วันเวลาปัจจุบัน 20 เม.ย. 2024, 02:14  



เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


กฎการใช้บอร์ด


“อภิธรรม (สันสกฤต: abhidharma) หรืออภิธัมมะ (บาลี: abhidhamma) เป็นชื่อปิฎกศาสนาพุทธฉบับหนึ่งในปิฎกทั้งสามฉบับที่รวมเรียก "พระไตรปิฎก" อภิธรรมแปลว่าธรรมอันยิ่ง ปิฎกฉบับอภิธรรมนั้นเรียก "พระอภิธรรมปิฎก" ซึ่งว่าด้วยประมวลหลักธรรมและคำอธิบายที่เป็นหลักวิชาล้วนๆ ไม่มีความเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์และบุคคลเลย”



กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ]    Bookmark and Share
เจ้าของ ข้อความ
โพสที่ยังไม่ได้อ่าน เมื่อ: 15 มิ.ย. 2010, 13:33 
 
ภาพประจำตัวสมาชิก
ออฟไลน์
อาสาสมัคร
อาสาสมัคร
ลงทะเบียนเมื่อ: 20 ต.ค. 2008, 13:20
โพสต์: 821


 ข้อมูลส่วนตัว


๙. มหาสติปัฏฐานสูตรสูตรว่าด้วยการตั้งสติอย่างใหญ่

พระผู้มีพระภาคประทับ ณ นิคม ชื่อกัมมาสธัมมะ แคว้นกุรุ ตรัสสอนภิกษุทั้งหลายว่าหนทางเป็นที่ไปอันเอกเพื่อความบริสุทธิ์ของสัตว์ เพื่อก้าว ล่วงความโศก ความคร่ำครวญ เพื่อให้ความทุกข์กายทุกข์ใจตั้งอยู่ไม่ได้ เพื่อบรรลุธรรมที่ถูกต้อง เพื่อทำให้แจ้งซึ่งพระนิพพาน คือ การตั้งสติ ๔ อย่าง ได้แก่ :-

๑. ตั้งสติกำหนดพิจารณากายในกาย (กายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่)(การอธิบายไว้ในวงเล็บอย่างนี้ เป็นไปตามบาลีพุทธภาษิต ในพระไตรปิฎก เล่ม ๑๙ หน้า ๔๐๙ เช่น คำว่า พิจารณากายในกาย เพียงพิจารณาลมหายใจเข้าออก ก็ถือว่า ลมหายใจเป็นกายอย่างหนึ่งลมหายใจจึงเป็นกายส่วนย่อยในกายส่วนใหญ่)
๒. ตั้งสติกำหนดพิจารณาเวทนาในเวทนา (ความรู้สึกอารมณ์ส่วนย่อยในความรู้สึกอารมณ์ส่วนใหญ่)
๓. ตั้งสติกำหนดพิจารณาจิตในจิต (จิตส่วนย่อยในจิตส่วนใหญ่ คือจิตดวงใดดวงหนึ่ง ในจิตที่เกิด ขึ้นดับไปมากดวง)
๔. ตั้งสติกำหนดพิจารณา ธรรมในธรรม(ธรรมส่วนย่อยในธรรมส่วนใหญ่)
การพิจารณากายแบ่งออกเป็น ๖ ส่วน
๑. พิจารณากำหนดลมหายใจเข้าออก (อานาปานบรรพ)
๒. พิจารณาอิริยาบถของกาย เช่น ยืน เดิน นั่ง นอน (อิริยาปถบรรพ)
๓. พิจารณารู้ตัวในความเคลื่อนไหว เช่น ก้าวไป ก้าวมา คู้แขนเหยียดแขน กิน ดื่ม เป็นต้น (สัมปชัญญบรรพ)
๔. พิจารณาความน่าเกลียดของร่างกาย ซึ่งแบ่งออกเป็นส่วนย่อยต่างๆ มีผม ขน เป็นต้น (ปฏิกูลมนสิการบรรพ)
๕. พิจารณาร่างกายโดยความเป็นธาตุ (ธาตุบรรพ)
๖. พิจารณาร่างกายที่เป็นศพ มีลักษณะต่างๆ ๙ อย่าง (นวสีวถิกาบรรพ)
การพิจารณาเวทนา (ความรู้สึกอารมณ์) ๙ อย่าง

๑. สุข ๒. ทุกข์ ๓. ไม่ทุกข์ไม่สุข ๔. สุขประกอบด้วยอามิส(เหยื่อล่อมีรูป เสียง เป็นต้น) ๕. สุขไม่ประกอบด้วยอามิส ๖. ทุกข์ประกอบด้วยอามิส ๗. ทุกข์ไม่ประกอบด้วยอามิส ๘. ไม่ทุกข์ไม่สุขประกอบด้วยอามิส๙. ไม่ทุกข์ไม่สุข ไม่ประกอบด้วยอามิส
การพิจารณาจิต ๑๖ อย่าง

๑. จิตมีราคะ ๒. จิตปราศจากราคะ ๓. จิตมีโทสะ ๔. จิตปราศจากโทสะ ๕. จิตมีโมหะ ๖. จิตปราศจากโมหะ ๗. จิตหดหู่ ๘. จิตฟุ้งสร้าน๙. จิตใหญ่ (จิตในฌาน) ๑๐. จิตไม่ใหญ่ (จิตที่ไม่ถึงฌาน) ๑๑. จิตมีจิตอื่นยิ่งกว่า ๑๒. จิตไม่มีจิตอื่นยิ่งกว่า ๑๓. จิตตั้งมั่น ๑๔. จิตไม่ตั้งมั่น๑๕. จิตหลุดพ้น ๑๖. จิตไม่หลุดพ้น

การพิจารณาธรรมแบ่งออกเป็น ๕ ส่วน

๑. พิจารณาธรรมที่กั้นจิตมิให้บรรลุสมาธิ ที่เรียกว่านิวรณ์ ๕ (นีวรณบรรพ)
๒. พิจารณาขันธ์ ๕ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร วิญญาณ (ขันธบรรพ)
๓. พิจารณาอายตนะภายใน ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ (อายตนบรรพ)
๔. พิจารณาธรรมที่เป็นองค์แห่งการตรัสรู้ ๗ ที่เรียกว่าโพชฌงค์ (โพชฌงคบรรพ)
๕. พิจารณาอริยสัจจ์ ๔ (สัจจบรรพ)

อนึ่ง การพิจารณากาย, เวทนา, จิต, ธรรม ทั้งสี่ข้อนี้ นอกจากนี้รายการพิเศษดังกล่าวมาแล้ว ยังมีรายการพิจารณาที่ตรงกันอีก ๖ ประการ คือ๑. ที่อยู่ภายใน ๒. ที่อยู่ภายนอก ๓. ที่อยู่ทั้งภายในภายนอก ๔. ที่มีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา ๕. ที่มีความเสื่อมไปเป็นธรรมดา ๖. ที่มีทั้งความเกิดขึ้นและความเสื่อมไปเป็นธรรมดา

อานิสงส์สติปัฏฐาน

ครั้นแล้วทรงสรุปผลของการปฏิบัติ ในการตั้งสติ ๔ อย่างนี้ว่า จะเป็นเหตุให้ได้บรรลุผลอย่างใดอย่างหนึ่ง คือบรรลุอรหัตตผลในปัจจุบัน ถ้ายังมีเชื้อเหลือ ก็จะได้บรรลุความเป็นพระอนาคามี (ผู้ไม่กลับมาเกิดในโลกนี้อีก)ภายใน ๗ ปี หรือลดลงมาโดยลำดับถึงภายใน ๗ วัน
ภาค ๓ ข้อความน่ารู้จากพระไตรปิฎก

๑๘๕. เจริญธรรมอย่างเดียว ชื่อว่าเจริญธรรมอย่างอื่นอีกมาก

“ดูก่อนอานนท์ ! ธรรมอย่างหนึ่ง คืออานาปานสติสมาธิ (สมาธิซึ่งมีสติกำหนดลมหายใจเข้าออกเป็นอารมณ์) อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำสติปัฏฐาน (การตั้งสติ) ๔ อย่างให้บริบูรณ์ สติปัฏฐาน ๔ อันบุคคลเจริญแล้ว ทำให้มากแล้ว ย่อมทำโพชฌงค์ (องค์ประกอบแห่งปัญญาเครื่องตรัสรู้) ๗ อย่างให้บริบูรณ์ โพชฌงค์ ๗ อันบุคคลเจริญ ทำให้มากแล้วย่อมทำวิชชา (ความรู้) วิมุติ (ความหลุดพ้น) ให้บริบูรณ์”

สังยุตตนิกาย มหาวารวรรค ๑๙/๔๑๗

แจกหัวข้อธรรม (ธัมมหทยวิภังค์)

๑๘๖. คำถามคำตอบเรื่องแจกหัวข้อธรรม

ขันธ์มีเท่าไร? อายตนะมีเท่าไร? ธาตุมีเท่าไร? สัจจะ มีเท่าไร?อินทรีย์มีเท่าไร? เหตุมีเท่าไร? อาหารมีเท่าไร? ผัสสะมีเท่าไร? เวทนามีเท่าไร? สัญญามีเท่าไร? เจตนามีเท่าไร? จิตมีเท่าไร?

ขันธ์มี ๕, อายตนะมี ๑๒, ธาตุมี ๑๘, สัจจะมี ๔, อินทรีย์มี ๒๒,เหตุมี ๙, อาหารมี ๔, ผัสสะมี ๗, เวทนามี ๗, สัญญามี๗, เจตนามี ๗,จิตมี ๗
วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๑

๑๘๗. ขันธ์ (กอง) ๕ มีอะไรบ้าง ?

ขันธ์ ๕ คือ :-

๑. กองรูป (รูปขันธ์ คือ ธาตุทั้งสี่ประชุมกันเป็นกาย พร้อมทั้งรูปที่อาศัยธาตุทั้งสี่ปรากฏ เช่น ความเป็นหญิง ความเป็นชาย เป็นต้น)
๒. กองเวทนา (เวทนาขันธ์ คือ ความรู้สึกเป็นสุข เป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุข)
๓. กองสัญญา (สัญญาขันธ์ คือ ความจำได้หมายรู้ เช่น จำรูป จำเสียง)
๔. กองสังขาร (สังขารขันธ์ คือ ความคิด หรือเจตนา ที่ ดีบ้าง ชั่วบ้าง)
๕. กองวิญญาณ (วิญญาณขันธ์ คือ ความรู้อารมณ์ทางตา หู จมูก ลิ้น กาย ใจ เช่น รู้สึกว่า เห็น, ได้ยิน, ได้กลิ่น เป็นต้น)นี้เรียกว่าขันธ์ ๕

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๒

๑๘๘. อายตนะ (ที่ต่อ) ๑๒ มีอะไรบ้าง ?

อายตนะ ๑๒ คือ :-
๑. ที่ต่อคือตา (จักขายตนะ)
๒. ที่ต่อคือหู (โสตายตนะ)
๓. ที่ต่อคือจมูก (ฆานายตนะ)
๔. ที่ต่อคือลิ้น (ชิวหายตนะ)
๕. ที่ต่อคือกาย (กายายตนะ)
๖.ที่ต่อคือใจ (มนายตนะ)
(จัดเป็นอายตนะภายใน)
๗. ที่ต่อคือรูป (รูปายตนะ)
๘. ที่ต่อคือเสียง (สัททายตนะ)
๙. ที่ต่อคือกลิ่น (คันธายตนะ)
๑๐. ที่ต่อคือรส (รสายตนะ)
๑๑. ที่ต่อคือสิ่งที่ถูกต้องได้ (โผฏฐัพพายตนะ)
๑๒. ที่ต่อคืออารมณ์ของใจ (ธัมมายตนะ)
(จัดเป็นอายตนะภายนอก)

นี้เรียกว่าอายตนะ ๑๒

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๒

๑๘๙. ธาตุ ๑๘ (นักวิทยาศาสตร์เมื่ออ่านเรื่องธาตุ ๑๘ นี้ คงเข้าใจดีขึ้นว่า ความมุ่งหมายหรือคำนิยามคำว่า ธาตุ ซึ่งทางพระพุทธศาสนาใช้ในที่นี้ มีแนวทางของธรรมะโดยเฉพาะ มิได้มุ่งหมายอย่างเดียวกับความหมายของคำว่าธาตุ ทางวิทยาศาสตร์) มีอะไรบ้าง?

ธาตุ ๑๘ คือ :-

๑. ธาตุคือตา (จักขุธาตุ)
๒. ธาตุคือรูป (รูปธาตุ สิ่งที่เห็นได้ด้วยตา)
๓. ธาตุคือความรู้อารมณ์ทางตา (จักขุวิญญาณธาตุ)
๔. ธาตุคือหู (โสตธาตุ)
๕. ธาตุคือเสียง (สัททธาตุ)
๖. ธาตุคือความรู้อารมณ์ทางหู (โสตวิญญาณธาตุ)
๗. ธาตุคือจมูก (ฆานธาตุ)
๘. ธาตุคือกลิ่น (คันธธาตุ)
๙. ธาตุคือความรู้อารมณ์ทางจมูก (ฆานวิญญาณธาตุ)
๑๐. ธาตุคือลิ้น (ชิวหาธาตุ)
๑๑. ธาตุคือรส (รสธาตุ)
๑๒. ธาตุคือความรู้อารมณ์ทางลิ้น (ชิวหาวิญญาณธาตุ)
๑๓. ธาตุคือกาย (กายธาตุ)
๑๔. ธาตุคือสิ่งที่ถูกต้องได้ด้วยกาย (โผฏฐัพพธาตุ)
๑๕. ธาตุคือความรู้อารมณ์ทางกาย (กายวิญญาณธาตุ)
๑๖. ธาตุคือใจ (มโนธาตุ)
๑๗. ธาตุคือ สิ่งที่รู้ได้ด้วยใจ (ธัมมธาตุ)
๑๘. ธาตุนี้ความรู้อารมณ์ทางใจ (มโนวิญญาณธาตุ)
นี้เรียกว่าธาตุ ๑๘

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๒

๙. มหาสติปัฏฐานสูตรสูตรว่าด้วยการตั้งสติอย่างใหญ่

๑๙๐. สัจจะ ๔ มีอะไรบ้าง?

สัจจะ ๔ คือ :-

๑. ความจริงคือทุกข์ (ทุกขสัจจ์)
๒. ความจริงคือเหตุให้ทุกข์เกิด (สมุทยสัจจ์)
๓. ความจริงคือความดับทุกข์ (นิโรธสัจจ์)
๔. ความจริงคือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ (มัคคสัจจ์)
นี้เรียกว่าสัจจะ ๔

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๒

๑๙๑. อินทรีย์ ๒๒ มีอะไรบ้าง?

อินทรีย์ (ธรรมที่เป็นใหญ่ในหน้าที่ของ (เช่น ตาก็เป็นใหญ่ในการเห็น จะใช้หูเห็นแทนตาไม่ได้ ลิ้นก็เป็นใหญ่ในการลิ้มรส จะใช้หูแทนลิ้นไม่ได้ เป็นต้น) ตน) ๒๒ คือ :-

๑. อินทรีย์คือตา (จักขุนทรีย์)
๒. อินทรีย์คือหู (โสตินทรีย์)
๓. อินทรีย์คือจมูก (ฆานินทรีย์)
๔. อินทรีย์คือลิ้น (ชิวหินทรีย์)
๕. อินทรีย์คือกาย (กายินทรีย์)
๖. อินทรีย์คือใจ (มนินทรีย์)
๗. อินทรีย์คือหญิง (อิตถินทรีย์)
๘. อินทรีย์คือชาย (ปุริสินทรีย์)
๙. อินทรีย์คือชีวิต (ชีวิตินทรีย์)
๑๐. อินทรีย์คือสุข (สุขินทรีย์-สุขกาย)
๑๑. อินทรีย์คือทุกข์ (ทุกขินทรีย์-ทุกข์กาย)
๑๒. อินทรีย์คือโสมนัส (โสมนัสสินทรีย์- สุขใจ)
๑๓. อินทรีย์คือโทมนัส (โทมนัสสินทรีย์-ทุกข์ใจ)
๑๔. อินทรีย์คืออุเบกขา (อุเปกขินทรีย์-เฉยๆ ไม่ทุกข์ไม่สุข)
๑๕. อินทรีย์คือความเชื่อ (สัทธินทรีย์)
๑๖. อินทรีย์ความเพียร (วิริยินทรีย์)
๑๗. อินทรีย์คือความระลึกได้ (สตินทรีย์)
๑๘. อินทรีย์คือความตั้งใจมั่น (สมาธินทรีย์)
๑๙. อินทรีย์คือปัญญา (ปัญญินทรีย์)
๒๐. อินทรีย์คืออัธยาศัยที่มุ่งบรรลุมรรคผลของผู้ปฏิบัติ (อนัญตัญญัสสามีตินทรีย์)
๒๑. อินทรีย์คือการตรัสรู้สัจจธรรมด้วยมรรค (อัญญินทรีย์)
๒๒. อินทรีย์ของพระอรหันต์ผู้ตรัสรู้สัจจธรรมแล้ว (อัญญาตาวินทรีย์)
นี้เรียกว่าอินทรีย์ ๒๒

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๒

๑๙๒. เหตุ ๙ มีอะไรบ้าง?

เหตุ ๙ คือเหตุที่เป็นกุศล (ฝ่ายดี) ๓ ; เหตุที่เป็นอกุศล (ฝ่ายชั่ว)
๓ ; เหตุที่เป็นอัพยากฤต (ไม่ชี้ลงไปว่าดีหรือชั่ว) ๓ คือ :-

ก. เหตุที่เป็นกุศล (ฝ่ายดี) ๓ :
๑. อโลภะ ความไม่โลภ
๒. อโทสะ ความไม่คิดประทุษร้าย
๓. อโมหะ ความไม่หลง

ข. เหตุที่เป็นอกุศล (ฝ่ายชั่ว) ๓ :
๑. โลภะ ความโลภ
๒. โทสะ ความคิดประทุษร้าย
๓. โมหะ ความหลง
ค. เหตุที่เป็นอัพยากฤต (ไม่ชี้ลงไปว่าดีหรือชั่ว) ๓ :

๑. อโลภะ ซึ่งเกิดจากวิบากคือผลของกุศลธรรม หรือซึ่งเกิดในอัพยากตธรรมที่เป็นกิริยา
๒. อโทสะ
๓. อโมหะ
นี้เรียกว่าเหตุ ๙

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๒

๑๙๓. อาหาร ๔ มีอะไรบ้าง?

อาหาร ๔ คือ :-

๑. อาหารเป็นคำๆ (กวฬิงการาหาร อาหารที่รับประทานทั่วไป)
๒. อาหารคือผัสสะ (ผัสสาหาร อาหารคือการถูกต้องทางตา หู เป็นต้นเช่น อาหารตา อาหารหู ฯลฯ)
๓. อาหารคือความจงใจ (มโนสัญเจตนาหาร ความจงใจ ทำกรรมดีกรรมชั่ว ย่อมเป็นอาหารหล่อเลี้ยงให้เวียนว่ายตายเกิด)
๔. อาหารคือวิญญาณ (วิญญาณาหาร หมายถึง ความรู้อารมณ์ว่า เห็นรูป ฟังเสียง เป็นต้น)
นี้เรียกว่าอาหาร ๔

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๓

๑๙๔. ผัสสะ (ความถูกต้อง) ๗ มีอะไรบ้าง?

ผัสสะ(พึงสังเกตว่า ผัสสะ หรือสัมผัส ใช้แทนกันได้) (ความถูกต้อง) ๗ คือ :-

๑. ความถูกต้องทางตา (จักขุสัมผัส)
๒. ความถูกต้องทางหู (โสตสัมผัส)
๓. ความถูกต้องทางจมูก (ฆานสัมผัส)
๔. ความถูกต้องทางลิ้น (ชิวหาสัมผัส)
๕. ความถูกต้องทางกาย (กายสัมผัส)
๖. ความถูกต้องทางธาตุคือใจ (มโนธาตุสัมผัส)
๗. ความถูกต้องทางธาตุคือความรู้ทางใจ (มโนวิญญาณธาตุสัมผัส)
นี้เรียกว่าผัสสะ ๗

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๓

๑๙๕. เวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ) ๗ มีอะไรบ้าง?
๑. ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ อันเกิดจากสัมผัสทางตา (จักขุสัมผัสสชา เวทนา)
๒. ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ อันเกิดจากสัมผัสทางหู (โสตสัมผัสสชา เวทนา)
๓. ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ อันเกิดจากสัมผัสทางจมูก (ฆานสัมผัสสชาเวทนา)
๔. ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ อันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น (ชิวหาสัมผัสสชา เวทนา)
๕. ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ อันเกิดจากสัมผัสทางกาย (กายสัมผัสสชา เวทนา)
๖. ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ อันเกิดจากสัมผัสทางธาตุคือใจ (มโนธาตุสัมผัสสชา เวทนา)
๗. ความรู้สึกสุขทุกข์หรือเฉยๆ อันเกิดจากสัมผัสทางธาตุคือความรู้ทางใจ (มโนวิญญาณธาตุสัมผัสสชา เวทนา)
นี้เรียกว่าเวทนา ๗

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๓

๑๙๖. สัญญา (ความจำ) ๗ มีอะไรบ้าง ?

สัญญา (ความจำ) ๗ คือ :-

๑. ความจำอันเกิดจากสัมผัสทางตา (จักขุสัมผัสสชา สัญญา)
๒. ความจำอันเกิดจากสัมผัสทางหู (โสตสัมผัสสชา สัญญา)
๓. ความจำอันเกิดจากสัมผัสทางจมูก (ฆานสัมผัสสชา สัญญา)
๔. ความจำอันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น (ชิวหาสัมผัสสชา สัญญา)
๕. ความจำอันเกิดจากสัมผัสทางกาย (กายสัมผัสสชา สัญญา)
๖. ความจำอันเกิดจากสัมผัสทางธาตุคือใจ (มโนธาตุสัมผัสสชา สัญญา)
๗. ความจำอันเกิดจากสัมผัสทางธาตุรู้ทางใจ (มโนวิญญาณธาตุสัมผัสสชาสัญญา)
นี้เรียกว่าสัญญา ๗

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๔

๑๙๗. เจตนา (ความจงใจ) ๗ มีอะไรบ้าง?

เจตนา (ความจงใจ) ๗ คือ :-

๑. ความจงใจอันเกิดจากสัมผัสทางตา (จักขุสัมผัสสชา เจตนา)
๒. ความจงใจอันเกิดจากสัมผัสทางหู (โสตสัมผัสสชา เจตนา)
๓. ความจงใจอันเกิดจากสัมผัสทางจมูก (ฆานสัมผัสสชา เจตนา)
๔. ความจงใจอันเกิดจากสัมผัสทางลิ้น (ชิวหาสัมผัสสชา เจตนา)
๕. ความจงใจอันเกิดจากสัมผัสทางกาย (กายสัมผัสสชา เจตนา)
๖. ความจงใจอันเกิดจากสัมผัสทางธาตุคือใจ (มโนธาตุสัมผัสสชาเจตนา)
๗. ความจงใจอันเกิดจากสัมผัสทางธาตุรู้ทางใจ (มโนวิญญาณธาตุสัมผัสสชาเจตนา)

นี้เรียกว่าเจตนา ๗

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๔

๑๙๘. จิต ๗ มีอะไรบ้าง?

จิต ๗ คือ :-

๑. ความรู้อารมณ์ทางตา (จักขุวิญญาณ)
๒. ความรู้อารมณ์ทางหู (โสตวิญญาณ)
๓. ความรู้อารมณ์ทางจมูก (ฆานวิญญาณ)
๔. ความรู้อารมณ์ทางลิ้น (ชิวหาวิญญาณ)
๕. ความรู้อารมณ์ทางกาย (กายวิญญาณ)
๖. ธาตุคือใจ (มโนธาตุ)
๗. ความรู้อารมณ์ทางใจ (มโนวิญญาณธาตุ)
นี้เรียกว่าจิต ๗

วิภังค์ อภิธัมมปิฎก ๓๕/๕๔๔

(หมายเหตุ : การแบ่งจำนวนหรือหัวข้อธรรมะที่นำมาแปลนี้ เป็นวิธีจัด
จำนวนโดยนัยหนึ่งของอภิธัมมปิฎก ในที่อื่นอาจแบ่งหรือจัดจำนวนแตกต่าง
ออกไปตามความประสงค์ในการแสดงธรรมให้เหมาะสมแก่โอกาสที่ต้องการ)

๑๙๙. ปฏิบัติได้แค่ไหน อะไรสงบระงับ( เรื่องนี้มีประโยชน์ในทางหลักวิชามาก ทำให้เข้าใจในหลักการในการปฏิบัติธรรมเป็นอย่างดี)?

“ดูก่อนภิกษุ ! ความสงบระงับ ๖ ประการเหล่านี้ คือ :-

๑. วาจาของผู้เข้าสู่ปฐมฌาน (ฌานที่ ๑) ย่อมสงบระงับ

๒. วิตก (ความตรึก) วิจาร (ความตรอง) ของผู้เข้าสู่ทุติยฌาน (ฌานที่ ๒) ย่อมสงบระงับ

๓. ปีติ (ความอิ่มใจ) ของผู้เข้าสู่ตติฌาน (ฌานที่ ๓) ย่อมสงบระงับ

๔. (ลมหายใจเข้าออก) ของผู้เข้าสู่จตุตถฌาน (ฌานที่ ๔) ย่อมสงบระงับ

๕. สัญญา (ความจะได้หมายรู้) และเวทนา (ความรู้สึกสุขทุกข์หรือไม่ทุกข์ไม่สุข) ของผู้เข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ (สมาบัติ ที่ดับ สัญญาความจำและเวทนา (พึงสังเกตว่า คำว่า เวทนา ได้วงเล็บความหมายไว้ ๒ อย่าง คือความรู้สึกเป็นสุขเป็นทุกข์ หรือไม่ทุกข์ไม่สุขอย่างหนึ่ง เป็นการอธิบายเต็มความหมาย อีกอย่างหนึ่งใช้คำสั้นว่าๆ ความเสวยอารมณ์ซึ่งควรทราบด้วยว่า การใช้คำเต็มความหมายชัดกว่า แต่ถ้าจะต้องใช้อย่างนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะยืดยาดบางครั้งจึงต้องใช้ทับศัพท์หรือคำอธิบายสั้นๆ) ความเสวยอารมณ์) ย่อมสงบระงับ

๖. ราคะ (ความกำหนัดยินดีหรือความติดใจ) โทสะ (ความคิด ประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) ของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดาน) ย่อมสงบระงับ”
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๖๙

๒๐๐. ความดับแห่งเครื่องปรุงแต่งตามลำดับชั้น

“ดูก่อนภิกษุ ! เรากล่าวถึงความดับแห่งอนุบุพพสังขาร (เครื่องปรุงแต่งตามลำดับชั้น) ไว้แล้วคือ :-

๑. วาจาผู้เข้าสู่ฌานที่ ๑ ย่อมดับ

๒. ความตรึก (วิตก) ความตรอง (วิจาร) ของผู้เข้าสู่ฌานที่ ๒ ย่อมดับ

๓. ความอิ่มใจ (ปิติ) ของผู้เข้าสู่ฌานที่ ๓ ย่อมดับ

๔. ลมหายใจเข้าออก (อัสสาสปัสสาสะ) ของผู้เข้าสู่ฌานที่ ๔ ย่อมดับ

๕. ความกำหนดหมายในรูป (รูปสัญญา) ของผู้เข้าสู่อากาสานัญจายตนะย่อมดับ

๖. ความกำหนดหมายในอากาสานัญจายตนะ (อากาสานัญจายตนสัญญา) ของผู้เข้าสู่วิญญาณัญจายตนะ ย่อมดับ

๗. ความกำหนดหมายในวิญญาณัญจายตนะ (วิญญาณัญจายตนสัญญา) ของผู้เข้าสู่อากิญจัญญายตนะ ย่อมดับ

๘. ความกำหนดหมายในอากิญจัญญายตนะ (อากิญจัญญายตนสัญญา) ของผู้เข้าสู่เนวสัญญานาสัญญายตนะ ย่อมดับ

๙. สัญญา (ความจำได้หมายรู้ ; ความกำหนดหมาย) และเวทนา (ความเสวยอารมณ์) ของผู้เข้าสู่สัญญาเวทยิตนิโรธ ย่อมดับ

๑๐. ราคะ (ความกำหนัดยินดีหรือความติดใจ) โทสะ (ความคิดประทุษร้าย) โมหะ (ความหลง) ของภิกษุผู้เป็นขีณาสพ (ผู้สิ้นอาสวะคือกิเลสที่ดองสันดาน) ย่อมดับ”
สังยุตตนิกาย สฬายตนวรรค ๑๘/๒๖๘

(หมายเหตุ : ขอแทรกคำอธิบายศัพท์ตั้งแต่ข้อ ๕ มาในที่นี้ เพื่อความเข้าใจคือตั้งแต่ข้อ ๕ อากาสานัญจายตนะ ถึงข้อ ๘ เนวสัญญานาสัญญายตนะ รวม ๔ข้อ เป็นชื่อของอรูปฌาน หรือฌาน (การเพ่งอารมณ์) ที่มีสิ่งซึ่งมิใช่รูปเป็นจุดประสงค์ คือ อากาสานัญจายตนะ เพ่งว่าอากาศหาที่สุดมิได้, วิญญาณัญจายตนะเพ่งว่าวิญญาณหาที่สุดมิได้, อากิญจัญญายตนะ เพ่งว่าไม่มีอะไรแม้แต่น้อย และเนวสัญญานาสัญญายตนะ เพ่งว่าสัญญาคือความจำได้ หรือความกำหนดหมายเป็นของไม่ดี เมื่อเพ่งอย่างนี้ก็จะเป็นเหตุให้สัญญาหยุดทำหน้าที่ แต่ยังมีอยู่อย่างไม่เป็นข้อเป็นงอ อรูปฌานนี้แม้นักบวชนอกพระพุทธศาสนาก็บำเพ็ญกันได้ แต่ทางพระพุทธศาสนายังมีชั้นสูงสุดอีกข้อหนึ่ง คือสัญญาเวทยิตนิโรธแปลว่า ดับสัญญา ความจำ และเวทนา ความเสวยอารมณ์ได้)

๒๐๑. บุถุชนกับอริยสาวกต่างกันอย่างไร?

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุถุชน (คนที่ยังหนาไปด้วยกิเลส) ผู้มิได้สดับย่อมเสวยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง อริยสาวก(ศิษย์ของพระอริยะ) ผู้ได้สดับก็เสวยเวทนาที่เป็นสุขบ้าง เป็นทุกข์บ้าง ที่มิใช่ทุกข์มิใช่สุขบ้าง “ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อะไรเป็นความผิดแผกแตกต่างกันในบุคคลเหล่านั้น? อะไรเป็นเครื่องทำให้อริยสาวกผู้ได้สดับต่างจากบุถุชนผู้มิได้สดับ?”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! บุถุชนผู้มิได้สดับ เมื่อมีทุกขเวทนาถูกต้องย่อมเศร้าโศก ลำบากใจ คร่ำครวญ ย่อมตีอกพิไรรำพัน ย่อมมืดมน ย่อมเสวยเวทนา ๒ ทาง คือเวทนาทางกาย และเวทนาทางใจ”

“ดูก่อนภิกษุทั้งหลาย ! อริยสาวกผู้ได้สดับ เมื่อทุกขเวทนาถูกต้องย่อมไม่เศร้าโษก ไม่ลำบากใจ ไม่คร่ำครวญ ย่อมไม่ตีอกพิไรรำพัน ย่อมไม่มืดมนย่อมเสวยเวทนาเพียงทางเดียว คือทางกาย ไม่เสวยเวทนาทางจิต”

ที่มา http://thai.mindcyber.com/buddha/why2/1120_2.php


แก้ไขล่าสุดโดย wincha เมื่อ 15 มิ.ย. 2010, 13:35, แก้ไขแล้ว 1 ครั้ง

แสดงโพสต์จาก:  เรียงตาม  
กลับไปยังกระทู้  [ 1 โพสต์ ] 

เขตเวลา GMT + 7 ชั่วโมง


 ผู้ใช้งานขณะนี้

กำลังดูบอร์ดนี้: ไม่มีสมาชิก และ บุคคลทั่วไป 23 ท่าน


ท่าน ไม่สามารถ โพสต์กระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ตอบกระทู้ในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แก้ไขโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ ลบโพสต์ของท่านในบอร์ดนี้ได้
ท่าน ไม่สามารถ แนบไฟล์ในบอร์ดนี้ได้

ค้นหาสำหรับ:
ไปที่:  
Google
ทั่วไป เว็บธรรมจักร