วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 18:07  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 ธ.ค. 2010, 14:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

หลับตาทำไม
โดย ชยสาโร ภิกขุ


โยมยายอาตมาไม่ยอม นั่งสมาธิเลย ก่อนออกบวชอาตมาเคยพยายามชวนให้ท่านลองดู แต่ไม่สำเร็จ ยายบอกว่าเสียดายเวลานั่งหลับตาเฉยๆ ไม่เห็นเกิดประโยชน์อะไร สู้นั่งถักเสื้อให้หลานไม่ได้ โยมยายเป็นคนอังกฤษรุ่นเก่า ในสายตาท่าน การนั่งสมาธิเป็นเรื่องพิเรนทร์ หลานอธิบายอย่างไรท่านก็ไม่ประทับใจ ยายเป็นชาวคริสต์ อคติของท่านจึงน่าให้อภัย ที่น่าเศร้ากว่าคือในเมืองไทยซึ่งเป็นเมืองพุทธมาหลายร้อยปีแล้ว ยังมีคนจำนวนมากที่คิดอย่างโยมยายอาตมา อาตมาอาจจะคาดหวังอะไรมากเกินไปก็ได้ แต่อดคิดไม่ได้ว่าชาวพุทธในประเทศไทยน่าจะเข้าใจเรื่องการฝึกจิตดีกว่าหญิง ชราในบ้านนอกของอังกฤษ

คนไทยบางคน ยังถือว่าการทำสมาธิเป็นเรื่องงมงาย อาตมาฟังความเห็นอย่างนี้ครั้งแรกก็งง ไม่คิดว่าผู้มีการศึกษา (มักไม่ใช่ชาวบ้าน) จะขาดความรู้เรื่องศาสนาประจำชาติของตนถึงขนาดนั้น ที่จริงการฝึกจิตมีเหตุผลหลายประการ ซึ่งเปิดเผยอยู่เสมอ สำหรับผู้ใฝ่รู้ ฉะนั้น การปัดว่าการฝึกจิตเป็นเรื่องไม่สำคัญ ควรถือว่าเป็นการพูดแบบ กุกกุฏจฉาป วิสสเชติ * (แปลว่า ปล่อยไก่) ความงมงายมีหลายอย่าง บางคนเชื่อว่าความพ้นทุกข์อยู่ที่บัญชีธนาคาร บางคนถือว่าอยู่ที่ความรัก แล้วพิสูจน์ได้ไหม บางคนถือว่าไม่ต้องเป็นห่วงเรื่องอนาคตของโลก เพราะปัญหาทั้งหลายที่มนุษย์กำลังสร้างด้วยกิเลส นักวิทยาศาสตร์จะแก้ให้เราได้ นี่แหละงมงาย ผู้ที่ฝึกจิตดีแล้วเท่านั้น ที่สามารถพ้นความงมงายได้ เพราะการฝึกจิตทำให้เรารู้เท่าทันความคิดและไม่เชื่อมันจนเกินไป เรากล้าพูดได้เลยว่า ผู้ที่ไม่ฝึกจิตไม่สามารถรู้ความหมายของคำว่างมงายได้ และเมื่อไม่รู้อาการของความงมงายตามเป็นจริง จะพ้นจากการเป็นเหยื่อของมันได้อย่างไร

ความงมงายเกิดจากการเชื่อบางสิ่งบางอย่างโดยไม่มีเหตุผลรับรอง เช่น เชื่ออะไรเพียงเพราะคนส่วนมากเชื่ออย่างนั้น ซื้อสินค้าเพราะดาราที่ตนชอบ รับเงินจากผู้ผลิตให้ชมว่ามันดี ปัญหาก็คือ คนเราชอบเข้าข้างตัวเอง ใครเคยยอมรับว่าตัวเองงมงายมีไหม ทุกคนมักถือว่าตัวเองมีเหตุผล แม้คนโรคจิตก็ยังถือว่าเขาคิดถูกที่สุดแล้วคนอื่นต่างหากที่บ้า

ถ้าดูภายในไม่เป็น เราจะแยกแยะระหว่างเหตุผลจริงและเหตุผลปลอม (ข้ออ้าง) ไม่ได้ เราจะยึดมั่นถือมั่นในสิ่งที่เราเรียกว่า เหตุผล หวงแหนทฤษฎีของตน ความสัมพันธ์ระหว่าง ตัณหา เจตนา และความคิดเห็นเป็นเรื่องละเอียด ไม่มีมหาวิทยาลัยที่ไหนที่สอนให้เรารู้เรื่องนี้ได้ ต้องดูเอง คือ ต้องภาวนา

ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดจากจิต เราจะแก้ปัญหาต่างๆ เราต้องเริ่มต้นที่จิต ดูในระดับสังคมก่อน ใครฟังข่าว ดูข่าว ก็ต้องเห็นชัดเลยว่า โลกนี้เต็มไปด้วยการรบราฆ่าฟันกัน การเอารัดเอาเปรียบกัน การใช้อำนาจกดขี่ผู้ไม่มีอำนาจ เฉพาะในสังคมไทยมีปัญหามากมาย เช่น เรื่องยาเสพติต คอรัปชั่น เป็นต้น แล้วอะไรคือรากเหง้าของปัญหาทั้งหลาย ถ้าไม่ใช่กิเลสในใจคน

หยุดพิจารณาดูสักนิดหนึ่งก็ต้องเห็นความร้ายการของกิเลส ความเห็นแก่ตัว ความไม่ละอายต่อบาป การบังคับตัวไม่เป็น ความอิจฉาพยาบาท ความหลงใหลมัวเมา ความยึดมั่นถือมั่นในเผ่าพันธุ์ สีผิว สัญชาติ ศาสนา ฯลฯ สิ่งเหล่านี้แหละที่อยู่เบื้องหลังปัญหาต่างๆ อยู่เสมอ และถ้าเราไม่หาทางยกระดับจิตของคน การแก้ไขรัฐธรรมนูญการปฏิรูประบบต่างๆ ในสังคมจะได้ผลจริงหรือ ประวัติศาสตร์สอนว่ากิเลสคนสามารถดึงระบบทุกระบบให้เข้ามารับใช้ตนได้ มีไหมในประวัติศาสตร์โลกที่ไม่เคยเป็นอย่างนั้น

ทำไมประเทศที่เจริญทางวัตถุแล้วยังแก้ปัญหาสังคมไม่ได้ คำตอบน่าจะอยู่ที่ว่าวัฒนธรรมโลกส่วนใหญ่ขาดเครื่องมือพัฒนาจิตใจคนที่มี ประสิทธิภาพ ลัทธิศาสนาที่มีแต่ความเชื่อคัมภีร์เป็นแรงดลบันดาลใจให้คนละชั่วทำดีได้ มักได้ผลในระดับพื้นฐานเท่านั้น และมักมีผลข้างเคียงเช่นการแบ่งเราแบ่งเขาอย่างรุนแรง ซึ่งมีโทษมากต่อสังคมโลก ปัญหาอยู่ที่การไม่เข้าใจธรรมชาติของจิตอย่างลึกซึ้ง อาตมาเห็นว่าเมืองไทยน่าจะได้เปรียบประเทศอื่นในเรื่องนี้ เพราะมีศาสนาพุทธเป็นที่พึ่ง ศาสนาพุทธมีแนวทางพัฒนาชีวิตในทุกด้านที่สมบูรณ์ที่สุด ที่เคยปรากฏในประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ ปัญหาของไทยจึงไม่ได้อยู่ที่การขาดแคลนทรัพยากร แต่อยู่ที่ใช้ไม่ถนัดหรือไม่ยอมใช้

ในระดับตัวบุคคล สิ่งที่สร้างความทุกข์ความเดือดร้อนให้กับชีวิตเรามากที่สุด น่าจะเป็นความเจ็บไข้ได้ป่วย แต่ความทุกข์กายไม่ใช่เรื่องของกายอย่างเดียว จิตใจมีส่วนเกี่ยวข้องอยู่เสมอไม่มากก็น้อย เช่น ความเครียด ความซึมเศร้า ความกังวล อารมณ์เศร้าหมองทั้งหลายเหล่านี้ ย่อมมีผลกระทบต่อภูมิต้านทานโรค ทำให้ป่วยง่ายและหายช้า เป็นที่ยอมรับกันแล้วในวงการแพทย์ว่า ความโกรธเป็นปัจจัยสำคัญของโรคหัวใจ ส่วนความโลภอาจทำให้ติดยาเสพติดหรือเป็นกามโรคได้ อีกเรื่องหนึ่งที่กำลังเป็นที่วิตกกันมากคือนิสัยการกิน คนจำนวนมากทีเดียวยอมกินอาหารที่เป็นพิษต่อร่างกายเพียงเพราะชอบรสชาติ คนสมัยนี้เป็นโรคเพราะวิถีชีวิตกันมาก โรคอ้วนเป็นตัวอย่างที่เด่นที่สุด สาเหตุสำคัญคือการกินมากเกินความต้องการของร่างกาย ในปัจจุบันนี้นักวิจัยบอกว่าคนอเมริกันตายเพราะโรคอ้วนปีละ ๓๐๐,๐๐๐ คน การรักษาโรคอ้วนใช้งบประมาณปีละ ๑,๐๐๐ ล้านดอลลาร์ ยุคนี้คือยุคไขมันเจริญ การไม่ควบคุมอาหาร การไม่ยอมออกกำลังกาย เป็นปัญหาของพฤติกรรมก็จริง แต่เกิดจากมโนกรรมคือจิต ต้องแก้ที่จิตใจคนก่อน เพราะถ้าบริหารอารมณ์ได้ เรื่องปากมันจะเป็นเอง ไม่ต้องกินแก้กลุ้ม กินแก้เบื่อ กินแก้เหงา อีกต่อไป

การฝึกจิตทำให้รู้จักปล่อยวางความยึดถือยึดมั่นในอารมณ์ คนเรารู้จักบริหารอารมณ์ได้ดีก็ช่วยทางด้านสุขภาพกายได้ดีด้วย โรคที่เกิดเพราะกรรมยังคงมีอยู่จริง แต่โรคที่มีสาเหตุมาจากจิตจะลดน้อยลงมาก ยารักษาโรคที่กระทรวงสาธารณสุขต้องซื้อมาจากเมืองนอกในราคาแพงๆ จะลดลง สรุปว่าการนั่งหลับตาช่วยฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศ ประหยัด แค่ราคายานอนหลับ ยากล่อมประสาท ก็ได้เงินมหาศาลแล้ว

การทำความเพียรทางจิต ใจ ถือว่าเป็นกิจสำคัญสำหรับชาวพุทธทุกคน ไม่ว่าเราเป็นนักบวชหรือฆราวาส เราควรเอาใจใส่ ควรจะตั้งใจในเรื่องจิตตภาวนาทำไม เพราะคำว่า “ภาวนา” นั้นตรงกับคำสมัยใหม่ว่า พัฒนา ไม่ภาวนาก็คือไม่พัฒนา ไม่พัฒนาจิตใจ อาจเกิดผลต่อสุขภาพร่างกายได้ แต่ผลร้ายที่เห็นง่ายคือภายในจิตใจจะขาดกำลัง ความอ่อนแอทางจิตนี้ปรากฏด้วยการไหลไปตามอารมณ์ เช่น การหมกมุ่นในเรื่องกามราคะ หรือสิ่งทั้งหลายที่อยากได้อยากมีอยากเป็น โดยไม่สนใจผลเสียที่จะตามมา นิสัยหงุดหงิด ขี้รำคาญ ขี้เบื่อ กลัดกลุ้ม ว้าวุ่น ฯลฯ เมื่อจิตใจคนเราไม่ได้รับการพัฒนา การพัฒนาภายนอก ไม่ว่าด้านสังคมหรือเศรษฐกิจ มักมีผลเสียมากกว่าผลดี

โทษของการไม่พัฒนาจิต จึงอยู่ที่การตกอยู่ใต้อำนาจของนิวรณ์ นิวรณ์เป็นชื่อของกิเลสที่ขัดขวางความเจริญ จิตมีนิวรณ์ไม่สงบ และไม่สามารถเห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง นิวรณ์ ๕ ข้อ คือ ความใคร่ในกาม ความพยาบาท ความง่วงเหงาหาวนอน ความฟุ้งซ่านเดือดร้อนใจ ความลังเลสงสัย สิ่งเหล่านี้ พร้อมที่จะเกิดขึ้นและก่อปัญหาแก่ชีวิตของคนเราตลอดเวลา การจัดการกับนิวรณ์สำคัญแค่ไหน เห็นได้จากพุทธพจน์ที่ว่า อวิชชามีนิวรณ์ ๕ เป็นอาหาร คือ อวิชชา ความไม่รู้ไม่เข้าใจชีวิตของตน ซึ่งเป็นเหตุของทุกข์ทั้งปวง ห่อหุ้มจิตได้เพราะนิวรณ์ห้าประการยังหล่อเลี้ยงมันอยู่ เพราะฉะนั้น คนเราจะฉลาดปานใดก็ตาม ปราดเปรื่องในวิชาการที่เคยเรียนมาขนาดไหนก็ตาม เราทุกคนยังอยู่ในเขตอันตราย เพราะตราบใดที่เราระงับนิวรณ์ไม่ได้ เราไม่มีทางทำลายอวิชชา ทำลายอวิชชาไม่ได้ก็หนีทุกข์ไม่พ้น

สรุปแล้วว่าการนั่งหลับตา เป็นส่วนหนึ่งของการฝึกจิตให้เป็นอิสระจากกิเลส จุดเด่นในเบื้องต้น คือการใช้สมาธินำไปสู่ความเป็นอิสระจากกิเลสประเภทที่เรียกว่านิวรณ์ ความเป็นอิสระจากกิเลส เป็นสิ่งที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง เพราะนำประโยชน์ละความสุขอันสูงสุดมาให้ ทั้งแก่ตัวเรา ครอบครัว ชุมชน และสังคม หากกิเลสยังครอบงำใจ ความสุขก็ย่อมบกพร่องอยู่ ได้อะไรเท่าไรก็ไม่พอ ดีเท่าไรไม่นานก็ชิน ชินแล้วก็เบื่อ เบื่อแล้วก็ทุกข์ จิตเหมือนถังน้ำรั่ว เมื่อรั่วแล้วน้ำทุกอย่างก็มีค่าเท่ากัน จิตใจที่เป็นอิสระจากนิวรณ์มีลักษณะพิเศษหลายอย่างคือ

หนึ่ง มีคุณภาพ สิ่งดีงามต่างๆ อย่างความละอายต่อบาป ความกตัญญูกตเวที ความเมตตากรุณา เบิกบานในจิตห่างจากความคิดผิด เหมือนพืชผักต่างๆ ซึ่งขึ้นงามในดินดี

สอง กำลัง คือความอดทน ความขยัน ความหนักแน่น ความรู้สึผิดชอบ ความกล้าในสิ่งที่ถูกต้อง น้อมจิตไปในทางไหน มันยอม แล้วเราสามารถพินิจพิจารณาอย่างลึกซึ้งเพราะไม่มีความต้องการอย่างอื่นเข้า ไปรบกวน

สาม จิตสงบ ไม่เครียด ไม่วิตกกังวล ผ่อนคลาย

สี่ มีความสุขที่บริสุทธิ์กว่าและยิ่งกว่าที่เราเคยรู้จักมาก่อน จิตผ่องใสเบิกบาน

ในเมื่อการฝึกจิตมีผลที่น่าปรารถนาอย่างนี้ ทำไมชาวพุทธทั่วไปไม่ค่อยกระตือรือร้นขวนขวายเท่าไร สันนิษฐานว่า เป็นเพราะไม่ชีวิตมีปัญหาที่การพัฒนาตนจะแก้ได้ หรือเพราะยังไม่เห็นการพัฒนาตนเป็นงานเร่งด่วน ถ้าใช้สำนวนพระต้องบอกว่า ศรัทธาน้อย ไม่เห็นทุกข์ ด้วยเหตุนี้ สำหรับคนส่วนใหญ่ จุดเริ่มต้นของการหันมาปฏิบัติธรรมอย่างจริงจัง คือเรื่องวิกฤติส่วนตัว ซึ่งกระแทกความนิ่งนอนใจในชีวิตอย่างแรง ทำให้ต้องหยุดทบทวนชีวิตใหม่ อาจจะด้วยการป่วยหนัก การเสียชีวิตของผู้ใกล้ชิด หรือความผิดหวังก็ได้ แต่ที่ควรย้ำคือเรื่องวิกฤติที่เกิดขึ้นนั้นนั่นไม่ใช่เหตุที่ต้องปฏิบัติ เป็นเพียงแค่เครื่องเขย่าตัวให้ตื่นจากหลับ ทำให้ถามตัวเองว่า ชีวิตมีแค่นี้หรือ โลกนี้ทำไมไร้แก่นสารสาระอย่างนี้ มันน่าจะมีอะไรที่สูงกว่านี้ ทำอย่างไรเราจึงจะมีโอกาสเข้าถึงสิ่งที่สูงกว่านั้น ความสงสัยอย่างนี้คือความบังเกิดของปัญญา ความมั่นใจว่าธรรมะเท่านั้นที่จะช่วยได้ คือการบังเกิดขึ้นของศรัทธาที่นำไปสู่การประพฤติปฏิบัติธรรมะ บางคนอายุยังไม่ถึงยี่สิบก็คิดอย่างนี้แล้ว เรียกว่ามีบารมี บางคนอายุตั้งแปดสิบก็ไม่เคยคิด ผู้ที่เริ่มสงสัยเรื่อง กิน กาม เกียรติ จะกลับเหมือนเดิมได้ยาก เหมือนเด็กที่เลิกเชื่อเรื่องซานตาคลอส

สำหรับผู้ที่ไม่เคยเฉลียวใจเลยว่ากำลังถูกความประมาทหลอก ยากที่จะเข้าใจผู้ที่ตั้งใจปฏิบัติ มักรู้สึกว่าพวกเข้าวัดทรมานตัวเองให้ลำบากโดยไม่จำเป็น คล้ายๆ เอารถเข้าอู่บ่อยๆ ทั้งๆ ที่ยังวิ่งได้ปกติ แต่ในสายตาของนักปฏิบัติไม่ใช่เรื่องการซ่อมรถที่วิ่งได้แล้ว หากเป็นการปรับปรุงรถที่ควรจะดีกว่านี้ และดีกว่านี้ได้ ในทางโลกถือกันว่า นักกีฬาที่เสียสละทุกสิ่งทุกอย่างเพื่อเป็นแชมป์โลก น่ายกย่องกว่าผู้ที่พอใจเป็นคนเก่งระดับตำบล น่าคิดไหมว่า ทำไมสังคมไม่สรรเสริญผู้ที่กล้าสู้เพื่อสิ่งที่มีแก่นสารมากกว่ากีฬาเป็น ไหนๆ คือการเป็นแชมป์เหนือโลก

เคยคิดเล่นๆ ว่า ในยุคดึกดำบรรพ์ มนุษย์รุ่นแรกที่ตัดสินใจลุกขึ้นหัดเดินสองขา น่าจะถูกเพ่งโทษว่าอุตริ ทำตัวให้ลำบากเปล่าๆ ไม่อย่างนั้นก็อาจถูกมองว่าดัดจริต หรือถูกตำหนิว่ายุ่งอย่างนี้ทำไม “ฉันคลานไปคลานมาอย่างนี้ตลอดชีวิตก็สบายดี ไม่เห็นเสียหายอะไร พวกเดินสองขาเขามีปัญหาครอบครัวหรือเปล่า” โชคดีว่ามนุษย์รุ่นบุกเบิกนั้น ไม่หวั่นไหวต่อลมปากของมนุษย์สี่เท้า

ความเบื่อหน่ายต่อชีวิตผิวเผิน ความต้องการสิ่งที่เป็นแก่นสาร นี้คือการสุกงอมของบารมีที่เคยสั่งสมมาหลายภพหลายชาติแล้ว เป็นจุดเริ่มต้นของวิวัฒนาการของชีวิตที่ย่อมนำไปสู่มรรคผล นิพพานในที่สุด ผู้ที่มีอุดมการณ์ในการพัฒนาตนให้ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตขึ้นเรื่อยๆ จะสนใจในเรื่องการฝึกจิตมากเพราะเป็นกลไลที่ขาดไม่ได้ในการสร้างชีวิตใหม่ ถึงจะยากลำบาก หรือล้มลุกคลุกคลานอยู่บ้างก็ยอม เพราะชื่อว่างานนี้ไม่มีทางเลือก

การทำสมาธิมีประโยชน์จริงหรือ แล้วแต่การจำกัดความหมายของคำว่าประโยชน์ ผู้ที่มองว่าไร้ประโยชน์ก็มี เพราะอะไร เพราะประโยชน์ของเขาคือ สิ่งที่อำนวยให้ได้สิ่งที่อยากได้ คือความสนุกสนานบ้าง เงินทองบ้าง อำนาจ ชื่อเสียง ฯลฯ บ้าง ส่วนผู้ที่ปฏิบัติธรรมมองว่า การทำสมาธิมีประโยชน์มาก เพราะถือว่าประโยชน์หมายถึงสิ่งที่เพิ่มพูนคุณภาพชีวิต ทั้งของตนเองและคนอื่น

อย่างไรก็ตาม การกำหนดความหมายของประโยชน์ ต้องเริ่มด้วยความชัดเจนในเป้าหมาย เราจะใช้คำว่าถูก ว่าผิด ว่าดี ว่าชั่ว ว่าเป็นประโยชน์ ว่าไม่เป็นประโยชน์ หรือไร้ประโยชน์ได้ ก็ต่อเมื่อเรามีเป้าหมาย เพราะประโยชน์คือสิ่งที่ตรงต่อเป้าหมาย หรือนำไปสู่การบรรลุสู่เป้าหมาย สำหรับผู้ที่ถือว่า การเลี้ยงครอบครัว ความเจริญในอาชีพ หรือการได้ลาภ ได้ยศ ได้สรรเสริญ ได้สุข พอที่จะเป็นเป้าหมายชีวิตได้ การนั่งสมาธิอาจจะไม่จำเป็นทีเดียว ตรงกันข้ามอาจจะเป็นอุปสรรคโดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีผู้ที่อยากได้เร็วและไม่ รังเกียจแนวทางทุจริต พวกขี้โกง คนเห็นแก่ตัว คนชอบเอารัดเอาเปรียบเพื่อนมนุษย์ ที่เคยได้เป็นเศรษฐี มหาเศรษฐีมีมากมาย แต่คนแบบนี้เหมาะไหม ที่จะให้เป็นคนตัวอย่างแก่ตัวเองหรือลูกหลาน โชคดีว่าคนส่วนมากยังกลัวบาปและเคารพตัวเองมากเกินกว่าที่จะแลกความดีของตน กับโลกธรรม ส่วนผู้ที่ต้องการหาความสุขความเจริญทางโลกโดยไม่ต้องทิ้งศีลธรรม การอบรมจิตใจน่าสนใจ อย่างน้อยก็ช่วยบรรเทาความเครียด อย่างดีก็เกื้อกูลต่อชีวิตที่ดีงาม เป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมอย่างแท้จริง

ในชีวิตการทำงาน การฝึกจิตให้เข้มแข็งไม่ท้อแท้ต่ออุปสรรคและไม่ประมาทในยามรุ่งเรือง ย่อมป้องกันอันตรายได้ดี นักปราชญ์เรียกว่าอยู่อย่างการกินปลาโดยก้างไม่ติดคอ คือถึงแม้ว่าจำเป็นต้องดำเนินชีวิตท่ามกลางสิ่งแวดล้มที่วุ่นวาย การทำสมาธิก็ช่วยให้ไม่ต้องวุ่นวายตาม ผลที่เห็นได้ชัดอยู่ตรงที่ว่าการทำหน้าที่หรือการทำงานทุกอย่างต้องมี อุปสรรคอยู่เสมอ เกิดจากคนอื่นก็มี เกิดจากสิ่งแวดล้อมก็มี เกิดจากเศรษฐกิจของโลกก็มี บางครั้งปัญหาที่เกิดจากภายนอกเราแก้ได้ บางปัญหามันเหลือวิสัยที่จะแก้ไข ไม่มีทางสู้ ต้องทำใจยอมรับแล้วเรียนรู้จากประสบการณ์

การไม่ซึมเศร้า ไม่เป็นทุกข์กับเรื่องพรรค์นี้ บางคนได้โดยนิสัยเดิมช่วย เรียกว่ามีพรสวรรค์ แต่คนส่วนมากต้องสร้างนิสัยใหม่ด้วยการฝึกอบรม นอกจากนั้นแล้ว ในชีวิตคนเราอุปสรรคหลายอย่างเกิดจากจิตของเราโดยตรง เช่นตัดสินผิดเพราะถือตัว ไม่ยอมรับฟังเหตุผลคนอื่น ทำอะไร แบบชิงสุกก่อนห่ามเพราะใจร้อน พลาดพลั้งเพราะอยากได้กำไรเยอะๆ อย่างนี้เป็นต้น ฉะนั้น การรู้จักตัวเอง บริหารอารมณ์ตัวเอง จัดความรู้สึกของตัวเองในทางสร้างสรรค์ สิ่งเหล่านี้น่าจะเป็นประโยชน์แก่คนทุกคน

เรามักจะได้ยินบ่อยว่าผู้ปฏิบัติธรรมไม่ทันคน ที่แท้มันมักจะตรงกันข้าม คือรู้ทันกว่าคนที่ไม่ปฏิบัติ รู้กล รู้วิธีอย่างดี ทำไมเป็นอย่างนั้น เพราะการฝึกจิตทำให้เราคุ้นเคยกับเล่ห์เหลี่ยมของกิเลสเห็นในใจตัวเองแล้ว การสังเกตลักษณะอาการของกิเลสในขณะที่ปรากฏในการกระทำของคนอื่นก็ง่าย อากัปกิริยา คำพูด น้ำเสียง ปฏิกิริยาต่างๆ ล้วนแต่เป็นสิ่งบ่งบอกความจริงของคน

นักปฏิบัติที่ดีต้องรู้จักระวังไม่ด่วนสรุปใคร แต่ไม่ละเลยข้อมูลต่างๆ ที่สัมผัสรับรู้ เพื่ออยู่อย่างรอบคอบไม่หลง ใครที่มองคนคนอื่นด้วยความระแวงตลอดเวลาอาจจะคิดว่าเขาฉลาดกว่า แต่การมองคนอื่นอย่างนั้นมีผลเสียต่อคุณภาพจิตมาก นักปฏิบัติจึงให้โอกาสคนอื่นก่อน โดยถือหลักว่าบริสุทธิ์จนกว่ามีข้อพิสูจน์ชัดเจนว่ามีความผิด

อีกประการหนึ่งคือนักปฏิบัติสามารถควบคุมตัณหาไม่ให้ครอบงำจิตชวนคิดผิดและ พลั้งพลาด ลองสังเกตดูสิ คนที่ถูกหลอกบ่อยๆ คือคนที่หมั่นฝึกสติจริงหรือเปล่า เป็นคนที่โลภอยากได้มากโดยลงทุนน้อยต่างหาก อย่างนี้ต้มง่ายที่สุด และคนที่ทำลายผลประโยชน์ของตัวเองบ่อยที่สุดคือคนขี้โมโห ไม่ใช่คนสงบ

คนเข้าวัดอาจดูเหมือนไม่ทันคน เพราะบางทีเขาขี้เกียจพูดในสิ่งที่เขาเห็น อย่างไรก็ตามคงเหมือนจะต้องยอมรับว่า นักปฏิบัติอาจจะเสียเปรียบในบางเรื่อง เพราะไม่กล้าทำบาป เสียเปรียบพวกเล่นสกปรก หรือเล่นนอกกติกา จะเอาด้วยก็เสียดายความดีของตน เขาไม่เคารพกฎหมายไม่ใช่ว่าเราจะต้องผิดกฎหมายตามจึงจะฉลาด บางทีต้องปล่อย ในระยะยาวต้องช่วยสร้างสังคมที่คนทำชั่วถูกลงโทษ ไม่ว่าเขาเป็นใคร หรือรู้จักใคร และเส้นสายทั้งหลายที่มีต้องไม่เหนือกฎหมาย อย่างไรก็ตาม คนสุจริตก็ยังได้อยู่เหมือนกัน คือไม่ใช่เสียเปรียบในทุกด้าน ในประการแรกได้รักษาความเคารพนับถือตัวเองไว้ได้ ซึ่งเป็นอริยทรัพย์โดยแท้ และในประการที่สอง ได้ชื่อเสียง (ในหมู่คนดี) ว่าสะอาด น่าไว้ใจ ซึ่งเป็นทุนอย่างหนึ่งในการทำมาหากิน โดยเฉพาะในการค้าขาย เพราะคนอยากทำธุรกิจกับผู้ที่เขาไว้ใจได้

ภายนอกภายใจสัมพันธ์กัน เมื่อวิเคราะห์ปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวัน ปรากฏว่าตรงข้ามกับสิ่งที่เราพยายามปล่อยวางเวลานั่งสมาธิ สำคัญที่สุดคือเรื่องของกาม เช่นที่ทำงาน ผู้ชายไปชอบผู้หญิง ผู้หญิงไปชอบผู้ชาย ต่างคนต่างมีจิตใจหมกหมุ่นทั้งวัน มัวแต่หาโอกาสได้พูดคุย คอยคิดปรุงแต่งต่างๆ นานา หวานบ้าง ลามกบ้าง

ความฉลาดในวิชาชีพ ช่วยป้องกันความรู้สึกอย่างนี้ไม่ได้ จิตใจวุ่นวายแล้วงานก็เสีย จิตอยู่กับพี่คนนั้น น้องคนนี้ตลอดเวลา คงไม่ได้อยู่กับงานที่ต้องทำ เรียกว่ากามครอบงำเสียแล้ว คนที่ชอบเพ้อฝันก็เหมือนกัน มัวแต่คิดว่าคืนนี้เลิกงานแล้ว เราจะไปเที่ยวที่โน่นที่นี่ จะแต่งตัวอย่างไรดี จะใส่ชุดนั้นดีไหม ชุดนี้ดีไหม จะไปกินข้าวที่ไหนดี หรือปล่อยให้ความวกวนอยู่ในเรื่องเก่า แช่อยู่ในสัญญาที่อบอุ่น

นี่ก็เป็นอุปสรรคต่อการทำงาน เพราะจิตใจไปคิดแต่เรื่องนั้น ก็ไม่ได้อยู่กับสิ่งที่กำลังทำอยู่ กามทำให้เราไม่อยากอยู่ในปัจจุบันกับสิ่งที่ไม่น่าตื่นเต้น พอรู้สึกว่างานตรากตรำ น่าเบื่อ จิตก็หนีเตลิดไปเลย งานก็ฉาบฉวย “กาม” นี้มีตั้งแต่หยาบเช่นเรื่องทางเพศ จนละเอียดไม่ใช่แต่เรื่องราคะอย่างเดียว เช่นทุกเรื่องที่เกี่ยวกับโลกที่เราอาศัย ที่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับหน้าที่ในปัจจุบัน นี่เรียกว่ากามทั้งนั้น

บางคนชอบการเมือง ชอบอ่านข่าว ชอบดูหนังสือพิมพ์ ผิดไหม ก็ไม่ผิด ประชาชนศึกษาทำความรู้เกี่ยวกับสังคมของตน เป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าทำงานแป๊บเดียวแล้วหยุด ชวนเพื่อนคุยเรื่องนายก เรื่องรัฐบาล เรื่องนั้นเรื่องนี้ ไม่รู้จักกาลเทศะ ถือเพียงแค่ว่าคุยมันส์กว่าทำงาน สนุกกว่าหน้าที่ ในกรณีนี้การเมืองกลายเป็นกาม กีดขวางความเจริญ คนเราแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนอาจจะชอบคิดชอบพูดในเรื่องกีฬา ผู้หญิงอาจจะคุยเรื่องการซื้อของสนุกกว่า ผู้ชายมักจะชอบเรื่องรถยนต์ สิ่งที่ดึงดูดจิตใจมีมากและหลากหลาย แต่โดยสรุป การที่ปล่อยให้หมกมุ่นในสิ่งนั้น นี่คืออุปสรรคต่อการทำงานให้ได้ผล หลายครั้งงานไม่เดิน เพราะผู้ทำงานบริหารความรู้สึกของตนไม่เป็น บริหารเวลาไม่เป็น ไม่รู้จักกาลเทศะ

ถ้าเราเก่ง เวลาทำงานก็ทำเต็มที่ พอเลิกงานแล้วมีเวลาว่าง เราจะไปเที่ยวที่ไหน หรือเราจะไปนั่งคุยอะไรก็เป็นสิทธิของเรา แต่ถ้าเราแบ่งเวลาไม่เป็น เวลาควรทำงานก็มัวแต่คิดเรื่องที่กำลังตื่นเต้นหรือคนที่กำลังคิดถึง แอบโทรศัพท์บ้าง ส่งอีเมล์บ้าง อดไม่ได้ ไม่เป็นตัวของตัวเอง มันก็เป็นปัญหา และปัญหานี้จะแก้อย่างไร สมาธินั้นแหละช่วยได้

นิวรณ์ข้อที่สองครอบคลุมความรู้สึกต่างๆ ในทางลบ ความโกรธ ความพยาบาท ความขัดเคือง ความแค้นเคือง สิ่งเหล่านี้เป็นปัญหา ไม่ว่าเราทำอะไรก็แล้วแต่ ถ้าจิตใจฉุนเฉียว เดือดดาล ขุ่นข้องหมองใจ มันเป็นอุปสรรคอยู่ตลอดเวลา อะไรเล็กอะไรน้อยจิตใจก็เสียศูนย์ เลือดขึ้นหน้า

ลองสังเกตดูว่า ในขณะที่จิตใจเราร้อนเป็นไฟ โกรธคนนั้น ด่าคนนี้ ความสามารถในการใช้เหตุผลหายไปเลยใช่ไหม ทำงานก็ไม่เป็นอันจะทำ เพราะขณะที่กำลังโกรธ สารอเดรนาลินหลั่งไหลไปทุกส่วนของร่างกาย พยายามบังคับตัวเองทำงานแป๊บเดียว มันก็ผุดขึ้นมา “ทำอย่างนั้นมันน่าเกลียด ฉันรับไม่ได้ ฯลฯ” โกรธแล้ว เราพร้อมจะทำอะไรหลายอย่าง ซึ่งปรกติเราจะไม่กล้าทำมัน กิเลสฝ่ายโทสะจึงน่ากลัวที่สุด ในขณะที่ความโกรธกำลังออกฤทธิ์ออกเดช คนใจดีกลายเป็นยักษ์หรือยักขินีได้ ตกนรกก็ไม่ว่า ขอให้ได้แก้แค้นก็พอใจ ในขณะที่จิตใจเราร้อน การคิดการอ่านการพิจารณา ความละเอียดรอบคอบในการทำหน้าที่ไม่มีเลย โอกาสที่จะพลั้งพลาดก็มีมาก บางทีกิเลสอาจจะไม่ถึงขั้นรุนแรงมาก อาจจะเป็นแค่หงุดหงิดรำคาญ หรือเพ่งโทษคนอื่น แต่ความเศร้าหมองนิดเดียวมีผลต่อสุขภาพจิตเรา

พระองค์ตรัสอุปมาว่า อุจจาระนิดเดียวก็เหม็น ข้อบกพร่องนี้เราจะแก้อย่างไร ถ้าไม่ใช้สมาธิช่วย จริงอยู่ บางคนนั่งสมาธินานหลายปีก็ยังไม่เลิกนิสัยขี้โกรธก็มี และคนที่ไม่ปฏิบัติธรรมชอบยกคนอย่างนี้เป็นตัวอย่างเพื่อพิสูจน์ว่า การนั่งสมาธิไม่มีผลจริง ทำทำไม เขาค้าน ไม่เกิดประโยชน์อะไรหรอก เมียผมนั่งทุกวันก็ยังเหมือนเดิม ยังโมโหผมอยู่เลย สามีเมากร่ำ (ขี้เมา) ชอบพูดอย่างนี้มาก

ทุกคนต้องมีจุดอ่อน และจุดนั้นต้องเป็นจุดที่แก้ยากที่สุด การเอาจุดอ่อนเป็นเครื่องวัดคน ไม่ค่อยยุติธรรม อย่างไรก็ตามเรายังยืนยันได้ว่า ในกรณีของความโกรธ ใครฝึกจิตถูกทางจะดีขึ้นไม่มากก็น้อย เพราะนักภาวนาเห็นความหยาบของอารมณ์โกรธอย่างชัดเจน จะสลดสังเวชและพยายามชนะ

ลองสังเกตดูว่าในหมู่ญาติมิตรเพื่อนฝูงของเรา ผู้ที่เคยมีนิสัยขี้โกรธ ขี้โมโห ก้าวร้าว ชอบจับผิดคนอื่น แล้วหายจากอาการนั้นโดยไม่ปฏิธรรมมีบ้างไหม...ไม่มีหรอก หรือแทบจะไม่มี บางคนอาจจะมีอาการอ่อนลงด้วยอายุก็ได้ คือกำลังวังชาน้อยลง การแสดงออกอาจจะอ่อนลง ไม่มีแรงอาละวาดก็เอาแค่ทำปึงปังพอเป็นพิธี แต่นิสัยก็ยังมีเหมือนเดิม อายุ ๓๐ เป็นอย่างไร อายุ ๔๐ ก็เป็นอย่างนั้น ๕๐ ก็เป็นอย่างนั้น มีตลอดชีวิต เพราะไม่ปฏิบัติ ไม่ปฏิบัติธรรม ไม่มีเครื่องมือพัฒนาจิต ไม่พัฒนาจิต ชีวิตก็อุดตัน ตายแล้วกิเลสก็ติดตามไปด้วย


คนส่วนใหญ่ปฏิบัติ ธรรมแล้ว ความโกรธถ้าไม่หายทีเดียว ก็เห็นได้ชัดเลยว่าลดน้อยลงไปมาก เพราะ ฉะนั้นเปรียบได้ว่าเหมือนคนเข้าโรงพยาบาล ก็ไม่ใช่ว่าทุกคนที่เข้าโรงพยาบาล จะหายหมดใช่ไหม แต่การที่บางคนเข้าโรงพยาบาลแล้วไม่หาย โรคกำเริบหรือเขาเสียชีวิตไปเลย นั่นก็ไม่ใช่ข้อพิสูจน์ว่าโรงพยาบาลไม่ดี หมอไม่ดี ยาไม่ดี เพราะว่าคนที่เข้าโรงพยาบาลแล้วหาย มีมากกว่าหลายเท่า ป่วยแล้วไม่ยอมเข้าโรงพยาบาลเพราะเคยรู้จักคนเข้าแล้วไม่หาย เหตุผลนี้ใช้ได้ไหม

ฉะนั้น นิสัยเสียต่างๆ กิเลสทั้งหลายที่อยู่ในใจ เราจะรอให้มันหายเอง มันไม่หายหรอก กี่ภพ กี่ชาติ ก็ไม่มีอะไรดีขึ้น ซ้ำร้ายอาจจะกำเริบก็ได้ และที่น่ากลัวที่สุดก็คือ กิเลสมีกำลังมากอาจจะปิดโอกาสให้เราได้กลับมาเกิดเป็นมนุษย์ต่อไปก็ได้ ชาตินี้เราทุกคนมีสิทธิมนุษยชน แต่ตายแล้วเราแน่ใจไหมว่ายังจะมีสิทธิเป็นมนุษยชนอยู่

นักปฏิบัติใหม่ถึงแม้ว่ายังอยู่ในขั้นล้มลุกคลุกคลานก็ตามไม่พึงท้อใจ ถ้าสามารถป้องกันความคิดผิดหรือความอยากผิดๆ ในการปฏิบัติ (ปลอดมิจฉาทิฏฐิและตัณหา) การเคลื่อนไหวในทางที่ดีย่อมมีอยู่ การขัดเกลาย่อมมีอยู่ ยังมีบางสิ่งบางอย่างดีขึ้นอยู่ทุกวัน เพราะอะไร เพราะหลักทำดีได้ดี เป็นกฎตายตัวของธรรมชิต ผลยังไม่สุกงอม จงเชื่อไว้ก่อน อย่าใจร้อน ไม่ใช่ว่าคนเราจะเปลี่ยนแปลงได้รวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงเป็นคนละคน ภายในวันเดียว เดือนเดียว ปีเดียว ถ้าเป็นอย่างนั้นได้ก็ดี แต่ส่วนมากจะไม่เป็นอย่างนั้นซิ นานๆ อาจจะหลายปี หรือเป็นสิบปี จึงค่อยเห็นชัดก็ได้ ไม่แปลกอะไร อย่าแข่งกับคนอื่นก็แล้วกัน ไม่ต้องสงสัย วันหนึ่งจะทึ่งตัวเอง ท่านอาจารย์พุทธทาสบอกว่าจะอยากไหว้ตัวเอง

เรามักจะสำนึกเมื่อมีอะไรไม่น่าปรารถนาเกิดขึ้น เช่นมีใครใส่ร้าย หรือด่าว่า สังเกตตัวเองว่าไม่มีอะไร ทั้งๆ ที่รู้ว่าใครมาด่าเราอย่างนี้ สมัยก่อนน่ะ เราก็จะโกรธน่าดู แต่ทำไมตอนนี้เรารู้สึกเฉยๆ อยู่ พอเห็นอย่างนี้เราก็ภูมิใจเจ้าของนะ ไม่เคยคิดว่าเราจะปล่อยวางได้ถึงขนาดนี้ แต่รู้ว่าถ้าไม่ปฏิบัติ ไม่ทำสมาธิภาวนา เป็นไปไม่ได้แน่นอน

คนบางคนเห็นผลเร็ว เหมือนคนเดินกลางฝน ไม่นานก็เปียกโชกทั้งตัว ส่วนคนเดินกลางหมอก จะค่อยๆ เปียกไปเรื่อยๆ กลับบ้านถอดเสื้อออกจึงสังเกตว่าเปียก และไม่รู้ว่าเปียกมาตั้งแต่เมื่อไหร่

ท่านเปรียบเทียบมนุษย์เราเหมือนนกเขาอยู่ในกรงแต่ไม่รู้จักกรง นักปฏิบัติคือนกที่เห็นกรงแล้วอยากออกไป ฉะนั้นเป็นเรื่องธรรมดาว่าพวกไม่เห็นกรงต้องง ไม่เข้าใจการกระทำของผู้ที่กำลังหาทางแหกคุก แต่คนเราที่ต้องการแสวงหาชีวิตพ้นจากกรง อยากอยู่ในที่ๆ กระพือปีกได้ มีชีวิตที่ดีงาม มีคุณภาพ เราต้องทำตามคำสอนของผู้มีปัญญา ผู้ที่เป็นอิสระจากความกักขังทุกประเภท ท่านสอนให้เราฝึกจิต การนั่งหลับตาจึงน่าสนใจมาก เพราะจิตใจที่ปล่อยวางความกลัดกลุ้ม ซึมเศร้าฟุ้งซ่านวุ่นวาย วิตกกังวล ลังเลสงสัยได้เท่านั้นที่สามารถบินหนีจากวัฏสงสารไปได้

การปฏิบัตินี้ ต้องทำเอง และไม่ควรหวังทางลัด ทุกวันนี้ ก็มียาเปลี่ยนอารมณ์ออกมาเยอะ แก้ทุกข์ได้ชั่วคราว แต่ผลข้างเคียงมีมาก และโทษที่สำคัญคือ การทานยาประเภทนี้ทำให้อ่อนแอ ขี้เกียจหาทางปล่อยวางที่ถูกต้องและยั่งยืน มันกลับมาบั่นทอนการเป็นที่พึ่งของตน อยู่ไปอยู่มาทุกข์นิดเดียวก็ทนไม่ได้ ต้องกินยา มันง่ายจริง แต่ความง่ายนั้นแหละที่ทำลายความเจริญของเรา คนป่วยบางคนไม่กินไม่ได้ แต่คนเราทั่วไป ใช้ธรรมโอสถบำบัดดีกว่า

พระพุทธศาสนาสอนให้เรารับผิดชอบชีวิตตัวเอง ไม่หวังพึ่งสิ่งภายนอกตัวเรา อยากให้มันสงบ มีปัญญา ต้องสร้างเหตุปัจจัยที่เหมาะสม การเพียรพยายามในทางที่ถูกต้องนั่นแหละ คือ สิ่งศักดิ์สิทธิ์

การตั้งตนไว้ชอบคือการตั้งใจศึกษาความจริงของชีวิต ความสุข และความทุกข์ มันเกิดได้อย่างไร มันดับอย่างไร มันเป็นอย่างไร เพ่งพิจารณาตรงจุดนี้ เราจะเห็นว่าทุกข์เพราะกิเลสครอบงำ สุขเพราะกิเลสไม่ครอบงำ เมื่อเห็นความร้ายกาจของกิเลสในใจตนแล้วกลัว ต้องการพ้นจากอำนาจของมัน เราจึงเห็นประโยชน์ของการนั่งสมาธิ เพราะการนั่งสมาธิเป็นเครื่องมือกำจัดกิเลสที่สำคัญ การทำสมาธิทำให้เรามีกำลัง ทำให้จิตใจเข้มแข็ง สงบ มีความสุข ไม่ทำสมาธิจิตใจอ่อนแอ ไม่มีกำลัง วอกแวกไม่สงบ ไม่ผ่องใส ไม่ราบรื่น แข็งกระด้าง

เอกลักษณ์ของศาสนาพุทธ คือการยกปัญญาเป็นคุณธรรมสูงสุด ชาวพุทธเราหากมีความจริงใจต่อพระศาสนา จึงต้องมุ่งมั่นให้เป็นผู้มีปัญญา พระพุทธองค์ตรัสไว้ว่าสมาธิเป็นบาทฐานของปัญญาประเภทที่รู้เห็นตามความเป็น จริง จนสามารถทำลายกิเลสได้ ส่วนปัญญาที่เกิดจากความจดจำหรือคิดไตร่ตรอง เป็นประโยชน์มากในชีวิตประจำวัน แต่ได้ผลดีเฉพาะเวลาที่ทุกสิ่งทุกอย่างปกติ พอกิเลสเกิดขึ้น พอมีเรื่องกระทบกระเทือนจิตใจอย่างรุนแรง มักจะลืมปัญญาระดับนี้เลย พออารมณ์ดับแล้ว เราจึงนึกได้ว่าอะไรเป็นอะไร ฉะนั้น ปัญญาแบบจำได้คิดได้ มีบทบาทจำกัดในการสร้างที่พึ่งภายใน เราจำเป็นต้องเสริมด้วยปัญญาที่สามารถยืนหยัดตลอดเวลา แม้ในยามวิกฤติ บัณฑิตผู้มีปัญญา เห็นเรื่องที่ควรคิด ควรพิจารณาก็คิดพิจารณาในเรื่องนั้น แต่บัณฑิตรู้จักกาละเทศะ เวลาไหนไม่ต้องคิดก็สามารถปล่อยวางได้ ท่านว่า สามารถอยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ต้องการ ตามความต้องการคือสมาธิภาวนา จิตสงบแล้ว ถึงเวลาที่สมควรก็น้อมใจเพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในหลักธรรม เหมือนแมงมุม ไม่มีแมลงก็อยู่เฉยๆ อย่างมีสติ พอแมลงติดหยากไย่ก็ออกไปจัดการ

ในสมัยปัจจุบันนี้ คนจำนวนมากเป็นทุกข์เพราะความคิดมากกว่าปัญหาในการเอาตัวรอดทางด้านวัตถุ แต่สังคมยังไม่ค่อยปรับตัวกับสถานการณ์ใหม่ ยังไม่มีค่านิยมในการบริหารความคิด ระบบการศึกษาสอนแต่ให้คนรู้จักคิด เราจึงคิด คิด คิด อยู่ตลอดเวลา แต่หยุดคิดไม่ค่อยเป็น นอกจากเวลานอนหลับเท่านั้น และทุกวันนี้คนเครียดมากเสียจนนอนไม่ค่อยหลับก็มีเยอะ หรือถึงจะนอนหลับก็ยังต้องฝันอีก หลับแล้วต้องฝันเพราะอะไร เพราะความคิดยังคั่งค้างอยู่ ไม่ยอมปล่อยวาง ตื่นขึ้นมาตอนเช้าก็ไม่สดชื่นเพราะสมองแช่อยู่ในความอยาก ความกลัว ความกังวลอยู่ทั้งคืน จะจัดการกับความคิด ไม่ให้มันเป็นพิษเป็นภัยต่อชีวิตเรา อาตมาเชื่อว่าการฝึกจิตคือทางเดียวที่ได้ผล

การฝึกสมาธิภาวนาจะประสพความสำเร็จอย่างเต็มที่ ต้องประกอบด้วย สัมมาทิฏฐิ ความเห็นชอบ สิ่งที่ผู้ภาวนาจะขาดไม่ได้คือ ความเข้าใจในหลักสำคัญทางพระพุทธศาสนาเช่นกฎแห่งกรรม อริยสัจสี่ ไตรลักษณ์ เป็นต้น จำเป็นต้องรู้ความสัมพันธ์เนื่องอาศัยกันของศีล สมาธิ ปัญญา ต้องไม่เชื่ออะไรที่ขัดกับความจริงของธรรมชาติ เช่นไม่เชื่อว่ามีพระผู้เป็นเจ้าสร้างโลกคอยดลบันดาลชีวิตของมนุษย์ ไม่เชื่อว่านิพพานเป็นอัตตาเป็นต้น ถ้าอย่างนั้นผู้ที่นับถือศาสนาอื่นหรือลัทธิอื่นทำสมาธิได้ไหม ได้สิ และได้ผลคือความสงบสุขในระดับหนึ่งด้วย ที่ไม่ได้คือความตั้งใจมั่นซึ่งเป็นบาทฐานของวิปัสสนา อันเป็นอาวุธเดียวที่สามารถนำเราไปสู่ความเป็นอิสระจากกิเลสอย่างแท้จริง

ความเห็นผิด ไม่ใช่อุปสรรคเดียวที่ควรระวัง ความอยากผิดก็อันตรายเหมือนกัน หลวงพ่อชาท่านสอนลูกศิษย์ของท่านอยู่เสมอว่า อย่าปฏิบัติเพื่อเอาอะไร อย่าปฏิบัติเพื่อจะได้อะไร จงปฏิบัติเพื่อละ ปฏิบัติเพื่อปล่อย ถ้านั่งสมาธิคิดอยากได้นั่น อยากเห็นนี่ อยากมี อยากเป็น การทำสมาธิจะเศร้าหมอง แล้วจะไม่เป็นสมาธิพุทธ เพราะการทำสมาธิด้วยตัณหา ไม่ใช่แนวทางเพื่อพ้นทุกข์ ทั้งนี้ก็เพราะมันเป็นการกระทำที่ขัดแย้งในตัว คือถ้าเผื่อเราทำสมาธิเพื่อละตัณหาเป็นแรงบันดาลใจแล้วเราจะสำเร็จไหม เหมือนผู้นำประเทศเชิญเจ้าพ่อเป็นอธิบดีกรมตำรวจช่วยปราบคนพาล ครูบาอาจารย์ให้เราทำสมาธิด้วยฉันทะ คือความอยากไม่อยู่เกี่ยวกับกามหรืออัตตา เช่นต้องการให้จิตใจเรามีคุณธรรม ละกิเลสได้ เรานั่งหลับตาเพื่อทำให้จิตเราสงบจากกาม สงบจากอกุศลทั้งหลาย พอที่จะอำนวยความสะดวกแก่การทำงานของปัญญา

จิตใจที่สงบเป็น สุขอย่างยิ่ง นักปฏิบัติบางคนหรือหลายคนกลับกลัว กลัวติดสุข ไม่กล้าทำสมาธิมาก (ทั้งๆ ที่ยังไม่เคยสุขเท่าไร) อย่างนี้คือความคิดผิดเหมือนกัน เครื่องรับประกันความปลอดภัยมีอยู่แล้วคือ สติ และปัญญา ถ้าเราระมัดระวัง มีสัมมาทิฐิ ระลึกได้เสมอว่า ความสุขจากสมาธิ สุขจริงแต่ยังเป็นสังขารอยู่ คือยังเป็นของไม่แน่ ไม่ใช่เป้าหมายสูงสุด เป้าหมายสูงสุดอยู่เหนือสุข แต่หนทางต้องผ่านสุข รู้อยู่อย่างนี้ไม่ต้องติดสุขก็ได้ หรือถ้าติดติดไม่นาน ความเห็นชอบ สติ และความจริงใจจะเข้ามาช่วย ขอให้สังเกตว่าการเสวยสุขกับการติดสุขไม่เหมือนกัน สุขแล้วชอบ ให้สักแต่ว่าชอบก็ใช้ได้ ยังไม่ติด คำว่าติดสุขหมายถึงพอใจแค่นั้น ต้องการแค่นั้น คือยึดติดส่วนหนึ่งของมรรคเป็นตัวผลเสียเลย

พระพุทธองค์ตรัสว่า ความสุขที่เกิดจากความสงบนั้น นักปฏิบัติทั้งหลายอย่าพึงกลัว ท่านสอนให้มีสติรู้เท่าทัน แล้วมันไม่เป็นพิษเป็นภัย ตรงกันข้าม ปีติและสุขที่เกิดจากความสงบหล่อเลี้ยงจิตทำให้กระตือรือร้นในการปฏิบัติ ไม่เบื่อ ไม่มีคำอ้างว่าเช้าเกินไป ดึกเกินไป ร้อนเกินไป หนาวเกินไป หิวเกินไป อิ่มเกินไปเหมือนแต่ก่อน ความสุขที่เกิดจากสมาธิภาวนานั้นถูกต้องและมีประโยชน์ต่อเรามาก เพราะว่าทุกคนต้องการความสุขมากกว่าสิ่งอื่น ทุกคนในโลกไม่ว่าชาติไหน ชั้นไหน วรรณะไหน ล้วนแต่ต้องการสิ่งเดียวกันคือความสุข เพราะฉะนั้น เราควรแสวงหาความสุขด้วยปัญญา ได้ความสุขจากสมาธิดีกว่าได้จากที่อื่น

สำหรับผู้ที่ไม่เคยปฏิบัติ ความสุขมีอยู่เหมือนกัน แต่ข้อบกพร่องคือมันยังคับแคบ ไม่มั่นคง และไม่รู้จักอิ่ม ส่วนมากจะเป็นความสุขที่เกิดจาก รูป เสียง กลิ่น รส การสัมผัส เรียกว่ากามสุข มันคับแคบเพราะซ้ำซาก ไม่มั่นคงเพราะเราบังคับไม่ได้และเป็นความสุขที่ไม่รู้จักอิ่ม เหมือนการใช้ยาเสพติด เริ่มแรกคืนละเม็ดก็เมาทั้งคืน อยู่ไปอยู่มาเม็ดเดียวไม่พอ ต้องเพิ่มเป็นสองเม็ด สองกลายเป็นสาม สามเป็นสี่ มันเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ กามสุขทุกอย่างก็เป็นอย่างนี้

แน่ละ มนุษย์เราไม่ได้หาความสุขจากการเสพวัตถุอย่างเดียว คนจำนวนมากได้ความสุขจากการทำความดีต่างๆ เช่นการทำหน้าที่ต่อครอบครัวอย่างดี การให้ทาน การช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์ที่ตกทุกข์ได้ยาก การรักษาศีล เป็นต้น ความสุขที่เกิดจากการทำความดี สะอาดและน่าอนุโมทนา โลกเราอยู่ได้ถึงทุกวันนี้ เพราะคนส่วนใหญ่ยังรักความดีพอสมควร อย่างไรก็ตามถ้าเราดูให้ดี เราจะเห็นว่าความสุขนี้ยังไม่ลึกซึ้ง มันเป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่ดีงาม ช่วยทำให้สังคมมนุษย์อยู่ได้ แต่ในขณะเดียวกัน ไม่สามารถลบล้างความรู้สึกภายในว่าหิวโหย หรือขาดอะไรสักอย่าง ซึ่งสิงสถิตอยู่ในใจมนุษย์ปุถุชนตลอดเวลา เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้คนติดอบายมุขมาก เมื่อมีความสุขที่สะอาดเป็นบุญพอเป็นพื้นฐานแล้ว พระพุทธองค์จึงต้องการให้เราก้าวต่อไปในกระบวนวิวัฒนาการชีวิต ด้วยการอบรมจิตใจ

คนดีที่ยังมีกิเลสเป็นคนดีตลอดเวลาไม่ได้ คนที่ยังไม่ถึงดีก็ยังไม่ต้องพูดถึง ความต้องการสุข เวทนามีอำนาจเหนือจิตใจคนเรามากเหลือเกิด หลายสิ่งหลายอย่างที่เรารู้ว่าไม่ดี แต่ก็ปล่อยไม่ได้เพราะเสียดายความสุขที่ได้จากมัน การแก้ไขจึงไม่ได้อยู่ที่การยอมรับว่าสิ่งไม่ดีทั้งหลายมีโทษอย่างเดียว ปัญหาสำคัญคือทำอย่างไรเราจึงจะยอมหาความสุขที่ดีกว่าจากสิ่งเสพติดที่มีมาก มายก่ายกอง แต่มีจุดรวมอยู่ที่สุขเวทนา ไม่มีใครที่ไหนติดเฮโรอีน ยาบ้า ฯลฯ หรอก สิ่งเหล่านั้นเป็นแค่สื่อเท่านั้น สิ่งที่คนเราติดอย่างเหนียวแน่นคือความสุขที่ได้จากมัน

หลักการมีอยู่ว่า คนเราจะกล้าปล่อยวางความสุขที่เกิดจากสิ่งที่ไม่ดีหรือเกิดจากสิ่งมีโทษได้ ต่อเมื่อมีความสุขอย่างอื่นที่มั่นใจว่าเลิศว่าทดแทน หรืออย่างน้อยที่สุดเมื่อได้ชิมรสของความสุขนั้น และมีหวังว่าต่อไปจะได้มากขึ้น ทั้งนี้เพราะว่าคนเราส่วนมากขี้ขลาด กลัวจะขาดความสุข กลัวจะไม่มีอะไร จึงไม่ยอมปล่อยวาง แต่เมื่อเราได้ความสุขที่ดีกว่า เราก็กล้า มีกำลังใจ พระกรรมฐานหลายรูป ตอนวัยรุ่นก่อนบวช เคยสูบกัญชา แต่เมื่อมานั่งสมาธิภาวนาแล้ว ท่านเห็นว่าการสูบกัญชากับการฝึกจิตเข้ากันไม่ได้ ท่านกล้าเลิกในสิ่งที่ให้ความสุขกับชีวิต เพราะเห็นว่าการฝึกจิตดีกว่า สูงกว่าและเชื่อมั่นว่ามีแก่นสาร

หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของสมาธิคือการให้ความสุขแก่ชีวิตเรา ความสุขประเภทที่ท่านเรียกว่า นิรามิสสุข คือความสุขที่ไม่ขึ้นต่ออามิส ไม่ยุ่งด้วยวัตถุ ด้วยกาม เป็นความสุขที่ละเอียดอ่อน เมื่อเราได้สัมผัสกับความสุขอย่างนี้แล้ว เราจะกล้าเสียสละความสุขในสิ่งที่มีโทษ ในสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย ที่เราเคยยึดมั่นอย่างเหนียวแน่น เพราะเห็นชัดว่าเป็นปฏิปักษ์ต่อความสุขที่ดีกว่า

เรารู้ว่าอะไรดีอะไรชั่วพอสมควร แต่ความรู้กับการกระทำมักจะไม่ลงรอยกัน อย่างเช่นการสูบบุหรี่ ทุกวันนี้เรารู้กันดีว่าอันตรายต่อสุขภาพ แต่ทำไมคนจำนวนมากยังสูบกัน รวมถึงหมอบางคนด้วย ความสงบเป็นสิ่งที่นำความสุขมาสู่จิตใจ และมันเป็นความสุขที่ทำให้เรากล้าปล่อยวางสิ่งที่เราเคยยึด สิ่งที่เคยฉุดลากจิตเราลงไปสู่สิ่งที่ต่ำทราม ไม่ให้ขึ้นไปสู่สิ่งสูง สิ่งเลิศ สิ่งประเสริฐได้

ทีนี้ในการฝึกจิตให้สงบระงับ จิตใจก็ได้อยู่เหนืออำนาจของนิวรณ์ จิตใจที่อยู่สามารถเห็นสิ่งต่างๆ ตามความเป็นจริง พระพุทธองค์ทรงตรัสว่า อานิสงส์ของสมาชิกคือ ยถาภูตญาณทัศนะ คือ การรู้เห็นตามความเป็นจริง ถ้านิวรณ์อยู่ในจิตใจของเรา นอกจากจะทำให้จิตใจของเรากวัดแกว่ง และเศร้าหมองแล้ว ก็ยังเป็นสิ่งที่บ่อนทำลายปัญญาของเรา มองไม่เห็นว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ อะไรถูก อะไรผิด

เมื่อจิตใจสงบแล้ว เราไม่ต้องสนใจว่าได้สมาธิชั้นไหน หลวงพ่อชาสอนว่า เหมือนเรารู้รสของผลไม้ โดยไม่จำเป็นต้องรู้จักชื่อของมัน รู้อาการของจิตในปัจจุบันก็พอ ถ้านิ่งแน่วแน่ก็รู้ มีความคิดบ้างเล็กน้อยแต่ไม่รบกวนก็รู้ ตั้งมั่นพอสมควรแล้วน้อมจิตพิจารณากายก็ง่าย คล่องแคล่ว และจิตที่พิจารณาด้วยพลังสมาธิจะผิดจากจิตปกติตรงที่เป็นกลางโดยไม่ได้ ตั้งใจ เรียกว่าไม่ยินดียินร้าย ไม่เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งต่างๆ ที่ปรากฏให้เห็น ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความเป็นอนัตตาของสิ่งทั้งหลาย จะเริ่มชัดขึ้นเรื่อยๆ คือ คนเรายังไม่ได้รับการฝึกอบรม เราก็...ขอโทษนะ...ไม่ต่างจากสัตว์เดรัจฉานเท่าไหร่ ทำไม เพราะจุดเด่นของสัตว์เดรัจฉานคือ การอยู่ใต้สัญชาตญาณ มนุษย์เป็นสัตว์ประเสริฐเพราะสามารถอยู่เหนือสัตชาตญาณด้วยการฝึกอบรม แต่ถ้าไม่ฝึก ความเป็นสัตว์ประเสริฐย่อมไม่เกิด ความแตกต่างจากสัตว์อื่นก็ไม่ปรากฏ

เรามักประเมินบทบาทของเหตุผลในชีวิตของเราสูงเกินไป เราอยากเชื่อว่าเราเป็นตัวของตัว แล้วเลยมองข้ามหลักฐานที่ฟ้องว่าไม่ใช่ สังเกตดูซิว่า สิ่งที่ทำ พูด คิด ในแต่ละวันเป็นแค่ปฏิกิริยาต่อสิ่งที่สัมผัสทางตา หู จมูก ลิ้น กาย มากน้อยแค่ไหน หลายเปอร์เซ็นต์ใช่ไหม บางวันอารมณ์ดีเชียว ใครถามสาเหตุก็ตอบไม่ถูก อาจจะยิ้มตอบเฉยๆ ที่จริงเป็นผลจากเรื่องเล็กน้อยเช่นการได้ที่จอดรถง่าย หรือมีข่าวว่าทีมฟุตบอลที่ชอบได้ชนะ บางวันหน้าบึ้งทั้งวันเรื่องจุกจิก จิตถูกเชิดตลอดเวลา เขาสรรเสริญเราก็ดีใจ เขานินทาเราก็เสียใจ เจอการสัมผัสที่เราชอบ เราก็มีความสุข เจอสิ่งที่เราไม่ชอบ เราก็ทุกข์

เมื่อเป็นอย่างนี้ ความสุขความทุกข์ของเราถูกกำหนดด้วยสิ่งเกิดดับนอกตัวเราเสียส่วนใหญ่ พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ ชีวิตของเราส่วนใหญ่เป็นไปตามกรรมเก่าหรืออาจจะพูดว่าชีวิตเป็นไปตามดวงก็ ได้ ชีวิตถูกกำหนด ชีวิตถูกลิขิต ชีวิตถูกบังคับ เพราะเรายังไม่ได้ฝึกอบรมตัวเอง ผู้ปฏิบัติธรรมส่วนใหญ่แล้วเท่านั้นที่มีโอกาสอยู่เหนือดวง ผู้ที่ปฏิบัติแล้วพ้นจากภาวะที่ชีวิตเป็นแค่ปฏิกิริยาโต้ตอบต่อสิ่งที่มากระ ทบ กลายเป็นชีวิตที่กอปรด้วยการปฏิบัติต่อสิ่งต่างๆ ด้วยสติปัญญา เจอสิ่งใดแล้วเกิดความสุข สัญชาตญาณชวนให้พอใจยินดีในสิ่งนั้น ทั้งๆ ที่เราอาจจะรู้สึกลึกๆ ว่าไม่ดีก็ได้ แต่รสชาติมันอร่อยเหลือเกิน เราเลยอดเพลินกับมันไม่ได้ ติดใจ สิ่งใดทำให้เรารู้สึกทุกข์ เราก็จะไม่พอใจ ยินร้านในสิ่งนั้น พยายามห่างจากสิ่งนั้นให้ได้ พยายามทำลายจนได้


ถ้ามองในแง่ความ รู้สึกล้วนๆ สุขดีกว่าทุกข์ แต่ถ้ามองในแง่ผลต่อคุณภาพจิต มันมีค่าเท่ากัน เพราะไม่ว่ายินดีในสุขหรือยินร้ายในทุกข์ จิตใจเสียหลักทั้งนั้น ถูกกำหนดด้วยสิ่งนอกตัว ถูกกำหนดด้วยกรรมเก่า ไม่เป็นอิสระ นี่เป็นเรื่องธรรมดาของคนที่ยังไม่ได้ศึกา สรุปว่าความยินดียินร้ายเป็นอาการบ่งบอกว่าจิตเราเสียรู้เวทนาแล้ว

อานิสงส์ของการทำสมาธิภาวนาข้อหนึ่ง คือการค่อยๆ พ้นจากภาวะนั้น เพราะอะไร เพราะการกำหนดอารมณ์กรรมฐานของเรา คือการฝึกไม่ยินดียินร้ายกับอารมณ์ เช่น ดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก แทนที่จะวิ่งตามความรู้สึกว่าชอบไม่ชอบที่เกิดข้น ตามสัญชาตญาณ ตามความเคยชิน เราก็พยายามกำรงสติรู้เท่าทันแล้วก็ปล่อยวาง รู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้วก็ปล่อย รู้แล้วก็ปล่อย ทุกครั้งที่รู้แล้วปล่อย นั่นแหละคือการเสริมสร้างนิสัยใหม่ นิสัยที่เป็นอิสระจากอารมณ์ เป็นงานที่ต้องใช้เวลานาน ต้องทำบ่อยๆ เพราะเราเคยสั่งสมความเคยชินที่จะยึดมั่นในสิ่งต่างๆ เอาจริงเอาจังกับมัน สำคัญมั่นหมายมันมาก

ที่นี้ในการฝึกจิตในด้านการทำสมาธิภาวนา คือฝึกในทางตรงข้าม คือไม่เอาแล้ว เรื่องตะครุบเอาสิ่งที่ชอบ แล้วก็ผลักไสพยายามไล่ออกสิ่งที่ไม่ชอบไป โดยไม่คิดว่าถูกหรือผิด แต่เราจะเปลี่ยนนิสัยโดยความคิดเฉยๆ ไม่ได้ ไม่ใช่ว่าอยู่ดีๆ อ่านปรัชญาหรือว่าฟังเทศน์ ตัดสินใจแล้วว่าไม่ จะไม่ยินดีในสิ่งนั้นอีกแล้ว ไม่ดี และเราจะไม่ยินร้ายกับสิ่งนั้นอีกแล้ว เป็นนิสัยเสียไม่เอาอีกแล้ว เรื่องยินดียินร้าย บังคับตัวเองไม่ได้อย่างนั้น มันเป็นเอง มันเร็วเกินไป สติเราตามไม่ทัน เราจะทำได้ต้องฝึกจิตและต้องใช้เวลา เริ่มต้นใหม่ด้วยความใจเย็น

ท่านเตือนย้ำให้เราไม่ประมาท เพียรพยายาม ใจเด็ดใจเดี่ยว นี่สำคัญ ความไม่ประมาทก็คือ ไม่เหลาะๆ แหละๆ ไม่ทำสบายๆ เหมือนเป็นงานอดิเรก แต่ละครั้งที่นั่งไม่ต้องคิดเอาอะไรมากหรอก เอาแค่สองอย่างก็พอ คือเอาจริงกับเอาจัง ได้สองอย่างนี้รวยอริยทรัพย์แน่ แต่ถ้าไม่มุ่งมั่นเดี๋ยวจะคล้ายกับชาวประมงที่ชอบทอดแหเก่าๆ ที่ขาดๆ ไม่ได้อะไรกินแล้วก็ชักสงสัยว่าที่นี่ไม่มีปลา ทอดไปทอดมา ผลสุดท้ายก็ทอดอาลัยจะต้องพิถีพิถันพอสมควร เช่นดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก มันไม่เหมือนการสอบไล่ในโรงเรียน ถ้าทางโลกนี้สอบได้ ๘๐ % ก็จะได้เกรดเอ อาจได้เกียรตินิยม ทางธรรมนี่ต้อง ๑๐๐ % จึงจะสอบผ่าน เช่นดูลมหายใจเข้า ลมหายใจออก สมมติว่า ๑๐๐ ลมหายใจ ถ้ามีสติแค่ ๘๐ ใน ๑๐๐ สอบไม่ผ่านนะ สอบตก ทางโลก ๘๐ ใน ๑๐๐ ถือว่าเก่ง แต่ทางธรรมไม่ได้ ถ้าไม่ได้ ๑๐๐ เรียกว่าสมาธิไม่เกิด เพราะสมาธิต้องต่อเนื่อง ไม่ให้ขาดแม้แต่น้อย

เราต้องตั้งอกตั้งใจ มุ่งมั่น กำหนดจดจ่ออยู่ที่ลมหายใจเข้า ลมหายใจออก ต้องดูอยู่รู้ตลอดเวลา ตลอดลมหายใจเข้า ตลอดลมหายใจออก ตั้งแต่ต้นลม กลางลม จนถึงปลายลม การแยกลมเป็นสามส่วนอย่างนี้ ไม่ได้หมายความว่า ต้องตามลมเข้าไปข้างใน ตามลมออกมาข้างนอก แต่หมายถึงว่ารู้ต้นลม กลางลม และปลายลมในจุดที่เราเลือกกำหนดดูลม อย่างเช่นที่ปลายจมูกเป็นต้น ต้นลมก็รู้ กลางลมก็รู้ ปลายลมก็รู้ รู้อยู่ตรงจุดนั้น รู้อยู่ทุกขณะจิต ให้มีพุทโธเป็นที่พึ่งตลอดเวลา ถึงแม้ว่าไม่ได้บริกรรมพุทโธพร้อมกับลมก็ตามที แต่ต้องมีพุทธภาวะอยู่ภายใน

พุทธภาวะคือ ภาวะจิตที่ รู้ ตื่น เบิกบาน เรากำหนดสิ่งใดก็ตาม ต้องตั้งตัวรู้ไว้แล้วไม่ให้อ่อนลง หลวงพ่อชาท่านสอนว่าในการเจริญอานาปานสติมี ๓ อย่างที่จะต้องปรากฏพร้อมกัน หนึ่งคือลม สองคือสติ สามคือจิต ในที่นี้ จิตหมายถึงความรู้ตัวหรือจะเรียกว่าสัมปชัญญะก็ได้ คือรู้ตัว สติคือไม่ลืม ไม่ลืมลม มีลมแล้วก็ไม่ลืมลม ต้องมีการรู้ตัว ระลึกลมได้ไม่ลืม แต่ขาดความรู้ตัว มันจะกลายเป็นการตกภวังค์ได้

ฉะนั้น ต้องทำนุบำรุงพุทธภาวะ บริกรรมพุทโธอยู่บ่อยๆ ด้วยความตั้งใจ รู้ ตื่น เบิกบาน อยู่ในปัจจุบัน พระพุทธเจ้าเป็นผู้ตื่นอยู่เสมอ เราตื่นอยู่ในปัจจุบันก็มีส่วนแห่งพุทธภาวะ

คำว่า พุทธะ ไม่ใช่ภาษาบาลีอย่างเดียว แต่ปรากฏอยู่ในภาษารัสเซียเหมือนกัน โดยหมายถึงนาฬิกาปลุก ปลุกเหมือนกันแต่ของเราไม่มีนาฬิกาปลุก มีสติปลุก มีความตั้งใจเป็นการปลุกจิตให้ตื่น ระหว่างการทำสมาธิ เราควรสังเกตตัวเอง ว่าเราตื่นไหม การกำหนดคมชัดไหม พอดี ไม่ตึงไม่หย่อนไหม ต้องมีการคอยติดตามการทำงานของเรา เรายังอยู่กับลมไหม หรือว่าเราลืมลมเสียแล้ว ถ้าลืมเรียกว่าสติขาด ไม่เป็นไร ไม่ต้องน้อยใจ ไม่ต้องท้อใจ แต่รีบตั้งต้นใหม่ ถึงจิตใจยังอยู่กับลม ก็ยังประมาทไม่ได้ เพราะถ้าไม่ตื่น ไม่รู้ตัว อย่างแจ่มแจ้ง เริ่มจะเคลิบเคลิ้มแล้ว ต้องระวังเดี๋ยวจะเป็น สมาธิหัวตอ การฝึกจิตสนุกดีอย่างนี้ มีอะไรท้าทายตลอดเวลา ผู้อยู่ในปัจจุบันเป็น ย่อมประจักษ์เลยว่ามันสุขเยือกเย็นจริงๆ

การกล่าวว่า ความสุขไม่ได้อยู่ที่อื่นไกล ความสุขอยู่ที่นี่ เดี๋ยวนี้ ความสุขที่แท้จริงเกิดเองในจิตใจที่บริสุทธิ์ ไม่ได้อยู่ที่การเสพวัตถุ คนเข้าวันก็ คุ้นหู พอสมควร แต่ต้อง คุ้นใจ จึงจะซึ้ง

ความสุขไม่ได้อยู่ในสิ่งที่สัมผัส หากอยู่ที่ตัวผู้สัมผัส ถ้าเราสามารถให้ลูกหลานเราเห็นความจริงนี้ได้จะเป็นบุญอย่างยิ่ง เพราะการพ้นความหลงใหลในวัตถุ และภัยอันตรายที่ตามมาทั้งแก่ตัวเองและสังคม จะเกิดได้ก็ด้วยการศึกษาเรื่องธรรมชาติของความสุข การทำสมาธิภาวนาที่ได้ผลต้องใช้เวลา ฉะนั้น ต้องติดตามผลงาน จึงจะรักษากำลังใจไว้ได้

ถ้ามีเวลาจำกัดนั่งสมาธิตอนเช้าดีกว่าตอนกลางคืน ถ้าเรามีเวลานั่งทั้งเช้าทั้งเย็นได้จะดีที่สุด แต่ถ้าเกิดไม่มีโอกาส ต้องเลือก เลือกตอนเช้าดีกว่า เพราะผู้ที่ชอบนั่งสมาธิก่อนนอน มักจะนอนก่อนสมาธิ ดึกแล้ว ๔ ทุ่ม ๕ ทุ่ม เหนื่อยจากการทำงานแล้ว ร่างกายต้องการพักผ่อน นั่งก็เป็นเรื่องธรรมดาว่าไม่กี่นาทีก็อยากหลับ ไม่ชำนาญหรือไม่ตั้งใจจริงๆ ก็จะแพ้ อยู่ไปอยู่มา การนั่งสมาธิกลายเป็นการกล่อมประสาทก่อนนอนเฉยๆ ดีเหมือนกันสำหรับผู้นอนไม่หลับ ดีกว่าทานยา แต่มันไม่ดีสำหรับผู้ต้องการความตื่นในปัจจุบัน ยิ่งร้ายอาจจะทำให้มีนิสัยนั่งแล้วสัปหงก

ถ้าจะให้ดีกว่านั้น ควรจะลองนั่งสมาธิตอนเช้า ตื่นแต่เช้าหน่อย ล้างหน้าล้างตา ไหว้พระแล้วนั่ง เช้ามืดก็เงียบดี ไม่มีอะไรรบกวน ไม่มีใครโทรมา เลือกแล้วไปอาบน้ำเตรียมตัวไปทำงาน ความรู้สึกต่างๆ ที่เกิดขึ้น ไม่นานก็จะเห็นว่าเยือกเย็นกว่าแต่ก่อน...สบาย ถ้าเก่งแล้วจะเหมือนจิตใจอยู่ในห้องติดแอร์ อะไรจะเกิดขึ้นก็ไม่สะทกสะท้าน ไม่ใช่เฉยเมยนะ ไม่ใช่ว่าอะไรๆ ก็ได้ อันนั้นก็ไม่ใช่เหมือนกัน ไม่กลุ้มใจกับบัญหา ไม่ประมาทกับปัญหา ก้าวไปทีละก้าวอย่างมีสติ ไม่เกิดอาการตระหนกตกใจกับเรื่องที่เกิดขึ้นอย่างกะทันหัน ยืดหยุ่นมั่นคง


เกิดวิกฤติอะไรขึ้นมา ปุ๊บปั๊บอย่างไม่คาดคิดว่าจะเป็นได้ คนที่มีจิตใจไม่ตั้งมั่นก็มักนึกไม่ออก วุ่นวาย ตัดสินไม่ถูก ทำไม่ถูก พูดไม่ถูก หรือถ้าทำอะไรมักผิดพลาด ส่วนผู้ที่ระงับอารมณ์ได้เป็นผู้ที่รู้สึกพร้อมที่จะรับทุกเรื่องที่เกิด ขึ้น จิตใจไม่วิ่งไปตามอารมณ์ เช่นไม่กลัวเพื่อนตำหนิ ไม่กลัวขายหน้าลูกน้องเป็นต้น นักปฏิบัติก็มีความรู้สึกเหมือนกัน ไม่ใช่ก้อนหิน แต่จิตใจไม่ได้เข้าไปยึดหมายมั่นมัน มันก็เป็นแค่ของระคายนิดๆ มันไม่เหมือนแต่ก่อน สามารถใช้ความรู้ความสามารถของตนอย่างรอบคอบ โดยอารมณ์ไม่ทับถม

อากาศย่อมมีผลกระทบต่อคนทำงานอยู่กลางแจ้ง นาย ฤ. (ในหนังสือเล่มนี้ นาย ก. ขอพักผ่อน เป็นตัวอย่างในหนังสือหลายเล่มแล้วเหนื่อย) ทำสวน วันไหนร้อนมากก็เป็นทุกข์ วันไหนฝนตกก็ลำบาก นาง ฑ. ทำงานในสำนักงาน เขามองเห็นอากาศภายนอกผ่านกระจก ฝนตกเขาก็รู้ แสงแดดจ้าเขาก็รู้ แต่ก็สักแต่ว่ารับรู้เท่านั้น อุณหภูมิในที่ทำงานไม่เปลี่ยนตามเพราะทำงานอยู่ในห้องแอร์ ฉันใดก็ฉันนั้น คนที่ไม่ได้ฝึกจิตเหมือนกับอยู่กลางแจ้ง ฝนตกก็เปียก แดดออกก็ร้อนเหงื่อออก อะไรจะเกิดขึ้นก็รับผลกระทบทันที เพราะไม่มีที่หลบหลีก ส่วนนักปฏิบัติ เย็นตลอดเหมือนติดแอร์

ชีวิตของเราเป็นของไม่แน่นอน ไม่มีสูตรสำเร็จรูปที่ไหน ที่เราสามารถจัดเตรียมไว้ล่วงหน้าเพื่อจัดการปัญหาต่างๆ โดยอัตโนมัติ นี้คือข่าวร้าย ข่าวดีก็คือผู้มีสติ จิตไม่วอกแวก สำรวมระวัง สามารถวางตัวให้พอดีกับปัญหาได้ บางเรื่องเราแก้ไม่ได้หรอก ต้องยอมรับ ต้องอดทน สู้ก็ไม่เกิดประโยชน์เหนื่อยเปล่า ต้องอดทน แต่บางครั้งเรื่องไม่ควรอดทน ต้องรีบแก้ไข บางเรื่องต้องต่อสู้ บางเรื่องเกิดความไม่เข้าใจกันแล้วควรจะชี้แจง ทำความเข้าใจ บางเรื่องดูก่อน อย่าเพิ่งพูดดีกว่า บางทีข้อมูลเราไม่ครบ อาจจะมีบางสิ่งบางอย่างที่เราเข้าใจผิดก็ได้ ก็ค่อยๆ เก็บข้อมูลให้มากกว่านี้หน่อยจึงค่อยพูด บางเรื่องไม่พูดเลยดีกว่า พูดอย่างไรเขาจะไม่เชื่อ เขาจะเอาคำอธิบายของเราเป็นคำแก้ตัว ปากเราคันก็ให้มันคันไปเถอะ ไม่เคยมีใครตายเพราะปากคัน

เป็นนักปฏิบัติต้องยกสติปัญญาสูงกว่าอารมณ์ พอจิตใจวางความวุ่นวายได้จะละเอียดอย่างนี้ คือจะไม่หมายมั่นปั้นมืออย่างแข็งกระด้าง เวลาควรเป็นผู้นำก็นำได้ โอกาสบอกว่าเดี๋ยวนี้ควรจะเป็นผู้คล้อยตามก็คล้อยตามได้ โดยไม่ต้องมีอัตตาตัวตนว่าเราต้องเป็นผู้นำเสมอ หรือว่าไม่มีอัตตาตัวตนว่าเราเป็นผู้น้อย ต้องเป็นผู้ตามอยู่เสมอ เอาความถูกต้องเป็นที่พึ่ง

จิตใจของเราจะค่อยมีความรู้สึกต่อสิ่งเหมาะสม สิ่งไม่เหมาะสม มีความรู้สึกต่อสิ่งที่พอดี สิ่งที่ไม่พอดี มันเป็น sense อย่างหนึ่งที่ปรากฏ และเราจะสัมผัสอารมณ์ของคนอื่นได้ดีด้วย โดยไม่ทิ้งหลัก “ไม่แน่” ไม่เลิกการเชิดชูความไม่ประมาทตลอดเวลา ไม่เอาสัญญาเก่าไปประทับตราคนอื่นง่ายๆ คือ สมมุติว่าเคยมีเรื่องทำให้ระแวงนาย ฒ. ไม่ใช่ว่าจะระแวงเขาตลอดไป เราเอาแค่ระวังก็พอ ไม่อย่างนั้นจิตจะขาดสติต่อความเป็นจริงของนาย ฒ. ในปัจจุบัน เขาอาจจะกลับตัวแล้วก็ได้ เราไม่รู้ ควรให้โอกาสเขาก่อน โดยถือว่าบริสุทธิ์จนกว่าจะมีข้อมูลชัดเจนว่ามีความผิด อย่างนี้ก็ยุติธรรมกว่า และจิตใจเราจะเป็นกุศล

ถ้าจิตใจเราสงบ ไม่คิดปรุงแต่ง ไม่ฟุ้งซ่าน ไม่วุ่นวาย อะไรจะเกิดขึ้นในจิตใจเราต้องรู้อยู่ เหมือนกับศาลานี้ ถ้าว่าง ใครจะเดินเข้ามาเราก็รู้ทันที นั่งอยู่ตรงนี้ ลืมตาอยู่ ใครจะเดินเข้าเดินออก เราก็เห็น แต่จิตไม่สงบเหมือนศาลาเต็มไปด้วยเฟอร์นิเจอร์ หรือสิ่งของหรือมีคนนั่งเต็มศาลาคุยกันแซด ใครจะเดินเข้าเดินออกอาจจะไม่เห็นหรือไม่สังเกต หลวงพ่อชาท่านเคยสอนเราว่า ผู้มีสติเหมือนกับเจ้าของร้านขายของ กลุ่มวัยรุ่นเข้ามาในร้านเมื่อไหร่เจ้าของก็ระวังเป็นพิเศษ ระวังของ กลัวมันหาย เด็กก็เลยไม่กล้าทำอะไร

ผู้มีสติจะระวังคุณงามความดีของตนไว้อย่างนี้เหมือนกัน ไม่ให้กลุ่มกิเลสมีโอกาสแอบขโมยมันไป จะคิดอยู่เสมอว่าทำอย่างไรจิตใจเราจะได้ดำรงอยู่ในสภาพที่เป็นกุศล ทำอย่างไรบาปอกุศลทั้งหลายไม่ครอบงำ เขาจะหาอุบายอันแยบคายเพื่อรักษาความรู้สึกผิดชอบไว้อยู่ทุกขณะจิต มีสติมีความเพียรพยายาม นี่คือหลักความไม่ประมาท การทำสมาธิภาวนาทุกวันๆ เป็นส่วนสำคัญของชีวิตที่สมบูรณ์ เปรียบเหมือน การเว้นวรรคตอน เราเขียนหนังสือ เขียนหนังสือโดยไม่เว้นวรรคตอนเลย ไม่ย่อหน้าเลย ก็ดูไม่งาม ดูไม่ดี ความหมายก็ไม่ชัดเจน ชีวิตคนเราต้องมีการเว้นวรรคอยู่บ้าง เหมือนกับเรา มีหน้าที่กันมาก หน้าที่เป็นพ่อหรือเป็นแม่เขาบ้าง หน้าที่ที่เป็นลูกเป็นหลานเขาบ้าง เป็นพี่เขาบ้าง เป็นน้องเขาบ้าง เป็นเจ้านายเขาบ้าง หน้าที่เราเยอะ แต่การทำหน้าที่เป็นประจำ ทำไปเรื่อยๆ ก็เป็นเหตุให้เราหลงได้เหมือนกัน มันมักชวนให้เรายึดติดหรือเอาศักดิ์ศรีของเรา เอาความรู้สึกว่าอัตตาตัวตนไปผูกพันกับหน้าที่นั้น

การทำสมาธิภาวนาคือการพัก ในชีวิตประจำวันต้องสวมหน้ากากนั้นหน้ากากนี้อยู่ตลอดเวลา นั่งสมาธิก็คือการถอดหน้ากากออกทั้งหมด กลับมาหาธรรมชาติของตนเอง ธรรมชาติของตนเองคืออะไร คือร่างกายและจิตใจ มีร่างกายนั่งอยู่ตรงนี้ หายใจเข้า หายใจออก มีความรู้สึกนึกคิด เกิดขึ้น ดับไป นี่คือธรรมชาติของเรา และขอให้สังเกตว่าจิตใจเราเริ่มสงบ ไม่คิด ไม่ปรุงอะไร ความจำได้หมายรู้ต่างๆ ก็ค่อยจางไป แม้จนกระทั่งความรู้สึกว่าเราเป็นชื่อนั้นชื่อนี้ ความคิดว่าเป็นผู้ชาย หรือเราเป็นผู้หญิง เราเป็นนั่นเป็นนี่ ไม่ปรากฏ จิตใจสงบแล้ว มีแต่สติ มีแต่สัมปชัญญะ ความระลึกได้ ความรู้ตัวอยู่ในปัจจุบัน มีแต่ พุทธภาวะ ผู้รู้ ผู้ตื่น ผู้เบิกบาน

ในพระพุทธศาสนาเรามีหลักการว่า ความจริงมีสองระดับ ระดับแรกคือความจริงของธรรมชาติซึ่งไม่เปลี่ยนแปลง เป็นอกาลิโก ระดับที่สองคือความจริงที่เกิดจากการตกลงกัน เช่นเราตกลงว่าเมืองนี้ชื่อเมืองอุบลฯ ประเทศนี้ชื่อเมืองไทย ธรรมชาติไม่เคยบอกหรอกว่าที่นี่คือเมืองไทย ที่นี่ลาว ที่นี่เขมร เป็นเรื่องที่คนเราบัญญัติเอง เรียกว่าเป็นความจริงโดนสมมุติ ความจริงนี้เปลี่ยนแปลงได้ มนุษย์เราชอบสับสนระหว่างความจริงสองระดับนี้ ห่างไกลจากธรรมชาติของตัวเอง มักจะยึดมั่นถือมันในสมมุติว่าจริงแท้ เลยทุกข์ไม่มีจบสิ้น การฝึกจิตช่วยให้เราเห็นว่าอะไรเป็นอะไร

อุปมาเหมือนเรานั่งในโรงหนัง แล้วหันกลับไปดูข้างหลัง เห็นที่มาของเรื่องบนจอซึ่งกำลังชวนให้เราหัวเราะและร้องไห้ ทั้งหมดเกิดจากแสงที่ออกจากเครื่องฉายหนังภาพยนตร์ คือชีวิตของเราในสังคม ชวนให้เราหัวเราะและร้องไห้ทุกวัน ถ้าเราสามารถหันไปดูแสงที่เป็นที่มาของมัน เราะจะไม่หลง

การนั่งสมาธิเป็นการบริหารสติ การฝึกดูความจริงของชีวิตช่วยให้เราปล่อยวาง เมื่อเห็นสิ่งต่างๆ ในชีวิตตามความเป็นจริงมากขึ้น เราจะไม่วิตกกังวลเรื่องต่างๆ จนเกินไป ไม่หวังนั่นหวังนี่จนเกินไป เราจำได้ว่ามันเป็นเพียงแค่นั้นแหละ เป็นแค่ภาพยนตร์ชีวิต เราเป็นทั้งผู้ดูและพระอกหรือนางเอก ให้รู้เท่าทัน เราทำงานอะไรก็แล้วแต่ ถ้าเราไม่ระวัง เรามักหมกมุ่นแต่ในรายละเอียดของงานหรือข้อปลีกย่อย เลยเสียเวลา หรืออุดตันไปเสียเลย เพราะไม่สามารถถอยออกมามองภาพรวม ปล่อยให้การสร้างเหตุขัดกับผลที่ต้องการ การทำงานอะไรทุกอย่างจึงต้องหาความพอดีระหว่างการเอาจริงเอาจังกับข้อปลีก ย่อยหรือรายละเอียด กับการระลึกถึงภาพรวม เป้าหมาย จุดหมายปลายทาง และหนทางที่ตรงที่สุดต่อผลที่พึงประสงค์

ตัวชีวิตของเราก็เหมือนกัน เราต้องมีการถอยตัวออกมาพิจารณาภาพรวมเป็นครั้งคราว การทำสมาธิจะช่วยให้เราได้ทำอย่างนั้นได้ คือ ถอยออกจากอารมณ์สักหน่อยหนึ่ง เป็นประจำทุกวัน สัมผัสธรรมชาติภายในที่ละเอียดลึกซึ้ง นอกเขตความคิด เหนือภาษา เพื่อจะไม่หลงใหลกับมายาของโลก และไม่ลืมเป้าหมายของชีวิต

การทำสมาธิจึงช่วยได้ตั้งแต่เรื่องธรรมดาๆ หรือง่ายๆ ในชีวิตประจำวันตลอดจนถึงเรื่องสูงสุด คือการบรรลุมรรคผล นิพพาน การพ้นทุกข์ในระดับสูงเกิดจากปัญญาระดับวิปัสสนา ปัญญาระดับวิปัสสนานั้นเกิดจากจิตใจที่สงบ ไม่มีนิวรณ์ จิตใจที่พ้นนิวรณ์ คือจิตใจที่ได้รับการฝึกอบรมทางสมาธิภาวนา

ฉะนั้น ผู้ที่ต้องการพ้นทุกข์ไม่ว่าระดับไหนก็ตาม ควรสนใจการทำสมาธิภาวนา บางคนถามว่าเอาแต่เจริญสติในชีวิตประจำวันได้ไหม ถ้าทำสติมีความรู้อยู่ทุกอิริยาบถไม่ทำสมาธิได้ไหม ? ไม่ได้ คือต้องทำ ถ้าไม่ทำ สติเราจะไม่ทันเล่ห์เหลี่ยมของกิเลส และจิตใจจะไม่เข้มแข็งพอที่จะปฏิเสธการสำออยของมัน จิตใจที่มีสมาธิย่อมมีกำลังมาก ผู้ที่มีบารมีมาแต่ปางก่อนบางท่าน ทำสมาธิแล้วเกิดปาฏิหาริย์ต่างๆ เช่น รู้วาระจิตของคนอื่นบ้าง รู้เรื่องอนาคตบ้าง มีตาทิพย์ หูทิพย์ ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีจริง เป็นผลพลอยได้จากการฝึกจิตในขั้นสูง นักภาวนาที่ไม่มี ไม่ควรตื่นเต้นในเรื่องนี้ หรือเอาเป็นเป้าหมายในการปฏิบัติของตน คติธรรมที่ควรจะได้คือสิ่งอัศจรรย์เหล่านี้พิสูจน์อย่างชัดเจนว่า จิตที่ได้รับการฝึกอบรมที่ดีแล้ว มีกำลังและสมรรถภาพเหนือวิสัยสามัญ

พระสารีบุตรกับพระโมคคัลลานะเป็นเพื่อนสนิทกัน ต่างคนต่างเป็นพระอรหันต์ด้วยกัน และเป็นอัครสาวกเบื้องซ้ายเบื้องขวาของพระพุทธองค์ พระสารีบุตรได้ญาณสมาบัติครบถ้วน รูปฌาน อรูปฌาน นิโรธสมาบัติ ได้หมดเลย แต่ไม่มีอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์แม้แต่น้อย ส่วนพระโมคคัลลานะ ท่านเป็นสาวกที่ยอดเยี่ยมในการมีฤทธิ์มีเดช พระสารีบุตรเคยพลาดพลั้งบางครั้งเหมือนกัน อย่างเช่นวันหนึ่งเจอพระหนุ่มรูปหนึ่ง เห็นว่าพระรูปนี้ท่าทางเก่งมีแวว ท่านจึงเมตตาแสดงธรรมที่เห็นว่าจะเป็นประโยชน์ต่อการทำความเพียรของพระรูป นี้ ที่พระสารีบุตรไม่ทราบก็คือ พระรูปนี้เป็นพระอรหันต์เรียบร้อยแล้ว พระสารีบุตรถึงแม้จะเป็นพระอรหันต์ แต่ก็ดูไม่ออก ท่านไม่มีความสามารถทางด้านนี้

อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆ เราจะเอาเป็นเครื่องวัดความสำเร็จของการฝึกจิตไม่ได้ ถ้าได้อิทธิปาฏิหาริย์ พระพุทธเจ้าตรัสว่าดี เพราะผู้มีปัญญาสามารถเอาไปใช้ให้เป็นประโยชน์แก่คนอื่น โดยเฉพาะการรู้วาระจิตคนอื่น แต่สำหรับปุถุชนคนธรรมดา ได้แล้วอันตรายเหมือนกัน ทำให้เพลิดเพลินและหลงตัว ยกตนข่มท่านด้วยเชื่อว่าเก่งขนาดนี้คิดผิดไม่ได้ สิ่งที่ไม่ควรลืมก็คือ อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ไม่เป็นเครื่องหมายแน่นอนของพระอริยะ พระเทวทัต สมาธิท่านดี อิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ ท่านเก่งมาก ก็ทำให้พระเจ้าอชาตศัตรูหลงเลื่อมใส สุดท้ายก็ฆ่าพ่อ เพราะเชื่ออาจารย์วิเศษที่บอกว่าไม่บาป

ครั้งหนึ่ง พระสารีบุตรกำลังนั่งสมาธิ ยักษ์นักเลงตัวเบ้อเร่อเบ้อร่าไปทุบศีรษะท่านอย่างแรง แต่เนื่องจากสมาธิของท่านหนักแน่นมาก ท่านก็นั่งต่อโดยไม่รู้สึกอะไร พอดีพระโมคคัลลานะก็อยู่ตรงนั้น และท่านมีฤทธิ์สามารถเห็นการรังแกของยักษ์ได้ พอพระสารีบุตรเลิกจากการนั่งสมาธิ พระโมคคัลลานะถามว่า เมื่อกี้นี้เป็นอย่างไรไหม ตอนนั่งสมาธิมีความรู้สึกผิดปกติอะไรบ้างไหม พระสารีบุตรตอบว่าไม่มีอะไร มีปวดศีรษะนิดๆ อยู่พักหนึ่ง พระโมคคัลลานะชอบใจชมว่า น่าอัศจรรย์ พระสารีบุตรน่าเลื่อมใสจังเลย สมาธิแน่วแน่เหลือเกิน ขนาดยักษ์ตนใหญ่มารังแกก็ยังไม่รู้สึกอะไร น่าอัศจรรย์

พระสารีบุตรบอกเพื่อนว่าไม่ใช่หรอก พระโมคคัลลานะต่างหากที่เก่ง สามารถเห็นสิ่งพรรค์นี้ได้ทุกอย่าง ผมนี้ไม่มีสิทธิ์เห็นเลย ไม่เคยเห็นสักที พวกยักษ์ ยักขินี เหล่าเทวดามารพรหม ไม่เคยเห็น แต่ท่านเห็นได้หมด น่าอัศจรรย์จริงๆ พระสารีบุตรก็ว่าอย่างนั้น ต่างคน ต่างชมเชยซึ่งกันและกัน ตามประสาของผู้เป็นกัลยาณมิตรต่อกัน พระสารีบุตรไม่น้อยใจ ไม่อิจฉาว่าพระโมคคัลลานะมีฤทธิ์มีเดชแต่ตัวเองไม่มี ส่วนพระโมคคัลลานะก็ไม่เคยปรากฏว่าอิจฉาปัญญาหรือผลสำเร็จใดๆ ของพระสารีบุตร ต่างคนต่างชมเชย ยินดีอนุโมทนาในความดีของซึ่งกันและกัน นี่เราควรเอาเป็นตัวอย่างของเพื่อนที่ดี

หลักการสำคัญที่ขอย้ำไว้ที่นี่ ก็คือสมาธิเป็นเครื่องข่มกิเลสไว้ ไม่ใช่เป็นตัวทำลายกิเลส แต่ก็จำเป็น เพราะการข่มกิเลสไว้ทำให้ปัญญามีโอกาสทำงานคล่องแคล่ว เหมือนหมดผ่าตัด ต้องวางยาสลบก่อนผ่า ไม่วางยาสลบจะผ่าตัดยากเพราะคนไข้เจ็บแล้วต้องดิ้น สมาธิเหมือนยาสลบ สิ่งที่สลบไปก็คือ ความรู้สึกยินดียินร้าย ความหลงใหลตามสิ่งที่ปรากฏอยู่ในจิต ด้วยความพอใจและไม่พอใจ เมื่อจิตไม่เกิดปฏิกิริยาโต้ตอบ มีการรับรู้ต่อสิ่งที่เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ก็จะเห็นชัดขึ้นซึ่ง อนิจจัง ความไม่เที่ยง ทุกขัง ความบกพร่อง ความไม่สบบูรณ์ และ อนัตตา ความไม่มีเจ้าของหรือแก่นสารในสิ่งเกิดดับ

คำว่า ทุกขัง ไม่ได้หมายถึง ความเจ็บปวดทางกาย หรือความทรมานใจอย่างเดียว ทุกขังแปลว่าไม่สมบูรณ์ก็ได้ มีความบกพร่องเป็นนิจก็ได้ คือสิ่งใดที่เกิดแล้ว ตั้งอยู่ ดับไป ถือว่าไม่สมบูรณ์ด้วยเหตุผลว่า อะไรที่สมบูรณ์แล้วก็ไม่ต้องแปรเปลี่ยนและเปลี่ยนไม่ได้ ต้องอยู่นิ่งอิ่มของมันอยู่ตลอดกาลนาน แต่สิ่งทั้งหลายทั้งปวงในโลกนี้ไม่เป็นอย่างนั้น มันไม่มีที่พัก ไม่มีที่หยุดได้ เปลี่ยนแปลงอยู่ทุกเวลานาที ไม่มีส่วนใดส่วนหนึ่ง ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งที่ไม่รู้เสื่อม เสื่อมทั้งนั้นไม่เร็วก็ช้า ฉะนั้น ท่านจึงทรงชี้ให้เห็นว่าสิ่งทั้งหลายขาดความสมบูรณ์ ไม่มีสิ่งใดในโลกนี้ ไม่ว่าโลกภายนอกหรือโลกภายใน ที่เรียกว่าดีที่สุดแล้ว ไม่ต้องแปรปรวนเป็นอย่างอื่น มันอดเปลี่ยนไม่ได้ เพราะถูกธรรมชาติบังคับให้เปลี่ยน พระพุทธองค์ตรัสว่าผู้ได้บรรลุความจริงข้อนี้ได้ ก็จะปล่อยวางความยึดมั่นถือมั่นในสังขาร ถ้าจิตใจสงบนิ่งดิ่งลงไป เข้าสมาธิแน่วแน่แล้ว ถอนออกมาดูความเกิดดับของอารมณ์ อารมณ์ที่เกิดดับอยู่ในขณะนั้น เป็นอารมณ์ของวิปัสสนา ความรู้สึกนึกคิดในตอนนั้นละเอียดพอสมควร แต่ถึงจะไม่ทรมานใจ ไม่ทุกข์ในความหมายสามัญ ยังคงเป็นทุกข์ในความหมายว่าไม่สมบูรณ์ มีความพร่องเป็นนิจ อย่างชัดเจ เพราะความรู้สึกนึกคิดอะไรก็แล้วแต่ มันทนอยู่ในสภาพใดสภาพหนึ่งไม่ได้ มันต้องเปลี่ยนเพราะเหตุปัจจัยให้เปลี่ยน

โดยปรกติคนเราเชื่อว่าเราเป็นผู้คิด เราเป็นผู้รู้สึก แต่ที่นี่ความจริงจะปรากฏว่า แม้ความเชื่อนั้นเป็นสักแต่ว่าส่วนหนึ่งของกระแสของเหตุปัจจัย ไม่มีตัวเราที่ไหนที่ฝืนธรรมชาติได้ อุปมาว่า เรือชีวิตไม่ได้อยู่ในกรรมสิทธิ์ของเรา เราเป็นแค่ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ ทำอะไรตามอำเภอใจไม่ได้ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา เราคิดพิจารณาด้วยสติปัญญาสามัญ เราก็พอเข้าใจอยู่ ทำให้เกิดศรัทธา แต่จะให้ทะลุปรุโปร่งต้องอาศัยจิตพ้นจากนิวรณ์ จิตสงบจึงก้าวเลยศรัทธา แต่จะให้ทะลุปรุโปร่งต้องอาศัยจิตพ้นจากนิวรณ์ จิตสงบจึงก้าวเลยศรัทธาได้ เห็นจริงรู้แจ้ง จนกิเลสทั้งหลายไม่อยู่ เพราะมันอาศัยอาหารคือการหลงสำคัญผิดว่าสิ่งที่สุขล้วนสมบูรณ์และมีแก่นสาร จริง

สมาธิ ทำไมต้องนั่งหลับตา ทำไมเราต้องทำสมาธิ ถ้าไม่ทำสมาธิจิตใจไม่สงบ ไม่ทำสมาธิจิตไม่มีกำลัง ไม่ทำสมาธิ จิตใจไม่เข้มแข็ง ไม่มีความสุข ไม่ทำสมาธิ ปัญญาไม่เกิด ปัญญาไม่เกิดแล้ว เราไม่เห็นสิ่งทั้งหลายตามความเป็นจริง ดับทุกข์ ดับกิเลสไม่ได้ ต้องถูกบังคับให้ เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย เกิด แก่ เจ็บ ตาย อย่างซ้ำซากไม่มีที่สิ้นสุด

ฉะนั้น ผู้ที่มีศรัทธาในพระพุทธศาสนา เชื่อว่าชีวิตจะดีงามมีค่าก็ด้วยการศึกษา ต้องมุ่งมั่นพัฒนาชีวิตในทุกๆ ด้าน ด้านพฤติกรรม ด้านจิตใจ ด้านปัญญา ท่านจึงให้เราแบ่งเวลาในแต่ละวัน ให้นั่งหลับตานอกบ้าง เพื่อให้ลืมตาใน คือตาที่เห็นทางไปสู่ความเป็นอิสระอย่างแท้จริง

ที่มาhttp://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9500


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ม.ค. 2011, 14:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับสูงสุด
สมาชิกระดับสูงสุด
ลงทะเบียนเมื่อ: 13 มิ.ย. 2009, 09:55
โพสต์: 4062

แนวปฏิบัติ: มรณานุสสติ
อายุ: 0
ที่อยู่: ตรงปลายจมูก

 ข้อมูลส่วนตัว


สาธุ :b8: :b8: :b8:

.....................................................
~ นิพพานัง ปัจจโยโหตุ ~


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 05 ม.ค. 2011, 19:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 3
สมาชิก ระดับ 3
ลงทะเบียนเมื่อ: 19 ส.ค. 2010, 07:51
โพสต์: 132

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


:b8:


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 3 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 13 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร