่ได้

คนขับรถเป็น ต้องชอบรถ เรียนรู้ระบบต่างๆ ระบบเครื่องยนต์
ไฟฟ้า เบรก ฯลฯ ชอบเช็ดถูทำความสะอาดรถ ดูแลรถเป็น
รถเสียขัดข้องเล็กๆ น้อยๆ ซ่อมเองได้ เปลี่ยนล้อได้ ปฐมพยาบาล
รถได้ มีประสบการณ์และความชำนาญ จึงขับรถไปทางไกลได้
ไม่มีปัญหา มีความรู้สึกมั่นใจ สบายใจ อย่างนี้เรียกว่า ขับรถเป็น

ผู้ชำนาญการเจริญอานาปานสติ ก็เช่นเดียวกัน เพื่อที่จะได้
รับประโยชน์สูงสุด ต้องรู้จักการหายใจหลายแบบ หลายลักษณะ
มีเหตุมีผลอย่างไร มีผลดีผลเสียอย่างไร และลมหายใจของเรานี้
เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เราต้องสังเกตว่า ลมหายใจรับ
อิทธิพลจากร่างกายและจิตใจอย่างไร การปรับลมหายใจ
“หายใจยาว” มีอิทธิพลต่อร่างกายและจิตใจอย่างไร

ให้เราพยายามรู้ว่า ลมหายใจแต่ละแบบนั้น มีอิทธิพลต่อ
ร่างกายและต่อความรู้สึกนึกคิดของเราอย่างไร
เพื่อที่จะ
สามารถนำข้อมูล หรือนำความรู้นี้ไปใช้ประโยชน์ในชีวิตประจำวัน
และสามารถเป็นผู้ชำนาญการเจริญอานาปานสติขั้นละเอียดต่อไปได้

การกำหนดลมหายใจ คือการกำหนดความรู้สึกที่ลมสัมผัส
กับกาย ความรู้สึกอาจจะแตกต่างกัน เป็นต้นว่า
เมื่อหายใจเข้า อาจจะรู้สึกว่า ลมลงไปตามตัวก็ได้ หรือ
อาจจะรู้สึกว่า ลมขึ้นมาตามตัวก็เป็นได้

นี่เป็นเหตุที่ทำให้มีการแปลอัสสาสะ และปัสสาสะต่างกัน
เป็นตรงกันข้าม
ในเมืองไทยนิยมแปลตามอรรถกถาวินัย โดยแปล
อัสสาสะ ว่า ลมหายใจออก ปัสสาสะ ว่า ลมหายใจเข้า
ส่วนอรรถกถาพระสูตร แปลกลับกัน โดยแปล
อัสสาสะ ว่า ลมหายใจเข้า ปัสสาสะ ว่า ลมหายใจออก

พระพุทธองค์ ตรัสไว้ในอานาปานสติสูตรในที่ต่างๆ พระองค์
ให้เริ่มต้นกำหนดที่ “อัสสาสะ” ทุกครั้งไป แล้วจึงตามด้วย
“ปัสสาสะ” อาจารย์รุ่นหลังมาแปลแตกต่างกันออกไป

สำหรับผู้ปฏิบัติ ก็สุดแล้วแต่ใครจะรู้สึกอย่างไร อย่าฝืนความรู้สึก
อย่างไรก็ได้ไม่สำคัญ เพียงแต่อาศัยความรู้สึกอันนี้เพื่อฝึกสติเท่านั้น

ลมหายใจเริ่มต้นที่ไหน สุดลมที่ไหน

ลมหายใจที่ลงมา
อาจจะเริ่มต้นที่จมูก ที่หน้าอก หรือที่ท้องก็ได้
และสุดลงที่หน้าอก ที่ท้อง ที่เท้า หรือเลยไปอีกก็ได้

ลมหายใจที่ขึ้นมา
อาจจะเริ่มต้นที่เท้า ที่ท้อง ที่หน้าอก ที่จมูก
ก็ได้และสุดลงที่ไหนก็ได้ อาจจะสุดลงที่ท้อง
ที่หน้าอก ที่จมูก ที่ศรีษะ หรือเลยไปอีกก็เป็นได้

อย่างไรก็ได้ อย่างไรก็ไม่สำคัญ สุดแล้วแต่ความรู้สึกในขณะนั้น
ให้สติอยู่กับความรู้สึกอันนั้นเป็นใช้ได้
ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น เป็นหลักใหญ่
ขอให้มีความรู้สึกตัวทุกครั้งที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

เพื่อให้มีที่เกาะ มีที่กำหนดติดต่อกัน
อาศัยลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เจริญสติ นี่คือข้อปฏิบัติ

ลมหายใจเข้าจะขึ้นตามตัว หรือลงตามตัว ไม่สำคัญ
เริ่มต้นที่ไหน สุดลงที่ไหน ไม่สำคัญ ไม่ต้องกังวล
เอาความรู้สึกเป็นใหญ่ ความรู้สึกสบาย เป็นสิ่งสำคัญ
พอให้มีที่กำหนดที่ระลึกได้ ก็ใช้ได้


หายใจยาวกับหายใจสั้น

หายใจยาว คือ หายใจช้า
หายใจสั้น คือ หายใจเร็ว
หายใจยาว มี 2 นัย
คือ หายใจยาวขึ้น และหายใจยาวกว่าปกติ

หายใจยาวขึ้น

ถ้าเราหายใจยาวขึ้นกว่าที่เรากำลังหายใจอยู่ นี้คือ “หายใจยาวขึ้น”
การหายใจในกรณีต่างๆ โดยธรรมชาติ หายใจยาวๆ ก็มี หายใจ
ธรรมดาๆ ก็มี หายใจสั้นๆ ก็มี บางครั้งก็หายใจสั้นเบาๆ
เกือบไม่มีลมหายใจเลยก็มี เช่น

- เมื่อร่างกายพักผ่อนเต็มที่ สบายกาย สบายใจ เราก็จะหายใจยาวโดยธรรมชาติ
- การใช้ชีวิตปกติธรรมดาในชีวิตประจำวัน เราก็หายใจธรรมดา
- ถ้าเราออกกำลังกาย เหนื่อย เจ็บไข้ป่วย ก็หายใจสั้น
- เมื่อมีอารมณ์ตื่นเต้น ดีใจก็ดี เสียใจก็ดี โกรธ กลัว
ลมหายใจจะสั้น บางครั้งก็แรงๆ หยาบๆ ด้วย
- เมื่อนั่งสมาธิ ก็จะมีลมหายใจอีกแบบหนึ่ง
บางคน บางขณะ อาจจะหายใจยาวๆ ก็มี บางครั้งหายใจยาวมากๆ ก็มี
บางครั้งก็หายใจสั้นเบาเกือบไม่มีลมหายใจก็มี แล้วแต่เหตุปัจจัย

ในทุกๆ กรณี ในทุกๆ ขณะเมื่อเราทำให้ลมหายใจยาวกว่าที่กำลัง
เป็นอยู่นั้น เรียกว่า “หายใจยาวขึ้น”

หายใจยาวกว่าปกติ

ลมหายใจปกติของคนธรรมดาทั่วๆ ไปจะหายใจประมาณ 12-18 ครั้งต่อนาที
หรือหายใจ 4-5 วินาที ต่อการหายใจเข้า - ออก 1 ครั้ง
ถ้าหายใจยาวกว่านี้เรียกว่า “หายใจยาวกว่าปกติ”

หายใจยาวมีหลายแบบ
ให้สังเกตดูลมหายใจตลอดเวลา บางครั้งให้จงใจปรับลมหายใจ
ให้ยาวๆ พร้อมกับสังเกตว่าลมหายใจยาว มีหลายแบบ
- หายใจยาวธรรมดา
- หายใจยาวๆ
- หายใจเข้าลึกๆ สุดๆ
- หายใจยาวแรงๆ
- หายใจออกยาว หายใจเข้าสั้น
- หายใจออกสั้น หายใจเข้ายาว
- หายใจยาวเป็นพิเศษ เช่น หายใจออก หายใจเข้า 3 ครั้ง 2 ครั้ง หรือ 1 ครั้ง ต่อ 1 นาที

บางครั้งให้ฝึกทำลมหายใจให้ยาวขึ้น
บางครั้งเราก็ควบคุมลมหายใจ ค่อยๆ ทำให้ยาวขึ้นๆ เป้าหมาย
คือหายใจออก หายใจเข้า 3 ครั้ง 2 ครั้ง หรือ 1 ครั้ง ต่อ 1 นาที
อาจารย์นิกายเซนในประเทศญี่ปุ่นบางท่าน เมื่อนั่งสมาธิท่านจะ
หายใจประมาณ 1 ครั้ง ต่อ 1 นาที วิธีนั่งสมาธิของท่าน คือ นั่งให้
เรียบร้อย ปรับลมหายใจให้ละเอียด สุขุม นั่งสงบ มีสติเต็มที่
ถึงขนาดว่า สามารถได้ยินเสียงมดเดินอยู่ข้างหน้าได้ นี่คือนั่งสมาธิ
แบบนิกายเซนในประเทศญี่ปุ่น เป็นสำนวนที่แสดงว่า
มีสติตื่นตัวเต็มที่ รอบรู้ทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นมาสัมผัสกับจิต
แต่ไม่ยึดมั่นถือมั่น

การหายใจจากทางเท้า
เป็นอุบายที่ทำให้ลมหายใจยาวขึ้น
ช่วยให้หายใจยาว ยาวขึ้น คนธรรมดาก็น่าจะทำได้ 4 - 5 ครั้งต่อนาที
โดยไม่ลำบาก ทำให้นานๆ เป็นครึ่งชั่วโมง หรือ 1 ชั่วโมงก็ได้
จะช่วยให้สุขภาพกาย สุขภาพใจดีขึ้น

การเจริญอานาปานสติทุกครั้ง
ให้เริ่มต้นด้วย “หายใจเข้าลึกๆ” “หายใจออกยาวๆ”
อันนี้ก็จะช่วยทำให้กายตั้งตรง
ขับไล่ความคิด ความรู้สึกเก่าๆ
ทำให้เกิดสติสัมปชัญญะที่ถูกต้อง

และทุกครั้งที่กำหนดลมหายใจ ให้ขึ้นต้นด้วยอานาปานสติ ขั้นที่ 1 เสมอไป

ในการกระทำทุกอย่าง
ก็ให้ทำเช่นเดียวกัน
คือเริ่มต้นด้วยการหายใจเข้าลึกๆ หายใจออกยาวๆ สบายๆ
เป็นการตั้งสติ ตั้งต้นทำงานที่ดี

เอาสติผูกจิตไว้กับลมหายใจ

พยายามกำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้าติดต่อกันสม่ำเสมอ
เหมือนเอา สติ ผูก จิต ไว้กับ ลมหายใจ
ความรู้สึกอยู่ที่ไหน จิตก็อยู่ที่นั่น
เมื่อสติรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า จิตก็อยู่ที่นั่น
ขาดสติเมื่อไร จิตก็คิดไปต่างๆ นานา ตามกิเลสตัณหา ตามนิวรณ์

เปรียบเทียบกับคนเลี้ยงควาย
เวลาเราเลี้ยงควาย เราก็ปล่อยควายให้เดินไปตามถนน เจ้าของ
เดินตามหลังควายไปสบายๆ สองข้างทางเป็นไร่นา บางครั้งควาย
จะเดินออกนอกถนนไปกินข้าวในนาของเพื่อนบ้าน เจ้าของก็ต้อง
ตีบ้าง กระตุกดึงเชือกบ้าง ให้ควายรู้สึกตัวกลับขึ้นมาบนถนนใหม่

การเจริญอานาปานสติ ก็เหมือนกับการ
คอยควบคุมควายให้เดินตามถนน
สติ คือ เจ้าของ
ลมหายใจ คือ ถนน
ลมหายใจยาวๆ คือ ถนนยาวๆ
จิต คือ ควาย
นิวรณ์ คือ ต้นข้าวในนา

เมื่อจิตคิดไปที่อื่น ไม่อยู่กับลมหายใจ ก็คือจิตที่มีนิวรณ์
เหมือนควายที่เดินออกนอกถนนไปกินต้นข้าวในนาของเพื่อนบ้าน
สติมีหน้าที่ ดึงจิตให้กลับมาอยู่กับลมหายใจ
เมื่อมีสติดี จิตก็จะอยู่กับลมหายใจตลอด
จิตก็เป็นจิตดี จิตสงบ

สติคอยเฝ้าดูจิต
คอยเฝ้ารักษาจิตให้อยู่ที่ลมหายใจออกยาวๆ สบายๆ
ลมหายใจเข้ายาวๆ สบายๆ
ถ้าจิตคิดออกไปข้างนอก คิดกิเลส นิวรณ์ ก็หายใจเข้าลึกๆ
หายใจออกยาวๆ
เกิดสติสัมปชัญญะ กำหนดรู้ลมหายใจออกยาวๆ
ลมหายใจเข้ายาวๆ ต่อเนื่องกันไปเรื่อยๆๆๆ
เราต้องเข้าใจชัด เห็นชัด ซึ่งลมหายใจ จิต สติ ดังนี้


(มีต่อ 5)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:39 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 2
กำหนดรู้ลมหายใจสั้น

เมื่อหายใจออกสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจออกสั้น
เมื่อหายใจเข้าสั้น ก็รู้สึกตัวทั่วถึงว่า เราหายใจเข้าสั้น


หลังจากที่เราฝึกกำหนดรู้ลมหายใจยาวแล้ว เราก็จะทำเช่นเดียวกัน
กับลมหายใจสั้น เพื่อให้เกิดความชำนาญต่อไป

ลมหายใจสั้น

ลมหายใจสั้นมี 3 กรณี
1. ลมหายใจสั้นลง
2. ลมหายใจสั้นกว่าปกติธรรมดา
3. จงใจทำให้ลมหายใจสั้น

ลมหายใจสั้นลง

ในอานาปานสติขั้นที่ 1 เมื่อเราจงใจหายใจให้ยาวขึ้นแล้ว ค่อยๆ
ปล่อยหายใจสบายๆ ลมหายใจจะสั้นลงบ้าง ไม่มากก็น้อย เรียกว่า
สั้นลง สั้น-ยาว เป็นเรื่องสมมุติ เมื่อมียาว ก็ต้องมีสั้น

ทุกครั้งที่กำหนดอานาปานสติ เราจะเริ่มต้นด้วยขั้นที่ 1 คือเริ่มด้วย
การหายใจยาวๆ เมื่อค่อยๆ ปล่อยลม ลมหายใจก็จะค่อยๆ สั้นลง
เป็นลมหายใจสั้น เป็นขั้นที่ 2
เพราะฉะนั้น อานาปานสติ ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 จึงคู่กันอยู่ตลอด
เมื่อมีลมหายใจยาว ก็ต้องมีลมหายใจสั้น
ในที่สุดก็หายใจสบายๆ ไม่ยาว ไม่สั้น คือพอดี

ลมหายใจสั้นกว่าปกติธรรมดา

คือลมหายใจ 20-30 ครั้ง หรือ 40 ครั้งต่อนาที หรืออาจจะ 60 ครั้งต่อนาทีก็ได้
เช่น เวลาร่างกายอ่อนเพลีย เหนื่อย ไม่สบาย เป็นไข้ มีอารมณ์ตื่นเต้น เป็นต้น
แม่บางคนบอกว่า เมื่อลูกไม่สบาย เป็นไข้ นับดูลมหายใจขึ้นถึง 44 ครั้งต่อนาที
เมื่อหายใจลดลงมา 30 ครั้งต่อนาที อุณหภูมิก็เป็นปกติ เมื่อไข้ขึ้น ลมหายใจก็ถี่
มากขึ้น เมื่อมีเหตุปัจจัย ลมหายใจก็จะเปลี่ยนไป

จงใจทำให้ลมหายใจสั้น

ให้พยายามหัดกำหนดลมหายใจสั้น สั้นมากๆ จงใจทำให้ลมหายใจสั้น
เพื่อเป็นการทดลอง เพื่อศึกษาและเก็บข้อมูล ฝึกเป็นบางช่วงพอสมควร
ถ้าเหนื่อย ก็ปฏิบัติ ตามปกติ สบายๆ แล้วทำใหม่อีกจนชำนาญ เพื่อเก็บ
ข้อมูลเกี่ยวกับลมหายใจในลักษณะต่างๆ ทุกรูปแบบ เพื่อเข้าใจลมหายใจ
ให้ทั่วถึง ตั้งแต่ลมหายใจยาวๆ สุดๆ ถึงลมหายใจสั้นๆ

จงฝึกให้มีสติสม่ำเสมอในลมหายใจทุกชนิด
ปกติการหายใจยาวๆ เราจะสามารถกำหนดได้ง่ายกว่า และตั้งแต่
เริ่มต้นขั้นที่ 1 เราก็ฝึกกำหนดลมหายใจยาวๆ จนชำนาญพอสมควร
แล้วเราก็มาฝึกหายใจสั้นๆ ให้ชำนาญเสมอกัน
เมื่อเรามีความชำนาญในการกำหนดลมหายใจทุกชนิดสม่ำเสมอกัน
เราจึงจะสามารถกำหนดลมหายใจติดต่อกันได้ในทุกโอกาส

สรุปอานาปานสติ ขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2

อานาปานสติขั้นที่ 1 และ 2 เป็น ศีลสิกขา
เป็นการเจริญอานาปานสติ ระดับศีล

เมื่อเราสามารถระลึกถึงลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ติดต่อกัน
ในทุกอิริยาบถ ยืน เดิน นั่ง นอน ขณะที่เห็นรูป ได้ยินเสียง ได้ดมกลิ่น
ได้รู้รส รู้สัมผัส รู้ทางใจ อะไรก็ตาม เราไม่เกิดความยินดียินร้าย มีสติ
มีสัมปชัญญะ มีความพอใจที่จะระลึกรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ติดต่อกันสม่ำเสมอ ใจก็เป็นศีล ศีลถึงใจ

เมื่อเรานั่งสมาธิอยู่ เรารู้อยู่ว่า เรากำลังนั่งอยู่ที่ไหน กับใคร
เราเป็นผู้หญิง หรือผู้ชาย เป็นพระ หรือเป็นฆราวาส ชื่ออะไร
เราก็รู้ชัด ได้ยินเสียงนก เสียงสัตว์ต่างๆ เสียงรถ ฯลฯ ก็รู้อยู่ว่า
เป็นเสียงอะไร แต่เราก็สามารถทำใจสงบเป็นปกติ ไม่ยินดียินร้าย
กำหนดรู้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ติดต่อกัน
พูดง่ายๆ ก็คือ เมื่อเห็นอะไร ได้ยินอะไร เราสามารถ
ทำใจสงบ ไม่คิดอะไร เอาลมหายใจเป็นกัลยาณมิตรได้
เช่นนี้ถือว่าการปฏิบัติขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 สมบูรณ์พอใช้ได้



(มีต่อ 6)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 3
รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง

เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจออก
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง จักหายใจเข้า


ในอานาปานสติขั้นที่ 3 ท่านใช้คำว่า “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง”
คำว่า “รู้เฉพาะ” เป็นอาการของสมาธิ
สติที่ฝึกมาแล้วในขั้นที่ 1 ขั้นที่ 2 นั้น เป็นสติระดับศีล
ในขั้นที่ 3 เราจะพัฒนาสติให้มีกำลังมากขึ้น สามารถจับลมหายใจ
ติดต่อกันแนบแน่นตลอดสาย ให้ใจรวมรู้อยู่เฉพาะที่ลมหายใจ
สติก็ติดต่อกันเป็นสมาธิ

จึงกล่าวว่า สติในอานาปานสติขั้นที่ 3 นี้เป็นสติในระดับสมาธิ
เป็น สมาธิสิกขา
คำว่า “พร้อม” เป็นอาการของจิตที่มีกำลังดี ไม่มีนิวรณ์ 5
ควรแก่การงาน พร้อมที่จะทำงานที่เป็นกุศล
เช่น เจริญสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐานต่อไป

กายทั้งปวง
กายในที่นี้หมายถึง อัสสาสะ ปัสสาสะ
คือลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ร่างกายของเรานี้ประกอบด้วยธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ
ในการเจริญอานาปานสติ เราถือเอาธาตุลมเป็นกาย
คือ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง หมายถึง รู้พร้อมเฉพาะซึ่งลมหายใจตลอดสาย
คือเบื้องต้นของลมหายใจ ท่ามกลางของลมหายใจ และที่สุดของลมหายใจ

เมื่อเรารู้ความจริงของลมหายใจได้ เราก็จะรู้ความเป็นจริงของ
ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ทั้งหมด
เหมือนกับที่พูดว่า ถ้าเรารู้ความเป็นจริงของผมเส้นเดียว
เราก็รู้ความเป็นจริงของผมทั้งหมด
และเราก็รู้ความจริงของร่างกายทั้งหมดด้วย

อินทรีย์ทั้งหมดที่ทำงานอยู่ ให้รวมกันที่ลมหายใจออก
ลมหายใจเข้าเท่านั้น


ในการปฏิบัติให้เราเริ่มต้นจากขั้นที่ 1 ทุกครั้ง อาจจะไม่นานก็ได้
สุดแล้วแต่ความชำนาญของแต่ละบุคคล ให้หายใจยาว
เพื่อให้เกิดความรู้สึกเด่นชัด เพื่อสามารถกำหนดสติติดต่อกัน
ตลอดสาย ลมหายใจออกยาว ลมหายใจเข้ายาวๆ
พยายามให้หยุดความคิดก่อน ให้ปล่อยวางความรู้สึกเก่าๆ
รับรู้แต่ความรู้สึกใหม่ คือความรู้สึกปัจจุบัน
ที่เกิดจากลมหายใจออกยาว ลมหายใจเข้ายาว
พยายามให้อินทรีย์นี้รับรู้ลมหายใจ รวบรวมไว้ที่เฉพาะหน้า
ของลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

สายตา
ก็กำหนดดูลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
หู ก็ให้ฟังเสียงที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
จมูก ก็ดมกลิ่นลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ลิ้น ก็สัมผัสรสนั้น
กายสัมผัส ก็กำหนดรู้ที่ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เท่านั้น
ใจ ก็รับรู้เฉพาะลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เท่านั้น

ยังคงความพยายามที่จะหายใจยาวอยู่ แต่ค่อยๆ
ปล่อยลมหายใจให้สั้นลงโดยธรรมชาติ (ผ่านขั้นที่ 2)
และสุขุมละเอียดมากขึ้นๆ ต่อไปก็กลายเป็น
ลมหายใจออกพอดี ลมหายใจเข้าพอดี
ความคิดก็ค่อยๆ หมดไป
เสียงก็ค่อยๆ ห่างไกลไปๆ ดับไปๆ
กลิ่นก็หมดไป ลิ้นก็ดับไป
กายค่อยๆ เบา ตัวเบา ขา แขน ก้น ตัว ก็หายไป
เหลือแต่ ความรู้เฉพาะ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ใจรวม รู้พร้อมเฉพาะ ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
อินทรีย์ทั้งหมดที่ทำงานอยู่ ให้รวมกันที่ลมหายใจออก
ลมหายใจเข้าเท่านั้น


ฟุ้งซ่าน

ปกติเราจะไม่สามารถกำหนดรู้ลมหายใจได้ หรือแม้แต่จะกำหนด
รู้ลมหายใจออกเพียงหนึ่งครั้งให้ตลอดก็ทำไม่ได้เพราะจิตฟุ้งซ่าน

จิตฟุ้งซ่าน มีหลายระดับ แต่สมมุติแบ่งเป็น 2 อย่าง
1. ฟุ้งซ่านภายนอก 2. ฟุ้งซ่านภายใน

ฟุ้งซ่านภายนอก หมายถึง การคิดไปตามนิวรณ์ คิดถึงคนโน้น
คนนี้ เรื่องโน้นเรื่องนี้ คิดไปสารพัดอย่าง
จนบางครั้งรู้สึกว่าฟุ้งซ่าน รำคาญนี้แหละ

ฟุ้งซ่านภายใน เมื่อเราได้ปฏิบัติมาพอสมควร สามารถระงับ
ความคิดต่างๆ ได้ และเริ่มมีความรู้สึกสงบ และมีความสุข
มีสติสัมปชัญญะ รู้สึกตัวทั่วถึง กำหนดรู้ลมหายใจออก
ลมหายใจเข้าติดต่อกันได้ ตามอานาปานสติขั้นที่ 1-2
ต่อไปก็มาถึงบทศึกษาว่า “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งลมหายใจตลอดสาย”
เบื้องต้น ท่ามกลาง เบื้องปลาย ตามอานาปานสติ ขั้นที่ 3

ถึงตอนนี้เราจะสังเกตได้ว่า จิตของเราจะวอกแวกออกไป
ตามสัญญา เห็นภาพ จำภาพ จำคำพูดต่างๆ ไม่สงบจริงๆ
โดยเฉพาะช่วงท่ามกลางของลมหายใจ หรือเมื่อลมหายใจสุดลง
คือ ช่วงปลาย ลักษณะเช่นนี้คือ ฟุ้งซ่านภายใน

การระงับการฟุ้งซ่าน

ความฟุ้งซ่านภายนอก ต้องระงับให้ได้ก่อน
จึงจะเกิดอานาปานสติ ขั้นที่ 1 และขั้นที่ 2 ได้
เมื่อระงับความฟุ้งซ่านภายนอกได้
อานาปานสติ ขั้นที่ 1 และ 2 ก็สมบูรณ์

ความฟุ้งซ่านภายใน ต้องระงับให้ได้
จึงจะเกิด “จิตตั้งมั่นกับลมหายใจตลอดสาย” เป็นสมาธิ
“รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง” ได้สมบูรณ์
คืออานาปานสติ ขั้นที่ 3 สมบูรณ์

อุบายแก้ฟุ้งซ่านภายในมี 2 วิธี คือ
1. การนับลมหายใจ 2. การกดลมหายใจ

การนับลมหายใจ

เริ่มต้นให้ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า สบายๆ ก่อน
เป็นธรรมชาติที่สุด ไม่บังคับให้ลมหายใจยาว หรือสั้น
ให้สบาย พอดีๆ ลมหายใจออกสบาย ลมหายใจเข้าสบาย
ทรงไว้ซึ่งการหายใจสบายๆ

ต่อไปก็นับลมหายใจออก หายใจออกนับ 1 ... 2 ... 3 ไม่ช้าไม่เร็ว
นับไปจนกว่าจะสุดลมหายใจออกตามธรรมชาติ
1 คือ 1 วินาที 2 คือ 2 วินาที 3 คือ 3 วินาที
อาจจะนับ 4 ... 5 ... 6 วินาที หรือมากกว่าก็ได้ มากกว่า 10 ก็ได้

ระวังอย่าให้รบกวนลมหายใจที่กำลังสบายๆ
ทรงไว้ซึ่งลมหายใจสบายๆ
ทั้งหมดนี้เป็นวิธีนับลมหายใจออก 1 ครั้ง

ต่อไปก็เริ่มนับลมหายใจเข้า ต่อจากลมหายใจออก เช่น
ถ้านับลมหายใจออกถึง 3 คือ 3 วินาที ก็เริ่มนับลมหายใจเข้าที่
4... 5... 4 คือวินาทีที่ 4 และ 5 วินาทีที่ 5 จนกว่าจะสุดลมเข้า
หายใจออก หายใจเข้า นับไม่เท่ากัน ก็ไม่เป็นอะไร ปกติก็ไม่เท่ากัน
เท่ากันก็ดี ไม่เท่ากันก็ไม่เป็นไร
เราตามนับลมหายใจออก ลมหายใจเข้าเท่านั้น
เอาลมหายใจเป็นหลัก หายใจตามธรรมชาติ

หายใจออกเริ่มนับที่ 1 ทุกครั้ง
การนับลมหายใจในขั้นนี้ เป็นงานละเอียด สุขุม
ถ้านับแล้วความรู้สึกเปลี่ยน เกิดความรู้สึกอึดอัด ไม่สบายขึ้น
แสดงว่า ลมหายใจเปลี่ยนตามการนับ ลมหายใจถูกกำหนด

ลมหายใจถูกเปลี่ยนจากการนับ ไม่เป็นธรรมชาติแล้ว
กลายเป็นเอาการนับเป็นหลัก ไม่ใช่เอาลมหายใจเป็นหลัก
การใช้การนับเป็นหลัก และบังคับลมหายใจ เป็นวิธีที่ใช้ฝึก
ลมหายใจในอานาปานสติ ขั้นที่ 1 และ 2

แต่ในอานาปานสติ ขั้นที่ 3 เราต้องไม่บังคับลมหายใจ
ไม่รบกวนลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ปล่อยตามธรรมชาติ
สบายๆ หายใจออก 1 ... 2 ... 3 หายใจเข้า 4 ... 5
ไม่ให้จิตวอกแวกออกไปข้างนอก ผูกจิตไว้กับลมหายใจตลอดสาย
ทำจนเกิดความเคยชินและชำนาญ ไม่มีความรู้สึกว่าทำอะไร
ฝืนธรรมชาติ เกิดความพอใจและมีความสุขแล้ว
จึงจะปล่อยการนับ แล้วกำหนดเฉยๆ

ลมหายใจออก ส่วนที่ 1 ก็รู้ ส่วนที่ 2 ก็รู้ ส่วนที่ 3 ก็รู้
รู้ รู้ รู้ รู้ ติดต่อกัน รู้ลมหายใจออกตลอดสาย
ลมหายใจเข้า ส่วนที่ 1 ก็รู้ ส่วนที่ 2 ก็รู้ ส่วนที่ 3 ก็รู้
รู้ รู้ รู้ รู้ ติดต่อกัน รู้ลมหายใจเข้าตลอดสาย

อย่างนี้เรียกว่า รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง
การกำหนดรู้ลมหายใจครั้งหนึ่ง เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลก
การกำหนดรู้ลมหายใจอย่างเดียวนี้เป็นสิ่งสำคัญที่สุดในโลก


การกดลมหายใจ

ถ้าจิตสงบมากพอสมควร แต่ฟุ้งซ่านนิดหน่อย ให้ใช้อุบายคล้ายๆ
กับว่าจะกดลมหายใจเบาๆ เพื่อให้เกิดความรู้สึกตัวเด่นชัดมากขึ้น
ความรู้สึกอยู่ที่ไหนจิตก็อยู่ที่นั่น
และให้ผูกจิตเอาไว้กับลมหายใจตลอดสาย
ไม่ให้พลัดพรากจากลมหายใจแม้แต่น้อย
ให้สติจับลมให้ติดต่อกัน ไม่ให้ขาดเป็นตอนๆ

หรือถ้าใช้วิธีนับลมหายใจก่อน เมื่อใจสงบพอสมควร
ก็ปล่อยการนับ หันมาใช้วิธีกดลมหายใจต่อไปก็ได้


วิธีกดลมหายใจ
เหมือนกับการรีดผ้า ให้กดเตารีดพอดีๆ อย่าให้ห่างจากผ้า
อย่าให้เบามากไป อย่าให้หนักมากไป ให้พอดีๆ กลับไป กลับมา
อยู่อย่างนั้น การกำหนดรู้ลมหายใจตลอดสายก็เหมือนกันนั่นแหละ

ลมหายใจ คือ ผ้า
จิต คือ เตารีด
สติ คือ มือ

สติ

เราได้พูดถึงลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
และการเจริญอานาปานสติกันมาพอสมควรแล้ว
ต่อไปนี้เราจะทำความเข้าใจกับคำว่า “สติ” กันบ้าง

“สติ คือ ความระลึกได้” เป็นไป 3 กาล
คือ อดีตกาล อนาคตกาล ปัจจุบันกาล

อดีตกาล
คือ การมีสติรำลึกได้ว่าเราเคยทำ เคยพูด เคยคิด อะไรบ้างในอดีต
เมื่อไร ที่ไหน กับใคร อย่างไร ตั้งแต่นาทีก่อน ชั่วโมงก่อน วันก่อน อาทิตย์ก่อน
ปีก่อน 10 ปี 20 ปี 30 ปีก่อน วันแรกที่เกิดอยู่ในท้องแม่ ชาติก่อน 10 ชาติ ฯลฯ

วันคืนที่เจ้าชายสิทธัตถะยังเป็นพระโพธิสัตว์อยู่ กาลวิสาขปุรณมี
คืนวันขึ้น 15 ค่ำ เดือนวิสาขะ ในเวลาปฐมยาม 6 โมงเย็น ถึง 4 ทุ่ม
พระองค์ได้เจริญสติไปสู่อดีต จนระลึกได้ถึง 1,000 ชาติ หมื่นชาติ
ทรงพบว่าทุกชาติมีความทุกข์มากกว่าความสุข ไม่คุ้มเลย ท่านจึงคิด
หาทางออกจากวัฏสงสาร

วินาทีก่อน ก็ถือว่าเป็นชาติก่อน ตลอดถึงก่อนที่จะมาเกิดในท้องแม่
และชาติก่อนๆ เมื่อเรามีสติที่จะระลึกชาติได้ ก็จะมีโอกาสพัฒนาชีวิต
ได้เป็นอย่างดี เพราะเราจะเห็นถึงข้อผิดพลาด สิ่งที่น่าจะแก้ไข
การกระทำที่เป็นสิ่งดี ได้ความสุข ได้ประโยชน์ จะได้ทำต่อไป
มองเห็นชัดซึ่ง การทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว

อนาคตกาล
คือ สติที่นึกไปอนาคต
นึกได้ ระลึกได้ว่าควรจะทำอะไร พูดคิดอะไร เช่น การนัดพบ
หรือควรจะทำอะไร กับใคร ที่ไหน เวลาใด ไม่หลงลืม ระลึกได้ จำได้

การเจริญมรณานุสสติ ก็เป็นการระลึกถึงอนาคตที่จะมาถึง คือ
ความตายที่จะเกิดขึ้นกับเรา แล้วทำตนเตรียมพร้อมที่จะรับ
สถานการณ์ที่จะมาถึงได้อย่างถูกต้อง

ปัจจุบันกาล สติระลึกถึงความจริงของตน มี 2 ระดับ
สมมุติสัจจะ สติระลึกถึงฐานะของตนเอง สมมุติว่า เป็นผู้ชาย ผู้หญิง
เป็นพ่อแม่ เป็นลูก ฐานะในสังคม เป็นครู อาจารย์ ข้าราชการ ฯลฯ
เมื่อเรามีสติระลึกได้ เราก็สามารถทำหน้าที่ของตนได้ถูกต้องและดีที่สุด
ปรมัตสัจจะ การระลึกถึงสติปัฏฐาน 4 คือ กาย เวทนา จิต ธรรม
ซึ่งเป็นหัวใจของการปฏิบัติที่เรากำลังศึกษาปฏิบัติอยู่ทุกขณะในปัจจุบัน
ทำให้เราสามารถอยู่อย่างปราศจากทุกข์ เดือดร้อนได้

จิตควรแก่การงาน

สมาธิในขั้นที่ 3 นี้ ถ้าเกิดขึ้นแล้ว ก็เรียกว่า มีสมาธิพอตัว
จิตควรแก่การงาน เพราะอาศัยสติตามรู้ลมหายใจอย่าง
ต่อเนื่อง จนกระทั่งจิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
เมื่อมีสมาธิแล้วก็สามารถเกิดปัญญารู้เห็นตามความเป็นจริง
คือเห็นว่า ลมหายใจนี้เป็นสักแต่ว่าลมหายใจ สักแต่ว่ากาย
ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา

ถ้าเราทำได้ถึงขั้นนี้แล้ว อารมณ์ที่มากระทบจากภายนอกก็ไม่ค่อย
มีผลกับเรา การปวดแขน ปวดขา ก็ไม่ค่อยมี เสียงจากภายนอก ก็ไม่ค่อย
มีผลกับเรา การปวดแขน ปวดขา ก็ไม่ค่อยมี เสียงจากภายนอกก็
ไม่รบกวน ความรู้สึกว่าเป็นผู้หญิง ผู้ชาย แม่ชี พระ ก็ไม่มี
พูดง่ายๆ ก็คือ กายเบา จิตเบา
เหมือนนั่งภาวนาอยู่กลางอากาศ

ถ้าเราปฏิบัติขั้นที่ 3 ถูกต้อง “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งกายทั้งปวง”
จะเห็นและเข้าใจ กาย จิต สติ เป็นอย่างดี

บทศึกษา

ตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่ 3 ท่านเริ่มใช้คำว่า “ย่อมทำในบทศึกษาว่า”
ภาษาบาลี คือคำว่า “สิกขะติ” หรือ “สิกขา”
ซึ่งมีความหมายเดียวกับคำว่า “ไตรสิกขา”
คือ ศีลสิกขา สมาธิสิกขา ปัญญาสิกขา
ซึ่งก็คืออริยมรรคมีองค์ 8 นั่นเอง

เมื่อการปฏิบัติขั้นที่ 3 สมบูรณ์ จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิ
วิปัสสนาปัญญาอาจจะเกิดขึ้นได้ทุกขณะ ดังบาลีที่ว่า
สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ
ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามที่เป็นจริง


ตั้งแต่อานาปานสติขั้นที่ 3 เป็นต้นไป อาจจะเกิดมรรคสมังคี
คือศีล สมาธิ ปัญญา เกิดพร้อมกันในขณะเดียวกัน
เกิดอริยมรรค อริยผล ได้ทุกขณะ


(มีต่อ 7)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:41 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 4
ระงับกายสังขาร

เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก
เราเป็นผู้ทำกายสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า


อานาปานสติ ขั้นที่ 4 นี้เป็นขั้นสุดท้ายของอานาปานสติหมวดกาย
ท่านให้ระงับกายสังขารทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

กายสังขาร คือ สภาพการปรุงแต่งกาย คือ อัสสาสะ ปัสสาสะ
ร่างกายที่เราเห็นเป็นรูปร่างนี้ ถูกปรุงแต่งตลอดเวลา ไม่สามารถ
หยุดอยู่เฉยๆ ได้ เราต้องกินอาหาร ดื่มน้ำ แล้วก็หายใจออก
หายใจเข้าอยู่เป็นประจำ

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ลมหายใจนี้ ถ้าเปรียบเป็นอาหาร เราก็ต้องกิน
ลมอยู่ทั้งวันทั้งคืนไม่มีเวลาหยุด ระบบต่างๆ ของร่างกาย เช่น
หัวใจ ปอด ระบบเลือด ก็ทำงานอยู่ตลอดเวลา ฉะนั้น เราจึงเรียก
อัสสาสะ ปัสสาสะ ที่ปรุงแต่งกายตลอดเวลานี้ว่า กายสังขาร

การระงับกายสังขาร

เมื่ออัสสาสะ ปัสสาสะ คือกายสังขาร การระงับกายสังขารก็คือ
การระงับลมหายใจนั่นเอง
คืออาการของจิตที่สงบจนเกือบไม่มีลม
หายใจ ลมหายใจละเอียดขึ้น ละเอียดขึ้น จนในที่สุดก็ไม่มีลมหายใจ
นี่คือการเข้าฌาน คือการสงบระงับกายสังขาร

ผู้ปฏิบัติเมื่อทำในขั้นที่ 3 ด้วยความพอใจจนเกิดความเคยชิน
เป็นปกติธรรมดาแล้ว จิตก็จะรวมเป็นสมาธิ โดยกำหนดรู้เฉพาะ
ลมหายใจอย่างแนบแน่นตลอดเวลา การปฏิบัติขั้นต่อไป คือการ
ทำให้เกิดสมาธิที่ละเอียด และสมบูรณ์

ผู้ที่จะปฏิบัติอานาปานสติ ขั้นที่ 4 ได้ ต้องสามารถปฏิบัติ ขั้นที่ 3
อย่างชำนาญก่อน ถ้ายังไม่ชำนาญในขั้นที่ 3 ก็ไม่ต้องทดลอง
ไม่ต้องพยายามทำขั้นที่ 4 แต่ถ้าทำขั้นที่ 3 ได้ดีพอสมควรแล้ว
อาจจะกำหนดปฏิบัติขั้นที่ 5 ขั้นที่ 9 ขั้นที่ 13 ต่อไปได้

ผู้ที่ปฏิบัติขั้นที่ 3 ยังไม่ชำนาญ แล้วมาปฏิบัติในขั้นที่ 4 คือ
การทำกายสังขารให้สงบระงับโดยสมบูรณ์ อาจจะเกิดความเครียด
ท้อแท้ ความเข้าใจผิดก็ได้ เพราะการเข้าฌานในขั้นที่ 4 เป็นงาน
ยาก ละเอียด สุขุม ท่านพูดกันว่า “ยากกว่าวิปัสสนาเสียอีก”

จิตสงบจนเกือบไม่มีลมหายใจ แต่ไม่ใช่สงบจริงก็มีอยู่มาก


จิตไม่ได้คิดอะไร สงบ ลมหายใจอาจจะละเอียดจนจับไม่ได้
แต่อาจจะมีสติสัมปชัญญะไม่ดีเท่าที่ควร
อาจจะมีนิวรณ์เจือปนอยู่บ้าง ไม่มีความรู้สึกสะอาดบริสุทธิ์
ไม่มีความตื่นตัว จิตขี้เกียจ ไม่มีความแคล่วคล่องว่องไว
เมื่อเป็นเช่นนี้ให้กลับไปฝึกขั้นที่ 3 ให้สมบูรณ์ก่อน

วิธีปฏิบัติเพื่อระงับกายสังขาร

ให้เลือกเอาสัมผัสที่เด่นชัดที่สุดจุดใดจุดหนึ่ง เช่น
ปลายจมูกเป็นที่กำหนด ตั้งสติ ตั้งจิต ไว้ที่นั่น
โดยไม่ต้องวิ่งขึ้นวิ่งลง ไม่ต้องตามลมหายใจ
เหมือนที่เคยทำมา ตั้งสติ ตั้งจิต ไว้ที่จุดที่กำหนด
เท่านั้น ปล่อยลมให้ขึ้นลงเองตามธรรมชาติ
ไม่ต้องกำหนดตามลม รวบรวมอินทรีย์ทั้งหมด
คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เอาไว้ที่จุดที่กำหนดจุดเดียว

อุปมาอุปมัยเหมือนเด็กเฝ้าประตู ใครมา ก็ยืนอยู่ตรงนั้นที่เดียว
คอยเปิดประตู ปิดประตูอย่างเดียว ไม่ต้องวิ่งตามให้บริการแขก
รวบรวมความสนใจไว้ที่จุดเดียว กำหนดจุดนี้ให้เด่นชัด
เมื่อยิ่งเพ่ง ลมหายใจยิ่งละเอียดขึ้นๆ จิตก็สงบมากขึ้นๆ
จุดความรู้สึกก็เด่นชัดมากขึ้นๆ ลมหายใจยิ่งละเอียดสุขุมขึ้น
จนเกือบจะไม่มีลมหายใจ หรือในที่สุดก็ไม่มีลมหายใจเลย

ขณะที่ลมหายใจละเอียดขึ้นๆ จนเกือบจะหยุดไป หรือหยุดไป
ในที่สุดนั้น ความรู้สึกกลับเด่นชัดขึ้นๆๆๆ จนเหลือแต่
ความรู้สึกเด่นชัดมากๆ ที่จุดจุดเดียว......
อยู่ที่ในใจ นี่คือ อุคคหนิมิต ในอานาปานสติ

กายานุปัสสนาสติปัฏฐานในอานาปานสติ คือ
การกำหนดลมหายใจ หรือกายลม จนสามารถระงับกายสังขาร
เข้าฌาน ไม่มีกาย ธาตุ ดิน น้ำ ลม ไฟ ไม่ปรากฏอยู่ในใจ
เป็นสมาธิเต็มที่ คืออัปปนาสมาธิ แล้วก็ออกจากสมาธิ
เข้าสมาธิอีก ทำซ้ำๆ อยู่อย่างนั้น เป็นการฝึกเข้าสมาธิ
และเป็นการพิจารณากายพร้อมกันไปด้วย คือ เห็นกายสักแต่ว่ากาย
ไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน เป็นอนัตตา

นิมิต

นิมิต คือ เครื่องหมายที่กำหนด มี 3 อย่าง คือ
บริกรรมนิมิต อุคคหนิมิตร และ ปฏิภาคนิมิต

กรรมฐานบางอย่างมีนิมิตครบทั้ง 3 ประการไม่ได้
กรรมฐานเช่นนั้นไม่สำเร็จประโยชน์ ไม่สามารถทำให้เกิดฌานได้
เช่น พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ สีลานุสสติ จาคานุสสติ เป็นต้น
สำหรับอานาปานสติ มีนิมิตครบได้ทั้ง 3 ประการ

บริกรรมนิมิต

บริกรรมนิมิตมีในทุกกรรมฐาน
การระลึกถึง พุท-โธ พุท-โธ เป็นบริกรรมนิมิต
หายใจเข้า-พุท หายใจออก-โธ เป็นบริกรรมนิมิต
การกำหนดกาย เช่น เกสา เกสา เกสา เป็นบริกรรมนิมิต
การเจริญกสิณ เช่น วงสีแดง สีเขียว คือการเพ่งพร้อมทั้งบริกรรม
สีเขียว สีแดง ก็เป็นบริกรรมนิมิต
บริกรรมนิมิตในอานาปานสติ คือ ตัวลมหายใจออก
ลมหายใจเข้า ที่เคลื่อนไป เคลื่อนมา ซึ่งผู้ปฏิบัติใช้เป็นที่กำหนด

อุคคหนิมิต

เมื่อสามารถกำหนดจุดรู้สึกขึ้นมาได้ชัดเจนใน
ใจเป็นจุดเดียว หรือ กำหนดเป็นดวงขาวๆ
เป็นจุดในมโนภาพ กำหนดอยู่อย่างแน่วแน่
บริกรรมนิมิตก็จะเปลี่ยนเป็นอุคคหนิมิต
ขณะนี้ ความรับรู้ต่อลมหายใจออก-เข้านั้น ยังมีอยู่หรืออาจ
จะหายไป แต่ก็ไม่มีความสำคัญอีกต่อไป เพราะเราจะเพ่งลงไป
ที่จุดรู้สึกภายในใจ หรืออุคคหนิมิตที่เกิดขึ้นในใจนี้ให้ชัดเจน
โดยไม่สนใจรับรู้กับสิ่งอื่น

ปฏิภาคนิมิต

นิมิตที่เปลี่ยนรูปไปจากอุคคหนิมิต จะปรากฏเป็น
ภาพขึ้นมา เป็นภาพที่เห็นด้วยใจ แต่เหมือนมองเห็น
ด้วยตา ส่วนจะเป็นภาพอะไรนั้น ก็แล้วแต่บุคคล
และ อาจจะขึ้นอยู่กับอุคคหนิมิต ซึ่งเป็นจุดที่เป็นไปตามอุปนิสัย
ของแต่ละบุคคล หรือความทรงจำในอดีตที่เกิดขึ้นมาในขณะนั้นๆ
อาจจะเป็นเมฆขาวๆ ควันขาวๆ พระจันทร์ดวงเล็กๆ สารพัด
เป็นปัจจัตตัง เห็นนิมิตชัดเจน เป็นการเห็นด้วยใจ จึงไม่มีขอบเขต
เห็นได้ 360 องศา ไม่มีกาย ร่างกายไม่มี ตาไม่มี มีแต่ใจ
อุคคหนิมิต และปฏิภาคนิมิต เป็นเรื่องของการเข้าฌาน
ถ้าในอานาปานสติ ก็อยู่ในอานาปานสติขั้นที่ 4

สมาธิ

สมาธิที่แท้จริง พอที่จะแบ่งได้เป็น 2 อย่าง คือ
1. อุปจารสมาธิ และ 2. อัปปนาสมาธิ

อุปจารสมาธิ

อุปจาระ แปลว่า เข้าไปใกล้ หรือ รอบๆ
อุปจารสมาธิ คือ สมาธิที่เฉียดความเป็นฌาน
นิวรณ์ไม่ปรากฏ หรือ จะพูดอีกนัยหนึ่งว่า
ขณะที่จิตละจากนิวรณ์ อุปจารสมาธิก็จะเกิด
เมื่อไม่มีนิวรณ์ อุคคหนิมิต จึงปรากฏขึ้น
ตั้งแต่ขั้นที่มีอุคคหนิมิต ก็เริ่มเป็นอุปจารสมาธิ
แต่ยังคงล้มลุกคลุกคลานอยู่

เมื่อเกิดปฏิภาคนิมิต อุปจารสมาธิก็สมบูรณ์
ในขั้นปฏิภาคนิมิต ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
จะหายไปจากความรู้สึกหรือการรับรู้
จิตจะนิ่งสงบ ไม่มีนิวรณ์ 5 ปรากฏ
อาการเช่นนี้คือ อาการของอุปจารสมาธิ

อุปจารสมาธินี้
จะเป็นบาทฐานของวิปัสสนาได้ สามารถกำหนด
ไปรอบๆ และรับรู้สิ่งที่มากระทบทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ ได้
เป็นภาวะที่เหมาะสม ควรแก่การงาน คือ กัมมะนีโย
จะฝึกสมถะต่อไปเพื่อเข้าฌานก็ได้ หรือจะเข้าวิปัสสนา
ในอานาปานสติขั้นที่ 13-14 : ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้
หรือปฏิบัติขั้นที่ 9-10 : จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐานเลยก็ได้
หรือปฏิบัติขั้นที่ 5-6 : เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐานก็ได้
แล้วแต่ความถนัดของแต่ละคน

อุปจารสมาธิเป็นพื้นฐานแห่งวิปัสสนา

ถ้าเราสามารถทำให้เกิดอุปจารสมาธิได้อย่างมั่นคง
ลักษณะของสมาธิ 3 อย่าง เกิดได้ครบถ้วน คือ
ปริสุทโธ คือ ความสะอาดบริสุทธิ์
สมาหิโต คือ ความตั้งมั่นของจิต
กัมมะนีโย คือ ความคล่องแคล่ว ว่องไว ควรแก่การงาน
ลักษณะ 3 อย่างนี้ ถ้ามีในจิตใจ ก็จะเกิดวิปัสสนาต่อไป
เพื่อสำเร็จประโยชน์สูงสุดของการปฏิบัติธรรมในชาตินี้

อัปปนาสมาธิ

คือสมาธิที่แน่วแน่ มีความสงบเต็มที่ หรือที่เรียกว่า ฌาน นั่นเอง
เป็นจิตใจที่ไม่มีนิวรณ์ 5 แล้ว ประกอบด้วย องค์ฌาน 5 อย่าง ครบถ้วน

อุปจารสมาธิ ไม่มีนิวรณ์ 5
อัปปนาสมาธิ ไม่มีนิวรณ์ 5

อุปจารสมาธิ มี อุคคหนิมิต ปฏิภาคนิมิต
อัปปนาสมาธิ มี ปฏิภาคนิมิต

อุปจารสมาธิ ไม่มี องค์ฌาน 5
อัปปนาสมาธิ มี องค์ฌาน 5

อุปจารสมาธิ
เหมือนเราอยู่ใกล้บ้าน เข้าไปใต้ชายคา
กำลังขึ้นบันได กำลังเปิดประตูบ้าน แต่ยังไม่ได้เข้าไปในบ้าน

อัปปนาสมาธิ คือ การเข้าไปในบ้าน ปิดประตูหน้าต่างเรียบร้อย
พักผ่อนได้เต็มที่ ด้วยความสงบสุข โดยปลอดภัยจากการรบกวน
จากสิ่งภายนอก ตั้งแต่สัตว์ บุคคลต่างๆ ตลอดถึงดินฟ้าอากาศ ฯลฯ
ปิดประตูทั้ง 5 คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ให้เหลือแต่ใจ

ฌาน

ผู้ที่สนใจที่จะฝึกจิตต่อไปให้เป็นสมาธิแน่วแน่มั่นคง เป็นฌาน
ต้องศึกษาองค์ประกอบของฌานทั้ง 5 อย่าง เพื่อทำให้เกิดมี
ขึ้นอย่างครบถ้วน โดยอาศัยอุปจารสมาธิที่มีอยู่นี้เป็นพื้นฐาน

องค์ฌานทั้ง 5 ประกอบด้วย วิตก วิจาร ปีติ สุข และเอกัคคตา

วิตก
วิตกในที่นี้ไม่ได้หมายถึง ความวิตกกังวล นึกนี่ นึกโน่น
ความนึกคิดต่างๆ แต่วิตกในที่นี้ คือ สติที่กำหนดอารมณ์กรรมฐาน

ที่กำลังปฏิบัติอยู่ในขณะนั้นๆ

วิจาร ในที่นี้ ไม่ใช่วิจารณ์ที่ใช้อยู่ในภาษาชาวบ้านที่นึกคิด
วิจารณ์ไปว่าคนโน้นดีคนนี้ไม่ดี คนนี้ผิดคนนั้นถูก ฯลฯ
วิจาร ในที่นี้ คล้ายๆ “สัมปชัญญะ” คือการรู้สิ่งที่กำหนดในขณะนั้นๆ
วิจาร เป็นตัวรู้ ที่คอยดึงจิตให้อยู่กับสิ่งที่กำหนด
ฉะนั้นเมื่อเกิดวิจาร จิตก็จะวอกแวกน้อยลงๆ

ปีติ ความอิ่มใจ ซึ่งเกิดขึ้นเพราะความสำเร็จ

สุข ความสุข เกิดขึ้นเพราะปราศจากนิวรณ์รบกวน

เอกัคคตา การรู้อารมณ์ที่กำหนดเพียงอารมณ์เดียว
หรือจิตที่กำหนดเพียงที่เดียว มียอดสุดอันเดียว

ในการปฏิบัตินี้ให้ “ฝึกวิตก” ก่อน

สมมุติว่า เราต้องการสร้างนิมิตวงกลมขาวๆ
ขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางหนึ่งเซนติเมตร
เราก็พยายามกำหนดนึกๆๆๆ ให้ภาพปรากฏขึ้นในใจ
เมื่อภาพค่อยๆ ปรากฏให้เห็นแล้ว วิจาร ก็เกิดขึ้น
เมื่อเห็นภาพชัดขึ้น ปีติสุข ก็เกิดขึ้นเอง
แล้วก็อาศัยปีติหล่อเลี้ยงจิต ผูกมัดให้อยู่กับนิมิต
จนเกิด เอกัคคตา จิตแน่วแน่เป็นสมาธิ เป็นปฐมฌาน

สิ่งที่เราต้องพยายามก็คือ ทำให้เกิดวิตกอย่างสมบูรณ์
เพราะจะช่วยให้เกิดวิจาร วิจารนี้จะดึงจิตให้อยู่กับนิมิตมากขึ้น
เมื่อวิจารสมบูรณ์ ปีติ และสุข จะเกิดขึ้นเอง
และยังดึงให้จิตกับนิมิตเข้ามาใกล้กัน
และในที่สุด จิตจะมีอารมณ์ยอดสุดในนิมิตอันเดียว เป็นปฐมฌาน

อุปมา ฝึกฌานเหมือนฝึกลูกวัว

อาการที่ฝึกองค์ฌาน 5 อย่างนั้น พอที่จะอุปมาอุปมัยได้กับการฝึกลูกวัว
ลูกวัวที่ยังติดแม่อยู่ เจ้าของฟาร์มต้องฝึกลูกวัวแยกออกจากแม่ก่อนที่จะฝึก
ให้ไถนาต่อไป ด้วยการเอาเชือกผูกลูกวัวกับเสา แต่ลูกวัวก็คิดถึงแม่
กระโจนไป กระโจนมา ดิ้นรน เดินอยู่รอบๆ เสา แล้วก็รู้สึกเจ็บคอที่ถูกผูกเชือกไว้

ไม่นาน..... ก็พลิกนิดเดียว ลูกวัวเริ่มรู้ขอบเขตที่อยู่ของตัวเอง (วิจาร)
ยอมหยุดดิ้นรน แล้วก็สบาย แล้วลูกวัวก็คิดว่า ดูๆ แล้วเจ้าของก็รักเรา
ให้กินดี อยู่ดี สบาย ถูตัว ถูศรีษะให้ ให้ความรัก ให้ความอบอุ่นแก่เรา
ยิ่งกว่าแม่อีก คิดได้อย่างนี้ ก็เกิดปีติสุขทันที แล้วนอนพิงเสาด้วยความสุข

ลูกวัว คือ จิต
เสา คือ ปฏิภาคนิมิต
เชือก คือ วิตก
รู้เขต คือ วิจาร


อาการของวิตก วิจาร ก็มีอย่างละเอียด ปีติ สุขก็มี เอกัคคตาก็มี
มีอาการ 5 อย่างอยู่ครบถ้วน
เมื่อองค์ฌานทั้ง 5 ครบถ้วน ก็เรียกว่า “อัปปนาสมาธิ” หรือปฐมฌาน

ปฐมฌาน หรือฌานที่ 1 ประกอบด้วยวิตก วิจาร ปีติ สุข เอกัคคตา
ทุติยฌาน หรือฌานที่ 2 ละ วิตก วิจาร คงเหลือ ปีติ สุข เอกัคคตา
ตติยฌาน หรือฌานที่ 3 ละ ปีติ คงเหลือ สุข เอกัคคตา
จตุตถฌาน หรือฌานที่ 4 ละ สุข คงเหลือ เอกัคคตา


(มีต่อ 8)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


รูปภาพ

อานาปานสติ ขั้นที่ 5-8
เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน


สร้างความสุข ทำให้เกิดความสุขจนชำนาญ
เมื่อชำนาญแล้ว ย่อมคุมเวทนาได้
เมื่อคุมเวทนาได้ ย่อมคุมตัณหาได้
เมื่อคุมตัณหาได้ ย่อมไม่เกิดทุกข์


อานาปานสติ ขั้นที่ 5
รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ

เราเป็นผู้รู้พร้อมซึ่งปีติ จักหายใจออก
เราเป็นผู้รู้พร้อมซึ่งปีติ จักหายใจเข้า


ขั้นที่ 5 นี้ ต่อเนื่องมาจากขั้นที่ 1-4
ซึ่งเป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน และเป็นสมถกรรมฐาน
ตั้งแต่ขั้นนี้เป็นต้นไป เราจะเอากำลังสมาธิที่ได้จากการปฏิบัติ
ขั้นที่ 1-4 มาเป็นบาทฐานในการเจริญวิปัสสนา
โดยเพ่งเล็งเอาความดับทุกข์เป็นจุดมุ่งหมาย

อานาปานสติ ขั้นที่ 5-8 เป็นเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ในขั้นที่ 5 นี้ เราฝึกกำหนด ปีติ
ปีติ จัดเป็นความสุขแบบหยาบๆ มีอิทธิพลกับร่างกาย
เช่น ทำให้น้ำตาไหล เป็น sensation ต่างๆ
อาการของปีติจะต่างๆ กัน สังเกตจากชีวิตประจำวันก็ได้
เช่น เมื่อยินดีมากๆ ก็เกิดความรู้สึกตื้นตัน น้ำตาไหล

แต่ปีติที่เกิดขึ้นในสมาธิ ไม่ต้องอาศัยสิ่งเร้าจากภายนอก
ไม่ต้องอาศัยคำเยินยอจากคนอื่น เพราะปีติจากอานาปานสตินั้น
เกิดจากการปล่อยวางสัญญาอารมณ์ ด้วยตัวของเราเอง

ปีติ 5

ในวิสุทธิมรรค ท่านจัดปีติไว้ 5 อย่าง
1. ขุททกาปีติ
เป็น ปีติเล็กน้อย พอขนลุกขนชัน น้ำตาไหล น้ำตาไหล
2. ขณิกาปีติ เป็น ปีติชั่วขณะ ทำให้รู้สึกแปลบๆ เป็นขณะเหมือนฟ้าแลบ
3. โอกันติกาปีติ เป็น ปีติเป็นระลอก หรือปีติเป็นพักๆ
4. อุพเพคาปีติ เป็น ปีติโลดลอย เป็นปีติอย่างแรงให้รู้สึกใจฟูแสดงอาการ
หรือทำการบางอย่างโดยไม่ตั้งใจ เช่น เปล่งอุทาน หรือ
รู้สึกตัวเบาลอยขึ้นไปในอากาศ เป็นต้น
5. ผรณาปีติ เป็น ปีติซาบซ่าน ให้ความรู้สึกเย็นซ่าแผ่เอิบอาบไป
ทั้งสรรพางค์กาย เป็นปีติที่ประกอบกับสมาธิ

ปีติที่ยกเอามาเป็นองค์กำหนด
อานาปานสติในขั้นที่ 1 และ 2 เป็นการฝึกหัดเจริญสติ เพื่อให้
เกิดสมาธิ จิตตั้งมั่นต่อลมหายใจ จน “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งลมหายใจ”
ในขั้นที่ 3 และระงับลมหายใจ ละนิวรณ์ได้ จนเกิดเป็นอุปจารสมาธิ
อัปปนาสมาธิ จนกระทั่งเข้าฌาน ในขั้นที่ 4

อานาปานสติในขั้นที่ 5 เป็นการยกเอาปีติ คือเวทนาทางใจ
มาเป็นบทศึกษา
ตามหลักจริงๆ แล้ว เราเอาปีติซึ่งเป็นองค์ฌาน
มาฝึก โดยยกเอาปีติในองค์ฌานเป็นอารมณ์กรรมฐาน
เป็นที่กำหนดทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า

แต่สำหรับผู้ปฏิบัติทั่วไป คนที่จะได้ฌานที่สมบูรณ์หายาก
ได้ฌานหรือไม่ได้ฌาน ได้สมาธิขั้นไหนไม่ต้องกังวลเลย ไม่เป็นอะไร
เมื่อปฏิบัติ ขั้นที่ 1 พอจิตเริ่มสงบ ปีติก็อาจจะเกิดขึ้นได้
โดยเฉพาะ เมื่อเกิดสมาธิในขั้นที่ 3 เกิดความรู้สึกกายเบา ใจเบา
ปีติก็เกิดขึ้น ไม่มากก็น้อย แต่อาจจะไม่สม่ำเสมอก็ตาม
เราก็ยกเอาปีตินี้มากำหนดเป็นเวทนานุปัสสนาในขั้นที่ 5 เลยก็ได้

หรือผู้ปฏิบัติไม่ต้องกังวลถึงอานาปานสติขั้นที่เท่าไหร่เลยก็ได้
เราอาจจะใช้วิธี เจริญเมตตาภาวนา ทำใจสงบ ละความคิดไม่ดี
ความคิดบาปออกเสีย ปรารถนาแต่สิ่งที่ดีให้แก่ตัวเอง และผู้อื่น
ปีติก็จะปรากฏขึ้น ก็ยกเอาปีตินี้ขึ้นมาศึกษาในขั้นนี้ก็ได้

หรือในการดำรงชีวิตประจำวัน เราอาจจะประสบความสำเร็จของ
ตัวเอง หรือของคนที่เรารัก เช่น เราได้เลื่อนตำแหน่ง ลูกเรียนจบ
ปริญญา เราก็เกิดปีติ เราก็ยกเอาปีตินี้มาศึกษามากำหนดในขั้นที่ 5
นี้ก็ได้ หรือเราจะระลึกถึงการกระทำในอดีตที่เป็นฝ่ายกุศล เช่น
การสร้างพระพุทธรูป การร่วมสร้างกุฏิ วิหาร โบสถ์ ถวายผ้าป่า
กฐิน เป็นต้น เมื่อระลึกถึงแล้วก็เกิดความรู้สึกที่ดีสบายใจ
ก็เป็นปีติ นี้ก็เป็น จาคานุสติ

นอกจากนั้น เราอาจจะยกเอา สีลานุสสติ พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ
สังฆานุสสติ ฯลฯ
ขึ้นมาเป็นอุบายทำให้เกิดปีติ
แล้วกำหนดปีตินั้นๆ เป็นอารมณ์กรรมฐาน ก็ใช้ได้ทั้งนั้น

วิธีกำหนดปีติ - อาบปีติ

ในอานาปานสติ ขั้นที่ 5 นี้ เอาสุขเวทนาทางใจแบบหยาบๆ
คือ ปีติ มาเป็นบทศึกษา มาฝึกกำหนด
ให้จิตจ่ออยู่กับปีติทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ตลอดเวลา
ตัวลมหายใจมันปรากฏอยู่เองโดยธรรมชาติ เราก็รู้อยู่ทุกครั้ง
ที่หายใจออกหายใจเข้า แต่สิ่งที่เราพยายามกำหนดจ้องอยู่คือ ปีติ
พยายามฝึกทรงความรู้สึก “ปีติ” ที่มีอยู่ รักษาปีตินี้ไว้นานๆ
ต่อไปก็ทำอุบายอย่างใดอย่างหนึ่ง ทำให้ปีติขยายมากขึ้นๆๆ

โดยอาศัย อำนาจสมาธิ หรืออำนาจปัญญา หรือทั้ง 2 อย่าง
หาวิธี หาเหตุปัจจัยที่จะทำให้ปีติเพิ่มมากขึ้นๆๆๆ จนเต็มที่
คล้ายกับว่าปีติมีอยู่ในใจเรา แต่มีอะไรปิดบังอยู่
เราจับตัวปีตินี้ดึงออกมาเรื่อยๆๆๆ
จนปีติกองอยู่เต็ม..... เฉพาะหน้าของเรา
รู้พร้อมเฉพาะซึ่งปีติ จิตใจเต็มไปด้วยปีติ
จิตมีอารมณ์เดียว คือ ปีติ รู้สึกเหมือนกับ
เราจะจมอยู่ในกองปีติ อาบปีติไปทั้งตัวเลยทีเดียว


เมื่อทำให้ปีติเพิ่มขึ้นๆ ได้แล้ว ทีนี้ก็ทำปีติให้ระงับ
แล้วก็ทำให้เพิ่มอีก ขึ้นๆ ลงๆ เล่นอยู่อย่างนี้
นี่เป็นการฝึกเอาสติ สมาธิ ปัญญา มาควบคุมเวทนา

พยายามเอาสติมากำหนดเวทนาจนจิตตั้งมั่น เป็นการฝึกสมาธิ
กับความรู้สึก คือเวทนา ซึ่งยากกว่ากายานุปัสสนาสติปัฏฐาน
เพราะความรู้สึกเป็นอนิจจังแท้ๆ เหมือนไอน้ำ เดี๋ยวก็หาย
คือจับยาก จึงต้องฝึกให้ทรงตัว ทรงปีติไว้ให้ได้ ไม่ให้หายไป
ต้องมีความตั้งใจมากๆ ต้องมีกำลังใจสูง และเป็นการฝึก
เพิ่มประสิทธิภาพของสมาธิ กำลังพลังทางใจ และปัญญาด้วย

สังเกตดูปีติ
สังเกตดูปีติอย่างใกล้ชิด และให้เก็บข้อมูลที่เกี่ยวข้องกัน
สิ่งที่มีอิทธิพลกับปีติ ทำให้เกิดปีติมีอะไรบ้าง และเป็นอย่างไรบ้าง
ปีติมีอิทธิพลต่อร่างกาย ต่อจิตใจ และความคิด อย่างไรบ้าง

การเปลี่ยนแปลงความรู้สึก คือเวทนานี้ อาศัยสัญญา
เราจะสังเกตดูในชีวิตประจำวันก็ได้ เมื่อเรานั่งอยู่ที่ศาลาอย่างนี้ด้วย
จิตใจเป็นปกติ สงบอยู่ มีใครคนที่เราชอบ เดินเข้ามาใกล้ๆ ศาลา
เราก็คงจะมีความรู้สึกปีติเกิดขึ้น มีความดีใจ ยินดี เพราะอาศัย
สัญญาความจำเก่าที่เคยมีความสุขร่วมกัน เราไม่ได้คิดอะไร
แต่สัญญามันปรุงแต่งจิตให้เกิดสุขเวทนา เช่นนี้ก็เป็นได้

ตรงกันข้าม ถ้ามีคนที่เราไม่ชอบ เดินเข้ามาที่ศาลา เราก็อาจจะ
เกิดความยินร้าย กลัว ก็เป็นได้ เพราะสัญญาความทรงจำเก่าๆ ที่เขา
เคยทำให้เราเป็นทุกข์เดือดร้อน ลักษณะเช่นนี้ ทำให้เราสรุปได้ว่า
ความยินดี ปีติ หรือความยินร้ายเกิดขึ้นโดยอาศัยสัญญาเป็นปัจจัย

ในการปฏิบัติขั้นที่ 5 นี้ ทำให้เรามองเห็นว่าเวทนาและสัญญา
มีความสัมพันธ์กันอย่างไร และมีอิทธิพลต่อกันอย่างไร

เมื่อเราเห็นชัด และเข้าใจชัดว่า เวทนาและสัญญาเกี่ยวข้องและ
สัมพันธ์กันอย่างไร มีอิทธิพลต่อกันและกันอย่างไรแล้ว
เราก็สามารถควบคุมเวทนาได้ ทำให้ปีติเกิดขึ้นก็ได้
ทำให้ปีติเพิ่มขึ้นก็ได้ ทำให้ปีติลดลงก็ได้
เพราะเข้าใจเหตุปัจจัย และความสัมพันธ์ของสัญญาและเวทนา
เช่น ถ้าเรานึกถึงการทำบุญในอดีต การสร้างพระพุทธรูป
การถวายกฐิน ก็ทำให้เกิดปีติได้

การควบคุมเวทนาโดยอาศัยอำนาจสมาธิ และอำนาจปัญญา

1. การควบคุมเวทนาโดยอาศัยอำนาจสมาธิ
เมื่อมีปีติเล็กน้อย ต้องการทำให้ปีติมากขึ้น ก็อาศัยอำนาจสมาธิ คือ
การเปลี่ยนความรู้สึก (เวทนา) ด้วยการบังคับ
ใช้กำลัง (will power) บังคับให้ปีติเพิ่มมากขึ้นๆ และเมื่อปีติมาก
ก็ระงับปีติได้ด้วยอำนาจสมาธิเหมือนกัน คือ ด้วยการบังคับ

2. การควบคุมเวทนาโดยอาศัยอำนาจปัญญา
เมื่อมีปีติอยู่เล็กน้อย ก็สามารถเพิ่มปีติให้มากขึ้นได้
โดยอาศัยอำนาจปัญญา คือ การเอาสติระลึกถึงสัญญา เช่น พุทธคุณ
ธรรมคุณ สังฆคุณ จาคานุสติ เป็นต้น ทำให้ปีติเพิ่มมากขึ้น
นี่เรียกว่า ใช้ปัญญาให้เกิดปีติ หรือให้ปีติเพิ่มมากขึ้น
หรือใช้อำนาจปัญญาระงับปีติก็ได้เช่นกัน
โดยใช้ปัญญาระลึกถึงบางสิ่งบางอย่าง ทำให้ปีติระงับไป

ในการปฏิบัติก็ใช้ทั้งอำนาจสมาธิและอำนาจปัญญาควบคุมปีติ
ควบคุมเวทนา ทั้งฝ่ายกุศลและฝ่ายอกุศล เป็นกรณีๆ ไป
เพื่อให้บรรลุเป้าหมาย

การฝึกในขั้นนี้จึงเป็นการยกระดับอริยมรรคมีองค์ 8 หรือ
ไตรสิกขา คือ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้พัฒนาขึ้นไปอีกระดับหนึ่ง
เพราะเป็นการกำหนด ควบคุม เปลี่ยนความรู้สึก
ซึ่งต้องใช้กำลังมากกว่า

ในอานาปานสติ เราฝึกกับเวทนาฝ่ายกุศล คือ ปีติและสุข
เมื่อเราฝึกจนชำนาญแล้ว ถ้าเวทนาฝ่ายอกุศลเกิดขึ้น เช่น ความโกรธ
ความน้อยใจ เสียใจ เกิดขึ้น ก็จะระงับไปโดยอัตโนมัติ
หมายความว่า ถ้าเราฝึกขั้นที่ 5 ชำนาญแล้ว อาคันตุกะทุกข์ ความเศร้า
โศกต่างๆ ก็จะน้อยลงโดยอัตโนมัติ เป็นไปเองโดยธรรมชาติ

หรือด้วยการปรับปรุงลมหายใจ ซึ่งเป็นการเปลี่ยนความรู้สึกด้วย
การทำให้เกิดสติสัมปชัญญะ มีความรู้สึกตัว เกาะแนบแน่นอยู่กับ
ลมหายใจออก ลมหายใจเข้า


(มีต่อ 9)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 6
รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข

เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจออก
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข จักหายใจเข้า


ปีติ เป็นสุขเวทนาแบบหยาบ
สุข เป็นสุขเวทนาแบบละเอียด
ทั้งสองอย่างนี้อยู่ในสุขเวทนา ซึ่งเราสมมุติแยกออกมาเป็นปีติ
และสุข แต่ที่จริงก็เป็นเรื่องเดียวกัน ต่อเนื่องกัน คล้ายกัน
ปีติสุข นี้มาด้วยกัน เกิดด้วยกันนี่แหละ เมื่อระงับปีติก็จะเหลือแต่สุข

อุปมาอุปมัยเปรียบเทียบได้ว่า ทำแกงซุป เอาซี่โครงไก่ มันฝรั่ง
หัวหอมใหญ่ ฯลฯ มาต้ม ปรุง เป็นซุปไก่ ตักใส่ในถ้วย รับประทาน
บางคน บางครั้ง ถ้าเราต้องการของละเอียดอย่างเดียว ของหยาบๆ
เอาออก เอาไว้แต่ของละเอียด คือ น้ำซุปอย่างเดียวก็ได้

ปีติสุขก็เช่นเดียวกัน เกิดพร้อมกัน
เป็นของหยาบและของละเอียดที่อยู่ด้วยกัน
บางครั้งก็ไม่จำเป็นต้องแยกออกจากกัน
การปฏิบัติตามหลักอานาปานสติแบบสมบูรณ์ จะศึกษาเวทนา
และปฏิบัติให้ละเอียดต่อไป จึงแยกพิจารณา ปีติ และสุข

วิธีกำหนดสุข

อุบายที่ใช้ เหมือนกับขั้นที่ 5 พร้อมรู้เฉพาะซึ่งปีตินั่นเอง
ในขั้นที่ 6 นี้ ท่านให้ทรงไว้ซึ่งสุข ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
ความรู้สึก “ปีติ” เห็นได้ชัด มีตัวตนที่จะกำหนดได้
สุขนี้เหมือนอากาศไม่มีตัวตนที่จะให้กำหนด เป็นของละเอียด
การฝึกในขั้นนี้ การกำหนดสุข ต้องใช้กำลังสติ สมาธิ ปัญญา
มากขึ้น จึงเป็นการฝึกเพิ่มกำลังสติ สมาธิ ปัญญาไปในตัว


วิธีกำหนดสุข ให้เริ่มจากการกำหนดปีติ ให้เกิดปีติมากขึ้นๆ จนพอ
สมควร แล้วก็ปล่อยให้ปีติระงับไป เหลือไว้แต่ความรู้สึกสงบสุข
ไปเรื่อยๆ แล้วเข้าไปดูใกล้ๆ ดูให้เห็นชัด ทรงไว้นานๆ
รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุขทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า
จิตตั้งมั่นเป็นสมาธิกับสุข

ให้สังเกตว่า ปีติ และสุข มีอิทธิพลตรงกันข้ามต่อลมหายใจ

ปีติ ทำให้ลมหายใจหยาบขึ้นๆ มีผลต่อร่างกาย
และทำให้เกิดอาการทางกายด้วย เช่น น้ำตาไหล ตัวโยก เป็นต้น
เมื่อระงับปีติลง ลมหายใจจะละเอียดขึ้น

สุข ทำให้ลมหายใจละเอียด สุขุม ประณีตมากขึ้น ไม่มีอาการทางกาย
ปีติแทรกแซงเข้ามาเมื่อไร ความสุข ความสงบก็หายไป

การ “รู้พร้อมเฉพาะซึ่งสุข” คือการฝึกจิตให้ตั้งมั่นต่อความสุข
ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า ขั้นนี้ เป็นการสร้างสมรรถภาพ (skill)
ของสติปัญญา มากกว่าขั้นก่อน

ในการปฏิบัติปีติ และสุข ก็ปฏิบัติด้วยกัน แยกกันไม่ได้


(มีต่อ 10)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 7
รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร

เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจออก
เราเป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขาร จักหายใจเข้า


จิตตสังขาร คือ การปรุงแต่งของจิตโดยเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์
ทั้งปีติและสุข เป็นเวทนาขันธ์ เป็น จิตตสังขารฝ่ายกุศล
(จิตตสังขารฝ่ายอกุศล คือความรู้สึกทุกข์ใจ หงุดหงิด ที่เกิดอยู่ในชีวิตประจำวัน)

อานาปานสติ ขั้นที่ 7 นี้ เรายกเอาจิตตสังขารขึ้นมาเป็นบทศึกษา
“เป็นผู้รู้พร้อมเฉพาะซึ่งจิตตสังขารทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า”
ในขั้นนี้จึงเป็นการศึกษาจิตตสังขาร คือศึกษาเวทนาฝ่ายกุศล
เพื่อให้เห็นชัด เข้าใจชัด ถึงความสัมพันธ์ ความเป็นเหตุปัจจัยแก่กัน
ของเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ เพื่อที่เราจะสามารถควบคุมเวทนา
และสัญญาหรือจิตตสังขารได้ต่อไป

อานาปานสติ ขั้นที่ 7 เป็นการทำความเข้าใจจิตตสังขาร
ขันธ์ 5 และปฏิจจสมุปบาท
หรือจะกล่าวว่าเราศึกษาจิตตสังขาร
เพื่อให้เข้าใจเรื่องขันธ์ 5 และปฏิจจสมุปบาท ชัดมากขึ้นๆ
คือจะเริ่มเห็นความสัมพันธ์ ความเกี่ยวข้องกัน หรือความเป็นเหตุ
ปัจจัยแก่กันของขันธ์ 5 โดยเริ่มที่เวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์

โดยให้เอาเวทนาขันธ์เป็นตัวยืน เป็นตัวหลัก
คือกำหนดศึกษาเวทนา คือจิตตสังขารเป็นหลัก
ยืนอยู่ที่เวทนานี้ ให้รู้ชัดเห็นชัด ซึ่งเวทนาขันธ์
เห็นความสัมพันธ์ของเวทนาขันธ์กับสัญญาขันธ์
เห็นให้ชัด เข้าใจให้ชัด
ถ้าเห็นไม่ชัด ก็กลับไปฝึกอานาปานสติ ขั้นที่ 5 และ 6 ใหม่

ในขั้นนี้ เราจะศึกษา และกำหนดดูเวทนาที่เปลี่ยนไปตาม
เหตุปัจจัย เราจะไม่พยายามรักษาปีติ สุขให้คงอยู่นานๆ
ไม่ต้องควบคุมปีติสุข

เรากำหนดจิตให้ตั้งมั่นต่อเวทนา คือ ปีติ สุข
แต่ปล่อยเวทนาให้เปลี่ยนไปตามความเหมาะสม ตามเหตุปัจจัย
แล้วคอยสังเกตดู คอยศึกษาดูว่า มีเหตุปัจจัยอะไร ที่มีผล
ต่อเวทนาคือ จิตตสังขาร และผลเป็นอย่างไร

อาศัยการสังเกตดูจิตตสังขาร หรือเวทนาด้วยสติ สมาธิ
ปัญญา
ทุกลมหายใจออก ลมหายใจเข้า เพื่อจะดูให้เห็นชัดว่า
จิตนั้นถูกปรุงแต่งด้วยเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์อย่างไร
มีเหตุปัจจัยเกี่ยวข้องกันอย่างไร
สังเกตให้ติดต่อกัน จนกว่าจะเห็นชัด และเข้าใจชัด
ถึงความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกันของเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์

อย่าลืมนะว่า ในขั้นนี้เราเอาเวทนาเป็นหลัก เป็นตัวกำหนด
และสังเกตว่า เวทนาเปลี่ยนแปลง เพราะได้รับอิทธิพลจาก
สัญญาขันธ์ที่เปลี่ยนแปลง

การปฏิบัติในขั้นที่ 5-6 นั้น เราได้ควบคุมเวทนา
ให้เกิดปีติบ้าง ให้เกิดสุขบ้าง การควบคุมเวทนานั้น
อาศัยอำนาจสมาธิอย่างหนึ่ง อาศัยสติควบคุมสัญญาอย่างหนึ่ง
อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือทั้งสองอย่างพร้อมกัน

ถ้าควบคุมผัสสะและวิญญาณได้ ก็ควบคุม เวทนาได้
ถ้าควบคุมสัญญาได้ ก็ควบคุม เวทนาได้
ถ้าควบคุมเวทนาได้ ก็ควบคุม สัญญาได้
ถ้าควบคุมเวทนาและสัญญาได้ ก็ควบคุม สังขารได้
ขอให้เรากำหนด สังเกตดูด้วยตัวเองว่า จะเป็นจริงดังข้างบนนี้หรือไม่

แต่ในขั้นที่ 7 นี้ เราตามสังเกตดูจิตตสังขาร
โดยไม่ต้องควบคุม
เพื่อความเข้าใจและเห็นได้ชัดในเวทนาขันธ์

การเข้าใจ และเห็นชัดในเวทนา และขันธ์ 5 ก็คือการเข้าใจใน
ปฏิจจสมุปบาท คือความเป็นเหตุปัจจัยแก่กันและกัน
คือการที่สิ่งทั้งหลายอาศัยซึ่งกันและกันจึงเกิดขึ้น


จิตตสังขาร

จิตตสังขารในอานาปานสติ จัดเป็นเวทนา
เป็นเวทนาขันธ์ในขันธ์ 5 ไม่ใช่สังขารขันธ์
เป็นการปรุงแต่งของเวทนา และสัญญา
สัญญากับเวทนารวมกันเป็นจิตตสังขาร
เวทนาเปลี่ยนไปเรื่อยๆ เพราะสัญญาเข้ามาปรุงแต่ง
ปีติ สุข ในอานาปานสติ จัดเป็นเวทนาขันธ์
แต่บางแห่งจัดเป็นสังขารขันธ์ก็มี

จิตตสังขาร
เป็นจิตใจที่สงบ ไม่มีสังขารขันธ์เข้ามาปรุงแต่ง
ไม่ใช่การปรุงแต่งของจิต ยังไม่มีการนึกคิดปรุงแต่ง

ระวัง
อย่าให้สังขารขันธ์ ทำงาน (active)

คืออย่าให้มีความนึกคิดปรุงแต่งเกิดขึ้น
เราตามดูแต่จิตตสังขาร และการเปลี่ยนแปลงของจิตตสังขาร
ซึ่งเป็นเวทนาขันธ์ เป็นผลของเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์เท่านั้น

สังขารขันธ์ไม่ได้เข้ามาเกี่ยวข้อง

ถ้าเราปล่อยให้เกิดการนึกคิดปรุงแต่งเข้ามาปน
ท่านจัดเป็นสังขารขันธ์ ไม่ใช่เวทนาขันธ์
จิตตสังขาร ยังอยู่ในความสงบ ไม่มีความนึกคิดปรุงแต่ง
แต่ให้มีสติระลึกถึงสัญญาได้ เช่น
พุทธานุสสติ ธัมมานุสสติ สังฆานุสสติ จาคานุสสติ เป็นต้น
เช่นนี้ไม่ถือว่าเป็นสังขารความนึกคิดปรุงแต่ง

รู้เฉพาะจิตตสังขาร คือรู้เฉพาะเรื่องขันธ์ห้า
การศึกษาจิตตสังขาร คือ การศึกษาขันธ์ 5 ทั้งหมดนี้เอง
ขันธ์ 5 คือ รูปขันธ์ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ สังขารขันธ์
และวิญญาณขันธ์



(มีต่อ 11)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


อานาปานสติ ขั้นที่ 8
ทำจิตตสังขารให้สงบระงับ

เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจออก
เราเป็นผู้ทำจิตตสังขารให้รำงับอยู่ จักหายใจเข้า


ขั้นนี้เป็นขั้นสุดท้ายของเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน
ในอานาปานสติสูตร

ขั้นที่ 5-6 เน้นหนักในสมถะ คือ มีการควบคุมและบังคับเวทนา
ให้มีปีติ ให้มีสุข ทำจิตตั้งมั่นกับปีติและสุข
ขั้นที่ 7 ทำจิตตั้งมั่นสังเกตดู เพื่อเข้าใจความจริง
ของจิตตสังขาร คือเข้าใจขันธ์ 5
และเข้าใจปฏิจจสมุปบาท
ขั้นที่ 8 เป็นการปฏิบัติต่อเนื่องจากขั้นที่ 7

เมื่อปฏิบัติอานาปานสติ ขั้นที่ 7 ได้สมบูรณ์แล้ว
ก็สามารถกำหนดรู้เท่าทันเวทนา คือ จิตตสังขารได้

เห็นชัดว่า เวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวทนาสักแต่ว่าเวทนา

ถ้าเห็นชัดอย่างนี้ จิตตสังขารย่อมระงับไปเอง
คืออานาปานสติขั้นที่ 8
ไม่เกิดตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ และ อัตตา ตัว ตน ทุกข์ไม่เกิด

การทำจิตตสังขารให้สงบระงับ

การกำหนดเวทนาให้ติดต่อกัน จนเห็นเวทนาตามความเป็นจริง
ว่าเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เป็นการระงับจิตตสังขาร
เข้าถึง เตสังวูปะสะโม สุโข คือ
ความเข้าไปสงบระงับสังขารทั้งหลายเป็นสุขอย่างยิ่ง เกิดนิโรธ

สมาหิโต ยถาภูตัง ปชานาติ
ผู้มีจิตตั้งมั่น ย่อมเห็นสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง


ถ้าจิตใจสะอาด ตั้งมั่น ว่องไวพอตัว มีจิตตั้งมั่นต่อเวทนา
สามารถเข้าถึงเวทนาสัญญาได้จริง ก็จะเห็นเวทนาตามความเป็นจริง

คือเห็นว่าเวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน
ไม่ควรยึดมั่น ถือมั่น เมื่อปัญญาเกิดขึ้นเช่นนี้
การระงับจิตตสังขาร คือละอุปาทาน
ละความยึดมั่นถือมั่นในเวทนา ก็เกิดขึ้นเอง

ขอย้ำอีกครั้งว่า การปฏิบัติในขั้นที่ 7 นั้น เราอาศัยจิตที่
ตั้งมั่นเป็นสมาธิเข้าไปดูเวทนา เป็นการดูอย่างละเอียด
ทุกแง่ ทุกมุม ทุกๆ ส่วน ดูไปเรื่อยๆ


ผลที่ออกมาคือ ความรู้แจ้งเห็นจริงว่า
เวทนาเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เวทนาสักแต่ว่าเวทนา
เวทนาไม่ใช่สัตว์ บุคคล เรา เขา ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน


เมื่อเห็นเวทนาด้วยปัญญาชอบแล้ว ตัณหาซึ่งเป็นต้นเหตุให้เกิด
ทุกข์ก็ระงับไป เป็นการระงับจิตตสังขาร เป็นวิปัสสนาปัญญา
เป็นการปล่อยวางด้วยสติ สมาธิ ปัญญา

การปฏิบัติในขั้นนี้ จะช่วยให้เราเข้าใจ หัวใจของพระพุทธศาสนา
คือ อริยสัจ 4 ได้แก่ ทุกข์ สมุทัย นิโรธ มรรค
และเข้าใจปฏิจจสมุปบาทไปพร้อมกัน

พระพุทธเจ้าทรงสอนว่า
ทุกข์เกิดขึ้น เพราะมีตัณหาเป็นเหตุ
ตัณหาเกิดขึ้นก็เพราะมีเวทนา
เวทนาคือความรู้สึกชอบใจ ไม่ชอบใจ

เวทนาเกิดขึ้นจากผัสสะ

เช่น เมื่อตาเห็นรูปที่สวย เกิดความพอใจ ชอบใจ แล้วก็อยากได้
เห็นรูปที่ไม่สวย เกิดความรู้สึกไม่ชอบใจ ก็ไม่อยากได้
ได้ยินเสียงไพเราะ ก็เกิดตัณหาอยากฟัง
แต่ถ้าเป็นเสียงนินทา ก็เกิดความรู้สึกไม่ชอบ
และเกิดวิภวตัณหา ไม่อยากฟัง ดังนี้เป็นต้น

คือ เมื่อตาเห็นรูป หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้ลิ้มรส
กายได้รับรู้สัมผัส ใจรับรู้ธรรมารมณ์ เมื่อมี สัญญา
คือความทรงจำในอดีตเข้ามาประกอบ
ก็เกิดความรู้สึก คือ เวทนา ชอบบ้าง ไม่ชอบบ้าง
เมื่อ สังขาร เกิดขึ้น ปรุงแต่งต่อไป
ก็เกิดเป็น ตัณหา อุปาทาน ภพ ชาติ ชรา มรณะ ฯลฯ
เกิดเป็น ปฏิจจสมุปบาท
หรือ วงจรแห่งความทุกข์ ขึ้นมาอย่างสมบูรณ์

การศึกษาอานาปานสติขั้นที่ 8 นี้ ก็เพื่อให้เราสามารถ
ควบคุมเวทนาได้
เมื่อทำได้แล้ว ย่อมเท่ากับว่า เราสามารถ
ควบคุมไม่ให้เกิดตัณหา และไม่ให้เกิดความทุกข์ไปพร้อมๆ กัน

ความจริงถ้าปฏิบัติ ขั้นที่ 8 ให้สมบูรณ์จริงๆ ได้ก็พอแล้ว
เพราะการระงับจิตตสังขาร และไม่ให้เกิดจิตตสังขาร โดยการควบคุม
หรือกำหนดรู้เท่าทัน รู้ตามความเป็นจริงของเวทนาว่า เวทนาสักแต่ว่าเวทนา
ถ้าทำได้ดีต่อเนื่องกันตลอดไป ตัณหาก็จะเกิดไม่ได้

เมื่อไม่มีตัณหา ก็ไม่มีทุกข์
ถ้าผ่านได้ เข้าไปสงบระงับสังขารได้สมบูรณ์แล้ว ก็เข้าถึง
เตสังวูปะสะโม สุโข
คือ ความเข้าไปสงบระงับสังขารเป็นสุขอย่างยิ่ง

การปฏิบัติของเราก็เป็นการปฏิบัติถูกต้อง
ถึงเป้าหมายของการปฏิบัติแล้ว
ถ้าเราปฏิบัติถูกต้องมาตามขั้นตอนถึงอานาปานสติขั้นที่ 8
เราก็พร้อมแล้วที่จะละสังโยชน์ 10 ได้

แต่ถ้าเรายังละสังโยชน์ไม่ได้ กิเลสก็จะโผล่ขึ้นมาเป็นระยะๆ
จึงยังไม่เสร็จสมบูรณ์ เพราะเหตุยังไม่สมบูรณ์
กำลังของศีล สมาธิ ปัญญา ยังไม่สมบูรณ์
หมายความว่า จิตยังไม่บริสุทธิ์ ยังมีกิเลสอยู่ในจิต
จึงต้องศึกษาจิตต่อไป



(มีต่อ 12)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ส.ค. 2010, 08:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 พ.ค. 2004, 19:46
โพสต์: 2305

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว www


ภาคผนวก
ธรรมะเปรียบเทียบ และปกิณณกะ


สารบัญ ภาคผนวก

สติปัฏฐาน 4 ในมหาสติปัฏฐานสูตร
การพิจารณาทุกขเวทนา
นั่งจนตาย
พระภิกษุในปากเสือ - เวทนาไม่ใช่เรา
เต่าเจ้าปัญญา - เราไม่ใช่น้ำ

สังโยชน์ 10
พระโสดาบัน
นางวิสาขา ได้ดวงตาเห็นธรรม
ขันธ์ 5
เวทนา
สังขาร
สังขารขันธ์ในขันธ์ 5


(มีต่อ 13)

.....................................................
ศรัทธาในพระพุทธศาสนายิ่ง...ปรารถนาจะช่วยสืบต่ออายุพระพุทธศาสนา


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 18 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร