วันเวลาปัจจุบัน 25 เม.ย. 2024, 19:17  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 50 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 29 วิวาทะเรื่อง เว่ยหล่างสอนลูกศิษย์
พระสังฆปรินายก(เว่ยหล่าง) กล่าวไว้ว่า “เมื่อภาวะที่แท้แห่งจิตของเราปราศจากมลทิน ปราศจากความโง่และปราศจากความกระวนกระวาย เมื่อ เราตรวจตราภายในจิตของเราด้วยปรัชญาอยู่ทุกขณะโดยไม่ว่างเว้น เมื่อเราไม่ยึดติดอยู่กับสิ่งทั้งหลาย และไม่ยึดติดอยู่กับวัตถุที่ปรากฏ เราก็เป็นอิสระและเสรี เราจะวางหลักเกณฑ์ในธรรมไปทำไม เมื่อ เราอาจบรรลุจุดประสงค์ได้โดยไม่มีปัญหา ไม่ว่าเราจะเหลียวซ้ายหรือแลขวา ทั้งนี้เนื่องจากความพยายามของเราเองที่เราตระหนักชัดถึงภาวะที่แท้แห่งจิต และ เนื่องจากการตระหนักชัดกับการปฎิบัติธรรม นั้นเป็นสิ่งที่ต้อง ปฏิบัติพร้อมกันไป ไม่ใช่ค่อยทำค่อยไปทีละขั้น
การวางหลักเกณฑ์ในธรรมจึงไม่จำเป็น เพราะธรรมทั้งหลาย ย่อมมีลักษณะเป็นนิพพานอยู่แล้วในเนื้อหา เราจะสามารถไปกำหนดเป็นขีดขั้นได้อย่างไร? “
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ธรรมที่ผลเอามาลงโพสต์ข้างต้น เป็นคำกล่าว ของครูเว่ยหล่าง ล้วนๆครับ ท่านกล่าวไว้ใน พระสูตรเว่ยหล่าง หลวงพ่อพุทธทาส ท่านแปลออกมา
ชอบตรงที่ “ การวางหลักเกณฑ์ในธรรมจึงไม่จำเป็น เพราะธรรมทั้งหลาย ย่อมมีลักษณะเป็น นิพพานอยู่แล้วในเนื้อหา เราจะสามารถไปกำหนดเป็นขีดขั้นได้อย่างไร? ” ก็ เป็นความเห็นของพระอรหันต์ที่ชื่อ เว่ยหล่าง
อยากเห็นผู้ที่เค้าค้านวิเคราะห์เข้ามาบ้าง อย่าใช้ ความน่าจะเป็น เข้ามาวิเคราะห์อีกนะครับ
เอาที่มันอ่านแล้วเข้าใจ ร้องอ๋อได้ และก็ชอบอีกอย่างหนึ่งที่ครูเว่ยหล่างท่านกล่าวอีกว่า เนื่องจากการตระหนักชัดกับการปฎิบัติธรรม นั้น เป็นสิ่งที่ต้อง ปฏิบัติพร้อมกันไป ไม่ใช่ค่อยทำค่อยไปทีละขั้น
ก็นะ ขนาดครูเว่ยหล่างท่านเป็นอรหันต์ ท่านมีชื่อเสียงท่านมีฤทธิ์ท่านเอง ท่านก็ยังสอนลูกศิษย์ท่านแบบนี้ หลักธรรมอันคือธรรมชาติในพระสูตรเว่ยหล่าง เป็นเนื้อหาธรรมเป็นแบบนี้นะครับ

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:51 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 30 วิวาทะเรื่อง การทำ สติ สมาธิ ปัญญา
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ยังยืนยันอยู่ครับ ว่าไม่ต้องทำอะไรเลย
เพียงอาศัยความเข้าใจในธรรมชาติแห่งธรรม
แล้วปล่อยให้ธรรมอันคือธรรมชาตินั้น “ ดำเนินเนื้อหาของมันเอง ”
โดยที่ไม่มีความเป็น "เรา" หรือ "อัตตา" เข้าไปเกี่ยวข้อง
เนื้อหาธรรมในที่ผมโพสต์ไว้ สรุปได้ว่า
“ จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่งความเป็นสภาพเช่นนั้น แล้วท่านจะอยู่ในสมาธิตลอดเวลา ”
อยากจะเสริมว่า
จงปล่อยจิตเดิมแท้และสิ่งทั้งปวง ไว้ในสภาพแห่งความเป็นสภาพเช่นนั้น
แล้วท่านจะอยู่ใน “ สติ สมาธิ ปัญญา ตลอดเวลา ”
โดยที่ไม่ต้องใช้จิตปรุงแต่งจนเกิดความเป็นเรา หรือ อัตตาเข้าไปทำไปดำริ เพื่อให้มันเกิดเป็น สติ สมาธิ ปัญญา ตามความไม่เข้าใจในธรรมของตนอีกเลย
ตรงนี้เป็นธรรมสมังคีแล้วนะครับ เป็นเส้นทางหลุดพ้นอันแท้จริงด้วย
( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 31 วิวาทะเรื่อง แบบค่อยเป็นค่อยไป
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ขอบคุณครับ ที่ติติงมา
เจตนาในการเผยแพร่เนื้อหาแห่งธรรมของผม เป็นการเสนอธรรมในมุมมองธรรมชาติ
อันเป็นเส้นทางหลุดพ้นตั้งแต่ระดับ โสดาปัตติมรรคขึ้นไป
และ ไม่มีจุดประสงค์ยัดเยียดให้ใครครับ
เป็นการให้ธรรมเป็นทานในจุดหนุึ่ง คือ ในกระทู้นี้เท่านั้นครับ
แต่บังเอิญมีคนกลุ่มหนึ่งไม่เห็นด้วยและเอามาตรฐานเท่าที่ตัวเองรู้
มาวัดความรู้ของคนอื่น แล้วก็ชี้เป้าว่า
ธรรมอันคือลักษณะธรรมชาติโดยตัวมันเอง เป็นแนวทางที่ผิดและง่ายเกินไป
เมื่อคนกลุ่มนี้เข้ามา ทางเราก็มิได้ขัดขวางแถมยังยอมรับฟังเหตุผล
ธรรมแห่งธรรมชาตินี้มันเป็นเนื้อหาแห่งธรรมสมังคี อันเกิดจากความเข้าใจในธรรมชาติแห่งธรรม
แต่ที่กลุ่มบุคคลเหล่านี้ค้าน เพราะพวกเขาคิดว่าการปฏิบัติธรรม
ต้องค่อยเป็นค่อยไป “ตามขั้นตอน”
แต่ทางธรรมชาติเอง “การปฏิบัติธรรมแบบนี้แบบค่อยเป็นค่อยไป”ล้วนแต่เป็นอวิชชาตัวใหม่ที่ซ้อนเข้ามา เพราะจิตยังไม่เข้าใจในธรรม ในธรรมชาติ
ก็เลย แสวงหาวิธีหลุดพ้น ด้วยการปรุงแต่งในธรรม
เพื่อใช้ในการทำพระนิพพานให้เกิด
การปฏิบัติธรรมแบบค่อยเป็นค่อยไป พระพุทธองค์ท่านไม่เคยตรัสไว้
ท่านเพียงบอกให้ศึกษาธรรม เพื่อขจัดความลังเลความสงสัยความไม่เข้าใจในธรรมให้มันหมดไปเท่านั้น
เมื่อศึกษาและเข้าใจจนหมดความลังเลสงสัยแล้ว
จึงจะเข้าใจว่า
ธรรมอันสมังคีที่เกิดขึ้นตามกำลังแห่งอินทรีย์นั้น
จะมีได้แต่เฉพาะผู้ที่ศึกษาและเข้าใจในธรรมอันคือธรรมชาติแล้วเท่านั้น
การที่ค่อยๆศึกษา และ ค่อยๆทำไปที่ละขั้นทีละตอนโดยเนื้อหา มันก็คือความไม่เข้าใจในธรรม มันก็คือความลังเลสงสัยในธรรม(วิจิกิจฉา)
นั่นเอง โดยหลัก มีแค่นี้

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 32 วิวาทะเรื่อง พระอรหันต์ยุคก่อน
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : จริงๆแล้ว เรื่องจิตสู่จิต มันมีมาตั้งแต่สมัยพุทธกาลแล้ว
คราวที่พระพุทธองค์ ทรงชูดอกบัวขึ้นต่อหน้าพระมหากัสสัปปะ

ท่านโพธิธรรม หรือ ปรมาจารย์ตั๊กม้อ ท่านเป็นภิกษุที่มีอภิญญาอย่างเอกอุด้วยซ้ำ
ท่านนำเอาลัทธิปฏิบัติธรรมโดยที่อย่าเอาความเป็น “เรา” เข้าไปทำ ก็คือ “ นิกายเซน ” ไปเผยแพร่ในประเทศจีน
เว่ยหลาง เป็นศิษย์รุ่นที่ 6 เป็นสังฆปรินายกองค์ที่ 6
ท่านมีอภิญญาด้วยซ้ำ คราวที่โจรมาตัดคอท่าน โจรเอามีดฟันลงที่คอ ท่านเอาคอรองรับ มีดฟันไม่เข้า.....จนโจรสลบไป
พระภิกษุเหล่านี้ของแท้ครับ ไม่ต้องพิสูจน์
แล้วพระอภิญญาพระอรหันต์เหล่านี้ท่านสอนธรรมอย่างไร ดูวิธีการสอนธรรมท่านสิครับ

ภิกษุรูปหนึ่งนำโศลกซึ่งแต่งขึ้นโดย คณาจารย์ที่ชื่อ ออหลุน มาท่องบ่นอยู่ว่า....
“ออหลุน มีวิธีและเครื่องมือ
ที่จะกั้นจิตเสียจาก ความนึกคิดทั้งปวง
เมื่ออารมณ์ต่างๆ มิได้กลุ้มรุมจิต
ต้นโพธิ(เครื่องหมายแห่งปัญญา) ก็จะงอกงามอย่างเป็นล่ำสัน”

พระสังฆปรินายก ได้ยินโศลกนี้ จึงพูดว่า
“โศลกนี้ย่อมแสดงว่า ผู้แต่งยังไม่ทันเห็นจิตเดิมแท้อย่างเต็มที่
ถ้าใครรับเอาข้อความมาถือปฏิบัติ
ก็จะไม่ได้รับความหลุดพ้นแต่จักกลับผูกรัดตัวเองหนาแน่นยิ่งขึ้น”

แล้วพระสังฆปรินายกก็แต่งโศลกขึ้นมาใหม่ว่า
“เว่ยหล่าง ไม่มีวิธี และเครื่องมือ
ที่จะกลั้นจิตเสียจากความนึกคิดทั้งปวง
อารมณ์ต่างๆย่อมกลุ้มรุมจิตของข้าพเจ้าอยู่เสมอ
และข้าพเจ้าสงสัยว่าต้นโพธิจะงอกงามได้อย่างไรกัน?”
อธิบาย นี่ก็เป็นตัวอย่างหนึ่งที่นักปฎิบัติธรรมติดกันมาก คือ ติดใช้จิตปรุงแต่งเกี่ยวกับวิธีการปฏิบัติและปรุงแต่งเกี่ยวกับการลงมือปฏิบัติ
ธรรมชาตินั้น เป็นกระบวนการ “ โดยสภาพมันเอง ” มันไม่ใช่วิธีและเครื่องมือ
หากจะกล่าวว่ามีวิธีและเครื่องมือ มันก็ “เป็นวิธีและเครื่องมือโดยตัวมันเอง”
การที่ใช้จิตปรุงแต่งว่า เรามีวิธีที่จะเข้าไปจัดการกับจิตทั้งหลายนั้นออกเสียจากความนึกคิด และ ด้วยเหตุจากวิธีและเครื่องมือของเรา จะทำให้อารมณ์คือเวทนาต่างๆไม่เข้ามากลุ้มรุมจิต(หมายถึง เราจะได้ไม่เข้าไปยึดมั่นถือมั่นในเวทนาทั้งหลาย) สภาวะแห่งความหลุดพ้นก็จะงอกงามอย่างเป็นล่ำสัน.........การที่ใช้จิตปรุงแต่งแบบนี้ ก็บ่งบอกอยู่แล้วในตัวว่าผู้แต่งโศลกนี้ยังไม่เข้าใจในธรรมอันแท้จริงนั้นเป็นเช่นไร การปรุงแต่งในวิธีการปฏิบัตินั้น เป็นอวิชชาตัณหาอุปาทานอย่างหนึ่งด้วย
ธรรมชาตินั้น เป็นกระบวนการ “ โดยสภาพมันเอง ” มันไม่ใช่วิธีและเครื่องมือ
หากจะกล่าวว่ามีวิธีและเครื่องมือ มันก็ “เป็นวิธีและเครื่องมือโดยตัวมันเอง”
วิธีและเครื่องมือโดยตัวมันเอง หรือ วิธีและเครื่องมือโดยธรรมชาติ นั้น เป็นอย่างไรเล่า? ก็โดยธรรมชาติ อารมณ์หรือเวทนาต่างๆ มันก็ดับไปโดยตัวมันเองโดยสภาพมันเองตามธรรมดาธรรมชาติอยู่แล้ว ธรรมชาติที่ว่าทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงอยู่แล้ว
โดยธรรมชาติ เมื่อไม่เข้าไปเนื่องไม่เข้าไปเนิ่นช้าในความคิดทั้งปวง ความคิดทั้งปวงนั้นมันก็ดับไปโดยตัวมันเองโดยสภาพมันเองตามธรรมดาตามธรรมชาติ ธรรมชาติที่ว่าทุกสรรพสิ่งย่อมไม่เที่ยงอยู่แล้ว
เว่ยหล่างจึงแต่งโศลกขึ้นมาใหม่ว่า ท่านไม่มีวิธีและเครื่องมือนั้น จึงถูกต้อง

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:52 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 33 วิวาทะเรื่อง ฉับพลับหรือเชื่องช้า
ผู้เถียง : ..............................................
ผู้ตอบ : ผมเคยถามพระอาจารย์ ราเชนทร์ อานนฺโท
ซึ่งเป็นอาจารย์ที่ผมศึกษาความรู้ทางธรรมกับท่าน
ผมเคยถามท่านว่า
ธรรมในแบบที่ท่านสอนนี้ เป็นคำสอนของพวกสำนักเซนที่บรรลุโดยฉับพลันหรือเปล่า
ท่านตอบว่า
จะฉับพลัน ได้อย่างไร
กว่าท่านจะพบ....รสชาติ แห่งธรรมชาติล้วนๆ นี้ได้
ท่านก็บำเพ็ญเข้าไปทำแบบผิดๆตั้ง 9 ปี
ท่านบอกว่า ไม่เห็นจะฉับพลันตรงใหน
หากไม่รู้จริง มันก็จะติดอวิชชาตัณหาอุปาทานอยู่อย่างนั้น
หากรู้จริงแบบ เข้าใจในธรรมทั้งปวงและแก้ไขปัญหาได้ทั้งหมด
แบบวิธีธรรมชาติตามที่พระองค์กล่าวไว้
ท่านว่า รู้แจ้งเมื่อไหร่ ก็ หลุดพ้นด้วยธรรมชาติล้วนๆเดี๋ยวนั้น
ท่านว่า ไม่มีเชื่องช้า และ ไม่มีฉับพลัน
ท่านว่า มีแต่ความเข้าใจ และ มีแต่ความไม่เข้าใจ
ท่านว่า ทางหลุดพ้นมีทางเดียว คือ ธรรมชาติแห่งธรรมเท่านั้น
ไม่มีสองทาง ไม่มีทางอื่น
จะมีพระพุทธเจ้า อีกสักกี่พระองค์
ก็ล้วน มาตรัสรู้ เรื่องธรรมชาติแห่งธรรมนี้เท่านั้น
หนึ่ง ไม่มี สองเป็นอย่างอื่นครับ

ลองอ่านบทความธรรมะ
เรื่อง โสดาบัน สติปัฏฐาน โพชฌงค์ธรรม นิพพาน ที่พระอาจารย์เขียนให้ดี
บทความทั้ง 4 เรื่องนี้ น่าจะเป็นหลักที่จะนำไปปฏิบัติได้
แบบไม่ต้องหาอะไรมาเพิ่มเติมอีกแล้ว
เหมาะสำหรับผู้เริ่มปฏิบัติธรรมมือใหม่
และ ผู้ที่ปฏิบัติธรรมมานานแล้ว
วางอคติลงเสียก่อน น่าจะได้ความรู้ที่ตรงต่อสัจธรรมล้วนๆ
ด้วยรักและห่วงใย

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ลูกศิษย์ของผู้เขียนชื่อ นายเมฆ โซะระคุโมะ เคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:53 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 34 วิวาทะเรื่อง อัคคิเวสนะ
ผู้เถียง : .............................................. ผู้ตอบ : อัคคิเวสนะ เขาปฏิบัติธรรมกันอย่างไร อัคคิเวสนะคือคนโง่บรมโง่ ในสายตาของพระพุทธองค์กระนั้นหรือ
เพียงพระพุทธองค์ ตรัสว่า เวทนาทั้งหลาย ล้วนมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดา อัคคิเวสสนะ อริยสาวกผู้ได้สดับแล้ว เมื่อเห็นอยู่อย่างนี้ ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุข เวทนา เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้น แล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี
ผมขอถามหน่อย การที่อัคคิเวสนะ ฟังธรรมที่พระพุทธองค์ตรัส แล้วเข้าใจในธรรมที่ว่า เวทนาทั้งหลาย ล้วนมีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไป เป็นธรรมดาตามธรรมชาติของมัน
เพียงความเข้าใจในธรรม ที่เข้าถึงความเป็นธรรมดาธรรมชาติของมัน ที่ว่า เวทนาทั้งหลายก็ล้วนไม่เที่ยงดับไปเองตามสภาพธรรมชาติเป็นธรรมดาของมันเองอยู่แล้ว
พระพุทธองค์ยังกล่าวต่อว่า อริยสาวก ผู้ได้สดับ แล้ว เมื่อ เห็นอยู่ อย่างนี้
ย่อมหน่ายทั้งในสุขเวทนา ทั้งในทุกขเวทนา ทั้งในอทุกขมสุขเวทนา
เมื่อหน่าย ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น เมื่อหลุดพ้นแล้ว ก็มีญาณหยั่งรู้ว่าหลุดพ้นแล้ว รู้ชัดว่าชาติสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว กิจที่ควรทำสำเร็จแล้ว กิจอื่นเพื่อความเป็น อย่างนี้มิได้มี
ก็คงจะง่ายไปอีกสินะ การปฏิบัติธรรมสมัยก่อน ในยุคพระพุทธองค์ เพียงแค่ ได้สดับฟัง แล้ว เมื่อ เห็นอยู่ อย่างนี้ การบรรลุธรรมแบบนี้ ส่วนใหญ่ในสมัยพุทธกาล ก็ล้วนบรรลุธรรมกันมาแบบนี้ทุกดวงจิต มันง่ายไป อย่าเลย เอาที่มันยากๆ ดีกว่า อย่างนั้นหรือ

ผมบอกแล้ว ไม่มียากไม่มีง่าย มีแต่ ความเข้าใจในธรรม กับ ความไม่เข้าใจในธรรม
เรื่องของเรื่องอัคคิเวสนะ ก็ง่ายมาแล้ว มันจะฉับพลัน หรือ เชื่องช้า ดีล่ะทีนี้ อัคคิเวสนะ เค้าปฏิบัติธรรมหรือเปล่า การปฏิบัติธรรมของอัคคิเวสสนะ ก็คือ การได้สดับฟังธรรมเพื่อทำความเข้าใจตระหนักชัดในเนื้อหาธรรม และได้กลายเป็นเนื้อหาเดียวกับธรรม คือ การที่เห็นอยู่ อย่างนี้
อ้าวแล้ว สติ สมาธิ ปัญญา ล่ะ ทำไมอัคคิเวสนะเค้าถึง “ ไม่ลงมือแสวงหา ” ก็เพราะว่า การที่อัคคิเวสนะ เข้าใจและเห็นชัด แล้วว่า เวทนาทั้งปวง ล้วนมีความไม่เที่ยงดับไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ตามสภาพธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว
พระพุทธองค์ยังกล่าวต่อว่า เมื่อเข้าใจเรื่อง ความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดาธรรมชาติแล้ว เมื่อรู้แล้ว ย่อมคลายกำหนัด เพราะคลายกำหนัด ย่อมหลุดพ้น
ถามว่า สติ สมาธิ ปัญญา อยู่ตรงใหน ทำไมไม่ทำมันขึ้นก่อน
ก็การที่เข้าใจในธรรมว่า สิ่งทั้งหลายทั้งปวงล้วนไม่เที่ยงดับไปเสื่อมไปเป็นธรรมดาธรรมชาติของมัน แล้วปล่อยให้ธรรมดาธรรมชาติมันคงอยู่อย่างนั้น นั่นแหละ มันก็บ่งบอกอยู่ในตัวอยู่แล้ว ว่า อินทรีย์แห่ง สติ สมาธิ ปัญญา มันทำงานของมันอยู่ เป็นปกติแห่งธรรม เป็นความบริบูรณ์ในธรรม
สติ สมาธิ ปัญญา เกิดจากการเข้าใจในธรรม แล้วปล่อยให้ธรรมอันเป็นธรรมดาธรรมชาติแห่งความสิ้นไปเสื่อมไปมันคงอยู่ตามสภาพธรรมชาติมันอยู่อย่างนั้น นี่คือการทำ สติ สมาธิ ปัญญา ตามความหมายของพระพุทธองค์
มิใช่ เกิดจากการที่ เอาความเป็นเรา เข้าไปทำให้มันเกิด เมื่อธรรมอันเป็นธรรมดาธรรมชาติยังคงอยู่ตามสภาพมัน ฉันใดสติ สมาธิ ปัญญา มันก็คงสภาพอินทรีย์แห่งมัน ฉันนั้น
มันคงยากไปสำหรับ ผู้ที่ไม่เข้าใจในธรรมเลย

( วิวาทะนี้ เป็นบทความเก่าที่ผู้เขียนเคยเขียนลงไว้ในเว็บบอร์ดธรรมะแห่งหนึ่ง เป็นการถกเถียงกันในเรื่องวิธีปฏิบัติ )


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 35 ไม่ต้องเข้าไปทำอะไร

หากไปศึกษาในพระสูตรต่างๆในพระสุตันตปิฏกไล่เรียงตั้งแต่ธรรมจักรกัปปวัฏตนสูตร อนัตลักขณะสูตร อาทิตยสูตร เป็นต้น พระพุทธองค์ได้ตรัสลักษณะธรรมที่เหมือนกันไว้คือ "ขันธ์ 5 ไม่เที่ยงโดยสภาพมันเอง ขันธ์ 5 เป็นทุกข์ และขันธ์ 5 ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยสภาพมันเอง" และผู้ที่มาฟังธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสไว้แบบนี้แล้วต่างก็บรรลุธรรมในระดับชั้นแตกต่างกันไปตามความเข้าใจในธรรมของตน
การพิจารณาธรรมว่าขันธ์ 5 ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เป็นการเรียนรู้เพื่อขจัดความไม่เข้าใจลังเลสงสัยในธรรมทั้งปวง เมื่อได้เรียนรู้ว่าอะไรคือทุกข์และจะดับทุกข์นั่นได้อย่างไร เมื่อเข้าใจว่าขันธ์ทั้ง5 เป็นทุกข์ เมื่อเข้าใจว่าขันธ์ทั้ง5 ไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้วไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นไม่ควรเข้าเนื่องเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน เมื่อเข้าใจว่าขันธ์ทั้ง 5 ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วโดยสภาพมันเอง ก็ถือว่าได้เข้าใจในกระบวนการแก้ไขปัญหาในกองทุกข์ได้ทั้งหมด
เมื่อพิจารณาจนเกิดความเข้าใจชัดเจนแล้ว ก็จงปล่อยให้ขันธ์ทั้ง5 ดับไปทุกกรณี การดับของขันธ์ทั้ง 5 เป็นการดับโดยตัวมันเองสภาพมันเองอยู่แล้วโดยมีพื้นฐานแห่งความรู้ความเข้าใจในธรรมในการแก้ไขปัญหา เป็นวิธีการแบบที่ไม่มี "เรา" เข้าไปเกี่ยวข้องเข้าไปจัดการ มันเป็นวิธีการโดยตัวมันเองซึ่งเรียกว่า "วิธีแบบธรรมชาติ" เป็นธรรมชาติที่มันดับมันไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว และเป็นธรรมชาติที่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยตัวมันเองอยู่แล้วเช่นกัน
การปฏิบัติธรรมโดยการปล่อยให้มันเป็นไปตามกระบวนการ "ธรรมชาติแห่งขันธ์" ดังกล่าวนี้เป็นการปฏิบัติธรรมตามความหมายที่พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ ในพระสูตรต่างๆ และข้อยืนยันในสัจธรรมอันเป็นธรรมชาติแห่งขันธ์ 5 ไม่เที่ยง ไม่ใช่ตัวตน โดยสภาพมันเองโดยตัวมันเองนี้ พระพุทธองค์ทรงตรัสไว้ในนิพพานสูตรว่า "นิพพานคือธรรมชาติอันปรุงแต่งไม่ได้แล้ว" ซึ่งหมายถึงพระพุทธองค์ทรงแสดงธรรมไว้ว่า เส้นทางแห่งพระนิพพานเป็นเส้นทางในกระบวนการ "ธรรมชาติ" เท่านั้น เป็นธรรมชาติที่ไม่เที่ยงอยู่แล้ว โดยตัวมันเองนั้นเท่ากับว่ามันเป็นธรรมชาติที่มันไม่ปรุงแต่งอยู่แล้วโดยสภาพมันเองอีกด้วยเช่นกัน เป็นความหมายโดยนัยยะ


- การที่คิดว่าจะต้องเข้าไปทำอะไรสักอย่างหนึ่งกับอีกอย่างหนึ่งเพื่อให้พระนิพพานเกิดเช่น การคิดว่าเราจักต้องทำสติ ทำสมาธิ เจริญปัญญา เพื่อให้ไปสู่เส้นทางพระนิพพาน ความคิดเช่นนี้เป็นลักษณะเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 โดยลืมนึกว่าความคิดแบบนี้ก็ล้วนไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้ว ล้วนไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้วเช่นกัน การเข้าใจและการลงมือปฏิบัติด้วยความคิดแบบนี้อยู่ตลอดเวลาเป็นการเข้าใจผิดอย่างยิ่ง เพราะมันไม่ใช่วิธีในการแก้ไขปัญหาในกองทุกข์แบบ "ธรรมชาติ" ตามที่พระพุทธองค์ตรัส วิธีแบบธรรมชาติมันเป็นวิธีของมันอยู่แล้วมันไม่ต้องอาศัยความมีเราเข้าไปจัดการเข้าไปปฏิบัติ (การที่จิตซี่งปรุงแต่งขึ้นดับไปเป็นธรรมดา การที่ขันธ์ทั้ง 5 ดับไปเป็นธรรมดา มันก็คือเนื้อหาแห่งมรรคมีองค์ 8 ไปในตัวอยู่แล้ว ซึ่งประกอบไปด้วยอินทรีย์แห่งสัมมาสติ สัมมาสมาธิ สัมมาทิฏฐิซึ่งคือตัวปัญญา อยู่แล้วนั่นเอง)
-การที่คิดว่าจะต้องเข้าไปกำหนดว่าสิ่งนี้ไม่เที่ยง เข้าไปกำหนดว่าสิ่งนี้ไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตน เข้าไปกำหนดว่า สิ่งนี้คือเวทนาทั้งหลาย การเข้าไปสำรวมระวังแบบกำหนดสติไว้ในอริยบทต่างๆคือ ยืน นั่ง เดิน นอน เข้าไปกำหนดว่าอะไรคืออะไรในกระบวนการแห่งขันธ์ การกำหนดเช่นนี้เป็นลักษณะจิตปรุงแต่งซ้อนเข้าไปทำให้มีเรามีอัตตาขึ้นมาเป็นการขัดขวางธรรมชาติโดยสิ้นเชิง การรู้ชัดแบบมีสัมมาสตินี้เป็นการรู้แบบ "ธรรมชาติ" ในการรู้มีสติ เป็นการรู้มีสติบนพื้นฐานที่ขันธ์ 5 ไม่เที่ยงโดยตัวมันเองอยู่แล้วไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่แล้ว เป็นการรู้มีสติแบบ "ไม่มีเรา ไม่มีอัตตา" แต่การกำหนดเป็นการปรุงแต่งยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ 5 จนทำให้เกิดตัณหาอุปทานมีเราขึ้นมา มันเป็นการ “ประคอง”สติ ซึ่งไม่ใช่ "ธรรมชาติ"แห่งสติ ที่แสดงเนื้อหาแห่งขันธ์ซึ่งมันต้องดับไปเองอยู่แล้วโดยสภาพ (การกำหนด เป็นการเข้าไปศึกษาธรรมขั้นพื้นฐานเพื่อที่จะทำให้เราตระหนักชัดถึงลักษณะหน้าตาและความหมายแห่งธรรมนั้นๆ แต่เพียงเท่านั้น )
-การเข้าไปจับกุมจับฉวย สภาวะธรรมใดสภาวะธรรมหนึ่งตลอดเวลาเพื่อทำให้พระนิพพานเกิด การจับกุมจับฉวยก็เป็นการกระทำที่ขัดขวางต่อกระบวนการธรรมชาติโดยสิ้นเชิงเช่นกัน
การปฏิบัติธรรมโดยที่มี "เรา" เข้าไปคิดจัดการจัดแจงเข้าไปกำหนดเข้าไปจับกุมจับฉวย เพื่อที่จะมี "เรา" หรือ "อัตตา" เข้าไปปฏิบัติธรรมอยู่ตลอดเวลานั้นเป็นความเข้าใจผิดในธรรมเป็นความลังเลสงสัยไม่เข้าใจในเนื้อหาแห่งธรรมอยู่ เปรียบเสมือน เอา "เรา" หรือ "อัตตา" ไปแสวงหา "นิพพานอันเป็นธรรมชาติแห่งธรรมล้วนๆ" ซึ่งเป็น "อนัตตา" เอา "อัตตา" ไปทำเพื่อให้เกิด "อนัตตา" ซึ่งมันเป็นไปไม่ได้ นิพพานธรรมก็จักไม่เกิดขึ้นเพราะจิตยังติดปรุงแต่งในตัววิธีปฏิบัติธรรมนั่นเอง
แต่การที่ปฏิบัติธรรมโดยอาศัยความเข้าใจในธรรมแล้วปล่อยให้ขันธ์ 5 ดำเนินไปสู่ "วิธีธรรมชาติ" ที่มันดับโดยสภาพมันเองที่มันไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว เป็นการ "ปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่ต้องเข้าไปทำอะไร" เป็นการปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่มีอัตตาไม่มีเราเข้าไปเกี่ยวข้อง เป็นการปฏิบัติธรรมตรงต่อสัจธรรมตรงต่อที่พระพุทธองค์ประสงค์จะให้เรียนรู้และเข้าใจแบบนี้ เป็นการปฏิบัติธรรมแบบ "ธรรมชาติแห่งความไม่มีเรา ไม่มีอัตตาเข้าไปปฏิบัติ"
" เป็นการปฏิบัติธรรมโดยที่ไม่ต้องใช้จิตปรุงแต่งให้มีเราเข้าไปทำอะไรอีกเลย "


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 36 การเข้าไป “เสือก”
การดับไปเป็นธรรมดา มันเป็นคุณลักษณะ"ธรรมชาติ"ของมันอยู่แล้ว

ต้องเว้นเสียแบบเด็ดขาด ที่จะเอาความเป็นเรา
หรือที่จะเอาความสามารถแห่งความเป็นเรา
เข้าไปกระทำเข้าไปปฏิบัติเข้าไป"จัดแจง"ทุกกรณี
เพราะการเข้าไป "เสือก" แบบนี้ มันเป็นจิตปรุงแต่งที่ซ้อนเข้าไป
มันเป็นอวิชชาความปรุงแต่งความหลงในการปฏิบัติตัวหนึ่ง

ภาวะขันธ์ 5 หรือ ภาวะจิตต่างๆ มันก็ปฏิบัติธรรมแทนเราอยู่แล้วทุกๆกรณี ถ้าคิดว่ามีจิตหรือมีขันธ์เกิดขึ้น
ก็คือความดับไปเป็นธรรมดาโดยสภาพธรรมชาติของภาวะขันธ์ 5 หรือ ภาวะจิตต่างๆมันเองอยู่แล้ว "นี่ คือ การปฏิบัติธรรมที่แท้จริง" ถูกต้องตามที่พระพุทธองค์ประสงค์ที่พระพุทธองค์ตรัสไว้

ควรงดเว้นการปรุงแต่งที่จะทำให้เกิดจิตที่ปรุงแต่งซ้อนเข้ามา ในรูปแบบของโมหะแห่งการหลงเข้าไปปฏิบัติ
เพราะเหตุที่ว่าการที่ “เข้าไปปฏิบัติ” โดยขัดโดยฝืนต่อกระบวนการธรรมชาติแห่งธรรม ด้วยการเข้าไปจับจ้องจับฉวยจับกุมภาวะ บังคับจิตให้มันอยู่ในความว่างบ้าง บังคับให้ดับตามความต้องการของเราบ้าง เข้าไปนั่งสมาธิเพื่อให้จิตมันสงบบ้าง โดยที่ไม่เข้าใจเลยว่าแท้จริงแล้ว จิตเมื่อมันแปรปรวนดับไป นั่นคือความสงบที่แท้จริงตามธรรมชาติอยู่แล้ว การเข้าไปปฏิบัติธรรมด้วยความไม่เข้าใจในธรรมชาติ ด้วยการปรุงแต่งวิธีปฏิบัติขึ้นมาเองตามความไม่เข้าใจของเรา ด้วยวิธีการต่างๆนาๆ มันไม่ใช่การดับไปเป็นธรรมดาตามธรรมชาติ แต่มันคือการปรุงแต่งทางจิตเอาความ"เป็นเรา" “เข้าไปกระทำ" มันจึงเป็นแค่จิตที่ปรุงแต่งซ้อนเข้ามาแบบไม่รู้ตัว หากปฏิบัติแบบนี้ก็ไม่สามารถพ้นจากกองทุกข์ทั้งปวงได้ เพราะเหตุที่ว่าการจับฉวยจับกุมจับจ้องภาวะ มันเป็นการปรุงแต่ง มันเป็นกิเลสละเอียดที่เราสร้างขึ้นมา มันเป็นพฤติกรรมทางจิตอย่างหนึ่งที่คอยปรุงแต่งเพื่อจับจ้องภาวะอยู่ตลอดเวลา

เปรียบเสมือน เอาวิธีปฏิบัติตามความเข้าใจของเราซึ่งแท้จริงมันเป็นการปรุงแต่งไปไล่ล่า ตามหาธรรมอันไม่ปรุงแต่ง

ชาตินี้มันก็ไม่นิพพาน


บทความนี้ เขียนโดย นายเมฆ โซะระคุโมะ (ลูกศิษย์)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 37 หลงปฏิบัติเข้าไปทำมรรค
มรรคมิได้มีไว้ให้เข้าไปทำเข้าไปเจริญ
พวกชอบเจริญมรรคเข้าไปทำมรรค สอบตกทั้งนั้น
มรรคมีองค์ 8 คือ ตัวชี้วัดในความเข้าใจในธรรมของนักปฏิบัติ
คือ ตัวชี้วัดในการตระหนักชัดและความกลายเป็นเนื้อเดียวกัน กับความดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติของจิตปรุงแต่งทั้งหลายหรือของขันธ์ 5 เท่านั้น นี่คือมรรค

มรรคมีองค์ 8 เป็นเพียงธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแจกแจงเพื่อให้เกิดความเข้าใจว่า การที่ปล่อยให้จิตปรุงแต่งทั้งหลาย หรือ
ปล่อยให้ขันธ์ 5 ดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติของมัน อยู่แล้วนั้น มันก็จะทำให้เรามี "ระยะห่าง" จากกองทุกข์
ระยะห่างนั้นก็คือ เส้นทางแห่งมรรคหรือหนทางที่ออกมาจากกองทุกข์นั่นเอง

เมื่อปล่อยให้ทุกสรรพสิ่งมัน"นิโรธ"
มันดับไปเองตามธรรมดาตามธรรมชาติของมัน ตามกระบวนการ ”ธรรมชาติ” ที่ฟื้นฟูตัวมันเอง
มันก็เป็นหนทางออกจากทุกข์อยู่แล้ว โดยเนื้อหามันนี่คือ "มรรค" อยู่แล้ว
แค่ปล่อยให้ความคิดดับไป โดยตัวมันเองตามธรรมดาของมัน
แค่ปล่อยให้ความคิดดับไป ตามสภาพธรรมชาติมันเอง
ไม่ปรุงแต่งต่อ ไม่เข้าไปสาละวนให้ยืดยาว
ก็เดินบนมรรคมีองค์แปดแล้ว

มรรคมีองค์แปด คืออินทรีย์แห่งธรรม
ที่เกิดจากความเข้าใจใน"ธรรมชาติแห่งธรรม"
ที่ทุกสรรพสิ่ง(การปรุงแต่ง)ย่อมดับไป
"ดับไป"โดยตัวมันเองเป็นธรรมดาตามธรรมชาติของมัน
ไม่ใช่เข้าไปมรรคทำทีละข้อ จนครบแปดข้อ แล้วเอามารวมกันแล้วค่อยมาพิจารณาเรื่องความดับ
อย่างนี้เป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง การเข้าไปทำมรรคทีละข้อๆนั้น มันล้วนแต่เป็นจิตที่ปรุงแต่งขึ้นมาว่าจะเข้าไปทำมรรค มันเป็นการเข้าไป “เสือก” ปฏิบัติ ตามความไม่เข้าใจของตน มันฝืนมันขัดต่อระบบธรรมชาติที่มันฟื้นฟูตัวมันเองอยู่แล้ว
เมื่อตระหนักชัดถึงความดับไปเป็นธรรมดาโดยตัวมันเอง
และกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับมัน
นั่นแหละ คือ มรรคมีองค์แปดแล้ว


การที่ปล่อยให้ธรรมชาติและความเป็นธรรมดา แห่งขันธ์ 5
มันดับไปเอง ให้จิตที่เราปรุงแต่งขึ้นมันดับไปเอง นั่นแหละ คือความเป็นเรา ความเป็นอัตตาคือเรา มันดับไป
หมายถึงความเป็นปกติแห่ง "การดำเนินบนมรรคมีองค์แปด" แล้ว
เมื่อขันธ์ 5 ดับ จิต ดับ ก็แสดงว่าอินทรีย์แห่ง สติ สมาธิ ปัญญา
มันทำหน้าที่มันตามปกติ อยู่แล้ว

เมื่อจิตที่ปรุงแต่งมันดับไป หรือ ขันธ์ทั้ง 5 มันดับไป แสดงว่า สัมมาสติ มันกำลังทำหน้าที่มันอยู่ แสดงว่า สัมมาสมาธิ มันกำลังทำหน้าที่ของมันอยู่ แสดงว่า สัมมาทิฏฐิ (ปัญญา) มันกำลังทำหน้าที่ของมันอยู่
มันเป็นอินทรย์แห่งธรรมที่ขับเคลื่อนให้เราออกจากกองทุกข์ ด้วยระบบธรรมชาติที่มันปรับปรุงฟื้นฟูตัวมันเอง
เป็นการปรับปรุงฟื้นฟูให้ออกจากการเข้าไปยึดมั่นถือมั่น เป็นธรรมชาติแห่งการคลายกำหนัด แล้วจะเอาความเป็นเราเข้าไปปฏิบัติอะไรอีก
ตัวที่เข้าไปปฏิบัตินะ ตัวปรุงแต่งของเราทั้งนั้น
เนี่ย เค้าเรียกว่า "ติดในการปฏิบัติ"

ชอบเจริญมรรคมีองค์แปด เหรอ
มันเท่ากับ เจริญ อวิชชา ตัณหา อุปาทาน ตัวละเอียดอยู่ร่ำไป
ติดเจริญมรรค ก็ไม่หมดจด
มีมรรค ที่ใหนให้เจริญเล่า “ไอ้นี่ กะ ไอ้นั่น และต้องเข้าไปทำไปปฏิบัติไอ้โน่น
แล้วไอ้นี่ กะ ไอ้นั่น ก็จะหายไป
แล้วไอ้โน่น ต้องทำให้ได้ตามนี้เท่าไอ้นี่
แล้ว เอ่อ ไอ้โน่น มันน่าจะคือการหลุดพ้น”
สรุป ไอ้นี่ ไอ้นั่น ไอ้โน่น คือ การที่ใช้จิต ปรุงแต่ง ทั้งหมด

บทความนี้ เขียนโดย นายเมฆ โซะระคุโมะ (ลูกศิษย์)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 38 ฌาน คือ ธรรมสำหรับบัวใต้น้ำ
ฌาน คือ สมาธิความตั้งมั่นในระดับต่างๆที่เอาความเป็นเราเข้าไปทำเป็นอัตตาชนิดหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสเรื่องฌานไว้ในกรรมฐาน 40 กอง ท่านตรัสเพื่อทรงสอนดอกบัวจำพวกใต้น้ำ คือ หมู่ชนผู้มืดบอดที่ “ ไม่รู้จักความสงบที่แท้จริง ” เพราะความเป็นจริง “จิต” ที่ปรุงแต่งขึ้นเป็นจิตต่างๆนั้น ถือว่า เป็นความวุ่นวายอันเกิดจากอวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นปรุงแต่งขึ้นมา มันวุ่นวายไปด้วยอวิชชาตัณหาอุปาทาน วุ่นวายไปด้วยความหมายแห่งความเป็นตัวตนเป็นอัตตา วุ่นวายไปด้วยความมีเรามีเขามีสิ่งๆโน้นมีสิ่งๆนี้เข้ามา สรุปคือ เป็นความวุ่นวายในความเป็นอัตตาตัวตน ซึ่งมีสภาพเป็นทุกข์
แต่โดยธรรมชาติแห่งความเป็นสัจธรรมความจริง “จิต” ต่างๆนั้นเป็นธรรมชาติที่มันตั้งอยู่ได้ไม่นาน มีความแปรปรวนสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว “ความสงบที่แท้จริง” ก็คือ ความสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาโดยสภาพธรรมชาติของ”จิต” มันเองนั่นแหละ เป็นความสงบปราศจากภาวะความเข้าไปยึดมั่นถือมั่น ปราศจากภาวะความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน ปราศจากภาวะความมีเรามีเขามีสิ่งต่างๆ ปราศจากภาวะความเป็นอัตตา มันเป็นความสงบแท้จริงซึ่งแสดงเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน
แต่หมู่ชนซึ่งเปรียบเสมือนพวกบัวใต้น้ำกลับไม่เข้าใจในความหมายแห่งความสงบที่แท้จริง ไม่สามารถตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกับความสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาของจิตต่างๆที่ถูกปรุงแต่งขึ้นได้ ซึ่งความดับไปตามธรรมชาตินั้นคือความสงบซึ่งแสดงเนื้อหาแห่งความว่างเปล่าจากความหมายแห่งความเป็นตัวเป็นตน หมู่ชนแห่งบัวเหล่านี้ไม่รู้จักความหมายแห่งความแปรปรวน ไม่รู้จักความหมายแห่งอนิจจังความไม่เที่ยงแท้แน่นอน แต่ในทางตรงกันข้ามหมู่ชนเหล่านี้ กลับ“มีแต่ความปรุงแต่งทางจิต และมีความสาละวนในการปรุงแต่งซ้ำๆซากๆ จนกลายเป็นพฤติกรรมทางจิตที่ชอบปรุงแต่งก่อให้เกิดเป็นจิตประเภทต่างๆอยู่ตลอดเวลา และไม่มีปัญญาพอที่จะตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปของจิตนั้นได้ สาละวนปรุงแต่งจนกระทั้งเกิด “ภาวะอุปสรรค” เข้ามากีดกั้นปิดบังไม่ให้รู้ไม่ให้เข้าใจไม่ให้ตระหนักชัดในธรรมอันคือธรรมชาติซึ่งเป็นความสงบที่แท้จริง พระพุทธองค์ทรงตรัสถึงการปรุงแต่ง ซ้ำๆซากๆ ที่กลายเป็นจิตประเภทนี้ไว้ 5 ชนิด คือ นิวรณ์ทั้ง 5 ได้แก่

1.กามฉันทะ ความพอใจ ติดใจ หลงใหลใฝ่ฝัน ในกามโลกีย์ทั้งปวง
2. พยาบาท ความไม่พอใจ ความคับแค้นใจ ความอาฆาตปองร้าย
3. ถีนมิทธะ ความขี้เกียจ ท้อแท้ อ่อนแอ หมดอาลัย ไร้กำลังทั้งกายใจ ไม่ฮึกเหิม
4. อุทธัจจะกุกกุจจะ ความคิดซัดส่ายตลอดเวลา ไม่สงบนิ่งอยู่ในความคิดใดๆ
5. วิจิกิจฉา ความไม่แน่ใจ ลังเลใจ สงสัย กังวล กล้าๆ กลัวๆ ไม่เต็มที่ ไม่มั่นใจ
เมื่อรอบปัญญาบารมียังไม่มากพอที่จะทำความเข้าใจและตระหนักชัดในเนื้อในเนื้อหาแห่งความแปรปรวนดับไปสิ้นไปของจิตทั้ง 5 ชนิดดังกล่าวข้างต้นได้ พระพุทธองค์จึงทรงสั่งสอนบัวเหล่าใต้น้ำนี้ท่านทรงแนะนำ “ อุบาย” อันจะช่วยทำให้ “หันเห” ความสนใจหันเหจากพฤติกรรมทางจิตที่ปรุงแต่งต่างๆนาๆจนเป็นอุปสรรคทำให้ไม่รู้จักไม่เข้าใจในความอนิจจังสิ้นไปเสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดาของจิต “หันเห” มาสู่จุดใดจุดหนึ่งในองค์ภาวนาในประเภทใดประเภทหนึ่งซึ่งพระพุทธองค์ท่านตรัสไว้ถึง 40 กอง และให้ตามเพ่งอยู่ตรงจุดนั้นจนกว่าจะเกิด “ภาวะอัตตาอันประณีต” เช่นอาการวิตก วิจารณ์ ปีติ สุข เอกคัตตา คือ จิตเพ่งตรงนั้นจนไม่ไปใหนในช่วงระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งมันทำให้หันเหจากพฤติกรรมที่ชอบปรุงแต่งเป็นจิตประเภทต่างๆที่มันเป็นอุปสรรคได้อย่างดี เมื่อหันเหมาสู่ภาวะอัตตาอันประณีตที่เรียกว่า องค์ฌาน มันก็กลายเป็นจิตอันประณีตอยู่ตรงนี้แบบชั่วคราวแต่เมื่ออำนาจฌานหมดไปหายไป หมู่ชนเหล่านี้ซึ่งเคยมีพฤติกรรมปรุงแต่งทางจิตไปต่างๆนาๆตามความเคยชิน ก็จะกลับไปปรุงแต่งอีกเหมือนเดิม เพราะฉะนั้นพระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้หมู่ชนเหล่านี้ทำสมาธิในลักษณะฌาน เมื่อเกิดภาวะจิตปรุงแต่งอันประณีตในองค์ฌาน เมื่อจิตมีความ “รำงับ” จากความวุ่นวายชั่วคราวแล้วก็ควรรีบมาศึกษาทำความเข้าใจในเรื่องอริยสัจจ์ เรื่องการแก้ไขปัญหาแบบตรงประเด็น คือการปฏิบัติตรงแบบอุชุปฏิปันโน แบบความดับไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติโดยเร็วที่สุด เพื่อที่จะได้ตระหนักชัดและสามารถซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับธรรมอันคือความสงบนั้น
แต่สำหรับผู้ที่เข้าใจเนื้อหาธรรมอันคือธรรมชาติซึ่งสามารถตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความสิ้นไปดับไปเป็นธรรมดาของจิตประเภทต่างๆได้ซึ่งถือว่าหมู่ชนเหล่านี้เปรียบเสมือนบัวปริ่มน้ำ บุคคลเหล่านี้ได้ลิ้มรสชาดแห่งความสงบทางจิตที่แท้จริงได้แล้ว จึงไม่มีความจำเป็นแต่อย่างใดที่จะต้องเข้าไปทำกรรมฐานใน 40 กอง เพื่อให้เกิดความปรุงแต่งเป็นจิตอันประณีตในองค์ฌานเป็นอัตตาตัวตนขึ้นมาบดบังพระนิพพานและทำให้เกิดความลำบากกายทรมานกายขึ้นมาอีก
กรรมฐาน 40 กองมีดังนี้
- กสิณกรรมฐาน 10 อย่าง แบ่งเป็น
ดิน น้ำ ลม ไฟ อากาศ แสงสว่าง กสิณสีแดง กสิณเขียว กสิณสีขาว กสิณสีเหลือง

-อสุภกัมมัฏฐาน 10 อย่าง
อุทธุมาตกอสุภ คือ ร่างกายของคนและสัตว์ที่ตายไปแล้ว นับแต่วันตายเป็นต้นไป มีร่างกายขึ้นบวมพอง ขึ้นอืด
วินีลกอสุภ เป็นร่างกายที่มีสีเขียว สีแดง สีขาว ปะปนคน สีแดงในที่มีเนื้อมาก สีขาวในที่มีน้ำเหลืองน้ำหนองมาก สีเขียวที่มีผ้าสีเขียวคลุม ร่างของผู้ตายส่วนใหญ่ปกคลุมด้วยผ้า สีเขียวจึงมากกว่า ดังนั้นจึงเรียกว่า วินีลกะ แปลว่าสีเขียว
วิปุพพกอสุภ เป็นซากศพที่มีน้ำเหลืองไหลอยู่เป็นปกติ
วิฉิทททกอสุภ คือซากศพที่มีร่างกายขาดเป็นสองท่อนในท่ามกลาง มีกายขาดออกจากกัน
วิกขายิตกอสุภ เป็นร่างกายของซากศพที่ถูกสัตว์ยื้อแย่งกัดกิน
วิขิตตกอสุภ เป็นซากศพที่ถูกทอดทิ้งไว้จนส่วนต่าง ๆ กระจัดกระจาย
หตวิกขิตตกอสุภ คือซากศพที่ถูกสับฟันเป็นท่อนน้อยและท่อนใหญ่
โลหิตกอสุภ คือซากศพที่มีเลือดไหลอออกเป็นปกติ
ปุฬุวกอสุภ คือซากศพที่เต็มไปด้วยตัวหนอนคลานกินอยู่
อัฏฐกอสุภ คือซากศพที่มีแต่กระดูก
- อนุสติ 10 คือ
พุทธานุสสติ - ระลึกถึงพระพุทธเจ้า
ธัมมานุสสติ - ระลึกถึงพระธรรม คำสอน
สังฆานุสสติ - ระลึกถึง คุณพระสงฆ์
ศีลานุสสติ - ระลึก ถึงผู้มีศีล
จาคานุสสติ - ระลึกถึงคุณความดีของการให้
เทวตานุสสติ - ระลึกถึงความดีของเทวดา
มรณานุสสติ - ระลึกถึงความตาย
กายคตานุสสติ - ระลึกถึงร่างกายเราเป็นของสกปรกไม่มีอะไรดี
อาณาปานุสสติ - ระลึกถึงลมหายใจของเรา
อุปสมานุสสติ - ระลึกถึงอารมณ์พระนิพพาน
-พรหมวิหาร 4
-อรูปฌาน 4
-อหาเรปฏิกูลสัญญา - พิจารณาว่าอาหารเป็นของเหม็นเน่าเหมือนร่างกาย
- จตุธาตุววัฏฐาน 4 พิจารณาการเกิดของสังขาร คือเป็นการประชุมของ ธาตุทั้ง 4


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:55 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 39 สัมมาสมาธิ
การที่พระพุทธองค์ได้ตรัสไว้ว่า การที่จิตต่างๆหรือขันธ์ทั้ง 5 สิ้นไปดับไปเป็นธรรมดานั้น มันเป็นเนื้อหาแห่ง “ มรรคมีองค์ 8” อยู่แล้ว ซึ่งมันประกอบไปด้วยอินทรีย์ธรรมแห่ง สัมมาสมาธิอยู่ด้วย เพราะฉะนั้น “สัมมาสมาธิ” มันจึงเป็น “ธรรมชาติแห่งความตั้งมั่น” ตั้งมั่นในความดับไปเป็นธรรมดาแห่งจิตต่างๆแห่งขันธ์ทั้ง 5 เมื่อจิตต่างๆหรือขันธ์ทั้ง 5 มันดับไปเป็นธรรมดาโดยสภาพมันเองมันก็บ่งบอกความหมายที่แสดงถึง “ไม่มีความเป็นเรา” “ความเป็นเราดับไป” ด้วยเหตุผลนี้จึงไม่สามารถเอาความเป็นเราเข้าไปฝึกเข้าไปทำ “สัมมาสมาธิ”ได้
เพราะฉะนั้นสัมมาสมาธิจึงไม่ใช่การเข้าไปทำ ไม่มีการเข้าไปฝึกเข้าไปทำ การเข้าไปทำสัมมาสมาธิล้วนเป็นความไม่เข้าใจในธรรมและเป็นจิตปรุงแต่งชนิดหนึ่ง อีกทั้งสัมมาสมาธิไม่มีการเข้าและการออกเหมือนองค์ฌาน ที่มีลำดับในการเข้าไปในระดับของสมาธิในภาวะแห่งอัตตาอันประณีตนั้น เช่น เข้าไปในภาวะวิตกวิจารณ์ ปีติ สุข และเป็นภาวะหนึ่งเดียวที่ไม่ไปใหนไม่สนใจอย่างอื่นนอกจากองค์ภาวนาคือจิตรวมเป็นอาการหนึ่งเดียวในลักษณะจิตจดจ่ออยู่อย่างนั้น เรียกว่า เอกคัตตา และสามารถออกมาจากภาวะฌานดังกล่าวได้

“จงฟังโศลกแห่งสมาธิธรรมชาติ”
ธรรมชาติของสมาธิ ไม่มีทั้งการเข้า และไม่มีทั้งการออก
ไม่มีทั้งความเงียบ และ ไม่มีทั้งความวุ่นวาย ไม่มีทั้งสภาวะธรรมคู่แห่งการปรุงแต่ง
ธรรมชาติของสมาธิ ไม่ใช่เป็นความเข้าอยู่
ไม่ใช่เป็นสิ่งที่ใครจะสร้างขึ้นได้ มันเป็นธรรมชาติแห่งความสงบตลอดกาล
ซึ่งในภาวะเช่นนั้นไม่มีทั้งการเข้าอยู่และการออกมา
อาการที่ท่านยังเข้าๆ ออกๆ ได้อยู่นั้น
ยังไม่ใช่สมาธิชั้นเยี่ยม

ธรรมชาติแห่งสมาธิ มันเป็นอาการที่นิ่งแต่เคลื่อนไหวได้ มันเป็นสมาธิที่ประกอบไปด้วย สติและปัญญา มันจึงทำหน้าที่ตามธรรมชาติแห่งความตั้งมั่นอยู่ตลอดเวลา ในทุกอิริยาบถ ไม่ว่าจะ ยืน เดิน นั่ง นอน กินข้าว ล้างหน้า แปรงฟัน ขับรถ ทำงาน คุยกับเพื่อน ดูทีวี อ่านหนังสือ

และสมาธิธรรมชาตินี้ ไม่มีความเป็น “เรา” จะเข้าไปจับฉวยจับกุม เพื่อวัดขนาดความเข้มข้นระดับชั้นมันได้ มันเป็นเพียงธรรมชาติอันตรงแน่วในความไม่มีไม่เป็นเท่านั้น

สมาธิธรรมชาติ มันก็ทำหน้าที่ของมันอยู่อย่างนั้นตามธรรมชาติ หน้าที่ ที่เป็นความตั้งมั่นแห่ง “ความกลายเป็นเนื้อหาเดียวกัน” กับความว่างเปล่าไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนอยู่อย่างนั้น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 06 ก.ย. 2012, 06:56 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 40 สัมมาสติ
ในส่วนธรรมที่พระพุทธองค์ตรัสถึง “สติ” ในธรรมอันคือสติปัฎฐาน ท่านทรงตรัสไว้ในหมวดกายานุปัสนาสติว่า “เมื่อเดิน ก็รู้ชัดว่าเราเดิน เมื่อยืน ก็รู้ชัดว่าเรายืน เมื่อนั่ง ก็รู้ชัดว่าเรานั่ง เมื่อนอน ก็รู้ชัดว่าเรานอน และความรู้สึกตัวในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้มรส ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ย่อมทำความรู้สึกตัว ในการเดิน การยืน การนั่ง การหลับ การตื่น การพูด การนิ่ง ”

ในส่วนพิจารณาอริยบทนี้ พระพุทธองค์มีความประสงค์ให้เราเรียนรู้ถึงสภาพธรรมอันคือการระลึกรู้แบบถ้วนทั่วซึ่งมันคือ สติสัมปชัญญะ เพื่อเป็นบาทฐานเทียบเคียงให้เราได้เข้าใจตระหนักชัดขึ้นถึง “ลักษณะความเป็นไป” ในอินทรย์แห่ง สัมมาสติ
เพราะฉะนั้นการเดินจงกรม การนั่ง การนอน ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้มรส ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะเพื่อฝึกสติ มันจึงเป็นเพียง "สติสัมปัชชัญญะ" เป็นการเรียนรู้เพื่อทำความเข้าใจธรรมในลักษณะที่เป็น “การระลึกรู้แบบถ้วนทั่ว” เป็นการเอา “ความเป็นเราเป็นอัตตาตัวตน” เข้าไปฝึกเข้าไปทำ แต่ทั้งนี้เป็นพุทธะประสงค์ให้เรียนรู้ทำความเข้าใจเพื่อเป็นบาทฐานเทียบเคียงให้เราได้เข้าใจตระหนักชัดขึ้นถึงลักษณะความเป็นไปในอินทรย์แห่งสัมมาสติ ในภายภาคหน้าเท่านั้น พึงเข้าใจอย่างชัดแจ้งว่า การฝึกสติสัมปัชชัญญะ ในอริยบทต่างๆเหล่านี้ยังไม่ใช่สัมมาสติแต่อย่างใด

สัมมาสติ เป็น "ธรรมชาติแห่งการรู้ในการที่จิตต่างๆหรือขันธ์ทั้ง 5 นั้นดับไปเป็นธรรมดาอยู่แล้วตามสภาพธรรมชาติมันเอง"
จึงไม่สามารถเอาความเป็นเราเข้าไปฝึกทำได้ เพราะมันเป็นอินทรีย์แห่งธรรมที่เกิดจากความดับไปเป็นธรรมดา จิตต่างๆหรือขันธ์ทั้ง 5 เมื่อมันดับไปโดยตัวมันเองเป็นธรรมดา แสดงว่า "ไม่มีความเป็นเรา" “ความเป็นเราดับไป” และจะเอาความเป็นเราไปฝึก "สัมมาสติ" ได้ที่ใหนกัน

สัมมาสติ คือ"การที่รู้แบบธรรมดาธรรมชาติ"ว่าความคิดนั้นล้วนไม่เที่ยง ดับไปเป็นธรรมดาโดยสภาพมันเองตามธรรมชาติ
ไม่ใช่เป็นการเอาจิตไปปรุงแต่งขึ้นมาอีกชั้นหนี่ง "เพื่องัดตัวสติ" ขึ้นมา สัมมาสติ ก็คือ สติที่มีเองทุกขณะ
โดยไม่ต้องออกแรงตั้งใจให้มีสติ
และมีอยู่เองโดยไม่มีความต้องการที่จะให้มีสติ
เพราะเห็นว่าสตินั้นมีประโยชน์ การเอาสติไปตั้งเพื่อคอยจ้องดูความคิด การตั้งสติแบบนี้
การเข้าไปจัดแจงเพื่องัดและดึงตัวสติขึ้นมา
เป็นการปรุงแต่งในธรรม เป็นการปรุงแต่งในรายละเอียดในวิธีปฏิบัติ มันไม่ใช่สัมมาสติ แต่มันเป็นอวิชชาตัณหาอุปาทานตัวหนึ่งเลยทีเดียว เพราะขันธ์ 5 ไม่ดับ แต่กลับเข้าไปยึดขันธ์ 5 ให้กลายเป็นจิตที่ปรุงแต่งในการพิจารณาธรรม ซึ่งเป็นอวิชชาอันละเอียด
มันเป็นได้แค่สติสัมปัชชัญญะ ไม่ใช่สัมมาสติ

การเข้าใจผิดด้วยการเข้าไปทำทีละขั้นทีละตอน เช่น การฝึกสติสัมปัชชัญญะด้วยการเดินจงกรม การนั่ง การนอน ในการก้าว ในการถอย ในการแล ในการเหลียว ในการคู้เข้า ในการเหยียดออก ในการกิน การดื่ม การเคี้ยว การลิ้มรส ในการถ่ายอุจจาระและปัสสาวะ ทั้งนี้มีจุดประสงค์เพื่อทำพระนิพพานให้แจ้ง การฝึกสติสัมปัชชัญญะดังกล่าวนี้จึงเป็นลักษณะของจิตปรุงแต่งที่เนื่องด้วย อวิชชา ตัณหา อุปทานทั้งสิ้น มิใช่เส้นทาง “ธรรมชาติ” อันคือธรรมชาติแห่งสติ หรือ สัมมาสติ แต่อย่างใด

แต่ถ้าเราพึงพิจารณาเห็นถึง ความเกิดขึ้นแห่งอิริยาบทของร่างกาย และอริยาบทที่เกิดขึ้นของร่างกายก็เปลี่ยนสภาพไปตั้งอยู่ในอริยบทเดิมได้ไม่นานและมีความเสื่อมไปสิ้นไปจากอริยบทเดิมนั้น “ ด้วยความตระหนักชัดถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา ” อันเกิดจากการพิจารณากายในส่วนกายานุปัสสนาสติแห่งอริยบทแบบนี้เป็นบาทฐาน ก็ให้เราควรละทิฏฐิที่เห็นว่ากายนี้คือเรา
ไม่ควรเข้าไปเนื่อง ไม่ควรเข้าไปเนิ่นช้า ไม่ควรเข้าไปสาละวน ในทิฏฐิซึ่งเป็นจิตปรุงแต่งแบบนี้อีก กายนั้นเป็นเพียงแค่ได้อาศัยอยู่ชั่วคราว มีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดา การละทิฏฐิซึ่งเป็นจิตปรุงแต่งขึ้นมาตรงนี้ได้ คือ สัมมาสติ



เมื่อเข้าใจเช่นนี้ ว่า
มันว่างเปล่าตามธรรมชาติโดยสภาพมันเองอยู่แล้ว
มันก็บ่งบอกว่า อินทรีย์ แห่ง สติ หรือ สัมมาสติ มันก็ยังคงทำหน้าที่ของมันอยู่ตามธรรมชาติอยู่แล้วเช่นกัน


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2012, 02:19 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 41 การปรุงแต่ง “เพื่อรักษาจิต”
ความเป็นจริงแล้วหัวใจหลักที่เป็นคำสอนแห่งพระพุทธศาสนานั้น คือ ความเป็นเช่นนั้นของมันเองอยู่อย่างนั้น มันคือความไม่ใช่ตัวไม่ตนแบบถ้วนทั่วของมันอยู่อย่างนั้นเอง ไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลยที่จะเกิดขึ้นและไม่มีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเลยที่จะดับไป มันล้วนแต่เป็นธรรมชาติแห่งความว่างเปล่าที่เป็นความหมายแห่งความไม่ใช่ตัวไม่ใช่ตนเป็น “ธรรมชาติดั้งเดิมแท้” ของมันอยู่อย่างนั้น แต่ถ้าหากบุคคลใดมีความไม่เข้าใจในคำสอนอันเป็นหลักธรรมอันแท้จริงข้อเดียวนี้ และยังเข้าไปหลงด้วยอวิชชาความไม่รู้พาเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ทั้ง 5 ก่อให้เกิดเป็นจิตปรุงแต่งเป็น “ความมีตัวตนอัตตา”เกิดขึ้น เมื่อยังไม่เข้าใจในธรรมชาตืที่แท้จริงและยังหลงเห็นว่ามีสิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้น พระพุทธองค์ก็จะทรงชี้แนะว่า “สิ่งที่เห็นนั้นล้วนมีความแปรปรวนตั้งอยู่ได้มานานและมีความเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดาตามสภาพธรรมชาติของมันเองอยู่แล้ว”
แต่ถ้าบุคคลนั้นยังไม่เข้าใจและไม่สามารถตระหนักชัดถึงธรรมชาติแห่งความแปรปรวนเสื่อมไปสิ้นไปเป็นธรรมดาของทุกสรรพสิ่งที่เห็นว่ามัน “เกิดขึ้น” แล้วได้ พระพุทธองค์ก็จะทรงสอนบุคคลเหล่านี้เพิ่มเติมเพื่อให้เข้าไปเรียนรู้และทำความเข้าใจในธรรมอันมีสภาพไม่เที่ยงแท้แน่นอนด้วยการแนะนำให้เข้าไปฝึกทำกรรมฐาน 40 กองตามจริตที่ตนเองชอบ เพื่อให้เกิดจิตอันประณีตปราศจากความวุ่นวายแห่งการปรุงแต่งเป็นตัวตนแบบซ้ำๆซากๆ เมื่อจิตสงบอันเกิดจากการเข้าไปทำกรรมฐานปราศจากการปรุงแต่งชั่วคราวแล้ว พระพุทธองค์จึงทรงแนะนำให้น้อมนำธรรมอันมีสภาพไม่เที่ยงแท้แน่นอนมาพิจารณาถึงเนื้อหาและความหมายของมันว่าเป็นเช่นไร
แต่ถึงกระนั้นก็ยังมีกลุ่มบุคคลซึ่งเปรียบเสมือนบัวใต้น้ำอีกหลายกลุ่มที่ไม่สามารถเข้าไปทำกรรมฐานเพื่อให้จิตสงบลงได้และไม่สามารถทำความเข้าใจเพื่อตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความสิ้นไปเสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดาของจิตต่างๆหรือของขันธ์ทั้ง 5 ได้เลย พระพุทธองค์จึงทรงมีพระมหากรุณาธิคุณที่จะโปรดสัตว์ผู้มีปัญญาอันมืดบอดเหล่านี้ โดยท่านทรงชี้แนะสอนให้สรรพสัตว์พวกนี้ “ปรุงแต่งจิต” เพื่อให้รักษาจิตไปในทางกุศลกรรมอยู่ตลอดเวลา ทั้งนี้เพื่อให้บุคคลเหล่านี้เรียนรู้เรื่องภพชาติเรื่องกฏแห่งกรรมที่จะทำให้ต้องไปเวียนว่ายตายเกิด พระพุทธองค์จึงทรงสอนให้เลือกที่จะปรุงแต่งจิตไปในทางกุศลกรรมเพื่อเลือกที่จะ

ประกอบกรรมดีให้เกิดขึ้นอยู่เสมอๆ เป็นการสอนเพื่อให้เข้าไปปรุงแต่งรักษาจิต เป็นการสอนเพื่อให้เกิดความสำรวมระวังจิตมิให้ปรุงแต่งจิตไปในทางอกุศลกรรมไปในทางที่ไม่ดีไม่ชอบ ทั้งนี้เป็นพุทธประสงค์เพื่อให้บุคคลเหล่านี้ไม่ตกไปสู่ภพภูมิที่ลำบากเมื่อละขันธ์ 5 ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ธรรมที่พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้เข้าไปกระทำปรุงแต่ง เช่น ให้รักษาศิลต่างๆ ให้มีความละอายเกรงกลัวต่อบาป ให้มีความสงบเสงี่ยมแสดงออกทาง กาย วาจา ใจ แบบสวยงามเหมาะสมลงตัวในมาตรฐานความดีในสังคมนั้นๆ แนะนำให้ให้สละทรัพย์เพื่อบริจาคทาน แนะนำให้เคารพและเลี้ยงดูบำรุงบิดา มารดา แนะนำให้เคารพผู้ใหญ่ครูบาอาจารย์ แนะนำให้คบหาแต่บัณฑิต เหล่านี้เป็นต้น
แต่สำหรับบุคคลผู้มีปัญญาที่สามารถตระหนักชัดถึงความสิ้นไปเสื่อมไปเป็นธรรมดา บุคคลผู้เปรียบเสมือนเป็นบัวปริ่มน้ำนี้ย่อมเข้าใจและเห็นชัดว่า จิตที่ปรุงแต่งไปในทางกุศลกรรมเหล่านี้ข้างต้น มันก็ล้วนมีสภาพเกิดขึ้นและตั้งอยู่ได้ไม่นานมีความแปรปรวนสิ้นไปเสื่อมไปดับไปเป็นธรรมดาอยู่เองแล้วตามสภาพธรรมชาติ ไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่นในจิตอันเป็นกุศลกรรมเหล่านี้เพื่อที่จะส่งผลให้ต้องไปเวียนว่ายตายเกิดให้เป็นทุกข์ขึ้นมาอีก พวกเขาสามารถตระหนักชัดและซึมทราบกลายเป็นเนื้อหาเดียวกันกับความดับไปสิ้นไปเป็นธรรมดาของจิตอันเป็นกุศลต่างๆเหล่านี้ได้

ผู้ที่มีใจเที่ยงธรรม ผู้ที่มีความตระหนักชัดและกลายเป็นเนื้อหาเดียวกัน กับธรรมอันคือธรรมชาติ การรักษาศีลไม่เป็นของจำเป็น


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2012, 02:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 42 จักรวาลไม่มีอยู่จริง
วันๆหนึ่งเราท่านต่างทำงานเพื่อแลกปัจจัย(เงิน) เพื่อนำปัจจัยไปแลกอาหาร เพื่อนำอาหารไปบริโภค บริโภคเพื่อเลี้ยงเซลล์อันเป็นองค์ประกอบหลักของอวัยวะต่างๆของร่างกาย พอเซลล์ตายกายดับ เราหรือท่านต่างก็ไม่มี จริงๆแล้วชีวิตมนุษย์เราต้องการแต่เพียงอาหารและน้ำเพื่อดำรงชีวิตอยู่ให้ผ่านพ้นไปวันๆเท่านั้น ปัจจัยอื่นนอกเหนือจากนี้ไม่ได้มีความสำคัญอันใดต่อการมีชีวิตอยู่ สิ่งมีชีวิตส่วนใหญ่เกิดขึ้นมาได้ด้วยเหตุผลของกรรม การได้เกิดมาเป็นมนุษย์ก็เพื่อให้เราเข้าใจในธรรมชาติของกรรม เมื่อเข้าใจแล้วก็หันหลังให้มันซะแล้วไม่ต้องหันไปมองมันอีก วิธีที่จะทำให้เข้าใจในกรรมแห่งการเกิดนั้นคือ ไม่สงสัยในกรรม ไม่ว่ากรรมจะเป็นเช่นไรจะเป็นไปในทิศทางใด หรือเราจะต้องชดใช้กรรมหรือไม่ เมื่อหยุดสงสัยมันได้แล้วคุณก็จะเข้าใจกรรมว่าเป็นสิ่งที่ไม่น่าสงสัย สงสัยไปก็เปล่าประโยชน์เพราะมันไม่มีคำตอบ จริงๆแล้วการได้เกิดมาเป็นมนุษย์คุณควรที่จะสงสัยในสิ่งที่มีคำตอบและมันเป็นประโยชน์กับชีวิตมนุษย์มากที่สุด คือ ความว่างเปล่าอันไร้ตัวตนที่นำความผาสุกให้แก่ชีวิตมนุษย์ไปตลอดตั้งแต่ยังมีลมหายใจจนถึงหมดลมหายใจไปแล้ว มันคือความสุขที่เป็นนิรันดร์ สภาวะแห่งความว่างนั้นเป็นเพียงสภาวะธรรมดาๆ ที่มีอยู่ตลอดเวลา มีอยู่ทุกสถานที่ทุกหนแห่ง เป็นสภาวะที่มันเป็นของมันเองตามธรรมชาติในจิตใจของมนุษย์ มันเป็นโดยสภาพของตัวมันเองโดยที่ไม่มีวิธีการใดๆจะทำให้มันเกิดได้ มันเป็นสิ่งที่มีอยู่ในเราตลอดเวลา พระตถาคตท่านได้คิดวิธีต่อหลายวิธีที่จะทำอย่างไรให้ได้พบกับความสุขอันเป็นนิรันดร์ ความสุขที่ว่าคือทำอย่างไร จะไม่ให้เกิดทุกข์อีก ทั้งที่ชีวิตมนุษย์เต็มไปด้วยความทุกขเวทนาทั้งสิ้น และวันหนึ่งท่านก็ค้นพบคำตอบแห่งการพ้นทุกข์และท่านได้สรุปให้เราสั้นๆว่า สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นเองเป็นธรรมดา สิ่งใดสิ่งหนึ่งนั้นย่อมดับลงไปเองเป็นธรรมดาอีกเช่นกัน ซึ่งเป็นวิธีที่ไม่มีวิธีปฏิบัติ เพราะถ้าหากว่ามันต้องมีวิธีปฏิบัติ แล้วตถาคตท่านจะบอกทำไมว่า มัน
เกิดขึ้นเองและดับลงไปเองเป็นของธรรมดา ในเมื่อมันเกิดขึ้นเองและดับลงเองเป็นของธรรมดา ในเมื่อมันเกิดขึ้นเองและดับลงเองก็ไม่จำเป็นจะต้องมีวิธีที่จะต้องทำให้มันดับลงไปตามความต้องการของเรา ธรรมชาติแห่งความดับไปมันเป็นของมันอย่างนี้มานานแล้ว ถึงจะไม่มีใครหรือสิ่งใดมาเป็นเหตุหรือปัจจัย มันก็เป็นความดับไปเป็นธรรมดาของมันอยู่อย่างนี้ตลอดเวลา
สภาวะจิตก็เช่นกัน วันๆหนึ่งมีการเกิดขึ้นของความคิดและดับลงไปเองวันละหลายๆครั้ง และมันก็ดับไปเป็นธรรมดาของมันเอง ไม่มีใครสามารถเข้าไปบังคับให้มันดับไปได้ หากเป็นเช่นนั้นก็ต้องมานั่งนับความเกิดดับของจิตอยู่ตลอดเวลา มันจะเป็นเช่นไรก็อย่างนั้นแหละ มันไม่มีอะไรให้ต้องเข้าถึงกับอะไร มันเป็นเพียงความเข้าใจในธรรมชาติของสภาวะแห่งความว่างเท่านั้นว่าสภาวะความว่างเป็นอย่างไร เพราะทุกสิ่งที่เห็นว่ามีอยู่จริง แต่อันที่จริงทุกๆสิ่งจริงๆนั้นไม่มี ในโลกนี้มีแต่ของมายา มีแต่ของสมมุติ แม้กระทั้งตัวเราเองก็สมมุติ ก็แม้กระทั้งตัวเราเองยังไม่มีแล้วทุกสิ่งจะมีได้อย่างไร สิ่งที่มีอยู่จริงก็คือความว่าง จักวาลนี้ประกอบไปด้วยดาวเคราะห์ต่างๆ โลก อุกาบาต และอื่นๆ ทุกๆสิ่งในจักรวาลนี้ล้วนเป็นหนึ่งเดียวกับความว่าง หากคุณเข้าใจว่าทุกสรรพสิ่งล้วนเป็นส่วนหนึ่งแห่งความว่างแล้ว คุณจะรู้ว่าจริงๆแล้ว จักวาลนี้ก็ไม่มีอยู่จริง

บทความนี้
เขียนโดย นางดวงฤทัย(แตง) วงศ์สูงเนิน (ลูกศิษย์)


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 07 ก.ย. 2012, 02:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิก ระดับ 4
สมาชิก ระดับ 4
ลงทะเบียนเมื่อ: 21 ส.ค. 2012, 21:53
โพสต์: 235

สิ่งที่ชื่นชอบ: ใจต่อใจในการฝึกตน
ชื่อเล่น: เมฆ
อายุ: 43

 ข้อมูลส่วนตัว


บทที่ 43 มรณสติ
สมัยหนึ่ง พระผู้มีพระภาคประทับอยู่ ณ ที่พักก่อด้วยอิฐชื่อ
นาทิกะ ณ ที่นั้นแล พระผู้มีพระภาคตรัสเรียกภิกษุทั้งหลายว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ฯลฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันบุคคลเจริญแล้ว กระทำให้มากแล้ว ย่อมมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ก็มรณสติอันบุคคลเจริญแล้วอย่างไร กระทำให้มากแล้วอย่างไร จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มากหยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางวันสิ้นไป กลางคืนเวียนมาย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้ ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้ ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้ มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนคนที่มีผ้าไฟไหม้ หรือศีรษะถูกไฟไหม้ พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลายถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ ที่จะเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางคืน ไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์หมั่นศึกษาทั้งกลางวันและกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ฯ
ดูกรภิกษุทั้งหลาย อนึ่ง ภิกษุในธรรมวินัยนี้ เมื่อกลางคืนสิ้นไป กลางวันเวียนมาถึง ย่อมพิจารณาดังนี้ว่า ปัจจัยแห่งความตายของเรามีมากหนอ คือ งูพึงกัดเราก็ได้ แมลงป่องพึงต่อยเราก็ได้ ตะขาบพึงกัดเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา เราพึงพลาดล้มลงก็ได้ อาหารที่เราบริโภคแล้วไม่ย่อยเสียก็ได้ ดีของเราพึงซ่านก็ได้ เสมหะของเราพึงกำเริบก็ได้
ลมมีพิษดังศาตราของเราพึงกำเริบก็ได้ มนุษย์ทั้งหลายพึงเบียดเบียนเราก็ได้ พวกอมนุษย์พึงเบียดเบียนเราก็ได้ เพราะเหตุนั้นเราพึงทำกาลกิริยา อันตรายนั้นพึงมีแก่เรา ดูกรภิกษุทั้งหลาย ภิกษุนั้นพึงพิจารณาดังนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางวัน มีอยู่หรือหนอแล ถ้าภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงทำอันตรายแก่เราผู้ทำกาละในกลางวัน มีอยู่ ภิกษุนั้นพึงกระทำความพอใจความพยายาม ความอุตสาหะ ความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อละธรรมอันเป็นบาปอกุศลเหล่านั้นเสีย เปรียบเหมือนบุคคลมีผ้าถูกไฟไหม้หรือศีรษะถูกไฟไหม้ พึงกระทำความพอใจ ความพยายาม ความอุตสาหะความเพียร ความไม่ท้อถอย สติและสัมปชัญญะให้ยิ่ง เพื่อดับไฟไหม้ผ้าหรือศีรษะนั้น ฉะนั้น ดูกรภิกษุทั้งหลาย ถ้าแหละภิกษุพิจารณาอยู่รู้อย่างนี้ว่า ธรรมอันเป็นบาปอกุศลอันเรายังละไม่ได้ที่จะพึงเป็นอันตรายแก่เรา ผู้ทำกาละในกลางวันไม่มี ภิกษุนั้นพึงเป็นผู้มีปีติและปราโมทย์ หมั่นศึกษาทั้งกลางวันกลางคืนในกุศลธรรมทั้งหลายอยู่ ดูกรภิกษุทั้งหลาย มรณสติอันภิกษุเจริญแล้วอย่างนี้ กระทำให้มากแล้วอย่างนี้ จึงมีผลมาก มีอานิสงส์มาก หยั่งลงสู่อมตะ มีอมตะเป็นที่สุด ฯ


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 50 โพสต์ ]  ไปที่หน้า ย้อนกลับ  1, 2, 3, 4  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 28 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร