วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 20:50  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 39 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มี.ค. 2013, 12:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ธรรมบท...คือ ทางแห่งความดี
โดย อาจารย์วศิน อินทสระ


:b40: :b47: :b40:

คัดลอกเนื้อหาจาก
http://www.dharma-gateway.com/ubasok/ub ... x-page.htm

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 08 มี.ค. 2013, 12:46 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ดอกบัวสวรรค์ ๑ ในดอกไม้ในพระพุทธประวัติ


ความสำคัญของหัวใจ (๑)

พระพุทธภาษิต

มโนปุพพงฺคมา ธมฺมา มโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปทุฏฺเฐน ภาสติ วา กโรติวา
ตโต นํ ทุกฺขมนฺเวติ จกฺกํ ว วหโต ปทํ


คำแปล

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ
ถ้าใจไม่ดี การทำการพูด ก็พลอยไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุ
ความทุกข์ก็ติดตามมาเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค


:b44: :b44:

อธิบายความ พระพุทธภาษิตเริ่มต้นนี้ สมเป็นทางแห่งความดีแท้
เพราะความดีทั้งหลายต้องเริ่มต้นที่ใจ คนจะทำบุญหรือทำบาป จะพูดชั่วหรือพูดดี
ย่อมไปจากใจก่อน ใจเป็นผู้สร้างจินตนาการ เป็นผู้เดียวที่มีอำนาจเด็ดขาดในการให้สุข
หรือทุกข์แก่บุคคล คนที่มีความสุข เพราะใจเขาเป็นสุข คนที่มีความทุกข์ก็เหมือนกัน
เพราะใจเขาเป็นทุกข์ ใจจึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในทุกข์และสุข

บุคคลที่เรายอมรับว่า เป็นคนดีนั้น เพราะเขาได้ทำดีและพูดดี
ทั้งนี้ย่อมมีการคิดดีเป็นมูลเหตุมาก่อน กล่าวอีกนัยหนึ่ง
เขาตั้งใจจะเป็นคนดีแล้วดำเนินตามความตั้งใจนั้น


ใจของมนุษย์เป็นสิ่งประเสริฐที่สุด มีค่าที่สุดเท่าที่มนุษย์มีอยู่
เพราะเป็นสิ่งชี้โชคชะตาของมนุษย์ บุคคลจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ใจของเขาเป็น
นี่มองตามทัศนะแห่งปรัชญาเมธี ตัวอย่าง พระสิทธัตถะ
ที่ต่อมาได้เป็นพระพุทธเจ้าก็เพราะพระทัยของพระองค์เป็นก่อน

เราจึงสามารถกล่าวได้ว่า บุคคลจะเป็นอย่างไร ก็เพราะใจเขาไปเป็นอย่างนั้นก่อน
ความจริงข้อนี้เป็นที่ยอมรับ ใฝ่ฝันอยากเป็นนั่นเป็นนี่
เมื่อมีความต้องการและความต้องการนั้นรุนแรงขึ้น
ก็เป็นเครื่องกระตุ้นให้มีความพยายาม ความพยายามก่อให้เกิดความสำเร็จ
ความเป็นคนดีก็มาจากความตั้งใจที่จะเป็นคนดี ปราศจากความตั้งใจเสียแล้วหาสำเร็จไม่
คนธรรมดาได้กลายเป็นพระอรหันต์ เป็นที่เคารพบูชาของคนทั้งหลาย
ก็เพราะใจของท่านปราศจากกิเลส คนหน้าตาสวยงาม แต่กลับเป็นที่รังเกียจของคนทั้งหลาย
ก็เพราะใจสกปรก แล้วไปทำและพูดสกปรกเข้า


โดยนัยนี้จะเห็นว่า ใจมีความสำคัญเพียงใด คนที่โชคดีที่สุด คือคนที่สามารถทำใจให้เป็นสุขได้ทุกวัน
และความสงบอันแท้จริงแห่งจิตใจนั้น มาจากการยอมรับสิ่งอันร้ายแรงที่สุดซึ่งเกิดขึ้นในชีวิตของเรา
โปรดจำไว้ว่า ถ้าใจร้ายความร้ายก็ตามมา ถ้าใจดี ความดีก็ตามมา

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ
ถ้าใจไม่ดี การทำการพูด ก็พลอยไม่ดีไปด้วย เพราะความไม่ดีนั้นเป็นเหตุ
ความทุกข์ก็ติดตามมาเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค


เรื่องประกอบ เรื่องพระจักขุบาล

ท่านเล่าเรื่องประกอบพระพุทธภาษิตนี้ไว้ว่า พระศาสดาตรัสพระพุทธพจน์นี้ที่วัดเชตวันวิหาร
เพราะปรารภเรื่องพระจักขุบาลมีเรื่องโดยย่อว่า

ในเมืองสาวัตถี มีพี่น้องสองคน เป็นบุตรคนมั่งคั่ง คนพี่ชื่อมหาบาล คนน้องชื่อจุลบาล
วันหนึ่งมหาบาลผู้พี่ได้ติดตามคนทั้งหลายไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้า
เกิดความเลื่อมใสในพระธรรมเทศนา วันนั้นพระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยอันงามของมหาบาลแล้ว
ทรงหลั่งพระธรรมเทศนามุ่งมหาบาลเป็นสำคัญ ทรงเทศนาอนุปุพพิกถา ๕ คือ

๑. ทานกถา ว่าด้วยการให้ทาน

๒. สีลกถา ว่าด้วยการรักษาศีล

๓. สัคคกถา ว่าด้วยความสุขในสวรรค์

๔. กามาทีนวกถา ว่าด้วยโทษและความต่ำทรามของกาม

๕. เนกขัมมานิสังสกถา ว่าด้วยอานิสงส์แห่งการหลีกออกจากกาม


เมื่อจบเทศนา มหาบาลได้ความรู้ ความแจ่มแจ้งในธรรม เห็นว่าบุตรธิดา และทรัพย์สมบัติ
เป็นของไม่ยั่งยืน คลุกเคล้าไปด้วยทุกข์และโทษ แม้สรีระของตนเองก็ติดตามไปไม่ได้
ต้องถอดทิ้งไว้ให้เป็นภาระแก่ผู้อื่น ไม่มีประโยชน์ในการอยู่ครองเรือน ควรบวชอย่างพระศาสดา

เขาเข้าไปถวายบังคมพระพุทธองค์แล้วทูลขอบวช พระศาสดาตรัสถามว่ามีใครที่เขาจะต้องบอกลาบ้าง
เขาทูลว่ามีน้องชายอยู่คนหนึ่ง พระพุทธองค์ตรัสให้ไปบอกลาน้องชายเสียก่อน

จุลบาลน้องชายไม่เห็นด้วยในการบวชของพี่ชาย มีความเห็นว่า ยังอยู่ในวัยอันควรบริโภคกาม
อันเป็นรสอร่อยอย่างหนึ่งของโลก ถ้าจะบวช ก็ค่อยบวชเมื่อแก่

แต่มหาบาลผู้พี่ กลับมีความเห็นว่า

"บวชเมื่อแก่ แล้วจะประพฤติพรหมจรรย์ให้ดี ได้อย่างไร มือเท้าและอินทรีย์ต่างๆ ไม่อำนวย
กำลังวังชาถดถอย สมณกิจเป็นภาระหนักเหมาะแก่คนมีกำลังวังชาดี จะทำให้บริบูรณ์ได้
ดูพระบรมศาสดานั่นเถิด ทรงสละราชสมบัติออกผนวชตั้งแต่พระชมอายุเพียง ๒๙
ยังหนุ่มแน่นเหมือนกัน"


น้องชายจะห้ามเท่าไร มหาบาลก็หาฟังไม่ เมื่อบวชแล้วได้อยู่กับอาจารย์จนครบ ๕ พรรษา
ได้นิสัยมุตตกะ คือพอปกครองตนเองได้แล้ว ปรารถนาจะออกไปอยู่ป่า
เพื่อบำเพ็ญสมณธรรม ทำกิจของบรรพชิตให้สิ้น จึงเข้าเฝ้าพระศาสดาทูลถามถึง
ความหมายของ ธุระในศาสนา ๒ ประการ คือ คันถธุระ กับ วิปัสสนาธุระ

คันถธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียนธรรมวินัยตามสมควรแก่ปัญญาของตน
แล้วบอกกล่าวกันต่อๆ ไป


ส่วน วิปัสสนาธุระ นั้นคือ การพิจารณาสังขารโดยความเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์และเป็นอนัตตา จนสามารถบรรลุอรหัตตผลเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด
พระศาสดาตรัสบอกกรรมฐาน ให้ตั้งแต่ต้นจนเพียงพอที่จะบรรลุอรหัตตผลได้
เสมือนมารดาให้เสบียงแก่บุตรเพียงพอแก่การข้ามทางกันดาร


พระมหาบาลทูลลาพระศาสดา แล้วเที่ยวหาเพื่อนภิกษุที่จะร่วมเดินทางไปด้วยกัน
เพื่อไปสู่เสนาสนะป่า ได้เพื่อนร่วมเดินทาง ๖๐ รูป เดินทางไปห่างเชตวันวิหาร ๑๒๐ โยชน์
ถึงปลายแดนหมู่บ้านใหญ่ตำบลหนึ่ง ตอนเช้าเข้าไปบิณฑบาต

ชาวบ้านได้เห็นอาการอันน่าเลื่อมใสของพระทั้งหลาย จึงช่วยกันสร้างที่อยู่อาศัยให้เรียบร้อย
พระก็เข้าไปรับอาหารบิณฑบาตในหมู่บ้านทุกเช้า

ในหมู่บ้านนั้นมีหมอใจบุญคนหนึ่ง ได้ปวารณาตัวว่า หากมีพระรูปใดเจ็บไข้ได้ป่วยขอให้บอก
เขาจะรักษาให้โดยไม่คิดค่ายา ค่ารักษาแต่ประการใด

เมื่อวันเข้าพรรษามาถึง พระมหาบาลระลึกถึงพระพุทธเจ้าที่ไม่ทรงโปรดปรานผู้ประมาท
เพราะความประมาทประตูแห่งอบาย ๔ คือ นรก เปรต อสุรกาย และกำเนิดสัตว์ดิรัจฉาน
จึงตั้งใจจะอยู่ด้วยอิริยาบถ ๓ คือ ยืน เดิน และนั่ง เว้นอิริยาบถนอน

และพระมหาบาลก็ได้ทำตามนั้น หนึ่งเดือนผ่านไป โรคตาก็เกิดขึ้น
น้ำตาไหลออกจากตาทั้งสองของท่านอยู่ตลอดเวลา ภิกษุทั้งหลายทราบเข้าก็ร้อนใจ
ไปตามหมอซึ่งปวารณาเอาไว้ หมอได้รีบประกอบยาถวายท่าน
แต่ท่านไม่ยอมนอนหยอด คงนั่งหยอดยา อาการจึงไม่ดีขึ้น
ทั้งๆ ที่ยาที่หมอประกอบให้นั้น เป็นยาดีมาก ที่เคยรักษาคนไข้มา หยอดเพียงครั้งเดียวก็หาย

หมอประหลาดใจมาก จึงเข้าไปสืบให้รู้ดูที่อยู่ของท่าน เห็นมีแต่ที่จงกรมและที่นั่ง ไม่มีที่นอน
เพราะพระมหาบาลตั้งใจไว้ว่า จะไม่นอนเป็นเวลา ๓ เดือนในพรรษา
จึงไม่ต้องการทำลายความตั้งใจ แม้ตาทั้งสองจะแตกจะทำลายก็ยอม
แต่จะไม่ยอมทำลายความตั้งใจ ท่านคงนั่งหยอดยาทางจมูกอยู่นั่นเอง

หมอรู้ว่า ด้วยอาการอย่างนี้ โรคของพระ ไม่อาจระงับได้ เกรงเสียชื่อของตน
จึงขอท่านอย่าได้พูดกับใครว่า เขาเป็นหมอรักษาท่าน แล้วไม่ยอมรักษาต่อ
จนในที่สุด ดวงตาของท่านก็แตก พร้อมกับการดับโดยสิ้นเชิงแห่งกิเลสทั้งปวง
ท่านเป็นพระอรหันต์สุกขวิปัสสก ผู้หนึ่ง ดวงตาเนื้อของท่านดับสนิทลง
ทันใดนั้นดวงตาคือปัญญาก็พลุ่งโพลง แจ่มจรัสขึ้น บริสุทธิ์ ไร้มลทิน


เมื่อถึงเวลาออกบิณฑบาต เห็นจะเป็นเพราะตาท่านบอดลงทั้งสองข้าง
คนทั้งหลายจึงเรียกท่านว่า "จักขุบาล" แทน "มหาบาล" อันเป็นชื่อเดิมของท่าน
เมื่อท่านได้ทำกิจของท่านเสร็จแล้ว หน้าที่ที่เหลืออยู่ก็คือโอวาทสั่งสอนภิกษุทั้งหลาย
ให้สำเร็จมรรคผล ท่านได้ทำหน้าที่นั้น
จนภิกษุทั้งหลายได้สำเร็จอรหัตตผลพร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้ง ๔ ในพรรษานั้นเอง


เมื่อออกพรรษาแล้ว ภิกษุทั้งหลายต้องการไปเฝ้าพระศาสดา ณ วัดเชตวัน
จึงเรียนให้พระจักขุบาลทราบ ท่านคิดว่า ถ้าท่านจักเดินทางร่วมไปด้วย
จะเป็นความลำบากแก่ภิกษุทั้งหลาย หลายประการ
ท่านจึงบอกอนุญาตให้ภิกษุเหล่านั้นเดิมทางไปก่อน
และขอฝากกราบพระบาทแห่งพระศาสดาด้วยเศียรเกล้า
พร้อมด้วยฝากนมัสการพระมหาสาวกทั้งหลาย

อนึ่งหากพบน้องชาย ก็จงเล่าความเป็นไปของท่านให้เขาทราบ
เขาจักสั่งใครคนใดคนหนึ่งมารับ ก็จักเดินทางไปสาวัตถีกับบุคคลผู้นั้น

ภิกษุเหล่านั้น เตรียมเก็บบริขารอันควรเก็บแล้วไปลาชาวบ้านผู้มีอุปการะต่อตนแล้วมุ่งหน้าสู่สาวัตถี
ไปยังบ้านของจุลบาลน้องชายของพระเถระ และแจ้งข่าวให้ทราบ
จุลบาลจึงให้หลานชายบวชเป็นสามเณร ฝึกกิริยาอยู่ประมาณ ๑๕ วัน แล้วบอกทางส่งไปรับพระเถระ

สามเณรไปถึงหมู่บ้านนั้น มีชาวบ้านผู้ใจอารีคนหนึ่งนำไปหาพระเถระ
สามเณรแจ้งเรื่องทั้งปวงให้พระจักขุบาลทราบ พักอยู่ประมาณ ๑๕ วันจึงชวนพระเถระกลับสาวัตถี

พระจักขุบาลส่งปลายไม้เท้าให้เณรจูงเข้าไปสู่หมู่บ้านก่อน เพื่อลาชาวบ้านผู้มีอุปการะ
ชาวบ้านทราบความประสงค์ของท่านแล้วอ้อนวอนให้อยู่ แต่ไม่สำเร็จ
เพราะ พระจักขุบาล เป็นคนใจแข็ง มีความตั้งใจจริง ท่านตั้งใจอย่างไร ท่านทำอย่างนั้นเสมอมา
นับตั้งแต่ตั้งใจออกบวช-ออกอยู่ป่า-ตั้งใจไม่นอน ๓ เดือน

จุลบาลน้องชาย ต้องส่งหลานชาย โดยให้บวชเป็นสามเณร เดินทางมารับท่านกลับไปเมืองสาวัตถี
ระหว่างทางที่สามเณรหลานชาย จูงพระเถระมาถึงแนวป่าใกล้ หมู่บ้านแห่งหนึ่ง เขตเมืองสังกัฏฐะ
เธอได้ยินเสียงหญิงหักฟืนคนหนึ่งร้องเพลง มีความกำหนัดพอใจในเสียง
จึงปลีกตัวจากพระเถระแล้วเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับหญิงนั้น

พระจักขุบาล จึงขับไล่สามเณรหลานชายให้ไปเสีย จากการจับปลายไม้เท้าของท่าน
เพราะเห็นว่าสิ่งที่สามเณรหลานชายทำลงไปนั้นชั่วเกินไป ท่านไม่ปรารถนาเดินตามหลังคนชั่ว

แม้สามเณรจะเปลื้องจีวรออก นุ่งห่มผ้าขาวอย่างคฤหัสถ์
แล้วอ้อนวอนให้เดินทางต่อไปกับตน แต่ท่านก็ไม่ยอม พร้อมกล่าวว่า

"คฤหัสถ์ชั่วก็ตาม บรรพชิตชั่วก็ตาม ก็ชื่อว่าชั่วเหมือนกัน
เธอนั้นดำรงตนอยู่ในเพศอันสูง ควรหลีกห่างจากความชั่ว ก็ยังเว้นความชั่วไม่ได้
ไม่สามารถประพฤติแม้แต่ศีลให้สมบูรณ์ เมื่อเป็นคฤหัสถ์ เธอจะเป็นคนดีได้อย่างไร
เธอมีรั้ว ยังทำลายรั้วออกไป เมื่อไปอยู่ในเขตอันไม่มีรั้ว เธอจะระเริงหลงสักเพียงใด
อย่าเลย, อย่าจับปลายไม้เท้าของฉัน ฉันไม่ต้องการเดินทางร่วมกับคนอย่างเธอ"


ต่อจากนี้ตำนานเล่าว่า ท้าวสักกะซึ่งเป็นหัวหน้าเทพเจ้าชั้นดาวดึงส์ เกิดร้อนใจ
เพราะเดชแห่งศีลของพระเถระจึงทรงเล็งแลลงมายังโลกมนุษย์ได้เห็นพระจักขุบาลเถระกำลังลำบาก
จึงเสด็จลงมาช่วยนำทางไปเมืองสาวัตถี โดยปลอมองค์เป็นคนเดินทางไกลมาพบพระเถระ
แล้วอาสาจะเป็นเพื่อนร่วมเดินทาง เพื่อให้เป็นเหตุแห่งบุญสักประการหนึ่งใน ๑๐ ประการ
นั่นคือ ไวยาวัจจมัย บุญอันได้จากการช่วยขวนขวายในกิจที่ชอบ

พระเถระรู้ได้ทันทีว่า บุคคลผู้นั้นเป็นสัตบุรุษจึงส่งปลายไม้เท้าให้
ออกเดินทางมุ่งสู่สาวัตถี ราชธานีแห่งแคว้นโกศล และได้ถึงสาวัตถีในเย็นวันนั้น

ตำราว่า ท้าวสักกระย่นแผ่นดินให้สั้นเข้า

เรื่องท้าวสักกะนี้ ผู้ไม่ปลงใจเชื่อตามตำรา อาจสันนิษฐานได้ว่า
เป็นคนเดินทางจริงๆ มาพบพระเถระเข้า และเขารู้จักทางลัดไปสาวัตถี จึงถึงได้รวดเร็ว

ข้าพเจ้าเคยอ่านประวัติท่านอาจารย์มั่น ภูริทัตตเถระ
ซึ่งเขียนเล่าโดย อาจารย์พระมหาบัว ญาณสมฺปนโน ท่านเล่าว่าเวลาเที่ยงคืน แทบทุกคืน
พวกเทพชั้นต่างๆ จะมาหาท่านพระอาจารย์มั่นเสมอ มากันเป็นพวกๆ
ฟังธรรมด้วย อาการที่เรียบร้อย ซึ่งมนุษย์ไม่สามารถทำอย่างนั้นได้
ท่านยืนยันว่าพวกเทพฯ มีอยู่เป็นอันมาก ชอบภิกษุผู้มีศีล ปฏิบัติธรรมดี

ข้าพเจ้าเอง ผู้เขียนเรื่องนี้ ก็เชื่อว่าเทวดามีอยู่จริง
ผู้หูทิพย์ ตาทิพย์ ย่อมประสบพบเห็นอยู่เสมอ

เมื่อพระเถระมาถึงสาวัตถีเร็วเกินกว่าที่ท่านคิด ท่านจึงถามผู้นำทางว่า ทำไมจึงถึงเร็วนัก
ท่านผู้นั้นบอกว่าเขารู้ทางตรง พระเถระจึงรู้ว่าผู้นั้นไม่ใช่มนุษย์ธรรมดา แต่เป็นเทพเจ้า

คนดีมีศีลธรรม มีใจสะอาด เมื่อลำบากย่อมได้รับการช่วยเหลือจากเทวดา
เป็นผู้อันเทวดาอุปถัมภ์ค้ำชู

ท้าวสักกะ-ผู้นำทางนั่นเองได้พาพระจักขุบาลไปยังศาลาที่น้องชายของท่านสร้างไว้
แล้วเข้าไปบอกจุลบาลว่า พระเถระพี่ชายมาแล้ว

จุลบาลมาหาพระเถระเห็นพี่ชายตาบอดทั้งสองข้าง
ไม่อาจกลั้นความโศกได้พร้อมทำเด็กทาสสองคนให้เป็นไท
คือปลดปล่อยจากความเป็นทาส แล้วให้บวชเณรอยู่ปรนนิบัติพระเถระ

เย็นวันหนึ่ง ภิกษุหลายรูปมาจากต่างถิ่น มาสู่วัดเชตวันเพื่อเฝ้าพระศาสดา
เที่ยวเดินชมสถานที่ต่างๆ อยู่มาถึงที่ของพระจักขุบาล บังเอิญฝนตก
จึงพากันกลับที่อยู่ของตน ตั้งใจว่า ตอนเช้าจะมาใหม่

คืนนั้นฝนตกในปฐมยามหยุดในมัชฌิมยามพวกแมลงค่อมทองลงเล่นบนพื้นดินที่ฝนตกใหม่
พอปัจฉิมยาม พระจักขุบาลเถระก็ลงจงกรม ท่านเยียบเอาแมลงค่อมทองตายไปมาก

ตอนเช้าพวกศิษย์ของท่านยังไม่ทันกวาดที่จงกรม พวกภิกษุอาคันตุกะก็มาเยี่ยม
เห็นแมลงค่อมทองตายเป็นอันมาก จึงถามว่าเป็นที่จงกรมของใคร
เมื่อรู้ว่าเป็นที่จงกรมของพระจักขุบาล จึงติเตียนว่า

"ดูเถิด จงดูกรรมของสมณะ เมื่อตายังดีอยู่มั่วนอนหลับเสีย ไม่ทำสมณธรรมอันควรทำ
พอตาบอดแล้วจึงขยันจงกรม ทำสัตว์ให้ตายเสียเป็นอันมาก
คิดว่าจักทำประโยชน์กลับทำสิ่งอันไร้ประโยชน์"


ภิกษุเหล่านั้นกลับไปเฝ้าพระศาสดา ทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ
พระศาสดาตรัสถามว่า เห็นพระจักขุบาลเหยียบสัตว์หรือ

"ไม่เห็นพระเจ้าข้า"

"ดูก่อนภิกษุ ! เธอไม่เห็นจักขุบาลเหยียบสัตว์ฉันใด
จักขุบาลไม่เห็นสัตว์ทั้งหลายฉันนั้นเหมือนกัน
ธรรมดาพระอรหันต์ย่อมไม่เจตนาฆ่าสัตว์"


ภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า
พระจักขุบาลมีอุปนิสัยแห่งอรหัตตผลอยู่ ไฉนจึงตาบอด?


พระศาสดาตรัสตอบว่าเพราะกรรมเก่า

แล้วทรงเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังดังนี้

ในอดีตกาล ในเมืองพาราณสี มีหมอยาคนหนึ่งเที่ยวรักษาคนไข้อยู่ในบ้านต่างๆ นิคมต่างๆ
วันหนึ่งเขาได้พบหญิงซึ่งตามืดมัวคนหนึ่ง จึงอาสาเข้ารักษา หญิงนั้นก็ยินดี
หมอถามว่า หากหายแล้วจะให้อะไรแก่เขาบ้าง
หญิงนั้นตอบว่า ตนพร้อมทั้งบุตรธิดาจะยอมเป็นทาสของหมอ
หมอจึงประกอบยาให้และหญิงนั้นหายโรคด้วยการหยอดยาเพียงครั้งเดียว

แต่เมื่อหายแล้วกลับคิดจะบิดพลิ้ว ไม่ยอมเป็นทาสของหมอ ตามสัญญา
เมื่อหมอถาม จึงแสร้งบอกว่า เมื่อก่อนนี้ตาเธอเจ็บน้อย
หลังจากหยอดยาของหมอแล้วเจ็บมากขึ้น

หมอรู้ทันทีว่า หญิงนั้นไม่ซื่อ ไม่ต้องการให้ค่าจ้างคนอย่างนี้ต้องทำให้ตาบอดเสีย
คิดแล้วกลับไปบ้าน ประกอบยาเสร็จแล้วบอกให้ภรรยาทราบ
แต่ภรรยาของเขามิได้ห้ามปราม นิ่งเสีย

หมอกลับไปหาหญิงคนไข้ของตนมอบยานั้นให้
พอเธอหยอดเท่านั้น ตาก็บอดทันที

หมอคนนั้นได้มาเกิดเป็นพระจักขุบาล

พระศาสดาตรัสย้ำว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ! กรรมที่บุตรของเรา (คือพระจักขุบาล) ทำแล้วในครั้งนั้น
ได้ติดตามอยู่ตลอดเวลา เมื่อได้โอกาสก็ให้ผล
กรรมอันบุคคลทำแล้ว ย่อมติดตามบุคคลไปเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค ฉะนั้น"


พระศาสดาตรัสดังนี้แล้ว จึงตรัสพระพุทธภาษิตที่กล่าวไว้แต่เบื้องต้นว่า

"สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ
ถ้าใจไม่ดี การทำ การพูดก็พลอยไม่ดีไปด้วย
เพราะความไม่ดีนั้นความทุกข์ก็ติดตามเหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค ฉะนั้น"


:b55:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๒ มิถุนายน ๒๕๔๕


:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของดอกบัวสวรรค์ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19581

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 13 มี.ค. 2013, 08:43, แก้ไขแล้ว 2 ครั้ง.

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 10 มี.ค. 2013, 11:00 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ดอกกระทุ่ม หรือ "กทัมพะ" ในภาษาบาลี เป็น ๑ ในดอกไม้ในพระพุทธประวัติ


ความสำคัญของหัวใจ (๒)

พระพุทธภาษิต

มโนปุพฺพงฺคมา ธมฺมา มาโนเสฏฺฐา มโนมยา
มนสา เจ ปสนฺเบน ภาสติ วา กโรติ วา
ตโต สุขมนฺเวติ ฉายา ว อนุปายินี

คำแปล

สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ
ถ้าใจดี ใจผ่องใส การทำการพูดก็พลอยดีไปด้วย
เพราะความดีนั้น ความสุขก็ติดตามมา เหมือนเงาตามตน


:b43: :b43:

อธิบายความ พระพุทธภาษิตนี้ ข้อความเหมือนในข้อที่ ๑
ต่างแต่ในข้อที่ ๑ กล่าวถึงใจไม่ผ่องใส ใจร้าย ส่วนในข้อที่ ๒ นี้ กล่าวถึงใจดี ใจผ่องใส
เมื่อเป็นดังนั้น ความสุขก็ตามมาเหมือนเงาตามตัว
ความจริง, ความสุขนั้น เราไม่ต้องแสวงหาก็ได้ หน้าที่ของเราเพียงแต่ลดความทุกข์ให้น้อยลง
ความสุขก็จะเพิ่มพูนขึ้นเหมือนความร้อนลดลงมากเท่าใด ความเย็นก็มีมากขึ้นเท่านั้น


พระพุทธศาสนา, กล่าวโดยปริยายหนึ่ง ก็คือ ศิลปะในการลดความทุกข์
ความทุกข์มีมูลเหตุมาจากความอยาก-ความอยากทำใจให้เร่าร้อน
เมื่อลดความอยากลงได้มากเท่าใด ใจก็เย็นมากขึ้นเท่านั้น ความสุขก็เอ่อตามขึ้นมา
ความอยากและความไม่อยากอยู่ที่ใจ เมื่อใดใจอยากเมื่อนั้นมีความดิ้นรน
ยิ่งดิ้นรนมาก ยิ่งแปดเปื้อนมาก ตรงกันข้ามสงบมาก เยือกเย็นมาก ก็ผ่องใสมาก สุขมาก


เรื่องประกอบ มัฏฐกุณฑลี

มัฏฐกุณฑลี เป็นเด็กหนุ่มชาวเมืองสาวัตถี เกิดในตระกูลพราหมณ์
พ่อแม่เป็นคนมั่งคั่งมาก แต่ตระหนี่เหนียวแน่น
จนคนทั้งหลายให้สมัญญาว่า อทินนปุพพกะ แปลว่า "ไม่เคยให้อะไรแก่ใคร"
ถึงกระนั้นก็ยังมีแก่ใจเอาทองตีแผ่ทำเป็นตุ้มหูเกลี้ยงๆ ให้ลูกชาย 1 คู่
คนทั้งหลายจึงเรียกชื่อเด็กคนนี้ว่า มัฏฐกุณฑลี แปลว่า "มีตุ้มหูเกลี้ยง"
ตุ้มหูนั้นพ่อเป็นคนทำให้เอง ไม่ได้จ้างช่างทอง เพราะเกรงจะเสียค่าจ้าง

เมื่ออายุ ๑๖ ปี มัฏฐกุณฑลีป่วยหนัก บาลีว่าเป็นโรคผอมเหลือง คือวัณโรคนั่นเอง
มารดามองดูบุตรแล้วเกิดความสงสาร จึงขอร้องให้สามีไปหาหมอ
แต่ฝ่ายพราหมณ์ผู้เป็นสามีกลัวเสียเงินจึงไม่ยอมหาหมอมารักษาลูก
เขาเพียงแต่ไปถามหมอว่า คนป่วยอย่างนั้นๆ ท่านให้ยาอย่างไร
หมอก็บอกว่าให้ยาที่ประกอบด้วยสิ่งนั้นๆ
พราหมณ์จึงไปหารากไม้ใบไม้ตามที่หมอบอกมาต้มให้ลูกกิน

อาการของมัฏฐกุณฑลีไม่ดีขึ้น มีแต่ทรุด จนไม่อาจเยียวยาได้
พราหมณ์จึงไปหมอมาคนหนึ่ง หมอมาเห็นอาการของมัฏฐกุณฑลีเข้า
รู้ได้ทันทีว่า เหลือแรงที่จะรักษาจึงบอกปฏิเสธ ไม่ยอมรักษา
บอกให้พราหมณ์ไปหาหมอคนอื่น

พราหมณ์รู้ว่าลูกของตัวคงตายแน่ เกรงว่าคนมาเยี่ยมจะเห็นทรัพย์สมบัติ
จึงช่วยกันหามลูกชาย ออกมานอนที่ระเบียงเรือนนอกห้อง

วันนั้น พระพุทธเจ้าทรงตรวจดูอุปนิสัยของคนที่พระองค์ควรจะโปรด
ทรงเห็นอุปนิสัยของมัฏฐกุณฑลี จึงเสด็จมาโปรด

ขณะที่พระศาสดาเสด็จมาถึงนั้น มัฏฐกุณฑลีกำลังนอนผินหน้าเข้าหาฝาเรือน
พระศาสดาทราบว่า มานพไม่เห็นพระองค์ จึงทรงเปล่งพระรัศมีไปวาบหนึ่ง
มานพคิดว่า "นี่แสงอะไรกันหนอ?" แล้วผินหน้าออกภายนอก ได้เห็นพระศาสดา คิดว่า
"เพราะบิดาของเราเป็นอันธพาล เราจึงมิได้เข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า
ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐเห็นปานนี้ มิได้ขวนขวายในกิจที่ชอบ
มิได้ถวายทาน หรือฟังธรรมแต่อย่างใดอย่างหนึ่งเลย
บัดนี้ แม้แต่มือของตัวเอง เราก็ยกไม่ไหวเสียอีก จะทำอย่างอื่นได้อย่างไร"
ดังนี้แล้ว ทำจิตให้เสื่อมใสในพระศาสดา


พระพุทธองค์ทรงทราบว่า มัฏฐกุณฑลี
ทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์แล้วก็เสด็จออกไป
พอลับตาเท่านั้น มัฏฐกุณฑลีก็สิ้นชีพเกิดในวิมานทอง เสมือนว่าหลับแล้วตื่นขึ้น


ฝ่ายพราหมณ์บิดา ทำฌาปนกิจศพลูกชายแล้ว ก็ได้แต่ร้องไห้
ไปยืนร้องไห้ที่ป่าช้าทุกวัน คร่ำครวญว่า ลูกชายคนเดียวของพ่ออยู่ไหน มาหาพ่อเถิด

เทพบุตรมัฏฐกุณฑลี รู้สึกตัวอย่างสมบูรณ์ในเทวโลกแล้ว
พิจารณาถึงทิพยสมบัติของตน ก็รู้เห็นโดยตลอดว่าได้มาเพราะทำจิตให้เลื่อมใสในพระศาสดา
ได้มองเห็นพราหมณ์บิดา ยืนร้องไห้อยู่ที่ป่าช้า จึงจำแลงเพศ คล้ายมัฏฐกุณฑลีมานพลงมา
ยืนกอดแขนร้องไห้อยู่ ณ อีกมุมหนึ่งของป่าช้า
เขามีความประสงค์จะเอาหนามมาบ่งหนามในใจของพราหมณ์

พราหมณ์ได้ยินเสียงคนร้องไห้ เหลียวไปเห็นมานพคล้ายมัฏฐกุณฑลีบุตรของตน
จึงเดินเข้าไปหา และถามว่า

"พ่อหนุ่ม, ท่านแต่งกายคล้ายมัฏฐกุณฑลี บุตรของข้าพเจ้า
ท่านมายืนร้องไห้อยู่ที่ป่าช้านี้ เพราะมีทุกข์ประการใดฤา?"

"ก็ท่านเล่ามีความทุกข์อะไร?" มานพถาม

"ข้าพเจ้าเศร้าโศกถึงบุตรคนเดียวของข้าพเจ้าที่ตายไป"

"ข้าพเจ้ามีรถอยู่คันหนึ่ง" มานพตอบ, "ตัวรถเป็นทองคำล้วน ผุดผ่อง สวยงาม
แต่ข้าพเจ้าหาล้อรถไม่ได้ ข้าพเจ้าคงจักต้องตรอมใจตายเพราะเหตุนี้เป็นแน่แท้"

พราหมณ์ตกตะลึง ครู่หนึ่งจึงกล่าวว่า

"มานพผู้เจริญ! ท่านจะต้องการล้อทอง หรือเงินหรือแก้วมณี หรือโลหะ จงบอกมาเถิด
ข้าพเจ้ารับประกันว่าจะจัดหามาให้ท่าน"

มานพคิดว่า "ดู๋ดู พราหมณ์นี้ช่างเป็นไปได้ เมื่อบุตรของตนป่วยหนักนั้น
ไม่ยอมเสียเงินรักษาแม้เพียงเล็กน้อย บัดนี้เห็นเรามีรถทองจะยอมจ่ายล้อรถให้
ไม่ว่าเป็นล้อทองหรือล้อเงิน
อา! พราหมณ์นี้เป็นอันธพาลจริงๆ แต่ช่างเถอะ เราจะล้อแกเล่น"
จึงกล่าวว่า

"พราหมณ์เอย! สิ่งอื่นใดอันจักควรเป็นล้อรถของข้าพเจ้าหามีไม่
นอกจากดวงจันทร์ และดวงอาทิตย์เท่านั้น หากได้ดวงจันทร์และดวงอาทิตย์มาประกอบเป็นล้อ
รถของข้าพเจ้าคงจะงามเยี่ยม ไม่มีอะไรเสมอเหมือน"

พราหมณ์คิดว่า เด็กหนุ่มคนนี้คงเป็นบ้าอย่างแน่นอน จึงกล่าวว่า

"ท่านต้องการสิ่งที่ไม่อาจให้เป็นไปได้ ท่านโง่เขลาเหลือเกิน
ท่านตายแล้วเกิดเล่าอีกสักเท่าใดก็ไม่อาจดึงเอาดวงจันทร์ดวงอาทิตย์มาเป็นล้อรถของท่านได้"

มานพตอบว่า

"พราหมณ์! ดวงจันทร์ ดวงอาทิตย์ยังปรากฏให้เห็นอยู่
ข้าพเจ้าต้องการสิ่งที่พอมองเห็นได้ ส่วนท่านร้องไห้คร่ำครวญต้องการสิ่งอันใครๆ ก็มองไม่เห็น
ในระหว่างเราทั้งสองใครเป็นพาลกว่ากัน ใครโง่กว่าใคร"


พราหมณ์ได้ฟังดังนั้นกลับได้สติ ยอมรับว่ามานพน้อยพูดถูก ตนเป็นผู้โง่เขลากว่า
เพราะต้องการสิ่งอันมองไม่เห็น และไม่เคยมีใครเรียกคืนมาได้

พราหมณ์ได้กล่าวชมเชยมานพนั้นว่า

"ข้าพเจ้าเป็นผู้เร่าร้อนหนักหนา ท่านได้รดน้ำคือความเห็นถูกมาให้ข้าพเจ้า กลับกลายเป็นผู้เย็น
ประหนึ่งท่านนำน้ำมาดับไฟ ความกระวนกระวายทั้งปวงของข้าพเจ้าดับลงแล้ว
ความเศร้าโศกถึงบุตรก็บรรเทาลงแล้ว ท่านได้ถอนลูกศรคือความโศกออกจากหทัยของข้าพเจ้าเสียได้
คำของท่านประเสริฐนัก ช่วยดับความร้อนและความโศกในใจของข้าพเจ้าได้"

แลแล้วพราหมณ์ได้ถามว่า มานพนั้นคือใคร
มานพก็บอกว่า เขาคือมัฏฐกุณฑลี บุตรของพราหมณ์นั่นเอง
ได้ทำกุศลกรรมไว้ก่อนตาย จึงได้ไปเกิดเป็นเทพ
พราหมณ์กล่าวว่า อยู่ด้วยกันมายังไม่เคยเห็นบุตรของตนให้ทาน หรือรักษาศีลแต่ประการใด
มานพไปสู่เทวโลกได้ด้วยกรรมอันใด

มานพเล่าเรื่องที่พระพุทธเจ้าเสด็จมาโปรดให้ฟัง
พราหมณ์ฟังแล้วเกิดปีติปราโมทย์เป็นอันมาก กล่าวว่า


"น่าอัศจรรย์จริงหนอ น่าประหลาดจริงหนอ การทำอัญชลีกรรมแด่พระพุทธเจ้ามีผลถึงปานนี้
ข้าพเจ้าจักทำใจให้เลื่อมใส นับถือพระพุทธเจ้าในวันนี้ทีเดียว"


พราหมณ์ได้ปฏิญาณกับมานพว่าจักรักษาศีลให้ทานและเลื่อมใสในพระรัตนตรัย
แล้วไปเฝ้าพระพุทธเจ้าทูลอาราธนาให้ไปเสวยภัตตาหารที่เรือนของตนในวันรุ่งขึ้น
พระศาสดาทรงรับ

เมื่อถึงเวลาก็เสด็จไปบ้านพราหมณ์ ประชาชนมาประชุมกันมาก
พวกหนึ่งตั้งใจมาดูพราหมณ์ต้อนพระพุทธเจ้าด้วยการถามปัญหา
พวกหนึ่งต้องการมาดูพุทธวิสัย พุทธลีลา

เมื่อเสวยภัตตาหารเสร็จแล้ว พราหมณ์ได้ทูลถามพระศาสดาว่า

"มีหรือพระโคดม-บุคคลไม่ได้ถวายทานแด่พระองค์ ไม่ได้บูชาพระองค์ ไม่ได้รักษาอุโบสถ
แต่ได้ไปเกิดในสวรรค์ด้วยเหตุเพียงการทำจิตให้เลื่อมใสในพระองค์อย่างเดียว"


พระศาสดาตรัสตอบว่า

"พราหมณ์! ท่านถามความข้อนี้กับเราทำไมอีกเล่า
ในเมื่อมัฏฐกุณฑลีได้บอกความจริงข้อนี้แก่ท่านแล้ว"


เมื่อพราหมณ์แกล้งสงสัยและถาม
พระศาสดาก็ทรงเล่าเรื่องการพบปะและการสนทนาทั้งปวงระหว่างมัฏฐกุณฑลี

พระศาสดาทรงทราบว่า มหาชนที่มาประชุมกันยังไม่สิ้นสงสัย
จึงทรงอธิษฐานให้มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรลงมา พร้อมทั้งวิมาน
พระองค์ทรงสัมภาษณ์เทพบุตรนั้น มัฏฐกุณฑลีเทพบุตรทูลตอบตามความเป็นจริงทุกประการ

มหาชนได้ฟังการถามการตอบระหว่างพระพุทธเจ้าและเทพบุตรแล้ว
อุทานออกมาด้วยปีติโสมนัสและเลื่อมใสว่า

"ดูเถิดท่านทั้งหลาย บุตรของพราหมณ์เชื่ออทินน ปุพพกะ
ไม่ได้ทำบุญอย่างอื่นเลย เพียงแต่ทำใจให้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าเท่านั้น
ยังได้สมบัติเห็นปานนี้ พระพุทธเจ้าทรงมีพระคุณน่าอัศจรรย์แท้"


พระศาสดาจึงตรัสพระภาษิตที่กล่าวไว้แล้วเบื้องต้นว่า

"สิ่งทั้งหลายทั้งปวงสำคัญที่ใจ ฯลฯ ถ้าใจดี ใจผ่องใส การทำการพูดก็พลอยดีไปด้วย
เพราะความดีนั้น ความสุขก็ติดตามมา เหมือนเงาตามตน"


:b39: :b39:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๐ กรกฎาคม ๒๕๔๕

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของดอกกระทุ่ม หรือ "ต้นกทัมพะ" คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19562

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 13 มี.ค. 2013, 08:43, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2013, 08:40 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นรกฟ้าขาว (ต้นอัชชุนะ) ๑ ในต้นไม้ปรากฏชื่อในพระไตรปิฎก


การระงับเวร

พระพุทธภาษิต

อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํ อชินิ มํ อหาสิ เม
เย เจ ตํ อุปนยฺหนฺติ เวรํ เตสํ น สมฺมติ
อกฺโกจฺฉิ มํ อวธิ มํ อชินิ มํ อหาสิ เม
เย จ ตํ นูปนยฺหนฺติ เวรํ เตสูปสมฺติ

คำแปล

บุคคลใดผูกเวรว่า ผู้นี้ได้ด่าเรา ได้ตีเรา ได้ชนะเรา ได้ลักของเรา
เวรของผู้นั้น ย่อมไม่ระงับลงได้
ส่วนบุคคลใด มิได้ผูกเวรไว้เช่นนั้น เวรของผู้นั้นย่อมระงับลงได้


:b42: :b42:

อธิบายความ คำว่า ผูกเวร ในความหมายทางศาสนา
หมายถึง การผูกใจเจ็บหรือพยาบาท นั่นเอง

บุคคลผู้ดำรงชีวิตอยู่ในโลกยิ่งนานเท่าใด ก็ยิ่งถูกมรสุมแห่งชีวิตมากเท่านั้น
มรสุมดังกล่าวนี้เช่น มีคนด่าเสียดสีบ้าง มีคนมาทุบตีประหัตประหารบ้าง
ในการแข่งขันในเกมชีวิต เขาชนะเราบ้าง และเราอาจถูกลักถูกขโมยของอันเป็นที่รักบ้าง

เมื่อถูกกระทำเช่นนี้ ใครผูกเวร ผูกพยาบาท ก็ต้องจองเวรกันอยู่เรื่อยไป
มีการกระทำและกระทำตอบอยู่เสมอไม่สิ้นสุดลงได้
บางทีหลายชั่วอายุคน จองเวรกันอยู่หลายชาติก็มี

ส่วนบุคคลผู้พิจารณาเห็นโทษของการจองเวร
ไม่ผูกเวรใครผิดพลาดต่อตนก็ให้อภัยเสีย ประกอบด้วยขันติและเมตตา มีอุดมคติ
ยึดคำสอนของพระพุทธเจ้าเป็นทางดำเนินชีวิต
และถือว่าบุคคลประกอบกรรมอันใด ย่อมจะได้รับผลแห่งกรรมอันนั้นด้วยตนเอง
พยายามคุ้มครองรักษาตนให้บริสุทธิ์อยู่ด้วยใจอันมั่นคง
บุคคลเช่นนี้ย่อมไม่มีเวร เมื่อไม่มีเวร ภัยจักมีจากไหน


แนวคิดอย่างนี้ มีส่วนสัมพันธ์กับความเชื่อในเรื่องกฎแห่งกรรมและการเกิดใหม่
จงดูตัวอย่างเรื่องพระจักขุบาลในเรื่องที่หนึ่งตามที่กล่าวมาแล้ว
ท่านมีเวรในอดีตด้วยการประกอบยา ทำให้หญิงคนหนึ่งตาบอด
มาในชาติสุดท้าย ท่านจึงมีภัย คือการตาบอดในขณะทำความเพียร

อาจมีคนคัดค้านว่า ท่านตาบอดเพราะทำความเพียรโดยไม่นอนต่างหาก
หาใช่เพราะกรรมเก่าแต่ประการใดไม่
ถามว่าก็อะไรเล่าชักนำ หรือดลบันดาลใจให้ท่านเห็นดีเห็นงามในการประพฤติเช่นนั้น
มิใช่แรงบันดาลแห่งกรรมเก่าดอกหรือ? แรงกรรมมีอำนาจเหนือสติปัญญา


สมดังที่พระศาสดาตรัสว่า นตฺถิ กมฺมสมํ พลํ ไม่มีกำลังใดเสมอด้วยกำลังแห่งกรรม
ถ้าสติปัญญามีอำนาจเหนือแรงกรรมแล้ว จะมีนักปราชญ์หรือบัณฑิตใดเล่าจะต้องตกอับ
หรือผิดพลาดในชีวิต

ดังนั้น บัณฑิตจึงไม่ควรก่อเวร ไม่ควรผูกเวร
เพื่อจักได้ระงับเวรทั้งในปัจจุบันและอนาคต


:b45: :b45:

เรื่องประกอบ พระติสสะ

พระติสสะ เกี่ยวข้องเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า
คือ เป็นพระโอรสแห่งพระปิตุฉาของพระศาสดา
จึงนับเนื่องเป็นเจ้าชายพระองค์หนึ่งแห่งศากยวงศ์

พระติสสะ บวชเมื่อแก่แล้ว ปรากฏว่าเป็นคนมีลาภสักการะมากผู้หนึ่ง
ชอบห่มจีวรสีสวย รีดเรียบ และนั่งวางภูมิอยู่ที่โรงฉันซึ่งมีเสนาสนะสงฆ์ล้อมรอบ

วันหนึ่งภิกษุ อาคันตุกะหลายรูป มาเฝ้าพระศาสดาผ่านมาเห็นพระติสสะ นั่งภูมิฐานอยู่
เข้าใจว่าเป็นพระเถระ จึงเข้าไปทำความเคารพ

พระติสสะ ทำเฉยไม่แสดงความเคารพตอบพระผู้ใหญ่ ไม่รู้จักประมาณตน มิได้กระทำสิ่งที่ควร
เช่น สามีจิกรรม (การแสดงความเคารถอันควรแก่ฐานะ) เป็นต้น
จึงถูกพระอาคันตุกะตำหนิพระติสสะก็เกิดขัตติยมานะขึ้น
ถือตนว่าเป็นพระญาติของพระศาสดา
พระศาสดาตรัสตำหนิพระติสสะนานาประการที่ไม่ได้กระทำกิจอันควรแก่อาคันตุกะ
เช่น มิได้ลุกขึ้นต้องรับ มิได้ถามถึงการรับบริขาร มิได้ถามถึงธรรมเนียม,
ความต้องการน้ำดื่ม ไม่นำอาสนะมาให้ มิได้ถามโดยเอื้อถึงการนวดมือนวดเท้า เป็นต้น

แลแล้ว พระพุทธองค์รับสั่งให้พระติสสะขอโทษพระอาคันตุกะเหล่านั้นเสีย
แต่พระติสสะไม่ยอมทำ อ้างว่าพระเหล่านั้นด่าท่านก่อน
พระพุทธองค์ตรัสว่า "ติสสะ! โทษของเธอมีอยู่ จงขอโทษพระเหล่านี้เสีย"
ถึงกระนั้นพระติสสะก็หายอมไม่ พระทั้งหลายจึงทูลว่าพระติสสะหัวดื้อ ว่ายากสอนยาก

พระพุทธเจ้าตรัสว่า "ภิกษุทั้งหลาย! พระติสสะจะเป็นผู้ว่ายากสอนยากแต่ในบัดนี้ก็หาไม่
แม้ในชาติก่อนก็เคยเป็นผู้ว่ายากสอนยากมาแล้วเหมือนกัน"


เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลขอร้องให้เล่าเรื่องในอดีต
พระศาสดาจึงทรงนำเรื่องในอดีตมาตรัสเล่าว่า

ในอดีตกาล มีดาบสรูปหนึ่ง ชื่อเทวละ
อยู่ในเขตหิมวันตประเทศ ๘ เดือนแล้วเข้ามาสู่เมืองพาราณสี
ต้องการพักอยู่สัก ๔ เดือน เพื่อได้ลิ้มรสเปรี้ยวและเค็มบ้าง
มาขอพักอาศัยอยู่ ณ โรงทำหม้อของช่างหม้อคนหนึ่ง

ในเย็นวันเดียวกันนั้นมีดาบสอีกรูปหนึ่ง ชื่อนารทะมาจากหิมวันตประเทศเหมือนกัน
และมาขอพักที่โรงทำหม้อของช่างหม้อคนเดียวกัน

"ท่านผู้มีอายุ!" นารทะกล่าว
"ถ้าไม่เป็นการหนักใจ ข้าพเจ้าขอพักในโรงทำหม้อของท่านสักคืนหนึ่งเถิด"

ช่างหม้อต้องการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ จึงกล่าวว่า
"ท่านผู้เจริญ! ในโรงทำหม้อของข้าพเจ้ามีดาบสท่านหนึ่งมาพักอยู่แล้ว
ก่อนหน้าท่านเพียงเล็กน้อย หากท่านตกลงกับดาบสนั้นได้ก็เชิญท่านตามสบายเถิด"

นารทะจึงทำความตกลงกับเทวละๆ ยินยอม บอกว่าท่านเลือกนอนเอาได้ตามปรารถนา

เมื่อถึงเวลานอน นารทะได้กำหนดไว้แล้วว่า เทวละนอนตรงนั้นๆ
เพื่อตนออกไปธุระเวลากลางคืนจักได้ไม่กระทบกระทั่งกัน
แต่พอเวลานอนจริง เทวละกลับไปนอนขวางประตูเสีย

ตอนดึก นารทะออกไป จึงเหยียบเอาชฎา และก้านคอเทวละโกรธมาก
แม้นารทะพยายามขอโทษเท่าไรก็ไม่ยอม กล่าวคำสาปว่า
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาให้ศีรษะของนารทะแตกเป็น ๗ เสี่ยง

ฝ่ายนารทะก็กล่าวบ้างว่า ใครมีความผิดขอให้ศีรษะของผู้นั้น แตกเป็น ๗ เสี่ยง

ก็นารทะนั้นเป็นผู้มีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมา ระลึกชาติและเหตุการณ์ได้ถึง ๘๐ กัปป์
คือ ในอดีต ๔๐ กัปป์ ในอนาคต ๔๐ กัปป์ จึงลองใคร่ครวญดูว่า
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมา ศีรษะของใครจักแตก ได้รู้ว่า ศีรษะของเทวละจักแตก เกิดจิตต์เมตตา
จึงใช้อานุภาพของตนห้ามพระอาทิตย์ไม่ให้ขึ้น

เมื่อพระอาทิตย์ไม่ขึ้น กลางคืนนานเกินไป ประชาชนก็เดือดร้อน
จึงพากันเฝ้าพระราชา ขอให้ทำให้พระอาทิตย์ขึ้น
พระราชาทรงสำรวจพระจริยาวัตรทั้งปวงของพระองค์ ก็ไม่ทรงเห็นข้อบกพร่องไรๆ
ทรงเฉลียวพระทัยถึงการวิวาทของพวกนักพรตว่าอาจมีในนครของพระองค์ จึงตรัสถามประชาชน
ทรงทราบว่า เมื่อวานนี้มีนักพรตประเภทดาบสสองท่านมาพักที่บ้านช่างหม้อใกล้เมือง

พระราชาทรงแน่พระทัยว่า การที่พระอาทิตย์ไม่ขึ้นครั้งนี้
คงเนื่องมาจากการทะเลาะของดาบสทั้งสองเป็นแน่นอน
จึงเสด็จไปพร้อมด้วยข้าราชบริพารและประชาชนเป็นอันมาก
ได้ทรงทราบเรื่องทั้งปวงจากเทวละดาบส ตรัสถามว่าทำอย่างไรเทวละจึงจะพ้นอันตราย
นารทะดาบสถวายพระพรว่า ต้องให้เทวละขอโทษท่าน
เมื่อท่านคลายฤทธิ์ พระอาทิตย์ขึ้นมา เทวละก็จะปลอดภัย
พระราชาทรงขอร้องให้เทวละดาบสขอโทษ แต่เทวละไม่ยอม
พระราชาจึงรับสั่งให้จับเทวละดาบสแล้วให้หมอบลงแทบเท้าของนารทะ

นารทะทูลว่า การขอโทษดังนี้ เทวละมิได้ทำด้วยความเต็มใจ หาพ้นโทษไม่
เมื่อพระอาทิตย์ขึ้นมาศีรษะจะต้องแตกเป็น ๗ เสี่ยง
นารทะจึงออกอุบายให้นำเทวละลงไปแช่ในสระน้ำให้เอาดินเหนียวพอกศีรษะไว้
พอท่านคลายฤทธิ์ ให้เทวละดำไปผุดที่อื่นเสีย

เทวละดาบสได้ทำดังนั้น นารทะคลายฤทธิ์ พระอาทิตย์ขึ้นมา
เทวละดำน้ำลงไปผุดในที่อีกแห่งหนึ่ง ส่วนดินเหนียวได้แตกเป็น ๗ เสี่ยง

พระศาสดาตรัสประชุมชาดกว่า พระราชาในกาลนั้นคือ พระอานนท์
เทวละดาบสเป็นพระติสสะหัวดื้อ ส่วนนารทะดาบส คือพระองค์เอง


แลแล้วได้ตรัสกับพระติสสะว่า

"ดูก่อนติสสะ! เมื่อภิกษุคิดอยู่ว่า ผู้โน้นฆ่าเรา ประหารเรา ชนะเรา ลักสิ่งของๆ เรา
เวรของผู้นั้นย่อมไม่ระงับลงได้ ส่วนผู้ใดไม่คิดดังนั้นเวรของเขาย่อมระงับลง"


:b50: :b50:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๗ กรกฎาคม ๒๕๔๕


:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นรกฟ้าขาว หรือ "ต้นอัชชุนะ" คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19582

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แก้ไขล่าสุดโดย Hanako เมื่อ 13 มี.ค. 2013, 09:14, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 13 มี.ค. 2013, 09:12 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นสาละใหญ่ (ต้นมหาสาละ)
พันธุ์ไม้ที่พระพุทธองค์ประทับจำพรรษา ณ ปาลิเลยยกะ



โทษแห่งการวิวาท

พระพุทธภาษิต

ปเร จ น วิชานนฺติ
มยเมตฺถ ยมามฺหเส
เย จํ ตตฺถ วิชานนฺติ
ตโต สมฺมนฺติ เมธคา

คำแปล

คนพวกอื่นไม่รู้ดอกว่า เราทั้งหลายย่อยยับอยู่
(เพราะการทะเลาะวิวาทกัน)
ส่วนพวกใดรู้เห็นโทษของการทะเลาะวิวาท
ความหมายมั่นซึ่งกันและกันก็ย่อมระงับลง


:b45: :b45:

อธิบายความ การทะเลาะวิวาทนั้นมาจากเหตุ ๒ ประการ เป็นอย่างน้อย
คือ ๑. ผลประโยชน์ขัดกัน และ ๒. มีทิฏฐิมานะเข้าหากัน

สมดังที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า

"คฤหัสถ์ทะเลาะกันด้วยเรื่องกาม (ผลประโยชน์)
บรรพชิตทะเลาะกันด้วยเรื่องทิฏฐิ คือความเห็นอันขัดแย้งกัน"


เมื่อการทะเลาะเกิดขึ้นย่อมต้องย่อยยับไปทั้งสองฝ่าย
พึงเห็นตัวอย่างคนเป็นความ ทั้งฝ่ายแพ้และฝ่ายชนะต้องเสียอย่างยุบยับ ได้ไม่คุ้มเสีย

นอกจากนี้ การทะเลาะยังเป็นที่มาแห่งการดูหมิ่นจากผู้อื่น
พี่น้องผัวเมีย ทะเลาะกันก็เป็นที่ดูหมิ่นของชาวบ้าน
พระทะเลาะกันก็เป็นที่ดูหมิ่นของคฤหัสถ์ และเป็นเหตุให้ชาวบ้านแตกแยกกันด้วย
ดังเช่นการทะเลาะวิวาทของภิกษุชาวโกสัมพี

:b39: :b39:

เรื่องประกอบ เรื่องภิกษุชาวโกสัมพี

ที่โฆสิตาราม เมืองโกสัมพี มีพระคณาจารย์ใหญ่อยู่ ๒ คณะ
คือ คณะพระวินัยธร (ผู้ทรงวินัย-ผู้เชี่ยวชาญทางวินัย)
กับ คณะพระธรรมกถึก (ผู้กล่าวธรรม-ผู้เชี่ยวชาญทางแสดงธรรม)
อาจารย์ใหญ่ทั้งสองนี้มีศิษย์คนละประมาณ ๕๐๐

วันหนึ่ง พระธรรมกถึกเข้าไปในถาน (ส้วม) ทำสรีรกิจแล้ว
เหลือน้ำชำระไว้ในภาชนะแล้วออกมา พระวินัยธรเข้าไปภายหลัง
เห็นน้ำนั้นจึงกล่าวแก่พระธรรมกถึกว่าการเหลือน้ำไว้ด้วยเจตนานั้นเป็นอาบัติ
แต่ถ้าทำเพราะไม่มีสติ อาบัติก็ไม่มี

ด้วยคำพูดตอนหลังของพระวินัยธรนี้ พระธรรมกถึกจึงมิได้แสดงอาบัติ คงปล่อยไว้อย่างนั้น
แต่พระวินัยธรมิได้นิ่งเฉย กลับนำเรื่องนั้นมาพูดกับศิษย์ของตนว่า
"พระธรรมกถึกแม้ต้องอาบัติก็ไม่รู้"

เมื่อศิษย์ของพระวินัยธรเจอศิษย์ของพระธรรมกถึก
ก็พูดใส่หูเป็นเชิงดูหมิ่นอุปัชฌาย์ของกันและกัน
ทั้งสองฝ่ายต่างทิ่มแทงกันด้วยหอกคือปาก
แล้วการทะเลาะก็แผ่วงกว้างออกไปด้วยประการฉะนี้

ต่อมาภายหลัง พระวินัยธรได้โอกาส
จึงได้ทำอุกเขปนียกรรม แก่พระธรรมกถึกเพราะการไม่เห็นอาบัติ
ตั้งแต่นั้นมา พระสงฆ์ในโฆสิตารามก็แตกกันเป็น ๒ พวก
แม้อุบาสก อุบาสิกาก็แตกกันเหมือนกัน ตำรากล่าวว่า แม้พวกเทวดาก็แตกกัน

ภิกษุรูปหนึ่งเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ทูลความที่ภิกษุสองพวกแตกกัน
พวกพระวินัยธรถือว่า การที่พระวินัยธรประกาศอุกเขปนียกรรมแก่พระธรรมกถึกนั้นสมควรแล้ว
ส่วนพวกพระธรรมกถึกถือว่าอุปัชฌาย์ของตนไม่ได้รับความเป็นธรรม เป็นต้น
การแตกร้าวได้แผ่ไปอย่างกว้างขวาง

พระผู้มีพระภาคทรงส่งพระโอวาทไปถึง ๒ ครั้งว่า
"ขอให้ภิกษุทั้งสองฝ่ายจงพร้อมเพรียงกัน"

ทรงสดับว่าภิกษุทั้งหลายไม่ปรารถนาจะพร้อมเพรียงกัน
ครั้นครั้งที่สามทรงทราบว่าภิกษุทั้งหลายแตกกันแล้ว เสด็จไปสู่ที่อยู่ของภิกษุเหล่านั้น
ตรัสโทษในการทำอุกเขปนียกรรมของภิกษุผู้ทำอุกเขปนียกรรม
และตรัสโทษของการไม่เห็นอาบัติของภิกษุผู้ต้องอาบัติ แต่ไม่สำเร็จประโยชน์อะไร
ภิกษุทั้งหลายยังพอใจจะแตกแยกกัน แม้พระผู้มีพระภาคทรงห้ามแล้ว
ทรงสั่งสอนแล้วก็ไม่ปรารถนาฟังและทำตาม


พระพุทธองค์ทรงประทานโอวาทานุศาสน์เป็นอันมาก
เพื่อประสานรอยร้าวให้หาย เช่นว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! การแตกร้าว แตกแยก และแก่งแย่งกันนั้น
นำมาแต่ความพินาศ ไม่เป็นไปเพื่อความดีแก่ใครเลย"


ดังนี้แล้ว ตรัสชาดกเป็นอันมาก มีลฏกิกชาดก เป็นต้น

ครั้งนี้ มีภิกษุผู้เป็นธรรมวาที (พูดเป็นธรรม) รูปหนึ่ง
ไม่ประสงค์ให้พระตถาคตเจ้าทรงลำบาก ได้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าว่า

"ข้าแต่พระผู้มีพระภาค! ขอพระองค์จงทรงขวนขวายน้อย
ขอพระองค์จงอยู่เป็นสุขในปัจจุบันเถิด ข้าพระองค์ทั้งหลายจักปรากฏด้วยกรรมของตนเอง"

พระผู้มีพระภาค ทรงมีพระกรุณาดุจห้วงมหรรณพและไม่มีทั้สิ้นสุด
ได้ตรัสเล่าเรื่องพระเจ้าฑีฆีติโกศล ซึ่งพระเจ้าพรหมทัตให้ปลงพระชนม์พร้อมทั้งพระอัครมเหสี
ต่อมา ฑีฆาวุกุมาร โอรสพระเจ้าโกศลจับพระเจ้าพรหมทัตได้
เพราะฑีฆาวุกุมารยกพระชนม์ให้แก่พระเจ้าพรหมทัต
กษัตริย์ทั้งสองได้สมานสามัคคีกันต่อมา พระศาสดาตรัสย้ำว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! กษัตริย์ทั้งสอง คือ
ฑีฆาวุ และพระเจ้าพรหมทัต เป็นผู้มีศาสตราวุธ
ยังมีความอดกลั้นและความสงบเสงี่ยมให้อภัยกันได้
ทำไมเล่าเธอทั้งหลายจักปรองดองสามัคคีกันไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย! จักเป็นความงามหาน้อยไม่
หากเธอทั้งหลายผู้บวชในธรรมวินัยอันเรากล่าวดีแล้ว
จะพึงเป็นผู้อดกลั้นและสงบเสงี่ยมเรียบร้อย"


แต่พระองค์ไม่สามารถให้ภิกษุทั้งหลายพร้อมเพรียงกันได้เลย

เช้าวันหนึ่ง จึงเสด็จไปบิณฑบาตในเมืองโกสัมพี
ทรงถือจีวรและบาตรด้วยพระองค์เอง มิได้ตรัสบอกภิกษุรูปใดรูปหนึ่งเลย
เสด็จไปทางพาลกโลณการาม ตรัสเอกจาริกวัตร
คือ วัตรแห่งภิกษุอยู่ผู้เดียวแก่พระภคุเถระที่พาลกโลณการามนั้น
ตรัสอานิสงส์แห่งสามัคคีแก่กุลบุตร ๓ คน ในมิคทายวัน ชื่อ ปาจีนวังสะ
แล้วเสด็จไปทางหมู่บ้านชื่อ ปาริเลยยกะ

ครั้งนั้น พระผู้มีพระภาคเจ้า ทรงอยู่อาศัยบ้านปาริเลยยกะ
เสด็จจำพรรษาอยู่ที่ใต้ต้นสาละใหญ่ในราวป่ารักขิตวัน
ได้รับอุปฐากจากช้างชื่อปาริเลยยกะ เสด็จอยู่จำพรรษาอย่างผาสุก

พวกชาวบ้านไปสู่โฆสิตารามไม่เห็นพระศาสดา จึงถามภิกษุทั้งหลาย
ทราบความโดยตลอดแล้ว คิดว่า เพราะภิกษุพวกนี้เราจึงมิได้เห็นพระศาสดา
ภิกษุพวกนี้บวชในสำนักพระศาสดา
แม้เมื่อพระองค์ทรงพยายามเพื่อให้สามัคคีกันอยู่ก็หาสามัคคีกันไม่
พวกเราจักลงโทษภิกษุพวกนี้โดยการไม่ถวายอาสนะ (ที่นั่ง)
ไม่ทำสามีจิกรรม มีการไหว้ เป็นต้น และไม่ยอมถวายอาหารบิณฑบาต


ภิกษุพวกนั้นซูบซีดลง เพราะมีอาหารน้อย สองสามวันต่อมา ก็คลายพยศ กลับเป็นคนตรง
ต่างก็ขอโทษซึ่งกันและกัน และตั้งใจจะไปกราบขอขมาพระศาสดา
แต่ติดที่อยู่ในระหว่างพรรษา จึงอดทนอยู่ จำพรรษด้วยความยากลำบากในเรื่องอาหารเป็นอย่างยิ่ง

ได้กล่าวแล้วว่า ในพรรษานั้น พระศาสดาประทับจำพรรษา ณ ป่ารักขิตวัน
ใกล้หมู่บ้านปาริเลยยกะ ได้ ช้าง ชื่อ ปาริเลยยกะ อุปฐากอยู่


รูปภาพ

ช้างปาริเลยยกะนั้น หลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว
เพราะระอิดระอาในความเกลื่อนกล่นด้วยหมู่คณะ
ด้วยช้างพลาย ช้างพัง ช้างสะเทิ้น และลูกช้าง ต้องกินหญ้าที่ปลายขาด
เพราะพวกลูกช้างแย่งกินเสียก่อน พวกช้างทั้งหลายคอยแย่งกินซึ่งกิ่งไม้ตนหักลง
ต้องดื่มน้ำขุ่น เมื่อลงสู่ท่าน้ำ หรือขึ้นจากท่าน้ำ
ก็ต้องเดินเสียดสีกับลูกช้างและช้างทั้งหลาย จึงหลีกออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว

เมื่อได้เห็นพระผู้มีพระภาคเจ้า จึงถวายบังคมแล้วเข้าไปหา
ปัดกวาดบริเวณใต้ต้นสาละให้สะอาดเรียบ
เอางวงจับหม้อตักน้ำเสวยและน้ำใช้มาตั้งไว้
เมื่อพระศาสดามีพระประสงค์น้ำร้อนก็ถวายน้ำร้อน

วิธีการทำน้ำร้อนของช้าง เป็นดังนี้

มันเอางวงจับไม้แห้งสองอันแล้วสีกันให้เกิดไฟ ใส่ฟืนให้ไฟลุกขึ้น
เผาศิลาในกองไฟนั้น แล้วเอาท่อนไม้กลิ้งศิลาให้ลงไปในแอ่งน้ำ
เมื่อต้องการจะรู้ว่าน้ำร้อนแล้วหรือไม่ มันก็เอางวงหย่อนลงไปในน้ำ
เมื่อรู้ว่าน้ำอุ่นแล้ว มันก็ไปถวายบังคมพระศาสดา
เป็นทำนองทูลให้ทรงใช้น้ำร้อนได้
มันได้นำผลไม้ประเภทต่างๆ มาถวายพระศาสดาด้วยเหมือนกัน

เวลาพระศาสดาเสด็จเข้าไปบิณฑบาตในหมู่บ้าน
ช้างได้วางบาตรและจีวรของพระองค์ไว้บนตระพอง ตามเสด็จพระศาสดาไป
เมื่อพระพุทธองค์เสด็จถึงเขตบ้านจึงรับสั่งว่า
"ปาริเลยยกะ ตั้งแต่นี้ไป เจ้าจะเข้าไปไม่ได้ จงเอาบาตรและจีวรของเรามา"

ช้างจะยืนอยู่ที่นั่นเองจนกว่าพระพุทธองค์จะเสด็จกลับ
ทำการต้อนรับ ถือบาตรและจีวรไปโดยนัยที่กล่าวแล้ว ไปวางไว้ ณ ที่ประทับ
แล้วนำกิ่งไม้มาต่างพัด ยืนพัดพระศาสดาอยู่

เวลากลางคืน ช้างนั้นจะถือท่อนไม้ท่อนใหญ่
เดินวนเวียนอยู่ในบริเวณอันเป็นที่ประทับของพระศาสดา และที่ใกล้เคียง
เพื่อป้องกันอันตรายให้พระผู้มีพระภาค จนรุ่งอรุณ
เมื่อรุ่งอรุณแล้วก็ทำกิจอย่างอื่น อย่างที่เคย ทำมาทุกวัน
มีการถวายน้ำสรงพระพักตร์ เป็นต้น

กาลนั้น มีลิงตัวหนึ่ง เห็นช้างทำอยู่เช่นนั้นก็อยากจะทำอะไรบ้าง
วันหนึ่งเห็นรังผึ้งที่กิ่งไม้ไม่มีตัวผึ้ง จึงหักกิ่งไม้นั้นไปถวายพระผู้มีพระภาค
นั่งจ้องมองดุจว่าพระผู้มีพระภาคจะเสวยหรือไม่ พระศาสดารับแล้ว ทรงเฉยอยู่
ลิงคิดว่า ทำไมหนอพระองค์จึงไม่เสวย จึงจับกิ่งไม้พิจารณาดูอีกทีหนึ่งเห็นตัวอ่อน
จึงค่อยๆ นำตัวอ่อนเหล่านั้นออกแล้วถวายใหม่ พระศาสดาเสวยแล้ว

เมื่อเห็นดังนั้น ลิงมีความยินดีอย่างยิ่ง ยืนฟ้อนอยู่ไปมาบนกิ่งไม้
มันกระโดดไปมาด้วยความยินดี บังเอิญกิ่งไม้หัก
มันตกลงมาตรงตอไม้แหลมอันหนึ่ง ถูกตอนั้นแทงสิ้นใจตาย
มันมีจิตเลื่อมใสในพระผู้มีพระภาค ไปเกิดในภพดาวดึงส์

การที่พระผู้มีพระภาคเสด็จหลีกเร้นไปอยู่ในป่ารักขิตวันนั้น
เป็นข่าวอันแพร่สะพัดไปเกือบทั่วชมพูทวีป
ทางเมืองสาวัตถี ท่านอนาถปิณฑิกะ และ วิสาขามหาอุบาสิกา
ได้จัดการส่งสาส์นไปถึงพระอานนท์ว่า ขอให้นำเสด็จพระศาสดาไปสู่สาวัตถี

ฝ่ายภิกษุจำนวนมากผู้จำพรรษาอยู่ในทิศต่างๆ เมื่อออกพรรษาแล้ว
ต้องการได้เฝ้าและฟังพระธรรมเทศนาจากพระพุทธองค์
จึงไปหาพระอานนท์ วอนขอว่า
"ท่านผู้เจริญนานนักหนาแล้วที่ข้าพเจ้าได้ฟังธรรมจากพระศาสดา
ขอท่านได้โปรดให้พวกข้าพเจ้าได้ฟังธรรมจากพระพุทธองค์อีกเถิด"

พระอานนท์พาภิกษุเหล่านั้นไปเฝ้าพระศาสดา ณ ป่ารักขิตวัน
เมื่อไปถึงชายป่า ท่านคิดว่าการนำภิกษุทั้งหมดเข้าเฝ้ายังไม่สมควรก่อน
ควรให้ภิกษุเหล่านั้นพักรออยู่ภายนอก ส่วนตัวท่านเองเข้าไปรูปเดียวก่อน
นี่เป็นความรอบคอบของพระอานนท์ คิดดังนี้แล้วจึงเข้าไปเฝ้าเพียงรูปเดียว

ช้างปาริเลยยกะ เห็นพระอานนท์มาแต่ไกล จับท่อนไม้ได้วิ่งไปเพื่อไล่พระอานนท์
พระศาสดาทอดพระเนตรเห็นจึงตรัสว่า
"ปาริเลยยกะ! หลีกไปก่อน อย่าห้ามภิกษุนั้น, เธอเป็นอุปฐากของเรา"

ช้างรู้เช่นนั้นจึงรีบทิ้งท่อนไม้ แล้วแสดงอาการเอื้อเฟื้อในการรับบาตรและจีวร
แต่พระอานนท์ไม่ยอมให้ ช้างยืนมองดูอยู่ คิดว่า
"ถ้าภิกษุรูปนี้ เป็นผู้มีวัตรจริยามรรยาทดี
จะต้องไม่วางบริขารของตนไว้บนแผ่นศิลาอันเป็นที่ประทับของพระผู้มีพระภาค"


พระอานนท์ได้วางบาตรและจีวรของตนไว้ที่พื้น ช้างได้เห็นดังนั้นก็มีจิตเลื่อมใส
จริงอยู่ศิษย์ผู้มีมรรยาทดีย่อมไม่วางเครื่องใช้ของตนไว้บนที่นั่งที่นอนของครู


พระอานนท์ถวายบังคมพระศาสดาแล้วนั่ง ณ ที่อันควรแก่ตนแห่งหนึ่ง
พระศาสดาตรัสถามว่า

"อานนท์! เธอมาเพียงผู้เดียวหรือ?"

"มีภิกษุมาด้วยเป็นอันมาก พระเจ้าข้า"

"เธอเหล่านั้นอยู่ที่ไหน?"

"ข้าพระพุทธเจ้า ไม่ทราบน้ำพระทัยของพระองค์
จึงพักภิกษุเหล่านั้นไว้ภายนอกก่อน พระเจ้าข้า"

"ไปนำมาเถิด"

พระอานนท์ นำภิกษุเหล่านั้นเข้าเฝ้า
พระศาสดาทรงปฏิสันถารกับเธอทั้งหลายด้วยพระอัธยาศัยอันนุ่มนวล
ภิกษุเหล่านั้นกราบทูลว่า

"พระเจ้าข้า! พระผู้มีพระภาค ทรงเป็นพระพุทธเจ้าอันสุขุม (ละเอียดอ่อน)
ทรงเป็นกษัตริย์อันสุขุม พระองค์เสด็จอยู่พระองค์เดียวตลอดไตรมาส
ชื่อว่ากระทำกิจอันทำได้โดยยาก ผู้ปฏิบัติพระองค์ คงมิได้มี ฯ ที่นี้"


พระศาสดาตรัสว่า

"ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย! ช้างปาริเลยยกะได้ทำกิจทั้งปวงอันควรทำแก่เรา
การอยู่ร่วมกับสหายเห็นป่านนี้สมควรแท้ หากไม่ได้สหายอย่างนี้
การเที่ยวไปผู้เดียว อยู่ผู้เดียวเป็นสิ่งประเสริฐกว่า"


ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธพจน์ดังนี้

"ถ้าบุคคลได้สหายผู้มีปัญญา มีคุณธรรม มุ่งประโยชน์อันดี
ไว้เป็นมิตรสำหรับไปมาด้วยกันไซร้ ก็ควรมีใจยินดีมีสติ
ตั้งใจบำบัดอันตรายแก่สหายนี้ ถ้าไม่ได้สหายเช่นนั้น ก็ควรเที่ยวไปคนเดียว
เหมือนพระราชาทรงสละราชบัลลังก์เที่ยวไปผู้เดียว
หรือเหมือนช้าง ชื่อ มาตังคะ เที่ยวไปแต่ผู้เดียวในป่า
การเที่ยวไปผู้เดียวนั้นประเสริฐกว่า เพราะความเป็นสหายไม่มีในคนพาล
เมื่อไม่ได้สหายที่มีปัญญาคุ้มครองตน
ก็ควรเที่ยวไปแต่ผู้เดียว และไม่ควรทำบาปทั้งหลาย
"


เมื่อพระศาสดาตรัสจบ ภิกษุ ๕๐๐ รูป ได้สำเร็จพระอรหัตตผล
พระอานนท์ทูลสาส์นที่ตระกูลใหญ่ๆ มีท่านอนาถปิณทิกะ เป็นต้น
ส่งมาทูลเชิญเสด็จพระศาสดาสู่นครสาวัตถี พระศาสดาตรัสกับพระอานนท์ว่า
"ถ้าอย่างนั้นเธอจงรับบาตรและจีวรไป" ดังนี้แล้วเสด็จออกไป

ช้างได้ยืนขวางทางไว้ ภิกษุทั้งหลายได้เห็นแล้วทูลถามพระพุทธองค์ว่า
ทำไมช้างจึงยืนขวางทาง พระศาสดาตรัสตอบว่า
"ช้างมีความประสงค์จะถวายอาหาร ช้างนี้มีอุปการต่อเรามานาน
การทำให้จิตใจของเขาขัดเคือง ไม่ควรเลยภิกษุทั้งหลาย
พวกเราอย่าเพิ่งไปเลย กลับกันก่อนเถิด"

ดังนี้แล้ว พระศาสดาได้พาภิกษุทั้งหลายกลับมาประทับที่เดิม

ฝ่ายช้างรีบเข้าไปในป่า รวบรวมผลไม้ต่างๆ มีผลขนุนและกล้วยเป็นต้นมากองไว้
วันรุ่งขึ้นพระศาสดาได้เสวยและภิกษุทั้งหลายได้ฉันผลไม้เหล่านั้น แต่ฉันไม่หมด
เมื่อเสร็จภัตตกิจแล้ว พระศาสดาทรงถือบาตรและจีวรด้วยพระองค์เองเสด็จออกไปก่อน
ช้างได้ติดตามไปและยืนขวางพระพักตร์ไว้ เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถาม
พระศาสดาตรัสว่า ช้างประสงค์จะให้พวกเธอทั้งหลายกลับไป แต่จะให้พระองค์เสด็จกลับ

พระศาสดาตรัสกับพญาช้างปาริเลยยกะว่า
"ปาริเลยยกะเอย ในอัตตภาพนี้เธอเป็นดิรัจฉาน
ไม่อาจบรรลุฌาณ หรือวิปัสสนา หรือมรรคผลได้ เจ้าจงอยู่ที่นี่เถิดอย่าติดตามไปเลย"


ช้างฟังแล้วเอางวงเข้าปากร้องไห้ และติดตามไปเบื้องหลัง
ยังมีความประสงค์จะอัญเชิญพระศาสดาให้เสด็จกลับ

เมื่อเสด็จถึงเขตบ้านปาริเลยยกะ พระศาสดาผิน พระพักตร์มาตรัสกับช้างว่า

"ปาริเลยยกะ! ต่อไปนี้เป็นแดนของมนุษย์ มิใช่ถิ่นของเจ้า
มีภัยอยู่รอบด้านสำหรับเจ้า จงหยุดอยู่เพียงแค่นี้เถิด อย่าเดินต่อไปอีกเลย"


ช้างไม่อาจติดตามไปอีกได้, ยืนร้องไห้อยู่ตรงนั้น ยืนมองดูพระศาสดา
พอพระองค์ลับคลองจักษุไป ใจของช้างก็แตกด้วยอำนาจแห่งความรัก
ช้างนั้นสิ้นชีพแล้วไปเกิดในสวรรค์ชั้นดาวดึงส์ เป็นเทพบุตร ชื่อ ปาริเลยยกะ

ฝ่ายภิกษุชาวเมืองโกสัมพีได้ทราบข่าวว่า บัดนี้พระศาสดาเสด็จถึงเมืองสาวัตถีแล้ว
ได้พากันไปยังสาวัตถีเพื่อทูลขอให้พระศาสดาประทานอภัย

พระเจ้าปเสนทิโกศล ทรงทราบว่า พวกภิกษุชาวโกสัมพีมา
จึงเข้าเฝ้าพระพุทธเจ้า ทูลว่าจะไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าเมือง
ฝ่ายอนาถปิณทิกะเศรษฐีก็เหมือนกัน กราบทูลพระศาสดาว่า
จะไม่ยอมให้ภิกษุเหล่านั้นเข้าวัดเชตวันของตน

แต่พระศาสดาทรงชี้แจงว่า ภิกษุเหล่านั้นล้วนเป็นผู้มีศีล
แต่ไม่เชื่อคำของพระองค์ เพราะการทะเลาะกัน
บัดนี้ภิกษุเหล่านั้นชวนกันมาเพื่อขอขมาพระองค์ ขอให้พวกเธอมาเถิด

เมื่อภิกษุเหล่านั้นถึงสาวัตถีแล้ว พระศาสดารับสั่งให้จัดเสนาสนะแห่งหนึ่ง
เป็นที่สงัดให้เป็นที่อยู่ของพวกเธอ ไม่ให้ภิกษุเหล่าอื่นปะปนอยู่

ในการประชุมก็ทรงให้ภิกษุชาวโกสัมพีรวมอยู่ด้วยกันที่หนึ่ง
ประชาชนที่มาประชุมกันก็ถามพระศาสดาว่า พวกไหนคือภิกษุชาวโกสัมพี
พระศาสดาตรัสชี้ให้ดูว่า "พวกนั้นๆ" ใครมาก็ถามจนภิกษุพวกนั้นละอาย
นั่งก้มหน้าวิ่งไม่อาจเงยหน้าได้ ฟุบลงแทบพระบาทแห่งพระผู้มีพระภาคทูลขอขมา

พระศาสดา ทรงเห็นเป็นโอกาสเหมาะจึงตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! เธอทั้งหลายทำกรรมหนักเสียแล้ว
เธอทั้งหลายบวชในศาสนาของพระพุทธเจ้าเช่นเรา
เมื่อเราสมานสามัคคี เธอทั้งหลายก็หาทำตามไม่
ส่วนบัณฑิตในกาลก่อนสดับโอวาทของมารดาบิดาผู้ต้องถูกประหารชีวิตแล้ว
มิได้ขัดขืนโอวาทของมารดาบิดา ปฏิบัติตามโอวาทของท่านภายหลังได้ประสบโชคดี
ได้ครองแคว้นถึง ๒ แคว้น คือกาสีและโกศล"


ดังนี้แล้ว ตรัสทีฆาวุกุมารชาดก และตรัสต่อไปว่า

"คนพวกอื่น ไม่รู้ดอกว่า เราทั้งหลายย่อยยับอยู่ (เพราะการทะเลาะวิวาท)
ส่วนพวกใดรู้ เห็นโทษของการทะเลาะวิวาท ความหมายมั่นซึ่งกันและกันย่อมระงับลง"


:b48: :b48:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๔ กรกฎาคม ๒๕๔๕

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นสาละใหญ่ หรือ ต้นมหาสาละ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19537

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 14 มี.ค. 2013, 08:37 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นตาล ต้นไม้ที่ปรากฏในพระไตรปิฎก
และพระพุทธองค์ใช้เปรียบเพื่อแสดงพุทธโอวาทหลายครั้ง



การระงับเวรด้วยการไม่จองเวร

พระพุทธภาษิต

น หิ เวเรน เวรานิ
สมฺมนฺตีธ กุทาจนํ
อเวเรน จ สมฺมนฺติ
เอส ธมฺโม สนนฺตโน

คำแปล
ในกาลไหนๆ เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร
แต่เวรย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า


:b44: :b44:

อธิบายความ การผูกเวร ก็เหมือนกับการผูกพยาบาท
เมื่อต่างฝ่ายต่างผูกใจเจ็บกันอยู่ เวรก็ไม่สามารถระงับลงได้
แต่หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเลิกผูกเวรเสียด้วยการให้อภัยและแผ่เมตตาให้เสมอๆ
เวรย่อมระงับลงได้ในเวลาไม่นาน

การไม่ผูกเวรทำให้จิตใจเราสบาย เมื่อใดใจผูกเวร เมื่อนั้นมองไปไหนก็เห็นแต่ศัตรู
แต่เมื่อใดใจของเราไม่มีเวรกับใคร มีแต่เมตตาปรานี เมื่อนั้น มองไปทางใดก็เจอแต่มิตร
เพราะฉะนั้น พระเจ้าโกศลเมื่อให้โอวาทพระราชโอรส ทรงพระนามว่า ฑีฆาวุกุมาร จึงตรัสว่า

ฑีฆาวุ เจ้าอย่าเห็นแก่กาลยาว อย่าเห็นแก่กาลนั้น
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า


เพราะฉะนั้น ผู้ฉลาด เพื่อความสบายใจของตนเอง จึงไม่ควรผูกเวรไว้กับใครๆ
จงจำแต่ความดีที่ผู้อื่นทำแก่ตน แต่อย่าจำความร้ายที่เขาทำให้
เพราะมันไม่มีประโยชน์แก่จิตใจ


คำว่า อย่าเห็นแก่กาลยาว นั้น หมายความว่าอย่าผูกเวรเอาไว้
เพราะเวรยิ่งผูกก็ยิ่งยาว

คำว่า อย่าเห็นแก่กาลสั้น นั้น หมายความว่า อย่ารีบด่วนแตกจากมิตร
มีอะไรก็ค่อยๆ ผ่อนปรนกันไป ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเข้าใจผิดก็ได้
อย่าด่วนลงโทษใครง่ายเกินไป และอย่ารีบแตกจากใคร
ขอให้พิจารณาเสียร้อยครั้งพันครั้ง


:b45: :b45:

เรื่องประกอบ เรื่องยักษิณีชื่อกาลี

ที่เมืองสาวัตถี มีเด็กหนุ่มคนหนึ่ง เมื่อบิดาสิ้นชีพแล้ว
ก็ทำงานด้วยตนเองทั้งในบ้านและนอกบ้าน เลี้ยงมารดาอยู่
มารดาสงสารเขาจึงบอกว่าจะนำหญิงคนหนึ่งมาให้เป็นภรรยา
เพื่อจักได้แบ่งเบาภาระในบ้านไปเสียบ้าง แต่ลูกชายก็ห้ามเสียหลายครั้งหลายหน
เขาบอกแม่ว่ายังไม่ต้องการ แต่ฝ่ายแม่ต้องการ
จึงออกจากบ้านจะไปสู่ตระกูลหนึ่ง
ลูกชายจึงว่า หากแม่จะไปนำหญิงมาให้ได้จริงๆ แล้ว
ก็จงไปสู่สกุลที่ลูกชอบ เขาได้บอกชื่อสกุลให้มารดา

มารดาของเขาไปสู่ขอหญิงสกุลนั้นมาให้บุตรชายแล้ว
แต่หญิงนั้นเป็นหมัน หญิงผู้มารดาจึงพูดกับบุตรว่า อันตระกูลที่ไม่มีบุตรย่อมขาดสูญ
เพราะฉะนั้น แม่จะไปนำหญิงอีกคนหนึ่งมาให้ภรรยาของเจ้า
บุตรชายกล่าวว่า อันการจะไปนำหญิงอื่นมาอีกคนหนึ่งนั้น ไม่จำเป็น
แต่มารดาก็ยังพูดอยู่บ่อยๆ

หญิงสะใภ้ได้ยินบ่อยๆ จึงคิดว่า
"ธรรมดาบุตรย่อมฝืนมารดาไปได้ไม่นาน อีกสักหน่อยก็คงยอมให้นำสตรีอื่นมา
หากเธอมีลูก ตัวเราก็จะลดฐานะลงมาเป็นหญิงรับใช้
อย่ากระนั้นเลย เราควรจะจัดการหาหญิงนั้นเสียเอง เพื่อจักได้อยู่ใต้อำนาจของเรา"

นางคิดดังนี้แล้ว จึงไปนำหญิงอันคุ้นเคยกับเธอจากตระกูลหนึ่งมา

ทีแรกๆ ก็ดี แต่พอนานเข้า มีจิตริษยาบ้าง
ด้วยความกลัวว่าตนจะตกต่ำ หากภรรยาน้อยมีลูกบ้าง
นางจึงคิดทำลายครรภ์ของภรรยาน้อย
นางได้สั่งไว้ว่า เมื่อใดมีครรภ์ขอให้บอกนางแต่เนิ่นๆ

ภรรยาน้อยพาซื่อ คิดว่าเขาหวังดีกับตัว พอตั้งครรภ์ก็บอก
นางเมียหลวงจึงประกอบยาใส่ลงไปในอาหาร
โดยทำนองนี้ ครรภ์ของภรรยาน้อยจึงตกไป แท้งถึง ๒ ครั้ง

พอครั้งที่สาม ภรรยาน้อยไปปรึกษากับเพื่อน
พวกเพื่อนๆ พูดเป็นทำนองให้เฉลียวใจถึงภรรยาหลวง นางจึงระวังตัว
คราวนี้ไม่ยอมบอก พยายามถนอมจนครรภ์แก่
นางเมียหลวงไม่ได้ช่องที่จะผสมยาลงไปในอาหารได้ เพราะเขาระวังตัวอยู่
จนกระทั่งครรภ์แก่ นางจึงได้โอกาส แต่ครรภ์ไม่ตก เพราะแก่เสียแล้ว แต่กลับนอนขวาง

ภรรยาน้อยได้รับทุกขเวทนาแสนสาหัสจนสิ้นชีวิต
ก่อนสิ้นชีพได้อธิษฐานขอจองเวรกับหญิงนั้น
นางตายแล้วไปเกิดเป็นแมวตัวเมียในเรือนนั่นเอง


ฝ่ายสามีของนาง รู้ว่าภรรยาหลวงประกอบยาทำลายครรภ์ของภรรยาน้อยถึง ๓ ครั้ง
โกรธจัด ประหารภรรยาหลวงเสียถึงตาย นางไปเกิดเป็นแม่ไก่


พอแม่ไก่ตกไข่ แมวก็ไปกินเสียถึง ๓ ครั้ง แม่ไก่ผูกพยาบาท
ขอให้ได้เกิดเป็นอะไรสักอย่างหนึ่งที่พอทำร้ายนางแมวได้
แม่ไก่ไปเกิดเป็นแม่เสือเหลือง ส่วนนางแมวไปเกิดเป็นแม่เนื้อ
พอแม่เนื้อคลอดลูก แม่เสือเหลืองก็มากินเสียทุกครั้ง
แม่เนื้อผูกพยาบาท ตายจากชาตินั้นไปเกิดเป็นนางยักษิณี
แม่เสือไปเกิดเป็น หญิงชาวบ้านธรรมดา เมื่อหญิงนั้นคลอดลูก
นางยักษิณีก็ปลอมแปลงตัวเป็นหญิงสหายของเธอ มากินลูกเสียทุกครั้ง

พอครั้งที่ ๓ หญิงนั้นหนีไปคลอดลูกที่อื่น
และนางยักษิณีก็ติดเข้าเวรส่งน้ำให้ท้าวเวสสุวรรณเสียหลายเดือน
พอออกเวรก็รีบมายังบ้านของหญิงนั้น
ทราบว่า เธอไปคลอดลูกที่บ้านเดิม คือบ้านพ่อแม่ของนาง

ยักษิณี อันกำลังแห่งเวรให้อุตสาหะ แล้วรีบวิ่งไปยังบ้านนั้น
เวลานั้น หญิงคู่เวรคลอดลูกแล้ว กำลังกลับมาพร้อมด้วยสามี
มาถึงสระแห่งหนึ่งหน้าวัดเชตวัน สามีลงอาบน้ำในสระ
นางยืนอุ้มลูกให้ดื่มนมคอยอยู่ เหลียวมาเห็นนางยักษ์กำลังวิ่งมาอย่างเร็ว
จึงร้องตะโกนให้สามีขึ้นมาช่วย เมื่อเห็นว่าสามีจะขึ้นมาไม่ทัน
นางยักษ์วิ่งมากระชั้นชิดแล้ว นางจึงอุ้มลูกวิ่งหนีเข้าวัดเชตวัน

เวลานั้น พระศาสดากำลังประทับแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัทในธรรมสภา
เธอนำลูกไปวางไว้ใกล้บาทแห่งพระผู้มีพระภาค
ละล่ำละลักทูลว่า "ขอได้โปรดเป็นที่พึ่งของเด็กคนนี้ด้วยเถิด พระเจ้าข้า"


นางยักษ์วิ่งไล่ตามมาอย่างกระชั้นชิด พอถึงประตูวัดเชตวัน
สุมนเทพ ผู้สิงอยู่ที่ซุ้มประตูไม่ยอมให้เข้า

พระศาสดา ทรงทราบเหตุการณ์ทั้งปวงโดยตลอด
รับสั่งให้พระอานนท์ ไปนำนางยักษ์เข้ามา
เมื่อหญิงนั้นเห็นนางยักษ์เข้ามาก็ตกใจกลัว
ร้องขอให้พระศาสดาช่วย ศาสดาตรัสปลอบว่า

"อย่ากลัวเลย ณ ที่นี้ นางยักษ์จะทำอันตรายไม่ได้"

ดังนี้ ตรัสกับนางยักษ์ว่า

"ดูก่อนยักษิณี และกุลธิดา เพราะเหตุไรเจ้าทั้งสองจึงจองเวรกันเช่นนี้
ถ้ามิได้พบพระพุทธเจ้าเช่นเรา เวรของเจ้าทั้งสองก็จะดำรงอยู่ชั่วกัปป์
เหมือนเวรของงูกับพังพอน หมีกับไม้สะคร้อ และ กากับนกเค้า
เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร นี่เป็นธรรมเก่า"


พระศาสดาทรงยังพระธรรมเทศนาให้พิสดารโดยอเนกปริยาย
ในการจบเทศนา นางยักษ์ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็นโสดาบัน เป็นผู้มีศีล ๕ สมบูรณ์
พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้นส่งลูกให้ยักษิณี
กุลธิดากราบทูลว่า เธอกลัว พระศาสดาตรัสว่าอย่ากลัวเลย อันตรายจากยักษิณีไม่มีแล้ว
นางจึงส่งลูกให้, นางยักษ์รับเด็กมากอดจูบแล้วส่งคืนให้มารดา แล้วร้องไห้
พระศาสดาตรัสถามว่าร้องไห้ทำไม นางทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์! เมื่อก่อนนี้ ข้าพระพุทธเจ้า หากินโดยไม่เลือกทาง
ก็ยังไม่สามารถหาอาหารมาให้พอเต็มท้องได้
บัดนี้ ต่อจากนี้ไป ข้าพระพุทธเจ้าจะมีชีวิตอยู่ได้อย่างไร?"


พระศาสดารับสั่งให้หญิงนั้น นำนางยักษ์ไปเลี้ยงไว้ที่บ้าน
ให้ข้าวและน้ำ กระทำอุปการะอย่างดี


ยักษิณีรู้อุปการะของหญิงนั้นแล้ว ช่วยบอกว่า ปีนี้ฝนจะตกมากให้ทำนาบนที่ดอน,
ปีนี้ฝนจะตกน้อยให้ทำนาในที่ลุ่ม กุลธิดาได้ทำตามคำแนะนำของยักษิณี ได้ข้าวดีทุกปี

คนชาวบ้านทั้งหลายรู้ข่าวเข้าก็ชวนกันมาถามบ้าง ยักษิณีก็บอกให้
คนทั้งหลายได้นำข้าว น้ำ และผลไม้มาให้ยักษิณีเป็นการตอบแทน
ทั้งสองฝ่ายต่างมีอุปการะซึ่งกันและกันด้วยประการฉะนี้

เวรย่อมไม่ระงับด้วยการจองเวร
แต่ย่อมระงับด้วยการไม่จองเวร


ดังพรรณนามาฉะนี้

หมายเหตุ : ลำดับชาติที่ทั้งสองจองเวรกัน
เมียน้อย-นางแมว-นางเนื้อ-นางยักษ์
เมียหลวง-นางไก่-นางเสือเหลือง-กุลธิดา

:b48: :b48:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๔ สิงหาคม ๒๕๔๕

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นตาล คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19573

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มี.ค. 2013, 10:54 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นประดู่ลายหรือต้นประดู่แขก ในภาษาบาลีเรียกว่า "ต้นอสนะ"
ชาวอินเดียเรียกว่า "ลิสโซ" และชาวฮินดูเรียกว่า "สิสสู"
เป็นพันธุ์ไม้ที่พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๐
พระนามว่า พระติสสพุทธเจ้า ทรงประทับนั่งและตรัสรู้



การไม่สำรวมอินทรีย์

พระพุทธภาษิต

สุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ อินฺทฺริเยสุ อสํวุตํ
โภชนมฺหิ อมตฺตญญุ กุสีตํ หีนวีริยํ
ตํ เว ปสหติ มาโร วาโต รุกฺขํว ทุพฺพลํ
อสุภานุปสฺสึ วิหรนฺตํ อินฺทฺริเยสุ สุสํวุตํ
โภชนมฺหิ จ มตฺตยฺญุ สทฺธํ อารทฺธวีริยํ
ตํ เว นปฺปสหติ มาโร วาโต เสลํว ปพฺพตํ

คำแปล

คนที่มองเห็นอารมณ์ต่างๆ มีรูปเป็นต้น ว่างามอยู่
ไม่สำรวมอินทรีย์ มีตาเป็นต้น ไม่รู้จักประมาณในการบริโภค
เกียจคร้าน มีความเพียรเลว คือย่อหย่อน มารย่อมรังควานย่ำยีได้
เหมือนลมพัดต้นไม้ที่ทุรพลให้ล้มลง

ส่วนคนที่มองเห็นอารมณ์ว่าไม่งามอยู่ สำรวมอินทรีย์
รู้จักประมาณในการบริโภค มีศรัทธา มีความเพียรสม่ำเสมอ
มารย่อมรังควานย่ำยีไม่ได้ เหมือนลมไม่สามารถพัดภูเขาศิลาให้ล้มได้ ฉะนั้น


:b41: :b41:

อธิบายความ การที่มองเห็นอารมณ์ มีรูปเป็นต้น ว่างามนั้น
เพราะเอาใจเข้าไปยึดโดยนิมิตรบ้าง โดยอนุพยัญชนะบ้าง

โดยนิมิตรนั้น กล่าวคือเห็นงามไปหมดทั้งรูปร่างหน้าตา
เมื่อเห็นงาม ความกำหนัดพอใจก็เกิดขึ้น กามราคะก็รบกวน ทำลายสมาธิ

โดยอนุพยัญชนะนั้น คือ แยกถือว่างาม เช่น มืองาม ขางาม หน้าอกงาม
นัยน์ตางาม จมูกงาม เป็นต้น แม้ส่วนอื่นจะไม่งามอยู่บ้าง
แต่ก็พอใจกำหนัดในส่วนที่งามแยกเป็นส่วนๆ

การไม่สำรวมอินทรีย์นั้น คือไม่ระวังอินทรีย์ ๖ กล่าวคือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจ
ยอมให้มันยินดีบ้าง ยินร้ายบ้าง เมื่อเห็นรูป ฟังเสียง ดมกลิ่น ลิ้มรส
ถูกต้องสัมผัส และใจรับรู้อารมณ์ รวมความว่า ต้องคอยดีใจเสียใจอยู่เสมอ
การตามใจ ตา หู จนเกินไปย่อมทำให้ต้องดิ้นรนมาก และมีทุกข์มาก
ทำให้ต้องเสื่อมจากคุณงามความดีก็ไม่น้อย

ความไม่รู้ประมาณในโภชนะนั้น เช่นไม่รู้จักประมาณในการรับ
ไม่รู้ประมาณในการแสวงหา ในการรับและในการบริโภค

น้อยเกินไปบ้าง มากเกินไปบ้าง น้อยเกินไปทำให้ร่างกายอ่อนเพลีย อาจเป็นโรคขาดอาหารได้
มากเกินไปทำให้อึดอัดเกียจคร้านอยู่เสมอ นอกจากนี้ในการบริโภค
ควรคำนึงถึงคุณภาพของอาหารด้วย แต่เชื่อว่าทุกคนอยากรับประทานอาหารที่มีคุณภาพดี
ที่ไม่ได้ก็เพราะฐานะไม่อำนวย แต่โปรดอย่าลืมว่า
อาหารที่มีคุณภาพดี มิได้หมายถึงอาหารที่มีราคาแพงเสมอไป

ความเกียจคร้านนั้น คือ อาการที่ไม่อยากทำอะไร
แม้ร่างกายจะปกติดีอยู่ มิได้เหนื่อย ไม่เพลีย และไม่เจ็บป่วย แต่ไม่อยากทำอะไร

การที่เพลีย แล้วร่างกายต้องการพักผ่อน อย่างนี้ไม่ใช่ความเกียจคร้าน
เพราะพอหายเพลีย หายเหนื่อยก็ทำงานต่อไป
หากเป็นเพราะอาการเกียจคร้าน ก็คือ ไม่อยากศึกษาเล่าเรียน
ไม่อยากท่องบ่นสาธยาย ไม่เจริญสมณธรรม เช่น สมถะและวิปัสสนา
เอาแต่ฉันแล้วนอนและคุย และก็ไม่ได้คุยธรรมะของพระพุทธเจ้าเสียอีกด้วย

ความเกียจคร้านเป็นอันตรายแห่งความเจริญก้าวหน้า
ทั้งแก่บรรพชิตและคฤหัสถ์ เป็นหลุมพรางที่มารชอบ

คนขยันย่อมต้องมีอะไรบางอย่างทำอยู่เสมอ ไม่อยู่ว่างได้

คนเกียจคร้านมักต้องตกอยู่ในอำนาจของวิตก ๓
คือ กามวิตก การตรึกถึงกาม พยาบาทวิตก ตรึกถึงความพยาบาท
และวิหิงสาวิตก ตรึกถึงความเบียดเบียน


คำว่า มีความเพียรเลวนั้น คือ มีความเพียรย่อหย่อน
จับๆ วางๆ ไม่มีความเพียรอันมั่นคง

ทำอะไรจับจด ทำความเพียรแบบการเดินของกิ้งก่า
คือ เดินๆ หยุดๆ ไม่สม่ำเสมอ ใจไม่มั่นคง ไม่รู้จักรอคอย

คนที่มีลักษณะดังกล่าว มีการตกอยู่ในอำนาจของความงาม เป็นต้น
มารย่อมรังควานได้ เขาย่อมตกอยู่ในอำนาจของมารด้วยเหมือนกัน

ส่วนคนที่มีลักษณะตรงกันข้าม กล่าวคือ ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความงาม,
สำรวมอินทรีย์ ๖, รู้จักประมาณในโภชนะ, มีศรัทธา,
มีความเพียรเสมอต้นเสมอปลาย มารย่อมย่ำยีไม่ได้


:b48:

มีคำที่ควรอธิบายอยู่อีกคำหนึ่ง คือ มีศรัทธา

ศรัทธาในที่นี้ ท่านหมายเอาทั้ง
โลกียศรัทธา และโลกุตตรศรัทธา


โลกียศรัทธา นั้น คือ การยอมรับ
เชื่อในเรื่องกรรมและผลของกรรม เชื่อชาตินี้ ชาติหน้า


โลกุตตรศรัทธา นั้น หมายถึง
ความเชื่อมั่นไม่หวั่นไหวในคุณของพระรัตนตรัย
อนึ่ง โลกุตตรศรัทธา หมายถึง ความเชื่อของพระอริยเจ้า
ตั้งแต่พระโสดาบันขึ้นไป


:b40: :b40:

เรื่องประกอบ เรื่องพระจุลกาลและมหากาล

เรื่องนี้เกิดขึ้น เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองสาวัตถี
และ ณ ป่าประดู่ลาย เขตเสตัพยนคร

พระจุลกาลและมหากาลเป็นชาวเสตัพยนคร
มีพี่น้องด้วยกัน ๓ คนคือ จุลกาล มัชฌิมกาล และมหากาล

มหากาลเป็นพี่ชายใหญ่ ตระกูลนี้เป็นพ่อค้า
พี่ชายใหญ่และน้องคนเล็กคือจุลกาลมักต้องออกเดินทางไปค้าขายเสมอ
บรรทุกของไปเต็มเกวียน ขากลับก็ซื้อของต่างเมืองมาขายที่เสตัพยนคร
ผู้จัดการฝ่ายขาย ทางเสตัพยนคร คือ มัชฌิมกาล ซึ่งเป็นคนกลาง

คราวหนึ่ง มหากาลและจุลกาล บรรทุกของไปขายที่เมืองสาวัตถี
ปลดเกวียนพักระหว่าง เมืองสาวัตถีและพระเชตวันวิหาร

มหากาลเห็นอริยสาวกพากันไปฟังธรรมของพระพุทธเจ้าก็ติดตามเขาไป
วันนั้น พระศาสดาทรงเห็นอุปนิสัยของมหากาลแล้ว ทรงแสดงอนุบุพพิกถา
ทรงพรรณนาโทษของกามเป็นพิเศษ ด้วยบริยายเป็นอันมาก
ทรงตะล่อมด้วยการพรรณนาถึงโทษของขันธ์ และจบลงด้วยอริยสัจ ๔

เมื่อจบเทศนา มหากาลได้ความเลื่อมใส พิจารณาเห็นด้วยปัญญาของตนว่า

"บุคคลจำต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป โภคะและญาติทั้งหลาย
มิอาจติดตามบุคคลไปสู่ปรโลก คือ โลกหน้าได้ จะประโยชน์อะไรด้วยการครองเรือน
การบวชเป็นทางอันประเสริฐกว่า"


ดังนี้แล้ว ทูลขอบวชกับพระผู้มีพระภาค เมื่อพระองค์ทรงอนุญาตแล้ว
มหากาลจึงกลับไปยังกองเกวียน บอกลาให้จุลกาลทราบ
จุลกาลตัดสินใจขอบวชด้วย แต่มีความตั้งใจคนละอย่าง
มหากาลบวชเพื่อสละโลก แต่จุลกาลบวชเพื่อต้องการดึงพี่ชายให้สึกโดยเร็วที่สุดที่จะเร็วได้


มหากาลบวชแล้วได้ทราบว่า ธุระในศาสนามีอยู่ ๒ คือ
คันถธุระ คือ การศึกษาเล่าเรียนพระพุทธพจน์ ๑
และวิปัสสนาธุระ คือ การเจริญวิปัสสนา เพื่อละอวิชชา ทำปัญญาให้เจริญเต็มที่ ๑


พระมหากาลตกลงใจทำประการที่ ๒ คือวิปัสสนาธุระ ทูลขอให้พระศาสดาตรัสบอก
โสสานิกธุคงควัตร คือ ข้อปฏิบัติของภิกษุผู้อยู่ในป่าช้าจนจบแล้ว
เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว คนนอนหลับหมดแล้วได้ออกไปสู่ป่าช้า
เมื่อเวลาจวนรุ่ง คนทั้งหลายยังไม่ลุกก็กลับมาสู่วิหาร

ครั้งนั้น มีหญิงเฝ้าป่าช้าคนหนึ่ง ชื่อกาลี ได้เห็นที่นั่งและที่จงกรมของพระเถระ
แต่ไม่เคยได้เห็นพระมหากาล เลยคิดว่า "ใครหนอมาที่นี่"

วันหนึ่ง จึงตามประทีปไว้ที่กระท่อมใกล้ป่าช้า พาลูกไปคอยดู
เห็นพระมหากาลเดินมาใน มัชฌิมยาม จึงเข้าไปไหว้แล้วพูดว่า

"ท่านผู้เจริญ! ธรรมดาพระที่อยู่ในป่าช้าควรจะรู้ระเบียบของผู้อยู่ในป่าช้า
คือ ควรแจ้งให้ผู้ใหญ่บ้านทราบ ควรบอกผู้เฝ้าป่าช้าและพระมหาเถระในวิหาร
เพราะว่า อาจมีพวกโจร ทำโจรกรรมแล้วพาของหนีมาทิ้งไว้ในป่าช้า
เมื่อเจ้าของทรัพย์สะกดรอยตามเห็นของอยู่ในป่าช้า และเห็นพระ
อาจเข้าใจว่า พระเป็นผู้ขโมยของมา แล้วรุมกันทุบตี
แต่หากได้บอกแก่เจ้าหน้าที่ผู้เกี่ยวข้องแล้ว
เจ้าหน้าที่เหล่านั้น ก็จะรับรองให้ว่า ผู้อยู่ในป่าช้าอยู่มานานแล้ว มิใช่โจร"


อีกประการหนึ่ง

"พระที่อยู่ในป่าช้า จำต้องงดเว้นการฉันเนื้อ, ปลา, แป้ง, งา และน้ำอ้อยเป็นต้นเสีย,
ไม่ควรนอนกลางวัน, ไม่ควรเป็นผู้เกียจคร้าน, ควรปรารภความเพียรอยู่เสมอ,
ควรเป็นผู้ไม่โอ้อวด, ไม่เจ้าเล่ห์, ควรเป็นผู้มีอัธยาศัยงาม
เวลาเย็นเมื่อคนทั้งหลายหลับหมดแล้ว จึงมาจากวิหาร
เวลาจวนรุ่ง เมื่อคนทั้งหลายยังไม่ทันลุกขึ้น พึงรีบกลับไปสู่วิหาร
ท่านผู้เจริญ! หากพระคุณเจ้าอยู่ได้อย่างนี้
ก็จะสามารถบำเพ็ญกิจของบรรพชิตให้สำเร็จลุล่วงไปได้ด้วยดี
อนึ่งหากมีศพอันสมควรที่พระคุณเจ้าจะพิจารณา ข้าพเจ้าก็จะกราบเรียนให้ทราบ"


พระมหากาลแสดงอาการขอบใจนางกาลี หญิงเฝ้าป่าช้า
และสั่งว่าหากมีศพอะไรอันสมควรที่ท่านจะพิจารณา
เป็นประโยชน์แก่การบรรลุธรรมเบื้องสูงก็ให้บอกด้วย

ส่วนพระจุลกาล ผลุดลุก ผลุดนั่ง รัญจวนถึงฆราวาสวิสัย
คิดถึงบุตรและภรรยา มิอาจบำเพ็ญสมณธรรมได้
จุลกาลคิดว่า "พี่ชายของเราได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว"

วันนั้น มีหญิงคนหนึ่งทำกาละ คือตายในเวลาเย็นด้วยโรคปัจจุบัน
ญาติของเธอพาไปยังป่าช้า มอบเงินค่าเผาให้นางกาลี หญิงเฝ้าป่าช้า
แล้วมอบศพให้เป็นภาระของเธอ


นางเปลื้องผ้าห่มศพออกดูเห็นยังสดชื่น ควรบอกให้พระมหากาลมาดู
นางจึงรีบไปบอกพระมหากาลให้มาดู พระมาดูแล้วเห็นรูปประณีตยิ่งนัก
มีสีดังทองคำ ยังไม่ควรแก่การพิจารณาขณะนั้น จึงบอกหญิงเฝ้าป่าช้าว่า
เมื่อเอาศพเผาแล้ว ขณะไฟกำลังโหมอยู่ จงไปบอกอีกครั้งหนึ่ง

เมื่อนางกาลียกศพขึ้นสู่กองไฟ ไฟกำลังไหม้อยู่ นางได้ไปบอกพระมหากาลให้มาดู
เห็นสีแห่งสรีระด่างเพราะถูกไฟไหม้เหมือนสีของแม่โคด่าง
เท้าทั้งสองงอหงิก ห้อยลงมือทั้งสองกำเข้า หนังหน้าผากปอกเปิก


พระเถระพิจารณาว่า

"สรีระนี้เป็นที่ตั้งแห่งความกระสันกำหนัดแก่ผู้แลดูมาเมื่อไม่นานนี้เอง
แต่บัดนี้ ถึงแล้วซึ่งความสิ้นและความเสื่อม"


ท่านกลับไปยังที่พักกลางคืน นั่งพิจารณาถึงความสิ้นและความเสื่อมอยู่ว่า

"อนิจฺจา วต สงฺขารา อุปฺปาทวยธมฺมิโน
อุปฺปชฺชิตาวา นิรุชฺฌนฺติ เตสํ วูปสโม สุโข

สังขารทั้งหลายไม่เที่ยงหนอ มีความเกิดขึ้นและความดับไปเป็นธรรมดา
เกิดขึ้นแล้วก็ดับไป การเข้าไปสงบสังขารทั้งหลายเหล่านั้นได้ เป็นสุข"


ดังนี้แล้ว เจริญวิปัสสนาได้บรรลุอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย


หลังจาก พระมหากาลสำเร็จอรหัตตผลแล้วไม่นาน
พระศาสดาพร้อมด้วยหมู่ภิกษุสงฆ์เสด็จสู่เสตัพยนคร เสด็จประทับ ณ ป่าประดู่ลาย

ภรรยา ๒ คนของพระจุลกาลได้ทราบข่าว
การเดินทางมาของพระจุลกาลพร้อมด้วยพระศาสดาให้รู้สึกปราโมชยิ่งนัก
วางแผนเพื่อจับพระจุลกาลสึก จึงนิมนต์ภิกษุสงฆ์มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
ให้ฉันภัตตาหาร ณ บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น พระศาสดาทรงรับ

ท่านกล่าวไว้ในตอนนี้ว่า สำหรับสถานที่ที่พระพุทธเจ้าไม่ทรงคุ้นเคยนั้น
ควรให้ภิกษุรูปหนึ่งล่วงหน้าไปก่อน เพื่อแนะนำการจัดอาสนะให้ถูกต้อง
คือ ปูอาสนะสำหรับพระพุทธเจ้าไว้กลาง, อาสนะพระสารีบุตรอยู่ด้านขวา,
อาสนะพระมหาโมคคัลลานะอยู่ด้านซ้าย
ต่อจากนั้นเป็นอาสนะของภิกษุอื่นต่อเรื่อยไปทั้งสองด้าน

ครั้งนั้น พระมหากาลได้ส่งพระจุลกาลให้ล่วงหน้าไปก่อน
พอหญิงภรรยาเห็นพระจุลกาลมาก็ชวนกันสรวลเสเฮฮาและแกล้งปูอาสนะให้ผิด
เช่น อาสนะสำหรับพระเถระปูไว้ในที่พระใหม่ อาสนะสำหรับพระใหม่ปูไว้ในพระเถระ เป็นต้น
พอพระจุลกาลแนะนำว่าต้องทำอย่างนี้ๆ หญิงพวกนั้นแกล้งทำไม่ได้ยิน
รุมกันล้อมพระจุลกาล และกล่าวว่า
"ท่านควรจะมาปูอาสนะเสียเอง เที่ยวทำอะไรอยู่ ลาใครบวช มาที่นี่ทำไม"
ดังนี้เป็นต้น ช่วยกันฉุดสบงจีวรของพระจุลกาลออกแล้วให้นุ่งผ้าขาว
สรวมเทริดดอกไม้แล้วส่งไปนิมนต์พระศาสดา

พระจุลกาล ซึ่งบัดนี้เป็นนายจุลกาลดังเดิมแล้ว บวชได้ไม่นาน ต้องถูกจับสึก
จึงไม่สู้รังเกียจในอาการนั้น เพราะตนก็พอใจอยากสึกอยู่แล้ว

เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จ ภรรยาของพระมหากาลคิดกันว่า
เมื่อภรรยาของพระจุลกาลจับสามีของตนสึกได้
พวกตนก็ควรจะจับพระมหากาลสึกได้

คิดกันดังนี้แล้ว จึงอาราธนาพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ไปเสวยและฉันที่บ้านของตนในวันรุ่งขึ้น
บังเอิญพระมหากาลไม่ได้ล่วงหน้าไปเหมือนพระจุลกาล หญิงเหล่านั้นจึงไม่ได้โอกาส
แต่เมื่อพระศาสดาเสวยเสร็จแล้ว หญิงเหล่านั้นขอร้องให้พระศาสดาทรงอนุญาต
ให้พระมหากาลอยู่อนุโมทนา พระศาสดาจึงเสด็จกลับก่อน
ภิกษุอื่นๆ ก็ตามเสด็จด้วยเหลืออยู่เฉพาะมหากาลเพียงรูปเดียว

ในระหว่างทาง ภิกษุหลายรูปพูดกันว่า พระศาสดาทรงทราบหรือไม่ทรงทราบหนอ
จึงทรงกระทำเช่นนี้ เมื่อวานนี้ อันตรายแห่งบรรพชาได้มีแล้วแก่พระจุลกาล
บัดนี้พระศาสดารับสั่งให้พระมหากาลอยู่อนุโมทนา
หญิงเหล่านั้นจักทำอันตรายแก่บรรพชาของพระมหากาลได้แลหรือ?


พระศาสดาทรงสดับแล้ว ตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! เธออย่าเข้าใจอย่างนั้นเลย จุลกาลกับมหากาลนั้นผิดกัน
จุลกาลผลุดลุกผลุดนั่ง คิดแต่เรื่องสึก ใจของเธอเกาะเกี่ยวอยู่ในอารมณ์ว่างาม
เป็นเช่นกับต้นไม้ที่ทุรพล ตั้งอยู่ติดเหวและเขาขาด
ส่วนมหากาลบุตรของเราเห็นอารมณ์ต่างๆ ว่าไม่งามอยู่เนืองนิตย์
เป็นผู้อันอารมณ์ต่างๆ ให้หวั่นไหวโยกคลอนไม่ได้ เหมือนภูเขาศิลาแท่งทึบ"


ดังนี้แล้ว ตรัสย้ำพระพุทธภาษิตซึ่งได้กล่าวไว้แล้วแต่เบื้องต้น

เหตุการณ์ทางบ้านของพระมหากาล
หญิงอดีตภรรยาของท่าน ๘ คน ล้อมพระเถระแล้วกล่าวว่า
"ท่านลาใครบวช บัดนี้จะสึกหรือไม่สึกเล่า?"
ดังนี้แล้ว มีอาการว่าจะเปลื้องจีวรของท่านออกจากกาย

พระเถระกำหนดรูปอาการของหญิงเหล่านั้นแล้ว
ลุกจากอาสนะเหาะไปด้วยอำนาจฤทธิ์ ลงมาถวายบังคมพระศาสดา
ขณะที่พระพุทธองค์ตรัสภาษิตกับภิกษุทั้งหลายพอจบพอดี


:b44: :b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๑ สิงหาคม ๒๕๔๕

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นประดู่ลาย คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19547

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2013, 08:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นงิ้ว หรือชื่อในภาษาบาลีว่า "สิมพลี"
ต้นไม้ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ใน "เทวทูตสูตร"
ว่าด้วยการลงโทษสัตว์ในมหานรก



ผู้ควรและไม่ควรห่มผ้ากาสาวะ

พระพุทธภาษิต

อนิกฺกสาโว กาสาวํ โย วตฺถํ ปริทเหสฺสติ
อเปโต ทมสจฺเจน น โส กาสาวมรหติ
โย จ วนฺตกสาวสฺส สีเลสุ สุสมาหิโต
อุเปโต ทมสจฺเจน ส เว กาสาวมรหติ

คำแปล

ผู้ใดยังมีกิเลสดุจน้ำฝาด (คือมีกิเลสหนาเหนียวแน่น)
ปราศจากเสมหะ และสัจจะ ผู้นั้นไม่ควรห่มผ้ากาสาวะ
ส่วนผู้ใดคายกิเลสดังน้ำฝาดนั้นได้แล้ว มั่นคงในศีลทั้งหลาย
ประกอบด้วย ทมะ และ สัจจะ ผู้นั้นควรห่มผ้ากาสาวะ


:b41: :b41:

อธิบายความ

กิเลส มีกามราคะ ความกำหนัดในกามเป็นต้น
ท่านเรียกว่า กิเลสดุจน้ำฝาด

ทมะ นั้น หมายถึง การฝึกอินทรีย์ ๖ ให้เชื่อง
คือ การฝึกตา หู จมูก ลิ้น กายและใจ ให้เชื่อง
ไม่มีพิษสงในการนำความทุกข์มาให้
ไม่ต้องทำบาปเพราะตา หู จมูก ลิ้น กาย และใจนั้น

สำหรับภิกษุ พระศาสดาตรัสว่า ถ้าจะต้องทำบาปเพราะตาเป็นต้นแล้ว
ก็ให้ควักนัยน์ตาออกเสีย ในอินทรีย์อื่นๆ ก็เหมือนกัน


ฆราวาสก็มีความจำเป็นในการฝึกอินทรีย์เหมือนกัน
แม้ใน ฆราวาสธรรม กล่าวคือ ธรรมสำหรับฆราวาส
พระศาสดาก็ทรงบัญญัติ ทมะไว้ประการหนึ่งด้วย

ดังนี้ สัจจะ ความจริงใจต่อกัน ทมะ การข่มอินทรีย์ ๖
ขันติ อดทนต่อหนาวร้อน ความลำบาก ตรากตรำ
จาคะ การเสียสละ สงเคราะห์ครอบครัว และสังคม

สัจจะ นั้น มีนัยเป็นอเนก คือมีคำอธิบายมากแล้ว
แต่ว่าสัจจะนั้นมาในธรรมหมวดใด มีความหมายต่างกันออกไป

กล่าวโดยปาริเสสนัย คือยังมีนัยอื่นๆ อีก
เจาะเอาเฉพาะที่พระศาสดาตรัสไว้ในที่นี้แต่ความหมายเดียวก่อน
ในที่นี้ท่านหมายถึง วจีสัจจะ คือพูดจริง

บุคคลผู้ไม่มี ทมะ และ สัจจะ ยังมีกำหนัดกล้าในกามคุณ ๕ มีรูปเป็นต้น
ท่านว่าไม่ควรห่มผ้ากาสาวพัสตร์ ส่วนผู้ปราศจากความกำหนัดกล้า
แต่ประกอบด้วยทมะ และสัจจะ จึงควรห่มผ้ากาสาวะ


:b44: :b44:

เรื่องประกอบ เรื่องพระเทวทัต

สมัยหนึ่ง พระอัครสาวกทั้งสอง คือพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ
พาบริวารของตนไปยังนครราชคฤห์ ชาวนครราชคฤห์ชวนกันถวายอาคันตุกทาน
คราวหนึ่งพระสารีบุตรได้อนุโมทนา ใจความว่า

"ผู้ถวายทานด้วยตนเอง ไม่ชักชวนผู้อื่น
ย่อมได้เฉพาะโภคสมบัติ แต่ไม่ได้บริวารสมบัติ,
ผู้ชักชวนผู้อื่น แต่ไม่ทำด้วยตนเอง ย่อมได้บริวารสมบัติ แต่ไม่ได้โภคสมบัติ
ผู้ชักชวนผู้อื่นด้วย ทำด้วยตนเองด้วย ย่อมได้ทั้งบริวารสมบัติและโภคสมบัติ,
ส่วนผู้ไม่ทำเอง และไม่ชักชวนผู้อื่น ย่อมไม่ได้สมบัติทั้งสอง
เกิดในที่ใดก็เป็นคนอนาถา ไม่ได้อาหารสักว่าพออิ่มท้อง"


ชายคนหนึ่งฟังอนุโมทนากถาของพระสารีบุตรแล้ว
ต้องการให้สมบัติทั้งสองเกิดแก่ตน จึงนิมนต์พระเถระ
พร้อมทั้งบริวารเพื่อรับภัตตาหารในวันรุ่งขึ้น
พระทั้งหมดมีประมาณหนึ่งพันรูป

เมื่อนิมนต์พระแล้วก็เที่ยวชักชวนคนทั้งหลายให้ช่วยกันรับเป็นเจ้าภาพ
บางคนรับ ๑๐ รูป บางคน ๒๐ รูป บางคน ๑๐๐ รูป ตามกำลังศรัทธาและกำลังทรัพย์

อุบาสกผู้นั้นได้เจ้าภาพเพียงพอแล้วจึงประกาศว่า

"เราทั้งหลายจักประชุมกันหุงต้มในที่เดียวกัน
ขอท่านทั้งหลายจงรวบรวมของต่างๆ มาไว้ในที่เดียวกัน"

ครั้งนั้นมีกระฎุมพีคนหนึ่ง ได้ให้ผ้ากาสาวะอันมีราคาถึงแสน
ซึ่งนำมาจากแคว้นคันธาระ แก่บุรุษผู้เป็นบัณฑิตนั้น พร้อมกับสั่งว่า

"ถ้าของทำบุญ (ทานวัฏฏ์) ของท่านยังไม่เพียงพอ
ท่านพึงเอาผ้าผืนนี้เติมเข้าไป หรือขายผ้าผืนนี้แล้ว ซื้อของอย่างอื่นมาทำบุญ
แต่ถ้าของทำบุญของท่านมีพอแล้วก็ขอให้ถวายผ้านี้แก่ภิกษุรูปใดรูปหนึ่งที่ท่านต้องการ"


แต่ปรากฏว่า ของทำบุญทุกอย่างมีพร้อม สิ่งบกพร่องมิได้มี
อุบาสกจึงถามเพื่อนทั้งหลายผู้ร่วมทำบุญว่า จะถวายผ้านี้แก่ภิกษุรูปใด
บางพวกกล่าวว่า ควรถวายพระสารีบุตร บางพวกว่าพระสารีบุตร นานๆ ท่านมาครั้งหนึ่ง
ส่วนพระเทวทัตอยู่ประจำ เป็นสหายในงานมงคลและอวมงคลทั้งปวง ควรถวายแก่พระเทวทัต
เถียงกันพอสมควร แต่เสียงข้างพระเทวทัตมีมากกว่า จึงตกลงถวายแก่พระเทวทัต

พระเทวทัตตัดผ้านั้น เย็บและย้อมแล้ว นุ่มห่มเที่ยวไปในที่ต่างๆ
มนุษย์ทั้งหลายเห็นแล้วพูดกันว่า ผ้านั้นดีเกิน หาควรแก่พระเทวทัตไม่ แต่ควรแก่พระสารีบุตร
พระเทวทัตห่มผ้าอันไม่สมควรแก่ตน


ครั้งนั้น มีภิกษุรูปหนึ่งไปจากกรุงราชคฤห์
ไปเฝ้าพระศาสดาที่วัดเชตวันเมืองสาวัตถี ได้ทูลเล่าเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ
พระศาสดาตรัสว่า

พระเทวทัตใช้ผ้าอันไม่สมควรแก่ตนในบัดนี้เท่านั้นก็หามิได้
แม้ในกาลก่อน พระเทวทัตก็ใช้ผ้าไม่ควรแก่ตนมาแล้วเหมือนกัน


เมื่อภิกษุรูปนั้นทูลถาม ก็ทรงนำเรื่องอดีตมาเล่าว่า

ในอดีตกาล มีนายพรานช้างคนหนึ่งเป็นชาวเมืองพาราณสี
ล้มช้างแล้วนำงา เนื้อล่ำ และไส้ใหญ่ไปขายเลี้ยงชีพ
คราวนั้นมีช้างหลายพันหากินอยู่ในป่า ได้เห็น พระปัจเจกพุทธเจ้า
ก็คุกเข่าทั้งสองลง แสดงอาการเคารพแล้วเดินไป

วันหนึ่งนายพรานช้างเห็นกิริยานั้นแล้ว คิดว่า
"เราล้มช้างพวกนี้ยาก ก็มันเห็นอะไรหนอจึงแสดงอาการจบ"
เมื่อรู้ว่ามันเห็น ผ้ากาสายะ จึงปรารถนาได้ผ้ากาสายะมาคลุมกาย

เมื่อพระปัจเจกพุทธเจ้าลงสู่สระเพื่อสรงน้ำ เปลื้องผ้ากาสายะไว้ริมสระ
พรานช้างลักจีวรนั้น แล้วถือหอกนั่งคลุมโปงอยู่ริมทางที่ช้างผ่านไป-มา

หมู่ช้างเห็นเขาแล้ว จึงจบด้วยเข้าใจว่าเป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
พรานจึงพุ่งหอกมุ่งเอาตัวสุดท้าย แล้วนำงาและส่วนต่างๆ ไปขายเลี้ยงชีพ

พรานนั้นทำอยู่อย่างนี้เป็นเวลานาน
จนกระทั่งพระโพธิสัตว์มาถือปฏิสนธิในกำเนิดช้าง เป็นนายโขลง
พระโพธิสัตว์เห็นบริวารของตนร่อยหรอไปผิดปกติ จึงถามช้างอื่นๆ แต่ไม่มีใครทราบ

พระโพธิสัตว์คิดว่า

"ช้างทั้งหลายจะไปไหนก็ต้องบอกเราก่อน ไม่บอกแล้วไป ไม่เคยมี
คงจักต้องมีอันตรายบางอย่างเป็นแน่แท้"


นึกสงสัยบุรุษผู้นั่งคลุมผ้ากาสายะ วันหนึ่งพระโพธิสัตว์ให้ช้างบริวารเดินล่วงหน้าไปก่อน
ส่วนตนเดินสังเกตการณ์และระวังตัวมาข้างหลัง
เมื่อช้างทั้งหลายจบแล้วเดินผ่านไป พรานเห็นพระโพธิสัตว์เดินมาโดดเดี่ยว
จึงแหวกจีวรพุ่งหอกออกไป

พระโพธิสัตว์เดินระวังตัวอยู่แล้ว จึงถอยหลังไปหน่อยหนึ่งหลบหอก
แล้ววิ่งแปร๋นเข้าหานายพราน-พรานเห็นดังนั้น วิ่งไปหลบที่ต้นไม้
พระโพธิสัตว์เอางวงรวบพร้อมทั้งต้นไม้ หมายใจว่าจักฟาดลงบนแผ่นดิน
แต่พอเห็นผ้ากาสายะ ใจก็สลดลง ยับยั้งสติไว้ พลางคิดว่า

"ถ้าเราประทุษร้ายบุรุษนี้ ชื่อว่าทำลายความละอายในพระพุทธเจ้า
พระปัจเจกพุทธเจ้า และพระขีณาสพหลายพันองค์"

จึงถามพรานว่า ได้ฆ่าหญิงของท่านมากมายหรือ? พรานรับเป็นสัตย์

พระโพธิสัตว์จึงกล่าวว่า

"ทำไม ท่านจึงทำกรรมอันหยาบช้าเห็นปานนี้
ท่านห่มผ้าไม่สมควรแก่ตน ผ้าอย่างนี้สมควรแก่ท่านผู้ปราศจากราคะ
ท่านได้ทำกรรมหนักเสียแล้ว"


ดังนี้แล้ว จึงกล่าวคำอย่างเดียวกับที่ยกขึ้นกล่าวไว้แล้วแต่เบื้องต้น
แล้วโอวาทว่า ต่อไปภายหน้าอย่าได้ทำกรรมอย่างนี้อีก แล้วปล่อยเขาไป

พระศาสดานำเรื่องนี้มาเล่าแล้ว ทรงประชุมชาดกว่า

"พรานในครั้งนั้น คือเทวทัตในครั้งนี้ ช้างโพธิสัตว์คือเราตถาคต"

ดังนี้แล้ว ทรงย้ำอีกว่า

"มิใช่เพียงในกาลนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เทวทัตก็ใช้ผ้าไม่สมควรแก่ตนมาแล้ว"

ทรงปรารภเรื่องนี้เป็นเหตุ พระศาสดาจึงตรัสพระพุทธภาษิต
เรื่องผู้ควรและไม่ควรแก่การห่มผ้ากาสาวะ ดังได้ยกขึ้นกล่าวแล้วในเบื้องต้น


:b41: :b41:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๑ กันยายน ๒๕๔๕

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นงิ้ว คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19554

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 มี.ค. 2013, 08:59 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ทางให้พบสิ่งอันเป็นสาระ

พุทธภาษิต

อสาเร สารมติโน สาเร จ อสารทสฺสิโน
เต สารํ นาธิคจฺฉนฺติ มิจฺฉาสงฺกปฺปโคจรา

สารญฺจ สารโต ญตฺวา อสารญฺจ อสารโต
เต สารํ อธิคจฺฉนฺติ สมฺมาสงฺกปฺปโคจรา

คำแปล

บุคคลใดเห็นสิ่งอันไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ และเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ
บุคคลนั้นมีความดำริผิดประจำใจ ย่อมไม่อาจพบสาระได้
ส่วนบุคคลใดเห็นสิ่งอันเป็นสาระว่าเป็นสาระ สิ่งอันไม่เป็นสาระว่า ไม่เป็นสาระ
บุคคลนั้นมีความดำริถูกประจำใจ ย่อมสามารถพบสิ่งอันเป็นสาระ


:b44: :b44:

อธิบายความ

หากจะตั้งปัญหาถามก่อนว่า อะไรคือทางให้พบสาระ?
ก็ตอบโดยอาศัยพระพุทธภาษิตนี้เป็นหลักว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเห็นถูก
อธิบายว่า ความเห็นชอบย่อมนำไปสู่การกระทำชอบและพูดชอบ
ตลอดถึงความพยายามชอบ

มิจฉาทิฏฐิเป็นยอดโทษฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นยอดคุณฉันนั้น

บุคคลผู้มีสัมมาทิฏฐิประจำใจจึงเหมือนมีกุญแจไขเข้าไปในห้วงอันเต็มไปด้วยสาระ
ส่วนคนมีมิจฉาทิฏฐิประจำใจ หาเป็นเช่นนั้นไม่
มีแต่จะเดินเข้ารกเข้าพง นำชีวิตไปสู่ความล่มจมล้มเหลว

เปรียบด้วยเรือ สัมมาทิฏฐิก็เป็นหางเสือให้เรือแล่นไปในทางอันถูกต้อง
หลีกหินโสโครกและอันตรายต่างๆ

คนเราจะพบสาระหรือสาระก็แล้วแต่การเลือก
และความเห็นอันถูกหรือผิดของตน ถ้ารู้จักเลือก
และมีความเห็นถูกอยู่คู่ใจแล้ว ย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระจนได้

หากจะตั้งปัญหาถามว่า อะไรคือทางให้พบสาระ?
ก็ตอบโดยอาศัยพระพุทธภาษิตนี้เป็นหลักว่า สัมมาทิฏฐิความเห็นชอบเห็นถูก
อธิบายว่า ความเห็นชอบย่อมนำไปสู่การกระทำชอบและพูดชอบ
ตลอดถึงความพยายามชอบ

มิจฉาทิฏฐิเป็นยอดโทษฉันใด สัมมาทิฏฐิก็เป็นยอดคุณฉันนั้น
คนเราจะพบสาระหรือสาระก็แล้วแต่การเลือก และความเห็นอันถูกหรือผิดของตน
ถ้ารู้จักเลือก และมีความเห็นถูกอยู่คู่ใจแล้ว ย่อมประสบสิ่งอันเป็นสาระจนได้

:b45: :b45:

เรื่องประกอบ เรื่องอาจารย์สัญชัย

สัญชัย เป็นคณาจารย์คนหนึ่ง บรรดาคณาจารย์มากมายในกรุงราชคฤห์
สัญชัยพอใจเป็นนักพรตประเภทปริพพาชก
ดังนั้น บางคราวเราจะได้ยินคำว่า สัญชัยปริพพาชก
เขาเป็นอาจารย์ของพระสารีบุตรและโมคคัลลานะ
ในสมัยที่ท่านทั้งสองยังเป็นหนุ่มชื่อ อุปติสสะ และโกลิตะ อยู่


ขอกล่าวเรื่องของท่านทั้งสองเล็กน้อยก่อน เพื่อให้เรื่องเชื่อมกันสนิท

ในสมัยเป็นฆราวาส อุปติสสะ และโกลิตะ เป็นเพื่อนรักกันและมั่งคั่งด้วยกันทั้งสองคน
บิดาของอุปติสสะ เป็นผู้ใหญ่บ้านในอุปปติสสคาม
บิดาของโกลิตะ ก็เป็นผู้ใหญ่บ้านในโกลิตคาม
สองตระกูลนี้มีความสัมพันธ์เป็นสหายกันมา ๗ ชั่วอายุคนแล้ว

เมื่อเติบโต ทั้งสองได้ศึกษาศิลปศาสตร์อันเป็นทางเลี้ยงชีพ
และทางนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียงสำเร็จทุกประการ
เขาชอบไปดูมหรสพบนยอดเขา ย่อมหัวเราะในที่ควรหัวเราะ
เศร้าสลดในที่ควรเศร้าสลด และให้รางวัลแก่ผู้แสดงที่ตนชอบใจ

ต่อมาวันหนึ่ง อุปติสสะ มีอาการแปลกไป
คือนั่งเฉยเหมือนคิดอะไรอย่างหนึ่งอย่างลึกซึ้งว่า
คนเหล่านี้ ไม่ถึงร้อยปีก็คงจักต้องตายกันหมด
จะเพลิดเพลินอะไรกันอยู่ เราน่าจะแสวงหาโมกขธรรม

โกลิตะ เห็นด้วย จึงพากันออกแสวงหาโมกขธรรม (ธรรมอันเป็นทางให้พ้นทุกข์)
ทั้งสองตกลงกันแล้ว พร้อมด้วยบริวารคนละ ๕๐๐ ออกบวชในสำนักของอาจารย์สัญชัย

ตั้งแต่ทั้งสองสหายบวชแล้ว สัญชัยก็เป็นผู้เลิศด้วยลาภและบริวาร
ล่วงไปเพียง ๒-๓ วัน อุปติสสะและโกลิตะก็สามารถเรียนจบคำสอนของอาจารย์
เมื่อทราบจากอาจารย์สัญชัยว่า ไม่มีคำสอนอื่นใดอันยิ่งกว่านี้แล้ว

เขาทั้งสองคิดกันว่า การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักของอาจารย์สัญชัย ไม่มีประโยชน์อะไร
เราทั้งสองออกบวชเพื่อแสวงหาโมกขธรรม แต่ไม่สามารถพบได้ในสำนักของอาจารย์ผู้นี้
อันชมพูทวีปนี้ กว้างใหญ่นัก เราเที่ยวไปในคามนิคม ชนบทราชธานี
คงจักได้อาจารย์ผู้แสดงโมกขธรรมเป็นแน่แท้


ตั้งแต่นั้น ใครพูดว่าที่ใดมีสมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต,
ทั้งสองก็ไปทำการสากัจฉากับสมณพราหมณ์นั้น
ปัญหาที่เขาถาม, อาจารย์เหล่านั้นไม่อาจแก้ได้
เขาเที่ยวสอบหาอาจารย์ทั่วชมพูทวีป แต่ไม่ประสบ
จึงกลับมาสู่สำนักเดิม นัดหมายกันว่าใครได้บรรลุอมตธรรมก่อนขอจงบอกแก่กัน

สัญชัยปริพพาชก เป็นอาจารย์ของพระสารีบุตรและโมคคัลลานะ
ในสมัยที่ท่านทั้งสองยังเป็นหนุ่มชื่อ อุปติสสะ และโกลิตะ
พากันออกไปแสวงหาโมกขธรรม เมื่อทราบจากอาจารย์สัญชัยว่า
ไม่มีคำสอนอื่นใดอันยิ่งกว่านี้แล้ว
เขาทั้งสองจึงคิดว่า ไม่ควรอยู่ในสำนักนี้ต่อไป

ระยะนั้น พระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าเสด็จถึงกรุงราชคฤห์
ประทับอยู่ ณ เวฬุวัน อันพระราชาพิมพิสารทูลถวาย


พระสาวกรูปหนึ่ง ในจำนวนปัญจวัคคีย์ คือพระอัสสชิ
ออกบิณฑบาตในกรุงราชคฤห์
ในเช้าวันหนึ่ง อุปติสสะบริโภคอาหารเช้าแล้วก็ออกแต่เช้าเหมือนกัน
เขาได้เห็นพระอัสสชิแล้ว รำพึงว่า

"นักบวชอย่างนี้ เราไม่เคยพบเลย คงจักเป็นรูปหนึ่งรูปใดบรรดาผู้บรรลุแล้ว
ซึ่งพระอรหัตตผลในโลก ไฉนหนอเราจักเข้าไปสอบถามความสงสัยของเราได้"


เขากลับคิดว่า เวลานี้ยังไม่ควรก่อน เพราะพระกำลังบิณฑบาต
จึงติดตามไปข้างหลัง เขาเห็นพระเถระได้อาหารบิณฑบาตพอสมควรแล้ว
ไปสู่ที่แห่งหนึ่งเพื่อฉัน เขาเห็นพระเถระแสดงอาการว่าจะนั่ง
จึงได้จัดตั้งของปริพพาชกสำหรับตนถวาย
เมื่อพระเถระฉันเสร็จแล้วก็ได้รินน้ำในกุณโฑของตนถวายแล้วถามว่า

"อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผุดผ่อง
ท่านบวชอุทิศใคร? ใครเป็นศาสดาของท่าน? ท่านชอบใจธรรมของใคร?"


พระอัสสชิคิดว่า

"โดยปกติ ปริพพาชก ย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อพระพุทธศาสนา
เราจักแสดงความลึกซึ้งในพระศาสนาแก่ปริพพาชกนี้"


แต่ได้กล่าวถ่อมตนก่อนว่า

"ผู้มีอายุ! ข้าพเจ้ามาสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นานนัก ยังเป็นผู้ใหม่อยู่
ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้"


ปริพาชกเรียนว่า

"ข้าพเจ้าชื่ออุปติสสะ ขอพระผู้เป็นเจ้าจงกล่าวธรรมตามสามารถเถิด
จะน้อยหรือมากไม่สำคัญ การแทงตลอดธรรมนั้นเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น"


พระอัสสชิจึงแสดงหลักสำคัญแห่งพระพุทธศาสนาทั้งปวง
อันรวมเอา หลักอริยสัจและปฏิจจสมุปบาท ไว้ด้วย
หรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่า หลักแห่งเหตุผล ดังนี้

"สิ่งทั้งปวง ย่อมมีเหตุ เกิดแต่เหตุ พระตถาคตเจ้าตรัสบอกเหตุ และวิธีดับไว้ด้วย
พระมหาสมณะ (พระพุทธเจ้า) มีปกติตรัสอย่างนี้"


อุปติสสปริพพาชกฟังแล้วเพียง ๒ บทต้นเท่านั้น ก็ดำรงอยู่ในโสดาปัตติผล
เมื่อพระเถระกล่าวจบลง เขาได้เรียนท่านว่า

"ท่านไม่ต้องขยายธรรมเทศนาให้ยิ่งขึ้นไป
แต่ว่าข้าพเจ้าอยากทราบว่า พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ใด"

พระอัสสชิตอบว่า เวลานี้พระศาสดาประทับอยู่ ณ เวฬุวันกลันทกนิวาปะ

ปริพพาชกเรียนว่า

"ข้าแต่ท่านผู้เจริญ! ขอท่านได้โปรดล่วงหน้าไปก่อนเถิด
ข้าพเจ้ามีเพื่อนอยู่คนหนึ่งได้ทำสัญญากันไว้ว่า ผู้ใดได้บรรลุธรรมก่อน จงบอกกัน
ข้าพเจ้าจักไปบอกเพื่อนแล้วพากันไปสู่สำนักของพระศาสดา"


เขาหมอบลงแทบเท้าของพระเถระด้วยเบญจางคประดิษฐ์
กระทำประทักษิณ ๓ รอบ แล้วไปสู่อารามของปริพพาชกเพื่อบอกธรรมแก่โกลิตะผู้สหาย

โกลิตะเห็นสหายมา สังเกตสีหน้าและอาการแล้วรู้ว่า
อุปติสสะคงได้บรรลุธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งเป็นแน่แท้
จึงถามอุปติสสะบอกความทั้งปวงแล้ว โกลิตะก็ได้สำเร็จ โสดาปัตติผลเหมือนกัน

ทั้งสองชวนกันไปเฝ้าพระศาสดา แต่อุปติสสะ ระลึกถึงอาจารย์
จึงเข้าไปหาอาจารย์เล่าความทั้งปวงให้ฟัง แล้วชวนอาจารย์ไปเฝ้าพระศาสดาด้วย
แต่สัญชัยไม่ยอมไป อ้างว่าเป็นผู้ใหญ่ชั้นครูบาอาจารย์แล้ว ไม่ควรไปเป็นศิษย์ของใครอีก

เมื่อสองสหายคะยั้นคะยอหนักเข้า สัญชัยจึงถามว่า
ในโลกนี้มีคนโง่มาก หรือคนฉลาดมาก
สองสหายตอบว่า มีคนโง่มาก
สัญชัยจึงสรุปว่า
ขอให้พวกฉลาดๆ ไปหาพระสมณโคดมเถิด
ส่วนพวกโง่ๆ จงมาหาเราและอยู่ในสำนักของเรา


เมื่อเห็นว่าชักชวนอาจารย์ไม่สำเร็จแน่แล้ว สองสหายก็จากไป
ศิษย์ในสำนักของสัญชัยได้ตามไปด้วยเป็นจำนวนมาก
ประหนึ่งว่าอารามนั้นจะว่างลง สัญชัยเห็นดังนั้น เสียใจจนอาเจียนออกมาเป็นเลือด
ศิษย์ของสัญชัย ๒๕๐ คน คงจะสงสารอาจารย์จึงกลับเสียในระหว่างทาง
คงติดตามสองสหายไป ๒๕๐ คน

เมื่อเขาทั้งสองถึงเวฬุวันนั้น เป็นเวลาที่พระศาสดากำลังแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท
ทอดพระเนตรเห็นสองสหายกำลังมา จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! สองสหาย คืออุปติสสะ และโกลิตะกำลังมา
เขาทั้งสองจักเป็นอัครสาวกของเรา"


สองสหายถวายบังคมพระศาสดาแล้ว ทูลขอบรรพชาอุปสมบท
พระผู้มีพระภาคทรงอนุญาตการอุปสมบทด้วยเอหิภิกขุอุปสัมปทาแล้ว

พระศาสดาทรงขยายพระธรรมเทศนาพุ่งเอาอุปนิสัยของบริวารแห่งสหายทั้งสองเป็นเกณฑ์
เพื่อให้ได้สำเร็จมรรคผลก่อน เมื่อจบเทศนา บริวารทั้งหมด ๒๕๐ คนได้สำเร็จอรหัตตผล
ส่วนสองสหายยังไม่ได้บรรลุ เพราะเหตุไร?

ท่านว่าสาวกบารมีญาณเป็นของใหญ่ ต้องมีคุณาลังการมากมาย
เหมือนการเสด็จของพระราชาย่อมต้องมีการเตรียมการมากกว่าสามัญชน
อนึ่งคนมีปัญญามาก ย่อมต้องไตร่ตรองมาก มิได้ปลงใจเชื่อสิ่งใดโดยง่าย
แล้วใคร่ครวญให้เห็นเหตุ เห็นผลด้วยตนเองก่อนแล้วจึงเชื่อ
แต่คนพวกนี้พอสำเร็จอะไรแล้วก็ประดับด้วยคุณาลังการทุกประการ
อันเป็นบริวารธรรมแห่งสิ่งอันตนได้สำเร็จนั้น


หลังจากบวชแล้ว อุปติสสะได้นามใหม่ว่า "พระสารีบุตร-บุตรของสารีพราหมณี"
ส่วนโกลิตะได้นามใหม่ว่า "โมคคัลลานะ-เพราะเป็นบุตรของโมคคัลลีพราหมณี"

พระโมคคัลลานะบวชแล้ว ๗ วัน ไปทำความเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตะในแคว้นมคธนั่นเอง
โงกง่วงอยู่ พระศาสดาทรงแสดงธรรม บรรเทาความง่วงแล้ว
ทรงแสดงธาตุกัมมฐาน จนพระโมคคัลลานะได้บรรลุพระอรหัตตผล

ฝ่ายพระสารีบุตร บวชแล้วได้ครึ่งเดือน ไปอยู่ที่ถ้ำสุกรขาตากับพระศาสดา
ถ้ำนี้อยู่บนภูเขาคิชฌกูฏ เมื่อพระศาสดาทรงแสดงธรรม
ชื่อเวทนาปริคคหสูตร (สูตรว่าด้วยการกำหนดเวทนา) แก่ทีฆนขปริพพาชก หลานของตนอยู่
ได้ส่งญาณไปตามกระแสแห่งพระธรรมเทศนา ได้บรรลุพระอรหัตตผล
ประดับด้วยคุณาลังการทั้งปวงมีปฏิสัมภิทา ๔ และอภิญญา ๖ เป็นต้น


รูปภาพ
ถ้ำสุกรขาตาหรือถ้ำพระสารีบุตร (ภาพในปัจจุบัน) คลิกอ่านได้ที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=41350


ในเวลาบ่ายวันนั้นเอง พระศาสดาทรงประชุมพระสาวกที่พระเวฬุวัน
ประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ
แล้วทรงแสดงพระปาฏิโมกข์

ภิกษุทั้งหลายติเตียนพระศาสดาว่า ทรงประทานตำแหน่งอัครสาวกอย่างเห็นแก่หน้า
ไม่ยุติธรรม ตำแหน่งอัครสาวกควรตกแก่พระปัญจวัคคีย์รูปใดรูปหนึ่ง
มีพระอัญญาโกณฑัญญะ เป็นต้น หรือมิฉะนั้นก็พวกพระยสะ
พวกภัททวัคคีย์ ๓๐ หรือคณะชฏิล ๓ พี่น้อง มีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น
เพราะท่านเหล่านี้บวชก่อน แต่พระศาสดาละเลยภิกษุเหล่านั้นเสีย
ทรงประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่ผู้บวชใหม่เพียง ๑๕ วัน ไม่ควรเลย


พระศาสดาทรงทราบเรื่องนั้นแล้วตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! เราให้ตำแหน่งอัครสาวกแก่สารีบุตรโมคัลลานะ
เพราะอคติเห็นแก่หน้าก็หาไม่ เราให้ตามมโนปณิธานของเขาทั้งสอง
อนึ่ง โกณทัญญะและภิกษุเหล่าอื่นมิได้ตั้งความปรารถนาไว้เพื่อความเป็นอัครสาวก"


เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถามจึงตรัสเล่า ปุพพกรรมและปณิธานของภิกษุนั้น
มีของพระอัญญาโกณทัญญะ เป็นต้น จนถึงปณิธานของพระสารีบุตรที่ตั้งไว้สมัยเป็นสรทดาบส
ภิกษุทั้งหลายได้ฟังแล้วก็หายข้องใจ

เรื่องปุพพกรรมและปณิธานของท่านเหล่านี้มีพิสดารพอสมควรในอรรถกถาธรรมบท
ท่านผู้ปรารถนาโปรดหาอ่านจากที่นั้นเถิด ข้าพเจ้าไม่นำมากล่าวในที่นี้เพราะเกรงจะยาวเกินไป

รวมความว่า ทุกท่านได้ตำแหน่งอันเหมาะสมแก่บุญบารมี และมโนปณิธานของตน

เมื่อพระศาสดาตรัสจบแล้ว พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้ทูลเล่าเรื่องปัจจุบันของตน
ตั้งแต่การได้ความสังเวชสลดจิตในการไปดูมหรสพบนภูเขา จนถึงได้ฟังธรรมจากพระอัสสชิ
แล้วชวนอาจารย์สัญชัยมาเฝ้าพระศาสดา แต่อาจารย์สัญชัยหามาไม่
เพราะอ้างว่าเคยเป็นอาจารย์ของคนเป็นอันมากแล้ว ไม่สามารถเป็นศิษย์ของใครได้อีก


พระศาสดาทรงสดับเรื่องนั้นแล้ว จึงตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! สัญชัย ถือสิ่งอันไม่มีสาระว่า มีสาระ
ถือสิ่งอันมีสาระ ว่าไม่มีสาระ เพราะเป็นมิจฉาทิฏฐิ
ส่วนเธอทั้งสองรู้จักสิ่งที่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
สิ่งไม่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ เพราะเธอเป็นบัณฑิต
ละทิ้งสิ่งอันไม่เป็นสาระ ถือเอาเฉพาะสิ่งที่เป็นสาระ"


ดังนี้แล้ว ตรัสพระพุทธภาษิต ซึ่งยกขึ้นกล่าวไว้แล้วแต่เบื้องต้น นั่นแล

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 มี.ค. 2013, 09:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
"มณฑารพ" ดอกไม้ทิพย์แห่งสวรรค์
มีกล่าวไว้ในพระไตรปิฎกว่าเป็นดอกไม้ทิพย์บูชาพระศาสดา



ราคะกับจิต

พระพุทธภาษิต

ยถา อคารํ ทุจฺฉนฺนํ วุฏฐิ สมติวิชฺฌติ
เอวํ อภาวิตํ จิตฺตํ ราโค สมติวิชฺฌติ

ยถา อคารํ สุจฺฉนฺนํ วุฏฺฐิ น สมติวิชฺฌติ
เอวํ สุภาวิตํ จิตฺตํ ราโค น สมติวิชฺฌติ

คำแปล

เหมือนอย่างว่า เรือนที่มุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ฉันใด
จิตที่ยังมิได้อบรมให้ดี ก็ฉันนั้น ราคะย่อมเสียดแทงได้

ส่วนเรือนที่มุงดี ฝนย่อมรั่วรดไม่ได้ฉันใด
จิตที่อบรมดีแล้วก็ฉันนั้น ราคะย่อมเสียดแทงไม่ได้


:b48: :b48:

อธิบายความ

ราคะ ตามตัวอักษร แปลว่า "ย้อม"
มาจากรากศัพท์ว่า "รช" หมายความว่า
ย้อมจิตให้แปรรูปไป เสียปกติภาพของจิต

ทำให้เห็นวิปริตวิปลาสว่างาม แม้ในสิ่งอันไม่งาม
เหมือนสัตว์เลี้ยงที่เจ้าของสวมแว่นเขียวให้
ทำให้มองเห็นหญ้าแห้ง ฟางแห้งเป็นเขียวสดไปหมด
สิ่งที่ไม่งาม คือกายนี้ เพราะเต็มไปด้วยของไม่สะอาด

ในภาษาไทย นิยมแปลราคะว่า "ความกำหนัด"
กล่าวคือ ความใคร่ในรูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ

ราคะ หรือความกำหนัดในกาม มีอิทธิพลต่อชีวิตคนมาก
นักจิตวิทยาบางท่าน เช่น ซิกซ์มันด์ ฟรอยด์
ได้มีความเห็นถึงกับว่า พฤติกรรมทั้งปวงของมนุษย์
มีความกำหนัดในกามเป็นแรงกระตุ้น

คนทั่วไปก็มองเห็นว่า ราคะมีแรงผลักดันรุนแรงเพียงใด
เป็นสิ่งเสียดแทงจิตใจให้รุ่มร้อน และกลัดกลุ้มเพียงใด
คนส่วนมากไม่สามารถเอาชนะได้
จึงต้องระหกระเหินและบอบช้ำด้วยความทุกข์นานาประการ

พระพุทธเจ้าตรัสว่า สังกัปปราคะ คือความกำหนัด
เพราะ การดำริถึง เป็นกามของบุคคล (สงฺกปฺปราโค ปุริสสฺส กาโม)
กามเกิดจากความดำริตริตรึก
(สงฺกปฺปา กาม ชายสิ ดูก่อนเจ้ากาม เจ้าเกิดจากความดำรินี่เอง)


ราคะ หรือกาม หรือกามราคะนั้น
มีอิทธิพลเหนือจิตใจของคนเป็นอันมาก และขนบธรรมเนียมของโลก
แต่บางคนควบคุมไม่ได้ในบางกาละ เทศะ ได้ประกอบกรรมอันน่าบัดสี
เพราะกามราคะนั้น ต้องติดคุกบ้าง เสียทรัพย์สินบ้าง
เสียชื่อเสียงบ้าง มันได้ทำให้คนเสียคนมามากแล้ว ตกนรกก็มากแล้ว

อย่างไรก็ตาม ราคะ จะทำพิษ ทำภัย หรือมีอำนาจครอบงำ
ก็เฉพาะผู้ที่ยังไม่ได้อบรมจิตด้วยดี
ส่วนผู้ที่อบรมจิตดีแล้ว ราคะย่อมไม่สามารถเสียดแทงได้
เหมือนคนอยู่ในเรือนที่มุงบังดี ฝนตกเท่าไรก็ไม่เปียก
ส่วนคนที่อบรมจิตไม่ดีหรือไม่ได้รับอบรมมา
เมื่อประจวบกับอารมณ์อันน่าใคร่ครั้งใด ราคะก็เสียดแทงใจครั้งนั้น
เหมือนเรือนที่มุงบังไม่ดี ฝนตกทีไร คนอาศัยก็เปียกทีนั้น
การอบรมจิตจึงเป็นทางลดราคะให้น้อยลง จนสิ้นไปในที่สุด


ในอังคุตตรนิกาย ทุกนิบาตพระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๗๗
ท่านกล่าวว่า เจริญสมถะเพื่ออะไร?
ตอบว่า เพื่ออบรมจิต
ถามว่า อบรมจิตเพื่ออะไร?
ตอบว่า เพื่อให้ละราคะได้

จึงได้ความว่า วิธีอบรมจิตก็คืออบรมด้วยสมถะ
ได้แก่ การทำจิตให้สงบเป็นขั้นๆ ท่านเรียกว่าฌาน
ตั้งแต่ฌานที่หนึ่ง (ปฐมฌาน) จนถึงฌานที่ ๘ เป็นภาวะที่จิตสงบประณีตขึ้นไปตามลำดับ
เมื่อได้ฌานตั้งแต่ปฐมฌานเป็นต้นไป กามฉันทะคือความพอใจในกาม
ก็สงบราบคาบลงชั่วคราว ท่านเปรียบเหมือนศิลาทับหญ้า
แต่กามราคะจะถูกถอนรากถอนเชื้อก็โดยอนาคามิมรรค อันเป็นมรรคชั้นที่ ๓


:b44: :b44:

เรื่องประกอบ เรื่องพระนันทะ

พระนันทะมีความเกี่ยวข้องเป็นพระญาติของพระพุทธเจ้า
เมื่อนันทกุมารเข้าพิธีมงคลสมรสกับนางชนบทกัลยาณีนั้น
ได้ทูลเชิญพระพุทธเจ้าเสด็จมาเสวยในงานด้วย
เมื่อเสวยเสร็จแล้วจะเสด็จกลับนิโครธาราม
พระศาสดาทรงประทานบาตรไว้ในพระหัตถ์ของนันทกุมาร
และไม่ทรงรับคืนนันทกุมารต้องถือตามเสด็จจนกระทั่งถึงพระอาราม

ในระหว่างที่กำลังตามเสด็จนั้น เพื่อนของเจ้าสาวได้บอกเจ้าสาวว่า
พระศาสดาสิทธัตถะ ได้พานันทกุมารไปเสียแล้ว
นางได้ยินคำนั้นเสียใจนัก วิ่งออกมาขอร้องนันทกุมารว่า ขอให้รีบกลับ

ท่านกล่าวว่า คำขอร้องของนางได้เป็นประหนึ่งตกลงไปขวางอยู่ในหทัยของนันทกุมาร

กุมารนันทะ เกรงพระทัยพระศาสดา
แม้ไม่สมัครใจอุ้มบาตรตามเสด็จ แต่ก็ไม่กล้าทูลขอให้รับคืน
จึงต้องอุ้มตามไปเรื่อยๆ เมื่อถึงนิโครธาราม
พระศาสดาตรัสถามว่า บวชได้หรือไม่?
แม้พระทัยจะไม่สมัคร แต่ไม่กล้าทูลปฏิเสธ จึงทูลรับว่า "บวชก็ได้"

พระศาสดาจึงรับสั่งให้ภิกษุทั้งหลาย จัดการบวชให้นันทกุมาร
แต่เมื่อบวชแล้วก็ไม่เป็นอันบำเพ็ญสมณธรรม สมณกิจอะไร
เพราะใจของท่านมัวพระวงถึงแต่เจ้าสาวชนบท กัลยาณี
เพราะคำพูดและกิริยาอาการของนางเป็นประหนึ่งตกไปขวางอยู่ในหทัยดังกล่าวมาแล้ว

อนึ่งคู่แต่งงานย่อมหวังความสุขในการครองคู่ หวังการชื่นชมซึ่งกันและกัน
เมื่อถูกพราก ทั้งๆ ที่ยังมิได้ชื่นชมเช่นนี้ ย่อมมีความสะเทือนใจมาก
แต่พระศาสดาทรงหวังประโยชน์อันกว้างไกลลึกซึ้งแก่พระนันทะ จึงทรงยอมกระทำ

ตำนานกล่าวว่า พระนันทะบวช เมื่อพระศาสดามาถึงกบิลพัสดุ์ได้ ๓ วัน

พอวันที่ ๗ นับแต่วันพระศาสดาเสด็จถึง พระมารดาของพระราหุล
คือพระนางยโสธราก็ทรงตกแต่งราหุลกุมาร
แล้วส่งไปขอสมบัติอันเป็นมรดกที่พระกุมารจะพึงได้
ในขณะที่พระผู้มีพระภาคเสด็จมาเสวยในพระราชวัง

พระกุมารเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วมองดูพระศาสดาอยู่
ได้ความเสน่หาในพระบิดา (เป็นไปตามสัญชาตญาณ)
ร่าเริงยินดีอยู่แล้วทูลพระศาสดาว่า
"ข้าแต่พระสมณะ ร่มเงาของเสด็จพ่อสบายเหลือเกิน"
และทูลคำอื่นๆ อีกมากตามประสาเด็ก

พระศาสดาไม่ตรัสอะไร เสร็จภัตตกิจแล้ว
ทรงอนุโมทนาแล้วเสด็จลุกจากอาสนะ เสด็จกลับ

ราหุลกุมาร ตามเสด็จมาข้างหลัง ทูลขอสมบัติว่า
"ข้าแต่พระสมณะ ขอได้โปรดประทานมรดกแก่ข้าพระองค์ด้วยเถิด"

พระศาสดามิได้ตรัสอะไร และไม่ได้ตรัสให้พระกุมารกลับ
คนอื่นๆ ก็ไม่กล้าเชิญพระกุมารให้เสด็จกลับเหมือนกัน
ราหุลกุมารจึงตามเสด็จจนถึงนิโครธาราม

พระศาสดารับสั่งให้พระสารีบุตรบวชราหุลกุมารเป็นสามเณร
ทั้งนี้เพราะทรงต้องการให้ อริยสมบัติ แทนโภคสมบัติ

พระเจ้าสุทโธทนะ พุทธบิดา ทรงสดับข่าวเรื่องพระราหุลบวช ทรงโทมนัสอย่างยิ่ง
เพราะทรงหวังให้พระราหุลครองราชย์ต่อจากพระองค์

เมื่อไม่สามารถกลั้นความโศก และความทุกข์นั้นได้
จึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดา ทูลขอพรว่า

"พระเจ้าข้า หม่อมฉันขอประทานพระวโรกาส
พระองค์และพระภิกษุสาวกของพระองค์ ไม่ควรให้บุคคลที่มารดาบิดายังไม่อนุญาต บวช"


พระศาสดาทรงใคร่ครวญแล้ว ทรงประทานพรนั้นแด่พระเจ้าสุทโธทนะ
และทรงประกาศให้สงฆ์ทราบว่า ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
กุลบุตรผู้จะบวชจะต้องได้รับอนุญาตจากมารดาบิดา หรือผู้เกี่ยวข้องก่อนจึงให้บวชได้

วันรุ่งขึ้น พระศาสดาเสวยพระกระยาหารเช้าที่พระราชนิเวศน์เสร็จแล้ว
พระเจ้าสุทโธทนะทูลเล่าว่า

"พระองค์ผู้เจริญ! เมื่อพระองค์บำเพ็ญทุกกรกิริยาอยู่นั้น
มีผู้มาบอกข้าพระองค์ว่า พระองค์ทิวงคตเสียแล้ว แต่หม่อมฉันไม่เชื่อ
หม่อมฉันคัดค้านว่า บุตรของหม่อมฉันจะไม่ทิวงคต หากยังมิได้บรรลุโพธิญาณ"

พระศาสดาตรัสว่า "แม้ในชาติก่อน พระองค์ก็ไม่ทรงเชื่อมาแล้วเหมือนกัน
คือในสมัยที่อาตมภาพเป็นธรรมปาลกุมาร ไปศึกษาศิลปศาสตร์ที่เมืองตักกศิลา
อาจารย์ทิศาปาโมกข์ใคร่ทดลอง จึงนำกระดูกแพะ
ห่อผ้ามาให้พระองค์ดูว่า บุตรตายเสียแล้ว นี่คือกระดูก
แต่พระองค์กลับทรงพระสรวล ไม่ทรงเชื่อ และบอกอาจารย์ทิศาปาโมกข์ว่า
ตระกูลของเราประพฤติธรรม ไม่มีใครตายตั้งแต่ยังหนุ่มสาว
อาจารย์ทิศาปาโมกข์จึงยอมบอกความจริง
ธรรมปาลกุมารครั้งนั้นคืออาตมภาพ บิดาของธรรมปาล คือพระองค์"

พระศาสดาตรัสธรรมปาลชาดกโดยพิสดาร
แล้วยังพระธรรมเทศนาให้วิจิตรด้วยคุณาลังการทั้งปวง เพราะทรงเป็นธรรมราชา
และทรงประกอบด้วยคุณสมบัติ คือ เทศนาโกศล
เมื่อจบเทศนา พระเจ้าสุทโธทนะได้บรรลุอนาคามิผล

หลังจากพระนันทะบวชที่กรุงกบิลพัสดุ์
พระศาสดาเสด็จกลับไปยังกรุงราชคฤห์ ทรงสำราญพระอิริยาบถอยู่ระยะหนึ่ง
แล้วรับอาราธนาของอนาถปิณทิกเศรษฐีเสด็จไปยังกรุงสาวัตถี ประทับอยู่ ณ เชตวนาราม

ในการเสด็จครั้งนี้ พระนันทะตามเสด็จด้วย ขณะเมื่ออยู่เชตวนารามนั่นเอง
พระนันทะกระสันอยากสึก จึงบอกแก่ภิกษุทั้งหลายว่า
ท่านไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ ไม่สามารถสืบพรหมจรรย์ต่อไปได้ จักขอคืนสิกขาลาสึก


พระศาสดาทรงทราบเรื่องแล้วนี้ รับสั่งให้พระนันทะเข้าเฝ้า
ตรัสถามเรื่องนั้น พระนันทะทูลรับว่าจริง
ตรัสถามว่า เพราะเหตุไรจึงอยากสึก พระนันทะทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์! เมื่อข้าพระองค์ออกจากเรือนบวชนั้น
นางชนบทกัลยาณี คู่แต่งงานของข้าพระองค์ มีอาการโศกอย่างลึกซึ้ง
ได้ขอร้องว่า ข้าแต่พระลูกเจ้า ขอจงรีบกลับนะ
ข้าพระองค์หวนระลึกถึงคำนั้นอยู่ คำนั้นประหนึ่งลงไปขวางอยู่ในหทัยของข้าพระองค์ฯ
จึงไม่ยินดีประพฤติพรหมจรรย์ใคร่สึก พระเจ้าข้า"


ตำนานเล่าว่า เมื่อพระผู้มีพระภาคทรงสดับคำนั้นแล้ว
ทรงจับแขนพระนันทะนำไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ด้วยกำลังฤทธิ์
ในระหว่างทางได้พบนางลิงลุ่นตัวหนึ่งนั่งเจ่าอยู่บนปลายตอไม้ที่ไฟไหม้
นางลิงนั้น หู จมูก และหางขาด พระศาสดาทรงให้พระนันทะพบกับนางเทพอัปสร ๕๐๐
ผู้มาสู่ที่บำรุงของท้าวสักกะเทวราช

"นันทะ เธอเห็นอย่างไร นางชนบทกัลยาณี กับนางเทพอัปสรเหล่านี้ใครสวยกว่า"

"เทียบกันไม่ได้เลย พระเจ้าข้า" พระนันทะตอบ
"นางเทพอัปสรสวยกว่ามาก ถ้าจะเทียบแล้ว
นางชนบทกัลยาณีเป็นเสมือนนางลิงลุ่นที่พบในระหว่าง
อา! เทพอัปสรเหล่านี้สวยจริงๆ พระเจ้าข้า"

"เธออยากได้ไหม-นันทะ?" พระพุทธองค์ทรงถาม
"ข้าพระองค์ ต้องการ พระเจ้าข้า" พระนันทะตอบ

"ถ้าอย่างนั้น เธอจงประพฤติพรหมจรรย์
จงยินดีบำเพ็ญสมณธรรม เราจะเป็นประกันให้เธอได้ นางเทพอัปสรเหล่านี้"

"ข้าแต่พระองค์! หากพระองค์ทรงเป็นประกัน
ข้าพระองค์ก็จะยินดีประพฤติพรหมจรรย์ต่อไป เพื่อให้ได้นางเทพอัปสรเหล่านี้"

ถ้าท่านผู้อ่านเชื่อตามนี้ก็แล้วไป แต่บางท่านให้ข้อสันนิษฐานว่า
น่าจะเป็นว่าพระศาสดาทรงพาพระนันทะไปชมสตรีงามในวังของพระเจ้าปเสนทิโกศล
หรือในวังเจ้านายแห่งกรุงสาวัตถีนั่นเอง ซึ่งนิยมเลี้ยงสตรีงามไว้บำรุงบำเรอ

ถ้าหากเป็นจริงอย่างข้อสันนิษฐานนั้น
ความงามของเจ้าหญิงแห่งสาวัตถีจะสูงกว่าความงามแห่งเจ้าหญิงศากยะ
ถึงขนาดอย่างที่พระนันทะพูดเชียวหรือ ดูห่างไกลกันเหลือเกิน
อนึ่งพระนันทะรักเจ้าหญิงแห่งศากยะอยู่ ความรักย่อมช่วยเติมความงามลงไปช่วยอยู่แล้ว

ข้าพเจ้ายังสันนิษฐานไม่ออกว่า เรื่องจริงควรจะเป็นอย่างไร
จึงคงไว้ตามตำนานที่ท่านกล่าวไว้
พูดถึงพุทธวิสัยนั้นเป็นไปได้มากมายอย่างที่สามัญชนคาดไม่ถึง

หลังจากที่พระพุทธองค์ทรงจับแขนพระนันทะ
นำไปสู่สวรรค์ชั้นดาวดึงส์ ด้วยกำลังฤทธิ์ เพื่อให้ได้เห็นนางเทพอัปสร
เป็นกุศโลบายให้ตั้งใจบำเพ็ญเพียรไม่คิดสึก

เมื่อภิกษุทั้งหลายทราบว่าพระนันทะประพฤติพรหมจรรย์
เพื่อให้ได้นางเทพอัปสรก็พากันพูดต่อๆ กันไป ใครพบท่านก็ถาม บ้างก็ยิ้มเยาะ
และมีกิริยาอาการอันส่อให้เห็นว่ามิได้นิยมชมชอบในพระนันทะแต่ประการใด
บ้างก็ว่า พระนันทะเป็นพระรับจ้าง บ้างก็ว่า พระนันทะเป็นผู้อันพระผู้มีพระภาคทรงเป็นประกันไว้
พระนันทะประพฤติพรหมจรรย์เพียงเพื่อให้ได้นางเทพอัปสร หาใช่เพื่อความหลุดพ้นอันแท้จริงไม่

ด้วยประการฉะนี้ พระนันทะ จึงละอายอยู่ ขวยเขินอยู่
รังเกียจอยู่ซึ่งคำพูดทำนองนั้นของภิกษุทั้งหลาย
จึงปลีกตนออกจากหมู่อยู่แต่ผู้เดียว เป็นผู้ไม่ประมาท
มีความเพียร มิได้อาลัยในชีวิต ไม่นานนัก พระนันทะก็สามารถบรรลุอรหัตตผล


ในคืนที่พระนันทะบรรลุอรหัตตผลนั่นเอง
เทวดาองค์หนึ่งมายังวัดเชตวัน กราบทูลความที่พระนันทะได้บรรลุอรหัตตผลแล้วแด่พระศาสดา
แม้พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ทรงรู้ความนั้นด้วยญาณของพระองค์แล้วเหมือนกัน

รุ่งอรุณพระนันทะเข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า
"ข้าแต่พระองค์! ข้อที่พระองค์ทรงเป็นประกันข้าพระองค์เพื่อให้ได้นางอัปสร ๕๐๐ นั้น
บัดนี้พระองค์ได้หลุดพ้นจากภาวะผู้ประกันนั้นแล้ว"


พระศาสดาตรัสว่า

"นันทะเรารู้แล้ว และเมื่อคืนนี้เทวดาองค์หนึ่งก็มาบอกเราว่า
เธอได้หลุดพ้นจากอาสวะทั้งปวงแล้ว
นันทะ เมื่อจิตของเธอพ้นแล้วเพราะความไม่ยึดมั่น เราก็พ้นจากภาวะผู้รับรอง"


พระศาสดาทรงอุทานด้วยความชื่นชมยินดีว่า

"เปือกตมคือกาม หนามคือกาม อันผู้ใดย่ำยีได้แล้ว ข้ามได้แล้ว
ผู้นั้นถึงความสิ้นโมหะ ย่อมไม่หวั่นไหวในสุขและทุกข์"


วันหนึ่ง ภิกษุถามพระนันทะว่ายังอยากสึกอยู่หรือไม่?
พระนันทะตอบว่า ความอาลัยในเพศคฤหัสถ์มิได้มีอีกแล้ว

ภิกษุทั้งหลายเข้าใจว่าพระนันทะพูดไม่จริง อวดอ้างอรหัตตผล
จึงพากันไปทูลพระศาสดา พระผู้มีพระภาคตรัสว่า

"จริงของนันทะเมื่อก่อนนี้ จิตของนันทะเหมือนเรือนที่มุงไม่ดี ฝนคือราคะรั่วรดได้
แต่บัดนี้ จิตของนันทะเหมือนเรือนที่มุงดีแล้ว นันทะบรรลุอรหัตตผลแล้ว"


ดังนี้แล้วตรัสพระพุทธภาษิตที่ยกขึ้นกล่าวแล้วแต่เบื้องต้นว่า

"เหมือนอย่างว่า เรือนที่มุงไม่ดี ฝนย่อมรั่วรดได้ฉันใด" เป็นต้น

ต่อมาภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภาว่า
"พระพุทธเจ้า ทรงเป็นอัจฉริยบุคคล
ที่สามารถหาอุบายให้พระนันทะบรรลุพระอรหัตตผลได้"


พระศาสดาเสด็จมาตรัสถาม ทราบความแล้วตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! ทรงเป็นอัจฉริยบุคคล
ที่สามารถหาอุบายให้พระนันทะบรรลุพระอรหัตตผลได้"

พระศาสดาเสด็จมาตรัสถาม ทราบความแล้วตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! ไม่เพียงแต่ในบัดนี้เท่านั้น
แม้ในการก่อนนันทะก็ถูกกล่อด้วยมาตุคามแล้วเหมือนกัน"
เมื่ออดีตชาติที่เคยเกิดเป็นลา แต่มาบัดนี้
ก็สามารถหลุดพ้นจากบ่วงแห่งตัณหาราคะได้ในที่สุด


:b47: :b47:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๖ ตุลาคม ๒๕๔๕

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของดอกมณฑารพ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19556

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 18 มี.ค. 2013, 15:13 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นไผ่ใหญ่ หรือต้นมหาเวฬุ พันธุ์ไม้ซึ่งพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๕
พระนามว่า พระสุชาตพุทธเจ้า ทรงประทับนั่งและตรัสรู้



ผู้ต้องเศร้าโศกในโลกทั้งสอง

พระพุทธภาษิต

อิธ โสจติ เปจฺจ โสจติ ปาปการี อุภยตฺถ โสจติ
โส โสจติ โส วิหญฺญติ ทิสฺวา กมฺมกิลิฏฺจมตฺตโน

คำแปล

ผู้ทำบาป ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง คืออยู่ในโลกนี้ ก็เศร้าโศก
ละโลกนี้ไปแล้วก็เศร้าโศก เขาย่อมเศร้าโศกเดือดร้อน
เพราะเห็นกรรมอันเศร้าหมองของตน


:b40: :b40:

อธิบายความ

บางคนเชื่อกรรม คือเชื่อว่า ทำดีย่อมได้รับผลดี
ทำชั่วได้รับผลชั่ว แต่เฉพาะในโลกนี้เท่านั้น เขาไม่เชื่อโลกหน้า
ชีวิตและกรรมย่อมสิ้นสุดลงเมื่อตาย

บางคนเชื่อเพียงครึ่งเดียวว่าทำดีได้ดี
คือหมายความว่า บางทีทำดีก็ไม่ได้ดี
ทำชั่ว บางทีก็ไม่ได้ผลชั่ว บางทีก็ได้ แล้วแต่ใครเห็นหรือไม่เห็น

บางคนก็เชื่อกลับกันเสีย คือเชื่อว่า ทำชั่วได้ดีก็มี ทำดีได้ชั่วก็มาก
เรื่องทำนองนี้เป็นเรื่องใหญ่อย่างหนึ่งในพุทธศาสนา

ตราบใดที่เขายังไม่เชื่อชาติก่อน ชาติหน้า
ความลังเลสงสัยในเรื่องกรรมก็คงยังวนเวียนอยู่ในจิตใจตราบนั้น
เพราะเขาไม่อาจมองเห็นผลแห่งกรรมโดยตลอด
เหมือนคนไปอยู่ที่ใดที่หนึ่งเพียงวันเดียว
จะรู้เรื่องราวของที่นั้นให้ตลอดปลอดโปร่งยากอยู่


ชีวิตเพียงชาติเดียว สั้นเกินไปที่จะพิสูจน์กรรม และผลของกรรม
เพราะกรรมมีการยอดไปให้ผลในชาติหน้าอยู่เสมอ
การจะเชื่อเรื่องกรรมอย่างแน่นแฟ้นต้องเชื่อเรื่องการเกิดใหม่ หรือชาติหน้าด้วย
เมื่อวัวผูกติดอยู่กับเกวียนล้อ เกวียนและโคจะต้องไปด้วยกันอยู่เสมอฉันใด
กรรมและผลของกรรมก็ฉันนั้น จะต้องติดตามให้ผลจนกว่าจะหมดแรงของมัน


บาปให้ผลเป็นทุกข์ บุญให้ผลเป็นสุข
คนทำบาปไว้ ย่อมเป็นทุกข์ใจทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เมื่อถึงคราวกรรมชั่วจะให้ผล ใครจะห้ามก็ไม่ได้
พระศาสดาจึงทรงเตือนว่า
"ถ้ากลัวต่อทุกข์ก็อย่าทำบาปทั้งในที่ลับและที่แจ้ง"
และว่า "บาปจะไม่ให้ผลนั้นเป็นไม่มี"

การเชื่อเรื่องบาป เรื่องบุญ เรื่องโลกนี้ โลกหน้า มีแต่กำไรไม่ขาดทุน
และทำให้เป็นผู้มั่นคงในความดี ไม่ท้อถอยง่าย
การไม่เชื่อมีแต่ขาดทุน เพราะอาจถลำตัวลงไปในกรรมชั่วหนักๆ ได้
กว่าจะรู้ก็สายเสียแล้ว แก้ไขอะไรไม่ได้เสียแล้ว
เกิดชาติหน้ามีจริง นรกสวรรค์มีจริงขึ้นมาก็เดือดร้อนอย่างนายจุนทสูกริก เป็นต้น


:b39: :b39:

เรื่องประกอบ เรื่องนายจุนทสูกริก

นายจุนทะ ที่มีชื่อต่อท้ายว่า สูกริก นั้น
เพราะเป็นคนฆ่าหมูเลี้ยงชีพเป็นประจำ เขาเป็นชาวราชคฤห์
ประกอบการฆ่าหมูอยู่ถึง ๕๕ ปี เมื่อฆ่าแล้วก็กินบ้าง ขายบ้าง

ในสมัยข้าวแพง เขาเอาข้าวบรรทุกเกวียนไปตามชนบทเอาไปแลกลูกหมู
บรรทุกลูกหมูกลับมาเต็มเกวียน ล้อมคอกเข้า
ข้างหลังคอกปลูกผักไว้ให้ลูกหมูกิน
หมูพวกนั้นกินผักบ้าง อุจจาระบ้าง อ้วนท้วนสมบูรณ์

เมื่อเขาประสงค์จะฆ่าตัวใด ก็จับตัวนั้นมัดให้แน่นกับที่
ฆ่าแล้วทุบด้วยค้อน ๔ เหลี่ยม เพื่อให้เนื้อพองหนาขึ้น (ให้บวม)
แล้วง้างปาก สอดไม้เข้าไปในช่องฟัน
กรอกน้ำร้อนที่เดือดพล่านเข้าไปในปากด้วยทะนานโลหะ

น้ำร้อนเข้าไปเดือดพล่านอยู่ในท้อง ขับอุจจาระออกมาทางทวารหนัก
เขาคอยสังเกตน้ำ ถ้าน้ำยังขุ่นอยู่ก็แสดงว่าอุจจาระยังไม่หมด
ถ้าอุจจาระในลำไส้หมดแล้ว น้ำที่ออกมาจะใส
ทีนั้นเขาจะราดน้ำร้อนลงบนหลังหนังดำจะลอกออก แล้วเอาไฟลน
เอาดาบคมตัดศีรษะ เอาภาชนะรองเลือด
เอาเลือดคลุกเคล้าเข้ากับเนื้อแล้วปิ้ง นั่งรับประทานกับบุตรภรรยา

เขาเลี้ยงชีพโดยทำนองนี้อยู่ถึง ๕๕ ปี

เมื่อพระศาสดาประทับอยู่ ณ เวฬุวัน อันไม่ไกลจากบ้านของนายจุนทสูกริกนัก
เขาไม่เคยถวายอะไรพระศาสดาเลยแม้แต่น้อย บุญอย่างอื่นก็ไม่ได้ทำ
ดอกไม้เพียงกำมือหนึ่งก็ไม่เคยบูชา


รูปภาพ
"วัดเวฬุวันมหาวิหาร" แปลว่า วัดที่เป็นสวนป่าไผ่
เป็นวัดแห่งแรกในพระพุทธศาสนาแห่งสมเด็จพระสมณโคดม
มีความสำคัญ ๒ ประการ คือ เป็นวัดแห่งแรกในบวรพระพุทธศาสนา
และเป็นสถานที่ที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงโอวาทปาติโมกข์แก่ภิกษุ ๑๒๕๐ รูป
แล้วส่งพระภิกษุเหล่านั้นออกไปประกาศพระศาสนา เป็นที่มาของวันมาฆบูชา


อ่านเรื่องราวของ "เวฬุวันมหาวิหาร" คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=44846


ครั้งนั้น โรคชนิดหนึ่งเกิดขึ้นในกายของเขา
ความเร่าร้อนจากอเวจีมหานรกปรากฏแก่เขาทั้งเป็นทีเดียว

ท่านกล่าวว่า ไฟอเวจีนั้นร้อนนัก
สามารถทำลายนัยน์ตาของผู้ยืนห่างถึง ๑๐๐ โยชน์ได้
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ว่า

"ความเร่าร้อนในอเวจี แผ่ไป ๑๐๐ โยชน์โดยรอบและมีอยู่ตลอดกาล"

ความร้อนใจอเวจีหานรกนั้น แรงกว่าไฟธรรมดามากนัก
สมจริง ดังที่พระนาคเสนเถระกล่าวอุปมาไว้กับพระเจ้ามิลินท์ว่า

"มหาบพิตร! แม้หินประมาณเท่าเรือนยอด
เมื่อทุ่มลงไปในไฟนรก ย่อมแหลกละเอียดในทันที
แต่สัตว์ที่เกิดในนรกนั้น ย่อมไม่ย่อยยับ เพราะกรรมรักษาไว้"


อำนาจกรรมเป็นไปได้ถึงเพียงนี้

อาการเร่าร้อนในกายได้ปรากฏแก่นายจุนทสูกริกเป็นอันมาก
อาการอันเหมาะสมแก่กรรมก็เกิดขึ้น
คือ เขาร้องเสียงเหมือนหมู คลานไป-มาอยู่ทั่วเรือน


คนในเรือนมีบุตรและภรรยา เป็นต้น จับเขาไว้แล้วปิดปาก
แต่ผลแห่งกรรมเป็นเรื่องที่ใครห้ามไม่ได้ เขาเที่ยวร้องอยู่ทั่วเรือน คลาน ๔ ขาเหมือนหมู
เรือนที่อยู่รอบๆ ไม่ได้หลับนอน เพราะหนวกหูเสียงของเขา

บุตรภรรยาปิดประตูหน้าต่างเรือนแล้วปล่อยเขาไว้
พวกตนออกไปอยู่ภายนอก จุนทสูกริก ร้องคลานไป-มาอยู่ทั่ว ตลอด ๗ วัน
พอวันที่ ๘ จุนทสูกริกก็ทำกาละ คือ ตาย

ภิกษุทั้งหลายเดินผ่านไปทางนั้น เข้าใจว่าเป็นเสียงสุกร
เมื่อกลับสู่เวฬุวัน เข้าเฝ้าพระศาสดา ทูลว่า

"ข้าแต่พระองค์! นายจุนทสูกริก ปิดประตูเรือนฆ่าสุกรมา ๗ วันแล้ว
เขาคงทำงานมงคลอะไรสักอย่างหนึ่ง เขาไม่มีเมตตาจิต
หรือความกรุณาต่อสัตว์เลย แม้เพียงเล็กน้อย
ผู้หยาบช้าร้ายกาจอย่างนี้ ข้าพระองค์ไม่เคยเห็นเลย"


พระศาสดาตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! เรื่องหาเป็นเช่นนั้นไม่
ผลอันเหมาะสมแก่กรรมได้เกิดขึ้นแก่จุนทสูกริกต่างหาก
เขาร้อนเพราะไฟในอเวจีมหานรก เขาเที่ยวร้องเหมือนหมูอยู่ในเรือนถึง ๗ วัน
วันนี้ (วันที่ ๘) ทำกาละแล้วไปเกิดในอเวจีมหานรกแล้ว"


"ข้าแต่พระองค์! นายจุนทสูกริกต้องเศร้าโศกในโลกนี้แล้ว
ยังต้องไปเกิดในที่อันต้องเศร้าโศกอีกหรือ?"


"อย่างนั้นแลภิกษุทั้งหลาย! ผู้ประมาทจะเป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม
ย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง"


พระศาสดาตรัสดังนี้แล้วจึงตรัสย้ำว่า

"ผู้ทำบาปย่อมเศร้าโศกในโลกทั้งสอง คืออยู่ในโลกนี้ก็เศร้าโศก
ละโลกนี้ไปแล้วก็เศร้าโศก เขาย่อมเศร้าโศกเดือดร้อน
เพราะเห็นกรรมอันเศร้าหมองของตน"


ผู้มีกรรมอันเศร้าหมอง เมื่อหวนระลึกขึ้นทีไร จิตใจก็พลันเศร้าหมอง
ผู้มีกรรมอันผ่องแผ้ว เมื่อหวนระลึกทีไร ใจก็ผ่องใส
ใจเศร้าหมองชักนำไปสู่ทุคติ ใจผ่องใส นำไปสู่สุคติ
จึงควรทำใจให้ผ่องใสด้วยการประกอบกรรมดี


:b44: :b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๓ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นไผ่ใหญ่ หรือ "ต้นมหาเวฬุ" คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19543

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2013, 11:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้บันเทิงในโลกทั้งสอง

พระพุทธภาษิต

อิธ โมทติ เปจฺจ โมทติ กตปุญฺโญ อุภยตฺถ โมทติ
โส โมทติ โส ปโมทติ ทิสฺวา กมฺมวิสุทฺธมตฺตโน

คำแปล

ผู้ได้ทำบุญไว้ ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสองคือบันเทิงในโลกนี้
ละโลกนี้ไปแล้วก็บันเทิงในโลกหน้า
เขาบันเทิงยิ่งขึ้น เพราะเห็นกรรมอันบริสุทธิ์ของตน


:b39: :b39:

อธิบายความ

บุคคลผู้เชื่อกรรมและผลของกรรม ย่อมพอใจทำความดี
ก่อนทำก็มีใจผ่องใส กำลังทำก็ใจแช่มชื่น
ทำเสร็จแล้วก็มีความสุขใจไม่หวนเสียดายไทยธรรม เป็นต้น
เขาแสวงหาความสุขในชีวิตด้วยการประกอบกรรมดี
แทนการหาความสนุกเพลิดเพลินอย่างอื่นอันเจือด้วยโทษและภัย

การประกอบกรรมดีอยู่เสมอ ทำให้จิตใจคุ้นกับความดี
เมื่อคุ้นกับความดีเสียแล้ว ย่อมแขยงต่อความชั่ว

เหมือนคนคุ้นกับความสะอาด ย่อมไม่ปรารถนาความสกปรกใดๆ
การประกอบกรรมดีเป็นบันไดขั้นแรกแห่งความสุขทางใจ
คนประกอบกรรมดีอยู่เสมอย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง
คือ ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เช่น ธัมมิกอุบาสก


:b44: :b44:

เรื่องประกอบ เรื่องธัมมิกอุบาสก

ธัมมิกอุบาสก เป็นชาวเมืองสาวัตถี เอาใจใส่ในการทำบุญมาก
ถวายภัตต์แก่ภิกษุสงฆ์แทบทุกชนิด เป็นต้นว่า

สลากภัตต์ (ออกสลากให้ภิกษุจับ ภิกษุรูปใดถูกของผู้ใด ผู้นั้นก็ถวายแก่ภิกษุนั้น)
ปักขิกภัตต์ (อาหารที่ถวายทุก ๑๕ วัน)
สังฆภัตต์ (อาหารถวายอุทิศพระอริยสงฆ์)
อุโปสถิกภัตต์ (อาหารถวายในวันอุโบสถ)
อาคันตุกภัตต์ (อาหารถวายแก่ภิกษุผู้จรมา)
วัสสาวาสิกภัตต์ (อาหารถวายแก่ภิกษุรู้อยู่จำพรรษา)


(อานิสงส์ถวายสลากภัตต์ อ่านเพิ่มเติมที่นี่
http://www.84000.org/anisong/26.html)



ธัมมิกอุบาสกนั้น พร้อมทั้งบุตรและภรรยา ได้เป็นผู้มีศีลมีกัลยาณธรรม
มีความยินดีในการจำแนกทาน ด้วยประการฉะนี้

ต่อมา อายุมากขึ้นสังขารเสื่อมโทรม โรคภัยไข้เจ็บก็เข้ามาเบียดเบียน
เขาปรารถนาจะฟังธรรม จึงส่งคนไปกราบทูลพระศาสดา
ขอให้ส่งภิกษุจำนวน ๘ รูป หรือ ๑๖ รูป ไปสู่เรือนของตน

เมื่อภิกษุเหล่านั้นไปถึงเรือนแล้ว
อุบาสกขอให้สาธยายสูตรใดสูตรหนึ่ง

"ท่านประสงค์จะฟังสูตรใดเล่า อุบาสก?"

"สติปัฏฐานสูตร เห็นจะเหมาะ พระคุณเจ้า"

พระจึงเริ่มสวดสติปัฏฐานสูตรว่า

"เอกายโน อยํ ภิกฺขเว มคฺโค สตฺตานํ วิสุทธิยา" เป็นต้น
แปลว่า "ภิกษุทั้งหลาย! มีทางสายเอกอยู่สายหนึ่ง
เป็นไปเพื่อความบริสุทธิ์แห่งสัตว์ทั้งหลาย"


ขณะนั้นมีรถมาจากเทวโลก ๖ ชั้น เทวดาอยู่บนรถ
ร้องเชิญให้ธัมมิกอุบาสก ละกายเนื้ออันเปรียบเสมือนหม้อดิน
แล้วถือเอากายทิพย์อันเป็นเสมือนหม้อทองคำ
และขอให้ขึ้นสู่รถของตนเพื่อไปสู่เทวโลกอันเป็นชั้นของตน


อุบาสกไม่ปรารถนาให้เป็นอันตรายแก่การฟังธรรม
จึงกล่าวขึ้นว่า "ขอท่านจงรอก่อน ขอท่านจงรอก่อนเถิด"

ภิกษุทั้งหลายได้ยินดังนั้นเข้าใจว่าอุบาสกพูดกับพวกตน จึงหยุดนิ่งเสีย
บุตรธิดาของอุบาสกก็ร้องไห้ เสียใจว่า

"บิดาของพวกเรา ไม่เคยอิ่มด้วยการฟังธรรม
แต่บัดนี้ทั้งๆ ที่ให้นิมนต์ภิกษุมาสาธยายธรรมให้ฟังเอง แล้วห้ามเสียเอง
บิดาคงกลัวต่อมรณภัย โอ หนอ! สัตว์ผู้ไม่กลัวต่อความตายคงไม่มีเป็นแน่แท้"


ภิกษุทั้งหลายปรึกษากันว่า "บัดนี้มิใช่โอกาสเสียแล้ว"
จึงลุกจากอาสนะ กลับไปวัดเชตวัน

อุบาสก กลับได้สติ ถามลูกๆ ว่า "พวกเจ้าร้องไห้ทำไม?"

"พ่อให้นิมนต์ภิกษุมาสาธยายธรรมให้ฟังแล้ว เมื่อท่านกำลังสวด พ่อก็ห้ามเสียเอง
พระจึงกลับหมดแล้ว ลูกๆ คิดว่า ขึ้นชื่อว่าบุคคลผู้ไม่กลัวตายนั้นไม่มี จึงร้องไห้อยู่"


"พ่อพูดอย่างไร?" อุบาสกถาม

พ่อบอกว่า "ท่านทั้งหลายจงรอก่อน ท่านทั้งหลาย จงรอก่อนเถิด"

"พ่อมิได้พูดกับพระผู้เป็นเจ้า"

"ถ้าอย่างนั้น พ่อพูดกับใคร?"

อุบาสกได้เล่าสิ่งที่ตนเห็นและได้ยินให้บุตรฟังโดยตลอด

"พวกผมไม่เห็นรถเลย" ลูกว่า

"ลูกมีพวงมาลัยสำหรับพ่อบ้างไหม?"

"มีพ่อ"

"ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงเอาพวงมาลัยมา"

เมื่อลูกๆ เอาพวงมาลัยมาแล้ว ธัมมิกอุบาสกจึงถามต่อไปว่า
"เทวโลกชั้นไหนน่ารื่นรมย์?"

ลูกๆ ตอบว่า "ชั้นดุสิตดี เพราะเป็นที่อยู่ของพระโพธิสัตว์,
พระพุทธมารดา พุทธบิดา และนักปราชญ์ราชบัณฑิตทั้งหลาย"


ธัมมิกอุบาสกจึงว่า "ถ้าอย่างนั้นเจ้าจงเสี่ยงอธิษฐานว่า
"ขอพวงมาลัยนี้จงคล้องรถที่มาจากชั้นดุสิต" แล้วเหวี่ยงพวงดอกไม้ไป"


บุตรของเขาได้เหวี่ยงพวงดอกไม้ไป
พวงดอกไม้นั้นคล้องที่แอกรถ ห้อยลงในอากาศ
คนทั้งหลายได้เห็นพวงดอกไม้นั้น แต่หาเห็นรถไม่
ธัมมิกอุบาสกบอกบุตรว่า พวงดอกไม้นั้นห้อยอยู่ที่รถซึ่งมาจากชั้นดุสิต
พ่อจะต้องไปชั้นดุสิต พวกเจ้าอย่าวิตกเลย
หากพวกเจ้าปรารถนาจะไปเกิดร่วมกับเราก็จงทำบุญทั้งหลาย อย่างที่เราทำแล้ว


ธัมมิกอุบาสกทำกาละแล้ว กายทิพย์ได้ปรากฏขึ้นในรถอันมาจากชั้นดุสิต

เมื่อภิกษุทั้งหลายกลับมาถึงเชตวนาราม
พระศาสดาตรัสถามว่า อุบาสกได้ฟังธรรมเทศนาแล้วหรือ?
ภิกษุทั้งหลายทูลเล่าเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ
พระศาสดาจึงตรัสเล่าความเป็นจริงให้ภิกษุทั้งหลายฟังมีว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! อุบาสกหาได้กล่าวกับพวกเธอไม่" เป็นต้น

ภิกษุทั้งหลายทูลว่า "อุบาสกบันเทิงในท่ามกลางญาติในโลกนี้แล้ว
ละโลกนี้ไปแล้วเกิดในฐานะอันควรเป็นที่ชื่นชมอีก"


พระศาสดาตรัสว่า

"อย่างนั้นแล ภิกษุทั้งหลาย บุคคลผู้ไม่ประมาทเป็นคฤหัสถ์ก็ตาม
บรรพชิตก็ตาม ย่อมบันเทิงในที่ทั้งปวง"


ดังนี้แล้วตรัสพระคาถาซึ่งได้ยกไว้ในเบื้องต้นว่า

"ผู้ได้ทำบุญไว้ย่อมบันเทิงในโลกทั้งสอง" เป็นอาทิ


:b45: :b45:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๐ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

:b46: เกร็ดความรู้เพิ่มเติม

หลักฐานเรื่องนรก-สวรรค์จากพระไตรปิฎก
http://www.dhammajak.net/book/kam/kam10.php

ภาพพระมาลัยท่องนรก-สวรรค์
http://www.dhammajak.net/cartoon/vcd-2.html

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 มี.ค. 2013, 12:27 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


ผู้ต้องเดือดร้อนในโลกทั้งสอง

พระพุทธภาษิต

อิธ ตปฺปติ เปจฺจ ตปฺปติ ปาปการี อุภยตฺถ ตปฺปติ

ปาปํ เม กตนฺติ ภิยฺโย ตปฺปติ ทุคฺคตึ คโต


คำแปล

ผู้ทำบาปไว้ย่อมเดือดร้อนในโลกทั้งสอง
คือย่อมเดือดร้อนในโลกนี้ ละโลกนี้ไปแล้วก็เดือดร้อนในโลกหน้า
เขาเดือดร้อนว่า "เราได้ทำบาปไว้" และเมื่อไปทุคคติก็เดือดร้อนยิ่งขึ้น


:b43: :b43:

อธิบายความ

ผู้ทำบาปแล้วเดือดร้อนหรือเศร้าโศก ในทางตรงกันข้าม คนไม่ได้ทำบาปไว้ย่อมไม่เดือดร้อน
สมจริงดังที่พระผู้มีพระภาคตรัสไว้ใน ทุกนิบาตอังคุตตรนิกาย ๒๐/๖๓ ว่า

"เรื่องอันเป็นที่ตั้งแห่งความเดือดร้อน ๒ อย่าง
คือ เรื่องที่ได้ทำทุจริตไว้ ๑ เรื่องที่ไม่ได้ทำสุจริต ๑"


พระพุทธองค์ตรัสว่า ความลับสำหรับคนทำชั่วนั้นไม่มี
แม้คนอื่นไม่เห็น ตนเองย่อมเห็น ตนเองย่อมเป็นพยานให้ตนเองได้ว่า จริง หรือ เท็จ
ได้ทำหรือไม่ได้ทำ แต่นั้นความเดือดร้อนใจก็ตามเผาผลาญผู้ทำ


ส่วนความเดือดร้อนเพราะไม่ได้ทำสุจริตไว้นั้น
เป็นความเดือดร้อนเพราะว้าเหว่ ไร้ที่พึ่งทางใจ


ในชีวิตนี้ไม่มีอะไร เป็นที่พึ่งทางใจของคน
ได้ดีเท่าการระลึกถึงความดีที่ตนกระทำ
มันให้รู้สึกเอิบอาบในดวงจิตอย่างบอกไม่ถูก
ทรัพย์ภายในคือบุญนี้ ให้ความสุขใจทุกครั้งที่ระลึกถึง


ส่วนความชั่วที่บุคคลทำไว้ ย่อมมีผลตรงกันข้าม
คือให้ความทุกข์ ความเดือดร้อนทุกครั้งที่ระลึกถึง
ยิ่งต้องตกนรกหมกไหม้หลังจากตายไปแล้วอีกยิ่งเดือดร้อนใหญ่
อย่างเรื่องพระเทวทัตเป็นตัวอย่าง จึงควรกลัวนรกกันไว้บ้าง
อย่าเห็นแต่ความสุขปัจจุบันมากเกินไป

:b47: :b47:

เรื่องประกอบ เรื่องพระเทวทัต

พระเทวทัต เป็นพระราชกุมารแห่งโกลิยวงศ์
ตามตำราว่าเป็นพระเชฏฐภาดาของพระนางยโสธรา มารดาพระราหุล
พระเทวทัต เป็นพระโอรสของพระเจ้าสุปปพุทธะแห่งโกลิยวงศ์
แต่คงมาอยู่ทางกบิลพัสดุ์ตั้งแต่ทรงพระเยาว์
เพราะเรื่องที่เกี่ยวกับพระเทวทัตส่วนมาก
ตั้งแต่สมัยเป็นราชกุมาร มักปรากฏที่กบิลพัสดุ์ทั้งสิ้น

เมื่อพระสิทธัตถะ ได้ตรัสรู้เป็นพระพุทธเจ้าแล้วเสด็จมากบิลพัสดุ์โปรดพระญาติ
มีพระราชกุมารไม่น้อยที่ออกผนวชตามเสด็จ พระบรมศาสดา

แต่มีพระราชกุมาร ๖ พระองค์มิได้ผนวช คือ
พระภัททิยกุมาร อนุรุทธะ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต

พระญาติทั้งหลายต่างพูดกันว่า "พวกเราให้ลูกๆ ของตนบวชกันเป็นส่วนมากแล้ว
ศากยะทั้ง ๖ นี้ ชะรอยจะไม่ใช่พระญาติของพระพุทธเจ้ากระมัง จึงมิได้บวชตามเสด็จ"

เสียงนี้ทำให้ท้าวมหานาม เชฏฐภาดาของพระอนุรุทธะไม่สบายพระทัย
จึงทรงปรึกษากับพระอนุรุทธะว่า ในพวกเรา ๒ คนนี้ ต้องบวชคนหนึ่ง
อนุรุทธะจะอยู่ครองเรือนหรือจะบวช

หลังจากได้ปรึกษากันเป็นอันมากแล้ว อนุรุทธ์เลือกเอาทางบวช
เพราะเบื่อการงานของฆราวาสอันวนเวียนซ้ำซากไม่มีที่สิ้นสุด
จึงทูลพระมารดาขออนุญาตบวช พระมารดาทรงห้ามถึง ๓ ครั้ง
ก็ยังทรงยืนยันการบวชอยู่ พระมารดาจึงว่า
"หากภัททิยราช สหายของลูกบวชได้ก็จงบวชเถิด"

อนุรุทธ์จึงไปหาภัททิยะ อ้อนวอนอยู่ถึง ๗ วัน
ภัททิยราชา จึงยอมรับคำว่าจะบวช

ในการออกบวชครั้งนี้มีพระราชกุมาร ๖ พระองค์ด้วยกัน
คือ ภัททิยะ อนุรุทธ์ อานันทะ ภคุ กิมพิละ และเทวทัต
รวมอุบาลี ภูษามาลา เข้าอีกหนึ่งเป็น ๗


ก่อนออกบวชได้เสวยมหาสมบัติเจ็ดวันเต็มๆ
คือสนุกสนานเพลิดเพลินอย่างเต็มที่ปานประหนึ่งว่าเทวดาเสวยทิพยสมบัติ
แล้วเสด็จพร้อมด้วยจตุรงคินีเสนา ดุจเสด็จไปพระราชอุทยาน
เมื่อถึงพรมแดนได้ส่งจตุรงคินีเสนากลับราชกุมารทั้ง ๖ พระองค์
ได้เปลื้องพัสตราภรณ์ของตนๆ ห่อ
แล้วสั่งให้อุบาลี นายภูษามาลา และช่างกัลบก พลางกล่าวว่า

"อุบาลี! รับของอันมีค่านี้ไปเถิด มันพอเลี้ยงชีพของท่านไปตลอดชีวิต
จงถือเอาสมบัติเหล่านี้แล้วกลับไป"


อุบาลี กลิ้งเกลือกอยู่แทบเท้าของพระราชกุมารเหล่านั้น
รำพันต่างๆ แต่ไม่อาจขัดขืนคำสั่งได้ จึงลุกขึ้นถือห่อของแล้วกลับไป

เมื่อพระราชกุมารทั้ง ๖ และอุบาลีแยกกันนั้น ราวป่าเป็นประหนึ่งว่าจะร้องไห้
แผ่นดินมีอาการเสมือนจะหวั่นไหว

เมื่อเดินทางกลับไปได้หน่อยหนึ่ง อุบาลีฉุกคิดว่า

"พวกศากยะทั้งหลายดุร้ายนัก อาจเข้าใจผิดคิดว่าเราปลงพระชนม์พระราชกุมาร
และยึดเอาสมบัติเหล่านี้กลับคืนมา นี่คืออันตรายประการหนึ่งของเรา
อนึ่งเล่า ศากยะทั้ง ๖ นี้ ทรงสละสมบัติอันล้ำค่าออกบวช ก็เราเล่า?
หากเรารับพัสตราภรณ์อันเขาทิ้งแล้วเหล่านี้จะไม่เหมือนดื่มก้อนเขฬะอันผู้อื่นถ่มทิ้งแล้วหรือ"


คิดดั่งนี้แล้วจึงแก้ห่อออก เอาพัสตราภรณ์แขวนไว้บนกิ่งไม้
พลางกล่าวว่า ผู้ต้องการจงเอาไปเถิด ดังนี้แล้วกลับไปหาราชกุมารทั้ง ๖
เล่าความคิดทั้งปวงของตนให้ราชกุมารเหล่านั้นทรงทราบ พระราชกุมารก็รับไปโดยดี

ขณะนั้น พระศาสดาประทับอยู่ ณ อนุปิยอัมพวันแห่งอนุปิยนิคมของพวกมัลลกษัตริย์
ศากยกุมารทั้ง ๖ พระองค์และอุบาลีเข้าเฝ้า ณ ที่นั้น ถวายบังคมแล้วกราบทูลว่า

"ข้าแต่พระจอมมุนี ข้าพระองค์ทั้งหลายเป็นพวกศากยะมีความถือตัวมาก
บุคคลผู้นี้ (คืออุบาลี) เป็นคนรับใช้ของพวกข้าพระองค์มานาน
ขอพระองค์ได้โปรดให้เขาบวชก่อนเกิด เพื่อพวกข้าพระองค์จักได้ทำสามีจิกรรมแก่เขา
มีการลุกรับและการกราบไหว้ เป็นต้น
ด้วยอาการอย่างนี้ อาการมานะของพวกข้าพระองค์ จักสร่างสิ้นไป"


พระศาสดาทรงอนุโลมตาม ทรงให้อุบาลีบวชก่อน
ต่อจากนั้นจึงให้ศากยกุมารทั้ง ๖ ได้ทรงผนวช บรรดาท่านทั้ง ๖ นั้น
ภัททิยะได้สำเร็จเป็นพระอรหันต์ประกอบด้วยวิชชา ๓ ภายในพรรษานั่นเอง
ท่านพระอนุรุทธ์ได้จักษุทิพย์
ต่อมาภายหลังได้สดับมหาปุริสวิตักกสูตร ได้บรรลุพระอรหัตตผล
ส่วนพระอานนท์ได้บรรลุโสดาปัตติผล
พระภคุและกิมพิละ ภายหลังได้เจริญวิปัสสนาบรรลุพระอรหัตตผล
ส่วนพระเทวทัตได้ฤทธิ์ปุถุชน
(หมายความว่าได้ฤทธิ์หลายอย่าง แต่ยังเป็นปุถุชนอยู่)


ต่อมาพระศาสดาเสด็จสู่โกสัมพีนคร ประชาชนให้ความเลื่อมใสในพระรัตนตรัยเป็นอย่างยิ่ง
เพราะความเลื่อมใสนั้น ลาภสักการะจึงเกิดขึ้นแก่พระตถาคตเจ้าและพระภิกษุสงฆ์เป็นอันมาก
มนุษย์ทั้งหลายถือเครื่องอุปโภคบริโภคเข้าไปสู่อาราม
ถามกันอยู่ว่า "พระศาสดาประทับอยู่ที่ไหน? พระสารีบุตร, พระมหาโมคคัลลานะ,
พระมหากัสสป, พระภัททิยะ, พระอนุรุทธ์, พระอานนท์, พระภคุ, พระกิมพิละอยู่ที่ไหน?"
ดังนี้แล้วเที่ยวเดินตรวจดูที่อยู่ของท่านเหล่านั้น และของพระอสีติมหาสาวกอื่นๆ
แต่จะมีใครถามถึงพระเทวทัตสักคนหนึ่งมิได้มี

พระเทวทัตเสียใจว่า "เราบวชพร้อมด้วยศากยกุมารนั้นหลาย
มีพระภัททิยะ เป็นต้น ท่านเหล่านั้นเป็นขัตติยบรรพชิต
เราก็เป็นขัตติยบรรพชิตเหมือนกัน คนทั้งหลายเที่ยวถามหาท่านเหล่านั้นอยู่
แต่จะมีใครถามถึงเราสักคนหนึ่งมิได้มี เราจะคบกับใคร
ทำให้ใครหนอเลื่อมใสแล้วให้ลาภสักการะเกิดขึ้นแก่เรา เหมือนที่เกิดขึ้นแก่พระเหล่านั้น"


พระเทวทัต คิดถึงพระเจ้าพิมพิสาร แต่ก็ไม่สามารถเอามาเป็นพวกได้
เพราะได้บรรลุโสดาปัตติผลเสียแล้วตั้งแต่พระศาสดาเสด็จกรุงราชคฤห์ครั้งแรก
พระเจ้าปเสนทิโกศลก็เหมือนกัน ไม่อาจให้ถอนความเลื่อมใสในพระตถาคตได้
แต่ พระราชกุมารอชาตศัตรู พระโอรสของพระเจ้าพิมพิสารนั้นยังหนุ่ม
ยังไม่ค่อยจะรู้คุณและโทษ เมื่อสมควรกับพระราชกุมารนั้น
เกลี้ยกล่อมด้วยดีจะได้เป็นพรรคพวก เป็นกำลังยังลาภสักการะให้เกิดขึ้นได้อย่างแน่นอน

เรื่องที่เกิดขึ้นครั้งนี้ บังเอิญไปเกิดที่โกสัมพี
ซึ่งห่างจากพระญาติทั้งสองฝ่ายของพระเทวทัต
ถ้าเรื่องเกิดในขณะที่พระศาสดาประทับในเขตกบิลพัสดุ์ หรือเขตเทวทหะ
ก็จะน่าสงสัยมากว่า เหตุไรพระญาติทั้งสองฝ่ายจึงมิได้เอาใจใส่ต่อพระเทวทัตเลย

ที่โกสัมพีก็เหมือนกัน น่าสงสัยว่า ทำไมจึงไม่มีคนถามหาพระเทวทัตบ้าง
พระเทวทัตเป็นพระไม่ดีหรืออย่างไร ตำนานก็บอกว่า
ท่านทำสมณกิจจนได้ฤทธิ์หลายอย่าง เพียงแต่ว่าท่านยังเป็นปุถุชนอยู่เท่านั้น
หรือพระเทวทัตจะเป็นผู้ไม่มีบุญในเรื่องลาภสักการะ
แต่เมื่อพิจารณาเรื่องโดยตลอดก็จะเห็นว่าพระเทวทัตคงมีนิสัยเกเรอยู่ไม่น้อย
จึงได้กระทำกรรมอันหนักต่างๆ กับพระศาสดาได้หลายเรื่อง
และคงมีนิสัยมักใหญ่ใฝ่สูงอยู่มากด้วย เรื่องต่อไปนี้จะบอกท่านได้ดี

อนึ่ง พิจารณาในแง่ของเวรกรรม พระเทวทัตก็ได้ผูกเวรในพระพุทธเจ้ามานมนานนักหนา
ตั้งแต่สมัยเป็นพ่อค้าลูกปัดในนิทานชาดกทั้งปวง
พระพุทธเจ้าเป็นพระเอก พระเทวทัตเป็นผู้ร้ายทุกเรื่องไป แม้ในชาติสุดท้ายนี้ก็อีก

เมื่อเทวทัตตกลงใจแน่นอนว่าจะเกลี้ยกล่อมอชาตศัตรูราชกุมารเป็นพวก
ดังนี้แล้วก็เดินทางออกจากกรุงโกสัมพีมุ่งสู่ราชคฤห์
นิรมิตเพศเป็นกุมารน้อย พันอสรพิษ ๔ ตัว คือที่มือ ๒ และที่เท้า ๒ อีกตัวหนึ่งพันคอ
อีกตัวหนึ่งทำเป็นเทริดไว้บนศีรษะ อีกตัวหนึ่งทำเฉวียงบ่า
ลงจากอากาศด้วยสังวาลงูนี้ นั่งบนพระเพลาของอชาตศัตรูราชกุมาร

เมื่อพระกุมารทรงกลัวตรัสถามว่า "ท่านเป็นใคร?"
จึงทูลตอบว่า "อาตมาภาพคือพระเทวทัต"

เพื่อบรรเทาความกลัวของพระราชกุมาร พระเทวทัตจึงกลับอัตตภาพเป็นดังเดิม-เป็นภิกษุ
มีสังฆาฏิบาตรและจีวร ยืนอยู่เบื้องหน้าพระกุมาร
ประเล้าประโลมด้วยวาจาต่างๆ จนพระกุมารเลื่อมใส
รับเป็นผู้อุปถัมภ์บำรุงด้วยปัจจัย ๔ พระเทวทัตยังลาภสักการะให้เกิดขึ้นด้วยประการฉะนี้

รูปภาพ
พระเทวทัตนิรมิตเพศประกอบด้วยสังวาลงู
ลงมาเบื้องพระพักตร์ของพระเจ้าอชาตศัตรู



พระเทวทัตอุดมด้วยลาภสักการะและปัจจัย ๔ อันอชาตศัตรูราชกุมารทรงบำรุงแล้ว
ถูกความเมาในลาภสักการะครอบงำแล้ว แต่หาพอใจเพียงเท่านั้นไม่
ยังต้องการอำนาจในการปกครองคณะสงฆ์อีก คิดว่า "เราจักปกครองคณะสงฆ์ทั้งหมด"
พร้อมกับความคิดนี้ ฤทธิ์ต่างๆ ของพระเทวทัตก็เสื่อมไปทันที

พระศาสดาเสด็จจากโกสัมพีมาราชคฤห์ ประทับอยู่ ณ เวฬุวัน
พระเทวทัตเข้าเฝ้าขณะที่พระศาสดากำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางบริษัท ๔
แม้พระราชาพิมพิสารก็ประทับอยู่ที่นั่นด้วย พระเทวทัตทูลพระศาสดาว่า

"เวลานี้ พระผู้มีพระภาคทรงชรามากแล้ว
ขอจงทรงขวนขวายน้อย อยู่เป็นสุขไปวันหนึ่งๆ
หม่อมฉันจักบริหารคณะสงฆ์เอง
ขอได้โปรดมอบภาระบริหารคณะสงฆ์ให้แก่หม่อมฉันเถิด"


เราต้องไม่ลืมว่า เวลานั้นพระเทวทัตยังเป็นพระปุถุชนอยู่ จะปกครองพระอรหันต์อย่างไร
แต่ความมักใหญ่ใฝ่สูงของพระเทวทัตทำให้มองเห็นผิดเป็นชอบไป

พระศาสดาตรัสตอบว่า

"อย่าเลย เทวทัต เธออย่าปกครองคณะสงฆ์เลย
ขอให้เธอทำหน้าที่ของตนให้บริบูรณ์ก่อนเถิด
การปกครองคณะสงฆ์เป็นหน้าที่ของเรา หรือสารีบุตรโมคคัลลานะ
เธอยังหาควรปกครองคณะสงฆ์ไม่"


เมื่อพระเทวทัตอ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า
พระศาสดาจึงตรัสให้พระเทวทัตระลึกถึงความไม่ดีงามในใจของตน
ด้วย "เขฬาสิกวาท" ว่า

"ดูก่อนเทวทัต เธอนั้น พอใจติดอยู่ในลาภสักการะและชื่อเสียง
ถูกลาภสักการะครอบงำ ทำให้จิตมืดบอดเทวทัตเอย!
อันลาภสักการะเป็นต้นนั้น เป็นดุจเขฬะ (น้ำลาย) ที่พระอริยเจ้าทั้งหลายถ่มทิ้งแล้ว
เธอไปติดใจ พอใจสยบอยู่ในก้อนเขฬะคือลาภและปัจจัย ๔ เห็นปานนั้น ควรอยู่หรือ"


พระดำรัสเช่นนี้แล อันท่านเรียกว่า "เขฬาสิกวาทะ"

พระเทวทัตฟังแล้วไม่พอใจมาก ผูกอาฆาตในพระศาสดาเป็นครั้งแรกแล้วหลีกไป

ในระหว่างนั้น พระเทวทัตกระทำอะไรหลายอย่าง
อันจะก่อให้เกิดความเสื่อมเสียแก่คณะสงฆ์ของพระพุทธเจ้า

พระศาสดาทรงเห็นว่า ปล่อยไว้ความเสื่อมจักลามปามมาถึงคณะสงฆ์ที่บริสุทธิ์ด้วย
มีพระประสงค์จะทำ ปกาสนียกรรม แก่พระเทวทัต
จึงรับสั่งให้ประกาศในกรุงราชคฤห์ว่า

"การใดอันพระเทวทัต ทำแล้วก็เป็นเรื่องของพระเทวทัต
ไม่เกี่ยวกับพระองค์และคณะสงฆ์ของพระองค์ ขอให้ประชาชนรับทราบตามนี้ด้วย"


รวมความว่า พระเทวทัตถูกตัดออกจากบัญชีคณะสงฆ์ของพระศาสดาตั้งแต่บัดนั้นมา

(เพิ่มเติม - พระไตรปิฎก เล่มที่ ๗ พระวินัยปิฎก เล่มที่ ๗จุลวรรค ภาค ๒)
http://www.84000.org/tipitaka/pitaka1/v.php?B=07&A=3407&Z=3454

:b44:

ฝ่ายพระเทวทัต คิดว่า

"บัดนี้ เราถูกพระสมณโคดมตัดขาดแล้ว กำจัดเสียแล้ว
เราจักทำความพินาศแก่พระสมณโคดมนั้นให้จงได้"


ดังนี้แล้ว เข้าเฝ้าพระเจ้าอชาตศัตรู ทูลยุยงว่า
"ราชกุมาร! เมื่อก่อนนี้คนอายุยืน แต่บัดนี้คนอายุน้อย
การที่พระองค์จะพึงทิวงคตตั้งแต่ยังทรงพระเยาว์นั้นเป็นสิ่งที่เป็นไปได้
ขอพระองค์จงรีบปลงพระชนม์พระราชาแล้วขึ้นเสวยราชย์เสียเอง
ส่วนอาตมาภาพจะปลงพระชนม์พระสมณโคดม แล้วเป็นพระพุทธเจ้าเสียเองเหมือนกัน
พระองค์จักได้เป็นใหญ่ในฝ่ายอาณาจักร อาตมาภาพจักเป็นใหญ่ในศาสนจักร"


ความพยายามในเรื่องให้อชาตศัตรูกุมารปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสารของพระเทวทัต
ประสบผลสำเร็จ อชาตศัตรูกุมารได้ขึ้นครองราชย์
การอุปถัมภ์บำรุงพระเทวทัตและบริวารเป็นไปอย่างสม่ำเสมอ


รูปภาพ
พลแม่นธนูที่ถูกส่งไปหมายปลงพระชนม์พระพุทธเจ้า
แต่กลับใจ เคารพศรัทธาในพระพุทธศาสนา



พระเทวทัตขอคนแม่นธนูจากพระเจ้าอชาตศัตรูจำนวนหนึ่ง
เพื่อปลงพระชนม์พระสัมมาสัมพุทธเจ้า แต่คนเหล่านั้นกลับไปเลื่อมใสพระศาสดาขอบวช
และบรรลุโสดาปัตติผลกันหมด พระเทวทัตจึงลงมือดำเนินการเอง
โดยขึ้นไปอยู่บนยอดเขาคิชฌูฎแล้วกลิ้งศิลาลงมาในขณะพระศาสดาเสด็จขึ้นในทางแคบๆ
สะเก็ดหินกระเด็นมากระทบพระบาทของพระศาสดา ทำให้พระโลหิตห้อ (ห้อเลือด)
ได้หมอชีวกช่วยรักษาจนหายสนิทในวันรุ่งขึ้น

พระเทวทัตยิ่งแค้นใจหนัก จึงให้พระเจ้าอชาตศัตรูปล่อยช้างนาฬาคิรี ซึ่งเป็นช้างดุร้าย
มุ่งทำลายพระศาสดา ขณะออกบิณฑบาตในเช้าวันหนึ่ง
แต่พระศาสดาก็ทรงปราบช้างได้ด้วยน้ำคือพระเมตตา
ช้างไม่ทำอันตรายพระองค์ แต่กลับหมอบลงแทบพระบาทแสดงความเคารพเลื่อมใส

คราวนี้ประชาชนก็รู้กันหมดว่าเรื่องเก่าๆ เช่นการให้คนแม่นธนูไปซุ่มยิงพระพุทธเจ้าก็ตาม
การกลิ้งศิลาจากภูเขาคิชฌกูฎก็ตาม การปล่อยช้างนาฬาคิรีก็ตาม
เป็นการกระทำของพระเทวทัตทั้งสิ้น แม้การปลงพระชนม์พระเจ้าพิมพิสาร
ก็เป็นการยุยงของพระเทวทัตเหมือนกัน ทำไมหนอพระราชาจึงทรงคบคนชั่วถึงปานนั้น


พระเจ้าอชาตศัตรูทรงสดับเรื่องราวนั้นก็ทรงหวั่นพระทัย
เกรงราชบัลลังก์จะไม่มั่นคง หากคบพระเทวทัตต่อไป
จึงเลิกคบพระเทวทัต ไม่เสด็จไปสู่ที่บำรุง คือไม่ยอมไปมาหาสู่ ไทยธรรม
ปัจจัยลาภที่เคยถวาย ๕๐๐ สำรับก็รับสั่งให้งดเสีย
ชาวเมืองก็ไม่ยอมถวายอะไรแก่พระเทวทัต


พระเทวทัตเสื่อมจากลาภสักการะ เสื่อมจากความนิยมนับถือของมหาชน
ประสงค์จะเลี้ยงชีพด้วยการหลอกลวง จึงเข้าเฝ้าพระศาสดา
ทูลขอ วัตถุ ๕ ประการ อันเป็นเงื่อนไขในการประพฤติของภิกษุ คือ

๑. ขอให้ภิกษุงดฉันเนื้อและปลาตลอดชีวิต ให้ฉันได้แต่อาหารผัก

๒. ขอให้ภิกษุอยู่ป่าตลอดชีวิต

๓. ขอให้ภิกษุถือผ้าบังสุกุลตลอดชีวิต ไม่ควรรับผ้าที่มีผู้ถวาย

๔. ขอให้ภิกษุฉันอาหารเฉพาะที่บิณฑบาตมาได้ตลอดชีวิต ไม่ควรฉันอาหารที่มีผู้นำมาถวาย

๕. ขอให้ภิกษุอยู่โคนไม้เป็นปกติ ไม่ควรเข้าสู่ที่มุงบัง


พระศาสดาไม่ทรงอำนวยตาม กลับตรัสว่า

"อย่าเลยเทวทัต, ผู้ใดปรารถนาจะทำก็จงทำตนเถิด เราไม่ห้าม
แต่จะบัญญัติให้ทำอย่างนั้นทั่วไปหมดนั้นตถาคตไม่บัญญัติ"


พระเทวทัตได้โอกาสจึงประกาศขึ้นว่า
"ผู้ใดใคร่พ้นทุกข์ขอผู้นั้นจงมากับเรา" ดังนี้แล้วหลีกไป


ภิกษุบางพวก บวชใหม่ ยังมีความรู้น้อย (ไม่)เข้าใจว่า
ความจริงพระเทวทัตคงไม่ได้ทูลขอเรื่องทั้ง ๕ นั้นด้วยความบริสุทธิ์ใจ
แต่คงขอด้วยต้องการจะอวดเคร่งเพื่อให้ได้ลาภ และได้ความนับถือเท่านั้น

เมื่อได้ภิกษุใหม่ประมาณ ๕๐๐ รูป
เป็นบริวารแล้วก็เที่ยวขอปัจจัยจากชาวบ้านมาบริโภค
และคิดทำลายสงฆ์ผู้สามัคคีให้แตกกัน


พระศาสดาทรงเป็นห่วงตรัสถามว่า

"เทวทัต! ได้ยินว่าพยายามเพื่อทำลายสงฆ์หรือ?"

"จริง พระเจ้าข้า" พระเทวทัตทูลรับ

"เทวทัต! เธออย่าพอใจในการทำลายสงฆ์เลย เพราะการทำลายสงฆ์เป็นโทษหนัก"


แม้พระศาสดาทรงเตือนอยู่อย่างนี้ก็หาเชื่อไม่
เช้าวันหนึ่ง พบพระอานนท์ซึ่งบิณฑบาตอยู่ในกรุงราชคฤห์
ได้กล่าวกับพระอานนท์ว่า

"อานนท์ผู้มีอายุ! ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป
ข้าพเจ้าจักทำอุโบสถสังฆกรรมต่างหาก
ไม่รวมกับพระศาสดาและภิกษุสงฆ์ของพระศาสดา"


พระอานนท์เข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค ทูลเรื่องนั้นให้ทรงทราบ
พระพุทธองค์เกิดธรรมสังเวช และทรงปริวิตกว่า
"เทวทัต ทำกรรมอันเป็นเหตุให้หมกไหม้ในนรกเสียแล้ว
กรรมอย่างนี้เป็นไปเพื่อความย่อยยับแก่สัตวโลก รวมทั้งเทวโลก"

เป็นต้นดังนี้แล้ว ตรัสย้ำว่า

"กรรมที่ไม่ดี ไม่เป็นประโยชน์ ทำได้ง่าย
ส่วนกรรมที่ดี และมีประโยชน์ทำได้ยากยิ่ง"


ทรงเปล่งอุทานอีกว่า

"กรรมดี คนดี ทำได้ง่าย แต่คนชั่วทำได้ยาก
กรรมชั่ว คนชั่ว ทำได้ง่าย แต่พระอริยเจ้าไม่ทำเลย"


พระเทวทัตได้ภิกษุใหม่ชาววัชขี ๕๐๐ รูปเป็นบริวารเพราะเลื่อมใส
หลงเชื่อในเรื่องวัตถุ ๕ ประการ แล้วพาไปสู่ตำบลคยาสีสะในเขตแคว้นมคธนั่นเอง

พระศาสดาทรงเป็นห่วงภิกษุใหม่ เกรงจะต้องวอดวายเสียจากคุณธรรมอันพึงบรรลุ
จึงรับสั่งให้พระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะไปนำภิกษุเหล่านั้นกลับมา

พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะไปสั่งสอน อบรมชี้แนะ จนภิกษุเหล่านั้นเข้าใจแจ่มแจ้ง
ได้ดื่มรสแห่งอมตธรรมแล้ว พาภิกษุเหล่านั้นกลับมาเฝ้าพระศาสดา

ขณะนั้นพระเทวทัต นอนพักผ่อนอยู่
เพราะนึกว่าพระอัครสาวกทั้งสองเลื่อมใสในตนจึงตามมา
พระเทวทัตจึงให้แสดงธรรมแทนตน

เมื่อพระอัครสาวก พาภิกษุ ๕๐๐ รูป ไปหมดแล้ว
พระโกกาลิกะ ซึ่งเป็นสาวกสนิทของพระเทวทัตเข้าไปปลุกพระเทวทัตพลางกล่าวว่า

"เทวทัต! ลุกขึ้นเถิด พระสารีบุตรโมคคัลลานะนำภิกษุไปหมดแล้ว
ข้าพเจ้าเคยบอกท่านแล้วมิใช่หรือว่า อย่าไว้ใจพระสารีบุตรโมคคัลนลานะ
เพราะทั้งสองนั้นมีความปรารถนาชั่ว ตกอยู่ในอำนาจของความปรารถนาชั่ว"

ดังนี้แล้ว ด้วยความเจ็บใจ จึงเอาเข่ากระแทกอกพระเทวทัตจนกระอักเลือด

ฝ่ายภิกษุทั้งหลายได้เห็นพระอัครสาวกกลับมาพร้อมด้วยภิกษุ ๕๐๐ งามยิ่งนัก
จึงกราบทูลพระศาสดาว่า

"ข้าแต่พระองค์! พระสารีบุตร เมื่อไป-ไปเพียง ๒ เท่านั้น
บัดนี้ กลับมาพร้อมด้วยบริวารเป็นอันมาก งามเหลือเกิน"


พระศาสดาตรัสว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! มิใช่แต่บัดนี้เท่านั้น ที่บุตรของเรามาสู่สำนักของเราด้วยลีลาอันงาม
แม้ในกาลก่อน เมื่อเธอเกิดกำเนิดสัตว์เดรัจฉานก็เคยเป็นอย่างนี้แล้วเหมือนกัน"


ดังนี้ แล้วตรัสข้อความในลักขณชาดกว่า

"ความเจริญ! ย่อมมีแก่ผู้มีศีล ผู้รู้จักปฏิสันถาร
จงดูเถิด เนื้อชื่อลักษณะงามอยู่ท่ามกลางหมู่ญาติ
ส่วนเนื้อชื่อกาละเสื่อมแล้วจากหมู่ญาติทั้งปวง"


ภิกษุทั้งหลายทูลเรื่องอื่นอีกว่า
"ได้ทราบว่า พระเทวทัตให้พระสองรูปนั่งข้างทั้งสองเป็นทำนองอัครสาวก
แล้วกล่าวว่า เราจักแสดงธรรมด้วยพุทธลีลา ทำกิริยาตามอย่างพระคถาคตเจ้า"


พระศาสดาตรัสว่า "มิใช่เพียงแต่ในบัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน
เทวทัตทำอย่างนี้แล้วเหมือนกัน แต่ไม่สามารถทำได้"

ดังนี้แล้ว ตรัส นทีจรกากชาดก หรือ วีรกชาดก ว่า

"วีระ ท่านเห็นนกชื่อ สวิฏฐกะไหม?
นกนั้นเสียงเพราะ มีสร้อยคอเหมือนนกยูง เขาเป็นผัวของฉัน

(วีรกะตอบว่า) นกสวิฏฐกะ ถูกสาหร่ายพันคอตายเสียแล้ว
เพราะ (ตัวมิได้เป็นนกทะเล) ทำเยี่ยงอย่างนกทะเล
ที่ไปได้ทั้งในน้ำและบนบก กินปลาสดได้เป็นนิตย์"

พระศาสดา ทรงปรารภ พระเทวทัต ตรัส ชาดก อีกเป็นอันมากเช่น
กันทคลกชาดก, วิโรจนชาดก, ชวสกุณชาดก, กุรังคมิคชาดก,
และอุภโตภัฏฐชาดก เป็นต้น

หลังจากนั้น พระศาสดาเสด็จออกจากกรุงราชคฤห์สู่นครสาวัตถี
ราชธานีแห่งแคว้นโกศล ประทับ ณ เชตวันมหาวิหาร

เพราะเหตุที่ถูกกระแทกหน้าอกจนกระอักเลือด
และความเสียใจที่พระอัครสาวกทั้งสองมาพาภิกษุบริวารไปเสีย
พระเทวทัตจึงป่วยหนักอยู่นานถึง ๙ เดือน

ในระหว่างที่ป่วยนั้น คงจะได้มีโอกาสคิดทบทวนถึงกรรมของตนบ้าง
จึงรู้สึกตัวว่าได้ทำผิดไว้ในพระศาสดามาก จึงอยากจะเข้าเฝ้า

ขอร้องให้ศิษย์หามไปเฝ้า สาวกทั้งหลายกล่าวว่า เมื่อยังสามารถไป-มาได้อยู่
ได้ประพฤติตนเป็นคนมีเวรกับพระศาสดา ข้าพเจ้าไม่สามารถพาท่านไปได้

พระเทวทัตอ้อนวอนครั้งแล้วครั้งเล่า "จริงอยู่ ข้าพเจ้าผูกเวรพระในศาสดา
แต่พระองค์หามีเวรต่อข้าพเจ้าไม่ พระองค์มิได้ผูกอาฆาตข้าพเจ้าเลยแม้เท่าปลายผม
จงกรุณาพาข้าพเจ้าไปเฝ้าพระศาสดาเถิด"


จริงอย่างนั้น พระผู้มีพระภาค ทรงมีพระหฤทัยสม่ำเสมอในบุคคลทั้งปวง
เช่น ในคนแม่นธนู, พระเทวทัตโจรองคุลิมาล ช้างนาฬาคีรี
และแม้ในพระราหุลคือมิได้ทรงมีอคติ เลือกที่รักผลักที่ชังประการใดเลย


เมื่อพระเทวทัตอ้อนวอนมากเข้า
ศิษย์ก็พร้อมใจกันหามพระเทวทัตออกจากคยาสีสะไปเฝ้าพระศาสดา ณ เมืองสาวัตถี

ภิกษุทั้งหลายทราบข่าวนั้น จึงกราบทูลให้พระพุทธองค์ทรงทราบ
พระศาสดาตรัสตอบว่า

"ภิกษุทั้งหลาย ในชาตินี้ เทวทัตจึงไม่ได้เห็นเราอีกเลย"

ท่านกล่าวว่า ภิกษุที่ขอวัตถุ ๕ ประการแล้ว
จะไม่ได้เห็นพระศาสดาอีกเลย ข้อนี้เป็นธรรมดา

เมื่อพระเทวทัตมาถึงที่ต่างๆ ในระหว่างทาง
ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลพระศาสดาว่า
"บัดนี้ พระเทวทัตมาถึงนั้นแล้ว มาถึงที่นั้นแล้ว พระเจ้าข้า"

พระศาสดาตรัสว่า "เทวทัตจะมาถึงไหน จะทำอย่างไรก็ตาม
เรื่องที่เทวทัตจะได้เห็นเรานั้นเป็นไม่มี"


เมื่อพระเทวทัตเดินทางใกล้เข้ามา ภิกษุทั้งหลายก็กราบทูลพระศาสดาอีกว่า
"บัดนี้ พระเทวทัตอยู่ห่างจากที่นี่เพียงโยชน์เดียว, บัดนี้กึ่งโยชน์,
บัดนี้พระเทวทัตมาถึงสระโบกขรณีหน้าวัดเชตวันแล้ว"


พระศาสดายังคงยืนยันว่า

"แม้เทวทัต จะเข้ามาภายในวัดเชตวันแล้วก็จะไม่ได้เห็นเรา"


พวกสาวกพาพระเทวทัตมาวางเตียงลงริมสระโบกขรณีใกล้วัดเชตวัน
แล้วพากันลงไปอาบน้ำในสระ

พระเทวทัตลุกจากอาการนอน นั่งห้อยเท้าทั้งสองลงบนแผ่นดิน
เท้าทั้งสองของเขาค่อยๆ จมลงไปในดิน ถึงข้อเท้า, ถึงเข่า,
ถึงเอว, ถึงนม และถึงคอ เวลากระดูกคางจรดถึงพื้น เทวทัตได้กล่าวว่า

"พระพุทธเจ้าพระองค์ใด ทรงเป็นผู้เลิศ เป็นเทพยิ่งกว่าเทพทั้งหลาย
เป็นผู้ชำนาญในการฝึกคน ทรงมีพระจักษุรอบด้าน
ทรงมีพระลักษณะอันสำเร็จมาจากบุญ
ข้าพระพุทธเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้าพระองค์นั้นว่าเป็นที่พึ่ง
ขอถวายกระดูกคางและลมหายใจครั้งสุดท้ายนี้เป็นเครื่องสักการะแด่พระองค์"


ทราบกันว่า พระศาสดาทรงเห็นฐานะนี้
(คือการที่พระเทวทัต จักถึงพระพุทธเจ้าว่าเป็นที่พึ่งในวาระสุดท้าย)
จึงทรงยอมให้พระเทวทัตบวช ถ้าเขาไม่ได้บวชเลย
อยู่เป็นคฤหัสถ์จะทำกรรมหนักยิ่งกว่านี้ จักไม่ได้ทำปัจจัยอันดีเพื่อภพต่อไป
เมื่อได้บวช แม้จะทำกรรมหนักก็จริง ก็ยังสามารถทำปัจจัยอันดีไว้เพื่อภพต่อไป
นัยว่า ในอีกแสนกัลป์ข้างหน้า
พระเทวทัตจักได้เป็นพระปัจเจกพุทธเจ้า นามว่า อัฏฐิสสระ


พระเทวทัตจมดินแล้วไปเกิดในอเวจี ถูกไฟในอเวจีไหม้อยู่
เคลื่อนไหวไม่ได้ เพราะประพฤติผิดในพระพุทธเจ้าผู้ไม่หวั่นไหว
ทุกข์ทรมานอยู่ในอเวจีนั้นนานแสนนาน

ภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า
"พระเทวทัตมาถึงนี้แล้ว ไม่ทันได้เฝ้าพระศาสดา จมดินเสียแล้ว"


พระศาสดาตรัสว่า
"ภิกษุทั้งหลาย! เทวทัตประพฤติผิดในเรา
ต้องถูกแผ่นดินสูบในกาลนี้เท่านั้นก็หามิได้
แม้ในกาลก่อนก็เคยแล้วเหมือนกัน"


ดังนี้แล้ว ทรงแสดงสีลวนาคชาดก สมัยที่พระองค์เป็นช้าง
พบพรานหลงทางในป่าลึก ยกขึ้นหลังของตนไปส่งถึงที่อันปลอดภัย
แต่พรานนั้นกลับมาตัดงาเสียถึง ๓ ครั้ง และถูกแผ่นดินสูบ

พระศาสดาทรงย้ำว่า

"หากจะให้แผ่นดินทั้งหมดแก่คนอกตัญญู ก็ให้เขาพอใจไม่ได้"

ทรงแสดงชาดกอื่นๆ อีกเช่น ขันติวาทีชาดก สมัยพระองค์เป็นขันติวาทีดาบส
พระเทวทัตเป็นพระเจ้ากลาฬุจุลธรรมปาลชาดก
สมัยพระองค์ทรงเป็นจุลธรรมปาละ พระเทวทัตเป็นพระเจ้ามหาปตาปะ
ล้วนแต่เคยประพฤติผิดในพระองค์และเคยถูกแผ่นดินสูบมาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน

เมื่อพระเทวทัตถูกแผ่นดินสูบแล้ว ประชาชนต่างชื่นชมยินดี
ยกธง และเล่นมหรสพ พลางกล่าวกันว่า
"เป็นลาภของพวกเราแล้วหนอที่พระเทวทัตตายไป"

ภิกษุทั้งหลายกราบทูลเรื่องนั้นแด่พระผู้มีพระภาคพระศาสดาตรัสว่า
"มิใช่เพียงแต่บัดนี้เท่านั้น แม้ในกาลก่อน เมื่อเทวทัตตาย
คนทั้งหลายก็ร่าเริงแล้วเหมือนกัน"


ดังนี้แล้ว ทรงแสดงปิงคลชาดก (อรรถกถาชาดก เล่ม ๓ หน้า ๓๑๙)
ว่าด้วยเรื่องพระเจ้าปิงคละผู้ครองนครพาราณสี เป็นพระเจ้าแผ่นดินที่ดุร้าย
หยาบช้า เมื่อสวรรคต คนทั้งหลายก็พากันร่าเริงเล่นมหรสพ
แต่นายประตูคนหนึ่งยืนร้องไห้อยู่ เมื่อพระโพธิสัตว์ถามว่าเขารักพระเจ้าปิงคละนักหรือ

เขาตอบว่า

"พระราชาปิงคละ ผู้มีพระเนตรไม่ดำ หาเป็นที่รักของข้าพเจ้าไม่
แต่ข้าพเจ้าร้องไห้เพราะเกรงว่าพระองค์จะกลับมาอีก
ด้วยว่าเมื่อจากโลกนี้ไปแล้ว จะพึงไปเบียดเบียนพญามัจจุราช-มัจจุราช รำคาญเข้า
อาจนำพระองค์กลับคืนมา ข้าพเจ้าร้องไห้เพราะเหตุนี้"

เมื่อภิกษุทั้งหลายทูลถามว่า "เวลานี้พระเทวทัตไปที่ใด?"
พระศาสดาตรัสตอบว่า "ไปเกิดในอเวจีมหานรก" แล้วตรัสต่อไปว่า


"ผู้ทำบาปย่อมเดือดร้อนทั้งในโลกนี้และโลกหน้า"

เป็นต้น ดังได้พรรณนาไว้แล้วแต่เบื้องต้น


:b51: :b51:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๕๔๕

พระเทวทัต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=27616

ปฐมเหตุการจองเวรของพระเทวทัต
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?t=40936

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 มี.ค. 2013, 14:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
"ปาริชาต, ปาริฉัตร" หรือ "ต้นทองหลาง"
ต้นไม้ที่ปรากฏชื่อในพระไตรปิฎกว่าเป็นต้นไม้บนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
และพระพุทธเจ้าทรงใช้เปรียบเทียบเพื่อแสดงพุทธโอวาทอบรมภิกษุอีกด้วย



ผู้เพลิดเพลินในโลกทั้งสอง

:b44: :b44:

พระพุทธภาษิต

อธิ นนฺทติ เปจฺจ นนฺทติ กตปุญโญ อุภยตฺถ นนฺทติ
ปุญญํ เม กตนฺติ นนฺทติ ภิยฺโย นนฺทติ สุคตึ คโต

คำแปล

ผู้ได้ทำบุญไว้ ย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง คือทั้งในโลกนี้และโลกหน้า
เขาย่อมเพลิดเพลินว่า "เราได้ทำบุญไว้แล้ว" เมื่อไปสู่สุคติ ย่อมเพลิดเพลินมากขึ้น


:b45: :b45:

อธิบายความ

ความเพลิดเพลินเป็นความต้องการของคนทุกคน
ต่างกันแต่เพียงเรื่องที่จะนำความเพลิดเพลินมาให้เท่านั้น
บางคนเพลิดเพลินด้วยการทำชั่ว เช่น ฆ่าสัตว์ ลักทรัพย์
ประพฤติผิดในกาม พูดเท็จ เป็นต้น
บางคนเพลิดเพลินด้วยอบายมุขเช่น เล่นการพนัน เที่ยวกลางคืน

บางคนเพลิดเพลินด้วยดนตรี, บางคนด้วยการค้นหากำไร,
บางคนด้วยการเล่นการเมืองหาชื่อเสียง ฯลฯ มากมายเหลือจะจาระไนได้หมด

แต่รวมความว่า คนทุกคนชอบความเพลิดเพลิน
ในบรรดาสิ่งที่ให้ความเพลิดเพลินทั้งหลาย
"การทำบุญ" และ "การประกอบกรรมดี"
ก็เป็นความเพลิดเพลินอย่างหนึ่งของคนดี
และดูเหมือนจะเป็นความเพลิดเพลินที่ดีที่สุด เพราะยั่งยืนกว่าบริสุทธิ์กว่า
และเป็นทางนำตนไปสู่ความพ้นทุกข์ได้ด้วย


:b51: :b51:

เรื่องประกอบ เรื่องสุมนาเทวี

สุมนาเทวีเป็นธิดาคนเล็กของท่านอนาถปิณทิกเศรษฐี
เป็นตัวแทนของเศรษฐีเกี่ยวกับการจัดงานเลี้ยงพระทำบุญที่บ้าน
เพราะโดยปกติเศรษฐีไม่ค่อยได้อยู่บ้าน มีงานรับเชิญมาก
ต้องไปงานนั้นงานนี้อยู่เป็นประจำไม่ได้ขาด นางวิสาขามหาอุบาสิกาก็เหมือนกัน

งานใดที่ไม่เชิญท่านทั้งสองนี้ไป คนทั้งหลายก็ติเตียนเจ้าของงานนั้น
เช่นว่า "งานอะไรกันจ่ายทรัพย์ตั้งแสน แต่ไม่เชิญท่านผู้เป็นมงคลทั้งสองมา"

คนทั้งหลายในเมืองสาวัตถี มีความเคารพรักใคร่ท่านทั้งสองด้วย
และเพื่อป้องกันการติเตียนด้วย จึงต้องเชิญท่านทุกครั้งไป

แต่งานเลี้ยงพระที่บ้านของท่านทั้งสองก็มีเหมือนกัน มีเป็นประจำทุกวันเสียด้วย
บ้านท่านอนาถปิณทิกะเลี้ยงพระวันละสองพันรูป บ้านนางวิสาขาก็สองพันรูปเหมือนกัน

ท่านทั้งสองจึงหาทางแก้ไขโดยหาบุคคลที่สมควรทำงานแทนตนได้ให้อยู่รับงาน
ส่วนตนจะได้ไปในงานรับเชิญได้โดยไม่ต้องกังวล
นางวิสาขาได้ให้หลานหญิงคนหนึ่งเป็นผู้ดูแลแทนตน

ส่วนอนาถปิณทิกะ ก็ให้ธิดาคนใหญ่ชื่อมหาสุภัททาแทนตน
เมื่อมหาสุภัททาทำงานนี้อยู่ เลี้ยงพระและฟังธรรมเนืองๆ เข้า
ได้เป็นโสดาบันแล้วแต่งงานไปอยู่กับสามี เศรษฐีจึงให้จุลสุภัททา น้องสาวแทน
ต่อมานางได้เป็นโสดาบันแต่งงานแล้วไปอยู่กับสามีเสียอีก

คราวนี้เศรษฐีตั้งธิดาคนเล็กชื่อสุมนาเทวีให้เป็นผู้จัดการ
เธอฟังธรรมอยู่บ่อยๆ ได้บรรลุสกทาคามิผล
ต่อมาเธอป่วยมีความกระสับกระส่าย ให้คนไปตามบิดามา
เศรษฐีรีบกลับมาจากงานมงคลแห่งหนึ่ง

เมื่อท่านเศรษฐีถามว่า เป็นอะไรไปหรือลูก?
เธอเรียกเศรษฐีว่า "น้องชาย"

"ลูกเพ้อไปหรือ"

"ไม่เพ้อ น้องชาย"

"ลูกกลัวหรือ?"

"ไม่กลัวน้องชาย"

สุมนาพูดได้เพียงเท่านั้นก็สิ้นใจ

เศรษฐีแม้จะเป็นโสดาบันแล้วก็ไม่อาจกลั้นความโศกได้
เมื่อปลงศพธิดาเสร็จแล้วก็ร้องไห้ไปเฝ้าพระศาสดา
กราบทูลเรื่องทั้งปวงให้ทรงทราบ

"ความตายเป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ ท่านร้องไห้ทำไม?"
พระศาสดาตรัสปลอบ

"ข้าพระพุทธเจ้ารู้ข้อนั้น" เศรษฐีทูล
"แต่ธิดาของข้าพระองค์เป็นคนดีเหลือเกิน
ข้าพระองค์เสียใจอยู่ว่า เธอผู้มีหิริโอตตัปปะมีใจประกอบด้วยกุศลเห็นปานนั้น
เมื่อจวนตายยังเพ้อ หลงทำกาลกิริยา โทมนัสจึงเกิดแก่ข้าพระองค์ไม่น้อย"


เศรษฐีได้ทูลเล่าเรื่องที่ตนสนทนากับธิดาโดยสิ้นเชิง

พระศาสดาผู้มีพระญาณอันมิได้ติดขัด จึงตรัสว่า

"เศรษฐี! ที่ธิดาของท่านพูดเช่นนั้น
นางหาได้เรียกท่านว่าน้องชายในความหมายธรรมดาไม่
แต่ท่านเป็นน้องชายของนางโดยมรรคและผล
นางได้เป็นใหญ่กว่าท่านโดยมรรคและผล ท่านเป็นเพียงโสดาบัน
ส่วนนางได้เป็นสกทาคามีแล้ว นางจึงเรียกท่านว่าน้องชาย"


เศรษฐีแสดงอาการปลาบปลื้ม และถาม

"เวลานี้ นางเกิดที่ไหน พระเจ้าข้า?"

"เกิดแล้ว ในภพดุสิต" พระศาสดาตรัสตอบ

เศรษฐีทูลว่า "ธิดาของข้าพระองค์เพลิดเพลินอยู่ในหมู่ญาติในโลกนี้
ละโลกนี้ไปแล้ว ยังเพลิดเพลินในเทวโลกอีกหรือ?"


"อย่างนั้นแล เศรษฐี บุคคลผู้ไม่ประมาท เป็นบรรพชิตหรือคฤหัสถ์ก็ตาม
ย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง"

ดังนี้แล้ว ตรัสพระคาถาซึ่งได้ยกขึ้นกล่าวแล้วแต่เบื้องต้นว่า

"ผู้ได้ทำบุญไว้ ย่อมเพลิดเพลินในโลกทั้งสอง" เป็นต้น


:b44: :b44:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๕

:b48: :b48: :b48: :b48:


ผู้มีส่วนและไม่มีส่วนแห่งสามัญผล

พระพุทธภาษิต

พหุมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน น ตกฺกโร โหติ นโร ปมตฺโต
โคโปว คาโว คณยํ ปเรสํ น ภาควา สามญฺญสฺส โหติ
อปฺปมฺปิ เจ สหิตํ ภาสมาโน ธมมสฺส โหติ อนุธมฺมจารี
ราคญฺจ โทสญฺจ ปหาย โมหํ สมฺมปฺปชาโน สุวิมุตฺตจิตฺโต
อนุปาทิยาโน อิธ วา หุรํ วา ส ภาควา สามญฺญสฺส โหติ

คำแปล

บุคคลแม้จะกล่าวธรรมที่มีประโยชน์ได้มาก
แต่มิได้ประพฤติตามธรรมนั้น ก็จัดว่าเป็นผู้ประมาท ย่อมไม่มีส่วนแห่งสามัญผล
เหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค คอยนับโคให้คนอื่น ไม่ได้ดื่มปัญจโครส

ฝ่ายบุคคล แม้จะกล่าวธรรมที่มีโยชน์ได้น้อย แต่เป็นผู้ประพฤติตามธรรม
ละราคะ โทสะ และโมหะได้เป็นผู้รู้ชอบ มีจิตหลุดพ้นด้วยดี
ไม่ยึดมั่นถือมั่นทั้งในโลกนี้และโลกอื่น ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล


:b50: :b50:

อธิบายความ

สามัญผล แปลตามตัวอักษรว่า ผลแห่งความเป็นสมณะ
อย่างที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงในสามัญผลสูตร อันมีตั้งแต่ผลเบื้องต่ำ
เช่น เคยเป็นทาสก็พ้นจากทาส จนถึงผลขั้นสูง คือหลุดพ้นจากอาสวะทั้งมวล


มองอีกปริยายหนึ่ง ตีความให้ใช้ได้ทั่วไปทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์
สามัญผล อาจหมายถึงผลแห่งความรู้ คือไม่รู้เสียเปล่า
นำเอาความรู้นั้นมาใช้ประโยชน์ มาปฏิบัติตามให้เกิดความดีงามขึ้นในตน

มิใช่เพียงแต่รู้ธรรม กล่าวธรรมแต่ไม่ประพฤติธรรม

คนที่รู้ธรรม กล่าวธรรม แต่ไม่ประพฤติธรรมนั้น
ทรงเปรียบเหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค รุ่งขึ้นก็รับโคไปเลี้ยงเย็นลงก็นับโคส่ง
แต่ไม่ได้กินนมโค ไม่ได้อะไรจากโค นอกจากค่าเลี้ยงประจำวัน
เทียบกับผู้รู้มาก แสดงธรรมได้มาก มีศิษย์มาก ผลที่เขาได้รับก็คือปัจจัย ๔
ความเคารพนับถือจากศิษย์ แต่ไม่ได้สมาธิและวิปัสสนา อย่างนี้ท่านว่ายังประมาทอยู่

ส่วนบางท่าน รู้ธรรมน้อย กล่าวธรรมได้น้อย
แต่ปฏิบัติตามธรรมได้มาก สามารถละกิเลสอันละได้ยาก
คือราคะ โทสะและโมหะ จิตหลุดพ้นด้วยดี ไม่มีความยึดมั่นถือมั่น
อย่างนี้ท่านว่าได้เป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล ได้รับผลแห่งความเป็นสมณะ


จุดใหญ่ใจความก็คือ ให้ปฏิบัติธรรมตามสมควรแก่เพศภูมิของตนๆ
เพื่อมิให้ความรู้และการเรียนเสียเปล่า อีกนัยหนึ่งให้ได้ผลคุ้มค่าดังเรื่องต่อไปนี้


:b44: :b44:

เรื่องประกอบ เรื่องภิกษุสองสหาย

ชาย ๒ คน ชาวเมืองสาวัตถี
ฟังพระธรรมของพระศาสดาแล้วเกิดความเลื่อมใส ออกบวชพร้อมกัน
อยู่ในสำนักอุปัชฌายะอาจารย์ ๕ พรรษาแล้ว
รูปหนึ่งเรียนกัมมฐานออกป่า ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "วิปัสสกภิกษุ"
ส่วนอีกรูปหนึ่ง พอใจเรียนปริยัติ หรือคันถธุระ ซึ่งต่อไปนี้จะเรียกว่า "คันถิกภิกษุ"

พระวิปัสสกะ พยายามอยู่ไม่นานก็ได้บรรลุพระอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

ส่วนพระคันถิกะเรียนพระไตรปิฎกจนแตกฉานได้เป็นอาจารย์ของภิกษุประมาณ ๕๐๐
เป็นอาจารย์ของคณะถึง ๑๘ คณะ รวมความว่าเป็นคณาจารย์ใหญ่


ภิกษุเป็นอันมากเรียนกัมมฐานในสำนักพระศาสดา
แล้วไปสู่สำนักของพระวิปัสสกะ สมัครตนเป็นศิษย์ของท่าน
อยู่บำเพ็ญวิปัสสนาไม่นานก็ได้สำเร็จอรหัตตผล พร้อมด้วยปฏิสัมภิทาทั้งหลาย

ภิกษุเหล่านั้น มีความประสงค์จะเฝ้าพระศาสดาจึงเรียนท่านว่า
"กระผมทั้งหลายใคร่ไปเฝ้าพระศาสดา"

"ไปเถิดท่านผู้มีอายุ" พระวิปัสสกะกล่าว
"ท่านทั้งหลายจงถวายบังคมพระศาสดา
และนมัสการพระสาวกผู้ใหญ่ ๘๐ รูป ในนามของเราด้วย (ฝากนมัสการ)
อนึ่งมีภิกษุผู้เป็นสหายของเราอยู่รูปหนึ่ง
ท่านทั้งหลายจงนมัสการภิกษุนั้นในนามของเราด้วย"

ภิกษุเหล่านั้นไปถวายบังคมพระศาสดา พระอสีติมหาสาวก
และภิกษุผู้เป็นสหายของอาจารย์ตามลำดับ

"ใครคืออาจารย์ของพวกท่าน?" พระคันถิกะภิกษุถาม

"ภิกษุผู้สหายของท่านที่บวชพร้อมกัน" ภิกษุทั้งหลายตอบ

เมื่อภิกษุทั้งหลายเดินทางมาเชตวนาราม
วิปัสสกภิกษุได้ส่งข่าวมาเยี่ยมเยียนภิกษุผู้สหายเนืองๆ
จนภิกษุผู้สหายประหลาดใจว่า

"สหายของเราบวชแล้วเข้าป่า ไม่ได้เรียนพระไตรปิฎกเลย
ไม่รู้ธรรมอะไรมาก ยังสามารถมีศิษย์ได้มากมายถึงปานนี้
เมื่อท่านมาเฝ้าพระศาสดา เราจักถามปัญหาดู"


ต่อมาวิปัสสกภิกษุมาเฝ้าพระศาสดา เก็บบาตรและจีวรไว้ในสำนักของพระคันถิกะ
เมื่อเฝ้าพระศาสดาและนมัสการพระอสีติมหาสาวกเสร็จ
ก็มาพักที่สำนักของพระคันถิกะผู้สหาย

พระคันถิกะ ให้ศิษย์ของตนปฏิบัติพระวิปัสสกะ
แล้วนั่งบนอาสนะเสมอกัน ตั้งใจจะถามปัญหา


พระศาสดาทรงทราบเหตุการณ์นั้นด้วยพระญาณ ทรงดำริว่า
"คันถิกภิกษุจะพึงตกนรก เพราะเบียดเบียนพระวิปัสสกภิกษุ"
ดังนี้แล้ว ทรงอาศัยเมตตานุเคราะห์ในคันถิกภิกษุนั้น
จึงทรงกระทำประหนึ่งว่าเสด็จเที่ยวจาริกในวิหารมาถึงสำนักของคันถิกภิกษุแล้ว
ประทับนั่งบนอาสนะ แล้วตรัสถาม ปัญหาหลายอย่าง
เริ่มต้นแต่ปัญหาเกี่ยวกับปฐมฌาน แก่คันถิกภิกษุ
ไปจนถึงปัญหาในรูปสมบัติ และอรูปสมาบัติ
แต่ภิกษุนั้นตอบไม่ได้เลยสักปัญหาเดียว เมื่อทรงถามวิปัสสกภิกษุท่านตอบได้

ทรงถามปัญหาเกี่ยวกับโสดาปัตติมรรค จนถึงอรหัตตผล
คันถิกภิกษุตอบไม่ได้ แต่วิปัสสกภิกษุตอบได้
พระศาสดาทรงประทานสาธุการแก่วิปัสสกภิกษุนั้น


พวกเทวดาก็ช่วยกันสาธุการด้วย พวกสัทธิวิหาริก อันเตวาสิกของพระคันถิกะ
ตำหนิพระศาสดาว่า ทรงประทานสาธุการแก่พระเถระแก่ซึ่งไม่รู้อะไร
ส่วนอาจารย์ของพวกตน พระศาสดาไม่ทรงกระทำแม้สักว่าการชมเชย
สรรเสริญ อาจารย์ของพวกตนเป็นอาจารย์ของภิกษุถึง ๕๐๐

พระศาสดาจึงว่า

"ภิกษุทั้งหลาย! อาจารย์ของพวกเธอเป็นเหมือนคนเลี้ยงโค
ได้เพียงค่าจ้างในศาสนาของเรา ส่วนวิปัสสกภิกษุบุตรของเราเป็นเหมือนเจ้าของโค
ได้บริโภคแล้วซึ่งปัญจโครสตามชอบใจของตน"


ดังนี้แล้ว ตรัสต่อไปว่า

"บุคคล แม้จะกล่าวธรรมที่มีประโยชน์ได้มาก
แต่มิได้ประพฤติธรรมนั้น ก็จัดว่าเป็นผู้ประมาท
ย่อมไม่มีส่วนแห่งสามัญผล เหมือนคนรับจ้างเลี้ยงโค
คอยนับโคให้คนอื่นไม่ได้ดื่มปัญจโครส

ฝ่ายบุคคล แม้จะกล่าวธรรมที่มีประโยชน์ได้น้อย
แต่เป็นผู้ประพฤติธรรม ละราคะ โทสะและโมหะได้
เป็นผู้รอบรู้มีจิตหลุดพ้นด้วยดี ไม่ยึดมั่นถือมั่นในโลกนี้และในโลกอื่น
ย่อมเป็นผู้มีส่วนแห่งสามัญผล"


:b45: :b45:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๕

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นปาริชาติ หรือต้นทองหลาง คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19564

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 มี.ค. 2013, 03:30 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ
ต้นมะขามป้อม (ต้นอามัณฑะ)
พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๑ พระนามว่า พระปุสสพุทธเจ้า
ได้ประทับตรัสรู้ ณ ควงไม้มะขามป้อม หลังทรงบำเพ็ญเพียรอยู่ ๗ วัน



ผู้ไม่ตาย

พระพุทธภาษิต

อปฺปมาโท อมตํ ปทํ ปมาโท มจฺจุโน ปทํ
อปฺปมตฺตา น มียนฺติ เย ปมตฺตา ยถา มตา
เอตํ วิเสสโต ญตฺวา อปฺปมาทมฺหิ ปณฺฑิตา
อปฺปมาเท ปโมทนฺติ อริยานํ โคจเร รตา
เต ฌายิโน สาตติกา นิจฺจํ ทฬฺหปรกฺกมา
ผุสนฺติ ธีรา นิพฺพานํ โยคกฺเขมํ อนุตฺตรํ

คำแปล

ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย ความประมาทเป็นทางแห่งความตาย
ผู้ไม่ประมาทชื่อว่าย่อมไม่ตาย ส่วนผู้ประมาทเหมือนผู้ตายแล้ว
บัณฑิตรู้ความสองประการนี้โดยความแตกต่างกัน
คือ รู้ความแตกต่างกันทั้งสองประการนี้แล้ว ตั้งอยู่ในความไม่ประมาท
บันเทิงในความไม่ประมาท พอใจในธรรมเครื่องอยู่ของพระอริยเจ้าทั้งหลาย
บัณฑิตเหล่านั้นเป็นผู้มีฌาน มีความเพียรมั่นคงติดต่อไม่ขาดสาย
ย่อมถูกต้องนิพพาน อันเป็นธรรมเกษมจากโยคะอันยอดเยี่ยม


:b42: :b42:

อธิบายความ

ในอังคุตตรนิกายเอกนิบาต พระศาสดาตรัสว่า

"ไม่มีธรรมอะไรอื่นแม้สักอย่างหนึ่ง
อันจะเป็นไปเพื่อโทษใหญ่เท่ากับความประมาท
และทำนองเดียวกัน ไม่มีธรรมใดแม้สักอย่างเดียว
อันเป็นไปเพื่อประโยชน์ใหญ่เท่ากับความไม่ประมาท"


ความประมาทนั้น โดยใจความได้แก่ความนอนใจว่าไม่เป็นไร,
การขาดความระวัง พระอรรถกถาจารย์ชอบอธิบายว่า
ความประมาทคือการอยู่โดยปราศจากสติ (สติวิปฺปวาโส)
ถ้าสติหมายถึงการระมัดระวัง คำอธิบายของท่านก็ได้ความดีมาก
บางแห่งท่านเปรียบสติว่าเหมือนแขกยาม (ชาคริโก พฺราหฺมโณ)
ต้องคอยระวังคนเข้าคนออกอยู่เสมอ
สติก็เหมือนกันต้องคอยระวังอารมณ์เข้าอารมณ์ออก ทางตา หู จมูก เป็นต้น
สติจึงเป็นตัวความไม่ประมาท นี่อธิบายตามแนวของพระอรรถกถาจารย์

แต่สติตามที่ปรากฏในส่วนที่เป็นพระพุทธพจน์นั้น
เท่าที่ได้เคยพบมามี ๒ นัยคือ

นัยที่ ๑ หมายถึงความระวัง
เช่นที่ตรัสตอบปัญหาของอชิตมานพศิษย์พราหมณ์พาวรีซึ่งทูลถามว่า

"อะไรเป็นเครื่องห้ามเป็นเครื่องกั้นความอยาก ซึ่งเป็นดุจกระแสน้ำ
หลั่งไหลไปในอารมณ์ทั้งปวง ความอยากนั้นละได้ด้วยธรรมอะไร?"


พระพุทธองค์ตรัสตอบว่า

"เรากล่าวว่าสติเป็นเครื่องห้าม
เป็นเครื่องกั้นความอยาก ความอยากนั้นละได้ด้วยปัญญา"


ในมหาสติปัฏฐานสูตรก็เหมือนกัน สติมีความหมายในทางระวังอารมณ์

นัยที่ ๒ สติหมายถึงการระลึกถึงกิจที่เคยทำและคำที่เคยพูดไว้แล้วแม้นานได้
เช่นที่ตรัสในนาถกรณธรรมสูตร เป็นต้น ระลึกได้ว่าเคยพูดไว้อย่างไร เคยทำไว้อย่างไร

ความไม่ประมาท อาจคลุมถึงสติทั้งสองลักษณะนี้
แต่เน้นหนักไปในความระวัง เช่น ที่ทรงแสดง
เรื่อง ควรทำความไม่ประมาทใน ๔ สถาน คือ

๑. ระวังไม่ให้กำหนัดในอารมณ์อันน่ากำหนัด

๒. ระวังใจไม่ให้ขัดเคืองในอารมณ์อันน่าขัดเคือง

๓. ระวังใจไม่ให้หลงในอารมณ์อันน่าหลง

๔. ระวังใจไม่ให้มัวเมาในอารมณ์อันน่ามัวเมา


พระพุทธองค์ทรงตำหนิความประมาทไว้มาก
และทรงสรรเสริญความไม่ประมาทไว้มากเช่นกัน
เช่นว่า เป็นที่รวมแห่งกุศลธรรมทั้งมวล เป็นธรรมอันเลิศ
เป็นธรรมอันยังพระพุทธศาสนาให้เจริญมั่นคง ฯลฯ
ในที่นี้ทรงสรรเสริญว่า ความไม่ประมาทเป็นทางไม่ตาย
กล่าวคือเป็นทางแห่งพระนิพพาน
ส่วนความประมาทเป็นทางแห่งความตาย คือเป็นทางเสี่ยง
เป็นทางอบาย เป็นทางทำลายคุณงามความดีทั้งปวง

ความไม่ประมาท ทรงเรียกว่า เป็นอมตบทคือ เป็นทางให้ถึงพระนิพพาน

คนยังประมาทอยู่ตราบใด ย่อมยังต้องเวียนเกิดเวียนตายอยู่ในสังสารวัฏตราบนั้น
เพราะฉะนั้น ความประมาทจึงชื่อว่าเป็นทางแห่งความตาย

บัณฑิตรู้ความแตกต่างแห่งธรรมสองอย่างนี้แล้วย่อมพอใจแต่ในความไม่ประมาท
เห็นแจ้งว่าความประมาทเป็นเหตุแห่งความผิดพลาด
ความต้องเสียใจภายหลัง ความย่อยยับทั้งในทางโลกและทางธรรม

ความไม่ประมาทย่อมเป็นทางแห่งความเจริญก้าวหน้า
ตั้งแต่เรื่องธรรมดาไปจนถึงเป็นเครื่องมือแห่งการบรรลุพระนิพพานอันเกษมจากโยคะ

เพราะเหตุนี้ในปรินิพพานสมัย พระศาสดาจึงทรงเตือน
ให้ภิกษุทั้งหลายอยู่ด้วยความไม่ประมาท ถือกันว่านั่นเป็นปัจฉิมโอวาทแห่งพระองค์


:b44: :b44:

เรื่องประกอบ เรื่องพระนางสามาวดี

พระนางสามาวดี เดิมทีชื่อ สามา เป็นธิดาเศรษฐีนามภัททวดีย์ในภัททวดีนคร
เป็นสหายกับโฆสกเศรษฐีแห่งเมืองโกสัมพี ท่านเรียกว่าเป็น "อทิฏฐบุพพสหาย"
แปลว่า เพื่อนที่ไม่เคยเห็นกัน กล่าวคือ เศรษฐีทั้งสองต่างได้ทราบเกียรติคุณของกันและกัน
จากหมู่พ่อค้าที่เดินทางไปมาค้าขายระหว่างเมืองทั้งสอง
แล้วต้องการคบกันไว้เป็นมิตร ต่างก็ส่งบรรณาการให้กันโดยฝากพ่อค้าไป

คราวหนึ่งเกิดอหิวาตกโรคขึ้นในเมืองภัททวดี เป็นโรคระบาดที่ทำลายชีวิตคนมาก
(เมืองอินเดียโดยปกติสกปรกมาก เมื่อเกิดโรคระบาดคนตายกันครั้งละมากๆ เสมอ)

เขามีเคล็ดอยู่อย่างหนึ่งคือ ถ้าจะหนีอหิวาต์
ต้องพังฝาเรือนหนีออกทางประตูให้ได้ ข้าพเจ้ายังสงสัยอยู่ว่า เป็นความจริงอย่างนั้นหรือ?
หรือคำว่า "ทำลายฝาเรือนหนีไป" เป็นเพียงสำนวนอย่างหนึ่ง (IDIOM)
แต่มีความหมายอย่างอื่น เช่นคำว่า "กินปูนร้อนท้อง"
ในภาษาของเรา มิได้หมายความว่ากินปูนจริง
แต่หมายความว่า เมื่อทำผิดแล้ว เดือดร้อนไปเอง
หรือว่า "คนนี้เป็นวัวสันหลังหวะ" ก็ไม่ได้หมายความเช่นนั้น,
แต่หมายความว่า "เป็นคนมีความผิดแล้วชอบระแวง" ดังนี้เป็นต้น

คำว่า "ทำลายฝาเรือนหนีไป" ก็เหมือนกัน
ถ้าเป็นอย่างนั้นจริงตรงตามตัวหนังสือก็แล้วไป ถือเป็นเคล็ดอย่างหนึ่งในการหนีอหิวาต์
เพราะในบาลีและอรรถกถาทุกแห่งพูดถึงการหนีอหิวาต์ครั้งใดก็ "ทำลายฝาเรือนหนีไป" ครั้งนั้น

รวมความว่าภัททวดีย์เศรษฐี และภรรยา รวมทั้งบุตรีคนหนึ่งชื่อสามา
หนีอหิวาต์ พากันมุ่งหน้าไปเมืองโกสัมพี เพื่อพึ่งพาอาศัยโฆสกเศรษฐีสหายกัน

ในระหว่างทาง เสบียงหมด แต่ต้องอดทนเดินต่อไปจนถึงประตูเมืองโกสัมพี
ทั้ง ๓ ต้องอิดโรยด้วยความหิว และลมแดดอย่างน่าสงสาร
ความอดทนอย่างเดียวทำให้ถึงเมืองโกสัมพี แต่ก็ถึงด้วยความยากลำบากเต็มทน

ทั้ง ๓ พักที่ศาลาหน้าเมือง เศรษฐีกล่าวขึ้นว่า
"สภาพของเราในเวลานี้ แม้มารดาบิดาก็ไม่ต้องการเห็น ไม่ต้องการพบ
เราควรบำรุงร่างกายให้ดีพอสมควรเสียก่อนแล้วจึงค่อยไปหาเศรษฐีสหายของเรา
ฉันทราบมาว่า โฆสกะสหายของเราสละทรัพย์วันละพันให้ทานแก่คนเดินทางและคนกำพร้า
คนยากจน เป็นต้น เราควรให้ลูกสาวสามาไปขออาหารมาเลี้ยงดูกัน
บำรุงสรีระให้กระปรี้กระเปร่าสักหน่อยหนึ่ง แล้วค่อยไปหาสหาย"


ภรรยาเศรษฐี และธิดาก็เห็นด้วยกันข้อปรารภของเศรษฐี

ในวันรุ่งขึ้นสามาถือภาชนะเดินปะปนไปกับคนขอทาน
คนกำพร้าอนาถาประเภทต่างๆ แน่นอน ความละอายต้องมีอยู่เป็นอันมาก
แต่ความจำเป็นคือความวิบัติได้เข้ามาตัดความละอายนั้นให้ขาดลง
เธอเดินก้มหน้าตามคนทั้งหลายไป
เมื่อถึงวาระของเธอ ผู้แจกทานชื่อมิตตกุฎุมพี ถามขึ้นว่า

"เธอรับกี่ส่วน?"

"๓ ส่วนค่ะ" เธอตอบ

มิตตกุฎุมพีก็มอบให้ ๓ ส่วน เธอได้นำอาหารมาให้มารดาบิดา
ฝ่ายมารดาพยายามอ้อนวอนให้สามีบริโภคก่อน
ส่วนตนและลูกหญิงจักบริโภคภายหลัง แต่เศรษฐีบริโภคมากเกินไป คืนนั้นอาหารไม่ย่อย
พอรุ่งเช้าก็สิ้นชีพ ความทุกข์ใหม่เกิดขึ้นแก่มารดาและลูกหญิงทั้งสองอีก

วันนั้นสามาไปขออาหาร ๒ ส่วน คนแจกทานก็ให้ตามต้องการ
เธอนำมาแล้วอ้อนวอนให้มารดาบริโภค มารดาของเธอบริโภคแล้วอาหารไม่ย่อยอีก
สิ้นชีพในวันนั้น คราวนี้สามามีความทุกข์โทมนัสอย่างใหญ่หลวง
วันรุ่งขึ้นร้องไห้คร่ำครวญไปกับขอทาน-ไปขออาหารจากมิตตกุฎุมพี

"ต้องการเท่าไร?"

"หนึ่งส่วนเจ้าค่ะ" เธอตอบ

มิตตกุฎมพีจำได้ จึงด่าใส่หน้าว่า

"จงฉิบหายเสียเถิดหญิงถ่อย,
เจ้าเพิ่งรู้จักประมาณท้องของเจ้าวันนี้เองหรือ? วันก่อนขอ ๓ ส่วน
เมื่อวานสองส่วน วันนี้ขอเพียงส่วนเดียว"


สามา-สตรีผู้กำเนิดและเจริญเติบโตในตระกูลอันไพศาลมั่งคั่งด้วยทรัพย์สมบัติ
เมื่อได้ฟังดังนี้ มีความรู้สึกประหนึ่งว่ามีอาวุธอันแหลมคมเสียบเข้าที่อก
หรือเหมือนใครเอาน้ำกรดมาราดรดบนแผล มันเจ็บแสบสุดจะพรรณนาได้
จึงร้องถามย้ำออกไปอีกว่า "ท่านว่าอะไรนะนาย?"

มิตตกุฎุมพีย้ำให้ฟังอีกเหมือนกันว่า

"วันก่อนเจ้ารับเอาไป ๓ ส่วน เมื่อวานนี้รับไป ๒ ส่วน
วันนี้รับเพียงส่วนเดียว ฉันถามเจ้าว่า เจ้าเพิ่งรู้จักประมาณท้องของตัววันนี้เองหรือ?"


"นาย! ท่านโปรดอย่าเข้าใจว่า ฉันรับไปเพื่อตัวคนเดียว,
ที่ฉันรับไป ๓ ส่วนวันก่อนนั้น เพราะเรามีอยู่ด้วยกัน ๓ คน คือ พ่อ แม่ และฉัน
วันก่อนนี้ พ่อฉันรับประทานอาหารแล้วตาย เมื่อวานนี้แม่รับประทานแล้วตาย
วันนี้จึงเหลือฉันเพียงคนเดียว ฉันจึงขอเพียงส่วนเดียว"


"พ่อแม่ของเจ้า คือใคร มาจากไหน
เมื่อพ่อแม่ตายหมดแล้ว เจ้าจะอยู่กับใคร" มิตตกุฎุมพีถามอย่างสงสารและเห็นใจ

สามาเล่าเรื่องทั้งปวงให้มิตตกุฎุมพีฟังมิได้ปิดบังอำพรางเลย

มิตตกุฎุมพีฟังแล้ว เศร้าใจเหลือเกินจนไม่อาจกลั้นน้ำตาได้
เอามือลูบศีรษะสามา จุมพิตที่ศีรษะด้วยเมตตาอย่างลูกแล้วกล่าวว่า

"อย่าคิดอะไรมากเลยสามา, เจ้าเป็นธิดาของภัททวดีเศรษฐีก็เหมือนเป็นธิดาของเรา
ตั้งแต่วันนี้ไปจงเป็นธิดาของเรา" ดังนี้แล้วพาไปเรือน เลี้ยงอย่างลูกหญิง
และให้เป็นลูกหญิงคนโต สามาก็มีความสุขขึ้น

ตามปกติ การรับทานที่โรงทานนั้นมีเสียงอึกทึกเอ็ดอึงมากเพราะแย่งกันเข้าไปรับ
แม้ปัจจุบันนี้ก็เหมือนกัน แจกอะไรให้แขกแม้พวกที่ได้รับการศึกษาแล้ว
ก็แย่งกันเอ็ดอึงจนน่าเวียนหัว ไม่ต้องกล่าวถึงพวกขอทานธรรมดา

สามา ธิดาเศรษฐีนามภัททวดีย์ในภัททวดีนครซึ่งเป็น "อทิฏฐบุพพสหาย"
แปลว่า เพื่อนที่ไม่เคยเห็นกัน ของโฆสกเศรษฐีแห่งเมืองโกสัมพี
เมื่อบิดามารดาตายลง มิตตกุฎุมพี คนแจกทานของโฆสกเศรษฐีแห่งเมืองโกสัมพี
มีความเมตตาสงสาร จึงรับไว้เป็นบุตรบุญธรรม

นางคงได้เห็นช่องทางอะไรบางอย่างตั้งแต่คราวที่ตนมาขอแล้ว
เมื่อได้ยินเสียงเอ็ดอึง วันหนึ่ง จึงพูดกับมิตตกุฎุมพีว่า
ไม่สามารถทำคนเหล่านั้นให้เงียบเสียงได้หรือ?
มิตตกุฎุมพีตอบว่าไม่สามารถทำได้ เธอจึงบอกว่า น่าจะทำได้

"ทำอย่างไร ลูก?"

"คุณพ่อให้คนล้อมโรงทานเข้า มีประตู ๒ ด้าน ด้านหนึ่งเข้าด้านหนึ่งออก
ให้เข้าและออกได้เป็นแถวเรียงหนึ่ง (แบบที่พวกเราสมัยนี้เข้าคิวซื้อตั๋วรถไฟ เป็นต้น)
เข้าทางหนึ่งออกอีกทางหนึ่ง ถ้าทำได้อย่างนี้เสียงเอ็ดอึง เสียงแย่งกันก็จะหมดไป"


มิตตกุฎุมพีเห็นว่าอุบายนั้นดี จึงได้ให้คนทำอย่างนั้น
เสียงเซ่งแซ่หมดไปจริงๆ มิตตกุฎุมพีสบายใจมาก

ฝ่ายโฆสกเศรษฐีเจ้าของทาน เคยได้ยินเสียงเซ่งแซ่ก็ยินดีว่าเป็นเสียงในโรงทานของตน
เมื่อไม่ได้ยิน ๒-๓ วัน ประหลาดใจเมื่อพบมิตตกุฎุมพีก็ถาม
รู้เรื่องทั้งปวงแล้ว จึงรับสามาไว้ในฐานะธิดาของตน
มอบหญิงอื่นจำนวนร้อยให้เป็นบริวาร

ชื่อของสามา ได้มีคำต่อท้ายว่า "วดี" เป็น สามาวดี
เพราะเธอให้ล้อมรั้วที่โรงทาน (วดี แปลว่า รั้ว-ว.ศ.)


สามาวดีมีความสุขความเพลิดเพลินอยู่ท่ามกลางบริวารไม่นานนัก
ชีวิตก็เปลี่ยนแปลงไปอีก

วันหนึ่ง เธอไปอาบน้ำที่ท่าน้ำกับบริวาร ในงานนักขัตฤกษ์
บังเอิญต้องเดินผ่านทางพระลานหลวง พระเจ้าอุเทนประทับอยู่ที่สีหบัญชร (หน้าต่าง)
ทอดพระเนตรเห็นสามาวดีแล้วเกิดปฏิพัทธ์ จึงตรัสถามราชบุรุษว่าเป็นใคร
เมื่อทรงทราบว่าเป็นธิดาของโฆสกเศรษฐี จึงทรงส่งพระราชสาส์นไปว่า
"ขอให้เศรษฐีมอบธิดาชื่อสามาวดีให้ฉัน"

แต่เศรษฐีไม่ยอมให้ เพราะเกรงลูกสาวจะไปลำบากในวัง
และเกรงว่าหากพลาดพลั้งลงอาจมีโทษถึงประหารชีวิต
หรือมิฉะนั้นอาจถูกโบยตีโดยพระราชอาญา

พระราชาอุเทนทรงส่งพระราชสาส์นไปถึง ๒ ครั้ง
แต่เศรษฐีก็คงยืนกรานอยู่นั่นเอง พระราชาทรงกริ้ว
จึงรับสั่งให้จับเศรษฐี และภรรยาคร่าออกนอกเรือนให้ตีตราปิดบ้านใครเข้าไม่ได้

สามาวดีทราบเรื่องเข้า จึงยอมถวายตัวแต่โดยดี
เป็นอันว่า พระเจ้าอุเทนได้สามาวดีเป็นพระมเหสีตามพระประสงค์
ตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสี แต่นั้นมานางก็เป็นพระนางสามาวดี

พระเจ้าอุเทนมีพระมเหสีหลายพระองค์ เช่น พระนางวาสุลทัตตา
พระราชธิดาของพระเจ้าจัณฑปัชโชตแห่งอุชเชนีนคร
และ พระนางนาคันทิยา สาวงามแห่งมาคัณทิยาคาม เป็นต้น
พระนางแรกไม่มีบทบาทอะไรที่เกี่ยวข้องกับพระนางสามาวดี
ส่วนพระนางหลังมีเรื่องเกี่ยวข้องอยู่มาก และเป็นผู้ก่อเหตุให้พระนางสามาวดีถูกเผาทั้งเป็น
จึงต้องขอเล่าเรื่องของพระนางไว้ในที่นี้ด้วย

พระนางมาคันทิยาเป็นบุตรีของพราหมณ์ชื่อ มาคันทิยะในแคว้นกุรุ (นิวเดลฮีปัจจุบัน)
ปรากฏว่าเป็นคนสวยมากปานเทพอัปสร เมื่ออยู่ในวัยสาวมีคนมาขอกันมาก
ล้วนแต่ตระกูลใหญ่ๆ ทั้งนั้น แต่พราหมณ์ผู้เป็นบิดาบอกว่า
คนเหล่านั้นไม่เหมาะสมกับบุตรีของตน จึงไม่ยอมให้

วันหนึ่ง พระศาสดาทรงตรวจดูสัตว์โลกในเวลาใกล้รุ่ง
ทรงเห็นอุปนิสัยของพราหมณ์มาคันทิยะ และภรรยา
ว่า หากพระองค์เสด็จไปโปรดก็จะสามารถสำเร็จอนาคามิผลได้
จึงเสด็จไปสู่ที่บูชาไฟของพราหมณ์นั้น
พราหมณ์ได้เห็นพระตถาคตผู้ทรงสมบูรณ์ด้วยพระลักษณ์ทุกประการแล้ว
คิดว่า "คนอื่นจะเลิศกว่านี้มิได้มี บุรุษผู้นี้สมควรแก่ธิดาของเรา
เราจะให้เขาครองเรือนอยู่ด้วยกัน"
แต่พระศาสดามิทรงรับและได้เหยียบรอยพระบาทไว้แล้วเสด็จเลี่ยงไปประทับที่อื่น


ท่านกล่าวว่ารอยพระบาทที่พระศาสดาทรงอธิษฐานแล้วเหยียบไว้นั้น
ทรงประสงค์ให้บุคคลใดเห็นบุคคลนั้นเท่านั้นจึงจะเห็น
รอยพระบาทนั้นจะไม่ลบเพราะช้างเหยียบ ฝนตกหนัก หรือลมพัดแรง

พราหมณ์และภรรยา พร้อมทั้งบุตรีเที่ยวเดินตามหาพระศาสดาแต่ไม่เห็น
นางพราหมณ์ได้เห็นรอยพระบาทก่อน ตรวจดูลักษณะพระบาทแล้วกล่าวกับสามีว่า
"นี้มิใช่รอยเท้าของผู้ข้องในกามารมณ์" แลแล้วได้กล่าวลักษณะแห่งเท้าว่า

"คนเจ้าราคะ รอยเท้ากระหย่ง (คือเว้ากลาง)
คนเจ้าโทสะ รอยเท้าหนักส้น
คนเจ้าโมหะ หนักทางปลายนิ้วเท้า
รอยเท้าเช่นนี้ เป็นรอยเท้าของคนไม่มีกิเลส"


พราหมณ์เที่ยวเดินตามหาจนพบพระพุทธเจ้า
จึงทูลขอให้รับลูกสาวของตนไว้เป็นภรรยา

พระศาสดาตรัสเล่าชีวประวัติของพระองค์ให้พราหมณ์ฟังตั้งแต่ต้นว่า
ทรงมีความสุขมาอย่างไร จนเสด็จออกผนวชถูกนางตัณหาราคาอรดียั่วเย้า
แต่หาทรงพึงพระทัยในนางเหล่านั้นไม่ แล้วตรัสย้ำว่า

"พราหมณ์เอย! เรามิได้พอใจในเมถุน (การเสพกาม)
เพราะได้เห็นนางตัณหา ราคา อรดี ผู้สวยเลิศ
ก็ไฉนเล่า เราจักพอใจในธิดาของท่านอันเต็มไปด้วยมูตรและกรีส (อุจจาระ ปัสสาวะ)
เราไม่ปรารถนาจะแตะต้องธิดาของท่านแม้ด้วยเท้า"
เป็นต้น

พระศาสดาทรงแสดงธรรมอื่นอีก โดยอเนกปริยาย
เมื่อจบลงพราหมณ์และพราหมณีได้บรรลุอนาคามิผล

ฝ่ายนางมาคันทิยาผูกอาฆาตในพระศาสดาว่า

"สมณะนี้ปากร้ายนัก เมื่อไม่ต้องการเราก็ควรจะบอกเพียงว่า ไม่ต้องการ
หรือตอบเลี่ยงอย่างใดอย่างหนึ่งโดยมารยาทอันดีของสุภาพบุรุษ
แต่นี่กลับดูหมิ่นเราว่าเต็มไปด้วยอุจจาระ ปัสสาวะ
เอาเถอะ เมื่อใด เราได้ภัสราอันพรั่งพร้อมด้วยชาติตระกูล ประเทศ โภคะ และวัยแล้ว
เราจักแก้แค้นพระสมณโคดมนี้ให้ได้"


มีปัญหาที่ถามกันอยู่เสมอว่า พระศาสดาตรัสคำเช่นนี้ทำไม?
พระองค์ไม่ทรงทราบหรือว่าเมื่อตรัสออกไปแล้ว นางมาคันทิยาจักผูกอาฆาตในพระองค์
พระอรรถกถาจารย์อธิบายไว้ว่า พระศาสดาทรงทราบดี
แต่ทรงมุ่งมรรคผลแก่พราหมณ์และพราหมณีทั้งสอง
ธรรมดาพระพุทธเจ้าย่อมไม่ทรงคำนึงว่าตรัสออกไปแล้วใครจะชอบหรือไม่ชอบ
แต่ทรงมุ่งประโยชน์เป็นที่ตั้ง ใครจะอาฆาตก็เป็นเรื่องของใครคนนั้น
พระวาจาที่พระองค์ตรัสนั้นต้องจริงและเป็นประโยชน์


ฝ่ายพราหมณ์ และพราหมณี สำเร็จ อนาคามิผลแล้ว
พามาคันทิยา บุตรีไปฝากกับจูฬมาคันทิยะผู้เป็นอา
แล้วออกบวชในสำนักพระศาสดา ไม่นานนักก็ได้สำเร็จอรหัตตผล

ฝ่ายจูฬมาคันทิยะ คิดว่าหลานของตนไม่สมควรแก่คนต่ำ จึงนำไปสู่โกสัมพี
ถวายแก่พระเจ้าอุเทน พระเจ้าอุเทนทรงรับไว้และแต่งตั้งไว้ในตำแหน่งอัครมเหสีมีบริวาร ๕๐๐

ขณะที่พระนางมาคันทิยา บุตรีของพราหมณ์ชื่อ มาคันทิยะในแคว้นกุรุ
(ผู้ซึ่งผูกพยาบาทพระศาสดาที่ทรงปฏิเสธตน)
ได้เป็นอัครมเหสีที่โปรดปรานของพระเจ้าอุเทนอยู่นั้น พระศาสดาก็เสด็จมาโกสัมพี

พระนางมาคันทิยาได้โอกาส จึงจ้างคนให้เที่ยวตามด่าพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์
จนพระอานนท์ทนไม่ไหวทูลให้เสด็จไปเมืองอื่น แต่พระศาสดามิได้ทรงหวั่นไหว
ตรัสกับพระอานนท์ว่า ถ้าไปไหนมีคนด่าแล้วหนี ก็ต้องหนีกันอยู่เรื่อยไป
ในที่สุดจะไม่มีแผ่นดินอยู่ พระศาสดาทรงเตือนและทรงยืนยันว่า

"เราจักอดทนต่อถ้อยคำล่วงเกินของผู้อื่น ดังช้างศึกในสงคราม
อดทนต่อลูกศรซึ่งมาจากทิศทั้ง ๔ เพราะคนส่วนมากเป็นคนชั่ว
บุคคลย่อมนำสัตว์พาหนะที่ฝึกแล้วไปสู่ที่ประชุม
สัตว์ที่ฝึกแล้วเป็นสัตว์ประเสริฐฉันใด ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น
คนที่ฝึกให้อดทนต่อคำล่วงเกินของผู้อื่นได้จัดว่าเป็นผู้ประเสริฐที่สุด"


พระศาสดาตรัสแก่พระอานนท์ว่า เรื่องที่เกิดขึ้นแก่พระพุทธเจ้าทั้งหลาย
จะสงบลงภายในวันที่ ๗ จะไม่เกินนั้น เพราะฉะนั้นอย่าได้วิตกไปเลย

ฝ่ายพระนางมาคันทิยาทราบว่าการจ้างคนให้เที่ยวตามด่าพระพุทธเจ้านั้น
ไม่สามารถให้พระองค์เสด็จออกจากเมืองโกสัมพีได้
จึงคิดว่า พระนางสามาวดีเป็นผู้เลื่อมใสในพระพุทธเจ้าและภิกษุสงฆ์
คอยอุปถัมภ์บำรุงอยู่ พระพุทธเจ้าจึงอยู่ได้ หากกำจัดพระนางสามาวดีเสีย
พระพุทธเจ้าขาดผู้อุปถัมภ์บำรุงก็จะเสด็จออกจากเมืองโกสัมพีไปเอง

พระนางหาเรื่องจะใส่ความ พระนางสามาวดีว่าคิดนอกพระทัยพระเจ้าอุเทน
เอาพระทัยไปฝักใฝ่กับพระพุทธเจ้า แต่พระเจ้าอุเทนทรงเฉยเสีย

ตามปกติ พระราชาจะประทับที่ปราสาทของพระนางทั้ง ๓
คือ พระนางสามาวดี พระนางวาสุลทัตตา และพระนางมาคันทิยา แห่งละ ๗ วัน
พระนางมาคันทิยาทราบว่าอีกวันสองวันพระราชาจักเสด็จไปปราสาทของพระนางสามาวดี
จึงสั่งข่าวให้อาว์ว่า ให้นำงูตัวหนึ่งมาให้ และให้ถอนเขี้ยวออกให้หมดเสียก่อน
พระนางได้งูมาแล้วเอางูใส่ไว้ในช่องหนึ่งในรางพิณแล้วเอากล่องดอกไม้อุดเสีย
งูนอนอยู่ในรางพิณนั้น ๒-๓ วัน

ในวันที่พระราชาจะเสด็จสู่ปราสาทของพระนางสามาวดี
พระนางมาคันทิยาทูลว่า "มหาราช! หม่อมฉันสุบินร้าย พระองค์ไม่ควรเสด็จไปที่นั่น"
แต่พระราชาไม่ทรงเชื่อ พระนางทูลถึง ๓ ครั้ง เมื่อราชาทรงยืนยันอยู่
พระนางก็ขอตามเสด็จด้วย พระเจ้าอุเทนรับสั่งให้กลับก็ไม่ยอมกลับ
ทรงอ้างว่า ไม่ทราบจะมีเหตุร้ายอะไรเกิดขึ้นที่ตามเสด็จมาก็เพราะทรงเป็นห่วง

พระราชเสด็จไปไหนก็ทรงนำพิณคู่พระทัยไปด้วย
ทรงวางไว้เบื้องบนพระเศียรแล้วบรรทม พระนางมาคันทิยาเสด็จกลับไปกลับมา อยู่ในห้องบรรทม
เมื่อได้โอกาสก็นำเอากลุ่มดอกไม้ในรางพิณออก
งูซึ่งอดอาหารมา ๒-๓ วัน แล้วเลื้อยออกมาแผ่พังพานอยู่บนพระแท่นบรรทม
พระนางมาคันทิยาจึงได้ทีใส่ความพระนางสามาวดีว่าคิดปลงพระชนม์พระองค์

พระราชาทรงพิโรธมาก เพราะหลายครั้งหลายครามาแล้ว
แต่ไม่ประจักษ์ชัดเหมือนคราวนี้
ทรงโก่งธนูจะยิงพระนางสามาวดีและหญิงบริวารเสียให้สิ้น

พระนางสามาวดีให้โอวาทแก่บริวารของตนว่า
"ที่พึ่งอย่างอื่นไม่มีอีกแล้ว ขอพวกเราจงแผ่เมตตาไปยังพระราชาพระเทวี
และในตนให้มีจิตสม่ำเสมอ อย่าได้โกรธใครเลย"


ธนูของพระเจ้าอุเทนนั้นร้ายแรงนัก ว่าสามารถทำลายแม้ศิลาแท่งทึบได้
ทรงปล่อยลูกศรอาบยาพิษมุ่งอุรประเทศของพระนางสามาวดี
แต่ด้วยอำนาจแห่งเมตตานุภาพ ลูกศรได้หวนกลับมายังพระองค์
มีอาการประหนึ่งว่าจะเจาะหทัยของพระองค์แล้วตกลง

พระราชาทรงดำริว่า ลูกศรไม่มีจิตยังรู้คุณของพระนางสามาวดี
ก็เราเป็นผู้มีจิตไฉนจึงไม่รู้คุณของพระนาง
ดังนี้แล้วทรงทิ้งธนู ทรงนั่งกระโหย่ง ประคองอัญชลีอยู่แทบพระบาทของพระนางสามาวดี
ขอให้พระนางสามาวดีทรงเป็นที่พึ่งของพระองค์

แต่พระนางทูลว่า ขออย่าได้ทรงถือพระนางเป็นที่พึ่งเลย
พระนางถือผู้ใดเป็นที่พึ่ง ขอพระองค์จงถือผู้นั้นเป็นที่พึ่งด้วย
ผู้นั้นคือพระสัมมาสัมพุทธเจ้า ผู้ยอดเยี่ยมไม่มีใครเสมอเหมือน


พระราชาได้ความเลื่อมใสพระศาสดาแล้ว
ทรงนิมนต์พระพุทธองค์และภิกษุสงฆ์เสวยที่พระราชนิเวศน์ ๗ วัน
ทรงขอร้องให้พระนางสามาวดีรับพร พระนางจึงทูลขอพรว่า
ขอให้อาราธนา พระศาสดาและภิกษุสงฆ์มาเสวยในพระราชวังเป็นเนืองนิตย์
พระนางไม่ต้องการอย่างอื่น พระราชาจึงทูลอาราธนาพระศาสดา

แต่พระพุทธองค์ตรัสว่า

"มหาบพิตร! ธรรมดาพระพุทธเจ้าไม่ควรไปเสวยในที่เดียวเป็นประจำ
เพราะประชาชนย่อมต้องการให้พระพุทธเจ้าเสด็จไปยังบ้านเรือนของเขาบ้าง"


"ถ้าอย่างนั้น ขอพระองค์จงทรงมอบหมายให้เป็นหน้าที่ของภิกษุรูปใดรูปหนึ่งด้วยเถิด"

พระศาสดา ทรงมอบหมายหน้าที่นั้นให้พระอานนท์ตั้งแต่นั้นมา
พระอานนท์ก็พาภิกษุประมาณ ๕๐๐ รูป ไปสู่ราชสกุลเป็นเนืองนิตย์
พระนางสามาวดีและบริวารก็ได้ถวายทาน ได้ฟังธรรมอยู่เนืองนิตย์เช่นเดียวกัน

ส่วนพระนางมาคันทิยา มีความคั่งแค้นเพิ่มพูนขึ้น
เพราะตนได้ทำสิ่งใดลงไป คาดผลอย่างหนึ่ง แต่ผลอีกอย่างหนึ่งกลับเกิดขึ้น
ยิ่งกว่านั้น พระราชายังไปเลื่อมใสในพระสมณโคดมเสียอีก
พระนางทรงดำริว่า "คราวนี้ขอเป็นครั้งสุดท้าย สามาวดีเอ๋ย มึงต้องตายอย่างแน่นอน"

พระนางขอร้องให้อาว์มาคันทิยะไปสู่ปราสาทของพระนางสามาวดี
เปิดเรือนคลังแล้วเอาผ้าชุบน้ำมันแล้วพันเสาปราสาท
ขังหญิงซึ่งมีพระนางสามาวดีเป็นประมุขไว้
ในห้องลั่นดานประตูภายนอกเสียแล้ว เผาปราสาท

ขณะนั้นพระเจ้าอุเทน เสด็จสู่พระราชอุทยานเพื่อทรงกีฬาบางอย่าง

พระนางสามาวดี ทอดพระเนตรเห็นนายมาคันทิยะทำเช่นนั้น
จึงเสด็จมาถามว่า ทำอะไรกัน? เขาทูลตอบว่า พระราชารับสั่งให้ทำ
เพื่อให้พระปราสาทมั่นคง ขอพระนางเสด็จเข้าประทับในห้องเสียเถิด

เมื่อพระนางสามาวดีและบริวารเสด็จเข้าห้องแล้ว
เขาก็ลั่นดานประตูภายนอกหมด แล้วจุดไฟเผาปราสาท
พระนางสามาวดีทรงทราบว่าจะถูกเผาทั้งเป็น
ดังนั้น จึงให้โอวาทแก่หญิงบริวารว่า

"เมื่อพวกเราท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏอันยาวนานนี้
เคยถูกไฟเผามาแล้วนับครั้งไม่ถ้วน แม้พุทธญาณก็กำหนดได้ยาก
ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทเถิด"


หญิงเหล่านั้น, ขณะที่พระตำหนักถูกไฟไหม้อยู่
ก็มนสิการเวทนาปริคคหกัมมฐาน (กำหนดเวทนา)
บางพวกได้บรรลุโสดาบัน บางพวกเป็นสกทาคามี บางพวกเป็นอนาคามี


สมจริงดังที่พระธรรมสังคาหกาจารย์กล่าวไว้ว่า

"ครั้งนั้นแลภิกษุเป็นอันมาก กลับจากบิณฑบาต
ฉันอาหารแล้วเข้าเฝ้าพระผู้มีพระภาค กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ!
ภายในบุรีของพระเจ้าอุเทนถูกไฟไหม้ หญิง ๕๐๐
มีพระนางสามาวดีเป็นประมุขได้ทำลายกิริยา (ตาย) แล้ว
สัมปรายภพของอุบาสิกาเหล่านั้นเป็นอย่างไรหนอ?"

พระศาสดาตรัสว่า "อุบาสิกาเหล่านั้นที่เป็นโสดาบันก็มี
เป็นสกทาคามีก็มี เป็นอนาคามีก็มี อุบาสิกาเหล่านั้น ทำกาละอย่างไม่ไร้ผล"


พระผู้มีพระภาคทรงเปล่งอุทานว่า

"โลกมีความหลงเป็นเครื่องผูกพัน จึงปรากฏให้เห็นเสมือนควรแก่ความยึดมั่นถือมั่น
คนพาลมีอุปธิ คือกิเลสเป็นเครื่องผูกไว้ ถูกความมืดแวดล้อม
จึงมองเห็นสิ่งต่างๆ ว่าเที่ยง แต่ความกังวลย่อมไม่มีแก่ผู้เห็นแจ้ง"


พระศาสดาทรงแสดงธรรมต่อไปว่า

"สัตว์ที่ท่องเที่ยวอยู่ในสังสารวัฏที่ไม่ประมาท
ทำบุญกรรมอยู่เป็นนิตย์ก็มี ที่ประมาททำบาปกรรมอยู่เนืองๆ ก็มี
เพราะฉะนั้นสัตว์ทั้งหลายจึงเสวยสุขบ้างทุกข์บ้าง"


พระราชาทรงทราบข่าวเรื่องพระตำหนักของพระนางสามาวดีถูกไฟไหม้รีบเสด็จมา
แต่ไม่ทันการณ์เสียแล้ว ทรงโทมนัสอย่างลึกซึ้ง
ทรงระลึกถึงคุณงามความดีของพระนางสามาวดีแล้ว
ความโศกสลดได้กินลึกลงไปในหทัยของพระองค์
ทรงพิจารณาเหตุผลแล้ว แน่พระทัยว่า
การครั้งนี้ต้องเป็นการกระทำของพระนางมาคันทิยา
แต่หากจะถามตรงๆ พระนางคงไม่รับ จำต้องออกอุบายถาม
จึงตรัสกับอำมาตย์ซึ่งแวดล้อมอยู่ว่า

"เมื่อก่อนนี้เรานั่งนอนหาเป็นสุขไม่ คอยระแวงแต่พระนางสามาวดี
เพราะเธอคอยหาช่องทำอันตรายเราอยู่เป็นนิตย์
บัดนี้พระนางนั้นสิ้นพระชนม์แล้ว เป็นความสุขของเราจริงหนอ
ผู้ทำกรรมนี้คงจักมีความรักในเราอย่างหนักแน่น ใครหนอทำกรรมนี้"


ขณะนั้นพระนางมาคันทิยาเฝ้าอยู่ เห็นเป็นโอกาสเช่นนั้น จึงทูลขึ้น

"ข้าแต่พระองค์! คนอื่นใครเล่าจักจงรักภักดีต่อพระองค์เท่าหม่อมฉัน
กรรมนี้อันหม่อมฉันทำแล้วโดยสั่งอาให้ทำ"


พระราชาทรงทำทีเป็นพอพระทัย รับสั่งว่าจะพระราชทานพรให้พระนางและหมู่ญาติ
ขอให้พระนางสั่งหมู่ญาติเข้ามาเฝ้าด้วย พระนางมาคันทิยาได้สั่งหมู่ญาติเข้ามา
พระราชาให้ทำการต้อนรับญาติเหล่านั้นด้วยการทำสักการะ
พระราชทานของเป็นอันมากให้เป็นบำเหน็จความดีความชอบของพระนางมาคันทิยา

คราทีนั้นคนที่มิใช่ญาติก็ให้สินจ้างรางวัลแก่ญาติของพระนางมาคันทิยา
ขอให้รับตนเข้าเป็นญาติด้วย พากันมามากมาย

พระราชารับสั่งให้จับคนเหล่านั้นมัดไว้ ให้ขุดหลุมลึกประมาณสะดือที่พระลานหลวง
ให้ญาติของพระนางมาคันทิยายืนในหลุม เอาดินร่วนกลบ
เกลี่ยฟางไว้ปากหลุมแล้วจุดไฟเผา พอไฟไหม้หนังแล้ว
รับสั่งให้เอาไถเหล็กไถให้เป็นท่อนเล็กท่อนน้อย
ส่วนพระนางมาคันทิยานั้น พระราชารับสั่งให้เอาลงหลุมฝังเหมือนญาติ
แต่ให้เชือดเฉือนเนื้อล่ำทอดในกระทะแล้วบังคับให้เสวย
สิ้นพระชนม์ด้วยอาการอันน่าสังเวชยิ่ง


:b48:

วันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนากันว่า พระนางสามาวดีและบริวาร
สิ้นพระชนม์ด้วยลักษณาการอันไม่สมควร เพราะพระนางเป็นผู้มีศรัทธา
มีศีลเห็นปานนั้น ไม่ควรสิ้นพระชนม์อย่างนั้นเลย

พระศาสดาเสด็จมา ตรัสว่า
พระนางสามาวดีสิ้นพระชนม์ไม่สมควรแก่กรรมในบัดนี้
แต่สมควรแก่กรรมในอดีต


ตรัสเล่าให้ภิกษุทั้งหลายฟังว่า

ในอดีตกาล หญิง ๕๐๐ มีพระนางสามาวดีนี่แหละเป็นประมุข
บำรุงพระปัจเจกพุทธเจ้า ๘ องค์อยู่ในวังของพระเจ้าพรหมทัต เมืองพาราณสี
วันหนึ่งเมื่อฉันเสร็จแล้ว พระปัจเจกพุทธเจ้า ๗ องค์ไปสู่ป่าหิมพานต์
อีกองค์หนึ่งนั่งเข้าฌานอยู่ในที่อันรกด้วยหญ้าริมแม่น้ำ

พระราชาพาหญิงเหล่านั้นไปเล่นน้ำในแม่น้ำ
หญิงเหล่านั้นเล่นน้ำอยู่แทบทั้งวัน เมื่อขึ้นจากน้ำก็รู้สึกหนาว ต้องการก่อไฟผิง
มองไปเห็นกอหญ้าจึงจุดไฟ ล้อมกอหญ้าผิงอยู่พอหญ้ายุบ แลเห็นพระปัจเจกพุทธเจ้า
จึงร้องขึ้นมา "พวกเราแย่แล้วๆ พระปัจเจกพุทธเจ้าถูกไฟคลอก
พระราชาทรงทราบจักลงโทษพวกเราอย่างหนัก พวกเราจงเผาท่านให้ไหม้ให้หมด"

ดังนี้แล้ว ช่วยกันหาฟืนมาสุมแล้วเผาพระปัจเจกพุทธเจ้า
สำคัญว่าท่านต้องถูกไหม้หมดอย่างแน่นอน จึงชวนกันหลีกไป

พอวันที่ ๗ พระปัจเจกพุทธเจ้าก็ลุกไปอย่างสบาย
เพราะธรรมดามีอยู่ว่า ขณะที่ท่านอยู่ในสมาบัตินั้น
จะเอาฟืนสัก ๑,๐๐๐ เล่มเกวียนมาเผาก็ไม่สามารถให้สรีระของท่านอุ่นได้

หญิงเหล่านั้นหมกไหม้อยู่ในนรกหลายพันปี
เมื่อมาเกิดเป็นมนุษย์ก็ถูกไฟคลอกตายมานับจำนวนร้อยชาติแล้ว
เพราะเศษกรรมที่เหลือ


ต่อมาอีกวันหนึ่งภิกษุทั้งหลายสนทนากันในธรรมสภา
เกี่ยวกับเรื่องพระนางสามาวดี และเรื่องพระนางมาคันทิยาว่า
หญิงสองพวกนี้ใครชื่อว่าเป็นอยู่ ใครชื่อว่าตายแล้ว

พระศาสดาเสด็จมา ตรัสว่า

"ผู้ประมาทชื่อว่าผู้ตาย ส่วนผู้ไม่ประมาทแม้ตายแล้วก็ชื่อว่าไม่ตาย
เพราะฉะนั้นพระนางมาคันทิยาชื่อว่าเป็นผู้ตาย
ส่วนพระนางสามาวดีชื่อว่าเป็นผู้ไม่ตาย"


:b40: :b40:

โดย ผู้จัดการออนไลน์ ๑๕ มกราคม ๒๕๔๖

:b46: เกร็ดน่ารู้เรื่องต้นไม้ในพระพุทธประวัติ

อ่านเรื่องราวของต้นมะขามป้อม หรือต้นอามัณฑะ คลิกที่นี่
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=17&t=19548

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 39 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 11 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร