วันเวลาปัจจุบัน 29 มี.ค. 2024, 06:53  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2011, 13:44 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ธรรมเทศนา วันเข้าพรรษา

ระหว่างวันที่ ๒๒ กรกฎาคม ๒๕๔๘

ณ ศาลา ๙๑ ปี วัดภัททันตะอาสภาราม อ.บ้านบึง จ.ชลบุรี

โดย...ท่านอาจารย์ พระมหาทองมั่น สุทฺธจิตฺโต

วัดภัททันตะอาสภาราม ตําบลหนองไผ่แก้ว
อําเภอบ้านบึง จังหวัดชลบุรี



ขอโอกาสท่านเจ้าอาวาส พระเถรานุเถระ ขอความสุขในการปฏิบัติธรรมจงมีแด่ญาติโยมสาธุชนผู้เข้ามาสู่การปฏิบัติธรรม ณ วัดภัททันตะอาสภารามแห่งนี้ทุกๆท่าน ต่อไปเป็นการฟังธรรม

อาตมาได้รับมอบหมายจากท่านเจ้าอาวาสให้เป็นองค์บรรยายธรรมในวันนี้ รู้สึกดีใจที่ญาติโยมทั้งหลายมากันมาก ค่อนข้างที่จะมากเป็นประวัติการณ์ ไปสอนที่อื่นก็ไม่เคยมากเท่านี้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรามีพระคุณเจ้าซึ่งถือว่าจะเป็นตัวแทนตัวเผยแพร่ในคราวต่อไป ท่านเปรียบพระคุณเจ้าเหมือนข้าวเปลือก ที่จะไปหว่านไปปลูกตรงไหนก็สามารถนําไปปลูกได้ คือนําไปเผยแพร่นั่นเอง ฉะนั้น สํานักนี้วัดนี้ถือว่าเป็นที่ให้กําเนิดแก่พระวิปัสสนาจารย์และผู้ที่สนใจในการปฏิบัติธรรม วันนี้ญาติโยมทั้งหลายได้ทําบุญทํากุศลครบทั้ง๓ อย่าง คือ การให้ทาน รักษาศีล และการเจริญภาวนา บุญเป็นชื่อของความสุข ฉะนั้น สิ่งที่บ่งบอกในบัดนี้คือใบหน้าของญาติโยมทั้งหลาย ส่วนใหญ่เป็นใบหน้าที่ยิ้มแย้มแจ่มใส เป็นความสุข ฉะนั้น ใครได้บุญมากหรือบุญน้อยก็ให้ดูหน้าตัวเอง ถ้าหน้ายิ้มมากก็ได้บุญมาก แต่หากไม่ยิ้มเลยก็แสดงว่าได้บุญน้อยไป คําว่าบุญในที่นี้เป็นเรื่องของความสุข ไม่เหมือนความสุขทางโลก แต่เป็นความสุขอันเกิดจากความสงบ เป็นความสุขที่เกิดจากความปราศจากกิเลส อันนี้ถือว่าเป็นบุญ

ในเบื้องต้นก็ขออนุโมทนาบุญกับทุกๆ ท่าน ทั้งพระคุณเจ้าและญาติโยม วันนี้เราทําบุญกันเต็มที่ ทั้งการให้ทาน รักษาศีล และเจริญภาวนา อยู่ที่บ้านเรามักจะทำได้เพียงให้ทาน ที่จะรักษาศีลก็มีค่อนข้างน้อย ภาวนานั้นไม่ต้องพูดถึง ฉะนั้น อยากจะขอเน้นว่าประสบการณ์จากตรงนี้ พยายามนําไปคิดนําไปพิจารณา นําไปนึกกันบ่อยๆ ท่านเรียกว่าอนุสสติ ถ้าเคยให้ทานก็เป็นจาคานุสสติ เคยรักษาศีลก็เป็นศีลานุสสติ และเคยนั่งสมาธิก็เป็นการเจริญภาวนา(ภาวนานุสสติ?) พึงนึกถึงบ่อยๆ ถ้านานๆจึงนึกถึงทีมันจะจําไม่ได้หรอก ทว่าคนเรานี้แปลก แปลกที่มักชอบจําอะไรที่ไม่ดี เขาด่าเขาว่าเราตั้งนานแล้วก็ยังจํา สองสามปีแล้วก็ยังไม่ลืม แต่ว่าความดีที่ทํา เช่น เดือนที่แล้วไปทอดกฐินทอดผ้าป่า ไปรักษาศีลที่ไหนบ้าง เรามักไม่ค่อยจะนึกจะคิดกัน ฉะนั้น ที่เรามาทำตรงนี้เป็นสิ่งที่ดีที่เรามีประสบการณ์ เรามาฟังเทศน์ มาเวียนเทียน มาใส่บาตร และนั่งสมาธิ พึงนึกถึงให้บ่อยๆ ท่านสอนว่าก่อนจะนอนให้นึกถึงความดีที่เราทํา นึกบ่อยๆ จะเป็นประโยชน์กับตอนที่เราจะตาย เพราะว่าตอนที่เราจะตายเราจะนึกถึงขึ้นมาได้ทันที จะนึกถึงความดีได้ก่อนความชั่ว มิฉะนั้นความชั่วจะมาตีเราไปหมด เราจะนึกถึงแต่ความชั่ว ว่าคนนี้ด่าเรา คนนั้นผิดใจเรา พอเราตายจะไปตกนรกเพราะคิดไม่ดี ฉะนั้น ต้องคิดในสิ่งที่ดีอยู่เป็นประจํา



อริยทรัพย์ที่นำติดตัวไปได้

จึงขอฝากไว้ว่า ที่ท่านมาปฏิบัติตรงนี้เป็นประสบการณ์ที่ดี เป็นบุญของทุกๆ ท่าน เรียกว่าเป็นอริยทรัพย์ เป็นทรัพย์ที่นําติดตัวเราไปได้ ทรัพย์สมบัติที่โยมหามาตั้งนานแล้ว บ้านก็ดี รถก็ดี สามีก็ดี ภรรยาก็ดี ไม่ใช่อริยทรัพย์ เอาติดตัวไปไม่ได้หรอก เป็นเพียงสมบัติในโลกนี้ เป็นสมบัติที่ผลัดกันชม หมดแล้วก็ทิ้งไว้ตรงนี้ ไม่มีใครเอาไปด้วยได้สักคน โยมลองดูคนที่ตายแล้ว เวลาเราไปรดน้ำศพ มือของเขา กําอะไรไปไม่ได้เลย แบอยู่ทุกๆ คน เด็กที่เกิดใหม่ มือจะกํา แต่ตอนตายก็ต้องคลายออก ดังนั้น กับทุกๆสิ่งในโลกนี้เราต้องฉลาด ฉลาดว่าอะไรติดตัวเราไปได้ อะไรเป็นของที่เราใช้ชั่วคราว และพึงเอาสิ่งนั้นมาเป็นประโยชน์ให้เราได้ดําเนินชีวิตในทางที่ถูกต้อง ตอนนี้ก็ฝากไว้ในเบื้องต้น

ธรรมสวนามัย

การฟังธรรมเป็นบุญอย่างหนึ่งในพระพุทธศาสนา เรียกว่าธรรมสวนามัย-บุญที่สําเร็จได้ด้วยการฟังธรรม ถ้าจะถามว่า หากโยมไปฟังที่บ้าน เช่น ฟังจากเทปหรือฟังจากอะไรก็ตาม จะได้บุญอย่างนี้หรือเปล่า ก็ได้บุญเหมือนกันหมด ฉะนั้น เวลาฟังธรรม ต้องตั้งใจฟังและตั้งใจจํา สิ่งที่สําคัญก็คือตั้งใจนําไปปฏิบัติ ครูบาอาจารย์ทุกท่านที่มาเทศน์ จะเน้นเรื่องการปฏิบัติ ธรรมะของพระพุทธเจ้ามิได้มีไว้ฟังเฉยๆ ฟังแล้วต้องนําไปปฏิบัติ ถ้าฟังเฉยๆก็เหมือนดั่งคําที่ว่า “ธรรมใดๆก็ไร้ค่าถ้าเราไม่นําไปปฏิบัติ” เช่น บอกให้รักษาศีลก็ไม่รับ บอกให้ทำทานก็ไม่ทำทาน บอกว่าอย่าไปโกรธมากก็ยังทำ แบบนี้ก็ไม่ได้อะไรเลย ไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงในตัวของเรา ฉะนั้น พึงนําธรรมะไปปฏิบัติทุกๆ ข้อ แล้วแต่โอกาสที่เราสามารถจะทําได้

โอกาสที่หาได้ยาก

ญาติโยมทั้งหลาย การที่เราจะเข้าสํานักฯมาเพื่อปฏิบัติธรรมเช่นนี้เป็นสิ่งที่หาได้ยาก หามิได้ง่ายๆ ท่านว่าคนมีบุญเท่านั้นที่จะเข้ามาตรงนี้ได้ หลวงพ่อจรัญท่านพูดไว้ชัดเจนว่า ถ้าไม่มีบุญแล้วต่อให้หิ้วกระเป๋ามาก็ไม่ถึงสํานัก ต้องคนที่มีบุญเท่านั้นจึงจะเข้าถึงสํานักได้ ตอนที่อาตมาไปปฏิบัติธรรม ฟังโยคีส่งอารมณ์กับหลวงพ่อ มีอยู่ประโยคหนึ่งที่โยคีมักถามบ่อยๆเวลาเข้าปฏิบัติธรรมว่า “หลวงพ่อ โยมจะปฏิบัติธรรมได้หรือเปล่า โยมมีบุญไหมที่จะปฏิบัติธรรมตรงนี้ได้” หลวงพ่อตอบว่า “เข้ามาวัดได้ก็ปฏิบัติได้ ต่อจากนั้นก็เป็นความเพียรของเราเอง” ฉะนั้น ขอให้ทั้งพระคุณเจ้าและญาติโยมทั้งหลายที่มาอยู่ตรงนี้มั่นใจได้ว่า เรานั้นมีบุญแล้วที่มาสู่ตรงนี้ได้

คําว่า “มีบุญ”ตรงนี้ พระพุทธศาสนายังแยกออกไปอีกว่า เรามีบุญเพราะเราได้ “สิ่งที่หาได้ยากทั้ง ๔ประการ” คือ

๑) เราได้เกิดในกาลสมัยที่มีพระพุทธศาสนา มีคําสอนขององค์สัมมาสัมพุทธเจ้า นับว่าหาได้ยาก พุทธศาสนามิได้เกิดในทุกยุคทุกสมัย ในบางกาลสมัยก็ไม่มีพระพุทธศาสนา เป็นช่วงที่ว่างจากพระพุทธศาสนา ถ้าเราไปเกิดในช่วงนั้นก็จะไม่รู้ว่าอะไรถูก อะไรผิด ไม่รู้ว่าอะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป การที่เราจะเดินทางได้ถูกต้องจึงเป็นสิ่งที่ทำได้ยาก ฉะนั้น เราทั้งหลาย ณ ที่นี้มีสิ่งที่หาได้ยาก คือ ได้เกิดในยุคที่มีองค์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า-คือคําสั่งสอนของพระพุทธองค์นั่นเอง

๒) เราได้เกิดมาเป็นมนุษย์ ถือว่าเป็นสิ่งที่ประเสริฐ เป็นสิ่งที่หาได้ยาก ระหว่างผู้ที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์ กับผู้ที่เกิดเป็นสัตว์เดรฉานก็ดี เป็นเปรต อสุรกายก็ดี เป็นสัตว์นรกก็ดี เทียบกันไม่ได้เลย ท่านว่าผู้ที่ได้มาเกิดเป็นมนุษย์มีน้อยมาก แต่ส่วนมากไปเกิดเป็นสัตว์เดรฉาน ดูแค่มดเป็นตัวอย่าง มดหรือแมลงต่างๆในศาลานี้มีมากกว่าคนในวัดอีก โอกาสที่ได้เกิดมาเป็นมนุษย์จึงหายาก และที่จะได้เกิดเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์แบบพวกเรานี้ก็ยิ่งยากกว่า ฉะนั้น สิ่งที่หายากนี้ เฉพาะผู้มีบุญเท่านั้นจึงจะได้ คือได้เกิดมาเป็นมนุษย์

๓) การได้เกิดมานับถือพระพุทธศาสนาหรือพบพระพุทธศาสนา เป็นสิ่งที่หาได้ยากอีกประการหนึ่ง นับว่าเป็นบุญอย่างหนึ่งของเรา ถ้าเราไม่ได้มาเกิดในประเทศไทย แต่ไปเกิดในประเทศอื่นที่ไม่มีพระพุทธศาสนา โอกาสที่เราจะได้ศึกษา จะได้ปฏิบัติ จะได้ทําบุญทํากุศลก็ทําได้ยาก แต่พวกเราทั้งหลายนี้ได้มาเกิดในประเทศที่มีพระพุทธศาสนา ก็นับเป็นบุญอีกประการหนึ่งของเรา

๔) การที่ได้มีโอกาสมาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนี้ เป็นสิ่งที่หาได้ยากอีกประการหนึ่ง บางคนนับถือศาสนาพุทธก็จริง เป็นพุทธศาสนิกชนก็จริง ได้แต่ให้ทาน-รักษาศีล ไม่ค่อยจะได้เจริญภาวนา ค่อนข้างจะหายากที่สุด ที่จะเจริญสมถกรรมฐานก็อาจจะพอง่ายอยู่บ้าง แต่ที่จะได้เจริญวิปัสสนากรรมฐานแล้วยิ่งยากขึ้นไปอีก วิปัสสนากรรมฐานเป็นสิ่งที่หาได้ยาก เป็นสิ่งที่ลําบาก

ฉะนั้น ทั้ง ๔ ประการนี้ เรามีอยู่ในตัวของเราทุกๆ คน ถือว่าพวกเราเป็นผู้มีบุญ สนับสนุนคํากล่าวที่ว่า เมื่อเราได้เข้ามาปฏิบัติธรรมแล้ว หรือเมื่อเราได้เข้ามาถึงวัดแล้ว ก็ถือว่าพวกเราเป็น“ผู้มีบุญ” ต่อไปก็จะอยู่ตรงที่ว่า ขอให้เรามีความเพียร มีความพยายามที่จะปฏิบัติธรรมยิ่งๆขึ้น ทุกอย่างต้องได้จากความเพียรความพยายามของเราเท่านั้น ในเบื้องต้นนี้อาตมาขอให้กําลังใจ ขอให้ญาติโยมทั้งหลายตลอดจนถึงโยคาวจรที่จะเข้าปฏิบัติธรรม จงมั่นใจว่า เราสามารถที่จะศึกษา สามารถที่จะปฏิบัติธรรมให้ก้าวหน้าได้

การปฏิบัติธรรม

การปฏิบัติธรรมนั้นแบ่งเป็นหลายระดับ ในกลุ่มของพวกเรานี้ กลุ่มหนึ่งจะปฏิบัติเป็นเวลาสามเดือน อีกกลุ่มหนึ่งจะต้องกลับไปทําหน้าที่ของตนเอง เป็นพ่อบ้าน เป็นแม่บ้าน เป็นเจ้าหน้าที่ หรือทํางานอะไรก็แล้วแต่ ฉะนั้น การบรรยายธรรมในวันนี้คงต้องพูดทั้งสองส่วน

ผู้ที่จะอยู่ปฏิบัติธรรมต่อไปในภายหน้า ท่านอาจารย์ท่านเจ้าอาวาสได้พูดแล้วว่าการเข้าพรรษามีความสําคัญอย่างไร เป็นกาลสมัยที่เหมาะแก่การปฏิบัติธรรม ฉะนั้น ผู้ที่เข้าปฏิบัติธรรมแล้ว หรืออยู่มาก่อนแล้วจะทําตัวเหมือนเดิมคงไม่ได้ ต้องมีการเปลี่ยนแปลงที่แปลกไปกว่าเก่า คือ มีความเพียรพยายาม มีความใส่ใจในการกําหนดให้มากขึ้น สิ่งที่ครูบาอาจารย์ท่านว่าเป็นสิ่งที่ขัดขวางการปฏิบัติธรรม ทําให้การปฏิบัติของเราไม่ก้าวหน้า พึงละสิ่งนั้น ธรรมะข้อใดที่ท่านอาจารย์ว่าเป็นธรรมที่ส่งเสริมการปฏิบัติให้ก้าวหน้า พึงทําสิ่งนั้นให้มาก พัฒนาสิ่งนั้นให้มากยิ่งขึ้น

๑) ศีลต้องบริสุทธิ์

ผู้ที่จะเข้าการปฏิบัติธรรมทุกท่านพึงเน้นในเรื่องของศีล พระคุณเจ้าก็มากหน่อย ๒๒๗ข้อ สามเณร๑๐ ข้อน้อยลงมาหน่อย ญาติโยมก็เพียง ๘ ข้อ ๘ข้อนี้พอที่จะนึกได้ว่า วันนี้เราผิดศีลอะไรบ้าง อะไรที่ไม่ผิดศีลบ้าง ศีล ๑๐ ก็ยังพอนึกง่าย ๒๒๗ข้อนั้นนึกค่อนข้างยาก แต่พระคุณเจ้าก็ต้องพยายามมีความเพียร ยึดเอาตัวหลักๆ ไว้ก่อน ตั้งแต่ปาราชิกไล่ลงมา ถ้าเราดูบ่อยๆ นึกถึงบ่อยๆ เรียกว่า ศีลานุสสติ-ระลึกถึงศีลของตัวเอง ถ้านึกถึงศีลบ่อยๆแล้ว ศีลของเราจะบริสุทธิ์ผุดผ่อง เวลามานั่งสมาธิก็ดี เดินจงกรมก็ดี จะเป็นสมาธิได้ง่าย ท่านว่าศีลเป็นเบื้องต้นของการปฏิบัติ ผู้ใดที่ไม่ค่อยสนใจเรื่องศีล ขณะที่นั่งสมาธิจะไม่สงบ จะฟุ้งซ่าน พึงกลับไปดูที่ศีลใหม่ เพราะศีลเป็นเบื้องต้น ศีลทําให้เกิดสมาธิ สมาธิทําให้เกิดปัญญา เมื่อขาดจักรตัวแรกแล้ว จักรตัวที่สองหรือที่สามก็เกิดได้ยากหรือแทบจะไม่มีเลย ฉะนั้น ในเบื้องต้นขอให้ทุกท่านที่จะเข้าปฏิบัติธรรมและอยู่ต่อไปมาดูศีลของตนเอง ถ้าศีลของญาติโยมบกพร่องก็ให้มาสมาทานใหม่ สำหรับพระคุณเจ้าก็ต้องแสดงอาบัติ ฉะนั้น สําหรับพระคุณเจ้า ทุกๆวันเราจะมีการแสดงอาบัติ ซึ่งก็คือการชําระศีล เพราะมีถึง ๒๒๗ ข้อ มีข้อเล็กๆน้อยๆที่อาจมองไม่ทั่วถึง จึงต้องป้องกันไว้ก่อน คือต้องแสดงอาบัติเพื่อชําระศีล การปฏิบัติจะได้คล่อง พึงสังเกตดูว่า เมื่อใดที่เรานึกถึงศีลแล้ว ศีลของเราบริสุทธิ์ผุดผ่อง ไม่ว่าจะนั่งสมาธิ จะเดินจงกรม เราจะทำได้ไว แต่หากศีลไม่บริสุทธิ์ผุดผ่อง จะนั่งสมาธิอย่างไร จะเดินจงกรมอย่างไร ก็ไปไม่ไหว อุปมาเหมือนผ้าที่ยังไม่สะอาดพอ จะย้อมเป็นสีอะไรก็ย้อมไม่ค่อยติด ฉะนั้น ศีลจึงเป็นเบื้องต้นที่สำคัญมาก พยายามรักษา พยายามตั้งใจที่จะงดเว้น

๒) วางของเก่า

เมื่อมีศีลแล้ว หลักของการปฏิบัติประการแรก คือ พึงเตรียมตัวก่อน โยคีผู้เข้าปฏิบัติธรรมไม่ว่าจะเป็นโยคีเก่าหรือใหม่ โดยเฉพาะโยคีเก่าจากที่อื่นแล้วมาใหม่ที่นี่ มักจะมีความรู้เก่าๆติดมาด้วย ซึ่งอาจจะไม่เหมือนการปฏิบัติสติปัฏฐาน๔ (แบบพองหนอ-ยุบหนอ) หรือ แม้จะเป็นแบบพอง-ยุบก็จริง แต่ก็มีหลายแขนงเหลือเกิน อาจารย์ท่านหนึ่งก็สอนไปทางหนึ่ง อีกท่านหนึ่งก็สอนไปอีกทางหนึ่ง แต่เมื่อมาที่นี่แล้ว ท่านอาจารย์จะแจกหนังสือคู่มือให้ ขอให้ไปดูหลักให้ดี ถ้าไม่ตรงกับของเก่าที่เราเคยฝึกมา เช่น อาจจะเดินจงกรมไม่เหมือนกัน กําหนดไม่เหมือนกัน ของเก่ากําหนดเพียงสามครั้ง ของที่นี่กําหนดจนกว่าอาการนั้นจะหายไป เป็นต้น ให้วางของเก่าไว้ก่อน อย่าไปเสียดาย บางคนเสียดายเพราะปฏิบัติมาตั้งหลายปีแล้ว อยากจะรักษาไว้

ตรงนี้ อาจารย์ท่านเทศน์ไว้น่าฟัง ท่านอุปมาให้ฟังว่า มีชาย ๒ คน ไปหาเพชรด้วยกัน ได้ยินว่าเพชรอยู่บนภูเขา ก็เดินทางไปหาเพชร เดินทางไปถึงภูเขาลูกหนึ่งก็ไปเจอก้อนหิน ทั้งสองคนต่างก็ไม่มีความรู้ว่าเพชรเป็นอย่างไร จึงต่างคนต่างเก็บก้อนหินใส่ตะกร้าไว้ พอเก็บเสร็จเรียบร้อยก็เดินทางต่อไป พอไปถึงภูเขาอีกลูกหนึ่งก็ไปเจอเงิน ชายคนแรกก็บอกว่าเราแบกหินมาตั้งนาน เสียดาย เงินใหม่นี่ไม่เอาดีกว่า เก็บหินของเก่าไว้แหละดีแล้ว แต่ชายคนที่สองบอกว่า เอาเงินของใหม่ดีกว่า จึงทิ้งก้อนหินแล้วเก็บเงินใส่ตะกร้าไปแทน เดินต่อไปอีก ทั้งสองก็ไปเจอทอง ชายคนแรกก็คิดยังเหมือนเดิมว่า เราสู้อุตส่าห์แบกหินมาตั้งนานแล้ว จะทิ้งไปก็เสียดาย ทองใหม่นี่อย่าเก็บเลย ส่วนชายคนที่สองฉลาดกว่า เทเงินทิ้งแล้วเก็บทองใส่ตะกร้าไปแทน ออกเดินต่อไปอีกหน่อย ทั้งสองคนก็ไปเจอเพชร ชายคนแรกก็ยังคงคิดเหมือนเดิม เพราะอุตส่าห์แบกหินมาตั้งนานแล้ว หมดกำลังไปก็มาก จะทิ้งไปเพื่อเก็บเพชรก็นึกเสียดาย ก็เลยได้ก้อนหินไป แต่ชายอีกคนหนึ่งกลับเททองทิ้งแล้วเก็บเอาเพชรไปใส่ตะกร้าไป เมื่อกลับไปถึงบ้าน ทั้งสองคนนี้ก็จะมีสภาพที่ผิดกัน โง่หรือไม่โง่ก็ไม่ได้บอกไว้ เป็นเพียงเรื่องอุปมา อาจารย์ท่านให้คิดเอาเอง

บางคนปฏิบัติมานานแล้ว ปฏิบัติแบบ“พุทโธ”มาตั้งสิบกว่าปีแล้ว ทิ้งไม่ได้เลย ถ้าทิ้งไม่ได้ก็จะเหมือนกับชายคนแรก แต่ถ้าทิ้งได้แล้วก็จะเหมือนกับชายคนที่สอง ฉะนั้น การปฏิบัติธรรมในสายของเรานี้จะมีวิธีให้โยมที่ติด“พุทโธ” โดยจะสอนให้กําหนด “นั่งหนอ...ถูกหนอ” ไปก่อน อาจารย์ท่านไม่ให้กําหนด “พุทโธ” หรอก เพราะใกล้กับลมหายใจ บางครั้งท้องกับลมหายใจมันเนื่องถึงกัน ฉะนั้น อาจารย์ท่านจะให้กําหนด “นั่งหนอ...ถูกหนอ...ถูกหนอ” ไปก่อน ซึ่งไม่เกี่ยวกับลมหายใจ ฉะนั้น ของเก่าให้เราวางไว้ก่อน

๓) ตั้งใจศึกษาของใหม่

พึงตั้งใจศึกษาของใหม่จากหนังสือหลักที่ท่านอาจารย์ให้ โดยศึกษาทําความเข้าใจวิธีการว่า นั่งสมาธินั้นนั่งอย่างไร ใช้คําบริกรรมอย่างไร อาจารย์ท่านสอนให้นั่ง ให้เดิน ให้กําหนดเมื่อมีอารมณ์แทรกเข้ามาอย่างไร จากนั้นก็ไปส่งอารมณ์ ที่อาตมาพบค่อนข้างบ่อยก็คือ บางครั้งญาติโยมทั้งหลายมักคิดว่าสํานักไหนก็คงจะกําหนดเหมือนกัน จึงกําหนดผิดตั้งแต่เริ่มเดินจงกรมเป็นต้นไป จนกระทั่งผ่านไปสองสามวันแล้วจึงมาส่งอารมณ์ กว่าจะรู้ว่าตนเองปฏิบัติผิดก็ผ่านไปนานแล้ว นับว่าน่าเสียดาย ข้อนี้จึงสําคัญมากเหมือนกัน จึงพึงศึกษาวิธีปฏิบัติให้ถูกต้อง ฝึกปฏิบัติให้ถูกต้อง

๔) วางใจ อย่าคาดหวัง

พึงวางใจในการปฏิบัติ อย่าคาดหวังว่าจะได้อะไรเลย บางคนหวังว่าจะได้ความสงบ หวังว่าจะได้ตรงนั้นตรงนี้ ท่านสอนว่า ความคาดหวังก็ก่อให้ฟุ้งซ่าน ตรงกันข้ามกับผู้ที่มาปฏิบัติโดยไม่คาดหวังว่าจะได้อะไร เพียงแต่ต้องการมาฝึกกับจิตของตนเองให้เกิดสติ ให้เกิดสมาธิ ให้เกิดปัญญา เมื่อตั้งใจแบบนี้แล้วฝึกไปเรื่อยๆ ปฏิบัติไปเรื่อยๆ ระหว่างที่ฝึกก็ไม่ได้คิดว่าตนก้าวหน้าไปได้ขนาดไหนแล้ว ก็จะไปได้เร็ว

อีกประเภทหนึ่งคือ โยคีเก่าที่เคยปฏิบัติที่อื่นๆมาแล้ว บางทีอาจารย์ท่านอาจจะบอกว่า ได้ญาณนั้นญาณนี้แล้ว พอมาตรงนี้ก็จะมาต่อญาณอีก ครูบาอาจารย์ท่านว่า จะมาต่อญาณนั้นทำไม่ได้ เพราะญาณนั้นไม่คงที่ ญาณก็ไม่เที่ยงเหมือนกัน บางแห่งก็บอกว่าได้ญาณสิบหกแล้ว จะมาต่ออีก มันไม่ไหว มันมากเกินไป ฉะนั้น การมาปฏิบัติธรรมนี้ มิใช่การมาต่อของเก่า แต่เป็นการมาเพิ่ม มาทบทวน มาปฏิบัติเพื่อให้เกิดปัญญายิ่งๆขึ้นไป การที่เราคิดไม่ถูก วางใจไม่ถูกนี้ จะทําให้เราไม่ก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรม เพราะฉะนั้น ผู้ที่ปฏิบัติมาตั้งนานแล้ว บางคนก็มีแต่ความอยาก เมื่ออยากแล้วย่อมจะไม่ได้สมอยาก นานเข้าๆ ก็พาลไปคิดว่าตนเองคงไม่มีบุญวาสนาแล้ว บุญน้อย กลับบ้านดีกว่า เลยเก็บกระเป๋ากลับบ้าน นั่นก็คือการตัดหนทางของตนเอง ฉะนั้น พึงวางใจให้เป็น อย่าไปอยากได้นั่นอยากได้นี้ ตั้งใจปฏิบัติไปเรื่อยๆ สะสมไปเรื่อยๆ ก็จะมีความก้าวหน้า

๕) ตัดปลิโพธกังวล

เมื่อวางใจเป็นแล้ว ต่อไปก็พึงตัดปลิโพธกังวล-ความกังวลใจ เมื่อมาที่นี้แล้วพึงทําตัวเหมือนคนโสด ไม่มีบุตร ไม่มีกังวล ไม่มีอะไรทั้งสิ้น ถึงจะมีก็พึงเก็บไว้ชั่วคราวก่อน สมมุติว่าเราจะอยู่ปฏิบัติ ๗ วัน ก็พึงทิ้งให้หมดใน ๗ วันนี้ สิ่งนั้นก็ไม่ใช่ของเรา สิ่งนี้ก็ไม่ใช่ของเรา อุปมาเหมือนยามที่เราตาย เมื่อเราตายแล้ว ผู้อื่นก็ไม่สามารถจะดูหรือจะช่วยเหลืออะไรเราได้ ฉะนั้น เมื่อมาปฏิบัติที่นี่ก็พึงตัดออกให้หมด บางครั้งเราตัดไม่ได้ ยังค้างไว้อยู่ ยิ่งถ้าพกโทรศัพท์มาด้วย เวลาเทศน์ก็ดี เวลาสวดมนต์ก็ดี อาตมามักได้ยินบ่อยๆ โยมจึงไม่ก้าวหน้าในทางปฏิบัติ ฉะนั้น ความกังวลต่างๆ จะเป็นเรื่องสามีก็ดี ภรรยาก็ดี บ้านก็ดี เราได้มอบให้คนอื่นไปแล้ว แต่ถ้าตัดใจไม่ได้จริงๆ หากคิดก็ให้กําหนดว่า “คิดหนอๆ....กังวลหนอๆ....เป็นห่วงหนอๆ” อย่าปล่อยให้คิดตามไปเรื่อยเปื่อยว่า เขาคงเป็นอย่างนั้น เป็นอย่างนี้ กินข้าวแล้วหรือยัง แมวตัวนั้นหมาตัวนั้นจะอยู่อย่างไร เคยมีโยคีหลายท่านมาปฏิบัติธรรมไม่ได้ อาตมาถามว่ามีลูกหรือเปล่า ก็ตอบว่าไม่ได้ห่วงลูก ไม่ได้ห่วงสามี แต่ห่วงแมวห่วงสุนัข ก็มีกรรมไปอีกแบบหนึ่ง ยังไม่ได้ปฏิบัติเต็มที่

ฉะนั้น ความปลิโพธกังวลต้องตัดออกชั่วคราว พึงนึกว่าเรามาชั่วคราวเท่านั้น พระคุณเจ้าก็นาน ๓ เดือน ญาติโยมก็ ๓ วัน ๑๕วันบ้าง อันนี้ก็ต้องตัดปลิโพธกังวล ปลิโพธกังวลนั้นมีอยู่หลายอย่าง ที่อยู่ก็ดี ญาติพี่น้องก็ดี แม้แต่พระคุณเจ้าก็อาจมีญาติโยม ถ้าไปคุยกับญาติโยมบ่อยๆ โทรไปบ่อยๆ มันจะไม่ได้อะไรหรอก ญาติโยมก็จะมองอีกมุมหนึ่งว่า พระรูปนั้นไปปฏิบัติแล้วทำไมจึงโทรมาบ่อยๆ ยิ่งถ้าโยมมีความรู้มากปฏิบัติมากก็จะสงสัยว่า เขาห้ามคุยมิใช่หรือ อันนี้จึงเป็นสิ่งสําคัญ พึงตัดความปลิโพธกังวลออกไป

แม้แต่ความเจ็บไข้ได้ป่วยก็ต้องตัดเช่นกัน พึงอย่าไปกังวลถึงมัน เพราะเราได้ถวายร่างกายนี้แก่พระพุทธเจ้าแล้ว ถ้าจะตายก็ให้ตายไป ที่วัดนี้มีพระหลายสิบรูป จะสวดให้เผาให้โยมไม่ต้องกลัว ไม่มีใครตายในองค์กรรมฐาน ขณะที่นั่งกรรมฐานหรอก มีแต่ไปตายที่อื่น ฉะนั้น พึงตัดความกังวลใจ

๖) เปลี่ยนบุคลิก

เมื่อเข้าสู่การปฏิบัติธรรม พึงเปลี่ยนบุคลิกของการปฏิบัติธรรม หรือบุคลิกของบุคคล จากการที่ทําอะไรเร็วๆ มาทําอะไรช้าๆ หลักเบื้องต้นคือ

พึงเก็บสายตา เช่น ขณะที่เดินไปไหนมาไหน พึงทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๔ ศอก พึงอย่าจ้องมองอะไรตรงๆ อย่าเหลียวซ้ายแลขวา เก็บสายตานี้เก็บยาก ตอนนี้อาตมาเห็นมีเพียงไม่กี่คนที่เก็บสายตา ฉะนั้น เข้าพรรษานี้ขอให้ลองเก็บสายตาประมาณ ๔ ศอก การเก็บสายตานี้สําคัญมาก เมื่อตาเห็นก็จะปรุงแต่งทันที ชอบใจหรือไม่ชอบใจ หรืออะไรอื่นๆต่อไป ปรุงแต่งตอนนั้นยังไม่พอ เมื่อมานั่งสมาธิมันก็ยังตามมาปรุงแต่งอีก ฉะนั้น ท่านจึงให้เก็บสายตา

พึงเก็บวาจา คือ งดการพูดคุยโดยเด็ดขาด จะพูดคุยได้กับบุคคล ๒ ท่านเท่านั้น คือพระวิปัสสนาจารย์ และเจ้าหน้าที่ พึงงดพูดคุยกับโยคีด้วยกันโดยเด็ดขาด เพราะนอกจากเราจะเสียสมาธิ โยคีที่เราพูดด้วยก็จะเสียสมาธิ และคนที่อยู่ข้างๆใกล้ๆเราก็จะเสียสมาธิเช่นเดียวกัน ฉะนั้น การงดพูดคุยจึงเป็นสิ่งที่จําเป็นมาก ถ้างดไม่ได้ การปฏิบัติธรรมก็ยากที่จะเจริญก้าวหน้า บางครั้ง มีโยคีที่อยู่นานๆแล้วมาส่งอารมณ์ ญาณไม่ค่อยก้าวหน้า สภาวะธรรมไม่ค่อยมี ก็เพราะไปรั่วตรงการพูดคุยหมด อาตมาบรรยายตรงนี้ก็เพื่อเป็นกระจกเงาให้โยมได้ส่องมองดูตัวเองว่าเป็นอย่างไร พระคุณเจ้าก็เช่นกัน ถ้ายังไม่เป็นตามนี้ ก็พึงไปปรับปรุงแก้ไข

การพูดโทรศัพท์ก็เป็นการพูดคุยเหมือนกัน เป็นที่น่าอนุโมทนา ท่านอาจารย์ว่าจะเก็บโทรศัพท์หมดเลย ถ้าญาติโยมคนใดไม่ไว้ใจตัวเองจะเอาไปฝากที่สํานักงานก็ได้ อาตมาไปสอนกรรมฐานที่ไหนก็จะไล่เก็บโทรศัพท์ทุกที ที่ยุวพุทธฯก็เหมือนกัน ถ้าไม่เก็บอาจารย์ผู้สอนก็เหนื่อย บางทีโยคีกําลังมีสภาวะดีๆอยู่ วันถัดมาทําไมจึงฟุ้งซ่านมาก พอถามว่ามีโทรศัพท์ไหม “มีเจ้าค่ะ” ถามว่าคุยไหม “คุยเจ้าค่ะ” นี่คือเหตุที่ทำให้อารมณ์ของโยคีเปลี่ยนทันที กําหนดไปดีๆ พอไปคุยมา ทางบ้านเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ สมาธิไปหมดเลย ฉะนั้น เรามีโทรศัพท์กลางที่สํานักงาน ฝากเบอร์ให้ที่บ้านไว้แล้วสั่งไว้เลยว่า ถ้าไม่ใช่เรื่องเป็นเรื่องตายขออย่าให้โทรมา แล้วก็ปิดโทรศัพท์มือถือของตนเสีย จึงจะได้ผล พระคุณเจ้าที่จะปฏิบัติอยู่ ๓ เดือนก็ยิ่งจะไม่ค่อยได้อะไรใหญ่ถ้ายังพูดคุยโทรศัพท์อยู่

พึงปฏิบัติช้าๆ การปฏิบัติธรรมจะเร็วไม่ได้ ท่านพระมหากัจจยานะได้กล่าวถึงลักษณะของโยคีไว้ ๔ ประการ คงจะต้องนํามากล่าว เพื่อให้ญาติโยมได้เห็นว่าตัวเราเป็นโยคีหรือเปล่า

ลักษณะของโยคี ๔ ประการ

๑. เป็นคนตาดีก็เหมือนคนตาบอด เวลาที่คนตาบอดเดินไปไหนมาไหน จะไม่มอง จะก้มหน้า ฉะนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมทุกท่านต้องเหมือนคนตาบอด ข้างๆ เขามีอะไรก็พึงอย่าได้ใส่ใจ

๒. เป็นคนหูดีก็ทําเหมือนเป็นคนหูหนวก เมื่อได้ยินเสียงอะไรก็กำหนดว่า “ได้ยินหนอๆ” หมาเห่าก็ “ได้ยินหนอๆ” คนพูดก็ “ได้ยินหนอๆ” ก็จะเหมือนกับคนหูหนวก ไม่ใส่ใจ แต่ถ้ามีคนพูดอะไรก็จะคอยเงี่ยหูฟังก็จะไม่ใช่โยคี

๓. เป็นคนมีกําลังดีก็เหมือนกับคนไม่มีกําลัง ถึงเราจะแข็งแรง ลุกขึ้นวิ่งไปได้ จะเดินไปก็เดินไปเร็วๆ ได้ แต่เมื่อเข้าปฏิบัติธรรมแล้ว ต้องทําช้าๆเหมือนคนไม่มีกําลัง ช้าเพื่อจะกําหนดอาการได้ทัน ถ้าถามว่าทุกวันนี้เรารู้ตัวไหม ก็คงตอบได้ว่ารู้ตัวแต่รู้สึกไม่ชัด ถ้าถามว่ากําหนดได้ไหม ก็คงตอบได้ว่ากําหนดได้แต่ไม่ชัดเจน การทำอะไรช้าๆจึงสําคัญมาก บางคนบอกว่า “แค่นี้ก็พอแล้ว ยกไปจับ ยกไปอ้า ใส่” แบบนี้เร็วเกินไป แม้จะเติม “หนอ” ลงไปอีกคำหนึ่ง “หนอ”ครั้งเดียวก็ยังเร็วเกินไป เราจะกําหนดได้ไม่ทัน เราต้องทำทุกอิริยาบถให้ช้าๆ มีบางคนกลัวว่า การฝึกทำอะไรช้าๆแบบนี้ เมื่อออกจากกรรมฐานแล้วจะยังติดช้าต่อไปอีก ไม่เป็นอย่างนั้นหรอก ไม่ต้องกลัว เรามาตรงนี้ต้องฝึกให้ช้า ช้าเพื่อจะไปทําให้เร็วที่บ้าน สติของเราจะได้ไว สติจะได้ทันสิ่งต่างๆ

การช้าก็คือช้าเหมือนคนป่วย คนไม่สบายมากๆ อุปมาเหมือนกับคนผ่าตัดไส้ติ่งใหม่ๆ เวลาจะลุกก็ค่อยๆ ลุก เวลาจะพลิกตัวก็ค่อยๆพลิก เวลาจะยืดตัวก็ค่อยๆยืด นี่คือลักษณะของโยคีประการหนึ่ง คือถึงจะมีกําลังอย่างไรก็พึงทําช้าๆ ไม่ทําเร็ว เพื่อประโยชน์ของการกําหนด ฉะนั้น ท่านใดที่ยังกําหนดแล้วไม่มีหนอ หรือมีแค่หนอเดียวก็ยังใช้ไม่ได้ ขอให้ไปฝึกปฏิบัติ วันแรกยังให้หนึ่ง“หนอ”อยู่ “ยกหนอ...ตักหนอ...ไปหนอ” วันที่สองท่านอาจารย์ให้เพิ่มอีก“หนอ”หนึ่ง วันที่สามก็สาม“หนอ” วันที่สี่ก็สี่“หนอ” วันที่ห้าก็ห้า“หนอ” แล้วเป็นหก“หนอ” เจ็ด“หนอ” แปด“หนอ” เก้า“หนอ” สิบ“หนอ” กําหนดไปอย่างนั้นเรื่อยๆ ก็จะกําหนดได้ละเอียดขึ้น เมื่อเราสังเกตไปรายละเอียดก็จะต่างกัน ตอนที่กำหนดได้“หนอ”เดียวแทบจะไม่รู้สึกถึงอาการ สิบ“หนอ”ขึ้นไปแล้วจะเริ่มรู้สึกถึงอาการตึง-อาการหย่อนของแขนได้ดีขึ้น ถึงตอนนั้นความรู้สึกถึงรูปร่างสัณฐานของมือจะหายไป เหลือแต่อารมณ์ของปรมัตถ์ เราจะเริ่มรู้สึกถึงอาการตึง-อาการหย่อน ส่วนความรู้สึกเป็นตัวตนจะไม่มี ก็จะเข้าสู่วิปัสสนากรรมฐานได้ ฉะนั้น ต้องใช้ความเพียรความพยายาม ช้านี้ดีที่สุด ให้วางใจ แล้วก็ให้ทําใจอย่างหนึ่งว่า เราไม่มีอะไรต้องรีบในการที่มาปฏิบัติธรรมนี้ ส่วนใหญ่จะอ้างอยู่เป็นประจําว่า “โยมเป็นคนรีบ โยมทํางานที่บ้านโยมต้องไว” อาตมาก็มักจะตอบว่า “ที่นี่ไม่มีอะไรต้องรีบนะ อารมณ์ที่โยมจะกําหนดก็อยู่ที่ตัวโยม สติที่จะกําหนดก็อยู่ที่ตัวโยม ไม่ได้อยู่ที่อื่นเลยแล้วจะรีบไปไหน” เมื่อฟังอย่างนี้โยคีก็จนด้วยปัญญาไม่รู้จะเถียงอย่างไร ก็รับไปกําหนดต่อก็จะได้ขึ้นมา

๔. เป็นคนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด ก็ทําเหมือนคนไม่มีปัญญา หมายความว่า อย่าไปคิดอย่าไปวิเคราะห์พิจารณาสภาวะธรรมตรงนี้ตรงนั้น เช่น “เอ๊ะ...อาการพองยุบมันหายไป คงจะหายไปเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้.... เอ๊ะ...ทําไมเราเดินแล้วมันฟุ้ง คงจะเป็นเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้...เท้าเรามันเบา...คงเป็นเพราะอย่างนั้น เพราะอย่างนี้” เหล่านี้ก็เป็นการวิเคราะห์วิจารณ์ เป็นคนมีปัญญาดีเกินไป ฉะนั้น ต้องทําเหมือนคนไม่มีปัญญา ทําเหมือนคนปกติทั่วไป ไม่ต้องทําตัวเป็นคนเฉลียวฉลาด รู้ก็สักแต่ว่ารู้ บางทีความรู้เกิดขึ้นมา ก็กำหนดว่า“รู้หนอๆ”แล้วไม่ต้องนําไปคิดพิจารณาต่อ สักแต่ว่ารู้ สักแต่ว่าเห็น เป็นปัจจุบันอาการ เห็นแล้วก็ดับไป ไปแล้วก็เกิดขึ้นใหม่อีก

นี่ก็คือลักษณะ ๔ ประการของโยคี โยคาวจรก็ดี ญาติโยมทั้งหลายก็ดี พึงมองดูตนเองว่าเรามีลักษณะของโยคีครบถ้วนแล้วหรือยัง ถ้ายังไม่ครบก็ปรับปรุงตนเอง ลักษณะใดที่ยังไม่ครบก็แก้ไขเพิ่มเติมเข้าไป เมื่อครบแล้วเราก็จะสามารถปฏิบัติธรรมตรงนี้ได้ก้าวหน้า

๗) กำหนดให้ได้ปัจจุบัน

พึงกําหนดให้ได้ปัจจุบัน ปัจจุบันก็คือขณะที่กําลังเกิดขึ้น ท่านเรียกว่าปัจจุบันขณะ ขณะที่อาการนั้นๆกําลังเกิดขึ้น อดีตใช้ไม่ได้ อนาคตก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะยังมาไม่ถึง ต้องกำหนดอาการที่กําลังเกิดขึ้น ขณะที่ท้องกําลังพอง กําหนดว่า“พองหนอ” ขณะที่ท้องกําลังยุบ กําหนดว่า“ยุบหนอ” ขณะที่ก้าวขา ยกขา เคลื่อนขา ยกไป ก้าวย่าง แล้วก็“หนอ” หรือว่าจะกําหนด“ยกหนอ...ย่างหนอ...เหยียบหนอ” ให้คําบริกรรมกับอาการตรงกันพอดี ถ้าตรงกันก็ถือว่าได้ปัจจุบันไปขั้นหนึ่งแล้ว แต่ถ้าไม่ตรงกัน เช่น ขวาเป็นซ้าย ซ้ายเป็นขวา ยกเป็นย่าง ก็ต้องแก้ไข แม้แต่มือยกขึ้น ก็“ยกหนอๆ...ไปหนอๆ...จับหนอๆ” ล้วนต้องอาศัยการกําหนดให้ได้ปัจจุบัน มีคําๆหนึ่งที่ควรจะจดจําไว้ คือ กําหนดและรู้อาการ ไม่ใช่กําหนดท่องเฉยๆ คํากําหนดก็คือคําบริกรรม “ยก”ก็คือยก คําว่า“ยก”คือคําบริกรรม แต่ต้องส่งจิตเข้าไปรู้อาการยก คืออาการเคลื่อนไหวของเท้าที่ยกขึ้นมา...หรือเคลื่อนไปข้างหน้า...หรือเหยียบลงไปข้างล่าง เหล่านี้คืออาการ การเดินจงกรม เท้าที่สัมผัสกับพื้นเป็นอาการที่ชัดเจนที่สุด ถ้ายังไม่รู้สึกถึงอาการที่เท้าว่าเหยียบอย่างไร รู้สึกอย่างไร ให้ไปสังเกตดู อันนี้คือกําหนดและรู้อาการ

๘) ไม่เลือกอารมณ์ที่จะกำหนด และกำหนดให้ต่อเนื่อง

อารมณ์ใดชัดเจน ก็พึงกําหนดรู้อารมณ์นั้น ไม่พึงเลือกอารมณ์ว่าจะต้องเป็นอารมณ์ตรงนั้น ตรงนี้ หากพอง-ยุบไม่มี ก็ไปกําหนดรู้“นั่งหนอ...ถูกหนอ...นั่งหนอ...ถูกหนอ” หรือกำหนดรู้อารมณ์ใดที่เกิดขึ้นชัดเจน อย่าเลือกว่าจะต้องเป็นพอง-ยุบเสมอไป หรือต้องเป็นอารมณ์ที่เราชอบเท่านั้น การเลือกกำหนดแต่อารมณ์ที่เราชอบเป็นสิ่งที่ไม่สมควรอย่างยิ่ง อารมณ์ใดชัดเจนก็พึงกําหนดรู้อารมณ์นั้น

ประการต่อไปก็คือความต่อเนื่อง จากขณะหนึ่งไปสู่อีกขณะหนึ่ง จากเดินไปสู่นั่ง จากนั่งไปสู่อริยาบถย่อย จากอริยาบถย่อยก็ไปสู่อารมณ์อื่นๆต่อไป พึงกำหนดให้ต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ เป็นเส้นด้าย ทั้งหมดนี้เป็นส่วนสําคัญของการปฏิบัติ นอกจากจะได้อารมณ์เป็นปัจจุบันแล้ว ต้องได้ความต่อเนื่องด้วยความต่อเนื่องนี้จะทําให้สติและสมาธิของเรามีกําลังที่จะปฏิบัติ

ฉะนั้น หลักปฏิบัติที่กล่าวมาเบื้องต้นนี้เป็นหลักโดยส่วนธรรม ฉะนั้น โยมทั้งหลายที่จะปฏิบัติต่อไปพึงสํารวจตรวจดูตนเองว่า เรากําหนดได้ดีมากน้อยเพียงใด และแก้ไขให้ถูกต้อง



การนั่งสมาธิ

การนั่งปฏิบัติส่วนใหญ่จะนั่งตามแบบที่เราเคยชิน หนังสือจะกล่าวถึงการนั่งอยู่ ๓ แบบ แต่ที่ใช้มากก็คือ การนั่งเรียงขา และการนั่งทับขา จะนั่งเรียงขาหรือนั่งทับขาก็ตาม ควรระวังอย่าให้ลำตัวงอขณะที่นั่ง พยายามนั่งตัวตรง ศีรษะตรง แต่ไม่เกร็ง ถ้าผู้ใดนั่งตัวตรงแล้ว แต่ยังรู้สึกเกร็งอยู่ ก็ยังไม่ถูกต้อง ขอให้สังเกตดู ถ้ารู้สึกว่าลำตัวงอลงมาก็ให้ยืดตัวขึ้น เพราะอาการลำตัวงอลงจะมีอยู่ตลอดเวลา ถ้าลำตัวงอแล้วผลที่จะเกิดก็คือ พอง-ยุบจะไม่ชัดเจน พอง-ยุบจะจมเข้าไป เพราะขณะที่ลำตัวงอ ท้องจะจมหายเข้าไป จากนั้นอาการง่วงก็จะตามมา ถ้าโยคีคนไหนนั่งแล้วง่วง ลองสังเกตดูว่าเรานั่งตัวงอหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น การนั่งตัวงอยังจะทําให้วิริยะกับสมาธิไม่เสมอกัน ก่อให้เกิดอาการอยู่ ๒ อย่าง คือ ไม่ง่วงก็ฟุ้ง จึงต้องแก้ไขปรับปรุงตรงนี้

อาการก่อนที่จะนั่งลงก็เป็นอริยาบถย่อยที่สําคัญมาก การคลายมือก่อนที่เราจะนั่ง การคลายตัวลง แล้วค่อยๆ ย่อ “ย่อหนอๆ” นั่งลงเสร็จเรียบร้อยแล้ว เคลื่อนมือมาไว้บนตักช้าๆ อริยาบถย่อยในเรื่องข้อต่อ จากเดินไปหานั่ง จากนั่งไปหาเดิน จากเดินไปกําหนดอริยาบถย่อย เช่น เข้าห้องน้ำก็ดี เท่าที่อาตมาสังเกตดู เวลาที่โยคีจะลุก ก็มักไม่ได้กําหนด“ลุกหนอ” แต่ลุกพรวดพลาดไปเลย เวลาเดินไปห้องน้ำก็ยังเดินเป็นปกติ ไม่ได้กําหนดว่า“ขวาย่างหนอ...ซ้ายย่างหนอ” เหล่านี้ล้วนแต่เป็นการขาดการกําหนดทั้งนั้นเลย เรียกว่ากําหนดแล้วขาดตอน หรืออาจารย์บางท่านเรียกว่าอารมณ์รั่ว ฉะนั้น ลองไปสังเกตดูว่าเรากําหนดอารมณ์ปะติดปะต่อดีไหม

การปฏิบัติธรรมที่ไม่ต่อเนื่อง ไม่ติดต่อ ท่านอุปมาว่าเหมือนคนต้มน้ำ พอน้ำใกล้จะเดือดก็ไปยกลงวางทิ้งไว้ แล้วไปทําอย่างอื่น พอมีโอกาสดีก็กลับมาต้มใหม่ น้ำก็ไม่มีวันสุกฉันใด การที่เราปฏิบัติแล้วไม่ได้กําหนดให้ต่อเนื่องตั้งแต่ตื่นนอนไปจนกระทั่งถึงเข้านอนก็เช่นกัน จะไม่มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมเลย ไม่ว่าจะอยู่นานเท่าใด ท่านเปรียบอีกว่า อุปมาเหมือนกับท่อน้ำ น้ำจะแรงขนาดไหนก็ตาม ถ้าท่อรั่วท่อซึมเสียแล้ว กําลังของน้ำก็ตกไป ฉันใดก็ฉันนั้น ถึงโยมจะพยายามเดินจงกรมพยายามนั่งสมาธิก็แล้วแต่ แต่เมื่อถึงอิริยาบถย่อย สมาธิก็จะรั่วหมด กลับมาทําใหม่ก็จะเท่ากับนับหนึ่งใหม่ เริ่มต้นใหม่ ความเหนื่อยตรงนี้ให้มองดูให้ดี ถ้ามองเห็นภาพก็จะเหมือนบุคคลผู้หนึ่งกําลังตักน้ำใส่ตุ่มที่รั่ว ถ้าเราไม่กําหนดอริยาบถย่อยก็จะเหมือนกับบุคคลผู้นั้น จะเหนื่อยอยู่ตลอดเวลา พอน้ำเต็มตุ่มเราก็พักได้ครู่เดียว น้ำก็รั่วหายไปอีก การที่เราจะกําหนดให้ต่อเนื่องได้นั้น จะต้องกําหนดอริยาบถย่อยให้ต่อเนี่อง ให้ติดต่อกัน ตั้งแต่ตื่นนอนไปจนถึงเข้านอน ไม่มีการขาดจาก“หนอ” อริยาบถอาจจะเปลี่ยนได้ แต่ว่า“หนอ”เปลี่ยนไม่ได้ ไม่ให้ขาดการกําหนด สติของเรานี้ควรที่จะให้ต่อเนื่องเป็นเส้นด้าย เป็นลูกโซ่ ฉะนั้น หากจะปฏิบัติธรรมให้ได้ผล การกำหนดอริยาบถย่อยเป็นส่วนสําคัญที่สุด เพราะช่วยให้มีความต่อเนื่อง ถ้าไม่ต่อเนื่องก็ไม่มีกําลัง ถ้าถามว่าการกำหนดอย่างอื่น นอกจากเดินจงกรม-นั่งสมาธิ เป็นสติปัฏฐานหรือเปล่า คำตอบคือเป็นทั้งนั้น กินข้าวก็เป็น เข้าห้องน้ำก็เป็น กําหนดแล้วเป็นสติปัฏฐานทั้งหมด จึงต้องฝึกในการกําหนดให้มาก

กำหนดเวทนา

ตอนนี้เวลาผ่านมาพอสมควรแล้ว เวทนาก็คงจะเกิดแล้ว เวทนานี้เป็นอารมณ์ที่ดีที่สุดในกรรมฐาน แต่เวลาส่งอารมณ์โยคีทั้งหลายจะบ่นให้ฟังอยู่เสมอว่า “วันนี้ปฏิบัติไม่ดี” “เป็นยังไงหรือโยม” “ปวดไปหมดเลย” วันไหนที่ไม่มีเวทนาโยคีมักจะคิดว่าวันนั้นดี แต่ที่จริงแล้ว เวทนา-ความเจ็บปวด-เมื่อย-ชา-เป็นอารมณ์ที่ดีที่สุด ทั้งนี้เพราะ

๑) เป็นอารมณ์ที่ชัดเจน ขณะที่มีเวทนาไม่พึงขยับตัว สังเกตดูว่าหากไม่ขยับตัว จะรู้ว่าจิตไม่ไปไหนเลย คิดถึงบ้านก็ไม่มี คิดถึงตรงนั้นตรงนี้ก็ไม่มี จิตจะอยู่ที่อาการปวด ทําให้จิตมีสมาธิ ก่อนหน้าที่เราจะปวดนั้นจิตจะคิดไปสารพัด “พองหนอ...ยุบหนอ”แล้วก็คิดถึงบ้าน “พองหนอ...ยุบหนอ”แล้วก็คิดถึงพ่อ ถึงแม่ ถึงสามี ถึงภรรยา ถึงอะไรก็แล้วแต่ แต่ตอนที่ปวดมากๆ จะไม่คิดถึงอะไรอื่นทั้งสิ้น เวทนาจึงเป็นอารมณ์ที่ชัดเจนที่สุด

๒) เมื่อเกิดเวทนา นิวรณ์จะสงบ นิวรณ์คือสิ่งที่มากั้นไม่ให้เราบรรลุความดี กามฉันทนิวรณ์ก็ดี พยาบาทนิวรณ์-โกรธคนโน้นคนนี้ก็ดี ถีนมิทธะนิวรณ์-ง่วงหงาวหาวนอนก็ดี อุทธัจจกุกกุจจะ-ฟุ้งซ่านก็ดี หรือว่าวิจิกิจฉา-สงสัยก็ดี จะไม่มีเลย ท่านถือว่าถ้าปวดมากๆ จิตจะบริสุทธิ์ที่สุด สามารถกั้นไม่ให้นิวรณ์เกิดขึ้นได้ อันนี้เป็นส่วนที่ดี

๓) เป็นขุมกำลังให้เกิดกําลังสมาธิ เพราะสมาธิก็คือจิตที่ตั้งมั่น เวลา“ปวดหนอๆ” จิตจะไปตั้งมั่นตรงที่ปวด เมื่อเรากําหนด “ปวดหนอๆ” สมาธิจะเพิ่มขึ้นๆ แต่ถ้าเรากําหนดอารมณ์อื่น เช่น “พองหนอ...ยุบหนอ...พองหนอ...ยุบหนอ” สักครู่จิตก็จะรั่วไปอีก การที่รั่วไปก็จะทําให้เสียสมาธิ สมาธิจะลดลงมา แต่ขณะที่กำหนดว่า “ปวดหนอๆ” จิตจะไม่ไปไหนนะ บางคนพยายามจะดึงไปดู“พองหนอ...ยุบหนอ” บางคนกําหนด“คิดหนอๆ” หรือดึงไปกําหนดอารมณ์ข้างนอก จิตก็ไม่ยอมไป ถ้าไปก็ไปเพียงครึ่งเดียว ท่านอุปมาว่าเหมือนแมว การจะดึงแมวออกจากเสื่อทำได้ยากฉันใด การดึงจิตออกไปจากเวทนาก็ยากฉันนั้น มันก็เกาะแนบสนิทอยู่ที่ตรงนั้น

ฉะนั้น เมื่อเราพบของดีแล้ว ครูบาอาจารย์ท่านจึงมักแนะนําเป็นประจําว่า ครูใหญ่มาสอนแล้วต้องตั้งใจเรียน เมื่อครูใหญ่มาสอนแล้ว อย่าหนี อย่าพลิก อย่าเปลี่ยน โดยปกติจะเป็นครูเล็กๆ มาสอน เช่น “พองหนอ...ยุบหนอ” ก็อาจไม่ค่อยสนใจเท่าใดนัก แต่ถ้าครูใหญ่มาสอนแล้วต้องตั้งใจ เพราะนานๆ จึงจะมาสักทีหนึ่ง ถ้าเขาไปแล้ว จะไม่มาอีกเลย มีโยคีหลายท่านพอเวทนาหายแล้วกลับร้องหา หาอย่างไรก็หาไม่เจอ ก็จะบ่นว่าเบื่อเหลือเกิน มีแต่พองกับยุบ ไม่เห็นมีอะไรเลย ตอนที่มีปวดก็บอกว่าเบื่อปวด เมื่อปวดหายแล้วก็เบื่ออีก ฉะนั้น จิตของคนเราไม่แน่ไม่นอน มีโยมท่านหนึ่ง เวลาที่อาการปวดหายไปแล้ว จะต้องพยายามหาใหม่ บางครั้งต้องนั่งขัดสมาธิเพชรบ้าง นั่งทับขาตนเองบ้าง คือเพื่อให้อารมณ์ชัดเจน ฉะนั้น เมื่อของดีปรากฏแล้วอย่าไปพลิกอย่าไปเปลี่ยน

เราจะกําหนดอย่างไรเมื่อเกิดเวทนา ประการแรก ต้องตั้งจิตก่อน แต่อย่าไปตั้งจิตว่าจะกําหนดให้ปวดหาย ต้องถอนจิตตรงนี้ออกให้ได้ก่อน ตอนส่งอารมณ์โยมส่วนใหญ่มักจะบอกว่าต้องกําหนดให้หาย ตั้งนานแล้วปวดก็ไม่หายไม่จาง นั่นก็เพราะ จิตมีความต้องการจะให้ปวดหายไป ประการที่สอง อย่ากําหนดด้วยจิตที่มีโทสะ จิตที่ไม่ชอบเวทนา พอเวทนามาก็นึกในใจ “มันมาอีกแล้ว มันมาอีกแล้ว” คือความไม่ชอบนั่นเอง พึงวางจิตให้เป็นเฉยๆ ถ้าจิตรู้สึกอยากให้หายก็ดี ไม่ชอบก็ดี พึงกําหนดรู้จิตตัวนั้น “ไม่ชอบหนอๆ... อยากหายหนอๆ” กําหนดให้จิตเป็นปกติ ต้องกําหนดด้วยจิตที่เป็นกลาง วางจิตเป็นอุเบกขา เหมือนกับว่าเป็นคนอื่นเจ็บ ไม่ใช่เราเจ็บ

ปวดตรงไหนก็ให้กําหนดตรงนั้น ถ้าปวดหลายจุด หลังก็ปวด ขาก็ปวด ตรงไหนชัดกว่าให้กําหนดตรงนั้น แต่ถ้าเสมอกันก็กำหนดตรงไหนก็ได้ การกําหนดก็เพื่อจะรู้อาการ ว่ามันเจ็บตรงนั้นปวดตรงนี้ แล้วรู้ว่าอาการปวดเป็นอย่างไร ให้สังเกตด้วยว่าเคลื่อนขึ้น-เคลื่อนลง มาก-น้อยเท่าไร ถ้าเรากําหนดอย่างนี้แล้วก็จะกําหนดได้นาน บางครั้งกําหนด“ปวดหนอๆ” ก็จะปวดมากขึ้น บางครั้ง“ปวดหนอๆ”ปวดกลับเบาลง ถ้าเบาลงก็ไม่มีปัญหา แต่ถ้าปวดมากขึ้นๆจนเกินกว่าจะทนไหวแล้ว พอบอกว่า“ปวดหนอ”ทีไร ความปวดจะวาบแรงขึ้นมาทีนึง พอ“ปวดหนอ”อีกที ความปวดก็จะแรงขึ้นมาอีก ท่านว่าตอนนั้นให้ทิ้งคําบริกรรม ไม่ต้องบริกรรมว่า“ปวดหนอๆ” แต่ยังต้องดูอาการอยู่ ดูอาการแต่ไม่ต้องบริกรรม เพราะรู้ว่าปวดอยู่แล้ว มันชัดอยู่แล้วว่าปวด พอดูไปบางครั้งอาการปวดจะลดลง ลดความกระวนกระวายลง เราก็อยู่ได้นานขึ้น แต่ถ้าดูแล้วก็ยังปวดมากอีกจนจะทนไม่ไหว จิตจะเริ่มดิ้นรน จิตจะกระวนกระวาย จิตที่อยากจะพลิกอยากจะเปลี่ยนก็เริ่มมาแรงขึ้นๆ ถึงตรงนั้นท่านให้เลิกดูที่ปวด แต่ให้ไปดูจิตที่กระวนกระวายกระสับกระส่าย จิตที่อยากจะพลิกอยากจะเปลี่ยน แล้วก็ไปกําหนดตามอาการเลย รู้สึกอย่างไรก็กําหนดอย่างนั้น รู้สึกเป็นทุกข์ ก็กำหนดว่า“เป็นทุกข์หนอๆ” รู้สึกกระวนกระวายก็“กระวนกระวายหนอๆ” บางคนก็ว่า “จะตายแล้วหนอๆ” ที่จริงมันไม่ตายหรอก ไม่เคยมีใครตายในเวทนา แต่จิตมันคิด พอเลยตายไปแล้ว มันก็จะซาจะเบาไป แต่ถ้ากําหนดจิตแล้วยังสู้ไม่ไหว ท่านว่าให้เราลุกขึ้นเดินจงกรม ไม่มีครูบาอาจารย์ท่านใดแนะนำว่า ให้พลิกไปพลิกมาแล้วนั่งต่อ ท่านว่าให้เราลุกขึ้นไปเดินจงกรม เพราะการพลิกไปพลิกมาจะทําให้เราติดอยู่ในความสุข อะไรนิดอะไรหน่อยก็พลิกแล้ว ก็จะทําให้เราติดความสุข ถ้าเราพอแล้ว ไม่ไหวแล้ว ก็ลุกเดินจงกรม เอาสมาธิจากการเดินจงกรมมาช่วยการนั่งใหม่ ก็จะทําให้เรานั่งได้นานขึ้น

กำหนดความคิด

บางคนกําหนดความคิดไม่ค่อยเป็น จึงมักได้ยินอยู่เป็นประจําว่า “มันคิดมากแล้วกําหนดไม่ได้” กําหนดไม่ได้นั้นไม่มีหรอก มีแต่ไม่กําหนด ถ้ากําหนดแล้วมันจะกำหนดได้ทุกความคิด คิดขึ้นมาเมื่อใดก็กําหนดว่า “คิดหนอ...คิดหนอๆ” ท่องไปเรื่อยๆ รู้อาการไปเรื่อยๆ กำหนดความคิดนี้เป็นจิตตานุสสติปัฏฐาน เป็นกรรมฐานชนิดหนึ่งในสติปัฏฐานทั้งสี่ ฉะนั้น ที่พูดว่าปฏิบัติไม่ได้เพราะความคิดมันเยอะ ก็ไม่ถูกต้อง ให้ทําความเข้าใจใหม่ว่า ความคิดก็เป็นอารมณ์กรรมฐาน อย่าไปต่อต้าน คิดเมื่อไรก็กําหนดเมื่อนั้น การกําหนดความคิดนั้น พึงกําหนดที่อาการคิด ไม่ใช่กําหนดเรื่องราวที่คิด อย่ากําหนดใบหน้าบุคคลที่เราคิด ต้องฝึกกําหนดให้เป็นด้วย ถ้ากําหนดไม่ถูกต้องความคิดจะยิ่งกระจาย คิดถึงใครก็จะยิ่งมุ่งไปที่คนนั้น ก็จะยิ่งกระจายไปใหญ่ ให้ตัดใบหน้าของบุคคลนั้นออกไป แต่ให้มากําหนดที่อาการซึ่งกำลังคิดอยู่ “คิดหนอๆ” จนกระทั่งสามารถบอกได้ว่า กําหนด“คิดหนอ”กี่ครั้งแล้วความคิดจึงเบาไป บางครั้งความคิดก็หายไป แต่บางครั้งก็มากขึ้น อย่างไรก็ตาม เมื่อมีความคิดแล้วเรากําหนด ก็ถือว่าเราเจริญสติปัฏฐานแล้วเช่นกัน การกำหนดความคิดเป็นสิ่งสําคัญ ฉะนั้น ญาติโยมทั้งหลายจะมีความคิดกันมาก ภายใต้ความคิดนั้นก็จะมีกิเลสแฝงอยู่ คิดแล้วฟุ้งเพราะอยากได้ ฟุ้งเพราะไม่ชอบใจ ฟุ้งเพราะโกรธ ก็พึงกำหนดว่า “คิดหนอๆ...อยากได้หนอๆ” “คิดหนอๆ... ชอบหนอๆ” “คิดหนอๆ... ไม่พอใจหนอๆ... หงุดหงิดหนอๆ” เป็นต้น

กำหนดการนอน

อีกอริยาบถหนึ่งที่สําคัญก็คือ การนอน ถ้าอยู่ธรรมดาครูบาอาจารย์ก็จะไม่ใส่ใจ นอนแทบไม่กําหนด พอนอนก็นอนไปเลย ตั้งแต่เริ่มก็“เอนหนอๆ” ศีรษะถูกหมอนก็“ถูกหนอๆ” ยกมือมาไว้บนอกก็“ยกหนอๆ” เสร็จแล้วก็กําหนด“พองหนอ...ยุบหนอ”จนกระทั่งหลับไป การกําหนดเวลานอนเป็นสิ่งที่ดีที่สุด โยมที่อยู่ไม่นานก็สามารถไปปฏิบัติต่อที่บ้านได้ โยคีหลายท่านมักบอกว่าไม่มีเวลาปฏิบัติ อาจารย์ก็จะถามว่า “เวลาโยมนอน โยมหลับเลยหรือเปล่า” “ไม่หลับหรอกอาจารย์ กลิ้งไปกลิ้งมา...กว่าจะหลับได้ก็หลายนาที” ก็จะบอกว่า “ช่วงนั้นละ ให้ใช้กรรมฐานนี่ละ พองหนอ...ยุบหนอ จนกระทั่งหลับไป ถ้าโยมหลับไปตรงนั้นได้ก็จะหลับสบาย หลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข แล้วก็ไม่ฝันร้าย คือหลับด้วยสตินั่นเอง” ฉะนั้น ขอให้โยคีทุกท่านไปฝึก อย่าคิดว่าการนอนหลับนั้นไม่มีอะไร แล้วก็ปล่อยจิตปล่อยใจเตลิดไป บางทีเราก็เผลอไปคิดถึงบ้าน พึงใช้เวลาตอนนอนนั้นมาเข้ากรรมฐาน “คิดถึงบ้านหนอ” คิดถึงนั่นคิดถึงนี้ บางทีก็เกิดโทสะ บางทีก็เกิดโมหะ นั่นก็คือผู้ที่ปฏิบัติไม่ถูก เพราะฉะนั้น พึงกำหนดไปด้วย หลับเมื่อไหร่เป็นจบเมื่อนั้น ถ้ายังไม่หลับก็เรียกว่ายังไม่จบ เวลานอนพึงกําหนดว่า “นอนหนอๆ” หรือ “พองหนอ...ยุบหนอ” กําหนดมากๆ ถ้านอนไม่หลับก็แผ่เมตตาไปว่า “ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย” ไม่นานก็หลับ นี่ก็จะเป็นเครื่องคุ้มครองให้เราปฏิบัติธรรมได้ดีขึ้น

กำหนดอิริยาบถย่อย

การรับประทานอาหารก็ดี การเดินไปไหนมาไหนก็ดี เข้าห้องน้ำก็ดี อาบน้ำก็ดี เป็นอริยาบถย่อยที่ดีที่เราควรจะกําหนด ทุกๆอิริยาบถจะเป็นตัวเชื่อม เป็นตัวช่วยให้เราปฏิบัติได้ดี ฉะนั้น การกําหนดพยายามใส่“หนอ”ให้มากๆ ขึ้นจึงเป็นสิ่งที่ดี

อีกสิ่งหนึ่งก็คือ การกําหนดต้นจิต ต้นจิตมี ๒ อย่าง อย่างหนึ่งก็คือ“อยาก” “อยากลุกหนอๆ” บางครั้งก็กําหนดเพื่อให้รู้อาการของจิตว่าอยากจะลุก อีกอย่างหนึ่งคือการเจริญสติ ก่อนที่เราจะลุก จะเดิน จะนั่ง จะหยิบ จะจับอะไร ที่แนะนําให้โยคีทําตรงนี้ก็เพื่อจะช่วยให้ทําต่อเนื่องกันไป ท่านเรียกว่า“เรียกสติ”ขึ้นมาก่อน ให้สติเราตั้งขึ้นมาก่อนว่า เรากําลังจะลุก “อยากลุกหนอ” แล้วก็“ลุกหนอๆ” จะนั่งก็“อยากนั่งหนอ” แล้วก็“นั่งหนอๆ” จะหยิบจะจับอะไรก็“อยากหยิบหนอ” แล้วก็“ยกหนอๆ...ไปหนอๆ...จับหนอๆ” ก็จะทําให้การกําหนดต่อเนื่อง แต่ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่ใส่ตัวอยากตรงนี้ พอจะลุกก็ลุกเลย พอจะหยิบอะไรก็หยิบเลย พอรู้ตัวก็หยิบไปแล้ว พอลุกก็ลุกเดินไปตั้งไกลแล้ว อาตมาเคยถามโยคีว่า “ตอนตื่นมารู้ตัวตอนไหน” โยคีตอบว่า “รู้ตัวตอนอยู่ในห้องน้ำ” ไม่ได้รู้ตั้งแต่“ลืมตาหนอ...เห็นหนอ...กระพริบหนอ...อยากลุกหนอ” ฉะนั้น ต้นจิตหรือสติตัวนี้ต้องฝึกไว้ ก็จะเป็นประโยชน์สําหรับการปฏิบัติธรรม ผู้ที่จะปฏิบัติธรรมก็ขอให้ใส่ใจในเรื่องต่างๆ ตามที่กล่าวแล้วนี้ แล้วการปฏิบัติธรรมของเราก็จะมีความก้าวหน้า

การส่งอารมณ์

การส่งอารมณ์ คือ การมาพบกับครูบาอาจารย์ มาสอบถาม มาเล่าประสบการณ์ให้ฟัง ว่า เดินจงกรมเป็นอย่างไร นั่งสมาธิเป็นอย่างไร มาเช็คดูว่าเดินถูกทางไหม ถ้าเดินผิดครูบาอาจารย์ท่านก็จะแก้ไขให้ ถ้าเดินถูกท่านก็จะให้บทเรียนต่อๆไป ฉะนั้น อย่าเกียจคร้านในการที่จะเข้าหาครูบาอาจารย์ ของเรานี้ก็มีท่านอาจารย์ท่านเจ้าอาวาส มีแม่ชีสองรูป ที่จะช่วยกันเป็นผู้ชี้ทางให้กับพวกเรา ฉะนั้น ถนัดตรงไหนก็ต้องเข้าไปส่งอารมณ์ตามวันเวลาที่กล่าวแล้ว

ตั้งใจสร้างบารมีในเทศกาลเข้าพรรษา

สําหรับญาติโยมที่ต้องกลับบ้าน คงจะไม่พูดไม่ได้ว่า วันเข้าพรรษาตรงนี้เราได้อธิษฐานจิตอย่างไรบ้าง ที่ตั้งใจจะปฏิบัติธรรมต่อที่บ้าน นอกพรรษาปีหนึ่งมาครั้งหนึ่ง สามเดือนมาครั้งหนึ่ง เจ็ดเดือนมาครั้งหนึ่งไม่เป็นไร ในพรรษานี้ถ้าใครจะตั้งใจทําความดีให้ยิ่งๆขึ้นไป ก็อยากจะแนะนําว่า เมื่ออยู่ที่บ้านก็ต้องสํารวจดูเวลาของเราก่อนว่า เรามีเวลามากน้อยเพียงใด ถ้าไม่มีเวลาเลย วันจันทร์ถึงวันศุกร์ทําแต่งาน เวลาปฏิบัติธรรมก็ไม่ค่อยมี อาตมาก็ขอบิณฑบาตแนะนําว่า ตอนนอน นอนเสร็จแล้วให้ทําทุกวัน “พองหนอ..ยุบหนอ” ได้แค่ไหนก็แล้วแต่ ได้นาทีสองนาทีก็แล้วแต่ ขอให้ทําทุกวัน อย่าไปคิดว่าตรงนี้น้อย ท่านว่าน้ำหยดลงตุ่มทีละหยด ตุ่มยังเต็มได้ ถ้าเราทําทีละ“หนอ”ๆ ทุกๆ วัน ก็จะสร้างบารมีตรงนี้ได้ และจะทําให้เราอยากจะปฏิบัติธรรมมากยิ่งขึ้นๆ ครั้นพอมีเวลามากอีกหน่อย วันเสาร์-วันอาทิตย์ขอสักวันได้ไหม จะเป็นวันเสาร์ก็ได้ วันอาทิตย์ก็ได้ สามเดือนนี้เอาสักวันหนึ่ง ถ้าที่บ้านสะดวกก็ปฏิบัติที่บ้าน ถ้าที่บ้านไม่สะดวก เช้าวันเสาร์ก็มาปฏิบัติที่วัดนี้ เย็นวันอาทิตย์ค่อยกลับบ้าน เดือนหนึ่งได้สี่ครั้งก็จะปฏิบัติได้มาก แต่ถ้าหากปฏิบัติที่บ้านได้ก็ลองปฏิบัติดู เพียงแค่วันเสาร์-อาทิตย์ไม่ต้องมาก เดินจงกรมหนึ่งชั่วโมง นั่งสมาธิหนึ่งชั่วโมง อย่างนี้ก็ดีแล้ว ตั้งใจไว้เลย

ถ้าเราตั้งใจทํามาก มาอยู่ที่วัดนี้ได้อะไรหลายๆอย่าง ได้พบกับครูบาอาจารย์ ได้อยู่กับสถานที่ที่มีเพื่อนโยคีปฏิบัติธรรมด้วยกัน เราก็จะมีกําลังใจมากขึ้น ถ้าอยู่คนเดียวที่บ้านมันค่อนข้างจะยากอยู่ ทีวีก็มี ของกินก็มี ต้องตั้งใจถึงจะทําได้ ดังนั้น อาตมาขอแนะนําว่าให้หาเวลาวันเสาร์หรือวันอาทิตย์วันใดวันหนึ่งในการที่จะปฎิบัติธรรม ต่อไปถ้าเรามีโอกาสสามเดือนครั้งหนึ่ง ได้มาปฏิบัติ ๗ วันก็ยังดี แต่ก็ต้องดูหน้าที่การงาน บางคนมีเวลาว่างก็จริง แต่คนทํางานให้เราไม่มี เพื่อนทํางานมีแค่ ๕ คน เราออกไปคนหนึ่ง ก็จะไม่มีคนทํางานแทน อันนี้ก็ยากเหมือนกัน ฉะนั้น ให้เลือกดูว่าเราจะทําอย่างไร จะปฏิบัติอย่างไร

ในพรรษานี้การรักษาศีลก็ดี การทําทานก็ดี การเจริญภาวนาก็ดี คงเป็นสิ่งที่เราต้องทําให้เป็นพิเศษ อยากจะแนะนําว่า ควรจะได้ทําทาน ใส่บาตรก็ดี หรือทําบุญอย่างอื่นก็ดี อาทิตย์ละครั้งก็น่าจะดี ทําวันไหนถึงจะดี เลือกทําวันเกิดของตนเองนั่นละ จะเกิดวันศุกร์ เสาร์ หรือ อาทิตย์ ก็เลือกทําวันนั้น โดยตั้งใจทําเป็นพิเศษ ใส่บาตรพระสักรูปหนึ่งก็คงไม่ยาก มีมาม่าสักห่อหนึ่ง พบพระที่ไหนก็ใส่ตรงนั้น หรือจะเตรียมอาหารอะไรไว้ก็ได้ หรือเลือกซื้อที่ขายตามข้างทาง ถ้าใครทําเองได้ก็ยิ่งดี ผู้ที่อายุมากแล้วก็พึงตั้งใจทําให้มากๆ ได้เท่าไรก็ยิ่งดีเท่านั้น ฉะนั้น วันเกิดของเราตั้งใจไว้เลยว่า วันนี้เราควรจะให้ทานเป็นพิเศษ

การรักษาศีลก็เช่นกัน วันอื่นๆที่จริงเราก็ตั้งใจรักษาศีลกันอยู่แล้ว ในเทศกาลเข้าพรรษานั้น ตื่นนอนมาล้างหน้า อาบน้ำเรียบร้อย พึงตั้งจิตก่อนที่จะไปทํางานที่จะงดเว้นจากการทําไม่ดี ถือศีล ๕ ประการ คือ ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากการฆ่าสัตว์ ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากการลักทรัพย์ ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากการผิดลูกเมียคนอื่น ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากการพูดเท็จ ข้าพเจ้าจะงดเว้นจากการดื่มสุราเมรัย เสร็จแล้วเราก็ไปทํางาน ตั้งใจทําให้สม่ำเสมอ ถ้าทําพลาดไปพลั้งไปก็ถือว่าขาด แต่ข้อที่เรายังไม่พลาดยังไม่พลั้งก็ยังอยู่ ตรงนั้นก็ถือว่าเป็นบุญ ส่วนข้อที่เราทําไม่ได้ ทำผิดไปตรงนั้นก็เป็นบาป เมื่อนำบาปกับบุญมาชั่งกันแล้ว ก็ยังมีพอที่จะไปได้ แต่โดยส่วนใหญ่แล้วศีล ๕ ข้อนั้น เราจะผิดค่อนข้างน้อย ถ้าเราไม่สมาทานไม่ตั้งใจแล้ว ถือเป็นศีลไหม มันไม่เป็นศีล เพราะศีลเกิดจากความตั้งใจงดเว้น ตั้งใจบ่อยๆ ก็ยิ่งดี บางครั้งนั่งรถนั่งเรือไปก็ตั้งใจที่จะงดเว้น แบบนี้เป็นการตั้งใจด้วยตัวเอง ว่าเราจะงดเว้นอะไรบ้าง ก็คือการรักษาศีล

การเจริญภาวนาก็เช่นกัน เราควรจะหาโอกาสทำ เช่น บางทีเราก็กําหนดอริยาบถย่อย จะเดินไปไหนก็กำหนด “ซ้าย...ขวา...ซ้าย...ขวา” จะทําอะไรก็ให้มีสติอยู่กับตัวนั้น อันนี้ก็เป็นการเจริญภาวนาไปในตัว

ฉะนั้น การให้ทาน การรักษาศีล การเจริญภาวนา เราควรจะทําให้มากยิ่งๆขึ้นในช่วงของการเข้าพรรษา เสร็จแล้วก็มาดูอีกอย่างหนึ่ง คือ ดูสิ่งที่ไม่ดีในตัวเรา หลวงพ่อชาท่านพูดอยู่เสมอว่า คนเรานั้นมุ่งแต่ทําบุญ แต่ไม่มุ่งเอาความไม่ดีในตัวเองออก ก็คือการไม่มุ่งรักษาศีล ฉะนั้น ความไม่ดีในใจเราก็ดี ในกายเราก็ดี กาย-วาจา-ใจของเรามีอะไรบ้างที่ไม่ดี เพราะฉะนั้น เราทุกๆคนควรจะรู้จักตัวเองให้ดี ถ้าเรายังมองตัวเองไม่ออก ก็ลองถามเพื่อนข้างๆ ดูว่า เรามีความไม่ดีอะไรบ้าง ทางกายของเรา ทางวาจาของเรา ถ้าไม่ดีเราก็พึงละเสีย

ในเทศกาลเข้าพรรษา ๑) เราจะต้องละชั่ว ๒) ทําความดีให้มากยิ่งๆ ขึ้น ละชั่ว คือ ให้ละความไม่ดีในตัวเรา คนดื่มเหล้าก็งดดื่มเหล้า คนสูบบุหรี่ก็งดสูบบุหรี่ คนที่ชอบนินทาคนอื่นก็งดนินทาคนอื่น คนที่ชอบโกรธชอบโมโห ก็งดโกรธงดโมโห อันนี้ก็จะเป็นบุญสําหรับเรา ฉะนั้น ในเทศกาลเข้าพรรษาเราก็ต้องพยายามปรับปรุงตนเอง สําหรับคนที่จะออกไปอยู่ข้างนอก เราจะทําอะไรเป็นพิเศษแล้วก็ตั้งใจทํา ก็จะเป็นบุญเป็นกุศลกับเรา อันนี้ก็เป็นส่วนที่ผู้ที่ออกไปควรจะคิดและพิจารณา แล้วก็ทําให้ต่อเนื่อง ทําให้ติดต่อ บุญก็จะเกิดแก่เรา

อย่าประมาท

พึงอย่าประมาท ส่วนใหญ่เรามักจะคิดกันไปว่า ชีวิตเรานี้ยังอยู่อีกนาน ยังไม่ต้องรีบทําบุญหรอก จริงๆ แล้วชีวิตนี้เป็นของน้อย เป็นของไม่มากเลย ชีวิตนี้นิดเดียวไม่นานก็หมด ท่านอุปมาชีวิตไว้น่าฟังมาก ว่าชีวิตของเรานี้เหมือนกับหยาดน้ำค้าง ที่ตกลงบนใบหญ้าตอนเช้าๆ พอตะวันขึ้น มันก็หายไปแล้ว แวบเดียว อยู่ไม่นาน ชีวิตของเราก็เหมือนกัน ไม่ถึงร้อยปีก็ตายหมดแล้ว บางทีก็ไม่ถึงด้วยซ้ำไป อีกประการหนึ่งชีวิตของเรานี้เหมือนต่อมน้ำ เวลาฝนตกลองสังเกตดู ฝนตกหนักๆ จะมีฟองน้ำขึ้นมา เขาเรียกว่าต่อมน้ำ ต่อมน้ำที่เกิดขึ้นมานี้ครู่เดียวมันก็แตกแล้ว มันตั้งอยู่ไม่นาน ชีวิตของเราก็เหมือนกัน

ต่อไปชีวิตของเราก็เหมือนชิ้นเนื้อที่ย่างไฟ ชิ้นเนื้อที่ย่างไฟนี้ไม่มีหรอกที่จะดิบไปๆ มีแต่จะไหม้ไปๆเรื่อย ชีวิตของเราก็เหมือนกันมีแต่จะสิ้นไปดับไปเสมอ มีแต่จะเสื่อมไปไม่มีการถอยหลัง อุปมาอีกอย่างหนึ่ง ชีวิตของเราเหมือนน้ำที่ไหลลงมาจากภูเขา ไม่มีทางเลยที่น้ำจะไหลย้อนกลับขึ้นไปข้างบน ชีวิตมีแต่จะไหลไปสู่ความตายเพียงอย่างเดียว ท่านอุปมาอีกว่า ชีวิตของเราเหมือนก้อนเขระในปากของบุรุษที่มีกําลัง สามารถที่จะถ่มลงไปโดยไม่ยาก เป็นการยกตัวอย่างง่ายๆ ว่าเราสามารถตายได้ทุกวัย ไม่ว่าจะเป็นวัยหนุ่ม วัยแก่ บางคนตายตั้งแต่อยู่ในท้อง บางคนเกิดมาแค่ปีสองปีก็ตาย บางคนเพียงเดือนสองเดือนก็ตาย มันไม่แน่นอน เราก็ไม่รู้ว่าได้ชีวิตมาเท่าใด ฉะนั้น อย่าไปคิดว่าวันนั้นค่อยทําวันนี้ค่อยทํา อย่าประมาท พึงทําไปพร้อมๆกัน เรียกว่าประโยชน์ตน ประโยชน์ที่เราจะต้องใช้ แล้วเราก็ทํางานไปด้วยทําความดีไปด้วย ได้ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท

ขึ้นชื่อว่าผู้ไม่ประมาทแล้วเราจะไม่เดือดเนื้อร้อนใจ ความเดือดเนื้อร้อนใจของบุคคลมี ๒ ประการ ประการแรกคือเดือดเนื้อร้อนใจว่า ความดีอะไรที่เราควรทํา เราก็กลับไม่ทํา มัวแต่ไปทําอะไรก็ไม่รู้ (ประการที่ ๒?) แต่ความไม่ดีที่ไม่ควรทํา เราก็กลับทําไปตั้งมากมาย เมื่อถึงเวลาจะตายคนเราก็จะนึกถึงตรงนี้ แล้วจะกระสับกระส่าย เรียกว่าเป็นความเดือดเนื้อร้อนใจ ฉะนั้น อย่าปล่อยให้ความเดือดเนื้อร้อนใจเกิดขึ้นในใจ เราต้องเตรียมตัวให้พร้อม เวลาที่เราจะตาย เราจะไม่เสียดายชีวิต คือ ตายแบบไม่กลัวตาย

บัณฑิตท่านให้หลักไว้ว่า

๑) พึงทําบุญเป็นนิจ คนที่กลัวตายนั้น เป็นเพราะไม่มั่นใจว่าตายไปแล้วจะไปสู่ที่ดีหรือไม่ดี ส่วนใหญ่ก็คิดว่าจะไม่ดีมากกว่า เพราะว่ายังไม่ได้ทําบุญเต็มที่ ตรงกันข้ามกับคนที่ทําบุญมาเต็มที่ ทําบุญมามากๆ ก็พร้อมที่จะตาย เหมือนกับคนที่มีเงินมาเต็มกระเป๋า จะตายเมื่อใด จะไปเมื่อใดก็พร้อม ฉะนั้น การทําบุญเป็นนิจ ก็คือการทําบุญ ให้ทาน-รักษาศีล-และเจริญภาวนานั้นทําได้ทุกเมื่อ ไม่ใช่ว่ามาที่วัดแล้วจึงจะทําได้ อยู่ที่บ้านเราก็ทําได้ หนึ่งทําบุญเป็นนิจ

๒) คิดถึงความตายบ่อยๆ พระพุทธเจ้าทรงถามพระภิกษุว่า “พวกเธอคิดถึงความตายวันละกี่ครั้ง” หลายรูปก็ตอบว่า “คิดถึงวันละครั้ง...สองครั้ง....คิดถึงตอนกินข้าว...” แต่รูปสุดท้ายตอบว่า “คิดถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออก หายใจไม่เข้าก็ตาย หายใจไม่ออกก็ตาย” ฉะนั้น การนึกถึงความตายทุกลมหายใจเข้าออกนั้นเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เพราะจะทําให้เราไม่ประมาท ไม่มัวเมาในความสุขความเจริญทั้งหลายที่เกิดขึ้นมา ฉะนั้น การนึกถึงความตายก็เป็นข้อหนึ่งในการเตรียม พอเราจะตาย แต่คนอื่นตายก่อน เราก็จะรู้แล้วว่าทุกคนต้องตายเหมือนกันหมด ตรงนี้ความเศร้าโศกเสียใจของเราก็จะน้อยลง

๓) วิจัยสมบัติ ก็คือจัดแจงแบ่งปัน แบ่งปันไม่ได้ก็คือเอาไว้กึ่งๆ กลางๆ เดี๋ยวมันจะไม่เลี้ยงเราอีก เขียนไว้เป็นพินัยกรรมย่อๆ ทรัพย์นาตรงนี้ให้ใคร เงินในธนาคารให้ใคร ถ้าถึงเวลาตายเราจะไม่กังวล ไม่เช่นนั้นเราจะกังวลและเป็นภาระแก่ลูกแก่หลาน คือจะไปแย่งกันตอนที่เราตายไปแล้ว เห็นข่าวตามหน้าหนังสือพิมพ์เนืองๆ ฉะนั้น การวิจัยสมบัตินี้ครูบาอาจารย์จะแนะนำไว้เลยว่า เขียนบอกไว้ แล้วเราจะได้ไม่ต้องเป็นห่วงว่า อันนี้ก็ไม่ได้บอกไว้ อันนี้ก็ไม่ได้เขียนไว้ว่าให้ใคร พอตายก็จะแย่งกันหมด การจัดแจงแบ่งปันนั้นไม่ควรจะแบ่งให้หมดนะ ต้องเก็บไว้ส่วนหนึ่ง เพราะลูกสมัยนี้ก็พึ่งพาไม่ค่อยจะได้ โยมต้องพึ่งตัวเอง ฉะนั้น อย่าให้หมด ให้หมดแล้วจะลําบาก

๔) ชําระหนี้ หนี้สินที่เรามีอยู่ ถ้ามีหนี้อยู่ก็ควรจะจัดการให้เรียบร้อย หนี้ท่านแยกออกไว้เป็น ๔ประการ

๑) หนี้ชีวิต เรามีพ่อมีแม่ ท่านเลี้ยงเรามา เราก็เลี้ยงท่านตอบ เลี้ยงทางกายคือให้ข้าวปลาอาหารให้เสื้อผ้าให้ปัจจัย เลี้ยงทางใจก็คือประพฤติตนเป็นคนดี สอบถามพ่อแม่ โทรไปหาโทรไปคุย นี่คือเลี้ยงทางใจ ช่วยทําธุระของท่าน ดํารงวงศ์สกุล ประพฤติตนให้เป็นคนดี และข้อสุดท้าย ถ้าท่านตายไปแล้วต้องทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้ บางทีพ่อตายไปตั้งนานแล้ว ยังไม่เคยใส่บาตร ยังไม่เคยทําสังฆทานเลย ถ้าเป็นคนก็คงจะรอนานมาก หรือว่าบางทีปีหนึ่งทําครั้งหนึ่งก็คงจะยากอยู่ มันยังไม่สมบูรณ์ ฉะนั้น ทําทุกวันตายของพ่อก็จะดี พยายามหาเหตุต่างๆนี้เพื่อจะสร้างกุศลให้กับตนเอง พ่อ แม่ วันอาทิตย์-วันจันทร์ไม่ได้ ก็เอาเป็นวันคี่ เดือนแต่ละเดือน ทําบุญให้ทาน-รักษาศีล-เจริญภาวนา อันนี้ก็ถือว่าเป็นการทดแทน ถ้าพ่อแม่ยังมีชีวิตอยู่ ก็ควรนําท่านเข้ามาสู่วัดสู่วา ถ้าท่านไม่มีศรัธทา ทําให้ท่านมีศรัทธา ถ้าท่านไม่มีจาคะเสียสละ ก็ทําให้ท่านมีจาคะเสียสละ ถ้าท่านไม่มีศีลก็ทําให้ท่านมีศีล เพราะการทําตรงนี้ถือว่าเป็นการตอบแทนที่สูงที่สุด คือ ไม่เฉพาะแต่โลกนี้เท่านั้นที่ท่านจะมีความสุข ท่านตายไปแล้ว การให้ทาน-รักษาศีล-เจริญภาวนาจะเป็นเครื่องช่วยอุดหนุนให้พ่อแม่ของเราไปดี เราไม่ต้องส่งเสริมอะไรมาก เพราะท่านทําของท่านเอง ฉะนั้น เมื่อท่านมีชีวิตอยู่ เวลามีการทําบุญที่ไหน ผ้าป่าหรือถวายสังฆทาน เอาท่านไปด้วย ชวนท่านไปด้วย ท่านจะได้บุญกับเรา ถ้าท่านไปไม่ได้ก็เอาซองให้ท่าน ให้ท่านได้ยก ให้ท่านได้อนุโมทนา ให้ท่านได้มีส่วนร่วม ต่อไปเมื่อท่านเจ็บไข้ได้ป่วยก็จะพูดได้เต็มปากว่า “แม่...ให้นึกถึงบุญตรงนั้นที่เราทํานะ” “พ่อ...ให้นึกถึงบุญตรงนั้นที่เราทํานะ” เราพูดได้ ไม่เช่นนั้นพ่อแม่เรานึกถึงบุญอะไรไม่ออก ไม่มีสําเภาไม่มีอะไรติดตัวที่จะข้ามวัฏฏสงสารนี้ไปได้ ฉะนั้น หนี้ชีวิตจึงเป็นส่วนที่สําคัญ

๒) หนี้บุญคุณ คนเราเกิดมาอยู่คนเดียวไม่ได้ เรามีเพื่อนมีพี่มีน้อง มีครูบาอาจารย์ที่สนับสนุนอยู่ ตรงก็เป็นหนี้บุญคุณที่ควรจะทดแทนด้วย

๓) หนี้ทรัพย์สินเงินทอง เป็นหนี้ใครก็ควรจะชดใช้ ชดใช้ไม่หมดก็ควรจะจดไว้ให้ลูกให้หลาน ไม่เช่นนั้น เมื่อเราตายไปแล้วเราจะต้องใช้หนี้ด้วย ฉะนั้น จดไว้จะได้ไม่กังวล มิฉะนั้นพอเราตายจะเป็นกังวลว่าไม่ได้บอกลูกบอกหลานไว้ จดไว้ว่าไปยืมเงินใครมา ไปกู้หนี้ยืมสินใครมา สมัยนี้เขาบอกว่าเป็นหนี้กันทั่วหน้า ฉะนั้ น ท่านบอกว่าต้องจดไว้ ชําระได้ก็ต้องชําระ ชําระไม่ได้ก็จดไว้ให้ลูกให้หลานช่วยดูแล

๔) หนี้เวรหนี้กรรม อย่าไปมีเวรมีกรรมกับใคร มิฉะนั้นเราจะตายด้วยจิตที่ไม่สงบ ถ้าใครล่วงเกินเรา ก็ควรให้อภัย แต่ถ้าเราล่วงเกินใครไว้ ก็ไปขออภัยเสีย อย่าถือโทษโกรธเคือง ก่อนเราจะมาปฏิบัติธรรม ถ้ามีใครที่ไม่พูดกัน มองหน้ากันไม่ได้ ก็ควรให้อภัยเสีย อภัยทานเป็นทานที่สูงสุด ไปพูด ไปคุย ไปดีกันเสีย คนเราโกรธกันไม่ดีหรอก เห็นหน้าก็ไม่มีความสุข พอได้ยินชื่อก็ไม่มีความสุขแล้ว ความโกรธเป็นความทุกข์อย่างยิ่ง โกรธเขาคนอื่นสบายแต่ในใจเรานั้นร้อน ฉะนั้น การจะชําระความโกรธได้ก็ต้องใช้ความเมตตาเป็นเครื่องแก้ คําว่าเมตตาเป็นเครื่องแก้ความโกรธ คนที่จะอยู่ได้อย่างมีความสุขจะต้องมีเมตตาเป็นเครื่องเกื้อหนุน จึงขอแนะนําให้กับผู้ที่ออกไปข้างนอกว่า พึงเจริญเมตตาอยู่เป็นประจําจะเป็นสิ่งที่ดี

การเจริญเมตตา

อานิสงส์ของการเจริญเมตตามีเป็นหมวดๆ หมวดแรกก็คือ หลับเป็นสุข - ตื่นเป็นสุข - ไม่ฝันร้าย เหล่านี้เป็นอานิสงส์ที่ได้กับตัวเอง เรามักเข้าใจว่าการแผ่เมตตาเป็นการให้คนอื่นได้ แต่ที่จริงแล้วได้กับตนเองก่อน เมื่อตนเองมีแล้วจึงจะแผ่ให้กับคนอื่นได้ หมวดที่สอง ทําให้มนุษย์รัก - อมนุษย์รัก - เทวดารักษา มนุษย์ก็คือคนด้วยกันก็จะรัก อมนุษย์คือผู้ไม่ใช่คนก็จะรัก และเทวดาก็จะตามรักษาเราไปตลอดด้วย หมวดต่อไป ท่านว่า จะไม่ตายด้วยยาพิษ - ไม่ตายด้วยศาสตราวุธ - ไม่ตายด้วยสิ่งที่ไม่ดีต่างๆ ก็เป็นอานิสงส์ประการหนึ่ง หมวดต่อไป ใบหน้าของผู้ที่แผ่เมตตาจะผ่องใส ไม่ต้องใช้เครื่องสําอางอะไร สังเกตดูผู้ที่มีเมตตา ผู้ที่อายุมากก็ดี ครูบาอาจารย์ก็ดี ไม่ต้องใช้แป้ง แต่หน้าท่านจะนวล สีหน้าท่านจะมีเมตตา หมวดต่อไป จิตจะเป็นสมาธิได้ไว

การแผ่เมตตาจะมี ๒ อย่าง คือ แผ่ต่อหน้าและแผ่ลับหลัง แผ่ลับหลัง เช่น การแผ่เมตตาที่ท่านอาจารย์นําว่า “สัพเพ สัตตา... สัตว์ทั้งหลายทั้งปวงจงอยู่เป็นสุข” นี้เป็นแผ่ลับหลัง ที่เราไม่เห็น ส่วนแผ่ต่อหน้าก็คือ เมื่อเห็นใคร ให้นึกถึงแต่สิ่งดีๆ นึกง่ายๆ ก็คือ “ขอให้คุณมีความสุข...อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย” การนึกอย่างนี้มิใช่ท่องไปเฉยๆ แต่ต้องน้อมจิตให้เกิดความปรารถนาดีด้วย แต่ในขณะปฏิบัติธรรมนี้ห้ามทํา เพราะจะเสียวิปัสสนา ให้ไปทําที่บ้านนะ พบหน้าพ่อแม่ก็แผ่ให้ก่อน “ขอให้คุณแม่มีความสุข...อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย” เห็นหน้าพ่อ เห็นหน้าเพื่อน ก็ให้นึกอย่างนี้ ที่ทํางานหรือที่ไหนก็แล้วแต่ ทําอยู่สักประมาณหนึ่งสัปดาห์ แล้วสังเกตดูจิตของตน จิตของเราจะอ่อนลง จากคนที่เคยโกรธเคยโมโหง่ายก็จะเบาลง จากคนที่ไม่ค่อยจะให้อภัยใคร ก็จะให้อภัยได้มากขึ้น ถ้าทํานานไปๆ ก็จะได้อานิสงส์ดังกล่าวแล้ว นี้จึงเป็นส่วนที่ดี เป็นการแก้โทสะ ตัวอย่างที่เห็นตามหน้าหนังสือพิมพ์ บางคนมีโทสะร้าย วูบเดียวแค่นั้นเอง ก็ฆ่าคนได้ตั้งมากมาย มีรายหนึ่งเป็นตํารวจที่จังหวัดเชียงใหม่ ไปโบกรถแล้วคนเขาด่า ก็เลยโกรธชักปืนออกมายิง ตายไปสองสามคนชั่ววูบเดียว นี่คือโทสะนั่นเอง

พระพุทธองค์ตรัสว่า โทสะนี้มีต้นหวานแต่มีปลายขม คําว่า“ต้นหวาน” คือ เมื่อเรามีโมโห ถ้าได้ด่าได้ทุบได้ตีแล้วสบายใจ คือมีความสุข มันหวาน จากนั้นมี“ปลายขม” คือ โดนจับ โดนอาฆาตพยายาท ดังนั้น การจะละจากความโกรธได้ ต้องนึกถึงโทษของความโกรธว่ามีอะไรบ้าง นึกถึงว่าความโกรธทําให้เราเป็นทุกข์ คนอื่นนั้นไม่เป็นอะไรหรอก แต่ตัวของตัวเองนั้นจะเป็นทุกข์ ฉะนั้น ต้องใช้สติ ที่เราเจริญสตินั้น สติเป็นตัวแรก “โกรธหนอๆ” ที่จริงแล้ว มันมาจากไม่ชอบก่อน และ มันมาจากการได้ยิน หรือมาจากการได้เห็นทางตาก่อน โยมจึงต้องกลับไปฝึกกําหนด “ได้ยินหนอๆ” “เห็นหนอๆ” ถ้าไม่ฝึกกําหนด มันก็เข้ามาก็อยู่ในใจแล้ว พอไม่ชอบใจ แต่มีสติกําหนดได้ ก็กําหนด“ไม่ชอบหนอๆ...ไม่พอใจหนอๆ” ถ้ากําหนดทันจนดับก็ดับไป แต่ถ้าไม่ดับก็จะกระจายออกไปใหญ่อีก แต่ถ้าเจริญสติแล้วจะไม่กลาย แต่จะหยุดอยู่เพียงแค่นั้น จะเป็นเพียงสักแต่ว่าได้ยิน “ได้ยินหนอๆ” “เห็นหนอๆ” ถ้าไม่ชอบ รู้แต่ว่า“ไม่ชอบหนอๆ” แต่ทําให้เป็นกายกรรม ไปตีเขาไปด่าเขาค่อนข้างที่จะน้อย ฉะนั้น การที่พวกเราเจริญสติจึงเป็นด่านป้องกันเลย เรียกว่าเป็นสิ่งยับยั้งให้จิตของเราไม่ถลําไปสู่ความชั่ว คอยดึงไว้

ฝึกสติให้ต่อเนื่อง

ฉะนั้น สติจึงเป็นส่วนสําคัญ เมื่อเรากลับไป ต้องไปปฏิบัติต่อ ไป“หนอ”ต่อที่บ้าน จะเดินก็“ขวา...ซ้ายๆ” จะทําอะไรก็มีสติอยู่กับตรงนั้น แม้จะกําหนดบริกรรมไม่ทันก็ให้มีสติรู้ ถ้าบริกรรมทันก็ควรที่จะบริกรรม อันนี้ก็เป็นสิ่งที่จําเป็น แต่ถ้าโยมเรียนไปปฏิบัติธรรมไปแล้วก็เอาทิ้งไว้ กลับไปก็ไม่ได้ทําต่อ แม้แต่อริยาบถย่อยก็ไม่ทํา พอวันดีคืนดีมาอีกทีหนึ่งก็เหมือนมาเริ่มต้นใหม่ เราจะรู้สึกว่าไม่มีความก้าวหน้าเลย นึกไปนึกมาว่าวิธีนี้คงจะไม่ถูกกับเรา จริตเราคงไม่ถูกกับอย่างนี้ ที่จริงแล้ว ต้องไป“หนอ”ต่อที่บ้านเท่าที่จะ“หนอ”ต่อได้ ครูบาอาจารย์ท่านบอกว่า ระลึกได้ตอนไหนให้กําหนดตอนนั้น ยืนอยู่ตอนไหนก็กําหนดตอนนั้น “ยืนหนอๆ” การระลึกก็คือการเจริญสติ ระลึกได้ก็คือเรากําลังยืนอยู่นะ เรากําลังเดินอยู่นะ เรากําลังกินข้าวอยู่นะ เป็นการระลึกแบบหยาบๆในชีวิตประจําวัน อาจไม่ต้องละเอียดเหมือนกับอยู่ที่นี่ พอเราทําบ่อยๆ สติของเราก็จะค่อยๆเจริญขึ้นๆ มีเวลามาปฏิบัติธรรมจะไปได้ไวมาก อาจไม่ต้องมานับหนึ่งแล้ว นับถึงสามแล้ว พอเข้ามาวันแรกก็กําหนดได้เลย ไม่เช่นนั้นพอมาวันแรกก็ต้องกําหนดหนึ่งสองสาม ก็ไม่ค่อยมีสภาวธรรม ก็ง่วง ก็ฟุ้ง แล้วก็กําหนดอะไรไม่ค่อยจะได้ พอครบสามวันก็กลับแล้ว พอครบเจ็ดวันกําลังจะดีก็กลับ อันนี้ก็เป็นอย่างนี้ วนไปวนมา อยู่อย่างนี้

ฉะนั้น ถ้าเราทําต่อเนื่องจะเห็นผล ขอฝากไว้ว่า ญาติโยมที่กลับบ้านไปคราวนี้ อย่าไปทิ้งการกําหนด ถือว่าเป็นสิ่งที่ดีที่สุด เมื่อกําหนดแล้วเราจะได้ประโยชน์ทั้งสามอย่าง คือ หนึ่งประโยชน์ในชาตินี้ก็คือ มีสติมีสมาธิ เป็นเครื่องป้องกันคุ้มครองจิตของเรา สองประโยชน์ในชาติหน้า ตรงที่เราทํา“หนอๆ” นี้เป็นภาวนามัย เป็นบุญที่สําเร็จได้ด้วยการเจริญภาวนา ถ้าตายไปก็เอาบุญตรงนี้ไปทานได้ไปฉันได้ เอาไปเป็นที่พึ่งได้ และก็ประโยชน์อย่างสูงสุดก็คือ ถ้าตั้งใจปฏิบัติไปกิเลสจะน้อยลง กิเลสขาดไป อาจได้เป็นอริยบุคคลชั้นใดชั้นหนึ่ง ตรงนี้ไม่ต้องไปคิดว่าชั้นไหนแล้ว แต่ให้ทําไปจนกิเลสของตนเองน้อยลง โลภะน้อยลง โทสะน้อยลง โมหะน้อยลง ความยึดมั่นถือมั่น-สักกายทิฏฐิที่เราพยายามขูดพยายามเกากันให้มันหมดไป มันก็จะรู้ได้ด้วยตัวของตัวเอง ไม่ต้องถามอาจารย์ว่าได้ญาณไหนแล้ว เพราะอาจารย์ก็ไม่รู้ แต่ญาติโยมจะรู้ได้ด้วยตัวของตัวเอง ว่ากิเลสของเราออกไปขนาดไหน เหมือนกับที่ท่านอุปมาว่า เหมือนกับช่างไม้หรือคนตัดไม้ที่จับด้ามมีดอยู่ทุกวันๆ จับด้ามมีดแล้วก็ฟันไม้อยู่ทุกวันๆ วันแรกๆไม่รู้หรอก พอจับครบสักเจ็ดวันแล้วไปดูด้ามมีดจะมีรอยมืออยู่ แต่บอกไม่ได้ว่าวันนี้รอยมือนั้นลึกเข้าไปในด้ามไม้กี่เซ็นต์ บอกไม่ได้ฉันใด การที่เรากําหนด“หนอ..หนอ”นี้ไม่รู้ว่ากิเลสมันหมดไปขนาดไหน ขณะที่เรากําหนดอยู่นี้จิตของเราจะบริสุทธิ์ จะป้องกันไม่ให้กิเลสเข้ามา นอกจากจะป้องกันไม่ให้กิเลสเข้าแล้ว กิเลสที่อยู่ข้างในก็จะแห้งไป กิเลสใหม่ก็ไม่สามารถจะเพิ่มเติมได้ เรียกว่าไม่มีการส่งเสบียง กิเลสที่อยู่ข้างในก็จะหมดไป หายไปในที่สุด

ก็ขอฝากไว้สําหรับผู้ที่จะออกไป ว่าให้ปฏิบัติ ส่วนความไม่ดีอะไรในตัวเราให้เอาออกไป ความดีที่เราทําแล้วหรือว่ายังทําไม่เต็มที่ ก็ให้พยายามทําในช่วงของเทศกาลเข้าพรรษานี้ และถ้ามีโอกาส วันเสาร์ หรือวันอาทิตย์ ก็มาต่อที่นี่ ไม่ต้องรอวันพระ เพราะบางทีตั้งใจว่ารอวันพระ วันพระก็ไม่ตรงอีก เสาร์-อาทิตย์ก็มาปฏิบัติธรรมได้ ถ้าตั้งใจว่าจะปฏิบัติความดี ฉะนั้น ความตั้งใจต้องมีความอดทน ต้องมีอธิษฐานบารมีด้วย ก็คือ ตั้งใจที่จะทํา ถ้าเราตั้งใจแล้วไม่มีอะไรหรอกที่จะเหนือความสามารถของเราไปได้ ฉะนั้น ก็ขอฝากธรรมบรรยายในวันนี้ให้กับญาติโยมทั้งหลาย ตลอดไปจนถึงพระคุณเจ้า ผู้ที่จะอยู่ต่อไปจนถึงสามเดือน ก็ขอให้ตั้งใจปฏิบัติและทบทวนว่ายังมีสิ่งใดที่ยังขาดตกบกพร่อง ผู้ที่จะออกไปใช้ชีวิตข้างนอกก็ขอให้พยายามดํารงตนให้อยู่ในศีลธรรม ทําความดีให้มากยิ่งๆ ขึ้น

ในที่สุดแห่งการบรรยายธรรมนี้ ขอกราบขอบพระคุณท่านอาจารย์เจ้าอาวาสที่ให้โอกาสมาบรรยายธรรมให้เป็นธรรมทาน วันนี้รู้สึกได้บุญมาก คือ ให้ความรู้ และความรู้ตรงนี้จะเป็นประโยชน์มาก ถ้าญาติโยมทั้งหลายนําไปปฏิบัติ แล้วก็จะได้บุญยิ่งๆขึ้นไป ในที่สุดนี้ ขออ้างคุณพระศรีรัตนตรัย บุญกุศลที่ญาติโยมทั้งหลายตลอดจนพระคุณเจ้าที่ได้สั่งสมมา จงเป็นปัจจัยส่งเสริมให้ทุกๆท่านมีอินทรีย์แก่กล้า มีศรัทธา วิริยะ สติและปัญญาในการปฏิบัติธรรม ให้มีความก้าวหน้ายิ่งๆขึ้นไป คิดและปรารถนาสิ่งใดที่ชอบ ประกอบด้วยธรรมแล้ว ก็ขอให้ความปรารถนานั้นสมดังที่ต้องการ ทุกประการ เทอญ


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 12 มิ.ย. 2011, 13:45 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


ขอความสุขในการปฏิบัติธรรม จงมีแด่โยคีผู้เข้าปฏิบัติธรรมทุก ๆ ท่านขออนุโมทนาบุญในกุศลเจตนา ในความพากเพียรของโยคีทุก ๆ ท่านที่ได้อุตส่าห์พากเพียรปฏิบัติมาจนกระทั่งถึงวันนี้ ขอให้มีความเพียรในการปฏิบัติธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป วันนี้ก็เป็นอีกวันหนึ่งที่เราจะได้ฟังธรรมบรรยายเพื่อเป็นการเสริมสติปัญญา ความรู้ในเรื่องการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานแก่ญาติโยมโยคีทุกท่าน ก็เป็นเรื่องที่น่าอนุโมทนายินดีเป็นอย่างยิ่งในความพากเพียรของทุก ๆ ท่าน ช่วงวันสองวันนี้ โยคีบางท่านเวลามาสอบอารมณ์อาจจะมองว่า อาจารย์ไม่เห็นให้อะไรเลย บางคนก็ทวงเหมือนกัน ว่าวันนี้จะให้อะไรเพิ่ม บางทีก็ไม่ได้พูดอะไรมากหรอกโยม ถ้าปฏิบัติถูกต้องแล้ว ก็เพียงแต่แนะให้ไปพยายามเท่านั้น หลายท่านที่เหมือนกับรถที่เดินได้ถูกทางแล้ว ไม่น่าห่วงเท่าไหร่ เพียงแต่ว่าให้มีสติประคับประคองเพิ่มกำลังเร่งความเพียรเท่านั้นเอง บางทีก็แทบจะฟังไว้เฉย ๆ ไม่ได้ให้อะไรเพิ่มเติม เทคนิคอะไรต่าง ๆ เพราะว่าที่ให้ไปนั้นก็มากพอแล้ว เราก็ต้องอาศัยความเพียรพยายามยิ่ง ๆ ขึ้น ทั้งความเพียรให้ต่อเนื่องและการทำให้ติดต่อ การเป็นผู้ที่มีความสังเกต เป็นต้น จะทำให้เราเป็นผู้มีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมยิ่ง ๆ ขึ้นไป การบรรยายธรรมในวันนี้ ก็ตั้งใจจะพูดในเรื่องของนิวรณ์ห้า ก็เกี่ยวกับการปฏิบัติของพวกเรานั่นเอง นิวรณ์คือเครื่องกั้นไม่ให้ทำความดี แต่ก่อนที่จะพูดถึงเรื่องนิวรณ์ ก็อยากจะให้ธรรมะไว้เป็นเบื้องต้นแก่ญาติโยมทั้งหลาย เพื่อที่เราทั้งหลายจะได้นำไปประพฤติปฏิบัติกันในต่อไป คำสั่งสอนขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าที่เราได้ยินได้ฟังกันทุกวันนี้ พระองค์ตรัสรู้ก่อนที่จะสั่งสอนพุทธบริษัททั้งหลายเพื่อให้มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องต่าง ๆ เรียกว่ามีปัญญา ท่านอุปมาการอุบัติขององค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเหมือนกับสิ่งสี่สิ่ง

ประการแรก ท่านบอกว่า เหมือนกับบุคคลที่เปิดของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้น ให้เห็นว่าข้างในมีอะไรบ้าง เปิดกะละมัง เปิดอะไรที่มีของอยู่ข้างใน การที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้ามาชี้บอกแก่เราว่า อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อันนี้เป็นบุญ อันนี้เป็นบาป ก็เหมือนกับการเปิดของที่คว่ำอยู่ให้หงายขึ้น

ประการที่สองก็เหมือนกับการเปิดของที่มีฝาปิดอยู่ เป็นตุ่มก็ดี เป็นไหก็ดี เป็นอะไรก็ดีที่เรามองไม่เห็น องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าก็เหมือนคนที่เปิดฝานั้นให้เรามองเห็น มีปัญญารู้ว่าสิ่งที่ดีที่สุดในชีวิตของเราคืออะไร

อีกอุปมาหนึ่งก็เหมือนกับคนที่ชี้ทางแก่คนที่หลงทาง เราเกิดมาในสังสารวัฏนี้ก็เหมือนกับคนที่หลงทาง ไม่รู้ว่าจะเดินไปทางซ้ายหรือขวา แม้แต่ในปัจจุบันนี้เราก็ยังเดิน บางทีก็ผิด ๆ ถูก ๆ อยู่ เชื่อพระพุทธองค์บางทีก็ไม่เต็มที่ ฉะนั้นเราจะปฏิบัติธรรมก็ยังทำไม่เต็มที่ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นก็เหมือนกับมาชี้ทางให้คนที่หลงทาง ว่าจะเดินทางไปเมืองนั้นเมืองนี้ เดินทางอย่างไร

อีกอุปมาหนึ่ง เหมือนกับบุคคลที่ตามคบไฟ จุดคบไฟให้กับคนที่เดินทางในเวลากลางคืน พวกเรานี้ก็เหมือนกับคนเดินทางในกลางคืน มีอวิชชาเป็นตัวนำหน้า หลวงพ่อประจากท่านได้พูดเมื่อวานนี้ ว่าอวิชชาปิดบังเราไว้ ไม่ให้เราเห็นสิ่งต่าง ๆ แต่ว่าองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าอุบัติขึ้นเพื่อให้เรานั้นเห็นธรรมะของพระองค์ เพื่อจะได้เห็นว่าอะไรเป็นสิ่งที่ควรทำ อะไรเป็นสิ่งที่ไม่ควรทำ อะไรเป็นสิ่งที่เป็นประโยชน์ อะไรเป็นสิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ อุปมาเหมือนของสี่อย่างที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงไว้ชัดเจน

นี่ก็เป็นอุปมาให้เราได้เข้าใจว่า เป็นโชคอันดีเป็นลาภอันประเสริฐที่เราได้มานับถือพระพุทธศาสนา คนที่อยู่ในโลกนี้ ท่านบอกว่า มีอยู่สามประเภท

ประเภทที่หนึ่ง ท่านบอกว่าเหมือนกับคนที่ตาบอดสองข้าง

อีกประเภทหนึ่งก็คือคนตาบอดข้างหนึ่ง ตาดีข้างหนึ่ง

อีกประเภทหนึ่งก็คือคนที่ตาดีทั้งสองข้าง

คนตาบอดสองข้าง องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้แสดงธรรมแก่ภิกษุทั้งหลายว่า อุปมาเหมือนคนที่เกิดมาบนโลกนี้ ไม่มีสติปัญญาที่จะทำมาหากิน รู้ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเป็นบุญ อะไรเป็นบาป คนประเภทนี้เหมือนกับคนตาบอดทั้งสองข้าง ทางโลกก็ไม่รู้ ทางธรรมก็ไม่รู้ แต่คนอีกประเภทหนึ่งเป็นคนที่ตาดีข้างหนึ่ง ตาดีข้างหนึ่ง ก็เหมือนกับคนในโลกนี้ที่ทำกินเป็น ทำกินร่ำรวย มีทุกสิ่งทุกอย่าง แต่ในทางธรรมไม่เข้าใจเลย พยายามที่จะหาเงินหาทองเอาไว้ โดยไม่สร้างกุศล โลกข้างหน้ามองไม่เห็น ไม่รู้ว่าอะไรเป็นกุศล อะไรไม่เป็นกุศล คนเราเกิดมาเพื่ออะไรไม่รู้ เพียงแต่ว่าเกิดมาแล้วทำมาหากิน ก็เหมือนกับคนที่มีตาแค่ข้างเดียว อีกข้างหนึ่งตาบอด สามารถจะเดินไปตกหลุมตกร่อง ตกท่อได้ ประเภทนี้ก็ไม่ค่อยดี

ประเภทที่สามก็หมายถึงคนทั้งหลายที่มีสติปัญญาทั้งทางโลกทั้งทางธรรม เหมือนกับเราทั้งหลายที่มาปฏิบัติธรรมตรงนี้ เอาธรรมใส่ตาอีกข้างหนึ่ง คือปัญญา ทางศาสนาคือโลกุตรปัญญา มาเพิ่มอีกตาหนึ่ง ตาทำมาหากินนั้นพวกเรามีอยู่แล้ว ทำมาหากินได้ ต่อไปข้างหน้าเราจะเป็นอย่างไร ก็ต้องอาศัยปัญญาโลกุตระ การที่เรามาปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานตรงนี้ ถือว่าเรามาทำดวงตาอีกข้างหนึ่งให้สว่าง ทำมากเท่าไหร่ก็สว่างเท่านั้น เพื่อจะได้เห็นว่าต่อไปข้างหน้าเมื่อเราตายแล้ว อะไรจะเป็นสิ่งที่เราสามารถนำไปได้ ควรจะติดตัวไป ควรจะเป็นที่พึ่งของเรา ที่จะนำไปได้ ที่จะเป็นที่พึ่งของเราต้องอาศัยตาตรงนี้

อีกเรื่องหนึ่งคือเทวทูตห้า โยมคงเคยได้ยิน พระองค์ตรัสไว้เรื่องของเทวทูตทั้งห้านี้ คือ

หนึ่งคนเกิด

สองคนแก่

สามคนเจ็บ

สี่คนที่ถูกลงโทษ

ห้า ก็คือคนตาย ท่านบอกว่าเวลาเราตายไปแล้ว กำลังจะไปผ่านด่านพิจารณาจะมีเทวทูตทำหน้าที่มาถามเราว่าเรารู้จักไหม เทวทูตห้า ถ้าเราไม่ได้ศึกษา ไม่ได้ปฏิบัติก็ไม่รู้ว่าเทวทูตห้านั้นคืออะไร ถ้าไม่รู้ ยมบาลก็จะถามว่าเราเกิดมาแล้วเราเห็นคนเกิดไหม คนที่เกิดมาตัวเล็ก ๆ เราเห็นหรือเปล่า เราก็จะบอกว่า เห็น ถ้าเห็นแล้วเราคิดอย่างไร ตรงนี้เป็นส่วนที่สำคัญ ส่วนใหญ่เราก็เห็นกันทุกคน ว่าเด็กมันน่ารักก็แค่นั้นเอง ถ้าเห็นว่าเด็กน่ารักก็ยังเป็นความเห็นที่ผิดอยู่ เห็นถูกต้องก็คือต้องเห็นว่า คนที่เกิดมานี้ เราเห็นอยู่แล้ว เราก็เกิดมาเหมือนกัน ต่อไปเราก็ต้องเกิดเหมือนเด็กแดง ๆ นี้อีก แล้วก็คิดย้อนไปอีกว่า เมื่อเราจะเกิดไปข้างหน้า บุญกุศลใดที่เราควรจะทำบ้าง บุญกุศลที่เป็นกายกรรม มโนกรรม วจีกรรม เราทำบ้างไหม มาย้อนดูตัวเองนั่นเอง ว่าเราได้ทำกรรมอะไรบ้าง เมื่อเราเห็นคนเกิด เราได้ย้อนกลับไปดูตัวเองบ้างหรือเปล่า เราประมาทไป ล่วงเกินไป ก็เป็นคนประเภทที่หนึ่ง

ประเภทที่สอง ท่านจะถามว่าเราเห็นคนแก่ไหม เห็นคนแก่แล้วคิดอย่างไร ทุกวันนี้เราเห็นคนแก่ก็เห็นเฉย ๆ จริง ๆ แล้วต้องพิจารณาว่าเห็นคนแก่แล้วเราทำกุศลบ้างหรือเปล่า ต่อไปเมื่อเราจะแก่ ตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวแล้วเราทำอะไรบ้าง จะแก่ ตอนเป็นหนุ่มเป็นสาวเราทำแล้วหรือยัง ทั้งให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนาถ้าเราแก่อย่างนี้ เราจะทำอะไรได้ การสร้างกุศลอะไรก็ทำไม่ได้ ต้องมีสติ เห็นคนแก่ต้องนึกถึงเทวทูต นึกถึงบ่อย ๆ แล้วเราจะมีสติ อะไรที่เราไม่ได้ทำ ต้องรีบทำ เพราะแก่แล้วทำยาก

ประการต่อไป คนเจ็บ เราไปที่โรงพยาบาล เห็นแล้วคิดอย่างไร ต้องคิดว่าต่อไปเราต้องเจ็บ อะไร กุศลต่าง ๆ ที่ยังไม่ได้ทำ ทั้งที่เป็นกุศลทางกายกรรม วจีกรรม มโนกรรม ต้องรีบทำ

เราไปคุกไปตะราง เห็นคนที่ถูกลงโทษเราก็ต้องนึก ว่าขนาดอยู่ในเมืองมนุษย์ ความผิดศีลผิดธรรมยังถูกลงโทษ ถ้าตายไปแล้ว มิถูกลงโทษหนักกว่านี้หรือ นี่ก็คือการมีสติ ถ้าระลึกได้อย่างนี้เราก็จะกลัว ไม่อยากทำความผิด ไม่อยากทำสิ่งไม่ดีต่าง ๆ นี่ก็เป็นการระลึกที่ดี ความเห็นที่ดี

ประการสุดท้าย เราเห็นคนตาย เกิดมาไม่กี่วันบางทีก็ตายแล้ว แล้วเราจะอยู่ได้อีกกี่เดือน กี่ปี ถ้าเราเห็นคนที่ตายแล้ว เราได้สร้างกุศล ได้สร้างบุญพอหรือยัง ทั้งหมดนี้เมื่อเราเห็นแล้ว คนเกิด คนแก่ คนเจ็บ คนตาย คนถูกลงโทษ ให้เรามีสติ มีสติแล้ว คิดทบทวนอยู่เป็นประจำ ว่าเราเห็นอย่างนี้แล้วเกิดคติอย่างไรบ้าง ในสังคมของเราจะเห็นเทวทูตทั้งห้าอยู่เป็นประจำ ได้ยินข่าวตรงนั้น ได้เห็นคนแก่ คนเจ็บ คนตาย ให้เรานึกอยู่เสมอว่า เราก็เป็นอย่างนั้น คนแก่ คนเจ็บ คนตาย เราสร้างกุศลพอหรือยังที่จะกลับมาเกิดอีก เห็นเด็กเล็ก เราก็ต้องมาเกิดอีก บุญของเราพอหรือยังที่จะทำให้เรากลับมาเกิดอีก ถ้ายังไม่พอ ต้องรีบ ต้องทำ ไม่อย่างนั้นเราจะเป็นผู้ที่ประมาทมัวเมา นี่ก็คือเรื่องความจริงของชีวิต อันที่จริงเรื่องของความจริงในชีวิตนี้ญาติโยมทั้งหลายก็คงจะเคยเห็นกันอยู่ บางคนเข้าวัดก็ต้องไปฟังสวด ที่องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าท่านตรัสว่า การระลึกถึงอภิณหปัจจเวกขณ์ทั้งห้า เป็นสิ่งที่เราต้องพิจารณาเนือง ๆ ฉะนั้นก่อนนอน หรือเวลาว่าง ก็ดี ลองนึกถึงสิ่งที่เรามีเป็นธรรมดา

ประการแรก คนเรามีความแก่เป็นธรรมดา ไม่ใครล่วงพ้นไปได้ ระลึกอย่างนี้เพื่อไม่ให้เรามัวเมาในวัย มัวเมาในความเป็นหนุ่มเป็นสาว บางทีเราจะบอกว่าเรากำลังหนุ่มสาวอยู่ จริง ๆ แล้วเรากำลังแก่ แก่ในที่นี้คือความเสื่อมข้างใน ความแข็งแรงก็เสื่อมไป ใบหน้าก็เสื่อมไป ผมก็เสื่อมไป ความแก่นี้เป็นธรรมดาที่มีอยู่ ถ้าเราแก่ลงก็ต้องยอมรับ บางคนมีความแก่ในตัวเองแล้วก็เป็นทุกข์ พยายามจะไปปรับปรุง เติมแต่ง ให้หนุ่มสาวเหมือนเดิม ถ้าเราเห็นเป็นของธรรมดา เห็นคนที่เรารักแก่ ก็เป็นของธรรมดา

ประการที่สอง เรามีความเจ็บไข้ได้ป่วยเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความเจ็บไข้ไปได้ อันนี้ก็เป็นการป้องกันไม่ให้เรามัวเมาในความไม่มีโรค ถ้าเรารู้สึกว่าดูเหมือนเราจะสะดวกสบาย ไม่เจ็บไม่ไข้ไม่ป่วย แต่จริง ๆ เรามีความเจ็บไข้อยู่ในตัว ซึ่งติดตัวเรามา ตอนนี้กำลังของเรายังดีอยู่ อะไรที่ควรทำก็ควรจะทำให้มากยิ่งขึ้น อะไรที่ทำแล้วก็ทำให้มาก อะไรที่ยังไม่ทำก็ควรจะทำ นี่ก็คือการระลึกถึงการเจ็บไข้ได้ป่วย เราเคยไปที่โรงพยาบาล เวลาที่เพื่อนเราเจ็บ ญาติเราป่วย คนที่เจ็บไข้ได้ป่วยทำอะไรไม่ได้ นึกถึงธรรมะสักข้อก็นึกยาก เพราะจิตไม่ให้ จิตไม่ไป นึกถึงความจริงต่าง ๆ เหล่านี้เป็นการปรับปรุงจิตใจของเราเองให้ยอมรับในสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

ประการต่อไป เรามีความตายเป็นธรรมดา ไม่สามารถล่วงพ้นความตายไปได้ นึกถึงอย่างนี้จะทำให้เราไม่เมาในความมีชีวิต คนเราเกิดมา ไม่ใช่ว่าจะตายตอนอายุมากเสมอไป อาจตายตอนที่ยังอายุน้อยอยู่ก็ได้ เราตายเป็นของธรรมดา เพื่อนเราตาย พี่น้องเราตาย พ่อแม่เราตาย ให้เข้าใจว่าตรงนี้เป็นของธรรมดา

ข้อต่อไป เราต้องพลัดพรากจากของรักทั้งปวง ท่านบอกว่ามีอะไรเราต้องจากสิ่งนั้น ไม่จากกันตอนเป็นก็จากันตอนตาย จากกันตอนเป็นก็คือการพลัดพรากจากสิ่งของ อาจจะแตกทำลาย ถูกคนอื่นลักไป ชิงไป คนรักของเราอาจโดนพรากไปเป็นของคนอื่น ตอนมีชีวิตอยู่ ผลสุดท้าย จากกันตอนตาย เขาไม่จากเรา เราต้องจากเขา เราต้องนึกไว้ ถ้านึกไว้เป็นประจำเวลาที่เกิดความทุกข์แล้ว เราจะไม่ทุกข์มาก

ประการต่อไปเรามีกรรมเป็นของ ๆ ตน เราทำดีจะได้ดี ทำชั่วจะได้ชั่ว คือเชื่อในผลของกรรม ถ้าใครเชื่อในผลของกรรมแล้ว เราจะเป็นคนที่ไม่ประมาท จะไม่บ่น ไม่พ้อ ว่าทำไมทำดีแล้วไม่ได้ดี ทำไมทำชั่วแล้วได้ดี เป็นต้น ถ้าเราเชื่อในเรื่องของกฎแห่งกรรมนั้นมีหลายขนาด กรรมบางอย่างให้ผลในชาตินี้ บางอย่างให้ผลในชาติหน้า บางอย่างให้ผลในชาติต่อ ๆ ไป เราอย่าไปสับสน ว่าทำไมคนในปัจจุบันทำชั่ว แต่ทำไมได้ดีมีหน้ามีตา ที่เป็นอย่างนั้นก็เพราะว่า กรรมดีในอดีตที่เขาทำกำลังให้ผล แต่กรรมชั่วที่ทำยังไม่ส่งผล ยังไม่มีกำลังพอ จึงอยู่ได้ แต่พอกรรมชั่วมีกำลัง กรรมดีน้อยไป ก็จะเห็นอยู่ในสังคมปัจจุบัน เรียกว่ากรรมตามทัน หรือกรรมติดจรวด ต้องประสบกับความทุกข์ความเดือดร้อนในชีวิต ก็เห็นกันอยู่มากมาย ให้เรายึดมั่นว่า ทำดีได้ดี ทำชั่วได้ชั่ว เป็นเหตุและผลที่เราควรยึดไว้

ประการต่อไป ท่านบอกว่าจะทำการใดให้เตรียมไว้ เตรียมความพร้อมในทุก ๆ สิ่ง เราจะเดินทางก็ดี จะทำอะไรก็ดี ต้องมีการเตรียมก่อน ที่จะมาพูดในทุกวันนี้ คือ เราต้องเตรียมพร้อมซ้อมตาย

หนึ่ง ต้องทำบุญเป็นนิตย์ คนเราที่ไม่อยากจะตาย ก็เพราะว่าไม่มีความมั่นใจ มานั่งนึกถึงการทำบุญ ให้ทาน รักษาศีล เจริญภาวนา ทำหยุด ๆ หย่อน ๆ เทศกาลเราก็ทำ บุญที่ทำไม่ได้ทำเป็นนิตย์ คือทำทุกวัน ให้ทานไม่ได้ก็รักษาศีล รักษาศีลไม่ได้ก็เจริญภาวนา บุญกุศลตั้งสิบอย่าง มีอยู่ให้เราไปศึกษา บุญสามารถทำได้ทุกวัน เหมือนเอาเงินใส่กระปุก เอาเงินฝากธนาคาร แต่ว่าเป็นธนาคารบุญ ฉะนั้นเมื่อทำบุญเป็นนิตย์แล้ว เราจะตายเมื่อไหร่ก็ไม่ต้องกลัว เตรียมพร้อม เก็บเงินบุญไว้ เก็บบุญไว้เต็มกระเป๋า ตายเมื่อไหร่ บุญของเราสามารถเนรมิตได้ ให้ความสุขได้ในภพหน้า ถ้ามัวแต่ประมาท คิดว่ารอให้แก่กว่านี้ก่อน แล้วค่อยทำ บางทีทำไม่ทัน กรรมก็ทำ ยิ่งเดือดร้อน

ประการที่สอง ท่านบอกว่า ให้เรานึกถึงความตายบ่อย ๆ เราจะได้ไม่กลัว บางทีเมื่อนึกถึงว่า เราจะตายแล้วนะ ก็ทำใจไม่ได้เหมือนกัน นึกถึงว่าตายแล้วจะไปไหน นึกถึงบ่อย ๆ หนึ่ง เราจะเป็นคนไม่ประมาท สองเราจะทำชีวิตของตัวเองให้มีค่ามากขึ้น จะไม่ปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยไปวัน ๆ มีความรู้สึกเหมือนกับยืมของคนอื่นมาใช้ ท่านอุปมาเหมือนคนที่ยืมจอบ ยืมเสียมของคนอื่นมาทำนา เมื่อยืมมาแล้วเราต้องรีบทำ จะได้รีบส่งคืน เราทั้งหลาย เหมือนยืมรูปกับนามของคนอื่นมา เขาให้เรามานานเท่าไหร่ อย่างมากก็ 75 ปีเท่านั้นเอง เป็นระยะเวลาที่ไม่นาน ถ้าเรามัวคิดว่า เราคงไม่เป็นไร คงยังมีชีวิตอยู่อีกนาน คิดอย่างนี้ก็จะเป็นคนประมาท แต่ถ้าเราคิดว่า พระพุทธองค์บอกว่า เราสามารถตายได้ทุกเวลา ตายอายุน้อยก็ได้ อายุมากก็ได้ ตายเมื่อแก่ก็ได้ ตายตรงไหนก็ได้ คิดถึงความตายแล้วจะเป็นผู้ไม่ประมาท เหมือนกับยืมของเขามา เราก็รีบ ๆ ใช้ รีบทำบุญ รีบสร้างกุศล ตายเมื่อไหร่เราก็จะไม่เสียดาย ตรงกันข้าม ถ้าเราไม่รีบทำเช่นนั้น เมื่อเขามาเอาคืน เราก็เสียดายว่าอย่างนั้นยังไม่ได้ทำ อย่างนี้ยังไม่ได้ทำ ไปต่อรองกับใครก็ไม่ได้ ยมบาลก็ไม่ยอม

ประการที่สาม วิจัยสมบัติ เรียกว่าแจกแจง แบ่งปันสมบัติ แบ่งปันไม่ได้เป็นรูปธรรมก็นึกเอาไว้ก่อน ว่าอันนี้จะให้ใคร อันนั้นจะให้ใคร ใครที่มีเงินเยอะ ๆ จะมีปัญหา เราเป็นผู้ที่เตรียมพร้อม ไม่ได้แช่งใคร แต่ควรนึกไว้ จดบันทึกไว้ พินัยกรรมร่าง ๆ ไว้ พอเราตายลูกก็มาพลิกดู ว่าเงินส่วนนั้นจะเอาไปทำอะไร เงินส่วนนี้จะไปทำบุญสร้างกุศล ไปทำงานศพ ก็ว่ากันไปเป็นอย่าง ๆ เรียกว่าวิจัยสมบัติ เพื่อไม่ให้เราเป็นกังวลเวลาที่เราจะตาย ถ้าเป็นกังวลเราจะไปไม่ค่อยจะดี จะมีอุปสรรคต่าง ๆ เรียกว่าตายตาไม่หลับ ตายไม่สนิท ตายด้วยจิตเศร้าหมอง เพราะห่วงทรัพย์สมบัติ ห่วงลูกหลาน คนโบราณวันพระจะนิยมไปวัดกัน เพื่อฝึกการปล่อยวาง เมื่อเราตายแล้วเขาเอามาไว้วัดเราจะทำอย่างไร ถ้าเรามาวัด มาปฏิบัติธรรม คิดถึงคนนั้นที คนนี้ทีหนึ่ง แสดงว่าเรายังปลงไม่ได้ ฉะนั้นเมื่อเรามาปฏิบัติธรรมแล้วให้เราคิดว่าเหมือนเราไม่มีใคร รถก็ไม่มี บ้านก็ไม่มี เงินก็ไม่มี จะไปได้ง่าย เมื่อถึงเวลาตาย คือการปล่อยวางนั่นเอง

ประการที่สี่ เราจะต้องจัดการเรื่องหนี้ หนี้ของเรามีอยู่มากมาย โบราณท่านว่า หนี้ของเรามีอยู่สี่ประการที่ต้องจัดแจง จัดการ

หนี้ประการที่หนึ่ง คือหนี้ชีวิต ทุกคนมีพ่อมีแม่ มีคนที่เลี้ยงเรามา เรียกว่าหนี้ชีวิต เราได้ชำระ ชดใช้แล้วหรือยัง ถ้าท่านมีชีวิตอยู่ เราก็ต้องเลี้ยงดูท่าน เรียกว่าท่านเลี้ยงเรามา เราก็ต้องเลี้ยงท่านตอบ ผลสุดท้ายท่านตายไปแล้ว ก็ทำบุญกุศลให้ท่าน พวกเราก็ทั้งสองวัยนั่นแหละ ถ้าท่านยังอยู่เราก็ต้องเลี้ยงทั้งทางกาย และทางใจ เลี้ยงทางกายคือ การเลี้ยงดูด้วยการให้ข้าวปลาอาหาร เสื้อผ้า เลี้ยงทางใจก็คือการเอาใจใส่ ดูแล ถามไถ่ ไปมาหาสู่ โทรศัพท์ไปหา ถามว่าคุณพ่อคุณแม่สบายดีหรือ เรียกว่าเป็นการถามไถ่ ให้ท่านสบายใจ และประพฤติตัวเป็นคนดี อย่าให้ท่านเสียใจ คือการเลี้ยงพ่อแม่ หนี้ชีวิตต้องชำระ

ประการต่อไป ก็คือหนี้บุญคุณ เราจะทำอะไรสำเร็จ ต้องมีคนอื่นช่วย คนอื่นอุปถัมภ์ ใครทำดีกับเราต้องอย่าลืม ถ้าเราทำดีกับใครแม้จะใหญ่เท่าภูเขา ต้องอย่าไปนึกถึง ลืมเสีย แต่ว่าที่เขาทำกับเรา ให้ตอบแทนบุญคุณ

หนี้ต่อไปก็คือหนี้ทรัพย์สินเงินทอง ไปยืมเงินใครเขาไว้ต้องจดไว้ จดไว้เป็นบัญชี บันทึกไว้ เพื่อว่าจะได้จัดแจง ตายแล้วเราจะได้ไม่กังวล เพราะเราตายไปแล้ว คนสมัยนี้มีหนี้มีสินค่อนข้างมาก ถ้าเราไม่จัดแจงก็แย่เหมือนกัน เวลาตายไป จัดแจงก็คือใช้ได้ก็ใช้ ใช้ไม่ได้ก็บันทึกเอาไว้ ให้ลูกหลานช่วยดูแล

ข้อที่สี่ หนี้เวรหนี้กรรม การสร้างเวรสร้างกรรมเป็นสิ่งที่ไม่ดีเป็นอย่างมาก เราหลับตานึกบางทีเรานั่งสมาธิดี ๆ เราจะนึกได้ว่า เรามีเวรมีกรรมกับใคร เคยไปทำอะไรไว้กับใคร หรือว่าใครมาทำอะไรไว้กับเรา ถ้าเขามาทำเรา เราให้อภัยเขาเสีย แต่ถ้าเราไปทำเขา เราก็ควรที่จะปลงใจ หรือไปขอขมาลาโทษเขาเสีย เพื่อไม่ให้เป็นเวรเป็นกรรมต่อกัน คือหนี้เวรหนี้กรรม

ถ้าเราได้จัดการสิ่งต่าง ๆ เหล่านี้ ท่านบอกว่าเราจะอยู่สบาย ตายไปก็ไม่ต้องเป็นห่วง ฉะนั้นการที่เราจะเตรียมพร้อมซ้อมตายจึงเป็นส่วนที่ควรสนใจสักหน่อยหนึ่ง เมื่อเราทำเช่นนี้ได้ ก็จะได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ไม่ประมาท

เข้าสู่การปฏิบัติธรรมของเรา วันนี้ก็เป็นวันที่หกแล้ว หลายท่านอาจจะนึกว่าเราก็ปฏิบัติมานานแล้ว ผลของเราจะเป็นอย่างไรบ้าง จริง ๆ แล้วเราก็รู้อยู่ที่ตัวของตัวเอง แต่อาตมาจะนำเอาคำครูบาอาจารย์ ท่านให้สังเกตตัวเองสี่ประการ

ประการแรกท่านบอกว่า เราจะเป็นผู้ที่นอนน้อย มาวันแรก ๆ นอนวันละ 6 – 7 ชั่วโมง ถึงวันนี้ตีสามครึ่งก็ตื่นขึ้นมาแล้ว บางคนตีสองก็ตื่นขึ้นมาแล้ว แสดงว่าการปฏิบัติธรรมของเราก้าวหน้าขึ้นมา แต่ถ้ายังนอนมากอยู่ กลางวันก็ยังง่วงอยู่ ก็ไม่ค่อยก้าวหน้าเท่าไหร่ ลองสังเกตดู

ประการที่สอง เราจะเป็นผู้ที่กินน้อย กินไม่ค่อยมาก กินเท่าที่กินได้ ไม่ได้กินด้วยกิเลสตัณหา ในสมัยก่อนองค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้นได้สอนพระ ว่าการกินอาหาร การรับประทานอาหาร การฉันของพระ อุปมาเหมือนกับพ่อแม่สองคน ลูกน้อยอีกคนหนึ่ง เดินทางไปกลางทะเลทราย พอดีกลางทะเลทรายก็ร้อน หลงทาง ลุกน้อยไม่สามารถต้านทานได้ ก็ตายกลางทะเลทราย พ่อแม่เพื่อเอาชีวิตรอด มีความจำเป็นต้องกินเนื้อลูกของตัวเอง กินด้วยความรื่นเริงสนุกสนานหรือกินด้วยความเบิกบาน กินด้วยความไม่เบิกบานนะ เพื่อให้ชีวิตอยู่รอด ฉันใด พระก็ดี โยคีผู้ปฏิบัติธรรมก็ดี จะไม่ทานด้วยความอร่อย แต่ทานเพื่อความอยู่รอด เหมือนกับสองสามีภรรยาที่กินเนื้อบุตร ฉันใดก็ฉันนั้น ผู้ปฏิบัติธรรมที่เฝ้ากำหนด กินหนอ มาหนอ อ้าหนอ เคี้ยวหนอ เคี้ยวหนอ เคี้ยวหนอ กำหนดแต่ละครั้ง ๆ จะทำให้เรารู้สึกว่าไม่ได้กินด้วยความอร่อย แต่กินเพื่อ

หนึ่งบรรเทาเวทนาเก่า คือความหิว ไม่ให้เกิดความหิวขึ้นมา

สอง เพื่อไม่ให้เวทนาใหม่นั้นเกิดขึ้นมา

ก็เป็นอุปมา ใครที่รู้สึกว่ากินน้อยลง ก็เป็นส่วนหนึ่งของการปฏิบัติ

ประการที่สาม พูดน้อยลง และไม่อยากจะพูด มาใหม่ ๆ ก็พูดค่อนข้างจะมาก ไม่มีใครพูดด้วยก็พูดกับตัวเอง พูดในใจกับคนนั้นที คนนี้ที นึกเอาว่าจะไปบอกคนนั้น จะไปบอกคนนี้ เป็นจริง ๆ สมัยอาตมาปฏิบัติธรรม หลวงพ่อย้อนว่า ไม่คุยกับใครก็จริง สงสัยจะคุยคนเดียว นั่งคุยคนเดียวก็มี ก็คือพูดนั่นเอง บางทีเราอยากจะพูดว่าออกไปแล้วจะพูดกับคนนั้นว่าอย่างนี้ พูดกับคนนี้ว่าอย่างนั้น ก็คือพูดนั่นเอง ต้องกำหนด อย่าไปคิดว่าไม่มีใครพูดด้วย ใจเราพูด ส่งออกไป ถ้าปฏิบัติดีแล้ว จิตไม่อยากจะพูด คิดก็ไม่อยากจะคิด เป็นช่วงที่ดี จากการสอบอารมณ์โยคีของเราส่วนใหญ่จะเป็นอย่างนั้น จิตเริ่มสงบ ความฟุ้งก็น้อย ไม่อยากจะคิดอะไร จะพูดอะไรกับใคร นี่ก็เป็นผลของการปฏิบัติอย่างหนึ่ง

ประการต่อไปก็คือ ชั่วโมงการปฏิบัติยาวนานขึ้น มาใหม่ ๆ 30 – 30 ก็โอ้โห เมื่อไหร่จะหมดเวลาสักที บิดแล้วบิดอีก พอวันนี้เดินหนึ่งชั่วโมง นั่งหนึ่งชั่วโมงสบาย บางคนเดินหนึ่งชั่วโมงครึ่ง นั่งหนึ่งชั่วโมงครึ่ง ปฏิบัติได้สบาย ก็คือปฏิบัติได้มากขึ้น ช้าลง เห็นได้ชัดเจน แต่คำว่าช้าลงต้องช้าให้ตลอดนะ อย่าไปช้าแต่ในเฉพาะห้องกรรมฐานนะ ห้องนอนของเราก็ควรช้า ฉะนั้น หลวงพ่อบอกแล้วว่า อยู่ห้องเราแล้ว ไม่มีใครเห็น กำหนดก็ได้ ไม่กำหนดก็ได้ จริง ๆ แล้วมีเทคนิคอย่างหนึ่ง เวลาอยู่ห้องแล้ว สมัยอาตมาปฏิบัติเข้มนั้น ให้ทำความรู้สึกเหมือนกับมีครูบาอาจารย์มาจับตามองอยู่ นึกถึงว่าหลวงพ่อประจากก็ดี หลวงพ่อสว่างก็ดี เป็นคนที่ได้ฌาน สามารถเห็นว่าพวกเราอยู่ตรงไหน กำหนดหรือไม่กำหนดได้ จะทำให้พวกเราพอจะทำเร็ว ๆ ก็นึกขึ้นได้ว่า เอ อาจารย์เห็นอยู่นะ อาจารย์มองอยู่นะ อันนี้ก็จะทำให้เราไม่กล้าที่จะทำเร็ว ทำให้เราปฏิบัติธรรมได้มากขึ้น สังเกตดูได้ว่าเมื่อเราอยู่ต่อหน้าครูบาอาจารย์ จิตของเราก็จะไหลไปตามนั้น ให้เราทำความรู้สึกเหมือนกับมีครูบาอาจารย์ท่านคอยดูอยู่ เราก็จะปฏิบัติได้มากขึ้น

ประการที่ห้า กิเลสน้อยลง อันนี้ตัวใครตัวมันแล้วล่ะ ครูบาอาจารย์ก็มองไม่เห็นหรอก ลองสังเกตดูว่า โลภะก็ดี โทสะก็ดี โมหะก็ดี มาใหม่ ๆ ก็ยังอยากได้อย่างนั้นอย่างนี้อยู่ หงุดหงิด โมโห ไม่พอใจ เมื่อกำหนดไป ๆ ถึงวันนี้แล้ว มันแปลก ไม่เคยมารบกวนเราเลย อยากได้นั่นได้นี่ก็ไม่มี พอใจติดใจตรงนั้นตรงนี้ก็ไม่มี โกรธ โมโหก็ไม่มีเหมือนกัน คือมีความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมากขึ้น ลองสังเกตตรงนี้ดู ถ้าใครมีน้อยลง ก็แสดงว่าเราปฏิบัติได้ดีพอสมควร

ประการที่หก ประการสุดท้าย ใบหน้าผ่องใส จิตใจเบิกบาน ใบหน้าก็คือใบหน้าของแต่ละคน ยิ้มแย้มผ่องใส จิตใจก็เบิกบานมีความสุข เห็นว่าความสงบนี้เป็นความสุขที่ดีที่สุด ความสุขที่เราเคยได้จากการเที่ยวเตร่ การเล่น สู้ความสุขที่ได้จากความสงบของจิตใจไม่ได้ จิตใจปราศจากกิเลสเป็นความสุขอย่างหนึ่งในการปฏิบัติธรรมในครั้งนี้

เมื่อเรามาอยู่แล้ว เราได้อะไรจากการปฏิบัติธรรมบ้าง

ประการแรก เราได้วิธีปฏิบัติ อย่างเช่น วิธีกราบพระแบบสติปัฏฐาน หลายท่านปฏิบัติมาหลายครั้งแล้ว ก็ยังไม่เคยกราบแบบสติปัฏฐานนี้ คือได้วิธีใหม่ ๆ ได้วิธีกำหนด เวลาโกรธกำหนดอย่างไร เวลาคิดกำหนดอย่างไร เวลาเดินกำหนดอย่างไร เวลานั่งกำหนดอย่างไร สรุปแล้วเราได้ความรู้ ไม่เสียหลายเลย เจ็ดวันที่มานี้

ประการที่สอง เราได้รักษาศีล เป็นศีลที่ยิ่งใหญ่ คือศีลแปด และตั้งใจที่จะรักษาด้วย เมื่อไม่มีศีล สมาธิก็ไม่เกิด เมื่อไม่มีสมาธิ ปัญญาก็ไม่เกิด เรามีโอกาสได้รักษาศีล เจริญสมาธิ และเจริญปัญญา ครบทั้งหมดเลย เราอยู่ที่บ้าน ไม่ได้รักษาศีลแปด ค่อนข้างที่จะทำยาก ทำได้ก็ไม่ค่อยจะดี

ประการต่อไป การที่เราได้มาปฏิบัติธรรมตรงนี้จะเป็นอุปนิสัยปัจจัยติดตัวเราไปในชาตินี้และชาติหน้า ในชาตินี้ก็คือทำให้เราทั้งหลายอยากที่จะปฏิบัติอีก ท่านทั้งหลายอาจจะมาปฏิบัติครั้งนี้ เพราะการปฏิบัติครั้งที่แล้วเป็นผลส่งให้เราอยากปฏิบัติต่อไป แต่ถ้าใครไม่เคยเข้าเลย ไม่มีเหตุมีปัจจัยให้นึกถึง เวลามีความทุกข์ก็ไปหาทางแก้ หาทางออกโดยวิธีอื่น แต่บางคนถ้าเราเคยเข้าแล้ว นึกถึงความสุขในการปฏิบัติธรรมได้ จิตที่ไม่มีกิเลส ก็อยากจะเข้ากรรมฐานอีก อยากจะฝึกอีก เรียกว่าเป็นอุปนิสัยติดตัวเราไป

ประการที่สี่ เราได้บุญ ดังที่ได้กล่าวมาแล้ว บุญจากการให้ทาน ให้อภัยทาน บุญจากการรักษาศีล บุญจากการเจริญภาวนา บุญจากการฟังธรรม บุญจากการให้ส่วนบุญ บุญจากการอนุโมทนาบุญ บุญจากการทำความเห็นให้ตรงเป็นต้น แล้วเราได้ความสุข ได้ชำระกิเลสของเราเอง ได้ชำระโลภะ โทสะ โมหะ นี่ก็เป็นสิ่งที่เราได้จากการปฏิบัติธรรม

ประการต่อไป ผลพลอยได้ของการเจริญสติ

หนึ่ง จะทำให้เรามีความจำดี สามารถที่จะระลึกนึกถึงอะไรต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในชีวิตของเราก็ดี เรื่องต่าง ๆ ได้ เรียกว่ามีความจำดี

สอง คนที่กำลังทำงานอยู่ก็จะได้ผลงานมากขึ้น เพราะสมาธิมากขึ้น ความผิดพลาดก็น้อยลง

สาม จะทำให้เรามีสติ ก่อนที่จะพูด ก่อนที่จะทำ ก่อนที่จะคิด เรียกว่ามีสติ สติมาปัญญาเกิด สามารถที่จะรู้ในสิ่งต่าง ๆ ได้ ว่าอะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ อะไรเป็นประโยชน์ อะไรที่ไม่เป็นประโยชน์ เกิดจากการที่เราเจริญสตินี้เอง

ประการต่อไป จะทำให้โรคบางอย่างหายได้ อย่างที่กล่าวในวันก่อน

ประการต่อไป จะทำให้เราเป็นคนอารมณ์เย็น ผิวพรรณผ่องใส การที่เรามีสติ หลายท่านมาบอกว่า อาจารย์ วันนี้ใจมันผิดปรกติ วันแรกใจยังร้อนอยู่ จะเดินย่อง ๆ ก็ย่อง ไม่ค่อยจะเป็น แต่ตอนนี้ย่องเป็นโดยอัตโนมัติเหมือนเดินไปตามห้าง เดินตามห้างเราจะเดินด้วยใจที่เย็นสบาย ตอนนี้ใจเราเย็นแล้ว เวลากำหนดที่จะลุก เดิน นั่ง ใจเราก็ไม่ค่อยอึดอัด ผิวพรรณแจ่มใส เกิดจากจิตที่สงบ จิตที่ไม่เครียด

ประการต่อไป จะทำให้เราสามารถแก้ไขปัญหาชีวิตโดยวิธีที่ถูกต้องได้ หลายท่านมีปัญหาชีวิตแต่แก้ไม่ถูก ยิ่งแก้ยิ่งติด ยิ่งแก้ยิ่งเป็นปัญหา

ประการต่อไป สามารถกำจัดนิวรณ์ได้ ซึ่งจะพูดในข้อต่อไป

ประการต่อไป ระลึกชาติได้ มีเมตตา ระลึกชาติได้ตรงนี้ หมายถึงระลึกความไม่ดีที่เราเคยทำได้ เคยทำไม่ดีกับพ่อ กับแม่ กับเพื่อนเคยมีนิสัยไม่ดี เอาเปรียบคนอื่นก็จะระลึกได้ เมื่อระลึกได้ก็สามารถปรับตัวได้ กลับไปจากมาเข้ากรรมฐานแล้ว เป็นลูกคนใหม่ เป็นสามีคนใหม่ เป็นเพื่อนคนใหม่ของที่ทำงาน ก็เป็นได้เหมือนกัน ถ้าเราปฏิบัติจริง ๆ และจะทำให้เรามีเมตตา

ประการต่อไป ทำให้เราเป็นคนที่มีกตัญญูกตเวที เมื่อเรามาปฏิบัติธรรมแล้ว เราจะระลึกถึงสิ่งที่ควรทำ สิ่งที่ไม่ควรทำได้ และระลึกถึงสิ่งที่ควรทำต่อไปได้ ก็คือทำให้เราเกิดปัญญานั่นเอง ถ้าเราไม่มีปัญญาเราก็คิดอะไรไม่ได้ ทำอะไรไม่ได้

จุดมุ่งหมายของวิปัสสนา อยากจะกล่าวนิดหนึ่งว่า เรามาปฏิบัติธรรมนี้ มีจุดมุ่งหมายอย่างไร

หนึ่ง เพื่อจะได้เห็นอนิจจัง ความไม่เที่ยง อาตมากล่าวตั้งแต่วันแรกแล้วนะ ว่าการปฏิบัติธรรมเพื่อจะเห็นความไม่เที่ยง

ประการที่สอง เพื่อจะเห็นความทุกข์ ฉะนั้นเวลาปฏิบัติธรรมตั้งแต่วันแรกจนถึงวันนี้ หลายท่านอาจจะบอกว่า อาจารย์ ไม่เห็นมีสุขเลย มีแต่ทุกข์ แต่จริง ๆ แล้วมีสุขคั่นอยู่นะ ตอนที่ทุกข์สุดแล้ว เวลาเราพลิกเราเปลี่ยน ก็มีความสุขให้เห็น แต่ทั้งทุกข์และสุขก็เป็นอนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ เขาจะมาก็มา จะไปก็ปฏิบัติธรรมมานี้ เห็นทั้งสามอย่างครบ เห็นความทุกข์ เห็นความไม่เที่ยง เห็นอนัตตา

อีกข้อหนึ่งก็เห็นอสุภกรรมฐานของร่างกาย บางทีนั่งไปนั่งมา กำหนดไปกำหนดมา เห็นมือเป็นกระดูก เห็นร่างกายของเราเป็นของไม่สะอาดตรงนั้นตรงนี้ ได้กลิ่นของตัวเอง เรียกว่าเป็นอสุภกรรมฐาน หรือว่าขณะที่เคี้ยวอาหาร เคี้ยวหนอ เคี้ยวหนอ เคี้ยวหนอ เห็นเป็นของน่าเกลียด ซึ่งจริง ๆ แล้วก็เป็นของน่าเกลียดอยู่ดี แต่ว่าเราไม่ค่อยจะเห็น เมื่อมาปฏิบัติธรรมก็จะเห็นตรงนี้ เกิดปัญญา เห็นตามญาณต่าง ๆ สิบหกญาณ นามรูปปริเฉทญาณ เป็นต้น

นี้คือจุดมุ่งหมายของวิปัสสนา วิปัสสนาไม่ใช่ทำให้จิตสงบ ไม่ใช่นะ จุดมุ่งหมายของสมาธิที่ฝึกกันแบบอื่นก็คือ เพื่อให้เกิดความสุข เกิดจิตที่สงบ แต่สมาธิแบบวิปัสสนาเพื่อให้เกิดปัญญา ปัญญาเห็นว่ารูปนามนี้ไม่เที่ยง เห็นว่ารูปนามเป็นทุกข์ เห็นว่ารูปนามเป็นอนัตตา เห็นความไม่เที่ยงต่าง ๆ เหล่านี้

ใจของเรานี้ พระองค์บอกว่ามีกิเลสสามอย่างในใจเรา กิเลสแบ่งออกเป็นสามระดับ

ระดับอย่างหยาบ มี 7 ประการ ทางกาย 3 วจีกรรม 4 มโนกรรม 3

ฆ่าสัตว์ 1

ลักทรัพย์ 1

ประพฤติผิดในกาม 1

พูดเท็จ 1

พูดส่อเสียด 1

พูดคำหยาบ 1

พูดเพ้อเจ้อ 1

อยากได้ของเขา 1

พยาบาทปองร้าย 1

เห็นผิดจากคลองธรรม 1

สามอย่างนี้เรียกว่าเป็นกิเลสอย่างหยาบ กิเลสอย่างกลางมีอยู่ 5 ประการ กิเลสที่สูงขึ้นไป หรือกิเลสอย่างละเอียดมี 3 ประการ ราคานุสัย ปฏิคานุสัย อวิชชานุสัย

ทั้งหมดนี้ ขณะที่เราปฏิบัติธรรมนี้ เราสามารถปราบกิเลสทั้งอย่างหยาบ อย่างกลาง และอย่างละเอียด กิเลสอย่างหยาบเราปราบด้วยศีล เรามีศีล เรารักษาศีลนี้ เราไม่ได้ไปฆ่าใคร เราไม่ได้ลักของใคร เราไม่ได้ประพฤติผิดในกาม ศีลกั้นกิเลสอย่างนี้อยู่ ไม่สามารถไปทำอะไรใครได้เลย พูดเท็จ พูดส่อเสียด พูดคำหยาบ พูดเพ้อเจ้อ วจีกรรมสี่ก็เช่นกัน ไม่มีโอกาสจะพูด พูดคำหยาบ เพ้อเจ้อก็ไม่มี มโนกรรมสาม โลภอยากได้ของเขาหนึ่ง พยาบาทปองร้ายหนึ่ง เห็นผิดจากคลองธรรมหนึ่ง ถ้าเราตั้งใจแล้วก็ไม่มีเหมือนกัน

กิเลสอย่างกลาง สมาธิกั้นนิวรณ์สงบแล้ว นิวรณ์ไม่ค่อยจะมี

กิเลสอย่างละเอียด สามารถถูกระงับด้วยปัญญา

การมาปฏิบัติธรรมในครั้งนี้ สามารถระงับกิเลสได้ทั้งอย่างหยาบและอย่างละเอียด แต่ตรงนี้ไม่เด็ดขาด เพียงแต่ระงับชั่วครั้งชั่วคราว ถ้าเรารักษาศีล กิเลสอย่างหยาบของเราก็ยับยั้งได้ ถ้าเรามีสมาธิ กิเลสอย่างกลางก็ระงับได้ ถ้าเจริญปัญญา อนุสัยที่นอนเนื่องอยู่ในจิตใจของเรา เอามาพูดให้ฟังก็เพราะว่าให้ท่านได้เข้าใจว่าตัวเรานี้มีกิเลสอยู่สามประการอยู่ในระดับนี้

จะพูดถึงกิเลสอย่างกลาง เพราะเกี่ยวกับการปฏิบัติ คือนิวรณ์ธรรมห้าประการ

ประการแรก พูดง่าย ๆ ก็คือชอบใจ อะไรที่เราชอบใจ ชอบใจตรงนั้นตรงนี้ สภาวะนั้นสภาวะนี้ ก็เป็นกิเลสตัวหนึ่ง ชอบใจแล้วก็อยากจะได้

กิเลสตัวที่สอง ไม่ชอบใจ คือตัวพยาบาท

กิเลสตัวที่สาม ความง่วง

กิเลสตัวที่สี่ ความฟุ้ง

กิเลสตัวที่ห้า สงสัย

ชอบใจ ไม่ชอบใจ ง่วง ฟุ้ง สงสัย คือนิวรณ์ เกิดขึ้นมาแล้วไม่สามารถที่จะทำให้การปฏิบัติธรรมของเราก้าวหน้าขึ้นมาได้เลย เมื่อเกิดขึ้นแล้ว เราจะทำอย่างไร ทั้งหมดนี้เป็นเครื่องทำให้จิตใจของเราเศร้าหมอง

นิวรณ์ตัวแรก กามฉันทะนิวรณ์ คือการยึดติด ชอบในข้าวปลาอาหารก็ดี วิทยุ โทรทัศน์ เสียงเพราะ ๆ ผู้หญิงชอบผู้ชาย ผู้ชายชอบผู้หญิง เป็นต้น เมื่อเกิดขึ้นมาเราก็ต้องใช้การกำหนด อย่างที่ครูบาอาจารย์ท่านสอน เป็นต้น ส่วนใหญ่ชอบใจก็ชอบหนอ ชอบหนอ ไม่ชอบใจก็ไม่ชอบหนอ ไม่ชอบหนอ แต่ว่ากามฉันทะโดยทั่วไปแล้วจะเป็นความชอบ ความอยากได้ ได้เห็นตรงนั้น ได้เห็นตรงนี้ ถ้าเป็นราคะก็กำหนดว่า ราคะหนอ ราคะหนอ นี้ก็คือกิเลสในใจของเรา

ตัวต่อไป ตัวนี้ค่อนข้างที่จะร้าย พยาปาทนิวรณ์ ก็คือความโกรธ ความโมโห อยากฆ่า อยากตี อยากด่า อยากว่า อยากจะทำสารพัดอย่าง เวลาเกิดขึ้นมาในอารมณ์กรรมฐาน เราก็ใช้การกำหนดอย่างที่เขาเป็น พยาบาทหนอ พยาบาทหนอ หรือว่าไม่ชอบหนอ ไม่ชอบหนอ โกรธหนอ โกรธหนอ ก็คือการมีสติรู้ตามอารมณ์ที่เราเกิด เกิดขึ้นมา กำหนดไม่ใช่เพื่อจะไล่ แต่เพื่อเข้าไปรู้อาการของเขา กำหนดจนอาการหายไป เฝ้าอดทนกำหนดอยู่ตรงนี้

อยากจะกล่าวถึงความโกรธสักนิดหนึ่ง ถ้าโยมอ่านหนังสือพิมพ์สักนิดหนึ่ง จะรู้ว่าความโกรธนั้นเกิดขึ้นมาในชีวิตประจำวันของเรามากเลย โกรธแล้วก็ฆ่า โกรธแล้วก็ทำลาย

ขั้นตอนของความโกรธ

หนึ่งเวลาโกรธจิตจะมาก่อน จะทำให้จิตเราขุ่นมัว ประการแรก

ประการที่สองเมื่อจิตขุ่นมัว ก็จะตกแต่งใบหน้า ผู้หญิงสวยก็จะไม่งาม ผู้ชายหล่อ ๆ ก็จะไม่หล่อ หน้าก็เริ่มบูดเบี้ยว นางงามก็จะไม่งาม ถ้าเรารู้ขั้นตอนของความโกรธแล้ว แค่จิตเราขุ่น ถ้ารู้ตรงนี้ เอาสติเข้าไปกำหนดอาการที่ปรากฏ ขุ่นหนอ ไม่พอใจหนอ จริง ๆ เป็นปฏิคะ ไม่พอใจหนอ ถ้ากำหนดตรงนี้ได้ก็หายไวกว่า เรียกว่าไฟยังไม่ทันเกิด แต่ว่าตั้งเค้า เพียงแต่ว่าจิตเริ่มขุ่นแล้ว ถ้ากำหนดตรงนี้ได้ จับจิตของเราตรงนี้ได้ จิตก็จะไม่เง้าไม่งอ หน้าก็จะเหมือนเดิม คนอื่นมองไม่เห็น ถ้าเราเอาไม่อยู่ ก็จะแสดงออกทางสีหน้าท่าทาง กับคนที่ต่ำกว่าเราก็อาจจะออกมาไว ถ้าคนที่สูงกว่าเราก็อาจจะยับยั้งชั่งใจได้

ประการที่สาม เมื่อหน้าเง้าหน้างอแล้ว ก็จะแสดงออกทางร่างกาย ปากสั่น คางสั่น ใจสั่น ใจเต้นตุบ ตุบ

ประการต่อไป เมื่อตรงนี้แล้วยังระงับไม่อยู่ ก็จะเปล่งผรุสวาจาแล้ว คำหยาบ คำสบถ เหมือนกับความโกรธมันอัดไว้เต็มที่แล้ว ต้องเปล่งออกทางวาจา

ประการที่ห้า จะเหลียวดูทิศต่าง ๆ เพื่อหาอะไรมาระบาย ถ้าเป็นแม่บ้าน พ่อบ้าน ของใกล้ ๆ ก็ค่อนข้างที่จะเสียหายเยอะ

ประการต่อไป จะหาโอกาส หาอะไรมาจับ เรียกว่าท่อนไม้ และศาสตรา หาอาวุธใกล้มือ สมัยอาตมาเป็นเด็ก ถ้าพ่อแม่เหลียวซ้ายแลขวานี่ไม่อยู่แล้ว เปิดไปทางไหนแล้ว เย็นค่อยกลับมา ให้พ่อแม่หายก่อน ถ้าเขาด่าแล้ว ด่าเฉย ๆ ไม่เป็นไรหรอก แต่ถ้าสายตามองซ้ายมองขวา หาอะไรที่จะทุบจะตีเรา อย่าไปอยู่นะ พยายามหนีไปเลย ไปอยู่ที่อื่น

ต่อไปก็เงื้อท่อนไม้และศาสตรา ทำท่าที่จะตีแล้วล่ะ

ต่อไปก็ตีผู้อื่น ประทุษร้ายผู้อื่น

เมื่อตีแล้วให้เป็นแผลเล็ก แผลใหญ่ ต่อไปก็ให้กระดูกหัก อวัยวะหลุด ผลสุดท้ายก็คือฆ่าให้เขาตาย แล้ว ก็ฆ่าตนเอง นี้เป็นความโกรธขั้นสูง เราอ่านในหนังสือพิมพ์จะเห็นเป็นประจำเลย ว่าผู้หญิงโกรธผู้ชาย ผู้ชายโกรธผู้หญิง หรือว่าลูกน้องโกรธเจ้านาย ที่ตำรวจเอาเอ็มสิบหกไปยิงผู้บังคับบัญชาตายก็มี เป็นสิ่งที่อันตราย ถ้าเรารู้แล้วว่าใจเราขุ่น ต้องระงับไว้เลย ถ้าปล่อยแล้วจะขุ่นจนกระทั่งฆ่าผู้อื่น และฆ่าตัวเอง ใช้อะไรระงับ ก็ใช้สติ สติจะเกิดจากการฝึกที่พวกเราฝึกนี่แหละ ถ้าสติไม่มา ก็ไม่สามารถที่จะทำตรงนี้ได้

ต่อไปโทษของความโกรธ 7 ประการ องค์สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าตรัสไว้ว่า คนจะละความโกรธได้ ต้องมองเห็นโทษของความโกรธเสียก่อน เหมือนเราจะละสิ่งอะไรที่ไม่ดีได้

ประการแรก จะทำให้คนโกรธเป็นผู้ที่มีผิวพรรณทราม คนโกรธธาตุไฟจะเผาตัวเอง ผู้หญิงก็จะแก่ไว ผู้ชายก็จะแก่ไว โกรธบ่อย ๆ ถูกเผา ไฟแห่งความโกรธร้อนแรงกว่าอย่างอื่นนะ บางคนโกรธบ่อย ๆ โมโหบ่อย ๆ จะเห็นเลยว่า ใบหน้าจะไม่ผ่องใส จะแก่กว่าไว มาเทียบกับคนที่อายุเท่า ๆ กัน คนที่โกรธบ่อยจะเป็นคนที่แก่ไว ใบหน้าไม่ผ่องใส

ประการที่สอง ท่านบอกว่าจะนอนเป็นทุกข์ แน่นอนที่สุด เราโกรธใครลองไปนอนตรงไหน นอนห้องแอร์อย่างดีก็นอนไม่หลับ เพราะความโกรธมันเผาเราอยู่ตลอดเวลา ต้องระงับให้ได้

ประการที่สาม ไม่รู้สิ่งที่เป็นประโยชน์ ขณะที่โกรธมองอะไรไม่เห็นนะ ไม่รู้ว่าอะไรเป็นประโยชน์ อะไรไม่เป็นประโยชน์ และไม่มีปัญญาที่จะรู้อะไรควรทำ อะไรไม่ควรทำ ท่านบอกว่าเวลาโกรธอย่าไปพูด ทำก็ทำผิด คิดก็คิดผิด ช่วงนั้น ให้ไปสงบสติอารมณ์

ประการต่อไป โภคทรัพย์ฉิบหาย ถ้าเราโกรธแล้วไปทำร้ายผู้อื่นก็จะทำให้เราเสียทรัพย์ไป ไปถูกปรับหรืออะไรก็แล้วแต่

ประการที่ห้า ท่านบอกว่าเสื่อมยศ ต้องมีแน่นอน ใครมียศ ตำแหน่งไหนก็ตาม เดี๋ยวจะมีตัวอย่าง ถ้ามียศ โกรธแล้วจะเสียมาก

ประการต่อไป ประการที่หก ไม่มีเพื่อน มีใครบ้างอยากใกล้คนโกรธ ก็เหมือนกับอยู่ใกล้ลูกระเบิดนี่เอง ไม่รู้ว่าจะระเบิดเมื่อไหร่ เป็นพระก็ตาม เป็นโยมก็ตาม ถ้าอยู่ใกล้คนขี้โกรธจะรู้สึกไม่สบายใจ ไม่รู้ว่าจะระเบิดขึ้นมาเมื่อไหร่ก็ไม่รู้ ภาพนี้คือภาพในหนังสือพิมพ์ ผู้หญิงระแวงผู้ชาย ความโกรธนั่นเอง ก็เลยฆ่า พูดกันดี ๆ ไม่ได้ก็เลยฆ่า นี่ก็อาศัยความโกรธเป็นสมมติฐาน

ข้อที่เจ็ด ย่อมประพฤติผิด ตายแล้วไปสู่ทุคติ นี้แน่นอน พระพุทธองค์ก็ตรัสไว้แล้วว่า ความโกรธทำให้เราตกนรก เมื่อมีความโกรธแล้วเราก็ทำอะไรหลายต่อหลายอย่างได้ ท่านบอกว่าคนโกรธแล้วมักทำอะไรที่คนปรกติทำไม่ค่อยจะได้ ท่านบอกว่าฆ่าพระก็ฆ่าได้ ฆ่าอาจารย์ก็ฆ่าได้ พ่อแม่ก็ฆ่าได้ ภรรยาและสามีไม่ต้องพูดถึง พระอรหันต์ก็ฆ่าได้ ฉะนั้นจะทำสิ่งที่ไม่นึกว่าตนเองจะทำได้ เราจะได้ยินได้เห็นอยู่เสมอในหน้าหนังสือพิมพ์ว่า เสียใจ ถ้ารู้จะไม่ทำ แต่ว่าเป็นไปไม่ได้หรอก ฉะนั้นเราควรจะป้องกัน มีสติ ด้วยการกำหนดรู้ ความขุ่นในใจ และระงับ การระงับความโกรธได้ด้วยตนเองเป็นสิ่งที่ดีที่สุด

นี้คือโทษของการขาดสติ โยมนึกถึงภาพนี้คงนึกออก คนนี้เป็นระดับนายพล เผลอไป โกรธไป เท่านั้นเอง ก็จะทำให้ตัวเองเสียอะไรบ้าง เสียชื่อเสียง ดังไปทั่วโลก เสียอะไรอีก เสียอนาคต แทนที่จะได้เป็นใหญ่เป็นโตก็เป็นไม่ได้แล้ว ต่อไปความดีที่ทำไว้ เสียหมดเหมือนกัน เคยไปทำดีไว้ กำลังจะได้โล่ ก็กลับไม่ได้ เป็นตัวอย่างเหมือนกัน ท่านบอกว่าท่านเป็นคนใจร้อน เมื่อรู้ว่าตัวเองใจร้อนแล้วไม่ได้แก้ ไม่ได้ทำ ไม่ได้ปรับปรุง เมื่อถึงจุด ๆ หนึ่งแล้วก็บังคับตัวเองไม่ได้ เรียกว่าโทษของการขาดสติ

ฉะนั้น การที่เรามาเจริญสติตรงนี้ ก็เพื่อที่จะเอามาใช้ในชีวิตประจำวันด้วยนะ ไม่ใช่จบไปแล้วก็แล้วไป ไม่ได้ไปทำอะไรต่อเลย ฉะนั้นเมื่อเห็นโทษความโกรธแล้วก็จะเห็นอานิสงส์ของเมตตาบ้าง

อานิสงส์ของเมตตานี้จะไม่พูดมาก เพราะท่านอาจารย์สว่างก็ได้พูดแล้ว

หนึ่ง จะทำให้เราหลับเป็นสุข การที่เราไม่โกรธ

ประการที่สอง ตื่นเป็นสุข

ประการที่สาม ไม่ฝันร้าย

สี่ เป็นที่รักของมนุษย์

ห้า เป็นที่รักของอมนุษย์

ห้า ทวยเทพรักษา

ภัยต่าง ๆ ทำอันตรายไม่ได้

หก ไม่ตายด้วยยาพิษ

เจ็ด ไม่ตายด้วยศาสตราวุธ

ประการต่อไป จิตเป็นสมาธิได้ง่าย จะทำสมาธิก็ทำได้ง่าย

เก้า ใบหน้าผ่องใส

สิบ เวลาใกล้ตายไม่หลงลืมสติ

ข้อสิบเอ็ด ถ้าได้ฌานจากการเจริญเมตตานี้ ตายไปจะไปเกิดในพรหมโลก

อานิสงส์ของเมตตานี้ นำมาแสดงเพื่อให้เราได้เห็น ถ้าเราไม่โกรธใครแล้ว หลับก็หลับเป็นสุขแน่นอน คนโกรธก็นอนเป็นทุกข์ เราอยากจะได้อย่างไร อยากได้อย่างนี้ก็เจริญให้มาก

อุบายระงับความโกรธของพระพุทธเจ้า

ประการแรก อย่างที่กล่าวเมื่อสักครู่ ให้เราเห็นโทษของความโกรธ เห็นตั้งแต่ว่า มันทำให้ใบหน้าของเราเศร้าหมอง ให้เราไปทำเสียชื่อเสียงต่าง ๆ พอพิจารณาเช่นนี้ก็สามารถทำให้เราระงับได้

ประการที่สอง ให้นึกถึงความดีของคนที่เราโกรธ คนที่มาทำให้เราโกรธบางทีเขาต้องมีความดีบ้าง ไม่มากก็น้อย

ประการที่สาม ความโกรธคือการสร้างทุกข์ให้ตนเอง เวลาเราโกรธ คนที่เราโกรธไม่ได้เจ็บช้ำน้ำใจ แต่ตัวเราเองที่เป็นทุกข์ ทำตัวเองให้เดือดร้อน ตั้งแต่ทำให้หัวใจเต้นแรง ถ้าคนเป็นโรคหัวใจก็ตายไวขึ้น แต่คนที่เราโกรธไปแล้ว นอนหลับสบาย เราไปด่าใครสักคน คนโกรธนอนไม่หลับหรอก แต่เราหลับสบาย เพราะได้ด่าเขาไปแล้ว นี้ก็คือให้รู้ว่าความโกรธก็คือการสร้างทุกข์ให้ตัวเอง

ประการที่สี่ ให้พิจารณาความเกี่ยวข้องกันในสังสารวัฏ บางทีคนที่ทำให้เราโกรธนั้นอาจจะเป็นพ่อ เป็นแม่ เป็นพี่ เป็นน้องของเรา ในภพก่อนในชาติก่อน ความโกรธก็จะน้อยลง สังเกตก็จะเห็นว่า ถ้าคนที่ทำความผิดกับเรานั้น เป็นคนที่เรารัก คนที่เราพอใจ ความโกรธจะน้อย ถ้าเป็นคนที่เรารัก ความโกรธจะค่อนข้างน้อย ถ้าคิดว่าเป็นพี่เป็นน้องอย่างที่พระพุทธองค์ท่านตรัสแล้วว่า เราเกิดมาเคยเป็นพี่น้องกันมา คนที่ทำให้เราโกรธคนนี้ อาจเคยเป็นพี่ เป็นแม่ เป็นพ่อเรามาก่อน อาจเคยสร้างความดีกับเรามาก่อน ก็จะทำให้ความโกรธของเราน้อยลง

ประการต่อไป ให้นึกถึงอานิสงส์ของเมตตาดังที่กล่าวข้างต้น เมื่อนึกถึงอานิสงส์ของเมตตาแล้ว ก็จะสามารถทำให้เราระงับความโกรธได้

ประการต่อไป นึกถึงยศ ฐานะ ชาติตระกูล อย่างอาตมานี่ นึกถึงว่า เราเป็นพระนะ เป็นวิปัสสนาจารย์จะโกรธเขาได้อย่างไร โกรธก็เสียท่าหมด ที่แสดงความโกรธให้เขาเห็น คิดอย่างนี้ได้แล้วก็อยู่แค่ในใจ ไม่ออกมา ยศ ฐานะ เราเป็นใคร มีชาติตระกูลอย่างไร นึกถึงอย่างนี้ก็จะทำให้ความโกรธหายไป ไม่แสดงออกมา บางทีเราจะว่าสักคำ จะด่าสักที ก็ไม่ออกมา ถ้าเรานึกถึงสิ่งต่าง ๆ พระองค์บอกว่าให้นึกถึงพระพุทธเจ้าให้มาก พระพุทธเจ้าสอนไว้ว่าอย่างไร สอนว่าคนที่โกรธไม่ใช่ลูกของพระองค์ ถ้าเรานึกอย่างนี้ เราบวชเป็นพระแล้ว ถ้ามาแสดงความโกรธเหมือนคนทั่วไปก็ไม่ใช่ลูกของพระพุทธเจ้า นึกได้อย่างนี้แล้วก็ค่อยคลายออก

ข้อที่เจ็ด ให้มองในแง่ดี พลิกจิต ในสมัยพระพุทธกาล มีพระรูปหนึ่งมาลาพระพุทธเจ้าจะไปปฏิบัติธรรมที่หมู่บ้านหนึ่ง พระองค์ก็มองเห็นว่า หมู่บ้านนั้นเป็นหมู่บ้านที่คนค่อนข้างจะดุ สมัยนี้ก็เหมือนปัตตานี ยะลา ไปก็คงจะอยู่ค่อนข้างยาก พระองค์จึงให้ไปลาพระสารีบุตร พระสารีบุตรก็ถามว่า หมู่บ้านนี้คนดุนะ ถ้าคนในหมู่บ้านด่าเธอ เธอจะทำอย่างไร พระภิกษุองค์นั้นก็ตอบว่า ถ้าเขาด่าข้าพเจ้า ก็ดีกว่าเขาตีพระเจ้าค่ะ ถ้าเขาตีเธอล่ะ ถ้าเขาตีข้าพเจ้า ก็ดีกว่าเขาเอาศาสตราฟัน เอามีดแทง เอาปืนยิง ถ้าเขาทำร้ายเธอ จนเธอตายเล่า เธอจะคิดอย่างไร ข้าพเจ้าก็จะคิดว่าดีกว่าข้าพเจ้าไปฆ่าเขา ถ้าข้าพเจ้าไปฆ่าเขาแล้ว ก็ต้องตกนรก อีกหลายภพหลายชาติ การมองว่าดีกว่า จะทำให้เราทำใจได้ จะไม่โกรธ ถ้าเขาด่าเราก็ดีกว่าเขามาตีเรา ตีเจ็บนะ ระหว่างตีกับด่านี่โยมเลือกเอาอย่างไหน ก็คงจะเลือกให้เขาด่าดีกว่าเขาเอาก้อนหินมาขว้าง ถ้าเขาเอาไม้มาตีก็ดีกว่าเขาเอาศาสตรามาฟัน ฟันให้เจ็บ ฟันให้ลำบาก ถ้าเอาศาสตรามาฟันก็ดีกว่าทำร้ายให้เราตายไป ผลสุดท้ายเขาฆ่าเราจริง ๆ ก็ดีกว่าเราฆ่าตัวเอง หรือเราไปฆ่าคนอื่น คิดอย่างนั้น การวางจิตตรงนี้สำคัญตรงไหน สำคัญที่ว่าเราต้องวางใจไว้ก่อน คำที่เราควรจะใช้บ่อยก็คือคำว่า ไม่เป็นไร เคยได้ยินไหม คำว่าไม่เป็นไร คำว่าไม่เป็นไรนี้เป็นแรงปะทะให้ใจฟู่ขึ้นมา ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ใช้ใครไปทำอะไรสักอย่าง ไม่ได้ก็ไม่เป็นไร ไม่เป็นไรแล้วก็หาวิธีอื่น คำว่าไม่เป็นไรนี่สำคัญมาก เป็นแรงปะทะ ช่างมันเถิด ก็มีส่วนเหมือนกัน หาคำสักคำหนึ่งที่จะเป็นเครื่องให้จิตของเราไม่โกรธไม่โมโห ถ้าหาได้ก็จะเป็นประโยชน์สำหรับเรา

การแผ่เมตตาก็เป็นประโยชน์มาก การแผ่เมตตาจะมีอยู่สองอย่าง คือการแผ่โดยเจาะจง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง กลุ่มคนใดกลุ่มคนหนึ่ง ขอให้ข้าพเจ้ามีความสุข อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย นี่แผ่ให้ตัวเอง ขอให้เจ้านายของเราจงมีความสุข อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย ขอให้คนใดคนหนึ่ง กลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง

อีกประการหนึ่ง อโนทิสสกเมตตา ก็คือแผ่ไม่เจาะจง แผ่ไปทั่วเลย สพฺเพ สตฺตา สัตว์ทั้งหลายจงอยู่เป็นสุข ๆ เถิด อย่ามีความทุกข์กายทุกข์ใจเลย การแผ่เมตตาทั้งสองอย่างนี้ใช้ได้หมด แต่ที่ดีคือแผ่อย่างเจาะจง บุคคลใดบุคคลหนึ่ง

ลักษณะของการแผ่ก็มีสองแบบ แผ่ต่อหน้า และแผ่ลับหลัง

แผ่ต่อหน้าคือเห็นจริง ๆ อย่างอาตมาเห็นโยม โยมเห็นอาตมา พออาตมานั่งปุ๊บ โยมก็ ไม่ใช่ให้ทำที่นี่นะ ขอให้อาจารย์มีความสุข มีสุขภาพแข็งแรง เรากลับไปบ้าน เห็นใครมาก่อนล่ะ เห็นสามีมารับ ลูกมารับ เราก็แผ่เมตตาให้เขาในใจ สิ่งที่ดีให้เขา เหมือนกับให้พร คือการให้พรให้เขามีความสุข สุขภาพแข็งแรง นี่คือการแผ่เมตตาต่อหน้า มีอานิสงส์มากและเร็วมาก เพราะเห็นกันอยู่ต่อหน้า เห็นกันอยู่จะ ๆ ให้ฝึกไว้ เวลาไปเห็นใครที่ทำงานหรือที่ใดก็ตาม และถ้าคนนั้นที่เราแผ่เมตตา ทำอะไรล่วงเกินเรา ความโกรธจะมีน้อยมาก แทบจะไม่มีเลย เพราะเราแผ่เมตตาให้เขาแล้ว ใจเราเย็นแล้ว แผ่เมตตาให้เขานี่ใจเราเย็นนะ ไม่ใช่คนนั้นเย็นนะ แต่เป็นเกราะป้องกันตนเอง ปรกติเราจะเห็นว่า ไปแผ่ให้มันทำไม เราไม่ชอบเขา ก็เพื่อจะให้ใจเราเย็น ไม่กระทบกระทั่ง ให้ใจเรามีภูมิต้านทาน บางทีเราคิดไม่เป็น คิดว่าเป็นศัตรูกัน แผ่ให้ทำไม ยิ่งเป็นศัตรูยิ่งต้องแผ่ ให้ใจเราเย็น เป็นเกราะป้องกันไม่ให้ใจเราเป็นทุกข์ ไม่ให้ใจเราไปโกรธไปโมโหเขา

การแผ่เมตตาลับหลัง ก็คือนั่งอยู่ในห้องใครห้องมัน บ้านใครบ้านมัน เราแผ่ตรงนี้ล่ะ ไม่เห็นเขาเลยแต่คิดเอา นึกเอา ขอให้คนนั้นมีความสุข ขอให้คนนี้มีความสุข นี่ก็เป็นพื้นฐานให้จิตใจเราคิดดีต่อบุคคลอื่น การแผ่ทั้งสองอย่างแผ่ต่อหน้ามีประโยชน์มาก ได้ผลเร็ว เห็นใครก็แผ่เมตตาให้ แผ่ให้เจ้านายก็ดี เพื่อนร่วมงานก็ดี ใหม่ ๆ นี่จะง่ายหน่อย นึกไม่ได้ ส่วนใหญ่จะไปแช่งเขามากกว่า เห็นผู้ชายกับผู้หญิงเดินมา ผู้ชายอายุมากหน่อย ผู้หญิงอายุน้อยหน่อย บางทีเราก็คิดกับเขาไม่ดี เด็กอะไรก็ไม่รู้ ผู้ใหญ่กินหญ้าอ่อน อย่างนี้ต้องดูจิต ถ้าใครดูจิตเป็นก็จะรู้ว่าจิตเรานี้ร้ายมาก ไปเที่ยวว่าคนอื่นไปทั่ว ถ้าเห็นใครเดินผ่านไปมา ทำอะไร แม้แต่คนไม่ดีก็ต้องแผ่เมตตาให้ ฉะนั้นเวลาอ่านหนังสือพิมพ์ โยมคอยสังเกตดูจิตตัวเองไหม บางทีก็อนุโมทนาบาปกับคนอื่น ตายได้ก็ดี เราก็ได้บาปอยู่เรื่อย อาตมาดูหนังสือพิมพ์ก็สังเกตจิตของตัวเองเหมือนกัน บางทีเราชอบคนนี้ แต่เขามาว่าคนที่เราชอบ จิตเราก็ขุ่นมัว ไม่ชอบคนนั้นไปด้วย ต้องทันจิต เวลาอ่านข่าวสารต้องระวังจิตให้ดี เพราะไปสร้างความขุ่นมัวได้เยอะ ในความไม่ชอบจะมีค่อนข้างเยอะ จะไม่ชอบอ่านข่าวที่ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ นี่ก็เป็นเรื่องการแผ่เมตตา การแผ่เมตตาจะมีส่วนช่วยทำให้จิตของเรานั้นปรับ ระงับความโกรธได้ คนจะทำสงครามกัน จะทำอะไรกันก็มีความโกรธเป็นตัวต้นเหตุนั่นเอง ฉะนั้นให้เรามีสติ คือรู้ตัวก่อน และกำหนด โกรธหนอ ไม่พอใจหนอ จนความรู้สึกไม่พอใจของเราหายไป กายกรรม วจีกรรมก็จะไม่มี

ต่อไปก็เป็นถีนมิทธะ ความง่วงเหงาหาวนอน นั่งแล้วง่วง ตัวงอ ถ้านั่งแล้วง่วงให้ยืดตัวขึ้น ลักษณะของความง่วง อาการง่วง กายจะไม่ตั้งตรง เวลาจะนึกถึงสิ่งต่าง ๆ อาหารอร่อย ๆ เตียงดี ๆ จะนึกไปทางนั้น เป็นการฟุ้งเช่นกัน แต่ฟุ้งไปอีกเรื่องหนึ่ง การกำหนดก็กำหนดเหมือนเดิม ง่วงก็ง่วงหนอ ๆ ความง่วงจะพูดนิดหนึ่ง เหตุที่ทำให้ง่วงก็มี

หนึ่ง บริโภคอาหารมากเกินไป ตรงนี้มีส่วน ถ้าเรารู้สึกว่าตัวเองง่วงทุกทีเมื่อทานอาหารเสร็จ แสดงว่าเราอาจจะทานอาหารมากเกินไป หรือเราไม่เดินจงกรมหลังทานอาหารเสร็จ เรานั่ง หรือว่าเรานอน เมื่อปฏิบัติก็จะง่วง ฉะนั้นเวลาทานอาหารเสร็จแล้วควรจะเดินจงกรมสัก 30 นาที แล้วค่อยนั่ง หรือไปทำอย่างอื่น จะทำให้อาหารที่รับประทานเข้าไปไม่เป็นภาระอึดอัด ให้สังเกตดู

สอง เกิดจากการที่เราบังคับจิตมากเกินไป กดจิตให้สงบ ไม่ให้ไปไหน จิตก็จะเกิดอาการเหนื่อยล้า ทำงานมานานแล้ว ไม่ได้พักเลย ใช้อยู่นั่นแหละ ใช้จิตกำหนดให้ทำอย่างนั้น อย่างนี้ มากไปจิตก็ล้าเกิดอาการง่วงได้ ความพอดีของจิตก็มีส่วน

ประการที่สาม จิตสงบมากเกินไป เอาง่าย ๆ เวลาเรานั่งแล้ว มันไม่ทำงาน เราให้กำหนด 3 – 4 จุด มันเอาแค่จุดเดียว นั่งหนอ ถูกหนอ พอ เวลาเสียงมา คิดหนอ ก็ไม่ไปกำหนด นี้คือจิตสงบมากเกินไป บางคนนั่งนานไป จิตสงบแล้ว ไม่อยากทำอะไรแล้ว เดี๋ยวอาการง่วงก็มาในลักษณะนี้เราต้องให้งานจิตมากขึ้น พองหนอ ยุบหนอมีไหม ถ้ามีเราต้องกำหนดถี่ ๆ พองหนอ พองหนอ ยุบหนอ ยุบหนอ ให้งานจิตเพิ่มขึ้น จะทำให้หายจากอาการง่วงได้

ประการต่อไป เกิดอาการท้อแท้สิ้นหวัง นั่งมาตั้งนานแล้ว ไม่เห็นอะไรเลย พอจิตท้อแท้ปุ๊บ ถีนมิทธะเข้าครอบงำทันที ถีนมิทธะ ถีนะ คือความง่วง มิทธะคือความท้อแท้ กำหนดมาตั้งนานแล้ว อาจารย์บอกว่าจะรู้สึกอย่างนั้น รู้สึกอย่างนี้ เราไม่เห็นอะไรเลย ก็เริ่มท้อแท้ ไม่อยากจะทำแล้ว ความง่วงก็เข้ามา อย่างนี้ก็อย่างที่อาตมาบอกแล้วนะ เวลาปฏิบัติธรรมอย่าไปหวังอะไร ให้ทำให้เต็มที่ ทำให้ดีที่สุด อย่าไปตั้งความหวัง

วิธีแก้ก็คือ ทานอาหารให้น้อยลง ทานแค่พออิ่มก็พอ และก็ผ่อนจิต ไม่เพ่งมากเกินไป ให้งานจิต ไม่หวังอะไร นี่ก็พอประมาณ ทีนี้เวลาง่วง ประการแรก ถ้าไปส่งอารมณ์ ครูบาอาจารย์ท่านก็บอกนะ ประการแรกก็ต้องกำหนด ง่วงหนอ ง่วงหนอ ง่วงหนอ บางครั้งก็หาย บางครั้งก็ไม่หาย เสร็จแล้วก็มาดูตัวเอง ยืดหนอ ยืดหนอ ตั้งหนอ ตรงหนอ เสร็จแล้วก็มาดูอารมณ์ที่กำหนด ถ้าพองหนอ ยุบหนอ ไม่ชัดเจน ก็ไปกำหนดนั่งหนอ ถูกหนอ ถ้านั่งหนอ ถูกหนอ ไม่ค่อยชัด ก็กำหนด นั่งหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ถูกหนอ นั่งหนอ นั่งหนอ ถูกหนอ ถูกหนอ อาการอื่นก็เช่นกัน ลืมตาขึ้นก็ลืมหนอ ลืมหนอ เห็นแสงไฟ ก็เห็นหนอ เห็นหนอ กระพริบหนอ กระพริบหนอ เป็นต้น มีอุบายอีกหลาย ๆ อย่าง ในการกำหนด บางครั้งท่านให้ทำความรู้สึกเหมือนนั่งบนหน้าผา ก็จะทำให้เรารู้สึกตื่นตัวขึ้นมา หรือว่าให้ไปนั่งใกล้ฝา หันหน้าเข้าฝา ห่างกันแค่คืบหนึ่ง เวลาสัปหงก นี้เป็นวิธีที่ครูบาอาจารย์สอน อาตมาไม่ได้ว่าเอง แต่รู้สึกจะเป็นวิธีที่จริง มันจะระวังตัวมาก คนที่สัปหงกบ่อย ๆ นั่งใกล้ฝา จิตจะฉลาด ไม่เคยเห็นโดนเลย นี่ก็เป็นอุบายหลาย ๆ อย่างที่จะทำให้เราหายง่วง ไม่หายก็ลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ ไปล้างหน้า ไปดื่มน้ำร้อน เดินจงกรม ต้องหาเหตุให้เจอก่อน แล้วค่อยปรับค่อยแก้ไป ถึงอย่างไร นี้ก็เป็นนิวรณ์ เป็นกรรมฐาน ง่วงก็มากำหนด ง่วงหนอ ง่วงหนอ เป็นธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นนิวรณ์ เมื่อเรากำหนดได้ ก็เหมือนเรากำหนดพองหนอ ยุบหนอ มีค่าเท่ากัน ไม่ต้องไปกังวลเกี่ยวกับความง่วงให้มากนัก

ประการต่อไปอุททัจจะกุกกุจจะ ความฟุ้งซ่าน อันนี้ก็มีกันมาก คิดนั่นคิดนี่ เวลานั่ง ตอนนี้ก็ยังมีกันอยู่ บางคนก็คิดมาก บางคนก็ดีขึ้น การกำหนดความคิด ตามที่เคยปฏิบัติกันมาเวลาคิดก็คิดหนอ ฟุ้งก็ฟุ้งหนอ กังวลก็กังวลหนอ กำหนดจนความคิดนั้นหายไป การกำหนดความคิดนี้ก็เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน เป็นกรรมฐานหมวดหนึ่ง ที่ทำให้เรานั้น ปฏิบัติได้เหมือนกัน ถ้าถามว่าอาการฟุ้งเกิดจากอะไร อาการฟุ้งก็มีหลายสาเหตุ

หนึ่งการใจลอยขาดสติ ก็คือกำหนดไม่จดจ่อ เวลานั่งพองหนอ ยุบหนอ ไม่จดจ่ออยู่กับอาการ ใจเราก็จะลอยไป คิดถึงบ้าน คิดถึงพ่อแม่ คิดถึงการงาน ลักษณะนี้ เราจะต้องใส่ใจ

ประการที่สอง เพราะเราบังคับจิตมากเกินไป จิตมันก็สู้เหมือนกัน เอาให้อยู่ตรงนี้ นั่งตรงนี้ จิตมันก็ฟึดฟัด ฟึดฟัด ยิ่งกดยิ่งสู้ ไป ๆ มา ๆ กำหนดอะไรไม่ได้เลย เป็นมากเกินไป

ประการที่สาม เพราะว่าเรารู้จักจิตมากขึ้นคิดเมื่อไหร่รู้เมื่อนั้นสังเกตได้เลยว่าโยมจะรู้ตัวไว คิดเมื่อไหร่ รู้เมื่อนั้น เราก็ต้องหาอะไรให้เขาคิด คิดเมื่อไหร่รู้เมื่อนั้น เป็นอารมณ์กรรมฐาน

ประการที่สี่ เพราะเกิดปีติ อาการดีใจ พอใจ ก็มัวแต่คิดถึงว่าทำไมเราเป็นอย่างนั้น ทำไมเราเป็นอย่างนี้ ก็ฟุ้งเหมือนกัน ฟุ้งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นก็ตาม เราก็ต้องกำหนดอาการที่เกิดขึ้น เพื่อที่จะรู้ลักษณะของเขา ทีนี้วิธีการกำหนดความฟุ้ง

หนึ่ง อย่าตามเรื่องที่คิด เวลากำหนดคิดหนอ คิดหนอ คิดหนอ สติของเราให้จดจ่ออยู่ที่ความรู้สึกที่เราคิดอยู่ ไม่ต้องไปจดจ่ออยู่ในเรื่องที่เราคิด

ประการที่สอง อย่าสักแต่ว่าบริกรรมโดยไม่รู้อาการ คิดหนอ คิดหนอ ว่าไปเรื่อย ใจอยู่ไหนไม่รู้ ใจเราต้องรู้อาการ จนบอกได้ว่า กำหนดแล้วความคิดเบาลง ๆ บางคนบอกได้ถึงขนาดนั้นนะ แสดงว่าเรากำหนดความคิดจริง ๆ บางคนไม่รู้เลย ว่ากำหนดแต่ละหนอ แต่ละหนอ อาการความคิดมันเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง บางครั้งยิ่งกำหนดความคิดก็ยิ่งมากขึ้น ยิ่งแรงขึ้นก็มี ถ้าเรากำหนด สักแต่บริกรรม จะไม่รู้อาการ ถ้าเราบริกรรมไปด้วย รู้อาการไปด้วย เราจะรู้อาการเปลี่ยนแปลงของจิตที่กำลังคิด

ประการที่สาม อย่าไปปัดความคิดฟุ้งซ่านโดยไม่กำหนด อย่างที่หลวงพ่อท่านบอก ว่ามันจะคิดอย่างไรก็ไม่สนใจ กลับมาพองหนอ ยุบหนอ เป็นต้น อันนี้ก็ปัดความฟุ้งซ่าน ความฟุ้งซ่านก็เป็นตัวหนึ่งของกรรมฐานนะ

ประการที่สี่ กำหนดความฟุ้งซ่านจนกว่าจะหาย บางคนคิดหนอ คิดหนอ ก็พอแล้ว กลับมาที่พองหนอ ยุบหนอ ก็ไม่เห็นว่าความฟุ้ง ความคิดก็เป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาเหมือนกัน เพราะกำหนดแค่สองสามครั้ง

ประการที่ห้า ควรกำหนดจิตตามที่ฟุ้ง บางทีฟุ้งในทางที่ชอบ ก็กำหนด ฟุ้งหนอ ฟุ้งหนอ ชอบหนอ ชอบหนอ ชอบหนอ บางทีฟุ้งโกรธ ในเรื่องที่เราโกรธ ที่เราไม่ชอบก็คิดหนอ คิดหนอ ไม่ชอบหนอ ไม่พอใจหนอ แล้วมีกิเลสซ้อนเข้ามาไหม โลภะ โทสะ ซ้อนเข้ามาก็ให้กำหนดด้วย และกำหนดจิตที่ฟุ้งให้ตลอดไป

วิจิกิจฉานิวรณ์ นี่ก็ไม่ยาก ถ้าสงสัยอะไรก็กำหนดตามความรู้สึกที่เราเป็น สงสัยหนอ ลังเลหนอ สับสนหนอ อันนี้ของง่าย ๆ

ทีนี้เวทนา หลวงพ่อพูดเมื่อวานนี้ก็มี ก็จะอธิบายว่า เวทนาคือ การเสวยความรู้สึก มีอยู่สามประการ

ประการแรก ทุกขเวทนา รู้สึกเป็นทุกข์ โยคีใหม่ ๆ เวลาปฏิบัตินี่จะเจอทุกข์มากกว่า ถามว่าสุขเวทนามีไหม มี มีตอนที่เราเปลี่ยน จะสังเกตว่าเปลี่ยนปุ๊บ สุขเวทนาเข้ามา แต่หลายท่านลืมกำหนดนะ ต่อไปให้กำหนด พอเปลี่ยนปุ๊บ โอ๊ยสบาย สบายหนอ สบายหนอ ต้องกำหนดด้วย หรือว่าคนที่มีปีติ มีสุข รู้สึกว่ากำหนดแล้วชอบ ก็ให้กำหนดความรู้สึกที่เป็นสุข ที่ชอบนั้น เพื่อให้เราไม่ติดอยู่ในความสุขที่ชอบ ในเวทนา อทุกขมสุขเวทนา ก็คือความรู้สึกเฉย ๆ เวทนามีอยู่สามอย่าง

วิธีการกำหนดเวทนา บอกให้หน่อยหนึ่ง ปรกติก็กำหนดไปธรรมดา ปวดตรงไหน เจ็บตรงไหนก็เข้าไปรู้ตรงนั้น ตามอาการ ไม่เร็วเกินไป บางคนเร็วเกินไป ก็จะปวดมาก บางคนช้าเกินไปก็ไม่ตรง เอาพอดี ๆ ปวดหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ ขณะที่ปวดหนอ ปวดหนอ ใจเราต้องจดจ่ออยู่กับอาการนะ บางคนปวดหนอก็จริง เหมือนหันหน้าหนีมันเลย หันหลังแล้วกำหนด แล้วหันข้างแล้วกำหนด อย่างนี้ก็ไม่รู้อาการ พออาจารย์ถามว่า อาการปวดเป็นอย่างไรบ้าง นึกไม่ออกอาจารย์ ถ้าเราดูเองจะนึกไม่ออกได้อย่างไร ต้องดูว่าเจ็บตรงไหน ปวดตรงไหน เคลื่อนอย่างไร อาการเขาเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง

ประการที่สอง กำหนดว่าปวดหนอ ปวดหนอแล้ว อาการเขาเพิ่มมากขึ้น จนรู้สึกว่าจะทนไม่ไหว ท่านก็บอกว่า ให้ทิ้งคำบริกรรม แต่ว่าให้ดูอาการเฉย ๆ แต่ใจยังดูอาการอยู่ ต่อไปเมื่อใจดูอาการเฉย ๆ แล้ว ยังทนไม่ไหว จิตก็เริ่มกระวนกระวาย เราก็มาดูที่จิต กระวนกระวายหนอ กระวนกระวายหนอ ทนไม่ไหวหนอ ทนไม่ไหวหนอ กำหนดหลาย ๆ ครั้งนะ บางคนพอได้ตรงนี้ กระวนกระวายหนอ กระวนกระวายหนอ กระวนกระวายหนอ สามครั้งออกเลย ตรงนี้ก็ไม่ได้นะ ถ้าดูเป็น บางทีความกระวนกระวายก็ดี ความคิดอยากจะเปลี่ยน อยากจะพลิกก็ดี มันมีอาการลดลง แล้วเราสามารถที่จะนั่งต่อไปอีก เมื่อก่อนเคยนั่งได้แค่ 35 นาที พอมากำหนดตรงนี้ได้ถึง 45 บางทีถึงชั่วโมงนะ กลับไปกลับมา กลับไปกลับมา คือการผ่อนเวทนา จะไม่ใช้วิธีที่ปวดมาก ๆ แล้วไปดูพองหนอ ยุบหนอ หรือนั่งหนอ ถูกหนอ การทำอย่างนี้มันไม่เกิดประโยชน์ เพราะเวทนามันไม่ปล่อยเราง่าย ๆ หรอก ส่วนหนึ่งก็รู้อาการพองหนอ ยุบหนอ ส่วนหนึ่งก็ไปดูที่อาการปวด ก็เป็นสองอารมณ์ เราได้อะไร ได้เวลานานขึ้น แต่ว่าเราไม่รู้อะไรหรอก ครูบาอาจารย์ท่านก็จะไม่ให้ทำอย่างนั้น ถ้าไม่ไหวจริง ๆ ก็ให้ลุกขึ้นเดินจงกรม แล้วเอาสมาธิที่ได้จากการเดินจงกรมมานั่งใหม่ เราจะนั่งได้ในระยะเวลาที่นานขึ้น ๆ ทุกวัน

ทีนี้ วิธีวางใจในการดูเวทนา หลวงพ่อก็บอกแล้วนะ

หนึ่ง อย่าไปกำหนดให้เขาหาย ตรงนี้สำคัญมาก เพราะมันจะบีบเรา

ประการที่สอง อย่าไปกำหนดด้วยความไม่ชอบใจ ตรงนี้จะมีโทสะสะสม ตัวแรกนี้ โลภะสะสม ทุกครั้งที่อยากให้เขาหาย โลภะที่อยากให้หายก็จะเป็นอนุสัยกิเลสนอนเนื่องอยู่ในใจเรา ตัวที่สอง ถ้ากำหนดด้วยความไม่ชอบ โทสะก็สะสม ท่านถามว่าเรามาปฏิบัติธรรมตรงนี้ เรามาเพื่อละกิเลสใช่ไหม ท่านทั้งหลายก็บอก ใช่ แต่ถ้าเรายังเอากิเลสเข้ามาทำด้วย ก็เหมือนกับเราสะสมกิเลส ที่ให้กำหนดด้วยก็เพื่อไม่ให้เป็นการสะสมกิเลส

ประการที่สาม อย่ากำหนดเพื่อเอาชนะเวทนา บัลลังก์นี้ต้องชนะให้ได้ ไม่มีการเอาชนะทั้งสิ้น มีแต่การตามรู้

ประการที่สี่ ให้กำหนดเพื่อรู้ลักษณะของเวทนา ลักษณะของเวทนานี้เป็นส่วนสำคัญ ว่าเวทนาของเรานี้เกิดแล้ว ลักษณะเขาเป็นอย่างไร อาการปวดร้อน ปวดแสบ ปวดกระดูก ปวดเส้นเอ็น ปวดตรงไหน แล้วเวลากำหนดปวดหนอ ปวดหนอ เขาเคลื่อนตัวอย่างไร เขามีอาการอะไรเกิดขึ้นบ้าง ก็คือลักษณะหนึ่งของเวทนา แล้วเวทนาบางทีก็เกิดจุดเดียว บางทีก็เกิดสองจุด ที่มีปัญหาบางท่านก็เกิดสองจุด ไหล่ก็ปวด ขาก็ปวด จะกำหนดตรงไหน หลักง่าย ๆ อย่างนี้นะ ถ้าเวทนาเสมอกัน เท่ากัน กำหนดจุดไหนก็ได้ หลังก็ได้ สะโพกก็ได้ แต่ว่าถ้าสะโพกมันแรงกว่ากว่าหลัง ก็ไปกำหนดตัวที่ชัดเจนกว่า คือตรงสะโพก กำหนดจนอาการเขาเบาแล้ว หลังที่เราเป็นอยู่นี่กลับแรงขึ้นอีกก็มากำหนดตรงนี้ เรียกง่าย ๆ ว่าถ้าปวดเท่ากัน กำหนดตรงไหนก็ได้ ข้างไหนก็ได้ ถ้าปวดตรงไหนมากกว่า ให้กำหนดตรงนั้น

ท่านบอกว่าเวทนาเหมือนอาจารย์ใหญ่ เป็นกรรมฐานที่ดีที่สุดสำหรับเรา และเวทนาเป็นกุญแจไปสู่ประตูพระนิพพาน ประโยชน์ของเวทนา พูดหน่อยหนึ่ง เพราะหลายท่านเวลามาส่งอารมณ์มักบอกว่า ถ้ามีเวทนาแล้วรู้สึกว่าวันนั้นมันไม่ดีเลย ทีนี้ ประโยชน์ของเวทนา

หนึ่ง เป็นอารมณ์ที่ชัดเจน หลายท่านคงจะไม่เถียงหรอกนะว่า เวลาเวทนาเกิด จิตไปอยู่ที่ไหน อุตส่าห์ดึงไปที่อื่น ก็กลับมาที่เดิม นี้เป็นอารมณ์ที่ชัดเจนที่สุด ระหว่างนั่งหนอ ถูกหนอ พองหนอ ยุบหนอ เป็นอารมณ์ที่เท่ากันหมด จะไม่ชัดเจน แต่ว่าเวทนาเป็นอารมณ์ที่ชัดเจน

ประการที่สอง เมื่อเรากำหนดเข้าไป หนัก ๆ ชัดเจนแล้ว นิวรณ์สงบ นิวรณ์ห้าประการที่กล่าวไปเมื่อสักครู่ ไม่มีนะโยมนะ อยากได้อะไรก็ไม่มี อยากได้อย่างเดียวก็มีแต่พลิก อยากได้นั่น อยากได้นี่ อยากกินนั่นอยากกินนี่ไม่มี โกรธ โมโหใครก็ไม่มี แต่โกรธตัวเองอาจจะมีอยู่ ว่าทำไมมันปวด นี้อาจจะมีอยู่ นิวรณ์นั้นสงบ ง่วงไม่มี แต่มีโยคีบางท่านมีนะ อาจารย์ปวดก็ปวด ง่วงก็ง่วง นี่ก็เก่งเกินไป ทั้งปวดทั้งง่วงอยู่ด้วยกันหมดเลย นี้ก็คือปวดไม่จริง หรือดูไม่จริง

ประการต่อไป เป็นบ่อให้เกิดสมาธิ เพราะจุดที่เราปวด จิตจดจ่ออยู่ตรงนั้นไม่ไปไหน สมาธิจะเกิดขึ้นไว ท่านว่าเวลาเรานั่งหนอ พองหนอ เดี๋ยวก็คิดตรงนั้นคิดตรงนี้ แล้วกำหนดไม่ทันด้วย แต่ว่าปวดนี่จิตไม่ยอมไปไหน เป็นบ่อให้เกิดสมาธิได้ไว ถ้าเรานั่ง นั่งหนอ ถูกหนอ หนึ่งชั่วโมง บางทีนั่งปวดหนอ ปวดหนอ 15 นาที บางทีปวดหนอ ปวดหนอ 15 นาทีนี้จะได้สมาธิดีกว่า สังเกตง่าย ๆ มีหลายท่านบอกว่า อาจารย์ เวลานั่งมันก็ปวดอยู่หรอก แต่ว่าลุกออกมานี้สบาย นั่นก็แสดงว่าอำนาจของสมาธิได้กว่า แต่เรานั่งพองหนอ ยุบหนอ หนึ่งชั่วโมง ลุกขึ้นมาก็เมื่อยเหมือนเดิม ปวดเหมือนเดิม ลุกขึ้นมาไม่มีสบายเลย แต่ปวดหนอ ปวดหนอ นี่ลุกขึ้นมาจะสบายกว่า เพราะกำลังเกิดจากสมาธิ แสดงว่าเรานั่งกำหนดเวทนานี้ สมาธิได้ชัดเจน

ประการที่สี่ เห็นพระไตรลักษณ์ชัดเจน อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ถ้าเรากำหนดแล้ว มีความเปลี่ยนแปลงอยู่ในเวทนาอย่างชัดเจน ผลสุดท้ายเวทนาเปลี่ยนแปลงไม่ได้ จะให้หายก็ไม่หาย จะให้ไปก็ไม่ไป มีแต่คาอยู่นั่น ตรงนั้นแหละ จนกระทั่งหมดเวลา อันนี้ก็คืออนัตตา บังคับบัญชาไม่ได้ ฉะนั้น อนิจจัง ความไม่เที่ยง ความเปลี่ยนแปลง ถึงบอกว่าให้ดูเวทนาเพื่อจะได้เห็นความเปลี่ยนแปลงของเขา

ต่อไปการปรับอินทรีย์อีกนิดหนึ่ง อย่างที่มีหลายคนถามว่า อาจารย์ ทำไมต้องให้เดินเท่ากันนั่งเท่ากัน การเดินเท่ากันนั่งเท่ากัน เป็นการปรับอินทรีย์คู่ที่สอง ระหว่างวิริยะ กับสมาธิ วิริยะก็คือความเพียร สมาธิก็คือจิตที่ตั้งมั่น ฉะนั้นถ้าเราเดินแค่ 15 นาทีแล้วไปนั่งหนึ่งชั่วโมง สมมติว่าอย่างนั้น วิริยะจะน้อย สมาธิจะมาก สมาธิมากก็จะทำให้เราเกิดความฟุ้งขึ้นมาได้

คู่แรก ศรัทธาต้องเสมอกับปัญญา ถ้าเรามีศรัทธามากกว่าปัญญา ก็จะทำให้เราเชื่อ งมงาย เป็นคนเชื่อง่ายนั่นเอง แต่ถ้าใช้ปัญญาไตร่ตรองมากเกินไป ก็คือปัญญามากนั่นเอง ก็จะทำให้เราพิจารณาไตร่ตรองอยู่นั่นแหละ เชื่อยาก อันนี้จริงหรือเปล่า อันนั้นจริงหรือเปล่า ก็ไม่สามารถทำให้เราก้าวหน้าต่อไปได้

ฉะนั้นเพียรมากไปก็จะทำให้เราฟุ้งซ่าน จะเอา จะเอา ก็ไม่เป็นอุปการะแก่สมาธิ

ถ้าสมาธิมากเกินไปก็จะทำให้เราเซื่องซึม ง่วงเหงาหาวนอน ฉะนั้นการปรับอินทรีย์ โดยเฉพาะอินทรีย์คู่ที่สอง เวลาเรานั่ง เราจะได้สมาธิ 3 ส่วน วิริยะ 1 ส่วน แต่เวลาเราเดินจงกรม เราจะได้วิริยะ 3 ส่วน สมาธิแค่ 1 ส่วน เพราะว่าเวลาเราเดินจงกรม โยมสังเกตดูว่า เราต้องใช้ความเพียรมาก ขาก็ต้องยก ตัวก็ต้องเคลื่อนไหว ความพยายามก็ต้องมี จิตก็ต้องจดจ่อ แต่เวลาเรานั่ง ไม่ค่อยจะได้ทำอะไรมาก พอนั่งได้ที่ ก็มีแต่จิตอย่างเดียวที่ทำงาน มีแต่จิตที่จดจ่อ แค่นั้นเอง ฉะนั้นวิริยะจะน้อย แต่ว่าความเพียรจะมาก เวลาจะปรับอินทรีย์ท่านจึงให้ทำเสมอกัน ก็คือเดิน 30 นั่ง 30 เดิน 45 นั่ง 45 เป็นต้น ยกเว้นเวลาเราง่วง ก็ต้องเดินให้มาก

สติ ก็คือความระลึกยิ่งมากยิ่งดี ตอนนี้ก็จะให้สติกันเยอะ จะนั่งก็ให้มีสติ จะลุกก็ให้มีสติ ยิ่งมากเท่าไหร่ยิ่งดีเท่านั้น สตินี้จะเป็นตัวปรับอินทรีย์ของเรา ท่านอุปมาเหมือนรถเทียมด้วยม้า มีม้าอยู่หนึ่งคู่

คู่ที่หนึ่งก็คือตัวปัญญา กับตัวศรัทธา ต้องเสมอกัน

คู่ที่สองก็คือวิริยะ กับสมาธิ

ม้าที่ลากรถ ถ้าม้าสองตัว อยู่ข้างนี้อยู่ด้วยกัน ถ้าวิ่งไม่เสมอกัน ตัวหนึ่งวิ่งล้ำหน้า อีกตัวหนึ่งไม่ทัน ก็จะไม่สามารถทำให้รถวิ่งไปได้ด้วยดี แต่ว่าถ้าเสมอกันเมื่อไหร่ก็จะดี สติเหมือนกับนายสารถี คอยควบคุม ถ้าสติดีแล้ว วิริยะ สมาธิก็จะดีไปด้วย เมื่อมีอินทรีย์เสมอกัน เราจะรู้สึกว่าการกำหนดของเรานี้เป็นไปด้วยดี ไม่หนัก สบาย ๆ จะกำหนดอะไรก็คล่องเหมือนกับม้าสี่คู่ วิ่งได้ดีพอดี นายสารถีก็ไม่ต้องทำอะไรมาก สติก็เพียงแต่คอยดู ใครที่มีอินทรีย์เสมอกัน จะรู้สึกว่ากำหนดได้คล่อง ไหลลื่น แล้วจะบอกว่ามันไม่เหมือนเก่า การกำหนดก็ไม่ต้องใช้แรงอะไรมาก เหมือนม้าที่วิ่งได้ที่แล้ว ก็เพียงแต่วิ่งไปเฉย ๆ นายสารถีก็เพียงแต่คอยดูเท่านั้นเอง คอยกระตุกนิด ๆ หน่อย ๆ ไม่ต้องตี ต้องจับอะไรมาก การปรับอินทรีย์นี้เป็นส่วนสำคัญ แต่ส่วนใหญ่ครูบาอาจารย์ท่านจะปรับให้ เราก็เพียงแต่ดู แต่ว่าให้รู้ไว้เท่านั้นเอง บางทีไม่ต้องไปถามครูบาอาจารย์ ก็จะรู้ว่าอินทรีย์ของเรา วิริยะของเรามากไหม สมาธิมากก็จะมีอาการเซื่องซึม จะทำอย่างไร จะปรับอย่างไร บางทีให้กำหนดมาก ๆ ให้กำหนดหนัก ๆ คือการแต่งอินทรีย์ให้ การมาส่งอารมณ์ก็คือการแต่งอินทรีย์ให้ญาติโยมทั้งหลายนั่นเอง ถ้าเราไม่มีครูบาอาจารย์แต่ง แล้วเราไม่รู้ด้วย ก็ไม่สามารถที่จะก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมได้

อุบายการฝึก เรามาฝึกกรรมฐานตรงนี้ ท่านบอกว่าก็คือการที่เราเอาจิตของตัวเองมาฝึก เหมือนคนที่จะฝึกลูกโค ก็ต้องเอาลูกโคมาผูกไว้กับหลัก เราจะฝึกจิตก็เหมือนกัน ก็ต้องเอาจิตของเรามาผูกไว้กับอารมณ์กรรมฐาน บางทีหลุดออกไป คิดถึงบ้าน คิดถึงอะไรก็เอากลับมาผูกไว้ใหม่ เหมือนกับการฝึกลูกโค ลูกโคบางทีผูกไว้ดีแล้วก็หลุดไป ก็จับมาล่ามใหม่ การฝึกจิตของเราก็ฉันนั้นเหมือนกัน

หมวดอิริยาบถย่อย ถ้านอนกำหนด นอนตะแคง นอนสีหไสยาสน์ นอนอีกท่าหนึ่งก็คือนอนหงาย มีอยู่สองท่า เวลานอนกำหนดอะไร พองหนอ ยุบหนอก็ได้ หรือว่านอนหนอ นอนหนอ ถูกหนอ ก็ได้ นี้ก็คือการนอน อย่าไปนอนเฉย ๆ ที่เอามากล่าวตรงนี้ก็เพื่อจะเป็นประโยชน์ ขอโยมทุกท่าน เวลากลับไปบ้านแล้ว ไม่ได้ทำเลย เวลานอนก็ขอให้ทำ เวลานอนให้ฝึกไป พองหนอ ยุบหนอ จนกระทั่งหลับไป ทำทุกวันจะเห็นผล เห็นผลอย่างไร เห็นผลเวลาเราอยากจะทำมากขึ้น นั่งเก้าอี้ก็ดี อยู่เฉย ๆ ก็ดี สติตรงนี้จะมา เป็นประโยชน์มาก จะทำให้เราหลับเป็นสุข ตื่นเป็นสุข ไม่ฝันร้าย

หลักของการนอน ก่อนที่จะนอนให้กราบห้าครั้ง กราบห้าครั้ง กราบอะไรบ้าง ครั้งที่หนึ่ง ให้กราบพระพุทธเจ้า ครั้งที่สองข้าพเจ้ากราบพระธรรม แล้วก็กราบลง ครั้งที่สาม ข้าพเจ้ากราบพระสงฆ์ ครั้งที่สี่ ข้าพเจ้ากราบมารดาบิดา หรือว่าบิดามารดาของข้าพเจ้า ครั้งที่ห้า ข้าพเจ้ากราบครูบาอาจารย์ เมื่อเรากราบบุคคลเหล่านี้ ซึ่งเป็นบุคคลที่มีพระคุณกับเรา ก็จะทำให้ชีวิตของเรานั้นเจริญรุ่งเรือง เสร็จแล้วก็ค่อยนอน นอนกำหนดพองหนอ ยุบหนอ จนกระทั่งหลับไป หรือว่านอนแผ่เมตตาก็ได้ ฉะนั้นเวลานอนอย่าให้เสียประโยชน์ เวลานอน พองยุบของเราจะชัดเจน ฉะนั้นดูพองยุบของเราจนกระทั่งหลับไป ทำเป็นประจำ ต่อไปเราเจ็บไข้ได้ป่วย อารมณ์ที่เราจะกำหนดก็คือพองหนอ ยุบหนอ สามารถที่จะไปกับพองหนอ ยุบหนอได้ เมื่อเราสามารถที่จะไปกับพองหนอ ยุบหนอได้ จิตก็ผ่องใส เมื่อจิตผ่องใส พระองค์ทรงรับรองแล้วว่าสุคติเป็นอันต้องหวัง

อิริยาบถย่อย อิริยาบถใหญ่ อิริยาบถย่อยก็มีการเคี้ยวการการ ทำกันได้หมดแล้ว คำกำหนดที่ยังเป็นปัญหา อันนี้เอาไว้ประการสุดท้าย คือสับสนในเรื่องของการใช้คำ จริง ๆ แล้วก็ใช้ตามอาการ เวลายกก็ยกหนอ ยกหนอ ขึ้นหนอ ขึ้นหนอก็ได้ เวลาลงก็ลงหนอ ลงหนอ เวลาไปก็ไปหนอ ไปหนอเหยียดก็เหยียดหนอ มาหนอ คู้หนอ เวลาลงก็ลงหนอ บางทีเราก็ปล่อย ปล่อยหนอ เหยียดก็เหยียดหนอ เหยียดหนอ หรือว่ามาข้างตัวก็คู้หนอ คู้หนอ ที่มันเรียกไม่ค่อยจะถูก เรียกชื่อยากก็เคลื่อนหนอ เคลื่อนหนอ คำว่าเคลื่อนก็คือมือเราจะเคลื่อนอยู่ตลอดเวลา ให้ดูอาการเคลื่อน ดูตรงนี้ให้ดูอาการ ต้องดูอาการ อย่าไปติดที่คำบริกรรม ส่วนใหญ่สามารถที่จะไปกับพองหนอ ยุบหนอได้ ถามว่าเวลาเคลื่อนรู้สึกอย่างไรบ้าง จับความรู้สึกไม่ออก แสดงว่าเราไปเน้นที่คำบริกรรม บริกรรมนี้เป็นเครื่องประกอบเฉย ๆ ไม่ใช่สิ่งสำคัญ สิ่งสำคัญก็คือรู้อาการ อาการหนักอาการเบา อาการตึง อาการหย่อน อาการไหว ซึ่งเป็นลักษณะของธาตุต่าง ๆ โยคีตอนนี้เวลาเรามีสติ เรามีสมาธิดีแล้ว แต่ปัญญายังไม่ค่อยจะเกิด ปัญญาก็คือการเข้าไปรู้อาการ ฝากให้ทุกท่านได้สังเกตดู อาการยกของเท้า อาการย่างของเท้า อาการเหยียดของเท้า อาการของจิตที่เขาคิด อาการเคลื่อนไหวต่าง ๆ คำว่าอาการก็คือการเคลื่อนไหว คำว่าอาการก็จะมีเย็น ร้อน อ่อน แข็ง ตึง หย่อน ไหว สั่นสะเทือน เป็นต้น ให้สังเกตดูทุกอาการเคลื่อนไหว ก็ขอฝากไว้ตรงนี้

สรุปสติปัฏฐานสี่ สติปัฏฐานนี้มีอยู่สี่แบบที่เรากำลังทำอยู่ในขณะนี้

กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน การตามดูกาย เวลาเดินขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เป็นกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวลาคิดขึ้นมา หยุดคิด กำหนดว่าคิดหนอ คิดหนอ เป็นจิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน

เวลาปวด เมื่อยหลัง ไม่ไหวแล้วต้องหยุดเดิน กำหนดปวดหนอ เมื่อยหนอ คือเวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน

บางทีกำหนดอาการได้ยิน ได้ยินหนอ ได้ยินหนอ เป็นการกำหนดธรรมานุปัสสนาสติปัฏฐาน

สติปัฏฐานทั้งสี่ เราจะปฏิบัติได้ทั้งสี่อย่างไปพร้อมกัน อันไหนชัดเจนปฏิบัติตรงนั้น มีตั้งสี่อย่าง ทั้งสี่อย่างมีค่าเท่ากัน ฉะนั้นเราจะไปเว้นตัวใดหนึ่งไม่ได้ อารมณ์ไหนชัดเจน กำหนดตรงนั้น บางทีเวทนาชัดเจน กำหนดเวทนา จิต ความคิดชัดเจนกำหนดจิตตานุปัสสนา ธรรมารมณ์ชัดเจน กำหนดที่ธรรมารมณ์ อารมณ์ที่เกิดกับใจเรา ฉะนั้นให้เราเอาใจใส่ ดูแลตัวเอง การกำหนดกาย ก็อย่างที่เราเคยกำหนด นั่งก็พองหนอ ยุบหนอ เดินก็กำหนด อิริยาบถย่อย ทั้งหมดนี้เป็นการกำหนดกายานุปัสสนาสติปัฏฐาน ที่มากล่าวตรงนี้ก็จะย้ำว่า สติปัฏฐานมีตั้งสี่อย่าง เราอย่าไปเลือกตัวใดตัวหนึ่ง เอาเฉพาะกายอย่างเดียว เวลาความคิดมาก็ไม่ยอมกำหนด เวลาเวทนามาก็ไม่ยอมเอา กำหนดเหมือนกับไม่เต็มใจ ให้เราได้เข้าใจว่า ทุกสิ่งทุกอย่าง เมื่อกำหนดแล้ว ก็ได้สติ ได้สมาธิ ได้ปัญญาเหมือนกันทั้งหมด ขอย้ำไว้ ฉะนั้นพรุ่งนี้เหลืออีกวันเดียว

หนึ่งก็พยายามกำหนดและรู้อาการไปด้วย สังเกตดูอาการ ให้สังเกตนิ่ง ๆ เหมือนกับหมอที่คนไข้นอนนิ่ง ๆ แล้ว เรามีหน้าที่ตรวจดู เมื่อก่อนนี้ ท่านอุปมาเหมือนเด็ก จิตของเรานี้มันยังไม่นิ่ง เดี๋ยวก็วิ่งไปตรงนั้น เดี๋ยวก็วิ่งมาตรงนี้ จะเอาไปอาบน้ำก็ไม่ได้ ตอนนี้เด็กมันนิ่งแล้ว เอาขนมให้มันกินมันก็อยู่กับที่ เราก็จะอาบน้ำ จะดูแล จะใส่เสื้อผ้าก็ง่าย จิตของเราก็เหมือนกัน ตอนนี้เขามีสมาธิพอสมควรแล้ว คิดก็คิดหนอ คิดหนอ กำหนดทันไม่เป็นไร ให้เราสังเกตดูอาการทางจิตของเราเอง การกำหนดแต่ละอย่าง มีอะไร เรารู้อะไรบ้าง กำหนดและรู้อาการ ถ้ากำหนดแล้วไม่รู้อาการ ก็กำหนดเฉย ๆ แค่นั้นเอง ได้แค่สติ สมาธิ แต่ปัญญามันไม่เกิด ฉะนั้นเน้นในที่นี้ก็คือ การรู้ ตัวรู้ก็คือตัวปัญญา ขอให้สังเกตให้มาก

ประการที่สอง ต้นจิต หลายท่านก็ยังค่อนข้างที่จะน้อย ทุกขั้นตอน ฉะนั้นทุกครั้งที่ชัดเจน หรือมีช่องว่าง ให้เพิ่มต้นจิตเข้าไป อยาก อยากลุกหนอ อยากนั่งหนอ อยากหยิบหนอ อยากพลิกหนอ มือของเรา เวลาจะพลิกจะอะไร

ประการที่สาม หนอให้มากขึ้น การที่หนอให้มากขึ้นก็เพื่อที่ให้เราตามรู้ได้ชัดเจนขึ้น ถ้าโยมหนอเดียว ยกหนอ อย่างนี้มาเลย แต่ถ้าโยมค่อย ๆ ยกหนอ ยกหนอ ยกหนอ ยกหนอ จะเห็นอาการได้ชัดเจนขึ้น พลิกมือก็เหมือนกัน เมื่อก่อนนี้ยกหนอ ยกขึ้นกราบเลย ทีนี้พลิกหนอ พลิกหนอ พลิกหนอ พลิกหนอ เยอะ ๆ ยิ่งมากเท่าไหร่ เราก็จะเห็นอาการตรงนี้มากขึ้น นี้ก็คือหนอให้มากขึ้น

ประการที่สี่ ทำให้ต่อเนื่อง ไม่ใช่ในห้องกรรมฐานที่เดียว เก่งให้ต่อเนื่อง บางคนเก่งในห้องกรรมฐานที่เดียว แต่ไม่ค่อยจะเก่งที่อื่น สายตาก็ต้องเก็บด้วย บางคนสายตามองออกไปเรื่อย อยู่ในห้องกรรมฐานนี้ก็เรียบร้อย แต่พอออกไปอยู่ห้องนอนก็ดี ออกไปเดินข้างนอกก็ดี การเห็น หรือว่าทวารทั้งหกนี้มีส่วนสำคัญนะ เห็นหนอนี่ ใครกำหนดน้อย ไม่ค่อยจะดีเท่าไหร่ แทบจะใช้ไม่ได้เลย กำหนดเห็นหนอให้มาก เวลาจะหยิบแก้วก็เห็นหนอ เวลาจะหยิบอาหารก็เห็นหนอ จะเหลียวมาตรงนี้ก็เห็นหนอ มันจะมีการเห็นอยู่ ได้ยินก็เหมือนกัน ให้ฝึกไว้ เพราะจะได้ใช้ในชีวิตประจำวันของโยม กิเลสอยู่ในโลกของโยม กิเลสก็จะเข้าทางนี้เยอะ เห็นกับได้ยิน เห็นแล้วชอบใจ เห็นแล้วไม่ชอบใจ เห็นแล้วมีเรื่อง บางคนไปเห็นเขา เขาไม่ได้ทำอะไรสักหน่อย แต่ว่าไม่กำหนด กิเลสเกิดขึ้นที่ตา เกิดที่จิตของเราที่เข้าไปรับ ฉะนั้นเห็นหนอ เห็นหนอ ถ้าไม่พอใจ ไม่พอใจหนอ ไม่พอใจหนอ ถ้าไม่ชอบ ไม่ชอบหนอ ไม่ชอบหนอ การฝึกกำหนดพวกนี้ อิริยาบถย่อย อิริยาบถต่าง ๆ เพื่อจะเอาไปใช้ในชีวิตประจำวันของเราได้ด้วย ฉะนั้นจะเดิน จะนอน จะลุก จะนั่ง ให้มีสติ ระลึกรู้ แล้วกำหนด เรียกว่า สติและสัมปชัญญะ อย่างที่กล่าวเมื่อสักครู่ ขอย้ำให้ทำให้ต่อเนื่อง ตั้งแต่ตื่นนอนจนถึงเข้านอน อย่าให้ขาดกำหนด พรุ่งนี้ก็เป็นวันสุดท้ายแล้ว อยากให้คิดว่าเราเหลือโอกาสแค่วันเดียว อย่าไปคิดตรงกันข้ามนะ บอกว่าทำมาแล้วตั้งหกวัน ไม่เห็นมีอะไร พรุ่งนี้วันเดียวคงไม่มีอะไรหรอก ปล่อยมันไป อันนี้คิดผิดนะ ต้องคิดเหมือนกับพระอานนท์ พอถึงวันสุดท้ายแล้วท่านขมีขมัน มีเวลาเพียงนิดเดียว เราได้สะสมมาตั้งแต่วันแรกแล้ว สติสมาธิ อินทรีย์ห้าของเรานี่สะสมมามาก แล้ว มันใกล้เต็มที่แล้วความจริงนะ ถ้าเราไปถอยแค่นิดเดียวมันก็จะตกทันทีเลย ฉะนั้นมันใกล้แล้วนะพอถึงจุดที่พรุ่งนี้อีกวันหนึ่งทำให้เต็มที่ ฉะนั้นก็เทคนิคของการจะทำให้วิริยะเกิดก็ รักใคร ชอบใคร ให้ทำเพื่อบุคคลนั้น ถ้าเป็นพ่อเป็นแม่ก็วันพรุ่งนี้จะทำให้ดีที่สุดเลย เกิดมายังไม่เคยทำอะไรเพื่อท่านเลย ตายไปแล้วก็จะทำเพื่ออุทิศส่วนกุศลนี้ให้ท่าน อันนี้ก็จะทำให้ดี ถ้ามีลูกก็จะทำเพื่อลูก มีใครที่เรารักเราชอบแล้วก็สามารถที่จะเป็นกำลังใจให้เราได้ เราทำเพื่อบุคคลนั้น ไม่มีใครก็ทำเพื่อตัวเองนะ ทำเพื่อสร้างกุศลให้ตัวเอง ฉะนั้นก็ฝากไว้ว่าพรุ่งนี้อย่าเพิ่งท้อ อย่าเพิ่งถอย จนกระทั่งว่าถึงวันมะรืนนี้ เพราะว่าโอกาสที่เราจะประสบความสำเร็จหรือว่าความก้าวหน้าในการปฏิบัติธรรมมันต้องอาศัยการสะสมเหมือนเราหยดน้ำใส่ตุ่ม ตั้งแต่วันแรกเราหนอๆ นี่เหมือนหยดใส่ตุ่มนะ มันใกล้จะเต็มแล้วถ้าเราไปหยุดเสียก็น่าเสียดาย ฉะนั้นการเดินการนั่งการทำอะไรก็ต้องมีความอดทน มีความอดกลั้น ทำด้วยจิตที่เค้าเรียกว่าแบบพระพุทธเจ้า พระพุทธเจ้าก่อนที่จะตรัสรู้โยมเห็นว่าท่านบอกว่ายังไง “แม้เลือดเนื้อนี้จะเหือดแห้งไปเหลือแต่เอ็นแต่กระดูก ถ้าไม่บรรลุโพธิญาณแล้วเราจะไม่ลุกขึ้น” เราก็ต้องอธิษฐานจิตขนาดนั้นนะว่าถ้าตั้งใจทำตรงนี้ทำให้เต็มที่เลย แล้วโอกาสที่เราจะมา…อย่าไปคิดว่าโอกาสหน้าจะมีนะ มันไม่แน่หรอก บางทีอาจจะไม่มีโอกาสมาเลยก็ได้ ฉะนั้นเราทำตรงนี้เค้าบอกว่า อดีตไม่เกิดประโยชน์ อนาคตก็ไม่เกิดประโยชน์ ปัจจุบันนี่คือประโยชน์ ฉะนั้นปัจจุบันนี่เป็นสิ่งที่เราจะจับได้คว้าได้ฉะนั้นก็ขอฝากไว้

ในที่สุดแห่งการบรรยายธรรมนี้ ก็ขออ้างเอาคุณพระศรีรัตนตรัยและบุญกุศลที่ญาติโยมทั้งหลายได้บำเพ็ญมา ขอเป็นปัจจัยส่งเสริมให้การปฏิบัติธรรมของทุกๆ ท่านมีความก้าวหน้า ให้อินทรีย์ทั้ง 5 คือ ศรัทธา วิริยะ สติ สมาธิ ปัญญา มีความแก่กล้าสามารถที่จะบรรลุมรรคผลนิพพาน หรือว่าธรรมของพระพุทธเจ้าส่วนใดส่วนหนึ่งตามบุญบารมีของแต่ละท่าน คิดและปรารถนาสิ่งใดในทางที่ชอบประกอบด้วยธรรมแล้วก็ขอให้ความปรารถนานั้นสมดังที่ต้องการทุกประการเทอญฯ สาธุ สาธุ สาธุ



คุณสินีรัตน์ ศรีประทุม ถอดเทป

คุณมณฑาทิพย์ คุณวัฒนา จัดตัวหนังสือ ตรวจแก้


ที่มาhttp://www.sati99.com/index.php?lay=show&ac=article&Id=204490


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร