ลานธรรมจักร
http://dhammajak.net/forums/

ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ
http://dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=6&t=48462
หน้า 2 จากทั้งหมด 3

เจ้าของ:  Hanako [ 07 พ.ย. 2014, 16:30 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

ทั้งๆ ที่เป็นดังนี้ มนุษย์ทั้งหลายก็ยังพอใจในกายนี้
เห็นกายนี้เป็นของสวยของงามน่าอภิรมย์ชมชื่น
ยื้อแย่งฆ่าฟันกันเพราะเหตุแห่งกายนี้
ต้องร้องไห้คร่ำครวญถึงกายอันเป็นดังหัวฝี เป็นดังแผลใหม่นี้
เพราะติดใจในความสวยงาม เข้าใจว่าจะให้ความสุขแก่ตนได้

อันที่จริงกายนี้มีน้ำเลือดน้ำเหลืองไหลเยิ้มอยู่ทั่วไป
มีกระดูกเป็นโครง มีเส้นเอ็นเป็นเครื่องรึงรัด
มีเนื้อเป็นเครื่องพอก และมีหนังบางๆ ปกปิด
ห่อหุ้มสิ่งปฏิกูลทั้งหลายพรางตาไว้

จึงปรากฏแก่คนทั้งหลายผู้มองอย่างผิวเผิน
ว่าเป็นของสวยงามน่าลูบคลำสัมผัส
แต่อันที่แท้แล้ว ความสวยงามสิ้นสุดแค่ผิวหนังเท่านั้นเอง

ถ้าลอกเอาผิวหนังออกแล้ว
คนที่รักกันเหมือนจะกลืนกินคงวิ่งหนีเป็นแน่

อนึ่ง ผิวหนังที่ว่าสวยนั่นเอง
ก็เปรอะเปื้อนด้วยฝุ่นและเหงื่อไคล
ต้องคอยชำระขัดสีอยู่เนืองนิตย์
เว้นการชำระล้างและขัดสีแม้เพียงวันเดียว
ก็มีกลิ่นสาบเหม็น เป็นที่รังเกียจแหนงหน่าย
แม้แห่งเจ้าของกายนั่นเอง

ด้วยเหตุนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าจึงตรัสสอน
ให้พวกเราพิจารณาเนืองๆ ซึ่งกายคตาสติภาวนา
คือ การคำนึงถึงกายนี้ว่า ไม่งาม โสโครก
เป็นที่ตั้งลงและไหลออกแห่งสิ่งปฏิกูลทั้งหลาย


“ดูก่อนอัคคิเวสสนะ” พระศาสดาตรัสต่อไป

“อนึ่ง เวทนา ๓ อย่าง คือ สุข ทุกข์ อุเบกขา
เมื่อใดบุคคลเสวยสุข เมื่อนั้นเขาไม่ได้เสวยทุกข์และอุเบกขา
เมื่อใดเสวยทุกข์ เมื่อนั้นไม่ได้เสวยสุขและอุเบกขา
สุข ทุกข์ อุเบกขา ทั้ง ๓ อย่างไม่เที่ยง
ปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย
มีความสิ้นไป เสื่อมไป คลายไป ดับไปเป็นธรรมดา


สาวกของพระอริยะฟังดังนี้แล้ว
เมื่อเห็นตามอย่างนี้ย่อมเบื่อหน่าย
ทั้งในสุข ทุกข์ อุเบกขา
เมื่อเบื่อหน่ายย่อมคลายกำหนัด
เมื่อคลายกำหนัดจิตย่อมหลุดพ้นจากความยึดมั่นถือมั่น
เมื่อพ้นแล้วก็เกิดญาณรู้ว่าพ้นแล้ว

อริยสาวกนั้น รู้ชัดว่าความเกิดสิ้นแล้ว...
ผู้พ้นแล้วอย่างนี้ ย่อมไม่วิวาททุ่มเถียงกับผู้ใดด้วยทิฐิของตน
โวหารใดเขาพูดกันอยู่ในโลกก็พูดตามโวหารนั้น
แต่ไม่ถือมั่นด้วยทิฐิ


ท่านผู้แสวงสัจจะ ! คนส่วนมาก เมื่อความทุกข์เกิดขึ้น
หรือได้ประสบทุกข์ ก็สำคัญมั่นหมายว่า
ความทุกข์ที่เกิดขึ้นแล้วแก่เรานี้
เป็นของเที่ยงยั่งยืนจึงมีความทุกข์มากขึ้น
เพราะกลัวว่าความทุกข์อย่างนั้นๆ
จะสถิตอยู่ในใจของตนตลอดไป จึงตีโพยตีพายพร่ำเพ้อรำพัน

ส่วนคนที่ประสบสุขเล่าก็เพลินในความสุข
ด้วยสำคัญมั่นหมายว่า สุขที่เกิดแก่เรานี้เป็นของเที่ยง
ยั่งยืน จึงติดสุข พอสุขแปรปรวนก็เกิดทุกข์ขึ้น
เหมือนคนเห็นเงาดวงจันทร์ในขันน้ำ จึงคว้าเอา
ก็คว้าถูกขันน้ำนั่นเองหาถูกดวงจันทร์ไม่

ภราดาเอย ! อันที่จริงแล้ว ทั้งสุขและทุกข์เป็นของไม่เที่ยง
ไม่ยั่งยืน เกิดขึ้นเพราะมีเหตุปัจจัย
และแปรปรวนไปเพราะการแปรแห่งเหตุ
ดับไปเพราะการดับแห่งเหตุ

ขณะนั้น พระสารีบุตรนั่งถวายงานพัด
อยู่เบื้องพระปฤษฎางค์แห่งพระศาสดา
ได้ฟังพระพุทธดำรัสที่ตรัสแก่ทีฆนขปริพพาชก
พลางดำริว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสให้ละความยึดมั่นถือมั่น
ซึ่งธรรมทั้งหลายมีทิฐิและเวทนาเป็นต้น

เมื่อท่านพิจารณาไปตามกระแสพระธรรมเทศนา
ด้วยโยนิโสมนสิการ
* จิตก็พ้นจากอาสวะ
ไม่ถือมั่นด้วยอุปาทาน

ส่วนทีฆนขปริพพาชกนั้นได้ดวงตาเห็นธรรม
สิ้นความเคลือบแคลงสงสัยในพระพุทธศาสนา
ทูลสรรเสริญพระธรรมเทศนาของพระศาสดา
ว่าเหมือนหงายของที่คว่ำ เปิดของที่ปิด
บอกทางแก่คนหลงทาง
ส่องประทีปในที่มืดให้ผู้มีจักษุได้เห็นรูป
แลแล้วแสดงตนเป็นอุบาสก
ถือพระรัตนตรัยเป็นที่พึ่งที่ระลึกตลอดชีวิต


(*โยนิโสมนสิการ = ตรึกตรองด้วยปัญญาอันสุขุมลุ่มลึก)

เจ้าของ:  Hanako [ 08 พ.ย. 2014, 17:35 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

บัดนี้พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะ
ได้สำเร็จอรหัตตผลเป็นพระอริยบุคคลขั้นสูงสุด
ในพระพุทธศาสนาแล้ว ได้ย่ำยีความเมาทั้งปวงแล้ว
ได้นำความกระหายทั้งปวงออกแล้ว
ถอนอาลัยทั้งปวงออกได้แล้ว ตัดวัฏฏะได้แล้ว
สิ้นตัณหาแล้ว สำรอกราคะได้แล้ว
ดับกิเลสทั้งปวงได้สนิทแล้ว


อันว่า ภาวะแห่งอรหัตตผลนั้นทำให้จิตละเสียได้
ซึ่งสมมติบัญญัติทั้งปวงที่เคยติดใจมานาน
เพราะจิตได้หลุดพ้นจากความยึดมั่นในสมมติบัญญัติใดๆ แล้ว
คงเรียกสิ่งนั้นสิ่งนี้ตามสมมติโวหารของโลก
แต่ไม่ติดไม่มีอาลัยในสิ่งนั้นๆ

ผู้บรรลุแล้วซึ่งนิพพานนั้น
เนื่องจากดับเหตุแห่งทุกข์ได้แล้วโดยสิ้นเชิง
ความทุกข์จึงไม่เกิดขึ้น มีแต่ความสุขล้วนๆ
เป็นสุขที่ไม่เจือด้วยอามิส คือเหยื่อของโลก
แต่เป็นสุขและปราโมชซึ่งเกิดจากธรรม

มีความเย็นฉ่ำในดวงจิต เพราะไม่ถูกกิเลสเผาลนให้เร่าร้อน
กระแสดวงจิตของท่านไม่มีความเศร้าหมอง
หรือความชั่วหลงเหลือเจือปนอยู่เลย

ความกระเสือกกระสนกระวนกระวายแห่งดวงจิต
ได้ดับลงสิ้นสุดลงตรงนิพพานนี้
และตรงนี้เองที่ความไข้ทางจิต
ได้ถูกเยียวยาให้หายขาด ไม่กำเริบขึ้นอีก
ความระหกระเหินแห่งชีวิตในสังสารวัฏก็สิ้นสุดลงตรงนี้
และตรงนี้เองที่ให้ความมั่นใจ ความสงบราบเรียบ
ความชื่นสุขอันละเอียดอ่อนละมุนละไม
ความบริสุทธิ์ และความสดชื่นที่แท้จริงแก่ชีวิต


โลกียสุข เหมือนสุขของคนไข้
ที่ได้กินของแสลง มันให้สุขนิดหน่อยขณะกิน
เพื่อจะได้ทุกข์มากขึ้นและยืดเยื้อออกไป

เมื่อมองดูด้วยปัญญาจักษุแล้ว
โลกียสุขจึงเป็นของน่ากลัว น่าหวาดหวั่น ระแวง
ไม่น่าไว้ใจ เต็มไปด้วยภัย
เจือไปด้วยโทษทุกข์นานาประการ
แต่ที่คนทั้งหลายชอบก็เพราะเป็นความสุขที่หาได้ง่าย
และเพราะความไข้หรือความกระหายทางจิต
ผลักดันให้แสวงหา

ดูก่อนผู้แสวงสัจจะ ! ท่านเห็นเรื่องต่อไปนี้เป็นอย่างไร
ควรชื่นชม หรือควรเศร้าสลด?
คนผู้หนึ่งถูกผลักดันให้ดั้นด้นเข้าไปในป่ารก
มันระดะไปด้วยเรียวหนามและทางอันขรุขระ
ขณะที่กำลังเหนื่อยจวนจะหมดกำลังอยู่นั้น
เขาเผชิญหน้ากับช้างป่าที่ดุร้าย
เขาออกวิ่งหนีด้วยความตกใจกลัว
มาเจอสระใหญ่ซึ่งมีลักษณะคล้ายทะเลสาบน้อยๆ ในป่าลึก
เขากระโดดลงไปในทะเลสาบน้อยๆ นั้น
เขาคิดว่าคงพ้นอันตราย แต่ทันใดนั้นจระเข้ก็ปรากฏขึ้น

เขากระโดดขึ้นจากน้ำรีบหนีขึ้นต้นไม้ใหญ่
ได้พบรวงผึ้งซึ่งมีน้ำผึ้งหยดลงมาเป็นครั้งคราว
เขากำลังจะอ้าปากรองรับหยดน้ำผึ้ง
ก็บังเอิญเหลียวไปเห็นงูใหญ่สองตัวชูคอแผ่พังพาน
มองมายังเขาอย่างปองร้าย เขาตกใจจะวิ่งหนี
แต่ด้วยความกระหายอยากในรสน้ำผึ้ง
จึงยอมเสี่ยงชีวิตอ้าปากรองรับหยดน้ำผึ้ง
ท่ามกลางอสรพิษทั้งสอง
เขาดื่มน้ำผึ้งด้วยกายและใจที่ประหวั่นพรั่นพรึง

ดูก่อนผู้แสวงสัจจะ ! น้ำผึ้งท่ามกลางปากอสรพิษทั้งสองฉันใด
โลกียสุขก็ฉันนั้น มันอยู่ระหว่างอันตรายนานาประการ

ความตายเหมือนช้างใหญ่ที่ดักหน้าคนทุกคนอยู่
ทะเลสาบหรือป่าใหญ่อันชุกชุมด้วยสัตว์ร้ายคือสังสารวัฏ
ภพอันเป็นที่เวียนว่ายตายเกิดของสัตว์ทั้งหลายผู้มีกิเลสยังไม่สิ้น
อสรพิษ คือ อันตรายรอบด้านแห่งผู้ซึ่งติดพันอยู่ในโลกียสุข
น้ำผึ้งระหว่างปากงู คือ โลกียสุข นั่นเอง
โลกียสุข ! น้ำผึ้งระหว่างปากงู !


บางคราวพระศาสดาตรัสเปรียบโลกียสุขเหมือนน้ำผึ้ง
ซึ่งฉาบไล้อยู่ที่ปลายศัสตราอันแหลมคม
ผู้ลิ้มเลียโดยไม่ระวังย่อมถูกคมศัสตรา
บาดปากบาดลิ้นอย่างแน่นอน
มันเป็นภาวะที่น่าหวาดเสียวน่าสะพรึงกลัวมิใช่หรือ?

ความแก่ ความเจ็บ ความตาย ความโศกเศร้าเสียใจพิไรรำพัน
ความทุกข์กายทุกข์ใจ ความคับแค้นใจ
ความต้องพลัดพรากจากสิ่งของและบุคคลอันเป็นที่รัก
ความต้องประสบกับสิ่งและบุคคลอันไม่เป็นที่รัก ความไม่ได้อย่างใจหวัง
เหล่านี้มีประจำอยู่ในมวลมนุษย์และสัตว์โลกทั้งหลาย
มันมิใช่โทษแห่งความติดพันในโลกียสุขดอกหรือ?
มันมิใช่ภัยในสังสารวัฏดอกหรือ?

แต่ในนิพพานไม่มีโทษเหล่านี้ ไม่มีภัยเหล่านี้
นิพพานเป็นโลกุตตรสุข = สุขที่อยู่เหนือโลก ไม่เกี่ยวกับโลก
เป็นความสุขที่เกษมปลอดภัย สงบเยือกเย็นชื่นฉ่ำเกินเปรียบ


บัดนี้ พระสารีบุตรและพระโมคคัลลานะได้ถึงแล้วซึ่งสุขนี้
ท่านรู้สึกเสมือนได้ถอนตนขึ้นจากหล่มเลน
เหมือนได้ก้าวขึ้นจากกองถ่านเพลิง
เหมือนเคยหลงป่าอันเต็มไปด้วยอันตรายแล้วออกจากป่าได้
ดำรงอยู่ในแดนที่ปลอดภัย
เชื่อแล้วที่พระบรมศาสดาตรัสว่า

“พระนิพพานคือการกำจัดกิเลสเสียได้นั้นเป็นบรมสุข”
*

(*นิพฺพานํ ปรมํ สุขํ พระไตรปิกเล่ม ๒๕ หน้า ๔๒ ข้อ ๒๕)

:b44:

“แอกคู่” อันทารุณของวัฏฏะ
ซึ่งครอบใจของส่ำสัตว์และครูดสีให้ชอกช้ำระบม
เสมือนแอกคู่บนคอโคตัวที่เดินเวียนอยู่ในทุ่งกว้าง
บัดนี้ได้ถูกปลดออก

แล้วอะไรเล่า คือ “แอกคู่” นั้น?

มัน คือ ความเป็นคู่แห่งโลกียธรรม
ซึ่งครอบงำจิตใจของโลกียชนอยู่
เช่น ลาภ เสื่อมลาภ ยศ เสื่อมยศ นินทา สรรเสริญ
สุขและทุกข์ ความสมหวัง ผิดหวัง เป็นต้น

ตราบใดที่บุคคลยังตกอยู่ภายใต้
การครอบงำของความเป็นคู่แห่งโลกียธรรมนี้
ตราบนั้นดวงจิตของเขาจะพบกับความสงบสุขที่แท้จริงไม่ได้
ดวงจิตของเขาจะไม่ได้อิสระเสรี เขาจะต้องมีดวงใจที่ชอกช้ำระบม
เดินวนเวียนอยู่ในสังสารวัฏภายใต้การครูดสีของโลกียธรรม
เฉกเช่นโคคู่เดินวนเวียนอยู่ในทุ่งกว้าง
พร้อมกับการครูดสีของแอกบนคอ

โคที่ได้รับการปลดแอกแล้วย่อมมีเสรีภาพ เบาสบาย
ท่องเที่ยวไปในที่โคจรได้ตามใจปรารถนาฉันใด
บุคคลผู้ปลดแอก คือ โลกียธรรมนี้
ออกจากใจของตนได้แล้วก็ฉันนั้น

ย่อมได้พบเสรีภาพทางจิตอันหาขอบเขตมิได้
มีความสุขสงบอย่างลึกล้ำแจ่มใสเบิกบานสุดประมาณ
แม้ร่างกายจะยังอยู่ในโลก แต่ใจของเขาอยู่เหนือโลก
เป็นโลกุตตรจิต คือ จิตที่ถอนออกจากอารมณ์ของโลกได้แล้ว
สงบนิ่งไม่ขึ้นลง อันโลกียารมณ์จะทำให้หวั่นไหวมิได้
เสมือน ๑๐ สิงโต ราชาแห่งสัตว์มิได้สะดุ้งหวั่นไหวด้วยเสียงแห่ง
สัตว์ไพร ท่านไม่ติดในลาภ ยศ นินทา และสรรเสริญ เสมือนลม
ไม่ติดตาข่าย ใบและดอกของปทุมชาติไม่ติดน้ำ
ดำรงตนอยู่ในโลกอย่างอิสระเสรีอย่างแท้จริง อันอะไรๆ ครอบงำมิได้
*
ช่างน่าปรารถนาอะไรเช่นนั้น ! อา ! อรหัตตผล
ยอดแห่งคุณธรรมของเทวดาและมนุษย์


(*มุนิสูตร สุตตนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๓๖๔ ข้อ ๓๑๓)
http://www.84000.org/tipitaka/attha/v.php?B=25&A=7600

เจ้าของ:  Hanako [ 11 พ.ย. 2014, 17:24 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

๕.) มอบตนให้แก่ธรรม

ตอนบ่ายวันที่พระสารีบุตรบรรลุอรหัตตผลนั่นเอง
พระศาสดารับสั่งให้ประชุมสงฆ์ ณ เวฬุวันมหาวิหาร
ทรงประทานตำแหน่ง อัครสาวกแก่ท่านทั้งสอง
คือให้พระสารีบุตรเป็น “พระอัครสาวกฝ่ายขวา”
พระโมคคัลลานะเป็น “พระอัครสาวกฝ่ายซ้าย”


แล้วทรงแสดง พระโอวาทปาติโมกข์
คือ พระโอวาทอันเป็นหลักสำคัญ มีนัยดังนี้

๑. ความอดทนอันเป็นตบะอย่างยิ่ง
(ขนฺตี ปรมํ ตโป ตีติกฺขา)


นั้นคือความอดกลั้นต่ออารมณ์อันยั่วยวนให้โลภ โกรธ หลง
ท่านผู้รู้ทั้งหลายกล่าว สรรเสริญพระนิพพานว่าเป็นบรมธรรม
ผู้ที่ยังเบียดเบียนผู้อื่นอยู่ ไม่สมควรเป็นบรรพชิตหรือสมณะ

๒. การไม่ทำบาปทั้งปวง ๑ การสร้างกุศลให้พรั่งพร้อม ๑
การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้ว ๑ สามประการนี้
เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย
(สพฺพปาปสฺส อกรณํ กุสลสฺสูปสมฺปทา
สจิตฺตปริโยทปนํ เอตํ พุทฺธาน สาสนํ.)


๓. การไม่กล่าวร้ายแก่ใครๆ (อนูปวาโท)
การไม่เบียดเบียนเข่นฆ่าใครๆ (อนูปฆาโต)
การสำรวมระวังด้วยดีในระเบียบวินัย (ปาติโมกฺเข จ สํวโร)
ความเป็นผู้รู้จักประมาณในการบริโภคอาหาร (มตฺตญฺญุตา จ ภตฺตสฺมึ)
การอยู่ในที่สงัด (ปนฺตญฺจ สยนาสนํ)
การประกอบเนืองๆ ซึ่งความเพียรทางจิต (อธิจิตฺเต จ อาโยโค)
ทั้ง ๖ ประการนี้เป็นคำสอนของพระพุทธเจ้าทั้งหลาย


ดูก่อนภราดา !
คนส่วนมากเข้าใจว่า เรื่องที่จะต้องอดทน
คือ เรื่องอันไม่เป็นที่พอใจ หรือ อนิฏฐารมณ์ เท่านั้น
แต่ตามความเป็นจริงแล้ว บุคคลผู้ต้องการความดีให้แก่ชีวิต
จะต้องอดทนทั้งสองอย่าง
คือทั้งอารมณ์ที่น่าปรารถนา และไม่น่าปรารถนา
บุคคลที่อดทนต่ออารมณ์อันไม่น่าปรารถนาได้
เช่น อดทนต่อคำด่าว่าเสียดสีได้ นับว่าน่าสรรเสริญ
แต่ผู้ที่อดทนต่ออารมณ์ที่น่าปรารถนา
เช่น ลาภ ยศ และเสียงสรรเสริญได้
คือไม่ตกอยู่ภายใต้อำนาจยั่วยวนของสิ่งเหล่านั้น
ยิ่งน่าสรรเสริญขึ้นไปอีก เพราะทำได้ยากกว่า


อารมณ์อันไม่น่าปรารถนาทำให้คนเสียได้เหมือนกัน
ถ้าไม่อดทนพอ แต่ถ้าเขา มีความอดทนต่ออารมณ์นั้นเพียงพอ
มันก็จะกลายเป็นยาขมที่ช่วยทำลายโรคได้
คือก่อให้เกิดประโยชน์แก่ชีวิตได้
ส่วนอารมณ์ที่ น่าปรารถนา น่าเพลิดเพลิน ยั่วยวนใจ
ได้ทำให้มนุษย์ผู้หลงใหล
เสียคนมามากต่อมากแล้วเพราะอดกลั้นได้ยาก
มนุษย์ผู้นั้นจะกลับตัวเป็นคนดีได้อีกทีหนึ่ง
ก็ต่อเมื่ออารมณ์หรือสภาพแวดล้อมอันยั่วยวนใจนั้นได้สูญสิ้นไปแล้ว
และเขาได้กระทบกระทั่งกับอนิฏฐารมณ์อย่างจัง
เหมือนเผชิญหน้ากับควายป่าที่ดุร้าย
ตัวอย่างผู้มีอำนาจ เมื่อสูญเสียอำนาจแล้วจึงได้รู้จักสัจธรรม

บรรดาสิ่งยั่วยวนใจทั้งหลาย
“อำนาจ” นับเป็นสิ่งยั่วยวนใจที่สำคัญยิ่งอย่างหนึ่ง
ซึ่งใครมีเข้าแล้วมักหลงใหลมัวเมาอยู่ในอำนาจนั้น
จนปัญญาจักษุมืดมนลง ให้เห็นดำเป็นขาว เห็นผิดเป็นชอบ
แล้วประกอบกรรมหนักด้วยอำนาจที่มีอยู่นั้น
จนต้องประสบชะตากรรม มีวิบากอันเผ็ดร้อน
เมื่อนั้นแหละจึงจะรู้สึกตัว แต่มักสายเสียแล้ว
เรื่องทำนองนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่เนืองๆ
อำนาจอาจทำให้คนที่เคยดีเสียไปได้
ไม่ต้องกล่าวถึงคนที่ชั่วอยู่แล้ว
เพราะฉะนั้นท่านจึงสอนให้ระวัง ต้องมี ตีติกขาขันติ* ดังกล่าวมา


(*ขันติ ๓ อย่าง
๑. ธีติขันติ = อดทนต่อความหนาวร้อน หิวกระหาย ความลำบากตรากตรำ
๒. อธิวาสนขันติ = อดทนต่อทุกขเวทนา ความเจ็บป่วย
๓. ตีติกขาขันติ = อดทนต่ออารมณ์ยั่วยวนใจ)

เจ้าของ:  Hanako [ 16 พ.ย. 2014, 10:14 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

ความงามของสตรีเป็นสิ่งยั่วยวนใจ
สำหรับบุรุษอย่างยิ่งประการหนึ่ง
บุรุษผู้ไม่ตกอยู่ในอำนาจแห่งความงามของสตรี
จึงเป็น บุรุษอาชาไนย*
...หาได้ยาก
คนเช่นนั้นแม้เทวดาก็ชม พรหมก็สรรเสริญ
ความงามของสตรีได้เคยฆ่าบุรุษผู้ทรงศักดิ์มามากต่อมากแล้ว

ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ !
ความอดทนนั้นเป็นอาภรณ์ของนักพรต
เป็นตบะของผู้ต้องการบำเพ็ญตบะ
แม้นักพรตผู้เริงแรงด้วยตบะ มีชื่อกระฉ่อน
ก็เคยพ่ายแพ้ต่อความงามและความยั่วยวน
ของสตรีมามากนักแล้วเช่นกัน
ทางปลอดภัยแท้จริงของนักพรตก็คือ ไม่คุ้นเคยด้วย
ชักสะพานเสีย คือ ไม่สนิทสนมด้วยสตรี


(*อาชาไนย หมายถึง บุคคลหรือสัตว์ที่ได้รับการฝึกดีแล้ว)

:b40:

ดูก่อนภราดา !
ในตอนที่ ๓ แห่งพระโอวาทปาติโมกข์นั้น
ดูเหมือนพระบรมศาสดาจะทรงมุ่งแสดง
คุณสมบัติของผู้เผยแพร่พุทธศาสนาว่า
ต้องไม่ก้าวร้าว ไม่เบียดเบียน มีระเบียบวินัยดี
ไม่เห็นแก่ปากท้อง แสวงหาความสงบ
และทำความเพียรทางจิต คือ สมถวิปัสสนาอยู่เสมอ
ไม่ทอดธุระในอธิจิตตสิกขา


คุณสมบัติดังกล่าวมา
ผู้เผยแผ่ศาสนาควรคำนึงถึงอยู่เป็นนิตย์
และควรบำเพ็ญให้เกิดขึ้นในตน
อนึ่ง ผู้มีหน้าที่เผยแผ่ศาสนา ไม่ควรคิดแต่จะเผยแผ่ศาสนา
หรือหลักธรรมให้แก่ผู้อื่นอย่างเดียว
แต่ควรเผยแผ่ศาสนาให้แก่ตนเองด้วย
คือ ไม่ควรมุ่งแต่สอนผู้อื่นเท่านั้น
แต่ควรสอนตนเองให้ได้ด้วย
วาจาที่พูดออกมาจึงจะไม่เป็นที่เย้ยหยันของใครๆ

สิ่งที่สอนมีลักษณะที่เรียกว่า ‘บานออกมาจากข้างใน’
คือมีความจริงใจ (ใจมีความรู้สึกอย่างที่พูดนั้นจริงๆ)

มีนักเผยแผ่ศาสนาอยู่ไม่น้อยที่สนใจฝึกฝนแต่วาทศิลป์
กิริยาท่าทางที่พูด ความหนักเบาของน้ำเสียง
แต่การอบรมตนให้มีคุณธรรมสูงยิ่งๆ ขึ้นไป
ให้มีความหนักแน่นมั่นคงนั้น พวกเขามักละเลยเสีย

อันที่จริง การทำได้อย่างที่สอนนั่นแหละ
คือ ยอดแห่งพุทธวิธีในการสอน บางทีไม่ต้องพูดด้วยซ้ำไป
หรือพูดน้อย แต่ได้ผลมาก


:b44:

ในพุทธกาลมีพระเถระรูปหนึ่ง ใครๆ ก็เรียกท่านว่า ‘เอกอุทาน’
แปลว่า เทศน์สอนอยู่เรื่องเดียว ท่านประจำอยู่ในป่า
ท่านเทศน์ทีไร ทั้งมนุษย์และเทวดาก็สาธุการกันสนั่นหวั่นไหว
ต่อมามีพระธรรมกถึกผู้มีชื่อเสียงมาก เรียนมาก รู้มาก มีศิษย์มาก
ไปพัก ณ สำนักของพระเอกอุทานเถระ
ถึงวันอุโบสถ ท่านนิมนต์ให้พระธรรมกถึกนั้นเทศน์
พระธรรมกถึกเทศนาอย่างวิจิตรพิสดาร
พอจบลงไม่มีใครสักคนเดียวที่สาธุการ
เงียบกันไปหมด ทั้งเทวดาและมนุษย์
ทั้งนี้เพราะพระธรรมกถึกนั้นพูดได้อย่างเดียว

ส่วนพระเอกอุทานท่านทำได้อย่างที่ท่านพูด
เรียกว่า ‘บานออกมาจากข้างใน’
ให้รู้สึกซาบซึ้งกินใจผู้ฟังยิ่งนัก พูดน้อยแต่ได้ผลมาก

แต่ทั้งนี้มิได้หมายความว่า สิ่งใดที่ตนทำไม่ได้แล้ว
จะให้เลิกพูดเลิกสอนสิ่งนั้นเสีย ควรพูดและควรสอนอยู่นั่นเอง
เป็นทำนองว่า นำเอาคำสอนของพระพุทธเจ้าและพระอรหันต์ทั้งหลาย
มาบอกเล่าเปิดเผยให้รู้กัน ท่านที่มีอุปนิสัยดีมีอินทรีย์แก่กล้า
เมื่อฟังแล้วอาจทำได้อย่างพระอริยเจ้านั้น ตัวอย่างเคยมีมาแล้ว


พระกลุ่มหนึ่งประมาณ ๖๐ รูป เรียนกรรมฐานในสำนักของพระศาสดา
แล้วเดินทางเข้าไปในป่าบำเพ็ญเพียรอยู่
ได้อุบาสิกาคนหนึ่งเป็นอุปถัมภิกาถวายอาหาร
ได้บอกกรรมฐาน คือ กายคตาสติภาวนา พิจารณากาย
ซึ่งมีอาการ ๓๒ มี ผม ขน เล็บ ฟัน หนัง เป็นอาทิ
ให้เห็นว่าไม่งาม โสโครก อุบาสิกาเรียนกรรมฐานแล้ว
ไปพิจารณาได้สำเร็จอนาคามิผล เป็นพระอนาคามี อริยบุคคลขั้นที่สาม
ในขณะที่ภิกษุผู้บอกกรรมฐานยังมิได้สำเร็จอะไรเลย


รูปภาพ

ขอย้อนกล่าวถึงเรื่องที่พระศาสดาทรงแต่งตั้ง
พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะเป็นอัครสาวกต่อไป

ครั้งนั้น เมื่อพระศาสดาทรงประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่ท่านทั้งสองแล้ว
ภิกษุทั้งหลายพากันติเตียนพระพุทธองค์ว่า
ทรงประทานตำแหน่งโดยเห็นแก่หน้า (มุโขโลกนะ*) ไม่เป็นธรรม

ความจริงแล้วควรประทานตำแหน่งอัครสาวก
แก่พระอัญญาโกณฑัญญะ กับอีกรูปใดรูปหนึ่งในกลุ่มปัญจวัคคีย์
เพราะท่านเหล่านั้นบวชก่อนและได้บรรลุธรรมก่อน

ถ้าไม่ประทานแก่ภิกษุปัญจวัคคีย์ ก็ควรประทานแก่ภิกษุกลุ่ม ๕๕ รูป
มีพระยสะเป็นประมุข หรือมิฉะนั้นก็แก่ภิกษุกลุ่มภัททวัคคีย์
ผู้สำเร็จมรรคผล ณ ไร่ฝ้าย ถ้าไม่ประทานแก่พวกภัทวัคคีย์
ก็ควรประทานแก่ภิกษุปุราณชฎิลสามพี่น้อง มีท่านอุรุเวลกัสสป เป็นต้น
แต่พระศาสดาหาทรงทำอย่างนั้นไม่ ทรงเห็นแก่หน้า
ประทานตำแหน่งอัครสาวกแก่พระสารีบุตร และพระโมคคัลลานะ
ผู้บวชใหม่เพียงไม่ถึงเดือน

ภราดา ! ภิกษุผู้ติเตียนไม่รู้ความจริง
ที่เกี่ยวกับเรื่องส่วนตัวของท่านเหล่านั้น
ไม่รู้ มโนปณิธาน ของแต่ละท่านว่า
ได้บำเพ็ญบารมีมาอย่างไร
ประสงค์สิ่งใดสูงสุดในชีวิตของตน


(*มุโขโลกนะ แปลว่า เห็นแก่หน้า เห็นแก่พวก)

:b45:

พระบรมศาสดาทรงทราบเรื่อง
ที่ภิกษุทั้งหลายตำหนิติเตียน
พระองค์เช่นนั้น จึงตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ! เราหาได้ให้ตำแหน่งเพราะเห็นแก่หน้าไม่
แต่เราได้ให้ตำแหน่งที่ทุกคนปรารถนาแล้ว
เขาได้รับตำแหน่งที่เขาเคยทำบุญแล้วปรารถนาไว้นั่นเอง


ภิกษุทั้งหลาย ! ในศาสนาแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่า วิปัสสี นับถอยหลังจากนี้ไป ๙๑ กัป
โกณฑัญญะ เกิดเป็นกฎุมพีผู้หนึ่งชื่อ จุลกาล
ได้ปลูกไร่ข้าวสาลีไว้มาก วันหนึ่งได้ฉีกข้าวสาลีที่กำลังท้องต้นหนึ่ง
แล้วชิมดู รู้สึกมีรสอร่อย จึงขอแรงเพื่อนบ้าน
ให้ช่วยกันฉีกรวงข้าวสาลีที่กำลังท้องนั้น
ให้เคี่ยวด้วยน้ำนมจนข้นแล้วปรุงด้วยเนยใส
น้ำผึ้งและน้ำตาลกรวด แล้วถวายทานแก่ภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าวิปัสสีนั้นเป็นประมุข
แล้วตั้งความปรารถนาขอบรรลุธรรมก่อนผู้อื่นในอนาคตกาล
พระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงอนุโมทนาว่า ‘ขอจงเป็นอย่างนั้นเถิด’
เมื่อถึงหน้าข้าวเม่า ได้ถวายทานอันเลิศด้วยข้าวเม่า
หน้าเก็บเกี่ยวก็ได้ถวายทานในฤดูกาลเก็บเกี่ยว
ยิ่งเขาทำบุญมาก ทรัพย์สมบัติของเขายิ่งเพิ่มพูน
มากขึ้นๆ อย่างน่าอัศจรรย์

ภิกษุทั้งหลาย ! ธรรมย่อมคุ้มครองรักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมที่บุคคลประพฤติดีแล้วย่อมนำความสุขมาให้
ข้อนี้เป็นอานิสงส์แห่งการประพฤติธรรม ตั้งอยู่ในธรรม
อนึ่ง ผู้มีปกติประพฤติธรรมย่อมไม่ไปทุคติ ไม่ตกต่ำ

แม้ในกาลแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า พระนามว่าปทุมุตตระ
เขาถวายมหาทาน ๗ วัน แล้วหมอบลงแทบพระยุคลบาท
ของพระศาสดาพระองค์นั้น แล้วตั้งความปรารถนา
เพื่อบรรลุธรรมอันเลิศก่อนผู้อื่น

ภิกษุทั้งหลาย ! อัญญาโกณฑัญญะได้รับผล
ที่ตนปรารถนาแล้ว ณ บัดนี้

เจ้าของ:  Hanako [ 19 พ.ย. 2014, 12:46 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

ภราดา ! พระตถาคตเจ้าทรงยืนยัน
อย่างมั่นคงอยู่เสมอว่า

“ธรรมนั่นแหละย่อมคุ้มครอง
รักษาผู้ประพฤติธรรม
ธรรมนำความสุขมาให้”


แต่ศาสนิกจำนวนไม่น้อยไม่ไว้ใจธรรม
คลางแคลงสงสัยในธรรมว่า
จะให้ความสุขจริงหรือ? ประพฤติแล้วได้อะไร?
ความจริงเมื่อเขาประพฤติธรรมก็ได้ธรรมนั่นเอง
เมื่อได้ธรรมแล้วการได้อย่างอื่นก็ตามมา
ธรรมนั่นแหละเป็นผู้อำนวยสิ่งต่างๆ ให้
ถ้าเขาเสื่อมจากธรรมก็จะเสื่อมหมดทุกอย่าง


บุคคลที่ทำหน้าที่ของตนดีที่สุดชื่อว่าได้ประพฤติธรรม
แต่ต้องเป็นหน้าที่อันประกอบด้วยธรรม
หน้าที่อันประกอบด้วยธรรมนั่นแหละจะอำนวย ลาภ ยศ
สรรเสริญ และสุขสวัสดีให้แก่เขาทั้งในโลกนี้และโลกหน้า

มนุษย์เรามีหน้าที่หลายอย่าง
คนที่ดีที่สุด คือ ผู้ที่ทำหน้าที่ของตนได้ดีที่สุด
ครบถ้วนที่สุด และถูกต้องที่สุด
ผู้ปกครองหรือผู้นำมวลชนจะต้องปกครองโดยธรรม

เมื่อพระพุทธเจ้าตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า
พระเจ้าจักรพรรดิเป็นผู้ทรงธรรม
ภิกษุรูปหนึ่งทูลถามขึ้นว่า
ก็อะไรเล่าเป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดินั้น?
พระตถาคตเจ้าตรัสตอบว่า ‘ธรรม’ อย่างไรเล่า
เป็นราชาของพระเจ้าจักรพรรดินั้น

ดูก่อนภิกษุพระเจ้าจักรพรรดิเป็นธรรมราชา
ย่อมทรงอาศัยธรรม สักการะธรรม เคารพธรรม
ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา
มีธรรมเป็นใหญ่ ย่อมทรงดำเนินกิจการต่างๆ ไปโดยธรรม

ดูก่อนภิกษุ แม้เราตถาคตก็เป็นผู้ทรงธรรม
เป็นธรรมราชา เราต้องอาศัยธรรม เคารพธรรม
ยำเกรงธรรม มีธรรมเป็นธง มีธรรมเป็นตรา และมีธรรมเป็นใหญ่ดังนี้*


จึงพอกล่าวได้ว่า ผู้เป็นใหญ่สูงสุดในโลกทั้งปวง คือ ธรรม
บุคคลผู้เป็นใหญ่จะยิ่งใหญ่อยู่ได้ก็เฉพาะเมื่อดำรงตนอยู่ในธรรม
อยู่ในร่มเงาของธรรม ทำหน้าที่ในฐานะเป็นตัวแทน
หรือเป็นเครื่องมือแห่งธรรม ให้งานทุกสายเป็นทางเดินแห่งธรรม
บุคคลผู้ยอมมอบตนให้แก่ธรรม ให้ธรรมเป็นผู้นำทาง
ชีวิตย่อมไม่เสื่อม มีแต่ความเจริญ


(*จักกวัตติสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๑๓๘ ข้อ ๔๕๓)

:b40:

พระจอมมุนีตรัสไว้ว่า

“บุคคลจะเป็นผู้เจริญก็รู้ได้ง่าย จะเป็นผู้เสื่อมก็รู้ได้ง่าย
คือผู้รักธรรมเป็นผู้เจริญ ผู้ชังธรรมเป็นผู้เสื่อม”*


ภราดา ! ด้วยเหตุนี้ จึงควรทำงานและดำเนินชีวิต
เพื่อเอาใจธรรม ไม่ใช่เพื่อเอาใจคนทั้งหลายซึ่งมีใจต่างกัน
ถูกใจคนหนึ่ง ไม่ถูกใจอีกคนหนึ่ง
ถูกใจกลุ่มหนึ่ง แต่ไม่ถูกใจอีกกลุ่มหนึ่ง
แต่ธรรมมีใจเดียวคือความถูกต้อง
เรามุ่งเอาธรรมาธิปไตยเป็นทางดำเนินชีวิต


เมื่อได้มอบตนให้อยู่ภายใต้การคุ้มครองของธรรมแล้ว
ก็ไม่ต้องวิตกทุกข์ร้อนอะไรทั้งหมด
ต้องการสิ่งใดธรรมะจะเป็นผู้มอบให้
ลาภ ยศ สรรเสริญ สุข ที่ได้โดยธรรม
อันธรรมมอบให้แล้ว จะเป็นสิ่งสงบเย็น
ไม่เร่าร้อนเหมือนลาภยศสรรเสริญสุขที่ได้มาโดยอธรรม


(*ปราภวสูตร พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๓๔๖ ข้อ ๓๐๔)

:b40:

อะไรคือที่พึ่งอันแท้จริง
ของบุคคลผู้เวียนว่ายอยู่ในทะเลแห่งความทะยานอยากนี้?
...ธรรมอย่างไรเล่า

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“จงมีธรรมเป็นที่พึ่งเถิด อย่ามีสิ่งอื่นเป็นที่พึ่งเลย”

และทรงชี้บอกว่า

“ธรรมคือความไม่กังวล ไม่ยึดมั่นถือมั่น
นั่นแหละคือที่พึ่ง (ของใจ) หาใช่อย่างอื่นไม่
ภิกษุทั้งหลาย ! คนเขลายึดมั่นอยู่ว่า
นั่นบุตรของเรา นั่นทรัพย์ของเรา จึงต้องเดือดร้อนอยู่ร่ำไป
ตามความเป็นจริงแล้ว ตนของตนยังไม่มี
บุตรและทรัพย์จะมีที่ไหนเล่า”
*


(*พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๒๓ ข้อ ๑๕)

:b40:

ท่านผู้แสวงสัจจะ !
คนยิ่งมีความยึดถือมากก็ยิ่งมีความกลัวมาก
ไม่มีอะไรจะกลัวเฉพาะหน้า ก็กลัวอนาคต
กลัวเสียจนหาความสุขความสงบให้แก่ชีวิตในปัจจุบันไม่ได้

แม้บัณฑิตจะบอกธรรมพร่ำสอนอยู่ว่า
“จงทำปัจจุบันให้ดีที่สุดเถิด อนาคตจะจัดตัวมันเอง” ก็ตาม
เขาก็หารับฟังไม่ หาว่าคนบอกเป็นคนเขลา
ไม่รู้จักเตรียมการเพื่ออนาคต

คนพวกนั้นพออนาคตที่เขาหวังไว้มาถึงเข้าจริง
เขาก็คงหาความสงบสุขให้แก่ชีวิตไม่ได้อยู่นั่นเอง
เพราะมันตกมาเป็นปัจจุบันเสียแล้ว
เขาคงแบกก้อนหินแห่งชีวิต คือ ความหนักอกหนักใจ
วิ่งฝ่ากองไฟ คือความทะยานอยากออกไปสู่ภูเขาแห่งความว่างเปล่า
เพราะ ‘มันไม่มีอะไร’ แต่เพราะเขาสำคัญมั่นหมายว่า ‘มันมี’
จึงแบกต่อไป และต่อไป พร้อมกับร้องว่า
“ร้อน หนัก - ร้อน หนัก” อย่างนี้เรื่อยไป

ท่านผู้แสวงสัจจะ ! ความจริงอันน่าพิศวงมีอยู่ว่า
ความสงบเยือกเย็นของดวงจิต เพราะความเป็นผู้ “ไม่ต้องการอะไร”
นั้นมีค่ายิ่งกว่าสมบัติบรมจักรแห่งกษัตราธิราช
หรือมหาจักรพรรดิผู้เร่าร้อนอยู่ด้วยความปรารถนาอันไม่มีที่สิ้นสุด
มิฉะนั้นแล้วไฉนเล่าพระบรมครูของพวกเราจึงทรงสละสมบัติบรมจักร
เพื่อแสวงหาความสงบเย็นให้แก่ดวงจิต


เมื่อพระองค์ประสบความสำเร็จในทางนี้แล้ว
ก็กลายเป็นที่พึ่งที่บูชาของโลกมาจนตราบเท่าทุกวันนี้
ตัวอย่างที่เกี่ยวกับพระพุทธองค์นี้ชี้ให้เห็นความจริงอีกประการหนึ่งว่า
ผู้นำโลกที่แท้จริง คือผู้นำทางจิตหรือวิญญาณ
หาใช่ผู้มีอำนาจราชศักดิ์แต่ประการใดไม่

เจ้าของ:  Hanako [ 26 พ.ย. 2014, 17:33 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

๖.) กรรมบังไว้

ภราดา ! ข้าพเจ้าได้พูดแล้วว่า คนจำนวนไม่น้อย
แบกก้อนหินแห่งชีวิต คือ ความหนักอกหนักใจ
วิ่งฝ่าออกไปคือ ความทะยานอยาก
ไปสู่ภูเขาแห่งความว่างเปล่า

ภราดา ! สมมติว่ามีใครสักคนหนึ่ง
กลิ้งหินอันแสนหนักขึ้นสู่ยอดเขา
แล้วปล่อยให้หินนั้นตกลงมายังภาคพื้น
ตามลงมากลิ้งขึ้นไปอีกแล้วปล่อยลงมา
เขากลิ้งหินขึ้นยอดเขาอยู่อย่างนี้วันแล้ววันเล่าปีแล้วปีเล่า
ท่านจะรู้สึกอย่างไรต่อบุคคลผู้นั้น

เขาถูกบังคับให้เข็นก้อนหิน
โดยที่ตัวเขาเองไม่รู้ว่าจะต้องเข็นทำไม
บุคคลสมมติดังกล่าวฉันใด คนส่วนมากในโลกนี้ก็ฉันนั้น
ได้ลงทุนลงแรงเป็นอย่างมากเข็นก้อนหิน
คือภาระอันหนักของตนเพื่อไปสู่ยอดเขาแห่งความว่างเปล่า
ต่างคนต่างก็กลิ้งขึ้นไป ถูกความทะยานอยากของตน
ผลักดันให้กลิ้งขึ้นไปด้วยเข้าใจว่าบนยอดเขานั้นจะมีอะไร
บางพวกก็กลิ้งหินกระทบกัน แย่งทางกันแล้วทะเลาะกัน
เบียดเบียนฆ่าฟันกัน แข่งกันว่าใครจะถึงยอดเขาก่อน
เมื่อถึงยอดเขาแล้วจึงได้รู้ว่ามันไม่มีอะไร
คนทั้งหมดต้องนั่งลงกอดเข่ารำพันว่า “เหนื่อยแรงเปล่า”


ท่านผู้แสวงสัจจะ! มนุษย์จะถูกลงทัณฑ์ให้ประสบชะตากรรม
คือการลงแรงที่สิ้นหวัง และไร้ผลตอบแทนอันคุ้มเหนื่อย
ก็เพราะความเขลาของมนุษย์เอง แม้มนุษย์จะพอฉลาดบ้างแล้วในเรื่องอื่นๆ
ในสาขาวิชาการมากหลาย แต่มนุษย์ยังเขลาต่อเรื่องราวแห่งชีวิต

มนุษย์ส่วนมากยังเข้าไม่ถึงสิ่งที่ชีวิตควรจะต้องการและขึ้นให้ถึง
ส่วนใหญ่ยังถือเอากาม กิน และเกียรติ เป็นจุดหมายของชีวิต
นั่นคือความผิดพลาดอย่างใหญ่หลวงของสังคมมนุษย์
ตามความเป็นจริงแล้ว การงานทุกอย่างของมนุษย์
ควรเป็นเครื่องมือไปสู่การพัฒนาตน ให้ขึ้นสู่ฐานะอันสูงสุด
เท่าที่มนุษย์จะขึ้นให้ถึงได้ นั่นคือความสะอาดแจ่มใสแห่งดวงจิต

ข้ามแดนแห่งความมืดมนของชีวิตเสียได้


ขอกล่าวถึงบุพพกรรมของสหาย ๕๕ คน มีพระยสะเป็นต้น
พระตถาคตเจ้าตรัสว่า บุคคล ๕๕ คน มีพระยสะเป็นประมุขนั้น
ได้ปรารถนาอรหัตตคุณ ในสำนักของพระพุทธเจ้าพระองค์หนึ่ง
ชวนกันทำบุญเป็นอันมาก ต่อมาในช่วงหลัง
เมื่อพระพุทธเจ้ายังไม่เกิดขึ้น (พุทธันดร*) ทั้ง ๕๕ คนเป็นสหายกัน
เที่ยวจัดแจงศพอนาถา วันหนึ่งพวกเขาพบศพหญิงตายทั้งกลม
จึงนำไปป่าช้าให้ ๕ คนทำหน้าที่เผา อีก ๕๐ คนเที่ยวตรวจดูศพไม่มีญาติอื่นๆ


*พุทธันดร คือ ระยะกาลที่ว่างจากศาสนาของพระพุทธเจ้า
ถ้าพระปัจเจกพุทธเจ้าจะเกิดขึ้นก็เกิดในระยะนี้


:b44:

นายยสะซึ่งเป็นหัวหน้าได้เอาหลาวเหล็กแทงศพนั้น
พลิกกลับไปกลับมา ขณะที่กำลังเผาอยู่นั่นเอง ได้ “อสุภสัญญา”
คือ ความสำคัญหมายว่าไม่งาม เขาชี้ให้สหายอีก ๔ คนดูว่า
“จงดูศพนี้หนังลอกออกแล้ว ตรงนั้นบ้างตรงนี้บ้าง
เหมือนรูปโคด่าง ไม่สะอาด เหม็น พึงรังเกียจ”

สหายทั้ง ๔ คนก็ได้อสุภสัญญาเหมือนกัน
เมื่อกลับเข้าไปในบ้านได้บอกเรื่องนั้นแก่สหายทั้ง ๕๐ คน
สหายเหล่านั้นก็ได้อสุภสัญญา ยสกุลบุตรเมื่อกลับไปบ้าน
ได้บอกแก่มารดาบิดาและภริยา ท่านเหล่านั้นก็ได้อสุภสัญญา
เพราะเหตุที่มี บูรพูปนิสัย* ทางอสุภสัญญานี่แล
เรือนซึ่งเกลื่อนกล่นด้วยสตรีงามบำรุงบำเรอให้เพลิดเพลินอยู่
จึงปรากฏแก่ยสกุลบุตรประดุจป่าช้า และด้วยอุปนิสัยนั้นเหมือนกัน
เขาจึงได้บรรลุคุณวิเศษคือ อรหัตตผล พวกเขาได้รับผลที่ตนปรารถนาแล้ว


*บูรพูปนิสัย คือ อุปนิสัยในกาลก่อน
หมายถึงได้เคยอบรมบ่มนิสัยมาอย่างไรเมื่อได้ประสบพบเห็นสิ่งนั้น
หรือสิ่งคล้ายคลึงกันในชาติต่อมา บูรพูปนิสัยจะกระตุ้นเตือน
ให้มีความรู้สึกนึกคิดอย่างที่เคยรู้สึกมาแล้ว

เจ้าของ:  Hanako [ 02 ธ.ค. 2014, 17:27 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ ! ถ้าไม่มีอุปนิสัยทางนี้แล้ว
ความรู้สึกอย่างนั้นจะเกิดแก่ยสกุลบุตรไม่ได้
ยสะเป็นบุตรเศรษฐีมั่งคั่งมากในเมืองพาราณสี
มีสตรีที่สวยงามบำรุงบำเรออย่างดี

คืนหนึ่งยสะนอนหลับไปก่อน เมื่อตื่นขึ้นตอนดึกขณะที่ไฟสว่างอยู่
เขาเห็นสตรีเหล่านั้นนอนด้วยอาการพิกลต่างๆ
บางนางพิณตกอยู่ที่รักแร้ บางนางมีตะโพนวางอยู่ข้างคอ
บางนางสยายผม บางนางน้ำลายไหล บางนางละเมอเพ้อพก
หญิงเหล่านั้นปรากฏแก่ยสะประดุจซากศพที่เขาทิ้งเกลื่อนกล่นอยู่ในป่าช้า
เกิดความสลดจิตเบื่อหน่าย ออกอุทานด้วยความสลดใจว่า

“ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ”

จึงลงมาสวมรองเท้าออกจากเรือนไป ออกประตูเมือง
เดินไปทางที่จะไปป่าอิสิปตนะ เวลานั้นใกล้รุ่งแล้ว
พระบรมศาสดาเสด็จจงกรม*อยู่ในที่โล่งแจ้ง
ทรงได้ยินเสียงของยสกุลบุตรว่า
“ที่นี่ขัดข้องหนอ ที่นี่วุ่นวายหนอ” จึงตรัสเรียก
และว่า “ที่นี่ไม่วุ่นวายที่นี่ไม่ขัดข้อง”


(*จงกรม คือการเดินกลับไปกลับมา เพื่อพิจารณาอารมณ์กัมมัฏฐาน
หรือพิจารณาหัวข้อธรรมอย่างใดอย่างหนึ่ง)


:b44:

ยสกุลบุตรได้ฟังดังนั้น จึงถอดรองเท้าเข้าไปเฝ้า
พระศาสดาทรงแสดงธรรมให้ฟัง ตรัสถึงเรื่องทาน* ศีล สวรรค์
โทษของกาม (กามาทีนพ) และความสุขความโปร่งใจ
ของผู้ออกจากกามแล้ว (เนกขัมมะ)

โดยใจความย่อว่า

มนุษย์ผู้อยู่ร่วมกันควรต้องมีการเสียสละให้กัน
ไม่เบียดเบียนกัน จึงจะอยู่ร่วมกันเป็นสุข
แต่ความสุขชั้นกามนั้นเจือด้วยโทษ เป็นสุขที่เจือด้วยทุกข์
สุขโสมนัสอันใดเกิดจากกาม นั่นคือคุณของกาม
ทุกข์โทมนัสอันใดเกิดจากกาม นั่นคือโทษของกาม
แต่กามทั้งหลายมีสุขน้อย มีทุกข์มากมีพิษมาก
มีความเดือดร้อนมาก มีรสอร่อยน้อย มีความขมขื่นปวดร้าวมาก
ผู้เห็นโทษของกามจึงชักกายชักใจออกจากกาม
ได้ความโปร่งใจ มีความสุขอันประณีต นั่นคือเนกขัมมสุข
ไม่ต้องเศร้าโศก ไม่ต้องหวาดระแวงภัยเพราะกาม


(*หมายถึง อนุปุพพิกถา ทั้ง ๕ อย่างมี ทาน เป็นต้น)

:b39:

ยสกุลบุตรผู้หน่ายกามอยู่แล้ว เมื่อได้ฟังพระพุทธพจน์
อันชี้ให้เห็นโทษของกามและคุณของการออกจากกาม
จิตก็แล่นไปสู่เนกขัมมสุข พระศาสดาทรงทราบว่า
จิตของยสะห่างจากความพอใจในกาม
ควรรับพระธรรมเทศนาที่สูงขึ้นไปได้แล้ว
จึงแสดง “อริยสัจ ๔” เสมือนช่างย้อมผู้ฉลาด
ฟอกผ้าให้สะอาดควรแก่การย้อมก่อน แล้วจึงย้อมด้วยสีที่ต้องการ
ยสกุลบุตรฟังพระธรรมเทศนาแล้วได้ดวงตาเห็นธรรม
เป็นพระโสดาบัน ต่อมาภายหลังจึงได้สำเร็จอรหัตตผล


ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ ! ข้อความที่น่าสะกิดใจอย่างยิ่งก็คือ

คำสนทนาระหว่างพระพุทธเจ้ากับเศรษฐีผู้เป็นบิดาของพระยสะ
บิดาของท่านยสะบอกว่า มารดาที่เศร้าโศกรำพันถึงบุตรหนักหนา
จงให้ชีวิตแก่มารดาโดยการกลับไปเรือนเถิด

พระยสะมองดูพระศาสดา พระพุทธองค์จึงตรัสว่า

“...จิตของยสะหลุดพ้นจากอาสวะ มิได้ยึดมั่นด้วยอุปาทานแล้ว
ควรหรือที่ยสะจะกลับไปบริโภคกามคุณอีกเหมือนแต่ก่อน?”


บิดาของยสะทูลตอบว่า

“ไม่อย่างนั้นเลย ชพระเจ้าข้า เป็นลาภแล้ว
ความเป็นมนุษย์อันพ่อยสะได้ ดีแล้ว”

ภราดา ! เมื่อเศรษฐีบิดาของท่านยสะทราบว่า
บุตรของตนบรรลุอรหัตตผลสิ้นกิเลสทั้งปวงแล้ว
พูดออกมาว่า “ความเป็นมนุษย์อันพ่อยสะได้ ดีแล้ว” ดังนี้
เป็นการยืนยันถึงความเข้าใจของท่านว่า
“การได้ดีสูงสุดของมนุษย์นั้นคือการสิ้นกิเลส”
ดังนั้น ภาวะแห่งการสิ้นกิเลสจึงควรเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุดของมนุษย์
และต้องเป็นจุดมุ่งหมายสูงสุด ทุกๆ ชาติที่เกิด
แต่จะไปสำเร็จเอาชาติใดนั้นก็สุดแล้วแต่บารมีที่สั่งสม
ผู้มีจุดมุ่งหมายของชีวิตอย่างนี้เท่านั้น
จึงจะพบกับความสงบสุขของชีวิต
มิฉะนั้นแล้วถึงจะได้อะไรมา
ก็หาพอใจไม่ ชีวิตจะต้องระหกระเหินต่อไป
จิตใจจะดิ้นรนร่านหาของใหม่ๆ แปลกๆ ที่เข้าใจเอาว่า
จะให้ความสุขความสมหวังแก่ตนได้

พระภัททวัคคีย์ผู้สำเร็จมรรคผลที่ไร่ฝ้าย
และท่านชฎิล มีอุรุเวลกัสสป เป็นต้น
ก็ล้วนแต่ได้บำเพ็ญบารมีมาเพื่ออรหัตตผลเท่านั้น
หาได้ปรารถนาตำแหน่งใดๆ ไม่


อนึ่ง “ชฎิลสามพี่น้องมีอุรุเวลกัสสป” เป็นต้น
มีชีวิตเกี่ยวพันกับ “พระเจ้าพิมพิสาร” เพียงในชาตินี้ก็หาไม่
แม้ในชาติก่อนๆ ก็เคยเกี่ยวพันกันมาแล้ว ได้ทำบุญกุศลร่วมกันมา
พระศาสดาได้ทรงเล่าเรื่องนี้แก่ภิกษุทั้งหลายว่า

นับถอยหลังจากนี้ไป ๙๒ กัป ในสมัยของพระพุทธเจ้า
พระนามว่าติสสะและปุสสะ พระพุทธเจ้าองค์ที่ ๒๐ และ ๒๑
พระเจ้าพิมพิสารเกิดเป็นสมุห์บัญชีของพระราชกุมาร ๓ พระองค์
คือ ชฎิล ๓ พี่น้องเวลานี้ ได้ร่วมกันทำบุญทำทานในสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข พระราชกุมาร ๓ พระองค์ได้รับศีล ๑๐
นุ่งห่มผ้ากาสายะ ๒ ผืน ตลอดเวลา ๓ เดือน
มอบพระราชภาระในการบำรุงพระตถาคต และสาวกของพระตถาคต
ให้แก่สมุห์บัญชีของพระองค์ คือ พระเจ้าพิมพิสารเวลานี้

แต่บริวารของสมุห์บัญชีอันเป็นทาสบ้าง กรรมกรบ้าง
ได้กินของที่เขาอุทิศให้สงฆ์เองบ้างให้บุตรหลานกินบ้าง
เพราะไม่อาจระงับความอยากได้เมื่อเห็นของดีๆ
ของนั้นมิใช่ของเหลือจากสงฆ์ แต่เป็นของที่เขาอุทิศถวายสงฆ์
และสงฆ์ยังมิได้ฉัน ด้วยวิบากแห่งกรรมนั้น จึงเกิดเป็นเปรต
อยู่นานถึง ๔ พุทธันดร ได้ถามพระพุทธเจ้าถึง ๓ พระองค์ว่า
เมื่อใดพวกตนจึงจะพ้นจากความทุกข์ทรมานนั้น
พระพุทธเจ้าเหล่านั้นตรัสตอบว่า
จักพ้นในศาสนาของพระพุทธเจ้าพระนามว่า “โคดม”

เจ้าของ:  Hanako [ 09 ธ.ค. 2014, 11:39 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

เมื่อพระเจ้าพิมพิสารถวายเวฬุวันแก่พระศาสดาแล้ว
เพราะอำนาจแห่งกรรมชั่วของเปรตเหล่านั้นปิดปังไว้
จึงบันดาลให้พระเจ้าพิมพิสารมิได้ทรงระลึก
ที่จะอุทิศส่วนกุศลให้ใครเลย

ในราตรีนั้นเปรตทั้งหลายจึงไปเปล่งเสียงอันน่ากลัว
ในพระราชวังของพระราชาแสดงตนให้ปรากฏ
จอมเสนาแห่งแคว้นมคธทรงสะดุ้งตกพระทัยเป็นอันมาก
รุ่งเช้าจึงเสด็จไปเฝ้าพระศาสดาทูลถามเรื่องนั้น

พระพุทธองค์ตรัสว่า

“มหาบพิตร นับถอยหลังจากกัปนี้ไป ๙๒ กัป
ในศาสนาแห่งพระพุทธเจ้าพระนามว่าปุสสะ
พวกเปรตเหล่านั้นเป็นญาติของพระองค์
กินอาหารที่เขาเตรียมไว้ถวายสงฆ์ เกิดในเปตโลกแล้ว
หวังได้รับส่วนบุญจากพระองค์มาตลอดกาลช้านาน...”


“พระองค์ผู้เจริญ ! ถ้าหม่อมฉันถวายทานในบัดนี้
เปรตเหล่านั้นจักได้รับหรือ?”


“ได้รับ มหาบพิตร” พระศาสดาตรัสตอบ

พระราชาพิมพิสารทรงนิมนต์ภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขถวายมหาทานในวันรุ่งขึ้น
แล้วได้พระราชทานส่วนบุญว่า

“ด้วยอานุภาพแห่งมหาทานนี้
ขอข้าวน้ำอันเป็นทิพย์จงสำเร็จแก่เปรตเหล่านั้น”


ข้าวน้ำอันเป็นทิพย์เกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้นแล้ว
คืนต่อมา เปรตเหล่านั้นเปลือยกายแสดงตนแก่พระราชา
พระเจ้าพิมพิสารทูลถามความนั้นกับพระผู้มีพระภาคเจ้า
พระพุทธองค์ตรัสให้ถวายผ้าแก่พระสงฆ์
พระเจ้าพิมพิสารได้ถวายจีวรแก่พระสงฆ์ มีพระพุทธเจ้าเป็นประมุข
แล้วทรงอุทิศส่วนบุญว่า

“ด้วยอานุภาพแห่งจีวรทานนี้
ขอผ้าอันเป็นทิพย์จงเกิดขึ้นแก่เปรตทั้งหลาย”

ขณะนั้นเองผ้าทิพย์เกิดขึ้นแก่เปรตเหล่านั้น
พวกมันละอัตตภาพแห่งเปรต ดำรงอยู่ในอัตตภาพอันเป็นทิพย์แล้ว
พระศาสดาทรงอนุโมทนาบุญของพระราชาพิมพิสารโดยนัยว่า

“เปรต*ทั้งหลายมายืนอยู่ที่ทาง ๓ แพร่ง ๔ แพร่งบ้าง
มาสู่เรือนของตนแล้ว ยืนอยู่นอกฝาประตูบ้าง
เมื่อข้าวน้ำและของควรเคี้ยวควรบริโภคเป็นอันมากมีอยู่
ใครสักคนหนึ่งก็มิได้นึกถึงเปรตเหล่านั้น
เพราะกรรมของสัตว์ (คือเปรต) นั่นเองปิดบังไว้”

ผู้มีใจอนุเคราะห์เมื่อให้ทาน
จึงควรระลึกถึงญาติบ้างว่า
‘ขอกุศลผลทานนี้
จงสำเร็จแก่ญาติทั้งหลายของข้าพเจ้า’


ญาติทั้งหลายผู้ไปบังเกิดเป็นเปรตมาประชุมกัน
อนุโมทนาด้วยความเคารพตั้งจิต
ให้ญาติผู้ทำบุญไปให้ได้มีอายุยืนนาน
ทายกผู้ทำบุญก็ไม่ไร้ผล ในเปตโลกนั้นไม่มีกสิกรรม
โครักขกรรมก็ไม่มี ไม่มีพานิชกิจ หรือการซื้อขายใดๆ
เปรตทั้งหลายเลี้ยงชีพด้วยทาน
ที่มนุษย์ทำบุญอุทิศไปให้เท่านั้น
น้ำตกลงในที่ดอนย่อมไหลไปสู่ที่ลุ่มฉันใด
ขอทานที่ท่านให้แล้วจากโลกนี้
จงสำเร็จแก่เปรตทั้งหลายฉันนั้น
เหมือนห้วงน้ำหรือห้วยหนองคลองบึง
เต็มแล้วหลั่งลงสู่สาคร


*นัย คือ “ติโรกุฑฑสูตร”
http://www.84000.org/tipitaka/attha/attha.php?b=25&i=8


:b40:

ผู้มีใจกรุณาระลึกถึงอุปการะ
ที่ท่านทำแล้วแก่ตนมาก่อนว่า

‘ผู้นี้ได้เคยให้สิ่งนี้แก่เรา
ผู้นี้ได้เคยทำสิ่งนี้แก่เรา
ผู้นี้เป็นญาติเป็นมิตร
หรือเป็นเพื่อนของเรา’

แล้วทำบุญให้ทานอุทิศส่วนบุญ
ให้แก่ผู้ล่วงลับทั้งหลาย
ด้วยความสำนึกคุณนั้นอันนี้เป็นประโยชน์
ส่วนการร้องไห้เศร้าโศกคร่ำครวญ
ไม่เป็นประโยชน์แก่ญาติทั้งหลายผู้ล่วงลับ
เขาคงอยู่อย่างนั้นเอง ไม่ทำอะไรให้ดีขึ้น


“ทักษิณาที่พระองค์ทรงบำเพ็ญนี้
ชื่อว่าทรงตั้งไว้ดีแล้วในสงฆ์
จักเป็นไปเพื่อประโยชน์สุขตลอดกาลนาน
จะสำเร็จประโยชน์แก่ผู้ล่วงลับตามควรแก่ฐานะ”


“พระองค์ทรงแสดงญาติธรรมให้ประจักษ์แล้วในคราวนี้
ทรงทำการบูชาอันโอฬารแก่พระญาติผู้ล่วงลับ
ทรงให้กำลังแก่ภิกษุทั้งหลายด้วยแล้ว
ชื่อว่าได้ทรงขวนขวายในบุญเป็นอันมาก”


พระคาถาอนุโมทนานี้ ยังความปลาบปลื้มพระทัย
ให้เกิดแก่พระเจ้าพิมพิสารเป็นที่ยิ่ง
เพราะมีพระทัยจดจ่อในการบุญกุศลอยู่แล้ว
เมื่อทรงทราบว่าพระราชกุศลที่ทรงทำ
อุทิศให้พระญาติในอดีตสำเร็จประโยชน์เช่นนั้น
ก็ทรงปราโมชขึ้นอีกเป็นทวีคูณ

ภราดา ! กรรมดีกรรมชั่วมีจริง
ผลแห่งกรรมดีกรรมชั่วมีจริง บุคคลมีกรรมเป็นของตน*
เป็นทายาทแห่งกรรม มีกรรมเป็นพวกพ้อง
เป็นที่พึ่งอาศัย คนทำดีหาความสุขได้ง่าย
ส่วนคนทำชั่วหาความสุขได้ยาก**


*จูฬกัมมวิภังคสูตร มัชฌิมนิกาย พระไตรปิฎกเล่ม ๑๔ หน้า ๓๗๖ ข้อ ๕๘๑
**น หิ ตํ สุลภํ โหติ สุขํ ทุกฺกฏการินา

เจ้าของ:  Hanako [ 11 ธ.ค. 2014, 17:28 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

๗.) ปุพเพปณิธาน

ภิกษุทั้งหลายทูลถามถึง “บุพกรรม”
ของพระอัครสาวกทั้งสองว่า
มีปณิธานมาอย่างไร
พระศาสดาได้ตรัสเล่าว่า


ในสมัยแห่งพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
พระนามว่า อโนมทัสสี
อันเป็นพระพุทธเจ้าองค์ที่ ๑๐
พระสารีบุตรเกิดในสุกลพราหมณ์มหาศาล มีนามว่า สรทมานพ
ส่วนพระโมคคัลลานะเกิดในสกุลคหบดีมหาศาล
มีนามว่า สิริวัฒกุฎมพี
ท่านทั้งสองเป็นสหายรักกัน

วันหนึ่ง สรทมานพอยู่ในที่เงียบสงัด
ไตร่ตรองเรื่องของชีวิตเกิดความคิดขึ้นว่า

“เราสามารถรู้เรื่องของชีวิตและอัตตภาพ
เฉพาะในโลกนี้เท่านั้น แต่มืดมนต่อปัญหาชีวิต
และอัตตภาพในโลกหน้าเหลือเกิน
สัตว์ผู้เกิดแล้วจะไม่ตายนั้นไม่มี เราจักต้องตายแน่แท้
ชีวิตในโลกหน้าของเราจักเป็นอย่างไรหนอ?”


เพื่อตอบปัญหาชีวิตนี้ให้ได้
สรทมานพต้องการออกบวชแสวงหาโมกขธรรม
จึงไปชวนสิริวัฒกุฎุมพีผู้สหาย
แต่สิริวัฒไม่พร้อมจะทำได้ จึงปฏิเสธ
สรทมานพคิดว่า

‘ผู้ไปสู่ปรโลก คือโลกหน้าจะชวนสหาย
หรือญาติมิตรไปด้วยไม่ได้
โลกนี้ไม่มีอะไรเป็นของตน
บุคคลต้องละทิ้งสิ่งทั้งปวงไป
กรรมดีกรรมชั่วที่เราทำนั่นแหละเป็นของเรา
และจะติดตามเราไปในโลกหน้า’


คิดดังนี้แล้ว จึงบริจาคทรัพย์เท่าที่มีเป็นทาน
แล้วออกบวชเป็นชฎิล มีผู้ออกบวชตามเป็นอันมาก
สรทดาบสทำกสิณบริกรรม*
จนได้อภิญญา ๕** และสมาบัติ ๘***
ชฎิลบริวารก็ได้คุณสมบัติเช่นนั้นเหมือนกัน


กสิณบริกรรม*การเพ่งกสิณ เช่น เพ่งดิน น้ำ ลม ไฟ หรือสีเหลือง สีเขียว
สีขาว สีแดง เป็นต้น พร้อมกับบริกรรมว่า ดินๆ เป็นต้น
กสิณ ๑๐ เป็นทางให้เกิดอภิญญาสมาบัติ

อภิญญา ๕** คือ ความรู้ยิ่ง ความรู้เหนือสามัญชน
เหนือธรรมดา (Super natural Knowledge)
ผู้ได้อภิญญา ย่อมได้อำนาจเหนือธรรมชาติ (Super natural power)
สามารถทำสิ่งที่สามัญชนทำไม่ได้ เราอาจเทียบให้เห็นได้กับช่างอิเล็กทรอนิกส์
ที่สามารถทำกับเครื่องไฟฟ้า ที่คนผู้ไม่ได้เรียนไม่ได้ฝึกฝนมาทำไม่ได้
หรือแม้นักกายกรรมก็สามารถทำอะไรได้แปลกๆ ชนิดที่สามัญชนทำไม่ได้เหมือนกัน
ผู้ฝึกทางจิตก็ย่อมมีอำนาจจิตพิเศษเป็นรางวัลตอบแทนความพยายาม

สมาบัติ ๘*** คือ ฌาน ๘ นั่นเอง เป็นความละเอียด
ประณีตของดวงจิตเป็นขั้นๆ ฌานนี่เองเป็นบาทฐานอันสำคัญของอภิญญา


:b44:

เช้าวันหนึ่ง พระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
เสด็จออกจากนิโรธสมาบัติ* หรือพระมหากรุณาสมบัติ
ทรงพิจารณาอุปนิสัย แห่งสัตวโลก
ทรงเห็นอุปนิสัยแห่งสรทดาบสพร้อมด้วยบริวาร
ว่า สรทดาบสอาศัยพระองค์แล้วจักปรารถนาตำแหน่งอัครสาวก

ดังนี้แล้วเสด็จไปยังสำนักของสรทดาบส เสด็จไปทางอากาศ
ทรงอธิษฐานพระทัยว่า ขอให้สรทดาบสรู้ความที่พระองค์เป็นพระพุทธเจ้า
เมื่อสรทดาบสเห็นอยู่นั่นเอง เสด็จลงจากอากาศประทับยืนบนภาคพื้น

สรทดาบสเห็นอานุภาพแห่งอาคันตุกะ
และเพ่งพินิจสง่าราศีแห่งพระพุทธสรีระแล้ว
ระลึกถึงวิชาดูลักษณะคนที่ตนช่ำชองอย่างดี
ก็ได้ทราบด้วยปัญญาญาณว่า
อาคันตุกะผู้นี้เป็นพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้ถอดถอนกิเลสทั้งปวงออกจากจิตได้แล้ว


จึงถวายบังคมด้วยเบญจางคประดิษฐ์ จัดอาสนะถวาย
ตนเองนั่งบนอาสนะที่แสดงให้เห็นว่าเป็นผู้น้อยกว่า
ขณะนั้นชฎิลบริวารของสรทดาบสจำนวนมาก
กลับจากหาผลาผลได้เห็นอาจารย์ของตน
นั่งแสดงความเคารพอาคันตุกะผู้หนึ่งอยู่
เกิดความประหลาดใจ จึงกล่าวว่า

พวกเราเข้าใจว่า ในโลกนี้ผู้ที่เป็นใหญ่กว่าอาจารย์ไม่มี
บุรุษผู้นี้เป็นใหญ่กว่าอาจารย์หรือ?


สรทดาบสตอบว่า

“ท่านทั้งหลายอย่านำเม็ดทรายไปเทียบภูเขาสิเนรุราชเลย
เราเป็นเสมือนเม็ดทราย ส่วนท่านผู้นี้เป็นเสมือนสิเนรุราชบรรพต
พระองค์ทรงเป็นพระสัพพัญญูพุทธเจ้า”

เจ้าของ:  Hanako [ 06 ม.ค. 2015, 16:46 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

บริวารของสรทดาบสแน่ใจว่า อาคันตุกะเป็นผู้ยิ่งใหญ่แท้จริง
มิฉะนั้นแล้ว ไฉนเล่าอาจารย์ของพวกตน
จึงแสดงอาการกายและวาจาเช่นนั้น
จึงพร้อมกันหมอบลงแสดงความเคารพ

สรทดาบสล้างมืออย่างดี แล้วนำเอาผลไม้ที่มีรสดี
วางลงในบาตรของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ขณะที่พระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
กำลังทรงทำภัตตกิจท่ามกลางการแวดล้อมของชฎิล
บริวารของสรทดาบส และทรงปราศรัยอยู่กับสรทดาบสนั่นเอง
ทรงดำริว่า ‘ขอให้อัครสาวกของเราพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์จงมา’

พระอัครสาวกทั้งสองทราบพระดำริของพระศาสดาด้วยโทรจิต*
แล้วรีบมาพร้อมด้วยภิกษุสงฆ์บริวาร
ยืนถวายบังคมอยู่ ณ ที่อันสมควรด้านหนึ่ง
สรทดาบสสั่งให้ชฎิลบริวารผู้ได้อภิญญา ๕ และสมาบัติ ๘
ไปนำดอกไม้จากป่าใหญ่มาทำอาสนะดอกไม้ถวายพระพุทธเจ้า
พระอัครสาวกและภิกษุสงฆ์ทั้งมวล
อาสนะดอกไม้สำเร็จโดยรวดเร็ว
ด้วยอำนาจฤทธิ์ของผู้มีฤทธิ์ทั้งหลาย

[*โทรจิต (Telepathy)
การส่งความคิดให้ผู้อื่นทราบโดยไม่ต้องใช้เครื่องหมายหรือคำพูดใดๆ
(The passing of thought from one person to another
without the use of signs of words)
เป็นวิสัยของท่านผู้ฝึกจิตจนเกิดความชำนาญแล้ว]


:b47:

ภราดา ! วิสัยสามารถแห่งเด็กเล็ก
กับวิสัยสามารถแห่งผู้ใหญ่ผู้สมบูรณ์ด้วยกำลังกาย
กำลังทรัพย์ กำลังความรู้ และกำลังปัญญา
ย่อมแตกต่างกันมากฉันใด
วิสัยสามารถแห่งสามัญชน
กับท่านผู้สำเร็จแล้วทางอภิญญาสมาบัติ
ก็แตกต่างกันมากฉันนั้น


ท่านจึงเตือนไว้ว่าสามัญชนไม่ควรคิดมากในเรื่องต่อไปนี้คือ

๑. วิสัยสามารถของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า (พุทธวิสัย)
๒. วิสัยสามารถแห่งผู้ได้ฌานสมาบัติ (ฌานวิสัย)
๓. วิสัยแห่งกรรมและผลของกรรม (กัมมวิปากวิสัย)
๔. ความคิดถึงความเป็นมาของโลก (โลกจินตา)


ท่านว่าเรื่องทั้ง ๔ นี้เป็นอจินไตย
ใครคิดมากต้องการรู้ด้วยเหตุผลอาจเป็นบ้าได้
ทำไมจึงเป็นอย่างนั้น?

คำตอบก็คือว่า

บางอย่างเรารู้ได้ด้วย “ประสาทสัมผัสธรรมดา”
เช่น รูปที่หยาบรู้ด้วยตาเนื้อ เสียงที่หยาบรู้ด้วยหูเนื้อ
สัมผัสที่หยาบรู้ด้วยกายเนื้อ เป็นต้น

บางอย่างเรารู้ได้ด้วย “เหตุผล”
เช่น ความผิด ความถูก ความดี ความชั่ว เป็นต้น
แต่บางอย่างเราไม่อาจรู้ได้ด้วยประสาทสัมผัสและด้วยเหตุผล
แต่รู้ได้จริงๆ ด้วยญาณวิเศษของท่านผู้ที่มีจิตใจประณีต
จนมีญาณเกิดขึ้น เช่น ทิพยจักษุญาณ เป็นต้น
สามารถเห็นกายทิพย์ที่จักษุธรรมดาเห็นไม่ได้

ภราดา ! สรุปว่า สิ่งอันเป็นวิสัยแห่งผัสสะเรารู้ได้ด้วยผัสสะ
สิ่งอันเป็นวิสัยแห่งเหตุผล เรารู้ได้ด้วยเหตุผล
ส่วนสิ่งอันเป็นวิสัยแห่งญาณ ก็ต้องรู้ด้วยญาณ
แม้ในเรื่องผัสสะนั่นเองก็ต้องจับให้ถูกคู่ของมันจึงจะสำเร็จประโยชน์
ผิดคู่ก็ไม่เกิดประโยชน์ เช่น เอาตาไปชิมแกง เอาลิ้นไปดูรูป เป็นต้น


ตลอดเวลา ๗ วันที่พระอโนมทัสสีสัมมาสัมพุทธเจ้า
ประทับอยู่ ณ สำนักของสรทดาบสนั้น
สรทดาบสได้ยืนกั้นฉัตรดอกไม้ถวายด้วยปีติปราโมช
มีความสุขตลอด ๗ วัน และ ๗ วันนั้น
พระพุทธเจ้าและพระอัครสาวกรวมทั้งพระสาวกอรหันต์ได้เข้านิโรธสมาบัติ
เพื่อให้สักการะของสรทดาบสและชฎิลบริวารมีอานิสงส์มาก


ในวันที่ ๗ พระศาสดาเสด็จออกจากนิโรธสมาบัติ
รับสั่งให้อัครสาวกนามว่า พระนิสภะอนุโมทนา
และรับสั่งให้พระอัครสาวกอีกรูปหนึ่งคือ พระอโนมเถระแสดงธรรม
แต่ไม่มีใครได้สำเร็จมรรคผลเลย พระศาสดาจึงทรงแสดงธรรมเอง
ชฎิลบริวารของสรทดาบสได้สำเร็จอรหัตตผลหมด
ส่วนท่านสรทะไม่ได้สำเร็จเพราะมีจิตฟุ้งซ่านอยู่
ตั้งแต่เริ่มฟังอนุโมทนาของพระอัครสาวก
จนถึงฟังพระธรรมเทศนาของพระพุทธเจ้า

จิตของท่านวนเวียนอยู่ว่า

‘ไฉนหนอเราจะพึงได้รับภาระเช่นนี้บ้างจากพระพุทธเจ้า
ซึ่งจะบังเกิดขึ้นในอนาคต’


สรทดาบสจึงตั้งความปรารถนาเฉพาะพระพักตร์
ของพระอโนมทัสสีพุทธเจ้าว่า

“พระเจ้าข้า ด้วยกุศลกรรมครั้งนี้
ข้าพระพุทธเจ้ามิได้ปรารถนาความเป็นท้าวสักกะหรือความเป็นพรหม
แต่ข้าพระองค์ปรารถนาเป็นพระอัครสาวก
ของพระพุทธเจ้าองค์ใดองค์หนึ่งในอนาคตเหมือนพระนิสภเถระ”


พระศาสดาทรงส่งพระญาณไปในอนาคต
ทรงทราบแล้วจึงตรัสว่า

“ในศาสนาของพระพุทธเจ้า พระนามว่าโคดม ในอนาคต
ท่านจักเป็นอัครสาวกที่หนึ่งนามว่าสารีบุตร
จักเป็นผู้สามารถหมุนธรรมจักรได้เช่นเดียวกับพระพุทธเจ้า
จักเป็นผู้มีปัญญามาก บรรลุถึงยอดแห่งสาวกบารมีญาณ”


เมื่อพระศาสดาเสด็จกลับแล้วสรทดาบสรีบไปหา “สิริวัฒ” ผู้สหาย
เล่าเรื่องทั้งปวงให้ฟัง และขอร้องให้สิริวัฒปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒
สิริวัฒเชื่อท่านสรทดาบส จึงเตรียมมหาทานถวายภิกษุสงฆ์
มีพระพุทธเจ้าทรงเป็นประมุขตลอด ๗ วัน
แล้วปรารถนาตำแหน่งอัครสาวกที่ ๒


พระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเล่าเรื่องปุพพจริยา
ของอัครสาวกทั้งสองจบลงแล้ว ตรัสเพิ่มเติมว่า

“ภิกษุทั้งหลาย !
นี่คือความปรารถนาที่บุตรของเราตั้งไว้แล้วในครั้งนั้น
บัดนี้ เธอทั้งสองได้ตำแหน่งนั้นตามปรารถนาแล้ว
ภิกษุทั้งหลาย! เราหาได้ให้ตำแหน่งเพราะเห็นแก่หน้าไม่”


ภราดา ! ความพยายามและความปรารถนาของบุคคลผู้ทำความดี
สั่งสมกรรมดีนั้นไม่เคยไร้ผล มันจะคอยจังหวะให้ผลในโอกาสอันควรอยู่เสมอ
แต่เนื่องจากคนบางคนขณะพยายามเพื่อทำกรรมดี สั่งสมกรรมดีอยู่นั้น
ก็ให้โอกาสแห่งความชั่วแทรกแซงเข้ามาเป็นระยะๆ

เมื่อเป็นดังนี้ ผลแห่งกรรมดีก็ถูกขัดขวางเป็นระยะๆ เหมือนกัน
ไม่มีโอกาสให้ผลได้เต็มที่ อนึ่ง ความพยายามเพื่อเอาชนะความชั่วในตนนั้น
จัดเป็นความพยายามที่สำคัญ และจำเป็นอย่างยิ่งในชีวิตมนุษย์
เราจะต้องพยายามไปตลอดชีวิต ชีวิตเดียวไม่เพียงพอด้วยซ้ำไป
ต้องพยายามกันชาติแล้วชาติเล่า โดยหาวิธีให้จิตค่อยเจริญขึ้นทีละเล็กทีละน้อย
ค่อยเป็นค่อยไปทีละขั้น ดังที่พระพุทธองค์ทรงอุปมาไว้ว่า

“มหาสมุทรลึกลงโดยลำดับ ลาดลงโดยลำดับ
ไม่โกรกชันเหมือนภูเขาขาดฉันใด ธรรมวินัยนี้ก็ฉันนั้น
มีการศึกษาตามลำดับ (อนุปุพพสิกขา)
มีการกระทำตามลำดับ (อนุปุพพกิริยา)
มีการปฏิบัติตามลำดับ (อนุปุพพปฏิปทา)”

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๑๕๒ ข้อ ๑๑๗)

ความเจริญที่ค่อยเป็นค่อยไปอย่างช้าๆ
นั้นจะช่วยให้เราเอาชนะความคิดและนิสัยที่ชั่วช้าได้ทีละน้อย
ถ้าเร่งเกินไป อาจทำให้ฟุ้งซ่าน เกิดภาวะความขัดแย้งมากมายในใจ
ความรู้หรือการให้อาหารแก่ใจ
ก็ทำนองเดียวกับการให้อาหารแก่ร่างกาย
ต้องค่อยเป็นค่อยไปทีละน้อยทีละขั้น
อาหารที่ย่อยดีจึงจะเป็นประโยชน์แก่ร่างกาย
ความรู้ความเข้าใจที่ย่อยดีแล้วจึงจะเป็นประโยชน์แก่ดวงจิต

ในการนี้ “ความอดทน” เป็นคุณธรรมที่จำเป็นจริงๆ
ปราศจากความอดทนเสียแล้วก็ทำไปไม่ได้ตลอด
อาจทอดทิ้งเสียกลางคัน

ช่างฝีมือบางพวก เมื่อจะทำงานสำคัญบางชิ้น
เขาจะอุทิศชีวิตทั้งชีวิตทีเดียวเพื่องานนั้น
นักปราชญ์ผู้แสวงหาปัญญา จะใช้ชีวิตทั้งชีวิตเหมือนกัน
เพื่อให้รู้อะไรสักอย่างหนึ่ง หรือเพื่อให้ชีวิต
ก้าวไปสักขั้นหนึ่งในทางปัญญา
แม้จะเป็นขั้นเล็กๆ ก็ตาม แล้วไปต่อเอาชาติหน้าอีก
ความพยายามของเราจะต้องเป็นไปติดต่อ (วิริยารัมภะ)
ซื่อสัตย์และเอาจริง ผลจะต้องมีอย่างแน่นอน

แม้จะช้าสักหน่อยก็ตาม

ด้วยเหตุนี้ โชคชะตาของแต่ละคน
จึงเป็นผลรวมแห่งการกระทำในอดีตของเขา
ความสามารถทางจิต สภาพทางกาย อุปนิสัยทางศีลธรรม
และเหตุการณ์สำคัญในชาติหนึ่งๆ ย่อมเป็นผลรวม
แห่งความปรารถนา ความคิด ความตั้งใจของเราเองในอดีต
ความต้องการในอดีตของเราเป็นสิ่งกำหนดโอกาสในปัจจุบันให้เรา
ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นลอยๆ สภาพปัจจุบันของเรา
จึงเป็นผลแห่งการกระทำ ความคิด และความต้องการของเราในอดีต
ไม่เฉพาะแต่ในชาติก่อนเท่านั้น
แต่หมายถึงในตอนต้นๆ แห่งชีวิตในชาตินี้ของเราด้วย


จึงสรุปได้ว่า

ทุกอย่างที่เราเป็นอยู่ในปัจจุบัน
เป็นผลแห่งสิ่งเราเคยคิดไว้


:b44:

“สิ่งทั้งปวงมีใจเป็นหัวหน้า มีใจประเสริฐสุด สำเร็จมาจากใจ
ถ้าใจเศร้าหมอง การทำและการพูดก็เศร้าหมอง ความทุกข์จะตามมา
ถ้าใจผ่องแผ้ว การทำและการพูดก็สะอาดบริสุทธิ์
ความสุขจะตามมา เหมือนล้อเกวียนหมุนตามรอยเท้าโค
หรือเหมือนเงาตามตัว”

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๑๔ ข้อ ๑๑)

ภราดา ! พระตถาคตเจ้าตรัสไว้อีกว่า

“จิตที่ตั้งไว้ถูก ย่อมอำนวยผลดีให้สุดจะคณนา
อย่างที่มารดาบิดาหรือญาติไม่อาจมอบให้ได้ ส่วนจิตที่ตั้งไว้ผิด
ย่อมทำให้บุคคลนั้นย่อยยับป่นปี้ยิ่งเสียกว่าศัตรูคู่เวรทำให้”

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๒๐ ข้อ ๑๓)

ดังนั้น การบำรุงรักษาใจให้ดี จึงมีคุณแก่บุคคลผู้บำรุงรักษา
ยิ่งกว่าการบำรุงรักษาสิ่งใดๆ ในโลกนี้
เพราะเป็นสมบัติอันล้ำค่าของมนุษย์

เจ้าของ:  Hanako [ 17 ม.ค. 2015, 16:44 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

๘.) เหมือนมารดาผู้ให้เกิด

เมื่อพระศาสดาตรัสเล่า “บุพกรรมหรือปุพเพปณิธาน”
ของพระอัครสาวกจบลงแล้ว ท่านทั้งสองได้กราบทูล
เรื่องปัจจุบันของตนตั้งแต่ต้นจนถึงเรื่องที่ชักชวนท่านสัญชัย
มาเฝ้าพระตถาคตเจ้าแต่ท่านสัญชัยไม่ยอมมา
อ้างว่าไม่สมควรเป็นศิษย์ของใครอีกแล้ว

ท่านสัญชัยบอกว่า

“ไปเถิดคนฉลาดๆ จงไปสำนักของพระสมณโคดม
ส่วนคนโง่ๆ จงอยู่ในสำนักของเรา
เพราะในโลกนี้คนโง่มีมากกว่าคนฉลาด”


แม้ข้าพระองค์ทั้งสองจะกราบเรียนว่า
ลัทธิของท่านอาจารย์ไม่มีสาระแล้ว
ไปเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้ากันเถิด
ท่านอาจารย์สัญชัยก็หาฟังไม่

พระตถาคตเจ้าทรงสดับคำของอัครสาวกแล้วตรัสว่า

“สัญชัยยึดมั่นสิ่งที่ไม่มีสาระว่า ‘มีสาระ’
และเห็นสิ่งที่มีสาระว่า ‘ไม่มีสาระ’
เพราะมิจฉาทิฐิเป็นเหตุเป็นปัจจัย
ส่วนเธอทั้งสองเห็นตรงตามเป็นจริง
เพราะความที่เธอเป็นบัณฑิต”


ดังนี้แล้วตรัสย้ำอีกว่า

“ชนใดเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่า เป็นสาระ
เห็นสิ่งที่เป็นสาระว่า ไม่เป็นสาระ
คนพวกนั้นมีความดำริผิดเป็นทางดำเนิน
ย่อมไม่ประสบสิ่งอันเป็นสาระ

ส่วนชนใดเห็นสิ่งที่เป็นสาระว่า เป็นสาระ
เห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าไม่เป็นสาระ
คนพวกนั้นมีความดำริชอบเป็นทางดำเนิน
ย่อมประสบสิ่งที่เป็นสาระ”

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๑๖ ข้อ ๑๑)


:b45:

ภราดา ! ก็อะไรเล่าคือสิ่งที่ไม่เป็นสาระ?
อะไรคือสิ่งที่เป็นสาระ?


ตอบตามแนวทางแห่งพระพุทธศาสนา
สิ่งใดก็ตามอันเป็นไปเพื่อความเบียดเบียนบีบคั้น
เป็นไปเพื่อความฟุ้งซ่านเอาใจไว้ไม่อยู่
ทำให้จิตเตลิด เป็นไปเพื่อความหลงงมงาย
มืดมน เป็นไปเพื่อความติดพันยึดมั่น
สิ่งทำนองนั้นแหละเป็นอสาระ


ส่วนสิ่งใดก็ตามอันเป็นไป
เพื่อความไม่เบียดเบียนบีบคั้น
เป็นไปเพื่อความสงบระงับแห่งดวงจิต
เป็นไปเพื่อปัญญาเห็นแจ้ง
เป็นไปเพื่อความไม่ยึดมั่นด้วยอุปาทาน
คือเป็นไปเพื่อความหลุดพ้น
สิ่งนั้นหรือสิ่งทำนองนั้นเรียกว่า ‘มีสาระ’


คนส่วนมากอาศัยความดำริผิด (มิจฉาสังกัปปะ)
จึงเห็นสิ่งที่ไม่เป็นสาระว่าเป็นสาระ
แล้วหมกมุ่นอยู่ พัวพันอยู่ จมอยู่
ในสิ่งอันไม่เป็นสาระนั้น

มิหนำซ้ำยังนึกดูหมิ่นผู้ที่กำลังศึกษาปฏิบัติอยู่
ซึ่งสิ่งอันเป็นสาระว่าขวนขวายในสิ่งที่ไม่มีสาระ
เมื่อเป็นดังนี้ เขาจึงไม่มีโอกาสประสบสิ่งอันเป็นสาระได้
เพราะได้สมาทานมิจฉาทิฐิไว้เต็มที่


ดูก่อนท่านผู้แสวงหาสาระ ! กล่าวโดยย่อ

อกุศลธรรมทั้งปวงเป็นอสาระ
กุศลธรรมทั้งปวงเป็นสาระ

สิ่งที่ทำให้จิตใจต่ำเป็นอสาระ
สิ่งที่ทำให้ใจสูงเป็นสาระ

คนดีเป็นสาระ คนชั่วเป็นอสาระ


ท่านผู้แสวงสัจจะ ! คนส่วนมากอยากเป็นคนดี
อยากทำดีและอยากได้ดี แต่ที่ทำต่างๆ กันไป
ก็เพราะความเห็นในเรื่องความดีไม่ตรงกัน
บางคนเห็นผิดไปเห็นชั่วเป็นดี เมื่อทำเข้าจึงชั่ว
ผลออกมาเป็นความทุกข์ความเดือดร้อน
บางคนเห็นดีเป็นชั่วจึงเว้นสิ่งที่ควรทำ
ไม่ได้ทำความดี บางคนเห็นดีเป็นดี เห็นชั่วเป็นชั่ว
มีความเห็นถูก ดำริถูก จึงทำถูก พูดถูก
ผลออกมาเป็นความสุขความเจริญ ความเย็นใจ

โดยนัยดังกล่าวมา บุคคลจึงควรปรับความเห็น
และความคิดของตนให้ถูกให้ตรง
ก็จะดำเนินชีวิตไปในทางถูก ทางตรง
เขาย่อมพบสิ่งที่เป็นสาระ

เพราะมีความเห็นถูก คิดถูกนั้น
เป็นประทีปส่องทาง
ส่วนผู้ที่มีความคิดเห็นไม่ตรง
ย่อมมีแต่โทษทุกข์เป็นผล
ดังที่พระพุทธองค์ตรัสว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นสิ่งอื่นแม้อย่างหนึ่ง
ที่เป็นเหตุให้อกุศลที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น
ที่เกิดแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น
เหมือนมิจฉาทิฐินี้เลย

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลมีความเห็นผิด
อกุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
อกุศลธรรมที่เกิดแล้วย่อมเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น”

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๔๐-๔๓ ข้อ ๑๘๑-๑๙๐)


:b47:

"ภิกษุทั้งหลาย ! เราไม่เห็นธรรมอย่างอื่นแม้ข้อหนึ่ง
ที่เป็นเหตุให้กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดเกิดขึ้น
ที่เกิดแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้นเหมือนสัมมาทิฐินี้เลย

ภิกษุทั้งหลาย ! เมื่อบุคคลมีความเห็นชอบ
กุศลธรรมที่ยังไม่เกิดย่อมเกิดขึ้น
ที่เกิดขึ้นแล้วย่อมเป็นไปเพื่อความเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น

อนึ่งมิจฉาทิฐิทำให้สัตว์ทั้งหลายต้องตกนรก
ส่วนสัมมาทิฐิทำให้สัตว์ทั้งหลายบังเกิดในสุคติโลกสวรรค์

ผู้เป็นมิจฉาทิฐิเกิดมาเพื่อความฉิบหายวอดวาย
เพื่อโทษทุกข์แก่คนส่วนมาก

ส่วนผู้เป็นสัมมาทิฐิเกิดมาเพื่อประโยชน์สุขของคนส่วนมาก
เพราะทำให้คนทั้งหลายตั้งอยู่ในธรรมของสัตบุรุษ”

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ หน้า ๔๐-๔๓ ข้อ ๑๘๑-๑๙๐)


:b47:

“ภิกษุทั้งหลาย ! กายกรรม วจีกรรม และมโนกรรม
ของบุคคลผู้มีความเห็นผิด ย่อมเป็นไปเพื่อผลอันไม่น่าปรารถนา
ไม่น่าชอบใจ ไม่เป็นประโยชน์ เป็นไปเพื่อทุกข์ เพราะเหตุไร?
เพราะทิฐินั้นเลวทราม ภิกษุทั้งหลาย เปรียบเหมือนเมล็ดสะเดาก็ดี
เมล็ดบวบขมก็ดี เมล็ดน้ำเต้าขมก็ดี ที่บุคคลหมกไว้
ในดินอันชุ่มชื้น รสดินรสน้ำที่มันดูดซึมเข้าไปทั้งหมด
ย่อมเป็นไปเพื่อความเป็นของขม เพื่อเผ็ดร้อน
เพื่อไม่น่ายินดี ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

เพราะพืชเลวฉันใด ภิกษุทั้งหลาย !
กายกรรมก็ดี วจีกรรมก็ดี มโนกรรมก็ดี
ของบุคคลผู้เป็นมิจฉาทิฐิก็ฉันนั้น
เป็นไปเพื่อผลที่ไม่น่าปรารถนา
เพราะความเห็นของเขาเลวทราม
เจตนาก็ตาม ความปรารถนาก็ตาม
ความตั้งใจก็ตาม มีผลที่ไม่น่าปรารถนาไปด้วย
เพราะเกิดจากทิฐิอันเลวทราม”

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๐ เล่มเดียวกัน หน้า ๔๐-๔๓ ข้อ ๑๘๑-๑๙๐)


:b47:

“ภิกษุทั้งหลาย ! กายกรรม วจีกรรม มโนกรรม
เจตนาความปรารถนา ความตั้งใจ สังขาร
เครื่องปรุงแต่งจิตของบุคคลผู้มีความเห็นชอบ
ย่อมเป็นไปเพื่อผลที่น่าปรารถนา น่าชอบใจ
เพื่อประโยชน์ เพื่อความสุข ข้อนั้นเพราะเหตุไร?

เพราะทิฐิของเขาดี ภิกษุทั้งหลาย !
เปรียบเหมือนพันธ์ุอ้อยก็ดี พันธ์ุข้าวสาลีก็ดี
พันธ์ุผลจันทน์ก็ดี อันบุคคลหมกไว้ในดินที่ชุ่มชื่น
รสดิน รสน้ำที่มันดูดซึมเข้าไปทั้งหมด
ย่อมเป็นของมีรสหวาน น่ายินดี น่าชื่นใจ
ข้อนั้นเพราะเหตุไร? เพราะพืชพันธ์ุก็ดี
กายกรรม วจีกรรม...ของบุคคลผู้เป็นสัมมาทิฐิก็ฉันนั้น
ย่อมเป็นไปเพื่อผลอันน่าปรารถนา...เพราะทิฐิของเขาดี”

เจ้าของ:  Hanako [ 28 ม.ค. 2015, 17:24 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

ภราดา! เห็นหรือไม่ว่าความเห็นชอบ ความดำริชอบ
มีความสำคัญต่อชีวิตของบุคคลอย่างไร
เหมือนประทีปส่องทาง เหมือนเมล็ดพืชที่ดี
อำนวยประโยชน์และความสุขแก่บุคคลหาประมาณมิได้


พระอัครสาวกทั้งสอง คือพระสารีบุตรและพระมหาโมคคัลลานะ
เป็นผู้มีความเห็นชอบและมีความดำริชอบ ตั้งแต่สมัยเป็นปริพพาชก
จึงตั้งใจแสวงหาสาระและได้มาพบสาระอันสูงยิ่ง
ในศาสนาของพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ใครคบท่านทั้งสองก็ได้รับสาระประโยชน์
ก็ท่านทั้งสองได้รับการยกย่องสรรเสริญ
จากพระศาสดาเป็นอเนกประการ
ดังที่ตรัสแก่ภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ! เธอทั้งหลาย
คบกับสารีบุตรและโมคคัลลานะเถิด
เพราะทั้งสองมีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต
สารีบุตรเปรียบเหมือนมารดาผู้ให้เกิด
โมคคัลลานะเหมือนนางนมผู้เลี้ยงทารกที่เกิดแล้ว
สารีบุตรย่อมแนะนำให้ตั้งอยู่ในโสดาปัตติผล
โมคคัลลานะแนะนำให้ตั้งอยู่ในคุณที่สูงกว่านั้น”


พระสารีบุตรนั้น พระศาสดาทรงยกย่องว่า
เป็นผู้เลิศทางปัญญา สามารถแสดงธรรมจักรฯ
ให้กว้างขวางลึกซึ้งและพิสดารเช่นเดียวกับพระองค์


พระสารีบุตรฉลาดในการสั่งสอน
เมื่อพระพุทธศาสนาแพร่หลาย มีภิกษุมากขึ้นแล้ว
ถ้ามีภิกษุรูปใดรูปหนึ่งหรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง
มาทูลลาพระศาสดาเพื่อเที่ยวจาริกไปในแดนไกล
มักตรัสถามว่าได้ลาสารีบุตรแล้วหรือไม่
ถ้าภิกษุกราบทูลว่ายังไม่ได้ลา
ก็จะทรงแนะนำให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน
เพื่อท่านจะได้สั่งสอนภิกษุเหล่านั้น เช่น

ครั้งหนึ่ง พระศาสดาประทับอยู่ที่เมืองเทวทหะ
ภิกษุจำนวนมากเข้าไปเฝ้าทูลลาจะไปปัจฉาภูมิชนบท
ตรัสบอกให้ไปลาพระสารีบุตรก่อน ทรงชมเชยว่า
สารีบุตรมีปัญญาอนุเคราะห์เพื่อนบรรพชิต
เมื่อพระภิกษุเหล่านั้นไปลาตามรับสั่ง
พระสารีบุตรถามภิกษุเหล่านั้นว่า

“ผู้มีอายุ ถ้าผู้มีปัญญาจะถามปัญหากับท่านทั้งหลายว่า
ครูของท่านสอนอย่างไร? ท่านเคยเรียนเคยฟังมาแล้วหรือไม่
ว่าจะตอบอย่างไร จึงจะไม่ผิดคำสอนของพระศาสดา
ผู้ทรงเป็นครูของพวกเรา ไม่ให้เขาติเตียนได้”


ภิกษุเหล่านั้นตอบไม่ได้ ขอให้ท่านสั่งสอน
พระสารีบุตรจึงกล่าวว่า

“ถ้าเขาถามอย่างนั้น ท่านพึงตอบว่า
ครูของเราสอนให้ละความกำหนัดรักใคร่เสีย
ถ้าเขาถามอีกว่า ละความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งใด?
พึงตอบว่าในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อันรวมเป็นขันธ์ ๕

ถ้าเขาถามอีกว่า ครูของท่านเห็นโทษอย่างไร
และเห็นอานิสงส์อย่างไรจึงสอนอย่างนั้น
พึงตอบว่า เมื่อบุคคลยังมีความกำหนัด
รักใคร่ในรูปเป็นต้นนั้นอยู่
ครั้นรูปเป็นต้นแปรปรวนเป็นอย่างอื่น
ก็เกิดทุกข์โศกร่ำไรรำพัน
เมื่อละความกำหนัดรักใคร่ในสิ่งเหล่านั้นเสียได้
แม้สิ่งเหล่านั้นจะวิบัติแปรไป ทุกข์ก็ไม่เกิด
ครูของเราเห็นโทษและเห็นอานิสงส์อย่างนี้”


:b44:

อนึ่ง ถ้าบุคคลประพฤติอกุศลธรรมแล้วอยู่เป็นสุข
ไม่ต้องคับแค้น ไม่ต้องเดือดร้อน
และบุคคลผู้ประพฤติกุศลธรรมจะต้องอยู่เป็นทุกข์
ต้องคับแค้น ต้องเดือดร้อนแล้วไซร้
พระศาสดาคงไม่ทรงสั่งสอน
ให้ละอกุศลธรรมเจริญกุศลธรรม

แต่เพราะเหตุที่อกุศลให้ผลเป็นทุกข์
กุศลให้ผลเป็นสุข พระศาสดาจึงทรงสั่งสอน
ให้ละอกุศลธรรม เจริญกุศลธรรม


ท่านผู้แสวงสัจจะ ! เรื่องการโต้ตอบปัญหา
เพื่อย่ำยีหรือแก้ปรัปวาท*นั้น เป็นเรื่องจำเป็น
ที่ภิกษุทั้งหลายต้องเรียนรู้ ต้องเข้าใจ
เพื่อให้คนทั้งหลายผู้ข้องใจสงสัยในพระพุทธศาสนาได้เข้าใจ

ตามความเป็นจริง เมื่อพระศาสดาจะนิพพาน
ก็ทรงปรารภเรื่องนี้เหมือนกันว่า บัดนี้มีพุทธบริษัท
ผู้สามารถย่ำยีปรัปวาทมากพอสมควรแล้ว
ถึงเวลาอันสมควรแล้วที่พระองค์จะนิพพาน แปลว่า
มีสาวกผู้สามารถมากพอที่จะทำงานเผยแพร่พระธรรมแทนพระองค์ได้
พระองค์ก็ทรงพอพระทัย เสมือนมารดาหรือบิดาผู้มีมรดกไว้ให้ลูก
เมื่อทราบว่าลูกเติบโตพอและมีปัญญาพอที่จะรักษามรดกได้
แล้วก็พอใจนอนตาหลับ


*ปรัปวาท แปลว่า ถ้อยคำของคนอื่น คำกล่าวหาของคนพวกอื่น
การโต้เถียงกับผู้อื่น ยัง หมายถึงคำคัดค้านโต้แย้ง คำกล่าวโทษ
คำกล่าวหา คำท้าทายของคนอื่นที่ไม่เห็นด้วยกับตน
ของคนที่เห็นไม่ตรงกับตน เพราะมีลัทธิต่างกันบ้าง
เพราะมีความเห็นไม่ถูกตามเป็นจริงบ้าง เพราะทิฐิมานะส่วนตัวบ้าง
และยังหมายถึงลัทธินอกพระพุทธศาสนาที่มีหลักคำสอน
ขัดกันกับพระพุทธศาสนา เช่น ลัทธิที่สอนว่าบุญไม่มี บาปไม่มี
นรกสวรรค์ไม่มี เหตุปัจจุบันไม่มี เป็นต้น



รูป เวทนา สัญญา สังขาร และวิญญาณนั้น
เป็นของไม่เที่ยง มีปัจจัยปรุงแต่ง เกิดขึ้น ตั้งอยู่
และแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัย ใครจะเหนี่ยวรั้งไว้ไม่ได้
ผู้ใดยึดมั่นในรูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
อันรวมเป็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นของตนผู้นั้นจะต้องเดือดร้อน
เพราะความแปรปรวนไปแห่งขันธ์ ๕ นั้น
ท่านจึงสอนให้ละความกำหนัดรักใคร่
และความยึดมั่นในขันธ์ ๕ เสีย
เพื่อจะได้ไม่ร้อนใจเมื่อมันปรวนแปรไป

อนึ่ง ขันธ์ ๕ นี้พระพุทธองค์ตรัสว่าเป็นหลักสูตรเพื่อปริญญา
เป็นปริญเญยธรรม คือ สิ่งที่ควรกำหนดรู้ตามความเป็นจริง
เพื่อไม่หลง ไม่ติด ไม่ยึด เมื่อกำหนดรู้ตามความจริงจนไม่หลง
ไม่ติดไม่ยึดแล้ว ก็จะถึงความสิ้นราคะ โทสะ และโมหะ
ความสิ้นราคะ โทสะ โมหะ นั่นแลคือปริญญาในศาสนาของพระศาสดา

เจ้าของ:  Hanako [ 02 มี.ค. 2015, 22:13 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

อีกครั้งหนึ่งพระรูปหนึ่งชื่อ ยมกะ กล่าวว่า
‘พระอรหันต์ (ขีณาสพ) ตายแล้วดับสูญ’
ภิกษุทั้งหลายท้วงติงว่าเห็นอย่างนั้นผิด
พระยมกะไม่เชื่อ ยังคงถือทิฐิอย่างนั้น
ภิกษุทั้งหลายจึงได้นิมนต์พระสารีบุตร
ไปช่วยสอนพระยมกะให้คลายความเห็นผิด

พระสารีบุตรถามพระยมกะว่า

“ยมกะ ท่านสำคัญ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
เป็นพระขีณาสพ (พระอรหันต์)หรือ?”


“ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ” พระยมกะตอบ

“ท่านเห็นว่า พระขีณาสพมีในขันธ์ ๕ หรือ?
พระขีณาสพอื่นจากขันธ์ ๕ หรือ?
พระขีณาสพเป็นขันธ์ ๕ หรือ?
พระขีณาสพไม่มีขันธ์ ๕ หรือ?”
ท่านถามต่อ

พระยมกะปฏิเสธทุกคำถามว่า “ไม่ใช่อย่างนั้น ท่านผู้เจริญ”

พระสารีบุตรจึงว่า

“เมื่อเป็นดังนี้ ควรหรือยมกะที่ท่านจะพูด
ยืนยันว่า พระขีณาสพตายแล้วดับสูญ”


พระยมกะกราบเรียนท่านว่า เมื่อก่อนนี้มีความเห็นผิด
แต่บัดนี้ได้ฟังท่านสารีบุตรแล้ว ละความเห็นผิดเสียได้
และได้บรรลุธรรมพิเศษด้วย

“คราวนี้ ถ้ามีผู้ถามท่านว่า พระขีณาสพตายแล้วเป็นอะไร?
ท่านจะตอบอย่างไร?”
พระสารีบุตรถามพระยมกะ

“ข้าพเจ้าจะตอบว่า รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ
ไม่เที่ยง ดับไปแล้ว”


“ดีแล้ว ยมกะ” พระสารีบุตรรับ

“เราจะอุปมาให้ท่านฟัง บุคคลผู้หนึ่งมั่งมี
รักษาตัวแข็งแรง บุรุษผู้หนึ่งคิดจะฆ่าเขา
เห็นว่า จะฆ่าโดยเปิดเผยเห็นจะยาก
เพราะมีอารักขาแข็งแรง ควรจะลอบฆ่าด้วยอุบาย
จึงปลอมตนเข้าไปเป็นคนรับใช้ของเจ้าของเรือนนั้น
หมั่นปรนนิบัติจนเขาไว้ใจ เมื่อเผลอก็ฆ่าเสียด้วยศัสตรา
ยมกะท่านเห็นอย่างไร เจ้าของเรือนนั้น
เมื่อบุรุษผู้ปองล้างชีวิตตนมาขออยู่รับใช้ก็ดี
ใช้อยู่ก็ดี เวลาเขาฆ่าตัวก็ดี ไม่รู้เลยว่า
ผู้นี้เป็นคนฆ่าเรา อย่างนั้นมิใช่หรือ?”


“อย่างนั้นแล ท่านผู้เจริญ” พระยมกะตอบ

พระสารีบุตรจึงว่า

“ปุถุชนผู้มิได้สดับธรรมก็อย่างนั้น
เขาเห็นขันธ์ ๕ ว่าเป็นตนบ้าง เห็นตนมีขันธ์ ๕ บ้าง
ไม่รู้ว่าขันธ์ ๕ นั้นอันที่แท้แล้วไม่เที่ยงเป็นทุกข์
ไม่มีตัวตน ไม่ใช่ตัวตน มีปัจจัยปรุงแต่ง ดุจผู้ฆ่า
ปุถุชนนั้นยึดมั่นถือมั่นในขันธ์ ๕ ขันธ์ ๕ ที่เขายึดมั่นไว้แล้ว
ย่อมเป็นไปเพื่อทุกข์ตลอดกาลนาน
ส่วนสาวกของพระอริยะได้สดับธรรมแล้ว
ไม่ยึดมั่นในขันธ์ ๕ ข้อนั้นย่อมเป็นไป
เพื่อประโยชน์และเพื่อสุขตลอดกาลนาน”


:b45:

ดูก่อนท่านผู้แสวงสัจจะ !
ความแตกต่างระหว่าง “ปุถุชนผู้มิได้สดับธรรม” กับ
“สาวกของพระอริยะ (อริยสาวก)
ผู้ได้สดับธรรมแม้จะยังเป็นปุถุชน”
ก็ตาม
ก็คือ ปุถุชนผู้มิได้สดับธรรม เป็นผู้เต็มไปด้วย
ความยึดมั่นถือมั่นในโลกียธรรมต่างๆ อาทิว่า
ทรัพย์ของเรา บุตรภรรยาของเรา สามีของเรา
เพื่อนของเรา นั่นนี่ของเรา ไม่รู้โทษของความยึดถือ

เมื่อสิ่งที่ยึดมั่นว่าเป็นของตนแปรปรวนไปเพราะความไม่เที่ยง
ไม่อาจเหนี่ยวรั้งไว้ได้ ก็เกิดทุกข์โทมนัส ร่ำไรรำพัน ตรอมใจ หม่นไหม้
แม้กระนั้นก็ยังไม่รู้ว่านั่นเป็นเพราะโทษของความยึดมั่นถือมั่น
กลับเห็นว่าเป็นเพราะความพลัดพรากบ้าง เพราะผู้อื่นมาทำให้บ้าง

ส่วนสาวกของพระอริยะผู้สดับธรรมศึกษาธรรม
เรียนรู้ธรรม ย่อมเป็นผู้คลายความยึดมั่นถือมั่น
เพราะรู้ตามความเป็นจริงว่า สิ่งทั้งปวงเป็นไปตามเหตุปัจจัย
เมื่อสิ่งนั้นๆ แปรปรวนไปเพราะไม่เที่ยง
ก็รู้ว่าสิ่งนั้นแปรปรวนไปตามเหตุปัจจัย
ท่านไม่ต้องทุกข์โทมนัส ไม่ร่ำไรรำพัน ไม่หม่นไหม้ตรอมใจ

ท่านอาศัยสิ่งต่างๆ อย่างอิสระ ไม่เป็นทาสของสิ่งที่อาศัย
จิตใจของท่านจึงปลอดโปร่ง ชื่นฉ่ำอยู่ด้วยธรรม
มีสติปัญญาว่องไว รู้เท่าทันเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นแก่ตน
และเป็นที่พึ่งทางใจแก่คนทั้งหลาย ผู้รู้จักเกี่ยวข้อง
นี่คืออานิสงส์ของการเรียนรู้ธรรม สดับธรรมประพฤติธรรม

เจ้าของ:  Hanako [ 23 มี.ค. 2015, 17:25 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

๙.) บรรลือสีหนาท

แม้จะได้รับการยกย่องจากพระศาสดา
และเพื่อนพรหมจารีในพระศาสนามากถึงปานนั้น
พระสารีบุตรก็ยังประพฤติอ่อนน้อมถ่อมตนเป็นอย่างยิ่ง

ดังเรื่องต่อไปนี้

คราวหนึ่งเมื่อออกพรรษาแล้ว*
พระธรรมเสนาบดีสารีบุตรประสงค์จะจาริกไปชนบท
เพื่อประกาศธรรมของพระสัมมาสัมพุทธเจ้า
ทูลลาพระผู้มีพระภาค ถวายบังคมแล้วออกไปด้วยบริวารของตน
มีภิกษุไปส่งท่านกันมาก พระสารีบุตรเถระได้ทักทายปราศรัย
กับภิกษุทั้งหลายผู้มีน้ำใจไปส่งตามสมควร
และให้เหมาะสมกับฐานานุรูปของท่านนั้นๆ แล้วบอกให้กลับ

ภิกษุรูปหนึ่งคิดว่า “จะเป็นการดีหาน้อยไม่
ถ้าพระเถระจะทักทายปราศรัยกับเราแล้วบอกให้กลับ”


*วุฏฐิสูตร อังคุตตรนิกาย นวกนิบาต พระไตรปิฎกเล่ม ๒๓ ข้อ ๒๑๕


แต่เนื่องจากมีภิกษุจำนวนมากด้วยกัน
พระเถระจึงไม่อาจทักทายปราศรัยให้ทั่วถึงได้
ด้วยเหตุเพียงเท่านี้ ภิกษุนั้นเกิดความไม่พอใจในพระเถระ
ว่ามิได้ยกย่องตนเหมือนภิกษุทั้งหลายอื่น
บังเอิญชายสังฆาฏิของพระสารีบุตรเถระ
ไปกระทบภิกษุนั้นเข้าหน่อยหนึ่งขณะท่านเดินผ่าน

ภิกษุนั้นเห็นได้ช่องที่จะกล่าวหา
จึงรีบเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า กราบทูลว่า

“พระเจ้าข้า พระสารีบุตรทะนงตนว่าเป็นอัครสาวก
เมื่อจะจากไปแกล้งเอาชายสังฆาฏิกระทบข้าพระองค์
แล้วมิได้ขอโทษแม้แต่น้อย”


พระศาสดารับสั่งให้พระรูปหนึ่งไปตามพระสารีบุตรกลับมา
ขณะนั้นเองพระมหาโมคคัลลานะและพระอานนท์
ได้ทราบเรื่องนั้นคิดว่า

“พระบรมศาสดาจะไม่ทรงทราบความจริงเกี่ยวกับเรื่องนี้
ก็หาไม่ แต่รับสั่งให้พระสารีบุตรพี่ชายของเรากลับเข้าไปเฝ้า
คงจะทรงประสงค์ให้บรรลือสีหนาท
คือ กล่าววาจาอันอาจหาญประทับใจท่ามกลางพุทธบริษัท
เราควรให้พุทธบริษัทประชุมกัน”


ดังนี้แล้วเที่ยวประกาศให้ภิกษุทั้งหลายในเชตวนาราม
ประชุมกันเพื่อฟังการบรรลือสีหนาทของพระธรรมเสนาบดี
ณ เบื้องพระพักตร์แห่งพระศาสดา


:b45:

ภิกษุสงฆ์หมู่ใหญ่ประชุมกันแล้ว
เมื่อพระสารีบุตรเข้าเฝ้าแล้ว พระศาสดาตรัสว่า

“เพื่อนพรหมจารีรูปหนึ่งกล่าวหาเธอ
ว่ากระทบเขาด้วยชายสังฆาฏิแล้ว
ไม่ขอโทษ หลีกไปสู่ที่จาริก สารีบุตรว่าอย่างไร?”


นิ่งอยู่ครู่หนึ่ง พระสารีบุตรจึงกราบทูลว่า


“ข้าแต่พระองค์ผู้เป็นที่พึ่งของโลก !
พึงเป็นไปได้ที่ภิกษุผู้มิได้อบรมกายคตาสติภาวนา**
กระทบเพื่อนพรหมจารีรูปใดรูปหนึ่งแล้วไม่ขอโทษ หลีกไปสู่ที่จาริก

พระองค์ผู้เจริญ ! ชนทั้งหลายทิ้งของสะอาดบ้างไม่สะอาดบ้าง
คูถบ้าง มูตรบ้าง น้ำลายบ้าง น้ำเลือดน้ำหนองบ้างลงบนแผ่นดิน
แผ่นดินก็มิได้เกลียดชังสิ่งนั้น มิได้ระอิดระอาต่อสิ่งนั้น คงรับไว้
ด้วยอาการอย่างเดียวกัน ทั้งกองหยากเยื่อและกองดอกไม้ฉันใด
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้นเหมือนกัน มีใจเช่นเดียวกับแผ่นดินอันกว้างใหญ่
ไม่มีประมาณ ไม่เลือกที่รักผลักที่ชัง มีใจเสมอในบุคคลทั้งปวง
ไม่มีเวร ไม่มีความคิดเบียดเบียน

ข้าแต่พระจอมมุนี ! น้ำย่อมรับของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง
...ลมย่อมพัดของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง...
ไฟย่อมเผาของสะอาดบ้าง ไม่สะอาดบ้าง
น้ำ ลม ไฟ ย่อมไม่เกลียดชัง ไม่ระอิดระอาต่อของเหล่านั้นฉันใด
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น มีใจเสมอด้วยน้ำ ลม และไฟ
ไม่มีเวรกับใคร ไม่คิดเบียดเบียนใคร...”


ต่อจากนั้น พระธรรมเสนาบดีได้เปรียบตนเอง
กับผ้าเช็ดธุลี เด็กจัณฑาล โคเขาขาด
สตรีหรือบุรุษผู้เกลียดชังซากศพงู
คนประคองภาชนะน้ำมัน โดยนัยว่า


“อันว่าผ้าเช็ดธุลี ย่อมเช็ดได้ทั้งของหอมของเหม็น
ของสะอาดและของโสโครก

เด็กจัณฑาลถือตะกร้า นุ่งผ้าเก่าเข้าไปยังบ้านหรือนิคม
ย่อมตั้งใจนอบน้อมเข้าไป

โคที่เขาขาดแล้ว ได้รับการฝึกดีแล้ว
ย่อมสงบเสงี่ยมเดินไปตามถนนหนทาง
ตามตรอกเล็กซอกน้อย ก็ไม่เอาเท้าหรือเขากระทบอะไรๆ ฉันใด
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น มีใจอ่อนน้อมถ่อมตน
ไม่มีเวร ไม่คิดเบียดเบียนใคร”


“พระองค์ผู้เจริญ”
พระธรรมเสนาบดีทูลต่อไป

“อนึ่งบุรุษหรือสตรีรุ่นหนุ่มสาว เป็นคนชอบประดับประดา
พึงอึดอัดระอาต่อซากศพงูหรือซากศพสุนัข
ที่มีคนมาผูกไว้ที่คอฉันใด ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น
ย่อมอึดอัดระอาต่อกายอันเปื่อยเน่านี้”

“พระองค์ผู้เจริญ ! อันว่าบุคคลผู้ประคองภาชนะน้ำมันข้น
มีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ ไหลเข้าไหลออกอยู่ฉันใด
ข้าพระองค์ก็ฉันนั้น บริหารกายนี้ประคับประคองกายนี้
ซึ่งมีรูทะลุเป็นช่องเล็กช่องใหญ่ มีสิ่งปฏิกูลไหลเข้าไหลออกอยู่เนืองนิตย์
ข้าพระองค์ย่อมระอิดระอาต่อกายนี้

อนึ่ง บุรุษผู้ประคองถาดน้ำมันที่เต็มและมีคนอื่น
ถือดาบอันคมกริบอยู่ข้างหลัง พลางบังคับให้ถือถาดน้ำมันโดยดี
ถ้าหกเพียงหยดเดียวจะประหารชีวิตเสีย
บุรุษนั้นย่อมตั้งใจประคับประคองถาดน้ำมันนั้นอย่างไร
ข้าพระองค์ก็ประคับประคองกายของตนฉันนั้น

พระองค์ผู้เจริญ ! สติอันเป็นไปในกาย
อันภิกษุใดมิได้เข้าไปตั้งไว้ด้วยดีแล้ว
ภิกษุนั้นพึงกระทบเพื่อนพรหมจรรย์แล้วหลีกไป
โดยมิได้ขอโทษเป็นแน่แท้”


เมื่อพระธรรมเสนาบดีกล่าวคุณของตนอยู่อย่างนี้
มหาปฐวีได้แสดงอาการหวั่นไหวแล้ว
ขณะที่พระเถระเปรียบตนด้วยผ้าเช็ดธุลี
เด็กจัณฑาล โคเขาขาด และถาดน้ำมันนั้น
ภิกษุผู้เป็นปุถุชนไม่อาจกลั้นน้ำตาได้
ฝ่ายพระอรหันต์ขีณาสพปลงธรรมสังเวช


:b45:

**กายคตาสติภาวนา คือการหมั่นพิจารณากาย
ว่าเป็นของไม่สะอาด เต็มไปด้วยสิ่งปฏิกูลนานาประการ
หรือพิจารณาว่า กายนี้ไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา

เจ้าของ:  Hanako [ 17 เม.ย. 2015, 17:38 ]
หัวข้อกระทู้:  Re: ผู้สละโลก : อาจารย์วศิน อินทสระ

รูปภาพ

ขณะนั้นเอง ความเร่าร้อนในสรีระได้เกิดขึ้นแก่ภิกษุผู้กล่าวตู่
หมอบลงแทบพระยุคลบาทแห่งพระศาสดาแล้วทูลว่า

“พระองค์ผู้เจริญ ! ข้าพระองค์เป็นคนพาล เป็นคนหลง
ไม่ฉลาด ได้กล่าวตู่พระธรรมเสนาบดีด้วยคำเท็จ
ขอได้โปรดอดโทษให้ข้าพระองค์ด้วยเถิด
เพื่อความสำรวมระวังต่อไป”


พระศาสดาตรัสว่า

“การทำความผิดแล้วรู้สึกผิดแล้วขอโทษเสีย
เพื่อสำรวมระวังต่อไปนั้น
เป็นความเจริญในวินัยของพระอริยเจ้า”


ดังนี้แล้ว ตรัสกับพระสารีบุตรว่า

“สารีบุตร ! ท่านควรอดโทษให้โมฆะบุรุษนี้
ก่อนที่ศีรษะของเขาจะแตกเป็นเจ็ดเสี่ยง”


พระธรรมเสนาบดีรีบลุกจากอาสนะ
นั่งกระโหย่งประคองอัญชลี และกล่าวว่า

“ผู้มีอายุ ผมอดโทษให้ท่าน
ถ้าโทษไรๆ ของผมมีอยู่
ขอท่านได้โปรดอดโทษให้ผมด้วย”


ภิกษุทั้งหลายได้เห็นดังนั้น ชมเชยพระสารีบุตรว่า
เป็นผู้มีคุณ ไม่ต่ำทราม (อโนมคุณ) มิได้โกรธ
หรือถือโทษภิกษุผู้กล่าวตู่เลยแม้แต่น้อย
ยังนั่งกระโหย่งประคองอัญชลี
ขอให้ภิกษุนั้นอดโทษตนเสียอีก


:b45:

พระศาสดาทราบเรื่องนั้นแล้ว ตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย ! คนเช่นสารีบุตรนั้นใครๆ จะทำให้โกรธไม่ได้
ภิกษุทั้งหลาย ! จิตของสารีบุตรเหมือนแผ่นดิน เหมือนเสาเขื่อน”


ดังนี้แล้ว ตรัสย้ำว่า

“บุคคลผู้มีจิตเสมอด้วยแผ่นดิน ย่อมไม่แสดงอาการขึ้นลง
ท่านเป็นผู้มั่นคงเหมือนเสาเขื่อน เป็นผู้มีวัตรดี
ผ่องใสอยู่ประดุจห้วงน้ำลึกใสแจ๋วไม่ขุ่นมัวด้วยตม”*


ภราดา ! ดูเถิด...
ดูคุณอันไม่ต่ำทรามของพระเถระ
ผู้เป็นที่สองรองจากพระบรมศาสดา
และเป็นเลิศกว่าพระสาวกทั้งหลายทางปัญญา
เป็นผู้มีจิตอ่อนโยน และมั่นคงอย่างยิ่ง
ไม่หวั่นไหวด้วยโลกธรรม
อันความพอใจหรือความไม่พอใจถูกต้องไม่ได้
ใจของท่านผ่องใสอยู่อย่างนั้น อารมณ์อะไรๆ
ทำให้ขุ่นมัวไม่ได้ ไม่ดีใจ ไม่เสียใจ
เพราะได้และไม่ได้ปัจจัยหรือสักการะสัมมานะ


ภราดา ! บุคคลยินดีมาก เมื่อได้
เขาจะต้องยินร้ายมากกว่านั้นเมื่อเสีย

และความสูญเสียจะต้องมีอย่างแน่นอน
เตรียมใจไว้รับเถิด เร็วหรือช้าเท่านั้น

ภราดา ! ลองตรองดูให้แน่ชัดเถิด
ในชีวิตของปุถุชนนั้น บุคคลเคยลุ่มหลงเพลิดเพลินกับสิ่งใด
ย่อมจะต้องทุกข์ทรมานกับสิ่งนั้น
พูดอีกทีหนึ่ง สิ่งใดที่ให้ความทุกข์ทรมานอยู่เวลานี้
เขาเคยเพลิดเพลินหลงใหลกับสิ่งนั้นมาบ้างแล้วหรือไม่ในอดีต

ลองตรวจดู ลองสำรวจจะเห็น
และจะเห็นทุกเรื่องไปที่เป็นโลกียารมณ์หรือโลกียสมบัติ


*พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๑ หน้า ๒๗
และอรรถกถาธรรมบท ภาค ๔ อรหันตวรรควรรณนา

หน้า 2 จากทั้งหมด 3 เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง
Powered by phpBB © 2000, 2002, 2005, 2007 phpBB Group
http://www.phpbb.com/