วันเวลาปัจจุบัน 28 มี.ค. 2024, 20:24  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 17 ก.พ. 2009, 19:18 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
สมาชิกระดับ 19
สมาชิกระดับ 19
ลงทะเบียนเมื่อ: 28 ก.ค. 2006, 20:52
โพสต์: 1210

อายุ: 0

 ข้อมูลส่วนตัว


อรูปาวจรจิต

อรูปาวจรจิต จิตที่ประกอบด้วยตัณหาอยากมีอยากเป็น
ดิ้นรนประพฤติเป็นไปในอรูปภูมิ หมายถึงจิตที่ท่องเที่ยวติดอยู่ในอารมณ์ของอรูปฌาน
คือฌานที่ไม่เพ่งรูป หรือฌานที่ไม่ยึดเอารูปเป็นอารมณ์
ท่านที่บรรลุ ปัญจมฌานในการยึดรูปดังกล่าวแล้วในรูปวจรจิต
เกิดความเบื่อหน่ายเห็นว่า การยึดรูปยังมิใช่ทางที่จะหลุดพ้นจากทุกข์ได้
รูปยังเป็นอารมณ์แห่งทุกข์อยู่ การปราศจากรูปย่อมเป็นทางพ้นทุกข์
จึงได้กำหนดอารมณ์ใหม่โดยยึดเอาอารมณ์ที่ไม่มีรูป คือ อากาสวิญญาณ ความไม่มีอะไร
และสัญญาเป็นอารมณ์ในการเพ่ง จนจิตนั้นเกิดเป็นฌานแน่วแน่ติดอยู่ในอารมณ์นั้นๆ
เรียกว่า อรูปาวจรจิต (อรูปฌาน) เป็นจิตที่สูงกว่ารูปาวจรจิต(รูปฌาน)
เพราะจะต้องได้รูปปัญจมฌานเสียก่อน จึงจะทำฌานในอรูปาวจรจิตได้
เป็นจิตที่เพ่ง โดยผู้บำเพ็ญเพียรมิได้มีความปรารถนาในรูป

อารมณ์ที่ใช้ในการเพ่งของอรูปวจรจิตได้แก่ ธรรมารมณ์ซึ่งมีอยู่ ๔ ประการ
คือ อากาสาบัญญัติ วิญญาณ นัตถิภาวะ(ความไม่มีอะไร)

อรูปวจรจิตมี ๑๒ ดวง คือ อรูปวจรกุศลจิต ๔ อรูปวจรวิบากจิต ๔ อรูปวจรกิริยาจิต ๔

๑.อรูปวจรกุศลจิต ๔ ได้แก่
ก.อากาสานัญจายตนะกุศลจิต คืออรูปฌานที่ ๑
มีอธิบายว่า เมื่อเจริญภาวนาจนได้ ปัญจมรูปฌานแล้ว
รู้สึกเบื่อหน่ายที่เห็นว่ายังมีโทษในรูป โรคภัยไข้เจ็บอันตรายต่าง ๆ เกิดมีเป็นขึ้น
เพราะอาศัยรูปเกาะเกี่ยวอยู่ จึงปรารถนาดิ้นรนจะให้พ้นไปจากรูป
เมื่อปรารถนาแรงกล้ามากขึ้นก็มิได้กำหนดเอารูปกสิณเป็นอารมณ์
มีความใส่ใจในอากาศอันปราศจากรูปเป็นอารมณ์เจริญภาวนาอยู่
เวลาเมื่อรูปกสิณอันตรธานหายไปอากาศปรากฎแจ้งอยู่ในมโนทวาร
อากาศนี้เรียกว่าเป็น กสิณุคฺฆาฎิมากาส คือความว่าง
เช่นในปัญจมรูปฌานเพ่ง ปถวีกสิณ เมื่อต้องการทำอากาสานัญจายตนฌาน
ก็เพิกอารมณ์ปถวีกสิณเสียเพ่งเอาอากาศที่ว่างจากกสิณนั้นเป็นภาวนาอารมณ์สืบไป
โดยบริกรรมว่า อากาโส อนนฺโต ๆ อากาศไม่มีที่สุด ๆ จิตก็ละเอียดยิ่งขึ้น ๆ
จนยังให้เกิดอากาสานัญจายตนฌาน ยึดหน่วงเอาอากาศนิมิตรนั้นเป็นอารมณ์
(เพิก คือไม่นึกถึงนิมิตรนั้น อนนฺตํ = ไม่มีที่สุดคือไม่มีเกิดดับ มีการเกิดขึ้นเพราะมนสิการ)

ข.วิญญาณัญจายตนกุศลจิต คือ อรูปฌานที่ ๒
เป็นจิตพิจารณาเพ่งวิญญาณความรู้สึกไม่ที่สุด กล่าวคือ
เมื่อการเจริญภาวนาจนได้บรรลุถึงอากาสานัญจายตนฌาน (อรูปฌานที่ ๑)
และได้เพียรเจริญอยู่จนเกิดความชำนาญแล้ว เกิดความปรารถนาอยากได้ฌานที่สูงขึ้น
อาจเห็นว่าอรูปฌานที่ตนได้แล้วนั้น ยังใกล้อยู่กับรูปฌาน
จะได้ละเอียดเหมือนวิญญาณหาได้ไม่ อาจมีการเสื่อมไปได้
จึงน้อมเอาอารมณ์ที่มั่นคงกว่า โดยละจากอากาสานัญจายตนฌาน
มาใส่ในวิญญาณที่รู้อากาสานัญจายตนฌานนั้น บริกรรมว่า วิญญานํ อนนฺตํ ๆ
วิญญาณความรู้สึกไม่มีที่สิ้นสุด ๆ จนยังให้เกิดวิญญาณัญจายตนฌาน

ค.อากิญจัญญายตนกุศลจิต คือ อรูปฌานที่ ๓
เป็นจิตพิจารณาเพ่งความไม่มีอะไร กล่าวคือเมื่อเจริญภาวนาอรูปฌานที่ ๒
คือ เพ่งวิญญาณที่รู้อากาสบัญญัติ จนวิญญาณัญจายตนฌานเกิด
และมีความชำนาญในฌานนั้นแล้ว ภายหลังตระหนักในความว่างเปล่า
เห็นว่าทั้งหมดทั้งปวงไม่มีอะไรเลย จึงละจากเพ่งวิญญาณความรู้สึกในอรูปฌานที่ ๒เสีย
น้อมอารมณ์ที่ไม่มีอะไรเลยนั้นมาเจริญภาวนา
โดยบริกรรมว่า นัตถิกิญจิ ๆ น้อยหนึ่งนิดหนึ่งไม่มี ๆ จนเกิดอากิญจัญญายตนฌาน

ง.เนวสัญญานาสัญญายตนกุศลจิต คือ อรูปฌานที่ ๔
เป็นจิตพิจารณาเพ่งสัญญาความรู้อันละเอียด กล่าวคือ
เมื่อการเจริญภาวนาอารมณ์ที่ไม่มีอะไรเลย จนอากิญจัญญายตนฌานเกิด
สัญญาความรู้อันหยาบก็เปลี่ยนสภาพเป็นสัญญาละเอียดประณีตขึ้น
การพิจารณาก็ปรากฎสัญญาบ้าง ไม่ปรากฎบ้าง จะว่ามีก็ไม่ใช่ จะว่าไม่ก็ไม่เชิง
ทั้งนี้เป็นเพราะสัญญาความรู้นั้นละเอียดอ่อนประณีตยิ่งนัก
กล่าวอีกนัยหนึ่ง สัญญาหยาบที่รู้ใช้เป็นกิจจะลักษณะได้นั้นไม่มี
คงเหลือแต่สัญญาละเอียดที่จวนจะหมดและใช้ทำอะไรไม่ได้มีอยู่
เหมือนภาชนะใส่กระปิเอาน้ำล้างแล้ว เนื้อกระปิไม่มีแต่กลิ่นนั้นยังอยู่
เมื่อละจากความไม่มีอะไรในอากิญจัญญายตนฌานแล้ว
ก็เอามาใส่ใจในสัญญาความรู้สึกอันละเอียดอ่อนนั้น
โดยบริกรรมว่า เอตํ สนฺตํ เอตํ ปณีตํ ๆ นี้สงบ นี้ประณีต ๆ จนยังให้เกิดเนวสัญญายตนฌาน
(อารมณ์ของรูปฌานโปรดดูอารัมมณปัจจยประกอบด้วย)

๒.อรูปวจรวิบากจิต ๔
เป็นผลของอรูปาวจรกุศล กล่าวคือเมื่ออรูปฌานกุศลจิตใดเกิดขึ้น
วิิบากคือผลก็เกิดขึ้นตามอรูปฌานนั้น เป็นมหัคคตกุศลละเอียดประณีตสูงกว่ารูปฌาน
เมื่อตายจากปัจจุบันชาติ ถ้าจุติจิตยังหน่วงในอารมณ์อรูปฌานอยู่
ก็ไปบังเกิดในอรูปพรหมตามชั้นของฌานที่ได้

๓.อรูปาวจรกิริยาจิต ๔
เป็นจิตของพระอรหันต์ในขณะที่อยู่ในฌานสมาบัติของอรูปาวจร
เป็น มหัคคตกิริยาไม่มีวิบากที่จะให้ผลในต่อไป
เพราะพระอรหันต์หมดอาสวกิเลสและไม่มีการเกิดอีก

อรูปพรหมที่ไม่ใช่พระอริยะ คือสามัญพรหม
ปุชนที่ยังไม่ได้มรรคจิตเบื้องต่ำ ย่อมไม่สามารถปฏิบัติให้ได้มรรคผล
เพราะการที่จะปฏิบัติให้ได้มรรคผลต้องอาศัยรูปนามเป็นอารมณ์
แต่อรูปพรหมนั้นไม่มีปรารถนารูป จึงมีแต่นามประการเดียว

แต่อย่างไรก็ดี อรูปธรรมก็เป็นคุณวิเศษอยู่มาก
เพราะตราบใดที่ยังครองรูปขันธ์อยู่
ย่อมต้องเผชิญกับทุกข์ตางๆ นานาประการ
พ้นจากรูปสัญญาไปได้แล้ว สัญญาอันเกิดจากรูป เสียง กลิ่น รส สัมผัส
ทั้งดีและชั่วก็ไม่เกิดขึ้น ทุกข์ เพราะรูปสัญญานั้น ๆ ก็ไม่มี
อรูปาวจรกุศลถ้าไม่เสื่อม หรืออันตรายสลายไป
ย่อมได้รับผลคือ วิบากเกิดเป็นอรูปพรหมในชาติที่ถัดจากปัจจุบันชาติไป
ถ้าฌานนั้นเสื่อมเป็นอันตรายก็ไม่ได้รับผลและเป็นอโหสิกรรม
คือกรรมที่ไม่มีโอกาสให้ผลสนองในต่อไป

การเจริญสมถภาวนาคือการทำฌาน
มีอารมณ์ หรือที่เรียกว่าอารมณ์กรรมฐานสำหรับเจริญสมภาวนา ๔๐ ประการ คือ

กสิณ ๑๐
อสุภ ๑๐
อนุสสติ ๑๐
อัปมัญญาหรือพรหมวิหาร ๔
อาหาเรปฏิกูลสัญญา ๑
จตุธาตุววัตถาน ๑ และ
อรูปกรรมฐาน ๔



ที่มา : พระอภิธรรมสังเขปและธรรมบางประการที่น่าสนใจ;
พระนิติเกษตรสุนทร; ๒๕๐๕; หน้า ๓๘-๔๓

.....................................................
สัพเพ สังขารา อนิจจา
สัพเพ ธรรมา อนัตตา...


โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 23 ก.พ. 2009, 21:43 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 23 ก.ค. 2008, 14:47
โพสต์: 1562

อายุ: 0
ที่อยู่: หิมพานต์

 ข้อมูลส่วนตัว www


:b8: :b8:

.....................................................
อิมาหัง ภะคะวา อัตตะภาวัง ตุมหากัง ปะริจจะชามิฯ
ข้าแต่องค์สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ข้าพระพุทธเจ้าขอมอบกายถวายชีวิต แด่พระพุทธเจ้า แด่พระธรรม แด่พระสงฆ์ นับแต่บัดนี้ตราบจนเข้าสู่พระนิพพาน


แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 2 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: Google [Bot] และ บุคคลทั่วไป 15 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร