วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 17:18  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง





กลับไปยังกระทู้  [ 33 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป  Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2014, 09:58 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ธรรมนิยาย เรื่อง
ผู้สละโลก

โดย อาจารย์วศิน อินทสระ


:b44: :b44:

สามารถอ่านออนไลน์หรือดาวน์โหลดไฟล์ PDF ได้ที่
http://www.ruendham.com/images/books/wasin-pusaralok.pdf

:b46: :b46:

= รวมคำสอน “อาจารย์วศิน อินทสระ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=72&t=45418

= ประวัติและผลงาน “อาจารย์วศิน อินทสระ”
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=13&t=44346

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2014, 10:15 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

:b42: พระสารีบุตร :b42:

๑.) หญ้าสดในทะเลทราย

ภราดา ! เรื่องเป็นมาอย่างนี้

สมณะรูปหนึ่ง ผิวพรรณผ่องใส มีอินทรีย์สงบ
ดำเนินอย่างเชื่องช้าออกจากโคจรคาม
ท่านมีจักษุทอดลงต่ำ จะเหลียวซ้ายแลขวา
ก็เต็มไปด้วยความสำรวมระวังมั่นคงและแจ่มใส
ผ้าสีเหลืองหม่นที่คลุมกาย แม้จะเป็นผ้าราคาถูก
แต่ได้กลายเป็นของสูงส่งและศักดิ์สิทธิ์ควรแก่การเชิดชูบูชา
เพราะได้มาห่อหุ้มสรีระของผู้ทรงศีล มีใจอันประเสริฐ
ใครเห็นก็น้อมกายลงเคารพ


กาสาวพัสตร์-อา !
กาสาวพัสตร์-สัญลักษณ์แห่งความบริสุทธิ์สูงส่ง
ที่พระมหาสมณโคดมบรมศาสดาแห่งพระบวรพุทธศาสนา เคยตรัสว่า

“ผู้ใดคายกิเลสที่เหนียวแน่นดุจน้ำฝาดได้แล้ว
มั่นคงในศีล ประกอบด้วยการฝึกอินทรีย์ (ทมะ)
และมีสัจจะ ผู้นั้นควรห่มผ้ากาสาวะ”

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๑๑ หน้า ๑๖)

:b40:

กาสาวพัสตร์-ธงชัยแห่งผู้มีชัย
คือชนะจิตของตนเองได้แล้ว

ใครเล่าจะรังเกียจกาสาวพัสตร์
ถ้ากาสาวะนั้นห่อหุ้มร่างของบุคคลผู้มีกายวาจาใจสะอาด
สมควรแก่ภูมิชั้นของตน

หนุ่มใหญ่ สง่างาม
เครื่องแต่งกายบอกว่าเป็นนักพรตประเภทปริพพาชก
*
ได้เดินตามสมณะรูปนั้นไปห่างๆ
กิริยาอาการของสมณะนั้นจับตาจับใจของเขายิ่งนัก
เขาคิดว่าภายในของสมณะรูปนี้
น่าจะมีรัศมีแห่งธรรมอันประเสริฐส่องแสงเจิดจ้าอยู่เป็นแน่แท้
จึงทำให้ท่านมีอินทรีย์สงบและผ่องใสเช่นนั้น

มาถึงบริเวณร่มไม้ใหญ่แห่งหนึ่ง
สมณะแสดงอาการว่าจะนั่ง
ผู้เฝ้าติดตามจึงจัดอาสนะถวาย รอคอยท่านฉัน
ไม่กล้าถามอะไรเพราะเกรงใจ
เห็นอาการที่ท่านฉันยิ่งเลื่อมใสมากขึ้น
ท่านฉันอย่างสำรวมเรียบร้อย
มีอาการแห่งผู้กำหนดรู้ในอาหาร คุณและโทษของอาหาร
ไม่ติดในรสอาหาร ไม่บริโภคเพื่อเล่น เพื่อเมา
หรือเพื่อสนุกสนาน เอร็ดอร่อยในรสอาหาร

แต่บริโภคเพื่อให้ร่างกายนี้ดำรงอยู่ได้
เพื่อบำเพ็ญคุณงามความดี
เหมือนนายช่างให้น้ำมันแก่เครื่องจักร
เพื่อให้ทำหน้าที่ของมันต่อไปได้เท่านั้น

(
*ปริพพาชก นักบวชลัทธิหนึ่งในพุทธกาล
ท่องเที่ยวไปโดยลำพังเพื่อแสวงหา
ความจริง บ้างอยู่กันเป็นกลุ่มๆ เป็นสำนักบ้าง)


:b44:

เมื่อท่านฉันเสร็จแล้ว
ปริพพาชกได้รินน้ำในกุณโฑของตนเข้าไปถวายแล้วถามว่า

“อินทรีย์ของท่านผ่องใสยิ่งนัก
มรรยาทของท่านงามยิ่งนัก
ผิวพรรณของท่านบริสุทธิ์ผ่องใส
ท่านบวชอุทิศใคร?
ใครเป็นศาสดาของท่าน?
ท่านชอบใจธรรมของใคร?”


สมณะรูปนั้นมองปริพพาชก
ด้วยดวงเนตรที่เปี่ยมด้วยความปรานี
ดวงตาของท่านแสดงแววแห่งเมตตา
และความสงบลึกอยู่ภายใน
บ่งบอกว่าดวงใจของท่านผ่องแผ้ว ไร้ราคี

กระแสเสียงที่นุ่มนวลแจ่มใสผ่านโอษฐ์ของท่านออกมาว่า


“ดูก่อนผู้แสวงสันติวรบท ! พระศาสดาของข้าพเจ้าตรัสว่า

‘ผู้ใดไม่เศร้าโศกถึงอดีต ไม่กังวลถึงอนาคต
มีชีวิตอยู่ด้วยปัจจุบันธรรมผิวพรรณของผู้นั้นย่อมผ่องใส
แม้จะบริโภคอาหารหนเดียวต่อวัน
ประพฤติพรหมจรรย์สงบนิ่งอยู่ในป่า
ส่วนผู้ที่มัวเศร้าโศกถึงสิ่งที่ล่วงแล้ว
กังวลหวังอย่างเร่าร้อนต่อสิ่งที่ยังไม่มาถึง
ย่อมซูบซีดเศร้าหมองเหมือนไม้สดที่ถูกตัดแล้ว’

(พระไตรปิฎกเล่ม ๑๕ ข้อ ๒๑ หน้า ๖-๗)


กังวลหวังอย่างเร่าร้อน ! มนุษย์ส่วนมากเป็นอย่างนั้น
เขาไม่ค่อยรู้จักรอคอยอย่างสงบเยือกเย็น
เขาไม่ค่อยรู้ ไม่ค่อยเข้าใจว่าเขาบันดาลผลไม่ได้
เหตุที่เขาทำนั่นแหละจะบันดาลผลให้เกิดขึ้นเอง


เหมือนชาวสวนปลูกต้นไม้คอยรดน้ำพรวนดิน
ให้ปุ๋ยป้องกันศัตรูพืช นั่นคือเหตุ
ส่วนการออกดอกออกผล ชาวสวนบันดาลไม่ได้
กระบวนการธรรมชาติของต้นไม้เองนั่นแหละ
จะบันดาลให้เกิดขึ้นตามธรรมชาติ

มนุษย์ส่วนใหญ่ไม่ได้กำหนดคุณค่าแห่งชีวิตของตน
ไว้ให้แน่นอนว่าอะไรคือสิ่งที่เขาต้องการจริงๆ
เมื่อเป็นดังนี้ เขาจะมีชีวิตอยู่อย่างสงบสุขไม่ได้
เขาจะไม่พบความพอใจในชีวิต”

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2014, 10:34 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ศิษย์แห่งพระตถาคตกล่าวต่อไปว่า

“ข้าพเจ้าบวชอุทิศพระบรมศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ผู้เสด็จออกบวชจากศากยตระกูลโคตมโคตร
พระองค์ทรงเป็นศากยมุนี
ข้าพเจ้าชอบใจธรรมของพระองค์ท่าน”


“ได้โปรดเถิดท่านผู้นิรทุกข์”

ปริพพาชกกล่าวเชิงอ้อนวอนอย่างนอบน้อม

“ขอได้โปรดแสดงธรรม
ที่พระมหาสมณโคดมทรงแสดงแล้วแก่ข้าพเจ้าด้วยเถิด”


“ท่านผู้แสวงสัจจะ” สมณะรูปนั้นกล่าว

“ข้าพเจ้ามาสู่ธรรมวินัยนี้ไม่นานนัก ยังเป็นผู้ใหม่ (นวกะ) อยู่
ข้าพเจ้าไม่สามารถแสดงธรรมโดยพิสดารได้”


อาการที่ท่านกล่าวอย่างถ่อมตนนั้น
เพิ่มความศรัทธาเลื่อมใสแก่ปริพพาชกมากขึ้นอีก จึงกล่าวว่า

“ท่านผู้เจริญ ! ข้าพเจ้าชื่อ อุปติสสะ
บุตรแห่งนายบ้านอุปติสสคามใกล้ราชคฤห์นี่เอง
ขอท่านผู้เจริญได้โปรดจำชื่อของข้าพเจ้าไว้
และขอได้โปรดกล่าวธรรมตามสามารถเถิด
จะน้อยหรือมากไม่สำคัญ
การเข้าใจธรรมแทงตลอดธรรมเป็นหน้าที่ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าต้องการแต่ใจความเท่านั้น”


สาวกของพระพุทธเจ้าจึงกล่าวว่า

“สิ่งใดเกิดแต่เหตุ พระตถาคตตรัสบอกเหตุแห่งสิ่งนั้นไว้
ด้วย สิ่งนั้นดับไปได้โดยวิธีใด พระตถาคตตรัสบอกวิธีดับไว้ด้วย
พระมหาสมณะมีพระวาจาอันประกอบด้วยเหตุผลอย่างนี้”

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 ต.ค. 2014, 16:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ภราดา !

สาวกของพระพุทธเจ้า
แสดงธรรมอันเป็น หัวใจแห่งอริยสัจ
คือ ธรรมอันเป็นส่วนเหตุ
และธรรมอันเป็นส่วนผลโดยย่อดังกล่าวมานี้

สมุทัยและมรรคเป็นส่วนเหตุ
ทุกข์และนิโรธเป็นส่วนผล

นอกจากนี้ยังดึงเอาหัวใจของ
ปฏิจจสมุปบาท ๔*
ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้นและอาศัยกันดับไปมาแสดง ณ ที่นี้ด้วย

(*ปฏิจจสมุปบาท ธรรมที่อาศัยกันเกิดขึ้น
มีหลักโดยย่อว่า เมื่อสิ่งนี้มีสิ่งนี้จึงเกิดขึ้น
เมื่อสิ่งนี้ไม่มีสิ่งนี้จึงดับไป)


:b47:

“อุปติสสปริพพาชก” ได้ฟังธรรม
อันแสดงถึงความเป็นจริงของชีวิตและโลกเพียงเท่านี้
ก็ได้บรรลุโสดาปัตติผลเป็น “โสดาบัน”


เป็นผู้เข้าสู่กระแสธรรม มีคติแน่นอน ไม่ตกต่ำอีก
จะต้องได้บรรลุธรรมขั้นสูงสุดอย่างแน่นอนในภายหน้า
หากจะต้องเวียนว่ายตายเกิดอยู่อีก
ก็ไม่เกิน ๗ ชาติ ปิดอบาย ๔ ได้
คือไม่ต้องเกิดในนรก เป็นเปรตอสูรกายหรือสัตว์ดิรัจฉาน

เขากราบสาวกของพระพุทธเจ้า แล้วกล่าวว่า

“ท่านผู้เจริญ ! เท่านี้พอแล้ว
ไม่ต้องขยายธรรมเทศนาให้ยิ่งขึ้นไป
แต่ข้าพเจ้าอยากทราบว่า
เวลานี้พระศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ใด
อนึ่ง ถ้าพระคุณเจ้าจะโปรดบอกนามของท่านแก่ข้าพเจ้าบ้าง
ก็จะเป็นมงคลแก่ข้าพเจ้าหาน้อยไม่”

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 16 ต.ค. 2014, 14:06 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ศิษย์พระศากยมุนี มหาสมณโคดม
พิจารณาถึงประโยชน์แล้วจึงกล่าววาจาว่า


“ท่านผู้แสวงสัจจะ !
เมื่อพระสิทธัตถะมหาบุรุษตัดสินพระทัย
สละโลกียสุขอันไม่ยั่งยืนเจือด้วยทุกข์
ออกแสวงหาคุณอันยิ่งใหญ่ที่เรียกว่า มหาภิเนษกรมณ์
เพื่อบรรลุธรรมอันเกษมจากโยคะ
เป็นธรรมอันนำสัตว์ออกไปจากทุกข์แห่งสังสารวัฏนี้

ข้าพเจ้าเป็นผู้หนึ่งที่ตามเสด็จออกบวช
เพื่อว่าพระองค์ท่านได้บรรลุธรรมใดแล้ว
จักแสดงธรรมนั้นแก่ข้าพเจ้าบ้าง
เมื่อพระองค์บำเพ็ญทุกรกิริยาอันเข้มงวดไม่มีผู้ใดทำได้ยิ่งกว่านั้น
ข้าพเจ้าก็เป็นผู้หนึ่งที่เฝ้าปรนนิบัติพระองค์อย่างใกล้ชิด

แต่เมื่อพระองค์ทรงเลิกการบำเพ็ญทุกรกิริยา
ด้วยเห็นว่าไร้ประโยชน์ เป็นการทารุณต่อร่างกายเกินไป
แล้วหันมาเสวยพระกระยาหารตามปกติ
เพื่อบำเพ็ญเพียรทางจิตให้ได้ผล
พวกเราทั้ง ๕ คน ผู้รู้เท่าไม่ถึงการณ์
ชวนกันผละจากพระองค์ไป


เพราะฝังใจเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ส่วนมากในเวลานั้นว่า
การทรมานกายเป็นวิธีเดียวที่นำไปสู่การบรรลุสัจธรรม
พวกเราพากันไปอยู่ ณ อิสิปตนมิคทายะ เขตเมืองพาราณสี

เมื่อพระองค์ได้ตรัสรู้แล้ว ทรงระลึกถึงพวกเราทั้ง ๕
จึงเสด็จจากตำบลอุรุเวลาเสนานิคมเขตราชคฤห์นี้
ไปยังอิสิปตนมิคทายะ เขตเมืองพาราณสี
เพื่อแสดงธรรมที่ทรงบรรลุแล้ว
เป็นปฏิการต่ออุปการะของพวกเราที่เคยเฝ้าปรนนิบัติพระองค์
พระอัธยาศัยอันงามนี้มีอยู่เพียบพร้อมในพระศาสดาของเรา


ทีแรกพวกเราไม่เชื่อว่าพระองค์จะได้ตรัสรู้จริง
เพราะเห็นท่านเลิกความเพียรทรมานกาย
เวียนมาเป็นคนมักมากในอาหารและปล่อยตัวให้อยู่สุขสบาย
ไฉนจะบรรลุโลกุตตรธรรมหรืออนุตตรธรรมได้

แต่เมื่อพระองค์ตรัสว่า
คำเช่นนี้ (คือคำว่า เราได้บรรลุอนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณแล้ว)
เราเคยกล่าวกับท่านบ้างหรือตลอดเวลาอันยาวนานที่อยู่ด้วยกัน

นั่นแหละพวกเราจึงระลึกได้ว่าพระองค์มิได้เคยตรัสมาก่อนเลย
จึงพร้อมกันตั้งใจฟังธรรม

พระธรรมเทศนาของพระองค์ไพเราะจับใจ
งามทั้งเบื้องต้นท่ามกลางและที่สุด
ประณีต น่าอัศจรรย์


ข้าพเจ้าจะขอนำมากล่าวเพียงใจความดังนี้

ตอนแรกพระองค์ตรัสบอกว่า
บรรพชิต (ผู้บวชแล้ว) ควรเว้นทางสองสาย


คือ สายหนึ่ง ทางชีวิตที่ดำเนินไป
เพื่อความหมกมุ่นในกาม
พัวพันในอารมณ์ใคร่นานาประการ

ทำให้หลง ให้ติดให้ยึดมั่นสยบอยู่
ทางนี้เป็นทางต่ำเป็นไปเพื่อทุกข์
ไม่ประเสริฐ ไม่มีประโยชน์

อีกสายหนึ่ง ทางชีวิตที่เป็นไป
เพื่อเข้มงวดกวดขันกับร่างกายเกินไป
เรียก“อัตตกิลมถานุโยค”

เป็นไปเพื่อทุกข์กายทุกข์ใจ ไม่ประเสริฐ ไม่มีประโยชน์

เมื่อทรงปฏิเสธทางสองสายว่า
ไม่ควรดำเนินแล้ว ทรงแสดงทางสายกลาง
คือ การปฏิบัติพอเหมาะพอควร
ไม่ตึงเกินไม่หย่อนเกิน มีความเห็นชอบ
มีความดำริชอบ เป็นต้น เป็นองค์ธรรม

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 19 ต.ค. 2014, 09:21 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ตอนที่สอง ทรงแสดงอริยสัจ-สัจจะอันประเสริฐ
เป็นต้นว่า ชีวิตคลุกเคล้าไปด้วยทุกข์นานาประการ
ความสุขที่แท้จริงของชีวิตจะมีได้ก็ต่อเมื่อ
ความไข้แห่งราคะ โทสะ และโมหะ ถูกกำจัด
หรือเยียวยาให้หายแล้วโดยสิ้นเชิง


โลกระงมอยู่ด้วยพิษไข้อันเรื้อรัง คือ ตัณหา
ความร่านใจทะยานอยาก อันไม่มีขอบเขต
สัตว์โลกถูกเพลิงกิเลสและเพลิงทุกข์แผดเผาให้เร่าร้อนไหม้เกรียม
แต่ก็ยังโลดแล่นไปในทะเลแห่งความอยากอันเวิ้งว้าง
ความทุกข์ทนหม่นไหม้ต่างๆ จึงมีมา
ความทุกข์เป็นสิ่งที่ดับให้มอดได้
แต่ต้องดำเนินตาม มรรคปฏิปทา อันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์นั้น


ตอนที่สาม ทรงบรรลือสีหนาทอย่างอาจหาญว่า
ตราบใดที่ยังมิได้รู้อริยสัจ ๔
ซึ่งมี ๓ รอบ ๑๒ อาการแล้ว
จะไม่ทรงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็นสัมมาสัมพุทโธเลย

แต่เพราะได้ทรงรู้จริงในอริยสัจ ๔ อันมี ๓ รอบ ๑๒ อาการ
จึงทรงปฏิญาณพระองค์ว่าเป็น สัมมาสัมพุทโธ ตรัสรู้เองโดยชอบ

และทรงเน้นว่า พระธรรมจักร ที่พระองค์ทรงหมุนไปแล้วนี้
ใครจะหมุนกลับไม่ได้ (อปฺปฏิวตฺติยํ)
*
ไม่ว่าจะเป็นมนุษย์หรือเทวดามารพรหมใดๆ ทั้งสิ้น ใครหมุนกลับ
ผู้นั้นเป็นผู้ผิด เป็นผู้ทวนกระแสแห่งความจริงที่ครอบครองโลกอยู่


(*อปฺปฏิวตฺติยํ อันใครๆ จะหมุนกลับมิได้ ปฏิวัติไม่ได้ คัดค้านไม่ได้
เพราะเป็นความจริงสากลและจำเป็น (Universal and necessary truth)
ผู้ใดหมุนกลับหรือแสดงทรรศนะตรงกันข้าม ผู้นั้นทวนกระแสแห่งความจริง
จะต้องประสบกับความลำบากเป็นอันมาก)


:b43:

ดูก่อน ท่านผู้แสวงสัจจะ !

พระธรรมเทศนาครั้งนั้นทำให้พระโกณฑัญญะ
หัวหน้าของพวกเราบรรลุโสดาปัตติผล เป็นโสดาบัน

หยั่งลงสู่กระแสพระนิพพาน ก้าวลงสู่กระแสธรรม
และจะไม่มีวันถอยกลับจากทางสายนี้เป็นอันขาด
ส่วนอีกสี่คน คือ ท่านภัททิยะ วัปปะ มหานามะ และอัสสชิ
ยังมิได้สำเร็จมรรคผล
ชื่อของข้าพเจ้าเป็นอันดับสุดท้ายในห้าคนดังกล่าวมา


เมื่อพระอัสสชิกล่าวจบลง
อุปติสสปริพพาชกได้ลุกขึ้นนั่ง
กระโหย่งประนมมือกล่าวขึ้นว่า

“ข้าแต่ท่านอัสสชิ !
เป็นลาภอันประเสริฐของข้าพเจ้าแล้ว
สิ่งที่พบได้โดยยาก ข้าพเจ้าได้พบแล้ว
ข้าพเจ้าขอถึงท่านเป็นปฐมาจารย์ (อาจารย์คนแรก) ของข้าพเจ้า
ข้าพเจ้าขอถึงพระพุทธเจ้า พระธรรม พระสงฆ์ ว่าเป็นที่พึ่งที่ระลึก
เป็นสิ่งนำทางแห่งชีวิตของข้าพเจ้า
ท่านผู้เจริญ ! ขอได้โปรดบอกหน่อยเถิดว่า
บัดนี้พระผู้มีพระภาค-ศาสดาของพวกเราประทับอยู่ที่ใด?”


“ประทับอยู่ที่เวฬุวันนี่เอง” พระอัสสชิตอบ
มองดูปริพพาชกศิษย์ของท่านอย่างเข้าใจในความรู้สึกของเขา

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 20 ต.ค. 2014, 19:49 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ภราดา !

อุปติสสปริพพาชกได้กราบลาพระอัสสชิไปแล้ว
ด้วยดวงใจที่ผ่องแผ้วชุ่มเย็น อย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อนเลย

อา ! โสดาปัตติผล ช่างน่าอภิรมย์ชมชื่นอะไรเช่นนี้ !

สมแล้วที่พระจอมมุนีพุทธเจ้า ตรัสว่า

‘โสดาปัตติผลประเสริฐกว่าความเป็นใหญ่ในแผ่นดิน
ประเสริฐกว่าการได้ไปสวรรค์
และกว่าความเป็นใหญ่ในโลกทั้งปวง’

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ ข้อ ๒๓ หน้า ๓๙)


:b45:

อันว่าบุคคลที่เคยระหกระเหินมานาน
วนเวียนหลงทางอยู่ในป่ารก
อันน่าหวาดเสียวด้วยอันตรายนานาประการ
มีอันตรายจากสัตว์ร้ายและไข้ป่า เป็นต้น
ได้อาศัยบุรุษหนึ่งชี้ทางให้ขึ้นสู่มรรคา
อันจะดำเนินไปสู่แดนเกษม แม้จะยังอยู่แค่ต้นทาง
ก็ให้รู้สึกโปร่งใจมั่นใจในความปลอดภัยฉันใด

บุคคลผู้ระหกระเหินอยู่ในป่าแห่งสังสารวัฏนี้ก็ฉันนั้น
ถูกภัยคือความแก่ ความเจ็บ ความตาย
ความทุกข์กายทุกข์ใจเพราะเหตุต่างๆ
คุกคามให้หวาดหวั่นพรั่นพรึงอยู่เนืองนิตย์
ถูกความไม่ได้ดั่งใจปรารถนา
บีบคั้นให้ต้องเสียใจครั้งแล้วครั้งเล่า
แต่เขาก็ยังหวังอยู่นั่นเอง

หวังว่าจะได้อย่างนั้นจะเป็นอย่างนี้พอถึงเวลาเข้าจริง
ความหวังของเขากลับกลายเป็นเสมือนภาพอันซ้อนอยู่ในปุยเมฆ
พอลมพัดมานิดเดียวภาพนั้นก็พลันเจือจางและเลือนหาย
ด้วยเหตุนี้เสียงที่ว่า ‘ไม่ประสบความสำเร็จในชีวิต’
จึงระงมอยู่ในหมู่มนุษย์ตลอดมา


ความจริงมนุษย์ทุกคนได้เคยสมปรารถนา
ประสบความสำเร็จในชีวิตเป็นระยะๆ อยู่เหมือนกัน
แต่เพราะเมื่อความปรารถนา
หรือความหวังอย่างหนึ่งสำเร็จลงแล้ว
ความต้องการอย่างใหม่ก็เกิดขึ้นอีก


บางทีก็อาศัยความสำเร็จเดิมนั้นเป็นมูลฐาน
เขาจึงรู้สึกเหมือนหนึ่งว่ามิได้ประสบความสำเร็จในชีวิต
จึงดิ้นรนอยู่ในทะเลเพลิงแห่งความอยาก
ความปรารถนาอันไม่มีที่สิ้นสุด
เร่าร้อนและว้าเหว่หาประมาณมิได้

ทุกครั้งที่ความปรารถนาเกิดขึ้นในห้วงหัวใจ
ตราบใดที่ยังไม่สมปรารถนา
ความเร่าร้อนในหัวใจก็หาดับลงไม่
นอกจากเขาจะเลิกปรารถนาสิ่งนั้นเสีย

ความหวังเป็นสิ่งผูกพันชีวิตมนุษย์ไว้
อย่างยากที่จะแยกออกไปได้
ถึงกระนั้นก็ตาม มีมนุษย์เป็นอันมากที่ไม่รู้
ตอบตัวเองไม่ได้ว่า อะไรคือสิ่งที่ตน
หรือมนุษย์ควรจะต้องการจริงๆ
อะไรคือสิ่งที่มนุษย์ควรเดินเข้าไปหาและขึ้นให้ถึง


ตราบใดที่มนุษย์ยังตอบปัญหานี้ไม่ได้
ตราบนั้นเขาจะต้องดำเนินชีวิตอย่างลังเล
ไร้หวัง และวนเวียนเป็นสังสารจักร
ไม่รู้อะไรคือทิศทางของชีวิต
เหมือนคนหลงป่าหรือนกหาฝั่ง
บินวนเวียนอยู่ในสมุทร เพราะหาฝั่งไม่พบ


แต่พอได้บรรลุธรรมคือ โสดาปัตติผล แล้ว
เข้าสู่กระแสพระนิพพานแล้ว
เขารู้สึกตนได้ทันทีว่า ได้ออกจากป่าใหญ่แล้ว
ดำรงตนอยู่ต้นทางอันนำไปสู่แดนเกษมแล้ว


ถ้าเปรียบด้วยผู้ดำผุดดำว่ายอยู่ในมหาสมุทร
ก็เป็นผู้ลอยคอขึ้นได้แล้ว มองเห็นฝั่งอยู่ข้างหน้า
กำลังเดินเข้าหาฝั่ง จะต้องขึ้นฝั่งได้แน่นอน ไม่จมลงไปอีก


ลองคิดดูเถิดคนทั้งสองพวกนั้น จะปลาบปลื้มปราโมชสักเพียงใด
ชุ่มเย็นอยู่ด้วยธรรมท่ามกลางผู้เร่าร้อนอยู่ด้วยเพลิงกิเลส
เหมือนหญ้าสดในทะเลทราย
เพราะได้แหล่งน้ำในทะเลทรายนั่นเองหล่อเลี้ยง

โลกนี้เร่าร้อนอยู่ด้วยกิเลส
ธรรมเท่านั้นที่จะช่วยดับความเร่าร้อนของโลกได้

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 21 ต.ค. 2014, 19:36 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

๒.) บัวเหนือน้ำ

ความจริง...อุปติสสะต้องการเหลือเกิน
ที่จะไปเฝ้าพระศาสดา ทันทีที่ได้ทราบจากพระอัสสชิ
ว่าพระพุทธองค์ประทับอยู่ ณ
เวฬุวัน กลันทกนิวาปะ*

แต่มิอาจทำเช่นนั้นได้ เพราะระลึกถึงสัญญาที่ให้ไว้กับเพื่อนรักผู้หนึ่ง
คือ “โกลิตะ” ว่าผู้ใดได้บรรลุธรรมก่อน ขอให้บอกกัน


ด้วยเหตุนี้ อุปติสสะจึงรีบกลับมาสู่ปริพพาชการาม
(อาราม หรือสำนักของปริพพาชก) ที่ตนและมิตรรัก
อาศัยอยู่พร้อมด้วยบริวารอีกเป็นอันมาก

โกลิตะได้เห็นอุปติสสะเดินกลับมา มีสีหน้าผ่องใสยิ่งนัก
ไม่มี สีหน้าแห่งผู้หมกมุ่นครุ่นคิดอย่างวันก่อนๆ จึงอนุมานว่า
สหายของเราคงได้บรรลุธรรมอย่างใดอย่างหนึ่งแล้วเป็นแน่แท้


(*เวฬุวัน กลันทกนิวาปะ สวนไม้ไผ่เป็นที่พระราชทานเหยื่อแก่กระแต
อยู่เชิงภูเขาคิชฌกูฏ เวฬุวันเป็นอารามสงฆ์แห่งแรกในพระพุทธศาสนา
ที่พระเจ้าพิมพิสารน้อมถวายพระพุทธเจ้าเมื่อเสด็จราชคฤห์หนแรกหลังจากตรัสรู้แล้ว)

อ่านเพิ่มเติม
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=44846


:b39:

ภราดา !

จิตมนุษย์นั้นมีลักษณะเป็นประภัสสร (มีรัศมีซ่านออก)
จิตเป็นอย่างใดย่อมซ่านออกทางสีหน้า
ดวงตาและอาการกิริยาอื่นๆ


เมื่อจิตโกรธ สีหน้าและแววตาเป็นอย่างหนึ่ง
แววตาแข็งกร้าวหมองคล้ำหรือแดงจัด
กิริยาอาการแข็งกระด้างตึงตัง

เมื่อจิตเปี่ยมด้วยเมตตาปรานี สีหน้าก็ผ่องใส แววตาอ่อนโยน
กิริยาอาการละเมียดละไม วาจาอ่อนหวานนุ่มนวล
เมื่อจิตเศร้าโศกดวงหน้าก็เศร้าหมองซูบซีด
แววตาร่วงโรยไม่แจ่มใส กิริยาอาการ เงื่องหงอยไม่กระปรี้กระเปร่า

ดูเถิดภราดา ! ดูอาการซ่านออกแห่งดวงจิต
ดูรัศมีแห่งจิตหรือกระแสลำแสงแห่งจิต
คนที่มีจิตเหลาะแหละโลเล คิดแต่จะเอาเปรียบผู้อื่น
พอพบเห็นกันครั้งแรก ผู้พบเห็นก็มักรู้สึกว่า ‘คนนี้ไม่น่าไว้วางใจ’

ส่วนผู้มีใจสูงได้รับการอบรมดีแล้ว
ย่อมแสดงออกทางดวงหน้าและแววตาเหมือนกัน
ใครได้พบเห็นจึงมักรู้สึกว่า ช่างน่าเคารพเลื่อมใสเสียนี่กระไร !


ดังนั้น ความรักใคร่หรือความเกลียดชัง
แม้ไม่ต้องบอก ใครๆ ก็พอรู้ได้
เพราะมันแสดงออกอยู่เสมอทั้งทางดวงหน้าและแววตา
วาจาพออำพรางได้ เสแสร้งแกล้งกล่าวได้
แต่แววตาจะฟ้องให้เห็นเสมอว่า ความรู้สึกภายในเป็นอย่างไร

โกลิตะสังเกตกิริยาอาการสีหน้าและดวงตาของสหายรักแล้ว
จึงแน่ใจว่า อุปติสสะคงได้พบขุมทรัพย์อันประเสริฐ
ที่เขาทั้งสองพากันแสวงหามาเป็นเวลานานแล้ว


:b46:

อุปติสสะเล่าความทั้งปวงให้สหายรักฟัง
ตั้งต้นแต่ได้เห็นพระอัสสชิขณะบิณฑบาตอยู่ในนครราชคฤห์
และเดินตามท่านไปจนได้ฟังธรรมจากท่าน
เขาเล่าอย่างละเอียดลออ
โกลิตะก็ได้ดวงตาเห็นธรรม (ธรรมจักษุ) เช่นเดียวกับเขา


ทั้งสองได้ปราโมชอันเกิดจากธรรม
ได้ดื่มรสแห่งธรรมอันพระตถาคตทรงยกย่องว่า เลิศกว่ารสทั้งปวง
เพราะไม่เจือด้วยทุกข์และโทษ ยิ่งดื่มยิ่งสงบประณีต
ไร้ความกระวนกระวาย ยิ่งดื่มยิ่งหวานชื่น
เหมือนบริโภคอ้อยจากปลายไปหาโคน

ส่วนรสแห่งโลกนั้น เจืออยู่ด้วยทุกข์และโทษนานาประการ
ต้องกังวลต้องหวาดระแวง ความสุขแห่งโลกมักจบลงด้วยทุกข์
โลกียรสยิ่งดื่มยิ่งจืด เหมือนกินอ้อยจากโคนไปหาปลาย


ผู้ที่ได้ดื่มรสแห่งธรรมแล้ว มีธรรมเอิบอาบอยู่ในใจแล้ว
ความสุขอย่างโลกๆ ก็ไร้ความหมาย
เมื่อจำเป็นต้องเสวยความสุขทางโลก
ไม่ว่าประณีตปานใด ก็มีใจพิจารณาเห็นโทษอยู่เนืองๆ
เหมือนผู้จำเป็นต้องดื่มน้ำ ที่แม้จะใสสะอาด
แต่มองเห็นปลิงวนว่ายอยู่ก้นขัน
ลองคิดดูเถิดว่า เขาจะดื่มน้ำด้วยความรู้สึกอย่างไร !

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 22 ต.ค. 2014, 16:23 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

นับถอยหลังจากเวลาที่ท่านทั้งสอง
คือ อุปติสสะ และ โกลิตะ ได้บรรลุธรรมไปไม่นานนัก

ณ หมู่บ้านพราหมณ์ ๒ หมู่ไม่ห่างจากนครราชคฤห์นัก
ในหมู่บ้านหนึ่ง พราหมณ์ผู้เป็นนายบ้านชื่อ อุปติสสะ
เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า วังคันตะ มีภริยาชื่อ นางสารี
มีบุตรชายคนหนึ่งเรียกชื่อตามนามของบิดาว่า อุปติสสะ (ผู้บุตร)
เรียกชื่อตามนามของมารดาว่า สารีบุตร

ในบ้านอีกหมู่หนึ่ง พราหมณ์ผู้เป็นนายบ้านชื่อ โกลิตะ
มีภรรยาชื่อ นางโมคคัลลี
มีลูกชายคนหนึ่งเรียกชื่อตามนามของบิดาว่า โกลิตะ (ผู้บุตร)
เรียกชื่อตามนามของมารดาว่า โมคคัลลานะ

สองตระกูลนี้เป็นสหายเนื่องกันมาตั้งแต่ครั้งบรรพบุรุษ
บุตรของสองตระกูลนั้นมีอายุรุ่นราวคราวเดียวกัน
จึงได้เป็นเพื่อนเล่นด้วยกันมาตั้งแต่เล็ก


เมื่อเติบโต ทั้งสองได้ศึกษาศิลปศาสตร์อันเป็นทางเลี้ยงชีพ
และทางนำมาซึ่งเกียรติยศชื่อเสียงสำเร็จทุกประการ
เขาชอบไปดูมหรสพทั้งในเมืองราชคฤห์ และบนยอดเขา
ย่อมหัวเราะในที่ควรหัวเราะ เศร้าสลดในที่ควรเศร้าสลด
และให้รางวัลแก่ผู้แสดงที่ตนชอบ

ต่อมาวันหนึ่ง ขณะที่ทั้งสองนั่งดูมหรสพอยู่บนยอดเขา
เพราะความที่ญาณและบารมีธรรมที่ท่านทั้งสองบ่มมาแก่กล้าแล้ว
จึงเกิดความรู้สึกขึ้นว่า

‘มหรสพนี้ มีอะไรน่าดูบ้าง? มีอะไรเป็นสาระบ้าง?
คนเหล่านี้ทั้งหมดทั้งคนแสดงและคนดู
ไม่ถึงร้อยปีก็จะต้องตายกันหมด
เราน่าจะแสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์
อันเกิดจากความแก่ เจ็บ และตาย
ความทุกข์จากการเวียนว่ายในสังสารวัฏ’


เมื่อคิดดังนี้ จึงไม่มีอาการร่าเริงสนุกสนานอย่างวันก่อนๆ
อุปติสสะนั่งเฉยเหมือนคิดอะไรอย่างหนึ่งลึกซึ้ง
โกลิตะเห็นอาการของเพื่อนแปลกไปอย่างนั้น จึงถาม
อุปติสสะเล่าความรู้สึกของตนให้ฟัง
โกลิตะบอกว่าตัวเขาเองก็มีความรู้สึกอย่างนั้นเหมือนกัน
คือ รู้สึกว่าความเพลิดเพลินในมหรสพนี้มีอะไรเป็นสาระบ้าง
เราน่าจะแสวงหาอะไรที่ดีกว่านี้
แสวงหาทางหลุดพ้นจากความทุกข์โดยสิ้นเชิง


ภราดา !

อันว่าปทุมชาติแม้เกิดในโคลนตมหรือในน้ำ
ย่อมชูดอกขึ้นพ้นจากโคลนตมและน้ำ
ไม่ติดตมและน้ำ ส่งกลิ่นหอมรื่นรมย์ใจฉันใด
บุคคลบางคนก็ฉันนั้น เกิดแล้วในโลก
เจริญแล้วในโลก แต่ไม่ติดโลก

ไม่ติดในโลกียสุขอันเปรียบเสมือนเหยื่อเล็กน้อยที่ติดอยู่กับเบ็ด
ถอนตนขึ้นจากโลก ปลดปล่อยตนให้เป็นอิสระ
จากการย่ำยีเสียบแทงแห่งอารมณ์ของโลก
ไม่ต้องอึดอัดคับแค้นเพราะโลกธรรมกระแทกกระทั้นบีบคั้นหัวใจ
ไม่หวั่นไหวต่อความขึ้นลงของชีวิต

ภราดา !

ลองคิดดูด้วยปัญญาอันชอบเถิด

เหมือนอย่างว่า บุรุษหนึ่งมี ๒ มือ
มือข้างหนึ่งของเขาจับของร้อนจัดไว้
ส่วนมืออีกข้างหนึ่งจับของเย็นจัดไว้
ของทั้งสองนั้นแม้มีสภาพตรงกันข้ามก็จริง
แต่ก็จะให้ความทุกข์ทรมานแก่บุรุษนั้นเกือบจะเท่าๆ กัน

ฉันใด สุขและทุกข์ของโลกก็ฉันนั้น
ลงท้ายก็จะให้ความทุกข์แก่ผู้หน่วงเหนี่ยวยึดถือเท่าๆ กัน
เพราะความสุขของโลกเหมือนเหยื่อที่เบ็ดเกี่ยวไว้
พอปลากินเหยื่อก็ติดเบ็ด คราวนี้ก็สุดแล้วแต่พรานเบ็ดจะฉุดกระชากลากไป
มัสยาที่ติดเบ็ดกับปุถุชนผู้ติดในโลกียสุขจะต่างอะไรกัน

ทั้งสอง คือ อุปติสสะและโกลิตะ
ตกลงใจว่าจะสละโลกียสุขออกแสวงหาโมกขธรรม
*
แต่การแสวงหาโมกขธรรมน่าจะได้บวชในสำนักใดสำนักหนึ่ง
จึงพาบริวารออกบวชเป็นปริพพาชกในสำนักของอาจารย์สัญชัย
ซึ่งอยู่ใกล้เมืองราชคฤห์นั่นเอง


(*โมกขธรรม ธรรมเป็นเครื่องพ้นจากการบีบรัดของตัณหามานะทิฐิ
พ้นจากการเวียนว่ายตายเกิด)

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ต.ค. 2014, 11:31 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ตั้งแต่สองสหายและบริวารบวชแล้ว
สัญชัยปริพพาชกก็เป็นผู้เลิศด้วยลาภและบริวาร
ล่วงไปเพียง ๒-๓ วัน อุปติสสะและโกลิตะ
ก็สามารถเรียนจบคำสอนของอาจารย์

เมื่อทราบจากอาจารย์ว่าไม่มีคำสอนอื่นใดยิ่งกว่านี้แล้ว
คือ หมดสิ้นความรู้ของอาจารย์แล้ว
เขาทั้งสองคิดกันว่า เท่านี้หาเพียงพอไม่
ความรู้เพียงเท่านี้ไม่พอกับปัญหาชีวิตและความทุกข์ของชีวิต
เราออกแสวงหาความหลุดพ้น
ความรู้ของอาจารย์ในสำนักนี้ไม่พอเพื่อความหลุดพ้น
การอยู่ประพฤติพรหมจรรย์ในสำนักอาจารย์สัญชัย
จึงไม่มีประโยชน์อะไรอีกต่อไป


แต่ชมพูทวีปนี้กว้างใหญ่นัก
เราน่าจะท่องเที่ยวไปในคามนิคมชนบทราชธานี
คงจักได้พบอาจารย์ผู้หลุดพ้นแล้วด้วยตนเอง
และแสดงโมกขธรรมนั้นแก่เราเป็นแน่แท้


ตั้งแต่นั้นมา ได้ยินใครพูดว่าที่ใดมีสมณพราหมณ์ผู้เป็นบัณฑิต
ทั้งสองก็ดั้นด้นไปหาทำการสากัจฉากับสมณพราหมณ์นั้นๆ
ปัญหาใดที่เขาถาม อาจารย์ทั้งหลายไม่อาจแก้ปัญหานั้นได้
แต่เขาสามารถแก้ปัญหาที่อาจารย์เหล่านั้นถามแล้วได้
เขาเที่ยวสอบถามอาจารย์ทั่วชมพูทวีป
แต่ไม่พบอาจารย์อันเป็นที่พอใจหรือให้เขาจุใจได้

จึงกลับมาสู่สำนักเดิม
นัดหมายกันว่าใครได้บรรลุอมตธรรมก่อน
ขอจงบอกแก่กันโดยนัยที่กล่าวแล้วข้างต้น


ภราดา !

บุคคลมีความตั้งใจอย่างแน่วแน่แสวงหาสิ่งใด
เขาย่อมได้พบสิ่งนั้น ไม่วันใดก็วันหนึ่ง
ทุรชนแสวงหาแต่ทางที่จะทำชั่ว ก็ได้พบความชั่ว
สาธุชนแสวงหาทางที่จะทำความดี ก็ได้พบความดี

นักปราชญ์แสวงหาทางปัญญา ก็ได้พบปัญญา
มุนีผู้ใฝ่สงบมุ่งความสงบ ก็ได้พบความสงบเย็นใจ
บุคคลแสวงหาสิ่งใดย่อมได้พบสิ่งนั้น
ในโลกนี้มีสิ่งที่มนุษย์แสวงหามาก
ใครจะแสวงหาอะไรก็สุดแล้วแต่อุปนิสัยของเขา

อันการแสวงหา
* นั้นที่ประเสริฐก็มี ไม่ประเสริฐก็มี
โดยปริยายเบื้องต่ำสัมมาอาชีวะเป็นการแสวงหาที่ประเสริฐ
มิจฉาอาชีวะเป็นการแสวงหาที่ไม่ประเสริฐ
โดยปริยายเบื้องสูง การแสวงหาอามิส
คือ ลาภ ยศ สรรเสริญ และโลกียสุข...ไม่ประเสริฐ
การแสวงหาธรรม...ประเสริฐ
การแสวงหาสิ่งที่มีความเกิด แก่ เจ็บ ตายเป็นธรรมดา...ไม่ประเสริฐ
การแสงหาสิ่งที่ไม่ต้องเกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นการแสวงหาที่ประเสริฐ


(*การแสวงหาที่ประเสริฐ เรียก อริยปริเยสนา Noble search
การแสวงหาอันไม่ประเสริฐ เรียก อนริยปริเยสนา lgnoble search
ดูพระไตรปิฎก เล่ม ๑๔ หน้า ๓๑๔)


:b45:

ดูก่อนภราดา !

มนุษย์และสัตว์โลกทั้งมวล
ตนเองมีความเกิดแก่เจ็บตายเป็นธรรมดาอยู่แล้ว
ยังเที่ยวแสวงหาสิ่งอันมีความเกิดแก่เจ็บตายเข้ามาทับถมอีก

จึงต้องเพิ่มความเดือดร้อนขึ้นทับทวีคูณตรีคูณ
เพราะเหตุที่บุคคลรู้สึกพร่องในตน
จึงพยายามแสวงหาสิ่งอื่นที่เข้าใจว่า
จะมาทำความพร่องของตนให้เต็มบริบูรณ์

แต่เนื่องจากสิ่งที่แสวงหามานั้น มีความพร่องอยู่ในตนเหมือนกัน
จึงหาทำให้ใครเต็มบริบูรณ์ได้ไม่ มีแต่จะเพิ่มความพร่องให้มากขึ้น
เปรียบเหมือนคนตาบอดด้วยตนเองแล้ว ยังไปแสวงหาคนตาบอดมาอยู่ด้วย
ก็หาได้ทำให้ตาของตนสว่างขึ้นไม่ ยังจะต้องเป็นภาระกับคนตาบอดอีกคนหนึ่ง
แต่อนิจจา กว่าจะรู้อย่างนี้ก็มักสายเกินแก้เสียแล้ว
สภาพของโลกจึงอยู่ในลักษณะคนตาบอดจูงคนตาบอด และเตี้ยอุ้มค่อมเสมอมา

ความรักเป็นสิ่งหนึ่งที่บุคคลทุกเพศทุกวัยแสวงหา
ด้วยเข้าใจว่าตนจะสมบูรณ์ขึ้นเพราะมีความรักและคนที่รัก

เข้าใจว่า ตนจะมีความสุขเพราะมีความรัก
แต่พอมีเข้าจริง ความกังวลห่วงใย ความกลัวจะเสียของรักหรือคนรัก
ความหวาดหวั่นพรั่นพรึงต่อการที่จะพลัดพรากจากสิ่งที่รัก
ความริษยาอาฆาตต่อบุคคล
ที่มีท่าทีว่าจะมาแย่งคนรักของตนไป เป็นอาทิ
เมื่อรวมกันแล้วก่อความทุกข์ความกังวลให้
มากกว่าความสุขเล็กน้อยเพราะความเพลินใจในอารมณ์รักหรือสิ่งที่รัก

ความไม่สมบูรณ์ในตนนั่นเอง
ทำให้คนต้องการความรักและสิ่งที่รัก
ส่วนบุคคลผู้มีความสมบูรณ์ในตน
ย่อมไม่ต้องการความรักหรือสิ่งที่รัก

เกี่ยวกับเรื่องนี้ พระศาสดาของเราตรัสว่า

“การไม่ได้เห็นสิ่งอันเป็นที่รักเป็นความทุกข์
การประสบกับสิ่งอันไม่เป็นที่รัก เป็นความทุกข์
เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรทำอะไรๆให้เป็นที่รัก
เพราะการพลัดพรากจากสิ่งที่รักเป็นความทรมาน”

(พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๔๒ ข้อ ๒๖)

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 24 ต.ค. 2014, 11:42 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

เมื่ออุปติสสะและโกลิตะได้ดวงตาเห็นธรรมแล้ว
จึงชวนกันไปเฝ้าพระศาสดาสัมมาสัมพุทธเจ้า
ซึ่งเวลานั้นประทับอยู่ ณ เวฬุวัน

แต่อุปติสสะซึ่งเป็นผู้หนักในกตัญญูกตเวที
ระลึกถึงอาจารย์สัญชัย จึงเข้าไปหาอาจารย์

เล่าความทั้งปวงให้ฟัง ชวนอาจารย์ไปเฝ้าพระศาสดาด้วย
แต่อาจารย์สัญชัยไม่ยอมไป
อ้างว่าเป็นผู้ใหญ่ชั้นครูบาอาจารย์แล้ว
ไม่ควรไปเป็นศิษย์ของใครอีก

เมื่อสองสหายอ้อนวอนหนักเข้า
อาจารย์สัญชัยจึงถามว่า
ในโลกนี้มีคนโง่มากหรือคนฉลาดมาก
สองสหายตอบว่า คนโง่มากกว่า สัญชัยจึงสรุปว่า
ถ้าอย่างนั้น ขอให้พวกที่ฉลาดๆ ไปหาพระสมณโคดมเถิด
ส่วนพวกโง่ๆ จงมาหาเราและอยู่ในสำนักของเรา


แม้จะรู้ว่าท่านอาจารย์สัญชัยพูดประชดประชัน
แต่สองสหายผู้มีอัธยาศัยงาม
เพียบพร้อมด้วยสาวกบารมีญาณ
ก็หาถือเป็นเรื่องเคืองใจแต่ประการใดไม่
คงอ้อนวอนต่อไป พรรณนาให้เห็นว่า
การเสด็จอุบัติขึ้นของพระพุทธเจ้านั้นยากเพียงใด
การได้ฟังพระ-สัทธรรมของพระองค์ท่านก็เป็นของยาก

บัดนี้พระสัมมาสัมพุทธเจ้าได้เสด็จอุบัติขึ้นแล้ว
และประทับอยู่ ณ ที่ใกล้นี่เอง
ควรจะถือโอกาสอันดีนี้ไปเฝ้าฟังพระธรรมเทศนา
แต่สัญชัยก็คงยืนกรานอย่างเดิม


ดูก่อนภราดา !

คนที่เป็นปทปรมะ (คนที่สั่งสอนไม่ได้) นั้นมีอยู่ ๒ จำพวก
คือ พวกหนึ่งปัญญาน้อยเกินไป หรือพวกปัญญาอ่อน
อีกพวกหนึ่งมีทิฐิมากเกินไป ไม่ยอมฟังความคิดเห็นของใครๆ
คนทั้งสองพวกนี้สอนได้ยาก หรืออาจสอนไม่ได้เลย
ที่ท่านเปรียบเหมือนบัวที่อยู่ใต้น้ำ ติดโคลนตม
มีแต่จะเป็นเหยื่อของปลาและเต่า


เมื่อเห็นว่าชักชวนอาจารย์ไม่สำเร็จแน่แล้ว สองสหายก็จากไป
ศิษย์ในสำนักของอาจารย์สัญชัยติดตามไปเป็นจำนวนมาก
ประหนึ่งว่าปริพพาชการามจะว่างลง สัญชัยเห็นดังนั้นเสียใจ
จนอาเจียนออกมาเป็นเลือด

ศิษย์ของสัญชัยจำนวนหลายคน
คงจะสงสารอาจารย์ จึงกลับเสียในระหว่างทาง
คงติดตามท่านทั้งสองไปเพียง ๒๕๐ คน
เมื่อทั้งสองถึงเวฬุวันนั้น เป็นเวลาที่พระศาสดา
กำลังทรงแสดงธรรมอยู่ท่ามกลางพุทธบริษัท
ทอดพระเนตรเห็นสองสหายกำลังมา

จึงตรัสกับภิกษุทั้งหลายว่า

“ภิกษุทั้งหลาย สองสหายคืออุปติสสะ และโกลิตะกำลังมา
เขาทั้งสองจักเป็นอัครสาวก (สาวกผู้เลิศ) ของเรา”


ทั้งสองและบริวารถวายบังคมพระศาสดา
แล้วทูลขอบรรพชาอุปสมบท
พระผู้มีพระภาคทรงประทานอุปสมบทแบบเอหิภิกขุอุปสัมปทา
*

(*เอหิภิกขุอุปสัมปทา การอุปสมบทที่พระศาสดาทรงประทานเอง
เพียงแต่ทรงอนุญาตให้เป็นภิกษุเท่านั้นก็ครองจีวรได้
ไม่ต้องมีพิธีอะไร วิธีนี้เป็น ๑ ใน ๓ แห่งวิธีอุปสมบทในพระพุทธศาสนา)


:b40:

พระศาสดาทรงขยายพระธรรมเทศนาให้พิสดารออกไป
มุ่งเอาอุปนิสัยแห่งบริวารของสหายทั้งสอง
เป็นเกณฑ์เพื่อได้สำเร็จมรรคผลก่อน
เมื่อจบพระธรรมเทศนา
บริวารทั้ง ๒๕๐ ท่านได้สำเร็จอรหัตตผล
ส่วนสหายทั้งสองยังไม่ได้บรรลุมรรคผลที่สูงขึ้นไป
คงได้เพียงโสดาปัตติผลเท่านั้น


เพราะอย่างไรจึงเป็นอย่างนั้น?

ท่านว่า สาวกบารมีญาณเป็นของใหญ่
ต้องมีคุณาลังการมากมายเหมือนการเสด็จของพระราชา
ย่อมมีการเตรียมการมากกว่าสามัญชน
อนึ่ง คนมีปัญญามากย่อมต้องไตร่ตรองมาก
มิได้ปลงใจเชื่อสิ่งใดโดยง่าย ต้องการใคร่ครวญ
ให้เห็นเหตุเห็นผลอย่างชัดแจ้งด้วยตนเองเสียก่อน แล้วจึงเชื่อ
และปฏิบัติตาม แต่พอสำเร็จแล้วก็ประดับด้วยคุณาลังการทุกประการ
อันเป็นบริวารธรรมแห่งสิ่งอันตนได้สำเร็จแล้วนั้น


ภราดา !

เปรียบเหมือนการเดินทาง คนพวกหนึ่งเดินก้มหน้าก้มตางุดๆ
เพื่อรีบไปให้ถึงปลายทาง ไม่มองดูสิ่งใดในระหว่างทางเลย
เมื่อถึงปลายทางแล้วก็เป็นอันถึงแล้ว แต่หาได้รู้อะไรๆ ในระหว่างทาง
อันเป็นเครื่องประกอบการเดินทางของตนไม่
ส่วนคนอีกพวกหนึ่งค่อยๆ เดินไป ตรวจสอบข้างทางอย่างถ้วนถี่
มีอะไรน่าสนใจเป็นพิเศษ ก็แวะชมจดจำ และทำความเข้าใจ
คนพวกนี้อาจถึงจุดหมายปลายทางช้า
แต่เมื่อถึงแล้วย่อมมีความรู้พิเศษติดไปด้วยมากมายฉันใด
ผู้สำเร็จมรรคผลในพระพุทธศาสนาก็ฉันนั้น


บางพวกเป็น สุกขวิปัสสโก
คือ สามารถทำลายกิเลสได้เกลี้ยงหัวใจ
แต่ไม่มีคุณสมบัติอย่างอื่น
เช่น วิชชา ๓ ปฏิสัมภิทา ๔ หรือ อภิญญา ๖
*
บางพวกทำลายกิเลสได้เกลี้ยงหัวใจด้วยมีวิชชา ๓ ด้วย
บางพวกมีอภิญญา ๖ ด้วย บางพวกมีปฏิสัมภิทา ๔ ด้วย

ภราดา !
พระอัครสาวกทั้งสองเป็นผู้พร้อมด้วยอัครสาวกบารมีญาณ
แม้จะสำเร็จช้า แต่เมื่อสำเร็จแล้วก็ประดับด้วยคุณาลังการทั้งปวง


(*วิชชา ๓ = ความรู้วิเศษ ๓ ประการ คือ
๑.) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ - ความรู้ที่ระลึกชาติได้
๒.) จุตูปปาตญาณ - ความรู้จุติและอุบัติของสัตว์ทั้งหลาย
๓.) อาสวักขยญาณ - ความรู้ที่ทำอาสวะให้สิ้น

ปฏิสัมภิทา ๔ = ปัญญาแตกฉาน มี ๔ คือ
๑.) อัตถปฏิสัมภิทา - ปัญญาแตกฉานในอรรถ
๒.) ธัมมปฏิสัมภิทา - ปัญญาแตกฉานในธรรม
๓.) นิรุตติปฏิสัมภิทา - ปัญญาแตกฉานในทางภาษา
๔.) ปฏิภาณปฏิสัมภิทา - ปัญญาแตกฉานในปฏิภาณ

อภิญญา ๖ = ความรู้ยิ่ง มี ๖ คือ
๑.) อิทธิวิธิ - แสดงฤทธิ์ต่างๆ ได้
๒.) ทิพพโสต - หูทิพย์
๓.) เจโตปริยญาณ - ทายใจผู้อื่นได้
๔.) ปุพเพนิวาสานุสติญาณ - ระลึกชาติได้
๕.) ทิพพจักขุ - ตาทิพย์
๖.) อาสวักขยญาณ - ญาณทำให้อาสวะสิ้นไป)

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 25 ต.ค. 2014, 12:07 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

๓.) ผ้าขี้ริ้วกับช่อดอกไม้

เมื่อท่านอุปติสสะและโกลิตะได้อุปสมบทแล้ว
เพื่อนพรหมจารี*ทั้งหลายนิยมเรียกท่านว่า
สารีบุตร และโมคคัลลานะ
แม้พระตถาคตเจ้าเองก็ตรัสเรียกอย่างนั้นเหมือนกัน
นามอุปติสสะและโกลิตะได้หายไป
พร้อมกับการอุปสมบทของท่านทั้งสอง


(*พรหมจารี หมายถึง ผู้ประพฤติพรหมจรรย์
พรหมจรรย์ แปลว่า ความประพฤติอันประเสริฐ)


:b44:

พระโมคคัลลานะเมื่ออุปสมบทแล้วได้ ๗ วัน
ไปทำความเพียรอยู่ ณ ใกล้หมู่บ้านกัลลวาลมุตตคาม
ถูกความง่วง (ถีนมิทธะ) ครอบงำ
ไม่อาจให้ความเพียรดำเนินไปตามปกติได้
พระศาสดาเสด็จไป ณ ที่นั้น
ทรงแสดงอุบายสำหรับแก้ง่วง*

เช่น เมื่อความง่วงครอบงำ
ให้เอาใจใส่ใคร่ครวญถึงธรรมที่ได้ฟังแล้ว ได้ศึกษามาแล้ว
ถ้ายังไม่หายง่วง ควรสาธยาย (คือท่องออกเสียง)
ธรรมที่ได้ฟัง มาแล้ว ศึกษามาแล้ว
ถ้ายังไม่หายง่วง ควรยอนช่องหูทั้งสองข้าง
เอาฝ่ามือลูบตัวไปมาบ่อยๆ
ถ้ายังไม่หายง่วง ควรลุกขึ้นยืนแล้ว ลูบนัยน์ตาด้วยน้ำ
เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์

ถ้ายังไม่หายง่วง ควรทำในใจถึงแสงสว่าง (อาโลกสัญญา)
ว่าบัดนี้สว่างแล้ว ทำจิตให้มีแสงสว่างเกิดขึ้น
ให้รู้สึกว่าเหมือนกันทั้งกลางวันและกลางคืน มีใจเปิดเผย
ไม่มีอะไรหุ้มห่อ ถ้ายังไม่หายง่วงควรเดินจงกรม
คือ เดินกลับไปกลับมา พิจารณาข้อธรรม
สำรวมอินทรีย์ ไม่ส่งจิตไปภายนอก
ถ้ายังไม่หายง่วงพึงนอนแบบ สีหไสยา**
คือตะแคงขวาซ้อนเท้าให้เหลื่อมกันเล็กน้อย มีสติ
สัมปชัญญะ ตั้งใจจะลุกขึ้นทันทีเมื่อรู้สึกตัวครั้งแรก
ด้วยมนสิการว่า เราจักไม่แสวงหาความสุขจากการนอน
จากการเอนหลัง จากการเคลิ้มหลับ”


(*อ่านเพิ่มเติม กระทู้เรื่องโมคคัลลานสูตร
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=45512


**สีหไสยา นอนตะแคงขวา มือข้างซ้ายวางพาดไปตามลำตัว
มือข้างขวารับศีรษะด้านขวา ซ้อนเท้าให้เหลื่อมกันนิดหน่อย
ในท่าพอสบายไม่ยืดจนตึงหรือเกร็ง)


:b40:

“ดูก่อนโมคคัลลานะ” พระศาสดาตรัสต่อไป

“อีกอย่างหนึ่ง เธอควรสำเหนียกอย่างนี้ว่า
‘เราจักไม่ชูงวง คือถือตัวทะนงตน เข้าไปสู่ตระกูล’

เพราะถ้าภิกษุชูงวงเข้าไปสู่ตระกูล
เธอจะร้อนใจเป็นอันมาก
บางครั้งบางคราวคฤหัสถ์ทั้งหลาย
เป็นผู้มีกิจมากมีธุระมาก
อาจไม่ได้นึกถึงภิกษุผู้เข้าสู่ตระกูล
ภิกษุผู้ชูงวง อาจคิดมากว่า
บัดนี้ใครหนอยุยงให้เราแตกจากตระกูลนี้
มนุษย์พวกนี้จึงมีอาการห่างเหินเรา
มีอาการอิดหนาระอาใจต่อเรา

เมื่อไม่ได้อะไรๆ จากตระกูลนั้น เธอก็เก้อเขิน
ครั้นเก้อเขินก็เกิดความฟุ้งซ่าน ไม่สำรวม
เมื่อไม่สำรวมจิตก็จะห่างจากสมาธิ

โมคคัลลานะ อีกอย่างหนึ่ง เธอควรสำเหนียกว่า
‘เราจักไม่พูดคำอันเป็นเหตุให้ต้องเถียงกัน ถือผิดต่อกัน’
เพราะเมื่อมีถ้อยคำทำนองนี้ก็จะต้องพูดมาก
เมื่อพูดมากก็เกิดความฟุ้งซ่าน
ครั้นฟุ้งซ่านก็จะเกิดการไม่สำรวม
เมื่อไม่สำรวม จิตก็จะเหินห่างจากสมาธิ

โมคคัลลานะ อีกอย่างหนึ่ง
เราไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยหมู่ชน
ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต

แต่เราสรรเสริญการอยู่ในเสนาสนะอันสงัด
ควรเป็นที่หลีกเร้นอยู่ตามสมณวิสัย...”*


(*เก็บความจากหนังสือ พุทธานุพุทธประวัติ
ของสมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส
หน้า ๖๓-๖๔)

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 27 ต.ค. 2014, 11:38 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ภราดา !

พระบรมพุทโธวาทของพระศาสดา
ในเรื่องอุบายแก้ง่วงก็ดี เรื่องการยกงวงชูงาก็ดี
เรื่องการเว้นถ้อยคำอันเป็นเหตุให้เถียงกันก็ดี
และเรื่องการอยู่ในเสนาสนะสงัดก็ดี
ควรเป็นเรื่องเตือนใจอันสำคัญของพุทธศาสนิกชน
ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต


ภราดาเอย !

การ ‘ชูงวง’ คือ ความทะนงตนนั้น
เป็นกิเลสร้ายอย่างหนึ่ง
ซึ่งครอบงำจิตของมนุษย์อยู่ทั้งคฤหัสถ์และบรรพชิต

พระศาสดาทรงเรียกมันว่า ‘มานานุสัย’
อนุสัย คือ มานะ กิเลสที่นอนสยบอยู่ในขันธสันดาน
เมื่อถูกกวนก็จะฟูขึ้นทันที
มานะมีลักษณะให้ทะนงตนว่า ‘แกเลวกว่าข้า’
บุคคลผู้มีมานะจัดย่อมมีลักษณะเชิดชูตนจัด
อวดตนจัด ยกตนข่มผู้อื่นเนืองๆ
มองไม่เห็นใครดีหรือสำคัญเท่าตน ซึ่งเป็นการมองที่ผิด

ตามความเป็นจริงแล้ว
บุคคลย่อมมีความสำคัญตามฐานะของตน

แม้บุคคลอีกผู้หนึ่งจะเป็นเสมือนไม้กวาดและผ้าขี้ริ้ว
ส่วนบุคคลอีกผู้หนึ่งเป็นเสมือนดอกไม้ในแจกันก็ตาม
ไม้กวาดและผ้าขี้ริ้วย่อมมีความหมาย
และมีความสำคัญอย่างไม้กวาดและผ้าขี้ริ้ว

ส่วนดอกไม้ในแจกันก็มีความหมาย
และมีความสำคัญอย่างดอกไม้
ปราศจากไม้กวาดและผ้าขี้ริ้วเสียแล้ว
บ้านเรือนจะสะอาดได้อย่างไร

แต่บ้านเรือนอาศัยเครื่องประดับเป็นสิ่งเชิดหน้าชูตา
ข้อนี้ฉันใดชุมชนก็ฉันนั้น
ต่างต้องพึ่งพาอาศัยกัน ไม่ควรดูหมิ่นกัน
และไม่ควรริษยากัน อันเป็นเหตุให้เดือดร้อนทั้งสองฝ่าย


ภราดา !

อันไม้พันธุ์ดีนั้น ถ้ายืนอยู่เดี่ยวโดด
ไม่มีพันธ์ุอื่นต้านลมหรืออันตรายต่างๆ
มันก็ดำรงอยู่ได้ไม่นาน
คนดีหรือคนสูงก็เหมือนกัน
ไม่ควรอวดดีหมิ่นคนต่ำ

เพราะคนต่ำนั่นเองได้เป็นป้อมปราการ
ป้องกันอันตรายให้ และเป็นฐาน
รองรับให้สูงเด่นอยู่ได้
ควรมีเมตตากรุณาช่วยส่งเสริมเขา

อย่างน้อยเขาต้องมีคุณอย่างใดอย่างหนึ่ง
หรือด้านใดด้านหนึ่งเหมือนไม้
แม้พันธ์ุไม่ดีก็ช่วยต้านลมให้ได้
เมื่อล้มตายลงก็ช่วยเป็นปุ๋ยให้ได้

จริงอยู่ เราปลูกหญ้าให้เทียมตาลไม่ได้
แต่หญ้าก็มีประโยชน์อย่างหญ้า ช่วยให้ดินเย็น
เมื่อตัดให้เรียบร้อยก็ดูสวยงามและนั่งเล่นได้ เป็นต้น
เจดีย์ที่สวยงามต้องมีทั้งยอดและฐานฉันใด
ชุมนุมชนก็ฉันนั้น ต้องมีทั้งคนสูงและคนต่ำ
คนที่เป็นยอดและเป็นฐานต่างทำหน้าที่ของตนไป
ให้ชุมนุมชนดำเนินไปได้โดยสงบเรียบร้อย

ในรายที่มีความทะนงตนมิได้เปิดเผยโจ่งแจ้ง
ก็อย่าได้นอนใจว่าไม่มี
มันอาจแอบแฝงซ่อนเร้นอยู่ลึกๆ คอยโอกาสอยู่
ใจเผลอขาดสติสัมปชัญญะเมื่อใด มันจะแสดงตนทันที
บางทีก็เป็นไปอย่างหยาบคาย
บางทีเป็นไปอย่างละเอียดอ่อน


:b45:

อหังการ หรืออัสมิมานะ คือ ความทะนงตนนั้น
ให้ความลำบากยากเข็ญแก่มนุษย์มานักหนา
แต่มนุษย์ก็ยังพอใจถนอมมันไว้
เหมือนดอกไม้ประดับเศียรซึ่งจะก้มลงมิได้กลัวดอกไม้หล่น
มันเหมือนแผงค้ำคอ ทำให้คอแข็งหน้าเชิด
แล้วเอาศีรษะกระทบกัน ต้องปวดเศียรเวียนเกล้าตามๆ กันไป

ลองตรองดูเถิด ความโกรธ ความเกลียดชังกัน
ความแก่งแย่งแข่งดี การคิดทำลายกัน
ล้วนแตกกิ่งก้านมาจากลำต้น
คือ อหังการ หรือ ทะนงตน ทั้งสิ้น


ถ้าลำต้น คือ ความทะนงตน
การถือตัวจัดถูกทำลายแล้ว ตัดให้ขาดแล้ว
การกระทบกระทั่งย่อมไม่มี
จิตสงบราบเรียบและมั่นคง เป็นความสงบสุข
สมดังที่พระบรมศาสดาตรัสว่า

‘การถอนอัสมิมานะเสียได้เป็นบรมสุข’*

ดังนี้

(*อสฺมิมานสฺส วินโย เอตํ เว ปรมํ สุขํ
- พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๘๖ ข้อ ๕๑)


:b44:

วิิธีถอนอัสมิมานะนั้น
ในเบื้องต้นให้พิจารณาเห็นโทษของความทะนงตน

ว่า เป็นเหตุให้ทำความเสียหายนานาประการ
แล้วพยายามบรรเทาด้วยความพยายามเข้าอกเข้าใจผู้อื่น
ให้อภัยผู้อื่น ทิฐิมานะจะได้ลดลง การถ่อมตัวจะเพิ่มขึ้น
แทนที่จะเสียหาย กลายเป็นคนน่าเคารพกราบไหว้
ส่อให้เห็นคุณธรรมภายใน

ดูเถิดภราดา !

ดูส้มที่มีผลดก กิ่งย่อมโน้มน้อมลง
ข้าวรวงใดเม็ดเต็มรวงย่อมน้อมลง
เสมือนจะนอบน้อมโค้งให้แก่ผู้สัญจร
แต่ส้มกิ่งใดตาย ไม่มีผลเลย ข้าวรวงใดลีบ
ส้มกิ่งนั้นและข้าวรวงนั้นจะแข็งทื่อชี้โด่กระด้างฉันใด
ในหมู่มนุษย์ก็ฉันนั้น คนใดมีคุณภายใน
คนนั้นย่อมอ่อนน้อมถ่อมตน ปราศจากความกระด้าง

อวดดี ถือตัวจัด มองคนไม่เป็นคน


ประการสำคัญในการถอนอัสมิมานะ ก็คือ
ให้มนสิการเนืองๆ ว่า ตัวตนที่แท้จริงนั้นไม่มี
สิ่งทั้งปวงอาศัยกันเกิดขึ้น อาศัยปัจจัยมากมายดำเนินไป
มันเป็นอนัตตาอยู่โดยแท้


เราพากันเข้าใจผิดไปเองว่ามีตัวตนที่แท้จริง
คนที่ทะนงตนว่าสำคัญนั้นยังมีสิ่งอื่นที่สำคัญกว่าตนอยู่มากมาย
ข้าว น้ำ เสื้อผ้า อาหาร ลมหายใจ และยาแก้โรค
ล้วนแต่สำคัญกว่าบุคคลนั้นทั้งสิ้น
เพราะเขาต้องอาศัยมันอยู่ทุกเมื่อเชื่อวันขาดไม่ได้
แม้คนที่ได้ประสบความสำเร็จในการงานด้านใดด้านหนึ่ง
ก็หาสำเร็จไปคนเดียวได้ไม่
ต้องอาศัยปัจจัยอื่นมากมายจาระไนไม่หมดสิ้น

อย่าทะนงตนไปเลย

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 30 ต.ค. 2014, 13:20 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


รูปภาพ

ในประการต่อมา

พระศาสดาทรงประทานพระพุทโธวาท
มิให้ยินดีในถ้อยคำอันเป็นเหตุเถียงกัน
เพราะถ้าถียงกันก็มีเรื่องต้องพูดมาก
เมื่อพูดมากก็เกิดความฟุ้งซ่าน จิตจะห่างเหินจากสมาธิ


ภราดา !

มีคนจำนวนไม่น้อยที่ต้องการเชิดชูตนด้วยการปะทะคารมกับผู้อื่น
ต้องการอวดฝีปากให้คนทั้งหลายชื่นชมว่าเป็นปราชญ์
มีปัญญามาก หาผู้เสมอเหมือนมิได้
เจตนาเช่นนั้นนำไปสู่การทะเลาะวิวาท
การทะเลาะวิวาทนำไปสู่การแตกสามัคคี
การแตกสามัคคีนำไปสู่ความเสื่อมนานาประการ

บางประเทศต้องเสียบ้านเมืองให้แก่ข้าศึก
เพราะคนในบ้านเมืองแตกสามัคคีกัน
ข้อนี้มีตัวอย่างให้เห็นอยู่มากมาย

วิิธีหลีกเลี่ยงถ้อยคำอันเป็นเหตุให้เถียงกัน
ก็คือ อย่าพูดจาเมื่อเวลาโกรธ
และอย่ายึดมั่นทิฐิของตนมากเกินไปจนกลายเป็นคนหลงตัวเอง
การกระทำด้วยความหลงตัวเอง มีแต่ความผิดพลาดเป็นเบื้องหน้า

ประการต่อมา ทรงโอวาทพระมหาโมคคัลลานะว่า
ทรงสรรเสริญการอยู่ในเสนาสนะที่สงัด
ไม่สรรเสริญการคลุกคลีด้วยหมู่คณะ ทั้งบรรพชิตและคฤหัสถ์


บรรพชิตผู้บวชแล้วมีเจตนาในการแสวงหาวิเวก
เบื้องแรกต้องได้กายวิเวกก่อน จิตวิเวก คือ ความสงบทางจิตจึงจะเกิดขึ้น
เมื่อความสงบจิตเกิดขึ้น อุปธิวิเวก คือ ความสงบกิเลสจึงจะตามมา

ภราดา !

มีอาสวะมากมายเกิดขึ้นเพราะการคลุกคลี
ไม่ว่าฝ่ายบรรพชิตหรือคฤหัสถ์
ทั้งนี้ท่านมิได้ห้ามไม่ให้ชุมนุมกันเมื่อมีกิจจำเป็น
แต่เมื่อสิ้นธุระแล้วก็ควรจะอยู่อย่างสงบ

เพื่อได้รู้จักตัวเองให้ดีขึ้น คนส่วนมากพยายามจะรู้จักคนอื่น
วันหนึ่งๆ ให้เวลาล่วงไปด้วยการอยู่กับคนอื่น
โอกาสที่จะอยู่กับตัวเองมีน้อยจึงรู้จักตัวเองน้อย
ตราบใดที่บุคคลยังไม่รู้จักตัวเอง ยังไม่เข้าใจตัวเอง
ตราบนั้นเขาจะพบความสงบสุขภายในไม่ได้
และจะเข้าใจผู้อื่นไม่ได้ด้วย

การอยู่อย่างสงบจึงเป็นพื้นฐานแห่งการไม่เบียดเบียน
เพราะผู้มีใจสงบย่อมไม่คิดเบียดเบียน
*

(*จากข้อความในศิลาจารึกของพระเจ้าอโศกมหาราช)

:b39:

เมื่อพระบรมศาสดาตรัสพระธรรมเทศนานี้จบลงแล้ว
พระมหาโมคคัลลานะทูลถามว่า

ด้วยข้อปฏิบัติอย่างไร ภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา
มีความสำเร็จอย่างยิ่ง เกษมจากโยคธรรม
*อย่างยิ่ง
เป็นพรหมจารีบุคคลอย่างยิ่ง
ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย


*เกษมจากโยคธรรม
คือ ปลอดจากกิเลส เครื่องประกอบสัตว์ไว้ในภพ
ท่านแสดงไว้ ๔ ประการ คือ กาม = ความใคร่, ภพ = เจตจำนงในการเกิดใหม่
(will to be born), ความกระหายในความเป็น (craving for existence),
ทิฏฐิ = ความเห็นผิด, อวิชชา = ความไม่รู้ตามความเป็นจริง)


:b40:

พระศาสดาตรัสตอบว่า

“โมคคัลลานะ ! ภิกษุในธรรมวินัยนี้
ได้สดับว่าธรรมทั้งปวง อันใครๆ ไม่ควรยึดมั่นถือมั่น
*
ครั้นได้สดับดังนี้แล้ว เธอทราบธรรมทั้งปวงชัดด้วยปัญญายิ่ง
ครั้นทราบธรรมทั้งปวงชัดอย่างนี้แล้ว ย่อมกำหนดรู้ธรรมทั้งปวง

ครั้นกำหนดรู้ธรรมทั้งปวงดังนี้แล้ว
เธอได้ประสบเวทนาอย่างใดอย่างหนึ่ง
เป็นสุขก็ดี ทุกข์ก็ดี ไม่ใช่ทุกข์ไม่ใช่สุขก็ดี
ย่อมพิจารณาเห็นว่าไม่เที่ยง
เมื่อเป็นดังนี้เธอย่อมมีปัญญาในทางเบื่อหน่ายในทางดับ
ในทางสละคืนซึ่งเวทนา (ความรู้สึกในอารมณ์) ทั้งปวง

เมื่อเป็นดังนี้ย่อมไม่ยึดมั่นสิ่งใดๆ ในโลก
เมื่อไม่ยึดมั่นย่อมไม่สะดุ้งหวาดหวั่น
เมื่อไม่สะดุ้งหวาดหวั่นย่อมดับกิเลสได้เฉพาะตน
และทราบชัดว่า ความเกิดสิ้นแล้ว พรหมจรรย์อยู่จบแล้ว
กิจที่ควรทำได้ทำเสร็จแล้ว
กิจอื่นที่จะต้องทำเพื่อความเป็นอย่างนี้ไม่มีอีกแล้ว

ว่าโดยย่อข้อปฏิบัติเพียงเท่านี้
และภิกษุชื่อว่าน้อมไปแล้วในธรรมเป็นที่สิ้นตัณหา
มีความสำเร็จอย่างยิ่ง เกษมจากโยคธรรมอย่างยิ่ง
เป็นพรหมจารีบุคคลอย่างยิ่ง ถึงที่สุดอย่างยิ่ง
ประเสริฐกว่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย”


(*สพฺเพ ธมฺมา นาลํ อภินิเวสาย
หมายความว่า สิ่งทั้งปวง ทั้งรูปธรรม นามธรรม
ทั้งสังขตธรรมและอสังขตธรรม อันบุคคลไม่ควรเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
เพราะเป็นของไม่เที่ยง เป็นทุกข์ เป็นอนัตตา ใครเข้าไปยึดมั่นถือมั่น
โดยความเป็นของเที่ยง เป็นสุขและเป็นอัตตา ย่อมไม่พ้นไปจากทุกข์ได้)


:b39:

ภราดา !

พระพุทธโอวาทที่ว่า

ธรรมทั้งปวง คือ สิ่งทั้งหลายทั้งปวงอันบุคคลไม่ควรยึดมั่นถือมั่นนั้น
เป็นหัวใจสำคัญของพระพุทธศาสนา
เป็นยอดแห่งธรรม อันเป็นไปเพื่อความดับทุกข์
โดยไม่มีเชื้อเหลือ คือดับทุกข์โดยสิ้นเชิง (อนุปาทาปรินิพพาน)

สิ่งใดที่บุคคลเข้าไปยึดมั่นแล้วจะไม่ก่อให้เกิดทุกข์นั้นหามีไม่
แต่ในโลกนี้มีเหยื่อล่อเพื่อให้ผู้ไม่รู้เท่าทันติดอยู่
สยบอยู่ หมกมุ่นพัวพันอยู่ แล้วโลกก็นำทุกข์เจือลงไป
แทรกซึมลงไว้ในสิ่งที่บุคคลติดอยู่ หมกมุ่นพัวพันอยู่นั่นเอง

โลกนี้พร่องอยู่เป็นนิตย์
ใครขวนขวายให้เต็มปรารถนาในอารมณ์ของโลก
ก็เหมือนตักน้ำไปรดทะเลทรายหรือเหมือนขนน้ำไปเทลงในมหาสมุทร
เหนื่อยแรงเปล่า ชาวโลกจึงมีความเร่าร้อนดิ้นรน
เพื่อให้เต็มความปรารถนา แต่ก็หาสำเร็จไม่
ยิ่งดื่มอารมณ์โลก สุขเวทนาอย่างโลกๆ
ก็ดูเหมือนจะเพิ่มความอยากให้มากขึ้น

ยิ่งดื่มน้ำเค็ม ยิ่งดื่มยิ่งกระหาย หรือเหมือนคนเกาแผลคัน
ยิ่งเกายิ่งคัน ยิ่งคันยิ่งเกา วนเวียนอยู่อย่างนั้น
สู้คนที่พยายามรักษาแผลให้หายแล้วไม่ต้องเกาไม่ได้
เป็นการดับที่ต้นเหตุอย่างแท้จริง


พระมหาโมคคัลลานะฟังพระธรรมเทศนานั้นแล้ว
ปฏิบัติตามพระพุทโธวาทได้สำเร็จพระอรหัตตผลในวันนั้น

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 04 พ.ย. 2014, 17:29 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
Moderators-1
Moderators-1
ลงทะเบียนเมื่อ: 14 ก.ย. 2010, 20:29
โพสต์: 5111

แนวปฏิบัติ: พิจารณากาย
สิ่งที่ชื่นชอบ: มณีรัตน์,พระผู้เป็นดั่งผ้าขี้ร้วห่อทอง
อายุ: 39

 ข้อมูลส่วนตัว


๔.) ปลดแอก

รูปภาพ
ถ้ำสุกรขาตาในปัจจุบัน ตั้งอยู่ ณ เชิงเขาคิชฌกูฏ เมืองราชคฤห์
รัฐพิหาร ประเทศอินเดีย อ่านเพิ่มเติม...
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=41350


:b44:

ฝ่ายพระสารีบุตร เมื่อบวชแล้วได้กึ่งเดือน
พักอยู่กับพระศาสดา ณ ถ้ำสุกรขาตา*
บนเขาคิชฌกูฏ** เขตเมืองราชคฤห์นั่นเอง

ปริพพาชกผู้หนึ่งชื่อ ทีฆนขะอัคคิเวสสนโคตร
ผู้เป็นหลานของ พระสารีบุตร เที่ยวเดินตามหาลุงของตน
มาพบพระสารีบุตรกำลังอยู่ถวายงานพัดพระศาสดาอยู่
เกิดความไม่พอใจ จึงกล่าวขึ้นว่า

“พระโคดม ! ข้าพเจ้ามีความเห็นว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าไม่พอใจหมด”


ภราดา ! คำกล่าวทำนองนี้ เป็นการกล่าวกระทบ
เป็นเชิงว่า เขาไม่พอใจพระศาสดา
ผู้ให้พระสารีบุตรลุงของเขาบวช
เพราะพระศาสดาก็รวมอยู่ในคำว่า ‘สิ่งทั้งปวง’


*สุกรขาตา ถ้ำซึ่งมีลักษณะเหมือนสุกรขุด
อยู่ทางด้านพระคันธกุฎีที่พระพุทธองค์ประทับ

**ภูเขาลูกหนึ่งในห้าลูกที่แวดล้อมนครราชคฤห์อยู่
ราชคฤห์จึงมีนามอีกอย่างหนึ่งว่า เบญจคีรีนคร
คำ “คิชฌกูฏ” แปลว่ามียอดคล้ายนกแร้ง
คิชฌกูฏ ห่างออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของตัวเมืองเก่า
ประมาณ ๓ ไมล์ บางแห่งเรียกคิชฌกูฏว่า คิชฌปัพพตะ
หรือคิชฌบรรพต ปัจจุบันเรียกไศลคีรี


รูปภาพ
พระมูลคันธกุฏี บนยอดเขาคิชฌกูฏ
เมืองราชคฤห์ ประเทศอินเดีย
อ่านเพิ่มเติม...
http://www.dhammajak.net/forums/viewtopic.php?f=26&t=44857



พระผู้มีพระภาคผู้ทรงอนาวรณญาณ*
ทรงแตกฉานในถ้อยคำภาษา**
และความหมาย ตรัสตอบว่า

“อัคคิเวสสนะ...ถ้าอย่างนั้นความเห็นอย่างนั้นก็ไม่ควรแก่ท่าน
ท่านควรจะไม่ชอบความเห็นอย่างนั้นเสียด้วย”


พระดำรัสตอบของพระศาสดานั้น
เรียกว่า ‘ถึงใจ’ เป็นอย่างยิ่ง
ทีฆนขะไม่รู้จะตอบโต้ประการใด จึงก้มหน้านิ่งอยู่
พระตถาคตเจ้าจึงตรัสต่อไปว่า

“อัคคิเวสสนะ ! สมณพราหมณ์พวกหนึ่งมีทิฐิว่า
สิ่งทั้งปวงไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจหมด
พวกหนึ่งมีทิฐิว่า สิ่งทั้งปวงควรแก่เรา เราชอบใจหมด
พวกหนึ่งมีทิฐิว่าบางสิ่งควรแก่เรา เราชอบใจ
บางสิ่งไม่ควรแก่เรา เราไม่ชอบใจ

อัคคิเวสสนะ ! ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกแรก
เอียงไปทางความเกลียดชังสิ่งทั้งปวง
ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกที่สองเอียงไปทางกำหนัดรักใคร่สิ่งทั้งปวง
ทิฐิของสมณพราหมณ์พวกที่สาม
เอียงไปทางกำหนัดยินดีบางสิ่งและเกลียดชังบางสิ่ง

ผู้รู้พิจารณาเห็นว่า ถ้าเราถือมั่นทิฐินั้นอย่างหนึ่งอย่างใด
กล่าวว่าสิ่งนี้แลจริง สิ่งอื่นหาจริงไม่
ก็ต้องถือผิดจากคนสองพวกที่มีทิฐิไม่เหมือนตน
ครั้นถือผิดกันขึ้น การวิวาทเถียงกันก็มีขึ้น
ครั้นวิวาทกันมีขึ้น การพิฆาตมาดหมายก็มีขึ้น
เมื่อความพิฆาตมีขึ้นการเบียดเบียนกันก็มีขึ้น
ผู้รู้เห็นอย่างนี้แล้วย่อมละทิฐินั้นเสียด้วย
ไม่ทำทิฐิอื่นให้เกิดขึ้นด้วย”


*อนาวรณญาณ แปลว่า มีพระญาณไม่ติดขัด
ไม่มีอะไรขวางกั้น ทะลุปรุโปร่ง

**แตกฉานในภาษา คือ นิรุตติปฏิสัมภิทา เป็น ๑ ในปฏิสัมภิทา ๔


:b40:

ครั้นแล้วทรงแสดงอุบายแห่งการละความยึดมั่นถือมั่นว่า

“อัคคิเวสสนะ กายนี้เป็นของประชุมลงแห่งดิน น้ำ ลม ไฟ
มีมารดาบิดาเป็นแดนเกิด เจริญขึ้นเพราะข้าวสุกและขนมนมเนย
ต้องอบต้องอาบเพื่อกันกลิ่นเหม็น ต้องขัดสีมลทินอยู่เป็นนิตย์
มีความแตกกระจัดกระจายเป็นธรรมดา

ผู้มีจักษุควรพิจารณาเห็นกายนี้ว่าเป็นของไม่เที่ยง
เป็นทุกข์ทนได้ยาก เป็นโรคเป็นดังหัวฝี
เป็นดังลูกศรเพราะความยากลำบาก ชำรุดทรุดโทรม
เป็นของว่างเปล่า ไม่ใช่ตัวตน
เมื่อพิจารณาเห็นอย่างนี้ ย่อมละความพอใจรักใคร่
ความกระวนกระวายในกายเสียได้”


ดูก่อน ท่านผู้แสวงสัจจะ !
ตลอดชีวิตของมนุษย์ มีอะไรเล่าจะเป็นภาระหนัก
ยิ่งไปกว่าการต้องประคับประคองกายให้อยู่รอดให้เป็นไปได้
มนุษย์ต้องเหน็ดเหนื่อย ต้องทนทุกข์ทรมานเหลือเกินเพื่อกายนี้
เพื่อความอยู่รอดปลอดภัยของกายนี้ มันเหมือนแผลใหม่
ที่ต้องประคบประหงม ต้องใส่ยาทาพอกกันอยู่เนืองนิตย์...
พระศาสดาจึงตรัสว่า
‘ไม่มีความทุกข์ใดเสมอด้วยการบริหารขันธ์”‏*


*นตฺถิ ขนฺธสมา ทุกฺขา พระไตรปิฎกเล่ม ๒๕ หน้า ๔๒ ข้อ ๒๕

.....................................................
"เกิดดับ..เกิดแล้วไม่ดับไม่มี"


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 33 โพสต์ ]  ไปที่หน้า 1, 2, 3  ต่อไป

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 5 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร