ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

สวดมนต์เป็นยาทา วิปัสสนาเป็นยากิน
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=38526
หน้า 1 จากทั้งหมด 1

เจ้าของ:  wincha [ 12 มิ.ย. 2011, 13:43 ]
หัวข้อกระทู้:  สวดมนต์เป็นยาทา วิปัสสนาเป็นยากิน

"เกิดเป็นคนต้องช่วยตนเสียก่อน แล้วกลับย้อนช่วยคนอื่นจึงจะได้
ต้องรู้จักฝึกหัดทั้งกายใจ จึงค่อยไปแนะคนอื่นให้ทำตาม"

“ถ้าใครเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยต่อเนื่อง สร้างความดี ให้ติดต่อกัน
สร้างความดี ถูกตัวบุคคล ถูกสถานที่ ถูกเวลา ต่อเนื่องกันเสมอต้นเสมอปลายแล้ว
คนนั้นจะได้รับผลดี ๑๐๐% และจะเอาดี ในชาตินี้ได้ ไม่ต้องรอดีถึงชาติหน้า”




วิปัสสนากรรมฐานคืออะไร

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของการศึกษาชีวิต เพื่อจะปลดเปลื้องความทุกข์นานาประการ ออกเสียจากชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงว่า ชีวิตมันคืออะไรกันแน่ ปกติเราปล่อยให้ชีวิต ดำเนินไปตามความเคยชินของมันปีแล้วปีเล่า มันมีแต่ความมืดบอด

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นเรื่องของการตีปัญหาซับซ้อนของชีวิต เป็นเรื่องของการค้นหาความจริงของชีวิต ตามที่พระพุทธเจ้าได้ทรงกระทำมา

วิปัสสนากรรมฐาน เป็นการเริ่มต้นในการปลดเปลื้องตัวเราให้พ้นจากความเป็นทาสของความเคยชิน

ในตัวเรานั้น เรามีของดีที่มีคุณค่าอยู่แล้ว คือ สติสัมปชัญญะ แต่เรานำออกมาใช้น้อยนัก ทั้งที่เป็นของมีคุณค่าแก่ชีวิตหาประมาณมิได้ วิปัสสนาฯ เป็นการระดมเอา สติ ทั้งหมดที่มีอยู่ในตัวเราเอา ออกมาใช้ให้เกิดประโยชน์์

วิปัสสนากรรมฐานคือการอัญเชิญ สติ ที่ถูกทอดทิ้ง ขึ้นมานั่งบัลลังก์ของชีวิต เมื่อสติขึ้นมานั่งสู่บัลลังก์แล้ว จิตก็จะคลานเข้ามา หมอบถวายบังคมอยู่เบื้องหน้าสติ สติจะควบคุมจิต มิให้แส่ออกไปคบหาอารมณ์ต่าง ๆ ภายนอก ในที่สุดจิตก็จะค่อยคุ้นเคย กับการสงบอยู่กับอารมณ์เดียว เมื่อจิตสงบตั้งมั่นดีแล้ว การรู้ตามความเป็นจริง ก็เป็นผลติดตามมา เมื่อนั้นแหละเราก็จะทราบได้ว่า ความทุกข์มันมาจากไหน เราจะสกัดกั้นมันได้อย่างไร นั่นแหละผลงานของสติละ

ภายหลังจากได้ทุ่มเทสติสัมปชัญญะลงไปอย่างเต็มที่แล้ว จิตใจของผู้ปฏิบัติ ก็จะได้สัมผัสกับสัจจะแห่งสภาวะธรรมต่าง ๆ อันผู้ปฏิบัติไม่เคยเห็นอย่างซึ้งใจมาก่อน ผลงานอันมีค่าล้ำเลิศของสติ สัมปชัญญะ จะทำให้เราเห็นอย่างแจ้งชัดว่า ความทุกข์ร้อนนานาประการนั้น มันไหลเข้ามาสู่ชีวิตของเราทางช่องทวาร ๖ ช่องทวาร ๖ นั้นเป็นที่ต่อและบ่อเกิดสิ่งเหล่านี้คือ ขันธ์ ๕ จิต กิเลส

ช่องทวาร ๖ นี้ ทางพระพุทธศาสนาท่านเรียกว่า อายตนะ อายตนะมีภายใน ๖ ภายนอก ๖ ดังนี้ อายตนะภายในมี ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ อายตนะภายนอกมีรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ (กาย ถูกต้องสัมผัส) ธรรมารมณ์ (อารมณ์ที่เกิดจากใจ) รวม ๑๒ อย่างนี้ มีหน้าที่ต่อกันเป็นคู่ ๆ คือ ตาคู่กับรูป หูคู่กับเสียง จมูกคู่กับกลิ่น ลิ้นคู่กับรส กายคู่กับการสัมผัสถูกต้อง ใจคู่กับอารมณ์ที่เกิดกับใจ

เมื่ออายตนะคู่ใดคู่หนึ่ง ต่อถึงกันเข้า จิตก็จะเกิดขึ้น ณ ที่นั้นเอง และจะดับลงไป ณ ที่นั้นทันที จึงเห็นได้ว่า จิตไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน การที่เราเห็นว่าจิตเป็นตัวตนนั้น ก็เพราะว่าการเกิดดับของจิตรวดเร็วมาก การเกิดดับของจิตเป็นสันตติคือ เกิดดับต่อเนื่องไม่ขาดสาย เราจึงไม่มีทางทราบได้ถึงความไม่มีตัวตนของจิต ต่อเมื่อเราทำการกำหนด รูป นาม เป็นอารมณ์ตามระบบวิปัสสนากรรมฐาน ทำการสำรวมสติ สัมปชัญญะอย่างมั่นคง จนจิตตั้งมั่นดีแล้ว เราจึงจะรู้เห็นการเกิด ดับของจิต รวมทั้งสภาวะธรรมต่าง ๆ ตามความเป็นจริง

การที่จิตเกิดทางอายตนะต่าง ๆ นั้น มันเป็นการทำงานร่วมกันของขันธ์ ๕ เช่น ตากระทบรูป เจตสิกต่าง ๆ ก็เกิดตามมาพร้อมกัน คือ เวทนา เสวยอารมณ์ สุข ทุกข์ ไม่สุขไม่ทุกข์ สัญญา จำได้ว่ารูปอะไร สังขาร ทำหน้าที่ปรุงแต่ง วิญญาณ รู้ว่ารูปนี้ ดี ไม่ดี หรือ เฉย ๆ กิเลสต่าง ๆ ก็จะติดตามเข้ามาคือ ดีชอบเป็นโลภะ ไม่ดีไม่ชอบเป็นโทสะ เฉย ๆ ขาดสติกำหนดเป็นโมหะ อันนี้เองจะบันดาล ให้อกุศลกรรมต่าง ๆ เกิดติดตามมา ความประพฤติชั่วร้ายต่าง ๆ ก็จะเกิด ณ ตรงนี้เอง

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเอาสติเข้าไปตั้งกำกับจิตตามช่องทวารทั้ง ๖ เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้ว ก็จะเข้าตัดต่ออายตนะทั้ง ๖ คู่นั้นไม่ให้ติดต่อกันได้ โดยจะเห็นตามความเป็นจริงว่า เมื่อตากระทบรูปก็จะเห็นว่า สักแต่ว่าเป็นแค่รูป ไม่ใช่ตัว ไม่ใช่ตน บุคคล เรา เขา ไม่ทำให้ความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่ง ให้เกิดความพอใจหรือไม่พอใจเกิดขึ้น รูปก็จะดับลงอยู่ ณ ตรงนั้นเอง ไม่ให้ไหลเข้ามาสู่ภายในจิตได้ อกุศลกรรมทั้งหลายก็จะไม่ตามเข้ามา

สติที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้นกิเลสไม่ให้เข้ามาทางอายตนะแล้ว ยังเพ่งเล็งอยู่ที่รูปกับนาม เมื่อเพ่งอยู่ก็จะเห็นความเกิดดับของรูปนามนั้น จักนำไปสู่การเห็นพระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความเป็นทุกข์ ความไม่มีตัวตนของสังขาร หรืออัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น จะมีผลน้อยมากเพียงใด อยู่ที่หลักใหญ่ ๓ ประการ

๑. อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน

๒. สติมา มีสติ

๓. สัมปชาโนมีสัมปชัญญะอยู่กับรูปนามตลอดเวลาเป็นหลักสำคัญ

นอกจากนั้นผู้ปฏิบัติต้องมีศรัทธา ความเชื่อว่าการปฏิบัติเช่นนี้มีผลจริง ความมีศรัทธานี้ เปรียบประดุจเมล็ดพืชที่สมบูรณ์ดีพร้อม ที่จะงอกงามได้ทันทีที่นำไปปลูก ความเพียรประดุจน้ำ ที่พรมลงไปที่เมล็ดพืชนั้น เมื่อเมล็ดพืชได้น้ำพรมลงไป ก็จะงอกงามสมบูรณ์ขึ้นทันที เพราะฉะนั้น ผู้ปฏิบัติจะได้ผลมากน้อยเพียงใดย่อมขึ้นอยู่กับสิ่งเหล่านี้ด้วย

การปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติจะต้องเปรียบเทียบดูจิตใจของเราในระหว่าง ๒ วาระ ว่าก่อนที่ยังไม่ปฏิบัติ และหลังการปฏิบัติแล้ว วิเคราะห์ตัวเองว่า มีความแตกต่างกันประการใด

หมายเหตุ เรื่องของวิปัสสนากรรมฐานที่เขียนขึ้นดังต่อไปนี้ จะยึดถือเป็นตำราไม่ได้ ผู้เขียนเขียนขึ้น เป็นแนวปฏิบัติเท่านั้น โดยพยายามเขียนให้ง่ายแก่การศึกษา และปฏิบัติมากที่สุดเท่าที่จะกระทำได้เท่านั้นเอง

จากหนังสือคู่มือการฝึกอบรมพัฒนาจิต วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
โดย พ.ท.วิง รอดเฉย ปี ๒๕๒๙




ธุระในพระศาสนา

ธุระในพระศาสนามี ๒ อย่างคือ ๑. คันถธุระ ๒. วิปัสสนาธุระ

คันถธุระ ได้แก่การศึกษาเล่าเรียนให้รู้เรื่องพระศาสนา และหลักศีลธรรม

วิปัสสนาธุระได้แก่ ธุระหรืองานอย่างสูงในพระศาสนา ซึ่งเป็นงานที่จะช่วยให้ผู้นับถือพระพุทธศาสนาได้รู้จักดับทุกข์ หรือเปลื้องทุกข์ออกจากตน มากน้อยตามควรแก่การปฏิบัติ ทางนี้ทางเดียวเท่านั้น ที่จะทำให้คนพ้นทุกข์ ตั้งแต่ทุกข์เล็กจนถึงทุกข์ใหญ่ เช่น การเกิด แก่ เจ็บ ตาย และเป็นทางปฏิบัติที่มีอยู่ ในศาสนาของพระพุทธเจ้าเท่านั้น

วิปัสสนาธุระ คือ ส่วนมากเราเรียกกันว่า วิปัสสนากรรมฐานนั่นเอง เมื่อกล่าวถึงกรรมฐาน ขอให้ผู้ปฏิบัติแยกกรรมฐานออกเป็น ๒ ประเภทเสียก่อน การปฏิบัติจึงจะไม่ปะปนกัน

กรรมฐานมี ๒ ประเภท คือ

สมถกรรมฐาน สมถกรรมฐาน กรรมฐานชนิดนี้เป็นอุบายให้ใจสงบคือ ใจที่อบรมในทางสมถแล้ว จะเกิดนิ่งและเกาะอยู่กับอารมณ์หนึ่งเพียงอย่างเดียว อารมณ์ของสมถกรรมฐานนั้น แบ่งออกเป็น ๔๐ กอง คือ กสิณ ๑๐ อสุภ ๑๐ อนุสติ ๑๐ พรหมวิหาร ๔ อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑ จตุธาตวัฏฐาน ๑ อรูปธรรม ๔
วิปัสสนากรรมฐาน วิปัสสนากรรมฐาน เป็นอุบายให้เรืองปัญญา คือ เกิดปัญญาเห็นแจ้ง หมายความว่า เห็นปัจจุบัน เห็นรูปนาม เห็นพระไตรลักษณ์และเห็น มรรค ผล นิพพาน

จากหนังสือคู่มือการฝึกอบรมพัฒนาจิต วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
โดย พ.ท.วิง รอดเฉย ปี ๒๕๒๙





การเรียนรู้วิปัสสนากรรมฐาน

การเรียนรู้วิปัสสนากรรมฐานนั้นเรียนได้ ๒ อย่างคือ ๑. เรียนอันดับ ๒. เรียนสันโดษ

การเรียนอันดับ คือ การเรียนให้รู้จักขันธ์ ๕ ว่าได้แก่อะไรบ้าง ย่อให้สั้นในทางปฏิบัติ เหลือเท่าใด ได้แก่อะไรบ้าง เกิดที่ไหน เกิดเมื่อไร เมื่อเกิดขึ้นแล้วอะไรจะเกิดตามมาอีก จะกำหนดตรงไหน จึงจะถูกขันธ์ ๕ เมื่อกำหนดถูกแล้วจะได้ประโยชน์อย่างไรบ้างเป็นต้น นอกจากนี้ก็ต้องเรียนให้รู้เรื่องในอายตนะ ๑๒ ธาตุ ๑๘ อินทรีย์ ๒๒ อริยสัจ ๔ ปฏิจจสมุปบาท ๑๒ โดยละเอียดเสียก่อน เรียกว่า เรียนภาคปริยัติ วิปัสสนาภูมินั่นเอง แล้วจึงจะลงมือปฏิบัติได้

การเรียนสันโดษ คือ การเรียนย่อ ๆ สั้น ๆ สอนเฉพาะที่ต้องปฏิบัติเท่านั้น เรียนชั่วโมงนี้ก็ปฏิบัติชั่วโมงนี้เลย เช่น สอนการเดินจงกรม สอนวิธีนั่งกำหนด สอนวิธีกำหนดเวทนา สอนวิธีกำหนดจิต แล้วลงมือปฏิบัติเลย

หลักใหญ่ในการปฏิบัติวิปัสสนาฯ มีหลักอยู่ ๓ ประการ คือ

อาตาปี ทำความเพียรเผากิเลสให้เร่าร้อน
สติมา มีสติ คือระลึกอยู่เสมอว่าขณะนี้เราทำอะไร
สัมปชาโน มีสัมปชัญญะ คือขณะนี้ทำอะไรอยู่นั้นต้องรู้ตัวอยู่ตลอดเวลา

จากหนังสือคู่มือการฝึกอบรมพัฒนาจิต วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
โดย พ.ท.วิง รอดเฉย ปี ๒๕๒๙





สติปัฏฐาน ๔

มักจะมีคำถามอยู่เสมอว่า เราจะปฏิบัติธรรมในแนวไหน หรือสำนักใด จึงจะเป็นการถูกต้องและได้ผล คำถามเช่นนี้เป็นคำถามที่ถูกต้อง และไม่ควรถูกตำหนิว่าชอบเลือกนั่นเลือกนี่ ที่ถามก็เพื่อระวังไว้ ไม่ให้เดินทางผิด ทางปฏิบัติที่ถูกต้อง คือ ปฏิบัติตามสติปัฏฐาน ๔

สติปัฏฐาน ๔ แปลให้เข้าใจง่าย ๆ ก็คือ ฐานที่ตั้งของสติ หรือเหตุปัจจัยสำหรับปลูกสติให้เกิดขึ้นในฐานทั้ง ๔ คือ

๑. กายานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การพิจารณากาย จำแนกโดยละเอียดมี ๑๔ อย่าง คือ

อัสสาสะปัสสาสะ คือ ลมหายใจเข้าออก
อิริยาบถ ๔ ยืน เดิน นั่ง นอน
อิริยาบถย่อย การก้าวไปข้างหน้า ถอยไปทางหลัง คู้ขาเข้า
เหยียดขาออก งอแขนเข้า เหยียดแขนออก การถ่ายหนัก ถ่ายเบา
การกิน การดื่ม การเคี้ยว ฯลฯ คือ การเคลื่อนไหวร่างกายต่าง ๆ
ความเป็นปฏิกูลของร่างกาย (อาการ ๓๒)
การกำหนดร่างกายเป็นธาตุ ๔
ป่าช้า ๙

๒. เวทนานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ การเจริญสติเอาเวทนาเป็นที่ตั้ง เวทนาแปลว่า การเสวยอารมณ์ มี ๓ อย่างคือ

สุขเวทนา
ทุกขเวทนา
อุเบกขาเวทนา

เมื่อเวทนาเกิดขึ้น ก็ให้มีสติสัมปชัญญะกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า เวทนานี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน เวทนาก็สักแต่ว่าเวทนา ไม่ใช่สัตว์บุคคล ตัวตนเราเขาไม่ยินดียินร้าย ตัณหาก็จะไม่เกิดขึ้น และปล่อยวางเสียได้ เวทนานี้เมื่อเจริญให้มาก ๆ เป็นไปอย่างสมบูรณ์แล้ว อาจทำให้ทุกขเวทนาลดน้อยลง หรือไม่มีอาการเลยก็เป็นได้ อย่างที่เรียกกันว่า สามารถแยก รูป นาม ออกจากกันได้ (เวทนาอย่างละเอียดมี ๙ อย่าง)

๓. จิตตานุปัสสนาสติปัฏฐาน ได้แก่ การปลูกสติโดยเอาจิตเป็นอารมณ์ หรือเป็นฐานที่ตั้งจิตนี้มี ๑๖ คือ

จิตมีราคะ จิตปราศจากราคะ
จิตมีโทสะ จิตปราศจากโทสะ
จิตมีโมหะ จิตปราศจากโมหะ
จิตหดหู่ จิตฟุ้งซ่าน
จิตยิ่งใหญ่ (มหัคคตจิต) จิตไม่ยิ่งใหญ่ (อมหัคคตจิต)
จิตยิ่ง (สอุตตรจิต) จิตไม่ยิ่ง (อนุตตรจิต)
จิตตั้งมั่น จิตไม่ตั้งมั่น
จิตหลุดพ้น จิตไม่หลุดพ้น

การทำวิปัสสนา ให้มีสติพิจารณากำหนดให้เห็นว่า จิตนี้เมื่อเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ไม่เที่ยงแท้แน่นอน ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได

๔. ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐาน คือ มีสติพิจารณาธรรมทั้งหลายทั้งปวง คือ

๔.๑ นิวรณ์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นว่า นิวรณ์ ๕ แต่ละอย่างมีอยู่ในใจ หรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร ที่ละได้แล้วไม่เกิดขึ้นอีกต่อไปอย่างไร ให้รู้ชัดตามความเป็นจริงที่เป็นอยู่ในขณะนั้น

๔.๒ ขันธ์ ๕ คือ กำหนดรู้ว่าขันธ์ ๕ แต่ละอย่างคืออะไร เกิดขึ้นได้อย่างไร ดับไปได้อย่างไร

๔.๓ อายตนะ คือ รู้ชัดในอายตนะภายในภายนอกแต่ละอย่าง รู้ชัดในสังโยชน์ที่เกิดขึ้น เพราะอาศัยอายตนะนั้น ๆ รู้ชัดว่าสังโยชน์ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้วละเสียได้อย่างไร

๔.๔ โพชฌงค์ คือ รู้ชัดในขณะนั้นว่า โพชฌงค์ ๗ แต่ละอย่างมีอยู่ในใจตนหรือไม่ ที่ยังไม่เกิด เกิดขึ้นได้อย่างไร ที่เกิดขึ้นแล้ว เจริญเต็มบริบูรณ์ได้อย่างไร

๔.๕ อริยสัจ ๔ คือ รู้ชัดอริยสัจ ๔ แต่ละอย่างตามความเป็นจริงว่าคืออะไร

สรุป ธัมมานุปัสสนาสติปัฏฐานนี้ คือ จิต ที่คิดเป็น กุศล อกุศลและอัพยากฤต เท่านั้น ผู้ปฏิบัติสติปัฏฐาน ๔ ต้องทำความเข้าใจอารมณ์ ๔ ประการให้ถูกต้องคือ

๑. กาย ทั่วร่างกายนี้ไม่มีอะไรสวยงามแม้แต่ส่วนเดียว ควรละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้

๒. เวทนา สุข ทุกข์ และไม่สุขไม่ทุกข์นั้น แท้จริงแล้วมีแต่ทุกข์ แม้เป็นสุขก็เพียงปิดบังความทุกข์ไว้้

๓. จิต คือ ความนึกคิด เป็นสิ่งที่เปลี่ยนแปลงแปรผัน ไม่เที่ยง ไม่คงทน

๔. ธรรม คือ อารมณ์ที่เกิดกับจิต อาศัยเหตุปัจจัยเกิดขึ้น เมื่อเหตุปัจจัยดับไป อารมณ์นั้นก็ดับไปด้วย ไม่มีสิ่งเป็นอัตตาใด ๆ เลย

จากหนังสือคู่มือการฝึกอบรมพัฒนาจิต วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
โดย พ.ท.วิง รอดเฉย ปี ๒๕๒๙





วิธีปฏิบัติกรรมฐานเบื้องต้น

การเดินจงกรม

ก่อนเดินให้ยกมือไขว้หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย วางไว้ตรงกระเบนเหน็บ ยืนตัวตรง เงยหน้า หลับตา ให้สติจับอยู่ที่ปลายผม กำหนดว่า “ยืนหนอ” ช้า ๆ ๕ ครั้ง เริ่มจากศีรษะลงมาปลายเท้า และจากปลายเท้าขึ้นไปบนศีรษะ กลับขึ้นกลับลงจนครบ ๕ ครั้ง

แต่ละครั้งแบ่งเป็นสองช่วง ช่วงแรก คำว่า “ยืน” จิตวาดมโนภาพร่างกาย จากศีรษะลงมาหยุดที่สะดือ คำว่า “หนอ” จากสะดือลงไปปลายเท้า กำหนดคำว่า “ยืน” จากปลายเท้ามาหยุดที่สะดือ คำว่า “หนอ” จากสะดือขึ้นไปปลายผม กำหนดกลับไปกลับมา จนครบ ๕ ครั้ง ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกาย อย่าให้ออกไปนอกกาย

เสร็จแล้ว ลืมตาขึ้น ก้มหน้าทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๑ ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...” กำหนดในใจ คำว่า “ขวา” ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อมกัน “ย่าง” ต้องก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าช้าที่สุดเท้า ยังไม่เหยียบพื้น คำว่า “หนอ” เท้าลงถึงพื้นพร้อมกัน เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดว่า “ซ้าย...” “ย่าง...” “หนอ...” คงปฏิบัติ เช่นเดียวกันกับ “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...”

ระยะก้าวในการเดิน ห่างกันประมาณ ๑ คืบ เป็นอย่างมากเพื่อการทรงตัว ขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้แล้ว ให้นำเท้ามาเคียงกัน เงยหน้าหลับตา กำหนด “ยืนหนอ” ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง ทำความรู้สึกโดยจิต สติ รู้อยู่ตั้งแต่กลางกระหม่อม แล้วกำหนด “ยืนหนอ” ๕ ครั้ง เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมาถึงปลายเท้า เบื้องบนตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นมา “ยืนหนอ” ๕ ครั้ง แล้วหลับตา ตั้งตรง ๆ เอาจิตปักไว้ที่กระหม่อม เอาสติตาม ดังนี้ “ยืน.....” (ถึงสะดือ) “หนอ.....” (ถึงปลายเท้า) หลับตาอย่าลืมตา นึกมโนภาพ เอาจิตมอง ไม่ใช่มองเห็นด้วยสายตา “ยืน……” (จากปลายเท้าถึงสะดือ หยุด) แล้วก็ “หนอ…….” ถึงปลายผม คนละครึ่ง พอทำได้แล้ว ภาวนา “ยืน….หนอ....” จากปลายผม ถึงปลายเท้าได้ทันที ไม่ต้องไปหยุดที่สะดือ แล้วคล่องแคล่วว่องไว ถูกต้องเป็นธรรม

ขณะนั้นให้สติอยู่ที่ร่างกายอย่าให้ออกไปนอกกาย เสร็จแล้วลืมตาขึ้น ก้มหน้า ทอดสายตาไปข้างหน้าประมาณ ๑ ศอก สติจับอยู่ที่เท้า การเดิน กำหนดว่า “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...” กำหนดในใจ

คำว่า “ขวา” ต้องยกส้นเท้าขวาขึ้นจากพื้นประมาณ ๒ นิ้ว เท้ากับใจนึกต้องให้พร้อม
คำว่า “ย่าง” ก้าวเท้าขวาไปข้างหน้าให้ช้าที่สุด เท้ายังไม่เหยียบพื้น
คำว่า “หนอ” เท้าเหยียบพื้นเต็มฝ่าเท้า อย่าให้ส้นเท้าหลังเปิด

เวลายกเท้าซ้ายก็เหมือนกัน กำหนดคำว่า “ซ้าย...” “ย่าง...” “หนอ...” คงปฏิบัติเช่นเดียวกับ “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...” ระยะก้าวในการเดินห่างกันประมาณ ๑ คืบ เป็นอย่างมาก เพื่อการทรงตัวขณะก้าวจะได้ดีขึ้น เมื่อเดินสุดสถานที่ใช้เดินแล้ว พยายามใช้เท้าขวาเป็นหลักคือ “ขวา...” “ย่าง...” “หนอ...” แล้วตามด้วยเท้า “ซ้าย...” “ย่าง...” “หนอ...” จะประกบกันพอดี

แล้วกำหนดว่า “หยุด... หนอ...” จากนั้นเงยหน้า หลับตากำหนด “ยืน... หนอ...” ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง เหมือนกับที่ได้อธิบายมาแล้ว ลืมตา ก้มหน้า ท่ากลับ การกลับกำหนดว่า “กลับหนอ” ๔ ครั้ง คำว่า “กลับหนอ”

ครั้งที่หนึ่ง ยกปลายเท้าขวา ใช้ส้นเท้าขวาหมุนตัวไปทางขวา ๙๐ องศา
ครั้งที่ ๒ ลากเท้าซ้ายมาติดกับเท้าขวา
ครั้งที่ ๓ ทำเหมือนครั้งที่ ๑
ครั้งที่ ๔ ทำเหมือนครั้งที่ ๒

หากฝึกจนชำนาญแล้วเราสามารถกำหนดให้ละเอียดขึ้น โดยการหมุนตัวจาก ๙๐ องศา เป็น ๔๕ องศา จะเป็นการกลับหนอทั้งหมด ๘ ครั้ง เมื่ออยู่ในท่ากลับหลังแล้วต่อไปกำหนด “ยืน... หนอ...” ช้า ๆ อีก ๕ ครั้ง ลืมตา ก้มหน้า แล้วกำหนดเดินต่อไป กระทำเช่นนี้จนหมดเวลาที่ต้องการ





การนั่ง

กระทำต่อจากการเดินจงกรม อย่าให้ขาดตอนลง เมื่อเดินจงกรมถึงที่จะนั่ง ให้กำหนด “ยืน... หนอ...” อีก ๕ ครั้ง ตามที่กระทำมาแล้วเสียก่อน แล้วกำหนดปล่อยมือลงข้างตัวว่า “ปล่อยมือหนอ ๆ ๆ ๆ ๆ” ช้า ๆ จนกว่าจะลงสุดเวลานั่งค่อย ๆ ย่อตัวลงพร้อมกับกำหนดตามอาการที่ทำไปจริง ๆ เช่น “ย่อตัวหนอ ๆ ๆ ๆ” “เท้าพื้นหนอ ๆ ๆ” “คุกเข่าหนอ ๆ ๆ” “นั่งหนอ ๆ ๆ” เป็นต้น

วิธีนั่ง ให้นั่งขัดสมาธิ คือ ขาขวาทับขาซ้าย นั่งตัวตรง หลับตา เอาสติมาจับอยู่ที่สะดือที่ท้องพองยุบ เวลาหายใจเข้าท้องพอง กำหนดว่า “พอง หนอ” ใจนึกกับท้องที่พองต้องให้ทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน หายใจออกท้องยุบ กำหนดว่า “ยุบ หนอ” ใจนึกกับท้องที่ยุบต้องทันกัน อย่าให้ก่อนหรือหลังกัน

ข้อสำคัญให้สติจับอยู่ที่พอง ยุบ เท่านั้น อย่าดูลมที่จมูก อย่าตะเบ็งท้องให้มีความรู้สึกตามความ เป็นจริงว่าท้องพองไปข้างหน้า ท้องยุบมาทางหลัง อย่าให้เห็นเป็นไปว่า ท้องพองขึ้นข้างบน ท้องยุบลงข้างล่าง ให้กำหนดเช่นนี้ตลอดไป จนกว่าจะถึงเวลาที่กำหนด

เมื่อมีเวทนา เวทนาเป็นเรื่องสำคัญที่สุด จะต้องบังเกิดขึ้นกับผู้ปฏิบัติแน่นอน จะต้องมีความอดทน เป็นการสร้างขันติบารมีไปด้วย ถ้าผู้ปฏิบัติขาดความอดทนเสียแล้ว การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้นก็ล้มเหลว ในขณะที่นั่งหรือเดินจงกรมอยู่นั้น ถ้ามีเวทนาความเจ็บ ปวด เมื่อย คัน ๆ เกิดขึ้น ให้หยุดเดิน หรือหยุดกำหนดพองยุบ ให้เอาสติไปตั้งไว้ที่เวทนาเกิด และกำหนดไปตามความเป็นจริงว่า “ปวดหนอ ๆ ๆ” “เจ็บหนอ ๆ ๆ” “คันหนอ ๆ ๆ” เป็นต้น ให้กำหนดไปเรื่อย ๆ จนกว่าเวทนาจะหายไป เมื่อเวทนาหายไปแล้ว ก็ให้กำหนดนั่งหรือเดินต่อไป

จิต เวลานั่งอยู่หรือเดินอยู่ ถ้าจิตคิดถึงบ้าน คิดถึงทรัพย์สินหรือคิดฟุ้งซ่านต่าง ๆ นานา ก็ให้เอาสติปักลงที่ลิ้นปี่พร้อมกับกำหนดว่า “คิดหนอ ๆ ๆ ๆ” ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจิตจะหยุดคิด แม้ดีใจ เสียใจ หรือโกรธ ก็กำหนด เช่นเดียวกันว่า “ดีใจหนอ ๆ ๆ ๆ” “เสียใจหนอ ๆ ๆ ๆ” “โกรธ หนอ ๆ ๆ ๆ” เป็นต้น




เวลานอน

เวลานอนค่อย ๆ เอนตัวนอนพร้อมกับกำหนดตามไปว่า “นอนหนอ ๆ ๆ ๆ” จนกว่าจะนอนเรียบร้อย ขณะนั้นให้เอาสติจับ อยู่กับอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย เมื่อนอนเรียบร้อยแล้วให้เอาสติมาจับที่ท้อง แล้วกำหนดว่า “พอง หนอ” “ยุบ หนอ” ต่อไปเรื่อย ๆ ให้คอยสังเกตให้ดีว่า จะหลับไปตอนพอง หรือตอนยุบ

อิริยาบถต่าง ๆ การเดินไปในที่ต่าง ๆ การเข้าห้องน้ำ การเข้าห้องส้วม การรับประทานอาหาร และการกระทำกิจการงานทั้งปวง ผู้ปฏิบัติต้องมีสติกำหนดอยู่ทุกขณะในอาการเหล่านี้ ตามความเป็นจริง คือ มีสติ สัมปชัญญะ เป็นปัจจุบัน อยู่ตลอดเวลา



หมายเหตุ การเดินจงกรมนั้น กระทำการเดินได้ถึง ๖ ระยะ แต่ในที่นี้อธิบายไว้เพียงระยะเดียว การเดินระยะต่อไปนั้นจะต้องเดินระยะที่ ๑ ให้ถูกต้อง คือ ได้ปัจจุบันธรรมจริง จึงจะเพิ่มระยะต่อไป ตามผลการปฏิบัติของแต่ละบุคคล





สรุปการกำหนดต่าง ๆ พอสังเขป ดังนี้

๑. ตาเห็นรูป จะหลับตาหรือลืมตาก็แล้วแต่ ให้ตั้งสติไว้ที่ตา กำหนดว่า เห็นหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเห็นก็สักแต่ว่าเห็น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้ ถ้าหลับตาอยู่ ก็กำหนดไปจนกว่าภาพนั้นจะหายไป

๒. หูได้ยินเสียง ให้ตั้งสติไว้ที่หู กำหนดว่า เสียงหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่าเสียง ก็สักแต่ว่าเสียง ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้

๓. จมูกได้กลิ่น ตั้งสติไว้ที่จมูก กำหนดว่า กลิ่นหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ากลิ่น ก็สักแต่ว่ากลิ่น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้้

๔. ลิ้นได้รส ตั้งสติไว้ที่ลิ้น กำหนดว่า รสหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะรู้สึกว่ารส ก็สักแต่ว่ารส ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้

๕. การถูกต้องสัมผัส ตั้งสติไว้ตรงที่สัมผัส กำหนดตามความเป็นจริงที่เกิดขึ้น ละความพอใจและความไม่พอใจออกเสียได้

๖. ใจนึกคิดอารมณ์ ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า คิดหนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าความนึกคิดจะหายไป

๗. อาการบางอย่างเกิดขึ้น กำหนดไม่ทัน หรือกำหนดไม่ถูกว่า จะกำหนดอย่างไร ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ กำหนดว่า รู้หนอ ๆ ๆ ๆ ไปเรื่อย ๆ จนกว่าอาการนั้นจะหายไป

การที่เรากำหนดจิต และตั้งสติไว้เช่นนี้ เพราะเหตุว่าจิตของเรา อยู่ใต้บังคับของความโลภ ความโกรธ ความหลง เช่น ตาเห็นรูป ชอบใจ เป็นโลภะ ไม่ชอบใจ เป็นโทสะ ขาดสติไม่ได้กำหนดเป็นโมหะ หูได้ยินเสียง จมูกได้กลิ่น ลิ้นได้รส กายถูกต้องสัมผัสก็เช่นเดียวกัน

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน โดยเอาสติเข้าไปตั้งกำกับตาม อายตนะนั้น เมื่อปฏิบัติได้ผลแก่กล้าแล้ว ก็จะเข้าตัดที่ต่อของอายตนะต่าง ๆ เหล่านั้นมิให้ติดต่อกันได้ คือว่า เมื่อเห็นรูปก็สักแต่ว่าเห็น เมื่อได้ยินเสียงก็สักแต่ว่าได้ยิน ไม่ทำความรู้สึกนึกคิดปรุงแต่ง ให้เกิดความพอใจหรือความไม่พอใจ ในสิ่งที่ปรากฏให้เห็นและได้ยินนั้น รูปและเสียง ที่ได้เห็นและได้ยินนั้นก็จะดับไป เกิด และดับ อยู่ที่นั้นเอง ไม่ไหลเข้ามาภายใน อกุศลธรรมความทุกข์ร้อนใจที่คอยจะติดตาม รูป เสียง และอายตนะภายนอกอื่น ๆ เข้ามาก็เข้าไม่ได้้

สติที่เกิดขึ้นขณะปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น นอกจากจะคอยสกัดกั้นอกุศลธรรม และความทุกข์ร้อนใจที่จะเข้ามาทางอายตนะแล้ว สติเพ่งอยู่ที่ รูป นาม เมื่อเพ่งเล็งอยู่ก็ย่อมเห็นความเกิดดับของ รูป นาม ที่ดำเนินไปตามอายตนะต่าง ๆ อย่างไม่ขาดสาย การเห็นการเกิดดับของรูปนามนั้น จะนำไปสู่การเห็น พระไตรลักษณ์ คือ ความไม่เที่ยง ความทุกข์ และความไม่มีตัวตนของสังขาร หรือ อัตภาพอย่างแจ่มแจ้ง

จากหนังสือระเบียบปฏิบัติสำหรับผู้ปฏิบัติธรรม วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี









คติธรรมคำสอน เรื่องการปฏิบัติกรรมฐาน

ยืน

ผู้ปฏิบัติยืนตรงแล้ว ไม่ต้องชิดเท้า เดี๋ยวจะล้มไป ยืนธรรมดา เอามือไพล่หลัง มือขวาจับข้อมือซ้าย วางตรงกระเบนเหน็บ ตั้งตัวตรง ๆ วาดมโนภาพว่า เรายืนรูปร่างอย่างนี้ เป็นมโนภาพ ผ่าศูนย์กลางลงไปถึงปลายเท้า.. .ยืน... มโนภาพ จิตก็ผ่า จากขม่อม (กระหม่อม) ลงไปสติตามควบคุมจิต ยืนถึงสะดือ แล้วสติตามจิตถึงสะดือทันไหม ทัน วรรคสอง ว่า หนอ...จากสะดือ ลง ไปปลายเท้า นี่จังหวะที่แน่นอน สติตามจิตลงไป ผ่าศูนย์กลาง ๙๐ องศาเลยนะ...

ลองดูนะ แล้วสำรวมปลายเท้าขึ้นมา บนศีรษะครั้งที่สอง ยืนดู (มโนภาพ) เท้าทั้งสองข้าง ยืน...ขึ้นมาถึงสะดือจุดศูนย์กลาง สติตามทันไหม ทัน วรรคสองจากสะดือ หนอ...ถึงขม่อมพอดี นี่ได้จังหวะ ถ้าทำอะไรผิดจังหวะใช้ไม่ได้...

ยืน...ถึงสะดือแล้ว สติตามไม่ทันเสียแล้ว จิตมันไวมาก เอาใหม่กำหนดใหม่ซี่ ได้ไหม ได้ เปลี่ยนแปลงได้ไม่เป็นไร สำรวมใหม่จากปลายเท้า หลับตาขึ้นมา มโนภาพจากปลายเท้าถึงสะดือ ยืน... ขึ้นมาเอาจิตขึ้นมาทบทวน เรียกว่า ปฏิโลม อนุโลม เป็นต้น สำรวมถึงสะดือแล้ว หนอ...ผ่าศูนย์กลางขึ้นมาเลย ผ่านลิ้นปี่ขึ้นมา ถ้าท่านมีสมาธิดี สติดีนะ มันจะซ่านไปทั้งตัว...

กำหนดยืนต้อง ๕ ครั้ง เบื้องต่ำตั้งแต่ปลายผมลงมา (นับเป็นครั้งที่ ๑) เบื้องบนตั้งแต่ปลายเท้าขึ้นไป (นับเป็นครั้งที่ ๒) หนอ ครั้งที่ ๕ ถึงปลายเท้า ลืมตาได้ ดูปลายเท้าต่อไป

ยืนกำหนด ต้องใช้สติกำหนดมโนภาพ อันนี้มีประโยชน์มาก แต่นักปฏิบัติส่วนใหญ่ไม่ค่อยปฏิบัติจุดนี้ ปล่อยให้ล่วงเลยไปเปล่า โดยใช้ปากกำหนด ไม่ได้ใช้จิตกำหนดไม่ได้ใช้สติกำหนดให้เกิดมโนภาพ อันนี้มีความสำคัญสำหรับผู้ปฏิบัติมาก กำหนดจิต คือ ต้องใช้สติไม่ใช่ว่าแต่ปากยืนหนอ ยืนหนอ ยืนหนอ...

ไม่ง่ายเลย แต่ต้องทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ ให้เคยชิน ให้สติคุ้นกับจิต ให้จิตคุ้นกับสติ ถึงจะเกิดสมาธิ เราจึงต้องมีการฝึกจิตอยู่ที่กระหม่อม วาดมโนภาพลงไปช้า ๆ ลมหายใจนั้นไม่ต้องไปดู แต่ให้หายใจยาว ๆ มันจะถูกจังหวะ แล้วตั้งสติ ตามจิตลงไปว่า ยืน...ที่กระหม่อม แล้ว หนอ...ลงไปที่ปลายเท้า ดูมโนภาพจะเห็นลักษณะกายของเรายืนอยู่ ณ บัดนี้ เห็นกายภายนอกน้อมเข้าไปเห็นกายภายใน...

คำว่า ยืนปักลงที่กระหม่อม แล้วสติตามลงไปเลย วาดมโนภาพ ยืน...ถึงสะดือ แล้ว ร่างกายเป็นอย่างนี้แหละหนอ จากสะดือ ลงไป ก็หนอ...ลงไปปลายเท้าอย่างนี้ทำง่ายดี สำรวมใหม่สักครู่หนึ่ง จึงต้องอย่าไปว่าติดกัน ถ้าว่าติดกันมันไม่ได้จังหวะ ขอให้ญาติโยมผู้ปฏิบัติทำตามนี้ จะได้ผลอย่างแน่นอน

วิธีปฏิบัตินี้ก็ให้กำหนดยืนหนอ ให้เห็นตัวทั้งหมด ให้นึกมโนภาพว่า ตัวเรายืนแบบนี้ ให้กึ่งกลาง ศูนย์กลางจากที่ศีรษะ ลงไประหว่างหน้าอก แล้วก็ลงไประหว่างเท้าทั้งสอง แล้วมันจะไม่มีความไหวติง ในเรื่องขวาหรือซ้าย ยืนนี่ กำหนดไปเรื่อย ๆ ช้า ๆ ให้จิตมันพุ่งไปตามสมควร จากคำว่ายืนหนอ

ยืนนี่ตั้งแต่ศีรษะหายใจเข้าหายใจเข้าไปเลย ให้ยาวไปถึงเท้า ยืนหายใจเข้ายาว ๆ สูดยาว ๆ อย่างที่ไสยศาสตร์เขาใช้กันเรียกว่า “คาบลม”...ไปถึงปลายเท้า แล้วก็ยืนสูดหายใจเข้ามาให้ยาวไปถึงกระหม่อม อัสสาสะ-ปัสสาสะ แล้วจิตจะเป็นกุศลทำให้ยาว รับรองอารมณ์ของโยม ที่เคยฉุนเฉียวจะลดลงไปเลย แล้วก็จิตจะไม่ฟุ้งซ่านด้วย... มูลกรรมฐานอยู่ตรงนี้ มูลฐานของชีวิตก็อยู่ตรงนี้ หายใจยาว ๆ ยืนหนอลงไป หายใจออกยาว ๆ ยืนหนอ อย่างนี้ เป็นต้น



เดิน

บางคน เดินจงกรม หวิวทันทีเวียนศีรษะ แต่แล้วเกาะข้างฝากำหนดเสียให้ได้ คือเวทนา จิตวูบลงไปแวบลงไปเป็นสมาธิ ขณะเดินจงกรม แต่เราหาได้รู้ไม่ว่าเป็นสมาธิ กลับหาว่าเป็นเวทนา เลยเป็นลมเลยเลิกทำไป ข้อเท็จจริงบางอย่างไม่ได้เป็นลม แต่เป็นด้วยสมาธิในการเดินจงกรม หรือมันอาจ เป็นลมด้วยก็ได้ ไม่แน่นอน

ฉะนั้น ขอให้ผู้ปฏิบัติกำหนดหยุดเดินจงกรม แล้วกำหนดหวิวเสียให้ได้ กำหนดรู้หนอเสียให้ได้... บางทีเดินจงกรมไปมีเวทนา อย่าเดิน หยุดก่อน แล้วกำหนดเวทนาเป็นสัดส่วนให้หายไปก่อน... เดินไปอีก หวิวเวียนศีรษะ คิดว่าไม่ดี หยุดกำหนด หวิวหนอซะ ตั้งสติไว้ให้ได้ให้ดีก่อนแล้วจึงเดินต่อไป... ขณะเดินจงกรมจิตออกไปข้างนอก หยุด กำหนด หยุดเสีย กำหนดจิตให้ได้ ที่ลิ้นปี่ กำหนดคิดหนอ คิดหนอ คิดหนอ ยืนหยุดเฉย ๆ ตั้งสติเสียให้ได้ แต่ละอย่างให้ช้า ๆ

ขณะเดินจงกรม มีเสียงอะไรมากำหนดเสียงหนอ ถ้าขณะเดินจงกรม มีเวทนา ปวดเมื่อยต้นคอ หยุดเดิน ยืนเฉย ๆ กำหนดเวทนาไป เอาสภาพความเป็นจริงมาแสดงออกว่า มันปวดมากน้อยเพียงใดต้องการอย่างนั้น ไม่ใช่กำหนดแล้วหายปวด กำหนดต้องการ จะให้รู้ว่ามันปวดขนาดไหน... ขณะเดิน จิตออก จิตคิด หยุด อย่าเดิน เอาทีละอย่าง กำหนดที่ลิ้นปี่อีก แล้วหายใจยาว ๆ คิดหนอ ๆ ๆ ๆ ที่ฟุ้งซ่านไปคิดนั้น เดี๋ยวคอมพิวเตอร์จะตีออกมาถูกต้อง อ๋อไปคิดเรื่องเหลวไหล รู้แล้ว เข้าใจแล้ว ถูกต้องแล้ว เดินจงกรมต่อไป ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ เดินให้ช้าที่สุด เพราะจิตมันเร็วมาก จิตมันไวเหลือเกิน ทำให้เชื่องลง ทำให้คุ้นเคย ช้าเพื่อไวนะ เสียเพื่อได้ ต้องจำข้อนี้ไว้สั้น ๆ เท่านั้นเอง

พระพุทธเจ้าสอนอย่างนี้ ให้วัดตัวเรา วัดกาย วัดวาจา วัดใจ ทุกขณะจิต อย่างที่เดินจงกรมนี่ เป็นแบบฝึกหัดเพื่อให้ได้ อาวุธ คือ ปัญญา อาวุธสำคัญมาก คือ ปัญญา เท่านั้น



นั่ง

เดินจงกรมเสร็จแล้วควรนั่งสมาธิ ทำให้ติดต่อกันเหมือนเส้นด้าย ออกจากลูกล้ออย่าให้ขาด ทำให้ติดต่อไป นั่งสมาธิจะขัดสองชั้นก็ได้ ชั้นเดียวก็ได้ หรือขัดสมาธิเพชรก็ได้ แล้วแต่ถนัด ไม่ได้บังคับแต่ประการใด มือขวาทับมือซ้ายหายใจเข้าออกยาว ๆ...

ก่อนกำหนด พอง/ยุบหายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ แล้วสังเกตท้องหายใจเข้าท้องพองไหม หายใจออกท้องยุบไหม ไม่เห็นเอามือคลำดู เอามือวางที่สะดือแล้วหายใจยาว ๆ ท้องพอง เราก็บอกว่า พองหนอ พอ ท้องยุบ เราก็ บอกว่า ยุบหนอ ให้ได้จังหวะ...

ใหม่ ๆ อึดอัดมาก เพราะเราไม่เคย...บางคนมีนิมิตอย่างโน้น นิมิตอย่างนี้มันมากไป มากเรื่องไป เอาอย่างนี้ก่อนนะ เราหายใจเข้ายาว ๆ ที่ท้องพอง กำหนดพอง ไม่ทันหนอ ยุบแล้ว หรือหายใจออกยาว ๆ ที่ท้องยุบ กำหนดยุบ ไม่ทันหนอ พองขึ้นมาอีกแล้ว วิธีปฏิบัติทำอย่างไร วิธีแก้ก็พอง คนละครึ่งซิ ถ้าพองครึ่งไม่ได้ หนอครึ่งไม่ได้ เอาใหม่เปลี่ยนใหม่ได้เปลี่ยนอย่างไร พองแล้วหนอไปเลย ยุบแล้วลงหนอให้ยาวไปเลย เดี๋ยวท่านจะทำได้ไม่ขัดข้องไม่อึดอัดแน่ ใหม่ ๆ นี่ย่อมเป็นธรรมดา ถ้านั่งไม่เห็นพองยุบ มือคลำไม่ได้ นอนลงไปเลย นอนหงายเหยียดยาวไปเลย เอามือประสานท้อง หายใจยาว ๆ แล้วว่าตามมือนี้ไป พองหนอ ยุบหนอ ให้คล่อง พอคล่องแล้ว ไปเดินจงกรมมานั่งใหม่ เดี๋ยวท่านจะชัดเจน

พองหนอ ยุบหนอ บางครั้ง ตื้อไม่พองไม่ยุบ...กำหนดรู้หนอ หายใจเข้ายาว ๆ หายใจออกยาว ๆ ให้ได้ที่ แล้วจึงใช้สติกำหนดต่อไปว่า พองหนอ ยุบหนอ ปัญญาเกิดสมาธิดี ก็ทำให้พองหนอ ยุบหนอ สั้น ๆ ยาว ๆ แล้วทำให้แวบออกข้าง ๆ ทำให้จิตวนอยู่ในพองยุบ ขึ้น ๆ ลง ๆ อย่างนี้ถือว่าดีแล้ว... พองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวขึ้น เดี๋ยวลง ไม่ออกทางพอง ไม่ออกทางยุบ และจิตก็แวบออกไป แวบเข้ามา เดี๋ยวก็จิตคิดบ้าง ฟุ้งซ่านบ้าง สับสนอลหม่านกัน อย่างนี้ถือว่าได้ประโยชน์ในการปฏิบัติ ผู้ปฏิบัติอย่าทิ้ง ผู้ปฏิบัติต้องตามกำหนดต่อไป

การหายใจเข้าออกยาวหรือสั้นไม่สำคัญ สำคัญอยู่ข้อเดียว คือ กำหนดได้ในปัจจุบัน หากเรากำหนดไม่ได้ เร็วไป ช้าไป กำหนดไม่ทัน ก็กำหนดใหม่ อันนี้ไม่ต้องคำนึงว่าพองยาวหรือยุบยาว ยาวไปหรือสั้นไป เราเพียงแต่รู้ว่ากำหนดได้ในปัจจุบัน หายใจเข้าท้องพอง หายใจออกท้องยุบก็กำหนดเรื่อย ๆ ไป อย่างนี้เท่านั้นก็ใช้ได้

พองยุบตอนแรกก็ชัดดี พอเห็นหนักเข้าก็เลือนลาง บางทีแผ่วเบา จนมองไม่เห็นพองยุบ ถ้ามันตื้อไม่พองไม่ยุบ ให้กำหนดรู้หนอ หายใจยาว ๆ รู้หนอ รู้หนอ ตั้งสติไว้ตรงลิ้นปี่ รู้ตัวแล้วก็กลับมากำหนด พองหนอ ยุบหนอ เดี๋ยวชัดเลย จิตฟุ้งซ่านมากไหม ถ้ามีบ้างก็กำหนด





กำหนด

ตัวกำหนด คือ ตัวฝืนใจ เป็นตัวธัมมะ (ธัมมะ แปลว่าฝืนใจ ฝืนใจได้ดีได้) เป็นตัวปฏิบัติ คนเรา ถ้าปล่อยไปตามอารมณ์ของตนแล้วมันจะเห็นแต่ความถูกใจ จะไม่เห็นความถูกต้อง อยู่ตรงนี้นะ

กรรมฐานสอน ง่าย แต่มัน ยาก ตรงที่ท่านไม่ได้ กำหนด ไม่ได้เอาสติมาคุมจิตเลย...ผู้ปฏิบัติธรรม ที่ไม่ได้กำหนดไม่ใช้สติ มันก็ไม่เกิดประโยชน์ในการปฏิบัติเลย ว่างเปล่า ไม่ได้ผล คนเรามีสติอยู่ตรงนั้น... ต้องมีสติทุกอิริยาบถ ต้องกำหนดทั้งนั้น

กำหนดอยาก กำหนดโน่น กำหนดนี่ มันจะมากไปเอาแต่น้อยก่อน เพราะเดี๋ยวจะกำหนดไม่ได้ เอาทีละอย่าง เดี๋ยวก็ได้ดีเอง แล้วค่อยกำหนดต้นจิตทีหลัง ต้นจิต คือ ตัวอยาก อยากหยิบหนอ อยากหยิบหนอ นี่ต้นจิต เป็นเจตสิกเอาไว้ทีหลัง ค่อยเป็น ค่อยไปก่อน ค่อย ๆ ฝึก ให้มันได้ขั้นตอน ให้มันได้จังหวะก่อน แล้วฝึกให้ ละเอียดทีหลัง ถ้าเรากำหนดละเอียดเลย ขั้นตอนไม่ได้ ก็เป็นวิปัสสนึกไปเลย พองยุบก็ไม่ได้

การศึกษาภาคปฏิบัตินี่ยากมาก คือ อารมณ์หลายอย่างมาแทรกแซงเรา ก็ขอเจริญพรว่า ให้กำหนดทีละอย่าง ศึกษาไปทีละอย่าง ทีนี้มันฟุ้งซ่าน ความวัวยังไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรกแซงตลอดเวลา เพราะไม่ได้ปฏิบัติมานาน เช่น มีเวทนากำหนดทีละอย่าง ยิ่งปวดหนัก ๆ เดี๋ยวมันจะเกิดอนิจจังไม่เที่ยง มันเป็นทุกข์จริง ๆ นะ ทุกข์นี่คือตัวธัมมะ เราจะพบความสุขต่อเมื่อภายหลัง แล้วเวทนาก็เกิด ขึ้นสับสนอลหม่านกัน ไอ้โน่นแทรก ไอ้นี่แซง ทำให้เราขุ่นมัว ทำให้เราฟุ้งซ่านตลอดเวลา เราก็กำหนดไปเรื่อย ๆ ทีนี้ถ้าปัญญาเกิดขึ้นเป็นขั้นตอน มันก็จะรู้ในอารมณ์นั้นได้อย่างดีด้วยการกำหนด มันมีปัญหาอยู่ว่า เกิดอะไรให้กำหนดอย่างนั้น อย่าไปทิ้ง อริยสัจ ๔ แน่นอน เกิดทุกข์แล้ว หาที่มาของทุกข์ เอาตัวนั้นมาเป็นหลักปฏิบัติ แล้วจะพบอริยสัจ ๔ แน่นอนโดยวิธีนี้ อันนี้ขอเจริญพรว่า ค่อย ๆ ปฏิบัติ กำหนดไปเรื่อย ๆ พอจิตได้ที่ ปัญญาสามารถตอบปัญหาสิบอย่างได้เลยในเวลาเดียวกัน เดี๋ยวคอมพิวเตอร์สามารถจะแยกประเภทบอกเราได้ อารมณ์ฟุ้งซ่านต้องเป็นแน่เพราะเราเพิ่งปฏิบัติไม่นาน

กำหนดได้เมื่อใด สติมีเมื่อใด สามารถจะระลึกเหตุการณ์ในอดีตได้โดยชัดแจ้ง จากคำกำหนดว่า คิดหนอ มีประโยชน์มาก ถ้าเราสติดี ปัญญาเกิดความคิดของกรรมจะปรากฏ แก่นิมิตให้เราทราบได้ว่า เราจะใช้กรรมวันพรุ่งนี้แล้ว และเราก็จะได้ประโยชน์ในวันพรุ่งนี้แล้ว นี่อดีตแสดงผลงานปัจจุบัน ปัจจุบันแสดงผลงานในอนาคต... ที่เรารู้สรรพสำเนียงเสียงนก กำหนดเสียงหนอ อ๋อนกเขาร้อง ด้วยเหตุผล ๒ ประการ มันบอกได้อย่างนี้ เราเดินผ่านต้นไม้ สติดี สัมปชัญญะดี ต้นไม้จะบอกอารมณ์แก่เราได้ ว่าขณะนี้เป็น อย่างไร

บางทีเราไม่รู้ตัวว่ามันมีอะไรเกิดขึ้น เราก็ไม่รู้ว่าจะปฏิบัติอย่างไร ถ้าเรามีสติเราก็กำหนดตรงลิ้นปี่ รู้หนอ รู้หนอ รู้หนอ พอสติดีปัญญาเกิด เราก็รู้อะไรขึ้นมาเหมือนกัน อันนี้ไม่ใช่วิธีฝึก แต่เป็นวิธีปฏิบัติที่เกิดเฉพาะหน้า

กรรมฐาน ต้องทำซ้ำ ๆ ซาก ๆ เพิ่ม ๆ เติม ๆ คิดหนอบ่อย ๆ ถ้าโกรธก็กำหนด เสียใจก็กำหนด ดีใจก็กำหนด อย่าประมาทอาจองต่อสงครามชีวิต เดี๋ยวจะปลงไม่ตก

มันจะมีความสงบได้แค่ไหนไม่สำคัญ สำคัญที่เรากำหนดได้ในปัจจุบันหรือไม่เท่านั้น แล้วปัญญาจะเกิดเองตามลำดับ แล้วความคุ้นเคยก็จะมาสงบต่อในภายหลัง

ที่จะเน้นกันมากคือ เน้นให้ได้ปัจจุบัน สำหรับพองหนอ ยุบหนอ เพราะตรงนี้เป็นจุดสำคัญมาก ถ้าทำได้คล่องแคล่ว ในจุดมุ่งหมายอันนี้รับรอง อย่างอื่นก็กำหนดได้

การกำหนดไม่ทัน วิธีแก้ทำอย่างไร กำหนดรู้หนอ รู้หนอ ถ้ามันงูบลงไปต้องกำหนด ไม่อย่างนั้นนิสัยเคยชินทำให้พลาด ทำให้ประมาทเคยตัว

อย่างคำว่า เห็นหนอ เห็นหนอ เห็นหนอ นี่นะมีประโยชน์มาก อย่าคิดว่าเป็นเรื่องเหลวไหล จะเห็นอะไรก็ตั้งสติไว้ จนกว่าเราจะได้มติของชีวิตว่าเป็นปัจจัตตังแล้ว มีความรู้ในปัญญาแล้ว เราเห็นอะไร ปัญญา จะบอกเอง แต่การฝึกเบื้องต้นนี่ ต้องฝึกกันเรื่อยไป ถึงญาติโยมกลับไปบ้านไปยังเคหะสถาน หรือจะประกอบการงานของโยม ก็ไม่ต้องใช้เวลาว่าง ใช้งานนั่นแหละเป็นกรรมฐาน

บางคน นั่งกรรมฐานตลอดกระทั่งได้ผลสมาบัติ ไม่มีนิมิตเลย บางคนนิมิตไหลมาเป็นไข่งู ไหลมาเป็นภาพยนตร์เลย กำหนดเห็นหนอ อย่าไปดูมัน เห็นหนอ เห็นหนอ เห็นหนอ ไม่หาย กลับภาพจริงครั้งอดีตชาติ รำลึกชาติได้ นิมิตจะบอกได้ในญาณ ๔

หนอ นี่รั้ง จิต ให้มี สติ หนอตัวนี้สำคัญ ทำให้เรามีสติ ทำให้ความรู้ตัวเกิดขึ้น โดยไม่ฟุ้งซ่านในเรื่องเวทนาที่มันปวด แล้วเราก็ตั้งสติต่อไป

ถ้าวันไหนฟุ้งซ่านมาก ไม่ใช่ ไม่ดีนะ ดีนะมันมีผลงานให้กำหนด แล้วก็ขอให้ท่านกำหนดเสีย ฟุ้งซ่านก็กำหนด ตั้งอารมณ์ไว้ให้ดี ๆ กำหนดฟุ้งซ่านหนอ กำหนดฟุ้งซ่านหนอ กำหนดฟุ้งซ่านหนอ หายใจยาว ๆ ตามสบาย สักครู่หนึ่งท่านจะหายแน่นอน บางคนดูหนังสือปวดลูกตา อย่าให้เขาเพ่งที่จมูก ต้องลงไปที่ท้อง หายทุกราย บางทีปวดกระบอกตา ดูหนังสือไม่ได้เลย ร่นลงมากำหนดที่ท้อง ก็จะว่องไวคล่องแคล่วขึ้น แล้วจะหายไปเอง

ทวาร ๖ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เป็นที่มาของ นรกสวรรค์ จึงต้องกำหนดจิต ทวาร ๓ ทวารกาย ทวารวาจา ทวารใจ เป็นที่มาของ บุญบาป จึงต้องสำรวม

ตัวกำหนดจิตสำคัญมาก จะทำงาน เขียนหนังสือก็กำหนด จะกินน้ำก็กำหนด จะเดินก็กำหนด จะหยิบอะไรก็ตั้งสติไว้ โกรธก็เอาสติไปใส่ เสียใจก็เอาสติไปใส่ ให้รู้ว่าเสียใจเรื่องอะไร โกรธเรื่องอะไร เราจะรู้ด้วยตัวเองว่า เราสร้างกรรมอะไร และจะแก้ปัญหาอย่างไร

ถ้าเราโกรธ เราไม่สบายใจ กลุ้มอกกลุ้มใจ อย่าไปฝากความกลุ้มค้างคืนไว้ อารมณ์ค้าง เช้าขึ้นมาทำงานจะเสียหาย หายใจยาว ๆ แล้วกำหนดตรงลิ้นปี่ว่า โกรธหนอ โกรธหนอ โกรธหนอ รับรองหายโกรธ โกรธแล้วไม่กำหนด ฝากความโกรธ เก็บไว้ในจิตใจตายไปลงนรกนะ... ในทำนองเดียวกัน กำหนดเสียใจหนอ เสียใจหนอ เสียใจหนอ หายใจยาว ๆ ร้อยครั้งพันครั้ง ความเสียใจจะหายไปเลย ดีใจเข้ามาแทนที่ สร้างความดีต่อไป



เวทนา

ผู้ปฏิบัติธรรมที่มีเวทนา ไม่เคยกำหนด ปล่อยมันไปตามเรื่องตามราว อย่างนี้ใช้ได้หรือ? เลยรู้ไม่จริงในเรื่อง อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ไม่ต้องไปอรรถาธิบายวิชาการให้ฟัง

ถ้าเจริญกรรมฐานไม่ปวด ไม่เมื่อยแล้ว จิตไม่ออก ใช้ไม่ได้ มันต้องสับสนอลหม่าน ะต้องปวดเมื่อยไปทั่วสกลกาย นั่นแหละได้ผล

เวทนา ต้องฝืนต้องใช้สติไปพิจารณา เกิดความรู้ว่าปวดขนาดไหน ปวดอย่างไร แล้วก็ภาวนากำหนดตั้งสติไว้ เอาจิตเข้าไป จับดูการปวด การเคลื่อนย้ายของเวทนา เดี๋ยวก็ชา เดี๋ยวก็สร่าง บังคับมันไม่ได้

กำหนดเวทนา ถ้าหากว่า พองหนอ ยุบหนอ แล้วเกิดเวทนา ต้องหยุด พองยุบไม่เอา เอาจิตปักไว้ ตรงที่เกิดเวทนา เอาสติตามไปดูซิว่ามันปวดแค่ไหน มันจะมากน้อยเพียงใด ไม่ใช่ปวดหนอ แล้วหายเลย ไม่หาย... พอยึดปวดหนอ โอ้โฮ ยิ่งปวดหนัก ตายให้ตาย ปวดหนักทนไม่ไหวแล้ว จะแตกแล้ว ก้นนี่จะร้อนเป็นไฟแล้ว ทนไม่ไหวแล้ว ตายให้ตาย กำหนดไป กำหนดไป สมาธิดี สติดี เวทนาเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ซ่า! หายวับไปกับตา... ขอให้ท่าน อดทน ฝึกฝนในอารมณ์นี้ให้ได้ เวลาเจ็บป่วย ท่านจะได้เอาจิตแยกออก เสียจากป่วยเจ็บ จิตไม่ป่วย ไม่เป็นไรนะ

แต่เรื่องวิปัสสนานี่ มีอย่างหนึ่งที่น่าคิด คือ ปัญญาที่จะเกิดขึ้นได้นั้น มันมีกิเลสมากมายหลายอย่าง ที่เกิดขึ้นในตัวเราทั้งหมด เราจะรู้กฎแห่งกรรมความเป็นจริง จากสภาพเวทนานั้นเอง... ปัญญาที่จะเกิดนั้น เกิดขึ้นโดยความรู้ตัว โดยสติสัมปชัญญะ ภาคปฏิบัติจากการกำหนดนั่นเอง เวทนาที่ปวดเมื่อยนั้น มันปวดตามโน้นตามนี้ เราก็หยุดเอาทีละอย่าง อย่างที่อาตมากล่าวแล้ว กำหนดเวทนาให้ได้ กำหนดได้เมื่อใด มากมายเพียงใด ซาบซึ้งเพียงนั้น มันเกิดเวทนา อย่างอื่นขึ้นมาก็เป็นเรื่องเล็กไป... บางครั้งอาจนึกขึ้นได้ว่าไปทำเวรกรรมอะไรไว้ ไม่ต้องไปคำนึงถึงกรรมนั้นเลย ข้อปฏิบัติเพื่อไม่ให้มีอารมณ์ ฟุ้งซ่านไปอยู่ในกรรมนั้น ก็ด้วยการกำหนดเวทนานั้นเอง

ถ้าเราเจริญกรรมฐาน เราจะรู้กฎแห่งกรรมได้ตอนมีเวทนา คนไหนอดทนต่อเวทนาได้ กำหนดผ่านเวทนาได้ เราจะได้รู้ว่าทุกข์ทรมานที่ผ่านนั้น ไปทำกรรมอะไรไว้... นี่แหละท่านทั้งหลาย ทำให้มันจริง จะเห็นจริง ทำไม่จริง จะเห็นจริงได้อย่างไร ต้องเห็นจาก ตัวเราออกมาข้างนอก รู้ตัวว่าเรามีเวรมีกรรมประการใด ก็ใช้หนี้ โดยไม่ปฏิเสธทุกข้อหา จิตอโหสิกรรมได้ ยินดีรับเวรรับกรรมได้โดยไม่มีปัญหาใด ๆ

ปวดหนอ นี่เป็นสมถะ ไม่ใช่วิปัสสนา จำไว้ให้ได้ ปวดหนอ นี่ยึดบัญญัติเป็นอารมณ์ เพราะว่ามีรูป มันจึงมีเวทนาเกิดสังขารปรุงแต่งมันจึงปวด ปวดแล้วกำหนด ปวดหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ ยิ่งปวดหนัก ถ้าไม่กำหนดเลย ก็ไม่ปวดหรอก แต่วิธีปฏิบัติต้องกำหนด จะได้รู้ว่าเวทนามันเป็นอย่างไร นี่ตัวธัมมะอยู่ที่นี่ ตัวธัมมะอยู่ที่ทุกข์ ถ้าไม่ทุกข์จะไม่รู้อริยสัจ ๔ นะ เอ้าลองดูซิ ถ้าเกิดเวทนาแล้วเลิกโยมจะไม่รู้อริยสัจ ๔ รู้แต่ทุกข์ข้างนอก รู้แต่ทุกข์จร ทุกข์ประจำไม่รู้เลยนะ ทุกข์ประจำนี่ต้องเอาก่อน ปวดหนอ ปวดหนอ นี่ทุกข์ประจำ ปวดหนอ ปวดหนอ โอ๊ยจะตายเลย บางคนนั่งทำไปเหลืออีก ๑๕ นาที จะครบ ๑ ชั่วโมง หรืออีก ๕ นาที จะครบครึ่งชั่วโมง ที่ตั้งใจไว้ จะตายทุกครั้งเลย เอ้าตายให้ตาย ตายให้ตาย ปวดหนอปวดหนอ โอ้โฮมันทุกข์อย่างนี้นี่เอง พิโธ่เอ๋ยกระดูกจะแตกแล้ว แล้วที่ก้นทั้งสองนี่ร้อนฉี่เลย เหมือนหนามมาแทงก้น โอ้โฮมันปวดอย่างนี้นี่เองหนอ ปวดหนอ ปวดหนอ กำหนดไป เป็นไรเป็นกัน พอใกล้เวลาครบกำหนดที่ตั้งสัจจะไว้จะตายเลยนะ ลองดู ลองดู ต้องฝืนใจ

ที่เราทำกรรมฐานนั้น เวทนามันสอนเรา... เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป ปวดหนักเข้า ปวดหนักเข้า แตกเลย มันมีจุดแตกออกมานะโยมนะ แล้วมันจะหายปวดทันที...ใครจะทำถึงขั้นไหนก็ตาม ต้องผ่านหลัก ๔ ประการ กาย เวทนา จิต ธรรม ทุกคนต้องมีเวทนาทุกคน แต่มีเวทนาแล้วเรากำหนดได้ ตั้งสติไว้ให้ได้ไม่เป็นอะไรเลย และเวลาเจ็บระหวยป่วยไข้จะไม่เสียสติ จะไม่เสียสติเลยนะ และเราทำวิปัสสนานี่ มันมีเวทนาหนักยิ่งกว่าก่อนจะตาย เวลาก่อนตายนี่มัน จะหนักเหลือเกิน

ไปวัดกระซิบเบา ๆ ฟังเขาสอน
ชีวิตเราเกิดมาไม่ถาวร
อย่ามัวนอนหลงเล่นไม่เป็นการ
ไฟสามกองกองเผาเราเสมอ
อย่าเลินเล่อควรทำพระกรรมฐาน.....

ไหน ๆ เกิดมาชีวิตต้องดับ คือ ตาย
ใกล้ตายญาติมิตรบอกให้คิดถึงพระอรหัง
รู้ยากที่สุด คือ คุณพระพุทธัง
เพราะกำลัง เวทนา ทุกข์กล้าเอย

เวทนาจะเกิดขึ้นเมื่อมีเหตุปัจจัย จะห้ามไม่ให้เกิด ก็ห้ามไม่ได้ ครั้นเมื่อหมดเหตุปัจจัยก็จะดับไปเอง หมดไปเอง...บางคนไม่รู้ พอปวดก็เลิกไปเลย ไม่เอาแล้วชอบสบาย รับรองท่านจะไม่รู้กฎแห่งกรรม เดี๋ยวจะว่าอาตมาหลอกไม่ได้นะ อาตมาผ่านมาแล้ว

เวทนา คือ ครู ครูมาสอนไม่เรียนสอบตก (ปวดเลิก เมื่อย เลิก ฟุ้งซ่านเลิก) ท่านจะไม่ได้อะไรเลยนะ

หากนั่งครบกำหนดแล้วยังมีเวทนาคาอยู่ อย่าเพิ่งเลิก ให้นั่งต่อไป จนกว่าเวทนาจะเบาบาง ค่อยเลิก

ขอเจริญพรว่า กรรมฐาน สามารถรู้เหตุการณ์ และโรคภัยไข้เจ็บได้ ใครเป็นโรคอะไร ใจเข้มแข็ง ตายให้ตายหายทุกราย

ลูกสาวหลวงพ่อ พ่อเป็นจับกัง แม่รับจ้างซักรีด มาอยู่ช่วยงาน และปฏิบัติด้วยเป็นเวลา ๑ เดือนเต็ม ๆ ปฏิบัติกรรมฐาน ด้วยความอดทนสูง ถึงขนาดตายให้ตาย เขาเป็นโรคโปลิโอ แต่กลับกลายหายได้ พ่อแม่ก็มีงานมากขึ้น ออกจากวัดไปเป็น เถ้าแก่เนี้ย มีลูกออกมาดีหมด จบการศึกษาต่างประเทศทุกคน และหน้าที่การงานก็ดีด้วย



สรุป

ผู้มีปัญญาโปรดฟัง ปฏิบัติอยู่เท่านี้ ไม่ต้องไปทำมาก ยืนหนอ ให้สติกับจิตเป็นหนึ่งเดียว ขวาย่างหนอ ซ้ายย่างหนอ ให้ได้ปัจจุบัน พองหนอ ยุบหนอ ให้ได้ ปัจจุบัน เท่านี้เหลือกินเหลือใช้ เหลือที่จะพรรณนา

ส่งกระแสจิตทางหน้าผาก ชาร์จไฟเข้าหม้อที่ลิ้นปี่ จำตรงนี้เป็นหลักปฏิบัติ ๗ วัน ยืนหนอให้ได้ เห็นหนอให้ได้ พองหนอ ยุบหนอ กำหนดให้ได้เท่านี้ เดี๋ยวอย่างอื่นจะไหลมาเหมือนไข่งู

การปฏิบัติกรรมฐาน ไม่ต้องไปสอนวิชาการ เพราะไม่ต้องการให้รู้และไม่ต้องดูหนังสือ ปฏิบัติโดยเคร่งครัด ให้มันผุดขึ้นในดวงใจใสสะอาดและหมดจด

เวลาเครียด อย่าทำสมาธิ เลือดลมไม่ดี ห้ามทำสมาธิ ต้องไปผ่อนคลายให้หายเครียด จนภาวะสู่ความเป็นปกติ ถึงจะมาเจริญ กรรมฐานได้ การเจริญพระกรรมฐาน การนั่งสมาธิ ต้องเป็นคนที่ปกติ ถ้าไม่ปกติ อย่าไปทำ

ไม่ว่าคนฉลาดหรือคนสติปัญญาต่ำ ก็สามารถบรรลุมรรคผลนิพพานได้ทั้งนั้น ขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง เช่น มีความศรัทธา ที่จะประพฤติปฏิบัติ มีความเพียรพยายาม มีความอดทน มีสัจจะ และดำเนินรอย ตามการปฏิบัติที่ถูกต้อง เป็นต้น แต่ เรื่องของบุญวาสนา ที่ติดตัวมาแต่อดีต ก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง

การเจริญกรรมฐาน ต้องการให้มีปัญญาแก้ไขปัญหา จำตรงนี้เอาไว้ เพราะกรรมฐาน เป็นวิชาแก้ปัญหาชีวิต เป็นวิชาแก้ทุกข์ ต้องเรียนรู้เอง ซึ่งพระพุทธเจ้าเป็นผู้ค้นพบ

คบหาสมาคมกับคนที่ขยันหมั่นเพียร หลีกเลี่ยงบุคคลที่ เหลาะแหละเกียจคร้าน มั่นใจว่า สติปัฏฐาน ๔ นี้ เท่านั้น เป็นทางที่พระอริยเจ้าทั้งหลาย ล้วนปฏิบัติมาแล้วทั้งสิ้น

เว้นจากการสมาคมกับบุคคลที่ช่างพูด ช่างเจรจา ชอบคุย ต้องเว้นไปออกสมาคมกับผู้ที่รักษาความสงบระงับ



จากหนังสืออนุสาสนีปาฏิหาริย์ รวบรวมโดย คุณชินวัฒก์ รัตนเสถียร





กรรมฐาน (กัมมัฏฐาน) โดยพระธรรมสิงหบุราจารย์

เราเจริญกรรมฐานมา ๓๕ ปี เจริญ “อานาปา” มา ๒๐ ปี เศษ มโนมยิทธิมา ๑๐ ปีเศษ เพ่งกสิณได้ธรรมกายได้ ทำนองนี้ เป็นต้น มันต้องทำได้ ถ้าทำไม่ได้สอนเขาอย่างไร อย่างนี้นักปฏิบัติธรรมโปรดทราบ ต้องสอนตัวเองก่อนอื่นใด

ถ้าเจริญสมถภาวนา ก็พิจารณาตั้งมั่นในบัญญัติ เพื่อให้จิต สงบ มีอานิสงส์ให้บรรลุ ฌานสมาบัติ

ถ้าเจริญวิปัสสนาภาวนา สติพิจารณาตั้งมั่นอยู่ในรูปนาม เพื่อให้เกิดปัญญาเห็นพระไตรลักษณ์ คือ อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา มีอานิสงส์ให้บรรลุ มรรค ผล นิพพาน

กรรมฐาน ใช้หนี้ข้าวและน้ำนมแม่ ดีที่สุด และ กรรมฐาน เป็นบุญเพียงอย่างเดียวเท่านั้น สำหรับ ผู้ที่ฆ่าตัวตายจะได้รับบุญอื่นส่งไม่ถึง

การเจริญพระกรรมฐาน จะทำให้ชีวิตรุ่งเรือง วัฒนาสถาพร และจะรุ่งเรืองต่อไปถึงลูกหลาน โยมลองดูได้เลย

การบำเพ็ญจิตภาวนาตามแนวสติปัฏฐาน ๔ ของพระ พุทธเจ้าของเรานี้ วิธี ปฏิบัติ เบื้องต้น ต้องยึดแนวหลัก สติ เป็นตัวสำคัญ

สติ เป็นตัวกำหนด เป็นตัวหาเหตุเป็นตัวแจงเบี้ย บอกให้รู้ถึงเหตุผล สัมปชัญญะ รู้ ทั่ว รู้นอก รู้ใจ นั่นแหละคือตัวปัญญา ความรู้มันเกิดขึ้น สมาธิ หมายความว่า จับจุดนั้นให้ได้

เวทนาปวดเมื่อย เป็นอุปสรรคต่อการปฏิบัติมาก จึงต้องให้กำหนด ไม่ใช่ว่ากำหนดแล้วมันจะหายปวดก็หามิได้ ต้องการจะใช้สติไปควบคุมดูจิตที่มันปวดว่ามันปวดมากน้อยแค่ไหน

อุเบกขาเวทนา ไม่สุขไม่ทุกข์ ใจลอยหาที่เกาะไม่ได้ ส่วนใหญ่ จะประมาทพลาดพลั้งในข้อนี้ จึงต้องกำหนด รู้หนอ รู้หนอ รู้หนอ ที่ลิ้นปี่ หายใจยาว ๆ ลึก ๆ สบาย ๆ

ถ้า ทบทวนอารมณ์ ก็ต้องไปกำหนดอย่างนี้ หายใจยาว ๆ นั่งท่าสบายอยู่ตรงไหนก็ตาม อยู่บนรถก็ได้ ทบทวนชีวิต ทบทวนอารมณ์ว่า อารมณ์ลืมอะไรไปบ้าง เลยก็หายใจยาว ๆ มีประโยชน์มาก ตั้งสติไว้ที่ลิ้นปี่ ดวงหทัยเรียกว่า เจตสิก อาศัยหทัยวัตถุอยู่ที่ลิ้นปี่ วิธีปฏิบัติอยู่ตรงนี้นะ หายใจลึก ๆ ยาว ๆ เข้าไว้ คิดหนอ คิดหนอ คิดหนอ เพราะทางปัญญาอยู่ตรงจมูกถึงสะดือของเรานะ สั้นยาวไม่เท่ากันอย่างนี้

การเจริญ สติปัฏฐาน ๔ ทางสายเอกของพระพุทธเจ้านี้ ถ้าทำได้

๑. ระลึกชาติได้จริง ระลึกได้ว่า เคยทำอะไรดีอะไรชั่วมาก่อน ไม่ใช่ระลึกว่าเคยเป็นผัวใครเมียใคร
๒. รู้กฎแห่งกรรม จะได้ใช้หนี้เขาไปโดยไม่ปฏิเสธทุกข้อหา
๓. มีปัญญาแก้ไขปัญหาชีวิต ไม่ใช่ไปหาพระรดน้ำมนต์ ไปหาหมอดู



จากหนังสืออนุสาสนีปาฏิหาริย์ รวบรวมโดย คุณชินวัฒก์ รัตนเสถียร





อานิสงส์ของการปฏิบัติธรรม

๑. มีวินัยในตัวเอง 3 ประการคือ

๑ รู้จักระวังตัว
๒ รู้จักควบคุมตัวได้
๓ รู้จักเชื่อฟังผู้ใหญ่ ถ้าเป็นเด็กจะไม่เถียงผู้ใหญ่

๒. มีกิจนิสัย ๔ ประการ

๑ ขยันไม่จับจด รักงาน สู้งาน
๒ ประหยัด รู้จักใช้ชีวิตและทรัพย์สินอย่างถูกต้องและคุ้มค่า
๓ พัฒนา รู้จักพัฒนาตัวเอง และอาชีพให้ดีขึ้น
๔ สามัคคี รักครอบครัว รักหมู่คณะ และรักประเทศชาติ

๓. มีลักษณะนิสัย ๔ ประการ

๑ มีสัมมาคารวะ
๒ อุตสาหะพยายาม
๓ ปฏิบัติตามระเบียบวินัย
๔ รู้จักเด็ก รู้จักผู้ใหญ่ วางตัวได้เหมาะสม

๔. มีความรู้คู่กับคุณธรรมเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต ๔ ประการได้

๑ รู้จักคิด
๒ รู้จักปรับตัว
๓ รู้จักแก้ปัญหา
๔ มีทักษะในการทำงานและค่านิยมที่ดีงามในอนาคต เจ้านายทิ้งลูกน้องไม่ได้ ลูกน้องทิ้งเจ้านายไม่ได้ เข้าหลักที่ว่า ผู้ใหญ่ดึง ผู้น้อยดัน คนเสมอกันจะได้อุปถัมภ์ค้ำจุนต่อไป

๕. อานิสงส์ในการเดินจงกรม

๑. อดทนต่อการเดินทางไกล
๒. อดทนต่อความเพียร
๓. มีอาพาธน้อย
๔. ย่อยอาหารได้ดี
๕. สมาธิที่ได้ขณะเดินตั้งอยู่ได้นาน (ในปัญจกนิบาต อังคุตตรนิกาย เล่ม ๓๒)

จากหนังสือกฎแห่งกรรมเล่มที่ ๗ ภาคธรรมบรรยาย-ธรรมปฏิบัติ เรื่อง คติกรรมฐาน โดย พระธรรมสิงหบุราจารย์
http://www.jarun.org/v6/th/lrule07p0601.html





ประโยชน์ของการปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐาน

การปฏิบัติวิปัสสนากรรมฐานนั้น มีประโยชน์มากมาย เหลือที่จะนับประมาณได้ จะยกมาแสดง ตามที่ปรากฏอยู่ในพระไตรปิฎก สักเล็กน้อยดังนี้ คือ

สัตตานัง วิสุทธิยา ทำกายวาจาใจ ของสรรพสัตว์ให้บริสุทธิ์ หมดจด
โสกะปะริเทวานัง สะมะติกกะมายะ ดับความเศร้าโศก ปริเทวนาการต่าง ๆ
ทุกขะโทมะนัสสานัง อัตถังคะมายะ ดับความทุกข์กาย ดับความทุกข์ใจ
ญาณัสสะ อะธิคะมายะ เพื่อบรรลุมรรคผล
นิพพานัสสะ สัจฉิกิริยายะ เพื่อทำนิพพานให้แจ้ง

และยังมีอยู่อีกมาก เช่น

๑. ชื่อว่าเป็นผู้ไม่ประมาท
๒. ชื่อว่าเป็นผู้ได้ป้องกันภัยในอบายภูมิทั้งสี่
๓. ชื่อว่าได้บำเพ็ญไตรสิกขา
๔. ชื่อว่าได้เดินทางสายกลาง คือ มรรค ๘
๕. ชื่อว่าได้บูชาพระพุทธเจ้าด้วยการบูชาอย่างสูงสุด
๖. ชื่อว่าได้บำเพ็ญ ศีล สมาธิ ปัญญา ให้เป็นอุปนิสัยปัจจัย ไปในภายหน้า
๗. ชื่อว่าได้ปฏิบัติถูกต้องตามพระไตรปิฎกโดยแท้จริง
๘. ชื่อว่าเป็นผู้มีชีวิต ไม่เปล่าประโยชน์ทั้งสาม
๙. ชื่อว่าเป็นผู้เข้าถึงพระรัตนตรัย อย่างถูกต้อง
๑๐. ชื่อว่าได้ปฏิบัติเพื่อให้เกิดวิปัสสนาญาณ ๑๖
๑๑. ชื่อว่าได้สั่งสมอริยทรัพย์ไว้ในภายใน
๑๒. ชื่อว่าเป็นผู้มาดีไปดีอยู่ดีกินดีไม่เสียทีที่เกิดมาพบพระพุทธศาสนา
๑๓. ชื่อว่าได้รักษาอมตมรดกของพระสัมมาสัมพุทธเจ้าไว้เป็นอย่างดี
๑๔. ชื่อว่าได้ช่วยกันเผยแผ่พระพุทธศาสนาให้เจริญรุ่งเรืองยิ่ง ๆ ขึ้นไปอีก
๑๕. ชื่อว่าได้เป็นตัวอย่างอันดีงามแก่อนุชนรุ่นหลัง
๑๖. ชื่อว่าตนเองได้มีธนาคารบุญติดตัวไปทุกฝีก้าว

จากหนังสือคู่มือการฝึกอบรมพัฒนาจิต วัดอัมพวัน อ.พรหมบุรี จ.สิงห์บุรี
โดย พ.ท.วิง รอดเฉย ปี ๒๕๒๙




สติปัฏฐาน ๔ ปิดอบายภูมิได้

ญาติโยมเอ๋ยโปรดได้ทราบไว้เถอะ บุญกรรมมีจริง บาปกรรมมีจริง ยมบาลจดไม่มี จิตนี้เป็นผู้จด จดทุกวัน คืออารมณ์ เรื่องจริงแน่ จดทุกกระเบียดนิ้ว บาปบุญคุณโทษบันทึกเข้าไว้ พอวิญญาณออกจากร่างไป มันก็ขยายออกมาใช้กรรมไป ถ้าเราทำดี ก็ไปบังเกิดในสวรรค์ ทำชั่วก็ลงนรกไปแบบนี้

อาตมามาคิดดูนะว่าสวรรค์อยู่บนฟ้า นรกอยู่ใต้ดินก็คงไม่ใช่ ดูตัวอย่างที่เคยเล่าให้ญาติโยมฟัง

ตาเล่งฮ่วย ผูกคอตาย วิญญาณไปเข้ายายเภา ยายเภาเป็นคนไทยแท้ ๆ เกิดพูดภาษาจีนได้ ตอนนั้นอาตมาอยู่วัดพรหมบุรี

มีคนมาตามอาตมาไป พอไปถึง ยายเภาพูดภาษาจีน เลยต้องให้เรือไปตามตาแป๊ะเลี่ยงเกี๊ยกไว้ผมเปีย เป็นลุงเขยอาตมาให้มาเป็นล่าม เขาบอกไม่ต้องไล่เขา เขาอยู่กับฮ่วยเซียเถ้า อยู่ตรงใกล้วัดพรหมบุรีนี่เอง

“ชื่อ หลวงตามด เคยเป็นเจ้าอาวาสวัดกลางพรหมนคร อยู่เหนือตลาดปากบางนี่เอง อยู่ด้วยกัน ๒ คน ขุดดินถมถนนทุกวัน ถ้าไม่ขุดดินเขาเฆี่ยนตี และฮ่วยเซียเถ้าก็ขุดดินด้วย”

อาตมาได้ถามคนเฒ่าคนแก่ชื่อ บัวเฮง อยู่ตลาดปากบาง บอกว่า ฮ่วยเซียเถ้ามีจริง ชื่อสมภารมด อยู่วัดกลางเป็นสมภารวัด จะสร้างถาวรวัตถุของวัด แต่เงินทองถูกมัคทายกโกงไปหมดไม่รู้จะทำอย่างไร เสียใจเลยผูกคอตาย

“อั๊วมาบอกให้ลื้อไปบอกหลานสาวอั๊วนะ ว่าทำบุญไปให้อั๊วไม่ได้นะ อย่าทำเลย”

“แล้วกินที่ไหนล่ะ”

“อั๊วกับฮ่วยเซียเถ้าไปกินตามกองขยะที่เขาเอาเศษอาหารมาทิ้ง กินกับหนอน”

“เอ้า! ที่ดี ๆ ทำไมไม่กินล่ะ”

“ไม่มีใครให้กิน มีอีกพวกหนึ่งขุดถนนเหมือนกัน แต่เขามีข้าวกิน พวกอั๊วไม่มีข้าวกิน ต้องไปกินที่มันเหลือๆ จึงจะกินได้ ไปบอกหลานสาวอั๊วชื่อ “เจีย” นะ บอกว่าไม่ต้องทำบุญไปอั๊วไม่ได้ ถ้าลื้ออยากทำบุญให้อั๊วนะ ฮ่วยเซียเถ้ามดบอกกับอั๊ว บอกให้ลูกหลานเจริญวิปัสสนานะ และอั๊วจะได้”

อาตมาถามว่า “ลื้ออยู่วัดไหนล่ะ”

“อั๊วอยู่ตรงนี้เอง อั๊วเห็นลื้อทุกวัน ลื้อเดินไปอั๊วก็ทักลื้อ ว่าอีไปไหนนะแต่ลื้อไม่พูดกับอั๊ว”

อาตมาถามว่า “ขุดถนนไปไหน” ก็ชี้ที่ตรงนั้น แต่ไม่เห็นมีถนน ก็ได้ความว่าเราเดินไปตลาดบ้านเหนือบ้านใต้ เขาเห็นเราหมด เขาทักแต่เราไม่รู้เรื่อง อาตมาถามต่อไปว่า

“ลื้อมีความเป็นอยู่อย่างไร”

เขาบอกว่า “ถ้าถึงวันโกนวันพระเขาให้หยุดงาน ที่มานี่เป็นวันโกนหยุดงานแล้ว เดี๋ยวอั๊วต้องรีบกลับ เดี๋ยวเขาจับได้เขาตี อั๊วหนีมาบอกหน่อยเท่านั้นเอง”

สรุปได้ความว่า การที่ฆ่าตัวตาย ผูกคอตาย ญาติพี่น้องทำบุญ ให้ไม่ได้ผลแน่ ต้องเจริญวิปัสสนากรรมฐานแผ่ส่วนกุศล จึงจะได้รับผล เพราะผีมาบอกอย่างนี้ โยมจะเชื่อหรือไม่ ไม่เป็นไรนะ ก็นึกว่าโยมทำวิปัสสนากรรมฐานไปก็จะได้รับผล ว่าบุญบาปมีจริง นรก สวรรค์มีจริงหรือไม่ประการใด

วันนี้อาตมาก็ขออนุโมทนาสาธุการ ส่วนกุศล ท่านทั้งหลายมาบำเพ็ญกุศล เจริญวิปัสสนากรรมฐานให้แก่ตนเอง โดยเฉพาะอย่างยิ่งด้วยการเจริญสติปัฏฐานสี่ เจริญกาย เวทนา จิต ธรรม ตั้งพิจารณา โดยปัญญา ตลอดกระทั่ง ยืน เดิน นั่ง นอน จะคู้เขียดเหยียดขา ทุกประการ ก็มีสติครบ

รับรองได้เลยว่า ถ้าโยมทำถึงขั้น ปิดประตูอบายได้เลย นรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉาน โยมจะไม่ไปภูมินั้นอย่างแน่นอน

เพราะเหตุใด เพราะอำนาจกิเลสทั้งหลาย โลภะ โทสะ โมหะ เกิดขึ้นโยมก็กำหนดได้ไม่มีโลภะ ขณะมีโลภะก็กำหนดโลภะ ก็หายไป

จิตวิญญาณตายขณะมีโลภะตายไปเป็นเปรต กำลังมีโทสะ ตายไปขณะนั้นลงนรก มีโมหะรวบรวมอยู่ในจิตใจไว้มากต้องไป เกิดเป็นสัตว์เดรัจฉานอย่างแน่นอน

ถ้ามีสติปัฏฐานสี่ มีสติสัมปชัญญะดี อบายภูมิก็ไม่ต้องไป ปิดนรก เปรต อสุรกาย สัตว์เดรัจฉานทางอายตนะ ธาตุอินทรีย์ ดังที่กล่าวมาแล้วนี้ทุกประการ

จากหนังสือกฎแห่งกรรมเล่มที่ ๓ ภาคกฎแห่งกรรม เรื่อง สัญญาณมรณะ
http://www.jarun.org/v6/th/lrule03r0301.html

ที่มา
http://jarun.org/v6/th/dhamma-meditation.html

หน้า 1 จากทั้งหมด 1 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/